[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 16:00:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีธรรม วิถีทาง ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล  (อ่าน 4882 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 มิถุนายน 2553 19:56:55 »

สรรสาระ :วิถีธรรม วิถีทาง ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เขียนโดย วิทยากร โสวัตร : สัมภาษณ์

ในห้องสี่เหลี่ยมเงียบสงบ ห้องที่การสนทนากำลังจะเริ่มขึ้น เครื่องบันทึกเสียงถูกนำขึ้นมาวางอยู่บนโต๊ะ ไล่เลี่ยกับการปรากฏตัวของเสกสรร ประเสริฐกุล ผู้เขียนหนังสืออันลุ่มลึกที่ชื่อ วิหารที่ว่างเปล่า และ ผ่านพบไม่ผูกพัน

ถ้าย้อนอดีตกลับไปเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ปาจารยสารยุคใหม่ (ตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๒๗) เคยสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในมุมมองต่อชีวิตและความคิดของเขา ในพ.ศ.นี้ และในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ปาจารยสารได้กลับมาสัมภาษณ์เขาอีกครั้ง

วันเวลาที่เปลี่ยนแปลง อะไรคือตัวตน หนทาง และการคลี่คลายของเขา?...
เครื่องบันทึกเสียงเริ่มหมุน วิทยากร โสวัตร นักสัมภาษณ์หนุ่มก็เริ่มต้นบทสนทนา

นักเลงโบราณกับนักรบต่างกันอย่างไรครับ

ตามความเข้าใจของผม สังคมโบราณมักไม่ค่อยแยกเรื่องทางโลกกับทางธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรหรือเป็นอะไร จึงล้วนมีธรรมะกำกับ เช่นผู้ปกครองประเทศมีหลักทศพิธราชธรรม หลักจักรวรรดิวัตร ๑๒ เป็นต้น ลงมาถึงการใช้ชีวิตของคนธรรมดาสามัญก็ต้องใช้ธรรมะกำกับ แม้แต่คนที่เป็นนักเลงหรือนักรบก็ต้องถือศีลเป็นบางข้อ

คนที่เป็นนักเลงนักรบ ผมเข้าใจเอาว่า คือคนที่มีความกล้าหาญเป็นเจ้าเรือนและมีจริตรักการต่อสู้พระท่านจึงสอนให้เอาคุณสมบัติไปใช้ในทางบวก เช่นปกป้องคุ้มครองคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ข่มเหงรังแกใคร รักศักดิ์ศรี ถือสัจจะวาจา อะไรประมาณนี้ เพราะถ้าไม่สอนเดี๋ยวจะใช้พลังไปในทางที่ผิดได้

จำเป็นไหมที่เด็กหนุ่มควรจะมีลักษณะโบราณในด้านบวกแบบนั้น

ไม่จำเป็น บุคคลิกภาพเป็นเรื่องของมายา มันเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามกฏอนิจจัง สิ่งที่เราควรสนใจคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความผาสุก จากจุดหมายตรงนั้นเราค่อยถอดออกมาเป็นรหัสพฤติกรรมว่าควรกำกับด้วยธรรมะข้อไหน ซึ่งจริงๆแล้ว โดยแก่นแท้ของความเป็นคน ผมว่าเราอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เรายังจำเป็นต้องอาศัยศีลธรรมมาช่วยในการอยู่ร่วมกัน หรือถ้าจะให้ไปไกลกว่านั้น ก็ยังต้องอาศัยธรรมะขั้นสูงมาช่วยดับทุกข์ เพียงแต่ว่าบางครั้ง ในนามของยุคสมัย เรามักจะหาเหตุยกเลิกคำสอนเหล่านี้เสียดื้อๆ เพื่อความสะดวกในการทำบาป เช่น อยากคดโกง เราก็มีคำอธิบาย หรืออยากใช้อำนาจกับคนอื่น ก็มักมีคำอธิบาย อยากจะเห็นแก่ตัว มีคำอธิบายได้สารพัด พอคำอธิบายเหล่านี้ไปขัดแย้งกับหลักธรรม เราก็พาลเหมาว่าธรรมะเป็นเรื่องล้าสมัย แบบนี้ทำให้สังคมอยู่ไม่เป็นสุข

ไม่รู้ว่าคุณมาถามผมเรื่องนักเลงนักรบทำไม

เพราะว่ามีหนังสือของทิเบตเล่มหนึ่งเรื่องชัมบาลา พูดถึงวิญญาณนักรบฝ่ายธรรม ฝ่ายมโนธรรม อยากทราบมิตินี้ของอาจารย์ว่าความเป็นนักรบภายนอก-ภายในเกี่ยวข้องกันไหม

ผมเห็นด้วยว่าความกล้าหาญของนักรบภายนอกมีส่วนคล้ายกับการรบกับกิเลสภายในของนักบวช นอกจากนี้การเป็นนักรบในทางโลกก็อาจเป็นบันไดทอดไปสู่การสลายตัวตนในขั้นปรมัตถ์ได้ คือคนเป็นนักรบนี่ มักจะต้องหาวิธีฝึกปล่อยวางตัวตน อย่างน้อยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนทางจิตเวลาเผชิญกับสถานการณ์สู้รบและเพื่อมอบตัวให้จุดหมายของการต่อสู้ กระบวนการอันนี้มันสามารถเป็นพื้นฐานที่ส่งต่อไปสู่การสลายอัตตาได้ เพียงแต่ว่าถ้ายังไม่มีแรงบันดาลใจจะไปไกลกว่าการเป็นนักรบ ก็อาจจะหยุดอยู่แค่การเป็นยอดฝีมือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง กึ่งๆนักบวช
ยกตัวอย่างวีรบุรุษในโลกตะวันออกเช่นมูซาชิ เขาฝึกเพลงดาบโดยฝึกธรรมะไปด้วย เพราะว่าคนที่จะใช้ดาบให้ได้อย่างมีพลังนี่ มันจะต้องผนึกตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับดาบให้ได้ การทำเช่นนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคหากเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งหมายความว่าจิตของคุณต้องนิ่งมาก ตัวตนในความหมายสามัญหายไปหมด เรื่องกลัวตายไม่กลัวตายไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งเดียวกับดาบ ทุกอย่างต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน หรือเคลื่อนไหวอย่างประสานสอดคล้องกัน ไม่ไปคนละทิศละทาง วิชาดาบระดับนี้จึงเป็นสมาธิขั้นสูงด้วย

ในส่วนตัวที่อ่านงานอาจารย์มาตลอดตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี มีอยู่ประมาณปี ๒๕๓๙ ที่ผมอ่านเรื่อง ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์ พออ่านหนังสือของอาจารย์มาเรื่อยๆ จนถึงเล่มล่าสุด (ผ่านพบไม่ผูกพัน) ผมเห็นพัฒนาการความเป็นนักรบทั้งภายนอกและภายในของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับมากๆ แต่ในขณะที่สังคมเขาบอกว่าถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องสูญพันธุ์ ผมก็รู้สึกหวั่นๆ อยู่ว่า เผ่าพันธุ์ อย่างอาจารย์ จะสูญไปด้วยหรือเปล่า เหมือนว่าอาจารย์ปักธงไปว่าไม่เปลี่ยน แต่จะพัฒนาตรงไปอย่างนี้แหละ

ในทางจิตวิญญาณแล้ว ผมไม่คิดว่าวิถีที่ผมเดินจะสูญหายไปไหน เพียงแต่ในยุคปัจจุบันจำนวนคนที่เดินบนเส้นทางนี้อาจจะน้อยลง ตอนนี้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนเร็วมาก จากสังคมโบราณกระโดดมาเป็นสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ จากทุนนิยมท้องถิ่นกลายเป็นทุนโลกาภิวัตน์ในเวลาไม่กี่ปี สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณคนมหาศาล เพราะทุนนิยมเป็นระบบที่มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่มีขอบเขต ส่วนสังคมโบราณกลับเน้นเรื่องขอบเขตของประโยชน์ส่วนตัว มีทั้งขอบเขตทางศีลธรรม และขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สอนกันมาคนโบราณมีความรักเพื่อน พี่น้อง อีกทั้งยังกลัวบาปกลัวกรรม ถ้าใครบังเอิญมั่งมีขึ้นมาก็ถูกสอนให้รู้จักแบ่งปัน ถูกสอนให้ดูแลชุมชน อะไรทำนองนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นอุปสรรคของการหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งระบบทุนนิยมจะเร่งยกเลิกศีลธรรม ยกเลิกคุณธรรมทั้งปวงที่สอนกันมาแต่โบราณ เพื่อไม่ให้มันเป็นอุปสรรคต่อการบริโภค การเอากำไรสูงสุด หรือพูดง่ายๆคือไม่ให้มันเป็นสิ่งกั้นขวางการขยายตัวของระบบทุน

แน่นอนเขาไม่ได้โง่ แบบที่อยู่ดีๆ ก็มาบอกให้ยกเลิกคุณธรรมดั้งเดิม แต่มันจะออกมาในรูปปรัชญาใหม่ หลักการใหม่ ทฤษฎีใหม่ทางสังคม เช่นลัทธิปัจเจกชนนิยม ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือแม้แต่บางด้านของแนวคิดโพสต์โมเดิร์น แนวคิดเหล่านี้อธิบายความยืดหยุ่นทางศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดก็หลุดไปเลย ในสภาพเช่นนี้ การเป็นลูกผู้ชายที่ซื่อสัตย์ จริงใจ รักษาสัจจะวาจา รักเพื่อนพ้อง รวมทั้งไม่ก้มให้กับสิ่งที่ผิดมันกลายเป็นความล้าหลังในทัศนะของกระแสหลัก อย่างที่ผมเคยเขียนเรื่องผู้ชายที่กำลังจะสูญพันธุ์ ความจริงไม่ใช่ตามไม่ทันเขา แต่มันขัดแย้งกันโดยตรง บุคลิกภาพอย่างผมนี่มันเข้ากันไม่ได้กับเศรษฐกิจฟองสบู่ หรืออย่างคุณก็เหมือนกัน มันเข้าไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อเรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้าง เหมือนที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง คนกับเสือ ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน มันเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้อนรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วผมเขียนงานประเภทนี้เยอะ เพราะในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างทศวรรษ ๒๕๓๐ กว่าๆ ถึง ๒๕๔๐ ผมรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวมาก คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ช่วงนั้นผมจะออกทะเลทั้งปีทั้งชาติ เข้าป่าออกทะเลเป็นประจำ เมื่ออยู่กับพวกเขาไม่ได้เราก็ต้องปลีกวิเวก งานเขียนชิ้นที่ผมใส่คำถามไว้มากที่สุด อาจจะอยู่ในหนังสือชื่อ เพลงเอกภพ ประมาณปี ๒๕๓๕–๓๖ และ คนกับเสือ ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานเชิงความคิด เป็นคำถามต่อสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมแบบสุดขั้ว และเป็นคำถามต่อความหมายของชีวิตตัวเองในโลกแบบนี้ด้วย

แล้วทั้งหมดนี้คลี่คลายมาสู่ ผ่านพบไม่ผูกพัน อย่างไรครับ คำถามของอาจารย์ตกไปแล้วหรือเปล่า

ในช่วงพ้น ๒๕๔๐ มา เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะฟองสบู่แตก จากนั้นสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย เราถูกไอเอ็มเอฟกดดันให้เปิดประเทศเสรีทั่วด้าน ขณะเดียวกันก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ทั้งการเมืองภาคประชาชนและกลุ่มทุนใหญ่เข้ามากุมอำนาจ พูดกันสั้นๆคือมันเป็นจังหวะที่สังคมไทยอาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้บ้าง ถ้ารู้จักเรียนรู้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวช่วงนี้กลับเป็นช่วงที่ผมรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง ยกเว้นระยะสั้นๆที่มิตรสหายกดดันผมให้ไปนำกลุ่มปXป (ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน)แล้ว ผมแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านเมืองเลย การเผชิญความทุกข์อันเนื่องมาจากการคิดต่างจากกระแสหลัก การยืนต้านสังคมในมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มันพาผมมาถึงจุดที่หมดแรง กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว หลัง ๒๕๔๐ ไม่นาน ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย ๕๐ กว่าแล้ว ผมต้องถามตัวเองว่าจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมาแล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ มันมีหนทางไหนบ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย พูดกันสั้นๆคือในช่วงนี้ผมได้ลงลึกไปในการสำรวจวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตายและในที่สุดก็ค้นพบว่ามันอาจจะมีอะไรไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง คือ

ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมาผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไป ที่ทางธรรมะเขาเรียกว่าทวินิยม (Dualism) คือเห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาวมีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากมันก็เหนื่อยมาก ตัวผมเองทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือ เป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็นอัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมจะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ กระทั่งคนใกล้ตัวคนใกล้ชิดเขาก็ปฏิเสธสภาพแบบนี้ เพราะฉะนั้น เหตุแห่งทุกข์ จึงอยู่ในอัตตาของเราเองด้วย ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม

การวิจารณ์ตัวเองในลักษณะนี้ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่นั่นยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผมเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นระยะนั้น ประสบ การณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใดๆ

พูดให้ชัดขึ้นก็คือความที่เจ็บปวดกับชีวิตมาก ผมจึงพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตาหรือสภาวะว่างตัวตนโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผมขอใช้คำว่าพลัดหลงเพราะไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามาอวดอ้างอะไร ตอนนั้นพอทนเจ็บไม่ไหวผมเลยพาลเลิกคิดว่าผมเป็นใคร เมื่อไม่เป็นใครก็เลิกมีความต้องการใดๆไปด้วย ผมเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใครเพราะว่าความมีตัวตนมันผูกติดอยู่กับข้อมูลต่างๆที่เป็นบาดแผลของชีวิต อันที่จริงผมไม่เพียงหยุดคิดเรื่องอดีตเท่านั้น แม้แต่อนาคตก็ไม่มีให้คิดถึง เนื่องจากทุกอย่างที่เคยคิดว่าเป็นชีวิตของเรามันพังพินาศไปหมดแล้ว นอกจากนี้ผมก็ไม่ได้แชร์ความคิดเรื่องอนาคตกับคนทั่วไปอีกต่างหาก บวกรวมแล้วผมเลยกลายเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันขณะไปโดยไม่ได้ตั้งใจ อยู่ทีละนาที อยู่ทีละห้วงขณะ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ การเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใครก็ดี กับการเลิกอยู่กับอดีตกับอนาคต แล้วอยู่กับปัจจุบันก็ดี ผมมารู้ทีหลังว่ามันคือการทำสมาธินั่นเอง

ในตอนแรกผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีทฤษฎีอะไรชี้นำ แต่ว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะอยู่ไม่รอด ก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใครนี่ ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก ข้อแรกไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ข้อสองไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรจะเป็นอย่างไร เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก แต่พอทำไปมากขึ้น ปรากฏว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตขึ้นมาโดยไม่ได้คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล ผมรู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผม เป็นความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด

จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจกนกหนูกระรอกที่อยู่ในบริเวณที่พักอาศัย ผมพูดกับพวกเขาเหมือนเป็นคนด้วยกัน ทำร้ายเขาแบบเดิมๆไม่ได้ กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไปในโถส้วมก็คอยช่วย มดมาขึ้นชามอาหารที่ผมให้หมานี่ ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป จนกว่าพวกเขาจะไปหมดแล้วค่อยเอาไปล้าง ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมากเพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ อย่าให้ผมพรรณนาเลยว่าทำอะไรมาบ้าง ผมเป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเองมีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร

แล้วที่สำคัญก็คือว่า ในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรน่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติ หรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น เป็นครั้งแรกที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย

สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมค้นพบว่าชีวิตนี่ทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้งเรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรังไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดย เฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่างๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิด แล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ตลอดเวลา ผมดีใจที่หลุดมาจากตรงนั้นได้
จากนั้นงานเขียนของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป จริงๆ มันร่ำๆ จะเปลี่ยนตั้งแต่ วิหารที่ว่างเปล่า แล้ว จาก วิหารที่ว่างเปล่า ผมมารับเขียนคอลัมน์ในหนังสือ Travel Guide ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าสำนึกใหม่มันเข้ามาอยู่ในงาน ซึ่งต่อมารวมเล่มเป็น ผ่านพบไม่ผูกพัน อันที่จริงผมเขียนงานชิ้นนี้โดยไม่ได้ศึกษาปริยัติหรือ ทฤษฎีทางจิตวิญญาณเท่าใด มันเป็นการเขียนมาจากความรู้สึกข้างในของตัวเองทั้งหมด จนกระทั่งหนังสือออกมาแล้ว ความหิวกระหายทางธรรมค่อยพาผมมาสู่การอ่านตำรามากขึ้น ผมอ่านไปทั่วตั้งแต่งานของท่านพุทธทาสและผู้รู้ฝ่ายเถรวาท ตำราวัชรยานของทิเบต ตำราเซ็น เต๋า หนังสือทางด้านจิตวิญญาณของชาวตะวันตก ผมอ่านแม้กระทั่ง ตำราโยคะศาสตร์ คัมภีร์และคำสอนต่างๆของฮินดู ผมพยายามอ่านคำสอนของครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ตัวเองเข้าใจชีวิตในมิตินี้มากขึ้น จากนั้นจึงพบว่าสิ่งที่เขียนไว้ใน ผ่านพบไม่ผูกพัน น่าจะมาถูกทางแล้ว ผมได้รับการยืนยันย้อนหลังโดยคำสอน
ที่มีมาแต่โบราณ


เทียบเคียงกันระหว่างนักรบกับนักบวช อาจารย์เคยเขียนถึงเรื่องความตาย อ้างถึงคุณพ่ออาจารย์ที่ออกทะเล ชีวิตต้องเผชิญกับความปรวนแปรไม่แน่นอนของคลื่นลม และที่พูดถึงชีวิตตัวเองยามที่ยังสู้รบอยู่ในป่าเขา ว่าทำให้เราต้องมองความตายอย่างใกล้ชิด ในแง่มุมที่ไม่ได้แปลกแยกไปจากตัวเรา กระทั่งมองเห็นมันแบบโรแมนติก ในแง่นี้พอพูดได้หรือไม่ว่าเป็นกระบวนการของเข้าถึงชีวิตด้านในได้เหมือนกันใช่ไหม

ตามความเข้าใจของผมในเวลานี้ ความคิดของผมก่อนหน้าที่จะมาเขียน ผ่านพบไม่ผูกพัน แม้แสวงหาตัวตนขั้นสูงก็จริงแต่มันก็ยังเป็นตัวตน เป็นอัตตาที่ยังยึดตัวตนเป็นศูนย์กลางในการประกาศความ คิดและทำตามความคิด ตอนนั้นผมมองเห็นแค่นั้นก็ทำไปตามนั้น คือมองว่าการเป็นนักรบของฝ่ายประชาชนหรือว่าการต่อสู้เพื่ออุดมคติเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กระทั่งสูงส่งเพราะมันเป็นการทำเพื่อผู้อื่น

แต่ว่ามองย้อนหลังไปแล้ว ผมพบว่าความคิดดังกล่าวไม่ว่าจะดูสูงส่งในโลกสักแค่ไหนก็ยังผูกติดอยู่กับการดำรงอยู่แบบตัวกู-ของกู เรามีกิเลสอยากทำดี เป็นตัณหาขั้นสูง แต่ว่าก็ยังเป็นตัณหาอยู่ดี พอผมหยุดคิดในลักษณะนี้ แล้วก้าวพ้นความยึดติดในเรื่องวีรกรรม เพดานความคิดก็ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผมไม่ขอยืนยันว่านี่เป็นการรู้แจ้งบรรลุธรรมอะไรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามผมพบว่ามันทำให้จิตใจผมต่างจากเดิมมาก ทำให้ผมไม่สนใจไปประกาศนามทำคุณงามความดีตามข้อเรียกร้องของใครทั้งสิ้น จิตใจผมไม่สนใจตรงนั้นเลย หากจะพอใจอยู่กับความสงบนิ่งภายใน แล้วความสงบนิ่งนั้นจะพาเราไปทำสิ่งดีๆโดยธรรมชาติของมัน เราไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นแต่เราทำเพราะรู้สึกดีที่จะทำ เราไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่นเพราะเราไม่ได้แยกสภาวะออกเป็นตัวเองและผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ใส่ใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไรนักหนา หรือเป็นคุณงามความดีที่ต้องบันทึกไว้ ไม่ใช่เลย เราทำเพราะว่าเรามีความสุขที่จะทำ จบแค่นั้น

สรุปสั้นๆคือชีวิตด้านในของนักอุดมคติแบบที่ผมเคยเป็น มันเป็นแค่ขั้นเริ่มต้นของการขัดเกลาตัวเองไม่ให้ติดอยู่กับวัตถุภายนอกหรือความเห็นแก่ตัวแบบดิบๆเท่านั้น หากไม่วิวัฒนาการต่อก็อาจจะติดกับอยู่ในความคิดของตัวเองได้ จะว่าไปตัวตนขั้นสูงก็เป็นโซ่ตรวนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสลัดยากมาก เพราะมันงดงามและผูกติดอยู่กับสรรเสริญ

เช้าที่อาจารย์ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าความรู้สึกเปลี่ยนไป หมายถึงอาจารย์มองย้อนกลับไปจึงเห็นถึงความสุข ความรู้สึกนั้น หรือว่าอาจารย์เห็น ณ ขณะนั้นเลย

รู้สึกได้ตั้งแต่ขณะนั้น แต่มองย้อนหลังแล้วก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณปี ๒๕๔๕ มันเกิดขึ้นดังที่ผมได้เล่าให้ฟังแล้วว่าความเจ็บปวดทำให้ใช้วิธีตัดตัวเองออกจากอดีตและอนาคต ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งถ้าพูดในภาษาธรรมเวลานี้ผมรู้แล้วว่ามันคือสมาธิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าสบายใจโปร่งโล่งไปหมด อยู่กับปัจจุบันขณะนี่ มันทำให้เราปลดแอกตัวเราออกจากภาระทางจิต ที่เราแบกมาตลอดว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เคยผ่านอะไรมาบ้าง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราปลดออกหมด เรียกว่าปลดแอกจากอัตตา ซึ่งตอนนั้นผมทำไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า ผมพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตา แต่ว่ามันไม่ได้คงสภาพเช่นนั้นได้อย่างต่อเนื่อง เป็นอยู่พักใหญ่หลายเดือน แต่จากนั้นก็ยังไม่นิ่งพอ มีกลับมาหวั่นไหว กลับมามีทุกข์ในบางครั้งบางคราว กระทั่งทุกวันนี้ก็มีบางอารมณ์ที่รู้สึกเหมือนตัวเองยังเวียนว่ายอยู่กับความทุกข์ แต่ว่าโดยพื้นฐาน ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนของผม เพราะว่ามันทำให้ผมไม่สามารถกลับไปมองโลกแบบเดิมได้อีกต่อไป

ภาวะอย่างนี้ผมมองว่าทุกคนก็เคยผ่าน เคยสัมผัส อย่างผมก็เหมือนกัน ซึ่งเราก็มีความสุขนะ แต่ปัญหามันคือ มันอยู่ได้ไม่นาน พอสักพักหรือวันต่อมาก็หายไป อยากจะกู้กลับหรืออยากให้อยู่นานๆ จะทำอย่างไร

ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าทุกคนเคยผ่าน เพราะผมเองกว่าจะได้สัมผัสก็อายุมากแล้ว ผมคิดว่าถ้าเราจะพูดกันในขั้นนี้ อันดับแรกคงต้องยอมรับก่อนว่าสภาวะเช่นนั้น ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า จิตว่าง เป็นภาวะสุญญตา ซึ่งท่านพุทธทาสท่านสอนไว้ว่ามันไม่ได้เกิดแล้วจะต้องยั่งยืนเสมอไป บางครั้งเกิดชั่วคราว บางครั้งเข้าไปใกล้ๆ แล้วถอยกลับมาได้ ซึ่งความจริงของชีวิตผมก็เป็นเช่นนั้น คือมีถดถอยกลับมา ทุกวันนี้ผมเองก็ไม่กล้าอ้าง ไม่กล้ายึดถือว่าตัวเองไปถึงไหน แต่ว่าผมมีความพยายามจะเดินทางธรรม ซึ่งตรงนี้ผมพอจะยืนยันได้ และอาศัยประสบการณ์ตรงนั้นเป็นบรรทัดฐาน มันทำให้เราเห็นว่าโอกาสที่จะพ้นทุกข์ในมรรควิธีแบบนี้น่าจะเป็นไปได้ มันทำให้เราได้ลิ้มรสความสุขสงบจากภายใน และเริ่มเข้าใจอะไรๆมากขึ้น เช่น คำสอนที่ว่าตายก่อนตาย หมายความอย่างไร มันเป็นการตายของอัตตา เป็นการตายของสำนึกผิดๆ แล้วเปลี่ยนมามีสติสำนึกที่ต่างจากเดิม มีสติกับปัจจุบันขณะ มีสติรับรู้สิ่งที่เป็นบันไดไปสู่ธรรมะ มีสติรับรู้สิ่งที่เป็นอุปสรรคกั้นขวางธรรมะ ตรงนี้ก็สำคัญเพราะว่าถ้าเรามีความประสงค์จะไปสู่สภาวะ สุญญตา จริงๆ ตามความเข้าใจของผมนี่ มันเป็นกระบวนการที่เราแยกไม่ออกจากชีวิตที่เราใช้ เราจะต้องจัดระเบียบชีวิตเสียใหม่เพื่อให้เกื้อกูลต่อการเดินทางธรรม

