[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:17:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เครื่องจักสาน : ความหมาย กำเนิด วิวัฒนาการ คุณค่า และพัฒนาการ  (อ่าน 76226 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2556 18:50:19 »

.


เครื่องจักสาน

ความหมายของเครื่องจักสาน
ภาชนะและเครื่องใช้ประจำบ้านหลายชนิดของคนไทยในอดีตทำด้วยวัสดุตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไปอย่าง ไม้ไผ่ หวาย ใบลาน  โดยนำมาแปรรูปแล้วทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ และในครัวเรือน เช่น ตะกร้า กระจาด กระบุง ตะแกรง กระชอน พัด โต๊ะ เก้าอี้  ภาชนะและเครื่องใช้เหล่านี้ทำขึ้นด้วยวิธีการจักและสาน ซึ่งรวมๆ กันว่า เครื่องจักสาน

เครื่องจักสาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า จักสาน น. เรียกเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวายเป็นต้น ว่าเครื่องจักสาน. จัก ก. เอาคมมีดผ่าไม้ไผ่หรือหวายให้แตกจากกันเป็นเส้นบางๆ, จักตอก ก.เอาคมมีดผ่าไม้ไผ่ให้เป็นเส้นแบนบางๆ สำหรับผูก มัด หรือสานสิ่งต่างๆ, สาน ก.อาการที่ใช้เส้นตอกทำด้วยไม้ไผ่ หวาย กก ใบลาน เป็นต้น  ขัดกันให้เป็นผืนเช่นเสื่อหรือทำขึ้นเป็นวัตถุมีรูปร่างต่างๆ เช่น กระบุง กระจาด.

นอกจากใช้สานแล้ว ยังใช้วิธีอื่นๆ อีก เช่น การถัก ผูก รัด มัด ร้อย  โดยใช้วัสดุ เช่น ตอกหรือหวาย สอด ขัด มัด ทำให้เกิดลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม คงทน และคงรูปอยู่ได้ตามต้องการ




          
          ภาชนะดินเผาที่มีรอยจักสานที่ผิวด้านนอก พบที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
          บ้านเชียง  อำเภอหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี

• กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน
มนุษย์คิดทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เครื่องจักสานยุคแรกอาจทำขึ้นง่ายๆ โดยใช้กิ่งไม้ เถาวัลย์ มาขัดกันเป็นรั้ว หรือนำใบไม้มาสานให้เป็นผืนสำหรับบังแดด กันฝน รองนั่ง หรือปูนอน ก่อนที่จะสานเป็นภาชนะที่มีลวดลายประณีตยิ่งขึ้น

หลักฐานการทำภาชนะจักสานพบว่า มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังได้พบร่องรอยเครื่องจักสานบนภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะเล็กๆ ปากกลม ก้นสี่เหลี่ยม (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร)  อีกใบหนึ่งเป็นภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆ พบที่แหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี)  ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าวมีรอยจักสานบนผิวด้านนอก แสดงว่าการทำภาชนะดินเผานั้นใช้ดินเหนียวยาไล้ลงไปในแม่แบบที่เป็นภาชนะจักสาน เมื่อดินแข็งและแห้งแล้วนำไปเผาไฟ ไฟได้ไหม้ภาชนะจักสานที่เป็นแม่แบบ เหลือแต่ดินเผาที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภาชนะ และจากหลักฐานนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักทำเครื่องจักสานก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผา




        
         (บน ซ้าย-ขวา) การชักเรียดโดยสอดตอกเข้าในรูขนาดต่างๆที่เจาะไว้บนแผ่นโลหะ แล้วดึงตอกให้ผ่านรู
         และตอกที่ชักเรียดแล้วจะมีขนาดเท่ากันตามที่ต้องการและมีผิวเรียบ
         (ล่างบน ซ้าย-ขวา)มีดตอก  และ เหล็กหมาด เครื่องมือที่ใช้ในการจักสาน


        
         ๑.ไผ่สีสุก  ๒.ไผ่ตง  ๓.ไผ่รวก

        
         ซ้าย ต้นหวาย  ขวา ลำต้นหวายที่ใช้ทำเครื่องจักสาน

• กรรมวิธีทำเครื่องจักสาน
การทำเครื่องจักสานยุคแรกๆ อาจเริ่มจากนำกิ่งไม้มาสอดขัดกัน หรือสานเป็นภาชนะอย่างง่ายๆ ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความรู้และเข้าใจคุณสมบัติของพืชพรรณไม้แต่ละชนิดมากขึ้น จึงเลือกสรรส่วนต่างๆ ของต้นไม้มาใช้เป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องจักสานได้เหมาะสมกับความต้องการและประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

• วัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องจักสาน
วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใช้ทำเครื่องจักสาน มีหลายชนิด ดังนี้
ไผ่ เป็นไม้มีลำต้นสูงและเป็นปล้องๆ มีมากมายหลายชนิด เช่น ไผ่สีสุก ไผ่ซาง ไผ่ตง ไผ่เรี้ย ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ  แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่นำมาใช้ทำเครื่องจักสานได้ดีแตกต่างกันไป
    ไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่นิยมนำมาทำเครื่องจักสานมากที่สุด เพราะมีผิวสวย เรียบเป็นมัน เนื้อหนาและแข็ง ลำต้นตรง พบอยู่ทั่วไปแทบทุกภาคของประเทศ
    ไผ่ซาง  เป็นไผ่ขนาดกลาง ปล้องยาว เนื้ออ่อน ขึ้นทั่วไปในภาคเหนือ นิยมนำมาทำตะกร้า หรือทำตอกใช้มัดสิ่งของ
    ไผ่ตง เป็นไผ่ลำใหญ่และสูง ลำต้นตรง ไม่มีหนาม เนื้อไม้หนาใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี
    ไผ่บง เป็นไผ่ลำขนาดกลาง ลำต้นตรง นิยมนำมาสานชะลอม พัด ใช้ทำตอกมัดของทุกชนิด

ไม้ไผ่ที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ไผ่หก ไผ่รวก ไผ่เรี้ย (เฮี้ย) ไม้ไผ่เหล่านี้นำมาทำเครื่องจักสานได้มากมายหลายชนิด ตั้งแต่ทำเป็นพวกภาชนะเครื่องใช้ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด ไปจนถึงทำเป็นเครื่องมือดักจับหรือขังสัตว์น้ำ เช่น ตะข้อง กระชัง สุ่ม อีจู้ ลอบ ไซ ชนาง

หวาย มีลำต้นยาว ผิวเกลี้ยง เหนียว ขึ้นเป็นกอ มีหลายชนิด เช่น หวายตะค้าทอง ซึ่งเป็นหวายชนิดหนึ่งที่หาได้ง่าย เครื่องจักสานที่ทำด้วยหวายอาจใช้หวายทั้งหมด หรือผสมกับวัสดุชนิดอื่น เช่น ไม้ไผ่ ใบตาล ใบลาน

ย่านลิเภา เป็นเฟิร์นเถา มีมากทางภาคใต้ เรียกชื่อต่างกันไป เช่น หญ้าลิเภา หญ้ายายเภา หรือย่านบองหยอง ภาษามลายู เรียก “ลิบู”  มีทั้งชนิดที่เถาสีดำและสีน้ำตาลแดง ส่วนที่นำมาใช้คือเปลือกเถา โดยนำมาจักเป็นเส้น สานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น พาน กระเป๋าถือสตรี เชี่ยนหมาก ที่รองแก้ว

กระจูด เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง มีลำต้นกลม ภายในกลวงและมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ มีมากทางภาคใต้ กระจูดเมื่อนำต้นมาทุบให้แบน แล้วตากแดดให้แห้ง ใช้สานเสื่อ กระสอบ หรือสานเป็นเครื่องใช้ และภาชนะหลายอย่างได้ดี

กก เป็นไม้ล้มลุก มีหลายชนิด ขึ้นในที่ชื้นแฉะ ชนิดที่มีลำต้นกลมนิยมนำมาสานเสื่อ
นอกจากใช้ต้นหรือเถาของพรรณไม้บางชนิดมาทำเครื่องจักสานแล้ว ยังมีการนำใบไม้ของต้นไม้ เช่น ตาล มะพร้าว ลาน ลำเจียกหรือปาหนัน เตย จาก คล้า มาทำเป็นเครื่องจักสานด้วย


        
         ๑ วิธีสานแบบขดมักใช้กับวัสดุที่ไม่สามารถคงรูปได้ด้วยตัวเอง
         ๒ ลายสอง  และ ๓ ลายสาม
  
•เครื่องมือและวิธีแปรรูปวัตถถุดิบทำเครื่องจักสาน
การนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องจักสาน มนุษย์ค่อยๆ เรียนรู้คุณสมบัติของวัตถุดิบ แล้วเลือกสรรดัดแปลงให้มีลักษณะเหมาะสมจะนำมาสาน เช่น ใช้มีดโต้ มีดขอ ตัดลำไม้ไผ่หรือหวาย ให้ได้ความยาวตามต้องการ ผ่าให้เป็นซีกๆ จากนั้นใช้มีดปลายแหลม ที่เรียกว่ามีดตอก จักให้เป็นเส้นๆ อาจจักเป็นเส้นแบนๆ ตามความหนาของไม้ เรียกตอกปื้น หรือจักตามแนวตั้งของเนื้อไม้ไผ่ เรียกตอกตะแคง หรือจักให้เป็นเส้นเล็กบาง หรือเหลาเป็นเส้นกลมๆ สำหรับสานเป็นขอบภาชนะ เรียกตอกกลม โดยตอกกลมที่เหลาจากไม้ไผ่หรือหวายมักต้องชักเรียด คือนำไปสอดและชักผ่านแผ่นโลหะที่เจาะรูให้มีขนาดพอดีกับขนาดที่ต้องการ เพื่อให้ได้ตอกที่มีผิวเรียบ และมีขนาดเท่ากัน

• กลวิธีสานเครื่องจักสาน
เมื่อแปรรูปวัตถุดิบด้วยวิธีต่างๆ ตามชนิดของวัตถุดิบแล้ว จึงนำไปสานให้มีรูปแบบตามที่ต้องการ การสานอาจเริ่มจากวิธีสานง่ายๆ ที่เรียกว่า “ลายขัด” ซึ่งเป็นวิธีสานที่ใช้ตอกหรือวัสดุที่มีลักษณะเป็นเส้นมาขัดกันระหว่างแนวตั้งกับแนวนอน อาจสานขัดสลับกันทีละเส้นเป็นตาห่างๆ หรือตาถี่ๆ ก็ได้ เรียกว่า ลายขัดลายหนึ่ง ถ้าต้องการให้มีความละเอียดและมีลวดลายสวยงามมากขึ้น ก็สานสอดขัดสลับกันมากกว่าหนึ่งเส้นเป็น ลายสอง ลายสาม เป็นต้น

ต่อมามีการพัฒนาเป็นวิธีสานแบบลักษณะเส้นทแยงแบบที่เรียกว่า ลายเฉลว หรือลายตาเข่ง จึงทำให้สร้างรูปทรงสิ่งของที่ต้องการสานได้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากยิ่งขึ้น วิธีสานนี้มักใช้สานภาชนะโปร่งๆ เช่น เข่ง ชะลอม เปล ซ้า (หรือตะกร้าของภาคกลาง) บางครั้งใช้สานประกอบกับลายขัด หรือลายอื่นด้วย เพื่อให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปทรงเหมาะสมกับการใช้สอย

วิธีสานอีกแบบหนึ่ง คือสานแบบขด เป็นการสานที่ใช้การขดเชื่อมกันเป็นชั้นๆ อาจมีโครงและเครื่องผูกเป็นตอกเล็กๆ หรือหวายถัก มัดระหว่างเส้นวัสดุที่นำมาขดก็ได้ วิธีสานชนิดนี้มักใช้กับวัสดุอ่อนที่ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ด้วยตัวเอง เช่น ปอ ย่านลิเภา ซึ่งส่วนมากแล้วใช้สานภาชนะ เช่น กล่องหวาย กระเป๋าย่านลิเภา ส่วนผักตบชวาที่นิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน มักสานเป็นตะกร้า กระเป๋า ถาดผลไม้รูปไก่ เป็นต้น

นอกจากวิธีสานหลักๆ ดังกล่าวแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีวิธีสานที่ผิดแปลกแตกต่างกันไป ตามความนิยมและแบบแผนที่สืบทอดกันมาในแต่ละกลุ่มชน อีกทั้งลายที่สานยังต้องเหมาะสมกับภาชนะเครื่องใช้แต่ละชนิดด้วย เช่น ลายประสุ ลายดอกพิกุล ลายเฉลวเกล็ดเต่า ลายตะแกรง ลายเฉลวห้า ลายเฉลวหก ลายดาวล้อมเดือน ลายขัดทแยงมุม



