สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญาปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากศาสนา
<span class="submitted-by">Submitted on Tue, 2024-02-06 08:01</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>สุรพศ ทวีศักดิ์</p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p style="margin: 0in 0in 8pt;">ผู้สอนศาสนา ทั้งพระและฆราวาสในบ้านเรา มักดูแคลนปรัชญา โดยไม่ต้องอภิปรายเลยด้วยซ้ำว่า ปรัชญา หรือ philosophy คืออะไร</p>
<p>เช่น พวกเขามักตัดสินว่า ปรัชญาเป็นเรื่องของการเก็งความจริงด้วยหลักตรรกะเหตุผล เป็นเพียงเกมความคิด ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริง และทำให้พ้นทุกข์ได้จริงเหมือนศาสนา จากนั้นก็ยืนยันว่า “พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา” เราไม่ควรยึดมั่นหรือติดยึดในปรัชญาใดๆ เพื่อเข้าถึงความจริงแท้ตามคำสอนพุทธศาสนา (นี่ไม่ใช่ติดยึดคำสอนพุทธศาสนา?)</p>
<p>แม้คำวิจารณ์เช่นนั้น อาจมีส่วนตรงกับปรัชญาบางสาขา แต่ไม่ใช่ปรัชญาทั้งหมดจะเป็นแค่การเก็งความจริงด้วยหลักตรรกะเหตุผลที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับการปฏิบัติเพื่อทำให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น ตรงข้าม ยังมีปรัชญาชีวิต และปรัชญาสังคมและการเมืองที่ถูกนำมาใช้เป็นรากฐานของเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การมีชีวิตที่ดีของบุคคล สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ </p>
<p><strong>น่าสังเกตว่า พุทธะเองก็ไม่ได้ดูแคลนปรัชญา แต่กลับแนะนำว่าการถือศาสนา เหมือนจับใบหญ้าคา ต้องระวังมันจะบาดมือ กาลามสูตรแนะให้เราสงสัย และตั้งคำถามกับทุกคนเชื่อที่จะรับมา และเสนอให้เราเชื่อความจริง และความถูกต้องทางศีลธรรมที่รู้ได้ด้วย “ปัญญา” ของตนเอง</strong></p>
<p>ความหมายของการใช้ “ปัญญา” เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตตนเองได้ ตามที่พุทธะเสนอ น่าจะใกล้เคียงกับ “ปรัชญา” มากกว่า “ศาสนา” ด้วยซ้ำ เพราะในงานประวัติศาสตร์ความคิดปรัชญามองว่า กรอบคิด (concept) แบบพุทธที่ให้ภาพความจริงของชีวิต สรรพสิ่ง และศีลธรรม เช่น กรอบคิดอริยสัจ, ปฏิจจสมุปบาท, ไตรลักษณ์, สุญญตา, กาลามสูตรเป็นต้นคือปรัชญาแบบหนึ่ง</p>
<p>ขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ หรือความศรัทธาที่สร้างขึ้นผ่านเรื่องเล่าและพิธีกรรมต่างๆ ที่ชวนเชื่อและเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์เหนือเหตุผลของพระศาสดา, นักบวช, และสถานะอำนาจในนามศาสนาของชนชั้นปกครองที่เป็นธรรมราชา กษัตริย์โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สมมติเทพ เทวราชาเป็นต้นที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์เหนือคนธรรมดาสามัญ และเป็นเผด็จการที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้</p>
<p>พูดอีกอย่าง ปัญญา หรือ “ปรัชญา” ในภาษาอังกฤษคือ “philosophy” ที่หมายถึง “love of wisdom” มีมิติ “ปลดปล่อย” (liberate) มากกว่า ขณะที่ศาสนามีมิติ “ครอบงำ” (dominate) มากกว่า เพราะปรัชญาเน้นการตั้งคำถาม และการสร้างข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ที่นำไปสู่การเข้าใจความจริงด้วยปัญญา หรือเหตุผลของตนเอง</p>
<p><strong>ปรัชญาจึงเรียกร้องการมี “autonomy” หรืออิสรภาพในการกำหนดตนเองในการใช้ปัญญาหรือเหตุผลเข้าใจความจริง และความถูกต้อง ขณะที่ศาสนาเรียกร้องศรัทธาเชื่อฟังต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนืออิสรภาพของเรา เช่น อำนาจของพระเจ้า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ศาสดา นักบวช ศาสนจักร กษัตริย์ที่มีสถานะและอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ตามความเชื่อศาสนาต่างๆ</strong></p>