ด้วยเหตุนี้หลังจากมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณครั้งนั้น ผมจึงเริ่มขนข้าวของมาแจกคน ผมตัดทุกอย่างเท่าที่จะตัดได้ เริ่มด้วยกำจัดความรุงรังทางวัตถุก่อน อันที่จริงดั้งเดิมผมก็ไม่ได้มีสมบัติอะไรมาก แต่มันมีของโปรดที่สนองอัตตาอยู่บ้าง เช่นมีดปืน อุปกรณ์ตกปลา วัตถุโบราณบางอย่าง กระทั่งก้อนหิน กิ่งไม้ที่เก็บสะสมมาตามรายทาง ผมเอาสิ่งเหล่านี้มาจำหน่ายจ่ายแจกจนเกือบหมดสิ้น ทิ้งเป็นขยะไปก็มี สภาวะจิตผมเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่เบื่อโลกหมดอาลัยตายอยาก แต่อยากปล่อยวางให้มากที่สุด

แต่ผมก็ทำได้ไม่สม่ำเสมอนะครับ ส่วนที่ทำไม่ได้ก็ยังมี อย่างไรก็ตามจากนั้นมาชีวิตมันเบาขึ้นเยอะ เราไม่ห่วงไม่หวงอะไรเหมือนเดิม แล้วยังมีความรู้สึกปรารถนาดีกับคนทุกคน ผมพบว่าสมาชิกในครอบครัวนี่ แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกัน แต่เรายังมีความรักความเมตตาให้เขาได้ตลอดเวลา เรายังทำทุกอย่างที่เป็นการเกื้อกูลเขาได้ ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นพันธะหน้าที่ หากเป็นเพราะเรามีใจที่หวังดีอยู่ตลอดเวลา

ในแง่นี้คงพอจะพูดได้ว่าผมได้ถอยห่างจากแนวคิดแบบ dualism แบบทวินิยมมาไกลพอสมควร เราพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่เรารัก คนที่เรามีกรรมผูกพันกันมา จากคนดุผมกลายเป็นคนใจดี กลายเป็นคนที่ไม่ค่อยโกรธใคร พยายามเข้าใจผู้อื่นจนลูกเต้าก็ประหลาดใจกันไปหมด ผมไม่ได้โกรธใคร ไม่ทะเลาะกับใครมาเป็นเวลานานแล้ว

ฟังอย่างนี้แล้วก็คิดถึงสิ่งที่อาจารย์เคยพูดถึงการมีสันติภาพกับตัวเอง มีสันติภาพกับผู้คน กับสิ่งแวดล้อม กับโลก กับธรรมชาติ

นั่นเป็นหลักการที่ผมคิดไว้นานแล้ว แต่ผมนึกถึงวิธีการที่จะบรรลุไม่ออก จะว่าสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของชีวิตก็ไม่เชิง มันเป็นสัมพันธภาพที่ควรจะเป็นไปในโลกมนุษย์มาตั้งแต่ต้นและเป็นมาโดยตลอด แต่ที่แล้วมามนุษย์เรากลับทะเลาะกับตัวเอง ทะเลาะกับผู้อื่น และทะเลาะกับธรรมชาติอีกต่างหาก

มีข้อความหนึ่งซึ่งผมประทับใจมากคือ ชีวิต โดยตัวมันเองก็ว่าศักดิ์สิทธิ์แล้ว ฉะนั้นเมื่อเราตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ เราก็ไม่เอาชีวิตไปเกลือกกลั้วกับสิ่งเลวทราม กระทั่งไปทำให้คนอื่นแปดเปื้อน ธรรมชาติแปดเปื้อนมันก็ยิ่งไม่ แต่กว่าเราจะมีหัวใจที่คิด-เข้าใจอย่างนี้ได้ ผมรู้สึกว่าอาจารย์ผ่านอะไรมาเยอะแยะมาก กว่าจะผ่านความทุกข์มาได้ อย่างพวกผมซึ่งไม่ได้ผ่านความทุกข์โศกมากอย่างนี้ เราจะก้าวไปถึงหัวใจอย่างนั้นได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้มันเป็นวิถีเฉพาะตัวของผม หมายความว่ามันเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นโดยกรรมดั้งเดิมของผม ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบให้คนอื่นไม่ได้ และไม่จำเป็นด้วย ผมคิดว่าบางคนอาจจะโชคดีกว่าผมเยอะเพราะใช้เวลาน้อยกว่าในการค้นพบธรรมะ อย่างในเวลานี้มีหนังสือธรรมะที่เขียนโดยคนที่อายุน้อยกว่าผมเยอะแยะ เขาเข้าใจมันลึกซึ้งกว่าผมเพราะเขาอาจจะมีบุญเก่าช่วยส่งเสริม ผมเป็นคนมีบาปมีกรรมติดตัว จึงต้องใช้เวลานาน เลี้ยวไปหลายทิศหลายทาง โชคดีอยู่บ้างตรงที่มีธรรมะบางข้อที่ผมยึดถือมาตลอดตั้งแต่จำความได้ อันนั้นอาจจะเป็นบันไดส่งให้ผมมาพบส่วนที่เหลือในที่สุด

เรื่องนี้ถ้าตอบแบบปลอบใจ ก็คงต้องบอกว่ามันไม่จำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องมาผ่านทุกข์ในระดับเดียวกัน แต่ถ้าบังเอิญใครกำลังมีทุกข์อยู่ขณะนี้ ผมก็ขอบอกว่าทุกข์นั้น ไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้และทิ้งให้คุณจมดิ่งลงไปในความมืด มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างก็ได้ อาจเป็นจุดเลี้ยวกลับที่พาคุณมาเข้าใจชีวิตก็ได้ เพราะบ่อยครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนเลวร้ายในชีวิตคุณ แท้จริงกลับเป็นบทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้

พอมองอย่างนี้ ชีวิตจะเบาขึ้นเยอะนะ เรามีแต่เติบโตและเติบโตไปเรื่อยๆ ทุกอย่างเป็นครูเราได้หมด ทุกอย่างที่มากระทบเรานี่ถ้าเราทำจิตให้ว่างเสีย มันก็ผ่านไป เหมือนที่ท่าน Sogyal Rinpoche เขียนว่า “จิตเดิมของเราเหมือนเวิ้งฟ้า” เมฆผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ฟ้าก็ยังนิ่งใสเหมือนเดิม ถ้าฝึกไปในแนวนี้เราจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดคงแยกไม่ออกจากการมีวิถีชีวิตที่สมถะ สันโดษและสำรวม ถ้าเรายังโลดแล่นอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ ความสงบนิ่งมันเกิดยาก ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ยากขึ้นหลายเท่า

ยิ่งฟังยิ่งเห็นชัดเลย เหมือน ผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นการเดินทวนกระแสหลักที่รวดเร็วด่วนได้ เดินไปช้าๆ แต่ก็ละเอียดละออในทุกสิ่งทุกอย่าง และถ้าเราลองเชื่อมไปถึงโครงสร้างสังคม มันไม่มีจุดสมดุลหรือจุดลงตัวเลยหรือ ที่โครงสร้างสังคมควรเอื้อต่อความสมถะ สันโดษ

