[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 เมษายน 2567 20:17:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติเรืองแสง : สู่ชีวิตอันอุดมเทียบเคียงกับเรื่องของการจัดการความรู้  (อ่าน 1619 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 17 มิถุนายน 2553 19:53:13 »


 
 
จากหนังสือ "สู่ชีวิตอันอุดม" พระนัท ฮัน ส.ศิวรักษ์ แปลและเรียบเรียง
 
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านยากเล่มหนึ่ง แต่เป็นหนังสือที่ลุ่มลึกมาก หากเข้าใจ จะช่วยให้การปฏิบัติธรรม หรือ การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเข้าใจ ให้พ้นจากทุกข์และมีความสุข ปลดปล่อยตัวเองจากข้อจำกัดทั้งหลาย
 
ผมอาศัยเทียบเคียงกับหลากหลายเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มา หวังว่า เมื่อเทียบเคียงกับความรู้ร่วมสมัยเหล่านี้ อาจเป็นช่องทางให้เข้าใจเรื่องราวในหนังสือนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะภาษาที่ใช้ โดยเฉพาะในภาษาไทย อาจารย์สุลักษณ์ แปล อย่างใช้ภาษารุ่นเก่าพอควร แต่ก็แปลได้อย่างไพเราะลุ่มลึกมาก เพียงได้อ่านถ้าเข้าใจ ก็ได้อรรถภาษาอันหาได้ยากจากงานร่วมสมัยแล้ว สำหรับท่านที่อ่านสนุกและเข้าใจ ก็คงสมกับที่ผู้เขียนได้ตั้งใจเขียนงานชิ้นนี้ หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ขออภัย เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริง ๆ
 
 
 
จากบทที่ ๑๕ คันฉ่องส่องมหาปัญญา
 
"การจำได้หมายรู้ของเราโดยทั่ว ๆ ไป รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ของเรานั้นเต็มไปด้วยอวิชชาและโมหะ จนอาลัยวิญญาณไม่อาจเผยตัวเองให้เราเห็นได้ว่าอาลัยวิญญาณเป็นมิติแห่งโลกุตระ แต่แท้ที่จริงแล้ว สาระธรรมชาติของอาลัยวิญญาณนั้นปลอดไปจากกิเลส ใครที่ได้มองลึกลงไปสู่วิปัสสนาญาณแห่งอนัตตภาวะแล้วจะแลเห็นความเป็นอิทัปปจยตา แล้วก็จะสามารถแปรสภาพโมหะเข้าสู่ธรรมชาติของตถตาซึ่งได้อยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไร... เมื่อมีแสงสว่างก็มีความตื่น ณ จุดนี้เอง ทุก ๆ อย่างในอาลัยวิญญาณทั้งที่เป็นปัจเจกภาพและสมุหภาพย่อมได้รับความบริสุทธิ์ ณ จุดที่ปราศจากมลพิษเราเรียกว่า อวิมลวิญญาณ คืออาลัยวิญญาณกลายเป็นกระจกเงาส่องทุกแง่มุมของสรรพสิ่งอย่างปราศจากการบิดเบี้ยว"
 
ถ้าจะลองตีความ หรือลากความ? หรือแปรความตามใจ อาลัยวิญญาณให้เท่ากับสมองในส่วนการทำงานในจิตไร้สำนึก อะไรหลายอย่างเมื่อกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่แปลโดย ส. ศิวรักษ์ มันยืนยันว่า อาลัยวิญญาณอาจตีความเป็นการทำงานของสมองในส่วนจิตไร้สำนึกได้
 
หนังสือเล่มนี้ชื่อภาษาอังกฤษก็คือ Transformation at the Base หรือการเปลี่ยนแปลง ณ ที่ฐาน ฐานนี้คือสมองที่เป็นท้องที่ ท้องถิ่นบวก Morphic Resonance หรือคลื่นรวมแห่งปัญญาของมนุษย์ อันเป็นสมุหภาพ ก็น่าจะได้ครบทั้งหมดของอาลัยวิญญาณ
 
มนัส
 
มนัสเหมือนเงาที่เกาะติดอาลัยวิญญาณ มนัสคืออาลัยวิญญาณ และไม่ใช่อาลัยวิญญาณ ควบคุมอาลัยวิญญาณอีกทีหนึ่ง
 
มนัสทำงานอยู่ภายใต้การปกคลุมของโมหะ คือความหลง หลงว่าสรรพสิ่ง สรรพชีวิตมีตัวตน เป็นเอกเทศ ดำรงอยู่อย่างถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 
มนัสทำงานด้วยความคิด ด้วยความคิด ทัศนะ มติ แห่งอัตตาจึงก่อเกิด ความคิดแยกแยะไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดจัดหมวดหมู่ไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ประเภทคือตัวแทน และคุณลักษณะของประเภทคือภาพลักษณ์
 
ทุกอย่างเมื่อทำงานผ่านมนัส ต้องทำงานผ่านภาพลักษณ์ ตัวแทน ทำงานผ่านความคิด และการคิด การคิดคือการแยกแยะ คือการทำงานที่อ้างอิงทัศนะแห่งอัตตา
 
อาลัยวิญญาณรับรู้โดยตรงได้ แต่เมื่อผ่านมนัส มนัสเข้ามากุมการทำงานของอาลัยวิญญาณจึงเคลือบการรับรู้ตรงด้วยแผ่นใส ทับทาบอาลัยวิญญาณอีกทีหนึ่ง ทำให้เราเห็นอาลัยวิญญาณผ่านมนัส
 
มนัส
ตีความด้วยวิธีของเราเอง ประกอบด้วยความรู้อีกแบบหนึ่ง ของอีกยุคสมัยหนึ่ง
 
เราต้องอาศัยแผ่นใสทับทาบอันนี้เพื่อมองดูโลก แต่เมื่อไปยึดในแผ่นใสทับทาบ ปัญหาก็มักเกิดขึ้นตามมา แต่อย่างไรก็ยังคงต้องอาศัยแผ่นใสทับทาบนี้อยู่ แผ่นใสทับทาบภาษาอังกฤษว่า overlay
 
เรากลับมองเห็นว่า แผ่นใสทับทาบนี้กลายร่าง แปรสภาพได้ คือเปลี่ยนแปลง transform ได้ และแปรสภาพทุกครั้ง ที่มีการเขียนโลกใบใหม่ การเขียนโลกใบใหม่เกิดขึ้นทุกครั้งเป็นเกลียวพลวัต คือกลับมาที่เดิม แต่ด้วยคุณภาพที่ดีกว่าทุกครั้ง อันนี้เคลื่อนเข้าไปหาความจริงหรือเปล่า อันนี้เป็นการรับรู้อย่างอนุมานที่ถูกต้องยิ่งขึ้นได้หรือเปล่า
 
การรับรู้ตรงของอาลัยวิญญาณ
 
พระอาจารย์นัท ฮันได้เล่าว่า ในแอ่งน้ำฝน เมื่อสมัยเป็นเด็ก ท่านพยายามจะกวนน้ำให้ใบไม้ที่นอนอยู่ที่ก้นแอ่งน้ำลอยขึ้นมา แต่ทำไม่สำเร็จ แต่พอไปทำอย่างอื่นกลับมา ใบไม้ก็ลอยขึ้นมา เพราะน้ำที่กวนไว้ ก็เริ่มหมุนวน และหมุนวนไปเรื่อย ๆ เมื่อเราทำอะไรกับอาลัยวิญญาณ มันก็จะทำซ้ำ ทำต่อไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ นี่เป็นการทำงานของอาลัยวิญญาณ
 
วินิจฉัยเรื่องการรับรู้ตรง หรือโดยตรงของอาลัยวิญญาณ
 
การทำงานของอาลัยวิญญาเป็นประเภท locale memory หรือเปล่า ไม่ใช่ "การคิด" แต่เป็นการบันทึกความเป็นไปเช่นนั้นเองโดยจิตไร้สำนึก เขาว่ากันว่า ภาพนี้เมื่อใกล้ตาย จะฉายออกมาหมด เหมือนฉายวิดีโอของชีวิตทั้งหมดของมนุษย์คนหนึ่ง ๆ
 
เมื่อทำงาน หรือใช้ชีวิต เราจะมีความใส่ใจ ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา อันนี้เป็นการเพ่ง ใส่ใจแบบเพ่ง หรือ focus แต่การรับรู้อีกประการหนึ่ง คือการรับรู้รอบ ๆ เป็นการรับรู้ในจิตไร้สำนึก หรืออาลัยวิญญาณโดยไม่ต้องเพ่ง แต่เก็บความเป็นไปรอบ ๆ ด้าน มาอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเราฝึกเราก็จะเปิดออกให้กับการรับรู้ประเภทหลังนี้ด้วย ส่วนใหญ่ เราจะไปสนใจในเรื่องราวที่เราเพ่งมองดูอยู่เสียมากกว่า
 
การ "มองลึก" เมื่อเราได้รับการเชื้อเชิญจากท่านนัท ฮันให้มองดูต้นไม้ มองดูต้นไม้ มองดูต้นไม้ ต้นแล้วต้นเล่า โดยไม่ต้องเอ่ยนามต้นไม้ เพียงมองดูเฉย ๆ ต้นแล้วต้นเล่า แต่ละต้นเป็นเวลาเนิ่นนาน มันเหมือนไม้ที่เอาไปกวนน้ำหรือเปล่า รอคอยว่า วันหนึ่ง ใบไม้จะถูกน้ำพัดพาขึ้นมา รอคอยว่าวันหนึ่ง มนัสจะหยุดทำงานของมัน
 
เอาเป็นว่า มันเป็นการพยายามหยุดการทำงานของมนัส หรือเปล่า?
 
