[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 02:27:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ผึ้ง : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคม พฤติกรรม ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้งฯลฯ  (อ่าน 21508 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 มกราคม 2557 18:04:07 »

.


เกือบรุ่งฟุ้งกลิ่นเกลี้ยง   เพียงสุคนธ์
หึ่งหึ่งผึ้งเวียนวน         ว่อนเคล้า
มาลีคลี่กลีบบน           บานกลิ่น ระรินเอย
ยิ่งรุ่งฟุ้งหอมเร้า          เร่งให้ใจเจริญ....  

                     นิราศสุพรรณ - สุนทรภู่

             ผึ้ง
 ผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จักกันดี เล่ากันว่าผึ้งเป็นสัตว์ชนิดแรกที่สอนให้คนรู้จักกับรสหวานตามธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ น้ำผึ้งนั่นเอง คนโบราณรู้จักลิ้มรสน้ำผึ้งมานานนับหมื่นปีแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล บนผนังถ้ำในประเทศสเปน รูปวาดนั้นแสดงให้เห็นคนยุคหินกำลังปีนขึ้นไปตีรังผึ้งที่อยู่ในโพรงตามธรรมชาติ และเก็บน้ำผึ้งใส่ภาชนะไว้กิน ภาพนั้นแสดงว่ามนุษย์รู้จักกินน้ำผึ้ง และน่าจะเป็นอาหารที่มีความหวานจากธรรมชาติชนิดแรกที่คนโบราณรู้จักเก็บนำมาใช้ ก่อนที่จะรู้จักน้ำตาลจากพืชซึ่งใช้กินกันในปัจจุบัน

ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว เมื่อคนเราเริ่มรู้จักเขียนหนังสือ ชาวอียิปต์ได้จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับผึ้งและการเลี้ยงผึ้งเป็นครั้งแรก พระเจ้าเมนิสฟาโรห์แห่งอียิปต์ (ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล) ให้ความสำคัญกับผึ้งมาก จนถึงกับใช้ผึ้งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ ทั้งนี้เพราะผึ้งมีความสำคัญต่อชาวอียิปต์มาก นอกจากจะให้น้ำผึ้งที่เป็นอาหารแล้ว ยังนำไขผึ้งหรือขี้ผึ้งมาทำเทียนสำหรับจุดบูชาเทพเจ้าและให้แสงสว่างอีกด้วย  ประโยชน์อีกประการหนึ่งของผึ้ง คือ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร อันเป็นผลงานของผึ้งที่ผสมเกสรให้พืชนานาชนิดติดลูกติดผลดก และขยายพันธุ์ออกไปได้มากมาย



๑. รูปสลักนูนต่ำ "ลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ที่ผนังวิหารวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
๒. ภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ที่ถ้ำในประเทศสเปน เป็นภาพคนกำลังปีนไปตีรังผึ้ง
๓. รูปผึ้งจารึกบนแผ่นศิลาของชาวอียิปต์โบราณ

ในประเทศไทยพบรูปสลักนูนต่ำลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่ผนังพระวิหารของวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อโต จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยอยุธยาตอนต้น และตามตำนานทางพระพุทธศาสนา มีกล่าวถึงอานิสงส์การถวายน้ำผึ้งแก่พระภิกษุเพื่อเป็นเภสัชว่า จะมีผลบุญมาก

วิวัฒนาการและการกระจายตัวของผึ้ง
ปัจจุบันนี้ได้มีการนำหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ (fossil) มาใช้อธิบายความเป็นมาของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก นำไปสู่การวิจารณ์ผลทางวิวัฒนาการของผึ้งสกุลเอพิส (Apis) ได้อย่างน่าเชื่อถือ มีซากดึกดำบรรพ์มากมายที่สวยงามถูกหุ้มอยู่ในอำพันหรือยางไม้ที่เป็นหิน ซึ่งได้นำมาเก็บไว้เป็นตัวอย่างในการศึกษาเมื่อ ๑๒๐ ล้านปีที่ผ่านมา เหล่าแมลงที่ตอมพืชมีดอกในยุคเริ่มแรกเป็นแมลงจำพวกต่อและบรรพบุรุษของผึ้งที่ปกคลุมไปด้วยขนสั้นๆ อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ตัวเต็มวัยจะอาศัยดอกไม้เหล่านั้นเป็นแหล่งอาหาร โดยเก็บเกสรดอกไม้ (เกสรดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บ ในทางวิชาพฤกษศาสตร์ คือ เรณู-pollen หรือละอองเรณู-pollen grain ของดอกไม้) และช่วยผสมเกสรดอกไม้จากดอกหนึ่งไปสู่อีกดอกหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้แมลงเหล่านี้พัฒนาลักษณะทางสัณฐานวิทยาให้เหมาะสมกับการเก็บเกสรดอกไม้  ดังนั้น ผึ้งและพืชมีดอกจึงมีความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ต่อกันและกัน มีวิวัฒนาการร่วมกันมานาน โดยผึ้งจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ และดอกไม้เป็นแหล่งอาหารให้แก่ผึ้ง

ผึ้งได้แยกออกมาจากวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylogeny) ของต่อและแตนในยุคครีเทเชียส (cretaceous) ช่วง ๖๕-๑๔๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งบางชนิดมีความเฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืช ในทางตรงกันข้ามยังมีผึ้งชนิดอื่นๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืชเช่นกัน ปัจจุบันพบว่ามีผึ้ง ๑๗,๐๐๐ ชนิด ที่มี ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งเป็นผึ้งที่พบเมื่อ ๙๐-๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งเหล่านี้มีลิ้นยาว มีตะกร้าเก็บเกสรซึ่งเป็นขนที่แข็งแรงเส้นเดี่ยวๆ เรียงกันอยู่บริเวณขา ใช้สำหรับแทงเกสรดอกไม้ ผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรมี ๔ กลุ่ม คือ ผึ้งกล้วยไม้ (orchid bee) ผึ่งหึ่ง (bumble bee) ชันโรง (stingless bee) และผึ้งกินน้ำหวาน (honey bee)



ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่ฝังอยู่ในหิน


ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อำพันหุ้มอยู่


๑. ผึ้งกล้วยไม้กำลังเข้ารังซึ่งอยู่ใต้ดิน
๒. ชันโรงกำลังสร้างทางเข้ารังโดยใช้ชันที่ผลิตออกมา
๓. ผึ้งหลวงกำลังดูดน้ำหวานจากดอกสาบเสือ
๑. ผึ้งหึ่งกำลังเก็บเกสร (เรณู) ดอกไม้


ผึ้งกล้วยไม้ เป็นแมลงสังคมที่ทำรังอยู่ใต้พื้นดินด้วยยางไม้ พบการกระจายตัวทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ผึ้งชนิดนี้ยังไม่พบในประเทศไทย โดยทั่วไปเพศเมียแต่ละตัวจะบินแยกรังออกมาดูแลตัวอ่อนของตัวเอง ลูกเพศเมียที่ออกมาจะช่วยเลี้ยงดูตัวอ่อน ส่วนเพศผู้จะออกหาอาหารจากดอกกล้วยไม้และแหล่งอาหารอื่นๆ

ผึ่งหึ่ง เป็นแมลงสังคมที่มีเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนั้นพบการกระจายตัวอย่างกว้างขวางในแถบทวีปอเมริกา เอเชีย ยุโรป และทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ผึ้งหึ่งมีความแตกต่างจากชันโรงและแมลงภู่ รวมทั้งผึ้งกินน้ำหวานอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากเพศเมียได้ผสมพันธุ์แล้วจะทำหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรก แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าผึ้งงาน

ชันโรง เป็นแมลงสังคมที่มีความคล้ายคลึงกับผึ้งกินน้ำหวาน (Apis) แต่เป็นผึ้งสกุล Trigona ภายในรังมีประชากร ๕๐๐-๑๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง นางพญามีขนาดใหญ่สุดภายในรังและไม่มีตะกร้าเก็บเกสร อาศัยอยู่ในโพรง พบการกระจายตัวในแถบทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย รวมถึงตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ พบมากในประเทศไทยถึง ๓๕ ชนิด

ผึ้งกินน้ำหวาน เป็นแมลงสังคมที่พบการกระจายตัวในแถบทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรกลุ่มอื่นๆ พบว่านางพญาสามารถผสมพันธุ์กับผึ้งเพศผู้เป็นจำนวนมาก มีพฤติกรรมที่ผึ้งงานเป็นพี่เลี้ยงดูตัวอ่อนและมีการเต้นเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกันในกลุ่มผึ้งงานบอกแหล่งอาหารและสถานที่สร้างรัง




ผึ้งหลวงสามารถออกหาอาหารจากดอกไม้จนถึงค่ำได้

ผึ้งกินน้ำหวานชนิดต่างๆ
ผึ้ง ในภาษาไทยจะหมายถึงแมลงที่เก็บน้ำหวานจากดอกไม้มาทำน้ำผึ้ง เป็นแมลงในวงศ์ Apidae สกุล Apis ในประเทศไทยมีผึ้งกินน้ำหวานที่สำคัญอยู่ ๕ ชนิดคือ

