[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 17:30:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชมปราสาทพนมรุ้ง ศาลหลักเมืองบุุรีรัมย์ หลักฐานความทรงจำในประวัติศาสตร์  (อ่าน 6269 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 พฤษภาคม 2556 14:55:54 »

.

ปราสาทพนมรุ้ง  จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทพนมรุ้ง Prasat Phnom Rung
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนภูเขา ซึ่งภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทเมื่อ ๙๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว  เมื่อบรรพชนขึ้นมาสร้างศาสนสถานบนยอดเขาแห่งนี้  ได้ดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค  พนมรุ้ง เป็นชื่อเดิมของภูเขาและศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้ อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือ พ.ศ. ๑๕๓๒

ปรากฏคำนี้ในศิลาจารึก อักษรขอมภาษาเขมร พบที่ปราสาทพนมรุ้งถึง ๔ หลัก คำว่า “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “สฺกูลาทฺวิ” และ “สฺกูลไศล” ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นิกายปศุปตะ ที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด  การก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นบนยอดเขา จึงเปรียบเสมือนการสร้างวิมานที่ประทับของพระศิวะ ที่เชื่อกันว่าตั้งอยู่บนยอดเขาไกรลาส สิ่งก่อสร้างบนปราสาทพนมรุ้ง แบ่งออกได้เป็น ๔ สมัย  ส่วนที่เก่าที่สุดคือปราสาทอิฐ จำนวน ๒ หลัง  สร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตรงกับศิลปะแบบเกาะแกร์  สมัยที่สองคือปราสาทน้อย สร้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖  ตรงกับศิลปะแบบบาปวน  สมัยที่สามคือสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่บนศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งมีปราสาทหลังใหญ่เป็นประธาน สร้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตรงกับศิลปะแบบนครวัด  สมัยสุดท้ายฌาลัยสองหลัง สร้างราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตรงกับศิลปะแบบบายน

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง สูงประมาณ ๑,๓๒๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเล  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗  ปราสาทประธานก่อด้วย “ศิลาทราย” อยู่บนยอดเนินเขา  โดยมีสิ่งก่อสร้างประกอบ เช่น อาคารหลังคาคลุมที่เข้าใจกันว่าเป็น “บรรณาลัย” อยู่สองหลัง

ปราสาทก่อด้วย “ศิลาแลง” สององค์  ก่อด้วยอิฐอีกหนึ่งองค์  บริเวณของอาคารศาสนสถานกั้นด้วย “ระเบียงคด”  มี “โคปุระ” ประจำกลางด้านทั้งสี่  ด้านตะวันออกของปราสาทประธานคือด้านหน้า มีลานนาคราชชั้นในซึ่งเชื่อมโยงเป็นทางผ่านเข้าสู่ “โคปุระ” ของ “ระเบียงคด” เพื่อออกไปยังลานนาคราชชั้นกลาง



ต่อเนื่องจากส่วนดังกล่าวข้างต้น คือชานชาลา และขั้นบันไดเป็นชุดลดหลั่น มีลานพักโดยลำดับ ลงไปถึงลานนาคราชชั้นล่าง แล้วจึงถึงทางเดินแนวราบทอดยาวไปทางทิศตะวันออก

ปราสาทพนมรุ้งมีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย  ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗  และในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมได้ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงจากเทวสถานในศาสนาฮินดูเป็นพุทธศาสนสถาน

ปรากฏความตามจารึกต่าง ๆ  สรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๓ กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร (พ.ศ. ๑๔๘๗ -๑๕๑๑) ได้สถาปนาเทวาลัยถวายพระอิศวรที่เขาพนมรุ้ง  ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑-๑๕๔๔) ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าบริพารถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง

ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗  เจ้านเรนทราทิตย์   แห่งราชวงศ์มหิทรปุระ ที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง







   

ปราสาทประธาน  (Principal Prasat)
มีมณฑปเชื่อมต่อด้านหน้า ส่วนสำคัญ คือ เรือนธาตุหรือห้องครรภคฤหะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ
หลังคาทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สร้างขึ้นถวายพระศิวะเทพสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
ภาพหลักที่สำคัญเกี่ยวกับพระศิวะ ได้แก่ ศิวนาฏราชที่หน้าบันด้านหน้าและพระศิวะในฐานะเจ้าแห่งโยคี
ที่ทับหลังด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ แต่ภาพสลักส่วนมากทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวิษณุเทพ
ผู้ดูแลรักษาและบริหารโลก เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ และการอวตารของพระวิษณุเพื่อปราบยุคเข็ญ
ในโลกมนุษย์ให้เข้าสู่ภาวะปกติ ปราสาทประธานสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗
(ราว พ.ศ. ๑๖๕๐-๑๗๐๐) ตรงกับศิลปะแบบนครวัด




ลักษณะพื้นปราสาทในตัวอาคาร
ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นตามคติของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด
ดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผัง
ของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหา
จุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้น
สู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า
พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การ
สักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน



ระเบียงคดชั้นนอก (Outer Gallery)
อาคารยาวที่สร้างล้อมรอบปราสาทประธาน โดยมีประตูซุ้มเป็นทางเข้าทั้งสี่ทิศ
สันนิษฐานว่า ระเบียงคดชั้นนอกสร้างเป็นอาคารโถงด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา
น่าใช้สำหรับทำพิธีกรรมหรือเป็นที่พักชั่วคราวของผู้ที่ขึ้นมาประกอบพิธีกรรม


เรือนธาตุสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ประกอบพระราชพิธี
รูปเคารพ "ศิวลึงค์" อยู่ตรงกลางห้อง (เขตหวงห้าม : ห้ามผู้ชมเข้าไปภายใน)
ห้องครรภคฤหะ มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมตรงกลาง
ภายในเรือนธาตุของปราสาทประธาน เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการ
ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยมีรูปเคารพที่สำคัญได้แก่ศิวลึงค์  
บริเวณนี้พื้นห้องด้านทิศเหนือมีร่องรับน้ำเชื่อมต่อกับท่อเรียกว่าท่อโสมสูตร  
ท่อนี้จะลอดผ่านพื้นห้องและลานปราสาทออกไปภายนอกระเบียงคดด้านทิศเหนือ




สะพานนาคราช (Naga bridge) สร้างเป็นลานยกระดับ
มีแผนผังเป็นรูปกากบาทเชื่อมระหว่างชาลากับประตูซุ้มทิศตะวันออก กลางลานสกัดลาย
รูปดอกบัวแปดกลีบสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการกำเนิดอันบริสุทธิ์
ราวรอบลานทำเป็นลำตัวนาคห้าเศียรแผ่พังพานออกไปทั้งสี่ทิศ ตามคติเดิมถือว่า
เป็นผู้ให้น้ำและสายรุ้ง ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ ตำนานพื้นเมือง
ยังถือว่านาคเป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรด้วย



ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
สร้างจำลองขึ้นมาทดแทนของเดิมซึ่งได้นำไปเก็บรักษาไว้เพื่อความปลอดภัย
พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ (Vishnu Anantasayin)
ภาพสลักที่ทับหลัง ชื่อ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภิน”
แสดงภารกิจพระวิษณุเกี่ยวกับการกำเนิดของโลกและจักรวาล  พระวิษณุประทับนิทรา
ตะแคงขวาบนพระยาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) หลังจากที่โลก
ถูกทำลายลงเมื่อสิ้นกัลป์  ทรงถือคฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย
พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังด้านขวา ตามลำดับ ส่วนพระหัตถ์หน้าขวา
รองรับพระเศียรของพระองค์ ซึ่งทรงมงกุฏรูปกรวยกภณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบเป็นริ้ว
มีชายผ้ารูปหางปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ด้านหน้าคาดด้วยสายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้น
ห้อยประดับ มีดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) พระลักษมี (Lakshmi)
พระชายา ประทับอยู่ที่เบื้องปลายพระบาท  มีพระพรหมผู้สร้างโลกและสรรพชีวิตประทับอยู่ด้วย
 

สำหรับพระพรหม ประทับเหนือดอกบัวนั้น มีสี่พักตร์ สี่กร ถัดจากองค์พระนารายณ์มาทางซ้าย
บริเวณเลี้ยวของทับหลัง มีรูปหน้ากาลคายพวงอุบะขนาดใหญ่ เหนือหน้ากาลมีรูปครุฑใช้มือยึดนาค
ไว้ข้างละตนนอกจากนี้ยังปรากฏรูปสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ นกแก้ว ลิง และนกหัสดีลิงก์คาบช้างอยู่ด้วย
 
การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์นั้น คือ การบรรทมในช่วงการสร้างโลก การบรรทมแต่ละครั้งนั้น
จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้ คงได้รับ
อิทธิพลจากคัมภีร์วราหปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ให้ความสำคัญแก่พระนารายณ์เทพผู้ยิ่งใหญ่
ในขณะที่พระนารายณ์กำลังบรรทมอยู่นั้น ได้ทรงพระสุบินขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวได้บังเกิด
พระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ในโลก


โยคะทักษิณามูรติ Yogadaksinamurt ภาพสลักที่หน้าบันด้านนอก
ประตูซุ้มทิศตะวันออกมีชื่อว่า "โยคะทักษิณามูรติ” หมายถึง พระศิวะในภาคของมหาโยคีผู้ยิ่งใหญ่
ถือประคำในพระหัตถ์ขวา ประทับนั่งลลิตาสนะ (ห้อยพระบาท) แวดล้อมด้วยบริวารของพระองค์  
ทรงสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยมนตร์ (ภาพบุคคลนอนเหยียดยาวเบื้องล่างน่าจะหมายถึงผู้บาดเจ็บ)



ศึกอินทรชิต Indrajit Battle บนทับหลังเป็นภาพศึกอินทรชิต  
ตอนอินทรชิต โอรสของท้าวราพณ์แผลงศรเป็นนาครัดพระรามและพระลักษณ์ไว้  ส่วนภาพบนหน้าบัน
เป็นภาพตอนท้าวราพณ์ให้นางตรีชฎาพานางสีดามาดูการรบ  นางสีดาเข้าใจว่าพระรามสิ้นพระชนม์
แต่นางตรีชฎาปลอบว่าหญิงหม้ายประทับบุษบกจะไม่ลอย  แต่นี่บุษบกยังลอยอยู่ แสดงว่าพระราม
ยังไม่สิ้นพระชนม์ ขณะที่หนุมานเหาะไปเอาโอสถที่เกษียรสมุทรเพื่อแก้ไขพระรามกับพระลักษณ์
พระยาครุฑซึ่งเป็นศัตรูกับนาคบินมาที่สนามรบ นาคหนีไป


โคนนทิ (Nandin) พาหนะของพระศิวะ
โคนนทิเป็นบุตรของพระกัศยปกับโคสุรภี พระศิวะเห็นโคสุรภีอยากจะได้เป็นบริวารแต่รังเกียจว่า
เป็นเพศเมีย  พระกัศยปจึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี เกิดเป็นวัวเพศผู้ชื่อว่า "นนทิ" แล้วถวาย
เป็นบริวารของพระศิวะ ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมานบนเขาไกาลาสด้านทิศตะวันออก
คู่กับมหากาล และทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะเมื่อพระศิวะเสด็จออกภายนอก




สิงห์ : Singha
สิงห์ Singha เป็นสัตว์ในเทพนิยาย ที่อาศัยอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
ในป่าหิมพานต์ (Himavanta forest)  และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขต
ของสวรรค์ เช่นเดียวกันกับ หงส์ และครุฑ ที่บันไดทางขึ้นของปราสาทพนมรุ้ง ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ
ประติมากรรมรูปสิงห์ ที่แสดงถึงการปกป้องที่บริเวณขอบเขตของสวรรค์เช่นเดียวกัน