เพื่อว่า เราอาจสัมผัสตรง โดยไม่ผ่านมนัส โดยไม่ผ่านการแยกแยะ ว่านี่เป็นต้นไม้ ก็มีอยู่บ้างในบางขณะที่ต้นไม้กับเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสิ่งที่ถูกสังเกตกับผู้สังเกตเป็นหนึ่งเดียวกัน
 
การรับรู้ตรงของอาลัยวิญญาณ
เทียบระบบชีวิต
 
เมื่อเรารับรู้โลก ระบบชีวิตอาศัยโครงสร้าง แบบแผน กระบวนการ ในการรับรู้โลก เมื่อรับรู้แล้ว โครงสร้าง แบบแผน กระบวนการของระบบชีวิต ก็จะแปรเปลี่ยนไปตามความรับรู้นั้น ๆ
 
แต่โครงสร้าง แบบแผน กระบวนการ ก็ยังเป็นภาษาของเรา ในการเข้าใจระบบชีวิต ภาษาของชีววิทยาที่จะเข้าใจชีวิต หรือว่า ที่จริง มันก็ยังไม่ใช่โครงสร้าง แบบแผน กระบวนการ หากเป็นอะไรที่ไม่สามารถระบุเป็นภาษามนุษย์ได้
 
เรารับรู้โลกผ่านด้วยอาลัยวิญญาณ โดยใช้พื้นที่ของมนัสเป็นเครื่องมือ มนัสคือกลุ่มก้อนของอาลัยวิญญาณที่ถูกเรียกเข้ามาทำงานประจำ แต่ไม่ใช่อาลัยวิญญาณในตัวของมันเอง อย่างเป็นอิสระของมันเอง หากเป็นอิสระของมันเอง มันเท่าเทียมจักรวาล และจะมองเห็นโลกภายนอกอย่างที่มันเป็น ตามที่มันเป็น หรือในความเป็นเช่นนั้นเองของมัน คือตถาตาของมัน การสัมผัสตรงจึงเป็นไปได้
 
 
ข้อจำกัดของมนัส และการปลดปล่อยจากข้อจำกัดนั้น
(พูดในภาษาของสมอง)
 
หรือว่า มนัส เมื่อพูดภาษาของสมอง ก็คือการที่สมองจำกัดการใช้พื้นที่ลง มาใช้เพียงบางส่วนของทักษะที่สมองมี เช่น "การคิด" ของสมองซีกซ้าย ซึ่งจำกัดอยู่ในระบบเหตุผลแบบหนึ่ง
 
การเทียบเคียงการใช้สมองกับบุคลิกสี่ประเภท อันได้แก่ อินทรี หมี กระทิง หนูนั้น แต่ละบุคลิกสมองจะเน้นการใช้พื้นที่แตกต่างกัน ดังเช่นหมีที่เน้นการใช้สมองซีกซ้าย เป็นต้น ในวิถีแห่งภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกานั้น เขาให้พัฒนาบุคลิกภาพอย่างรอบด้าน นั่นก็คือการรู้จักพัฒนาการใช้สมองทุก ๆ ส่วน จนกระทั่ง เราสามารถใช้สมองทั้งก้อน อย่างบรรสานกัน หรือว่านี่ก็คือการปลดปล่อยอาลัยวิญญาณให้เป็นอิสระ
 
มนัสกับความเป็นเสี้ยวส่วนของอาลัยวิญญาณ
 
มนัสเป็นเสี้ยวส่วนของอาลัยวิญญาณ แต่ไม่ได้เป็นไปในหลักการของโฮโลแกรม หากเป็นเช่นนั้น เสี้ยวส่วนนี้จะเป็นเพียงหน้าต่าง ซึ่งปล่อยให้อาลัยวิญญาณทำงานได้อย่างเป็นอิสระ แต่เมื่อเป็นเสี้ยวส่วนที่เป็นเพียงบางส่วน อย่างตายตัว หรือค่อนไปทางตายตัว แข็งตัว คล้ายเซลมะเร็งที่เกาะอาศัยร่างกาย หากเป็นต่างหากจากร่างกาย ก็คล้ายคลึงกันนี้ นั่นเอง
 
อีกส่วนหนึ่ง มนัสได้สร้างทางเดินของสมองอย่างเป็นอัตโนมัติ เพื่อสะดวกแก่การใช้งาน ความเป็นอัตโนมัตินี้ อยู่ในระดับสมองชั้นต้น คืออาการอัตโนมัติในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทั้งหลาย ในระดับสมองชั้นกลาง คือปฏิกิริยาทางอารมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งที่เป็นอารมณ์ลบ ก็คือร่องอารมณ์ ในระดับความคิด คือการตัดสินสิ่งต่าง ๆ ผู้คน เรื่องราวอย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อมนัสยึดติดตัวเอง ยึดติดอัตตา ก็เริ่มตรึงความคิดเอาไว้ ไม่ให้อิสระแก่การเรียนรู้ ความรู้ที่มีอยู่ก็กลายเป็นเทปม้วนเก่า
 
เทียบเคียงกับ "มนัส"
ในหนังสือ "สู่ชีวิตอันอุดม"
ที่ส.ศิวรักษ์แปลมาจากหนังสือของท่านนัท ฮันห์
 
"มนัส" ก่อเกิดมาจาก "อาลัยวิญญาณ" เพื่อให้อ่านได้ง่ายเข้า (แต่การเปรียบเทียบนี้ จะให้เป็นจริงจังนักคงไม่ได้ คงน่าจะเลื่อมล้ำกันบ้าง ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านอย่างเป็นพิเศษหน่อย) ขอเทียบอาลัยวิญญาณเป็นจิตไร้สำนึกอันกว้างใหญ่ไพศาลและล้ำลึกสุดหยั่ง อันมีเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ของจิตที่จะผุดพรายและงอกงาม เติบใหญ่ขึ้นได้ มนัส เป็นอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ปีเตอร์ เซงเก ปรมาจารย์การจัดการความรู้คนหนึ่ง ได้กล่าวไว้ เทียบได้อย่างคร่าว ๆ กับพื้นที่ของแรม (ram) ในคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ฮาร์ดดิส์ก เป็นอาลัยวิญญาณ และตัวรู้ หรือจิตสำนึก หรือมโนวิญญาณ หรือ Mind Consciousness เป็นเพียงหน้าจอที่เรามองเห็น
 
เปรียบได้อีกอย่าง มนัสเป็น Mental Models ต่าง ๆ หรือเป็นแบบจำลองความเป็นจริงภายใน หรือแบบจำลองความเป็นจริงของจิต อาศัยแบบจำลองเหล่านี้ เราจึงเข้าใจโลก เวลาจะเข้าใจ ต้องระบุชื่อ กำหนดความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ที่ปรากฏชื่อ คือมันต้องเริ่มจากการแยกแยะ ถ้าไม่แยกแยะก็ไม่รู้ เมื่อแยกแยะก็มีนี่ มีนั่น ก็มีการแบ่ง มีขอบเขต มีตัวตน เป็นทัศนะแห่งอัตตา ตัวตนขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ พื้นฐานของมนัสก็คลาดเคลื่อน ไม่ใช่ตถตา หรือ "ความเป็นเช่นนั้นเอง"
 
เป้าหมายของอภิธรรมของฝ่ายมหายาน ก็ต้องการให้เราเข้าไปต่อตรงกับอาลัยวิญญาณโดย ไม่ต้องอาศัยมนัสเป็นตัวแทน เป็นตัวผ่าน ต้องฉายแสงแห่งการตื่นรู้ แห่งสติ แห่งความรู้ หรือตัวรู้เข้าไป เพียงการให้ความใส่ใจ อย่างไม่สับสนอลหม่าน ให้จิตผ่อนคลาย ปราศจากอารมณ์ลบที่เข้ามารบกวน ลดทอนความคิดให้ช้าลง และเพิ่มความใส่ใจ การตามดูรู้เท่าทันให้มากขึ้น ในทางคลื่นสมอง เราจะเคลื่อนจาก เบต้าแก่ ๆ หรือความถี่สูง ไปสู่เบต้าอ่อน ๆ และเพิ่มอัลฟาและเทต้ามากขึ้น อัลฟาจะเป็นรอยต่อระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก หรือจิตใต้สำนึก (จะมีเรื่องราวอธิบายเรื่องคลื่นสมองมากขึ้นในตอนท้ายบท)
 
เหมือนว่าอาลัยวิญญาณมีโครงสร้างที่มีระเบียบอย่างไร้ระเบียบอย่างยิ่ง แต่ก็คือการมีระเบียบที่เหนือชั้นกว่า หรือว่าแท้ที่จริง มันคือระเบียบของจักรวาล หรือจักรภพนี้ และมันไม่ได้อยู่นิ่งด้วย และมันเป็นองค์กรจัดการตัวเองด้วย
 
อภิธรรมฝ่ายมหายาน ที่ท่านนัท ฮันห์ได้แจกแจงอรรถาธิบายมา บอกว่า อาลัยวิญญาณเป็นดิน มโนวิญญาณ หรือ จิตสำนึก คือคนสวน คนสวนไม่ได้คิดเอา จึงเข้าใจ เข้าถึง โครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการของจักรวาล แต่คนสวนทำได้ แค่หว่านเมล็ดพันธุ์ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แล้วงานที่เหลือก็คือการรอคอย ดินต่างหากที่จะให้พืชพันธุ์เติบโตงอกงาม มันเป็นองค์กรจัดการตัวเอง แล้วมันก็ให้คำตอบออกมา อันได้แก่ญาณทัศนะต่าง ๆ
 