<p>จะว่าไปแล้ว บุคลิกภาพทางปัญญาของพุทธะ มีความเป็น “นักปรัชญา” มากกว่า เพราะการแสวงหาความจริงของสิทธัตถะ เริ่มจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาจากครูอาจารย์ และคัมภีร์ต่างๆ และตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ของความทุกข์ในชีวิตของผู้คน และของตนเอง จึงทำให้มี autonomy จากอำนาจครอบงำของคนอื่นๆ หรือความเชื่ออื่นๆ เช่น มีอิสระจากอำนาจครอบงำของพ่อ ครอบครัว ราชสมบัติ เมื่อใช้ชีวิตเรียนรู้ในสำนักอาจารย์ต่างๆ ก็มีอิสระจากอำนาจครอบงำของอาจารย์ เมื่อทดลองตบะตามความเชื่อศาสนาต่างๆ ก็เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของลัทธิความเชื่อเหล่านั้นได้ จึงมีเสรีภาพในการใช้ปัญญาของตนเองอย่างเต็มที่ และเกิดปัญญารู้แจ้งที่ทำให้เป็นพุทธะในที่สุด</p>
<p><strong>จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางปรัชญาของพุทธะ คือ “เส้นทางอิสรภาพ” เริ่มจากมีอิสรภาพในการตั้งคำถามต่อทุกความเชื่อที่จะรับมา การกำหนดตนเองในการเลือกทางเดินของชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไปจนถึงการมีอิสรภาพด้านใน และสามารถดำรงชีวิตด้วยการเป็นพุทธะ หรือผู้ตื่นรู้ที่มีแสงสว่างทางปัญญานำทางตนเอง เส้นทางอิสรภาพดังกล่าว สะท้อนกระบวนการทางปรัชญามากกว่าศาสนา เพราะพุทธะและผู้ติดตามไม่ได้สวดอ้อนวอนหรือประกอบพิธีกรรมบูชาใดๆ แบบศาสนา แต่สร้างชุมชนการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาสติปัญญาเพื่ออิสรภาพ และสันติสุขเป็นด้านหลัก</strong></p>
<p>ในนวนิยาย <strong>“สิทธารถะ”</strong> จะเห็นว่าสิทธารถะปฏิเสธที่จะเป็นสาวกผู้ติดตามพุทธะ แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธ “ความเป็นพุทธะ” เพราะเขาเชื่อว่าการเกิดปัญญาแบบพุทธะ เป็นปรัชญาชีวิตที่แต่ละคนต้องทำให้เป็นจริงด้วยตนเอง ไม่ใช่คำสอนศาสนา หรือพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดปัญญาแบบพุทธะได้</p>
<p>การได้พบกับพุทธะ ทำให้สิทธารถะเป็นอิสระจากเส้นทางศาสนา เขาทิ้งเครื่องแบบนักบวช การสวดมนต์ และการฝึกปฏิบัติแบบศาสนาใดๆ ไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาที่เรียนรู้เข้าใจชีวิตจากประสบการณ์ทุกข์-สุขของตนเอง สุดท้ายเขาทำปรัชญาชีวิตของตนเองให้เป็นจริงในบทบาทคนแจวเรือที่ “เรียนรู้จากสายน้ำ” และแจวเรือส่งสาวกของพุทธะที่เป็นสหายเก่าของเขาข้ามฟาก</p>
<p><strong>เรื่องราวของสิทธารถะทิ้งประเด็นปัญหาชวนคิดว่า ศาสนาที่ประกอบสร้างบุคคลศักดิ์สิทธิ์อย่างศาสดา นักบวช และการใช้เวลาชีวิตไปกับพิธีกรรมต่างๆ มากมายนั้น ทำให้ชีวิตมนุษย์ซับซ้อน ยุ่งยาก หลงทาง และห่างไกลจากความเป็นมนุษย์ตามเป็นจริงมากเกินไปหรือไม่ </strong> </p>
<p>อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่ามากมายในไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่ประกอบสร้าง “ความเป็นศาสนา” ของพุทธะในฐานะเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” หรือเป็น “สัพพัญญู” ราวกับเป็นภาพเสมือนของพระเจ้า แต่กระนั้น “แก่นแกน” ของความเป็นพุทธะ ก็คือการมีอิสรภาพในการแสวงหาความจริงและอิสรภาพด้านใน ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายได้อย่างมีเหตุผล และสอดรับกับพุทธะในฐานะ “บุคคลทางประวัติศาสตร์” (ไม่ใช่เทพที่จุติมาจากสวรรค์) ที่มี autonomy เลือกใช้ชีวิตลองผิดลองถูกแสวงหาความจริง และพบอิสรภาพด้านในด้วยตนเอง</p>
