[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 19:26:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  (อ่าน 46865 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2553 10:12:10 »





พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  
(๑๔ ปริเฉท)



โดย.. เสถียร โพธินันทะ
พระสูตรวิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท)

ขอขอบคุณ คุณพี่พีช ซึ่งเป็นผู้ที่พิมพ์พระสูตรนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อผิดผลาดใดที่เกิดขึ้นต้องของอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย..

                                    พระสูตรนี้มี ๑๔ ปริเฉทดังนี้คือ...


ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค
ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค
ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค
ปริเฉทที่ ๔ โพธิสัตววรรค
ปริเฉทที่ ๕ คิลานปุจฉาวรรค

ปริเฉทที่ ๖ อจินไตยวรรค
ปริเฉทที่ ๗ สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๘ พุทธภูมิวรรค
ปริเฉทที่ ๙ อไทฺวตธรรมทวาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค

ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๒ อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๔ ธรรมทายาทวรรค


            กถามุข
ในพระสุตตันตปิฎกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ยุ่ย ม่อ เคียก ซอ ส้วย เก็ง) นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญยิ่งสูตรหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้ได้รวบรวมสารัตถะของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไว้ ทั้งด้านปรมัตถธรรมและสมมติธรรม ทั้งยังแสดงถ่ายทอดออกมาด้วยรูปปุคคลาธิษฐาน มีลีลาชวนอ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้รับธรรมรสซึมซาบเข้าไปโดยมิรู้ตัว พระสูตรนี้ไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี แต่ความข้อนี้มิได้เป็นเหตุให้เราผู้เป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทปฏิเสธคุณค่าของพระสูตรนี้แต่อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากหลักธรรมที่ประกาศในพระสูตรนี้ ก็คงดำเนินไปตามแนวพระพุทธมติ คือในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง แม้จะมีข้อแตกต่างบางประการก็เป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น มิฉะนั้นก็คงไม่เกิดนิกายมหายานขึ้น ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในนิกายนั้นจะเหมือนกับฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอุดมคติและประวัติวิวัฒนาการมาอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับท่านผู้อ่านพระสูตรนี้จำต้องทราบไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสคัดข้อความบางตอนในปาฐกถาของข้าพเจ้า เรื่อง "ลัทธิมหายาน" ซึ่งแสดงแก่คณะนักศึกษาศิลปศาสตร์ ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อ เป็นนิทัศนะ

"ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก จะต้องมีคณะนิกายแบ่งแยกออกมาภายหลังที่พระศาสดาของศาสนานั้นล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อศาสนานั้นแผ่ขยายออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อถือไม่เหมือนกัน ก็มีการผสมผสานกับลัทธิธรรมเนียมเหล่านั้น อีกทั้งทัศนะการตีความในคำสอนของศาสดาของแต่ละบุคคล แต่ละคณะไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกเป็นนิกายขึ้น ศาสนาที่มีลัทธินิกายจึงเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญแห่งศาสนานั้นในแง่หนึ่งเหมือนกัน ว่ากันเฉพาะในพระพุทธศาสนาได้เริ่มแบ่งแยกนิกายขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่๑ ต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่๔ ปรากฏว่ามีนิกายในพระพุทธศาสนาที่เป็นนิกายใหญ่ๆอยู่๑๘นิกาย นิกายที่สำคัญ คือนิกายมหาสังฆิกะกับนิกายเถรวาท มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธปรินิพพานว่า

"ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็มิได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกข้ออย่างเคร่งครัด

อีกประการหนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้น ย่อมอาศัยอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอธิบาย อาจารย์กับอาจารย์ด้วยกันเกิดมีทัศนะอรรถาธิบายพระพุทธมติไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดแบ่งแยกกันออกไป สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะ เป็นพวกที่ต้องการแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถาธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ สงฆ์ฝ่ายเถรวาทถือเคร่งครัดในการรักษาจารีตแบบแผนดังเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่

สรุปแล้วก็คือ

๑.เพราะการปฏิบัติพระวินัยไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา
๒.เพราะทัศนะในหลักธรรม อธิบายไม่ตรงกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
ทั้ง๒ประการนี้เป็นสมุฏฐานให้แบ่งเป็นนิกายขึ้น

จำเดิมแต่พระพุทธศาสนาในอินเดียได้แบ่งออกเป็นนิกายถึง๑๘นิกายใหญ่ จำเนียรกาลล่วงมาในรารวต้นพุทธศตวรรษที่๕ จึงได้เกิดมีขบวนการใหม่ขึ้นอีกขบวนการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ขบวนการนี้เรียกตนเองว่า ลัทธิมหายาน ลัทธินี้ค่อยๆฟักตัวเองขึ้นมาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ทั้ง๑๘นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดขึ้นเป็นลัทธิมหายาน

คำว่า มหายาน มาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่าพาหนะที่กว้างขวางใหญ่โตซึ่งสามารถขน สัตว์โลก ให้ข้ามวัฏฏสงสารได้มาก หลักธรรมของนิกายนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนิกายเถรวาท คือสอนเรื่องอริยสัจ และมีข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือความหลุดพ้นทุกข์ แต่ส่วนที่แตกต่างกันนั้นอยู่ตรงที่นโยบายเผยแผ่กับทั้งวิธีการเผยแผ่เท่านั้น

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญ คือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ

อุดมคติของฝ่ายมหายาน สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในฝ่ายเถรวาทก็รับรอง แต่ฝ่ายมหายานหยิบยกเอาเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ ฝ่ายเถรวาทประกาศเรื่องหลักอริยสัจ๔เป็นสำคัญ แต่ฝ่ายมหายานประกาศเรื่องทศบารมีเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่มีเรื่องทศบารมี หรือฝ่ายมหายานจะไม่มีหลักอริยสัจก็หาไม่ เป็นเพียงแต่ว่า ต่างฝ่ายต่างหยิบเอาหลักธรรมทั้ง๒มายกขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญเหมือนหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น


อนึ่ง หลักทศบารมีฝ่ายมหายานได้ย่อลงมาเหลือบารมี๖ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา ทานกับศีลเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โทสะ ฌานกับปัญญาเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมี๖ให้สมบูรณ์ คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ ข้อใหญ่คือ

๑.มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
๒.มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓.มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจจธรรม


คุณสมบัติทั้ง๓ข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง๒ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผุ้อื่น

อุดมคติของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานมี๔ประการดังนี้

๑.เราจะละกิเลสให้หมด
๒.เราจะศึกษาสัจจธรรมให้จบ
๓.เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔.เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด


คณาจารย์ผู้ทรงเกียรติคุณของลัทธิมหายานในอินเดีย มีอาทิเช่นท่านคุรุนาคารชุน ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่๗ ร่วมรัชสมัยพระเจ้ายัชญศีรเคาตมีบุตร คณาจารย์องค์นี้เป็นผู้สร้างปรัชญามหายานนิกายสุญญวาท โดยใช้ระบบวิภาษวิธี (Dialectic Method) ในการอรรถาธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์หรือกฎปฏิจจสมุปบาท (Relativity Theory)

ระบบวิภาษวิธีของนิกายสุญญวาท จึงเป็นศิลปะ ในการอภิปรายที่อุดมด้วยหลักตรรกวิทยาทุกกระเบียดทีเดียว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่๙ คณาจารย์มหายานที่สำคัญมีอีก๒ท่าน เป็นพี่น้องร่วมกันคือท่านคุรุอสังคะและคุรุวสุพันธุ ผู้ให้กำเนิดปรัชญามหายาน นิกายวิชญาณวาท ซึ่งถือว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นภาพมายาซึ่งสะท้อนเงาออกไปจากจิตภายใน นับเป็นปรัชญามหายานฝ่ายมโนภาพนิยม(Idealism) มหายานอีกนิกายหนึ่งซึ่งสอนลัทธิสมบูรณนิยม สอนว่ามีภาวะสมบูรณ์จริงแท้เป็นรากฐานของสากลจักรวาล ภาวะนี้เรียกว่า ภูตตถตา ซึ่งตรงกับจิตสากล (Universal Mind) นั้นเอง

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ปรัชญาของลัทธิมหายานมี๓สาขาใหญ่คือ
๑.ปรัชญานิกายสุญญวาท
๒.ปรัชญานิกายวิชญาณวาท
๓.ปรัชญานิกายภูตตถตาวาท หรือจิตสากล


นี่เป็นเรื่องของลัทธิปรัชญา ส่วนในเรื่องการปฏิบัติคงปฏิบัติเหมือนกันคือ การบำเพ็ญบารมี๖ มีคุณสมบัติ๓ และมุ่งในอุดมคติ๔ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว"
(หมดข้อความที่ยกมา)

                        

อนึ่ง ยังมีข้อสำคัญในความแตกต่างทางทัศนะระหว่างเถรวาทกับมหายาน คือทัศนะต่อองค์พระพุทธเจ้า ทั้ง๒ฝ่ายหาได้เห็นตรงกันไม่ พระพุทธองค์ในทัศนะของฝ่ายเถรวาท คือมนุษย์ผู้ซึ่งได้เพียรบำเพ็ญความดีจนได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากมวลทุกข์มวลกิเลส แต่พระสรีระของพระองค์ยังคงเหมือนชนธรรมดา คือยังเป็นวิบากขันธ์ มีความรู้สึกเย็นร้อนและทรุดโทรมแตกสลายไปได้ ส่วนเมื่อพระสรีระแตกสลายไปแล้ว อะไรที่เหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลังพระพุทธปรินิพพานแล้ว ภาวะของพระองค์เป็นฉันใด ฝ่ายเถรวาทไม่กล่าวถึงเพราะถือว่าพ้นจากบัญญัติเสียแล้ว เหมือนกองไฟที่สิ้นเชื้อแล้วดับไป ไม่อาจพยากรณ์ว่าไฟที่ดับไปแล้วไปอยู่ ณ ทิศใด แต่ฝ่ายมหายานมีทัศนะว่า พระพุทธองค์นั้น โดยแท้จริงมีสภาวะเป็นอกาละ อนันตะ แต่โดยมหากรุณาจึงทรงสำแดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกทั้งปวงเพื่อโปรดสัตว์ ส่วนคำว่าสุญญตาซึ่งพบมากในพระสูตรนี้เป็นคำที่ฝ่ายมหายานนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด สุญญตากับอนัตตาความจริงก็มีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นคำปฏิเสธสภาวะซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง เพราะในทัศนะของมหายาน สรรพสิ่งซึ่งปรากฏแก่เราล้วนเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น สุญญตามิได้หมายว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยเหมือนอากาศ แต่หมายเพียงว่ามีสภาวะดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยธรรมซึ่งอาศัยกันเป็นภาพมายา มีอยู่ปรากฏอยู่ มิใช่ว่าจะไม่มีอะไรๆไปเสียทั้งหมด ฝ่ายมหายานอธิบายว่า โลกกับพระนิพพาน ความจริงไม่ใช่อันเดียวกันหรือแตกต่างกัน

กล่าวคือโลกเป็นปฏิจจสมุปบาท ความดับปฏิจจสมุปบาทนั้นเสียได้ ก็คือพระนิพพาน ฉะนั้น ทั้งโลกและพระนิพพานจึงเป็นสุญญตาคือไม่ใช่เป็นสภาวะ และเมื่อสภาวะไม่มีเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะมีสภาวะจึงมีอภาวะเป็นของคู่กัน ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นอภาวะเล่า ผู้นั้นก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโดยสมมติสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจสมุปบาท และโดยปรมัตถสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตาไซร้ ผู้นั้นแลได้ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ที่ว่ามานี้เป็นมติของพระนาคารชุนผู้เป็นต้นนิกายสุญญวาท มหายานนิกายอื่นยังเห็นแตกต่างกันไปอีก อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้ศึกษาพระสูตรนี้ ในข้อที่ว่าด้วยสุญญตา โปรดเข้าใจถือเอาอรรถาธิบายของพระนาคารชุนเป็นปทัสถาน และโปรดได้พิจารณาข้อความอื่นๆในพระสูตรนี้ให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงเรื่องสุญญตาอันเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ท่านจะต้องแสดงสมมติธรรมหรือโลกิยสัจจะด้วย มิใช่ว่าท่านปฏิเสธสมมติสัจจะอย่างเช่นพวกอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิและนัตถิกทิฏฐิ ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระพุทธศาสนา

ข้อที่ควรสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลิกลักษณะและปฏิปทาของท่านวิมลเกียรติ มีส่วนคล้ายคลึงกับท่านจิตตคฤหบดี ในปกรณ์ฝ่ายบาลีมาก ท่านจิตตคฤหบดีเป็นชาวมัจฉิกาสัณฑนคร ได้บรรลุอนาคามิผล มีปัญญาปฏิภาณแตกฉานในอรรถธรรม ได้รับยกย่องเป็นอุบาสกผู้เลิศในทางแสดงธรรม ท่านชอบสนทนาปัญหาธรรมที่สุขุมลุ่มลึกกับพระเถรานุเถรเสมอ ในบาลีสังยุตตนิกายรวบรวมเรื่องราวข้อสนทนาธรรมของท่านไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่าจิตตคฤหบดีปุจฉาสังยุต จะเป็นไปได้หรือไม่ที่วรรณิกฝ่ายมหายานได้ความคิดจากปฏิปทาของท่านจิตตคฤหบดีไปขยายเป็นบุคคลใหม่ขึ้นอีกท่านหนึ่ง คือท่านวิมลเกียรติ

สำหรับประวัติความเป็นมาของพระสูตรนี้ พอจะกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีกำเนิดราวปลายพุทธศตวรรษที่๕ เมื่อพระนาคารชุนรจนาอรรถกถามหาปรัชญาปารมิตาสูตร ก็ได้อ้างข้อความในวิมลเกียรตินิทเทสสูตรนี้หลายตอน เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับสันสกฤตของพระสูตรนี้ ปัจจุบันหายสาบสูญค้นหาไม่พบ แม้ในคัมภีร์ศึกษาสมุจจัยของ พระสันติเทวะ (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่๑๓) ได้ยกข้อความในพระสูตรนี้มาอ้างไว้มากแห่ง ทำให้เราสามารถเห็นเค้าโครงพระสูตรนี้ในรูปภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่พระสูตรนี้ทั้งสูตร

อย่างไรก็ดี เป็นโชคดีของวรรณคดีพระพุทธศาสนามหายานที่ได้มีผู้แปลถ่ายทอดรักษาไว้ในพากย์จีนพากย์ธิเบตครั้งบุราณกาล เฉพาะวิมลเกียรตินิทเทสสูตรในพากย์จีนแปลกันไว้ถึง ๗ สำนวนด้วยกัน แต่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียง๓สำนวนเท่านั้น คือ
๑.ฉบับแปลของอุบาสกจีเหลียน ในพุทธศตวรรษที่๗
๒.ฉบับแปลของพระกุมารชีพ ในพุทธศตวรรษที่๙
๓.ฉบับแปลของพระสมณะเฮี่ยงจัง ในพุทธศตวรรษที่๑๑


ข้าพเจ้าได้ถือเอาฉบับแปลของพระกุมารชีพเป็นปทัสถาน เพราะท่านแปลด้วยสำนวนโวหารไพเราะ จนถือกันว่าเป็นวรรณคดีจีนชั้นสูง ในการแปลออกมาในพากย์ไทยนี้ เฉพาะปริเฉทที่๑ และที่๒ แปลเอาแต่ใจความสำคัญ ปริจเฉทที่สำคัญเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ได้แปลครบถ้วนตามต้นฉบับ บางปริจเฉทเช่นสาวกปริจเฉทเป็นต้น บางตอนได้ย่นย่อลงบ้าง แต่ก็มิได้ทำให้เสียความอย่างไร ที่ใดย่นย่อตัดรัด ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องหมายฯลฯ นี้ไว้ให้เป็นที่สังเกต และวิธีการแปลได้ถือเอาอรรถรสเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงใช้คำแปลเรียบเรียง ข้าพเจ้าได้แปลลงพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุเป็นตอนๆ เริ่มลงพิมพ์ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ มาจนบัดนี้เป็นเวลาร่วม๒ปี


เสถียร โพธินันทะ
๑๐มิถุนายน๒๕๐๖


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2554 12:27:10 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
 
☂Frowzy Dress ℉ ~♪
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 4


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 16.0.912.63 Chrome 16.0.912.63


ดูรายละเอียด
« ตอบ #41 เมื่อ: 19 ธันวาคม 2554 22:13:33 »

สมัครเข้ามาอ่านโดยเฉพาะเลยค่ะ ยาวจัง ตีหัว
บันทึกการเข้า
คำค้น: พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  
หน้า:  1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
มโนคำนึง เสถียร โพธินันทะ
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
เงาฝัน 0 3028 กระทู้ล่าสุด 02 กุมภาพันธ์ 2554 15:17:56
โดย เงาฝัน
ปรัชญาแห่งความมีอยู่ เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 5 4691 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2554 19:10:12
โดย หมีงงในพงหญ้า
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 7 7572 กระทู้ล่าสุด 04 มีนาคม 2554 22:58:40
โดย หมีงงในพงหญ้า
พุทธศาสนาในธิเบต อ.เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1756 กระทู้ล่าสุด 11 กรกฎาคม 2559 07:16:23
โดย มดเอ๊ก
นักปราชญ์ชาวพุทธของเมืองไทย อ.เสถียร โพธินันทะ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1274 กระทู้ล่าสุด 06 ธันวาคม 2560 16:22:34
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.189 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 05 มีนาคม 2567 10:44:40