[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 02:01:32 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต  (อ่าน 12483 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 พฤศจิกายน 2555 18:53:22 »

.

ภาพหาดูยาก สมัย โรคห่าระบาด
ภาพจาก : เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม
มะโรงห่าลง
โรคอหิวาต์ หรือโรคห่าเป็นโรคดึกดำบรรพ์เคยเกิดในครั้งพุทธกาล ที่แคว้นเวสาลี พระพุทธเจ้าโปรดให้พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป  สวดพระปริตรทำน้ำมนต์  ช่วยระงับการแพร่ระบาดไว้ได้

โรคอหิวาต์  ในภาษามคธ เรียกว่า อหิวาตกโรค  แปลยกศัพท์ว่า โรคร้ายอันเกิดขึ้นแล้วแต่ลม  มีความเร็วดุจดังพิษแห่งงู  แต่ความรู้ในสมัยต่อมา  โรคอหิวาต์มาในน้ำ    ต้นเหตุจริง ๆ เกิดจากคน  คนแรกเป็นโรคอหิวาต์  ลักษณะอาการคล้ายโรค “ป่วง” คือ ถ่ายไม่หยุด แล้วก็มักถ่ายลงน้ำ  เชื้ออหิวาต์ก็แพร่ออกไป

สมัยรัตนโกสินทร์ อหิวาต์ระบาดครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง  ครั้งที่จำกันได้คือ ปี พ.ศ. ๒๔๑๖  ชาวบ้านเรียกกันว่า ปีระกาห่าใหญ่   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงบันทึกเป็นร้อยกรองถึงเหตุปีระกาห่าใหญ่ไว้ว่า โรคอหิวาต์ระบาดมาจากจังหวัดปริมณฑลเข้าเมืองหลวง คนตายราวสี่พัน   ช่วงเวลาปีระกาห่าใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต  วัดระฆัง ท่านถึงชีพิตักษัยได้ ๑ ปี  สมเด็จฯ ท่านไปเข้าฝันคนบางช้าง ให้เอาพระสมเด็จฯ ของท่านแช่น้ำมนต์ดื่มแล้วก็หาย  แต่หลวงพ่อบ้านแหลม  แม่กลอง  ไปเข้าฝันสมภาร ให้ไปดูคาถาที่จารึกไว้บนข้อพระหัตถ์ของท่าน  สมภารท่านไปเจอคาถาสี่ตัว จดเอามาบอกชาวบ้านให้เอาไปท่องป้องกันตัว ให้พ้นจากโรคห่า  สองเรื่องนี้ แม้จะไม่ตรงกัน แต่ก็บอกความจริงว่า ในเวลาที่คับขัน มนุษย์มักหันพึ่งพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจเพราะไม่มีสิ่งอื่นใด จะมาช่วยได้ในยามนั้นเลย

โรคอหิวาต์ ครั้งที่ระบาดหนักกว่า เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓  สมัยรัชกาลที่ ๒  ชาวบ้านเรียกว่า ปีมะโรงห่าลง มีคนตายกว่าสองหมื่น  ตายกันชนิดที่เรียกว่า ศพเต็มคลองกองเต็มวัด  ว่ากันอีกว่า ระบาดมาจากจังหวัดแถวชายทะเล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม หยูกยาไทยสมัยนั้นเอาไว้ไม่อยู่ ผู้คนอพยพหนีโรคห่ากันโกลาหล

เมื่อยาเอาชนะโรคห่าไม่ได้ รัชกาลที่ ๒ ท่านก็สู้ด้วยการหาที่พึ่งทางใจ จัดพิธีทางพุทธศาสนา เรียกว่าพิธีอาพาธพินาศ ขึ้นเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ  เดือน ๗ ปีมะโรง  โรคอหิวาต์ก็บรรเทาเบาลง  ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี มีผลถึงสมัยรัชกาลที่ ๓  โปรดให้แปลพระปริตรเป็นภาษาไทย เจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน ฝึกสวดกันเป็นการใหญ่ ทุกวันทุกคืน

บทสวดพระปริตร เป็นกระแสใหญ่ของคนไทยในสมัยนั้น


ข้อมูล ย่อความจาก  : คอลัมน์ ชักธงรบ  “มะโรงห่าลง”  โดยกิเลน  ประลองเชิง  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕



คดีอำแดงเหมือน
ปัญหาของผู้หญิง ในกฎหมายสยาม
คดีของอำแดงเหมือน หมายถึง อำแดงเหมือน คนเดียวกับที่เป็นที่รู้จักว่ามีคนรักชื่อนายริด ทั้งอำแดงเหมือนกับนายริดเป็นเรื่องของบุคคลธรรมดา  แต่เรื่องราวของเขามีการกล่าวถึงอย่างค่อนข้างแพร่หลาย  คนจำนวนไม่น้อยรู้จักอำแดงเหมือนกับนายริดผ่านภาพยนตร์ และละครทีวี

เรื่องของอำแดงเหมือน มีการกล่าวถึงเหมือนขวัญกับเรียม  แม่นากกับพ่อมาก   แต่ไม่ใช่ในตำนานแห่งความรัก  แต่เป็นเรื่องของคนสู้ชีวิต  เพราะร้อยกว่าปีที่แล้วเธอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง  ด้วยการหนีตะรางไปทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2012/12/pra02101255p1.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

บ้านชาวสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน

นักกฎหมาย กำธร เลี้ยงสัจธรรม เขียนวิเคราะห์อีกหลายประเด็นไว้อย่างน่าติดตาม ในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนธันวาคมนี้ กับบทความชื่อ "ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ ๔ กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ ๑

เริ่มจากเรื่องของอำแดงเหมือน หรือนางสาวเหมือน  บ้านเธออยู่เมืองนนทบุรี  เป็นคนในสมัยรัชกาลที่ ๔  มีคนรักที่มีอะไรกันชื่อนายริด  แต่พ่อแม่เธอไม่รู้  เมื่อนายภูมาสู่ขอก็ยกให้  เธอไม่ยินยอมก็ทุบตี  แล้วให้นายภูมาฉุดถึง ๒ ครั้ง เธอก็หนีกลับมา


เมื่อนายริดเอาดอกไม้ธูปเทียนมาขมา  พ่อแม่กลับโกรธถึงขั้นไล่ยิง  เธอจึงหนีไปอยู่กับนายริด นายภูฟ้องนายริด ว่าลักพาภรรยาตนเอง  ระหว่างดำเนินคดี เธอถูกคุมขังและกลั่นแกล้งทารุณเพื่อให้ยอมเป็นภรรยานายภู  เธอหลบหนีออกมาและได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยคดีอำแดงเหมือน สรุปไว้ดังนี้
๑. ถ้าความจริงเป็นไปตามฎีกา ให้ตัดสินให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยานายริดตามความสมัครใจ เพราะอายุมากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะหาสามีตามใจชอบได้ แต่ให้นายริด
    เสียเงินค่าละเมิดให้แก่พ่อแม่อำแดงเหมือน และให้แก่นายภู
๒. แต่ถ้าความเป็นจริงต่างไปจากเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ ก็ให้ตัดสินตามหลักเกณฑ์ที่พระราชทานไว้ ๒ ประการดังนี้

ประการแรก เป็นเพราะพ่อแม่ของอำแดงเหมือนยอมยกลูกสาวให้แก่นายภูโดยมีค่าตอบแทน จึงต้องยอมให้นายภูมาฉุดลูกสาว   ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ตัดสินว่า พ่อแม่ไม่ได้เป็นเจ้าของลูก เหมือนกับคนเป็นเจ้าของช้างม้าวัวควาย  จึงตั้งราคาขายตามใจ  หรือเหมือนกับนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว  เกิดยากจนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้  เมื่อพ่อแม่เกิดยากจนจะขายลูกได้เมื่อลูกยินยอม  ถ้าไม่ยอมก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขายตามที่ลูกยอมรับหนี้ค่าตัวเท่านั้น กฎหมายเก่าว่าไว้อย่างไรผิดไปจากนี้มิให้นำมาใช้


http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2012/12/pra02101255p3.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

สาวชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๔
ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน (John Thomson)
ช่างภาพชาวอังกฤษที่เข้ามาสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ - ๒๔๐๙

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ของอำแดงเหมือนเอาเธอไปขายให้แก่นายภูเป็นเงินเท่าไร  ก็ให้พ่อแม่เธอใช้เงินนั้นให้แก่นายภูเอง เพราะเห็นชัดว่าอำแดงเหมือนไม่ยอมให้พ่อแม่เอาชื่อตนไปขาย  อำแดงเหมือนหนีพ่อแม่ตามนายริดไปนั้น   ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของพ่อแม่ติดตัวไปด้วยโดยพ่อแม่ไม่ยอมก็ให้รีบเอามาคืน เว้นแต่ผ้านุ่งห่มและเงินหรือสิ่งของเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่ในระยะแรก

ประการที่สอง ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ว่า "หญิงหย่าชาย หย่าได้" กันมาก่อนหน้านี้ ให้กลับไปใช้ตามกฎหมายเก่านั้นตามเดิม

บทความของกำธรยังกล่าวต่อไปจนถึงคดีอำแดงป้อมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่าการวินิจฉัยคดีอำแดงเหมือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเท่ากับเป็นการพลิกคดีอำแดงป้อมไปด้วย

เมื่ออำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีมาฟ้องหย่าสามี นายบุญศรีไม่ยอมหย่าและให้การว่าเธอนอกใจมีชู้ แต่เจ้าหน้าที่กลับเข้าข้างเธอให้หย่าได้ นายบุญศรีทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องเรียนเจ้าพนักงาน ทำให้ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รับสั่งให้ตรวจสอบกฎหมายในศาลหลวงแล้วมีพระราชโองการให้อำแดงป้อมหย่าได้ตามที่กฎหมายเก่าระบุว่า "ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชาย หย่าได้" แต่ก็ให้ยกเลิกกฎหมายนี้เสีย

กำธรยังกล่าวถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บุคคลสำคัญในแวดวงกฎหมายสยาม ทรงตีความเรื่องนี้ไว้ใน "เล็กเชอร์ว่าด้วยผัวเมีย"



ที่มา : สุขใจข่าวสด www.sookjai.com อัพเดตข่าวทันใจ ตลอด 24 ชั่วโมง (matichon online : วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:12:58 น.)



ภาพจาก : thaigoodview.com
บั้งไฟ
มีชาดกที่แพร่หลายเก่าแก่อยู่ชาดกหนึ่ง เรื่อง คัทธนกุมาร  เป็นชาดกของคนไทยภาคอีสาน  กล่าวถึง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติมาเกิด  มีอยู่ด้วยกันหลายผูก  ความตอนหนึ่งในชาดกมีเล่าถึงประวัติของบั้งไฟอยู่ด้วย  ความว่า

ในกาลครั้งนั้น ท้าวคัทธนโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่ปราสาทใหม่  พระฤาษีทั้งหลายซึ่งเลื่อมใสในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ก็ชวนกันทำพิธีสมโภชเป็นการใหญ่  เพราะฤาษีเหล่านั้นเป็นฤาษีที่มีฤทธิ์  ได้บอกกล่าวไปยังพระยาครุฑ  พระยานาค  พญายักษ์  เจ้าผี  ทั้งหลายทั้งปวงให้มาช่วยกันจัดงานมหรสพสมโภช  ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ป่าวร้องบริวารของตนให้มาช่วยงานกันมืดฟ้ามัวดิน  มีการขับฟ้อนเพลงปรบ  เป่าปี่  สีซอ  ประโคมดุริยดนตรีกันอึงมี่ เป็นที่สนุกสนานกันถึง ๗ วัน ๗ คืน

งานนั้น พวกท่านที่มาในงาน ก็คิดกันตั้งบั้งไฟ เป็นความว่า

“เขาพร้อมกันแต่งบั้งไฟโฮทั้งหลายด้วยฮ้อยด้วยพัน ด้วยหมื่น ด้วยแสน มากนัก เขาก็กระทำด้วยหมื่อ (ดินปืน) ตอกใส่ในบั้ง (กระบอก) ให้แน่น แก่นด้วยอันตอกตีให้เต็มดีด้วยหมื่อแล้ว   แลสักฮู (เจาะรู)  ให้ซอด (ทะลุ)  ทุกบั้ง  ทั้งน้อยบั้งใหญ่หมด  แลหมื่น  แลแสน (แต่ละกระบอกจุน้ำหนักดินปืนประมาณ ๑ หมื่น ถึงแสน)  หมื่อก็มี  เขาก็เอายัง  เซิกมาเคียร (เชือกมาพัน)  แลเอายัง  ข้าวสุกข้าวแห้ง (ข้าวตาก)  ใบไม้อันเป็นคำกินนั้น  มายัดให้เป็นมอน (เครื่องอุด) ด้นอันดีทุกแห่งแล้ว ผีและไปสวรทั้งหลาย  ก็พร้อมกันคาดเคียรใส่ด้วยโหวดแลหางแล้ว  ก็ประดับประดาไปด้วยลวดแพ  ข่ายแก้ว  ข่ายคำ  ลำนำไปด้วยแก้ว ๗ ประการ (ตระการ)  งานไปด้วยกระดาษเงิน  กระดาษดำ  เป็นประดุจดังจักบินไปด้วยทางอากาศได้นั้นแท้ดีหลี แล..”




http://www.thaigoodview.com/files/u30453/6.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

ภาพจาก : thaigoodview.com
ตีคลี
กีฬาโบราณที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เรื่อง สังข์ทอง   เราจะพบว่า มีกีฬา “ตีคลี”   ปรากฏในพระราชนิพนธ์นั้น

การตีคลี  ตีกันอย่างไร  ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง   ว่า ต้องขี่ม้า แล้วถือคันคลี  ความว่า
• พระสังข์  
            จึงบังคมลาปิตุรงค์
            มาทรงอาชาเฉิดฉาย
            กรกุมคันคลีกรีดกราย
            ชักม้าเรียงร่ายรำมา

• การตีคลีตั้งต้นโดย พระอินทร์
            ชักบังเหียนหันหกเผ่นโจน
            พลางโยนลูกตีคลีไป

• ฝ่ายรับ โดย พระสังข์
            พระสังข์คอยขยับรับไว้ได้
            เดาะคลีตีตอบไปทันใด
            สหัสนัยน์กลอกกลับรับรอง
            ต่างแกว่งคันคลีเป็นทีท่า
            ขับม้ามีฝีเท้าเคล่าคล่อง
            เวียนวนวกวิ่งชิงคลอง
            เปลี่ยนทำนองเข้าออกหยอกล้อ

หม่อมหลวง บุญเหลือ  เทพยสุวรรณ เล่าถึงเจ้าพระยาเทเวศร์ ผู้บิดาว่า
“ท่านยังเคยเล่าให้ลูก ๆ ของท่านฟังว่า  ท่านเป็นคนสุดท้ายในเมืองไทยที่ขี่ม้าตีคลีได้  เพราะลูกศิษย์ที่ท่านได้สอนไว้  ตายก่อนท่านไปเสียหมด  ลูกชายก็สอนให้ไม่ทัน  เพราะกีฬาขี่ม้าตีคลีนั้น พ้นจากความนิยมไป  ประกอบกับตัวท่านและลูกชายที่เติบโตขึ้นพอจะสอนให้ ก็ติดราชการอย่างอื่น  ไม่มีเวลาที่จะฝึกสอนให้ได้เพราะฝึกสอนยาก  กีฬาขี่ม้าตีคลีของไทยนี้ ไม่เหมือนกับกีฬาที่เรียกว่า โปโล ของฝรั่ง   ไม้ตีคลีมีลักษณะเปรียบได้กับช้อนที่มีด้ามยาวมาก  ส่วนที่เป็นด้ามของช้อนนั้น  มีลักษณะเป็นราง  วิธีเล่นนั้น  เอาไม้คลีช้อนลูกขึ้นจากพื้นดินโยนขึ้น  แล้วเอาด้ามตี  กติกาในการเล่น  ท่านเคยเล่าให้ลูก ๆ ฟัง  แต่ผู้ที่ไม่เคยเห็นการเล่น  ย่อมไม่สามารถจะเข้าใจได้  หม่อมหลวง วราห์ (พระยาเทเวศร  บุตรเจ้าพระยาเทเวศร)   ซึ่งได้บังคับบัญชากรมพระอัศวราชต่อจากท่าน  ได้เคยเห็นการเล่น  และพยายามเล่าให้น้อง ๆ ฟัง  แต่น้อง ๆ ก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง  เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่กีฬาชนิดนี้ได้สูญหายไปเสียแล้วจากเมืองไทย



"ธูปเทียนแพ"
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า การบูชาบุคคลที่พึงควรบูชานั้น เป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ  การบูชานั้น มีหลายวิธี  แต่จะที่กล่าวถึงนี้คือ การบูชาด้วยของหอม คือ ดอกไม้ ธูป เทียน  

เจ้าคุณ พระยาอนุมานราชธน ท่านได้อธิบายไว้ว่า เดิมที คงบูชาด้วยดอกไม้ก่อน  ต่อมาก็ถึงธูป คือเผาไม้หอมให้กลิ่นกระจาย    แล้วจึงมาถึงเทียน  เป็นการบูชาด้วยไฟ  เพื่อความสะอาด บริสุทธิ์  มาถึงในปัจจุบัน  การบูชาด้วยของหอมจึงพร้อมกันด้วยกันทั้ง ๓ สิ่ง คือ ดอกไม้ ธูป และเทียน

การบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน นั้น มีหลักอยู่ว่า บูชาคนเป็นไม่จุดไฟบูชา แต่ถ้าบูชาคนตายจึงจุดไฟ    ท่านผู้ที่แสดงหลักนี้ให้ปรากฏคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต  ได้อัญเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปตามถนนราชดำเนินเข้าสู่พระราชวังหลวง  ราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จสองข้างทางจุดธูป เทียน บูชากันตลอดทาง

การบูชาคนเป็น เช่น การลาบวช  การไหว้หลังจากแต่งงาน   ใช้ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นเครื่องบูชา และไม่จุดไฟ     ใช้ผูกเป็นแพทั้งธูป เทียน  โดยใช้ธูป ๑๐ ดอก  เทียน ๑๐ เล่ม  จัดเป็นแพละ ๕  อย่างละ ๒ แพ  ดอกไม้ ๑ กระทง  การบูชาก็คือ มอบให้ท่าน  พร้อมกับกราบด้วยความเคารพอย่างสูง  ซึ่งเป็นความเคารพที่สูงที่สุดที่คนไทยจะพึงเคารพกันได้  โดยหลักแล้ว ท่านก็รับเอาไปเป็นของท่าน  แต่โดยทางปฏิบัติ  ในการลาบวชสำหรับคนทั่ว ๆ ไป  ท่านผู้รับจะคืนให้โดยอนุโลม  เพื่อให้ใช้บูชาท่านผู้อื่นต่อ ๆ ไป  เป็นโดยทางประหยัด

การจัดลำดับที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้  ถ้าเป็นของสำนักพระราชวัง  วังเจ้านาย  บ้านข้าราชการรุ่นเก่าจะจัดลำดับ  โดยให้แพเทียนทั้ง ๒ แพ  อยู่ข้างล่าง  เอาแพธูป ๒ แพ  วางข้างบนผูกมัดให้เรียบร้อย  แล้ววางกระทงดอกไม้  มีกรวยบนหลังแพธูป  การจัดลำดับนี้  ท่านผู้รู้อธิบายว่า เป็นไปโดยลำดับ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน  แต่ถ้าไปซื้อจากร้านค้าของคนจีนแถวบางลำพูหรือถนนบำรุงเมือง  จีนผู้ขายอธิบายว่า ธูปแข็งกว่าเทียน  ควรจะอยู่ข้างล่าง  และก็จัดไว้ขายให้คนซื้อนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

การบูชาพระเทพบิดร  ไม่ว่าจะในวันฉัตรมงคลหรือวันจักรี  เจ้านาย  ข้าราชการรุ่นเก่า ท่านจุดธูป ๑ ดอก  เทียน ๑ เล่ม  บูชาพร้อมด้วยดอกไม้ ๑ กระทง  ทำตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และหมายรับสั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว    ในปัจจุบันเพื่อป้องกันอัคคีภัย จึงบูชาโดยไม่ต้องจุดไฟ  

การลาตายก็เช่นกัน  ท่านลากันด้วยธูป ๑ ดอก  เทียน ๑ เล่ม  ดอกไม้ ๑ กระทง  ท่านผู้รับลา  ท่านก็จุดธูปเทียนนั้น เป็นการบูชา  ท่านไม่ใช้ธูปเทียนแพบูชาในกรณีดังกล่าว





ภาพจาก : newslifeclub.blogspot.com
"กลึ้ง และ พรหม"
ในกฎมณเฑียรบาลเก่าที่ว่าด้วยพระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด บรรยายถึงกระบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดิน และฝ่ายใน คือ สมเด็จพระอัครมเหสี ๑  พระภรรยาเจ้า ๑  แม่อยั่วเมืองซ้าย คือ พระราชเทวี ๑  แม่อยั่วเมืองขวา คือ พระอัครชายา ๑  ทั้ง ๕ พระองค์นี้  กระบวนอิสริยยศไม่เสมอกันดูได้จากเครื่องสูงของพระเจ้าแผ่นดิน มี เศวตฉัตร ๙ ชั้น  และ ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้น กลึ้ง แลพรหม ๓๒

ของสมเด็จพระอัครมเหสี มี ฉัตร ๕ ชั้น ๔ ชั้น ๓ ชั้น  กลึ้ง แลพรหม ๑๖
ของพระภรรยาเจ้า มี ฉัตร ๓ ชั้น ๒ ชั้น  กลึ้ง แลพรหม ๘
ของพระราชเทวี มี ฉัตร ๒ ชั้น  แลบัวหงาย  กลึ้ง แลพรหม ๘
ของพระอัครชายา มี ฉัตร ๒ ชั้น  แลบัวหงาย  กลึ้ง แลพรหม ๘

กลึ้ง ก็คือ “กลึ้ง”  ซึ่งเป็นนาม แปลว่า พระกลด (ร่มชั้นเดียว)  ไม่ใช่ “กลิ้ง”  ซึ่งเป็นกิริยา  อันพอจะเข้าใจได้ว่า ในแต่ละกระบวนมีพระกลดไว้กันแดด กันฝน มีเจ้าพนักงานเชิญถวาย แต่ “พรหม”  คืออะไร  เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ไม่ยาก  เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ  และเจ้าคุณ พระยาอนุมานฯ  ท่านค้นคว้าและโต้ตอบกันไปมาถี่ถ้วน จนได้ความว่า “พรหม”  แปลว่า”ขน”  ใช้ทำเป็นแส้คันยาว เชิญไปในกระบวน แต่ไม่ได้เชิญเฉย ๆ คงเชิญอย่างสะบัดแส้ไปด้วยเพื่อไล่แมลงต่าง ๆ มีผึ้ง ต่อ แตน ไม่ให้มาเกะกะ

คำว่า   กลึ้ง แลพรหม ๓๒ นั้น  ต้องแปลว่า มีพระกลด ๑  และมีแส้คันยาวขนจามรี ๓๒  เพราะ “พรหม”  ซึ่งแปลว่า ขน  และขนนั้นเป็นขนของจามรี (คล้ายวัว หางเหมือนม้า  มีในอินเดียมาก)  ต่อมา พรหม กลายเป็น “จามร”  และหมดสภาพจากแส้กลายเป็นแผ่นแบน ๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ รูปคล้ายพัด  และในสมัยรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเป็นใช้พุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง  ให้คนแต่งเขียว แต่งแดง คือ เรียกว่า อินทร์ พรหม  เดินในกระบวน แทนจามร

ในกระบวนของเทวรูป ซึ่งเชิญในพิธีนั้น ปรากฏว่า “เอาราชยานแลพรหม ๑๖ มารับ”  ไม่มี “กลึ้ง”  เหมือนเชิญเสด็จพระราชดำเนิน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤศจิกายน 2556 14:50:17 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 ธันวาคม 2555 17:22:28 »



ก้อนทอง (เงินหยวนเป่า). เงินหยวนเป่า 元宝
ภาพ : richystar.com

ตำลึงทอง
คำว่า “ตำลึงทอง” ไม่ได้เป็นพืช  แต่เป็นหน่วยในมาตราเงินอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ

ตามบันทึกในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ไทยเป็นศูนย์กลางค้าขายกับจีน แขก ฝรั่ง  การค้าขายซื้อขายกันด้วยการชั่งน้ำหนัก  ดังนั้น มาตราเงินจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อแลกกับสินค้า เช่น ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง,  ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง,  ๔ บาท = ๑ ตำลึง,  ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง,  ๑๐๐ ชั่ง = ๑ หาบ เป็นต้น

ส่วนจีนก็กำหนดค่าเงินของตนเอง เช่น ๔ สลึง = ๑ บาท,  ๔ บาท = ๑ ตำลึง,  ๑๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง,  ๒๐ ชั่ง = ๑ ดุน เป็นต้น  โดยรูปแบบเงินจีนเรียกว่า หยวนเป่า หรือภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า ง้วนป้อ   คนไทยเรียกว่า เงินตำลึงจีน  

เงินตำลึงจีน มีรูปร่างเป็นก้อนเงินคล้ายรูปเรือ  คนที่ชอบดูหนังจีนคงจะเคยเห็นอยู่บ่อย ๆ ใครที่มีเงินก้อนตำลึงอย่างนี้แปลว่ารวยใช้ได้  ยิ่งเป็นทองคำด้วยแล้วยิ่งมีค่าขึ้นไปใหญ่

สำนวนว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง   เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นมูลค่าเงิน  ไพเบี้ยนั้นมีค่าน้อยนิด  ส่วนตำลึงทองมีค่าสูงกว่า เพื่อจะบอกว่า พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียจะดีกว่า


ข้อมูล : nachart “ตำลึงทอง”  หนังสือพิมพ์ข่าวสด  



แท่นประหารกบฏ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
ภาพจาก : เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
แท่นหินประหารกบฏ
วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร  กรุงเทพมหานคร
แท่นหินประกบฏ ขนาดกว้าง ๔๘ นิ้ว  ยาว ๖๐ นิ้ว  เป็นแท่นหินประวัติศาสตร์  กล่าวคือ ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศ  มาทุบบนแท่นหินแผ่นนี้  มีเรื่องราวอยู่ในพงศาวดาร  ตอนกล่าวหากรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นกบฏว่า “มักใหญ่ใฝ่สูง  จะเป็นวังหน้าบ้าง  เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง  อย่าว่าแต่มนุษย์เราจะยอมให้เป็นเลย  แต่สัตว์เดียรฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน”  จึงโปรดฯ ให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร  ลงพระราชอาญาแล้ว  ให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์*  ที่วัดปทุมคงคา  เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ (ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๑)  

กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ต้นสกุล "พึ่งบุญ" เป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๓๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ประสูติเมื่อวันจันทร์  เดือนยี่  ขึ้น ๒ ค่ำ  ตรงกับวันที่ ๒๖ ธันวาคม  ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๓๔   ในรัชกาลที่ ๒ ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษ์รณเรศ และโปรดให้ทรงกำกับกรมสังฆการี  ครั้นรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงกำกับกรมวังและเลื่อนเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศ  เมื่อปีมะโรง  พ.ศ. ๒๓๗๕  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพุธ  เดือนอ้าย  แรม ๓ ค่ำ  ปีวอก  พ.ศ. ๒๓๙๑ พระชันษา ๕๘ ปี เป็นต้นสกุล “พึ่งบุญ”  
 


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวว่า จะเป็นเหตุไรหาปรากฏไม่  ว่าที่วัดปทุมคงคานี้ จึงเป็นที่สำคัญ  สำหรับประหารชีวิตเจ้านาย  เพราะแต่ก่อนงานพระบรมศพ  พระบรมอัฐ  เก็บแล้ว ก่อนที่จะใช้พระอังคารฝังกันนั้น ก็เชิญลงเรือบุษบก เรือศรี  มีแห่กลองชนะเต็มที่  ไปถึงวัดปทุมคงคาแล้ว  ก็เอาพระอังคารลงลอยที่นั่น

และถ้าช้างเผือกล้มลง**  ก็เช่นเดียวกัน  เขาเอาผ้าขาวห่อช้างที่ล้ม  มีเรือตั้ง  เรือกัน  แห่ลากเอาไปถ่วงที่วัดปทุมคงคาเหมือนกัน วัดปทุมคงคา จึงกล่าวได้ว่า เป็นสถานที่ประหารชีวิตแห่งแรกในกรุงเทพฯ


ในรัชกาลที่ ๒  เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๓  อหิวาตกโรคระบาด  ประชาชนตายเป็นจำนวนมาก  ศพก่ายกองเหมืองกองฟืน  ในปีนั้นคนตายประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเศษ  ก็ได้ใช้วัดปทุมคงคา เป็นที่เก็บศพอีกเหมือนกัน


*เกี่ยวกับการประหารพระราชวงศ์  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเจ้าชีวิต ว่า การประหารจะต้องใช้ไม้ท่อนจันทน์ทุบที่ต้นพระศอ (คอ)  เพื่อจะไม่ให้โลหิตของเจ้าตกลงยังพื้นดิน เช่น การเอาดาบฟันคอขาดอย่างสามัญชน  คือถือว่า ถ้าโลหิตของเจ้าตกลงยังพื้นดินก็จะเสียพระเกียรติพระราชวงศ์  โลหิตของเจ้าจะตกลงยังพื้นดินได้ก็แต่ในการรบระหว่างวีรบุรุษ  และพระองค์ท่านได้เคยคุยเรื่องนี้กับแพทย์อังกฤษชื่อ ดร. ฟรานซิส ฮอกคิง (Dr. Francis Hocking)  เขาออกความเห็นว่า การทุบด้วยท่อนจันทน์ที่ต้นคอ ยังดีทางอื่นด้วย คือ ผู้ถูกทุบจะไม่มีความรู้สึกเจ็บอย่างใดเลย และจะตายอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งเลือดก็จะไม่ออก

**พิธีแห่ช้างเผือกที่ล้มเอาไปฝังหรือเอาไปถ่วงนี้ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุคำให้การขุนหาวัดประดู่ทรงธรรมว่า  “สำหรับศพช้างเผือกแห่ไปฝังที่ปากคลองตะเคียน  เรือข้าราชการเป็นกระบวนแห่ มีธงประจำทุกลำ  รวมเรือแห่สิบคู่  เรือตั้งสามคู่  เรือคู่เคียงศพคู่หนึ่ง  มีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง  มีกลองชนะแตรยี่สิบคู่  สังข์ ๑ คู่  แตรงอน ๔ คู่  แตรลำโพง ๔ คู่  จ่าปี่ ๑  จ่ากลอง ๑  ศพลอยน้ำ มีปะรำผ้าขาวคลุมศพด้วย




ภาพจาก : เว็บไซต์ "ธรรมะไทย"
มหาดเล็กไล่กา
เรื่องของมหาดเล็กไล่กานั้น มีที่มาจากการทรงบาตรในพระราชวังหลวง  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จลงเวลา ๙.๐๐ น.  นอกกำแพงพระมหามณเฑียรทางด้านตะวันตก  มีเจ้านายทรงช่วยวางของปากบาตร  พระที่นิมนต์เข้ามา แต่เดิมมีแต่วัดระฆังฯ กับวัดพระเชตุพนฯ  ต่อมาจึงนิมนต์วัดอื่น  ถึงรัชกาลที่ ๕ มีหลายวัด  วันหนึ่งมีวัดต้นเวรและวัดสมทบ  เวรโดยปกติวันละ ๑๐๐ รูป  ถ้าเป็นวันพระพิเศษก็ ๑๕๐ รูป

เหตุที่ทรงบาตรเวลา ๐๙.๐๐ นั้น เพราะมีเรื่องในวังหน้าครั้งรัชกาลที่ ๑  ปกติ วังหน้าท่านลงทรงบาตร เวลา ๐๗.๐๐ น.ทุกวัน  อยู่มาวันหนึ่ง มีคนไปซุ่มทำร้ายพระองค์ เพราะเป็นเวลาปลอดคน  แต่นั้นมา จึงเลื่อนเวลาทรงบาตรเป็น ๐๙.๐๐ น. ทั้ง ๒ วัง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า ที่ทรงบาตรนั้น “ตั้งม้ายาววางขันเงิน อันใส่ข้าวกับไข่ต้ม  และของฉัน ๒ ห่อ   ทุกขันเรียงกันสำหรับทรงบาตรพระสงฆ์องค์ละขัน  ต่อนั้นไปถึงม้าตั้งโต๊ะเภสัชของหมากพลูสำหรับวางปากบาตร”

เวลาที่พระเริ่มเดินเข้ามารับภัตตาหารเรียกกันว่า “เวลาพระล่อง”

ที่ทรงบาตรนั้น อีกาชุม เพราะขันข้าวตั้งเรียงอยู่เป็นแถวยาว พอคนเผลอก็บินโฉบเอาข้าวไป  รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้เด็กผู้ชายที่ยังมีอายุอยู่ในวังชั้นใน*ได้ ราว ๘-๙ ขวบ  มาคอยไล่กาเวลาที่เสด็จลงทรงบาตร  ชาววังเรียกเด็กเหล่านั้นซึ่งเป็นลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ว่า เป็นมหาดเล็กไล่กา  แต่ในรัชกาลที่ ๔  ไม่มีมหาดเล็กไล่กา  เพราะเปลี่ยนที่ทรงบาตรตามที่ประทับ ซึ่งปลูกใหม่ตรงสวนศิวาลัย

มาในรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับมาประทับที่พระมหามณเฑียรตามแบบโบราณ และมีทรงบาตร ณ ที่เดิม จึงจัดให้มีมหาดเล็กไล่กาขึ้นใหม่  แต่คราวนี้ โปรดให้แต่งตัวอย่างทหาร  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงอธิบายไว้ว่า เป็นต้นแห่งการที่จะเกิดตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้น


* วังชั้นใน (ข้างใน) คือที่ประทับรโหฐานของพระมหากษัตริย์   ไม่มีผู้ชายอยู่หรือจะเข้าไปได้เลย นอกจากองค์พระเจ้าอยู่หัวและพระราชโอรสเมื่อยังทรงพระเยาว์   ภายในนั้นมีสวนดอกไม้อันงดงาม  มีตึกที่ประทับของพระมเหสีและเจ้าจอมใหญ่น้อย  พระราชโอรสและธิดาเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ประทับตามตำหนักหรือเรือนของพระมารดา  สำหรับพระมเหสีและเจ้าจอมนั้น มีสตรีห้อมล้อมซึ่งเป็นข้าหลวงหรือสาวใช้มากมาย เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา

ชายอื่น ๆ จะเข้าไป “วังชั้นใน” หรือ “ข้างใน” ได้ ก็แต่เมื่อมีราชการจำเป็น และได้รับอนุญาต  ถึงกระนั้น ก็ต้องมีโขลน (ตำรวจหญิง) และกรมวังคุมเข้าไปด้วย



http://img269.imageshack.us/img269/5128/80573364.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

ภาพจาก : www.nightsiam.com
ความเชื่อเกี่ยวกับสาวพรหมจารี
ชาวโรมันโบราณเชื่อว่า สาวพรหมจารี คือผู้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์  จึงมีการคัดเลือกสาวพรหมจารีจากตระกูลของขุนนางเอาไปเฝ้าเทวสถาน และประกอบพิธีปรนนิบัติเทพเจ้า

ชาวยุโรปที่นับถือศาสนาคริสเตียน ก็ยังคงยกย่องสาวพรหมจารีอยู่  หญิงใดที่ไม่เคยผ่านมือชายเลยตลอดชีวิต เมื่อตายแล้ว กระดูกจะกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์  มีผู้เคารพบูชากัน และบางทีถือว่าเป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วย

พวกอนารยชนต่างๆ  เมื่อทำพิธีทางศาสนา จะนำสาวพรหมจารีไปสังเวยสัตว์ร้าย  และในอินเดียโบราณมีประเพณีเอาสาวพรหมจารีไปโยนแม่น้ำเพื่อมิให้เทพผู้คุ้มครองแม่น้ำพิโรธ บันดาลให้เกิดอุทกภัย   ประเพณีนี้นับว่าเป็นประเพณีโบราณดั้งเดิมของมนุษย์ เพราะปรากฏว่า จีนในยุคโบราณก็นิยมเอาสาวพรหมจารีไปสังเวยแม่น้ำด้วยเช่นกัน

พิธีราชาภิเษกของอินเดีย มีกำหนดให้สาวพรหมจารีเป็นผู้หลั่งน้ำบนพระเศียรถวายอภิเษก




กระบองแดง
ภาพจาก : www.pharm.chula.ac.th
กระบองแดง
กระบองอาญาสิทธิ์ สำหรับเก็บยาหลวง

ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สมัยแรกๆ สมัยที่ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ท่านยังหนุ่มแน่น  ยังมีกระบองไม้สีแดง อันหนึ่งตั้งพิงแสดงไว้ในตู้ ขนาดกระบองยาวและใหญ่

ท่านอาจารย์เขียนไว้ในงานนิพนธ์ ชุดสมบูรณ์เล่มหมวดเบ็ดเตล็ดความรู้ทั่วไป (พิมพ์ในวาระครบ ๑๐๐ ปี ศ.พระยาอนุมานราชธน ๑๔ ธ.ค.๒๕๓๑) ไว้ว่า กระบองสีแดงอันนี้เป็นกระบองอาญาสิทธิ์ สำหรับไปเก็บยาหลวง

สมัยที่ยังมีกรมหมอ แพทย์หลวงต้องการหาเครื่องยาก็ต้องแบกกระบองแดงไปเก็บเอาต้นยาที่เขาปลูกไว้ตามบ้าน เจ้าของบ้านเมื่อเห็นกระบองแดง ก็ต้องยอมให้เก็บแต่โดยดี เพราะถ้าขัดขวางก็จะเจอกระบอง

ท่านอาจารย์พระยาอนุมานราชธน ตามหาความรู้เรื่องกระบองแดงต่อ จนไปพบแพทย์แผนโบราณผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ได้เรื่องเพิ่มเติมว่า ในสมัยนั้น ถ้าพ่อรับราชการสังกัดอยู่กรมใด ลูกชายเมื่อโตเป็นหนุ่มก็ต้องรับราชการสังกัดกรมนั้น
 
เมื่อเติบโต พ่อรับราชการกรมหมอ ตัวท่านก็ไปเป็นลูกหมู่อยู่ในกรมหมอ  กระบวนการรับราชการต้องเข้าเวรปีละ ๔ เดือน คือ ๓ เดือนเข้าเวรเดือนหนึ่ง ได้รับเงินปีเป็นเบี้ยหวัด ปีละ ๑๒ บาท  เงินเดือน ๑ บาท สมัยนั้นถ้าไม่ใช่นักเลงเล่นเบี้ยเล่นโปก็จะไม่เดือดร้อนอะไร ใช้ชีวิตได้สบายๆ

สมัยต่อมา สมัยพระยาอนุมานฯ ยังเป็นเด็ก อัฐไพเดียว เท่ากับ ๓ สตางค์ กินก๋วยเตี๋ยวได้สองชาม ชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินจับจ่ายอะไร เพราะทำกันเองกินกันเอง คนมีเงินเดือน ๑ บาท ถือว่ามีฐานะดีมีหน้ามีตาทีเดียว

แพทย์หลวงผู้เล่า ให้ความรู้ต่อว่า ตอนเข้าเวรรับราชการ เมื่อเจ้านายประชวร แพทย์หลวงต้องประกอบยาถวาย เครื่องยาลางชนิดที่เป็นของสดๆ เช่น เถาหัวด้วน ใบพิมเสน หาไม่ได้ และไม่มีขาย

หลายครั้ง ตัวท่านได้รับคำสั่งให้แบกกระบองออกไปเก็บยา แพทย์หลวงรู้ว่า บ้านไหนมีปลูกไว้  ลูกหมู่ที่ไปมีสองคน แต่งเครื่องเต็มยศ คนหนึ่งถือเสียม ชะแลง สำหรับขุด ถือมีดเอาไว้ตัด อีกคนแบกกระบองแดงไป เจ้าของบ้านเห็นกระบองแดงก็ไม่ขัดข้อง

การใช้อำนาจกระบองแดงอาญาสิทธิ์นี้ ศ.พระยาอนุมาน ท่านตั้งข้อสังเกต ต้นยาบางต้นอาจถูกขุดถูกตัดอย่างไม่ปรานีปราศรัย ถึงเสียหายตายหมด...ก็ได้

ต่อมาภายหลัง พวกแพทย์หลวงก็ต้องมีเครื่องยาเตรียมพร้อมเอาไว้ ร้านขายยาก็มากขึ้น เรื่องแบกกระบองไปหาต้นยา ก็ค่อยๆ น้อยลงจนเสื่อมความนิยม และยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๖


ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ “กระบองแดง” โดยกิเลน ประลองเชิง  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

หมายเหตุ * คำว่า ลางชนิด เป็นคำโบราณ ปัจจุบันเรียกว่า "บางชนิด"...


http://i200.photobucket.com/albums/aa310/kwanrapee/likay46-1.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

ภาพจาก : www.pocketonline.net
ลิเก
เรื่อง ลิเก นี้ ได้ยินได้ฟังมานานแล้ว จับลงไปให้แน่ว่า เกิดเมื่อไร โตมาอย่างไร ก็ไม่ได้ความถี่ถ้วน มาเมื่อ อาจารย์สุรพล  วิรุฬห์รักษ์ คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องลิเกอย่างจริงๆ จึงปะติดปะต่อได้ตลอด
 
อาจารย์สุรพลฯ อธิบายว่า ชื่อเดิมของลิเก คือ ดจิเก   เป็นภาษามลายู  เป็นการสวดบูชาพระอัลล่าห์ของมุสลิม  นิกายเจ้าเซ็น  เข้ามากรุงเทพฯ ทางไทยอิสลามภาคใต้  หลักฐานมาปรากฏชัดในรัชกาลที่ ๕ คราวงานพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ใน พ.ศ. ๒๔๒๒

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับลิเกว่า  “ลิเกในระยะแรก พวกนักสวดหรือ เดอรเวช นั่งกันเป็นวงเพื่อสวดประกอบระมะนา บางขณะมีการสวดเดี่ยว ต่อมา พวกมาเลย์ ฯ  ได้แทรกบทตกลงไปในช่วงที่มีการสวดเดี่ยว พวกคนไทยสนใจในส่วนตลกของการแสดง จึงลอกเลียนแบบกันขึ้น”

ต่อมา “ดจิเก” แยกออกเป็นสองสาขา คือ ฮันดาเลาะ ซึ่งแสดงเป็นชุด เป็นเรื่อง เป็นต้น  ทางให้เกิดการแสดงอย่างที่เรียกว่า “ลิเก” สาขา ๑ อีกสาขาหนึ่ง เรียกว่า “ละกูเยา”  เป็นการแสดงว่ากลอนด้นแก้กัน เป็นต้นทางให้เกิดการแสดงที่เรียกว่า “ลำตัด”

และว่า “ลิเก” นี้ ทางใต้ยังมีอีกหลายแบบ เป็นที่นิยมของสี่จังหวัดภาคใต้มาก
 
ลิเกที่เริ่มจะแยกจากฮันดาเลาะนั้น เจ้าคุณพระยาอนุมานราชธน  เขียนไว้ว่า  “ข้าพเจ้าจำได้ว่า ก่อนจะเกิดมีลิเก เคยเห็นชาวบ้านไทยอิสลามในย่านนั้น (ยานนาวา) ล้อมวงตีกลองรำมะนา ซ้อมกันเสมอ ด้วยได้ยินเสียงแว่วดังมาแต่ไกลแทบทุกคืนไม่ใคร่ขาด แล้วต่อมาคราวนี้ได้เห็นการแสดงตีกลองรำมะนาอยู่พักใหญ่ เป็นทำนองตีโหมโรง และก็มีคนแต่งตัวเป็นแขก ถือเทียน จุดไฟออกมา จะร้องและจะพูดกันอย่างไร จำไม่ได้ก็เห็นจะเป็นทำนองลิเกออกแขกนั่นเอง  แล้วต่อจากนั้นก็มีการเล่นเรื่องต่างๆ สิ่งละอันพันละน้อย พูดเจรจากันเป็นเรื่องตลกคะนอง จะร้องเป็นทำนองเพลงอะไร ก็มีเนื้อร้องเฉียดไปข้างหยาบโลน....”

ครั้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๕  การแสดงเปลี่ยนรูปไปจากการแสดงชุดสั้นๆ เป็นออกแขกแล้วเล่นเรื่องยาว ส่วนเครื่องดนตรียังคงใช้รำมะนา เครื่องแต่งกายและสำเนียงเจรจายังเลียนแบบมุสลิม  ลิเกยุคลนี้เรียกกัน ลิเกบันตน เป็นการเอาสวดของแขกมารวมกับการแสดง ลิเกสิบสองภาษาแล้วเรียกรวมว่า “ยี่เก”

ต่อจากนั้น ลิเกบันตนแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบท โดยพวกปี่พาทย์นำไปใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับ แทนการใช้ลูกคู่ร้องประกอบการตีรำมะนา จึงเรียกว่า “ลิเกลูกบท”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤศจิกายน 2556 14:59:22 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2556 16:35:13 »

.


ภาพจาก : buddhistthaipost.com
รางวัลนำจับพระ
ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๔ ทรงถือหลักความเจริญงอกงามของพุทธจักร ย่อมขึ้นอยู่กับอาณาจักร  ฝ่ายอาณาจักรจะต้องทะนุบำรุงพร้อมขจัดปัดเป่าความเศร้าหมองทางพุทธศาสนา  จึงมีหมายประกาศออกมาหลายข้อ

หมายมา ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก ศักราช ๑๒๑๕ เรื่อง รางวัลนำจับพระ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยพระสงฆ์ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ศรัทธาที่จะให้เป็นประโยชน์ชั่วนี้ชั่วหน้า  บวชในพระศาสนาแล้ว ตั้งใจจะหาแต่ลาภสักการ แล้วกระทำอุลามกต่าง ๆ

เป็นต้นว่า ไปคบหาผู้หญิง พูดจากันในที่ลับต่อสองต่อสอง จนถึงชำเรากัน ดังนี้เห็นจะมีอยู่โดยมาก แต่หากว่าไม่มีผู้ใดจะฟ้องร้องว่ากล่าวเหมือนเรื่องอ้ายเสน ไปคบหากันกับอีหนู ไปหากันจนถึงขั้นชำเรากันทั้งพระ แล้วมีคนไปฟ้องหาในกรมพระธรรมการ

แลพระสงฆ์อื่น ก็เห็นจะเป็นเหมือนอ้ายเสนจะมีอยู่มาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า แต่นี้สืบไป ถ้าผู้ใดรู้เห็นว่าพระสงฆ์รูปใดวัดใด เป็นเช่นอ้ายเสนนี้แล้ว ให้เห็นแก่พระศาสนา อย่าได้ปิดบังอำพรางไว้ ให้มาฟ้องร้องว่ากล่าวในกรมพระธรรมการ ตามกระทรวง

ถ้าแล กรมพระธรรมการ เห็นแก่ฝ่ายจำเลย แลผัดเพี้ยนไปให้เนิ่นช้า ให้ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้าฯ ถวายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท จะได้โปรดเกล้าฯ ให้คนหนึ่งคนใดชำระ

ถ้าชำระได้ความเป็นสัจ ก็จะทรงพระกรุณา โปรดพระราชทานรางวัล ให้แก่ผู้โจทย์นั้นตามสมควร


ถ้าผู้ใด ที่บ้านใกล้เรือนเคียง แลรู้เห็นและปิดบังอำพรางไว้ ไม่มาฟ้องร้องว่ากล่าวก็ดี จะโปรดเกล้าฯ ให้ปรับไหมผู้นั้น ถ้าถือศักดินา ๑,๒๐๐ ไร่ลงไป ให้จ่ายเข้าเดือนๆ หนึ่ง ถ้าถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ จะให้ผู้นั้นเข้าเดือน ๒ เดือน

อนึ่ง ถ้าผู้รู้เห็นเป็นใจ แลช่วยกันชักสื่อพระให้ผู้หญิง ชักผู้หญิงให้พระ ถ้าชำระเป็นสัจ จะโปรดเกล้าฯ ให้ปรับไหมผู้นั้นให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

ด้วยเสมอโทษปาราชิก หลังประกาศรางวัลนำจับพระ ไปแล้ว  ก็มีประกาศผ่อนปรนฉบับต่อมา...มีความสำคัญว่า พระราชาคณะ พระครู ตลอดจนถึงสามเณรรูปใดๆ ซึ่งรักใคร่สุภาพสตรีรูปใดๆ เตรียมหาไว้เมื่อสึก หรือพูดจาปราศรัยกับผู้หญิงทั้งในที่ลับที่แจ้ง จนถึงปาราชิก ให้มาแสดงตนขอลุกะโทษ จะทรงยกโทษให้

อนึ่ง พระสงฆ์สามเณร ซึ่งประพฤติอนาจารทุจริต ไม่มาลุกะโทษ บอกความชั่วลามกของตัว ต่อกรมพระธรรมการแล้ว แลมีบุรุษสตรีผู้ใดผู้หนึ่ง มาให้การลุกะโทษต่อพระธรรมการว่า พระสงฆ์สามเณรรูปนั้น อารามนั้น ประพฤติอนาจารทุจริต พิจารณาเป็นสัจ

จะให้มีโทษกับพระสงฆ์สามเณรรูปนั้น ตามโทษานุโทษอย่างหนัก....

จะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ ๔ ท่านบวชเป็นพระมานานถึง ๒๗ พรรษา จึงทรงรู้ทาง และเขียนกฎหมายดักทางพระสงฆ์สามเณรได้เป็นอย่างดี  แต่มีข้อสังเกตได้ว่า รัชกาลที่ ๔ ไม่ทรงเน้นโทษพระเณรเท่ากับญาติโยม ในหมายประกาศอีกหลายฉบับ ทรงระบุความผิดไปที่ผู้คนแวดล้อม...โทษฐานเป็นตัวการสำคัญ


คอลัมน์ ชักธงรบ "รางวัลนำจับพระ" โดยกิเลน ประลองเชิง หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖


http://www.dmc.tv/images/Jataka_1/vatamicka-26.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

ภาพจาก : www.dmc.tv
หญิงหม้าย ชายบวชนาน
ขบวนการโปรโมตพระอรหันต์ ทำมาหาเงินแบ่งกันทั้งคนโกนหัวไม่โกนหัว และมักลงท้าย ก็มักกลายเป็นอรหอย เพราะถูกจับได้ว่าแอบไปมีเมีย ไม่ใช่จะเพิ่งมาเกิดถี่ในสมัยนี้ มีมานานแสนนานแล้ว
สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักรใกล้กันมาก ยิ่งพระเจ้าแผ่นดิน อย่างรัชกาลที่ ๔ ท่านเคยผนวชมานานถึง ๒๗ พรรษา เวลาเกิดปัญหาเรื่องอรหอย...ท่านเห็นเป็นเรื่องขนมผสมน้ำยา

สั่งลงโทษไม่ละเว้นทั้งตัวพระ ทั้งสีกา คฤหัสถ์ ลองอ่านพระราชโองการต่อไปนี้
(ศาลไทยในอดีต โดย ประยุทธ สิทธิพันธ์)

อนึ่ง สตรีที่เป็นหม้าย ผัวหย่า ผัวตาย ร้างมานาน ขึ้นคานอยู่ หรือสะเทิ้นที่ตั้งแต่เล็กยังไม่เคยพบชาย ขึ้นคานอยู่นานๆ ย่อมสืบเสาะหาผัวที่ไม่มีภรรยา วิสัยคนที่เป็นคฤหัสถ์ ก็มีภรรยาทุกคนด้วยกัน ไม่ใคร่มีใครว่างเปล่าอยู่

ฝ่ายพระสงฆ์ บวชอยู่นาน ไม่มีภรรยา เป็นคนว่างเปล่าอยู่ ถ้าให้สึกออกมาได้เป็นผัวจะดี

พระสงฆ์เล่าบวชอยู่นาน ได้ยศถาบรรดาศักดิ์แต่ในหลวงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ รับนิตยภัตไตรปีได้ แลเทศนาบ้าง บังสุกุลบ้าง แลรับนิมนต์ไปในการพิธีอื่นๆ บ้าง
หรือเป็นพระครู เจ้าอธิการ แลอนุจรก็ดี ได้เทศนาบังสุกุลรวบรวมเฟื้องสลึงตำลึงบาทไว้ได้มาก

ถ้าเราเกลี้ยกล่อมให้สึกออกมาเป็นผัว คงจะมอบหมายเงินทองที่เก็บไว้ให้แก่เรา คงอยู่ในอำนาจเรา จะใช้อย่างไรก็คงได้ดังปรารถนาทุกอย่าง ด้วยคนชาววัดบวชอยู่นาน ไม่เคยพบการชำเราชำเขา ได้พบเข้าแล้วก็คงตื่นไป งมเซอะไปดังนี้

จึงคิดอุบายเอาบุตรชายไปฝากไว้บ้าง ชักโยงพวกพ้องพี่น้องให้ไปอยู่บ้าง พอได้ไปมาเป็นสนสื่อ แลได้ส่งคาวหวานเปรี้ยวเค็ม ถวายพระสงฆ์ที่ตนชอบใจ อยากได้เป็นผัว หรือเป็นเขยนั้นเนืองๆ

ฝ่ายพระสงฆ์เล่า เป็นชาววัด ได้อุปการะเกื้อหนุนสมดังที่คิดไว้ เมื่อยังไม่ได้สึกมักอ้อๆ แอ้ๆ เข้าประจ๋อประแจ๋ประจบประแจงฝากตัวเป็นญาติเป็นโยม เรียกโยมที่บ้าน โยมที่แพ โยมที่ตึก บ้านล่าง บ้านบน ดังนี้ ก็โดยมาก

ครั้นสึกออกมากินอยู่ด้วยกัน หรือชำเรากันเสียก่อนแต่ยังไม่สึกบ้าง


หญิงพอใจหาพระสงฆ์ชาววัดเป็นผัว พระสงฆ์ชาววัดที่สึกออกมาพอใจหาหญิงหม้าย หญิงขึ้นคานเป็นภรรยา อย่างนี้มีมากนัก ชุกชุมทุกหนทุกแห่ง จะระบุว่าคนนี้คนนั้นคู่นี้คู่นั้น จะพรรณนาไปก็ไม่สิ้นสุดลง แลเป็นเครื่องเคืองหูรำคาญใจ

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเตือนสติท่านทั้งปวง...ให้รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีพระราชหฤทัยประสงค์จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ มิให้มัวหมองเป็นมลทิน  แลให้รุ่งเรืองเป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระวังตัวกลัวผิดด้วยกันทั้งชาววัดชาวบ้านว่า ตั้งแต่นี้สืบไป ถ้าผู้หญิงหาพระเป็นผัว หรือพระหาผู้หญิงหม้าย หญิงขึ้นคาน เป็นภรรยาแลทำการสนสื่อไปมาเพื่อเมถุนสังวาสแล้ว มีผู้มาโจทนาว่ากล่าวสืบได้เป็นความสัจ จะให้ปรับไหมมีโทษตามพระราชบัญญัติ แลจะปรับพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียง ในที่รังวัด ๓ เส้น ๑๕ วา ได้รู้เห็น ให้ทำวัดถากหญ้ารื้อขนอิฐปูนไปใช้ในการบุญ กว่าจะครบกำหนดตามกำหนดรังวัดใกล้แลไกลตามสมควร

เมื่อสตรีใดๆ มีความเกี่ยวข้องด้วยเรื่องพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องด้วยเรื่องผู้หญิง คือหาภรรยาแต่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ก็ดี มีอยู่สักกี่แห่งกี่ราย

ก็ให้มาลุกะโทษเสียโดยตรง อย่าให้ปิดบังไว้ให้เนิ่นช้าเกิน ๑๕ วัน จะโปรดยกโทษให้

ถ้ามีคดีเกี่ยวข้องแลแกล้งปิดบังไว้ ไม่มาลุกะโทษ (หาก) มีปากโจทก์หรือผู้มาฟ้องร้องว่ากล่าว หรือกราบทูลพระกรุณาให้ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทก็ดี จะให้ปรับไหมมีโทษจงหนัก มีโทษเสมอกับคนที่เป็นปาราชิก

ทั้งชาววัดแลชาวบ้าน จะให้เสียรังวัดกึ่งผู้ผิด ประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับนี้ จบเพียงเท่านี้


คอลัมน์ ชักธงรบ "หญิงหม้าย ชายบวชนาน" โดยกิเลน ประลองเชิง หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖



ภาพจาก : www.matichon.co.th
เขตวัด สตรีห้ามเข้า
พระญี่ปุ่นบางนิกายมีเมียได้  เมื่อไทยจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ นิมนต์ท่านมาไม่ทันรู้ว่าท่านต้องเอาเมียมานั่งข้างๆ ด้วย  ต้องเจรจาสิ้นหลายกระแสความ กว่าที่นั่งพระหลายๆ ประเทศที่นิมนต์มาจะลงตัว

แต่นิกายเซน ที่คนไทยคุ้นมากกว่า พระไม่มีเมีย บางสำนักยังไม่อยากให้ผู้หญิงเข้าใกล้

หนังสือปกหนาเล่มเล็ก “เล่านิทานเซน” นายแพทย์จำนง ตัณฑิกุล  กรุณาส่งมาให้ เรื่องที่ ๓ ชื่อ พุทธศาสนาอย่างเซน ไม่มีผู้หญิง  ปรากฏความดังนี้

สาวน้อยงามเป็นเลิศในปฐพีญี่ปุ่นคนหนึ่ง เกิด พ.ศ. ๒๓๔๐  ชื่อ โยเน็น  เป็นบุตรสาวนักรบซามูไรผู้ยิ่งใหญ่ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ  นอกจากความงามเธอยังได้รับการศึกษาทั้งด้านเขียนภาพ  บทกวี  จนชื่อเสียงเลื่องลือ

อายุ ๑๗ ปี องค์จักรพรรดิโปรดปราน เรียกเข้าไปรับใช้ใกล้ชิด

ตำแหน่งท่านผู้หญิงสูงศักดิ์ในราชสำนัก ไม่เพียงทำให้เธอมีความสุขใจ ยังเผื่อแผ่ไปทำให้ครอบครัวมีหน้ามีตา

แล้ววันหนึ่ง... วันที่องค์จักรพรรดิสิ้นพระชนม์ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ที่เธอเคยได้ก็มลายหายไป  ระหว่างความทุกข์โศก เธอใช้พื้นฐานจากการอ่านหนังสือ จึงพอรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องเหล่านี้ไว้

เธอจึงประกาศจะละทิ้งทางโลกเข้าวัด  แต่ทางครอบครัวขอร้องให้เธอแต่งงาน จนมีลูกสืบตระกูล ๓ คน  ครั้นอายุ ๒๕ ปี เธอก็โกนหัวหันหน้าเข้าวัด แต่ไม่มีวัดใดยอมรับ สาวงามโยเน็นสงสัย เพราะเหตุใด

จาริกไปถึงเขตมณฑลอีโด เข้าไปกราบอาจารย์เทตสุยุ เจ้าสำนัก  เมื่อเธอเงยหน้าก็ได้ยินเสียงปฏิเสธลั่น “สำนักนี้รับเธอไว้ไม่ได้” “ทำไมหรือ”  “เพราะเธอยังสาวนัก ยังสวยนัก ความสาวความสวย ไม่เป็นผลดีต่อคนส่วนใหญ่ในสำนัก”

เป็นความรู้ใหม่ แม่ชีโยเน็น อดีตสาวงามเพิ่งรู้ว่าความสาวความสวยเป็นอุปสรรคสำคัญในเส้นทางธรรม แต่เธอก็ยังซมซานต่อไป ถึงสำนักเซนใหญ่ มีภิกษุและแม่ชีจำนวนมาก  พระอาจารย์ใหญ่ ชื่อ ฮากูโอะ  เธอเริ่มมีความหวัง แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เลี่ยงเข้าไปดูลาดเลาทางแม่ชี

คืนนั้นโยเน็นนอนไม่หลับกังวลว่า เจ้าสำนักจะไม่ยอมรับ ยิ่งคิดเธอก็ร้องไห้ เหตุใดหนทางฝึกปฏิบัติธรรม จึงตีบตันถึงเพียงนี้ นึกถึงคำอาจารย์เทตสุยุ “เธอสาวเกินไป เธอสวยเกินไป”

โยเน็นก็ตัดสินใจ เอาเหล็กเผาไฟมานาบเข้าที่หน้า ฉับพลันสาวงามกลายเป็นสาวอัปลักษณ์

ณ นาทีนั้น เธอก็เกิดแรงบันดาลใจ หยิบพู่กันมาเขียนบทกวี...“ครั้งเราสนองพระโอษฐ์ ในพระบรมจักรพรรดิ ณ วังหลวงอยู่นั้น เรามีแต่เผากำยานและของหอม อบร่ำพัตราภรณ์เพื่อให้สวมใส่ผ่องผิว รมย์รื่นชื่นนาสา ครั้นมาบัดนี้เล่า ตกอยู่ในที่ยากไร้ ทั้งทรัพย์สิน ญาติพี่น้องแลบ้านเรือนที่พักพิง  เราได้เผาเหมือนกัน แต่เผาผิวหน้าของตนเอง เพื่อขอเข้าศึกษาในสำนักเซน

เช้าวันรุ่งขึ้น โยเน็นก็ได้เข้าไปหาหลวงพ่อ ทุกอย่างผิดคาด หลวงพ่อรับเข้าสำนัก ทั้งยังตำหนิการที่เธอเผาหน้า

เซนที่แท้จริง ไม่มีความเป็นผู้หญิงผู้ชาย ความเป็นหญิงเป็นชายนั้น มีทีหลังการปฏิสนธิในครรภ์มารดา แต่จิตแท้ๆ นั้น  มันก่อนการมาได้ชาติความเกิดนั่นเสียอีก ความคิดไปว่าตนเป็นเพศนั้นเพศนี้ ยังเป็นมายา สัตว์ทั้งหลายถูกกักขังอยู่ด้วยเรื่องนี้”

โยเน็นฟังคำท่านเจ้าสำนักแล้ว ก็...ซาโตริ บรรลุธรรมพื้นฐาน เพียรฝึกปฏิบัติอยู่ในสำนักอาจารย์อีก ๑๓ ปี ก็แยกตัวไปเป็นเจ้าสำนักชีอยู่ที่ภูเขาเขตจังหวัดบันชุ  มีชื่อเสียงโด่งดัง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เธอตายเมื่ออายุ ๖๖ ปี

นี่คือประวัติเจ้าสำนักชี พุทธศาสนาแบบเซน ที่สอนว่าผู้หญิงสวยนั้นบางมิติก็เป็นที่รังเกียจของผู้แสวงหาโมกขธรรม แต่หากทะลุมิติไปได้ไม่ติดมายาภาพหญิงชาย จึงจะถือว่า ได้บรรลุธรรม เข้าถึงความสุขสงบที่เป็นจริง

อย่าว่าแต่พระเซนท่านจะกลัวผู้หญิง พระต้นแบบในสมัยพุทธกาลอย่างพระอานนท์ ท่านก็ยังกลัวผู้หญิง ทูลถามวิธีปฏิบัติ  พระพุทธเจ้าทรงแนะไว้ว่า เจอผู้หญิงก็อย่ามอง ถ้าต้องมองก็อย่าพูด แต่ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ต้องมีสติ

ผู้หญิงสวยเป็นอันตรายสำหรับพระ เผลอสติพูดด้วยเมื่อไรเป็นเสร็จผู้หญิงทุกที


ข้อมุูล : คอลัมน์ ชักธงรบ "เขตวัด สตรีห้ามเข้า" โดยกิเลน ประลองเชิง หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


http://www.springnewstv.tv/upload/news/picture/64af51caee90e6cff1198384b4d.jpg
ย้อนรอยเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีต

ภาพจาก : news.springnewstv.tv
สิ่งซึ่งเรียกว่า “สมี”
คำว่า “สมี” ประยุทธ สิทธิพันธ์ อธิบายคำไว้ใน หนังสือศาลไทยในอดีต ว่า หมายถึงภิกษุ สามเณร ประพฤติผิดล่วงในกาม ทั้งๆ ที่อยู่ในผ้าเหลือง  แม้ถูกจับสึก แล้วเป็นฆราวาส หากถูกใครเรียกว่า “สมี” จะถือว่าเสียหาย

แต่โบราณนานมา มีสมีเกิดขึ้นมากมาย  สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช  มีข้อหา “สมี” ในภาคเหนือ ท่านก็ใช้พระราชอำนาจสั่งให้ภิกษุที่ถูกกล่าวหา พิสูจน์ด้วยกระบวนการ “ดำน้ำ”  หากพิสูจน์ไม่ผ่าน สั่งประหารและจับสึกไปจำนวนไม่น้อย

มาในสมัยรัชกาลที่ ๔  ไม่ได้ทรงสั่งลงโทษแต่ตัวสมี ยังทรงเอาผิดตัว “สีกา” รวมไปถึงพระและประสกสีกา ที่รู้เห็น

หลวงธรรมรักษา รับสนองพระบรมราชโองการ ลงวันศุกร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖... ความว่า

เมื่อเดือน ๕ ปีขาล ฉศก  อีเพ็งเอาหนังสือเพลงยาวเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง นายประตูจับได้ โปรดฯ ให้มีการชำระ

อีเพ็งให้การว่า หนังสือเพลงยาวนี้ของอ้ายหนูวัดพระเชตุพน  เมื่ออ้ายหนูยังเป็นสมีอยู่ในวัดพระเชตุพน  อ้ายหนูกับอีเพ็งทำชำเรากันที่กุฎีอ้ายหนู ๒-๓ ครั้ง   แล้วอีเพ็งซัดไปถึงอ้ายพึ่งสมี ได้ทำชำเรากับอีเพ็งที่ห้องกุฎี  อีเพ็งซัดอ้ายดวงสมีได้ชำเรากับอีเพ็งหลายทีที่กุฎีอ้ายดวงสมี  อ้ายทิมสมีทำชำเรากับอีปรางที่ห้องกุฎีอ้ายทิม  อ้ายเสือสมีทำชำเรากับอีรอดที่ห้องกุฎีอ้ายเสือสมี

ตุลาการเอาสมี ที่มีชื่อผู้ต้องหาซัดมาชำระ  สมีที่มีชื่อผู้ต้องหาซัดมา รับสัตย์สมกับคำอีเพ็ง ให้การถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ นำเอาถ้อยคำอีนักโทษพวกนี้ ขึ้นกราบบังคมทูล จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า ภิกษุสามเณรทุกวันนี้ บวชอาศัยพระศาสนา อยู่เพื่อลาภสักการะต่างๆ ไม่บวชด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธสิกขาบท เป็นอลัชชี ประพฤติความชั่วนั้นๆ ต่างๆ จนถึงเป็นปาราชิก 

ภิกษุทำเมถุนธรรมได้โดยง่ายนั้น เพราะภิกษุสามเณรไปหาผู้หญิงได้โดยง่ายอย่างหนึ่ง ผู้หญิงชาวบ้านไปหาภิกษุสามเณรที่วัดที่กุฎีอย่างหนึ่ง

ทรงพระราชดำริเห็นเหตุอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้หลวงธรรมรักษาหมายประกาศไปแก่พระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการในกรุงทั้งสิ้น

ห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิง พูดจาบนกุฎี  ฝ่ายผู้หญิงชาวบ้านเล่า ห้ามไม่ให้เข้าวัด  ถ้าขืนเข้าไปในวัด จะให้ตำรวจจับปรับเอาเงิน ๓ ตำลึง

ถ้ายังขืนกระแสพระบรมราชโองการ จะพระราชทานลัญจกร (ตราประทับ) เป็นสำคัญ ให้กรมทหารขวาซ้ายเป็นกองจับ ถ้าจับภิกษุสามเณรพูดจากับผู้หญิงได้ที่กุฎีใด  ภิกษุสามเณรที่อยู่ใกล้เคียงกันก็จะปรับโทษเสมอกันกับที่พูดกับผู้หญิง เพราะภิกษุสามเณรที่อยู่ใกล้นั้น ไม่ตักเตือนว่ากล่าวกัน

ให้พระครูทักษิณคณิสาร พระครูอุดรคณารักษ์ พระครูอมรวิไชย หมายประกาศให้รู้จงทั่วกัน

ห้ามอย่าให้ผู้หญิง  ตั้งแต่มารดา พี่ น้อง ญาติ และผู้อื่น อย่าให้ขึ้นกุฎีเป็นอันขาด

พระบรมราชโองการนี้ ชี้ให้คนไทยรุ่นหลังๆ ได้รู้ว่า ฝ่ายอาณาจักรนั้น ไม่เพียงไม่เพิกเฉยเมื่อมีกรณี “สมี”  เมื่อจัดการกับสมีแล้ว ยังจัดการกับผู้ร่วมกระบวนการ ตัวสีกา และคนแวดล้อมด้วย

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงนั้น
กุฎีพระ  กระทั่งโยมแม่ ก็ยังห้ามขึ้น ....


ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ "สิ่งซึ่งเรียกว่า...สมี"  โดย กิเลน ประลองเชิง  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤศจิกายน 2556 15:07:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 24 กรกฎาคม 2556 17:56:41 »




ภาพจาก : atcloud.com
เรื่องของขันที
ยังมีกลุ่มคนเพศพิเศษอีกกลุ่ม ที่เราไม่ได้พูดถึง คือพวกขันที คนกลุ่มนี้มีข้อน่าสนใจ  หลายครั้งในประวัติศาสตร์ มีอำนาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ เหตุเพราะการได้โอกาสอยู่ใกล้กษัตริย์

ล.เสถียรสุต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนเคยเขียนไว้ว่า การตัดอวัยวะเพศ เดิมทีเป็นการลงโทษประเภทหนึ่ง

ซือหม่าเซียน ครั้งหนึ่งเคยต้องโทษประหารชีวิต แต่ขอใช้เงื่อนไข เปลี่ยนโทษประหารเป็นตัดอวัยวะ และเขาใช้ช่วงเวลาที่เหลือค้นคว้าประวัติศาสตร์ จนถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์จีน

แต่ส่วนใหญ่ คนจำพวก ฆ่าได้หยามไม่ได้ มักเลือกรับโทษประหาร เหตุเพราะการยอมให้ตัดอวัยวะเพศเป็นโทษที่น่าอับอาย อีกทั้งการ “ตัด” สมัยนั้น ก็ยังไม่มีมาตรฐานขั้นปลอดภัยเพียงพอ  หลายคนที่ถูกตัด...ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะบาดแผล แล้วที่สุดก็ต้องตาย...ลงท้ายก็ตายเหมือนกัน สู้รับโทษตายเสียเลยดีกว่า

ราชสำนักจีนโบราณ มีขันทีอยู่ราวๆ ๗๐๐ - ๗,๐๐๐ คน สมัยราชวงศ์เหม็ง ยุคทองของขันที เคยมีขันทีถึง ๒๐,๐๐๐ คน

กษัตริย์โปรดขันที เพราะขันทีไม่มีลูกเมีย ไม่น่าจะคิดสะสมทรัพย์สมบัติอะไรมาก ความใกล้ชิดทำให้กษัตริย์เห็นใจในความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ข้อสำคัญ ขันทีไว้ใจได้ เพราะจะไม่มีเรื่องข้องแวะกับนางสนมไปถึงมเหสี

สมัยกวงบู๊ ล.เสถียรสุต บอกว่า ชายที่รับใช้ในวังต้องเป็นขันทีเท่านั้น และเนื่องจากการเป็นขันที ดูจะเป็นอาชีพดีมีความก้าวหน้า ช่องทางเข้าเงื่อนไขตัดอวัยวะเพศ ยอมเจ็บยอมเสี่ยงบ้าง...แต่ก็ดูจะง่ายกว่าการสอบเป็นจอหงวน

อาชีพขันทีเคยฮิต ถึงขั้นมีสถาบันศึกษาของตัวเอง คนที่ถูกคัดเลือก ข้อแรกหน้าตาดี ข้อต่อมาจะต้องฉลาด มีความรู้มาก มากพอกับคนเป็นข้าราชการ

สมัยราชวงศ์เช็ง มีคลินิกผ่าตัดชายให้เป็นขันทีอยู่หลายแห่ง ค่าผ่าตัดเป็นเงิน ๖ ตำลึง ไม่ต้องดาวน์ ผ่อนได้ นอกจากหมอผ่าตัดแล้ว ยังต้องใช้ผู้ช่วยหมออีกสามคน  คนหนึ่งจับขา อีกคนจับแขน และคนที่สามจับเอว

เมื่อกระบวนการจับพร้อม...หมอจะใช้มีดผ่าตัดรูปเคียวคมกริบ ตัดฉับ ตามมาด้วยการกรีดลูกอัณฑะ อย่างรวดเร็ว ปิดแผลด้วยกระดาษบางๆแช่สุราต้มพริกไทยไว้หลายๆชั้น ครบ ๓ วัน ก็ค่อยๆเอากระดาษออกทีละแผ่น จนหมด หมอที่เชี่ยวชาญ รับประกันว่า แผลจะหายภายในเวลา ๓ เดือน

คนที่ตายเพราะการผ่าตัด มีอยู่บ้าง ร้อยละ ๒ ตัวเลขอัตราเสี่ยงนี้ ถือว่าดีมาก ในวงการตัดอวัยวะเพศสมัยนั้น

สิ่งที่ตัดออกมา หมอจะดองสุราใส่ขวดโหลไว้ ใช้เป็นหลักฐานสำคัญ ในการขอรับราชการ ประเดิมตำแหน่งขันที และจะต้องถือขวดโหลไว้ใช้อีก ในคราวที่ขอปรับวุฒิ เลื่อนตำแหน่ง  ขวดโหลนี้จะต้องเก็บไว้จนถึงวันตาย...เพื่อเอาใส่ในโลงศพ

เชื่อกันว่า ถ้าขันทีตายโดยไม่มีโถดองอวัยวะเพศ พญายายมราชจะส่งไปเกิดเป็นลาตัวเมีย



ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ "เรื่องของขันที" หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖

เพิ่มเติม : ขันทีจีน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  เดิมมาจากการนำเชลยที่จับตัวได้ เอามาตัดอวัยวะเพศเพื่อให้ทำงานหนักประเภทที่ผู้หญิงทำไม่ได้ในวังหลวง  แต่ต่อมามีความต้องการใช้ขันทีในวังเพิ่มมากขึ้น  จึงได้มีการเกณฑ์เด็กหนุ่มมาตอน เพื่อส่งเข้าไปรับใช้ในวัง....ท่านสามารถอ่านได้จากหนังสือขันทีคนสุดท้าย เขียนโดย ตันสือ "วิภาดา กิตติโกวิท" แปล ... หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากชีวิตจริงของ "ชุนเหอ" ขันทีในยุคราชวงศ์ชิน อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน  เรื่องราวบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการเป็นขันที กรรมวิธีการตอนที่น่าตกตะลึง ตลอดจนเรื่องราวชีวิตจริงของขันทีที่ต้องเข้าไปรับใช้ฮ่องเต้หรือฮองเฮาในวังหลวง  


 ที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดา...วัดปิ่นบังอร ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ท่านสมภาร พระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ (เพียง ปัญญาวโร) เล่าที่ไปที่มาของวัดปิ่นบังอร ถนน Masijd Negen ไว้ว่า วัดนี้ไม่ใช่วัดไทยในปีนัง ครั้งหนึ่ง เคยเป็นวัดของ "เจ้านาย" ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์

เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ต่อเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย  เพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  แกนนำคณะราษฎร์ ต้องการใช้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคณะราษฎรกับชนชั้นเจ้านาย
 
หลังกบฏบวรเดชฯ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา  ลี้ภัยมาอยู่ปีนัง   เค้าลางที่ยังเหลือ คือถนน Jalan Mano และซอย Solook Mano  ซึ่งแยกจากถนนใหญ่สาย Jalan Bagan  เดิมทีเป็นละแวกบ้านชั้นเดียวของคนชั้นกลาง
  
เมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว ละแวกนี้ยังเป็นเรือกสวนรกครึ้ม มีเรื่องเล่าว่า ระหว่างสงคราม พระยามโนปกรณ์นิติธาดา  รื้อสนามหญ้าหน้าบ้าน ปลูกมันสำปะหลังใช้กินเป็นอาหาร จนผ่านช่วงเวลาข้าวยากหมากแพงไปได้

พระยามโนฯ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑  ศพท่านถูกนำมาทำพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัดปิ่นบังอร  มีเจ้านายไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสด็จมาเป็นประธานในพิธี  ครบวาระแล้ว ศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดา  ซึ่งมีเทือกเถาเหล่ากอจีนฮกเกี้ยน ถูกบรรจุไว้ในที่เก็บศพรูปร่างเหมือนฮวงซุ้ย  ที่ฮวงซุ้ยมีป้ายหินแกะสลักอักษรภาษาไทย  ว่า  “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา  (ก้อน หุตะสิงห์) ชาตะ 15 ก.ค.2426  มรณะ 1 ต.ค.2491”   วัดปิ่นบังอรนี้มีที่เก็บศพแบบจีนอยู่แห่งเดียว   นอกนั้นเป็นที่บรรจุกระดูกแบบที่ท่านสมภาร ซึ่งเป็นคนสยามไทรบุรี (เคดาห์) เรียกว่าบัว
 
มีป้ายเล่าเรื่องว่า ศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   ถูกเก็บไว้ที่แห่งนี้ ราว ๖ เดือน ต่อมาญาติๆ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา  โดยความเห็นชอบของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งเรือรบหลวงมารับไปทำพิธีเผาที่เมืองไทย และอัฐิของท่าน ก็ถูกนำไปเก็บรวมไว้ที่เจดีย์เดียวกับ คุณหญิงเชย ภริยา ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร



ภาพจาก : www.manager.co.th

อ้างอิง : คอลัมน์ชักธงรบ "ตามรอยพระยามโนฯ" โดย กิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖,  เว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี และ เว็บไซต์ manager



ภาพจาก : www.matichon.co.th
แม่น้ำคงคา
แม่น้ำแห่งการชำระบาป จากตำนานอินเดีย

เรื่องราวเล่าขาน พระคงคามาตา สายน้ำบนสวรรค์ เป็นมเหสีพระอิศวร คู่กับพระแม่อุมา ซึ่งเป็นเชษฐภคินี

หลายพันปีมาแล้ว ณ แคว้นหนึ่งแห่งชมพูทวีป มีกษัตริย์พระนาม “สัคระ” ทรงมีพระโอรสหกหมื่นองค์ ทุกพระองค์ซุกซน ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่มนุษย์ไปถึงเทวดา เรื่องถูกร้องเรียนไปถึงพระนารายณ์

ทรงอวตารเป็นกบิลฤาษี ไปอยู่ในเมืองบาดาล

ท้าวสัคระ ประกอบพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการ หากม้าไปถึงเมืองใด เมืองนั้นต้องยอมศิโรราบพระโอรสหกหมื่นพระองค์ก็ตามไป ชมพูทวีปเดือดร้อนพระอินทร์ทนดูไม่ไหว แปลงเป็นรากษสมาขโมยม้าไปซ่อน  แล้วก็เจาะจงให้ม้า ไปแทะเล็มหญ้าอยู่ใกล้ๆ พระกบิลฤาษี  หกหมื่นพระโอรส ตามไปถึงคิดว่า กบิลฤาษีขโมยม้า กรูกันเข้าไปทำร้าย พระฤาษีลืมตาเป็นประกายไฟ เผาผลาญหกหมื่นพระกุมาร จนเป็นเถ้าถ่าน พระนารายณ์สาปซ้ำ...ไม่มีอิทธิฤทธิ์ใด จะทำให้อัฐิ หกหมื่นกุมารฟื้นคืน จนกว่าจะได้ชำระบาปจากพระแม่คงคา

ท้าวสัคระทราบเรื่องพระโอรส ก็พยายามบำเพ็ญพรตภาวนา ขอให้พระแม่คงคาซึ่งปกติไหลอยู่บนสวรรค์ ให้ไหลลงมาโลกมนุษย์ ตลอดช่วงชีวิตท้าวสัคระยังไม่บรรลุผล การบำเพ็ญพรตของกษัตริย์วงศ์ท้าวสัคระ ยังมีต่อๆ ไป

จนถึงยุคสมัยของ ท้าวภคีรถ กษัตริย์พระองค์นี้ ไม่เพียงบำเพ็ญพรตภาวนา ยังประกอบยัญพิธี พระพรหมทนเฉยต่อไปไม่ได้ ต้องเสด็จลงมาให้พรตามที่ท้าวภคีรถขอ  พระพรหมไปขอให้พระอิศวร สวามีพระแม่คงคา ปล่อยสายน้ำจากสวรรค์ ผ่านมุ่นมวยผมพระศิวะ ไหลลงไปโลกมนุษย์ ชำระบาปให้บรรพบุรุษท้าวภคีรถ

แม่น้ำคงคาจากเชิงผาหิมพานต์ เรียกว่า ดังโคตรี ไปถึงฤาษีเกศ จึงมีอีกชื่อว่า “ภาคีรถี” มีความหมายว่า แม่น้ำที่ไหลไปตามพระภคีรถ  นับแต่นั้นมา แม่น้ำคงคาจึงเป็นแม่น้ำที่ใช้ในการชำระบาป เป็นแม่น้ำที่ผู้ใดได้อาบ ก็ถือว่าได้รับการอภัยจากเทพเจ้า...พ้นบาปพ้นมลทินทั้งสิ้น


ย่อความจาก : คอลัมน์ชักธงรบ "แม่น้ำคงคาสายน้ำแห่งการให้อภัย" โดย กิเลน ประลองเชิง หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤศจิกายน 2556 15:11:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.58 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 02 มีนาคม 2567 11:00:08