สติปัฏฐาน ๔
พระธรรมเทศนา
พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
แสดง ณ. วัดป่าอุดมสมพร
เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓
ต่อไปนี้ ขอให้ทุกท่านจงสำรวมใจของเรา เพื่อให้เกิดความสงบ เพราะเราต้องการความสุข เมื่อใจสงบแล้วก็มีสุข ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบนั้น เป็นความสุขที่สะอาด ความสุขที่บริสุทธิ์ และเป็นความสุขที่มั่นคงถาวร หาได้โดยไม่เดือดร้อนทั้งตัวเองและบุคคลอื่น เป็นความสุขที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้บรรลุถึง แล้วประกาศให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังอบรมฝึกฝนให้ได้ความสุขเช่นนั้น เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ให้พากันตั้งใจฟังธรรมเพื่อให้เกิดความสงบสุข
เพราะเราทั้งหลายต้องการความสุข ให้พากันดูซิว่า ความสุขอยู่ที่ไหน ให้เราตรวจดูเสียก่อน การภาวนาไม่ต้องรีบร้อน ให้ตรวจให้มีความรู้สึกตัวของเราให้สมบูรณ์ให้รอบคอบ แล้วปลอบจิตของเราให้ดี ตั้งใจให้ดี เพราะความสุขนั้นมาในรูปลักษณะแห่งความดี ใจที่ดีนั้นต้องมีคุณธรรมประจำใจของเรา คุณธรรมที่ดีสูงสุด ก็คือพระพุทธเจ้า ถ้าพูดถึงอานุภาพแล้ว พระพุทธเจ้ามีอานุภาพ ถ้าพูดถึงความประเสริฐแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐกว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด เพราะฉะนั้นเราเอาคุณของพระองค์มาระลึกไว้ในใจ เรียกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วพยายามระลึกถึง พุทโธ พุทโธ เราพึงทำความเข้าใจว่า พุทโธนั้นคือเป็นผู้ตื่น เมื่อเราระลึกพุทโธ แล้วเราต้องรู้ตัว ธรรมดาคนตื่นคือคนรู้ตัว คนหลับคือคนไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ว ีภาวนาพุทโธอย่าให้หลับ อย่าให้หลงต้องรู้ตัวอยู่เสมอ ต้องทำความรู้ตัวให้มีกำลัง คำว่ารู้ตัวนี้ รู้กว้างๆ คือตัวที่เรานั่งอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายังไม่สงบก็ตาม ให้รู้ตัวเสียก่อน เมื่อเราระลึกพุทโธ สร้างความรู้ พุทโธ รู้ตัวความรู้ ค่อยตั้งตัวได้แล้ว เราก็พยายามใช้ความเพียร ใช้ความระลึกเพื่อเป็นกำลังของจิต เพื่อให้จิตมั่น ทำงานตามความต้องการของเรา
เมื่อเราระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ความรู้นั้นย่อมแผดเผากิเลสที่ทำให้เราหลงได้ เพราะความรู้กับความหลงนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ถ้ามีความรู้น้อย ความหลง ความพลั้ง ความเผลอก็มากขึ้น ถ้ามีความรู้ตัวมาก ความหลงก็น้อยลงไป ถ้าเรามีความรู้เต็มเปี่ยม ความหลงก็ไม่มี เพราะมันไม่มีที่อยู่ ที่เกาะ ที่อาศัย เพราะฉะนั้นเราพยายามบรรจุความรู้คือพุทโธนั้น แม้แต่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ต้องการความรู้ ไม่ใช่ต้องการอันอื่นเพื่อกำจัดความหลง ความหลง ถ้าเราไม่ตรวจตรองพิจารณาแล้ว เราไม่เข้าใจว่าเป็นภัยอย่างสำคัญ เราผู้ต้องการความสุข สิ่งที่ก่อกวนมีกิเลสเป็นต้น มันต้องอาศัยความหลงนี้แหละเกิดขึ้น ไม่ว่าความโกรธก็ดี ไม่ว่าความโลภก็ดี หรือราคะโทสะก็ดี ต้องอาศัยความหลงเป็นพื้นฐาน หรือจะว่าเป็นสิ่งที่อาศัยเกิดขึ้นก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นการภาวนาเพื่อความรู้ตัวนี้แหละ จึงเป็นเครื่องแผดเผาความหลงให้หมดไป เมื่อความหลงไม่มีแล้ว สิ่งที่ดีมีอยู่ในจิตใจเราก็รู้ สิ่งที่ไม่ดีมีอยู่ในจิตใจเราก็เห็น เพราะเราไม่หลง จิตใจมีความสุขเราก็รู้ จิตใจมีความทุกข์เราก็รู้