๑ ลายประสุ  ๒ ลายดอกพิกุล  ๓ ลายเฉลวเกล็ดเต่า
๔ ลายตะแกรง  ๕ ลายดาวล้อมเดือน  และ ๖ ลายขัดทะแยงมุม


บน กอนอสานด้วยใบมะพร้าว ล่าง ซ้าย-ขวา หมาที่ทำด้วยใบจาก และ หมาที่ทำด้วยกาบเหลาชะโอน

การพัฒนากรรมวิธีทำเครื่องจักสาน
การทำเครื่องจักสานทั้งของไทยและของนานาประเทศมีวิธีสานหลักๆ ที่คล้ายคลึงกัน อาจแตกต่างกันบ้างในด้านรูปทรงและลายละเอียดตกแต่ง เช่น เมื่อขึ้นต้นมักเริ่มจากลายขัดก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นลายอื่นตามรูปทรงของภาชนะ ส่วนภาชนะที่มีขอบ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด ตะแกรง มักใช้หวายมัดขอบด้วยวิธีผูกหัวแมลงวัน หรือสันปลาช่อน เพื่อให้ขอบคงทนและสวยงาม

เครื่องจักสานของไทยมีกรรมวิธีขั้นตอนการสานและรูปแบบต่างกันบ้างตามสภาพภูมิศาสตร์ ตามความนิยมในขนบประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น



บน-กลาง แม่แบบหรือหุ่นที่ใช้สานกระเป๋า
(ล่าง) การเข้าขอบภาชนะโดยใช้ตอกปื้นและใช้หวายมัด ผูกถักเป็นลายให้สวยงาม


ช่างจักสานใช้หลุมดินเป็นแม่แบบสานครุ

• รูปแบบการจัดทำเครื่องจักสาน

เครื่องจักสานในปัจจุบันยังคงใช้แม่แบบหรือหุ่นในการสานเช่นเดียวกับการทำเครื่องจักสานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การใช้แม่แบบช่วยทำให้ได้เครื่องจักสานมีรูปทรงและขนาดเท่ากัน เช่น การสานหมวกหรือกุบในภาคเหนือ ช่างจักสานมักใช้ไม้กลึงเป็นรูปหมวกเป็นแม่แบบก่อน แล้วสานตามแม่แบบที่เป็นไม้นั้น ช่วยให้ได้หมวกที่มีรูปทรงเหมือนกัน และมีนาดเท่ากัน

การสานครุ หรือคุ หรือแอ่ว สำหรับตีข้าวของทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ ช่างจักสานจะต้องขุดดินเป็นหลุมทำเป็นแม่แบบ แล้วลงไปสานในหลุมนั้น หลุมดินจึงเป็นแม่แบบบังคับให้เครื่องจักสานมีรูปทรงและขนาดตามหลุมดิน  วิธีสานเครื่องจักสานโดยใช้แม่แบบยังช่วยทำให้ได้เครื่องจักสานมีรูปทรงแปลกต่างกันออกไป เช่น วิธีสานเครื่องจักสานของจีนใช้ตอกสานหุ้มทับเครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์และแจกัน

การสร้างรูปทรงและกรรมวิธีทำเครื่องจักสานในยุคแรกๆ ไม่แตกต่างกับในปัจจุบันนัก ตั้งแต่การใช้ใบไม้หรือเถาวัลย์มาสานเป็นภาชนะ เป็นเสื่อหรือเครื่องรองนั่ง ปูนอน หรือการใช้ใบมะพร้าวมาสานเป็นภาชนะหยาบๆ เช่น เครื่องจักสานของชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย เครื่องจักสานของชาวเกาะสุมาตรา เครื่องจักสานของชาวอินเดียแดงโบราณในทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งการทำเครื่องจักสานที่มีรูปทรงเรียบง่าย ใช้วิธีสานหยาบๆ ของทางภาคใต้ของไทยโดยใช้ใบมะพร้าวมาสานหยาบๆ เป็นภาชนะขนาดใหญ่สำหรับใส่ขี้ยางหรือเศษยางพาราที่เรียกว่ากอนอ หรือลอม  ใช้ใบจาก กาบเหลาชะโอนมาสานอย่างง่ายๆ เป็นภาชนะตักน้ำ เรียก หมา หรือใช้ตอกไม้ไผ่มาสานเป็นหลัว และสุ่มไก่

ต่อมาเครื่องจักสานที่ทำด้วยกรรมวิธีพื้นๆ ดังกล่าว ได้พัฒนามาเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปทรงสวยงาม และสานด้วยลายละเอียดประณีตขึ้น เครื่องจักสานจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมประเภทหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมานานหลายพันปี แม้ในปัจจุบันเครื่องจักสานก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

เครื่องจักสานในประเทศไทยแม้มีรูปแบบและลวดลายพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่แตกต่างกันไปบ้าง ดังจะกล่าวต่อไป


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 ตุลาคม 2558 14:07:57 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2556 19:24:52 »

.


๑ ก่องข้าว ๒ ก่องข้าวดอก ของ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และ ๓ แอบข้าว

เครื่องจักสานภาคเหนือ
ดินแดนภาคเหนือของไทยหรือล้านนา ได้แก่ บริเวณที่อยู่เหนือบริเวณที่ราบภาคกลางขึ้นไปจนสุดพรมแดนไทยทางทิศเหนือ ประกอบด้วยพื้นที่ ๙ จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์

• อิทธิพลของสภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นทิวเขาและหุบเขาสลับกัน มีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกันจากเหนือมาใต้ ทิวเขาเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารในประเทศ ที่สำคัญคือ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำสายสั้นๆ อีกหลายสาย เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำปาย  ตามบริเวณหุบเขาที่แม่น้ำเหล่านี้ไหลผ่านเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการทำอาชีพที่เป็นเครื่องจักสานหลายชนิดหลายรูปแบบ นอกจานี้ ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือยังทำให้มีวัตถุดิบสำหรับทำเครื่องจักสานได้หลายชนิด เช่น ไม้ไผ่ หวาย กก แหย่ง (พืชตระกูลกก แต่มีขนาดใหญ่กว่ากก)  โดยเฉพาะภาคเหนือมีไม้ไผ่หลายชนิดที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดี

          
          ๑. บุง จังหวัดแพร่  ใช้วิธีพับตอกสานกันเป็นขอบปาก
          ๒. บุง จังหวัดลำปาง เข้าขอบปากด้วยไม้ไผ่หรือหวาย
          
          
          ซ้าย น้ำถุ้ง สานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยชัน ใช้สำหรับตักน้ำ
          ขวา กล่องเก็บเมล็ดพันธุ์พืช สานด้วยไม้ไผ่ทารักและตกแต่งลวดลาย
          
• อิทธิพลของชนชาติ สภาพสังคมและวัฒนธรรม
ดินแดนภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบประเพณีและศาสนา อันมีเอกลักษณ์ท้องถิ่นสืบเนื่องกันมายาวนาน เพราะในอดีตประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ชาวไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ กลุ่มชนเหล่านี้มีลักษณะสังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณี และความเชื่อแตกต่างกันไป เครื่องจักสานที่แต่ละกลุ่มชนผลิตขึ้นจึงมีรูปแบบสอดคล้องกับลักษณะวัฒนธรรมของกลุ่ม เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันไป


ก๋วยน้อย ใช้ใส่ของถวายพระสงฆ์ในพิธีทำบุญสลากภัต

วัฒนธรรมสำคัญที่มีอิทธิพลมากต่อการผลิตเครื่องจักสานในภาคเหนือ คือ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวนึ่ง ชาวเหนือบริโภคข้าวเหนียวนึ่งเช่นเดียวกับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ต่างจากชาวภาคกลางและชาวภาคใต้ซึ่งบริโภคข้าวเจ้า  วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวนึ่งนี้เอง ทำให้เกิดเครื่องจักสานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคข้าวเหนียวนึ่ง เช่นก่องข้าว หรือกล่องข้าว (ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง) แอบข้าว (กล่องขนาดเล็กสานด้วยไม้ไผ่หรือหวาย ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง สำหรับพกพาเดินทาง) ภาชนะเครื่องจักสานเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่โดดเด่น ดังนี้

กล่องข้าวภาคเหนือ โดยทั่วไปสานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน ความสูงตั้งแต่ ๕-๖ นิ้วขึ้นไปจนถึงสูงเป็นศอก (ประมาณ ๑๒ นิ้ว) ก่องข้าวภาคเหนือมักมีรูปทรงกระบอก ประกอบด้วยฐานสำหรับตั้ง ทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาทติดอยู่กับส่วนก้น  ตัวก่องข้าวรูปร่างคล้ายโหลปากกลม คอคอดเล็กน้อย ฝามีลักษณะเป็นฝาครอบ มีหูสำหรับร้อยเชือกหิ้วหรือแขวน รูปทรงและลวดลายแตกต่างตามความนิยมของแต่ละถิ่น  เช่น ก่องข้าวบางอำเภอในจังหวัดลำปาง นิยมใช้ตอกย้อมสีมะเกลือหรือสีดำ สานสลับกับตอกสีธรรมชาติเป็นลายสลับสี เรียก ก่องข้าวดอก

แอบข้าว ภาชนะมีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็ก เพื่อให้สะดวกในการใส่ข้าวเหนียวนึ่ง พกพาใส่ยามติดตัวไปทำไร่ไถนา หรือหาของป่า ประกอบด้วยตัวแอบและฝา สานด้วยไม้ไผ่หรือหวาย

ก่องข้าวและแอบข้าวของภาคเหนือเป็นเครื่องจักสานที่มีความสมบูรณ์ ทั้งในด้านของรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด สามารถเก็บข้าวเหนียวนึ่งได้นาน นุ่ม ไม่กระด้าง ทั้งนี้เพราะก่องข้าวและแอบข้าวทั่วไปมักสานซ้อนกัน ๒ ชั้น คือ สานชั้นในเป็นโครงก่อนเพื่อให้คงรูปที่ต้องการ แล้วจึงสานหุ้มอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีความหนา ซึ่งช่วยเก็บความร้อนได้ดี ทั้งยังเกิดความสวยงาม โดยเฉพาะลายสานด้านนอก มักสานด้วยตอกเส้นเล็ก เพราะไอร้อนของข้าวเหนียวระเหยออกมาได้ตามรูเล็กๆ ระหว่างลายของเส้นตอก ทำให้ไม่เกิดหยดน้ำขึ้น ข้าวเหนียวจึงไม่แฉะและไม่บูดได้ง่าย

แม้ปัจจุบันจะมีภาชนะอื่นสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เช่น ภาชนะพลาสติก กระติก แต่ก็เก็บข้าวเหนียวได้ไม่ดีเหมือนก่องข้าวและแอบข้าว  ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่แสดงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของผู้คนในภาคเหนือได้ดี

บุง หรือกระบุงภาคเหนือ เป็นภาชนะจักสานไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร เมล็ดถั่ว และสิ่งของอื่นๆ อย่างเดียวกับกระบุงของภาคกลาง แต่บุงภาคเหนือมีรูปร่างเฉพาะถิ่น เช่น บุงเมืองแพร่ บุงลำพูน หรือบุงลำปาง ที่มักมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่ากระบุงภาคกลาง และมีการสานลายสลับสี เพิ่มความสวยงาม

บุงมีรูปร่างกลมป้อม ก้นสอบเป็นสี่เหลี่ยม สานด้วยลายสองก่อน เมื่อสานขึ้นมาตรงส่วนกลางหรือกระพุ้งจึงสานด้วยลายสาม ส่วนปากที่โค้งสอบเข้าสานด้วยลายหนึ่งและใช้ตอกค่อนข้างเล็ก เพื่อความแข็งแรงทนทาน  ส่วนขอบปากทำต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เช่น บุงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะเข้าขอบด้วยไม้ไผ่และหวาย ซึ่งต่างกับบุงเมืองแพร่และน่านที่ไม่ทำขอบ แต่จะพับตอกสานสอดกันเป็นขอบ แทนการเข้าขอบด้วยไม้ไผ่หรือหวาย

บุงภาคเหนือนอกจากใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นภาชนะสำหรับตวง โดยใช้ขนาดของบุงเป็นเกณฑ์ เช่น บุงสามสิบ หรือบุงสามสิบห้า คือ บุงที่มีความจุสามสิบลิตรและบุงจุสามสิบห้าลิตร  วิธีสานบุงเพื่อใช้เป็นเครื่องตวงนี้ จะต้องสานบนแบบหรือหุ่น ที่มีรูปทรง ขนาด และความจุตามที่ต้องการไว้ก่อน วิธีสานจากหุ่นนี้ยังช่วยให้บุงมีรูปทรงดี ไม่บิดเบี้ยวหรือผิดสัดส่วนด้วย

น้ำถุ้ง หรือ น้ำทุ่ง เป็นเครื่องจักสานภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่น สานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชัน ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อ รูปร่างคล้ายกรวยป้อมก้นแหลมที่ปากมีไม้ไขว้กันเป็นหู สำหรับผูกกับเชือกที่ใช้สาวน้ำถุ้งขึ้นจากบ่อน้ำ การที่ก้นน้ำถุ้งสอบแหลมนั้น ช่วยให้น้ำถุ้งโคลงตัวและคว่ำลงให้น้ำเข้าเมื่อโยนลงไปในบ่อน้ำ โดยไม่ต้องกระตุกเชือกให้น้ำถุ้งคว่ำ

นอกจากนี้ การสานด้วยตอกไม้ไผ่แล้วยาด้วยชันทำให้น้ำถุ้งมีราคาถูกและใช้งานได้นาน เพราะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและชาวบ้านผลิตได้เอง

นอกจากตัวอย่างเครื่องจักสานภาคเหนือดังที่กล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ชาวล้านนาในภาคเหนือใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด ซึ่งแบ่งตามวัสดุที่นำมาสานได้ ดังนี้




บน ซ้าย  ตะกร้าใส่เสื้อผ้า  ล่าง ซ้าย กระพา ใช้สะพายหลัง
ขวา ภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ ของพวกชาวเขา

เครื่องจักสานไม้ไผ่ ชาวล้านนาใช้ไม้ไผ่หลายชนิดมาทำเครื่องจักสาน โดยเลือกให้เหมาะสมกับเครื่องจักสานแต่ละอย่าง เครื่องจักสานไม้ไผ่ในภาคเหนือมีหลายชนิด เช่น ซ้า (หรือตะกร้า) ซ้าหวด ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบหรือบุงตีบ โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยง หมวกหรือกุบ ก๋วย ก๋วยก้า ก๋วยหมู ก๋วยโจน หีบเสื้อผ้า ครุ (มี ๒ ชนิด คือ ครุสำหรับใส่น้ำ สูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร สานอย่างแน่นหนาและยาชัน ด้านล่างมีไม้พาดรองรับเป็นรูปกากบาท ที่ปากทำไม้เป็นขาไขว้กัน สำหรับหิ้วหรือหาบ ส่วนครุหรือแอ่วใช้สำหรับตีข้าว) กะเพียด (เพียดหรือเปียด) สุ่ม ไซชนิดต่างๆ

เครื่องจักสานหวาย มีการใช้หวายมาทำเครื่องใช้หลายชนิด เช่น หีบเสื้อผ้า แปม (ภาชนะประเภทกระบุงของชาวไทใหญ่และชาวเขา) เครื่องเรือน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องใช้อื่นๆ เช่น ตะกร้า เปลเด็ก

เครื่องจักสานกกและแหย่ง นิยมนำมาสานเสื่อสำหรับปูนั่ง ปูนอน แต่มีทำไม่มากนัก

เครื่องจักสานใบลานและใบตาล เครื่องจักสานนี้ทำกันไม่มากนัก ส่วนมากใช้สานหมวก และก่องข้าวเล็กๆ

เครื่องจักสานที่ทารัก หรือ เครื่องเขิน เป็นภาชนะเครื่องใช้ที่สานด้วยตอกแล้วทาด้วยรักสีดำหรือรักสีแดง  ภาชนะเครื่องเขินของภาคเหนือมีหลายอย่าง เช่น บุงทารัก มักทำเป็นคู่ สานด้วยตอกไม้ไผ่ ทาเคลือบด้วยรักดำหรือรักแดง เขียนลวดลายตกแต่งอย่างสวยงาม ใช้หาบสิ่งของไปทำบุญ หรือใส่อาหารไปงานประเพณี ปัจจุบันยังมีใช้ในกลุ่มชนชาวไทใหญ่  กล่องเก็บเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ มีรูปร่างคล้ายก่องข้าวขนาดใหญ่ ทารักดำหรือรักแดง มีฝา ฐาน และมีหูสำหรับแขวน  ภาชนะจักสานที่เคลือบผิวด้วยรักนี้ ในสมัยโบราณชอบใช้กันมาก เพราะนอกจากใช้ใส่เมล็ดพืชให้พ้นจากมอดและแมลงแล้วยังป้องกันน้ำจากน้ำฝนและความชื้นจากอากาศได้อีกด้วย จึงนิยมใช้เป็นกล่องเก็บเสื้อผ้าด้วย

นอกจากเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ภาคเหนือยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในพิธีทางศาสนาอีกหลายชนิด เช่น ก๋วยน้อย ก๋วยหลวง เป็นภาชนะใส่จตุปัจจัยสำหรับถวายพระสงฆ์ในพิธีทำบุญสลากภัต ซึ่งภาคเหนือเรียกว่า “กิ๋นก๋วยสลาก” หรือ “ตานสลาก”

ก๋วยน้อย หรือ สลากเล้า หรือ ก๋วยตีนช้าง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่คล้ายชะลอมเตี้ย  ส่วน ก๋วยหลวง หรือ สลากโชค  เป็นก๋วยขนาดใหญ่กว่าก๋วยน้อย มักเป็นของคหบดีผู้มีอันจะกินในหมู่บ้าน ใช้บรรจุอาหาร ผลไม้ รวมทั้งเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ ก๋วยหลวงมักตกแต่งด้วยกระดาษสีสวยงาม คล้ายเครื่องถวายพระในการทอดผ้าป่าของภาคกลาง

กล่าวได้ว่า เครื่องจักสานที่มีมากมายหลายชนิดซึ่งใช้อยู่ในแถบภาคเหนือนั้น ล้วนผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวเหนือ เป็นเครื่องจักสานที่ใช้ในครัวเรือน ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนในพิธีกรรมตามขนบประเพณีของชาวเหนือตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน





เครื่องจักสานภาคกลาง
ภาคกลางของประเทศไทยประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพฯ และอีก ๒๑ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และยังรวมถึงจังหวัดทางตะวันออกและตะวันตกด้วย ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์  ดังนั้น ภาคกลางจึงมีพื้นที่กว้างขวาง และยังอุดมสมบูรณ์มากกว่าภาคอื่น รูปแบบเครื่องจักสานส่วนมากในภาคกลางเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยในชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพตามสภาพพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่น ขนบประเพณี และความเชื่อทางศาสนาของผู้คน

      
       สุ่ม  เป็นเครื่องมือจับปลาในแหล่งน้ำจืดที่ระดับน้ำไม่ลึก

• อิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
ลักษณะภูมิประเทศในภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีลุ่มแม่น้ำที่สำคัญ เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทย ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี ลุ่มแม่น้ำบางปะกง ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ประชาชนภาคกลางส่วนใหญ่มักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและที่ราบสองฝั่งลุ่มน้ำ อาชีพหลักของประชากรคือเกษตรกรรมและการจับสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เพราะมีพื้นที่ติดทะเลด้วย ตามบริเวณที่ราบลุ่มนอกจากจะปลูกพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ ยังนิยมปลูกไม้ไผ่ มะพร้าว ตาล และลาน ไว้ตามหมู่บ้านและตามหัวไร่ปลายนา  นอกจากนี้ ทางตะวันตกของภาคกลาง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะพื้นที่เป็นแนวเขาซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าชื้น มีป่าไผ่และหวายจำนวนมาก จากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้ภาคกลางมีการทำเครื่องจักสานไม้ไผ่ และทำจากพรรณไม้อื่น เช่น ใบตาล ใบลาน หวาย กก และผักตบชวา ซึ่งมีอยู่ตามที่ชื้นแฉะในลำคลอง  ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพตลอดจนในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อมากมายหลายประเภท

      
       เครื่องเรือนและเครื่องใช้ที่ทำด้วยหวาย

      
       ผลิตภัณฑ์จักสานรูปสัตว์ต่างๆ สานด้วยผักตบชวาและใบลาน

• ประเภทของเครื่องจักสานภาคกลาง
เครื่องจักสานภาคกลางส่วนมากทำจากไม้ไผ่มากกว่าวัสดุอื่น เพราะหาง่าย ราคาถูก มีน้ำหนักเบาและเก็บรักษาง่าย เครื่องจักสานภาคกลางแบ่งตามลักษณะใช้สอยออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

เครื่องใช้ที่เป็นภาชนะบรรจุของ เช่น กระบุง กระพ้อม (ภาชนะสานขนาดใหญ่ สำหรับบรรจุข้าวเปลือก) กระจาด กระชุ (ภาชนะสานรูปกลมสูงสำหรับบรรจุนุ่นหรือถ่าน) กระเชอ กระพอก (กล่องสานมีฝาครอบสำหรับใส่อาหาร) กระเช้า ชะลอม บุ้งกี๋ หลัว ตะกร้า เข่ง
เครื่องตวง เช่น กระทาย (กระบุงขนาดเล็ก) สัด (ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่รูปทรงกระบอก ใช้ตวงข้าว)
เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น พัด กระชอน ฝาชี กระด้ง หวด
เครื่องประกอบอาคารบ้านเรือน เช่น ฝาบ้าน พื้นบ้าน รั้วบ้าน ฝ้าเพดาน
เครื่องจับดักสัตว์และขังสัตว์น้ำ เช่น ชนาง ลอบ สุ่ม ไซ กระจู้ กระชัง ตะข้อง จั่น
เครื่องใช้อื่นๆ  เช่น เสื่อลำแพน กรงนก สุ่มไก่


      
       บน จากขวา-ซ้าย กระจาด และ]ฝาชี  
       ล่าง จากขวา-ซ้าย หวด และ กระชอน


      
       ๑ กระชังขังปลา  ๒ ไซ  ๓ ลอบนอน และ ๔ ลอบยืนสำหรับดักจับปลาในแหล่งน้ำจืด

นอกจากเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ทำกันแพร่หลายในภาคกลางทุกจังหวัดแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุที่ได้จากพรรณไม้อื่นที่ขึ้นอยู่ในท้องถิ่นอีก เช่น หวาย นิยมทำเป็นเครื่องเรือน เช่น เก้าอี้นั่ง เก้าอี้นอน โต๊ะรับแขก ตะกร้า กระเช้าผลไม้ ใบลาน ใบตาล ใบมะพร้าว ใบจาก  นิยมทำเป็นของเล่นเด็ก โดยสานเป็นรูปสัตว์ เช่น ปลาตะเพียน กุ้ง แมลงชนิดต่างๆ พัด หรือสานเป็นภาชนะใส่ของ เช่น ภาชนะใส่ลูกจากสด ส่วนผักตบชวา ซึ่งเริ่มทำเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา โดยใช้ก้านผักตบชวาตากแห้งแล้วสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้าผลไม้ กระเป๋าถือ ถาดใส่ผลไม้สานเป็นรูปสัตว์ เช่น ไก่ ที่มีขนาดเล็กทำเป็นของที่ระลึก


      
       ๑ งอบ เป็นเครื่องสวมศีรษะที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อน เพราะไม่เก็บความร้อนไว้
       ๒ รังงอบสานโปร่ง ลมจึงพัดผ่านได้
       ๓ ตะกร้าหิ้วสานด้วยตอกไม้ไผ่ หูหิ้วถักหุ้มด้วยหวาย
      
• รูปแบบเครื่องจักสานภาคกลาง
เครื่องจักสานภาคกลางมีรูปแบบเฉพาะถิ่นที่แตกต่างไปจากเครื่องจักสานภาคอื่นหลายอย่าง เช่น เครื่องมือจับดักสัตว์น้ำตามแม่น้ำลำคลอง ถ้าแหล่งน้ำที่น้ำลึกมักมีขนาดสูงใหญ่ มีหลายชนิดเช่น

