[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 07:32:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตาลปัตร และพัดยศ  (อ่าน 7662 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 กันยายน 2555 17:06:48 »


ตาลปัตร  และพัดยศ


ตาลปัตร มีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลเป็นเริ่มแรก โดยชาวบ้านสมัยก่อนพุทธกาลในประเทศอินเดียและลังกา นำใบตาลมาตัดแต่งเป็นพัดและใช้โบกลมหรือบังแดด  มีหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม กล่าวว่า พระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลนี้มาใช้  โดยถือไปเวลาแสดงธรรมด้วย จึงได้เรียกว่า ตาลปัตร เมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้พัดใบตาลก็คิดทำตาลปัตรถวาย เพื่อจะได้บุญกุศล โดยหาสิ่งอื่นที่จะทนทานกว่าใบตาล ซึ่งเป็นของที่ไม่คงทนและไม่สวยงาม เช่น ผ้าไหม ผ้าแพร ไม้ไผ่สาน งาสาน สุดแต่กำลังศรัทธาของผู้ถวาย พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำถวายพระด้วย ต่อมาจึงเกิดมีการถวายตาลปัตรที่วิจิตรงดงามเป็นเครื่องประกอบตามสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ขึ้น เรียกว่า พัดยศ

การถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์นั้น มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีมานานแล้ว โดยไทยรับประเพณีนี้มาจากลังกา เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามายังดินแดนไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ หรือก่อนสมัยสุโขทัย และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลักฐานที่แสดงว่าพระสงฆ์ถือตาลปัตรเวลาไปแสดงธรรมและใช้บังหน้าเวลาสวดพระอภิธรรม ปรากฏให้เห็นในคัมภีร์และหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม รวมทั้งประติมากรรม ศิลาจารึก และจิตรกรรมฝาผนัง ตามยุคสมัยต่างๆ  

อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่า พระสงฆ์ถือตาลปัตรในเวลาแสดงธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดและเหตุใดจึงต้องใช้บังหน้าในขณะสวดด้วย  มีผู้รู้สันนิษฐานว่า พระสงฆ์อาจจะใช้เมื่อต้องปลงศพ เพื่อกันกลิ่นเหม็นจากศพที่เน่าเปื่อย เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลที่ห่อศพเพื่อนำไปทำจีวร จึงใช้พัดใบตาลนี้ปิดจมูกกันกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดเป็นประเพณีของพระสงฆ์ที่จะถือพัดใบตาลไปด้วยเมื่อจะทำพิธีต่างๆ  บ้างก็ว่า เนื่องจากจิตของผู้มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระกัจจายนเถระ พระสาวกองค์สำคัญ ซึ่งมีรูปงามว่า ขณะที่ท่านแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรม มีสตรีบางคนหลงรักท่าน ด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้จักก่อให้เกิดบาปขึ้น พระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้มีรูปไม่งามเสีย เราจึงเห็นพระกัจจายนเถระมีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ไม่งดงาม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวด เพราะประสงค์ให้ผู้ฟังมีสมาธิในการฟังธรรม  

ข้อสันนิษฐานดังกล่าว สอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือ วิมติวิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎก แสดงวัตถุประสงค์ของการที่พระสงฆ์ใช้พัดบังหน้าในเวลาสวดแสดงธรรมว่า เพื่อป้องกันมุขวิการ คือ การอ้าปากกว้าง ซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่ง และป้องกันมิให้เป็นวิสภาคารมณ์ อันจะทำให้ใจฟุ้งซ่าน  ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าในขณะสวดนั้น ก็เพื่อให้มีความสำรวมและมีสมาธิ.




ลายปักพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ด้ามตาลปัตรงาช้าง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

"ตาลปัตร" ความหมายตามรูปศัพท์คือใบตาล หรือเติมให้เต็มตามประโยชน์ใช้สอยว่าพัดใบตาล สันนิษฐานว่าการใช้พัดนั้นมีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว และวัตถุประสงค์เดิมแท้ก็เพื่อพัดให้เกิดลมเย็นสบาย เช่น พระสารีบุตรใช้พัดพัดถวายพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ต่อมามีผู้อธิบายว่าพระสงฆ์ใช้พัดเพื่อใช้บังเวลาเห็นอะไรก็ตามที่พระไม่ควรเห็น แต่ไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์ที่แท้ซึ่งมีมาแต่เดิม จากพัดที่ใช้พัดลม ต่อมาในสังคมไทยพระสงฆ์เริ่มใช้พัดในเวลาให้ศีล ให้พร และจากนั้นราชการไทยได้ใช้พัดเป็นเครื่องแสดงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติให้พระภิกษุนำตาลปัตรมาใช้ในพิธีกรรมใดๆ เลย

สำนักงานมหาเถรสมาคมอธิบายเพิ่มเติมว่า ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาหลายท่านให้ข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิมตาลปัตรคงมิใช่ของที่ทำขึ้นมาสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่น่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเมืองร้อนมาก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว ใช้พัดลม บังแดด บังฝน น่าจะมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ และทำด้วยวัสดุต่างๆ ตามฐานะ

ตาลปัตรแม้มิได้นับเนื่องให้เป็นสิ่งหนึ่งในบริขาร ๘ ของพระสงฆ์ และไม่เคยพบหลักฐานว่ามีพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์ใช้ของสิ่งนี้ในโอกาสใด เพียงพบข้อความปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาหลายแห่ง เช่น หนังสือธรรมบท ว่า "ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ถวายงานพัดอยู่ด้านหลัง" และ "พระสารีบุตรถือพัดอันวิจิตรขึ้นไปแสดงธรรมบนธรรมาสน์" และความตอนหนึ่งในพุทธประวัติว่า "พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงโปรดให้สร้างพัดอันงดงามวิจิตรถวายพระพุทธองค์" เป็นต้น

จากความดังกล่าวพอสันนิษฐานได้ว่าการใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคแรกนั้น น่าจะใช้เพื่อพัดโบกลมคลายความร้อน ดังจะเห็นได้จากพระสงฆ์ชาวลังกาในปัจจุบันนี้ เวลาสวดมนต์ยังถือพัดไปพัดวีไปในบางโอกาส เพียงพัดนั้นด้ามสั้น

มาภายหลังด้วยพระสงฆ์ไปในงานพิธีต่างๆ มักจะนิยมถือพัดไปด้วยแทบทุกครั้งจนกลายเป็นประเพณีสืบมา เมื่อการระบายความร้อนได้มีวิวัฒนาการไปมาก จนพัดโบกลมจะหมดความจำเป็นไปแล้ว การใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคต่อมา จึงถือไปเพื่อตั้งบังหน้าเป็นการรักษาธรรมเนียมประเพณี ซึ่งจะทำให้ศาสนพิธีนั้นๆ ดูเป็นพิธีรีตองและเป็นกิจจะลักษณะยิ่งขึ้น มิได้ใช้โบกลมแต่อย่างใด

ส่วนการถือพัดยศไปในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีนั้น นอกจากเหตุผลที่ว่ายังเป็นการประกาศเกียรติคุณ บอกความสูงต่ำของชั้นยศที่ได้รับพระราชทาน บอกฐานะตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ และบ่งบอกถึงความเป็นบึกแผ่นมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย
...ที่มา หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


ที่มา :"ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์" หนังสือสารานุกรมไทย โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม ๓๒ หน้า ๗ - ๑๔  จัดทำโดย คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทยฯ สนามเสือป่า ถ.ศรีอยุธยา เขตดุสิต กทม.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กุมภาพันธ์ 2562 11:16:34 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2562 20:10:13 »



พัดรองพระวิมานไพชยนต์
ที่มา : ตาลปัตรพัดยศ ศิลปบนศาสนวัตถุ


พัดรองพระวิมานไพชยนต์

ศิลปะบนตาลปัตรพัดรองที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงรังสรรค์ด้วยความวิจิตรบรรจง ใส่พระทัย ใคร่ครวญด้วยพระปรีชาญาณ มิอาจหานายช่างผู้ใดเสมอเหมือนนั้น ผลงานทุกชิ้นล้วนมีความหมาย มีนัยถึงบุคคลที่ทรงสร้างถวาย หากผลงานชิ้นนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพ พระศพ จะเป็นผลงานที่ใช้เป็นตัวแทนในการน้อมถวายสดุดีความดีทั้งหลายทั้งปวง หรือที่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นได้ธำรงซึ่งพระเกียรติยศไว้ขณะยังทรงมีพระชนม์ชีพ

นอกจากความรู้สึกประทับใจในการออกแบบของสมเด็จครูแล้ว มักพบพระคาถาธรรมบทซึ่งสมเด็จครูออกแบบไว้ในผลงานตาลปัตรพัดรองหลายชิ้นด้วยกัน แสดงว่าทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และมีความแตกฉานในอักขระขอมและภาษาบาลี ทรงหยิบยกพระธรรมมาใส่ในงานศิลปกรรมได้อย่างลงตัว    


ที่มาคำว่า “ไพชยนต์”
“ไพชยนต์” มีความหมายบันทึกอยู่ในไตรภูมิพระร่วงซึ่งเอกสารประวัติศาสตร์ที่ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาชิ้นแรก ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือ พญาลิไทย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวถึงที่ตั้งของภูมิทั้ง ๓ คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเขาทั้ง ๗ และสีทันดรมหาสมุทรสลับกัน ถัดออกเป็นทวีปทั้ง ๔ ที่มนุษย์อาศัยอยู่ แล้วล้อมรอบด้วยกำแพงจักรวาลเป็นชั้นสุดท้าย

สวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาทั้งหลายนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ เทวภูมิ ๖  รูปพรหมภูมิ ๑๖  และอรูปพรหมภูมิ ๔ ได้แก่

เทวภูมิ ๖ คือ จาตุมหาราชิกา ๑  ดาวดึงส์ ๑  ยามา ๑  ดุสิต ๑  นิมมานรดี ๑  ปรนิมมิตวสวตี ๑

รูปพรหมภูมิ ๑๖ คือ พรหมปริชชาภูมิ ๑ พรหมปโรหิตาภูมิ ๑  มหาพรหมาภูมิ ๑ ปริตรตาภูมิ ๑  อัปปมาณาภูมิ ๑  อาภัสสรภูมิ ๑  ปริตตสุภาภูมิ ๑  อัปปมาณสุภาภูมิ ๑  สุภกิณหาภูมิ ๑  เวหัปผลาภูมิ ๑  อสัญญีภูมิ ๑  อวิหาภูมิ ๑  อตัปปาภูมิ ๑  สุทัสสาภูมิ ๑  สุทัสสีภูมิ ๑  อกนิฏฐาภูมิ ๑

อรูปพรหมภูมิ ๔ คือ อากาสานัญจายตน ๑  วิญญานัญจายตน ๑  อากิญจัญญายตน ๑  เนวสัญญนาสัญญายตน ๑

สวรรค์ชั้นที่เลื่องลือในด้านความงามและเป็นที่กล่าวถึงมาก คือ สวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” ไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า “อันชื่อว่าดาวดึงส์นั้นตั้งอยู่เหนือจอมเขาพระสิเนรุราชบรรพต อันปรากฏเป็นเมืองพระอินทร์ผู้เป็นพระญาแก่เทพยดาทั้งหลาย” จากข้อความนี้แสดงถึงสถานที่อยู่ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่าอยู่บนเขาพระสุเมรุ และเจ้าผู้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระอินทร์

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังมีปราสาท ซึ่งเป็นวิมานของพระอินทร์ชื่อว่า “ไพชยนต์” สูง ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ วา ประดับด้วยเพชรพลอยทั้ง ๗ ชนิดล้อมรอบไว้ มีชั้นชาลา ๑๐๐ ชาลา แต่ละชาลามีวิมาน ๗๐๐ วิมาน แต่ละวิมานมีนางฟ้าอยู่ประจำ ๗ องค์  นางฟ้าแต่ละองค์มีนางอัปสรเป็นบริวาร ๗ นาง แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทไพชยนต์และความยิ่งใหญ่ของพระอินทร์

พระวิมานไพชยนต์ที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นชื่อแบบร่างพัดรองที่ระลึกในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และโปรเฟสเซอร์ซี.ริโกลี จิตรกรชาวอิตาเลียนเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


