ใครพูดอะไรบ้าง ‘ร่างฯ นิรโทษกรรม’ ภูมิใจไทยยื่นร่างโค้งสุดท้าย ปธ.ปิดประชุมเร็ว คุยต่อวีคหน้า
<span>ใครพูดอะไรบ้าง ‘ร่างฯ นิรโทษกรรม’ ภูมิใจไทยยื่นร่างโค้งสุดท้าย ปธ.ปิดประชุมเร็ว คุยต่อวีคหน้า</span>
<span><span>See Think</span></span>
<span><time datetime="2025-07-09T18:34:44+07:00" title="Wednesday, July 9, 2025 - 18:34">Wed, 2025-07-09 - 18:34</time>
</span>
<div class="field field--name-body field--type-text-with-summary field--label-hidden field-item"><p>9 ก.ค. 2568 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 13.09 น.เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม วาระ 1 รับหลักการ โดยพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม การประชุมโดยส่วนใหญ่ให้เวลาแก่ผู้เสนอร่างในการอธิบายร่างเป็นหลัก และมีการอภิปรายบ้างประปราย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ยังไม่ทันที่จะได้ชี้แจงกับครบทุกฉบับ ประธานที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมโดยกล่าวสั้นๆ เพียงว่า ที่เหลือไว้พิจารณากันในอาทิตย์หน้า</p><p>ทั้งนี้ มี สส.และประชาชน เสนอร่างกฎหมายรวม 5 ฉบับ ได้แก่</p><ul><li aria-level="1">ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ</li><li aria-level="1">ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม</li><li aria-level="1">ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอโดย พรรคประชาชน</li><li aria-level="1">ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน</li><li aria-level="1">ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาตให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้</li></ul><p>ณัฐวุฒิ บัวประทุม พรรคประชาชน เสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบว่า ควรอภิปรายเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน แล้วจึงมาหารือทีหลังว่าจะลงมติรวมกัน หรือแยกลงมติทีละร่าง ซึ่งสมาชิกทั้งหมดไม่มีการทักท้วง</p><div class="more-story"><p><strong>เรื่องที่เกี่ยวข้อง</strong></p><ul><li>
ย้อนทวน 4 ร่างนิรโทษกรรมคดีการเมืองก่อนเข้าสภา ต่างยังไง คดีไหนน่าจะได้บ้าง</li></ul></div><h2>‘พ.ร.บ.สันติสุข’ ไม่รวม 112 ไม่รวมคดีฉ้อโกงเลือกตั้ง</h2><p>จากนั้นเริ่มจากร่าง พ.ร.บ.แรกของ วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยวิชัยกล่าวถึงหลักการร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุขว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดการแตกแยกของความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ยกระดับการจำกัดการชุมนุมทางการเมืองอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนกลายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ประชาชนเข้าร่วมการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ด้วยเจตนาให้ประเทศเดินหน้า พวกเขาต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และชดเชยความเสียหายต่อภาครัฐในวงเงินที่เกินกว่าจะรับได้จริง</p><p>การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่นจนนำไปสู่การเผชิญหน้าของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย และมีอีกจำนวนมากต้องถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ดังนั้น การดำเนินคดียิ่งทำให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกในสังคม แม้ว่าการกระทำต่างๆ ของประชาชนจะมีความผิดโดยสภาพ แต่เป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีเจตนาชั่วร้าย หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้คนที่ถูกดำเนินคดีได้รับการนิรโทษกรรม และปราศจากมลทินมัวหมอง เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชน และสังคมได้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย </p><p>วิชัย กล่าวถึงเงื่อนไขการนิรโทษกรรมว่าจะไม่ให้ใช้กับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทุกคดี และการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต่อประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าคดีการฉ้อโกงการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยนั้น วิชัย ระบุว่า พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข จะไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต</p><p>หลังจากนั้น เป็นคิวของปรีดา บุญเพลิง พรรคกล้าธรรม ซึ่งกล่าวถึงหลักการของ พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งมีหลักการเหมือนกับร่างที่เสนอโดย ‘วิชัย’ พรรครวมไทยสร้างชาติ</p><h2>‘ปชน.’ เน้นเปิดกว้าง ครอบคลุม</h2><p>ต่อมา 13.19 น. รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นผู้แถลงแทน ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …</p><p>รังสิมันต์กล่าวว่า ร่างนี้มีหลักการสำคัญคือ การนิรโทษกรรมคดีแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุม และการแสดงความเห็นทางการเมือง นับตั้งแต่มีการชุมนุม ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อ 11 ก.พ. 2549 จนถึงปัจจุบัน อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากทั้งที่การกระทำของประชาชนได้ออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้นิรโทษกรรมฯ เพื่อขจัดความขัดแย้งที่ยังปรากฏในปัจจุบัน</p><p>นอกจากนี้ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมมีการใช้และตีความกฎหมายแต่เพียงตัวบท โดยไม่พิจารณาถึงมูลเหตุของการกระทำ ซึ่งมีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น โครงสร้างตามกฎหมายปกติจึงไม่สามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาหรือวินิจฉัยว่าการกระทำของบุคคลดังกล่าวสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่</p><p>โดยคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา เราพยายามให้มีตัวแทนของภาคประชาชนผ่านสภาฯ ฝ่ายรัฐบาล และศาล ผสมไปกับตัวแทนจากฝ่ายอัยการ เพราะเห็นว่าการสร้างความเป็นธรรมให้สังคม หรือจะวินิจฉัยว่านิรโทษกรรมใครได้หรือไม่ได้ ต้องอาศัยตัวแทนจากหลายฝ่าย</p><p>“อยากให้ทุกท่านสบายใจว่าพรรคประชาชนไม่ได้เป็นคนไปจิ้มว่าใครจะได้รับการนิรโทษฯ พรรคประชาชนไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่านายคนนี้จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่มันจะเป็นเรื่องของคณะกรรมการชุดนี้ที่มีตัวแทนทั้งศาล สภาฯ ตัวแทนรัฐบาล อยู่ข้างใน และผมคิดว่านี่คือความเป็นธรรม”</p><p>“อย่างที่เราบอกไปว่าวันนี้มันไม่มีคนกลาง แต่เราต้องการโต๊ะแห่งการพูดคุย ทุกฝ่ายมาคุยกันว่าเราจะหาทางออกเรื่องนี้ได้อย่างไร” รังสิมันต์กล่าว</p><h2>ไม่ระบุข้อหาเจาะจง ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อแก้ขัดแย้ง</h2><p>สส.พรรคประชาชนกล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องการให้เปิดกว้างให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากช่วงระยะเวลาที่ระบุในร่าง พ.ร.บ. เราไม่ต้องการให้ใครหรืออุดมการณ์ใดก็ตามที่ออกไปชุมนุมทางการเมืองต้องเจอนิติสงคราม เจอกระบวนการยุติธรรมในการเล่นงานในรูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความหวังดีต่อประเทศชาติ และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแท้จริง ต้องไม่เริ่มจากการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง</p><p>นี่ยังเป็นเหตุผลที่ไม่ได้มีการระบุข้อหาใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อย่างเฉพาะเจาะจง ช่วงที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีทางการเมืองมีหลายรูปแบบ มีตั้งแต่การใช้กฎหมายข้อหาหนัก มาตรา 112 ไปจนถึง พ.ร.บ.ความสะอาด หรือ พ.ร.บ.