[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 12:03:30 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย  (อ่าน 4394 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2556 11:17:31 »

.







งานประเพณีลอยกระทง
เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

ประเพณี หมายถึง พิธีการที่ปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Convention ตรงกับภาษาไทยว่าสัญนิยม  

ประเพณีเป็นเรื่องแสดงถึงสัญลักษณ์ของชาติ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ย่อมมีประเพณีประจำชาติของตน  เป็นเรื่องธรรมดาสามัญใครจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ไม่ถือว่าผิดศีลธรรม  และมิได้วางไว้เป็นระเบียบแบบแผน เป็นแต่เพียงนิยมกันว่ามีคนประพฤติปฏิบัติ และเห็นดีเห็นควรปฏิบัติสืบต่อกันมา   สังคมถือว่าประเพณีเป็นสิ่งมีค่าแก่ส่วนรวม  มีเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้าง คงไว้บ้าง และเชื่อกันว่า ถ้าใครฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่ทำตามประเพณี ถือเป็นความผิดความชั่ว อาจถูกลงโทษให้ได้รับอันตรายต่างๆ  เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม อัคคีภัย และเชื่อกันว่าความเสียหายนี้ยังกินแถวไปถึงคนอื่นในท้องถิ่นหรือในหมู่บ้าน   ตรงกันข้ามถ้าคนในหมู่บ้านต่างประพฤติกันถูกต้องตามครรลองประเพณี ก็จะเป็นเครื่องป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ และนำมาแต่ความสงบสันติสุขแก่ส่วนรวม

ได้กล่าวให้ทราบถึง “ขนบประเพณี” แต่โดยย่อๆ พอเข้าใจแล้ว จักได้เล่าถึงประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ของจังหวัดสุโขทัย ดังนี้
 
จากประวัตินางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษ์ และเหตุผลทางประวัติศาสตร์มาพิจารณาประกอบ  พอจะอนุมานได้ว่า นางนพมาศมีตัวตนอยู่จริงในสมัยกรุงสุโขทัย

บิดามารดาของนางอยู่ในตระกูลพราหมณ์มหาศาลชาติเวรามเทศร์ บิดาชื่อ โชตรัตน์ มารดาชื่อ เรวดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงชุบเลี้ยงให้ดำรงตำแหน่งพระมหาปุโรหิต มีนามบรรดาศักดิ์ว่า ออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลยหงส์พงศ์มหาพฤฒาจารย์ มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระมหานคร มีการกระทำพระราชพิธี ๑๒ เดือน เป็นต้น  

เมื่อนางเรวดีจะตั้งครรภ์นั้น นางฝันว่าได้เยี่ยมพระบัญชรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินชมแสงจันทร์จนตกใจตื่น แม้พระศรีมโหสถก็ฝันว่าได้เห็นดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบานเกสรอยู่สะพรั่งในมิใช่ฤดูกาล และมีกลิ่นหอมระรื่นตลบอบอวล  ความฝันทั้งสองนี้พยากรณ์ได้ว่า จะได้บุตรเป็นหญิง จะมีวาสนาพรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญาและเกียรติยศ เป็นที่พึ่งแก่วงศาคณาญาติทั้งหลาย  ครั้นถึงวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด จุลศักราช ๗๑๐ สัมฤทธิศกพุทธศักราช ๑๘๙๑ พระจันทร์ทรงกรดแสงประภัสสรรัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน นางก็คลอดจากครรภ์มารดา  หมู่ญาติมิตรทั้งหลายก็นำสิ่งของทองชนิดต่างๆ มาทำขวัญ ท่านบิดาจึงให้นามว่า นพมาศ (แปลว่า ทองเนื้อเก้า)  ครั้นจำเริญวัยอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ให้ศึกษาวิชาต่างๆ  ได้แก่ อักษรไทย อักษรสันสกฤต ภาษาบาลี พอแปลได้  เรียนคัมภีร์ไตรเพท แต่งกลบทกลอนกาพย์ โคลง ฉันท์ และลิลิต เรียนตำราโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และตำราพยากรณ์ จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็มีความรู้ชำนิชำนาญเฉลียวฉลาดรู้คดีโลก คดีธรรม  นับว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ กวีหญิงคนแรกของไทย


