[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 06:30:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก แห่งวัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา  (อ่าน 40905 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 มกราคม 2556 20:58:23 »

.
เปิดตำนาน เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  
แห่งวัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา
วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน  เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต”
อันเป็นที่ประจักษ์และเชื่อถือถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์  
และ “เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก” แห่งศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ผู้สร้างตำนานความรักอันลือลั่นกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้ครองกรุงอโยยา  
ที่ลงเอยด้วยความโศกเศร้าและความตาย
จนเกิดอนุสรณ์แห่งความรักขึ้น ณ บริเวณวัดพนัญเชิงเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา



หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติการสร้างหลวงพ่อโต
เรื่อง-ภาพ : kimleng
 

หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงาม องค์ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตรเศษ  สูง ๑๙ เมตร  ปรากฏในพงศาวดารว่าสร้างขึ้นในปีชวด พ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง ๒๖ ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าเลอไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงสุโขทัย  

ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานกันว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ผู้ครองกรุงอโยธยา เป็นผู้สร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักความอาลัยและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระนางสร้อยดอกหมาก พระมเหสีราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน


อภินิหารพระพุทธไตรรัตนนายก(หลวงพ่อโต)

 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนาม “หลวงพ่อโต” แห่งวัดพนัญเชิงให้ใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ด้วยทรงเห็นว่าคำว่า “หลวงพ่อโต” เป็นนามพระพุทธรูปที่เห็นมีอยู่หลายที่ที่ตั้งชื่อเดียวกันนี้ จึงทรงถวายพระนามให้ใหม่เพื่อป้องกันการสับสน

ชาวกรุงเก่าให้ความเคารพสักการะและนับถือ “หลวงพ่อโต” มานานนับร้อยๆ ปี ปัจจุบัน “องค์หลวงพ่อโต” ก็ยังคงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามากราบไหว้บูชา ทุกคนล้วนมาเพื่อขอพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านให้ช่วยคุ้มครองป้องภัยภยันตราย

มีเรื่องเล่าถึงอภินิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตมากมาย แม้แต้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็บันทึกลางร้ายบอกเหตุเสียกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า “เมื่อก่อนกรุงจะแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าพแนงเชิงน้ำพระเนตรไหลจดพระนาภี” เหตุการณ์ประหลาดไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้ ทำให้ชาวกรุงเก่าขณะนั้นพากันขนย้ายสมบัติ ทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งไม่นานไทยก็เสียกรุงให้แก่พม่า

ต่อมา ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบินไปทิ้งระเบิดสะพานปรีดีธำรง อันเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างเกาะเมืองกับถนนสายนอก เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงของกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะลูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมาตกอยู่กลางสะพานแล้วไม่ระเบิดและมีเหตุการณ์ที่ชวนขนหัวลุกโดยผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกรุงเก่าเล่าว่าในคืนที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดนั้นเป็นคืนพระจันทร์ข้างขึ้น ทันทีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา พวกเขาเห็นชายชราคนหนึ่งขี่ม้าสีขาวโผนขึ้นไปในอากาศเพื่อปัดระเบิดลูกนั้น เมื่อชายชราผู้นั้นปัดระเบิดทิ้งไปหมดแล้วก็วูบหายลงที่วิหารหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เช้าวันรุ่งขึ้นพวกชาวบ้างจึงพากันไปดูหลวงพ่อโต ปรากฎว่าพบรอยแตกที่พระกรข้างขวาร้าวตลอดลงมา จึงร่ำลือกันว่า หลวงพ่อโตท่านมาช่วยปัดลูกระเบิดเพื่อช่วยชาวกรุงเก่า


อีกเรื่องหนึ่งของความศักดิ์ซึ่งเป็นเรื่องจริงของหลวงพ่อโต เกิดขึ้นกับกลุ่มนักดำน้ำหาสมบัติเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนที่มีอดีตเป็นทหารเรือ เล่าว่ากลุ่มนักดำน้ำกลุ่มนี้เคยไปดำน้ำหาสมบัติที่หน้าวัดพนัญเชิงและทราบว่าที่ใต้ฐานหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงมีของมีค่ามากมายซ่อนอยู่ วันที่เขาและพรรคพวกจะลงดำน้ำนั้น ก่อนลงไปเขาได้อธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตจงรับรู้เจตนาว่าเมื่อเห็นสมบัติแล้วจะไม่ขอแตะต้องโดยเด็ดขาด เมื่อดำลงไปก็ได้มุดเข้าไปในโพรงที่กระแสน้ำเซาะเข้าไปใต้วิหารหลวงพ่อโต เห็นดินร่วงลงจนเป็นอุโมงค์ เมื่อเอาไฟฉายส่องดูก็พบภาพอัศจรรย์มาก เขาเห็นพระพุทธรูปทองคำที่ถูกฝังไว้กับดินพร้อมด้วยเงินทองมากมายอยู่ในลังไม้ก็มี อยู่ในอ่างเคลือบขนาดใหญ่ก็มี แต่ขณะที่มองดูอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงคนพูดก้องว่า “เจ้าอย่านำขึ้นมา ดูอยู่แค่นั้น หมดเวลาแล้ว จงกลับไปเถิด” เมื่อได้ยินอย่างนั้นพวกเขาขนลุกซู่ทันทีและคิดในใจว่า “หลวงพ่อโต”  

หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่มาก มีน้ำหนักมาก ภายใต้พื้นดินก็ถูกน้ำเซาะจนเป็นโพรง ทำไมองค์ท่านไม่พังถล่มทลายลงมา นี่ถ้ามิใช่พระพุทธบารมีก็คงพังลงสู่แม่น้ำไปนานแล้ว


พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เป็นกษัตริย์ไทยก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในพงศาวรดารเหนือ ว่าแต่เดิมพระองค์เป็นสามัญชน แต่ต่อมากษัตริย์ที่ครองกรุงอโยธยาว่างลง ไม่มีผู้ใดจะสืบสันตติวงศ์ต่อไป บรรดาเสนาอำมาตย์ พราหมณ์ปุโรหิต จึงอธิษฐานเสี่ยงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปกับเรือเอกชัยสุพรรณหงษ์   เพื่อเสาะหาผู้มีบุญญาธิการมาครองเมือง ในวันที่มีการเสี่ยงเรือนั้นได้มีเด็กเลี้ยงควายอยู่ที่บ้านหัวปลวกกลุ่มหนึ่ง ในจำนวนนี้มีเด็กคนหนึ่งตั้งตัวเองเป็นหัวโจก สมมติตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นั่งว่าราชการอยู่บนจอมปลวกและสั่งให้ตัดหัวเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อเด็กที่เล่นเป็นเพชฌฆาตนำเด็กคนนั้นไปตัวหัวด้วยไม้ขี้ตอก ปรากฏว่าเด็กคนนั้นหัวขาดตายไปจริงๆ และขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรือสุพรรณหงส์เสี่ยงทายอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์แล่นมาถึงที่นั่นพอดี ไม่ว่าบรรดาเหล่าฝีพายจะออกแรงพายอย่างไรเรือก็ไม่เคลื่อนออกจากที่ เหล่าเสนาอำมาตย์จึงได้ขึ้นฝั่งและพบเหตุอัศจรรย์นี้เข้าพอดี จึงได้อัญเชิญเด็กเลี้ยงควายผู้สมมติตนเองเป็นกษัตริย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองอโยธยาสืบต่อไป



รูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก


เปิดตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ตำนานพระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระนางสร้อยดอกหมากไว้ว่า พระเจ้ากรุงจีน ทรงมีบุตรบุญธรรมจากจั่นหมากชื่อว่า สร้อยดอกหมาก ครั้นนางจำเริญวัยเป็นสาวแรกรุ่น โหรหลวงทำนายว่าจะได้กษัตริย์กรุงไทยเป็นพระสวามี พระเจ้ากรุงจีนจึงทรงมีพระราชสาสน์มาถวายพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็เสด็จไปกรุงจีนด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ด้วยพระบารมีพระราชกุศลที่สั่งสมมาแต่ปางหลังนำพาให้พระองค์ฝ่าภยันตรายไปถึงกรุงจีนด้วยความปลอดภัย พระเจ้ากรุงจีนทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

จำเนียรกาลผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนจึงพระราชทานเรือสำเภา ๕ ลำ กับชาวจีนที่มีฝีมือในการช่างสาขาต่างๆ จำนวน ๕๐๐ คน ให้เดินทางกลับสู่กรุงอโยธา    

เมื่อเดินทางถึงปากน้ำแม่เบี้ย ใกล้แหลมบางกะจะ (บริเวณวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน) พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน เพื่อจัดเตรียมตำหนักซ้ายขวาต้อนรับพระนางสร้อยดอกหมาก ครั้นรุ่งเช้าก็จัดขบวนต้อนรับโดยให้เสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่มาอัญเชิญพระนางสร้อยดอกหมากเข้าเมืองโดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย พระนางสร้อยดอกหมากไม่เห็นพระเจ้าสายน้ำผึ้งมารับก็เกิดความน้อยพระทัย จึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า “มาด้วยพระองค์โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับ ก็จะไม่ไป”

เสนาบดีนำความขึ้นกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่น จึงกล่าวสัพยอกว่า “เมื่อมาถึงแล้ว จะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด”   ครั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นไปบนเรือสำเภา พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่ามากมาย พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด”

ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น เข้าพระทัยผิดคิดว่าตรัสเช่นนั้นจริงๆ ก็เสียพระทัยยิ่งนัก จึงกลั้นพระหฤทัยจนถึงแก่ทิวงคต ณ บนสำเภาเรือพระที่นั่ง ที่ท่าปากน้ำแม่เบี้ยนั่นเอง ครั้นปีมะโรง จุลศักราช ๔๐๖ ฉอศก จึงอัญเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ และสถาปนาบริเวณนั้นเป็นพระอารามนามว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” หรือ “พแนงเชิง”  ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีแง่งอน”
 


ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธา

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ข้างพระวิหารหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากที่แต่งองค์แบบจีน ชาวจีนให้ความเคารพนับถือมาก แทบทุกคนเมื่อมาปิดทองหลวงพ่อโตในพระวิหารแล้วจะต้องแวะมาสักการะองค์เจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วย

ความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก มีผู้กล่าวขานมาเนิ่นนาน ว่ากันว่าท่านเป็นผู้ถือพระองค์ และมีรักเดียวใจเดียวต่อพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ไม่โปรดให้ผู้ชายเข้าไปแตะต้องพระรูปของท่านไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น  

เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีผู้ชายเข้าไปทำความสะอาดพระรูปเจ้าแม่ ปรากฏว่า เมื่อชายผู้นั้นกลับไปบ้านก็เกิดเจ็บอย่างกะทันหันและถึงแก่ความตายไปโดยไม่รู้สาเหตุ และหากย้อนหลังไปอีก เหตุการณ์เช่นกรณีนี้ก็เคยมีผู้ชายเข้าไปทำความสะอาดพระรูปเจ้าแม่แล้วถึงแก่ความตายถึง ๒ คน และเป็นความตายโดยฉับพลันทั้งสิ้นจึงเป็นที่รู้กันว่า เจ้าแม่ไม่ยินดีและไม่ยอมให้ชายคนใดถูกพระวรกายของท่าน  

แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ เวลามีงานงิ้วเดือน ๙ ของวัดพนัญเชิง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก จะมีการทำพิธีบูชาเจ้าแม่ การแห่เจ้าแม่ออกนอกศาลก็เพียงแต่ใช้วิธีอัญเชิญเอาเฉพาะกระถางธูปออกไปเท่านั้น ในงานนี้จะมีบรรดาคนทรงเจ้าแม่สร้อยดอกหมากมาจากทั่วทุกสารทิศ เล่ากันว่าเมื่อประทับทรงเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนั้น ร่างทรงซึ่งปกติจะพูดภาษาจีนไม่ได้เลย ก็กลับกลายเป็นพูดจีนได้อย่างน่าอัศจรรย์ สมัยก่อนเจ้าหน้าที่ประจำศาลเจ้าแม่เป็นคนจีน ฟังภาษาจีนและพูดภาษาจีนได้เล่าว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากเคยถามหาทรัพย์สมบัติโบราณที่พระองค์นำมาจากเมืองจีนและเคยเก็บรักษาไว้ที่นี่  ตอนนี้เอาไปเก็บเสียที่ไหนแล้ว และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศาลเคยเห็นเจ้าแม่มาแล้ว ท่านจะแต่งชุดจีนสีขาว พระพักตร์สวยมาก

ปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ก็ยังคงมีอยู่ ใครมาบนบานขออะไรท่านไม่ว่าจะขอลูก ขอความสำเร็จหรือขอให้มีความรักก็มักจะได้ตามนั้น จนมีผู้นำของมาแก้บนเต็มไปหมด โดยส่วนมากจะบนด้วยสร้อยไข่มุก เครื่องสำอาง สิงโตเชิด และเครื่องสังเวย






หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา




พระประธานประจำพระอุโบสถ วัดพนัญเชิง




พระประธาน ประจำวิหารวัดพนัญเชิง




รูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก (เปลี่ยนผ้าหุ้มองค์ใหม่)


ลายประดับ ประตูเข้าตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก


สมอเรือ เก็บรักษาไว้ข้างองค์เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก


บริเวณตู้เอทีเอ็ม(สีเขียว) ธนาคารกสิกรไทย ราวสิบปีเศษที่ผ่านมา
บริเวณนั้นเป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ และมีสมอเรือโบราณของเจ้าแม่สร้อยดอกหมากพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์
ปัจจุบัน ถูกนำไปเก็บไว้ข้างองค์เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ภายในศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก


ปัจจุบันไม่มีโพธิ์ต้นนั้นให้เห็นอีกแล้ว เคยเห็นสิ่งก่อสร้างสำคัญ ได้แก่พระวิหารหลวงพ่อโต ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
อันมีตำนานโด่งดัง ที่ผู้คนเล่าขานจดจำสืบต่อๆ มา บัดนี้ มีถาวรวัตถุอื่นมากมายเต็มไปหมด  
จนทำคิดว่าเด็กรุ่นต่อมานั้น จะทราบหรือไม่? ว่า วัดนี้มาความเป็นมาอย่างไร?


เรือแกะสลักจากหยก


ศาลาท่าน้ำ ริมแม่น้ำป่าสัก วัดพนัญเชิง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มกราคม 2560 15:09:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
พัดลมเพดานหมุนติ้ว
นักโพสท์ระดับ 7
**

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 102


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 23.0.1271.97 Chrome 23.0.1271.97


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 มกราคม 2556 13:52:01 »

 ช๊อค
บันทึกการเข้า
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2557 18:07:14 »

.


ภาพจาก : lnwshop.com

กรณีศึกษา
จากโบสถ์แซงต์มอริส ถึงวัดพนัญเชิง
 (๑)

ช่วงนี้หากใครเดินทางไปเที่ยววัดพนัญเชิง กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา คงเกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย จากสองวาทกรรมที่ตอบโต้ผ่านนัยการต่อสู้กันบนแผ่นป้าย

ฝ่ายวัดต้องการ “ทวงคืนพื้นที่สุสาน” ในขณะที่ฝ่ายประชาชนลูกหลานชาวจีนก็ขึ้นป้ายแดงหรากระจายเกลื่อนเมือง ไม้เว้นแม้แต่ตามร้านขายก๋วยเตี๋ยวว่า “ขอคัดค้านการรื้อสุสานของบรรพชนชาวจีน”

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในบรรดานักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนแหล่งโบราณสถานเมืองเก่าอยุธยาเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอมรับว่าหัวใจห่อเหี่ยวเมื่อเห็นป้ายเหล่านั้น

จึงพยายามเกาะติดสถานการณ์ข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจร่วมเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการรื้อย้ายสุสานชาวจีนออกจากวัดพนัญเชิง

แต่เนื่องจากความจำกัดด้านการเก็บข้อมูลเชิงลึก ผู้เขียนไม่ได้ไปสัมผัสบรรยากาศสุสานวัดพนัญเชิงอย่างเจาะลึกจริงจังในทุกมิติ ทั้งยามปกติและเทศกาลเชงเม้ง ไม่ทรายรายละเอียดของการบริหารจัดการ ไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับตัวแทนของคู่กรณี ทั้งจากฝ่ายวัดพนัญเชิง มูลนิธิเชียงเต๊กตึ๊ง รวมถึงตัวแทนลูกหลานชาวจีนทายาทที่มีศพบรรพบุรุษฝังในสุสานนั้น

ดังนั้น ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นี้ จึงศึกษาจากเอกสารชั้นรองล้วนๆ

ดังที่ทราบแต่ในเบื้องต้นกันแล้วว่า การที่วัดพนัญเชิงมีความประสงค์อยากให้มีการเคลื่อนย้ายสุสานศพชาวจีนออกไปจากวัดนั้น เริ่มมีเค้าลางก่อตัวมาแล้วนานกว่าศตวรรษ และค่อยๆ ปะทุอย่างต่อเนื่องขึ้นมาทีละน้อย ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มปุบปับเมื่อปลายปีกลาย

อันเป็นความขัดแย้งภายในระหว่างวัดกับมูลนิธิ จนในที่สุดก็นำไปสู่การยื่นคำขาดว่า ในฐานะที่วัดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ มีความประสงค์จะใช้ที่ดินไปทำกิจการให้เกิดประโยชน์ของวัด

อาทิ ขยายพื้นที่โรงเรียนปรับปรุงภูมิทัศน์ ขยายลานจอดรถนักท่องเที่ยวเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงขอให้ทายาทรีบมาดำเนินการเคลื่อนย้ายศพบรรพบุรุษภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล็กๆ อยู่ดีๆ ก็จะให้เหล่าลูกหลานหลายหมื่นหลายพันชีวิต ต้องรู้สึกผิดเป็นบาปเป็นกรรม คือต้องมาเปิดสุสานขุดกระดูกย้ายศพบรรพชนเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาไปไว้ที่ไหนสักแห่งก็ตามแต่

นี่คือระฆังแม้ไม่ใช่ยกแรก แต่ก็ถือว่าใกล้ยกสุดท้าย ที่ส่งสัญญาณให้ฝ่ายมูลนิธิ ฝ่ายลูกหลานและฝ่ายนักวิชาการท้องถิ่น ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกแล้ว จำต้องปรับยุทธวิธีการต่อสู้ใหม่

เกิดการรวมกลุ่มกันทักท้วงไถ่ถามตอบโต้กับวัดพนัญเชิงถึงความคาใจของเรื่อง “กรรมสิทธ์”



ช๊อค  ใครต้นคิด?!!.







หน้าตักพระพุทธไตรรัตนนายก(หลวงพ่อโต) มีชายสวมชุดขาว คอยรับผ้าที่โยนขึ้นไปห่มหลวงพ่อโต
วันหนึ่งผู้โพสต์เข้าไปในวิหารหลวงพ่อโตประมาณเที่ยงครึ่ง ไปพบเห็นภาพกลุ่มที่ทำหน้าที่ดังกล่าว
นอนหลับพักผ่อนอยู่บนหน้าตักองค์หลวงพ่อโตนั่นเอง...

และได้ยินภิกษุรูปหนึ่งบ่นว่าเดินทางจะมากราบหลวงพ่อโต แต่ติดข้องที่มีโยมขึ้นไปอยู่บนองค์พระ
ท่านจึงไม่อาจกราบรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตามตั้งใจ
 
อีกเรื่องที่น่ารับฟัง ผู้โพสท์ได้ฟังพระอาจารย์รูปหนึ่งเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำความสะอาด
องค์พระประธาน พระพุทธรูป ในพระอุโบสถ ว่า เมื่อจะทำความสะอาดองค์พระ
พระจะปิดประตูพระอุโบสถ ไม่ให้ญาติโยมได้เห็น คงจะเกี่ยวเนื่องด้วยมิให้ต้องเสียศรัทธา
ที่ประชาชนมีต่อองค์พระพุทธรูป


สรุปแล้วจริงละหรือที่ทางวัดอ้างว่าพื้นที่ตั้งสุสานหน้าวัดพนัญเชิงผืนนี้เป็นของวัดโดยสมบูรณ์

ก็ในเมื่อมีหนังสือสัญญายืนยันสิทธิการใช้ที่ดินบันทึกโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงนามพระโบราณคณิศร ว่ายินดียกพื้นที่ประมาณ ๑๔ ไร่ อันเป็นเขตป่าช้าวัดขอมร้าง หรืออีกชื่อคือวัดสวนพลู ให้แก่คนจีนได้ใช้ประโยชน์สร้างเป็นสุสานสาธารณกุศลอย่างถาวรได้ตลอดไป ลงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

แต่ความที่วัดสวนพลูมีพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูปและอยู่ติดกับวัดพนัญเชิงซึ่งเป็นวัดใหญ่ ดังนั้น ก่อนพระโบราณคณิศรจะเขียนหนังสือสัญญาฉบับนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เคยมีมติสังฆมนตรี ประกาศให้รวมการปกครองสงฆ์วัดสวนพลูให้อยู่ในการบริหารจัดการของวัดพนัญเชิงมาก่อนแล้ว

แต่ตามความเข้าใจของชาวจีนทั่วไปคิดว่า ประกาศสังฆมนตรีฉบับนั้นเป็นเรื่องการปกครองสงฆ์เท่านั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินป่าช้าวัดขอมร้าง

เมื่อชาวจีนได้รับอนุญาตให้จัดสร้างสุสานได้ ก็ดำเนินการบริหารภายใต้ “มูลนิธิเชียงเต๊กตึ้ง” ในระยะแรกเคยบริหารจัดการกันอย่างอิสระ แต่ต่อมาทางวัดพนัญเชิงขอให้มีตัวแทนของวัดหรือข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการคานน้ำหนักเพื่อร่วมตรวจสอบทรัพย์สิน

รวมทั้งขอให้มูลนิธิย้ายที่ทำการเข้ามาในวัดเพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล

สุดท้ายก็มาถึงขั้นแตกหักเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงเอยกัน วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๕ วัดมีหนังสือแจ้งแก่มูลนิธิให้ยกเลิกการเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสุสานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด แม้คหบดีชาวจีนจะมีการอ้างถึงหนังสือของพระโบราณคณิศร แต่ทางวัดก็ส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลตีความ

ศาลลงความเห็นว่า พื้นที่วัดขอมร้างที่ตั้งสุสานนั้นเป็นสิทธิ์เด็ดขาดอันชอบธรรมของวัดพนัญเชิง จริงอยู่ แม้เคยมีจดหมายลายลักษณ์ของอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนที่แสดงน้ำใจเอื้ออารี อนุญาตให้ชาวจีนใช้พื้นที่สร้างสุสานในเขตวัดขอมร้างนั้น แต่นั่นก็เป็นแค่นโยบายหนึ่ง ณ ยุคสมัยหนึ่ง

ในเมื่อกาลเวลาเปลี่ยน นโยบายใหม่ของวัดก็ควรได้รับการประยุกต์แทนที่เจตนารมณ์ดั้งเดิมได้ เพราะเจ้าอาวาสแต่ละรูปไม่ใช่เจ้าของวัด ด้วยวัดเป็นนิติบุคคล

ในเมื่อเรื่องข้อกฎหมาย ศาลได้ชี้สิทธิ์มาเช่นนั้น การต่อสู้ที่เหลือของลูกหลานชาวจีนจึงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ “การขอความเป็นธรรมด้วยน้ำหนักและเหตุผลทางประวัติศาสตร์”

แต่จะเป็นประวัติศาสตร์ของใครเล่า ตัวละครกี่ตัว เริ่มเมื่อไหร่ อย่างไร

ประวัติศาสตร์ราชธานีโบราณกรุงศรีอยุธยา หรือจะว่าสาวไปถึงยุคก่อนหน้า ซึ่งเรียกว่าศรีรามเทพนครอโยธยา

จะนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของหลวงพ่อโต ซำปอกง เจ้งเหอ ผู้เดินทางรอบโลกได้ก่อนมาร์โคโปโล มาจนถึงตำนานรักรันทดระหว่างเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เจ้าชายสายน้ำผึ้ง

หรือประวัติศาสตร์ของลูกหลานชาวจีนรุ่นหลังที่เพิ่งเข้ามาตั้งรกรากเมื่อหลัดๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์กี่แซ่กี่สกุล

ต่อให้ขุดตัวละครจากหลุมศพหมดทั่วทั้งอโยธยา ยกขึ้นมาสาธยายพรรณนาถึงประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติอันยิ่งใหญ่ที่ผ่านกาลเวลาทับซ้อนมิรู้กี่ยุคสมัย แต่หากทางวัดพนัญเชิงยังคงยืนยันประโยคเดิมตั้งแต่ ๑๒-๑๓ ปีก่อนว่า

“วัดนี้ต้องการใช้พื้นที่ ๑๔ ไร่ผืนนี้บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของสุสาน”

ฝ่ายตรงข้ามจะว่าอย่างไร?

หรือว่าต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่าง “โรงเรียน+ลานจอดรถ” กับ “สุสานชาวจีน” ว่าอะไรมีความสำคัญกว่า


สำหรับเหตุผลที่วัดกล่าวว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่เพื่อขยายโรงเรียน (พระปริยัติธรรม?) และปรับปรุงภูมิทัศน์สร้างลานจอดรถขนาดใหญ่ เพื่อรองรับกระแสโลกเรื่องประชาคมอาเซียน เนื่องจากเป็นวัดที่ชาวจีนหลั่งไหลมาอย่างคับคั่งนั้น

ผู้เขียนมีแนวคิดว่า หากเป็นเหตุผลเรื่องโรงเรียนของวัดต้องการใช้พื้นที่จริง เชื่อว่าประเด็นนี้หาทางออกได้ไม่ยาก ทางมูลนิธิและลูกหลานชาวจีนคงสามารถช่วยกันระดมทุนจัดสร้างโรงเรียนในสถานที่แห่งใหม่ให้แก่ทางวัดได้ เพียงแต่ขออย่าให้มีการย้ายสุสานนี้ออกไปเลย

ส่วนประเด็นการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างลานจอดรถรองรับนักท่องเที่ยว ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าวัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีจุดเด่นมากมาย แต่เท่าที่ไปสัมผัสกลับพบสิ่งแปลกปลอมหลายอย่างที่ออกจะรุงรังไม่น้อย

เช่น การปั้นรูปช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดาจีนอะไรมากมายเพื่อให้คนมาสักการะ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสับสนไขว้เขวหาจุดเด่นไม่ได้

ทางที่ดีวัดควรจะเชิดชูเฉพาะโบราณวัตถุโบราณสถานที่เป็น “หัวใจหลักๆ” ที่อยู่คู่กับวัดพนัญเชิงจริงๆ เท่านั้น

อาทิ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีที่วิหารด้านหน้า ซึ่งไปปักป้ายว่า “หลวงพ่อประทานพร” นั้น นักโบราณคดีเห็นแล้วเศร้าใจ แทนที่จะเปิดผิวเนื้อศิลา หรือใช้ทองคำเปลวปิด กลับพ่นสีทองแบบสีวิทยาศาสตร์ เป็นการทำลายคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์ของหลักฐานประติมากรรมหินทรายสมัยทวารดีอย่างสิ้นเชิง

ควรมีป้ายคำบรรยายว่าพระพุทธรูปองค์นั้นสร้างพร้อมกันกับพระพุทธรูปอีก ๔-๕ องค์ ซึ่งกระจายประดิษฐานอยู่ที่วัดไหนกันบ้าง และควรบอกแหล่งอ้างอิงดั้งเดิมว่าขุดมาจากวัดหน้าพระเมรุจังหวัดนครปฐม

วัดพนัญเชิงมีของดีอย่างหาที่เปรียบมิได้ คือพระพุทธรูปประธานขนาดมหึมา ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโต” หรือซำปอกง โดยเฉพาะวิหารประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนั้น หากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้กันจริงๆ เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายคนคงเดินไปไม่ถึงจุดนี้แน่ เพราะจากวิหารหลวงพ่อโตกว่าจะไปถึงเจ้าแม่สร้อยดอกหมากต้องเดินผ่านหรือถูกคั่นดึงดูดความสนใจด้วยรูปปั้นอะไรต่อมิอะไรตามเบี้ยบ้ายรายทางเต็มไปหมด

วัดมีวิหารอุโบสถหลังงาม มีศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมระดับสุดยอดฝีมือ มีตำนานคลาสสิคหลายเรื่องราว ก่อนที่วัดคิดจะไปรื้อสุสานเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์อะไรเหล่านั้น อยากให้วัดปรับปรุงภูมิทัศน์วัตถุจัดแสดงภายในวัดขณะนี้ก่อนจะได้หรือไม่

คัดกรองให้เหลือเฉพาะสิ่งที่เป็นรากเหง้าจิตวิญญาณดั้งเดิมที่เคยอยู่คู่กับวัดมาก่อนแล้วจริงๆ

วัดที่จะทรงคุณค่าไม่ควรเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอมจนดูเลอะเทอะ ไม่จำเป็นต้องทำให้วัดกลายเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบฉาบฉวย โดยเอารูปแป๊ะยิ้ม ยักษ์จีนอะไรเข้ามามากมาย

เพราะอันที่จริงแล้ว “หัวใจของคนจีน” ที่อยู่คู่กับวัดพนัญเชิง และมีค่าควรแก่ความภาคภูมิใจเหนือกว่ารูปเคารพใดๆ ก็คือ สุสานบรรพชนของชาวจีนหน้าวัดนั่นเอง

ไม่อยากให้มองว่าสุสานเหล่านี้เป็น “ทัศนะอุจาด” ทำให้วัดเสื่อมเสีย

สัปดาห์หน้าจะมีตัวอย่างของการบริหารจัดการสุสานคริสต์แห่งหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ครั้งหนึ่งประชาชนละแวกนั้นก็เคยต้องลุกขึ้นต่อสู้กับบาทหลวงเรื่องความคิดที่จะรื้อย้ายสุสานออกไปจากชุมชนแล้วเหมือนกัน

แต่ผลสุดท้าย สุสานแห่งนี้กลับกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในระดับท็อปเท็นเมื่อใครไปถึงโบสถ์แห่งนั้น…




กรณีศึกษา
จากโบสถ์แซงต์มอริส ถึงวัดพนัญเชิง
 (๒)

โบสถ์ St.Maurice ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อม มีธารน้ำไหลผ่านตอนล่าง เป็นโบสถ์คาทอลิกกลางเมืองแอปเปนแซล (Appenzell) เมืองเล็กๆ สวยงามในหุบเขาสูง ห่างจากเมืองซูริก เมืองสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรเศษ

เป็นสถานที่ที่ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ภาคตะวันออกในลำดับต้นๆ

ชื่อแซงต์มอริส สะท้อนชัดว่าวัดแห่งนี้ตั้งใจสร้างอุทิศให้แก่นักบุญ St. Mauritius (เขียนแบบละติน) มาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ต่อมาเคยถูกไฟไหม้เมื่อปี ค.ศ. ๑๕๖๐ แต่รอดพ้นมาได้ จากนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นการอุปถัมภ์โดยนักบวชนิกายโปรเตสแตนต์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยหวนกลับมาเป็นโบสถ์คาทอลิกอีกครั้ง

เมื่อราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา โบสถ์แห่งนี้ได้เกิดเหตุพิพาทครั้งสำคัญของคนในชุมชน ว่าควรจะมีการย้ายหรือไม่ย้ายสุสานในบริเวณวัด!

เนื่องมาจากตัวโบสถ์แซงต์มอริสนั้นสร้างขึ้นในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่สุสานข้างวัดกลับมีเขตพื้นที่พิเศษส่วนหนึ่ง เคยจับจองโดยกลุ่มนักจาริกแสวงบุญชาวโปรเตสแตนต์และจัดสร้างสุสานขึ้น ทว่าประชากรท้องถิ่น ณ ปัจจุบันจำนวนมากกว่า ๙๐%  นับถือนิกายคาทอลิก

มีการขอร้องให้ทายาทของนักบุญนิกายโปรเตสแตนต์เคลื่อนย้ายศพหรือสุสานบรรพบุรุษออกไปจากพื้นที่ของชาวคาทอลิก โดยอ้างว่าปัจจุบันแทบไม่มีการเผยแผ่นิกายนี้ในเมืองแอปเปนแซลอีกแล้ว ทั้งสุสานเหล่านั้นยังใช้พื้นที่รายรอบโบสถ์แซงต์มอริสอย่างเปลืองเปล่าอีกด้วย

กล่าวง่ายๆ ก็คือมีการ “ขอทวงคืนพื้นที่” คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่วัดพนัญเชิงนั่นเอง


การต่อสู้ของฝ่ายถูกอัปเปหิจึงได้เริ่มขึ้น นับแต่ต้องงัดข้อกฎหมายออกมาสู้

มีการค้นหาเอกสารสิทธิ์เพื่อยืนยันว่านักบุญนิกายโปรเตสแตนต์กลุ่มหนึ่งเคยได้รับอนุญาตจากพระสังฆราชานิกายคาทอลิกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ให้สามารถก่อตั้งศูนย์หรือสำนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ได้ (ไม่เรียกว่าวัดหรือโบสถ์ คือมีลักษณะเป็นสถานที่ชั่วคราว)

รวมไปถึงมีสิทธิในการใช้พื้นที่ฝังศพนักบุญอย่างถูกต้องตามพระวินัยด้วย

ต่อมาศูนย์เผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์ ยุติบทบาทลง เหลือเพียงแต่อนุสรณ์ของสุสานนักบุญหลายรูป ว่าครั้งหนึ่งในช่วง ๒-๓ ศตวรรษ เคยมาเผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์และเสียชีวิตลงที่นี่ด้วยการทิ้งป้ายชื่อปักเขตสุสานไว้ว่า Evangelical Protestant Cemetery

ชาวแอปเปนแซลที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า นอกจากจะต้องย้ายศพนักบุญนิกายโปรเตสแตนต์ ออกจากพื้นที่แล้ว ยังควรจัดการเปลี่ยนแผ่นป้ายนั้นเสียด้วย ในเมื่อสุสานดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะศพของคริสต์ศาสนิกชนนิกายเดียว

และหากจะให้นับปริมาณจำนวนศพในสุสานแข่งกัน ว่ามีผู้นับถือศาสนานิกายใดมากกว่ากัน ก็เห็นทีว่านิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งมีทีหลังแต่ไปก่อน ก็ต้องพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มนับนิ้วแล้วด้วยซ้ำ

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตึงเครียดให้แก่ทายาทนักบุญนิกายโปรเตสแตนต์อย่างยิ่งยวด เพราะนอกจากจะถูกมองว่าเป็นคนนอกพื้นที่แล้ว (ทั้งผู้วายชนม์-เดินทางมาจากที่อื่น และทั้งทายาท กลายเป็นคนกลุ่มน้อย) ยังจนปัญญาว่าจะย้ายสุสานเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน ลำพังแค่รื้อป้ายปักทิ้งไม่ต้องให้มีคำว่า Evangelical Protestant Cemetery ให้บาดตาบาดใจ ก็อาจไม่ใช่เรื่องยากเท่าใดนัก

โชคดีที่สังคมตะวันตกเป็นโลกของเหตุและผล แม้จุดเริ่มต้นจะมีการปะทุทางอารมณ์อย่างรุนแรง แต่ในที่สุดได้มีองค์กรทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์จากสหรัฐอเมริกาและสถาบันการศึกษาคือมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ยื่นมือเข้ามาหาทางออกช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง




สุสานเมืองเซอร์แมท ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Kimleng : ถ่ายภาพ

ด้วยแนวคิดที่ว่า หากต้องมีการเคลื่อนย้ายสุสานจริง ในเบื้องแรกควรมีการทำ Full Documentation ด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อนักบุญในลักษณะเก็บข้อมูลเป็นเอกสารจดหมายเหตุอย่างละเอียดว่าใครเกิดปีใด มาจากเมืองไหน ประเทศอะไร มีบทบาทหรือคุณูปการในการเผยแผ่คำสอนของพระคริสต์อย่างไร มีผลงานชิ้นเยี่ยมอะไรบ้าง เสียชีวิตด้วยโรคอะไร อย่างไร ในปีไหน มีทายาทกี่คนกี่รุ่น และอยู่ที่ไหนกันบ้าง

คืออย่างน้อยที่สุด ก็สร้างความสบายใจให้แก่ลูกหลานทายาทผู้วายชนม์เหล่านั้น ในทำนองว่า ไม่ว่ากายเนื้อของบรรพบุรุษจะถูกย้ายเร่ร่อนไปอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม แต่ประวัติชีวิตที่เป็นคุณงามความดีของทุกท่าน จักได้รับการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังจดจำอย่างไม่มีวันลืมเลือน

ครั้นเมื่อชาวแอปเปนแซลได้เห็นว่ามีนักวิชาการเข้ามาทำการบันทึกหลักฐานข้อมูลของนักบุญนิกายโปรเตสแตนต์อย่างเข้มข้น มีระบบระเบียบ มีวิธีการาจัดเก็บข้อมูลที่ดี ในขณะที่สุสานของพวกตนมีแค่ป้ายปักชื่อ สกุล ปีเกิด ปีเสียชีวิต แทบไม่เหลือร่องรอยอะไรให้คนรุ่นหลังได้จดจำรำลึกไว้บ้างเลย

ในที่สุดก็มีการเจรจาหาทางออกแบบพบกันครึ่งทาง คือทางฝ่ายวัดแซงต์มอริส ไม่รังแครังคัดรังเกียจป้าย Evangelical Protestant Cemetery อีกต่อไปแล้ว ยกเลิกการเคลื่อนย้ายสุสานออกนอกพื้นที่ แต่ขอให้ทีมนักวิชาการลงมาจัดทำบัญชีรายชื่อสืบค้นประวัติของผู้เสียชีวิตทุกคนในสุสานแห่งนี้ ไม่ว่าจะนับถือนิกายใดอย่างละเอียด

จวบจนปัจจุบัน ข้อมูลเกี่ยวกับศพในสุสาน Evangelical Protestant Cemetery มีระบบการจัดทำทำเนียบบัญชีรายนามผู้วายชนม์อย่างละเอียด จัดเรียงลำดับปีเกิดเก่าสุด ค.ศ. ๑๕๐๐ เศษ ระบุชื่อจริง ชื่อเดิม ชื่อรอง นามสกุล ประวัติย่อ ว่าเกิดและเสียชีวิตที่ไหน

เป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการล่วงละเมิดศพ บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเอาชีวิตหลังความตายไปขายกิน

มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้รับอนุญาตจากสภาคริสตจักรทั้งสองนิกาย ให้ทำสัญญากับสุสานหลายแห่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจัดทำทะเบียนเก็บข้อมูลในทุกรายละเอียด เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าอาจนำไปใช้ประโยชน์ในทางศาล ทางกฎหมาย  เช่น หากอยากทราบประวัติการหนีทหาร ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลพื้นฐาน การเกิด การตาย ชาติพันธุ์ สกุลวงศ์ การสมรส หย่าร้าง การอพยพถิ่นฐานของประชากร สถิติมูลเหตุการณ์เสียชีวิต เกิดจากการฆาตกรรมหรือเหตุอื่นใด เกียรติคุณความดีที่ทำต่อสาธารณประโยชน์

นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของการเขียนไดอารี่ชีวิตประจำวัน ของผู้อาวุโสไม้ใกล้ฝั่งที่ยังมีชีวิต และมองเห็นอนาคตของตนว่าอีกไม่นานก็จะต้องเป็นหนึ่งในสุสานนั้น

อาจเป็นแม่ม่ายวัย ๘๐ ที่อยู่ตัวคนเดียวตามลำพังไม่มีลูกหลานดูแล ค่อยๆ เขียนความรู้สึกของตนเอง ดูเหมือนจะเพ้อเจ้อไร้สาระ บ่นฮึมฮัมไปในแต่ละวัน แท้จริงแล้วเป็นความคับข้องใจที่บอกใครไม่ได้ ไม่รู้จะเปิดเผยที่ไหนกับใครอย่างไร เช่น การพรรณนาอาการป่วยไข้ กินยาสรรพคุณอะไร ทำไมไม่หายป่วยสักที สงสัยถูกเภสัชกรหลอก

ทุกตัวอักษรถือว่ามีคุณค่าเป็นประวัติชีวิตของสามัญชน ที่สมควรได้รับการนำมาบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าเคยรู้สึกเช่นไรก่อนความตายมาเยี่ยมเยือน

เรียกได้ว่าเตรียมตัวตายอย่างมีความสุข มีอะไรที่อัดอั้นอยากระเบิดระบายก็เขียนมา คุณค่าของมันแตกต่างไปจากการบ่นรำพึงรำพันไปวันๆ ในหน้าเฟชบุ๊ก ที่มีแค่เพื่อนเฉพาะกลุ่มเข้ามาเปิดอ่านและกดไลก์ให้

แต่ระบบนี้เปิดโอกาสให้ตั้งใจให้เขียนกันเป็นเรื่องเป็นราว ให้คงไว้เป็นอมตะ

ในเมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันแล้วว่า “ความตาย” แม้จะเป็นสิ่งที่เศร้าแต่ก็มีความสวยงามแฝงอยู่ ไม่ว่าผู้ตายจะเป็นใคร ยาจกหรือผู้ดี นักบุญหรือคนบาป ชนเผ่าชาติพันธุ์ใด คนนอกหรือคนในพื้นที่ จะนับถือศาสนานิกายใดก็แล้วแต่ แต่ทุกคนก็คือมนุษย์ ผ่านชีวิตที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ไม่แตกต่างกันนัก

ฉะนั้น จะทำอย่างไร ที่จะให้สุสานแห่งนี้สดชื่นหลากสีสัน มีการบรรเลงดนตรีคอนเสิร์ตหมุนเวียนให้ศพฟัง เป็นแหล่งรวมศิลปะของเหล่าศิลปิน มีร้านฟงดูสวิสอยู่ใกล้ๆ สุสานอยู่ประชิดบ้านเรือนคน ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ มีนักท่องเที่ยวเดินมาถ่ายภาพวันละหลายพันคน

ธุรกิจศิลป์สำหรับงานศพเป็นอีกงานหนึ่งที่ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน งานตกแต่งโคมไฟประดับเสา ประติมากรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งแกะสลักด้วยหิน ไม้ กระจกสี เลซิน ไฟเบอร์กลาสต่างๆ งานเขียนป้ายอักษร ลูกหลานอาจทำเอง หรือจ้างช่างศิลป์ทำก็แล้วแต่

ผู้คนที่นั่นเวลาเดินผ่านหลุมศพจะอมยิ้มมองไปทางญาติ เหมือนว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ และเราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป ตราบที่สุสานคนตายก็สึกอบอุ่น ก็ย่อมสร้างความสุขให้แก่คนเป็น

กรณีศึกษาของโบสถ์ St.Mauris กับสุสาน Evangelical Protestant Cemetery แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นหนึ่งในช่องทางความพยายามของมนุษย์ในการยุติปัญหาระหว่างประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ สุสาน และการท่องเที่ยว”

อาจใช้เป็นอุทาหรณ์หนึ่ง เพื่อยุติกรณีพิพาทเรื่องความต้องการให้ย้ายสุสานชาวจีนออกไปจากหน้าวัดพนัญเชิงได้บ้าง












หมู่กุฏิสงฆ์ ไม้สักทอง  วัดพนัญเชิง


อาคารเรียน โรงเรียนวัดพนัญเชิง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 

ที่มา : กรณีศึกษาจากโบสถ์แซงต์มอริส ถึงวัดพนัญเชิง, ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ สุสาน และการท่องเที่ยว
         จากคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดี”  โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
         หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๕๘ - ๑๗๕๙ (๒๕ เมษายน – ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กันยายน 2558 12:11:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2557 13:06:12 »

.

ภาพจาก : protectwatphananchoenggraveyard.com

ซิงกิ๋วซัวเหล่ากิ๋ว
การย้ายฮวงซุ้ย ตามประเพณีจีน

ในหนังสือธรรมเนียมจีน มีเหมือน มีต่าง มีแปลก (สำนักพิมพ์จิตรา) เรื่องที่ ๒๐ จิตรา ก่อนันทเกียรติ เขียนเรื่องธรรมเนียมนี้ที่ยากพบ คือการย้ายฮวงซุ้ยหรือการย้ายศพ จากฮวงซุ้ยหนึ่งไปยังฮวงซุ้ยใหม่

สาเหตุการย้ายมาจากเมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ครอบครัวยังยากจน อาจฝังง่ายๆ แบบศพไม่มีญาติ หรือซื้อที่ฮวงซุ้ยถูกๆ แต่ต่อมาลูกหลานร่ำรวยอยากให้พ่อแม่ย้ายไปฝังฮวงซุ้ยซึ่งดีกว่า

หรือ...ฮวงซุ้ยเก่าไม่ดี มีปัญหาไม่ถูกโฉลก อยากย้าย ได้ที่ฮวงซุ้ยใหม่ดีกว่า พลังเข้มถูกใจกว่า

กรณีที่บ้านคุณจิตรา น่าจะเข้าข่ายฮวงซุ้ยเดิมก็ดี แต่ฮวงซุ้ยใหม่จะดียิ่งขึ้น เพราะฮวงซุ้ยเดิม คุณพ่อเตรียมไว้เฉพาะตัวท่าน คุณแม่และอาม้า

ส่วนที่ใหม่ พี่ชายได้ที่ตั้งใจทำเป็นสุสานประจำตระกูล คนในครอบครัวฝังร่วมกันได้ สะดวกต่อการมาไหว้ของรุ่นหลาน เหลน โหลน

แต่ในการย้ายฮวงซุ้ย ใช่ว่าจะทำยังไงเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะมีความเชื่อในเรื่องของเวลา และทิศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในแต่ละปีจะมีทิศที่ขุดหรือเปิด หรือฝังศพในฮวงซุ้ยได้ปีละ ๒ ทิศ

หนังสือแหล่ยิกเท้า กำหนดไว้เช่นปี ๒๕๔๐ ทิศที่ขุดเปิดหรือฝังไม่ได้ คือทิศเหนือและทิศใต้ ปี ๒๕๔๑ ทิศที่ขุดเปิดหรือฝังไม่ได้คือ ทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ปี ๒๕๔๒ ทิศที่ขุดเปิดหรือฝังไม่ได้ คือทิศเหนือและทิศใต้ ปี ๒๕๔๓ ทิศที่ขุดเปิดหรือฝังไม่ได้ คือทิศตะวันตก ทิศตะวันออก สลับทิศกันไปอย่างนี้

คุณพ่อคุณจิตราเสียกลางปี ๒๕๓๕ เริ่มมีการสร้างฮวงซุ้ยใหม่ เป็นสุสานประจำตระกูล เสร็จปี ๒๕๓๖ แต่เป็นปีที่ทิศเหนือและทิศใต้ขุดเปิดหลุมไม่ได้ เหตุเพราะฮวงซุ้ยเดิมหันหน้าหลุมไปทางทิศใต้ จึงขุดศพคุณแม่ไปฝังด้วยไม่ได้

ลูกหลานก็ต้องรอ...อาม้า

อาม้าสั่งเสียไว้ เมื่อที่ท่านละโลก ขอให้ขุดศพคุณแม่พาไปฝังฮวงซุ้ยใหม่ด้วยกัน ธรรมเนียมนี้ มีคำเรียกเฉพาะว่าซิงกิ๋วซัวเหล่ากิ๋ว แปลว่า โลงศพใหม่พาโลงศพเก่ามา

กิ๋ว แปลว่า โลงที่มีศพภายใน ไม่ใช่โลงเปล่า ซิง แปลว่า ใหม่ เหล่า หรือเหลา แปลว่าเก่า ซัว แปลว่า มา

ในกรณีนี้ เรื่องของทิศที่ว่าจะต้องตรงกับปีที่ขุดหลุมได้หรือไม่ได้ ไม่ต้องคำนึงถึงเลย

ดังนั้นเมื่ออาม้าเสียชีวิต ปลายปี ๒๕๔๐ ลูกหลานก็ต้องไปขุดกิ๋วคุณแม่ จากฮวงซุ้ยเดิม ในวันก่อนวันฝังศพอาม้า นำมาตั้งสวดศพเคียงคู่กัน ๑ คืน

ในการไปขุด “กิ๋ว” มีธรรมเนียมสองแบบ

ถ้าเป็นแบบเนื้อสลาย คือเป็นศพเก่านานนับสิบๆ ปี ซากสังขารเหลือแต่กระดูกผุกร่อน หากเป็นศพเก่ามาก จะเปลี่ยนจากใส่โลง มาเป็นกิมเซี้ยเกีย ลักษณะเป็นหีบทองแดงขนาดไม่ใหญ่ เป็นหีบบรรจุกระดูกโดยเฉพาะ

กรณีเนื้อสลาย ต้องนำกระดูกมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง ปูผ้าแดง แล้วเรียงใส่โลง เอาเสื้อผ้ากระดาษวางทับกองกระดูก วางกระดาษเงินกระดาษทองซ้อนอีกชั้น จากนั้นก็ปิดหีบ

การขุดกิ๋ว แบบที่ ๒ แบบเนื้อไม่สลาย แบบนี้จะเป็นศพไม่เก่านัก ราว ๒-๓ ปี สภาพโลงยังดีอยู่ ก็แค่ยกกิ๋วขึ้น แล้วเปลี่ยนสีโลง จากเดิมสีดำเป็นสีแดง ถ้ามีเหตุโลงผุพัง ก็ต้องเปลี่ยนโลงใหม่ ซึ่งต้องเป็นโลงสีแดง

ขั้นเตรียมการผ่าน ก็มาถึงกระบวนการ เมื่อลูกหลานไปถึงสุสาน ต้องไหว้ศาลเจ้าที่ แป๊ะกงก่อน ของไหว้ถ้าจัดชุดใหญ่ ก็มีทั้งของคาวของหวาน กระดาษเงินกระดาษทอง และไหว้ธูป

ถ้าจัดของไหว้ง่ายๆ มีแต่ “จับกิ้ม” และ ส้ม ๔–๕ ใบ ไม่ต้องมีของคาว

ก่อนเปิดหลุมฮวงซุ้ย ลูกหลานต้องเซ่นไหว้ นอกจากของไหว้ชุดใหญ่ ชุดเล็กแล้ว ที่ต้องเน้นคือไหว้ด้วยธูปแดง อธิษฐานบอกว่าจะมาเปิดฮวงซุ้ย แล้วปักธูปในกระถางธูป ซึ่งมีขี้ธูปบูชาของแม่แบ่งใส่มาด้วย

เมื่อทำความสะอาดร่าง ลูกต้องไหว้ธูปแดง บอก “แม่จ๋า ลูกจะพาแม่ไปอยู่ที่ใหม่” แล้วก็ไหว้เสื้อผ้ากงเต๊กแบบสี อธิษฐานว่า แม่จ๋าเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ แล้วก็เอาห่อเสื้อผ้ากงเต๊กไปเผา

ส่วนร่างจริง ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเก่า เอาชุดขาวใส่ให้ เอาร่างลงนอนในกิ๋วแล้วก็ปิดฝา จุดธูปแดง บอกอีกทีว่า จะพาไปอยู่ฮวงซุ้ยใหม่

เมื่อกิ๋วของแม่ตั้งฟังสวดอภิธรรมที่วัด จะวางเคียงคู่กับกิ๋วของอาม้า กิ๋วคุณแม่ตั้งหลบมาด้านซ้าย บนกิ๋วคลุมผ้าแดง มีแต่งดอกไม้ประดับ และตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้

พิธีกรรมต่างๆ เช่น การเคารพศพ ทำให้อาม้าเป็นหลัก เพียงแต่มีกิ๋วของแม่อยู่ร่วมศาลา

และเมื่อถึงเวลาฝัง ก็ต้องฝังกิ๋วให้อาม้า ให้เสร็จพิธีก่อน แล้วจึงฝังกิ๋วคุณแม่

ก่อนฝัง ลูกหลานต้องเซ่นไหว้ด้วยของคาวของหวาน เมื่อเอากิ๋ววางลงในหลุมฮวงซุ้ย ก็ต้องคลุมผ้าแดงบนฝากิ๋ว แต่งกิมฮวยประดับ มีการโปรยโหงวเจ๋งจี้ หรือเมล็ดพืช ๕ อย่างใส่หลุม ถือเป็นการอวยพรให้ลูกหลาน

ธรรมเนียมซิงกิ๋วซัวเหล่ากิ๋ว โลงศพใหม่พาโลงศพเก่ามา สิ้นสุดลงตรงนี้เอง.
...ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มิถุนายน 2557 17:40:49 โดย Mckaforce » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 12 ธันวาคม 2560 12:56:38 »


เศษผงเข้าตา เรื่องเล็กๆ ที่เราไม่เคยมอง กระทั่งก่อตัวเป็นปัญหาขึ้นในเวลาต่อมา
ผู้เข้าใจดี,ผู้มีสติปัญญาเลิศ. ย่อมเข้าใจ มิให้ความคิดถูกจำกัดด้วยกรอบ ... อนธกาล
ขอกราบขอบคุณที่เปลี่ยนแนวคิด เพื่อธำรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งรูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า















บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
หลวงพ่อเปลื้อง วิสัฏโฐ วัดใหญ่ชัยมงคล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 702 กระทู้ล่าสุด 25 มิถุนายน 2562 14:50:49
โดย ใบบุญ
หลวงพ่อกลั่น ธัมมโช วัดพระญาติการาม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 733 กระทู้ล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2562 18:56:05
โดย ใบบุญ
หลวงพ่อเฉลิม เขมทัสสี วัดพระญาติการามอ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1087 กระทู้ล่าสุด 31 สิงหาคม 2564 16:15:49
โดย ใบบุญ
วัดสุวรรณาวาส ถ.อู่ทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 179 กระทู้ล่าสุด 25 มิถุนายน 2566 14:57:52
โดย Kimleng
วัดศรีโพธิ์ ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 235 กระทู้ล่าสุด 18 กันยายน 2566 16:04:14
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.681 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 19:55:15