[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 09:25:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "เครื่องถมไทย" - ความหมาย ประวัติ ประเภท ขั้นตอนการผลิต  (อ่าน 14547 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 มกราคม 2556 17:04:36 »

.
ข้อความและรูปภาพ "เครื่องถม"
๑.คัดและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๑  
๒.โดยได้รับอนุญาต จากศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร  กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ
ให้คัดและสแกนภาพเผยแพร่ในเว็บไซต์ สุขใจดอทคอม
เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้  
ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค.๕๖  จึงขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้




เครื่องถม

ความหมายของเครื่องถม
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของเครื่องถมว่า “ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยการใช้ผงยาถมผสมกับน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางาม”

จากคำอธิบายขั้นต้น อาจขยายความเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
๑. เครื่องถมเป็นภาชนะ หรือเครื่องประดับที่นำมาใช้ประโยชน์ ทำด้วยโลหะเงิน หากเป็นภาชนะ ที่สำคัญได้แก่ ขันน้ำ พาน ถาด ช้อน หากเป็นเครื่องประดับ ที่สำคัญ ได้แก่ กำไล แหวน ต่างหู สร้อย เข็มกลัด
๒. มีการแกะสลักลวดลายบนผิวของโลหะที่เป็นภาชนะหรือเครื่องประดับ
๓. นำสารเคมีที่เรียกว่า “ผงยาถม” ผสมกับน้ำประสานทอง ใส่ลงไปในร่องที่แกะสลักเป็นลวดลายบนผิวของโลหะให้เต็มหมดทุกร่อง ผงยาถมทำจากการนำโลหะเงิน ทองแดง ดีบุก และผงกำมะถัน ผสมกันตามสัดส่วนที่กำหนดไว้  แล้วนำไปเผาให้ละลาย เมื่อเย็นตัวลงก็นำมาบดให้เป็นผง ใส่ลงไปในร่องของโลหะ แล้วใช้ความร้อนอบให้ละลายติดกับโลหะ เกิดเป็นลวดลายสีดำบนพื้นของโลหะ เรียกวิธีการนี้ว่า “การถมดำ” หรือ “การถมยา”
๔. ขัดผิวของโลหะที่ใส่ผงยาถมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้เรียบเป็นมันเงางาม เป็นอันเสร็จสิ้นวิธีการทำเครื่องถมเป็นสินค้าออกจำหน่ายได้

คำว่า “ถมนี้” นี้ นักวิชาการด้านภาษาอธิบายว่า เป็นคำไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า “ถมฺภ” แปลว่า “ทำให้แน่น อัด ยัด ติด และทำให้เต็ม” เมื่อนำมาใช้เป็นคำไทย ได้ตัดตัว “ภ” ออกเพื่อให้อ่านออกเสียงได้ง่ายขึ้น ทำนองเดียวกับภาษาบาลีหลายคำที่นำมาใช้ในภาษาไทย



ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับกำเนิดของเครื่องถมในโลก
ในสารานุกรมฉบับพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ เอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกา (encyclopedia Britannica) ซึ่งเป็นสารานุกรมที่มีชื่อเสียงมาก มีคำอธิบายเกี่ยวกับเครื่องถมที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า นีเอลโล (niello) ไว้  ซึ่งขอถอดความบางตอนพอเป็นสังเขปดังนี้

...นีเอลโล มาจากภาษาละตินว่า “นีเกลลุม” (nigellum) แปลว่า “ดำ” เป็นวิธีการผลิตลวดลายอย่างละเอียดประณีตบนผิวของโลหะที่ขัดให้เรียบ โดยการใช้โลหะผสมสีดำ  ถมใส่ลงในร่องที่เซาะลงไปในเนื้อของโลหะนั้น วิธีการนีเอลโล มีอธิบายไว้ในหนังสือแต่งโดยนักเขียนคนสำคัญ ๔ คน คือ อีแรคลิอุส  ชาวโรมัน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖  ธีโอฟีลุส นักบวช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือ ๑๘  เบนเวนูโต เชลลินี และจีออจิโอ วาซารี  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑  การทำลวดลายนั้นใช้เครื่องมือที่มีคมสลักลงบนผิวเรียบของโลหะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงิน แต่บางครั้งอาจเป็นทองคำ หรือแม้กระทั่งเป็นทองสัมฤทธิ์ก็ได้ ส่วนโลหะผสมที่ถมใส่ลงไปในร่องที่เซาะไว้ ประกอบด้วยเงิน ๒ ส่วน ทองแดง ๑/๓ ส่วน และตะกั่ว ๑/๖ ส่วน นำมาเผาให้ร้อนละลายในเตาเผาแล้วใส่ผงกำมะถันลงไปเล็กน้อย  หลังจากนั้นปล่อยไว้ให้เย็นจึงนำมาป่นให้ละเอียด บรรจุลงในก้านของขนนกหรือขนเม่น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อจะใส่สารผสมนี้ลงไปในร่องบนผิวของโลหะก่อนแล้วโรยผงโลหะผสมลงไปให้เต็มร่อง  จากนั้นนำไปเผาให้ละลายเพื่อให้ผงโลหะผสมติดแน่นกับเนื้อโลหะ เมื่อเย็นลงก็นำโลหะนั้นไปขัดผิวให้เรียบ...

นอกจากนี้ในเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกายังกล่าวต่อไปว่า....มีตัวอย่างเครื่องถมสมัยโรมันแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ ที่กรุงลอนดอน รวม ๒ ชิ้น  ชิ้นหนึ่งเป็นรูปแม่ทัพชาวโรมันหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร  เครื่องแต่งกายและเสื้อเกราะที่สวมใส่อยู่มีบางส่วนทำด้วยเงิน และบางส่วนเป็นเครื่องถม สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖  อีกชิ้นหนึ่งเป็นกล่องใส่เครื่องสำอางของสตรี ทำด้วยเงินเช่นกัน ภายในกล่องมีสิ่งของต่าง ๆ ทำด้วยเครื่องถม สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙

หากถือตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในหนังสือสารานุกรมดังกล่าวข้างต้นนี้ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเครื่องถมมีกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป อย่างน้อยก็ในสมัยจักรวรรดิโรมันเมื่อราว ๑,๕๐๐–๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว  เพราะจักรวรรดิโรมันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๕๑๖ และเสื่อมอำนาจลงเมื่อ พ.ศ.๑๐๑๙  หลังสมัยจักรวรรดิโรมันการทำเครื่องถมได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป โดยได้พบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องถมในประเทศฝรั่งเศส เยอรมณี และรัสเซีย  มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๗  นอกจากนี้การทำเครื่องถมยังแพร่หลายเข้ามาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้  เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก (Eastern Roman) มีอำนาจปกครองดินแดนแถบนี้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๒๐  นอกจากในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้แล้ว การทำเครื่องถมยังแพร่หลายเข้ามาในประเทศอินเดียด้วย ซึ่งยังคงมีการทำเครื่องถมอยู่จนทุกวันนี้



ประวัติของการทำเครื่องถมในประเทศไทย
จากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยมีการกล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรก ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๓๑  โดยในรัชกาลของพระองค์ได้ตรากฎหมายทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ตั้งบรรดาศักดิ์ข้าราชการจัดเป็นลำดับชั้นกันเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย และมีข้อความในกฎหมายตอนหนึ่งว่า “ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมืองกินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม” คำว่า เงินถมยาดำ ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า เครื่องถมคงมีใช้กันอยู่แล้วในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นเครื่องถมที่ทำขึ้นเองภายในประเทศ หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนคำว่า เจียด นั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒  อธิบายว่า “เป็นภาชนะชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายตะลุ่ม มีฝาคล้ายรูปฝาชี เป็นเครื่องยศขุนนางโบราณ สำหรับใส่ของเช่นผ้า มักทำด้วยเงิน”

หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับเครื่องถมของไทย มีปรากฏค่อนข้างชัดเจนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑  ดยในหนังสือ เรื่อง ประวัติศิลปกรรมไทย ของ นายตรี อมาตยกุล  พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “....ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงส่งเครื่องถมไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องถมลายดำอรหัน  ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่งเศส ว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผู้ออกแบบ....” (อรหัน เป็นชื่อสัตว์ในนิยาย มี ๒ เท้า มีปีกคล้ายนก หัวคล้ายหัวคน)  นอกจากนี้ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๘ เรื่อง “จดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”  มีข้อความระบุว่า คณะทูตของไทยที่เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น ได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม  ประเทศอิตาลีด้วย  โดยมีข้อความว่า “....ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น    ราชสาส์น...ม้วนบรรจุอยู่ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่...ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ...”

คำว่า “เครื่องถมลายดำอรหัน” ก็ดี “หีบถมตะทอง” ก็ดี  แสดงว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการทำเครื่องถมขึ้นในเมืองไทยแล้ว มิฉะนั้นคงไม่นำไปเป็นบรรณาการถวายแก่ประมุขในต่างประเทศอย่างแน่นอน  ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้  จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒  มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเครื่องถมนครศรีธรรมราช ว่า “...สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมฝีมือดีที่สุดของจังหวัด  ส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อทำไม้กางเขนส่งไปถวายสันตะปาปาที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี  และทำเครื่องถมเป็นเครื่องใช้ ไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส...”  หากยึดถือหลักฐานตามเอกสารที่กล่าวมานี้ ก็แสดงว่ามีการทำเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ช่างที่มีฝีมือจากเมืองนครศรีธรรมราชมาผลิตในกรุงศรีอยุธยา



(บน) เข็มกลัดถมฝีมือช่างยุโรป
(ล่าง) เจียดเงินถมยาดำเป็นเครื่องประกอบยศของขุนนางไทยสมัยโบราณ

มีคำถามว่า เหตุใดเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีความสำคัญในการผลิตเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการทำเครื่องถมเป็นศิลปะที่คนไทยคิดขึ้นเอง หรือรับมาจากชนชาติอื่น  คำถามทั้ง ๒ ข้อนี้ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ ๓ แนวทางด้วยกัน คือ แนวทางแรกสันนิษฐานว่า การทำเครื่องถมเป็นศิลปะที่ไทยคิดขึ้นเอง แนวทางที่สองสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดีย และแนวทางที่สามสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากชนชาติอื่นๆ นอกจากอินเดีย เช่น ชาวเปอร์เซีย (เป็นชื่อโบราณของชาวอิหร่านในปัจจุบัน) ชาวกรีก ชาวโปรตุเกส

ข้อสันนิษฐานในแนวทางแรกที่เสนอว่า เครื่องถมเป็นศิลปะที่ไทยคิดขึ้นเองนั้น มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด ถ้าหากพิจารณาจากหลักฐานในหนังสือเอนไซโคลพิเดียบริแทนนิกา ที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เพราะทั้งโบราณวัตถุที่ค้นพบ และหนังสือโบราณที่กล่าวถึงวิธีการทำเครื่องถม แสดงอย่างชัดเจนว่าเครื่องถมมีกำเนิดในทวีปยุโป อย่างน้อยในสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจเมื่อ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว  ดังนั้น การทำเครื่องถมของไทยจึงน่าจะเป็นการใช้ศิลปะของไทยในด้านการตกแต่งลวดลาย และการประดิษฐ์เป็นภาชนะหรือเครื่องตกแต่งให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น  หรืออาจพัฒนาวิธีการทำเครื่องถมให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้น

ส่วนข้อสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดีย หรือจากชนชาติอื่นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติต่างๆ ในสมัยอยุธยา  จึงอาจได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาด้วย โดยเฉพาะชาวอินเดียได้นำอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม มาเผยแพร่ในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักร และแว่นแคว้นต่างๆ ก่อนสมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา  การทำเครื่องถมที่เมืองนครศรีธรรมราชจึงอาจได้รับศิลปะจากชาวอินเดียด้วยก็ได้ ส่วนชาวเปอร์เซียและชาวโปรตุเกสก็เดินทางมาค้าขายกับไทยในสมัยอยุธยา โดยชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือมาค้าขายติดต่อกับไทย ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๓๔ – ๒๐๗๒)  และได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนการที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการทำเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่าไทยอาจได้รับวิธีการทำเครื่องถมจากชาวกรีก อาศัยเหตุผลที่ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพ่อค้าชาวกรีกชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน เดินทางมาไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ชื่อ เจ้าพระยาวิชเยนทร์  ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในตอนแรกว่า เป็นผู้ออกแบบเครื่องถมเป็นรูปอรหัน  ที่ไทยส่งไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานที่ว่า ไทยได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดียนั้น น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด ส่วนข้อสันนิษฐานว่า ไทยได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาจากชนชาติอื่น ๆ นอกจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย กรีก หรือโปรตุเกส นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าให้แน่ชัดต่อไป เพราะยังมีข้อโต้แย้งได้อีกมาก




(บน) พานถมดำที่ทำในสมัยอยุธยา
(ล่าง) ขันถมตะทองที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์โดยช่างถมจากนครศรีธรรมราช

การทำเครื่องถมในสมัยรัตนโกสินทร์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีแล้ว  ได้มีการทำเครื่องถมโดยนำช่างถมจากกรุงศรีอยุธยามาดำเนินการผลิต ทั้งนี้ มีการกล่าวไว้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ (หนังสือรวบรวมลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๘๖ ซึ่งโรงพิมพ์คุรุสภาได้จัดพิมพ์เป็นชุด รวม ๒๖ เล่ม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เครื่องถมไทยของเก่าที่เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เช่นพานพระศรี ที่อยู่ในตู้เครื่องถมของหลวงเป็นต้น...เครื่องถมที่ทำในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ยังทำดีมาก ฝีมือน่าจะมาทรามลงเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นหัวต่อที่เครื่องถมเมืองนครฯ จะเฟื่องฟู...”



ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่า การทำเครื่องถมในรัชกาลที่ ๑ มีฝีมือดี แต่มาเสื่อมลงในรัชกาลที่ ๒ เมื่อช่างถมที่เมืองนครศรีธรรมราชมีฝีมือดีกว่า และช่างถมในกรุงเทพฯ สู้ไม่ได้

การที่ช่างถมเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมากจนเครื่องถมของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “ถมนคร” เป็นที่นิยมกันทั่วไป ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นมานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีข้อสังเกตไว้ ๒ ประการ (หนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘) คือ
ประการที่ ๑  เป็นเพราะช่างถมเมืองนครฯ ได้รับการกวดขันในด้านฝีมือจากเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
              ส่วนช่างฝีมือในกรุงเทพฯ ไม่มีผู้ใดควบคุมดูแลจึงทำตามใจตนเอง
ประการที่ ๒ “ถมนคร” มีงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ก็เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้มีเงินทุนสั่งให้ทำ ส่วนพวกร้านย่อยๆ ที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ
                 ทำได้แต่เครื่องถมชิ้นเล็ก ๆ เพราะไม่มีเงินทุนและไม่มีโอกาส



“ถมนคร” ชิ้นใหญ่ ๆ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง เป็นเครื่องราชูปโภคที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทำถวายในรัชกาลที่ ๓ – ๕ รวม ๕ สิ่ง คือ
๑.พระราชยาน หรือ พระเสลี่ยง ซึ่งมีกระจังพระราชยานเป็นถมทอง เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
๒.พระแท่นเสด็จออกขุนนาง  เจ้าพระยานคร(น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
๓.พนักเรือพระที่นั่งกราบ (คือ เรือพระที่นั่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปในที่ไกล ๆ อย่างลำลอง ไม่เป็นพระราชพิธี) เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) บุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย)
    ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔



พระที่นั่งภัทรบิฐ ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

๔.พระเก้าอี้ที่ใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง)
    ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
๕.พระแท่นพุดตาน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดทำถวาย โดยนำช่างทองของพระยาเพชรพิชัย (จีน)
    ไปจากกรุงเทพฯ พระแท่นพุดตานถมเป็นพระแท่นราชบัลลังก์ที่มีความงดงามมากองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์



โถฝาปริกแบบถมจุฑาธุช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง จัดทำขึ้น



เครื่องถมมจุฑาธุช (บนและล่างซ้าย) ที่ด้านหลังของลาย
จะเป็นพื้นเรียบ เครื่องถมโบราณหรือถมนคร (ล่างขวา)
ที่ด้านหลังจะมีลวดลาย

การจัดตั้งโรงเรียนช่างถม
ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในกรุงเทพ
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดการศึกษาขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ นั้น ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานอำนวยการศึกษาและการพระศาสนา ในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ และในมณฑลหัวเมืองตลอดพระราชอาณาจักร กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้ทรงเลือก พระสิริธรรมมุนี(ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช) ซึ่งช่างนครศรีธรรมราช เรียกว่า “เจ้าคุณวัดท่าโพธิ์” ขึ้นถวาย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศึกษาและการพระศาสนา มณฑลนครศรีธรรมราชกับมณฑลปัตตานี พระสิริธรรมมุนีได้วางรากฐานการศึกษาให้แก่ชาวนครศรีธรรมราช มิใช่เฉพาะแต่วิชาสามัญเท่านั้นยังตั้งโรงเรียนสอนวิชาช่างถมขึ้นในวัดท่าโพธิ์ด้วย  เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖  ซึ่งตรงกับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการของโรงเรียนได้ดำเนินมาหลายปี จนในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้รับโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของรัฐ ต่อมาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็น “โรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณ”  ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช” โดยมีสาขางานศิลปหัตถกรรมโลหะรูปพรรณและเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งมีการสอนวิชางานเครื่องถมบรรจุอยู่ในหลักสูตร ทั้งระดับประโยควิชาชีพ (ปวช.) และระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีการศึกษา ๒๕๕๑ มีนักศึกษาทั้ง ๒ ระดับ จำนวน ๘๖ คน  นักเรียนที่จบสาขานี้บางส่วนประกอบอาชีพช่างโลหะรูปพรรณอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง บางส่วนเข้ามาเป็นช่างที่กรุงเทพฯ และบางส่วนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ที่กรุงเทพ


เครื่องถมเงินมีลวดลายสีเงินตัดกับพื้นที่ถมยาดำ



(ล่างบน-ซ้าย)เครื่องถมเงินของมูลนิธิศิลปาชีพฯ (ขวา) ผอบถมเงินของมูลนิธิศิลปาชีพฯ

ในปีเดียวกับที่พระสิริธรรมมุนีเปิดโรงเรียนสอนวิชาช่างถมขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ซึ่งสนใจศิลปหัตถกรรมเครื่องถมนครศรีธรรมราช ได้เปิดแผนกช่างถมขึ้นเป็นแผนกหนึ่งใน “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้คำว่า”ถมนคร” เป็นแนวทางในการสอน โดยให้ ขุนประณีตถมกิจ (หยุย จิตตะกิตติ) ซึ่งเป็นช่างถมอยู่ที่บ้านพานถมเป็นครูผู้สอน ร่วมกับ ขุนประดิษฐ์ถมการ (รื่น ทัพวัฒน์)  วิชาที่สอนเรียกว่า “วิชารูปพรรณและถม”  ประกอบด้วยการขึ้นรูปสลักลายและการถม

ใน พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง พระองค์ได้ทรงดัดแปลงการทำถมโดยนำวิธีเขียนต้นฉบับเป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำมาถ่ายเป็นกระจกเปียก หรือแผ่นฟิล์มแบบเนกะทิฟให้เป็นภาพ เพื่อใช้ถ่ายลงแผ่นเงินโดยวิธีเดียวกับซิลก์สกรีน (Silk screen) แล้วนำแผ่นเงินไปกัดกรดตามวิธีทำบล็อกโลหะ ส่วนที่กรดกัดลึกลงไปก็จะนำยาถมมาถมเป็นพื้นดำ  ส่วนที่ไม่ถูกกรดกัดจะเป็นลวดลายที่เนื้อเงิน  วิธีการทำลวดลายบนชิ้นรูปพรรณแบบนี้ทำได้รวดเร็วกว่าการทำเครื่องถมแบบเดิม  ที่ต้องใช้ของมีคมสลักลวดลายลงบนเนื้อเงิน เครื่องถมที่ทำด้วยวิธีการปรับปรุงใหม่นี้เรียกกันว่า ถมจุฑาธุช

ปัจจุบันโรงเรียนเพาะช่างซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง” มีการสอนวิชาการทำเครื่องถมเป็นวิชาเอกในแผนกเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี  สอนการทำเครื่องถมแบบโบราณ คือ ทำด้วยมือล้วนๆ และเครื่องถมจุฑาธุชซึ่งใช้บล็อกแม่พิมพ์แทนการเขียนลวดลายและสลักลายด้วยมือ






(ซ้าย) พระกัณฑ์ (ขวา-บน) กรอบรูป  (ขวา-ล่าง) กล่องพระโอสถมวน

การจำแนกประเภทเครื่องถมไทย
เครื่องถมไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ถมเงิน ถมตะทอง และถมทอง
• ถมเงิน  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถมดำ เป็นเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุด โดยการถมผงยาถมลงบนพื้นของภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ซึ่งได้สลักหรือแกะลวดลายให้เป็นร่องไว้ เมื่อถมเสร็จตามขั้นตอนต่างๆ แล้ว  พื้นที่ถมยาจะขึ้นเป็นสีดำมันตัดกับลวดลายสีโลหะเงินบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น

• ถมตะทอง เป็นเครื่องถมเงิน แต่มีการนำน้ำปรอทที่มีทองคำบริสุทธิ์ละลายผสมอยู่ไป “ตะ”  (คือ แต้ม แตะ ทา)  ทับลงบนลวดลายที่เป็นเส้นเงิน เฉพาะตรงที่ต้องการให้เป็นสีทองเท่านั้น จะได้ลวดลายสีทองสลับสีเงิน  การถมตะทองเป็นของทำยากเพราะต้องทำด้วยฝีมือประณีต และความชำนาญอย่างสูงของช่าง  ถมตะทองจึงมีความวิจิตรงดงามมาก

• ถมทอง เป็นเครื่องถมเงิน แต่ใช้น้ำปรอทที่มีทองคำทาบนลวดลายทั้งหมด ไม่เลือกทาเป็นแห่ง  อย่างถมตะทอง เนื่องจากเกิดความนิยมให้มีลายทองมากๆ ทำให้เครื่องภาชนะหรือเครื่องประดับนั้นมีลวดลายสีทองทั้งหมดบนพื้นดำ



พระกรัณฑ์ถมตะทอง ผลงานชิ้นสำคัญของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ


(บน-ซ้าย/ขวา)กล่องพระศรี และกระเป๋าราตรี ผลิตภัณฑ์ถมตะทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
(ล่าง-ซ้าย/ขวา) เครื่องถมทองของหอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2558 13:09:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
เรือใบ
นักโพสท์ระดับ 8
***

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 234


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 24.0.1312.56 Chrome 24.0.1312.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 มกราคม 2556 23:37:04 »

คนย้อนอคีด โกรธ
บันทึกการเข้า
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29 มกราคม 2556 16:49:22 »

.


(บน)ช่างจะสร้างแบบและเขียนลายก่อนการขึ้นรูปพรรณ
(กลาง) แท่งยาถม
(ล่าง) เมื่อนำมาใช้จะบดทุบให้เป็นผงละเอียด

ขั้นตอนการผลิตเครื่องถมไทย
การผลิตเครื่องถมไทยมีวิธีการที่แบ่งออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

ขั้นที่ ๑ การทำน้ำยาถม
น้ำยาถมหรือยาถมสำหรับใช้ลงถมในงานเครื่องถม มีส่วนผสมของโลหะ ๓ ชนิด คือ เงิน ทองแดง และตะกั่ว มาผสมกันตามสัดส่วน  ซึ่งช่างแต่ละแห่งอาจใช้ไม่เหมือนกัน ช่างบนคนใส่ส่วนผสมเงิน ๕ ส่วน ทองแดง ๕ ส่วน ตะกั่ว ๖ ส่วน  บางคนใช้เงิน ๑ ส่วน ทองแดง ๗ ส่วน ตะกั่ว ๕ ส่วน  แต่ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานเครื่องเงินไทย ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ กำหนดว่า “ยาถมต้องมีโลหะเงินผสมอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘ ของน้ำหนัก”

เมื่อได้ส่วนผสมของโลหะตามที่ต้องการแล้ว นำโลหะผสมทั้ง ๓ อย่างนั้น ไปหลอมในเบ้าที่มีฝาปิด  ขั้นตอนนี้ช่างถมเรียก “กุมน้ำยา”  โดยใช้อุณหภูมิ ๓๐๐ องศาเซลเซียส ประมาณ ๔ ชั่วโมง  แล้วเปิดฝาเบ้าซัดด้วยกำมะถันเหลือง จนเห็นว่าน้ำยาขึ้นสีดำใส ไม่มีฟอง ไม่มีฝา แล้วจึงเทลงในเบ้าจาน ทิ้งไว้จนแห้ง ยาถมจะมีลักษณะแข็งสีดำ  ขึ้นมันเงาเคลือบสีน้ำเงินอ่อนๆ เนื้อคล้ายโลหะแต่ทุบละเอียดให้เป็นผงได้ ทำเป็นแท่งๆ ไว้ เมื่อเวลาจะนำมาใช้ต้องนำมาบดทุบให้ละเอียดก่อนแล้วคลุกด้วยน้ำประสานทองหรือบอแรกซ์ (borax) จนเป็นน้ำยาถมสำหรับนำไปลงถม



การขึ้นรูปที่ใช้แรงคนจะตัดแผ่นเงินและใช้ค้อนตีให้มีรูปตามต้องการ


ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปและสลักดุนนูนก่อนลงลวดลายละเอียด

ขั้นที่ ๒  การทำรูปพรรณ หรือการขึ้นรูปการทำรูปพรรณหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การขึ้นรูป” คือการนำแผ่นเงินมาทำเป็นรูปร่างตามต้องการ อาจเป็นภาชนะ เช่น ขันน้ำ พานใส่ของ เครื่องประดับ เช่น กำไล เข็มกลัด สร้อย เครื่องใช้เครื่องประดับจะมีทรวดทรงงดงามเพียงใด อยู่ที่ฝีมือของช่างผู้ออกแบบให้เป็นรูปร่างอย่างไร

หากเป็นเครื่องหัตถกรรมแท้ๆ การขึ้นรูปต้องใช้แรงงานคนโดยใช้ค้อนทุบแผ่แผ่นเงินให้หนาบางตามที่ต้องการ แล้วนำแผ่นเงินมาดัดหรือตีแบบ ให้เป็นรูปภาชนะหรือรูปพรรณต่าง ๆ ตามที่ต้องการ แต่ปัจจุบันอาจใช้วีการหล่อแบบ หรือการกดกระแทก (ปั๊มพ์) ซึ่งสามารถผลิตได้รวดเร็ว และมีขนาด รูปร่างเป็นมาตรฐาน เหมาะสำหรับการผลิตเป็นอุตสาหกรรม

เครื่องถมเงินที่มีคุณภาพดีนั้น จะต้องใช้โลหะเงินที่มีความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๕ มีโลหะอื่นซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทองแดงผสมอยู่ไม่เกินร้อยละ ๕ โดยน้ำหนัก  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า เงินสเตอร์ลิง (sterling silver) และถือเป็นมาตรฐานสากล การที่ไม่ใช้เนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ก็เพราะเนื้อเงินอ่อนมาก รูปทรงที่ขึ้นไว้อาจบิดเบี้ยวได้ง่าย แต่ถ้าเนื้อเงินบริสุทธิ์ต่ำกว่าร้อยละ ๙๕ ก็จะทำให้หมองคล้ำได้ง่าย นอกจากนี้ในการลงยาถม ถ้าเนื้อเงินมีสัดส่วนน้อย ก็จะทำให้ยาถมติดยาก หรืออาจกะเทาะหลุดได้ง่าย



ขั้นที่ ๓ การเขียนและสลักลาย
รูปพรรณที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปแล้ว ยังมีลักษณะเกลี้ยงไม่ปรากฏเป็นลวดลายหรือภาพต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของช่างเขียนและช่างสลักที่จะออกแบบลวดลายหรือภาพ ลงบนพื้นผิวของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เริ่มด้วยการเขียนลวดลายหรือภาพด้วยหมึกพิเศษ  แล้วแกะสลักด้วยสิ่ว หรือใช้กรดกัดส่วนที่เป็นพื้นเอาเนื้อโลหะออก ให้เป็นร่องลึกลงไป ปรากฏแต่โครงร่างของลายเป็นภาพนูนเด่นขึ้นมา

ในการสลักอาจเกิดตำหนิที่ผิวของรูปพรรณได้บ้าง  ดังนั้น เมื่อสลักเสร็จจึงต้องแต่งผิวให้เรียบร้อย จากนั้นก็ใช้กรดอ่อน ๆ ผสมน้ำ ขัดส่วนที่จะลงยาถมให้สะอาดจนขาวเป็นเงามัน ไม่มีคราบสีน้ำตาลเจือปนอยู่เลย



(บน) ช่างเกลี่ยยาถมให้เต็มร่องของลวดลาย และใช้ไฟเป่า เพื่อให้ยาถมละลายเกาะติดแน่นกับเนื้อเงิน
(ล่าง) การปรับแต่งรูปทรงและขัดผิวรูปพรรณก่อนจะแกะแร    

ขั้นที่ ๔  ขั้นลงถม
ใช้ผงยาถมที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำประสานทอง ใส่ลงไปในร่องของลวดลายที่แกะสลักไว้ ซึ่งทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว เกลี่ยยาถมให้เสมอกันทุกส่วนจนเต็มร่อง จากนั้นใช้ไฟ “เป่าแล่น” ลงบนเครื่องรูปพรรณนั้น เมื่อผงยาถมได้รับความร้อนสูงจะละลายตัวไหลลงไปในส่วนลึกของพื้นช่องลาย และเกาะติดแน่นอยู่กับเนื้อเงิน เมื่อยาถมกระจายเต็มทั่วทุกส่วนดีแล้ว ก็ทิ้งไว้ให้เย็น โดยห้ามไปแช่น้ำ เพราะโลหะจะหดตัวและยาถมอาจแตกหรือหลุดออกเป็นชิ้นๆ ได้ เมื่อชิ้นงานเย็นดีแล้วก็ใช้ตะไบถูหรือใช้เหล็กขูดแต่งยาถมซึ่งไหลเลอะบางส่วนที่ไม่ต้องการให้ยาถมออกให้หมด ตกแต่งผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย จนกระทั่งเห็นลวดลายหรือภาพปรากฏขึ้นชัดเจนดีหมดทุกส่วน และผิวของส่วนที่ถมไม่มีรูพรุนหรือจุด ที่เรียกว่า “ตามด” ทั้งต้องมียาถมอยู่เต็มสนิท ไม่มีรูหรือรอยแยกให้เห็นเนื้อเงินที่เป็นพื้น ซึ่งเรียกว่า “พื้นขึ้น” ขั้นตอนการลงถมถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และต้องใช้ความประณีตในการทำ จึงจะถือว่าเป็นเครื่องถมที่มีคุณภาพดี


ขั้นที่ ๕ การปรับแต่งรูปทรง
ในขณะที่ลงยาถมนั้น รูปพรรณต้องถูกความร้อนสูงเผาอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จนกว่าการลงยาถมจะแล้วเสร็จ รูปทรงของรูปพรรณอาจบิดเบี้ยวหรือคดงอไปบ้าง  ดังนั้น เมื่อเสร็จจากการลงยาถมแล้ว จึงต้องมีการปรับแต่งรูปทรงให้คงสภาพเดิม

ขั้นที่ ๖ การขัดผิวและแกะแร
เมื่อปรับแต่งรูปเสร็จแล้ว พื้นผิวของรูปพรรณยังคงหยาบและด้านอยู่ ต้องขัดแต่งผิวด้วยกระดาษทรายละเอียด และถูด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อนจนผิวเกลี้ยง จากนั้นขัดผิวด้วยเครื่องขัดและยาขัดโลหะอีกครั้งหนึ่ง แล้วล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง

หลังจากนั้นเป็นการแกะแรลวดลาย หรือการแรเงาตกแต่งลวดลายให้สวยงาม เพราะลวดลายที่ปรากฏจนถึงขั้นที่ ๕ นั้น ยังเป็นภาพหยาบ ๆ ไม่มีรายละเอียดและเส้นตัดภายในให้เป็นลวดลายอ่อนช้อย เช่น ถ้าเป็นภาพคน ก็ยังไม่มีหน้าตา จมูก ปาก และเครื่องแต่งกาย ถ้าเป็นภาพทิวทัศน์ เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จะยังไม่มีเส้นตัดภายในให้เป็นลายกระหนกและลวดลายละเอียดต่างๆ  จึงเป็นหน้าที่ของ “ช่างแกะแร” ที่จะสลักหรือแกะแรส่วนละเอียดของภาพต่างๆ นั้นให้ปรากฏขึ้น การแกะแรจึงต้องการช่างฝีมือที่ละเอียดและมีความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะ



(บน ซ้าย-ขวา)ปรอทใช้ในการเตรียมทองสำหรับทำทองเปียก -  เล็บมือนางทำด้วยเงินสำหรับใช้ทาทอง
(ล่าง ซ้าย-ขวา) การเปียกทองลงบนลวดลายที่เป็นเงิน - รูปพรรณถมทองที่ทำเสร็จแล้ว

ขั้นที่ ๗ การขัดเงา
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำงาน โดยหลังจากแกะแรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำรูปพรรณถมเข้าเครื่องขัดด้วยยาขัดอย่างละเอียดแล้วล้างให้สะอาด เช็ดด้วยผ้านุ่มๆ ให้เป็นเงางาม ก็จะได้เครื่องถมที่พร้อมที่ส่งออกจำหน่ายได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เป็นขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำถมดำหรือถมเงิน แต่ถ้าเป็นการทำถมตะทองและถมทอง จะต้องมีวิธีการเตรียมทองที่จะทา และการทาทองที่ภาพหรือลวดลายสีเงินเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่งก่อนขั้นการแกะแร

การทำถมตะทองและถมทองจะต้องเตรียมทองที่จะนำมาตะหรือทา เรียกว่า “การเปียกทอง”  โดยใช้ทองคำบริสุทธิ์อย่างน้อยร้อยละ ๙๙ มารีดหรือทุบให้บางที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเข้าเครื่องบดจนเกือบเป็นผงทราย ล้างให้สะอาด  เทปรอทลงไปคลุกเคล้ากับผงทองนี้ในครกหิน บดจนผงทองกับปรอทละลายเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะข้นและเหนียว ซึ่งเรียกว่า “ทองเปียก”

เมื่อทำทองเปียกเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ นำรูปพรรณเงินถมที่ต้องการทาทอง มาเช็ดถูให้สะอาดด้วยน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาว หรือน้ำมันเบนซิน ให้สะอาด เพื่อขจัดไขมันและฝ้าบนผิวเงินให้หมดไป ทาผิวรูปพรรณด้วยปรอทให้ทั่ว แล้วใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ ถูทาลงบนส่วนที่เป็นเส้นเงินหรือภาพเฉพาะส่วนที่ต้องการให้เป็นสีทอง โดยทำซ้ำประมาณ ๓ – ๕ ครั้ง เพื่อให้ทองที่ทาไว้มีความหนาตามที่ต้องการ เสร็จแล้วนำรูปพรรณนั้นไปตากแดด หรืออบด้วยความร้อนอ่อน ๆ ประมาณ ๖ ชั่วโมง จนปรอทที่ละลายปนกับทองระเหยไปจนหมด ภาษาช่างเรียกว่า “การรมทอง” เหลือแต่เนื้อทองจับติดบนผิวเงิน ก็จะได้รูปพรรณที่มีลวดลายสีทองสลับกับสีโลหะเงิน เรียกว่า “ถมตะทอง” ถ้าทาทองบนพื้นลวดลายที่เป็นเงินทั้งหมด จะเรียกว่า “ถมทอง” ปัจจุบันช่างถมมักเรียกการถมตะทอง ว่า ถมทอง ด้วย  ทั้งถมตะทองและถมทองคือ ถมเงินที่ใช้ทองทาเคลือบผิวลวดลายที่เป็นเงินให้ติดแน่น ไม่จางหรือหลุดลอก แม้จะใช้สอยนานนับร้อยปี

หลังจากกระบวนการทาทองเปียกลงบนผิวเงินเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ก็นำรูปพรรณนั้นไปแกะสลักลวดลายให้มีรายละเอียดชัดและสมบูรณ์ขึ้น เช่นเดียวกับการแกะแรในการทำถมเงิน แต่ในกรรมวิธีการทำถมตะทองหรือถมทอง จะเรียกวิธีการนี้ว่า “การสลักหรือเพราลาย”  ต่อจากนั้น ก็นำรูปพรรณไปขัดเงาตามวิธีการเดียวกับการทำถมเงิน  จนได้เครื่องรูปพรรณที่ทำสำเร็จเรียบร้อยพร้อมส่งออกจำหน่ายได้



การขัดเงาด้วยลูกปัดและน้ำประคำดีควาย


การทำถมตะทองและถมทองเมื่อเปียกทองเสร็จสิ้นแล้ว จึงนำรูปพรรณไปเพราลาย



เครื่องถมที่ห้างไทยนครผลิตขึ้นจำหน่ายที่ร้าน

การผลิตเครื่องถมไทยในปัจจุบัน

เครื่องถมจัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีความงดงามยิ่งอีกอย่างหนึ่งของไทย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นต่างจากเครื่องเงินและเครื่องทอง  เครื่องถมมีขั้นตอนและกรรมวิธีการผลิตหลายขั้นตอนและยุ่งยากสลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ฝีมือช่างที่มีความรู้ความชำนาญและละเอียดประณีตทุกขั้นตอน งานแต่ละชิ้นจึงต้องใช้เวลาในการทำ และโดยที่เครื่องถมส่วนใหญ่เป็นภาชนะเครื่องใช้ที่มักมีขนาดใหญ่ เช่น ถาด ขันน้ำ  ขันข้าว พานรอง ทัพพี  โถ  ผอบ  หีบบุหรี่ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบ คือ โลหะเงินและทองในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตแต่ละชิ้นมีราคาสูง  ดังนั้น เครื่องถมจึงจำกัดอยู่แต่ในราชสำนักหรือผู้มีฐานะดี ที่จะมีไว้เป็นเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง หรือเป็นของกำนัลพิเศษเท่านั้น ทำให้เครื่องถมไม่เป็นที่แพร่หลายอย่างเครื่องเงินหรือเครื่องทอง  ซึ่งส่วนใหญ่ทำเป็นเครื่องตกแต่งประดับกายที่ไม่ใช่ชิ้นงานขนาดใหญ่ คนทั่วไปจึงสามารถซื้อหาไว้ใช้ได้ ส่งผลให้เครื่องรูปพรรณเงินและเครื่องทองเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมสูง ต่างจากการทำเครื่องถมที่นับวันมีผู้ที่รู้จักน้อยลง ส่งผลให้มีการทำน้อยลงด้วย ช่างฝีมือจึงพากันหันไปทำเครื่องเงินและเครื่องทองแทน ทำให้ปัจจุบันมีช่างถมที่ยังทำเครื่องถมเหลืออยู่จำนวนน้อย

แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะยังมีสถาบันที่มีการสอนวิชาการทำเครื่องถมอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและที่กรุงเทพฯ ดังได้กล่าวแล้ว แต่วิชาการทำเครื่องถมเป็นเพียงวิชาหนึ่งในหลักสูตรโลหะพรรณและอัญมณีเท่านั้น อีกทั้งผู้จบการศึกษาจากสถาบันทั้ง ๒ แห่ง ในแต่ละปีมีจำนวนประมาณ ๑๐๐ คน และส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาก็มิได้ใช้วิชาที่เรียนมาไปประกอบอาชีพการทำเครื่องถม แต่กลับไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ช่างเงิน ช่างทอง หรือการออกแบบเครื่องประดับและอัญมณี  ช่างถมที่ยังคงมีทำกันอยู่บ้างทั้งในกรุงเทพฯ และที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจึงเป็นช่างที่เคยทำงานเครื่องถมมาแต่ดั้งเดิม



ผลิตภัณฑ์เครื่องถมเงิน และเครื่องถมทอง ที่เป็นภาชนะและเครื่องใช้แบบต่างๆ

การผลิตเครื่องถมไทยเคยรุ่งเรืองมาสมัยหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๓๓ มีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศปีละหลายสิบล้านบาท ทั้งนี้ ก็ด้วยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทางราชการร่วมกับสมาคมเครื่องถมไทย ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมเครื่องถมและเครื่องเงินไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ผลักดันให้มีการประกาศควบคุมมาตรฐานเครื่องเงินไทย แต่ต่อมาทางราชการได้ยกเลิกประกาศควบคุมมาตรฐานดังกล่าว ทำให้มาตรฐานเครื่องถมไทยต้องตกต่ำลงอีกครั้งหนึ่ง เพราะการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่างชาติจึงเริ่มเสื่อมความนิยมเครื่องถมไทย และไม่มีการสั่งซื้อเครื่องถมไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศดังเช่นแต่ก่อน

อย่างไรก็ตามห้างไทยนครซึ่งเป็นรายแรกที่ทำการบุกเบิกตลาดเครื่องถมไทยในต่างประเทศ และยังคงดำเนินกิจการทำเครื่องถมจำหน่ายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน โดยผลิตเครื่องถมทั้งที่เป็นถมนคร ถมตะทอง และถมทอง จำหน่ายที่ร้าน รวมทั้งรับทำตามที่มีผู้สั่งทำ  ผลิตภัณฑ์ที่ห้างไทยนครทำส่วนใหญ่เป็นประเภทภาชนะเครื่องใช้ เช่น ถ้วยรางวัล กรอบรูป กระเป๋าถือสุภาพสตรี ขันน้ำ พานรอง กาน้ำ ถาด ชุดเครื่องโต๊ะอาหาร ได้แก่ ทัพพี มีด ช้อน ที่รองแก้วน้ำ และมีเครื่องประดับบ้าง เช่น กำไล สร้อยคอ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเป็นการจำหน่ายที่หน้าร้านเท่านั้น  เช่นเดียวกับร้านหิรัญกรซึ่งทำกิจการเครื่องถมหลังจากห้างไทยนครไม่นาน  โดยปัจจุบันเน้นการทำเครื่องเงินเครื่องทองและเครื่องประดับอัญมณี แต่ยังคงรับทำเครื่องถมที่มีการสั่งทำตามรูปแบบของผู้สั่ง จึงกล่าวได้ว่า ในกรุงเทพฯ มีเพียง ๒ ร้านดังกล่าวที่ทำเครื่องถมจำหน่ายอยู่ อย่างไรก็ดีมีช่างถมที่เป็นครูหรือเคยเป็นครูสอนวิชาเครื่องถมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ วิทยาเขตเพาะช่างและช่างที่เคยทำงานให้ห้างไทยนครและร้านหิรัญกรรับงานอยู่ตามบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ผลิตงานตามที่มีผู้มาสั่งทำหรือผลิตงานชิ้นเล็กๆ จำพวกเครื่องประดับกาย ส่งจำหน่ายตามร้านค้าของที่ระลึก ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกัน จำนวนร้านค้าที่ทำเครื่องถมมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก และส่วนใหญ่ทำกันเฉพาะที่อำเภอเมืองฯ เท่านั้น  ผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นพวกเครื่องประดับ หรือของที่ระลึก เช่น กำไล แหวน สร้อยคอ ต่างหู สำหรับจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เป็นที่น่ายินดีว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ หรือในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ของที่จะพระราชทานแก่พระประมุขหรือบุคคลสำคัญๆ ของประเทศนั้นๆ มักเป็นเครื่องถม ดังเช่นที่คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ และได้เสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลที่พระองค์ประสูติ ณ เมืองบอสตัน ได้พระราชทานหีบบุหรี่ถมทองแก่นายแพทย์ผู้ถวายพระประสูติการและพระราชทานตลับแป้งถมทองแก่พยาบาลที่มีส่วนร่วมในการถวายพระประสูติการ จำนวน ๔ คน ด้วย  เครื่องถมที่พระราชทานนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ห้างไทยนครจัดทำตามแบบที่พระราชทานให้

อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงตั้งโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา โดยรับลูกหลานชาวนาชาวไร่มารับการฝึก ได้โปรดเกล้าฯ  ให้จัดสอนงานศิลปหัตถกรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๒๓ แผนก ซึ่งมีแผนกถมทองรวมอยู่ด้วย  โดยทรงจัดหาครูมาสอนให้แก่นักเรียน งานถมชิ้นสำคัญๆ ที่เป็นงานถมล้วนๆ เช่น พระกรัณฑ์ถมตะทอง  กล่องพระศรีถมทอง  ขันน้ำพานรอง  ตลับรูปผลไม้ต่างๆ กระเป๋าราตรีแบบต่างๆ  นอกจากนี้ก็เป็นงานที่ทำร่วมกับแผนกอื่น เช่น เป็นส่วนประกอบเพื่อตกแต่งงานสานกระเป๋าย่านลิเภา  ปัจจุบันโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา เป็นแหล่งสร้างงานเครื่องถมที่เป็นงานศิลปวัตถุของชาติ  ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ให้โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา สร้างผลงานเข้าพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยมีการจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมในโอกาสต่างๆ  ที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาผลิตขึ้น จึงไม่มีการจำหน่ายหรือรับสั่งทำ เว้นแต่เฉพาะใน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ และ พ.ศ. ๒๕๔๗  ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำผลิตภัณฑ์จากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ออกประมูลนำเงินเข้ามูลนิธิฯ สำหรับของพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะพระราชทานแก่พระประมุขหรือบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ หรือพระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศ จะเป็นของที่ทรงซื้อจากโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา



*ผู้เรียบเรียง  : นายธีรชัย จันทรังษี และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2558 13:35:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ประวัติ ที่มาของ "ดินสอ" ของที่ใช้อยู่ทุกวัน
สุขใจ ห้องสมุด
【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ 3 5056 กระทู้ล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2553 13:19:56
โดย 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪
รวม ภาพยนต์ เกี่ยวกับ อวกาศ และ ดาราศาสตร์ ชุดที่ 1 "From Hubble" (ฮับเบิ้ล) พร้อม ประวัติ
วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
หมีงงในพงหญ้า 9 7324 กระทู้ล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2553 11:51:22
โดย หมีงงในพงหญ้า
ประวัติ-วิวัฒนาการของ "ส้วม"
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 4187 กระทู้ล่าสุด 28 มกราคม 2557 19:20:48
โดย Kimleng
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง « 1 2 »
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 22 76629 กระทู้ล่าสุด 21 พฤษภาคม 2558 11:02:10
โดย Kimleng
[ไทยรัฐ] - เตือนห้ามกิน "เห็ดพิษ 4 ประเภท" หลังเกิดเหตุสลด เมียดับ-ผัวสาหัส
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 172 กระทู้ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2565 03:10:48
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.714 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มีนาคม 2567 04:00:07