กระชังเลี้ยงปลา สานด้วยไม้ไผ่ กว้างประมาณ ๑-๒ วา (๒-๔ เมตร) ยาวประมาณ ๒-๓ วา (๔-๖ เมตร) สานเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปไข่ มีฝาหรือไม่มีฝาก็ได้ ลอยในแม่น้ำลำคลอง โดยมีแพไม้ไผ่หรือลูกบวบไม้ไผ่เป็นทุ่นขนาบไม่ให้กระชังจม กระชังชนิดนี้ใช้เลี้ยงปลาจำพวกปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาบู่ เป็นต้น  ถ้าเป็นกระชังขนาดเล็กกว่านี้ใช้ขังปลาที่จับได้เพื่อไว้ขายหรือบริโภคได้นานวัน

ไซ สำหรับดักกุ้งตามลำคลองและทุ่งนา มีขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร

ลอบ สานด้วยไม้ไผ่  ใช้ดักปลาดักกุ้งตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง มีขนาดสูงใหญ่ตามความลึกตื้นของลำน้ำ ลอบมีหลายชนิด คือ ลอบยืน และลอบนอน  ลอบยืนมักมีขนาดใหญ่ ใช้สำหรับดักปลา สูงประมาณ ๒-๓ เมตร

นอกจากเครื่องมือดักจับและขังสัตว์น้ำแล้ว ยังมีเครื่องจักสานใช้ในครัวเรือนอีกหลายชนิด เช่น

ตะกร้าหิ้ว ที่ใช้กันในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี มักมีรูปร่างกลมรี หรือกลม ปากกว้าง ก้นสอบ ขอบปากถักด้วยหวายเป็นลายสันปลาช่อน มีหูหิ้วโค้งจากขอบด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำด้วยลวดหรือไม้ไผ่และถักหุ้มด้วยหวาย ก้นตะกร้ามักเข้าขอบด้วยหวายและมีฐานไม้ไผ่เพื่อให้คงทน ตัวตะกร้ามักสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลวดลายต่างๆ หรือทำเป็นซี่เล็กๆ แล้วสานรัดด้วยตอก รูปแบบของตะกร้าหิ้วภาคกลางนี้ มีความงามเหมาะเจาะลงตัว นับได้ว่าเป็นเครื่องจักสานที่ประณีตงดงาม อีกทั้งยังมีรูปร่าง ขนาด ตลอดจนลวดลายวิธีสานแตกต่างกันไปบ้างตามความนิยมของท้องถิ่น และประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย

งอบ  เป็นเครื่องสวมศีรษะที่ชาวบ้านในภาคกลางนิยมใช้กันมาแต่โบราณ ใช้ใส่ออกไปทำงานกลางทุ่ง ตามท้องไร่ท้องนา และทำงานในสวนหรือใส่กันแดดกันฝนขณะเดินทาง งอบสานด้วยตอกไม้ไผ่ กรุด้านนอกด้วยใบลาน มีรังสำหรับสวมศีรษะซึ่งมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยสมบูรณ์อย่างยิ่ง ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ไปทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐  ดังปรากฏในหนังสือสาส์นสมเด็จ ว่า “...นึกถึงครั้งไปเที่ยวขุดอ้ายพังๆ ที่กรุงเก่าเพื่อดูอะไรเล่น  เกล้ากระหม่อมไปเป็นลม พิจารณาหาเหตุก็เห็นว่าคงเป็นด้วยใส่หมวกสักหลาด มันเป็นหมวกสำหรับเมืองหนาว โดยปรารถนาจะให้ไอร้อนซึ่งออกจากหัวขังอยู่ อบหัวให้มีความสุข  เอามาใช้เมืองเราผิดประเทศ จึงทำให้เจ็บ  สังเกตเห็นแม่ค้าชาวเรือเขาใส่งอบพายเที่ยวไปกลางแดดวันยังค่ำ ดูเขายิ้มแย้มแจ่มใสดี นึกดูเห็นเหตุว่าเพราะงอบไม่ได้ครอบคลุมหุ้มศีรษะ มีลมพัดผ่านรังงอบไปได้ จึ่งได้ซื้องอบไว้ใส่ไปเที่ยว ตั้งแต่นั้นก็ไม่เป็นลมอีกเลย...”   จากลายพระหัตถ์นี้แสดงให้เห็นว่า งอบเป็นเครื่องจักสานที่มีประโยชน์ใช้สอยเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย ปัจจุบันมีการทำงอบกันมากที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กระบุง เป็นภาชนะใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่ว งา ไปจนถึงสิ่งของอื่นๆ เช่นเดียวกับบุงหรือเพียดดีดฝ้ายของภาคเหนือ  แต่กระบุงภาคกลางมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากกระบุงภาคเหนือ กล่าวคือ ก้นสานเป็นเหลี่ยมขึ้นมาประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของกระบุง และมักมีหวายหรือไม้ไผ่เข้าขอบประกบมุม ทำให้กระบุงภาคกลางมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมากกว่า และมีหลายขนาด แต่ส่วนมากระบุงภาคกลางมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาคกลางเป็นที่ราบ จึงสามารถหาบกระบุงที่มีน้ำหนักได้มาก และเหตุที่กระบุงภาคกลางมีส่วนก้นเป็นเหลี่ยมมากก็คงเป็นประโยชน์ โดยใช้ตั้งในที่ราบได้ดีนั่นเอง


      
       ๑ กระบุงภาคกลาง มีหวายหรือไม้ไผ่ประกบมุมทำให้มีลักษณะเป็นเหลี่ยมมากกว่ากระบุงภาคอื่น
       ๒ กระบุงอาสาของชาวบ้าน ต.โพหัก จ.ราชบุรี เป็นของที่ชายหนุ่มสานให้หญิงคนรัก
       ๓ กระบุงภาคกลาง

เข่ง และหลัว เป็นภาชนะจักสานสำหรับใช้ใส่พืชผักและผลไม้เพื่อบรรทุกรถยนต์ไปขายตามที่ต่างๆ เข่งและหลัวจะสานหยาบๆ ไม่คำนึงถึงความสวยงาม แต่ต้องการให้แข็งแรงทนทานใช้งานได้ดี เข่งมีรูปทรงกระบอก ปากกลม ก้นรูปหกเหลี่ยมหรือกลม ปากเข่งเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ซี่ยาวพันเป็นเกลียวโดยรอบ ส่วนหลัวรูปร่างคล้ายเข่งแต่ก้นสี่เหลี่ยม ปากกลมกว้าง ก้นสอบ มีหู ๒ ข้าง อยู่ที่ปากขอบ  เข่งและหลัวมีทำกันมากที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี

ปลาตะเพียนใบลาน  เป็นเครื่องเล่นเด็กที่สานด้วยใบลาน เป็นรูปปลาตะเพียนหลายตัว  มีปลาตัวใหญ่ตัวหนึ่งและมีปลาตัวเล็กๆ ห้อยเป็นพวงอยู่ข้างล่าง รูปร่างปลาตะเพียนเลียนแบบมาจากปลาตะเพียนจริง ปัจจุบัน ปลาตะเพียนใบลานยังมีทำกันในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมัยโบราณนิยมใช้แขวนปลาตะเพียนเหนือเปลเด็กเพื่อให้เด็กดูเล่น แต่ปัจจุบันทำจำหน่ายเป็นของที่ระลึกและของตกแต่งบ้าน จึงนิยมตกแต่งระบายสีให้มีสีสันสวยงามสะดุดตา  มากกว่าเป็นสีของใบลานตามธรรมชาติ  เป็นการประยุกต์รูปแบบให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

เครื่องจักสานอาสา  เป็นเครื่องสักสานภาคกลางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นของชาวบ้านตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะเครื่องจักสานไม้ไผ่ชนิดที่เรียกว่า กระบุงอาสา ที่ชายหนุ่มอาสาสานให้หญิงสาวคนรัก  กระบุงอาสาจึงมีรูปทรงและลายสานที่งดงามเป็นพิเศษ ต่างจากกระบุงที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ใช้สอยแล้ว กระบุงอาสายังเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนด้วย


      
       ๑ การสานหลัว  ๒ การสานเข่ง  ๓ ปลาตะเพียนใบลานแขวนเหนือเปลให้เด็กดูเล่น
       ๔ ปลาตะเพียนใบลานระบายสีให้สะดุดตาเป็นของที่ระลึกและตกแต่งบ้าน

      
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 พฤศจิกายน 2558 18:40:05 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2556 12:41:08 »

.


การคั้งถิ่นฐานของประชากรริมแม่น้ำมูล
ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญของภาคอีสาน


แหล่งปลูกข้าวของอีสานอยู่ตามบริเวณที่ราบชายฝั่งแม่น้ำ

เครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความโดดเด่นด้วยรูปทรงและลักษณะการใช้สอย ซึ่งมีอยู่หลายประเภทสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต และขนบประเพณีของชาวอีสาน

• อิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม  ลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง ๑๕๐-๒๕๐ เมตร  มีพื้นที่กว้างครอบคลุม ๑๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ  พื้นที่ของภาคนี้ประกอบด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบ จึงมีทั้งที่ราบแอ่งแผ่นดิน ที่ราบชายฝั่งแม่น้ำ เพราะมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำปาว แม่น้ำสงคราม  ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินของราษฎร โดยกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนที่ดอนจะอาศัยหนองน้ำเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ตลอดจนการใช้ประกอบอาชีพ เช่น การเพาะปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์น้ำ กลุ่มมี่ตั้งถิ่นฐานตามที่ราบชายฝั่งแม่น้ำก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน และจับสัตว์น้ำ จึงมีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้โดยนำวัตถุดิบซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตด้วยตนเอง และสามารถสนองประโยชน์ใช้สอยได้ดี

เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ต่างจากภาคเหนือและภาคกลาง อีกทั้งชาวอีสานมีวัฒนธรรมที่สืบสานมาแต่อดีตอันยาวนานเช่นกัน วัฒนธรรมอีสานมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่เห็นได้ชัดเจน พื้นฐานทางวัฒนธรรมชาวอีสานอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือ และกลุ่มอีสานใต้  กลุ่มอีสานเหนือประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น  กลุ่มนี้มีวัฒนธรรมไทย –ลาว และวัฒนธรรมล้านนา ส่วนกลุ่มอีสานใต้ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เป็นต้น  กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากชนชาติต่างๆ เช่น เขมร ส่วย ประชาชนภาคอีสานจึงมีขนบประเพณีและวัฒนธรรมผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทย ลาว เขมร ผนวกเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม  วัฒนธรรมที่แตกต่างเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสร้างศิลปหัตถกรรมและหัตถกรรมของกลุ่มชนต่างๆ รวมทั้งหัตถกรรมเครื่องจักสานด้วย

นอกจากนี้ ในภาคอีสานยังมีวัฒนธรรมร่วมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก เช่นเดียวกับวัฒนธรรมของชาวเหนือ เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้และภาชนะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวอีสานมีความแตกต่างจากของชาวเหนือและกลุ่มชนอื่นอยู่บ้าง ภาชนะที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ก่องข้าว กระติบ มวยนึ่งข้าวเหนียว พาข้าว (ภาชนะสานด้วยหวายและไม้ไผ่ คล้ายพานขนาดใหญ่ ใช้วางอาหารเช่นเดียวกับโตกของภาคเหนือ)


      
       ๑-๓ ก่องข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ๔ มวยนึ่งข้าวเหนียวของกลุ่มอีสานเหนือ
       ๕ กล่องข้าวขวัญ  และ ๖ กระติบ

• รูปแบบเครื่องจักสานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ก่องข้าว หรือ กล่องข้าว เป็นภาชนะที่นิยมใช้กันมากแถบจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เลย ก่องข้าวที่ใช้กันในแถบนี้สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือ ฐาน หรือ ตีน เป็นไม้เนื้อแข็งประกอบกันเป็นกากบาท ใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง อาจแกะเป็นลวดลายให้สวยงามด้วย ตัวก่องข้าว รูปร่างคล้ายโถกลม  สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน ๒ ชั้น โดยสานชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แล้วสานต่อขึ้นมาเป็นตัวกล่อง โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็กๆ สานเป็นลายขัด จนได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจึงสานตัวกล่องชั้นนอกครอบอีกชั้นหนึ่ง โดยใช้ตอกปื้นสานเป็นลายสองยืนหรือลายสองเวียนเพื่อให้สวยงาม ตัวกล่องข้าวที่สานหุ้มนี้ต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวกล่องชั้นใน  ฝาก่อง รูปร่างคล้ายฝาชี สานด้วยตอกปื้นเป็นลายเฉลวครอบอีกชั้นหนึ่ง ของฝาใช้ก้านตาลเหลาเป็นแผ่นบางๆ โค้งหุ้มขอบฝาให้แข็งแรงคงทน ทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อให้สะพายบ่าหรือใช้แขวน การสานก่องข้าวซ้อนกัน ๒ ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี

ก่องข้าวอีสานอีกชนิดหนึ่งคือ ก่องข้าวขวัญ เป็นก่องข้าวที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น พิธีเซ่นไหว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง ก่องข้าวขวัญมักสานอย่างละเอียดประณีตด้วยตอกเส้นเล็กๆ และมีรูปทรงงดงามเป็นพิเศษ แตกต่างจากก่องข้าวธรรมดา โดยขยายส่วนฐานให้สูงขึ้น ตกแต่งส่วนฝาโดยใช้ไม้กลึงเป็นยอดแหลมคล้ายฝาเต้าปูน

กระติบ มีรูปแบบและวิธีสานแตกต่างออกไปจากการสานก่องข้าว กระติบมีรูปทรงกระบอกคล้ายกระป๋อง ประกอบด้วยตัวกระติบ ฝากระติบ และฐานกระติบ

วิธีสานตัวกระติบจะสานด้วยตอกไม้ไผ่ เรี้ย (เฮี้ย) ซึ่งเป็นตอกอ่อน ให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการสาน โดยสานเป็นรูปทรงกระบอก เสร็จแล้วพับทบ กลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านในเป็นตัวกระติบ การสานลายด้านนอกและด้านในจะใช้ลายต่างกัน  ด้านนอกซึ่งต้องการความสวยงามกว่าจะสานด้วยลายสองยืนหรือยกดอก ด้านในสานด้วยลายอำเวียน ส่วนฝากระติบใช้วิธีสานอย่างเดียวกับการสานตัวกระติบ ก้นกระติบสานเป็นแผ่นกลมๆ ต่างหาก และนำมาผนึกติดภายหลัง กระติบชนิดนี้ในบางแห่งอาจใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นส่วนฐาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงคงทนอีกด้วย

ข้อแตกต่างระหว่างก่องข้าวกับกระติบข้าว คือ ก่องข้าวมีฐานเป็นไม้รูปกากบาท ฝาเป็นรูปกรวย  ส่วนกระติบมีฐานกลม ฝารูปทรงกระบอกหน้าตัด  ทั้งนี้ เกิดจากแต่ละท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ ในปัจจุบันก่องข้าวและกระติบยังคงรักษารูปทรงและลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไว้ มากกว่าการเลียนแบบจากท้องถิ่นอื่น

กะต่า บางท้องถิ่นเรียกว่า กะซ้า เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่น่าสนใจของภาคอีสานอีกอย่างหนึ่ง กะต่าเป็นภาชนะคล้ายตะกร้าของภาคกลางหรือซ้าของภาคเหนือ กะต่าเป็นภาชนะที่ใช้กันในทุกครัวเรือน เพราะใช้ใส่ของได้หลายอย่าง ใช้ได้ทั้งหิ้ว หาบ และคอนด้วยไม้คาน

วิธีสานกะต่าเริ่มสานจากก้นแล้วค่อยๆ สานต่อขึ้นมาทางด้านข้างของกะต่าเรื่อยจนถึงปาก ปากหรือขอบกะต่าจะใช้วิธีเก็บริมโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวกะต่า เสร็จแล้วทำหูกะต่าเพื่อใช้หิ้วหรือหาบ โดยมากใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่งโค้งเหนือปาก แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบ เรียก กะต่าหิ้ว  หรือ กะต่างวง ถ้าสานเป็นตาห่างๆ เรียก กะต่าตาแตก กะต่าภาคอีสานมีรูปทรงคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น กะต่านี้ใช้ได้ทั้งหาบเป็นคู่หรือใช้หิ้วเพียงใบเดียว ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ใส่ผัก ผลไม้ ถ่าน

ครุ หรือ คุ  เป็นภาชนะไม้ไผ่สาน ใช้ตักน้ำหรือขนย้ายน้ำ ใช้ชันผสมกับน้ำมันยางยา รูปทรงคล้ายกะต่าแต่เล็กกว่า

กระต่องข้าวปุ้น เป็นภาชนะไม้ไผ่สานที่ใช้ประจำครัวเรือน รูปร่างคล้ายตะกร้า แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีหูหิ้ว ใช้สำหรับตักข้าวปุ้น (ขนมจีน) ที่สุกลอยขึ้นมาจากก้นหม้อน้ำร้อน เทใส่ครุที่ใส่น้ำเย็นเมื่อเส้นข้าวปุ้นเย็นก็จะใช้มือม้วนข้าวปุ้นเป็นจับ เรียงไว้ในกระด้ง


      
       ๑ กะต่าหิ้วที่ใช้วิธีเก็บริมปากโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวกะต่า ๒ กะต่าหิ้วแบบหนึ่ง  
       ๓ กระต่างวง และ ๔ เบ็งหมากสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้บูชาพระ  

• เครื่องมือจับดักและขังสัตว์น้ำ  ภาคอีสานมีเครื่องจักสานที่ใช้เป็นเครื่องมือจับดักและขังสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น ไซ ข้องตุ้ม (อีจู้ของภาคกลาง) ซ่อน หรือ ซูด (หรือ ชุด ของภาคกลาง) ซึ่งเป็นเครื่องมือดักปลาที่มีเกล็ดใหญ่ เช่น ปลาช่อน ถักด้วยเถาวัลย์หรือซูดเป็นตาสี่เหลี่ยม ปากกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ก้นเรียวเล็กลงไปเป็นรูปกรวย เมื่อปลาช่อนหลงเข้าไปจะย้อนออกมาไม่ได้เพราะติดเกล็ด

เครื่องมือจับดักและขังปลาเหล่านี้มีรูปแบบต่างกันไปตามสภาพใช้สอยและลักษณะภูมิประเทศ เช่น เครื่องดักปลาในบริเวณหนองน้ำ มักมีขนาดเล็กตามความลึกของระดับน้ำและขนาดของปลาที่จะดักจับ ส่วนเครื่องจับดักและขังน้ำตามบริเวณแม่น้ำโขงจะมีขนาดสูงใหญ่

 
      
       บน การจับปลาโดยใช้สุ่มและขังไว้ในข้อง
       ล่าง ข้อมตุ้มที่ใช้จับปลาในแม่น้ำที่มีระดับน้ำลึก

      
       ๑ กะเพียดดีดฝ้าย
       ๒ เบ็งหมากสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้บูชาพระ

•  ครื่องใช้ดีดฝ้ายและเลี้ยงไหม  เครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไป เช่น กะเพียดดีด มีลักษณะคล้ายตะกร้า สูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ก้นลึกสอบ เมื่อจะดีดฝ้ายจะจับกะเพียดให้นอนลง แล้วใช้กง (ไม้ดีดฝ้ายมีรูปเหมือนคันธนู) ดีดฝ้ายที่ใส่ไว้ข้างในนั้นเพื่อให้ฝ้ายฟู

จ่อ เป็นภาชนะไม้ไผ่สานลักษณะคล้ายกระด้ง มีไส้สานขดเป็นวงหลายๆ วง และทำเป็นช่องๆ ใส่ตัวไหม จ่อเป็นภาชนะสำหรับเลี้ยงตัวไหม

เครื่องใช้ในขนบประเพณี เครื่องจักสานอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน เช่น เบ็งหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูและดอกไม้นำไปบูชาพระตามวัดในงานพิธีต่างๆ สานด้วยไม้ไผ่อย่างง่ายๆ มีขาสูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร

กล่าวได้ว่า เครื่องจักสานในภาคอีสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ทั้งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่นเข้ากับวิถีชีวิต ขนบประเพณีของคนในท้องถิ่น จึงยังคงมีการทำกันอยู่ในหลายท้องถิ่นทั้งที่เป็นอาชีพโดยตรง และทำเป็นอาชีพรองยามว่างจากการทำไร่ทำนา




ฝาบ้านที่ใช้ไม้ไผ่สาน

เครื่องจักสานภาคใต้
เครื่องจักสานของภาคใต้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบเช่นเดียวกับเครื่องจักสานในภาคอื่น โดยเฉพาะสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีความแตกต่างจากภาคอื่นค่อนข้างมาก

• อิทธิพลของสภาพภูมิศาสตร์  ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้เป็นคาบสมุทร มีทิวเขาเป็นแนวยาวต่อกันหลายทิว คล้ายเป็นสันของคาบสมุทรตั้งแต่ตอนเหนือสุดของภาค จนถึงสุดเขตแดนของไทย ขนาบด้วยที่ราบชายฝั่งทะเลทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านตะวันออกเป็นอ่าวไทย ประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ส่วนด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ได้แก่ ยะลา พื้นที่ภาคใต้จึงแบ่งออกได้เป็นบริเวณชายฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลตะวันตกด้านทะเลอันดามัน กับส่วนที่เป็นทิวเขา

เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง มีฝนตกชุกเกือบตลอดปีและภูมิอากาศร้อนชื้น บริเวณภูเขาจึงมีป่าทึบและพรรณไม้นานาชนิด พรรณไม้ที่ใช้ทำเครื่องจักสาน เช่น ไผ่ หวาย ย่านลิเภา กระจูด ตาล ลาน ขึ้นงอกงามอยู่ตามป่า ตามภูเขาสูง และที่ราบ ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลมีพรรณพืชชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป คือ ลำเจียก หรือ ปาหนัน ซึ่งเป็นต้นไม้จำพวกเตยทะเล ชาวใต้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน เพราะเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายในท้องถิ่น    


      
       ซ้าย ต้นลาน  ขวา ต้นลำเจียก  ซึ่งนิยมใช้ใบมาทำเครื่องจักสาน
 
      
       บน สอบมุก หรือสมุก และกล่องใส่ของสานด้วยใบลำเจียก
       ล่าง สอบหมากสานด้วยกระจูดสำหรับใช้ใส่หมากพลู

•รูปแบบเครื่องจักสานภาคใต้
เครื่องจักสานที่นิยมทำในภาคใต้
เครื่องจักสานในภาคใต้มีความแตกต่างกันระหว่างเครื่องจักสานด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ตามลักษณะภูมิประเทศ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรม และวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เครื่องจักสานภาคใต้ด้านตะวันตกที่ทำกันแพร่หลายมาแต่โบราณ คือ เครื่องจักสานที่สานด้วยใบลำเจียกและต้นกระจูด ซึ่งทำกันหลายจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง

เครื่องจักสานลำเจียก ลำเจียกเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่มากมายตามชายทะเลและที่ราบชายฝั่งทะเล โดยนำใบมาลนไฟพอให้เป็นมัน กรีดเส้นกลางใบออกและลิดเอาหนามริมใบออกด้วย แล้วใช้ไม้ไผ่รีดหรือขูดให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ มัดรวมกันเป็นกำแช่น้ำไว้ ๒ วัน จากนั้นเอาขึ้นตากแดดให้แห้งสนิทจึงนำไปสาน  ถ้าต้องการให้มีสีก็นำไปย้อมด้วยสีต่างๆ ตามต้องการ นิยมใช้สานกระสอบหรือสอบ มีหลายชนิด เช่น สอบนั่ง ซึ่งส่วนก้นมีมุมสี่มุม สอบนั่งถึงแม้จะไม่บรรจุสิ่งของก็สามารถตั้งรูปทรงอยู่ได้ ต่างกับ สอบนอน ที่ก้นมีเพียง ๒ มุม ถ้าไม่บรรจุของไว้จะตั้งไม่ได้ นอกจากนี้มี สอบหมากลักษณะอย่างเดียวกับสอบนั่งแต่มีขนาดย่อมกว่า ใช้สำหรับใส่หมากพลู ส่วนก้นมี ๖ มุม ตรงกลางกลมและป่องออก ปากสอบเข้าเล็กน้อย มีฝาปิด ฝามีมุมนูนสูงขึ้นเพื่อให้ดูสวยงาม สอบหมุก ใช้ใส่ของเล็กๆ น้อยๆ ประจำบ้าน เช่น ด้าย เข็ม ยา

ส่วนเสื่อใบลำเจียกหรือปาหนันสานกันมากในหมู่ชาวมุสลิมและไทยพุทธในภาคใต้มาแต่โบราณ และเป็นเครื่องจักสานที่มีความสัมพันธ์กับประเพณีของชาวไทยด้วย เช่น เสื่อใบลำเจียกที่สานสำหรับใช้ในพิธีแต่งงาน บ่าวสาวจะช่วยกันสานเสื่อหรือที่ชาวใต้ เรียกว่า “สาด” อย่างสวยงามเป็นพิเศษ ไว้ใช้ในพิธีแต่งงานของตน อาจสานไว้ถึง ๑๒ ผืน สำหรับวางซ้อนกันแทนที่นอน เสื่อผืนบนสุดหรือ “ยอดสาด” นิยมปักไหมและดิ้นทองติดกระจกประดับที่มุมเสื่ออย่างสวยงาม

ปัจจุบันยังมีการสานเสื่อใบลำเจียกในภาคใต้หลายแห่ง เช่น ที่บ้านคลองหมาก ตำบลคลองหมาก อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งสานเสื่อใบลำเจียกที่ทำกันมานาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ทำกันอย่างจริงจังอีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านโคกเคียน ตำบลโคกเคียน ที่บ้านกะลุวอเหนือ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส และบางท้องถิ่นในเขตจังหวัดสงขลาและปัตตานี

เครื่องจักสานกระจูด ต้นกระจูดภาษาท้องถิ่นใต้เรียก “จูด” เป็นพืชพวกกก ลำต้นกลม ข้างในกลวง และมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะ มีมากในบริเวณทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น ที่หมู่บ้านทอน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านควนยาว อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

วิธีทำเครื่องจักสานกระจูด เริ่มจากตัดต้นกระจูดและคัดแยกตามความยาว มัดรวมกันเป็นกำ แล้วนำไปหมกโคลนเพื่อป้องกันไม่ให้กระจูดเหี่ยวเกินไป จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วบดทับหรือทุบให้แบนโดยใช้ลูกกลิ้งหนักๆ หรือสาก จากนั้นจึงนำต้นกระจูดที่แบนเหมือนตอกไปสานเป็นสิ่งต่างๆ  หากต้องการให้เป็นสีก็นำไปย้อมสีก่อน


      
       บน กระจูดที่พร้อมจะนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
       ล่าง การสานเสื่อกระจูดของภาคใต้

      
       ๑ วี หรือ กา  ๒ เฉลวปักปากหม้อยา
       และ ๓ เครื่องจักสานสะท้อนภูมิปัญญาของชนในท้องถิ่นในการเลือกใช้วัสดุ
       และประดิษฐ์สิ่งของที่สนองประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์

แต่เดิมนิยมใช้กระจูดมาสานเป็นเสื่อรองนั่งหรือปูนอน ซึ่งเรียกว่า สาดนั่ง สาดนอน สานเป็นกระสอบ หรือสอบ สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ เช่น ใส่เกลือ ข้าวเปลือก หรือสาน สอบหมาก สำหรับใส่เครื่องกินหมากอย่างเชี่ยนหมาก ปัจจุบันมีการส่งเสริมเพื่อพัฒนาการสานกระจูดให้มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น ทำเป็นกระเป๋า หมวก ภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ ที่ใส่แฟ้มเอกสาร

เครื่องจักสานย่านลิเภา ลิเภาเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งเป็นเถาเลื้อย ขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณป่าเขา ลิเภามีลำต้นกลมาขนาดก้านไม้ขีดไฟ มีความเหนียวมาก เมื่อนำย่านลิเภามาทำเครื่องจักสานจะต้องเลือกต้นที่แก่และมีขนาดยาว เด็ดใบทิ้ง จากนั้นนำไปผึ่งลมให้แห้ง ลอกเปลือกเอาไส้ในออกให้หมด ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเปลือก แล้วฉีกเปลือกเป็นเส้นเท่าๆ กัน นำไปขูดเกลาให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปชักเรียด (เหมือนชักเรียดตอกหรือหวาย) เพื่อให้มีขนาดเท่าๆ กัน  ผิวเรียบไม่เป็นขุย จากนั้นนำไปสานสิ่งต่างๆ

ย่านลิเภาที่จักให้เป็นเส้นแล้วมีลักษณะอ่อน สานให้คงรูปอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องใช้วัตถุอื่นเป็นโครง เช่น หวาย ไม้ไผ่ โดยสอดพันหุ่นหรือแม่แบบที่ทำไว้ก่อน นิยมสานเป็นภาชนะและเครื่องใช้ เช่น พาน ถาด กล่องบุหรี่ กระเป่าถือ นอกจากจะสานประกอบเข้ากับหวายและไม้ไผ่แล้ว ยังใช้โลหะ เช่น ทอง หรือเครื่องถม มาทำเป็นส่วนประกอบตกแต่งให้สวยงามยิ่งขึ้นด้วย

เครื่องจักสานไม้ไผ่ เนื่องจากภูมิภาคของภาคใต้มีลมมรสุมพัดผ่านเกือบตลอดปี จึงมีการปลูกไม้ไผ่เป็นรั้วเพื่อกำบังลมและลดการพังทลายของดิน ชาวใต้จึงนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพและในชีวิตประจำวันด้วย เครื่องจักสานไม้ไผ่ของภาคใต้ด้านตะวันออก โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ที่เรียกว่า ด้ง หรือ กระด้ง เช่น กระด้งฝัดข้าว และกระด้งมอน สานด้วยไม้ไผ่และหวาย สำหรับใช้งานเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา กระด้งทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากกระด้งภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านรูปแบบและลวดลาย รูปแบบของกระด้งภาคใต้ มีรูปกลมรีคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพ ส่วนป้านกลมมน ส่วนแหลมรีเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกในการร่อน ฝัดและเทข้าวออก ส่วนลวดลายของกระด้งฝัดข้าวภาคใต้มี ๒ ชนิด คือกระด้งลายขอ และกระด้งลายบองหยอง

กระด้งมอน คำว่า มอน] เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึงกระด้งมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่กว่ากระด้งฝัดข้าวเท่าหนึ่ง ใช้ตากพืชพันธุ์ธัญญาหารเพราะเป็นกระด้งขนาดใหญ่ มีเนื้อที่มากกว่ากระด้งทั่วไป

กระด้งภาคใต้ยังเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของชาวใต้ เช่น ห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ขวัญข้าว หรือแม่โพสพหรือเทพธิดาแห่งข้าวไม่พอใจแล้วหนีไป ไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญทำให้การทำนาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร   ความเชื่อนี้แม้หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมแม่โพสพจึงไม่ชอบกระด้ง แต่ก็เป็นความเชื่อที่เชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณ ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ ต้องเก็บกระด้งไว้ในที่สูง เช่น ตามชายคา หรือเหนือเตาไฟในครัว หากพิจารณาจากความเชื่อนี้ น่าจะเป็นอุบายของคนโบราณที่เก็บรักษากระด้งซึ่งเป็นของที่สานยาก ต้องใช้ความละเอียดประณีต เพื่อให้ใช้ได้ทนนาน เพราะการเก็บไว้ในที่สูงเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กนำไปเล่น และการเก็บเหนือเตาไฟ ควันไฟก็จะช่วยไล่แมลงที่จะกัดกินไม้ไผ่

วัสดุพื้นบ้านที่ใช้ทำเครื่องจักสานภาคใต้นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว  ยังมีเครื่องจักสานบางชนิดที่ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบคล้า ใบจาก ใบลาน ใบมะพร้าว และกาบเหลาโอน (ชะโอน)



      
       เถาย่านลิเภา

      
       เปลือกย่านลิเภา เครื่องมือที่ใช้จักสาน และการสาน

      
       ๑ กระด้งลายขอที่มีรูปแบบและลายสานที่ประสานประโยชน์ใช้สอยได้อย่างดียิ่ง
       ๒ เครื่องจักสานเป็นทั้งงานศิลปหัตถกรรมและงานหัตถกรรมที่ทำสืบทอดมาแต่โบราณ
       ๓ โคระสานด้วยใบมะพร้าวก่อนนำไปหุ้มผลไม้  และ ๔ โคระหุ้มผลขนุน

ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักสานกับคนไทย
• เครื่องจักสานในวิถีชีวิตของคน เครื่องจักสานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนไทยในอดีตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะเครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนไทยตั้งแต่ แรกเกิด กล่าวคือ เมื่อทารก “ตกฟาก” คือ คลอดจากครรภ์มารดา ที่เรียกเช่นนี้ เพราะคนไทยสมัยโบราณใช้ไม้ไผ่มาสับให้แตกแล้วแผ่ออกเป็นแผ่น ใช้ปูเป็นพื้นเรือน เรียกว่าฟาก  เมื่อทารกคลอดออกมาจึงอยู่บนฟาก คนไทยจึงเรียกเวลาที่เด็กเกิดว่าตกฟาก หลังคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือเด็ก โดยใช้ผิวไม้ไผ่รวกที่ปาดให้บางคม และนำเด็กไปนอนใน กระด้ง ที่สานด้วยไม้ไผ่คลุมด้วยแห เพื่อป้องกันผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาทำร้ายเด็ก ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต่างต้องเรียนรู้การทำเครื่องจักสานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ต้องหัดทำเครื่องจักสานจากพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องของตน เช่น หัดสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง ตะแกรง ลอบ สุ่ม เพราะเครื่องจักสานเหล่านี้เป็นเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีพ จึงต้องทำด้วยตนเอง นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นเครื่องจักสานยังมีความสำคัญต่อการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวด้วย ดังเช่น ชาวบ้านโพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ใช้เครื่องจักสานประเภท กระบุง กระจาด งอบ เป็น “ของอาสา” คือ สิ่งของที่ฝ่ายชายอาสาทำเป็นของกำนัลให้ฝ่ายหญิงที่ตนรักใคร่ เพื่อแสดงไมตรี แสดงฝีมือและความสามารถในการทำเครื่องจักสาน ซึ่งถือเป็นวิชาชีพสำคัญที่ผู้ชายทุกคนควรมีติดตัว  ดังนั้น เครื่องจักสานที่เป็นของอาสาของชาวโพหัก จึงประณีตงดงามพิเศษกว่าเครื่องจักสานทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยอีกมาก เช่น ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระจาด กระชอน หวด กล่องข้าว กระติบ และแอบข้าว โดยเฉพาะก่องข้าวและแอบข้าวสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไปในกลุ่มคนที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาชนะจักสานเหล่านี้สนองประโยชน์การใช้สอยได้สมบูรณ์ที่สุด จึงมีผู้ใช้สอยสืบต่อกันมานานจนถึงปัจจุบัน




ผลิตภัณฑ์ที่สานด้วยย่านลิเภา

เครื่องจักสานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องจักสานที่ใช้ประกอบอาชีพ เช่น กระด้งฝัดข้าว ตะแกรงร่อนข้าวลีบ กระบุง กระพ้อม โพงหรือชงโลงสำหรับโพงน้ำ วี หรือ กา (เครื่องใช้ในการนวดข้าวของชาวนาภาคเหนือ เป็นพัดขนาดใหญ่สานด้วยตอกแข็ง ใช้พัดให้เศษฟางหรือข้าวลีบปลิวออกไป ที่เรียกเครื่องใช้ชนิดนี้ว่า กา ก็เพราะชาวนาจะเก็บไว้เหนือเตาไฟในครัวเพื่อมิให้มอดกัดกิน จึงมีสีดำเหมือนสีของนกกา) ครุ หรือ คุ หรือ แอ่ว สำหรับตีข้าว หรือ ครุที่ใช้ตักน้ำ เครื่องจักสานเหล่านี้ต้องมีไว้ประจำบ้านแทบทุกครัวเรือน แม้สานเองไม่ได้ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อไว้ประจำบ้านของตน

เครื่องจักสานที่ใช้กันทั่วไปในทุกภาคของประเทศอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องมือสำหรับจับดักและขังสัตว์น้ำ เช่น ลอบ ไซ ชนาง สุ่ม อีจู้ ตุ้ม จั่น ข้อง เครื่องจักสานเหล่านี้มีรูปร่างและการใช้งานแตกต่างกันมากมาย


• เครื่องจักสานที่ใช้ในพิธีกรรม  
นอกจากเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีเครื่องจักสานอีกหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น คนไทยภาคกลางในสมัยโบราณมักใช้ตอกสานเป็นเฉลวเล็กๆ ปักไว้บนฝาหม้อยา เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มาทำยาเสื่อม หรือใช้เฉลวปักไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อป้องกันผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในบริเวณนั้น  ชาวบ้านในภาคเหนือมักทำเฉลวแขวนไว้เหนือประตูบ้านเวลามีศพผ่านบ้านเรือนของตน เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผีไม่ให้เข้าไปในบ้านเรือนของตน




