[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 กรกฎาคม 2568 03:25:36 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คนไม่มีศีลเปรียบเหมือนคนตาย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)  (อ่าน 76 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 11
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1252


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: วานนี้ »




คนไม่มีศีลเปรียบเหมือนคนตาย
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ ๒๔ ม.ค. ๖๕)

      การที่เราทั้งหลายทั้งปวงได้มาทำวัตรสวดมนต์รวมกัน ถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของเรา โดยเฉพาะคณะครูบาอาจารย์คณะแม่ชีที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม การที่เราได้มาทำวัตก็ถือว่าเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ของเรา ให้มีความศรัทธา ให้มีความเชื่อ ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น เพราะว่าเราได้สวดเป็นประจำทุกวัน การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ตอนเช้าก็ดี ตอนเย็นก็ดี ก็ถือว่าเป็นบุญ ระลึกถึงร้อยครั้งก็เป็นบุญร้อยครั้ง ระลึกถึงพันครั้งก็เป็นบุญพันครั้ง ระลึกถึงตลอดชีวิตก็เป็นบุญตลอดชีวิต ระลึกถึงเวลาใดก็เป็นบุญเวลานั้น การระลึกถึงพระธรรมก็เหมือนกัน การระลึกถึงพระสงฆ์ก็เหมือนกัน

         ขณะที่คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมมีจิตใจเศร้าหมอง มีจิตใจขุ่นมัว มีจิตใจที่ถูกความโกรธความโลภความหลงเข้าครอบงำ เรานึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า นึกถึงคุณของพระธรรม นึกถึงคุณของพระสงฆ์แล้ว ทำให้จิตใจของเรามันมีความสบาย ทำให้จิตใจของเราผ่อนคลายจากความโกรธความโลภความหลง จากมานะทิฏฐิตัณหาต่างๆ เมื่อเราระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์แล้ว เราก็ย่อมผ่อนคลายจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนั้นได้

         นอกจากนั้นบุคคลผู้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์เนืองๆ บุคคลนั้นก็ย่อมมีหิริคือความละอายต่อบาป มีโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาปได้ เพราะฉะนั้น โบราณาจารย์จึงให้เราทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เพื่อที่เราจะได้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อยู่เนืองๆ เพื่อที่จะให้เรามีหิริความละอาย มีโอตตัปปะความเกรงกลัวอยู่เนืองๆ นี่เป็นอุบายของโบราณาจารย์ เป็นอุบายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กำหนดมา เพื่อที่จะให้เราอบรมจิตอบรมใจของเรา ห้ามจิตห้ามใจของเราไว้ในพระธรรมวินัย เพื่อที่จะได้เจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดศีลเกิดสมาธิเกิดมรรคเกิดผลเกิดพระนิพพานขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น การทำวัตรนั้นจึงถือว่าเป็นการที่ยังจิตยังใจของเราให้มีหิริแล้วก็โอตตัปปะได้

         นอกจากนั้น บุคคลผู้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าคุณของพระธรรมคุณของพระสงฆ์เนืองๆ นั้น ก็ถือว่าเป็นการเจริญพุทธานุสติ เจริญธรรมานุสติ เจริญสังฆานุสติ คือการระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์นั้น เป็นการระลึกถึงสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่จะประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งใดที่จะประเสริฐกว่าพระธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะประเสริฐกว่าพระสงฆ์อีกแล้ว เพราะฉะนั้น เราระลึกนึกถึงสิ่งที่ประเสริฐอยู่เป็นประจำย่อมห้ามซึ่งภัยทั้งหลายทั้งปวงได้ เหมือนกับบุคคลผู้ที่ไปอยู่กลางป่าก็ดี กลางเขาก็ดี ไปอยู่ในที่เร้นลับคนเดียว เกิดความหวาดหวั่น เกิดความกลัว เกิดความสะดุ้งแห่งจิตแห่งใจ เมื่อเราเกิดความหวาดหวั่นเกิดความกลัวเกิดความสะดุ้งทางจิตทางใจแล้วเนี่ย เราระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เราระลึกนึกถึงคุณของพระธรรม เราระลึกนึกถึงคุณของพระสงฆ์แล้วเนี่ย ก็ทำให้เรานั้นมีความอาจหาญขึ้นมา ทำให้ความกลัวทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันผ่อนลงมันเบาลงมันลดลงมันหมดไปจากจิตจากใจของเราได้ นี่ถ้าผู้ใดไปอยู่ตามป่าตามเขาตามป่าช้าตามเรือนว่างหรือตามที่เร้นลับต่างๆ เราเกิดความสะดุ้งขึ้นมา เราเกิดความหวาดหวั่นขึ้นมา เราระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระสงฆ์ นึกถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ความกลัวทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็พลันหายไปสิ้นไป นี่เรียกว่าคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ คุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เนี่ย มีคุณห้ามความกลัวทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่ากำราบความกลัวทั้งหลายทั้งปวงให้หมดไปสิ้นไปสูญไป เหมือนกับว่ามีเพื่อนอยู่รวมกันเป็นหมู่ร้อย ความกลัวมันหายไป ความอบอุ่นมันเกิดขึ้นมาแทน อันนี้เป็นการระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อย่างต่ำนะ

         แต่ถ้าเราระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ด้วยการน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ด้วยการให้ทานด้วยการรักษาศีลด้วยการเจริญสมถะด้วยการเจริญวิปัสสนา เราก็จะมีความอบอุ่นความมั่นใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีจิตคิดจะให้ทาน ความอิ่มใจความสบายใจมันก็เกิดขึ้นมาแล้ว จิตที่คิดจะให้กับจิตที่คิดจะเอามันมีความอิ่มใจต่างกัน จิตคิดที่จะเอาบางครั้งก็เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะอยากได้สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์ เนี่ยในลักษณะของจิตที่อยากได้นะ แต่จิตที่คิดจะให้เนี่ย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขเกิดความอิ่มใจเกิดความสบายใจเกิดความโล่งเกิดความโปร่งขึ้นมา จิตคิดจะให้กับจิตคิดจะเอามันต่างกันอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นบุ คคลผู้ให้ทานนั้นจึงมีความสบายจิตสบายใจ มีปีติมีความอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา เหมือนกับที่เราได้อ่านในพระไตรปิฎกในธรรมบทต่างๆ ที่เห็นนายสุมนมาลาการซึ่งเป็นคนยากจน เก็บดอกไม้ไปส่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อที่จะเอาเงินเลี้ยงชีวิตของตนเอง แต่เมื่อเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิดว่าเราจะเอาดอกไม้นี่แหละบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เราเอาดอกไม้ไปให้พระราชา พระราชาก็ให้กหาปณะเราวันละ  ๘ กหาปณะ แต่กหาปณะนั้นก็เลี้ยงชีวิตของเราด้วยอาหารหรือว่าเลี้ยงชีวิตของเราในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่บุญที่เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ ๘ กำนี้ ก็จะติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า ในขณะที่เรายังท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วเนี่ย ก็คิดว่าพระราชาจะเฆี่ยนเราก็ตาม จะโบยเราก็ตาม จะเนรเทศเราออกจากบ้านจากเมืองก็ตาม จะประหารเราก็ตาม เราจะกระทำบุญ เราจะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วก็โปรยดอกไม้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดปีติขึ้นมาทั่วสรรพางค์กาย นี่เวลาทำทานมันเกิดปีติอย่างนี้นะ ถ้าเรานึกถึงอานิสงส์อันพึงจะได้ นึกถึงอานิสงส์อันตนจะได้รับด้วยการให้ทานแก่ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย เกิดปีติขึ้นมาได้ มีความสุขกายมีความสบายใจอย่างนี้นะ ถ้าเราให้ทานด้วยการระลึกนึกถึงอานิสงส์ แต่เมื่อเราน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการรักษาศีลเนี่ย ก็จะมีความอุ่นใจมากไปกว่าทานนะ เพราะว่าศีลเป็นสิ่งที่น้อมนำมาซึ่งความสบายกายสบายใจ

         ท่านกล่าวว่าผู้ใดเป็นผู้มีศีล รักษาศีลอยู่เป็นประจำ มีความระมัดระวังทางกายทางวาจาทางใจ ไม่มีศีลขาด ไม่มีศีลทะลุ ไม่มีศีลเศร้าหมอง บุคคลนั้นก็ไม่มีความวิปฏิสาร คือไม่มีความเดือดร้อนใจ ความอวิปฏิสารคือความไม่เดือดร้อนใจนั้นเป็นอานิสงส์ของการรักรักษาศีลนะ ความอวิปฏิสารคือความไม่เดือดร้อนใจนั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติคือความอิ่มใจ ปีติก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความปราโมทย์ความรื่นเริงบันเทิงใจ ความปราโมทย์รื่นเริงบันเทิงใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นสงบ ไม่มีความฟุ้งซ่าน มีกายสงบมีใจสงบ มีความสงบเป็นอานิสงส์ เมื่อจิตใจของเรามันสงบ กายของเราสงบใจของเราสงบ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นรู้เห็นตามความเป็นจริง คือเราจะรู้เห็นตามความเป็นจริงตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรู้ว่าร่างกายของเรามันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เราจะรู้ว่าร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม ประกอบไปด้วยอาการ ๓๒  โดยความเห็นตามความเป็นจริงนั้นเนี่ย จิตใจของเราต้องสงบเสียก่อนนะ ไม่ใช่เห็นตามที่ท่านว่า ไม่ใช่เห็นตามที่อ่านหนังสือมา หรือว่าไม่ได้เห็นตามที่เราศึกษาเล่าเรียนมา ไม่ใช่นะ เห็นในที่นี้เห็นด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณเกิดขึ้นมาจากการเจริญสติ จากการเจริญสัมปชัญญะ กำหนดทันรูปทันนาม เมื่อเรากำหนดทันรูปทันนาม เรามีสมาธิเป็นพื้นฐาน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเห็นตามความเป็นจริง เห็นว่าร่างกายของเรามันเป็นอนิจจังจริงๆ คือเห็นออกมาจากจิตจากใจจากปัญญาของเรา ไม่ใช่เห็นเพราะเราอ่านหนังสือมา ไม่ได้เห็นเพราะคนอื่นพูดมา แต่เห็นออกมาจากจิตจากใจของเราว่ามันเป็นอนิจจังอย่างนี้ มันเป็นทุกขังอย่างนี้ มันเป็นอนัตตาอย่างนี้ เนี่ยมันเป็นสิ่งที่ออกมาจากจิตจากใจ แม้คนอื่นเป็นพัน แม้คนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสนจะมาพูดว่าร่างกายมันเป็นนิจจังนะ เป็นของเที่ยงนะ ร่างกายมันเป็นสุขัง มันเป็นสุขนะ ร่างกายมันเป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตนนะ เราผู้มีสมาธิมีความเห็นตามความเป็นจริงซึ่งมันออกมาจากจิตจากใจของเราแล้วเนี่ย เราเห็นตามความเป็นจริงของเราอยู่ ถึงคนอื่นเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนจะว่าร่างกายมันเป็นของเที่ยงเป็นสุขังเป็นของสุขหรือว่าเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เราผู้มีความเชื่อมั่นซึ่งเห็นตามความเป็นจริงนั้น ก็จะเชื่อในความเห็นของตนเอง เพราะมันไม่ได้เป็นความเห็นความเชื่อที่เกิดขึ้นมาจากการฟังคำของคนอื่น ไม่ใช่เป็นความเห็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการอ่านตำรับตำรา แต่มันเป็นความเชื่อความเห็นที่เกิดขึ้นมาจากการกำหนดรู้รูปรู้นาม ด้วยกำลังของสติสัมปชัญญะ ด้วยกำลังของสมาธิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นเกิดปัญญาญาณขึ้นมา เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เจริญหรือว่ารักษาศีลให้ดีนั้นมีอานิสงส์มากมาย เป็นบันไดไต่เต้าไปสู่สมาธิไปสู่วิปัสสนานะ แต่ถ้าเราไม่มีศีล สมาธิมันก็ไม่มีนะ วิปัสสนามันก็ไม่มี มรรคผลก็ไม่มี นิพพานก็ไม่มี โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลก็ไม่มี สกทาคามิมรรคสกทาคามิผลก็ไม่มี อนาคามิมรรคอนาคามิผลก็ไม่มี อรหัตตมรรคอรหัตตผลก็ไม่มี เพราะอะไร เพราะว่าศีลมันไม่มี ศีลอันเป็นพื้นฐานแห่งคุณงามความดี ศีลอันเป็นพื้นฐานแห่งพระอริยบุคคล ศีลอันเป็นพื้นฐานแห่งภาชนะทองรองรับเอาพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหลายทั้งปวงไม่มีแล้วเนี่ย คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้เรารักษาศีลให้ดี ศีลนั้นเป็นลมหายใจของภิกษุ ศีลนั้นเป็นลมหายใจของสามเณร ศีลนั้นเป็นเหมือนกับลมหายใจของแม่ชีของอุบาสิกา ขาดศีลก็เหมือนกับคนขาดลมหายใจ คนขาดลมหายใจก็คือคนตาย คนตายลุกเดินได้เดินไปเดินมาตามถนนหนทางตามบ้านตามวัดตามวา โบราณว่าคนตายลุกเดินได้ เอ๊ คนตายลุกเดินได้อย่างไร ก็คือคนไม่มีศีล เพราะฉะนั้น บ้านเมืองของเราจึงร้อนเป็นไฟ บ้านเมืองของเราจึงมีการเบียดเบียนข่่มเหงคะเนงร้ายต่อกันและกัน เพราะว่าคนตายลูกเดินได้นี่แหละ คนไม่มีศีล จึงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ปลาใหญ่กินปลาน้อย ผู้มีกำลังมากข่มเหงผู้มีกำลังน้อยเป็นต้น

         เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งความเจริญในพระพุทธศาสนานั้น เราไม่พึงเป็นคนตาย เราพึงเป็นคนเป็น ปลาตายมันจะลอยตามกระแสน้ำ มันจะไม่มีปฏิกิริยาในการที่จะทวนกระแสน้ำเพราะมันตายแล้ว น้ำพัดไปยังไงก็ไหลไป คนที่ตายจากศีลจากธรรมแล้วเนี่ย ก็ไหลไปตามรูปตามเสียงตามกลิ่นตามรสตามสัมผัสตามธรรมารมณ์ ไหลไปตามความโกรธความโลภความหลง ไหลไปตามมานะตัณหาอุปาทานต่างๆ ความคิดอย่างไรมันก็ไหลไปไม่มีการห้ามจิตห้ามใจ ไม่มีการฝืนจิตฝืนใจ เพราะมันตายแล้ว แต่บุคคลผู้ที่มีศีลนั้น ท่านอุปมาเหมือนกับปลาเป็น มันจะว่ายทวนกระแสน้ำนะ มันจะว่ายไปนู้นต้นน้ำนั่นแหละ ต้นน้ำอยู่ไหนมันก็ว่ายไปที่ต้นน้ำ ปลาเป็นมันจะเป็นอย่างนั้น บุคคลผู้มีศีลนั้นก็ทวนกระแส พยายามที่จะทวนความโกรธความโลภความหลง ทวนราคะทวนตัณหาทวนกิเลสฝ่ายต่ำที่มันมาบีบบังคับจิตใจของเรา พยายามทวนกระแส ฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้สมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุมรรผลพระนิพพาน บุคคลผู้มีศีลจะทวนกระแสในลักษณะอย่างนั้น เหมือนกับเราทั้งหลายทั้งปวงที่มาอยู่ร่วมกันนั่นแหละ ถ้าผู้ใดมีความเพียร ผู้นั้นก็จะได้รับประโยชน์ของการมาอยู่ คือมีความเพียรในการเดินจงกรม มีความเพียรในการนั่งภาวนา มีความเพียรในการบำเพ็ญบารมีต่างๆ เนี่ย  เราก็จะได้รับประโยชน์จากการที่มาอยู่ ไม่ใช่ว่ามาอยู่วัดพิชโสภาราม มาเรียนนักธรรมตรีโทเอก มาเรียนบาลี มาประพฤติปฏิบัติ บวชเป็นแม่ขาว บวชเป็นพ่อขาว บวชเป็นพระเป็นเณรแล้วจะได้รับประโยชน์เลยทีเดียว ไม่ใช่นะ บางคนมาเรียนนักธรรมก็ไม่ได้นักธรรมกลับไปก็มี ลาสิกขาไปเฉยๆ ก็มี บางคนมาเรียนบาลีก็ไม่ได้เป็นมหา ลาสิกขาออกไปเฉยๆ ก็มี บางคนมาบวชเป็นแม่ชีเป็นพราหมณ์ ตั้งใจจะประพฤตปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้สมาธิสมาบัติมรรคพลพระนิพพาน บางครั้งก็กลับไปเปล่าๆ นะ บางครั้งก็ขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจเรียนจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ผลการเรียนมันจึงไม่ปรากฏ ผลของการปฏิบัติจึงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น บุคคลควรเป็นอยู่ด้วยความเพียร

         องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดปราศจากความเพียร ก็เหมือนกับบุคคลผู้เวลาค่ำคืนแล้วก็นอนหลับ เมื่อนอนหลับแล้วก็ถูกห้วงน้ำใหญ่นั้นพัดพาไป นอนหลับในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้นอนหลับในทางสติปัญญา คือสติปัญญาที่จะพัฒนาตัวเองไม่มี นอนหลับในที่นี้หมายความว่าหลับในรูป นอนหลับในเสียง นอนหลับในกลิ่น นอนหลับในรส นอนหลับในสัมผัส นอนหลับในอารมณ์มีกามคุณเป็นต้น บุคคลมัวเมาอยู่กับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรสกับสัมผัสกับธรรมารมณ์ต่างๆ ก็เหมือนกับคนนอนหลับ เพราะยังไม่ตื่นจากรูป ยังไม่ตื่นจากความหลงในรูป ยังไม่ตื่นจากความหลงในเสียงในกลิ่นในรสต่างๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนหลับ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้หลับอย่างนี้แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ห้วงน้ำใหญ่ย่อมพัดพาบุคคลนั้นไป ห้วงน้ำใหญ่ก็คือห้วงน้ำคือกาม ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ ห้วงน้ำคืออวิชชา ย่อมพัดพาบุคคลนั้นไปในการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นไม่รู้จักเบื้องต้นและท่ามกลาง บุคคลผู้นอนหลับมันเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีความความเพียร ย่อมก้าวล่วงบุคคลผู้ไม่มีความเพียรไป เหมือนกับม้าที่มีฝีเท้าดีทิ้งม้าที่มีฝีเท้ากระจอกไว้ในเบื้องหลังนั่นแหละ บุคคลผู้ไม่มีความเพียรก็เปรียบเหมือนกับม้าตัวมีฝีเท้ากระจอก เดินไปนิดหน่อยก็เหนื่อย เดินไปนิดหน่อยก็หยุด เดินไปนิดหน่อยก็พัก ประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนกับจิ้งจกเหมือนกับตุ๊กแก วิ่งไปหน่อยหนึ่งแล้วก็หยุด วิ่งไปหน่อยหนึ่งแล้วก็หยุด ไม่มีการกระทำความเพียรโดยติดต่อ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิสมาบัติ ไม่เป็นไปเพื่อวิปัสสนา ไม่เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ม้าที่มีฝีเท้ากระจอกนี่เป็นอย่างนี้นะ ไม่สม่ำเสมอ ไม่คงเส้นไม่คงวา ไม่มีความเพียรดุจกระแสน้ำ แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีความเพียร เปรียบเสมือนกับม้าที่มีฝีเท้าดีเนี่ย ย่อมทิ้งม้าที่มีฝีเท้ากระจอกไปไกล เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลผู้มีความเพียรนั้นเปรียบเสมือนกับม้าที่มีฝีเท้าเร็ว