เฉพาะหน้า กระแสของวัตถุนิยมมันมาแรง กระแสของการติดหลงอยู่ในโลกมายามันมาแรง ฉะนั้นเราจึงยังมีกรรมรวมหมู่ที่คอยขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความทุกข์อีกสักพักหนึ่ง หมายความว่าการสร้างจุดสมดุลทางสังคมหรือหาโครงสร้างสังคมมาเอื้ออำนวยต่อความสมดุลของชีวิตจึงยังทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจเจกบุคคลแล้ว ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอ จากประสบการณ์ของผม คิดว่าไม่ต้องรอให้สังคมเปลี่ยนก่อน เราถึงจะพบกับความสงบสุข และปีติกับการมีชีวิต ทั้งนี้เพราะความสุขเป็นเรื่องข้างในมากกว่าข้างนอก ถ้าเรามาฝึกปลดแอกจากตัวเอง ขับไล่อัตตาออกไปก็จะเปิดพื้นที่ให้มีความสุขได้ทันที

ผมพูดอย่างนี้เหมือนกับว่าลอกเลียนครูบาอาจารย์ แต่จริงๆ ท่านก็สอนไว้ถูก คุณต้องฝึกที่จะปล่อยวางตัวตน แม้ชั่วคราวก็ยังดี เพื่อจะได้ลิ้มรสชาติได้รู้ชัดว่าความสุขจากภายในมีจริง คุณต้องฝึกตายก่อนตาย คือเลิกยึดถือเสียทีว่าคุณเป็นใคร เลิกบอกตัวเองเสียทีว่า เราเป็นคนนั้นคนนี้ มีความเจ็บปวดเรื่องนี้ มีความดีใจเรื่องนั้น มีความภูมิใจเรื่องโน้น เพราะมันล่ามร้อยไม่สิ้นสุด ผมเองที่พูดมาเรื่องบาดแผล ความเจ็บปวด ฟังดูแล้วก็เหมือนมีแต่ด้านที่มืดมนล้มเหลว อันที่จริงถ้าพูดถึงความสำเร็จทางโลกผมไม่ได้น้อยหน้าใคร แต่ทั้งหมดนี้ผมพยายามก้าวข้ามหมดเลย เอาออกไปหมด ให้มันมีความหมายน้อยที่สุด ส่งผลน้อยที่สุดต่อปัจจุบันขณะของผม ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการปฏิวัติ ความล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว หรือชัยชนะเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ปริญญาเอกจากคอร์เนลล์ ฐานะนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ฯลฯ ผมเอาออกหมดเลย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เพราะมันเป็นมายาทั้งสองด้าน ถ้าไม่ยกออกเราก็เดินต่อไปไม่ได้ เอาออกในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าลืม แต่อย่าให้มันเป็นสิ่งยึด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2553 19:57:29 »

วิหารที่ว่างเปล่า" : บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณ
ของมนุษยชาติชิ้นล่าสุด ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

1
พลันที่ผมอ่านจนถึงข้อความตอนสุดท้ายในหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" (สำนักพิมพ์สามัญชน, กันยายน 2544) ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ "พี่เสก" ของผมจบลง ผมถึงกลับเปล่งคำอุทานออกมาในใจว่า หนังสือเล่มนี้หาใช่ "บันทึกการเดินทาง" ธรรมดาเหมือนดังรูปโฉมภายนอกที่ปรากฏออกมาไม่ แต่มันคือ บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันสมัย ในลีลาของพี่เสกโดยแท้
พี่เสกได้เขียนขมวดในตอนจบของหนังสือเล่มนี้ว่า

""ผมคิดว่า นี่คือ ความน่าสะพรึงกลัวที่สุดของยุคสมัยปัจจุบัน และมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากเกิดขึ้นทุกหนแห่งในโลกเนื่องเพราะ ผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างรู้สึกหลุดพ้นจากมลทินทั้งปวง ...ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างจำนวนมหาศาลต่างก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความขาดแคลนหิวโหย ไร้โอกาสทุกอย่างในชีวิต รวมทั้งโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้มาปรับปรุงชีวิตของตน... อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากพวกเขาสูญสิ้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาบ้างเหมือนกัน?"" (หน้า 252-253, ตัวเน้นเป็นของผู้อ้าง)

ราวกับไม่บังเอิญเลย ที่ช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกวางตลาด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตึกเวิลดเทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก ถูกถล่มทลายโดยการถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย ขับเครื่องบินชนพินาศไปทั้งสองตึก... เหตุการณ์ช็อคโลกครั้งนี้ราวกับเป็น "คำตอบ" ต่อคำถามในตอนสุดท้าย ของหนังสือเล่มล่าของพี่เสกข้างต้น
นักปฏิวัติ หรือผู้ก่อการร้าย? คำสองคำนี้เริ่มมีเส้นขีดแบ่งที่รางเลือนพร่ามัว...
หากเป็นแค่เมื่อสามสิบปีก่อน ดูเหมือนว่า มันยังมีความชอบธรรมอยู่ ที่จะเป็นนักปฏิวัติ เพื่อโค่นล้มโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรมของผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างกลุ่มหนึ่งในสังคม
โรแมนซ์ของนักปฏิวัติ ที่เห็น "ความตายราวกับความงามของชีวิต" (หน้า 209)
ความยากเข้าใจด้วยตรรกะเหตุผลของนักปฏิวัติ ที่พาตนเองไปสู่ความขัดแย้งแหลมคมทางความคิดกับเพื่อนมนุษย์ "กระทั่งยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพียงเพื่อให้โลกเปลี่ยนไปจากเดิม" (หน้า 225)

แต่อนิจจา ยุคสมัยแปรผันไป บัดนี้ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ให้กับการดำรงอยู่ของ นักปฏิวัติตามความหมายที่แท้ ได้หยัดยืนอีกต่อไปแล้ว นักปฏิวัติในยุคก่อนกลับถูกแทนที่ด้วย ผู้ก่อการร้าย ที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อ ทำลาย โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่ มิใช่เพื่อ เปลี่ยน โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่
ความถดถอยในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองไปเป็นแค่ความคลั่งไคล้ทางความเชื่อเชิงศาสนา รวมทั้งความเสื่อมถอยจากนักปฏิวัติไปเป็นผู้ก่อการร้าย จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็น ความเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณขั้นร้ายแรงยากเยียวยา ที่ดำรงอยู่ทั้งในโครงสร้าง ในระบบ และในจิตใจของมนุษย์สมัยนี้ ทั้งฝ่ายผู้ได้เปรียบทางโครงสร้าง และฝ่ายผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างด้วยเช่นกัน

2
ผมอ่านหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" เล่มนี้ของพี่เสกด้วยจิตใจที่หดหู่มากกว่ารันทด ยังจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมได้อ่านข้อเขียนเรื่อง "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ของพี่เสกที่เขียนลงใน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ผมบังเกิดความรู้สึกปวดร้าวเจ็บแปลบยิ่งในหัวใจ ขนาดตัวผมที่เป็นผู้อ่านเองยังรู้สึกเจ็บปวดได้ขนาดนี้ แล้วตัวคนเขียนเล่า?
นั่นอาจเป็นเพราะในตอนนั้นตัวผมก็ยังมี "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ดำรงอยู่ด้วยเช่นกันกระมัง แต่ครั้งนี้ยามที่ผมได้อ่าน "วิหารที่ว่างเปล่า" ตัวผมกลับไม่ได้รู้สึกปวดร้าวเช่นนั้นแล้ว และก็คิดว่าตัวพี่เสกเองก็คงไม่ได้ปวดร้าวเท่าสมัยก่อนเช่นกัน
นั่นคงเป็นเพราะว่า บัดนี้ ในหัวใจของพี่เสกได้สถาปนา "วิหารในใจ" (หน้า 98) ขึ้นมาอีก บน พื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า นั้นแล้วกระมัง? ...วิหารในใจ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม แต่บัดนี้ได้กลายเป็น วิหารในใจ ที่อัญเชิญก้อนหิน เกลียวคลื่น เวิ้งฟ้า เดือนดาวมาไว้ในวิหารแห่งตน และคงอัญเชิญ "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำที่ไม่อาจมีรูปเคารพใด" (หน้า 98-99) มาเป็น "พระประธาน"
หัวใจของผม ก็เฉกเช่นเดียวกับพี่เสก เหตุหนึ่งที่ตัวผมมิได้ปวดร้าวลึกเช่นครั้งก่อนก็คงเพราะว่า ในก้นบึ้งแห่งหัวใจของผมได้เป็นที่สถิตของ "วิหาร" ที่มี "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำ" นี้ เป็นองค์ประธานมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว

3
จิตใจมนุษย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ เฉกเช่นเดียวกับก้อนหิน ดินทราย แมกไม้ กลุ่มเมฆ เกลียวคลื่น เดือนดาว มิหนำซ้ำยังเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของเอกภาพด้วย เนื่องเพราะ จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่เอกภพใช้รู้จักตนเอง และมีประสบการณ์เกี่ยวกับตนเอง
งานเขียนส่วนใหญ่ของพี่เสก แทบเป็นการตีแผ่ แต่ละแง่ แต่ละมุม แต่ละด้าน แต่ละส่วน และแต่ละเสี้ยว ของหัวใจ ของจิตใจที่เป็นอัตตาตัวตนของเขามาให้ผู้อื่นได้สัมผัสรับรู้กันได้ทั้งสิ้น พี่เสกมักเขียนหนังสือออกมาราวกับว่า เขาคิดอาศัย ความเจ็บปวดรันทด หดหู่ ชอกช้ำ โศกสลดที่บังเกิดในห้วงยามแห่งการแสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิต และตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนในเอกภาพเขานี้มาช่วยฟื้นฟู ความรัก ความเข้าใจ ความเห็นใจ ความสมานฉันท์ ความปรองดองในหมู่เพื่อนมนุษย์ นี่คือ ด้านแห่ง "กรุณา" ของ เสกสรรค์ ที่ตัวผมเข้าใจ

ขณะที่ในยามที่ตัวเขาปลีกวิเวก ถอนตัวจากผู้คน เร้นกายอยู่โดยลำพัง ""เริ่มต้นพูดคุยกับตนเอง และลงท้ายด้วยการจมหายไปในความเงียบที่สถิตอยู่เบื้องลึกสุดของจิตใจ ที่ในห้วงนั้นแม้บทเจรจาข้างในก็พร่าจางเลือนหาย"" (หน้า 39)
นี่คือ ด้านแห่ง "ปัญญา" ของเสกสรรค์ ที่ ตัวผมตระหนัก
หากเราเข้าใจและตระหนักสองด้านนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่าทั้งสองด้านนี้มันเป็น ที่มา ของงานสร้างสรรค์ทั้งปวงของตัวเขาแล้ว เราจะรักคนๆ นั้น รักเขาอย่างที่ตัวเขาเป็น รักทั้งจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเขา โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เหมือนอย่างที่ตัวผมและคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ รักเขาและรักงานเขียนของเขา
.............................
หมายเหตุ ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ เพื่อ เฉลิมฉลอง ภาพยนตร์ "14 ตุลาคม สงครามประชาชน" ที่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยหนุ่ม

(จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่10 ฉบับที่ 489 วันทึ่ 15-21 ต.ค. 2544)

จาก
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2553 19:57:54 »

+ + + + + + + คารวะ 60 ปี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล + + + + + + + +
 
 

 
 
...ผมคิดว่่าส่วนที่ผมพูดหรือเขียนอะไรไว้มันก็ค่อนข้างมากนะ ความคิดเหล่านั้นคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก ถ้าวันไหนบังเอิญมีใครเขาเติบใหญ่ขึ้นมา คนรุ่นหลังเขามาอ่านมาศึกษาแล้วเห็นด้วย ก็ถือว่าเป็นบุญที่เราได้แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นเอาไว้

ทั้งหมดมันพัฒนามาจากวัยหนุ่มที่อยากจะพูดทุกเรื่อง อยากให้คนเห็นด้วยทุกอย่าง แล้วในวัยกลางคนก็โกรธแค้นที่คนเขาไม่เห็นด้วย โกรธแค้นที่เขาไม่เข้าใจ โกรธแค้นที่เขาไม่ฟัง เมื่อมาถึงวัยชราผมเลิกฝันแล้วว่าจะให้คนส่วนใหญ่มาเห็นด้วย

...คือผมเข้าใจ แล้วก็เลิกโกรธแค้นด้วย กระทั่งเผื่อไว้ด้วยว่าตัวเองอาจจะคิดผิดก็ได้

...
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผมเป็นคนที่โตมาในวัด ทุกวันนี้ความสุขเล็กๆ ของผมเวลารู้สึกว่าชีวิตมีทุกข์หรือมีเรื่องตึงเครียด คือการหลับตานึกถึงภาพตัวเองนอนหลับอยู่ข้างพระประธานในโบสถ์ เป็นคนเฝ้าโบสถ์ ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าชีวิตมันเรียบง่ายและอบอุ่นที่สุด เอาจีวรพระเป็นผ้าห่ม นอนอยู่ในโบสถ์กับหลวงตา ผมรู้สึกว่ามันเป็นความสุขที่ผมหวนระลึกได้เป็นระยะๆ


...

ตัดตอนจากบทสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในนิตยสาร Way ฉบับที่ 29 บทสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในนิตยสาร Way เล่มนี้น่าสนใจมากค่ะ (วางแผงอยู่ตอนนี้ ) เห็นความคิดช่วงอายุ 60 ปีอย่างชัดเจน แล้วก็เข้าใจเลยว่าที่บอกว่าเสกสรรค์ "ถอดหมวก" นั่นคืออะไร
และอย่างไร

นอกจากนี้ภายในเล่มนี้ยังมีปาฐกถา "เศรษศาฐศาสน์ กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง ปาฐกถา 6O ปี คณะเศรษศาสตร์ ธรรมศาสตร์ฉบับเต็มด้วย

และถ่้าใครสนใจ ปาฐกถา 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ (ฉบับเต็ม) : "โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน"
ที่นี่เลย

http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26723

เรียกได้ว่าเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เติบโตมาพร้อมกับคณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาตร์ ธรรมศาสตร์ เลยทีเดียว

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=a-wild-sheep-chase&month=25-11-2009&group=1&gblog=180
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2553 19:59:00 »

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนุ่มใหญ่ของวัยชรา
โดย : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
 

 
ไม่เคยจัดงานฉลองวันเกิดให้ตัวเองเลยสักครั้ง จนล่วงเข้าปีที่ 60 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ถึงจะยอมให้มีงานแซยิด ภายใต้ชื่องานว่า..วันที่ไม่มีหมวก
 
มีข้อสังเกตหนึ่งผุดขึ้นหลังจากพอร์เทรตของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัย 60 ปรากฏบนหน้าปกนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง
 
ข้อสังเกตนั้นมีอยู่ว่า "ทำไมแววตาของแกจึงเศร้านัก"
 
วิคตอร์ อูโก เคยกล่าวว่า สี่สิบคือผู้เฒ่าของวัยหนุ่ม ส่วนห้าสิบคือคนหนุ่มของวัยชรา
หกสิบปีของเขาจึงเป็นหนุ่มใหญ่ที่สุมขุมลุ่มลึก
 
หลังจากข้อสังเกตนั้น ตามมาด้วยข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอีกยกใหญ่ บ้างว่าแววตาคู่นั้นเป็นเช่นนี้มานานนม บ้างแย้งว่าแววตาคู่นี้เต็มไปด้วยความดุดัน บ้างว่าแววตานี้มีบางสิ่งผลิเกิดใหม่
แต่หลายเสียงพ้องต้องกันว่า แววตานั้นมีบางอย่างคงอยู่และจากไป
 
14 ตุลาคม 2516
ก่อนหน้าและหลังจากนั้น
 
หากอนุญาตให้เปรียบเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นผืนฟ้ามืด ดอกไม้ไฟย่อมไม่ใช่ใครอื่น
ในแง่มุมที่ทั้งสวยงามจับใจบางคน และแสงสาดบาดตาบางคนเช่นกัน
 
หากถามคนรุ่นที่เกิดมาในวัฒนธรรมป็อป และโลกที่ทุกอย่างถูกยัดไว้ในอินเทอร์เน็ตว่า วีรกรรมอะไรที่พวกเราภาคภูมิ เราคงต้องเงียบเสียงไว้ หากมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มที่ชื่อ มหาวิทยาลัยชีวิต
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บันทึกใน มหาวิทยาลัยชีวิต ไว้ว่า เขาสมัครเป็นนักศึกษาเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 การเป็นอาสาสมัครในครั้งนั้นสอนให้เขารู้จักบทเรียนแรกของประชาธิปไตยในสังคมไทย
 
ทหารกลุ่มหนึ่งเข้าคูหาเพื่อทำในสิ่งที่เรียกว่าสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในกฎกติกาของนายทหารกลุ่มนั้น อีกทั้งนายทหารหน้าเดิมกลับมาลงคะแนนเกินโควตา ทำให้เขายื่นใบประท้วงด้วยกระดาษและวาจา
 
