วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ

(1/9) > >>

เงาฝัน:
Tweet





พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  
(๑๔ ปริเฉท)


โดย.. เสถียร โพธินันทะ
พระสูตรวิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท)

ขอขอบคุณ คุณพี่พีช ซึ่งเป็นผู้ที่พิมพ์พระสูตรนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อผิดผลาดใดที่เกิดขึ้นต้องของอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย..

                                    พระสูตรนี้มี ๑๔ ปริเฉทดังนี้คือ...

ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค
ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค
ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค
ปริเฉทที่ ๔ โพธิสัตววรรค
ปริเฉทที่ ๕ คิลานปุจฉาวรรค

ปริเฉทที่ ๖ อจินไตยวรรค
ปริเฉทที่ ๗ สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๘ พุทธภูมิวรรค
ปริเฉทที่ ๙ อไทฺวตธรรมทวาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค

ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๒ อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๔ ธรรมทายาทวรรค

            กถามุข
ในพระสุตตันตปิฎกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ยุ่ย ม่อ เคียก ซอ ส้วย เก็ง) นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญยิ่งสูตรหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้ได้รวบรวมสารัตถะของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไว้ ทั้งด้านปรมัตถธรรมและสมมติธรรม ทั้งยังแสดงถ่ายทอดออกมาด้วยรูปปุคคลาธิษฐาน มีลีลาชวนอ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้รับธรรมรสซึมซาบเข้าไปโดยมิรู้ตัว พระสูตรนี้ไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี แต่ความข้อนี้มิได้เป็นเหตุให้เราผู้เป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทปฏิเสธคุณค่าของพระสูตรนี้แต่อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากหลักธรรมที่ประกาศในพระสูตรนี้ ก็คงดำเนินไปตามแนวพระพุทธมติ คือในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง แม้จะมีข้อแตกต่างบางประการก็เป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น มิฉะนั้นก็คงไม่เกิดนิกายมหายานขึ้น ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในนิกายนั้นจะเหมือนกับฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอุดมคติและประวัติวิวัฒนาการมาอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับท่านผู้อ่านพระสูตรนี้จำต้องทราบไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสคัดข้อความบางตอนในปาฐกถาของข้าพเจ้า เรื่อง "ลัทธิมหายาน" ซึ่งแสดงแก่คณะนักศึกษาศิลปศาสตร์ ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อ เป็นนิทัศนะ

"ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก จะต้องมีคณะนิกายแบ่งแยกออกมาภายหลังที่พระศาสดาของศาสนานั้นล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อศาสนานั้นแผ่ขยายออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อถือไม่เหมือนกัน ก็มีการผสมผสานกับลัทธิธรรมเนียมเหล่านั้น อีกทั้งทัศนะการตีความในคำสอนของศาสดาของแต่ละบุคคล แต่ละคณะไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกเป็นนิกายขึ้น ศาสนาที่มีลัทธินิกายจึงเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญแห่งศาสนานั้นในแง่หนึ่งเหมือนกัน ว่ากันเฉพาะในพระพุทธศาสนาได้เริ่มแบ่งแยกนิกายขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่๑ ต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่๔ ปรากฏว่ามีนิกายในพระพุทธศาสนาที่เป็นนิกายใหญ่ๆอยู่๑๘นิกาย นิกายที่สำคัญ คือนิกายมหาสังฆิกะกับนิกายเถรวาท มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธปรินิพพานว่า

"ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็มิได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกข้ออย่างเคร่งครัด

อีกประการหนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้น ย่อมอาศัยอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอธิบาย อาจารย์กับอาจารย์ด้วยกันเกิดมีทัศนะอรรถาธิบายพระพุทธมติไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดแบ่งแยกกันออกไป สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะ เป็นพวกที่ต้องการแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถาธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ สงฆ์ฝ่ายเถรวาทถือเคร่งครัดในการรักษาจารีตแบบแผนดังเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่

สรุปแล้วก็คือ

๑.เพราะการปฏิบัติพระวินัยไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา
๒.เพราะทัศนะในหลักธรรม อธิบายไม่ตรงกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
ทั้ง๒ประการนี้เป็นสมุฏฐานให้แบ่งเป็นนิกายขึ้น

จำเดิมแต่พระพุทธศาสนาในอินเดียได้แบ่งออกเป็นนิกายถึง๑๘นิกายใหญ่ จำเนียรกาลล่วงมาในรารวต้นพุทธศตวรรษที่๕ จึงได้เกิดมีขบวนการใหม่ขึ้นอีกขบวนการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ขบวนการนี้เรียกตนเองว่า ลัทธิมหายาน ลัทธินี้ค่อยๆฟักตัวเองขึ้นมาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ทั้ง๑๘นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดขึ้นเป็นลัทธิมหายาน

คำว่า มหายาน มาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่าพาหนะที่กว้างขวางใหญ่โตซึ่งสามารถขน สัตว์โลก ให้ข้ามวัฏฏสงสารได้มาก หลักธรรมของนิกายนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนิกายเถรวาท คือสอนเรื่องอริยสัจ และมีข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือความหลุดพ้นทุกข์ แต่ส่วนที่แตกต่างกันนั้นอยู่ตรงที่นโยบายเผยแผ่กับทั้งวิธีการเผยแผ่เท่านั้น

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญ คือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ

อุดมคติของฝ่ายมหายาน สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในฝ่ายเถรวาทก็รับรอง แต่ฝ่ายมหายานหยิบยกเอาเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ ฝ่ายเถรวาทประกาศเรื่องหลักอริยสัจ๔เป็นสำคัญ แต่ฝ่ายมหายานประกาศเรื่องทศบารมีเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่มีเรื่องทศบารมี หรือฝ่ายมหายานจะไม่มีหลักอริยสัจก็หาไม่ เป็นเพียงแต่ว่า ต่างฝ่ายต่างหยิบเอาหลักธรรมทั้ง๒มายกขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญเหมือนหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น

อนึ่ง หลักทศบารมีฝ่ายมหายานได้ย่อลงมาเหลือบารมี๖ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา ทานกับศีลเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โทสะ ฌานกับปัญญาเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมี๖ให้สมบูรณ์ คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ ข้อใหญ่คือ

๑.มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
๒.มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓.มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจจธรรม

คุณสมบัติทั้ง๓ข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง๒ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผุ้อื่น

อุดมคติของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานมี๔ประการดังนี้

๑.เราจะละกิเลสให้หมด
๒.เราจะศึกษาสัจจธรรมให้จบ
๓.เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔.เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด

คณาจารย์ผู้ทรงเกียรติคุณของลัทธิมหายานในอินเดีย มีอาทิเช่นท่านคุรุนาคารชุน ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่๗ ร่วมรัชสมัยพระเจ้ายัชญศีรเคาตมีบุตร คณาจารย์องค์นี้เป็นผู้สร้างปรัชญามหายานนิกายสุญญวาท โดยใช้ระบบวิภาษวิธี (Dialectic Method) ในการอรรถาธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์หรือกฎปฏิจจสมุปบาท (Relativity Theory)

ระบบวิภาษวิธีของนิกายสุญญวาท จึงเป็นศิลปะ ในการอภิปรายที่อุดมด้วยหลักตรรกวิทยาทุกกระเบียดทีเดียว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่๙ คณาจารย์มหายานที่สำคัญมีอีก๒ท่าน เป็นพี่น้องร่วมกันคือท่านคุรุอสังคะและคุรุวสุพันธุ ผู้ให้กำเนิดปรัชญามหายาน นิกายวิชญาณวาท ซึ่งถือว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นภาพมายาซึ่งสะท้อนเงาออกไปจากจิตภายใน นับเป็นปรัชญามหายานฝ่ายมโนภาพนิยม(Idealism) มหายานอีกนิกายหนึ่งซึ่งสอนลัทธิสมบูรณนิยม สอนว่ามีภาวะสมบูรณ์จริงแท้เป็นรากฐานของสากลจักรวาล ภาวะนี้เรียกว่า ภูตตถตา ซึ่งตรงกับจิตสากล (Universal Mind) นั้นเอง

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ปรัชญาของลัทธิมหายานมี๓สาขาใหญ่คือ
๑.ปรัชญานิกายสุญญวาท
๒.ปรัชญานิกายวิชญาณวาท
๓.ปรัชญานิกายภูตตถตาวาท หรือจิตสากล

นี่เป็นเรื่องของลัทธิปรัชญา ส่วนในเรื่องการปฏิบัติคงปฏิบัติเหมือนกันคือ การบำเพ็ญบารมี๖ มีคุณสมบัติ๓ และมุ่งในอุดมคติ๔ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว"
(หมดข้อความที่ยกมา)

                        

