[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 20:20:41 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลกในครั้งอดีต  (อ่าน 17777 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 ธันวาคม 2556 15:37:12 »

.


พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานที่พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก




แนวฐานรากกลุ่มอาคารหลักของพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก

พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลก
Chandra Palace : Royal Residence in Phitsanulok

ในบรรดาชุมชนเมืองโบราณ  พิษณุโลกจัดเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองจะอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำน่านแล้ว เมืองพิษณุโลกยังเป็นชุมทางการคมนาคมที่เชื่อมโยงติดต่อระหว่างอาณาจักรโบราณหลายแห่ง ได้แก่ ล้านนาที่อยู่ทางเหนือ  ล้านช้างอยู่ทางตะวันออก สุโขทัยและพุกามอยู่ทางตะวันตก และกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางใต้

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม  โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันในศิลาจารึก ตำนาน นิทาน และพงศาวดาร เช่น สองแคว สระหลวง สองแควทวิ สาขะ ไทยวนที

ที่เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนทิศทางน้ำออกห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองเก่าในปัจจุบันคือบริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก และเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาประทับจำพรรษาเมื่อคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘

จนเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสองแคว มาตั้งอยู่ ณ บริเวณตัวเมืองในปัจจุบัน และยังคงเรียกกันติดปากกว่า เมืองสองแคว เรื่อยมา

เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองมีลำน้ำน่านไหลผ่านตัวเมือง ทำให้เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก วัดนี้เป็นวัดสำคัญในฐานะที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่ฝั่งตะวันตกมีพระราชวังจันทน์ที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ ทรงประทับที่พระราชวังจันทน์เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๕ ปี  จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงโปรดให้สมเด็จพระธรรมราชาธิราช พระมหาอุปราช กับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นพระชายา ไปครองเมืองพิษณุโลก ครอบครองหัวเมืองภาคเหนือ

ระหว่างนี้พระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีมีโอรสด้วยกันสองพระองค์ คือ พระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ซึ่งพระราชบุตรองค์หนึ่งเป็นมหาวีรบุรุษของปวงชนชาวไทย




พระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


พระราชวังจันทน์

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ไม่ไกลจากค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ ๓ ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระราชโอรสใน พระยาเลอไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วงของอาณาจักรสุโขทัย ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของราชวงศ์พระร่วง ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัยและครองเมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๕ - พ.ศ. ๑๙๑๒ ทรงสร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และใช้เป็นที่ประทับระหว่างเสด็จว่าราชการหรือครองเมืองพิษณุโลกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้พระราชวังจันทน์ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ


• รื้อทำลายพระราชวังจันทน์
ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พม่ายังคงรุกรานไทย ได้ส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้ง บ้านเมืองยังไม่มีความเข้มแข็งพอ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำริว่า ไม่มีกำลังทหารพอที่จะป้องกันเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ จึงทรงรวบรวมกำลังพลเพื่อทำสงครามที่กรุงรัตนโกสินทร์เพียงที่เดียว  จึงโปรดให้รื้อทำลายป้อมปราการ กำแพงเมือง และปราสาทราชมณเฑียรในพระราชวังจันทน์เสียสิ้น เพื่อมิให้พม่าข้าศึกใช้เป็นฐานที่มั่นส้องสุมกำลังผู้คนและตระเตรียมเสบียงอาหาร เพื่อที่จะทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีก  พระราชวังจันทน์จึงถูกทำลายได้รับความเสียหายอย่างหนัก และได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เหลือแต่เพียงชื่อ และไม่มีใครสนใจอีก

• การค้นพบ
จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลก และหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงรับสั่งให้ขุนศรเทพบาล สำรวจรังวัด จัดทำผังพระราชวังจันทน์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จสังเวยเทพารักษ์ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังจันทน์ด้วย และมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน ๒-๓ ศอกเศษ มีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  มีกำแพงวัง ๒ ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง ภายหลังปรักหักพังเป็นป่ารกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก




พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี


ทิมดาบเป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ถวายความปลอดภัยแก่พระมหากษัตริย์  
ภาพจาก : พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  [/color]





ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชวังจันทน์


สร้างโรงเรียนในพระราชวังจันทน์
ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (รัชกาลที่ ๗) ได้มีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากวัดนางพญา มาสร้างที่พระราชวังจันทน์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก เพื่อให้นักเรียนดูแลรักษาพระราชวังจันทน์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  มีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ มาเป็นลำดับ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ที่บริเวณสนามบาสเกตบอลใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ขณะคนงานก่อสร้างขุดหลุมเสาฐานราก จึงได้พบซากอิฐเป็นแนวกำแพง  

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ได้แจ้งมายังหน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย ว่ามีการขุดพบซากอิฐเก่าในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

พระราชวังจันทน์จากหลักฐานโบราณคดี
หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย จึงมอบหมายให้ นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีเข้าไปตรวจสอบ  การดำเนินงานทางโบราณคดีที่พระราชวังจันทน์ จึงเริ่มขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕
  
การขุดตรวจสอบเบื้องต้น พบกำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นนอก ประตูพระราชวังจันทน์ และทิมดาบ พบกำแพงพระราชวังจันทร์ชั้นใน ประตูประราชวังจันทน์ และเนินฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณสนามโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  และสรุปผลจากหลักฐานโบราณคดีว่า พระราชวังจันทน์มีการซ่อมสร้างโดยการรื้อแล้วสร้างใหม่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง การก่อสร้างครั้งแรกน่าจะไม่ช้าไปกว่ารัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงประทับอยู่ที่พิษณุโลกเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี  การสร้างวังครั้งที่สอง น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่เมืองพิษณุโลกร้างไป ๘ ปีระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๑๓๓ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง  จากนั้นทรงโปรดฯ ให้อพยพครัวเรือนชาวพิษณุโลกไปรวมอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นเป็นต้นมาคงไม่มีการรื้อสร้างวังใหม่ แต่น่าจะเป็นการซ่อมแซมพระราชวังเดิมเท่านั้น เพราะหลังจากสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๔๘ นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาทรงโปรดฯ ให้อุปราชมาครองเมืองพิษณุโลกอีกเลย

จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพิษณุโลกได้รับการปรับปรุงพัฒนาในฐานะเมืองสำคัญ ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมป้อมค่ายคูเมือง การประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและการสร้างมณฑปครอบที่วัดจุฬามณี ในปี พ.ศ. ๒๒๒๔

การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
หลังจากการดำเนินการขุดตรวจสอบเมื่อ ปี พ.ศ.  ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังจันทน์เป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และกำหนดขอบเขตพระราชวังจันทน์ ให้ครอบคลุมพื้นที่พระราชวังจันทน์และวัดสำคัญอีกสามแห่ง คือ วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต และวัดโพธิ์ทอง รวมเนื้อที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา  และได้ข้อสรุปว่า ควรมีการโยกย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสม เพื่อดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณะ และอนุรักษ์พระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน โดยจัดทำเป็นแผนงานโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕

เมื่อมีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ตำบลท่าทองแล้ว กรมศิลปากรจึงดำเนินงานทางโบราณคดีตามมติคณะรัฐมนตรี เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยขุดค้น ขุดแต่งพื้นที่พระราชวังจันทน์ได้ครบทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และดำเนินการบูรณะ อนุรักษ์ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


*เกี่ยวกับชื่อ “พระราชวังจันทน์” นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในสาสน์สมเด็จ ดังนี้
“...คำ “วังจันทน์” นั้น เอาชื่อของ ๒ อย่างมาเรียกรวมกันตามสะดวกปาก คำ “วัง” หมายความว่าที่บ้านของเจ้าทั้งบริเวณตลอดจนรั้วเขตเป็นมูลของคำที่พูดกันว่า “รั้ววัง”  ส่วนคำว่า “จันทน์” นั้นหมายความว่าเป็นคฤหที่เจ้าอยู่คือ “ตำหนักจันทน์” หรือ “เรือนจันทน์” ด้วยแต่โบราณเรือนอยู่ทำด้วยไม้ทั้งนั้น เรือนคนชั้นต่ำลงมาใช้ไม้สามัญ แต่เรือนพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่ศักดิ์สูง เช่น พระมเหสี หาไม้อย่างวิเศษเช่นไม่จันทน์อันมีกลิ่นหอมมาทำ ผิดกับของคนอื่น จึงเรียกกันว่า ตำหนักจันทน์...”






