[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 05:35:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นชาติโดยแท้จริง-พระราชนิพนธ์ ความเรียง ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  (อ่าน 3761 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2557 16:10:02 »

.



เรื่อง
ความเป็นชาติโดยแท้จริง
พระราชนิพนธ์ ความเรียง
ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

ศัพท์ว่า “ชาติ” นี้ ในสมัยนี้ดูมีผู้แปลความกันต่างๆ นานา และต่างคนต่างก็เห็นว่าคำแปลของตนนั้นถูก เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อทุ่มเถียงกันอยู่โดยไม่มีที่สุด และด้วยเหตุฉะนี้จึงได้มีความเห็นแตกต่างกันอยู่มากในข้อวินิจฉัยว่า ชาติจะควรมีลักษณะอย่างใด คือจะควรประกอบด้วยลักษณะอย่างใด จึงจะควรนับได้ว่าเป็นชาติอย่างดีแท้

ความเห็นของบุคคลจำพวกที่มักอ้างตนว่าเป็นคนสมัยใหม่ ใช้สมองได้ตามแบบฝรั่งแล้ว มักพอใจแสดงว่า ลักษณะแห่งชาติอันรุ่งเรืองแท้คือ “ต้องมีอิสรภาพแก่บุคคลทุกคนโดยบริบูรณ์”  วาทะอันนี้เป็นคำแสดงลัทธิอันหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นอยู่แต่เพียงลัทธิแล้วก็ดีอยู่ แต่ครั้นเมื่อนำลัทธินั้นมาใช้ในกิจการสำหรับทุกๆ วันแล้ว ก็ย่อมบังเกิดความยุ่งเหยิงได้เป็นอันมาก เนื่องจากความเข้าใจของบุคคลที่มีอยู่ต่างๆ กัน และถ้าแม้เริ่มด้วยความเข้าใจผิดเสียแต่ในชั้นต้น คือ เริ่มด้วยแปลศัพท์ “อิสรภาพแห่งบุคคล” ว่าประพฤติอะไร ๆ ได้ตามใจทั้งสิ้น ฉะนี้แล้ว ผู้ที่เข้าใจผิดเช่นนั้นยิ่งตรองไปก็ยิ่งจะมีแต่ความเห็นผิดกว้างขวางออกไปทุกที่ จนในที่สุดอาจจะหวนไปติเอาครูผู้แสดงลัทธิในชั้นต้นนั้นเองว่าเข้าใจผิด หรืออธิบายลัทธิผิดก็ได้

การอวดรู้ยิ่งครูเช่นนี้ มิใช่จะมีแต่ในสมัยเรานี้เมื่อไร ถึงเมื่อสองพันปีเศษล่วงมาแล้วก็มีเหมือนกัน ตัวอย่างอย่างสำคัญของคนจำพวกนี้คือ เทวทัต ซึ่งแรกเริ่มก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แต่อาศัยเหตุที่มีจิตทะเยอทะยานอยากจะเป็นใหญ่และมีชื่อเสียง จึงได้มีจิตริษยาแก่พระสาวกอื่นๆ จนพาให้กลายเป็นผู้ที่ติเตียนพระพุทธเจ้าว่าทรงลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง เลยต้องถูกไล่ออกจากคณะพุทธสาวก เทวทัตก็ไปตั้งคณะของตนขึ้นใหม่ ตั้งตนเป็นคณาจารย์ และพอใจยกวาทะของตนขึ้นโต้พระพุทธวัจนะ และกล่าวว่าแคะไค้ต่างๆ เช่นกล่าวว่าเมื่อห้ามมิให้ฆ่าสัตว์แล้วก็ควรที่จะห้ามมิให้บริโภคเนื้อสัตว์ด้วยทีเดียวจึงจะถูก เริ่มด้วยยกวาทะอวดดีโต้เช่นนี้ก่อน แล้วเมื่อไม่มีใครเขาฟังหรือมีคนเขาติเตียนก็กลับโกรธ เลยตั้งความเพียรที่จะทำลายคณะพุทธสาวกด้วยอุบายต่างๆ และเมื่อไม่เป็นผลสำเร็จสมปรารถนาแล้ว จึงต้องเลยคิดประทุษร้ายต่อพระองค์พระพุทธเจ้าโดยตรง พยายามใช้อุบายปลงพระชนม์ชีพด้วยประการต่างๆ เช่นต้อนช้างนาฬาคีรีเข้าไปจะให้ทำร้ายพระองค์เป็นต้น จนในที่สุดเทวทัตก็ต้องถึงแก่ความพินาศเพราะแพ้ภัยตนเอง ผู้พอใจประพฤติเป็นอาจารย์อุตริในทางการเมืองน่าจะลืมเรื่องเทวทัตเสียแล้ว หรือบางทีจะไม่ได้เคยทราบเลยก็อาจจะเป็นได้ จึงได้เข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นคนเก่งทันสมัย แท้จริงเป็นลูกศิษย์เถนเทวทัตต่างหาก

ว่าโดยลำพังพวกนักพูดอุตริเองนั้นไม่อัศจรรย์อันใด เพราะความพินาศได้มีแล้วแก่เถนเทวทัตอย่างไร ความพินาศก็คงจะมีมาถึงผู้อุตริทำนองเดียวกันนั้นโดยอาการเช่นกัน แต่มีคนจำพวกที่น่าสงสารอยู่บ้าง คือผู้ที่เผลอสติหลงเชื่อวาทะที่เป็นองค์แห่งความฉิบหาย อย่างเช่นพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเชื่อถือเทวทัตจนเป็นขบถต่อพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระบิดา และปลงพระชนม์ชีพพระบิดาเสียด้วยอาการอันทารุณร้ายกาจ จนเมื่อมีพระราชโอรสมาเองแล้วจึงรู้สึกพระองค์ ว่า พระราชบิดาจะได้มีความสิเนหารักใคร่ในพระองค์สักปานใด แต่เมื่อรู้สึกพระองค์นั้นก็เกินเวลาที่จะแก้ไขเสียแล้ว และถึงแม้จะทรงสร้างวัดวาอารามหรือเจดีย์สถานแปดหมื่นสี่พันแห่งเท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่สามารถที่จะทรงชำระล้างอนันตริยกรรมอันอุกฤษฏ์ คือ ปิตุฆาต  ซึ่งได้ทรงกระทำลงในขณะที่ตกอยู่ในความหลง เชื่อถ้อยคำของเถนเทวทัตนั้นเลย

เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูกับเทวทัตซึ่งแสดงมานี้ มีอุปมาฉันใด ผู้หลงเชื่อถ้อยคำของนักพูดสอนอุตริในการเมือง ก็อุปมัยฉันนั้น เพราะถ้าขืนหลงไป บางทีจะรู้สึกตัวต่อเมื่อทำลายชาติของตนเสียแล้ว และเมื่อนั้นก็จะหาสิ่งใดลบล้างอนันตริยกรรม ซึ่งตนกระทำลงไปในขณะหลงนั้น ไม่ได้เลย

ข้อที่ข้าพเจ้ายกเอาการทำลายชาติเป็นอนันตริยกรรม คือ เป็นบาปอันหนักที่สุด ถึงแก่เป็นเครื่องตัดทางสวรรค์และทางนิพพานทีเดียว  ฉะนั้น ข้าพเจ้าถือเอาตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดว่าความประพฤติสังฆเภท คือทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เป็นอนันตริกรรมอันหนึ่ง ก็เมื่อการทำสงฆ์ให้แตกจากกันเป็นอนันตริยกรรมแล้ว การทำคณะชนที่ร่วมชาติให้แตกกันจะไม่จัดว่าเป็นอนันตริยกรรมหรือ? ข้าพเจ้าเห็นว่าต้องนับว่าเหมือนกันทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราที่เป็นคนไทย เมื่อเห็นสหายร่วมชาติจะตกไปอยู่ในความหลง ซึ่งจะนำไปให้กระทำอนันตริยกรรมทำลายชาติของตนแล้ว ถ้าไม่ห้ามปรามหรือเตือนสติจะมิบกพร่องไปในหน้าที่กรณียกิจแห่งชาวสยามหรือ? การที่ห้ามหรือเตือนเถนเทวทัตนั้นเป็นของพ้นวิสัย แต่ผู้ที่หลงวาทะของเทวทัตนั้น เราอื่นๆ ที่ยังมีสติพอจะพยายามเหนี่ยวรั้งผู้ที่สติไม่บริบูรณ์ได้บ้าง

