[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 23:17:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แก่นพุทธศาสน์เรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง(ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)  (อ่าน 5552 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 19:42:24 »

[ โดย Bizan คัดลอกมาจากบอร์ดเก่า ]

แก่นพุทธศาสน์
เรื่อง
วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วย ความว่าง
พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)
ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)
ในอุปการะของคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

๒๑ มกราคม ๒๕๐๕

ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย!
     
การบรรยายในวันนี้ จะได้กล่าวเฉพาะ วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง หลักทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับความว่างมีอยู่อย่างไร ได้อธิบายพิจารณากันแล้วอย่างละเอียดเมื่อคราวก่อนคราวนี้จึงเหลืออยู่แต่วิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์แก่ทุกคนทั่ว ๆ ไปทุกคน แม้ที่มีการศึกษาน้อย แม้ที่ไม่ได้เล่าเรียนปริยัติโดยตรง หัวข้อเรื่องมีอยู่ว่า "วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง" เพราะฉะนั้นจะต้องสนใจในคำว่า "เป็นอยู่ด้วยความว่าง" มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยสุญญตาก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เมื่อเอ่ยชื่อสุญญตาก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงความว่าง เพราะเป็นคำภาษาบาลี ภาษาไทยเราก็ว่าความว่าง ทีนี้จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยความว่าง หรือเป็นจิตที่ว่าง?
     เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องรู้จักสังเกตให้ละเอียดลออสักหน่อยคือจะต้องสังเกตคำบางคำให้เข้าใจความหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ คำว่า รู้ คำว่า เห็นแจ้ง คำว่า เข้าถึง คำว่า เป็นอยู่ด้วย หรือคำว่า มีความว่างอยู่ กำลังว่างอยู่ และ คำว่า เป็นความว่างเสียเอง พูดโดยโวหารชาวบ้านธรรมดาก็ว่า เรารู้ คือเรารู้ความว่าง เราเห็นแจ้ง ก็คือเราเห็นแจ้งความว่าง เราเข้าถึง ก็คือเข้าถึงความว่าง เราเป็นอยู่ด้วยก็คือเป็นอยู่ด้วยความว่างนั่นเอง เรากำลังว่างอยู่ ก็คือเรากำลังว่างอยู่ด้วยความว่างนั่นเอง หรือว่า เราเป็นตัวความว่างเสียเอง บรรดาที่ออกชื่อว่า ว่าง-ว่าง ทั้งหมดนี้ มันมีความหมายตื้นลึกกว่ากันอย่างไร? แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน จึงจะมีความหมายอย่างเดียวกันหรือในระดับเดียวกันได้?      อันแรกอย่างว่า เรารู้ความว่าง คนทั่ว ๆ ไปเขาก็จะคิคว่าเราเรียน เราพูด เราปรึกษาหารือกันเรื่องความว่างถ้าหมายเพียงเท่านั้นแล้ว เรารู้ความว่างอย่างนี้ยังไม่ถูกคำว่า "รู้" ในภาษาธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงรู้เพราะเรียนเพราะฟังหรืออะไรทำนองนั้น หรือแม้แต่พูดว่าเราเข้าใจความว่าง ก็ยังไม่ใช่การรู้ถึงความว่างอยู่ดี
     คำว่า "รู้" คำว่า "เข้าใจ" ตามภาษาชาวบ้านตามธรรมดานี้ เป็นเรื่องอ่าน ๆ ฟัง ๆ คิด ๆ นึก ๆ คำนวณไปตามเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น กิริยาเหล่านี้ใช้กันไม่ได้กับการรู้ความว่าง      การรู้ความว่างนั้นต้องหมายถึงรู้สึกต่อความว่างที่จิตกำลังว่างอยู่จริง ๆ เราต้องรู้ต่อสิ่งที่กำลังมีอยู่ในจิตใจจริง ๆ ถ้าเรารู้ความว่าง ก็ต้องมีความว่างปรากฎอยู่ในขณะนั้น แล้วเรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร อย่างนี้จึงเรียกว่า "รู้ความว่าง"
     ที่เราฟังกันมาตั้งสองครั้งแล้ว และเอาไปคิดไปนึกดูตามเหตุผลว่า มันควรจะเป็นได้ หรือมันเป็นสิ่งที่อาจจะเป็นได้อย่างนั้น ๆ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า "รู้ความว่าง" ในที่นี้ แต่ก็เป็นความรู้หรือเป็นความเข้าใจตามภาษาคนธรรมดา คำว่ารู้ในที่นี้ขอให้ถือว่ามีความหมายเฉพาะ ตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนา      ถ้ารู้ธรรมะก็หมายความว่า กำลังมีธรรมะอยู่ทีเดียวและรู้สึกต่อธรรมะนั้นอยู่ จึงจะเรียกว่ารู้ธรรมะ ในที่นี้ก็เหมือนกัน "รู้ความว่าง" ก็หมายถึงมีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก      เพราะฉะนั้นจึงได้แนะให้สังเกต แนะแล้วแนะอีกในคราวก่อน ๆ นั้นว่า ในขณะใดที่จิตมีความว่างอยู่บ้างแม้ไม่ใช่ว่างเด็ดขาด ไม่ใช่ว่าสมบูรณ์ ก็ขอให้รู้จักมันไว้เรื่อย ๆ ไป ในฐานะที่มันมีอยู่มากเหมือนกันในวันหนึ่ง ๆ หากแต่ว่ามันยังไม่แน่นอนไม่เป็นความว่างที่เด็ดขาดตายตัวลงไปยังกลับไปกลับมาอยู่แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นการดีมาก ถ้าใครอุตส่าห์สังเกต สนใจรู้จักความว่างในทำนองนั้นไปก่อน จะเป็นเหตุให้พอใจในความว่างและเป็นการง่ายที่จะปฏิบัติให้ลุถึงจริง ๆ เพราะฉะนั้นในที่นี้ คำว่า เรารู้ความว่าง จึงหมายถึงว่า มีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก
     ทีนี้คำว่า เห็นแจ้งความว่าง ก็ตรงอย่างเดียวกันอีกคือเห็นแจ้งประจักษ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อเรารู้สึกว่าว่าง อย่างไรแล้ว เราพิจารณาดู หรือว่าเราทำความรู้สึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจะได้ชื่อว่าเห็นแจ้ง หรือเห็นแจ้งแทงตลอด คือรู้อย่างทั่วถึง
     สำหรับคำว่า เราเข้าถึงความว่าง ก็อย่างเดียวกันอีกหมายความว่าในขณะที่เราได้เข้าถึงตัวความว่าง พูดอย่างสมมติก็ว่าเราเข้าถึงความว่าง ถ้าพูดอย่างความจริงอย่างไม่ใช่สมมติก็ว่าจิตเข้าถึงความว่าง หรือว่าความรู้สึกนั้นเป็นผู้รู้สึกต่อความว่างและเข้าถึงความว่าง
     สำหรับคำว่า เป็นอยู่ด้วยความว่าง นั้น ย่อมหมายถึงสุญญตาวิหาร คือการเป็นอยู่ มีลมหายใจอยู่ด้วยความรู้สึกต่อความว่างนั้นตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยความว่าง
คำว่า ว่างอยู่ ก็หมายความ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนว่าของตัวหรือของตน ตัวเราหรือของเรา ตัวกูหรือของกูเหล่านี้ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของตัณหาอุปาทาน เมื่อว่างจากสิ่งเหล่านั้นอยู่ก็คือว่างอยู่ อะไรมันว่าง? ก็หมายถึงจิตอีกนั่นเองว่างคือว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือว่าของตน ไม่มีทั้งอย่างหยาบ และอย่างละเอียด อย่างหยาบเราให้ชื่อมันว่า ตัวกู-ของกู อย่างละเอียดเราให้ชื่อมันว่า ตัวตน-ของตน ถ้าจิตมีความว่างทั้งขนาดว่า ไม่มีตัวตนอย่างละเอียด ก็เรียกว่า เป็นความว่างเสียเอง คือจิตนั้นเป็นความว่างเสียเอง
     สมกับที่คำสอนในพุทธศาสนาบางพวกบางนิกาย เขาพูดว่าจิตคือความว่าง ความว่างคือจิต: ความว่างคือพุทธะ พุทธะคือความว่าง; ความว่างคือธรรมะ ธรรมะคือความว่าง; มันมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
     เป็นอันว่าอะไรทั้งหมดทั้งล้วน ในบรรดาที่เรารู้จักนี้ไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไป โดยการพิจารณาคำว่า "ว่าง" นี้ กันอีกครั้งหนึ่ง
     คำพูดว่า ว่างหรือความว่างนี้ มันเล็งถึงของ ๒ สิ่ง คือเล็งถึงลักษณะ ๒ ลักษณะ คำว่า ว่างในลักษณะที่หนึ่ง นั้นหมายถึงลักษณะของสิ่งทั้งปวง ขอให้กำหนดจดจำว่าลักษณะของสิ่งทั้งปวงคือความว่าง
     คำว่า สิ่งทั้งปวง นี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่ามันหมายถึงทุกสิ่งจริง ๆ คำว่าทุกสิ่งนี้หมายถึงรูปธรรมและนามธรรม อย่างที่จะใช้โวหารเรียก นับตั้งแต่ฝุ่นอนุภาคเล็กนิดหนึ่งขึ้นไป จนกระทั่งของมีค่า จนกระทั่งนามธรรม จนกระทั่งนิพพานเป็นที่สุด จากฝุ่นอนุภาคหนึ่งไปจนถึงนิพพานเป็นที่สุดนี้เรียกว่า "สิ่งทั้งปวง"
     ทีนี้สิ่งทั้งปวงทุกสิ่ง ๆแต่ละสิ่ง ๆ นี้ มีลักษณะคือความว่าง ความว่างความหมายที่หนึ่งเป็นอย่างนี้ ต้องเข้าใจให้ดีเหมือนกัน ว่าในฝุ่นเม็ดหนึ่งมันมีความว่างจากตัวตน ทีนี้สูงขึ้นมาเป็นในเงินในท้องที่ในเพชรพลอยอะไรก็ตาม นี้มันมีความว่างจากตัวตนเป็นลักษณะของมันกระทั่งมาเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องความคิดนึก ความรู้สึกในสิ่งเหล่านั้น แต่ละสิ่ง ก็มีความว่างเป็นลักษณะของมันคือว่างจากตัวตนนั้นเอง กระทั่งถึงการเรียนหรือการปฏิบัติธรรม มีลักษณะเป็นความว่างจากตัวตน กระทั่งถึงสิ่งที่เรียกว่า มรรค ผลนิพพานเป็นที่สุด ก็มีลักษณะที่เป็นความว่างจากตัวตนอยู่ที่นั่นด้วยกันทั้งนั้น แต่ แล้วเราไม่เห็นเอง แม้แต่นกกระจอกที่กำลังบินไปบินมาอยู่นี้ก็มีลักษณะแห่งความว่างโดยสมบูรณ์อยู่ที่นกกระจอกนั้น แต่เราก็ไม่เห็นเอง
     ขอให้คิดดู ให้พิจารณาดู ให้สังเกตดู ให้คำนวณดูจนกระทั่งเห็นว่า ที่สิ่งทุกสิ่งมีความว่าง คือมีลักษณะแห่งความว่างแสดงอยู่ทั้งนั้น แต่ว่าเรามองไม่เห็นเอง แล้วจะโทษใคร? เหมือนอย่างปริศนาของพวกนิกายเซ็น ที่เขาเรียกว่าโกอานนี้ อย่างมีพูดว่า ต้นสนแก่คร่ำคร่าต้นหนึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่ แม้อย่างนี้ก็หมายถึงข้อที่ว่า แม้แต่ต้นสน ที่นั่นมันก็ แสดงความว่างได้เหมือนกัน คือมันมีความว่างเหมือนกับสิ่งทุกสิ่งแต่คนก็ไม่มองเห็นหรือว่าไม่ได้ยินในข้อที่มันแสดงธรรมคือ แสดงลักษณะของความว่างอยู่ทุกเมื่อ
     ขอให้เราจับให้ได้ว่า ความว่างนั้นมีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง เพราะว่าเป็นลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง สิ่งทุกสิ่งมีลักษณะคือความว่างนี่แหละคำว่าว่างในลักษณะทีแรก คือลักษณะของความว่างที่มีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง จึงเรียกว่าว่าง นี่แหละเล็งถึงลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง
     ลักษณะว่างอย่างที่สอง ว่างนี้เล็งไปยังลักษณะที่จิตกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนั่นแหละเรียกว่า "ความว่าง" เหมือนกัน
     ข้อที่หนึ่งนั้นชี้ว่าสิ่งทั้งปวงมีลักษณะว่าง ว่างคือลักษณะของสิ่งทั้งปวง ข้อที่สองชี้ไปยังจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง
     ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่า ตามธรรมดาแม้แต่ตัวจิตเองมันก็ว่าง ว่างจากตัวตน แต่จิตนั้นไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวมันเองว่าง เพราะมันมีอะไรมาหุ้มห่อรบกวนอยู่เรื่อย ได้แก่ความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง เป็นต้น นั่นเอง จิตจึงไม่รู้สึกต่อความว่างในตัวมันเอง หรือต่อความว่างในสิ่งทั้งปวง แต่เมื่อใดจิตปลดเปลื้องสิ่งที่หุ้มห่อออกไปเสียได้หมด กล่าวคือปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงด้วยความไม่รู้นั่นแหละออกไปเสียหมด เมื่อนั้นจิตก็มีลักษณะว่าง เพราะไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งปวง
     ความว่างในลักษณะที่สองนี้จึงหมายถึงว่างที่เป็นลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง ผิดกันกับอย่างที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่างที่เป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง

ที่มา http://www.mindcyber.com/
(1)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 19:59:42 »

(2)

ว่างทั้งสองอย่างนี้มันเนื่องกัน ถ้าสิ่งทั้งปวงมันมีลักษณะโดยแท้จริง คือว่างจากตัวตนที่ควรยึดมั่นถือมั่นเพราะว่ามันว่างอย่างนี้ เราจึงเห็นความจริงว่ามันว่างได้; ถ้าตามความจริงมันเป็นสิ่งที่ไม่ว่างจากตัวตนแล้ว เราไม่อาจเห็นว่ามันว่างได้เลย
     แต่ทีนี้ตรงกันข้ามทั้ง ๆ ที่สิ่งทั้งปวงเป็นของว่าง เราก็เห็นเป็นไม่ว่างไปเสียหมด เพราะว่าจิตชนิดที่ถูกกิเลส ถูกอวิชชาห่อหุ้มนั้นไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนไปหมดไม่ว่าในอะไร แม้แต่ในฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง อนุภาคน้อย ๆ อันหนึ่งนี้ก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของฝุ่นนั่นเอง รู้สึกเป็นบุรุษที่สองจากเราขึ้นมาทีเดียว เราเป็นบุรุษที่หนึ่งคือตัวเรา บุรุษที่สองคือสิ่งต่างๆ นอกจากตัวเรา นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ ล้วนแต่เป็นตัวเป็นตนของมันเองทั้งนั้น
     เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักคำว่า "ว่าง" นี้ ว่ามันหมายถึงอะไรให้ถูกต้องที่สุด ซึ่งสรุปแล้วก็ให้รู้จักว่าว่างนี้คือลักษณะของสิ่งทั้งปวงอย่างหนึ่ง; แล้วว่างนี้คือลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนี้อีกอย่างหนึ่ง
     ว่างทีแรกเป็นวัตถุแห่งความรู้หรือการเข้าถึง; ว่างที่สองคือจิตว่างนี้ เป็นลักษณะของจิตที่ว่างเพราะเข้าถึงความจริงคือ ความว่างนั้น
     ดังนั้นจิตจึงมองเห็นความว่าง ในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งตัวมันเอง มันจึงสลายไปเองเหลืออยู่แต่ความว่าง คือมันได้กลายเป็นความว่างเสียเองและจะเห็นทุก ๆ สิ่งเป็นความว่างหมดนับตั้งแต่ฝุ่นเม็ดหนึ่งไปจนถึงนิพพานดังที่กล่าว แล้วจะเป็นสิ่งของหรือเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เป็นสถานที่ เป็นเวลา เป็นอะไรต่าง ๆ เป็นธรรมะไม่ว่าในลักษณะไหนหมด ล้วนแต่หลอมตัวเป็นสิ่งเดียวกันคือเป็นความว่าง เพราะความที่มารู้ความจริงข้อนี้ นี่คือความหมายของคำว่า "ว่าง"
     เพราะฉะนั้นเท่าที่กล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายย่อมจะพอสังเกตหรือว่าจับได้ด้วยตนเองแล้วว่า คำว่า ว่าง นี้มันเท่ากับความดับไม่เหลือแห่งตัวกู-ของกู คำว่า "ว่าง ๆ" นี้มันเท่ากับความดับไม่เหลือแห่งความรู้สึกว่าตัวเรา หรือของเรา; ว่างเท่ากับความดับไม่เหลือแห่งตัวตน
     ตัวตนนั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะความยึดมั่นถึอมั่นเท่านั้น ไม่เห็นเป็นว่าง เห็นเป็นตัวตนขึ้นมาเสีย ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส จึงไปยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้อง แกล้งยึด เพราะมันไม่รู้ มันจึงเกิดความรู้สึกยึดขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปตั้งเจตนายึดหรือตั้งข้ออย่างนั้นอย่างนี้ให้มันว่ามันเป็นตัวเป็นตน เมื่อจิตประกอบด้วยอวิชชาความไม่รู้แล้วมันย่อมรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เป็นตัวตนไปเสียหมดเอง ไม่ต้องแกล้งทำ ไม่ต้องตั้งเจตนาอะไร
     ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้น มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็จะเห็นของจริง ว่าความว่างนั่นแหละคือความดับไม่เหลือแห่งตัวตน ฉะนั้นจึงได้กล่าวเพื่อเป็นหลักว่า "ว่าง" นี้ คือความดับไม่เหลือแห่งตัวตน เพราะฉะนั้นเราต้องสนใจคำว่า "ดับไม่เหลือ ๆ ๆ" นี้กันให้ถูกต้อง
     ดับอย่างไรเหลือ ดับอย่างไรไม่เหลือ ดับมีส่วนเหลือก็หมายความว่า มันเพียงแต่เปลี่ยนรูป จากรูปหนึ่งไปสู่รูปหนึ่ง รูปที่แรกดับไปมันก็มีเชื้อเหลืออยู่สำหรับเป็นรูปใหม่ เป็นรูปอื่นอย่างนี้เรียกว่า "ดับเหลือ" คือยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งโน้นเรื่อยไป ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งโน้นเรื่อยไป อีกทีหนึ่งก็คือว่า สติปัญญาหรือความรู้ธรรมะที่ยังไม่ถึงที่สุดนั้น มันจะดับความยึดมั่นถือมั่นได้แต่เพียงบางสิ่ง บางอย่างหรือบางส่วนโดยเอกเทศเท่านั้นเอง
     บางคนอาจเห็นว่าฝุ่นนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นนกกระจอกเป็นตัวตนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงคน เพียงเห็นสัตว์เป็นตัวเป็นตนก็ได้ และบางคนอาจมองเห็นต้นไม้หรือสัตว์ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นคนว่าเป็นตัวตนเข้าก็ได้ ที่เห็นคนว่าเป็นตัวตนนี้ บางทีก็ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว แต่ว่าส่วนจิตใจที่เป็นศูนย์กลางนั้นยังเห็นเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่ามันดับไม่หมดมันดับบางส่วนเหลืออะไรเป็นตัวตน บางส่วนอยู่เสมอไป กระทั่งถึงว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าคุณสมบัติอะไรบางอย่างของจิตเช่นธรรมะนี้เป็นตัวตนขึ้นมาก็ได้ หรือว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว สิ่งที่อยู่ถาวรเป็นอนันตกาล เช่น นิพพานธาตุนี้เป็นตัวตนก็ได้; อย่างนี้ดับมีเชื้อเหลืออยู่เรื่อย จนกว่าเมื่อใดจะกวาดทิ้งไปหมดแม้แต่นิพพานธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวตน หรือดับไม่เหลือแห่งตัวกูที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นคำว่า "ดับไม่เหลือแห่งตัวกู" นี่ก็คือการที่ไม่อาจเกิดความรู้สึกว่าตัวกูนั่นเอง แต่เป็นการปฎิบัติ ต้องหมายความว่า เราปฏิบัติในทำนองที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูขื้นมาได้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้อยู่ได้เรื่อยๆ ก็เรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวกูได้แหมือนกัน และ การปฏิบัติที่ถูกต้อง และเป็นไปอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้นย่อมหมายถึงการปฏิบัติชนิดที่ตัวกูหรือความรู้สึกว่าตัวก็ไม่มีทางจะเกิดอีกต่อไป ก็แปลว่าไม่ให้ตัวกูเกิดขื้นมาได้อยู่ตลอดเวลา ด้วยการกระทำที่ถูกต้องนั้น
     เท่าที่กล่าวนี้ก็พอจะเข้าใจกันได้ทุกคนว่า คำว่า เกิดแห่งตัวกู "เกิด" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องบิดามารดาแต่ หมายถึงเกิดในห้วงแห่งความคิดนึกในทางจิตเท่านั้น จะเรียกว่าปฎิสนธิหรือจะเรียกว่าคลอดออกมา หรือจะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้ ต้องหมายถึงปฏิสนธิหรือคลอดออกมาในความรู้สึกเท่านั้น คือในความรู้สึกของจิตเท่านั้น
     อย่างเรารู้สึกว่าเราเป็นเรา ฉันเป็นฉันขึ้นมานี้ มันรู้สึกที่ไหน ก็ขอให้เข้าใจว่านันเกิดที่จิตนั่นแหละ การเกิดหรือการคลอดออกมามันอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นการเกิดนี้จึงหมายถึงการเกิดในทางใจไม่ใช่เกิดทางเนื้อหนังร่างกาย
     ต้องเข้าใจว่าการเกิดทางเนื้อหนังร่างกาย แม้จะคลอดออกมาแล้วจากท้องแม่ แต่ถ้ายังไม่มีการเกิดทางจิตใจ คือไม่เกิดความรู้สึกว่า กูเป็นกู เราเป็นเราอย่างนี้แล้วละก็ให้ถือว่า การเกิดทางร่างกายนั้นยังไม่มีความหมายอะไรเลย ยังเหมือนกับก้อนอะไรก้อนหนึ่ง หรือต้นอะไรต้นหนึ่งเท่านั้น จนกว่าเมื่อมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเสียก่อน เมื่อนั้นการเกิดทางร่างกายดุ้นนั้นจึงจะสมบูรณ์ คือในภายในมีความรู้สึกเป็นตัวตน
     เพราะฉะนั้นความเกิดมันจึงจำกัดความหมายอันแท้จริงอยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวตนนั่นเอง เมื่อเด็กนั้นเกิดขึ้นมาแล้วขณะใดมีความรู้สึกว่าตัวตนอยู่ในใจ เมื่อนั้นเรียกว่าเขาเกิด พอเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนอย่างนั้น เมื่อนั้นก็คือเขาตาย กลายไปเป็นดุ้นหรือเป็นก้อนอะไรทางเนื้อหนังอยู่ตามเดิม ความรู้สึกอย่างอื่นไม่อาจช่วยให้เกิดความหมายว่าตัวตนได้ จึงไม่อาจทำให้เกิดความหมายว่าเขาเกิดอยู่ได้ มันจึงเท่ากับเขาตายอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียวถ้ามีอะไรมากระทบ มีอารมณ์มากระทบแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวตนขึ้นมาได้อีก เพราะฉะนั้น เขาจึงเกิดขึ้นมาอีกและประเดี๋ยวเขาก็ตายไปอีก จึงว่าวันหนึ่ง ๆ เกิดได้หลายครั้ง หลาย หน
     เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างนั้นมันก็อยู่ที่ตรงนี้เอง คืออยู่ตรงที่ ปฏิบัติอย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนขึ้นมาในดุ้นหรือในก้อนนี้ ในร่างกายก้อนนี้ดุ้นนี้ อย่าให้เกิดจิตใจ ชนิดที่เป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนหรือเป็นตัวเราขึ้นมาปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง ใจความมันมีอยู่อย่างนี้
     ทีนี้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ก็ควรจะมองดูให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ว่าจะปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติในขณะไหน? ที่ว่าปฏิบัติอย่างไรนั้นก็ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ว่าปฏิบัติอย่างที่ไม่ให้เกิดตัวตน แต่ว่ายังไม่ชัดเจนจะต้องอธิบายพร้อมกันไปกับข้อที่ว่าจะปฏิบัติในโอกาสไหน ในขณะไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงแบ่งแยกการปฏิบัตินี้ว่า มีโอกาสปฏิบัติในขณะไหนบ้าง ให้เห็นชัดเจนเป็นโอกาส ๆ ไป เพราะฉะนั้นในทีนี้จะขอแบ่งเพื่อให้เห็นง่าย ๆ สัก ๓ โอกาส หรือ ๓ ขณะคือ:-
     -ในขณะตามปกติ หรือโอกาสที่เป็นปกติอย่างหนึ่ง
     -ในขณะที่มีอารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย หรือทางผิวหนัง เป็นต้นนี้ อีกอย่างหนึ่งเป็นอย่าง ที่ สอง
     - แล้วอีกขณะหนึ่ง ซึ่งขอผนวกเข้าไว้เลย นี้คือขณะที่จะดับจิตทีเราเรียกกันว่า โอกาสจะตาย คือตายทางร่ายกาย ตายชนิดที่เป็นความแตกดับของร่างกาย ในขณะที่จะตายอย่างนั้นมีการปฏิบัติสำหรับโอกาสนั้น อีกอย่างหนึ่ง
     นี่แหละขอทบทวนใหม่ว่า ขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู นี้อย่างหนึ่ง; แล้วในขณะที่มีการกระทบกับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น นี้ก็อย่างหนึ่ง; แล้วอีกขณะหนึ่งก็คือขณะที่จะดับจิต คือ ตาย อย่างที่ชาวบ้านเรียก
     การปฏิบัติในโอกาสอย่างแรก คือ ในขณะปกติที่ไม่มีอารมณ์มากระทบนั้น เราจะทำอย่างไร? ในขณะปกติอย่างนี้ ก็หมายถึงเมื่อเราทำการทำงานอะไรอยู่ตามปกติลำพังเรา เวลาปกติอย่างนี้เราจะทำการทำงานประจำวันอยู่ก็ได้ หรือว่าเราจะใช้เวลาปกตินั้นไปทำกัมมัฏฐาน วิปัสสนาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นี่เรียกว่า ยังไม่มีอารมณ์มากระทบ ยังไม่มีปัญหาเรื่องที่อารมณ์มากระทบ เราทำการงานตามประสาชาวบ้านนี้อยู่ก็ได้แต่ต้องในขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบหรือเรามีเวลาว่างเราจะอ่านหนังสือก็ได้ เราจะคิดนึกอะไรก็ได้จะทำวิปัสสนาก็ได้ นี่เราจะต้องปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการศึกษาเป็นการทำให้เห็นแจ้งยิ่งขึ้น ว่าสิ่งทั้งปวงว่างอยู่อย่างไร แล้วจิตนี้มันจะว่างได้อย่างไร จิตจะไม่หลงผิดในสิ่งทั้งปวงได้อย่างไรให้นึกคิด รักษาด้วยตนเอง หรือไต่ถาม ปรึกษาหารือผู้อื่นอยู่เป็นประจำ และทำไปเรื่อย


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(2)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 19:59:55 »

(3)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางปริยัติสำหรับผู้ที่เป็นชาวบ้านกระทั่งไม่รู้หนังสือ ไม่ได้เคยบวชเคยเรียนเรื่องปริยัติ ก็ยังมีวิธีลัดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็มีความหมายแบบเดียวกัน มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือให้รู้สิ่งๆ เดียวกัน คือรู้ความว่างของสิ่งทั้งปวงเหมือนกัน แต่เราไม่อาจพูดถึงความว่างอย่างนั้นได้เพราะเขาจะยิ่งไม่เข้าใจใหญ่
     เพราะฉะนั้นเราจึงพูดไปอีกทำนองหนึ่งว่า ให้ดูว่าสิ่งต่างๆ มีอะไรบ้าง ที่น่าเอาหรือน่าเป็น ให้คนธรรมดาทั่วไปตามปกตินั้น เป็นอยู่ด้วยการพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าได้ หรือน่าเป็น ที่ว่าเอา หรือได้นี้ เช่น ได้เงิน ได้ทอง ได้ของ ได้เกียรติยศ ได้อำนาจวาสนานี้ เรียกว่าเอาหรือได้ มีอะไรบ้างที่น่าเอา หรือน่าได้ แล้วมีอะไรบ้างที่น่าเป็น เป็นอย่างไรบ้างที่ว่า น่าเป็น เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเศรษฐี เป็นขอทาน เป็นพระเจ้า แผ่นดิน เป็นราษฏร เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอย่างไหนบ้างที่ไหนบ้างที่น่าเป็น
     เราต้องเข้าใจคำว่า "เอา" ว่า "เป็น" ให้ถูกต้องกันเสียก่อนคำว่า เอา ว่า เป็น นี้ หมายความถึงความยึดถือโดยตรง ถ้าไปรู้สึกว่าเอา หรือได้ นี้มันต้องมีความยึดถือที่จะเอามาเป็นของเรา จึงจะเข้าขั้นที่เรียกว่า "เอา" หรือ "ได้" เต็มตามความหมาย เช่น เราเอาเพชร เอาพลอย มากองไว้เต็มห้องอย่างนี้ ถ้าไม่มีความยึดถือว่าเราได้ เราเป็นเจ้าของ เราเอามาได้ อย่างนี้มันก็เท่ากับว่าไม่มีการเอา ไม่มีการได้ เพชรพลอยก็กองอยู่ที่นั่นเอง ไม่มีความหมายอะไร ถ้าเกิคความรู้สึกชนิดที่เป็น อุปาทานว่าตัวเรา ตัวเราเอามาได้ ตัวเราได้มาแล้ว อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่า "เอา" หรือ "ได้" ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า เอา ว่า ได้ อย่างนี้
     แล้วถามอีกทีว่า เอาอะไรบ้างมันน่าเอาน่าได้ เอาอันไหนบ้าง จะไม่ทำบุคคลนั้นให้เป็นทุกข์ มันมีแต่จะแผดเผาบุคคลนั้น ทิ่มแทงบุคคลนั้น ร้อยรัดบุคคลนั้น พัวพันบุคคลนั้น หุ้มห่อบุคคลนั้น ครอบงำบุคคลนั้น หากเข้าไปเอาไปเป็นมันเข้า แต่ถ้าเพชรพลอยที่กองอยู่เต็มห้องนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็นมันไม่มีอาการ แผดเผา พัวพัน หุ้มห่อ ร้อยรัด แต่ประการใดเลย นี่เรียกว่าไม่เอา ไม่เป็น มีอันไหนบ้าง ที่ไม่เอาไม่เป็นเข้าแล้วจะไม่เป็นทุกข์
     ถ้าไปมีความรู้สึกว่าเอาว่าเป็นเข้าแล้ว ไม่ต้องมาอยู่ในห้อง ต่อให้อยู่ในป่าหรืออยู่คนละประเทศ ข้ามทวีป ข้ามสมุทรอยางนี้ใจมันก็ยังเป็นทุกข์ได้ ลองมีลูกมีหลานอยู่ที่อเมริกาแล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราดูซิ มันก็จะทำให้นอนไม่หลับ และมากเข้าก็เป็นโรคเสันประสาทได้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่า "เอา" ว่า "เป็น"
     ตามปกติขอให้พิจารณาดูว่า มีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าเป็น ที่ไปเอาไปเป็นเข้าแล้วจะไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ เมื่อพบความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่าไปรู้สึกเอาหรือเป็น มันก็วางเฉยกับสิ่งทุกสิ่ง แต่จะจัด จะทำ จะมี จะเก็บ จะรักษา จะบริโภค ใช้สอยก็ทำไปตามเรื่อง จิตใจอย่าไปเอา อย่าไปเป็น อย่าไปรู้สึกว่าเป็นตัวเราเอา, เป็น, มี ขึ้นมา ให้นึกถึงหลักธรรมะที่ว่า "ทำโดยไม่ต้องมีผู้ทำ; การกระทำได้ทำเสร็จไปแล้ว แต่ตัวผู้ทำหามีไม่; การเดินทางได้เดินถึงที่สุดแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่; นี้หมายถึงพระอรหันต์ท่านปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว คือว่าทำการปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว หรือว่าเดินไปตามทางของอริยมรรคนี้ถึงที่สุดแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่
     หลักอันนี้จะต้องนำเอามาใช้กับชีวิตประจำวันของเรา จะกิน อยู่ นั่ง นอน ยืน เดิน บริโภค ใช้สอย แสวงหา ทำอะไรต่างๆ เหล่านั้น ต้องมีสติปัญญาเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า เรามีอยู่ เราเป็นผู้ทำ ผู้กิน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ผู้บริโภคใช้สอย นี้เรียกว่าทำให้มันว่างจากตัวเราอยู่เสมอ ให้เป็นปกติเป็นอยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น
     การปฏิบัติธรรม สามารถจัดทำพร้อมกันไปได้กับการทำการงาน หรือการเคลื่อนไหวในการงานประจำวันนั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างสูงยิ่งไปเลย ไม่ต้องแยกจากกัน ขอแต่ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้อยู่ งานก็ได้ผลดีด้วย ไม่ผิดพลาดด้วยและธรรมะ ก็เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งพร้อมกันไปในตัวการงานนั้นด้วย นี้เรียกว่าเป็นอยู่ตามปกติในเรื่องไม่มีการเอา ไม่มีการได้
     สำหรับการเป็น นั้นยิ่งง่ายขึ้นมาอีก คือขอให้คิดดูว่า "เป็นอะไรบ้าง ที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ตามความเป็นนั้นๆ" นี่เป็นสูตร เป็นใจความสำคัญ คือว่าเป็นตัวสูตร ตัว Formular เลยว่า"เป็นอะไรบ้างจะไม่ต้องเป็นทุกข์ตามความเป็นนั้น ๆ" คำว่า"เป็น" นี้ก็เหมือนกันหมายเอาแต่เป็นที่มีอุปาทานเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็น เช่นเดียวกับคำว่า "ได้" หรือ "เอา" เหมือนกัน
