.
การคั้งถิ่นฐานของประชากรริมแม่น้ำมูล
ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญของภาคอีสาน

แหล่งปลูกข้าวของอีสานอยู่ตามบริเวณที่ราบชายฝั่งแม่น้ำ
เครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความโดดเด่นด้วยรูปทรงและลักษณะการใช้สอย ซึ่งมีอยู่หลายประเภทสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต และขนบประเพณีของชาวอีสาน• อิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง ๑๕๐-๒๕๐ เมตร มีพื้นที่กว้างครอบคลุม ๑๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ พื้นที่ของภาคนี้ประกอบด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบ จึงมีทั้งที่ราบแอ่งแผ่นดิน ที่ราบชายฝั่งแม่น้ำ เพราะมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำปาว แม่น้ำสงคราม ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินของราษฎร โดยกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนที่ดอนจะอาศัยหนองน้ำเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ตลอดจนการใช้ประกอบอาชีพ เช่น การเพาะปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์น้ำ กลุ่มมี่ตั้งถิ่นฐานตามที่ราบชายฝั่งแม่น้ำก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน และจับสัตว์น้ำ จึงมีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้โดยนำวัตถุดิบซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตด้วยตนเอง และสามารถสนองประโยชน์ใช้สอยได้ดี
เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ต่างจากภาคเหนือและภาคกลาง อีกทั้งชาวอีสานมีวัฒนธรรมที่สืบสานมาแต่อดีตอันยาวนานเช่นกัน วัฒนธรรมอีสานมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่เห็นได้ชัดเจน พื้นฐานทางวัฒนธรรมชาวอีสานอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือ และกลุ่มอีสานใต้ กลุ่มอีสานเหนือประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น กลุ่มนี้มีวัฒนธรรมไทย –ลาว และวัฒนธรรมล้านนา ส่วนกลุ่มอีสานใต้ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เป็นต้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากชนชาติต่างๆ เช่น เขมร ส่วย ประชาชนภาคอีสานจึงมีขนบประเพณีและวัฒนธรรมผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทย ลาว เขมร ผนวกเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม วัฒนธรรมที่แตกต่างเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสร้างศิลปหัตถกรรมและหัตถกรรมของกลุ่มชนต่างๆ รวมทั้งหัตถกรรมเครื่องจักสานด้วย
นอกจากนี้ ในภาคอีสานยังมีวัฒนธรรมร่วมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก เช่นเดียวกับวัฒนธรรมของชาวเหนือ เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้และภาชนะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวอีสานมีความแตกต่างจากของชาวเหนือและกลุ่มชนอื่นอยู่บ้าง ภาชนะที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ก่องข้าว กระติบ มวยนึ่งข้าวเหนียว พาข้าว (ภาชนะสานด้วยหวายและไม้ไผ่ คล้ายพานขนาดใหญ่ ใช้วางอาหารเช่นเดียวกับโตกของภาคเหนือ) 
๑-๓ ก่องข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๔ มวยนึ่งข้าวเหนียวของกลุ่มอีสานเหนือ
๕ กล่องข้าวขวัญ และ ๖ กระติบ
• รูปแบบเครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่องข้าว หรือ กล่องข้าว เป็นภาชนะที่นิยมใช้กันมากแถบจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เลย ก่องข้าวที่ใช้กันในแถบนี้สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือ ฐาน หรือ ตีน เป็นไม้เนื้อแข็งประกอบกันเป็นกากบาท ใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง อาจแกะเป็นลวดลายให้สวยงามด้วย ตัวก่องข้าว รูปร่างคล้ายโถกลม สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน ๒ ชั้น โดยสานชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แล้วสานต่อขึ้นมาเป็นตัวกล่อง โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็กๆ สานเป็นลายขัด จนได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจึงสานตัวกล่องชั้นนอกครอบอีกชั้นหนึ่ง โดยใช้ตอกปื้นสานเป็นลายสองยืนหรือลายสองเวียนเพื่อให้สวยงาม ตัวกล่องข้าวที่สานหุ้มนี้ต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวกล่องชั้นใน ฝาก่อง รูปร่างคล้ายฝาชี สานด้วยตอกปื้นเป็นลายเฉลวครอบอีกชั้นหนึ่ง ของฝาใช้ก้านตาลเหลาเป็นแผ่นบางๆ โค้งหุ้มขอบฝาให้แข็งแรงคงทน ทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อให้สะพายบ่าหรือใช้แขวน การสานก่องข้าวซ้อนกัน ๒ ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี
ก่องข้าวอีสานอีกชนิดหนึ่งคือ ก่องข้าวขวัญ เป็นก่องข้าวที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น พิธีเซ่นไหว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง ก่องข้าวขวัญมักสานอย่างละเอียดประณีตด้วยตอกเส้นเล็กๆ และมีรูปทรงงดงามเป็นพิเศษ แตกต่างจากก่องข้าวธรรมดา โดยขยายส่วนฐานให้สูงขึ้น ตกแต่งส่วนฝาโดยใช้ไม้กลึงเป็นยอดแหลมคล้ายฝาเต้าปูน
กระติบ มีรูปแบบและวิธีสานแตกต่างออกไปจากการสานก่องข้าว กระติบมีรูปทรงกระบอกคล้ายกระป๋อง ประกอบด้วยตัวกระติบ ฝากระติบ และฐานกระติบ
วิธีสานตัวกระติบจะสานด้วยตอกไม้ไผ่ เรี้ย (เฮี้ย) ซึ่งเป็นตอกอ่อน ให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการสาน โดยสานเป็นรูปทรงกระบอก เสร็จแล้วพับทบ กลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านในเป็นตัวกระติบ การสานลายด้านนอกและด้านในจะใช้ลายต่างกัน ด้านนอกซึ่งต้องการความสวยงามกว่าจะสานด้วยลายสองยืนหรือยกดอก ด้านในสานด้วยลายอำเวียน ส่วนฝากระติบใช้วิธีสานอย่างเดียวกับการสานตัวกระติบ ก้นกระติบสานเป็นแผ่นกลมๆ ต่างหาก และนำมาผนึกติดภายหลัง กระติบชนิดนี้ในบางแห่งอาจใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นส่วนฐาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงคงทนอีกด้วย
ข้อแตกต่างระหว่างก่องข้าวกับกระติบข้าว คือ ก่องข้าวมีฐานเป็นไม้รูปกากบาท ฝาเป็นรูปกรวย ส่วนกระติบมีฐานกลม ฝารูปทรงกระบอกหน้าตัด ทั้งนี้ เกิดจากแต่ละท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ ในปัจจุบันก่องข้าวและกระติบยังคงรักษารูปทรงและลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไว้ มากกว่าการเลียนแบบจากท้องถิ่นอื่น
กะต่า บางท้องถิ่นเรียกว่า กะซ้า เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่น่าสนใจของภาคอีสานอีกอย่างหนึ่ง กะต่าเป็นภาชนะคล้ายตะกร้าของภาคกลางหรือซ้าของภาคเหนือ กะต่าเป็นภาชนะที่ใช้กันในทุกครัวเรือน เพราะใช้ใส่ของได้หลายอย่าง ใช้ได้ทั้งหิ้ว หาบ และคอนด้วยไม้คาน
วิธีสานกะต่าเริ่มสานจากก้นแล้วค่อยๆ สานต่อขึ้นมาทางด้านข้างของกะต่าเรื่อยจนถึงปาก ปากหรือขอบกะต่าจะใช้วิธีเก็บริมโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวกะต่า เสร็จแล้วทำหูกะต่าเพื่อใช้หิ้วหรือหาบ โดยมากใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่งโค้งเหนือปาก แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบ เรียก กะต่าหิ้ว หรือ กะต่างวง ถ้าสานเป็นตาห่างๆ เรียก กะต่าตาแตก กะต่าภาคอีสานมีรูปทรงคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น กะต่านี้ใช้ได้ทั้งหาบเป็นคู่หรือใช้หิ้วเพียงใบเดียว ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ใส่ผัก ผลไม้ ถ่าน
ครุ หรือ คุ เป็นภาชนะไม้ไผ่สาน ใช้ตักน้ำหรือขนย้ายน้ำ ใช้ชันผสมกับน้ำมันยางยา รูปทรงคล้ายกะต่าแต่เล็กกว่า
กระต่องข้าวปุ้น เป็นภาชนะไม้ไผ่สานที่ใช้ประจำครัวเรือน รูปร่างคล้ายตะกร้า แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีหูหิ้ว ใช้สำหรับตักข้าวปุ้น (ขนมจีน) ที่สุกลอยขึ้นมาจากก้นหม้อน้ำร้อน เทใส่ครุที่ใส่น้ำเย็นเมื่อเส้นข้าวปุ้นเย็นก็จะใช้มือม้วนข้าวปุ้นเป็นจับ เรียงไว้ในกระด้ง 
๑ กะต่าหิ้วที่ใช้วิธีเก็บริมปากโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวกะต่า ๒ กะต่าหิ้วแบบหนึ่ง
๓ กระต่างวง และ ๔ เบ็งหมากสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้บูชาพระ
• เครื่องมือจับดักและขังสัตว์น้ำ ภาคอีสานมีเครื่องจักสานที่ใช้เป็นเครื่องมือจับดักและขังสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น ไซ ข้องตุ้ม (อีจู้ของภาคกลาง) ซ่อน หรือ ซูด (หรือ ชุด ของภาคกลาง) ซึ่งเป็นเครื่องมือดักปลาที่มีเกล็ดใหญ่ เช่น ปลาช่อน ถักด้วยเถาวัลย์หรือซูดเป็นตาสี่เหลี่ยม ปากกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ก้นเรียวเล็กลงไปเป็นรูปกรวย เมื่อปลาช่อนหลงเข้าไปจะย้อนออกมาไม่ได้เพราะติดเกล็ด
เครื่องมือจับดักและขังปลาเหล่านี้มีรูปแบบต่างกันไปตามสภาพใช้สอยและลักษณะภูมิประเทศ เช่น เครื่องดักปลาในบริเวณหนองน้ำ มักมีขนาดเล็กตามความลึกของระดับน้ำและขนาดของปลาที่จะดักจับ ส่วนเครื่องจับดักและขังน้ำตามบริเวณแม่น้ำโขงจะมีขนาดสูงใหญ่
บน การจับปลาโดยใช้สุ่มและขังไว้ในข้อง
ล่าง ข้อมตุ้มที่ใช้จับปลาในแม่น้ำที่มีระดับน้ำลึก

๑ กะเพียดดีดฝ้าย
๒ เบ็งหมากสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้บูชาพระ
• ครื่องใช้ดีดฝ้ายและเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไป เช่น กะเพียดดีด มีลักษณะคล้ายตะกร้า สูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ก้นลึกสอบ เมื่อจะดีดฝ้ายจะจับกะเพียดให้นอนลง แล้วใช้กง (ไม้ดีดฝ้ายมีรูปเหมือนคันธนู) ดีดฝ้ายที่ใส่ไว้ข้างในนั้นเพื่อให้ฝ้ายฟู
จ่อ เป็นภาชนะไม้ไผ่สานลักษณะคล้ายกระด้ง มีไส้สานขดเป็นวงหลายๆ วง และทำเป็นช่องๆ ใส่ตัวไหม จ่อเป็นภาชนะสำหรับเลี้ยงตัวไหม
เครื่องใช้ในขนบประเพณี เครื่องจักสานอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน เช่น เบ็งหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้นำไปบูชาพระตามวัดในงานพิธีต่างๆ สานด้วยไม้ไผ่อย่างง่ายๆ มีขาสูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร
กล่าวได้ว่า เครื่องจักสานในภาคอีสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ทั้งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่นเข้ากับวิถีชีวิต ขนบประเพณีของคนในท้องถิ่น จึงยังคงมีการทำกันอยู่ในหลายท้องถิ่นทั้งที่เป็นอาชีพโดยตรง และทำเป็นอาชีพรองยามว่างจากการทำไร่ทำนา
ฝาบ้านที่ใช้ไม้ไผ่สาน
เครื่องจักสานภาคใต้ เครื่องจักสานของภาคใต้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบเช่นเดียวกับเครื่องจักสานในภาคอื่น โดยเฉพาะสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีความแตกต่างจากภาคอื่นค่อนข้างมาก• อิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์ ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้เป็นคาบสมุทร มีทิวเขาเป็นแนวยาวต่อกันหลายทิว คล้ายเป็นสันของคาบสมุทรตั้งแต่ตอนเหนือสุดของภาค จนถึงสุดเขตแดนของไทย ขนาบด้วยที่ราบชายฝั่งทะเลทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านตะวันออกเป็นอ่าวไทย ประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ส่วนด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ได้แก่ ยะลา พื้นที่ภาคใต้จึงแบ่งออกได้เป็นบริเวณชายฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลตะวันตกด้านทะเลอันดามัน กับส่วนที่เป็นทิวเขา
เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง มีฝนตกชุกเกือบตลอดปีและภูมิอากาศร้อนชื้น บริเวณภูเขาจึงมีป่าทึบและพรรณไม้นานาชนิด พรรณไม้ที่ใช้ทำเครื่องจักสาน เช่น ไผ่ หวาย ย่านลิเภา กระจูด ตาล ลาน ขึ้นงอกงามอยู่ตามป่า ตามภูเขาสูง และที่ราบ ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลมีพรรณพืชชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป คือ ลำเจียก หรือ ปาหนัน ซึ่งเป็นต้นไม้จำพวกเตยทะเล ชาวใต้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน เพราะเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายในท้องถิ่น
ซ้าย ต้นลาน
ขวา ต้นลำเจียก ซึ่งนิยมใช้ใบมาทำเครื่องจักสาน
บน สอบมุก หรือสมุก และกล่องใส่ของสานด้วยใบลำเจียก
ล่าง สอบหมากสานด้วยกระจูดสำหรับใช้ใส่หมากพลู
•รูปแบบเครื่องจักสานภาคใต้ เครื่องจักสานที่นิยมทำในภาคใต้
เครื่องจักสานในภาคใต้มีความแตกต่างกันระหว่างเครื่องจักสานด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ตามลักษณะภูมิประเทศ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรม และวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เครื่องจักสานภาคใต้ด้านตะวันตกที่ทำกันแพร่หลายมาแต่โบราณ คือ เครื่องจักสานที่สานด้วยใบลำเจียกและต้นกระจูด ซึ่งทำกันหลายจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง
เครื่องจักสานลำเจียก ลำเจียกเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่มากมายตามชายทะเลและที่ราบชายฝั่งทะเล โดยนำใบมาลนไฟพอให้เป็นมัน กรีดเส้นกลางใบออกและลิดเอาหนามริมใบออกด้วย แล้วใช้ไม้ไผ่รีดหรือขูดให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ มัดรวมกันเป็นกำแช่น้ำไว้ ๒ วัน จากนั้นเอาขึ้นตากแดดให้แห้งสนิทจึงนำไปสาน ถ้าต้องการให้มีสีก็นำไปย้อมด้วยสีต่างๆ ตามต้องการ นิยมใช้สานกระสอบหรือสอบ มีหลายชนิด เช่น สอบนั่ง ซึ่งส่วนก้นมีมุมสี่มุม สอบนั่งถึงแม้จะไม่บรรจุสิ่งของก็สามารถตั้งรูปทรงอยู่ได้ ต่างกับ สอบนอน ที่ก้นมีเพียง ๒ มุม ถ้าไม่บรรจุของไว้จะตั้งไม่ได้ นอกจากนี้มี สอบหมากลักษณะอย่างเดียวกับสอบนั่งแต่มีขนาดย่อมกว่า ใช้สำหรับใส่หมากพลู ส่วนก้นมี ๖ มุม ตรงกลางกลมและป่องออก ปากสอบเข้าเล็กน้อย มีฝาปิด ฝามีมุมนูนสูงขึ้นเพื่อให้ดูสวยงาม สอบหมุก ใช้ใส่ของเล็กๆ น้อยๆ ประจำบ้าน เช่น ด้าย เข็ม ยา
ส่วนเสื่อใบลำเจียกหรือปาหนันสานกันมากในหมู่ชาวมุสลิมและไทยพุทธในภาคใต้มาแต่โบราณ และเป็นเครื่องจักสานที่มีความสัมพันธ์กับประเพณีของชาวไทยด้วย เช่น เสื่อใบลำเจียกที่สานสำหรับใช้ในพิธีแต่งงาน บ่าวสาวจะช่วยกันสานเสื่อหรือที่ชาวใต้ เรียกว่า “สาด” อย่างสวยงามเป็นพิเศษ ไว้ใช้ในพิธีแต่งงานของตน อาจสานไว้ถึง ๑๒ ผืน สำหรับวางซ้อนกันแทนที่นอน เสื่อผืนบนสุดหรือ “ยอดสาด” นิยมปักไหมและดิ้นทองติดกระจกประดับที่มุมเสื่ออย่างสวยงาม