ผลสุดท้าย เขาและเพื่อนนักศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ต้องแจ้นหนีนำหน้าก้อนอิฐที่ปลิวตามหลัง
ขณะที่ชีวิตในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์ของเขาก็ดูจะขัดแย้งกับผู้คนรอบข้าง
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่า เขาไม่เอาด้วยกับระบบโซตัส
 
“ได้ข่าวว่าลื้อไม่ค่อยเคารพรุ่นพี่ใช่มั้ย”
 
“ก็แล้วแต่ว่าคนไหนดีไม่ดี” ผมตอบเรียบๆ (มหาวิทยาลัยชีวิต, 2531)
 
ผลสุดท้าย มีแก้วใบหนึ่งที่พุ่งเข้ามาอย่างเร็ว และเขาไม่มีโอกาสหลบ
 
ในช่วงปี 2515 เขากลายสภาพเป็นนักศึกษาที่เรียนไม่จบ ช่วงนี้เขามีโอกาสได้ทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ "วิทยาสาร" พร้อมๆ กับทำงานช่วยเหลือจัดตั้งคนยากจน เพื่อเป็นองค์กรช่วยเหลือตัวเองของกลุ่มคาทอลิก
 
ใครว่ามารยาทของนักเลงต้องแสดงออกด้วยกำปั้นและคำพูดไม่ง้อหูใคร เขาลาออกจากกองบรรณาธิการ "วิทยาสาร" หลังจากที่ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ชักชวนเขาเข้าทำงานได้ลาออก ด้วยสาเหตุที่ "วิทยาสาร" ในห้วงนั้นได้มีการเปลี่ยนบรรณาธิการ
 
แต่เหตุผลการลาออกของเสกสรรค์ในคราวนั้นอาจถูกสะกดด้วยคำว่า "มิตรภาพ"
 
ปี 2516 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เริ่มชีวิตนักศึกษาอีกครั้ง แต่ด้วยความเป็นนักศึกษาแก่หรือเด็กโข่ง ทำให้เขาถูกดึงเข้าสู่ขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 
หากถามคนรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับวัฒนธรรมป็อป และโลกที่ทุกอย่างถูกยัดไว้ในอินเทอร์เน็ต ว่าวีรกรรมอะไรที่พวกเราภาคภูมิ นอกจากต้องเงียบเสียงแล้ว เรายังต้องรื้อความหมายของคำว่า "วีรกรรม" เสียใหม่
 
เพราะเราอาจใช้คำคำนี้พร่ำเพรื่อ และผิดที่ผิดทางมากเกินไป และบางทีอาจหมายรวมถึงเฉดสีที่แอบแฝงผลพลอยได้ทางการเมือง
 
14 พฤศจิกายน 2552 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
60 ปี ที่ไม่เคยมีงานฉลอง
 
บ่ายวันนั้นในสถาบันปรีดี พนมยงค์ เต็มไปด้วยผู้คนหลากวัยหลายเจเนอเรชั่น ทั้งหมดต่างมา "ฟัง" และ "มอง" สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายที่ชื่อเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
 
บนจอภาพยนตร์ ภาณุ สุวรรณโณ เป็นภาพแทนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในห้วงเวลาที่เข้าป่าเพื่อเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลาฯ สงครามประชาชน หรือ คนล่าจันทร์
 
ปี 2518 นอกจากนักเลง เราพอจะกล่าวได้ว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีสถานะนักรบพ่วงมาอย่างเต็มตัว
 
ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่ยอมลงให้ใครง่ายๆ บวกรวมกับข้อเท็จจริงเฉพาะหน้าที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้แสดงทัศนะเชิงวิพากษ์วิจารณ์นักศึกษาซ้ายจัดในหนังสือ มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งทำให้เขาถูกมองจากคนในพรรคด้วยความเคลือบแคลง กระทั่งโจมตีว่าเขาเป็นพวกลัทธิแก้
 
ในเวลานั้น เขาไม่ใช่คนรักของกระแสหลัก ทั้งไม่ใช่มิตรแท้ของกระแสรอง กรอบทฤษฎีที่ตายตัวไม่สามารถครอบความคิดอันแตกต่างที่เขามี ทั้งในเรื่องมนุษยธรรม เสรีภาพส่วนบุคคลของเขาให้เชื่องเชื่อ
 
หากเป็นตัวละคร เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็อาจเป็นตัวละครที่ถูกสร้างโดยนักประพันธ์ผู้รวดร้าว แต่นี่คือ ชีวิตจริงของเขาในช่วงที่จับปืนเป็นนักรบ
 
แม่ของเขาเสียชีวิตลงโดยเขารับรู้ผ่านจดหมาย เพื่อนของเขาตายจากไปในสนามรบ หญิงสาวร่วมทุกข์สุขต้องย้ายไปอยู่แนวหลังเพื่อรักษาตัวจากอาการปวดไขข้อเพราะอากาศหนาว
 
มกราคม 2521 เขารำพึงว่า กลัวการพลัดพราก และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ใช่หรือไม่ ชีวิตคือความลำพัง
 
หลังจากภาพยนตร์จบลง เอนด์-เครดิต วิ่งขึ้น คลอด้วยเสียงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา แต่ผู้คนในหอประชุมแห่งนี้กลับเพิ่มระดับเสียงเพลงนี้ให้กระหึ่มขึ้น เมื่อทุกคนต่างร้องตาม
 
ในทัศนะของคนรุ่นหลัง พวกเขาคงมีบางอย่างร่วมกัน บางอย่างที่คนรุ่นหลังไม่สามารถอธิบาย เพียงแต่เคมีบางอย่างในร่างกายปลุกให้ไรขนตามลำแขนลุกชัน
 
จาก ริ้วแส้ สู่ ยาสมาน
จากบาดแผล สู่ การสลายตัวตน
 
ในพรรคคอมมิวนิสต์ก็แปลกแยก ในสังคมเมืองก็แปลกเปลี่ยว
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยอมแพ้ลงจากป่ามามอบตัวกับทหารในเดือนตุลาคม 2523 ขณะที่เดือนเดียวกันนี้ของเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขาได้รับการยัดเยียดเป็น "วีรบุรุษ" แต่เดือนตุลาคมในปี 2523 เขาได้รับเกียรติให้เป็น "ผู้ก่อการร้าย"
 
“ตอนที่ผมวางปืนลงมามอบตัวกับรัฐบาลนั้น บาดแผลที่กรีดลึกที่สุดมิใช่การปฏิวัติ หรือการพังทลายของอุดมคติทางการเมือง หากเป็นการสูญสิ้นความกล้าหาญที่จะฝ่าเผชิญความทุรกันดารของชีวิตในสายความคิดเดียวกัน เมื่อผมเดินขึ้นไปบนภูเขา 5 ปีก่อนหน้านั้น ความใฝ่ฝันที่ลึกอยู่ในวิญญาณก็มิได้เป็นเพียงชัยชนะของผู้ยากไร้หรือวีรกรรมกล้าหาญภายใต้ชื่อของตัวเอง หากเป็นความหมายของการดำรงอยู่และการผ่านพ้น”
 
สุวินัย ภรณวลัย ตั้งข้อสังเกตงานวรรณกรรมของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่าจากวรรณกรรมบาดแผล กาลเวลาได้ขัดเกลาเหลี่ยมมุมจนกลายเป็นวรรณกรรมสลายตัวตนได้อย่างน่าสนใจ
 
"ในวรรณกรรมบาดแผลมันก็คือวรรณกรรมคนกล้าท้าโลก พอคนเรากล้าท้าโลกแล้ว มันต้องมีบาดแผลพลาดพลั้งบ้าง เพราะคนนั้นได้ต่อสู้เพื่อยืนยันกับตัวเอง
 
“ปัญหาของวรรณกรรมเสกสรรค์ คือ ปัญหาตัวตน แต่ทำไมวรรณกรรมบาดแผลจึงกลายมาเป็นวรรณกรรมสลายตัวตนได้ ผมคิดว่าพี่เสกมีปัญหาตัวตน มันเป็นคำถามว่าเราเป็นใคร เกิดมาบนโลกนี้ทำไม มันเป็นคำถามเชิงปรัชญา ซึ่งคนจะถามคำถามเหล่านี้ได้ ต้องเป็นคนจริงจังกับชีวิต”
 