อนึ่ง เป็นธรรมดาเถนเทวทัตก็ดี หรือเกจิอาจารย์ใดๆ ก็ดี เมื่อมีผู้อื่นไปเตือนสติคนที่หลงเชื่อในวาทะของตน คงจะต้องโกรธเคืองและหาวาจาหยาบช้าต่างๆ มาว่ากล่าวเพื่อให้ระอาไป ไม่กล้ากีดขวางการที่ตนจะนำคนไปลงนรก แต่คนที่กล้าหาญจริงแล้ว ย่อมจะไม่สะดุ้งสะเทือนในถ้อยคำของเถนเทวทัตหรืออาจารย์ที่จะชักจูงคนหลงนั้นเลย ดังนี้เราทั้งหลายก็ไม่ควรหวั่นไหวในถ้อยคำผรุสวาท ซึ่งผู้ใดๆ จะกล่าวทักท้วงเรา ผู้ตั้งใจดีต่อเพื่อร่วมชาติที่ตกอยู่ในความหลง ควรมุ่งตรงแต่จะพูดจาถ้อยคำที่ดีและที่เป็นความจริง เพื่อจูงใจเพื่อนร่วมชาติให้ละเสียซึ่งทางอันจะนำไปสู่อบายมุข ให้ตั้งหน้าเดินในทางที่จะนำชาวเราไปสู่ความเป็นชาติอันประเสริฐแท้จริง


ลักษณะที่จะตัดสินว่า คำใดเป็นคำที่จะบำรุงความเป็นชาติให้ดีจริงและคำใดเป็นคำที่ไม่ถูกไม่จริงนั้น ควรพิจารณาว่า คำนั้นเป็นคำบำรุงความสามัคคีพร้อมเพรียงหรือเป็นไปเพื่อความแตกร้าว? ถ้าเป็นคำบำรุงสามัคคีคือคำที่ถูก ถ้าเป็นคำบำรุงความแตกร้าว ริษยาแก่งแย่งคือคำที่ผิดเป็นแน่แท้

ส่วนวิธีที่จะกล่าวคำใดๆ ที่เป็นคติดี ควรจะถือตามแบบพระเทศน์นั้นแลเป็นดี คือ
๑. แสดงไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงกระทบตนและผู้อื่น ไม่ยกตนและเสียดสีผู้อื่นโดยจำเพาะเจาะตัว
     ถ้าจะติต้องติความชั่วทั่วๆ ไป
๖. ให้ผู้ฟังได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๗. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ทำให้เข้าใจ
๘. บรรเทาความสงสัย
๙. แก้ความเห็นผิดให้ถูก
๑๐. ให้จิตของผู้ฟังผ่องใส
ถ้าผู้ที่ตั้งใจเตือนเพื่อนร่วมชาติถือแบบแต่งหนังสือเช่นนี้ได้แล้ว ก็เป็นดี

ข้อที่จะวางเป็นบัญญัติหรือหลักลงไปว่า ชาติที่จะเป็นชาติโดยแท้จริงจะควรมีลักษณะอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่จะกล่าวกัน ตามตำรับอะไร คือตามตำรับกฎหมายนานาประเทศ หรือตำรับรัฐประศาสนศาสตร์ ถ้าจะกล่าวตามกฎหมายนานาประเทศ ก็ต้องถือเอากฎหมายลักษณะชาติเป็นที่ตั้ง ถ้าจะกล่าวโดยทางรัฐประศาสนศาสตร์ ต้องถือเอากำหนดแห่งอำนาจของรัฐบาลที่จะแผ่ความปกครองไปได้เพียงใดเป็นที่ตั้ง แต่ในสมัยนี้ดูมหาชนโดยทั่วๆ ไปเอียงไปข้างจะถือเอาภาษาเป็นเกณฑ์ และมหาสงครามในยุโรปที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เพราะข้อวิวาทกันด้วยปัญหาเรื่องภาษานี้แหละยิ่งกว่าสิ่งอื่น

ส่วนทางกฎหมายนานาประเทศก็ดี ทางรัฐประศาสนศาสตร์ก็ดี เป็นข้อความที่จะต้องการอธิบายยืดยาวเกินที่จะอธิบายในที่นี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอยุติไว้ ไม่กล่าวต่อไปในทางนั้นๆ แต่จะขอกล่าวด้วยเรื่องภาษาต่อไปโดยย่อ