ความหมายของพัดรอง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระปรีชาสามารถในงานวิจิตรศิลป์ไทยทุกสาขา ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรีและนาฏศิลป์ พระราชกิจต่างๆ เกี่ยวกับศิลปะที่ทรงปฏิบัติล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพอันสูงยิ่ง ผลงานฝีพระหัตถ์ที่ทรงสร้างสรรค์ไว้นับว่าเป็น “ครู” ให้แก่ช่างไทยยุคปัจจุบันจนกล่าวยกย่องถวายพระสมัญญานามว่า “สมเด็จครู” แม้พระบรมวงศานุวงศ์เองต่างถวายพระสมัญญานามอย่างชื่นชมว่าเป็น “นายช่างใหญ่ แห่งกรุงสยาม

พัดรอง” คือ พัดหรือตาลปัตรที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นถวายพระสงฆ์เป็นที่ระลึกในการพระราชพิธีสำคัญ หรือประชาชนสร้างขึ้นเองตามคติทางพระพุทธศาสนา โดย “พัดรอง” เป็นพัดที่ทำขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์ใช้ในงานพิธีทำบุญทั่วไป จัดเป็นพัดสำหรับแทนพัดยศ เพราะพัดยศจะใช้เฉพาะในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเท่านั้น ในงานทั่วไปจึงนิยมสร้างพัดสำรองถวายพระสงฆ์ โดยปกติแล้วพระสงฆ์จะวางพัดรองไว้ด้านหน้าขณะสวด ซึ่งการทำพัดรองถวายพระสงฆ์นั้นนับว่าเป็นขนบธรรมเนียมหนึ่งของชาวไทยที่ปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้กันอย่างแพร่หลายมักทำมาจากใบตาล ทำให้มีรูปทรงไม่สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นใหม่ โดยให้มีลักษณะเป็นพัดหน้านางหรือรูปไข่ ใช้วัสดุที่ทำจากผ้าแพร ผ้าโหมด หรือผ้าลายดอกต่างๆ พร้อมประดับตกแต่งให้สวยงาม และกำหนดให้ใช้สรรพนามในการเรียกใหม่ว่า “พัดรอง” นอกเหนือจากเป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์แล้วนั้น “พัดรอง” ยังเป็นงานประณีตศิลป์ทรงคุณค่าทั้งในด้านการออกแบบและการปักลวดลายที่ประณีตงดงาม    



รายละเอียดแบบร่างสี พัดรองพระวิมานไพชยนต์
ตาลปัตร ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



(ภาพบน) นมพัดรองพระวิมานไพชยนต์เป็นโลหะชุบทอง (ภาพล่าง) น.ในดวงใจ ภาพสัญลักษณ์ดอกลอย ๔ กลีบ  
ตาลปัตร ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ลักษณะแบบร่างสีพัดรอง
พระวิมานไพชยนต์ มีองค์ประกอบดังนี้

๑. เทพบุตรนั่งกุมบังเหียนรถม้า ๔ ตัว ถัดไปเป็นบุษบกหลังคาซ้อน ๔ ชั้น ภายในบุษบกมีพระนามย่อ “ศรี” อยู่ใต้มงกุฎอันเป็นพระนามแทนดวงพระวิญญาณ ประดับพระราชอิสริยยศด้วยฉัตร ๕ ชั้นขนาบทั้ง ๒ ข้าง ที่ปลิวไสวด้วยปะทะสายลมที่พาดผ่านด้านหน้า ราชยานลอยอยู่เหนือกลุ่มเมฆ

๒.ด้านหลังบุษบกมีรูปพญานาคกายสีเขียว หมายถึง ปีมะโรง ปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับสายฟ้าลอยเด่นเหนือบุษบก ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรพระปรมาภิไธยประจำล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ คือ “วชิราวุธ” ซึ่งหมายถึง ผู้มีวชิระเป็นอาวุธ คือ พระอินทร์

๓. นมพัดเป็นรูปเครื่องหมายสภากาชาด หมายถึง สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระราชทานกำเนิดและทรงเป็นองค์สภานายิกาสภากาชาดแห่งสยาม แต่ละมุมของเครื่องหมายกาชาดมีตัวเลข ๒๔๖๒ หมายถึง ปีสวรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ลายประจำยามยอดแหลมวางประดับตรงกลางบนเครื่องหมายกาชาดสีแดง