• คุณค่าของเครื่องจักสาน
คุณค่าด้านจิตใจ เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นงานหัตถกรรมที่ทำจากวัสดุที่หาได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง และมีกรรมวิธีทำที่พื้นๆ โดยการสานด้วยมือเป็นหลักและใช้เครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้น ไม่มีขั้นตอนและกรรมวิธียุ่งยากซับซ้อนเหมือนงานหัตถกรรมประเภทอื่น แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพราะสร้างขึ้นอย่างตรงไปตรงมา “จากสมองสู่มือ”  และไม่ใช่งานที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากด้วยเครื่องจักร

คุณค่าด้านภูมิปัญญา เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่าง เช่น ความฉลาดในการเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิด และนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ความสามารถในการประดิษฐ์ที่สนองประโยชน์ ใช้สอยได้อย่างสมบูรณ์ลงตัว และประณีตสวยงาม แม้ปัจจุบันจะมีวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด และมีเครื่องจักรที่นำมาใช้และผลิตก็ไม่อาจจะทดแทนเครื่องจักสานบางอย่างได้

เครื่องจักสานที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนตามที่กล่าว คือ ก่องข้าวและกระติบข้าว ซึ่งเป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่ง ที่ใช้กันมากในภาคเหนือและภาคอีสาน ไม่มีภาชนะอื่นที่จะใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบข้าว ทั้งยังมีน้ำหนักเบาไม่แตกหักเสียหายง่าย

คุณค่าด้านศิลปะและความงาม คุณค่าสำคัญอีกประการหนึ่งของเครื่องจักสานไทย คือ คุณค่าทางศิลปะและความงาม เครื่องจักสานหลายชนิดมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่ลงตัวงดงาม ยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นที่สร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนได้ โดยเฉพาะการแสดงออกทางอารมณ์ของช่างจักสาน ที่ปรากฏให้เห็นในเครื่องจักสานแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เครื่องจักสานบางชนิดแสดงให้เห็นอารมณ์ที่เยือกเย็นด้วยรูปแบบที่อ่อนช้อยและลวดลายที่ละเอียดประณีต

จึงเห็นได้ว่า เครื่องจักสานมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย และยังผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน แม้ทุกวันนี้วิถีชีวิตคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากแล้วก็ตาม และการทำเครื่องจักสานเพื่อใช้สอยในครัวเรือนได้ลดลงไปมาก แต่ยังมีชาวชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำเครื่องจักสานเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้ให้ครอบครัว  ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำเครื่องจักสานจึงเปลี่ยนไป จากการทำเพื่อใช้สอยในครัวเรือนมาเป็นการทำเพื่อจำหน่ายด้วย ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบและกรรมวิธีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แต่กระนั้นเครื่องจักสานก็ยังมีคุณค่าในตัวเองไม่เสื่อมคลาย คนไทยจึงควรให้ความสนใจและใช้เครื่องจักสานให้มากขึ้น เพื่อให้เครื่องจักสานอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป



๑ ข้อง  ๒ กระจู้ หรืออีจู้  ๓ ไซทน  ๔ ชนาง และ ๕ ข้องเป็ด หรือข้องลอย



-----------------------------------------
หัวข้อ เครื่องจักสาน : ความหมาย กำเนิด วิวัฒนาการ คุณค่า และพัฒนาการ ในเว็บไซต์นี้
- คัดและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๑
  โดยได้รับอนุญาตจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร  กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ
  ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้ ได้ในเว็บไซต์ "สุขใจดอทคอม" ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค.๕๖
- โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แจ้งสงวนสิทธิ์ห้ามนำข้อความและรูปภาพไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ในนาม www.sookjai.com ขอขอบกราบพระคุณในความกรุณาของท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ค่ะ
...Kimleng

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 พฤศจิกายน 2558 18:52:27 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 18:46:55 »

.


รูปแบบงานศิลปะจักสานโบราณของชนชาวเวียดนาม
ภาพโดย : Mckaforce
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2561 16:07:03 »


กระเชอ : เครื่องใช้จักสาน

กระเชอ คือภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ หรือหวายทรงสูง ก้นสอบสี่เหลี่ยม ปากผาย รูปทรงคล้ายกระบุง แต่ทรงเตี้ย ป้อม ขนาดย่อมกว่ากระบุง ใช้ใส่เมล็ดพืชต่างๆ หรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ  กระเชอนี้นำติดตัวไปด้วยการกระเดียด หรือโอบไว้ข้างเอว  คนสมัยโบราณใช้กระเชอเป็นเครื่องตวง โดยมีอัตรา ๕ ทะนาน เป็น ๑ กระเชอ ๕ กระเชอ เป็น ๑ สัด



กระแชง คือเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นแผ่นทำด้วยตอก หรือใบเตย หรือใบจาก

กระแชงแบบที่ทำด้วยใบเตยและใบจาก มักใช้วิธีเย็บเข้าเป็นแผง มุงเป็นหลังคาคลุมเรือ คลุมเกวียน เพื่อบังแดด บังฝน

ส่วนกระแชงที่สานด้วยตอกปื้น มักใช้ปูรองนั่ง หรือทำเป็นแผงกั้นเรือน โรง ปะรำ เป็นต้น







๑ กระบุงภาคกลาง มีหวายหรือไม้ไผ่ประกบมุมทำให้มีลักษณะเป็นเหลี่ยมมากกว่ากระบุงภาคอื่น
๒ กระบุงอาสาของชาวบ้าน ต.โพหัก จ.ราชบุรี เป็นของที่ชายหนุ่มสานให้หญิงคนรัก
๓ กระบุงภาคกลาง

กระบุง

กระบุง หมายถึง ภาชนะเครื่องจักสานทึบ ทำด้วยไม้ไผ่จักตอกเป็นลวดลายต่างๆ  ใช้สำหรับใส่เมล็ดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา และใช้ตวงข้าว รูปทรงเป็นภาชนะทรงกระบอก ปากกลม ก้นสอบเป็นเหลี่ยม ที่ส่วนปากมีขอบไม้ไผ่ประกบและมัดขัดด้วยเส้นหวายเป็นช่วงๆ โดยรอบ  ส่วนคอสานเป็นลายขัดทึบเพื่อแลดูสวยงามและแข็งแรง  มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ถ้ามีลักษณะโค้งหรือค่อม เรียกว่า กระบุงค่อม  ถ้าเป็นเส้นตรง เรียกว่า กระบุงปากตรง  ส่วนตัวสานด้วยไม้ไผ่เป็นลายสอง ส่วนก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  มีก้านไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นขัดรองไว้เป็นรูปกากบาทเพื่อเสริมให้ฐานแข็งแรง โดยทั่วไปแล้วมีอยู่สามขนาด รูปทรงแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้

๑.กระบุงขนาดใหญ่มีหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้หาบข้าวหรือสิ่งของเบ็ดเตล็ด 
๒.กระบุงขนาดกลาง คือ กระบุงสัดหรือกระบุงลูกสัด ใช้สำหรับตวงหรือโกยข้าว  ในสมัยโบราณนิยมใช้กระบุงตวงข้าวเปลือก กำหนดให้ ๒๕ ทะนาน* เป็น ๑ สัด
๓.กระบุงขนาดเล็ก เรียกว่า กระบุงโกย ใช้สำหรับงานเบ็ดเตล็ด


*ทะนาน เป็นเครื่องมือสำหรับตวงของเหลวและของแห้ง ใช้ในไทยมาตลอดจนถึง พ.ศ.๒๔๖๖ (ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พฤษภาคม 2564 19:33:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2561 15:21:04 »





กระจาด
กระจาด คือ ภาชนะสาน รูปเตี้ย ปากกลมกว้าง ก้นสอบเข้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงคล้ายชามปากไปล่ หรือชามปากผาย หรือคล้ายงอบที่หงายขึ้น กระจาดมีหลายขนาด มักใช้ใส่เครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผัก ผลไม้ ใส่ดอกไม้ธูปเทียน-อาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัด เป็นต้น  การนำกระจาดติดตามตัวไปทำได้ด้วยการกระเดียดเข้ากับเอว หรือใช้กระจาดสองใบใส่ลงในสาแหรกสำหรับรองรับ ใช้ไม้คานสอดที่ส่วนบนของสาแหรก ใส่บ่าหาบไป




กระจาดตากรวย
กระจาดตากรวย ประโยชน์ใช้สอยเหมือนกับกระจาดธรรมดาทั่วไป มีส่วนแตกต่างที่รูปลักษณ์ สานด้วยไม้ไผ่ลายตาจีน ตอนบนเป็นลายตาเฉลวโปร่งหักมุม ส่วนก้นเป็นรูปหกเหลี่ยม มีไม้ขัดตามมุมของกระจาดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง  

ขอขอบคุณภาพจาก :
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- เว็บไซต์ kaidee.com
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 02 ตุลาคม 2562 15:55:12 »



อีจู้

อีจู้ เป็นภาชนะเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ใช้สำหรับดักปลา คล้ายขวดคอสูง ส่วนก้นและตัวกลมป่อง ส่วนคอเรียว ปากบาน มีงาแซง คือส่วนที่ทำเป็นซี่ๆ ปลายสอบเข้าหาก้นเป็นทางเข้าของปลา และกันไม่ให้ปลาที่เข้าไปแล้วย้อนกลับออกมาได้ อยู่ที่ริมก้นของตัวอีจู้ การดักจะใช้เหยื่อล่อใส่ไว้ข้างใน อาจจะเป็นหอยโข่ง ปลาทุบ ปูตายทุบแหลก หรือเศษเนื้อปลาเน่าใส่ไว้ในส่วนที่เรียกว่า รองหรือกะพล้อ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ขัดห่างๆ เป็นรูปทรงกระบอกใส่ไว้ภายในตรงปากอีจู้ ซึ่งสามารถถอดเข้าออกได้ นำไปจุ่มหรือวางจมน้ำในบริเวณนาข้าว สระ บ่อ ลำห้วย ในตอนเย็นหรือตอนหัวค่ำ ส่วนปากนี้จะมีฝารูปกรวยปิดเรียกว่า "งาแซง" ชาวบ้านมักจะใช้ขังเหยื่อที่ยังไม่ตายไว้ในน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ล่อปลาใหญ่

ปลาที่ดักจับได้ส่วนมากจะเป็นปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลาสร้อย สำหรับเอาไปเลี้ยงเป็ดหรือเพื่อทำเป็นเหยื่อตกปลาตัวใหญ่อีกทีหนึ่ง  อีจู้ทำด้วยไม้ไผ่ จักเป็นเส้นๆ ติดข้อไม้ เป็นลักษณะตอกเส้นยืน แล้วสานด้วยตอกเส้นนอกอีกเส้นหนึ่ง ปากหรือปลายจะบานออกเพื่อสะดวกแก่การล้วงหยิบปลาที่ดักจับได้

การสานอีจู้ เริ่มจากการสานก้านให้มีขนาดกว้าง ๒๐ เซนติเมตร จากนั้นตั้งเส้นตอกสานเป็นตัวอีจู้ด้วยตอกเส้นนอนให้มีลักษณะกลมป่องตอนกลาง แล้วเรียวคอดคล้ายคอขวดตรงคอ จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากจากตัวอีจู้ประมาณ ๑ เมตร การสานงาแซงหรืองาข้าง โดยนำเส้นตอกขดเป็นวงกลม เรียกว่า ตั้ง วงงา จากนั้นนำตอกไม้เสียบตั้งเรียงรอบวงให้ปลายสอบเข้าหากันเป็นรูปกรวย เรียกขั้นตอนนี้ว่า เสียบงา แล้วจึงนำเส้นตอกสานแนวนอนรัดรอยไม้ตอกแนวตั้งเข้าด้วยกันให้เหลือปลายกรวยไว้เป็นทางเข้าของปลา

การสานรองหรือกะพล้อ เริ่มจากการสานก้นขนาด ๘ เซนติเมตร แล้วตั้งเส้นตอก สานขัดกันเป็นรูปทรงกระบอก จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากของรอง หรือกะพล้อ ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เมื่อสานเสร็จก็เจาะริมก้นตัวอีจู้ ยัดงาแซงใส่เข้าไป แล้วใช้ไม้เหลาเสียบยึดกับตัว แล้วเอารองหรือกะพล้อใส่ลงไปทางปาก แล้วเสียบยึดไว้ สุดท้ายนำเอาอีจู้ที่สำเร็จไปลนควันไฟ เพื่อไม่ให้มีเสี้ยนขุยไม้และกันมิให้มอดกินเนื้อไม้อีกทางหนึ่ง


