[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 เมษายน 2567 15:13:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3 4   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)  (อ่าน 52478 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 มกราคม 2557 16:21:07 »

.



พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑)
ภิกษุเสพเมถุนต้องปาราชิก


ปาราชิกนี้ เป็นกฎหมายอันเด็ดขาดของศาสนาพุทธ ถ้าเป็นกฎหมายทางฝ่ายโลก ก็ตัดสินประหารชีวิต
ถ้าต้องปาราชิกเข้าแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ก็ขาดจากความเป็นภิกษุ หาสังวาสไม่ได้

ถ้าต้องปาราชิกแล้วยังไปร่วมอุโบสถสังฆกรรม ทำให้สังฆกรรมเศร้าหมอง
แปลว่า ทำลายศาสนา ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ทั้งภพนี้และภพหน้า เป็นมนุสสสุญญตะ
หมดภพชาติที่จะได้มาเป็นมนุษย์ ขาดใจเมื่อไหร่ลงมหาโลกันตนรกเมื่อนั้น

พระสุทินน์ : ต้นบัญญัติ สิกขาบทที่ ๑

ณ สถานที่ไม่ห่างจากพระนครเวสาลี มีบ้านตำบลหนึ่งชื่อกลันทะ ในบ้านนั้นมีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ สุทินน์ เป็นบุตรของกลันทเศรษฐี จึงเรียกกันว่าสุทินกลันทบุตร  สุทินกลันทบุตรได้ทำธุระบางอย่างในพระนครเวสาลีกับสหายหลายคน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เขาได้เห็น เกิดความคิดว่า “เราจะฟังธรรมบ้าง” แล้วเดินเข้าไปนั่ง ณ ที่นั้น คิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่ทรงแสดงแล้ว เพราะบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วทำไม่ได้ง่าย ถ้าอย่างนั้นเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตดีกว่า

ครั้นฟังธรรมจบแล้ว เขาและคนอื่นๆ ก็ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมกลับไป หลังจากนั้นไม่นาน สุทินน์ได้ย้อนกลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลถึงความปรารถนาบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ กราบทูลว่า ยังไม่ได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า  ตรัสว่า ดูก่อนสุทินน์ พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต เขากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า

หลังจากนั้น สุทินกลันทบุตรเสร็จธุระในพระนคร กลับถึงบ้านกล่าวขออนุญาตบวช แต่มารดาบิดากล่าวว่า “ลูกสุทินน์ เจ้าเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตาย เราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนเราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า”

แม้ครั้งสอง...ครั้งที่สาม...เขาก็ยืนยันจะขอบวชให้ได้ แต่ก็ยังคงถูกมารดาบิดายืนยันไม่อนุญาตเหมือนเดิม เมื่อเห็นว่าบิดามารดาไม่อนุญาตให้บวช เขาจึงนอนลงบนพื้น ตัดสินใจว่าการตายหรือการบวชจักมีแก่เราในสถานที่นี้แหละ เขาไม่บริโภคอาหารแม้หนึ่งมื้อ สองมื้อ สามมือ...เจ็ดมื้อ แต่มารดาบิดาก็ยังยืนยันไม่อนุญาตและอ้อนวอนให้เขาอยู่ครองเรือนด้วยคำว่า “ลูกจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญเถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ต่อมา พวกสหายของสุทินกลันทบุตรได้เข้ามาช่วยบิดามารดาเจรจาอ้อนวอนให้เขาเห็นแก่รักของมารดาบิดา  แต่เขาก็ไม่พูดด้วย ได้นิ่งเสีย เมื่อไม่สำเร็จพวกสหายจึงไปหามารดาบิดาของสุทินน์ ขอให้อนุญาตให้สุทินน์บวชเถิด ไม่เช่นนั้นเขาจักต้องตายแน่แท้ เมื่อเขาบวชแล้วเกิดไม่ยินดีการบวช เขาก็จักกลับมาเองแหละ มารดาบิดาจึงได้อนุญาตให้บวช

พวกสหายได้นำข่าวการอนุญาตของมารดาบิดาไปบอกแก่สุทินน์ เขาก็รื่นเริงดีใจ ลุกขึ้นเยียวยาอยู่สองสามวัน จึงเข้าไปสู่พุทธสำนัก

...สุทินกลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก เมื่อบวชแล้วไม่นานท่านประพฤติสมทานธุดงคคุณ คือการถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง

สมัยนั้น วัชชีชนบทเกิดอัตคัดอาหาร ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีการสลากซื้ออาหาร ภิกษุจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น ท่านพระสุทินน์คิดว่า ญาติของเราในพระนครเวสาลีมีมาก ล้วนเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มีโภคะมาก เราจะไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ท่านจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปสู่พระนครเวลาสีโดยลำดับ ถึงแล้วท่านพำนัก ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี

พวกญาติได้ทราบข่าวการมาของท่าน จึงนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อ ไปถวาย ท่านพระสุทินน์ท่านสละภัตตาหารประมาณ ๖๐ หม้อนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว เช้าวันนั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตยังกลันทคามใกล้จะถึงเรือนบิดาของตน ก็พอดีนางทาสีกำลังจะทิ้งขนมสดที่ค้างคืน ท่านพระสุทินน์จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าของนั้นมีอันจะต้องทิ้ง ขอท่านจงเกลี่ยลงในบาตรของเราเถิด” นางทาสีกำลังเกลี่ยขนมสดลงในบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และเสียงของท่านได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านกล่าวว่า “คุณนายเจ้าขาโปรดทราบ พระสุทินน์บุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ” มารดาพระสุทินน์ได้กล่าวว่า หากพูดไม่จริง เราจะปลดเจ้ามิให้เป็นทาสี

ขณะที่พระสุทินน์กำลังฉันขนมสดอยู่นั้น พอดีบิดาของท่านเดินกลับมาจากที่ทำงานได้แลเห็น จึงเข้าไปกล่าวว่า “พ่อควรไปเรือนของตนมิใช่หรือ” ท่านพระสุทินน์กล่าวว่า “ไปมาแล้ว ก็ขนมนี้ได้มาจากเรือนของคุณโยม” บิดาของท่านได้จับที่แขนกล่าวว่า “มาเถิด เราจักไปเรือนกัน” ท่านได้เดินตามเข้าไปสู่เรือน นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย บิดานิมนต์ให้ฉัน ท่านปฏิเสธว่า ภัตตาหารวันนี้เรียบร้อยแล้ว บิดาจึงนิมนต์ให้มาฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านรับนิมนต์แล้วหลีกไป

ครั้งนั้น มารดาของท่านสั่งให้ไล้ทาพื้นแผ่นดินด้วยโคมัยสด ให้จัดทำกองทรัพย์ไว้ ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่ ไม่สามารถแลเห็นกันและกันได้ ให้ปิดกองทรัพย์ด้วยลำแพน จัดอาสนะไว้ตรงกลาง แวดล้อมด้วยม่าน แล้วสั่งให้อดีตภรรยาท่านพระสุทินน์ตกแต่งกายด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่

เวลาเช้า ท่านพระสุทินน์เข้ามาสู่เรือน นั่งบนอาสนะ บิดาให้คนเปิดกองทรัพย์เหล่านั้นออก แล้วกล่าวว่า พ่อสุทินน์ ทรัพย์นี้ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วนของปู่ต่างหาก พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยบำเพ็ญบุญเถิด แต่ท่านได้ปฏิเสธว่ายังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ แล้วขอโอกาสกล่าวอีกว่า คุณโยมจงให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมีทรัพย์เป็นเหตุให้จักเกิดแก่คุณโยม จักไม่มีแก่คุณโยมเลย

เมื่อท่านกล่าวเช่นนี้ บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจ ได้เรียกอดีตภรรยาของท่านออกมา คิดว่าเป็นที่รักที่พอใจของท่านสุทินน์ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง นางได้ออกมาจับเท้า กล่าวว่า “ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสรผู้เป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นชื่ออะไร” พระสุทินน์ตอบว่า “น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย” นางน้อยใจที่ถูกเรียกว่าน้องหญิง ได้สลบล้มลงในที่นั้นเอง พระสุทินน์กล่าวว่า “ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มี ก็จงให้เถิด อย่ารบกวนอาตมภาพเลย


 พระสุทินน์เสพเมถุนกับภรรยาเก่า

บิดามารดาได้ถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน จนท่านเสร็จภัตกิจแล้ว มารดาของท่านได้อ้อนวอนให้ท่านสึก เพื่อเห็นแก่ทรัพย์สมบัติมากมายด้วยเถิด แต่ท่านก็ยังคงปฏิเสธ มารดาจึงกล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติของเรามีมาก ดังนี้พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา เพราะหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้” ท่านตอบว่า “คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้อาจทำได้” มารดาถามว่า “ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน?” “ที่ป่าหิมวัน” ท่านตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

หลังจากนั้น มารดาของท่านได้สั่งอดีตภรรยาว่า เมื่อใดที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าจงบอกแก่แม่ นางรับคำ ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้เกิดขึ้นแก่นาง จึงได้แจ้งให้มารดาพระสุทินน์ ทราบ มารดาสั่งให้แต่งตัวพร้อมด้วยเครื่องประดับ แล้วพานางไปหาพระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน รำพันอ้อนวอนให้สึก ท่านตอบปฏิเสธ จึงกล่าวว่าขอพืชพันธุ์ไว้ ท่านตอบว่าอาจทำได้  แล้วจูงแขนอดีตภรรยาเข้าป่าหิมวันต์ ท่านคิดว่าไม่มีโทษ เพราะสิขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ จึงเสพเมถุนในปุราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะความประพฤตินี้

เหล่าภุมเทวดากระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว, เทพชั้นจาตุมหาราชิกาได้สดับเสียงเหล่าภุมเทวดาแล้วกระจายเสียงต่อไป, เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกันต่อๆ ไปอย่างนี้

(สมัยต่อมา อดีตภรรยาของท่านพระสุทินน์ได้คลอดบุตร พวกสหายของท่านตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่ออดีตภรรยาว่า พีชกมารดา ตั้งชื่อพระสินทินน์ว่า พิชกปิตา ภายหลังทั้งอดีตภรรยาและบุตรต่างออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว)

ครั้งนั้น ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญและความเดือดร้อนใจนั้น ท่านได้ซูบผม เศร้าหมอง ผิวพรรณทราม มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสารซบเซาแล้ว

บรรดาภิกษุสหายของท่านพระสุทินน์เห็นความผิดปกตินั้น ได้สอบถามท่านสุทินน์ว่า “คุณไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์หรือ?” พระสุทินน์ตอบว่า “มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนในภรรยา ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ เพราะผมบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว แต่ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต”

ภิกษุสหายเหล่านั้นติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมาก ที่บวชแล้วไม่อาจจะคลายความกำหนัดและความยึดมั่นเป็นต้นได้ ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


ทรงประชุมแล้วติเตียน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า “ดูก่อนสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ?" พระสุทินน์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า “ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชเรียนในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ (คำว่า โมฆบุรุษนี้ ทรงใช้กับภิกษุที่มิได้เป็นพระอริยะ) ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อความถือมั่น

ดูก่อน โมฆบุรุษ ธรรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่ถอนอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราได้บอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่ายังดีกว่า องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า...ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร?

เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์ เพียงแค่ตายซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป จักไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการทำนี้เป็นเหตุ

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลกรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมากดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร ทรงแสดงหลักธรรมที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า



เหตุผลที่ทรงบัญญัติสิกขาบท ๑๐ ประการ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดขึ้นในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑


ปฐมบัญญัติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า “ภิกษุใด เสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้” นี้เป็นพระปฐมบัญญัติ


อนุบัญญัติ ๑
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน พระนครเวสาลี แล้วเสพเมถุนในลิงตัวเมียนั้นเสมอ ครั้งนั้นภิกษุหลายรูปสังเกตความผิดปกติของลิง ที่เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้วยกสะเอวบ้าง โก่งหางบ้าง แอ่นตะโพกบ้าง  สันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นนี้คงเสพเมถุนกับลิงตัวเมียอย่างไม่ต้องสงสัย จึงพากันคอยแอบดู ภิกษุนั้นได้เสพเมถุนอีก เมื่อภิกษุเหล่านั้นถามว่า ทำไมทำเช่นนั้น ทรงมีบัญญัติห้ามแล้วมิใช่หรือ? เธอนั้นตอบว่า พระบัญญัตินั้นห้ามเฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่เกี่ยวถึงสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุเหล่านั้นต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสถามภิกษุนั้น ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


ผู้ต้องปาราชิกแล้วปรารถนาการบวชอีก
สมัยต่อมา ภิกษุวัชชีบุตรชาวพระนครเวสาลีหลายรูปไม่ได้บอกลาสิกขาบท ได้เสพเมถุนธรรม สมัยถัดมา พวกเขาถูกความพินาศแห่งญาติกระทบแล้ว ถูกความวอดวายแห่งโภคะกระทบแล้ว ถูกโรคภัยเบียดเบียนแล้ว จึงเข้าไปหาพระอานนท์ กล่าววิงวอนให้ช่วยกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทอีกครั้ง โดยให้สัญญาว่าจะหมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม

พระอานนท์รับคำของวัชชีบุตรเหล่านั้นแล้ว เข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งพวกวัชชีบุตรนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

ครั้งนั้น พระองค์รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ไม่พึงอุปสมบทให้ ส่วนผู้ใดแลเป็นภิกษุบอกคืนสิกขา ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ก็พึงอุปสมบทให้ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทแสดงอย่างนี้ว่า :


พระอนุบัญญัติ ๒
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

     อรรถาธิบาย
- บทว่า ภิกษุที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยาวัตร, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกขุ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมีสารธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ,  ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัติติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ   บรรดาภิกษุที่กล่าวมานี้ ภิกษุที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้ ชื่อว่า ภิกษุที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
- บทว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ ประการ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา บรรดาสิกขา ๓ ประการนี้ อธิศีลสิกขา ชื่อว่า สิกขาที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้ (ถึงพร้อมซึ่งสิกขา คือ ถึงพร้อมด้วยศีล)


อาบัติ
๑. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค (มรรคใดมรรคหนึ่ง หรือทั้งสาม) ของมนุษย์ผู้หญิง...อมนุษย์ผู้หญิง...สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ต้องปาราชิก
๒. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค ของมนุษย์อุภโต พยัญชนก...อมนุษย์อุภโตพยัญชนก...สัตว์ดิรัจฉานอุภโตพยัญชนก ต้องปาราชิก
๓. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ ของมนุษย์บัณเฑาะก์...อมนุษย์บัณเฑาะก์...ดิรัจฉานบัณเฑาะก์ ต้องปาราชิก
๔. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๒ คือ วัจจมรรค มุขมรรค ของมนุษย์ผู้ชาย...อมนุษย์ผู้ชาย...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ ต้องปาราชิก
๕. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมาในสำนักภิกษุ แล้วให้ทับองค์กำเนิด (ของภิกษุ) ด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ยินดีการหยุดอยู่ ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๖. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการชักออก ไม่ต้องอาบัติ
๗. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการหยุดอยู่ ไม่ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๘. พวกภิกษุเป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงตายแล้วถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องถุลลัจจัย หากเธอไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๙. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดของภิกษุด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๐. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค คือ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๑. การเสพเมถุนธรรมในบุคคลที่เหลือ มีอมนุษย์ผู้หญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หรือมนุษย์อุภโตพยัญชนก เป็นต้น พึงทราบคำอธิบายตามทำนองที่กล่าวมา
๑๒. ภิกษุสอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางมรรค ต้องปาราชิก
๑๓. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคทางมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าไปทางปัสสาวมรรค เป็นต้น แล้วชักออกในทางแผลใกล้ต่อมรรคนั้น)
๑๔. สอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางอมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าทางแผล ใกล้ต่อมรรค แล้วชักออกทางมรรค)
๑๕. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคออกทางอมรรค ต้องถุลลัจจัย
๑๖. ภิกษุปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๗. ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๘. สามเณรปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ และสามเณรปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ ก็มีอธิบายนัยเดียวกับข้อ ๑๖,๑๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2558 13:12:36 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
 
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 24 มกราคม 2557 12:33:33 »

.
อนาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ)
ภิกษุไม่รู้สึกตัว ๑ ฝันว่าเสพเมถุน ๑ ไม่ยินดี ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ (ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ, ผู้กระทำคนแรก) ๑
       ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า เราจักไม่อาบัติด้วยวิธีอย่างนี้ แล้วปลอมเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม เธอได้มีความรังเกียจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
๒. ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เห็นเด็กหญิงนอนอยู่บนตั่ง เกิดความกำหนัด จึงสอดนิ้วมือเข้าไปในองค์กำเนิดของเด็กหญิง ๆ นั้นตาย เธอได้มีความรังเกียจ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องสังฆาทิเสส
๓. สมัยนั้นแล เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์เดิมนั่นแหละ อุปสมบทเดิมนั่นแหละ พรรษาก็เหล่านั้น และให้อยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลาย อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายที่ทั่วไปกับภิกษุณีทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปลงอาบัติเหล่านั้นในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุณีทั้งหลาย ไม่ต้องอาบัติเพราะอาบัติเหล่านั้น
๔. ภิกษุรูปหนึ่งมีหลังอ่อน เธอถูกความกระสันบีบคั้นแล้วได้อมองค์กำเนิดของตนด้วยปาก เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีองค์กำเนิดยาว เธอถูกความกระสันบีบคั้นแล้วได้สอดองค์กำเนิดของตนเข้าสู่มัจจวรรคของตน เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๖. ภิกษุรูปหนึ่งได้พบศพ และที่ศพนั้นมีแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด ภิกษุนั้นคิดว่าเราจักไม่ต้องอาบัติด้วยวิธีนี้ จึงสอดองค์กำเนิดของตนเข้าในองค์กำเนิดของศพ แล้วชักออกทางแผล เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๗. ภิกษุรูปหนึ่งได้พบศพ และที่ศพนั้นมีแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด ภิกษุนั้นคิดว่าเราจักไม่ต้องอาบัติด้วยวิธีนี้ จึงสอดองค์กำเนิดของตนเข้าไปในแผล แล้วชักออกทางองค์กำเนิดของศพ เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๘. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ได้ถูกต้องนิมิตแห่งรูปปั้นด้วยองค์กำเนิด เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ (ในตุ๊กตาก็มีนัยคือต้องอาบัติทุกกฏ)
๙. ภิกษุชื่อ สุนทระ เดินไปตามถนน สตรีผู้หนึ่งเห็นท่านแล้วกล่าวว่า นิมนต์หยุดประเดี๋ยวก่อน ดิฉันจักไหว้ นางนั่งไหว้พลางเลิกผ้าอันตราวาสกขึ้น แล้วได้อมองค์กำเนิดด้วยปาก เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสถามว่า เธอยินดีหรือ? ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ภิกษุไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๐. ภิกษุเสพเมถุนในนาคตัวเมีย นางยักษิณี หญิงเปรต บัณเฑาะก์ เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๑๑. ภิกษุรูปหนึ่งมีจิตปฏิพัทธ์ในสตรีผู้หนึ่ง สตรีนั้นถึงแก่กรรมแล้ว เขาทิ้งไว้ในป่าช้า กระดูกเกลื่อนกลาด ภิกษุนั้นเข้าไปเก็บกระดูกมาเรียงต่อกัน แล้วจรดองค์กำเนิดลงที่นิมิต เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องทุกกฎ
๑๒. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวันในป่าชาติยา แขวงเมืองภัททิยะ จำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของภิกษุนั้นถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีผู้หนึ่งพบเข้าแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์แล้วหลีกไป ภิกษุนั้นตื่นขึ้นเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ กำหนัด ๑ ปวดอุจจาระ ๑ ปวดปัสสาวะ ๑ ถูกลมรำเพย ๑ ถูกบุ้งขน ๑ ภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดของภิกษุนั้นพึงเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยความกำหนัดใด ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
๑๓. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวัน ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เปิดประตูจำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของเธอถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีหลายคนเข้ามายังวิหารเห็นภิกษุนั้นแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์แล้วกลับไป ภิกษุนั้นตื่นขึ้นเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน จึงกราบทูล ตรัสว่าภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องอาบัติ (เพราะไม่มีกิเลสแล้ว จึงปราศจากความยินดี ความกำหนัด) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะพักผ่อนในกลางวัน ปิดประตูก่อนจึงจะพักผ่อนได้
๑๔. ภิกษุเฒ่ารูปหนึ่งได้ไปเยี่ยมภรรยาเก่า นางได้จับบังคับว่าท่านจงสึกเสียเถิด ภิกษุนั้นถอยหลังล้มหงาย นางจึงขึ้นคร่อมองค์กำเนิด เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอยินดีหรือเปล่า? ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดี พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ผู้ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ลูกเนื้อมาสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของเธอ แล้วได้อมองค์กำเนิดพลางดื่มปัสสาวะ (ของภิกษุ) ภิกษุนั้นยินดี แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า เธอต้องปาราชิกแล้ว



สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๑/๖๙๐-๘๖๒  อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. บ้านที่ได้ชื่อว่า กลันทคาม ก็เพราะมีกระแตทั้งกลายอาศัยอยู่ จึงเรียกว่ากลันทกะ
- บทว่า กลนฺทปุตฺโต ความว่า เป็นบุตรของกลันทเศรษฐีผู้มีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ซึ่งได้ชื่อด้วยอำนาจแห่งบ้านที่พระราชทานสมมติให้ ก็เพราะมนุษย์แม้เหล่าอื่นที่มีชื่อว่ากลันทะมีอยู่ในบ้านตำบลนั้น  ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า  กลันทบุตร แล้วกล่าวย้ำไว้อีกว่า เศรษฐีบุตร
- สุทินน์ไปนครไพศาลี (เวสาลี) ด้วยกิจบางอย่าง เช่น ประกอบการซื้อขายสินค้า การให้กู้ยืมและการทวงหนี้ เป็นต้น  อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ด้วยกิจคือการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ในเดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) จริงอยู่ เพราะผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงนครไพศาลีในชุณหปักข์ (ข้างขึ้น) แห่งเดือนกัตติกมาส  อนึ่ง ในนครไพศาลีนี้ มีการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ประจำเดือนกัตติกมาสนอย่างโอฬาร สุทินกลันทบุตรนั้น พึงทราบว่าไปเพื่อเล่นกีฬานักขัตฤกษ์นั้น
- สุทินน์ฟังธรรมแล้ว เมื่อบริษัทยังไม่ลุกไปก็ยังไม่ได้ทูลขอบรรพชา เพราะเห็นว่าในบริษัทนั้น มีญาติมิตรสหายอยู่มาก หากพวกเขารู้ก็จักห้ามการบรรพชา จึงลุกขึ้นเดินไปพร้อมกับบริษัทแล้วหวนกลับมาอีก ด้วยการอ้างเลศแห่งสรีรกิจบางอย่าง เข้าไปเฝ้าแล้วทูลขอบรรพชา ก็เพราะจำเดิมแต่ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงบวชให้กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต เพราะฉะนั้นจึงตรัสถามการอนุญาตจากมารดาบิดา
- สุทินน์เป็นผู้มีฉันทะแรงกล้าในการบรรพชา หาได้น้อมไปในธุระ กิจทั้งหลายมีประการการซื้อขายสินค้า การให้กูยืมและทวงหนี้ เป็นต้น หรือในการเล่นกีฬานักขัตฤกษ์ไม่
- สหายของสุทินน์กล่าวขอให้มารดาบิดาของสุทินน์อนุญาตการบรรพชา ด้วยคำว่า หากสุทินน์ไม่ได้บวชจักตาย จักไม่มีคุณอะไร แต่หากเขาบวชก็จักได้เห็นเขาเป็นครั้งคราว พวกเราก็จักได้เห็นการบวชนั้นเป็นภาระที่หนัก ผู้บวชจะต้องถือบาตรเดินเที่ยวบิณฑบาตทุกวันๆ พรหมจรรย์มีการนอนหนเดียว ฉันหนเดียว เป็นกิจที่ทำได้ยากยิ่ง และสุทินน์นี้เป็นผู้ละเอียดอ่อน เป็นชาวเมือง เมื่อเขาไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์นั้นได้ ก็จักกลับมาที่เรือนนี้ทีเดียว มารดาบิดาจึงอนุญาตการบวช

๒. พระสุทินน์ออกบวชในพรรษาที่ ๑๒ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในพรรษาที่ ๒๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลญาติตนเอง ขณะมีพรรษาได้ ๘ ตั้งแต่บวชมา เหตุนั้นนางทาสีจึงจำไม่ได้ แต่ถือเอาเค้า (นิมิต)
- บทว่า ปุราณทุติยิกํ ได้แก่ หญิงคนที่สองซึ่งเป็นคนดั้งเดิม คือ ภรรยาผู้เคยเป็นหญิงผู้ร่วมในการเสพสุขที่อาศัยเรือนมาแล้ว ภรรยาเก่าของท่านพระสุทินน์เชื่อตามที่คนพูดกันว่า พวกผู้ชายทั้งหลายพากันออกบวชเพราะต้องการนางเทพอัปสรทั้งหลาย นางจึงได้กล่าวถามท่านว่า “นางอัปสรเหล่านั้นชื่ออะไร?”
- ท่านสุทินน์คิดว่า เราเท่านั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ มารดาบิดาจักเกิดความผูกพันเราเป็นนิตย์ เพื่อต้องการให้เรารักษาทรัพย์มรดก เพราะเหตุนั้น เราจักไม่ได้บำเพ็ญสมณธรรม หากเราให้พืชเชื้อไว้ พวกเขาจักงดเว้น ไม่ติดตามเรา เราก็จักได้บำเพ็ญสมณธรรมตามสบาย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงรับปากว่า “รูปอาจทำได้”

๓. ได้ยินว่า ในปฐมโพธิกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุทั้งหลายได้กระทำให้พระหฤทัยยินดีแล้วตลอด ๒๐ ปี มิได้ประพฤติล่วงละเมิดเลย เหตุนั้นจึงมิได้ทรงบัญญัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส แต่ได้บัญญัติอาบัติเล็กน้อยที่เหลือไว้เพียง ๕ กอง มีปาจิตตีย์ เป็นต้น
     ท่านสุทินน์ เมื่อไม่เล็งเห็นสิกขาบทที่ทรงชี้โทษไว้ จึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า การเสพเมถุนธรรม ไม่มีโทษ  จริงอยู่ ถ้าท่านรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ หรือว่าสิ่งที่ทำนี้ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดจากกุศล กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาเช่นท่าน แม้จะถึงความสิ้นชีวิตไปก็จะไม่ทำ แต่เมื่อท่านไม่เล็งเห็นโทษของการเสพเมถุนธรรม จึงคิดว่าไม่มีโทษ...ปฐมปาราชิกบัญญัติจึงเกิดในพรรษาที่ ๒๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

๔. เทพทั้งหลายประกาศความชั่วของท่านพระสุทินน์ คือ ชื่อว่าความลับของชนผู้ทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก เพราะคนผู้กระทำความชั่วนั้น ย่อมรู้ความชั่วที่ตนทำเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นหมู่เทพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ ผู้อาศัยในไพรสณฑ์นั้น ซึ่งเป็นผู้รู้จิตของบุคคลอื่นด้วย พบเห็นความประพฤติชั่วนั้นของท่าน ก็ได้กระจายเสียงให้บันลือลั่นไป โดยอาการที่เทพเหล่าอื่นจะได้ยิน คือได้ยินว่า ท่านผู้เจริญ! โอ ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด หาโทษมิได้ แต่พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เป็นต้น

๕. ได้ยินว่า ในเวลาที่พีชกะมีอายุได้ ๗-๘ ขวบ มารดาของเธอได้บวชในสำนักนางภิกษุณี และพีชกทารกนั้นก็ได้บวชในสำนักของภิกษุ ได้อาศัยเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ส่วนพระสุทินน์ทำกรรมนั้นแล้ว ซบเซา ซูบผอม รำคาญใจอยู่

๖. ภิกษุสหายเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, เพื่อปรารถนาจะให้ตนเป็นที่โปรดปรานก็หาไม่, หาได้ทูลเพื่อมุ่งจะทำความยุยงไม่, หาได้ทูลเพื่อต้องการจะประจานโทษก็หาไม่, หาได้ทูลเพื่อบอกโทษที่น่าตำหนิไม่, หมายใจอยู่ว่า เมื่อทรงสดับแล้ว จักไม่ให้พระสุทินน์นี้คงอยู่ในพระศาสนา จักให้ฉุดคร่าเธอออกไปเสียก็หาไม่, อันที่จริงกราบทูลด้วยความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทราบความเสียหายนี้ซึ่งเกิดขึ้นในพระศาสนาแล้ว จักทรงบัญญัติสิกขาบท จักทรงตั้งเขตแดน คืออาชญาไว้

๗. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติ คือ ทรงตำหนิพระสุทินน์นั้น เหมือนอย่างบุคคลผู้เลิศ เมื่อจะแสดงคุณและโทษของชนทั้งหลายผู้สมควรแก่คุณและโทษ ก็ติและชม ฉันนั้น
     จริงอยู่ เพราะทรงเห็นบุคคลผู้ทำการล่วงละเมิดศีล ความคิดย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่าผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มียศโดยชาติ หรือโดยโคตร หรือโดยความเป็นบุตรของผู้มีสกุล หรือโดยคัณฐะ (การร้อยกรอง) หรือโดยธุดงควัตร เราสมควรที่จะรักษาบุคคลเช่นนี้ไว้ เพราะทรงเห็นบุคคลผู้มีคุณมีศีลเป็นที่รัก จิตที่คิดจะปิดบังคุณของเขามิได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลย ทรงปราศจากอคติทั้งปวง อันที่จริงพระองค์ย่อมทรงติบุคคลซึ่งควรติ ย่อมชมบุคคลที่ควรชมเท่านั้น และพระสุทินน์นี้เป็นผู้สมควรติ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ในลักษณะของท่านผู้คงที่ มีพระหฤทัยไม่ลำเอียง ได้ทรงติพระสุทินน์นั้น ดังนี้ว่า
ดูก่อนโมฆบุรุษ ผู้เป็นมนุษย์เปล่า (จากอริยคุณ) กรรมที่เธอทำแล้วไม่สมควรแก่ธรรมอันทำความเป็นสมณะ หรือแก่มรรค ผล นิพพาน และศาสนา คือ ไม่เป็นไปตาม ได้แก่ ไม่คล้อยตามผิว คือ เงา ได้แก่ ความเป็นธรรมดีแห่งธรรมเหล่านั้น โดยที่แท้เป็นธรรมเหินห่างจากธรรมเหล่านั้นทีเดียว ก็เพราะความเป็นของไม่สมควรนั่นเอง กรรมนั้นจึงชื่อว่าเป็นของไม่เหมาะเจาะ คือ ไม่อนุโลมแก่ธรรมเหล่านั้น โดยที่แท้เป็นของแย้งกัน คือ ตั้งอยู่ในความเป็นข้าศึกกัน เป็นกรรมไม่สมรูป คือ เป็นกรรมเข้ารูปคล้ายกัน ถูกส่วนกัน หามิได้ โดยที่แท้เป็นของไม่คล้ายกัน ไม่ถูกส่วนกันทีเดียว จึงจัดว่าไม่ใช่ของสำหรับสมณะ จึงจัดเป็นอกัปปิยะ จัดว่าไม่ควรทำ แต่กรรมนี้เธอทำแล้ว

๘. เมถุนธรรมนี้เป็นธรรมของอสัตบุรุษ คือ คนชั้นต่ำ มีจิตชุ่มด้วยราคะพึงเสพ (อสทฺธรรม), เป็นธรรมของพวกชนชาวบ้าน (คามธมฺมํ), เป็นมารยาทของเหล่าชนผู้เป็นคนชั้นต่ำ เพราะอรรถว่า หลั่งออก (วสลธมฺมํ) คือ ปล่อยออกของพวกบุรุษเลวทราม อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเป็นเหตุไหลออกแห่งกิเลส ชื่อว่า วสลธรรม เป็นของชั่ว เป็นของหยาบ (ทุฏฺฐุลฺลํ) ไม่สุขุม ไม่ละเอียด เพราะถูกกิเลสประทุษร้าย
     เมถุนธรรมชื่อว่ามีน้ำเป็นที่สุด (โอทกนฺติกํ) เพราะอรรถว่า กิจเนื่องด้วยน้ำเป็นที่สุด คือ น้ำเป็นอวสานแห่งเมถุนธรรมนั้น, เป็นกรรมลับ (รหสฺสํ) คือ เกิดขึ้นในที่อันปิดบัง ใครๆ ไม่อาจจะทำโดยเปิดเผยเพราะเป็นกรรมน่าเกลียด
     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายเอาพระศาสนา ตรัสว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอเป็นตัวอย่าง เป็นหัวหน้าแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายมาก แลอธิบายว่า เพราะทำก่อนบุคคลทั้งปวงนับว่าเป็นหัวหน้า คือ เป็นผู้ให้ประตู ได้แก่ ชี้อุบาย เพราะเป็นผู้ดำเนินหนทางนั้นก่อนบุคคลทั้งปวง บุคคลได้เลศสำเหนียกตามกิริยาของท่าน จักกระทำอกุศลธรรมมีประการต่างๆ มีเสพเมถุนธรรมกับนางลิง เป็นต้น พระสุทินน์จึงเป็นคนแรกในการเสพเมถุนธรรม ดังนี้
 
๙. ในบทว่า สิกฺขาปทํ มีวินิจฉัยดังนี้, ที่ชื่อ สิกขา เพราะอรรถว่า เป็นคุณชาติอันบุคคลพึงศึกษา, ที่ชื่อว่า บท เพราะอรรถว่า เป็นทางเป็นเครื่องอันบุคคลพึงถึง ทางเป็นเครื่องอันบุคคลพึงถึงแห่งสิกขา ชื่อว่า สิกขาบท คือ เป็นอุบายแห่งการได้สิกขา



๑๐. “อธิบายประโยชน์ของการบัญญัติสิกขาบท ๑๐ อย่าง”  
(๑) ที่ชื่อว่า ความเห็นชอบของสงฆ์ ได้แก่ สงฆ์ยอมรับว่าดี คือ สงฆ์รับพระดำรัสว่า “ดีละพระเจ้าข้า” ภิกษุใดยอมรับพระดำรัส การยอมรับของภิกษุนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน พระองค์ทรงแสดงโทษในการไม่ยอมรับและอานิสงส์ในการยอมรับ ไม่ทรงกดขี่โดยพลการเพื่อบัญญัติสิกขาบท
(๒) บทว่า สงฺฆผาสุตาย คือ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข
(๓) หลายบทว่า ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย ความว่า บุคคลผู้ทุศีล ชื่อว่า บุคลผู้เก้อยาก ภิกษุเหล่าใด แม้อันภิกษุทั้งหลายจะให้ถึงความเป็นผู้เก้อ ย่อมถึงได้โดยยาก กำลังทำการละเมิด หรือกระทำแล้วย่อมไม่ละอาย, เพื่อประโยชน์แก่การข่มภิกษุเหล่านั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะหากไม่มีสิกขาบท ภิกษุเหล่านั้นจักเบียดเบียนสงฆ์ด้วยถ้อยคำว่า เรื่องอะไรที่ท่านเห็นมาแล้ว เรื่องอะไรที่พวกท่านได้ฟังมาแล้ว สิ่งอะไรที่พวกข้าพเจ้าทำแล้ว พวกท่านยกอาบัติไหน ในเพราะวัตถุอะไรขึ้นข่มพวกข้าพเจ้า ก็เมื่อสิกขาบทมีอยู่ สงฆ์จักอ้างสิกขาบทแล้วข่มภิกษุเหล่านั้น โดยธรรม โดยวิสัย โดยสัตถุศาสน์ (ความดำริชอบของพระศาสดา)
(๔) หลายบทว่า เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหารย คือ เพื่อประโยชน์แก่ความผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษ ขีดคั่นเขตแดน พยายามอยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งไตรสิกขา เมื่อมีความสงสัย ย่อมลำบาก ย่อมรำคาญ แต่ครั้นรู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษ ย่อมไม่ลำบาก ย่อมไม่รำคาญ พยายามเพื่อความบริบูรณ์แห่งไตรสิกขาได้

อีกอย่างหนึ่ง ความข่มบุคคลผู้เก้อยากทั้งหลายนั่นแล เป็นความผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยว่า อุโบสถ ปวารณา สังฆกรรมทั้งหลาย และความสามัคคี ย่อมมีไม่ได้ เพราะอาศัยเหล่าบุคคลผู้ทุศีล, ภิกษุทั้งหลายมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ได้ ย่อมไม่สามารถประกอบตามซึ่งอุเทศ ปริปุจฉา และกรรมฐาน เป็นต้น ก็เมื่อเหล่าผู้ทุศีลถูกข่มเสียแล้ว อุปัทวะทั้งหมดนี้หามีไม่ เมื่อนั้นพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักย่อมอยู่เป็นผาสุก
(๕) คำว่า “เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลาย อันเป็นไปในปัจจุบัน” อธิบายว่า ทุกข์พิเศษ มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ ทำร้ายด้วยท่อนไม้ ตัดมือตัดเท้า ความเสียชื่อเสียง ความเสื่อมยศ และความเดือดร้อน เป็นต้น อันบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความไม่สังวร จะพึงถึงในอัตภาพนี้นั่นเทียว ชื่อว่า อาสวะอันเป็นไปในปัจจุบัน เพื่อป้องกัน คือปิดกั้นทางมาแห่งอาสวะอันเป็นไปในปัจจุบันเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
(๖) คำว่า “เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลาย อันเป็นไปในสัมปรายภพ” มีความว่า ทุกข์พิเศษมีบาปกรรม ที่ผู้ไม่สังวรกระทำแล้ว จักเป็นปัจจัยให้ถึงนรก  เป็นต้น, เพื่อประโยชน์แก่การระงับ คือ การเข้าไปสงบอาสวะอันเป็นไปในสัมปรายภพเหล่านี้
(๗) ข้อว่า เพื่อความเลื่อมใสของบุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใส ความว่า เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติ มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย แม้ไม่เลื่อมใส ได้ทราบสิกขาบทบัญญัติ หรือได้เห็นภิกษุทั้งหลายปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติ ย่อมถึงความเลื่อมใสว่า ธรรมเหล่าใดหนอ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ความขัดเคือง และความลุ่มหลงของมหาชนในโลก สมณศากยบุตรเหล่านี้ ย่อมอยู่เหินห่างเว้นจากธรรมเหล่านั้น พวกเธอทำกรรมที่ทำได้ยาก ทำกิจที่หนักหนอ ดังนี้ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิรู้ไตรเพทได้เห็นคัมภีร์พระวินัยปิฎกแล้วเลื่อมใส ฉะนั้น
(๘) ข้อว่า เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของบุคคลผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว มีความว่า กุลบุตรทั้งหลายแม้เลื่อมใสในพระศาสนา ได้ทราบสิกขาบทหรือได้เห็นภิกษุทั้งหลายปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปว่า โอ! พระผู้เป็นเจ้าเหล่าใด คอยเฝ้ารักษาวินัยสังวร ซึ่งมีอาหารครั้งเดียวตลอดชีวิต เป็นความประพฤติประเสริฐ พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้มีปกติทำกรรมที่ทำได้ยาก
(๙) ข้อว่า เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม อธิบายว่า สัทธรรมมี ๓ อย่าง คือ ปริยัติสัทธรรม ๑ ปฏิปัตติสัทธรรม ๑ อธิคมสัทธรรม ๑

บรรดาสัทธรรม ๓ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม ได้แก่ พุทธพจน์แม้ทั้งสิ้นรวมพระไตรปิฎก, ที่ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม ได้แก่ ธรรมนี้คือ ธุดงคคุณ ๑๓ ขันธกวัตร ๑๔ มหาวัตร ๘๒ ศีลสมาธิและวิปัสสนา, ที่ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม ได้แก่ ธรรมนี้คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ นิพพาน ๑

เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติ ภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและวิภังค์แห่งสิกขาบทนั้น และเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมบรรลุโลกุตตรธรรมที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุด้วยการปฏิบัติ เพราะเหตุนั้นสัทธรรมแม้ทั้งสิ้นนั้น จึงชื่อว่า เป็นสภาพมีความตั้งอยู่ ยั่งยืนด้วยสิกขาบทบัญญัติ
(๑๐) ข้อว่า เชื่อถือตามพระวินัย อธิบายว่า เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติวินัยทั้ง ๔ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑ บัญญัติวินัย ๑ ย่อมเป็นอันทรงอนุเคราะห์ คือ อุปถัมภ์สนับสนุนไว้เป็นอันดี


๑๑. วัชชีบุตรได้แก่ผู้เป็นบุตรของตระกูลในเมืองไพศาลี (เวสาลี) แคว้นวัชชี ภิกษุชาวแคว้นวัชชีเหล่านี้ ก่อเสนียดจัญไรให้เกิดในพระศาสนาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้เข้าเป็นฝักฝ่ายกับพระเทวทัตทำลายสงฆ์ ครั้งหนึ่งภิกษุชาววัชชีบุตรนี้ ได้แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ซึ่งครั้งนั้นเกิดเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน ๑๐๐ ปี, ครั้งนี้ภิกษุวัชชีบุตรได้เสพเมถุน ทั้งที่ยังมิได้กล่าวคำลาสิกขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว
- พวกเขาละจากเพศบรรพชิตแล้ว ภายหลังพวกญาติของพวกเขาถูกลงอาญาบ้าง ถูกโรคเบียดเบียนบ้าง ตายเสียบ้าง พลัดพรากจากกันบ้าง จึงปรารถนาการบวชอีกครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะทรงทราบว่า หากพวกเขาได้รับอุปสมบทก็จักเป็นผู้ไม่มีความเคารพในศาสนา อีกทั้งพระองค์จักต้องถอนสิกขาบทที่บัญญัติแล้วด้วย ซึ่งมิใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส แต่ไม่ทรงห้ามการเป็นสามเณรของภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น เพราะเห็นว่าพวกเธอจักเป็นผู้มีความเคารพ และจักทำประโยชน์ตนได้
- ส่วนภิกษุที่บอกลาสิกขาถูกต้อง ภายหลังต้องการอุปสมบทก็ควรให้อุปสมบท เพราะจักเป็นผู้มีความเคารพในศาสนา และเพราะเธอมีศีลยังไม่วิบัติ เธอเมื่อยังมีอุปนิสัยอยู่ จักบรรลุประโยชน์สูงสุด (พระนิพพาน) ต่อกาลไม่นานนักแล จึงทรงมีพระอนุบัญญัติ


๑๒. “อธิบายความหมายแห่งภิกษุ”
- ผู้ใดขอ เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า ผู้ขอ จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ, ชื่อว่า ผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้อาศัยการเที่ยวขอที่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงอาศัยแล้ว จริงอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละกองโภคะน้อยหรือมาก ออกจากเรือนบวช ไม่มีเรือน บุคคลผู้นั้นชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีพด้วยกสิกรรมและโครักขกรรม (การเลี้ยงโค) เป็นต้น ยอมรับนับถือเพศนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภิกษุ

แม้ฉันภัตในหาบอยู่ในท่ามกลางวิหาร ก็ชื่อว่า อาศัยการเที่ยวขอ เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น ชื่อว่า อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้เกิดอุตสาหะในบรรพชาอาศัยโภชนะ คือ คำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง (เที่ยวบิณฑบาต) เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภิกษุ

- ผู้ใดย่อมทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทำค่าผัสสะและสีให้เสียไป เหตุนั้นผ้านั้นชื่อว่าผู้ทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว บรรดาการทำค่าให้เสียไปเป็นต้นนั้น พึงทราบการทำค่าให้เสียไป เพราะตัดด้วยคัสตรา (ทำให้ไม่มีค่าและราคา) จริงอยู่ ผ้ามีราคาตั้งพันที่เขาเอามีดตัดให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้ว ย่อมมีราคาเสียไป คือ มีค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากราคาเดิม พึงทราบการทำผัสสะให้เสียไป เพราะถูกเย็บด้วยด้าย ย่อมมีสัมผัสแข็งกระด้าง, ผ้าถึงความเสียสีไปเพราะสนิมจากเข็ม เพราะเหงื่อ เพราะการย้อมและเย็บในที่สุด ผ้าย่อมถูกทำลายไปโดยนัยนี้

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดชื่อว่า ผู้ทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทรงผ้ากาสาวะทั้งหลาย ซึ่งไม่เหมือนกับผ้าของคฤหัสถ์ เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ

- เป็นภิกษุโดยบัญญัติ คือ โดยโวหาร (สมัญญา) คือ บุคคลบางคนปรากฏว่าเป็นภิกษุโดยสมัญญาเท่านั้น เช่นในกิจนิมนต์ เป็นต้น คนทั้งหลายเมื่อนับจำนวนภิกษุอยู่ นับเอากระทั่งพวกสามเณรเข้าด้วยแล้วพูดว่า ภิกษุจำนวนร้อยรูป ภิกษุจำนวนพันรูป
- เป็นภิกษุโดยปฏิญญาของตนเอง คือ บุคคลบางคนย่อมปรากฏว่าเป็นภิกษุ แม้โดยความปฏิญญา พึงทราบความปฏิญญาว่าเป็นภิกษุนั้นเกิดมีได้ดังในประโยคอย่างนี้ว่า ถามว่า เป็นใคร? ตอบว่า ข้าพเจ้าเองเป็นภิกษุ ก็ความปฏิญญานี้เป็นความปฏิญญาที่ชอบธรรม, พวกภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาในราตรี ข้าพเจ้าเองเป็นภิกษุ ก็ความปฏิญญานี้เป็นความปฏิญญาที่ชอบธรรม, พวกภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาในราตรี เมื่อถูกถามว่า ท่านเป็นใคร? ก็ตอบว่า พวกข้าพเจ้าเป็นภิกษุ ดังนี้เป็นปฏิญญาที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นความจริง
- บทว่า เอหิภิกขุ อธิบายว่าผู้ถึงความเป็นภิกษุ คือ ผู้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุด้วยพระดำรัสว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ชื่อว่า ภิกษุ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เพื่อเป็นเอหิภิกขุจึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง เปล่งพระสุรเสียงกังวานดังเสียงพรหม ตรัสเรียกว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พร้อมกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้านั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของผู้เพ่งอุปสมบทนั้นย่อมอันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ ผู้นั้นเป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ คือ นุ่งผ้าอันตรวาสกผืนหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์ผืนหนึ่ง พาดผ้าสังฆาฏิไว้บนจะงอยบ่าผืนหนึ่ง มีบาตรดินอันมีสีเหลืองเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย ภิกษุนั้นท่านกำหนดเฉพาะด้วยบริขาร ๘ ที่สวมสอดเข้าที่ร่างกาย อันพระโบราณจารย์ กล่าวไว้อย่างนี้ว่า

“บริขารเหล่านี้ คือ ไตร จีวร บาตร มีดน้อย เข็ม และผ้ารัดประคดเอว เป็น ๘ ทั้งผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียร”

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถเหมือนพระเถระตั้งร้อยพรรษา มีพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว

จริงอยู่ ครั้งปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้กุลบุตรอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาชั่วระยะหนึ่ง (ก่อนจะให้สงฆ์อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา) และภิกษุผู้อุปสมบทด้วยวิธีอย่างนี้ มีจำนวน ๑,๓๔๑ รูป คือ พระปัญจวัคคีย์เถระ ๕ ยสกุลบุตร ๑ สหายผู้เป็นบริวารท่าน ๕๔ ภัททวัคคีย์ ๓๐ ปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ ปริพาชก รวมกับพระอัครสาวกทั้งสอง ๒๕๐ พระอังคุลิมาลเถระ ๑=๑,๓๔๑ รูป

และภิกษุ ๑,๓๔๑ เหล่านั้น จะเป็นเอหิภิกขุพวกเดียวก็หามิได้ เพราะยังมีภิกษุที่บวชด้วยเอหิภิกขุอยู่อีก คือ เสลพราหมณ์พร้อมบริวารจำนวน ๓๐๐ พระมหากัปปินะพร้อมบริวารจำนวน ๑,๐๐๐ กุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์มีจำนวน ๑๐,๐๐๐ พวกปารายนิกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้แสวงหาที่พึ่งในภพข้างหน้า) มีจำนวน ๑๖,๐๐๐ (รวม ๒๗,๓๐๐ รูป แต่ภิกษุเหล่านี้ พระอรรถกถาจารย์มิได้กล่าวไว้ เพราะท่านพระอุบาลีเถระมิได้แสดงไว้ในบาลีพระวินัยปิฎก ส่วนภิกษุ ๑,๓๔๑ ท่านพระอุบาลีกล่าวไว้ในบาลีพระวินัยปิฎกแล้ว


๑๓. "อธิบายสิกขาและสาชีพ"
สิกขาบททั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในพระวินัย ที่เรียกว่า สาชีพ เพราะเหตุว่าเป็นที่อยู่ร่วมกัน คือ เป็นที่อยู่อย่างเดียวกัน เป็นอยู่ถูกส่วนกัน ประพฤติถูกส่วนกัน ของภิกษุทั้งหลายผู้ต่างกันโดยชาติและโคตร เป็นต้น ให้เป็นอยู่ร่วมกันได้โดยผาสุก  
- ภิกษุทำสิกขาบทนี้ให้เป็นที่พำนักแห่งจิตแล้ว สำเหนียกพิจารณาด้วยจิตว่า เราศึกษาสมควรแก่สิกขาบทหรือไม่หนอ? ก็ภิกษุนี้จะชื่อว่าศึกษาอยู่ในสิกขาบท กล่าวคือสาชีพนั้นอย่างเดียวก็หามิได้ แม้ในสิกขา (อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา) ก็ชื่อว่าเป็นอันศึกษาด้วย


๑๔. “ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงเมถุนธรรมควรระลึกถึงพระพุทธคุณ”  
เพราะเมถุนกถานี้เป็นกถาที่ชั่วหยาบ เป็นกถาของพวกอสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุจะกล่าวก็ควรระลึกในปฏิกูลมนสิการ สมณสัญญา และหิริโอตตัปปะ ทำความเคารพให้เกิดในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกล่าวเถิด โดยรำพึงถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์อย่างนี้ว่า พระองค์ทรงมีจิตพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย แต่ทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก ได้ตรัสกถาเช่นนี้ไว้เพื่อต้องการบัญญัติสิกขาบท พระศาสดามีพระกรุณาคุณจริงหนอ...

หรือระลึกว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงกถาเช่นนี้ ใครเล่าจะพึงรู้ได้ว่าในฐานะประมาณเช่นนี้เป็นปาราชิก ฐานะเท่านี้เป็นถุลลัจจัย ฐานะนี้เป็นทุกกฎ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้กล่าวอยู่ก็ดีซึ่งเมถุนกถานั้น หาควรเปิดปากนั่งหัวเราะแยกฟันกันอยู่ ไม่ถึงใคร่ครวญว่า ถึงฐานะเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแล้ว ดังนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะแล้วกล่าวเมถุนกถาเถิด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2558 13:19:49 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29 เมษายน 2557 16:00:08 »

.

๑๕. บทว่า ปาราชิก แปลว่า พ่ายแพ้แล้ว คือ ถึงความพ่ายแพ้, ปาราชิกศัพท์นี้ย่อมเป็นไปในทั้งสิกขาบท อาบัติ และบุคคล
ปาราชิกศัพท์ที่เป็นไปในสิกขาบท พึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า “ดูก่อนอานนท์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้แล้ว...”