๔. ด้านขวาของภาพมีตัวหนังสือ “น” แทนสัญลักษณ์ น.ในดวงใจ หรือ น.เทียนสิน เป็นความหมายพระนามของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ส่วนสัญลักษณ์ทางซ้ายมือยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าแทนสัญลักษณ์ของสิ่งใด พิจารณาเห็นว่าคล้ายดอกลอย ๔ กลีบ เมื่อพิจารณาจากรูปทรงแล้ว น่าจะมีนัยว่าเป็นสัญลักษณ์ น.ในดวงใจ เช่นกัน

๕.ที่ขอบพัดมีพระคาถาจารึกด้วยอักษรขอมเป็นบทบาลีที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงหยิบยกพระคาถาส่วนหนึ่งจากกรณียเมตตสูตรอันเป็นพระสูตรในขุททกปาฐะ ขุททกนิกายของพระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยการเจริญเมตตา และการปฏิบัติตนเพื่อเจริญในธรรม นำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานในท้ายที่สุด โดยที่มาของพระสูตรเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ศึกษาพระกรรมฐานจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ได้เดินทางไปแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาทางจิต สุดท้ายพระภิกษุทั้งหมดได้บำเพ็ญพระกรรมฐานอยู่ตามโคนไม้ ณ ป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ ทำให้บรรดารุกขเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ต่างต้องลงมาจากวิมานของตน เนื่องจากพระภิกษุได้กระทำความเพียร อยู่ ณ โคนต้นไม้ เมื่อได้รับความลำบากและคิดว่าพระภิกษุเหล่านี้ต้องกระทำความเพียรตลอดพรรษาไม่อาจจะไปที่ไหนได้อีก จะยังความลำบากให้แก่พวกตนและลูกหลานของตนอีกยาวนาน เหล่ารุกขเทวดาในถิ่นนั้นจึงรวมตัวกันแสดงอาการอันน่ากลัวเพื่อหลอกหลอนขับไล่พระภิกษุเหล่านั้น

เมื่อพระภิกษุได้รับความลำบากกายลำบากใจอย่างยิ่งที่ถูกรุกขเทวดาจำแลงกายหลอกหลอนตนจนไม่อาจบำเพ็ญเพียรเจริญพระกรรมฐานได้ จึงพากันเดินทางไปยังนครสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสดับเรื่องราวแล้วจึงทรงตรัสสอนเมตตสูตร และมีพระดำรัสให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปเจริญพระกรรมฐานยังสถานที่แห่งเดิม เพื่อให้พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้เจริญเมตตาโปรดรุกขเทวดาให้หยุดจองเวรเสีย มีจิตอ่อนโยนมีไมตรีจิตตอบ จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอันตรายอื่นๆ พระภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตากรรมฐาน แล้วภาวนาเจริญวัปัสสนาจนบรรลุอรหันตผลสำเร็จ เป็นพระอรหันต์ทุกรูปภายในพรรษานั้น    


พระคาถาเมตตสูตรทั้ง ๑๐ บท มีดังนี้  

กรณียมตฺถกุสเลน           ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ,
สกฺโก อุชู จ สุหุชู จ สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี.
สนฺตุสฺสโก จ สุภโร จ      อปฺปกิจฺโจ จ สลฺลหุกวุตฺติ
สนฺตินฺทฺริโย จ นิปโก จ      อปฺปคพฺโภ กุเลสุ อนนุคิทฺโธ.
น จ ขุทฺทํ สมาจเร กิญฺจิ เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยุํ
สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ      สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา.
เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ      ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา,
ทีฆา วา เย มหนฺตา วา มชฺฌิมา รสฺสกา อณุกถูลา.
ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา      เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร,
ภูตา วา สมฺภเวสี วา      สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา.
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจิ,
พฺยาโรสนา ปฏีฆสฺญญา      นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย.
มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ      อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข,
เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ.
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ      มานสมฺภาวเย อปริมาณํ,
อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจ      อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ.
ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา สยาโน วา ยาวตสฺส วิคตมิทฺโธ,
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย      พฺรหมฺเมตํ วิหารํ อิธมาหุ,
ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม สีลวา     ทสฺสเนน สมฺปนฺโน,
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ             น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ.

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเลือกพระคาถาในบทที่ ๗ คือ      
มาตา ยถานิยํ ปุตฺตํ  อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข,
เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ.

