[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 11:26:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "พระเจดีย์ภูเขาทอง" อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะของพระเจ้าบุเรงนอง (จ.พระนครศรีอยุธยา)  (อ่าน 4411 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 24 เมษายน 2556 13:32:51 »

.


พระเจดีย์ภูเขาทอง
อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะ ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

วัดภูเขาทอง Wat Phu Khao Thong means “Golden Mountain” ตั้งอยู่กลางทุ่งภูเขาทอง ในเกาะเมืองอยุธยา ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นสมรภูมิรบในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีพระเจดีย์ย่อมุมขนาดใหญ่บนฐานประทักษิณเป็นประธาน ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระเจดีย์เป็นพระวิหาร และพระอุโบสถตามลำดับ

เจดีย์ประธาน



เจดีย์ประธานภูเขาทอง-The Principal Pagoda

พระเจดีย์ภูเขาทอง เป็นพระเจดีย์สูงใหญ่ และมีลักษณะพิเศษต่างจากเจดีย์อื่นๆ คือ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณขนาดใหญ่ แผ่กว้างซ้อนกันขึ้นไป ฐานแต่ละชั้นเป็นบัวถลาขนาดใหญ่ ถัดจากฐานประทักษิณมีฐานบัวและฐานสิงห์ของเจดีย์เหลี่ยมใหญ่ย่อมุมไม้ ๑๒ ตั้งอยู่บนฐานแบบมอญพม่า มีซุ้มจระนำทั้ง ๔ ทิศ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งมีชัยเหนือกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า องค์เจดีย์มีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนทำให้รูปแบบขององค์เจดีย์ มีรูปแบบเปลี่ยนไปจากครั้งแรกสร้าง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระรามเมศวร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๐ ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๑๒  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงชัยชนะ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ประธาน และได้เปลี่ยนทรงเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ดังนั้น รูปแบบเดิมอย่างพม่าจึงเหลือเพียงส่วนฐานประทักษิณเท่านั้น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์และพระอารามทั้งหมดอีกครั้ง




พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้า
ประดิษฐาน ณ เจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปีพุทธศักราช ๒๐๙๒ ขุนพิเรนทรเทพ นายทหารรักษาพระองค์  ตั้งใจจะกอบกู้ราชบัลลังก์ถวายคืนพระเฑียรราชา ซึ่งจำพระทัยเสด็จหลบหนีออกทรงผนวช  จากภัยอันตรายของขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์สตรีผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและมีความกำหนัดจัด
 
ขุนพิเรนทรเทพ ทำการรวบรวมทหารและตำรวจซึ่งไว้ใจได้ แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะบุกเข้าโจมตีพระราชวังหลวง  บังเอิญได้ทราบข่าวว่า ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ จะออกไปในการคล้องช้างที่เพนียดนอกกรุงและไปทางเรือ ขุนพิเรนทรเทพ จึงนำพวกพ้องไปดักซุ่มอยู่ที่คุ้งน้ำ พอขบวนเรือผ่านมา ก็กรูเข้าจับตัวได้ เอาไปสำเร็จโทษเสียทั้งคู่

เมื่อทำการสำเร็จแล้ว ออกไปเชิญเสด็จพระเฑียรราชาให้ทรงลาผนวช เสด็จเข้าสู่พระนคร ดำรงเศวตฉัตร ครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขุนพิเรนทรเทพ เป็นเจ้า และเพราะเป็นผู้สืบสายโลหิตของราชวงศ์สุโขทัย (พระร่วง)  จึงได้รับยศครั้งวงศ์พระร่วง คือ พระมหาธรรมราชา เป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก และโปรดพระราชทานพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นพระชายา
 
พระมหาธรรมราชาองค์นี้เอง ที่มีพระราชโอรสเป็นมหาวีรบุรุษของปวงชนชาวไทย คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๑ แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุของชาวตะวันตกเรียกพระองค์ว่า THE BLACK PRINCE หรือ “พระองค์ดำ”




บริเวณทุ่งภูเขาทอง (สมรภูมิรบในสมัยกรุงศรีอยุธยา)

ในรัชสมัยพระเทียรราชา แม้จะยืนยาวถึง ๒๐ ปี  แต่เป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยการศึกสงคราม ความยุ่งยากภายในและความลำบากยากเข็ญและสิ่งสำคัญที่เป็นชนวนให้พม่ารุกรานไทย เกิดศึกสงครามจนกระทั่งเสียกรุงให้แก่พม่าเป็นครั้งแรก คือช้างเผือก

ทางคติพราหมณ์ถือว่า กษัตริย์ที่ทรงมีช้างเผือกหนึ่งเชือกหรือยิ่งมากขึ้นไป กษัตริย์พระองค์นั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่อย่างมาก จึงยกย่องช้างเผือกก็เพราะถือว่าเป็นช้างคู่พระบารมีองค์พระมหากษัตริย์

พระเทียรราชา ทรงมีช้างเผือกมากถึง ๗ เชือก จึงถือว่าทรงมีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ สมเด็จพระสังฆราชและเสนาพฤฒามาตย์ ราชปุโรหิต จึงถวายพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเจ้าช้างเผือก

การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงมีช้างเผือกเป็นจำนวนมากมายอย่างน่าประหลาด ควรจะนำมาซึ่งบุญญาภินิหารถวายองค์พระเจ้าแผ่นดิน แต่ช้างเผือกกลับเป็นเหตุเภทภัย เป็นชนวนให้เกิดการศึกสงครามแก่บ้านเมือง

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าทรงทราบว่าสมัยพระเจ้าอายุมางจอ ก็ได้ช้างเผือกไปจากสยามเชือกหนึ่ง สมัยพระเจ้าราชาธิราชก็ได้ช้างชื่อคันธโย ไปเชือกหนึ่ง  พระเจ้าตะปิงสอยตี ก็ได้ ไชยานุภาพและปลาบใหญ่ ถึงสองเชือก  พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเห็นว่า สยามน่าจะทำตามธรรมเนียมเดิม  จึงส่งพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ว่าพระองค์ไม่มีช้างเผือกเลยจึงอยากจะได้ช้างเผือกบ้าง
  
..พระมหาจักรพรรดิ มีพระราชสาส์นตอบไปว่า ช้างเผือกนั้นเป็นของคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ เมื่อหาได้ในแผ่นไหนก็ขัดกับขนบธรรมเนียมที่จะส่งไปเป็นของขวัญแก่แผ่นดินอื่น

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เห็นว่า สยามมิได้ทำตามธรรมเนียมเดิม  ทรงใช้การไม่ยินยอมอย่างสุภาพนั้นเป็นเหตุผลที่จะทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา จึงยกกองทัพใหญ่มหึมากำลังพลกว่าแสนคนเหนือกว่าไทยมาก กวาดต้อนพลเมืองรวบรวมเสบียงอาหารจนถึงชานพระนครกรุงศรีอยุธยา



สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงขับช้างขวางกั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
มิให้ได้รับอันตรายจากพระแสงงอง้่้าวของพระเจ้าแปร
ภาพฝีพระหัตถ์ ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภาพจาก : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

กรุงศรีอยุธยามีกำแพงอิฐอันสูงใหญ่และแข็งแรง มีป้อมปราการอยู่รอบข้าง ทั้งยังมีลำน้ำลำคลองอยู่รอบพระนคร พม่าก็เข้าเมืองไม่ได้ นอกจากตั้งรับอยู่นอกกำแพงเมือง ฝ่ายไทยเราส่งกองทหารออกไปตีโต้ตอบด้วยอย่างเนืองๆ

ครั้งหนึ่ง พระมหาจักรพรรดิเสด็จทรงคอช้างรบ นำกองทหารไปรบกับพม่าด้วยพระองค์เอง และนับเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย คือมิใช่มีแต่พระราชโอรส พระมหินทราธิราช ตามเสด็จออกเท่านั้น  แต่ยังมีสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีผู้ทรงปราดเปรื่องในคชศาสตร์ ทรงเครื่องรบอย่างชายก็ทรงช้างตามเสด็จออกไปด้วย
  
ช้างของพระมหาจักรพรรดิเข้าปะทะกับช้างของพระเจ้าแปร ช้างพระเจ้าแปรได้ล่าง  ดูท่าทางพระมหาจักรพรรดิจะเสียที สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเห็นเช่นนั้นเกรงพระสวามีจะมีอันตรายจึงขับช้างของพระองค์เข้าขวางกั้น  เมื่อพระเจ้าแปรเอาพระแสงของ้าวฟันจึงถูกสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์คาคอช้างนั่นเอง  

ครั้นแล้ว จึงเชิญพระศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยกลับเข้าพระนคร  นับแต่นั้นมาไทยเราก็นับถือพระศรีสุริโยทัยว่าเป็นมหาวีรกษัตรีย์ มีภาพเขียนภาพสลักรวมทั้งวรรณคดีเชิดชูความกล้าหาญและความดีงามของพระองค์เป็นอันมาก
 
สงครามครั้งนี้ ทหารไทยทำการต่อสู้กับพม่าอย่างเข้มแข็งมาก  และขณะนั้น พระมหาธรรมราชาก็นำกองทัพจากพิษณุโลกเตรียมจะตีกระหนาบพม่าอีกทางหนึ่งด้วย   ข้างฝ่ายพม่าก็เริ่มอ่อนกำลังลง  พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงตัดสินพระทัยเลิกทัพเดินทางกลับพม่า โดยไม่ได้ช้างเผือกไปด้วยแม้สักเชือกเดียว

หลังสิ้นสงครามและสูญเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ได้เพียง ๓ เดือน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนถึงกับเสียสติ และถูกทหารคนสนิทชาวมอญชื่อ สมิงสอทุต ลอบปลงพระชนม์โดยตัดพระศอ สิ้นพระชนม์ด้วยชนมายุ ๓๔ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๐๙๔  

บุเรงนองกะยอดินนรธา อดีตแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถเรืองอำนาจอย่างสูงสุด จนได้รับสมญาว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ”  

พระเจ้าบุเรงนองนั้น เจาะจงอยากจะเอาชนะชาติที่แข็งแรงที่สุดในหมู่ชาติไทย (คือไทย-สยาม)  จึงทรงยกกองทัพซึ่งกลับมีกำลังมากขึ้นกว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เพื่อจะมาตีกรุงศรีอยุธยาให้จงได้ ขณะที่พระเจ้าบุเรงนองกำลังเคลื่อนทัพกวาดต้อนผู้คนและรวบรวมเสบียงอาหารมานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เสด็จสวรรคต พระมหินทราฯ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน
 
สถานการณ์ยิ่งกลับเลวร้ายลงไปอีก คือพระมหาธรรมราชาทรงนำกองทัพไทย อันมีจำนวนเจ็ดหมื่นคนลงมาจากพิษณุโลก แต่มิใช่เอามาช่วยไทย แต่กลับช่วยทางฝ่ายพม่าในฐานเป็นพันธมิตรกัน  พม่าเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาจึงเข้าล้อมกรุงได้อย่างง่ายดาย ทหารไทยก็ต่อสู้อย่างทรหด เป็นเวลาถึง ๘ เดือน  แต่แม่ทัพนายกองของไทยเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันเอง พระมหินทราฯ ก็ทรงอ่อนแอไร้ความสามารถจึงมีผู้คบคิดเปิดประตูให้พม่าเข้าทำลายกรุงเสียแหลกสิ้น ไทยเราไม่สามารถป้องกันตนได้อีกต่อไป กรุงจึงแตกเสียแก่พม่าข้าศึกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ (ค.ศ.๑๕๖๙) นับเวลาได้ ๒๑๙ ปี หลังจากที่พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี

เป็นครั้งแรกที่ไทยเราต้องสูญเสียของดีๆ ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ  พระเจ้าบุเรงนองยังทรงทำตามยุทธศาสตร์การรบในสมัยนั้น คือ ต้องทำให้กรุงที่ถูกตีแตกไม่สามารถป้องกันตนได้อีกต่อไป จึงทรงบังคับให้ไทยรื้อป้อมปราการและกำแพงใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาลงเสียสิ้น และอีกวิธีหนึ่งที่เป็นธรรมเนียมของสมัยนั้น คือ ทำให้ศัตรูอ่อนแอเพราะมีพลเมืองน้อย  ฉะนั้น พม่าจึงกวาดต้อนบังคับเอาครอบครัวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวและแข็งแรง ให้เดินตามทัพพม่ากลับไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่พม่า ทิ้งไว้แต่คนชราและผู้มีกำลังอ่อนแอ

หลังมีชัยชนะ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ๒ เดือน กับสิบวัน ก่อนจะเสด็จกลับพม่า พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงสถาปนาพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ในฐานะเจ้าประเทศราช  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒ และเพื่อเป็นหลักประกันว่า พระมหาธรรมราชาจะต้องซื่อสัตย์  พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงนำเอาพระโอรสองค์ใหญ่ของพระมหาธรรมราชา คือ พระนเรศวรไปกรุงหงสาวดีด้วยในฐานะเชลย

     คิดมาก็เปนน่าอนิจจัง
     ด้วยกรุงเปนที่ตั้งพระสาสนา
     ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา
     ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ

     ก็ทลายยับยุ่ยเปนผุยผง
     เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร
     ยังไม่สิ้นสาสนามาดรธาร
     ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป
                   เพลงยาว เรื่องตีเมืองพม่า พระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท



ศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าช้างเผือกเป็นทรัพยากรสำคัญของบ้านเมืองสมัยโบราณ ถือว่าเป็นเครื่องแสดงบุญญาธิการขององค์พระมหากษัตริย์  และแทบไม่น่าเชื่อยิ่งขึ้นไปอีกว่า ช้างเผือก เป็นชนวนเหตุสำคัญให้เกิดศึกสงครามบ้านเมืองพินาศสิ้น
 
ส.พลายน้อย เล่าเรื่องช้างว่า สำนวนที่คนไทยเปรียบเทียบว่า กากับหงส์ นั้น พม่าใช้สำนวนว่า ช้างดำไม่กล้ามองหน้าช้างเผือก

พม่าทั้งรักทั้งนับถือช้างเผือก อ่านประวัติศาสตร์ตอนพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ขอช้างเผือกแล้วพระมหาจักรพรรดิไม่ให้แล้วคิดว่าพม่าหาเรื่องยึดอยุธยาก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ความจริงที่ยิ่งกว่าคือ พม่าชอบช้างเผือกมากจริงๆ

สมัยพระเจ้ามินดง ได้ช้างเผือกมาเชือกหนึ่ง เมื่อช้างมาถึงเมืองมัณฑะเลย์ มีการสมโภชใหญ่ ช้างเผือกได้รับพระราชทานเครื่องประดับอย่างวิเศษ มีเครื่องเพชร เครื่องพลอย  ทองคำ  และยังได้รับผลประโยชน์จากภาษีอากรที่ดิน

มีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อช้างเผือกในแผ่นดินพระเจ้าโบดอพญาล้ม มีคนพม่าแห่กันไปกราบไหว้ ร้องไห้อาลัยรัก
 
ธรรมเนียมการเผาศพช้างเผือกของพม่า เขาจะเอาช้างเผือกใส่หีบใหญ่แล้วยกขึ้นรถทรง  มีขบวนแห่แหนกันไปจากในเมืองไปเผากันนอกเมือง  ที่สำหรับเผาก็สร้างอย่างเมรุหลวง มีพิธีรีตองทางศาสนาเหมือนพิธีเผาศพข้าราชการผู้ใหญ่  เมื่อเผาเสร็จแล้วก็เก็บเอากระดูกมาพรมด้วยเครื่องหอม แล้วก็แห่กันมาบรรจุไว้ในเจดีย์ จึงมีประเพณีการไหว้เจดีย์ช้างตามมา

ส่วนการทำศพช้างเผือกของไทยในสมัยโบราณ แตกต่างจากพม่า เมื่อช้างเผือกล้ม   ประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์จะเอาผ้าขาวห่อศพช้าง เอาลงเรือดั้งเรือกัน แห่ลากไปถ่วงน้ำที่หน้าวัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา

ย้อนไปสมัยอยุธยา จะเอาศพช้างลอยน้ำ มีปะรำผ้าขาวคลุม ลงเรือแห่ไปถ่วงน้ำที่ปากคลองตะเคียน  มีเรือข้าราชการเป็นกระบวนแห่ ๑๐ คู่ เรือดั้งนำ ๓ คู่ เรือคู่เคียงศพคู่หนึ่ง มีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง มีกลองชนะแดง ๒๐ คู่ สังข์ ๑ คู่ แตรงอน ๔ คู่ แตรลำโพง ๔ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ มีธงประจำทุกลำ


เล่าเรื่องที่มาของ พระเจดีย์ภูเขาทอง อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะ แสดงถึงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง หรือพระเจ้าชนะสิบทิศ ไปพอให้ทราบโดยสังเขปแล้ว  อาจมีบางท่านอยากเข้าไปเยี่ยมชมปูชนียสถานโบราณแห่งนี้
  
ก่อนถึงพระเจดีย์ภูเขาทอง ท่านต้องผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงควรแวะสักการะน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ยังคงติดตรึงอยู่ในแผ่นดินไทย และชาวไทยตลอดมามิเสื่อมคลาย กับพระกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ปวงชนชาวไทย  




ประติมากรรม
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ประดิษฐานรอบฐานองค์พระเจดีย์ภูเขาทอง

ประติมากรรมดังกล่าวเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย

ช้างที่เรียกว่า "ช้างศึก" โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่

ในการทำยุทหัตถีของไทย ใช้ช้างเผือก หรือช้างธรรมดาซึ่งสูงใหญ่และแข็งแรง ฝึกหัดมาเป็นพิเศษสำหรับการออกรบ ช้างที่คัดหามีงาอันยาวและแหลม พระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพขี่คอช้าง ใช้ง้าวซึ่งติดอยู่กับไม้ยาวและมีขอบังคับช้างติดอยู่ด้วย เมื่อนั่งในที่สูงเช่นนั้นแม่ทัพก็แลเห็นกองทัพได้อย่างสะดวกทุกๆ ด้าน จึงสามารถกะสั่งให้กองโน้นกองนี้เคลื่อนที่ทำการรบได้ตามความคิดขององค์พระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพ ส่วนผู้ที่นั่งอยู่บนกูบเหนือหลังช้าง เป็นนายทหารสื่อสารของพระมหากษัตริย์หรือแม่ทัพ  มีหน้าที่คอยฟังคำสั่งและใช้หางนกยูงเป็นเครื่องให้สัญญาณแก่กองทหาร  เหนือที่นั่งของนายทหารสื่อสารมักปักฉัตรและจำนวนฉัตรนั้น ก็เป็นเครื่องหมายแสดงยศศักดิ์ของพระมหากษัตริย์หรือแม่ทัพที่ขี่คอช้าง  ที่หลังช้างมีคนที่เรียกว่า ท้ายช้างเกาะอยู่ ถือไม้ยาวเพื่อคอยช่วยเหลือควาญช้างขับช้าง (คือ แม่ทัพเองเป็นควาญช้าง) ในสมัยที่มีปืนแล้ว ท้ายช้างย่อมมีอาวุธปืนแขวนติดไว้กับตัวด้วย











ข้อมูล รวบรวมเรียบเรียงจาก :-
   ๑. หนังสือ เจ้าชีวิต พงศาวดาร ๙ รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี พระนิพนธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ , บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด
   ๒. หนังสือ อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘
   ๓. หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิษณุโลก
       จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงศึกษาธิการ และ กรมศิลปากร
   ๔. หนังสือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตในประเภทประวัติศาสตร์   พิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘
   ๕. หนังสือ วัดวาอารามแห่งเมืองกรุงเก่าอยุธยา เรียบเรียงโดย แสงเพชร สำนักพิมพ์ฉัตรพี กรุงเทพฯ
   ๖. คอลัมน์ชักธงรบ “ก่อนสงครามช้างเผือก” โดยกิเลน ประลองเชิง  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖
   ๗. คอลัมน์ชักธงรบ “งานล้มช้าง” โดยกิเลน ประลองเชิง  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖
   ๘. www. wikipedia.org - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 กันยายน 2558 21:23:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ชีวประวัติ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระนคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
เงาฝัน 4 6030 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2554 01:47:48
โดย หมีงงในพงหญ้า
พาเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เจ้าสามพระยา" พระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 2 11089 กระทู้ล่าสุด 16 สิงหาคม 2555 21:44:50
โดย หมีงงในพงหญ้า
นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "จันทรเกษม" พระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 1 16793 กระทู้ล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2555 18:39:08
โดย Kimleng
หลวงพ่อเพิ่ม อัตตทีโป วัดป้อมแก้ว จ.พระนครศรีอยุธยา
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
ใบบุญ 0 2605 กระทู้ล่าสุด 27 กรกฎาคม 2558 06:40:42
โดย ใบบุญ
ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา - ชมแหล่งเรียนรู้เรื่อง "โขน"
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 2 410 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2566 16:41:46
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.735 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 07 เมษายน 2567 14:34:50