๑. ผึ้งหลวง มีขนาดตัวและรังใหญ่ที่สุด ขนาดของลำตัวผึ้งยาวประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ส่วนท้องเป็นปล้องสีเหลืองสลับดำ ปีกแข็งแรง บินเร็วมักพบอยู่ในป่าหรือตามชนบททั่วไป ชอบสร้างรัง (รวงผึ้ง) บนต้นไม้สูงๆ หรือภายนอกอาคารบ้านเรือน ตามวัด หรือใต้ถังเก็บน้ำสูงๆ ลักษณะรังมีชั้นเดียวเป็นรูปครึ่งวงกลมขนาดเท่าแขนผู้ใหญ่กางออก (ขนาดประมาณ ๐.๕-๒ เมตร) รวงรังไม่มีที่ปกปิด ผึ้งหลวงเป็นผึ้งที่สร้างรังได้หลากหลาย สามารถสร้างรังตั้งแต่ระดับต่ำกว่า ๒ เมตร จนถึงระดับความสูงมากกว่า ๒๐ เมตร สร้างรังได้ทั้งบนต้นไม้หรือบนหน้าผาสูงๆ มีทั้งเกาะอยู่แบบรังเดียวและอยู่แบบหลายรังใกล้ๆ กันบนต้นไม้หรือบนหน้าผา ด้วยเหตุที่ผึ้งหลวงมีขนาดตัวใหญ่จึงมีปริมาณพิษมากพอที่จะทำให้ศัตรูหรือมนุษย์ที่มารบกวนเสียชีวิตได้ ถ้าโดนผึ้งงานจำนวนมากๆ รุมต่อยพร้อมกัน น้ำผึ้งที่เก็บในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ผึ้งหลวงให้น้ำผึ้งดีที่สุดเรียกว่า น้ำผึ้งเดือนห้า

๒. ผึ้งโพรงไทย มีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำสลับเหลืองเป็นปล้องๆ ที่ส่วนท้อง ผึ้งโพรงสร้างรังในโพรงไม้ ในอาคารบ้านเรือนที่มิดชิดและมืด เช่น ใต้หลังคา รวงรังมีลักษณะหลายรวงห้อยลงมาเรียงขนานกัน ขนาดของรวงรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ผึ้งโพรงไทยสามารถนำมาเลี้ยงในหีบได้ ให้น้ำผึ้งในช่วงเวลาที่ดอกเงาะ ดอกทุเรียน ดอกมะพร้าว หรือดอกไม้จากสวนผลไม้กำลังบานในขณะนั้น ทำให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้หลายครั้ง วิธีการเก็บน้ำผึ้งตามธรรมชาติที่ถูกต้องควรตัดเฉพาะรังส่วนที่มีน้ำผึ้ง ไม่ควรเผารังผึ้ง เพราะทำให้ผึ้งตายหมดทั้งรัง

๓. ผึ้งโพรงฝรั่ง หรือ ผึ้งพันธุ์ คือ ผึ้งพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาและยุโรป ลักษณะคล้ายผึ้งโพรงไทย ตัวมีขนาดใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่คนไทยนำมาจากต่างประเทศ ดังนั้น บางครั้งจึงนิยมเรียกว่า ผึ้งพันธุ์ยุโรป บ้าง ผึ้งพันธุ์อิตาเลียน บ้าง สร้างรังหลายๆ รวงขนาดเท่าๆ กันห้อยลงมาถ้าพบตามธรรมชาติในยุโรปจะอยู่ตามโพรงไม้ ซอกหิน หรือตามอาคารที่ปิดมิดชิด ต่อมาได้มีการนำมาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลก เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดรังเหมาะสมกับการนำมาประยุกต์เลี้ยงในหีบผึ้งขนาดมาตรฐานได้พอดี และสามารถเก็บสะสมน้ำผึ้งได้ปริมาณมากที่สุด ไม่ดุเหมือนผึ้งหลวงและไม่ทิ้งรังง่ายเหมือนผึ้งโพรงไทย ปัจจุบัน พบว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่เลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมากที่สุดในโลก



ผึ้งหลวงชอบสร้างรังอยู่บนต้นไม้และชายคาอาคาร

๔. ผึ้งมิ้ม มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งหลวงและผึ้งโพรง ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย ท้องปล้องแรกมีสีเหลือง ที่เหลือเป็นปล้องสีดำสลับขาวชัดเจน บางท้องถิ่นเรียกว่าผึ้งแมลงวัน พบอยู่ทั่วไป ชอบตอมขนมหวานและผลไม้ตามตลาด ผึ้งมิ้มชอบสร้างรังที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑ เมตรขึ้นไปจากพื้นดิน ลักษณะรวงรังมีชั้นเดียว ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือผู้ใหญ่กางเต็มที่ (ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร) ผึ้งมิ้มมักจะปกปิดรังอยู่ในพุ่มไม้และกิ่งไม้พรางตาเพื่อป้องกันศัตรู เดือนกุมภาพันธ์-เมษายนเป็นช่วงเวลาที่ผึ้งมิ้มให้น้ำผึ้งมากที่สุด

๕. ผึ้งมิ้มเล็ก หรือ ผึ้งม้าน มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งมิ้ม จัดเป็นผึ้งที่เล็กที่สุดในโลก ต่างจากผึ้งมิ้มที่ท้องปล้องแรกมีสีดำ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่หายาก พบเฉพาะบริเวณป่าใกล้ภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น สร้างรังบนต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ระดับความสูงต่ำกว่า ๑ เมตร จนถึง ๗ เมตร ลักษณะรังมีชั้นเดียวบอบบางและเล็กกว่ารังของผึ้งมิ้ม คือ มีขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่เท่านั้น (ขนาดประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร) ด้วยเหตุที่ผึ้งมิ้มเล็กมีรังขนาดเล็ก จึงมักสร้างรังในที่มิดชิดเหมือนผึ้งมิ้ม แต่ปกปิดมิดชิดกว่าในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันลมพายุและฝนพัดทำลายรัง ในฤดูแล้งจะสร้างรังใกล้บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น บางแห่งเรียก ผึ้งม้าน ผึ้งมิ้มดำ ผึ้งกระโปกวัว มั่ม แม้ม ผึ้งหวี่

ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่จำเป็นต้องอนุรักษ์เพราะพบได้ยากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดตัวเล็กและต่อยเจ็บปวดน้อยกว่าผึ้งชนิดอื่น จึงถูกล่าตีหรือเผานำน้ำผึ้งมากกินได้ง่าย ผึ้งมิ้มเล็กที่อยู่บริเวณแห่งเดียวกับผึ้งมิ้มมักจะถูกนักล่าผึ้งมิ้มทำลาย เพื่อนำน้ำผึ้งป่ามาขาย จนกลายเป็นผึ้งที่ใกล้สูญพันธุ์ไป



ซ้าย ผึ้งโพรงไทยกำลังเก็บเกสรดอกไม้ไว้ที่ตะกร้าเก็บเกสร
ขวา) ลักษณะรังผึ้งโพรงไทยจะมีหลายรวงห้อยเรียงขนานกัน

ชีวิตและสังคมผึ้ง
ในชีวิตและสังคมของผึ้งไม่มีผึ้งตัวใดตัวหนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน เพราะผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีวิวัฒนาการสูง มีระบบสังคมมาเป็นเวลาช้านานประมาณถึง ๓๐ ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย ๓ วรรณะ คือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งเพศผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว โดยเฉพาะผึ้งหลวงและผึ้งพันธุ์อาจจะมีผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว

ผึ้งรังหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีระเบียบในระบบสังคมที่มีผึ้งนางพญาเป็นศูนย์กลาง โดยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เพื่อสร้างประชากร ปกตินางพญาผึ้งโพรงไทยจะวางไข่ได้วันละ ๑,๐๐๐ ฟอง นางพญาผึ้งโพรงฝรั่งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐ ฟอง โดยมีผึ้งงานคอยรับใช้ ทำความสะอาด ให้อาหาร และนำของเสียที่อยู่ในรังไปทิ้ง

ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งเพศเมียที่มีขนาดของลำตัวใหญ่กว่าผึ้งงาน และลำตัวยาวกว่าผึ้งเพศผู้ ยกเว้นผึ้งหลวงที่นางพญามีรูปร่างขนาดเท่าๆ กับผึ้งงาน แต่มีปีกสั้นกว่า ปกติจะมีอายุ ๑-๒ ปี บางตัวอาจมีอายุนานถึง ๓ ปี

ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมียมีขนาดเล็กที่สุดในรัง เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับอาหารพิเศษ คือ นมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วันไปจนตลอดชีวิต ทำให้การพัฒนาของผึ้งงานแตกต่างจากผึ้งนางพญามาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้ ผิดแผกแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอกและภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน ได้แก่ หาอาหาร เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง เป็นทหารเฝ้ารังป้องกันศัตรู ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงาน ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนโดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกันเหมือนในสังคมมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผึ้งงาน คือ หุ่นยนต์มีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงมีอายุสั้นเพียง ๖-๘ สัปดาห์เท่านั้น

ผึ้งเพศผู้ มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กในจึงไม่ต่อยศัตรูเหมือนผึ้งงาน มีลิ้นสั้น หาอาหารเองไม่ได้ต้องรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้น ผึ้งเพศผู้ไม่มีหน้าที่ทำงานภายในรัง มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์ในอากาศเสร็จจะตกลงมาตาย ส่วนผึ้งเพศผู้ที่ยังไม่มีโอกาสผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายเมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ เราจะพบผึ้งเพศผู้ปรากฏในรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น



๑. การเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย
๒. ผึ้งมิ้มกำลังสร้างหลอดรวงนางพญาที่ด้านล่างของรัง


๑.ผึ้งมิ้มเล็กหรือผึ้งม้านกำลังเก็บน้ำหวานจากดอกมะพร้าว
๒.(ตรงลูกศรชี้สีแดง) ท้องปล้องแรกมีสีดำ
๓.รังผึ้งมิ้มเล็กเป็นรูปรีหลอดรวงนางพญาอยู่ด้านล่างของรัง

ชีวิตและการเจริญเติบโตของรังผึ้ง
ผึ้งแต่ละวรรณะมีระยะการเจริญเติบโตในแต่ละขั้นตอนที่ใช้เวลาแตกต่างกัน
ขึ้นกับวิถีการดำรงชีวิตและอาหารที่ตัวอ่อนได้รับ ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย
อาจสรุปได้ดังตารางที่แสดงการเจริญเติบโต ดังนี้



ผึ้งงานกำลังป้อนอาหารให้ผึ้งนางพญา


ตารางแสดงจำนวนวันที่ผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์แต่ละวรรณะเจริญจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัย


ขั้นตอนการเจริญจากไข่เป็นตัวเต็มวัย  ไข่ของผึ้งทุกวรรณะมีอายุ ๓ วัน
ตัวอ่อนผึ้งงานมีขั้นตอนการเจริญเติบโตต่างจากตัวอ่อนผึ้งนางพญาและผึ้งเพศผู้
ในช่วงระยะเวลาและอาหารที่ได้รับ อาจแบ่งขั้นตอนการเจริญเป็นดังนี้



ภาพ ๑ วันที่ ๑ ไข่จะติดแน่นกับฐานของหลอด และตั้งตรงอยู่ที่กลางหลอดรวง ขนานกับผนังหลอดรวง
         วันที่ ๒ ไข่จะเอนประมาณ ๔๕ องศา
         วันที่ ๓ ไข่จะเอนนอนราบกับฐานหลอดรวง
ภาพ ๒ วันที่ ๔ หนอนจะเจริญขึ้นและฟักออกมาจากไข่
ภาพ ๓ วันที่ ๕-๖ ผึ้งงานพี่เลี้ยงจะผลิตนมผึ้ง (royal jelly) ออกมาให้เป็นอาหารป้อนหนอน เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน และพบว่าผึ้งงานพี่เลี้ยงจะเวียนมาดูบ่อยกว่า ๑,๐๐๐ ครั้งต่อวัน หรือ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ระหว่างชั่วชีวิตของมัน ตัวหนอนก็จะว่ายอยู่ในนมผึ้งและใช้กินเป็นอาหารด้วย ตัวอ่อนจะมีการงดตัวทางด้านหนึ่ง อาจทางด้านซ้ายหรือขวา จนกว่าเจริญเต็มที่เกือบเต็มหลอดรวง หลังจาก ๓ วันไปแล้ว ผึ้งงานจะหยุดให้นมผึ้ง แต่ให้เกสรและน้ำผึ้งแทน ตัวหนอนจะกินจนเริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้เมื่ออายุได้ ๘ วัน ก็หยุดกินอาหาร ในระยะที่เป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ ๔ ครั้ง
ภาพ ๕ วันที่ ๙ (นับจากระยะที่เป็นไข่) ตัวหนอนจะปั่นปลอกหุ้มอยู่ภายใน และลอกคราบเป็นครั้งสุดท้ายกลายเป็นดักแด้
ภาพ ๖ วันที่ ๑๐ ลำตัวจะเหยียดยาว ส่วนหัวชี้ไปทางปากหลอดรวง
ภาพ ๗ วันที่ ๑๓ จะเกิดสารสีที่ตาก่อน โดยตอนแรกเป็นสีชมพู ต่อมาจะเป็นสีแดงม่วง และเป็นสีน้ำตาลในที่สุด ตัวเต็มวัยกัดหลอดรวงออกมา

ระหว่างการเจริญจะลอกคราบทั้งหมด ๕ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะกลายเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเจริญสมบูรณ์เปลือกดักแด้จะแยกออก ผึ้งตัวเต็มวัยอาศัยกรามกัดฝาปิดหลอดรวงออกมา โดยส่วนหัวออกมาก่อน รวมเวลาทั้งหมดนับจากวางไข่ ๒๑ วัน สำหรับในผึ้งโพรง พบว่า ระยะการเจริญเติบโตของผึ้งงานจากไข่ถึงตัวเต็มวัยอายุเพียง ๒๐ วัน เท่านั้น

ส่วนผึ้งนางพญาเมื่อตัวหนอนออกจากไข่ (วันที่ ๓) ระยะนี้ไม่มีความแตกต่างจากตัวหนอนผึ้งงานเลย แต่จะได้รับนมผึ้งทุกวันเป็นปริมาณมากกว่าผึ้งงาน และจะเริ่มฟักตัวเข้าดักแด้ในวันที่ ๘ ดังนั้น ผึ้งนางพญามีระยะที่เป็นตัวหนอนเพียง ๕ วัน และเข้าดักแด้อีก ๘ วัน รวมอายุจากไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยเพียง ๑๖ วัน สำหรับในผึ้งพันธุ์ ส่วนผึ้งโพรงใช้เวลาประมาณ ๑๕-๑๖ วัน

ผึ้งเพศผู้ในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรงมีระยะเป็นตัวหนอนนานประมาณ ๖-๖.๕ วัน เท่านั้น แต่ในระยะดักแด้ของผึ้งโพรงนาน ๑๓ วัน และในผึ้งพันธุ์นาน ๑๔.๕ วัน รวมอายุจากไข่ถึงตัวเต็มวัยของผึ้งโพรงเพศผู้ ๒๒ วัน และของผึ้งพันธุ์นานประมาณ ๒๔ วัน





ลักษณะทั่วไปของผึ้ง
ลำตัวของผึ้งแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง
ส่วนหัว เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัสโดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
ตา มีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกลและเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดงซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ตาของผึ้งเพศผู้ใหญ่กว่าตาผึ้งงานและผึ้งนางพญา
ปาก เป็นแบบกัดเลีย ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงใช้ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งเพศผู้และผึ้งนางพญาสั้นมากเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานจะช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ
ส่วนอก เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อเป็นที่ตั้งของขาและปีก
ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสรดอกไม้ (ละอองเรณู) เรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งมีเฉพาะในผึ้งงานเท่านั้น ส่วนผึ้งเพศผู้และนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่มีหน้าที่ออกหาอาหาร
ปีก มี ๒ คู่ เป็นปีกบางใส คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อย ปีกคู่แรกและคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตะขอเรียงกันเป็นแถว เรียกว่า ฮามูไล (hamuli)
ส่วนท้อง ผึ้งงานมี ๖ ปล้อง ส่วนผึ้งเพศผู้มี ๗ ปล้อง ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่ ที่ปลายท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กใน
อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงานและผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่ถูกแปลงเป็นเหล็กใน มีลักษณะเป็นเข็มแหลม
รูหายใจ เป็นรูเปิดที่ด้านข้างส่วนอกและส่วนท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจปิดเปิดตลอดเวลา เพราะผึ้งหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจอยู่ติดต่อกับท่อลมและถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัวช่วยพยุงตัวขณะที่บิน ทำให้สามารถบินได้เร็วและไกลด้วย



ภาพ ๑ รังผึ้งมิ้มเล็ก (บน) มีขนาดเล็กกว่ารังผึ้งมิ้ม (ล่าง)
ภาพ ๒ ภาพวาดแสดงลักษณะหลอดรวงแต่ละหลอดเป็นรูปหกเหลี่ยม


ต่อมไขผึ้งผลิตไขออกมาสร้างหรือซ่อมแซมรัง

ลักษณะของรังและหลอดรวง
รังผึ้ง หรือ รวงผึ้ง (comb) ของผึ้งทุกชนิดประกอบด้วยหลอดรวง (cell) รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าจำนวนพันๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวงขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้น ขนาดหลอดรวงผึ้งมิ้มจึงมีขนาดเล็กที่สุด จำนวนหลอดรวงในรังผึ้งขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น รังผึ้งหลวงรังใหญ่ๆ อาจมีจำนวนมากถึงหมื่นๆ หลอดรวง เช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรมากที่สุด เพราะในครอบครัวของรังผึ้งรังเดียว (colony) อาจมีหีบซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘-๑๐ รวง ดังนั้น ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถจัดการให้มีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัวได้

รวงรังของผึ้งเปรียบเหมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือห้องของตัวอ่อน ผึ้งนางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานแต่ละหลอดรวง ตัวอ่อนหรือตัวหนอนเจริญในหลอดรวงจนถึงระยะเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้าย ผึ้งตัวเต็มวัยจะคลานออกจากหลอดรวง รวงรังผึ้งชนิดเดียวกันมีขนาดหลอดรวงไม่เท่ากัน เพราะขนาดของผึ้งแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด รังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่า คือ กว้าง ๐.๒๑ นิ้ว หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษคือใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงรังในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่เกาะอาศัยห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง หลอดรวงตัวอ่อนนี้อาจใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เรียกว่า “หัวรวง” หรือ “หัวน้ำผึ้ง” ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสรและหลอดรวงตัวอ่อน

การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรังโดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น

การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างของส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรัง โดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2558 16:32:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 มกราคม 2557 12:55:23 »

.



๑.ลักษณะการเต้นรำแบบวงกลมของผึ้งงาน เป็นการบอกแหล่งอาหารที่อยู่ในรัศมี ๑๐๐ เมตร
๒.ลักษณะการเต้นรำแบบส่ายท้องเป็นการบอกทิศทางแหล่งอาหารที่อยู่ไกลกว่า ๑๐๐ เมตร
ขวา แสดงภาพการเต้นรำแบบส่ายท้อง แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดอกไม้ และตำแหน่งรังผึ้ง
 
พฤติกรรมและภาษาผึ้ง
• พฤติกรรม
คือ การแสดงออกในลักษณะท่าทางเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการแยกรัง

• ภาษาผึ้ง เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้งเพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิกในรังรู้ และพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที
ภาษาผึ้งเป็นภาษาที่น่าสนใจและน่าแปลกประหลาด นำเสนอโดยศาสตราจารย์ คาร์ล ฟอล ฟริช (Karl von Frisch) ชาวเยอรมัน ได้ค้นพบจากการที่เฝ้าดูผึ้งตัวน้อยๆ บอกภาษากันด้วยการเต้นรำ และศึกษาเรื่องนี้อยู่นานถึง ๔๐ ปี จึงสรุปและอธิบายแง่มุมต่างๆ ของภาษาผึ้งได้อย่างละเอียด ผลงานนี้ได้รับรางวัลสูงสุด คือ รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา พ.ศ. ๒๕๑๖

การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลม และการเต้นรำแบบส่ายท้อง



แสดงภาพการเต้นรำแบบส่ายท้อง แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดอกไม้ และตำแหน่งรังผึ้ง
ก. ตำแหน่งดอกไม้อยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ข. ตำแหน่งดอกไม้ทำมุมแหลม (x) กับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ค. ตำแหน่งของดอกไม้ทำมุมป้าน (y) กับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ง. ตำแหน่งของดอกไม้อยู่คนละด้านกับดวงอาทิตย์และรัง

• การเต้นรำแบบวงกลม (round dance)  ผึ้งงานที่กลับจากการสำรวจแหล่งอาหารในรัศมีไม่เกิน ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรังแล้วเต้นแบบวงกลมบนผนังของรวงรังในแนวตั้งฉากกับฐานรัง เอบอกให้สมาชิกผึ้งงานด้วยกันได้รู้ ลักษณะของการเต้นแบบวงกลมนี้จะเต้นวนอยู่หลายรอบนาน ๑/๒ – ๑ นาที จึงหยุด แล้วย้ายไปเต้นในตำแหน่งต่างๆ บนผนังรวงรัง เพื่อบอกให้สมาชิกผึ้งงานตัวอื่นๆ ให้รู้ต่อไป ตลอดเวลาของการเต้นนี้จะมีผึ้งงานประมาณ ๕ – ๑๐ ตัว ใช้ลิ้นเลีย เพื่อชิมรสของน้ำหวานที่ผึ้งไปเก็บมา ถ้ามีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ผึ้งที่ออกไปสำรวจนี้จะเต้นรุนแรงและเร็ว ถ้าอาหารมีน้อยก็จะเต้นช้าและมักไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกผึ้งงานที่ล้อมดูอยู่รอบ ในขณะที่ผึ้งสำรวจเต้น ผึ้งงานที่อยู่รอบๆ จะดมกลิ่นและสังเกตลักษณะสีของแหล่งอาหารซึ่งก็คือเกสรและน้ำหวานที่ติดมากับผึ้งสำรวจ การเต้นแบบวงกลมไม่ได้บอกทิศทางแหล่งอาหารแต่อย่างใด เพราะระยะทางในรัศมี ๑๐๐ เมตร เมื่อผึ้งงานที่ตอมดูอยู่รอบๆ ผึ้งสำรวจ บินออกไปรอบๆ รัง ก็จะพบแหล่งอาหารซึ่งอยู่ไม่ไกลได้ทันที

• การเต้นแบบส่ายท้อง (tail wagging dance)  ผึ้งงานที่ออกไปสำรวจและพบแหล่งอาหารไกลกว่า ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรังแล้วเริ่มเต้นแบบส่ายท้องบนผนังรวงรังทันที ลักษณะการเต้นแบบนี้ท้องจะส่ายไปมา โดยผึ้งวิ่งเป็นเส้นตรงขึ้นไปก่อน แล้วหมุนวนรอบซ้ายและขวา รอบละครึ่งวงกลม รูปแบบการเต้นทำองศาบนเส้นแบ่งครึ่งวงกลมกับแนวดิ่งของฐานรังนี้เองจะบอกทิศทางระหว่างแหล่งอาหาร ที่ตั้งของรัง และดวงอาทิตย์ ผึ้งที่ออกไปสำรวจจะเต้นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จำนวนรอบและระยะเวลาการเต้นเป็นตัวกำหนดระยะทางของแหล่งอาหารกับที่ตั้งของรัง ผึ้งที่ไปสำรวจจะย้ายตำแหน่งการเต้นไปยังที่ต่างๆ บนรวงรัง ให้สมาชิกภายในรังได้รู้มากที่สุดแล้วจึงหยุดเต้น ผึ้งงานที่ตอมอยู่รอบๆ จะพากันบินไปสู่แหล่งอาหารทันที

ความรุนแรงของการเต้นเป็นสิ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร จำนวนรอบของการเต้นบอกระยะทางของแหล่งอาหาร ผึ้งงานจะสังเกตลักษณะของกลิ่นและชนิดของดอกไม้จากเกสรที่ติดมาบนตัวผึ้งสำรวจเช่นเดียวกับการเต้นแบบวงกลม

ผึ้งเกือบทุกชนิดจะบินออกหาอาหารตอนกลางวัน ยกเว้นผึ้งหลวงที่บินออกหาอาหาร (ตอมดอกไม้) ทั้งตอนกลางวันจนถึงช่วงพลบค่ำได้ เคยพบผึ้งหลวงออกหาอาหารจนถึง ๒๑.๐๐ นาฬิกา

ชีวิตและสังคมของผึ้งเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการทำงานและความพร้อมเพรียงกัน ผึ้งจึงสามารถสร้างรังและสะสมอาหารหรือน้ำผึ้งได้มากมายอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าผึ้งเป็นเพียงแค่สัตว์ตัวเล็กๆ แต่คนโบราณก็ยกย่องพฤติกรรมของผึ้ง โดยสั่งสอนให้คนขยันและสามัคคี ช่วยกันทำงานให้ได้อย่างผึ้ง



บน ฝูงผึ้งเพศผู้ออกไปผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาที่กลางอากาศ
ล่างซ้าย ไข่ผึ้งตั้งตรงอยู่ที่ฐานรวง  ล่างขวา ตัวอ่อนระยะเป็นตัวหนอน


• การผสมพันธุ์  คือ พฤติกรรมที่ผึ้งเพศผู้บินออกไปผสมพันธุ์กับนางพญากลางอากาศหรือที่สูงบนยอดไม้ โดยจะบินออกไปผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ ๓-๗ วัน ผึ้งเพศผู้บินออกไปเป็นกลุ่มและชอบทำเสียงแหลมที่ต่างจากผึ้งงาน เพราะความถี่ในการขยับปีกต่างกัน ก่อนบินออกไปจะกินน้ำผึ้ง ทำความสะอาดหนวดและตาของมัน แล้วจึงบินออกไปรวมกลุ่มกันก่อนยังบริเวณที่เรียกว่า “ที่รวมกลุ่มของผึ้งเพศผู้” ทันทีที่ผึ้งนางพญาปล่อยสารเฟโรโมนซึ่งทำให้ผึ้งเพศผู้มีพฤติกรรมตอบสนองทางเพศ โดยบินเข้าหาผึ้งนางพญา สารนี้จะทำงานเฉพาะเมื่ออยู่ภายนอกรัง และอยู่สูงจากพื้นดินไปไม่น้อยกว่า ๔–๕ เมตร ผึ้งเพศผู้ตัวแรกที่บินไปก่อนจะได้ผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วอวัยวะสืบพันธุ์จะขาดจากตัว ทำให้ผึ้งเพศผู้ตายและตกลงมา ผึ้งนางพญาจะสลัดอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งเพศผู้ออกและผสมกับผึ้งเพศผู้ตัวต่อไปจนครบ ๑๐ ตัว จึงบินกลับรัง โดยทั่วไปแล้วผึ้งนางพญาจะผสมพันธุ์กับผึ้งเพศผู้จากรังอื่นๆ ที่ต่างสายเลือดกัน ผึ้งนางพญาเก็บน้ำอสุจิผึ้งเพศผู้ได้ถึง ๕–๖ ล้านตัว เพื่อใช้ผสมกับไข่ไปจนตลอดชีวิต โดยไม่ต้องบินไปผสมกับผึ้งเพศผู้อีก ผึ้งเกือบทุกชนิดผสมพันธุ์ในเวลากลางวันถึงตอนบ่ายๆ ยกเว้นผึ้งหลวงจะผสมพันธุ์เวลาพลบค่ำ เป็นผึ้งชนิดเดียวที่ผสมพันธุ์ตอนกลางคืนได้

ภาพรังผึ้งเปล่าที่ผึ้งทิ้งรังไปแล้ว

สภาพรังผึ้งมิ้มเล็กที่ขาดผึ้งนางพญา

• การวางไข่  เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการผสมพันธุ์ ผึ้งนางพญาที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะเดินหาหลอดรวงว่างๆ เพื่อวางไข่ ผึ้งนางพญาใช้ส่วนหัว หนวดและขาหลัง สัมผัสตามหลอดรวงต่างๆ เพื่อวัดขนาดของหลอดรวง เมื่อพบแล้วจะยื่นส่วนปลายท้องลงไปวางไข่ ปกติผึ้งนางพญาวางไข่ ๑ ฟอง ภายใน ๑ หลอดรวง ถ้าเป็นหลอดรวงใหญ่จะวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ไข่นั้นจะเจริญเป็นผึ้งเพศผู้ แต่ถ้าเป็นหลอดรวงเล็กจะวางไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว ไข่ฟองนั้นจะเจริญเป็นผึ้งเพศเมีย คือ ผึ้งงานนั่นเอง ไข่ที่เกิดเป็นผึ้งนางพญาเป็นไข่ที่ได้รับการผสมเช่นเดียวกัน

การวางไข่โดยมากจะเริ่มใน ๒–๓ วัน หลังจากผสมพันธุ์ และดำเนินต่อไปตลอดชีวิตที่เหลือ ยกเว้นช่วงที่ขาดแคลนเกสร ปกติผึ้งงานประจำรังจะให้อาหารนางพญาอย่างสม่ำเสมอในระยะวางไข่และกำจัดของเสียของผึ้งนางพญา รวมทั้งเก็บไข่ที่ผึ้งนางพญาทำหล่นนอกหลอดรวง กำจัดไข่ที่ผึ้งนางพญาวางไข่มากกว่าหนึ่งฟองในหลอดรวงเดียว พฤติกรรมกำจัดไข่ (policing) นี้เกิดกับผึ้งงาน ในช่วงเวลาผึ้งกำลังจะแยกรังและหนีรังด้วย หรือในกรณีที่ผึ้งนางพญาหายไปจากรัง หรือผึ้งงานที่เป็นเพศเมียเหมือนกันซึ่งสามารถวางไข่ได้ และจะวางไข่หลายๆ ฟองในหลอดรวงเดียว ก็อาจเกิดพฤติรรมกำจัดไข่ขึ้นได้ในระหว่างผึ้งงานด้วยกันเอง


• การแยกรัง เป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่ผึ้งจะสร้างรังใหม่ เมื่อผึ้งนางพญาอายุมาก ผึ้งรังนั้นมีโอกาสจะแยกรังมากกว่าผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย สัญญาณการแยกรังจะเกิดขึ้นอย่างน้อย ๓–๗ วัน ก่อนแยกรัง โดยเริ่มแรกผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงนางพญาขึ้นใหม่ที่ด้านล่างของรวงรังให้นางพญาวางไข่ ในขณะเดียวกันตัวอ่อนผึ้งงานซึ่งเกิดจากนางพญาที่ครองรังอยู่มีจำนวนมากขึ้น ผึ้งเพศผู้จะมีมากขึ้นด้วยเมื่อใกล้ถึงเวลาแยกรัง ผึ้งนางพญาจะเพิ่มอัตราการวางไข่เพื่อเพิ่มประชากรให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการหาอาหารมากขึ้น มีการรวบรวมน้ำหวานและเกสร เกือบทุกหลอดรวงเต็มไปด้วยน้ำผึ้ง เกสร หรือตัวอ่อน เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้นถึงจุดหนึ่งจนไม่มีหลอดรวงว่างให้นางพญาวางไข่ ผึ้งงานจะป้อนอาหารให้นางพญาน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวของนางพญาลดลง ผึ้งนางพญาจะเริ่มวางไข่ เพื่อสร้างนางพญาตัวใหม่ในหลอดรวงที่ผึ้งงานสร้างขึ้นใหม่ ในบางกรณีที่ผึ้งนางพญาหายไป และรวงรังมีประชากรล้นรังมากๆ ผึ้งงานซึ่งสามารถวางไข่ได้ด้วยจะเริ่มวางไข่ แต่จะถูกกำจัดไข่ด้วยผึ้งงานด้วยกันเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผึ้งงานกำจัดไข่ เนื่องจากต้องการกำจัดไม่ให้มีผึ้งเพศผู้เกิดขึ้นมากเกินไป เพราะไข่ของผึ้งงานจะเกิดเป็นเพศผู้เท่านั้น

เมื่อนางพญาตัวใหม่ฟักตัวออกจากไข่ ช่วงนี้เองตัวอ่อนที่อยู่ในหลอดรวงปิดทั้งหมดไม่ต้องการอาหารเพิ่มอีก ดังนั้น จะมีผึ้งงานอายุน้อยเป็นจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นและไม่มีงานทำ เพราะผึ้งนางพญาตัวแม่ที่สูงอายุได้หยุดวางไข่แล้ว สภาพประชากรล้นรังเหล่านี้เป็นสัญญาณให้ผึ้งเตรียมตัวที่จะแยกรัง ในขณะที่ผึ้งนางพญาตัวใหม่กำลังจะเกิดขึ้นออกมาจากดักแด้ ในวันที่อบอุ่นมีแสดงแดดตามปกติระหว่าง ๑๐–๑๔ นาฬิกา ผึ้งที่มีอายุสูงจำนวนมากจะรีบบินออกจากรังพร้อมกับผึ้งนางพญาตัวแม่ที่มีน้ำหนักลดลงประมาณร้อยละ ๓๐ ผึ้งนางพญาจะบินตามผึ้งงานไปโดยมีผึ้งงานห้อมล้อม ผึ้งงานที่แยกไปส่วนใหญ่อายุมากกว่า ๒๐ วัน ผึ้งงานบางตัวจะหยุดใกล้รังและปล่อยกลิ่นนำทาง ทำให้ผึ้งตัวอื่นๆ ที่บินไม่ทันสามารถบินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน และรวมตัวกันเป็นฝูงเพื่อไปหาที่ตั้งสร้างรังใหม่ต่อไป ส่วนในรังเดิมจะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้น มีผึ้งงานที่มีอายุน้อยซึ่งเหลืออยู่ห้อมล้อม ปกครองในรังเดิมต่อไป ผึ้งโพรงและผึ้งหลวงจะมีการแยกรังหลายครั้ง จนในที่สุดจะอพยพหรือหนีรังไปจนหมดเหลือแต่รังเปล่า


• กรณีที่ผึ้งนางพญาสูญหาย  ในขณะที่ย้ายรัง ผึ้งนางพญาอาจถูกนกหรือตัวต่อจับกินเป็นอาหาร หรืออาจเกิดอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เช่น ลมแรง ฝนตก ไฟไหม้ผ่า ทำให้ผึ้งนางพญาพลัดหลงจากฝูงผึ้งงาน เป็นเหตุให้ผึ้งนางพญาตายได้ กลุ่มผึ้งงานที่เหลือรอดจะบินกลับรังเดิม หรืออาจมีผึ้งงานบางกลุ่มบินพลัดหลงออกจากฝูงไป ผึ้งงานเหล่านี้หากดูดน้ำหวานไว้ขณะย้ายรังจะสามารถเข้าไปอาศัยรังอื่นได้โดยไม่ถูกผึ้งงานเจ้าของรังทำร้าย บางกรณีจะมีกลุ่มผึ้งงานที่ขาดผึ้งนางพญา อยู่ครองต่อไปได้ภายใน ๑–๒ สัปดาห์ รังไข่ของผึ้งงานเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นมาจนสามารถวางไข่ได้ เนื่องจากไม่มีเฟโรโมนของผึ้งนางพญาซึ่งเสมือนเป็นยาคุมกำเนิด ควบคุมการพัฒนารังไข่ของผึ้งงานไว้ แต่ไข่เหล่านี้เป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อเพศผู้จึงพัฒนากลายเป็นเพศผู้ ดังนั้น รังที่ขาดผึ้งนางพญาเป็นเวลานาน รังจึงมีแต่ผึ้งงานที่สูงอายุกับผึ้งเพศผู้เท่านั้น ในที่สุดจะค่อยๆ ตายไปจนหมดรัง  


 
๑.ไรของผึ้งพันธุ์ (Varroa jacobsoni) ทำลายตัวอ่อนผึ้ง  
๒.ภาพขยายไรผึ้งมิ้มเล็ก (Eurarroa wongsirii)
๓.ตัวต่อกำลังเข้าโจมตีรังผึ้งในหีบเลี้ยง


๑.มดแดงกำลังเข้าโจมตีรังผึ้งมิ้ม
๒.หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง เข้าไปกินไขผึ้งและชักใยจนผึ้งต้องทิ้งรัง
๓.นกจาบคาศัตรูแสนสวยของผึ้ง


ศัตรูผึ้ง
ถึงแม้ผึ้งจะมีเหล็กในสำหรับป้องกันตัว ผึ้งก็ยังมีศัตรูต่างๆ ได้แก่

• ไร เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มี ๘ ขา มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไรดูดเลือดผึ้งเป็นอาหาร โดยเฉพาะชอบดูดเลือดผึ้งในระยะดักแด้มากที่สุด ถ้ามีไรเป็นจำนวนมากๆ ทำให้ประชากรผึ้งลดลง

• ตัวต่อ เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่เป็นศัตรูสำคัญของผึ้ง สามารถจับผึ้งตามบริเวณดอกไม้และที่หน้ารังผึ้งกินเป็นอาหารได้ ถ้าผึ้งอ่อนแอลงมากๆ ตัวต่อจะยกพวกเข้าโจมตีผึ้งให้เสียหายได้ทั้งรัง แต่ผึ้งโพรงไทยสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้ดี ถ้ามีการดูแลรักษาให้ผึ้งมีประชากรมากๆ และแข็งแรงอยู่เสมอ จะสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้

• มด เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด โดยเฉพาะมดแดงที่ชอบสร้างรังบนต้นมะม่วงและต้นไม้ผลต่างๆ มดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะบุกโจมตีผึ้งทั้งรัง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด เพราะไม่สามารถสู้กับมดแดงได้ ดังนั้น ก่อนตั้งรังผึ้งทุกครั้งต้องกำจัดมดแดงให้หมด

นอกจากศัตรูทั้ง ๓ ชนิดแล้ว ยังมี หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ถึงแม้ว่าหนอนผีเสื้อกินไขผึ้งจะไม่ได้เป็นศัตรูโดยตรงกับผึ้ง แต่หนอนผีเสื้อกินไขผึ้งจะเข้าทำลายกินไขผึ้ง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่หนีรังอยู่เสมอ เพราะโดนหนอนชนิดนี้รบกวน การทำความสะอาดภายในรังบ่อยๆ การบำรุงรักษาผึ้งให้แข็งแรง จะลดการระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมี นกจาบคา ที่สวยงามก็ชอบกินผึ้งมากเช่นกัน







ชนิดและปริมาณพืชอาหาร
ผึ้งและดอกไม้ซึ่งเป็นพืชอาหารของผึ้งเป็นของคู่กันในการดำรงชีวิต ผึ้งจะขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน พืชดอกไม้ย่อมต้องการให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ด้วย น้ำหวานเป็นส่วนที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ เพื่อนำกลับมาบ่มให้น้ำระเหยออกไปจนเข้มข้นกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง เกสร (เรณู) ดอกไม้เป็นอาหารประเภทโปรตีน ช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยสืบพันธุ์ ผึ้งงานต้องการโปรตีนเพื่อผลิตนมผึ้งป้อนให้กับผึ้งตัวอ่อนที่อายุ ๑-๓ วัน และผึ้งนางพญา

ผู้ที่ต้องการเลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักแหล่งและชนิดพืชอาหารของผึ้ง เพราะว่าดอกไม้ของพืชบางชนิดให้น้ำหวานมาก ดอกไม้หลักที่ให้น้ำหวานกับผึ้ง เช่น สาบเสือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และพืชบางชนิดที่ให้เกสรมาก เช่น ดอกข้าวโพด ดอกไมยราบ แต่ดอกไม้บางชนิดให้ทั้งน้ำหวานและเกสร เช่น ดอกนุ่น และ ดอกทานตะวัน


ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง
ผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการผสมเกสรให้กับพืชไร่และพืชสวนได้เป็นอย่างดี คือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ทุเรียน ชมพู่ ส้ม มะนาว เป็นต้น  นอกจากนี้ ผึ้งยังเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชในสกุลแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงไทย ผึ้งช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร และยังให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยสามารถจัดแบ่งตามธรรมชาติของการเกิดผลิตภัณฑ์เป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. ผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากวัตถุดิบ (พืช) ที่ผึ้งนำมาจากภายนอกรัง ได้แก่ น้ำผึ้ง (honey) พรอพอลิส (propolis) และเกสรผึ้ง (beepollen)
๒. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากตัวผึ้งโดยเป็นผลทางด้านสรีรวิทยาของผึ้ง ได้แก่ ไขผึ้ง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ขี้ผึ้ง (beewax) นมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) และพิษผึ้ง (bee venom)






น้ำผึ้ง
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลของน้ำหวานหรือน้ำต้อยของดอกไม้ (nectar) และจากแหล่งน้ำหวานอื่นๆ เช่น น้ำหวานจากเพลี้ย ที่ผึ้งไปเก็บมา และผ่านขึ้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและกายภาพบางประการ แล้วสะสมไว้ในรังผึ้ง

• ผึ้งผลิตน้ำผึ้งได้อย่างไร
เมื่อผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ลงสู่กระเพาะ จะมีเอนไซม์ (enzyme) จากต่อมน้ำลายขับออกมาย่อยเพื่อเปลี่ยนหรือเรียกว่าเมแทบอไลซ์น้ำตาลกลูโคสและฟรักโทสให้เป็นน้ำตาลแปรรูป (invert sugar) คือ น้ำตาลลีวูโลสและเดกซ์โทรส นอกจากนั้นยังมีน้ำตาลอื่นๆ อีก แต่มีจำนวนน้อยมาก ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ผึ้งเริ่มบินกลับรัง ในขณะที่ผึ้งกระพือปีกจะเกิดพลังงานความร้อนช่วยเร่งการทำงานของเอนไซม์ ตลอดจนช่วยเผาผลาญลดความชื้นในน้ำหวานให้กลายเป็นน้ำผึ้งเร็วขึ้น เมื่อผึ้งงานกลับถึงรังจะคายน้ำหวานแปรรูปนี้ให้กับผึ้งงานประจำรัง ซึ่งจะรับกันด้วยปากต่อปาก น้ำหวานแปรรูปนี้ยังไม่เป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ เพราะยังมีความชื้นหรือน้ำในน้ำหวานมากถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ เมื่อผึ้งงานประจำรังนำน้ำหวานนี้ไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง ตอนเย็นผึ้งกลับรังกันเป็นส่วนใหญ่จะช่วยกันกระพือปีก เพื่อให้น้ำหวานระเหยจนเป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ มีน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ ๒๐-๒๕ เท่านั้น หลังจากนั้นผึ้งงานจะใช้ไขผึ้งปิดหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งไว้เป็นอาหารเพื่อให้พลังงานในชีวิตประจำวันและยามขาดแคลนอาหารต่อไ


การตั้งหีบเลี้ยงผึ้งแบบเกษตรอินทรีย์ในสวนผลไม้

• น้ำผึ้งอินทรีย์ (organic honey)
น้ำผึ้งอินทรีย์ คือ น้ำผึ้งบริสุทธิ์ตามธรรมชาติที่ปราศจากสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ (pesticide) และสารปฏิชีวนะ (antibiotic) รวมทั้งสารเจือปนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นถ้าเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์แท้ๆ จะได้จากผึ้งเลี้ยงในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่ทำการเกษตรที่ปราศจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย เช่น น้ำผึ้งจากดอกสาบเสือและดอกไม้ป่าอย่างดอกเปล้า ในอนาคตตลาดต่างประเทศจะมีผู้บริโภคน้ำผึ้งอินทรีย์มากขึ้น เนื่องจากคนต้องการน้ำผึ้งบริสุทธิ์ของแท้จากธรรมชาติ

• สรรพคุณน้ำผึ้ง
มนุษย์รู้จักสรรพคุณของน้ำผึ้งมาตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งกีฬาโอลิมปิก เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ แพทย์ชาวอียิปต์ใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะรู้จักแบคทีเรียเสียอีก ในปัจจุบันเราทราบดีแล้วว่า น้ำผึ้งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เนื่องจากน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำน้อย มีแรงดูดซึม (osmotic pressure) สูง  ดังนั้น จึงดูดซึมน้ำจากเซลล์จุลินทรีย์ต่างๆ ออกมาหมด ทำให้เชื้อโรคตายได้ ด้วยเหตุนี้แพทย์ในสมัยปัจจุบันจึงยอมรับในเรื่องการใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาแผลบางชนิดได้ รวมทั้งช่วยสมานแผลที่เกิดจากการผ่าตัดนำทารกออกทางหน้าท้องอีกด้วย

น้ำผึ้งมีกลิ่นและลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับน้ำหวานของดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาสะสมเป็นอาหาร น้ำผึ้งตามธรรมชาติจะมีรสหวานจัด กลิ่นหอม มีสีเหลืองอ่อนๆ จนถึงน้ำตาลเข้ม แล้วแต่แหล่งหรือชนิดของพืชอาหารหรือชนิดของดอกไม้ที่ได้มา ในบ้านเรายังมีคนนิยมน้ำผึ้งป่าที่ได้จากผึ้งตามธรรมชาติ ได้แก่ ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และผึ้งหลวง อย่างแพร่หลาย คนไทยสมัยก่อนรู้จักน้ำผึ้งในลักษณะของยามากกว่าอาหาร แต่ปัจจุบันมีผู้รู้คุณค่าของน้ำผึ้งกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้นิยมรับประทานน้ำผึ้งกันมากขึ้น จนทำให้ผลิตผลตามธรรมชาติไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีการเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมแพร่หลายมากขึ้น



ขั้นตอนการสลัดน้ำผึ้งออกจากรัง

ผึ้งที่นำมาเลี้ยง คือ ผึ้งโพรงไทยและผึ้งโพรงฝรั่ง น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งเลี้ยงนี้มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำผึ้งที่ได้ตามธรรมชาติ และยังสามารถเจาะจงให้ได้น้ำผึ้งจากแหล่งของดอกไม้ตามความต้องการ เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย ดอกเงาะ และดอกลิ้นจี่ ผึ้งเลี้ยงจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยวิธีการที่ดี ทำให้ได้น้ำผึ้งปริมาณมากกว่าผึ้งป่าที่หาอาหารตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันน้ำผึ้งยังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียงเทียบกับน้ำตาล ดังนั้น จึงมีการปลอมปนน้ำผึ้งโดยนำน้ำเชื่อมมาแปลงให้มีส่วนประกอบที่คล้ายน้ำผึ้งแล้วแต่งกลิ่น ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ และควรอ่านสลากตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย น้ำผึ้งที่ดีควรมีลักษณะข้นหนืด ซึ่งแสดงว่ามีน้ำน้อย มีกลิ่นหอมของน้ำผึ้งและดอกไม้ตามแหล่งที่ได้มา ไม่มีฟองเนื่องจากการบูด ไม่มีไขผึ้งหรือเศษตัวผึ้งปะปน ใสสะอาด มีสีเหลืองอ่อนๆ หรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรับประทานน้ำผึ้งสามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ จากการดมกลิ่นและชิม แต่ถ้าไม่คุ้นเคยก็เป็นการยาก นอกจากจะวินิจฉัยโดยการตรวจสอบทางเคมี

นอกเหนือจากความแตกต่างในเรื่อง รส กลิ่น และสีของน้ำผึ้งแล้ว น้ำผึ้งจากดอกไม้ต่างชนิดกันยังมีองค์ประกอบของน้ำตาลแตกต่างกันไปด้วย เช่น มีสัดส่วนของน้ำตาลกลูโกสและน้ำตาลฟรักโทสไม่เท่ากัน ฉะนั้น น้ำผึ้งที่มาจากแหล่งต่างๆ จะมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน เช่น สี กลิ่น รส หรือคุณสมบัติในการตกผลึก เราอาจพบว่าน้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งในสวนยางพาราและจากดอกสาบเสือสามารถตกผลึกได้ทั้งหมด เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นหลายชั่วโมง ในขณะที่น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ตกผลึกได้น้อยกว่า หรือน้ำผึ้งจากดอกลำไยแทบจะไม่ตกผลึกเมื่ออยู่ในสภาพเดียวกัน
นอกจากใช้น้ำผึ้งในอุตสาหกรรมยาแล้ว ยังใช้ทำขนมหวาน ขนมปัง ลูกกวาด ไอศกรีม และผสมเครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว นอกจากทำให้มีรสอร่อยแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารสูง น้ำผึ้งใช้แทนน้ำตาลปรุงรสอาหารได้เกือบทุกชนิด ปัจจุบันนิยมนำน้ำผึ้งไปผสมทำเครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และครีมต่างๆ

สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานของน้ำผึ้งที่จำหน่ายในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อความมั่นใจว่าน้ำผึ้งที่ซื้อมารับประทานเป็นของแท้ ควรเลือกซื้อน้ำผึ้งชนิดที่มีเครื่องหมายมาตรฐานแสดงไว้ที่สลาก หรือซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้







บน ผลิตภัณฑ์เกสรผึ้งที่จำหน่ายในท้องตลาด
ตาราง-ล่าง อินทรียสารในเกสรผึ้ง

เกสรผึ้ง  
เกสรผึ้ง ในทางพฤกษศาสตร์ คือ เรณู (pollen) ของดอกไม้ ผึ้งไปเก็บรวบรวมโดยวิธีการเข้าไปคลุกเคล้ากับอับเรณูให้ละอองเรณู (pollen grain) ติดตามตัว และใช้ขาปัดเขี่ยรวมกันเป็นก้อนติดไว้ที่ขาหลังบริเวณอวัยวะที่เรียกว่า “ตะกร้าเก็บเกสร” แล้วนำกลับมาเก็บยังรังเพื่อใช้เป็นอาหารประเภทโปรตีนสำหรับประชากรในรังและใช้เลี้ยงตัวอ่อน เกสรที่นำมาบ่มในรังจนผนังเกสรนุ่มถูกนำไปเลี้ยงผึ้งงานตัวอ่อนที่อายุมากกว่า ๓ วัน โดยผึ้งงานจะบดผสมกับน้ำผึ้ง องค์ประกอบในเกสรพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วมีโปรตีนเป็นพื้นฐาน และมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เอนไซม์ แร่ธาตุต่างๆ และวิตามินครบทุกชนิด

ผู้เลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมนิยมการดักเก็บเกสรที่ผึ้งขนเข้ารัง และนำเกสรไปทำให้แห้งด้วยกรรมวิธีที่ไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร เกสรเหล่านี้มีผู้นิยมรับประทานโดยชงกับกาแฟ หรือทำเครื่องดื่มซึ่งให้ประโยชน์ บางบริษัททำเป็นเม็ดๆ และนิยมเรียกว่า “เกสรผึ้ง” (bee pollen) เป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่า สามารถกระตุ้นร่างกายที่เมื่อยล้าจากการทำงานให้ปกติ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร เพราะเกสรผึ้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของแบคทีเรีย และช่วยควบคุมแบคทีเรียในลำไส้
เกสรผึ้งนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก เพราะได้จากอินทรียสารในธรรมชาติ ประกอบด้วยสารต่างๆ ดังต่อไปนี้
     คาร์โบไฮเดรต   ร้อยละ ๔๐
     โปรตีน           ร้อยละ ๓๕
     กรดแอมิโน      ร้อยละ ๑๕-๒๕
     น้ำ                ร้อยละ ๑๘
     ไขมัน             ร้อยละ ๕

นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค แมกนีเซียม แคลเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส และกำมะถัน

สรรพคุณของเกสรผึ้ง  ฤทธิ์ทางชีวภาพของเกสรผึ้งนั้นได้รับความสนใจ มีผู้ศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองและการวิจัยทางคลินิกถึงผลของเกสรผึ้ง ซึ่งมีผลบำรุงร่างกาย ชะลอความชรา เสริมสมรรถภาพทางการกีฬาและทางเพศ พบว่าเกสรผึ้งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ผิวหนัง กระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ได้อย่างทั่วถึง และยังให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังที่แห้ง จึงสามารถรักษาผิวไม่ให้ย่นเร็ว ทำให้ดูอ่อนวัย ทางการแพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยเริ่มให้ในปริมาณต่ำๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อให้ร่างกายสร้างความต้านทานต่อเกสรดอกไม้นั้นๆ ในยุโรปใช้เกสรผึ้งในการป้องกันและบรรเทาอาการแทรกซ้อนของไข้หวัด ทั้งนี้ เกสรผึ้งยังเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีมล้างหน้า ครีมรองพื้น ครีมบำรุงผิว และใช้รักษาผมให้สลวยเงางาม ป้องกันรังแค โดยเติมลงในแชมพูและน้ำมันใส่ผมอีกด้วย  



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2558 16:30:58 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 มีนาคม 2557 12:35:00 »

.


ขวา ไขผึ้งที่หลอมจากรัง

ไขผึ้ง หรือ ขี้ผึ้ง
โดยปกติไข (WAX) ที่พบอยู่ตามธรรมชาติมี ๓ อย่างด้วยกันคือ ไขจากสัตว์ ไขจากพืช และไขจากแร่ธาตุหรือปิโตรเลียม ไขผึ้งจัดเป็นไขสัตว์ ไขผึ้งบริสุทธิ์ต้องได้มาจากรวงรังผึ้งเท่านั้น ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดผสมกัน โดยผลิตออกมาจากต่อมผลิตไขผึ้งที่อยู่ที่ผิวด้านล่างส่วนท้องของผึ้ง ไขผึ้งมีประวัติการใช้ที่น่าสนใจยิ่งนับตั้งแต่ได้มีการเปิดพีระมิด พบไขผึ้ง ณ ที่เก็บศพของชาวอียิปต์โดยใช้ไขผึ้งเป็นส่วนผสมทำมัมมี่ (ศพที่มีการเก็บรักษาด้วยวิธีการพิเศษ) การใช้เทียนไขในพิธีทางศาสนาของทุกศาสนา นับพันปีมาแล้วจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในแผ่นดินสุวรรณภูมินั้น พบว่ามีการใช้เทียนไขจุดบูชาเทพเจ้าและแลกเปลี่ยนซื้อขายกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๓) ปัจจุบันยังมีพิธีแห่เทียนพรรษากันทุกปีก่อนที่จะเข้าพรรษา และในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะมีโครงการน้ำผึ้งหลวงแล้ว ยังมีโครงการเทียนหลวงที่นำไขผึ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมาแปรรูปเป็นเทียนหลวงใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ

เมื่อเริ่มมีการทำพลาสติกก็ได้นำไขผึ้งมาใช้เป็นส่วนผสมอยู่หลายปี สมัยนั้นนับว่าไขผึ้งมีราคาสูงมาก บางแห่งยังใช้ไขผึ้งเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนเงิน บางแห่งยังใช้ไขผึ้งสำหรับปั้นหุ่นหรือโครงสร้างจำลองต่างๆ ปั้นหุ่นคนในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง (wax museum) กะลาสีเรือเคยใช้ไขผึ้งสำหรับอุดเรือกันเรือรั่ว พวกทหารเคยใช้ไขผึ้งสำหรับอุดค่ายที่พักเพื่อกันน้ำ หรืออุดภาชนะที่ใช้เก็บอาหาร เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้ไขผึ้งในการทำเป็นฉนวนสำหรับเครื่องมือทางไฟฟ้าและเครื่องมือของทันตแพทย์

ปัจจุบันไขผึ้งส่วนใหญ่ได้นำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า น้ำมันทาผิว ลิปสติก และยังใช้ไขผึ้งในการทำเทียน กาว หมากฝรั่ง ตลอดจนดินสอสีและหมึกอีกด้วย เหตุผลที่ต้องใช้เทียนที่มีส่วนผสมของไขผึ้งเป็นจำนวนที่พอเหมาะเนื่องจากคุณประโยชน์ที่มีควันน้อยและมีกลิ่นหอม


บน (เหนือเส้นสีแดง) บางขั้นตอนในการทำหุ่นขี้ผึ้ง
ล่าง หุ่นขี้ผึ้งในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรงเทพฯ

ในธรรมชาตินั้นแต่ละวันผึ้งงานจะผลิตนมผึ้งออกมาน้อยมาก ผึ้งงานจำนวนมากกว่า ๖๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง สามารถผลิตนมผึ้งได้เพียง ๑.๕-๓.๓ กรัม เท่านั้น  ดังนั้น ในทางการค้าที่ต้องการนมผึ้งปริมาณมาก จึงมีการหลอกล่อผึ้งงานโดยเตรียมหลอดรวงนางพญาเทียมจำนวนมาก ซึ่งมีตัวหนอนผึ้งนางพญา (อายุ ๑-๓ วัน) อยู่ภายในหลอดและจะเก็บนมผึ้งทุก ๓ วัน เพราะเป็นช่วงที่มีนมผึ้งอยู่ในหลอดนางพญามากที่สุด การผลิตต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนจึงจะผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้น นมผึ้งจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพง

นมผึ้งตามธรรมชาติเป็นอาหารของผึ้งตัวอ่อนและผึ้งนางพญา ผลิตโดยผึ้งงานที่มีอายุประมาณ ๕-๑๕ วัน คือ ผึ้งงานวัยที่มีหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนจะผลิตอาหารพิเศษต่อจากต่อมไฮโพฟาริงจ์ (hypopharyngeal gland) ที่อยู่ติดกับต่อมน้ำลายในบริเวณส่วนหัวของผึ้งงาน ต่อมนี้ทำหน้าที่ผลิตนมผึ้ง และผึ้งงานจะคายนมผึ้งออกจากปากใส่ลงในหลอดรวงตัวอ่อน (brood cell) นอกจากนั้นผึ้งงานจะใช้นมผึ้งป้อนให้กับผึ้งนางพญาที่เป็นแม่รังทุกวันด้วย



นมผึ้งหรือรอยัลแยลลี



นมผึ้งมีลักษณะและสีขาวคล้ายครีมหรือนมข้น มีกลิ่นออกเปรี้ยวและรสค่อนข้างเผ็ดเล็กน้อย ผึ้งงานจะนำนมผึ้งที่ผลิตขึ้นมาได้นี้ไปเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งทุกวรรณะแต่แรกเกิดจนมีอายุครบ ๓ วัน เฉพาะตัวอ่อนที่จะเจริญไปเป็นผึ้งนางพญาเท่านั้น ที่จะได้รับนมผึ้งจำนวนมากและได้รับติดต่อไปจนตลอดชีวิต จึงเรียกอาหารนี้ว่าเป็น “อาหารราชินีหรืออาหารนางพญา” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผึ้งนางพญามีขนาดโตกว่าผึ้งวรรณะอื่นๆ และมีข้อแตกต่างหลายประการที่ต่างไปจากผึ้งงานทั่วๆ ไปภายในรัง

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเคมีพบว่า นมผึ้งหรือรอยัลเยลลีนั้น มีส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์มาก องค์ประกอบของสารอาหารในนมผึ้ง ได้แก่
     คาร์โบไฮเดรต      ร้อยละ ๑๐-๑๒
     โปรตีน               ร้อยละ ๑๔-๑๕
     ไขมัน                ร้อยละ ๓-๕
     น้ำ                    ร้อยละ ๒๗-๗๐  
     เถ้าหรือธาตุอื่นๆ ประมาณร้อยละ ๑-๒ ประมาณร้อยละ ๑-๒
นอกจากนี้ พบว่าในนมผึ้งนี้มีวิตามินอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ วิตามินบี ๕ วิตามินบี ๖ และวิตามินบีอื่นๆ อีกเกือบทุกชนิด

ปัจจุบันได้มีการนำเอานมผึ้งมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทางอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งนิยมใช้กันทั่วไปในรูปครีมทาหน้า แชมพู และเป็นอาหารเสริมมากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้ง




๑.พรอพอลิสนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางเวชภัณฑ์
๒.ตารางแสดงองค์ประกอบของสารอาหารในนมผึ้ง
๓.ตารางแสดงองค์ประกอบของพรอพอลิส

พรอพอลิส
พรอพอลิสหรือชันผึ้ง เป็นสารเหนียวหรือยางเหนียวๆ ที่ผึ้งงานเก็บได้จากตาพืชหรือเปลือกของต้นไม้ เพื่อใช้ปิดรอยรั่วหรือรูรั่วภายในรัง และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกฆ่าตายในรังแต่ไม่สามารถนำออกไปทิ้งนอกรังได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเหม็นในรัง ผึ้งโพรงไทยไม่มีพรอพอลิส ซึ่งพบเฉพาะในรังผึ้งพันธุ์หรือผึ้งโพรงฝรั่งและผึ้งชันโรง คนไทยโบราณใช้ชันผึ้งนี้สำหรับยาเรือกันน้ำซึมเข้าเรือหรืออุดรูรั่วของเรือ ชาวกรีกตั้งชื่อสารนี้ว่า “propolis” ซึ่งมาจากคำว่า “pro” หมายถึง “ก่อน” และ “polis” หมายถึง “เมือง” ในสมัยนั้น ชาวกรีกเองก็สันนิษฐานว่า ผึ้งคงจะใช้พรอพอลิสสำหรับป้องกัน “เมือง” คือรังของตนเองให้พ้นจากเชื้อโรคและศัตรูต่างๆ ไม่ให้บุกรุกเข้ามาภายในรัง

พรอพอลิสมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
     ยางไม้          ร้อยละ ๔๕
     ไขมัน           ร้อยละ ๓๐
     น้ำมัน           ร้อยละ ๑๐
     เกสรดอกไม้    ร้อยละ ๕
     นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิตามินบีหลายชนิด

ผึ้งใช้พรอพอลิสเพื่อสุขอนามัยภายในรังของตนเอง ในรังผึ้งรังหนึ่งๆ ประกอบด้วยผึ้งเป็นจำนวนถึงหมื่นๆ ตัวและอยู่กันอย่างแออัด ผึ้งใช้พรอพอลิสเป็นสารป้องกันเชื้อโรค ความสามารถของผึ้งในการใช้พรอพอลิสต่อต้านเชื้อโรคนั้นนับว่าน่าสนใจยิ่ง ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมหรือศัตรูเข้าในรังก็จะถูกผึ้งต่อยถึงตาย สิ่งแปลกปลอมนั้นย่อมจะเน่าเปื่อยก่อให้เกิดเชื้อโรค ผึ้งใช้พรอพอลิสห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมนั้นคล้ายกับ “มัมมี่” ทำให้หยุดการแพร่เชื้อโรคได้

คุณสมบัติของพรอพอลิสอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของยางไม้และพืชอาหารที่ผึ้งไปเก็บ ฮิปโปเครตีส (Hippocretes) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางการแพทย์ของโลก ใช้พรอพอลิสในการรักษาฝีและบาดแผลต่างๆ ชาวยุโรปและชาวจีนมีความสนใจพรอพอลิสมากกว่าประชาชนในทวีปอื่น เพราะมีรายงานหลายฉบับที่กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของพรอพอลิสรักษาบาดแผล โรคผิวหนังและโรคเน่าเปื่อยบางอย่างของวัวควาย พรอพอลิสมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียและไวรัส เนื่องจากคุณสมบัติของพรอพอลิสที่เป็นสารฆ่าเชื้อโรคนี้เอง จึงมีการนำพรอพอลิสมาเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน และหมากฝรั่ง เป็นต้น นอกจากนี้พรอพอลิสยังประกอบด้วยน้ำมันที่ระเหยได้ (volatile oil) และมีเทอร์ฟีนส์ (terpenes) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่มีคุณสมบัติต้านออกซิเดชัน (antioxidation) มีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรีย รา และไวรัส รวมทั้งต้านการอักเสบและการเกิดโรคมะเร็งด้วย




บน นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนนำพรอพอลิสมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
ล่างซ้าย ผู้ที่ถูกผึ้งต่อยบ่อยๆ จะมีภูมิต้านทานต่อพิษผึ้ง
ล่างขวา อาการบวมเนื่องจากพิษผึ้ง


การใช้ผี้งต่อยเพื่อใช้พิษผึ้งรักษาโรค

พิษผึ้ง
พิษผึ้งประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ มีสารหลายตัวที่มีฤทธิ์ไวมาก เพราะว่าหลังจากผึ้งต่อยผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมอย่างรวดเร็ว พิษผึ้งประกอบด้วยสารสำคัญๆ คือ ฮิสตามีน โดพามีน เมลิทิน อะพามีน และเอนไซม์ เป็นต้น ไม่ว่าพิษผึ้งจะสกัดมาจากแหล่งใดในโลกก็ตามจะประกอบด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผึ้งสังเคราะห์พิษขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับสถานที่ที่ผึ้งไปเก็บพืชอาหารเลย

สรรพคุณของพิษผึ้ง นำมาใช้รักษาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จากพิษของผึ้ง โดยใช้เป็นภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับผึ้ง และมีความไวเกินต่อพิษผึ้ง (hypersensitivity to bee venom) โดยใช้พิษผึ้งที่สกัดมาทำเป็นยา เพื่อฉีดเข้าร่างกายของผู้ที่แพ้พิษผึ้งด้วยความเข้มข้นต่ำมาก เช่น ๐.๑ ไมโครกรัมต่อ ๑ มิลลิลิตร ฉีดทุกสัปดาห์ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ พิษผึ้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้พิษของผึ้งแก้โรครูมาติซึม (rheumatism) และโรคเกาต์ (gout) ชาวยุโรปโบราณผู้สูงอายุที่มีอาการปวดข้อใช้ผึ้งต่อยโดยตรงเพื่อรักษาโรคนี้ จึงมีหมูบ้านชนบทในยุโรปที่ผู้สูงอายุนิยมเลี้ยงผึ้งเพื่อใช้พิษของผึ้งเป็นยารักษาโรค

ปัจจุบันผลผลิตของผึ้งส่วนใหญ่ได้มาจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงกันจำนวนมากเป็นอุตสาหกรรม แต่ผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มก็ยังเป็นที่นิยมบริโภคกันอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และพบว่าชาวบ้านในชนบทนิยมไปหาตีผึ้ง เพื่อนำเอารังผึ้งมิ้มมาเป็นอาหารและเร่ขายตามท้องตลาดหรือตามข้างถนน ผลผลิตจากรวงรังของผึ้งมิ้มยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในตลาดผู้บริโภคของเมืองไทย โดยนักล่าผึ้งบางคนจะตัดเอาทั้งรวงรังไปบีบน้ำผึ้งมิ้มออก เพื่อนำไปบริโภคสดหรือผสมยาแผนโบราณ บางคนจะแขวนผึ้งไว้บนตะกร้าหรือสาแหรกหาบเร่ขายตามตลาดชุมชน หรือวางขายข้างถนนสายหลักที่มีรถวิ่งผ่านเป็นจำนวนมาก


หัวข้อ "ผึ้ง" : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคมผึ้ง ลักษณะ พฤติกรรมผึ้ง ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ฯลฯ ในเว็บไซต์นี้
       คัดลอกและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗
       โดยได้รับอนุญาต จาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่ใน www.sookjai.com เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้ 
       ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค. ๕๖



จบบริบูรณ์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2558 16:33:30 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
'ผึ้ง-ต่อ' ต่อย ทำไงดี ?
สุขใจ จิบกาแฟ
sithiphong 1 2654 กระทู้ล่าสุด 09 พฤษภาคม 2553 10:42:44
โดย เงาฝัน
พฤติกรรม คนในเว็ป ตามหลักสุนทรียสนทนา (...)
ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
มดเอ๊ก 0 2112 กระทู้ล่าสุด 04 พฤศจิกายน 2553 05:05:46
โดย มดเอ๊ก
ชีวิต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 1 2484 กระทู้ล่าสุด 12 ธันวาคม 2553 20:20:58
โดย หมีงงในพงหญ้า
เครื่องจักสาน : ความหมาย กำเนิด วิวัฒนาการ คุณค่า และพัฒนาการ
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 11 76227 กระทู้ล่าสุด 02 มิถุนายน 2566 18:03:19
โดย Kimleng
[ข่าวมาแรง] - ‘เศรษฐา’ มอบนโยบาย กอ.รมน. ช่วยเหลือประชาชนทั้งเศรษฐกิจ สังคม กองทัพส่งมอบที่ดิ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 99 กระทู้ล่าสุด 31 ตุลาคม 2566 18:27:15
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.014 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 มีนาคม 2567 15:26:47