ปัจจุบันยังมีการสานเสื่อใบลำเจียกในภาคใต้หลายแห่ง เช่น ที่บ้านคลองหมาก ตำบลคลองหมาก อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งสานเสื่อใบลำเจียกที่ทำกันมานาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ทำกันอย่างจริงจังอีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านโคกเคียน ตำบลโคกเคียน ที่บ้านกะลุวอเหนือ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส และบางท้องถิ่นในเขตจังหวัดสงขลาและปัตตานี
เครื่องจักสานกระจูด ต้นกระจูดภาษาท้องถิ่นใต้เรียก “จูด” เป็นพืชพวกกก ลำต้นกลม ข้างในกลวง และมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะ มีมากในบริเวณทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น ที่หมู่บ้านทอน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านควนยาว อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
วิธีทำเครื่องจักสานกระจูด เริ่มจากตัดต้นกระจูดและคัดแยกตามความยาว มัดรวมกันเป็นกำ แล้วนำไปหมกโคลนเพื่อป้องกันไม่ให้กระจูดเหี่ยวเกินไป จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วบดทับหรือทุบให้แบนโดยใช้ลูกกลิ้งหนักๆ หรือสาก จากนั้นจึงนำต้นกระจูดที่แบนเหมือนตอกไปสานเป็นสิ่งต่างๆ หากต้องการให้เป็นสีก็นำไปย้อมสีก่อน
บน กระจูดที่พร้อมจะนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ล่าง การสานเสื่อกระจูดของภาคใต้

๑ วี หรือ กา ๒ เฉลวปักปากหม้อยา
และ ๓ เครื่องจักสานสะท้อนภูมิปัญญาของชนในท้องถิ่นในการเลือกใช้วัสดุ
และประดิษฐ์สิ่งของที่สนองประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์
แต่เดิมนิยมใช้กระจูดมาสานเป็นเสื่อรองนั่งหรือปูนอน ซึ่งเรียกว่า สาดนั่ง สาดนอน สานเป็นกระสอบ หรือสอบ สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ เช่น ใส่เกลือ ข้าวเปลือก หรือสาน สอบหมาก สำหรับใส่เครื่องกินหมากอย่างเชี่ยนหมาก ปัจจุบันมีการส่งเสริมเพื่อพัฒนาการสานกระจูดให้มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น ทำเป็นกระเป๋า หมวก ภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ ที่ใส่แฟ้มเอกสาร
เครื่องจักสานย่านลิเภา ลิเภาเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งเป็นเถาเลื้อย ขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณป่าเขา ลิเภามีลำต้นกลมาขนาดก้านไม้ขีดไฟ มีความเหนียวมาก เมื่อนำย่านลิเภามาทำเครื่องจักสานจะต้องเลือกต้นที่แก่และมีขนาดยาว เด็ดใบทิ้ง จากนั้นนำไปผึ่งลมให้แห้ง ลอกเปลือกเอาไส้ในออกให้หมด ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเปลือก แล้วฉีกเปลือกเป็นเส้นเท่าๆ กัน นำไปขูดเกลาให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปชักเรียด (เหมือนชักเรียดตอกหรือหวาย) เพื่อให้มีขนาดเท่าๆ กัน ผิวเรียบไม่เป็นขุย จากนั้นนำไปสานสิ่งต่างๆ
ย่านลิเภาที่จักให้เป็นเส้นแล้วมีลักษณะอ่อน สานให้คงรูปอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องใช้วัตถุอื่นเป็นโครง เช่น หวาย ไม้ไผ่ โดยสอดพันหุ่นหรือแม่แบบที่ทำไว้ก่อน นิยมสานเป็นภาชนะและเครื่องใช้ เช่น พาน ถาด กล่องบุหรี่ กระเป่าถือ นอกจากจะสานประกอบเข้ากับหวายและไม้ไผ่แล้ว ยังใช้โลหะ เช่น ทอง หรือเครื่องถม มาทำเป็นส่วนประกอบตกแต่งให้สวยงามยิ่งขึ้นด้วย
เครื่องจักสานไม้ไผ่ เนื่องจากภูมิภาคของภาคใต้มีลมมรสุมพัดผ่านเกือบตลอดปี จึงมีการปลูกไม้ไผ่เป็นรั้วเพื่อกำบังลมและลดการพังทลายของดิน ชาวใต้จึงนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพและในชีวิตประจำวันด้วย เครื่องจักสานไม้ไผ่ของภาคใต้ด้านตะวันออก โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ที่เรียกว่า ด้ง หรือ กระด้ง เช่น กระด้งฝัดข้าว และกระด้งมอน สานด้วยไม้ไผ่และหวาย สำหรับใช้งานเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา กระด้งทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากกระด้งภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านรูปแบบและลวดลาย รูปแบบของกระด้งภาคใต้ มีรูปกลมรีคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพ ส่วนป้านกลมมน ส่วนแหลมรีเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกในการร่อน ฝัดและเทข้าวออก ส่วนลวดลายของกระด้งฝัดข้าวภาคใต้มี ๒ ชนิด คือกระด้งลายขอ และกระด้งลายบองหยอง
กระด้งมอน คำว่า มอน] เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึงกระด้งมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่กว่ากระด้งฝัดข้าวเท่าหนึ่ง ใช้ตากพืชพันธุ์ธัญญาหารเพราะเป็นกระด้งขนาดใหญ่ มีเนื้อที่มากกว่ากระด้งทั่วไป
กระด้งภาคใต้ยังเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของชาวใต้ เช่น ห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ขวัญข้าว หรือแม่โพสพหรือเทพธิดาแห่งข้าวไม่พอใจแล้วหนีไป ไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญทำให้การทำนาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ความเชื่อนี้แม้หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมแม่โพสพจึงไม่ชอบกระด้ง แต่ก็เป็นความเชื่อที่เชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณ ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ ต้องเก็บกระด้งไว้ในที่สูง เช่น ตามชายคา หรือเหนือเตาไฟในครัว หากพิจารณาจากความเชื่อนี้ น่าจะเป็นอุบายของคนโบราณที่เก็บรักษากระด้งซึ่งเป็นของที่สานยาก ต้องใช้ความละเอียดประณีต เพื่อให้ใช้ได้ทนนาน เพราะการเก็บไว้ในที่สูงเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กนำไปเล่น และการเก็บเหนือเตาไฟ ควันไฟก็จะช่วยไล่แมลงที่จะกัดกินไม้ไผ่
วัสดุพื้นบ้านที่ใช้ทำเครื่องจักสานภาคใต้นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องจักสานบางชนิดที่ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบคล้า ใบจาก ใบลาน ใบมะพร้าว และกาบเหลาโอน (ชะโอน) 
เถาย่านลิเภา

เปลือกย่านลิเภา เครื่องมือที่ใช้จักสาน และการสาน

๑ กระด้งลายขอที่มีรูปแบบและลายสานที่ประสานประโยชน์ใช้สอยได้อย่างดียิ่ง
๒ เครื่องจักสานเป็นทั้งงานศิลปหัตถกรรมและงานหัตถกรรมที่ทำสืบทอดมาแต่โบราณ
๓ โคระสานด้วยใบมะพร้าวก่อนนำไปหุ้มผลไม้ และ ๔ โคระหุ้มผลขนุน
ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักสานกับคนไทย• เครื่องจักสานในวิถีชีวิตของคน เครื่องจักสานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนไทยในอดีตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะเครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนไทยตั้งแต่ แรกเกิด กล่าวคือ เมื่อทารก “ตกฟาก” คือ คลอดจากครรภ์มารดา ที่เรียกเช่นนี้ เพราะคนไทยสมัยโบราณใช้ไม้ไผ่มาสับให้แตกแล้วแผ่ออกเป็นแผ่น ใช้ปูเป็นพื้นเรือน เรียกว่าฟาก เมื่อทารกคลอดออกมาจึงอยู่บนฟาก คนไทยจึงเรียกเวลาที่เด็กเกิดว่าตกฟาก หลังคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือเด็ก โดยใช้ผิวไม้ไผ่รวกที่ปาดให้บางคม และนำเด็กไปนอนใน กระด้ง ที่สานด้วยไม้ไผ่คลุมด้วยแห เพื่อป้องกันผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาทำร้ายเด็ก ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ
เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต่างต้องเรียนรู้การทำเครื่องจักสานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ต้องหัดทำเครื่องจักสานจากพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องของตน เช่น หัดสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง ตะแกรง ลอบ สุ่ม เพราะเครื่องจักสานเหล่านี้เป็นเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีพ จึงต้องทำด้วยตนเอง นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นเครื่องจักสานยังมีความสำคัญต่อการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวด้วย ดังเช่น ชาวบ้านโพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ใช้เครื่องจักสานประเภท กระบุง กระจาด งอบ เป็น “ของอาสา” คือ สิ่งของที่ฝ่ายชายอาสาทำเป็นของกำนัลให้ฝ่ายหญิงที่ตนรักใคร่ เพื่อแสดงไมตรี แสดงฝีมือและความสามารถในการทำเครื่องจักสาน ซึ่งถือเป็นวิชาชีพสำคัญที่ผู้ชายทุกคนควรมีติดตัว ดังนั้น เครื่องจักสานที่เป็นของอาสาของชาวโพหัก จึงประณีตงดงามพิเศษกว่าเครื่องจักสานทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยอีกมาก เช่น ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระจาด กระชอน หวด กล่องข้าว กระติบ และแอบข้าว โดยเฉพาะก่องข้าวและแอบข้าวสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไปในกลุ่มคนที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาชนะจักสานเหล่านี้สนองประโยชน์การใช้สอยได้สมบูรณ์ที่สุด จึงมีผู้ใช้สอยสืบต่อกันมานานจนถึงปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์ที่สานด้วยย่านลิเภา
เครื่องจักสานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องจักสานที่ใช้ประกอบอาชีพ เช่น กระด้งฝัดข้าว ตะแกรงร่อนข้าวลีบ กระบุง กระพ้อม โพงหรือชงโลงสำหรับโพงน้ำ วี หรือ กา (เครื่องใช้ในการนวดข้าวของชาวนาภาคเหนือ เป็นพัดขนาดใหญ่สานด้วยตอกแข็ง ใช้พัดให้เศษฟางหรือข้าวลีบปลิวออกไป ที่เรียกเครื่องใช้ชนิดนี้ว่า กา ก็เพราะชาวนาจะเก็บไว้เหนือเตาไฟในครัวเพื่อมิให้มอดกัดกิน จึงมีสีดำเหมือนสีของนกกา) ครุ หรือ คุ หรือ แอ่ว สำหรับตีข้าว หรือ ครุที่ใช้ตักน้ำ เครื่องจักสานเหล่านี้ต้องมีไว้ประจำบ้านแทบทุกครัวเรือน แม้สานเองไม่ได้ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อไว้ประจำบ้านของตน
เครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไปในทุกภาคของประเทศอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องมือสำหรับจับดักและขังสัตว์น้ำ เช่น ลอบ ไซ ชนาง สุ่ม อีจู้ ตุ้ม จั่น ข้อง เครื่องจักสานเหล่านี้มีรูปร่างและการใช้งานแตกต่างกันมากมาย• เครื่องจักสานที่ใช้ในพิธีกรรม นอกจากเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีเครื่องจักสานอีกหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น คนไทยภาคกลางในสมัยโบราณมักใช้ตอกสานเป็นเฉลวเล็กๆ ปักไว้บนฝาหม้อยา เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มาทำยาเสื่อม หรือใช้เฉลวปักไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อป้องกันผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในบริเวณนั้น ชาวบ้านในภาคเหนือมักทำเฉลวแขวนไว้เหนือประตูบ้านเวลามีศพผ่านบ้านเรือนของตน เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผีไม่ให้เข้าไปในบ้านเรือนของตน• คุณค่าของเครื่องจักสานคุณค่าด้านจิตใจ เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นงานหัตถกรรมที่ทำจากวัสดุที่หาได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง และมีกรรมวิธีทำที่พื้นๆ โดยการสานด้วยมือเป็นหลักและใช้เครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้น ไม่มีขั้นตอนและกรรมวิธียุ่งยากซับซ้อนเหมือนงานหัตถกรรมประเภทอื่น แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพราะสร้างขึ้นอย่างตรงไปตรงมา “จากสมองสู่มือ” และไม่ใช่งานที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากด้วยเครื่องจักร
คุณค่าด้านภูมิปัญญา เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่าง เช่น ความฉลาดในการเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิด และนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ความสามารถในการประดิษฐ์ที่สนองประโยชน์ ใช้สอยได้อย่างสมบูรณ์ลงตัว และประณีตสวยงาม แม้ปัจจุบันจะมีวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด และมีเครื่องจักรที่นำมาใช้และผลิตก็ไม่อาจจะทดแทนเครื่องจักสานบางอย่างได้
เครื่องจักสานที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนตามที่กล่าว คือ ก่องข้าวและกระติบข้าว ซึ่งเป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่ง ที่ใช้กันมากในภาคเหนือและภาคอีสาน ไม่มีภาชนะอื่นที่จะใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบข้าว ทั้งยังมีน้ำหนักเบาไม่แตกหักเสียหายง่าย
คุณค่าด้านศิลปะและความงาม คุณค่าสำคัญอีกประการหนึ่งของเครื่องจักสานไทย คือ คุณค่าทางศิลปะและความงาม เครื่องจักสานหลายชนิดมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่ลงตัวงดงาม ยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นที่สร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนได้ โดยเฉพาะการแสดงออกทางอารมณ์ของช่างจักสาน ที่ปรากฏให้เห็นในเครื่องจักสานแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เครื่องจักสานบางชนิดแสดงให้เห็นอารมณ์ที่เยือกเย็นด้วยรูปแบบที่อ่อนช้อยและลวดลายที่ละเอียดประณีต
จึงเห็นได้ว่า เครื่องจักสานมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย และยังผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน แม้ทุกวันนี้วิถีชีวิตคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากแล้วก็ตาม และการทำเครื่องจักสานเพื่อใช้สอยในครัวเรือนได้ลดลงไปมาก แต่ยังมีชาวชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำเครื่องจักสานเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้ให้ครอบครัว ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำเครื่องจักสานจึงเปลี่ยนไป จากการทำเพื่อใช้สอยในครัวเรือนมาเป็นการทำเพื่อจำหน่ายด้วย ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบและกรรมวิธีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แต่กระนั้นเครื่องจักสานก็ยังมีคุณค่าในตัวเองไม่เสื่อมคลาย คนไทยจึงควรให้ความสนใจและใช้เครื่องจักสานให้มากขึ้น เพื่อให้เครื่องจักสานอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป 
๑ ข้อง ๒ กระจู้ หรืออีจู้ ๓ ไซทน ๔ ชนาง และ ๕ ข้องเป็ด หรือข้องลอย
-----------------------------------------
หัวข้อ เครื่องจักสาน : ความหมาย กำเนิด วิวัฒนาการ คุณค่า และพัฒนาการ ในเว็บไซต์นี้
- คัดและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๑
โดยได้รับอนุญาตจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ
ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้ ได้ในเว็บไซต์ "สุขใจดอทคอม" ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค.๕๖
- โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แจ้งสงวนสิทธิ์ห้ามนำข้อความและรูปภาพไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ในนาม www.sookjai.com ขอขอบกราบพระคุณในความกรุณาของท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ค่ะ ...Kimleng