ขั้นตอนการก่อสร้างปราสาทหิน
How to construct a stone sanctuary

๑. ขั้นตอนการทำฐานราก : ขุดดินลึกลงไป ๑-๒ เมตร หรือจนถึงพื้นหินธรรมชาติ
    แล้วบดอัดให้แน่นด้วยดิน ทราย และเศษดิน
๒. ขั้นตอนการเรียงหิน : เมื่อทำฐานรากเรียบร้อยแล้ว จึงเรียงหินขึ้นมาอย่างคร่าวๆ ตามขนาดของสิ่งก่อสร้างที่กำหนดไว้
๓. ขั้นตอนการตกแต่งผิว : ทำการตกแต่งผิวให้ได้ทรงสถาปัตยกรรม คือ การสกัดหินลงไปให้ได้ทรงทางสถาปัตยกรรม
    ตามที่ต้องการก่อนที่จะทำลวดลายเครื่องประดับในลำดับต่อไป
๔. การสกัดลวดลายเครื่องประดับ : จัดเป็นงานขั้นสุดท้ายของการก่อสร้างในสถาปัตยกรรมขอม


ลวดลายลักษณะต่างๆ สลักบนลวดบัวแต่ละลักษณะอยู่ที่ฐาน ล้วนมีความนูน-ลึก แสดงมิติด้านประติมากรรมอย่างเด่นชัด

ชุดลวดบัวระดับล่างของฐานต่อเนื่องขึ้นมาระดับบน สลักจากก้อน "ศิลาทราย" ที่นำมาก่อเรียงกัน และด้วยวิธีการเดียวกัน ช่างได้เรียงก่อระดับเหนือขึ้นไปเป็นส่วนกลาง ("เรือนธาตุ") ขึ้นไปเป็นส่วนบน คือชั้นซ้อนลดหลั่นและส่วนประดับอันเป็นยอดปราสาท "กลศ"  และยอดบนสุด ย่อมเคยมีนภศูล ที่เชื่อว่าเคยมี เพราะมีตัวอย่างปรากฏอยู่ที่รูปสลักนูนสูง ตอนศึกอินทรชิตประดับ "หน้าบรรพ" ด้านตะวันตกของปราสาทประธาน

ความนูน-ลึกอันเป็นมิติทางประติมากรรมดังกล่าว สัมพันธ์กับมิติอันเด่นชัดของสถาปัตยกรรมที่ใช้ก้อน "ศิลาทราย" ก่อเป็นโครงร่างของปราสาท ก่อนที่จะสลักเค้าโครงของงานประดับ เช่น "ลวดบัว" หรือ "คิ้ว"



ข้อมูล : - คุยกับงานช่างไทยโบราณ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ  เล็กสุขุม , สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
           - ป้ายจารึก ในปราสาทหินพนมรุ้ง  จังหวัดบุรีรัมย์
           - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
ภาพจาก : เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม (กระทรวงวัฒนธรรม)

ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
ศาสนสถาน ศิลปะขอมโบราณ  
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ สิ่งที่แตกต่างจากที่อื่นคือ มีเสาหลักเมือง ๒ เสา  ตัวอาคารเดิมเป็นศาลขนาดเล็ก ได้รื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเลียนแบบปราสาทหินพนมรุ้ง โดยศาลหลักเมืองเป็นเหมือนองค์ปรางค์มียอดทั้งหมด ๕ ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุน และเทพประจำทิศเพื่อปกป้องรักษาทิศต่างๆ

องค์เรือนธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมืองชักมุมออกทั้ง ๔ ด้าน อันหมายถึงการกระจายความเป็นหลักฐานความมั่นคงออกไปทั้ง ๔ ทิศ ส่วนยอดศาลพระหลักเมืองติดตั้งรูปดอกบัว เพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง ภายในตัวศาลได้ตั้งเสาหลักเมืองตรงกลางองค์ปรางค์ พร้อมกับอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมือง มาปกปักรักษาคุ้มครอง ป้องกันให้บ้านเมืองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ด้านข้างศาลหลักเมืองยังมีศาลเจ้าจีน เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มากราบไหว้ในบริเวณเดียวกัน
 
