[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 00:40:30 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชวังโบราณ-วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ล่มสลายด้วยอำนาจเป็นใหญ่ในโลก  (อ่าน 4183 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 มิถุนายน 2556 11:44:56 »


 



พระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์
The Royal Palace and Wat Phra Si Sanphet

นับแต่การเมืองในกรุงสุโขทัยเริ่มอ่อนแอไม่เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อนแล้ว  พวกคนไทยทางภาคใต้ก็เริ่มมีกำลังเข้มแข็งมากขึ้น  

พระเจ้าอู่ทอง ผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน แห่ง “เมืองเทพนคร” พระราชบิดา  ครั้นครองเมืองเทพนครมาได้ ๖ ปี  พระเจ้าอู่ทองทรงปรารภหาที่สร้างราชธานีใหม่ ให้บริบูรณ์พูนสุกกว่าเมืองเทพนคร  ให้ข้าหลวงเที่ยวตรวจตราหาที่ เห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนครลงมาสร้างพระนครศรีอยุธา  สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล พุทธศักราช ๑๘๙๓ และราชาภิเษกทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” แห่งราชวงศ์อู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอยุธยา
 
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น สัณฐานของเมืองมีลักษณะเป็นเกาะรูปยาวรี  ความยาวประมาณ ๓.๙๒ กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดยาว ๑.๕ กิโลเมตร  มีกำแพงและแม่น้ำโอบล้อมรอบเกาะ  เป็นกำแพงก่อด้วยอิฐความยาว ๑๒.๕ กิโลเมตร  ขนาดกว้าง ๕ เมตร และสูง ๖ เมตร  และแม่น้ำ ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก   ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นชัยภูมิตั้งมั่นรับข้าศึกได้เป็นอย่างดี  และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมบริเวณรอบนอกพระนคร ทำให้ข้าศึกไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้  อนึ่ง กำแพงพระนครนั้น ปัจจุบันไม่เหลือซากให้เห็นแล้ว  เพราะในรัชกาลที่ ๑  โปรดฯ ให้รื้ออิฐไปสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  กำแพงเมือง พระราชวัง  และวัดพระเชตุพน  คงเหลือแต่เพียงถนนอู่ทอง สร้างทับบนกำแพงเมืองเท่านั้น

ในกรุงศรีอยุธยา มีพระราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ๓ แห่ง คือ
     ๑. พระราชวังหลวง  (พระราชวังโบราณ) ปัจจุบันอยู่หลังวัดพระศรีสรรเพชญ์
     ๒. พระราชวังจันทรเกษม (วังหน้า) อยู่ที่ตลาดหัวรอ
     ๓. วังหลัง (วังสวนหลวง) อยู่ข้างเจดีย์สุริโยทัย
ส่วนพระราชวังบางปะอินและวังนครหลวงอยู่นอกเกาะเมืองอย่างละ ๑ แห่ง รวมแล้วทั้งสิ้น ๕ แห่ง







พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท

พระราชวังหลวง หรือ วังโบราณ (ปัจจุบัน อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ และเหลือเพียงรากฐานให้ศึกษา) มีพื้นที่ ๑๘๐ ไร่เศษ  แต่เดิมสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างสำหรับเป็นที่ประทับ  ประกอบด้วยพระที่นั่ง ๓ องค์  ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท  และได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ มา  รวม ๘ พระองค์ ระยะเวลา ๙๗ ปี  

จนถึงปี พ.ศ.๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงถวายพระราชวังเดิมให้เป็นเขตพุทธาวาส (วัดพระศรีสรรเพชญ์)  แล้วโปรดฯ ให้ย้ายพระราชวังไปทางด้านเหนือริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี

พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท (ปัจจุบันเหลือแต่รากฐานให้ศึกษา) พระที่นั่งองค์นี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้สร้างถัดจากพระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาท (สุริยาศอมรินทร์)  มีลักษณะโค้งสำเภา ประกอบด้วย ๒ มุข คือ มุขตะวันออก และมุขตะวันตก มีหลังคา ๕ ชั้น ประดับด้วยยอดมณฑปนภศูลฯ ลงรักปิดทอง ด้านขวามีโรงช้างเผือก (โรงยอด) พระที่นั่งองค์นี้ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ต้อนรับคณะทูตานุทูต  ปราบดาภิเษก พิธีโสกันต์ พิธีบรมราชาภิเษก และราชพิธีต่างๆ ดังนี้
• สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ทรงใช้ต้อนรับคณะทูตานุทูตชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเจริญราชไมตรีตลอดรัชกาล  
• พ.ศ. ๒๑๗๒ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง ทรงใช้ในพระราชพิธีปราบดาภิเษก หลังยึดอำนาจจากสมเด็จพระอาทิตยวงศ์  
• สมเด็จพระเพทราชาทรงปราบดาภิเษกครั้งที่ ๒  ใช้รับราชทูตจากกัมพูชา  ซึ่งนำช้างเผือกมาถวาย  ทั้งยังใช้ออกรับคณะทูตจากกรุงศรีสัตนาคนหุตที่ขอกองทัพไทยไปช่วยระงับศึกที่เมืองหลวงพระบาง  พร้อมทั้งได้ถวายพระแก้วราชธิดา พระชันษา ๑๕ ปี เป็นศรีสุรางค์บาทบริจาริกาของพระองค์ด้วย
• เป็นที่ประกอบพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าพระขวัญในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือและสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ  
• สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  โปรดฯ ให้ใช้สถานที่นี้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
และเมื่อพระที่นั่งองค์นี้ชำรุดมาก ในราวปี พ.ศ.๒๑๘๕  สมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  จึงโปรดฯ ให้พระยาราชนายก ผู้ว่าพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองปรับปรุงรื้อเครื่องบนทิ้งทั้งหมด ใช้เวลา ๑๐ เดือน แล้วโปรดฯ ให้ปิดทองหยด ช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง บราลี เชิงกลอน และดอกจอก






พระราชวังหลวง ในสายตาของชาวต่างชาติ

ความรุ่งเรืองงดงาม ความวิจิตรพิสดาร และความมโหฬารของพระราชวังหลวงนั้น ชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ได้บันทึกไว้สอดคล้องตรงกัน ดังนี้

เซาเด็น  พ่อค้าชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เขียนพรรณาไว้ว่า พระราชวังหลวง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์  ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำเสมือนเมืองเล็กๆ แยกอยู่ต่างหากอีกเมืองหนึ่ง  ปราสาทราชมณเฑียรมโหฬาร  อาคารต่างๆ มีสีทอง (ปิดทอง) ทั้งสิ้น  พระมหากษัตริย์แห่งสยาม เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในภาคตะวันออก  ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬาร วิจิตรพิสดาร และสมบูรณ์พูนสุขเหมือนพระมหากษัตริย์ในราชอาณาจักรนี้

แกมเฟอร์ หมอชาวเยอรมัน ซึ่งเข้ามากับเรือชาวฮอลันดา สมัยสมเด็จพระเพทราชา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๓  ได้เขียนว่า ราชสำนักนั้นเล่า วิจิตรมโหฬาร พระราชวังปันเป็นส่วนๆ มีตำหนักเป็นอันมาก ทำเป็นหลายชั้น  ด้านหน้าปิดทองตลอด มีโรงช้างยาวมาก มีช้างผูกงามวิจิตรร้อยกว่าเชือก

ลาลูแบร์ ซึ่งเข้ามาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้กล่าวถึงพระบรมมหาราชวัง ว่า  บันไดของพระราชมณเฑียร มี ๑๐ ขั้น เป็นบันไดธรรมดาๆ  ก่อด้วยอิฐถือปูนติดผนังเบื้องขวา ทางด้านซ้ายก็ไม่มีราวกั้น  เป็นทางเดินไปสู่ท้องพระโรง  ทวารท้องพระโรงเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ต่ำและแคบสมกับบันได  หลังคาพระราชมณเฑียรซ้อนกันหลายชั้น หลังหนึ่ง ๓ ชั้น หลังหนึ่ง ๕ ชั้น และอีกหลังหนึ่ง ๗ ชั้น เหมือนกับถ้วยแก้วสี่เหลี่ยมวางซ้อนกันขึ้นไป (คงคล้ายกับ มณฑป)

ราชทูตลังกา ซึ่งเข้ามาขอพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ได้พรรณาไว้ว่า

เมื่อถึงเขตพระราชวัง แลเห็นปราสาทราชมณเฑียรล้วนแต่ปิดทองอร่าม  ที่ประตูประดับประดาด้วยสีทองและสีอื่นๆ เมื่อผ่านประตูชั้นที่ ๒ เข้าไปก็ถึงพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท  สองข้างฐานมุขเด็จมีรูปต่างๆ เช่น รูปหมี รูปราชสีห์ รูปรากษส รูปโทวาริก รูปนาค รูปพิราวะ ยักษ์  รูปเหล่านี้ล้วนปิดทองตั้งไว้อย่างละคู่ ตรงหมู่รูปขึ้นไปมุขเด็จ ราชบัลลังก์สูง ๔ เมตร ตั้งเครื่องสูงรอบมุขเด็จ ราชบัลลังก์นั้นผูกม่านปักทองงามวิจิตรน่าพิศวง ฝาผนังพระที่นั่งก็ปิดทอง  บนราชบัลลังก์ก็ตั้งบุษบกที่ประทับเสด็จออก ที่บุษบกนั้นพวกทูตานุทูตเข้าเฝ้า

ราชทูตถวายพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการเสร็จแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงทรงพระกรุณาประทานอนุญาตให้พวกทูตานุทูตไปเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง  ได้บรรยายถึงประตูพระราชวังว่า ประตูพระราชวังยอดปิดทองประดับด้วยไม้และเครื่องไม้ เมื่อมองข้างในเห็นพระที่นั่งหลังคา ๕ ชั้น มียอดปิดทอง พระราชวังอันงามวิจิตรนี้สร้างอยู่ใกล้กำแพงริมแม่น้ำ






วโส อิสฺสริยํ โลเก
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก  
...สคาถวรรค สยุตตนิกาย

“แต่ก่อนพระนครศรีอยุธยาเคยถวายสุวรรณหิรัญบุปผาบรรณาการแก่กรุงหงสาวดีมาตราบเท่าถึงกรุงอังวะได้เป็นใหญ่  บัดนี้ กรุงไทยตั้งแข็งเมืองมิได้ไปอ่อนน้อมยอมออกแก่กรุงอังวะ ละขนบธรรมเนียมบูรพประเพณีเสีย พระเจ้ากรุงอังวะจึงให้ยกกองทัพมาตีเอาเป็นเมืองออกเหมือนอย่างแต่ก่อน”

ไทยเราเคยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่ามาครั้งหนึ่งแล้วในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๑๒ เป็นการเสียเอกราชครั้งแรก  มาในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นการเสียกรุงครั้งที่ ๒ และนับเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้ายในกาลที่ล่วงมา ดังจะได้บรรยายต่อไปนี้

ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก พ.ศ.๒๓๑๐  ความยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ที่ดำรงมาได้ ๔๑๗ ก็ถึงแก่กาลอวสาน เสียเอกราชแก่พม่าข้าศึก ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ (แต่บางแห่งว่า วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐)   กล่าวกันว่า เป็นการสูญเสียอย่างยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย  พม่าขุดอุโมงค์ดินเข้ามาจนถึงเชิงกำแพงพระนคร  จุดเพลิงเผาใต้ฐานรากกำแพงพระนคร  (สมัยนั้นเป็นไม้ซุงขนาดใหญ่) ตรงหัวรอ ริมป้อมมหาไชย จนพลบค่ำ

พอกำแพงที่จุดเชื้อฟืนเผาฐานรากนั้นทรุดลงหน่อยหนึ่ง  ถึงเพลาสองทุ่มจึงจุดปืนสัญญาณขึ้น พลพม่าทุกด้านทุกกองซึ่งเตรียมกำลังพร้อมไว้ ก็เอาบันไดพาดที่กำแพงทรุดและที่อื่นๆ รอบพระนครพร้อมกัน ก็เป็นอันเข้ากรุงเข้าวังได้ในเพลานั้น  

แล้วเที่ยวไล่จับผู้คนค้นริบเอาทรัพย์เงินทองสิ่งของทั้งปวงต่างๆ และจุดเพลิงขึ้นทุกตำบล เผาเหย้าเรือนอาวาส พระราชวัง ทั้งปราสาทราชมณเฑียร  เอาเพลิงลุมหลอมเอาทองคำซึ่งแผ่หุ้มองค์พระพุทธรูปผืนใหญ่ในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ดาราม ขนเอาทองคำไปเสียสิ้น เพลิงลุกโชติช่วงสว่างดังกลางวัน  กรุงศรีอยุธยาพังพินาศสิ้นเหลือเพียงซากปรักหักพัง เศษอิฐเศษปูน กลายสภาพเป็นเมืองรกร้างไม่สามารถตั้งเป็นเมืองหลวงได้อีกต่อไป

สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายนั้นเสด็จหนีออกจากวังลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน ไปซ่อนเร้นอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ใกล้บ้านจิก ข้างวัดสังฆาวาส  มหาดเล็กนั้นก็ทิ้งเสียหนีไปที่อื่น ทรงอดอาหารอยู่แต่พระองค์เดียวจนกระทั่งสวรรคต พม่าหาจับได้ไม่ จับได้แต่พระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวงไปไว้ทุกๆ ค่าย

เมื่อเสียกรุงนั้นนับกษัตริย์ได้ ๓๔ พระองค์ด้วยกัน และอายุกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่แรกสร้างในศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก ตราบเท่าจนเสียกรุงในศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก นั้น คิดอายุพระนครศรีอยุธยาได้ ๔๑๗ ปี โดยกำหนด  




เหตุการณ์เสียกรุงตามบันทึกบาทหลวง

หลักฐานจดหมายเหตุของคณะบาทหลวง ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อพม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาได้แล้วนั้น ได้เอาไฟเผาบ้านเรือน ทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ ๑๕ วัน เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนพระนคร ตลอดจนพระราชวังและวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าได้เตรียมการที่จะยกทัพกลับไปในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐  
 
ลางร้ายบอกเหตุเสียกรุง

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียพระนครศรีอยุธยานั้น เกิดลางร้ายบอกเหตุเสียกรุงต่างๆ คือ “พระพุทธปฏิมากรใหญ่ ที่วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหล พระพุทธปฏิมากรติโลกนารถ ซึ่งแกะด้วยไม้พระศรีมหาโพธิ์นั้นพระทรวงแยกออกสองภาค  พระพุทธปฏิมากรทองคำเท่าตัวคนและพุทธสุรินทร์ซึ่งหล่อด้วยนาค  อันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังนั้น มีพระฉวีเศร้าหมอง พระเนตรทั้งสองหลุดหล่นลงอยู่บนพระหัตถ์ มีกาสองตัวตีกัน ตัวหนึ่งโผลงตรงยอดพระเจดีย์เหมือนดังคนจับเสียบไว้ เทวรูปพระนเรศวรนั้นมีน้ำพระเนตรไหลและเปล่งศัพท์สำเนียงอันดัง อสนีบาตตกลงหลายครั้งหลายหน พระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในสัจธรรม สำแดงเหตุที่จะเสียพระนครศรีอยุธยาหลายอย่างหลายประการดังกล่าวมาแล้วเบื้องต้นนั้น”

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๐ ได้ทรงสร้างสถูป ศิลปะสุโขทัย ทรงระฆัง ขึ้น ๒ องค์  สำหรับเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา  และบรรจุพระบรมอัฐของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระเชษฐา  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๔๒ ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวง ถัดมาอีกหนึ่งปี ก็ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนหุ้มทองคำ ถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญตาญาณ”  ตั้งแต่นั้นมา วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า พระศรีสรรเพชญ์ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกพม่าเผาทำลาย ลอกเอาทองคำไปจนสิ้นเมื่อคราวเสียกรุง  

ข้อมูลอ้างอิง :-
๑. หนังสือนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุคส์ (2006) จัดพิมพ์
๒. หนังสือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โดย ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตในประเภทประวัติศาสตร์  
    จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
๓. หนังสือ วัดวาอารามแห่งเมืองกรุงเก่าอยุธยา   แสงเพชร เรียบเรียง สำนักพิมพ์ฉัตรรพี จัดพิมพ์
๔. หนังสือ พระราชวังหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา   โดย ไชยวัฒน์  วรเชฐวราวัตร
๕. เว็บไซต์  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี











อยุธยายศล่มแล้ว          ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตนบรร เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรร         ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า   ฝึกฟื้นใจเมืองฯ
...นิราศนรินทร์.... นายนรินทรธิเบศร (อิน) ประพันธ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ธันวาคม 2560 11:31:31 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.509 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 03 มีนาคม 2567 04:11:55