[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 07:22:11 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไปฟังเทศนามหาเวสสันดรชาดก (เทศน์มหาชาติ)  (อ่าน 8588 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2555 15:34:43 »

.


การเทศนามหาเวสสันดรชาดก
(เทศน์มหาชาติ)

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ประเพณีอันนี้เห็นจะมีมาในเมืองไทย ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองพระนครสุโขทัยเป็นปฐม แล้วมีต่อติดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  จัดเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและมีความหมายมากที่สุดในสังคมไทย เพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรงและหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์  ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

มหาชาติชาดก กล่าวถึงการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทาน การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร  อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ ๑๐ ประการ ก่อนจะทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่ง โดยปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมายทั้งต่างสำนวนและต่างยุคสมัย  ทั้งที่เป็นฉบับหลวงซึ่งมีลักษณะเป็นคำประพันธ์ต่างๆ และฉบับท้องถิ่น เช่น ทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพ เขียนเป็นภาษาล้านนาหลายฉบับและหลายสำนวน  ทางภาคอีสานมีมหาชาติคำเฉียง   ส่วนทางภาคใต้มีมหาชาติชาดกฉบับวัดมัชฌิมาวาส สงขลา  เป็นต้น



บำเพ็ญทานบารมีขั้นปรมัตถ์


พิธีแห่พระเวสเข้าเมือง  ในงานบุญพระเวส

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ในราชสำนัก ปรากฏเป็นพระราชพิธีในวังหลวงมาแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑-๓) การเทศนามหาชาติมีถึง ๓๓ กัณฑ์  เครื่องกัณฑ์คล้ายกับบริขารกฐิน คือ ผ้าไตร แพร เงิน ๑๐ ตำลึง ขนมต่างๆ  และกำหนดให้เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว  ยกเว้นแต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงได้ยกขึ้นไปเทศน์บนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยยกไปจัดที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ข้างในฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปจัดที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน
 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง  แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก   ปีนั้นก็มีเทศน์มหาชาติ  ปีใดไม่ใคร่มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าทรงผนวช ก็เปลี่ยนเป็นเทศนาปฐมสมโภชโพธิ

ในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปี จะจัดขึ้นในราวเดือน ๔ เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังนิยมให้มีประเพณีเกี่ยวเนื่องกันด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมือง พิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน  

ทางภาคเหนือก็ให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก โดยจัดให้มีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติ แผ่นเงินเหล่านี้จะจำหลักเป็นรูปลวดลายต่างๆ  

ส่วนทางภาคใต้นั้น ประเพณีเทศน์มหาชาติได้คลี่คลายไปเป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  กรุงเทพฯ
  
การเทศน์มหาชาติในส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์ นอกจากจะรักษาแบบแผนราชสำนักที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์แล้วยังแฝงด้วยความสนุกสนาน การละเล่น และแหล่ต่างๆ แทรกอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ฟังได้รสยิ่งขึ้น ชาวบ้านในบางท้องที่แถบภาคกลางจะมีการเล่นมหาชาติทรงเครื่อง  เวลามีพิธีเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะรับมาจากวัดและไปเล่นกันเอง ต่อมาชาวบ้านกลับไปชวนพระมาเล่นด้วยกัน จึงเป็นการเล่นระหว่างแม่เพลงที่มีเสียงดีที่มักรับบทเป็นพระนางผุสดีหรือพระนางมัทรี กับพระที่มักจะรับบทพระเวสสันดรและชูชก



วงปี่พาทย์ ประโคมประกอบการเทศน์มหาชาติ
ด้วยเชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ

จะเห็นได้ว่าประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีความแตกต่างกันไป เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภาค  แต่ในภาคกลางยังคงลักษณะสำคัญตามประเพณีหลวงไว้ได้มากที่สุด  เช่น ในการเทศน์มักจะมีปี่พาทย์ประโคมขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวง  ด้วยเชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ  กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ได้ทราบว่ากำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่   ผู้ใดรับกัณฑ์เทศน์ใดไว้จะได้ตระเตรียมตัวได้ทัน  ปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติจะเริ่มด้วยเพลงโหมโรง  และกำหนดเพลงปี่พาทย์ประจำกัณฑ์ไว้  ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ตามแบบหลวงที่มีความศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นเพลงชั้นสูงทั้งสิ้น  เช่น กัณฑ์ทศพร  ใช้เพลงสาธุการ (อัญเชิญเทวดา) กัณฑ์หิมพานต์ ใช้เพลงตวงพระธาตุ กัณฑ์วนประเวศน์ ใช้เพลงพญาเดิน เพราะเนื้อเรื่องในกัณฑ์นี้ พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ต้องทรงพระดำเนิน อุ้มพระกุมารชาลีและกัณหา เข้าสู่ป่าอันทุรกันดาร   จึงใช้เพลง “พญาเดิน”  สำหรับประกอบการไปมาด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่นพระมหากษัตริย์ เป็นต้น  

ข้อมูล :
     ๑. หนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน   พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์ เพชรกะรัต โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน
         จาก สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
     ๒. หนังสือ สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๘ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทย อาคารสนามเสือป่า จัดพิมพ์เผยแพร่      
     ๓. หนังสือ วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๑ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๔๐
     ๔. คอลัมน์ องค์ความรู้ภาษาไทย   โดยราชบัณฑิตยสถาน  หน้า ๒๒ นสพ.เดลินิวส์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๕





การเตรียมพิธีเทศน์มหาชาติ
จัดเตรียมธรรมาสน์  ผูกต้นกล้วย ต้นอ้อย  มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ (จำลองป่าหิมพานต์)
ตั้งพาน โอ่งน้ำมนต์ ที่จุดธูปเทียนบูชากัณฑ์ ราชวัตรฉัตรธงตามธรรมเนียมนิยม

วงสายสิญจน์รอบปากโอ่งน้ำมนต์ นำไปผูกติดกับสายสิญจน์ที่โยงรอบมณฑลพิธี (อธิบายยากจัง)
น้ำที่ตั้งไว้ในมณฑลเป็นน้ำมนต์ เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าเสนียดจัญไรได้


เจ้าของกัณฑ์ (เจ้าภาพ) จุดธูปเทียนบูชากัณฑ์  


 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 กันยายน 2558 16:19:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2555 16:55:24 »

.


โบราณาจารย์ ได้กำหนดเพลงสำหรับบรรเลงเวลาพระเทศน์จบลงแต่ละกัณฑ์ไว้เป็นแบบฉบับ
โดยถือเนื้อเรื่องของกัณฑ์นั้นๆ เป็นหลัก และได้ใช้เป็นแบบแผนการบรรเลงมาจนถึงปัจจุบัน
การบรรเลงปี่พาทย์ ประกอบการเทศนามหาเวสสันดรชาดก
ของคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ประจำจังหวัด (เอกดนตรีไทย)
ซึ่งให้ความอนุเคราะห์บรรเลงให้กับทางวัดแห่งนี้ทุกปี


• กัณฑ์ ๑  กัณฑ์ทศพร พระอินทร์ประทานพร ๑๐ ประการ แก่พระนางผุสดี
๑. ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์  ที่ประทับของท้าวสักกเทวราชอยู่ภายใต้ต้นปาริฉัตรในดาวดึงสเทวโลก
๒. ท้าวสักกเทวราช  ทรงทราบความที่นางผุสดีเทพกัญญา จะจุติจากดาวดึงสพิภพลงไปเกิดในมนุษย์โลก  จึงให้พระนางทรงเลือกพระพรสิบประการได้ตามความปรารถนา
๓. พระนางผุสดีเทพกัญญาทูลขอพรสิบประการ ดังนี้
       ๑. ขอให้พระนางได้ประทับในปราสาทอันงดงามยิ่งของพระเจ้าสีพิราช  และขอให้เป็นนางนารถแห่งพระบาทพระเจ้ากรุงสีพีราชาธิราช
       ๒. ขอให้ดวงเนตรทั้งสองมีสีดำสวยงาม  ประดุจดดวงตาเนื้อทราย
       ๓. ขอให้พระขนงเรียวงาม และมีสีอัญชัน สร้อยคอนกยูง
       ๔.ขอให้ทรงนามว่าผุสดี
       ๕. ขอให้มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งปวง และมีพระราชศรัทธาในการให้ทาน
       ๖. ขออย่าให้พระครรภ์ปรากฏนูนเด่นชัด ดังสตรีทั่วไป
       ๗. ขออย่าให้พระถันทั้งคู่ดำในเวลาทรงครรภ์ และเมื่อประสูติแล้วขออย่าให้คล้อยตก หย่อนยาน
       ๘. ขอให้พระเกศาดำเป็นมันดุจปีกแมลงค่อมทอง
       ๙. ขอให้มีพระฉวีละเอียดลออดั่งทองคำธรรมชาติ
      ๑๐. ขอให้ทรงมีอำนาจปลดปล่อยนักโทษต้องประหารชีวิตให้พ้นโทษ
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงสาธุการ   ประกอบกิริยาที่พระนางผุสดีแสดงกริยานอบน้อมรับพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์




• กัณฑ์ ๒ กัณฑ์หิมพานต์ พระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่ชาวเมืองกลิงคราษฐ์   
๑. พระนางผุสดีเทพกัญญารับพรสิบประการ  แล้วจุติไปบังเกิดในตระกูลกษัตริย์มัทราช  ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย  ผู้ครองสีวิรัฐ  ประสูติพระโอรส
    ทรงพระนามว่าพระเวสสันดร
๒. พระเวสสันดร  ทรงช้างปัจจัยนาคเสด็จออกบำเพ็ญทานประจำวัน  
๓. ระหว่างทางเสด็จ  พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฐ์ทูลขอช้างปัจจัยนาค  ก็ทรงบริจาคพระราชทานให้
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงตวงพระธาตุ   ประกอบพระเวสสันดรทรงประทานช้าง ซึ่งเปรียบเสมอด้วย การตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแจกจ่ายทั่วไป




• กัณฑ์ ๓  กัณฑ์ทานกัณฑ์ ทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน   
๑. เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างต้นมงคลให้แก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฐ์  ชาวสีวิรัฐได้ทราบก็พากันขึ้งโกรธ  กล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้ากรุงสญชัย  
    ให้ขับพระเวสสันดรออกจากพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสผัดผ่อนไว้วันรุ่งขึ้น
๒. พระนางผุสดี พระราชชนนีทรงทราบเหตุ ไปเฝ้าทูลขอโทษต่อพระเจ้ากรุงสญชัย  ก็ไม่ทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษ
๓. พระนางผุสดีทรงกันแสง รำพันว่าที่แม่ไปทูลขอโทษ ไม่ทรงโปรดพระราชทานยกโทษให้
๔. พระเวสสันดร  เสด็จออกทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน
๕. พระเวสสันดร เสด็จทรงราชรถออกจากพระนครพร้อมด้วยพระนางมัทรี และพระกัณหาชาลีราชปิโยรส  ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขออัสดรและราชรถ
    ก็ทรงบริจาคให้เป็นทาน
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงพญาโศก ประกอบอาการเศร้าโศก เมื่อพระเวสสันทรกราบบังคมทูลลาออกจากพระนครสีพี




• กัณฑ์ ๔ กัณฑ์วนประเวศน์ บำเพ็ญพรต ณ อาศรมเขาวงกฏ   
๑.  เมื่อพระเวสสันดร  พระราชทานม้ารถหมดทุกสิ่งแล้ว  จึงตรัสแก่พระนางมัทรีว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี เจ้าจงอุ้มแก้วกัณหา  พากันเสด็จดำเนินโดยสถลมรรคา
    บรรลุถึงเมืองเจตราช
๒. พวกเจ้าเจตราชทราบข่าวเสด็จพระเวสสันดร  พากันเสด็จมาเฝ้า ทูลถวายพระนครให้ครอบครอง พระองค์มิได้ทรงรับ
๓. เจ้าเจตราช ส่งเสด็จพระเวสสันดรไปเขาวงกฎ แล้วทรงตั้งนายเจตบุตรพรานไพรให้เป็นนายด่านรักษาประตูป่า
๔. พระเวสสันดรเสด็จถึงอาศรมในบริเวณเขาวงกฎ ซึ่งท้าวสักกเทวราชให้วิสสุกรรมนิรมิตไว้ แล้วทรงเพศเป็นดาบส  พระนางมัทรีก็ทรงเพศเป็นดาบสินี
    บำเพ็ญพรตอยู่ในอาศรมนั้น
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงพญาเดิน ประกอบอาการการไปมาด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่นพระมหากษัตริย์  