<p>หลังจากพบทางเป็นพุทธะด้วยปัญญาของตนเองแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นไปจนตาย ก็ไม่ใช่ชีวิตของบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษสูงส่งที่ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จและราบรื่นไปเสียทุกอย่าง หากแต่เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ต่อรองกับความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ระบบชนชั้นวรรณะ และการเมือง-การสงครามในยุคสมัยนั้น รวมทั้งการปกครองสาวก ก็มีปัญหาสารพัด ซึ่งบางเรื่องพุทธะก็ทำสำเร็จ บางเรื่องก็ล้มเหลว ท่ามกลางความยากลำบากของการรอมแรมเดินทางเผยแพร่ ”ธรรมะ” และปัญหาสุขภาพรุมเร้าในวัยชรา</p>
<p><strong>วิธีการนำเสนอความคิดของพุทธะ ก็คล้ายกับวิธีการทางปรัชญาของนักปรัชญากรีกโบราณ และที่อื่นๆ (งานของนักปรัชญาตะวันตกก็ให้ข้อสังเกตแบบนี้) เช่นในการเทศนาครั้งแรก พุทธะก็เริ่มด้วยการวิพากษ์ความเชื่ออื่นๆ ที่เห็นว่าผิด ด้วยเหตุผลอย่างนั้นๆ แล้วจึงเสนอความคิดใหม่ของตนว่าถูกต้องกว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ</strong></p>
<p>เมื่อถูกถามว่า ศาสนาและประเพณีบูชาต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยหรือ? พุทธะก็ชี้ไปที่แม่น้ำ แล้วถามว่า ใครที่อยากข้ามแม่น้ำไปฝั่งตรงข้าม แล้วทำการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อศาสนา และอธิษฐานให้สองฝั่งเคลื่อนเข้ามาบรรจบกัน จะเป็นไปได้ไหม เมื่อคำตอบคือ “เป็นไปไม่ได้” ก็นำไปสู่การยอมรับความจริงที่เป็นไปได้ว่า หากอยากข้ามแม่น้ำก็จะต้องหาวิธีที่ถูก เช่น ถ้าน้ำตื้น ก็เดินลุยน้ำข้ามไปได้ ถ้าลึกแต่ไม่กว้างมากก็ว่ายข้าม ถ้าลึกและกว้างมากก็ต้องใช้เรือหรือแพเป็นต้น เช่นเดียวกัน ด้วยการใช้สติปัญญาของตนเอง ย่อมทำให้เรามีอิสรภาพและสันติภายในได้จริง นี่คือตัวอย่าง “วิธีการทำปรัชญาแบบหนึ่ง” ที่ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากศาสนา</p>
<p>เพราะสิ่งที่เรียกว่าสติ, อิสรภาพ, สันติภายใน, ปัญญา, กรุณา และอื่นๆ ไม่ได้มีความหมายเชิงศาสนาใดๆ เลยที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ต้องประกอบพิธีกรรมบูชา หรือจะสวดอ้อนวอนพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพื่อให้คุณค่าเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่คุณค่าเหล่านั้นคือ “ความเป็นมนุษย์” ของเราทุกคนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับความรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง หรือความรักและการให้อภัยตามคำสอนเยซู ก็คือความเป็นมนุษย์ของเรา ที่บ่มเพาะให้งอกงามได้ด้วยกระบวนการใช้สติปัญญา ทว่าเมื่อความคิดเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่าน “สถาบันศาสนา” ความหมายก็เปลี่ยนไป</p>
<p>เช่น ในพุทธศาสนาไทยหรือ “พุทธราชาชาตินิยม” คำสอนของพุทธะในความหมายของ “เส้นทางอิสรภาพ” ที่ทำให้เรามี autonomy ในการกำหนดตนเองไม่เวิร์คเลย เพราะนักบวชภายใต้ศาสนจักรของรัฐไม่มีแม้แต่เสรีภาพในการตีความคำสอนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตย</p>
<p>แม้จะมีพระจำนวนมากขึ้นที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ภายใต้ระบบการปกครองและวัฒนธรรมอำนาจนิยมของศาสนจักร พระเหล่านั้นก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองนำเสนอเส้นทางอิสรภาพแบบพุทธะออกมาได้อย่างมีคุณค่าต่อสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่</p>
<p>ตัวอย่างเช่น ปราชญ์พุทธบางคน เขียนหนังสืออธิบาย “พุทธธรรม” จากไตรปิฎกได้อย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อเขานำพุทธธรรมมาประยุกต์กับสังคมและการเมือง กลับให้ข้อเสนอที่ขัดกับการมี autonomy ของปัจเจกบุคคล เช่น เสนอให้คงการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ ปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐ เน้นความสำคัญของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ เป็นต้น อีกทั้งยังเสนอ “ธรรมะ” สำหรับการปกครองทางโลกว่า “เมื่อประชาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า ระบบการปกครองคณะสงฆ์ มีธรรมาธิปไตยหรือไม่ หาประชาธิปไตยเจอแล้วหรือยัง เป็นต้น</p>
<p>ทั้งๆ ที่เส้นทางอิสรภาพของพุทธะที่เห็นได้จากปรัชญาชีวิตสิทธัตถะที่ใช้ autonomy แสวงหาความจริงจนพบอิสรภาพด้านใน และปรัชญาที่ให้ภาพความจริงของชีวิตและสรรพสิ่งผ่านคอนเซ็ปต์อริยสัจ ปฎิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ สุญญตา กาลามสูตร เป็นต้นที่ล้วนแต่เน้นการมี autonomy และอิรภาพด้านใน ไม่มีอะไรเลยที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย และสิทธิมนุษยชน แต่ปรัชญาเหล่านี้กลับไม่มีพลังใดๆ ในการสนับสนุนการมีชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น เพราะถูก “ศาสนาพุทธแบบไทย” ที่รับใช้อำนาจไม่ประชาธิปไตยของชนชั้นปกครองครอบงำกดทับ</p>
<p>จะมีประโยชน์อะไรเล่ากับการภูมิใจว่า เถรวาทไทยรักษาไตรปิฎกที่บันทึกคำสอนดั้งเดิมทอันเป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนาไว้ได้ดีกว่า ขณะที่ฝ่ายมหายาน และวัชรยานยอมรับการแต่งคัมภีร์ใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ มากกว่า แต่สิ่งที่ตีความใหม่ๆ กลับทำให้ “เส้นทางอิสรภาพ” ของพุทธะที่สนับสนุนการมี autonomy และอิสรภาพด้านในกลมกลืนไปกับสังคมประชาธิปไตยโลกวิสัย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และสันติภาพทางสังคมได้ดีกว่า </p>
<p>ยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ปรัชญาของพุทธะยืนยัน autonomy ในการแสวงหาความจริงจนพบอิสรภาพด้านในด้วยปัญญาของตนเอง โดยต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของศาสนา ประเพณี อำนาจของครูอาจารย์ ศาสนจักร และอำนาจรัฐเผด็จการใดๆ แต่พุทธไทย ซึ่งเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” เน้นการสอนให้เชื่อง เชื่อฟัง และสยบยอมเลื่อมใสรับใช้อุดมการณ์และอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของชนชั้นปกครอง</p>
<p>ท่องกันอยู่นั่นแหละ "ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" แต่กลับมองว่าเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ รัฐประหารเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ “ศาสนาประจำชาติ” คือทางพ้นทุกข์</p>
<p><strong>พุทธไทยจึงสวนทางกับปรัชญาอันเป็นเส้นทางอิสรภาพของพุทธะอย่างสิ้นเชิง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย ที่ยืนยันเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง</strong></p>
<p> </p>
<p style="margin: 0in 0in 8pt;"><span style="font-size:11pt"><span style="line-height:107%"><span style="font-family:Calibri,sans-serif"><strong><span lang="TH" style="font-size:12.0pt" xml:lang="TH"><span style="line-height:107%"><span style="font-family:"Tahoma",sans-serif">ที่มาภาพ </span></span></span></strong>
<span style="font-size:12.0pt"><span style="line-height:107%"><span style="font-family:"Tahoma",sans-serif">[url]https://www.bbc.com/thai/articles/cw45e993l75o</span></span></span>[/url]</span></span></span></p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">บทค
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/02/107948 