     ยกตัวอย่าง เช่น มีทองกองอยู่เต็มห้องนี้ ถ้าไม่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ มันไม่มีการได้หรือมีการเอา การเป็นนี้ แม้โดยทางโลกจะสมมุติ ทางกฎหมายจะรับรองว่าใครเป็นนั่นใครเป็นนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้อยู่ก็จริง แต่ในใจของเราจริงๆ นั้น อย่าไปรู้สึกอย่างนั้นเข้า อย่าไปหลงไปเข้าใจผิดตามสมมุติอย่างนั้นเข้า เช่นว่า คนหนึ่งคลอดบุตรออกมา คนผู้คลอดก็ต้องเป็นแม่ คนที่เขาคลอดออกมาก็ต้องเป็นลูก นี้ก็เป็นตามธรรมชาติ ถ้าอย่าไปยึดถือว่าเป็นแม่มัน ก็ไม่เป็นแม่หรอก เพราะไปหลงเอาเอง ไปว่าเอาเอง ไปเข้าใจผิดเอาเองว่าเป็นแม่มัน มันก็เป็นแม่ อย่างนี้ควรถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ (Animal instinct) คือว่าสัตว์มันก็รู้สึกเป็น แม่ไก่ แม่สุนัข แม่วัว แม่อะไร มันก็รู้สึกว่า มันเป็นแม่และรักลูกเป็น นี้ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(3)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 20:00:19 »

(4)

ถ้าถึงขั้นที่เป็นสติปัญญามันต้องดีกว่านั้น มันต้องรู้จักทำลายความยึดถือ ที่มาจากความไม่รู้ อย่างนั้นเสียได้
     คนบางคนคงจะคิดว่า แหม! เหี้ยมโหดทารุณจริง ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นแม่ ไม่ให้รักลูกอย่างนั้นหรือ? ฟังให้ดี ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือว่าการเป็นแม่นี้ เป็นด้วยสติปัญญาก็ได้ เราจะปฏิบัติหน้าที่ของแม่อย่างไรก็ทำไปด้วยสติปัญญาได้ ไม่ต้องทำด้วยตัณหาอุปาทาน ซึ่งมันจะทำให้มีความทุกข์ทุกประการ ต้องน้ำตาไหลบ่อยๆ ต้องเหี่ยวแห้งใจบ่อยๆ ต้องเป็นอะไรบ่อย ๆ แล้วไม่มีความสุขเลย นั่นแหละค่าที่เป็นแม่ไม่เป็น เป็นแม่ไม่ถูกวิธีของธรรมะ ต้องเป็นทุกข์เพราะลูกนี้ เรียกว่าความทุกข์ของแม่
     เมื่อเป็นแม่ก็ต้องทุกข์อย่างแม่ เมื่อเป็นลูกก็ต้องทุกข์อย่างลูก เมื่อเป็นพ่อก็ต้องทุกข์อย่างพ่อ นี่ลองถามตัวเองดูทีว่าเกิดมาเป็นแม่เขานี่สนุกไหม? เกิดมาเป็นพ่อเขานี่สนุกไหม? คนที่สูงอายุที่ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว อย่างที่เรียกว่ามีประสบการณ์ดีมาแล้วลองคิดดูซิว่าจะเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร ถึงไม่ตอบก็คงสั่นหัวทั้งนั้น เป็นพ่อเขาสนุกไหม เป็นแม่เขาสนุกไหม อย่างนี้นี่คือสิ่งที่จะต้องศึกษา หรือรู้สึกอยู่เป็นปกติ แม้ในเวลาที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ
     ถ้าเป็นสามีสนุกไหม? เป็นภรรยานี้สนุกไหม? ไปคิดดูเอง คนที่เป็นสามีเป็นภรรยามาโดยสมบูรณ์แล้วจะสั่นหัวทั้งนั้น
     ทีนี้ ถามว่าเป็นหญิงน่าสนุกไหม? เป็นชายน่าสนุกไหม? ถ้าสติปัญญาเดินมาโดยลำดับ และละเอียดยิ่งขึ้นก็จะสั่นหัวทั้งนั้น เป็นผู้หญิงก็ต้องมีความทุกข์อย่างผู้หญิง เป็นผู้ชายก็ต้องมีความทุกข์อย่างผู้ชาย
     เป็นเด็กสนุกไหม? เป็นผู้ใหญ่สนุกไหม? เด็กๆ เขาคงจะตอบว่าสนุก แต่เราที่เป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามา แล้วนี้ลองย้อนกลับไปดูทีว่า มันสนุกไหม? เด็กมันก็มีทุกข์ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์ตามประสาผู้ไหญ่ ถ้าหากมีความยึดมั่นถือมั่น     ทีนี้ขยายให้กว้างออกไปว่า เป็นคนน่าเป็นไหม? เป็นสัตว์เดรัจฉานน่าเป็นไหม? เป็นอะไรที่เป็นคู่ตรงข้ามนี้กับที่ไม่ต้องเป็นอะไรเลย อันไหนจะดีกว่า เป็นคนธรรมดา กับเป็นสัตว์นรกอย่างนี้น่าเป็นไหม?
     หรือพูดอีกคู่หนึ่งว่า เป็นคนนี้น่าเป็นไหม? เป็นเทวดาในสวรรค์นี้น่าเป็นไหม? นี้มันเป็นเครื่องวัดสติปัญญาของบุคคลว่าคนนั้นเขามองเห็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างสมบูรณ์อย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าเขามองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะสั่นหัวทั้งหมดอย่างเดียวกัน เพราะว่าเป็นคนก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของคน เป็นเทวดาก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของเทวดา หมายความว่า ถ้าเกิดไปยึดมั่นว่าเราเป็นคน หรือว่าเราเป็นเทวดาขึ้นมาแล้ว นั่น และจะต้องเป็นทุกข์ตามแบบคน หรือเป็นทุกข์ตามแบบเทวดาทั้งนั้น
     ถ้าว่าง คือไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรเลย มันไม่เป็นทั้งคน ไม่เป็นทั้งเทวดา มันก็เลยไม่มีความทุกข์อย่างคน ไม่มีความทุกข์อย่างเทวดา นี่เรียกว่า ว่าง ถ้าต้องเป็นคนตามความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นเทวดาตามความยึดมั่นถือมั่นแล้วมันสนุกไหม? นี่ขอให้คิดอย่างนี้ แล้วว่าเป็นคนสนุกไหม? เป็นเทวดาสนุกไหม? ถ้าใครเข้าถึงความจริงแล้วก็จะสั่นหัวทั้งนั้น
     ทีนี้ให้ใกล้เข้ามาอีกว่า เป็นคนดีน่าเป็นไหม? เป็นคนชั่วน่าเป็นไหม? ถ้าถามว่าใครอยากเป็นคนดีบ้างคงยกมือกันสลอนไปหมดเลย เขายังมองไม่เห็นว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นคนดีนั้น มันก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของคนดีไปตามประสาของคนดี เช่นเดียวกับที่คนชั่วจะต้องมีความทุกข์ตามแบบประสาของคนชั่ว ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นไม่มีความสุขเลย เพราะมันจะหนักชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ในตัวความเป็น นั่นเอง หาก แต่ว่าความทุกข์บางอย่างมันไม่แสดงออกมาให้เห็นแล้วมันมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอะไรบางอย่างกลบเกลื่อนไว้ มันจึงทนทุกข์ในการมี-การเป็น-การได้ ทะเยอทะยานตื่นหรือเห่อที่จะเป็นนั้น-เป็นนี่กันอยู่ได้ด้วยการถูกหลอก
     ที่จริงนั้นธรรมชาติหลอกให้คนเราสู้ทนทุกข์ เช่น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ในกรณีที่ทุกข์ เพราะการสืบพันธุ์ เพราะการคลอดบุตรนี้ มันหลอกได้อย่างที่ตนเองก็สมัครใจทีเดียว ถ้าเขามองเห็นความจริงข้อนี้แล้ว ก็คงไม่เห็นด้วยกับการหลอกลวงของธรรมชาตินั้นเลย เป็นคนดีเป็นคนชั่วสนุกไหม?ลองคิดดู
     หรือว่าใกล้เข้ามาอีกก็ว่า เป็นคนมีบุญน่าเป็นไหม? เป็นคนมีบาปน่าเป็นไหม? คนที่ผลีผลามไม่ดูไม่แลอะไรคงจะยกมือทันทีว่า เป็นคนมีบญน่าสนุกกันใหญ่ แต่คนที่เขาผ่านบุญมาโดยสมบูรณ์แล้วก็สั่นหัวว่า คนมีบุญก็ต้องเป็นทุกข์ ไปตามแบบตามประสาของคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนมีบุญ นี่คนมีบุญจะต้องเป็นทุกข์ไปตามประสาคนมีบุญเช่นเดียวกับคนที่มีบาป ต้องมีทุกข์ไปตามประสาคนมีบาป


