[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 03:21:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3] 4   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)  (อ่าน 52345 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 มกราคม 2557 16:21:07 »

.



พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑)
ภิกษุเสพเมถุนต้องปาราชิก


ปาราชิกนี้ เป็นกฎหมายอันเด็ดขาดของศาสนาพุทธ ถ้าเป็นกฎหมายทางฝ่ายโลก ก็ตัดสินประหารชีวิต
ถ้าต้องปาราชิกเข้าแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ก็ขาดจากความเป็นภิกษุ หาสังวาสไม่ได้

ถ้าต้องปาราชิกแล้วยังไปร่วมอุโบสถสังฆกรรม ทำให้สังฆกรรมเศร้าหมอง
แปลว่า ทำลายศาสนา ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ทั้งภพนี้และภพหน้า เป็นมนุสสสุญญตะ
หมดภพชาติที่จะได้มาเป็นมนุษย์ ขาดใจเมื่อไหร่ลงมหาโลกันตนรกเมื่อนั้น

พระสุทินน์ : ต้นบัญญัติ สิกขาบทที่ ๑

ณ สถานที่ไม่ห่างจากพระนครเวสาลี มีบ้านตำบลหนึ่งชื่อกลันทะ ในบ้านนั้นมีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ สุทินน์ เป็นบุตรของกลันทเศรษฐี จึงเรียกกันว่าสุทินกลันทบุตร  สุทินกลันทบุตรได้ทำธุระบางอย่างในพระนครเวสาลีกับสหายหลายคน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เขาได้เห็น เกิดความคิดว่า “เราจะฟังธรรมบ้าง” แล้วเดินเข้าไปนั่ง ณ ที่นั้น คิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่ทรงแสดงแล้ว เพราะบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วทำไม่ได้ง่าย ถ้าอย่างนั้นเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตดีกว่า

ครั้นฟังธรรมจบแล้ว เขาและคนอื่นๆ ก็ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมกลับไป หลังจากนั้นไม่นาน สุทินน์ได้ย้อนกลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลถึงความปรารถนาบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ กราบทูลว่า ยังไม่ได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า  ตรัสว่า ดูก่อนสุทินน์ พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต เขากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า

หลังจากนั้น สุทินกลันทบุตรเสร็จธุระในพระนคร กลับถึงบ้านกล่าวขออนุญาตบวช แต่มารดาบิดากล่าวว่า “ลูกสุทินน์ เจ้าเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตาย เราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนเราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า”

แม้ครั้งสอง...ครั้งที่สาม...เขาก็ยืนยันจะขอบวชให้ได้ แต่ก็ยังคงถูกมารดาบิดายืนยันไม่อนุญาตเหมือนเดิม เมื่อเห็นว่าบิดามารดาไม่อนุญาตให้บวช เขาจึงนอนลงบนพื้น ตัดสินใจว่าการตายหรือการบวชจักมีแก่เราในสถานที่นี้แหละ เขาไม่บริโภคอาหารแม้หนึ่งมื้อ สองมื้อ สามมือ...เจ็ดมื้อ แต่มารดาบิดาก็ยังยืนยันไม่อนุญาตและอ้อนวอนให้เขาอยู่ครองเรือนด้วยคำว่า “ลูกจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญเถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ต่อมา พวกสหายของสุทินกลันทบุตรได้เข้ามาช่วยบิดามารดาเจรจาอ้อนวอนให้เขาเห็นแก่รักของมารดาบิดา  แต่เขาก็ไม่พูดด้วย ได้นิ่งเสีย เมื่อไม่สำเร็จพวกสหายจึงไปหามารดาบิดาของสุทินน์ ขอให้อนุญาตให้สุทินน์บวชเถิด ไม่เช่นนั้นเขาจักต้องตายแน่แท้ เมื่อเขาบวชแล้วเกิดไม่ยินดีการบวช เขาก็จักกลับมาเองแหละ มารดาบิดาจึงได้อนุญาตให้บวช

พวกสหายได้นำข่าวการอนุญาตของมารดาบิดาไปบอกแก่สุทินน์ เขาก็รื่นเริงดีใจ ลุกขึ้นเยียวยาอยู่สองสามวัน จึงเข้าไปสู่พุทธสำนัก

...สุทินกลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก เมื่อบวชแล้วไม่นานท่านประพฤติสมทานธุดงคคุณ คือการถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง

สมัยนั้น วัชชีชนบทเกิดอัตคัดอาหาร ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีการสลากซื้ออาหาร ภิกษุจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น ท่านพระสุทินน์คิดว่า ญาติของเราในพระนครเวสาลีมีมาก ล้วนเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มีโภคะมาก เราจะไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ท่านจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปสู่พระนครเวลาสีโดยลำดับ ถึงแล้วท่านพำนัก ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี

พวกญาติได้ทราบข่าวการมาของท่าน จึงนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อ ไปถวาย ท่านพระสุทินน์ท่านสละภัตตาหารประมาณ ๖๐ หม้อนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว เช้าวันนั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตยังกลันทคามใกล้จะถึงเรือนบิดาของตน ก็พอดีนางทาสีกำลังจะทิ้งขนมสดที่ค้างคืน ท่านพระสุทินน์จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าของนั้นมีอันจะต้องทิ้ง ขอท่านจงเกลี่ยลงในบาตรของเราเถิด” นางทาสีกำลังเกลี่ยขนมสดลงในบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และเสียงของท่านได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านกล่าวว่า “คุณนายเจ้าขาโปรดทราบ พระสุทินน์บุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ” มารดาพระสุทินน์ได้กล่าวว่า หากพูดไม่จริง เราจะปลดเจ้ามิให้เป็นทาสี

ขณะที่พระสุทินน์กำลังฉันขนมสดอยู่นั้น พอดีบิดาของท่านเดินกลับมาจากที่ทำงานได้แลเห็น จึงเข้าไปกล่าวว่า “พ่อควรไปเรือนของตนมิใช่หรือ” ท่านพระสุทินน์กล่าวว่า “ไปมาแล้ว ก็ขนมนี้ได้มาจากเรือนของคุณโยม” บิดาของท่านได้จับที่แขนกล่าวว่า “มาเถิด เราจักไปเรือนกัน” ท่านได้เดินตามเข้าไปสู่เรือน นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย บิดานิมนต์ให้ฉัน ท่านปฏิเสธว่า ภัตตาหารวันนี้เรียบร้อยแล้ว บิดาจึงนิมนต์ให้มาฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านรับนิมนต์แล้วหลีกไป

ครั้งนั้น มารดาของท่านสั่งให้ไล้ทาพื้นแผ่นดินด้วยโคมัยสด ให้จัดทำกองทรัพย์ไว้ ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่ ไม่สามารถแลเห็นกันและกันได้ ให้ปิดกองทรัพย์ด้วยลำแพน จัดอาสนะไว้ตรงกลาง แวดล้อมด้วยม่าน แล้วสั่งให้อดีตภรรยาท่านพระสุทินน์ตกแต่งกายด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่

เวลาเช้า ท่านพระสุทินน์เข้ามาสู่เรือน นั่งบนอาสนะ บิดาให้คนเปิดกองทรัพย์เหล่านั้นออก แล้วกล่าวว่า พ่อสุทินน์ ทรัพย์นี้ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วนของปู่ต่างหาก พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยบำเพ็ญบุญเถิด แต่ท่านได้ปฏิเสธว่ายังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ แล้วขอโอกาสกล่าวอีกว่า คุณโยมจงให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมีทรัพย์เป็นเหตุให้จักเกิดแก่คุณโยม จักไม่มีแก่คุณโยมเลย

เมื่อท่านกล่าวเช่นนี้ บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจ ได้เรียกอดีตภรรยาของท่านออกมา คิดว่าเป็นที่รักที่พอใจของท่านสุทินน์ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง นางได้ออกมาจับเท้า กล่าวว่า “ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสรผู้เป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นชื่ออะไร” พระสุทินน์ตอบว่า “น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย” นางน้อยใจที่ถูกเรียกว่าน้องหญิง ได้สลบล้มลงในที่นั้นเอง พระสุทินน์กล่าวว่า “ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มี ก็จงให้เถิด อย่ารบกวนอาตมภาพเลย


 พระสุทินน์เสพเมถุนกับภรรยาเก่า

บิดามารดาได้ถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน จนท่านเสร็จภัตกิจแล้ว มารดาของท่านได้อ้อนวอนให้ท่านสึก เพื่อเห็นแก่ทรัพย์สมบัติมากมายด้วยเถิด แต่ท่านก็ยังคงปฏิเสธ มารดาจึงกล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติของเรามีมาก ดังนี้พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา เพราะหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้” ท่านตอบว่า “คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้อาจทำได้” มารดาถามว่า “ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน?” “ที่ป่าหิมวัน” ท่านตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

หลังจากนั้น มารดาของท่านได้สั่งอดีตภรรยาว่า เมื่อใดที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าจงบอกแก่แม่ นางรับคำ ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้เกิดขึ้นแก่นาง จึงได้แจ้งให้มารดาพระสุทินน์ ทราบ มารดาสั่งให้แต่งตัวพร้อมด้วยเครื่องประดับ แล้วพานางไปหาพระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน รำพันอ้อนวอนให้สึก ท่านตอบปฏิเสธ จึงกล่าวว่าขอพืชพันธุ์ไว้ ท่านตอบว่าอาจทำได้  แล้วจูงแขนอดีตภรรยาเข้าป่าหิมวันต์ ท่านคิดว่าไม่มีโทษ เพราะสิขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ จึงเสพเมถุนในปุราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะความประพฤตินี้

เหล่าภุมเทวดากระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว, เทพชั้นจาตุมหาราชิกาได้สดับเสียงเหล่าภุมเทวดาแล้วกระจายเสียงต่อไป, เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกันต่อๆ ไปอย่างนี้

(สมัยต่อมา อดีตภรรยาของท่านพระสุทินน์ได้คลอดบุตร พวกสหายของท่านตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่ออดีตภรรยาว่า พีชกมารดา ตั้งชื่อพระสินทินน์ว่า พิชกปิตา ภายหลังทั้งอดีตภรรยาและบุตรต่างออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว)

ครั้งนั้น ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญและความเดือดร้อนใจนั้น ท่านได้ซูบผม เศร้าหมอง ผิวพรรณทราม มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสารซบเซาแล้ว

บรรดาภิกษุสหายของท่านพระสุทินน์เห็นความผิดปกตินั้น ได้สอบถามท่านสุทินน์ว่า “คุณไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์หรือ?” พระสุทินน์ตอบว่า “มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนในภรรยา ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ เพราะผมบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว แต่ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต”

ภิกษุสหายเหล่านั้นติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมาก ที่บวชแล้วไม่อาจจะคลายความกำหนัดและความยึดมั่นเป็นต้นได้ ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


ทรงประชุมแล้วติเตียน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า “ดูก่อนสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ?" พระสุทินน์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า “ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชเรียนในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ (คำว่า โมฆบุรุษนี้ ทรงใช้กับภิกษุที่มิได้เป็นพระอริยะ) ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อความถือมั่น

ดูก่อน โมฆบุรุษ ธรรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่ถอนอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราได้บอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่ายังดีกว่า องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า...ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร?

เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์ เพียงแค่ตายซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป จักไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการทำนี้เป็นเหตุ

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลกรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมากดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร ทรงแสดงหลักธรรมที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า



เหตุผลที่ทรงบัญญัติสิกขาบท ๑๐ ประการ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดขึ้นในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑


ปฐมบัญญัติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า “ภิกษุใด เสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้” นี้เป็นพระปฐมบัญญัติ


อนุบัญญัติ ๑
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน พระนครเวสาลี แล้วเสพเมถุนในลิงตัวเมียนั้นเสมอ ครั้งนั้นภิกษุหลายรูปสังเกตความผิดปกติของลิง ที่เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้วยกสะเอวบ้าง โก่งหางบ้าง แอ่นตะโพกบ้าง  สันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นนี้คงเสพเมถุนกับลิงตัวเมียอย่างไม่ต้องสงสัย จึงพากันคอยแอบดู ภิกษุนั้นได้เสพเมถุนอีก เมื่อภิกษุเหล่านั้นถามว่า ทำไมทำเช่นนั้น ทรงมีบัญญัติห้ามแล้วมิใช่หรือ? เธอนั้นตอบว่า พระบัญญัตินั้นห้ามเฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่เกี่ยวถึงสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุเหล่านั้นต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสถามภิกษุนั้น ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


ผู้ต้องปาราชิกแล้วปรารถนาการบวชอีก
สมัยต่อมา ภิกษุวัชชีบุตรชาวพระนครเวสาลีหลายรูปไม่ได้บอกลาสิกขาบท ได้เสพเมถุนธรรม สมัยถัดมา พวกเขาถูกความพินาศแห่งญาติกระทบแล้ว ถูกความวอดวายแห่งโภคะกระทบแล้ว ถูกโรคภัยเบียดเบียนแล้ว จึงเข้าไปหาพระอานนท์ กล่าววิงวอนให้ช่วยกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทอีกครั้ง โดยให้สัญญาว่าจะหมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม

พระอานนท์รับคำของวัชชีบุตรเหล่านั้นแล้ว เข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งพวกวัชชีบุตรนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

ครั้งนั้น พระองค์รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ไม่พึงอุปสมบทให้ ส่วนผู้ใดแลเป็นภิกษุบอกคืนสิกขา ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ก็พึงอุปสมบทให้ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทแสดงอย่างนี้ว่า :


พระอนุบัญญัติ ๒
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

     อรรถาธิบาย
- บทว่า ภิกษุที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยาวัตร, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกขุ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมีสารธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ,  ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัติติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ   บรรดาภิกษุที่กล่าวมานี้ ภิกษุที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้ ชื่อว่า ภิกษุที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
- บทว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ ประการ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา บรรดาสิกขา ๓ ประการนี้ อธิศีลสิกขา ชื่อว่า สิกขาที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้ (ถึงพร้อมซึ่งสิกขา คือ ถึงพร้อมด้วยศีล)


อาบัติ
๑. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค (มรรคใดมรรคหนึ่ง หรือทั้งสาม) ของมนุษย์ผู้หญิง...อมนุษย์ผู้หญิง...สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ต้องปาราชิก
๒. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค ของมนุษย์อุภโต พยัญชนก...อมนุษย์อุภโตพยัญชนก...สัตว์ดิรัจฉานอุภโตพยัญชนก ต้องปาราชิก
๓. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ ของมนุษย์บัณเฑาะก์...อมนุษย์บัณเฑาะก์...ดิรัจฉานบัณเฑาะก์ ต้องปาราชิก
๔. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๒ คือ วัจจมรรค มุขมรรค ของมนุษย์ผู้ชาย...อมนุษย์ผู้ชาย...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ ต้องปาราชิก
๕. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมาในสำนักภิกษุ แล้วให้ทับองค์กำเนิด (ของภิกษุ) ด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ยินดีการหยุดอยู่ ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๖. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการชักออก ไม่ต้องอาบัติ
๗. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการหยุดอยู่ ไม่ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๘. พวกภิกษุเป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงตายแล้วถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องถุลลัจจัย หากเธอไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๙. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดของภิกษุด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๐. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค คือ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๑. การเสพเมถุนธรรมในบุคคลที่เหลือ มีอมนุษย์ผู้หญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หรือมนุษย์อุภโตพยัญชนก เป็นต้น พึงทราบคำอธิบายตามทำนองที่กล่าวมา
๑๒. ภิกษุสอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางมรรค ต้องปาราชิก
๑๓. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคทางมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าไปทางปัสสาวมรรค เป็นต้น แล้วชักออกในทางแผลใกล้ต่อมรรคนั้น)
๑๔. สอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางอมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าทางแผล ใกล้ต่อมรรค แล้วชักออกทางมรรค)
๑๕. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคออกทางอมรรค ต้องถุลลัจจัย
๑๖. ภิกษุปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๗. ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๘. สามเณรปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ และสามเณรปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ ก็มีอธิบายนัยเดียวกับข้อ ๑๖,๑๗

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 เมษายน 2558 13:12:36 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
 
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #41 เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2561 15:02:18 »


ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๖๔)
ภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ปูนอนในกุฏิสงฆ์แล้ว
เมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ (มีพวก ๑๗ รูป) เป็นสหายกัน เมื่ออยู่ก็อยู่พร้อมกัน เมื่อหลีกไปก็ไปพร้อมกัน พวกเธอปูที่นอนไว้ในวิหารของสงฆ์แห่งหนึ่งแล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่ได้บอกมอบหมาย หลีกไป เสนาสนะถูกปลวกกัดเสียหาย…..
     ภิกษุผู้มักน้อยต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      อนึ่ง ภิกษุใด ปูแล้วก็ดี ให้ปูแล้วก็ดี ซึ่งที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์ เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า เป็นของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้ว แก่สงฆ์
     - ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ฟูก เครื่องลาดรักษาผิวพื้น เครื่องลาดเตียง เครื่องลาดพื้น เสื่ออ่อน ท่อนหนัง ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้
     - ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่มอบหมายแก่ภิกษุสามเณร หรือคนทำการวัด เดินเลยเครื่องล้อมแห่งอารามที่เขาล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินเลยอุปจารแห่งอารามที่เขาไม่ได้ล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ ปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๓.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๔.ภิกษุปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉัน ในมณฑปก็ดี...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๕.ภิกษุตั้งไว้เองก็ดี ให้คนอื่นตั้งไว้ก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ในวิหารก็ดี ในอุปจารวิหาร ในโรงฉันก็ดี...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๖.วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๗.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๘.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๙.วิหารเป็นของส่วนตัวของตน...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุเก็บเองแล้วไป ๑  ภิกษุให้คนอื่นเก็บแล้วไป ๑  ภิกษุมอบหมายแล้วไป ๑  เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑  ภิกษุยังห่วงอยู่ไปถึงยังที่ใดแล้วมอบหมายมา ๑  ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑  ภิกษุมีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๒๑-๓๒๕
      ๑.เมื่อภิกษุจะไปจากเสนาสนะพึงบอกลาภิกษุ เมื่อภิกษุนั้นไม่มี พึงบอกลาสามเณร เมื่อสามเณรไม่มี พึงบอกลาคนทำการวัด เมื่อคนทำการวัดไม่มี พึงบอกลาเจ้าของวิหาร ผู้สร้างวัด หรือผู้ใดผู้หนึ่งในวงศ์ตระกูลของเขา แม้เมื่อเจ้าของวิหารหรือผู้เกิดในวงศ์ตระกูลของเขาไม่มี ภิกษุพึงวางเตียงลงบนหิน ๔ ก้อน และยกเตียง ตั่ง ที่เหลือวางบนเตียงนั้นรวมที่นอนทั้ง ๑๐ อย่าง มีฟูกเป็นต้น กองไว้ข้างบน แล้วเก็บงำภัณฑะไม้ ภัณฑะดิน ปิดประตูและหน้าต่าง บำเพ็ญคมิยวัตร (วัตรของผู้จะไป) แล้วจึงไป
      - ก็ถ้าเสนาสนะฝนรั่วได้ และหญ้า หรืออิฐที่เขานำมาเพื่อมุงหลังคาก็มีอยู่, ถ้าอาจก็พึงมุง, ถ้าไม่อาจพึงเก็บเตียงและตั่งไว้ในที่ฝนจะไม่รั่วรดแล้วจึงไป, ถ้าเสนาสนะฝนรั่วทั้งหมด เมื่อสามารถพึงเก็บไว้ในเรือนของพวกอุบาสก ถ้าแม้พวกอุบาสกเหล่านั้นไม่ยอมรับ กล่าวว่า ท่านขอรับ! ธรรมดาของสงฆ์เป็นของหนัก พวกกระผมกลัวภัย มีไฟไหม้เป็นต้น ดังนี้ ภิกษุจะวางเตียงลงบนหิน แม้ในที่กลางแจ้ง แล้วเก็บเตียงตั่งเป็นต้นที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้ว เอาหญ้าและใบไม้ปิดแล้วจึงไป ก็ควร, ของเหล่านี้จักเป็นอุปการะแก่ภิกษุเหล่าอื่นผู้มาในที่นี้
      ๒.บริเวณ ชื่อว่า อุปจารแห่งวิหาร, โรงฉันที่เขาสร้างไว้ในบริเวณ ชื่อว่า อุปัฏฐานศาลา, ปะรำที่เขาสร้างไว้ในบริเวณ ชื่อว่ามณฑป, โคนไม้ในบริเวณ ชื่อว่า รุกขมูล, ห้องภายในก็ดี เสนาสนะที่คุ้มกันได้ บังทั้งหมด อย่างอื่นก็ดี พึงทราบว่าเป็นวิหาร
      -เมื่อภิกษุปูลาดที่นอน ๑๐ อย่าง ดังกล่าวแล้วในภายในห้องเป็นต้น และในที่คุ้มกัน (แดดฝน) ได้ แล้วไปเสีย ที่นอนก็ดี เสนาสนะก็ดี ย่อมเสียหายเพราะปลวกเป็นต้น จะกลายเป็นจอมปลวกไปทีเดียว ฉะนั้นท่านจึงปรับเป็นปาจิตตีย์, แต่สำหรับภิกษุผู้ปูไว้ในที่มีอุปัฏฐากศาลาเป็นต้น ในภายนอกแล้วไป เพียงแต่ที่นอนเท่านั้นเสียหายไป เพราะสถานที่คุ้มกันไม่ได้ เสนาสนะไม่เสียหาย เพราะฉะนั้นท่านจึงปรับเป็นทุกกฎในอุปัฏฐากศาลาเป็นต้น
      -ก็เพราะตัวปลวกทั้งหลายไม่อาจเพื่อจะกัดเตียงและตั่งทันที  ฉะนั้นภิกษุวางเตียงตั่งนั้นไว้ แม้ในวิหาร แล้วไป ท่านก็ปรับเป็นทุกกฎ, ส่วนในอุปจารแห่งวิหาร พวกภิกษุแม้เมื่อเที่ยวตรวจดูวิหาร เห็นเตียงและตั่งนั้นแล้ว จักเก็บ
      -ภิกษุเมื่อจะเก็บเอาแล้วไป พึงรื้อเอาเครื่องถักร้อยเตียงและตั่งออกหมดแล้ว ม้วนแขวนไว้ที่วางจีวรแล้ว จึงไป ถึงภิกษุผู้มาอยู่ภายหลัง ถักเตียงและตั่งใหม่ เมื่อจะไปก็พึงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน, ภิกษุผู้ปูที่นอนจากภายในฝาไปถึงภายนอกฝาแล้วอยู่ ในเวลาจะไปพึงเก็บไว้ในที่ที่ตนถือเอามาแล้วๆ นั่นเทียว, แม้ภิกษุผู้ยกลงมาจากชั้นบนแห่งปราสาทแล้วอยู่ภายใต้ปราสาท ก็นัยนี้นั่นแล, แม้ภิกษุจะตั้งเตียงและตั่งไว้ในที่พักกลางวัน และที่พักกลางคืนแล้ว ในเวลาจะไปพึงเก็บไว้ตามเดิม ในที่ซึ่งตนถือเอามานั่นแล
      ๓.”สถานที่ควรบอกลา และไม่ควรบอกลา ศาลาใด เป็นศาลายาวก็ดี เป็นศาลาใบไม้ก็ดี อยู่บนพื้นดิน หรือว่าเรือนที่เขาสร้างบนเสาไม้ทั้งหลาย หลังใดเป็นที่ปลวกขึ้นได้ก่อน ภิกษุเมื่อจะหลีกไปจากศาลายาวเป็นต้นนั้น พึงบอกลาก่อน แล้วจึงหลีกไป เพราะว่าเมื่อสถานที่นั้นไม่มีใครปฏิบัติเพียง ๒-๓ วัน ตัวปลวกทั้งหลายย่อมตั้งขึ้น
      ส่วนเสนาสนะใด เป็นเสนาสนะที่เขาสร้างไว้บนหินดาด หรือบนเสาก็ดี ถ้ำที่ภูเขาหินก็ดี เสนาสนะที่ฉาบโบกปูนขาวก็ดี ในเสนาสนะใดไม่มีความสงสัยในเรื่องปลวก (จะขึ้น); เมื่อภิกษุจะหลีกไปจากที่นั่น จะบอกลาก็ตาม ไม่บอกลาก็ตาม ไปเสีย ก็ควร, แต่การบอกลาก่อนเป็นธรรมเนียม (ของผู้เตรียมจะไป) ถ้าตัวปลวกทั้งหลายจะขึ้นทางข้างหนึ่งในเสนาสนะ แม้เช่นนั้น ควรบอกลาก่อนแล้วจึงไป
      ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะใดประพฤติตามภิกษุผู้ถือเสนาสนะของสงฆ์อยู่ ไม่ถือเสนาสนะสำหรับตนอยู่ เสนาสนะนั้นเป็นธุระของภิกษุรูปก่อน นั้นแล ตราบเท่าที่ภิกษุนั้นยังไม่ถือ (เสนาสนะสำหรับตน) ก็จำเดิมแต่ภิกษุนั้นถือเอาเสนาสนะ แล้วอยู่โดยอิสระของตน เป็นธุระของภิกษุอาคันตุกะนั่นเอง ถ้าแม้ทั้ง ๒ รูป แจกกันแล้วถือเอา เป็นธุระของท่านทั้ง ๒ รูป
      แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าภิกษุ ๒-๓ รูป ร่วมกันจัดตั้ง ในเวลาจะไปควรบอกลาทุกรูป ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งไปก่อน ทำความผูกใจว่ารูปหลังจักปฏิบัติ แล้วไป ย่อมสมควร, ความพ้น (จากอาบัติ) ย่อมไม่มีแก่รูปหลัง เพราะความผูกใจ, ภิกษุมากรูปส่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปปู ในเวลาจะไปภิกษุทั้งหลายพึงบอกลา หรือพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปบอกลา, ภิกษุนำเอาเตียงและตั่งเป็นต้นมาจากที่อื่น แม้อยู่ในที่อื่น ในเวลาจะไปพึงนำไปไว้ในที่เดิมนั้นนั่นแหละ ถ้าเมื่อภิกษุนำมาจากที่อื่นแล้วใช้อยู่ ภิกษุอื่นผู้แก่กว่ามา อย่าพึงห้ามท่าน พึงเรียนว่า ท่านขอรับ เตียง ตั่ง กระผมนำมาจากอาวาสอื่น ท่านพึงทำให้เป็นปกติเดิม เมื่อภิกษุผู้แก่กว่านั้นรับรองว่า เราจักทำอย่างนั้น ดังนี้ ภิกษุนอกนี้จะไป ก็ควร, จริงอยู่ เมื่อภิกษุแม้นำไปในที่อื่นอย่างนี้ ใช้สอยอย่างใช้สอยเป็นของสงฆ์ เตียงและตั่งนั่นจะเสียหายไปก็ตาม เก่าชำรุดไปก็ตาม ถูกพวกโจรลักไปก็ตาม ไม่เป็นสินใช้, แต่เมื่อภิกษุใช้สอยอย่างใช้สอยเป็นของบุคคล ย่อมเป็นสินใช้,  อนึ่ง ภิกษุใช้สอยเตียงตั่งของผู้อื่น อย่างใช้สอยเป็นของสงฆ์ก็ตาม อย่างใช้สอยเป็นของบุคคลก็ตาม เตียงตั่งเสียหายไป เป็นสินใช้เหมือนกัน
      ๔. เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง มีภิกษุผู้แก่กว่า อิสรชน (ชนผู้เป็นใหญ่) ยักษ์ สีหะ เนื้อร้ายและงูเห่าเป็นต้นขัดขวาง
-ภิกษุยังมีห่วงใยอย่างนี้ว่า เราจักกลับมาปฏิบัติในวันนี้นั่นแหละ แล้วไปยังฝั่งแม่น้ำ หรือละแวกบ้าน ยืนอยู่ในที่ที่เธอเกิดความคิดที่จะไปนั้นนั่นเอง ส่งใครๆ ไปบอกลา หรือมีเหตุบางอย่าง บรรดาเหตุมีแม่น้ำเต็มฝั่ง พระราชาและโจรเป็นต้น ขัดขวาง, ภิกษุถูกอันตรายขัดขวาง ไม่อาจจะกลับมาได้ ย่อมไม่เป็นอาบัติ ดังนี้
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๔ (ปรมเสนาสนะ...) ที่กล่าวแล้ว 




ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๖๕)
ภิกษุแกล้งนอนเบียดภิกษุอื่นผู้นอนในกุฏิอยู่ก่อน
ด้วยหวังจะให้หลีกไป ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์กีดกันที่นอนดีๆ ไว้ ทำให้พระเถระทั้งหลายต้องย้ายไปเสีย พวกท่านคิดว่าพวกเราจักอยู่จำพรรษาที่นี้แหละ แล้วเข้าไปนอนแทรกแซงพระเถระทั้งหลาย ด้วยหมายใจว่า ผู้ใดมีความคับใจผู้นั้นจักหลีกไปเอง ภิกษุผู้มักน้อยทั้งหลายพากันตำหนิติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
       ”อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่าผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์ 

อรรถาธิบาย
      -วิหารที่ชื่อว่าของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      -ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้ว่าเป็นพระผู้เฒ่า เป็นพระอาพาธ รู้ว่าเป็นพระสงฆ์ที่มอบวิหารให้
      -บทว่า แทรกแซง คือ เข้าไปเบียดเสียด
      -บทว่า สำเร็จการนอน ความว่า ภิกษุปูไว้เองก็ดี ให้คนอื่นปูไว้ก็ดี ซึ่งที่นอน ในสถานที่ใกล้เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ทางเข้าออกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      -คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีอะไรอื่นเป็นปัจจัยเพื่อสำเร็จการนอนแทรกแซง (ด้วยหมายว่า ผู้ใดมีความคับใจ จักหลีกไปเอง)

