[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:42:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ระเด่นลันได กลอนไทยจากเค้ามูลเรื่องจริง  (อ่าน 9576 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 ตุลาคม 2556 18:13:42 »




ระเด่นลันได
บทละครกลอนไทย ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ใคร่รู้จัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายที่มาหรือเค้ามูลของบทละครเรื่อง ระเด่นลันได ไว้ดังนี้ (คัดโดยคงตัวสะกดไว้ดังเดิม..ผู้โพสต์)

บทละคอนเรื่อง ระเด่นลันได ถ้าอ่านโดยไม่ทราบเค้ามูล ก็คงจะเข้าใจว่าเป็นบทแต่งสำหรับเล่นละคอนตลก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หนังสือเรื่องระเด่นลันไดนี้ที่แท้เป็นจดหมายเหตุ หากผู้แต่งประสงค์จะจดให้ขบขันสมกับเรื่องที่จริง จึงแกล้งแต่งเป็นละคอนสำหรับอ่านกันเล่น หาได้ตั้งใจจะให้ใช้เป็นบทเล่นละคอนไม่
เรื่องระเด่นลันไดเป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่า ครั้งนั้น มีแขกคนหนึ่งชื่อ ลันได ทำนองจะเป็นพวกฮินดู ชาวอินเดีย ซัดเซพเนจรเข้ามาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ เที่ยวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยก็มิใคร่ได้ หัดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า "สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร"  ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทานจนคนรู้จักกันโดยมาก  ในครั้งนั้นมีแขกอีกคน ๑ เรียกกันว่า แขกประดู่ ทำนองก็จะเป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่ที่หัวป้อม(อยู่ราวที่สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรม ทุกวันนี้) มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายู ชื่อประแดะ อยู่มาแขกลันไดกับแขกประดู่ เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้น โดยทำนองที่กล่าวในเรื่องละคอน  คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขันก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่อง จึงคิดแต่งเป็นบทละคอนขึ้น

พระมหามนตรี( ทรัพย์) นี้ เป็นกวีที่สามารถในกระบวนแต่งกลอนแปด จะหาตัวเปรียบได้โดยยาก แต่มามีชื่อโด่งดังในการแต่งกลอนต่อเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ไม่ใคร่พอใจแต่งโดยเปิดเผย หนังสือซึ่งพระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้ออกหน้าแต่งมีปรากฏ แต่โคลงฤาษีดัดตนบท ๑ กับเพลงยาวกลบทชื่อ กบเต้นสามตอน (ซึ่งขึ้นต้นว่า "เจ็บคำจำคิดจิตขวย") บท ๑ เท่านั้น ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีชื่อเสียงสืบต่อมาจนรัชกาลหลังๆ เพราะแต่งหนังสืออีก ๒ เรื่อง คือ เพลงยาว แต่งว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์เรื่อง ๑ กับบทละคอนเรื่องระเด่นลันไดนี้เรื่อง ๑

เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) นั้น เล่ากันมาว่าเป็นแต่ลอบแต่งแล้วเขียนมาปิดไว้ที่ทิมดาบตำรวจ ในพระบรมมหาราชวัง ผู้อื่นเห็นก็รู้ว่าเป็นฝีปากพระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องกล่าว มีแต่ผู้ลอกคัดเอาไป (แล้วเห็นจะเลยฉีกทิ้งต้นหนังสือเสีย จึงไม่เกิดความฐานทอดบัตรสนเท่ห์) ด้วยครั้งนั้นมีคนชังพระยามหาเทพ (ทองปาน) อยู่มากด้วยกัน เพลงยาวนั้นก็เลยแพร่หลาย หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์เพลงยาวนั้นไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ ประจำปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)

ส่วนบทละคอนเรื่องระเด่นลันได เหตุที่แต่งเป็นดังอธิบายมาข้างต้น ถ้าผู้อ่านสังเกตจะเห็นได้ว่า ทางสำนวนแต่งดีทั้งกระบวนบทสุภาพ และวิธีที่เอาถ้อยคำขบขันเข้าสอดแซม บางแห่งกล้าใช้สำนวนต่ำช้าลงไปให้สมกับตัวบท แต่อ่านก็ไม่มีที่จะเขินเคอะในแห่งใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นหนังสือซึ่งชอบอ่านกันแพร่หลายตั้งแต่แรกแต่งกลอนมาจนในรัชกาลหลัง ๆ นับถือกันว่าเป็นหนังสือกลอนชั้นเอกเรื่อง ๑

          บทละคอนเรื่องระเด่นลันไดนี้มีผู้ใดเคยพิมพ์มาแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์มาแต่ก่อนวิปลาสคลาดเคลื่อน แลมีผู้อื่นแต่งแทรกแซมเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก จนวิปริตผิดรูปฉบับเดิม กรรมการหอพระสมุดฯ เห็นว่าบทละคอนเรื่องระเด่นลันได นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในหนังสือกลอนไทยเรื่อง ๑ ซึ่งสมควรจะรักษาไว้ให้บริสุทธิ์ จึงได้พยายามหาฉบับมาแต่ที่ต่าง ๆ สอบชำระแล้วพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้

แต่เสียดายอยู่ที่บทตอนท้ายในเล่มนี้ ยังขาดฉบับเดิมอยู่สักสามฤาสี่หน้ากระดาษ เนื้อเรื่องที่ขาดเพียงใด จะอธิบายบอกไว้ข้างท้ายเล่มสมุด เผื่อท่านผู้ใดมีฉบับบริบูรณ์ถ้ามีแก่ใจคัดส่งมายังหอพระสมุดฯ ฤาให้ยืมต้นฉบับมาให้หอพระสมุดฯ คัดได้ จะขอบพระคุณเป็นอันมาก


ดำรงราชานุภาพ
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓




.


ระเด่นลันได
พระมหามนตรี (ทรัพย์)

ช้าปี่ มาจะกล่าวบทไป      ถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง      เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชิงชังทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์      ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี         ภูมีซบเซาเมากัญชา ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด กระโดดดำสามทีสีเหงื่อไคล แล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง
ทรงสุคนธ์ปนละลายดินสอพอง      ชโลมสองแก้มคางอย่างแมวคราว
นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์ ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
เจียระบาดเสมียนละว้ามาแต่ลาว*      ดูราวกับหนังแขกเมื่อแรกมี
สวมประคำดีควายตะพายย่าม หมดจดงดงามกว่าปันหยี
กุมตระบองกันหมาจะราวี      ถือซอจรลีมาตามทาง ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
ร่าย มาเอยมาถึง เมืองหนึ่งสร้างใหม่ดูใหญ่กว้าง
ปราสาทเสาเล้าหมูอยู่กลาง      มีคอกโคอยู่ข้างกำแพงวัง
พระเยื้องย่างเข้าทางทวารา หมู่หมาแห่ห้อมล้อมหน้าหลัง
แกว่งตระบองป้องปัดอยู่เก้กัง      พระทรงศักดิ์หยักรั้งคอยราญรอน ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
เมื่อนั้น  นางประแดะหูกลวงดวงสมร
ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธร      เสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว
โฉมเฉลาเนาในที่ไสยา บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว
แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว      หวีหัวหาเหาเกล้าผมมวย
ได้ยินแว่วสำเนียงเสียงหมาเห่า คิดว่าวัวเข้าในสวนกล้วย
จึงออกมาเผยแกลอยู่แร่รวย      ตวาดด้วยสุรเสียงสำเนียงนาง
พอเหลือบเห็นระเด่นลันได อรไทผินผันหันข้าง
ชม้อยชม้ายชายเนตรดูพลาง      ชะน้อยฤๅรูปร่างราวกับกลึง
งามกว่าภัสดาสามี ทั้งเมืองตานีไม่มีถึง
เกิดกำหนัดกลัดกลุ้มรุมรึง      นางตะลึงแลดูพระภูมี ฯ ๑๐ คำ ฯ
เมื่อนั้น พระสุวรรณลันไดเรืองศรี
เหลียวพบสบเนตรนางตานี      ภูมีพิศพักตร์ลักขณา ฯ 2 คำ ฯ
ชมโฉม สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะกลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา      ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ     ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม      มันน่าเชยน่าชมนางเทวี ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย นี่จะเป็นลูกสาวท้าวพระยา ฤๅว่าเป็นพระมเหสี
อกใจทึกทักรักเต็มที      ก็ทรงสีซอสุวรรณขึ้นทันใด ฯ ๒ คำ ฯ
พัดชา ยักย้ายร่ายร้องเป็นลำนำ มีอยู่สองสามคำจำไว้ได้
สุวรรณหงษ์ถูกหอกอย่าบอกใคร      ถูกแล้วกลับไปได้เท่านั้น ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย แล้วซ้ำสีอิกกระดิกนิ้ว ทำยักคิ้วแลบลิ้นเล่นขบขัน
เห็นโฉมยงหัวร่ออยู่งองัน      พระทรงธรรม์ทำหนักชักเฉื่อยไป ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี
เมื่อนั้น นางประแดะตานีศรีใส
สดับเสียงสีซอพอฤทัย      ให้วาบวับจับใจผูกพัน
ยิ่งคิดพิศวงพระทรงศักดิ์ ลืมรักท้าวประดู่ผู้ผัวขวัญ
ทำไฉนจะได้พระทรงธรรม์      มาเคียงพักตร์สักวันด้วยรักแรง
คิดพลางทางเข้าไปในห้อง แล้วตักเอาข้าวกล้องมาสองแล่ง
ค่อยประจงลงใส่กระบะแดง      กับปลาสลิดแห้งห้าหกตัว
แล้วลงจากบันไดมิได้ช้า เข้ามานอบนบจบเหนือหัว
เอาปลาใส่ย่ามด้วยความกลัว      แล้วยอบตัวลงบังคมก้มพักตรา ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น ลันไดให้แสนเสนหา
อะรามรักยักคิ้วหลิ่วตา      พูดจาลดเลี้ยวเกี้ยวพาน ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้โลม งามเอยงามปลอด ชีวิตพี่นี้รอดด้วยข้าวสาร
เป็นกุศลดลใจเจ้าให้ทาน      เยาวมาลย์แม่มีพระคุณนัก
พี่ขอถามนามท้าวเจ้ากรุงไกร ชื่อเรียงเสียงไรไม่รู้จัก
เจ้าเป็นพระมเหสีที่รัก      ฤๅนงลักษณ์เป็นราชธิดา
รูปร่างอย่างว่ากะลาสี พี่ให้มีใจรักเจ้าหนักหนา
ว่าพลางเข้าใกล้กัลยา      พระราชาฉวยฉุดยุดมือไว้ ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย ทรงเอยทรงกระสอบ ทำเล่นเห็นชอบฤๅไฉน
ไม่รู้จักมักจี่นี่อะไร      มาเลี้ยวไล่ฉวยฉุดยุดข้อมือ
ยิ่งว่าก็ไม่วางทำอย่างนี้ พระจะมีเงินช่วยข้าด้วยฤๅ
อวดว่ากล้าแข็งเข้าแย่งยื้อ      ลวนลามถามชื่อน้องทำไม
น้องมิใช่ตัวเปล่าเล่าเปลือย หยาบเหมือนขี้เลื่อยเมื่อยหัวไหล่
ลูกเขาเมียเขาไม่เข้าใจ      บาปกรรมอย่างไรก็ไม่รู้ ฯ ๖ คำ ฯ
ชาตรี ดวงเอยดวงไต้ สบถได้เจ็ดวัดทัดสองหู
ความจริงพี่มิเล่นเป็นเช่นชู้      จะร่วมเรียงเคียงคู่กันโดยดี
ถึงมิใช่ตัวเปล่าเจ้ามีผัว พี่ไม่กลัวบาปดอกนะโฉมศรี
อันนรกตกใจไปใยมี      ยมพระบาลกับพี่เป็นเกลอกัน
เพียงจับมือถือแขนอย่าแค้นเคือง จะให้น้องสองเฟื้องอย่าหุนหัน
แล้วแก้เงินในไถ้ออกให้พลัน      นี่แลขันหมากหมั้นกัลยา
พอดึกดึกสักหน่อยนะน้องแก้ว พี่จะลอดล่องแมวขึ้นไปหา
โฉมเฉลาเจ้าจงได้เมตตา      เปิดประตูไว้ท่าอย่าหลับนอน ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย ทรงเอยทรงกระโถน อย่ามาพักปลอบโยนให้โอนอ่อน
ไม่อยากได้เงินทองของภูธร      นางเคืองค้อนคืนให้ไม่อินัง
ช่างอวดอ้างว่านรกไม่ตกใจ คนอะไรอย่างนี้ก็มีมั่ง
เชิญเสด็จรีบออกไปนอกวัง      อย่ามานั่งวิงวอนทำค่อนแคะ
เพียงแต่รู้จักกันกระนั้นพลาง พอเป็นทางไมตรีกระนี้แหละ
เมื่อพระอดข้าวปลาจึงมาแวะ      น้องฤๅชื่อประแดะดวงใจ
ท่านท้าวประดู่ผู้เป็นผัว ยังไปเลี้ยงวัวหากลับไม่
แม้นชักช้าชีวันจะบรรลัย      เร่งไปเสียเถิดพระราชา ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น นางประแดะเห็นความจะวามวุ่น
จึงนบนอบยอบตัวทำกลัวบุญ      ไม่รู้เลยพ่อคุณนี้มีฤทธิ์
กระนั้นซิเมื่อพระเสด็จมา หมูหมาย่นย่อไม่รอติด
ขอพระองค์จงฟังยั้งหยุดคิด      อย่าให้มีความผิดติดตัวน้อง
ท้าวประดู่ภูธรเธอขี้หึง ถ้ารู้ถึงท้าวเธอจะทุบถอง
จงไปเสียก่อนเถิดพ่อรูปทอง      อย่าให้น้องชั่วช้าเป็นราคี
ว่าพลางทางสลัดปัดกร ควักค้อนยักหน้าตาหยิบหยี
นาดกรอ่อนคอจรลี      เดินหนีมิให้มาใกล้กราย ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้นลันไดไม่สมอารมณ์หมาย
เห็นนางหน่ายหนีลี้กาย      โฉมฉายสลัดพลัดมือไป
มันให้ขัดสนยืนบ่นออด เจ้ามาทอดทิ้งพี่หนีไปได้
ตัวกูจะอยู่ไปทำไม      ก็ยกย่ามขึ้นไหล่ไปทั้งรัก ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า เมื่อนั้น ท้าวประดู่สุริวงศ์ทรงกระฏัก
เที่ยวเลี้ยงวัวล้าเลื่อยเหนื่อยนัก      เข้าหยุดยั้งนั่งพักในศาลา
วันเมื่อมเหสีจะมีเหตุ ให้กระตุกนัยน์เนตรทั้งซ้ายขวา
ตุ๊กแกตกลงตรงพักตรา      คลานไปคลานมาก็สิ้นใจ
แม่โคขึ้นสัดผลัดโคตัวผู้ พิเคราะห์ดูหลากจิตคิดสงสัย
จะมีเหตุแม่นมั่นพรั่นพระทัย      ก็เลี้ยวไล่โคกลับเขาพารา ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ร่าย ครั้นถึงขอบรั้วริมหัวป้อม พระวิ่งอ้อมเลี้ยวลัดสกัดหน้า
ไล่เข้าคอกพลันมิทันช้า      เอาขี้หญ้าสุมควันกันริ้นยุง
ยืนลูบเนื้อตัวที่หัวบันได แล้วเข้าในปรางค์รัตน์ผลัดผ้านุ่ง
ยุรยาตรเยื้องย่างมาข้างมุ้ง      เห็นกระบุงข้าวกล้องนั้นพร่องไป
ปลาสลิดในกระบายก็หายหมด พระทรงยศแสนเสียดายน้ำลายไหล
กำลังหิวข้าวเศร้าเสียใจ      ก็เอนองค์ลงในที่ไสยา
กวักพระหัตถ์ตรัสเรียกมเหสี เข้ามานี่พุ่มพวงดวงยี่หวา
วันนี้มีใครไปมา      ยังพาราเราบ้างฤๅอย่างไร ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น นางประแดะฟังความที่ถามไถ่
กราบทูลเยื้องยักกระอักกระไอ ร้อนตัวกลัวภัยพระภูมี
ตั้งแต่พระเสด็จไปเลี้ยงวัว      น้องก็นอนซ่อนตัวอยู่ในที่
ไม่เห็นใครไปมายังธานี จงทราบใต้เกศีพระราชา ฯ ๔ คำ ฯ
เมื่อนั้น       ท้าวประดูได้ฟังให้กังขา
จึงซักไซ้ไล่เลียงกัลยา ว่าไม่มีใครมาน่าแคลงใจ
ทั้งข้าวทั้งปลาของข้าหาย      เอายักย้ายขายซื้อฤๅไฉน
ฤๅลอบลักตักให้แก่ผู้ใด จงบอกไปนะนางอย่าพรางกัน ฯ ๔ คำ ฯ
เมื่อนั้น      นางประแดะตกใจอยู่ไหวหวั่น
ด้วยแรกเริ่มเดิมทูลพระทรงธรรม์ ว่าใครนั้นมิได้จะไปมา
ครั้นจะไม่ทูลความไปตามจริง      ก็เกรงกริ่งด้วยพิรุธมุสา
สารภาพกราบลงกับบาทา วอนว่าอย่าโกรธจงโปรดปราน
วันนี้มีหน่อกระษัตรา      เที่ยวมาสีซอขอข้าวสาร
น้องเสียมิได้ก็ให้ทาน สิ้นคำให้การแล้วผ่านฟ้า ฯ ๖ คำ ฯ
เมื่อนั้น      ท้าวประดู่ได้ฟังนึกกังขา
ใครหนอหน่อเนื้อกระษัตรา เที่ยวมาสีซอขอทาน
เห็นจะเป็นอ้ายระเด่นลันได      ที่ครอบครองกรุงใกล้เทวฐาน
มันเสแสร้างแกล้งทำมาขอทาน จะคิดอ่านตัดเสบียงเอาเวียงชัย
จึงชี้หน้าว่าเหม่มเหสี      มึงนี้เหมือนหนอนที่บ่อนไส้
ขนเอาปลาข้าวให้เขาไป วันนี้จะได้อะไรกิน
ถ้ามั่งมีศรีสุขก็ไม่ว่า      นี่สำเภาเลากาก็แตกสิ้น
แล้วมิหนำซ้ำตัวเป็นมลทิน จะอยู่กินต่อไปให้คลางแคลง
เจ้าศรัทธาอาศัยอย่างไรกัน      ฤๅกระนี้กระนั้นก็ไม่แจ้ง
จะเลี้ยงไว้ไยเล่าเมื่อข้าวแพง ฉวยชักพระแสงออกแกว่งไกว ฯ ๑๐ คำ ฯ
เมื่อนั้น       นางประแดะเลี้ยวลอดกอดเอวได้
เหมือนเล่นงูกินหางไม่ห่างไกล นึกประหวั่นพรั่นใจอยู่รัวรัว
โปรดก่อนผ่อนถามเอาความจริง      เมื่อชั่วแล้วแทงทิ้งเถิดทูนหัว
อันพระสามีเป็นที่กลัว จะทำนอกใจผัวอย่าพึงคิด
พระหึงหวงมิได้ล่วงพระอาญา      ที่ให้ข้าวให้ปลานั้นข้าผิด
น้องนี้ทำชั่วเพราะมัวมิดทำไมกับชีวิตไม่เอื้อเฟื้อ     
น้องมิได้ศรัทธาอาศัย จะลุยน้ำดำไฟเสียให้เชื่อ
ไม่มีอาลัยแก่เลือดเนื้อแต่เงื้อเงื้อไว้เถิดอย่าเพ่อแทง ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น             ท้าวประดูเดือดนักชักพระแสง
ถ้าบอกจริงให้กูอีหูแหว่ง จะงดไว้ไม่แทงอย่างแย่งยุด
กูก็เคยเกี้ยวชู้รู้มารยา      มิใช่มึงโสดามหาอุด
มันเป็นถึงเพียงนี้ก็พิรุธ ถึงดำน้ำร้อยผุดไม่เชื่อใจ
ยังจะท้าพิสูจน์รูดลอง      พ่อจะถองให้ยับจนตับไหล
เห็นว่ากูหลงรักแล้วหนักไป เอออะไรนี่หวาน้ำหน้ามึง
หาเอาใหม่ให้ดีกว่านี้อีก      ผิดก็เสียเงินปลีกสองสลึง
กำลังกริ้วโกรธาหน้าตึง ถีบผึงถูกตะโพกโขยกไป ฯ ๘ คำ ฯ โอด
โอ้ เมื่อนั้น      นางประแดะเจ็บจุกลุกไม่ไหว
ค่อยยืนยันกะเผลกเขยกไป เข้ายังครัวไฟร้องไห้โฮ
ร้อนดิ้นเร่าเร่าพ่อเจ้าเอ๋ย      ลูกไม่เคยโกหกพกโมโห
เสียแรงได้เป็นข้ามาแต่โซ กลับพาโลโกรธาด่าตี
น้องก็ไร้ญาติวงศ์พงศา      หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา
ตะโพกโดกโดยเมียแทบคลาด      ถีบด้วยพระบาทดังชาติข้า
จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้ายา ตายโหงตายห่าก็ตายไป ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย เมื่อนั้น       ท้าวประดูได้ฟังดังเพลิงไหม้
ดูดู๋อีประแดะค่อนแคะไค้ กลับมาด่าได้อีใจเพชร
เอาแต่คารมเข้าข่มกลบ      กูจะจิกหัวตบเสียให้เข็ด
ชะช่างโศกาน้ำตาเล็ด กูรู้เช่นเห็นเท็จทุกสิ่งอัน ฯ ๔ คำ ฯ
ว่าพลางทางคว้าได้พร้าโต้       ดุด่าตาโตเท่ากำปั้น
ผลักประตูครัวไฟเข้าไปพลัน นางประแดะยืนยันลั่นกลอนไว้
ผลักไปผลักมาอยู่เป็นครู่      จะเข้าไปในประตูให้จงได้
กระทืบฟากโครมครามความแค้นใจ อึกทึกทั่วไปในพารา ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
บัดนั้น      พวกหัวไม้กระดูกผีขี้ข้า
บ่อนเลิกกินเหล้าเมากลับมา ได้ยินเสียงเถียงด่ากันอื้ออึง
จึงหยุดนั่งข้างนอกริมคอกวัว      ว่าเมียผัวคู่นี้มันขี้หึง
พอพลบค่ำราตรีตีตะบึง อึงคะนึงนักหนาน่าขัดใจ
แล้วคว้าก้อนอิฐปาเข้าฝาโผง      ตกถูกโอ่งปาล้อแลหม้อไห
พลางตบมือร้องเย้ยเผยไยไย แล้ววิ่งไปทางตะพานบ้านตะนาว ฯ ๖ คำ ฯ
เมื่อนั้น           ท้าวประดู่ตาพองร้องบอกกล่าว
หยิบงอบครอบหัวตัวสั่นท้าว อ้ายพ่อเจ้าชาวบ้านวานช่วยกัน
วัวน้ำวัวหลวงกูได้เลี้ยง      อิฐมาเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่น
สาเหตุมีมาแต่กลางวัน คงได้เล่นเห็นกันอ้ายลันได
ทั้งนี้เพราะอีมะเหเสือ      จะกินเลือดกินเนื้อกูให้ได้
ขว้างวังครั้งนี้ไม่มีใคร ชู้มึงฤๅมิใช่อีมารยา
พระฉวยได้ไม้ยุงปัดกวัดแกว่ง      สำคัญว่าพระแสงขึ้นเงื้อง่า
เลี้ยวไล่ฟาดฟันกัลยา วิ่งมาวิ่งไปอยู่ในครัว ฯ ๘ คำ ฯ
สับไทย เหม่! เหม่! ดูดู๋อีประแดง      ที่นี้แหละเห็นประจักษ์ว่ารักผัว
หากกูรู้ตัว หัวไม่แตกแตน
ขว้างแล้วหนีไป      มิได้ตอบแทน
ยิ่งคิดยิ่งแค้น เลี้ยวแล่นไล่ตี ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ ทรงเอยทรงกระบอก     น้องไม่เห็นด้วยดอกพระโฉมศรี
ปาวังครั้งนี้ มิใช่ชู้น้อง
สืบสมดังว่า      สัญญาให้ถอง
วิ่งพลางทางร้อง ตีน้องทำไม ฯ ๔ คำ ฯ
เหลือเอยเหลือเถน       ขัดเขมรขบฟันมันไส้
ปรานีมึงไย ใครใช้มีชู้
ไม่เลี้ยงเป็นเมีย      ไปเสียอย่าอยู่
รั้ววังของกู ปิดประตูตีแมว ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
โอ้ เมื่อนั้น            นางประแดะเหนื่อยอ่อนลงนอนแส้ว
ยกมือท่วมหัวลูกกลัวแล้ว กอดก้นผัวแก้วเข้าคร่ำครวญ ฯ ๒ คำฯ
โอ้ โอ้! พระยอดตองของน้อยเอ๋ย     กระไรเลยช่างสลัดตัดเด็ดด้วน
แม้นชั่วช้าจริงจังก็บังควร พ่อมาด่วนมุทะลุดุดันไป
จงตีแต่พอหลาบปราบพอจำ      จะเฝ้าเวียนเฆี่ยนซ้ำไปถึงไหน
งดโทษโปรดเถิดพระภูวไนย น้องยังไม่เคยไกลพระบาทา
ถึงไม่เลี้ยงเป็นพระมเหสี      จะขอพึ่งบารมีเป็นขี้ข้า
ไม่ถือว่าเป็นผัวเพราะชั่วช้า จะก้มหน้าเป็นทาสกวาดขี้วัว
สิบคนเข้าไม่เท่าคนหนึ่งออก      อยู่กับคอกช่วยใช้พ่อทูนหัว
ร่ำพลางทางทุ่มทอดตัว ตีอกชกหัวแล้วโศกา ฯ ๘ คำ ฯ โอด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 มีนาคม 2562 14:33:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 มีนาคม 2562 16:05:05 »

.


ระเด่นลันได
พระมหามนตรี (ทรัพย์)

ร่าย เมื่อนั้น                  ท้าวประดู่ได้ฟังนางร่ำว่า
ให้นึกสมเพชเวทนาน้ำตาไหลนองสักสองครุ
หวนรำลึกนึกถึงอ้ายลันได      กลับเจ็บใจไม่เหือดเดือดดุ
โมโหมืดหน้าบ้ามุทะลุ กระดูกผุเมื่อไรก็ไม่ลืม
กูไม่อยากเอาไว้ใช้สอย      นึกว่าปล่อยสิงห์สัตว์วัดสามปลื้ม
แต่ชั้นทอผ้ายังคาฟืม ดีแต่ยืมเขากินอีสิ้นอาย
แม่เรือนเช่นนี้มิเป็นผล      มันจะลวงล้วงก้นกินจนฉิบหาย
ไปเสียมึงไปไม่เสียดาย         กูจะเป็นพ่อหม้ายสบายใจ
สาวสาวชาววังก็ยังถม      ไม่ปรารมภ์ปรารี้จะมีใหม่
เก็บเงินค่านมผสมไว้ หาไหนหาได้ไม่ทุกข์ร้อน ฯ ๑๐ คำ ฯ
เมื่อนั้น                        นางประแดะหูกลวงดวงสมร
สุดที่จะพรากจากจร บังอรข้อนทรวงเข้าร่ำไร ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ โอ้พ่อใจบุญของเมียเอ๋ย    แปดค่ำพ่อเคยเชือดคอไก่
ต้มปลาร้าตั้งหม้อกับหน่อไม้ เมียยังอาลัยได้อยู่กิน
พระเคยรีดนมวัวให้เมียขาย      แม้สายที่ยังไม่หมดสิ้น
เหลือติดก้นกระบอกเอาจอกริน ให้เมียกินวันละนิดคิดทุกวัน
แต่พอพลบรบเมียเข้ากระท่อม           พ่อนั่งกล่อมจนหลับแล้วรับขวัญ
ในมุ้งยุงชุมพ่อสุมควัน สารพันทรงศักดิ์จะรักเมีย
จะกินอยู่พูวายสบายใจ      พ่อมอบไว้ให้วันละสิบเบี้ย
อกน้องดังไฟไหม้ลามเลีย จะทิ้งเมียเสียได้ไม่ไยดี
เที่ยงนางกลางคืนพ่อทูนหัว      จะให้ออกนอกรั้วลูกกลัวผี
ก้นไต้ก้นไฟก็ไม่มี ผัดรุ่งพรุ่งนี้เถิดพ่อคุณ
ถึงจะไม่ได้อยู่บนตำหนัก      ขอพึ่งพักอาศัยเพียงใต้ถุน
ยกโทษโปรดเถิดพ่อใจบุญ เสียแรงได้เลี้ยงขุนมีคุณมา ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย เมื่อนั้น      ท้าวประดู่ได้ฟังชังน้ำหน้า
น้อยฤๅอีขี้เค้าเจ้าน้ำตายังจะร่ำไรว่ากวนใจกู
เมินเสียเถิดหวาอีหน้ารุ้ง      อย่าพูดอยู่ข้างมุ้งรำคาญหู
ไสหัวมึงออกนอกประตู ขืนอยู่ช้าไปได้เล่นกัน
ว่าพลางปิดบานทวารโผง      เข้าในห้องท้องพระโรงขมีขมัน
ยกหม้อตุ้งก่าออกมาพลัน พระทรงศักดิ์ชักควันโขมงไป ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย เมื่อนั้น            นางประแดะทุกข์ร้อนถอนใจใหญ่
แล้วข่มขืนกลืนกลั้นชลนัยน์ จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้าการ
แต่ทุบตีมิหนำแล้วซ้ำขับ       ให้อายอับเพื่อนรั้วหัวบ้าน
เช้าค่ำร่ำว่าด่าประจาน ใครจะทานทนได้ในฝีมือ
กูจะหาผัวใหม่ให้ได้ดี      เอาโยคีกินไฟไม่ได้ฤๅ
ไหนไหนชาวเมืองก็เลื่องฦๅ  อึงอื้ออับอายขายพักตรา
คว้าถุงเบี้ยได้ใส่กระจาด      ฉวยผ้าแพรขาดขึ้นพาดบ่า
ลงจากบันไดไคลคลา น้ำตาคลอคลอจรลี ฯ ๘ คำ ฯ ทยอย
โอ้ร่าย ครั้นมาพ้นคอกวัวรั้วตาราง     เหลียวหลังดูปรางค์ปราสาทศรี
เคยได้ค้างกายมาหลายปี ครั้งนี้ตกยากจะจากไป
หยุดยืนสะอื้นอยู่อืดอืด      เดือนก็มืดเต็มทีไม่มีไต้
ฝนตกพรำพรำทำอย่างไร ก็หยุดยืนร้องไห้อยู่ที่ร้าน ฯ ๔ คำ ฯ โอด
ช้า เมื่อนั้น       โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน    ยกเชิงกรานสุมไฟใส่ฟืนตอง
แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด      นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง ครางกระหึมครึ้มก้องบนกบทู
แว่วแว่วเค้าแมวในกลีบเมฆ      ดูวิเวกลงหลังคาเที่ยวหาหนู
พระเผยบัญชรแลชะแง้ดู ดาวเดือนรุบรู่ไม่เห็นตัว
พระพายชายพัดอุตพิด      พระทรงฤทธิ์เต็มกลั้นจนสั่นหัว
หอมชื่นดอกอัญชัญที่คันรั้ว      ฟุ้งตลบอบทั่วทั้งวังใน ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย หวนรำลึกนึกถึงนางประแดะ ที่นัดแนะแต่เย็นเป็นไฉน
ดึกแล้วแก้วตาเห็นช้าไป      จะร้องไห้รำพึงถึงพี่ชาย
จำจะไปให้ทันดังสัญญา ได้ย่องเบาเข้าหานางโฉมฉาย
จึงอาบน้ำทาแป้งแต่งกาย      สวมประคำดีควายสำหรับตัว
แหงนดูฤกษ์บนฝนพยับ เดือนดับลับเมฆขมุกขมัว
ลงบันไดเดินออกมานอกรั้ว      โพกหัวกลัวอิฐคิดระอา
หลายครั้งตั้งแต่มันทิ้งกู พระโฉมตรูเหลือบซ้ายแลขวา
แล้วผาดแผลงสำแดงเดชา      เดินมาตามตรอกซอกกำแพง ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถึงคอกโคขังจะเข้าได้ดอกกระมังยังไม่แจ้ง
เห็นกองไฟใส่สุมอยู่แดงแดง      แอบแฝงฟังอยู่ดูท่าทาง
เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัว จะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิรมลอยู่บนปรางค์      กูจะขึ้นหานางทางร่องแมว
จึงกลิ้งครกที่ใต้ถุนเข้าหนุนตีน พระโฉมฉายป่ายปีนอยู่แด่วแด่ว
อกใจไม้ครูดขูดเป็นแนว      จะเห็นรักบ้างแล้วฤๅแก้วตา
พระประหวั่นพรั่นตัวกลัวจะตก ทำหนูกกเจาะเจาะเกาะข้างฝา
ไฉนไม่คอยกันดังสัญญา      อนิจจานอนได้ไม่คอยรับ ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น ท้าวประดู่สุริย์วงศ์โก้งโค้งหลับ
พอปราสาทสะเทือนไหวตกใจวับ      ลุกขยับนิ่งฟังนั่งหลับตา
คิดว่ามเหสีที่ถูกถอง แสบท้องหายโกรธเข้ามาหา
ให้นึกสมเพชเวทนา      สู้ทนทานด้านหน้ามาง้องอน
จะขับหนีตีไล่ไม่ไปจาก อีร่วมเรือนเพื่อนยากมาแต่ก่อน
แล้วคลี่ผ้าคลุมหัวล้มตัวนอน      พระภูธรทำเฉยเลยหลับไป ฯ ๖ คำ ฯ
เมื่อนั้น  ลันไดล้วงสลักชักกลอนได้
เปิดประตูเยื้องย่องเข้าห้องใน      เข้านั่งใกล้ในจิตคิดว่านาง
สมพาสยักษ์ลักหลับขึ้นทับบน ท้าวประดู่เต็มทนอยู่ข้างล่าง
พระสวมสอดกอดไว้มิได้วาง      ช้อนคางพลางจูบแล้วลูบคลำ ฯ ๔ คำ ฯ
เมื่อนั้น  ท้าวประดู่ผุดลุกขึ้นปลุกปล้ำ
ตกใจเต็มทีว่าผีอำ      ต่างคนต่างคลำกันวุ่นไป
เอ๊ะ! จริตผิดแล้วมิใช่ผี จะว่าพระมเหสีก็มิใช่
ขนอกรกนักทักว่าใคร      ตกใจฉวยตะบองร้องว่าคน
ลันไดโดดโผนโดนประตู ท้าวประดู่ร้องโวยขโมยปล้น
ตะโกนเรียกเสนาสามนต์      มันไม่มีสักคนก็จนใจ
ระเด่นโดดโลดออกมานอกรั้ว ผิดตัวแล้วกูอยู่ไม่ได้
ก็ผาดแผลงสำแดงฤทธิไกร      วิ่งไปตามกำลังไม่รั้งรอ ฯ ๘ คำ ฯ
หมาหมูกรูไล่ไม่มีขวัญปล่อยชันสามขาเหมือนม้าห้อ
เต็มประดาหน้ามืดหืดขึ้นคอ      ต้องหยุดยั้งรั้งรอมาตามทาง
ถึงโดยจะไล่ก็ไม่ทัน ผิดนักสู้มันแต่ห่างห่าง
พอแว่วสำเนียงเหมือนเสียงคราง      อยู่ในร้านริมข้างหนทางจร
เอ๊ะ! ผีฤๅคนขนลุกซ่า พระหัตถ์คว้าฉวยอิฐได้สองก้อน
หยักรั้งตั้งท่าจะราญรอน      นี่หลอกหลอนเล่นข้าฤๅว่าไร
ครั้นได้ยินเสียงชัดเป็นสัตรี จะลองฤทธิ์สักทีหาหนีไม่
กำหมัดเยื้องย่องมองเข้าไป      แก่สาวคราวไหนจะใคร่รู้ ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น  นางประแดะนั่งซุ่มคลุมหัวอยู่
สาละวนโศกาน้ำตาพรู      เห็นคนย่องมองดูก็ตกใจ
พอฟ้าแลบแปลบช่วงดวงพักตร์ เห็นระเด่นรู้จักก็จำได้
ทั้งสองข้างถ้อยทีดีใจ      ทรามวัยกราบก้มบังคมคัล ฯ ๔ คำ ฯ
เมื่อนั้น  ระเด่นเห็นนางพลางรับขวัญ
นั่งลงซักไซ้ไล่เลียงกัน      ไฉนนั่นกัลยามาโศกี
พี่หลงขึ้นไปหานิจจาเอ๋ย ไม่รู้เลยน้องแก้วแคล้วกับพี่
พี่ไปพบท้าวประดู่ผู้สามี      เกิดอึงมี่ตึงตังทั้งพารา
มันจะกลับจับพี่เป็นผู้ร้าย จะฆ่าเสียให้ตายก็ขายหน้า
เขาจะค่อนติฉินนินทา      อดสูเทวาสุราลัย
จะเอาเมียแล้วมิหนำซ้ำฆ่าผัว คิดกลัวบาปกรรมไม่ทำได้
พี่ขอถามสาวน้อยกลอยใจ      เป็นไฉนกัลยามาโศกี ฯ ๘ คำ ฯ
เมื่อนั้น  นางประแดะดวงยี่หวามารศรี
สะอื้นพลางทางทูลไปทันที      ทั้งนี้เพราะกรรมได้ทำไว้
ครั้งนี้มิชั่วก็เหมือนชั่ว นางตีอกชกหัวแล้วร้องไห้
ยังจะกลับมาเยาะนี่เพราะใคร      ดูแต่หลังไหล่เถิดพ่อคุณ
เขาขับหนีตีไล่ไสหัวส่ง เพราะพระองค์ทำความจึงวามวุ่น
แต่รอดมาได้เห็นก็เป็นบุญ      อย่าอยู่เลยพ่อคุณเขาตีตาย ฯ ๖ คำ ฯ
เมื่อนั้น  ลันไดได้ฟังนางโฉมฉาย
เขม้นมองดูหลังยังไม่ลาย      พระจูบซ้ายจูบขวาห้าหกที
เอาพระหัตถ์ช้อนคางแล้วพลางปลอบ อย่าพะอืดพะออบเลยโฉมศรี
จะละห้อยน้อยใจไปไยมี      บุญพี่กับนางได้สร้างมา
อันระตูฤๅจะคู่กับนางอนงค์ มิใช่วงศ์อสัญแดหวา
โฉมเฉลาเจ้าเหมือนบุษบา      จรกาฤๅจะควรกับนวลน้อง
ถ้าเป็นระเด่นเหมือนเช่นพี่ จึงควรที่ร่วมภิรมย์ประสมสอง
ตรัสพลางทางชวนนวลละออง      เยื้องย่องนำหน้าพานางเดิน ฯ ๘ คำ ฯ
ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนักตงหักกลัวจะตกงกเงิ่น
ค่อยพยุงจูงนางย่างดำเนิน      ชวนเชิญโฉมเฉลาเข้าที่นอน
ลดองค์ลงเหนือที่ไสยาสน์ พระภู่ปูลาดขาดสองท่อน
แล้วจึงมีมธุรรสสุนทร      อ้อนวอนโฉมเฉลาให้เข้ามุ้ง ฯ ๔ คำ ฯ
โฉมเอยโฉมเฉิดเอนหลังบ้างเถิดจวนจะรุ่ง
เสียแรงพี่รักเจ้าเท่ากระบุง      จะไปนั่งทนยุงอยู่ทำไม
เชิญมาร่วมเรียงเคียงเขนย อย่าทุกข์เลยพี่จะหามาเลี้ยงให้
เรามั่งมีศรีสุขทุกข์อะไร      เงินทองถมไปที่ในคลัง
แต่ข้าวสารให้ทานพี่นี้ฤๅ      ไม่พักซื้อได้ขายเสียหลายถัง
ทั้งปลาแห้งปลาทูปูลัง เสบียงกรังมีมากไม่ยากจน
ขี้คร้านขายนมวัวเหมือนผัวเจ้า      พี่ได้เปล่าสารพัดไม่ขัดสน
จงนั่งกินนอนกินสิ้นกังวล พี่จะขวนขวายหาเอามาเลี้ยง
ว่าพลางทางตระโบมโลมเล้า      อะไรเล่าฮึดฮัดเฝ้าวัดเหวี่ยง
อุแม่เอ๋ยมิให้เข้าใกล้เคียง จะตกเตียงลงไปแล้วแก้วกลอยใจ ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย เมื่อนั้น      นางประแดะคลุ้มคลั่งผินหลังให้
ถอยถดขยดหนีภูวไนย นี่อะไรน่าเกลียดเบียดคะยิก
ลูกผัวหัวท้ายเขาไม่ขาด      ทำประมาทเปล่าเปล่าเฝ้าหยุกหยิก
ปัดกรค้อนควักผลักพลิก อย่าจุกจิกกวนใจไม่สบาย
อย่าพักอวดสมบัติพัสถาน      ไม่ต้องการดอกจะสู้อยู่เป็นหม้าย
หนีศึกปะเสือเบื่อจะตาย เฝ้ากอดก่ายไปได้ไม่ละวาง ฯ ๖ คำ ฯ
ชาตรี สุดเอยสุดลิ่มเชิญผินหน้ามายิ้มกับพี่บ้าง
เฝ้าถือโทษโกรธเกรี้ยวไปเจียวนางไม่เห็นอกพี่บ้างที่อย่างนั้น      
เหมือนน้ำอ้อยใกล้มดใครอดได้ พี่ก็ไม่มีคู่ตุนาหงัน
ตั้งแต่นวดปวดท้องมาสองวันใครจะกลั้นอดทนพ้นกำลัง
ทำไมกับลูกผัวกลัวมันไย      ผิดก็เสียสินไหมให้ห้าชั่ง
จูบเชื่อเสียก็ได้แล้วไม่ฟัง ลูบหน้าลูบหลังนั่งแอบอิง
น้อยฤๅนมแต่ละข้างช่างครัดเคร่ง      ปลั่งเปล่งใจหายคล้ายกล้วยปิ้ง
อุ้มขึ้นใส่ตักรักจริงจริง อย่าสะบิ้งสะบัดตัดไมตรี
ยิ่งดิ้นยิ่งกอดสอดสัมผัส      อุยหน่าอย่ากัดพระหัตถ์พี่
ปัดป้องว่องไวอยู่ในที จนล้มกลิ้งลงบนที่บรรทมใน
อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้อง      ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง
ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่      ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ
นกกระจอกออกจากวิมานมะพร้าว      ต้องฝนทนหนาวอยู่งอนหง่อ
ขนคางหางปีกเปียกจนมอซอ ฝนก็พอขาดเม็ดเสร็จบันดาล ฯ ๑๖ คำ ฯ โลม
ช้า เมื่อนั้น      นางประแดะหูกลวงห่วงสงสาร
ได้ร่วมรักชักเชยก็ชื่นบาน เยาวมาลย์หมอบเมียงเคียงกาย
แล้วเชิญหม้อตุ้งก่าออกมาตั้ง      นางนั่งเป่าชุดจุดถวาย
ทรงศักดิ์ชักพลางทางยิ้มพราย โฉมฉายขวั้นอ้อยคอยแก้คอ
ถูกเข้าสามจะหลิ่มยิ้มแหยะ      นางประแดะสรวลสันต์กลั้นหัวร่อ
พระโฉมยงทรงขับรับเพลงซอ ฉลองหอทรงธรรม์แล้วบรรทม ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
ช้า มาจะกล่าวบทไปถึงนางกระแอทวายขายขนม
เจ้าเงินโปรดปรานพานอุดม นุ่งห่มผืนผ้าค่าบาทเฟื้อง
ผูกดอกออกจากฟากเรือนนาย      ลดเลี้ยวเที่ยวขายข้าวเหนียวเหลือง
ตามตลาดเสาชิงช้ามาเนืองเนือง ปลดเปลื้องเฟื้องไพได้ทุกวัน
กับโฉมยงองค์ระเด่นลันได      รักใคร่กันอยู่ก่อนเคยผ่อนผัน
เชื่อถือซื้อขายเป็นนิรันดร์เว้นวันสองวันหมั่นไปมา ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย วันเอยวันหนึ่ง      คิดถึงลันไดจะไปหา
นึ่งข้าวเหนียวใส่กระจาดยาตรา ตรงมาหาชู้คู่ชมเชย
เที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร้องแล้วท่องเที่ยว       ซื้อข้าวเหนียวหน้ากุ้งกินแม่เอ๋ย
ที่รู้จักทักถามกันตามเคย บ้างเยาะเย้ยหยอกยื้อซื้อหากัน
พอเวลาตลาดวายสายแสง      กระเดียดตระแกรงกรีดกรายผายผัน
ทอดกรอ่อนคอจรจรัล มาปราสาทสุวรรณเจ้าลันได ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
ร่าย ครั้นถึงจึงขึ้นบนนอกชาน      เห็นทวารบานปิดคิดสงสัย
ทั้งเสียงคนพูดกันอยู่ชั้นใน ทรามวัยแหวกช่องมองดู
เห็นโฉมยงองค์ประแดะกับระเด่น      คลี่ผ้าหาเล็นกันง่วนอยู่
โมโหมืดหน้าน้ำตาพรู ดังหัวหูจะแยกแตกทำลาย
นี่เมียอ้ายประดู่อยู่หัวป้อม      ไยจึงมายินยอมกันง่ายง่าย
ทั้งสีจักรยักหล่มถ่มร้าย มันจะให้ฉิบหายขายตน
ชิชะเจ้าระเด่นเพิ่งเห็นฤทธิ์      แต่ผ้านุ่งยังไม่มิดจะปิดก้น
จองหองสองเมียจะเสียคน คิดว่ายากจนเฝ้าปรนปรือ
จึงแกล้งเรียกพลันเจ้าลันได      ค่าข้าวเหนียวสองไพไม่ให้ฤๅ
ผ่อนผัดนัดหมายมาหลายมื้อ แม่จะยื้อให้อายขายหน้าเมีย ฯ ๑๐ คำ ฯ
เมื่อนั้น      โฉมระเด่นลันไดแรกได้เสีย
กำลังนั่งเคล้าเฝ้าคลอเคลียชมโฉมโลมเมียอยู่ริมมุ้ง
ยกบาทพาดเพลาเกาสีข้าง      สัพยอกหยอกนางอย่างลิงถุง
แล้วยื่นมือมาจี้เข้าที่พุง นางสะดุ้งดุกดิกพลิกตะแคง
เขาจะนอนดีดีเฝ้าจี้ไช      ช่างกระไรหน้าเป็นเอ็นแข็ง
จะนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวทำเรี่ยวแรง มาแหย่แย่งกวนใจไปทีเดียว
พอระเด่นได้ยินเสียงเรียกหา      ก็รู้ว่าชู้เก่าเจ้าข้าวเหนียว
จึงร้องว่าใครนั่นขันจริงเจียว จะมาเที่ยวจัณฑาลพาลเอาความ
ค่าข้าวเหนียวสองไพข้าให้แล้ว      มาทำเสียงแจ้วแจ้วไม่เกรงขาม
ไม่ได้ติดค้างมาอย่าวู่วาม ลุกลามสิ้นทีมีแต่อึง ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
เมื่อนั้น      นางทวายยิ่งพิโรธโกรธขึ้ง
ยืนกระทืบนอกชานอยู่ตึงตึง หวงหึงด่าว่าท้าทาย
นี่แน่อ้ายสำเร็จเจ็ดตะคุก      มาลืมคุณข้าวสุกเสียง่ายง่าย
กูเชื่อหน้าคิดว่าลูกผู้ชาย จึงสู้ขายติดค้างยังไม่รับ
ช่างโกหกพกลมประสมประสาน      จะประจานเสียให้สมที่สับปลับ
แต่เบี้ยติดสองไพยังไม่รับ กูสิ้นนับถือแล้วอ้ายลันได ฯ 6 คำฯ  
เมื่อนั้น            ระเด่นตอบตามอัชฌาสัย
เขาขี้คร้านพูดจาอย่าหนักไป ข้ารู้ใจเจ้าดอกกัลยา
เจ้าพิโรธโกรธขึ้งเพราะหึงหวง      จึงจาบจ้วงล่วงเกินเป็นหนักหนา
ข้าผิดแล้วกลอยใจได้เมตตา เชิญเข้าเคหาปรึกษากัน ฯ ๔ คำ ฯ

บทละครเรื่องระเด่นลันได ตามฉบับเดิมที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อน เรื่องต่อไปนี้ไปนางทวายเข้าไปในเรือนเกิดทะเลาะกับนางประแดะ นางทวายไล่ตีนางประแดะลอดล่องหนีไป แล้วระเด่นลันไดโลมนางทวายจนเข้าห้อง เป็นหมดเรื่องเพียงนั้น พอได้เล่มสมุดไทย ๑ หนังสือเรื่องนี้มีผู้ชอบกันมาก มักบ่นกันว่าเสียดายที่จบเสีย จึงมีผู้อื่นแต่งต่อ คิดผูกเรื่องต่ำไป ตามอำเภอใจอีกยืดยาว อย่างเช่นพิมพ์ขายในตลาด สำนวนไม่ถึงตอนต้น ด้วยผู้แต่งไม่มีความสามารถในวรรณคดีเหมือนพระมหามนตรี (ทรัพย์) ทั้งเรื่องที่ต่อก็ไม่เป็นเรื่องจริงดังตอนต้น จึงได้ตัดเสียไม่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คงพิมพ์ แต่ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ง มีฉบับในหอสมุด ฯ เพียงเท่านี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 มีนาคม 2562 14:43:53 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 27 มีนาคม 2562 16:28:35 »

.



บรรยายความ
เรื่อง ระเด่นลันได
ขุนวิจิตรมาตรา : กาญจนาคพันธุ์

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กเล็กๆ เคยได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดเล่นกันบ่อยๆ เช่นว่า “มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม” บ้าง “นางประแดะหูกลวงดวงสมร” บ้าง พูดกันหัวเราะกันสนุกสนาน ตอนนั้นไม่รู้ว่าอะไร ต่อมาได้อ่านหนังสือเรื่อง “ระเด่นลันได” จึงรู้ว่า คำกลอนที่พูดเล่นกันนั้น อยู่ในหนังสือเรื่อง “ระเด่นลันได”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเรื่อง “ระเด่นลันได” ว่า “เรื่องระเด่นลันได เป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่า ครั้งนั้น มีแขกคนหนึ่งชื่อ ลันได ทำนองจะเป็นพวกฮินดู ชาวอินเดีย ซัดเซพเนจรเข้ามาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ เที่ยวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยก็มิใคร่ได้ หัดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า "สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร"  ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทานจนคนรู้จักกันโดยมาก  ในครั้งนั้นมีแขกอีกคนหนึ่ง เรียกกันว่า แขกประดู่ ทำนองก็จะเป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่ที่หัวป้อม(อยู่ราวที่สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรม ทุกวันนี้) มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายู ชื่อประแดะ อยู่มาแขกลันไดกับแขกประดู่ เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้น โดยทำนองที่กล่าวในเรื่องละคอน  คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขันก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่อง จึงคิดแต่งเป็นบทละคอนขึ้น”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “ส่วนบทละคอนเรื่องระเด่นลันได เหตุที่แต่งเป็นดังอธิบายมาข้างต้น ถ้าผู้อ่านสังเกตจะเห็นได้ว่าทางสำนวนแต่ง ดีทั้งกระบวนบทสุภาพ แลวิธีที่เอาถ้อยคำขบขันเข้าสอดแซม บางแห่งกล้าใช้สำนวนต่ำช้าลงไปให้สมกับตัวบท แต่อ่านก็ไม่มีที่จะเขินเคอะในแห่งใด  เพราะฉะนั้น จึงเป็นหนังสือซึ่งชอบอ่านกันแพร่หลายตั้งแต่แรกแต่ง ตลอดมาจนถึงในรัชกาลหลังๆ นับถือกันว่าเป็นหนังสือกลอนชั้นเอกเรื่องหนึ่ง”

บทละคอนเรื่องระเด่นลันไดนี้ ใครๆ ที่ได้อ่าน อาจจะเห็นว่า พระมหามนตรีทรัพย์ แต่งให้เป็นตลกเล่นขันๆ เท่านั้น แต่ถ้าเราได้อ่านบทละคอนเรื่องอิเหนาหรือรามเกียรติ์แล้วนึกเทียบเคียงดู เราจะเห็นว่า วิธีแต่งของพระมหามนตรีทรัพย์ ไม่เพียงแต่ขันอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยความขำและคมคาย อันเป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่ง พระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องอิเหนา หรือรามเกียรติ์เป็นเรื่องสูง เป็นเรื่องของกษัตริย์ ส่วนเรื่องระเด่นลันไดเป็นเรื่องต่ำ เป็นเรื่องของคนสามัญ แต่สมมุติขึ้นให้เป็นกษัตริย์ การใช้ถ้อยคำอะไรๆ จึงต้องให้เป็นอย่างกษัตริย์  พระมหามนตรีทรัพย์เข้าใจพลิกแพลงเอาคำหรือความที่เป็นของต่ำมาตัดกัน หรือมาเทียบกันให้ตรงกันข้ามอย่างเหมาะสมที่สุด ขอยกกลอนขึ้นต้นเรื่องระเด่นลันไดมาเป็นตัวอย่างดังนี้


"มาจะกล่าวบทไป ถึงระเด่นลันได “อนาถา”
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา    ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

ในกลอนนี้ พระมหามนตรีทรัพย์ เล่นคำว่า “นาถา” คำว่า “นาถา” เป็นคำสูง แปลว่า “ที่พึ่ง” กลอนในบทละคอนมักใช้เสมอ เช่นในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ แห่งหนึ่งว่า “เมื่อนั้น พระตรีภพลบโลกนาถา

ในระเด่นลันได พระมหามนตรีทรัพย์ เลียนคำนี้ แต่แทนที่จะใช้ว่า “นาถา” กลับเอาคำว่า “อนาถา” ซึ่งรู้จักกันดี มาใช้ให้คู่กับคำว่า “นาถา” ดังนี้เราจะเห็นว่า พระมหามนตรีทรัพย์ เข้าใจเล่นคำด้วยความคิดอันคมคาย ทั้งขำทั้งขันเหมาะสมกับกษัตริย์ระเด่นลันได เข้าทีนักทีเดียว


"อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน     กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม      คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย

ปราสาท เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน มี “ยอดแหลม” ใครๆ ก็รู้จัก พระมหามนตรีทรัพย์ แต่งเป็น “ยอดด้วน” กำแพงแก้วเป็นเขตกั้น บ้านราษฎรสามัญมีรั้ว ทำอย่างเลวๆ ก็ใช้เรียวหนามคือไม้ที่มีหนามกั้น พระมหามนตรีทรัพย์ เอา “กำแพงแก้ว” กับ “เรียวหนาม” มาเข้าคู่กัน ในกลอนต่อๆ ไป ก็ใช้คำสูงหรือของสูง กับคำต่ำหรือของต่ำมาตัดกันทำนองนี้ตลอดเรื่อง การลำดับความในเรื่อง ก็เข้าใจสรรเอาคำมาใช้ให้ได้สัมผัสกลมกลืนเข้ากับท้องเรื่อง เช่น กลอนลงคำว่า “โบสถ์พราหมณ์” แล้วก็กลับไปกล่าวถึงที่อยู่ ได้คำว่า “เรียวหนาม” ต่อไปเป็น “โมงยาม” และ “ปราบปราม” เข้ากันสนิทสนมกลมกลืนดีนัก

มีกลอนในเรื่องระเด่นลันไดแห่งหนึ่งที่อาจทำให้ท่านผู้อ่านในสมัยปัจจุบันเข้าใจว่าแต่งตลกเล่นๆ คือกลอนว่า
          “เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา
          ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง”


ทั้งนี้ก็เพราะกลอนข้างต้นว่าระเด่นลันได อยู่แถวโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า แถวนั้นปัจจุบันไม่มีคลอง คลองมีก็อยู่ไกล เช่น คลองวัดมหรรณพ์ คลองสะพานถ่าน หรือคลองหลอด ไม่น่าที่ระเด่นลันไดจะไปสระสรงคงคาไกลอย่างนั้น ก็คงจะแต่งเล่นขันๆ เท่านั้นเอง แต่ความจริงแถวนั้นแต่ก่อนมีคลอง คือคลองซอยระหว่างคลองวัดมหรรณพ์ กับคลองสะพานถ่าน ซึ่งอยู่ข้างวัดสุทัศน์ด้านตะวันออก (เดี๋ยวนี้ถมเป็นสนามหญ้ากลางถนน)

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ขุดคลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่างขึ้นเป็นคูเมือง เสร็จแล้วขุดคลองเล็กเชื่อมคลองบางลำพูกับคลองตลาด ซึ่งเป็นคูเมืองธนบุรีเดิมขึ้นอีก ๒ คลอง เรียกว่า “คลองหลอด” คือคลองวัดมหรรณพ์กับคลองสะพานถ่าน สำหรับชักน้ำให้ถึงกัน สองคลองนี้ เป็นคลองหลอดแท้ ต่อมาเมื่อใดก็ไม่ทราบ คนเอาชื่อ “คลองหลอด” ไปใช้เรียก “คลองตลาด” เสีย แล้วมาเรียกคลองหลอดแท้ที่อยู่ทางเหนือว่า “คลองวัดมหรรณพ์” บ้าง “คลองวัดเทพธิดา” บ้าง และเรียก “คลองวัดสิริ” ก็มี ส่วนที่อยู่ทางใต้ เรียก “คลองสะพานถ่าน” บ้าง “คลองวัดสุทัศน์” บ้าง และเรียก “คลองวัดราชบพิธ” ก็มี จะเป็นคราวเดียวกับที่ขุดคลองหลอดทั้งสองนี้ หรือเมื่อใดไม่ทราบ ได้มีคลองซอยเชื่อมคลองหลอดทั้งสองอีกคลองหนึ่ง อยู่ติดกับวัดสุทัศน์ด้านตะวันออกดังกล่าวแล้ว คลองนี้ตัดถนนเสาชิงช้า หรือถนนบำรุงเมือง มีสะพานข้าม ชั้นเดิมอาจจะเป็นสะพานแบบสะพานช้าง อย่างในกลอนพระราชนิพนธ์อิเหนาว่า

          “สะพานช้างทางข้ามคชสาร
          ก่ออิฐปูกระดานแน่นหนา”


ทั้งนี้เพราะปรากฏว่า ช้างที่นำมาจากนครนายก ปราจีน ฯลฯ นั้น มาลงน้ำข้ามคลองบางลำพู ราวที่สะพานผ่านฟ้ามาขึ้นที่ริมกำแพงเมือง แล้วเดินเลียบกำแพงเมืองมาเข้าประตูผี มาตามถนนเสาชิงช้า สะพานที่ข้ามคลองริมวัดสุทัศน์นี้ก็จะต้องเป็นสะพานช้าง และถนนเสาชิงช้านี้ ก็ยังมีสะพานช้างข้ามคลองตลาดที่เรียกว่า “สะพานช้างโรงสี” แปลว่าถนนเสาชิงช้านี้เป็นทางเดินของช้างมาแต่โบราณ สะพานที่ข้ามคลองสองแห่งก็จะต้องเป็นสะพานช้างเหมือนกัน สะพานช้างวัดสุทัศน์เดิมจะมีชื่อเรียกอย่างไรไม่ทราบ มาเมื่อสร้างเป็นสะพานแบบใหม่เป็นรูปโค้งขึ้นไปสูง มีชื่อเรียกว่า “สะพานเจริญทัศน์” คลองซอยริมวัดสุทัศน์นี้ ถมเสียเมื่อราว ๓๐ ปีมานี้ สะพานเจริญทัศน์เลยสูญไปด้วย

ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ทางที่นับว่าเป็นถนนใหญ่มีสายเดียว คือสายที่ตั้งต้นจากสะพานช้างโรงสี ผ่านเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ไปจดประตูผีที่กำแพงเมือง เรียกว่าถนนเสาชิงช้าหรือถนนบำรุงเมือง เรียกว่าถนนเสาชิงช้าหรือถนนบำรุงเมืองดังกล่าวแล้ว ถนนอื่นยังไม่มี จะมีก็แต่เป็นเพียงทางเดิน เช่นทางที่เป็นถนนบ้านตะนาว (หน้าวัดมหรรณพ์) ต่อทางที่เป็นเฟื่องนคร (หลังกระทรวงมหาดไทย) ที่บริเวณเสาชิงช้าก็มีทางที่เป็นถนนตีทอง (ข้างวัดสุทัศน์ด้านตะวันตก ตรงไปเฉลิมกรุง) และทางที่เป็นถนนดินสอ (จากบริเวณเสาชิงช้า ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถนนตีทองนั้น เป็นทางตรงอยู่ฟากเดียว คือฟากวัดสุทัศน์ ส่วนอีกฟากหนึ่ง แม้เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กๆ ก็ยังได้เห็นบ้านเรือนปลูกยักไปเยื้องมา บางบ้านอยู่ยื่นล้ำออกมาถึงกลางถนนก็มี แสดงว่ายังไม่เป็นรูปถนนตรงแท้ ทางอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน แปลว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น บ้านเรือนจะเป็นแนวดี ก็เฉพาะที่เป็นเสาชิงช้าเท่านั้น นอกนั้น คงจะเกะกะรุงรังอยู่มาก

ตลาดเสาชิงช้าที่เป็นตลาดประจำนั้น เดิมทีเดียวผู้ใหญ่บอกว่าอยู่ทางใต้ของโบสถ์พราหมณ์ คืออยู่ราวที่เป็นตึกแถว ๓ ชั้น ตรงกับถนนตีทองปัจจุบันนี้ ที่บริเวณที่ตั้งเสาชิงช้าตรงที่เป็นสนามกีฬาของเทศบาลในปัจจุบันนี้ เดิมทีเดียวคงจะเป็นลาน จึงอาจจะติดตลาดกันบ้างแบบตลาดแผงลอยก็ได้ แปลว่าแถวโบสถ์พราหมณ์นั้น เป็นตลาดที่ขายของต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตั้งโรงแก๊สสำหรับจุดไฟขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเกิดไฟลุกขึ้นจึงย้ายโรงแก๊สมาสร้างขึ้นที่ตรงลานริมเสาชิงช้านั้น สร้างเป็นตึกมั่นคง มีประตูใหญ่ (แบบเดียวกับตึกกองมหันตโทษที่ถนนหน้าหับเผย ปัจจุบันรื้อเป็นที่ทำการเนติบัณฑิตยสภาเสียแล้ว) ภายในตึกตรงกลางทำเป็นสระใหญ่ เลี้ยงจระเข้ด้วย ต่อมาเกิดมีโรงไฟฟ้าขึ้น จึงรื้อโรงแก๊สทำเป็นตลาด สร้างเป็นตึกแถวยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมสี่ด้าน มุมบรรจบกัน ภายในตรงกลางเป็นตลาดใหญ่ ตึกแถวทั้งสี่ด้าน ตรงกลางเว้นเป็นช่องคูหาสำหรับเข้าตลาด ตึกแถวด้านใต้ตรงกับเสาชิงช้าเป็นพวกขายของเบ็ดเตล็ด หน้าตึกแถวปลูกต้นหูกวางเป็นระยะไป เวลามีพิธีโล้ชิงช้า สร้างโรงมาฬกสำหรับพระยายืนชิงช้านั่ง หน้าตึกแถวค่อนไปทางสะพานเจริญทัศน์ รูปร่างคล้ายเพิง ๓ โรง ที่ลานตรงหน้าโรงมาฬก ตั้งขันสาครใหญ่สำหรับพราหมณ์นาฬีวันที่โล้ชิงช้า ๑๒ คน เสร็จแล้วมารำเสนง คือทุกคนถือเสนง หรือเขาควายรำเวียนไปรอบๆ ขันสาคร พลางเอาเสนงวิดน้ำในขันสาคร สาดไปเรื่อยๆ จนครบ ๓ รอบ ตึกแถวด้านตะวันตกทางถนนดินสอ ตั้งแต่หัวมุมไปจนจดคูหาตรงกลาง ขายเครื่องรูปพรรณทองเหลือง เช่น สายสร้อย กำไล แหวน ตุ้มหู ฯลฯ ที่เรียกกันว่า “ทองเสาชิงช้า” อย่างสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ว่า

หาทองแท้แก้ไขมันไม่คล่อง
ต้องเอา “ทองเสาชิงช้า” น่าใจหาย


ตลาดเสาชิงช้า เดิมคงจะเป็นแหล่งขายเครื่องรูปพรรณทองเหลือง พวกขายเครื่องทองเหลืองจึงได้เข้าอยู่ในตึกแถวนั้น ค้าเครื่องทองเหลืองต่อมาตลอดทั้งแถว ตึกแถวต่อจากคูหาไปจนจดมุม ส่วนมากเป็นที่เช่าอยู่อาศัย ตึกแถวด้านเหนือ (เรียกว่าหลังตลาด) ส่วนมากเป็นโกดังเก็บสินค้า ตึกแถวด้านตะวันออกริมคลองซอยวัดสุทัศน์ ส่วนมากเป็นที่เช่าอยู่อาศัย เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กยังจำได้ว่า ห้องหนึ่งเป็นที่อยู่ของข้าราชการคนหนึ่ง มีราชทินนามว่า “ขุนศรีศุภหัตถ์” เป็นช่างเขียนหรือจิตรกรมีชื่อ วันหนึ่งจะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ เกิดอาละวาดถือดาบไล่ฟันคนจนตำรวจต้องล้อมจับกันโกลาหล เป็นเรื่องอึกทึกครึกโครม จนถึงมีผู้แต่งเป็นแหล่เทศน์ไว้ด้วย

ตลาดเสาชิงช้าสมัยที่เป็นตึกนี้ เป็นตลาดใหญ่โตกลางพระนคร เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากที่สุด ต่อมาเลิกตลาดใช้เป็นที่ทำการของเทศบาลอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็รื้อ กลายเป็นสนามกีฬาของเทศบาล ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เล่าเรื่องตลาดเสาชิงช้าย่อๆ มาแล้ว ทีนี้จะได้ย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องระเด่นลันได ต่อไปใหม่

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ดินตรงที่เป็นสนามกีฬาเทศบาลปัจจุบันนี้ นอกจากเป็นลานบริเวณตัวเสาชิงช้าแล้ว คงจะเป็นบ้านเล็กเรือนน้อยมาก “ปราสาทเสาคอดยอดด้วน” ของระเด่นลันได คงจะอยู่แถวริมคลองซอยวัดสุทัศน์ ดังกล่าวแล้ว ระเด่นลันไดจะต้องอาบน้ำในคลองนั้น ที่พระมหามนตรีทรัพย์ แต่งว่า

เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา
ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง


จึงจะต้องเป็นความจริง ไม่ใช่นึกแต่งไปเล่นๆ เพื่อจะให้สนุกขบขัน

เรื่องระเด่นลันไดเป็นเรื่องจริง ดังปรากฏตามคำอธิบายของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพที่กล่าวข้างต้นแล้ว สถานที่ต่างๆ ตามคำกลอนในเรื่อง จึงจะต้องเป็นความจริงด้วย เท่าที่พิจารณาดูก็สอดคล้องกันดี ปัจจุบันอะไรๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีอะไรๆ เป็นเค้าอยู่บ้างรางๆ ท้าวประดู่นั้นเลี้ยงวัว กลอนตอนหนึ่งกล่าวถึงท้าวประดู่ว่า

มาเอยมาถึง
เมืองหนึ่งสร้างใหม่ดูใหญ่กว้าง
ปราสาทเสาเล้าหมูอยู่ตรงกลาง
มีคอกโคอยู่ข้างกำแพงวัง”


อีกตอนหนึ่งท้าวประดู่วิวาทกับนางประแดะ มีกลอนว่า


“บัดนั้น      พวกหัวไม้กระดูกผีขี้ข้า
บ่อนเลิกกินเหล้าเมากลับมา ได้ยินเสียงเถียงด่ากันอื้ออึง
จึงหยุดนั่งข้างนอกริมคอกวัว      ว่าเมียผัวคู่นี้มันขี้หึง
พอพลบค่ำราตรีตีตะบึง อึงคะนึงนักหนาน่าขัดใจ
แล้วคว้าก้อนอิฐปาเข้าฝาโผง      ตกถูกโอ่งปาล้อแลหม้อไห
พลางตบมือร้องเย้ยเผยไยไย แล้ววิ่งไปทางตะพานบ้านตะนาว”

ปัจจุบัน ที่ถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนตะนาว มีชื่อว่า “สี่แยกคอกวัว” ทำให้เข้าใจว่า แถวนั้นแต่โบราณมาจะต้องเป็นที่เลี้ยงวัว ชื่อ “สี่แยกคอกวัว” จึงได้ติดมาจนทุกวันนี้ เมืองของท้าวประดู่ว่าอยู่ทางหัวป้อม ดังมีกลอนตอนท้าวประดู่กลับจากเลี้ยงวัวว่า

ครั้นถึงขอบรั้วริมหัวป้อม

คำว่า “ป้อม” จะหมายถึงอะไรไม่ทราบแน่ แต่เมื่อคิดย้อนไปถึงสมัยธนบุรี ราชธานีตั้งอยู่สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฟากตะวันออกมีคลองตลาด (หรือที่มาเรียกกันว่าคลองหลอด) เป็นคูเมือง มีกำแพงเมืองยาวตลอดแนวคลอง มีป้อมเช่นป้อมวิชเยนทร์อยู่ตรงโรงเรียนราชินีปัจจุบันนี้ ป้อมนั้นเข้าใจว่าจะต้องมีหลายป้อม คลองตลาดนั้นหักโค้งเป็นมุมตรงสะพานผ่านพิภพปัจจุบัน จึงเข้าใจว่าตรงมุมโค้งก็จะต้องมีป้อมด้วย และแถวสะพานผ่านพิภพ น่าจะเรียกกันว่า “ตำบลหัวป้อม” ดังนั้นปราสาทของท้าวประดู่ที่ว่าอยู่หัวป้อม ก็เห็นจะอยู่แถวถัดสะพานผ่านพิภพขึ้นมา และมีคอกวัวอยู่ต่อขึ้นมา ซึ่งก็คงจะเป็นแถวสี่แยกคอกวัวปัจจุบันนี้นั่นเอง พวกหัวไม้ที่ขว้างปราสาทท้าวประดู่ คงจะอยู่มาทางสี่กั๊กเสาชิงช้า (คือที่ถนนตะนาว ซึ่งแต่ก่อนเรียกกันว่า “ถนนบ้านตะนาว” ตัดกับถนนบำรุงเมือง) “บ่อนถั่วโป” คงจะเป็นบ่อนที่ตลาดยอดบางลำพู (ประตูใหม่) เมื่อบ่อนเลิก พวกนั้นเดินกลับจะมาทางเสาชิงช้า ผ่านคอกวัวของท้าวประดู่ได้ยินเสียงเอะอะจึงเอาอิฐขว้างแล้ววิ่งไปทางสะพานบ้านตะนาวตามที่กลอนว่าสะพานบ้านตะนาวนี้ก็คงจะเป็นสะพานข้ามคลองหลอดตรงหน้าวัดมหรรณพ์ ทั้งนี้เพราะถนนบ้านตะนาว หรือถนนตะนาวมีสะพานข้ามคลองหลอด ตรงหน้าวัดมหรรณพ์สะพานเดียวเท่านั้น สมัยรัชกาลที่ ๓ คงจะเรียกกันว่า “สะพานบ้านตะนาว” สะพานนี้ ต่อมาเรียกกันว่า “สะพานวัดมหรรณพ์” สะพานเดิมคงจะเป็นสะพานไม้กระดานทอด เท่าที่เห็นในสมัยต่อมา เป็นสะพานก่ออิฐโค้งสูงแบบเดียวกับสะพานข้ามคลองหลอดใต้ตรงวัดราชบพิธ (ถนนสายเดียวกัน คือถนนตะนาว ตั้งแต่ตอนสี่กั๊กเสาชิงช้ามาวัดราชบพิธ ต่อมาเรียกถนนเฟื่องนคร) สะพานวัดราชบพิธนี้ เรียก “สะพานเฉลิมพงศ์” แต่สะพานวัดมหรรณพ์ ไม่เห็นมีชื่อ ปัจจุบันรื้อหมดแล้ว ทำเป็นสะพานราบแนวเดียวกับถนนดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ว่าถึงเรื่องระเด่นลันได ที่เป็นบทละคอน (ละคอนรำ) เข้าใจว่าพระมหามนตรีทรัพย์ คงจะรู้สึกว่า ถ้าแต่งเป็นกลอนอย่างธรรมแล้วคงจะไม่ขำ สู้แต่งเป็นบทละคอนไม่ได้ เพราะมีอะไรๆ ที่จะเลียนบทบาทของท้าวพระยามหากษัตริย์ได้มาก พิเคราะห์ดูให้ดีก็จะเห็นเช่นนั้นจริงๆ คือถ้าแต่งเป็นกลอนนิยายธรรมดาแล้ว จะสู้แต่งเป็นบทละคอนไม่ได้แน่ ความขำอยู่ที่แต่งเป็นบทละคอนนี้เป็นข้อเด่น  อนึ่ง ลักษณะที่แต่งเป็นบทละคอนนั้นรู้สึกว่าพระมหามนตรีทรัพย์ รอบรู้แบบแผนของละคอนรำเป็นอย่างดีด้วย ทั้งนี้เพราะการแต่งกลอนธรรมดากับกลอนละคอน แม้จะเป็นกลอนสุภาพแบบเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน การแต่งกลอนเป็นนิยายธรรมดา แต่งไปได้ตามท้องเรื่องที่จะดำเนินการไปอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องพะวงถึงอะไร แต่การแต่งกลอนละคอน จะต้องคำนึงถึงบทบาทของตัวละคอนเป็นระยะๆ ไป ต้องคำนึงถึงเพลงร้องซึ่งกำหนดลงเป็นคำคำหนึ่งเท่ากับ ๒ วรรคของกลอน, ๔ วรรค ครบบริบูรณ์ตามลักษณะของกลอนเท่ากับ ๒ คำ เพลงร้องสำหรับละคอนรำ อาจจะมี ๒ คำ หรือ ๔ คำ ๖ คำ๘ คำ ฯลฯ แล้วแต่จะเหมาะสำหรับบทบาทตอนนั้นๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงหน้าพาทย์ ไว้จังหวะที่จะลงหน้าพาทย์สำหรับตัวละคอน เช่น เดิน นอน ร้องไห้ ฯลฯ  การแต่งกลอนเรื่องธรรมดา ไม่ต้องคำนึงถึงลักษณะต่างๆ ดังกล่าว  วางโครงเรื่องไว้อย่างไรก็แต่งไปตามชอบใจ เหตุนี้กลอนธรรมดาจึงเอามาเล่นเป็นละคอนไม่ถนัด เช่นเรื่องพระอภัยมณีหรือขุนช้างขุนแผน จะเอามาเล่นเป็นละคอนรำ จะเล่นไปตามกลอนในเรื่องแท้ๆ ไม่ได้ ต้องเอามาดัดแปลงแต่งใหม่ ให้เข้ากับกระบวนละคอนรำ กลอนเรื่องธรรมดาหรือกลอนอะไรก็ตาม จะนับเป็นคำก็ได้ คือนับ ๒ วรรคเป็นคำ แบบเดียวกับกลอนละคอน แต่เราไม่นิยมนับกัน นอกจากต้องการจะรู้ว่าบทกลอนนั้นยาวเท่าใดจึงนับกัน หรือว่าให้แต่งกลอนยาวเท่านั้นๆ คำ เช่นให้แต่ง ๒๐ คำกลอน ๔๐ คำกลอน เป็นต้น

เรื่องระเด่นลันได พระมหามนตรีทรัพย์ แต่งเป็นรูปละคอนรำแท้ ได้ใส่เพลงร้องและหน้าพาทย์ไว้ด้วยบางแห่งดังที่มีปรากฏอยู่ในเรื่องนั้น ขอนำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างเล็กน้อย เช่นเริ่มต้นกล่าวถึงระเด่นลันได มีคำว่า “ช้าปี่” ช้าปี่เป็นเพลงสำหรับตัวท้าวพระยามหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญที่เริ่มจะกล่าวถึง เพลงนี้มี ๔ คำ ต่อไปขึ้นความใหม่ “เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง” ไม่ใส่เพลงไว้ แต่ผู้ชำนาญการละคอนและเพลงอาจจะใส่ทำนองเพลงอะไรให้เหมาะกับความนั้นได้ ตอนนี้มี ๔ คำเหมือนกัน ต่อไปขึ้นความใหม่ “ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง” ใส่เพลงร่าย มี ๒ คำ แล้วลงหน้าพาทย์ “เสมอ” เป็นท่าสำหรับออกเดินต่อไป “กระโดดดำสามทีสีเหงื่อไคล” ใส่เพลง “ชมตลาด” เพลงนี้นิยมใช้กับการแต่งตัว มี ๖ คำ แล้วลงหน้าพาทย์เป็น “เพลงช้า” คือเดิน ต่อไปขึ้นความใหม่ “มาเอย มาถึง” ใส่เพลง “ร่าย” มี ๔ คำ ถึง “พระทรงศักดิ์หยักรั้งคอยราญรอน” ใส่หน้าพาทย์เป็น “เชิด

สรุปความว่า พระมหามนตรีทรัพย์แต่งเรื่องระเด่นลันไดให้เป็นแบบละคอนรำ ใส่เพลงสำหรับร้องไว้เป็นระยะๆ ไป ชื่อเพลงใส่ไว้เมื่อขึ้นความใหม่ตามทำนองที่ละคอนรำนิยมใช้สำหรับบทบาทนั้นๆ เช่นต่อไปก็มีเพลง “ชมโฉม” ชมนางประแดะ เพลง “โอ้โลม” ตอนเกี้ยว ฯลฯ เพลงหน้าพาทย์ใส่ไว้ตอนท้ายความ เช่นต่อไปก็มีเพลง “โอด” ตอนร้องไห้ เพลง “รัว” ตอนขว้างบ้าน เพลง “ทะยอย” ตอน โศก เพลง “ตระ” ตอนนอน ฯลฯ  ใครได้อ่านเรื่องระเด่นลันได เข้าใจวิธีการละคอนรำ แล้วเอาไปนึกเทียบเคียงกับบทละคอนรำเช่นอิเหนาหรือรามเกียรติ์แล้วจะเห็นว่า พระมหามนตรี แต่งดีนักหนา

กลอนที่พระมหามนตรีทรัพย์แต่งยังมีเพลงยาวแต่งว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เรื่องหนึ่ง (แต่งเมื่อพระยามหาเทพ มียศเป็นจหมื่นราชามาตย์) กับเพลงยาวกลบท “กบเต้นสามตอน” อีกเรื่องหนึ่ง (ซึ่งพิมพ์ไว้ตอนท้ายเรื่องระเด่นลันไดในหนังสือเล่มนี้) ทั้งสองนี้พอจะนำมาเทียบเคียงกันกับเรื่องระเด่นลันไดได้ คือเรื่องระเด่นลันไดแต่งเป็นอย่างกลอนบทละคอนแท้ ส่วนอีกสองเรื่องนั้น แต่งเป็นกลอนสุภาพธรรมดาที่เรียกกันว่า“เพลงยาว” ไม่บอกกำหนดเป็นคำอย่างละคอนรำ แต่จะนับเป็นคำก็ได้ คือเพลงยาวว่าพระยามหาเทพ นับเป็นคำได้ ๕๓ คำครึ่ง (กลอนเพลงยาว ขึ้นต้นนิยมใช้ครึ่งคำ) กลอนกลบทนับได้ ๑๑ คำครึ่ง กลอนเรื่องธรรมดา จะเป็นเพลงยาว นิยาย หรือนิราศอะไรๆ จะยาวเท่าใดก็ได้ ไม่กำหนดหรือไม่มีเป็นคำอย่างกลอนละคอนรำ

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงเพลงยาวเรื่องพระยามหาเทพว่า “เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) นั้น เล่ากันมาว่า เป็นแต่ลอบแต่ง แล้วเขียนมาปิดไว้ที่ทิมดาบตำรวจ ในพระบรมมหาราชวัง ผู้อื่นเห็นก็รู้ว่าเป็นฝีปากพระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องว่ากล่าว มีแต่ผู้ลอกคัดเอาไป (แล้วเห็นจะเลยฉีกทิ้งต้นหนังสือเสียจึงไม่เกิดความฐานทอดบัตรสนเท่ห์) ด้วยครั้งนั้น มีคนชังพระยามหาเทพ (ทองปาน) อยู่มากด้วยกัน เพลงยาวนั้นก็เลยแพร่หลาย”

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มีกล่าวถึงพระยามหาเทพ (ทองปาน) ไว้เหมือนกัน ความว่า
“ในเดือน ๑๒ ข้างแรมนั้น มีการอัศจรรย์ควรจะกล่าวไว้ ด้วยพระยามหาเทพ (ปาน) ทำผ้าป่าจะไปทอดที่วัดบวรมงคล มีนายเวร ขุนหมื่น ผู้คุมในกรม และขุนนาง เจ๊สัว จุ้นจู๊ ขุนพัฒน์ และชาวแพ มาขออาสารับฎีกาไปทำมากกว่ามากจนเหลือ พระในวัดต้องเอาไปทอดวัดอื่นๆ ต่อไป ผ้าป่านั้นทำประกวดประชันกัน เป็นกระจาด ๓ ชั้นบ้าง ๔ ชั้นบ้าง เป็นยักษ์ใหญ่บ้าง เป็นรูปสัตว์ต่างๆ บ้าง เป็นอศุภบ้าง มีเครื่องเล่นสำหรับกระจาดทุกกระจาด จะพรรณนาก็ยืดยาว ลงทุนเจ้าของหนึ่งก็หลายชั่งไม่เสียดาย คิดแต่จะให้เจ้าคุณมีความกรุณาอย่าให้ข่มเหงอย่างเดียว เจ้าคุณนั้นก็ทำยศเหมือนอย่างในหลวง ผูกแพใหญ่ขึ้นบนเรือที่ปากคลองหน้าบ้าน แล้วก็ลงมานั่งอยู่ในแพ มีหม่อมๆ ละคอนและมโหรี ห่มแพรสีทับทิมลงมาหมอบเฝ้าดูผ้าป่าอยู่หน้าแพ ก็เป็นการเอิกเกริกอย่างใหญ่ในแผ่นดินครั้งหนึ่ง ถึงโดยว่าเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่จะทำบ้างก็ไม่ได้เช่นนั้น และเมื่อปีฉลู ตรีศกนั้น กรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ เป็นถึงพระราชบุตรี โปรดปรานมาก คนก็เข้าพึ่งพระบารมีแทบทั้งแผ่นดิน ทำผ้าป่ากระจาดใหญ่ขึ้นที่หน้าพระตำหนักน้ำครั้งหนึ่ง ก็ยังสู้พระยามหาเทพไม่ได้ พระยามหาเทพทำครั้งนั้นก็เพื่อจะลองบุญวาสนา ว่าตัวกับกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ ผู้คนจะยำเกรงนับถือใครมากกว่ากัน จึงได้คิดทำประกวดประชันขึ้นบ้าง ทำการศพพี่หญิงก็ครั้งหนึ่ง ทำการศพบุตรหญิงก็ครั้งหนึ่ง แต่ผู้เอาผ้าแลของไปช่วยขุนนาง ดูเหมือนจะหมดทั้งแผ่นดิน เจ๊สัว เจ้าภาษี นายอากร จุ้นจู๊ และราษฎรชาวแพแทบจะหมด ผ้าขาวใช้ในการศพทำบุญให้ทานก็ไม่หมด แต่เหลืออยู่หลายพันพับ ครั้นทีตัวตายลงบ้างก็ไม่มีใครไปช่วย ได้ผ้าขาวไม่ถึงร้อยพับ แต่ชั้นหีบก็ไม่มีผู้ใดคิดต่อให้ บุตรภรรยาก็มัวแต่วิวาทจะชิงสมบัติกัน หลวงเสนาวานิชไปอยู่ที่นั่น เห็นว่าไม่มีผู้ใดทำหีบ ก็ไปเรียกบ่าวไพร่ของตัวมาช่วยต่อหีบขึ้น จึงได้ไว้ศพ อันนี้ก็เป็นที่น่าสังเวชอย่างหนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ผู้คนบ่าวไพร่ทั้งชายหญิงมีใช้อยู่ในบ้านกว่าพัน กล่าวไว้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายภายหน้ารู้ไว้ การเบียดเบียนข่มเหงคนทั้งปวง ให้ได้ความเดือดร้อน เมื่อตนยังปกติมีชีวิตอยู่พอเป็นสุขสบายไปได้ สิ้นชีวิตไปแล้ว ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องใช้บ่าวทาส ก็ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป บุตรก็ไม่ได้สืบตระกูล และบ้านเรือนโตใหญ่ก็เป็นป่าช้าไปทั้งสิ้น”

ในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงอสัญกรรมของพระยามหาเทพ (ทองปาน) ว่า ไปปราบจีนอั้งยี่ที่เมืองสมุทรสาคร ถูกพวกอั้งยี่ยิงที่ท้อง กลับมาบ้านได้ ๓ วัน ก็ถึงแก่อนิจกรรม

เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์นี้ แต่งพรรณนาความมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไว้ยศไว้อย่าง ตรงกับที่ในพระราชพงศาวดารว่า “ทำยศเหมือนอย่างในหลวง” ใช้ถ้อยคำให้มีอะไรๆ ดูเป็นพระเอกละคอนรำ ชวนให้ขำๆ เข้าทีดีแท้ เช่นแห่งหนึ่งว่า

จะเข้าวังตั้งโห่เสียสามหน 
ตรวจพลอึกทึกกึกก้อง


ด้วยละคอนรำ เวลาพระเจ้าแผ่นดินหรือตัวละคอนสำคัญจะยกทัพ มีโห่และตรวจพล อีกแห่งหนึ่งว่า

ถึงวันพระไม่ได้ชำระความในวัง 
ออกมานั่งหอนอกออกแขกเมือง”


หมายความว่า ออกรับ “แขก” คือคนที่มาหา แต่เติมคำว่า “เมือง” เข้าไป เป็น “แขกเมือง” ซึ่งเป็นคำเก่าสำหรับใช้กับชาวต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองเป็นพิเศษ เช่นมาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน มีคำบางคำที่คนชั้นหลังอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจ จึงบอกไว้เล็กน้อย

ประกอบหมดยศศักดิ์แลทรัพย์สิน
เจ๊กจีนกลัวกว่าราชาเศรษฐี


ปัจจุบันนี้ เรามักจะนิยมเอาคำว่า “ราชา” มาใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น ราชาที่ดิน ราชาเครื่องดนตรี ฯลฯ ถ้าใครหลงคิดว่าเป็นคำเกิดขึ้นใหม่ พวกนี้ก็ผิด “ราชาเศรษฐี” หมายถึงพระยาราชาเศรษฐี อันเป็นบรรดาศักดิ์สำหรับจีนที่เป็นหัวหน้าพวกจีนทั่วไป ตำแหน่งนี้ได้แก่จีนที่มั่งมีเป็นที่นับถือของพวกจีน

ห่อผ้ากาน้ำมีพานรอง
หอกสมุดชุดกล้องร่มค้างคาว”


ชุด” คือที่สำหรับจุดไฟ “กล้อง” คือกล้องสูบยา “ร่ม” คือ ร่มกันแดด “ค้างคาว” เป็นชื่อของร่ม ชื่อที่เรียกกันทั่วไปนั้นเรียกว่า “ร่มปีกค้างคาว” ไม่ได้เรียกว่า “ร่มค้างคาว” แต่ในที่นี้เป็นกลอน คงจะต้องการให้คำกระชับจึงตัดคำว่า “ปีก” ออกเสีย เรียก “ร่มค้างคาว” ก็เป็นเข้าใจกัน ร่มปีกค้างคาวเป็นร่มฝรั่ง ผิดกับร่มไทย คือร่มไทยทำด้วยกระดาษ ซี่เป็นไม้ไผ่ แต่ร่มปีกค้างคาวทำด้วยผ้า ซี่เป็นลวด ผ้าที่เป็นตัวร่มเป็นผ้าบาง เนื้อละเอียดเป็นมัน (ดูเหมือนจะเรียกว่า ผ้ากำมะหริด) สีน้ำตาลแก่จนดำ หรือน้ำตาลไหม้ เวลากางร่มออกจะมีลักษณะบางใสเหมือนปีกค้างคาวที่กางขึงออกไปเต็มที่ จึงได้เรียกกันว่า”ร่มปีกค้างคาว” ร่มนี้เห็นจะมีเข้ามาขายในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นขายที่ห้างฮันเตอร์ซึ่งเป็นห้างฝรั่งห้างแรกที่มาตั้งขายสินค้าในพระนครเมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๓ ใครใช้ของฝรั่งก็เป็นคนสมัยใหม่ มีหน้ามีตา จ้าวนายขุนนาง ผู้ดีมีเงินน่าจะนิยมใช้กัน จึงมีกลอนกล่าวถึง พระยามหาเทพ (ทองปาน) ใช้ร่มปีกค้างคาวนี้ ร่มปีกค้างคาวที่มีเข้ามาแต่เดิมคงจะมีสีเดียว คือสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้เหมือนปีกค้างคาวจริงๆ จึงได้เกิดชื่อนั้นขึ้น เป็นชื่อเรียกให้ต่างไปจากร่มกระดาษของไทยที่เคยมี ปัจจุบันร่มผ้าหรือแพรที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นแบบร่มปีกค้างคาวนั้นเอง ไม่ต่างอะไรกัน ผิดกันเพียงเป็นสีต่างๆ หรือเป็นดอกลวดลายต่างๆ ไม่เป็นอย่างปีกค้างคาว เลยไม่เรียกร่มปีกค้างคาว และถ้าใครไปเรียกร่มปีกค้างคาวก็คงไม่มีใครรู้จัก ชื่อร่มปีกค้างคาวจึงสูญไป

ลงจากหอกลางหางหงส์ยาว
เมียชมว่างามราวกับนายโรง


หางหงส์” นั้น คือชายกระเบนที่ปล่อยให้ห้อยยาวลงมา แบบเดียวกับตัวพระเอกละคอนรำ แต่งตัวนุ่งจีบโจงแล้วทิ้งชาย  “นายโรง” คือเจ้าของคณะละคอนรำ สมัยก่อนนายโรงหรือเจ้าของละคอนรำที่เป็นชาวบ้าน เล่นเป็นตัวเอก หรือที่เรียกว่า “พระเอก” ในเรื่องด้วยคำ “นายโรง” จึงเพี้ยนมาหมายถึงว่าเป็น “พระเอก” ในที่สุด คำว่า “นายโรง” ก็กลายมามีความหมายตรงกับ “พระเอก” อย่างที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ เมื่อพูดถึง “นายโรง” ก็เป็นที่รู้กันว่าคือ “ตัวพระเอก” ในกลอนก็หมายความตามที่กล่าวมา คือแต่งตัวทิ้งชายกระเบนยาวเหมือนตัวพระเอกละคอนรำ

ข้าพเจ้าได้ส่องกล้องเป่าไฟ
ไม่ใกล้ไกลดอกกลัวฝากตัวเอย ฯ


สมัยก่อนในครัวตามบ้าน เห็นจะทุกบ้าน มีของชนิดหนึ่งเป็นกระบอกไม้ไผ่แห้ง ตัดข้อที่หัวท้ายออก เหลือเป็นท่อกลวงยาวราวเกือบศอก ใช้สำหรับเป่าไฟ คือเวลาติดเตา เชื้อฟืนหรือถ่านคุกรุ่นอยู่ ไม่มีเปลวไฟ เราก็ใช้กระบอกไม้ไผ่นั้นเป่า ๒-๓ ที ไฟก็ลุกขึ้น กระบอกไม้ไผ่นี้ใช้ส่องดูอะไรไกลๆ ได้เหมือนส่องกล้องตาเดียว ตามกลอนนั้นแปลว่า พระมหามนตรีเอากระบอกไม้ไผ่ สำหรับเป่าไฟส่องดูพระยามหาเทพ (ทองปาน) บ้านทั้งสองท่าน ปรากฏตามกลอนว่าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกัน จึงเป็นระยะที่เหมาะพอดีกับที่จะใช้กล้องเป่าไฟ ส่องดูเห็นอะไร ได้ถนัดชัดเจน สังเกตดูพระมหามนตรีทรัพย์คงจะเป็นคนมีอารมณ์ขัน ชอบสนุก จึงแต่กลอนได้สนุก ทั้งบทละคนเรื่อง “ระเด่นลันได” และ “เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มีนาคม 2562 16:27:10 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
“ระเด่นลันได” ศึกแย่งชิงสตรีมีพันธะ วรรณกรรมล้อขุนนาง-การเมืองสมัยรัชกาลที่ 3
สุขใจ ใต้เงาไม้
ใบบุญ 0 679 กระทู้ล่าสุด 08 กรกฎาคม 2564 12:52:05
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.213 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 มีนาคม 2567 14:09:10