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(4)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 20:00:34 »

(5)

ทีนี้ใกล้เข้ามาอีกก็คือ เป็นคนมีความสุขน่าเป็นไหม? เป็นคนมีความทุกข์น่าเป็นไหม? คนก็ยิ่งยกมือกันสลอนมากกว่าคราวก่อนว่า จะขอเป็นคนมีความสุข ทีนี้ส่วนคนที่เคยมีความสุข เสวยสุขอย่างที่เรียกๆ กันนี้มาแล้ว ได้ผ่านมาแล้วกลับสั่นหัว ว่า เป็นคนมีความสุขนี้ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข
     ตอนนี้คงจะฟังไม่เข้าใจ ขอกล่าวถ้าอีกว่า คนมีความสุขจะต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข ข้อนี้ต้องนึกถึงข้อที่ว่าในโลกนี้ชาวโลกเขาสมมุติ เขาบัญญัติเขายึดมั่นถือมั่นกันว่า คนอย่างไหนเป็นคนมีความสุข มีเงิน มีอำนาจวาสนา มีนั่น มีนี่ มีกามคุณ มีอะไรสมบูรณ์ไปหมดทุกอย่าง เป็นคนมีความสุข: แต่แล้วก็จงดูให้ดี มันจะมีความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง รูปหนึ่ง ตามประสาคนมีความสุข
     ไม่ต้องพูดถึงความสุขชนิดมีก้างอย่างนี้ ต่อให้เป็นความสุขชนิดไม่เกิดมาจากสมาธิสมาบัติ จากฌานของ พวกฤๅษี มุนี ถ้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าฉันเป็นคนมีความสุขขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิดก้างขึ้นมาในเนื้อนั่นเอง แล้วติดคอ พวกที่ยึดมั่นถือมั่นความสุขในรูปฌานเป็นต้นเหล่านี้ ก็เรียกว่า เป็นคนมีทุกข์ตามประสาของคนมีความสุขจากรูปฌานนั้นเอง
     เพราะฉะนั้น จึงมีบทบัญญัติให้ละรูปราคะ อรูปราคะ เสียงในสังโยชน์เบื้องปลายที่จะทำให้คนเป็นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าการที่ไปติด ไปยึดเข้า ว่าเรามีความสุข แม้จะเป็นความสุขที่เกิดจากธรรมะก็เถอะ มันจะยังคงเป็นก้างติดคอชนิดที่ละเอียด อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เป็นธรรมดา และไม่เป็นธรรมะจริงขึ้นมาได้
     ข้อที่จะไปยึดพระนิพพาน ว่าเป็นตัวตน หรือเป็นความสุขของเราขึ้นมานั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเพียงแต่พูดนั้นพูดได้ ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แล้วยึดพระนิพพานว่าเป็นเรา เป็นของเรา เรามีสุขอย่างนิพพาน บรรลุนิพพานอย่างนี้ มันพูดได้ แต่ตามความจริงนั้นมีไม่ได้ เพราะว่าผู้ที่มีความยึดถืออย่างนั้นอยู่จะบรรลุถึงนิพพานไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น ถ้าเขาสำคัญอยู่ว่า เขาได้รับ เขาเป็นผู้มีความสุขที่เกิดแต่นิพพานอย่างนี้ มันเป็นนิพพานจอมปลอมทั้งนั้น นิพพานจริงไม่มีทางที่จะมาอยู่ในฐานะที่ถูกยึดถืออย่างนี้ได้
     นี่เราไล่ความสุขขึ้นไปตั้งความสุขของเด็กๆ ความสุขของผู้ใหญ่ ของคนหนุ่มสาว คนแก่คนเฒ่า คนมีอำนาจวาสนากระทั่งคนเป็นเทวดา มีฌาน มีสมาบัติ อะไรเป็นที่สุด ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันมีความสุขละก็ มันต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข ผู้ที่เข้าถึงความจริงจะรู้สึกอย่างนี้ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าถึงความจริงก็ตื่น ก็เห่อกันไปตามเรื่องตามราว เห่อเงินเห่อทอง เห่ออำนาจวาสนา เห่อความสุข ทางเนื้อทางหนัง กระทั้งเห่อวิปัสสนา เห่อฌาน เห่อสมาบัติ เห่อจนต้องส่งโรงพยาบาลปากคลองสาน อย่างนี้และมันเป็นการแสดงอยู่ในตัวของมันเองแล้ว ว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว คนมีความสุขก็จะต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข คำว่า "ทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข" เด็กๆ ฟังไม่ถูก ฟังไม่ออก แต่ผู้สูงอายุควรจะฟังออก
     ทีนี้เราจะลองคิดดูอีกสักคู่หนึ่งว่า เกิดอยู่นี้สนุกไหม? ตายไปสนุกไหม? ให้เลือกเอาฝ่ายหนึ่งในคนคู่นี้ คือ เกิดเป็นคนอยู่นี้สนุกไหม? หรือว่าตายไปก็คือไม่เป็นอยู่นี้สนุกไหม? เกิดกับตายสองอย่างนี้ อันไหนน่าสนุก คนเกิดอยู่น่าเกิด หรือคนตายน่าตาย ลองคิดดู ถ้ารู้ธรรมะจริงมันก็สั่นหัว ไม่เอาทั้งนั้น ไม่เอาทั้งเกิด ไม่เอาทั้งตาย แต่คนธรรมดา แล้วไม่อยากตาย อยากแต่เกิดแล้วไม่อยากตาย อยากเกิดเรื่อย อยากเกิดชนิดไม่รู้จักตายด้วยซ้ำไป หรือว่า ถ้าจะต้องตายแน่แล้วก็ยังอยากเกิดอีก นั่นแหละคือความยึดมั่นถือมั่น
     เราอาจตัดบทได้สั้นๆ ว่า คนเกิดก็ต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนเกิด คนตายก็มีความทุกข์ตามแบบของคนตาย ต่อเมื่อไม่รู้สึกว่าเกิด ไม่รู้สึกว่าตาย คือ ว่าง นั่นแหละ จึงจะไม่มีความทุกข์เลย
     ทำไมไม่นอนคิดเล่น นั่งคิดเล่น เดินคิดเล่นในเรื่องอย่างนี้ในขณะที่ไม่มีอารมณ์อะไรมากระทบ ทำไมไม่ลองนอนคิดอย่างนี้ นั่งคิดอย่างนี้ เดินคิดอย่างนี้ หรือว่าเมื่อ ทำอะไร อยู่ หรือเป็นอะไร อยู่ ทำไมไม่ลองคิดอย่างนี้
     เมื่อเหน็ดเหนื่อยยากลำบากอยู่ด้วยความเป็นมารดาเป็นต้นอย่างนี้ ทำไมไม่รู้สึกบ้างว่าความเป็นมารดาอย่างนี้ไม่น่าสนุก แล้วความเป็นสามี ความเป็นภรรยา ความเป็นอะไรต่างๆ อย่างที่ว่ามาแล้วทั้งหมดนี้ เมื่อกำลังวุ่นอยู่ด้วยอาการของความเป็น นั้นๆ ทำไมไม่รู้สึกว่านี้ไม่สนุกเลย ทั้งๆ ที่ต้องร้องไห้อยู่ก็ยังไม่รู้สึกว่านี้ไม่สนุกเลยยังสนุกอยู่เรื่อย สนุกอยู่ทั้งๆ ต้องร้องไห้ อย่างนั้น


