[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 16:08:34 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนพิธีที่ควรเรียนรู้ : เพื่อให้งานเหมาะแก่กาลเทศะและไม่เป็นที่สับสนแก่เจ้าภาพ  (อ่าน 5388 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2555 20:48:41 »

.

ภาพจาก : board.palungjit.com

ศาสนพิธี

ศาสนพิธีคือแบบอย่างอันจะพึงปฏิบัติเกี่ยวแก่ศาสนา   ศาสนพิธีแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ได้ ๒ ประเภทคือ
๑. ประเภทพิธีในการบำเพ็ญกุศล
๒. ประเภทพิธีในการทำสังฆกรรม

สำหรับในที่นี้ จะเว้นกล่าวถึงพิธีในการทำสังฆกรรมเสีย เพราะเห็นว่าเป็นที่ใช้กันอยู่แต่ในฝ่ายภิกษุสงฆ์เท่านั้น  จักกล่าวแต่ประเภทพิธีในการบำเพ็ญกุศล  ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการที่นำให้เรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้น

ประเภทพิธีในการบำเพ็ญกุศล

การบำเพ็ญกุศลในทางพระพุทธศาสนา  ที่เนื่องด้วยพิธีอันนิยมกันในบัดนี้เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วก็เป็น ๒ ประการ  คือการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานมงคลประการหนึ่ง  การบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานทักษิณานุปทานประการหนึ่ง  การบำเพ็ญกุศลในประการต้น หมายถึงการทำบุญเพื่อความสวัสดิมงคลความสุขและความเจริญโดยปรารภเหตุที่ดีเป็นมูล  ประการหลังหมายถึงการทำบุญเกี่ยวแก่การมรณกรรม  โดยปรารภเหตุคือการอุทิศกุศลแก่ผู้วายชนม์เป็นมูล

ส่วนบุคคลที่จำต้องเกี่ยวข้องในการทำบุญนั้น ตามหน้าที่โดยตรง ก็คือ ทายกที่จัดเป็นฝ่ายเจ้าภาพ ๑  ปฏิคาหกที่จัดเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑  ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างมีหน้าที่อันจะพึงรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบนิยมด้วยกัน ในที่นี้จะแยกพิธีออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ
๑. พิธีฝ่ายเจ้าภาพ
๒. พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์

๑. พิธีฝ่ายเจ้าภาพ : การบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานมงคล
ในเบื้องต้นผู้เป็นเจ้าภาพควรตระเตรียมสิ่งของและจัดการต่าง ๆ ในการบำเพ็ญกุศลให้เสร็จเรียบร้อยก่อนดังนี้
 ๑. นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
 ๒. ตบแต่งสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อย
 ๓. จัดอาสนสำหรับพระสงฆ์นั่ง
 ๔. จัดที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องสักการบูชา
 ๕. อัญเชิญพระพุทธรูปและเครื่องสักการบูชา
 ๖. ตั้งภาชนะน้ำมนต์
 ๗. วงด้ายสายสิญจน์
 ๘. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์
 ๙. ออกไปต้อนรับ
๑๐. คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดเท้า
๑๑. ประเคนเครื่องรับรอง
๑๒. จุดเทียนธูปบูชาพระ
๑๓. อาราธนาศีล  และพระปริตร



พิธีฝ่ายเจ้าภาพ : การบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานมงคล

 
๑. การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์

การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์นั้น จะใช้วิธีนิมนต์ด้วยการวางฎีกาหรือด้วยวาจาก็ได้ ข้อสำคัญในการนิมนต์  ก็คือต้องแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่ปรารภทำบุญ วัน เดือน เวลา ให้ชัดเจน  ถ้ามีพาหนะรับส่งก็ให้นัดหมาย เวลา สถานที่ให้ทราบด้วย  วิธีนิมนต์นี้ใช้ได้ทั่วไปแม้ในงานอื่นที่เกี่ยวด้วยภิกษุสงฆ์

ก็จำนวนพระเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลมิได้กำหนดข้างมากไว้  แต่สำหรับจำนวนข้างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า ๕ รูป  เลยนั้นไปก็เป็น ๗ รูป  ๙ รูป  หรือ ๑๑ รูป  มีเกณฑ์อยู่อย่างหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ  ในงานมงคลทั่วไป เว้นงานมงคลสมรสไม่นิยมนิมนต์พระเป็นจำนวนคู่  ความประสงค์ก็เพื่อต้องการจะนับรวมพระพุทธรูปเข้าด้วยให้เป็นคู่   ดุจว่าในการทำบุญครั้งนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน  โดยเหตุที่ครั้งพุทธกาลพุทธศาสนิกชนนิยมอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านเรือนของตน  จนมีข้อความปรากฏในพระบาลีทั่วไปว่า “พุทฺธปฺ ปมุโข  ภิกฺขุสงฺโฆ”  หมู่ภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  ในเวลาบำเพ็ญกุศลที่มีธรรมเนียมจัดที่ตั้งพระพุทธรูปด้วยก็เนื่องด้วยเหตุนี้

แต่การนิมนต์พระนี้  สำหรับพิธีหลวงในปัจจุบันนี้  เจ้าหน้าที่มักจะนิมนต์พระสงฆ์ให้เป็นคู่เสียเลยทีเดียว เช่น ๑๐ รูป  ส่วนงานมงคลสมรสมีนิยมนิมนต์พระสวดมนต์เป็นจำนวนคู่ เช่น ๖ รูป  ๘ รูป  ๑๐ รูป นั้น  ก็โดยประสงค์จะให้คู่บ่าวสาวแบ่งกันนิมนต์พระและถวายไทยทานเท่า ๆ กัน  ไม่ต้องเกิดความเกี่ยงงอนว่าฝ่ายไหนจะได้น้อยได้มากกว่ากัน   และนับรวมทั้งพระพุทธรูปเป็น ๗ รูป ๙ รูป  หรือ ๑๑ รูป

อนึ่ง การนิมนต์พระไปรับสังฆทาน  ยังมีผู้ปฏิบัติไม่ถูกแก่พิธีสังฆทานอยู่บ้าง  กล่าวคือ เจ้าภาพเลือกนิมนต์พระเอาเอง  บ้างมอบให้เจ้าอาวาสเป็นต้นนิมนต์  แต่ยังมีการเจาะจงให้นิมนต์รูปนั้นรูปนี้บ้าง  การทำเช่นนี้หาถูกหลักสังฆทานไม่  เป็นปาฏิปุคคลิกทานไป   การนิมนต์ที่ถูกแก่พิธีสังฆทานนั้น เจ้าภาพควรขอสงฆ์ต่อเจ้าอาวาส  พระภัตตุทเทศก์  หรือพระรูปใดรูปหนึ่งก็ได้  ให้ช่วยนิมนต์พระภิกษุไปรับสังฆทานของตน  สุดแต่จะได้ภิกษุเช่นไรไป  ต้องตั้งใจให้เป็นกลาง  ถวายให้เป็นการสงฆ์จริง ๆ อย่าเห็นแก่หน้าบุคคล  ถ้าไปเกิดความโสมนัสดีใจว่าได้พระเถระผู้ทรงคุณธรรม  พระมีศักดิ์มีเกียรติหรือผู้ที่ตนรู้จักนับถือคุ้นเคยไปรับสังฆทาน ก็เสียพิธีสังฆทาน   หรือว่าเกิดความกินแหนงโทรมนัสเสียใจว่า ได้พระที่หาคุณธรรมหรือหาศักดิ์หาเกียรติมิได้  หรือซ้ำร้ายได้พระที่ประพฤติตัวเสียหายเป็นอลัชชี  ซึ่งมีผู้รู้กันอยู่โดยแพร่หลายไปรับสังฆทาน  ก็เสียพิธีสังฆทานเช่นเดียวกัน  จะได้พระเช่นไรก็ตามโดยที่สุดแม้จะเป็นสามเณร  ต้องตั้งใจต่อพระอริยสงฆ์    คือถวายอุทิศเป็นการสงฆ์จริง ๆ ตามอย่างคำถวายสังฆทาน  จึงจะสำเร็จเป็นสังฆทานมีผลและอานิสงส์มาก

อนึ่ง การนิมนต์ภิกษุไปฉันอาหารควรใช้โวหารนิมนต์ให้ชอบด้วยพระวินัย  กล่าวคืออย่านิมนต์ออกชื่ออาหารที่ทางวินัยเรียกว่าออกชื่อโภชน  เช่น นิมนต์ไปฉันเนื้อสะเต๊ะ   ฉันขนมจีนเป็นต้น  เพราะการที่ภิกษุรับนิมนต์ไปฉันอาหารที่เขานิมนต์ออกชื่อโภชนเช่นนี้  ถ้าไม่มีสมัยที่ได้รับการยกเว้นให้ฉันได้ตามวินัยบัญญัติ  ก็จะเกิดอาบัติโทษแก่ท่าน  จึงควรนิมนต์ด้วยกัปปิยโวหาร เช่นว่านิมนต์ฉันเช้าหรือฉันเพลตามแต่เรื่อง



 
๒.  การตบแต่งสถานที่สะอาดให้เรียบร้อย

การตบแต่งสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อยเป็นการจำเป็น เพราะจะเป็นที่นำมาซึ่งความเจริญตาเจริญใจแก่เจ้าบ้านและแขกผู้มาในงานด้วย  เป็นการแสดงถึงความเคารพพระรัตนตรัยและให้ความรับรองอันดีแก่ผู้ควรแก่การรับรอง  ก็การทำความสะอาดเป็นสิ่งที่ทำได้  ไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งรกรุงรังและกีดขวางเกะกะ  ควรเก็บหรือเลื่อนยกไปไว้ที่อื่นเสียชั่วคราว  เมื่อได้จัดทำความสะอาดสถานที่แล้ว หากได้มีการตบแต่งประดับประดา เช่น ผูกผ้า และขึงม่านเป็นต้นด้วย  ก็จะเป็นการเพิ่มความสวยงามน่าดูขึ้นอีก  สำหรับการขึงม่าน ความประสงค์ก็เพื่อจะปิดบังสิ่งที่ไม่น่าดู เช่น ฝาไม่สะอาดเรียบร้อยหรือสิ่งของที่ต้องการจะปิดบัง  แต่ถ้าฝาสะอาดเรียบร้อยและไม่มีอะไรที่จำเป็นต้องปิดบังแล้วก็ไม่ต้องขึงม่าน เพราะจะทำให้สถานที่ทึบและอบอ้าว


๓. การจัดอาสนสำหรับพระสงฆ์นั่ง
การจัดที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ใช้กันอยู่ ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งใช้ยกพื้นให้สูงขึ้น  ด้วยการใช้เตียงหรือม้าวางต่อกัน  ให้กว้างและยาวตามที่ต้องการ เรียกว่าตั้งอาสนสงฆ์   มักนิยมใช้ในสถานที่ที่เจ้าภาพนั่งเก้าอี้   อีกอย่างหนึ่ง ใช้ปูอาสนบนพื้นธรรมดา  วิธีปูลาดนั้นปูให้เต็มที่เสียชั้นหนึ่งก่อน  ครั้นแล้วจึงใช้ผ้าขาว  พรมปูนั่ง  หรือผ้าปูนั่งที่เรียกว่าผ้านิสีทนะปูทับอีกชั้นหนึ่ง  ถ้ามีหมอนอิงด้วยก็พึงนำมาวางเป็นที่ ๆ กะให้ห่างได้ระยะพอสมควร  สำหรับเป็นที่พระสงฆ์นั่งโดยเฉพาะ  ในสถานที่ ๆ จัดเครื่องปูลาดไว้ชั้นเดียว  คฤหัสถ์จะนั่งบนอาสนนั้นหาสมควรไม่เพราะถือว่าเป็นการนั่งร่วมอาสนกับพระสงฆ์   ซึ่งจัดว่าเป็นการไม่เคารพ  แต่ถ้าได้ปูอาสนอื่น ๆ เช่น ผ้านิสีทนะหรือผ้าขาวเสียอีกชั้นหนึ่งแล้ว คฤหัสถ์จะนั่งบนเครื่องลาดชั้นล่างก็ได้  ไม่ถือ ว่าเป็นการนั่งร่วมอาสน  ส่วนเก้าอี้หมู่ที่จัดไว้เพราะที่นั่งแยกออกเป็นที่ ๆ อยู่ในตัวแล้ว คฤหัสถ์จะนั่งร่วมหมู่ด้วยก็ได้ ไม่ชื่อว่าเป็นอันนั่งร่วมอาสน

อนึ่ง มีข้อที่น่ารู้อยู่อย่างหนึ่ง ในสถานที่ ๆ ใช้เครื่องปูลาด ๒ ผืนขึ้นไป  ปูไว้ชั้นเดียวใช้สำหรับพระนั่งผืนหนึ่ง  สำหรับคฤหัสถ์นั่งผืนหนึ่ง  และเครื่องลาดเหล่านี้จำต้องปูทับกัน  ให้ปูเครื่องลาดของพระทับบนเครื่องลาดของคฤหัสถ์  เข้าใจว่าถ้าให้เครื่องลาดของคฤหัสถ์ทับบนเครื่องลาดของพระ เกรงว่าจะเป็นการนั่งสูงกว่าพระก็เป็นได้



 
๔. จัดที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องสักการบูชา

ที่สำหรับตั้งพระพุทธรูป  ควรจัดให้สมควรและสูงกว่าพื้นธรรมดา  จะใช้เป็นโต๊ะเดี่ยวหรือโต๊ะหมู่ได้ก็ยิ่งดี  ถ้าเป็นโต๊ะเดี่ยวและโต๊ะนั้นเห็นว่าไม่สะอาด  ก็พึงหาผ้าปูทับเสียอีกชั้นหนึ่ง  ใช้ผ้าขาวเป็นเหมาะ   ถ้าไม่มีจะใช้ผ้าสีอื่นก็ได้  แต่ควรเป็นผ้าสีไม่ฉูดฉาด  เว้นผ้าสีดำก็จะทำให้แลดูสะอาดตาขึ้น    

วิธีตั้งพระพุทธรูป  ควรตั้งให้อยู่ข้างขวามือพระสงฆ์  ถ้าจำต้องตั้งข้างซ้ายมือพระสงฆ์ก็พึงตั้งให้ด้านหน้าหันมาทางแถวพระสงฆ์นั่ง   ไม่ใช่หันด้านหน้าออกตามพระสงฆ์
เครื่องสักการบูชาที่ถือเป็นหลักอยู่ก็คืออย่างน้อยต้องมี ๓ อย่าง ๕ ที่ ได้แก่เทียน ๒ ที่ ดอกไม้ ๒ ที่ ธูป ๑ ที่ นอกจากนี้จะมีเทียนกี่คู่  ดอกไม้กี่พาน และแจกันกี่ที่ก็สุดแต่ชนิดของที่ตั้ง   แต่ที่ปักธูปคงที่เดียวเสมอไป โดยปกติเครื่องบูชาเหล่านี้ ต้องมีที่สำหรับปักเสียบและวาง  การเอาเทียนปักหรือติดในที่สำหรับปักธูปนั้นไม่น่าดู  กระบวนการจัดดอกไม้จะประณีตงดงามเพียงใด  ก็ขึ้นอยู่ที่ฝีมือและความสามารถของช่างจัดดอกไม้  ประกอบทั้งกำลังของเจ้าภาพด้วย