อนึ่ง ยังมีข้อสำคัญในความแตกต่างทางทัศนะระหว่างเถรวาทกับมหายาน คือทัศนะต่อองค์พระพุทธเจ้า ทั้ง๒ฝ่ายหาได้เห็นตรงกันไม่ พระพุทธองค์ในทัศนะของฝ่ายเถรวาท คือมนุษย์ผู้ซึ่งได้เพียรบำเพ็ญความดีจนได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากมวลทุกข์มวลกิเลส แต่พระสรีระของพระองค์ยังคงเหมือนชนธรรมดา คือยังเป็นวิบากขันธ์ มีความรู้สึกเย็นร้อนและทรุดโทรมแตกสลายไปได้ ส่วนเมื่อพระสรีระแตกสลายไปแล้ว อะไรที่เหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลังพระพุทธปรินิพพานแล้ว ภาวะของพระองค์เป็นฉันใด ฝ่ายเถรวาทไม่กล่าวถึงเพราะถือว่าพ้นจากบัญญัติเสียแล้ว เหมือนกองไฟที่สิ้นเชื้อแล้วดับไป ไม่อาจพยากรณ์ว่าไฟที่ดับไปแล้วไปอยู่ ณ ทิศใด แต่ฝ่ายมหายานมีทัศนะว่า พระพุทธองค์นั้น โดยแท้จริงมีสภาวะเป็นอกาละ อนันตะ แต่โดยมหากรุณาจึงทรงสำแดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกทั้งปวงเพื่อโปรดสัตว์ ส่วนคำว่าสุญญตาซึ่งพบมากในพระสูตรนี้เป็นคำที่ฝ่ายมหายานนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด สุญญตากับอนัตตาความจริงก็มีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นคำปฏิเสธสภาวะซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง เพราะในทัศนะของมหายาน สรรพสิ่งซึ่งปรากฏแก่เราล้วนเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น สุญญตามิได้หมายว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยเหมือนอากาศ แต่หมายเพียงว่ามีสภาวะดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยธรรมซึ่งอาศัยกันเป็นภาพมายา มีอยู่ปรากฏอยู่ มิใช่ว่าจะไม่มีอะไรๆไปเสียทั้งหมด ฝ่ายมหายานอธิบายว่า โลกกับพระนิพพาน ความจริงไม่ใช่อันเดียวกันหรือแตกต่างกัน

กล่าวคือโลกเป็นปฏิจจสมุปบาท ความดับปฏิจจสมุปบาทนั้นเสียได้ ก็คือพระนิพพาน ฉะนั้น ทั้งโลกและพระนิพพานจึงเป็นสุญญตาคือไม่ใช่เป็นสภาวะ และเมื่อสภาวะไม่มีเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะมีสภาวะจึงมีอภาวะเป็นของคู่กัน ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นอภาวะเล่า ผู้นั้นก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโดยสมมติสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจสมุปบาท และโดยปรมัตถสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตาไซร้ ผู้นั้นแลได้ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ที่ว่ามานี้เป็นมติของพระนาคารชุนผู้เป็นต้นนิกายสุญญวาท มหายานนิกายอื่นยังเห็นแตกต่างกันไปอีก อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้ศึกษาพระสูตรนี้ ในข้อที่ว่าด้วยสุญญตา โปรดเข้าใจถือเอาอรรถาธิบายของพระนาคารชุนเป็นปทัสถาน และโปรดได้พิจารณาข้อความอื่นๆในพระสูตรนี้ให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงเรื่องสุญญตาอันเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ท่านจะต้องแสดงสมมติธรรมหรือโลกิยสัจจะด้วย มิใช่ว่าท่านปฏิเสธสมมติสัจจะอย่างเช่นพวกอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิและนัตถิกทิฏฐิ ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระพุทธศาสนา

ข้อที่ควรสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลิกลักษณะและปฏิปทาของท่านวิมลเกียรติ มีส่วนคล้ายคลึงกับท่านจิตตคฤหบดี ในปกรณ์ฝ่ายบาลีมาก ท่านจิตตคฤหบดีเป็นชาวมัจฉิกาสัณฑนคร ได้บรรลุอนาคามิผล มีปัญญาปฏิภาณแตกฉานในอรรถธรรม ได้รับยกย่องเป็นอุบาสกผู้เลิศในทางแสดงธรรม ท่านชอบสนทนาปัญหาธรรมที่สุขุมลุ่มลึกกับพระเถรานุเถรเสมอ ในบาลีสังยุตตนิกายรวบรวมเรื่องราวข้อสนทนาธรรมของท่านไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่าจิตตคฤหบดีปุจฉาสังยุต จะเป็นไปได้หรือไม่ที่วรรณิกฝ่ายมหายานได้ความคิดจากปฏิปทาของท่านจิตตคฤหบดีไปขยายเป็นบุคคลใหม่ขึ้นอีกท่านหนึ่ง คือท่านวิมลเกียรติ

สำหรับประวัติความเป็นมาของพระสูตรนี้ พอจะกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีกำเนิดราวปลายพุทธศตวรรษที่๕ เมื่อพระนาคารชุนรจนาอรรถกถามหาปรัชญาปารมิตาสูตร ก็ได้อ้างข้อความในวิมลเกียรตินิทเทสสูตรนี้หลายตอน เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับสันสกฤตของพระสูตรนี้ ปัจจุบันหายสาบสูญค้นหาไม่พบ แม้ในคัมภีร์ศึกษาสมุจจัยของ พระสันติเทวะ (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่๑๓) ได้ยกข้อความในพระสูตรนี้มาอ้างไว้มากแห่ง ทำให้เราสามารถเห็นเค้าโครงพระสูตรนี้ในรูปภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่พระสูตรนี้ทั้งสูตร

อย่างไรก็ดี เป็นโชคดีของวรรณคดีพระพุทธศาสนามหายานที่ได้มีผู้แปลถ่ายทอดรักษาไว้ในพากย์จีนพากย์ธิเบตครั้งบุราณกาล เฉพาะวิมลเกียรตินิทเทสสูตรในพากย์จีนแปลกันไว้ถึง ๗ สำนวนด้วยกัน แต่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียง๓สำนวนเท่านั้น คือ
๑.ฉบับแปลของอุบาสกจีเหลียน ในพุทธศตวรรษที่๗
๒.ฉบับแปลของพระกุมารชีพ ในพุทธศตวรรษที่๙
๓.ฉบับแปลของพระสมณะเฮี่ยงจัง ในพุทธศตวรรษที่๑๑

ข้าพเจ้าได้ถือเอาฉบับแปลของพระกุมารชีพเป็นปทัสถาน เพราะท่านแปลด้วยสำนวนโวหารไพเราะ จนถือกันว่าเป็นวรรณคดีจีนชั้นสูง ในการแปลออกมาในพากย์ไทยนี้ เฉพาะปริเฉทที่๑ และที่๒ แปลเอาแต่ใจความสำคัญ ปริจเฉทที่สำคัญเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ได้แปลครบถ้วนตามต้นฉบับ บางปริจเฉทเช่นสาวกปริจเฉทเป็นต้น บางตอนได้ย่นย่อลงบ้าง แต่ก็มิได้ทำให้เสียความอย่างไร ที่ใดย่นย่อตัดรัด ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องหมายฯลฯ นี้ไว้ให้เป็นที่สังเกต และวิธีการแปลได้ถือเอาอรรถรสเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงใช้คำแปลเรียบเรียง ข้าพเจ้าได้แปลลงพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุเป็นตอนๆ เริ่มลงพิมพ์ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ มาจนบัดนี้เป็นเวลาร่วม๒ปี

เสถียร โพธินันทะ
๑๐มิถุนายน๒๕๐๖



เงาฝัน:




          ปริเฉทที่ ๑
                 พระพุทธเกษตรวรรค

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมโปรดสัตว์อยู่ ณ สวนอัมพปาลีวัน ณ กรุงเวสาลี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๘,๐๐๐ รูป พระโพธิสัตว์อีก ๓๒,๐๐๐ องค์ ซึ่งแต่ละองค์ล้วนเป็นผู้มีเกียรติคุณอันประชุมชนรู้จักดี ถึงพร้อมแล้วด้วยมหาปรัชญาและมูลจริยา มีทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา และอุปายะพละ มีความบริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นจากสังโยชน์ธรรม เป็นผู้แสดงพระสัทธรรมต่อสรรพสัตว์ สืบพระพุทธศาสนายุกาลให้ยั่งยืน ฯลฯ พระโพธิสัตว์เหล่านี้ มีอาทิเช่นพระสมาธิอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลังการโพธิสัตว์ พระมหาลังการโพธิสัตว์ พระรัตนกูฏโพธิสัตว์ พระรัตนากรโพธิสัตว์ พระปีติอินทรีย์โพธิสัตว์ พระอากาศครรภ์โพธิสัตว์ พระวิทยชาลโพธิสัตว์ พระคันธหัสดินทร์โพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ พระสุวรรณจุฬาโพธิสัตว์ พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ผู้ธรรมราชาบุตรเป็นต้น อนึ่ง ยังมีพระพรหมและทวยเทพ นาค ยักษ์ อสูร ครุฑ กินนร มโหรคอีกจำนวนมาก พร้อมทั้งพุทธบริษัท ๔ อีกจำนวนมาก ต่างมาประชุมเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อสดับพระสัทธรรม

       