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(5)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 20:01:03 »

(6)

เพราะฉะนั้นเราจะต้องคิดดูให้ดีอีกทีหนึ่งในครั้งสุดท้ายว่า เกิดก็ตาม ไม่เกิดก็ตาม ไม่ไหวทั้งนั้น เกิดไม่ว่าง ไม่เกิดก็ไม่ว่างถ้าไปยึดถือว่าไม่เกิดแล้วมันไม่ว่างเหมือนกัน ตอนนี้มันจะต้องเป็นตอนที่ฟังยากที่สุด หรือจะว่าปฏิบัติยากที่สุดก็ตามใจ ระหว่างเกิดกับไม่เกิดนี่ มาถึงคู่สุดท้ายนี้ เราไม่เอาทั้งนั้น เราไม่เข้าไปยึดในคำว่า เกิด หรือ ไม่เกิด ไม่ยึด มันจึงจะว่าง
     เมื่อพูดถึง เอา ถึง เป็น มาเรื่อยๆ แล้ว ไม่เอาไ ม่เป็น มาเรื่อยๆ แล้วมาถึง เกิด ไม่เกิด เป็นคู่ขึ้นมาอย่างนี้ประเดี๋ยวก็จะไปยึดเอาที่ ไม่เกิด เข้าอีก ฉะนั้นในอันดับสุดท้ายข้อปฏิบัติของเราจะต้องสาวก้าวไปจนกระทั่งถึงว่า ความรู้ว่าไม่เกิด อย่างนี้ก็ต้องไม่เป็นที่ยึดมั่นถือมั่น คือให้สลายไปด้วยเหมือนกันมันจึงจะว่างจริงๆ ขึ้นมา คือ เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ นั่น แหละจึงจะเป็นเรื่อง ไม่เกิด ที่แท้จริง คือเป็นความดับไม่เหลือที่แท้จริง
     คำพูดตอนนี้ออกจะฟัดไปฟัดมาอยู่ แต่ความหมายนั้นไม่ได้ฟัดไปฟัดมา มันมีความจริงอยู่ แยกออกจากกันได้เด็ดขาดเลย ฉะนั้น ท่านอย่าไปยึดมั่นในนิพพานว่าเป็นความไม่เกิด แล้วก็วิเศษวิโสอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็อย่าไปยึดมั่นในวัฏฏสงสารว่าเกิดกันใหญ่ เกิดมันสนุกดี มันต้องไม่ยึดมั่นทั้งสองฝ่าย มันจึงจะเป็นความว่าง และเป็นความไม่เกิด การปฏิบัติในเวลาปกติจะต้องเป็นอย่างนี้อยู่รื่อยๆ ไป
     สำหรับในขณะที่เรากำลังทำการงานอย่างยิ่ง คือ งานกัมมัฏฐาน กล่าวคือปฏิบัติสมาธิภาวนา วิปัสสนาในลักษณะที่เป็นเทคนิคจัด เพื่อให้รู้โทษของความยึดมั่นถือมั่น มันก็เรื่องว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวกันอีก ข้อนี้ต้องทำตามที่ได้เล่าเรียนได้ศึกษามาเป็นอย่างมาก ไม่ใช่คนธรรมดาที่ไม่รู้หนังสือจะทำได้ เพราะฉะนั้นมันจึงมีหลัก มีคำอธิบาย อย่างที่เคยอธิบายมา แล้วมากมายไปอ่านดู หรือนึกถึงที่เคยกล่าวมาล้ว ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่าข้อปฏิบัติในขณะปกติ
ทีนี้ก็เป็น การปฏิบัติในโอกาสที่สอง คือ ในขณะที่อารมณ์มากระทบ หมายความว่า เมื่อมีรูป เสียง กลิ่น รู้สึกสัมผัส มากระทบที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวหนัง เหล่านี้จะต้องปฏิบัติในลักษณะที่ให้ผัสสะ-หยุดอยู่ที่ผัสสะ ให้เวทนาหยุดอยู่ที่เวทนาอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งได้บรรยายทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง กระทั่งที่ได้บรรยายที่นี่คราวก่อนมาแล้วจนบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจที่ว่ามีการกระทบแล้วหยุดอยู่แค่ผัสสะนี้ มันเป็นชั้นดีเลิศ ถ้าชั้นธรรมดา ก็เลยไปถึงเวทนา แล้วหยุดอยู่ที่เวทนาอย่าปรุงเป็นตัณหาอุปาทาน เป็นตัวกู เป็นของกูขื้นมา
     บางคนหรือนักพูดตามศาลาวัด หรือนักสอนตามโรงเรียนนักธรรมก็เหมึอนกัน เขาพูดว่าหยุดอยู่แค่ผัสสะนั้นไม่มี ต้องไปถึงเวทนาเสมอ นั่นเพราะเขายึดมั่นถือมั่นหนังสือหรือถ้อยคำหรือแบบอย่างอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง
     ความจริงพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อเห็นรูปสักว่าเห็น ดมกลิ่นสักว่าดม ลิ้มรสสักว่าลิ้ม สัมผัสสักว่าสัมผัส นี้ก็มีอยู่ถ้าทำได้อย่างนี้ตัวเธอไม่มี คือตัวกูไม่เกิด แล้วก็เป็นที่สุดทุกข์คือว่างอยู่เรื่อย
     ขอให้สังเกตอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เมื่อเราทอดสายตาไปยังทางใดทางหนึ่งเห็นภาพโน้นภาพนี้ลองเหลือบตาไปทางประตูหน้าต่าง มันก็เป็นแต่เพียงผัสสะเท่านั้น ไม่เกิดเวทนาพอใจหรือไม่พอใจอะไร เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส อันใดเข้ามา ในลักษณะผัสสะอย่างนี้ ก็ให้มันหยุดอยู่อย่างนั้นบ้างเป็นไร
     เหมือนกับทหารที่นอนข้างปืนใหญ่ เมื่อปืนใหญ่ลั่นตึงออกไป มันก็เพียงแต่ได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่เกิดเวทนาอะไรยังนอนหลับสบายอยู่ด้วยซ้ำไป หนักๆ เข้าไม่สะดุ้งไม่ตื่น ไม่อะไรเลยมันเป็นแต่เพียงเสียงปืนใหญ่กระทบหูแล้วก็เลิกกันอย่างนี้
     ให้ผัสสะหยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะอย่างนี้ ในเมื่อได้ยินเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงคู่รัก เสียงอะไรต่างๆ เหล่านี้มันจะได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ต้องนับว่าเก่งมาก
     ข้อนี้นึกดูอีกทีหนึ่งก็ว่า บางทีสัตว์มันจะเก่งกว่าคน เพราะสัตว์ไม่มีปัญญาชนิดรู้มากยากนาน ทีนี้เรา ถ้าอยากเก่งอย่างถึงที่สุดอย่างนั้นบ้างก็ต้องหัด ชนิดผัสสะสักว่าผัสสะ
     แต่ถ้าสู้ไม่ไหวยอมแพ้ ก็ไปหยุดที่เวทนาก็ได้ พอเวทนารู้สึกสบายไม่สบาย พอใจไม่พอใจแล้วให้หยุดอยู่แค่นั้น หยุดอยู่เพียงเท่านั้น กับไปเพียงเท่านั้น อย่าเกิดความอยากต่อไปอย่างนั้นอย่างนี้ ไปตามเรื่องของความอยากของกิเลสตัณหา อุปาทานอย่างนี้ก็ได้ นี้เรียกว่า เราประพฤติปฏิบัติในโอกาสที่กระทบกันกับอารมณ์ ให้ปฏิบัติอย่างนี้
     ทีนี้เวลายังมีเหลืออยู่เพียงนิดหน่อยนี้ อยากจะพูดเรื่องการปฎิบัติในโอกาสที่สาม คือ ในขณะที่จะดับจิต ร่างกายจะแตกตายลงไปนี้ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะว่างข้อนี้จะต้องอาศัยหลักที่ว่า ดับไม่เหลือ-ดับไม่เหลือ มาเป็นหลักอยู่เป็นประจำ


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(6)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 20:01:31 »

(7)

การที่จะต้องตายไปตามธรรมชาติ คือ แก่ชราแล้วจะต้องตายไปตามธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่เด็ดขาดแน่นอน ถ้าใครไปถึงอายุปูนนั้นเข้า ไม่ถึงระยะนั้นเข้ามันก็เรียกว่ามีเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จะทำอย่างไรมันจึงจะทันแก่เวลา?
     ทีนี้เพื่อให้ทันแก่เวลานั่นเอง เป็นคนแก่ไม่รู้หนังสือไม่มีเวลาเรียนอะไรมากได้ เพราะว่าสติปัญญา มันสมองไม่อำนวยมากมายอะไร ก็จะถือหลักอย่างที่ว่า ดับไม่เหลือแห่งตัวกู ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
     ตามปกติ ก็ให้ดูอยู่ว่า เป็นคนไม่สนุก เป็นเทวดาก็ไม่สนุก เป็นพ่อก็ไม่สนุก เป็นแม่ก็ไม่สนุก เป็นลูกไม่สนุก เป็นสามีก็ไม่สนุก เป็นภรรยาไม่สนุก เป็นบ่าวก็ไม่สนุก เป็นนายก็ไม่สนุก เป็นผู้แพ้ก็ไม่สนุก เป็นผู้ชนะไม่สนุก กระทั่งเป็นผู้ดี ผู้ชั่ว กระทั่งผู้มีบุญ-มีบาป กระทั่งผู้สุข-ผู้ทุกข์นี้ก็ล้วนแต่ไม่สนุก; อย่างนี้ ก็แปลว่าจิตนี้ไม่มีที่หวังที่ไหน ที่จะไปเอา-ไปเป็น พูดว่าสิ้นหวังก็ได้
     คำนี้ใช้ได้เหมือนกันในการบรรลุพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่สิ้นหวังอย่างโลกๆ อย่างคนโง่ คนขี้เกียจ คนไม่มีที่หวัง คนสิ้นหวัง อย่างนั้นมันอีกความหมายหนึ่งต่างหาก เดี๋ยวนี้ในที่นี้มันเป็นความสิ้นหวังของคนที่มีปัญญาอย่างถูกต้อง มองออกว่าไม่มีอะไรที่ควรหวัง ไปเอา-ไปเป็น ที่นี่ก็ตามที่โลกอื่น ที่โลกไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นจริง ๆ ทุกกาลเวลา ทุกสถานที่
     ที่นี้จิตของเขาจะน้อมไปในทางไหน ขอให้ลองคิดดูจิตของเขาจะไม่น้อมไปในทางไหนได้เลย เพราะไม่มีอะไรที่น่าหวังที่ไหน เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นไปเพื่อสลายตัวมันเอง ไม่มีความอยากเอา อยากเป็นที่ไหน มันว่างไปในตัวมันเอง มันสลายไปในตัวมันเอง
     ฉะนั้น อุบายที่จะเอาเปรียบธรรมชาติได้บ้างก็ตอนนี้ คือว่า เมื่อจะต้องดับจิตลงไปจริงๆ แล้ว ก็ให้ฟื้นความรู้สึกที่ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น ที่ไหนหมดทุกหนทุกแห่งนั้น ให้มาอยู่ที่ จิตใจในเวลาที่จะดับจิตนั้น มันจะนิพพานไปได้ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยง ให้ร่างกายกับจิตใจมันดับลงไปด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นที่ไหน แล้วจะบรรลุนิพพานได้ในตัวมันเอง ในตัวความตายทางร่างกายนั่นแหละ
     นี่เรียกว่า เป็นการได้กำไรอย่างยิ่ง ลงทุนน้อยอย่างยิ่ง แล้วแน่นอนอย่างยิ่ง ให้นักธรรมชั้นมหาเปรียญ ชั้นเอกชั้นสูงสุดที่ไหนมาพิสูจน์ดูทีว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเขาดับจิตไปด้วยความรู้สึกที่แท้จริง ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นที่ไหนอย่างนี้มันก็เป็นการสลายตัวชนิดที่สลายไปกับนิพพานธาตุ ไปเป็นนิพพานธาตุได้ในตัวมันเอง เป็นตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ พูดอะไรก็ไม่ได้แต่มีความรู้สึกอย่างนี้ได้อย่างเดียวก็พอแล้ว
     เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะตายขึ้นมาจริง ๆ ขอให้ความรู้สึกอย่างนี้มีอยู่ แล้วต้องรู้ไว้ว่าใกล้จะตายนั้น มันอาจจะค่อยๆ เลือนไป ในการที่ร่างกายมันชำรุดลง มันจะต้องแตกดับนี้ ความรู้สึกมักจะค่อยๆ หมดไปๆ มันจะลืมนั่น-ลืมนี่ ลืมเข้ามาทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ว่า เดี๋ยวนี้กี่โมงกี่ยามแล้ว กลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้สึกได้ แม้ว่าตนกำลังอยู่ที่ไหน อยู่ในบ้านไหน-เรือนไหนก็ไม่รู้สึกได้ แม้แต่ว่าตัวเองชื่อไรก็ลืมไปแล้ว จะสวด อิติปิโส ภควา ก็ไม่ถูกแล้ว แต่ที่จะอยู่ได้เป็นคู่ชีวิตจิตใจไปด้วยกันก็คือว่า ความรู้ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น กับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่า สมัครดับไม่เหลือนี้ ขอให้อยู่คู่กันกับจิต จนถึงวาระสุดท้าย มันจะสลายตัวเป็นความว่าง หรือเป็นนิพพานไปได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ด้วยเคล็ดอย่างนี้ นี่เรียกว่าข้อปฏิบัติในขณะที่ร่างกายจะแตกทำลายที่เรียกว่าของผู้รู้น้อยตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ ผู้รู้น้อย มีอุบายที่จะดับไปได้ ค้วยอาการอย่างนี้ และเราเรียกอุบายนี้ว่า "อุบายตกกระไดแล้วพลอยกระโจนให้เหมาะๆ"
     ที่ว่าตกกระได ก็คือ หมายความว่า ร่างกายมันต้องแตกแน่ มันแก่ชราแล้ว มันถึงที่สุดแล้ว มันต้องแตกแน่ เรียกว่า ตกกระไดลงมาแล้ว ที่นี้ก็พลอยกระโจนเลย กระโจนสู่ความดับไม่เหลือ เพราะทำความรู้สึกในใจอยู่ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นที่ไหนนี้ เรียกว่า กระโจนอย่างถูกทาง เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เจ็บปวดอะไรเลย กระโจนอย่างนี้ ไม่เจ็บไม่ปวด แต่เป็นผลดีที่สุด คือ ถึงความดับไม่เหลือได้
     นี่เราเรียกว่า มันเก่ง มันตกกระไดเป็น ไม่เหมือนคนโง่บางคน ตกกระไดลงมาปากคอแตก แขนขาหัก อย่างนี้มันคือ คนโง่
     แม้เรียนมาก เที่ยวพูดจ้ออยู่ตามศาลาวัดอย่างนี้ มันก็ยังตกกระไดปากแตก ขาหักอยู่นั่นเอง มันสู้คนที่สนใจอย่างถูกทาง แม้แต่เพียงเรื่องเดียวนี้ไม่ได้ มันเอาตัวรอดได้อย่างนี้
     ทีนี้ ถ้าสมมุติว่า การตายที่เป็นอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถยนต์ทับบี้แบนไปกลางถนน หรือถูกตึกพังทับ หรือว่าชาวไร่ชาวนาเดินอยู่วัวควายมันขวิดข้างหลังทีเดียวตาย หรือว่าถูกระเบิดปรมาณูลงมาอย่างนี้ จะทำอย่างไร?
     ถ้าฉลาดสักหน่อยก็จะมองออก มองเห็นได้ด้วยตนเองว่า มันก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ ถ้าความรู้สึกมันเหลือนิดเดียว แว๊บเดียวว่า ดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ ไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็น เพราะได้ทำความรู้สึกดังกล่าวนั้นมาจนคล่องแคล่ชำนาญดีอยู่แล้วเป็นปกติ พอมาถึงขณะเช่นนี้ ก็รู้สึกได้เพียงแว๊บเดียวแล้วก็ดับไป
     เช่นว่า รถยนต์ทับตายอย่างนี้ไม่ใช่มันจะตายทันที จะไม่มีเวลาเหลือสักครึ่งวินาทีให้เรารู้สึก-ไม่ใช่ มันต้องมีเวลาเหลืออยู่แม้ครึ่งวินาที หรือเศษหนึ่งส่วนสี่วินาที สักขณะจิตหนึ่งพอรู้สึกแว๊บหนึ่งได้ว่า สมัครดับไม่เหลืออย่างนี้ก็ทันถมเถไป
     ทีนี้ ถ้าสมมุติเอาเป็นว่า มันวูบเดียว ไม่มีความรู้สึกเลย มันก็ดับไม่เหลืออยู่นั่นแหละ เพราะว่าเราเป็นอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้องว่า ดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ในยามปกติมาแล้ว ตามที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลาปกตินั้น เราซ้อมความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น จนจิตน้อมไปสู่ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ทีนี้มันก็ดับไม่เหลือไปด้วยความรู้สึกอันนี้ แม้ว่าในขณะที่ถูกทำให้ร่างกายสลายแตกตายไปโดยไม่ให้โอกาสที่จะรู้สึกคิดนึกได้
     ยิ่งถ้ามันให้โอกาส ที่จะรู้จักคิดนึกได้สักขณะจิตหนึ่งหรือว่าครึ่งวินาทีอย่างนี้ ก็คิดได้สบาย เพราะฉะนั้น อย่าได้ขลาด อย่าได้กลัว อย่าให้ความขลาดความกลัว แทรกเข้ามา เช่น ขอให้ไปตามหมอที หามไปโรงพยาบาลทีอย่างนี้แล้ว ก็ต้องตายตรงนั้นเอง ไม่มีประโยชน์อะไร และเรื่องอย่างนี้เขาถือกันว่าเป็นการตายโหง คือตายโดยไม่อยากจะตายและตายโดยกระทันหันอย่างนี้ เขาบัญญัติคำเรียกกันว่าตายโหง
     ธรรมะที่ประเสริฐนี่มันปัองกันการตายโหงอย่างเด็ดขาด แต่ทำให้นิพพานได้ที่ตรงนั้นเอง ที่ข้างๆ ล้อรถ หรือใต้รถ หรือใต้ตึกทับ หรือว่ากลางทุ่งนา ตรงที่ควายขวิด หรือว่าในซากกองเถ้าถ่านของลูกระเบิด อย่างนี้เป็นต้น มันไม่มีการตายโหงแต่มีนิพพานแทน
     ดังนั้น ควรซ้อมความเข้าใจที่ถูกต้องไว้อย่างนี้สำหรับผู้ที่มีการศึกษาน้อย รู้น้อย กระทั่งเป็นตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ แต่ได้ฟังการพูดอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้


ที่มา http://www.mindcyber.com/
(7)
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2553 20:01:57 »

(ตอนสุดท้าย)