สามารถที่จะวิ่งในวันหนึ่งๆ ได้ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย วิ่งไม่ได้พัก วิ่งไปเรื่อยวิ่งไปเรื่อย เหมือนกับม้าของพระเจ้าจันทปัชโชติ สามารถวิ่งได้ถึงวันละ ๕๐ โยชน์โยชน์หนึ่งก็ ๑๖ กิโลเมตร เราก็เอา   ๕๐ คูณ ๑๖ ดูว่ามันจะเป็นกี่กิโลเมตร ม้ามันวิ่งได้ถึงขนาดนั้น อันนี้เรียกว่าม้าตัวที่มีฝีเท้าเร็ว ย่อมทิ้งม้าตัวที่มีฝีเท้ากระจอก หมายความว่าบุคคลผู้มีความเพียรนั้นย่อมไปถึงซึ่งสมาธิสมาบัติ ย่อมไปถึงซึ่งโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ย่อมไปถึงซึ่งสกทาคามิมรรคสกทาคามิผล ย่อมไปถึงซึ่งอนาคามิมรรคอนาคามิผล ย่อมไปถึงซึ่งอรหัตตมรรคอรหัตตผล ทิ้งบุคคลผู้ไม่มีความเพียร คือทิ้งม้าผู้มีฝีเท้ากระจอกไว้ในภพไว้ในสงสาร ทิ้งไว้ในการเวียนว่ายตายเกิด ทิ้งไว้ในความแก่ความเจ็บความตาย ทิ้งบุคคลผู้ที่ไม่มีความเพียรนั้นไว้ในความเป็นปุถุชน ทิ้งบุคคลผู้ไม่มีความเพียรนั้นไว้ในภพในการเวียนว่ายตายเกิด ม้าตัวมีฝีเท้าดีคือบุคคลที่มีความเพียรก็ไปสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะทั้งหลายทั้งปวง นี่พุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนนั้นมาตักมาเตือนมาอบมารมมาฝึกมาฝนจิตใจของเรา

         การที่เราจะมีจิตใจดีงาม การที่เราจะมีจิตใจเข้มแข็ง การที่เราจะมีจิตใจมีความเพียร การที่เราจะมีจิตใจเกิดความอดทนนั้น เราต้องฝึกฝนอบรมใจของเรานะ คนอื่น ครูบาอาจารย์นั้นเป็นผู้ที่แนะนำ เป็นเพียงผู้ชี้ผู้บอกผู้เล่า แต่ไม่ได้เป็นบุคคลผู้อบรมนะ ผู้อบรมใจจริงๆ น่ะเป็นเราเองนะ ถึงครูบาอาจารย์จะเทศน์จะสอนสั่งขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตาม คำสอนนั้นไม่มีประโยชน์ไม่มีความหมายนะ เพราะอะไร เพราะว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงคือการฝึกฝนอบรมใจนั้นต้องเกิดขึ้นจากการที่เราอบรมใจของเราเองนะ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นตรึกหมั่นตรองหมั่นคิดหมั่นพินิจพิจารณา สิ่งที่มันพลั้งไปแล้วก็ให้มันพลั้งไป สิ่งที่มันยังไม่เกิดนี่เราต้องมีสติสัมปชัญญะ เอาความพลั้งพลาดทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาเป็นครูสอนจิตสอนใจของเรา สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เราก็เหมือนกัน ก็มีความพลั้งพลาดเป็นธรรมดา แต่เราเอาความพลั้งพลาดนั้นน่ะมาเป็นครูฝึกฝนอบรมใจของเรา เราตั้งไว้ในจิตในใจว่า ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เรายังมีราคะมีโทสะมีโมหะอยู่ เราจะพยายามฝึกฝนอบรม พยายามละกิเลสไปจนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่ นี่เราตั้งจิตตั้งใจไว้ เมื่อเราตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้เราก็ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน เวลาว่างเราก็ทำความเพียร เวลาหนาวเวลาร้อนฤดูหนาวฤดูร้อนเราก็ทำความเพียร เวลาร่างกายของเรามันสะดวกสบายมีเวลาเราก็ทำความเพียร เพราะอะไร เพราะเราตั้งจิตตั้งใจไว้ว่าถ้าเรายังไม่พ้นจากราคะโทสะโมหะ ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ตราบใด เราก็จะทำความเพียรเรื่อยไป แม้ว่าเราจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์  อะไรต่างๆ เราก็ควรที่จะทำความเพียรเรื่อยไป เหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับพระสารีบุตร เหมือนกับพระโมคัลลานะ เพราะการกระทำความเพียรของพระพุทธเจ้าก็ดี การกระทำความเพียรของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรก็ดี การกระทำความเพียรของพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี การกระทำความเพียรเหล่านี้เป็นการบริโภคธรรมนะ การที่เราจะกินอาหารเราต้องตักอาหารมาใส่ปากมาเคี้ยวมากลืนลงไป แต่เราจะบริโภคธรรมเนี่ย เราต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม การบริโภคธรรมต้องอิงธรรมนะ อิงการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการเดินจงกรมให้เกิดปีติ ด้วยการกำหนดทันปัจจุบันให้เกิดปีติ ด้วยการเพ่งอารมณ์ให้เป็นเอกัคคตาให้เกิดปีติ หรือว่าการที่จะเข้าสมาธิสมาบัติให้เกิดปีติ การเข้าผลสมาบัติให้เกิดปีติ การเข้านิโรธสมาบัติให้เกิดปีติ เป็นต้น เป็นการบริโภคธรรมนะ เพราะฉะนั้นสมาธิสมาบัตินั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นเรือนแก้วของพระอริยบุคคล หรือผลสมาบัตินั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ นิโรธสมาบัติก็เหมือนกัน บุคคลบริโภคธรรมนั้นบริโภคในลักษณะอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเดินจงกรมนั่งภาวนาทุกวัน อันนั้นพระองค์ทรงทำการบริโภคธรรมเป็นตัวอย่างแก่สาวก เป็นตัวอย่างแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง เราทั้งหลายทั้งปวงผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ถ้าเราบริโภคแต่ข้าวแต่น้ำ บริโภคแต่อาหารอย่างเดียว เราก็อ้วนท้วนสมบูรณ์แข็งแรง แต่ปัญญามันไม่เพิ่มขึ้น มันก็มีความอิจฉามีความริษยามีความโกรธความโลภความหลงมากขึ้น เพราะอะไร เพราะมันมากแต่เนื้อหนังมังสา แต่ปัญญาหาเพิ่มขึ้นไม่ เนื้อหนังมังสาเนี่ยมันมาก แต่ปัญญามันไม่เพิ่มขึ้นก็เกิดกิเลสขึ้นมานั่นแหละ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่จะฝึกฝนอบรมตนเองได้นั้น ต้องหมั่นตรึกตรอง หมั่นบังคับ หมั่นกำหนดจิตหมั่นกำหนดใจ หมั่นกระทำความเพียร หมั่นเดินจงกรมนั่งภาวนากำหนดจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปอยู่ป่าไม่ต้องอยู่ถ้ำอยู่เหว การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลผู้เข้าใจธรรมแล้วอยู่ไหนก็สามารถที่จะทำได้ สามารถเข้าสมาธิได้ สามารถเข้าผลสมาบัติได้ สามารถเกิดปีติได้ สามารถเกิดปัสสัทธิได้ ในที่ทุกสถานในกทุกเมื่อ นี่ถ้าเราเข้าใจนะ เป็นอกาลิโกนะ ไม่จำกัดกาล เป็นอัฏฐาเน ไม่จำกัดที่นะ ไม่ใช่ว่าที่นี้จึงจะเกิดที่โน้นไม่เกิดอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายทั้งปวงผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้เราทั้งหลายทั้งปวงอย่าประมาทในการฝึกในการฝนในการอบในการรมจิตใจของเรา ให้เราพิจารณาตามเสขปฏิปทาที่พระองค์ทรงตรัสไว้นั้นแหละ ว่าเสขปฏิปทาเราควรทำอย่างไร พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยเสขปฏิปทานะ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เราทั้งหลายทั้งปวงผู้มีกำลังแข็งแรงก็พยายามทำความเพียรจนกว่าเราจะได้สิ้นอาสวกิเลส จนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ เราจึงจะเบาใจได้ วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมมาก็ว่าพอสมควรแก่เวลา.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.688 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 19 นาทีที่แล้ว