{สมาธิ}ได้แก่ การหัดใจให้สงบจากอารมณ์ต่าง ๆ จะด้วยการใช้บริกรรม นึกแต่ในใจว่าพุทโธ ๆ ๆ หรืออรหัง ๆ ๆ มรณัง ๆ ๆ บทใดบทหนึ่งก็ได้ หรือบทบริกรรมนอกเหนือไปจากนี้ก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่จะชอบใจ คือเมื่อบริกรรมแล้ว จิตสงบ สบาย โล่งดี ใช้ได้ทั้งนั้น
แต่ให้เอาบทเดียว อย่าไปเอาโน่นบ้าง นี่บ้าง ใช้ไม่ได้ ในขณะที่กำลังบริกรรมอยู่นั้นให้ตั้งสติ ประคองจิต{คือผู้รู้สึกหรือผู้นึกคิด}ให้แน่วอยู่ที่คำบริกรรมนั้นแห่งเดียว กลั่นกรองเอาความคิด ความนึก ที่นอกเหนือจากนั้น สละทิ้งหมดเช่น คิดนึกส่งส่าย หรือทะเยอทะยานอยากโน่นอยากนี่ แม้แต่จิตที่จะแว่บออกไปจากเอกัคคตารมณ์ ก็อย่าให้มี ปลิดทิ้ง สละให้หมด อย่าให้มีเหลือไว้ ณ ที่นั้น ให้คงยังเหลืออยู่แต่ เอกัคคตาจิต คือ จิตที่ปราศจากความกังวล วุ่นวาย ส่งส่าย แล้วสงบสุขเย็นอยู่เฉพาะมันคนเดียวเมื่อเราฝึกหัดจิตให้ได้อย่างนั้นแล้ว เราก็จะเห็นตัวจิตได้ชัดทีเดียวว่า จิตแท้ไม่มีอะไร ที่มีเรื่องยุ่งเหยิง แลวุ่นวายเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ นั้นมิใช่จิต แต่จิตไปรับเอาเรื่องภายนอกจากจิต มาประสมโรงต่างหากแล้วจิตก็ไปเดือดร้อน โวยวาย โน่นนี่ แล้วอยากหนีจากความเดือดร้อนวุ่นวายนั้น ๆ จิตนี้ชอบกล ยิ่งดิ้นก็ยิ่งรัด ยิ่งมัดยิ่งผูกให้แน่นตึงเข้าไปทุกที หากเรานิ่งเฉยเสีย ถึงมันจะไม่หลุด แต่มันก็ไม่รัดให้เดือดร้อนเกินไป
{ปัญญา} เป็นสิ่งที่คนเราทุกคน ไม่เลือกชั้น ไม่ว่า ไพร่ ผู้ดี มี จน ย่อมปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าได้ทราบว่า คนนั้น คนนี้ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานเหลน หรือญาติมิตรของเราก็ตาม ว่าเขาเป็นผู้ดีมีปัญญา เฉลียวฉลาดแล้ว ก็จะแสดงความสนใจเป็นพิเศษในบุคคลนั้นอย่างน้อยก็อยากจะดูว่าหน้าตาเขามีลักษณะท่าทีเป็นอย่างไรบางคนทั้ง ๆ ที่ตนก็สนใจอยู่กับเรื่องปัญญานั้น แล้วก็ใช้ปัญญานั้น ซึ่งมีประจำอยู่ในตัว
เท่าทีมีอยู่ แต่ก็หาได้รู้ไม่ว่าปัญญามีลักษณะ แลคุณประโยชน์อย่างไรไม่คนชนิดนี้คิด ๆ ดูแล้วก็น่าขบขัน แลคนที่น่าขบขันยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ที่ไม่รู้จักลักษณะของปัญญา แลปัญญานั้นก็ไม่มีในตนเสียด้วย แต่อยากจะแสดงภูมิปัญญา ให้ปรากฏแก่สายตาของคนอื่น มรดกอันล้ำค่าของโลก{หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี}