[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 เมษายน 2567 15:20:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา )  (อ่าน 3215 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:52:07 »


 
 
ปัญญาห้าสีกับไมตรีรูม (๑)
 
 
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2550
 
สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแนวพุทธทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ความรุ่มรวยไปด้วยสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ของเล่น เครื่องมือ กระบวนการ หรือ หากจะเรียกให้ทันยุคก็คือ นวัตกรรมทางการเรียนรู้ ซึ่งก็คือช่องทางการพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้าน หรือเป็นบูรณาการของนักศึกษา ช่องทางเหล่านี้นำมาซึ่งคำอธิบายวิธีและวิถีการพัฒนาที่มีได้หลากหลายจริต รูปแบบและจังหวะ
 
เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในบางมุมก็อาจบอกว่าคล้ายกับประเทศไทยสมัยโบราณที่การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในโลกยังอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เรือ หรือยานพาหนะลากด้วยสัตว์ สมัยนั้นคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเหมือนพื้นที่อันอุดมอันเป็นทางผ่านของสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย คือ จีนและอินเดีย เราสามารถมองเห็นร่องรอยของชุดความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงแนวคิดความเชื่อเรื่องศาสนาและการเรียนรู้จากดินแดนทั้งสอง
 
มหาวิทยาลัยนาโรปะในปัจจุบันก็เหมือนอยู่ตรงกลางรอยเชื่อม หรือสะพานระหว่างหลายอารยธรรมเช่นกัน ทั้งจากวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากวิทยาศาสตร์ยุคนิวตัน-เดส์การ์ตส์ จากวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัชรยาน ผ่านทางท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย
 
ตัวอย่างของเครื่องมือหรือกระบวนการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม อย่างเช่น การจัดนิเวศภาวนา (Eco Quest) พัฒนาขึ้นมาจากฐานพิธีกรรม Vision Quest ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านวัยจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยุโรปจะอพยพเข้ามา
 
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้สถานที่ทางธรรมชาติที่มีพลัง ทำให้การจัดนิเวศภาวนาเกิดขึ้นและเป็นไปได้ง่าย นักศึกษามีโอกาสได้ทดลอง ได้ผ่านประสบการณ์จากกระบวนการนี้ในที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อุทยานแห่งชาติแคนยอนแลนด์ ในรัฐยูท่าห์ หรือเมืองเครสโตน โคโลราโด
 
มีนวัตกรรมทางการเรียนรู้หนึ่งอันมาจากความเชื่อสายทิเบต และค่อนข้างมีเอกลักษณ์มากจนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็คือ ไมตรีรูม (Maitri Room) หรือห้องไมตรี อาจจะเรียกว่าเป็นห้องแห่งความเป็นมิตรก็ได้ ห้องไมตรีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ (Five Wisdom Energies Practice) (บางท่านได้แปลว่าพลังปัญจพุทธกุล หรือเบญจคุณ)
 
ห้องไมตรีนี้เกิดจากความสนใจของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่ต้องการจะผสมผสานการบำบัดเยียวยาแนวร่วมสมัยให้เข้ากับคำสอนทางพุทธศาสนาสายวัชรยาน โดยออกแบบการฝึกด้วยการใช้ท่าทางเฉพาะ ภายในห้อง ๕ ห้อง ซึ่งแต่ละห้องออกแบบใช้สีต่างๆ กันทั้งหมด ๕ สี
 
พื้นฐานความคิดเรื่องนี้มาจากคำสอนเกี่ยวกับพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ อันเป็นคำอธิบายถึงแบบแผนพลังชีวิตต่างๆ ๕ ประการที่มีอยู่ทั้งในและนอกตัวเรา และแสดงออกมาในการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา โดยพลังทั้ง ๕ นี้ เป็นพลังของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ทางวัชรยาน ใช้สัญลักษณ์แทนแต่ละพลังด้วยสีต่างๆ กัน ๕ สี บ้างจึงเรียกว่า ปัญญาห้าสี
 
พลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ ในห้องไมตรีแต่ละห้องนี้ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ทว่า เมื่อพลังทั้ง ๕ มีด้านที่ให้คุณก็ย่อมจะมีแง่มุมที่ให้โทษเช่นกันเมื่อพลังนั้นอยู่ในภาวะที่กดดันสับสน เราลองมาสำรวจห้องไมตรีที่มีพลังเบญจพุทธคุณแต่ละอย่างไปทีละห้องด้วยกันครับ
 
พลังแรกคือ พลังวัชระ แทนด้วยสีน้ำเงิน พลังวัชระนั้นเปรียบดังอาวุธที่คมและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เต็มไปด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์และใคร่ครวญ มีพลังของการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความเห็น เป็นลักษณะของความกระจ่างชัดเหมือนน้ำที่สะท้อนฉายภาพสิ่งต่างๆ ในสภาวะที่ปกติ พลังวัชระคือการมีความคิดการตัดสินใจว่องไว ผ่องใส ปราศจากอคติ แต่ในภาวะที่สับสน กลับเป็นการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองสูง ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ และมีโทสะ
 
พลังต่อมาคือ พลังรัตนะ แทนด้วยสีเหลือง เป็นพลังที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยง มีความอ่อนโยนและการให้โดยไม่มีข้อแม้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เปรียบได้ดั่งธาตุดินที่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้พืชพันธุ์งอกเงยเติบโต ในสภาวะปกติพลังรัตนะจะเป็นความใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะตามใจตัวเอง ต้องการครอบครอง เป็นความเกินพอดี เย่อหยิ่งโอ้อวด และโลภ
 
พลังในลำดับต่อมาคือ พลังปัทมะ แทนด้วยสีแดง เป็นพลังของเสน่ห์และมีแรงดึงดูด มีความสามารถในการใช้ญาณทัศนะ พลังปัทมะจึงเสมือนกับธาตุไฟที่มีความเคลื่อนไหววูบวาบ ดึงดูดสายตาและน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเผาไหม้ทำลายสิ่งต่างๆ ได้ ในสภาวะปกตินั้น พลังปัทมะจะมีคุณลักษณะการรับฟัง การเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สามารถสังเกตและรู้สึกได้ถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสน พลังปัทมะจะเป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เจ้าราคะ ยึดติดกับการจมดิ่งในอารมณ์เข้มข้นแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตื่นเต้น สุขหรือโศกเศร้าก็ตาม
 
สำหรับพลังต่อมาแทนด้วยสีเขียว คือ พลังกรรมะ เป็นพลังของความกระตือรือร้น ไม่หยุดอยู่นิ่ง ชอบประดิษฐ์และสร้างสรรค์ เป็นการได้ลงมือกระทำ พลังกรรมะจึงสัมพันธ์กับธาตุลม ลมที่พัดพาความชุ่มชื้นมาให้ หรือกลายเป็นลมพายุรุนแรงได้ เพราะในสภาวะปกตินั้น พลังกรรมะเป็นนักปฏิบัติ มีความมั่นใจในความสามารถ เห็นสถานการณ์ในรอบด้านจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะกลายเป็นเอาแต่ใจตนเป็นใหญ่ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และอิจฉาริษยา
 
พลังสุดท้ายในเบญจพุทธคุณคือ พลังพุทธะ ถูกแทนด้วยสีขาว เพราะมีคุณลักษณะดั่งเป็นพื้นที่ว่าง ช่วยทำให้เกิดการไหลเลื่อน และทำหน้าที่รองรับพลังอื่นๆ ทั้ง ๔ พลังพุทธะมีลักษณะเปิดรับ สามารถรองรับและยอมรับความเป็นไปได้ต่างๆ ในสภาวะปกติ พลังพุทธะจะมีความสุขุมรอบคอบ เป็นมิตร พึงพอใจในการเป็นอยู่อย่างธรรมดา แต่ในสภาวะที่สับสนจะซบเซาเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ขี้อายและไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ
 
พลังเบญจพุทธคุณนี้ไม่ได้เป็นการจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภทนะครับ (แม้ว่าบางคนจะมีลักษณะเข้ากั๊นเข้ากันกับบางพลังก็ตาม) เพราะว่าเราหาได้มีเพียงคุณลักษณะของพลังใดอย่างเดียว แต่ประกอบกันขึ้นจากพลังทั้ง ๕ เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะใด มีคุณสมบัติไหนปรากฏเด่นชัดมากกว่าในแต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละขณะของชีวิตเราเท่านั้น
 
สีทั้ง ๕ นี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์แทนพลังเบญจคุณ อันเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ของวัชรยานแล้ว มหาวิทยาลัยนาโรปะยังมีธงสีทั้ง ๕ โบกสะบัดอยู่หน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย เสมือนว่าธงเป็นตัวแทนสื่อถึงปรัชญาการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้มุ่งสู่ปัญญาอันสมดุลทั้งกายและใจ สมดุลที่กลมกลืนผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและพุทธศาสนาจากตะวันออก
 
สำหรับการฝึกปฏิบัติในห้องไมตรีแต่ละสี เพื่อพัฒนาพลังเบญจพุทธคุณแต่ละด้านเป็นอย่างไรนั้น โปรดอดใจรอติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ :-)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:00 »


 
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
 
คงยังจำกันได้นะครับว่าสัปดาห์ที่แล้วผมนำเรื่องพลังเบญจพุทธคุณมาเล่าสู่กัน พลังเบญจคุณนี้เป็นการประยุกต์จากแนวคิดของพุทธศาสนาสายวัชรยาน ประเทศทิเบต โดยท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ และมหาวิทยาลัยเองก็ได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรได้ฝึกฝนปฏิบัติตามแนวทางพลังเบญจพุทธคุณอยู่เสมอ
 
ทบทวนกันอีกทีครับ พลังเบญจพุทธคุณนี้ว่าด้วยคุณลักษณะในตัวของเราแต่ละคนทั้ง ๕ ประการ ต่างมีคุณลักษณะหนึ่งใดเด่นชัดในช่วงเวลาสถานการณ์ต่างกันออกไป แต่ไม่ใช่การจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภท พลังเบญจพุทธคุณยังแทนด้วยสัญลักษณ์สี และมีความเป็นธาตุ ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) แทนด้วยสี ธาตุ มีลักษณะที่ปรากฏในภาวะปกติและภาวะสับสน ดังนี้
 
พลัง สี ธาตุ สัญลักษณ์ ภาวะปกติ ภาวะสับสน
วัชระ น้ำเงิน น้ำ คทา/วัชระ การคิดวิเคราะห์ยึด มั่นความคิด,โทสะ
รัตนะ เหลือง ดิน อัญมณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เย่อหยิ่ง,โลภ
ปัทมะ แดง ไฟ ดอกบัว ความรู้สึก ญาณทัศนะ ราคะ ,ไม่มั่นคง
กรรมะ เขียว ลม กระบี่ มุ่งมั่นปฏิบัติ เอาแต่ใจ,อิจฉา
พุทธะ ขาว ที่ว่าง ธรรมจัก รสุขุม,เปิดกว้าง เฉื่อยชา,ปิดตัวเอง
 
 
วิธีการที่มหาวิทยาลัยนาโรปะใช้นั้นคือการทำห้องไมตรี (Maitri room) ขึ้นตามพลังทั้ง ๕ เป็นห้องสีต่างๆ ๕ สี ตั้งแต่ห้องสีน้ำเงิน ห้องสีเหลือง ห้องสีแดง ห้องสีเขียว ไปจนห้องสีขาว นักศึกษาที่ปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีนี้ก็จะต้องได้เข้าไปปฏิบัติให้ครบทั้ง ๕ ห้อง
 
ดังเช่นหลักสูตรปริญญาโทสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนจิตบำบัดในแบบจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Psychotherapy) ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจจิตใจและพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเนื้อหาวิชา ดังนั้น นักศึกษาของหลักสูตรนี้ทุกคนจะต้องได้เข้าร่วมกิจรรมที่ชื่อ Maitri Retreat ทุกปี ถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตร กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น การสอนสมาธิ การเดินจงกรม การนิ่งสงัดเงียบ และการทำงานกับชุมชน
 
แน่นอนว่ากิจกรรมการปฏิบัติภาวนา Maitri Retreat นี้ ต้องได้ใช้ห้องไมตรี (Maitri room) เป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยห้องไมตรีทั้งห้าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกนักจิตบำบัด โดยถือว่าเป็นการฝึกทางโลก ไม่ได้เป็นการฝึกตนทางศาสนาแต่อย่างใด
 
การปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีโดยทั่วไปจะปล่อยให้นักศึกษาผู้เรียนเป็นผู้เลือกห้องตามความรู้สึกตามความเหมาะสมของตนเอง ตามที่รู้สึกว่าตนเชื่อมโยงกับพลังหนึ่งใดในเบญจพุทธคุณ ไม่จำเป็นต้องเริ่มตามลำดับที่ห้องวัชระ หรือจากห้องพุทธะก่อน เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว นักศึกษาจะนั่งทำสมาธิเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ใจสงบและจิตมีกำลัง
 