ไม่มีข้อสงสัยแน่แล้ว ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไรที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดี หรือแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน รัฐบาลทั้งปวงย่อมรู้สึกในข้อนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้นรัฐบาลใดที่ต้องปกครองชนต่างภาษาจึงต้องพยายามตั้งโรงเรียน และออกบัญญัติบังคับให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง แต่ความคิดเช่นนี้ มิใช่จะสำเร็จตามปรารถนาของรัฐบาลเสมอก็หามิได้ และถ้ายังจัดการแปลงภาษาไม่สำเร็จอยู่ตราบใด ก็แปลว่าผู้พูดต่างภาษากับผู้ปกครองนั้นยังไม่เชื่องอยู่ตราบนั้น ภาษาเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลใดยอมเปลี่ยนภาษาเดิมของตน นั่นแหละจึงจะควรจัดได้ว่าแปลงชาติโดยแท้จริง การแปลงชาติด้วยกระดาษนั้น ข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่เลื่อมใสเชื่อถือว่าเป็นไปได้จริงมาแต่เดิมแล้ว ครั้นเมื่อมาเกิดมหาสงครามในยุโรปครั้งนี้ขึ้น และได้ยินคำกล่าวแสดงความเห็นกันขึ้นว่า สัญญาทั้งปวงเป็นเศษกระดาษชิ้นหนึ่งๆ เท่านั้น และว่าความจำเป็นย่อมไม่รู้จักธรรมะใดๆ ดังนี้ ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อถือในอำนาจแห่งเศษกระดาษใบแปลงชาตินั้นน้อยลงอีกมากทีเดียว

สรุปรวมความก็กล่าวได้อีกครั้งหนึ่งว่า ลักษณะที่จะตัดสินว่าใครเป็นชาติใดนั้น ก็มีอยู่แต่ที่ภาษาซึ่งคนนั้นใช้อยู่โดยปรกตินั้นแล เมื่อตั้งเกณฑ์เช่นนี้แล้ว จะต้องนึกกันต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นชาติไทยจะเล็กลงไปสักปานใด?

คนโดยมากที่แลดูการแต่เผินๆ พอใจจะพูดว่า ถ้าเราจะไม่นับจีนเป็นคนไทยด้วยแล้ว จะทำให้ชาติเราเล็กลงไปมาก แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะที่จีนมีอยู่เป็นจำนวนมาก จนหนาตาก็เป็นแต่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียว ในที่อื่นๆ จีนมีอยู่กระจายๆ เท่านั้น จีนที่มีอยู่ในเมืองเรานี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ จำพวก คือ พวกกุลี ซึ่งมิได้ตั้งใจที่จะคงอยู่ในกรุงสยาม กับพวกพ่อค้าหรือชาวไร่ชาวสวน ซึ่งตั้งใจฝังรกฝังรากอยู่ในกรุงสยามทีเดียว พวกที่เป็นแต่คิดมาหางานทำพอได้ทุนกลับไปเมืองจีนนั้น พูดภาษาไทยไม่ได้และไม่พยายามที่จะเรียนภาษาไทยทีเดียว และนับว่าไม่มีอะไรติดต่อกับไทยเราเลย ทั้งในความนิยมและความคิด เพราะฉะนั้นการที่จะนับจีนพวกนี้เป็นไทยก็ได้แต่โดยเหยียดอย่างมากเต็มที แต่ขออย่าให้ท่านผู้อ่านเข้าใจผิดไปว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจกล่าวว่าจีนเหล่านี้ไม่ใช่คนในบังคับสยาม เพราะการที่คนใดจะอยู่ในบังคับของรัฐบาลใดนั้น ไม่เกี่ยวแก่ภาษาที่คนนั้นๆ พูดหามิได้ เกี่ยวแก่ภูมิลำเนาที่เขาอยู่กับสัญญาระหว่างนานาประเทศ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แต่จีน ถึงชนชาติอื่นๆ ที่มิได้มีสัญญากับกรุงสยาม เช่น ชาวตุรกี เป็นต้น เมื่ออยู่ในกรุงสยามก็ต้องนับว่าเป็นคนในบังคับสยามเหมือนกัน แต่จะนับว่าเป็นคนไทยก็หาได้ไม่ เหตุฉะนี้ไม่ควรถือเอาการอยู่ในบังคับใครเป็นหลักแสดงชาติแห่งบุคคล ต้องถือเอาภาษาเป็นใหญ่ และใครพูดภาษาใดก็แปลว่าเป็นชาตินั้น เพราะการพูดภาษาใดแปลว่าปลงใจจงรักภักดีต่อชาตินั้นโดยจริงใจ ไม่ใช่โดยความจำเป็นชั่วคราว