มนัสเป็นเส้นทางแห่งอารมณ์ ความคิด อันสืบเนื่องมาแต่อดีต แต่เรามักถูกขังอยู่ด้วยมนัส หรือเรามักจะถูกขังอยู่ด้วยอดีต แม่น้ำก็มักจะไหลลงร่องเดิม คือร่องเดิมที่เคยเป็นมา เราจะเป็นอิสระได้ เราต้องใส่ใจอย่างลุ่มลึกกว่าธรรมดา ทำไปเรื่อย ๆ บ่อย ๆ เข้า (ซึ่งในที่นี้ หมายถึงการฝึกสติ) เปรียบได้กับเรื่องที่ท่านนัท ฮันห์เคยกวนน้ำในแอ่งน้ำฝนตอนท่านเป็นเด็ก ท่านอยากให้ใบไม้ลอยตัวขึ้นมาจากก้นแอ่ง แต่ตอนแรกที่กวนนั้น ใบไม้ไม่ได้ลอยขึ้นมา เมื่อไม่เป็นไปตามที่คิด ก็ไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อหวนกลับมาที่แอ่งน้ำอีกครั้ง ปรากฏว่า ใบไม้ลอยขึ้นมา มันมีช่องว่างของเวลา มันต้องรอคอย แต่การกระทำซ้ำโดยคนสวน คือจิตสำนึก หรือมโนวิญญาณ จะทำให้เกิดผลในที่สุด เมื่อเรากวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลที่เราอยากให้เกิดก็โผล่ปรากฏ คนสวนไม่ใช่คนทำ แต่การกระทำของคนสวนส่งผลให้ได้อย่างที่ต้องการ
 
เซงเกพูดถึงคุณสมบัติอีกประการหนึ่ง ของคนที่เป็นนายทักษะหรือนายตัวเอง หรือ Personal Mastery ก็คือเมื่อเขามุ่งหวังสิ่งใด เขาจะจินตนาการภาพนั้นให้ชัดที่สุด และวางใจในผลพวงที่จะตามมา แทนที่จะไปมุ่งมองวิธีการที่จะเข้าถึงมันอย่างติดยึด แน่นอนวิธีการก็ต้องคิดคำนึง แต่จะฝากดิน หรืออาลัยวิญญาณ หรือจิตใต้สำนึก หรือจิตไร้สำนึกมากกว่า
 
ความทรงจำแห่งอนาคต
 
ในหนังสือ The Living Company ของอารี เดอ กีอัส ก็ได้มีบทหนึ่ง ที่กล่าวถึง "ความทรงจำแห่งอนาคต" เอาไว้ เขาหาทางนำพาผู้จัดการในท้องถิ่นต่าง ๆ ของบริษัทเชลล์ ให้ผ่านวิกฤตของธุรกิจน้ำมันในทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ไปได้ ดังที่เซงเกก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือของเขาด้วยเช่นกัน
 
เดอ กีอัสหาความรู้ที่จะช่วยนำพาบรรดาผู้จัดการของบริษัทของเขา โดยไปคุยกับนักวิจัยทางสมองในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และก็ไปได้ความรู้อันหนึ่ง มาจากฮาวาดว่า สมองส่วนหน้าจะสร้างเส้นทางแห่งอนาคตมากมาย ตลอดเวลา เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเส้นทาง ในแต่ละเรื่องราวที่เราใคร่ครวญ ใคร่จะไปให้ถึง สมองส่วนหน้าจะเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ทำงานในจิตไร้สำนึก คือทำงานโดยที่เราไม่ได้ล่วงรู้ด้วย และเมื่อมีเส้นทางที่เข้าท่าเข้าทาง มันจะผุดพรายจิ๊กซอที่ก่อประกอบดีแล้ว ชิ้นนั้น ขึ้นมาในใจเรา ที่เราจะนำไปใช้ได้ ซึ่งเราอาจจะมันเรียกมันว่า "ญาณทัศนะ" หรือ "ปิ๊งแว้บ" หรือว่าวิถีทางนี้ ก็คือการตั้งคำถาม มากกว่าการหาคำตอบ
 
ตั้งคำถามให้ชัด
 
เซงเกให้แง่คิดอีกประการหนึ่งในเรื่องการเห็นเป้าหมายให้ชัด วาดฝันให้ชัด ก็คือบางทีเมื่อเราต้องการอะไรบางอย่างแล้ว ให้ถามคำถามว่า ที่ต้องการบรรลุนั้น เมื่อบรรลุแล้ว เราจะได้อะไร เขายกตัวอย่าง หญิงสาวคนหนึ่ง ต้องการจะเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงประการหนึ่ง เขาให้เธอถามตัวเองว่า "ทำไมจึงอยากได้ตำแหน่งนั้น" คำตอบก็คือ "การยอมรับนับถือจากผู้คน" และ "จะได้เข้าไปสู่ใจกลางของปฏิบัติการ" เมื่อได้คำตอบที่ชัดขึ้น บางที คำตอบเหล่านี้ เราก็อาจจินตนาการได้ชัดขึ้น วาดฝันได้ชัดขึ้น ความสำเร็จก็จะเป็นไปได้มากขึ้นด้วย อีกประการหนึ่ง บางทีหากเราไม่ได้ตั้งคำถามนี้ แต่เมื่อได้บรรลุถึงสิ่งที่ต้องการได้แล้ว เรากลับไปมะงุมมะงาหราอยู่กับอะไรบางอย่างบางประการ แล้วก็ไม่ได้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง อันซ่อนเร้นอยู่ เราอาจจะหมดเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แล้วก็ไม่ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่อยู่ลึกกว่าเหล่านี้
 
นักวิทยาศาสตร์ทางจิตกับการเรียนรู้เรื่องการรอคอย
หรือ delay ในวงจรป้อนกลับ
 
การทำงานกับอาลัยวิญญาณไม่อาจให้ผลได้ในทันที ในการคิดเชิงระบบของเซงเก นอกจากจะมีวงจรป้อนกลับเชิงขยาย และวงจรป้อนกลับเชิงสมดุลแล้ว ก็มีตัว delay ของระบบที่ทำให้เราต้องรอคอย คนส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจความเป็นไปข้อนี้ และมักจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า หากไม่มองการณ์ไกล
 
การทำงานกับอาลัยวิญญาณ ก็เป็นเช่นเดียวกับการทำงานกับญาณทัศนะใช่หรือไม่ การทำงานกับญาณทัศนะก็เช่นกัน เราต้องใคร่ครวญกับเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างตอกย้ำสม่ำเสมอ มันเหมือนกับที่มโนวิญญาณ หรือ Mind Consciousness หรือ จิตสำนึก ทำงานกับจิต หากส่งผลถึงอาลัยวิญญาณ เหมือนไม้ที่ไปกวนแอ่งน้ำ แอ่งน้ำคืออาลัยวิญญาณ เมื่อกวนไว้ น้ำก็เกิดไหลวนเวียน ในที่สุดก็นำพาเอาใบไม้ก้นแอ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ แต่ทั้งหมดใช้เวลา สิบนาทีแรกของการกวน ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านนัท ฮันของเราในวัยเด็ก ก็เลยไปทำอย่างอื่นเสีย เมื่อกลับผ่านมา จึงได้เห็นใบไม้ลอยขึ้นมา หรือว่านี่คือคำตอบที่ผุดพรายขึ้นมาของญาณทัศนะ
 
การทำงานกับญาณทัศนะต้องเข้าใจมิติของการทำงานในจิตสำนึกด้วย มิใช่เพียงรอคอยให้จิตไร้สำนึกทำงานแต่อย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นการทำงานแบบอิงอาศัยการคิดล้วน ๆหากควรเรียนรู้เข้าใจมิติของการใคร่ครวญ หรือมิติของจิตตปัญญาศึกษา คือการบ่มเพาะทางจิตด้วย เรียนรู้ที่จะคิดใคร่ครวญอยู่กับปัญหาที่คิดไม่ออก คิดไป คิดไป เพ่งพินิจพิจารณาไปเรื่อย ๆ แม้จะคิดไม่ออก และวางใจในช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะ หรือ delay ที่ว่านี้
 
เมื่อนำมาใช้ในการสร้างวินัยแห่งชีวิต หรือสร้างฐานแห่งชีวิต ให้เป็นชีวิตแห่งการเรียนรู้ ให้เป็นชีวิตที่เป็นนายตัวเอง ชีวิตที่อยู่ในมณฑลแห่งพลังนั้น ก็คือการทำงานเชิงบ่มเพาะสิ่งดี ๆ ที่ต้องการให้เกิดในชีวิต พากันทำบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ในที่สุดเราก็จะปลูกต้นไม้ หรือพืชพันธุ์เหล่านั้น ให้งอกงามขึ้นในจิตของเรา
 
ท่านนัท ฮัน หรือคัมภีร์มหายานบอกกล่าวให้เราบ่มเพาะตัวตื่นรู้ หรือ Mindfulness ขึ้นในชีวิตของเรา การให้โกอาน คือการให้ปริศนาธรรม ที่คิดได้ยาก หรือคิดไม่ได้เลย เช่น ตบมือข้างเดียว หรือ หน้าตาเดิมแท้ของเราก่อนถือกำเนิด เป็นต้น
 