...ใช้ชีวิตผ่านอุปสรรคมากล้นก็ไม่ต่างอะไรกับเผชิญหน้ากับแม่น้ำร้อยสาย หากท่านไม่สามารถว่ายแหวกสายน้ำไปสู่อีกฟากฝั่ง บางทีการเดินทางอาจสิ้นสุดลง
 
ยามนั้นใช่หรือไม่ว่า ท่านก็มักนึกถึงสะพาน?...(ผ่านพบไม่ผูกพัน, 2548)
 
 

 
หากอ่านงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เราจะพบลักษณะยอมหักไม่ยอมงอในวัยหนุ่ม พบความรวดร้าวหลังพ่ายแพ้ออกจากป่า และในระยะหลังๆ เราจะพบความสงบนิ่ง และสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรืออาจกล่าวได้ว่ามนุษย์กับจักรวาล
 
...ทุกหยดน้ำมีอดีต
แต่ไม่มีหยดน้ำไหนที่ทุกข์ร้อนกับความเป็นมาของมัน
ใช่...ไม่มีหยดน้ำไหนแยกต่างหากจากทะเล
ใจเธอต่างหากที่แบ่งเมฆแยกฝนออกจากทะเล...(บุตรธิดาแห่งดวงดาว, 2552)
เขาเลือกเยียวยาบาดแผลของตัวเองด้วยทะเล ภูเขา แม่น้ำ และ ราวป่า
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บันทึกถ้อยคำของเขาเอาไว้ในนิตยสารรายเดือนเล่มหนึ่ง ว่าสำหรับเขาแล้ว การเดินป่า ออกทะเล ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่าน
 
"...ผมไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมเพียงแต่โตขึ้นจากฐานเดิม คือผมออกจากสังคมก่อน แล้วจากนั้นค่อยออกจากตัวเอง ขั้นตอนที่ผมเข้าป่าออกทะเลนั้น มันเป็นขั้นตอนที่ผมออกจากสังคม ออกจากลาภยศสรรเสริญไปใช้ชีวิตโดยลำพังอยู่กับธรรมชาติ...
 
“...แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอและยังไม่พ้นทุกข์ เพียงแต่สามารถยกระดับขึ้นมาได้ในภายหลัง ถ้าคุณดูงานเขียนของผมในระยะหลัง การพูดถึงธรรมะแบบผมนั้น มักจะดึงมาจากป่าเขาท้องทะเลเกือบทั้งหมด ก็คือว่าเรานั่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับจักรวาลด้วยวิธีการเหล่านั้นอยู่พักใหญ่...”
 
อัตตาในวันที่ถอดหมวก
...แน่ล่ะ ถึงวันนี้ผมก็ยังตอบไม่ถูกว่า ตัวเองถือกำเนิดมาเพื่อจุดหมายอะไร ทว่าขณะเพ่งดูประกายแสงเกลื่อนกล่นอยู่บนความว่างเปล่าสีดำ ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่ามีสายใยบางอย่างระหว่าง "เรา"
 
ซึ่งลึกซึ้งหนาแน่นมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม...
 
ข้อความข้างต้นเป็นร่องรอยของบางคำถามที่เขาโยนใส่ตัวเองในเพลงเอกภพ ปี 2536
 
ปี 2552 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นุ่งบลูยีนส์ รวบผมไว้ด้านหลัง และไม่ได้สวมหมวกเหมือนในอดีต
 
“คนที่หาทางดับทุกข์คือคนที่มีความทุกข์” เขาว่าบนเวที "ไอ้การเป็นนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มันเป็นตัวปัญหาสำหรับผม ผมไม่รู้ว่าในชีวิตผมได้ก่อปัญหาให้ใครบ้าง แต่มันก่อปัญหาให้ตัวผมเยอะ ทั้งในแง่ต้องแบกความหวังของผู้คน ทั้งในแง่ติดหลงในตัวเองแล้วไปเรียกร้องต่อผู้คน"
 
"สรุปรวมความแล้วว่า ตราบใดที่ผมยังคิดว่าผมคือผม มันก็จะมีกรอบคิดชนิดหนึ่งที่คอยบังคับพฤติกรรมที่บางครั้งต้องเหนื่อยต้องยากต้องลำบากต้องเสี่ยงชีวิต บางครั้งก็ไปเกรี้ยวกราดทะเลาะกับคนเพราะไปเรียกร้องขอให้เขาทำในสิ่งที่อยู่ในกรอบอุดมคติของตัวเอง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเกิดสรุปขึ้นมาได้ว่าเราจำเป็นต้องเป็นคนคนนี้ ชื่อนี้ ตามคำนิยามนี้หรือไม่
 
"ความที่มีโอกาสได้อยู่คนเดียว ผมก็ทบทวนเรื่องนี้ตลอดเวลา จนกระทั่งมาถึงข้อสรุปที่ว่ามันไม่ใช่ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย หลายๆ อย่างเราไม่ได้เป็นเช่นนั้นโดยความเต็มใจ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นโดยธรรมชาติ หลายอย่างเราปรุงแต่งขึ้นมา เราสร้างมันขึ้นมาให้ตัวเองรู้สึกว่ามันมีค่า จะให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่มันยิ่งใหญ่สมกับอุดมคติที่เคยฝันถึง
 
“...ช่วงหนึ่งผมจึงหมกมุ่นในการสร้างตัวตนขั้นสูง เราปีนเขาขึ้นได้ระยะนี้แล้วเราต้องไปขึ้นอีกลูกหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ดูถูกคนอื่นๆ ในสังคมว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้ตรงนี้เริ่มผิดแล้ว
 
“...สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเกิดสภาวะที่มาถึงทางตัน การปรุงแต่งมันเป็นเรื่องของภายใน ถ้าเราอยากมีอิสรภาพ เราต้องออกจากนิยามทั้งปวง ออกจากการนิยามตัวตนของเราในทุกเรื่องราว เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เป็นอย่างที่เป็นไป”
 
ข้อสังเกตเกี่ยวกับแววตาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยังคงไม่จบสิ้น
 
จากดวงตาคมกร้าวในวัยหนุ่ม บาดแผลได้ประดับริ้วรอยไว้เป็นรายละเอียดของชีวิต ส่งผลให้ดวงตาในวัย 60 ย่อมไม่เหมือนดวงตาในวัยเบญจเพส เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถระบุได้ว่าควรเรียกแววตาคู่นี้ว่าอย่างไร
 
“ผมไปตกปลา แล้วไปเจอพายุฝนเข้า เราก็ไม่รู้จะทำอะไรนอกจากนั่งมองฝนตกกลางทะเล เป็นม่านฝนบังพระอาทิตย์ยาม 4 โมงเย็น เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่เป็นความงามที่ไม่รู้จะพูดยังไง มันไม่มีสีบอกได้ชัดเจน มันเหมือนสีเทอร์ควอยซ์ผสมกับประกายของนากบ้าง ทองบ้าง เพชรบ้าง ผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง ผมเลยบอก เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเหมือนรู้สึกได้สบตากับจักรวาล คือมันเป็นความรู้สึกที่บอกได้แค่นั้นจริงๆ”
 
การระบุแววตาคู่นั้น คงคล้ายกับสิ่งที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นั่งมองม่านฝนบังพระอาทิตย์ยาม 4 โมงเย็น - เช่นวันนั้น
 
...................................................................
 
(หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร way ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552)
 
http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?p=10470&sid=686b4c50a1c5d8b19ec31abef669a4d2
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
บทกวี วิถีธรรม ท่านจันทร์
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก 0 2908 กระทู้ล่าสุด 24 กันยายน 2553 16:31:52
โดย มดเอ๊ก
ผ่านพบไม่ผูกพัน : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สุขใจ หนังสือแนะนำ
นวลปราง 1 4529 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2553 09:01:10
โดย หมีงงในพงหญ้า
บุตรธิดาแห่งดวงดาว (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
สุขใจ หนังสือแนะนำ
นวลปราง 0 3337 กระทู้ล่าสุด 25 กันยายน 2553 21:00:20
โดย นวลปราง
สุขแท้ด้วยปัญญาในทัศนะของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 1 2276 กระทู้ล่าสุด 26 สิงหาคม 2554 07:11:12
โดย เงาฝัน
วิถีโลก วิถีธรรม เรื่องน่ารู้ ที่ ภูฏาน โดย อาจารย์ ยุค ศรีอาริยะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1018 กระทู้ล่าสุด 30 กันยายน 2559 10:49:12
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.936 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 14:24:49