พระปรางค์ศิลปะขอม วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก






ปูนปั้นประดับปรางค์องค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากจีนและขอม
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบศิลปลายไทย

วัดจุฬามณี เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เสด็จมาประทับจำพรรษา เมื่อคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ ละละแวกวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งเมืองเก่าพิษณุโลก

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ธันวาคม 2560 16:37:22 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 18 ธันวาคม 2556 16:34:06 »

.

ชาวมลายูเรียกพระนเรศวรเป็นเจ้าว่าพระอัคนิราช
หมายถึงไฟ อันไฟนั้นย่อมมีทั้งความร้อน มีพลังงาน และมีแสงสว่าง
พระบรมราชกฤษฎาภินิหารของพระนเรศวรก็เป็นดังนั้น
แสงสว่างอันเจิดจ้านั้นก็ยังส่องออกมาให้เห็น ปรากฏแก่ตาแก่ใจคนจนได้...
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช


พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในพระราชอิริยาบถประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคาร
หลั่งน้ำทักษิโณทกลงเหนือพื้นพสุธาดล ประกาศอิสรภาพจากพม่า  
ประดิษฐานที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชวังจันทน์

พระราชวังจันทน์  เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ได้กอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล  ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒) พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา และองค์ที่ ๒ ของราชวงศ์สุโขทัย ที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยา (พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชา) ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ  ประสูติที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๐๙๘  ชาวเมืองพิษณุโลกและชาวต่างประเทศเรียกพระนามพระองค์อย่างสามัญว่า พระองค์ดำ ส่วนสมเด็จพระอนุชาเรียกว่า พระองค์ขาว  ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องที่สุดนั้น เรียกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า”

ขณะทรงพระเยาว์ ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก จนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระชนมายุ ๙ พรรษา พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นทูลขอช้างเผือกจากกรุงศรีอยุธยา ๒ ช้าง (ขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่ทั้งหมด ๗ ช้าง)  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกทรงมีพระบรมราชโองการไม่ประทานช้างเผือก  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงถือเป็นเหตุยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา (เรียกกันว่า สงครามช้างเผือก) โดยยกทัพผ่านมาทางสุโขทัย แล้วเลยมาล้อมเมืองพิษณุโลกเอาไว้ พระมหาธรรมราชาซึ่งครองเมืองพิษณุโลกเห็นจะสู้พม่าซึ่งมีกำลังพลมหาศาลไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า



พระเจ้าบุเรงนองได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพลงไปตีกรุงศรีอยุธยาด้วย ผลของสงคราม ทำให้ไทยต้องยอมเป็นไมตรี และยอมถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี  ตามประเพณีการปกครองเมืองขึ้นของไทยและของพม่ามาแต่โบราณ
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดีจนพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงได้ถวายพระสุพรรณกัลยาไปแลกเปลี่ยน และเมื่อเสด็จกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว พระราชบิดาจึงแต่งตั้งให้ขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก
 
เรื่องการเสด็จกลับเมืองไทยของสมเด็จพระนเรศวรนี้ หลักฐานทางพงศาวดารไทยไม่ชัดเจน มีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าและหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด* (* สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกเดื่อ) ซึ่งเป็นพงศาวดารที่ไทยแปลมาจากภาษารามัญ กล่าวว่า...เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตนั้น สมเด็จพระนเรศวรยังประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ขุนนางเชื้อพระวงศ์ได้อัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม ทรงพอพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม แต่ปกครองบ้านเมืองด้วยสิทธิขาดของพระองค์เอง

และในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับพระมหาอุปราชา ทำให้มีความอาฆาตพระมหาอุปราชา ต่อมาจึงทรงดำริว่า “เราจะมานั่งลอยหน้าอยู่ในเมืองให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่ควร” จึงจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้  ต่อมาจึงได้เสด็จเข้าไปชวนพระสุพรรณกัลยาหนีกลับกรุงศรีอยุธยา แต่พระพี่นางตรัสตอบว่า พระองค์ท่านมีบุตรด้วยพระเจ้าหงสาวดีแล้วจะหนีไปอย่างไรได้ สมเด็จพระนเรศวรจึงรวบรวมไพร่พลจำนวน ๖๐ คน หนีออกจากกรุงหงสาวดี ผ่านมาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ฝ่ายพม่าให้พระมหาอุปราชายกกองทัพติดตาม เกิดการสู้รบตั้งแต่บริเวณพระเจดีย์ ๓ องค์ สมเด็จพระนเรศวรสู้ไม่ไหวจึงถอยไปตั้งที่เมืองสุพรรณบุรี

ที่สุพรรณบุรีนี้เอง สมเด็จพระเอกาทศรถทราบข่าว ได้ยกกองทัพไปช่วยจนสามารถเอาชนะพม่าได้ จากนั้นพระองค์จึงเสด็จหนีไปตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก โดยมิได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา


เรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรหนีพม่ามาน่าเชื่อถือมาก ในจดหมายเหตุของวัน วลิต กล่าวว่า “เมื่อพระนเรศร์เสด็จหนีจากกรุงหงสาวดีมาเข้าเฝ้าพระราชบิดา ณ กรุงศรีอยุธยานั้น พระราชบิดาทรงตกพระทัยและโศกาดูร ทรงห่วงใยศึกพม่าเพราะบ้านเมืองยังขาดแคลน ราษฎรก็อดอยากยากแค้น รี้พลก็มีน้อย จึงอยากจะรักษาพระราชไมตรีกับพม่าต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อการเป็นไปแล้วก็ต้องปล่อยไป จึงส่งสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๗ พรรษา

ขณะที่พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกได้สะสมฝึกปรือพละกำลังพล เช่นเดียวกับทางกรุงศรีอยุธยาก็บำรุงไพร่พลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะมีกองทัพของกัมพูชายกเข้ามารุกรานหลายครั้ง บางครั้งเป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาก็ได้ร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทำสงครามขับไล่กองทัพกัมพูชาให้ถอยกลับไป ส่วนกองทัพเมืองพิษณุโลกนั้นได้แสดงความสามารถในสงครามปราบเมืองรุมเมืองคังเมืองของไทยใหญ่ ซึ่งแข็งข้อกับพม่า สงครามครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระนเรศวรมีพระเกียรติยศเกรียงไกร เป็นที่เกรงขามต่อพม่าอันเป็นสาเหตุนำไปสู่การวางแผนลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ โดยจะลงมือขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีปราบเมืองอังวะที่แข็งเมือง

เมื่อเสด็จไปถึงเมืองแครงก็ทรงทราบแผนร้ายของพม่า จึงทรงหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล ออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศเอกราชจากพม่า


หลังประกาศเอกราชแล้ว พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีไทยอีกหลายครั้ง ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องถ่ายเทผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ๑๗ หัวเมือง ลงไปรวมกำลังต้านทานพม่าที่กรุงศรีอยุธยา

จนถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๑๓๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต  สมเด็จพระนเรศวรซึ่งที่จริงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยการปกครองมาแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างสมบูรณ์ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๖ พรรษา  

ความที่พระองค์โปรดพระอนุชา เพียงจะทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไม่เพียงพอพระราชหฤทัย จึงทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ พระอนุชาที่ตามเสด็จเข้าร่วมศึกสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่สมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ถวายพระราชอิสริยยศเยี่ยงพระเจ้าแผ่นดินคู่กัน นับว่าในแผ่นดินนี้มีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ (Second King) และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเอาเป็นแบบอย่าง ทรงแต่งตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชและถวายพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน เรียก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


หลังจากครองราชย์ไม่นาน พม่าได้แต่งตั้งให้พระมหาอุปราชยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ สงครามคราวนี้สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปต่อสู้นอกกรุงศรีอยุธยาถึงสุพรรณบุรี นับเป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย ศึกครั้งนี้ได้กระทำยุทธหัตถี ทรงสามารถเอาชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔  ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕  

การยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเลื่องลือไปไกลถึงกรุงปักกิ่งและนานาประเทศทางยุโรป ทรงเป็นมหาราชที่ชาวต่างประเทศรู้จักและยกย่องมากที่สุด

หลังจากนั้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานสยามประเทศเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี


วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาหลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไปเพียง ๒๐ ปีเศษ ได้บันทึกเรื่องราวยุทธหัตถีที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดและยกย่องชื่นชมยิ่งว่า “พระนเรศร์ประสบชัยชนะครั้งนี้ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา พระองค์สามารถปกป้องพระราชอาณาจักรของพระราชบิดาไว้ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นได้ และนับแต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในโลกนี้อีกเลย”

นอกจากนี้ วัน วลิต ยังได้บรรยายถึงเหตุการณ์ตอนจะกระทำยุทธหัตถี ว่า ช้างของสมเด็จพระนเรศวร เจ้าพระยาไชยานุภาพนั้น รูปร่างเล็กกว่าพลายพัธกอช้างทรงของพระมหาอุปราชมากนัก เมื่อประจันหน้ากัน ช้างเล็กกว่าก็ตกใจกลัวถึงกับเบนหัวจะถอยกลับ สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปลุกปลอบพระยาช้างต้น ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ไพเราะกินใจไว้ในหนังสือกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ มีความว่า...พระเจ้าหงสาวดียกทัพอันมีกำลังใหญ่หลวงมายังกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวร์ยกทัพมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซากวัดร้างนั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้) เรียกว่าเครงหรือหนองสาหร่าย เพื่อปะทะทัพมอญ เมื่อกองทัพทั้งสองมาประจัญกันเข้า พระนเรศวร์และพระมหาอุปราชา (ต่างองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ และประทับบนพระคชาธาร) ต่างทอดพระเนตรเห็นกันเข้า ต่างองค์ก็มีพระทัยฮึกเหิม เสด็จออกจากกองทัพ ขับพระคชาธารโดยปราศจากรี้พลเข้าหากันประดุจว่าเสียพระจริต แต่พระคชาธารที่พระนเรศวร์ทรงอยู่นั้นเล็กกว่าพระมหาอุปราชามากนัก เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์มุ่งเข้าหากัน ช้างที่เล็กกว่าก็ตกใจกลัวช้างที่ใหญ่กว่า ถึงกับเบนหัวจะถอยกลับอยู่ท่าเดียว พระนเรศวร์ก็ตกพระทัยจึงตรัสกับเจ้าพระยาช้างต้นว่า
 
 “พ่อเมืองเอย  ถ้าท่านละทิ้งเรา ณ บัดนี้ ก็เท่ากับว่าท่านละทิ้งตัวท่านเองและลาภยศของท่านทั้งปวง เราเกรงว่าแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านจะไร้ยศศักดิ์ หากษัตริย์มาทรงท่านมิได้ ขอให้คิดดูเถิดว่าขณะนี้พระชาตาของกษัตริย์สองพระองค์ขึ้นอยู่กับท่าน และท่านสามารถจะสู้ให้เราชนะศึกได้ ขอให้ท่านดูราษฎรผู้ยากไร้ของเรา คิดดูเถิดว่าเขาจะต้องพ่ายแพ้และกระจัดพลัดพรากถึงปานไฉน ถ้าหากว่าเราทั้งสองหนีสมรภูมิ แต่ถ้าหากเราทั้งสองยืนหยัดอยู่ไซร้ ด้วยความกล้าหาญของท่านและกำลังของเรา เราก็อาจเอาชนะข้าศึกได้ และเมื่อได้ชัยชนะแล้วเราก็จะได้เกียรติยศร่วมกันสืบไป"

"ขณะที่พระองค์ตรัสแก่พระยาช้างต้นนั้น ก็ทรงพรมน้ำเทพมนต์ซึ่งพราหมณ์ได้ทำถวายสำหรับโอกาสนี้ลงบนศีรษะช้างสามครั้ง  ขณะนั้นน้ำพระอสุชลก็ไหลลงตกต้องงวงพระคชาธาร  พระยาช้างผู้ชาญฉลาดนั้น เมื่อได้รับน้ำเทพมนต์และน้ำพระอสุชล และได้ยินพระราชดำรัสของวีรกษัตริย์ก็มีใจฮึกเหิม ชูงวงขึ้นประณตแล้วเบนหัวสู่ข้าศึก พลันวิ่งสู่กษัตริย์มอญดุจเสียสติ อำนาจของพระยาช้างต้นในการสู้รบครั้งนี้แลดูน่ากลัวและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

สงครามยุทธหัตถีครั้งนั้น คงเป็นเรื่องที่ชาวกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงด้วยความปราบปลื้มภาคภูมิใจมิรู้ลืมเลือน แม้ วัน วลิต จะเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาหลังจากนั้นหลายปี ก็ยังสามารถเล่าให้ชาวต่างประเทศฟังอย่างละเอียดลออ

พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรอีกประเด็นที่มีคนสนใจกล่าวถึงคือ พระมเหสีของพระองค์

สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์หนึ่งซึ่งไม่มีพระราชโอรสธิดา ในพระราชพงศาวดารไทยฉบับต่างๆ ไม่มีกล่าวถึง มีเฉพาะในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า เมื่อทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเศกนั้น “อัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวงจึงถวายอาณาจักรเวนพิภพ จึงถวายเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า แล้วฝ่ายกรมในจึงถวายพระมเหสีพระนามชื่อนั้นพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น”
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรเอาไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ ว่า พระมเหสีมณีรัตนา ทรงมีพระชนม์ยืนยาวมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ มีครั้งหนึ่งจมื่นศรีสรรักษ์มหาดเล็กมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพระยาแรกนา เรื่องนี้ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพิโรธมากถึงกับให้จับตัวไปลงโทษขังคุก จมื่นศรีสรรักษ์ถูกจองจำอยู่ ๕ เดือน  เจ้าขรัวมณีจันทร์ หรือพระมเหสีมณีรัตนา มีพระทัยเมตตาจึงเสด็จเข้ามาทูลขอโทษ สมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระมเหสีมณีรัตนานั้นจะต้องเป็นบุคคลที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคารพรัก จึงทรงกล้าหาญที่จะเสด็จเข้าไปขอพระราชทานอภัยโทษให้ใครได้ ด้วยพระเมตตาในครั้งนี้จมื่นศรีสรรักษ์ในกาลต่อมาจึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์สมบัติจนถึงปี พ.ศ. ๒๑๔๘  เสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสาละวินไปตีเมืองตองอูของพม่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้ว เดินทางไปได้ไม่ไกล ก็ล้มประชวรไข้อย่างหนักเพราะมีพระยอด (ฝี) ที่พระศอ  

คราวนั้น พระเอกาทศรถมิได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อม้าใช้มากราบทูลก็รีบเสด็จไปเฝ้าพระเชษฐา เสด็จไปถึงไม่กี่วันสมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคต เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี
 
พระเอกาทศรถเชิญเสด็จพระบรมศพพระมหาวีรราชเจ้ากลับกรุง และได้ทรงครองราชย์สมบัติแทน

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ได้รับการกล่าวถึงอย่างละเอียดพิสดาร เพราะชาวไทยใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาเรื่องราวของพระองค์ด้วยความสนใจและชื่นชม พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนเกี่ยวกับการทำสงคราม

นับแต่การประกาศเอกราชที่เมืองแครง สงครามชิงเมืองรุม เมืองคัง สงครามคราวพระแสงดาบคาบค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามครั้งยุทธหัตถี นอกจากนั้นก็เป็นสงครามปราบปรามข้าศึกให้เกรงพระบรมเดชานุภาพ ปราบพระยาละแวกของกัมพูชา โจมตีพม่า ขยายอำนาจเข้าปกครองอาณาจักรล้านนาไทย เป็นต้น

แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงกันไม่มากนัก คือ เรื่องการเสด็จชายทะเลเมืองราชบุรี เพชรบุรี เพื่อสร้างกองทัพเรือให้เข้มแข็งเกรียงไกร ในพระราชพงศาวดารกล่าวเพียงว่าเสด็จประพาสทางทะเลเท่านั้น แต่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕ ได้กล่าวถึงจดหมายเหตุของจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง แผ่นดินพระเจ้าสินจงฮ่องเต้ ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพเรือไปตีดินแดนเกาหลีของจีน ในปีนั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรกษัตริย์เสียมหลอก๊ก ได้ให้ราชทูตนำสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย กับมีพระราชสาส์นกำกับมาด้วยว่าจะยกกองทัพเรือลอบไปตีญี่ปุ่นเพื่อตัดกำลัง แต่เมื่อทางจีนปรึกษาหารือกันแล้ว ผู้สำเร็จราชการเมืองกวางตุ้งคัดค้าน ขออย่ายอมให้ชาวเสียมหลอก๊กยกทัพไปตีญี่ปุ่น พระเจ้าสินจงฮ่องเต้ก็ทรงเห็นด้วย จากบันทึกของจีน ซึ่งเป็นหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนนี้ แสดงว่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ มิได้เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลธรรมดา แต่เสด็จเพื่อทอดพระเนตรการฝึกกองทัพเรือให้เข้มแข็งเกรียงไกรเป็นที่ทราบกันในนานาประเทศ ถึงขั้นฮ่องเต้ของจีนไม่กล้าให้ยกกองทัพไปทำสงครามกับญี่ปุ่น ซึ่งบางทีอาจจะเป็นอันตรายต่อจีนในโอกาสต่อไป



ข้อมูล :
- หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิษณุโลก,
   กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
- หนังสือเจ้าชีวิต, พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- หนังสือกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แปลจากบันทึกของฝรั่งชาวฮอลันดา
   ชื่อ Jeremial Van Vliet (วัน วลิต) ผู้ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
- นิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๓ และ ฉบับที่ ๔, สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
- หนังสือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์
- คู่มือท่องเที่ยวพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จัดพิมพ์เผยแพร่
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
  


ภาพพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก


สมเด็จพระนเรศวร (King Naresuan) )ทรงพระราชสมภพและทรงพระเจริญวัย
ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก พ.ศ.๒๐๙๘-๒๑๐๖


พระเจ้าบุเรงนอง (King Bu-reng-nong) ทรงขอสมเด็จพระนเรศวร
เป็นพระราชบุตรบุญธรรม (องค์ประกัน) และเสด็จไปกรุงหงสาวดี พ.ศ.๒๑๐๖


สมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก พ.ศ.๒๑๑๔


สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นแม่กองงาน
ในการบูรณะพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พ.ศ.๒๑๑๔-๒๑๑๘


สมเด็จพระนเรศวรทรงคัดเลือกบุตรหลานข้าราชการมาฝึกทำการรบสมัยใหม่ด้วยพระองค์เอง
นับเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้อิสรภาพของชาติในเวลาต่อมา


สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทหารมานมัสการพระพุทธชินราช และสวดชยมงคลคาถาก่อนการรบ
และภายหลังการรบได้นำศัตราวุธมาถวายเป็นพุทธบูชาทุกครั้ง


สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพไทยเข้าตีเมืองคัง
และสามารถจับกุมตัวเจ้าฟ้าเมืองคังได้ พ.ศ.๒๑๒๑


สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิศรภาพ โดยหลังทักษิโณทกเหนือแผ่นพสุธา
ด้วยพระสุวรรณภิงคาร ณ เมืองแครง พ.ศ.๒๑๒๗


สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารลักไวทำมู แม่ทัพพม่าด้วยพระแสงทวน
ที่ทุ่งลุมพลี พ.ศ.๒๑๒๙


สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา
ณ หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๑๓๕


สมเด็จพระนเรศวรทรงขอให้สมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพไปตีเมืองอังวะ
โดยไม่ต้องห่วงพระองค์ที่ทรงประชวรหนัก ณ เมืองหาง พ.ศ.๒๑๔๘




หลวงพ่อโต พระประธานพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก








ความรู้เพิ่มเติม
กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี "เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล" อนุสรณ์แห่งชัยชนะศึกยุทธหัตถี
กดดูที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=64059.0




เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล  พระนครศรีอยุธยา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มิถุนายน 2560 18:41:03 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.806 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 17:22:29