ก็โดยสมัยนั้นแล ณ กรุงเวสาลี มีบุตรคฤหบดีผู้หนึ่งชื่อ รัตนกูฏพร้อมกับบุตรคฤหบดีอื่น ๆ อีกจำนวน๕๐๐ คน ต่างถือเอาฉัตรอันประกอบด้วยสัปตรัตนะ ชวนกันมาเฝ้าพระบรมศาสดา อภิวาทน์พระบาททั้ง ๒ ของพระองค์แล้ว ต่างก็น้อมฉัตรเข้าไปถวาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้ฉัตรทั้งปวงรวมกันเข้าเป็นฉัตรคันเดียว แลร่มเงาแห่งฉัตรนั้น ก็ปกคลุมไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุสิ่งต่าง ๆ มีภูเขา แม่น้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ตลอดจนพุทธเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมีพระพุทธเจ้ากำลังแสดงพระสัทธรรมอยู่ ก็มาปรากฏอยู่ในฉัตรดังกล่าวนั้น ประชุมชนซึ่งมาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ต่างเพ่งทัศนากำลังแห่งพุทธปาฏิหาริย์ด้วยความเลื่อมใส ต่างยกกรขึ้นวันทนา แลดูซึ่งพระพุทธลักษณะอยู่โดยมิเคลื่อนคลา และบุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ารัตนกูฏได้กล่าวสดุดีกถาด้วยถ้อยคำอันพรรณนาพระพุทธคุณอันเป็นอเนก จบลงแล้วจึงทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุตรคฤหบดีทั้ง ๕๐๐ คนนี้ ล้วนแต่ตั้งจิตมุ่งต่ออนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาแล้ว ต่างปรารถนาใคร่สดับเรื่องวิสุทธิพุทธเกษตร ขอพระองค์ทรงโปรดแสดงจริยาของปวงพระโพธิสัตว์เพื่อยังวิสุทธิภูมิให้สำเร็จเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระราชดำรัสว่า “ ดีละ รัตนกูฏ ! ในการที่เธอสามารถถามตถาคตถึงจริยาอันให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตร เพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เธอพึงสำเหนียกและมีโยนิโสมนสิการให้ดี เราจักแสดงแก่เธอ ณ บัดนี้”

ครั้งนั้นแล รัตนกูฏพร้อมทั้งบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๐ คนต่างก็ตั้งจิตหยั่งลงพร้อมที่จักรับพระสัทธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนรัตนกูฏ ในสรรพสัตว์ทั้งปวงนั้นแล ชื่อว่าเป็นวิสุทธิเกษตรแห่งพระโพธิสัตว์ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่าพระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์ จึงอาจสามารถให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตรได้ อุปมาดังบุคคลผู้ปรารถนาจักสร้างปราสาทในแผ่นดินที่ว่าง เขาย่อมยังกิจที่ปรารถนาให้สำเร็จได้ แต่ถ้าเขาไม่อาศัยแผ่นดินกลับไปอาศัยอากาศเพื่อนสร้างปราสาทไซร้ ย่อมไม่มีหนทางสำเร็จฉันใดพระโพธิสัตว์ก็มีอุปไมยฉันนั้น กล่าวคือ ในการยังพระพุทธเกษตรให้สำเร็จบริบูรณ์ ก็เพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์นั้นเอง รัตนกูฏ ! เธอพึงสำเหนียกว่า จิตที่ตั้งไว้ถูกตรงนั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งปราศจากมายาความหลอกลวง ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น จิตที่ลึกซึ้งนั้นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกุศลคุณ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น โพธิจิต นั้นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์

วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ



ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ซึ่งเป็นมหายานิกบุคคล ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น การบำเพ็ญทาน นั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมาจาคธรรม ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น การรักษาศีล นั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งบำเพ็ญกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ได้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ขันติ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งรุ่งเรืองด้วยทวัตติงสาลังการ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น วิริยะ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ผู้มีความบากบั่นพากเพียรในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฌานสมาธิ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสำรวมจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ปัญญา นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมีอินทรีย์เที่ยงต่อการตรัสรู้ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฯลฯ.”

ตรัสว่า ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์สำเร็จพระโพธิญาณแล้ว โลกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ย่อมสุขสมบูรณ์ ปราศจากความมัวหมองและเภทภัยกันดารต่าง ๆ แลสรรพสัตว์ในโลกธาตุนั้น ก็บริบูรณ์ด้วยกุศลคุณต่าง ๆ เป็นอเนกประการ แล้วตรัสสรุปว่า

“เพราะฉะนั้นแล รัตนกูฏ ! พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจักบรรลุถึงวิสุทธิเกษตรดังกล่าว ! พึงชำระจิตแห่งตนให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อจิตบริสุทธิ์สะอาดดีแล้ว พุทธเกษตรก็ย่อมบริสุทธิ์สะอาดตามไปด้วย.”

ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรเถรเจ้าโดยการบันดาลดลแห่งพุทธานุภาพได้บังเกิดปริวิตกอย่างนี้ขึ้นว่า “ถ้าจิตของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์พุทธเกษตรก็พลอยบริสุทธิ์ด้วยไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระผู้มีพระภาคของเรา เมื่อยังสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จักมีจิตไม่บริสุทธิ์กระมังหนอ พุทธเกษตรของพระองค์จึงไม่สะอาดหมดจดดั่งปรากฎอยู่ ณ บัดนี้ ?”

       

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า

“สารีบุตร ! เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? บุคคลผู้มีจักษุบอดมองไม่เห็นความสุกสว่างหมดจดแห่งดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นั้นเป็นความผิดของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ฤๅหนอ ?”
พระสารีบุตรทูลว่า “หามิได้ข้าแต่พระสุคต เป็นความบกพร่องของบุคคลผู้มีจักษุบอดเอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักมีโทษด้วยก็หาไม่”

ตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้นนะสารีบุตร ! เป็นความผิดของสรรพสัตว์เอง ! ที่มองไม่เห็นความบริสุทธิ์สะอาดในโลกธาตุเกษตรแห่งเราตถาคต จักเป็นความผิดของตถาคตด้วยก็หาไม่ สารีบุตรเอย ! โลกธาตุของตถาคตนั้นบริสุทธิ์ แต่เธอมองไม่เห็นเอง”

ก็โดยสมัยนั้นแล ท้าวสนังพรหมกุมาร ได้กล่าวกับพระสารีบุตรว่า

“ขอท่านผู้เจริญอย่าได้ปริวิตก แลกล่าวว่าพุทธเกษตรนี้ไม่บริสุทธิ์เลย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเรานั้นได้เห็นความบริสุทธิ์หมดจดแห่งพุทธเกษตรของพระศากยมุนีเจ้า เปรียบดุจทิพยมณเฑียรแห่งพระอิศวรเทพฉะนั้น.”

พระสารีบุตรกล่าวว่า “แต่เราเห็นโลกธาตุนี้อุดมไปด้วยขุนเขาหุบเหวสูงต่ำ มีขวากหนามอิฐกรวดดินทราย เต็มไปด้วยความโสมมสกปรก.”

ท้าวสนังพรหมจึงว่า “จิตของท่านผู้เจริญสูงต่ำไม่สม่ำเสมอเองต่างหากเล่า ท่านผู้เจริญ! มิได้อาศัยพุทธปัญญาทัศนาโลกนี้ ฉะนั้นจึงเห็นโลกธาตุนี้ว่าไม่สะอาดหมดจด ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร อันพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นสรรพสัตว์โดยความเป็นสมภาพ มีจิตอันลึกซึ้งบริสุทธิ์ อาศัยพุทธปัญญาเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น จึงสามารถทัศนาความบริสุทธิ์ของโลกธาตุนี้ได้.”

พระผู้มีพระภาค จึงกดนิ้วพระบาทลง ณ ผืนปฐพี ในทันใดนั้น มหาตรีสหัสสโลกธาตุ ก็มีอันเปลี่ยนแปลง ปรากฏเป็นรัตนอลังการนับแสนโกฏิประดับประดาแล้ว ประชุมชนทั้งปวงพากันอุทานด้วยความมหัศจรรย์ว่า
“สิ่งที่ไม่เคยมีก็มีขึ้นแล้วหนอ” ต่างเห็นตนของตนเองนั่งอยู่บนปทุมรัตน์อันเป็นทิพย์

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร! เธอจงทัศนาวิสุทธิคุณาลังการแห่งพุทธเกษตรนี้เถิด.”

พระสารีบุตรทูลว่า “อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งซึ่งข้าพระองค์มิเคยได้เห็นมาก่อน มิเคยได้ฟังมาก่อน บัดนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วหนอ พุทธเกษตรของพระองค์บริสุทธิ์หมดจดยิ่งนัก.”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “โลกธาตุของตถาคต ย่อมบริสุทธิ์เป็นปกติอยู่เป็นนิตย์ แต่เพื่อโปรดบรรดาชนผู้มีอินทรีย์ต่ำ ตถาคตจึงสำแดงให้ปรากฏเห็นเป็นไม่บริสุทธิ์ขึ้น เหมือนดังปวงเทพยาดาต่างร่วมเสวยสุทธาโภชน์ในทิพยภาชน์อันเดียว ด้วยอำนาจแห่งบุญสมภารของแต่ละองค์ไม่เสมอกัน ทิพย์โภชน์จึงปรากฏหาคล้ายกันไม่ ฉันใดก็ฉันนั้นนะ สารีบุตร! ถ้าบุคคลมีจิตบริสุทธิ์ไซร้ เขาย่อมเห็นคุณาลังการแห่งพุทธเกษตรนี้ได้.”

ในกาลซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบันดาล สำแดงความบริสุทธิ์แห่งโลกธาตุอยู่นั้น รัตนกูฏพร้อมด้วยบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๕ คน ต่างก็บรรลุธรรมกษานติ และมี ๘,๔๐๐ คนต่างตั้งจิตมุ่งสำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงยังฤทธิ์นั้นให้กลับคืน โลกธาตุจึงปรากฏสภาพของมันดุจเก่า อนึ่ง มีผู้ปรารถนาต่อสาวกภูมิ ๓๒,๐๐๐ คน ทวยเทพและมนุษย์ต่างเห็นชัดว่า สังขารทั้งปวง มีความทนอยู่มิได้ ต้องแปรผันไปเป็นธรรมดา ในดวงตามีธุลีอันไปปราศจากแล้วได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ ภิกษุ ๘,๐๐๐ รูป หมดอาสวกิเลสถึงความหลุดพ้นแล้ว

ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค จบ.



เงาฝัน:


    

            ปริเฉทที่ ๒
       อุปายโกศลวรรค

ในสมัยนั้น ที่กรุงเวสาลี มีคฤหบดีผู้หนึ่ง ชื่อวิมลเกียรติ ณ เบื้องอดีตภาค ท่านได้เคยบูชาสักการะในพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจักประมาณพระองค์มิได้ ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ มีปฏิภาณอันปราศจากความขัดข้องแลอภิญญา พร้อมทั้งทรงไว้ซึ่งธรรมอรรถ เป็นผู้แกล้วกล้าปราศจากความหวาดกลัว สามารถบำราบมารภัยให้สยบ อนึ่งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคัมภีร์ธรรม มีปรัชญาอันเป็นคุณชาติให้ถึงฝั่งแห่งภพอันดียิ่งอีกทั้งเป็นผู้รอบรู้ในอุปายโกศลวิธี มีมหาปณิธานอันสำเร็จแล้ว มีญาณแทงทะลุในอธิมุตติแห่งปวงสัตว์ พร้อมทั้งความสามารถในอันจักจำแนกอินทรีย์แก่อ่อนในสัตว์เหล่านั้นอีกด้วย คฤหบดีนั้น เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในพุทธภูมิแต่กาลอันนานมาทีเดียว จิตของท่านบริสุทธิ์สะอาด ดำเนินตามมหายานปฏิปทาโดยไม่แปรผัน กับทั้งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพุทธวัตรสมาจาร มีจิตอันไพศาลดุจมหาสาคร คฤหบดีนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงสดุดีอนุโมทนาสาธุการ เขาเป็นที่เคารพนับถือของพระสาวกทั้งหลายตลอดจนทวยเทพทั้งปวง มีท้าวศักรินทร์และท้าวมหาพรหมปชาบดีเป็นอาทิ และเนื่องด้วยคฤหบดีนั้นมีความจำนงอันจักโปรดสรรพสัตว์ ท่านจึงสำแดงซึ่งอุปายโกศลวิธีด้วยการเข้ามาตั้งเคหสถานอาศัย ณ กรุงเวสาลี.

ท่านได้บริจาคทรัพย์จำนวนเหลือประมาณ เพื่อประโยชน์แก่ปวงชนทุคตะเข็ญใจ ท่านแสดงการรักษาศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้ทุศีลจักได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง แสดงความอดกลั้นด้วยขันติคุณ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีโกสัชชะ แสดงความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในสมาธิฌาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีจิตฟุ้งซ่าน และได้ใช้สติปัญญาของท่านสงเคราะห์ชนผู้ปราศจากปัญญาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย คฤหบดีนั้น แม้จะเป็นอุบาสกผู้นุ่งขาว แต่ก็ปฏิบัติรักษาวินัยของสมณะ แม้จะเป็นผู้ครองเรือน แต่ก็มีจิตไม่ยึดมั่นในภพทั้ง 3 แม้ท่านจักแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีภริยา แต่ก็รักษาพรหมจรรย์ไว้โดยบริสุทธิ์ แม้จะมีบริวารชน แต่ก็มีจิตยินดีในความสงัดห่างไกลจากบริวารชน แม้ร่างกายของท่านจะประดับด้วยเครื่องรัตนอลังการ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก แต่ภายในจิตของท่านมิได้พอใจผูกพันกับเครื่องประดับเหล่านั้น เพราะท่านมีคุณสมบัติต่าง ๆ มีปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องประดับใจ และถึงแม้ท่านจะบริโภคอาหารเช่นคนทั้งหลาย แต่อาหารที่แท้จริงท่านก็คือถือเอารสแห่งปิติในฌานเป็นอาหาร และท่านมักจะไปปรากฏตัวในวงการพนัน วงการหมากรุก วงการเสพสุรา วงการละเล่นมหรสพ ตลอดจนกระทั่งสำนักหญิงโสเภณี ก็เพื่ออาศัยสถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งประกาศสัจธรรม ชี้แจงบาปบุญคุณโทษแก่ชนผู้มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย

นอกจากนี้ ท่านยังเที่ยวไปตามสำนักพาหิรลัทธิตามสถานสาธารณะต่าง ๆ ตามถนนหนทาง เพื่อประกาศพระพุทธธรรมให้สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนทั้งวัยเด็กหนุ่มสาววัยชรา และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เกียรติคุณของท่านวิมลเกียรติ จึงแพร่หลายอุโฆษไปทั่ว ท่านเป็นที่เคารพยกย่องของกษัตริย์ สมณพราหมณ์ เสนาอำมาตย์ คฤหบดี ประชาชนพลเมืองทุกชั้นทุกวัย นอกจากท่านวิมลเกียรติจะบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่มนุษย์แล้วท่านยังบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่ทวยเทพด้วย ท่านเป็นที่เคารพของปวงพรหมเทพ ด้วยท่านแสดงธรรมอันประกอบด้วยโลกุตรปัญญาให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของปวงเทพในฉกามาวจรมีท้าววาสวะเป็นต้น ด้วยท่านแสดงธรรมชี้ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสังขารธรรมให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของท้าวจตุโลกบาลราชา ด้วยท่านพร่ำสอนธรรมให้ท้าวเธอและบริวารคุ้มครองรักษาโลก อันท่านคฤหบดีวิมลเกียรติสมบูรณ์ด้วยอุปายโกศลจริยา บำเพ็ญคุณานุคุณ หิตประโยชน์ในสรรพสัตว์ ด้วยประการฉะนี้แล.

                         

สมัยหนึ่ง ท่านวิมลเกียรติสำแดงตนว่าบังเกิดอาพาธด้วยอุบายนี้ จึงเป็นเหตุให้บรรดาราชา อำมาตย์ สมณพราหมณ์ คฤหบดี และชาวชนเป็นจำนวนมากหลายพันเป็นอเนก ต่างพากันมาเยี่ยมเยือนถามอาการไข้ถึงคฤหาสน์ ท่านจึงถือโอกาสที่ชนเหล่านี้มาเยี่ยมแสดงธรรมว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกายนี้ไม่แท้เที่ยง ปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือนร้อนเป็นที่ประชุมของโรค ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดังนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน สรีระนี้อุปมาดังฟองน้ำจักลูบคลำมิได้ สรีระนี้อุปมาดังต่อมน้ำ เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน สรีระนี้อุปมาดังพยับแดด เพราะเกิดมาแต่ตัณหา สรีระนี้อุปมาดังต้นกล้วยเพราะปราศจากแก่นสาร สรีระนี้อุปมาดังภาพมายา เพราะเกิดมาแต่ความวิปลาส สรีระนี้อุปมาดังความฝัน เพราะเกิดมาแต่ความหลงผิดให้เห็นไป สรีระนี้อุปมาดังเงา เพราะเกิดมาจากกรรมสมุฏฐาน สรีระนี้อุปมาดังเสียง เพราะอาศัยประชุมแห่งปัจจัยจึงมีได้ สรีระนี้อุปมาดังก้อนเมฆเพราะตั้งอยู่ชั่วคราวก็เปลี่ยนแปร สรีระนี้อุปมาดังสายฟ้าแลบ เพราะตั้งอยู่คงทนมิได้ทุก ๆ ขณะ ฯลฯ”

ท่านวิมลเกียรติได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้วจึงกล่าวสรุปว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่า อันพระพุทธสรีรกายนั้น คือพระธรรมกายนั้นเองย่อมเกิดมาจากปัญญาและคุณสมบัติเป็นอันมาก จักประมาณมิได้ เกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เกิดมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกิดมาจากทาน ศีล ขันติ โสรัจจะ วิริยะ ฌาน วิมุตติ สมาธิ พหูสูต ปัญญาแลปวงบารมีธรรม ๓๗ เกิดมาจากสมถวิปัสสนา เกิดมาจากทศพลญาณ เกิดมาจากจตุเวสารัชชญาณและอเวณิกธรรม ๑๘ เกิดมาจากสรรพอกุศลสมุจเฉทธรรมและจากสรรพกุศลภาวนาธรรมเกิดมาจากภูตตัตตวธรรม เกิดมาจากอัปปมาทธรรมและวิสุทธิธรรมเป็นอเนกอนันต์ดังกล่าวมานี้ ยังพระตถาคตกายให้บังเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกาย และอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตรายของสรรพสัตว์ได้ขาด ผู้นั้นถึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเถิด.”

ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้แสดงธรรมกถากับบรรดาผู้มาเยี่ยมเยือนไข้ของท่านด้วยประการดังนี้ ยังบุคคลหลายพันเป็นอเนกให้บังเกิดจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยถ้วนหน้าแล

ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค จบ.



http//www.mahayana.
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,1380.0.html

เงาฝัน:
 

          

            ปริเฉทที่ ๓
       สาวกวรรค

ในสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี บังเกิดความปริวิตกขึ้นว่าเรานอนป่วยอยู่บนเตียงเห็นปานฉะนี้ ไฉนพระผู้มีพระภาคผู้ทรงไว้ซึ่งมหาเมตตาธรรม จึงมิได้ส่งผู้ใดมาเยี่ยมเยือน
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า

“ดูก่อนพระสารีบุตร เธอจงไปเยี่ยมเยือนไต่ถามอาการป่วยของวิมลเกียรติคฤหบดีเถิด”

พระสารีบุตรได้กราบทูลสนองพระดำรัสว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์กำลังนั่งคู้สมาธิบัลลังก์อยู่ในท่ามกลางวนาสณฑ์ ครั้งนั้น ท่านวิมลเกียรติได้มาพูดกับข้าพระองค์ว่า

“ข้อแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้าไม่จำเป็นต้องมานั่งอาการอย่างนี้โดยสำคัญว่าเป็นการนั่งสมาธิ อันการนั่งสมาธิที่แท้จริงนั้น คือการไม่ปรากฏกายใจในภพทั้ง ๓ ไม่ต้องออกจากนิโรธสมาบัติ แต่ก็สามารถแสดงบรรดาอิริยาบถให้ปรากฏได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องสละมรรคธรรม แต่ก็สามารถทำกิจกรรมของปุถุชนได้ นี้ก็คือการนั่งสมาธิ จิตไม่ยึดติดในภายใน หรือยึดติดในภายนอก นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่มีความหวั่นไหวกำเริบ เพราะเหตุแห่งปวงทิฏฐิ แลสามารถอบรมในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องตัดกิเลส แต่สามารถเข้านิพพานได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ถ้าพระคุณเจ้าอาจที่จักนั่งด้วยวิธีอย่างนี้ พระพุทธองค์ย่อมจักรับรอง.”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้สดับวาจาดังกล่าวนี้แล้ว ต้องหยุดนิ่งสงบ มิอาจตอบสนองพจน์ไปได้ ด้วยเหตุนี้ ข้อพระองค์จึงไม่สมควรเหมาะสมในการไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า.”

พระบรมศาสดาจึงดำรัสให้พระโมคคัลลานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระโมคคัลลานะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์จาริกเข้าไปในเมืองเวสาลี ได้แสดงธรรมโปรดพวกคฤหบดีในตรอกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะ การแสดงธรรมโปรดพวกอุบาสกนุ่งขาวเหล่านี้ ไม่ใช่แสดงอย่างวิธีของพระคุณเจ้าอย่างนี้หรอก อันว่าผู้แสดงธรรมนั้นสมควรจักต้องแสดงให้ถูกกับทำนองคลองธรรม ธรรมนั้นไม่มีสัตว์ เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งสัตว์ ธรรมนั้นไม่มีอาตมันเพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งอาตมัน ธรรมนั้นไม่มีชีวะเพราะพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ธรรมนั้นไม่มีบุคคล เพราะขาดจากห้วงแห่งอดีต อนาคตธรรมนั้นมีสันติเป็นธรรมดา เพราะดับปวงลักษณะเสียได้ ธรรมนั้นห่างไกลจากลักษณะ เพราะปราศจากอารมณ์ ธรรมนั้นไม่มีนามบัญญัติเพราะขาดจากวจนะโวหาร ธรรมนั้นไม่มีอะไรจะแสดงได้ เพราะไกลจากความวิตกวิจารณ์ ธรรมนั้นไม่มีสัณฐานนิมิต เพราะว่างเปล่าดุจอากาศ ธรรมนั้นปราศจากปปัญจธรรม เพราะมีสุญญตาเป็นสภาพ ธรรมนั้นไม่มีมมังการ เพราะพ้นจากความยึดถือว่าเป็นของของเรา ธรรมนั้นไม่มีวิกัลปะ เพราะไกลจากวิญญาณความรู้ทางอายตนะทั้งหลาย ธรรมนั้นปราศจากการเปรียบเทียบได้ เพราะพ้นจากความเป็นคู่ ธรรมนั้นไม่สงเคราะห์ว่าเป็นเหตุ เพราะมิได้อยู่ในประชุมของปัจจัย...ฯลฯ...

พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ เมื่อธรรมลักษณะมีสภาพดั่งนี้แล้วจักนำมาแสดงได้อย่างไรเล่า ? อันการแสดงธรรมนั้น เนื้อแท้ไม่มีการกล่าว ไม่มีการแสดง และผู้สดับธรรมเล่า ก็ไม่มีการฟังหรือการได้อะไรไป อุปมาดุจมายาบุรุษแสดงธรรมให้มายาบุรุษอีกผู้หนึ่งฟังฉะนั้น พึงตั้งจิตของตนให้ได้อย่างนี้แล้วพึงแสดงธรรมเถิด พึงแจ่มแจ้งในอินทรีย์แก่อ่อนคมทู่ของสรรพสัตว์ มีญาณทัสสนะอันเชี่ยวชาญ ปราศจากความขัดข้อง ประกอบด้วยมหากรุณาจิต สดุดีลัทธิมหายาน จิตตั้งอยู่ในอนุสรณ์ที่จักบูชาพระคุณของพระพุทธองค์ ไม่ละขาดจากพระไตรรัตน์ ทำได้เช่นนี้ภายหลังจึงแสดงธรรมเถิด.”

“เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงธรรมกถาจบลง คฤหบดีจำนวน ๘๐๐ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้าพระองค์ไม่มีปฏิภาณเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระมหากัสสปะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระมหากัสสปะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเยี่ยมไข้ของอุอาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เที่ยวจาริกบิณฑบาต ตามละแวกบ้านคนยากจน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ พระคุณแม้จะมีจิตกอปรด้วยเมตตากรุณา แต่ก็ไม่ปกแผ่ไพศาลเลย ทั้งนี้เพราะพระคุณละเลยบ้านของคนร่ำรวย มาบิณฑบาตโปรดเฉพาะคนเข็ญใจเท่านั้น ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ขอพระคุณเจ้าจะตั้งอยู่ในสมธรรมอันเสมอภาคเสียก่อน จึงค่อยมาจาริกบิณฑบาต เพื่อไม่มีความปรารถนาในอาหารเป็นเหตุ จึงสมควรจาริกบิณฑบาต เพื่อทำลายการประชุมแห่งขันธ์เป็นเหตุ จึงสมควรถือเอาก้อนภิกษาไปเพื่อไม่ต้องเสวยภพใหม่อีกเป็นเหตุ จึงสมควรรับบิณฑบาตทานของชาวบ้านได้ พึงมีสุญญตสัญญาในการเข้าไปสู่คามนิคมชนบท รับรูปารมณ์ดุจผู้มีจักษุมืด รับสัททารมณ์ดุจสักว่าเสียงดัง รับคันธารมณ์ดุจสักว่าเป็นวาโย รับรสารมณ์ก็ไม่มีวิกัลปะ รับโผฏฐัพพารมณ์ดุจได้บรรลุญาณทัสสนะรู้ธรรมารมณ์ทั้งปวงว่าเป็นมายา ปราศจากอัตตภาวะ หรือปรภาวะ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมิได้เกิดมีขึ้นด้วยภาวะของมันเอง ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่เรียกว่าแตกดับหักสูญไป

ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ถ้าพระคุณเจ้าจักสามารถไม่ละมิจฉัตตธรรมทั้ง ๘ แต่ก็บรรลุเข้าถึงวิโมกข์ ๘ ได้อาศัยมิจฉาภาวะเข้ากลมกลืนสัมมาธรรมได้ สามารถนำอาหารมื้อหนึ่งบริจาคในสรรพสัตว์ได้ และนำไปกระทำบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอริยบริษัททั้งปวงได้ เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จึงจักสมควรในการขบฉันอาหารบิณฑบาตต่อภายหลัง ผู้ที่กระทำได้โดยประการดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ขบฉันที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความสิ้นไปแห่งกิเลส ชื่อว่ามิได้เข้าสู่สมาธิจิต หรือออกจากสมาธิจิต ไม่มีการยึดมั่นตั้งอยู่ในโลก หรือยึดมั่นตั้งอยู่ในพระนิพพาน ฝ่านทายกทายิกาผู้บริจาคเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีการได้บุญญานิสงส์ใหญ่ หรือได้บุญญานิสงส์น้อย ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหายอย่างไร นี้แลชื่อว่าเป็นวิถีแห่งการเข้าสู่พุทธภูมิ โดยไม่อาศัยสาวกภูมิพระคุณเจ้ากัสสปะ หากพระคุณตั้งอยู่ในธรรมดังพรรณนามาแล้ว ขบฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล จึงจักได้ชื่อว่าเป็นการขบฉันอาหารของชาวบ้านโดยไม่สูญเปล่า

