[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 01:16:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระครูกา  (อ่าน 208 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 มิถุนายน 2566 19:57:50 »


ภาพประกอบเนื้อหา จากเพจ วัดหน้าพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช

พระครูกา

ที่นครศรีธรรมราช สมัยอยุธยาตอนปลาย มีตำแหน่งพระครู ๔ คณะ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาด (ชาติ) พระครูกาเดิม ของคณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ ทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุ ทั้งสี่ทิศ  พระครูกาแก้ว รักษาทิศบูรพา พระครูการาม รักษาทิศทักษิณ พระครูกาชาด (ชาติ) รักษาทิศประจิม พระครูกาเดิม รักษาทิศอุดร พระครูกาแก้ว บางครั้งปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะเมือง ในตำแหน่งสังฆราช

จากหลักฐานที่ปรากฏในตำนาน ทำให้ทราบว่า วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใน พ.ศ.๒๔๕๘ พื้นที่ใช้สอยในวัดเมื่อสมัยแรกสร้างจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดให้บริเวณวัดเป็นเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้ตั้งเขตสังฆาวาสขึ้นรอบองค์พระบรมธาตุทั้ง ๔ ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือ มีวัดพระเดิม วัดมังคุด และวัด โรงช้าง  ทิศใต้ มีวัดหน้าพระลาน วัดโคกธาตุ วัดท้าวโคตร วัดศพ วัดไฟไหม้ และวัดชายนา  ทิศตะวันออก มีวัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ วัดสระเรียง วัดหน้าพระบรมธาตุ วัดประตูรักษ์และวัดหน้าราหู  ทิศตะวันตก มีวัดพระนคร วัดแม่ชี และวัดชลเฉนียน  ในปัจจุบัน วัดต่างๆ ที่อยู่รอบองค์พระบรมธาตุทั้ง ๔ ทิศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ วัดโรงช้าง วัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ และวัดแม่ชี กลายเป็นวัดร้าง ส่วนวัดพระเดิมและวัดมังคุดรวมเป็นวัดเดียวกับวัดพระมหาธาตุฯ วัดศพและวัดไฟไหม้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดท้าวโคตร สำหรับวัดหน้าราหูได้รวมกับวัดหน้าพระบรมธาตุ ในส่วนของพระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลองค์พระบรมธาตุ มีจำนวน ๔ คณะ แต่ละคณะจะรับผิดชอบประจำ

พระครู “กา” ๔ ฝ่าย คือตำแหน่งพระครู ๔ คณะ ของคณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ เมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ พระครูกาแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าคณะกาแก้ว (บางคราวปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าคณะเมือง ในตำแหน่งสังฆราชด้วย) พระครูการาม เจ้าคณะการาม พระครูกาชาติ (เขียนว่า กาชาด หรือ กาชาต ก็มี) เจ้าคณะกาชาติ และพระครูกาเดิม เจ้าคณะกาเดิม คณะสงฆ์เหล่านี้มีหน้าที่รักษาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชคณะละทิศ คือคณะกาแก้วอยู่ทางทิศบูรพา คณะการามอยู่ทางทิศทักษิณ คณะกาชาติอยู่ทางทิศประจิม และคณธะกาเดิมอยู่ทางทิศอุดร  ต่อมา เมืองพัทลุงและเมืองไชยาก็นำเอาการปกครองคณะสงฆ์แบบนี้ไปใช้ด้วย แต่เมืองไชยามีแต่พระครูกาแก้วและพระครูการามเท่านั้น

คำว่า “กา” ที่มาเป็นชื่อสมณศักดิ์และชื่อคณะสงฆ์ ๔ คณะนี้ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เล่ากันมาตามความเชื่อที่ปรากฏในวรรณกรรมพื้นเมืองชื่อ พระนิพพานโสตร ว่า เมื่อพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว ก่อนเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบันนั้น มีกา ๔ ฝูง (เกิดจากอำนาจไสยศาสตร์) เฝ้ารักษาอยู่ทั้ง ๔ ทิศ กา ๔ ฝูงนี้มีสีต่างกัน คือ สีขาวฝูงหนึ่ง สีเหลืองฝูงหนึ่ง สีแดงฝูงหนึ่ง และสีดำฝูงหนึ่ง  ต่อมา เมื่อพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสร้างพระสถูปขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว จึงนำเอานามกาทั้ง ๔ ฝูงมาตั้งเป็นชื่อสมณศักดิ์ตำแหน่งพระครูผู้รักษาพระบรมธาตุทั้ง ๔ ทิศ คือชื่อกาขาวเป็นพระครูกาแก้ว กาเหลืองเป็นพระครูการาม กาแดงเป็นพระครูกาชาติ และกาดำเป็นพระครูกาเดิม