อาการเสพติด
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้ปล่อยตัวเอง หรือพลัดหลงเข้าไปติดเกมเป็นเวลาสองสามวัน และดูผลว่า มันทำอะไรกับชีวิตของเราบ้าง ก็ปรากฏว่า มันเป็นการทำงานอย่างสม่ำเสมอจริง ๆ ในหลายระนาบ มันเหมือนการโยนโกอานลงในจิต เหมือนกัน มันทำให้เราขบคิดแก้ปัญหา ที่มีสารพัดสารพันในเกมคอมพิวเตอร์ จิตที่ต้องการแก้ปัญหาก็จะวนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่กับการแก้ปัญหาสารพันนั้น มันนำพาจิตทั้งมวลเข้าไปปลุกปล้ำกับปัญหา อย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น
 
จนถึงอาการเสพติดเกมก็เกิดขึ้น ตอนแรกคิดจะเล่นนิดหน่อย แต่แล้วนิดหน่อยนั้น ก็ไปกวนน้ำในแอ่ง แล้วก็ส่งผลไปถึงจิตไร้สำนึก หรืออาลัยวิญญาณ ซึ่งจะทำงานให้เราในการแก้เกมตลอดเวลา ทั้งที่ตื่นและหลับฝัน ไม่หยุดเลย มันจึงเข้ามาครองจิตเกือบจะทั้งหมดได้โดยง่าย แต่คลื่นของมันที่ส่งขึ้นมา ส่งขึ้นมาไม่หยุดหย่อน เป็นคลื่นแห่งการพยายามเอาชนะ ถ้าไม่เอาชนะคู่ต่อสู้ ก็จะเอาชนะปัญหา มันก็คือการทำงานของมนัสดี ๆ นี่เอง มนัสทำงานในฐานของการแยกแยะ ทำให้มีฝักฝ่าย ทำให้อยากเอาชนะ ก็ดุจเดียวกับสมองซีกซ้าย หรือ intellect หรือ ไอคิว ที่เราคุ้นเคย ที่มีฐานการทำงานอยู่ที่สมองซีกซ้าย ถ้าดูเรื่องสมอง ถ้าวงจรไหนใช้มาก มันก็จะหุ้มฉนวนรอบเส้นประสาทนั้น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของแผงวงจร เพื่อให้เป็นไฮเวย์ เพื่อให้การทำซ้ำซึ่งการคิดแบบนั้นเป็นไปอย่างอัตโนมัติที่รวดเร็ว แต่ข้อเสีย คือมันทำให้การเปลี่ยนเส้นทาง การปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึก เป็นไปได้ยากยิ่งด้วยเช่นกัน อันนี้หรือเปล่าที่เป็นอาการเสพติด
 
คลื่นสมองกับมโนวิญญาณหรือจิตสำนึก
 
คลื่นสมองของการเล่นเกม ก็จะอยู่ประมาณเบต้าแก่ ๆ ไม่ใช่เบต้าอ่อน ๆ แห่งการใคร่ครวญ ในขณะที่การบ่มเพาะปัญญา หรือการบ่มเพาะพลังแห่งสติ พลังแห่งการตื่นรู้ จะเป็นการบ่มเพาะในคลื่นอัลฟากับเบต้าอ่อน ๆ เราอาศัยเบต้าอ่อน ๆ กับอัลฟา(อัลฟาเป็นภาษาแห่งจินตนาการ และการสร้างภาพการรับรู้ในทุกประสาทสัมผัส) คลื่นเบต้าอ่อน ๆ นั้นจะสามารถให้อัลฟาซึ่งเป็นสะพานเชื่อม ได้เชื่อมตัวมันเข้ากับเทต้า หรือจิตไร้สำนึกได้ หรือเชื่อมมโนวิญญาณเข้ากับอาลัยวิญญาณนั้นเอง หรือเชื่อม จิตสำนึกเข้ากับจิตไร้สำนึก อย่างบรรสาน กุญแจทางเข้า ก็คืออัลฟา คือความผ่อนคลาย ความไม่เร่งรีบ บีบคั้น คือการช้าลง คือการใคร่ครวญอย่างสุขุมรอบคอบ คือปิติ สุข ใคร่ครวญ และความเป็นหนึ่งกับสิ่งที่ใคร่ครวญ นั่นคือองค์ประกอบของฌาณชั้นต้น อันเป็นสภาวะจิตแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
 
ส่วนคลื่นเบต้าแก่ ๆ มันจะอยู่ในสภาพการถูกล็อคเอาไว้ในความคิดของตัวเอง ติดอยู่ในไฮเวย์ทางความคิดเก่า ๆ เทปม้วนเก่า อย่างไม่มีอิสรภาพ ไม่มีช่องว่างแห่งการเว้นวรรค การฟังแย่มาก และการคิดหาทางใหม่ ๆ เป็นไปได้ยากเต็มที
 
Delay กับวิบากกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันสามประการ
 
วิบากต่าง ๆ จะแตกต่างกันอยู่สามประการ คือ
1.แตกต่างกันที่ระยะเวลาแสดงผล หรือสุกงอม ดังที่เมล็ดพันธุ์จะอาศัยเวลาบ่มเพาะเป็นต้นแตกต่างกันนั้นเอง
2.แตกต่างกันที่ผล ดังที่เม็ดขนุนก็ต้องงอกขึ้นมาเป็นต้นขนุน ฝรั่งก็ต้องงอกออกมาเป็นต้นฝรั่ง เป็นต้น
3.วิบากทำให้พืชพันธุ์เดียวกัน ในเวลาที่ต่างกันก็แตกต่างกัน ดังเช่นผลส้ม เมื่อยังไม่สุก ก็จะเขียวและเปรี้ยว แต่เมื่อสุกงอมแล้ว ก็จะสีส้มและหวาน เป็นต้น
 
อุบายโกศลของอธิษฐานบารมี
การแก้อาการเสพติด กับการสร้างพลังชีวิต
 
เวลาพูดถึงพระพุทธเจ้า บางทีเราอาจจะหดตัวไปเสียก่อน เราจะเอาท่านขึ้นหิ้ง เอาไว้บูชา เราไม่ได้มองท่านเป็น Role Model หรือแบบอย่าง ที่เราจะลอกเลียนปฏิบัติอีกต่อไป
 
เราจะต้องหาทางเข้าใหม่ เอาละ เราอาจจะเข้าถึงสิ่งที่ดูยากและดูว่าอาจจะเข้าถึงไม่ได้ ด้วยกองทัพมด หรือสงครามกองโจร คือเอาวิธีตอดเล็กตอดน้อยเข้ามาใช้ในการจู่โจม เปลี่ยนแปลงนิสัยแบบเดิม ของการติดเกมและติดอะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากจะไปพ้น ตอนนี้มีโจทย์อีกแบบหนึ่งเข้ามาเรื่อย ๆ ในชุมชนของเรา คือมีคนพากันทยอยส่งลูกหลานมาให้แก้ บรรดาลูกคนมีตังทั้งหลาย ที่ลูกพากันเสพติดอะไรในระดับใดระดับหนึ่ง ตั้งแต่บริโภคนิยมอ่อน ๆ ไปจนถึงแก่ ๆ ไปจนถึงยาเสพติด
 
ตอนนี้คงไม่ได้บอกเล่าถึงยุทธวิธีทั้งหมดนะครับ เพียงแต่จะพูดถึงการแบ่งข้าวเป็นคำข้าว เพราะอะไรที่พอมาพอดีคำ มันก็กินง่ายหน่อยเท่านั้นเอง เรียกว่ายุทธศาสตร์ซูชินั่นเอง
 
ผมถามเด็กหนุ่มคนหนึ่งว่า อะไรทำให้เขาไม่ได้ ในสิ่งที่เขาอยากได้ เขาไปไม่ชอบเรียนหนังสือ พ่อแม่มีฐานะ ไม่ยากลำบาก เขาเป็นลูกคนโตที่ได้รับการประคบประหงมจนอาจจะเกินพอดี แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ตัวเองอยากจะทำ มันเหมือนพลังแห่งแรงบันดาลใจมันฝ่อ มันแฟบไม่มีแรงชีวิต ไม่มีไฟ อยู่ไปวัน ๆ เสพติดสุขแบบบริโภคไปวัน ๆ ถามเขาว่าอยากทำอะไร เขาว่าอยากทำธุรกิจ ถามว่าอะไรทำให้เขาจะไม่ได้ทำ เขาว่า "ศรัทธาของพ่อแม่" เขาว่าพ่อศรัทธา แต่แม่ไม่ ผมถามว่าเขาศรัทธาในตัวเองหรือเปล่า? อ้นนี้ คำถามสำคัญครับ เขาตอบว่าไม่
 
อันนี้คือทางเข้า ผมถามว่า อะไรจะทำให้เขาศรัทธาในตัวเอง ถ้าศรัทธาในตัวเองกลับมา เขาก็ฟื้นความเชื่อถือ แรงบันดาลใจในตัวเขากลับมาทั้งหมด
 
มันต้องมาปลดล็อคเขาออกมาจากความรู้สึกล้มเหลวในการศึกษาตำรับตำราในระบบโรงเรียน มันทำให้เขารู้สึกล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
 