อาบัติ
       ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ สำเร็จการนอนแทรกแซง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.เว้นอุปจาร เตียง ตั่ง หรือทางเข้าออกไว้ ภิกษุปูเอง ให้คนอื่นปู ซึ่งที่นอน ต้องอาบัติทุกกฎ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.ภิกษุปูเอง ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในมณฑปก็ดี ใต้ต้นไม้ก็ดี ในที่แจ้งก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ นั่งทับ นอนทับ ต้องอาบัติทุกกฏ
๖.วิหารของบุคคล ภิกษุคิดว่าเป็นของสงฆ์...ต้องอาบัติทุกกฎ
๗.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
๘.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
๙.วิหารเป็นส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุอาพาธเข้าอยู่ ๑ ภิกษุถูกความหนาวหรือความร้อนเบียดเบียนแล้วเข้าไปอยู่ ๑  ภิกษุมีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๒๙-๓๓๑
      ๑.พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปถึงก่อน ขนบาตรและจีวรไปยืนกั้นอยู่ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ที่นี่ถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว ให้ย้ายออกไป, กล่าวกับภิกษุเถระว่า ท่านขอรับ เฉพาะที่เตียงเท่านั้นถึงแก่พวกท่าน ไม่ใช่วิหารทั้งหมด  บัดนี้ ที่นี้ถึงแก่พวกกระผม แล้วจัดแจงวางเตียงและตั่ง แล้วนั่งบ้าง นอนบ้าง กระทำการสาธยายบ้าง
      ๒.ภิกษุที่ไม่ควรให้ย้ายออกไป ได้แก่ ภิกษุผู้เฒ่า, ภิกษุผู้อาพาธ, ภิกษุที่สงฆ์กำหนดว่าเป็นผู้ที่มีอุปการะ และความเป็นผู้มีคุณพิเศษ เช่น ภิกษุภัณฑาคาริก (ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่รักษาเรือนคลัง เก็บพัสดุของสงฆ์, ผู้รักษาคลังสิ่งของ) ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกและพระวินัยธร เป็นต้น ภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอนคณะก็ดี สงฆ์จึงสมมติวิหารให้เพื่อให้อยู่เป็นประจำ เพราะเหตุนั้นสงฆ์ให้วิหารแก่ภิกษุใด ภิกษุแม้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่ควรให้ย้าย
      ๓.ในคำว่า อุปจาร พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
      -หนึ่งศอกคืบโดยรอบในวิหารใหญ่ ชื่ออุปจารแห่งเตียงและตั่งก่อน, ในวิหารเล็กหนึ่งศอกคืบจากที่พอจะตั้งเตียง ตั่ง ได้ (ชื่อว่า อุปจารแห่งเตียง ตั่ง), ทางกว้างศอกคืบชั่วระยะถึงเตียงและตั่ง จากที่วางก้อนหินสำหรับล้างเท้า ซึ่งวางไว้ที่ประตูและที่ถ่ายปัสสาวะ สำหรับภิกษุผู้ล้างเท้าแล้วเข้าไป และภิกษุผู้ออกไปเพื่อต้องการถ่ายปัสสาวะ ชื่อ อุปจาร, ภิกษุใดใคร่จะสำเร็จการนอนแทรกแซง ปูลาดเองก็ดี ให้ปูลาดก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารแห่งภิกษุผู้ยืนอยู่ที่อุปจารแห่งเตียงหรือตั่งนั้นก็ดี ผู้เข้าหรือออกอยู่ก็ดี ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ
      -เป็นปาจิตตีย์เพราะเหตุสักว่านั่งทับบ้าง เพราะเหตุสักว่านอนทับบ้าง, แต่ถ้าภิกษุทำการนั่งและทำการนอน ทั้ง ๒ อย่าง เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว เมื่อผุดลุกผุดนั่ง หรือผุดลุกผุดนอน เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
      ๔.เสนาสนะส่วนตัวของบุคคลผู้คุ้นเคยกัน เช่นเดียวกับของส่วนตัวของตนเหมือนกัน ไม่เป็นอาบัติในเสนาสนะส่วนตัวบุคคลของผู้คุ้นเคยกันนั้น, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เข้าไปในเพราะมีอันตรายแห่งชีวิตและพรหมจรรย์, และภิกษุผู้หลบหนาวร้อนเข้าไป
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุปฐมปาราชิก เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต, มีจิตที่ประกอบด้วยความโกรธ ความไม่ชอบใจ จึงใช้กายเบียดเบียนแทรกแซง)




อปฺปมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน   ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ    สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา    ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๒๐ ฯ 

ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติชอบธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช

Though little he recites the Sacred Texts, But puts the precepts into practice,
Forsaking lust, hatred and delusion, With rigth knowledge, with mind well freed,
Cling to nothing here or hereafter, He has a share in religious life.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #42 เมื่อ: 05 เมษายน 2561 15:51:41 »

ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๖๖)
ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่น ฉุดคร่าไล่ออกจากวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ช่วยปฏิสังขรณ์วิหารใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่สุดเขตวัด ด้วยหมายใจว่าจักอยู่จำพรรษาที่นั่น พระฉัพพัคคีย์ได้เห็นแล้วพูดกันว่า พวกเราจักไล่พวกเธอไปเสีย เมื่อพวกเธอปฏิสังขรณ์เสร็จ
      ครั้นพระสัตตรสวัคคีย์ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารนี้ถึงแก่พวกเรา  ตอบว่า พวกท่านควรจะบอกล่วงหน้ามิใช่หรือ พวกผมจะได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังอื่น,  ฉ.วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ,  ส.ขอรับ วิหารเป็นของสงฆ์,  ฉ.พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารถึงแก่พวกเรา,  ส.วิหารหลังใหญ่พวกท่านอยู่ได้ พวกผมก็จักอยู่,  ฉ.พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว ทำเป็นโกรธ ขัดใจ จับคอ ฉุดคร่าออกไป  พระสัตตรสวัคคีย์ถูกฉุดคร่าออกไปก็ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามว่าร้องไห้ทำไม พระสัตตรวัคคีย์แจ้งถึงเรื่องนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า ”อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุ จากวิหารของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - บทว่า โกรธ ขัดใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - วิหารของสงฆ์ คือ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      - บทว่า ฉุดคร่า คือ จับในห้องฉุดคร่าออกไปหน้ามุข ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จับที่หน้ามุข ฉุดคร่าออกไปข้างนอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้ก้าวพ้นประตูแม้หลายแห่ง ด้วยประโยคเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - บทว่า ให้ฉุดคร่า ความว่า ใช้ผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ใช้ครั้งเดียว ให้ก้าวพ้นประตู แม้หลายแห่ง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.ภิกษุขนก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของภิกษุนั้น (ภิกษุข้อ ๑,๒,๓) ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ออกไปจากอุปจารวิหาร จากโรงฉัน จากปะรำ จากใต้ต้นไม้จากที่แจ้ง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖.ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุนั้น (ภิกษุข้อ ๕) ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗.ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๙.วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๐.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๑.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๒.วิหารเป็นของส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งภิกษุอลัชชี ๑  ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุอลัชชี ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่าซึ่งภิกษุวิกลจริต ๑  ขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุวิกลจริต ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งภิกษุผู้ก่อการบาดหมาง ก่อการทะเลาะวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๑  ขน ให้ขน ซึ่งของภิกษุผู้ก่อการบาดหมางนั้น ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย ๑  ขน ให้ขน ซึ่งบริขารของอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกนั้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๓๖-๓๓๗
      ๑.ในเสนาสนะทั้งหลาย เช่น ปราสาท ๔ ชั้น ๕ ชั้น ก็ดี  ศาลา ๔ เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตู ๖-๗-๘ ซุ้มก็ดี ภิกษุจับที่แขนทั้งสอง หรือที่คอให้ก้าวออกไปด้วยประโยคเดียว ไม่พักในระหว่าง เป็นปาจิตตีย์เพียงตัวเดียวเท่านั้น เมื่อหยุดเป็นพักๆ ให้ก้าวออกไปด้วยประโยคต่างๆ เป็นปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนประตู แม้เมื่อไม่เอามือจับต้อง ฉุดออกไปด้วยวาจา กล่าวว่า จงออกไป ก็มีนัยนี้นั่นแล
      ๒.ภิกษุเพียงแต่สั่งว่า จงฉุดภิกษุนี้ออกไป เป็นทุกกฎ ถ้าภิกษุผู้ได้รับสั่งคราวเดียวนั้นให้ก้าวพ้นประตู แม้หลายแห่ง ก็ต้องปาจิตตีย์ตัวเดียว แต่ถ้าว่า เธอได้รับคำสั่งกำหนดอย่างนี้ว่า จงฉุดผ่านประตูเท่านี้ออกไปก็ดี ว่า จงฉุดไปจนถึงประตูใหญ่ ดังนี้ก็ดี เป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนประตู
      ๓.ภิกษุใด ขนออกเองก็ดี ใช้ให้ขนออกก็ดี ซึ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นของส่วนตัวของภิกษุนั้น เช่น บาตร จีวร ธมกรกกรองน้ำ เตียง ตั่ง ฟูก และหมอน เป็นต้น โดยที่สุดแม้สะเก็ดน้ำย้อม เป็นทุกกฎแก่ภิกษุนั้นหลายตัวตามจำนวนแห่งวัตถุ, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ในสิ่งของเหล่านั้น หากเจ้าของผูกมัดให้แน่น เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น
      ๔.ภิกษุย่อมได้เพื่อจะขับไล่ภิกษุผู้ทำความบาดหมาง และผู้ทำความทะเลาะกันเท่านั้นออกจากสังฆารามทั้งสิ้น เพราะว่าหากเธอได้พรรคพวกแล้ว จะพึงทำลายสงฆ์ก็ดี, ส่วนพวกภิกษุอลัชชี เป็นต้น ภิกษุพึงฉุดออกจากที่อยู่ของตนเท่านั้น จะขับเธอเหล่านั้นออกจากสังฆารามทั่วไป ไม่ควร
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๖๗)
ภิกษุนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี บนเตียง ตั่ง อันมีเท้าไม่ได้ตรึงให้แน่น
ซึ่งเขาวางไว้บนร่างร้านที่เขาเก็บของในกุฏิ ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุ ๒ รูป อยู่บนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ รูปหนึ่งอยู่ชั้นล่าง รูปหนึ่งอยู่ชั้นบน ภิกษุผู้อยู่ชั้นบนนั่งทับโดยแรง ซึ่งเตียงอันมีเท้าเสียบ เท้าเตียงตกโดนศีรษะของภิกษุผู้อยู่ชั้นล่าง ภิกษุนั้นส่งเสียงร้องลั่น ภิกษุทั้งหลายพากันสอบถาม แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า 
        ”อนึ่ง ภิกษุใด นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบบนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ร้าน ได้แก่ ร้านที่ไม่กระทบศีรษะของมัชฌิมบุรุษ (บุรุษไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป)
       -เตียงที่ชื่อว่า มีเท้าเสียบ คือ เขาสอดเท้าเสียบไว้ในตัวเตียง,  ตั่งที่ชื่อว่า มีเท้าเสียบ คือ เขาสอดเท้าเสียบเข้าไว้ในตัวตั่ง
       -บทว่า นั่งทับ คือ นั่งทับบนเตียง ตั่ง นั้น  ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       -บทว่า นอนทับ คือ นอนทับบนเตียง ตั่ง นั้น  ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ซึ่งตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบบนร้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗.วิหารเป็นส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ไม่ใช่ร้าน ๑  ร้านสูงพอกระทบศีรษะ ๑  ข้างล่างไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่ ๑  ข้างบนปูพื้นไว้ ๑  เท้า เตียง ตั่ง ได้ตรึงสลักกับตัว ๑  ภิกษุยืนบนเตียงตั่งนั้นหยิบจีวรหรือพาดจีวร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๔๑-๓๔๒
      ๑.บทว่า อุปริเวหาสกุฏิยา ได้แก่ บนกุฎี ๒ ชั้นก็ดี  ๓ ชั้นก็ดี ที่ข้างบนไม่ได้ปูพื้นไว้
      - ภิกษุนั่งทับเตียงโดยแรง เท้าเตียงที่ไม่ได้ใส่สลักจึงหลุดลง
กุฎีใดไม่กระทบศีรษะแห่งบุรุษผู้มีขนาดปานกลาง ด้วยขื่อที่ต่ำกว่าเขาทั้งหมด (กุฎีนั้นชื่อว่า เวหาสกุฎี)  ด้วยคำนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวหาสกุฎีที่ทรงประสงค์แล้วในสิกขาบทนี้, แต่มิได้ทรงแสดงเวหาสกุฎีไว้ไม่,  จริงอยู่ กุฎีมี ๒ ชั้นก็ดี  ๓ ชั้นเป็นต้นก็ดี  ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเบื้องบนไม่ได้ปูพื้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า เวหาสกุฎี,  แต่ในสิกขาบทนี้ประสงค์เอาเวหาสกุฎีที่ไม่กระทบศีรษะ, พึงทราบความแตกต่างกันแห่งอาบัติ มีการนั่งทับเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๗)
      ๒.ไม่เป็นอาบัติในศาลาใบไม้ที่เขาสร้างไว้บนพื้นดินเป็นต้น เพราะว่าไม่อาจเพื่อจะทำความเบียดเบียนแก่คนอื่นในกุฎีบรรณศาลา (ศาลาใบไม้) เป็นต้นนั้น
      -กุฎีใดกระทบศีรษะได้ ไม่เป็นอาบัติในกุฎีแม้นั้น เพราะว่าใครๆ ไม่ก้มตัวลง ย่อมไม่อาจเพื่อจะเที่ยวไปในปราสาทชั้นล่าง (พื้นชั้นล่าง) ในกุฎีนั้นได้  ฉะนั้น จักไม่มีความเบียดเบียนแก่ผู้อื่นเพราะไม่ใช่สถานสัญจร
      -ภายใต้เป็นที่ใช้สอยไม่ได้ เพราะเก็บทัพสัมภาระเป็นต้น กุฎีเช่นนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ
      -พื้นข้างบนกุฎีใดเขาปูแน่นทึบด้วยแผ่นกระดานไม้ก็ดี ทำการบริกรรมด้วยปูนขาวเป็นต้นก็ดี กุฎีเช่นนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ
      -ได้ตรึงสลักไว้ที่ปลายเท้าเตียงและตั่งเป็นต้น แม้เมื่อภิกษุนั่งบนเตียงและตั่งใดๆ (เท้า) ไม่ตกลงมา ภิกษุผู้นั่งบนเตียงและตั่งเช่นนี้ ก็ไม่เป็นอาบัติ, ตั่ง ได้แก่ ม้าสี่เหลี่ยมรี นั่งได้ ๒ คนก็มี
      -ภิกษุยืนบนเตียงและตั่งที่มีเท้าเสียบเข้าไว้ในตัวเตียง ตั่ง หยิบจีวรหรือวัตถุอะไรๆ ที่แขวนไว้บนไม้ฟันมังกรเป็นต้นข้างบน หรือว่าจะแขวนวัตถุอื่น ก็ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งโกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๖๘)
ภิกษุจะเอาดินหรือปูนโบกหลังกุฏิ พึงโบกได้เพียง ๓ ชั้น
ถ้าโบกเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