• กัณฑ์ ๕  กัณฑ์ชูชก ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา
๑. ชูชกได้นางอมิตตดาพาไปอยู่บ้านทุนวิฐ  พราหมณ์หนุ่ม ๆ เห็นนางปฏิบัติผัวดีกว่าเมียของตัว ก็เดือดดาลใจพาลพาโลตีเมียของตน ๆ
๒. พวกนางพราหมณีเจ็บใจ พอเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่าน้ำ ก็รุมกันตีด่าว่าขานจนนางอมิตตดาต้องกระเดียดกระออมน้ำกลับบ้าน
๓. ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาถึงถามเหตุ  นางก็แจ้งคดีให้ฟัง  แล้วว่า แต่นี้ไปงานการจะไม่ทำ จงไปขอชาลีกัณหามาให้ใช้
๔. ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา  ออกเดินทางเที่ยวถามไปทุกหนแห่งแล้วก็เข้าสู่ดงแดนเจตบุตร
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยาการเดินของชูชก ที่เดินกะย่องกะแหย่งเหมือนคนแก่ หรือคนพิการไม่สมประกอบ  




• กัณฑ์ ๖  กัณฑ์จุลพน พรานเจตบุตรชี้ทางสู่เขาวงกฏ
๑. สุนัขของพรานเจตบุตรเห็นชูชกก็รุมไล่กัด  ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้
๒. พรานเจตบุตรเห็นก็ขู่ว่าจะยิงด้วยหน้าไม้  ชูชกไหวดีกว่าแก้ว่า เป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย  พรานเจตบุตรหลงเชื่อ ผูกสุนัขเข้ากับโคนไม้  ต้อนรับชูชก
    ถามว่าอะไรอยู่ในย่าม ชูชกชี้ไปที่กลัก พลิกกลักงาว่า นี่คือกลักพระราชสาร
๓. พรานเจตบุตรเชิญชูชกขึ้นไปบนเรือน ให้กินเนื้อย่างจิ้มน้ำผึ้ง แล้วก็พาออกไปชี้มรรคา
๔. พรานเจตบุตรพรรณนาพรรณไม้  อันมีในป่าหิมพานต์แล้วบอกทางที่จะไปสู่เขาวงกฎ และว่าจะไปพบกับอจุตฤษี
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยาของพรานเจตบุตร ข่มขู่ชูชกให้เกรงกลัวตน และความน่าสะพรึงกลัวของป่าหิมพานต์




• กัณฑ์ ๗ กัณฑ์มหาพน พระอจุตฤษีพรรณนาป่าหิมพานต์
๑. ชูชกเดินไต้เต้าตามอรัญญวิถี  ก็บรรลุถึงอาศรมอจุตฤษี จึงเข้าไปถามไถ่ถึงทุกข์สุข  แล้วแจ้งว่าเป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย
๒. พระสิทธาจารย์รู้ว่าเฒ่าชูชกโกหก  บอกให้เชื่อก็เชื่อ แล้วให้เฒ่ายับยั้งอยู่หนึ่งราตรี  รุ่งขึ้นจึงพาไปชี้ทางให้ทชีไปสู่เขาวงกฏ
๓. พระอจุตฤษีพรรณนาหมู่สัตว์ ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาวงกฎ มี ช้าง เนื้อ เสือ สิงห์ กวาง กระต่าย และพรรณนาไม้นานาชนิด และสัตว์น้ำในโบกขรณี ใกล้พระอาศรมแห่งพระเวสสันดรราชฤษี
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเชิดกลอง ประกอบกิริยาตอนเดินทางระยะไกล อย่างรีบเร่ง




สองพระกุมารเมื่อรู้ว่าภัยมาถึงตัว ก็พากันหนีลงไปในสระ  
เอาวารีบังองค์ เอาบุษบงบังเกศ


• กัณฑ์ ๘  กัณฑ์กุมาร พระราชทานสองพระกุมาร
๑. ชูชกนอนพักแรมที่เนินผาใกล้บริเวณพระอาศรม  เมื่อตื่นขึ้นคะเนว่าเวลานี้พระนางมัทรีคงจะเสด็จเข้าป่าหามูลผลาผล  จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อจะทูลขอ
    สองพระกุมาร  ชักเอาแม่น้ำทั้งหามาเปรียบเทียบ
๒. สองพระกุมารเมื่อรู้ว่าภัยมาถึงตัว ก็พากันหนีลงไปในสระ  เอาวารีบังองค์เอาบุษบงบังเกศ
๓. พระเวสสันดรทรงทราบว่าสองพระกุมารหนี จึงเสด็จไปตรัสเรียกหาที่สระโบกขรณี ตรัสเปรียบเรื่องสำเภา  ชาลีกัณหาก็ขึ้นมากราบพระบาท
๔. พระราชทานสองพระกุมารให้แก่พราหมณ์ชูชก
๕. เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองพระกุมาร  พาไปถึงทางกะกุกตะกัก เฒ่าเดินทะลุดทะลาดพลาดล้มลง  สองพระกุมารก็วิ่งมาสู่สำนักพระบิดา
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงโอด, เชิดฉิ่ง ประกอบกิริยาการฉุดกระชากสองพระกุมารของชูชก สลับกับเสียงกรรแสงร่ำไห้ ของกัณหา ชาลี




• กัณฑ์ ๙  กัณฑ์มัทรี ถึงแก่วิสัญญีสลบลงตรงหน้าพระพักตร์พระเวสสันดร
๑. พระนางมัทรีทรงสาแหรกคานกระเช้าสาน ขอ   สอยผลาผลแล้วเสด็จกลับโดยด่วน  มาประจวบพบพระยาพาลมฤคราช ซึ่งเทพยดาแสร้งจำแลงแปลงมานอนขวางทาง  
    พระนางสะดุ้ง พระทัยไหวหวาด  ปลงหาบคอนลงแล้วอภิวาทขอทาง  เทพยเจ้าสังเวชก็พากันคลาไคลให้หนทาง
๒. พระนางเสด็จถึงอาศรมบท  มิได้ทอดพระเนตรเห็นสองพระโอรส จึงวอนทูลถามพระสวามี  ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง  แต่แล้วก็ตรัสพ้อด้วยโวหารหึง เพื่อให้พระนางสร่างโศก
๓. พระนางเที่ยวแสวงหาสองพระกุมาร ตามละเมาะเขาเขินจนทั่วบริเวณพระอาศรมก็มิได้พบพระลูกรักทั้งสอง  จึงเสด็จไปที่หน้าพระอาศรม ทรงพระกำสรดสิ้นแรงถึงวิสัญญี
    สลบลงตรงหน้าพระพักตร์พระเวสสันดร
๔. พระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นพระมัทรีถึงวิสัญญีสลบลง สะดุ้งพระทัยทรงพระกันแสง
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงทยอย โอด ประกอบกิริยาพระนางมทรีคร่ำครวญกรรแสงเมื่อทรงทราบว่าพระเวสสันดรทรงบริจาคสองพระกุมากให้แก่พราหมณ์ชูชก




• กัณฑ์ ๑๐ กัณฑ์สักรบรรพ พระอินทร์ประทานพร ๘ ประการแด่พระเวสสันดร
๑. ท้าวสักกเทวราช  ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี  พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคให้แก่พราหมณ์
๒. เมื่อท้าวเธอได้รับพระราชทานพระนางมัทรีแล้วก็ถวายคืน  แล้วทูลว่าพระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช  มาเพื่อประทานพรแด่พระองค์  ขอพระองค์จงเลือกอัฐวราพร
๓. พระเวสสันดร ขอพรแปดประการแด่ท้าวสักกเทวราช ดังนี้
     ๑.ขอให้พระบิดร  คลายโกรธ ออกมารับข้าพระบาทกลับสู่พระนคร
     ๒. ขอให้ได้ปล่อยนักโทษผู้เพียรทุจริต
     ๓. ขอให้ได้อนุเคราะห์คนยากไร้  เข็ญใจ
     ๔. ขออย่าให้ลุแก่อำนาจสตรี ที่มิใช่พระนางมัทรี  อันเป็นอรรคมหิษรี
     ๕.ให้พระกุมารชาลีจงเป็นผู้มีอายุยืนนาน
     ๖. ขอให้ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงในเมืองสีพี
     ๗. ขอให้สมบัติในท้องพระคลังซึ่งข้าพระบาทจะจ่ายแจกแก่ยาจกอย่ารู้หมดสิ้น
     ๘. เมื่อจุติจากโลกามนุษย์ ขอให้ครรไลไปสู่เมืองฟ้า
 เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกลม ประกอบการเสด็จของเทวดาผู้เป็นใหญ่