ตอนนี้มาเริ่มใหม่ ทำอะไรที่แตกต่างออกไป เรียนอะไรที่แตกต่างออกไป ในบรรยากาศที่แตกต่างออกไป เรียนอะไรที่พื้น ๆ มาก ที่ไม่เป็นระบบโรงเรียน ที่ไม่เป็นตำรับตำรา ก็ลองดูครับ รายนี้ยังไม่สำเร็จ หากเป็นเพียงการเริ่มต้น ก็ไม่จำเป็นต้องสำเร็จเสมอไปนะครับ
 
กรณีของผู้คนที่ยังไม่เสพติดอะไรบางอย่างอย่างรุนแรงนั้นจะง่ายกว่ามาก ของให้ลองเป็นนักวิทยาศาสตร์กันหน่อย รอคอยเป็นนะครับ ทำอะไรเล็ก ๆ ก่อน เป็นคำข้าวเล็ก ๆ ก่อน เช่น ลองมีเวลาพูดคุยกันเป็นครอบครัวดูสักครึ่งชั่งโมง อ่านหนังสือสักครึ่งชั่วโมง ออกกำลังกายสักครึ่งชั่งโมง อยู่คนเดียวให้ได้โดยไม่ต้องทำอะไร ไม่อยู่กับคอมฯ ไม่อยู่กับโทรศัพท์ สักครึ่งชั่วโมง และทำทุกวัน ฝึกฝืน แล้วอย่าไปหวังผลในวันสองวัน กวนน้ำในแอ่งไปเรื่อย ๆ สักวัน ใบไม้อาจจะผุดพรายขึ้นมา
 
พืชพันธุ์โบราณ
 
ในอาลัยวิญญาณมีพืชพันธุ์โบราณ พืชพันธุ์ในความหมายของเมล็ดพันธุ์ ที่จะให้ก่อเกิดได้อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งไม่จบสิ้น มันวิถีแห่งการรับรู้เรียนรู้ ตัดสินใจ เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด มันมีมาก่อนที่เราจะพัฒนามาเป็นมนุษย์ มันจึงมีพลังชีวิต ความมุ่งมั่น การดำรงอยู่เพื่อความอยู่รอด สัญชาตญาณของสัตว์เลื้อยคลาน อารมณ์ความรู้สึก ปัญญาแห่งความสัมพันธ์ที่งอกเงยมาแล้วในชั้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเรื่องราวของมนุษย์ อารยธรรม คุณค่า ความเชื่อ ความคิดความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ทำซ้ำและดำรงอยู่ต่อเนื่องมาเนิ่นนาน
 
ในทางพุทธศาสนา เมล็ดพันธุ์เหล่านี้มีทั้งกลาง ๆ ลบ ๆ หรืออกุศล และมีที่เป็นบวก ๆ หรือกุศล เมื่อเราถอดถอนเหตุปัจจัยที่มันเป็นอกุศล เราก็จะเคลื่อนย้ายผ่านเปลี่ยนไปสู่ การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งเจริญงอกงามไปทางกุศล ไปทางที่เป็นอิสระ การเรียนรู้และวิวัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
 
การรับรู้สามลักษณะ
 
เมื่อภาพลักษณ์ ตัวแทน แปรเปลี่ยนได้ หรือ transform หรือมีการเขียนโลกใบใหม่ ซึ่งทำให้การรับรู้แปรเปลี่ยนไป หรือ เมื่อมีความว่าง ที่ทำให้การมองออกไปอย่างแตกต่างไปจากเดิมเป็นไปได้ นั่นคือ อิสรภาพ นั่นคือความสุข นั่นคือการไม่ยึดติด
 
ที่จริงคงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ภาพลักษณ์และตัวแทนกระมัง เมื่อเราจับขึ้นมาเพื่อคิด (ตรงนี้มนัสทำงานด้วยการแยกแยะแล้ว) มันก็เป็นภาพลักษณ์ตัวแทนขึ้นมาทันที ที่จะทำงานตรงโดยไม่คิดได้ ก็คือเปิดให้อาลัยวิญญาณ หรือจิตไร้สำนึกทำงานแทน "การคิด" ของเรา ด้วยการเฝ้าดูอย่างตื่นรู้ เพียงการเฝ้าดูอย่างตื่นรู้ และไม่เข้าไปคิด เพียงเฝ้าดูอย่างเนิ่นนาน ตรงนี้เองกระมัง ที่ทางนิกายวิญญาณวาทให้เป็นการรับรู้ตรง อย่างเป็นเช่นนั้นเอง
 
การคิดแบบปกติ ที่คนทั่วไปพากันคิดนั้น มักจะทำงานด้วยภาพลักษณ์และตัวแทน ด้วยวิถีและวิธีแบบเดิม ๆ ด้วยความคุ้นชินเดิม ๆ ด้วยพืชพันธุ์โบราณแบบเดิม เลือกเอาเมล็ดพันธุ์แบบเดิม ๆ ขึ้นมาทำงาน และให้ความหมายเดิม ๆ กับเรื่องราวเดิม ๆ จึงไม่เป็นอิสระ จึงตัดรอนความเป็นไปได้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 มิถุนายน 2553 19:54:08 »

 
มิติปัจเจกภาพกับสมุหภาพของอาลัยวิญญาณ
 
อาลัยวิญญาณหรือจิตไร้สำนึก ไม่ได้เป็นเพียงปัจเจกภาพหรือสมุหภาพ หากเป็นทั้งสองในเวลาเดียวกันนั้นเอง เพราะว่า ปัจเจกภาพและสมุหภาพนั้นเป็นอะไรที่จิตเราสร้างขึ้นมา มันไม่ได้เป็นความเป็นจริง แต่ความเป็นจริง หรือความเป็นเช่นนั้นเองของอาลัยวิญญาณนั้นมันข้ามพ้นความเป็นปัจเจก หรือความเป็นสมุหะด้วยประการทั้งปวง
 
ท่านนัท ฮันยกตัวอย่าง คนคุกหรือคนต้องโทษ กระทำอาชญากรรม คำถามง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจความเป็นปัจเจกภาพหรือสมุหภาพก็คือ เขาเป็นเช่นนั้น เพราะว่าตัวเขาเองหรือสังคม คำตอบในที่นี้ก็คือเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้นมาทั้งสองทาง คือตัวเขาเอง และสังคม เพราะว่าสังคมเป็นอย่างที่เป็นอยู่ จึงเป็นเนื้อนาอันก่อให้เกิดความพิกลพิการทางจิตขึ้นในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่แตกแยก สังคมตัวใครตัวมัน ที่ไม่ได้ให้เกียรติ ไม่ให้พื้นที่ โดยเฉพาะกับคนที่ล้มเหลวในระบบโรงเรียน และล้มเหลวในสังคม ซึ่งไป ๆ มา ๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว เพื่อไปสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิของคนส่วนน้อย เป็นต้น
 
แต่เมื่อมองดูดี ๆ สิ่งต่าง ๆ เกือบทุกเรื่องราวที่เป็นสาเหตุ ก็สามารถจะมองได้ทั้งสองอย่าง หรือมองเป็นปัจเจกภาพก็ได้ มองเป็นสมุหภาพก็ได้
 
มิติของการปฏิบัติธรรมที่จะหลุดพ้นไปจากกรอบแคบ
 
บางทีมีคนเถียงกันว่า เราจะดูแลตัวเองก่อนดี หรือดูแลสังคมก่อนดี อันนี้มักจะเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในหมู่นักปฏิบัติธรรม หรือในหมู่คนที่ต้องการสร้างสรรค์ความดีงามขึ้นมาในสังคมด้วย ว่าเราจะพัฒนาตัวเองก่อนดี หรือพัฒนาสังคมก่อนดี
 
ที่เป็นประเด็นขึ้นมา ก็เพราะว่าเราชั้นแรก เราไปแบ่งแยกระหว่างปัจเจกภาพกับสมุหภาพเสียแล้ว เราจึงไม่สามารถประนีประนอมยอมความกันในประเด็นนี้ได้ แต่หากเรามีความเข้าใจเรื่องทั้งสองนี้อย่างถ่องแท้ เราก็จะหาคำตอบได้โดยง่าย
 
เพราะที่จริง เมื่อเราดูแลคนอื่นด้วยกรุณา (อันนี้คนที่นำถ้อยคำมากล่าว ไม่ทราบว่าจะคัมภีร์ไหน คนแรกที่ผมพบเจอก็คือ ท่านญาณโปทิกะมหาเถระ เป็นพระเยอรมันที่ไปพำนักอยู่ที่ศรีลังกา เขียนหนังสือเล่มน้อยที่มีคนไทยแปลมา คือพลังแห่งสติ) ก็เท่ากับว่า เราดูแลตัวเราเองด้วย และเมื่อเราดูแลตัวเราด้วยสติ ก็เท่ากับว่า ในขณะนั้น เราได้ดูแลคนอื่น ๆ ด้วย
 
เพราะว่าที่จริงแล้ว การกระทำทุกอย่างหากใส่สติลงไป ใส่กรุณาลงไป ไม่ว่าจะกระทำกับตัวเอง หรือกับผู้อื่น จะเป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าจะเป็นการงาน หากมีสติและกรุณากำกับ ทั้งหมดย่อมได้กับตัวเองและมหาชนอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติของชีวิตเป็นเครือข่าย มีโยงใยที่ซ่อนเร้นเชื่อมโยงอยู่ตลอดสาย ไม่อาจตัดขาดอะไรออกจากอะไรได้ เพียงมนัส หรือนิสัยแห่งจิตของเรานั้นเอง ที่ไปแยกแยะแบ่งตัดเค้กซึ่งจริง ๆ เป็นชิ้นเดียวให้เป็นหลายชิ้นขึ้นมา
 
การเยียวยา
 
การเยียวยาใน Transformation at the Base ก็คือการอาศัยแสงแห่งการตื่นรู้ของมโนวิญญาณ (เบต้าความถี่ต่ำ ๆ) ที่ผ่อนคลาย ตื่นรู้และอิสระ อิสระจากภาพลักษณ์และตัวแทนแบบเดิม ๆ ที่จำขังจิตเอาไว้
 
มโนวิญญาณคือจิตสำนึก คือเบต้าผสมอัลฟาบางส่วน เพราะว่าอัลฟาจะอยู่ระหว่าง เป็นสะพานเชื่อมระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ในเรื่องราวของคลื่นสมอง (ถ้าไม่เข้าใจเรื่องคลื่นสมองให้อ่านภาคผนวกท้ายบท) จิตสำนึกหรือมโนวิญญาณทำงานกับมนัส มนัสจะแยกแยะ ในมุมนี้มนัสส่วนหนึ่งจะอยู่ในจิตสำนึก ส่วนหนึ่งจะอยู่ในจิตไร้สำนึก มนัสนั้นมาจากอลัยวิญญาณ อาจจะเป็นกลุ่มก้อนของอาลัยวิญญาณส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนของอาลัยวิญญาณที่นำมากำกับแยกแยะแล้ว และหมดสภาพเดิมแท้ของอาลัยวิญญาณไปส่วนหนึ่ง แต่มันน่าจะถูกแปรสภาพมาเพื่อเป็นประโยชน์บางอย่าง แต่แล้วบางทีเราอาจจะเสียสัดส่วนสมดุลที่เหมาะสม และมนัสได้เข้ามาเป็นใหญ่เกินตัว
 
ถ้าเราหวนกลับคืนไปทำงานกับอาลัยวิญญาณโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง และกลับไปดูแลเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเมล็ดพันธุ์กับการปรากฏของเมล็ดพันธุ์ ในรูปของจิตสังขาร หรือเมื่อมันปรากฏขึ้นมาในจิตสำนึก หรือมโนวิญญาณแล้ว ตรงนี้การตื่นรู้ หรือ Mindfulness หรือพลังแห่งสติจะเข้ามามีบทบาท
 
เมล็ดพันธุ์ที่ถูกหว่านไว้แล้ว มันจะกลับเข้ามาส่งผลเสมอ ขึ้นอยู่กับท่าทีที่เราจะมีต่อมัน มโนวิญญาณของเรา สามารถฉายแสงแห่งการตื่นรู้เข้าไปทาบทับกับการปรากฏขึ้น หรือการแสดงตัวในของเมล็ดพันธุ์จากอาลัยวิญญาณได้ การแสดงตัวนั้นคือ Mental Formation หรือจิตสังขาร หรือการก่อตัวทางความคิด ไม่ว่ากุศลหรืออกุศลก็ตาม โดยเฉพาะที่เป็นอกุศลนั้น สามารถทอนกำลังลงได้ด้วยการตื่นรู้ หรือการรู้เท่าทัน ทุกครั้งที่มีการรู้เท่าทัน ผลพวงตามมา หรือผลที่ได้ หรือวิบากของอกุศลกรรมนั้นจะเบาบางลง
 
เราอาจจะหว่านล้อม หรือสร้างป่าล้อมเมือง เอากุศลกรรมเป็นป่าล้อมอกุศลกรรมเอาไว้ ไม่ให้อกุศลกรรมได้แสดงตัวตนอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยวิธีนี้ เราค่อย ๆ ลิดรอนกำลังของอกุศลกรรมไปเรื่อย ๆ จนมันหมดกำลังไปในที่สุด
 
การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการตื่นรู้ เอื้อต่อการใคร่ครวญ ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลง โดยให้มีเวลา ดำเนินชีวิตอยู่ห่างจากจังหวะชีวิตที่กระแทกกระทั้น หลีกห่างจากความก้าวร้าวที่ไม่จำเป็น รอคอยจังหวะโอกาสดี ๆ ที่จะนำพาความรู้ความเข้าใจสู่ผู้คน ไม่ต้องรีบเร่งมากมายอะไร
 
ค่อย ๆ หลุดออกจากกิจวัตรบางประการที่เอื้อเฟื้อต่ออกุศลกรรม ให้ร่างกายได้สัมผัสการคลายออก การผ่อนคลายจากอกุศลกรรมนั้น ๆ โดยให้ความรู้สึกนี้ได้ลงลึกเข้าไปในเซล ให้ได้ปิติ ให้ได้สุข ให้ชีวิตเริ่มหลุดออกมาจากวังวน ที่รุมเร้า เร่าร้อนต่าง ๆ ให้กายได้คลายตัวลงด้วยความผ่อนคลาย เมื่อจังหวะชีวิตก็ดีมาก ช้าลง รอคอย ปรับจูนได้อย่างไม่ต้องไปหงุดหงิด เครียดขึ้ง กลับมาที่ลมหายใจ กลับมาที่ความรู้สึกดี ๆ ในเซลของเราเองได้มากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการเช่นนี้ เราจะสามารถสร้างชัยภูมิอันเป็นที่มั่นแห่งการเปลี่ยนแปลงเยียวยาให้แก่ชีวิตได้
 
ความรู้ความเข้าใจเรื่องคลื่นสมอง
 
ผมกำลังอ่านหนังสือชื่อ Awakening The Mind โดย Anna Wise เป็น A Guide To Mastering The Power Of Your Brain Waves พิมพ์ปี 2002
 
ใครที่ติดตามเรื่องราวกระบวนกรของผม จากการอ่านหนังสือก็ดี หรือจากการได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ก็ดี ย่อมเคยได้ยินเรื่องคลื่นสมองมาบ้าง โดยเฉพาะคลื่นเบต้าและอัลฟา ได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านได้หนึ่งบทแล้ว ก็เห็นความพิลึกพิลั่นเพิ่มเติมเข้ามา สิ่งที่เราเคยสรุปก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนมากนัก แต่เมื่ออ่านก็ได้รายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมกับความรู้ทางปฏิบัติอีกมาก น่าจะประมวลไว้พอสังเขป ณ ที่นี้ ก็จะค่อย ๆ เขียนเรียบเรียงออกมาบอกเล่าในนี้ตามลำดับ
 
วญ.
 
เหมือนกับว่าแต่ละคลื่นก็ทำหน้าที่แต่ละอย่าง จิตสำนึกทั้งหมดอยู่ในคลื่นเบต้า เบต้าก็มีอ่อนและแก่ แก่นั้นหมายถึงความถี่สูง หมายถึงช่วงเบต้าที่อยู่ในร่องอารมณ์และเป็นเทปม้วนเก่า เวลาความถี่น้อยลง หมายถึงว่า เราคิดช้าลง เป็นจังหวะเป็นท่วงทำนอง คมชัด ไตร่ตรองได้ด้วย มีช่วงเว้นวรรค ไม่ได้ติดกันเป็นพืด
 
อัลฟาเป็นตัวเชื่อมระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก แอนนา ไวส์กล่าวว่า คลื่นเทต้าคือคลื่นของจิตใต้สำนึก แต่ใต้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต่ำ คือไม่ได้เป็นเพียงสัญชาตญาณ แต่เป็นมากกว่านั้น คือเป็นทั้งหมด คือทั้งหมดที่อยู่พ้นจิตสำนึกออกไป ทั้งใต้และเหนือ แต่เทต้านี้เป็นเฉพาะปัจเจกบุคคล อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บรรจุอยู่ในสมอง หรือความเป็นตัวตนของมนุษย์คนนั้น ๆ หรือเทียบทางมหายานอาจจะเป็นอาลัยวิญญาณหรือ store consciousness หรือวิญญาณอันเป็นที่เก็บสะสมเจตสิกหรือดวงจิตต่าง ๆ
 
แต่สิ่งที่อยู่ในสมองนี้เป็นเครื่องมือในการรับรู้โลก เป็น ความทรงจำ เป็นเมล็ดพันธุ์หรือพีชะของจิต เป็นแบบจำลองความเป็นจริงภายใน หรือโลกภายใน เมื่อเราอยู่ในเบต้า เราเห็นโลกภายนอก เมื่อเราอยู่ในเทต้าเราเห็นโลกภายใน หรือเราอยู่กับโลกภายใน
 
ใน "จิตตะมาตรา" ของมหายาน เราอาศัยโลกภายใน คือจิตนี้ในการมองเห็นโลกภายนอก ถ้าไม่มีโลกภายใน โลกภายนอกก็ไม่มี เราจึงเห็นโลกภายนอกไปตามโลกภายในที่เรามีอยู่ อันนี้เข้าใจได้ยากมากสำหรับคนสมัยนี้ ที่ทั้งหมดฉายออกไปข้างนอก ไม่มีโอกาสหันมามองด้านในกันเลย
 
ทีนี้ระหว่างกลางก็เป็นคลื่นอัลฟา อัลฟามีลักษณะเฉพาะอีกอันหนึ่ง คือมันเชื่อมโยงอยู่กับระบบประสาทสัมผัสทั้งหมด ในการใช้ภาษาอัลฟาก็คือการใช้ sensualization ทั้งหมด ซึ่ง visualization เป็นเพียงหนึ่งในนี้ visualization ก็คือจินตนาการให้เห็นภาพต่าง ๆ เราจะคุ้นกับการจินตนาการภาพ หมอวิธานก็เคยพูดถึงการรักษาโรคโดยให้คนไข้สร้างภาพ นี่ก็คือการใช้ภาษาอัลฟาในเรื่องของภาพ
 
หนังสือเล่มนี้ ขยายขอบเขตของอัลฟาว่า เป็นประสาทสัมผัสทั้งหมด ก็คือเป็น sensualization ต่าง ๆ มันก็จะมีเรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สัมผัสนี้เป็นความลื่น ความหยาบ เป็นต้น คือขยายการรับรู้ให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น คลื่นอัลฟา มันเป็นคลื่นของปัญญาที่อาศัยอายตนะ หรือประสาทสัมผัสเป็นที่ตั้งอยู่ คือมันอยู่ระหว่าง โลกภายนอกกับโลกภายใน อยู่ระหว่าง การมองโลกภายนอกกับการตีความของสมอง แล้วมันก็เป็นตัวเชื่อมระหว่าง conscious กับ subconscious หรือจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก การที่จิตใต้สำนึกจะขึ้นมาคุยรู้เรื่องกับจิตสำนึกนี่ ต้องอาศัยการเชื่อมโยงของคลื่นอัลฟา
 
อันนี้ในทางปฏิบัติ เวลาเราลงไปรับรู้ในระดับจิตใต้สำนึก แล้วเราอยากจะนำสาส์นขึ้นมาในระดับจิตสำนึก เราต้องไปแปลสาส์นให้เป็นภาษาในคลื่นอัลฟาเสียก่อน คือสิ่งที่รับรู้ในเทต้า เราต้องใส่ภาพ รส กลิ่น เสียง สัมผัสเข้าไปให้ได้มากที่สุด เราจึงจะจดจำได้ในจิตสำนึก นี่คือกระบวนการ sensualization
 
การจะมาเชื่อมต่อระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกนี่ เขาให้ไดอะล็อค หรือพูดคุย เขาให้ไดอะล็อคกับเรื่องราวหรือรูปภาพที่เราไปเห็นในเทต้า หรือวัตถุตัวตนที่ทำให้เป็นอะไรที่สัมผัสได้ขึ้นมาด้วยอัลฟา แล้วเบต้าก็จะไดอะล็อคกับเทต้า เชื่อมโยงระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกขึ้นมาได้
 
เราจะเห็นปัญญาว่าดำรงอยู่กันเป็นชั้น ๆ จะเห็นเบต้าเป็นชั้นหนึ่ง อัลฟาเป็นอีกชั้นหนึ่ง เทต้าก็เป็นอีกชั้นหนึ่ง และเดลต้าอีกชั้นหนึ่ง เหมือนขนมชั้น ทีนี้มาพูดถึงเดลต้า ผมขยายความเดลต้านิดหนึ่ง ผมเห็นว่าเดลต้าในหนังสือเล่มนี้เป็นสนามพลัง สนามข้อมูล เป็น morphic resonance อันเป็นสมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์ชื่อรูเปิต เชลเดรก มันอาจจะเป็นสนามของคลื่นควันตัมด้วยซ้ำไป เพราะเดลต้านี่เป็นสภาวะที่มนุษย์นิ่งที่สุด คือคลื่นความถี่อยู่ที่ 0-4 รอบต่อวินาที ลองให้จังหวะดูก็จะรู้ว่ามันวิ่งช้ามาก
 
ที่นี้เดลต้า พูดได้ในสองมิติ มิติหนึ่งเป็นญาณทัศนะ อีกมิติหนึ่งเป็น non-local หรือไม่จำกัดที่ทาง เป็น collective หรือสมุหะด้วย ไม่จำกัดที่ปัจเจก คือมันจะเชื่อมร้อยสมาชิกในสายพันธุ์เข้าด้วยกัน หรือกลุ่มคนหรือชุมชนเข้าด้วยกัน เช่นยกตัวอย่าง คนที่เข้าถึงเดลต้ามากขึ้นนี่ การรับรู้ในความรู้สึกของคนอื่นจะเป็นไปได้ดี และจุดอ่อนของเดลต้า ถ้าไม่มีปัญญาเข้ามาประกอบ บางคนเข้าถึงเดลต้านี่ ก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง ความคิดความรู้สึกของคนอื่น ๆ มาครอบงำตัวเอง นี่คือภาวะของคนที่มีเดลต้าแต่อ่อนแอ คนที่มีเดลต้าไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งเสมอไป
 
ส่วนพวกที่เป็นเซียน พวกที่เป็นนักปฏิบัติธรรม พวกเป็นยอดนักกีฬา พวกที่เป็นยอดศิลปิน พวกที่เป็นผู้นำโดยธรรมชาตินี่ ก็จะมีคลื่นเดลต้าที่แรง คืออยากขยายความว่า คลื่นนั้นวัดได้สองอย่าง คือความถี่ของคลื่นและความแรงของคลื่น หรือ amplitude ในบุคคลที่กล่าวถึงมานี้ พวกเขาจะมีคลื่นเดลต้าที่แรง อันนี้เป็นการส่งออกด้วย นอกจากความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความคิดของคนอื่น ๆ แล้วพวกนี้ยังสามารถส่งออกอารมณ์ความคิดของตัวเอง ด้วยกำลังแรงทีเดียว
 
อันนี้มันเข้ามาถึงเรื่องกระบวนกรด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราดำดิ่งไปสู่ภาวะผ่อนคลายและเปิดพื้นที่ให้กับเดลต้านี่ ผู้นำที่มีเดลต้าที่มีความเข้มข้น ก็จะเหนี่ยวนำกลุ่มให้คิดตามได้หมดเลย อันนี้มันใกล้ ๆ การสะกดจิต โดยเฉพาะประเด็นที่เข้าไปโดนใจ ประเด็นของตัวกวนที่โดนใจ คลื่นเดลต้าของผู้นำก็จะไปเพิ่มพลังความแรง ความเข้มข้นขึ้นทบทวี ซึ่งน่าสนใจมาก
 
แล้วมาเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า พอเกิดพระพุทธเจ้า ที่จริงก็คงจะมีพระพุทธเจ้าก่อนหน้านั้น พระพุทธเจ้าเองก็บอกเช่นนั้น ว่ามีอดีตพุทธะ พวกอุปนิษัทอาจจะตรัสรู้มาก่อนมีพระพุทธศาสนานานแล้ว แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านอาจจะทำให้ชัดขึ้น คือว่าก่อนหน้าที่ท่านจะตรัสรู้นี่ โยคีส่วนใหญ่ ยังเล่นเพลินอยู่ในฌาน คืออยู่ในอัลฟา เทต้าอยู่ กสิณนี่เป็นอัลฟาแน่นอนเลย แบบฝึกหัดของหนังสือเล่มนี้จะให้เราจินตนาการเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นกสิณ เป็นsensualization ไม่ได้จบลงแค่ภาพอย่างเดียว แต่มีอย่างอื่นประกอบด้วย คือรส กลิ่น เสียง สัมผัสประกอบด้วย อันนี้รายละเอียดค่อยว่ากัน แต่อัลฟา จินตนาการ แล้วเทต้าก็คือไปเชื่อมโยงกับความทรงจำเดิม อาจจะย้อนไปในวิวัฒนาการ อาจจะเป็นความทรงจำที่ฝังอยู่ในเซล ในสมองส่วนดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ก็ได้
 
ทีนี้ความแตกต่างของพระพุทธเจ้าคือท่านเอาเบต้ากลับเข้ามาพูดคุย ไดอะล็อคกับเทต้าโดยผ่านอัลฟา คือในฌานชั้นต้น หรือปฐมฌาน เป็นสภาวะ สภาพการณ์ที่เราคิดได้ ใคร่ครวญได้ ก็คือเบต้านั้นเอง สภาวะของความเป็นเซียน ความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ ของหนังสือเล่มนี้ก็คือสภาวะที่เบต้า อัลฟา เทต้า เดลต้าอยู่ครบ ประสานกลมกลืนทำงานร่วมกัน ตัวกุญแจมันอยู่ที่เทต้า เดลต้า เมื่อมันนิ่ง ขาดการติดต่อเชื่อมโยง มันเลยเอากลับขึ้นมาในจิตสำนึกไม่ได้ ในแง่นี้ เมื่อมีไดอะล็อคกับเบต้า มันเอากลับมีประโยชน์กับชีวิตโลก ๆ ได้ คือถ้าไม่มีการเชื่อมโยง มันก็มีแต่ความสงบนิ่ง มันรู้อยู่แต่ในจิตไร้สำนึก มันเอากลับมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยเอาจิตสำนึกเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้
 
ทีนี้หนังสือเล่มนี้ คุณูปการอีกอันหนึ่งที่ใหญ่หลวงเลย อันนี้มันเข้าไปตันตระแล้ว ผมอยากจะมีโอกาสคบหาคนที่รู้และปฏิบัติตันตระจริง เพราะของเราได้แต่อ่านหนังสือ เพราะเมื่อคุณเข้าไปในเทต้าก็ดีนี่ เอาเทต้าก่อน เพราะเดลต้า เราไม่ได้เข้าไปหามัน แต่มันเข้ามาหาเรา คือเข้าไปหาเทต้า คือเข้าไปดูโลกภายในของตัวเอง ถ้าพูดแบบพุทธก็คือเข้าไปดูจิต คือจิตสิกขานี่คือเทต้า เอาเบต้า อัลฟาเข้าไปเชื่อมโยง มันจึงจะเกิดไดอะล็อค ถ้าไม่ได้เอาเข้าไปมันจะนิ่งและโง่ เมื่อเอาเบต้า อัลฟาเข้าไปเกี่ยว คุณจะมีจิตสิกขา หรือมีการศึกษาจิตใจของตัวเอง คือเข้าไปศึกษาโลกภายในของตัวเอง
 
เวลาอยู่เทต้า ภาษามันจะหายไปนะ นี่จริง ๆ นะ ตันตระในความหมายนี้คืออย่างนี้ ทุกครั้งที่เราทำแบบฝึกหัดลงไปในอัลฟาก็ดี ลงไปในเทต้าก็ดี ดิ่งลงไปในจิตที่สงบนิ่ง เขาให้เก็บอะไรที่มันเป็นอัลฟา อาจจะเก็บภาพ หรือเก็บสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง หรือแม้เอาเบต้าลงไปคุยอาจจะเก็บเป็นคีย์เวิร์ด หรือถ้อยคำหลัก ๆ บางทีเอาเบต้าลงไปคุยแล้วแปรภาพให้เป็นคำพูด เช่น "ดื่มด่ำ" หรืออะไรก็ได้ แล้วกุญแจเหล่านี้ สัญญะ หรือสัญลักษณ์เหล่านี้ เมื่อเรานึกถึง เราก็อาจลัดเข้าสภาวะเทต้าตรงนั้นได้เลย เข้าไปเทต้าเลย อันนี้คือทางลัด short cut เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องนั่งหลับตาเนิ่นนานแล้ว เพราะแป้บเดียวท่านก็เข้าได้แล้ว นี่คือผู้ชำนาญในสมาบัติ ขึ้นลง เข้าออก ตามใจชอบ
 
เพราะฉะนั้น ชีวิตคนปกติก็ไม่ต้องไปเน้นการนั่งสมาธิ การนั่งอาจจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลานั่ง การดำรงชีวิตตามปกตินี่เราก็อาจเข้าเทต้า เดลต้าได้เลยเช่นกัน โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง
 
เม
 
นึกถึงพวกโยคีที่แถบเชิงเขาหิมาลัย พวกนี้เขาคิดว่า "เมื่อเขาสงบ โลกก็สงบ" แต่ที่จริง เขาสงบ แต่โลกมันไม่ได้สงบไปกับเขาด้วย
 
 
นพ.วิธาน
 
คิดถึงตอนที่พี่ใหญ่บอกว่า ไดอะล็อคระหว่างเบต้ากับอัลฟาผ่าน sensualization ใช่ไหมครับ ผมนึกถึงพวกสตาร์ ฮอค อันเดียวกับพวกแม่มด เพราะแม่มดในการทำพิธีกรรม เขาจะเน้น observation ของเขา เขาจะเน้นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ห้าอย่าง อันนี้เป็นรูปธรรม แล้วลงไปสู่ intuition แล้วลงไปสู่เทต้า หมายถึงการไดอะล็อคระหว่างเบต้ากับอัลฟา แล้วนำไปสู่อันนั้นนี่ อย่างเช่น ฟังเสียงนกแล้วมีความหมายว่าอะไร? ในกิจกรรมที่ทำจริงอาจจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่าครับ อันนี้เป็นคำถามด้วยว่า ใช่อย่างนี้ไหม? เข้าใจอย่างนี้ถูกไหม? นกร้องอันนี้นี่มีความหมายว่าอะไร? หมายถึงอะไร? อันนี้คือเอาเบต้า หรือ conscious ไปจับกับ subconscious หรือลงไปลึกกว่านั้น อะไรก็แล้วแต่
 
วญ.
 
ผมยกตัวอย่างหนึ่ง ในการเข้าไปในเทต้านี่ คือเด็กคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องการเรียน อาจจะมีปัญหากับครูหรืออะไรก็แล้วแต่ เด็กเขารู้สึกไม่สบาย แอนนา ไวส์ก็ไปถามเด็กว่า เวลาที่ไม่สบายใจ รู้สึกอย่างไร เห็นภาพอะไร? เด็กก็บอกว่า เห็นอะไรทึม ๆ เทา ๆ ความหนัก ความยุ่งเหยิง อับชื้น สาก ๆ บรรยายมาสี่ห้าคำ ที่เป็นภาพ เป็นกลิ่น เป็นสัมผัส อะไรทำนองนั้น แล้วเขาก็จะถามเด็กว่า เวลารู้สึกสบาย รู้สึกอย่างไร เห็นอะไร สัมผัสอะไร ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส เด็กเขาบอกว่า เขาเห็นสีฟ้า เขารู้สึกว่ามันเบา กลิ่นราเวนเดอร์ แล้วเธอให้เด็กเอาอันนี้เป็นมันตรา หรือมนตร์ เป็นมนตร์ของเด็ก เธอบอกว่าเวลาไม่สบายใจ ก็ให้นึกถึงมันตราอันนี้ คือกล่าวขึ้นในใจและให้เห็นภาพและสัมผัสตามนั้น เช่น สีฟ้า เบา ร่าเริง กลิ่นราเวนเดอร์ สัมผัสอันอ่อนละมุน พอเด็กกล่าวมนตร์ทุกครั้งเด็กก็จะคลายเครียด ก็แป๊บเดียวเอง เด็กก็กลับมามีความสามารถ และก็สามารถผ่านช่วงชีวิตที่มีปัญหานั้นไปได้ อันนี้มันเป็นแบบปฏิบัติการได้เลย
 
มโนวิญญาณกับญาณทัศนะ
ขณะที่วิ่งอยู่ในสนามบินเก่า เชียงราย
 
เมื่อเช้าอ่านเรื่องราวของ มโนวิญญาณหรือ Mind Consciousness ของท่านนัท ฮันเป็นภาษาอังกฤษ นับว่าเป็นการอ่านอีกครั้ง หลังจากที่ก็อ่านหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งก่อน ๆ อ่านเป็นภาษาไทยสำนวนส. ศิวรักษ์
 
เฝ้าดูว่า ทำอย่างไร มโนวิญญาณจึงสามารถรับรู้แบบความเป็นเช่นนั้นเอง โดยไม่ผ่านภาพลักษณ์ ตัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่บันทึกไว้ในอดีต
 
เมื่อเราสามารถรับรู้ปรากฏการณ์อย่างเป็นเช่นนั้นเอง มันจะบันทึกเป็น Locale Memory คือความทรงจำแบบวิดีทัศน์ ที่ยังไม่ได้ตีความหรือกลั่นกรอง แต่เวลาปกติของคนส่วนใหญ่ การรับรู้จะผ่านตัวแทนและภาพลักษณ์ คือผ่านการตีความ กลั่นกรองเรียบร้อยอย่างเป็นอัตโนมัติ ผ่านมนัส ผ่านสมองซีกซ้าย มันเหมือนกับว่า เวลาเราเผชิญหน้าเหตุการณ์ใดอยู่ เรากลับไปฉายหนังเก่าขึ้นมาดูเทียบเคียง เราจึงไม่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นข้างหน้าได้เต็มที่ ภาพจึงขาดวิ่นและไม่สมบูรณ์ หรือไม่ปะติดปะต่อ หรือว่า เราไม่ได้เห็นอะไรนอกจากความทรงจำ และการตีความเดิม ๆ ของเราเอง
 
มาคิดดูในรถที่ขับออกจากสนามบินแล้ว ก็คิดได้ว่า ที่จริงเวลาคุยกันคนใกล้ชิด เรามักจะริเริ่มก่อน บางทีเราก็ไปเดาว่า เขาอาจจะกำลังจะพลาดเรื่องอะไร เราก็ไปดักรอ วันนี้เปลี่ยนใหม่ลอง ไม่ไปดัก ไม่กระทำก่อน ไม่ริเริ่มก่อน แต่รอฟัง รอดู และคิดขึ้นมาได้อีกว่า ทุกอย่างไม่ตัดสิน ตีความไปก่อน ให้เวลาทุกสิ่งดำเนินไปสามวินาทีก่อนที่จะตีความ เวลาขับรถกลับบ้านหลังไปกินข้าวมาแล้ว ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เรามองเห็นมันนุ่มนวลขึ้น เราเห็นหน้าตาผู้คนบูดบึ้งขณะขับรถได้ เมื่อยังไม่ตีความ มันเหมือนกับดูหนัง มากกว่าที่เราเข้าไปเผชิญสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อเรานุ่มนวลก่อน ดูผู้คนจะขับรถดีขึ้น หรือว่า เมื่อก่อน พอเราคิดว่าคนอื่นจะขับไม่ดี เราก็ขับไม่ดีเสียก่อน แล้วที่เราคาดก็เป็นจริง ก็คือคนอื่นก็ขับไม่ดีเอามาก ๆ ก็เมื่อก่อนไม่มีสามวินาที ก่อนการตีความ ตัดสิน นี่นา
 
นี่เป็นฝึกปฏิบัติวิปัสสนาญาณแล้วหรือเปล่า?
 
คิดได้อีกประเด็นหนึ่งว่า ญาณทัศนะเท่ากับความเป็นเช่นนั้นเองของอนาคต หรือนี่ก็คือความทรงจำแห่งอนาคตของอารี เดอ กีอัส หรือเป็นทฤษฎีตัวยูของพรรคพวกออตโต ชามเมอร์
 
 
------------------------------------


http://www.semsikkha.org/review/content/view/408/135/
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.238 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 พฤศจิกายน 2566 17:54:39