       มหาอำมาตย์อุปัฏฐากของท่านพระฉันนะสร้างวิหารถวายพระฉันนะ แต่ท่านพระฉันนะสั่งให้มุงให้โบกฉาบพระวิหารที่ทำสำเร็จแล้วบ่อยครั้ง หลายชั้น วิหารหนักเกินไป ได้ทลายลงมา ท่านพระฉันนะมัวสาละวนเก็บรวบรวมหญ้าและไม้ ได้ทำนาข้าวเหนียวของพราหมณ์คนหนึ่งเสียหาย พราหมณ์นั้นได้เพ่งโทษตำหนิ ภิกษุทั้งหลายได้ยินการเพ่งโทษนั้น ได้พากันติเตียนพระฉันนะ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
        "อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำซึ่งวิหารใหญ่ จะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบแห่งประตู จะบริกรรมช่องหน้าต่าง พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอกได้ ๒-๓ ชั้น ถ้าอำนวยยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของเขียว ก็เป็นปาจิตตีย์"
     
 
อรรถาธิบาย
       - วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ ท่านว่าเป็นวิหารมีเจ้าของ
       - ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ตึกที่เขาโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ที่เขาโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม หรือเขาโบกปูนไว้ทั้งภายในภายนอกด้วย
       - ผู้ให้ทำ คือ สร้างเองก็ดี ให้ผู้อื่นสร้างก็ดี
       - บทว่า เพียงไรแต่กรอบแห่งประตู คือ ชั่วหัตถบาส โดยรอบแห่งบานประตู
       - จะบริกรรมช่องหน้าต่าง คือ จะบริกรรม (ตบแต่ง) หน้าต่าง ให้มีสีเขียว ดำ สียางไม้ ลายดอกไม้ เป็นต้น
       - คำว่า พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอก (ด้วยปูนขาว, ดิน เป็นต้น) ๒-๓ ชั้น ความว่า ที่ชื่อว่า ของสดเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติ (ข้าวกล้าต่างๆ ) และอปรัณชาติ (ถั่ว, งา)
       - ให้มุงตามทางแถว พึงมุงเอง ๒ แถวๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้ว พึงหลีกไป
       - ให้มุงเป็นชั้น พึงมุงเอง ๒ ชั้นๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้ว พึงหลีกไป


อาบัติ
      ๑.คำว่า ถ้าเธออำนวยให้ยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ความว่า มุงด้วยอิฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ แผ่นอิฐ
      ๒.ถ้าภิกษุยืนสั่งการอยู่ในที่มีของสดเขียว ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๓.มุงด้วยแผ่นศิลา, ด้วยปูนขาว, ด้วยหญ้า, ด้วยใบไม้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ แผ่นศิลา ทุกๆ ก้อนปูนขาว ทุกๆ กำหญ้าทุกๆ ใบไม้
      ๔.เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุรู้ว่า เกิน อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๕.เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๖.เกิน ๒-๓ ชั้น  ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๗.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุคิดว่าเกิน (เข้าใจว่าเกิน)... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๙.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ


อนาบัติ
      ภิกษุมุง ๒-๓ ชั้น ๑  มุงหย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ๑  สร้างถ้ำ ๑  คูหา ๑  กุฎีมุงหญ้า ๑  สร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๑  สร้างด้วยทรัพย์ของตน ๑  ยกอาคารอันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างทุกอย่าง ไม่ต้องอาบัติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๔๖-๓๕๐
      ๑.สิกขาบทนนี้มีสมุฏฐาน ๖  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๖๙)
ภิกษุรู้อยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์ เอารดหญ้าหรือดิน ต้องปาจิตตีย์

       พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี กำลังทำนวกรรม (ก่อสร้าง) เธอรู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ ยังรดเองบ้าง ให้คนอื่นรดบ้าง ซึ่งหญ้าบ้าง ดินบ้าง ภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ต่างเพ่งโทษ ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
       ”อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ รดก็ดี ให้รดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ รู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ
      - รด คือ รดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้คนอื่นรด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้เขารดครั้งเดียว แต่เขารดหลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่า น้ำมีตัวสัตว์ รดเองก็ดี ให้คนอื่นรดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๓.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุเข้าใจว่าไม่มีตัวสัตว์ รดเองก็ดี... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่ามีตัวสัตว์ รดเองก็ดี... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่าไม่มีตัวสัตว์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่แกล้ง ๑  ไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๕๓-๓๕๔
      ๑.สองบทว่า ชานํ สปฺปาณกํ ได้แก่ รู้อยู่โดยประการใดประการหนึ่งว่า น้ำนี้มีตัวสัตว์เล็กๆ
      - เมื่อภิกษุรดไม่ทำให้สายน้ำขาด เป็นอาบัติเพียงตัวเดียวในหม้อน้ำหม้อเดียว, แต่เป็นอาบัติทุกๆ ขณะแก่ภิกษุผู้รดทำให้สายน้ำขาด, ภิกษุทำเหมืองให้เป็นทางตรง น้ำจะไหลทั้งวันก็ตาม เป็นอาบัติตัวเดียว, ถ้าภิกษุกั้นในที่นั้นๆ แล้ว ไขน้ำไปทางอื่นๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
      ถ้าแม้นบรรทุกหญ้าเต็มเล่มเกวียน ภิกษุใส่ลงในน้ำด้วยประโยคเดียว ก็เป็นอาบัติตัวเดียว, ภิกษุทิ้งหญ้าหรือใบไม้ (ลงไปในแหล่งน้ำที่มีตัวสัตว์) ลงทีละเส้น ทีละใบ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค, ในดินเหนียวก็ดี ในวัตถุอื่นมีไม้ โคลน และโคมัย เป็นต้น ก็มีนัยนี้
      ก็วิธีทิ้งหญ้าและดินลงในน้ำนี้ มิได้ตรัสหมายถึงน้ำมาก, น้ำใด เมื่อทิ้งหญ้าและดินลงไปจะถึงความแห้งไป หรือจะเป็นน้ำขุ่น ในน้ำใด จำพวกสัตว์เล็กๆ จะตายเสีย บัณฑิตพึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงน้ำเช่นนั้น
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้น คือ ทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิต)