คติความเชื่อข้างต้นนี้ก็ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางในระดับชาวบ้านของภาคใต้ เช่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ มีการปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุวัดตะเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพระเจดีย์โบราณสมัยอยุธยา คณะผู้ปฏิสังขรณ์ได้ทำรูปกา ๔ ตัวด้วยปูนปั้นเสริมไว้ที่มุมของรัตนบัลลังก์ทั้ง ๔ มุม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฝ้าพระธาตุดังกล่าว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ในตำนานคณะสงฆ์ว่า “เรื่องกาเฝ้าพระธาตุนี้ พ้องกับตำนานพระธาตุหริภุญชัยด้วย ใครจะเอาอย่างใครไม่ทราบได้ แต่อย่างไรๆ ข้าพเจ้ายืนยันว่าไม่จริง เป็นการเดาโดยไม่มีมูลทั้งสิ้น” ทรงเห็นว่า คำที่เรียกพระครูว่า “กา” นั้น มาจากคำเต็มว่า “ลังกา” แน่นอน เพราะถ้าคำ ๒ พยางค์ ชาวนครศรีธรรมราชมักพูดทิ้งพยางค์หน้า พูดแต่พยางค์หลัง เช่น สตางค์ เหลือ ตางค์  คำ “ลังกา” จึงเหลือเพียง “กา” ที่ทรงเชื่อแน่ว่า “กา” มาจาก “ลังกา” เพราะทรงพบหลักฐานที่ใช้ว่า “ลังกา” เช่นในหนังสือประทวนเก่าที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชตั้งพระครู “กา” และทรงอ้างราชทินนามของพระครูกาแก้ว เมืองไชยา ซึ่งยังปรากฏอยู่ในขณะนั้นว่า “พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว” จึงสรุปตามพระวินิจฉัยว่า พระครู “กา” ทั้ง ๔ ฝ่าย มาจากคำเต็มว่า พระครูลังกาแก้ว พระครูลังการาม พระครูลังกาชาติ และพระครูลังกาเดิม

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยคำต่อท้ายของคำ “ลังกา” คือคำ แก้ว ราม ชาติ และเดิม ว่าใน ๔ คำนี้ ทรงแน่พระทัยว่า คำว่า “ลังกาแก้ว” มาจากคำเต็มว่า “ลังกาป่าแก้ว” ได้แก่ พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์คณะป่าแก้ว ที่อุปสมบทมาจากพระวันรัตมหาเถระแห่งลังกา (คำว่า วันรัตนะ แปลว่า ป่าแดง) ส่วนคำว่า ราม ชาติ และเดิม ทรงสันนิษฐานไว้ว่า ลังการาม น่าจะมาจากพระสงฆ์ที่ไปบวชแปลงมาจากเมืองรามัญ ลังกาชาติน่าจะมาจากพระลังกาแท้โดยชาติกำเนิด และลังกาเดิมน่าจะเป็นพระสงฆ์ลังกาวงศ์พวกแรกที่ไปบวชแปลงมาจากลังกาและมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อนคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อื่นๆ จึงเรียกว่า คณะลังกาเดิม หรือคณะกาเดิม (คณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ที่เข้ามาทางภาคใต้ครั้งแรกราว พ.ศ.๑๘๐๐)

พระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพข้างต้น มีเอกสารโบราณของภาคใต้หลายอย่างยืนยันว่าเชื่อถือได้ เช่น ในตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๔๒) มีข้อความระบุว่า วัดจำนวนมากในเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงขึ้นกับคณะป่าแก้ว เช่นข้อความว่า “พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทศพิทราชธรรม ถวายพระศาสนา อาราม ณ เมืองนคร และเมืองพัทลุง แลเมืองอันขึ้นคณปาแก้ว วัดเขียน วัดสทังหัว เมืองพัทลุง เปนอารามสองร้อยเก้าสีบอาราม...”

นอกจากนี้ ยังพบคำว่า “คณะลังกาแก้ว” ในจารึกบนแผ่นอิฐแดงบรรจุอยู่ในเจดีย์วัดแจ้ง (ร้าง) ที่ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา)  คำจารึกมีดังนี้


         (ด้านที่ ๑)
อ พระพุทสักราชล้วงแล้ว ๒๔๑๘
พระวสาปีกุนสัพสกเดีอนเกา
ขึ่นสิบสีคำวันพุทท่านฆณะ
         (ด้านที่ ๒)
ลังกาแก้วภรอมด้วยพระสง
ฆ ท่านเจาเมืองพระหล้วง
         (ด้านที่ ๓)
กรมการยาติโยมทายกโมท
นา ล่างพระเจดี องค์นี้ไว้ไนยพระ
ศาสนาเปนพุทบูชาฉลองพระ
เดชพระคุณสมเดจพระพุทิเจา
         (ด้านที่ ๔)
ตราบท้าวถ้วน ๕๐๐ พระว
สาแลฯ : นิบภานปัจโย โหตุ เมฯ

ในพระตำราบรมราชูทิศ เรื่อง “กัลปนาวัด จังหวัดพัทลุง” (พ.ศ.๒๑๕๓) กล่าวถึงพระสงฆ์คณะลังกาชาติวัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ บางแห่งใช้คำว่า พะโต๊ะ) เขาบรรพต หัวเมืองพัทลุงในขณะนั้น (ปัจจุบันอยู่ในตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) ไปถวายพระพรขอพระราชทานกัลปนาข้าพระโยมสงฆ์ เช่น ข้อความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระรามาธิบดีบพิตร ทรงพระกรุณาให้ทานญาติแก่พระครูธรรมทิวากร แลพระครูธรรทสศรี พระครูอินทมุนี แลสงฆ์ทั้งหลายปฏิบัติฝ่ายลังกาชาติ...” ในเรื่อง “ขอเข้าตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง” ระบุราชทินนามพระครูเจ้าอาวาสวัดพะโคะว่า “พระครูเทพราชเมาฬี ศรีปรมาจารย์ ราชประชาหัวเมืองพะโคะคณะลังกาชาติ”

ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเล่าความตอนที่ชีผ้าขาวอริยพงษ์ชาวกรุงศรีอยุธยาไปปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่หลังจากชำรุดคราวเมืองร้างไปนาน เมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์จากที่ต่างๆ มาเฝ้ารักษาพระบรมธาตุ ในจำนวนนั้นมีพระสงฆ์คณะลังกาชาติจากวัดกุฎีหลวง (ปัจจุบันเรียกว่า วัดดีหลวง) อยู่ใกล้วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคณะลังกาชาติมาด้วย เช่นข้อความว่า “พระมหาเถรมังคลาจารรื้อญาติโยมมาแต่กุฎีหลวงสร้างวัดหรดีพระธาตุ”

มูลเหตุที่คณะสงฆ์ลังกาวงศ์เมืองนครศรีธรรมราชแยกเป็นกา ๔ ฝ่าย และรักษาพระบรมธาตุคนละด้านนั้น  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยไว้ในตำนานคณะสงฆ์ว่า พวกพระสงฆ์ลังกาหรือพระสงฆ์ไทย มอญ ที่ไปอุปสมบทตามลัทธิลังกามาทางทะเล คงจะมาขึ้นและมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน ท่านเหล่านี้คงมาเกิดรังเกียจกันในข้อวัตรปฏิบัติและแย่งกันเป็นเจ้าของพระบรมธาตุ ผู้เป็นใหญ่ในการปกครองพระราชอาณาจักร จึงตัดสินเป็นกลางให้มีหน้าที่แบ่งกันรักษาพวกละด้าน  จึงเป็น ๔ พวก  ครั้นต่อมา เมื่อรวมเป็นพวกเดียวกัน ชื่อกาต่างๆ จึงกล่าวเป็นราชทินนามสำหรับพระครู

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยต่อไปว่า ตำแหน่งพระครูที่กล่าวมานี้ คงถ่ายแบบไปใช้ที่เมืองพัทลุงและเมืองไชยาด้วย ที่เมืองพัทลุงมีทั้ง ๔ กา ส่วนเมืองไชยามีแต่กาแก้วกับการาม ๒ ตำแหน่ง แต่จะถ่ายไปเมื่อไร ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด

ตำแหน่งพระครูกาทั้ง ๔ ฝ่าย มีใช้ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองไชยา สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ปรากฏเป็นหลักฐานที่จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ว่า
          ๑. พระครูกาแก้วสังฆราชา นครศรีธรรมราช
          ๒. พระครูการาม นครศรีธรรมราช
          ๓. พระครูกาชาติ นครศรีธรรมราช
          ๔. พระครูกาเดิม นครศรีธรรมราช
          ๕. พระครูรัตนโมลี สังฆราชา สงขลา
          ๖. พระครูธรรมโฆษ พัทลุง
(จารึกที่หน้าต่างพระอุโบสถด้านหลัง บานซ้าย)

          ๑. พระครูกาแก้ว สังฆราชา พัทลุง
          ๒. พระครูการาม พัทลุง
          ๓. พระครูกาชาติ พัทลุง
          ๔. พระครูกาเดิม พัทลุง
          ๕. พระครูธรรมจักร พัทลุง
          ๖. พระครูธรรมโฆษ พัทลุง
(จารึกที่หน้าต่างพระอุโบสถด้านหลัง บานขวา)

          ๑. พระครูลังกาแก้วราชมุนี สังฆราชา ไชยาบุรี
          ๒. พระครูการาม ไชยา
(จารึกที่หน้าต่างพระอุโบสถด้านใต้ บานซ้าย)

ที่เมืองไชยา พระครูลังกาแก้วเป็นเจ้าคณะเมือง พระครูการามเป็นเจ้าคณะรอง มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเพิ่มราชทินนามพระครูลังกาแก้ว เป็นพระครูรัตนมุนี ศรีสังฆราชาลังกาแก้ว และพระครูการามเป็นพระครูโสภณเจตสิการาม

ต่อมา เมื่อมีการปกครองแบบเทศาภิบาล ตำแหน่งพระครูกาทั้ง ๔ ฝ่าย ในเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองไชยา ก็มีการเปลี่ยนแปลงฐานะไปบ้าง ดังปรากฏในทำเนียบสมณศักดิ์ กรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้  

เมืองนครศรีธรรมราช
          ๑. พระครูเหมเจติยานุรักษ์ เจ้าคณะเมือง ร.๔
          ๒. พระครูกาแก้ว เจ้าคณะรองรักษาพระมหาธาตุ ทิศบูรพา
          ๓. พระครูการาม เจ้าคณะรองรักษาพระมหาธาตุ ทิศทักษิณ
          ๔. พระครูกาชาติ เจ้าคณะรองรักษาพระมหาธาตุ ทิศประจิม
          ๕. พระครูกาเดิม เจ้าคณะรองรักษาพระมหาธาตุ ทิศอุดร
                    ฯลฯ

เมืองพัทลุง
          ๑. พระครูอริยสังวร เจ้าคณะเมือง
          ๒. พระครูกาแก้ว
          ๓. พระครูการาม
          ๔. พระครูกาชาติ
          ๕. พระครูกาเดิม
          ๖. พระครูธรรมจักร
          ๗. พระครูธรรมโฆษ
          (* ลำดับที่ ๖ และ ๗ สำหรับสวดพิธี)

เมืองไชยา
          ๑. พระชยาภิวัฒน์ สุภัตรสังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่ ร.๖
          ๒. พระครูรัตนมุนี ศรีสังฆราชาลังกาแก้ว เจ้าคณะรอง
          ๓. พระครูโสภณเจตสิการาม ร.๕
          ๔. พระครูคณานุกูล ร.๕
          ๕. พระครูวิธุรธรรมสาส์น ร.๕
          ๗. พระครูประกาศธรรมคุณ ร.๖
          ๘. พระครูวิบุลยธรรมสาร ร.๖

หมายเหตุ คำว่า ร.๔  ร.๕  ร.๖ ที่พิมพ์ต่อท้ายราชทินนาม แสดงว่า ตั้งขึ้นครั้งแรกในรัชกาลนั้น.



ที่มา
     - “กา” ๔ ฝ่าย, พระครู  (โดย อดิศักดิ์  ทองบุญ) น.๒๒๐-๒๒๓ สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
     - "พระครูกา" ไทยรัฐออนไลน์
     - "พระครูกา ผู้รักษาวัดพระธาตุนครศรีธรรมราช"  เพจ วัดหน้าพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
“พระครูกา”
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 1339 กระทู้ล่าสุด 27 เมษายน 2558 11:40:13
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 4.349 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 24 เมษายน 2567 14:14:48