เสาต้นที่ ๑ เป็นเสาไม้แต่งเสาเป็นรูป ๘ เหลี่ยม มีความกว้าง ๓๘.๕ ซม. ความยาวของเสาเท่าใดไม่ทราบ แต่ที่โผล่พ้นจากพื้นมีความสูง ๑.๑๕ เมตร เอียงจากแนวดิ่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๐ องศา พิงอยู่กับเสาหลักต้นที่ ๒ เสาหลักต้นที่ ๑ ส่วนหัวเสาตกแต่งเป็นลวดลายที่ประณีตสวยงาม ปลายยอดแต่งเรียงเป็นรูปทรงบัวตูม แต่ค่อนข้างเรียวยาวคล้ายหัวปลี ที่ปลายยอดเป็นทรงกรวยแหลมหุ้มด้วยโลหะ ดูจากเนื้อโลหะคล้ายๆ แผ่นดีบุกหรือแผ่นเงิน ยอดทรงกรวยแหลมนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝาจุกที่เปิดปิดได้ เพื่อบรรจุดวงชะตาเมือง รูปเทพารักษ์ แผ่นยันต์ หรือสิ่งอาถรรพณ์เอาไว้ภายใน หัวเสาทรงบัวตูมนี้แกะสลักเป็นบัว ๘ กลีบ ทรงเรียวรอบเสา ๘ เหลี่ยม มีกนก ๒ ชั้น ประดับกลีบบัว ภายในกลีบบัวมีรูปเทพนมที่บัวทั้ง ๘ กลีบ เสาทั้งต้นได้รับการปิดทองเรียบร้อย แต่กาลเวลาที่ผ่านมาทำให้มีรอยแตกร้าว เมื่อเคาะดูเสียงไม่แน่น แสดงว่าเป็นไม้ที่ผุอันเกิดจากสภาพของดินซึ่งดินที่ตั้งของเสามีน้ำใต้ดินซึมออกมาขังอยู่ เมื่อเทียบเคียงกับเสาหลักเมืองของเมืองอื่นๆ จะเห็นว่าเสาหลักเมืองบุรีรัมย์ต้นนี้เป็นเสาที่สวยงามมากต้นหนึ่ง
 
เสาต้นที่ ๒ เป็นเสาไม้แต่งเสาเป็นรูป ๘ เหลี่ยม มีขนาดหน้าตัด ๓๘.๕ ซม. เท่ากับเสาหลักต้นแรก ความยาวของเสาเท่าใดไม่ทราบ แต่ส่วนที่โผล่จากระดับพื้นขึ้นมามีความสูง ๑.๙๙ เมตร สูงกว่าเสาต้นแรก โคนเสาส่วนที่อยู่เหนือพื้นห่างจากเสาหลักต้นที่ ๑ เสาหลักต้นที่ ๒ อยู่ทางทิศตะวันตกของเสาหลักต้นที่ ๑ เป็นเสาที่ตั้งตรงรับส่วนยอดเสาหลักต้นที่ ๑ เสาหลักต้นที่ ๒ นี้จะมีเสาหมอเป็นเสาไม้สั้นๆ จำนวน ๒ ต้น ตั้งห่างกัน มีคานไม้แปดเหลี่ยมสอดอยู่ในเสาหมอ คานไม้ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นคานประคองยันเสาหลักต้นที่ ๒ ไม่ให้เอนเอียง มองดูแล้วเห็นว่าเสาหลักต้นที่ ๒ จะมีความมั่นคงมาก เพราะมีเสาต้นที่ ๑ ค้ำยันอยู่ด้านตะวันออกและคานประคองรับอยู่ด้านทิศตะวันตก
 
ดังนั้นเสาหลักเมืองดังกล่าวต้องเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญซึ่งอาจเป็นเสาหลักเมืองบุรีรัมย์ที่แท้จริงก็ได้ เพียงแต่การตกแต่งลวดลายที่หัวเสามีน้อยกว่า เพราะที่หัวเสามีการแกะสลักเป็นบัวหงาย ๘ กลีบ หัวเสาส่วนนี้จะเหมือนกันทั้งหัวเสาหมอและปลายคานของคานประคอง ลักษณะไม้ที่ใช้ทำเป็นไม้ชนิดเดียวกันทั้งชุดและมีอายุน้อยกว่าเสาหลักต้นที่ ๑
 
บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้ เคยเป็นจุดที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ใช้เป็นจุดพักรบ และเห็นว่าบริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ เลยโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองแปะ” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์
 
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาและปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่าบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อเป็น “จังหวัดบุรีรัมย์” มาจนถึงทุกวันนี้
.....ข้อมูลและภาพ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กันยายน 2558 12:24:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.051 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 04 เมษายน 2567 02:50:49