อปฺปมาโท อมตํปทํ    ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ   เย ปมตฺตา ยถา มตา ฯ ๒๑ ฯ

ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ     ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย      ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว

Heedfulness is the way to the Deathless; Heedlessness is the way to death.
The heedful do not die; The heedless are like unto the dead. 
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #43 เมื่อ: 24 เมษายน 2561 15:33:19 »


ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๗๐)
ภิกษุที่ไม่ได้รับสมมติจากสงฆ์ สั่งสอนนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์เห็นภิกษุชั้นเถระทั้งหลายกล่าวสอนพวกภิกษุณี แล้วได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงปรึกษากันที่หาลาภบ้าง แล้วได้เข้าไปหาพวกภิกษุณี บอกว่าจักกล่าวสอน ขอพวกน้องหญิงจงไปหาพวกเราบ้าง
      เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นเข้าไปหา พระฉัพพัคคีย์กลับกล่าวธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วชวนพูดเรื่องไร้สาระให้เวลาล่วงเลยไป ภิกษุณีเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ได้กราบทูลถึงความนั้น ทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์แล้วรับสั่งว่า ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุ เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี” โดยให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี นี้เป็นญัตติ

      ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง...
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม...

      แล้วมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์

      ต่อมาพระฉัพพัคคีย์ได้สมมติกันและกันเอง แล้วสอนภิกษุณีดังเดิมด้วยเรื่องไร้สาระ จึงทรงมีรับสั่งถึงภิกษุผู้จะกล่าวสอนภิกษุณีก็ได้ ต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๘ ประการ คือ
      ๑.เป็นผู้มีศีล คือ สำรวมในปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระ (ความประพฤติ) และโคจระ (ที่เที่ยวไป มีเว้นการเที่ยวไปในสำนักของหญิงแพศยา เป็นต้น)...
      ๒.เป็นพหูสูต คือ ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ...
      ๓.รู้ทั้งภิกขุปาติโมกข์และภิกขุณีปาติโมกข์ด้วยดี...
      ๔.เป็นผู้มีวาจาสละสลวยชัดเจน
      ๕.เป็นผู้ที่นิยมชมชอบของภิกษุณีโดยมาก
      ๖.เป็นผู้สามารถกล่าวสอนภิกษุณีได้
      ๗.ไม่เคยล่วงครุธรรมกับสตรีผู้ครองผ้ากาสายะบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นี้
      ๘.มีพรรษาได้ ๒๐ หรือเกิน ๒๐   
   
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับสมมติ คือ สงฆ์ยังไม่ได้สมมติด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา
      -ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์สองฝ่าย (คือทั้งภิกษุและภิกษุณี)
      -บทว่า กล่าวสอน ได้แก่ ภิกษุ (ผู้ไม่ได้รับสมมติ) กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์, กล่าวสอนด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ, กล่าวสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทในภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติทุกกฎ
      -ภิกษุผู้ได้สมมติแล้วนั้น พึงกวาดบริเวณ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะไว้ แล้วชวนเพื่อนภิกษุไปนั่งอยู่ด้วย ภิกษุณีทั้งหลายพึงไป ณ ที่นั้น อภิวาทภิกษุนั้นแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
      ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้นพึงถามว่า พวกเธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้วเจ้าข้า พึงถามว่า ครุธรรม ๘ ประการ ยังประพฤติกันอยู่หรือ ถ้าพวกนางตอบว่า ยังประพฤติกันอยู่เจ้าข้า พึงสั่งว่า นี่เป็นโอวาท น้องหญิงทั้งหลาย ถ้าพวกนางตอบว่า ไม่ได้ประพฤติกันเจ้าข้า พึงตักเตือนดังนี้

ครุธรรม ๘ ประการ
      ๑.ภิกษุณีอุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุผู้อุสมบทแล้วแม้ในวันนั้น ธรรมนี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๒.ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมนี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๓.ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามอุโบสถ ๑  ไปรับโอวาท ๑  จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้... ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๔.ภิกษุณีผู้จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถาน ๓ คือ ด้วยได้เห็น ๑  ด้วยได้ฟัง ๑  ด้วยรังเกียจ ๑  ธรรมแม้นี้... ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๕.ภิกษุณีล่วงละเมิดครุธรรมแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์สองฝ่าย ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทา ในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาบทในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปี ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่างบริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๘.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณีได้ ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว, ภิกษุผู้ได้รับสมมติกลับสั่งสอนธรรมอย่างอื่น (ไม่สอนครุธรรม ๘) ต้องอาบัติทุกกฎ ถ้าพวกนางตอบว่ายังไม่พร้อมเพรียง ภิกษุผู้ได้รับสมมติกล่าวสอนครุธรรม ๘ ต้องอาบัติทุกกฎ, ไม่ให้โอวาท แต่สั่งสอนธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ

อาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณี จึงขอไม่แสดงการวินิจฉัยอาบัติต่างๆ

อนาบัติ
      กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม (สงฆ์ได้รับสมมติถูกต้อง ลำดับก่อนการแสดงครุธรรม ๘ ถูกต้อง) ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุรู้ว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ไม่ต้องอาบัติ ๑  ภิกษุให้อุเทศ (หัวข้อ) ๑  ให้ปริปุจฉา ๑  ภิกษุอันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์สวดเถิดเจ้าข้า ดังนี้  สวดอยู่ ๑  ภิกษุถามปัญหา ๑  ภิกษุกล่าวสอนคนอื่นอยู่ แต่พวกภิกษุณีฟังอยู่ด้วย ๑  กล่าวสอนสิกขมานา ๑  สอนสามเณรี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๖๙-๓๙๓
      ๑.ภิกษุณีเหล่านั้นไม่ได้ถวายลาภแก่พระเถระเหล่านั้นด้วยตนเอง แต่พวกนางเมื่อได้รับการกล่าวสอนจากพระอสีติมหาสาวกแล้ว มีความเลื่อมใส ย่อมบอกกล่าวแก่เหล่าญาติของตน เมื่อถูกเหล่าญาติถาม จึงกล่าวสรรเสริญคุณของบรรดาพระเถระ เช่น สรรเสริญศีล สุตะ อาจาระ ชาติ และโคตร เป็นต้น  พวกมนุษย์ที่เป็นญาติเกิดจิตเลื่อมใส จึงได้นำเอาลาภและสักการะเป็นอันมาก เช่นจีวรเป็นต้นไปถวายแก่พระเถระทั้งหลาย
      -ส่วนสำนักของภิกษุฉัพภัคคีย์ แม้ภิกษุณีรูปหนึ่งก็ไม่มีมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้มีใจอันตัณหาในลาภฉุดลากไปเนืองๆ ได้ไปสู่สำนักแห่งภิกษุณีเหล่านั้น
      ๒.ทรงเห็นว่าหากตรัสห้ามว่า พวกเธออย่ากล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลายเลย ดังนี้ เหล่าภิกษุฉัพพัคคีย์ก็จะพึงผูกอาฆาต จักเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเป็นผู้ยังไม่เห็นสัจจะ ทรงหลีกเลี่ยงการเข้าถึงอบายของภิกษุเหล่านั้น ทรงประสงค์จะกันภิกษุฉัพพัคคีย์ไว้ภายนอกจากการกล่าวสอนภิกษุณี จึงทรงอนุญาตภิกขุโนวาทสมมติขึ้น เพราะองค์ ๘ เหล่านี้ ยังไม่เคยมีแก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แม้แต่ความฝันแล
      -บทว่า ครุธรรม คือ ด้วยธรรมอันหนัก, ธรรมเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าครุธรรม เพราะเป็นธรรมอันภิกษุณีทั้งหลายพึงกระทำความเคารพรับรอง
      ๓.ถ้าบริเวณไม่เตียนหรือแม้เตียนแล้วในเวลาเช้า กลับรกเพราะหญ้าและใบไม้เป็นต้น และเกิดมีทรายกระจุยกระจายเพราะถูกเท้าเหยียบย่ำ ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงกวาด เพราะภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น เห็นบริเวณนั้นไม่สะอาด พึงเป็นเหมือนผู้ไม่อยากฟัง ด้วยคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ชักนำแม้พวกภิกษุหนุ่มผู้เป็นศิษย์ของตนในวัตรปฏิบัติ ดีแต่แสดงธรรมอย่างเดียว
      -ภิกษุณีทั้งหลาย เดินมาจากภายในบ้าน ย่อมกระหายน้ำและเหน็ดเหนื่อย ภิกษุณีเหล่านั้นจึงหวังเฉพาะน้ำดื่ม และการกระทำให้มือเท้าและหน้าเย็น, และเมื่อน้ำนั้นไม่มี ภิกษุณีเหล่านั้นจักเกิดความไม่เคารพโดยนัยก่อน แล้วเป็นผู้ไม่ประสงค์จะฟังธรรม
      -ก็ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงจัดตั่งที่นั่ง มีชนิดตั่งเล็ก ตั่งแผ่นกระดาน เสื่ออ่อน และเสื่อลำแพน เป็นต้น โดยที่สุดแม้กิ่งไม้ที่พอจะหักได้ ด้วยคิดว่า นี้จักเป็นที่นั่งของภิกษุณีเหล่านั้น แล้วพึงปรารถนาบุรุษผู้รู้เดียงสาเป็นเพื่อน เพื่อเปลื้องอาบัติในเพราะการแสดงธรรม ไม่พึงนั่งในที่สุดแดนวิหาร โดยที่แท้พึงนั่งในสถานชุมชนแห่งคนทั่วไป ใกล้ประตูแห่งโรงอุโบสถ หรือโรงฉันในท่ามกลางวิหาร
      ๔.บทว่า สามีจิกมฺมํ ได้แก่ วัตรอันสมควร มีการหลีกทางให้ พัดวี และถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่มที่มีเป็นต้น, ก็บรรดาวัตรมีการอภิวาทเป็นต้นนี้ ชื่อว่าการกราบไหว้ภิกษุอันภิกษุณีพึงกระทำแท้ภายในบ้านก็ดี นอกบ้านก็ดี ภายในวิหารก็ดี ภายนอกวิหารก็ดี ในละแวกบ้านก็ดี ในตรอกก็ดี โดยที่สุด แม้เมื่อการขับไล่เพราะเหตุพระราชาเสด็จมาเป็นไปอยู่ก็ดี เมื่อฝนกำลังตกก็ดี ในพื้นดินมีโคลนตมเป็นต้นก็ดี มีร่มและบาตรอยู่ในมือก็ดี ถูกช้างและม้าเป็นต้นไล่ติดตามก็ดี, ภิกษุณีเห็นพวกภิกษุเข้าสู่ที่ภิกขาจาร เดินเป็นแถวเนื่องกันเป็นแถวเดียว จะไหว้ที่แห่งเดียวด้วยกล่าวว่า ดิฉันไหว้พระคุณเจ้า ดังนี้ ก็ควร, ถ้าภิกษุทั้งหลายเดินเว้นระยะในระหว่างห่างกัน ๑๒ ศอก พึงแยกไหว้, จะไหว้ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งอยู่ในที่ประชุมใหญ่ในที่แห่งเดียวเท่านั้นก็ได้, แม้ในอัญชลีกรรมก็นัยนี้, ก็ภิกษุณีนั่งแล้วในที่ใดที่หนึ่ง พึงกระทำการลุกรับ พึงกระทำกรรมนั้นๆ ในที่นั้น และเวลาอันสมควรแก่สามีจิกรรมนั้นๆ
      ๕.อุเทศ ได้แก่ ผู้แสดงบาลีแห่งครุธรรม ๘, ปริปุจฉา ได้แก่ ผู้กล่าวอรรถกถาแห่งบาลีครุธรรมที่คล่องแคล่วนั้นนั่นแล
      ภิกษุผู้อันภิกษุณีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ (พร้อมเพรียงแล้ว) ย่อมสวดบาลีครุธรรม ๘  ภิกษุผู้ให้อุเทศ ผู้ให้ปริปุจฉาอย่างนี้ และภิกษุผู้อันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์สวดเถิด สวดครุธรรม ๘ ไม่เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้น, และไม่เป็นอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้กล่าวธรรมอื่น
      -ภิกษุณีย่อมถามปัญหาอิงครุธรรม หรืออิงธรรม มีขันธ์เป็นต้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ปัญหานั้น
      ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปทโสธรรมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๔ แห่งมุสาวาทวรรค) เกิดขึ้นทางวาจา ๑  ทางวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, วจีกรรม มีจิต ๓