ฝ่ายหมู่ญาติมิตรทั้งหลายเห็นว่า นางนพมาศเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ และทรัพย์สมบัติ ก็ชวนกันพูดจาสรรเสริญทุกเช้าค่ำ กิตติศัพท์นี้ก็แพร่หลายเล่าลือต่อๆ กันไป จนมีทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งผูกกลอนสรรเสริญนางนพมาศขึ้นไว้ว่า
       พระศรีมโหสถ
ยศ              กมเลศ         ครรไลหงส์
มีธิดา           ประเสริฐ        เฉิดโฉมยง
ชื่ออนงค์        นพมาศ         วิลาศลักษณ์
ละไมละม่อม    พร้อมพริ้ง      ยิ่งนารี
จำเริญศรี        สมบูรณ์        ประยูรศักดิ์
เนื้อเหลือง      เล่ห์ทอง        ผ่องผิวพักตร์
เป็นที่รัก        ดังดวงจิต       บิดรเอย
 
       โฉมนวลนพมาศ
เป็นนักปราชญ์  ฉลาดด้วย    บิดาสอน
ซึ่งกล่าวถ้อย    มธุรส        บทกลอน
ถวายพร         พรรณนา    พระพุทธคุณ
สารพัด          จะพึงใจ     ไปครบสิ่ง
เป็นยอดหญิง    ยิ่งธิดา      ทุกหมื่นขุน
แต่ก่อนปาง      สร้างกุศล   ผลบุญ
มาเกื้อหนุน      ให้งาม      วิไลเอย

       ดวงดอกอุทุมพร
ทั่วนคร         หายาก      ฉันใดไฉน
จะหาสาร       ศรีเสวต     ในแดนไพร
ยากจะได้      ดังประสงค์   ที่จงจินต์
จะหานาง       กัลยาณี     นารีปราชญ์
ประหนึ่งอนงค์  นพมาศ      อย่าหมายถวิล
จะหาได้        ในท้อง      พระธรนินทร์
ก็ด้วยบุญ       เจ้าแผ่นดิน  อย่างเดียว เอย




 
วันหนึ่ง พนักงานบำเรอสมเด็จพระร่วงเจ้า (คำว่า พระร่วงองค์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า น่าจะเป็นพระมหาธรรมราชาลิไทย)  ได้ขับเพลง ๓ บทนี้บำเรอถวาย  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงสดับก็พอพระทัย จึงรับสั่งถามนางบำเรอ  นางบำเรอก็กราบบังคมทูลถวายตามความจริงโดยละเอียด  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งใช้ให้ท้าวจันทรนาถภักดีผู้เป็นใหญ่ฝ่ายในไปรับนางนพมาศมาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระศรีมโหสถผู้บิดา  ท้าวจันทรนาถฯ รับพระราชบัญชาก็มาแจ้งให้ออกพระศรีมโหสถทราบทุกประการ

เมื่อพระศรีมโหสถได้ทราบดังนั้น ก็รู้สึกอาลัยธิดาอย่างยิ่ง แต่ก็ได้ทราบมาแล้วแต่ต้นว่า นางนี้เกิดมาสำหรับผู้มีบุญ จึงยินยอมตามพระราชประสงค์ และเลือกหาวันอันเป็นมงคล เพื่อนำธิดาขึ้นทูลถวายต่อไป

ครั้นวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๘๒๖ ปีมะโรง ฉศก อันเป็นเวลาที่นางมีอายุนับได้ ๑๗ ปี นับเดือนได้ ๑๕ ปี ๘ เดือน ๒๔ วัน นางเรวดีผู้มารดาได้ให้แต่งกายอันประดับด้วยอาภรณ์นานาชนิด มาคำนับลาบิดาและบรรดาญาติ แล้วขึ้นระแทะไปกับมารดา มีบ่าวไพร่ติดตามไปพอสมควร เข้าไปในพระราชวังเพื่อเฝ้าถวายตัวแด่สมเด็จพระร่วงเจ้า  มีพานข้าวตอก ดอกมะลิ พานข้าวสาร พานเมล็ดพันธุ์ผักกาด พานดอกหญ้าแพรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดให้รับราชการอยู่ในตำแหน่งนางพระสนมนับแต่วันนั้น จนต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตำแหน่งพระสนมเอก

การจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ของจังหวัดสุโขทัย จัดในช่วงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ของทุกปี โดยจัด ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นับเป็นงานมโหฬารที่ชาวจังหวัดสุโขทัย จังหวัดข้างเคียง ตลอดจนชาวกรุงเทพมหานคร ต่างเดินทางไปเที่ยวจำนวนมาก

ประวัติความเป็นมา
เชื่อกันว่า เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ ๗๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว ดินแดนแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยนย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก”  

นอกจากนี้ยังปรากฏในหนังสือนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้เล่าถึงประเพณีลอยกระทง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “พิธีจองเปรียง

“พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นนักฤกษ์ ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวน โคมลอย ทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร  ข้าน้อยก็กระทำโคมลอยติดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผกาเกสรสีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ  ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลายแล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณานกวิหคหงษ์ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสวย ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก...”

ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ได้สืบทอดวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบันนี้ แต่ดูเหมือนว่านับแต่อาณาจักรสุโขทัยได้เสื่อมลง ประเพณีลอยกระทงเริ่มซบเซาตามลงไปด้วย  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยซึ่งเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมสูงส่งของชาติที่ยังคงเหลือร่องรอยหลักฐานอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ตระหนักในคุณค่า และช่วยกันบำรุงรักษาให้คงอยู่ถาวรสืบไป  

และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับการอนุรักษ์มรดกด้านวัฒนธรรมและประเพณี จังหวัดสุโขทัยโดยความร่วมมือของกรมศิลปากรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  จึงจัดงานฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นเป็นปีแรก ในวันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ณ บริเวณเมืองเก่าสุโขทัย และจัดเป็นประจำเรื่อยทุกปีตราบจนปัจจุบัน

กิจกรรมการจัดงานลอยกระทงที่ผ่านมา ประกอบด้วย การรำลีลาสุโขทัยที่สวยสดงดงามของนางรำจำนวนเท่ากับอายุของกรุงสุโขทัย   การลอยกระทงที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม  มีการติดประทีปโคมไฟตามสถูป โบราณสถาน และตระพัง (สระน้ำ) นับแสนดวง  สว่างไสวพร่างพราวตาไปทั่วบริเวณงาน  มีการจุดพลุตะไลไฟเพนียง ดอกไม้ไฟ เสียงสนั่นหวั่นไหวตลอดคืน  มีขบวนแห่ไพร่ฟ้าหน้าใส ขบวนช้าง ม้า ขบวนแห่กระทงของอำเภอต่างๆ  การแต่งกายของนางรำ นางนพมาศ ที่ส่งเข้าประกวด ที่ล้วนแต่งกายตามแบบอย่างสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  มีการแสดงโขน โดยนักแสดงกรมศิลปากร ฯลฯ  


การเผาเทียนเล่นไฟและลอยประทีป
ประเพณีลอยกระทง มีที่มาจากพระราชพิธีจองเปรียง  ซึ่งเป็นพิธีเกี่ยวกับการลอยโคมพระประทีปลงน้ำ เข้าใจกันว่าพิธีนี้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  ในสมัยนั้นเรียกกันว่าพิธีจองเปรียง-ลอยประทีป ที่พวกพราหมณ์จัดทำเพื่อบูชาพระเจ้าที่ตนเคารพนับถือ ได้แก่ พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์   ด้วยการชักโคมบูชาที่จุดด้วยน้ำมันเปรียง (น้ำมันไขข้อโค) ลอยโคมไปกับน้ำ

คำว่า “พราหมณ์” หมายถึงคนประเภทหนึ่งซึ่งมีความรู้ตามแนวทางศาสนาหรือแนวพิธีกรรมต่างๆ ตามคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ (ศาสนาพราหมณ์ คือ ศาสนาฮินดูดั้งเดิม) พราหมณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์และผู้ทำพิธีกรรม ตลอดจนดูฤกษ์ยามในพิธีหลวงและพิธีราษฎร์  

ชาวอินเดียที่เป็นพวกพราหมณ์พวกแรก อพยพเข้ามาในอาณาจักรไทยพร้อมกับศาสนาฮินดู ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยผ่านมาทางเขมร ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและทางใต้

เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดีย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาหลายแห่ง รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ศาสนาพุทธได้เข้ามามีอิทธิพลในอาณาจักรสุโขทัย ทำให้คนไทยหันไปยอมรับนับถือพุทธศาสนาแทนศาสนาพราหมณ์  พิธีกรรมต่างๆ  จึงผสมผสานความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู    ดังนั้น คติความเชื่อเรื่องการลอยประทีป จึงเปลี่ยนจากการบูชาเทพเจ้าตามคติพราหมณ์ เป็นการบูชาพระเกตุธาตุของพระพุทธเจ้าที่จุฬามณีเจดีย์ บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามคติพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังถือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ฝั่งน้ำนัมมหานที  ลอยประทีปเพื่อแสดงความสำนึกในพระคุณของน้ำ  และอีกนัยหนึ่งเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้  ทิ้งสิ่งปฏิกูล และถ่ายมูตรคูถลงไปในน้ำ



ปะรำพิธีริมสระน้ำ วัดสระศรี ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เป็นที่ประดิษฐานกระทงพระราชทาน
ในงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ประจำปี 2556

สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ได้จัดให้มีงานฉลองพิธีลอยกระทง การเผาเทียนเล่นไฟ หรือการจุดดอกไม้เพลิง ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบสอง   ปรากฏความใน หนังสือเรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ว่า “...ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์  ชักโคมลอย โคมบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชัก โคมแขวน โคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนครแล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง...”
 
“...ครั้นวันเพ็ญเดือน ๑๒ ข้าน้อยก็กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผกาเกสรต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุท กลีบบานรับแสงจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย  ครั้นเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้า ทรงเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมานพร้อมด้วยพระอัครชายา พระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนาง ท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักโคมชัยโคมประทีปบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงอุทิศสักการะพระจุฬามณี ครั้นถึงโคมของข้าน้อย สมเด็จพระร่วงเจ้า ทรงทอดพระเนตรพลางตรัสชมว่า โคมลอยนี้งามอย่างประหลาด ยังหาเคยมีไม่เป็นโคมของผู้ใดคิดทำ  ข้าน้อยก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเป็นนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระจันทร์ก็เต็มดวง ปราศจากเมฆหมอกมลทิน อันว่าดอกกระมุทนี้มักจะบานรับแสงจันทร์ ผิดกว่าพรรณดอกไม้อื่น ข้าพระองค์ได้ทำโคมลอยดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมหานที อันเป็นที่พระบรมพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่และมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค (จุดประทีปด้วยน้ำมันไขข้อโค)   ถวายในการทรงพระอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญ เดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์..."



ผู้ริเริ่มการทำกระทงประดิษฐ์ประดับดอกประทุมเป็นคนแรก
คือ นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเพณีไทยเมื่อครั้งโบราณไว้น่าสนใจหลายประเพณี อย่างประเพณีการลอยกระทงในสมัยต้นรัชกาลที่ ๔ ทรงเล่าไว้ ดังนี้ “...เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชปรารภว่าประเพณีการลอยพระประทีปแต่ก่อนมา เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ต้องทำกระทงใหญ่ถวายลอยเป็นพุทธบูชาทุกๆ ปี ต้องลงทุนรอนกันมากนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้แก้ไขระเบียบการเกณฑ์ให้ทำเป็นเรือขนาดย่อมปักเทียนรายตามกระทงเรือ ถวายทรงจุดแล้วลอยเป็นพุทธบูชาแทนกระทงใหญ่  ให้เจ้านายทำตามแบบอย่างเรือพระที่นั่ง เจ้าฟ้าและต่างกรมผู้ใหญ่ชั้นกรมสมเด็จกับกรมพระทำเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ต่างกรมชั้นรองลงมาทำเป็นเรือพระที่นั่งศรี.....

อนึ่ง เมื่อถึงคราวลอยพระทีปเดือน ๑๒ โปรดฯ ให้แต่งเรือพระที่นั่งกิ่งจริงๆ ๒ ลำ ลำ ๑ ตั้งพระชัยวัฒน์ในบุษบก อีกลำ ๑ ตั้งพานทองสองชั้น มีพุ่มดอกไม้พุทธบูชา ทำฉัตรเทียนเป็นเครื่องสูงตั้งรายสำหรับทรงจุดเมื่อเสด็จลงลอยพระประทีป...” (ที่มา หนังสือ ปกิณกะพระนิพนธ์ เล่ม ๓ ย้อนรอยประเพณีวัฒนธรรมไทย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

พิธีลอยกระทง การเผาเทียนเล่นไฟ นอกจากจะเป็นการสนุกสนานรื่นเริงแล้วยังถือว่าการจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชาอย่างหนึ่ง  ย่อมเกิดมงคลและเป็นศรีแก่ผู้บูชา และประเพณีการจุดดอกไม้เพลิงนี้ยังคงอนุวัตรสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะหมดความสำคัญในเรื่องความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ มาเน้นในเรื่องความสนุกสนานบันเทิงใจแทน



การฝึกซ้อมการแสดง เนื่องในงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ปี ๒๕๕๖
ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ของนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย
(ตั้งแต่ระดับชั้น ม.๑ - ปริญญาตรี) เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖










Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กันยายน 2558 15:51:26 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระพุทธอจนะ วัดศรีชุม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 1 991 กระทู้ล่าสุด 10 สิงหาคม 2564 20:33:32
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.524 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 19 มีนาคม 2567 17:05:09