เครื่องเสียง ทุกข้อหาสามารถนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองได้หมด ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งเป็นเวลานานมันยากมากๆ ที่จะระบุข้อหาอย่างเฉพาะเจาะจงว่าต้องข้อกล่าวหาใด มาตราใด หรือ พ.ร.บ.ใด ดังนั้น การประตูให้กว้างที่สุด และเงื่อนไขที่น้อยที่สุดจะช่วยทำให้ทุกคนเข้าถึงการนิรโทษกรรมได้</p><p>สำหรับเงื่อนไขที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม คือ 1.เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง หรือสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติ หรือการกระทำในขั้นตอนใดก็ตาม ที่สมควรเกินกว่าเหตุ</p><p>2. การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท เหตุที่ต้องกำหนดข้อยกเว้นเหล่านี้เพื่อไม่ให้นิรโทษกรรมคนที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน</p><p>3. เป็นการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (ข้อหากบฏ)</p><p>รังสิมันต์กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยที่จะขีดเส้นอย่างชัดเจนว่า การชุมนุมทางการเมืองจบลงเมื่อใด อย่างร่างสร้างเสริมสังคมสันติสุขขีดไว้ที่ปี 2565 เพราะปัจจุบันยังมีคนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกดำเนินคดี หรือการพิพากษาจำคุกคนที่เห็นต่างต่อไปเรื่อยๆ และหากเราไม่แก้ไขปัญหานี้ ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะไม่คลี่คลายอย่างแท้จริง</p><h2>อย่าติดกรอบ กังวลเพราะเป็นพรรคประชาชน</h2><p>รังสิมันต์ กล่าวเสริมว่า เราไม่สามารถยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองกำหนดเฉพาะข้อหาอะไร แม้แต่ข้อหามาตรา 112 คุณก็เลือกไม่ได้</p><p>“คนจำนวนมากถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คนเหล่านั้นล้วนมีความมุ่งหมายทางการเมือง และปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่การตั้งข้อหาหลายครั้ง เราต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มีการเลือก ไม่ได้มาดูข้อเท็จจริง ไม่ได้ดูรายละเอียด ไม่ได้ดูพยานหลักฐาน และที่สำคัญคือไม่ได้มาดูว่าสิ่งที่ตัวเองได้ดำเนินการไป ให้ความเป็นธรรมกับเขาแล้วหรือยัง สุดท้ายความขัดแย้งนี้มันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ”</p><p>รังสิมันต์ ระบุว่า การตั้งกรอบกฎหมายเพื่อช่วยเหลือแค่พวกพ้องตนเอง ไม่ได้สร้างสันติสุขอย่างแท้จริง แต่เป็นการสร้างปัญหาการเลือกปฏิบัติและความขัดแย้งใหม่ต่อไปใน พ.ศ.นี้ </p><p>“ผมทราบดีว่า ร่างนิรโทษฯ (ของ ปชน.) ไม่เป็นที่สบายใจของหลายฝ่าย ไม่เป็นที่สบายใจของเพื่อนสมาชิกจำนวนมาก แม้เราจะเขียนกว้างๆ และไม่ได้ระบุเอาไว้ว่ามีกฎหมายไหนบ้างที่จะต้องนิรโทษกรรม แต่หลายๆ ฝ่ายก็พยายามที่จะบอกว่าต้องรวมถึง 112 แน่นอน ดังนั้น จะไม่มีทางโหวตให้กับร่างของพรรคประชาชน การติดกรอบแค่นี้ ทำให้สังคมไทยของเราคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงๆ หรือ</p><p>“วันนี้เราพยายามที่จะไม่มานั่งคิดถึงเรื่องข้อหาอะไร แต่เราเอาความขัดแย้งเป็นตัวตั้ง และหาทางคลี่คลาย ถ้าท่านทั้งหลายติดกรอบว่าจะต้องมีมาตรานั้นได้ มาตรานี้ไม่ได้ สุดท้ายเราจะเดินหน้าได้อย่างไร เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประชาชนทุกๆ คนที่อยู่ในความขัดแย้ง เขาจะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย” สส.พรรคประชาชน กล่าวพร้อมเสริมว่า สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีที่ไม่ต้องการการนิรโทษกรรม ก็สามารถสละสิทธิได้ เพื่อไปพิสูจน์ในกลไกศาล</p><p>“ช่วงเวลาที่ผ่านมาพวกเราถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่น่ากลัว ไม่จงรักภักดี มีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างสถาบันฯ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่า เราต้องการให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานจบลง เพื่อฟื้นฟูหลักนิติรัฐ และเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม” รังสิมันต์ ระบุ</p><h2>ภาคประชาชนชี้ต้องรวม 112 คนส่วนใหญ่ในคุก-กรรมการจาก สส.และคนโดนคดี</h2><p>พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับภาคประชาชน กล่าวชี้แจงมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้</p><p><strong>
สถานการณ์และสถิติในคดีการเมือง</strong></p><p>กลุ่มความขัดแย้งตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่จะได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมี 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ</p><ul><li aria-level="1">กลุ่มพธม. ชุมนุมปี 2548 จนเกิดรัฐประหารปี 2549 มีผู้ถูกดำเนินคดีราว 200 คน</li><li aria-level="1">กลุ่มนปช. ปี 2552-2553 มีการสลายชุมนุมปี 2553 มีผู้ถูกดำเนินคดีราว 1,100 คน (แต่จากข้อมูลของ ศปช. มีกว่า 1,700 คน) ในช่วงนี้เริ่มมีคดีมาตรา 112</li><li aria-level="1">กปปส.ชุมนุม ปี 2557 ต่อมาเกิดการรัฐประหาร และประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดตามประกาศ คสช. และคดีด้านความมั่นคง รวมถึงก่อนการทำประชามติก็มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมารณรงค์ รวมถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยุคนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีขั้นต่ำ 2,600 คน</li><li aria-level="1">ยุค 2563 เป็นต้นมา ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,977 คน โดยแบ่งเป็นคดีช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงโควิด-19 ประมาณ 1,400 คน ส่วนคดีที่มีมากรองลงมา คือ คดีมาตรา 112 ราว 281 คน</li></ul><p>พูนสุขกล่าวว่า ทั้งหมดรวม 4 ช่วงเวลา ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมีอยู่ไม่ถึงราว 10,000 คน แต่หากไปดูตัวเลขจาก กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ก็จะเป็นตัวเลขที่เยอะกว่านี้ ซึ่งตัวเลขนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะยังไม่ได้กรองมูลเหตุจูงใจของการกระทำ อาศัยรวบรวมข้อมูลจากฐานความผิดในเวลา 20 ปี จึงเป็นตัวเลขที่เกินจริง เช่น คดีจราจรทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นคดีทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่สำคัญที่สุดคือในวันนี้ มีผู้ที่ถูกจองจำด้วยคดีทางการเมือง 51 คน หากร่างนิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ไม่ได้ไปต่อ คนที่อยู่ในเรือนจำก็จะไม่ได้ออกไป มีเพียงคนส่วนน้อยที่จะได้รับประโยชน์</p><p><strong>
กรอบเวลา-คดีที่ได้รับอานิสงส์-ข้อยกเว้น</strong></p><ul><li aria-level="1">ระยะเวลาในการนิรโทษกรรม: 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ แต่จริงๆ มีการชุมนุมก่อนหน้านั้นแล้ว หากในชั้นกรรมาธิการจะมีการแก้ไขในระยะเวลาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเชื่อว่าประชาชนคงไม่มีปัญหา</li><li aria-level="1">บุคคลที่ควรได้รับนิรโทษ<ul><li aria-level="2">ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม หากว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุ เป็นความผิดตามมาตรา 113 (ล้มล้างการปกครอง /รัฐประหาร)</li></ul></li></ul><p>พูนสุขอธิบายว่า ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำการอย่างได้สัดส่วน ป้องกันตามเหตุที่จะเกิดขึ้น ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุก็ควรถูกตรวจสอบ เราไม่ต้องการให้เกิดการยกเว้นความรับผิด</p><ul><li aria-level="1">การกระทำที่ได้รับการนิรโทษกรรม<ul><li aria-level="2">การนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านมาเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะเหตุการณ์ โดยไม่เคยมีครั้งไหนที่การนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ในช่วงเวลายาวนานถึง 20 ปีเหมือนกับครั้งนี้</li><li aria-level="2">การนิรโทษกรรมครั้งนี้ เราจึงเสนอ 2 ประเภทของการกระทำ</li></ul></li></ul><p><strong>1. คดีการเมืองโดยแท้ และควรได้รับนิรโทษกรรมโดยทันที มี 5 ประเภท</strong></p><ul><li aria-level="1">คดีความเกี่ยวกับความผิดตามคำสั่งประกาศ คสช.</li><li aria-level="1">พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช.</li><li aria-level="1">ฐานความผิดตามมาตรา 112</li></ul><p>พูนสุขอธิบายว่า ปัญหาของคดีมาตรา 112 มีทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิในการประกันตัว เวลาต่อสู้คดี ศาลก็บ่ายเบี่ยง ไม่เรียกพยานหลักฐาน หรือแม้กระทั่งตัดพยาน แม้มีหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย แต่ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้คือ ศาลใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อจะทำให้สุดท้ายเป็นการพิจารณาลับอยู่ดี เช่น การที่ศาลสั่งห้ามนำข้อมูลไปรายงาน</p><p>“คดีมาตรา 112 คน มีคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ 32 คน จาก 51 คน สมมติว่าที่ประชุมแห่งนี้เห็นว่า ไม่มีปัญหาเลย สามารถนิรโทษกรรมได้หมด มีเพียงคดีเดียว (มาตรา 112) เท่านั้นที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ทุกวันนี้ 51 ที่คนอยู่ในเรือนจำ สัดส่วน 32 คนในคดี 112 คือคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ หมายความว่าถ้านิรโทษกรรมไปก็ยังมี 62% ยังอยู่ในเรือนจำ ท่านกำลังนิรโทษกรรมให้คนส่วนน้อย” </p><ul><li aria-level="1">พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548</li><li aria-level="1">การออกเสียงประชามติ 2559</li><li aria-level="1">คดีที่เกี่ยวโยงกับข้อ 1-5 ที่กล่าวมา</li></ul><p><strong>2. คดีกลุ่มที่เสนอว่าไม่ต้องกำหนดฐานความผิดตายตัว แต่ให้มีคณะกรรมการขึ้นพิจารณาว่า คดีไหนเป็นการเมือง หรือคดีไหนไม่เป็นการเมือง</strong></p><p>พูนสุขอธิบายว่า ถ้าพิจารณาเทียบกับร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดไว้ 20 ฐานความผิด แต่จากฐานข้อมูลคดีความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีอยู่ 34 ฐานความผิด เราจึงเสนอว่าไม่ต้องมีฐานความผิดล็อกไว้สำหรับกลุ่มนี้ แต่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยพิจารณาว่าคดีนั้นมีมูลเหตุจูงใจเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือความขัดแย้งหรือเปล่า</p><p>โดยที่มาของคณะกรรมนิรโทษกรรม ทางภาคประชาชนเสนอให้มาจาก 2 องค์ประกอบหลักด้วยกัน คือ สส. และประชาชนที่ถูกดำเนินคดี โดยอำนาจของคณะกรรมการฯ อาจไม่ต้องดูรายคดีก็ได้ แต่ดูเป็นรายเหตุการณ์</p><p>“เราไม่ได้มีศาลหรืออัยการเข้ามา เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการไม่ใช่การพิจารณาว่าคดีไหนถูกคดีไหนผิด แต่เป็นการพิจารณาว่าคดีไหนเป็นคดีการเมือง หรือไม่เป็น” พูนสุขกล่าว</p><h2>‘ภูมิใจไทย’ เสนอร่างโค้งสุดท้าย ไม่รวม 112-กรรมการมาจากศาลล้วน</h2><p>ภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้รับมอบหมายจาก อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ให้เป็นผู้เสนอร่างฯ ของพรรค ซึ่งเพิ่งจะเสนอในสภาผู้แทนฯ ในวันนี้ ขณะที่ร่างอื่นๆ นั้นมีการเสนอมาตั้งแต่สมัยประชุมก่อน และผ่านการรับฟังความเห็นในเว็บไซต์สภา ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว</p><p>ภราดรอธิบายว่า พรรคเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง เนื่องจากผู้ชุมนุมทางการเมืองที่กลายเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายนั้น เจตนาจริงๆ คือต้องการแสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ได้ต้องการจะทำผิด จึงเป็นเหตุผลให้พรรคเสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….โดยมีหลักการให้ผู้ซึ่งกระทำความผิดจากการเข้าร่วมชุมนุมมทางการเมืองและแสดงออกทางการเมืองพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด และพ้นจากความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวได้รับการเยียวยา</p><p>ภราดรกล่าวด้วยว่า ร่างนี้มีจุดที่จะต้องแก้ไข 2 จุด ซึ่งปรากฏอยู่ใน มาตรา 6 และอยู่ในบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ หน้าที่ 2 ข้อ 2.3 “แต่ขอเปลี่ยนเลข พ.ศ. จากเดิม 2558-2565 เป็น 2548-2565” ภราดรกล่าว</p><p>สำหรับร่างของพรรคมีความเหมือนกับร่างของวิชัย สุดสวาสดิ์ และคล้ายกับร่างของปรีดา บุญเพลิง ในเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง โดยยกเว้นความผิดตามมาตรา 112, ฐานทุจริต หรือประพฤติมิชอบ, ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงถึงชีวิต, ผู้ที่ก่อความเสียหายกับเอกชน</p><p>ส่วนความต่างระหว่างร่างของพรรคภูมิใจ กับร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะอยู่ที่มาตราที่ 4 คือในส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด ซึ่งร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้มีอยู่ 9 คน และมีองค์ประกอบบางส่วนมาจากการคัดเลือกของ ครม., สส., สว.ขณะที่ร่างของภูมิใจไทย คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ จะไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้องเลย เพราะหากมีกลุ่มคนจากฝ่ายการเมืองก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดอคติ เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงตัดกลุ่มที่เป็นส่วนของนักการเมืองออกทั้งหมด เหลือไว้แต่คนในกระบวนการศาล อาทิ ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, อัยการสูงสุด และ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โดยให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ เหตุผลเพื่อที่จะให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการวินิจฉัยด้วย ทำให้กระบวนการดำเนินเรื่องนิรโทษกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น</p><h2>‘ประชาธิปัตย์’ ยันไม่นิรโทษฯ 112</h2><p>เวลา 14.37 น. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนระบุว่า เขาเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งเป็นคดีความผิดโดยทั่วไป เช่น การชุมนุมทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 110 หรือมาตรา 112 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นต้น</p><p>“หาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับใดเข้าข่ายกรณีที่ผมกราบเรียนไป กระผมและประชาธิปัตย์ พร้อมให้การสนับสนุน” จุรินทร์ ระบุ</p><p>จุรินทร์ยังยกเหตุผล 2 ข้อที่ไม่นิรโทษกรรมคดี 112 คือ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ให้การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 และ 110</p><p>สส.ปชป. กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ สภาฯ เคยปัดตกผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ที่ระบุให้นิรโทษกรรมฯ คดีอ่อนไหว ออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1. ไม่นิรโทษกรรม 2. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และ 3. นิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไข แต่เพราะเกรงว่าถ้าสภาฯ ลงมติเห็นชอบ อาจกลายเป็นสารตั้งต้นการนิรโทษกรรมคดี 112 ได้ สุดท้ายสภาฯ ปัดตกข้อสังเกตด้วยคะแนน 270 ต่อ 152 ซึ่งสะท้อนว่าสภาฯ นี้เคยมีความเห็นไม่นิรโทษกรรมคดี 112</p><p>“ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะนิรโทษกรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข สร้างสังคมปรองดอง อันนี้เป็นดาบ 2 คม เพราะอีกคมหนึ่งแทนที่จะสร้างสังคมปรองดอง อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ได้” สส.ปชป. ทิ้งท้าย </p><p>หลังจากนั้นได้มี สส.