เอตํ วิเสสโต ญตฺวา   อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ   อริยานํ โคจเร รตา ฯ ๒๒ ฯ 

บัณฑิตรู้ข้อแตกต่าง ระหว่างความประมาทกับความไม่ประมาท
จึงยินดีในความไม่ประมาท อันเป็นแนวทางของพระอริยะ

Realzing this distinction,
The wise rejoice in heedfulness,
Which is the way of the Noble. 
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #44 เมื่อ: 26 มิถุนายน 2561 15:01:11 »


ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๗๑)
แม้ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว ตั้งแต่อาทิตย์ตกไป ไปสอนนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระจูฬปันถกถึงวาระเป็นผู้กล่าวสอนพวกภิกษุณี พวกภิกษุณีกล่าวกันว่า พระคุณเจ้าจูฬปันถกะกล่าวโอวาทไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะมักกล่าวอุทานซ้ำๆ ซากๆ เมื่อพวกภิกษุณีมา ท่านถามว่า เธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ, ภิกษุณี, พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าข้า, จูฬ.ครุธรรม ๘ ประการ ยังเป็นไปดีอยู่หรือ, ภิกษุณี. ยังเป็นไปดีอยู่เจ้าข้า, พระจูฬปันถกะสั่งว่า นี้เป็นโอวาท แล้วกล่าวอุทานนี้ซ้ำอีกว่า “ความโศก ย่อมไม่มีแก่มุนีผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ในโมเนยยปฏิปทา ผู้คงที่ ผู้สงบระงับ มีสติทุกเมื่อ”
       พวกภิกษุณีได้สนทนากันว่า โอวาทไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะซ้ำๆ ซากๆ ท่านพระจูฬปันถกะได้ยินแล้ว ครั้นแล้วได้เหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง... กล่าวอุทานอย่างเดิม พร้อมทั้งแสดงพุทธพจน์ต่างๆ มากมาย  ภิกษุณีทั้งหลายพากันกล่าวชม จนพลบค่ำท่านจึงสั่งพวกภิกษุณีกลับ ภิกษุณีเข้าเมืองไม่ได้ พักแรมนอกเมือง ประชาชนต่างเพ่งโทษติเตียนว่า ไม่ใช่สตรีผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงตำหนิพระจูฬปันถกะ แล้วมีพระบัญญัติว่า
        “ถ้าภิกษุ แม้ได้รับสมมติแล้ว เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้วกล่าวสอนภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
      - ได้รับสมมติแล้วจากสงฆ์ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา, เมื่อพระอาทิตย์อัสดง คือ พระอาทิตย์ตกแล้ว
      - บทว่า กล่าวสอน ความว่า กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ หรือด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณีแล้ว จึงขอไม่แสดงวินิจฉัยอาบัติและอนาบัติ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๙๘-๔๐๐
      ๑.”อธิบายคาถาของพระจูฬปันถกะ”
      - ผู้มีอธิจิต คือ ประกอบด้วยจิตที่ยิ่งกว่าจิตทั้งหมด ได้แก่ อรหัตตผลจิต, เป็นผู้ไม่ประมาท คือ ประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศลธรรมติดต่อกันด้วยความไม่ประมาท, บทว่า มุนิโน มีความว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า โมนะ เพราะรู้โลกทั้งสองอย่างนี้ว่า ผู้ใดย่อมรู้โลกทั้งสอง ผู้นั้นเราเรียกว่า มุนี เพราะเหตุนั้น, หรือพระขีณาสพ ตรัสเรียกว่า มุนี เพราะประกอบด้วยญาณนั้นแก่มุนีนั้น (รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า)
      - ผู้ศึกษาอยู่ในทางแห่งญาณชื่อโมนะ กล่าวคือ อรหัตตมรรคญาณ คือ ในโพธิปักขิยธรรม๓๗ หรือในไตรสิกขา ก็คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาปฏิปทาเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาพึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า แก่มุนีผู้ศึกษาอยู่ในธรรมเป็นส่วนเบื้องต้นอย่างนี้ บรรลุความเป็นมุนีด้วยการศึกษานี้
      - ความโศกทั้งหลายเกิดเพราะมีการพลัดพรากจากอิฏฐารมณ์เป็นต้น ในภายใน ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพผู้คงที่, ความโศกทั้งหลาย่อมไม่มีแก่มุนีผู้ประกอบด้วยลักษณะคงที่เห็นปานนี้, เพราะสงบระงับกิเลส มีราคะเป็นต้นได้, และเป็นผู้ไม่เว้นจากสติตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ
      ๒.พระจูฬปันถกเถระได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น คิดว่า ภิกษุณีเหล่านี้ดูหมิ่นเราว่าพระเถระรูปนี้รู้ธรรมเพียงเท่านี้แหละ เอาล่ะ! บัดนี้ เราจะแสดงอานุภาพของตนแก่ภิกษุณีเหล่านี้ จึงยังความเคารพในธรรมให้เกิด แล้วเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ คือ เดินจงกรมในอากาศกลางหาวบ้าง ฯลฯ หายตัวไปในระหว่างบ้าง
      ๓.ได้ยินว่า พระเถระนี้ถูกให้เรียนคาถานี้ในสำนักของพระเถระผู้เป็นพี่ชายของตนว่า “ดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม พึงบานแต่เช้า ยังไม่วายกลิ่น ฉันใด, ท่านจงดูพระอังคีรสยังรุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์แผดรัศมีรุ่งโรจน์อยู่ในท่ามกลางหาว ฉันนั้น” ท่านสาธยายอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ไม่อาจทำให้คล่องแคล่วได้
      ครั้งนั้น พระเถระ (มหาปันถกะผู้พี่ชาย) จึงขับไล่ท่านไปจากวิหารว่า เธอเป็นคนอาภัพในพระศาสนานี้ ท่านได้ยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูพุทธเวไนยสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงเสด็จไปใกล้ๆ ตรัสว่า จูฬปันถกะ เธอร้องไห้ทำไม? ท่านได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดนั้น ลำดับนั้นจึงทรงประทานท่อนผ้าอันสะอาดแก่ท่าน  ตรัสว่า เธอจงลูบคลำผ้านี้ว่า ผ้าเช็ดธุลี ท่านรับว่า สาธุ แล้วนั่งในที่อยู่ของตน ลูบคลำที่สุดด้านหนึ่งแห่งผ้านั้น, ที่ที่ถูกลูบคลำนั้นได้กลายเป็นสีดำ ท่านกลับได้ความสลดใจว่า ผ้าชื่อว่าแม้บริสุทธิ์อย่างนี้ อาศัยอัตภาพนี้ กลับกลายเป็นสีดำ ดังนี้ แล้วจึงปรารภวิปัสสนา, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านปรารภจากความเพียร ได้ทรงภาษิตโอวาทคาถานี้ว่า อธิเจตโส เป็นต้น พระเถระบรรลุพระอรหัตตผลในเวลาจบคาถา เพราะเหตุนั้นท่านจึงเคารพรักคาถานี้มาก, ท่านกล่าวคาถานั้นนั่นแล เพื่อให้ทราบความเคารพรักคาถานี้
      ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับปทโสธรรมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘ แห่งมุสาวาทวรรค)



