โขน นาฏศิลป์ประจำชาติ และ “รามเกียรติ์” จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย

<< < (2/3) > >>

Kimleng:
.


เสนายักษ์

หัวโขน  
และ พงศ์รามเกียรติ์
การแสดงโขนแต่โบราณ ผู้แสดงต้องสวมหน้าโขนหรือหัวโขนปิดหน้า เว้นแต่ตัวตลกที่เรียกว่าตลกโขนเท่านั้นที่สวมหน้าโขนครอบไว้บนศีรษะไม่ปิดหน้าเพื่อให้สามารถเจรจาแสดง “มุข” ได้เอง  ผู้ที่สวมหน้าโขนอยู่ไม่พากย์เจรจาด้วยตนเอง แต่ต้องเต้นและรำให้เข้ากับจังหวะทำนองดนตรี กับต้องทำบทแสดงกิริยาอาการไปตามคำพากย์เจรจา ภายหลังการแสดงโขนมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ ตัววานรกับสัตว์บางจำพวกเท่านั้นที่ยังสวมหน้าโขนอยู่ ส่วนผู้แสดงเป็นเทวดาและมนุษย์ชายหญิงไม่นิยมสวมหน้า แต่ยังคงไม่พูดไม่เจรจาเองตามแบบแผนของโขนดั้งเดิม


ภาพจากซ้ายไปขวา ทศกัณฐ์แปลง-พระปรคนธรรพ-พระปัญจสีขร


ภาพจากซ้ายไปขวา พระพรหม-ฤษี-อินทรชิต

• การสร้างหัวโขน
หน้าโขนหรือหัวโขนจัดสร้างขึ้นด้วยศิลปะชั้นสูง มีลักษณะและสีสันที่แตกต่างตามเรื่องรามเกียรติ์  ผู้ที่เป็นนาฏศิลปินและผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีนาฏศิลป์ให้ความสำคัญเคารพนับถือว่าหัวโขนเป็นครู ช่างที่เป็นผู้สร้างหัวโขนก็ต้องดำเนินตามขนบที่สืบทอดมา

เมื่อจะเริ่มสร้างต้องตั้งเครื่องบัดพลี บวงสรวงอัญเชิญเทพยดาและครูบาอาจารย์ แล้วจึงลงมือขึ้นรูปปั้นหุ่นด้วยดินเหนียวเป็นรูปมนุษย์หรืออมนุษย์ต่างๆ ตามที่ต้องการ นำไปเผาให้สุก จากนั้นปิดทับด้วยกระดาษข่อยหลายๆ ชั้น จนมีความหนาพอเหมาะ กวดให้กระดาษที่ปิดยึดติดกันสนิทตามลักษณะของหัวโขนนั้นๆ เมื่อกระดาษที่ปิดแห้งสนิทแล้วจึงผ่าเอาหุ่นกระดาษออกจากหุ่นดิน นำมาติดลวดลายที่ทำด้วยขี้รัก ซึ่ง “กระแหนะ” หรือพิมพ์ลายจากแม่พิมพ์ ลวดลายที่นำมาติดจะแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของหัวโขนแต่ละหัว ช่างผู้สร้างหัวโขนต้องพิจารณาตกแต่งให้ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของหัวโขนแต่ละหัว ตกแต่งหุ่นกระดาษนั้นทั้งรูปหน้า ปาก จมูก คิ้ว ตา ฯลฯ ให้มีความงดงามคมชัดจากนั้นนำมาใส่เครื่องประกอบ หมายถึงส่วนที่ลอยตัวออกมาจากหัวโขนเช่นจอนหู ซึ่งแต่โบราณจะทำโครงด้วยหนังวัว ฉลุและติดลวดลายขี้รัก “กระแหนะ” จากนั้นจึงลงรักปิดทอง เขียนลายระบายสีตัดเส้นและติดกระจกหรือพลอยในส่วนที่เป็นเครื่องประดับตามรูปแบบ

ก่อนที่จะนำหัวโขนที่สร้างใหม่ไปแสดงต้องทำพิธีเบิกพระเนตร หมายถึงให้มีดวงตาอันเป็นทิพย์ เมื่อนำไปสวมแสดงครั้งแรกผู้สอนหรือครูจะเป็นผู้สวมให้ ผู้แสดงต้องพนมมือน้อมรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ขณะที่ครูสวม



ภาพจากซ้ายไปขวา พระลักษณ์-พระวิษณุกรรม-องคต

 

หน้าโขนหรือหัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งเทพเจ้า ฤษี พระ ยักษ์และลิง มีสีสันและลักษณะที่แตกต่างกันตามที่โบราณาจารย์กำหนดรูปแบบและถือปฏิบัติสืบกันมา ในการแสดงโขนบางตอนตัวโขนตัวเดียวกันจะสวมหน้าที่มีสีต่างกัน เช่น ทศกัณฐ์ ปกติหน้าสีเขียว แต่ถ้าแสดงตอนทศกัณฐ์ลงสวนหรือฉุยฉายทศกัณฐ์ จะสวมหน้าสีทอง หนุมาน ปกติสวมมาลัยทอง แต่ถ้าแสดงตอนเป็นอุปราชกรุงลงกาสวมมงกุฎเดินหน ตอนเป็นพระยาอนุชิตสวมมงกุฎชัย ตอนบวชสวมชฏาฤษี เป็นต้น หน้าโขนหรือหัวโขนจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้  

  - เทพเจ้าและเทวดาต่างๆ เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ พระอรชุน พระมาตุลี เป็นต้น
  - พระครูพิราพและพระครูฤษี เช่น พระฤษีวสิษฐ์ พระฤษีกไลโกฏ พระฤษีโคบุตร เป็นต้น
  - พระ (มนุษย์) เช่น ท้าวอัชบาล พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด เป็นต้น
  - วานร มีทั้งพญาวานรที่สวมมงกุฎ เช่น พาลี สุครีพ ชมพูพาน ฯลฯ ที่สวมมาลัยทอง เช่น หนุมาน นิลพัท ฯลฯ
    วานรสิบแปด มงกุฎ เตียวเพชรและเขนลิง เป็นต้น
  - ยักษ์ มีทั้งสวมมงกุฎเรียกว่า “ยักษ์ยอด” เช่น ทศกัณฐ์ พิเภก อินทรชิต มารีศ ฯลฯ
    ไม่สวมมงกุฎเรียกว่า “ยักษ์โล้น” เช่น กุมภกรรณ สำมนักขา ฯลฯ หน้าโขนยักษ์ยังมีลักษณะเฉพาะ
    แตกต่างกันไปอีก เช่น ปาก เขี้ยว ตา เป็นต้น
  - สัตว์ต่างๆ เช่น ครุฑ นกสดายุ นกสัมพาที เป็นต้น


พระลักษณ์-พระราม

หน้าโขนแต่ละหน้ามีรายละเอียดของศิราภรณ์ หรือเครื่องประดับศีรษะต่างกันไปตามฐานานุศักดิ์ เช่น เทพเจ้าสำคัญและวงศ์กษัตริย์จะสวมมงกุฎซึ่งมีหลายชนิด คือ มงกุฎชัย มงกุฎเดินหน มงกุฎสามกลีบ เสนาผู้ใหญ่ฝ่ายวานรสวมมาลัยทอง ฝ่ายยักษ์สวมกระบังหน้า ในส่วนของหน้าโขนยักษ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากจะแสดงลักษณะเด่นของแต่ละตนด้วยสีแล้ว เครื่องศิราภรณ์ยังจำแนกออกเป็นหลายชนิด โดยเฉพาะพญายักษ์ เช่น มงกุฎกระหนก มงกุฎหางไก่ มงกุฎหรือชฎาจีบ ทั้งยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของปากและตาแตกต่างกันไป เช่น ปากขบ ปากแสยะ ตาโพลง ตาจระเข้ เป็นต้น

รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของสี ศิราภรณ์ ปากและตา ฯลฯ นั้น โบราณกำหนดไว้เป็นแบบแผน ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด ผู้ชมที่มีพื้นความรู้เมื่อได้เห็นตัวโขนตัวใดตัวหนึ่งออกมา จึงรู้ได้ทันทีว่าเป็นใคร และเมื่อได้ฟังคำพากย์เจรจาก็จะรู้ได้ว่าโขนแสดงตอนใด