หลังจากนั้นต้องจัดวางท่าทางร่างกายตามแบบของพลัง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะเป็นพลังอะไร การอยู่ในท่าของพลังนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปอีกจนกระทั่งครบเวลา ๔๕ นาที
 
แต่ละพลังเบญจพุทธคุณกำหนดท่าทางจัดวางร่างกายไว้อย่างนี้ครับ สำหรับพลังวัชระ ให้ลงนอนคว่ำ ยื่นแขนซ้ายไปข้างหน้า งอศอกเข้า และวางศีรษะลงบนท่อนแขนซ้าย ตามองไปทางแขนขวาที่ยืดตรงออกไป ทำมุมตั้งฉากกับลำตัว
 
พลังรัตนะเป็นท่านอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง แยกขา กางแขนทั้งสองข้างยื่นตรงทำมุมฉากกับลำตัว ส่วนพลังกรรมะนั้นคล้ายกัน นั่นคือนอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง เพียงแต่แขนที่ยื่นออกไปนอกลำตัวนั้นทำมุมประมาณ ๔๕ องศา และนิ้วมือทั้งสิบต้องเหยียดเป็นเส้นตรง เสมือนลำแขนจรดปลายนิ้วเป็นกระบี่
 
สำหรับท่าทางของพลังปัทมะนั้นต่างออกไป แทนที่จะนอนคว่ำหรือหงาย ก็เป็นการนอนตะแคงขวา แขนซ้ายวางอยู่บนลำตัว ศีรษะวางหนุนอยู่บนแขนขวา แต่ถ้าคิดว่าการทำท่าตามพลังวัชระหรือปัทมะนั้นค่อนข้างแปลกและอาจจะเมื่อยล้าได้แล้วละก็ การวางท่าทางของพลังพุทธะจะพิสดารกว่าท่าอื่นๆ มากที่สุดครับ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่า โก้งโค้งก้มตัวลง ตั้งศอกบนพื้น หงายฝ่ามือทั้งสองออกเป็นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน และวางคางลงตรงกลางฝ่ามือทั้งสองข้าง
 
ในระหว่าง ๔๕ นาทีที่จัดวางร่างกายตามท่าทางของพลังเบญจพุทธคุณ นักศึกษาไม่ต้องคิดหรือต้องทำอะไร รวมทั้งไม่ต้องทำสมาธิด้วย แต่ยินยอมให้เปราะบาง (vulnerable) ปลดปล่อยให้ตนเองได้รับผลจากพื้นที่ ห้อง สี พลัง เป็นการฝึกให้เราลองสัมผัสกับสภาวะทางจิตที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา เพื่อจะพัฒนาความกล้าเผชิญ โดยไม่เกรงกลัวต่อสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นสดๆ ดิบๆ ในชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เกลียด เศร้าซึม สับสน หวาดกลัว เฉื่อยชา หรือ โอบอุ้ม มุ่งมั่น แจ่มชัด เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาฬ
 
เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว นักศึกษาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้น เดินออกไปจากห้องไมตรี และเดินไปอย่างสะเปะสะปะไม่มีที่หมายด้วย เขาใช้คำว่า Endless wandering เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินแบบใหม่ เจริญปุระ คือ เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย (ฮา) เน้นให้เปิดรับความรู้สึก ไม่เกร็งและไม่ปิดกั้นไม่หน่วงเหนี่ยวความคิด ปล่อยให้รู้สึกถึงพลัง สัมผัสถึงเสียงข้างในตัว ภาษามวยก็ว่าลดการ์ดลง คงความเปราะบาง สร้างโอกาสให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไม่คาดหวัง
 
หลักสูตรปริญญาโทจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะนั้น เขาจัดให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ เข้า Maitri Retreat เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ ๑ เดือน โดยให้นักศึกษาปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีแต่ละห้องเป็นเวลา ๕ วัน แต่ละวันจะได้เข้าไปในห้อง ๒ ครั้ง สิริรวมยาวนานถึง ๒๕ วัน ส่วนนักศึกษาในชั้นปีที่ ๓ ซึ่งเพิ่งผ่านการฝึกงานภาคสนามจิตบำบัดมาแล้ว จะทำ Maitri Retreat ร่วมกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ทำให้ตลอดสัปดาห์นั้นต่างคนต่างมักมีเรื่องราวมากมายมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสัปดาห์นั้นทุกคนจะนั่งสมาธิทุกวัน วันละอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง และเข้าไปใช้เวลาฝึกปฏิบัติพลังเบญจพุทธคุณในห้องทั้ง ๕ นั้น ห้องละ ๑ วัน วันละ ๒ ครั้ง
 
ในหลายครั้ง ผู้เข้าร่วม Maitri Retreat ด้วยกันอาจสามารถบอกได้เลยว่าใครไปฝึกในห้องไหนมา เพราะแต่ละคน และแต่ละห้อง จะแสดงออกหรือเผยพลังออกมาในลักษณะอาการที่มีแบบแผน (แต่ก็อาจไม่มีแบบแผนก็ได้) แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกันไป
 
ยิ่งถ้าการฝึกนี้เป็นการฝึกร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังฆะ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ต่างเป็นสะท้อนซึ่งกันและกัน ยกระดับการเรียนรู้ร่วมกันได้
 
การฝึกพลังและปฏิบัติในห้องไมตรีนี้เอง ทำให้นักศึกษาหรือผู้ฝึกได้รู้จัก ได้เข้าใจตัวเอง เปิดใจและวางใจให้รับเอาผลหรืออิทธิพลของห้องเข้ามาสู่ตัว สามารถสร้างความเชื่อมโยงพลังในแง่ใดแง่หนึ่งกับตัวเอง
 
และเมื่อเขาเหล่านั้นรู้จักและเข้าใจความซับซ้อน ไร้ระเบียบในตัวเองมากพอ เขาก็อาจจะเรียนรู้ที่จะใช้พลังนั้นอย่างชาญฉลาดและเหมาะสม เพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น
 
 
http://pingwab.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:28 »


 
หากเปรียบเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือ เซี่ยงไฮ้ ว่ามีความเป็น "มหานคร" คือ เป็นนานาชาติ เป็นสากล มีตัวอย่าง ตัวเอก หรือตัวแทนจากวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ ไม่ว่าเรื่องเล่า ความเชื่อ ความฝัน แรงบันดาลใจที่มาพร้อมกับผู้คนที่อยู่อาศัย ขุดทอง หรือท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

 
จากมุมมองเดียวกัน ผมนึกเองขำๆ ว่างานใหญ่อย่าง "มหกรรมกระบวนกร" ที่สถาบันขวัญเมืองจัดมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วนั้น มีความเป็น "มหานคร" ไม่ต่างกัน เพราะมีคุณลักษณะของความเป็นนานาชาติ สากล แถมยังมีตัวแทนของหลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีเรื่องเล่า วัฒนธรรม ความฝันและแรงบันดาลใจ อันหลากหลายอย่างยิ่งของคนที่มาร่วมงานเหมือนกัน

งานมหกรรมกระบวนกรที่กล่าวถึงนี้ เป็นการประชุมกระบวนกร (facilitator) จากทั่วทุกภาคในไทยและหลายครั้งก็มีมวลมิตรจากประเทศอื่นด้วย กระบวนกรในที่นี้คือผู้จัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาชีวิตด้านใน การเรียนรู้เพื่อให้เกิดสำนึกใหม่ และการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกและชีวิต การมาประชุมร่วมกันนี้ได้รับการเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมและกระบวนการโดยสถาบันขวัญเมืองในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้าน

แรกเริ่มเดิมทีมหกรรมกระบวนกรนั้นเป็นเสมือนเวทีพบปะกันของผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรม หรือเคยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวกับเหล่ากระบวนกรของสถาบันขวัญเมืองมา ทั้งจากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือจากการร่วมสนทนาในเวทีสุนทรียสนทนาต่างวาระโอกาส

แต่มหกรรมกระบวนกรได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาอันสั้น สู่เวทีเรียนรู้ร่วม นำเครื่องมือ วิธีการและพิธีกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอจากการทำงานและในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนสนทนาเล่าสู่กันฟัง ก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ของทั้งกลุ่มแบบยกแผง มหกรรมกระบวนกรในครั้งหลังๆ จึงมีความไม่ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ใช่เป็นเพียงงานชุมนุมศิษย์เก่า หรือเป็นแค่พื้นที่การประชุมพบปะทั่วไปไม่

เหตุการณ์อันเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการฝึกอบรมและพัฒนานี้พาให้ผมนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่องหนึ่งของกิมย้ง ภาพที่เกิดชัดในใจ คือ เวทีชุมนุมจอมยุทธจากทั่วพื้นพิภพ จากหลากหลายสำนักค่ายฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น คงท้ง คุนลุ้น ง้อไบ๊ หรือแม้แต่หลวงจีนจากเส้าหลิน ต่างมารวมกัน ณ สถานที่เดียวกัน ณ สำนักบู๊ตึ๊ง เพื่ออวยพรวันเกิดครบรอบร้อยปีของปรมาจารย์เตียซำฮงเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ขณะที่มหกรรมกระบวนกรนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวยุทธกระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่

ยิ่งมหกรรมกระบวนกรคราวล่าสุดนี้ให้เผอิญตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บรรยากาศเลยกระเดียดเฉียดไปทางงานแซยิดเตียซำฮงเข้าไปใหญ่

ตัวละครในเรื่องของกิมย้งยังมีสีสันน่าสนใจในเชิงอุปมา ไม่ว่าจะเป็น มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว ราชสีห์ขนทอง และค้างคาวปีกเขียว ส่วนมหกรรมกระบวนกรที่จังหวัดเชียงรายนี้เล่าก็กอปรไปด้วยกระบวนกรมากหลายแบบ เมื่อใช้แนวคิดคุณลักษณะคนตามแบบสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหรือชาวอินเดียนแดงมามองผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ผมจึงได้เห็นทั้ง หนูผู้ compromise กระทิงนัก action หมีจอม detail และอินทรีเจ้า project

แต่เอาเข้าจริงๆ แทนที่จะเป็นมหากาพย์ของกิมย้ง มีการประลองยุทธระหว่างสำนัก เสาะหาดาบฆ่ามังกรเพื่อขึ้นครองเป็นเจ้ายุทธภพ กลับกลายเป็นสงครามข้ามกาแลคซี่ เป็น Star Wars ของลุงจอร์จ ลูคัส กวัดแกว่งไลท์เซเบอร์ สว่างวูบๆ วาบๆ แทน

เพราะตลอดงานมีแต่อ้างอิงถึงพล็อตและตัวละครในภาพยนตร์ซีรีส์ทั้ง ๖ ตอน โดยเฉพาะภาคท้ายๆ ของงานมหกรรมมีหัวเรื่องหลัก "วิถีแห่งโยดา" ที่ว่ากระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกระบวนกรในแนวทางจิตวิวัฒน์นั้น จะทำหน้าที่บ่มเพาะสร้างอัศวินเจไดรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับ "พลัง" ได้อย่างไร

เล่นเอาคนที่ยังไม่เคยดูต้องขอตัวช่วย ขอคำอธิบายเป็นระยะๆ ว่า โยดา อนาคิน ดาร์ธเวเดอร์ และลุค สกายวอล์กเกอร์ คือใคร ร้อนถึงคอหนังทั้งหลายต้องเปิดวงเล็กอธิบายคร่าวๆ ว่า ในโลกของสตาร์วอร์สนั้น เหล่าอัศวินเจไดคือผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าถึง "พลัง" (The Force) ซึ่งเป็นสนามพลังอันไม่สิ้นสุดสร้างโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในจักรวาฬ ที่เหล่าผู้ฝึกจิตมาดีแล้วสามารถนำมาใช้ได้

พลังนี้สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบของเทเลพาธี (อ่านใจ) ไซโคไคเนซิส (เคลื่อนย้ายวัตถุ)พยากรณ์อนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางกายของผู้ใช้ได้อีกด้วย ดังที่ลุคใช้ในการยิงถล่มเดธสตาร์ในภาคแรกสุด

แต่สิ่งที่เหล่าเจไดต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ไม่ให้ตนเองตกไปสู่ด้านมืดของพลัง (Dark side of the Force) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความหลง บ้าอำนาจ ไม่นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเกิดจากตนไม่สามารถจัดการกับความโกรธ ความเกลียด หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

ช่างประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินที่ผมได้คุยกับ ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ทซ์ ถึงเรื่องพลังเบญจพุทธคุณทั้งห้า (The Five Wisdom Energies) ของพุทธสายวัชรยาน อันได้แก่ พลังวัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะอันประเสริฐ ๕ ประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ ปัญญาเฉียบคม (แทนด้วยสีน้ำเงิน) เอื้อเฟื้ออันอุเบกขา (สีเหลือง) การรับรู้อันลุ่มลึกละเอียดอ่อน (สีแดง) ความมุ่งมั่นในการกระทำอันเด็ดขาด (สีเขียว) และความสุขุมเปิดกว้างรับการเติบโต (สีขาว) ตามลำดับ

อันที่จริงผมก็ได้สนใจและเคยศึกษาเรื่อง ปัญญาห้าสี นี้มาก่อนหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยโยงมาเกี่ยวข้องกับสตาร์วอร์สแต่อย่างใด เมื่อครั้นได้ยินปีเตอร์ พูดออกเสียงพลังแห่งพระโพธิสัตว์อมิตาภะ (ปัทมะ) ว่า พัด-ม่า (Padma) แล้วทำให้ถึงบางอ้อทันทีว่า ท่าทางคุณลุงลูคัสคงมีเจตนาจงใจตั้งชื่อหญิงงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ดึงดูดให้ต้องตาต้องใจ น่าเข้าใกล้ (อันเป็นลักษณะของพลังปัทมะ) ว่า แพดเม่ (Padme) ขณะเดียวกัน เธอคือผู้เป็นต้นเหตุนำพามาซึ่งความโกรธ-เกลียด-กลัวการสูญเสียคนรักของอนาคิน ถึงขนาดที่ทำให้เขาตกไปอยู่ในด้านมืดของพลัง เห็นได้ชัดถึงการทำงานของสมองส่วนอมิดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ดังกล่าว จึงให้นามสกุลแก่ตัวละครนี้ว่า อมิดาลา (Amidala)

ท่านอาจารย์ประเวศเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์ขาดสติ ถูกชุดอารมณ์ลบเข้าครอบงำ สมองส่วนดังกล่าวทำงานหนัก ปิดกั้นการทำงานของสมองส่วนอื่น ทำเอาเห็นช้างตัวเท่าหมู ว่า "ตกบ่วงอมิกดาลา" พอโยงกับสตาร์วอร์สแล้วก็คงเรียกว่า "ตกบ่วงอมิดาลา" ได้เหมือนกัน

หลังจากที่อนาคินยินยอมพร้อมใจขายวิญญาณให้แก่ฝ่ายจักรวรรดิ กลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ จักรภพก็เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกทุกหย่อมหญ้า ทำให้เหล่าอัศวินเจไดต้องฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนักเพื่อนำสมดุลกลับมาสู่พลัง (Bring balance to the Force) และสันติภาพมาสู่โลกและจักรวาฬ

อันเป็นโจทย์เดียวกันกับเหล่ากระบวนกรที่มาประชุมกันในงานมหกรรม
สิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าทึ่ง และชวนติดตามของมหกรรมกระบวนกร ยิ่งกว่าสตาร์วอร์สทุกภาครวมกัน ก็คือ การได้เห็นอัศวินเจไดและโยดาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง ลอง(จาก)ผิดลอง(จน)ถูก ฝึกฝนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ไปถึงระดับครอบครัวและปัจเจกชนคนรักอิสระ
และที่สำคัญที่สุดคือ สตาร์วอร์สทำมา ๖ ภาคก็ยุติลง ส่วนงานมหกรรมกระบวนกรจัดมา ๖ ครั้งแล้ว มหากาพย์การเดินทางจากจิตตื่นรู้ สู่การยกระดับจิตร่วม (Collective Consciousness Stage) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ...

(เชิญร่วมสร้างสรรค์โลกใบใหม่ได้ที่ "วงน้ำชา" http://www.wongnamcha.com/)
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:54 »


 
 
องค์กรเคออร์ดิค ใช้ “มิติทางจิตใจ” ของสมาชิกในการทำงานฟันฝ่า “ระบบนิเวศแห่งความไม่แน่นอน” ร่วมกัน
 
สมาชิกขององค์กรเคออร์ดิค จึงเรียนรู้และประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation) ไปพร้อมกัน กล่าวคือ เอาใจใส่ ประยุกต์ใช้และฝึกฝน มิติด้านจิตใจที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของตนเองและละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้อื่น
 
“ความรู้สึก” ในที่นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม ในส่วนที่เป็นรูปธรรม เป็นความรู้สึกที่ได้มาจากความช่างสังเกต สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่มีความสำคัญยิ่งต่อมิติด้านจิตใจ ด้านการอยู่ร่วมกัน ด้านการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
 
ความช่างสังเกต เป็นคุณสมบัติที่ต้องการใช้ และต้องสร้างขึ้น พัฒนาขึ้น ในองค์กรเคออร์ดิค
 
ความช่างสังเกต ใช้ได้ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม ส่วนที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดออกมาได้เป็นขนาด หรือนับจำนวนหรือมีแสงสี ความชัดเจน เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ส่วนที่เป็นนามธรรม สัมผัสได้ด้วยใจ สื่อสารต่อกันได้ด้วยใจ
 
องค์กรเคออร์ดิคที่แท้ สมาชิกจึงสื่อสารกันในหลายมิติและมิติที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารจากใจถึงใจ เป็นการสื่อสารที่มีพลังลึกลับ แต่สัมผัสได้ โดยผู้ที่จะสัมผัสได้ต้องมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้
 
องค์กรเคออร์ดิค จึงเป็นองค์กรที่มีการฝึกฝน และการใช้การสื่อสารและการรับสารที่ละเอียดอ่อน ที่เป็นการสื่อสารแบบ “อวัจนะ” (non – verbal) หรือเป็นการสื่อสารส่วนที่แทรกอยู่ในการสื่อวัจนะ (verbal) คือ “ระหว่างบรรทัด” หรือ “ระหว่างถ้อยคำ” และในบางกรณีเป็นการสื่อสารด้วยความเงียบ
 
การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา – Contemplative Education) ประกอบด้วยองค์ 3 คือ
 
การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)
การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation)
การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (meditation)

ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ “เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” โดยวิจักขณ์ พานิช สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา 2550
 
ผมมองว่า องค์กรเคออร์ดิค คือองค์กรที่ใช้พลังธรรมชาติหรือพลังธรรมดาในการขับเคลื่อนองค์กร และการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ก็คือ การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
 
จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันภายในองค์กร หรือเมื่ออยู่คนเดียวที่บ้าน ผมประยุกต์ใช้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของ “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” หรือบางครั้งใช้หลายองค์ประกอบพร้อม ๆ กัน มีทั้งใช้คนเดียว และใช้ร่วมกันหลาย ๆ คน และหลายครั้งใช้ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายที่อยู่นอกองค์กร
 
เท่ากับ องค์กรเคออร์ดิค รู้จักใช้พลังทางจิตวิญญาณ พลังปัญญา หรือพลังแห่งการตื่นรู้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร โดยที่พลังแห่งการตื่นรู้ตามแนวของศาสนาพุทธ วัชรยาน จำแนกพลังแห่งการตื่นรู้ออกเป็น 5 พลัง
 
พลังวัชระ เป็นพลังความสามารถคิดวินิจฉัยใคร่ครวญได้อย่างลึกซึ้ง มีความหลักแหลมเฉียบคมทางปัญญา ตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน วิเคราะห์เหตุปัจจัย ผลลัพธ์ ความเป็นไปได้อย่างตรงจุด
 
พลังรัตนะ คือพลังแห่งความเผื่อแผ่แบ่งปัน
 
พลังปัทมะ คือพลังแห่งการสื่อสารปฏิสัมพันธ์
 
พลังกรรมะ คือพลังของการกระทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง
 
พลังพุทธะ คือพลังของการใคร่ครวญพิจารณาหาคุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นการใคร่ครวญพิจารณาแบบใจกว้างไม่ยึดติด และไม่ตัดสิน
 
 
ความพอดีหรือความสมดุลของพลังทั้ง 5 ทำให้เกิดการตื่นรู้ และการเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง จากการปฏิบัติงาน และการดำรงชีวิตร่วมกัน เป็นทั้งการเรียนรู้ภายในและการเรียนรู้ภายนอก ก่อผลทั้งต่อจิตใจของสมาชิกองค์กรและต่อวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งก่อผลเชิงรูปธรรมต่อผลการประกอบการขององค์กร
 
องค์กรที่ตื่นรู้และเรียนรู้จากการปฏิบัติ สมาชิกองค์กรที่เรียนรู้และตื่นรู้จากการปฏิบัติ โดยมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะสามารถ “รู้” สิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญต่อกิจการขององค์กรได้ในมิติที่ลึกกว่า ว่องไวกว่า เชื่อมโยงกว่า เป็นรูปธรรมกว่า จึงมีความสามารถปรับตัว พัฒนาตัวเพื่อการทำหน้าที่และการดำรงอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและคาดเดายากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
วิจารณ์ พานิช

http://gotoknow.org/blog/thaikm/160215
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา )
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 4 8109 กระทู้ล่าสุด 16 มกราคม 2554 09:32:31
โดย เจ้าทึ่ม
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.908 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 16:46:40