นอกจากนี้ก็มีหลักวางเกณฑ์ได้อีกสถานหนึ่ง คือการที่จะตัดสินว่าผู้ใดเป็นชาติใดโดยแท้จริงนั้น ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นมีความจงรักภักดีต่อใคร ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึงจะเป็นไทยแท้ แต่ถ้าใครแสดงตนว่าเป็นอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใดดังนี้ ต้องจัดว่าผู้นั้นเป็นคนไม่มีชาติ เพราะคนๆ เดียวหรือหมู่เดียวจะตั้งตนขึ้นเป็นชาติต่างหาก หาได้ไม่ บัญญัติข้อนี้มีตรงกันอยู่ทั้งทางกฎหมายนานาประเทศและรัฐประศาสนศาสตร์

การที่แสดงความจงรักภักดีต่อชาติหรือต่อพระมหากษัตริย์นั้น ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องเสียสละอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดไม่มีความเต็มใจอยู่ที่จะยอมสละความสะดวกส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่งบ้างแล้ว ก็นับว่าผู้นั้นจะถือธรรมะที่เราให้ชื่อว่า “ภักดี” นั้นไม่ได้เลย

การเสียสละสำคัญอันหนึ่ง คือสละความเป็นโสดแก่ตนในกิจการบางอย่าง เช่นต่างว่าเป็นเวลามีศึกมาใกล้เมืองที่เราอยู่ ผู้ปกครองจะห้ามมิให้จุดไฟในบ้านเรือน ถ้าเรายอมก็แปลว่าเราสละความเป็นโสดแก่ตนอย่างหนึ่งแล้ว เพราะผู้ที่เป็นอิสระแท้จริงแล้ว การที่จะจุดไฟหรือมิจุดภายในบ้านของตน ย่อมอยู่ในอำนาจอันชอบธรรมแห่งเจ้าของบ้านแท้ๆ เพราะฉะนั้น การที่ผู้ใดยอมสละอำนาจอันชอบธรรมเช่นนี้ต้องเข้าใจว่าเพราะเห็นแก่สาธารณประโยชน์และความสะดวกแก่มหาชนยิ่งกว่าเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง ผู้ที่ยอมสละได้เช่นนี้แหละคือผู้มีความภักดีจริง รักชาติจริง ผู้ที่ไม่ยอมคือผู้รักชาติแต่ปาก ข้อห้ามจุดไฟนี้ยกมากล่าวแต่พอเป็นอุทาหรณ์ และในกิจการอื่นๆ ทั้งน้อยใหญ่ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน ความข้อนี้เป็นความจริง ซึ่งถึงแม้จะมีผู้แสดงโวหารพลิกแพลงอย่างไรก็เลี่ยงไปไม่พ้น และจะลบล้างความจริงข้อนี้มิได้เลย

อนึ่ง ถ้ามีความภักดีต่อชาติจริงแล้ว ต้องงดคำพูดว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของข้า” เช่นจะกล่าวว่า การปกครองเป็นหน้าที่ของกระทรวงนครบาลหรือมหาดไทยเท่านั้น หรือการป้องกันกรุงสยามเป็นหน้าที่ของกองทัพบกทัพเรือเท่านั้น ดังนี้นับว่าเป็นการพูดว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของข้า” แท้จริงการปกครอง ถ้าประชาชนไม่ช่วยโดยเชื่อฟังผู้ปกครองแล้ว ก็หาเป็นผลสำเร็จได้ไม่ และการป้องกันบ้านเมือง ถ้าประชาชนไม่อุดหนุนกองทัพบกทัพเรือแล้ว ก็คงยากที่จะทำการต่อสู้ศัตรูได้ดีจริงๆ

ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้อ่านพบความเห็นอันหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ “ทีเวอร์ด” ซึ่งจับใจข้าพเจ้าอยู่ จึงขอแปลมาลงไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้:-
“เป็นธรรมดา เราทั้งหลายย่อมอยากจะรอดพ้นจากความลำบากโดยอเนกประการ อันมีมาเพราะความต่อสู้กันระหว่างโลกโดยอาการอันน่าสยดสยอง และดูเหมือนในเบื้องหลังแห่งสมองของเราจะมีความเห็นอยู่ว่า ความกระดิกกระเดี้ยในแนวยิงเท่านั้นเป็นพยานแห่งความดำเนินกิจการ ข้อนี้ผิดทีเดียว แนวยิงเป็นแต่เพียงปลายหอก โรงงานต่างๆ เป็นด้ามและชาติทั้งชาติคือคนที่ถือหอก มือที่จับหอกนั้นคือคนที่รบอยู่ แต่ความสามารถที่ใช้มือให้แทงไปนั้นเป็นของผู้ปกครอง ส่วนกำลังที่จะแทงได้เบาแรงเพียงไรนั้น ก็แล้วแต่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งท่านและข้าพเจ้าและเราทั้งหลายทุกๆ คนเป็นส่วนหนึ่ง การหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจะมีไม่ได้ในการสงครามเช่นนี้ คงมีแต่ที่เราจะทำการตามหน้าที่ของเรา และช่วยเร่งความสิ้นสุดแห่งการสงครามหรือถ้าเราเกียจคร้านเสีย เราก็เป็นลูกตุ้มซึ่งถ่วงความสำเร็จในที่สุดนั้นให้เนิ่นช้าไปเท่านั้น”

คำที่เขากล่าวเช่นนี้ เป็นภาษิตซึ่งควรไทยเราจะพิจารณาอยู่เหมือนกัน และถ้าจะกล่าวกันอย่างโวหารข้างไทยเราโดยย่อๆ ก็กล่าวได้ว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้นหน้าที่ต้องช่วยกันพาย ถ้าแม้ไม่พาย ถึงแม้ว่าจะไม่เอาตีนราน้ำ เป็นแต่นั่งอยู่เฉยๆ ก็หนักเรือเปล่าๆ อาจจะทำให้เรือแล่นช้าไปได้เป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง ถ้าจะพายก็จับพายขึ้น และอย่าเถียงนายท้าย หรือถ้าจะไม่พายก็ขึ้นจากเรือลงว่ายน้ำไปตามลำพังเถิด อย่ามานั่งในเรือของไทยให้หนักเรือเลย ถ้าเราต้องการของหนักสำหรับเป็นระวางถ่วงเรือของเรา ก็เอาก้อนหินดีกว่า เพราะมันไม่มีเสียงที่จะส่งอวดดีเถียงนายท้าย!

ถ้อยคำเหล่านี้ ข้าพเจ้าตั้งใจกล่าวให้คนไทยที่ร่วมชาติและมีความจงรักภักดี ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจสีซอให้ควาย (หรือสัตว์อะไรอื่นๆ) ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าจะมีสัตว์อะไรร้องโต้ขึ้น ข้าพเจ้าก็จะไม่ถือเป็นอารมณ์เลย และอาศัยเหตุที่ข้าพเจ้าพูดภาษาสัตว์ไม่เป็น ข้าพเจ้าคงไม่พยายามร้องแข่งกับสัตว์เลยทีเดียว.



ความริษยาพาให้บังเกิดโมหจิต
คิดอะไรก็วิปลาส ขาดความไตร่ตรองโดยทำนองคลองธรรม

"คดีสำคัญ"...พระบรมราชานุศาสนีย์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖


เมืองเราศรีวิไลย    ควรอยู่ แล้วนา
นักพูดจะชวนชี้    ชักบ้า อย่าฟัง ฯ

"อารัมภกถา" พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 14:58:49 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พิพิธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๗
สยาม ในอดีต
เงาฝัน 2 5476 กระทู้ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2553 20:54:17
โดย sometime
อาการพระประชวรจนถึงสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 1 4601 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2555 19:45:03
โดย Kimleng
ภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 0 6201 กระทู้ล่าสุด 04 กุมภาพันธ์ 2557 14:28:49
โดย Kimleng
อดีตของสยาม ภาพถ่ายประเทศไทยช่วง รัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕
สยาม ในอดีต
มดเอ๊ก 0 1687 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2559 01:10:03
โดย มดเอ๊ก
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1946 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.515 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 11 เมษายน 2567 12:19:25