ภาพจากซ้ายไปขวา องคต-นิลพัท

• สังเขปพงศ์รามเกียรติ์และลักษณะหน้าโขน
เรื่องที่นำมาเล่นโขนคือรามเกียรติ์ เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหายาว แบ่งเป็นหลายตอน สาระสำคัญคือการสงครามที่ประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของฝ่ายพระราม ซึ่งเป็นพงศ์นารายณ์อวตารกับฝ่ายทศกัณฐ์และยักษ์สัมพันธมิตร บุคคลต่างๆ ทั้งฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฐ์ล้วนมีวงศ์ญาติและประวัติความเป็นมา ตลอดจนความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาแต่อดีต  ดังนั้น ผู้ที่จะดูโขนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมา ตลอดจนลักษณะเด่นของบุคคลดังกล่าว

พงศ์นารายณ์
วงศ์กษัตริย์แห่งอยุธยา พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี ในดอกบัวนั้นมีกุมารผู้หนึ่ง พระนารายณ์จึงนำขึ้นไปถวายพระอิศวร ประทานนามว่าอโนมาตันและให้พระอินทร์ลงมาสร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยาให้ ท้าวอโนมาตันมีโอรสคือท้าวอัชบาล เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๒  ท้าวอัชบาลมีโอรสคือท้าวทศรถ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ ท้าวทศรถมีมเหสี ๓ องค์ ได้แก่ นางเกาสุริยามีโอรสคือ พระราม เป็นพระนารายณ์อวตาร นางไกยเกษีมีโอรสคือพระพรต เป็นจักรของพระนารายณ์อวตารมาเกิด นางสมุทรชามีโอรสคือพระลักษณ์ เป็นบัลลังก์นาคอวตารมาเกิด กับพระสัตรุด เป็นคทาอวตารมาเกิด พระรามเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของกรุงทวารวดีมีมเหสีคือนางสีดา ซึ่งเป็นพระลักษมีอวตารมาเกิด และมีโอรสคือพระมงกุฎ (ในรามายณะว่า กุศ และ ลว)




ลักษณะหน้าโขนพงศ์นารายณ์

ท้าวอโนมาตัน  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้า
ท้าวอัชบาล  หน้าพระสีขาว  มงกุฎน้ำเต้า (บางตำราว่ามงกุฎชัย)
ท้าวทศรถ  หน้าพระ สีขาว มงกุฎชัย
พระราม  หน้าพระ สีขาวนวล มงกุฎชัยหรือมงกุฎเดินหน
พระพรต  หน้าพระ สีแดงชาด มงกุฎชัย
พระลักษณ์  หน้าพระ สีทอง มงกุฎเดินหนหรือมงกุฎชัย
พระสัตรุด  หน้าพระ สีม่วงอ่อน มงกุฎชัย


พงศ์มเหศวร
รามเกียรติ์เป็นเรื่องอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าสำคัญๆ หลายองค์ เช่น พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระสุรัสวดี และเทวดาอื่นๆ เช่น พระอินทร์ พระมาตุลี พระอรชุน เป็นต้น
ลักษณะหน้าโขนพงศ์มเหศวรและเทพเจ้าบางองค์
พระอิศวร  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากาบ
พระนารายณ์  หน้าพระ สีดอกตะแบก มงกุฎชัย
พระพรหมธาดา  หน้าพระ หน้า ๒ ชั้น ๔ หน้า สีขาว มงกุฎชัย
พระคเณศ  หน้าเป็นช้าง สีแดง (บางตำราว่าสีสำริด) เทริดยอดน้ำเต้า
พระอินทร์  หน้าพระ สีเขียว มงกุฎเดินหน
เทวดาอำมาตย์พระอิศวร  หน้าพระ สวมกระบังหน้า มี ๔ องค์ สีกายต่างกันคือ
     จิตตุบท สีหงชาด
     จิตตุบาท  สีหงดิน
     จิตตุราช สีทอง
     และ จิตตุเสน สีเสน
เทวดาอำมาตย์พระอินทร์  หน้าพระ มี ๓ องค์ คือ
    มาตุลี สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลม
    วิษณุกรรม สีเขียว หัวโล้นหรือโพกผ้า ที่ผมเขียนลายดอกไม้ทอง
    เวสสุญาณ สีเหลือง มงกุฎน้ำเต้ากลม
พระอรชุน หน้าพระ สีทอง มงกุฎชัย
ท้าวธตรฐ หน้าพระ สีหงดินอ่อน มงกุฏหางไก่ จตุโลกบาล ทิศบูรพา เป็นใหญ่เหนือเหล่าคนธรรพ์
ท้าววิรุฬหก  หน้าพระ สีมอคราม หรือ สีม่วงแก่ มงกุฎชัย จตุโลกบาลทิศทักษิณ เป็นใหญ่เหนือเหล่ากุมภัณฑ์
ท้าววิรูปักษ์ หน้าพระ สีขาว หรือ สีม่วง มงกุฎเศียรนาค จตุโลกบาลทิศประจิม เป็นใหญ่เหนือนาคทั้งหลาย
     รูปวิรูปักษ์ท้าว          เทวินทร์ แทตย์นา
     เป็นใหญ่ในภุชคินทร์   ทั่วหล้า
     อยู่ทิศปัศจิมระบิล      บรรพ์บอก ชัดแฮ
     ใช้มงกุฎชัยหน้า        ม่วงต้องตามพงศ์ ฯ
                                        พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร


ภาพจากซ้ายไปขวา สุครีพ-ชมพูพาน

ท้าวเวสสุวัณ  หน้าพระ สีเขียว (บางตำราว่าสีทอง)
          มงกุฎน้ำเต้า ๔ เหลี่ยม จตุโลกบาลทิศอุดร เป็นใหญ่เหนือหมู่ยักษ์
พระปัญจสีขร  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด
         เทพคนธรรพ์ เจ้าแห่งการดนตรี
พระปรคนธรรพ  หน้าพระ สีเขียว ชฎายอดฤษี
          เทพคนธรรพ์ เจ้าแห่งการดนตรี



พงศ์วานร
วานรที่ร่วมอยู่ในกองทัพของพระรามมาจาก ๒ เมือง คือ ชมพูและขีดขิน จำแนกตามฐานานุศักดิ์ได้ดังนี้

พญาวานร คือ วานรกษัตริย์ เช่น ท้าวมหาชมพู พาลี วานรวงศ์กษัตริย์ เช่น นิลพัท นิลนนท์ องคต และวานรที่เกิดจากฤทธิ์ของพระเป็นเจ้า เช่น ชามพูวราช ชมพูพาน หนุมาน เป็นต้น พญาวานรเหล่านี้บางตนศีรษะสวมมงกุฎ บางตนสวมมาลัยทอง มีทั้งหมด ๑๑ นาย

วานรสิบแปดมงกุฎ ได้แก่ เสนาวานร ๑๘ นาย ที่เป็นเทพบุตรจุติลงมาเกิดช่วยพระรามรบกับเหล่าอสูร มงกุฎมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า มกฺกต แปลว่า ลิงหรือวานร สิบแปดมงกุฎมีความหมายว่า วานรสิบแปดนาย แบ่งเป็นจากเมืองขีดขิน ๙ นาย และจากเมืองชมพู ๖ นาย ไม่ปรากฏว่ามาจากเมืองใด ๓ นาย ทั้ง ๑๘ นาย ศีรษะสวมมาลัยทอง

วานรเตียวเพชร  ได้แก่ มุขมนตรีวานร ๙ นาย เป็นชาวเมืองขีดขิน ๗ นาย ชาวเมืองชมพู ๑ นาย และไม่ปรากฏว่ามาจากเมืองใด ๑ นาย คาดผ้าตะบิดโพกศีรษะ

นอกจากนี้ยังมีวานรจังเกียง คาดศีรษะด้วยผ้าขลิบทองและเขนลิงหรือพลทหารสวมมงคลที่ศีรษะร่วมอยู่ในกองทัพ




ลักษณะหน้าโขนและพงศ์วานร
พญาวานร
ชามพูวราช หรือ นิลเกสร เกิดจากไม้ไผ่หน้าอาศรมฤษีสุขวัฒน สีแดงชาด ปากอ้า มงกุฎชัย
พาลี หรือ อากาศ เจ้าเมืองขีดขิน โอรสพระอินทร์กับนางกาลอัจนา
 สีเขียวสด ปากอ้า มงกุฎเดินหน (ชฎายอดบัด)
     พาลีพานเรศเจ้า      ขีดขิน นครเฮย
     เอารสองค์อมรินทร์   ฤทธิ์กล้า
     ทรงชฎาลอออิน      ทรีย์สด เขียวแฮ
     ใครรบสบแรงล้า      กึ่งเปลี้ยเสียศูนย์
                               กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ

สุครีพ อุปราชเมืองขีดขิน โอรสพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนา สีแดงเสน
หรือ สีแดงชาด ปากอ้า มงกุฎเดินหน (ชฎายอดบัด) เป็นผู้จัดทัพฝ่ายพลับพลา
     สุครีพเอารสไท้        ทินกร
     สวมชฎาอาภรณ์       เพริศพร้อม
     อุปราชขีดขินนคร      เอกอมาตย์ งามแฮ
     สีสกนธ์กลย้อม        ชาดกลั้วสกลกาย ฯ
                         กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ

ชมพูพาน  พระอิศวรชุบขึ้นด้วยเหงื่อไคล เป็นโอรสบุญธรรมของพาลี สีหงชาด
ปากอ้า มงกุฎชัย เป็นแพทย์ เสนารักษ์ประจำกองทัพพระราม
     ขุนพานเรศชื่อชี้       ชมพู พานเฮย
     ไคลเหงื่ออิศวรถู      ชุบกล้า
     หงชาดสกนธ์ดู        แดงเทิด ขรรค์แฮ
     สวมมกุฎชัยเฉิดฟ้า   บุตรเลี้ยงพาลี ฯ
                         พระยาราชวรานุกูล

หนุมาน โอรสพระพายกับนางสวาหะ เป็นหลานน้าของพาลีและสุครีพ สีขาวผ่อง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
ตอนเป็นอุปราชกรุงลงกาสวมมงกุฎเดินหน ตอนครองเมืองนพบุรีสวมมงกุฎชัย และตอนหนุมานบวชสวมชฎายอดฤษี
     กบินทร์บุตรมารุตนี้      นามหนุ มานแฮ
     ผิวเผือกตรีเทพอุ        กฤษฏ์แกล้ว
     แสดงเดชสี่พักตร์ดุ      แปดหัตถ์ หาญแฮ
     โลมเพชรอีกเขี้ยวแก้ว   อีกทั้งกุณฑล ฯ
                         หลวงบรรหารอัตถคดี

องคต  โอรสพาลีกับนางมณโฑ สีเขียวมรกต ปากหุบ มงกุฎสามกลีบ
     นามขุนกบี่นี้          องคต เสนอนอ
     กากาศราชเอารส    ฤทธิ์ล้ำ
     สีเขียวดุจมรกต      มกุฎกลีบ สามแฮ
     เถลิงยศอุปราชค้ำ   เขตด้าวขีดขิน ฯ
                         ขุนวิจิตรวรสาสตร

มัจฉานุ โอรสหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา  หน้าเป็นวานร
มีหางเป็นปลา สีขาวผ่อง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     หลานลมหลานราพณ์ทั้ง   หลานปลา
     หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา   นเรศพ้อง
     ยลหางอย่างมัตสยา       กายเศวต  สวาแฮ
     นามมัจฉานุป้อง           กึ่งหล้าบาดาล ฯ  
                         กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

อสุรผัด โอรสหนุมานกับนางเบญกาย ผมและตัวเป็นยักษ์
 หน้าเป็นวานร สีเลื่อมประภัสสร ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วายุบุตรปิตุหน้า         กบินทร์หมาย เหมือนนอ
     กายเกศเพศเบญกาย   มาตุนั้น
     สมเญศอสุรผัดผาย     เกรียติเกริก ไกรแฮ
     อุปราชอัยยกากั้น        ศึกกั้งลงกา ฯ
                         กรมหมื่นพิชิตปรีชากร


ภาพจากซ้ายไปขวา : มหาชมพู-ทศกัณฐ์ (หน้าทอง)

ท้าวมหาชมพู  เจ้าเมืองชมพู สีขาบ หรือ สีปีกแมลงทับ ปากอ้า มงกุฎชัย
     ชุมพูพานเรศท้าว  จุลจักร
     สีขาบทรงสุรศักดิ์  ใหญ่ล้ำ
     สวมชฎาดุจองค์มัฆ  พานเปรียบ เสมอฤา
     ครองภพชมพูก้ำ  กึ่งหล้าฦาหาญ ฯ
                         ขุนภักดีอาษา

นิลพัท อุปราชเมืองชมพู  โอรสพระกาล สีน้ำรัก หรือ สีดำขลับ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ขุนพานเรศนี้          นิลพัท นามเนอ
     คือบุตรพระกาลชัด   สืบเชื้อ
     น้ำรักเทียบสีจัด       สิบแปด มกุฎแฮ
     เป็นเผ่าชมพูเกื้อ      เกิดด้วยเดชราม ฯ
                         ขุนศรีราชอักษร

นิลนนท์ โอรสพระเพลิง สิงหงสบาท หรือ สีหงเสนเจือเหลือง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     นิลนนท์พานเรศนี้       ในพงศ์
     สิบแปดมงกุฎทรง       เดชก้อง
     สีกายก่ำดั่งหง           สบาท
     บุตรพระเพลิงเกิดพ้อง  เพื่อล้างพลมาร ฯ
                         หมื่นพากยโวหาร


วานรสิบแปดมงกุฎ
เกยูร  ฝ่ายขีดขิน ท้าววิรุฬหกแบ่งภาคมาเกิด สีม่วงแก่ หรือ สีม่วงชาดแก่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     เกยูรนามเยี่ยงนี้     ในสกนธ์ นั้นฤา
     สีม่วงแก่มัวมน       เผือดคล้ำ
     วิรุฬหกเวหน         หากแบ่งภาคแฮ
     ชูช่วยราเมศห้ำ      หั่นเสี้ยนศึกอสูร ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

โกมุท หรือโคมุท  ฝ่ายขีดขิน  พระหิมพานต์แบ่งภาคมาเกิด สีบัวโรย ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     สมญาโกมุทผู้            พิสดาร
     สีปทุมโรยปาน           เปรียบได้
     คือองค์พระหิมพานต์    ปันภาค
     หวังรบราพณ์ฉลองใต้   บาทเบื้องอวตาร ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค


ภาพจากซ้ายไปขวา : กุมภกรรณ-นางสำมนักขา

ไชยามพวาน ฝ่ายเมืองขีดขิน พระอีศาณแบ่งภาคมาเกิด เป็นผู้ถือธงชัยทัพพระราม สีเทา หรือ สีมอหมึกอ่อน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     คนธงนำทัพไท้         อวตาร
     นามว่าไชยยามพวาน  ภาพนี้
     สีเทาพระอีศาน        เทวบุตร
     จุติจากสวรรค์ลี้        แบ่งเพี้ยงภาคผัน ฯ
                        พระเทพกวี

มาลุนทเกสร ฝ่ายเมืองขีดขิน พระพฤหัสบดีแบ่งภาคมาเกิด สีเมฆ หรือ สีม่วงครามอ่อน ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     ทวยหาญพระกฤษณผู้    ชาญสมร
     คือพฤหัสบดีจร            จากฟ้า
     มาลุนทเกสร               นามกบี่
     มีเมฆเรืองฤทธิ์กล้า        กลั่นแกล้วกลางณรงค์   
                         พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต

วิมล หรือ นิลพานร ฝ่ายเมืองขีดขิน พระเสร์แบ่งภาคมาเกิด สีดำหมึก ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     พานเรศรูปนี้          นามกร
     ว่าวิมลวานร          เนื่องอ้าง
      สีดำแบ่งภาคจร      จากพระ เสาร์แฮ
      เนาบุเรศเขตกว้าง   ชื่อพร้องขีดขิน ฯ
                          ขุนมหาสิทธิโวหาร

ไวยบุตร ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระพิรุณแบ่งภาคมาเกิด สีเมฆครึ้มฝน หรือ สีมอครามแก่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ไวยบุตรกบี่นี้              เพรงขาน นามเอย
     พิรุณเทพอวยพรรษธาร  ทั่วหล้า
     จุติช่วยพิษณุราญ         รอนราพณ์
     สีเฉกเมฆมัวฟ้า            มือคลุ้มชอุ่มฝน ฯ
                    ขุนพิสนทสังฆกิจ

Kimleng:
.


ภาพจากซ้ายไปขวา : พิเภก-รามสูร-อินทรชิต

สัตพลี ฝ่ายขีดขิน พระจันทร์แบ่งภาคมาเกิด สีขาวผ่อง ปากหุบ สวมมาลัยทอง

สุรกานต์  ฝ่ายขีดขิน  พระมหาชัยแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองจำปา หรือสีแดงชาด ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     สีเหลืองวานเรศร้าย     เริงแรง
     สุรกานต์นามแสดง      เดชห้าว
     มหาชัยเอกองค์แปลง   เปลี่ยนภาค
     มาช่วยวาสุเทพท้าว     ล่มล้างเหล่าอสูรฯ  
                         พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

สุรเสน ฝ่ายเมืองขีดขิน พระพุธแบ่งภาคมาเกิด  สีแสด หรือ สีเขียว ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วานรเตียวเพชรนี้       นามสุ รเสนแฮ
     คือพระพุธสุดดุ         เดชล้ำ
     อาจปราบอสูรลุ         ฦาฤทธิ์ เร็วเฮย
     สีแดงสุดเก่งก้ำ         เกือบแม้นหนุมาน ฯ
                         ขุนวิสูตรเสนี

นิลขัน ฝ่ายเมืองชมพู  พระพิเนศแบ่งภาคมาเกิด สีหงดิน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     พานรตนนี้นี่            นามนิล ขันพ่อ
     กายเลื่อมสีหงดิน      เดชแกล้ว
     คือพระพิเนศผิน        ฝันภาค  มานา
     เปรียบดุจขุนพลแก้ว   เกิดด้วยบุณย์ราม ฯ
                         ขุนวิสูตรเสนี

นิลปานัน ฝ่ายเมืองชมพู พระราหูแบ่งภาคมาเกิด สีสำริด ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     นิลปานันอยู่ด้าว       ชมพู นครเฮย
     พวกสิบแปดมงกุฎชู   ชื่อไว้
     คือองค์พระราหู        มาจุ ตินา
     สีเล่ห์สัมฤทธิ์ไล้       เลิศล้ำฤทธิรงค์
                          พระยาศรีสิงหเทพ

นิลปาสัน  ฝ่ายเมืองชมพู พระศุกร์แบ่งภาคมาเกิด สีเลื่อมเหลือง หรือ สีหมากสุก ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     พระศุกร์อุบัติขึ้น           เป็นสวา
     เหลืองเลื่อมวรรณโลมา   คะมิ่นย้อม
     มีนามแน่นิลปา-           สันแหละ พ่อเฮย
     แรงฤทธิ์เดชเก่งพร้อม     แพร่ทั้งชมพู ฯ  
                          ขุนวิสูตรเสนี

นิลราช ฝ่ายเมืองชมพู พระสมุทรแบ่งภาคมาเกิด สีน้ำไหล หรือ สีฟ้าอ่อนเจือเขียว ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     พานรนิลราชกร้าว      ฤทธิไกร
     สีเช่นชลไหลใส        สดแพร้ว
     คือพระสมุทรไคล      คลาศแบ่ง ภาคฤา
     เป็นทหารหริแกล้ว     เศิกกล้าราวี ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

นิลเอก  ฝ่ายเมืองชมพู พระพินายแบ่งภาคมาเกิด สีทองแดง ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     นิลเอกตนนี้พระ       พินายลง อุบัตินา
     เป็นพวกสิบแปดมง   กุฎแกล้ว
     เนื่องขัตติยวงศ์       นครเขต  ชมพูเฮย
     สีดุจดามพะแผ้ว      ผ่องแม้นสุริยัน ฯ
                           พระยาศรีสิงหเทพ


ภาพจากซ้ายไปขวา : มังกรกัณฐ์-ทศคิรีวัน-ทศคิรี

วิสันตราวี  ฝ่ายเมืองชมพู  พระอังคารแบ่งภาคมาเกิด สีลิ้นจี่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ขุนพานนเรศรูปนี้      นามมี
     คือวิสันตราวี           บอกสิ้น
     อังคารเทพลี           ลาศแบ่ง มาฤา
     กายก่ำเล่ห์สีลิ้น       จี่ล้วนแลงามฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

กุมิตัน ไม่ปรากฎฝ่าย  พระเกตุแบ่งภาคมาเกิด สีทอง หรือ สีเหลืองรง ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     รังภาพรูปบอกแจ้ง    เพศพรรณ
     ขุนกบี่กุมิตัน           ชื่ออ้าง
     ฉวีสีสุวรรณสรร        ส่อเหตุ เดิมพ่อ
     พระเกตุแบ่งภาคร้าง  โลกพ้นเป็นสวา ฯ
                         พระเทพกวี

เกสรทมาลา ไม่ปรากฏฝ่าย พระไพศรพณ์แบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองอ่อน หรือ สีเลื่อมเหลือง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ไพศรพณ์ผันภาคตั้ง      ตัวสวา หนึ่งแฮ
     สีเลื่อมเหลืองเทียมทา   มาศแพร้ว
     เกสรทมาลา              ฦาเดช
     ทุกราพณ์รอฤทธิ์แล้ว    กลอกเกล้ากลัวมือ ฯ
                         พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

มายูร ไม่ปรากฏฝ่าย  ท้าววิรูปักษ์แบ่งภาคมาเกิด สีม่วงอ่อน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วิรูปักษ์มรุเจ้า           จุติลง
     เป็นกบี่มายูรยง         อาจอ้าง
     สีม่วงอ่อนพักตร์มง     กุฎสิบ แปดนา
     รองบาทนารายณ์ล้าง  เศิกสิ้นทมิฬศูนย์ ฯ
                          หลวงอินทรอาวุธ


ภาพจากซ้ายไปขวา : วิรุญจำบัง-อากาศตะไล-จักรวรรดิ

วานรเตียวเพชร
ญาณรสคนธ์ ฝ่ายเมืองขีดขิน ท้าวธตรฐแบ่งภาคมาเกิด สีขาวกระบัง หรือ สีขาวใส ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

ทวิพัท ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระโสมราชแบ่งภาคมาเกิด สีดอกชบา ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

ปิงคลา ฝ่ายเมืองขีดขิน พระยมแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองแก่ หรือ สีแสดอ่อน ปากหุบ โพกผ้าตระบิด

มหัทวิกัน  ฝ่ายเมืองขีดขิน พระประชาบดีแบ่งภาคมาเกิด สีหงชาด ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

วาหุโรม ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระสันดุสิตเทวบุตรแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองเทา หรือ สีเหลืองนวลเทา ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

อุสุภศรราม ฝ่ายเมืองขีดขิน  ท้าวเวสสุวัณแบ่งภาคมาเกิด สีขาบ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

มากัญจวิก  ฝ่ายเมืองขีดขิน จิตตุบทแบ่งภาคมาเกิด สีมอคราม ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

โชติมุข ฝ่ายเมืองชมพู  จิตตุบาทแบ่งภาคมาเกิด สีก้ามปู หรือ สีหงเสนแก่ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

นิลเกศี ไม่ปรากฎฝ่าย พระวลาหกแบ่งภาคมาเกิด สีแดงดังดอกกมุทบาน หรือ สีแดงชาด ผมสีดำ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด


หนุมาน ประดิษฐ์จากโลหะ
(จากทะเบียนเดิมขอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

พงศ์อสูร
ยักษ์และอสูรในเรื่องรามเกียรติ์มีหลายพงศ์ หลายตระกูล บางตนมีความเกี่ยวข้องกับทศกัณฐ์ในฐานะญาติ เช่น พญาทูษณ์ นางกากนาสูร กุมภกรรณ บางตนเป็นสหาย เช่น ท้าวจักรวรรดิ สัทธาสูร มูลผลัม บางตนไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับทศกัณฐ์ เช่น ปักหลั่น กุมพล เป็นต้น ต้นวงศ์ของทศกัณฐ์เป็นพงศ์พรหม ท้าวสหบดีพรหม ลงมาสร้างกรุงลงกาให้ท้าวอัษฎามหาพรหมหรือ จตุรพักตร์ ครอบครอง จตุรพักตร์มีโอรส คือ ท้าวลัสเตียน มีมเหสี ๕ องค์ คือ นางศรีสุนันทา มีโอรสชื่อกุเปรัน นางจิตรมาลี มีโอรสชื่อทัพนาสูร นางสุวรรณมาลัย มีโอรสชื่ออัศธาดา นางวรประไพ (วรประภา) มีโอรสชื่อมารัน นางรัชฏา มีโอรสธิดา คือทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก ขรทูษณ์ ตรีเศียร และ นางสำมนักขา  นอกจากนี้ยังมีวงศ์ญาติของทศกัณฐ์อีกหลายตน เช่น กากนาสูร มีโอรส คือ สวาหุและมารีศ

ทศกัณฐ์ครองกรุงลงกาต่อจากท้าวลัสเตียน ได้นางมณโฑกับนางกาลอัคคีเป็นมเหสี มีโอรสธิดาเกิดแต่นางมณโฑ คือ อินทรชิต ทศพินและนางสีดา มีโอรสธิดาเกิดแต่นางกาลอัคคีคือบรรลัยกัลป์ เกิดแต่นางสนม คือ สหัสกุมาร และ สิบรถ เกิดแต่นางปลา คือ สุพรรณมัจฉา เกิดแต่นางช้างคือ ทศคิรีวัน ทศคีรีธร เมื่อมีศึกประชิดกรุงลงกา ทศกัณฐ์ให้ญาติวงศ์ของตนออกสู้รบ ล้มตายลงเป็นอันมาก จึงขอให้สหายอสูรต่างเมืองมาช่วยรบ เช่น จักรวรรดิ ไมยราพ สหัสสเดชะ


ลักษณะหน้าโขนพงศ์อสูร
อสูรที่เป็นญาติและสหายของทศกัณฐ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโขน

ทัพนาสูร พญายักษ์ เจ้าเมืองจักรวาล โอรสท้าวลัสเตียน เป็นพี่ของทศกัณฐ์ สีหงดิน มงกุฎสามกลีบ ปากขบ ตาจระเข้

อัศธาดา พญายักษ์ เจ้าเมืองวัทกัน โอรสท้าวลัสเตียน เป็นพี่ทศกัณฐ์
สีขาว (๔ หน้า ๘ มือ) มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาจระเข้
     แปดหัตถ์สีเศวตนี้       อัศธา ดาเอย
     พักตร์สี่ทรงขรรค์ศรา   วุธห้าว
     มกุฎชัยสี่ยอดปรา       กฎเช่น พรหมแฮ
     ครองเขตวัทกันด้าว     หน่อไท้ลัสเตียน ฯ
                         นายทัด กุเรเตอ

มารัน พญายักษ์ เจ้าเมืองโสฬส โอรสท้าวลัสเตรียน เป็นพี่ทศกัณฐ์
สีทอง มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้
     มารันกาญจนเนื้อ        นามตรง
     มงกุฎหางไก่ทรง        ฤทธิ์ห้าว
     โสฬสนครคง            เขตครอบ ครองแฮ
     บุตรวรประไภนางท้าว   ปิตุนั้นลัสเตียน ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

ทศกัณฐ์ พญายักษ์ เจ้ากรุงลงกา โอรสท้าวลัสเตียน สีเขียว หน้า ๓ ชั้น ๑๐ หน้า ๒๐ มือ  
มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาโพลง สีทองใช้สำหรับแสดงตอนทศกัณฐ์ลงสวนและฉุยฉายทศกัณฐ์
     ทศกัณฐ์สิบพักตร์ชั้น  เศียรตรี
     ทรงมกุฏชัยเขียวสี    อาตม์ไท้
     กรยี่สิบพระศุลี         ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา
     ถอดจิตจากตนได้     ปิ่นด้าวลงกา ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์

กุมภกรรณ พญายักษ์ อุปราชกรุงลงกา โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องทศกัณฐ์
สีเขียว ไม่มียอด ทำหน้าเล็กไว้ด้านหลัง ๓ หน้า ปากแสยะ ตาโพลง
     รูปราพณ์ตนนี้ชื่อ           ปรากฏ นามเอย
     กุมภกรรณนุชาทศ         พักตร์ท้าว
     เป็นอุปราชเรืองยศ         ผิวพิศ เขียวแฮ
     ทองหอกโมกขศักดิ์ห้าว   มหิทธิ์เหี้ยมหาญณรงค์ ฯ
                         ขุนพิสนทสังฆกิจ


ภาพจากซ้ายไปขวา : กากนาสูร-นางสำมนักขา (หน้าทอง)

พิเภก พญายักษ์ โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องกุมภกรรณ
สีเขียว มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาจระเข้
     พิเภกน้องแทตย์        ทศกัณฐ์
     คือแว่นเวสสุญาณสรร  สืบสร้าง
     เพทางคศาสตร์ขยัน    ยลยวด ยิ่งเฮย
     ทรงมงกูฎน้ำเต้าอ้าง   อาตม์พื้นขจีพรรณ ฯ
                         นายทัด  กุเรเตอ

พญาขร พญายักษ์ เจ้าเมืองโรมคัล โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพิเภก สีเขียว มงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้

พญาทูษณ์ พญายักษ์ เจ้าเมืองจารึก โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพญาขร สีม่วงแก่ มงกุฎกระหนก ปากขบ ตาจระเข้

ตรีเศียร  พญายักษ์ เจ้าเมืองมัชวารี โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพญาทูษณ์ สีขาว มงกุฎ ๓ ยอดอย่างอสูร ปากขบ ตาจะเข้
     ตรีเศียรสามพักตร์แผ้ว    เศวตสี กายเฮย
     ครองภพมัชวารี           ฤทธิ์ห้าว
     หกหัตถ์มกุฎตรี           ยอดอย่าง  อสูรแฮ
     เรียงร่วมมารดาท้าว      แทตย์ไท้ทศเศียร ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

สำมนักขา  ยักษิณี  ธิดาท้าวลัสเตียน น้องหญิงสุดท้องของทศกัณฐ์ สีเขียวสด (หรือสีทอง) สวมกระบังหน้า ไว้ผมปีก ปากแสยะ ตาจระเข้
     สำมนักขาชื่ออ้าง      อสุรพันธุ์
     นางกนิษฐ์ทศกัณฑ์    แก่นไท้
     ฉวีกายสกลวรรณ      เขียวสด สะอาดนอ
     เป็นเอกชาเยศได้      อยู่ด้วยชิวหา ฯ
                         ขุนมหาสิทธิโวหาร

อินทรชิต (รณพักตร์) โอรสทศกัณฐ์ สีเขียว มงกุฎเดินหน จอนหูอย่างมนุษย์ ปากขบ ตาโพลง เขี้ยวดอกมะลิ
     อินทรชิตเดิมชื่ออ้าง      รณพักตร์
     เทพประสาทศรศักดิ์      สิทธิ์ให้
     ทรงมกูฏมนุษย์ลักษณ์    สีเท่ห์ เขียวนอ
     เขี้ยวงอกลับบุตรไท้       แทตย์ท้าวทศกัณฐ์
                         พระยาศรสิงหเทพ


ภาพจากซ้ายไปขวา : สัทธาสูร-ฤษี ประดิษฐ์จากโลหะ

ทศคิรีธร โอรสทศกัณฐ์ เกิดจากนางช้าง สีหงดิน มงกุฎกาบไผ่
มีงวงที่ปลายนาสิก ขี่ม้าผ่านขาว ปากขบ ตาจระเข้
     บุตรกรีเกิดกับท้าว    จอมลง กาเฮย
     นามทศคีรีธรทรง     ฤทธิ์ร้าย
     หงดินผ่องผิวมง-     กุฎกาบ ไผ่แฮ
     นาสิกเป็นงวงคล้าย   เงื่อนเค้าชนนี ฯ
                         พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ

วิรุญจำบัง โอรสพญาทูษณ์ สีมอหมึก มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้ มีม้านิลพาหุ ตัวขาวหัวดำ (บางตำราว่าตัวดำปากแดง)  เป็นพาหนะ หายตัวได้ทั้งคนทั้งม้า
     เอารสพญาทูษณ์รู้    เวทฉมัง
     นามวิรุญจำบัง         แก่นท้าว
     ครองชนบทมกุฎดัง   หางไก่ ฉลายแฮ
     กุมหอกหายตัวห้าว   มุขแม้นหมึกมอฯ
                         หลวงบรรหารอัตถคดี

กากนาสูรนางรากษสกรุงลงกา เป็นญาติชั้นยายของทศกัณฐ์ สีม่วงแก่ หน้าเป็นยักษิณี สัณฐานปากเป็นกา ตาจระเข้
     แถลงนามนางราพณ์ร้าย  ฤทธี
     กากนาสูรสี                ม่วงคล้ำ
     สัณฐานโอษฐ์อสุรี        ดุจปาก กานา
     พักตร์เพศยักษิณีน้ำ      จิตห้าวฮึกเหิม ฯ
                         หลวงฤทธิ์พลไชย

มารีศ บุตรนางกากนาสูร  เป็นญาติชั้นน้าของทศกัณฐ์ สีขาว มงกุฎสามกลีบ ปากขบ ตาโพลง
     มารีศบุตรยุพแก้ว      กากนา สูรฤา
     ขาวผ่องสีกายา        อย่างนี้
     มีมงกุฎโสภา           สามกลีบ  ซ้อนแฮ
     ชีพละบัดคราวเมื่อลี้   ลาศเต้าตามกวาง ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

ชิวหา บุตรของมารีศ เป็นสามีนางสำมนักขา สีหงชาด มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาจระเข้
     แสดงรูปภาพนี้           ชิวหา
     ผัวนาฏสำมนักขา        คู่เคล้า
     ผิวพักตร์เทียบเทียมทา  หงชาด แลแฮ
     สามมกุฎรูปน้ำเต้า        ฤทธิ์ลิ้นแผ่โพยม ฯ
                        ขุนโอวาทวรกิจ


ภาพจากซ้ายไปขวา : พระพิราพทรงเครื่อง-พระพิราพ

กุมภกาศ บุตรชิวหากับนางสำมนักขา สีหงดิน มงกุฎน้ำเต้าเฟือง ปากแสยะ ตาจระเข้

เสนายักษ์กรุงลงกามีจำนวน ๒๐ ตน ได้แก่ มโหทร เปาวนาสูร การุณราช กาลสูร นนทจิตร นนทไพรี นนทยักษ์ นนทสูร พัทกาวี ภาณุราช มหากาย อิทธิกาย รณศักดิ์ รณสิทธิ์ โรมจักร ฤทธิกาสูร สุกรสาร ไวยวาสูร สุขาจาร และอสูรกำปั่น นอกจากนี้ยังมีกองลาดตระเวนรักษากรุงอีก ๗ ตน ได้แก่ กุมภาสูร ฤทธิกัน สารัณทูต วิชุดา วายุภักษ์ อากาศตะไล และผีเสื้อสมุทร

มโหทร เสนาบดีกรุงลงกา สีเขียว มงกุฏน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาโพลง

เปาวนาสูร เสนาบดีกรุงลงกา สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาโพลง

อากาศตะไล นางอสูรเสื้อเมือง รักษาด่านทางอากาศ สีแดงเสน (๔ หน้า ๘ มือ) มงกุฏน้ำเต้า ๕ ยอด ปากแสยะ ตาโพลง

ผีเสื้อสมุทร  นางยักษิณีผู้รักษาด่านทางน้ำ สีหงดิน ไม่มียอด ปากแสยะ ตาจระเข้
     อสุรีผีเสื้อสมุทร      มหึมา
     ผิวดุจหงดินทา       ทาบเนื้อ
     รักษาด่านชานมหา   สมุทรใหญ่
     แขวงเกาะลงกาเชื้อ  ชาติแท้ทมิฬมาร ฯ
                         หมื่นพากยโวหาร

ยักษ์และอสูรต่างเมืองที่ทศกัณฐ์ขอให้มาช่วยทำศึกกับพระรามในที่นี้นำมากล่าวรายละเอียดเฉพาะบางตนเท่านั้น

จักรวรรดิ พญายักษ์ เจ้ากรุงมลิวัน สหายของทศกัณฐ์ สีขาว (๔ หน้า ๘ มือ)
หน้า ๒ ชั้น มงกุฎหางไก่ ปากแสยะ ตาโพลง
     จัตุรพักตร์สองชั้นชื่อ     จักรวรรดิ
     ทรงมกุฎหางไก่รัตน      ฤทธิ์ล้ำ
     อาวุธครบแปดหัตถ์       สหายทศ กัณฐ์แฮ
     ขาวผ่องครองนครค้ำ     เขตแคว้นมลิวัน ฯ
                        พระยาราชวรานุกูล

สุริยาภพ โอรสท้าวจักรวรรดิ สีแดงชาด มงกุฎและสัณฐานหน้าเหมือนอินทรชิต
     สุริยาภพบุตรท้าว      จักรวรรดิ
     กุมหอกนามเมฆพัท   กาจเกรี้ยว
     ทรงเครื่องขัตติยจรัส  ชฎามนุษย์  งามนา
     กายเฉกสีชาดเขี้ยว   งอกงุ้มงอนลง ฯ
                         พระยาศรีสิงหเทพ

บรรลัยจักร โอรสท้าวจักรวรรดิ  เป็นน้องสุริยาภพ สีม่วงอ่อน มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้

ไมยราพ พญายักษ์ เจ้ากรุงบาดาล สีม่วงอ่อน มงกุฎกระหนก รู้เวทสรรพยาเป่ากล้องสะกดทัพ ปากขบ ตาจระเข้
     วิรูปมัยราพณ์เจ้า          กรุงบา – ดาลแฮ
     สีม่วงอ่อนอสุรา           ฤทธิ์แกล้ว
     เป็นโอรสมหา             ยมยักษ์  นั้นนอ
     ทรงมงกุฎกระหนกแพร้ว  เผ่าพ้องพรหมินทร์ ฯ
                         หลวงอินทรอาวุธ

สหัสสเดชะ พญารากษส  เจ้าเมืองปางตาล สีขาว (๑,๐๐๐ หน้า ๒,๐๐๐ มือ)
หน้า ๔ ชั้น หรือ ๕ ชั้น มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาโพลง
     กุมภัณฑ์พันพักตร์เกล้า   เบญจ ปดลฤา
     นามสหัสสเดชะ           เศวตแผ้ว
     สองพันหัตถ์พรหมประ   สาทอริ  แกลนแฮ
     คทาเพชรศรแก้ว         ปกเกล้าปางตาล ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภา

สัทธาสูร  พญายักษ์ เจ้าเมืองอัสดงค์ สีหงเสน มงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้

อัศกรรณมาลาสูร พญายักษ์ เจ้าเมืองดุรัม สีม่วงแก่ (หน้า ๒ ชั้น ๗ หน้า) มงกุฎชัย ปากขบ ตาจระเข้
     ปิ่นดุรัมธิราชเชื้อ       พรหมา
     นามอัศกรรณมาลา    บอกไว้
     สองปดลเจ็ดพักตรา   มงกุฎ มนุษย์แฮ
     กายม่วงแก่มิตรไท้    แทตย์ท้าวทศกัณฐ์ ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช




ฤษี
ฤษีที่ปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์มีจำนวน ๓๓ ตน ปรากฏในเรื่อง “พงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์” ฉบับของประพันธ์ สุคนธะชาติ ดังนี้

“อนึ่ง นามพระดาบส คือพระฤาษี เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ชื่อ อจนคาวี ๑ ยุทธอักขร ๑ ทะหะ ๑ ยาคะ ๑ พระฤาษี ตั้งกำเนิดนางมณโฑ ชื่อ มหาโรมสิงหะ ๑ วตันตะ ๑ วชิระ ๑ วิสุทธิ ๑ พระฤาษีตั้งกำเนิดพาลี สุครีพ ชื่อ โคดม ๑  พระฤาษี เชิญพระนารายณ์ให้อวตาร ชื่อบรรลัยโกฏิ (กไลโกฏ) มีศีรษะเป็นหน้ามฤค ๑ วัชอัคคี ๑ วสิษฐ์ ๑ สวามิตร ๑ ภารัทวาช ๑ เป็น ๕ องค์ พระฤาษีเมื่อพระรามเดินป่า ชื่อ สุทรรศน์ ๑ นางสุไขดาบสินี ๑ อัคตะ ๑ สรภังค์ ๑ เป็น ๔ องค์ พระฤาษี อาจารย์ท้าวชนกจักรวรรดิ ชื่อ พระสุธามันตัน ๑ พระฤาษี พระอาจารย์พาลี ชื่อ อังคตะ ๑ พระฤาษี อาจารย์ทศกัณฐ์ ชื่อ โคบุตร ๑ พระฤาษีอาจารย์ไมยราพณ์ ชื่อ สุเมธ ๑ พระฤาษี เมื่อหนุมานไปพบครั้งถวายแหวนชื่อ พระชฏิล ๑ พระนารท ๑ พระฤาษี ซึ่งบอกพระรามให้จัดเอาไชยามพวานถือธงไชยนำทัพ ชื่อ อมรเมศวร ๑ พระฤาษี ซึ่งสาปนิลราช ชื่อ คาวิน ๑ พระฤาษี อาจารย์หนุมาน ชื่อ พระทิศไภย ๑ พระฤาษีอาจารย์ท้าวไกยเกษ ชื่อ พระโควินทร์ ๑ พระฤาษีอาจารย์ทศพิน ชื่อ พระกาลดาบส ๑ พระฤาษีอาจารย์ท้าวจักรวรรดิ ชื่อ ปรเมศร์ ๑ พระฤาษีอาจารย์บุตร ลบ ชื่อ วัชรมฤค ทศกัณฐ์แปลงเป็นดาบสเข้าไปลักนางสีดา ชื่อ มหาธรรม ๑ แปลงเข้าไปหาพระรามที่เขาคันธมาทน์ ชื่อ กาลสิทธิโคดม ๑”

ในพิธีไหว้ครู “โขน” หรือดนตรีนาฏศิลป์จะต้องมีศีรษะครูฤษีอยู่ด้วยทุกครั้ง  ตาตำนานกล่าวว่าศีรษะครูฤษีในพิธีไหว้ครูนั้นหมายถึงพระพรตมุนีผู้รจนาคัมภีร์นาฏยศาสตร์ นอกจากคติความเชื่อตามตำนานดังกล่าวแล้ว พระฤษีในเรื่องรามเกียรติ์ยังเป็นครูและผู้มีอุปการคุณต่อบุคคลต่างๆ ในเรื่องทั้ง พระ นาง ยักษ์และลิง



“พระพิราพ”
หน้าพาทย์สูงสุดของโขน

     พิราพพิโรธร้าย         เริงหาญ
     แรงราพณ์คอนคชสาร  สิบได้
     สีม่วงแก่กายมาร        วงทัก ษิณานอ
     สวนปลูกพวาทองไว้    สถิตแคว้นอัสกรรณฯ
                            พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)

หน้าพาทย์ หมายถึง การบรรเลงดนตรีประกอบกิริยาอาการ ทั้งของเทพเจ้า ฤษี มนุษย์ อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ เพลงที่บรรเลงนั้นเรียกว่า “เพลงหน้าพาทย์” และหากมีการร่ายรำตามท่วงทำนองของเพลงหน้าพาทย์ก็เรียกว่า “รำหน้าพาทย์” ดนตรีที่บรรเลงหน้าพาทย์ประกอบในพิธีกรรมและการแสดงทั้ง หนัง โขน ละคร คือ วงปี่พาทย์ หน้าพาทย์สูงสุดของเพลงดนตรีและท่ารำคือ “หน้าพาทย์องค์พระพิราพ”

พิราพ ตามพระราชนิพนธ์และบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ เป็นอสูรที่พระอิศวรมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลป่าที่เชิงเขาอัศกรรณ มีอุทยานปลูกชมพู่พวาทองอยู่ในครอบครอง ได้รับกำลังจากพระเพลิงและพระสมุทร มีอิทธิฤทธิ์เป็นที่กลัวเกรงของเหล่าเทพยดา คราวหนึ่งพิราพขึ้นไปแย่งเครื่องทรงของเทวดานางฟ้ามาสวมใส่ (เป็นที่มาของการสร้างหน้าโขน “พระพิราพทรงเครื่อง” คือสวมมงกุฎอย่างเทวดา เมื่อพระราม พระลักษณ์ นางสีดา ผ่านเข้าไปและเก็บผลไม้ในบริเวณที่พิราพดูแลอยู่ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น พิราพตายด้วยศรพระราม)

ฐานะของพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยแตกต่างจากพระพิราพ ซึ่งเป็นครูสำคัญยิ่งของวงการดนตรีนาฏศิลป์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย อ้างถึงการศึกษาของ ดร. มัทนี รัตนิน ไว้ในบทความเรื่อง ความเป็นมาของท่ารำองค์พระพิราพ ว่า “...พระพิราพที่ศิลปินไทยนับถือว่าเป็นครูนาฏศิลป์นั้น น่าจะเป็นองค์เดียวกับไภรวะ หรือ ไภราพ ซึ่งเป็นปางดุร้ายของพระศิวะและเป็นผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์...”

อาจเป็นด้วย ไภราพ ปางหนึ่งของพระศิวะกับพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ไทย เป็นศัพท์ที่มีเสียงใกล้กันมาก โบราณจารย์จึงผนวก “เทพเจ้า” และ “หัวโขน” เข้าด้วยกัน ประเมษฐ์ บุณยะชัย กล่าวว่า “หน้าพาทย์หรือท่ารำองค์พระพิราพเป็นหน้าพาทย์สูงสุดทางด้านนาฏศิลป์และดุริยางค์ กล่าวได้ว่าเป็นหน้าพาทย์ประจำเฉพาะองค์พระพิราพในฐานะเป็นเทพ ซึ่งไม่มีโอกาสที่ใช้กับการแสดงอื่นใด ด้วยเหตุนี้โบราณาจารย์จึงนำมาบรรจุไว้ในการแสดงตอนพระรามเข้าสวนพิราพ...ฯลฯ...ท่ารำหน้าพาทย์ ขององค์พระพิราพในการแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ มีลักษณะเป็นเอกเทศ เปรียบเสมือนการเบิกโรงด้วยหน้าพาทย์ จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องที่แสดง...”

เพลงหน้าพาทย์ที่เกี่ยวกับองค์พระพิราพมีทั้งพระพิราพเต็มองค์ พันพิราพ พิราพรอนหรือรอนพิราพ สำหรับเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพหรือพระพิราพเต็มองค์นั้นถูกกำหนดเป็นเพลงสุดท้ายของการบรรเลงหน้าพาทย์อัญเชิญครู  ซึ่งผู้อ่านโองการในพิธีจะเป็นผู้ “เรียกเพลง” ในพิธีไหว้ครู “ในการศึกษาวิชานาฏศิลป์และดุริยางค์ หน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นหน้าพาทย์ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญสูงสุด เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ครูอาจารย์จะถ่ายทอดให้กับศิษย์ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เหมาะสม”

ศิลปินดนตรีและนาฏศิลป์มีความเคารพยำเกรงเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพยิ่งนัก การถ่ายทอดทั้งเพลงและท่ารำประกอบด้วยจารีตพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างเคร่งครัด สถานที่ถ่ายทอดต้องเป็น “วัด” หรือ “วัง” เท่านั้น จะไม่ต่อเพลงและท่ารำในบ้านอย่างเด็ดขาด




การสืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
การสืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเท่าที่ปรากฏหลักฐานเก่าที่สุด คือ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และถ่ายทอดท่ารำที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เป็นผู้แสดงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ พระราชวังดุสิต

การถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเต็มองค์จะต้องเป็นไปโดยพระบรมราชโองการหรือพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นต้นมา มีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเพียงผู้เดียวคือ นายรงภักดี (เจียร  จารุวรรณ) กระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทาน โดยมีนายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เป็นผู้ครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์ให้แก่ศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ณ บริเวณโรงละคร พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ มีศิลปินอาวุโสได้รับการครอบท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจำนวน ๔  ท่านคือ
     นายอาคม     สายาคม
     นายอร่าม     อินทรนัฏ
     นายหยัด      ช้างทอง
     นายยอแสง   ภักดีเทวา



อินทรชิตแผลงศรนาคบาศมัดหนุมาน
จิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธี ประเมษฐ์ บุณยะชัย อธิบายถึงขั้นตอนหนึ่งของพิธีว่า “ครูผู้ถ่ายทอดท่ารำ นายรงภักดี แต่งยืนเครื่องครึ่งท่อน (ยืนเครื่องเฉพาะท่อนล่าง) ถอดเสื้อ คาดปูน สวมมาลัยคอ มาลัยข้อมือ (ดอกเข็มแดง) สวมศีรษะพระพิราพถือหอกและกำใบมะยม ศิษย์ทั้ง ๔ ท่าน มี ๒ ท่าน คือ นายหยัด ช้างทอง และนายยอแสง ภักดีเทวา แต่ยืนเครื่องครึ่งท่อน ไม่สวมศีรษะ คาดปูน ส่วนนายอาคม สายาคม และนายอร่าม อินทรนัฏ แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว (นายอาคม นุ่งผ้าคองตะพัด ห่มพันทะนำ นายอร่าม นุ่งโจงกระเบน ห่มพันทะนำ) ถือหอก กำใบมะยม”

ถึงพุทธศักราช ๒๕๒๗ ผู้ได้รับการถ่ายทอดเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ ถึงแก่กรรมไป ๓ ท่าน เหลือเพียงนายหยัด ช้างทอง เพียงผู้เดียว ประกอบกับนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) มีอายุมากถึง ๘๖ ปี กรมศิลปากรจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีพระราชทานต่อท่ารำองค์พระพิราพ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา มีศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ได้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์จากนายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) จำนวน ๗ ท่าน คือ
     นายราฆพ     โพธิเวส
     นายไชยยศ   คุ้มมณี
     นายจตุพร     รัตนวราหะ
     นายจุมพล    โชติทัตต์
     นายสุดจิตต์   พันธุ์สังข์
     นายศิริพันธ์   อัฏฏวัชระ
     นายสมศักดิ์   ทัดติ

พระราชพิธีพระราชทานครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครอบศีรษะพระพิราพ ทรงเจิมพระราชทานใบมะตูมและช่อใบไม้มงคล แก่นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) และศิษย์ผู้ได้รับการถ่ายทอดทั้ง ๗ ท่าน

ถึงพุทธศักราช ๒๕๔๕ กรมศิลปากร ได้จัดพิธีครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพให้แก่ศิลปินในสังกัดกรมศิลปากร ประกอบพิธีต่อท่ารำที่พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และทำพิธีครอบเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ ณ โรงละครแห่งชาติ ครูผู้ถ่ายทอดได้แก่ นายราฆพ  โพธิเวส นายจตุพร รัตนวราหะ นายจุมพล โชติทัตต์ นายสุดจิตต์ พันธุ์สังข์ และนายสมศักดิ์ ทัดติ มีศิลปินได้รับการถ่ายทอด ๑๔ ท่าน ได้แก่
     นายประเมษฐ์    บุณยะชัย
     นายปรีชา        ศิลปสมบัติ
     นายมนัส         สงค์ประพันธ์
     นายดิษฐ์         โพธิยารมย์
     นายสุรเชษฐ์     เฟื่องฟู
     นายประดิษฐ์     ศิลปสมบัติ
     นายสมรักษ์      นาคปลื้ม
     นายสถาพร       ขาวรุ่งเรือง
     นายเจตน์         ศรีอ่ำอ่วม
     นายวราวุธ       ศิลาพันธ์
     นายดำรงศักดิ์   นาฏประเสริฐ
     นายจุลชาติ      อรัณยะนาค
     นายวิธาร         จันทรา
     นายเชาวนาท    เพ็งสุข

แบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ของท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อันเป็นหน้าพาทย์สูงสุดของนาฏศิลป์โขน มีการถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างไม่ขาดสาย และจะดำรงอยู่เป็นมรดกของชาติสืบไป......•

จบภาค ๒"รามเกียรติ์" จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย
คัดจาก : หนังสือ โขน อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๒

Kimleng:
.


"ท่าปฐม" เปรียบเทียบท่ารำกระบี่กระบองกับท่ารำละคร

จาก "รามายณะ" สู่นิทาน "รามเกียรติ์"

รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป กระทั่ง ฤๅษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย รวบรวมแต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อราว ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว และแพร่หลายจากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง รวมถึงอาเซียน เช่น ไทย ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปจนแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม

รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ เรียกว่า โศลก จำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก แบ่งเป็น ๗ ภาค หรือกัณฑ์ ได้แก่ พาลกัณฑ์ อโยธยากัณฑ์ อรัณยกัณฑ์ กีษกินธกัณฑ์ สุนทรกัณฑ์ ยุทธกัณฑ์ อุตตรกัณฑ์

รามายณะเมื่อแพร่หลายมาไทย คนไทยแต่งใหม่เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระราม กับฝ่ายทศกัณฐ์ เพื่อชิงตัวนางสีดา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อ พระลักษมณ์ และหนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายยักษ์ก็ปราชัย

รามเกียรติ์มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อให้ละครหลวงเล่น ทรงเลือกมาเป็นตอนๆ รามเกียรติ์นี้มีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น

รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอน ในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่างๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๑๗๘ ห้อง โดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง

จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุถึงความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์ ว่า

๑. ในรามายณะ หนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ชื่อรุทรอวตาร หนุมานในรามายณะไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์

๒. ในรามายณะ ชาติก่อน ทศกัณฐ์กับกุมภกรรณเป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ ชื่อชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์ นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้า ฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมาน

ชัยกับวิชัยจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์ ว่าตนเพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้ได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติ และทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม

๓. กุมภกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์ คือเป็นคนซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณเคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฐ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้น ย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือพระวิษณุ ไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบ

๔. ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่รวมเป็นตัวเดียว


ข้อมูล : "รามเกียรติ์-รามายณะ" หน้า ๒๔ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

Sub:
 (:BR:)

Kimleng:
.



โขน : มหรสพสมโภช

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑.มหกรรมบูชา ได้การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง  ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒.เนื่องในพระราชพิธี ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือคเชนทรัศวสนานและมีมหรสพต่างๆ สมโภช และกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ตำนานละครอิเหนา ว่า ...การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวงปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓.งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพ และบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานพระศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง

...โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป

โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวน อีกโรงหนึ่งเล่นชุดศึกอินทรชิต

งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขน งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน


"โขนสดในสมัยอยุธยา" ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๔.งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ “ในวัน ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ มีโขน...” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค่ำวันนี้มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษก สมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในงานมหรสพสมโภชดังนี้
     พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง
     สื่อเมืององคตพดหาง
     ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง
     ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี

ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕.งานบันเทิงและบำรุงศิลปะ การแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่นโขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า...จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอย ณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทาน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้นมาดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๔๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

หน่วยงานของรัฐคือกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่นในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากรโดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธีที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา


"การแสดงโขนและมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุทศกัณฐ์"
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ณ พระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๖.งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพต รับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้ว โขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา มีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น
[…] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมา ธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้นไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขา

ตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทิวเช่นที่นิยมปฏิบัติ

ในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนากดึกดำบรรพ์หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่าการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์...” ดังนั้น การแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช” เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว