[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 09:18:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาเรื่อง "แมลง" : ลักษณะกายวิภาค การเจริญเติบโต อนุกรมวิธานเรื่องแมลง ฯลฯ  (อ่าน 30494 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 สิงหาคม 2556 13:11:15 »

.


แมลง

เมื่อเอ่ยถึงยุง มด ปลวก แมลงวัน แมลงสาบ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่รู้จัก เพราะสัตว์ตัวเล็กๆ เหล่านี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นที่น่ารังเกียจ บางชนิดถึงกับเป็นพาหะนำโรคร้ายมาให้คนและสัตว์อีกด้วย แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากแมลงเหล่านี้ เช่น มด ปลวก และอีกมากมายหลายชนิดที่พบว่าเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม




แมลงปีกแข็งที่ชาวอียิปต์นับถือเป็นเทพเจ้าสแกรับ

แมลงชนิดแรกเกิดขึ้นในโลกกว่า ๓๐๐ ล้านปี มาแล้ว ก่อนที่มนุษย์หรือแม้กระทั่งไดโนเสาร์จะครองโลกเสียอีก มนุษย์รู้จักแมลงมาตั้งแต่ยุคหินโบราณ ชนชาติอียิปต์นับถือแมลงปีกแข็งชื่อ ด้วงสแกรับ (scarab beetle) เป็นเทพเจ้ามากว่า ๕,๐๐๐ ปี เนื่องจากพบแมลงเหล่านี้จำนวนมากในหีบศพ ดังภาพข้างบนนี้  ซึ่งนำมาจากประเทศอียิปต์  ปัจจุบันมีภาพแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าชาวอียิปต์เทิดทูนด้วงสแกรับเป็นเทพเจ้า

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ นักชีววิทยาชื่อ ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด วิลสัน (Professor Edward Wilson) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณว่า โลกมีแมลงมากถึง ๓๐ ล้านชนิด แม้ว่าปัจจุบันได้พบแล้วเพียงประมาณหนึ่งล้านชนิดเท่านั้นก็ตาม นับว่าแมลงเป็นสัตว์ที่พบชนิดและปริมาณมากที่สุดในโลก ซึ่งถ้าคิดแล้ว อาจคำนวณได้ว่า น้ำหนักของแมลงทั้งหมดที่อยู่บนโลกน่าจะมีมากกว่าน้ำหนักของมนุษย์รวมกันถึง ๑๒ เท่าทีเดียว


        

• แมลงและแมงต่างกันอย่างไร    
ลักษณะโดยรวมของ แมลง ที่เห็นได้ชัด คือ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ร่างกายจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีขา ๖ ขา ที่สำคัญ คือ แมลงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกเดียวที่มีปีก ซึ่งอาจมีปีก ๑ คู่ หรือ ๒ คู่ แต่แมลงบางชนิดเป็นพวกที่ไม่มีปีกก็ได้ เช่น แมลงสามง่าม

ส่วน แมง นั้น นักวิทยาศาสตร์กำหนดลักษณะว่า มีร่างกายแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เท่านั้น คือ มีหัวและอกติดกันเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนท้อง และมีขา ๔ คู่ หรือ ๘ ขา เช่น แมงมุม แมงป่อง แต่สัตว์ที่มีขา ๕ คู่ หรือ ๑๐ ขา มีชื่อเรียกว่า แมง ด้วย คือ แมงดาทะเล


        
        ความแตกต่างระหว่างแมลงกับแมง


ในภาษาพูดของคนไทย มีการเรียก แมลง เป็นแมง กันจนติดปากตลอดมา ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังไม่มีใครรู้จักวิชาว่าด้วยแมลง ต่อมา มีหนังสือชื่อ สัตวาภิธาน ซึ่งพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๒๗ ผู้แต่ง คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งเป็นคำประพันธ์ โดยได้รวบรวมชื่อสัตว์ประเภทต่างๆ สัตว์ที่มีขามากกว่า ๔ ขา ผู้แต่งใช้ชื่อเรียกโดยรวมว่า แมง ดังตัวอย่าง

กาพย์ฉบัง ๑๖
     ตะขาบไต่ขอนซอนซน      กิ้งกือคลานวน
แมงมุมขยุ้มหลังคา
     แมงป่องจ้องชูหางหา        สิ่งใดจะมา
ปะทะก็จะจี้แทง
     ตัวแมงกะแท้กลิ่นแรง        แมลงสาบอีกแมง
กะชอนก็ชอนธรณี
     แมงทับวาววับแวมสี         ดังนิลมณี
แกมทองระรองเรืองฉาย
     แมงค่อมคือแมงทับกลาย   สีเลื่อมเหลืองพราย
แต่กายนั้นย่อมกว่ากัน

เมื่อสืบสวนต่อมาในหนังสือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับสำหรับการสะกดคำ ความหมาย ตลอดจนประวัติของคำ พบว่า ทั้งคำว่า แมลง และ แมง มีใช้มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๔๗๐ แสดงว่า มีคำทั้งสองใช้ในภาษาไทยมาตั้งแต่ก่อนแล้ว ส่วนในฉบับพิมพ์ล่าสุด พ.ศ.๒๕๔๒ ก็ให้คำอธิบายที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของ แมลง และ แมง ที่เป็นไปตามความก้าวหน้าทางวิชาการในวิชากีฏวิทยา ซึ่งมีข้อยุติของคำจำกัดความของแมลงและแมงชัดเจนแล้ว ถึงกระนั้นในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังเรียก แมลง และ แมง สลับกันเสมอ และก็ยังเข้าใจกันดี



        
        บนสุด ซากดึกดำบรรพ์ของไทรโลไบต์ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        กลาง ซากดึกดำบรรพ์ของไทรโลไบต์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของแมลง
               จัดแสดงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากีฏวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
        ล่าง-ซ้าย ซากดึกดำบรรพ์ของแมลงสาบโบราณ ล่าง-ขวา ซากดึกดำบรรพ์ของแมลงปอโบราณ
                         (ได้รับอนุญาตจาก Dr. Dong Ren ๒๐๑๐)

• เหตุใดแมลงจึงครองโลกอยู่ได้จนปัจจุบัน
ถึงแม้แมลงสมัยดึกดำบรรพ์จะสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น แมลงสาบโบราณ และแมลงปอโบราณ ที่มีตัวใหญ่ถึง ๑ ฟุต (๓๐ เซนติเมตร) แมลงก็ยังคงครองความเป็นสัตว์โลก ที่มีปริมาณและชนิดมากที่สุดในโลก

ในเรื่องการครองโลกของแมลงนี้ อาจกล่าวได้ว่า เพราะแมลงบางชนิดมีวิวัฒนาการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีประชากรมากถึงรังละหลายแสนตัว และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แมลงหลายชนิด มีวิวัฒนาการทางสังคมสูงมากถึงขั้นแบ่งวรรณะ เช่น วรรณะนางพญาเป็นเพศเมียมีหน้าที่ปกครองรัง วรรณะพ่อรังเป็นเพศผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์เท่านั้น ยังมีผึ้งและปลวกที่แบ่งหน้าที่แต่ละฝ่ายอย่างชัดเจนด้วย เช่น วรรณะทำงาน วรรณะป้องกันรัง

แมลงสามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในโลกได้ทุกแห่งหนของโลก หลายพื้นที่ที่ยากแก่การดำรงชีวิต เช่น ทะเลทราย ซึ่งแทบไม่มีน้ำ ในน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิสูง หรือแม้แต่ขั้วโลกที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ก็ยังพบแมลงพวกตัวเบียน [ตัวเบียน (parasite) คือ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนหรือภายในตัวให้อาศัย (host) อื่น และแย่งกินอาหารจากสิ่งที่ไปอาศัยอยู่] อาศัยอยู่ในขนหมีได้ด้วย แมลงอีกมากมายหลายชนิดมีความสามารถในการเลือกหาอาหารได้หลากหลาย  จึงประสบความสำเร็จและอยู่รอดจนทุกวันนี้ ผิดกับสัตว์บางชนิดที่กินอาหารได้ชนิดเดียวซึ่งจะสูญพันธุ์ได้ง่าย เพราะถ้าอาหารมีน้อยและหมดไปสัตว์นั้นจะอดตาย






• แมลงมีทั้งประโยชน์และโทษ

แมลงที่มีอยู่มากมายมหาศาลนี้ พวกที่เป็นประโยชน์พบอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พวกที่ให้โทษเป็นภัยต่อมนุษย์ก็มีไม่ใช่น้อย

แมลงที่เป็นประโยชน์ (beneficial insect) เป็นพวกที่เอื้ออำนวยให้แก่มนุษย์ สัตว์อื่นๆ และพืชนานาประการ ดังนี้
- เป็นอาหารของคน แมลงบางชนิดเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคกันมานานแล้ว เช่น แมลงดานา จิ้งหรีด แมลงมัน ตั๊กแตน ส่วนผึ้งสามารถผลิตน้ำผึ้ง เป็นอาหารมีราคาแพง
- เป็นอาหารของสัตว์ ที่เป็นอาหารปลา เช่น ลูกน้ำยุงและหนอนแดง (midge หรือ chironomid) อาหารนก เช่น แมลงหนอนนก (แมลงปีกแข็ง) และแม้แต่เป็ดไก่ที่เราบริโภคเป็นประจำก็ชอบกินแมลงเช่นกัน

- เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ตัวอย่างเช่น แมลงผีเสื้อไหม ผลิตใยไหมใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย แมลงตัวครั่ง ผลิตครั่งใช้ในอุตสาหกรรมทำครั่งสำหรับการไปรษณีย์ ซึ่งนิยมใช้กันทั่วโลก ทำเชลแลก (shellac) ทำสีใช้ทาเฟอร์นิเจอร์ไม้ให้คงทนและสีมันงดงาม

ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมการเกษตรที่ได้จากแมลงสามารถใช้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่านับหลายร้อยล้านบาท แมลงบางชนิด ได้แก่ ผีเสื้อ ผึ่ง ต่อ แตน และแมลงภู่ ยังช่วยผสมเกสร (เรณู) ดอกไม้นานาชนิด เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นมูลค่ามหาศาลให้แก่มนุษย์อีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีแมลงที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชและสัตว์โดยชีววิธี(biological control) อีกมากมายหลายชนิดที่เราเรียกว่า แมลงตัวห้ำหรือผู้ล่าเยื่อ [แมลงตัวห้ำ หรือ ผู้ล่าเหยื่อ (predator) คือ แมลงซึ่งกินเหลื่อที่เป็นแมลงโดยกัดกินหรือดูดของเหลวในตัวเหยื่อ] เช่น ด้วง เต่าลาย มวนพิฆาต และแมลงตัวเบียน เช่น แตนเบียน

- เป็นประโยชน์ทางการศึกษา แมลงหลายชนิดมีประโยชน์ในการใช้เป็นตัวอย่างศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (biological science) เช่น แมลงหวี่ ใช้ศึกษาวิจัยกันมากในวิชาพันธุศาสตร์(genetics) แมลงสาบ ยุง และแมลงวัน ใช้ศึกษาวิจัยในวิชาสัตววิทยา (zoology) และวิชากีฏวิทยา (entomology) ใช้ศึกษาวิจัยวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมเป็นพิษในน้ำ (มลพิษทางน้ำ) เช่น หนอนแดงจะมีสีเข้มในน้ำเสียที่มีออกซิเจนน้อย ตรงกันข้ามกับตัวหนอนของหิ่งห้อย ชอบอยู่ในน้ำสะอาด ดังนั้น ตามป่าชายเลนที่ไม่มีมลพิษทางน้ำจะมีหิ่งห้อยจำนวนมากเกาะอยู่บนต้นลำพู

- เป็นประโยชน์ทางศิลปะ มีแมลงที่สวยงามมากมายหลายชนิดที่นำมาใช้เป็นภาพประดับ ทำเป็นของที่ระลึก และสะสมไว้ศึกษา ตัวอย่าง เช่น ผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง และด้วงเต่าลาย



        

แมลงที่เป็นภัย (harmful insect) คือ แมลงที่เป็นโทษหรือเป็นศัตรูของมนุษย์ ได้แก่
แมลงศัตรูทางการแพทย์ (medical insect pest) เป็นแมลงที่รบกวนเบียดเบียนนำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่มนุษย์ ที่เป็นภัยโดยตรง เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก จากยุง กาฬโรค จากหมัดหนู ที่เป็นภัยโดยทางอ้อม ได้แก่ แมลงวัน นำอหิวาตกโรค นอกจากนั้น ยังมีแมลงที่รบกวนเบียดเบียนนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงของมนุษย์ ปศุสัตว์ หรือสัตว์ปีกต่างๆ ทำให้สัตว์ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารหรือใช้งาน ซูบผอมล้มตาย กระทบกระเทือนทางด้านเศรษฐกิจของมนุษย์ได้ แมลงศัตรูทางการแพทย์ที่สำคัญ คือ ยุง แมลงวัน เหลือบ หมัด เหา เป็นต้น

แมลงศัตรูในบ้านเรือน โรงแรม โรงงาน และ พิพิธภัณฑ์ (household insect pest) แมลงเหล่านี้กัดกินทำลายวัสดุอินทรีย์ ทุกชนิด เช่น ไม้ กระดาษ หนังสัตว์ พรม ผ้า ภาพวาด วัตถุโบราณต่างๆ แมลงกลุ่มนี้ เช่น แมลงสามง่าม แมลงสาบ ปลวก ด้วงขนสัตว์ มอด ด้วงเจาะไม้ต่างๆ

แมลงศัตรูทางการเกษตร (agriculture insect pest) คือ แมลงที่ทำลายพืชผลทางด้านกสิกรรมและทางด้านป่าไม้ มีพฤติกรรม กัดกินพืชหรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ เป็นสาเหตุให้พืชทางการเกษตรเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

แมลงศัตรูพืชทางการเกษตรที่เป็นแมลงทำลายพืชสวนผัก เช่น หนอนกระทู้ผัก แมลงที่ทำลายพืชไร่นา เช่น แมลงหนอนกอข้าว แมลงที่ทำลายพืชสวนและผลไม้ เช่น แมลงวันทองและผีเสื้อมวนหวานเจาะผลไม้ แมลงที่ทำลายพืชน้ำมัน เช่น แมลงด้วงแรดมะพร้าว  แมลงที่ทำลายพืชผลหลังการเก็บเกี่ยว และพืชในโรงเก็บ เช่น มอดข้าว และหนอนผีเสื้อข้าวสาร

แมลงที่ทำลายพืช ป่าไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ทั้งหมด เช่น แมลงด้วงหนวดยาว มอด ปลวก


 



•ลักษณะกายวิภาคภายนอกของแมลง
กายวิภาคศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งในวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งว่าด้วยเรื่องโครงสร้างของร่างกายของคนและสัตว์โดยศึกษาเป็นส่วนๆ ทั้งนี้ จะอธิบายโครงสร้างส่วนต่างๆ ของร่างกายแมลงที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

ร่างกายแมลงแบ่งออกเป็นปล้อง ห่อหุ้มด้วย เปลือก หรือ โครงร่างแข็งภายนอก เป็นผนังลำตัวของแมลง ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในและทำหน้าที่ยึดติดกับกล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้แมลงเคลื่อนไหวได้ เปลือกหรือโครงร่างแข็งภายนอกที่กล้ามเนื้อยึดติดนี้ มีเนื้อที่มากกว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) คือ สัตว์ชั้นสูงอื่นๆ จึงมีปริมาณของกล้ามเนื้อมากกว่า ด้วยเหตุนี้ แมลงจึงเป็นสัตว์ที่แข็งแรงที่สุดในโลก แข็งแรงกว่ามนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ แม้แต่ช้าง มีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า ตั๊กแตนสามารถกระโดดสูงได้ ประมาณ ๑ เมตร ถ้าเทียบกับขนาดของคนแล้ว คนจะต้องกระโดดสูงเท่ากับตึก ๓๐ ชั้น แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีใครทำได้ แมลงบางชนิดสามารถยกของที่หนักกว่าน้ำหนักของตัวเองถึง ๘๐๐ เท่า ถ้าเทียบกับช้าง ช้างคงไม่สามารถยกน้ำหนักได้ ๘๐๐ เท่า ของน้ำหนักตัวช้างแน่นอน

ส่วนหัว
ส่วนนี้เป็นส่วนเดียวที่ไม่แบ่งเป็นปล้อง แต่มีรอยต่อแบ่งกะโหลกเป็นส่วนๆ มี หนวด ตา และปาก

หนวด (antenna) เป็นรยางค์* ที่อยู่ส่วนหัว ทำหน้าที่รับความรู้สึกสัมผัส คลำหาทาง ดมกลิ่น เป็นหูฟังเสียงในแมลงบางชนิด มีลักษณะเป็นปล้องๆ จากปล้องแรกซึ่งเป็นฐานของหนวดและปล้องถัดไปจนถึงปลายหนวด เรียกว่า เส้นหนวด มีหลายแบบตามรูปหนวด หนวดของแมลงที่สำคัญ เช่น หนวดรูปเส้นด้ายของด้วงหนวดยาว หนวดรูปขนของแมลงปอ หนวดรูปสร้อยลูกปัดของปลวก หนวดรูปฟันเลื่อยของแมลงทับ หนวดรูปฟันหวีของผีเสื้อยักษ์ หนวดรูปกระบองของผีเสื้อกลางวัน หนวดรูปข้อศอกของมด หนวดรูปพู่ขนนกของยุงเพศผู้

   
        
        ๑.ตารวม  ๒.ตาเดี่ยว  ๓.(ภาพถ่าย) และ ๔.(ภาพวาด) ขยายให้เห็นแก้วตาจำนวนพันๆ รูปหกเหลี่ยมประกบต่อกันเป็นตารวม

ตา แมลงมีตา ๒ ประเภท คือ ตารวม (compound eye) และตาเดี่ยว (simple eye)
   
ตารวม มี ๒ ตา เป็นตาขนาดใหญ่ อยู่ใต้หนวดหรือต่ำกว่าหนวด เช่น ตาตั๊กแตน แมลงบางชนิดตารวมอยู่ด้านนอกข้างหนวด ตารวมประกอบด้วยแก้วตาเป็นรูปหกเหลี่ยมเล็กๆ หรือแฟเซต (facet) จำนวนมากมายมาประกบต่อกันเป็นดวงเดียว

ตาเดี่ยว อยู่บริเวณหน้าผาก มักมี ๓ ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ละดวงมีแก้วตาขนาดเล็กเพียงอันเดียว



        
        ส่วนต่างๆ ของปากแมลง

        
        ๑.ปากแบบกัดกิน  ๒.ปากแบบกัดเลีย  ๓.ปากแบบกัดซับดูด  ๔.ปากแบบดูดกิน
        ๕.ปากแบบแทงดูด  ๖.ปากแบบซับดูด  ๗.ปากแบบเขี่ยดูด

ปาก ประกอบด้วยริมฝีปากบนและล่าง กราม (ขากรรไกร) และฟัน
ริมฝีปากบน เป็นแผ่นแข็งเรียบติดอยู่กับฐานและขยับขึ้นลงได้เล็กน้อย ด้านในของริมฝีปากบนมีปุ่มเล็กๆ นูนขึ้นมา ทำหน้าที่รับความรู้สึกและรับรสชาติอาหารได้ด้วย

ริมฝีปากล่าง มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งอยู่ด้านล่าง ทำหน้าที่รองรับอาหารไม่ให้ร่วง และรับความรู้สึกด้วย

กราม (ขากรรไกร) มีลักษณะแข็ง มี ๑ คู่ ใช้บดกัดอาหาร แมลงบางชนิด เช่น ปลวกทหารและปลวกงานมีกรามแข็งแรงขนาดใหญ่ ดูน่ากลัว กรามของตัวอ่อนด้วงดิ่งมีการดัดแปลงเพื่อทำหน้าที่ดูดอาหาร

ฟัน มี ๑ คู่ อยู่ด้านหลังกราม มีลักษณะเป็นปล้อง

ปากของแมลงมีหลายแบบ แมลงที่มีหัวงุ้มลง เช่น ตั๊กแตน แมลงวัน ปากที่อยู่ปลายสุดจะยื่นลงไปด้านล่างหากมีหัวเชิดไปข้างหน้า เช่น แมลงหนีบ และด้วงเขี้ยวกาง จะเห็นปากเชิดอยู่ข้างหน้าสุด รูปร่างของปากแมลงมีลักษณะแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ ส่วนต่างๆ ของปากจะมีรูปร่างที่เหมาะแก่การกินอาหาร ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของอาหารที่แมลงกิน  นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบบปากของแมลงตามลักษณะที่กินอาหาร ดังนี้

ปากแบบกัดกิน มีริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างเป็นแผ่นแบนปิดด้านบนและด้านล่าง มีกรามคู่หน้าที่เป็นก้อนแข็ง หนา ใช้บดอาหารและกรามคู่หลังเป็นแผ่นแบนขอบคม ใช้สำหรับกัดอาหารให้ขาด จึงสามารถกัดและเคี้ยวกินใบพืชต่างๆ ได้ดี  แมลงขยับกรามที่เป็นคู่นั้นกัดหรือเคี้ยวกินทางข้าง ทำให้สามารถกัดกินอาหารได้ เช่น ปากตั๊กแตน แมลงสาบ

ปากแบบแทงดูด มีริมฝีปากบนยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม กรามยาวและโค้งคล้ายท่อผ่าซีกที่ปลายบางส่วนมีทั้งแหลมคล้ายเข็มหรือคล้ายใบมีด และคล้ายใบเลื่อย สามารถตัดเจาะเนื้อคนหรือสัตว์เข้าไป ส่วนริมฝีปากล่างเป็นท่อยาวคล้ายปลอก สามารถสอดส่วนต่างๆ ของปากเข้าไปดูดได้ เช่น ปากยุง เพลี้ย มวน

ปากแบบกัดเลีย เป็นปากแบบผสม คือ กรามคู่หน้าแบน บาง ขอบคมคล้ายใบมีด กัดก้านเกสรดอกไม้ให้ขาดได้ กรามคู่หลังและริมฝีปากล่างยาวประกบเป็นท่อ ภายในมีลิ้นยาวคล้ายเส้นด้ายยืดหดได้ ทำให้สามารถกัดเลียได้ เช่น ปากผึ้ง แมลงภู่

ปากแบบกัดซับดูด มีกรามหน้าเป็นแผ่นคมกัดเนื้อคนและสัตว์ให้เป็นแผลได้ ส่วนกรามหลังเป็นท่อยาว ริมฝีปากล่างเป็นก้อนพรุนคล้ายฟองน้ำอยู่ที่ปลายปาก สามารถซับเลือดที่ออกมา และดูดกินทางหลอดคอที่เป็นท่อยาวออกมาต่อกับริมฝีปากล่างได้ เช่น ปากของเหลือบ

ปากแบบซับดูด ส่วนต่างๆ ของปากหายไปมาก คงเหลือแต่ริมฝีปากล่างที่เป็นท่อยาวคล้ายงวง ปากแบบนี้จึงไม่สามารถกัดหรือเจาะเนื้อให้เป็นแผลได้ คงใช้วิธีซับของเหลวอย่างน้ำหวาน แล้วดูดกินเข้าไป เช่น ปากของแมลงวันบ้าน

ปากแบบดูดกิน ส่วนต่างๆ ของปากหายไปหมด คงเหลือแต่ชิ้นส่วนบางส่วนของริมฝีปากล่างที่เจริญเป็นท่อกลวงยาวคล้ายสายยางหรืองวง สามารถม้วนขดเป็นวงกลมไว้ใต้หัว จะดูดแต่ของเหลวอย่างน้ำหวานจากดอกไม้ เช่นปากของผีเสื้อ

ปากแบบเขี่ยดูด คล้ายปากแบบแทงดูดแต่สั้น มีอวัยวะที่เป็นเส้น ๓ เส้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากกราม ใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อของพืชให้ช้ำก่อน แล้วดูดกินของเหลวที่ซึมออกมา เช่น ปากเพลี้ยไฟ

ส่วนอก ส่วนนี้มีขาและปีก เป็นส่วนกลางของร่างกาย อยู่ระหว่างส่วนหัวและส่วนท้อง แบ่งเป็น ๓ ปล้อง ปล้องแรกติดกับส่วนหัว โดยมีเยื่อบางๆ เชื่อม มีขา ๑ คู่ ถัดไป คือ ปล้องกลาง มีขา ๑ คู่ ปีกคู่หน้า๑ คู่ ส่วนปล้องหลัง คือ อกปล้องสุดท้าย มีขา ๑ คู่ และปีกคู่หลัง ๑ คู่ แมลงที่มีปีกเพียง ๑ คู่ ปีกจะอยู่ที่อกปล้องกลาง



        
        ๑.ต้นขา  ๒.แข้ง  ๓.ข้อโคนขา  ๔.โคนขา และ ๕.ตีน


ขา ขาแมลงแบ่งเป็น ๕ ปล้อง ลำดับจากปล้องแรกที่อยู่ติดกับส่วนอกลงไปทางส่วนท้อง มีโคนขา (coxa) ข้อโคนขา (trochanter) ต้นขา (femur) ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่และแข็งแรง  

แข้ง (tibia) มีลักษณะยาวเรียว และตีน
(tarsus)


        
        ๑.แมลงสาบ (ขาเดิน)  ๒.ตั๊กแตน (ขากระโดด)  ๓.แมลงกระชอน (ขาขุด)
        ๔.ตั๊กแตนตำข้าว (ขาหนีบ)  และ ๕.แมลงดานา (ขาจับ)

        
        ๑.เหา(ขาเกี่ยว)  และ ๒.แมลงเหนียง (ขาว่ายน้ำ)

ขาของแมลงมีแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับหนวดและปาก มีชื่อเรียกตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้
ขาเดิน (walking leg) ต้นขายาวเรียว เหมาะสำหรับเดินหรือวิ่ง เช่น ขาของแมลงสาบ
ขากระโดด (jumping leg)  ต้นขาขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และแข็งแรง เช่น ขาหลังของตั๊กแตน
ขาขุด (digging leg) มีแข้งแบน ตีนลักษณะเหมือนฟัน ทำหน้าที่คล้ายคราดขุดดิน เช่น ขาคู่หน้าของแมลงกระชอน
ขาหนีบ (grasping leg) โคนขายาวเป็นพิเศษ เพื่อใช้จับเหยื่อ ต้นขาและแข้งแข็งแรง มีหนามตลอด ใช้หนีบเหยื่อ เช่นขาคู่หน้าของตั๊กแตนตำข้าว
ขาจับ (clasping leg) โคนขาและต้นขาใหญ่และแข็งแรง แข้งเรียวโค้งใช้จับเหยื่อ เช่น ขาหน้าของแมลงดานา
ขาเกี่ยว (clinging leg) ขาแบบนี้มีแข้งเป็นง่าม ส่วนตีนมีปล้องเดียว ลักษณะใหญ่ มีเล็บยาว ทำหน้าที่คล้ายขอเกี่ยวให้ตัวมีที่ยึดไม่ให้ลื่นหลุดไป เช่น ขาของเหา
ขาว่ายน้ำ (swimming leg) ลักษณะแบน โดยเฉพาะปล้องตีน  ซึ่งมักจะมีขนยาวติดกันเป็นแถวช่วยในการว่ายน้ำ เช่น ขาของแมลงเหนี่ยง แมลงตับเต่า


        
        ๑.ปีกหน้า  และ ๒.ปีกหลัง

        
        ๑.แมลงสามง่าม  ๒.หนอนผีเสื้อ  ๓.แมลงวัน  และ ๔.ปีกหลังมีวิวัฒนาการลดลงเป็นตุ่มเล็กๆ

ปีก โดยทั่วไปแมลงมีปีก ๒ คู่ คือ ปีกหน้า (forewing) และปีกหลัง (hindwing) แต่แมลงบางชนิดก็ไม่มีปีก เช่น แมลงสามง่ามและแมลงหางดีด ส่วนแมลงที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มวัย ก็อาจไม่มีปีกหรือมีปีกแต่ไม่สมบูรณ์ เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน ลูกน้ำยุง

แมลงวันมีปีกเฉพาะปีกคู่หน้า ๑ คู่เท่านั้น ส่วนปีกหลังมีวิวัฒนาการลดลงเป็นตุ่มเล็กๆ มีหน้าที่ช่วยในการบิน ทำให้แมลงวันสามารถเปลี่ยนทิศทางการบินได้ดี


        

ส่วนท้อง
ส่วนนี้ประกอบด้วยปล้องหลายปล้อง ที่มีขนาดเกือบเท่ากัน  แมลงส่วนใหญ่มีปล้อง ๑๐-๑๑ ปล้อง บางชนิดจำนวนปล้องอาจแตกต่างไปจากนี้ และปล้องท้ายๆ มีขนาดไม่เท่ากัน แมลงหางดีด มี ๕-๖ ปล้อง แมลงที่มีวิวัฒนาการต่ำ (คือพวกที่ไม่มีปีก ) เช่น แมลงสามง่าม ปล้องแต่ละปล้องจะมีรยางค์เล็กๆ ๑ คู่ ส่วนแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง (คือพวกที่มีปีก) รยางค์เหล่านี้จะขาดหายไป จะปรากฏที่ปล้องท้ายๆ ของแมลงเท่านั้น เช่น พวกผึ้ง ต่อ แตน อวัยวะที่เกี่ยวกับการผสมพันธุ์อยู่ปลายท้องของแมลง

* รยางค์ (appendage) เป็นอวัยวะที่ยื่นออกมาจากอวัยวะหลักและเป็นประโยชน์ มีหน้าที่อย่างอวัยวะทั่วไป



        
        หนวดแบบต่างๆ ของแมลง

        
        ๑.หนวดรูปฟันหวี  ๒.หนวดรูปใบไม้  ๓.หนวดรูปเส้นด้าย

        
        รูปร่างลักษณะภายนอกแบบต่างๆ ของแมลง

        
        รูปร่างลักษณะภายนอกแบบต่างๆ ของแมลง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2558 14:48:47 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 31 ตุลาคม 2556 14:05:46 »

.

        
        ๑.ระบบหมุนเวียนของโลหิต  ๒.ระบบทางเดินอาหาร  และ ๓.ระบบประสาท

ลักษณะกายวิภาคภายในของแมลง
• ลักษณะกายวิภาคภายในของแมลง
ภายในร่างกายของแมลงซึ่งเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น ประกอบด้วยระบบต่างๆ ที่ทำหน้าที่ให้แมลงเกิด เติบโต ดำรงชีวิตให้อยู่รอด และขยายพันธุ์ ระบบเหล่านี้ ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหมุนเวียนของโลหิต ระบบหายใจ ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์


        
        ๑.ถุงน้ำลาย  ๒.ต่อมน้ำลาย  ๓.ท่ออาหารส่วนต้น  ๔.หลอดอาหาร  ๕.ปาก
        ๖.ท่ออาหารส่วนกลาง  ๗.ท่อขับถ่ายของเสีย  ๘.ท่ออาหารส่วนท้าย และ ๙.ทวารหนัก

• ระบบทางเดินอาหาร
ระบบทางเดินอาหารของแมลง เริ่มจากช่องปากไปจนถึงช่องเปิดสำหรับใช้ถ่ายอุจจาระ กล่าวโดยรวม ทางเดินอาหารประกอบด้วยท่ออาหาร (digestive tract) ๓ ส่วน มีส่วนต้น ส่วนกลาง และส่วนท้าย

ท่ออาหารส่วนต้น (foregut) จากช่องปากถึงกระเพาะเก็บอาหาร เปิดปิดให้อาหารผ่านไปยังท่ออาหารส่วนกลาง

ท่ออาหารส่วนกลาง (midgut) มีติ่งของถุงน้ำย่อยจำนวนหนึ่ง แมลงบางชนิดอาจไม่มีติ่งของถุงน้ำย่อยเลยก็ได้ แมลงบางชนิดมีท่อขับถ่ายของเสียที่เป็นของเหลวด้วย เปรียบเสมือนไตของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ปลายท่อส่วนนี้มีลิ้นเปิดปิดให้อาหารผ่านไปยังท่ออาหารส่วนท้าย

ท่ออาหารส่วนท้าย (hindgut) มีท่อขับถ่าย ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอุจจาระ และช่องถ่ายอุจจาระ (ทวารหนัก)


        
        ระบบหมุนเวียนของโลหิต : ๑.รูหายใจ  ๒.กล้ามเนื้อ  ๓.หัวใจ (โป่งเป็นช่วงๆ) และ ๔.เส้นโลหิตใหญ่

• ระบบหมุนเวียนของโลหิต
แมลงมีหัวใจและเส้นโลหิตใหญ่ติดต่อกันเป็นท่อเดียว มีกล้ามเนื้อติดกับหัวใจ ช่วยสูบฉีดโลหิตในระบบเปิด ทำให้โลหิตหมุนเวียนนำธาตุอาหารไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น

ระบบเส้นโลหิตของแมลงไม่ซับซ้อนเท่ากับของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เส้นโลหิตพาดตามยาวจากหัวไปจนสุดปล้องท้องของลำตัว