“ข้าแต่พระสุคต เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดั่งนี้แล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นว่า สิ่งที่มิได้มีก็ได้มีขึ้นแล้วหนอ! ข้าพระองค์มีความรู้สึกเคารพนับถือในปวงพระโพธิสัตว์อย่างยิ่ง อนึ่ง ยังมีปริวิตกว่า คฤหบดีผู้นี้เป็นผู้ครองเรือนแท้ ๆ ยังมีปฏิภาณปัญญาโกศลเห็นปานฉะนี้ ผู้ที่ได้ฟังธรรมของเขาแล้ว ใครเลยที่จักไม่ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตัวของข้าพระองค์เอง จำเดิมนับแต่นั้นมา ก็ไม่เทศนาสั่งสอนผู้ใดให้ประพฤติสาวกจริยา หรือปัจเจกโพธิจริยาอีก (คือสอนให้ประพฤติตามพุทธจริยาอย่างเดียว) ด้วยเหตุประการดั่งนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมไม่ควรต่อการไปเยี่ยมไข้อุบาสกนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”

           

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระสุภูติไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระสุภูติกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์ได้เข้าไปบิณฑบาต ณ คฤหาสน์ของอุบาสกนั้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามารับเอาบาตรของข้าพระองค์ไปบรรจุภัตตาหารจนเต็มเปี่ยม แล้วก็ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ ในการขบฉันภัตตาหารนี้ หากพระคุณสามารถแทงทะลุถึงภาวะตามเป็นจริงแห่งธรรมทั้งหลายว่า เป็นสมภาพเสมอกันหมด และสามารถแทงทะลุในธรรมทั้งหลายแต่ละอย่างไซร้ และเที่ยวบิณฑบาตโดยประการดั่งนี้ จึงสมควรที่จักถือเอาภัตตาหารนี้ไปขบฉันได้ พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณมิต้องตัดถอน ราคะ โทสะ โมหะ ให้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่อยู่ร่วมกับกองกิเลสเหล่านี้ ไม่ต้องทำลายสรีรขันธ์แต่ก็สามารถเข้าถึงสุญญตาอันเป็นเอกภาพได้ อาศัยปัญจานันตริยกรรม แต่ก็บรรลุวิมุตติได้ อันที่จริงก็ไม่มีการรอดพ้นและไม่มีการผูกมัดใด ๆ ไม่ต้องเป็นแจ้งในจตุราริยสัจ และมิได้มีการไม่เห็นแจ้งในจตุราริยสัจ ไม่มีการบรรลุอริยผล และมิได้มีการไม่บรรลุอริยผล ไม่มีปุถุชน และไม่มีการพ้นจากภาวะปุถุชน ไม่มีพระอริยบุคคล และมิได้มีอนาริยบุคคล ถึงแม้เป็นผู้ยังธรรมทั้งปวงให้สำเร็จเป็นไปอยู่ แต่ก็ไม่มีอุปาทานพ้นจากธรรมเหล่านั้น

พระคุณทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้ ข้าแต่ท่านสุภูติผู้เจริญ พระคุณอย่าไปเฝ้าพระพุทธองค์ อย่าสดับพระสัทธรรม แต่จงถือครูพาหิรลัทธิทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ สัญชัยเวลัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ และนิครนถ์นาฏบุตรว่าเป็นศาสดา จงไปบรรพชาในสำนักของครูเหล่านี้ เมื่อครูทั้ง ๖ เขาตกไปสู่อบายภูมิ พระคุณก็ตกตามเขาไปด้วย ทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้ อนึ่งถ้าพระคุณสามารถเข้าถึงมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง อย่าบรรลุถึงฝั่งแห่งภพ ตั้งอยู่ในอัฏฐอันตรายิกธรรม อย่าบรรลุถึงความเกษมจากอันตรายดังกล่าวนั้น มีกิเลสเป็นสหธรรมอยู่ร่วมกัน ห่างไกลจากวิสุทธิธรรม ตัวของพระคุณไม่ชื่อว่าเป็นบุญเขตของผู้บริจาค ผู้ที่บูชาสักการะทำบุญกับพระคุณ ชื่อว่าเป็นผู้บ่ายไปสู่อบายภูมิ พระคุณจงจูงมือกับบรรดามารทั้งหลาย เป็นสหายร่วมงานกับเหล่ามารนั้น ตัวของพระคุณกับสรรพมารพร้อมทั้งปวงกิเลสไม่มีอะไรแตกต่างกัน มีจิตผูกเวรในสรรพสัตว์ กล่าวจ้วงจาบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กับทั้งทำลายพระธรรม และไม่เข้ากับหมู่สงฆ์ ในที่สุดก็ไม่สำเร็จพระนิพพาน หากพระคุณเป็นได้อย่างนี้ จึงสมควรถือเอาภัตตาหารนี้ไป.”

“ข้าแต่พระสุคต สมัยนั้น เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดังกล่าวแล้วก็ให้งงงันไปหมด ไม่เข้าใจว่าเป็นถ้อยคำอะไร ? ไม่ทราบว่าจะโต้ตอบได้อย่างไร ? ข้าพระองค์จึงวางบาตรไว้จะเดินออกจากคฤหาสน์นั้นวิมลเกียรติอุบาสกก็พูดขึ้นว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณจงนำเอาบาตรไปเถอะ อย่าได้มีหวั่นกลัวเลย พระคุณจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? ในกรณีที่พระตถาคตเจ้า ทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เกิดมีมายาบุรุษผู้หนึ่งขึ้นมาแล้ว พระองค์นำเอาถ้อยคำดังเช่นที่กระผมกล่าวถามพระคุณนั้น ถามมายาบุรุษอันมายาบุรุษนั้นจักบังเกิดความหวั่นกลัวฤๅหนอแล?”
ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”

“ท่านวิมลเกียรติกล่าวว่า “ธรรมทั้งหลายก็เปรียบดุจมายาลักษณะพระคุณจึงมิควรมีความหวั่นกลัวอะไร ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายเป็นสักแต่ว่าบัญญัติโวหาร ปราศจากสาระที่มีอยู่ด้วยภาวะของมันเอง ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดถือในอักขระถ้อยคำ ฉะนั้นจึงปราศจากความหวั่นหวาดใด ๆ ด้วยเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะเหตุว่าอักขระถ้อยคำนั้น แท้จริงก็ปราศจากสภาวะ ( เป็นสุญญตา) แล้ว นั้นคือ วิมุตติธรรม และวิมุตติธรรมนี้เองที่เป็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วย”

“เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมกถานี้จบลง ก็มีเทวบุตร ๒๐๐ องค์ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระปุณณมันตานิกบุตรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระปุณณมันตานี้บุตรกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์พักอาศัยในมหาวนาสณฑ์อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ กำลังแสดงธรรมให้บรรดาพวกภิกษุฟัง ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าปุณณะ ขอพระคุณได้เข้าสมาบัติตรวจดูจิตตัชฌาสัยแห่งภิกษุเหล่านี้ก่อนเถิด แล้วจึงค่อยแสดงธรรมโปรดภายหลัง พระคุณโปรดอย่าได้นำโภชนาหารอันหยาบสกปรกใส่ลงไปในรัตนภาชน์เลย พระคุณสมควรรู้แจ้งถึงภูมิธรรมแห่งจิตของภิกษุเหล่านี้ อย่าได้นำไพฑูรย์อันมีค่าไปเสมอกับลูกปัดเลย พระคุณไม่สามารถแทงตลอดในอินทรีย์ของสรรพสัตว์ ก็โปรดอย่าได้ชักจูงให้ภิกษุเหล่านี้ให้ตั้งอยู่ในธรรมฝ่ายหินยานเลย ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ปราศจากบาดแผลในตัวอยู่แล้ว ขอพระคุณอย่าได้ไปทำให้มีขึ้นเลย อนึ่ง ภิกษุเหล่านี้มีความปรารถนาที่จักประพฤติมหามรรคจริยา แต่พระคุณกลับไปชี้ให้เดินตามหินมรรคจริยาพระคุณอย่าได้นำมหาสมุทรมาบรรจุใส่ไว้ในรอยเท้าโคเลย และอย่าได้นำแสงทิวากรมาเสนอเปรียบเทียบกับแสงหิ่งห้อยเลย ข้าแต่ท่านปุณณะผู้เจริญ บรรดาภิกษุทั้งหมดนี้ ได้ตั้งจิตมุ่งต่อมหายานธรรมมาแล้วแต่กาลอันยาวนานทีเดียว ครั้นมาในท่ามกลางก็ตะลึงมโนปณิธานนั้นเสีย ไฉนพระคุณจึงจักนำหินยานธรรมมาแนะนำสั่งสอนเล่า ? กระผมพิจารณาแล้วเห็นว่า อันบุคคลผู้เป็นฝ่ายหินยานมีปัญญาน้อยตื้น อุปมาดังคนมีจักษุบอด ไม่อาจสามารถจำแนกอินทรีย์ละเอียดหยาบของสรรพสัตว์ได้”

“เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว วิมลเกียรติอุบาสกก็เข้าสมาบัติ บันดาลด้วยฤทธิ์ให้ภิกษุเหล่านั้นบังเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณขึ้น ต่างระลึกได้ว่าในอดีตกาล ต่างได้เคยปลูกฝังกุศลมูลในเฉพาะพระพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์มาแล้ว โดยต่างตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในทันใดนั้นภิกษุทั้งหมดเหล่านั้น ก็มีจิตกลับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมเดิมนั้นอีก และภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็มีจิตกลับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมเดิมนั้นอีก และภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็พากันอภิวาทบาทของวิมลเกียรติอุบาสกด้วยเศียรเหล่า ครั้งนั้น วิมลเกียรติอุบาสกได้กล่าวธรรมกถา ยังจิตของภิกษุเหล่านั้นไม่ให้เสื่อมถอยจากพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณวิถีอีกต่อไป ข้าพระองค์มาตรึกว่า พระสาวกซึ่งไม่พิจารณาอินทรีย์ของสัตว์โลก ก็มิสมควรที่จักแสดงพระสัทธรรม เพราะเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่สมควรในการไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีผู้นั้น พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระมหากัจจานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหากัจจานะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แต้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระสุคตเจ้าทรงพระสัทธรรมโดยสังเขปนัยแต่หมู่ภิกษุสงฆ์ ภายหลังข้าพระองค์ได้ทำหน้าที่อรรถาธิบายในข้อสัทธรรมนั้น อันว่าด้วยเรื่อง อนิจจกถา ทุกขกถา สุญญาตกถา อนัตตกถา นิโรธกถา เป็นต้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวแก่ข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้ามหากัจจานะ พระคุณโปรดอย่าแสดงภูตสัตยธรรมด้วยจิตจรรยาอันเกิดดับนี้เลย พระคุณเจ้ามหากัจจานะ แท้จริงธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีความเกิด ไม่มีความดับเป็นสภาพ นี้คือความหมายแห่งอนิจจตา การพิจารณาแทงตลอดในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นสภาพว่างเปล่าปราศจากสาระบังเกิดขึ้น นี้คือความหมายแห่งทุกขตา ธรรมทั้งหลายปราศจากสภาวะในที่สุด นี้คือความหมายแห่งสุญญตา อัตตากับอนัตตามิได้เป็นธรรมแตกต่างกัน นี้คือความหมายแห่งอนัตตา ตามธรรมดาธรรมทั้งปวงก็ไม่มีสภาพอุบัติขึ้น ฉะนั้น จึงไม่มีสภาพดับสลายไป นี้คือความหมายแห่งนิโรธ.”

“เมื่อคฤหบดีนั้นกล่าวจบลง ภิกษุเหล่านั้น มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเหตุฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมเขา พระพุทธเจ้าข้า”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกา ให้พระอนุรุทธะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหาเถระกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็เป็นผู้ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เดินจงกรมอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น มีพรหมราชองค์หนึ่ง ทราบนามว่าอลังการวิสุทธิพรหม พร้อมด้วยพรหมบริษัทหนึ่งหมื่นองค์ มีรัศมีโอภาสรุ่งเรืองยิ่งนัก เข้ามาหาข้าพระองค์ การทำการอภิวาทน์โดยความเคารพแล้วถามข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทิพยจักษุของพระคุณจักมีทัศนวิสัยเพียงไรหนอ?”

“ข้าพระองค์จึงตอบไปว่า “ท่านผู้เจริญ เราทัศนาพุทธเกษตรองค์สมเด็จพระศากยมุนีพุทธเจ้า พร้อมทั้งมหาตรีสหัสสโลกธาตุ ดุจเล็งดูผลมะขามป้อมในฝ่ามือ”
“สมัยนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามาพูดกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทัศนวิสัยแห่งทิพยจักษุของพระคุณนั้น พระคุณแลดูด้วยจิตปรุงแต่งในลักษณะฤๅไม่ หรือว่าแลดูด้วยจิตอันปราศจากการปรุงแต่งในลักษณะ ? หากพระคุณแลดูด้วยจิตที่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นสังขตธรรม ย่อมมีค่าเท่ากับอภิญญา ๕ ของพวกพาหิรลัทธิ หากพระคุณแลดูด้วยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นอสังขตธรรม ย่อมไม่ควรที่จักมีการเห็นอะไรอีก.”

“ข้าแต่พระสุคต เวลานั้นข้าพระองค์ต้องสงบนิ่งไป มิได้ตอบว่าอย่างไร แต่บรรดาพรหมเทพเหล่านั้น ครั้นได้สดับถ้อยคำนั้นแล้ว รู้สึกว่าเป็นถ้อยคำที่ตนไม่เคยฟังมาก่อน จึงพากันทำอภิวาทน์วิมลเกียรติคฤหบดี แล้วถามขึ้นว่า

“ข้าแต่ท่านวิมลเกียรติผู้เจริญ ในสากลโลกนี้ ผู้ไดเล่าที่ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ?”

คฤหบดีนั้นตอบว่า “มีอยู่ คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ทรงอยู่ในสมาธิโดยมิขาด เล็งแลเห็นสรรพพุทธเกษตรทั้งปวง มิได้เห็นโดยอาศัยจิตปรุงแต่งในลักษณะหรือเห็นโดยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ.”

“พรหมราชอลังการวิสุทธิ พร้อมพรหมบริษัทอีก ๕๐๐ องค์ ได้สดับธรรมกถานี้แล้ว ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วพากันอภิวาทบาทของวิมลเกียรติคฤหบดี อันตรธานหายไปในบัดดลนั้น โดยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นพระพุทธเจ้าข้า.”



เงาฝัน:




พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธบรรหารให้พระอุบาลีไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอุบาลีกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง มีภิกษุสองรูปประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ เธอมีความสำนึกละอายในอาบัตินั้น ไม่กล้าจักกราบทูลไต่ถามโทษแห่งอาบัติกับพระสุคตเจ้าได้ จึงได้มาไต่ถามข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่ท่านอุบาลีผู้เจริญ เราทั้งสองต้องอาบัติล่วงพระวินัยบัญญัติ มิอาจกราบทูลถามพระพุทธองค์ได้ ขอท่านผู้เจริญโปรดได้เมตตาช่วยตัดวิมุติกังขา เพื่อเราทั้งสองจักได้พ้นอาบัติด้วยเถิด.

“ข้าพระองค์จึงได้ชี้แจงโดยสมควรแก่พระธรรมวินัย ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดี ได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี ขอพระคุณอย่าได้เพิ่มโทษผิดให้กับพระภิกษุสองรูปนี้เลย พระคุณควรจะสอนให้ดับโทษที่สมุฏฐานโดยตรงดีกว่า ไม่พึงก่อวิปฏิสารจิตแก่ท่านทั้งสองรูป ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าสภาวะแห่งอาบัติโทษนั้น มิได้อยู่ภายใน มิได้อยู่ภายนอก และมิได้อยู่ ณ ท่ามกลาง สมดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เศร้าหมอง เมื่อจิตผ่องแผ้ว สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ผ่องแผ้วก็ธรรมชาติแห่งจิตนั้น ไม่ตั้งอยู่ภายใน ไม่ตั้งอยู่ภายนอก และไม่ตั้งอยู่ ณ ท่ามกลาง ธรรมชาติแห่งจิตเป็นอย่างไร ธรรมชาติแห่งอาบัติโทษก็ย่อมมีอุปมาดุจเดียวกัน ธรรมทั้งปวงมีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะสิ่งทั้งปวง ย่อมไม่พ้นจากความเป็น “ตถตา” เช่นเดียวกับพระคุณท่านอุบาลีเอง เมื่อสมัยที่จิตของพระคุณหลุดพ้นจากอาสวกิเลส จิตในสมัยนั้นจักมีความเศร้าหมองฤๅไม่ ?”

ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”

วิมลเกียรติคฤหบดีจึงว่า “ธรรมชาติจิตของสรรพสัตว์ ก็ปราศจากความเศร้าหมองโดยนัยเดียวกัน.

ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี วิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมองความพ้นจากวิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ วิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ ความยึดถือในตัวตนชื่อว่าธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากความยึดถือตัวตนชื่อว่าธรรมบริสุทธิ์ พระคุณท่านอุบาลีผู้เจริญ อันธรรมทั้งปวงนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปราศจากแก่นสาร ความดำรงมั่นเหมือนมายาเหมือนสายฟ้าแลบ ธรรมทั้งปวงไม่เป็นคู่ แม้เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งก็ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ ธรรมทั้งปวงสำเร็จมาจากวิกัลปทิฏฐิเหมือนฝัน เหมือนพยับแดด เหมือนเงาดวงจันทร์ในน้ำ เหมือนเงาในกระจก ล้วนอุบัติมาจากวิกัลปสัญญา ผู้ที่เข้าถึงสถานะความจริงอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระวินัย และชื่อว่าเป็นผู้แตกฉานเจนจบในพระวินัยโดยแท้จริง.”

ภิกษุทั้งสองรูป ได้กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญเป็นผู้มีปัญญาเยี่ยมยอดโดยแท้หนอ แม้แต่ท่านพระอุบาลีก็ยังไม่อาจเปรียบปานได้ ขนาดเป็นเอตทัคคะทางพระวินัยก็ยังไม่สามารถจักแสดงถึงเช่นนี้ได้.”

ข้าพระองค์จึงกล่าวตอบไปว่า “ยกพระผู้มีพระภาคเสียแล้วก็ไม่มีพระสาวกหรือพระโพธิสัตว์ได ๆ ที่จักมีสติปัญญาปฏิภาณโวหารสามารถ แหลมลึกเช่นอุบาสกผู้นี้ได้”

สมัยนั้น พระภิกษุสองรูป มีวิมุติกังขาไปปราศจากแล้ว ได้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมกับตั้งจิตปฎิธานว่า “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีสติปัญญา ปฏิภาณสามารถอย่างเดียวกันนี้ทั่วหน้าเถิด.”

เพราะเหตุฉะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระราหุลเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ พระราหุลกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง คฤหบดีทั้งหลายชาวเมืองเวสาลีได้เข้ามาหาข้าพระองค์ กระทำอภิวาทน์ แล้วกล่าวขึ้นว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุลผู้เจริญ พระคุณเป็นโอรสผู้ประเสริฐของพระพุทธองค์ แต่พระคุณสละจักรพรรดิสมบัติออกบรรพชาบำเพ็ญวิราคธรรม ก็การประพฤติเนกขัมมจริยาดังกล่าวนั้น จักมีคุณประโยชน์ประการใดบ้าง ?”

“ข้าพระองค์จึงได้แจกแจงเนกขัมมานิสงส์ โดยนัยประการต่าง ๆ ให้ฟัง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุล ขอพระคุณโปรดอย่าได้แสดงถึงเนกขัมมานิสงส์ได ๆ เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ เพราะเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีสภาวะใดที่จะพึงเรียกว่าคุณประโยชน์ หรือจักพึงเรียกว่าบุญญานิสงส์นั่นเอง และนั่นจึงเป็นอรรถรสอันแท้จริงของการออกบรรพชา โดยนัยแห่งสังขตธรรม จึงกล่าวบัญญัติได้ว่า มีสภาวะที่เป็นคุณประโยชน์ มีสภาวะที่เป็นบุญญานิสงส์ แต่การออกบรรพชาบำเพ็ญเนกขัมมจริยานั้น ก็เพื่อบรรลุถึงธรรมอันเป็นอสังขตะ ก็ในอสังขตธรรมนั้น ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงบัญญัติเรียกได้ว่าเป็นคุณประโยชน์ฤๅเป็นบุญญานิสงส์ ข้าแต่ท่านราหุลผู้เจริญ ผู้ที่ออกบรรพชาโดยแท้จริงนั้นย่อมไม่ยึดถือว่า มีนั่น มีนี่ หรือยึดถือในท่ามกลาง

เขาย่อมห่างไกลจากทิฏฐิ ๖๒ ตั้งอยู่ในนิพพาน อันเป็นธรรมซึ่งบัณฑิตผู้มีปัญญาจักพึงบรรลุเป็นธรรมซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินตามอยู่ เขาย่อมอาจสามารถทำลายเหล่ามารทั้งหลาย ข้ามพ้นจากปัญจคติ เป็นผู้มีปัญจจักษุอันหมดจด ถึงพร้อมด้วยปัญจพละ ตั้งอยู่ในปัญจอินทรีย์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พ้นจากสรรพอกุศลธรรม ข่มนอนพวกพาหิรลัทธิได้ เป็นผู้พ้นจากข่ายแห่งสมมติบัญญัติ ดังอุบลซึ่งบานพ้นจากเปือกตม เป็นผู้ปราศจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัด ไม่มีอหังการและมมังการ ไม่มีอนุภูตธรรม ไม่มีความฟุ้งซ่านวิปฏิสารใด ๆ ภายในจิต มีแต่ความปีติสุข เป็นผู้แผ่ธรรมคุ้มครองสรรพสัตว์ ให้ได้เข้าถึงสภาพธรรมดุจเดียวกับตนด้วย มีปกติอยู่ในฌานสมาธิ ห่างไกลจากปวงบาปโทษทั้งผองหากผู้ใดทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ออกบรรพชาที่แท้จริง.”

ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดี จึงหันมากล่าวกับบุตรคฤหบดีทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญ สมควรจักอุทิศตนบรรพชาในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะว่าการที่จักได้เกิดร่วมยุคร่วมสมัย มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์เป็นการยากยิ่งนัก จึงไม่ควรพลาดโอกาสนี้เสีย.”

บุตรคฤหบดีทั้งหลายต่างพูดขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราได้สดับพระพุทธพจน์ว่า เมื่อบิดามารดาไม่ยินยอมอนุญาต จักออกบรรพชาอุปสมบทมิได้.”

วิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพึงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักชื่อว่าได้ออกบรรพชาอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว.”

“ครั้งนั้น บุตรคฤหบดี ๓๒ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระอานนท์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอานนท์กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้านั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระสุคตเจ้าประชวรด้วยอาพาธเล็กน้อย จำต้องใช้น้ำนมโคมาบำบัด ข้าพระองค์ได้ถือบาตรจาริกไปยืนอยู่หน้าบ้านของมหาพราหมณ์ผู้หนึ่ง เพื่อบิณฑบาตน้ำนมโค ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ มาถือบาตรยืนอยู่ ณ ที่นี้แต่เช้าเพื่ออะไรหรือ ?”

“ข้าพระองค์ตอบไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคประชวร อาพาธเล็กน้อย จำเป็นต้องใช้น้ำนมโคไปบำบัด อาตมภาพจึงมายืนอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อสิ่งประสงค์นั้น.”

“วิมลเกียรติคฤหบดีพูดว่า “หยุดเถอะ ! หยุดเถอะ ! พระคุณเจ้าอานนท์ อย่าได้กล่าววาจาอย่างนี้อีกเลย อันพระวรกายของพระพุทธองค์นั้น ย่อมสำเร็จเป็นวัชรกายสิทธิ มีสรรพบาปโทษละได้ขาดแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นที่ประชุมแห่งสรรพกุศลธรรมทั้งปวง ที่ไหนจักมีอาพาธมาเบียดเบียนได้ ที่ไหนจักต้องเดือนร้อนเพราะความเบียดเบียนนั้นเล่า ? โปรดเงียบเสียเถิดพระคุณอย่าได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์นักเลย อย่าได้ให้พวกพาหิรชนได้สดับถ้อยคำอันหยาบช้านี้ อย่าได้ให้บรรดาทวยเทพผู้มีมหิทธิฤทธิ์กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในวิสุทธิพุทธเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์สดับถ้อยคำนี้ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งอาศัยบุญญาธิการแต่เพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นผู้ปราศจากพยาธิภัย จักกล่าวไปไยกับพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงสมบูรณ์ ประชุมพร้อมด้วยบุญญาธิการอันไม่มีประมาณประเสริฐเลิศกว่าเล่า

 กลับไปเสียเถิดพระคุณเจ้าอย่ากระทำให้พวกเราต้องได้รับความอับอายเลย พวกพาหิรชนสมณพราหมณ์ภายนอก หากได้สดับถ้อยคำของพระคุณเจ้าแล้ว ก็จักเกิดความตรึกคิดขึ้นว่า ก็นี่จักชื่อว่าพระบรมศาสดาได้อย่างไรกัน เพราะแม้แต่โรคของตนเองยังบำบัดช่วยตนเองไม่ได้ ที่ไหนจักสามารถช่วยบำบัดโรคภัยของผู้อื่นเล่า ? ฉะนั้น พระคุณจงรีบกลับไปเงียบ ๆ อย่ากระโตกกระตากให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ยินเป็นอันขาดเทียวหนา พระคุณเจ้าอานนท์พึงทราบไว้เถอะว่า พระวรกายที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายก็คือพระธรรมกายนั้นเอง มิได้เป็นกายเกิดจากกิเลสตัณหา พระพุทธองค์เป็นพระผู้ควรบูชา ประเสริฐเลิศกว่าผู้หนึ่งผู้ใดในไตรโลก พระสรีระของพระองค์เป็นอนาสวะ มีอาสวธรรมเป็นมูลเฉทสิ้นเชิงแล้ว พระสรีระของพระองค์เป็นอสังขตะ ปราศจาก เหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ไม่ตกไปในข่ายแห่งการนับประมาณได้ ก็เมื่อพระวรกายของพระองค์มีสภาพดังกล่าวมานี้ จักมีโรคาพาธเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า ?

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้บังเกิดความละอายเกรงกลัวในตนเองขึ้นว่า เราเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระบรมศาสดาจักฟังพระพุทธดำรัส โดยฟังผิดไปกระนั้นฤๅ ? ทันใดนั้น ข้าพระองค์ก็ได้ยินเสียงในอากาศดังขึ้นมาว่า ๑ ”

“อานนท์ ! ถูกต้องแล้วตามที่คฤหบดีผู้นั้นกล่าว แต่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าทรงถืออุบัติมาในปัญจสหาโลกธาตุ ซึ่งมีความเสื่อม ๕ ประการจึงทรงสำแดงให้เห็นไปต่าง ๆ (มีอาพาธ) เป็นต้น เพื่อเป็นอุบายโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ จงปฏิบัติต่อไปเถิดอานนท์ บิณฑบาตน้ำนมโคต่อไปได้ โดยอย่ามีความหวั่นเกรงเลย.”

“ข้าแต่พระสุคต ดูเถิด ! สติปัญญาปฏิภาณความสามารถของวิมลเกียรติคฤหบดีมีอยู่เห็นปานฉะนี้ โดยเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้เขา พระพุทธเจ้าข้า.”

ด้วยประการดั่งบรรยายมานี้ พระสาวกทั้ง ๕๐๐ องค์ ต่างก็กราบทูลแถลงยุบลความเป็นมาแห่งเรื่องราวของแต่ละองค์กับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกล่าวสดุดียกย่องชมเชยในพจนาทของวิมลเกียรติคฤหบดี แต่ต่างก็ทูลด้วยเสียงอันเดียวกันว่า ตนเองไม่เหมาะสมแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น

ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค จบ.



http//www.mahayana
http://www.tairomdham.net/index.php?action=post;msg=7454;topic=1381.0

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป