[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 15:34:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มรดกโลก - อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร  (อ่าน 10546 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 มีนาคม 2556 15:01:05 »

.



มรดกโลก
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
Kamphaeng Phet Historical Park
อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จังหวัดกำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร  

พื้นที่อุทยานฯ มีประมาณ ๓.๔ ตารางกิโลเมตร โบราณสถานประมาณ ๖๐ แห่ง

เขตอุทยานประวัติศาสตร์แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เขตภายในกำแพงเมืองกับเขตนอกกำแพงเมืองที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก  

ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่มากมายหลายแห่ง
  
องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) เมื่อวันที่  ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๓๔

กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของลุ่มแม่น้ำปิง ฝั่งเดียวกับที่ตั้งจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน ห่างจากฝั่งประมาณ ๔ กิโลเมตร  

กำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งทางภาคเหนือ มีอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี ในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นเมืองลูกหลวงแลเมืองหน้าด่านที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในการป้องกันการรุกรานจากอาณาจักรอยุธยา และแม้เมื่อรวมสุโขทัยเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกับอยุธยาแล้ว เมืองนี้ก็ยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์  

ในอดีตเมืองกำแพงเพชรเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว เมืองคณฑี เมืองนครชุม เมืองตรัยตรึงส์ เมืองบางพาน
 
• เมืองชากังราว เป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัยตอนปลาย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำปิง  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร   เมืองนี้ พระยาเลอไทย พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วง เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๘๙๐ ให้เป็นเมืองคู่กับเมืองศรีสัชนาลัย และโปรดฯ ให้พระราชโอรสองค์หนึ่งไปครองเมืองนี้ เรียกว่า “เมืองชากังราว” เรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) จึงเปลี่ยนไปเรียกชื่อ "กำแพงเพชร" เป็นครั้งแรก  ดังปรากฏในพระราชพงศาวรดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ดังนี้
     ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก (พ.ศ.๒๐๐๔)
     พระยาชเลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิษณุโลก
     เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้เมือง
     และจึงยกทัพเปรอไปเอาเมืองกำแพงเพชร  
     และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง
     และมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่


• เมืองคณฑี (ตำบลคณฑีในปัจจุบัน) อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองกำแพงเพชร เมืองคณฑีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า คือเมืองโบราณที่บ้านโคน ซึ่งเอ่ยถึงในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและในหนังสือจามเทวีวงศ์   และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มาเมืองกำแพงเพชร ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า  ชุมชนบ้านโคนนั้น  "คงเป็นเมืองมาแต่โบราณ......ชุมชนโบราณบ้านโคนนี้ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลักที่ ๑ ว่าเมืองหัวนอนรอดคณฑี...”

• เมืองนครชุม เป็นเมืองมีกำแพงดิน ๓ ชั้น นักโบราณคดีลงความเห็นว่าตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงตรงบริเวณปากคลองสวนหมาก ตำบลนครชุม  กำแพงเมืองด้านกว้างมีความยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร  ด้านยาวประมาณ ๒,๙๐๐ เมตร ปัจจุบันยังคงมาซากกำแพงเมืองเหลืออยู่เพียงบางช่วง ในอดีตเคยเมืองลูกหลวงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปี ถูกลดชั้น กลายเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันเป็นตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งในเมืองกำแพงเพชร    

• เมืองตรัยตรึงส์อยู่ในเขตตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง ปรากฎในศิลาหลักที่ ๓๘ เรียกว่าศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร กล่าวว่าเจ้าเมืองไตรตรึงษ์เป็นคณะประชุมในการเขียนกฎหมายดังกล่าวด้วย ตามตำนานสิงหนวัติกล่าวไว้ว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสนหนีหนีข้าศึกมอญและไทยใหญ่จากทางเหนือเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ เพราะจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ลูกปัดแก้ว ตะเกียงดินเผาแบบอินเดีย ซึ่งอยู่รวมในสมัยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และปัจจุบันยังปรากฏซากเมืองหลงเหลือให้เห็นอย่างชัดเจน  

• เมืองบางพาน อยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์และเมืองโบราณเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเทียวเชิงอนุรักษณ์ อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร


 
ความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร
ตามตำนานสิงหนวติกุมาร กล่าวว่า ในปี พ.ศ. ๔๗๙ พระเจ้าพรหมรบขับไล่ขอมดำจากเมืองโยนกลงมาทางใต้ ถึงแคว้นกัมโพชทางเหนือ (คือ ละโว้ หรือ ลพบุรี ในปัจจุบัน)  ครั้งนั้น พระอินทร์โปรดให้เทวดาเนรมิตกำแพงหินเพื่อหย่าศึก
 
ในปีต่อมาพระเจ้าพรหมเสด็จไปสร้างเมืองใหม่ทางใต้ของเมืองโยนก ชื่อเมืองไชยปราการ หลังสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๕๔๐ แล้ว พระราชโอรส คือ พระเจ้าไชยศิริเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา  ถูกรุกรานจากกษัตริย์เมืองสุธรรมวดีจนต้องทิ้งเมืองอพยพลงทางใต้จนถึงบริเวณกำแพงหิน

พระอินทร์แปลงองค์เป็นชีปะขาวลงมาบอกให้ตั้งเมืองบริเวณกำแพงหินเพราะเป็นชัยภูมิเหมาะสม  พระจ้าไชยศิริจึงสร้างเมืองขึ้นในปี พ.ศ.๑๕๔๗  ตั้งชื่อว่า เมืองกำแพงเพชร

จนกระทั่งในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ศิลาจารึกวัดมหาธาตุและวัดสระศรี ซึ่งจารึกเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๖ กล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรไว้ ๒ แห่ง  ดังนั้น จึงน่าจะเชื่อได้ว่าเมืองกำแพงเพชรคงสร้างขึ้นในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย  ซึ่งสอดคล้องกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ว่า “เมืองกำแพงเพชรนี้ เดิมตั้งอยู่ห่างฝั่งทุกวันนี้ประมาณ ๑๐๐ เส้น น่าจะมีลำน้ำมาที่ชายเนิน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าเปนที่ลุ่ม.....ถึงเวลาพระร่วงเป็นใหญ่ในเมืองสวรรคโลก เปนเวลาร่วมกันกับมังรายลงมาจากเชียงรายตั้งเชียงใหม่เปนเมืองหลวง  พวกเจ้านายในเมืองสวรรคโลก กลัวว่าสวรรคโลกล่อแหลมนัก จึงคิดอ่านตั้งสุโขทัยเปนเมืองหลวงขึ้นอีกเมืองหนึ่ง....พระร่วงหรือวงศ์พระร่วงเห็นว่าควรจะเลื่อนเมืองลงมาตั้งริมน้ำให้ข่มแม่น้ำนี้ จึงมาสร้างกำแพงขึ้นใหม่ให้ชื่อเมืองกำแพงเพชร ทำทางหลวงเดิรขึ้นไปสวรรคโลกสายหนึ่ง มากำแพงเพชรสายหนึ่ง เพื่อจะให้เดิรทัพช่วยกันได้สะดวก เมืองเหนือคงเป็น ๓ พระนคร ทางเดิรในระหว่างกำแพงเพชรไปสุโขทัย นอน ๒ คืน....”

ถนนสายดังกล่าวนี้ควรจะเป็นถนนพระร่วง ซึ่งยังคงมีร่องรอยอยู่เป็นระยะทางยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร

 

โบราณสถานวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร









ความสำคัญของเมืองกำแพงเพชร เริ่มปรากฏเด่นชัดในสมัยสุโขทัยประมาณก่อนหน้าปี พ.ศ.๑๙๑๖ เป็นต้นมา โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ซึ่งเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส พระราชนัดดา หรือพระญาติสนิทที่ไว้วางพระราชหฤทัยออกไปครอง เนื่องจากเมืองกำแพงเพชรเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเอื้อต่อสภาพเศรษฐกิจสังคม และยุทธศาสตร์

กำแพงเพชรเป็นเมืองที่มีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบ สามารถใช้เป็นที่ตั้งมั่นรับข้าศึกได้อย่างดี ขณะนั้นเป็นช่วงที่อาณาจักรอยุธยากำลังแผ่อำนาจขึ้นเหนือ ดังนั้นเมืองกำแพงจึงมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกอยุธยาที่ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑) ทรงเพียรพยายามยกทัพไปตีถึง ๓ ครั้ง จึงตีได้ในปี พ.ศ.๑๙๒๑ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ แห่งอาณาจักรสุโขทัยต้องออกถวายบังคม

เมืองกำแพงเพชร จึงกลายเป็นฐานอำนาจที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยาในการที่จะเข้าควบคุมหัวเมืองทางเหนือทั้งหมด และกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของอาณาจักรอยุธยามาโดยตลอด และจากสภาพของการเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญนี้ทำให้เมืองกำแพงเพชรต้องถูกทำลายด้วยน้ำมือชาวไทย  กล่าวคือในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลกกับสมเด็จพระมหินทราธิราช ราชโอรส เพื่อรับตัวพระวิสุทธิ์กษัตริย์และพระเอกาทศรถลงมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงกราบบังคมทูลพระราชบิดาขอพระบรมราชานุญาตทำลายเมืองกำแพงเพชร เพื่อไม่ให้เป็นที่ตั้งมั่นของกองทัพพม่าได้ ดังปรากฏ "เมืองกำแพงเพชรเป็นทางศึกกำลังศึก จะขอทำลายเมืองกำแพงเพชร กวาดเทเอาครอบครัวอพยพลงไปไว้ ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา ถึงศึกมีมาก็จะได้หย่อนกำลังลง"  
 
อย่างไรก็ตาม พม่าก็ยังคงใช้เมืองกำแพงเพชรเป็นที่ตั้งมั่นและรวบรวมเสบียงอาหารเพื่อบำรุงกองทัพหงสาวดีอยู่เสมอมา เช่น ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา พระเจ้าหงสาวดีทรงส่งนันทสู และราชสังครำเข้ามาทำนาตั้งยุ้งฉางที่เมืองกำแพงเพชรเป็นแรมปี เพื่อเตรียมเสบียงอาหารทำศึกใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยา  และเมื่อพม่ายกทัพเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยาทางเมืองกาญจนบุรี  เมื่อยกทัพกลับพม่ามักจะใช้เส้นทางผ่านเมืองกำแพงเพชร เพื่อหาเสบียงเลี้ยงกองทัพให้พอเพียงสำหรับเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

ในสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองกำแพงเพชรมีฐานะเป็นเมืองพระยามหานคร ดังปรากฏในกฎมนเทียรบาลที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจและสิทธิในการปกครองบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ เว้นไว้แต่จะต้องเดินทางมาร่วมในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในเมืองหลวงตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น

ฐานะของเมืองกำแพงเพชรลดความสำคัญลง เมื่อขุนหลวงพะงั่วตีเมืองกำแพงเพชรได้ และครั้นมาถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่ทรงแต่งตั้งเจ้านายฝ่ายเหนือให้ปกครองหัวเมืองเหนืออย่างแต่ก่อน  จึงทรงจัดระเบียบการปกครอง ผนวกหัวเมืองเหนือทั้งปวงเข้ากับกรุงศรีอยุธยา เป็นการปกครองแบบ "รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง" มีการจัดความสำคัญของหัวเมืองเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี และทั้งกำหนดศักดินาตำแหน่งนาพลเรือน และตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  เมืองกำแพงเพชรมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองชั้นโท  เจ้าเมืองมีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่  แต่ถึงกระนั้น ฐานะของเมืองกำแพงเพชรยังคงมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง ปรากฏตามกฎมนเทียรบาลที่ตราขึ้นในรัชกาลนี้ว่า เป็นเมืองลูกหลวงและเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำสงครามกับเชียงใหม่

นอกเหนือจากการเป็นเมืองสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์แล้ว เมืองกำแพงเพชรยังมีความสำคัญทางด้านศาสนาด้วย  ตามตำนานพระแก้วมรกตและตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวไว้ว่า เมืองกำแพงเพชรเคยเป็นที่ประดิษฐานทั้งพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนชาวไทย




จุดเที่ยวชม ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร





จุดที่ ๑.โบราณสถานวัดช้างรอบ
(Ancient Monuments in Wat Chang Rob)
วัดช้างรอบ เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง มีจุดเที่ยวชมที่น่าสนใจได้แก่เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัว หันศีรษะออกจากฐาน รายรอบเจดีย์ จำนวน ๖๘ เชือก  ลักษณะช้างเป็นแบบทรงเครื่องประดับลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา  ผนังระหว่างตัวช้างแต่ละเชือกตกแต่งลวดลายปูนปั้นนูนสูงรูปต้นไม้อย่างงดงาม  

ฐานล่างของเจดีย์มีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณที่อยู่กลางฐานทั้งสี่ด้าน  โดยมีความสูงจากพื้นดินถึงลานประทักษิณด้านบน ๗ เมตร   กลางลานมีเจดีย์ฐานเขียงแปดเหลี่ยม ลักษณะเป็นเจดีย์แบบลังกายอดหัก  ฐานกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ด้านหน้าฐานเจดีย์เป็นวิหารใหญ่ กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๔ เมตร ฐานสูงประมาณ ๑.๕ เมตร วิหารเป็นเสา ๔ แถว ๗ ห้อง มีมุขเด็จข้างหน้าหนึ่งห้อง ชานบันไดแต่ละด้านประดับด้วยสิงห์และทวารบาลปูนปั้น  

จากบันไดเข้าสู่ลานประทักษิณจะมีซุ้มประตูที่มีเจดีย์ยอดระฆังขนาดเล็กประดับอยู่  สำหรับองค์เจดีย์ประธานเหลือหลักฐานเฉพาะชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ชั้นหน้ากระดานกลม และส่วนที่มีต่อเนื่องขึ้นไปอีกเล็กน้อย  ส่วนยอดเจดีย์ที่อยู่เหนือขึ้นไปพังทลายหมดแล้ว  

จากการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์วัดช้างรอบนี้ได้พบบรรดาลวดลายต่าง ๆ เป็นดินเผารูปนางรำ รูปยักษ์ รูปหงส์ รูปหน้าเทวดา และหน้ามนุษย์ ซึ่งตามลักษณะโบราณวัตถุเป็นศิลปอาณาจักรอยุธยาตอนต้น หรือสุโขทัยตอนปลายทำให้ทราบลักษณะเครื่องแต่งตัว การฟ้อนรำและลักษณะอื่น ๆ ของคนสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาศิลปะและโบราณคดี บรรดาโบราณวัตถุที่พบนี้ บางชิ้นเก็บรวบรวมตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร



โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร  
ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักสำคัญในการก่อสร้าง

ศิลาแลง หรือ แม่รัง มีลักษณะคล้ายกับหิน มีรูพรุน เป็นวัสดุที่เกิดจากธรรมชาติ มีสีแดง สีสนิมเหล็กหรือสีอิฐ และสีน้ำตาล และเป็นวัสดุที่มีความสำคัญของก่อสร้างในอดีต เนื่องจากมีความอ่อนนุ่มและมีความแข็งพอสมควร

ศิลาแลง เกิดขึ้นได้ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกมาก แต่แล้งนานด้วย ในฤดูฝนน้ำใต้ดินมีระดับสูง ทำให้ท่วมตอนบนของชั้นดิน (ซึ่งต่อไปกลายเป็นศิลาแลง) ระหว่างนั้น น้ำฝนจะละลายเอาสารประกอบอะลูมิเนียมออกไซด์เอาไว้ เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำใต้ดินลดระดับต่ำลง ก็พาเอาสารประกอบอะลูมิเนียมลงไปสู่ที่ต่ำ เวลานานเข้า วัสดุบริเวณด้านบนจึงมีสารประกอบเหล็กออกไซด์มากขึ้น และมักรวมกันเป็นกลุ่ม จึงเกิดเป็นโพรงว่าง เป็นทางให้น้ำใต้ดินซึมขึ้นลงได้ง่ายขึ้น และชะสารประกอบอะลูมิเนียมออกไซด์ออกไปเร็วด้วย ทำให้ศิลาแลงมีลักษณะเด่น คือ มีรูพรุนทั่วไป

ส่วนประกอบสำคัญทางเคมีของศิลาแลง คือ ออกไซด์ของเหล็กหรืออะลูมิเนียม โดยอาจมีแร่ควอตซ์และเคโอลิไนต์ปนอยู่ด้วย ส่วนธาตุที่เป็นด่างและซิลิเกตนั้นมีอยู่น้อยมาก หากมีสารประกอบเหล็กอยู่มากพอ ก็อาจนำไปใช้เป็นวัตถุดิบถลุงเอาเหล็กได้ หรือหากมีสารประกอบอะลูมิเนียมมากพอ ก็อาจนำไปถลุงเอาโลหะอะลูมิเนียมได้เช่นกัน

การนำศิลาแลงมาใช้นั้น ไม่ยุ่งยาก เมื่อเปิดหน้าดินลงไปถึงตัวศิลาแลงจะพบเนื้อดินที่ไม่แข็ง ใช้ขวานหรือเหล็กสกัด หรือชะแลงเซาะร่องงัดออกมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ได้ แต่เมื่อยกขึ้นมาแล้วต้องรีบตัดแต่งให้เข้ารูปตามต้องการโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะแข็งตัวกว่าเดิมมาก เมื่อแต่งรูปเสร็จแล้ว วางทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะมีคุณสมบัติแข็งมาก สามารถนำไปก่อสร้างได้เหมือนอิฐ

ศิลาแลงนี้สามารถพบได้ในโบราณสถานสมัยสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบได้ในโบราณสถานแห่งอื่นๆ เช่น เชียงแสน เชียงใหม่ กำแพงเพชร เป็นต้น
 
ปัจจุบันมีความนิยมนำศิลาแลงมาใช้ตกแต่งสวน เป็นหินปูพื้น ปูทางเดิน ก่อกำแพง และอาจใช้ก่อผนังอาคารบ้านเรือนได้เช่นกัน
...วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



จุดที่ ๒.โบราณสถานวัดพระธาตุ
(Ancient Monuments in Wat Phra That)
วัดพระธาตุ Wat Phra That : ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองอยู่ด้านหน้าวัดพระแก้ว แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแนวกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานฐานแปดเหลี่ยมทรงกลม องค์ระฆังประดับด้วยบัวปากระฆัง มีระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ประธาน ด้านหน้าวัดมีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่ทั้งสองข้างของวิหาร ด้านหลังเจดีย์ประธานเยื้องไปทางทิศเหนือมีวิหารก่อศิลาแลงประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง คงเหลือเพียงโกลนศิลาแลง วิหารเหล่านี้จากการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พบว่ามีการก่อซ้อนกัน ๒ ครั้ง นอกจากนี้ยังพบกริชทำจากสำริด ๑ เล่ม

วัดพระธาตุกับวัดพระแก้วเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งที่ตั้งแล้วน่าจะเป็นวัดเดียวกัน แต่ได้ขยายการก่อสร้างอยู่เสมอ จึงทำให้แผนผังตำแหน่งโบราณสถานเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ แต่ในทางอายุแล้ว วัดพระแก้วน่าจะมีอายุมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย วัดพระธาตุน่าจะเป็นวัดที่สร้างภายหลังในสมัยอยุธยา





 
จุดที่ ๓.โบราณสถานวัดพระแก้ว
(Ancient Monuments in Wat Phra Kaew)
วัดพระแก้ว Wat Phra Kaew : เป็นวัดที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองกำแพงเพชร ด้านเหนือติดกับเขตพระราชวังหรือบริเวณสระมน บริเวณวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลงมีสิงห์ล้อมรอบ  ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ต่อขึ้นไปมีซุ้มคูหาประดับสิงห์ปูนปั้นรวม ๓๒ ตัว และถัดขึ้นไปทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ๑๖ ซุ้ม  เจดีย์ทรงกลมมีช้างล้อมรอบอยู่บริเวณกึ่งกลางภายในระเบียงคด รอบฐานเจดีย์ประดับช้างล้อม ๓๒ เชือก

ระเบียงคดอยู่ภายในกำแพงวัด ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ๔๕ องค์ ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนโกลนศิลาแลงฐานพระวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าสุดของกลุ่มโบราณสถาน  ลักษณะเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่ ๓ ชั้น มีพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงประดิษฐานอยู่บนฐานพระวิหาร

วิหารที่สำคัญอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธานทรงกลมที่มีสิงห์ล้อมรอบ วิหารหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสีหไสยาสน์ และพระพุทธรูปปูนปั้นนั่ง ๒ องค์ ฐานพระวิหารประดับปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันสูญหายไปหมดแล้ว ด้านหลังพระพุทธรูปนั่งมีสถูปขนาดเล็ก ๗ องค์ มีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปขนาดเล็ก ๗ องค์ รูปแบบศิลปะพระพุทธรูปประทับนั่งและพระนอนเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง

พระอุโบสถมีสามหลัง โบราณสถานวัดพระแก้วไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด แต่จากการศึกษาศิลปะสถาปัตยกรรมแล้ว โบราณสถานที่เก่าที่สุดน่าจะได้แก่พระพุทธรูปยืนหรืออัฏฐารสที่เหลือเพียงพระบาท ๒ ข้าง เจดีย์ทรงกลมฐานเตี้ยที่มีช้างล้อมรอบ นอกจากนั้นคงสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา

คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวถึงการนำพระพุทธรูปสิหิงค์มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรในสมัยพระยาญาณดิศ (หรือติปัญญา) ซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วัดพระแก้ว และอาจจะเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตด้วย กำแพงแก้วที่ล้อมรอบวัดทำด้วยศิลาแลง เป็นแท่งกลมขนาดใหญ่ปักลงในดินและมีทับหลังศิลาแลง วัดพระแก้วคงไม่มีพระภิกษุจำพรรษา คงใช้ประกอบพระราชพิธีของกษัตริย์และเจ้าเมืองเท่านั้น





จุดที่ ๔.โบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ
(Ancient Monuments in Wat Phra Si Ariyabot)
วัดพระสี่อิริยาบถ Wat Phra Si Ariyabot : วัดพระสี่อิริยาบถ  โบราณสถานก่อสร้างด้วยศิลาแลง  วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หน้าวัดมีบ่อน้ำ ที่อาบน้ำ และศาลา ส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสมีกำแพงศิลาแลงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมปักล้อมรอบ

เขตพุทธาวาสมีวิหารขนาดใหญ่ฐานสองชั้น มีบันไดขึ้นด้านหน้าสองข้าง ด้านข้างมีแนวฐานวิหารก่อเป็นลูกกรงเตี้ยๆ ด้วยศิลาแลง

มณฑปพระสี่อิริยาบถตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร ตัวมณฑปก่อด้วยสิลาแลงและอิฐบริเวณกึ่งกลางบนฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทึบ ผนังหันออกทั้ง ๔ ทิศ  ผนังจะโค้งเข้าในเล็กน้อย ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา ด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัย ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ ปัจจุบันเห็นเพียงเค้าโครง   ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย นอกจากนั้นมีเจดีย์ราย ประมาณ ๑๗ องค์

โบราณสถานเขตสังฆาวาสจะมีศาลา กุฏิเล็กๆ และเนินอาคารต่างๆ ที่ก่อด้วยสิลาแลง ประมาณ ๑๒ แห่ง  บ่อน้ำ ๑๐ บ่อ และยังพบพระอุโบสถขนาดเล็กอยู่ทางด้านใต้พระวิหารใหญ่ด้วย

วัดพระสี่อิริยาบถเป็นวัดที่สำคัญ และมณฑปพระสี่อิริยาบถนั้นนิยมสร้างในสมัยสุโขทัย เช่น วัดเชตุพนเมืองสุโขทัย  และมณฑปพระอัฏฐารสซึ่งเดิมเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง ด้านหลังเจดีย์มุเตา  ดังนั้น วัดพระสี่อิริยาบถที่กำแพงเพชรน่าจะได้รับอิทธิพลจากเมืองสุโขทัย




จุดที่ ๕.โบราณสถานวัดสิงห์
(Ancient Monuments in Wat  Singha)
วัดสิงห์ Wat  Singha : วัดสิงห์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชร  โบราณสถานล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมปักเรียงติดกัน  สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเดิมน่าจะเป็นพระวิหาร แต่ถูกดัดแปลงในภายหลัง  ลักษณะฐานย่อมมุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ชานชาลาด้านหน้าฐานไพทีมีสิงห์ปูนปั้นแกนศิลาแลง และทวารบาลประดับบันไดทางขึ้น ที่แท่นพระประธานพระพุทธรูปนั่งโกลนศิลาแลง ด้านหลังมีเจดีย์ประธานฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มพระ ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูป

เขตสังฆาวาสมีกุฏิ และศาลาอยู่รอบๆ  เขตพุทธาวาส นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำที่มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ๒ บ่อ  จากรูปแบบสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัยและบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏในจารึกฐานพระอิศวร ปี พ.ศ.๒๐๕๓  ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง




จุดที่ ๖.โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่
(Ancient Monuments in Wat Arwat Yai )
วัดอาวาสใหญ่ Wat Arwat Yai : วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วัดนี้ไม่มีกำแพงวัด ภายในบริเวณวัดแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เขตพุทธาวาสมีกำแพงล้อมรอบ เขตสังฆาวาสอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ของเขตพุทธาวาส  แนวกำแพงด้านหน้าหรือด้านตะวันออกปัจจุบันนี้ถูกรื้อทำลาย ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง ซึ่งมีน้ำขังอยู่เต็มเรียกว่าบ่อสามแสน สาเหตุที่เรียกว่าบ่อสามแสนเป็นเรื่องเล่าสืบกันมาว่าคนจำนวนสามแสนมาตักน้ำกินน้ำใช้ก็ไม่หมด

โบราณสถานที่สำคัญเขตพุทธาวาส คือวิหารก่อด้วยศิลาแลงทำเป็นฐาน ๒ ชั้น ลักษณะเป็นฐานปัทม์ มีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้า ๒ ข้าง ผนังด้านข้างก่อเป็นแบบผนังลูกกรงเตี้ยๆ ฐานรองรับพื้นมีการทำช่องระบายน้ำทิ้งด้วย  เจดีย์ประธานติดกับด้านหลังพระวิหาร  ฐานล่างเป็นฐานแปดเหลี่ยม  ส่วนบนเป็นเรือนธาตุย่อมุมไม้ยี่สิบ  ส่วนยอดไม่มี บางท่านสันนิษฐานว่าสร้างไม่เสร็จ  เจดีย์รายตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเดียวกัน ๒ ฐาน  ฐานละ ๘ องค์  พระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง ใกล้กับแนวกำแพงด้านเหนือ




จุดที่ ๗.โบราณสถานวัดป่ามืดนอก
(Ancient Monuments in Wat Pa Mued Nok)
วัดป่ามืดนอก Wat Pa Mued Nok : แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำแพงวัดก่อสร้างด้วยศิลาแลง พระประธานบนฐานชุกชีภายในวิหารโกลนศิลาแลง เดิมมีปูนปั้นฉาบผิวด้านนอกแสดงรายละเอียดต่างๆ ขององค์พระพุทธรูป เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้พบทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม



จุดที่ ๘.โบราณสถานวัดริมทาง
(Ancient Monuments in Wat Rim Tang)
วัดริมทาง Wat Rim Tang : วัดนี้อยู่ในกลุ่มวัดทางด้านเหนือของเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร โบราณสถานที่เป็นประธานของวัดคือวิหารก่อศิลาแลงล้อมรอบด้วยกำแพงวัดซึ่งใช้ศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมปักเรียงต่อกันไป นอกจากนี้ยังมีฐานศาลา ฐานกุฏิสงฆ์ บ่อน้ำ และที่อาบน้ำด้วย


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 11:53:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.859 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 24 เมษายน 2567 03:48:22