ส่วนที่อยู่ปล้องท้องนี้เองคือหัวใจ มีลักษณะโป่งเป็นช่วงในแต่ละปล้องของแมลงเหมือนข้าวต้มมัด แบ่งเป็นห้องๆ ได้ แต่ละห้องมีรูเล็กๆ ๒ รู อยู่ตรงกันข้ามทางด้านข้างของตัวแมลง ทำหน้าที่เปิดให้โลหิตเข้าไปในหัวใจ โดยมีลิ้นบังคับให้โลหิตไหลไปทางเดียวสิ้นสุดที่บริเวณสมอง

        

• ระบบหายใจ
เป็นระบบง่ายๆ ประกอบด้วยท่อลมซึ่งแตกสาขาเป็นฝอยแทรกอยู่ทั่วไปทุกส่วนของร่างกาย ท่อลมนี้มีช่องเปิดติดต่อกับอากาศภายนอกตรงรูหายใจ ระบบนี้มีประสิทธิภาพสูงในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงานเพียงพอที่จะทำให้แมลงสามารถทำกิจกรรมได้ เช่น การบินเร็ว และการกระโดดสูง

• ระบบประสาท
ระบบนี้ประกอบด้วย เซลล์ประสาท (neuron) ซึ่งรวมกันเข้าเป็นใยประสาทนำเข้า (dendrite) รับความรู้สึกจากสิ่งเร้าทั้งจากภายนอกและภายในร่างกายมาสู่ตัวประสาท (cell body) และใยประสาท (axon) ที่ออกจากตัวประสาท นำความรู้สึกถ่ายทอดไปสู่จุดที่ต้องบการ เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะไปสิ้นสุดที่รอยประสานประสาท (synapse) ซึ่งมีอยู่มากมายในใยประสาทของแมลง  เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์เล็ก ใยประสาทและเซลล์ประสาทถูกจำกัดให้มีน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านรับความรู้สึกและแสดงความรู้สึกตอบสนองในรูปพฤติกรรมต่างๆ แมลงที่มีวิวัฒนาการสูงขึ้น ใยประสาทต่างๆ จะรวมตัวไปทางด้านหน้ามากขึ้น ทำให้มีจำนวนใยประสาทน้อยลง  ในด้านการรับความรู้สึก แมลงมีเซลล์ประสาทตารับภาพ มีเซลล์ประสาทที่หนวดรับกลิ่น รับรส และรับความรู้สึกได้  ในด้านการรับสัมผัสและฟังเสียง มีเซลล์ประสาทตามขนที่ปากและที่ปลายขารับรสและการสัมผัส เซลล์ประสาทรับเสียงพบที่ขาคู่หน้า เช่น ของตั๊กแตนหนวดยาวและจิ้งหรีด หรือพบในบริเวณส่วนท้องของแมลงบางชนิด


        
        อวัยวะสืบพันธุ์ของแมลง
        เพศผู้ : ๑.อัณฑะ  ๒.ท่อน้ำอสุจิส่วนต้น  ๓.ท่อน้ำอสุจิส่วนปลาย  ๔.ถุงพักอสุจิ  และ ๕.อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้
        เพศเมีย : ๑.-๓. รังไข่  ๒.รังไข่ย่อย  ๔.ท่อนำไข่  ๕.ท่อกลาง  และ ๖.ช่องอวัยวะสืบพันธุ์


ระบบสืบพันธุ์และเฟโรโมนทางเพศ
• อวัยวะสืบพันธุ์
แมลงส่วนใหญ่มีเพศแยกกัน คือ แต่ละตัวจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมียอย่างใดอย่างหนึ่ง น้อยมากที่จะมีแมลงที่มีเพศรวม คือ มีทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน เช่น แมลงพวกเพลี้ยอ่อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ บางชนิดสามารถออกลูกเป็นตัวได้โดยไม่ต้องวางไข่อีกด้วย เช่น แมลงวันบางชนิด การแยกเพศแมลงด้วยการดูจากลักษณะภายนอกทำได้ยาก เพราะโดยทั่วไปแมลงเพศผู้และเพศเมียส่วนมากมีลักษณะเหมือนๆ กัน มีเพียงลักษณะเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่ต่างกัน แต่สามารถแยกเพศได้ โดยดูจากอวัยวะสืบพันธุ์ที่อยู่ในบริเวณปลายท้อง ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถ้าเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของแมลงเพศเมียจะประกอบด้วยรังไข่ (ovary) ถ้าเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของแมลงเพศผู้จะมีอวัยวะยึดแมลงเพศเมียขณะผสมพันธุ์และอวัยวะที่ใช้ผสมพันธุ์

        
        ๑.ด้วงเต่าลายขับสารเฟโรโมนสื่อสารให้มารวมกลุ่มกัน  
        ๒.ปลวกงานเข้าไปล้อมรอบนางพญาปลวกเพื่อเลียเฟโรโนนางพญาที่อยู่รอบผิว
        ๓.แมลงดานาเพศผู้ผลิตสารเฟโรโมนทางเพศเรียกให้เพศเมียเข้ามาผสมพันธุ์

       
        แมลงขับสารเฟโรโมนทางเพศเพื่อดึงดูดให้สนใจความต้องการและยอมรับการผสมพันธุ์

เฟโรโมน (pheromone)  เป็นสารเคมีซึ่งแมลงผลิตจากต่อม (exorine gland) และขับออกมาภายนอก เปรียบเสมือนสารที่เป็นสัญญาณสื่อสารส่งสัญญาณให้แมลงชนิดเดียวกันเข้าใจความต้องการซึ่งกันและกันในด้านพฤติกรรมต่างๆ ของแมลงชนิดนั้นๆ เรียกว่า สารเฟโรโมน หรือสารสัญญาณทางเคมี  สารเฟโรโมนมีหลายชนิด เช่น เฟโรโมนเตือนภัย (alarm pheromone)  เฟโรโมนตามรอย (trail pheromone) เฟโรโมนนางพญา (queen pheromone) ซึ่งพบในพวกมด ผึ้ง ต่อ และแตน และเฟโรโมนทางเพศ (sex pheromone) พบในแมลงเกือบทุกชนิด เช่น ตั๊กแตน มวน เพลี้ย แมลงวัน ปลวก แมลงช้าง แมลงปีกแข็ง แตน ผึ้ง ผีเสื้อ ใช้เพื่อดึงดูดให้ต่างเพศสนใจและยอมรับการผสมพันธุ์ แมลงเพศผู้บางชนิดเป็นฝ่ายผลิตเฟโรโมนทางเพศ เช่น พวกผีเสื้อกลางคืน เมื่อเพศเมียได้กลิ่นสารเฟโรโมนและบินเข้าหาทันที แมลงดานาเพศผู้จะผลิตสารเฟโรโมนทางเพศ ซึ่งเป็นสารเคมีพวกกรดไขมันที่มีกลิ่นหอม เรียกให้เพศเมียเข้ามาผสมพันธุ์ คนไทยจึงนิยมนำแมลงดานาเพศผู้มาตำผสมน้ำพริกรับประทาน ปัจจุบันมีการสังเคราะห์เฟโรโมนของแมลงดานาใช้แทนแมลงดานาในธรรมชาติ

ปัจจุบัน มีความพยายามในการศึกษาเรื่องเฟโรโมนทางเพศของแมลงบางชนิด เช่น แมลงวันทอง โดยล่อให้แมลงวันทองมาติดกับดัก ที่ศึกษากันมากที่สุด คือ เฟโรโมนทางเพศของผีเสื้อ ซึ่งปัจจุบันได้ค้นพบแล้วหลายชนิด และนำมาสังเคราะห์ใช้ในการสำรวจและการป้องกันกำจัดแมลงเพื่อใช้แทนสารเคมีกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง)



       

       

การเจริญเติบโตของแมลง
การเจริญเติบโตของแมลงตั้งแต่ตัวอ่อนไปจนถึงตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ แตกต่างจากการเจริญเติบโตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

การเจริญเติบโตแบบต่างๆ ของแมลง ได้แก่
• การเจริญเติบโตโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง  พบในแมลงพวกที่มีวิวัฒนาการต่ำ เป็นแมลงที่ไม่มีปีกทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่น แมลงสามง่ามและแมลงหางดีด เมื่อฟักตัวออกจากไข่จะมีรูปร่างลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่ตัวเล็กกว่า และยังไม่มีระบบสืบพันธุ์ที่สมบูรณ์ เจริญเติบโตโดยลอกคราบหลายครั้ง แต่รูปร่างไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ตัวอ่อนกินอาหารชนิดเดียวกับตัวเต็มวัย เมื่อระบบสืบพันธุ์พัฒนาสมบูรณ์ก็ผสมพันธุ์ได้ ขยายพันธุ์และมีชีวิตต่อไปจนตาย


       
        การเจริญเติบโตโดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์

• การเจริญเติบโตโดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ ได้แก่ แมลงที่เมื่อฟักตัวออกจากไข่มีรูปร่างลักษณะทั่วไปเกือบเหมือนตัวเต็มวัย แต่ขนาดเล็กกว่า บางชนิดมีการเจริญเติบตาของปีกให้เห็นได้บ้างในตัว แต่ยังไม่เห็นปีกสมบูรณ์ อวัยวะสืบพันธุ์ยังไม่สมบูรณ์ ตัวอ่อนมีการลอกคราบหลายครั้ง ชนิดของปากเหมือนของตัวเต็มวัยและกินอาหารชนิดเดียวกัน เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายเป็นตัวเต็มวัยร่างกายสมบูรณ์เต็มที่จะไม่ลอกคราบอีกเลยจนตาย

ส่วนแมลงในน้ำขณะเป็นตัวอ่อน (naiad) มีลักษณะไม่เหมือนตัวเต็มวัย เช่น ตัวอ่อนของแมลงปอเข็ม ชีปะขาว มวนน้ำ และแมลงดานา มีอวัยวะที่ใช้หายใจและเคลื่อนไหว เหมาะสมที่จะอยู่ในน้ำ ลอกคราบหลายครั้งจนร่างกายสมบูรณ์ทุกส่วนเป็นตัวเต็มวัย จึงขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก

• การเจริญเติบโตโดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์
ได้แก่ พวกที่ไม่มีการเจริญเติบโตของปีกให้เห็นในระยะตัวอ่อน เมื่อออกจากไข่จะเป็นตัวหนอน จากหนอนจะเป็นดักแด้ จากดักแด้จึงเป็นตัวเต็มวัย การเจริญเติบโตแต่ละขั้นมีรูปร่างลักษณะไม่เหมือนกันเลย การกินอาหารของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยก็แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากการเจริญเติบโตของพวกหนอนผีเสื้อจนเป็นผีเสื้อ และลูกน้ำยุงจนกลายเป็นยุง เป็นต้น




อนุกรมวิธานของแมลง
อนุกรมวิธานของแมลง (insect taxonomy) คือ วิชาที่ว่าด้วยการจัดระบบหรือการจัดหมวดหมู่แมลง รวมทั้งการวินิจฉัยชนิดของแมลง

แมลงเป็นสัตว์ซึ่งมีมากชนิดที่สุดในโลก จึงจำเป็นต้องจำแนกหมวดหมู่ แยกชั้น โดยอาศัยหลักการและกฎเกณฑ์เช่นเดียวกับการจัดหมวดหมู่สัตว์โดยทั่วไป เพื่อสะดวกต่อการศึกษาวินิจฉัยแมลงชนิดต่างๆ เช่น พิจารณาเปรียบเทียบลักษณะโครงสร้างของร่างกาย ลักษณะทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการ ซึ่งเป็นแนวทางทำให้เห็นว่าแมลงแต่ละหมวดหมู่มีความสัมพันธ์กันเพียงไร และมีวิวัฒนาการใกล้ชิดกันอย่างไร

แผนภูมิการแยกลำดับชั้นและชนิดของแมลงซึ่งให้ความสะดวกต่อการศึกษา มีลำดับจากใหญ่ที่สุดลงไปจนเล็กที่สุด นับได้ ๗ ลำดับ ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงนี้ เป็นการจัดลำดับการแยกชนิดของผึ้งโพรงไทย (Apis cerana)

นักอนุกรมวิธาน (taxonomist) เปลี่ยนแปลงชื่อวิทยาศาสตร์และการจัดหมวดหมู่ของแมลงอยู่บ่อยๆ เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ และทางพันธุศาสตร์ใหม่ๆ เสมอ เช่น ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๓) ผึ้งโพรงอินเดีย (Apis indica) ได้ถูกจัดจำแนกเป็นผึ้งชนิดใหม่อีกครั้ง


       
        เยาวชนไปศึกษาและสังเกตชีวิตของแมลงตามแหล่งธรรมชาติ

       
        สวิงสำหรับจับแมลง

การศึกษาเรื่องแมลง
คงไม่มีมนุษย์คนใดสามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์เล็กๆ ที่มีจำนวนนับล้านเช่นแมลงได้ทั่วถึง แต่ก็มีวิธีที่เป็นไปได้หลายวิธี เช่น ใช้เวลาว่างสังเกตศึกษาเพราะสนใจ ไปจนถึงมุ่งศึกษาค้นคว้าจนเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ

• การศึกษาด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด
นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด อาจใช้การสังเกตแมลงตามแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติ หรือการจับแมลงมาเลี้ยงไว้ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อศึกษา ทั้ง ๒ แบบขึ้นอยู่กับสถานที่ ฤดูกาลทางธรรมชาติ และช่วงเวลาการเจริญเติบโตของแมลงด้วย

การจับแมลงมาเลี้ยงไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อศึกษา มีโอกาสใกล้ชิดกว่าการสังเกตตามแหล่งธรรมชาติ แต่จะได้แมลงชนิดใดมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับการทำกับดักเพื่อล่อแมลงให้มาติดเป็นสำคัญ กับดักที่ให้แมลงตกลงไปในหลุมซึ่งขุดล่อไว้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะจับแมลงที่อยู่บนผิวดินและในบริเวณสนามหญ้าหรือสวน  วิธีทำก็คือ เลือกสถานที่ เช่น ใต้ต้นไม้ ในพุ่มไม้ หรือกลางสนามหญ้า ขุดหลุมขนาดพอให้วางถ้วย ๒ ใบ ลงไปในหลุมให้ปากถ้วยสูงพอดีระดับพื้นดิน ถ้วยมีขนาดไม่เท่ากัน ใบนอกสำหรับกันดิน ใบในสำหรับดักแมลง ใช้แผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมปิดฝาถ้วย แล้ววางก้อนหินทับ ตรวจสอบอยู่เสมอว่าพบแมลงชนิดใดบ้าง แล้วจดบันทึกไว้ ถ้าต้องการดักแมลงกลางคืน ใช้แสงไฟช่วยล่อแมลงให้บินเข้าไปในกับดักที่เตรียมไว้นั้น ผ้าขาวที่ขึงให้รับแสงไฟก็ใช้ล่อแมลงได้ แมลงส่วนมากมีขนาดเล็ก เคลื่อนไหวเร็ว จึงควรจัดเตรียมโถแก้วหรือขวดแก้วที่มีฝาปิด ใช้พู่กันค่อยๆ เขี่ยแมลงใส่ในโถหรือขวด ปิดปากโถหรือขวดเพื่อกันแมลงหนี โดยต้องเจาะรูที่ฝาเพื่อให้แมลงหายใจได้

เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับศึกษาแมลง คือ แว่นขยายชนิดที่ใช้มือถือ ขนาดขยายได้ประมาณ ๑๐ เท่า จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดได้ดีกว่ามองดูด้วยตาเปล่า วาดรูปและบันทึกข้อมูลของแมลง แสดงขนาด สี แหล่งที่พบหรือดักได้ และอื่นๆ ที่น่าสนใจ เก็บแมลงไว้ในที่เย็น หลักจากที่ศึกษาแล้วต้องปล่อยแมลงไปเพื่อให้กลับไปยังถิ่นของมัน


       
        วิธีล่อจับแมลงโดยใช้ผ้าขาวขึงให้รับแสงไฟ

       
        บน พิพิธภัณสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        ล่าง พิพิธภัณฑ์แมลงของราชการและเอกชนเป็นสถานที่ซึ่งผู้สนใจจะไปศึกษาหาความรู้ได้

• การศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ของสิ่งไม่มีชีวิต
นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์แมลงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นต้น

• การศึกษาในสถาบันการศึกษา
การศึกษาทางชีววิทยาของแมลงในสาขากีฏวิทยามีหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร สาขาวิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านกีฏวิทยาจะเข้าเป็นสมาชิกวิชาชีพในสมาคมกีฏวิทยาและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถประกอบอาชีพได้ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข ในสาขาวิชากีฏวิทยาทางการแพทย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสาขากีฏวิทยาด้านป่าไม้ และมีอาชีพครูในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลทุกแห่งที่เปิดสอนสาขาวิชากีฏวิทยา รวมทั้งยังทำงานในภาคเอกชนทางด้านการเกษตรได้ทุกแห่ง ประกอบอาชีพส่วนตัว เปิดร้านจำหน่ายยาฆ่าแมลงและปุ๋ย (ปัจจุบันเรียกว่าวัตถุมีพิษกำจัดแมลง) หรือทำอาชีพกำจัดแมลงและปลวก ปัจจุบันมีมากกว่า ๑,๐๐๐ บริษัท อยู่ทั่วประเทศ เป็นต้น


       
        บน การศึกษาวิชากีฏวิทยาในสถานบันการศึกษา
        กลาง การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง
        ล่าง ร้านขายยาฆ่าแมลงที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ

แมลงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย คือ เกิด เจริญเติบโต เป็นประโยชน์หรือให้โทษแก่โลก ขยายพันธุ์ ตาย หรืออาจสูญพันธุ์ได้  ดังนั้น จึงมีการออกกฎกระทรวงแนบท้าย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๔๖ มีแมลง ๒๐ ชนิด ในประเทศไทยที่หายากและใกล้สูญพันธุ์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองด้วย ในจำนวนนี้มีด้วง ๔ ชนิด ได้แก่ ด้วงกว่างดาว (Cheirotonus parryi Gray)  ด้วงคีมยีราฟ (Prosopocoilus (Cladognathus) giraffe Oliver) ด้วงดินขอบทองแดง (Mouhotia batesi Lewis) ด้วงดินปีกแผ่น (Mormolyce phyllodes Hagenbach) และเป็นผีเสื้อ ๑๖ ชนิด

ประชาชนทั่วไปมีส่วนช่วยอนุรักษ์แมลง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่ก็ตาม เพราะแมลงช่วยสร้างความมีชีวิตและช่วยให้โลกสวยงาม




ซ้าย-ขวา ด้วงกว่างดาว และด้วงคีมยีราฟ


ซ้าย-ขวา ด้วงดินขอบทองแดง และด้วงดินปีกแผ่น

แมลงที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นผีเสื้อ ๑๖ ชนิด


จากแถวบนสุด ซ้ายไปขวา : ๑.ไกเซอร์อิมพีเรียล  ๒.ถุงทองปักษ์ใต้  ๓.ถุุงทองป่าสูง  ๔.นางพญากอดเฟรย์
๕.นางพญาเขมร  ๖.นางพญาพม่า  ๗.นางพญาเมืองเหนือ  ๘.ภูฏาน
๙.รักแร้ขาว  ๑๐.หางติ่งสะพายเขียว  ๑๑.หางดาบตาลไหม้  ๑๒.หางดาบปีกโค้ง
๑๓.หางยาวตาเดียวปีกลายตรง  ๑๔.หางยาวตาเดียวปีกลายหยัก  ๑๕.หางยาวสี่ตาปีกลายตรง 
และ ๑๖. หางยาวสี่ตาปีกลายหยัก


หัวข้อ การศึกษาเรื่อง "แมลง" : ลักษณะกายวิภาค การเจริญเติบโต อนุกรมวิธานเรื่องแมลง ฯลฯ ในเว็บไซต์นี้
       คัดลอกและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗
       โดยได้รับอนุญาต จาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่ใน www.sookjai.com เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้  
       ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค. ๕๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2558 14:47:20 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.166 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 2 ชั่วโมงที่แล้ว