ส่วนการจัดวางเครื่องสักการบูชานั้น เชิงเทียนต้องวางไว้ใกล้ที่ปักธูป  ส่วนที่ดอกไม้  พึงวางถัดเข้าไป ๒ ข้างพระพุทธรูป  นี้สำหรับเครื่องสักการบูชาเพียง ๕ ที่  ถ้ามีเครื่องสักการบูชาหลายที่อย่างที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ ก็ต้องขยายการตั้งออกไปตามโต๊ะหมู่  กระบวนการจัดวางก็ต้องวางให้เห็นว่างามแก่ตา คือได้ช่องไฟและแลเห็นของที่จัดวางได้ถนัดไม่บังกัน  แม้ในเวลากลางคืนก็ให้แสงไฟเทียนที่จัดตั้ง อาจส่องกระจ่างได้ทั่วทั้งหมู่จึงนับว่าดี



๕. อัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา
พระพุทธรูปที่จะนำมาตั้งบนที่บูชานั้น  ควรทำความสะอาดเสียก่อน  วิธีตั้งพระพุทธรูปถือกันว่าให้อยู่ข้างขวาพระสงฆ์และให้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกโดยถือว่าเป็นทิศพระ  ข้อนี้ก็เนื่องจากถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ  ในท่าที่ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  จึงถือนิมิตกันว่าเป็นทิศชัยมงคล  หรือมิฉะนั้นจะตั้งหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือก็ได้  ในเมื่อจะตั้งหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกไม่สะดวก ในเรื่องเหล่านี้ ถ้าสถานที่ไม่อำนวย  จะจัดหันพระพักตร์ไปทางทิศไหนก็ได้  เพราะสถานที่บังคับ  ฉะนั้น ในข้อนี้จึงสุดแต่สถานที่  การที่นำมากล่าวไว้ก็เพื่อจะให้ทราบวิธีที่ท่านนิยมตั้งกันมา พึงสังเกตพระอุโบสถมักสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ก็เพราะเหตุที่เนื่องมาจากความนิยมดังกล่าวแล้ว




๖. ตั้งภาชนะน้ำมนต์
ภาชนะน้ำมนต์โดยมากนิยมใช้บาตร ถ้าไม่มีจะใช้ภาชนะอย่างอื่น  เช่น  ขัน  เต้า  ครอบ  ก็ได้  แต่สำหรับขันอย่าใช้ขันเงินหรือขันทอง  เพราะเกี่ยวแก่วินัยของพระที่ห้ามมิให้ภิกษุจับต้องภาชนะเช่นนั้น  จะเป็นภาชนะสำริดหรือทองเหลืองควรอยู่  การตั้งภาชนะน้ำมนต์นั้นในงานบางอย่าง  เช่น  งานมงคลสมรส  งานมงคลตัดจุก  เป็นต้น  นิยมตั้งภาชนะน้ำมนต์ทั้งบาตร  ครอบ  หรือแม้เต้าด้วย  การตั้งให้ตั้งไว้ข้างขวามือของพระสังฆเถระและให้ใกล้ได้ระยะพอที่ท่านจะทำพิธีหยดเทียนทำน้ำมนต์ได้สะดวก  อย่าตั้งไว้บนที่บูชาพระพุทธรูป  ถ้ามีภาชนะน้ำมนต์หลายที่  และมีสิ่งของอื่นอันจะมาตั้งในพิธีมณฑลหลายที่  และมีสิ่งของอื่นอันจำนำมาตั้งในพิธีมณฑลด้วย  เช่น  สังข์ โถปริก  เป็นต้น  ก็ควรจะมีโต๊ะสำหรับวางเสียที่หนึ่งต่างหาก  ไม่ควรนำไปตั้งไว้บนที่บูชา

เทียนทำน้ำมนต์ควรใช้ขี้ผึ้งแท้หนักสัก ๑ บาท  ไส้ ๙ เส้น ซึ่งเทียบด้วยพุทธคุณ ๙ หรือ ๑๖ เส้น  ซึ่งเทียบด้วยโสฬสกิจ ๑๖ ในอริยสัจ ๔ ถ้าหาเทียนที่ทำด้วยขี้ผึ้งแท้ไม่ได้  จะใช้เทียนที่ทำด้วยขี้ผึ้งอย่างอื่นก็ได้  แต่เทียนไขไม่นิยมใช้เป็นเทียนน้ำมนต์

เทียนน้ำมนต์นี้มีเคล็ดอยู่ว่า  เมื่อพระท่านทำพิธีในเวลาทำน้ำมนต์แล้วดับ  อย่าจุดอีกเพราะถือนิมิตว่า  เวลาท่านทำพิธีดับนั้น  เป็นการดับทุกข์  โศก  โรค  ภัย  เสนียด  และจัญไรทั้งปวง

เครื่องที่ใช้ใส่ภาชนะน้ำมนต์  โดยมากนิยมใช้ใบเงิน  ใบทอง  และใบนาก  อย่างละ  ๓  หรือ  ๕ ใบก็ได้  โดยถือนิมิตว่าเป็นสิริวัฒน  เจริญศรี  นอกจากนี้ก็มีดอกบัวหลวง ๕ ดอก  โดยถือนิมิตว่า  เป็นดอกไม้แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์  ในภัทรกัปนี้  นอกจากนี้ก็นิยมใช้ดอกกุหลาบ  โดยถือนิมิตว่าเป็นยสวัฒน  เจริญยศ  ดอกมะลิเป็นธนวัฒน  เจริญทรัพย์  ดอกบานไม่รู้โรย  โดยถือนิมิตว่าเป็นอายุวัฒน  เจริญอายุ  ดอกไม้เหล่านี้จะใช้อย่างละ ๓ หรือ ๕ ดอกก็ได้  และใบมะตูมเด็ดยอดละ ๓ ใบ ๓ ยอด  โดยถือนิมิตว่าเป็นตรีศูลของพระอิศวร  เป็นเตชวัฒน  เจริญเดช  (ใช้ทัดหูขวาให้ด้านใบออกข้างหน้า  เมื่อเวลาหลั่งน้ำพระพุทธมนต์แล้ว  บางแบบก็ใช้ใบเงิน  ใบทอง  และใบนาคทัดหูด้วย  แต่เป็นข้างซ้ายในเวลาเดียวกัน)  ถ้าเป็นการที่เกี่ยวแก่สะเดาะเคราะห์  นิยมใช้ฝักส้มป่อยและผิวมะกรูดอย่างละ ๓ หรือ ๕ ชิ้นก็ได้  ใส่ลงในภาชนะน้ำมนต์ด้วย  เวลาอาบน้ำพระพุทธมนต์  ใช้เป็นเครื่องสระศีรษะ  ถือว่าเป็นการปัดเสนียดจัญไร  นิยมใช้กันมาแต่โบราณ  สิ่งของสำหรับใส่ภาชนะน้ำมนต์นี้  จะใช้กี่อย่างก็สุดแต่จะมีและหาได้  ยิ่งหาได้ครบก็ยิ่งดี  นำมากล่าวไว้ก็เพื่อจะได้ทราบและใช้ให้ถูกแก่ความนิยมที่ท่านแต่โบราณได้ใช้กันมา

ส่วนเครื่องประน้ำมนต์นั้น  ใช้หญ้าคาตัดรากและปลายออกเสียพร้อมด้วยใบแห้ง  กะให้ยาวประมาณ ๑ ศอก  โตประมาณกำมือหนึ่ง  มัดด้วยด้ายสายสิญจน์หรือด้ายอื่นก็ได้ ๓ เปราะตรงที่สำหรับถือ  การใช้หญ้าคาประน้ำมนต์ก็โดยถือว่าเป็นหญ้ามงคล  เพราะเป็นหญ้าอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ได้ใช้รองประทับนั่ง  แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณซึ่งเรียกว่ารัตนบัลลังก์  และในศาสนาพราหมณ์ก็ถือว่าเป็นหญ้ามงคล  เพราะเป็นหญ้ารองหม้อน้ำอัมฤต  ซึ่งมีประวัติกล่าวไว้ในเรื่องภารต  แต่ในปัจจุบันนี้นิยมใช้กิ่งมะยมประน้ำมนต์กันอยู่โดยทั่วไป  ยังไม่พบมูลเหตุและหลักฐานที่นิยมใช้   ชะรอยจะถือว่าเป็นไม้ที่มีชื่อในทางชวนให้นิยมกระมัง  หรือมีชื่อเหมือนพระยมซึ่งเป็นผู้ที่ภูตผีปีศาจกลัว  เคยเห็นใช้กิ่งมะยมปัดรังควานก็มี  จะยุติอย่างไรก็สุดแต่จะสันนิษฐาน  บางทีใช้กิ่งทับทิมประน้ำมนต์ก็มี  ข้อนี้คงเนื่องมาจากพิธีข้างฝ่ายจีน  หรือจะถือว่าเป็นไม้มีชื่อเป็นมงคล  คือ  รัตนะอย่างหนึ่งก็ได้  แต่สำหรับหญ้าคานั้น  ถ้าหาได้ก็ควรใช้หญ้าคาดีกว่า  เพราะมีหลักฐานเทียบได้ทั้งฝ่ายพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์

สิ่งที่ควรหาเตรียมไว้และนำมาเข้าพิธีมณฑลด้วยนอกจากภาชนะน้ำมนต์  สำหรับงานมงคลบางอย่างที่เจ้าภาพกระทำเป็นการเล็กน้อยแล้ว  ถ้าเป็นงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่  ควรเตรียมโถปริกใส่กระแจะสำหรับเจิม  ทรายใส่ถุงผ้าขาวย่อมๆ  หรือภาชนะอื่นที่สมควรก็ได้  นำมาตั้งในพิธีมณฑลด้วย  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว  พระท่านจะได้เจิมสถานที่บ้านเรือนให้  ส่วนทรายก็จะได้โปรยโดยรอบบริเวณบ้านทั้งสี่ทิศให้  ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน  และป้องกันสรรพอันตรายทั้งหลาย

ถ้าเป็นงานมงคลทำบุญอายุ  ก็เตรียมสังข์สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ใส่พาน  และเทียนมงคลขี้ผึ้งแท้หนัก ๙ บาท  ใช้ไส้ให้เกินอายุเจ้าภาพ ๑ เส้น ใช้เป็นเทียนแทนเทียนชัยวัฒนไปในตัว  แต่ถ้ามีเทียนชัยวัฒนด้วย  สำหรับเทียนมงคลให้เปลี่ยนใช้ไส้  ๓๒  เส้น  ขี้ผึ้งแท้หนัก  ๙ บาท ฟั่นให้ยาววัดรอบศีรษะเจ้าภาพ  ส่วนเทียนชัยวัฒนนั้นใช้ขี้ผึ้งแท้หนักเกินอายุเจ้าภาพ ๑ บาท เช่น เจ้าภาพอายุ ๖๐ ปี  ก็ใช้ขี้ผึ้งหนัก ๖๑ บาท  ไส้เกินอายุ ๑ เส้น  ฟั่นให้ลำเทียนสูงเท่าตัวเจ้าภาพ  เทียนชัยวัฒนนี้  เวลาจุดต้องหาหรือจัดทำตู้ใส่ระวังมิให้ดับเสียในระหว่าง  ต้องจุดจนหมดเล่ม  ถ้าเกิดดับเสียในระหว่าง ถือว่าเป็นนิมิตไม่ดี  อายุเจ้าภาพจะอยู่ไปไม่ถึงอายุขัย ดุจเทียนที่ต้องดับเสียในระหว่างยังจุดไม่หมดเล่ม  ฉะนั้น จึงต้องมีการระวังเป็นพิเศษ  อย่าให้เทียนดับได้ในระหว่างจุดยังไม่หมด

ถ้าเป็นงานมงคลตัดจุกหรือโกนผมไฟ  ควรจัดหาสังข์โถปริกใส่กระแจะ  หญ้าแพรก  ใบบัวหลวงเย็บเป็นกระทง  ถ้าไม่มีใบบอนก็ได้  สำหรับใส่ผมที่ตัดและโกนแล้วเอาไปลอยน้ำเสีย  กรรไกร มีดกน  มงคลย่น  รวมใส่ภาชนะไว้ที่หนึ่ง  และนำมาตั้งไว้ในพิธีมณฑลด้วย  นอกจากนี้ก็ควรจัดหาเครื่องเพชร  พลอย  ทอง  นาค  เงิน  สำหรับไว้ประดับปอยผมเวลาจะตัดจุกใส่พานนำมาเข้าพิธี  และมีนิยมให้คนตัดสวมแหวนนพรัตน์ที่นิ้วชี้ในเวลาทำพิธีตัดด้วย





๗. วงด้ายสายสิญจน์
ในงานมงคลทั้งหลาย นิยมใช้ด้ายสายสิญจน์วงบ้านเรือนหรือวงตลอดบริเวณ  ถ้าไม่ใช้วงบ้านก็ต้องมีไว้วงเพียงฐานพระพุทธรูป  ภาชนะน้ำมนต์  และให้พระถือเวลาเจริญพระพุทธมนต์  สายสิญจน์นี้ใช้ด้ายจับให้เป็นเส้นดุจเชือก  เวลาจับมีวิธีบริกรรมด้วย  นัยหนึ่งเวลาจับรอบแรก ๓ เส้น ท่านให้บริกรรมว่า อิ.สุ.วา.สุ.  ซึ่งเรียกว่าหัวใจพระรัตนตรัยตลอดไปจนกว่าจะจับพอ  จับรอบสอง ๙ เส้น  ให้บริกรรมว่า อ. สํ. วิ. สุ. โล. ปุ. ส. พุ. ภ.  ซึ่งเรียกว่าหัวใจพระพุทธคุณ  โดยมากนิยมจับให้เป็น  ๙ เส้น

วิธีวงด้ายสายสิญจน์  ให้ตั้งต้นที่ฐานพระพุทธรูปก่อนแล้ววงเวียนไปทางขวามือ  ให้มาบรรจบกันที่ฐานพระพุทธรูปซึ่งตั้งต้นไว้อีก  อย่าให้ขาดช่องได้  อย่าเอาสายสิญจน์วงที่องค์พระให้วงที่ฐานพระ  แต่นั้นจึงโยงไปวงสิ่งอื่นที่นำมาเข้าในพิธีมณฑลเช่นภาชนะน้ำมนต์เป็นต้น เสร็จแล้ววางกลุ่มสายสิญจน์ไว้บนพานข้างที่บูชาใกล้กับภาชนะน้ำมนต์  การวงภาชนะน้ำมนต์เป็นต้น  ให้วงไปข้างขวาเหมือนกัน เพราะถือว่าการเวียนขวาเป็นการแสดงถึงความเคารพอย่างสูง เรียกว่าประทักษิณ  เช่น การเดินเวียนปูชนียวัตถุหรือบุคคลที่เคารพก็เดินเวียนขวาเหมือนกัน  เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งพุทธกาล  เข้าใจว่าการถือข้างขวาเป็นมงคล  และเป็นการแสดงถึงความเคารพนั้น  เห็นจะเทียบด้วยมือขวาซึ่งเป็นข้างที่คล่องแคล่วและสะดวกดีกว่ามือซ้าย  เราทำอะไรก็ต้องการความสะดวกคล่องแคล่วและปลอดโปร่ง  มือขวาเป็นข้างที่สะดวกและคล่องแคล่วดีกว่ามือซ้ายอยู่แล้วโดยธรรมดาทั่วไป  จึงถือเป็นข้างที่เป็นมงคลและเป็นข้างที่แสดงถึงความเคารพ  การที่มีธรรมเนียมนิยมใช้ด้ายสายสิญจน์ในงานมงคลอยู่โดยทั่วไปนั้นเป็นเครื่องแสดงว่า สายสิญจน์เป็นของศักดิ์สิทธิ์  มีอำนาจป้องกันสรรพอุปัทววันตรายภัยพิบัติ  มิให้มาทำอันตรายแก่การพิธีมงคลในโอกาสนั้นได้  มีเรื่องเกี่ยวแก่ประวัติของสายสิญจน์อยู่ในเตลปัตตชาดก  ลิตตวรรค  เอกนิบาต  ขุททกนิกาย  เล่าไว้ว่า




ประวัติสายสิญจน์
ครั้งอดีตกาล  พระโพธิสัตว์ได้อุบัติในราชตระกูลของพระเจ้าพระพรหมทัต  ซึ่งครองเมืองพาราณสี  เป็นพระกนิษฐภาดาองค์สุดท้อง  ในบรรดาพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ทั้งหมดได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  วันหนึ่งจึงคิดว่าพระเจ้าพี่ของเราก็มีมากพระองค์  เราจะได้ราชสมบัติในพระนครนี้หรือหามิได้  จักถามพระปัจเจกพุทธเจ้าก็คงจะทราบได้  วันรุ่งขึ้นเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วจึงได้ถามถึงเรื่องนั้น  พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงพิจารณาดูก็รู้ว่า จะไม่ได้ราชสมบัติในพระนครนี้  จะได้ในเมืองตักกสิลา  แต่ในระหว่างทางที่พระโพธิสัตว์ไปเมืองตักกสิลานั้น จะมีอันตรายด้วยอำนาจนางยักษิณี  ครั้นแล้วจึงได้แจ้งเนื้อความนั้นแก่พระโพธิสัตว์  แล้วได้ตักเตือนให้ระมัดระวังพระองค์ในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ที่นางยักษิณีแต่งขึ้นหลอกลวง  อย่าได้ประมาทหลงไปตามเป็นอันขาดจะเป็นอันตราย  พระโพธิสัตว์ก็รับคำเป็นอันดี และได้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายสวดพระปริตร  แล้วจึงรับเอาปริตตวาลิกะ  คือทรายที่เสกด้วยพระปริตรและปริตตสุตตะ  คือด้ายพระปริตร อันได้แก่ด้ายสายสิญจน์ที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามอบให้  แล้วนมัสการลาท่านกลับไปทูลลาพระชนกและพระชนนี  เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงทูลลากลับไปยังสถานที่อยู่ของพระองค์  แจ้งเรื่องการเดินทางของพระองค์ให้บุรุษ ๕ คน  ซึ่งเป็นคนใช้ของพระองค์ทราบ  พวกเขาสมัครขอติดตามไปด้วย  แม้จะห้ามพวกเขาก็ไม่ฟัง  จึงเป็นอันยอมให้ติดตามไป  แต่กำชับให้ระมัดระวังตัวให้ดี  อย่าเห็นแก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ซึ่งหากจะมีมาในระหว่างเดินทางเป็นอันขาด  มิฉะนั้นจะเป็นอันตราย  แล้วก็พากันออกเดินทางไปโดยลำดับ  ครั้นถึงดงใหญ่  นางยักษิณีผู้อยู่ในดงนั้นเห็นบุรุษเหล่านั้น จึงจำแลงเพศเป็นดรุณีสาวสวยมาล่อลวงบุรุษเหล่านั้น  ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่น่าพึงใจ  พวกบุรุษทั้ง ๕ ที่ไปด้วยพระโพธิสัตว์เห็นเข้าก็เกิดความรักใคร่ลุ่มหลง  คนที่หนักในรูปก็ถูกนางยักษิณีแต่งรูปล่อให้หลงแล้วก็จับกินเสีย  แม้คนที่หนักในเสียง กลิ่น รส และสัมผัส  นางก็แต่งขึ้นล่อให้หลงแล้วก็จับกินเสียเป็นคน ๆ ไป โดยลำดับ   จนในที่สุดเหลือแต่พระโพธิสัตว์องค์เดียว  นางยักษิณีจะล่อลวงด้วย รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสประการใด ๆ ก็มิอาจคล้องจิตให้ไยดีลุ่มหลง  จึงเป็นแต่เดินติดตามไปข้างหลัง ไม่อาจทำอันตรายแก่พระโพธิสัตว์อย่างไรได้  เพราะอานุภาพแห่งทรายและสายสิญจน์ที่พระโพธิสัตว์มีติดพระองค์ไป  ครั้นพระโพธิสัตว์เสด็จถึงเมืองตักกสิกลา  ก็เข้าพัก ณ ศาลาแห่งหนึ่ง  เอาทรายเสกโรยบนพระเศียรและเอาด้ายสายสิญจน์วงรอบที่พัก  นางยักษิณีก็เป็นแต่อยู่ภายนอก  ไม่อาจเข้าไปถึงพระองค์พระโพธิสัตว์ได้  จนในที่สุดพระราชาเมืองนั้นมาพบเข้า  จึงนำนางยักษิณีแปลงนั้นไปเป็นสนม  ก็ถูกนางยักษิณีล่อลวงแล้วจับกินเสีย  เมื่อไม่มีพระราชา  ประชาชนเห็นพระโพธิสัตว์เป็นบุรุษพิเศษควรจะเป็นพระราชาได้  จึงพร้อมกันอัญเชิญขึ้นเสวยราชสมบัติ  เป็นพระราชาในเมืองตักกสิลาต่อไป  

ด้วยเหตุนี้ด้ายสายสิญจน์จึงนิยมใช้วงสถานที่อยู่และสถานที่ทำพิธี  ตลอดจนใช้สวมศีรษะ สวมคอ  ผูกข้อมือในงานมงคลทั้งหลาย  โดยที่นับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ดุจข่ายหรือเกราะเพชร  ป้องกันสรรพอันตรายเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้





๘.เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์
เครื่องรับรองตามที่นิยมก็มี  หมากพลู  บุหรี่  น้ำชา  น้ำเย็น  สิ่งที่ใช้ใส่เครื่องรับรองเหล่านี้  ไม่ควรใช้ภาชนะที่ทำด้วยเงินและทอง  เพราะเกี่ยวแก่วินัยบัญญัติ   ควรใช้ที่ทำด้วยวัตถุอื่นซึ่งไม่ต้องห้ามทางวินัยบัญญัติ  เช่น  พานหมากบุหรี่ จะใช้พานไม้  แก้ว  ทองเหลืองหรือตะลุ่มมุกเป็นต้นก็ได้  นอกจากนี้ก็มีกระโถนอีกอย่างหนึ่ง  วิธีวางเครื่องรับรองเหล่านี้  คือ  กระโถนวางไว้ชั้นในสุด  ภาชนะเย็นเป็นที่สอง  ภาชนะหมากบุหรี่เป็นที่สามข้างนอกสุด  ให้วางทางด้านขวามือพระนั่งในระหว่างช่องอาสนที่พระนั่ง  ส่วนน้ำชาหรือเครื่องดื่มอื่นยังไม่ต้องเอาไปวาง  รอไว้เมื่อพระมานั่งประจำอาสนแล้วจึงนำไปประเคนทีหลัง  พร้อมกับการประเคนน้ำเย็น  หมากพลู  บุหรี่  ส่วนกระโถนไม่ต้องประเคน  เมื่ออาสนที่พระนั่งสถานที่กว้างพอไว้ระยะห่างวางสิ่งของเหล่านี้ได้  ก็ควรจัดวางอย่างวิธีตามที่กล่าวนี้  ไม่ควรจัดวางไว้ข้างหน้าอาสนพระที่นั่ง  เพราะจะทำให้กีดเวลาที่พระเข้านั่งและลุกออกมา

สิ่งของและกิจการต่าง ๆ เหล่านี้  ทางฝ่ายเจ้าภาพต้องจัดและตระเตรียมให้เสร็จก่อนพระสงฆ์มาถึง  เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้วพึงปฏิบัติดังนี้
    ๙.อกไปต้อนรับ
   ๑๐.คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดเท้า
   ๑๑.ประเคนเครื่องรับรอง
   ๑๒. จุดเทียนธูปบูชาพระ
   ๑๓. อาราธนาศีล  และพระปริตร


๙. ออกไปต้อนรับ
เมื่อพระสงฆ์มาถึงเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพจะออกไปต้อนรับถ้าไม่สะดวกก็ควรมอบหน้าที่ให้ผู้อื่นต้อนรับแทนนำเข้าบ้านเรือนและนำไปยังที่ๆ  จัดไว้  หรือจะให้พักรออยู่ในที่ใดที่หนึ่งก่อนเข้านั่งประจำอาสนก็ได้  ถ้าจะให้ท่านเข้ามาเลือกหาที่นั่งเอาเองตามลำพังย่อมไม่สะดวกเพราะท่านจะไม่จู่ๆ  เข้าไปเลือกที่นั่งเอาเอง  นอกจากจะมีพระอื่นนั่งอยู่บ้างแล้ว  เรานิมนต์ท่านมาจึงอยู่ในหน้าที่ต้อนรับท่าน  ต้องนั่งหรือยืนต้อนรับท่านแล้วแต่สถานที่เจ้าภาพมักจะละเลยมรรยาทข้อนี้เสีย




๑๐. คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดเท้า
ในสถานที่พระต้องเดินมา  ควรเตรียมน้ำล้างเท้าไว้ด้วยเพื่อท่านที่มีเท้าเปื้อนในขณะเดินมา  ก็ต้องล้างก่อน หากจะให้ท่านหาน้ำล้างเอาเองย่อมไม่สะดวก  เพราะมีข้อห้ามทางวินัยมิให้พระใช้น้ำที่มีตัวสัตว์  เมื่อจะใช้ต้องกรองก่อน  เพื่อตัดข้อยุ่งยากอันนี้  เจ้าภาพจึงต้องหาน้ำล้างเท้าไว้และล้างเท้าให้ด้วย  เสร็จแล้วหากเช็ดเท้าให้ด้วยก็จะเป็นการดี  หรือจะวางเครื่องเช็ดเท้าให้ท่านเช็ดเอาเองก็ได้  เพราะเท้าที่ล้างแล้วถ้ามิได้เช็ดให้แห้งเหยียบลงบนพื้นหรืออาสน  ก็จะเป็นรอยเท้าสกปรกไม่งาม


๑๑. ประเคนเครื่องรับรอง
วิธีประเคน ผู้ประเคนต้องเข้าไปให้ใกล้ผู้รับประเคนในระยะศอกคืบ  คือ  ที่เรียกว่าได้หัตถบาส  พึงประเคนแต่สิ่งที่บริโภคได้  เช่น  น้ำชา  เครื่องดื่ม  น้ำเย็น  หมากพลู  บุหรี่  เป็นต้น  เวลาประเคนให้หยิบของยกให้พ้นพื้น  ธรรมเนียมเก่าเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๔ เรื่องโกสัมพีวาสีติสสัตเถระ  แสดงว่าใช้หยิบสองมือประเคน  แต่บัดนี้เห็นใช้หยิบประเคนมือเดียวก็มีโดยชุกชุม  ต่อเป็นสิ่งของที่ใหญ่หน่อยจึงใช้ประเคนสองมือ

คัดจาก
- หนังสือศาสนพิธี  ของ พระเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี   จัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ไปร่วมในงานการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม แด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชรัตนมุนี (แช่ม  จนฺนทาโภ  ป.ธ.๗)  เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๓  
- หนังสือดังกล่าวได้แนะแนวการพิธีทำบุญ  เพื่อให้งานมีจังหวะเรียบร้อยงดงาม  เหมาะแก่กาลเทศะเป็นสำคัญ  และไม่เป็นที่สับสนแก่เจ้าภาพ  


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 16:42:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 13 สิงหาคม 2555 16:59:28 »

.



๑๒. จุดเทียนธูปบูชาพระ
การจุดเทียนธูป เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพต้องจุดเองโดยตรงไม่ควรให้ผู้อื่นจุดแทน  เพราะคนอื่นมิใช่เป็นเจ้าของในพิธี  เทียนที่จะจุดนั้น  ถ้าเป็นงานมงคลธรรมดาก็มี ๒ ที่  คือ  เทียนบูชาพระที่หนึ่ง  เทียนน้ำมนต์อีกที่หนึ่ง  เบื้องแรกพึงจุดเทียนสำหรับบูชาพระก่อน  จุดเล่มขวาแล้วจึงจุดเล่มซ้าย  ส่วนธูปก็จุดที่เทียนอีกต่อหนึ่ง  ถ้าเป็นงานมงคลสมรส  ให้คู่บ่าวสาวจุดเทียนบูชาพระคนละเล่ม  ชายจุดเล่มขวาพระพุทธ  หญิงจุดเล่มซ้าย  ส่วนธูปก็แบ่งกันจุดคนละ ๓ ดอก  หรือ ๒ ดอกก็ได้  เรื่องเทียนธูปที่จุดนี้  ถ้าก่อนจุดจัดให้มีชนวนสำหรับจุดที่เทียนและธูป  หรือจะใช้สำลีชุบน้ำมันติดไว้ที่ปลายเทียนและธูปเวลาจุดก็จะสะดวกและรวดเร็วดี  ทั้งไม่ต้องถอนธูปเอาไปจุดที่อื่น  เพราะเตรียมปักไว้ที่กระถางธูปแล้ว  เมื่อได้เวลาจะจุดก็ใช้เทียนจุดอีกเล่มหนึ่ง  เรียกว่าเทียนชนวนแล้วจึงนำไปจุดที่เทียนและธูปเครื่องบูชาต่อไป

ส่วนเทียนน้ำมนต์นั้น  รอไว้จุดเมื่อพระท่านสวดถึงมงคลสูตร




๑๓.  อาราธนาศีลและพระปริตร
เมื่อกราบบูชาพระเสร็จแล้ว  พึงนั่งหันหน้ามาทางพระสังฆเถระ  นั่งคุกเข่าประนมมือท่าเทพนม  กล่าวคำอาราธนาศีลต่อไป  จะอาราธนาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ก็ดูแต่การอันควร  แต่โดยมากมักอาราธนาศีล ๕  เป็นพื้นสำหรับเจ้าภาพที่เป็นบุรุษจะอาราธนาด้วยตนเองได้ก็เป็นการดี  หรือแม้ที่เป็นสตรีถ้าอาจอยู่จะอาราธนาด้วยตนเองก็ยิ่งดี  เพราะการอาราธนานั้นมิใช่เป็นหน้าที่จำกัดแต่เฉพาะบุรุษเท่านั้น  ใคร ๆ ก็อาราธนาได้  มิใช่เรื่องต้องละอายหรือกระดากอะไรเลย  แต่ถ้าเจ้าภาพไม่อาจ  จะให้ผู้อื่นอาราธนาแทนก็ได้  งานที่มีเกียรติมักให้ผู้อื่น  เช่น  โหรอาราธนาแทน  ในชุมนุมที่ผู้รับศีลนั่งเก้าอี้  ผู้อาราธนาพึงยืนอาราธนา  ในชุมนุมที่นั่งเรียบกับพื้น  ก็พึงนั่งคุกเข่าอาราธนา ในเวลารีบศีล  ถ้าผู้อาราธนาจะว่าออกเสียงบ้าง  ก็จะเป็นการให้สัญญาณแก่ท่านผู้ให้ศีลว่า  ผู้รับว่าจบหรือยัง  จะได้ว่าต่อไป  แต่ในชุมนุมชั้นสูงมักว่าแต่ในใจ  ทั้งนี้ก็สุดแต่กาลเทศะและชุมนุมนั้น ๆ

เมื่อรับศีลแล้วพึงกล่าวคำอาราธนาพระปริตรต่อไป  พึงนั่งคุกเข่าประนมมือว่า  การกล่าวคำอาราธนาศีลก็ดีอาราธนาพระปริตรก็ดี  พึงว่าให้ชัดถ้อยชัดคำ  ไม่ควรว่าอย่างอ้อมแอ้มขอไปที  ต่อนี้จึงนั่งอยู่ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป  อย่างน้อยก็อยู่ให้พอจุดเทียนน้ำมนต์เสร็จแล้ว  จะลุกไปทำกิจอื่นหรือจะนั่งฟังต่อไปจนจบ  ก็สุดแต่จะสะดวกอย่างไร

ในงานที่เจ้าภาพมีการสวดมนต์เย็นฉันเช้า  ตอนเย็นเมื่อพระสวดมนต์จบแล้วก็ควรถวายน้ำชาหรือเครื่องดื่ม  ถ้ามี  ที่ควรแก่สมณบริโภค  เช่น  น้ำส้ม  เป็นต้น  แต่ควรจัดเตรียมไว้ตั้งแต่พระท่านสวดถึงบทว่า นต.ถิ  เมสรณํ  อญฺ.ญํ ฯลฯ  พอสวดจบก็จะได้ยกไปถวายได้ทันที  แต่ในงานที่เจ้าภาพมีการสวดมนต์เช้า  ฉันเช้า  หรือสวดมนต์ฉันเพล  เมื่อพระสวดมนต์จบ  น้ำชา  เครื่องดื่มเว้นเสียก็ควร  เพราะถึงเวลาจะฉันอาหารแล้ว  น้ำชาควรเลื่อนออกไป  เอาไว้ถวายตอนฉันหวาน  อนึ่ง  ตอนสวดมนต์เย็น  เมื่อเสร็จพิธีสวดมนต์แล้วก่อนพระจะกลับ  ถ้ามีเรื่องจะแจ้งให้ท่านทราบ  สำหรับวันพรุ่งนี้ก็ควรถือโอกาสแจ้งให้ทราบตอนนี้

สำหรับงานมีสวดมนต์เย็นฉันเช้าวันรุ่งขึ้นก็พึงปฏิบัติตามข้อ ๙  ถึง  ๑๓  สำหรับข้อ ๑๓  ไม่ต้องอาราธนาพระปริตรอาราธนาศีลอย่างเดียว  ในงานนั้นประสงค์จะมีการใส่บาตรด้วย  ก็พึงเตรียมสิ่งของไว้ใส่บาตรให้เสร็จ แล้วพึงปฏิบัติดังนี้





๑๔.  เตรียมใส่บาตร
สิ่งที่จะใส่บาตรนั้น  นอกจากข้าวแล้วก็มีของคาวหวาน  จะมีกี่อย่างสุดแต่เจ้าภาพ  เมื่อพระสวดถวายพรพระนั้น  เจ้าภาพควรนั่งฟังอยู่อย่างน้อยก็จบบทพระพุทธคุณ  ถ้ามีคนใส่บาตรมากก็เริ่มใส่บาตรได้ตั้งแต่ตอนนี้  ถ้าคนใส่บาตรน้อยหรือเฉพาะในวงพวกเจ้าภาพสองสามคน  ก็พึงรอไว้ใส่เมื่อพระท่านสวดขึ้นบทพาหฺ   ถึงตอนว่า ทานาทิธมฺมวิธินา  ชิตวา  มุนินฺโท  ฯลฯ  ก็ให้ตักข้าวใส่บาตรได้  ที่ให้ใส่ตอนนี้ก็เพื่อจะให้เข้าหลักทานบารมีเพราะการใส่บาตรเป็นการทำทานที่เข้าเรื่องอยู่แล้ว  เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว  เวลาจะยกบาตรไปประเคนพระให้ยกฝาบาตรขึ้นตั้งซ้อนบนปากบาตรด้วยเพื่อกันการสับฝาบาตรกัน

อนึ่ง  ในระหว่างจัดอาหารถวายพระสงฆ์  ก็ควรจัดอาหาร  สำหรับที่พระพุทธเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย  ในเรื่องข้าวพระพุทธนี้  มีบางท่านติว่าเอาอย่างมาจากลัทธิเซ่นผี  ควรเว้นเสีย  และหาความไปถึงคนที่จัดข้าวพระด้วย  ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวว่าที่จัดข้าวพระพุทธนี้  มิใช่ประสงค์หรือเข้าใจว่าเป็นการเซ่น  แต่เพื่อเป็นการบูชาพระคุณเสมือนกับบำเพ็ญบุญครั้งนี้  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  เพราะอามิสบูชามิใช่จำกัดอยู่แต่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น  แม้เครื่องนุ่งห่มและอาหารก็บูชาได้  จะกล่าวไยถึงอาหาร  แม้แต่อกัปปิยวัตถุเช่น  ทองเงินก็ยังถวายมหัคฆภัณฑ์   เช่น  เครื่องทองเงิน  เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและปูชนียวัตถุอื่นๆ  นับแต่มหากษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชนเป็นตัวอย่าง




ก็อาหารที่จัดสำหรับพระพุทธนี้  ควรจัดให้น่าดูมิใช่สักแต่ว่าจัดโดยวิธีหยิบอาหารอย่างโน้นนิดอย่างนี้หน่อย  กองใส่ภาชนะหรือถ้วยเล็กๆ  เช่น  ถ้วยตะไล  แล้วนำไปวางหน้าพระพุทธนั้นไม่งามเลย  ควรจัดใส่สำรับอย่างถวายพระสงฆ์  หรือใส่ถ้วยขนาดเขื่องเป็นสำรับให้เรียบร้อยพร้อมด้วยน้ำเย็นหนึ่งที  เวลาจะวางให้ปูผ้าขาวเสียก่อน  แล้วจึงเอาสำรับมาวางบนนั้น  ไม่ควรวางไว้กับพื้นเฉย ๆ  อย่าลืมว่าเรานำไปตั้งเป็นเครื่องบูชา  ไม่ใช่นำไปเซ่น  เมื่อจัดวางที่สำหรับพระพุทธแล้ว  ก็พึงบูชาพระเสียด้วย  คำบูชานั้นตามแบบเก่าที่จำกันสืบ ๆ มาว่าดังนี้  “อุกาส  อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปฺนํ   สาลีนํ    โภชนํ  อุทกญฺจวรํ   พุทฺธสฺส  ปูเชมิ”   แปลได้ความว่า  อุกาส   ข้าพเจ้าขอบูชาเครื่องบริโภคแห่งข้าวสาลีอันถึงพร้อมด้วยแกง  และกับ  และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า  หรือเมื่อว่าตามคำบูชาที่กล่าวนี้ไม่ได้  ก็พึงบูชาด้วยความนึกถึงในใจอันสมแก่เรื่องก็ได้   เวลาลาข้าวบูชาพระ ว่า  “เสสํ   มงฺคลํ  ยาจามิ”  ข้าพเจ้าขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล



๑๕.  จัดอาหารใส่ปิ่นโต (ถ้ามี)
ในระหว่างพระกำลังถวายพรพระ  หรือกำลังฉันควรจัดปิ่นโตใส่อาหารคาวหวานเสียให้เสร็จ  เวลาจะเอาปิ่นโตไปจากศิษย์พระ  ควรแยกจัดวางไว้อย่างละเถา  คาวอยู่ส่วนคาว  หวานอยู่ส่วนหวาน  เพื่อมิให้สับคู่กัน  หรือรูปเดียวกันได้อาหารอย่างเดียวทั้งสองเถา  การจัดอาหารใส่ปิ่นโตนี้  ตามชนบทบางแห่งยังนิยมให้ศิษย์พระถ่ายอาหารที่พระฉันเหลือแล้ว  สำหรับเอาไปถวายให้ฉันตอนเพลอีก  ความจริงเรื่องให้เด็กถ่ายอาหารที่เหลือจากพระฉันแล้วนั้น  มิใช่เอาไปให้ถวายพระฉันอีก  แต่ถ่ายเอาไปสำหรับศิษย์พระรับประทานเองต่างหาก  คงจะเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างไรมาแต่ครั้งไหนไม่ทราบ  ในข้อนี้จึงยังมีกระทำกันอยู่บ้าง  เห็นว่าวิธีนี้ไม่เหมาะ  เพราะอาหารที่ถ่ายนั้น  ถ้าผู้ถ่ายไม่เข้าใจถ่าย  มีอะไรก็ถ่ายรวมกันไป  อาหารนี้เมื่อถึงตอนเพลมักมีกลิ่นเสียหรือบูดได้  แต่ถ้าเจ้าภาพจะเปลี่ยนเป็นจัดอาหารเลี้ยงพระส่วนหนึ่ง  จัดอาหารอีกส่วนหนึ่ง  สำหรับใส่ปิ่นโตไปถวายต่างหากตอนเพล  ก็จะเป็นการดี



๑๖.  เตรียมจัดที่พระฉัน
เมื่อพระสวดถวายพรพระจวนจะจบ  ควรเตรียมจัดที่สำหรับพระฉันได้  เลื่อนที่น้ำชาหรือเครื่องดื่มออกไปเสียก่อน  แล้วจึงยกสำรับมาประเคน  ถ้าใช้วิธีเลี้ยงพระอย่างรวมกันเป็นวง ๆ ก็พึงจัดปูผ้า  ตั้งกระโถน  ภาชนะน้ำเย็น  จานข้าว  ช้อนซ้อม  ผ้าเช็ดมือ  (ถ้ามี)  แล้วเลื่อนอาหารคาวมาเทียบไว้ได้  ไม่ควรยกเอาภาชนะอาหารคาวไปวางไว้บนผ้าปูโต๊ะเสียก่อน  เพราะจะไม่สะดวกเวลาเมื่อพระนั่งล้อมกันแล้วจึงประเคน  ควรรอไว้เมื่อพระนั่งประจำที่ฉันเรียบร้อยแล้ว  จึงยกมาประเคนทีหลัง  การประเคนพึงประเคนน้ำเย็นก่อน  แล้วจึงประเคนข้าว  แต่นั้นจึงประเคนอาหารอื่นต่อไป  ถ้าผู้ประเคนเป็นสตรี  เมื่อประเคนแล้วบุรุษจะยกสิ่งนั้นประเคนอีกหนหนึ่งได้ก็สมควร  นอกจากนี้การที่ฉันเป็นวงรวมกันหลายรูป  ควรมีช้อนกลางไว้หลายๆคัน  สำหรับตักอาหารแทนช้อนซ้อมที่ฉันด้วย  เพราะจะใช้ช้อนส้อมที่ฉันแล้วตักอาหาร  จะเป็นคาวหรือหวานก็ตามในที่เดียวกัน  ไม่สมควรน่ารังเกียจ  ในเรื่องนี้ผู้เลี้ยงพระมักละเลยเสียก็ยังมีอยู่มากแห่ง  ให้พระเอาช้อนส้อมที่ฉันแล้วตักอาหารฉันกันนุงไปไม่งาม  ถ้าเลี้ยงพระอย่างชนิดรูปละที่  เวลาประเคนอาหารพึงประเคนน้ำเย็นก่อน  แล้วจึงประเคนข้าวหรือบาตร  ให้ประเคนวางไว้ตรงหน้าพระ ประสงค์จะให้พระฉันข้าวในบาตร  ก็พึงมีจานเปล่าไว้สำหรับใส่ข้าวฉันอีกรูปละใบด้วย  เพราะถ้าใช้วิธีฉันในบาตร  ย่อมทำให้ข้าวในนั้นสกปรก  เอาข้าวนั้นไปฉันตอนเพลอีกก็จะมีกลิ่นเสีย  ไม่น่าฉัน  แต่นั้นจึงยกสำรับมาประเคนวางให้เหลื่อมมาทางขวามือเล็กน้อย  เพื่อจะได้ไม่กีดกับบาตรในเวลาฉัน



๑๗.  ปฏิบัติพระในเวลาฉัน
มรรยาทในการเลี้ยงพระนั้น  เจ้าภาพมีโอกาสควรปฏิบัติด้วยตนเอง  ถ้าไม่มีโอกาสจะปฏิบัติได้ด้วยตนเองก็ควรให้ครอบครัวของตนมาปฏิบัติพระแทน  (ไม่ใช่คนใช้)  บางแห่งเจ้าภาพถือว่ามีคนปฏิบัติแทนแล้วก็มักละเลยเสีย  หรือเลี่ยงไปอยู่เสียห่างๆเช่นนี้ไม่งาม  มรรยาทที่ดีเจ้าภาพควรจะทำการเลี้ยงดูด้วยตนเอง  การปฏิบัติพระในเวลาฉันก็ไม่มีอะไรที่ต้องกล่าวมาก  เพราะเพียงคอยตรวจดูอาหารสิ่งไหนขาดหรือบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมให้พอแก่พระฉัน  รวมความว่าควรนั่งประจำคอยรับใช้ท่าน  เมื่อฉันอาหารคาวเสร็จก็เลื่อนอาหารหวานมาประเคนต่อไป  อนึ่งการประเคนอาหารเมื่อพระจะฉันนี้เจ้าภาพมักจะละเลยเสีย  ปล่อยให้ผู้อื่นประเคนแทนไปตามลำพังก็มี  ไม่สมควรเพราะไหนๆทำบุญทั้งทีควรจะถวายด้วยมือของตนจึงจะชอบ  แต่มิได้ทำด้วยมือตนเองในเวลาสำคัญๆ  เช่นนี้น่าเสียดาย  ถ้าเป็นการเลี้ยงพระมากรูปด้วยกัน  เมื่อเจ้าภาพประเคนพอเป็นสังเขปสัก  ๒-๓  รูป  แล้วให้ผู้อื่นที่เป็นญาติมิตรช่วยประเคนต่อไปก็สมควรอยู่  วิธีเหล่านี้เรียกว่า  วิธีอังคาสพระสงฆ์   เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งพุทธกาล  เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็พึงปฏิบัติดังนี้
   ๑๘.  ถวายไทยธรรม  (ถ้ามี)
   ๑๙.  กรวดน้ำ





๑๘.  ถวายไทยธรรม (ถ้ามี)    
ไทยธรรมที่จะถวายพระนั้น  ตามปกติก็มีดอกไม้ ธูป  เทียน  บุหรี่  หมากพลู  นอกนี้ก็สุดแต่เจ้าภาพจะมีถวาย ถ้ามีกัปปิยภัณฑ์ (เงิน) ถวายด้วย  ก็พึงทำเป็นใบปวารณาบัตรแจ้งจำนวนที่ถวาย  หรือจะปวารณาด้วยปากเปล่าก็ได้  ส่วนกัปปิยะภัณฑ์นั้น  ก็ควรมอบให้ศิษย์หรือผู้หนึ่งผู้ใดไป  ไม่ควรถวายกัปปิยภัณฑ์นั้นแก่พระโดยตรง  เพราะเกี่ยวด้วยวินัยบัญญัติจะมอบไว้แก่ผู้ที่ปฏิบัติท่านควรอยู่  เมื่อท่านต้องการสิ่งไรก็จะได้เรียกร้องเอากับผู้นั้น  วิธีนี้เรียกว่า เมณฑกานุญาต คือ  ทรงปรารภเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ เมณฑกะ เป็นผู้ทูลขอพุทธานุญาตทำขึ้นก่อน  แม้ไม่เอาประเคนโดยตรง  ห่อกระดาษใส่ย่ามท่านแทนถวาย  ก็ยังชื่อว่าทำไม่ถูกอยู่นั่นเอง  เวลาเราถวายเราต้องการบุญก็ควรทำให้เรียบร้อยบริสุทธิ์ถูกต้องแก่ธรรมเนียมทางวินัยของท่าน  ด้วยจะได้ทำให้ทักขิณาของเราบริสุทธิ์ทั้งฝ่าย  ทายกและปฏิคาหกได้บุญมาก  การที่เราทำถูกแก่วินัยของท่านนั้น  ถึงเรามิใช่ผู้ปฏิบัติวินัยเองก็ชื่อว่าช่วยกันสนับสนุนให้พระได้ปฏิบัติตามพระวินัยได้สะดวกถูกต้อง  เพราะการทำบุญในพระพุทธศาสนาบางอย่างทายกต้องพยายามช่วยกันสนับสนุนให้พระได้ปฏิบัติถูกต้องพระวินัยบัญญัติอีกด้วย

อนึ่ง ถ้าไทยธรรมที่จะถวายนั้น  มีเครื่องอาหาร เช่น  เครื่องกระป๋องหรืออาหารแห้ง  ที่จะเก็บไว้ฉันได้หลายวันรวมอยู่ด้วย  ควรแยกออกไว้เสียต่างหาก  แล้วมอบศิษย์ไปถวายแทนในเวลาอื่นไม่ควรประเคนรวมกันไปกับของอื่น  เพราะมีวินัยบัญญัติห้ามไม่ให้พระเก็บสะสมเกินเช้าชั่วเที่ยง แต่ถ้าเรามอบให้แก่ศิษย์พระไปจัดถวายท่านตามสมควรเป็นคราวๆไปเช่นนี้  ท่านก็มีสิทธิ์ฉันอาหารนั้นได้ตลอดไปไม่ผิดวินัย เพราะมิได้รับประเคนของนั้นแต่เบื้องต้น ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำการสะสม  นอกจากนี้เวลาเที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่  ซึ่งเรียกว่าเวลาวิกาล  สิ่งที่จัดเป็นอาหารได้ เช่น ผลไม้และเครื่องอาหารตามที่กล่าวแล้วก็ไม่ควรประเคน  เพราะพระรับประเคนอาหารในเวลาวิกาลไม่ได้  ผู้ถวายบางคนไม่รู้ข้อนี้  เวลาถวายถึงเที่ยงแล้วก็ยังจะประเคนให้ได้  จนกระทั่งข้าวสารและปลาแห้ง  มักไม่พอใจที่มิได้ประเคนทั้งหมด  โดยถือว่าสิ่งที่มิได้ประเคนแก่พระ  ก็เท่ากับมิได้ทำบุญถวายแก่พระก็มี  

ก็เครื่องไทยธรรมนั้น ถ้าเป็นงานมงคลทำบุญอายุ  โบราณท่านนิยมถวายให้ครบปัจจัย  ๔  คือ ผ้า อาหาร เสนาสนะ เช่น ผ้าปูนั่ง เสื่อ ร่ม รองเท้า เป็นต้น และยารักษาโรค  ทั้งนี้ก็เพื่ออานิสงส์ที่จะให้ถึงพร้อมด้วยอายุ วรรณ สุข พล  ทั้งชั่วนี้และชั่วหน้า เพราะอานิสงส์ของการถวายปัจจัย ๔  ก็คือ  ยารักษาโรค ให้เกิดอานิสงส์คือ อายุ ผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้เกิดอานิสงส์  คือ วรรณ เสนาสนะ ให้เกิดอานิสงส์  คือ สุข อาหาร ให้เกิดอานิสงส์  คือ พล





๑๙. กรวดน้ำเมื่อพระอนุโมทนา
เมื่อถวายเครื่องไทยธรรมแล้ว  พึงเตรียมน้ำกรวด วิธีกรวดน้ำนั้น  เมื่อพระสังฆเถระเริ่มว่าบทนำว่า  ยถา  วาริวหา  ฯลฯ  ก็ให้รินน้ำให้หยดลงพร้อมกับตั้งจิตแผ่ส่วนบุญ  และตั้งความปรารถนาแล้วแต่จะประสงค์  การกรวดน้ำนี้สำหรับผู้ว่าเป็นภาษาบาลีไม่เป็น  จะใช้นึกเอาแต่ในใจก็ดีเหมือนกัน  เพราะเป็นข้อความที่ตนรู้ดีกว่าการกรวดด้วยวิธีว่าเป็นภาบาลีเสียอีก  ที่ผู้กรวดไม่รู้ว่าให้ส่วนบุญอย่างไร  และตั้งความปรารถนาว่ากระไร  หรือกรวดน้ำด้วยวิธีว่าเป็นภาษาบาลีแล้ว  บางคนยังต้องตั้งอธิษฐานจิตอุทิศเป็นไทยซ้ำอีกก็มี  วิธีนี้ดูเป็นคล้ายกับว่า  ว่าภาษาบาลีนำเป็นเสกไป  ที่จริงการกรวดน้ำก็คือ  ปัตติทานความตั้งใจแผ่ส่วนบุญที่ตนทำให้ผู้อื่น  และตั้งจิตปรารถนาผลที่ตนต้องประสงค์นั่นเอง  ขณะกรวดจึงจำปรารถนาความรู้เรื่องในสิ่งที่ตนตั้งใจ  และตนก็จะได้รู้ด้วยตนว่า ๆ อะไร  เป็นการเข้าใจดีกว่าไปนั่งว่าภาษาบาลี  เป็นทำนองท่องหรือเสกกรวดน้ำ  การที่มีวิธีการกรวดน้ำเป็นภาษาบาลีนั้น  สำหรับผู้ที่รู้เรื่องก็ดีอยู่สำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่อง  ควรแสวงหาความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย  อย่าเป็นแต่สวดวิธีกรวดน้ำไปอย่างเดียว  อีกอย่างหนึ่งโบราณาจารย์ผูกเป็นภาบาลีไว้  ในเรื่องกรวดน้ำนี้สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าจะกรวดอย่างไร  และเป็นวิธีที่ดีสำหรับว่าออกเสียงพร้อมกันหลายคน  ไม่ใช่กรวดนิ่ง ๆ ผู้เดียว  จะได้เป็นสัญญัติให้รู้ว่าขึ้นและจบแค่นั้นจะได้ว่าได้พร้อม ๆ กัน  ในเรื่องกรวดน้ำนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า  ควรกรวดด้วยคำอุทิศและปรารถนา  มิใช่เสกหรือท่องวิธีกรวดน้ำอย่างเดียว  ถึงจะเชื่อก็เป็นศรัทธาญาณวิปปยุตปราศจากความรู้ความเข้าใจ  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาก็ไม่สรรเสริญอยู่แล้ว

เมื่อพระท่านว่าบทนำ  ยถา  ฯลฯ  จบแล้ว  ก็พึงเทน้ำที่กรวดลงนั้นให้หมด  และประนมมือตั้งใจรับพรที่ท่านให้  ตั้งแต่ท่านว่า  สพฺพี  ฯลฯ  เป็นต้นไป  ควรหยุดการกรวดน้ำเพียงพระท่านว่าบทนำ  คือ  ยถา  วาริวหา  ฯลฯ  จบ  ถ้าประสงค์จะกรวดให้มากพิสดารอย่างไรก็พึงไปกรวดเวลาอื่น  เรื่องการกรวดน้ำนี้  ข้าพเจ้าเห็นว่ายังมีผู้มีปฏิบัติไม่ถูกแก่วิธีอยู่ก็ยังมีมาก  กล่าวคือ  บางคนก็กรวดน้ำเมื่อพระว่า  สพฺพี  ฯลฯ  แล้วก็มี  กรวดเรื่อยไปจนพระสวดบทอนุโมทนาตั้ง ๒ บท ๓ บท  หรือจบการอนุโมทนาก็มี  เวลากรวดน้ำจบแล้วแทนที่จะตั้งใจรับพรที่พระอนุโมทนาให้  กลับไปเอาใจใส่ทำกิจอื่นเสีย  ไม่ตั้งใจรับพรที่ให้ก็มี  บางรายไม่สนใจเลยทีเดียวก็มี  เราทำบุญทั้งทีถึงคราวจะชื่นชมส่วนคุณความดีของตนที่ได้ทำไปแล้ว  เป็นการรวบยอดบัญชีบุญที่บำเพ็ญสำเร็จในครั้งหนึ่ง ๆ  กลับละเมินเสียเช่นนี้น่าเสียดาย  นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อว่าไม่เคารพต่อคำอวยพรที่ผู้อื่นให้  เป็นการเสียมรรยาทอีกด้วย  ที่เป็นเช่นนี้ชะรอยผู้ฟังจะไม่ทราบว่า  พระท่านว่า  อะไรให้แก่ตนนั่นเอง  การที่พระท่านว่า  ยถา  สพฺพี  นั้น ก็คือท่านให้พรและอนุโมทนาถึงกิจการบุญที่เรากระทำแล้วนั้น

อนึ่ง  การกรวดน้ำที่ใช้น้ำประกอบด้วยนั้น  เข้าใจว่าเพื่อจะให้เข้ากับเรื่องที่พระท่านเริ่มว่าด้วยคำนำว่า  ยถา  วาริวหา  ซึ่งมีเนื้อความเปรียบด้วยห้วงน้ำ  อีกทางหนึ่งอาจเนื่องมาจากธรรมเนียมของพราหมณ์  ที่เขาทำบุญอุทิศและเซ่นแก่บรรพบุรุษเนื่องจากการศพบ้าง  จากงานประจำปีที่บรรจบครบรอบวันตายของบรรพบุรุษบ้าง  หรือทำเมื่อต้นเดือนต้นปีบ้าง  บรรพบุรุษนั้นได้แก่  บิดา  ปู่  ทวด  เป็นผู้ควรเซ่นด้วยก้อนข้าว  เรียกว่า  “สปิณฑะ”  ผู้ร่วมก่อก้อนข้าว  บรรพบุรุษเหล่านี้จะกรวดน้ำให้ด้วยก็ได้  ส่วนบรรพบุรุษที่พ้นจากชั้นทวดขึ้นไปก็ดี  หมู่ญาติมิตรที่มิใช่สืบสายโดยตรงก็ดี  เป็นผู้ควรแก่การรับน้ำกรวด  เรียกว่า  “สมาโนทกะ”  ผู้ร่วมน้ำ  การกรวดน้ำของพวกพราหมณ์เขาลงไปที่ชลาลัยมีแม่น้ำ  เป็นต้น  แล้วเอามือกอบน้ำขึ้นค่อยๆ  ปล่อยให้ไหลลง  พลางก็นึกอุทิศถึงผู้ตายว่า  ขอให้น้ำนี้จงระงับความกระหายของผู้นั้น ๆ

ส่วนการกรวดน้ำของธรรมเนียมไทยเรา  ใช้ภาชนะเช่น  เต้า  ขวด  จอก  ขัน  หรือแก้ว  โดยที่สุดแม้ถ้วยใส่น้ำมีภาชนะอื่นรอง  เวลากรวดปล่อยให้น้ำไหลหยดลงในภาชนะที่รองพร้อมกับนึกอุทิศส่วนกุศลที่ทำนั้น  แผ่ไปให้แก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือรักใคร่  ตลอดจนสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ประสบสุข  และเรื่องอื่นอีกตามแต่จะปรารถนากับกรวดให้กับตนเอง  คือตั้งความปรารถนาให้สำเร็จผลที่ตนประสงค์ด้วยอำนาจแห่งกุศลนั้นๆ  ครั้นกรวดแล้วจึงนำเอาน้ำนั้นไปเทลงบนพื้นดิน  การที่เทน้ำกรวดลงดินนั้น  ชะรอยมาจากเรื่องที่เข้าใจว่าแผ่นดินเป็นที่รับน้ำกรวดของผู้ทำบุญแล้วกรวดน้ำทุกคน  

ด้วยมีเรื่องเล่าไว้ในพุทธประวัติตอนมารวิชัยว่า  นางธรณีชื่อว่าสุนทรีได้เป็นผู้รับน้ำกรวดของพระมหาบุรุษไว้มาก  ตั้งแต่พระองค์บำเพ็ญบารมีมา  ตลอดอเนกชาติจนถึงปัจฉิมชาตินี้  เมื่อเวลาพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระยามารชื่อวสวัสตี  ยกเสนามารมาผจญจะแย่งรัตนบัลลังก์  นางธรณีสุนทรีได้ปรากฏตัวขึ้นมา  เป็นพยานแก่พระมหาบุรุษว่า  รัตนบัลลังก์นี้มิใช่ของพระยามาราธิราชเป็นของพระมหาบุรุษทรงได้มา  เพราะอำนาจพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาช้านาน  ตัวนางเองขอเป็นพยานในข้อนี้  เพราะเป็นผู้รับน้ำกรวดหลังจากที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกุศลทุกครั้งไว้ที่มวยผม  ว่าแล้วนางจึงบิดมวยผมให้น้ำนั้นไหลออกมา  เป็นเหตุให้พระยามาราธิราชและเสนามารทั้งหลายต้องจมน้ำพ่ายแพ้หนีไป  จนพระองค์ได้ชัยชนะแก่มาร  มีพระนามเรียกขานกันมาจนทุกวันนี้ว่า  “พระพิชิตมาร” ดังนี้

เมื่อพระอนุโมทนาเสร็จแล้ว  ก่อนท่านจะกลับประสงค์จะให้ท่านประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ด้วย  ก็ให้เจ้าภาพพร้อมด้วยครอบครัวเข้าไปนั่งหมอบให้ท่านประพรมให้ตามปรารถนา  และประพรมผู้อื่นสถานที่บ้านเรือนต่อไป

เวลาพระมาเราทำการต้อนรับอย่างไร  เวลาเสร็จพิธีแล้วท่านจะกลับก็ควรอยู่รับหน้าเพื่อส่งท่าน  และเพื่อท่านจะได้ลาตามมรรยาท  เจ้าของบ้านที่ดีไม่ควรไปทำกิจอื่น  หรือหลบหน้าไปเสีย  เจ้าภาพมักละเลยมรรยาทข้อนี้

ก็พิธีที่จะพึงจัดพึงทำในงานมงคล  ตามที่กล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้นนั้น  ได้กล่าวแต่พิธีสามัญที่ว่านิยมใช้และทำกันอยู่แล้วโดยทั่วไปเป็นปกติธรรมดา  ส่วนพิธีมงคลที่ทำกันเป็นพิเศษขึ้นไป  เช่น  งานทำบุญอายุ  งานมงคลตัดจุก  งานมงคลสมรส  เป็นต้น  ที่ประกอบทั้งพิธีสงฆ์  พิธีโหร  และพิธีพราหมณ์  อย่างที่เรียกเป็นสามัญว่าเครื่องใหญ่นั้น  เป็นงานที่มีพิธีวิจิตรมากมายหลายอย่างเกินกว่าที่จะนำมากล่าวไว้ให้ครบถ้วนในหนังสือนี้  จัดเรียบเรียงอีกเป็นแผนกหนึ่งในโอกาสข้างหน้า


คัดจาก
- หนังสือศาสนพิธี  ของ พระเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี   จัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ไปร่วมในงานการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม แด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชรัตนมุนี (แช่ม  จนฺนทาโภ  ป.ธ.๗)  เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๓ 
- หนังสือดังกล่าวได้แนะแนวการพิธีทำบุญ  เพื่อให้งานมีจังหวะเรียบร้อยงดงาม  เหมาะแก่กาลเทศะเป็นสำคัญ  และไม่เป็นที่สับสนแก่เจ้าภาพ   


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 16:32:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 14 สิงหาคม 2555 20:28:26 »



การบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานทักษิณานุปทาน

เมื่อมีผู้ตายลง  ถ้าผู้นั้นเป็นญาติผู้ใหญ่  เช่น  เป็น  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  บิดามารดา  หรือเป็นที่เคารพนับถือมากเป็นอุปัชฌาย์  อาจารย์  พอทราบว่าท่านสิ้นลมปราณแล้วก็ให้บุตรหลานเหลนหรือศิษยานุศิษย์ที่อยู่ในที่นั้น  พร้อมกันกราบศพเป็นการคารวะส่งวิญญาณของท่าน  ต่อนี้ให้จัดการเอาเทียนขี้ผึ้งหนัก ๑ บาท  ไส้ ๙ เส้น  จุดไว้ทางศีรษะศพ  เทียนนี้ต้องเตรียมไว้ก่อน  ถ้าหาไม่ทันจะจุดตะเกียงตั้งไว้ก็ได้  ส่วนศพให้เอาผ้าคลุมไว้ให้มิดชิดไม้ให้เห็นหน้า  จะกางมุ้งไว้ด้วยก็ได้  แล้วเตรียมจัดการอย่างอื่นต่อไป  (อย่ามัวเศร้าโศก ให้มีสติอดกลั้นไว้บ้างงานอื่นที่จะต้องทำยังมี)
๑. เตรียมหาผู้ทำหน้าที่ห่อและมัดศพไว้  แจ้งเวลารดน้ำศพ  จะใช้ส่งบัตร  ส่งทางวิทยุกระจายเสียง  หรือให้คนไปบอกก็ได้ตามแต่สะดวก  แก่ญาติมิตรของผู้ตาย
๒. เตรียมหีบใส่ศพ  ขี้ผึ้งทำเป็นแผ่นขนาดเท่ารูปหน้าศพปิดทองคำเปลว  หรือใช้แต่ขี้ผึ้งล้วน ๆ ก็ได้ไว้สำหรับปิดหน้าศพเวลาเอาเข้าหีบ  ผ้าขาวกว้างยาวให้พอห่อศพ  ด้ายดิบ  ผ้าคลุมหีบ  ภูษาโยง
๓. เตรียมต้มน้ำอาบศพ  ผิวมะกรูดตำกับขมิ้นชันสดคั้นเอาน้ำไว้ทาศพเมื่ออาบน้ำแล้ว  จะใช้น้ำต้มกับสบู่ฟอกทำความสะอาดแก่ศพก็ได้
๔. เตรียมหาดอกบัวเล็กๆหรือดอกไม้อื่นก็ได้  ธูปและเทียนนอย่างละหนึ่งสิ่ง  ถ้ามีหมากพลูก็เอาหมากพลู ๑ คำ  รวมเย็บกรวยใส่ไว้สำหรับใส่มือศพ
๕. เตียงเล็กๆ  สำหรับวางศพเวลารดน้ำ  ขันรับน้ำรดมือศพ  น้ำหอมจัดใส่พานตั้งไว้บนโต๊ะข้างศพ  เวลารดน้ำศพผู้รดพึงนึกในใจว่า  อิทํ   มตกสรีรํ   อุทกํ   วิยอโหสิกมฺมํ   แปลว่าร่างกายที่ตายแล้วนี้  เป็นอโหสิกรรมเหมือนน้ำที่รดลงไปนี้  เป็นการขอขมาเพื่อความเป็นอโหสิกรรมต่อกันเป็นครั้งสุดท้าย
๖. เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวศพ  ควรเลือกเอาของที่ผู้ตายรักและชอบ  กับหวีใส่พานตั้งไว้
๗. เตรียมที่ตั้งศพและเครื่องตั้งศพ  มีพานดอกไม้  แจกัน  เชิงเทียน  กระถางธูป        เป็นต้น  พร้อมทั้งดอกไม้  ธูปเทียน  จะใช้มากหรือน้อยสุดแต่จะตั้ง
๘. กระทงเล็ก ๘ กระทง  ใส่อาหารอย่างละเล็กละน้อย  เทียน ๘ เล่ม ขั้นน้ำ ๑ ขัน  สำหรับเบิกหีบ
๙. เครื่องใส่ในหีบศพกันกลิ่นกล้า  ก็มีขมิ้นผง  กระดาษฟาง  ใบชา  ใบฝรั่งตำ  หรือใช้ยาฉีดเข้าในศพกันกลิ่นได้ก็ยิ่งดีกว่าอย่างอื่นหมด เมื่อเอาศพเข้าหีบแล้ว  ก็ยกขึ้นตั้งบนที่ซึ่งเตรียมไว้เสร็จแล้ว  ต่อไปนี้ก็จัดการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานศพต่อไป

       ๑.  บังสุกุลปากหีบ
       ๒.  สวดพระอภิธรรม
       ๓.  บำเพ็ญกุศลสัตตมวาร  ปัญญสมวาร  สตมวาร
       ๔.  บำเพ็ญกุศลเนื่องในงานฌาปนกิจ
       ๕.  บำเพ็ญกุศลอัฐิ


๑.  บังสุกุลปากหีบ
เมื่อจัดตั้งหีบศพเรียบร้อยแล้ว  มีการบังสุกุล  วิธีนี้เรียกว่าบังสุกุลปากหีบ  (ถ้าเป็นโกศก็เรียกว่าบังสุกุลปากโกศ)  บางมติว่าเสร็จพิธีรดน้ำศพแล้ว  ก่อนเอาเข้าหีบจึงมีพิธีบังสุกุลก็มีจะใช้พระ ๕ รูป  หรือ ๑๐ รูปก็ได้  แต่พระต้องเตรียมนิมนต์ไว้ก่อน  มิฉะนั้นจะขลุกขลักชักช้า

การบังสุกุล  จะให้ถูกแก่เรื่องก็ต้องมีผ้าทอด  จะเป็นผ้าไตรจีวร  อังสะ  ผ้าขาวพับหรือผ้าเช็ดหน้าก็ได้  ตามแต่จะสะดวกและหาได้ทัน  เพราะคำว่า  “บังสุกุล”  เป็นชื่อใช้เรียกผ้าที่เปื้อนฝุ่น  โดยที่เดิมทีภิกษุเที่ยวแสวงหาเก็บผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ  เช่น  ป่าช้า  กองหยากเยื่อร้านตลาด  เป็นต้น  ตลอดจนผ้าที่เขาห่อศพได้แล้วเอาไปซักเย็บย้อมทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม  แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็เคยเสด็จไปชักผ้าที่เขาห่อศพนางปุณณทาสี ทรงทำเป็นจีวรทรงเรียกว่า “มหาบังสุกุลจีวร”  คำนี้ยังใช้เรียกผ้าที่เขาทอดบนหีบศพ  เวลาจะฌาปนกิจ  และภิกษุไปชักบังสุกุลว่า  “ชักมหาบังสุกุล”  โดยอนุโลมสืบมาจนบัดนี้

ครั้นต่อมาภายหลัง  มีผู้เห็นภิกษุเที่ยวแสวงหาผ้าโดยวิธีนั้น  มีศรัทธาปรารถนาจะให้ภิกษุได้ผ้าโดยวิธีซักผ้าบังสุกุล  จึงได้นำผ้าไปทอดไว้ที่ศพบ้าง  ตามกิ่งไม้ใกล้ทางเดินบ้าง  ตามกองหยากเยื่อบ้าง  จึงเรียกวิธีหาผ้าของภิกษุด้วยอาการเช่นนั้นว่า  “ชักบังสุกุล”  ไม่ใช่เป็นชื่อของพิธี  ของด้ายสายสิญจน์หรือของภูษาโยงที่ทอดไว้  แต่จะเนื่องด้วยขาดผ้าจะทอดหรือหันเข้าหาความสะดวก  แต่ต้องการจะให้บังสุกุล  จึงได้กลายมาจากความหมายเดิมเหลืออยู่เพียงพิธีใช้ด้ายสายสิญจน์โยงมาจากศพ  หรืออัฐิ แล้วให้พระจับด้ายสายสิญจน์ทำพิธีชักบังสุกุล  เสร็จแล้วถวายกัปปิยภัณฑ์  (เงิน)  แทนผ้าอยู่โดยมาก  แต่ที่ยังรักษาธรรมเนียมเดิมใช้ผ้าทอดอยู่ก็ยังมีบ้าง
   
วิธีทอดผ้า  ให้เอาผ้าวางทอดคามขวางบนด้ายสายสิญจน์หรือภูษาโยง  และวางให้ตรงหน้าภิกษุผู้ชัก

อนึ่ง  ควรทราบ  และระวังในเรื่องด้ายสายสิญจน์และภูษาโยงที่ทอดโยงมาจากศพหรืออัฐิ  ถ้ายังไม่ได้เก็บไปให้พ้น  ห้ามข้ามเป็นอันขาด  ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทข้ามศีรษะศพ  เพราะเป็นของโยงมาจากศีรษะศพเป็นการเสียมรรยาทอย่างแรง  เวลาบังสุกุลแล้วจะถวายของต้องเก็บเสียก่อน



๒.  สวดพระอภิธรรม
ที่สำหรับนั่งสวดพระอภิธรรม  วิธีจัดอาสนพึงทราบตามที่กล่าวแล้ว  ในตอนว่าด้วยการจัดอาสนในการมงคล  จะใช้ยกพื้นตั้งเตียงให้สูงขึ้น  หรือจัดกับพื้นธรรมดาก็ได้แต่ต้องกะให้พอแก่พระ ๔ รูป  จะนั่งสวดได้ไม่เบียดกันและต้องจัดที่บูชาตั้งพระพุทธรูปอีกที่หนึ่งด้วย

เครื่องบูชาพระธรรมเวลาพระสวด  จะใช้เชิงเทียนคู่ ๑ แจกันดอกไม้คู่ ๑ กระถางธูป ๑ ที่  ตามธรรมดาก็ได้  จะใช้อย่างตั้งกระบะเครื่องบูชาก็ได้  ตั้งเครื่องบูชาหน้าตู้พระธรรม  ต้องมีตู้พระธรรม ๑ ตู้  ตั้งหน้าพระสวด

การที่นิมนต์ภิกษุมาสวดพระอภิธรรมหรือสวดพระอภิธัมมัตถสังคหะในงานศพนั้น  ความประสงค์ก็เพื่อจะให้เจ้าภาพได้สดับธรรมเป็นการบรรเทาความทุกข์โศก  ไม่ใช่สวดให้ศพฟังหรือสวดเฝ้าศพเพื่อแก้เงียบเหงา  ซึ่งเจ้าภาพศพบางรายก็ขอร้องให้พระสวดนอกเรื่อง  เป็นการตลกเฮฮา  เสียสมณสารูปไปก็มี  ไม่ใช่นิมนต์มาสวดให้เป็นการบุญนอกเรื่องแท้ๆ

เวลาสวดนั้น  เห็นว่าเพียงสี่ทุ่มเป็นพอดี  หรืออย่างดึกเพียงสองยามไม่มีเหตุจำเป็นจะให้พระสวดอยู่จนตลอดรุ่ง  ถ้าเพียงคืนเดียวก็พอทำเนา  หากถูกหลายคืนเข้าก็จะทำให้เสียอนามัย  เรานิมนต์พระมาสวดเป็นการบุญ  ไม่ใช่มาเป็นยามเฝ้าศพ  ต้องรู้จักกาลอันควร



๓.  บำเพ็ญกุศล  สัตตมวาร  ปัญญาสมวาร  สตมวาร
เมื่อศพยังมิได้บรรจุหรือทำฌาปนกิจเสียในระหว่างถึง ๗ วันก็มีนิยมบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร  คือ  ทำบุญ ๗ วัน  กิจอันเกี่ยวด้วยการจัดสถานที่  ตั้งที่พระพุทธรูป  เป็นต้น  พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น  ว่าด้วยการมงคล  ต่างแต่ในการนี้ไม่ต้องใช้สายสิญจน์วงบ้าน  และให้พระถือ  ไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำมนต์

กำหนดวันบำเพ็ญกุศลสัตตมวารนั้น  ถ้าถึงแก่กรรมวันพฤหัสบดี  ก็สวดมนต์เย็นวันพุธ  (ถ้าจะมีกงเต๊กด้วยก็ให้มีแต่วันพุธ)  รุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดีจะเลี้ยงพระเช้าหรือเพลก็ตามแต่จะสะดวก  ถ้าจะทำบุญให้เสร็จในวันเดียวก็มีสวดมนต์เลี้ยงพระเช้าหรือเพลในวันที่ถึงแก่กรรม  ส่วนการบำเพ็ญกุศลในงานนี้  โดยปกติถ้าทำเป็นสองวันก็มีสวดมนต์เย็น  เสร็จแล้วก็มีเทศน์แล้วบังสุกุล  หรือจะเลื่อนการบังสุกุลไปไว้ตอนวันรุ่งขึ้น  เมื่อเลี้ยงพระแล้วก็ได้  ตอนกลางคืนวันสวดมนต์ก็มีสวดพระอภิธรรม  ถ้าทำเป็นงานวันเดียว  ก็มีสวดมนต์เลี้ยงพระแล้วมีเทศน์บังสุกุลกลางคืนสวดพระอภิธรรม  เรื่องการบำเพ็ญกุศลนี้ที่ถือเป็นเกณฑ์อยู่ก็สวดมนต์เลี้ยงพระ  นอกนั้นจะมีหรือจะลดเสียก็สุดแต่กำลังของเจ้าภาพ

เครื่องไทยธรรมสำหรับพระเทศน์ก็ดี  พระสวดมนต์ก็ดี  บังสุกุลก็ดี  ควรมีผ้าด้วย  จะได้ทอดเมื่อเทศน์จบพระสวดมนต์ฉันแล้ว  ก่อนถวายไทยธรรมอื่นๆ  และทอดเวลาบังสุกุล

ในงานนี้มีธรรมเนียมว่า  ถ้ามีสวดมนต์แล้วมีเทศน์ในลำดับต่อไป  ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล  อาราธนาพระปริตรทีเดียว  ตอนมีเทศน์จึงอาราธนาศีล
อนึ่ง  ในงานศพถ้าจัดให้มีเครื่องบูชาพิเศษที่เรียกว่าเครื่องทองน้อย  หรือเครื่อง ๕  เพราะประกอบด้วยเชิงเทียน ๑  เชิงปักธูป  ๑  กรวยใส่พุ่มดอกไม้ ๓  ตั้งหน้าศพด้วย  เมื่อประสงค์จะให้เป็นการที่ศพบูชาเวลาพระสวดมนต์หรือเทศน์  ก็ให้ตั้งเอาธูปและเทียนไว้ข้างในกรวยพุ่มดอกไม้ไว้ข้างนอก  ถ้าประสงค์จะให้เป็นการที่เจ้าภาพบูชาศพ  ก็ให้เอาธูปเทียนไว้ข้างนอก  กรวยดอกไม้ไว้ข้างใน  เทียนอยู่ขวามือคนจุด  ธูปอยู่ซ้าย

เวลาจุด  ถ้าประสงค์ให้ศพบูชา  ไม่มีเทศน์ให้จุดตอนเวลาสวดมนต์  มีเทศน์ให้จุดตอนพระเทศน์  ถ้าประสงค์ให้เป็นการเจ้าภาพบูชาศพ  ให้จุดหลังจากการจุดเครื่องบูชาพระพุทธรูปแล้ว  เมื่อครบ  ๗  สัปดาห์  คือ  ๔๙  วัน  ก็มีการบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร  คือทำบุญ  ๕๐  วันอีกครั้งหนึ่ง  ถึงแก่กรรมวันไหนก็เลี้ยงพระวันนั้น  เช่นถึงแก่กรรมวันอังคารก็เลี้ยงพระให้ตรงกับวันอังคาร

เมื่อครบร้อยวันก็มีการบำเพ็ญกุศลสตมวารอีกครั้งหนึ่ง  แต่การนับวันต้องขาด  ๒  วัน  จึงจะตรงกับวันถึงแก่กรรม  เพราะนับ  ๑๔  สัปดาห์คือ  ๙๘  วัน  ส่วนการบำเพ็ญกุสลต่างๆ  ก็มีสวดมนต์เลี้ยงพระมีเทศน์บังสุกุล  และสวดพระอภิธรรมเหมือนทำบุญสัตตมวารทั้งสองคราว



๔.  บำเพ็ญกุศลเนื่องในงานฌาปนกิจ
การฌาปนกิจศพนั้น  จัดทำบุญที่บ้านแล้วชักศพไปวัด  มีเทศน์  บังสุกุลแล้วทำฌาปนกิจ  หรือถ้าที่บ้านไม่สะดวก  ก็ชักศพไปวัดแล้วจัดการบำเพ็ญกุศลแล้วจึงทำฌาปนกิจ  หรือเมื่อศพอยู่วัดแล้วก็จัดทำที่วัดเหมือนกัน  บางรายก็มีการบำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า  ทำบุญเปิดศพ  เช่น  สวดมนต์เลี้ยงพระ  มีเทศน์แล้วจึงจัดการบำเพ็ญกุศลเนื่องในการฌาปนกิจต่อไป  บางรายก็ไม่มี  ถ้าเจ้าภาพศพประสงค์จะทำเมื่อไร  ที่ไหน  ควรจะเตรียมการดังนี้
๑.  ติดต่อเจ้าอาวาสหรือผู้จัดการฌาปนสถานของวัด  ในเรื่องเมรุ  เครื่องตั้งศพและอื่นๆ  ที่เกี่ยวกับการฌาปนกิจ
๒.  มะพร้าว  ๑  ผล  กะเทาะเปลือกให้หมด  ปอกให้ขาวสำหรับล้างหน้าศพเวลาจะฌาปนกิจ  สตางค์  ๓๒  สตางค์สำหรับซื้อที่ฌาปนกิจ  สตางค์สำหรับทิ้งทานก่อนฌาปนกิจ
๓.  โกศสำหรับใส่อัฐิ  เงินเหรียญหรือสตางค์ขาวแดงก็ได้  ดอกพิกุลเงินหรือทอง  ถ้าไม่มีใช้ดอกมะลิแทนก็ได้  สำหรับโปรยอัฐิเวลาจะเก็บ
๔.  ของชำร่วย  จะแจกหนังสือ  ผ้าเช็ดหน้า  หรือของอื่นๆก็ได้
๕.  เครื่องกัณฑ์เทศน์ก็มีผ้า  เช่น  ผ้าไตร  ดอกไม้  ธูปเทียน  หมากพลู  บุหรี่  ไม้ขีดไฟ  ใบชา  เป็นต้น  เงินบูชาธรรม  รวมใส่ตะลุ่ม  ถาด  หรือพานก็ได้  ตั้งเป็นเครื่องกัณฑ์  ยิ่งกว่านี้ก็มีพัด  ย่าม  เครื่องใช้ต่าง ๆ ยิ่งได้ของรักของชอบใจของผู้ตายก็ยิ่งดี  ใส่ตู้ประดับให้ดูงามทำเป็นเครื่องสังเค็ต
๖.  ผ้าไตร  จีวร  สบง  หรือผ้าห่มหนาวก็ได้สำหรับทอดชักมหาบังสุกุลเวลาจะฌาปนกิจ  ๓  ไตร  หรือ  ๓  ผืน  ก็ได้
๗.  พระสวดหน้าไฟ  ๔  รูป  พระนำศพ  ๑  รูป
๘.  เครื่องสามหาบ  ผ้าไตร  จีวร  หรือสบงก็ได้  ๓  ไตร  หรือ  ๓  ผืน  เตา  ๓  เตาทาดินสอพอง  ไม้คาน  ๓  อัน  สาแหรก  ๓  คู่  พันผ้าขาว  หม้อขาว  ๓  หม้อ  ทาดินสอพองใส่ข้าวสาร  หม้อแกง  ๓  หม้อ  ทาดินสอพองใส่ของแห้ง  เช่น  พริก  หอม  กะปิ  เกลือ  นอกจากนี้จะมีอะไรอีกก็ได้  สำหรับคาวหวาน  ๓  คู่  ใส่อาหารคาวหวานเสร็จจะใช้ปิ่นโต  ๓  คู่  บรรจุอาหารแทนสำรับก็ได้  พิธี  ๓  หาบนี้จะทำอย่างสังเขปเพียงสำรับคาวหวานหรือปิ่นโต  ๓  คู่  บรรจุอาหารคาวหวาน  ผ้าจีวรหรือสบงอย่างละ  ๓  ผืนก็ได้

พิธีเดินสามหาบ  ให้บุตรหลานและญาติของผู้ตายแต่งเครื่องขาวไว้ทุกข์  จัดสามหาบไปฌาปนสถาน  ในหาบหนึ่งๆ  มีหม้อข้าวหม้อแกงและเตารวมใส่ถาดใส่สาแหรกข้างหนึ่ง  สาแหรกอีกข้างหนึ่งใส่สำรับคาวหวานสำหรับพระฉันในวันนั้นเหมือนกันทั้ง  ๓  หาบ  แล้วหาบไปคนละหาบ  เดินเวียนเมรุไปทางซ้าย  ๓  รอบ  มีคนถือผ้าไตรนำหน้าไปคนละไตร  เวลาเดินให้คนข้างหน้ากู่เรียกกันวู้ ๆ  แล้วคนอยู่ข้างหลังกู่รับกันไปครบ  ๓  รอบ  แล้วตั้งหาบเรียงกันไว้ที่อาสนสงฆ์  แล้วเอาผ้าไตรไปทอดที่กองฟอน  เวลาเก็บอัฐิพระชักบังสุกุล  ครั้นเก็บอัฐิแล้วจึงถวายสำรับคาวหวานแก่พระสงฆ์  ๓  รูปนั้น  จะฉันในที่นั้นหรือจะเอาไปฉันที่วัดก็ได้  พิธีของหลวง  พระฉัน  ณ  ที่นั้นอนุโมทนาแล้วจึงกลับ

อนึ่งเวลาจะเก็บอัฐิ  เมื่อแปรรูปและบังสุกุลเสร็จแล้ว  ก่อนเก็บอัฐิให้ประพรมอัฐิด้วยน้ำหอม  แล้วเอาดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  ถ้าไม่มีเอาดอกมะลิแทน  หรือเหรียญเงิน  สตางค์ขาวแดงก็ได้โปรยลงบนอัฐิ  แล้วให้บุตรหลานเก็บเงิน  และทองนั้นเอาไปใส่ไว้ในที่เก็บเงิน  สมมติว่าอัฐิเงินอัฐิทอง  รักษาทรัพย์เป็นของดีให้เกิดความเจริญงอกงาม  แล้วจึงเลือกเก็บอัฐิไปอย่างละเล็กละน้อย  ใส่โกศไว้สำหรับสักการบูชา  เพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อมีกำลัง  และสามารถอยู่ถึงวันมรณกรรมครบรอบในปีหนึ่ง  จะได้บำเพ็ญกุสลมตกวัต  อุทิศกุสลไปให้เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตามวิสัยของสัปปุริสชนต่อไป


๕.  บำเพ็ญกุศลอัฐิ    
ในการทำบุญอัฐินี้  ให้จัดที่บูชา  ๒  ที่  พระพุทธรูปที่  ๑  อัฐิที่  ๑  แต่ที่บูชาอัฐิให้จัดต่ำกว่าที่บูชาพระพุทธรูป  มีสายสิญจน์โยงจากอัฐิใส่พานตั้งไว้ที่นั้นด้วย  เมื่อพระฉันแล้วจะได้ชักบังสุกุลแล้วจึงถวายไทยธรรมต่อไป  ให้ใช้สายสิญจน์วงบ้านและให้พระถือสวดมนต์  พร้อมด้วยตั้งภาชนะน้ำมนต์ได้  เพราะศพทำฌาปนกิจแล้ว  วิธีต่างๆ  มีการจัดที่สวดมนต์  เป็นต้น  พึงทราบและปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาแล้วในงานมงคล

วันนี้ทางบ้านก่อนอัฐิมาถึง  ให้เจ้าภาพออกทุกข์แต่งสีไว้รับอัฐิ  เพราะเป็นวันออกทุกข์เมื่อประสงค์จะไว้ทุกข์ต่อไปอีกก็ควรเอาไว้ในวันต่อไป  เวลาอัฐิมาถึงบ้านให้เชิญอัฐิบรรพบุรุษในบ้านออกไปรับ  และโปรยสตางค์ทิ้งทานเรื่อยไป  จนถึงที่บูชาสำหรับตั้งอัฐิ  แล้วจึงเริ่มบำเพ็ญกุศลต่อไป

ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะบรรจุอัฐิเลยทีเดียว  ก็ต้องสร้างที่บรรจุเตรียมไว้   เมื่อเสร็จงานทำบุญเจ็ดวันแล้วจะได้บรรจุ  เวลาบรรจุ  ก่อนเอาอัฐิเข้าบรรจุก็มีบังสุกุลเวลาเอาอัฐิเข้าบรรจุก็มีพระสวดชยันโต



คัดจาก
- หนังสือศาสนพิธี  ของ พระเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี   จัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ไปร่วมในงานการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม แด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชรัตนมุนี (แช่ม  จนฺนทาโภ  ป.ธ.๗)  เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๓  
- หนังสือดังกล่าวได้แนะแนวการพิธีทำบุญ  เพื่อให้งานมีจังหวะเรียบร้อยงดงาม  เหมาะแก่กาลเทศะเป็นสำคัญ  และไม่เป็นที่สับสนแก่เจ้าภาพ  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 16:29:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2556 16:43:07 »


http://i13.photobucket.com/albums/a276/angelguy_top/Wat%20Dhammasala/319.jpg
ศาสนพิธีที่ควรเรียนรู้ : เพื่อให้งานเหมาะแก่กาลเทศะและไม่เป็นที่สับสนแก่เจ้าภาพ

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย นวดถวาย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดถ้ำขาม  จ.สกลนคร

พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์
ว่าด้วยสมณสัญญา (ความกำหนดใจไว้ว่าตนเป็นสมณะ)


อันพระภิกษุหรือสามเณร ผู้ได้รับนิมนต์ไปในงานบำเพ็ญกุศล  ชื่อว่าไปในสมาคม  พึงเป็นอัตตัญญู  รู้จักตนว่าเป็นสมณะมีสมณสัญญา  ไม่พึงนำกิริยาของคฤหัสถ์ที่ขัดต่อสมณสารูปไปใช้  จะกลายเป็นการแสดงกิริยาอย่างคฤหัสถ์ภายในเครื่องนุ่งห่มของบรรพชิต  พึงเป็นกาลัญญู  รู้จักเวลาที่เกี่ยวแก่หน้าที่อันจะพึงปฏิบัติ  เช่น  กำลังสวดมนต์  ไม่หัวเราะต่อกระซิก  เคี้ยวหมาก  สูบบุหรี่  กิริยาเช่นนี้แม้ตามถนนหนทางก็ไม่ควร  พึงเป็นปริสัญญูรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมที่อยู่ต่อหน้าชุมชน  ไม่พึงเผลอลืมตัวว่าเป็นภิกษุสามเณร  ลืมระเบียบขนบธรรมเนียมของตนเสีย  จักได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจรตั้งอยู่ในสามีจิปฏิบัติ  ความประพฤติชอบยิ่ง  ประพฤติสมควรเหมาะสมแก่เหตุการณ์  บุคคล  กาลเทศะนั้น ๆ  อันจัดเป็นสังฆคุณข้อหนึ่งในภูมิของสมมติสงฆ์เป็นผู้น่าเลื่อมใสเคารพบูชาเป็นทิฏฐานุคติแบบอย่างของผู้ที่จะมาเป็นภิกษุและสามเณรในภายหน้า  ความเป็นผู้ถึงความพร้อมด้วยอาจารและโคจร  ย่อมเป็นอาภรณ์ประดับหมู่คณะตลอดถึงพระศาสนาให้งดงาม  เป็นที่ยกย่องนิยมสรรเสริญทั้งทางโลกและทางพระศาสนา  ความเป็นผู้บกพร่องในอาจารและโครจรนั้นไม่ปรากฏว่า ท่านนิยมยกย่องสรรเสริญไว้ที่ไหนเลย  เพราะฉะนั้น  จึงควรประพฤติให้ต้องด้วยระเบียบนิยมในสังคม  ของผู้เป็นบรรพชิตตามกาลเทศะและงานนั้นๆ  ดังจะยกมากล่าวตามที่เห็นสมควร  ดังนี้
     ๑. การชำระร่างกาย
     ๒. การนุ่งห่ม
     ๓. การใช้พัด
     ๔. การนั่ง
     ๕. การสวดมนต์
     ๖. การฉันอาหาร




หลวงปู่เทศก์  เทสรังสี

๑.  การชำระร่างกาย
พระภิกษุหรือสามเณร ผู้รับนิมนต์ไปในสถานที่ทำบุญ  พึงระวังชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดเรียบร้อย อย่าไปทั้งเหงื่อไคลและมีกลิ่นตัว  พึงตัดชำระเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดหมดจด  อย่าปล่อยให้ยาวดำสกปรก  หนวดเคราพึงระวังโกนเสีย  อย่าปล่อยไว้ให้ยาวรุงรัง  การไปพึงไปถึงที่นั้นก่อนเวลากำหนด  อย่าให้ก่อนหรือช้าจนเกินไปถ้าไปหลายรูปด้วยกัน  กิจนิมนต์นั้นชื่อว่าเนื่องด้วยผู้อื่นด้วยไม่ใช่เรื่องไปคนเดียวโดยเฉพาะ  ไม่มีกิจธุระจำเป็น  ไม่ควรโอ้เอ้ชักช้าต้องให้ผู้อื่นคอยจนเกินควร  ควรรู้จักกาลอย่าให้มูมมามในเรื่องการเคี้ยวหมาก  สูบบุหรี่  เป่ายานัตถุ์หรืออย่างอื่นๆ  ให้เป็นที่รังเกียจรำคาญแก่ผู้อื่น  อย่าลืมว่ากำลังไปและอยู่ในท่ามกลางชนอื่น  อย่านึกเอาแต่ใจตนเป็นที่ตั้ง  โดยที่ถือเสียว่าทำตามอย่างที่เคยดุจอยู่ในที่รโหฐานเฉพาะตน

๒.  การนุ่งห่ม
การนุ่งห่ม พึงระวังนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล  อย่าให้ชายสบงและจีวรสูงหรือต่ำกว่าเข่าจนแลเห็นเป็นเต่อหรือกรอมไป  อย่าปล่อยให้รุกรุย  รุ่มร่าม  พึงนุ่งห่มให้เรียบร้อยรัดกุม  เครื่องนุ่งห่มควรรักษาความสะอาดเป็นอย่างยิ่ง  อย่าให้มีกลิ่นสาบ  เป็นที่รังเกียจแก่ผู้อื่น  การนุ่งห่มนี้มิใช่แต่ต้องระวังในระหว่างชุมนุมชนเท่านั้น  แม้ภายในวัด  แต่เป็นที่คนผ่านไปมา  ก็ไม่ควรเปลือยกายท่อนบนหรือสวมแต่อังสะออกไปแสดงตน  ควรห่มจีวรทุกคราวที่รับแขก  ในระหว่างเดินทางควรคอยปกปิดอวัยวะให้เคร่งครัด อย่าเอาชายจีวรขึ้นพาดบนบ่าและสะพายย่ามทำรุ่มร่ามรุงรัง


๓. การใช้พัด
ในเวลานี้ ฝ่ายภิกษุสงฆ์เรานิยมใช้พัดในงานพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ  อยู่โดยทั่วไป  ทั้งที่เป็นงานหลวงและงานราษฎร์  ก็บำเพ็ญกุศลต่างๆอยู่โดยทั่วไป  ทั้งที่เป็นงานหลวงและงานราษฎร์  ก็ธรรมเนียมการใช้พัดในพิธีนั้น  ปรากฏตามเรื่องในปฐมสังคายนา พระมหากัสสป พระอุบาลี และพระอานนท์  ก็ใช้พัดในเวลาทำสังคายนาเหมือนกัน  นี้แสดงว่าธรรมเนียมใช้พัดมีมานานแล้ว  แต่ครั้งนั้นท่านใช้ในเวลาแสดงธรรมเรียกว่าพัชนี  พัดชนิดนี้จะมีรูปร่างและขนาดอย่างไร  สำหรับใช้ในงานอะไรบ้าง  ไม่มีหลักฐานและเค้าเงื่อนที่จะรู้ได้

การใช้พัดควรมีไปทุกรูปหรือไม่นั้น  ก็ต้องดูแต่กาลเทศะและบุคคล  บางสถานที่ถือว่า  การที่พระสงฆ์มีพัดไปด้วยทุกรูปเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพ  แต่ในงานที่นิยมใช้พัด  เช่น  สวดมนต์   บังสุกุลก็ต้องเอาไปทุกรูปจะได้ดูไม่ลักลั่นในเวลาทำการอนุโมทนาหรือบังสุกุล  งานเช่นนี้ถ้าเอาไปบ้าง  ไม่เอาไปบ้าง  ทำให้แลดูไม่งาม
 
หน้าที่ของพัดก็คือ ใช้ในเวลาให้ศีลขัดสัคเค ขัดตำนาน  อนุโมทนามาติกา และบังสุกุล  การวางพัดในที่นิมนต์ควรวางข้างขวามือ  เพื่อสะดวกแก่การหยิบ  แม้ย่ามก็ควรวางไว้ข้างขวาเหมือนกัน  ไม่ควรวางย่ามไว้ข้างหน้าหรือบนตัก  การตั้งพัดเวลาใช้พึงตั้งให้ตรงหน้าได้ระดับเสมอพัดของพระสังฆเถระอย่าให้ยื่นออกไปล้ำเข้ามา  เอียงหน้าหรือเอียงหลัง  วิธีจับพัดให้จับต่ำกว่าคอพัดลงมาประมาณ ๓-๔  นิ้ว  และจับให้ได้ระดับกับการจับพัดของพระสังฆเถระ  ใช้นิ้วทั้งสี่กำรอบด้ามพัด  ส่วนนิ้วแม่มือให้วางทอดขึ้นไปตามด้ามพัดด้านหลัง  อย่าจับกำเหมือนอย่างจับไม้ธรรมดา  ถ้าต้องจับสายสิญจน์ด้วยให้เอาสายสิญจน์วางพาดไว้นอกด้ามพัดตรงนิ้วชี้  เวลาใช้บังสุกุลให้ถือพัดด้วยมือซ้าย มือขวาจับสายสิญจน์ให้หงายฝ่ามือจับ  และให้สายสิญจน์อยู่ข้างนอกด้ามพัด  

อนึ่ง  การใช้พัดควรให้เหมาะแก่งานนั้นๆ  ถ้าเป็นงานมงคลก็ใช้พัดมีเครื่องหมายในงานมงคล  เช่น  พัดที่มีเครื่องหมายในงานทำบุญอายุ  ทอดกฐินเป็นต้น  งานทักษิณานุปทานก็ใช้พัดที่มีเครื่องหมายในงานเช่นนั้น เช่น  พัดที่ระลึกในงานศพ  เป็นต้น  พัดเหล่านี้ถ้าเป็นพัดที่เขาถวายเป็นที่ระลึกประจำตระกูลก็ดี  ส่วนบุคคลก็ดี  เมื่อถึงคราวที่ไปในกิจนิมนต์ของตระกูลหรือบุคคลนั้น  ก็พึงนำพัดนั้นไปใช้ตามรูปแห่งงานนั้น ๆ  ด้วยนี้เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง  ไม่ควรละเลย  ถ้าไม่มีพัดเช่นว่านั้นก็ใช้พัดที่มีเครื่องหมายเป็นกลาง ๆ  ใช้ได้ทั้งงานมงคลและงานทักษิณานุปทาน  เช่นเดียวกับพัดยศ  การถือพัดเวลาอื่นพึงถือด้วยมือซ้าย  ให้ใบพัดทาบกับลำแขนอย่าถือด้ามแล้วให้ใบพัดลง  หรือแบกพัดพาดบ่า




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว กับ พระอาจารย์วัน  อุตตโม

๔. การนั่ง
เมื่อขึ้นนั่งประจำยังอาสนแล้ว  พึงนั่งอย่างสำรวมที่บัญญัติไว้ในเสขิยวัตร  แต่ให้ผึ่งผาย  อย่านั่งงอหลังหรือท้าวแขน  ให้นั่งเอามือประสานไว้หน้าตัก  พึงนั่งให้ได้แถวได้แนว คือนั่งให้ระดับเข่าสม่ำเสมอกัน  ถือระดับท่านที่นั่งต้นแถวเป็นเกณฑ์  นั่งให้ห่างได้จังหวะพองาม  ระวังผ้าให้คลุมเข่าและแข้งอย่าให้ผ้าเวิกขึ้นมาจนน่าเกลียดและเสียสังวร  เวลาจะนั่งพึงเลือกนั่ง  ณ  อาสนอันควรแก่ตน  ผู้เป็นเถระพึงนั่งที่เหมาะสมอย่านั่งกีดทำให้อนุเถระหาที่นั่งไม่สะดวกและอึดอัดใจ  เวลาที่พระมาก ๆ  รูปเข้าไปก่อน  อย่านั่งให้กีดทางที่รูปทีหลังจะเข้าไป ให้เลื่อนเข้าไปนั่ง  ณ  อาสนใน ๆ  ผู้มาทีหลังจะได้นั่งได้สะดวกไม่สับสนวุ่นวาย



ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต (ธมฺมวิตโก ภิกขุ)

๕. การสวดมนต์
ผู้เป็นสังฆเถระ เมื่อเขาอาราธนาศีลถึงวารที่ ๓  พึงจับพัดขึ้นตั้ง  พอเขาอาราธนาจบพึงว่านโมทีเดียว การว่านโมให้ศีลนิยมว่าให้ขาดเป็นวรรค ไม่ต้องว่าแฝดเหมือนว่านโมในเวลาเทศน์ ในเวลาจบสรณคมน์ ไม่ต้องว่า ติสรณคมนํ นิฏฐิตํ เว้นเสียแต่ให้ศีลอุโบสถ จึงว่าเมื่อให้ศีลจบแล้ว เขาอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่ ๓ พระผู้ขัดสัคเค พึงจับพัดขึ้นตั้ง ถ้ามีสายสิญจน์ก็ให้ถือสายสิญจน์ด้วยตามวิธีจับดังกล่าวแล้ว เมื่อเขาอาราธนาก็พึงขัดสัคเคต่อไป ไม่ต้องรอให้เขาว่าจบแล้วจึงจับพัดขึ้นมาตั้งขัด ผู้นั่งรูปที่ ๓ แต่พระสังฆเถระนิยมให้เป็นผู้มีหน้าที่ขัดสัคเคและตำนาน ถ้ารูปที่ ๓ ไม่สะดวกรูปอื่นก็ขัดได้ แต่มิใช่คฤหัสถ์ขัดอย่างธรรมเนียมที่ใช้อยู่ตามชนบทบางแห่ง

การขัดสัคเคและตำนาน นิยมว่าเป็นทำนอง แม้ในงานพระราชพิธีก็ใช้ว่าเป็นทำนองเหมือนกัน ดังได้สดับมา แต่ก่อนพระที่ขัดตำนานว่าทำนองดี เคยได้รับพระราชทานรางวัลและทรงชมเชยจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็มี ขึ้นต้นบทก็ดีการสวดรับก็ดี ผู้ขัด ผู้ขึ้น และผู้รับต้องว่าให้สำเนียงประสานกัน จะเป็นเสียงสูงต่ำหรือธรรมดาก็อนุวัตตามกัน การสวดจึงจะกลมเกลี้ยงไพเราะ ส่วนการที่จะขัดตำนานหมดทุกบทที่สวดหรือไม่นั้น  ก็สุดแต่จะตกลงกัน ในงานพิธีสำคัญ เช่นทำบุญอายุถ้ามีเวลาพอนิยมขัดทุกสูตร ในงานทักษิณานุปทานเช่นงานสัตตมวาร ไม่ต้องขัดสัคเค ขัดแต่สูตรที่จะสวด

การสวดต้องระวังเสียงให้ประสานสม่ำเสมอกัน ว่าให้ชัดเจนทีฆรัสสะ การสวดอย่างพระมหานิกายใช้สวดอย่างแบบ “สังโยค”  คือว่าหยุดระยะตามพยัญชนะสังโยค ที่ใช้สะกดด้วยแม่ กก. กด. กบ. จำพวกอักษรหรือบทที่เป็นอัฑฒะสระคือใช้เป็นตัวสะกดด้วย ให้ว่าออกเสียงครึ่งเดียว เวลาสวดต้องคอยฟังผู้เป็นประธาน ระวังให้ขึ้นลงพร้อมกัน จะว่าจังหวะเร็วหรือช้า คอยฟังประธานและผู้สวดอยู่ต้น ๆ แถว การสวดด้วยกันมากรูป ต้องการความพรักพร้อมสม่ำเสมอมิใช่สวดรูปเดียว อย่าว่าไปตามอำเภอใจ อย่าสวดพลางเหม่อมอง หรือทำอย่างอื่นพลางอย่างนี้   ก็เหมือนมาท่องสวดมนต์ให้เขาฟังพอเปลืองเวลาไปชั่วคราวเท่านั้น  พึงตั้งสติสำรวมจิตแผ่เมตตาสวดสำรวมอิริยาบถให้สงบตามความที่ปรากฏในตอนต้นแห่งบทสัคเคว่า “ผริตฺวาน เมตฺตํ สเมตฺตา ภทนฺตา อวิกฺขิตฺตจิตตา ปริตฺตํ ภณนฺตุ”  ซึ่งแปลได้ความว่าขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงมีเมตตาแผ่เมตตาจิต มีจิตอย่าได้ฟุ้งซ่าน  สวดพระปริตรดังนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นสวัสดิมงคลและเป็นกำลังในการประสาทพรแก่เจ้าภาพ

การสวด จะสวดสูตรอะไรบ้าง มากน้อยเท่าไร ก็สุดแต่รูปของงานพระสังฆเถระในที่นั้นและเวลาจะอำนวยเป็นงานมงคลก็สวดและอนุโมทนาให้เหมาะแก่งานเช่นนั้น ถ้าเป็นงานทักษิณานุปทาน ก็ต้องสวดและอนุโมทนา ให้สมแก่งานเช่นนั้น เวลาที่ศพยังอยู่ในบ้านพระไปสวดเจ็ดตำนาน ในงานที่เขาทำพิธีบังสุกุลเป็น พระไปสวดอย่างบังสุกุลตายเช่นนี้ครึเต็มที

อนึ่ง การประนมมือในเวลาสวดมนต์ หรือทำวัตรเช้าเย็น ควรประนมมืออย่างเทพนม ให้นิ้วมือเสมอกัน อย่าประนมอย่างแบบที่เรียกว่าช้างประสานงา หรือแบบทุบมะพร้าว ประนมไว้ระหว่างอกอย่าให้สูงหรือต่ำเกินไป

ส่วนระเบียบวิธีในการทำน้ำมนต์ก็ดี การสวดในพิธีงานต่าง ๆ ก็ดี ได้มีอยู่แล้วโดยแพร่หลาย ผู้สนใจพึงแสวงหาดูเอาเองเถิด





๖. การฉันอาหาร
กิริยาในการฉันอาหาร พึงรู้จักใช้  ช้อนกลางอย่าเอามาตักอาหารฉันเหมือนช้อนส่วนตัว ระวังให้ดูผู้ฉันอยู่ร่วมวงกันอย่าเห็นแก่จะฉันอย่างเดียว บางรูปมักเปิดปากรอคำข้าวไว้ก่อนโดยเผลอ ต้องระวังนึกถึงระเบียบการฉันอาหารในเสขิยวัตรแล้วประพฤติตามอยู่เสมอ ควรฝึกหัดอบรมตัวในเวลาปกติ ในระเบียบนิยมทุกอย่าง  เช่น การวางภาชนะใส่อาหาร การจับช้อนส้อม การตักอาหาร นั่งโต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ให้ชำนาญเรียบร้อยถึงคราวฉันในที่เปิดเผยเป็นพิธี จะได้ไม่แสดงการซุ่มซ่ามมูมมามน่ารังเกียจ พึงระวังมารยาทในพิธีการทุกอย่างจะลุกจะนั่งให้เป็นกวดขัน ข้อสำคัญอย่านำมารยาทเฉพาะตนที่ขัดกับสมาคมมาใช้ในพิธีการอันเปิดเผย

อนึ่ง ถ้าไปในงานที่เกี่ยวแก่ศพ หรืออัฐิพระเถระผู้ใหญ่มีวัสสายุกาลแก่กว่า พึงรู้จักปฏิบัติธรรมเนียมที่เป็นสามีจิกรรม กล่าวคือในงานนั้น ถ้าเขาตั้งที่บูชาพระพุทธรูปด้วย ในเบื้องแรกที่ไปถึง พึงไปกราบพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงไปกราบแสดงคารวะต่อศพหรืออัฐิ แต้นั้นจึงไปแสดงคารวะต่อพระเถระผู้เป็นประธาน และพระเถระอื่นตามสมควรต่อไป ในเวลาจะกลับก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกัน   ถ้าไปแสดงธรรม ก่อนจะขึ้นธรรมาสน์พึงแสดงคารวะต่อศพหรืออัฐิ และพระเถระผู้เป็นประธานในที่นั้นเพื่อขอโอกาสแสดงธรรมต่อไป เวลาแสดงจบแล้วก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกันระเบียบนิยมนี้ เป็นกัลยาณวัตรอันชอบ พึงเอื้อเฟื้ออย่าละเลย

ระเบียบนิยมตามที่ยกมากล่าว เช่น การนุ่งห่ม การนั่ง การฉันอาหาร เป็นต้น เหล่านี้ที่จริงก็มีอยู่ในเสขิยวัตรและอภิสมาจารเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ที่ยกมาพรรณนาไว้อีก ก็เพื่อจะให้ย้อนกลับไปพิจารณาตรวจดูตัวเองอีกบ้าง ด้วยความเคยชินในธรรมวินัยมาน้อยหรือมากก็ตาม แต่ความไม่เอาใจใส่ก็มักจะชวนให้เผลอหรือทะนงตัวได้ง่าย กลายเป็นปาปมุตเอาเสียเอง ประหนึ่งว่าขนาดชั้นอุปัชฌาย์อาจารย์ อาจารและโคจรเหล่านี้ เคยผ่านมามากและนานพอ หมดหน้าที่ ๆ จะต้องสังวรได้แล้ว ที่จริงจะตั้งอยู่ในชั้นไหน เป็นนวกมัชฌิมหรือเถระก็ตาม ก็จำต้องใส่ใจประพฤติในระเบียบอันเกี่ยวแก่อาจารและโคจร  กวดขันให้ประณีตยิ่งขึ้นตามอายุพรรษาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มียกเว้น เพราะความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจรย่อมเป็นศรีและมงคลอันสูงแก่ตนและศาสนาแล



คัดจาก
- หนังสือศาสนพิธี  ของ พระเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี   จัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ไปร่วมในงานการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม แด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชรัตนมุนี (แช่ม  จนฺนทาโภ  ป.ธ.๗)  เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๓  
- หนังสือดังกล่าวได้แนะแนวการพิธีทำบุญ  เพื่อให้งานมีจังหวะเรียบร้อยงดงาม  เหมาะแก่กาลเทศะเป็นสำคัญ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 16:46:25 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: ศาสนพิธี 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.902 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 14:15:57