[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 11:53:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์ท่าน  (อ่าน 14473 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5374


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2556 14:44:27 »

.

http://www.itti-patihan.com/images/stories/amulet/budd612.jpg
๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์ท่าน

สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ประวัติศาสตร์แห่งสยาม
๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งคณะสงฆ์ไทย และในประวัติศาสตร์แห่งสยามที่ในปี ๒๕๕๖ นี้  สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งสังฆมณฑลสยาม  ทรงเจริญพระชันษายาวนานถึง ๑๐๐ ปี

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นคือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร)  ซึ่งประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖

ในอดีตที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงเจริญพระชันษาถึง ๙๐ ปี มี ๔ พระองค์คือ
๑. สมเด็จพระสังฆราช (สุก  ญาณสังวร)  พระองค์ที่ ๔  พระชันษา ๙๐ ปี
๒. สมเด็จพระสังฆราช (นาค)  พระองค์ที่ ๖  พระชันษา ๙๑ ปี
๓.สมเด็จพระสังฆราช (อยู่  ญาโณทโย)  พระองค์ที่ ๑๕  พระชันษา ๙๑ ปี  และ
๔. สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์  วาสโน)  พระองค์ที่ ๑๘  พระชันษา ๙๒ ปี

ส่วนเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบัน ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้  จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่เจริญพระชันษายาวนานที่สุดแห่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต  

จึงนับเป็นพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านในด้านอายุ  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นพรอย่างหนึ่ง  ดังปรากฏในคาถาอนุโมทนาว่า จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ   ความว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พล ย่อมเจริญ (แก่ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่)




ส่วนในเรื่องพระนาม “สมเด็จพระญาณสังวร” นั้น  เป็นราชทินนามพิเศษ สืบเนื่องมาแต่ราชทินนามที่พระญาณสังวรเถร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น  สำหรับพระราชทานตั้งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย  ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอาราธนาให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดพลับ  แล้วทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอารามถวายใหม่ติดกับวัดพลับ พระราชทานนามว่า วัดราชสิทธาราม

คำว่า ญาณสังวร นั้น เป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง ในหมวดธรรม สังวร ๕  ได้แก่ ศีลสังวร   สำรวมในศีล  สติสังวร   สำรวมด้วยสติ   ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ  ขันติสังวร  สำรวมด้วยขันติ และ วิริยสังวร   สำรวมด้วยความเพียร

คำว่า สังวร หรือ สำรวม นั้น เป็นคุณลักษณะของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในธรรมวินัย และปฏิบัติอบรมจิตหรือทำสมาธิกรรมฐาน เป็นอย่างดีจนมีคุณวิเศษ

พระญาณสังวร (สุก)  เป็นพระมหาเถระที่ทรงเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พระกรรมฐาน   เป็นที่ทรงเคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นอย่างยิ่ง  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งราชทินนามพิเศษ ที่มีความหมายสื่อถึงเกียรติคุณทางวิปัสสนาของท่านว่า พระญาณสังวรเถร  แปลความว่า พระเถระผู้ทรงคุณ หรือ ญาณสังวร (สังวรในญาณ หรือ สังวรด้วยญาณ)   ท่านเจริญเมตตาภาวนา ทำให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้  เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกขานพระองค์ว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน

พระญาณสังวร (สุก) นอกจากจะเป็นพระอาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ยังเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ด้วย  เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒  จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระญาณสังวรเถร เป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร  เพื่อเป็นการยกย่องประกาศเกียรติคุณด้านวิปัสสนาธุระของท่านให้ปรากฏแพร่หลายยิ่งขึ้น

ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา  สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)  เป็น สมเด็จพระอริยวงษาสังฆาราชาธิบดี ที่สมเด็จพระสังฆราช  จึงนับเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระกรรมฐาน รูปแรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  เพราะตามประเพณีที่มีมานั้น  พระมหาเถรที่จะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น  ล้วนเป็นพระมหาเถระฝ่ายคันถธุระ หรือ พระมหาเถระผู้รอบรู้ทางปริยัติ ทั้งสิ้น

หลังจาก สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ แล้ว  ราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร ก็มิได้พระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีก  

จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน  เจริญ คชวัตร) ในตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕  หากนับย้อนหลังไปถึง พ.ศ. ๒๓๖๒ ก็เป็นเวลายาวนานถึง ๑๕๓ ปี  ราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้กลับมาปรากฏในสังฆมณฑลสยามอีกวาระหนึ่ง  อันนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในพระประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สำหรับราชทินนามที่จะสถาปนา พระสาสนโสภณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะนั้น มหาเถรสมาคมและคณะรัฐบาลได้เสนอราชทินนามใหม่ประกอบพระราชดำริหลายนาม เช่น สมเด็จพระวชิราภรณ์  สมเด็จพระญาณวราภรณ์   แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด พระราชทานสถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร

ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่า พระเกียรติคุณด้านวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น  ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งครั้งทรงเป็นพระสาสนโสภณแล้ว  ฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่จะทรงประกาศพระเกียรติคุณด้านนี้ให้ปรากฏต่อปวงชน จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาในราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร  อันเป็นเสมือนประกาศนียบัตรที่พระมหากษัตริย์ยาธิราชเจ้าในอดีตได้เคยพระราชทานแด่พระมหาเถรผู้ทรงคุณด้านนี้มาแล้วในอดีตนั่นเอง


ที่มาของ พระนามหรือราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  


ในอดีตล่วงมาไม่ปรากฏว่า พระนามหรือราชทินนามในตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” มีมาอย่างไร  จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  จึงพบหลักฐานพออนุมานได้ว่า พระนามหรือราชทินนาม สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระอริยวงษา

สมเด็จพระอริยวงษา ซึ่งเป็นนามที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศแด่ พระอริยมุนี ที่เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ไปช่วยฟื้นฟูสมณวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป  ในคราวเดียวกับพระพรหมมุนี (ซึ่งมรณภาพในลังกาทวีป)  จนเกิดพระสงฆ์สยามวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป

เมื่อพระอริยมุนี กลับจากลังกาทวีปสู่กรุงศรีอยุธยา ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามดังกล่าว

มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  พระนามว่าสมเด็จพระอริยวงษา   ได้รับการแก้ไขเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ แก้ไขเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และได้ใช้เป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป ยังไม่เคยมีเจ้านายได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ฉะนั้น พระมหาเถระที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชจึงล้วนแต่เป็นสามัญชน   และมีพระนามเหมือนกันทุกพระองค์คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

มาในรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก (คือ การสถาปนา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ที่สมเด็จพระสังฆราช  เป็นครั้งแรก  ดังนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  และมิได้ทรงสถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
 
ถึงรัชกาลที่ ๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา เปลี่ยนคำหน้าพระนาม จาก กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ซึ่งได้แบบอย่างการสถาปนาเจ้านายในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช มาจากครั้งรัชกาลที่ ๕ ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก แด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
 

ต่อมา ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง)  และในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า  เจ้านายที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช นั้น มีพระนามจำเพาะแต่ละพระองค์ ส่วนพระเถระทั่วไป (เป็นสามัญชน) ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น มีพระนาม หรือราชทินนามเหมือนกันทุกพระองค์ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช

สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบัน นับว่าพิเศษต่างจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์อื่นๆ บางประการ กล่าวคือ ทรงเป็นพระมหาเถระที่มิได้เป็นเจ้านาย  แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช   โดยมิได้สถาปนาในราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เหมือนพระองค์อื่นๆ นั้น  คงด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏเป็นพิเศษ  ในฐานะที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอุปการคุณต่อพระองค์ โดยทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาล เมื่อครั้งเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙  จึงทรงถวายพระเกียรติยศให้สมพระราชศรัทธาที่ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช

อีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ คือฤกษ์พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๗.๒๔ นาฬิกา  อันเป็นเวลาฤกษ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ย้อนหลังไป ๒๐๗ ปี วันที่ ๒๑ เมษายน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาฤกษ์ลงเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร  ซึ่งเสาหลักเมืองคือสัญลักษณ์ของความมั่นคงสถาพรของพระมหานคร หรือ  ของบ้านเมือง   ในอดีตที่ผ่านมาไม่ปรากฏมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดที่กำหนดเอาวันที่ ๒๑ เมษายน อันเป็นเวลาฤกษ์ลงเสาหลักเมือง เป็นเวลาฤกษ์สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ฉะนั้น การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเวลาฤกษ์สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบัน เป็นวันเดียวกับวันฤกษ์ลงเสาหลักเมืองนั้น น่าจะมีนัยว่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชไว้ในฐานะเป็นเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยดุจเป็นเสาหลักของบ้านเมือง  จึงนับว่าเป็นการยกย่องพระเกียรติคุณของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นที่ปรากฏอย่างสูงสุดอีกประการหนึ่ง



การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามโบราณราชประเพณี

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามโบราณราชประเพณี  เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนเสร็จสิ้นแล้ว  ซึ่งโดยปกติกระทำรวมกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับพระราชพิธีใด

ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์ และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะทั่วไป ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง  จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศโดยตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะ ไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด และให้มีการจัดทำการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน เดิมมีเพียงพนักงานอาลักษณ์ อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์

การถวายพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้ (คือคราวสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม) มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการและถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักรและราชอาณาจักร  

ทางฝ่ายพุทธจักร ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ พระกรรมการ มหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร และทางราชอาณาจักรครบทุกสถาบัน นับแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธุการ สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์ เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป

การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้ ได้มาเกี่ยวโยงกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันก็คือ ในการพระราชพิธีดังกล่าว จะต้องมีผู้แทนคณะสงฆ์กล่าวสังฆานุโมทนาถวายสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น ทางราชการจึงกราบอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ให้นิพนธ์คำกล่าวสังฆานุโมทนาเป็นภาษาบาลี พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย สำหรับให้สมเด็จพระราชาคณะในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์อ่านถวายสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชสืบไป

สังฆานุโมทนาภาษาบาลีพร้อมคำแปลภาษาไทย มีดังนี้
สุณาตุเมภนฺเต สงฺโฆ, อิทานิโขปเวทิเตน ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส ปรมราชโองฺกาเรน, อริยวํสาคตญาโณ มหาเถโร สยามรฏเฐ สกลมหาสงฺฆปริณายโก สงฺฆราชา ปติฏฐาปิโต, โส มหาราชา ธมฺมิโก ธมฺมราชา อคฺคสาสนูปตฺถมฺภโก, รฏฐปาลาโรจนญฺเจว มหาเถรสมาคเม สงฺฆทสฺ สนญฺจ เอกจฺฉนฺทมเตน สุตาวี, สยมฺปิ โยนิโส อุปฺปริกฺขิตฺวา, ราชาณมนฺวาย พุทฺธสาสนํ อุปตฺถมฺภิตํ สงฺฆราชฏฐปนปฺปกาสนํ กาเรสิ,

สาธุ ภนฺเต สกโล สงฺโฆ อิมญฺจ สงฺฆราชฏฐปิตํ มหาเถรํ อนุโมทตุ สมฺปสีทตุ, สาธุโข ปน สกโล สงฺโฆ สงฺฆราชมหาเถรปฺปธาโน สมคฺโค เอกจฺฉนฺโท หุตวา พุทธสาสเน สพฺพกรณียํ อนุคฺคณฺหาตุ,

อปิจาหํ ภนฺเต อามนฺเตมิ, สกโล สงฺโฆ กลฺยาณจิตฺตํ สมนฺนาหริตฺวา ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส สพฺพวรชยมงฺคลํ อธิฏฐหตุ, โส มหาราชา สราชินีราปุตฺตธีตุ, ราชวํสิโก สามจฺจปริวาโร สสพฺพวสกนิกโร สุขิโต โหตุ อโรโค นิรุปทฺทโว, จิรํ รชฺเช ปติฏฐาตุ

อิโต ปรํ สงฺโฆ อริยวํสาคตญาณสงฺฆราชฏฐปิตสฺส มหาเถรสฺส กลฺยาเณเนว เจตสา อนุโม ทนสชฺฌายนํ กโรตุ

คำแปลสังฆานุโมทนา
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า, บัดนี้ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิดีสงฆ์ทั่วสยามรัฐราชอาณาจักรแล้ว

สมเด็จพระมหาราชเจ้าทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นธรรมราชา ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก, ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลและสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคม โดยเอกฉันทมติแล้ว ทรงพิจารณาโดยรอบคอบ แม้ด้วยพระองค์เองแล้ว, ทรงอาศัยพระราชอำนาจให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา,

ข้าแต่พระผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ทั้งปวง จงอนุโมทนาปสาทการ ซึ่งการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และพระมหาเถระ ผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งนี้, และขอพระสงฆ์ทั้งปวง ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน จงมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นเอกฉันท์ อนุเคราะห์ปฏิบัติกรณียะทั้งปวงในพระพุทธศาสนา,

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเชิญชวน พระสงฆ์ทั้งปวง จงรวมกัลยาณจิต อธิษฐานถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า, ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากโรคาพาธอุปัทวันตราย พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์พร้อมทั้งรัฐบาล ข้าราชการ ข้าราชบริพารทุกฝ่าย พสกนิกรทุกหมู่ทุกเหล่า, ขอพระองค์ จงเสด็จสถิตในพระราชสิริราชสมบัติตลอดกาลนาน,

ต่อแต่นี้ ขอพระสงฆ์ได้มีกัลยาณจิต สวดอนุโมทนาถวายพระมหาเถร ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ณ บัดนี้ เทอญ

สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงได้รับสถาปนาตามการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงพระราชดำริให้กำหนดขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้เป็นพระองค์แรกก็คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อุฏฐายี จวน สิริสม) วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.



ข้อมูลสรุป :-
     “พระชันษา ๑๐๐ ปี พระสังฆราชาแห่งสยาม (ตอน ๑, ๒ และ ๓)  : หนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่๑๗๐๗-๙ ประจำวันที่ ๓-๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ตุลาคม 2557 12:59:37 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5374


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 ตุลาคม 2556 08:48:32 »

.


ความเลิศล้ำและล้ำเลิศ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมายุครบหนึ่งร้อยพรรษา ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้

นับเป็นศุภวาระมงคลยิ่งของปวงชนชาวไทยและพุทธศาสนิกชนทั่วโลกอันไม่เคยมีมาก่อน ที่องค์ประมุขแห่งศาสนาจะเจริญพระชนมายุถึงหนึ่งศตวรรษเช่นนี้

จำเพาะชาวจังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นกำเนิดของสมเด็จฯ ท่านนั้น ต่างล้วนรำลึกในพระบุญญาบารมีเป็นบุญปีติ ทั้งมงคลธรรมและมงคลภูมิ เป็นที่ยิ่ง

ผมเอง (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) นอกจากได้เคยพึ่งใบบุญท่านเป็นส่วนตัวสมัยเรียนอยู่ธรรมศาสตร์แล้ว พ่อผมเองยังได้ทำสายสาแหรกตระกูลวงศ์ไว้ก่อนเสียชีวิต

รายละเอียดคร่าวๆ จำเพาะที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช มีดังนี้

ต้นตระกูลใหญ่สุด เราเรียกอย่างจีนว่า “ก๋งใหญ่”  ท่านชื่อ “ป๋อย” มีลูกชายสาม หญิงสาม รวมหกคน  ผู้ชายสามคนคือ ๑....ก๋งมาก  ๒. ก๋งจวน  ๓. ก๋งจู  ผู้หญิงสามคนคือ ๔. ยายเช่ง  ๕. ยายทรัพย์  ๖. ยายจิ๋ว

ก๋งมาก มีลูกสี่คน คนที่สามคือ นายแย้ม นายแย้ม มีลูกสาวสามคน คนโตคือ นางอิ่ม
นางอิ่ม มีลูกชายสามคน คนโตคือ นายน้อย

นายน้อย แต่งงานกับ นางกิมน้อย มีลูกสามคน  คนโตคือ พระมหาเจริญ ป.๙ (สมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชเจ้า) กับมีน้องสองคนคือ นางจำเนียน และนายสุนทร

เหตุที่พ่อผมร่างสายสาแหรกขึ้นก็ด้วย  ยายจิ๋วลูกหญิงคนสุดท้องของก๋งใหญ่ ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของก๋งมาก สายตระกูลสมเด็จฯ ท่านดังกล่าวนั้น  ยายจิ๋วท่านเป็นสายตระกูลสืบมาถึงย่าผม คือ “ย่าแปลก”  พงษ์ไพบูลย์   นั่นเอง

ที่จริง วงศ์วานว่านเครืออันโยงเป็นสายสาแหรกตระกูลวงศ์นี้ มีรายละเอียดสลับซับซ้อนยิ่ง บางสายสาแหรกว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ท่านสืบสายต้นตระกูลมาจากสกุล “ ณ ตะกั่วทุ่ง” ทางใต้โน่น .. น่าจะลองสืบค้นเทียบเคียงดู ชะรอยจะสัมพันธ์ลึกซึ้งสืบสายกันอย่างไร ก็น่าจะเป็นได้ทั้งนั้น

ท่านพระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ)  ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เล่าเรื่องของสมเด็จฯ ท่านกับโยมแม่ คือนางกิมน้อยว่า

สมัยที่สมเด็จฯ ท่านได้เปรียญเจ็ดประโยคก็ตั้งใจจะสึก  คือ ลาสิกขา   โดยกราบทูลลาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์แล้ว อยู่ในขั้นตอนทำหนังสือลาสิกขาเป็นทางการถึงกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)

ไม่กี่วันต่อมา ประมาณสองสามวันเท่านั้น ท่านก็ถอนหนังสือขอลาสิกขากลับ คือตัดสินใจ “ไม่สึก” แล้ว

เหตุเป็นดังนี้คือ “โยมกิมน้อย” โยมมารดาท่าน พอทราบข่าวพระลูกชายจะสึกก็เดินทางจากเมืองกาญจน์มาหาที่วัดบวรฯ กรุงเทพฯ ทันที  โยมแม่บอกพระลูกชายว่า “ถ้าคุณมหาจะสึก ดิฉันก็จะผูกคอตาย”

นับแต่นั้น ถึงบัดนี้ พุทธศาสนิกทั่วโลกจึงได้มีสมเด็จพระสังฆราชผู้เจริญในธรรม สมพระฉายา “ญาณสังวร” และทรงเจริญพระชนมายุถึงหนึ่งร้อยพรรษา ณ วันนี้

ถ้าจะมีญาณวิถีใดให้ได้รู้ โยม “กิมน้อย” ก็จะได้รู้แล้วว่า โยมมารดาของสมเด็จฯ ท่านนั้น มี “ลูกชาย” ผู้เป็นมงคลสมบัติล้ำเลอค่าเกินประมาณถึงปานนี้  นี่คือ “ลูกผู้ล้ำเลิศของแม่”

อีกเรื่องระหว่างเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่าน กับโยมมารดา “กิมน้อย” คือ

ระหว่างโยมกิมน้อยมาอยู่ที่เรือนน้อยหลังกุฏิสมเด็จฯ ท่าน  เมื่อยามชราภาพมากแล้วนั้น  เนื่องจากโยมกิมน้อยท่านถนัดในงานเย็บปักถักร้อยมาก่อน  จึงหาเศษผ้ามาเย็บด้วยมือ ปะชุนจนเป็นผืนผ้า ถวายเป็นผ้าอาสนะ (ผ้ารองนั่ง) ให้พระลูกชาย กระทั่งโยมมารดาเสียชีวิตแล้ว  สมเด็จฯ ท่านก็ยังใช้เป็นผ้าอาสนะอยู่เสมอ

พระ ดร. อนิล ผู้ช่วยเลขาฯ สมเด็จฯ ท่าน เล่าว่า วันหนึ่ง สมเด็จฯ ท่านเรียกเข้าพบ ให้หาผ้าอาสนะผืนนั้นว่า “หายไปไหน”  ท่านอนิลเคยเห็นอยู่ไม่รู้ความสำคัญ คิดว่าเป็นเศษผ้าขี้ริ้วด้วยซ้ำไป

สมเด็จฯ ท่านถึงกริ้ว บอกว่า “ผ้านี้เป็นของสำคัญของที่นี่ เป็นผ้าที่โยมแม่ทำให้ ที่นี่ คิดถึงโยมแม่ก็ได้กราบผ้าผืนนี้เป็นประจำ

ร้อนถึงท่านอนิลต้องรื้อถังขยะกลางของวัด ก็ไม่พบ

ปรากฏว่า ผ้าผืนนั้นค้นพบซ้อนๆ อยู่ในกองเศษผ้าตรงซอกใต้ที่ประทับของสมเด็จฯ ท่าน นั้นเอง

เวลานี้ ผ้าอาสนะผืนนี้ก็ยังเก็บไว้อย่างดีอยู่ เป็นผ้าปะชุนกว้างราวศอกเศษ ยาวราวสองศอก

สมเด็จฯ ท่านใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “ที่นี่” กับผู้ใกล้ชิดโดยตลอด   คำนี้มี “นัยยะ” สำคัญลึกซึ้ง

ผ้าอาสนะผืนนี้จึงเป็นผ้ามงคล สะท้อนถึงความผูกพันความเทิดทูนถึง  “แม่ผู้ล้ำเลิศของลูก”


คัดจาก : “ความเลิศล้ำและล้ำเลิศ”  โดย อาจารย์ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  หน้า ๕๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๗ ก.ย. - ๓ ต.ค. ๒๕๕๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ตุลาคม 2556 08:53:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 29.0.1547.76 Chrome 29.0.1547.76


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2556 10:34:41 »






"ศรีศตวรรษ สังฆราชา"

สามตุลมาสครบร้อย    พระชันษา
องค์พระสังฆราชา    ประโชติด้าว
มงคลแห่งเนื้อนา    บุญเขต
โพสพหยาดรวงข้าว    ประณตน้อมประนมถวาย

สืบสายพุทธศาสน์สร้าง    สาธุชน
สืบขนบคุณานิพนธ์    นุภาพ ร้อย
สืบศตวรรษสกาวสกล    สมพระเกียรติ
สืบสัจจานุสัจถ้อย    จิตแท้ ใจถึง

หนึ่งศรีศตวรรษเจ้า    จอมสงฆ์
ศรีศุภวาระวรงค์    วิเลิศแล้ว
ถวายกวิภิวาทพระองค์    สมเด็จ พระเอย
สังฆราชพระบาทแก้ว มกุฏแก้วเมืองกาญจน์

"ญาณสังวร" วิสิฐแท้    วิสุทโธ
จารณสัมปันโน    หนึ่งรู้
ศักดิ์สิทธิ์พุทธชยันติโย    ไตรตรัส
อร่ามพระบารมีผู้    พระภาคพื้นพุทธภูมิ