ทีนี้ส่วน การตายของผู้ที่รู้โดยสมบูรณ์ มีสติปัญญาสมบูรณ์ศึกษาเพียงพอ แตกฉานในปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรมนั้นไม่ต้องเป็นอย่างนี้ คือไม่ต้องมีอาการตกกระไดพลอยกระโจนเพราะว่า เขาเป็นผู้ไม่ตายเสียแล้วตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ยังไม่เจ็บไม่ไข้ ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ด้วยซ้ำไปคือ บรรลุคุณธรรมขั้นสูงเสียตั้งแต่ก่อนโน้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการตาย
     ทีนี้ ถ้าว่าคนรู้มากมายอย่างนี้ พอถึงเวลาจะตายเข้าจริงๆ เขาก็ยังมีการเตรียมตัวดีกว่าพวกที่ตกกระไดพลอยโจน เขารู้จักตั้งสติสัมปชัญญะอย่างที่ว่าไม่มีความตาย หัวเราะเยาะความตายได้ อย่างนี้ก็นับว่าเป็นการที่ว่าเหมือนลงกระไดลงไปอย่างเรียบร้อย ไม่ใช่ตกกระไดแล้วพลอยกระโจนอย่างว่า นี่เป็นเรื่องของผู้รู้สมบูรณ์ แต่สำหรับผู้รู้น้อยนี้ ควรจะฉลาดในการที่จะตกกระไดพลอยกระโจน นี่คือการปฏิบัติเพื่อวางในวินาทีสุดท้าย
     ทีนี้ อยากจะพูดถึง การเตรียมตัวตายของผู้เจ็บป่วย กันบ้าง เมื่อรู้สึกว่าจะต้องตายแน่ สำหรับผู้มีความเจ็บไข้เห็นอยู่ชัดๆ เช่น เป็นวัณโรค หรือโรคอะไรก็ตามเถอะ ซึ่งมันจะต้องตายแน่แล้ว ก็ควรจะทำให้ดีที่สุดด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องขลาด ไม่ต้องกลัว
     อยากเล่าเรื่องที่เคยพบ เกี่ยวกับวิธีเตรียมตัวตายของคนครั้งพุทธกาลให้ฟังว่า สำหรับผู้ที่เขาถือศีลสมาทานวัตรกันอยู่เป็นประจำอย่างนี้ เป็นธรรมดาการอดข้าว ย่อมไม่มีปัญญาอะไรเพราะวันอุโบสถก็อดข้าวเย็นอยู่แล้ว ทีนี้ พอโรคภัยไข้เจ็บมาถึงซึ่งเขาเชื่อว่าไม่เกินสิบวัน จะต้องตายอย่างนี้ เขาเตรียมที่จะไม่กินอาหาร ไม่เหมือนกับพวกเรา ที่ว่าคนใกล้จะตายต้องให้ไปหาอาหารดีๆ อย่างนั้นอย่างนี้อย่างแพงที่สุดมาให้กินๆ กินจนตายไปกับอาหารก็มี
     ในการที่เขาพยายามหลีกอาหารนี้ เขาทำเพื่อจะมีจิตใจที่เป็นปกติที่สุด เพราะเมื่อร่างกายชำรุดอย่างนี้แล้วมันไม่ย่อยอาหาร ขืนใส่เข้าไปมันก็เป็นพิษ มันก็วุ่นวายใจ มันกระสับกระส่าย เพราะฉะนั้น จึงเตรียมตัดอาหาร กินแต่น้ำ หรือกินแต่ยา
     ทีนี้ ถ้าใกล้เข้าไปอีกแม้แต่น้ำก็ไม่อยากกิน ยาก็ไม่ยอมกิน เพื่อจะสำรวมสติสัมปชัญญะ ที่จะตายชนิดที่ดับไม่เหลือ
     พวกที่ยึดมั่นถือมั่นในบุญกุศลก็เตรียมยึดมั่นถือมั่นในบุญกุศล พวกที่ฉลาดขั้นสูงก็เตรียมที่จะปล่อยวาง ดับไม่เหลือดังกล่าวมานั้น เขาไม่ต้องการหมด ไม่ต้องการฉีดยาประวิงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้อย่างนี้ ซึ่งเป็นการรบกวนอย่างยิ่ง การทำเช่นนี้ เรียกว่า "ปลงสังขาร" , "ปลงสังขาร" ยังไม่ทันตายนี่แหละ เขาเตรียมที่จะ แตกตายทำลายร่างกายให้ดีที่สุด ในทางจิตก็น้อมไปเพื่อดับไม่เหลือ
     ส่วนพวกเราสมัยนี้ มัวแต่โกลาหลตามหมอกันมาจนเต็มห้องก็มี ให้กินยา ให้กินอาหาร ฉีดยา ต่างๆ นานา ทำให้พะงับพะง่อนหาความสงบไม่ได้ นี่แหละทำให้ไม่รู้ว่าจะตายอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่าจะตายหรือจะอยู่ อย่างนี้มันพะว้าพะวังกันไปหมด มันเลยไม่ได้ประสบชัยชนะเหนือความตาย หรือเข้าถึงความว่างหรือความดับไม่เหลืออย่างที่กล่าวมาแล้ว
     การเตรียมตัวตายของคนครั้งพุทธกาลกับคนเดี๋ยวนี้มันต่างกัน อย่างว่าคนเดี๋ยวนี้ คงจะนึกหาเตียงที่สบายที่สุด หาห้องที่สบายที่สุด หาอาหาร หายาที่แพงที่สุด มาไว้ แล้วก็ตายไปด้วยการกุลีกุจอ อยากจะรักษาชีวิต ถ่วงเอาไว้ให้ได้ต่อไป แม้นาทีหนึ่งก็ยังดี อย่างนี้ก็เลยระดมฉีดยาเป็นการใหญ่ ทำอะไรเป็นการใหญ่ แล้วมันก็ต้องตายอย่างไม่ "หลับตาตาย" คือว่า ตายโดยไร้สติสัมปชัญญะ เรียกว่า ทำกาลกิริยาด้วยความหลง
     ถ้าทำถูกทางมันก็ต้องกล้าด้วยธรรมะ และ ตายอย่างมีชัยชนะเหนือความตาย อย่างที่ว่ามานี้ จึงจะเรียกว่า เข้าถึงความว่างได้ในวินาทีสุดท้าย มีโอกาสกระทั่งถึงวินาทีสุดท้าย ขอให้จำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ว่า โอกาสสำหรับพวกเรามีกระทั่งวินาทีสุดท้าย แต่ถ้าเราเอาชนะเดี๋ยวนี้ไม่ได้เรื่อยไปในวินาทีสุดท้ายนั้นต้องชนะได้แน่เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
     นี่คือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความว่าง ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ขณะ ปฏิบัติใน ๓ โอกาส ขณะปกติ ทำการทำงานอยู่ตามปกตินี้อย่างหนึ่ง ขณะที่อารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะสู้มันอย่างไร ให้เป็นความว่างนั้นก็อย่างหนึ่ง แล้วขณะที่เบญจขันธ์จะแตกสลายไปตามธรรมชาตินี้ จะทำอย่างไรก็อีกอย่างหนึ่ง; รวมเป็น ๓ วิธีด้วยกัน
     ควรจะเป็นสิ่งที่นำมาพูด มาคิด มาปรึกษาหารือกันอยู่เป็นประจำ เหมือนอย่างที่คุยเรื่องวิทยุเรื่องโทรทัศน์ เรื่องบ้านเรื่องเมือง เรื่องโลก นั้นพล่อยไปหมดทั้งวัน ทั้งคืน แล้วเรื่องสำคัญเห็นปานนี้ ทำไมถึงไม่ลองเอามาคุย มาปรึกษากันดูบ้าง พวกที่ชอบมวยก็คุยแต่เรื่องการต่อสู้จนเวลามีไม่พอ หายใจแทบไม่ทัน
     ทีเรื่องต่อสู้กับความตาย เอาชนะความตายให้ได้ ให้ว่างจากความเกิด จากความตายนี้ ทำไมไม่ลองคุยกันบ้าง มันจะเป็นของง่ายขึ้นมาทันที ถ้าว่าเราคุยกันปรึกษาหารือกันแต่ในเรื่องนี้เหมือนกับที่เราคุยกันในเรื่องอื่นๆ ไม่เท่าไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นของง่ายๆ เหมือนกับทำเล่นไปได้ไม่ยากเลย เมื่อทำถูกวิธีแล้วไม่มียากเลย ง่ายไปหมด แม้แต่การบรรลุนิพพานและการตกกระไดพลอยโจน อย่างที่กล่าวนี้
     นี่แหละสรุปรวมความแล้ว เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องคำว่า ว่าง เข้าถึงความว่าง เป็นอยู่ด้วยความว่าง ว่างอยู่เป็นปกติ แล้วเป็นความว่างเสียเอง ความว่างมีอยู่ที่สิ่งทั้งปวงเป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง ทำจิตใจให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วจิตก็จะเป็นความว่างเสียเอง เป็นความดับไม่เหลือแห่งตัวกู-ของกูไม่มีการเกิดมาอีก ไม่มีความรู้สึกเป็นความเกิด เป็นตัวเรา-เป็นของเราขึ้นมาอีก นี่คือ วิธีปฏิบัติเพื่อความว่าง

อาตมาขอยุติลงด้วยการหมดเวลาเพียงเท่านี้


ที่มา http://www.mindcyber.com/
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น: แก่น พุทธศาสน์ วิธีปฏิบัติ เพื่อเป็นอยู่ ด้วยความว่าง ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
แก่นพุทธศาสน์ เรื่อง ความว่าง (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
หมีงงในพงหญ้า 17 11498 กระทู้ล่าสุด 14 พฤษภาคม 2555 16:22:43
โดย เงาฝัน
คำว่า{แม่}ที่ท่านยังไม่รู้จักโดยท่าน พุทธทาส อินทปัญโญ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 1 3679 กระทู้ล่าสุด 11 กรกฎาคม 2554 06:01:17
โดย เงาฝัน
วิถีทางแห่งการดับทุกข์ในแบบต่าง ๆ (ธรรมะ ท่านอาจารย์ “ พุทธทาส อินทปัญโญ “)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก 0 1600 กระทู้ล่าสุด 01 ตุลาคม 2559 22:02:55
โดย มดเอ๊ก
การทำลายซึ่งตัวกูของกู (พุทธทาส ภิกขุ )
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1272 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 20:24:10
โดย มดเอ๊ก
การวางของหนักคือการดับทุกข์ (พุทธทาส ภิกขุ )
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1192 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 20:26:40
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.446 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 23 ธันวาคม 2566 10:53:46