ขอขอบคุณภาพจาก :
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- เว็บไซต์ กระทรวงวัฒนธรรม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ตุลาคม 2562 16:17:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 02 พฤษภาคม 2564 20:01:03 »



ครอบงวม

ครอบงวม เป็นเครื่องจักสานใช้จับสัตว์น้ำ ใช้ครอบปลาในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกนัก โดยสานจากตอกผิวไม้ไผ่และใช้หวายรัดประกบ มีรูปทรงคล้ายสุ่ม หรือคล้ายถัง ช่วงกลางป่อง หัวและท้ายสอบ ส่วนบนเปิดเข้าริมเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ส่วนด้านล่างเปิดเช่นกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๕ เซนติเมตร แต่เหลือปลายไม้ไผ่ที่เหลาจนแหลมเพื่อใช้ครอบและกดให้ติดกับดินใต้น้ำ กันสัตว์น้ำหนีออกไป มีความสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร พอเหมาะกับช่วงแขนที่จะล้วงถึงด้านล่างได้  

ขอขอบคุณภาพจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 25 พฤศจิกายน 2564 19:50:53 »



ข้อง

ข้อง เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะปากแคบคล้ายคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดคือ ฝาข้อง ทำจากกะลามะพร้าว แล้วสานด้วยไม้ไผ่ทำเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งาแซง ข้อง ใช้สำหรับใส่สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ข้องมีหลายลักษณะ เช่น

ข้องยืน ลักษณะคล้ายโอ่งน้ำหรือทรงกระบอก ก้นข้องสานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัวข้องกลมป่องตรงกลาง แล้วบานออกที่ปากคล้ายปากแตร

ข้องนอนหรือข้องเป็ด รูปทรงเป็นแนวนอน ตัวข้องรูปร่างคล้ายตัวเป็ด ปลายปากข้องหงายขึ้นด้านบน มักไม่ค่อยสะพายติดตัวขณะหาปลา แต่มักใช้วางไว้ในเรือ หรือริมตลิ่ง เป็นต้น

ข้องลอย ใช้ลอยน้ำในการจับปลา มักใช้ข้องยืมหรือข้องนอนมัดตืดลูกบวบ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สองท่อน มัดขนาบกันให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว







ก่องเข้า หรือ กล่องข้าว

ก่องเข้า หรือ กล่องข้าว

ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว เพื่อให้ข้าวเหนียวอยู่ได้นานตลอดวันและไม่แฉะ สมัยโบราณใช้กันทั่วไปในเขตล้านนา ทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น สานด้วยตอกไม้ไผ่ สานด้วยใบลาน หรือสานด้วยใบตาล มีหลายขนาด แบ่งเป็น

ขนาดใหญ่ ความกว้าง ๗๐ - ๘๐ ซม.ขึ้นไป เรียกก่องเข้าหลวง ใช้เมื่อมีงานใหญ่ในชุมชน

ขนาดกลาง ความกว้าง ๓๐ ซม. ใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก ความกว้าง ๒๐ ซม.ขึ้นไป ใช้สำหรับพกพาอาหารไปตามที่ต่างๆ เช่น ทำไร่ไถนา หรือไปค้าขาย




ภาพจาก เว็บไซท์ navanurak.in.th

เปี้ยด

เปี้ยด ในภาษาล้านนา หมายถึง ตะกร้า ภาคกลางเรียกว่า กระบุง เป็นภาชนะใส่สิ่งของและพืชพรรณต่างๆ ทำจากไม้ไผ่สาน รูปทรงกลมสูง ปากกว้าง ส่วนก้นสอบเป็นสี่เหลี่ยม มีขอบปากใช้หวายผูกเสริมตามมุมเพื่อเพิ่มความคงทน มีหู ๔ หู สำหรับร้อยเชือกหาบหรือสาแหรก

เปี้ยดของชาวเหนือจะมีรูปทรงแตกต่างกับกระบุงของภาคกลางเล็กน้อย โดยมีขนาดที่เล็ก และป้อมกลมมากกว่า ในบางพื้นที่สานอย่างประณีตเพื่อความคงทนแล้วจึงทาด้วยน้ำมันยางเพิ่มความสวยงาม


ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 96.0.4664.55 Chrome 96.0.4664.55


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 07 ธันวาคม 2564 16:04:21 »




ขอขอบคุณเว็บไซต์ esanpedia.oar.ubu.ac.th (ที่มาภาพประกอบ)

กระชังไม้ไผ่

กระชัง (ภาษาถิ่นภาคกลางเรียก กระชัง,  ภาคอีสานเรียก กะชัง) เป็นภาชนะเครื่องจักสาน ใช้สำหรับขังหรือเลี้ยงปลาที่จับมาได้ เพื่อที่จะนำไปบริโภคหรือจำหน่าย ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีกแล้วสานอย่างหยาบๆ มีรูปร่างคล้ายทรงรี แต่ป่องนูนตรงกลาง ร้อยซี่ไม้ไผ่ด้วยเชือกไนล่อนมัดเอาไว้กับโครงภายใน ตั้งแต่ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง  มีฝาปิด-เปิดสำหรับเอามือล้วงจับปลา ซึ่งช่องปิดเปิดอาจอยู่ที่ปากกระชังด้านบน หรือส่วนกลางกระชัง ปิดทึบด้วยวัสดุกันไม่ให้ปลาออกไปจากกระชัง

กระชังมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่เล็กไปถึงขนาดใหญ่มาก อาจจะมีขนาดใหญ่มาก กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๕ เมตร สูง ๒ เมตร เป็นต้น
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 02 พฤษภาคม 2566 17:57:07 »


ตะข้อง


ตะข้อง สูง ๒๔ เซนติเมตร สานด้วยตอกไม้ไผ่ ปากผาย คอคอด ลำตัวสานทึบ
บริเวณไหล่สานโปร่งให้น้ำและอากาศผ่านได้ มีหูสำหรับร้อยเชือกไว้สะพาย
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี



ตะข้องสานเป็นรูปสัตว์ สูง 29 เซนติเมตร สานด้วยตอกไม้ไผ่ ปากแคบ คอคอด
ลำตัวคล้ายรูปสัตว์ มีสี่ขา ด้านบนสุดของลำตัวมีหูจับ ส่วนท้ายมีลักษณะ
คล้ายหางสัตว์ชี้ขึ้นด้านบน
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี



ข้องเป็ด หรือตะข้องรูปเป็ด สูง ๒๒ ซม. ยาว ๓๓ ซม. สานด้วยไม้ไผ่ มีรูปทรงคล้ายเป็ด ลำตัวมีทุ่น
ไม้ไผ่หรือไม้โสนผูกอยู่โดยรอบเพื่อช่วยพยุงให้ตะข้องลอยตัวบนผิวน้ำได้ บางครั้งเรียกว่า ข้องลอย
ตะข้องรูปเป็ดมักมีเชือกผูกติดกับเอวของคนหาปลา เพื่อให้ตะข้องลอยตามไปในขณะหาปลา โดย
ไม่ต้องหิ้วหรือสะพาย และยังช่วยให้สัตว์น้ำที่ขังไว้ไม่ตาย



ตะข้อง สูง 15 เซนติเมตร สานด้วยไม้ไผ่ ปากผาย คอคอด ลำตัวผาย ใช้สำหรับ
ใส่สัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี



ตะข้องขนาดเล็ก สานด้วยไม้ไผ่ ปากผาย คอคอด ลำตัวผาย ก้นสอบ มีงารูปกรวยสานด้วยไม้ไผ่
ทำเป็นฝาปิดปากตะข้อง เพื่อมิให้สัตว์น้ำหลุดลอดออกมาได้
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี

ตะข้อง หรือ ข้อง                เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับใส่สัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ ส่วนใหญ่มักมีปากแคบ คอคอด ลำตัวผายออก ก้นสอบ  ตัวตะข้องมักสานทึบ บางใบที่ส่วนคอหรือลำตัวช่วงบนสานโปร่งเพื่อให้น้ำและอากาศผ่านได้ อีกทั้งยังช่วยให้สัตว์น้ำในตะข้องตายหรือเน่าเสียช้า  ปากตะข้องมีงาทำเป็นฝาปิดที่ปากไว้ เพื่อมิให้สัตว์น้ำที่อยู่ภายในตะข้องหลุดออกมาได้ (งา คือ วัตถุที่มีลักษณะคล้ายฝารูปกรวยสานด้วยไม้ไผ่)  ตะข้องทั่วไปมักมีหูหิ้วหรือทำหูขนาดเล็กไว้ร้อยเชือกสำหรับสะพายหรือผูกติดกับตัวของคนหาปลา

ตะข้องมีหลากรูปแบบและหลายขนาด แตกต่างกันไปตามความนิยมและความต้องการใช้สอย เช่น ตะข้องสานเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ  ตะข้องเป็ดที่มักมีทุ่นขนาบอยู่สองข้างของลำตัวเพื่อให้สามารถลอยน้ำได้  ตะข้องเหยื่อเป็นตะข้องขนาดเล็ก สูงประมาณ ๖ นิ้ว นิยมใช้อยู่ในภาคเหนือ สำหรับใส่เหยื่อตกปลา เช่น ลูกเขียด ลูกปลา เป็นต้น


ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย สุพรรณบุรี Thai Farmers National Museum....(ที่มาข้อมูล/ภาพ)

 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 02 มิถุนายน 2566 18:03:19 »




ตะช้องเป็ด

ตะข้องเป็ด ข้องเป็ด หรือข้องลอย เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งทำจากไม้ไผ่มีรูปร่างคล้ายเป็ด ใช้ใส่ปลาหรือสัตว์น้ำที่จับได้ในขณะนั้น ลักษณะพิเศษของตะข้องเป็ดคือลอยน้ำได้ เวลาหาปลาจะใช้เชือกผูกล่ามไว้กับเอวข้องจะลอยตามไปโดยไม่ต้องหิ้ว ทำให้จับปลาได้สะดวก แล้วยังช่วยให้ปลาที่เก็บไว้ในข้องไม่ตายเพราะอยู่ในข้องที่แช่น้ำตลอดเวลา การสานข้องอาจได้รับแรงบันดาลใจจากเป็ดที่ลอยตัวในน้ำได้ดี เป็นงานหัตถกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

วัสดุในการสานข้องเป็ดใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุพื้นบ้าน นิยมใช้ไผ่สีสุกเพราะเนื้อหนาจักตอกหรือเหลาเป็นซี่ได้ดี มีความคงทน ไม่อุ้มน้ำ และไม่กรอบหรือหักเมื่อถูกแดด ข้องเป็ดมีปากแคบคล้ายคอหม้อดินมีฝาปิดเปิดได้ มีไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวยปลายกรวยเป็นซี่ไม้แหลมเรียกว่า งาแซง ป้องกันไม่ให้ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด ออกจากข้อง ส่วนตัวทุ่นลอยใช้ไม้ไผ่ ๒ ท่อนมัดติดกับข้องเป็ด หรืออาจใช้วัสดุอื่นได้เช่นกัน

ปัจจุบันข้องเป็ดค่อยๆ สูญหายไปพร้อมกับวิถีชีวิตในชนบทที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีการสานข้องเป็ดขายเพื่อนำไปเป็นของประดับตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือน


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ "ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม" (ที่มาข้อมูล)
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
กำเนิด ศิวลึงค์
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
▄︻┻┳═一 2 3860 กระทู้ล่าสุด 30 ตุลาคม 2553 17:18:44
โดย wondermay
ผึ้ง : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคม พฤติกรรม ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้งฯลฯ
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 2 21507 กระทู้ล่าสุด 06 มีนาคม 2557 12:35:00
โดย Kimleng
กำเนิด พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พันเนตร พันกร ใน มหากรุณาจิตรธารณีสูตร (แปลไทย)
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 2455 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 23:37:40
โดย มดเอ๊ก
ความหมาย และสัญลักษณ์ของดอกกล้วยไม้แต่ละสี
สุขใจ จิบกาแฟ
ฉงน ฉงาย 0 850 กระทู้ล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2564 17:07:25
โดย ฉงน ฉงาย
กำเนิด “เพลงค่าน้ำนม” ครูไพบูลย์แต่งให้แม่ที่ดูแล ไม่รังเกียจโรคร้ายของลูก
สุขใจ จิบกาแฟ
ฉงน ฉงาย 1 720 กระทู้ล่าสุด 29 สิงหาคม 2564 16:01:08
โดย ฉงน ฉงาย
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.214 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 3 ชั่วโมงที่แล้ว