แปลใจความว่า  
“มารดาถนอมปกป้องรักษาบุตรคนเดียวแห่งตนด้วยชีวิตฉันใด
พึงเจริญเมตตาในใจต่อสรรพสัตว์ทั้งปวงอย่างไม่มีประมาณฉันนั้น”
 

ใจความที่แปลจากพระคาถาบทนี้หากพิจารณาถึงพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงแล้ว ในฐานะพระมารดาของแผ่นดิน พระองค์ทรงถึงพร้อมยิ่งกว่าคำว่า “เมตตา” การที่สมเด็จครูทรงนำพระคาถาบทนี้มาใช้ ย่อมสะท้อนพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยบน์สุขแก่ชาวสยาม  สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงมีพระราชหฤทัยตั้งมั่นอยู่ในพระราชจริยธรรมจึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งสามารถจำแนกพระราชจริยวัตรโดยสังเขปที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาที่ได้พระราชทานแก่ชาวสยาม ดังนี้

- ด้านการศึกษา ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงแห่งที่สองขึ้นในประเทศสยาม ทรงพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนสตรีบำรุงวิชา” และทรงเปิดโรงเรียนสำหรับกุลธิดาของข้าราชสำนักและบุคคลชั้นสูงคือ “โรงเรียนสุนันทาลัย” ให้การอบรมด้านการบ้าน การเรือน กิริยามารยาท และวิชาการต่างๆ อีกทั้งทรงจ่ายเงินเดือนครู และค่าใช้สอยต่างๆ และพระราชทานทรัพย์ก่อตั้งโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมาก

- ด้านการแพทย์และพยาบาล ทรงสนับสนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนับว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศสยาม และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุนาโลมแดงและทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ซึ่งต่อมาภายหลังได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสเรื่องเขตแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว สภาอุนาโลมแดงจึงใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม ต่อมาพัฒนาเป็นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทยในปัจจุบัน

- ด้านสาธารณประโยชน์ ได้บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างรูปพระนางธรณีบีบมวยผมประทานให้เป็นสาธารณสมบัติ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะอาดบริโภค


ภาพร่างเขียนสีพระคาถาธรรมบทกรณียเมตตสูตร
แบบร่างสีพัดรองพระวิมานไพชยนต์นี้มิได้เป็นฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์แค่เพียงพระองค์เดียว หากแต่มีโปรเฟสเซอร์ซี. ริโกลี เป็นผู้ระบายสี ดังรายละเอียดในแบบร่างสีบันทึกไว้ว่า


พระวิมานไพชยนต์
ราชยานสมเดจพระศรีพัชรินทราบรมราชินี เสดจสวรรคต
ข้าพระพุทธเจ้า นริศ ผูกลายเส้น  ข้าพระพุทธเจ้า Carlo Rigoli รบายสี
ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเดชฯ

วิเคราะห์รูปแบบทางศิลปกรรม
โปรเฟสเซอร์ซี. ริโกลี  กำหนดทิศทางของแสงเข้ามาทางขวามือใช้พื้นของภาพเป็นเงามืด เขียนสีน้ำเงินและสีน้ำตาลแสดงเส้นโครงร่างของตัวภาพ แสดงค่าน้ำหนักอ่อนแก่ไม่เท่ากัน จุดสำคัญของภาพที่กระทบแสงก่อน เช่น ขอบลวดลายบุษบก ขอบฉัตรก้อนเมฆ อวัยวะกล้ามเนื้อทั้งเทพบุตร ม้า และพญานาคจะระบายด้วยสีสว่างเพียงบางแห่งทำให้ภาพมีมวลปริมาตรของกายวิภาคและวัตถุไม่แบนเรียบ เหมือนภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เมื่อภาพนี้ปรับแต่งเป็นรูปขาวดำจะมองเห็นค่าน้ำหนักอ่อนแก่ชัดเจน ตัวหนังสือ “ศรี” ซึ่งอยู่ด้านหลังยังคงโดดเด่นเป็นประธานของภาพด้วยสีที่นำมาใช้ แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งระยะหลังของภาพก็ตาม หากโปรเฟสเซอร์ซี, ริโกลี ระบายสีตัวภาพโดยไม่ใช้เทคนิคระบายแค่สีที่เป็นแสงสาดส่องกระทบที่ผิวกล้ามเนื้อหรือวัตถุ คือสีเหลืองออกส้มและสีฟ้าอ่อนแล้วนั้น ภาพนี้จะให้ความรู้สึกทึบตัน ไม่เบาสบายเหมือนอย่างที่เห็น เพราะภาพนี้กำลังสื่อถึงการเชิญดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงขึ้นสู่สรวงสวรรคาลัย เมื่อนำไปปักลงบนผ้าสีฟ้า การปักก็รวดเร็วยิ่งขึ้นเพราะใช้เส้นด้ายปักส่วนที่เป็นแสงเสียส่วนใหญ่

วัสดุกระดาษที่ใช้วาดมีสีขาว แต่ด้วยผ่านกาลเวลามาเป็นร้อยปี ทำให้กระดาษมีสภาพออกเหลือง สีพื้นภายในภาพร่างนั้นระบายด้วยโทนสีฟ้าผสมสีเทา หมายถึง ท้องฟ้านภากาศ โดยแทนค่าน้ำหนักสีให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพมีความเป็นทิพย์กลมกลืนไปในอากาศ ซึ่งคนธรรมดามองด้วยดวงตาเปล่าไม่เห็น (ในทางพระพุทธศาสนาผู้ฝึกสมาธิในระดับหนึ่งจะมองเห็นโลกทิพย์ด้วยตาใน หรือที่เรียกว่า”ทิพยจักษุ”)

การร่างภาพนี้แสดงถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นอย่างสูง เนื่องด้วยตัวภาพอยู่ในลักษณะด้านตรง สิ่งที่เขียนได้ยาก คือ กายวิภาคของม้าที่กำลังวิ่งทะยานไปข้างหน้า ผู้ที่ร่างภาพแบบนี้ได้ต้องเข้าใจกายวิภาคมวลกล้ามเนื้อ อากัปกิริยาของสัตว์เป็นอย่างดี เส้นขนบริเวณแผงคอต้องแสดงให้เห็นว่ามีสายลมปะทะอยู่ในขณะวิ่งอย่างรวดเร็ว และที่ฉัตรทั้งสองข้างก็แสดงลักษณะให้เห็นว่า ต้องสายลมโบกสะบัดไปข้างหลัง หากพิจารณาฉัตรคู่นี้จะเกิดความสงสัยว่า ทำไมทรงร่างขอบฉัตรพลิ้วไหวให้เข้าหากัน ต่อภายหลังจึงเข้าใจว่าจำเป็นต้องแสดงเส้นแบบนี้เพราะภาพนี้เขียนในมุมมองด้านตรง การจะแสดงให้เห็นว่าฉัตรต้องสายลมจำเป็นต้องเขียนเส้นให้เข้าหากัน หากเขียนเป็นเส้นตรงๆ ขอบฉัตรจะแลดูนิ่งสงบ ซึ่งจะขัดแย้งกับเส้นขนที่แผงคอของม้าซึ่งทรงแสดงให้เห็นว่าพลิ้วสยายไปตามสายลม ส่วนผู้ระบายสีก็มีความเข้าใจว่าแสงกระทบส่วนใด และส่วนใดต้องเป็นเงามืดและจะใช้สีอย่างไรให้ดูเบาสบาย นับได้ว่าโปรเฟสเซอร์ซี.ริโกลี เกิดมาเพื่อเป็นจิตรกรคู่พระทัยสมเด็จครู โดยแท้



-------------------------------------------------------------------------------------

หมายถึง ชั้นระเบียงที่ไม่มีหลังคาคลุม มีขนาดกว้างใหญ่
พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร), เอกเทสสวดมนต์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ (กรุงเทพฯ, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า ๓๒-๓๓.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุณาแปลนัยคำว่า "ยถา"
  ในความหมายของพระคาถานี้และเทียบอักขระขอมที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ออกแบบไว้บนพัดรองว่า เป็นบทพระคาถากรณียเมตตสูตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : พระวิมานไพชยนต์ โดย ภูชัย กวมทรัพย์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร
                        นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๑ ฉบับที่ ๕ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กุมภาพันธ์ 2562 20:11:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.33 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 22 ชั่วโมงที่แล้ว