ที่เป็นไปในอาบัติพึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า "ภิกษุ...เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว”, ที่เป็นไปในบุคคล พึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า “พวกเรามิได้เป็นปาราชิก ผู้ใดลัก ผู้นั้นเป็นปาราชิก”

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ยังเป็นไปในธรรมได้อีก เช่น ในที่มามีคำว่า (ภิกษุ) ตามกำจัด (ภิกษุ) ด้วยธรรม มีโทษถึงปาราชิก ดังนี้เป็นต้น (ดูสังฆาทิเสส)

แต่บางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์เรียกอาบัติว่า “ธรรม” บางแห่งเรียกว่า “สิกขาบท” เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเข้าใจว่าเป็นคนละอย่างกัน

บรรดาสิกขาบท อาบัติ และบุคคลนั้น, สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปาราชิก เพราะเหตุที่ยังบุคคลผู้ละเมิดให้พ่าย, ส่วนอาบัติ ตรัสว่า ปาราชิก เพราะเหตุที่ยังบุคคลผู้ต้องให้พ่าย, บุคคลตรัสว่า เป็นปาราชิก เพราะเหตุที่เป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้จากพระศาสนา ย่อมเป็นผู้ไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร

- ภิกษุทั้งหลายย่อมอยู่ร่วมกันในธรรมนี้ (สิกขาบททั้งหลาย) เหตุนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่า สังวาส

อธิบายว่า สังฆกรรมทั้ง ๔ อย่าง มีอุโบสถกรรม เป็นต้น ชื่อว่า กรรมอันเดียวกัน เพราะความเป็นกรรมที่ภิกษุทั้งหลายผู้ปกตัตตะกำหนดด้วยสีมา จะพึงทำร่วมกัน  อนึ่ง ปาฏิโมกขุทเทสทั้ง ๕ ชื่อว่าอุเทศเดียวกัน เพราะความเป็นอุเทศที่จะพึงสวดด้วยกัน, ส่วนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ชื่อว่าสมสิกขาตา เพราะความเป็นสิกขาที่ลัชชีบุคล (คนผู้มีความละอาย) แม้ทั้งปวงจะพึงศึกษาเท่ากัน ลัชชีบุคคลทั้งหลายย่อมอยู่ร่วมกันในกรรมเป็นต้นเหล่านี้ บุคคลแม้ผู้เดียวจะปรากฏในภายนอก จากกรรมเป็นต้นนั้นหามิได้ เพราะเหตุนั้นจึงทรงรวมเอาสิ่งเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วตรัสว่า นี้ชื่อว่าสังวาสในพระบาลีนี้, ก็แลสังวาสมีประการดังกล่าวนั้นไม่มีแก่บุคคลนั้น เพราะเหตุนั้นบุคคลผู้พ่ายพระองค์จึงตรัสว่า ผู้หาสังวาสมิได้ ดังนี้


๑๖. “สัตว์ดิรัจฉาน” ท่านกำหนดดังนี้
บรรดาพวกสัตว์ไม่มีเท้า ได้แก่ งู ปลา, บรรดาพวกสัตว์ มีสัตว์สองเท้า ได้แก่ นก ไก่, บรรดาพวกสัตว์สี่เท้า ได้แก่ แมว กระแต พังพอน เป็นต้น สัตว์ดิรัจฉานเหล่านี้เป็นวัตถุแห่งปาราชิก

บรรดางูทั้งหลาย ภิกษุอาจสอดองคชาติเข้าไปในมรรคทั้ง ๓ มรรคใดมรรคหนึ่งประมาณเท่าเมล็ดงา เป็นวัตถุแห่งปาราชิก ที่เหลือพึงทราบว่าเป็นวัตถุแห่งทุกกฎ ส่วนกบมีสัณฐานปากกว้าง แต่มีช่องปากแคบ จึงไม่เพียงพอจะสอดองคชาติเข้าไปได้ แต่สัณฐานปากย่อมถึงความนับว่าเป็นแผล พึงทราบว่าเป็นวัตถุแห่งถุลลัจจัย

นก กระแต พังพอน เป็นต้น เป็นวัตถุแห่งปาราชิก และแห่งทุกกฎ พึงทราบคำอธิบายเหมือนงู ดังที่กล่าวแล้ว


๑๗. “อธิบายเครื่องลาด”
มรรคใดมรรคหนึ่ง (ปาก ทวารหนัก ทวารเบา) ของหญิงที่ชื่อว่ามีเครื่องลาด ได้แก่ มรรคที่เขาเอาผ้าหรือใบไม้ เปลือกปอหรือหนัง หรือแผ่นดีบุกและสังกะสี เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง พันหรือสอดเข้าไปสวมไว้ภายใน

องชาติของชายที่มีเครื่องลาด ได้แก่ องคชาติที่เขาเอาบรรดาวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผ้าเป็นต้นเหล่านั้น มาสวมไว้


๑๘. “อนาบัติ” (ไม่เป็นอาบัติ)
- ภิกษุรูปที่ชื่อว่า ผู้ไม่รู้สึกตัวนั้น ได้แก่ ผู้หยั่งลงสู่ความหลับอย่างมาก ย่อมไม่รู้สึกแม้ความพยายามที่คนอื่นทำแล้ว ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติเหมือนภิกษุผู้ไปพักกลางวันในป่ามหาวันนั้น
- ภิกษุที่ชื่อว่าไม่ยินดี ได้แก่ ผู้ที่แม้รู้สึกตัวแล้วก็ไม่ยินดี ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติ
- ภิกษุผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบ ชื่อว่า เป็นบ้า, ดีมี ๒ อย่าง คือ ดีที่มีฝัก ๑ ดีที่ไม่มีฝัก ๑ ดีที่ไม่มีฝักย่อมซึมซาบไปทั่วสรรพางค์ดุจโลหิต เมื่อดีที่ไม่มีฝักกำเริบ พวกสัตว์ย่อมมีสรีระสั่นเทาไปเพราะหิดเผื่อยหิดติ เป็นต้น ซึ่งจะหายได้ด้วยการทายา, ส่วนดีที่มีฝัก ตั้งอยู่ในฝักของดี เมื่อดีฝักกำเริบ พวกสัตว์ย่อมเป็นบ้า ละทิ้งหิริโอตตัปปะเสีย ย่อมเที่ยวไปประพฤติกรรมที่ไม่สมควร ย่ำยีสิกขาบททั้งเบาและทั้งหนักอยู่ ก็ไม่รู้สึกตัว เป็นผู้แก้ไขไม่ได้แม้จะมีแพทย์เยียวยา ภิกษุผู้เป็นบ้าเช่นนี้ไม่เป็นอาบัติ
- ภิกษุชื่อว่า มีจิตฟุ้งซ่าน ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ ท่านเรียกว่าเป็นบ้าเพราะผีเข้าสิง ได้ยินว่า พวกยักษ์แสดงอารมณ์ทั้งหลายที่น่ากลัว หรือสอดมือเข้าทางปากแล้วบีบคั้นหทัยรูปของพวกสัตว์ให้มีความจำคลาดเคลื่อน ภิกษุผู้ฟุ้งซ่านนี้ไม่เป็นอาบัติ

ส่วนความแตกต่างกันแห่งภิกษุผู้เป็นบ้า ๒ พวก มีดังนี้ ภิกษุผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบ จัดว่าเป็นบ้าตลอดทีเดียว ไม่มีความจำตามปกติ ผู้เป็นบ้าเพราะยักษ์เข้าสิง ยังกลับได้ความจำตามเดิมในบางคราว แต่ในปฐมปาราชิกนี้ ผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบก็ดี ผู้เป็นบ้าเพราะยักษ์เข้าสิงก็ดี จงยกไว้ (ไม่เป็นอาบัติแน่นอน) ภิกษุรูปใดหลงลืมสติโดยประการทั้งปวง วัตถุอะไรๆ จะเป็นไฟก็ตาม ทองก็ตาม คูถก็ตาม ก็ไม่รู้จัก ย่อมเที่ยวย่ำเหยียบเป็นเช่นเดียวกันหมด ภิกษุบ้าเห็นเช่นนี้ไม่เป็นอาบัติ แต่เมื่อกลับได้ความจำขึ้นในบางครั้งบางคราวแล้วทำทั้งที่รู้ เป็นอาบัติทีเดียว
- ภิกษุชื่อว่า กระสับกระส่ายเพราะเวทนา นั้นได้แก่ ผู้ที่ทุรนทุรายเพราะทุกขเวทนาเกินประมาณ ย่อมไม่รู้สึกอะไรๆ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนี้
- ภิกษุชื่อว่า อาทิกัมมิกะ ได้แก่ ผู้เป็นต้นเดิมในการกระทำ ในปฐมปาราชิกสิขาบทนี้พระสุทินน์เป็นอาทิกัมมิกะ ท่านไม่เป็นอาบัติ ภิกษุทั้งหลายที่เหลือมีผู้เสพเมถุนกับนางลิงเป็นต้น เป็นอาบัติแล้ว


๑๙. “ตัวอย่าง” (วินีตวัตถุ – เรื่องที่ทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง)
- ตัวอย่างเหล่านี้ที่ยกมาแสดงเป็นเรื่องที่ทรงวินิจฉัยโดยพระองค์เอง เพื่อให้พระวินัยธรได้ใช้เป็นเรื่องสำหรับเทียบเทียง ดุจรูปที่เป็นหลักเทียบเคียงของพวกศิลปิน ฉะนั้น
- “ภิกษุเพศชายกลับเป็นหญิง” หมายความว่า เมื่อท่านหยั่งลงสู่ความหลับในเวลากลางคืน อวัยวะทั้งปวง มีหนวดเคราเป็นต้น หายไป ทรวดทรงของสตรีเกิดขึ้นแทนที่, ทรงอนุญาตว่าไม่ต้องถืออุปัชฌาย์ใหม่ ไม่ต้องให้อุปสมบทใหม่, ให้นับพรรษาเดิมจากความเป็นภิกษุได้เลย, ให้ไปอยู่รวมกับพวกภิกษุณี, หากอาบัติที่ต้องในตอนเป็นภิกษุมีอยู่ในสิกขาบทของภิกษุณี ก็ให้แสดงแก่ภิกษุณี ส่วนอาบัติที่ต้องขณะเป็นภิกษุแล้ว ไม่มีอยู่ในสิกขาบทของภิกษุณี เป็นอันไม่อาบัติ
- เพศชายท่านจัดว่าเป็นอุดมเพศ เพศหญิงเป็นหีนเพศ (เพศต่ำ) เพราะเหตุนั้นเพศชายอันตรธานไป เมื่ออกุศลมีกำลังรุนแรง เพศหญิงปรากฏขึ้นแทน เพราะมีกุศลอันเพลาลง, ส่วนเพศหญิงจะอันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังเพลาลง เพศชายปรากฏขึ้นแทน เพราะกุศลมีกำลังรุนแรง, เพศทั้งสองอันตรธานไปเพราะอกุศล กลับได้คืนเพราะกุศล ดังนี้
- ภิกษุ ชื่อ สุนทระ ท่านเป็นพระอนาคามี จึงไม่ยินดี
- ภิกษุเฒ่าที่กลับไปเยี่ยมภรรยาเก่าเป็นพระอนาคามี จึงไม่ยินดี


๒๐. “เรื่องปิดประตูจำวัด”
- ในพระบาลี พระพุทธเจ้ามิได้ปรับอาบัติไว้ว่าเป็นอาบัติชื่อใดก็จริง แต่ถึงกระนั้นพระเถระทั้งหลาย ก็ปรับเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อนพักผ่อน เพราะเมื่อเรื่องเกิดขึ้น เพราะโทษที่เปิดประตูนอน จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะพักผ่อนในกลางวันปิดประตูเสียก่อนจึงพักผ่อนได้

พระเถระทั้งหลาย มีพระอุบาลีเป็นต้น ทราบพระประสงค์แล้ว จึงได้ตั้งอรรถกถาไว้ ก็คำที่ว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อนพักผ่อนนี้ สำเร็จแล้วด้วยคำนี้ว่า “มีอาบัติที่ภิกษุต้องในกลางวันไม่ต้องในกลางคืน”
- ถ้าสถานที่นั้นเป็นที่ใช้ของคนหมู่มาก จะพูดกับภิกษุหรือสามเณรหรืออุบาสกว่า ท่านจงช่วยกันรักษาประตู แล้วจำวัดก็ควร ถ้าแม้จะทำความผูกใจไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งทำจีวรกรรม หรือกิจอย่างอื่นอยู่ เธอเหล่านั้นจักช่วยกันรักษาประตูนั่น แล้วจำวัด ก็ควร
- เมื่อภิกษุไม่ทำการบอกเล่าหรือความผูกใจไว้ แล้วพักจำวัดภายในห้องที่ไม่ได้ปิดประตูหรือภายนอกห้อง ย่อมเป็นอาบัติ
- ภิกษุเปิดประตูจำวัดตลอดคืน ลุกขึ้นแล้วในเวลารุ่งอรุณ ไม่เป็นอาบัติ, แต่ถ้าตื่นแล้วหลับซ้ำ เป็นอาบัติ
- ส่วนภิกษุใดรักษาพยาบาลภิกษุอาพาธ เป็นต้น หลายราตรีทีเดียว หรือเดินทางไกลมีร่างกายอิดโรยทั้งวัน นั่งบนเตียงแล้ว พอยกเท้ายังไม่พ้นจากพื้นเลยก็หลับ ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติ ถ้ายกเท้าขึ้นเตียงแล้วหลับ ย่อมเป็นอาบัติ, เมื่อนั่งพิงหลับไม่เป็นอาบัติ


๒๑. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นี้ มีสมุฏฐานเดียว คือ เกิดจากกายกับจิต (จิตคิดเสพ กายเคลื่อนไหวเพื่อเสพ, ใช้ผู้อื่นเสพ ไม่เป็นอาบัติ) เป็นสจิตตกะ เพราะมีจิตคิดเสพเมถุน จึงเสพ หากไม่มีจิตคิดเสพก็ไม่มีการเสพ, เป็นโลกวัชชะ เพราะต้องอาบัติด้วยอำนาจราคะกล้า, เป็นกายกรรม เพราะเกิดทางกายทวารเท่านั้น, เป็นอกุศลจิต เพราะต้องด้วยโลภมูลจิต

๒๒. สิกขาบทใดต้องพร้อมด้วยจิตเท่านั้น (คือมีจิตคิดทำ, คิดละเมิด) สิกขาบทนั้นเป็นสจิตตกะ, สิกขาบทใดเว้นจากจิต (คือ แม้ไม่มีจิตคิดล่วงละเมิด) ก็ต้องอาบัติ สิกขาบทนั้นเป็นอจิตตกะ
- “การล่วงละเมิดสิกขาบทมีโทษ ๒ อย่าง” คือ โลกวัชชะ (มีโทษทางโลก) ปัณณัตติวัชชะ (มีโทษทางพระบัญญัติ) ๑

สิกขาบทใดในฝ่ายสจิตตกะ มีจิตเป็นอกุศลล้วนๆ สิกขาบทนั้นชื่อว่า โลกวัชชะ ที่เหลือเป็นปัณณัตติวัชชะ (คือ ในฝ่ายอจิตตกะมีจิตที่มิใช่อกุศล สิกขาบทนั้นชื่อว่า ปัณณัตติวัชชะ)
- บรรดาโทษ ๒ อย่างนั้น อนุบัญญัติในสิกขาบทที่เป็นโลกวัชชะ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกั้น ปิดประตู ตัดกระแส ทำให้ตึงขึ้นกว่าเดิม, ส่วนอนุบัญญัตินี้ว่า เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ เว้นไว้แต่ฝัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะไม่มีการล่วง
ละเมิด

ในสิกขาบทที่เป็นปัณณัตติวัชชะ เมื่อภิกษุยังไม่ได้ทำการล่วงละเมิด อนุบัญญัติที่เกิดขึ้นตามหลังพระบัญญัติ ย่อมทำให้สิกขาบทเพลาลง ปลดเปลื้องออก เปิดประตูให้ ทำไม่ให้เป็นอาบัติต่อๆ ไป เหมือนอนุบัญญัติในคณโภชนสิกขาบท และปรัมปราโภชนสิกขาบท ฉะนั้น (ดู ปาจิตตีย์โภชนวรรค)
- ส่วนอนุบัญญัติเห็นปานนี้ว่า “โดยที่สุด (บอก) แม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ” (ดูสังฆาทิเสส ข้อชักสื่อ) ชื่อว่า อนุบัญญัติที่เป็นเหมือนพระบัญญัติทีเดียว เพราะเกิดขึ้นในเมื่อภิกษุทำการล่วงละเมิดแล้ว
- ก็เพราะปฐมปาราชิกบทนี้ เป็นโลกวัชชะ ไม่ใช่ปัณณัตติวัชชะ เพราะฉะนั้น อนุบัญญัติที่เกิดขึ้น ย่อมกั้น ปิดประตู ตัดกระแส ได้แก่ ทำให้ตึงขึ้นกว่าเดิม


๒๓. “ลักษณะสิกขาที่ไม่เป็นอันบอกคืน”
- ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสันไม่ยินดี ใคร่จะเคลื่อนจากความเป็นสมณะ อึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความเป็นภิกษุ ปรารถนาความเป็นอุบาสก ปรารถนาความเป็นอารามิก ปรารถนาความเป็นสามเณร ปรารถนาความเป็นเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่สมณะ ความเป็นผู้มิใช่เชื้อสายศากยะบุตร ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (บอกคืน ด้วยคำรำพึงว่าไฉนหนอ) ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะ ด้วยคำรำพึงว่า ไฉนหนอ)...ก็ถ้าว่าข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำปริกัปป์)...ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะ)...บอกว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำปริกัปป์)...หากว่าข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะด้วยคำปริกัปป์)...ผิว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืน...

ข้าพเจ้าระลึกถึงมารดา (อ้างวัตถุที่รำลึก)...มารดาของข้าพเจ้ามี ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูท่าน (แสดงความห่วงใย)...มารดาของข้าพเจ้ามี ท่านจักต้องเลี้ยงดูข้าพเจ้า (อ้างที่อยู่อาศัย)...พรหมจรรย์ทำได้ยาก (อ้างว่าพรหมจรรย์ทำได้ยาก) เป็นต้น แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาไม่เป็นอันบอกคืน (สักขาไม่เป็นอันบอกลา, ไม่เป็นอันสึก)

-คำว่า “ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง” ตรัสโดยความเป็นคำสละสลวย ด้วยพยัญชนะ, เป็นคำขยายบทว่า ไม่บอกคืนสิกขา


๒๔. “ลักษณะสิกขาบทที่เป็นอันบอกคืน”
ภิกษุในพระธรรมวินัย กระสัน ไม่ยินดี...ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำเป็นปัจจุบัน)...ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะด้วยคำปัจจุบัน)...ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธเจ้า...(บอกคืนด้วยคำปัจจุบัน)...ข้าพเจ้าจะต้องการอะไรด้วยพระพุทธเจ้า. ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยพระพุทธเจ้า...ข้าพเจ้าพ้นดีแล้วจากพระพุทธเจ้า...ข้าพเจ้าบอกคืนพระธรรม...ข้าพเจ้าบอกคืนพระสงฆ์..ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขา ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัย...ข้าพเจ้าบอกคืนพระอุปัชฌาย์...ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสก...เป็นอารามิก...เป็นสามเณร...เป็นเดียรถีย์...เป็นสาวกเดียรถีย์...เป็นต้น

หรือบอกลาด้วยคำไวพจน์ เช่น ขอจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า ไม่เป็นบุตรของพระอนันตพุทธเจ้า...ท่านจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน


๒๕. “ผู้รับฟังการลาสิกขา”
ครั้นทรงแสดงลักษณะแห่งการบอกลาสิกขาแล้ว เพื่อความไม่เลอะเลือนในการไม่บอกลา และเพื่อแสดงความวิบัติแห่งลักษณะการบอกลาสิกขา จึงทรงแสดงถึงบุคคลผู้ฟังคำกล่าวลาสิกขาที่ไม่เป็นอันบอกคืน ดังนี้
- ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุวิกลจริต สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน
- ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน บอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน – ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา บอกคืนสิกขา...- ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา...บอกคืนสิกขาในสำนักเทวดา...- ในสำนักสัตว์ดิรัจฉาน. – ในสำนักของชนชาติมิลักขะ ด้วยภาษาชนชาติอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติอริยกะ ด้วยภาษาชนชาติมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติอริยกะ ด้วยภาษาชนชาติอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติมิลักขะ ด้วยภาษามิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวเล่น สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวพลาด สิกขาไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุประสงค์จะประกาศ แต่ไม่เปล่งเสียงให้ได้ยิน สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุไม่ประสงค์จะประกาศ แต่เปล่งเสียงให้ได้ยิน สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน, ภิกษุประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจความ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ก็หรือภิกษุไม่ประกาศโดยประการทั้งปวง สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน ดังนี้
- ภิกษุบ้าเพราะถูกยักษ์เข้าสิง หรือบ้าเพราะดีกำเริบ คือ ภิกษุผู้มีสัญญาวิปริตรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุบ้านั้นถ้าบอกลา สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา, ถ้าภิกษุผู้ปกติบอกลาในสำนักของภิกษุบ้า ภิกษุบ้าไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน
- ภิกษุบ้านั้น ท่านเรียกว่า ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
- ภิกษุผู้ถูกทุกขเวทนาที่มีกำลังครอบงำ สิกขาที่ภิกษุผู้ถูกเวทนาเบียดเบียนบ่นเพ้ออยู่นั้น แม้บอกลาแล้วก็ย่อมไม่เป็นอันบอกลา, สิกขาแม้อันภิกษุผู้ปกติบอกลาแล้วในสำนักของภิกษุผู้ถูกเวทนาครอบงำแล้ว ภิกษุผู้ถูกเวทนาครอบงำไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นอันบอกคืน
- สิกขาที่ภิกษุบอกลาแล้วในสำนักของเทวดา เริ่มต้นแต่ภุมเทวดาไปจนถึงอกนิฏฐเทวดา ย่อมไม่เป็นอันบอกลา เพราะเทวดามีปัญญารู้เข้าใจเร็วเกินไป และจิตเป็นธรรมที่เกิดดับรวดเร็ว กลับกลอก ภิกษุอาจเปลี่ยนใจ แต่จะไม่ทันกาล เพราะเทวดารู้เร็วเกินไป
- สิกขาที่บอกลาแล้วในสำนักของนาคมาณพก็ดี สุบรรณมาณพก็ดี หรือในสำนักของเทวดา เหล่ากินนร ช้างและลิงเป็นต้น พวกใดพวกหนึ่งก็ดี ย่อมไม่เป็นอันบอกลาเลย
- โวหารของชาวอริยะ ชื่อ อริยกะ ได้แก่ ภาษาของชาวมคธ, โวหารที่ไม่ใช่ของชาวอริยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อ มิลักขะ ได้แก่ โวหารของชาวอันธทมิฬ (คนดำ) เป็นต้น
- ถ้าชาวมิลักขะนั้นไม่เข้าใจว่า ภิกษุนั้นพูดเนื้อความชื่อนี้ เพราะความที่ตนไม่รู้ในภาษาอื่น หรือเพราะความที่ตนไม่ฉลาดในสิกขาแห่งพุทธศาสนา ย่อมไม่เป็นอันบอกลา
- ภิกษุผู้มีความประสงค์จะพูดอย่างหนึ่งโดยเร็ว แต่พูดไปโดยเร็วว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า ดังนี้ (ชื่อว่า ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวเล่นหรือกล่าวเร็ว)
- ภิกษุผู้พูดพลาด ตั้งใจว่าเราจักพูดอย่างหนึ่ง พลาดไปพูดอย่างหนึ่ง ก็เพราะความที่ตนเป็นคนทึบ เป็นคนหลงงมงาย
- ภิกษุบอก สอบถาม เล่าเรียน ทำการสาธยาย พรรณนาบาลีแห่งสิกขาบทนนี้ ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ไม่ประสงค์จะประกาศ แต่ประกาศให้ได้ยิน
- ประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจ ได้แก่ ประกาศแก่คนชราผู้เป็นเช่นกับด้วยรูปปั้น หรือมีปัญญา


๒๖. ภิกษุมีความประสงค์จะกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ แต่กล่าวว่า ปจฺจกฺขามิ พุทฺธํ หรือกล่าวเนื้อความนั้นด้วยภาษาของชนชาวมิลักขะภาษาใดภาษาหนึ่ง หรือมีความประสงค์จะกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ  แต่กล่าวว่า ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ หรือว่า สพฺรหฺมจารึ  ปจฺจกฺขามิ ข้อนี้เปรียบเหมือนในวิภังค์แห่งอุตริมนุสธรรม (ปาราชิกข้อที่ ๔) คือ ภิกษุมีความประสงค์จะกล่าวอวดว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌาน” (เป็นถุลลัจจัย หากเขาไม่เข้าใจ, หากเขาเข้าใจ เป็นปาราชิก) ดังนี้ แม้ฉันใดถ้าภิกษุผู้กระสันนั้นจะบอกแก่ผู้ใด ผู้นั้นรู้คำพูดว่า ภิกษุนี้มีความประสงค์จะละความเป็นภิกษุจึงกล่าวแบบนี้ ชื่อว่าการกล่าวพลาดย่อมไม่มี คำกล่าวนั้นหยั่งลงสู่เขตทีเดียว สิกขาเป็นอันบอกลาแล้วฉันนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เคลื่อนจากศาสนาทีเดียว

- ถ้าภิกษุกล่าวด้วยคำกำหนดอดีตกาลและอนาคตกาลว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขึ หรือ พุทฺธํ ปจฺจกฺขิสฺามิ ก็ดี พุทฺธํ ปจฺจกฺเขยฺยํ ก็ดี ส่งทูตไปก็ดี ส่งข่าวสาสน์ไปก็ดี สลักเขียนอักษรไว้ก็ดี บอกใจความนั้นด้วยหัวแม่มือก็ดี สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา ส่วนการอวดอุตริมนุสธรรมย่อมถึงที่สุด แม้ด้วยการอวดด้วยหัวแม่มือ

- การบอกลาสิกขา ย่อมถึงที่สุดก็ต่อเมื่อภิกษุผู้ลั่นวาจา ซึ่งสัมปยุตด้วยจิตใจสำนักของสัตว์ผู้มีชาติเป็นมนุษย์เท่านั้น
สิกขาบทที่ภิกษุบอกลาในสำนักของคนใดคนหนึ่ง ผู้เป็นบุรุษก็ตาม มาตุคามก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ซึ่งเป็นผู้รู้เดียงสา หากเข้าใจย่อมเป็นอันบอกลา, หากไม่เข้าใจสิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา

ภิกษุลั่นวาจาประกาศให้คนอื่นรู้ ถ้าเจาะจงบอกเฉพาะบุคคลหนึ่งว่า บุคคลนี้เท่านั้นจงรู้ และบุคคลนั้นรู้ความประสงค์ของเธอ สิกขาย่อมเป็นอันบอกลา, ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ แต่คนอื่นที่ยืนอยู่ใกล้รู้ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา

ถ้าว่าภิกษุนั้นเจาะจงบอกเฉพาะแก่บุคคลสองคนว่า ข้าพเจ้าบอกแก่คนสองคนนี้ ดังนี้ บรรดาคนทั้งสองนั้นเมื่อคนหนึ่งรู้ก็ตาม รู้ทั้งสองคนก็ตาม สิกขาย่อมเป็นอันบอกลา

- ถ้าภิกษุผู้ถูกความไม่เพลินใจบีบคั้น ระแวงสงสัยภิกษุทั้งหลายผู้คุ้นเคยกัน จึงตะโกนเสียงดังว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ หวังว่าใครๆ จงรู้ ถ้าว่ามีคนทำงานอยู่ในป่า หรือบุรุษคนอื่นผู้รู้ลัทธิศาสนายืนอยู่ในที่ไม่ไกล ได้ยินเสียงของภิกษุนั้น ก็เข้าใจว่า สมณะกระสันรูปนี้ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ดังนี้สิกขาย่อมเป็นอันบอกลาแล้ว หากเขาไม่เข้าใจทีแรก คิดนานๆ จึงเข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา



ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. ปาราชิก – เป็นชื่ออาบัติหนักที่ภิกษุต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อบุคคลผู้ที่พ่ายแพ้ คือต้องอาบัติปาราชิกที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ
๒. สังวาส – ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ ได้แก่ การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาติโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน เรียกง่ายๆ ว่า ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกัน,  ในภาษาไทยใช้หมายถึงร่วมประเวณีด้วย
๓. อนุบัญญัติ – บัญญัติเพิ่มเติม บทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริม หรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม
๔. สิกขา – การศึกษา, การสำเหนียก, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกอบรม มี ๓ อย่าง คือ ๑. อธิสีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล  ๒. อธิจิตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ  ๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา
๕. สาชีพ – แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้มีชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๖. บัณเฑาะก์ – กระเทย, คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่ กระเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอน เรียกว่า ขันที ๑ ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑
๗. สจิตตกะ – มีเจตนา, เป็นไปโดยตั้งใจ เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐาน มีเจตนา คือ ต้องจงใจทำจึงจะต้องอาบัตินั้น เช่น ภิกษุหลอนภิกษุให้กลัวผี ต้องปาจิตตีย์ ข้อนี้เป็นสจิตตกะ คือตั้งใจหลอกจึงต้องปาจิตตีย์ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะหลอก ไม่เป็นอาบัติ
๘. อจิตตกะ – ไม่มีเจตนา, เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือ ถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล หรือดื่มน้ำเมา เป็นต้น
๙. ปัณณัตติวัชชะ – อาบัติที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือ คนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิด ความเสีย เป็นผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานละเมิดพระบัญญัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ขุดดิน ใช้จีวรที่ไม่ได้พินทุ นั่งนอนบนเตียงตั่งไม่ได้ตรึงเท้าให้แน่น เป็นต้น
๑๐. โลกวัชชะ – อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิด ความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น, บางทีว่า เป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น
๑๑. ทุกกฎ – ทำไม่ดี ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดรองจากปาฏิเทสนียะ, การเขียนที่ถูกต้อง คือ ทุกกฎ สะกดด้วย ฏ (ต ปฏัก)




อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ  อทุฏฺโฐ โย ติติกฺขติ
ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯ ๓๙๙ฯ
     ผู้ใดไม่โกรธ ทนต่อการด่า และการลงโทษจองจำ
     มีขันติเป็นกำลังทัพ ผู้นั้นเราเรียกว่า พราหมณ์
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2558 13:28:50 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2557 19:28:10 »

.


ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒)
ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก

พระธนิยะ : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๒

พระธนิยะกุมภการบุตร และภิกษุหลายรูป อยู่จำพรรษาที่เชิงภูเขาอิสิคิลิ ทั้งหมดได้ทำกุฎีมุงด้วยหญ้าแล้วอยู่จำพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นรื้อกุฎีที่มุงบังด้วยใบหญ้า เก็บหญ้าและตัวไม้ไว้ แล้วหลีกไปสู่ชนบทอื่น ส่วนท่านพระธนิยะยังอยู่ ณ ที่นั้นเอง ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน

วันหนึ่ง พระธนิยะเข้าไปในบ้านเพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้พากันรื้อกุฎีที่มุงด้วยเศษหญ้า แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไป แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม กุฎีที่ท่านมุงก็ถูกรื้อและขนไปทั้งหมด

ท่านธนิยะคิดว่า หากมุงบังด้วยหญ้าและไม้อีก ก็จะถูกรื้อไปอีก เราได้ศึกษามาดีแล้ว เป็นผู้สำเร็จศิลปะในการเป็นช่างหม้อเสมอด้วยอาจารย์ของเรา เราจะขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนเอง

ท่านธนิยะจึงได้ลงมือทำกุฎีด้วยตนเอง แล้วรวบรวมหญ้า ไม้ และโคมัย มาเผากุฎี กุฎีนั้นงดงาม น่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง มีเสียงเหมือนเสียงกระดิ่ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจากภูเขาคิชกูฏ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีงดงามนั้น ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าเป็นอะไร...ทรงทราบแล้ว ทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้นไม่เหมาะสม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไฉนโมฆบุรุษนั้นจึงได้ขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนด้วยตนเองเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์ มิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้น พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง อย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์โดยอาศัยตัวอย่างจากพระธนิยะเลย อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ

ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัส แล้วพากันทำลายกุฎีนั้น พระธนิยะกลับมาถามภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านทำเพื่ออะไร ขอรับ” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า : “พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ทำลาย ขอรับ” พระธนิยะ : “ทำลายเถิด ขอรับ ถ้าพระพุทธเจ้ารับสั่งให้ทำลาย”

กาลต่อมา พระธนิยะดำริว่า เจ้าพนักงานรักษาไม้ที่ชอบพอกับเรามีอยู่ เราพึงไปขอไม้มาทำกุฎีไม้ ท่านจึงเข้าไปหาพูดว่า ขอท่านจงให้ไม้แก่อาตมาๆ ประสงค์จะทำกุฎีไม้

เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม้ที่จะถวายพระผู้เป็นเจ้าได้นั้นไม่มี ขอรับ มีแต่ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแซมพระนคร ถ้าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้พระราชทานไม้เหล่านั้น ขอท่านจงให้คนขนไปเถิด ขอรับ

พระธนิยะ : ขอเจริญพร ไม้เหล่านั้นพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว

เจ้าพนักงานรักษาไม้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเลื่อมใสในพระสมณะเหล่านั้นยิ่งนัก ท่านพระธนิยะย่อมไม่บังอาจกล่าวถึงสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้พระราชทาน ว่าพระราชทานแล้ว จึงเรียนท่านว่า นิมนต์ให้คนขนไปเถิด ท่านพระธนิยะสั่งให้ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไปทำกุฎีไม้แล้ว

ต่อมา วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ไปตรวจราชการ ได้เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้ ถามหาไม้ของหลวงที่สงวนไว้ซ่อมพระนครว่าอยู่ที่ไหน เมื่อทราบว่าพระธนิยะขนไปแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลถามว่า พระองค์พระราชทานไม้ซ่อมพระนครแก่พระธนิยะไปแล้วจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพิมพิสาร : ใครพูดอย่างนั้น?

วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า : เจ้าพนักงานรักษาไม้พูด พระพุทธเจ้าข้า

รับสั่งให้นำตัวคนรักษาไม้มา พระธนิยะได้เห็นเจ้าพนักงานไม้ถูกจองจำไป จึงเข้าไปถามและขอไปด้วย ครั้นถึงที่แล้ว พระเจ้าพิมพิสารเสด็จเข้าไปหาท่านพระธนิยะ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง

ตรัสถามว่า : โยมได้ถวายแก่พระคุณเจ้า จริงหรือ?
พระธนิยะ : จริงอย่างนั้น ขอถวายพระพร
พระเจ้าพิมพิสาร : ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกิจมาก มีกรณียะมาก แม้ถวายแล้วก็ระลึกไม่ได้ ขอพระคุณเจ้าโปรดเตือนให้โยมระลึกได้

พระธนิยะ : ขอถวายพระพร พระองค์ทรงระลึกได้ไหม ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใหม่ๆ ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่า หญ้า ไม้ และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด

พระเจ้าพิมพิสาร : ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมระลึกได้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้ละอาย มีความรังเกียจใคร่ต่อสิกขามีอยู่ ความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อยจะเกิดแก่สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น คำที่กล่าวนั้น โยมหมายถึงการนำหญ้า ไม้ และน้ำ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น แต่ว่าหญ้า ไม้ และน้ำนั้นแล อยู่ในป่า ไม่มีใครหวงแหน พระคุณเจ้าย่อมสำคัญเพื่อจะนำไม้ที่เขาไม่ได้ให้ไปด้วยเลศนั้น พระเจ้าแผ่นดินเช่นโยมจะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศ ซึงสมณะหรือพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด พระคุณเจ้ารอดตัวเพราะบรรพชาเพศแล้ว แต่อย่าได้ทำอย่างนั้นอีก

คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ พระสมณะเหล่านี้ยังปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังคนเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียน โพนทะนา จึงเพ่งโทษติเตียนพระธนิยะ แล้วกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสถามพระธนิยะว่า เธอได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปจริงหรือ?
พระธนิยะทูลรับว่า : จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนเป็นอันมาก...แล้วตรัสถามภิกษุผู้เคยเป็นผู้พิพากษาเก่าว่า ดูก่อนภิกษุ พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช จับโจรได้แล้ว ประหารชีวิตเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไรหนอ?

ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง เกินบาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า
แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ ๕ มาสก ในกรุงราชคฤห์ เป็นหนึ่งบาท
แล้วทรงมีพระบัญญัติ (ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นปาราชิก)

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ชวนกันไปลักห่อผ้าของช่างย้อมที่ลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วนำมาแบ่งปันกัน ภิกษุทั้งหลายพูดว่า พวกท่านเป็นผู้มีบุญมาก เพราะผ้าเกิดแก่พวกท่านมาก
พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า : บุญของพวกผมจักมีแต่ไหน พวกผมเพิ่งไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วได้ลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเดี๋ยวนี้
ภิกษุทั้งหลาย : พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไรพวกท่านจึงได้ลักห่อผ้ามา
ฉัพพัคคีย์ : จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น พระองค์ทรงบัญญัติเฉพาะในเขตบ้าน มิได้ทรงบัญญัติไปถึงในป่า
ภิกษุทั้งหลาย : ท่านทั้งหลาย พระบัญญัตินั้นย่อมเป็นไปได้เหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ?

แล้วพากันเพ่งโทษติเตียน...กราบทูล...ทรงติเตียนแล้วมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์เจ้าของมิได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ นัยเพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนั้นก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
- ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้
- บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่ มีจิตคิดขโมย คือ มีจิตคิดลัก
- บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย
- ที่ชื่อว่า บ้าน มีอธิบายว่า บ้านมีกระท่อมหลังเดียวก็ดี ๒ หลัง ๓ หลัง ๔ หลังก็ดี มีคนอยู่ก็ดี ไม่มีคนอยู่ก็ดี แม้ที่เขาล้อมไว้ก็ดี ที่เขาไม่ล้อมไว้ก็ดี แม้ที่เขาสร้างดุจเป็นที่โคจ่อมเป็นต้นก็ดี แม้หมู่เกวียนหรือต่างที่อาศัยอยู่เกิน ๑ เดือนก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บ้าน
- ที่ชื่อว่า อุปจารบ้าน ได้แก่ กำหนดเอาที่ซึ่งบุรุษขนาดกลางคนยืนอยู่ ณ เสาเขื่อนแห่งบ้านที่ล้อม โยนก้อนดินไปตก หรือกำหนดเอาที่ซึ่งบุรุษขนาดกลางคนยืนอยู่ ณ อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม โดยก้อนดินไปตก
- ที่ชื่อว่า ป่า อธิบายว่า สถานที่ที่เว้นบ้านและอุปจารบ้าน นอกนั้นชื่อว่า ป่า
- ที่ชื่อว่า พระราชาทั้งหลาย ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าผู้ปกครองประเทศ ท่านผู้ปกครองมณฑล นายอำเภอ ผู้พิพากษา มหาอำมาตย์ หรือท่านผู้สั่งประหารและจองจำได้ ท่านเหล่านี้ชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย
- ที่ชื่อว่า โจร อธิบายว่า ผู้ใดถือเอาสิ่งของอันเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ผู้นั้นชื่อว่าโจร
- บทว่า ประหารเสียบ้าง คือ ประหารด้วยมือหรือด้วยเท้า ด้วยแส้หรือด้วยหวาย ด้วยไม้ ค้อนสั้นหรือด้วยดาบ
- บทว่า จองจำไว้บ้าง คือ ผูกล่ามไว้ด้วยเครื่องมัดคือเชือก ด้วยเครื่องจองจำคือขื่อคา โซ่ตรวน หรือด้วยเขตจำกัด คือ เรือน จังหวัด หมู่บ้าน ตำบลบ้าน หรือให้บุรุษควบคุม
- บทว่า เนรเทศเสียบ้าง คือ ขับไล่ให้ไปเสียจากหมู่บ้าน ตำบลบ้าน จังหวัด มณฑล หรือประเทศ
- บทว่า ถือเอา คือ ตู่ วิ่งราว ฉ้อ ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย
- ที่ชื่อว่า เห็นปานนั้น คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี
- คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทียบเคียงภิกษุรูปก่อน (คือ พระสุทินน์ ในสิกขาบทที่ ๑)
- คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่าเป็นปาราชิก
- บทว่า หาสังวาสไม่ได้ ความว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส, สังวาสนี้ไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่าหาสังวาสไม่ได้ (คือ สงฆ์ไม่ให้ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ให้เรียนร่วมกัน ไม่ให้กินและไม่ให้นอนรวมกัน เป็นต้น)
- ที่ตั้งของทรัพย์นั้นมีอยู่มากประการ เช่น ทรัพย์อยู่ในแผ่นดิน; ทรัพย์ตั้งอยู่บนพื้น, ทรัพย์ลอยอยู่ในอากาศ (เช่นนก), ทรัพย์ตั้งอยู่ในน้ำ (เช่นดอกบัว), ทรัพย์อยู่ในเรือ, อยู่ในยาน, ทรัพย์ที่เขาฝากไว้ หรือทรัพย์ที่ด่านภาษี ได้แก่ สถานที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งไว้ที่ภูเขาขาดบ้าง ที่ท่าน้ำบ้าง ที่ประตูบ้านบ้าง ด้วยทรงกำหนดว่า จงเก็บภาษีแก่บุคคลผู้ผ่านเข้าไปในสถานที่นั้น

ภิกษุผ่านเข้าไปในด่านภาษีนั้น แล้วมีไถยจิตจับต้องทรัพย์ที่ควรเสียภาษี ซึ่งมีราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าที่ ๑ ล่วงด่านภาษีไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าที่ ๒ ล่วงด่านภาษีไปต้องอาบัติปาราชิก หรือที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่ตนนำไป ได้แก่ ภาระบนศีรษะ ภาระที่คอ ภาระที่หิ้วไป ภิกษุมีไถยจิตจับต้องภาระบนศีรษะต้องอาบัติทุกกฎ ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย ลดลงสู่คอต้องอาบัติปาราชิก


ภาระที่สะเอว ภาระที่หิ้วไป ภาระที่คอ ก็มีอธิบายเช่นเดียวกับภาระบนศีรษะ เป็นต้น


อาบัติ (สาหัตถิกะ – ลักด้วยมือตนเอง)
๑. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่ามากได้ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตปรากฏขึ้น (มีจิตคิดลัก) ๑ ลูบคลำต้องอาบัติทุกกฎ, ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก ๑

๒. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่ามิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่ามากได้ราคา ๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก ๑ ไถยจิตปรากฏขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องถุลลัจจัย ให้เคลื่อนจากฐานต้องปาราชิก ๑
 
๓. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคาเกินกว่า ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก (๒-๔ มาสก) ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องถุลลัจจัย ๑
      
๔. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่าของนั้นมิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคาเกินกว่า ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องถุลลัจจัย ๑
      
๕. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคา ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๖. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่ามิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคา ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๗. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าได้ ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๘. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าเกิน ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๙. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าได้ ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑


อาณัตติกประโยค (การสั่งให้คนอื่นทำ, การให้คนอื่นทำ)
๑๐. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจ ลักทรัพย์นั้นมา ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๑. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจ แต่ลักทรัพย์อย่างอื่นมา ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ (หากผู้รับสั่งเป็นภิกษุ ภิกษุผู้ลักนั้นเป็นปาราชิก)
      
๑๒. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจเป็นอย่างอื่น แต่ก็ลักทรัพย์นั้นมา ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๓. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ จงไปลักทรัพย์ชื่อนี้มา ดังนี้ต้องบอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับคำสั่งบอกแก่ภิกษุนอกนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักรับคำ ภิกษุผู้สั่งเดิมต้องอาบัติถุลลัจจัย, ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์นั้นมาได้ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๔. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้จงไปลักทรัพย์ชื่อสิ่งนี้มา ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับสั่งๆ ภิกษุอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักรับคำ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ, ภิกษุผู้สั่งต่อและภิกษุผู้ลัก ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๕. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับคำสั่งนั้นไปแล้ว กลับมาบอกว่า ผมไม่อาจลักทรัพย์นั้นได้ ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งใหม่ว่า ท่านสามารถเมื่อใดจงลักทรัพย์นั้นเมื่อนั้น ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
      
๑๖ ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ แต่ไม่พูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
      
๑๗. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ จึงพูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้ลักนั้นตอบว่า ท่านสั่งผมแล้ว แล้วลักทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลักต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๘. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ จึงพูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้รับคำสั่งรับคำว่า ดีล่ะ แล้วงดเสีย ไม่ต้องอาบัติทั้ง ๒ รูป


อนาบัติ
ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของของตน ๑ ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ ขอยืม ๑ ทรัพย์อันเปรตหวงแหน ๑ ดิรัจฉานหวงแหน ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง    
๑. ภิกษุรูปหนึ่ง ไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อม เห็นผ้าย้อมมีราคามาก เกิดไถยจิต เธอรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติเพราะเพียงแค่คิด
    
๒.  ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อม เห็นผ้ามีราคามาก มีไถยจิตจับต้องผ้านั้น เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
    
 ๓. ภิกษุรูปหนึ่ง เห็นทรัพย์ในเวลากลางวันแล้วทำนิมิตไว้ หมายใจว่า จักลักในเวลากลางคืน เธอเข้าใจทรัพย์นั้นแน่ แต่ได้ลักทรัพย์ของตนเองมาแล้ว เธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
    
๔. ภิกษุรูปหนึ่งถือทรัพย์ของผู้อื่นไป มีไถยจิตวางทรัพย์นั้นลงบนพื้นแล้ว ได้มีความรังเกียจแล้วจึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๕. ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้าแล้วถือเอาผ้าบังสุกุลที่ศพสด และในร่างศพสดนั้นมีเปรตสิงอยู่ เปรตนั้นได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้ถือเอาผ้าสาฎกของข้าพเจ้าไป ภิกษุนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ได้ถือเอาไป ทันใดนั้นศพลุกขึ้นเดินตามภิกษุไป ภิกษุนั้นเข้าไปสู่วิหาร ปิดประตู ร่างศพได้ล้มลง ณ ที่นั่น เธอรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันผ้าบังสุกุลที่ศพสด ภิกษุทั้งหลายไม่พึงถือเอา ภิกษุใดถือเอาต้องอาบัติทุกกฎ
    
๖. เมื่อภิกษุผู้ทำหน้าที่แจกจีวรของสงฆ์อยู่ ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตสับเปลี่ยนสลาก แล้วรับจีวรไป เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๗. ท่านพระอานนท์เข้าใจว่า ของๆ ภิกษุรูปหนึ่งในเรือนไฟเป็นของตน จึงนุ่งแล้ว ภิกษุรูปนั้นตามหาจีวร พระอานนท์ตอบว่า ผมเข้าใจว่าของผม ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ตรัสว่า ภิกษุผู้มีความเข้าใจว่าเป็นของตน ไม่ต้องอาบัติ
    
๘. ภิกษุสองรูปเป็นเพื่อนกัน รูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน รูปที่สองได้รับเอาของเคี้ยวที่สงฆ์มองแก่เพื่อนแล้วถือวิสาสะฉันเสีย ครั้นภิกษุรูปที่หนึ่งทราบ ได้โจทว่า ท่านไม่เป็นสมณะ รูปที่สองคิดว่าเราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร, ภิกษุรูปที่สอง : ข้าพระพุทธเจ้าถือวิสาสะพระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติเพราะถือวิสาสะ
    
๙. พวกขโมยลักมะม่วง ทิ้งห่อมะม่วงที่พวกเจ้าของติดตาม ภิกษุทั้งหลายสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงพากันเก็บมะม่วงห่อนั้นไปฉัน พวกเจ้าของโจทว่า พวกท่านไม่เป็นสมณะ พวกเธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า พวกเธอคิดอย่างไร? ภิกษุทั้งหลาย : พวกข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าเป็นของบังสุกุล, ตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
    
๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักมะม่วงของสงฆ์ แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๑. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักมะพลับของสงฆ์ แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๒. ภิกษุรูปหนึ่งมีความสงสาร ได้ปล่อยหมูที่ติดบ่วง แล้วมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะช่วยเหลือพระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า ภิกษุผู้มีความประสงค์จะช่วยเหลือไม่ต้องอาบัติ
    
๑๓. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตได้ปล่อยหมูที่ติดบ่วงไปเสียก่อน ด้วยคิดว่า “พวกเจ้าของบ่วงจะเห็น” แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีไถยจิต พระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๔. ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ดงหญ้า มีไถยจิตลักเกี่ยวหญ้า ได้ราคา ๕ มาสก เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตเผาหญ้ามุงกระต่ายของสงฆ์ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? กราบทูลว่า คิดลัก พระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ


อธิบายเพิ่มเติมจาก สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๒/๗๗-๒๕๓
๑. เมืองชื่อว่า ราชคฤห์ ก็เพราะเป็นเมืองที่พระราชาทั้งหลาย มีพระเจ้ามันธาตุและพระเจ้ามหาโควินทะ เป็นต้น ทรงปกครอง เมืองนี้เป็นเมืองในครั้งพุทธกาล (กาลที่มีพระพุทธเจ้า) และจักรพรรดิกาลที่มีพระเจ้าจักรพรรดิ กาลที่ไม่มีพระพุทธเจ้าหรือพระเจ้าจักรพรรดิ กาลนั้นเมืองนี้จะเป็นเมืองร้าง เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์
    
๒. ตามพระวินัย ภิกษุ ๓ รูปเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก, เกินกว่า ๓ รูปเรียกว่า สงฆ์, หากตามพระสูตร ภิกษุ ๓ รูป เรียกว่าภิกษุ ๓ รูป ตั้งแต่ ๓ รูปขึ้นไปจึงเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก ภิกษุเป็นอันมากในสิกขาบทนี้ พึงทราบว่ามากตามนัยพระสูตร (คือ มากกว่า ๓ รูป)
    
๓. ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ก็เพราะว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ เที่ยวไปบิณฑบาต ในชนบททั้งหลาย มีกาสีและโกสลเป็นต้น เวลาหลังภัตท่านประชุมกันที่ภูเขานั้น ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยการเข้าสมาบัติ มนุษย์ทั้งหลายเห็นพวกท่านเข้าไป แต่ไม่เห็นออกมา จึงพูดกันว่า ภูเขานี้กลืนพระฤษี เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ภูเขากลืนฤษี (อิสิคิลิ)
    
๔. เมื่อมีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีเสนาสนะไม่พึงอยู่จำพรรษา ภิกษุใดอยู่จำ ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ” เหตุนั้นในฤดูฝน ถ้าได้เสนาสนะก็เป็นดี ถ้าไม่ได้ภิกษุควรทำเอาเอง ผู้ไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าจำพรรษาเลย ข้อนี้เป็นธรรมอันสมควร เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นและพระธนิยะ จึงทำกุฎีหญ้าเพื่อพักกลางคืนและกลางวัน อยู่จำพรรษา
    
๕. ที่ชื่อว่า พระธนิยะกุมภการบุตร ก็เพราะเป็นบุตรช่างหม้อ ชื่อของท่านคือ ธนิยะ มีบิดาเป็นช่างปั้นหม้อ
    
๖. ภิกษุผู้ทำกุฎีออกพรรษาแล้ว หากกุฎีนั้นอยู่ที่สุดแดนวิหาร ถ้ามีภิกษุเจ้าถิ่นอยู่ก็ควรบอกลาเจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงกล่าวว่า ถ้าภิกษุรูปใดสามารถจะดูแลกุฎีนี้ได้ เราขอมอบให้ ดังนี้ แล้วหลีกไป หากกุฎีอยู่ในป่า ไม่ได้รับการดูแลรักษา ภิกษุเจ้าของกุฎีควรเก็บงำเสีย โดยรวบรวมหญ้าและไม้เก็บไว้โดยที่ปลวกเป็นต้น จะกัดไม่ได้ ทั้งฝนก็รั่วรดไม่ได้ เก็บกวาดให้เรียบร้อย คิดว่าหญ้าและไม้นั้นจักเป็นอุปการะแก่เพื่อพรหมจรรย์ผู้มาถึงสถานที่นี้ แล้วประสงค์จะอยู่
    
๗. ท่านพระธนิยะทำเครื่องเรือนให้สำเร็จด้วยดินล้วน (ยกเว้นเพียงกรอบหน้าต่าง ประตู และบานหน้าต่าง) ใช้มือขัดถูดินทำให้แห้ง แล้วเอาดินแดงผสมด้วยน้ำมันโบกทาให้เกลี้ยงเกลา แล้วเอาหญ้าสุมล้อม จุดไฟเผา เพื่อให้ดินสุกเปล่งปลั่งด้วยดี มีสีแดงสวยงาม มีเสียงไพเราะ เพราะลมพัดเข้าไปกระทบผ่านทางช่องประตูหน้าต่าง เมื่อพระพุทธเจ้ารับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะยอมรับด้วยดี เพราะท่านเป็นผู้ว่าง่าย
    
๘. วัสสการพราหมณ์ แม้โดยปกติก็เป็นผู้ไม่ชอบใจในเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้อยู่แล้ว พอได้ฟังพระราชดำรัสว่า “จงให้คนเอาตัวมา” มิใช่ “จึงให้เรียกมันมา” จึงทำการจองจำเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้ที่มือและเท้าทั้งสอง คิดว่าจักให้ลงโทษ
          
ท่านพระธนิยะคอยติดตามข่าวของเจ้าพนักงานอยู่เป็นนิตย์ คิดว่า เจ้าพนักงานนี้จักถูกฆ่าหรือจองจำ เพราะเหตุแห่งไม้ที่เราทำเลศได้มาแน่นอน เมื่อทราบว่าถูกจับ จึงคิดขึ้นได้ว่าเราคนเดียวเท่านั้นจักปลดเปลื้องเจ้าพนักงานนั้นได้
          
- ได้ยินว่าพระราชาทั้งหลายพอเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ก็รับสั่งให้เที่ยวตีกลองธรรมเภรีประกาศว่า หญ้า ไม้ และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วแล ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด
          
- พระราชาพิมพิสารตรัสมีใจความว่า โยมได้กล่าวคำอย่างนั้น หมายถึง การนำหญ้า ไม้ และน้ำ ไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ผู้มีความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อย ซึ่งเป็นผู้สงบและลอยบาปแล้ว หาได้หมายถึงการนำไปของบุคคลเช่นพระคุณเจ้าไม่ ที่โยมกล่าวอันนั้น โยมกล่าวหมายเอาหญ้า ไม้ และน้ำ อันใครๆ มิได้หวงแหน ซึ่งมีอยู่ในป่าต่างหาก
    
๙. เมื่อพระราชารับสั่งอยู่ในบริษัท มนุษย์ทั้งหลายก็อยู่ ณ ที่นั้น ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ทั้งต่อพระพักตร์และหลังพระพักตร์แล้ว ย่อมเพ่งโทษ คือ ดูหมิ่น เพ่งจ้องพระธนิยะ แล้วคิดไปในทางลามก ย่อมพูดประจานโทษให้กว้างขวางออกไป
    
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อคิดถึงเรื่องราวเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีความละอาย ดังนี้ชื่อว่า ย่อมเพ่งโทษ, เมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มีคุณเครื่องเป็นสมณะ ดังนี้ชื่อว่า ย่อมติเตียน, เมื่อกระจายข่าวกว้างขวางออกไปในสถานที่นั้นๆ เป็นต้นว่า พระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมโพนทะนาข่าว
    
๑๐. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบแม้ซึ่งพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้ในปางก่อน ย่อมทรงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เหล่านี้ ถุลลัจจัยด้วยทรัพย์เหล่านี้ ทุกกฎด้วยทรัพย์เหล่านี้ แม้จะทรงรู้เช่นนั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติแห่งโลกเหล่าอื่นแล้ว พึงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง ก็จะพึงมีผู้กล่าวตำหนิพระองค์เพราะเหตุนั้นว่า “ชื่อว่า ศีลสังวร แม้ของภิกษุรูปหนึ่ง (พระพุทธเจ้า) ก็ประมาณไม่ได้ นับไม่ได้ กว้างขวางดุจมหาปฐพี สมุทร และอากาศ พระองค์มาทำศีลสังวรของภิกษุให้พินาศด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง”
    
แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้กำลังพระญาณของพระตถาคต จะพึงทำสิกขาบทให้กำเริบ สิกขาบทแม้ที่ทรงบัญญัติไว้แล้วก็จะไม่ตั้งอยู่ในที่อันควร แต่เมื่อทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติของโลกแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท การตำหนิติเตียนย่อมไม่มี ย่อมมีแต่ผู้กล่าวอย่างนี้โดยแท้ว่า “แม้คนครองเรือนเหล่านี้ ก็ยังฆ่าโจรเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะแม้ทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง เหตุไฉนเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงยังบรรพชิตให้ฉิบหายเสีย เพราะบรรพชิตไม่ควรลักทรัพย์ของผู้อื่น แม้เพียงหญ้าเส้นหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็จักรู้กำลังพระญาณของพระตถาคต และสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ก็จักไม่กำเริบ จักตั้งอยู่ในที่อันควร” เพราะฉะนั้น ทรงมีพระประสงค์จะเทียบเคียงกับคนผู้รู้บัญญัติของโลกแล้ว จึงทรงบัญญัติ
    
- ครั้งนั้นในกรุงราชคฤห์ ๒๐ มาสก เป็น หนึ่งกหาปณะ เพราะฉะนั้น ห้ามาสกจึงเป็นหนึ่งบาท ด้วยลักษณะนั้น ส่วนที่สี่ของของกหาปณะพึงทราบว่าเป็นบาทหนึ่ง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 กรกฎาคม 2557 14:12:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2557 19:30:20 »

.
๑๑. พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จักทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ ๒ ด้วยคาถาบาทเดียว ปาราชิกมี ๔ ข้อเหมือนกัน แต่ละข้อก็มีเนื้อความเหมือนกัน

๑๒. “สิ่งที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่” ในทันตโปณสิกขาบท (ดูปาจิตตีย์) แสดงว่า แม้สิ่งของของตนที่ยังไม่รับประเคน ซึ่งเป็นกัปปิยะ แต่เป็นของที่ไม่ควรกลืนกิน เรียกว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ (เพราะยังไม่ได้ประเคน) แต่ในสิกขาบทนี้ สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้อื่นหวงแหน ซึ่งมีเจ้าของ เรียกว่า สิ่งของนั้นเจ้าของไม่ได้ให้
    
สิ่งของนั้นเจ้าของยังไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้ ชื่อว่า เขายังไม่ได้ละวาง เจ้าของที่ยังไม่ได้สละพ้นจากมือของตน หรือจากที่ๆ ตั้งอยู่เดิม เจ้าของยังไม่หมดความเสียดาย เจ้าของยังรักษาคุ้มครอง อันเขายังถือว่าเป็นของเรา โดยถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหาว่าทรัพย์นั้นของเรา เหล่านั้นชื่อว่าทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้

๑๓. “กิริยาแห่งการลัก” (เพิ่มเติม)
     - ภิกษุตู่เอาที่สวน ต้องทุกกฎ เมื่อยังละความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ต้องถุลลัจจัย, เมื่อเจ้าของทอดธุระว่าสวนนี้จักไม่เป็นของเราละ ต้องอาบัติปาราชิก
     - ภิกษุรับของที่เขาฝากไว้ เมื่อเจ้าของทวงคืนว่า ทรัพย์ที่ข้าพเจ้าฝากไว้มีอยู่ ท่านจงคืนทรัพย์ให้แก่ข้าพเจ้า ภิกษุกล่าวปฏิเสธว่าฉันไม่ได้รับไว้
        ต้องทุกกฎ, ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของต้องถุลลัจจัย, เมื่อเจ้าของทอดธุระว่าภิกษุรูปนี้จักไม่คืนให้แก่เรา ต้องอาบัติปาราชิก
     - ภิกษุคิดว่า เราจักนำไปทั้งของ ทั้งคนขนของ ให้ย่างเท้าที่หนึ่งก้าวไปต้องถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่สองไป ต้องอาบัติปาราชิก

๑๔. อรรถกถาแสดง อวหาร ๒๕ (อาการลัก ๒๕ อาการ) โดยแยกแสดงเป็น ๕ หมวด ดังนี้
     (๑) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะต่างกันเป็นข้อต้น เช่น ตู่เอง เป็นต้น
     (๒) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะชนิดเดียวกันเป็นข้อต้น เช่น ตู่เอา เป็นต้น
     (๓) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยอวหารที่เกิดแล้วด้วยมือของตนเป็นข้อต้น เช่น ลักด้วยมือของตนเอง เป็นต้น
     (๔) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยบุพประโยคเป็นข้อต้น เช่น การชักชวนไปลัก เป็นต้น
     (๕) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยการลักด้วยอาการขโมยเป็นข้อต้น
          เช่น ลักด้วยความเป็นขโมย เป็นต้น

๑๕. พระวินัยธรต้องฉลาดในอวหาร ๒๕ นี้ ไม่พึงด่วนวินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว พึงตรวจดูฐานะ ๕ ประการ ที่พระโบราณจารย์มุ่งหมายกล่าวไว้ คือ วัตถุ กาละ เทสะ ราคา และการใช้สอยเป็นที่ ๕ แล้วพึงทรงอรรถคดีไว้
    
- “วัตถุ” ได้แก่ ภัณฑะ (สิ่งของ) เมื่อภิกษุผู้ลัก แม้รับเป็นคำสัตย์ว่า ภัณฑะชื่อนี้ผมลักไปจริง พระวินัยธรอย่าพึงยกอาบัติปรับทันที พึงพิจารณาว่า ภัณฑะนั้นมีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ แม้ภัณฑะที่มีเจ้าของก็พึงพิจารณาว่า เจ้าของยังคงมีอาลัยอยู่ หรือไม่มีอาลัยแล้ว ถ้าภิกษุลักในเวลาที่เจ้าของยังมีอาลัย พระวินัยธรพึงตีราคาปรับอาบัติ ถ้าลักในเวลาที่เจ้าของหาอาลัยไม่ได้ ไม่พึงปรับอาบัติปาราชิก แต่เมื่อเจ้าของภัณฑะให้นำภัณฑะมาคืน พึงให้ภัณฑะคืน อันนี้เป็นความชอบในเรื่องนี้
    
- “กาล” คือ กาลที่ลัก ด้วยว่าภัณฑะนั้นๆ บางคราวมีราคาพอสมควร บางคราวมีราคาแพง เพราะฉะนั้น ภัณฑะนั้นพระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในกาลที่ภิกษุลัก พึงสอดส่องถึงกาลอย่างนี้
    
- “ประเทศ” (หรือเทสะ หรือสถานที่) คือ ประเทศที่ลัก ภิกษุลักในประเทศใด พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในประเทศนั้น ด้วยว่าในประเทศที่เกิดของภัณฑะย่อมมีราคาพอสมควร ในประเทศอื่นย่อมมีราคาแพง
    
- “ราคา” คือ ราคาของ ด้วยว่า ภัณฑะใหม่ย่อมมีราคา ภายหลังราคาย่อมลดลงได้เหมือนบาตรที่ระบมใหม่ ย่อมมีราคาถึง ๘ หรือ ๑๐ กหาปณะ ภายหลังบาตรนั้นมีช่องทะลุ หรือถูกหมุดและปมทำลาย ย่อมมีราคาน้อย พระวินัยธรไม่พึงตีราคาของด้วยราคาตามปกติเสมอไป
   

- “การใช้สอย” คือ การใช้สอยภัณฑะ ด้วยว่า ราคาของภัณฑะมีมีดเป็นต้น ย่อมละราคาลงเพราะการใช้สอย เพราะฉะนั้น พระวินัยธรควรพิจารณาอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุบางรูปลักมีดของใครๆ มา ซึ่งมีราคาได้บาทหนึ่ง พระวินัยธรพึงถามเจ้าของมีดว่า ท่านซื้อมาด้วยราคาเท่าไร? เจ้าของมีดเรียนว่า บาทหนึ่ง ขอรับ พระวินัยธรถามต่อว่า ท่านซื้อมาแล้วเก็บไว้ หรือใช้ไปบ้างแล้ว ถ้าเจ้าของมีดเรียนว่า ผมใช้ตัดไม้สีฟันบ้าง สะเก็ดน้ำย้อมบ้าง ตัดฟืนระบมบาตรบ้าง ดังนี้ พระวินัยธรพึงทราบว่าเป็นของเก่า มีราคาตกไป ฉันใด ยาหยอดตาก็ดี ไม้ป้ายยาหยอดตาก็ดี กุญแจก็ดี ย่อมมีราคาตกไป ฉันนั้น
    
แม้เพียง ถูขัด ทำให้สะอาดด้วยใบไม้ แกลบ หรือด้วยผงอิฐเพียงครั้งเดียว ก้อนดีบุกย่อมมีราคาตกไป เพราะการตัดฟันมังกรบ้าง เพราะเพียงขัดถูบ้าง, ผ้าอาบน้ำย่อมมีราคาตกไป เพราะการนุ่งห่มเพียงครั้งเดียวบ้าง เพราะเพียงพาดไว้บนจะงอยบ่า หรือบนศีรษะ โดยมุ่งถึงการใช้สอยบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีข้าวสารเป็นต้น ย่อมมีราคาตกไป เพราะการฝัดบ้าง เพราะการคัดออกทีละเม็ดหรือสองเม็ดจากข้าวสารเป็นต้นนั้นบ้าง โดยที่สุดเพราะการเก็บก้อนหินและก้อนกรวดทิ้งทีละก้อนบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น ย่อมมีราคาตกไป เพราะการเปลี่ยนภาชนะอื่นบ้าง โดยที่สุด เพราะเพียงเก็บแมลงวันหรือมดแดงออกทิ้งจากเนยใสเป็นต้นบ้าง งบน้ำอ้อยย่อมมีราคาตกไป แม้เพราะเพียงเอาเล็บเจาะดูเพื่อรู้ความมีรสหวาน เพราะฉะนั้นสิ่งของชนิดใดชนิดหนึ่งมีราคาถึงบาท ซึ่งเจ้าของทำให้มีราคาหย่อนไปเพราะการใช้สอยโดยนัยดังกล่าวมา พระวินัยธรไม่ควรปรับภิกษุผู้ลักภัณฑะนั้นถึงปาราชิก พึงสอดส่องการใช้สอยอย่างนี้
    
พระวินัยธรผู้ฉลาด พึงสอบสวนฐานะ ๕ เหล่านี้อย่างนี้ แล้วพึงทรงไว้ซึ่งอรรถคดี คือ พึงตั้งไว้ซึ่งอาบัติ ครุกาบัติ หรือลหุกาบัติ ในสถานที่ควรแล

๑๖. “อธิบายอาบัติที่เป็นเบื้องต้นแห่งปาราชิก” (คือ ทุกกฎ กับ ถุลลัจจัย)
    
ภิกษุนั้นเมื่อลุกขึ้น เพื่อต้องการจะลักทรัพย์ ให้อวัยวะน้อยใหญ่ใดๆ เคลื่อนไหว ย่อมต้องทุกกฏในเพราะอวัยวะเคลื่อนไหวทุกครั้งไป จัดผ้านุ่งและผ้าห่มก็ต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว เธอรูปเดียวไม่อาจนำทรัพย์ที่ฝังไว้ซึ่งมีจำนวนมากออกไปได้ จึงคิดว่าเราจักแสวงหาเพื่อน ดังนี้แล้วเดินไปยังสำนักของสหายบางรูป เปิดประตูก็ต้องทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว และทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว แต่ไม่เป็นอาบัติเพราะปิดประตู เพราะเป็นกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่อุดหนุนแก่การไปเอาทรัพย์
    
เธอเดินไปยังที่ภิกษุสหายนั้น แล้วเรียกแจ้งความประสงค์ให้ทราบ จึงกล่าวชักชวนว่าท่านไปกันเถิด ย่อมต้องอาบัติทุกๆ คำพูด ภิกษุรูปนั้นลุกขึ้นตามคำชักชวนของเธอ แม้เธอรูปนั้นก็เป็นทุกกฎ ครั้นเธอลุกขึ้นแล้ว ประสงค์จะเดินไปยังสำนักของภิกษุรูป (ต้นคิด) นั้น จัดผ้านุ่งและผ้าห่ม ปิดประตูแล้วเดินไปใกล้ภิกษุผู้ต้นคิด ก็ต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่ขยับมือและย่างเท้าไป
    
เธอรูปนั้นถามภิกษุผู้ต้นคิดว่า ภิกษุชื่อโน้นและโน้นอยู่ที่ไหน? ท่านจงเรียกภิกษุชื่อโน้นและโน้นมาเถิด ดังนี้ต้องทุกกฏทุกๆ คำพูด ครั้นเห็นทุกๆ รูปมาพร้อมกันแล้ว ก็กล่าวชักชวนว่าผมพบขุมทรัพย์ เห็นปานนี้ อยู่ในสถานที่ชื่อโน้น พวกเราจงมา ไปเอาทรัพย์นั้น แล้วจักบำเพ็ญบุญและจักเป็นอยู่อย่างสบาย ดังนี้ก็ต้องทุกกฎทุกๆ คำพูดทีเดียว
    
เธอได้สหายแล้ว จึงแสวงหาจอบ ขณะเดินไปถือเอาและนำมาย่อมต้องทุกกฎ ถ้าจอบไม่มี ก็ไปขอภิกษุ หรือคฤหัสถ์คนอื่น และเมื่อขอก็พูดขอว่า จงให้จอบแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการจอบ ข้าพเจ้ามีกิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้วจักนำมาคืน ดังนี้ต้องทุกกฎทุกๆ คำพูด ถ้าลำรางที่ต้องชำระให้สะอาดมีอยู่ เธอกลับพูดเท็จว่า งานดินในวัดที่จะต้องทำมีอยู่ คำพูดใดๆ ที่เป็นคำเท็จ ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์
    
ถ้าจอบไม่มีด้าม ภิกษุพูดว่า จักทำด้าม แล้วลับมีดหรือขวานออกเดินไปเพื่อต้องการไม้ด้ามจอบ ครั้นไปแล้วก็ตัดไม้แห้ง ถาก ตอก ย่อมต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่ขยับมือและเท้าออกไป หากเธอตัดไม้ที่สดต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถัดจากตัดไม้สดไปเป็นทุกกฎ
    
เมื่อได้จอบแล้วเดินไปยังขุมทรัพย์ย่อมทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว ก็ถ้าว่า เมื่อเธอเดินไปเกิดกุศลจิตขึ้นว่า เราได้ขุมทรัพย์แล้ว จักทำพุทธบูชา ธรรมบูชา หรือสังฆภัต ดังนี้ไม่เป็นอาบัติ เพราะเป็นการเดินไปด้วยกุศลจิต ถามว่าเพราะเหตุไรจึงไม่เป็นอาบัติ ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุมีไถยจิต เที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ตาม แสวงหาจอบหรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ ดังนี้จึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่มีไถยจิตในที่ทั้งปวง
    
เธอช่วยกันขุดจนพบหม้อทรัพย์ เธอจับต้องหม้อนั้นต้องทุกกฎ ทำให้หม้อทรัพย์นั้นไหว ต้องถุลลัจจัย ทุกกฎเพราะการจับเป็นอันระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในอาบัติถุลลัจจัย เธอช่วยกันยกขึ้น ต้องปาราชิกทุกรูป ถุลลัจจัยเป็นอันระงับไป ดังนี้ (หม้อทรัพย์เคลื่อนจากฐานเดิมแล้ว หรือหยิบทรัพย์ออกจากหม้อนั้น ต้องอาบัติปาราชิก)

๑๗. “อาบัติทุกกฎมี ๘ อย่าง” คือ
    
(๑) ทุกกฎที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า ภิกษุมีไถยจิตเที่ยวแสวงหาเพื่อน จอบ หรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อบุพปโยคทุกกฎ (ทุกกฎในเบื้องต้น)
    
(๒) ทุกกฎที่ตรัสว่า ภิกษุตัดไม้เถาวัลย์ที่เกิดอยู่บนพื้นดินนั้นต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อสหปโยคทุกกฎ (ต้องอาบัติทุกกฎเพราะมีความพยายาม)
    
(๓) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องรัตนะ ๑๐ อย่าง (แก้วมุกดาและแก้วมณี เป็นต้น) ข้าวเปลือก ๗ อย่าง (ข้าวสาลี, ข้าวเปลือก, ข้าวเหนียว, ข้าวฟ่าง, หญ้ากับแก้, ลูกเดือย, ข้าวละมาน) และเครื่องศัสตราวุธ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อ อนามาสทุกกฎ
    
(๔) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องบรรดาผลไม้ทั้งหลาย มีกล้วยและมะพร้าว เป็นต้น นี้ชื่อ ทุรุปจิณณทุกกฎ
    
(๕) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ไม่รับประเคนหรือไม่ล้างบาตร ในเมื่อมีผงธุลีตกลงไปในบาตร ก็รับภิกษาในบาตร (ไม่ประเคนใหม่) นี้ชื่อว่า วินัยทุกกฎ
    
(๖) ทุกกฎที่ว่า พวกภิกษุได้ฟัง (เรื่องตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์) แล้วไม่พูดห้ามปราม ต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อ ญาตทุกกฎ (ทุกกฎเพราะรู้)
    
(๗) ทุกกฎที่ตรัสไว้ว่า เป็นทุกกฎเพราะญัตติในบรรดาสมนุภาสน์ ๑๑ อย่าง (มีในสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ เป็นต้น) นี้ชื่อ ญัตติทุกกฎ (ต้องทุกกฎเมื่อจบญัตติ)

(๘) ทุกกฎที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันจำพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และเธอย่อมต้องอาบัติเพราะรับคำนี้ชื่อ ปฏิสสวทุกกฎ (ทุกกฎเพราะทำตามที่ตั้งใจ หรือทำตามคำพูดไม่ได้ เช่น อธิษฐานเข้าพรรษา ณ อาวาสนี้แล้ว แต่ไม่อาจอยู่ได้ ด้วยมีอันตราย ก็ย้ายไปจำพรรษาที่อื่นแทน)
    
- ทำความชั่ว คือ ทำให้ผิดจากกิจที่พระศาสดาตรัส เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ทุกกฎ หรือที่ชื่อว่าทุกกฎ เพราะเป็นการทำชั่ว มีกิริยาผิดรูป ย่อมไม่งามในท่ามกลางกิริยาของภิกษุ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
    
“ก็โทษใดที่เรากล่าวว่าทุกกฎ (การทำชั่ว, การทำไม่ดี) ท่านจงฟังโทษนั้นตามที่กล่าว กรรมใดเป็นความผิดด้วย เป็นความเสียด้วย เป็นความพลาดด้วย เป็นความชั่วด้วย และมนุษย์ทั้งหลายพึงทำกรรมลามกใด ในที่แจ้งหรือว่าในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมประกาศโทษนั้นว่าทุกกฎ เพราะเหตุนั้นโทษนั้นเราจึงกล่าวอย่างนั้น”

๑๘. ชื่อว่า ถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบและความเป็นโทษ ก็ความประกอบกับในคำว่า ถุลลัจจัยนี้ ผู้ศึกษาควรทราบเหมือนในคำว่า ทุคติในสัมปรายภพ และกรรมนั้นเป็นของมีผลเผ็ดร้อน เป็นต้น จริงอยู่ บรรดาโทษที่จะพึงแสดงในสำนักของภิกษุรูปเดียว (บุคคล) โทษที่หยาบเสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นย่อมไม่มี (ถุลลัจจัยเป็นอาบัติต่อจากปาราชิกและสังฆาทิเสส, สังฆาทิเสสต้องออกโดยสงฆ์ ส่วนถุลลัจจัยสามารถออกจากอาบัติได้ในสำนักภิกษุแม้รูปเดียว) เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบ และเพราะความเป็นโทษ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
    
“โทษใดที่เรากล่าวว่าถุลลัจจัย ท่านจงฟังโทษนั้นตามที่กล่าว ภิกษุใดยอมแสดงโทษนั้นในสำนักของภิกษุรูปเดียว และภิกษุใดยอมรับโทษนั้น โทษที่เสมอด้วยโทษนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น โทษนั้นเราจึงกล่าวอย่างนั้น”

๑๙. ภิกษุทำลายเสีย ทำให้หกล้น เผาเสีย ทำให้บริโภคไม่ได้ก็ดี ซึ่งเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ที่ควรแก่ ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ในที่นั้นเองโดยไม่ทำให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติทุกกฎ
    
- ทำลาย เช่น ทุบด้วยไม้ค้อน, เท คือ เทน้ำหรือทรายลงในน้ำมันจนล้นขึ้น, นำฟืนมาแล้วเผา, ทำให้บริโภคไม่ได้ เช่น ใส่อุจจาระ ปัสสาวะ หรือยาพิษลงไป ที่ต้องอาบัติทุกกฎเพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน เมื่อเจ้าของให้นำมาให้ย่อมเป็นภัณฑไทย (ต้องชดใช้คืนแก่เจ้าของ)
    
- ได้ยินว่า ในอรรถกถา กล่าวว่า เป็นทุกกฎ เพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน, ภิกษุไม่ทำให้เคลื่อนจากฐานเลย เผาเสียด้วยไฟบ้าง หรือทำให้บริโภคไม่ได้บ้างด้วยไถยจิต และด้วยต้องการให้เสียหาย ย่อมทุกกฎ
     ส่วนการทำลายและการเท ย่อมมีการเคลื่อนจากฐานได้ หากต้องการให้เสียหาย ทำลายเสียหรือเทเสีย เป็นภัณฑไทย เพราะใคร่จะให้เสียหาย, หากมีไถยจิตกระทำให้เคลื่อนด้วยการทำลายหรือเทย่อมเป็นปาราชิก (ดูตัวอย่าง ภิกษุเผาหญ้าประกอบ ที่นั่นท่านปรับทุกกฎ เพราะไม่มีการเคลื่อนจากฐาน)

๒๐. “อาการที่ต้องอาบัติปาราชิก” มี ๒ อย่าง คือ
    
(๑) อาการ ๕ คือ ทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ความที่บริขารเป็นครุภัณฑ์ (๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก) ๑ มีไถยจิต ๑ มีการทำเคลื่อนจากฐาน ๑
    
(๒) อาการ ๖ คือ มิได้มีความสำคัญว่าเป็นของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิใช่ขอยืม ๑ ความเป็นบริขารครุภัณฑ์ (๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก) ๑ มีไถยจิต ๑ มีการทำให้เคลื่อนจากฐาน ๑
๒๑ “อนาบัติ”
    
- ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของตน คือ มีความสำคัญว่า “ภัณฑะนี้เป็นของเรา” ภิกษุถือเอาแล้วซึ่งภัณฑะของผู้อื่นนั้นไม่เป็นอาบัติ แต่ควรให้ทรัพย์ที่ตนถือเอามานั้นคืนแก่เจ้าของในเมื่อเจ้าของทวง หากเธอไม่ยอมคืนให้ย่อมเป็นปาราชิก ในเมื่อเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นทอดธุระ (คิดว่าไม่เอาก็ได้ เป็นต้น)
    
- ไม่เป็นอาบัติเพราะถือด้วยวิสาสะ แต่ควรรู้ลักษณะแห่งการถือเอาด้วยวิสาสะ ดังที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ เคยเห็นกันมา ๑ เคยคบกันมา ๑ เคยบอกอนุญาตไว้ ๑ ยังมีชีวิตอยู่ ๑ รู้ว่าเราถือเอาแล้ว เขาจักพอใจ ๑
    
เคยเห็นกันมา คือ เป็นเพียงเพื่อนเคยเห็นกัน, เคยคบกันมา คือ เป็นเพื่อนสนิท, เพื่อนสั่งไว้ว่าท่านต้องการสิ่งใดซึ่งเป็นของผม ท่านพึงถือเอาสิ่งนั้นเถิด ท่านไม่ต้องขออนุญาต, เพื่อนยังมีชีวิตอยู่, เมื่อเราถือเอาแล้วเขาจะพอใจจึงถือเอา ย่อมสมควร
    
การถือเอาด้วยวิสาสะ สรุปลงได้ ๓ องค์ ดังนี้ ๑. เคยเห็นกันมา ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ  ๒. เคยคบกันมา ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ  ๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ
    
ส่วนเพื่อนคนใดยังมีชีวิตแต่เมื่อถือเอาแล้วเขาไม่พอใจสิ่งของๆ เพื่อนคนนั้น แม้ภิกษุถือเอาแล้วด้วยวิสาสะ ก็ควรคืนให้แก่เจ้าของเดิม คือเพื่อนคนนั้น
    
ส่วนภิกษุใดพลอยยินดีตั้งแต่แรกทีเดียว ด้วยการเปล่งวาจาแก่เพื่อนว่า ท่านเมื่อถือเอาของๆ ผม ชื่อว่า ทำชอบแล้ว แต่ภายหลังโกรธด้วยเหตุบางอย่าง ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะให้นำมาคืน, ภิกษุรูปใดไม่ประสงค์จะให้ (เพื่อนเอาไป) แต่อนุญาตด้วยจิต ไม่พูดอะไรๆ เธอรูปนี้ก็ย่อมไม่ได้เพื่อให้นำมาคืน
    
ส่วนภิกษุรูปใด เมื่อเพื่อนภิกษุพูดว่า สิ่งของๆ ท่านผมถือเอาแล้ว หรือผมใช้สอยแล้ว จึงพูดว่า สิ่งของนั้นท่านจะถือเอาหรือใช้สอยแล้วก็ตาม แต่ว่าสิ่งของนั้นผมเก็บไว้ด้วยกรณีบางอย่างจริงๆ ท่านควรทำสิ่งของนั้นให้เป็นปกติเดิม ดังนี้ ภิกษุนี้ย่อมได้เพื่อให้นำมาคืน
    
- สำหรับภิกษุผู้ถือเอาด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้คืน จักทำคืน ไม่เป็นอาบัติ เพราะการถือเอาเป็นของยืม แต่สิ่งของที่ภิกษุถือเอาแล้ว ถ้าบุคคลหรือคณะผู้เป็นเจ้าของๆ สิ่งนั้น อนุญาตให้ว่าของสิ่งนั้นจงเป็นของท่านเหมือนกัน ข้อนี้เป็นการดี ถ้าไม่อนุญาตไซร้ เมื่อให้นำมาคืน ควรคืนให้ ส่วนของๆ สงฆ์ควรให้คืนทีเดียว
    
 - บุคคลผู้เกิดในเปรตวิสัยก็ดี เปรตผู้ที่กาละแล้ว เกิดในอัตภาพเปรตอีกก็ดี เทวดาทั้งหลาย มีเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้นก็ดี ทั้งหมดนับว่าเป็น “เปรต” ในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติในทรัพย์ที่เปรตเหล่านั้นหวงแหน ถ้าแม้ท้าวสักกเทวราชออกร้านตลาดประทับนั่งอยู่ และภิกษุผู้ได้ทิพยจักษุรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ ภิกษุถือเอาผ้าสาฎกแม้ราคาตั้งแสน เพื่อประโยชน์แก่จีวรของตนไป แม้ท้าวสักกะจะร้องห้ามก็ตาม การถือเอานั้นย่อมควร
    
- ไม่เป็นอาบัติในทรัพย์ที่พวกสัตว์ดิรัจฉานหวงแหน จริงอยู่ แม้พวกพญานาคหรือสุบรรณมาณพแปลงรูปเป็นมนุษย์ ออกร้านตลาดอยู่ และมีภิกษุบางรูปมาถือเอาสิ่งของๆ พญานาคหรือของสุบรรณมาณพนั้นไป การถือเอานั้นย่อมควร ราชสีห์หรือเสือโคร่งฆ่าสัตว์มีเนื้อและกระบือเป็นต้นแล้ว แต่ยังไม่เคี้ยวกิน ถูกความหิวเบียดเบียนอยู่ ภิกษุไม่พึงห้ามในตอนต้นทีเดียว เพราะว่ามันจะพึงทำความฉิบหายให้ แต่เมื่อมันเคี้ยวกินไปหน่อยหนึ่ง สามารถห้ามได้ จะห้ามแล้วถือเอาก็ควร แม้จำพวกนก มีเหยี่ยวเป็นต้น คาบเอาเหยื่อบินไปอยู่ จะไล่ให้มันทิ้งเหยื่อแล้วทิ้งเอา ก็ควร
    
- “สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล” อย่างนี้ว่า สิ่งของนี้ไม่มีเจ้าของ เกลือกกลั้วไปด้วยฝุ่น ไม่เป็นอาบัติเพราะการถือเอา แต่สิ่งของนั้นมีเจ้าของไซร้ เมื่อเขาให้นำมาคืน ก็ควรคืนให้
    
- ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เป็นบ้า, ไม่เป็นอาบัติแก่พระธนิยะผู้เป็นต้นบัญญัติ แต่สำหรับพระฉัพพัคคีย์เป็นต้น ผู้เป็นโจรลักห่อผ้าของช่างย้อมเป็นต้น ย่อมเป็นปาราชิก

๒๒. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นี้ มีนัยแห่งการวินิจฉัยมาก ละเอียดซ้ำซ้อนยิ่ง ซึ่งผู้เรียบเรียงไม่อาจนำแสดงทั้งหมดได้ เพราะจะมีความยาวมากเกินไป ซึ่งนัยที่นำมาแสดงนี้มีความครอบคลุมเพียงพอที่จะทำให้พระวินัยธรสามารถวินิจฉัยได้พอสมควร และเพียงพอที่จะทำให้ภิกษุดูแลศีลสังวรข้อนี้ให้บริสุทธิ์หมดจดได้ ท่านใดมีความต้องการศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด พึงศึกษาในมหาวิภังค์ ปฐมภาค พร้อมอรรถกถาเถิด

๒๓. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เป็นสาหัตถิกะเกิดทางกายและทางจิต (คือมีไถยจิตลักเองด้วยกาย) เป็นอาณัตติกะ เกิดทางวาจาและจิต (มีไถยจิตสั่งให้ผู้อื่นลัก), เป็นสจิตตกะเพราะเป็นปาราชิก เพราะ “ทำ” หากไม่ทำก็ไม่เป็น, เป็นโลกวัชชะ, เป็นอกุศลจิต (โลภมูลจิต)

๒๔. ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เรียบเรียงอรรถกถาทั้งหลาย รวมทั้งอรรถกถาของสิกขาบทนี้ กล่าวสรุปในการศึกษาสิกขาบทที่ ๒ นี้ไว้อย่างน่าศึกษาน่าสังวรยิ่ง ดังนี้
“ทุติยปาราชิกสิกขาบทนี้ใด อันพระชินเจ้าผู้ไม่เป็นที่ ๒ มี่กิเลสอันพ่ายแพ้แล้ว ทรงประกาศแล้วในพระศาสนานี้ สิกขาบทอื่นไรๆ ที่มีนัยอันซับซ้อนมากมาย มีเนื้อความและวินิจฉัยลึกซึ้ง เสมอด้วยทุติยปาราชิกสิกขาบทนี้ ย่อมไม่มี, เพราะเหตุนั้น เมื่อเรื่องหยั่งลงแล้ว (เกิดขึ้นแล้ว) ภิกษุผู้รู้ทั่วถึงพระวินัย จะกระทำการวินิจฉัยในเรื่องที่หยั่งลงแล้วนี้ ด้วยความอนุเคราะห์พระวินัย พึงพิจารณาพระบาลีและอรรถกถาพร้อมทั้งอธิบายโดยถ้วนถี่ อย่าเป็นผู้ประมาท ทำการวินิจฉัยเถิด
    
ในกาลไหนๆ ไม่พึงทำความอาจหาญในการชี้อาบัติ, ควรใส่ใจว่าเราจักเห็นอนาบัติ อนึ่ง แม้เห็นอาบัติแล้วอย่าเพ่อพูดเพรื่อไปก่อน พึงใคร่ครวญและหารือกับท่านผู้รู้ทั้งหลาย แล้วจึงปรับอาบัตินั้น อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชนในศาสนานี้ ย่อมเคลื่อนจากคุณ คือความเป็นสมณะด้วยอำนาจแห่งจิตที่มักกลับกลอกเร็วในเพราะเรื่องแม้ที่ควร เพราะเหตุนั้นภิกษุผู้เฉลียวฉลาด พึงเล็งเห็นบริขารของผู้อื่นเป็นเหมือนงูมีพิษร้ายและเหมือนไฟเถิด”


ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. อุปจาร – เฉียด, จวนเจียน, ที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, ชาน, บริเวณรอบๆ ดังตัวอย่างคำว่า อุปจารเรือน อุปจารบ้าน แสดงตามที่ท่านอธิบายในอรรถกถาพระวินัย ดังนี้
    
อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคา เป็น “เรือน”, บริเวณรอบๆ เรือน ซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือน สาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ภายในเรือน โยนกระด้งหรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกที่ใด ระยะรอบๆ กำหนดนั้น เป็น “อุปจารเรือน”
    
บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือน ขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจากรอบๆ บริเวณอุปจารเรือนเป็นกำหนด “เขตบ้าน”, บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละยืนอยู่ที่เขตบ้าน โยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตก เป็นเขต “อุปจารบ้าน”
    
สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสีย จึงสมมติขึ้น คือ ใช้เป็นติจีวราวิปปวาสสีมาได้

๒. กหาปณะ – ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ ๑ กหาปณะ เท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๔ บาท (๕ มาสก เป็น ๑ บาท, ๔ บาท เป็น ๑ กหาปณะ)

๓. ภัณฑไทย – ของที่จะต้องให้ (คืน) แก่เขา, สินใช้, การที่จะต้องชดใช้ทรัพย์ที่เขาเสียไป



คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ    อชินิ มํ อหาสิ มํ
เข จ ตํ นูปนยฺหนฺติ    เวรํ เตสูปสมฺมติ ฯ ๔ ฯ
     ใครไม่คิดอาฆาตว่า "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
     มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา" เวรของเขาย่อมระงับ

     'Heabused me, he beat me, He defeated me, he robbed me'
     In those who harbour not such thoughts Hatred finds its end.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 13:18:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2557 13:31:09 »

.



ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๓)
ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต ต้องปาราชิก

พระฉัพพัคคีย์ : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๓

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกรรมฐาน และสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกรรมฐาน แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้เพียงรูปเดียว

ภิกษุทั้งหลายพากันเจริญอสุภกรรมฐาน ภิกษุเหล่านั้นเกิดอึดอัด ระอา เกลียดชัง ร่างกายของตน ดุจสตรีรุ่นสาวหรือบุรุษหนุ่มผู้รักความสวยงาม มีซากงู ซากสุนัข ซากมนุษย์มาคล้องอยู่ที่คอ จึงอึดอัดสะอิดสะเอียน เกลียดชัง  ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตก์ กล่าวว่าจ้างขอให้ช่วยปลงชีวิตพวกตน ด้วยการให้บาตร จีวร เป็นค่าจ้าง มิคลัณฑิกสมณกุตก์จึงปลงชีวิตภิกษุเป็นอันมาก เขาถือดาบเปื้อนเลือดเดินทางไปยังแม่น้ำวัดคุมุทา ขณะที่กำลังล้างดาบเขามีความเดือดร้อนใจว่า เราได้ทำชั่วแล้ว เราไม่ได้ทำดีหนอ เราสร้างบาปไว้มากจริงหนอ เพราะเราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

ขณะนั้น เทวดาตนหนึ่งที่นับเนื่องในหมู่มาร เดินมาบนน้ำซึ่งน้ำมิได้แตก แล้วกล่าวชมเขาว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภๆ ท่านได้ดีแล้ว ท่านได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะท่านได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นได้

ครั้นเขาได้ทราบว่าเป็นลาภ เราได้สร้างสมบุญ จึงถือดาบเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าวว่า ใครยังข้ามไม่พ้นเราจักช่วย ดังนี้ แล้วได้ฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง...๖๐ รูปบ้าง

ครั้นล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น รับสั่งถามพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เหตุไฉนหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป พระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดนั้นแล้ว รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในพระนครเวสาลี แล้วทรงแสดงอานาปานสติกรรมฐาน สรรเสริญคุณของอานาปานสติ

รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็ไปหามิคลัณฑิกสมณกุตก์ให้เขาช่วยปลงชีวิตจริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต เป็นปาราชิก”

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เห็นภริยาของอุบาสกผู้เป็นไข้คนหนึ่ง เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนั้น จึงกล่าวพรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกนั้นอย่างนี้ว่า “ดูก่อนอุบาสก ท่านผู้ทำความดีไว้แล้ว ทำกุศลไว้แล้ว ทำความต้านทานต่อความขลาดไว้แล้ว มิได้ทำบาป มิได้ทำความชั่ว จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าท่านจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์...”

ครั้งนั้น อุบาสกเห็นจริงตามที่พระฉัพพัคคีย์กล่าว เขาจึงรับประทานโภชนะที่แสลง ดื่มกินของแสลง ความป่วยหนักก็เกิดขึ้น เขาถึงแก่กรรมเพราะความป่วยไข้นั้นเอง ภริยาของอุบาสกจึงเพ่งโทษว่า พระสมณะเหล่านี้ไม่ละอาย พูดเท็จ ปราศจากความเป็นสมณะ เพราะพรรณนาคุณแห่งความตายแก่สามีของเรา สามีของเราถูกสมณะเหล่านี้ทำให้ตายแล้ว

แม้คนเหล่าอื่นก็เพ่งโทษติเตียน...ภิกษุทั้งหลายได้ยินก็เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระอนุบัญญัติว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยถ้อยคำว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่างอย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตสรายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
- บทว่า จงใจ ความว่า ภิกษุใดรู้อยู่ รู้ดีอยู่ พรากกายมนุษย์จากชีวิต การกระทำของภิกษุนั้นเป็นความตั้งใจพยายามละเมิด, ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่ จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่า กายมนุษย์
- บทว่า พรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นรอน ซึ่งอินทรีย์คือชีวิต ทำความสืบต่อให้กำเริบ
- บทว่า หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น ได้แก่ ดาบ หอก ฉมวก และหลาว เป็นต้น
- บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย
- บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก
- บทว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือคำทักทาย
- คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน...ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ มีอธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือ เมื่อเทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนเข็ญใจ ก็ชื่อว่ายากแค้น, เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น, เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ก็ชื่อว่ายากแค้น, ชีวิตของคนมีมือขาด มีเท้าขาด มีทั้งมือและเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้
- บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต (จิตกับใจเป็นอย่างเดียวกัน คือ รู้อารมณ์)
- บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่างอย่างนี้ คือ มีความหมายในอันตราย มีความจงใจในอันตราย มีความประสงค์ในอันตราย
- บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย
- บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย ว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้บำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น
- บทว่า ชักชวนเพื่ออันตรายก็ดี คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน
- คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทียบเคียงกับภิกษุ ๒ รูปแรก (คือพระสุทินน์ และพระธนิยะ)
- คำว่า เป็นปาราชิก และหาสังวาสมิได้ พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทก่อน
- ประโยค (ความพยายาม) ที่กระทำความจงใจพรากชีวิตมี ๒ คือ สาหัตถิกประโยค  ได้แก่ ทำเอง ฆ่าเอง และอาณัตติกประโยค ได้แก่ ให้ผู้อื่นทำ สั่งผู้อื่นฆ่า


อาบัติ
๑. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าบุคคลนั้นแน่ จึงปลงชีวิตบุคคลนั้น ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
๒. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าเป็นบุคคลอื่น และปลงชีวิตบุคคลอื่น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องปาราชิก
๓. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้ฆ่ารับคำ ภิกษุสั่งเดิมต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุผู้ฆ่าปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จต้องปาราชิกทุกรูป
๔. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ครั้นภิกษุนั้นสั่งแล้วมีความร้อนใจ แต่ไม่พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่า...ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จ ต้องปาราชิก ๒ รูป
๕. ภิกษุสั่งว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้... ครั้นสั่งแล้วมีความร้อนใจ พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่าเลย ภิกษุผู้รับคำสั่งกลับพูดว่า ท่านสั่งผมแล้ว จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนั้นเสีย ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก
๖. ที่ชื่อ พรรณนาด้วยกาย ได้แก่ ภิกษุทำกายวิการ (ทำท่าต่างๆ) ว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎเพราะการพรรณนานั้น, ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่าเราพึงตายแล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด (เพื่อให้ตาย) ภิกษุผู้พรรณนาต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้พรรณนาต้องอาบัติปาราชิก
๗. การพรรณนาด้วยวาจา การพรรณนาด้วยกายและวาจา การส่งทูตไปพรรณนาด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือ ก็ปรับอาบัติเช่นเดียวกับข้อ ๖
๘. ที่ชื่อว่า หลุมพราง ได้แก่ ภิกษุขุดหลุมพรางเจาะจงมนุษย์ไว้ว่า เขาจักตกตาย ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุขุดหลุมพรางไว้มิได้เจาะจงว่าผู้ใดผู้หนึ่งจักตกตาย (ใครตกก็ได้) ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ มนุษย์ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเขาตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุนั้นต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก
       ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานแปลงเพศเป็นมนุษย์ก็ดี ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย
       สัตว์ดิรัจฉานตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
๙. ที่ชื่อว่า วัตถุที่พิง ได้แก่ ภิกษุวางศัสตราไว้ในที่สำหรับพิงก็ดี ทายาพิษไว้ก็ดี ทำให้ชำรุดก็ดี วางไว้ริมบ่อ เหว หรือที่ชัน ด้วยหมายใจว่า บุคคลจักตกตายด้วยวิธีนี้ ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาได้รับทุกขเวทนาเพราะต้องศัสตราถูกยาพิษหรือตกลงไป ต้องถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
๑๐. ที่ชื่อว่า การลอบวาง ได้แก่ ภิกษุวางดาบ หอก ฉมวก หลาว ไม้ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือกไว้ใกล้ ด้วยตั้งใจว่า บุคคลจักตายด้วยของสิ่งนี้ ดังนี้ต้องทุกกฎ คิดว่าเขาจักตายด้วยของสิ่งนั้น แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุนั้นต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
๑๑. ที่ชื่อว่า การนำรูปเข้าไป ได้แก่ ภิกษุนำรูปซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ น่ากลัว น่าหวาดเสียวเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักตกใจตาย ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาเห็นรูปนั้นแล้วตกใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุนำรูปซึ่งเป็นที่ชอบใจ น่ารัก น่าจับใจ เข้าไปด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักซูบผอมตายเพราะหาไม่ได้ ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาเห็นรูปนั้นแล้วซูบผอมเพราะหาไม่ได้ต้องถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
๑๒. การสำเสียงเข้าไป การนำกลิ่นเข้าไป การนำรสเข้าไป การนำโผฏฐัพพะเข้าไป พึงทราบคำอธิบายตามข้อ ๑๑
๑๓. ที่ชื่อว่า การนำธรรมารมณ์เข้าไป ได้แก่ ภิกษุแสดงเรื่องนรกแก่คนผู้ควรเกิดในนรก ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนรกนี้แล้วจักตกใจตายดังนี้ต้องทุกกฎ เขาฟังเรื่องนรกนั้นแล้วตกใจต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุแสดงเรื่องสวรรค์แก่คนผู้ทำความดี ด้วยตั้งใจว่าเขาฟังเรื่องสวรรค์นี้แล้วจักน้อมใจตาย ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาฟังเรื่องสวรรค์แล้วคิดว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
๑๔. ที่ชื่อว่า การนัดมาย ได้แก่ ภิกษุทำการนัดหมายว่า จงปลงชีวิตเขาเสียตามคำนัดหมายนั้นในเวลาเช้าหรือเย็น ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน ดังนี้ต้องทุกกฎเพราะการนัดหมายนั้น ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตเขาสำเร็จ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป ปลงชีวิตเขาได้ก่อนหรือหลังคำนัดหมาย ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก
๑๕. ที่ชื่อว่า การทำนิมิต ได้แก่ ภิกษุทำนิมิตว่า ผมจักขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะ ท่านจงปลงชีวิตเขาตามนิมิตนั้น ดังนี้ต้องทุกกฎ ภิกษุผู้รับสั่งปลงชีวิตเขาสำเร็จตามนิมิตนั้นต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป ปลงชีวิตเขาก่อนหรือหลังนิมิตนั้น ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก


อนาบัติ
ภิกษุไม่จงใจ ๑  ภิกษุไม่รู้ ๑  ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่ภิกษุนั้นด้วยความกรุณา ภิกษุนั้นมรณภาพแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
๒. ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง นั่งทับเด็กชายที่เขาเอาผ้าเก่าคลุมไว้บนตั่งให้ตายแล้ว เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอไม่พิจารณาก่อนแล้ว อย่าพึงนั่งบนอาสนะ รูปใดนั่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
๓. บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ... เมื่อเขาแจ้งว่าเป็นเวลาภัตแล้ว ภิกษุผู้เป็นบุตรได้กล่าวกับภิกษุบิดาว่า นิมนต์ไปเถิดขอรับ พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้มรณภาพ จึงดุนผลักไป ภิกษุผู้บิดาได้ล้มลง แต่ไม่ถึงมรณภาพ ภิกษุผู้บุตรมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๔. ภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างส่งมีดขึ้นไป มีดที่ภิกษุผู้อยู่ข้างบนรับไว้ไม่มั่น ได้ตกลงบนกระหม่อมภิกษุผู้อยู่ข้างล่างถึงมรณภาพ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : มิได้จงใจ พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า ภิกษุไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ
๕. พระฉัพพัคคีย์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ แล้วพากันกลิ้งศิลาเล่น ศิลานั้นตกทับคนเลี้ยงโคคนหนึ่งตาย พวกเธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล...ตรัสว่า พวกเธอคิดอย่างไร ภิกษุ : พวกข้าพระองค์มิได้มีความประสงค์จะให้ตาย พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า พวกเธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ภิกษุไม่ควรกลิ้งศิลาเล่น รูปใดกลิ้ง ต้องอาบัติทุกกฎ
๖. ภิกษุหมอผีรูปหนึ่งปลงชีวิตยักษ์แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๗. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้ตาย ได้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ทางกันดารที่มีโจร แต่โจรไม่ปลงชีวิตภิกษุรูปนั้น เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ตายพระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๘. ภิกษุรูปหนึ่งถูกความกระสันบีบคั้น (คิดสึกแต่ยังรักศีลอยู่) จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏแล้วโจนลงมาทับช่างสานตาย จึงทูลถาม... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ทูลว่า มิได้มีความประสงค์จะให้ตายพระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรยังตนให้ตก รูปใดให้ตก ต้องทุกกฎ
๙. หญิงหมันคนหนึ่งได้บอกเรื่องที่นางเป็นหมันกับภิกษุประจำตระกูลรูปหนึ่ง แล้วขอให้ท่านปรุงเภสัชที่จักทำให้นางคลอดบุตร (มีบุตร) ภิกษุนั้นรับคำแล้ว ได้ให้เภสัชแก่นางๆ ถึงแก่กรรม เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ตะแลงแกง ได้พูดกับนายเพชฌฆาตว่า ท่านอย่าให้นักโทษคนนั้นลำบากเลย จงปลงชีวิตด้วยการฟันทีเดียวให้ตายเถิด เพชฌฆาตรับคำว่า ดีละ ขอรับ แล้วปลงชีวิตด้วยการฟันทีเดียว ภิกษุนั้นมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ปฐมภาค ๑/๒/๓๑๕-๔๔๖ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. นครนั้นเรียกว่า เวสาลี เพราะเป็นเมืองที่กว้างขวางด้วยการขยายเครื่องล้อม คือ กำแพงถึง ๓ ครั้ง, บรรดาป่ามหาวัน และกูฏาคารศาลานั้น ป่าใหญ่มีโอกาสเป็นที่ตั้งที่กำหนดเกิดเอง ไม่ได้ปลูก ชื่อว่าป่ามหาวัน ส่วนป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไม่มีโอกาสเป็นที่กำหนดตั้งจรดมหาสมุทร, ป่ามหาวันในสิกขาบทนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือเป็นป่าใหญ่ มีโอกาสเป็นที่กำหนด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ป่ามหาวัน
        ส่วนกูฏาคารศาลาอันถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง ซึ่งสร้างให้มีหลังคาคล้ายทรวดทรงแห่งหงส์ ทำเรือนยอดไว้ข้างใน ณ อารามที่สร้างไว้อาศัยในป่ามหาวัน พึงทราบว่า เป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า (ที่จะทรงใช้หลีกเร้น)
๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุภกรรมฐาน ซึ่งเป็นกถาที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายในกาย ซึ่งเป็นไปด้วยการเล็งเห็นอาการอันไม่งาม ด้วยเหตุผลมากมาย ทรงแสดงว่า ความไม่งามมีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน ฯลฯ มูตร มีคำอธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อค้นหาดูด้วยความเอาใจใส่ทุกอย่าง กเลวระมีประมาณวาหนึ่ง จะไม่เห็นสิ่งอะไรๆ จะเป็นแก้วมุกดาหรือแก้วมณี แก้วไพฑูรย์หรือกฤษณา แก่จันทน์หรือกำยาน การบูร หรือบรรดาเครื่องหอมมีจุณสำหรับอบเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ซึ่งเป็นของสะอาด แม้ว่าเล็กน้อย โดยที่แท้จะเห็นแต่ของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมและขนเป็นต้นเท่านั้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง น่าเกลียด มีการเห็นไม่เป็นมิ่งขวัญ เพราะเหตุนี้จึงไม่ควรทำความพอใจ หรือความรักใคร่ในกายนี้ อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าผมเหล่าใด ซึ่งเกิดบนศีรษะอันเป็นอวัยวะสูงสุด แม้ผมเหล่านั้นก็เป็นของไม่งามเหมือนกัน ทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็นของปฏิกูล ดังนี้ นี้เป็นความสังเขปที่แสดงในที่นี้ ท่านผู้ต้องการความพิสดาร พึงศึกษาจากวิสุทธิมรรคเถิด
๓. ถามว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอสุภภาวนาแก่ภิกษุเหล่านี้ ตอบว่า ได้ยินว่า ในอดีตกาลนายพรานเนื้อประมาณ ๕๐๐ คน เอาท่อนไม้และข่ายเครื่องจับสัตว์เป็นอันมากล้อมป่าไว้ แล้วพากนหัวเราะรื่นเริง สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์และนกจนตลอดชีวิต แล้วเกิดในนรก
       พรานเนื้อเหล่านั้นหมกไหม้ในนรกนั้นแล้ว เกิดในมนุษย์เพราะกุศลกรรมบางอย่างที่ตนทำไว้แล้วในหนก่อน จึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอุปนิสัยแห่งกรรมอันงาม และพระองค์ทรงรู้ว่าภายในกึ่งเดือนนี้บาปกรรมที่เคยกระทำกับเนื้อและนกที่ยังเหลืออยู่ จักเผล็ดผลกระทำให้ภิกษุเหล่านั้นต้องสิ้นชีวิตด้วยความพยายามของตนเองและด้วยความพยายามของผู้อื่น ทอดพระเนตร เห็นว่า ใครๆ ไม่อาจห้ามการให้ผลของอกุศลกรรมเหล่านั้นได้
       ในภิกษุเหล่านั้นมีทั้งภิกษุผู้เป็นปุถุชน ทั้งพระโสดาบัน ทั้งพระสกทาคามี ทั้งพระอนาคามี และพระอรหันตขีณาสพผู้ไม่มีการเกิดอีก พระอริยสาวก มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี มีที่ไปที่แน่นอนแล้ว แต่ที่ไปของภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนไม่แน่นอน ย่อมเสี่ยงต่อการไปอบายภูมิ
       คราวนั้น พระองค์ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ (ภิกษุที่เป็นปุถุชน) กลัวต่อมรณภัย เพราะความรักด้วยอำนาจพอใจในอัตภาพ จักไม่อาจชำระคติ (ที่ไป) ให้บริสุทธิ์ได้ เอาเถิด! เราจะแสดงอสุภกถาเพื่อละความรักด้วยอำนาจความพอใจแก่เธอเหล่านั้น พวกเธอได้ฟังแล้วจักทำการชำระคติให้บริสุทธิ์ได้ เพราะเป็นผู้ปราศจากความรัก ด้วยอำนาจความพอใจในอัตภาพ (สักกายทิฏฐิ) จักถือเอาปฏิสนธิในสวรรค์ การบรรพชาในสำนักของเราจักเป็นคุณชาติ มีประโยชน์แก่เธอเหล่านั้นด้วยอาการอย่างนี้ จึงทรงแสดงอสุภกถาเพื่ออนุเคราะห์พวกเธอ หาได้แสดงในการพรรณนาถึงคุณแห่งความตายไม่
       ครั้นทรงแสดงแล้ว ทรงดำริว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายพบเห็นเราตลอดกึ่งเดือนไซร้ เธอเหล่านั้นจักมาบอกว่า วันนี้ภิกษุมรณภาพไปรูปหนึ่ง วันนี้มรณภาพไป ๒ รูป ฯลฯ วันนี้มรณภาพไป ๑๐ รูป ดังนี้ ก็แลกรรมวิบากนี้ เราหรือใครคนอื่นก็ไม่สามารถจะห้ามได้ เรานั้นได้ฟังเหตุนั้นแล้วก็จักทำอะไรเล่า? จะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยการฟังที่หาประโยชน์มิได้ มีแต่ความฉิบหายไร้ประโยชน์ เอาเถิด เราจะเข้าไปยังสถานที่ๆ ภิกษุทั้งหลายจะเห็นไม่ได้ เพราะเหตุนั้นจึงตรัสอย่างนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน...
       อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทรงหลีกเร้นเพื่อจะเว้นความติเตียนจากผู้อื่น คือ หากพระองค์อยู่รับรู้ คนก็จักติเตียนว่า ทำไมพระองค์ไม่ทรงห้ามการฆ่ากัน ทั้งที่เป็นผู้รู้ทุกสิ่ง? แต่ในเมื่อพระองค์ไม่อยู่ บัณฑิตทั้งหลายก็จักกล่าวแก้ว่าพระองค์ทรงหลีกเร้นอยู่ หาได้ทรงทราบความเป็นไปไม่ คนที่จะทูลบอกก็ไม่มี หากพระองค์ทรงทราบก็จักตรัสห้ามแน่นอน
๔. บุรุษหนุ่มพึงอึดอัด สะอิดสะเอียด เกลียดชัง ด้วยซากงู ซากสุนัข หรือซากศพมนุษย์ อันคล้องอยู่ที่คอ คือ มีบุคคลผู้เป็นข้าศึกบางคนนั่นเองนำมาผูกไว้ที่คอ ฉันใด ภิกษุเหล่านั้นก็อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตนฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ใคร่จะสละร่างกายของตนเสียเพราะเป็นผู้ปราศจากความรักด้วยอำนาจความพอใจ ดุจบุรุษคนนั้นใคร่จะสละทิ้งซากศพนั้นเสียฉะนั้น จึงถือเอาศัสตราแล้วปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ด้วยพูดว่า ท่านจงปลงกระผมเสียจากชีวิต กระผมจะปลงท่านเสียจากชีวิต
๕. คำว่า มิคลัณฑิกะ ในสองบทว่า มิคลณฺฑกมฺปิ สมณกุตฺตกํ นี้เป็นชื่อของเขา บทว่า สมณกุตฺตโก ได้แก่ ทรงเพศสมณะ ได้ยินว่า มิคลัณฑิกะโกนศีรษะไว้เพียงจุก นุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งพาดไว้บนไหล่ เข้าอาศัยวิหารนั้นเป็นอยู่โดยความเป็นคนกินเดน (กินของเหลือจากผู้อื่น) ภิกษุทั้งหลายเข้าไปหาแล้วกล่าวขอให้ช่วยปลงชีวิต ซึ่งภิกษุที่เข้าไปนั้นเป็นภิกษุปุถุชนที่กระทำได้ทุกอย่าง ส่วนภิกษุผู้เป็นอริยะไม่กระทำปาณาติบาต ไม่ชักชวนบุคคลอื่น ทั้งไม่อนุญาตให้กระทำปาณาติบาตด้วย
- แม่น้ำที่เขาสมมติกันว่าเป็นบุญของชาวโลก จึงเรียกว่า วัคคุ
- มิคลัณฑิกะร้อนใจ เพราะเห็นว่าภิกษุทั้งหมดมีกายสงบ ไม่เปล่งวาจาเสียดายชีวิต นอนลงโดยตะแคงขวาอย่างมีสติให้ฆ่า เกิดร้อนใจว่าเราได้ทำไม่ดีแล้ว เราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
- ภุมเทวดาตนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นฝักฝ่ายแห่งมาร ประพฤติตามมาร คิดว่ามิคลัณฑิกะนี้จักไม่กล้าล่วงบ่วงของมารไปได้ เราจะทำให้เขาเห็น ดังนี้แล้วจึงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง แสดงอานุภาพของตนด้วยการเดินมาบนน้ำ น้ำไม่แตกแยก ดุจเดินไปมาอยู่บนพื้นดิน แล้วกล่าววาจาปลุกปลอบว่า ท่านช่วยส่งพวกคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นจากสงสาร ด้วยการปลงเสียจากชีวิต ได้ยินว่าเทวดาพาลผู้นี้มีความเชื่อว่า “บุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่ตาย ชื่อว่ายังไม่พ้นจากสงสาร”
       มัคลัณฑิกสมณกุตก์ครั้นเห็นอานุภาพของเทวดานั้น ก็ถึงความปลงใจเชื่อว่า เราได้ทำประโยชน์ นับว่าเป็นลาภของเรา จึงเข้าไปหาและกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่งให้ข้ามพ้น เขาได้ปลงชีวิตภิกษุมีประมาณ ๕๐๐  รูป รวมทั้งพระอรหันต์ขีณาสพด้วย
       พระพุทธเจ้าทรงทราบความที่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ มรณภาพแล้ว จึงเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เป็นเหมือนไม่ทรงทราบ ตรัสเรียกพระอานนท์เพื่อให้ตั้งเรื่องขึ้น ให้ประชุมสงฆ์ พระอานนท์ทูลให้ตรัสบอกกรรมฐานอย่างอื่นแก่ภิกษุ จึงทรงแสดงอาณาปานสติภาวนา
๖. ครั้นทรงปลอบภิกษุทั้งหลายให้เบาใจด้วยอานาปานสติสมาธิกถา แล้วตรัสให้ประชุมภิกษุสงฆ์ เพราะเกิดเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายปลงชีวิตกันและกัน ตรัสสอบถาม และทรงติเตียนในการปลงชีวิตนั้น, การปลงชีวิตตนเองและการใช้ให้มิคลัณฑิกสมณกุตก์ปลงชีวิตตน ย่อมไม่เป็นวัตถุแห่งปาราชิก ฉะนั้น จึงทรงเว้นการปลงชีวิต ๒ อย่างนั้นเสีย ทรงถือเอาการปลงชีวิตกันและกันเท่านั้นที่เป็นปาราชิก จึงทรงบัญญัติสิกขาบท “ภิกษุใด แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต” ภายหลังพระฉัพพัคคีย์พรรณนาคุณแห่งความตายจึงทรงมีอนุบัญญัติเกิดขึ้น
๗. สญฺจิจฺจ แปลว่า รู้อยู่ รู้พร้อมอยู่, แกล้ง คือ ฝ่าฝืนละเมิด, รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต มีความจงใจ ปักใจ ด้วยอำนาจเจตนาจะฆ่า
๘. “กายมนุษย์” เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดวงแรกที่ตั้งขึ้นในครรภ์มารดา ปฏิสนธิจิตนั้นอยู่ในกลลรูปอีกทีหนึ่ง กลลรูป (กายที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในครรภ์มารดา) มีขนาดเท่าหยาดน้ำมันงาที่ช้อนขึ้นด้วยปลายข้างหนึ่งแห่งขนแกะแรกเกิด เป็นของใสกระจ่าง แล้วเติบโตขึ้นโดยลำดับตามปกติ คือ ตั้งต้นแต่เป็นวัตถุเล็กนิดอย่างนั้นจนถึงเวลาตาย นี้ชื่อว่า กายมนุษย์
- “ปลงเสียจากชีวิต” ความว่า พรากเสียจากชีวิตด้วยการนาบและรีด หรือด้วยการวางยาในกาลที่ยังเป็นกลละก็ดี หรือด้วยความพยายามที่เหมาะแก่รูปนั้นๆ ในกาลถัดจากเป็นกลละนั้นไปก็ดี ก็ชื่อว่าปลงเสียจากชีวิต โดยความก็คือการเข้าไปตัดอินทรีย์ คือชีวิต ทำความสืบต่อของชีวิตให้ขาดสาย
๙. “ประโยคแห่งการฆ่า ๖ อย่าง”
(๑) การประการด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกายแห่งบุคคลผู้ฆ่าให้ตายเอง ชื่อว่า สาหัตถิกประโยค
(๒) การสั่งบังคับว่า ท่านจงแทงหรือประหารให้ตายด้วยวิธีอย่างนี้ของบุคคลผู้ใช้คนอื่น ชื่อว่า อาณัตติกประโยค(๓) การซัดเครื่องประหาร มีลูกศร หอกยนต์และหิน เป็นต้น ไปด้วยกายหรือของที่เนื่องด้วยกายแห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ไกล ชื่อว่า นิสสัคคิยประโยค
(๔) การขุดหลุมพราง วางกระดานหก วางเครื่องประหารไว้ใกล้ และการจัดยาพิษ แห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าด้วยเครื่องมืออันไม่เคลื่อนที่ ชื่อว่า ถาวรประโยค
(๕) การร่ายมนต์เพื่อจะให้เขาตาย ชื่อว่า วิชชามยประโยค แต่ในอรรถกถาทั้งหลายท่านแสดงวิชชามยประโยคไว้อย่างนี้ว่า วิชชามยประโยคเป็นไฉน? พวกหมออาถรรพ์ ย่อมประกอบอาถรรพ์ เมื่อเมืองถูกล้อมหรือเมื่อสงครามเข้าประชิดกัน ย่อมก่อความจัญไร ความอุบาทว์ โรค ความไข้ ให้เกิดขึ้นแก่พวกข้าศึก ย่อมทำให้เป็นโรคจุกเสียด เป็นต้น เพื่อจะป้องกันข้าศึก พวกหมออาถรรพ์ย่อมทำอย่างนี้ หรือพวกทรงวิชาคุณ ร่ายเวทกระทำให้ข้าศึกประสบโรคตาย ดังนี้ ชื่อว่า วิชชามยประโยค (ฆ่าด้วยวิชชา)
(๖) การประกอบฤทธิ์อันเกิดแต่ผลแห่งกรรม ชื่อว่า อิทธิมยประโยค ขึ้นชื่อว่า ฤทธิ์อันเกิดจากผลแห่งกรรมนี้มีมากอย่าง เป็นต้นว่า ฤทธิ์นาคของพวกนาค ฤทธิ์สุบรรณของพวกสุบรรณ ฤทธิ์ยักษ์ของพวกยักษ์ เทวฤทธิ์ของพวกเทพผู้ปกครองเหล่าเทวดา
       ฤทธิ์ของพวกนาคมีพิษในขณะเห็น ขบกัด และถูกต้อง ขณะทำการเบียดเบียนสัตว์อื่น เพราะเพียงขบกัดและถูกต้อง (ก็ทำให้สัตว์ตายลง) ฤทธิ์ของพวกสุบรรณ ในการฉุดนาคยาวประมาณ ๑๓๒ วา ขึ้นจากมหาสมุทร, ส่วนพวกยักษ์เมื่อมาไม่ปรากฏ เมื่อประหารก็ไม่ปรากฏ แต่สัตว์ที่พวกยักษ์เหล่านั้นประหารแล้ว ย่อมตายในที่นั้นเอง, ฤทธิ์ของเทวดาพึงเห็นในความตายของพวกกุมภัณฑ์ ที่ท้าวเวสสุวรรณ (ก่อนเป็นพระโสดาบัน) ใช้ตาเป็นอาวุธมองดูเท่านั้นพวกกุมภัณฑ์ก็ตาย, ราชฤทธิ์คือฤทธิ์ของพระเจ้าจักรพรรดิที่เหาะไปในอากาศเป็นต้น  อนึ่ง วิชชามยประโยคและอิทธิมยประโยคไม่ได้มาในพระบาลี แต่มาในอรรถกถา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 กรกฎาคม 2557 14:08:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2557 14:06:13 »

.

๑๐. ในการพรรณนาคุณแห่งความตาย แยกเป็น ๒ คือ ชี้โทษในความเป็นอยู่ ๑ สรรเสริญคุณในความตาย ๑
๑๑. ภิกษุรูปใดสำรวจดูแพะซึ่งนอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ด้วยคิดในใจว่า เราจักมาฆ่าในเวลากลางคืน และมารดาหรือบิดาของภิกษุนั้นหรือพระอรหันต์ ห่มผ้ากาสาวะสีเหลืองแล้วนอนอยู่ในที่แพะนอน ภิกษุมาในเวลากลางคืนทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย ดังนี้จึงฆ่ามารดาบิดาหรือพระอรหันต์ตาย เพราะมีเจตนาอยู่ว่าเราจะฆ่าวัตถุนี้ให้ตาย เธอจึงเป็นผู้ฆ่าด้วย ต้องอนันตริยกรรมด้วย ต้องปาราชิกด้วย
       หากมีอาคันตุกะอื่นบางคนนอนอยู่ เธอทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่าคนอาคันตุกะนั้นตาย จัดเป็นฆาตกรด้วย ต้องปาราชิกด้วย แต่ไม่เป็นอนันตริยกรรม, มียักษ์หรือเปรตนอนอยู่ เธอทำในใจว่า จักฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่ายักษ์หรือเปรตตนนั้นตาย เป็นฆาตกร ไม่เป็นอนันตริยกรม ไม่เป็นปาราชิก แต่เป็นถุลลัจจัย, ไม่มีใครๆ อยู่ มีแต่แพะเท่านั้น เธอฆ่าแพะตาย เป็นฆาตกรด้วย ต้องปาจิตตีย์ด้วย
๑๒. ภิกษุทำในใจว่า เราจักเช็ดดาบที่เปื้อนแล้วสอดดาบเข้าไปในกองฟาง โดยมารดาก็ดี บิดาก็ดี พระอรหันต์ก็ดี คนอาคันตุกะก็ดี ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งนอนอยู่ในกองฟางนั้นตาย ภิกษุนั้นด้วยอำนาจแห่งโวหารเรียกว่าฆาตกรได้ แต่เพราะไม่มีวธกเจตนา (เจตนาฆ่า) เธอจึงไม่ถูกต้องกรรม (ปาณาติบาต) ทั้งไม่เป็นอาบัติ
     ส่วนภิกษุใด เมื่อกำลังสอด (ดาบหรือหอกนั้น) เข้าไปในกองฟาง กำหนดได้ว่าสัมผัสกับร่างกาย แล้วก็ยังสอดเข้าไปฆ่าให้ตาย ด้วยคิดว่าชะรอยจะมีสัตว์อยู่ภายใจ จงตายเสียเถอะ ย่อมเป็นปาณาติบาต เป็นปาราชิก และเป็นฆาตกร
๑๓. ในการสั่งฆ่าพึงศึกษาฐานะ ๖ อย่าง แล้วจึงวินิจฉัย ดังนี้
(๑) วัตถุ ได้แก่ สัตว์ที่จะพึงถูกฆ่าให้ตาย
(๒) กาล  ได้แก่ กาลที่มีกาลเช้าและเย็น เป็นต้น
      และกาลมีวัยเป็นหนุ่มสาว มีเรี่ยวแรงและมีความเพียร เป็นต้น
(๓) โอกาสได้แก่ สถานที่ มีอาทิอย่างนี้ คือ บ้าน ป่า ประตูเรือน  
      ท่ามกลางเรือน ถนน รถ หรือทาง ๓ แพ่ง
(๔) อาวุธ ได้แก่ อาวุธ มีอาทิอย่างนี้ คือ ดาบ ลูกศร หรือหอก
(๕) อิริยาบถ  ได้แก่ อิริยาบถ มีการเดินหรือนั่ง ของผู้ที่จะถูกฆ่าให้ตาย เป็นต้น
(๖) กิริยาพิเศษ ได้แก่ กิริยาที่ทำ  มีแทง ตัด ทำลาย ถลกหนังศีรษะ เป็นต้น
       พึงทราบอธิบายเป็นตัวอย่างอย่างนี้เป็นต้นว่า ภิกษุสั่งภิกษุว่าท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้า แต่ไม่ได้กำหนดว่าเป็นเช้าวันนี้หรือเช้าวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าเขาตายในเวลาเช้าวันหนึ่ง ย่อมเป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป ส่วนภิกษุใดได้รับคำสั่งว่า ท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้าวันนี้ แต่ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าเขาตายในเวลาเที่ยงวัน หรือเย็น หรือเวลาเช้าวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องปาราชิก ภิกษุผู้รับคำสั่งเท่านั้นเป็นปาราชิก
       นัยแห่งฐานะที่เหลือภิกษุพึงเข้าใจตามตัวอย่างนี้ เช่น สั่งให้ฆ่าคนนี้ ผู้ฆ่ากลับไปฆ่าอีกคน คนสั่งย่อมไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นปาราชิก เป็นต้น
๑๔. “การนำธรรมารมณ์เข้าไป” มีวินิจฉัยดังนี้ เทศนาธรรมพึงทราบว่าธรรม อีกอย่างหนึ่งธรรมารมณ์นั้นอันต่างด้วยความวิบัติในนรกและสมบัติในสวรรค์ ด้วยอำนาจแห่งเทศนา (คือ เทศนาเรื่อง นรก สวรรค์ ก็พึงทราบว่าชื่อว่า ธรรมารมณ์เหมือนกัน)
- ภิกษุกล่าวพรรณนาเรื่องนรกมีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง และเครื่องกรรมกรณ์ เป็นต้น แก่สัตว์ผู้ไม่มีสังวร ทำบาปไว้ ซึ่งควรเกิดในนรก ถ้าเขาฟังนรกกถานั้นแล้วตกใจตาย เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้กล่าว, ถ้าเขาฟังแล้วตายไปตามธรรมดาของตน ไม่เป็นอาบัติ, ภิกษุแสดงด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังแล้วจักไม่ทำกรรมเช่นนั้นอีก จักงด จักเว้น เขาฟังแล้วก็กลับตกใจตาย ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าว
- ภิกษุกล่าวพรรณนาเรื่องสวรรค์ มีการเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หรือได้ชื่นชมสวนนันทวัน เป็นต้น เขาฟังแล้วน้อมใจไปในสวรรค์ ต้องการได้สมบัติเร็วๆ ยังทุกข์ให้เกิดด้วยการใช้ศัสตราประหาร กินยาพิษ อดอาหาร หรือกลั้นลมหายใจ เป็นต้น เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้กล่าว เขาตายไปเป็นปาราชิก แต่ถ้าเขาฟังแล้วตั้งอยู่จนตลอดอายุแล้วตายตามธรรมดา ไม่เป็นอาบัติ ภิกษุกล่าวด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังแล้วจักทำบุญ แต่บุคคลอื่นที่ได้ฟังด้วยกลับกลั้นลมหายใจตายไป ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าว
๑๕. “อนาบัติ”
- ภิกษุไม่ได้คิดว่า เราจักฆ่าผู้นี้ด้วยความพยายามนี้ แต่เขาตายด้วยความพยายามที่ภิกษุไม่ได้คิด ทำอย่างนั้นไม่เป็นอาบัติ จึงตรัสว่า “ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่แกล้ง ไม่จงใจ”
- ภิกษุไม่รู้ว่าผู้นี้จักตายด้วยความพยายามนี้ แต่เขากลับตายด้วยความพยายามนี้ ไม่เป็นอาบัติ ดังที่ตรัสในเรื่องบิณฑบาตเจือด้วยยาพิษว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่ต้องอาบัติแก่เธอผู้ไม่รู้”
- ภิกษุไม่ปรารถนาจะให้ตายแต่เขาตาย ไม่เป็นอาบัติ ดังที่ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่เธอผู้ไม่ประสงค์จะให้ตาย”
- ภิกษุผู้ฆ่ากันและกันผู้เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติ แต่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ มีภิกษุผู้พรรณนาคุณแห่งความตาย เป็นต้น
๑๖. ตัวอย่าง
- ภิกษุควรให้คำพร่ำสอนแก่ภิกษุผู้อาพาธโดยนัยนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งมรรคและผลของท่านผู้มีศีลเป็นของไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรทำความห่วงใยในสถานที่มีวิหารเป็นต้น ควรตั้งสติไปในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และในกาย ด้วยความไม่ประมาทพิจารณาไปเถิด
- ถามว่า อาสนะเช่นไรต้องพิจารณา เช่นไรไม่ต้องพิจารณา?
       แก้ว่า อาสนะล้วนๆ ไม่มีเครื่องปูลาดข้างบน และอาสนะที่เขาปูลาดต่อหน้าพวกภิกษุผู้มายืนอยู่ ไม่ต้องพิจารณา ควรนั่งได้ แม้บนอาสนะที่ชาวบ้านเขาเอามือปรบๆ เอง แล้วถวายว่า นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้เถิด ดังนี้ก็ควรนั่งได้ ถ้าแม้นว่าภิกษุหลายรูปมานั่งอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังจึงขยับขึ้นไปข้างบนหรือถอยร่นลงมาข้างล่าง ไม่มีกิจที่จะต้องพิจารณา แม้บนอาสนะที่เขาเอาผ้าบางๆ คลุมไว้พอมองเห็นได้ก็ไม่มีกิจที่จะต้องพิจารณา, ส่วนอาสนะใดซึ่งเป็นของที่เขาเอาผ้าปูลาดไว้ก่อนแล้ว ภิกษุควรเอามือลูบคลำกำหนดดูอาสนะนั้นเสียก่อนจึงนั่ง แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า อาสนะใด แม้ที่เขาเอาผ้าสาฎกที่หนาปูลาดไว้ รอยย่นไม่ปรากฏ อาสนะนั้นไม่ต้องพิจารณา
- ภิกษุผู้บุตรถูกใครๆ เรียกว่า บุตรของพระเถระแก่ จึงอัดอัด คิดฆ่าภิกษุผู้เป็นบิดา
- ภิกษุผู้เป็นหมอผีขับไล่ภูตผี ต้องการจะช่วยเหลือบุคคลผู้ถูกยักษ์เข้าสิง จึงเรียกยักษ์ให้ออกมาแล้วพูดว่า จงปล่อย ถ้ายักษ์ไม่ปล่อย อาจารย์หมอผีก็เอาแป้งหรือดินเหนียวทำเป็นรูปหุ่น แล้วตัดอวัยวะ มีมือและเท้าเป็นต้นเสีย อวัยวะใดๆ ของรูปหุ่นนั้นขาดไป อวัยวะนั้นๆ ของยักษ์ย่อมชื่อว่าเป็นอันหมอผีตัดแล้วเช่นกัน เมื่อศีรษะของรูปหุ่นถูกตัดยักษ์ก็ตาย ภิกษุหมอผีได้ฆ่ายักษ์ตายด้วยวิธีนี้จึงทรงปรับเป็นถุลลัจจัย ภิกษุแม้ท้าวสักกเทวราชก็ต้องถุลลัจจัยเหมือนกัน
       อนึ่ง หากภิกษุถูกผีสิง ภิกษุไม่ควรให้การประหารแก่ภิกษุผู้ถูกผีสิง แต่พึงเอาใบตาลหรือเส้นด้วยพระปริตรผูกไว้ที่มือหรือเท้า พึงสวดพระปริตรทั้งหลายมีรัตนสูตรเป็นต้น พึงกล่าวธรรมว่า ท่านอย่าเบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลเลย ดังนี้
- “หญิงหมัน” หญิงผู้ไม่ตั้งครรภ์ ชื่อว่า หญิงหมัน ธรรมดาหญิงไม่ตั้งครรภ์ย่อมไม่มี แต่ว่าครรภ์แม้ที่หญิงคนใดตั้งขึ้นแล้ว ไม่ดำรงอยู่ ข้อนี้ท่านกล่าวหมายเอาหญิงนั้น (ครรภ์ที่ไม่ดำรงอยู่) ได้ยินว่า ในคราวมีระดู หญิงทุกจำพวกย่อมตั้งครรภ์ แต่อกุศลวิบากมาประจวบเข้าแก่พวกสัตว์ผู้เกิดในท้องของหญิง ที่เรียกกันว่าเป็นหมันนี้ สัตว์เหล่านั้น (สัตว์ที่มาเกิดในครรภ) ถือปฏิสนธิมาด้วยกุศลวิบากเพียงเล็กน้อย ถูกอกุศลวิบากครอบงำจึงพินาศไป จริงอยู่ ในขณะปฏิสนธิใหม่ๆ นั่นเอง ครรภ์ตั้งอยู่ไม่ได้ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยลมและด้วยสัตว์เล็กๆ เพราะอานุภาพกรรม ลมพัด (ครรภ์) ให้แห้งแล้ว ทำให้อันตรธานไป หรือสัตว์เล็กๆ ทั้งหลายกัดกิน ทำให้ครรภ์อันตรธานไป เมื่อแพทย์ประกอบเภสัชเพื่อกำจัดลมและพวกสัตว์เล็กๆ นั้นแล้ว ครรภ์ก็พึงตั้งอยู่ได้ แต่ภิกษุนั้นไม่ได้ปรุงเภสัชขนานนั้น ได้ให้เภสัชที่ร้ายแรงขนานอื่น นางได้ตายไปเพราะเภสัชขนานนั้น พระองค์ทรงปรับอาบัติทุกกฎ เพราะภิกษุปรุงเภสัช

๑๗. “ภิกษุไม่ควรทำยาแก่คนอื่น แต่ควรทำให้สหธรรมิกทั้ง ๕”
ภิกษุไม่ควรทำเภสัชแก่คนอื่นๆ หากทำต้องทุกกฎ แต่ควรทำให้แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี เพราะทั้ง ๕ นี้ เป็นผู้มีศีล มีศรัทธาและปัญญาเสมอกัน ทั้งประกอบในไตรสิกขาด้วย ภิกษุจะไม่ทำเภสัชให้ย่อมไม่ได้ และเมื่อจะทำ ถ้าสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้นมีอยู่ พึงถือเอาสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้นปรุงให้ ถ้าไม่มีควรเอาของๆ ตนทำให้ ถ้าของตนก็ไม่มี พึงแสวงหาด้วยภิกขาจารวัตร หรือจากที่แห่งญาติและคนปวารณา, เมื่อไม่ได้ควรนำสิ่งของมาทำให้แม้ด้วยการไม่ทำวิญญัติ เพื่อประโยชน์แก่คนไข้
- และควรทำยาให้แก่คน ๕ จำพวกอื่นอีก คือ มารดา ๑ บิดา ๑ คนบำรุงมารดาบิดา ๑ ไวยาจักรของตน ๑ คนปัณฑุปลาส ๑
       คนผู้ที่ชื่อว่า ปัณฑุปลาส ได้แก่ คนผู้เพ่งบรรพชา ยังอยู่ในวิหารตลอดเวลาที่ยังตระเตรียมบาตรและจีวร บรรดาชน ๕ จำพวกเหล่านั้น ถ้ามารดาและบิดาเป็นใหญ่ ไม่หวังตอบแทนจากบุตรไซร้ ภิกษุผู้เป็นบุตรจะไม่ทำให้ก็ควร แต่ถ้าท่านทั้ง ๒ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ยังหวังตอบแทนอยู่ จะไม่ทำ ไม่ควร เมื่อท่านทั้ง ๒ หวังเภสัช ควรให้เภสัช เมื่อท่านทั้งสองไม่รู้วิธีประกอบยา ควรประกอบยาให้ ควรแสวงหาเภสัชเพื่อประโยชน์แก่ชน ๕ จำพวก มีมารดาเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยนัยดังกล่าวในสหธรรมิก นั่นแล
       ก็ถ้าภิกษุนำมารดามาปรนนิบัติอยู่ในวิหารอย่างถูกต้อง พึงดูแลทุกอย่าง พึงให้ของเคี้ยวของบริโภคด้วยมือของตนเอง ส่วนบิดาพึงบำรุงทำกิจทั้งหลาย มีการให้อาบน้ำและการนวดเป็นต้น ด้วยมือตนเองเหมือนอย่างสามเณรฉะนั้น ชนเหล่าใดย่อมบำรุงดูแลมารดาและบิดาของภิกษุ ภิกษุควรทำเภสัชให้อย่างนั้นเหมือนกัน, คนผู้ที่ชื่อว่า ไวยาจักร ได้แก่ ผู้รับเอาค่าจ้างแล้ว ตัดฟืนในป่าหรือทำการงานอะไรๆ อย่างอื่น เมื่อเกิดเป็นโรคขึ้นแก่เขา ภิกษุควรทำเภสัชให้จนกว่าพวกญาติจะพบเห็น, ส่วนผู้ใดเป็นเพียงคนอาศัยภิกษุทำการงานทุกอย่าง ภิกษุควรทำเภสัชให้แก่คนคนนั้นเหมือนกัน พึงปฏิบัติแก่ปัณฑุปลาสเหมือนกับปฏิบัติต่อสามเณร
- ภิกษุควรทำยาให้แก่คนอีก ๑๐ จำพวก คือ พี่ชาย ๑ น้องชาย ๑ พี่หญิง ๑ น้องหญิง ๑ น้าหญิง ๑ ป้า ๑ อาชาย ๑ ลุง ๑ อาหญิง ๑ น้าชาย ๑
       ก็เมื่อจะทำให้แก่คน มีพี่ชายเป็นต้น ควรเอาเภสัชอันเป็นของคนเหล่านั้นปรุงให้ แต่ถ้าสิ่งของๆ คนเหล่านั้นไม่เพียงพอ และชนเหล่านั้นก็ขอร้องอยู่ว่า ท่านขอรับ โปรดให้พวกกระผมเถิด พวกกระผมจักถวายคืนแก่พระคุณท่าน ควรให้เป็นของยืม, หากพวกเขาไม่ขอร้อง ภิกษุควรพูดว่า อาตมามีเภสัชอยู่ พวกท่านจงถือเอาเป็นของยืมเถิด หรือควรทำความผูกใจไว้ว่า สิ่งของๆ คนเหล่านั้นจักมีเมื่อใด เขาจักให้เมื่อนั้น ดังนี้แล้วพึงให้ไป ถ้าเขาคืนให้ควรรับเอา ถ้าไม่คืน ไม่ควรทวง
       เว้นญาติ ๑๐ จำพวกเหล่านี้แล้ว ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น ก็เมื่อภิกษุใช้ให้ญาตินำจตุปัจจัยมาตราบเท่าจนถึง ๗ ชั่วเครือสกุลโดยสืบๆ กันมาแห่งบุตรของญาติ ๑๐ จำพวก มีพี่ชายเป็นต้น เหล่านั้น ไม่เป็นการทำวิญญัติ เมื่อเภสัชแก่ชนเหล่านั้นก็ไม่เป็นเวชกรรม หรือไม่เป็นอาบัติเพราะประทุษร้ายสกุล
       ถ้าพี่สะใภ้ น้องสะใภ้ หรือพี่เขย น้องเขย เป็นไข้ ถ้าเขาเป็นญาติ จะทำเภสัชให้ก็ควร ถ้าเขามิใช่ญาติพึงทำให้แก่พี่ชายและพี่หญิงด้วย สั่งว่า จงให้ในที่ปฏิบัติของพวกท่าน อีกอย่างหนึ่งพึงทำให้แก่บุตรของเขา ด้วยสั่งว่า จงให้แก่มารดาและบิดาของพวกเจ้าเถิด พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งปวงโดยอุบายนี้
       อันภิกษุ เมื่อจะใช้สามเณรทั้งหลายให้นำเภสัชมาจากป่า เพื่อประโยชน์แก่พี่สะใภ้ น้องสะใภ้ เป็นต้น ควรใช้พวกสามเณรที่เป็นญาติให้นำมา หรือพึงให้นำมาเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วจึงให้ไป แม้สามเณรผู้มิใช่ญาติเหล่านั้นก็ควรนำมา ด้วยหัวข้อวัตรว่า พวกเราจะนำมาถวายพระอุปัชฌาย์
       หากโยมมารดาและบิดาของพระอุปัชฌาย์เป็นไข้ มายังวิหารในขณะที่พระอุปัชฌาย์ไม่อยู่ สัทธิวิหาริกควรให้เภสัชอันเป็นของๆ พระอุปัชฌาย์ ถ้าไม่มี ควรบริจาคเภสัชของตนถวายพระอุปัชฌาย์ให้ไป เมื่อของๆ ตนก็ไม่มี ควรแสวงหาทำให้เป็นของๆ พระอุปัชฌาย์แล้วให้ไป โดยนัยดังกล่าวแล้ว ในการปฏิบัติต่อโยมมารดาและบิดาของสัทธิวิหาริก แม้พระอุปัชฌาย์ก็ควรปฏิบัติเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน ในอาจารย์และอันเตวาสิกก็นัยนี้
- ภิกษุควรทำยาให้แก่คน ๕ จำพวก คือ คนจรมา ๑  โจร๑  นักรบแพ้ ๑   ผู้เป็นใหญ่ ๑  คนที่พวกญาติสละเตรียมจะไป ๑    
       เมื่อพวกเขาเป็นไข้เข้าไปสู่วิหาร ภิกษุไม่หวังตอบแทน ควรทำเภสัชให้แก่คนทั้งหมดนั้น มีคนบางคนเป็นไข้ คนทั้งหลายเรียนขอเพื่อประโยชน์แก่ผู้เป็นไข้นั้นว่า ท่านขอรับ ขอพระคุณเจ้านำเภสัชให้ด้วยความวิสาสะเถิด ภิกษุไม่ควรให้ ทั้งไม่ควรทำลาย, ก็ถ้าพวกเขารู้สิ่งที่ควร เรียนถามว่า ท่านขอรับ เขาปรุงเภสัชอะไรแก้โรคชื่อโน้น? ภิกษุจะตอบว่า เขาเอาส่วนและสิ่งนี้ทำ ดังนี้ก็ควร, ก็ภิกษุถูกคฤหัสถ์เรียนถามอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ มารดาของกระผมเป็นไข้ ขอได้โปรดบอกเภสัชด้วยเถิด ดังนี้ไม่ควรบอก แต่ควรสนทนาถ้อยคำกันและกันว่า อาวุโส ในโรคชนิดนี้ของภิกษุชื่อโน้น เขาปรุงเภสัชอะไรแก้? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า เขาเอาสิ่งนี้และนี้ปรุงเภสัช ขอรับ ฝ่ายชาวบ้านฟังคำสนทนานั้นแล้วย่อมปรุงเภสัช แก่มารดา ข้อที่ภิกษุสนทนา (กันเอง) นั้น ย่อมควร

๑๘. “ว่าด้วยอนามัฏฐบิณฑบาต” (อาหารที่ภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา)
       ถามว่า อนามัฏฐบิณฑบาตควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร? แก้ว่า ควรให้แก่มารดาและบิดาก่อน, ก็หากว่าบิณฑบาตนั้นจะเป็นของมีราคาตั้งกหาปณะ ก็ไม่จัดว่าเป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป, ควรให้แก่คนที่บำรุงดูแลบิดามารดา ไวยาจักร คนปัณฑุปลาส
     บรรดาคนทั้ง ๔ สำหรับคนปัณฑุปลาสจะใส่ในภาชนะให้ก็ควร เว้นคนปัณฑุปลาสนั้นเสีย จะใส่ในภาชนะให้แก่คฤหัสถ์เหล่าอื่น แม้เป็นมารดาบิดาก็ไม่ควร, เพราะว่าเครื่องบริโภคของบรรพชิตตั้งอยู่ในฐานเป็นเจดีย์ (ที่เคารพ) ของพวกคฤหัสถ์
       อีกอย่างหนึ่ง อนามัฏฐบิณฑบาตนี้พึงให้แก่โจรผู้ลือชื่อบ้าง ทั้งแก่อิสรชน (ผู้เป็นใหญ่) บ้าง ผู้มาถึงเข้า เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่าชนเหล่านั้น แม้เมื่อไม่ให้ก็โกรธว่าไม่ให้ แม้เมื่อต้องให้ก็โกรธว่าให้ ของเป็นเดน ชนเหล่านั้นโกรธแล้วย่อมปลงจากชีวิตบ้าง ย่อมทำให้อันตรายแก่พระศาสนาบ้าง

๑๙. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดแต่กายกับจิต ๑ เกิดแต่วาจากับจิต ๑ เกิดแต่กายวาจากับจิต ๑ (ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า พรรณนาคุณแห่งความตายด้วยกายและวาจา และจิตคิดฆ่าให้ตาย) เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นอกุศลจิต เป็นทุกขเวทนา (โทสมูลจิต)


          คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)




น หิ เวเรน เวรานิ    สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ    เอส ธมฺโม สนนฺตโน ฯ ๕ ฯ
     แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้  เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
     มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร  นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

     At any time in this world, Hatred never ceases by haterd,
     But through non-hatred it ceases, This is an eternal law.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 13:24:37 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 18 สิงหาคม 2557 14:12:55 »

.


ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔)
ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก

เหล่าภิกษุอยู่จำพรรษาที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๔

    ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันซึ่งเคยเป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกันมา จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้นวัชชีชนบทที่ภิกษุอาศัยอยู่เกิดอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวขาย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์เป็นอยู่อย่างลำบากด้วยบิณฑบาต
     ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันว่า ด้วยอุบายใด พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียง ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต
     เกิดข้อเสนอหลายข้อ เช่น ไปช่วยคฤหัสถ์ทำกิจการต่างๆ เป็นทูตนำข่าวสาสน์ และวิธีกล่าวชมคุณวิเศษของกันและกัน
     ที่สุดตกลงใจร่วมกันว่า พวกเราจักกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ได้ยิน เช่นภิกษุรูปนี้กล่าวชมภิกษุรูปโน้นว่าได้ปฐมฌาน รูปนี้ได้ทุติยฌาน...เป็นพระโสดาบัน... พระสกทาคามี... พระอนาคามี... เป็นพระอรหันต์...
     ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าชมกันและกันให้คฤหัสถ์ได้ยินแล้ว ประชาชนพากันยินดีว่าเป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้วหนอ ที่มีภิกษุผู้มีคุณวิเศษทั้งหลายจำพรรษาอยู่ที่นี้ จึงพากันถวายโภชนะของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรดื่ม เป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นถึงความเป็นผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง อินทรีย์ผ่องใส ในขณะที่ภิกษุเหล่าอื่นซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น
     เมื่อออกพรรษาภิกษุทุกสารทิศพากันเข้าเฝ้าที่ป่ามหาวัน พระนครเวสาลี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่ของภิกษุทั้งหลาย จนมาถึงเหล่าภิกษุผู้จำพรรษาที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา


พุทธประเพณี
    พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสก็มี ทรงทราบอยู่ ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบแล้วไม่ตรัสถาม ย่อมตรัสถามสิ่งทีประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง (ครั้งนี้ตรัสถามเพื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบท)
     ภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทากราบทูลถึงความเป็นอยู่ทั้งหมด ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่นมีจริงหรือ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่มีจริง พระพุทธเจ้าข้า
     ทรงติเตียน เป็นต้นว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคมยังดีกว่าอันพวกเธอกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องไม่ดีเลย เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ความตาย แต่เบื้องหน้าหลังกายแตกตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้กล่าวชมกันและกัน ด้วยคุณอันไม่มีอยู่จริง พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก...


มหาโจร ๕ จำพวก
จากนั้น ทรงแสดงมหาโจร ๕ จำพวก คือ
๑. มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาให้บุรุษร้อยหนึ่งพันหนึ่งแวดล้อม แล้วเที่ยวเบียดเบียนคามนิยม ราชธานี ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยก็เป็นเช่นนี้ ย่อมปรารถนาว่าเมื่อไหร่หนอ เราจักมีภิกษุร้อยหนึ่งพันหนึ่งแวดล้อม เที่ยวจาริกไปให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ  บูชาถวายปัจจัย มีประการต่างๆ
๒. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้นว่า ตนรู้เอง ไม่มีศาสดาสอน นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๒
๓. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ (โจทว่าเป็นปาราชิกโดยไม่มีมูล) นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๓
๔. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก โลหะ มีด เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าสามัญ ดินเหนียว...นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๔
๕. ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่จริง อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย
     จากนั้น ทรงมีพระบัญญัติว่า...(กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่มีอยู่จริง เป็นปาราชิก)
     สมัยต่อมา ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่เข้าใจว่าได้บรรลุ ครั้นต่อมาจิตของพวกเธอกลับน้อมไปเพื่อความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลงอีก จึงรังเกียจว่า พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล...ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะกล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถน้อมเข้ามาใจตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นผู้ใดผู้หนึ่งถือตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว เมื่อมุ่งความหมดจดจะถึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
    - บทว่า ไม่รู้เฉพาะ คือ ไม่รู้ ไม่เห็น กุศลธรรมในตน ซึ่งไม่มี ไม่เป็นจริง ไม่ปรากฏว่าข้าพเจ้ามีกุศลธรรม
     - บทว่า อุตริมนุสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
     - บทว่า การอวด คือ บอกแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
     - บทว่า ความรู้ ได้แก่ วิชชา ๓, บทว่า ความเห็น อธิบายว่า อันใดเป็นความรู้ อันนั้นเป็นความเห็น อันใดเป็นความเห็น อันนั้นเป็นความรู้ (ความรู้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน)
     - บทว่า น้อมเข้ามาในตน ได้แก่ น้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้ามาในตน หรือน้อมตนเข้าไปในกุศลธรรมเหล่านั้น
     - คำว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ความว่า ข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้ามีธรรมเหล่านี้ และข้าพเจ้าเห็นชัดในธรรมเหล่านี้
     - บทว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น คือ เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุกล่าวอวดนั้นผ่านไปแล้ว
     - บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตาม คือ มีบุคคลเชื่อในสิ่งที่ภิกษุปฏิญาณแล้ว โดยถามว่า ท่านบรรลุอะไร ได้บรรลุด้วยวิธีใด เมื่อไร ที่ไหน ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ ท่านได้ธรรมหมวดไหน
     - บทว่า ไม่ถือเอาตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
     - บทว่า ต้องอาบัติแล้ว ความว่า ภิกษุผู้มีความอยากอันลามก อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก
     - บทว่า  มุ่งความหมดจด คือ ประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์ หรือประสงค์จะเป็นอุบาสก หรือประสงค์จะเป็นอารามิก หรือประสงค์จะเป็นสามเณร (คือ ไม่อาจดำรงอยู่ในภิกษุวาวะได้อีกต่อไป)
     - แม้ตอนหลังจะพูดว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวว่าเห็น ข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง พูดสิ่งที่ไม่มี ข้าพเจ้าไม่รู้ได้พูดแล้ว (ก็ไม่พ้นความเป็นปาราชิก) เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ คือยกเว้นภิกษุที่เข้าใจว่าตนได้บรรลุ
     -บทว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าตรัสเทียบถึงภิกษุรูปก่อนๆ (คือ พระสุทินน์ พระธนิยะ และภิกษุหลายรูปในสิกขาบทที่ ๑,๒,๓)
     - ที่ชื่อว่า อุตริมนุสธรรม ได้แก่ ธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์
       ๑. ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน (อรูปฌานจัดเป็นจตุตถฌาน)
       ๒. ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
       ๓. ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
       ๔. ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปหิตสมาบัติ
       ๕. ที่ชื่อว่า ณาณ ได้แก่ วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ, จุตูปปาตญาณ, อาสวักขยญาณ)
       ๖. ที่ชื่อว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
       ๗. ที่ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล
       ๘. ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
       ๙. ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ
     ๑๐. ที่ชื่อว่า ความยินดีในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมญาณ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาน


อาบัติ
    ๑. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌาน...ข้าพเจ้าเข้าปฐมญานแล้ว...เข้าปฐมฌานอยู่...ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญปฐมฌาน...ปฐมฌานข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๒. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๓. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สุญญตวิโมกข์...ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์...ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์อยู่...ต้องปาราชิก
     ๔. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อนิมิตตวิโมกข์...อัปปณิหิตวิโมกข์...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๕. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สุญญตสมาธิ...อนิมิตตสมาธิ ...อัปปณิหิตสมาธิ...สุญญตสมาบัติ...อนิมิตตสมาบัติ...อัปปณิหิตสมาบัติ... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๖. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ จุตูปปาตญาณ ๑ อาสวักขยญาณ๑) ข้าพเจ้าเข้าวิชชา ๓...ข้าพเจ้าทำให้แจ้งวิชชา ๓ แล้ว...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๗. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สติปัฏฐาน ๔...สัมมัปปธาน ๔...อิทธิบาท ๔...อินทรีย์ ๕...พละ ๕...โพชฌงค์ ๗...อริยมรรคมีองค์ ๘...ต้องอาบัติปาราชิก (ธรรมทั้ง ๗ นี้ ชื่อโพธิปักขิยธรรมซึ่งประกอบพร้อมในโลกุตตรมรรค)
     ๘. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้โสดาปัตติผล...สกทาคามิผล...อนาคามิผล...อรหัตผล... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๙. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ราคะข้าพเจ้าละแล้ว...โทสะข้าพเจ้าละแล้ว...โมหะข้าพเจ้าละแล้ว...ต้องอาบัติปาราชิก
    ๑๐. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า จิตของข้าพเจ้าเปิดจากราคะ...เปิดจากโทสะ...เปิดจากโมหะ...ต้องอาบัติปาราชิก
    ๑๑. ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌาน... เมื่อเขาเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก หากเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย
    ๑๒. ภิกษุรู้อยู่ประสงค์จะกล่าวอวดอย่างหนึ่ง แต่กลับกล่าวอวดอีกอย่างหนึ่ง หากผู้ฟังไม่เข้าใจต้องอาบัติปาราชิก หากเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย
    ๑๓. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเข้าแล้ว เข้าอยู่ เข้าได้แล้ว ทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๔. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ภิกษุใดนุ่งห่มจีวรของท่าน...บริโภคบิณฑบาตของท่าน...ใช้สอยเสนาสนะของท่าน...บริโภคเครื่องยาอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ของท่าน...ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เมื่อเขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย...เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวเท็จว่า ท่านอาศัยภิกษุแล้ว ได้ถวายวิหาร...จีวร...บิณฑบาต...เภสัชบริขาร...ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เมื่อเขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย...เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะกล่าวอวด ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
    ๑. ภิกษุรูปหนึ่งอวดอ้างคุณวิเศษด้วยสำคัญว่าได้บรรลุแล้ว เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะสำคัญได้บรรลุ
     ๒. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ป่าด้วยตั้งใจว่า คนจักยกย่องเราด้วยวิธีนี้ คนได้ยกย่องเธอแล้ว เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุไม่พึงอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า อาวุโส พวกภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ของพวกเราล้วนเป็นพระอรหันต์ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะพูดอวด ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
     ๔. ภิกษุรูปหนึ่งเดินจงกรมอยู่ด้วยตั้งใจว่า ด้วยวิธีนี้คนจักยกย่องเรา เธอมีความรังเกียจ...จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุไม่พึงเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๕. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่ลับ พูดอวดอุตริมนุสธรรม ภิกษุผู้รู้จิตของบุคคลอื่นตักเตือนเธอว่า อาวุโส คุณอย่าได้พูดเช่นนั้น เพราะธรรมเช่นนั้นไม่มีแก่คุณ ภิกษุนั้นมีความรังเกียจจึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๖. ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พากันถามว่า อุตริมนุสธรรมของคุณมีหรือ ภิกษุนั้นตอบรับว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย การทำให้แจ้งอรหัตตผล ไม่ใช่ของทำได้ยาก เธอมีความรังเกียจ...จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุนั้นทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
     ๗. พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมาแล้วได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลาย จงนั่งเถิดเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ พวกเธอจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงกราบทูล... ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติเพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
     ๘. ภิกษุรูปหนึ่งพูดอวดอุตริมนุสธรรมแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แม้ภิกษุรูปนั้นก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส แม้ผมก็ละอาสวะได้แล้ว มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๒/๖๐๕/๖๖๔ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมสฺส ได้แก่ ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์ไป อธิบายว่า ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์ไปให้ลุถึงความเป็นพรหมหรือพระนิพพาน อีกอย่างหนึ่งได้แก่ ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง คือ บุรุษผู้ประเสริฐสุด ซึ่งเป็นผู้ได้ฌานและเป็นพระอริยเจ้า, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่งคือ ท่านผู้ได้ฌานและพระอริยเจ้าทั้งหลาย
๒. ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันว่า เราควรช่วยอำนวยกิจการและการเป็นทูตนำข่าวสาสน์ให้แก่พวกคฤหัสถ์ แต่กิจทั้งสองนี้มีการแข่งดีกันมาก ทั้งเป็นของไม่สมควรแก่สมณะ ส่วนข้อที่พวกเราพากันกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้แล เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญกว่า คือ ยอดเยี่ยมกว่า ดีกว่ากิจทั้งสองนั้นเป็นไหนๆ พวกเราจักกล่าวชมกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ผู้ถามถึงหรือผู้มิได้ถามถึงอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อพุทธรักขิตได้ปฐมฌาน ท่านธรรมรักขิตได้ทุติยฌาน ดังนี้เป็นต้น
๓. โดยที่แท้ ภัณฑะที่จัดเป็นครุภัณฑ์ (ของสงฆ์) ก็เพราะเป็นของที่ไม่ควรจำหน่าย โดยมีพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัณฑะ ๕ หมวดนี้ ไม่ควรจำหน่าย, สงฆ์ หรือคณะ หรือบุคคล แม้จำหน่ายไปก็ไม่เป็นอันจำหน่าย ภิกษุใดจำหน่าย (ขาย, แจก, ให้) ปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ภิกษุนั้น ภัณฑะ ๕ หมวดคืออะไรบ้าง คือ อาราม อารามวัตถุ ฯลฯ ภัณฑะไม้ ภัณฑะดิน บริขารที่จัดเป็นครุบริขาร โดยความเป็นบริขารสาธารณะเพราะเป็นของไม่ควรแจก ดังนี้เป็นต้น (วินย.จุล.ข้อ ๒๙๒) ภิกษุให้ครุภัณฑ์ ครุบริขาร มีอารามเป็นต้นเหล่านั้นสงเคราะห์แก่คฤหัสถ์ จัดเป็นมหาโจรพวกที่ ๔ ก็แลภิกษุนั้น เมื่อจำหน่ายครุภัณฑ์นี้เพื่อสงเคราะห์สกุล ย่อมต้องอาบัติกุลทูสกทุกกฎด้วย (ดูสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓) ย่อมเป็นผู้ควรแก่ปัพพาชนีกรรมด้วย เมื่อจำหน่ายด้วยความเป็นผู้มีความเป็นใหญ่เหนือภิกษุสงฆ์ย่อมต้องถุลลัจจัย เมื่อจำหน่ายด้วยไถยจิตพึงให้ตีราคาสิ่งของปรับอาบัติแล
๔. ภิกษุที่ลักฉ้อโลกุตตรธรรมซึ่งสุขุมละเอียดนัก เป็นไปล่วงการถือเอาด้วยอินทรีย์ ๕ (มีตาและหู เป็นต้น) นี้จัดเป็นโจรใหญ่ที่สุดของมหาโจรเหล่านี้
       ถามว่า โลกุตตรธรรม บุคคลอาจลวงคือลักฉ้อเอาเหมือนมีทรัพย์มีเงินแลทองเป็นต้นได้หรือ? ตอบว่า ไม่อาจ ด้วยเหตุนั้นแลจึงตรัสว่า ภิกษุใดกล่าวอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง ภิกษุนี้ย่อมกล่าวอวดธรรมที่ไม่มีอยู่ในตนอย่างเดียวว่าธรรมนี้ของเรามีอยู่ แต่ไม่อาจให้อุตริมนุสธรรมนั้นเคลื่อนเข้ามาสู่ตนได้
       ถามว่า เมื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไรจึงกล่าวว่าเป็นโจรเล่า? ตอบว่า เพราะว่าภิกษุนี้กล่าวอวดแล้วถือเอาปัจจัยที่เกิดขึ้นเพราะการอวดคุณที่ไม่มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเป็นอันเธอผู้ถือเอา (ด้วยการอวดธรรมที่ไม่มีอยู่) อย่างนั้น ล่อบวง คือ ลักฉ้อเอาด้วยอุบายอันสุขุม ด้วยเหตุนี้จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอันภิกษุนั้นฉันแล้วด้วยความเป็นขโมย”
       เมื่อภิกษุนั้นผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นต้นเลย กลับแสดงว่าเป็นพระอรหันต์เป็นต้น ฉันโภชนะที่ตนได้มา โภชนะที่ฉันแล้วนั้น เธอฉันแล้วด้วยความเป็นขโมย เพราะเธอฉันโภชนะที่ตนล่อลวงมนุษย์ทั้งหลายได้มา เปรียบเหมือนนายพรานนกผู้มีเครื่องปกปิด (ปลอมเป็นต้นไม้) ล่อ คือ ลวงจับนก ฉะนั้น ก็ภิกษุเหล่าใด เมื่อไม่รู้อำนาจแห่งประโยชน์นี้ ย่อมฉันด้วยอาการแห่งขโมยนั้น ย่อมเข้าถึงนรกเพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม, อาชีพ (หลอกลวงอวดคุณ) นี้จัดเป็นมิจฉาชีพขั้นสุดยอดแล
๕. ก็ความสำคัญว่าได้บรรลุนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ใคร? ไม่เกิดขึ้นแก่ใคร?
       ตอบว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก เพราะพระอริยสาวกนั้นมีโสมนัสเกิดขึ้นแล้วด้วยญาณ เป็นเครื่องพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีความสงสัยในการแทงตลอดอริยคุณ เพราะเหตุนั้นมานะ (ความถือตัวผิดๆ) จึงไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก เป็นต้นว่า พระโสดาบัน ย่อมไม่ถือตนว่าเราเป็นพระสกทาคามีเป็นต้น ก็เพราะเป็นผู้มีปัญญาแทงตลอดสัจจรรมได้แล้ว, และไม่เกิดขึ้นแก่คนทุศีล ก็เพราะคนทุศีลย่อมเป็นผู้หมดหวังในการบรรลุอริยคุณสิ้นเชิง, ทั้งไม่เกิดแก่ผู้มีศีล ซึ่งสละกรรมฐานเสีย แล้วประกอบในความเกียจคร้าน ยินดีในความหลับนอน เป็นต้น, แต่จะกำหนดนามรูป จับปัจจัยแห่งนามรูปได้ ยกไตรลักษณ์ขึ้นพิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ ผู้ที่สำคัญว่าได้บรรลุย่อมพักวางสมถะหรือวิปัสสนาเสียกลางคัน เพราะคิดว่าเราได้บรรลุอริยคุณแล้ว เนื่องจากไม่เห็นความเกิดขึ้นแห่งกิเลสของตน ตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐-๓๐ ปีบ้าง ย่อมเข้าใจว่าเป็นพระโสดาบันหรือเราเป็นพระสกทาคามี เราเป็นพระอนาคามี หรือเราเป็นพระอรหันต์บ้าง
       สรุปว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุย่อมเกิดแก่บุคคลผู้เจริญสมถะหรือวิปัสสนา ดังนี้
       - บทว่า อนภิชานํ ได้แก่ ไม่รู้เฉพาะ ไม่รู้จริง ไม่ได้ทำให้แจ้งด้วยญาณ กล่าวอวดอยู่
       - บทว่า อตฺตูปนายิกํ ได้แก่ การน้อมอุตริมนุสธรรมนั้นเข้ามาในตน เมื่ออวดว่า ข้าพเจ้าย่อมปรากฏในธรรมเหล่านี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าน้อมตนเข้าไปในธรรมเหล่านั้น มีฌานเป็นต้น
       - คำว่า อลมริยญาณทสฺสนํ พึงทราบอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่ารู้, ชื่อว่า ทัสสนะ เพราะอรรถว่าเห็น เพราะกระทำซึ่งธรรมให้เป็นประดุจเห็นด้วยจักษุ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ญาณทัสสนะ, ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ คือ อย่างบริสุทธิ์หมดจด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อริยญาณทัสสนะ, ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ คือ แกล้วกล้า สามารถกำจัดกิเลส มีอยู่ในอุตริมนุสธรรมต่างประเภท มีญาณเป็นต้นนี้, แต่ในบทว่า ญาณํ นี้ ปัญญาทั้งหมดที่เป็นมหัคคตะ (ญาณ) และโลกุตตระ (มีปัญญาในโสดาปัตติมรรค เป็นต้น) พึงทราบว่าชื่อ ญาณ
       - บทว่า สมุทาจเรยฺย ความว่า พึงอวดอุตริมนุสธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ทำให้น้อมเข้ามาในตน
       ภิกษุกล่าวอวดแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ย่อมเป็นอันอวด, เมื่ออวดแก่เทวดา มาร พรหม หรือแม้แก่เปรต ยักษ์ และสัตว์ดิรัจฉาน หาเป็นอันอวดไม่
       คำว่า “ครั้นสมัยอื่นแต่สมัยนั้น” แสดงถึงสมัยที่ปฏิญญาว่าเป็นอาบัติ ภิกษุนี้ต้องปาราชิกในขณะที่อวดทีเดียว และเธอต้องอาบัติแล้ว ถูกภิกษุอื่นโจทก็ตาม ไม่ถูกโจทก็ตาม ย่อมปฏิญญา เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า เธออันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม
๖. “เหตุที่ให้เชื่อถือมีฐานะ ๖ อย่าง” พึงทราบข้อวินิจฉัยในความเชื่อก่อน คือ
       (๑) ข้อว่า ท่านได้บรรลุอะไร? เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้บรรลุ อธิบายว่า บรรดาคุณธรรม มีฌานและวิโมกข์เป็นต้น หรือบรรดามรรคมีโสดปัตติมรรคเป็นต้น ท่านได้บรรลุอะไร?
       (๒) ข้อว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีอะไร? เป็นคำถามถึงอุบาย มีอธิบายดังนี้ คือ ท่านทำอนิจจลักษณะให้เป็นธุระแล้ว จึงได้บรรลุ? หรือท่านทำบรรดาทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นธุระแล้ว จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจสมาธิ หรือตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจวิปัสสนา จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วในรูปธรรมหรือตั้งมั่นแล้วในอรูปธรรม จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายใน หรือตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายนอก จึงได้บรรลุ?
       (๓) ข้อว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? เป็นคำถามถึงกาล อธิบายว่า ในบรรดากาลเช้าและเที่ยงเป็นต้น กาลใดกาลหนึ่ง
       (๔) ข้อว่า ท่านได้บรรลุที่ไหน? เป็นคำถามถึงโอกาส อธิบายว่า ในโอกาสไหน? คือในที่พักกลางคืน ในที่พักกลางวัน ที่โคนไม้ ที่มณฑป หรือในวิหารหลังไหน?
       (๕) ข้อว่า ท่านละกิเลสเหล่าใดได้? เป็นคำถามถึงกิเลสที่ละได้แล้ว อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายที่มรรคจำพวกไหนฆ่า ท่านละได้แล้ว?
       (๖) ข้อว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้แล้ว อธิบายว่า บรรดามรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ท่านได้ธรรมเหล่าไหน?
       เพราะฉะนั้น ในบัดนี้ถ้าแม้ภิกษุรูปใดๆ พึงพยากรณ์การบรรลุอุตริมนุสธรรม เธออันใครๆ ไม่ควรสักการะด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ก่อน แต่เธอควรถูกทักท้วง เพื่อสอบสวนให้ขาวสะอาดในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ว่า ท่านได้บรรลุอะไร? คือว่าท่านได้บรรลุฌาน หรือได้บรรลุบรรดาวิโมกข์เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ? จริงอยู่ ธรรมที่บุคคลใดได้บรรลุแล้ว ย่อมปรากฏแก่บุคคลนั้น ถ้าเธอกล่าวว่าข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมชื่อนี้ ลำดับนั้นควรสอบถามเธอว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีอะไร? คือควรซักถามว่าท่านทำอะไร ในบรรดาไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ให้เป็นธุระหรือตั้งมั่นอยู่ด้วยหัวข้อ (กรรมฐาน) อะไรจึงได้บรรลุ ถ้าภิกษุกล่าวว่า ความตั้งมั่นของข้าพเจ้ามีอยู่ ข้าพเจ้าได้บรรลุด้วยวิธีดังนี้ ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? คือควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในเวลาเช้า หรือในเวลาเที่ยงเป็นต้น เวลาใดเวลาหนึ่งหรือ? ความจริงกาลที่ตนได้บรรลุย่อมเป็นของปรากฏแก่ชนทุกจำพวก (ที่ได้บรรลุจริง)
       ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในกาลชื่อโน้น ลำดับนั้นควรสอบถามดูว่าท่านได้บรรลุที่ไหน? คือควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในที่พักกลางวัน หรือในบรรดาที่พักกลางคืนเป็นต้น โอกาสใดโอกาสหนึ่งหรือ? ความจริงโอกาสที่ตนได้บรรลุย่อมปรากฏแก่ชนทุกจำพวก ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในโอกาสชื่อนั้น ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ คือ ควรซักถามเธอว่า กิเลสทั้งหลายที่พระโสดาปัตติมรรคพึงฆ่า หรือที่สกทาคามิมรรคเป็นต้น พึงฆ่า ท่านละได้แล้ว? ถ้าภิกษุกล่าวว่ากิเลสชื่อเหล่านี้ข้าพเจ้าได้ละแล้ว ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? คือ ควรซักถามเธอดูว่า ท่านได้โสดาปัตติมรรค หรือได้บรรดามรรค มีสกทาคามิมรรคเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ? ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ธรรมชื่อเหล่านี้ ไม่ควรเชื่อถือคำพูดของเธอ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ เพราะภิกษุที่เป็นพหูสูต เป็นผู้ฉลาดในการเรียนและการสอบถาม เธอย่อมสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
๗. “สอบสวนดูที่ปฏิปทา”
       ควรสอบสวนภิกษุผู้อ้างว่าได้บรรลุที่อาคมนปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นเหตุมาแห่งมรรค) ถ้าข้อปฏิบัติเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ (ไม่สอดคล้องกับหลักที่ทรงสอน) ภิกษุทั้งหลายควรกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าโลกุตตรธรรม ท่านจะไม่ได้ด้วยปฏิปทานี้ แล้วนำเธอออกไปเสีย
       แต่ถ้าอาคมนปฏิปทาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์ ถ้าภิกษุนั้นปรากฏในปฏิปทานั้นว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในไตรสิกขา ทั้งหมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดราตรีนาน ไม่ข้องอยู่ในปัจจัยทั้ง ๔ คำพยากรณ์ของภิกษุนั้นย่อมเทียบเคียงกับข้อปฏิบัติได้ คือ เป็นเช่นกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า นี้แม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมุนา เทียบเคียงกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ปฏิปทาที่ให้ถึงพระนิพพานอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงบัญญัติดีแล้วแก่สาวกทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งพระนิพพานและปฏิปทาเทียบเคียงกันได้
       อีกอย่างหนึ่ง สักการะอันใครๆ ไม่ควรทำ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ เพราะว่าแม้ภิกษุผู้เป็นปุถุชนบางรูปก็มีปฏิปทาเป็นเหมือนข้อปฏิบัติของพระขีณาสพ เพราะฉะนั้นภิกษุรูปนั้นอันใครๆ พึงทำให้หวาดสะดุ้งได้ด้วยอุบายนั้นๆ เช่น พระขีณาสพ แม้เมื่ออสนีบาตผ่าลงบนกระหม่อมก็หามีความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือขนพองสยองเกล้าไม่ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้สำคัญว่าได้บรรลุนั้น เธออันภิกษุทั้งหลายกล่าวเตือนว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วพึงนำออกเสีย (ให้ท่านรู้ว่าท่านเข้าใจผิด) แต่ถ้าภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาดเสียว เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ย่อมนั่งนิ่งเหมือนราชสีห์ ฉะนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีการพยากรณ์อย่างสมบูรณ์ ย่อมควรรับสักการะที่พระราชาและราชอำมาตย์เป็นต้น ส่งไปถวายโดยรอบ ฉะนี้แล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 สิงหาคม 2557 14:25:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 18 สิงหาคม 2557 14:20:38 »

.
๘. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว เป็นผู้ไม่ควรดำรงอยู่ในความเป็นภิกษุ เพราะหากยังดำรงอยู่ย่อมอันตรายต่อการบรรลุฌาน เป็นอันตรายต่อสวรรค์ เป็นอันตรายต่อมรรค สมดังที่ตรัสไว้ว่า “คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลจับต้องไม่ดี ย่อมฉุดคร่าเขาไปในนรก” หรือ “เพราะว่าสมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน ก็ยิ่งเกลี่ยธุลีลง” ดังนี้ ความเป็นภิกษุของเธอย่อมชื่อว่าเป็นของไม่บริสุทธิ์
       ภิกษุผู้ต้องปาราชิก (ควรลาสิกขา) เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นอุบาสก เป็นอารามิกะ หรือเป็นสามเณร ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อยังทางสวรรค์ให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีทาน สรณะ ศีล และสังวรเป็นต้น หรือยังทางพระนิพพานให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีฌานและวิโมกข์เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ความเป็นคฤหัสถ์เป็นต้นของเธอ จึงชื่อว่าเป็นความบริสุทธิ์
๙. ในคำว่า ปฐมชฺฌานํ เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ อัปปมัญญาฌาน มีเมตตาเป็นต้นก็ดี อสุภฌานเป็นต้นก็ดี อานาปานัสสติสมาธิฌานก็ดี โลกิยฌานก็ดี โลกุตตรฌานก็ดี สงเคราะห์เข้าในปฐมฌานเป็นต้นนั่นแล เพราะเหตุนั้นภิกษุอวดว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าจตุถฌานแล้วก็ดี อวดว่า ข้าพเจ้าเข้าเมตตาฌานก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอุเบกขาธานก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอสุภฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอานาปานัสสติสมาธิฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเขาโลกียฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าโลกุตตรฌานแล้วก็ดี พึงทราบว่าเป็นปาราชิกทั้งนั้น
       - อริยมรรคที่พ้นด้วยดีหรือที่พ้นจากกิเลสมีอย่างต่างๆ เพราะฉะนั้น อริยมรรคนั้นจึงชื่อว่าวิโมกข์ ก็วิโมกข์นี้นั้น ท่านเรียกว่า สุญญตวิโมกข์ เพราะว่างเปล่าจากราคะ โทสะ และโมหะ, ท่านเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีนิมิต ด้วยนิมิต คือ ราคะ โทสะ โมหะ, ท่านเรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ, ธรรมชาติที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ตั้งจิตไว้เสมอ คือ ตั้งจิตไว้ในอารมณ์, ที่ชื่อว่า สมาบัติ เพราะเป็นธรรมชาติที่พระอริยเจ้าทั้งหลายพึงเข้า, ภิกษุถือเอาบท บทหนึ่งบทเดียว กล่าวว่าข้าพเจ้ามีปกติได้... นี้ย่อมเป็นปาราชิกแท้
๑๐. “ภิกษุผู้มีความประสงค์จะกล่าว” ตรัสห้ามเพื่อกันโอกาสของปาปบุคคลผู้แสวงหาช่อง ปจฺจกฺขมิ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้บอกลาสิกขาแล้ว เพราะบทเหล่านั้นหยั่งลงในเขตฉันใดแล ข้อนี้ก็ฉันนั้น ภิกษุผู้ใคร่จะกล่าวบทหนึ่งบทเดียวจากบรรดาบทอุตริมนุสธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น แม้เมื่อกล่าวบทใดบทหนึ่งอย่างอื่นจากบทนั้น ย่อมเป็นปาริชิกทีเดียว เพราะบทนั้นหยั่งลงในเขตแห่งสิกขาบท แม้ถ้าเธอกล่าวแก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมรู้ความนั้นในขณะนั้นทันที
       ก็แลลักษณะแห่งการรู้ในการอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในการบอกลาสิกขานั้นแล แต่ความแปลกกันมีดังต่อไปนี้
      การบอกลาสิกขา ย่อมไม่ถึงความสำเร็จด้วยหัตถมุทธา (ไม่สำเร็จได้ด้วยการกระดิกหัวแม่มือ)  อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงนี้ ย่อมหยั่งลงสู่ความสำเร็จได้ด้วยหัตถมุธา คือ ภิกษุใดอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงด้วยความเคลื่อนไหวแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ มีหัตถวิการ (แกว่งมือ) เป็นต้น แก่บุคคลผู้ยืนอยู่ในคลองแห่งวิญญัติ (แก่คนที่จะรู้ จะเห็น จะเข้าใจ) และบุคคลนั้นรู้ในความนั้นได้ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิกแท้, แต่ถ้าเธอบอกแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่เข้าใจหรือถึงความสงสัยว่าภิกษุนี้พูดอะไร? หรือพิจารณานานจึงรู้ในภายหลัง ย่อมถึงความนับว่าเป็นผู้ไม่เข้าใจทันทีเหมือนกัน เมื่อภิกษุบอกแก่บุคคลผู้ไม่เข้าใจทันทีอย่างนั้นเป็นถุลลัจจัย
       ส่วนบุคคลใดไม่รู้จักอุตริมนุสธรรมมีฌานเป็นต้นด้วยตนเอง ด้วยอำนาจการได้บรรลุ หรือด้วยอำนาจการเรียนและการสอบถามเป็นต้น ได้ยินแต่เพียงคำว่า ฌาน หรือวิโมกข์ อย่างเดียวเท่านั้น บุคคลเช่นนี้ เมื่อภิกษุนั้นบอกแล้ว ถ้ารู้ได้แม้เพียงว่า “ได้ยินว่า ภิกษุนี้กล่าวว่า เราเข้าฌานแล้ว” ดังนี้ ย่อมถึงความนับว่ารู้เหมือนกัน ภิกษุบอกแก่บุคคลเช่นนี้เป็นปาราชิกแท้
๑๑. "ว่าด้วยปัจจัยปฏิสังยุตต์” ภิกษุใดกล่าวโดยอ้อมอย่างนี้ว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน, วิหารของท่านอันภิกษุใดอยู่แล้ว, ท่านอาศัยภิกษุใดจึงได้ถวายวิหาร; เพราะเธอไม่ได้กล่าวว่า “เรา” เมื่อภิกษุกล่าวอวดอุตริมนุสธรรมแก่บุคคลผู้เข้าใจทันทีจึงเป็นถุลลัจจัย กล่าวอวดแก่บุคคลผู้ไม่เข้าใจทันทีจึงเป็นทุกกฎ
       - ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน, บริโภคจีวรของท่าน, ฉันบิณฑบาตของท่าน, ใช้สอยเสนาสนะของท่าน, บริโภคคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของท่าน พึงทราบคำอธิบายอย่างนั้นเหมือนกัน
๑๒. “ว่าด้วยอนาบัติ”
      ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อวดด้วยสำคัญว่าตนได้บรรลุ;  ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มิได้ตั้งอยู่ในอิจฉาจาร (ความประพฤติลามกมากด้วยความปรารถนา) ความเป็นผู้หลอกลวง เพราะไม่ประสงค์จะอวด, ภิกษุเป็นบ้า และพวกภิกษุผู้จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา (อาทิกัมมิกะ)
๑๓. “ตัวอย่าง”
       เมื่อภิกษุคิดว่า จักอยู่ในป่าเพื่อให้คนยกย่อง เดินไปด้วยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักอยู่ในป่า เป็นทุกกฎในทุกๆ ย่างเท้า ในกิจทั้งปวงมีการสร้างกุฎี เดินจงกรม นั่ง และนุ่งห่มเป็นต้นในป่า เป็นทุกกฎทุกๆ กิจที่ทำ เพราะเหตุนั้นภิกษุไม่ควรอยู่ในป่าด้วยความตั้งใจอย่างนั้น เมื่ออยู่ด้วยความตั้งใจอย่างนั้นจะได้รับความยกย่องหรือไม่ก็ตาม ย่อมต้องทุกกฎ
       ส่วนภิกษุใด สมาทานธุดงค์แล้วคิดว่าจักรักษาธุดงค์ หรือว่าเมื่อเราพักอยู่ในแดนบ้านจิตย่อมฟุ้งซ่าน ป่าเป็นที่สบาย ดังนี้ จึงเป็นผู้มีความประสงค์จะอยู่ในป่าอันหาโทษมิได้ ด้วยทำความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบรรลุบรรดาวิเวกทั้ง ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งในป่าแน่แท้ ดังนี้ก็ดี ว่าเราเข้าไปสู่ป่าหากยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจักไม่ออกมา ดังนี้ก็ดี ชื่อว่าการอยู่ป่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ และเมื่อเราพักอยู่ในป่า เพื่อนพรหมจารีมากหลาย จักละทิ้งแดนบ้านแล้วอยู่ป่าเป็นวัตร ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่า
       - ภิกษุวางท่าเดินบิณฑบาตหมายให้คนยกย่อง เป็นทุกกฎทุกๆ    ครั้งที่เคลื่อนไหวไป ตั้งแต่การนุ่งห่ม เพราะตั้งใจว่า เราจักวางอิริยาบถ มีการก้าวเป็นต้น เที่ยวบิณฑบาต จนกระทั่งถึงการขบฉันเป็นที่สุด เธอจะได้รับการยกย่องหรือไม่ก็ตาม เป็นทุกกฏทั้งนั้น
       - แต่ภิกษุผู้เข้าไปบิณฑบาตด้วยอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส มีการก้าวไปและถอยกลับ เป็นต้น เพื่อบำเพ็ญขันธกวัตรและเสขิยวัตรให้บริบูรณ์ หรือเพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เป็นผู้อันวิญญูชนทั้งหลายไม่ถึงติเตียนแล
๑๔. ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดจากกายกับจิตของภิกษุอวดอยู่ด้วยหัวแม่มือ ๑ เกิดแต่วาจากับจิตของภิกษุผู้อวดด้วยการเปล่งวาจา ๑ เกิดแต่กายวาจากับจิตของภิกษุผู้ทำอยู่ทั้ง ๒ อย่าง ๑ เป็นสจิตตกะ, เป็นโลกวัชชะ, เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นอกุศลจิต (โลภมูลจิต)
๑๕. พึงทราบว่า ปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้) มีอยู่ ๒๔ อย่าง คือ
       ๑-๘ ได้แก่ ปาราชิกของภิกษุ ๔ ปาราชิกของภิกษุณี ๔
       ๙ บัณเฑาะก์  ๑๐. สัตว์ดิรัจฉาน  ๑๑. อุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ)
       ทั้ง ๓ จำพวกนี้เป็นพวกอเหตุกปฏิสนธิ จัดเป็นพวกวัตถุวิบัติ ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรค (ไม่สามารถรู้แจ้งอริยมรรคได้) บัณเฑาะก์เป็นต้นนี้ จัดเป็นอภัพพบุคคล การบรรพชาของพวกเขาก็ทรงห้ามไว้ เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นผู้พ่ายแพ้ (ปาราชิก)
      ๑๒. คนลักเพศ  ๑๓. ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์  ๑๔. คนฆ่ามารดา  ๑๕. คนฆ่าบิดา
       ๑๖. คนฆ่าพระอรหันต์  ๑๗. สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี  ๑๘. คนทำโลหิตุปบาท
       ๑๙. ภิกษุผู้ทำสังฆเภท
       ทั้งหมดนี้ ถึงความเป็นอภัพพบุคคล (บุคคลผู้ไม่อาจตรัสรู้ได้) เพราะเป็นผู้วิบัติด้วยการกระทำของตน, คนลักเพศ (ปลอมบวช) ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์ และสามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรค, อีก ๕ จำพวก ถูกห้ามทั้งสวรรค์ ทั้งมรรค เพราะเป็นจำพวกที่จะต้องเกิดในนรกแน่นอน
       ๒๐. นางภิกษุณีผู้ยังความพอใจให้เกิดในเพศคฤหัสถ์ แล้วนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ แม้นางจะไม่ได้ทำการล่วงละเมิดด้วยความประพฤติที่เลว แต่ก็จัดว่าไม่เป็นสมณีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
       ๒๑. ภิกษุผู้มีองค์กำเนิดยาว (ปรารถนาจะเสพเมถุนธรรม จึงสอดองค์กำเนิดเข้าไปทางวัจจมรรคของตน)
       ๒๒. ภิกษุผู้หลังอ่อน (ปรารถนาจะเสพเมถุน ก้มลงอมองค์กำเนิดของตน)
       ๒๓. ภิกษุเอาปากอมองค์กำเนิดผู้อื่น
       ๒๔. ภิกษุนั่งสวมองค์กำเนิดของผู้อื่น
       ก็เพราะเหตุที่ธรรมของคน ๒ คน ผู้เข้าถึงความเป็นเช่นเดียวกันด้วยอำนาจราคะ ตรัสเรียกว่าเมถุนธรรม ฉะนั้นปาราชิก ๔ อย่างท้ายนี้ (๒๑-๒๔) ชื่อว่า อนุโลมแก่เมถุนธรรมปาราชิกโดยปริยายนี้ เพราะภิกษุ ๔ จำพวกนี้ แม้จะไม่ได้เสพเมถุนธรรมเลย ก็พึงต้องอาบัติได้ ด้วยอำนาจการยังมรรคให้เข้าไปทางมรรคอย่างเดียว เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า อนุโลมปาราชิก พึงทราบว่า มี ๒๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้
๑๖. “ข้อสำเหนียกของพระวินัยธร ผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท”
       พระวินัยธรผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท วิภังค์แห่งสิกขาบทและวินิจฉัยทั้งสิ้น ควรทราบวินัย ๔ อย่าง คือ สูตร สุตตานุโลม อาจริวาท และอัตโนมัติ
       สูตร ได้แก่ บทดั้งเดิม คือ บาลีในวินัยปิฎกทั้งหมด
       สุตตานุโลม ได้แก่ มหาประเทศ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า (วิ.มหา.ข้อ ๙๒)
       (๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ (สิ่งที่ไม่ควร” ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ (สิ่งที่ควร), สิ่งนั้นไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้นควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, สิ่งนั้นไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้นควรแก่ท่านทั้งหลาย
       อาจริยวาท  ได้แก่ แบบอรรถกถา ซึ่งวินิจฉัยท้องเรื่องให้เป็นไปนอกจากบาลี ซึ่งพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เป็นผู้ตั้งไว้
       อัตโนมัติ ได้แก่ คำที่พ้นจากสูตร สุตตานุโลม และอาจริยวาท กล่าวตามอาการที่ปรากฏด้วยอนุมาน คือ ด้วยความรู้ของตน ด้วยการถือเอานัย ด้วยการถือเอาใจความ
       อีกนัยหนึ่ง เถรวาทแม้ทั้งหมดที่มาในอรรถกถาแห่งพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัย ชื่อว่าอัตโนมัติ


วิธีการสอบสวนสูตร และสุตตานุโลม เป็นต้น
      กุลบุตรผู้กล่าวอ้างอัตโนมัติ ไม่ควรจะยึดถือให้แน่นแฟ้นกล่าว ควรกำหนดเหตุเทียบเคียงบาลีกับเนื้อความ และเนื้อความกับบาลีกล่าว, อัตโนมัติควรสอบสวนดูในอาจริยวาท ถ้าลงกันและสมกันในอาจาริยวาทนั้น จึงควรถือเอา ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะอัตโนมัติเป็นของทรามกำลังกว่าทุกอย่าง (เหตุผล ความหนักแน่น อ่อนกว่าสูตร สุตตานุโลม และอาจริยวาท)
       อาจริยวาทมีกำลังกว่าอัตโนมัติ แต่อาจริยวาทก็ควรสอบสวนดูในสุตตานุโลม เมื่อลงกันสมกันแท้กับสุตตานุโลม จึงควรถือเอา ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะว่าสุตตานุโลมเป็นของมีกำลังกว่าอาจริยวาท
       แม้สุตตานุโลมก็ควรสอบสวนดูในสูตร เมื่อลงกันสมกันแท้กับสูตรนั้น จึงควรถือเอา หากไม่ลงกน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะว่าสูตรเหล่านั้นเป็นของมีกำลังกว่าสุตตานุโลม
       จริงอยู่ สูตรเป็นของอันใครๆ แต่งเทียมไม่ได้ เป็นเหมือนกาลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อใดภิกษุสองรูปสนทนากัน ฝ่ายหนึ่งอ้างสูตรกล่าว ฝ่ายหนึ่งอ้างสุตตานุโลมกล่าว เมื่อนั้นทั้งสองรูปไม่ควรทำการขัดแย้งหรือติเตียนกันและกัน ควรสอบสวนสุตตานุโลมในสูตร ถ้าลงกันควรถือเอา ถ้าไม่ลงกันไม่ควรถือเอา ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น
       หรือหากรูปหนึ่งกล่าวอ้างว่า เป็นอกัปปิยะ รูปหนึ่งอ้างว่า เป็นกัปปิยะ ควรสอบสวนสิ่งนั้นๆ ในสูตรและสุตตานุโลม ถ้าสิ่งนั้นเป็นกัปปิยะควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ถ้าสิ่งนั้นเป็นอกัปปิยะควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ดังนี้เป็นต้น


พระวินัยธรประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. สูตรของพระวินัยธร เป็นพุทธพจน์ที่มาถูกต้องคล่องแคล่วดี โดยสูตร โดยพยัญชนะ ความว่า วินัยปิฎกแม้ทั้งสิ้นชื่อว่า สูตร พระวินัยธรเรียนไว้ชำนาญ คล่องปาก ไม่มีความสงสัยทั้งในส่วนบาลีและอรรถกถา
๒. เป็นผู้มั่นคง ไม่ง่อนแง่นในวินัย ความว่า เป็นผู้ตั้งมั่นในวินัย เป็นลัชชีภิกษุ อลัชชีภิกษุ บางรูปแม้เป็นพหูสูต แต่เป็นผู้หนักในลาภ หวังลาภ ก็แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ย่อมทำอุปัทวะมากมายให้เกิดในพระศาสนา คือ ก่อให้เกิดสังฆเภทบ้าง สังฆราชีบ้าง ส่วนภิกษุลัชชีเป็นผู้มักรังเกียจ ใคร่การศึกษา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตก็ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน ย่อมแสดงเฉพาะธรรมเฉพาะวินัยเท่านั้น คือ ทำคำสอนเป็นที่เคารพตั้งอยู่ พระมหาเถระทั้งหลายในปางก่อนเปล่งวาจา ๓ ครั้งว่า ในอนาคตกาล ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ดังนี้เป็นต้น ก็ภิกษุรูปใดเป็นลัชชี ภิกษุรูปนั้นเมื่อไม่ละไม่ฝ่าฝืนวินัย เป็นผู้ตั้งมั่นในวินัยด้วยความเป็นลัชชีภิกษุเป็นต้น
       ภิกษุใดถูกผู้อื่นถามด้วยบาลี (พุทธพจน์) โดยเบื้องต่ำ หรือเบื้องสูง ด้วยลำดับบท หรืออรรถกถา ย่อมทุรนทุราย กระสับกระส่าย ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ ย่อมคล้อยตามคำที่ผู้อื่นกล่าว ทิ้งวาทะของตนเสีย ถือเอาวาทะของผู้อื่น นั้นชื่อว่า ผู้ง่อนแง่น ฝ่ายบุคคลใดถูกผู้อื่นถามด้วยบทเบื้องต่ำและสูงด้วยลำดับบทในบาลีก็ดี ในอรรถกถาก็ดี ย่อมไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย ชี้แจงกับเขาว่า ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ อาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้าก็กล่าวอย่างนี้
       อนึ่ง บาลีและวินิจฉัยบาลี (สิกขาบทวิภังค์ ในเล่มนี้ใช้ว่า อรรถาธิบาย) ตั้งอยู่ในบุคคลใด ไม่ถึงความเสื่อมสิ้นหมดเปลืองไป เหมือนน้ำมันราชสีห์ที่ใส่ไว้ในภาชนะทองคำ ไม่ถึงความสิ้นไป ฉะนั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ผู้ไม่ง่อนแง่น
๓. เป็นผู้ลำดับอาจารย์ได้ถูกต้อง ความว่า ภิกษุละมติของตนแล้วเป็นผู้กล่าวลำดับอาจารย์ คือ “พระอาจารย์ของข้าพเจ้าเรียนเอาในสำนักของอาจารย์ชื่อโน้น อาจารย์นั้นเรียนเอาในสำนักอาจารย์ชื่อโน้น” ไปตั้งไว้จนให้ถึงคำว่า
       “พระอุบาลีเถระเรียนเอาในสำนักของพระพุทธเจ้า พระทาสกเถระเรียนมาในสำนักของพระอุบาลีเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน พระโสณกเถระเรียนมาในสำนักของพระทาสกเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน, พระสิคควเถระเรียนมาในสำนักของพระโสณกเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน, พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเรียนมาในสำนักของพระสิคควเถระและพระจัณฑวัชชีเถระ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน
       ลำดับแห่งอาจารย์อันพระวินัยธรเรียนเอาแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นข้ออันเธอจำได้ถูกต้อง แต่เมื่อไม่สามารถจะเรียนเอาอย่างนั้น ก็ควรเรียนเอาเพียง ๒-๓ ลำดับก็พอ อย่างน้อยที่สุดก็ควรทราบอาจารย์และอาจารย์ของอาจารย์ผู้กล่าวบาลีและปริปุจฉา ดังนี้


พระวินัยธรเมื่อวินิจฉันอธิกรณ์ควรตรวจดูฐานะ ๖ อย่าง ก่อน
      ฐานะ ๖ อย่าง คือ ควรตรวจดูเรื่อง ๑ ตรวจดูมาติกา ๑ ตรวจดูบทภาชนีย์ ๑ ตรวจดูติกปริจเฉท ๑ ตรวจดูอันตราบัติ ๑ ตรวจดูอนาบัติ ๑
       - พระวินัยธร เมื่อตรวจดูเรื่อง ย่อมเห็นอาบัติบางอย่าง อย่างนี้คือ “ภิกษุผู้มีจีวรหาย ควรเอาหญ้าหรือใบไม้ปกปิดกาย จึงมา แต่ไม่ควรเปลือยกายมาเลย ภิกษุใดเปลือยกายมา ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ” พระวินัยธรนั้น ครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้
       - เมื่อตรวจดูมาติกา ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๕ กอง กองใดกองหนึ่ง โดยนัยเป็นต้นว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท” เธอนำสูตรมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้
       - เมื่อตรวจดูบทภาชนีย์ ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๗ กอง กองใดกองหนึ่ง โดยนัยเป็นต้นว่า “ภิกษุเสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์ยังมิได้กัดกิน ต้องอาบัติปาราชิก”   “เสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์กัดกินแล้วโดยมาก ต้องอาบัติถุลลัจจัย” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูติกปริจเฉท ย่อมเห็นการกำหนดติกสังฆาทิเสสบ้าง ติกปาจิตตีย์บ้าง ติกทุกกฎบ้าง อาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูอันตราบัติ จะเห็นอันตราบัติซึ่งมีอยู่ในระหว่างแห่งสิกขาบทอย่างนี้ คือ “ภิกษุยักคิ้ว ต้องอาบัติทุกกฎ” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูอนาบัติ จะเห็นอนาบัติที่ท่านแสดงไว้ในสิกขาบทนั้นๆ อย่างนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่มีไถยจิต ไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ไม่มีความประสงค์จะอวด ไม่มีความประสงค์จะปล่อย ไม่แกล้ง ไม่รู้ ไม่มีสติ” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาดในวินัย ๔ อย่าง สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ได้ตรวจดูฐานะ ๖ อย่างนี้แล้ว จักระงับอธิกรณ์ได้ การวินิจฉัยของภิกษุนั้น ใครๆ ให้เป็นไปทัดเทียมไม่ได้ ย่อมเป็นเช่นกับวินิจฉัยที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งวินิจฉัยเอง


วิธีวินิจฉัยอธิกรณ์ปาราชิก
      ถ้าภิกษุบางรูป ผู้ทำการล่วงละเมิดสิกขาบทแล้ว เข้าไปหาภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้น อย่างนั้นแล้ว พึงถามข้อรังเกียจสงสัยของตน, ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยควรกำหนดให้ดี, ถ้าเป็นอนาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอนาบัติ, ถ้าเป็นอาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอาบัติ, ถ้าอาบัตินั้นเป็นเทสนาคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นเทสนาคามินี, ถ้าเป็นวุฏฐานคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นวุฏฐานคามินี, ถ้าฉายา (เงาของ) ปาราชิกปรากฏแก่ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัย ยังไม่ควรบอกว่าเป็นอาบัติปาราชิก เพราะเหตุไร?
       เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดเมถุนธรรม และการล่วงละเมิดอุตริมนุสธรรมเป็นของหยาบ, ส่วนการละเมิดอทินนาทาน และการฆ่ามนุษย์เป็นของสุขุม มีจิตเปลี่ยนแปลงเร็ว ภิกษุย่อมต้องวีติกกมะทั้งสองนั้น ด้วยอาการสุขุมทีเดียว และย่อมรักษาไว้ด้วยอาการสุขุม
       เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ถูกถามความรังเกียจ สงสัยซึ่งมีความละเมิดนั้นเป็นที่ตั้งโดยพิเศษ ไม่ควรพูดว่าต้องอาบัติ ถ้าอาจารย์เธอยังมีชีวิตอยู่ไซร้ ภิกษุผู้ฉลาดควรส่งภิกษุนั้นไปว่า เธอจงถามอาจารย์ของข้าพเจ้าดูเถิด, ถ้าเธอกลับมาอีกบอกว่า อาจารย์ของท่านค้นดูจากพระสูตรและพระวินัยแล้ว บอกผมว่าเป็นสเตกิจฉา (ยังพอแก้ไขได้) ในกาลนั้นภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้นควรพูดกับเธอว่า ดีละๆ เธอจงทำอย่างที่อาจารย์พูด
       ก็ถ้าอาจารย์ของเธอไม่มี แต่พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกันมีตัวอยู่ พึงส่งเธอไปยังสำนักของพระเถระนั้น สั่งว่าพระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกับข้าพเจ้าเป็นคณปาโมกข์ มีตัวอยู่ เธอจงไปถามท่านดูเถิด แม้เมื่อพระเถระนั้นวินิจฉัยว่าเป็นสเตกิจฉา ก็ควรพูดกับเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามของพระเถระนั้นให้ดีทีเดียว
       ถ้าแม้พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกันของเธอไม่มีไซร้ มีแต่ภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิก ซึ่งเป็นบัณฑิต พึงส่งเธอไปยังสำนักของภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิก ด้วยสั่งว่า เธอจงไปถามภิกษุหนุ่มรูปโน้นดูเถิด แม้เมื่อภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกนั้นวินิจฉัยว่าเป็นสเตกิจฉา ก็ควรพูดกับเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามคำของภิกษุรูปนั้นให้ดี, ถ้าฉายาปาราชิกนั่นแลปรากฏแม้แก่ภิกษุหนุ่มไซร้ แม้ภิกษุนั้นก็ไม่ควรบอกแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติว่า เธอเป็นอาบัติปาราชิก
       “เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของได้ด้วยยาก, การบรรพชาและการอุปสมบทเป็นของได้ยากยิ่งกว่านั้น”


ภิกษุผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ กรรมฐานย่อมไม่เจริญ
      พระวินัยธรควรพูดอย่างนี้ว่า เธอจงปัดกวาดโอกาสที่เงียบสงัด แล้วนั่งพักกลางวันชำระศีลให้บริสุทธิ์ จงมนสิการอาการ ๓๒ ดูก่อน ถ้าศีลของภิกษุนั้นไม่ด่างพร้อย กรรมฐานย่อมสืบต่อ สังขารทั้งหลายก็เป็นของปรากฏชัดขึ้น จิตก็เป็นเอกัคคตา ดุจได้บรรลุอุปจาระและอัปปนาสมาธิฉะนั้น ถึงวันเวลาจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม เธอก็ไม่ทราบในเวลาที่ล่วงไป
       เมื่อเธอมาสู่ที่อุปัฏฐากแล้ว ควรพูดอย่างนี้ว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเธอเป็นเช่นไร? เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชามีความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นประโยชน์ เธออย่าประมาทบำเพ็ญสมณธรรมเถิด
       ส่วนภิกษุใด มีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ จิตย่อมปั่นป่วนด้วยไฟ คือ ความเดือดร้อนใจแผดเผาอยู่ ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏักฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น
       เมื่อเธอมาแล้วถามว่า ความเป็นไปแห่งจิตของท่านเป็นอย่างไร? เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก แท้จริง บุคคลผู้กระทำความชั่ว ย่อมรู้ด้วยตนเองก่อนคนอื่นทั้งหมด ต่อจากนั้นอารักขเทพดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์ และเทพเจ้าเหล่าอื่น ผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ความชั่วของเธอ บัดนี้เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด


ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. กัปปิยะ – สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือ พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ
๒. อกัปปิยะ – ไม่ควร ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน, สิ่งที่ตรงกันข้ามกับกัปปิยะ
๓. อกัปปิยวัตถุ – สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือ ภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย
๔. กัปปิยการก – ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ


คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ   เยนตฺถฺ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ   อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต ฯ ๒๕๖ ฯ
       เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย  ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
       ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด  ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ

       He who hastily arbitrates.  Is not known as 'just'
        The wise investigating right and wrong  (Is known as such).

        "พุทธวจนในธรรมบท" โดย... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2558 13:27:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2557 16:01:47 »

.

สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นกฎหมายอันหนักรองลงมาจากปาราชิก
เมื่อต้องสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสกรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้
แล้วอยู่มานัตอีก ๖ ราตรี จากนั้นสงฆ์ ๒๐ รูป จึงนำสวดอัพภาณ (คล้ายกับการบวช) จึงจะพ้นโทษไปได้

ฉะนั้น ถ้าต้องสังฆาทิเสสแล้วอย่าปกปิดไว้ อย่าให้มันเศร้าหมองไปนาน เสียเวลา
ภาวนาจิตก็ไม่สงบ นี่ข้อสำคัญ





สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๕)
ภิกษุเสพเมถุน ต้องสังฆาทิเสส

    ท่านพระอุทายีเห็นพระเสยยสกะซูบผอมเศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น จึงถามว่า เหตุไรคุณจึงซูบผอม คุณคงจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ ท่านพระเสยยสกะรับสารภาพว่า “อย่างนั้นขอรับ”
       ท่านพระอุบาลีแนะนำว่า ดูก่อนท่านเสยยสกะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฉันอาหารให้พอแก่ความต้องการ จำวัดให้พอแก่ความต้องการ สรงน้ำให้พอแก่ความต้องการ ครั้นเมื่อท่านเกิดความกระสัน ราคะรบกวนจิต เมื่อนั้นท่านจงใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ
       พระเสยยสกะถามว่า ทำเช่นนั้นควรหรือ ขอรับ
       พระอุทายี  ควรซิท่าน แม้ผมก็ทำเช่นนั้น
       ท่านพระเสยยสกะได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ เมื่อเกิดความกระสันขึ้น แล้วมีผิวพรรณผุดผ่องอิ่มเอิบ ภิกษุสหายได้สอบถามท่าน ท่านได้เล่าเรื่องการกระทำของท่านให้ฟัง ภิกษุนั้นเพ่งโทษติเตียนแล้วแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล...
 ทรงติเตียนเป็นอันมากถึงความไม่สมควรแก่ความเป็นสมณะนั้น แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
       “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส”
       ต่อมา ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จำวัดไม่มีสติสัมปชัญญะ อสุจิได้เคลื่อน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
       “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
       - คำว่า เป็นไปด้วยความจงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจละเมิด
       - บทว่า สุกกะ อธิบายว่า สุกกะมี ๑๐ อย่าง มีสุกกะสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาว เป็นต้น (จะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเคลื่อนด้วยความพยายามต้องสังฆาทิเสส)
       - การกระทำอสุจิให้เคลื่อนจากกรรมฐาน ตรัสเรียกว่า การปล่อย
       - บทว่า เว้นไว้แต่ฝัน คือ การเว้นความฝัน
       - บทว่า สังฆาทิเสส ได้แก่ สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นได้ ชักเข้าหาอาบัติเดิมได้ให้มานัตได้ เรียกเข้าหมู่ได้ ไม่ใช่คณะมากรูป ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส, คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของหมวดอาบัตินั้นแล แม้เพราะเหตุนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส


อาบัติ
๑. ภิกษุจงใจ (เพื่อระบายความกำหนดนั้นหรือเพื่อเหตุผลใดก็แล้วแต่) พยายาม สุกกะเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
๒. ภิกษุจงใจ พยายาม (ด้วยอาการใช้มือหรือยังเอวให้ไหวในอากาศ เป็นต้น) สุกกะไม่เคลื่อนต้องถุลลัจจัย
๓. ภิกษุจงใจ ไม่พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๔. ภิกษุจงใจ ไม่พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๕. ภิกษุไม่จงใจ พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๖. ภิกษุไม่จงใจ พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๗. ภิกษุไม่จงใจ ไม่พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๘. ภิกษุไม่จงใจ ไม่พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ


อนาบัติ
ภิกษุมีอสุจิเคลื่อนเพราะฝัน ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งกำลังถ่ายอุจจาระอยู่ อสุจิเคลื่อนแล้ว เธอรังเกียจ...จึงกราบทูล ตรัสว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๒. ภิกษุรูปหนึ่งกำลังตรึกถึงกามวิตกอยู่ อสุจิเคลื่อนแล้ว... ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร,  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อนเลย ตรัสว่า ภิกษุตรึกถึงกามวิตก ไม่ต้องอาบัติ
๓. ภิกษุรูปหนึ่ง มีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน กำลังอาบน้ำร้อน อสุจิเคลื่อน, ตรัสถามว่า เธอมีความคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๔. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน กำลังอาบน้ำร้อนอยู่ แต่อสุจิไม่เคลื่อน..., ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงสีองค์กำเนิดกับไม้ อสุจิเคลื่อน...,  ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
๖. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัดเพ่งองค์กำเนิดของมาตุคาม อสุจิเคลื่อน จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส, อันภิกษุผู้มีความกำหนัดไม่ควรเพ่งองค์กำเนิดของมาตุคาม รูปใดเพ่ง  ต้องทุกกฎ


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๙๖-๑๒๒ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. ท่านพระเสยยสกะถูกความเร่าร้อน เพราะความกำหนัดในกายแผดเผาอยู่ แต่ไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์
       - พระอุทายีมีชื่อเรียกเต็มว่า โลลุทายี เป็นอุปัชฌาย์ของพระเสยยสกะ  ท่านอุทายีเป็นภิกษุโลเล ตามประกอบเหตุแห่งความเกียจคร้าน ไม่ทำสมณธรรม มีความเป็นผู้ยินดีในการนอน ในการหลับ เป็นต้น ท่านสอนศิษย์ว่า เธอจงเอามือพยายามกระทำการปล่อยอสุจิ เพราะเมื่อปล่อยแล้ว เอกัคคตาจิต (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) จักมีแก่เธอ อุปัชฌาย์พร่ำสอนเธออย่างนี้ เช่นกับคนโง่สอนคนโง่ คนใบ้สอนคนใบ้ ฉะนั้น
๒. ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะจำวัด โดยในเวลาจำวัดกลางวัน พึงจำวัดด้วยความอุตสาหะว่า เราจักจำวัดชั่วเวลาที่ผมของภิกษุผู้สรงน้ำยังไม่แห้ง แล้วจักลุกขึ้น เมื่อจำวัดในเวลากลางคืน พึงเป็นผู้มีความอุตสาหะจำวัดว่า (ทำไว้ในใจก่อนนอนหลับ) “เราจักหลับสิ้นส่วนแห่งราตรีเท่านี้ แล้วลุกขึ้นในเวลาที่ดวงจันทร์หรือดวงดาวโคจรมาถึงตรงนี้” ดังนี้
       อีกอย่างหนึ่ง กำหนดกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐานที่ชอบใจแล้วจึงจำวัด ก็เมื่อภิกษุทำเช่นนี้ ท่านเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ คือ ไม่ละสติและสัมปชัญญะจำวัด ความฝันอันเป็นเหตุให้อสุจิเคลื่อนย่อมไม่มี


เหตุให้เกิดความฝัน ๔ อย่าง
๑) เพราะธาตุกำเริบ ประกอบด้วยปัจจัยอันทำให้ดีเป็นต้น กำเริบ เมื่อฝันย่อมฝันต่างๆ เช่น เป็นเหมือนตกจากภูเขา เหมือนเหาะไปทางอากาศ และเหมือนถูกเนื้อร้าย ช้างร้าย และโจร เป็นต้น ไล่ติดตามมา
๒) เพราะจิตอาวรณ์ (เพราะเคยทราบมาก่อน) คือ ฝันถึงอารมณ์ที่ตนเคยผ่านมาแล้วในกาลก่อน
๓) เพราะเทพสังหรณ์ คือ พวกเทวดานำอารมณ์มีอย่างต่างๆ เข้าไป เพื่อความเจริญบ้าง เพื่อความเสื่อมบ้าง เพราะความเป็นผู้มุ่งความเจริญให้บ้าง ความมุ่งความเสื่อมให้บ้าง แก่บุคคลผู้อื่น ย่อมฝันเห็นอารมณ์ต่างๆ ด้วยอานุภาพของพวกเทวดา
๔) เพราะบุพนิมิต คือ เป็นฝันที่เกิดจากบุญและบาปที่เป็นนิมิตแห่งความเจริญบ้าง แห่งความเสื่อมบ้าง เหมือนมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงพระสุบินนิมิตในการที่จะได้พระโอรส (ซึ่งเป็นฝันที่เกิดจากบุญ) ฉะนั้น

       บรรดาฝัน ๔ อย่างนี้ ความฝันที่ฝันเพราะธาตุกำเริบและจิตอาวรณ์ ไม่เป็นความจริง  ความฝันที่ฝันเพราะเทวดา จริงก็มี เหลวไหลก็มี เพราะว่าพวกเทวดาโกรธแล้วประสงค์จะให้พินาศ ออกอุบายให้ฝันก็มีอยู่, ส่วนความฝันที่ฝันเพราะบุพนิมิตเป็นจริงโดยส่วนเดียว (ไม่มีไม่จริงเลย)
       ความฝันทั้ง ๔ นี้ พระเสขะและปุถุชนเท่านั้นย่อมฝัน เพราะยังละวิปลาสไม่ได้ ส่วนพระอเสขะย่อมไม่ฝัน เพราะท่านละวิปลาสแล้ว
๓. เจตนาแห่งการปล่อยสุกกะนั้นมีอยู่ เหตุนั้นการปล่อยสุกกะนั้นจึงชื่อว่า สัญเจตนา (มีเจตนา) สัญเจตนานั่นแหละชื่อ สญฺเจตนิกา, หรือความจงใจของการปล่อยสุกกะนั้นมีอยู่ การปล่อยสุกกะนั้น จึงชื่อว่า สัญเจตนิกา (มีความจงใจ) การปล่อยสุกะมีความจงใจเป็นของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้สึกตัว และการปล่อยนั้นเป็นการแกล้ง คือ ฝ่าฝืนล่วงละเมิด
       - กิริยาที่ทำให้เคลื่อนจากฐาน ชื่อว่า การปล่อย, ท่านกำหนดฐานไว้ ๓ ส่วน คือ กระเพาะเบา ๑  สะเอว ๑  กาย ๑
       ในวาทะที่ ๑ เมื่อภิกษุพยายามที่นิมิตด้วยความยินดีจะให้เคลื่อน แมลงวันตัวน้อยตัวหนึ่ง พึงดื่มน้ำอสุจิอิ่ม เมื่ออสุจิมีประมาณเท่านั้น เคลื่อนจากกระเพาะเบา ไหลลงสู่คลองปัสสาวะ จะออกข้างนอกก็ตาม ไม่ออกก็ตาม ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
        ในวาทะที่ ๒ เมื่ออสุจิเคลื่อนจากสะเอวไหลสู่คลองปัสสาวะ เป็นสังฆาทิเสส
        ในวาทะที่ ๓ เป็นวาทะที่กล่าวถูกที่สุด (คือ ครอบคลุมทั้งวาทะที่ ๒ และวาทะที่ ๒ ด้วย) เพราะว่าเว้นที่ซึ่งผม ขน เล็บ ฟัน พ้นจากเนื้อ อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก และหนังแห้งเสียแล้ว ที่เหลือคือกายที่มีเนื้อและโลหิตตลอด ย่อมเป็นฐานของกายประสาท ภาวะชีวิตินทรีย์ และดีไม่เป็นฝักเป็นฐานของน้ำสมภพด้วยเหมือนกัน ดังจะเห็นน้ำสมภพของช้างที่ไหลออกทางหมวกหูทั้งสอง ของทั้งหลายที่ถูกราคะครอบงำแล้ว และแม้พระเจ้ามหาเสนะผู้ทรงกลัดกลุ้มด้วยราคะ ไม่สามารถจะทนกำลังน้ำสมภพได้ จึงรับสั่งให้ผ่าต้นพระพาหุด้วยมีด ทรงแสดงน้ำสมภพซึ่งไหลออกทางปากแผล ฉะนั้น
         เมื่อภิกษุยังกายให้ไหว อสุจิเคลื่อนออกจากกกายนั้นไหลลงสู่คลองปัสสาวะ จะออกข้างนอกกก็ตาม ไม่ออกข้างนอกก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส
         ที่ท่านกล่าวว่า การไหลสู่คลองปัสสาวะ คือ การปล่อยสุกกะ ก็เพราะเป็นของที่ใครๆ จะพึงกลั้นห้ามเสียในระหว่างมิได้ เพราะเมื่อเคลื่อนจากฐานแล้ว ก็ย่อมสู่คลองปัสสาวะแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกำหนดว่า “พยายาม อสุจิเคลื่อนจากฐาน เป็นสังฆาทิเสส” ดังนี้


๔. อธิบายคำว่าสังฆาทิเสส
      คำว่า สังฆาทิเสส เป็นชื่อของกองอาบัตินี้ เพราะเหตุนั้นผู้ศึกษาพึงทราบสัมพันธ์ในสิกขาบทนี้ อย่างนี้ว่า “การปล่อยสุกกะ มีความจงใจ เว้นความฝันอันใด” อันนี้เป็นกองแห่งอาบัติชื่อสังฆาทิเสส
       เมื่อภิกษุต้องสังฆาทิเสสแล้ว “สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่งกองอาบัตินั้น เพราะฉะนั้นอาบัตินั้น จึงชื่อว่า “สังฆาทิเสส” มีคำอธิบายว่า ภิกษุต้องอาบัตินี้แล้ว พึงปรารถนาสงฆ์เพื่อประโยชน์แก่ปริวาส เป็นกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัติของผู้ใคร่จะออก และเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต รวมกับมูลายปฏิกัสสนาในกรรมอันเป็นท่ามกลาง, เพื่อประโยชน์แก่อัพภานในกรรมที่สุด ซึ่งเหลือจากกรรมเบื้องต้น (และท่ามกลาง) เพราะว่าบรรดากรรมเหล่านี้ (ปริวาส, มานัต, อัพภาน) กรรมแม้อันหนึ่งอันใดเว้นสงฆ์เสียแล้ว ใครๆ ไม่อาจทำได้ สงฆ์เท่านั้นอันภิกษุ (ผู้ต้องสังฆาทิเสส) พึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด เพราะฉะนั้นกองอาบัตินี้จึงชื่อว่า สังฆาทิเสส
       - เมื่อแสดงแต่ใจความจะได้ว่า “สงฆ์แลย่อมให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ย่อมชักเข้าหาอาบัติเดิม ย่อมให้มานัต ย่อมอัพภาน ไม่ใช่ภิกษุมากรูป (๒-๓ รูป) ไม่ใช่ภิกษุรูปเดียว เพราะเหตุนั้นอาบัตินั้นท่านจึงเรียกว่า สังฆาทิเสส”
๕. ข้อสำเหนียกของพระวินัยธร
       เมื่อภิกษุมาหา อันพระวินัยธรพึงถามจนถึง ๓ ครั้งว่า ท่านต้องด้วยประโยคไหน? ด้วยกำหนัดไหน? ถ้าครั้งแรกเธอกล่าวอย่างหนึ่ง แล้วภายหลังกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ไม่กล่าวโดยทางเดียว พึงกล่าวตักเตือนเธอว่า ท่านไม่พูดทางเดียว พูดเลี่ยงไป เราไม่อาจทำวินัยกรรมแก่ท่านได้ ท่านจงไปแสวงหาความสวัสดีเถิด ถ้าเธอกล่าวยืนยันทางเดียวเท่านั้นถึง ๓ ครั้ง กระทำตนให้แจ้งตามความเป็นจริง ลำดับนั้น พระวินัยธรพึงพิจารณาประโยค ๑๑ ด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑๑ อย่าง เพื่อวินิจฉัยอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติ และลหุกาบัติของเธอ


อธิบายราคะและประโยค ๑๑ อย่าง
บรรดาราคะและประโยค ๑๑ นั้น ราคะ ๑๑ เหล่านี้ คือ ความยินดีเพื่อจะให้เคลื่อน ๑ ความยินดีในขณะเคลื่อน ๑ ความยินดีในเมื่ออสุจิเคลื่อนแล้ว ๑ ความยินดีในเมถุน ๑ ความยินดีในผัสสะ ๑ ความยินดีในความคัน ๑ ความยินดีในการดู ๑ ความยินดีในกิริยานั่ง ๑ ความรักอาศัยเรือน ๑ ความยินดีด้วยของขวัญ ๑

ในราคะ ๑๑ อย่างนั้น มีวินิจฉัย ดังนี้
      ๑) เมื่อภิกษุจงใจและยินดีเพื่อให้สุกกะเคลื่อน พยายาม อสุจิเคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส เมื่อภิกษุจงใจ และยินดีอยู่ด้วยเจตนาอย่างนั้น พยายาม แต่อสุจิไม่เคลื่อน เป็นถุลลัจจัย ถ้าว่าในเวลานอน ภิกษุเป็นผู้กลัดกลุ้มด้วยราคะ เอาขาอ่อนหรือกำมือบีบองคชาตให้แน่นแล้วหลับไปทั้งที่ยังมีความอุตสาหะ เพื่อต้องการจะปล่อย ก็เมื่อภิกษุนั้นหลับอยู่ อสุจิเคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส ถ้าเธอยังมีความกลัดกลุ้มด้วยราคะให้สงบไปโดยมนสิการอสุภะ มีใจบริสุทธิ์หลับไป แม้อสุจิเคลื่อนขณะเธอหลับ ไม่เป็นอาบัติ
       ๒) ภิกษุยินดีในขณะที่อสุจิกำลังเคลื่อน แต่ไม่ได้พยายาม อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ ก็ถ้าหากว่าเธอยินดีอสุจิที่กำลังจะเคลื่อน พยายาม เมื่ออสุจิเคลื่อนแล้วด้วยความพยายามนั้น เป็นสังฆาทิเสส ในมหาปัจจรี กล่าวว่า เมื่ออสุจิเคลื่อนโดยธรรมดาของมัน เธอจับต้องด้วยองคชาตไว้ด้วยคิดว่า “อย่าเปื้อนผ้ากาสาวะ หรือเสนาสนะ” แล้วไปสู่ที่มีน้ำ เพื่อทำความสะอาด ย่อมควร
       ๓) ภิกษุยินดีภายหลังเมื่ออสุจิเคลื่อนแล้ว หากไม่ได้พยายาม เป็นอนาบัติ, ถ้าเธอยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อต้องการให้เคลื่อนอีก แล้วให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส
       ๔) ความยินดีในเมถุน พึงทราบดังนี้ ภิกษุจับมาตุคามด้วยความกำหนัดในเมถุน อสุจิเคลื่อนเพราะประโยคนั้นเป็นอนาบัติ, แต่การจับต้องมาตุคามเช่นนั้นเป็นทุกกฎเพราะเป็นประโยคแห่งเมถุนธรรม เมื่อถึงที่สุด (เสพ) เป็นปาราชิก (จับเพื่อต้องการจะเสพเมถุน จับเป็นทุกกฎ เสพเป็นปาราชิก) ถ้าหากภิกษุกำหนัดด้วยความกำหนัดในเมถุน (ต้องการเสพ) กลับยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย (อสุจิ) แล้วปล่อยสุกกะ (ไม่ได้เสพ) เป็นสังฆาทิเสส
       ๕) ความยินดีในผัสสะภายใน พึงทราบดังนี้ ภิกษุเล่นนิมิตของตนโดยคิดว่า เราจักรู้ว่า ตึงหรือหย่อนก็ดี โดยความซุกซนก็ดี อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ถ้าเธอเล่นอยู่ ยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อประสงค์จะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
      ส่วนในผัสสะภายนอก พึงทราบดังนี้ เมื่อภิกษุลูบคลำอวัยวะน้อยใหญ่ของมาตุคาม และสวมกอดด้วยความกำหนัด ในการเคล้าคลึงกาย อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ แต่เธอต้องการสังสัคคะ (เคล้าคลึงกาย) เป็นสังฆาทิเสส, ถ้าว่าภิกษุกำหนัดด้วยความกำหนดในการเคล้าคลึงกาย กลับยินดี พยายามในนิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส เพราะการปล่อยสุกกะเป็นปัจจัย
      ๖) ความยินดีในความคัน พึงทราบดังนี้ เมื่อภิกษุเกานิมิต (อวัยวะเพศ) ที่กำลังคัน ด้วยอำนาจแห่งหิดด้านและหิดเปื่อย ผื่นคัน และสัตว์เล็ก เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยความยินดีในความคันเท่านั้น อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในความคันเท่านั้น อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในความคัน กลับยินดี พยายามในนิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๗) ความยินดีในการดู พึงทราบดังนี้ ภิกษุเพ่งดูโอกาสอันไม่สมควร (องค์กำเนิด) ของมาตุคามบ่อยๆ ด้วยอำนาจความยินดีในการดู อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, แต่เป็นทุกกฎเพราะเพ่งดูที่ไม่ใช่โอกาสอันสมควรแห่งมาตุคาม, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการดู กลับยินดี พยายามในนิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๘) ความยินดีในการนั่ง พึงทราบดังนี้ ภิกษุนั่งด้วยความกำหนัด ยินดีการนั่งในที่ลับกับมาตุคาม อสุเคลื่อนเป็นอนาบัติ แต่พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยอาบัติที่ต้องการเพราะการนั่งในที่ลับเป็นปัจจัย, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการนั่งแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๙) ความยินดีในการพูด พึงทราบดังนี้ ภิกษุพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยคำพูดพาดพิงเมถุน ด้วยความกำหนัดยินดีในถ้อยคำ อสุจิเคลื่อนเป็นอนาบัติ แต่พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยอาบัติที่ต้องเพราะการนั่งในที่ลับเป็นปัจจัย, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการนั่งแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๑๐) ความรักอาศัยเรือน พึงทราบดังนี้ ภิกษุลูบคลำและสวมกอดบ่อยๆ กับมารดา ด้วยความรักฐานมารดาก็ดี ซึ่งพี่สาว น้องสาว ด้วยอาศัยความรักฉันพี่สาวน้องสาวก็ดี อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ แต่เป็นทุกกฎเพราะถูกต้องด้วยความรักอาศัยเรือนเป็นปัจจัย, หากว่าเธอกำหนัดด้วยความรักอาศัยเรือนแล้วกลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๑๑) ความยินดีในของขวัญ พึงทราบดังนี้ หญิงกับชายย่อมส่งบรรณาการ (ของขวัญ) มีหมาก พลู ของหอม ดอกไม้ และเครื่องอบกลิ่นเป็นต้น ไปให้กันและกัน เพื่อต้องการไมตรีที่มั่นคง นี้ชื่อว่า วนภังคะ ถ้ามาตุคามส่งของขวัญเช่นนั้นไปให้แก่ภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูลผู้ใกล้ชิดกันบางรูป และเมื่อเธอกำหนัดหนักว่า ของนี้ หญิงชื่อโน้นส่งมาให้ ดังนี้ เอามือลูบคลำของขวัญเล่นบ่อยๆ อสุจุเคลื่อน เป็นอนาบัติ ถ้าภิกษุกำหนัดในของขวัญแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อประสงค์จะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส  ถ้าแม้ภิกษุพยายามแต่อสุจิไม่เคลื่อน เป็นถุลลัจจัย
       พระวินัยธรพึงพิจารณาประโยคเหล่านี้ ด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑๑ เหล่านี้แล้ว กำหนดอาบัติ หรืออนาบัติ ด้วยประการอย่างนี้ ครั้นกำหนดดีแล้ว ถ้าเป็นครุกาบัติ พึงบอกว่าเป็นครุกาบัติ ถ้าเป็นลหุกาบัติ พึงบอกว่าเป็นลหุกาบัติ และพึงกระทำวินัยกรรมให้สมควรแก่อาบัตินั้นๆ, จริงอยู่ วินัยกรรมที่ทำแล้วอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นกรรมที่ทำดีแล้ว ดุจหมอรู้สมุฏฐานแห่งโรคแล้วปรุงยาฉะนั้น และย่อมเป็นไปเพื่อความสวัสดีแก่บุคคลผู้นั้น
      ๖. ภิกษุเมื่อสุกกะเคลื่อนเพราะความฝัน ถ้าความยินดีบังเกิดในความฝัน อย่าพึงเคลื่อนไหว ไม่พึงเอามือจับนิมิตเล่น แต่เพื่อจะรักษาผ้ากาสาวะและผ้าปูที่นอน จะเอาอุ้งมือจับไปสู่ที่มีน้ำเพื่อทำความสะอาด ควรอยู่
       - ภิกษุใด พอกนิมิตด้วยเภสัชก็ดี กระทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ดี ไม่มีความประสงค์ในการให้เคลื่อน อสุจิเคลื่อน ย่อมเป็นอนาบัติ, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งสองจำพวก (วิกลจริตและมีจิตฟุ้งซ่าน), ไม่เป็นอาบัติแก่พระเสยยสกะผู้เป็นต้นบัญญัติ
       ๗. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท ย่อมตั้งขึ้นทางกายกับจิต เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)
 

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ธันวาคม 2557 12:18:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2557 12:30:54 »

.
สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นกฎหมายอันหนักรองลงมาจากปาราชิก
เมื่อต้องสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสกรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้
แล้วอยู่มานัตอีก ๖ ราตรี จากนั้นสงฆ์ ๒๐ รูป จึงนำสวดอัพภาณ (คล้ายกับการบวช) จึงจะพ้นโทษไปได้
ฉะนั้น ถ้าต้องสังฆาทิเสสแล้วอย่าปกปิดไว้ อย่าให้มันเศร้าหมองไปนาน เสียเวลา ภาวนาจิตก็ไม่สงบ นี่ข้อสำคัญ




สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๖)
ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส

      พระอุทายีอยู่ในป่า วิหารของท่านงดงาม น่าดู น่าชม มีห้องกลาง มีระเบียงโดยรอบ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน จัดไว้เรียบร้อย น้ำฉัน น้ำใช้ ตั้งไว้ดีแล้ว บริเวณเตียนสะอาด ประชาชนเป็นอันมากพากันมาชมวิหารของท่านพระอุทายี แม้พราหมณ์คนหนึ่งกับภรรยาก็พากันมาขอชม พระอุทายีพาชมวิหาร ท่านเดินไปเปิดบานหน้าต่างบางบาน ปิดหน้าต่างบางบานรอบห้อง แล้วย้อนมาทางด้านหลัง จับอวัยวะน้อยใหญ่ของนางพราหมณีนั้น
       ครั้นกลับไป พราหมณ์ได้กล่าวชมพระอุทายีว่ามีอัธยาศัยที่ดี นางพราหมณีกล่าวแย้งว่ามีอัธยาศัยดีแต่ที่ไหน เพราะพระอุทายีได้จับอวัยวะน้อยใหญ่ของดิฉัน เหมือนที่ท่านจับดิฉัน พอได้ทราบดังนี้พราหมณ์นั้นจึงได้เพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมากถึงความเป็นคนเลี้ยงยาก และความมักมากเป็นต้น แล้วมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ภิกษุ ในที่นี้หมายเอา ภิกษุที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม จากสงฆ์ที่พร้อมเพรียง
       - ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
       - บทว่า แปรปรวนแล้ว ความว่า จิตที่ถูกราคะย้อมแล้วก็แปรปรวน ที่ถูกโทสะประทุษร้าย ที่ถูกโมหะให้ลุ่มหลง แล้วก็แปรปรวน แต่ที่ว่าแปรปรวนในอรรถนี้ทรงหมายถึงจิตที่ถูกราคะย้อมแล้ว
       - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น
       - คำว่า ถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย คือ ที่เรียกกันว่า ความประพฤติล่วงเกิน
       - ที่ชื่อว่า มือ หมายถึง ตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ
       - ที่ชื่อว่า ช้องผม  คือ เป็นผมล้วนก็ดี แซมด้วยด้ายก็ดี แซมด้วยดอกไม้ก็ดี แซมด้วยเงินก็ดี
       - ที่ชื่อว่า อวัยวะ คือ เว้นมือและช้องผมเสีย นอกนั้นชื่ออวัยวะ
       - ที่ชื่อว่า ลูบคลำ คือ ถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบกด จับต้อง

อาบัติ
        ๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกคลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับต้อง ซึ่งกายนั้นของสตรี ด้วยกายของตน ต้องสังฆาทิเสส
        ๒. สตรี ภิกษุสงสัย... ต้องถุลลัจจัย
        ๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
        ๔. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องถุลลัจจัย
        ๕. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องถุลลัจจัย
        ๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
        ๗. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
        ๘. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
        ๙. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่า (นึกว่า, เข้าใจว่า) เป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๐. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๑. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
       ๑๒. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
       ๑๓. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๔. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๕. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
       ๑๖. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๗. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
       ๑๘. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๙. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
       ๒๐. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
       ๒๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้อง คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กอด จับต้อง ซึ่งของเนื่องด้วยกายของสตรีด้วยกาย ต้องถุลลัจจัย (เช่นจับถุงกระดาษที่สตรีถือ)
       ๒๒. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด...จับต้องซึ่งกายนั้นของสตรีด้วยของเนื่องด้วยกาย ต้องถุลลัจจัย (เช่นเอาปากกาแตะที่กายสตรี)
       ๒๓. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด...จับต้องซึ่งของเนื่องด้วยกายนั้นของสตรีด้วยของเนื่องด้วยกาย ต้องทุกกฎ (เช่นเอาปากกาแตะที่ถุงกระดาษที่สตรีจับอยู่)
       ๒๔. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งกายนั้นของสตรีด้วยของที่โยนไป ต้องทุกกฎ (โยนของไปถูกกายสตรี)
       ๒๕. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งของเนื่องด้วยกายนั้นของสตรีด้วยของที่โยนไป ต้องทุกกฎ (โยนของไปถูกสิ่งของที่สตรีถือหรือจับอยู่)
       ๒๖. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งของที่โยนมานั้นของสตรี ด้วยของที่โยนไป (สตรีโยนของมา ภิกษุโยนของไปถูกของนั้น) ต้องทุกกฎ
       ๒๗. สตรีถูกต้องกายภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ ต้องสังฆาทิเสส
       ๒๘. สตรีใช้กายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย (เช่นจีวร) ของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ (เคลื่อนไหว รับรู้) พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ (ยินดี) อยู่ ต้องถุลลัจจัย
       ๒๙. สตรีใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องถุลลัจจัย
       ๓๐. สตรีใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย (จะตอบสนอง) รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องทุกกฎ
       ๓๑. สตรีโยนของถูกกายภิกษุ ภิกษุประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องทุกกฎ
       ๓๒. สตรีโยนของถูกของเนื่องด้วยกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย ต้องทุกกฎ
       ๓๓. สตรีโยนของไปถูกต้องของที่ภิกษุโยนมา ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ ต้องทุกกฎ
       ๓๔. (สรุป) ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
       ๓๕. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย แต่ไม่รู้ตอบผัสสะ ต้องทุกกฎ
       ๓๖. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ แต่ไม่พยายามด้วยกาย ทั้งไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๗. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ แต่ไม่พยายามด้วยกาย และไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๘. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๙. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น พยายามด้วยกาย แต่ไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๔๐. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น แต่ไม่พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ไม่ต้องอาบัติ
       ๔๑. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น แต่ไม่พยายามด้วยกาย และไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุไม่จงใจถูกต้อง ๑  ถูกต้องด้วยไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  ไม่ยินดี ๑  วิกลจริต ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
       ๑. ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องมารดาด้วยความรักฉันมารดา เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมัง จึงกราบทูล...ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ (จับต้องกายธิดา พี่หญิง น้องหญิง ด้วยความรักอย่างบุตร อย่างน้อง เป็นต้น ก็ต้องทุกกฎเช่นเดียวกัน)
       ๒. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับสตรีที่ตายแล้ว เธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องถุลลัจจัย
       ๓. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๔. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับตุ๊กตาไม้...ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๕. สตรีจำนวนมากเอาแขนต่อๆ กัน โอบหาภิกษุรูปหนึ่งไป... ตรัสถามว่า เธอยินดีไหม, ทูลว่า ไม่ยินดี, ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
       ๖. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด เขย่าสะพานที่สตรีขึ้นเดิน... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๗. ภิกษุรูปหนึ่งพบสตรีที่เดินสวนทางมามีความกำหนัด ได้กระทบไหล่... ตรัสว่า เธอต้องสังฆาทิเสสแล้ว
       ๘. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด กระตุกเชือกที่สตรีรับไว้... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องถุลลัจจัย
       ๙. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ยกเท้าขึ้นถูกสตรีผู้กำลังไหว้... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
       ๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งพยายามว่าจะจับสตรี แต่สตรีมิให้จับต้อง... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๑๕๕-๑๘๑ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
     ๑. วิหารของท่านอุทายีอยู่สุดแดนข้างหนึ่งแห่งพระวิหารเชตวัน, ตรงกลางวิหารมีห้อง, ได้ยินว่าห้องนั้นท่านพระอุทายีสร้างให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมจตุรัสที่ตรงกลาง โดยมีโรงกลมเป็นระเบียบล้อมในภายนอกอย่างที่คนทั้งหลายอาจเพื่อจะเดินรอบภายในได้ทีเดียว
     ๒. เมื่อพราหมณ์กล่าวสรรเสริญอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นเข้าใจว่าพราหมณ์นี้เลื่อมใสแล้วชะรอยอยากจะบวช เมื่อจะเปิดเผยอาการที่น่าบัดสีนั้นของตน แม้ควรปกปิดไว้ แต่นางมีความมุ่งหมายจะตัดรอนศรัทธาของพราหมณ์จึงได้กล่าวอย่างนั้น
     ๓. หญิงแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย (แม่บ้าน) ชื่อว่า กุลสตรี, พวกลูกสาวของตระกูลผู้ไปกับบุรุษอื่น ได้ชื่อว่า กุลธิดา, พวกหญิงวัยรุ่นมีใจยังไม่หนักแน่น เรียกว่า กุลกุมารี, หญิงสาวที่เขานำมาจากตระกูลอื่น เพื่อเด็กหนุ่มในตระกูล เรียกชื่อว่า กุลสุณหา
       - เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น คือ สักว่าเกิดยังมีสีเป็นชิ้นเนื้อสด, ภิกษุเคล้าคลึงกายกับเด็กหญิงนั้นก็ย่อมเป็นสังฆาทิเสส, เมื่อก้าวล่วงด้วยเมถุน ย่อมเป็นปาราชิก, หากยินดีในที่ลับ (รโหนิสัชชะ) ย่อมเป็นปาจิตตีย์
     ๔. คำว่า “ช้อง” เป็นชื่อของมัดผมที่ถักด้วยผม ๓ เกลียว, แล้วแซมด้วยดอกมะลิบ้าง ด้วย ๕ สีบ้าง ระเบียบกหาปณะบ้าง สายสร้อยทองคำบ้าง เป็นต้น ภิกษุจับช้องชนิดใดชนิดหนึ่ง ช้องเหล่านี้เป็นสังฆาทิเสสทั้งสิ้น ไม่มีความพ้นแก่ภิกษุผู้แก้ตัวว่าข้าพเจ้าได้จับช้องที่เจือ
       - การจับมือ ชื่อว่า หัตถัคคาหะ, การจับช้องผมชื่อว่า เวณิคคาหะ, การลูบคลำศีรษะที่เหลือชื่อว่า การลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
      ๕. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงประเภทแห่งอาบัติโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งบทเหล่านี้ของภิกษุผู้ถูกราคะครอบงำ แล้วมีจิตแปรปรวน ถึงความเคล้าคลึงกาย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า หญิง ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นหญิง ๑ มีความกำหนัด ๑ เคล้าคลึงด้วยกายกับหญิงนั้น ๑ ดังนี้
       - ในการจับต้องเป็นต้นนั้น เมื่อภิกษุจับต้องคราวเดียวเป็นอาบัติตัวเดียว เมื่อจับต้องบ่อยๆ เป็นสังฆาทิเสสทุกๆ ประโยค, แม้เมื่อลูบคลำ หากว่าไม่ปล่อยให้พ้นจากกายเลย ส่าย ย้าย ไสมือก็ดี กายก็ดี ของตนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อลูบคลำอยู่แม้ตลอดวัน ก็เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น, ถ้าปล่อยให้พ้นจากกายแล้วเล่าๆ ลูบคลำ เป็นอาบัติทุกประโยค, เมื่อลูบลง ถ้าไม่ให้พ้นจากกายเลย ลูบตั้งแต่กระหม่อมของหญิงลงไปจนถึงหลังเท้า ก็เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว, ถ้าว่า ถึงที่นั้นๆ บรรดาที่ต่างๆ มีท้องเป็นต้น ปล่อยมือแล้วลูบลงไป เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
       ๖. “ลูบขึ้น” คือ ลูบตั้งแต่เท้าไปจนถึงศีรษะ
          “ทับลง” เมื่อภิกษุจับมาตุคามที่ผมแล้วกดลง กระทำอัชฌาจารตามปรารถนา มีการจูบ เป็นต้น แล้วปล่อย เป็นอาบัติตัวเดียว เมื่อภิกษุกดหญิงที่เงยขึ้นแล้วให้ก้มลงบ่อยๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
          “อุ้ม” ภิกษุจับมาตุคามที่ผมก็ดี ที่มือทั้งสองก็ดี ให้ลุกขึ้น
          “ฉุด” ภิกษุฉุดมาตุคามให้หันหน้ามาหาตน ยังไม่ปล่อยมือเพียงใด เป็นอาบัติตัวเดียวเพียงนั้นแหละ เมื่อปล่อยแล้วกลับฉุดมาอีก เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
          “ผลัก” ภิกษุจับที่หลังมาตุคามลับหลังแล้วผลักไป
           “กด” ภิกษุจับที่มือหรือที่แขนมาตุคามให้แน่นแล้ว เดินไปแม้สิ้นระยะโยชน์หนึ่ง เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว เมื่อปล่อยจับๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
           “บีบ” ภิกษุบีบด้วยผ้าก็ดี เครื่องประดับก็ดี ไม่ถูกต้องตัว เป็นถุลลัจจัย, เมื่อถูกต้องตัวเป็นสังฆาทิเสส
     บรรดาอาการมีการจับต้องเป็นต้นนี้ เมื่อภิกษุมีความสำคัญในหญิงว่าเป็นหญิง ประพฤติล่วงละเมิดด้วยอาการแม้อย่างหนึ่งเป็นสังฆาทิเสส, เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้มีความสงสัย, แม้ภิกษุสำคัญในหญิงว่าเป็นบัณเฑาะก์ เป็นบุรุษและเป็นดิรัจฉาน เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน เป็นต้น
      ๗. เหมือนอย่างว่า ในหญิง ๒ คน พึงทราบสังฆาทิเสส ๒ ตัวฉันใด ในหญิงมากคน พึงทราบสังฆาทิเสสมากตัวฉันนั้น, ภิกษุใดเอาแขนทั้งสองรวบจับหญิงมีจำนวนมากคนยืนรวมตัวกันอยู่ ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสสมากตัว ด้วยการนับจำนวนหญิงที่ตนถูกต้อง, ต้องถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงที่อยู่ตรงกลาง จริงอยู่หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นจับต้องด้วยของเนื่องด้วยกาย
         - ภิกษุใดจับนิ้วมือหรือผมของหญิงจำนวนมากรวมกัน, ภิกษุนั้นพระวินัยธรอย่านับนิ้วมือหรือเส้นผมปรับ พึงนับหญิงปรับด้วยสังฆาทิเสส และเธอย่อมต้องถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงทั้งหลายผู้มีนิ้วมือและผมอยู่ตรงกลาง, จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันภิกษุนั้นจับต้องแล้วด้วยของที่เนื่องด้วยกาย แต่เมื่อภิกษุรวบจับหญิงเป็นอันมากด้วยของที่เนื่องด้วยกาย มีเชือกและผ้าเป็นต้น ย่อมต้องอาบัติถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงทั้งหมดผู้อยู่ภายในวงล้อมนั้นแล
         - ก็ถ้าว่าหญิงเหล่านั้นยืนจับที่กันชายผ้า และภิกษุนี้จับหญิงคนแรกในบรรดาหญิงเหล่านั้นที่มือ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส ด้วยอำนาจแห่งหญิงคนที่ตนจับ, ต้องทุกกฎหลายตัวตามจำนวนแห่งหญิง นอกนี้ ด้วยว่าของที่เนื่องด้วยกายกับของที่เนื่องด้วยกายของหญิงเหล่านั้นทั้งหมด เป็นอันภิกษุนั้นจับต้องแล้ว
         - ภิกษุใดเบียดผู้ใหญ่ที่นุ่งผ้าหนา ถูกผ้าด้วยกายสัคคราคะ ภิกษุนั้นต้องถุลลัจจัย เบียดผู้หญิงที่นุ่งผ้าบาง ถูกผ้า ถ้าว่าในที่ซึ่งถูกกันนั้น ขนของผู้หญิงที่ลอดออกจากรูผ้าถูกภิกษุ หรือขนของภิกษุแยงเข้าไปถูกหญิง หรือขนทั้งสองฝ่ายถูกกันเท่านั้น เป็นสังฆาทิเสส
         - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า เมื่อหญิงดำห่มผ้าสีเขียวนอน ภิกษุคิดว่า จักเบียดกาย แล้วเบียดกาย เป็นสังฆาทิเสส, คิดว่าจักเบียดกายแล้วเบียดผ้าสีเขียว เป็นถุลลัจจัย, คิดว่าจักเบียดผ้าเขียวแล้วเบียดผ้าสีเขียว เป็นถุลลัจจัย
         - หญิงผู้มีกำหนัดจัดในภิกษุ จึงไปยังที่ภิกษุนั่งหรือนอน แล้วจับถูกกายของภิกษุนั้นด้วยกายของตน หากภิกษุนั้นเป็นผู้มีความประสงค์ในอันเสพ ถ้าขยับหรือไหวกายแม้น้อยหนึ่งเพื่อรับรู้ผัสสะ เธอต้องสังฆาทิเสส
          - ภิกษุเห็นผู้หญิงขว้างดอกไม้หรือผลไม้ที่ตนขว้างไป ด้วยดอกไม้หรือผลไม้สำหรับขว้างของแล้วจึงทำกายวิการ คือ กระดิกนิ้ว หรือยักคิ้ว หรือหลิ่วตา หรือทำอย่างอื่น ภิกษุนี้เรียกว่าพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ ภิกษุนี้ชื่อว่าต้องทุกกฎ เพราะมีความพยายามด้วยกาย
      ๘. ภิกษุใดมีความประสงค์จะเสพแต่มีการนิ่ง รับรู้ คือ ยินดีผัสสะอย่างเดียว ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น เพราะไม่มีอาบัติในอาการสักว่า จิตตุปบาท (จิตคิด)
          - ภิกษุใดถูกผู้หญิงจับ จะให้หญิงนั้นพ้นจากสรีระ จึงผลักหรือตี ภิกษุนี้ชื่อว่า พยายามด้วยกาย รับรู้ผัสสะ, ภิกษุใดเห็นผู้หญิงกำลังมา ใคร่จะพ้นจากหญิงนั้น จึงตวาดให้หนีไป ภิกษุนี้ชื่อว่าพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ, ภิกษุใดเห็นทีฆชาติ (มีงูเป็นต้น) เช่นนั้น เลื้อยขึ้นบนกาย แต่ไม่สลัด ด้วยคิดว่ามันจงค่อยๆ ไป มันถูกเราสลัดเข้าจะพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ หรือรู้ว่าหญิงถูกตัว แต่นิ่งเฉย ทำเป็นไม่รู้เสีย คิดว่าหญิงนี้รู้ว่าภิกษุนี้ไม่มีความต้องการเรา แล้วจักหลีกไปเองแหละ หรือภิกษุหนุ่มถูกผู้หญิงมีกำลังกอดไว้แน่น แม้อยากหนี แต่ต้องนิ่งเฉย เพราะถูกยึดไว้มั่น ภิกษุนี้ชื่อว่า ไม่ได้พยายามด้วยกายแต่รับรู้ผัสสะ ส่วนภิกษุใดเห็นผู้หญิงมาแล้ว เป็นผู้นิ่งเฉย คิดว่าหล่อนจงมาก่อน เราจักตีหรือผลักหล่อนแล้วหลีกไปเสียจากนั้น ภิกษุนี้พึงทราบว่า มีความประสงค์จะพ้นไป ไม่พยายามด้วยกาย ทั้งไม่รับรู้ผัสสะ
          - ภิกษุส่งใจไปในที่อื่น ไม่มีความคิดว่าเราจักถูกต้องมาตุคามเพราะไม่มีสติ อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ถูกต้องในเวลาเหยียดมือและเท้าเป็นต้น
         - ภิกษุเห็นเด็กหญิงมีเพศคล้ายเด็กชาย ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง จึงถูกต้องด้วยกิจบางอย่างไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง และย่อมไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีที่ถูกสตรีจับที่แขนหรือห้อมล้อมพาไป
      ๙. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับจิต (กำหนัดใช้กายถูกต้อง) เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ (เพราะเป็นอกุศล) กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)
     ๑๐. ภิกษุเมื่อระลึกถึงพระอาญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า (ปรับทุกกฏแก่ภิกษุผู้ถูกต้องกายมารดาหรือธิดาด้วยความรักอาศัยเรือน) ถ้าแม้นว่าเห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย แต่ภิกษุผู้ฉลาดพึงนำเรือ หรือแผ่นกระดาษ หรือท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไปให้ เมื่อเรือเป็นต้นไม่มีอยู่ แม้ผ้ากาสาวะนำไปวางไว้ข้างหน้า แต่ไม่ควรกล่าวว่าจงจับที่นี้, เมื่อท่านจับแล้ว พึงสาวมาด้วยทำในใจว่า เราสาวบริขารมา, ก็ถ้ามารดากลัวพึงไปข้างหน้า แล้วปลอบโยนว่าอย่ากลัว, ถ้ามารดาถูกน้ำพัดไปรีบขึ้นคอหรือจับที่มือของภิกษุผู้เป็นบุตร ภิกษุอย่าพึงสลัดออก พึงส่งไปให้ถึงบก, เมื่อมารดาติดหล่มก็ดี ตกไปในบ่อก็ดี มีนัยนี้เหมือนกัน อธิบายว่า ภิกษุพึงฉุดขึ้น อย่าพึงจับต้องเลย
          - แม้ถ้าว่า ภิกษุถึงความเคล้าคลึงกายกับนางเทพีของท้าวปรนิมมิตวสวัตตี ก็ต้องถุลลัจจัยอย่างเดียว
          - เรื่องหญิงตายเป็นถุลลัจจัย ในเวลาพอจะเป็นปาราชิก (สัตว์ยังไม่กัดกินโดยมาก) นอกจากนั้นเป็นทุกกฎ
          - ภิกษุเคล้าคลึงกายกับนางนาคมาณวิกาก็ดี นางสุบรรณมาณวิกาก็ดี กับนางกินรีก็ดี กับแม่โคก็ดี เป็นทุกกฏทั้งนั้น
          - มิใช่กับไม้อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่สุดแม้ในรูปหญิงที่เขาเขียนจิตรกรรมไว้ ภิกษุเคล้าคลึงก็เป็นทุกกฎ
      ๑๑. “วัตถุที่เป็นอนามาส” (วัตถุที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง)
      ก็มิใช่แต่ร่างกายของมาตุคามอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นอนามาส แม้ผ้านุ่ง และผ้าห่ม สิ่งของเครื่องประดับ จนชั้นเสวียนหญ้าหรือแหวนใบตาลก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น, ก็แลผ้านุ่งและผ้าห่มนั้นตั้งไว้ เพื่อต้องการใช้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น ก็หากว่ามาตุคามวางผ้านุ่งหรือผ้าห่มไว้ในที่ใกล้เท้า เพื่อต้องการให้เปลี่ยนเป็นจีวร ผ้านั้นสมควร, ก็บรรดาเครื่องประดับ ภัณฑะที่เป็นกัปปิยะ มีเครื่องประดับศีรษะเป็นต้น อันมาตุคามถวายว่า ท่านเจ้าคะ ขอพระคุณท่านโปรดรับสิ่งนี้เถิด ภิกษุควรรับไว้เพื่อเป็นเครื่องใช้มีฝักมีดโกนและเข็มเป็นต้น ส่วนภัณฑะที่ทำด้วยทอง เงิน และแก้วมุกดาเป็นต้น เป็นอนามาสแท้ ถึงแม้เขาถวายก็ไม่ควรรับ
      อนึ่ง มิใช่แต่เครื่องประดับที่สวมร่างกายของหญิงเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นอนามาสถึงรูปไม้ รูปงา รูปเหล็ก รูปดีบุก รูปเขียน รูปที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ที่เขากระทำสัณฐานแห่งหญิงชั้นที่สุดแม้รูปที่ปั้นด้วยแป้งก็เป็นอนามาสทั้งนั้น แต่ได้ของที่เขาถวายว่าสิ่งนี้จงเป็นของท่าน เว้นของที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ทำลายรูปที่เหลือ น้อมเอาสิ่งที่ควรเป็นเครื่องอุปกรณ์เข้าในเครื่องอุปกรณ์ และสิ่งที่ควรใช้สอยเข้าในของสำหรับใช้สอย เพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย ควรอยู่
      อนึ่ง แม้ธัญชาติ (ข้าวชนิดต่างๆ, พืชจำพวกข้าว) ๗ ชนิด ก็เป็นอนามาสเช่นเดียวกับรูปสตรี เพราะฉะนั้น เมื่อเดินไปกลางทุ่งนา อย่าเดินจับต้องเมล็ดธัญชาติ แม้ที่เกิดอยู่ในทุ่งนานั้นไปพลาง, ถ้ามีธัญชาติที่เขาตากไว้ที่ประตูเรือน หรือที่หนทาง และด้านข้างมีทางเดิน อย่าเดินเหยียบย่ำไป เมื่อทางเดินไม่มี พึงอธิษฐานให้เป็นทางเดินแล้วเดินไปเถิด คนทั้งหลายปูลาดอาสนะถวายบนกองธัญชาติในละแวกบ้าน จะนั่งก็ควร, ชนบางพวกเทธัญชาติไว้ในโรงฉัน ถ้าอาจจะให้นำออกได้ ก็พึงให้นำออก  ถ้าไม่อาจ อย่าเหยียบย่ำธัญชาติ พึงตั้งตั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วนั่งเถิด, ถ้าไม่มีโอกาส พวกชาวบ้านปูลาดอาสนะถวายตรงท่ามกลางธัญชาตินั่นเอง พึงนั่งเถิด, แม้ในธัญชาติที่อยู่บนเรือก็มีนัยนี้, แม้อปรัณชาติ (ของที่ควรกินที่หลัง เช่น ถั่ว, งา) มีถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นก็ดี ผลไม่มีตาลและขนุนเป็นต้นก็ดี ที่เกิดในที่นั่น ภิกษุไม่ควรจับเล่น แม้ในอปรัณชาติและผลไม้ที่ชาวบ้านรวมกองไว้ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน, แต่การที่ภิกษุจะถือเอาผลไม้ที่หล่นจากต้นไม้ในป่า ด้วยตั้งใจว่าจะให้แก่พวกอนุปสัมบัน ควรอยู่
     ๑๒. ว่าด้วยรัตนะ ๑๐ ประการ
     บรรดารัตนะ ๑๐ ประการ คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม, มุกดาตามธรรมชาติยังไม่ได้เจียระไนและเจาะ ภิกษุจะจับต้องได้อยู่ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า รัตนะที่เหลือเป็นอนามาส, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า มุกดาที่เจียระไนแล้วก็ดี ที่ยังไม่เจียระไนก็ดี เป็นอนามาส และภิกษุรับเพื่อประโยชน์เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ย่อมไม่ควร แต่จะรับเพื่อเป็นยาแก่คนเป็นโรคเรื้อน ควรอยู่, มณีชนิดสีเขียวและเหลืองเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยที่สุดจนกระทั่งแก้วผลึกธรรมชาติที่เขาขัด เจียระไนและกลึงแล้ว เป็นอนามาส, แต่มณีตามธรรมชาติพ้นจากบ่อเกิด ท่านกล่าวว่า ภิกษุจะรับเอาไว้เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของมีบาตรเป็นต้น ก็ควร, แม้มณีนั้น ท่านห้ามไว้ในมหาปัจจรี, กระจกแก้วที่เขาหุงทำไว้อย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่าควร แม้ในไพฑูรย์ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับแก้วมณี, สังข์จะเป็นสังข์สำหรับเป่า (แตรสังข์) ก็ดี ที่เขาขัดและเจียระไนแล้วก็ดี ประดับด้วยรัตนะ (ขลิบด้วยรัตนะ) ก็ดี เป็นอนามาส, สังข์สำหรับตักน้ำดื่มที่ขัดแล้วก็ดี ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นของควรจับต้องได้แท้ อนึ่ง รัตนะที่เหลือ ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาเป็นต้นก็ดี เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ดี ควรอยู่
      ศิลาที่ขัดและเจียระไนแล้ว ประดับด้วยรัตนะมีสีเหมือนถั่วเขียวเท่านั้น เป็นอนามาส, ศิลาที่เหลือ ภิกษุจะถือเอามาเพื่อใช้เป็นหินลับมีดเป็นต้นก็ได้
      แล้วพวกประพาฬที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส, ประพาฬที่เหลือเป็นอามาส (ควรจับต้องได้) และภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้จ่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่ แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ประพาฬที่ขัดแล้วก็ตาม มิได้ขัดก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น และจะรับไว้ไม่สมควร
      เงินและทอง แม้เขาทำเป็นรูปพรรณทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนามาส และเป็นของไม่ควรรับไว้ จำเดิมแต่ยังเป็นแร่, ได้ยินว่า อุดรราชโอรสให้สร้างพระเจดีย์ทองส่งไปถวายพระมหาปทุมเถระ, พระเถระห้ามว่าไม่ควร, ดอกปทุมทองและดาวทองเป็นต้น มีอยู่ที่เรือนพระเจดีย์ แม้สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนามาส แต่พวกภิกษุผู้เฝ้าเรือนพระเจดีย์ตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นจะลูบคลำดู ก็ควร, แต่คำนั้นท่านห้ามไว้ในกุรุนที ท่านอนุญาตเพียงเท่านี้ว่า จะชำระหยากเยื่อที่พระเจดีย์ทองควรอยู่
      ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งปวงว่า แม้โลหะที่กะไหล่ทอง (โลหะทำเทียม) ก็มีคติดุจทองคำเหมือนกัน จัดเป็นอนามาส, ส่วนเครื่องใช้สอยในเสนาสนะเป็นกัปปิยะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเครื่องบริขารประจำเสนาสนะ แม้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองและเงิน เป็นอามาส, พวกชาวบ้านสร้างมณฑปแก้วเป็นสถานที่แสดงพระธรรมวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย มีเสาแก้วผลึก ประดับประดาด้วยพวงแก้ว การที่ภิกษุทั้งหลายจะเก็บรักษาเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดในรัตมณฑปนั้น ควรอยู่
          - ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส, ที่ยังไม่ได้ขัดและเจียระไน นอกนี้ท่านกล่าวว่าเป็นอามาส ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีว่า ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดแล้วก็ดี ที่ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นอนามาสโดยประการทุกอย่าง และภิกษุจะรับไว้ไม่ควร
          - เครื่องอาวุธทุกชนิด เป็นอนามาส แม้เขาถวายเพื่อประโยชน์จำหน่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ไม่ควรรับไว้, ชื่อว่า การค้าขายศัสตรา ย่อมไม่ควร, แม้คันธนูล้วนๆ ก็ดี สายธนูก็ดี ประตักก็ดี ขอช้างก็ดี โดยที่สุดแม้มีดและขวานเป็นต้น ที่เขาทำโดยสังเขปเป็นอาวุธ ก็เป็นอนามาส, ถ้ามีใครๆ เอาหอกหรือโตมรมาวางไว้ในวิหาร เมื่อจะชำระวิหาร พึงส่งข่าวไปบอกแก่พวกเจ้าของว่า จงนำไปเสีย ถ้าพวกเขาไม่นำไป อย่าให้ของนั้นขยับเขยื้อน พึงชำระวิหารเถิด, ภิกษุพบเห็นดาบก็ดี หอกก็ดี โตมรก็ดี ตกอยู่ในสนามรบ พึงเอาหินหรือของอะไรๆ ทุบดาบเสียแล้วถือเอาไปเพื่อใช้เป็นมีด ควรอยู่, ภิกษุจะแยกแม้ของนอกนี้ออกแล้วถือเอาของบางอย่างเพื่อใช้เป็นมีด บางอย่างใช้เป็นไม้เท้าเป็นต้น ควรอยู่ ส่วนว่าเครื่องอาวุธที่เขาถวายว่าขอท่านจงรับอาวุธนี้ไว้ ภิกษุจะรับแม้ทั้งหมดด้วยตั้งใจว่า เราจักทำให้เสียหายแล้ว กระทำให้เป็นกัปปิยภัณฑ์ดังนี้ ควรอยู่
          - เครื่องจับสัตว์ มีแหทอดปลาและข่ายดักนกเป็นต้นก็ดี เครื่องป้องกันลูกศร มีโล่และตาข่ายเป็นต้นก็ดี เป็นอนามาสทุกอย่าง, ก็บรรดาเครื่องดักสัตว์ และเครื่องป้องกันลูกศรที่ได้มาเพื่อเป็นเครื่องใช้สอยทีแรก ตาข่าย ภิกษุจะถือเอาด้วยตั้งใจว่า เราจะผูกขึงไว้หรือพันเป็นฉัตรไว้เบื้องบนแห่งอาสนะหรือพระเจดีย์ ควรอยู่, เครื่องป้องกันลูกศรทั้งหมดแม้ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งของ ก็สมควร เพราะว่าเครื่องป้องกันลูกศรนั้น เป็นเครื่องกันการเบียดเบียนจากคนอื่น ไม่ใช่เครื่องทำการเบียดเบียน ฉะนี้แล, จะรับโล่ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำเป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน ดังนี้ ก็ควร
          - เครื่องดนตรีมีพิณและกลองเป็นต้น ที่ขึงด้วยหนัง เป็นอนามาส, แต่ในกุรุนทีกล่าวว่าตัวกลอง (หนังชะเนาะขึ้นกลอง) ก็ดี ตัวพิณ (สายขึงพิณ) ก็ดี รางเปล่าก็ดี หนังที่เขาปิดไว้ที่ขอบปากก็ดี คันพิณก็ดี เป็นอนามาสแม้ทั้งสิ้น, จะขึงเองหรือให้คนอื่นเขาขึงก็ดี จะประโคมเองหรือให้คนอื่นเขาประโคมก็ดี ไม่ได้ทั้งนั้น, แม้เห็นเครื่องดนตรีที่พวกมนุษย์กระทำการบูชาแล้วทิ้งไว้ที่ลานพระเจดีย์ อย่าทำให้เคลื่อนที่เลย พึงกวาดไปในระหว่างๆ แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ในเวลาเทหยากเหยื่อ พึงทำไปโดยกำหนดว่าเป็นหยากเหยื่อ แล้ววางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ควรอยู่, แม้จะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ควร แต่ที่ได้มาเพื่อต้องการจะใช้สอย จะถือเอาเพื่อต้องการทำให้เป็นบริขารนั้นๆ โดยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักทำรางพิณและหุ่นกลองให้เป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน หนังจักทำให้เป็นฝักมีดแล้ว กระทำตามที่ตั้งใจอย่างนั้นๆ ควรอยู่    
 


ปเร จ น วิชานนฺติ   มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ   ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ ๖ ฯ
     คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ เพราะวิวาททุ่มเถึยงกัน
     ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป

     The common people know not That in this Quarrel they will perish,
     But those who realize this truth Have their Quarrels calmed thereby.
   
     ...ศ.เสฐียรพงษ์ วรรษปก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 13:37:11 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 16 มีนาคม 2558 13:56:17 »

.



สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๗)
ภิกษุมีความกำหนัด พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีอยู่ในวิหารชายป่า สตรีเป็นอันมากมีความประสงค์จะชมพระวิหาร จึงเข้าไปยังอาราม เรียนพระอุทายีขอชมวิหาร พระอุทายีเชิญสตรีเหล่านั้นให้ชมวิหารแล้ว กล่าวมุ่งวัจจมรรค ปัสสาวมรรค ของสตรีเหล่านั้น ชมบ้าง ติบ้าง ขอบ้าง อ้อนวอนบ้าง ถามบ้าง บอกบ้าง สอนบ้าง ด่าบ้าง สตรีเหล่านั้นจำพวกที่หน้าด้าน ฐานนักเลง ไม่มียางอาย บ้างยิ้มแย้ม บ้างก็พูดยั่วซิกซี้ ส่วนพวกที่มีความละอายใจ ก็เลี่ยงออกไป แล้วโพนทะนาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า คำนี้ไม่เหมาะไม่ควร แม้สามีดิฉันพูดอย่างนี้ ดิฉันยังไม่ปรารถนา
     ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว พูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาวด้วยวาจาพาดพิงเมถุน เป็นสังฆาทิเสส”  
 

อรรถาธิบาย
-  ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
- บทว่า แปรปรวนแล้ว คือ มีจิตอันราคะย้อมแล้ว
- ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรู้ถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต หยาบ และสุภาพ
- วาจาที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ วาจาที่พาดพิงวัจจมรรค ปัสสาวมรรค และเมถุนธรรม
- บทว่า พูดเคาะ คือ ที่เรียกกันว่า ประพฤติล่วงเกิน พูดล่วงเกิน
- คำว่า เหมือนชายหนุ่มหญิงสาว ได้แก่ เด็กชายรุ่นกับเด็กหญิงรุ่น คือ หนุ่ม สาว ชายบริโภคกามกับหญิงบริโภคกาม
- บทว่า ด้วยวาจาพาดพิงเมถุน ได้แก่ ถ้อยคำที่เกี่ยวกับเมถุนธรรม
- มุ่งมรรคทั้งสอง ภิกษุจึงพูดชม พูดติ พูดขอ พูดอ้อนวอน ถาม ย้อนถาม บอก สอน ด่า
- ที่ชื่อว่า พูดชม คือ ชม สรรเสริญมรรคทั้งสอง, พูดติ คือ ติเตียนมรรคทั้งสอง, พูดขอ คือพูดว่า โปรดให้แก่เรา, พูดอ้อนวอน คือ พูดว่า เมื่อไรยามดีจักมีแก่เธอ เมื่อไรฉันจักได้เมถุนธรรมของเธอ, ถาม คือ ถามว่า เธอให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างไร แก่ชู้อย่างไร, ย้อนถาม คือ เธอให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้หรือ หรือให้แก่ชู้อย่างนี้หรือ, บอก คือ ถูกเขาถามแล้วบอกว่าเธอจงให้อย่างนี้ เธอจักเป็นที่รักที่พอใจของสามี, สอน คือ เขาไม่ได้ถาม บอกเองว่าเธอจงให้อย่างนี้, ด่า คือ ด่าว่าเธอเป็นคนไม่มีโลหิต เธอเป็นคนช้ำรั่ว เธอเป็นคล้ายผู้ชาย เธอเป็นคนปราศจากนิมิต


อาบัติ
๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงทวารหนัก ทวารเบา ของสตรี ชมก็ดี ติก็ดี ขอก็ดี อ้อนวอนก็ดี ถามก็ดี ย้อนถามก็ดี บอกก็ดี สอนก็ดี ด่าก็ดี ต้องสังฆาทิเสส
๒. สตรี ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะว์...ต้องถุลลัจจัย
๔. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องถุลลัจจัย
๕. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องถุลลัจจัย
๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
๗. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๘. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ หรือเป็นสตรี หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๙. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
๑๐. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๑๑. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นสตรี หรือเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
๑๒. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๓. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๑๔. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี หรือบุรุษ หรือบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
๑๕. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดพูดพาดพิงถึงอวัยวะเบื้องบนใต้รากขวัญลง อวัยวะเบื้องต่ำเหนือเข่าขึ้นไป เว้นทวารหนัก ทวารเบา...ต้องถุลลัจจัย
๑๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๗. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๘. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๙. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงอวัยวะเบื้องบนเหนือรากขวัญขึ้นไป อวัยวะเบื้องต่ำใต้เข่าลงมา...ต้องทุกกฎ
๒๐. บัณเฑาะก์ บุรุษ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๒๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงของที่เนื่องด้วยกายของสตรี...ต้องทุกกฎ
๒๒. บัณเฑาะก์ บุรุษ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุผู้มุ่งประโยชน์ ๑  ภิกษุผู้มุ่งธรรม ๑  ภิกษุผู้มุ่งสั่งสอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมะ ๑

ตัวอย่าง
    ๑. สตรีผู้หนึ่งห่มผ้ากัมพลใหม่สีแดง ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด พูดเคาะว่า น้องหญิง เธอมีสีแดงแท้ นางไม่เข้าใจความหมายตอบว่า เจ้าค่ะ ผ้ากัมพลใหม่สีแดงค่ะ ภิกษุรูปนั้นคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสส แล้วทูลถาม  ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ (ภิกษุมุ่งโลหิตของนาง)
     ๒. ภิกษุรูปหนึ่งพบนางปริพาชิกาเดินสวนทางมา มีความกำหนัดพูดเคาะว่า น้องหญิง หนทางของเธอราบรื่นดอกหรือ นางไม่เข้าในความหมาย ตอบว่า เจ้าค่ะ ท่านจักเดินไปได้หนอ ภิกษุคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย (ภิกษุหมายถึง ทางแห่งองคชาต นางไม่เข้าใจ)
     ๓. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนดพูดเคาะสตรีผู้หนึ่งว่า เธอเป็นคนมีศรัทธา จะถวายของที่เธอให้สามีแก่พวกฉันบ้างไม่ได้หรือ สตรีถามว่า ของอะไรเจ้าข้า ภิกษุตอบว่า เมถุนธรรมจ้ะ ภิกษุคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๒๐๙-๒๑๖
    ๑. ด้วยคำว่า เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบและสุภาพได้นี้ ท่านพระอุบาลีแสดงว่า หญิงเป็นผู้ฉลาด สามารถเพื่อจะทราบถ้อยคำที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์ ถ้อยคำที่พาดพิงอสัทธรรมและสัทธรรม ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้ ส่วนหญิงที่โง่เขลาเบาปัญญาแม้เป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
     ๒. ภิกษุพูดชมว่า “เธอเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลักษณะของหญิง” อาบัติยังไม่ถึงที่สุด เมื่อพูดว่า “วัจจมรรคและปัสสาวมรรคของเธอเป็นเช่นนี้ เธอเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลักษณะของสตรี” อาบัติย่อมถึงที่สุด คือเป็นสังฆาทิเสส
        - พูดว่า เธอจงให้แก่เรา อาบัติยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อเชื่อมด้วยเมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้ว่า เธอจงให้เมถุนธรรมแก่เรา เป็นสังฆาทิเสส, เธอจงให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้ๆ เป็นสังฆาทิเสส
        - ภิกษุด่าว่า เธอเป็นคนปราศจากนิมิต มีอธิบายว่า ช่องปัสสาวะของเธอมีประมาณเท่ารูกุญแจเท่านั้น, เธอเป็นคนไม่มีโลหิต คือ มีช่องคลอดแห้ง, เธอเป็นคนช้ำรั่ว คือ น้ำมูตรของเธอไหลออกอยู่เสมอ เมื่อเชื่อมกับเมถุนธรรมว่า เธอเป็นคนไม่มีนิมิต จงให้เมถุนธรรมแก่เรา ดังนี้ ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
        - ภิกษุด่าว่า เธอมีเดือย (มีเนื้อเดือยยื่นออกมาข้างนอก), เธอเป็นคนผ่า, เธอเป็นคนสองเพศ (มีช่องทวารหนักและช่องทวารเบาปนกัน, มีเครื่องหมายเพศสตรีและเครื่องหมายเพศบุรุษอยู่ในตัว) ย่อมถึงที่สุดแห่งอาบัติ คือ เป็นสังฆาทิเสส
     ๓. ภิกษุกล่าวอรรถแห่งบท เป็นต้นว่า อนิมิตฺตาสิ หรือผู้ทำการสาธยายอรรถกถา เรียกว่า มุ่งอรรถ, ภิกษุบอกหรือสาธยายพระบาลีอยู่ เรียกว่า มุ่งธรรม ย่อมไม่เป็นอาบัติ
        - ภิกษุมุ่งสั่งสอนกล่าวอย่างนี้ว่า ถึงบัดนี้เธอก็เป็นคนไม่มีนิมิต เป็นคนสองเพศ เธอพึงทำความไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ เธออย่าเป็นเหมือนอย่างนี้ต่อไปเลย ชื่อว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ผู้มุ่งคำสอน, ส่วนภิกษุใดเมื่อบอกบาลีแก่พวกนางภิกษุณี ละทำนองพูดตามปกติเสีย หัวเราะเยาะพูดย้ำๆ ว่า เธอเป็นคนมีเดือย เป็นคนผ่า เป็นคนสองเพศ ภิกษุนั้นเป็นอาบัติแท้
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)





สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๘)
ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีเข้าไปสู่สกุลหญิงม่ายผู้หนึ่ง ผู้รูปงาม น่าดู น่าชม นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย หญิงม่ายเข้ามากราบแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ท่านอุทายีกล่าวธรรมยังหญิงนั้นให้แจ้ง สมาทาน อาจหาญ รู้แจ้ง นางปวารณาว่า โปรดบอกเถิดเจ้าข้า หากต้องการสิ่งใดซึ่งดิฉันสามารถจัดถวายพระคุณเจ้าได้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช, พระอุทยีกล่าวว่า น้องหญิง ปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นของหายากสำหรับฉัน ขอจงให้ของที่หาได้ยากสำหรับฉันเถิด,  สตรี : ของอะไร เจ้าข้า,  อุ : เมถุนธรรมจ้ะ,  สตรี : พระคุณเจ้าต้องการหรือเจ้าคะ,  อุ : ต้องการจ้ะ
     สตรีม่ายกล่าวนิมนต์ แล้วเดินเข้าห้องเลิกผ้าสาฎกนอนหงายบนเตียง  พระอุทายีเข้ามาถึงเตียงแล้วถ่มน้ำลายรด  พูดว่า ใครจักถูกต้องหญิงถ่อยมีกลิ่นเหม็นนี้ได้ ดังนี้แล้วหลีกไป
     สตรีม่ายนั้นเพ่งโทษโพนทะนาว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตร เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ และไม่มีความเป็นสมณะ... แม้สตรีที่รู้ก็เพ่งโทษ ภิกษุทั้งหลายได้ยินก็เพ่งโทษ แล้วกราบทูล... ตรัสถามพระอุทายีว่า “เธอกล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกาม ในสำนักมาตุคามจริงหรือ”  อุ : จริง พระพุทธเจ้าข้า  ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตน ในสำนักของมาตุคาม ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง สตรีใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรมเช่นเราด้วยธรรมนั้น เป็นยอดแห่งการบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
- ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีจิตปฏิพัทธ์, แปรปรวนแล้ว คือ จิตถูกราคะย้อมแล้ว ควบคุมแล้ว
- ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำภาษิต ทุพภาษิต สุภาพและหยาบคาย
- บทว่า ในสำนักมาตุคาม คือ ในที่ใกล้มาตุคาม ในที่ไม่ห่างมาตุคาม
- บทว่า กามของตน ได้แก่ ความใคร่ของตน ความประสงค์ของตน การบำเรอของตน
- บทว่า นั่นเป็นยอด คือ นั่นเป็นเลิศ ประเสริฐ สูงสุด อุดม เยี่ยม
- บทว่า สตรีใด ได้แก่ นางกษัตริย์ พราหมณ์ หญิงแพศย์ หญิงศูทร
- บทว่า มีศีล คือ เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท
- บทว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ผู้เว้นขาดจากเมถุนธรรม
- ที่ชื่อว่า กัลยาณธรรม คือ เป็นผู้ชื่อว่ามีธรรมงาม เพราะศีลและพรหมจรรย์นั้น
- ที่ชื่อว่า ด้วยธรรมนั่น คือ ด้วยเมถุนธรรม, บำเรอ คือ อภิรมย์, ด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับเมถุนธรรม


อาบัติ
๑.  สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตนในสำนักสตรี ต้องสังฆาทิเสส
๒. สตรี ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์, บุรุษ, สัตว์ดิรัจฉาน....ต้องถุลลัจจัย
๔. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
๕. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ, สัตว์ดิรัจฉาน,  สตรี...ต้องทุกกฎ
๗. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
๘. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๙. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี, บัณเฑาะก์, สัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๐. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๑. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย,,,ต้องทุกกฎ
๑๒. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่า (เข้าใจว่า) เป็นสตรี, บุรุษ, บัณเฑาะก์ ต้องทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุกล่าวว่า ขอท่านจงบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร  ดังนี้ ๑  วิกลจริต๑  อาทิกัมมะ ๑


ตัวอย่าง
    สตรีผู้หนึ่งถามภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านเจ้าข้า ทำไฉนดิฉันจึงจะได้ไปสุคติ ภิกษุนั้นตอบว่า น้องหญิง ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายทานที่เลิศ,  สตรี : อะไรเจ้าคะ ชื่อว่าทานที่เลิศ,  ภิกษุ : เมถุนธรรมจ้ะ,  ภิกษุนั้นคิดว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมัง กราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๒๓๗-๒๔๑
    ๑. บทว่า อตฺตกามปาริจริยาย ได้แก่ การบำเรอด้วยกาม กล่าวคือ เมถุนธรรม ชื่อว่า กามปาริจริยา, การบำเรอด้วยกามเพื่อประโยชน์แก่ตน ชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา, อีกอย่างหนึ่ง การบำเรอที่ตนใคร่ คือ ปรารถนา  เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตกกามา อธิบายว่า อันภิกษุเองปรารถนาแล้วด้วยอำนาจแห่งความกำหนัดในเมถุน, การบำเรอนั้นด้วย อันตนให้ใคร่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา
     ๒. ภิกษุใดกล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกามอย่างนั้น กล่าวด้วยคำพาดพิงเมถุนจังๆ คือ หมายเฉพาะเมถุนจังๆ เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้น
       - ท่านปรับสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวคำพาดพิงเมถุนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวคุณแห่งการบำเรอ ด้วยถ้อยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์ นางกษัตริย์สมควรให้แก่กษัตริย์ เพราะมีชาติเสมอกัน, แต่เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวปริยายแม้มาก มีคำว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์ เป็นต้น  แล้วกล่าวด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนจังๆ อย่างนี้ว่า หล่อนสมควรให้เมถุนแก่ฉัน
     ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนทุฏฐุลลวาจาสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๓ ที่ผ่านมา)


คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)




สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ   อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญู    กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร   วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ ฯ ๗ ฯ
     มารย่อมสามารถทำลายบุคคลผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
     ไม่ควบคุมการแสดงออก  ไม่รู้ประมาณในโภชนาหาร
     เกียจคร้านและอ่อนแอ เหมือนลมแรงพัดโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง

     As the wind overthrows a weak tree, So does Mara overpower him
     Who lives attached to sense pleasures  Who lives with his senses uncontrolled,
     Who knows not moderation in his food,  And who is indolent and inactive.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 13:44:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 23 เมษายน 2558 13:55:22 »

.



สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๙)
ภิกษุพูดชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีทำตนเป็นพ่อสื่อ เมื่อเข้าสู่สกุลนี้ ก็พรรณนาคุณสมบัติของเด็กหนุ่มหรือสาวน้อยสกุลโน้นให้สกุลนี้ฟัง เมื่อเข้าสู่สกุลโน้นก็พรรณนาคุณสมบัติของเด็กหนุ่มหรือสาวน้อยของอีกสกุลหนึ่งให้ฟัง การอาวาหมงคล วิวาหมงคล เกิดขึ้นจากการกระทำของท่านอุทายีนี้แล้ว
     ต่อมา พวกสาวกของอาชีวกต้องการสู่ขอธิดาของสตรีม่ายคนหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างงามน่าดู น่าชม แต่สตรีม่ายไม่ตกลง คนทั้งหลายจึงแนะนำให้พวกสาวกของอาชีวกไปขอความช่วยเหลือจากพระอุทายีๆ รับคำเข้าไปพูดสู่ขอให้เขายกให้ได้แล้ว
     ธิดาสตรีม่ายได้รับการยกย่องเป็นสะใภ้แค่เดือนเดียว ต่อนั้นก็เลี้ยงดูอย่างทาสี ธิดานั้นจึงได้ส่งข่าวให้มารดารับตัวกลับ แต่พวกสาวกของอาชีวกไม่ยอม อ้างว่าไม่ได้รับปากไว้กับนาง แต่รับปากไว้กับท่านอุทายี นางจึงไปหาท่านอุทายีให้ท่านช่วยเจรจา ท่านไปพบสาวกของอาชีวก แต่ก็ไม่สำเร็จ พวกเข้าอ้างว่าไม่ได้รับปากไว้กับท่าน แต่รับปากไว้กับสตรีม่ายนั้นต่างหาก
     ธิดาหญิงม่ายและหญิงม่ายต่างสาปแช่งพระอุทายี เพราะได้รับความทุกข์ ส่วนพวกที่ได้รับความสุขต่างพากันสรรเสริญพระอุทายี ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงสาปแช่ง ต่างเพ่งโทษติเตียนพระอุทายี แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติ...(ห้ามชักสื่อ)
     ต่อมา พวกนักเลงหญิงหลายคนพากันไปเที่ยวรื่นเริงในสวน แล้วให้คนไปนำหญิงแพศยามา แต่หญิงแพศยาไม่มา เพราะนางไม่รู้จักใครและกลัวว่าจักถูกชิงเครื่องประดับที่นางมีมาก พวกนักเลงหญิงจึงปรึกษากันขอให้พระอุทายีไปช่วยพูดแก่นาง นางได้รับคำรับรองจากพระอุทายีแล้วจึงได้มาที่สวนนั้น อุบาสกทั้งหลายจึงเพ่งโทษติเตียนว่า “ไฉน ท่านพระอุทายีจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ อันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า”  ภิกษุทั้งหลายได้ยินจึงติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม โดยที่สุดบอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมกันชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย     - คำว่า ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ คือ ถูกสตรีวานไปในสำนักบุรุษ หรือถูกบุรุษวานไปในสำนักสตรี
     - คำว่า บอกความประสงค์ คือแจ้งความปรารถนาของชายแก่หญิง หรือแจ้งความปรารถนาของหญิงแก่ชาย บอกว่าเธอจักเป็นเมีย หรือบอกว่าเธอจักเป็นชู้  โดยที่สุดบอกกับหญิงแพศยาว่า เธอจักเป็นภรรยาชั่วคราว

อาบัติ
     ๑. ภิกษุรับคำ นำไปบอก กลับมาบอก ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. ภิกษุรับคำ นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๓. ภิกษุรับคำ ไม่นำไปบอก กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๔. ภิกษุรับคำ ไม่นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๕. ภิกษุไม่รับคำ นำไปบอก กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๖. ภิกษุไม่รับคำ นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๗. ภิกษุไม่รับคำ ไม่นำไปบอก กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๘. ภิกษุไม่รับคำ ไม่นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ไม่ต้องอาบัติ
     ๙. ภิกษุไปจัดการสำเร็จ กลับมาบอกคลาดเคลื่อน ต้องถุลลัจจัย
    ๑๐. ภิกษุไปบอกคลาดเคลื่อน กลับมาจัดการสำเร็จ ต้องถุลลัจจัย
    ๑๑. ภิกษุไปจัดการสำเร็จ กลับมาจัดการสำเร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๒. ภิกษุไปบอกคลาดเคลื่อน กลับมาบอกคลาดเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ไปด้วยกรณียกิจของสงฆ์ ของเจดีย์ ของภิกษุผู้อาพาธก็ดี ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมะ ๑

ตัวอย่าง
     ๑. บุรุษคนหนึ่งสั่งภิกษุรูปหนึ่งไว้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีผู้มีชื่อนี้ ภิกษุนั้นไปถามคนทั้งหลายว่า สตรีผู้มีชื่อนี้ไปไหน เขาตอบว่า หลับ ขอรับ  เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๒. บุรุษคนหนึ่งสั่งภิกษุรูปหนึ่งไว้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีผู้มีชื่อนี้, ภิกษุนั้นไปถามคนทั้งหลายว่า สตรีผู้มีชื่อนี้ไปไหน เขาตอบว่า เป็นสตรีบัณเฑาะก์ ขอรับ เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. สตรีคนหนึ่งทะเลาะกับสามี แล้วหนีไปเรือนมารดา ภิกษุประจำตระกูลได้ชักจูงให้เขาคืนดีกันแล้ว เธอคิดว่า เราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมัง จึงกราบทูล...ตรัสถามว่า เขาหย่ากันหรือยัง ภิกษุตอบว่าเขายังไม่ได้หย่ากัน พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะเขายังไม่ทันหย่ากัน
     ๔. ภิกษุรูปหนึ่งถึงการชักสื่อในบัณเฑาะก์แล้ว เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล...ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ ๑/๓/๓๓๘-๓๕๔
     ๑. ที่ชื่อว่า อาวาหะ ได้แก่ การนำเด็กสาวมาจากตระกูลอื่นเพื่อเด็กหนุ่ม, ที่ชื่อว่า วิวาหะ ได้แก่ การส่งเด็กสาวของตนไปสู่ตระกูลอื่น
         - ล่วงไปได้ ๑ เดือน พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้น ใช้สอยนางนั้นด้วยการใช้สอยอย่างที่คนทั้งหลายจะพึงใช้สอยทาสี มีการให้ทำนา เทหยากเยื่อ และตักน้ำ เป็นต้น
         - พวกสาวกของอาชีวกแสดงว่า การตกลงและรับรอง คือ การรับและการให้ พวกเราไม่ได้รับมา ไม่ได้มอบให้อะไรๆ, คือว่า พวกเราไม่มีการซื้อขาย คือ การค้าขายกับท่าน, ธรรมดาว่าสมณะต้องเป็นผู้ไม่ขวนขวาย ต้องไม่พยายามในการงานเช่นนี้ ด้วยว่าสมณะผู้เป็นอย่างนี้ พึงเป็นสมณะที่ดีไม่ได้, แล้วกล่าวว่า ไปเสียเถิดท่าน พวกเราไม่รู้จักท่าน พระอุทายีถูกพวกสาวกอาชีวกรุกรานอย่างนี้
     ๒. เมื่อจะทรงแสดงประโยชน์ คือ ความประสงค์ ความต้องการ อัธยาศัย ความพอใจ ความชอบใจของชายและหญิงเหล่านั้น ที่ภิกษุบอก จึงตรัสว่า ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม
         - เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายแก่หญิง ชื่อว่า ย่อมบอกในความเป็นเมีย
         - เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ชื่อว่า ย่อมบอกในความเป็นชู้
         - อีกนัยหนึ่ง... เมื่อบอกความประสงค์ของชายนั่นแหละแก่หญิง ชื่อว่า บอกในความเป็นเมีย คือ ในความเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายบ้าง ในความเป็นชู้ คือ ในความเป็นมิจฉาจารบ้าง, ก็เพราะว่า ภิกษุ เมื่อจะบอกความเป็นเมียและเป็นชู้นั้น จำจะต้องกล่าวคำมีอาทิว่า นัยว่า เธอจักต้องเป็นภรรยาของชายนั้น  ฉะนั้น เพื่อจะแสดงอาการแห่งความเป็นถ้อยคำ จำเป็นต้องกล่าวนั้น จึงตรัสบอกบทภาชนะแห่งบททั้งสองนั้นว่า คำว่า ในความเป็นเมีย คือ เธอจักเป็นภรรยาเขา คำว่า ในความเป็นชู้ คือ เธอจักเป็นชู้ ดังนี้
     แม้ในการบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ก็พึงทราบอาการที่ภิกษุจำเป็นต้องกล่าวว่า เธอจักเป็นผัว เธอจักเป็นสามี จักเป็นชู้
         - หญิงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตังขณิกา เพราะผู้ชายพึงอยู่ร่วมเฉพาะในขณะนั้น คือ ชั่วครู่ ความว่า เป็นเมียเพียงชั่วคราว โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดทั้งหมด เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายอย่างนี้ว่า เธอจักเป็นเมียชั่วคราวแก่หญิงนั้น ก็เป็นสังฆาทิเสส, แม้ภิกษุผู้บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายว่า เธอจักเป็นผัวชั่วคราว ก็ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. ภิกษุรับคำที่ชายนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านโปรดไปพูดกะหญิงที่มารดาปกครองชื่อนี้ว่า หล่อนจงเป็นภรรยาสินไถ่ (สตรีที่บุรุษช่วยมาด้วยทรัพย์แล้วให้อยู่ร่วม) ของชายชื่อนี้ ภิกษุลั่นวาจาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ดีละ อุบาสก หรือว่าจงสำเร็จ หรือว่าเราจักบอก หรือด้วยกายวิการ มีพยักศีรษะเป็นต้น ชื่อว่า รับ
     ครั้นรับอย่างนั้นแล้ว ไปยังสำนักหญิงนั้น บอกคำสั่งนั้น ชื่อว่า บอก
     เมื่อคำสั่งอันนั้นเธอบอกแล้ว หญิงนั้นรับว่า ดีละ หรือห้ามเสีย หรือนิ่งเสีย เพราะอายก็ตาม ภิกษุกลับมาบอกข่าวนั้นแก่ชายนั้น ชื่อว่า กลับมาบอก ด้วยอาการอย่างนี้เป็นสังฆาทิเสส เพราะครบองค์ ๓ คือ รับคำบอก กลับมาบอก ส่วนหญิงนั้นจะเป็นภรรยาของชายนั้นหรือไม่ ไม่ใช่เหตุ
         - ภิกษุรับ แต่ให้อันเตวาสิกบอก แล้วกลับมาบอกด้วยตนเอง ก็ต้องสังฆาทิเสส
         - ภิกษุจะพูดว่า หล่อนจงเป็นภรรยา ชายา ปชาบดี มารดาของบุตร แม่เรือน แม่เจ้าเรือน แม่ครัว นางบำเรอ หญิงบำเรอกาม ของชายชื่อนี้ ดังนี้เป็นอาบัติทั้งนั้น
         - แต่เมื่อภิกษุอันชายวานว่า โปรดบอกหญิงที่มารดาปกครอง ภิกษุไปบอกหญิงเหล่าอื่น มีหญิงที่มีบิดาปกครองเป็นต้น ชื่อว่าคลาดเคลื่อน
         - ภิกษุผู้อันชายวานว่า ท่านจงโปรดไปบอกหญิงชื่อนี้ รับคำของเขาว่า ได้ซี แล้วจะลืมเสียหรือไม่ลืมคำสั่งก็ตาม ไปสู่สำนักของหญิงนั้นด้วยกรณียกิจอื่น นั่งกล่าวคำบ้างเล็กน้อยด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า รับ แต่ไม่บอก
     ลำดับนั้น หญิงนั้นพูดกับภิกษุว่า ได้ยินว่าอุปัฏฐากของท่านอยากได้ดิฉัน ดังนี้ ดิฉันจักเป็นภรรยาของเขา หรือจักไม่เป็น ภิกษุนั้นไม่รับรอง ไม่คัดค้านคำของหญิงนั้นนิ่งเสียเฉย ลุกจากที่นั่งมายังสำนักของชายบอกข่าวนั้นด้วยอาการเท่านี้ ท่านเรียกว่า ชื่อว่า ไม่บอก แต่กลับมาบอก
     ชายบางคนกล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น ในที่ซึ่งภิกษุยืนอยู่หรือนั่งอยู่ ภิกษุอันเขาไม่ได้วานเลยแต่เป็นเหมือนถูกวาน จึงไปยังสำนักของหญิงแล้วบอกว่าหล่อนจงเป็นภรรยาของชายชื่อนี้ แล้วกลับมาบอกความชอบใจหรือไม่ชอบใจของหญิงนั้นแก่ชายนี้ ท่านเรียกว่า ไม่รับ แต่บอกและกลับมาบอก
         - ภิกษุทำการชักสื่อแก่บิดามารดาก็ดี แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ ก็ดี เป็นอาบัติทั้งนั้น
     ๔. อาจารย์รับ แต่ให้อันเตวาสิกไปบอก อันเตวาสิกบอกแล้ว กลับมาบอกภายนอก”  ความว่า อันเตวาสิกกลับมาแล้วไม่บอกแก่อาจารย์ ไปเสียทางอื่นบอกแก่ชายผู้นั้น, เช่นนี้เป็นถุลลัจจัยแก่อันเตวาสิกด้วยองค์ ๒ คือ เพราะบอก ๑ เพราะกลับมาบอก ๑, เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์ด้วยองค์ ๒ คือ เพราะรับคำ ๑ เพราะใช้ให้ไปบอก ๑
     ๕. อุบาสกวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสิกา หรืออุบาสิกาวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสก เพื่อต้องการอาหารและค่าแรงสำหรับพวกคนงานในการสร้างอุโบสถาคารเป็นต้นนั้น เมื่อภิกษุไปด้วยกรณียะของสงฆ์เช่นนี้ ไม่เป็นอาบัติ หรือถูกอุบาสกหรืออุบาสิกาวานแล้ว เพื่อต้องการยาสำหรับภิกษุอาพาธ ย่อมไม่เป็นอาบัติ
     ๖. ภิกษุชักสื่อในพวกนางยักขิณีและนางเปรต เป็นถุลลัจจัยเหมือนกันกับภิกษุเคล้าคลึงกายของพวกนางยักษ์หรือนางเปรต ก็เป็นถุลลัจจัย
     ๗. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ คือ เมื่อภิกษุรับข่าวสารด้วยกายวิการ มีผงกศีรษะเป็นต้น ไปบอกด้วยหัวแม่มือ แล้วกลับมาบอกด้วยหัวแม่มือ อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังกาย ๑ เมื่อใครๆ กล่าวแก่ภิกษุผู้นั่งที่หอฉันว่า หญิงชื่อนี้จักมา ท่านพึงทราบจิตของนางแล้วรับว่า ดีละ บอกกะนางผู้มาหา เมื่อนางกลับไปแล้ว บอกในเมื่อชายนั้นกลับมาหา อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังวาจา ๑, แม้เมื่อภิกษุรับคำสั่งด้วยวาจาว่า ได้สิ แล้วไปยังเรือนของหญิงนั้นด้วยกรณียะอื่น หรือพบหญิงนั้นในเวลาไปที่อื่น แล้วบอกด้วยเปล่งวาจานั่นแล ยังไม่หลีกไปจากที่นั่น ด้วยเหตุอื่นนั่นเอง บังเอิญพบชายคนนั้นเข้าอีก แล้วบอก อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังวาจาอย่างเดียว
     แต่อาบัติย่อมเกิดโดยทางกายและวาจา ๑ แม้แก่พระขีณาสพผู้ไม่รู้พระบัญญัติเป็นอย่างไร? ก็ถ้าว่า มารดากับบิดาของภิกษุนั้นโกรธกัน เป็นผู้หย่าร้างขาดกันแล้ว ก็บิดาของพระเถระนั้นพูดกะภิกษุนั้นผู้มายังเรือนว่า แน่ะลูก โยมมารดาของท่านทิ้งโยมผู้แก่เฒ่าไปสู่ตระกูลของญาติเสียแล้ว ขอท่านไปส่งข่าวให้โยมมารดานั้นกลับมาเพื่อปรนนิบัติโยมเถิด ถ้าภิกษุนั้นไปพูดกะโยมมารดานั้นแล้ว กลับมาบอกข่าวการมาหรือไม่มาแห่งโยมมารดานั้นแก่โยมบิดา เป็นสังฆาทิเสส
     ๘. สมุฏฐานที่กล่าวมาเป็นอจิตตกมุฏฐาน (ไม่มีเจตนาล่วงละเมิดพระบัญญัติ ก็เป็นอาบัติ) แต่เมื่อภิกษุทราบพระบัญญัติแล้ว ถึงความชักสื่อโดยนัยทั้ง ๓ นี้แหละ อาบัติย่อมเกิดทางกายกับจิต (มีจิตคิดล่วงละเมิด) ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑  ๓ สมุฏฐานนี้เป็นสจิตตกสมุฏฐาน เพราะรู้พระบัญญัติห้ามแล้ว, เป็นปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต)





สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๐)
ภิกษุสร้างกุฎีเป็นของเฉพาะตนเกินประมาณด้วยอาการขอเอา
และไม่ให้สงฆ์แสดงที่ ต้องสังฆาทิเสส

    ภิกษุทั้งหลายชาวเมืองอาฬาวี สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์อันตนหามาเองอันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง ใหญ่ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกท่านต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้ขวาน จงให้จอบ ประชาชนถูกเบียดเบียนจากการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายก็หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตูเสียบ้าง แม้พบแม่โคก็พากันหนี ด้วยคิดว่าเป็นพวกภิกษุ
     ต่อมา พระมหากัสสปะเดินทางมายังเมืองอาฬาวี ท่านถือบาตรเข้าไปบิณฑบาต ท่านเห็นอาการของประชาชนแล้ว ได้สอบถามความจากพระภิกษุ ภิกษุเหล่านั้นกราบเรียนให้ท่านทราบ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงเมืองอาฬวี พระมหากัสสปะจึงเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องนั้น ทรงติเตียนแล้วตรัสเล่าเรื่องฤๅษีสองพี่น้อง, นกฝูงใหญ่ และเรื่องพระรัฐบาล ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ  โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - ที่ชื่อว่า อาการขอเอาเอง คือ ขอเองซึ่งคน แรงงาน โค เกวียน มีด...
     - ที่ชื่อว่า กุฎี ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในภายนอกก็ตาม
     - บทว่า สร้าง คือ ทำเองก็ดี ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     - บทว่า อันหาเจ้าของมิได้ คือ ไม่มีใครอื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ
     - บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
     - คำว่า พึงสร้างให้ได้ประมาณ ยาว ๑๒ คืบ ด้วยคืบสุคต คือ วัดนอกฝาผนัง, คำว่า โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ นั้นคือ วัดร่วมในฝาผนัง
     - คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ มีอธิบายไว้ว่า ภิกษุผู้จะสร้างนั้น พึงให้แผ้วถางพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีนั้นเสียก่อน แล้วเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า แล้วกล่าวคำขออย่างนี้ว่า ท่านเจ้าขา ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง ท่านเจ้าขา ข้าพเจ้าของสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี จากนั้นพึงสมมติภิกษุให้ตรวจดูพื้นที่ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงไปตรวจสถานที่นั้น เช่น ตรวจว่าเป็นสถานที่มีผู้จองไว้หรือไม่มีผู้จองไว้ มีชานเดินได้รอบหรือไม่มีชานเดินได้ เป็นต้น แล้วพึงแจ้งแก่สงฆ์ว่า เป็นสถานที่ไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานเดินได้รอบ
     ภิกษุผู้จะสร้างกุฎี พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า แล้วกล่าวคำขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี
     ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา...แสดงพื้นที่แล้ว
     - ที่ชื่อว่า อันมีผู้จองไว้ คือ เป็นที่อาศัยของมด ปลวก หนู งู เสือ สุนัขป่า เป็นสถานที่ใกล้ที่นา ใกล้ที่ทรมานนักโทษ ใกล้สุสาน ใกล้โรงสุรา ที่ใกล้ถนน ที่ใกล้ชุมชน นี้ชื่อว่าสถานอันมีผู้จองไว้
     - ที่ชื่อว่า อันหาชานรอบมิได้ คือ เกวียนที่เขาเทียมวัวแล้วตามปกติ ไม่สามารถจะเวียนได้ บันไดหรือพะองไม่สามารถจะทอดเวียนไปได้โดยรอบ นี้ชื่อว่า สถานอันหาชานรอบมิได้
     - ที่ชื่อว่า อันไม่มีผู้จองไว้ คือ ไม่เป็นที่อาศัยของมด ปลวก หนู เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า อันมีชานรอบ คือ เกวียนที่เขาเทียมแล้วสามารถจะเวียนไปได้ เป็นต้น
     - บทว่า หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณ เป็นสังฆาทิเสส  ความว่า ไม่ขอให้สงฆ์แสดงสถานที่สร้างกุฎีด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก็ตาม สร้างเองหรือใช้ให้เขาสร้างให้เกินกำหนดแม้เพียงเส้นผมเดียว  โดยส่วนยาวหรือโดยส่วนกว้างก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ ในขณะที่ทำเหลืออิฐก้อนหนึ่งก็จะเสร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ก้อนสุดท้ายต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อาบัติ
     ๑. สร้างเองหรือสั่งสร้าง พื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. สร้างเองหรือสั่งสร้าง สร้างเกินประมาณ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. สร้างเองหรือสั่งสร้าง มีผู้จองไว้ ต้องทุกกฎ
     ๔. สร้างเองหรือสั่งสร้าง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ
     ๕. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงไว้ สร้างเกินประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎกับอาบัติสังฆาทิเสส ๒ ตัว
     ๖. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ เท่าประมาณ มีผู้จอง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ ๒ ตัว
     ๗. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ เท่าประมาณ ไม่มีผู้จอง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ ๑ ตัว
     ๘. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงไว้ เท่าประมาณ ไม่มีผู้จอง มีชานรอบ ไม่ต้องอาบัติ
     ๙. ภิกษุสั่งว่า จงช่วยสร้างกุฎีให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย แต่ได้สั่งไว้ว่า กุฎีนั้นต้องมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ต้องเท่าประมาณ ต้องไม่มีผู้จองไว้ และให้มีชานรอบด้วย ผู้รับคำสั่งสร้างกุฎีให้แก่เธอซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้เกินประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ภิกษุนั้นทราบข่าวดังกล่าว พึงไปเองหรือส่งทูตไปบอกว่า ต้องมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ต้องเท่าประมาณ ต้องไม่มีผู้จองไว้ และให้มีชานรอบด้วย ผู้ถ้าไม่ไปเองหรือไม่ส่งทูตไปบอก ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๐. ภิกษุกล่าวสั่งว่า จงช่วยกันสร้างกุฎีให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย ผู้รับคำสั่งสร้างให้แก่เธอ ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ถ้าเมื่อเขาทำค้างไว้ เธอกลับมา พึงให้กุฎีนั้นแก่ภิกษุรูปอื่น หรือพึงรื้อเสีย แล้วสร้างใหม่ ถ้าไม่ให้แก่ภิกษุรูปอื่น หรือไม่รื้อสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฎ ๒ ตัว
    ๑๑. กุฎีที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนเสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๒. กุฎีที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๓. กุฎีที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อด้วยตนเองจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๔. กุฎีที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๕. วินิจฉัยในการสร้าง การสั่งให้สร้างกุฎีนี้มีมากมายหลายนัย ผู้ต้องการตัดความสงสัย พึงค้นหาในคัมภีร์เถิด เพราะเท่าที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์อีกมาก

อนาบัติ
     ภิกษุสร้างถ้ำ ๑  สร้างคูหา ๑  สร้างกุฎีหญ้า ๑  สร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๑  เว้นอาคารอันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างนอกจากนั้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๔๐๑-๔๒๕
     ๑. ภิกษุชาวเมืองอาฬาวี ขออุปกรณ์มาเอง แล้วทำเองบ้าง ใช้ให้คนอื่นทำบ้าง จึงทอดทิ้งวิปัสสนาธุระและคันถธุระ ยกนวกรรม (การก่อสร้าง) ขึ้นเป็นธุระสำคัญ, โดยไม่มีผู้สร้างถวาย ขอเขามาสร้าง เพื่อประโยชน์แก่ตนโดยไม่มีประมาณ, เป็นผู้มากไปด้วยการขอ
     ๒. การขอ (วิญญัติ) นั้น ย่อมไม่ควรในปัจจัยทั้งสอง คือ จีวรและบิณฑบาต แต่ในเสนาสนะปัจจัย เพียงแต่ออกปากขอว่า ท่านจงนำมา จงให้ เท่านั้นไม่ควร, ปริกถา โอภาส และนิมิตกรรมย่อมควร
     บรรดาปริกถา โอภาส และนิมิตกรรมนั้น, คำพูดของภิกษุผู้ต้องการโรงอุโบสถ, หอฉัน หรือเสนาสนะอะไรๆ อื่น  โดยนัยเป็นต้นว่า การสร้างเสนาสนะเห็นปานนี้ในโอกาสนี้ ควรหนอหรือว่าชอบหนอ หรือสมควรหนอ  ดังนี้ ชื่อว่า ปริกถา (คำพูดหว่านล้อม, การพูดให้รู้โดยปริยาย),  ภิกษุถามว่า อุบาสก พวกท่านอยู่ที่ไหน?  พวกอุบาสกตอบว่า ที่ปราสาทขอรับ ภิกษุพูดต่อไปว่า ก็ปราสาทไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายหรืออุบาสก คำพูดอย่างนี้ ชื่อว่า โอภาส (การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส), ก็การกระทำมีอาทิอย่างนี้ว่า คือ เมื่อภิกษุเห็นชาวบ้านกำลังมา จึงขึงเชือกให้ตอกหลัก เมื่อพวกชาวบ้านถามว่า นี้กำลังทำอะไรกัน ขอรับ  ภิกษุตอบว่า พวกอาตมาจะสร้างที่อยู่อาศัยที่นี่ ชื่อว่า นิมิตกรรม (ทำอาการเป็นเชิงให้เขาถาม, ให้เขารู้)
     ส่วนในคิลานปัจจัย แม้วิญญัติ (ขอ) ก็ควร  จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริกถาเป็นต้นเล่า
     ๓. ที่มีชื่อว่า คืบพระสุคต คือ ๓ คืบของบุรุษกลางคนในปัจจุบันนี้ เท่ากับศอกคืบ โดยศอกของช่างไม้
         - ยาว ๑๒ คืบ โดยวัดนอกฝาผนังแห่งกุฎี แต่เมื่อจะวัด ไม่พึงกำหนดเอาที่สุดก้อนดินผสมแกลบ (ก้อนอิฐ) การฉาบทาปูนขาวข้างบนแห่งก้อนดินผสมแกลบเป็นอัพโพหาริก (กล่าวไม่ได้ว่ามี, มีแต่ไม่ปรากฏ, มีเหมือนไม่มี) ถ้าภิกษุไม่มีความต้องการด้วยก้อนดินผสมแกลบ สร้างให้เสร็จด้วยก้อนดินเหนียวใหญ่เท่านั้น ดินเหนียวใหญ่นั่นแลเป็นเขตกำหนด
         - ส่วนกว้าง ๗ คืบพระสุคต โดยการวัดอันมีในร่วมใน  มีอธิบายว่า เมื่อไม่ถือเอาที่สุดด้านนอกฝา วัดเอาที่สุดโดยการวัดทางริมด้านใน ได้ประมาณด้านกว้าง ๗ คืบพระสุคต
     ส่วนภิกษุใดอ้างเลศว่า เราจักทำให้ได้ประมาณตามที่ตรัสไว้จริงๆ แต่ทำประมาณด้านยาว ๑๑ คืบ ด้านกว้าง ๘ คืบ หรือยาว ๑๓ คืบ กว้าง ๖ คืบ การทำนั้นไม่สมควรแก่ภิกษุนั้น,  จริงอยู่ ประมาณแม้ที่เกินไปทางด้านเดียว ก็จัดว่าเกินไปเหมือนกัน, คืบจงยกไว้ จะลดด้านยาวเพิ่มด้านกว้าง หรือลดด้านกว้าง เพิ่มด้านยาว แม้เพียงปลายเส้นผมเดียว ก็ไม่ควร
     ส่วนกุฎีใด ด้านยาวมีประมาณถึง ๖๐ ศอก ด้านกว้างมีประมาณ ๓ ศอก หรือหย่อน ๓ ศอก เป็นที่ซึ่งเตียงที่ได้ขนาดหมุนไปข้างโน้นข้างนี้ไม่ได้, กุฎีนี้ไม่ถึงการนับว่ากุฎี เพราะฉะนั้นกุฎีแม้นี้ก็สมควร, แต่ในมหาปัจจรีว่า กุฎีกว้าง ๔ ศอกไว้โดยกำหนดอย่างต่ำ, ต่ำกว่ากุฎีกว้าง ๔ ศอกนั้น ไม่จัดว่าเป็นกุฎี, ก็กุฎีถึงได้ประมาณ แต่สงฆ์ยังไม่ได้แสดงที่ให้ก็ดี มีผู้จองไว้ก็ดี ไม่มีชานเดินโดยรอบก็ดี ไม่ควร,  กุฎีได้ประมาณ สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว ไม่มีผู้จองไว้ มีชานเดินได้รอบ จึงควร
         - “มีชานรอบ” เป็นที่อันเกวียนซึ่งเทียมด้วยโคถึก ๒ ตัว  ไม่อาจจะจอดล้อข้างหนึ่งไว้ในที่น้ำตกจากชายคา ล้อข้างหนึ่งไว้ข้างนอกแล้วเวียนไปได้, แต่ในกุรุนทีกล่าวว่าเทียมด้วยโคถึก ๔ ตัวก็ดี, หรือเป็นที่ซึ่งคนทั้งหลายผู้ยืนมุงเรือนอยู่ที่บันไดหรือพะอง ไม่อาจเวียนไปโดยรอบด้วยบันไดหรือพะองได้, ในที่มีผู้จองไว้และไม่มีชานรอบ ไม่ควรให้สร้างกุฎี แต่ควรให้สร้างในที่ไม่มีผู้จองไว้และมีชานรอบ
     ๔. ก็กุฎีอันตนเอง หรืออันคนเหล่าอื่น หรือว่าทั้งสองฝ่ายทำค้างไว้ก็ตามที ก็แล  ภิกษุยังกุฎีนั้นให้สำเร็จด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำให้สำเร็จก็ดี  ใช้คนที่รวมเป็นคู่ คือ ตนเองและคนเหล่าอื่นสร้างให้สำเร็จก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นสังฆาทิเสสทั้งนั้น แต่ในกุรุนทีท่านกล่าวว่า ภิกษุ ๒-๓ รูป ร่วมกันทำ กล่าวว่า พวกเราจักอยู่ ยังรักษาอยู่ก่อน ยังไม่เป็นอาบัติ เพราะยังไม่แจกกัน, แจกกันว่า ที่นี่ของท่านแล้ว ช่วยกันทำ เป็นอาบัติ,  สามเณรกับภิกษุร่วมกันทำ ยังรักษาอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้แบ่งกัน แจกกัน โดยนัยก่อนแล้ว ช่วยกันทำเป็นอาบัติแก่ภิกษุ ดังนี้
     ๕. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กระทำถ้ำแม้ให้ใหญ่ เพราะการฉาบในถ้ำนี้ไม่เชื่อมต่อกัน สำหรับภิกษุผู้กระทำแม้คูหา คือ คูหาก่ออิฐก็ดี คูหาศิลาก็ดี คูหาไม้ก็ดี คูหาดินก็ดี แม้ให้ใหญ่ก็ไม่เป็นอาบัติ
     ปราสาทแม้มีพื้น ๗ ชั้น แต่หลังคามุงด้วยหญ้าและใบไม้ ท่านเรียกว่ากุฎีหญ้า แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านเรียกกุฎีที่เขาทำหลังคาให้ประสานกันดุจตาข่าย ด้ายไม้ระแนงทั้งหลาย แล้วมุงด้วยพวกหญ้าหรือใบไม้นั้นแล ว่า เรือนเล้าไก่ ไม่เป็นอาบัติในเพราะกุฎีที่เขามุงแล้วนั้น, จะกระทำเรือนหลังคามุงหญ้า แม้ให้ใหญ่ก็ควร, เพราะว่าภาวะมีการโบกฉาบปูนภายในเป็นต้น เป็นลักษณะแห่งกุฎี และภาวะมีโบกฉาบปูนภายใน เป็นต้นนั้น  พึงทราบว่า ตรัสหมายถึงหลังคาเท่านั้น
     ในกุฎีหญ้านี้ ไม่เป็นอาบัติในทุกๆ กรณี  แม้สงฆ์จะไม่ได้แสดงที่ให้เป็นต้นก็ตาม จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงกุฎีเช่นนี้ จึงตรัสไว้ในคัมภีร์ปริวารว่า
     “ภิกษุสร้างกุฎีซึ่งสงฆ์ไม่แสดงที่ให้ ล่วงประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ด้วยการขอเอาเอง ไม่เป็นอาบัติ ปัญหานี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว”
         - ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สร้างกุฎี แม้ไม่ถูกลักษณะของกุฎี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ สร้างให้อุปัชฌาย์ก็ตาม อาจารย์ก็ตาม สงฆ์ก็ตาม
         - ภิกษุให้สร้างอาคารอื่น เว้นอาคารเพื่อประโยชน์เป็นที่อยู่ของตนเสีย ด้วยตั้งใจว่าจักเป็นโรงอุโบสถก็ตาม เป็นเรือนไฟก็ตาม เป็นหอฉันก็ตาม เป็นโรงไฟก็ตาม ไม่เป็นอาบัติในเพราะอาคารทั้งหมด มีโรงอุโบสถเป็นต้น, ถ้าแม้นภิกษุนั้นมีความรำพึงในใจว่า จักเป็นโรงอุโบสถด้วย เราจักอยู่ด้วย ดังนี้ก็ดี, ว่าจักเป็นเรือนไฟด้วย จักเป็นศาลาฉันด้วย เราจักอยู่ด้วย ดังนี้ก็ดี แล้วให้สร้าง เป็นอาบัติแท้, แต่ในมหาปัจจรีว่า ไม่เป็นอาบัติ  แล้วกล่าวอีกว่า เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สร้างเพื่อประโยชน์แก่เรือนเป็นที่อยู่ของตนเท่านั้น
     ๖. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เทียบเคียงจากสิกขาบทที่ ๕)
     เป็นกิริยา แท้จริงสิกขาบทย่อมเกิดโดยการกระทำของภิกษุผู้ให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว สร้างให้ล่วงประมาณไป, เกิดทั้งโดยการทำและไม่ทำของภิกษุผู้ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้วสร้าง, เป็นอจิตตกะ, ปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กริยาจิต)
๗. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (แสดงมาตราวัด) ดังนี้
     ๗ เมล็ดข้าว    เป็น ๑ นิ้ว          ๑๒ นิ้ว       เป็น ๑ คืบ
     ๒ คืบ           เป็น ๑ ศอก          ๔ ศอก     เป็น ๑ วา
     ๒๕ วา          เป็น ๑ อุสภะ       ๘๐ อุสภะ   เป็น ๑ คาวุต
     (หรือ)
     ๔ ศอก          เป็น ๑ ธนู        ๕๐๐ ธนู       เป็น ๑ โกสะ
     ๔ โกสะ         เป็น ๑ คาวุต        ๔ คาวุต     เป็น ๑ โยชน์


มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา   มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฎฺฌฐน   ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ   จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ ๑ ฯ
     ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง  ใจเป็นใหญ่ (กว่าสรรพสิ่ง)
     สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ  ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว
     ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา  เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค

     Mind foreruns all mental conditions, Mind is chief, mind-made are they;
     If one speak or acts with a wicked mind, Then suffering follows him
     Even as the wheel the hoof of the ox.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 13:56:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 23 เมษายน 2558 13:58:42 »

.


สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๑)
ภิกษุสร้างกุฎี มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณได้
แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส

    คหบดีอุปัฏฐากของพระฉันนะกล่าวกับพระฉันนะว่า ขอพระคุณเจ้าตรวจดูสถานที่สร้างวิหาร กระผมจักให้สร้างวิหารถวายพระคุณเจ้า พระฉันนะจึงให้คนแผ้วถางสถานที่สร้างวิหาร ให้โค่นต้นไม้อันเป็นเจดีย์ต้นหนึ่งที่ชาวบ้านชาวนครพากันบูชา  คนทั้งหลายจึงพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉน สมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงให้โค่นต้นไม้อันเป็นเจดีย์ที่คนทั้งหลายพากันบูชาเล่า พระสมณะเบียดเบียนอินทรีย์ชนิดหนึ่งซึ่งมีชีวิต
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินจึงเพ่งโทษติเตียนพระฉันนะ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของเฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ หมายถึง วิหารมีเจ้าของ
     - ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบไว้เฉพาะภายในก็ตาม โบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม โบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในภายนอกก็ตาม
     - บทว่า ให้สร้าง คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     - บทว่า อันมีเจ้าของคือใครๆ คนอื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ
     - บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
     - คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่นั้น มีวิธีปฏิบัติเหมือนการขอสร้างกุฎี คือ ต้องแผ้วถางสถานที่จะสร้างวิหารเสียก่อนแล้วเข้าไปหาสงฆ์ กล่าวคำขอ...สงฆ์ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถสวดประกาศ สมมติภิกษุให้เป็นผู้ตรวจดูสถานที่จะต้องสร้างวิหารด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา...
     - ภิกษุผู้สงฆ์สมมติไปตรวจดูสถานที่แล้วกลับมาบอกแก่สงฆ์  สงฆ์ให้ภิกษุผู้สามารถสวดประกาศแสดงสถานที่จะสร้างวิหาร
     - ที่ชื่อว่า อันมีผู้จองไว้, อันหาชานรอบมิได้, อันไม่มีผู้จองไว้, อันมีชานรอบ พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๖
     - หากไม่ให้สงฆ์แสดงสถานที่จะสร้างวิหารด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก่อนแล้ว ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎในขณะที่ทำ เหลืออิฐก้อนหนึ่ง จะเสร็จต้องอาบัติถุลลัจจัย พอเสร็จต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อาบัติ
     ๑. ภิกษุสร้างวิหาร หรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๒. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ในสถานที่มีผู้จองไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๔. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎ ๒ ตัว สังฆาทิเสส ๒ ตัว
     ๕. ภิกษุสั่งว่า จงช่วยกันสร้างวิหารให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารให้แก่เธอ ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ มีผู้จองไว้ มีชานรอบ หากเขาสร้างค้างไว้ เธอกลับมาพึงให้วิหารนั้นแก่ภิกษุรูปอื่น หรือพึงรื้อเสียแล้วสร้างใหม่ หากไม่ให้แก่ภิกษุรูปอื่นหรือไม่รื้อแล้วสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฎ ๑ ตัว
     ๖. ภิกษุสร้างวิหารเองหรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ไม่มีผู้จองไว้ มีชานรอบ ไม่ต้องอาบัติ
     ๗. วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนเสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
     ๘. วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
     ๙. วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อให้เสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
   ๑๐. วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส

อนาบัติ
     ภิกษุสร้างถ้ำ ๑  สร้างคูหา ๑  สร้างกุฎีหญ้า ๑  สร้างวิหารเพื่อภิกษุอื่น ๑  เว้นอาคารเป็นที่อยู่เสีย สร้างนอกจากนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๔๔๔-๔๔๕
     ๑. วิหารที่จะสร้างนั้นสถานที่เป็นของวัดโฆสิตาราม ที่ท่านโฆสิตเศรษฐีให้สร้าง  
          - พระฉันนะเคยเป็นมหาดเล็กในเวลาพระพุทธองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์
          - ในคำว่า วิหารนี้ ไม่ใช่วิหารทั้งหมด เป็นเพียงที่อยู่หลังหนึ่งที่คหบดีจักสร้างให้พระฉันนะ
     ๒. ที่ชื่อว่า เจดีย์ เพราะอรรถว่าอันปวงชนทำความเคารพ, เป็นชื่อเขาเทวสถานทั้งหลายที่ควรแก่การบูชา, ต้นไม้ที่ชาวโลกสมมติว่า เจดีย์ ชื่อว่า รุกขเจดีย์, ที่ชาวบ้านบูชาแล้ว หรือเป็นที่บูชาของชาวบ้าน  เพราะฉะนั้น ต้นไม้นั้นชื่อว่า คามปูชิตะ (ที่ชาวบ้านพากันบูชา)
        - ส่วนหนึ่งในรัชสีมาแห่งพระราชาพระองค์หนึ่ง พึงทราบว่า “ชนบท” แว่นแคว้นทั้งสิ้น พึงทราบว่า “รัฐ” ในกาลบางครั้ง แม้ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นก็ทำการบูชาต้นไม้นั้น ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ที่ชาวแว่นแคว้นพากันบูชาแล้ว
        - พวกชาวบ้านกล่าวหมายเอากายินทรีย์ (อินทรีย์คือกาย)  ชีพ (ชีวะ) ชาวบ้านสำคัญว่าเป็นสัตว์
     ๓. ความที่วิหารใหญ่กว่ากุฎีที่ขอเอาเอง โดยความเป็นที่มีเจ้าของมีอยู่แก่วิหารนั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหัลลกะ”, อีกอย่างเพราะให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว สร้างแม้ให้เกินประมาณก็ควร  ฉะนั้นวิหารนั้นจึงชื่อว่า “มหัลลกะ” เพราะเป็นของใหญ่กว่าประมาณบ้าง  ซึ่งวิหารใหญ่ก็เพราะวิหารนั้นมีความใหญ่กว่าประมาณนั้นได้ เพราะเป็นของมีเจ้าของนั่นเอง  ดังนั้นพระอุบาลีจึงกล่าวว่า วิหารมีเจ้าของเรียกชื่อว่า วิหารใหญ่
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๖ กุฎีการสิกขาบท, แปลกกันแต่ในสิกขาบทนี้เป็นของมีเจ้าของ, ความไม่มีสมุฏฐานจากการทำ (เป็นอกิริยา) และความไม่มีกำหนดประมาณเท่านั้น




สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๒)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส

    พระทัพพมัลลบุตรบรรลุพระอรหัตตั้งแต่อายุ ๗ ปี ต่อมาท่านคิดว่าจักช่วยอะไรสงฆ์ดีหนอ จึงกราบทูล ขอเป็นผู้จัดเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ดีละ แล้วรับสั่งให้สงฆ์สมมติให้ท่านเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร

วิธีสมมติภิกษุผู้จัดเสนาสนะและแจกภัต
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ เบื้องต้นพึงขอให้ทัพพะรับ ครั้นรับแล้วภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติท่านพระทัพพมัลลบุตร ให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร นี้เป็นบัญญัติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  สงฆ์สมมติท่านพระทัพพมัลลบุตรให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะ และแจกอาหาร การสมมติท่านพระทัพพมัลลบุตรให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ท่านพระทัพพมัลลบุตรอันสงฆ์สมมติให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหารแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการนี้”
     ท่านพระทัพพะเป็นผู้ฉลาดผู้ยอดเยี่ยมในการแจกเสนาสนะและแจกภัต จนได้รับยกย่องว่าเป็น “เอตทัคคะ” เช่น ท่านจัดให้ภิกษุผู้เรียนวินัยอยู่กับพวกเรียนพระวินัย เพื่อพวกเธอจักสนทนากัน เป็นต้น  ในเวลากลางคืน ท่านเข้าจตุตถฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ทำแสงสว่างให้เกิดนำทางแก่ภิกษุผู้มากลางคืน จนพวกภิกษุผู้ปรารถนาดูอิทธิฤทธิ์ของท่าน แกล้งพากันมาตอนกลางคืนเป็นต้น
     สมัยต่อมา พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่และมีบุญน้อย (กระทำบุญมาน้อย) ท่านทั้งสองมักจะได้แต่ปลายข้าวกับน้ำส้มเป็นกับข้าว ครั้งหนึ่งคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดีแก่พระเมตติยะ และพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น วันนั้นคหบดีเข้ามาสู่อารามด้วยกิจบางอย่าง แล้วได้เข้าไปหาท่านพระทัพพะ กล่าวถามว่า พรุ่งนี้ภิกษุรูปใดจักไปฉันที่เรือนของตน พระทัพพะแจ้งว่าเป็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะ คหบดีน้อยใจว่า ไฉน ภิกษุผู้ลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนของเรา กลับไปเรือนจึงสั่งหญิงคนใช้ว่า พรุ่งนี้เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ เราจักไม่อังคาสเองเหมือนที่เคยทำ
     ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะรู้ว่าพรุ่งนี้จักได้ไปยังเรือนของคหบดี จักได้อาหารรสอร่อย ตกกลางคืนเธอทั้งสองจำวัดหลับไม่เต็มตื่น เวลาเช้าถือบาตรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ของคหบดี
     หญิงคนใช้เห็นท่านมา ได้ปูอาสนะที่ซุ้มประตูแล้วนิมนต์นั่ง ท่านทั้งสองนึกว่าภัตตาหารยังไม่เสร็จ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตู
     หญิงคนใช้นำอาหารปลายข้าว มีผักดองเป็นกับ เข้าไปถวาย กล่าวอาราธนาว่า นิมนต์ฉันเถิด ทั้งสองแจ้งว่าตนเป็นพระรับนิจภัต หญิงคนใช้กล่าวว่า ท่านคหบดีสั่งให้จัดถวายอย่างนี้
     พระเมตติยะและพระภุมมชกะปรึกษากันว่า เมื่อวานนี้ ท่านคหบดีเข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร เธอคงยุยงคหบดีแน่นอน เพราะความเสียใจ ท่านทั้งสองฉันไม่ได้ดังใจนึก กลับสู่อารามในเวลาหลังอาหาร เก็บบาตรและจีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มพระอาราม เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา
    ต่อมา ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหา ทั้งสองไม่ยอมปราศรัยด้วย นางได้สอบถามความนั้นแล้ว ถามว่า จักให้ช่วยเหลืออย่างไร ทั้งสองตอบว่า ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก แล้ววางแผนให้นางเข้าเฝ้า กล่าวใส่ความพระทัพพมัลลบุตรว่าประทุษร้ายนางแล้ว ภิกษุณีเมตติยาได้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลความนั้นแล้ว รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามพระทัพพมัลลบุตรว่ากระทำหรือไม่ พระทัพพะกราบทูลว่า “ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุน จะกล่าวไปไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่เล่า”
     ลำดับนั้นมีรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และสอบสวนภิกษุสองรูปนั่น”
     ภิกษุทั้งหลายให้นางภิกษุณีเมตติยาสึกแล้ว พระเมตติยะและพระภุมมชกะแถลงสารภาพว่า “ขออย่าให้นางสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกกระผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้” ภิกษุทั้งหลายถามว่า คุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้หรือ ทั้งสองตอบว่า อย่างนั้น ขอรับ
     ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังให้เธอเคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุยังอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า ขัดใจ มีโทสะ คือ โกรธ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
     - บทว่า ไม่แช่มชื่น คือ เป็นคนมีใจไม่แช่มชื่น เพราะมีความโกรธ ความไม่พอใจ
     - ที่ชื่อว่า อันหามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สงสัย
     - บทว่า ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
     - บทว่า ตามกำจัด ได้แก่ โจทเอง หรือสั่งให้โจท, ว่าไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากภิกษุภาพ เคลื่อนจากสมณธรรม เคลื่อนจากศีล เคลื่อนจากคุณคือตบะ (หรือเคลื่อนจากพรหมจรรย์)
     - คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุผู้ถูกตามกำจัดนั้นผ่านไปแล้ว
     - บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาก็ตาม คือ ภิกษุเป็นผู้ถูกตามกำจัดด้วยเรื่องใด มีคนเชื่อในเพราะเรื่องนั้นก็ตาม, บทว่า ไม่ถือเอาก็ตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
     - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้อธิกรณ์ ๔ คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
     - คำว่า แลภิกษุยังอิงโทสะอยู่ ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูดเปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว (ก็ไม่พ้นอาบัติ)

อาบัติ
     ๑. ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิก ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็น ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๒. ภิกษุไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยิน, ไม่รังเกียจ โจทว่ารังเกียจ (ว่าท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก) ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๓. ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิก มีความสงสัยในสิ่งที่ได้เห็น คือ เห็นแล้ว กำหนดไม่ได้ ระลึกไม่ได้ ลืมเสีย ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็นและได้ยิน ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๔. ภิกษุมีความสงสัยในสิ่งที่ได้ยิน สงสัยในสิ่งที่รังเกียจแล้วกำหนดไม่ได้ ระลึกไม่ได้ ลืมเสีย โจท... ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๕. ในกรณีที่สั่งให้โจทก็ไม่พ้นอาบัติสังฆาทิเสสนี้เช่นเดียวกัน
     ๖. ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ (เพราะไม่ขอโอกาส) และต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๗. ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุโจทก์มีความเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจท หมายจะให้เคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
     ๘. ภิกษุต้องปาราชิกเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอหมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฎ (ที่ไม่ขอโอกาสก่อน) กับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท
     ๙. จากข้อ ๘ หากขอโอกาสก่อนแล้วโจท ต้องปาจิตตีย์อย่างเดียว
    ๑๐. ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๑. ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอ แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
    ๑๒. ภิกษุต้องปาราชิก เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาส หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๑๓. ภิกษุต้องปาราชิก เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาส หมายจะด่า ต้องปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท
     ๑๔. ภิกษุไม่ต้องปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องทุกกฎกับสังฆาทิเสส
     ๑๕. ภิกษุไม่ต้องปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
  
อนาบัติ
     ภิกษุจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑  ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๒/๔๗๖-๕๑๗
     ๑. ได้ยินว่า พระเถระมีอายุเพียง ๗ ขวบเมื่อบรรพชา ได้ความสังเวชแล้วบรรลุพระอรหัตในขณะปลงผมเสร็จนั่นเทียว, พระเถระเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ โลกุตตรธรรม ๙
     - พระเถระเห็นว่า กิจของตนกระทำเสร็จแล้ว จึงดำริว่าเรายังทรงไว้ซึ่งสรีระสุดท้ายอันนี้ ก็แลสรีระสุดท้ายนั้นดำรงอยู่ในทางแห่งความไม่เที่ยง ไม่นานก็จะดับไปเป็นธรรมดา ดุจประทีปตั้งอยู่ทางลม ฉะนั้น เราควรจะกระทำการขวนขวายแก่สงฆ์ ตลอดเวลาที่ยังไม่ดับ อย่างไรหนอแล? พลางพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เหล่ากุลบุตรเป็นอันมากในแคว้นนอกทั้งหลาย บวชไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ท่านเหล่านั้นย่อมพากันมาแม้จากที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เราทั้งหลายจักเข้าเฝ้าถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
     บรรดากุลบุตรนั้น เสนาสนะไม่เพียงพอแก่ท่านพวกใด ท่านพวกนั้นต้องนอนแม้บนแผ่นศิลา ก็แลเราย่อมอาจเพื่อนิรมิตเสนาสนะ มีปราสาท วิหาร เพิงพัก เป็นต้น พร้อมทั้งเตียง ตั่ง และเครื่องลาดให้ตามอำนาจความปรารถนาของกุลบุตรเป็นอันมากเหล่านั้นด้วยอานุภาพของเรา, และในวันรุ่งขึ้นบรรดากุลบุตรเหล่านั้น บางเหล่ามีกายเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน จะยืนข้างหน้าภิกษุทั้งหลายแล้วให้แจกแม้ซึ่งภัตตาหารด้วยคารวะ หาได้ไม่ ก็เราแลอาจแจกแม้ซึ่งภัตตาหารแก่กุลบุตรเหล่านั้นได้ ครั้งนั้นแล ท่านพระทัพพะได้มีความตกลงใจว่า เราควรแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์
     ถามว่า ก็ฐานะทั้ง ๒ ประการนี้ (แต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัต) ควรแก่ภิกษุผู้ตามประกอบแต่ความยินดีในการพูดเป็นต้น มิใช่หรือ ส่วนท่านพระทัพพะเป็นพระขีณาสพ ไม่มีความยินดีในธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เหตุไรฐานะ ๒ นี้ จึงปรากฏแจ้งแก่ท่านพระทัพพะเล่า?
     ตอบว่า เพราะความปรารถนาในปางก่อนกระตุ้นเตือน
     ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงมีเหล่าพระสาวกผู้บรรลุฐานันดรนี้เหมือนกัน และท่านพระทัพพะนี้ในชาติปางหลังเกิดในสกุลหนึ่ง ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “ปทุมุตตระ” ได้เห็นอานุภาพของภิกษุผู้เป็นเลิศในการแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัต จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๖๘๐,๐๐๐ รูป ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบบาทมูลพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ กระทำความปรารถนาว่า ในกาลแห่งอนาคต ขอข้าพระองค์พึงเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์เถิด
     พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงสอดส่องอนาคตตังสญาณไปทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงได้พยากรณ์ว่า โดยกาลล่วงไปแห่งแสนกัปแต่กัปนี้ จักมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมอุบัติขึ้น
     ในกาลนั้น ท่านจักเกิดเป็นบุตรของมัลลกษัตริย์ นามว่า ทัพพะ มีอายุ ๗ ขวบ จักออกบรรพชา และกระทำให้แจ้งพระอรหัตผล และจักได้ฐานันดรนี้ ดังนี้ เมื่อท่านอยู่ในที่สงัด จึงได้มีความดำริในฐานะ ๒ ประการ ฉะนี้แล
      - ก็การที่ทรงให้สงฆ์สมมติ ก็เพื่อจะป้องกันความครหานินทา เนื่องจากทรงเห็นว่า ในอนาคตอุปัทวะใหญ่จักบังเกิดแก่ทัพพะด้วยอำนาจแห่งภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะ เพราะเมื่อท่านทัพพะแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตอยู่ ภิกษุบางพวกจักตำหนิว่าท่านทัพพะนี้เป็นผู้นิ่งเฉย ไม่ทำการงานของตน มาจัดการฐานะเช่นนี้เพราะเหตุไร?  ลำดับนั้น ภิกษุพวกอื่นก็จักกล่าวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีโทษ เพราะท่านผู้นี้สงฆ์แต่งตั้งแล้ว เธอจักพ้นข้อครหาด้วยอาการอย่างนี้, และภิกษุกล่าวตู่ผู้ที่สงฆ์มิได้สมมติด้วยคำไม่จริง เป็นอาบัติเบาเพียงทุกกฎ, แต่ภิกษุกล่าวตู่ภิกษุที่สงฆ์ที่สมมติแล้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่หนักกว่า, ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้วจะเป็นผู้ถูกพวกภิกษุแม้ผู้จองเวรก็กำจัดได้ยากยิ่ง เพราะเป็นอาบัติหนัก
     ถามว่า การให้สมมติ ๒ อย่าง แก่ภิกษุรูปเดียว ควรหรือ?  ตอบว่า มิใช่แต่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น ถ้าเธอสามารถจะให้สมมติทั้ง ๑๓ อย่าง ก็ควร แต่หากไม่สามารถแม้สมมติอย่างเดียวก็ไม่สมควรให้แก่ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป
     - ท่านพระทัพพะเข้าจตุตถฌานมีเตโชกสินเป็นอารมณ์ ออกแล้วอธิษฐานนิ้วมือให้สว่างด้วยอภิญญาญาณ
     ก็อานุภาพของท่านได้ปรากฏในสกุลชมพูทวีป ต่อกาลไม่นานนัก ชนทั้งหลายดังสดับข่าวนั้นอยากเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน ได้พากันมา พวกภิกษุแกล้งมาในเวลาวิกาลบ้างก็มี, เมื่อมาแล้วก็อ้างขอเสนาสนะไกลๆ
     ถ้าภิกษุมารูปเดียว ท่านก็ไปเอง หากมาหลายรูปท่านก็นิรมิตอัตภาพเป็นอันมากให้เป็นเช่นเดียวกับตัวท่าน, วิหารใด เตียง ตั่ง เป็นต้น ไม่สมบูรณ์ ท่านย่อมให้บริบูรณ์ด้วยอานุภาพของท่าน
     ๒. บทว่า เมตฺติยภุมฺมชกา ได้แก่ ภิกษุเหล่านี้ คือ ภิกษุชื่อเมตติยะ ๑  ภิกษุชื่อภุมมชกะ ๑  ทั้งสองเป็นบุรุษชั้นหัวหน้าของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุพวก ๖), เสนาสนะอันเลวทรามถึงแก่พวกภิกษุใหม่ก่อน ไม่เป็นข้อที่น่าอัศจรรย์เลย แต่ภิกษุทั้งหลายใส่สลากไว้ในกระเช้าหรือขนดจีวรเคล้าคละกันแล้วจับขึ้นทีละอันๆ แจกภัตไป, ภัตที่เป็นของเลวด้อยกว่าเขาทั้งหมด ย่อมถึงแก่ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะเพราะความที่เป็นผู้มีบุญน้อย
     ๓. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร?  พระองค์แม้ทรงทราบอยู่ว่าพระทัพพะเป็นพระขีณาสพ แต่ไม่ตรัสว่าเรารู้อยู่ว่าเธอเป็นพระขีณาสพ โทษของเธอไม่มี – ภิกษุณีกล่าวเท็จ  แก้ว่า เพราะทรงมีความเอ็นดูผู้อื่น ก็ถ้าว่าพระองค์พึงตรัสทุกๆ เรื่องที่ทรงทราบ,  พระองค์ถูกผู้อื่นซึ่งต้องปาราชิกแล้วถาม จำต้องตรัสคำว่าเรารู้อยู่เธอเป็นปาราชิก แต่นั้นบุคคลนั้นจะผูกอาฆาตว่า เมื่อก่อนพระองค์ทรงทำให้พระทัพพมัลลบุตรบริสุทธิ์ได้ บัดนี้ทรงทำเราให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้, ต่อไปนี้เราจะพูดอะไรแก่ใครได้เล่า?  ในฐานะที่แม้พระศาสดายังทรงถึงความลำเอียงในหมู่สาวก,  ความเป็นพระสัพพัญญูของพระศาสดานี้จักมีแต่ที่ไหนเล่า ดังนี้ ต้องเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเหตุนี้ แม้ทรงทราบอยู่ก็ไม่ตรัส เพราะทรงมีความเอ็นดูและทรงหลีกเลี่ยงคำค่อนขอด
     ก็ถ้าพระองค์พึงตรัสอย่างนี้ จะพึงมีการกล่าวค่อนขอดอย่างนี้ว่า ชื่อว่า การออกจากอาบัติของพระทัพพมัลลบุตรหนัก แต่ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสักขีพยานจึงออกได้, และบาปภิกษุเข้าใจลักษณะแห่งการออกจากอาบัตินี้ อย่างนี้ว่า ในครั้งพุทธกาลความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ย่อมมิได้ด้วยพยาน, พวกเรารู้อยู่ บุคคลนี้เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ดังนี้, จะพึงทำให้ภิกษุผู้มีความละอายให้พินาศ หรือแม้ในอนาคตพวกภิกษุเมื่อเรื่องวินิจฉัยแล้ว จักให้โจทก์  โจท และให้จำเลยให้การว่า ถ้าท่านทำจงกล่าวว่าข้าพเจ้าทำ แล้วถือเอาแต่ปฏิญญาของพวกลัชชีภิกษุ (พวกเดียว) กระทำกรรม,  เพราะเหตุนั้นพระองค์เมื่อจะตั้งแบบแผนในลักษณะแห่งวินัย จึงไม่ตรัสว่า เรารู้อยู่,  ตรัสว่า ถ้าเธอทำ จงกล่าวว่าข้าพเจ้าทำ ดังนี้
     ๔. รับสั่งให้นาสนะภิกษุณีเมตติยา, นาสนะ (การทำให้ฉิบหาย การลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ) มี ๓ อย่าง คือ ลิงคนาสนะ ๑  สังวาสนาสนะ ๑  ทัณฑกัมมนาสนะ ๑
     บรรดานาสนะเหล่านั้น นาสนะนี้ว่าสามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี สงฆ์พึงให้ฉิบหายเสีย ชื่อว่า ลิงคนาสนะ (ให้ฉิบหายจากเพศคือให้สึก), พวกภิกษุทำอุกเขปนียกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุ อันจะพึงยกเสียไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้สิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลายชั่วคราว) เพราะไม่เห็น หรือไม่ทำคืนอาบัติก็ดี เพราะไม่สละทิฏฐิลามกเสียก็ดี ชื่อว่า สังวาสนาสนะ (ให้ฉิบหายจากสังวาส), พวกภิกษุทำทัณฑกรรม (แก่สามเณร, สมณุเทศ) ว่า เจ้าคนเลว เจ้าจงไปเสีย จงฉิบหายเสีย นี้ชื่อ ทัณฑกัมมนาสนะ (ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ), แต่ในฐานะนี้ทรงหมายเอาลิงคนาสนะ  จึงตรัสว่า พวกเธอจงนาสนะภิกษุณีเมตติยาเสีย
     - นางภิกษุณีโจทนางภิกษุณีอันติมวัตถุ (วัตถุมีในที่สุด หมายถึงอาบัติปาราชิก มีโทษถึงที่สุด คือ ขาดจากภาวะของตน) อันหามูลมิได้ เป็นสังฆาทิเสส, (โจทภิกษุเป็นทุกกฎ), สังฆาทิเสสเป็นวุฏฐานคามี (ออกได้ด้วยการอยู่กรรม) ทุกกฏเป็นเทสนาคามี (ออกได้ด้วยการแสดง), การนาสนะภิกษุณี เพราะสังฆาทิเสสและทุกกฎเหล่านี้ จึงไม่มี,  นางภิกษุณีเมตติยายืนกล่าวเท็จต่อพระพักตร์ ด้วยเหตุนั้นนางจึงเป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท, เพราะปาจิตตีย์แม้นี้นาสนะก็ไม่มี (ทำไม่ได้), แต่เพราะนางภิกษุณีเมตติยาตามปกติเป็นภิกษุณีเลวทราม ทุศีล และเดี๋ยวนี้นางก็กล่าวด้วยความสำคัญว่า เราเองแลเป็นผู้ทุศีล เพราะเหตุนั้นจึงรับสั่งให้สึกนางภิกษุณีนั้นเสีย เพราะความเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์นั่นแล
     - เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงให้นางเมตติยาภิกษุณีสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุณีเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกออกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหาร ภิกษุณีเมตติยะและภุมมชกะเห็นการให้สึก จึงได้ประกาศความผิดของตน เพราะเป็นผู้มีความประสงค์จะช่วยนางภิกษุณีนั้นให้พ้นผิด
     ๕. ปาราชิกนั้นไม่มีมูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อมูลกะ ก็ความที่ปาราชิกนั้นไม่มีมูลนั้น ทรงประสงค์เอาด้วยอำนาจแห่งโจทก์ ไม่ใช่ด้วยอำนาจแห่งจำเลย เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงเนื้อความนั้นในบทภาชนะท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าไม่มีมูล คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
     - ปาราชิกที่โจทก์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในตัวบุคคลผู้เป็นจำเลย ชื่อว่า ไม่มีมูลเพราะไม่มีมูล กล่าวคือการเห็น การได้ยิน และการรังเกียจ ก็จำเลยนั้น จะต้องปาราชิกหรือไม่ต้อง ไม่เป็นประมาณในสิกขาบทนี้
     - ไม่ได้เห็นด้วยจักษุประสาท หรือด้วยทิพยจักษุของตน ชื่อว่า ไม่ได้เห็น, ไม่ได้ยินใครๆ เขาพูดกัน ชื่อว่า ไม่ได้ยิน, ไม่ได้รังเกียจด้วยจิต ชื่อว่า ไม่ได้รังเกียจ
    ที่ชื่อว่า ได้เห็น คือตนเองหรือคนอื่นได้เห็นด้วยจักษุประสาทหรือด้วยทิพยจักษุ, ที่ชื่อว่าได้ยิน คือ ได้ยินมาเหมือนอย่างที่ได้เห็นนั่นเอง, ที่ชื่อว่า ได้รังเกียจ คือ ตนเองหรือคนอื่นรังเกียจ
    ก็เรื่องที่รังเกียจมี ๓ อย่าง คือ รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น ๑  รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน ๑  รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ ๑
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น คือ ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปยังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านด้วยการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หญิงแม้คนใดคนหนึ่ง ก็เข้าไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยกิจบางอย่างเหมือนกัน แล้วกลับไป,  ทั้งภิกษุก็ไม่ได้เห็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงก็ไม่ได้เห็นภิกษุ ทั้งสองคนต่างก็หลีกไปตามชอบใจ ไม่ได้เห็นกันเลย, ภิกษุอีกรูปหนึ่งกำหนดหมายเอาการที่คนทั้งสองออกไปจากพุ่มไม้นั้น จึงรังเกียจว่าชนเหล่านี้กระทำกรรมแล้ว หรือจักกระทำแน่แท้ นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน คือ คนบางคนในโลกนี้ได้ยินคำปฏิสันถารเช่นนั้นของภิกษุกับมาตุคามในโอกาสที่มือ หรือกำบัง คนอื่นแม้มีอยู่ในที่ใกล้ก็ไม่ทราบว่ามีหรือไม่มี เขารังเกียจว่าชนเหล่านี้ทำกรรมแล้ว หรือว่าจักทำแน่นอน นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ คือ ตกกลางคืนพวกนักเลงเป็นอันมาก ถือเอาดอกไม้ ของหอม เนื้อและสุราเป็นต้นแล้ว ไปยังวิหารชายแดนแห่งหนึ่งพร้อมกับพวกสตรี เล่นกันตามสบายที่มณฑปหรือที่ศาลาฉันเป็นต้น ทิ้งดอกไม้เป็นต้นให้กระจัดกระจายแล้วพากันไป ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเห็นอาการแปลกนั้น แล้วพากันสืบหาว่านี้กรรมของใคร? ก็ในบรรดาภิกษุบางรูปลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปฏิบัติมณฑปหรือศาลาฉันด้วยมุ่งวัตรเป็นใหญ่ จำเป็นต้องจับต้องดอกไม้เป็นต้น บางรูปต้องการบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ที่ตนทำมาจากตระกูลอปัฏฐาก, บางรูปต้องดื่มยาดองชื่ออริฏฐะเพื่อเป็นยา ครั้งนั้นพวกภิกษุเหล่านั้นผู้สืบหาว่ากรรมนี้ของใคร? จึงดมกลิ่นมือและกลิ่นปาก แล้วรังเกียจภิกษุเหล่านั้น นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 14:12:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 10 พฤษภาคม 2558 13:03:42 »

.

     ๖. “การโจท” มี ๒ คือ โจทด้วยกาย ๑  โจทด้วยวาจา ๑
          การโจทมี ๓ อย่าง คือ โจทตามที่ได้เห็น ๑  โจทตามที่ได้ยิน ๑  โจทตามที่รังเกียจ ๑
          การโจทมี ๔ คือ โจทด้วยศีลวิบัติ ๑  โจทด้วยอาจารวิบัติ ๑  โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ ๑  โจทด้วยอาชีววิบัติ ๑  การโจทด้วยศีลวิบัติ คือ โจทด้วยกองอาบัติหนัก ๒ กอง ได้แก่ ปาราชิกกับสังฆาทิเสส, โจทด้วยอาจารวิบัติ คือ ด้วยกองอาบัติ ๕ กองที่เหลือ,  โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ คือ โจทด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิและอันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด ๑๐ อย่าง มีโลกเที่ยงและโลกไม่เที่ยง เป็นต้น),  โจทด้วยอาชีววิบัติ คือโจทด้วยอำนาจสิกขาบท ๖ ที่ทรงบัญญัติเพราะอาชีพเป็นเหตุ (เช่นกล่าวอวดคุณที่ไม่มีอยู่ หรือถึงความเป็นพ่อสื่อเป็นต้น)
          การโจทยังมีอีก ๔ อย่าง คือ โจทระบุวัตถุ ๑  โจทระบุอาบัติ ๑  การห้ามสังวาส ๑  การห้ามสามีจิกรรม๑,  โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ท่านเสพเมถุนธรรม ท่านลักทรัพย์ เป็นต้น  ชื่อว่า โจทระบุวัตถุ, โจทที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านต้องเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ ชื่อว่า โจทระบุอาบัติ, โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า อุโบสถก็ดี สังฆกรรมก็ดี ปวารณาก็ดี ร่วมกับท่านไม่มี ชื่อว่า การห้ามสังวาส, แต่ด้วยอาการเพียงเท่านี้ การโจทยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อพูดเชื่อมต่อกับคำเป็นต้นว่า ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร จึงถึงที่สุด (เป็นอาบัติ) การไม่กระทำกรรมมีการกราบไหว้ ลุกรับ ประคองอัญชลีและพัดวีเป็นต้น ชื่อว่าการห้ามสามีจิกรรม 
     การไม่ทำสามีจิกรรมนั้น พึงทราบในเวลาที่ภิกษุผู้กำลังทำการกราบไหว้เป็นต้น ตามลำดับ ไม่กระทำแก่ภิกษุรูปหนึ่งกระทำแก่ภิกษุที่เหลือ ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ชื่อว่า โจท, ส่วนอาบัติยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อถูกถามว่า ทำไมท่านจึงไม่กระทำการกราบไหว้เป็นต้นแก่เราเล่า?  แล้วพูดเชื่อมต่อด้วยคำเป็นต้นว่า ท่านไม่ใช่สมณะ ท่านไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร นั่นแหละอาบัติจึงถึงที่สุด (เป็นสังฆาทิเสส)
     ๗. พระวินัยธรพึงทราบเพื่อวินิจฉัยดังนี้
          การขอโอกาสว่าข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวกะท่าน ขอท่านผู้มีอายุจงกระทำโอกาส (อนุญาต) ให้แก่ข้าพเจ้า ดังนี้ ชื่อว่า เบื้องต้นแห่งการโจท
          การโจทแล้วให้จำเลยให้การตามวัตถุที่ยกขึ้นบรรยายฟ้องแล้ววินิจฉัย ชื่อว่า ท่ามกลางแห่งการโจท
          การระงับด้วยให้จำเลยตั้งอยู่ในอาบัติ หรืออนาบัติ ชื่อว่า ที่สุดแห่งการโจท
          ส่วนบุคคลผู้โจทก์ก็ควรตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้คือ
          - การโจทมีมูล ๒ คือ มูลมีเหตุ (มูลมีมูล) ๑  มูลไม่มีเหตุ (มูลไม่มีมูล) ๑
          - มีวัตถุ ๓ คือ ได้เห็น ๑  ได้ยิน ๑  ได้รังเกียจ ๑
          - มีภูมิ ๕ คือ จักพูดตามกาล จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๑  จักพูดความจริง จักไม่พูดคำไม่จริง ๑  จักพูดถ้อยคำอ่อนหวาน ๑  จักไม่พูดถ้อยคำหยาบคาย ๑  จักพูดถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่พูดคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
          จักมีจิตประกอบด้วยเมตตาพูด จักไม่เพ่งโทษพูด ๑
          ผู้เป็นจำเลยพึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ อย่าง คือ ในความจริง ๑ และในความไม่โกรธ ๑
     ๘. “อธิกรณ์” (เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) มี ๔ อย่าง
     - วิวาทที่อาศัยเภทกรวัตถุ ๑๘ (เรื่องทำความแตกกัน; เรื่องที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกในสงฆ์ เช่น แสดงสิ่งที่มิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่าวินัย หรือแสดงอาบัติว่ามิใช่อาบัติ เป็นต้น) เกิดขึ้นอย่างนี้ คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ วิวาทกันว่าเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม เป็นต้น ชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์
     - การกล่าวหากันด้วยวิบัติ ๔ มีศีลวิบัติเป็นต้น ชื่อว่า อนุวาทาธิกรณ์
     - เฉพาะอาบัติเท่านั้นชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ อย่างนี้คือ กองอาบัติทั้ง ๗ ชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ (การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการออกจากอาบัติ)
     - ความเป็นกิจของสงฆ์ คือ ความเป็นกิจอันสงฆ์ต้องทำ ได้แก่ สังฆกิจ ๔ อย่าง คือ อปโลกนกรรม (กรรม คือ การบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์  ไม่ต้องตั้งญัตติ ไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น การประกาศลงพรหมทัณฑ์ การนาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า หรือ อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น) ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม พึงทราบว่าชื่อว่ากิจจาธิกรณ์
     ในสิกขาบทนี้ประสงค์เอาอาปัตตาธิกรณ์ กล่าวคือ อาบัติปาราชิกเท่านั้น
     ๙. เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้ไม่ให้กระทำโอกาส, เป็นสังฆาทิเสสแม้แก่ผู้ให้กระทำโอกาส แล้วตามกำจัด (โจท) ด้วยปาราชิกอันไม่มีมูลซึ่งๆ หน้า, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ตามกำจัดด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูล เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ตามกำจัดด้วยอาจารวิบัติ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยประสงค์จะด่า, เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยกองอาบัติทั้ง ๗ กองในที่ลับหลัง
     - ในกุรุนทีกล่าวว่า กิจด้วยการขอโอกาส ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้กล่าวว่า ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ จงกระทำคืนอาบัตินั้นเสีย โดยประสงค์จะให้ออกจากอาบัติ
     ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



น เตน ภิกฺขุ โส โหติ      ยาวตา ภิกฺขเต ปเร
วิสฺสํ ธมฺมํ สมาทาย    ภิกฺขุ โหติ น ตาวตา ฯ ๒๖๖ ฯ

เพียงขอภิกษาจากผู้อื่น    ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ
ถ้ายังประพฤติตนเหมือนชาวบ้านอยู่   ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ

A man is not a bhikkhu   Simply because he begs from others.
By adapting householder's manner,   One does not truly become a bhikkhu
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2558 14:27:37 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2558 15:02:31 »

.


สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๓)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส

     พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กำลังลงจากภูเขาคิชกูฏ ได้แลเห็นแพะตัวผู้กับแพะตัวเมียกำลังสมจรกัน  ครั้นแล้วได้พูดอย่างนี้ว่า พวกเราจะสมมติแพะตัวผู้นี้เป็นพระทัพพมัลลบุตร สมมติแพะตัวเมียเป็นภิกษุณีเมตติยา
     ทั้งสองรูปได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนพวกกระผมได้กล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรด้วยได้ยิน แต่บัดนี้พวกกระผมได้เห็นพระทัพพมัลลบุตรปฏิบัติผิดในภิกษุณีเมตติยาด้วยตัวเอง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า
     ทรงประชุมสงฆ์ สอบถามพระทัพพมัลลบุตร และให้สอบสวนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ ทั้งสองสารภาพแล้ว ภิกษุทั้งหลายสอบถามว่า ก็พวกท่านถือเอาเอกเทศบางแห่ง แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่นให้เป็นเพียงเลศ แล้วตามกำจัดท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิกหรือ?  ทั้งสองรับว่า จริงอย่างนั้น ขอรับ  ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ถือเอาเอกเทศบางแห่ง แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่นให้เป็นเพียงเลศ ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิก ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจักยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องอื่นแท้ เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศ แลภิกษุยังอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๘
     - บทว่า แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่น คือ เป็นส่วนอื่นแห่งอาบัติ หรือเป็นส่วนอื่นแห่งอธิกรณ์
        (อธิกรณ์มีอยู่ ๔ คือ ๑. วิวาทาธิกรณ์ – การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย  ๒. อนุวาทาธิกรณ์ – การโจท หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ  ๓. อาปัตตาธิกรณ์ – การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ  ๔. กิจจาธิกรณ์ – กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท เป็นต้น
          อธิกรณ์ทั้ง ๔ เป็นคนละส่วนกัน เช่น วิวาทาธิกรณ์ เป็นคนละส่วนกับอาปัตตาธิกรณ์ ที่เป็นส่วนเดียวกันก็คือวิวาทาธิกรณ์ เป็นส่วนเดียวกันกับวิวาทาธิกรณ์  อนุวาทาธิกรณ์เป็นส่วนเดียวกับอนุวาทาธิกรณ์  เมถุนธรรมปาราชิกาบัติเป็นคนละส่วนกับอทินนาทานปาราชิกาบัติ... เมถุนธรรมปาราชิกาบัติเป็นส่วนเดียวกับเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ เป็นต้น)
     - ที่ชื่อว่า เลศ ในคำว่า ถือเอาเอกเทศบางแห่ง...เป็นเพียงเลศนั้นอธิบายว่า เลศมี ๑๐ อย่าง ได้แก่ เลศคือชาติ ๑  เลศคือชื่อ ๑  เลศคือวงศ์ ๑  เลศคือลักษณะ ๑  เลศคืออาบัติ ๑  เลศคือบาตร ๑  เลศคือจีวร ๑  เลศคืออุปัชฌายะ ๑  เลศคืออาจารย์ ๑  เลศคือเสนาสนะ ๑
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ชาติ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้เป็นกษัตริย์ต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุผู้เป็นกษัตริย์รูปอื่นโจทว่า ภิกษุผู้เป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้าได้เห็นท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้  ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ชื่อ นั้น  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นพระพุทธรักขิตต้องปาราชิก ครั้นเห็นพระพุทธรักขิตรูปอื่น ก็โจทว่า พระพุทธรักขิต  ข้าพเจ้าได้เห็นท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก...ต้องสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ วงศ์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้วงศ์โคตมะต้องปาราชิก เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ลักษณะ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้สูงต้องปาราชิก เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ อาบัติ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ต้องลหุกาบัติ (อาบัติเบา) แต่โจทเขาด้วยปาราชิก (ครุกาบัติ – อาบัติหนัก)... เป็นต้น
     - ที่ชื่อ เลศ คือ บาตร  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ใช้บาตรโลหะต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นใช้บาตรโลหะจึงโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ จีวร  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นทรงผ้าบังสุกุลแล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อ เลศ คืออุปัชฌาย์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้สัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก  ครั้นเห็นภิกษุผู้สัทธิวาริหาริกรูปอื่นของพระอุปัชฌาย์ผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ อาจารย์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้อันเตวาสิกของพระอาจารย์ผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก  ครั้นเห็นภิกษุผู้อันเตวาสิกรูปอื่นของพระอาจารย์ผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ เสนาสนะ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะของคหบดีผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นผู้อยู่ในเสนาสนะของคหบดีผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - บทว่า ด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกธรรมทั้ง ๔ สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
     - บทว่า ตามกำจัด ได้แก่ โจทเองหรือสั่งให้โจท
     - “แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้”  ความว่า ให้เคลื่อนจากภิกษุภาพ ให้เคลื่อนจากสมณธรรม ให้เคลื่อนจากศีลขันธ์ ให้เคลื่อนจากคุณคือตบะ
     - คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น  ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งภิกษุผู้ถูกตามกำจัดนั้นผ่านไปแล้ว จะมีบุคคลเชื่อในเรื่องที่เป็นเหตุให้ตามกำจัดนั้น หรือไม่มีใครๆ พูดถึง
     - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่างนั้น
     - บทว่า เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศ คือ ถือเอาเลศ ๑๐ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่  ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูดเปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว

อาบัติ
     ๑. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสมีความเห็นในอาบัติสังฆาทิเสส ว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก...ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๒. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มีความเห็นในอาบัติสังฆาทิเสสว่าเป็นอาบัติถุลลัจจัย...ปาจิตตีย์...ปาฏิเทสนียะ...ทุกกฎ...ทุพภาสิต...แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๓. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติถุลลัจจัย...ปาจิตตีย์...ปาฏิเทสนียะ...ทุกกฎ...ทุพภาสิต...แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๔. การสั่งให้โจท ก็เป็นอาบัติสังฆาทิเสสเช่นเดียวกับการโจทเอง

อนาบัติ
     ภิกษุผู้สำคัญเป็นอย่างนั้น โจทเองก็ดี สั่งให้ผู้อื่นโจทก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๕๕๒-๕๖๐
     ๑. พระเมตติยะและภุมมชกะ ไม่อาจสมมโนรถในเรื่องแรก ได้รับการนิคคหะจึงถึงความแค้นเคือง กล่าวว่า เดี๋ยวเถอะ พวกเราจักรู้กัน จึงเที่ยวคอยแส่หาเรื่องราวเช่นนั้น
     ๒. พวกภิกษุเหล่านั้นสอบสวนอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นพระทัพพมัลลบุตรกับนางเมตติยาภิกษุณี ณ ที่ไหนกัน? พวกเธอตอบว่า ที่เชิงเขาคิชกูฏ, ในเวลาที่ไหน? ในเวลาไปภิกขาจาร, พวกภิกษุถามท่านพระทัพพะว่า ท่านทัพพะ พวกภิกษุเหล่านี้กล่าวอย่างนี้ ท่านอยู่ที่ไหนในเวลานั้น? ท่านพระทัพพะตอบว่า ข้าพเจ้าแจกภัตตาหารอยู่ในพระเวฬุวัน, ใครบ้างทราบว่าท่านอยู่ในเวฬุวันในเวลานั้น?  ภิกษุสงฆ์ ขอรับ,  พวกภิกษุเหล่านั้นจึงถามสงฆ์ว่า ท่านทั้งหลายทราบไหมว่า ท่านผู้มีอายุทัพพะนี้อยู่ที่เวฬุวันในเวลานั้น?  ภิกษุสงฆ์รับว่า ขอรับ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรารู้ว่าพระเถระอยู่ที่เวฬุวันเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ท่านได้รับสมมติแล้ว
     ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะพระเมตติยะและภุมมชกะว่า ท่านผู้มีอายุ ถ้อยคำของท่านทั้งสองไม่สมกัน พวกท่านอ้างเลศกล่าวกะพวกเรากระมัง?  พระเมตติยะและภุมมชกะถูกพวกภิกษุเหล่านั้นสอบสวน ได้กล่าวว่า ขอรับ ผู้มีอายุ แล้วจึงได้บอกเรื่องราวนั้น
     ๓. แพะนี้ (อธิกรณ์กล่าวคือแพะนี้) แห่งส่วนอื่น หรือส่วนอื่นแห่งแพะนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น แพะนั้นจึงชื่อว่าอัญญภคิยะ (มีส่วนอื่น) สัตว์ที่รองรับพึงทราบว่า อธิกรณ์ คือ ที่ตั้งแห่งเรื่อง เพราะว่าแพะที่พวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะกล่าวว่า ชื่อว่า ทัพพมัลลบุตรนั้น เป็นกำเนิดดิรัจฉาน อันเป็นส่วนอื่นจากกำเนิดมนุษย์ และความเป็นภิกษุของท่านพระทัพพะ
     อีกอย่างหนึ่ง ส่วนอื่นนั้น มีอยู่แก่แพะนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้นแพะนั้นจึงได้การนับว่ามีส่วนอื่น ก็เพราะแพะนั้นเป็นที่รองรับ เป็นที่ตั้งแห่งเรื่องของสัญญา คือ การตั้งชื่อแห่งพวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนั้น ผู้กล่าวอยู่ว่าพวกเราจะสมมติแพะนี้ให้ชื่อว่า ทัพพมัลลบุตร เพราะฉะนั้น แพะนั้นพึงทราบว่า “อธิกรณ์” อธิกรณ์จึงหมายถึงแพะ มิได้หมายถึงอธิกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีวิวาทาธิกรณ์ เป็นต้น
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้นเหมือนสิกขาบทที่ ๘ ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบท



อสาเร สารมติโน   สาเร จ อสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจํฉนฺติ   มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๑ ฯ

ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

In the unessential they imagine the essential,
In the essential they see the unessential;
They who feed on wrong thoughts as such
Never achieve the essential.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2558 15:04:42 »

.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๔)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส

    พระเทวทัตได้กล่าวเชื้อเชิญพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุทททัต ว่า มาเถิดพวกเราจักกระทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดม  พระโกกาลิกะกล่าวว่า อาวุโส พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ไฉนเราจักทำสังฆเภท จักรเภท (ทำสงฆ์ให้แตก ทำลายความเป็นไปของสงฆ์) แก่พระสมณโคดม ได้เล่า?
      พระเทวทัตกล่าวว่า ก็เราจักเข้าเฝ้า ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ คือ ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น...๑  ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต...๑  ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต...๑ ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต...๑  ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต...๑  เรารู้ว่าพระสมณโคดมจักไม่ทรงอนุญาต  เมื่อนั้นเราจักโฆษณาให้ชุมชนเชื่อถือเรา เราก็สามารถทำสังฆเภท จักรเภท ได้
     ครั้งนั้น พระเทวทัตและบริษัทเข้าเฝ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ได้กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต  ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล  ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้าคหบดี  ดูก่อนเทวทัต เราอนุญาตการอยู่โคนไม้ตลอด ๘ เดือนเท่านั้น เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ไม่ได้เห็น ๑ ไม่ได้ยิน ๑ ไม่ได้รังเกียจ ๑
     พระเทวทัตและบริวารร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง หลีกออกไปแล้วกล่าวโฆษณาความนั้น พวกที่ไม่มีความรู้ ไม่เลื่อมใส มีความรู้ทราม พากันกล่าวว่า พวกพระเทวทัตเป็นผู้กำจัด มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดมเป็นผู้มีความมักมาก ดำริเพื่อความมักมาก
     ส่วนประชาชนที่มีศรัทธา เป็นบัณฑิตมีความรู้สูง พากันติเตียนว่า พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันเพ่งโทษติเตียนพระเทวทัตและบริวาร แล้วกราบทูล... ทรงประชุมสงฆ์ สอบสวนพระเทวทัตๆ รับว่า ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรจริง  ทรงติเตียนเป็นอันมากแล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใดตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องอยู่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส"

อรรถาธิบาย
     สงฆ์ที่ชื่อว่า ผู้พร้อมเพรียง คือ มีสังวาสเสมอกัน (ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ได้แก่ การทำสังฆกรรมร่วมกันของสงฆ์ เป็นต้น ชื่อว่า สังวาส) อยู่ในสีมาเดียวกัน (เขตกำหนดพร้อมเพรียงของสงฆ์)
     - คำว่า ตะเกียกตะกายเพื่อทำลาย คือ แสวงหาพวกรวมเป็นก๊ก ด้วยหมายมั่นว่า ไฉนภิกษุเหล่านี้พึงแตกกัน พึงแยกกัน พึงเป็นพรรคกัน
     - คำว่า หรือ...อธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ได้แก่ วัตถุเป็นเหตุกระทำการแตกกัน ๑๘ อย่าง เช่น แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม, แสดงธรรมเป็นอธรรม เป็นต้น
     - บทว่า ถือเอาคือยึดเอา, ยกย่องคือแสดง, ยันอยู่คือไม่กลับคำ
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุเหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้นพึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำลายสงฆ์รูปนั้นว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วไม่ว่ากล่าวต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง... พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละได้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ

วิธีสวดสมนุภาส
     ภิกษุนั้นอังสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสวดสมนุภาสอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้

กรรรมวาจาสวดสมนุภาส
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง เธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อผู้นี้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น การสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุผู้มีชื่อนี้ สงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงทราบความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
     จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ

อาบัติ
    ๑. กรรมเป็นธรรม (สงฆ์ทำถูกต้องชอบธรรมแล้ว) ภิกษุสำคัญว่า (รู้ว่า) กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๕๗๑-๕๘๗
     ๑. ความพิสดารของเรื่องการบวชของพระเทวทัต และเหตุที่ไปหาพรรคพวกชักชวนกันทำสังฆเภทและวัตถุ ๕ พึงทราบในสังฆเภทขันธกะ
     ๒. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า พอทรงสดับคำของพระเทวทัตผู้ทูลขอวัตถุ ๕ ก็ทรงทราบได้ว่าเทวทัตมีความต้องการจะทำลายสงฆ์ หากพระองค์ทรงอนุญาตย่อมเป็นไปเพื่ออันตรายแก่มรรค (อริยมรรค) ของเหล่ากุลบุตรเป็นอันมาก จึงทรงปฏิเสธ เพราะเห็นแก่ภิกษุผู้มีกำลังน้อย อ่อนแอ ที่ไม่สามารถจะอยู่ในป่าได้
     - ภิกษุรูปหนึ่งมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านแล้ว อยู่ในป่าก็สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้, ส่วนภิกษุรูปหนึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมไม่สามารถอยู่ในป่า (เพื่อกระทำที่สุดทุกข์ได้) สามารถแต่ในเขตบ้านเท่านั้น, รูปหนึ่งมีกำลังมาก มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมสามารถทั้งในป่าทั้งในเขตบ้านได้ทั้งนั้น, รูปหนึ่งไม่อาจทั้งในเขตบ้าน ทั้งในป่า คือ เป็นปทปรมบุคคล
     บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่ากระทำที่สุดทุกข์ได้ ภิกษุรูปนั้นจงอยู่ในป่าเท่านั้นเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอศึกษาตามอยู่จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าด้วย,  อนึ่ง ภิกษุรูปใดมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมอาจจะกระทำที่สุดทุกข์ได้ในแดนบ้านเท่านั้น ในป่าไม่อาจ   ภิกษุนั้นจงอยู่ในเขตบ้านนั้นก็ได้
     ส่วนภิกษุรูปใด ซึ่งมีกำลังแข็งแรง มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมอาจทั้งในป่าทั้งในแดนบ้านทีเดียว  แม้รูปนี้ จงละเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้วอยู่ในป่าเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ ศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ป่า
     ส่วนภิกษุใด ซึ่งไม่อาจทั้งในแดนบ้าน ไม่อาจทั้งในป่า เป็นปทปรมบุคคล แม้รูปนี้ก็จงอยู่ในป่านั้นเถิด เพราะว่าการเสพธุดงคคุณและเจริญกรรมฐานนี้ของเธอ จักเป็นอุปนิสัยเพื่อมรรคและผลต่อไปในอนาคต, แม้พวกสัทธิวิหาริกใดเป็นต้นของเธอเมื่อศึกษาตาม จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าฉะนี้แล, ภิกษุนี้ใด ซึ่งเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยอย่างนี้ เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้ ในป่าไม่อาจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงบุคคลเช่นนี้
     ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสรับรองวาทะของพระเทวทัตไซร้ บุคคลซึ่งมีกำลังอ่อนแอเรี่ยวแรงน้อยสามารถอยู่ในป่าได้แต่ในเวลายังเป็นหนุ่ม ต่อในเวลาแก่ตัวลง หรือในเวลาเกิดธาตุกำเริบอยู่ป่าไม่ได้ แต่เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลเหล่านี้จะพึงสูญเสียอริยมรรคไป ไม่พึงบรรลุอรหัตผลได้ หากอนุญาตสัตถุศาสน์จะพึงกลายเป็นนอกธรรมนอกวินัย ยุ่งเหยิง ไม่เป็นไปเพื่อนำออกจากทุกข์ และพระศาสดาจะพึงเป็นผู้มิใช่พระสัพพัญญูของบุคคลจำพวกนั้น ทั้งจะพึงถูกตำหนิติเตียนว่า ทรงทิ้งวาทะของพระองค์เสีย ไปตั้งอยู่ในวาทะของพระเทวทัต
     ๓. “ปลาเนื้อบริสุทธิ์โดยส่วน ๓
     มังสะที่ชื่อว่า ไม่ได้เห็น คือ ไม่เห็นชาวบ้านฆ่าเนื้อและปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ, ที่ชื่อว่า ไม่ได้ยิน คือ ไม่ได้ยินว่าพวกชาวบ้านฆ่าเนื้อ ปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ, ส่วนที่ไม่ได้รังเกียจ ผู้ศึกษาควรรู้จักมังสะที่รังเกียจด้วยการเห็น รังเกียจด้วยการได้ยิน และรังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้นแล้ว พึงทราบโดยส่วนตรงกันข้ามจากสามอย่างนั้น
     คือว่า พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นพวกชาวบ้านถือแหและตาข่ายเป็นต้น กำลังออกจากบ้านไป หรือกำลังเที่ยวไปในป่า, และในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านนำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจด้วยการได้เห็นนั้นว่า พวกชาวบ้านทำเนื้อเพื่อพวกภิกษุหรือหนอ? จะรับมังสะผู้เข้าไปบิณฑบาตเช่นนั้นไม่ควร, มังสะที่ไม่ได้รังเกียจเช่นนั้นจะรับ ควรอยู่, ก็ถ้าชาวบ้านเหล่านั้นถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับ ขอรับ? เมื่อได้ฟังความจากพวกภิกษุพูดว่า มังสะนั้นพวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย พวกกระผมทำเพื่อตนบ้าง เพื่อข้าราชการบ้าง ดังนี้ มังสะนั้นก็ควร
     - ภิกษุทั้งหลายหาเห็นไม่ แต่ได้ฟังว่า ได้ยินว่า พวกชาวบ้านมีมือถือแหและตาข่ายออกจากบ้าน หรือเที่ยวไปในป่า และในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านที่บิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวาย พวกเธอสงสัยด้วยการได้ยินว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย? จะรับมังสะนั้นไม่ควร, มังสะที่ไม่ได้สงสัยอย่างนี้จะรับ ควรอยู่...
     - ภิกษุทั้งหลายไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาเลย แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปยังบ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านรับบาตรไปแล้วจัดบิณฑบาต มีปลา เนื้อ นำมาถวาย พวกเธอรังเกียจว่า มังสะนี้เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย? มังสะเช่นนี้ไม่สมควรรับ, มังสะที่ไม่ได้รังเกียจอย่างนั้น จะรับควรอยู่, ถ้าพวกชาวบ้านถามว่า ทำไมพวกท่านจึงไม่รับ? แล้วได้ฟังความรังเกียจนั้น จึงพูดว่า มังสะนี้พวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย แต่ทำเพื่อประโยชน์แต่ตนบ้าง แก่ข้าราชการ เป็นต้นบ้าง หรือว่าพวกกระผมได้ปวัตตมังสะ (เนื้อที่มีอยู่แล้ว, เนื้อที่เขาขายอยู่ตามปกติ ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวาย) เฉพาะที่เป็นกัปปิยะเท่านั้น จึงปรุงให้สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย มังสะนี้ควรอยู่, แม้ในมังสะที่เขาทำเพื่อประโยชน์แก่เปตกิจ แก่ผู้ตายไปแล้ว ก็เพื่อประโยชน์ก็ดี แก่งานมงคลเป็นต้นก็ดี ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, จริงอยู่ มังสะใดๆ ที่เขาไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลายเลย และภิกษุไม่มีความสงสัยในมังสะชนิดใดๆ มังสะนั้นๆ ควรทั้งนั้น
     - ก็มังสะที่เขาทำอุทิศพวกภิกษุในวิหารหนึ่ง และพวกเธอไม่ทราบว่าเขากระทำเพื่อประโยชน์ตน แต่ภิกษุพวกอื่นรู้, พวกใดรู้ ไม่ควรแก่พวกนั้น, พวกอื่นไม่รู้ แต่พวกเธอเท่านั้นที่รู้ ย่อมไม่ควรเฉพาะแก่พวกเธอนั้น แต่ควรสำหรับพวกอื่น, แม้พวกเธอรู้อยู่ว่าเขากระทำเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา ถึงภิกษุพวกอื่นก็รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุพวกนี้ ไม่ควรแก่พวกเธอทั้งหมด, พวกภิกษุทั้งหมดไม่รู้ ย่อมควรแก่พวกเธอทั้งหมด, บรรดาสหธรรมิกทั้ง ๕ มังสะอันเขาทำเจาะจงเพื่อประโยชน์แก่สหธรรมิกรูปใดรูปหนึ่งก็ตาม แก่สหธรรมิกทั้งหมด (หากรู้ว่าเขาทำเจาะจง) ย่อมไม่สมควร
     ถามว่า ก็ถ้าว่า มีบุคคลบางคนฆ่าสัตว์ เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง บรรจุบาตรให้เต็มแล้วถวายแก่ภิกษุรูปนั้น และเธอรู้อยู่ด้วยว่ามังสะเขากระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ (คือตน) รับไปแล้วถวายแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุรูปอื่นนั้นฉันด้วยเชื่อภิกษุนั้น (ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อภิกษุ) ใครต้องอาบัติเล่า? ตอบว่า ไม่ต้องอาบัติแม้ทั้งสองรูป
     ด้วยว่า มังสะที่เขาทำเฉพาะภิกษุใด ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น เพราะเธอไม่ได้ฉัน, และไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนอกนี้ เพราะไม่รู้, แท้จริงในการรับกัปปิยะมังสะไม่เป็นอาบัติ, แต่ภิกษุไม่รู้ฉันมังสะที่เขากระทำเจาะจง ภายหลังรู้เข้า กิจด้วยการแสดงอาบัติไม่มี, ส่วนภิกษุไม่รู้ ฉันอกัปปิยะมังสะ (มีเนื้อเสือเป็นต้น) แม้ภายหลังรู้เข้า พึงแสดงอาบัติ (ทุกกฎ) เพราะเหตุนั้นภิกษุผู้เกรงกลัวต่ออาบัติ แม้เมื่อกำหนดรูปการณ์ พึงถามก่อนแล้วจึงรับประเคนมังสะ จะรับประเคนด้วยตั้งใจว่า ในเวลาฉันเราจักถามแล้วจึงจะฉัน ควรถามก่อนแล้วจึงฉัน
     ถามว่า เพราะเหตุไร?  ตอบว่า เพราะมังสะรู้ได้ยาก, ความจริงเนื้อหมีก็คล้ายเนื้อสุกร, เนื้อเสือเหลืองเป็นต้น ก็เหมือนกับเนื้อมฤคเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า การถามแล้วจึงรับประเคนนั่นแลเป็นธรรมเนียม
     ๔. พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ เหล่านี้ บัดนี้เราจักอาจเพื่อทำสังฆเภท จึงได้แสดงอาการลิงโลดแก่พระโกกาลิกะ ไม่รู้ว่าทุกข์ที่ตนจะพึงบังเกิดในอเวจี แม้ซึ่งใกล้เข้ามาเพราะสังฆเภทเป็นปัจจัย ร่าเริงเบิกบานใจว่า บัดนี้ เราได้อุบายเพื่อทำลายสงฆ์ เหมือนดังบุรุษผู้ประสงค์จะกินยาพิษตาย หรือประสงค์จะเอาเชือกผูกคอตาย หรือประสงค์จะเอาศัสตรามาฆ่าตัวตาย ได้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มียาพิษเป็นต้น ไม่รู้จักทุกข์ คือ ความตาย แม้ใกล้เข้ามาเพราะการกินยาพิษเป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยเป็นผู้ร่าเริงเบิกบานใจอยู่  ฉะนั้น จึงพร้อมด้วยบริวารลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความคิดว่าสำเร็จแล้ว กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป, พระเทวทัตเป็นต้นบัญญัติ เพราะทรงปรารภท่านทำบัญญัติสิกขาบท, และพระเทวทัตมิได้ถูกสวดสมนุภาส ท่านจึงเป็นอาบัติ
     ๕. เป็นทุกกฎแก่พวกภิกษุผู้ได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว, ในที่ไกลเท่าไรจึงเป็นทุกกฎแก่พวกภิกษุ ผู้ได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว? ในวิหารเดียวกัน ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย, ส่วนในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ในระยะทางกึ่งโยชน์โดยรอบ จัดเป็นภาระของภิกษุทั้งหลายพึงไปห้ามเอาเองทีเดียวว่า ท่านผู้มีอายุ การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนัก เธออย่าพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ แต่ภิกษุผู้สามารถแม้ไกลก็ควรไป  จริงอยู่ แม้ที่ไกลๆ จัดเป็นภาระของพวกภิกษุผู้ไม่อาพาธทีเดียว
      ๖. สิกขาบทนี้มีสมนุภาสนมุฏฐาน ย่อมตั้งขึ้นทางกายทางวาจาและทางจิต, แต่เป็นอกิริยาเพราะเมื่อภิกษุไม่ทำกายวิการหรือเปล่งวาจาเลยว่า “เราจะสละคืน” จึงต้องอาบัติ, เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสะมูลจิต)




โย จ วนฺตกสาวสฺส  สีเลสุ สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน  ส เว กาสาวมรหติ ฯ ๑๐ ฯ

ผู้หมดกิเลสแล้ว มั่นคงในศีล
รู้จักบังคับตนเอง และมีสัตย์
ควรครองผ้ากาสาวพัสตร์แท้จริง

But he who discared defilements,
Firmly established in moral precepts,
Possessed of self-control and truth,
Is indeed worthy of the yellow robe.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก




สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๕)
ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ครั้งนั้นพระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ว่า พระเทวทัตพูดไม่ถูกธรรม พูดไม่ถูกวินัย ไฉนพระเทวทัตจึงตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ทำลายข้อห้ามในพุทธจักรเล่า (ทำลายความเป็นไปในวงการพระพุทธศาสนา)
     พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตรและพระสมุทททัต กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น พระเทวทัตพูดถูกธรรม พูดถูกวินัย ก็พระเทวทัตกล่าวคล้อยตามความพอใจและความเห็นชอบของพวกเรา พระเทวทัตทราบความพอใจและความเห็นชอบของพวกเราจึงกล่าว คำนั้นย่อมควรแก่พวกเรา ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนภิกษุเหล่านี้ ประพฤติตามคำพูดของพระเทวทัต ผู้ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์เล่า  แล้วกราบทูล,,, ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำอะไรๆ ต่อภิกษุนั้น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั้นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่นย่อมควร แม้แก่พวกข้าพเจ้า”
     “ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั้นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั้นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมผาสุก และภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสียได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า อนึ่ง...ของภิกษุนั้นแล คือ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น
     - บทว่า ผู้ประพฤติตาม ความว่า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เห็นอย่างไร ชอบอย่างไร พอใจอย่างไร ภิกษุผู้ประพฤติตามก็เห็นอย่างนั้น ชอบอย่างนั้น พอใจอย่างนั้น
     - บทว่า ผู้พูดเข้ากัน คือ ผู้ดำรงอยู่ในพวกในฝ่ายของภิกษุผู้นั้น ๑ รูปบ้าง... ๓ รูปบ้าง
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวกับภิกษุผู้ประพฤติตามเหล่านี้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมก็หาไม่ กล่าวถูกวินัยก็หาไม่ ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบใจแก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์อยู่พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน...ย่อมอยู่ผาสุก, พึงกล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงกล่าวแม้ครั้งที่สาม หากภิกษุเหล่านั้นสละได้ย่อมเป็นการดี หากไม่สละเสียต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายถึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น...หากสละได้เป็นการดี หากไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาส...ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้

กรรมวาจาสวดสมนุภาส
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์ฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติความเป็นผู้พูดเข้าด้วยกันของภิกษุผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย...เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
    ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
    ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย สงฆ์สวดสมนุภาสแล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
      - จบญัตติต้องทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้ายต้องสังฆาทิเสส
     - เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสคราวหนึ่ง ต่อภิกษุ ๒-๓ รูป ไม่ควรสวดสมนุภาสในคราวหนึ่งยิ่งกว่านั้น

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๕๙๕-๕๙๖
     ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๑๐) ที่กล่าวแล้ว



อนิกฺกสาโว กาสาวํ   โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน  น โส กาสาวมรหติ ฯ๙ฯ

คนที่กิเลสครอบงำใจ  ไร้การบังคับตนเองและไร้สัตย์
ถึงจะครองผ้ากาสาวพัสตร์  ก็หาคู่ควรไม่

whosoever, not freed from defilements,
Without self-control and truthfulness,
Should put on the yellow robe-
He is not worthy of it.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กรกฎาคม 2558 14:40:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2558 15:01:30 »

.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๖)
ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    พระฉันนะประพฤติมารยาทอันไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ดูก่อนฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ไม่ควร
     พระฉันนะกล่าวตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย พวกท่านสำคัญว่าเราเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ เราต่างหากควรว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าก็ของเรา พระธรรมก็ของเรา พระลูกเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมแล้ว พวกท่านต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกัน บวชรวมกันอยู่ ดุจลมกล้าพัดหญ้าไม้และใบไม้แห้งให้อยู่ร่วมกัน หรือดุจแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขาพัดพวกสาหร่ายและแหนให้อยู่รวมกันฉะนั้น เราต่างหากควรว่ากล่าวท่าน
     ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนท่านพระฉันนะอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม จึงได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกธรรมในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ กลับทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไรๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยการอย่างนี้ คือ ด้วยการว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ แลภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยืนยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาส ก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก ความว่า เป็นผู้ว่าได้โดยยาก ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุสาสนี โดยเคารพ
     - คำว่า ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ได้แก่ สิกขาบทอันนับเนื่องในพระปาติโมกข์
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น
     - ที่ชื่อว่า ถูกทางธรรม คือ สิกขาบทใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว สิกขาบทนั้นชื่อว่า ถูกทางธรรม ภิกษุนั้น ผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยถูกทางธรรมนั้น ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่าพวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรๆ ต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวคำอะไรๆ ต่อพวกท่าน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเสีย
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้นว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่าได้, แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าวต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้ว พึงกล่าวว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้...หากสละได้เป็นการดี หากเธอไม่สละ ต้องทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ... เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด    
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
     จบญัตติต้องทุกกฎ  จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๐๔-๖๐๘
      ๑. พระฉันนะกระทำการล่วงละเมิดทางกายทวารและวจีทวาร มีอเนกประการ
            พระฉันนะกล่าวหมายเอาความประสงค์อย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกพร้อมกับเรา ทรงผนวชแล้ว, ครั้นกล่าวว่า พระธรรมของเราแล้ว เมื่อจะแสดงข้อยุติในความเป็นของตนอีก จึงกล่าวว่าพระธรรมนี้ พระลูกเจ้าของเราได้ตรัสรู้แล้ว อธิบายว่า เพราะว่าสัจธรรมอันพระลูกเจ้าของเราแทงตลอดแล้ว ฉะนั้นแม้พระธรรมก็เป็นของเรา, แต่พระฉันนะสำคัญพระสงฆ์ว่า ตั้งอยู่ในฝักฝ่ายแห่งคนคู่เวรของตน จึงไม่กล่าวว่าพระสงฆ์ของเรา, แต่ใคร่จะกล่าวเปรียบเปรย รุกรานสงฆ์ จึงกล่าวคำว่า พวกท่านต่างชื่อต่างโคตรกัน” ดังนี้เป็นต้น
     ๒. บทว่า ทุพฺพจชาติโก ได้แก่ มีภาวะแห่งบุคคลผู้ว่ายาก ผู้อันใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวได้ ผู้อันใครๆ กล่าวสอนได้โดยลำบาก ไม่อาจว่ากล่าวได้โดยง่าย
          - ธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่ายาก ๑๙ อย่าง ได้แก่ ความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ๑  ความยกตนข่มผู้อื่น ๑  ความเป็นคนมักโกรธ ๑  ความผูกโกรธ ๑  ความเป็นผู้มักระแวงเพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑  ความเป็นผู้เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ ๑  ความกลับเป็นผู้โต้เถียงโจทย์ ๑  ความเป็นผู้รุกรานโจทก์ ๑  ความเป็นผู้ปรักปรำโจทก์ ๑  ความกลบเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น ๑  ความเป็นผู้ไม่พอใจตอบด้วยความประพฤติ ๑  ความเป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอ ๑  ความเป็นคนริษยาเป็นคนตระหนี่ ๑  ความเป็นคนโอ้อวดเจ้ามายา ๑  ความเป็นคนกระด้างดูหมิ่นผู้อื่น ๑  ความเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ๑  ความเป็นคนดื้อรั้น ๑  ความเป็นผู้สอนได้ยาก ๑  อันมีมาแล้วในอนุมานสูตร
          - ผู้ใด ไม่อดไม่ทนโอวาท เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อักขมะ, ผู้ใดเมื่อปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน ไม่รับอนุสาสนีโดยเบื้องขวา เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า มีปกติไม่รับโดยเบื้องขวาซึ่งอนุสาสนี
            - ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ด้วยสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ อันได้นามว่า สหธรรมิก เพราะเป็นสิกขาอันสหธรรมิก ๕ พึงศึกษา หรือเพราะเป็นพระสหธรรมิก ๕ เหล่านั้น
     ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐) ที่กล่าวมาแล้ว




อสาเร สารมติโน   สาเร จ อสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจํฉนฺติ   มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๑ ฯ

ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ    เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว   ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

In the unessential they imagine the essential,
In the essential they see the unessential;
They who feed on wrong thoughts as such
Never achieve the essential.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก



สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่นในชนบทฏาคิรี เป็นภิกษุอลัชชี ชั่วช้า ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอก...รดน้ำ...เก็บดอกไม้...ร้อยกรองดอกไม้...ทำมาลัยต่อก้าน...ทำมาลัยเรียงก้าน...ทำดอกไม้ช่อ...ทำดอกไม้พุ่ม...แล้วนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เพื่อให้กุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกัน...ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันกับกุลสตรี กุลธิดา ฉันอาหารในเวลาวิกาล...ดื่มน้ำเมา...ทัดทรงดอกไม้... ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม ฯลฯ  
     ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี จะเดินทางไปพระนครสาวัตถี ถึงกิฏาคีรีชนบทแล้ว เวลาเช้าถือบาตรเข้าไปบิณฑบาต มีอาการเดินไปถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
     คนทั้งหลายได้เห็นแล้ว พูดว่า ภิกษุรูปนี้เป็นใคร ดูคล้ายคนไม่ค่อยมีกำลัง เหมือนคนอ่อนแอมีหน้าสยิ้ว (เพราะท่านมีจักษุทอดลง ไม่สบตาใครๆ) ใครเล่าจักถวายแก่ท่าน ส่วนพระผู้เป็นเจ้า พระอิสสชิ และพระปุนัพพสุกะของพวกเรา เป็นผู้อ่อนโยน พูดไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อน มีหน้าชื่นบาน มักพูดก่อน ใครๆ ก็ต้องถวายแก่ท่าน
     อุบาสกคนหนึ่งแลเห็นภิกษุรูปนั้น ได้กราบนิมนต์ถวายบิณฑบาต พอรู้ว่าท่านกำลังจะไปเข้าเฝ้า จึงขอให้ท่านช่วยกราบทูลถ้อยคำของท่านด้วยว่า...วัดในกิฏาคีรีชนบท โทรม พวกพระอิสสชิและพระปุนัพพะสุกะเป็นภิกษุเจ้าถิ่น เป็นอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติเลวทรามเป็นปานนี้ คือ...
     เมื่อถึงพระอารามเชตวัน ท่านเข้าเฝ้ากราบทูลถ้อยคำของอุบาสกนั้น ทรงให้ประชุม ทรงสอบถามแล้ว ตรัสให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเดินทางไปชนบทกิฏาคีรี แล้วจงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของเธอ
     พระเถระทั้งสองทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงไปพร้อมด้วยภิกษุหลายๆ รูป

• วิธีทำปัพพาชนียกรรม
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีปัพพาชนียกรรมพึงทำอย่างนี้ พึงโจทภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึงให้พวกเธอให้การ ครั้นแล้วพึงยกอาบัติขึ้น ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี นี้เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า...ขอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ปัพพาชนียกรรม สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี ว่า ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
     ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ได้ไปสู่ชนบทกิฏาคีรี ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกนั้นแล้ว
     ภิกษุเหล่านั้นถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรม ไม่ประพฤติชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่าบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่าลำเอียง ด้วยความพอใจ...ขัดเคือง...หลง...กลัว หลีกไปเสียก็มี สึกไปเสียก็มี
     ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนภิกษุผู้ไม่ประพฤติชอบเหล่านั้น แล้วกราบทูล...พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านอย่าได้อยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า อนึ่ง ภิกษุ...บ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่ง ความว่า บ้านก็ดี นครก็ดี มีชื่อว่า บ้านและนิคม
     - บทว่า เข้าไปอาศัย...อยู่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขาร เป็นปัจจัยของภิกษุไข้ เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องอยู่ในที่นั้น
     - ที่ชื่อว่า สกุล หมายถึง สกุล ๔ คือ สกุลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
     - บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี
     - บทว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง
     - บทว่า เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย คือ ชนเหล่าใดอยู่เฉพาะหน้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า ได้เห็นอยู่ ชนเหล่าใดอยู่ลับหลัง ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ยินอยู่ บทว่า และสกุลทั้งหลาย อันเธอประทุษร้ายแล้ว คือ ชนทั้งหลายเมื่อก่อนมีศรัทธาอาศัยภิกษุนั้นกลับเป็นคนไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเป็นคนเลื่อมใสอาศัยภิกษุนั้น กลับเป็นคนไม่เลื่อมใส
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อันอธิบายว่า ภิกษุพวกที่ได้เห็นได้ยินเหล่านั้น พึงกล่าวกับภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้นว่า ท่านแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุลมีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านนั้น เขาได้เห็นอยู่แล้ว เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่าภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลายได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น  อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุเหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้น พึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำกรรมรูปนั้นว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ และหาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านแลเขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินอยู่ไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงว่ากล่าวว่าท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น...หากเธอสละได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส...ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี้เป็นญัตติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว...เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุผู้มีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

     - จบญัตติต้องทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม  ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๓๐-๖๖๑     ๑. อาวาสของภิกษุเหล่านี้มีอยู่ เหตุนั้นภิกษุเหล่านี้จึงชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), วิหาร ท่านเรียกว่า อาวาส วิหารนั้นเกี่ยวเนื่องแก่ภิกษุเหล่าใด โดยความเป็นผู้ดำเนินหน้าที่ มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และการซ่อมของเก่า เป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), แต่ภิกษุเหล่าใด เพียงแต่อยู่ในวิหารอย่างเดียว ภิกษุเหล่านั้นท่านเรียกว่า เนวาสิกะ (เจ้าถิ่น) ภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะนี้ได้เป็นเจ้าอาวาส, เป็นพวกภิกษุลามก ไม่มีความละอาย เพราะว่าภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น เป็นภิกษุฉัพพัคคีย์ชั้นหัวหน้าแห่งภิกษุฉัพพัคคีย์ทั้งหลาย

“ประวัติของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์”
     ได้ยินว่า ชน ๖ คน ในกรุงสาวัตถี เป็นสหายกัน (ปัณฑุกะ ๑  โลหิตกะ ๑  เมตติยะ ๑  ภุมมชกะ ๑  อัสสชิ ๑  ปุนัพพสุกะ ๑  เมื่อบวชแล้วเรียกว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์  แปลว่า มีพวก ๖) ปรึกษากันว่า การกสิกรรมเป็นต้น เป็นการงานที่ลำบาก เอาเถิดสหายทั้งหลาย พวกเราจะพากันบวช แล้วได้บวชในสำนักของพระอัครสาวกทั้งสอง พวกเธอมีพรรษาครบ ๕ พรรษา ท่องมาติกา (แม่บท เช่นตัวสิกขาบท เรียกว่าเป็นมาติกา) คล่องแล้ว ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่า ชนบทบางคราวมีภิกษาสมบูรณ์ บางคราวก็มีภิกษาฝืดเคือง พวกเราอย่าอยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเลย จงแยกกันอยู่ในที่ ๓ แห่ง
     ลำดับนั้น พวกเธอจึงกล่าวกะภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชื่อว่ากรุงสาวัตถี มีตระกูลห้าล้านเจ็ดแสนตระกูล เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นกาสีและโกศล ทั้งสองแคว้นกว้างประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล  พวกท่านจงให้สร้างสำนักในสถานที่ใกล้ๆ กรุงสาวัตถีนั่นแล แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าเมตติยะและภุมมชกะว่า ท่านผู้มีอายุ ชื่อว่ากรุงราชคฤห์มีพวกมนุษย์ ๑๘ โกฏิ อยู่ครอบครอง เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นอังคะและมคธทั้งสองกว้าง ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล พวกท่านจงให้สร้างสำนักใกล้ๆ กรุงราชคฤห์ แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ด้วยตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะว่า ท่านผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่ากิฏาคีรีชนบท อันเมฆฝน ๒ ฤดู อำนวยแล้ว ย่อมได้ข้าวกล้า ๓ คราว พวกท่านจงให้สร้างสำนักในที่ใกล้ๆ กิฏาคีรีชนบทนั้น ปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น ไว้สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น ได้กระทำอย่างนั้น บรรดาภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น แต่ละฝ่ายมีภิกษุเป็นบริวารฝ่ายละ ๕๐๐ รูป รวมเป็นจำนวนภิกษุ ๑,๕๐๐ รูปกว่า ด้วยประการฉะนั้น
     ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะ พร้อมทั้งบริวารเป็นผู้มีศีล เที่ยวไปยังชนบท เที่ยวจาริกร่วมเสด็จกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเธอไม่ก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่ชอบย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ส่วนพระภิกษุฉัพพัคคีย์พวกนี้ทั้งหมดเป็นอลัชชี ย่อมก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำด้วย ย่อมพากันย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วด้วย
     ๒. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ ประพฤติอนาจารมีประการต่างๆ เช่น ลุกขึ้นดุจลอยตัวอยู่เพราะปีติ แล้วให้นางระบำผู้ชำนาญเต้นรำ ร่ายระบำ รำฟ้อน คือให้จังหวะร่ายรำ, แล้วร่ายรำไปข้างหน้าและข้างหลังหญิงฟ้อนนั้น, ย่อมขับร้องคลอไปตามการฟ้อนรำด้วย, เล่นหมากรุก เล่นหมากเก็บ, ทำวงเวียนมีเส้นต่างๆ ลงบนพื้นดินแล่นวกวนไปตามเส้นวกวนในวงเวียนนั้น (เล่นชิงนาง) เล่นกีฬาหมากไหวบ้าง อธิบายว่า ตัวหมากรุกและหินกรวด เป็นต้น ที่ทอดไว้รวมกัน เอาเล็บเขี่ยออกและเขี่ยเข้าไม่ให้ไหว ถ้าว่า ลูกสกา ตัวหมากรุก หรือหินกรวดเหล่านั้น บางอย่างไหว เป็นแพ้, เล่นเอาพู่กันจุ่มน้ำครั่ง น้ำฝาง หรือน้ำผสมแป้ง แล้วถามว่าจะเป็นรูปอะไร? จึงแต้มพู่กันนั้นลงที่พื้นหรือที่ฝาผนัง แสดงรูปช้างและรูปม้าเป็นต้น, เล่นเป่าหลอดใบไม้, เล่นหกคะเมนตีลังกา, เล่นกีฬาทายความคิดทางใจ, เล่นแสดงประกอบท่าทางของคนพิการ มีคนตาบอด คนกระจอก  และคนค่อมเป็นต้น ท่านเรียกว่า เล่นเลียนแบบคนพิการ, เล่นปล้ำกัน เป็นต้น
     ๓. ควรทราบลักษณะ ๕ อย่างเหล่านี้คือ อกัปปิยโวหาร ๑  กัปปิยโวหาร ๑  ปริยาย ๑  โอภาส ๑  นิมิตกรรม ๑
     - ที่ชื่อว่า อกัปปิยโวหาร ได้แก่ การตัดเอง การใช้ให้ตัดจำพวกของสดเขียว การขุดเอง การใช้ให้ขุดหลุม, การปลูกเอง, การใช้ให้ปลูกกอไม้ดอก, การก่อเอง การใช้ให้ก่อคันกั้น, การรดน้ำเอง การใช้ให้รดน้ำ เป็นต้น (คือ ทำเอง และใช้ให้ทำ ด้วยถ้อยคำตรงๆ)
     - ที่ชื่อว่า กัปปิยโวหาร ได้แก่ คำว่า จงรู้ต้นไม้นี้, จงรู้หลุมนี้, จงรู้กอไม้ดอกนี้, จงรู้น้ำในที่นี้
     - ที่ชื่อว่า ปริยาย (นัยอ้อม) ได้แก่ คำมีอาทิว่า บัณฑิตควรให้ปลูกต้นไม้ทั้งหลาย มีต้นไม้ดอก เป็นต้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกาลไม่นานนัก
     - ที่ชื่อว่า โอภาส (การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส) ได้แก่ การยืนถือจอบและเสียมเป็นต้น และกอไม้ดอกทั้งหลายอยู่ จริงอยู่ พวกสามเณรเป็นต้น เห็นพระเถระยืนอยู่อย่างนั้น ย่อมรู้ว่าพระเถระประสงค์จะใช้ให้ทำ แล้วจะมาทำให้
     - ที่ชื่อว่า นิมิตกรรม (ทำอาการ) ได้แก่ การนำจอบ เสียม มีด ขวาน และภาชนะ น้ำ มาวางไว้ในที่ใกล้ๆ
     ลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ควรในการปลูก เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล, แต่หากเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล กิจ ๒ อย่าง คือ อกัปปิยโวหารและกัปปยโวหาร เท่านั้นไม่ควร, กิจ ๓ อย่างนอกนี้ควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้กัปปิยโวหารก็ควร (เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล)
     และการปลูกใด ย่อมควรเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคของตน การปลูกนั้นก็ควรเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น แก่สงฆ์ หรือแก่เจดีย์ด้วย แต่การใช้ให้ปลูกเพื่อต้องการอาราม เพื่อต้องการป่า และเพื่อต้องการร่มเงา อกัปปิยโวหารอย่างเดียวย่อมไม่สมควร, ที่เหลือควรอยู่, และมิใช่จะควรแต่กิจที่เหลืออย่างเดียว ก็หามิได้ แม้การทำเหมืองให้ตรงก็ดี การรดน้ำที่เป็นกัปปิยะก็ดี การทำห้องอาบน้ำแล้วอาบเองก็ดี และการเทน้ำล้างมือ ล้างเท้า และล้างหน้า ลงในที่ปลูกต้นไม้นั้นก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีและในกุรุนทีท่านกล่าวว่า แม้จะปลูกเองในกัปปิยะปฐพี ก็ควร ถึงแม้จะบริ
โภคผลไม้ที่ปลูกเอง หรือใช้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้น ก็ควร (ปลูกขายนำรายได้ดูแลบำรุงอาราม), ในการเก็บเอง และในเพราะการใช้ให้เก็บผลไม้ แม้ตามปกติก็เป็นปาจิตตีย์ แต่ในการเก็บและในการใช้ให้เก็บ เพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูล เป็นปาจิตตีย์ด้วย เป็นทุกกฎด้วย ในเพราะการร้อยดอกไม้ มีการร้อยตรึงเป็นต้น มีพวงดอกไม้สำหรับประดับประดาเป็นที่สุด เป็นทุกกฎอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้ทำเพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูลหรือเพื่อประการอื่น
     ถามว่า เพราะเหตุไร?  ตอบว่า เพราะเป็นอนาจารและเพราะเป็นบาปสมาจาร (ความประพฤติเหลวไหล เลวทราม)
     - ไม่เป็นอาบัติในการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์แก่อาราม และเพื่อการบูชาพระรัตนตรัย เพราะปลูกด้วยกัปปิยโวหารและอาการมีปริยาย เป็นต้น
     - เป็นอาบัติในการร้อยดอกไม้เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่กุลสตรีเป็นต้น, แต่ไม่เป็นอาบัติหากว่ามีการร้อยเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กรกฎาคม 2558 15:08:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2558 15:06:02 »

.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ (ต่อ)
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ๔. เป็นอาบัติปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุผู้ปลูกกอไม้ดอกเองในอกัปปิยปฐพี เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายสกุล, ภิกษุใช้ให้ปลูกด้วยอกัปปิยโวหารก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, ในการปลูกเองก็ดี ใช้ให้ปลูกก็ดีในกัปปิยปฐพี เป็นทุกกฎอย่างเดียว, ในปฐพีแม้ทั้งสอง ในเพราะใช้ให้ปลูกกอไม้ดอกแม้มาก ด้วยการสั่งครั้งเดียว เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ หรือเป็นทุกกฎล้วนแก่ภิกษุผู้นั้นครั้งเดียวเท่านั้น
     ไม่เป็นอาบัติในเพราะใช้ให้ปลูกด้วยกัปปิยโวหาร ในพื้นที่ที่เป็นกัปปิยะ หรือพื้นที่ที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การบริโภค, แม้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้นในอกัปปิยปฐพี ก็คงเป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ปลูกเอง หรือใช้ให้ปลูกด้วยถ้อยคำที่เป็นอกัปปิยะ
     - ในการรดเองและใช้ให้รด มีวินิจฉัยดังนี้, เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ แห่งด้วยน้ำที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูลและการบริโภค แต่เพื่อประโยชน์แก่การทั้งสองนั้นเท่านั้น เป็นทุกกฎด้วยน้ำที่เป็นกัปปิยะ, ก็ในการประทุษร้ายตระกูลและการบริโภคนี้ เพื่อต้องการบริโภคไม่เป็นอาบัติในการใช้ให้รดน้ำด้วยกัปปิยโวหาร แต่ในฐานะแห่งอาบัติผู้ศึกษาพึงทราบความเป็นอาบัติมาก เพราะมีประโยคมากด้วยอำนาจสายน้ำขาด
     ในการเก็บเองเพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล เป็นทุกกฎกับปาจิตตีย์ตามจำนวนดอกไม้, ในการบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว (พรากของเขียว), แต่ภิกษุผู้เก็บดอกไม้เป็นจำนวนมาก ด้วยประโยคอันเดียว พระวินัยธรพึงปรับด้วยอำนาจแห่งประโยคในการใช้ให้เก็บ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล คนที่ภิกษุใช้ครั้งเดียวเก็บแม้มากครั้ง ก็เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุนั้นครั้งเดียวเท่านั้น, ในการเก็บเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว
     ๕. การลงปัพพาชนียกรรมนั้น สงฆ์พึงให้ทำโอกาสว่าพวกผมต้องการจะพูดกะพวกท่าน แล้วพึงโจทด้วยวัตถุและอาบัติ ครั้นโจทแล้วพึงให้ระลึกถึงอาบัติที่พวกเธอยังระลึกไม่ได้ ถ้าพวกเธอปฏิญญาวัตถุและอาบัติ หรือปฏิญญาเฉพาะอาบัติไม่ปฏิญญาวัตถุ พึงยกอาบัติขึ้นปรับ, ถ้าปริญญาเฉพาะวัตถุไม่ปฏิญญาอาบัติ ก็พึงยกอาบัติขึ้นปรับว่า เป็นอาบัติชื่อนี้ในเพราะวัตถุนี้, ถ้าพวกเธอไม่ปฏิญญาทั้งวัตถุ ไม่ปฏิญญาทั้งอาบัติ ไม่พึงยกอาบัติขึ้นปรับ
     - ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแล้ว ไม่ควรอยู่ในวัดที่ตนเองอยู่ หรือในบ้านที่ตนประทุษร้าย, เมื่อจะอยู่ในวัดนั้น ไม่พึงเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านใกล้เคียง แม้จะอยู่ในวัดใกล้เคียงก็ไม่ควรเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้น
     - ถามว่า สงฆ์ได้กระทำแก่พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะอย่างไร?  ตอบว่า สงฆ์ไม่ได้ไปข่มขี่กระทำเลย โดยที่แท้ เมื่อพวกตระกูลอาราธนานิมนต์แล้ว กระทำภัตตาหารเพื่อสงฆ์, พระเถระทั้งหลายที่มาในที่นิมนต์นั้นจะแสดงข้อปฏิบัติของสมณะให้พวกมนุษย์เข้าใจว่า นี้เป็นสมณะ นี้ไม่ใช่สมณะ แล้วให้ภิกษุ ๑ รูป ๒ รูป เข้าสู่สีมาแล้ว ได้กระทำปัพพาชนียกรรมแก่พวกภิกษุนั้น โดยอุบายนี้แล
    ก็เมื่อภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมอย่างนี้แล้ว บำเพ็ญวัตร ๑๘ ประการ ให้บริบูรณ์ขออยู่กรรมอันสงฆ์พึงระงับ, และภิกษุผู้มีกรรมระงับแล้ว (สงฆ์รับเข้าหมู่อีกครั้งแล้ว) ตนทำกุลทูสกกรรมไว้ในตระกูลใดในครั้งก่อน ไม่ควรรับปัจจัยจากตระกูลเหล่านั้น แม้จะบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว (เป็นพระอรหันต์) ก็ไม่ควรรับปัจจัยเหล่านั้น จัดเป็นของไม่สมควรแท้
     แม้ถูกทายกถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับ? ตอบว่า เพราะได้กระทำไว้อย่างนี้ เมื่อครั้งก่อนดังนี้ ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกกระผมไม่ถวายด้วยเหตุอย่างนั้น ถวายเพราะท่านมีศีลในบัดนี้ต่างหาก ดังนี้ควรรับได้, กุลทูสกกรรมเป็นกรรมอันภิกษุผู้กระทำเฉพาะในสถานที่ให้ทานตามปกติ จะรับทานตามปกติจากสถานที่นั่นแล ควรอยู่, ทานที่ทายกถวายเพิ่มเติม ไม่ควรรับ
     ๖. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น กลับไม่ยอมประพฤติชอบในวัตร ๑๘ ประการ หลังจากสงฆ์ลงปัพพาชียกรรมแล้ว, เป็นผู้ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควร, ไม่กระทำให้ภิกษุทั้งหลายอดโทษอย่างนี้ว่า “พวกกระผมกระทำผิด ขอรับ พวกกระผมจะไม่กระทำเช่นนี้อีก ขอท่านทั้งหลายจงยกโทษแก่พวกผมเถิด,” ย่อมด่าการกสงฆ์ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐, กล่าวสงฆ์ลำเอียงบ้าง, บรรดาสมณะ ๕๐๐ ซึ่งเป็นบริวารของพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะบางพวกหลีกไปสู่ทิศอื่น บางพวกก็สึกเป็นคฤหัสถ์, ท่านเรียกภิกษุแม้ทั้งหมดว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะ เพราะภิกษุทั้งสองรูปนั้นเป็นหัวหน้า
     ๗. บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชื่อว่าคามและนิคม, บรรดาบ้านเป็นต้นนั้น หมู่บ้านที่ไม่มีกำแพงเป็นเครื่องล้อม มีร้านตลาด พึงทราบว่า “นิคม”
     ภิกษุใดประทุษร้ายซึ่งตระกูลทั้งหลาย เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า กุลทูสกะ, และเมื่อประทุษร้ายด้วยของเสีย มีของไม่สะอาดเป็นต้น โดยที่แท้ย่อมทำความเลื่อมใสของตระกูลทั้งหลายให้พินาศไปด้วยข้อปฏิบัติชั่วของตน
     ๘. ภิกษุใดนำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้ก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี หรือว่าให้ดอกไม้ที่เป็นของตน อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่บุคคลทั้งหลายที่เข้าไปหาเอง เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ, ให้ดอกไม้ของคนอื่นเป็นทุกกฏเหมือนกัน, ถ้าให้ด้วยไถยจิต พระวินัยธรพึงปรับตามราคาสิ่งของ, แม้ในของสงฆ์ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ส่วนความแปลกมีดังนี้ เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้ให้ดอกไม้ที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยถือว่าตนเป็นใหญ่ (ในอาวาส)
     ถามว่า ดอกไม้ควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร?  ตอบว่า เมื่อจะให้แก่มารดาบิดาก่อน นำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้เองก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี ควรทั้งนั้น,  สำหรับญาติที่เหลือ ให้เรียกมาให้เท่านั้น จึงควร,  ก็แลการให้ดอกไม้นั้นเพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระรัตนตรัย จึงควร, แต่จะให้ดอกไม้แก่ใคร, เพื่อประโยชน์แก่การประดับ หรือเพื่อประโยชน์แก่การบูชาศิวลึงค์เป็นต้น ไม่ควร, และเมื่อจะให้นำไปให้แก่มารดาบิดา ควรใช้สามเณรผู้เป็นญาติเท่านั้นให้นำไปให้, สามเณรผู้มิใช่ญาตินอกนั้น ถ้าปรารถนาจะนำไปเองเท่านั้น จึงควรให้นำไป, ภิกษุผู้แจกดอกไม้ที่ได้รับสมมติ จะให้ส่วนกึ่งหนึ่งแก่พวกสามเณรผู้มาถึงในเวลาแจก ก็ควร
     ในกุรุนทีกล่าวว่า ควรให้ครึ่งส่วนแก่คฤหัสถ์ที่มาถึง, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ควรให้แต่น้อย, ภิกษุผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้, พวกสามเณรผู้มีความเคารพในอาจารย์และอุปัชฌาย์ได้นำดอกไม้เป็นอันมากมากองไว้ พระเถระทั้งหลายให้แก่พวกสัทธิวาริกเป็นต้น หรือแก่พวกอุบาสกผู้มาถึงแต่เช้าตรู่ ด้วยกล่าวว่า เธอจงถือเอาดอกไม้นี้ ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, พวกภิกษุผู้ถือเอาไปด้วยคิดว่า พวกเราจักบูชาพระเจดีย์ก็ดี กำลังทำการบูชาก็ดี ให้แก่พวกคฤหัสถ์ผู้มาถึงในที่นั่น, เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระเจดีย์ แม้การให้นี้ก็ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, เมื่อเห็นพวกอุบาสกกำลังบูชาด้วยดอกรักเป็นต้น แล้วกล่าวว่าอุบาสกทั้งหลาย ดอกกรรณิการ์เป็นต้น ที่วัดมี พวกท่านจงไปเก็บดอกกรรณิการ์เป็นต้น มาบูชาเถิด ดังนี้ ก็ควร
     - แม้ผลไม้ที่เป็นของของตน จะให้แก่มารดาบิดาและพวกญาติที่เหลือย่อมควร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อภิกษุผู้ให้เพื่อประโยชน์การการสงเคราะห์ตระกูล พึงทราบว่าเป็นทุกกฎเป็นต้น ในเพราะผลไม้ของตน ของคนอื่น ของสงฆ์ และของที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยนัยดังกล่าวแล้ว, เฉพาะผลไม้ที่เป็นของตน จะให้แก่พวกคนไข้ หรือแก่พวกอิสรชนผู้มาถึงซึ่งหมดเสบียงลง ก็ควร, แม้ภิกษุผู้แจกผลไม้ที่สงฆ์สมมติ จะให้กึ่งส่วนแก่พวกชาวบ้านผู้มาถึงในเวลาแจกผลไม้แก่สงฆ์ ก็ควร, ผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้
     แม้ในสังฆาราม สงฆ์ก็ควรทำกติกาไว้ ด้วยการกำหนดผลไม้หรือด้วยการกำหนดต้นไม้ เมื่อพวกคนไข้ หรือพวกคนอื่นขอผลไม้ จากผลหรือจากต้นไม้ที่กำหนดไว้ พึงให้ผลไม้ ๔-๕ ผล หรือพึงแสดงต้นไม้ตามที่กำหนดไว้ว่า พวกเธอถือเอาจากต้นนี้ได้ แต่ไม่ควรพูดว่าผลไม้ที่ต้นนี้ดี พวกเธอจงถือเอาจากต้นนี้
     - ภิกษุให้จุรณสน หรือน้ำฝาดอย่างอื่นของตน เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล เป็นทุกกฎ แม้ในของของคนอื่นเป็นต้น ก็พึงทราบวินิจฉัยตามที่กล่าวแล้ว ส่วนความแปลกมีดังนี้ ในจุรณวิสัยนี้เปลือกไม้แม้ที่สงฆ์รักษาและสงวนไว้ ก็จัดเป็นครุภัณฑ์แท้
     - กรรม คือ การงานของทูต และการส่งข่าวของพวกคฤหัสถ์ ท่านเรียกว่า ชังฆเปสนียะ อันภิกษุไม่ควรกระทำ ด้วยว่าเมื่อภิกษุรับข่าวสาสน์ของพวกคฤหัสถ์แล้วเดินไป เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว แม้เมื่อฉันโภชะที่อาศัยกรรมนับได้มาก็เป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน, แม้เมื่อไม่รับข่าวสาสน์แต่แรก ภายหลังตกลงใจว่า บัดนี้คือบ้านนั้น เอาละ เราจักแจ้งข่าวสาสน์นั้นแล้วแวะออกจากทาง ก็เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว, เมื่อฉันโภชะที่บอกข่าวสาสน์ได้มา เป็นทุกกฎโดยนัยก่อนเหมือนกัน, แต่ภิกษุไม่รับข่าวสาสน์มา เมื่อถูกคฤหัสถ์ถามว่า ท่านขอรับ อันผู้มีชื่อนั้นในบ้านนี้ มีข่าวคราวเป็นอย่างไร? จะบอกก็ควร
     แต่จะส่งข่าวสาสน์ของพวกสหธรรมิก ๕ ของมารดาบิดา คนปัณฑุปลาส และไวยาวัจกรของตน ควรอยู่ และภิกษุจะส่งข่าวสาสน์ที่สมควร (อย่างเช่นที่อุบาสกในเรื่องนี้ฝากกราบทูลความประพฤติของพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะ) ของพวกคฤหัสถ์ ควรอยู่ เพราะข่าวสาสน์ที่สมควรนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นกรรม คือ การเดินข่าว, ก็แลปัจจัยก็เกิดขึ้นจากกุลทูสกรรม ๘ อย่างนี้ (มีการปลูกดอกไม้เป็นต้น) ย่อมไม่สมควรแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ เป็นเช่นกับปัจจัยที่เกิดขึ้นจากอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่เป็นจริง และการซื้อขายด้วยรูปิยะทีเดียว
    ๙. พึงเห็นความอย่างนี้ว่า เป็นทุกกฎอย่างเดียว เพราะกุลทูสกกรรม, แต่ภิกษุนั้นหลีกเลี่ยงกล่าวคำใดกะสงฆ์ว่า เป็นผู้มีความลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้น สงฆ์พึงกระทำสมนุภาสนกรรม เพื่อสละคืนซึ่งคำว่าเป็นผู้ลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้นนั้นเสีย
     ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐)
     ๑๑. สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบทนี้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มีการต้องแต่แรก ๙ สิกขาบท เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ปฐมปัตติกะ (เช่น สิกขาบทที่ ๑ เป็นต้น) และชื่อว่า ยาวตติกะ ๔ สิกขาบท เพราะต้องในสมนุภาสนกรรมครั้งที่ ๓ (มีสิกขาบทที่ ๑๐ เป็นต้น)
     - เมื่อต้องอาบัติแล้ว รู้อยู่แต่ปกปิดไว้ ไม่บอกแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ สิ้นวันประมาณเท่านี้, ปิดเท่าใด ต้องอยู่ปริวาสสิ้นวันมีประมาณเท่านั้น, จากนั้นแล้วมาอยู่นัตสิ้น ๖ ราตรี เพื่อประโยชน์ เพื่อความยอมรับของภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุประพฤติมานัตแล้ว ภิกษุสงฆ์อย่างต่ำ ๒๐ รูป (วีสติคณะ) อยู่ในสีมาใด พึงเรียกภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นเข้าหมู่ (อัพภาน) ในสีมานั้น ถ้าภิกษุสงฆ์หย่อน ๒๐ รูปแม้รูปหนึ่ง การเรียกเข้าหมู่นั้นไม่เป็นการเรียกเข้าหมู่แล้ว (ยังไม่เป็นการอัพภาน) และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ นี้เป็นสามีจิกรรมในกรรมนั้น



สารญฺจ สารโต ญตฺวา   อาสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ   สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๒ ฯ

ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ  และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
มีความคิดเห็นชอบ  ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

Knowing the essential as the essential,
And the unessential as the unessential,
They who feed on right thoughts as such
Achieve the essential
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 สิงหาคม 2558 14:28:22 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 10 สิงหาคม 2558 14:54:37 »

.


อนิตย ๒ สิกขาบท
อนิยต ๒ นี้ ปรับโทษตามธรรม ๓ อย่าง ที่ผู้ควรเชื่อนำมาแสดงในท่ามกลางสงฆ์
คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นปาจิตตีย์ ก็แสดงอาบัติตกไปได้ ถ้าเป็นสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม จึงจะพ้นโทษได้
แต่ถ้าเป็นปาราชิกแล้ว ก็ขาดจากความเป็นภิกษุเลยทีเดียว



อนิยต สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๘)
ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง
คนที่เชื่อได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่าง ภิกษุรับอย่างใด ปรับอย่างนั้น

    ครั้งนั้น พระอุทายีเข้าไปยังสกุลหนึ่ง ซึ่งสาวน้อยแห่งสกุลนั้นเป็นสตรีที่มารดาบิดายกให้แก่หนุ่มน้อยของสกุลหนึ่ง ท่านอุทายีถามหาสาวน้อยคนนั้นแล้ว เข้าไปหา สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังซึ่งพอจะทำการได้กับสาวน้อยนั้นหนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่
     ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตาไปสู่สกุลนั้นเพราะชาวบ้านเชิญนางไปร่วม เพราะถือว่าเป็นมงคล เพราะนางเป็นสตรีมีบุตรมาก มีนัดดามาก มีบุตรไม่มีโรค นัดดาไม่มีโรค (คนเช่นนี้) โลกสมมติว่าเป็นมิ่งมลคล นางได้แลเห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับ จึงได้กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับนี้ไม่เหมาะไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่คิดอะไร แต่พวกชาวบ้านที่ไม่เลื่อมใส จะบอกให้เขาเชื่อ มิใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่พระอุทายีหาสนใจไม่
     นางวิสาขากลับไปแล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุรูปเดียว สำเร็จนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง พอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี  ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยต”

อรรถาธิบาย
     - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงสตรีผู้ใหญ่
     - คำว่า รูปเดียว...ผู้เดียว ได้แก่ ภิกษุ๑ มาตุคาม๑
     - ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา๑ ที่ลับหู๑
     - ที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชูศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้, ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดตามปกติได้ (ในสิกขาบทนี้มุ่งที่ลับตา)
     - อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่านบังต้นไม้ เสา หรือฉาง อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า พอจะทำการได้ คือ อาจเพื่อจะเสพเมถุนได้
     - คำว่า สำเร็จการนั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี นั่งทั้งสองคนหรือนอนทั้งสองคนก็ดี
     - อุบาสิกาที่ชื่อว่า มีวาจาที่เชื่อได้ คือ เป็นสตรีผู้บรรลุผล ผู้ตรัสรู้ธรรม ผู้เข้าใจศาสนาดี
     - ที่ชื่อว่า อุบาสิกา ได้แก่ สตรีผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
     - บทว่า เห็น คือ พบ
     - อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์
     - บทว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน คือ  เป็นปาราชิกก็ได้ สังฆาทิเสสก็ได้ ปาจิตตีย์ก็ได้

อาบัติ
     ๑.หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณ (แสดงความยืนยัน, ให้การยอมรับ) การนั่งนั้นพึงปรับอาบัติ (ปาราชิก)
     ๒.อุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้เสพเมถุนธรรม พึงปรับเพราะการนั่ง (นั่งในที่ลับเป็นปาจิตตีย์)
     ๓.อุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์)
     ๔.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ (ปรับปาจิตตีย์ไม่ได้เพราะยืนอยู่ ดูปาจิตตีย์อเจลกวรรค ข้อ ๔)
     ๕.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านอน กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม... มีคำอธิบายการปรับเช่นเดียวกับอิริยาบถนั่งข้อ ๑-๔ ที่กล่าวแล้ว
     ๖.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ถ้าภิกษุปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส)
     ๗. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้ถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย หรือข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนั่ง, การนอน (ปาจิตตีย์)
     ๘. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๙.ในอิริยาบถนอน ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ก็มีคำอธิบายเช่นเดียวกับอิริยาบถนั่งเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคามข้อที่ ๗-๘ ข้างต้น
    ๑๐. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียวนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาราชิก), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), หากภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
    ๑๑. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียวนอนในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว พึงทราบการปรับ-ไม่ปรับ ดังข้อ ๑๐
    ๑๒.ภิกษุปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับอาบัติ
    ๑๓.ภิกษุปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๔.ภิกษุปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับเพราะการนั่ง
    ๑๕.ภิกษุปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ ไม่พึงปรับ
    ๑๖.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๗.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๘.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับเพราะการนั่ง
    ๑๙.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ ไม่พึงปรับ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๖๗๓-๖๗๙
     ๑.นางวิสาขานั้นชื่อว่ามีบุตรมาก เพราะนางมีธิดาและบุตรมาก ได้ยินว่า นางมีบุตรชาย ๑๐ คน และบุตรหญิง ๑๐ คน,  ชื่อว่า มีนัดดามาก เพราะนางมีหลานมาก เพราะบุตรชายหญิงของนางมีบุตรธิดาคนละ ๒๐ คน นางจึงได้ชื่อว่า มีลูกและหลานเป็นบริวาร ๔๒๐ คน
       นางเป็นที่นับถือของชนเป็นอันมาก ถือว่านางเป็นอุดมมงคล มักจะเชิญนางไปในโอกาสต่างๆ มีอาวาหมงคลและวิวาหมงคลเป็นต้น,  เชิญนางไปรับประทานอาหารต่อจากภิกษุสงฆ์ และขอพรจากนางว่า เด็กแม้เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีโรค มีอายุยืน เหมือนกับท่านเถิด
     ๒.ในสิกขาบทนี้ คำว่า ที่ลับหู ไม่ได้มาในพระบาลีก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบการกำหนดอาบัติด้วยที่ลับเตาเท่านั้น, หากว่ามีบุรุษรู้เดียงสานั่งอยู่ใกล้ประตูห้องซึ่งปิดบานประตูไว้ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย แต่ถ้านั่งใกล้ประตูห้องที่ไม่ได้ปิดบานประตู คุ้มอาบัติได้, และใช่แต่ที่ใกล้ประตูอย่างเดียวหามิได้ แม้นั่งในโอกาส ภายใน ๑๒ ศอก ถ้าเป็นคนตาดี มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง เคลิ้มไปบ้าง ก็คุ้มอาบัติได้, คนตาบอด แม้ยืนอยู่ในที่ใกล้ ก็คุ้มอาบัติไม่ได้, ถึงคนตาดี นอนหลับเสีย ก็คุ้มอาบัติไม่ได้, ส่วนสตรีแม้ตั้ง ๑๐๐ คน ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย
     ๓.อุบาสิกาที่มีวาจาเชื่อถือได้, อุบาสิกานั้น ชื่อว่า อาคตผลา เพราะว่า มีผลมาแล้ว คือ ผู้ได้โสดาปัตติผลแล้ว, ผู้ได้ตรัสรู้สัจจะ ๔ เข้าใจศาสนา คือ ไตรสิกขาก็ดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เข้าใจศาสนาดี
     ๔.กิเลสที่อาศัยเมถุนธรรม ตรัสเรียกว่า ความยินดีในการนั่งในที่ลับ ภิกษุใดใคร่จะไปยังสำนักแห่งมาตุคามด้วยความยินดีนั้น หยอดนัยน์ตาต้องทุกกฎ, นุ่งผ้านุ่ง คาดประคดเอว ห่มจีวร เป็นทุกกฎทุกๆ ประโยค
       เมื่อเดินไปเป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว เดินไปแล้วนั่งเป็นทุกกฎอย่างเดียว เมื่อมาตุคามมานั่งเป็นปาจิตตีย์ ถ้าหญิงนั้นผุดลุกผุดนั่งด้วยกรณียกิจบางอย่าง เป็นปาจิตตีย์ในการนั่งทุกๆ ครั้ง, ภิกษุมุ่งหมายไปหาหญิงใด ไม่พบหญิงนั้น หญิงอื่นมานั่ง เมื่อเกิดความยินดีก็เป็นปาจิตตีย์  ในมหาปัจจรีท่านกล่าวว่าเพราะมีจิตไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่เวลามา เป็นอาบัติเหมือนกัน, ถ้าหญิงมามากคนด้วยกันเป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนผู้หญิง ถ้าพวกผู้หญิงเหล่านั้นผุดลุกผุดนั่งบ่อยๆ เป็นปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนกับกิริยาที่นั่ง
     แม้เมื่อภิกษุไม่ได้กำหนดไว้ ไปนั่งด้วยตั้งใจว่า เราจักสำเร็จความยินดีในที่ลับกับหญิงที่เราพบแล้วๆ ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบอาบัติหลายตัวตามจำนวนหญิงทั้งหลายผู้มาแล้ว และด้วยอำนาจการนั่งบ่อยครั้ง, ถ้าแม้นว่าภิกษุไปนั่งด้วยจิตบริสุทธิ์ แต่เกิดความยินดีในที่ลับกับหญิงผู้มานั่งทีหลัง ก็ไม่เป็นอาบัติ
     ๕.สิกขาบทมีสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับปฐมปาราชิกสิกขาบท



ปเร จ น วิชานนฺติ  มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ   ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ ๖ ฯ  

คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ เพราะวิวาททุ่มเถียงกัน
ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป

Knowing the essential as the essential, And the unessential as the unessential,
They who feed on right thoughts as such Achieve the essential
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก



อนิยต สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๙)
ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง
คนที่เชื่อได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่าง ภิกษุรับอย่างใด ปรับอย่างนั้น

    พระอุทายีดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามจึงสำเร็จการนั่งในที่ลับหูลับตากับสาวน้อยคนนั้นแล หนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่
     นางวิสาขามิคารมาตาก็ได้ถูกเชิญมา และเห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับ นางได้กล่าวเหมือนในสิกขาบทที่ ๑ นั่นแหละ ซึ่งพระอุทายีก็มิได้เชื่อฟังดุจเดิม...ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่ และภิกษุใดรูปเดียวสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อถือได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้วพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุผู้นั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น แม้ธรรมนี้ก็ชื่อ อนิยต”

อรรถาธิบาย
     - คำว่า อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว อธิบายว่า อาสนะเป็นที่เปิดเผย คือเป็นสถานที่มิได้กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ คือ ไม่อาจเสพเมถุนธรรมได้ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้
     - ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น คือ ในอาสนะที่เปิดเผยมิได้กำบังด้วยฝา เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นสตรีผู้รู้เดียงสา สามารถฟังถ้อยคำวาจาสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบและสุภาพได้
     - ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ในสิกขาบทนี้หมายเอาที่ลับหู
     - สำเร็จการนั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ก็ดี นั่งทั้งสองหรือนอนทั้งสองก็ดี
     - อุบาสิกาที่ชื่อว่ามีวาจาเชื่อถือได้ พึงทราบตามอนิยต สิกขาบทที่ ๑ พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ คือ สังฆาทิเสสและปาจิตตีย์

อาบัติ
     ๑.หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่ง พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านั่งจริงแต่มิได้เคล้าคลึงด้วยกาย พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๒. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านอน กำลังเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม มีอธิบายเหมือนข้อที่ ๑
     ๓. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้าผู้นั่งอยู่ กำลังพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ ถ้าภิกษุปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้พูดเคาะด้วยวาจาชั่วหยาบ พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๔. ...ดิฉันได้ยินพระคุณเจ้าผู้นอนอยู่ กำลังพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ มีอธิบายเหมือนข้อ ๓
     ๕. ..ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียว นั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๖. การปรับด้วยการปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ เป็นต้น พึงทราบตามอนิยต สิกขาบทที่ ๑ ที่แสดงแล้ว (ดู อนิยตสิกขาบทที่ ๑ ข้อ ๑๒-๑๙)

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ ๑/๓/๖๙๐-๖๙๒
     ๑.สถานที่ล้อมในภายนอก ภายในเปิดเผย มีบริเวณสนามเป็นต้น ก็พึงทราบว่ารวมเข้าในภายใน (นับเนื่องในสถานที่ไม่กำบัง), คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยแห่งสิกขาบทที่ ๑ นั้นแล
       ก็ในสิกขาบทนี้มีความแปลกกันเพียงอย่างเดียวว่า คนรู้เดียงสาผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้หญิงก็ตาม ชายก็ตาม ไม่เป็นคนตาบอดและหูหนวก ยืนหรือนั่งอยู่ในโอกาสภายใน ๑๒ ศอก มีจิตฟุ้งซ่านไปบ้าง เคลิ้มบ้าง ก็คุ้มอาบัติได้, ส่วนคนหูหนวก แม้มีตาดี หรือคนตาบอด แม้หูไม่หนวก ก็คุ้มไม่ได้ และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลดอาบัติปาราชิกลงมาปรับอาบัติเพราะวาจาชั่วหยาบ, คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทก่อน, และในสิกขาบททั้งสอง ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุบ้า และภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดทางกายกับจิต ๑  วาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)



สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ  อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญู  กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ ฯ ๗ ฯ

มารย่อมสามารถทำลายบุคคล ผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ไม่ควบคุมการแสดงออก ไม่รู้ประมาณในโภชนาหาร
เกียจคร้านและอ่อนแอ เหมือนลมแรงพัดโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง

As the wind overthrows a weak tree, So does Mara overpower him
Who lives attached to sense pleasures Who lives with his senses uncontrolled,
Who knows not moderation in his food, And who is indolent and inactive.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2558 16:34:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2 3 4   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อาบัติ(ปาราชิก)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
時々๛कभी कभी๛ 0 2017 กระทู้ล่าสุด 26 มีนาคม 2554 17:26:36
โดย 時々๛कभी कभी๛
อาบัติ ปาราชิก
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 2856 กระทู้ล่าสุด 02 ตุลาคม 2556 13:27:09
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.798 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 12 เมษายน 2567 15:09:37