สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ในทรรศนะของหมอสมิธ : เรื่องเล่าของชาวต่างชาติ

(1/1)

Kimleng:
Tweet

.


สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
ในทรรศนะของหมอสมิธ
Her Majesty Queen Sri Bajarindra  the Queen Mother
in Dr. Malcolm Smith's Perspective

โดย...ศุกลรัตน์  ธาราศักดิ์  นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร


พระราชประวัติส่วนพระองค์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งในรัชกาลต่อมาทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง๑ หลักฐานที่ได้บันทึกไว้อย่างเป็นทางการนั้นอาจจะมีปรากฏอยู่ในหนังสือและเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยจำนวนมาก หากแต่เรื่องราวที่นำมาเสนอในที่นี้อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากเอกสารที่ฝ่ายไทยบันทึกไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของชาวต่างชาติผู้หนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้าไปถวายการรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ณ พระราชวังพญาไทมาก่อน ชาวต่างชาติที่กล่าวถึงนี้ก็คือ นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ หรือเรียกสั้นๆ ว่า หมอสมิธ ชาวอังกฤษซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ๒ และในเวลาต่อมาได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายการดูแลพระพลานามัยในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวงด้วย ภายหลังเมื่อเดินทางกลับไปประเทศอังกฤษแล้ว หมอสมิธ ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า A Physician at the Court of Siam  ซึ่งกรมศิลปากรได้นำมาแปลและจัดพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ เนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักสยามในช่วงรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖ และพระราชประวัติส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ตลอดจนสภาพสังคมในช่วงระยะเวลานั้น ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจและมิได้มีบันทึกอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ของฝ่ายไทย

ในหนังสือราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ ได้บันทึกไว้ว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้ทรงย้ายสถานที่ประทับจากพระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ หรือตำหนักที่บน ภายในพระบรมมหาราชวังมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท และประทับอยู่ที่นั่นตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๒  ในครั้งนั้น ได้มีข้าราชสำนักฝ่ายในที่ย้ายติดตามพระองค์มาด้วยกัน ๒ ท่านคือ ท้าววรคณานันท์ หรือเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม  มาลากุล และท้าวสมศักดิ์หรือหม่อมราชวงศ์ปุย มาลากุล  ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หม่อมราชวงศ์ปั้ม  มาลากุล หรือที่หมอสมิธเรียกว่า คุณปั้ม (Khun Pam) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าท้าวนางชั้นสูงสุดในทำเนียบข้าราชบริพารฝ่ายใน รับหน้าที่ดูแลข้าหลวงและข้าราชสำนักฝ่ายใน ดูแลพระราชทรัพย์ ดูแลห้องเครื่อง และรับผิดชอบงานทุกอย่าง ยกเว้นเฉพาะหน้าที่ภายในห้องพระบรรทม  ส่วนหม่อมราชวงศ์ปุย มาลากุล หรือที่หมอสมิธเรียกว่า คุณปุย (Khun Puey) มีตำแหน่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ หัวหน้าห้องพระบรรทม มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดสุดแต่จะมีพระประสงค์ ท่านมีนามเป็นที่เรียกขานกันในบรรดาข้าราชสำนักฝ่ายในว่า คุณผู้รับสั่ง

หมอสมิธ ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงไว้ในหนังสือของเขาว่า สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ค่อนข้างที่จะมีพระราชจริยาวัตรผิดแผกไปจากบุคคลธรรมดา กล่าวคือ จะทรงใช้เวลาบรรทมในช่วงเวลากลางวัน และทรงตื่นบรรทมขึ้นมาปฏิบัติพระราชภารกิจในช่วงกลางคืน  ซึ่งในฐานะแพทย์ประจำพระองค์ หมอสมิธได้เคยทูลถามถึงเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าพระจริยาวัตรดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดผลดีต่อพระพลานามัยของพระองค์เลย แต่สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงได้ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงพอพระทัยเช่นนั้น พระมารดาตลอดจนพระอัยกีของพระองค์ต่างก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่อาจมีผู้ใดทัดทานพระองค์ได้

โดยปกติแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง จะทรงตื่นบรรทมในราว ๖ โมงเย็นถึง ๒  ทุ่ม หลังจากที่ตื่นบรรทมแล้วก็จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจส่วนพระองค์ตามปกติ หลังจากนั้นก็จะได้เวลาเสวยพระกระยาหารซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพระกระยาหารมื้อเดียวของทั้งวัน  พระกระยาหารที่นำขึ้นเทียบเครื่องเสวยบ่อยครั้งได้แก่ ข้าวต้มปลา ข้าวสวยกับแกงชนิดต่างๆ และเนื้อทอด  หมอสมิธได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขาว่า มีพระกระยาหารอีก ๒ ชนิดที่ทรงโปรดปราน คือ ด้วงมะพร้าวทอด* และรวงของผึ้งอ่อน หรือที่เรียกว่ามิ้ม  ซึ่งพระกระยาหารทั้งสองชนิดนี้หมอสมิธได้เคยถูกชักชวนให้ลองชิมมาแล้ว และเขาไม่เข้าใจเลยว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นที่โปรดปราน หลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง จะทรงสูดพระโอสถนัตถุ์เป็นกิจวัตร



(จากซ้าย) กรมหลวงนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง มักจะทรงใช้ช่วงเวลาในระหว่างเสวยพระกระยาหาร ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ พระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการงานภายในราชสำนัก หรือไม่ก็ทรงรับฟังข่าวสารประจำวันที่มีผู้นำมาเล่าถวายให้ทรงทราบ ตลอดจนทรงให้การรับรองผู้ที่มาเข้าเฝ้าไปด้วยในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงใช้เวลาในการเสวยพระกระยาหารแต่ละครั้งนาน ๒ ถึง ๓ ชั่วโมง  ซึ่งหมอสมิธได้เขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขาปรากฏความตอนหนึ่งว่า

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงใช้เวลาในการเสวยพระกระยาหารแต่ละมื้อค่อนข้างนาน ไม่ใช่เพราะเสวยมาก แต่เป็นเพราะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย แท้จริงแล้วการเสวยพระกระยาหารถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญรองลงมาและสามารถดำเนินไปพร้อมๆ กับการสนทนาได้ เมื่อครั้งที่ยังมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงใช้เวลาในการเสวยพระกระยาหารนาน ๒-๓ ชั่วโมง และช่วงเวลาในการเสวยก็ไม่แน่นอน สุดแต่ว่าจะมีพระราชประสงค์เมื่อใด

โดยปกติแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง มักจะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆ บนพระแท่นบรรทม เนื่องจากในช่วงระยะหลังของพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงมีพระอาการประชวรต่อเนื่องมาโดยตลอด หากมิได้เสด็จไปในงานพระราชพิธีสำคัญๆ ใดๆ พระองค์ก็แทบจะมิได้ทรงลุกจากพระแท่นบรรทมเลย หมอสมิธได้เล่าถึงห้องพระบรรทมของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า

"ห้องบรรทมมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ความกว้างอยู่ในราว ๑๕ ฟุต ยาว ๒๕ ฟุต ตรงกลางห้องกั้นพระวิสูตร ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ มุ้งลวด พระแท่นบรรทมตั้งอยู่ภายในพระวิสูตร พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชสำนักที่มาเข้าเฝ้าจะประทับและนั่งอยู่ภายนอกพระวิสูตร ซึ่งโดยปกติจะมีผู้มาเข้าเฝ้าครั้งละไม่เกิน ๔-๕ คน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงจะประทับอยู่บนพระแท่นเกือบจะตลอดเวลา..."

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชสำนักที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ณ พระราชวังพญาไทในแต่ละวันนั้นมีจำนวนมากมาย พระราชโอรสที่เสด็จฯ มาเข้าเฝ้าพระราชมารดาอย่างสม่ำเสมอได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (ภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗)  ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็มีอาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

หมอสมิธได้บันทึกถึงพระอุปนิสัยในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ไว้ในหนังสือของเขาดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"..สมเด็จพระพันปีหลวงทรงสนพระทัยในความเป็นไปของบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน แต่มิได้ทรงเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจนั้นๆ ยุคสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่สมเด็จพระพันปีหลวงมิได้ทรงเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเหล่านั้น ภายในราชสำนักเล็กๆ ของพระองค์ วิถีชีวิตทุกอย่างยังคงรักษารูปแบบไว้เหมือนเมื่อในอดีต กิริยามารยาทอันงดงามตลอดจนการถวายการปรนนิบัติรับใช้ด้วยความอ่อนน้อมล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงได้รับมาจนเคยชิน และการกระทำประการหลังนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมจนถึงวาระที่พระองค์สวรรคต..."

สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้หมอสมิธเข้าเฝ้าพระองค์เกือบจะทุกวัน ทั้งนี้มิได้เป็นเพราะทรงวิตกกังวลในพระพลานามัยของพระองค์เองแต่ประการใด หากแต่มีพระประสงค์จะสนทนากับเขาเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไปของโลกภายนอก นอกเหนือไปจากในราชสำนักของพระองค์  พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ของยุโรปเป็นอย่างดี และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของหมอสมิธ

"สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ของยุโรปที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นอย่างดี และทรงรู้ไปถึงวงศ์วารของพระราชวงศ์เหล่านั้นดีเสียยิ่งกว่าตัวข้าพเจ้า..."

ระหว่างการสนทนาแม้ว่าพระองค์จะมิได้ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ทรงรู้คำศัพท์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์เกี่ยวกับการเมืองและการทูตที่ไม่มีคำภาษาสยามอธิบายได้อย่างชัดแจ้ง ถ้อยคำเหล่านี้มักจะสอดแทรกอยู่ในพระราชดำรัสราวกับลูกเกดที่กระจัดกระจายอยู่ในก้อนขนมปัง พระองค์ไม่เคยผูกขาดการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว แนวพระราชดำริอันชาญฉลาดของพระองค์ทำให้การสนทนาดำเนินไปอย่างราบรื่นตามที่ควรจะเป็น.



๑ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิยะมาวดี  รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในคราวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐  รัชกาลที่ ๖ เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง.

๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ และเสด็จฯ ไปประทับอยู่ในราชสำนักสมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย เป็นราชทูตพิเศษเมื่อเสด็จฯ ไปประทับอยู่ในยุโรป  ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กแทนพระองค์  พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงฯ เสด็จทิวงคต ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ พระชนมายุ ๓๘  เป็นต้นราชสกุล จักรพงศ์

* ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าว่า ท่านเป็นผู้มีโอกาสได้เคยเห็นเครื่องต้นและเครื่องเสวยเจ้านายมาแล้วอย่างน้อย ๔ รัชกาล เพราะท่านเป็นคน ๔ แผ่นดิน เครื่องต้นและเครื่องเสวยเจ้านายนั้น ไม่เห็นมีความวิจิตรพิสดารแต่อย่างไร ความประณีตในการตระเตรียมในการหุงหานั้น ย่อมมีเป็นที่แน่นอน แต่ชนิดของกับข้าวไม่ว่าจะเป็นแกง เป็นผัด เป็นน้ำพริก หรือเครื่องจิ้มอื่นๆ ก็เป็นอย่างที่ชาวบ้านกินกันทั้งนั้น ชั่วแต่ว่าทำด้วยความระมัดระวังหน่อย มิใช่สุกเอาเผากินอย่างชาวบ้าน จะผิดแผกไปจากของที่ชาวบ้านเขากินกันก็ประเภทอาหารแมลง เช่น ด้วงโสน ด้วงมะพร้าว ซึ่งชาวบ้านรังเกียจเห็นว่าเป็นหนอน ไม่กินเป็นอันขาด หรือจะหาคนกินได้ก็มีน้อย   
 

ภาพจาก : www.reurnthai.com

ในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแต่ละครั้ง ผู้ที่มาเข้าเฝ้าทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องรอจนกว่าจะมีพระราชเสาวนีย์ให้เข้าเฝ้า ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลานาน ๒-๓ ชั่วโมง แต่สำหรับหมอสมิธซึ่งอยู่ในฐานะแพทย์ประจำพระองค์ เขาได้รับสิทธิให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอนานนัก ทันทีที่ตื่นบรรทมจะมีผู้แจ้งให้เขาทราบทางโทรศัพท์ และเขาก็จะรีบเดินทางมาเข้าเฝ้าโดยเร็ว หมอสมิธได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ความว่า

สำหรับข้าพเจ้าการเข้าเฝ้าดูจะเป็นขั้นตอนที่ง่ายกว่าการที่จะได้กลับออกมา เพราะถ้าหากสมเด็จพระพันปีหลวงทรงอยู่ในพระอารมณ์ที่ทรงอยากจะพูดคุย กว่าข้าพเจ้าจะได้กลับออกมาจากเข้าเฝ้าก็กินเวลา ๒-๓ ชั่วโมงเสมอ โดยปกติแล้วสมเด็จพระพันปีหลวงจะทรงตื่นบรรทมในราว ๖ โมงเย็น ถึง ๒ ทุ่ม  ดังนั้นกว่าข้าพเจ้าจะได้เข้าเฝ้าก็เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน

หมอสมิธได้บรรยายถึงพระอุปนิสัยในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงว่าทรงเป็นผู้ที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง พระองค์ทรงมีพระราชทรัพย์มากมายนอกเหนือจากเบี้ยหวัดเงินปีที่ได้รับพระราชทานเป็นประจำแล้ว  สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ยังทรงมีรายได้ที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซึ่งประมาณการแล้วน่าจะอยู่ในราว ๘๐,๐๐๐ – ๙๐,๐๐๐ บาทต่อปี หากแต่พระองค์มิได้ทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งก็จะพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่ข้าราชสำนักของพระองค์เสมอ หมอสมิธเองก็เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงเช่นกัน โดยในคราวที่เขาตัดสินใจสร้างบ้านพักอาศัยของเขาเอง เขาก็ได้รับพระราชทานเงินช่วยเหลือในการก่อสร้างถึง ๓,๐๐๐ ปอนด์ และเมื่อบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทำด้วยเงิน รวม ๒๐ ชิ้น ให้เป็นของขวัญอีกด้วย และด้วยเหตุที่สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงและหมอสมิธต่างก็ประสูติและเกิดในปีกุนทางนักษัตรเช่นเดียวกัน เครื่องใช้ทุกชิ้นที่พระราชทานจึงได้ออกแบบให้มีรูปหมูอยู่ตรงกลาง รวมทั้งแก้วน้ำก็ได้สลักรูปหมูไว้ที่ด้านข้างของแก้วด้วย

สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงโปรดเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยเช่นเดียวกับหญิงสาวชาวสยามทุกคน เมื่อครั้งที่ยังเยาว์พระชันษาจะทรงประดับเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยครบชุดตามธรรมเนียมนิยมในสมัยนั้น แต่มาในระยะหลังเมื่อพระชนมายุมากขึ้น พระองค์มิได้ทรงใส่พระทัยในเครื่องประดับเหล่านี้แล้ว หากจะทรงสวมพระธำมรงค์บ้างก็เฉพาะในโอกาสพิเศษ เมื่อทรงมีพระประสงค์ที่จะพระราชทานให้แก่ผู้ใดก็จะทรงนำออกมาให้บุคคลผู้นั้นเลือกดู เครื่องประดับเพชรพลอยส่วนใหญ่จะเป็นของห้างฟาแบร์เช่ (Fabarge’)* ซึ่งงานฝีมือของห้างฟาแบร์เช่นั้น มีความงดงามและมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร

สมเด็จพระราชชนนี พันปีหลวง ทรงคุ้นเคยกับการบรรทมดึกจนเป็นกิจวัตร ยิ่งเมื่อทรงย้ายมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท พระนิสัยบรรทมดึกของพระองค์ก็ยิ่งทวีมากขึ้น จนบางครั้งกว่าจะเสด็จเข้าที่บรรทมได้ก็เมื่อล่วงเข้าสู่เวลา ๖-๗ นาฬิกาของวันใหม่ ในระหว่างเวลานั้นราชสำนักทั้งหมดจะตกอยู่ในความเงียบสงัด การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนจะถูกสั่งห้ามมิให้กระทำ จนหมอสมิธเองถึงกับกล่าวเปรียบเปรยไว้ในหนังสือของเขาว่า “...บรรยากาศภายในราชสำนักดูเงียบสงบวังเวง ราวกับพระราชวังของเจ้าหญิงนิทราในนิทาน...”

จากการที่หมอสมิธได้มีโอกาสเข้าไปถวายการรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงเป็นที่มาของถ้อยคำของเขาที่ว่า
“...ในบรรดาชาวต่างชาติที่จะได้มีโอกาสเห็นภาพชีวิตภายในราชสำนักฝ่ายในเหล่านี้ ก็เห็นจะมีแต่เพียงแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในราชสำนักเท่านั้น...” และจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว ทำให้เขาได้ประจักษ์ในพระอุปนิสัยและพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นอย่างดี โดยเขาได้กล่าวยกย่องสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ไว้ในหนังสือของเขาว่า
“ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ และไม่เคยที่จะทรงผูกขาดการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว ทรงมีความรู้กว้างขวางในเรื่องทุกเรื่อง รวมถึงทรงรอบรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในบ้านเมืองของพระองค์เอง และข่าวคราวความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทรงแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งส่งผลให้การสนทนากับพระองค์ดำเนินไปอย่างราบรื่น”

พระราชประวัติส่วนพระองค์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่นำมาถ่ายทอดในที่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือ A Physician at Court of Siam หรือราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ งานเขียนของ Dr. Malcolm Smith ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าวยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับราชสำนักฝ่ายในให้ได้ศึกษาอีกมาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวต่างชาติ  อาจมีเนื้อหาหรือถ้อยคำบางตอนที่ผู้เขียนอาจมีทัศนคติและมุมมองที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคนไทย  ดังนั้น ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่านประกอบด้วย.

* ฟาแบร์เช่ (Fabarge’) เป็นห้างร้านที่มีชื่อเสียงในการออกแบบทำเครื่องทองและอัญมณี เป็นร้านค้าที่ได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็นร้านค้าประจำราชสำนักรัสเซีย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๓ จนถึงสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ต่อมาชื่อเสียงของห้างฟาแบร์เช่ได้แพร่กระจายไปยังราชสำนักยุโรป และราชสำนักไทยซึ่งเป็นราชสำนักเดียวในภาคพื้นตะวันออกที่ซื้อและสั่งประดิษฐ์ศิลปวัตถุต่างๆ จากห้างฟาแบร์เช่

ที่มา : นิตยสารศิลปากร  จัดพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ  สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