• กัณฑ์ ๑๑ กัณฑ์มหาราช ไถ่สองพระกุมาร
๑. ชูชกพาสองกุมารเดินทาง เวลาค่ำตาแกก็ผูกเปลนอนเหนือค่าคบไม้  เทพยเจ้าก็ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองพระกุมาร
๒. ล่วงมรรคาได้หกสิบโยชน์  ก็ลุถึงกรุงพิชัยเชตดรนครหลวงแห่งสีวิรัฐ  ชูชกพาสองกุมารผ่านมาตรงหน้าพระที่นั่ง
๓. พระเจ้ากรุงสญชัย ให้พาพราหมณ์ชูชกมาเฝ้า  ทราบความแล้ว ทรงไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองด้วยพระราชทรัพย์
๔. พระเจ้ากรุงสญชัย ยกพยุหแสนยากรไปรับพระเวสสันดร  พระชาลีเป็นมัคคุเทศก์ นำพลไปยังเขาวงกฏ
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกราวนอก ประกอบการยกพลของพระเจ้ากรุงสญชัย  ไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี



• กัณฑ์ ๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์  เชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับสู่กรุงสีพี
๑. พระเวสสันดร  ได้ยินเสียงไหยรถคชแสนยากร  ทรงตกพระทัยไหวหวาดว่า ปัจจามิตรจะมาจับพระองค์  จึงชวนพระมัทรีเสด็จขึ้นเนินเขา  พระนางกราบทูลว่า
    เป็นทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จมารับ สมตามที่ท้าวสักกาเทวราชประทานพร
๒. เมื่อหกกษัตริย์พร้อมกันที่พระอาศรม  ต่างก็ทรงโศกสลดที่พลัดพรากจากกันจนถึงวิสัญญีภาพฝนโบกขรพรรษตกจึงทรงฟื้นพระองค์
๓. สหชาติโยธาเฝ้าพระเวสสันดร ทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงตระนอน ประกอบตอนที่กษัตริย์ทั้งหก ใด้มาพบกันและบรรทมค้างแรมที่บริเวณอาศรมในป่า



• กัณฑ์ ๑๓ กัณฑ์นครกัณฑ์  พระเวสสันดรครองกรุงสีพี
๑. พระเวสสันดร ทรงรับชิญของสหชาติโยธา แล้วทรงลาผนวช
๒. พระเจ้ากรุงสัญชัย ทรงอภิเษกสองกษัตริย์ครองกรุงสีพี
๓. ทรงยกทัพกลับกรุงสีพี เสด็จวันละโยชน์ สิ้นมรรคาหกสิบโยชน์, ถ้าจะนับแต่วันบรรพชา ถึงเจ็ดเดือนจึงพระราชทานสองกุมาร, ชูชกรีบรัดมาสิบห้าวิน ถึงเชตุดร, เตรียมพลรับเจ็ดวัน ยกไปถึงพระอาศรม หนึ่งเดือนยี่สิบสามราตรี อยู่ในพนาลีเดือนเศษ ยกพลกลับสองเดือนสิริเป็นปีหนึ่งกับสิบห้าราตรีจึงคืนเข้าราชธานีแล้วแล.
 เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกลองโยน ประกอบกิริยาการยกขบวนพยุหยาตรา ของพระเวสสันดร พรั่งพร้อมด้วยขบวนอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ



ปางไตรเทพท้าว          จรลี
หลีกจากมรรควิถี          เร่งเร้า
โฉมนาฏราชมัทรี          ปราโมทย์
เก็บผลรีบไต่เต้า           จู่เข้าอาศรม ฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กันยายน 2558 16:37:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.347 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 16:26:31