เจริญ ภูมิปริยัติ ขั้น    เอกอุดม
เจริญ ปฏิบัติปฏิเวธประนม    สนิทไหว้
"เจริญ สุวัฒฑโน" สม    สมณะชื่อ
เจริญ สุข สงบ สะอาดได้    สว่างด้วยธรรมเขษม


โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
- ผู้จัดการออนไลน์ -


ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา



G+ ไชย กมลาสน์


พระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระชันษา 100 ปี
ชมวีดิทัศน์พระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระชันษา ๑๐๐ ปี
ขอเชิญร่วมลงนามถวายพระพรที่ออนไลน์ อ่านพระประวัติ และผลงาน
ได้ที่ http://www.sangharaja.org/

เรียนขออนุญาต.. ร่วมเทอดพระเกียรติค่ะ...
บันทึกการเข้า
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5374


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 02 ตุลาคม 2557 15:47:18 »

.



รอยทางเจริญธรรม

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี พิมพ์หนังสือเล่มสวย มีภาพงามๆ ฝีมือช่างภาพชั้นครู ประกอบธรรมะลึกซึ้ง เฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาส ๑๐๑ ปี ชาตกาล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน)

ครูฟ้อน เปรมพันธุ์ และธีรภาพ โลหิตกุล ชวนให้มาเขียนและรับเป็นบรรณาธิการ รอยทางเจริญธรรม จึงตกลงใจ ชีวิตจะได้รู้จักและศึกษาเรื่องราวของสมเด็จท่านขึ้นบ้าง  จากบางลำพูย้อนรอยสู่เมืองกาญจน์ ชาติภูมิบ้านเกิดพระองค์ท่าน และจากเมืองกาญจน์สู่บางลำพู จากประตูวัดเหนือ สู่ประตูวัดบวร ได้รู้ถึงกว่าพระองค์หนึ่งที่เริ่มต้นชีวิตในผ้ากาสาวพัสตร์ จากสามเณรบวชแก้บน แล้วศึกษาเรียนบาลีที่วัดเสนหา นครปฐม จนเจริญงอกงามไพบูลย์ ที่วัดบวรนิเวศ บางลำพู

กว่าจะถึงตำหนักคอยท่าปราโมช ล้วนมีเรื่องราวมากมาย

“อาสนะเก่าผืนนี้ ขอเอาไปทิ้งนะครับ”    “อ๊อดรู้ไหม อาสนะนี้ โยมแม่ทำให้ เราเก็บไว้ เวลาคิดถึงโยมแม่”

อาสนะเก่าแก่ผืนนี้ โยมแม่เย็บถวายให้ เมื่อตอนสอบได้เปรียญ ๗ ประโยค ไม่ได้ใช้นั่ง แต่ใช้เป็นผ้ากราบพระ ทุกวันเมื่อกราบพระตรงอาสนะ ดังได้กราบพุทธองค์แล้ว  ยังได้กราบระลึกถึง แม่พระองค์สำคัญ ในชีวิตท่านเจ้าพระคุณสมเด็จทุกครั้งไป

อาจารย์สุเชาว์ พลอยชุม ว่า สมเด็จท่านเป็นพระที่เคร่งครัด เรียบง่าย มัธยัสถ์ อดทน เอาใจใส่ในการศึกษา ท่านทำมาตลอดชีวิตไม่เปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างที่ชัดเจน ท่านยังใช้กระบอกกรองน้ำแบบโบราณกรองน้ำอาบ ออกจากวัดไม่สวมรองเท้า ฉันหนเดียวในบาตร พูดน้อย พูดเท่าที่จำเป็น จิตใจมุ่งอยู่แต่กัมมัฏฐาน
 

ท่านว่าพระเณรควรทำกัมมัฏฐาน หางานให้ใจทำ ใจจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน ท่านสอนอย่างไร

“ใจสำคัญที่สุด ใจต้องคิดไปก่อน เป็นมโนกรรม กรรมทางใจอะไรๆ จึงเป็นผลตามมา จะดีจะชั่วก็แล้วแต่ใจ”

ยามมีทุกข์ “ให้ความทุกข์ของตนนี้แหละเป็นปุ๋ย ปลูกเมตตาให้เจริญงอกงามอยู่ภายใน จนถึงให้เปี่ยมล้นออกไปภายนอก สู่มนุษย์สู่สัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย คนอื่นไม่ดี ก็เป็นความไม่ดีของเขา เราอย่าไม่ดีจะดีกว่า”

“ผู้เป็นคนดี แท้จริงยิ่งใหญ่นั้น เป็นผู้ไม่ให้โทษร้ายแก่ผู้ใดทั้งสิ้น”

“ที่จริง คิดให้ดี ก็จะเห็นว่าไม่ยากเย็นอย่างใดเลย ที่จะไม่ทำความชั่วร้ายทั้งปวง เพียงอายให้เป็นเท่านั้น ก็จะทำความชั่วร้ายไม่ได้”

ทั้งพระประวัติและพระคติธรรมของสมเด็จท่าน รวมถึงภาพงดงามเมืองกาญจน์ ชาติภูมิของท่าน รวมอยู่ในรอยทางเจริญธรรม ที่หากได้เดินตามรอยทางท่าน ย่อมเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมแน่นอน

จบข้อเขียน อาจารย์สมปอง ดวงไสว แต่ยังมีพื้นที่ว่าง...ผมขออนุญาตคัดบทกวีชื่อ กราบอาสนะ สังฆราช ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์...บางตอน

เมื่อพระองค์ได้เปรียญ ๗ ประโยค ดำริสึกสู่โลกไพศาล  โยมมารดาท่านมาจากเมืองกาญจน์  เข้าพบท่าน กราบท่าน บอกท่านรู้...ถ้าคุณมหาจะสึก...ดังใจหมาย ดิฉันจะผูกคอตาย-ไม่ขออยู่   วาทะนี้คือทิพยชโลมชู นำมาสู่สิ่งวิเศษวิสุทธา

หนึ่งคือพระสังฆราชปฏิสนธิ์ เจริญพระชนมายุร้อยพรรษา  สองกำเนิดแห่งโยมผู้มารดา ให้กำเนิด “บุตรา” และ “สังฆบิดร...”



ที่มา (ย่อความ) : "รอยทางเจริญธรรม" จากคอลัมน์ ชักธงรบ โดยกิเลน ประลองเชิง น. ๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ตุลาคม 2557 15:49:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5374


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 15 ธันวาคม 2558 13:43:21 »

.


สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมตตาบารมี

พระเครื่องที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงสร้างครั้งแรก คือเหรียญพระไพรีพินาศ พิมพ์รูปไข่ เนื้อเงินลงยา เมื่อครั้งเป็นพระสาสนโสภณ
 
จากนั้น ก็ทรงสร้างเรื่อยๆ มาตามวาระโอกาสต่างๆ รวมราวๆ ๒๑ รุ่น แต่ละรุ่นหลายแบบพิมพ์
 
(บวรธรรมบพิตร โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพฯ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทร์ ๑๖ ธ.ค.๒๕๕๘)
 
ศิษย์ผู้เขียนเรื่อง เล่าว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ เคยเข้าเฝ้า สมเด็จฯ ท่านโปรดประทานวัตถุมงคล และหนังสือนิพนธ์แสงส่องใจ ทรงกำชับว่า พระเครื่องเป็นพุทธานุสสติ หนังสือเป็นธัมมานุสสติ ให้อ่านหนังสือให้จบ
 
ทรงสร้างพระเครื่อง ด้วยพระประสงค์ตามแบบคตินิยมโบราณ คือ การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา และพุทธานุสสติ
 
เมื่อครั้งที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสามเณรอยู่วัดเหนือ กาญจนบุรี พระอาจารย์ พระเทพมงคลรังษี (หลวงพ่อดี พุทโชติ) ก็เป็นศิษย์หลวงปู่ยิ้ม จันทรังสี มีความรู้เรื่องการลบผงพุทธคุณตามสูตรมูลกัจจายน์
 
พื้นฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์สมัยโบราณ
 
แม้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะสนใจใฝ่เรียนด้านปริยัติธรรม จนได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทรงสนใจความรู้ด้านการสร้างพระเครื่อง
 
พระเครื่องทุกรุ่นของสมเด็จฯ ท่าน เล่าลือกันด้านปาฏิหาริย์...แต่ที่พูดกันทั่วไป ก็คือ “พระของท่านแรงด้านเมตตา”
 
เมื่อเสด็จออกบิณฑบาต เมื่อพบสามเณรสวนทาง...ก็จะทรงนำอาหารที่ทรงได้ ใส่บาตรสามเณร “สงสารเณร เกรงว่าจะบิณฑบาตไม่พอฉัน” ทรงปรารภเนืองๆ สามเณรไม่มีกิจนิมนต์ ไม่มีรายได้ พระต้องช่วยกันดูแล
 
เสด็จกลับจากบิณฑบาตคราวหนึ่ง ทรงเห็นเด็กผู้ชายนอนคุดคู้ข้างกำแพงพระวิหารพระศาสดา โปรดให้ศิษย์ไปนำตัวมาสอบถามได้ความว่าเพิ่งหนีออกจากบ้าน โปรดให้พาไปมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยพากลับบ้าน
 
ในกิจวัตรประจำวัน...คือการเดินตรวจวัดเย็นวันหนึ่ง ทรงพบสุนัขมากมายหลายตัว เจอตัวไหนเป็นขี้เรื้อน ทรงตรัส “เจ้านี่ของใคร” แล้วให้ไปตามภิกษุสามเณรไปช่วยกันดูแลรักษา “คนตั้งเยอะแยะยังดูแลได้ สุนัขตัวเดียวทำไมดูแลไม่ได้”
 
จนถึงการเดินตรวจวัด...อีกวันหนึ่ง ทรงไม่เห็นสุนัข ตรัสถาม “ไปไหนกันหมด” เมื่อทรงทราบความจริง ทางวัดให้เทศบาลมาเก็บเอาไปเลี้ยง
 
“เออ! ก็บ้านเขาอยู่ที่นี่ จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน” รับสั่งคำขาด
 
“ไปเอาคืนมา”
 
ผลก็ปรากฏว่า เทศบาลได้นำสุนัขทั้งหมดมาคืนวัด แถมเพิ่มจำนวนมาให้มากกว่าเดิม
 
คราวเสด็จประทับต่างวัด...คราวหนึ่ง เสวยภัตตาหารในบาตรตามปกติแล้ว ศิษย์ก็นำบาตรไปล้าง เทน้ำล้างบาตรซึ่งมีเศษอาหารลงในโถส้วม “ทีหลังอย่าทำอย่างนี้ มันไม่ควร และสกปรก”
 
ทรงตำหนิอย่างรุนแรง แล้วแนะนำ “ เอาไปเทที่ที่สะอาด เผื่อว่าพวกมดแมลงเขาจะได้กิน”
 
พระเมตตาของสมเด็จฯท่าน ปกแผ่ไปในทุกชีวิต ทั้งในคนและสัตว์เอื้อเฟื้อไปถึงมดแมลง
 
เรื่องของแรงหรือพลัง...ที่เกิดจากพระเครื่อง...เป็นหัวข้อถกเถียงกันเสมอ ครั้งหนึ่งในการสนทนาธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งถาม
 
“พระเครื่องคุ้มกันได้จริงไหม คุ้มกันได้ เพราะใจเชื่อมั่นว่ามีพระเครื่องอยู่กับตัว หรืออย่างไร”
 
“เป็นเครื่องทำให้เชื่อมั่น” เจ้าพระคุณสมเด็จฯทูล
 
“ถ้าใจเชื่อมั่นแล้ว ก็ไม่จำเป็นหรือ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่ง
 
“ไม่จำเป็น” เจ้าพระคุณสมเด็จทูล “ แต่ก็มีเชื่อกันว่า พระเครื่องให้อยู่คงจริง คือผู้ที่มีอยู่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม มิได้คำนึงถึง แต่พระเครื่องก็คงคุ้มกัน”
 
ไม่ว่าพระเครื่องจะ “แรง” ด้านไหน แค่ไหน หรือไม่อย่างไร...
 
ย้อนไปอ่านพระดำรัสเจ้าพระคุณสมเด็จญาณฯ “พระเครื่องคือพุทธานุสสติ หนังสือคือธัมมานุสสติ” ได้พระเครื่องสักองค์ อ่านหนังสือธรรม...แล้วทำแต่กรรมดี
 
ความดีนั้น ก็จะแผ่รังสีมาคุ้มครอง ผู้ประพฤติธรรมให้อยู่รอดปลอดภัย
 
หรือแท้จริง...ความแรงความขลังด้านเมตตา...และไม่ว่าด้านไหน เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง.


ที่มา  : คอลัมน์ ชักธงรบ โดยกิเลน ประลองเชิง น. ๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ธันวาคม 2558 13:45:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร « 1 2 3 »
เอกสารธรรม
เงาฝัน 59 25874 กระทู้ล่าสุด 24 มิถุนายน 2555 16:20:27
โดย เงาฝัน
จิต วิญญาณ มโน :สมเด็จพระญาณสังวร
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
เงาฝัน 7 7395 กระทู้ล่าสุด 06 เมษายน 2554 13:37:48
โดย หมีงงในพงหญ้า
การขอโทษและการให้อภัย :สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1561 กระทู้ล่าสุด 21 กันยายน 2554 16:36:51
โดย เงาฝัน
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน :สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 1 2012 กระทู้ล่าสุด 05 เมษายน 2555 15:01:44
โดย เงาฝัน
นานาสังวาสกะและสมานสังวาสกะ :สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1544 กระทู้ล่าสุด 28 กันยายน 2555 17:31:19
โดย เงาฝัน
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.78 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 05 มีนาคม 2567 08:29:10