โต้แย้งจุรินทร์ ว่าในประวัติศาสตร์เคยมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มาแล้วหลังเกิดกรณี 6 ตุลา 2519 ซึ่งเขาได้ขอใช้สิทธิชี้แจงโดยตอบว่า เขาพูดไม่ผิดว่ายังไม่เคยมีการออก พ.ร.บ.การนิรโทษกรรมการกระทำความผิด มาตรา 112 มาก่อน กรณีที่หยิบยกมาอาจจะเป็นกรณีที่เป็นการนิรโทษกรรมตามคำสั่งของ 66/23 ซึ่งไม่ได้เป็น พ.ร.บ.นิรโทษการกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฏในเอกสารของคณะ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งสภาเคยพิจารณาไปแล้ว ดังนั้นจึงยืนยันว่าพูดถูกต้อง</p><h2>‘รทสช.’ ไม่นิรโทษฯ 112 หวั่นสังคมแตกแยกเพิ่ม</h2><p>เวลา 15.00 น. ธนกร วังบุญคงชนะ สส. รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลุกขึ้นอภิปราย 3 ประเด็นหลัก คือ1.จุดยืนไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ข้อหาทุจริต และคดีอาญาที่ทำให้มีคนเสียชีวิต 2.คณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมต้องอิสระ-โปร่งใส และ 3.เรื่องมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ </p><p>ธนกร ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เนื่องจากเป็นกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ เพราะฉะนั้น ศาล รธน. วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ซึ่งพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือการพยุงพระเกียรติยศระดับประเทศ รักษาคุณลักษณะในระบอบประชาธิปไตยฯ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น เขาไม่เห็นด้วยเรื่องการนิรโทษกรรมมาตรา 112</p><p>“การนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 มันจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เขามีความจงรักภักดีไม่สบายใจ และก็ออกมาเคลื่อนไหวอีก ก็นำไปสู่ความแตกแยกอีก”</p><p>ธนกร ระบุว่าได้คุยกับ สส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ของพรรคประชาชน เขาเห็นใจเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดี แต่ขอสื่อสารไปยังผู้นำจิตวิญญาณของเยาวชนเหล่านี้ว่าให้เลิกพฤติกรรมยุยงส่งเสริมเยาวชนได้ไหม เพราะมีหลายคนติดคุก ถูกดำเนินคดี บางคนยกฟ้อง หรือบางคนได้รับการประกันตัวระหว่างดำเนินคดี แต่ก็มีหลายคดีที่ออกมาแล้วกระทำความผิดซ้ำๆ ซากๆ อีก เพราะฉะนั้น ต้องไปดูว่าใครอยู่เบื้องหลัง และย้ำว่ายังไงก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112</p><p>ธนกร กล่าวต่อว่า รทสช. ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และต้องไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์</p><p>สส.รวมไทยสร้างชาติ ยืนยันว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อนิรโทษกรรมต้องมีความเป็นอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยเฉพาะต้องประกอบไปด้วย ภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เช่นนั้น คกก.ก็อาจตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตรงนี้ต้องมีความยุติธรรม</p><p>ท้ายสุด แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้นิรโทษกรรมแล้ว แต่ต้องวางมาตรการการกระทำผิดซ้ำด้วย ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมไปแล้ว แต่หลังจากนั้นมีการกระทำผิดอีก เช่น ถ้าภายในระยะเวลา 10-15 ปี ห้ามกระทำผิดอีกในข้อหาเดิม ถ้าทำผิด ต้องกลับมานับ 1 ใหม่อีกครั้ง เป็นต้น</p><h2>‘กล้าธรรม’ มองกรรมการวินิจฉัยฯ ต้องอิสระ โปร่งใส</h2><p>เวลา 16.26 น. สะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.พรรคกล้าธรรม อภิปรายโดยไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองมาตรา 112 เพียงแต่อ้างว่าคดีมาตรา 112 เป็นจารีตที่มีตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และแต่ละประเทศมีจารีตประเพณีไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ในร่างของพรรคกล้าธรรมระบุชัดเจนว่าไม่นิรโทษกรรมแก่คดี 112</p><p>สะถิระ กล่าวต่อว่า ในร่าง พ.ร.บ.สันติสุข หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งเขาเสนอว่าคณะกรรมการที่มาวินิจฉัยนิรโทษกรรมคดีการเมืองต้องมีการกำหนดขอบเขต เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง เพราะป้องกันไม่ให้มีความแตกแยกในอนาคต</p><p>ส่วนจุดยืนของพรรคกล้าธรรม ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และที่สำคัญผู้ที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย</p><h2>‘เชตวัน’ ย้ำนิรโทษกรรมคดี 112 ไม่ได้เท่ากับยกเลิกกฎหมาย</h2><p>“วาระนี้ไม่ได้เป็นวาระให้ใครมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี ว่าถ้าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แปลว่าไม่จงรักภักดี ถ้าไม่เห็นด้วย จึงจะแสดงว่าจงรักภักดี”</p><p>เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน อ้างอิงการอภิปรายของจตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทยที่ได้กล่าวไว้ในวันประชุมสภาฯ พิจารณารายงานศึกษาของ กมธ.วิสามัญฯ ศึกษานิรโทษกรรม เมื่อ ต.ค. 2567</p><p>เขากล่าวชื่นชมคำพูดของจาตุรนต์และยืนยันว่า การพิจารณากฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการแสดงความจงรักภักดี แต่เป็นโอกาสที่จะคืนเสรีภาพ คืนพ่อแม่ให้กับลูก คืนลูกให้กับพ่อแม่ และคืนความปกติให้กับสังคม ไม่มีใครควรติกคุกเพราะว่าแสดงความเห็นทางการเมือง</p><p>สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน มองว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะหลังการชุมนุมของคนรุ่นใหม่และนักเรียนนักศึกษาช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เยาวชนคืออนาคตของชาติ แต่เรากลับเอาเยาวชนที่มีความคิดความรู้ และความตื่นตัวทางการเมืองไปคุมขัง มันก็เหมือนกับการคุมขังประเทศชาติ แล้วเราจะมีอนาคตได้อย่างไร ดังนั้น จึงมีการคิดเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้ประชาชน</p><p>การไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นมาตั้งแต่การรับรายงานศึกษาของ กมธ.นั้น เชตวันยืนยันว่า ยังไงมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นโดยมากนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาเป็นคดีทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะว่ามีการใช้กลั่นแกล้งและทำลายกันอย่างชัดแจ้ง เขายังยกตัวอย่างบ้านหนึ่งที่เชียงใหม่ โพสต์ความเห็นทางการเมือง โดนคนไปฟ้องร้องที่ จ.ปัตตานี</p><p>เชตวันกล่าวด้วยว่า สำหรับคนที่กำลังกังวลเรื่องมาตรา 112 อยากย้ำว่าการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่เท่ากับการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว กฎหมายยังอยู่ จุดประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้ประชาชน เพราะว่าเขาเห็นต่างทางการเมือง</p><p>“เพื่อนสมาชิกได้โปรดพิจารณา พิสูจน์ให้เห็นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของเรา เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ คืนเสรีภาพให้ประชาชน คืนความปกติให้สังคม และขอสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองทุกกรณี” เชตวันทิ้งท้าย </p><h2>‘เบญจา’ ระบุเคยมีนิรโทษ 112 ปี 2521</h2><p>เวลา 17.06 น. เบญจา อะปัญ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 8 คดี กล่าวในประเด็นที่จุรินทร์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่าประเทศไทยไม่เคยมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีความมาตรา 112 โดยเฉพาะมาก่อนนั้น เรื่องนี้ถูกต้อง แต่เคยมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อปี 2521 เขาไม่ได้ระบุว่าให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 เพราะว่าเขานิรโทษกรรมทั้งหมดเลย ซึ่งในนั้นมันก็รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย ดังนั้น การบอกว่าไม่เคยมี