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๗๒)
ภิกษุเข้าไปสอนนางภิกษุณีถึงในที่อยู่ ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่นางภิกษุณีเจ็บป่วย

      พระฉัพพัคคีย์เข้าไปสอนภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถึงในที่อยู่ของภิกษุณี ภิกษุณีทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันติเตียน แล้วกราบทูล,,, ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใดเข้าไปสู่ที่อาศัยของภิกษุณี แล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์”
       ต่อมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี อาพาธ พระเถระทั้งหลายพากันเข้าไปเยี่ยม นางได้ขอให้พระเถระทั้งหลายแสดงธรรม แต่พระเถระทั้งหลายไม่แสดงธรรม เพราะมีพระบัญญัติห้ามอยู่
       พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเยี่ยมพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ทรงทราบความนั้น จึงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยของภิกษุณีแล้ว สั่งสอนพวกภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือ ภิกษุณีอาพาธ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น  
 
อรรถาธิบาย
      - ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงเข้าไปแสดงครุธรรม ๘ ประการ ยังที่อยู่ของพวกภิกษุณีได้ หากภิกษุณีนั้นเป็นผู้อาพาธ ไม่อาจจะไปรับโอวาท หรือไปร่วมประชุมได้

อาบัติและอนาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณี (ตามพุทธศาสนานิกายเถรวาทไม่มีแล้ว) จึงไม่ขอแสดงไว้

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๒๐๖-๒๐๗
      ๑.เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ เท่านั้น, กล่าวสอนด้วยธรรมอื่นเป็นทุกกฎ
       - ภิกษุกล่าวสอนแก่ภิกษุณีผู้บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว คือ ภิกษุณีสงฆ์ เป็นอาบัติทุกกฎ, หากบวชแล้วในสงฆ์ทั้งสองฝายเป็นปาจิตตีย์
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๗๓)
ภิกษุติเตียนภิกษุอื่นว่า สอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพคคีย์เห็นว่าบรรดาพระเถระทั้งหลายที่สั่งสอนภิกษุณีได้ปัจจัย ๔ จึงพากันพูดว่า พระเถระทั้งหลายเหล่านั้นสั่งสอนภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส... ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล.. ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
         “อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเหตุแห่งอามิส เป็นปาจิตตีย์”  
      
อรรถาธิบาย
       - บทว่า เพราะเหตุแห่งอามิส คือ เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา
       - คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุประสงค์จะใส่โทษ ประสงค์จะทำให้อัปยศ ประสงค์จะทำให้เก้อเขิน กล่าวกับอุปสัมบันเป็นผู้ที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีอย่างนี้ว่า เธอสั่งสอนเพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๑๑
      ๑.พระฉัพพัคคีย์กล่าวหาพระเถระทั้งหลายว่า ไม่ทำความตั้งใจ ไม่ทำความเคารพในธรรม กล่าวสอน
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๗๔)
ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน

      ภิกษุรูปหนึ่งได้เป็นเพื่อนพบเห็นกันกับภิกษุณีรูปหนึ่ง ทั้งสองท่านเป็นผู้มีจีวรเก่า วันหนึ่งภิกษุรูปนั้นได้ไปรับแจกจีวรจากสงฆ์มา แล้วนำมาให้ภิกษุณีรูปนั้นเปลี่ยน ภิกษุทั้งหลายได้บอกให้ภิกษุรูปนั้นเปลี่ยนจีวรเป็นจีวรใหม่เสีย เธอได้แจ้งว่าได้ให้แก่ภิกษุณีไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ภิกษุณีเป็นญาติหรือไม่ ภิกษุตอบว่า มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
         “อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์  
 
อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันทางมารดาบิดา ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก
        - ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิดๆ ใด ชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้า ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำ
        - คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ความว่า ภิกษุให้ เว้นการแลกเปลี่ยน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๑๖
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในจีวรปฏิคคหณสิกขาบท, ต่างกันแต่ในจีวรปฏิคคหณสิกขาบท ภิกษุเป็นผู้รับ ในสิกขาบทนี้ภิกษุณีเป็นผู้รับ



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๗๕)
ภิกษุเย็บจีวรให้ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ผู้อื่นเย็บก็ดี ต้องปาจิตตีย์

      พระอุทายีเป็นผู้มีความสามารถทำจีวรกรรม (มีการตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น) มีภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาท่าน พูดขอให้ท่านช่วยเย็บจีวรให้
       พระอุทายีช่วยเย็บย้อมตกแต่งอย่างดี แล้วเขียนรูปอันวิจิตรตามความคิดของท่านไว้กลางผ้า พับเก็บไว้ (รูปหญิงชายกำลังทำเมถุนกัน) ภิกษุณีรูปนั้นมารับจีวร แล้วนำมาห่มในวันรับโอวาท นางเดินตามหลังภิกษุณีทั้งหลายไป ประชาชนเห็นรูปนั้นต่างพากันตำหนิติเตียน... ภิกษุณีทั้งหลายได้ถามว่า ใครทำ  ตอบว่า พระคุณเจ้าอุทายี  ภิกษุณีทั้งหลายตำหนิติเตียนพระอุทายี แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามพระอุทายีว่าภิกษุณีนั้นเป็นญาติหรือไม่ พระอุทายีตอบว่า ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า  จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันทางมารดาก็ดี บิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก
       - เย็บ ก็คือ เย็บเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ รอยเข็ม
       - ให้เย็บ คือ ใช้ผู้อื่นเย็บ ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ใช้หนเดียว แต่เย็บแม้หลายหน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

 สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๒๐-๔๒๒
      ๑.คำว่า อุทายี ได้แก่พระโลฬุทายี, ภิกษุณีรูปนี้เป็นภรรยาเก่าของท่าน
      ๒.ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งบริขารอื่นเว้นจีวร ไม่เป็นอาบัติ
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๗๖)
ภิกษุชวนภิกษุณีเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ทางเปลี่ยว

      พระฉัพพัคคีย์ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกับพวกภิกษุณี คนทั้งหลายพากันติเตียนว่าเหมือนสามีภรรยาเดินเที่ยวกันไป ภิกษุผู้มักน้อยทั้งหลายได้ยิน จึงพากันเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ภิกษุและภิกษุณีหลายรูปด้วยกันจะพากันเดินทางไกลจากเมืองสาเกต ไปพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจที่จะเดินทางร่วมไปกับภิกษุณี จึงขอให้ภิกษุณีออกเดินทางไปก่อน แต่ภิกษุณีขอให้ภิกษุทั้งหลายออกเดินทางก่อน
       เมื่อภิกษุณีพวกนั้นเดินทางไปภายหลัง ถูกพวกโจรแย่งชิงและประทุษร้าย ถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ภิกษุณีพวกนั้นได้แจ้งแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ ได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์  นี้สมัยในเรื่องนั้น (คือ) ทางเป็นที่จะต้องไปด้วยพวกเกวียน รู้กันอยู่ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”      
 
อรรถาธิบาย
       - ชักชวนกันแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ไปกันเถิดน้องหญิง ไปกันเถิดพระคุณเจ้า พวกเราไปกันในวันนี้ ไปกันในวันพรุ่งนี้ หรือไปกันในวันมะรืนนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ
       - โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในหมู่บ้านกำหนดชั่วไก่บินตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ กึ่งโยชน์
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นในคราว
       - หนทางที่ชื่อว่า จะต้องไปด้วยพวกเกวียน คือ เว้นพวกเกวียนแล้วไม่สามารถจะไปได้
       - ที่ชื่อว่า เป็นที่น่ารังเกียจ คือ ในหนทางนั้นมีสถานที่พวกโจรซ่องสุมปรากฏอยู่
       - ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในหนทางนั้นมีมนุษย์พวกโจรฆ่าปล้นทุบตีปรากฏอยู่
       ภิกษุพาไปตลอดทางที่มีภัยเฉพาะหน้า ถึงทางที่ปลอดภัยแล้ว พึงสั่งพวกภิกษุณีไปด้วย คำว่า ไปเถิดน้องหญิงทั้งหลาย

อาบัติและอนาบัติ
       ๑. พวกโจรประทุษร้ายภิกษุณีเหล่านั้น อธิบายว่า ให้ถึงความเสียศีล
       ๒. ไก่ออกจากบ้านใดแล้วเดินไปยังบ้านอื่น บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่ไปถึง, ไก่บินโผขึ้นจากหลังคาเรือนแห่งบ้านใด แล้วไปตกที่หลังคาเรือนบ้านอื่น บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่บินถึง
       ๓. “ไม่เป็นอาบัติ” หากภิกษุไม่ได้ชักชวน, ต่างคนต่างไม่ได้ชักชวน, ไปผิดนัด, มีอันตราย, ในสมัย, วิกลจริต, อาทิกัมมิกะ
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา, เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๗๗)
ภิกษุชวนภิกษุณีลงเรือลำเดียวกัน ขึ้นน้ำก็ดี ล่องน้ำก็ดี ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ข้ามฟาก

      พระฉัพพัคคีย์ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับพวกภิกษุณี ประชาชนเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินการติเตียนนั้น ต่างพากันติเตียน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
        สมัยต่อมา ภิกษุและภิกษุณีหลายรูปเดินทางไกล ระหว่างทางจะต้องข้ามแม่น้ำ ภิกษุรังเกียจที่จะโดยสารเรือลำเดียวกัน ภิกษุณีได้ให้ภิกษุข้ามไปก่อน ภิกษุณีข้ามไปภายหลังได้ถูกโจรแย่งชิงประทุษร้ายแล้ว เมื่อถึงได้แจ้งแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เว้นไว้แต่ข้ามฟาก เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
      - ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ไปโดยสารเรือกันเถิดน้องหญิง ไปโดยสารเรือกันเถิดพระคุณเจ้า พวกเราไปโดยสารเรือในวันนี้... ต้องอาบัติทุกกฎ
        เมื่อภิกษุณีโดยสารแล้ว ภิกษุจึงโดยสาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุโดยสารแล้ว ภิกษุณีจึงโดยสาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์, หรือโดยสารทั้งสองต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - ขึ้นน้ำไป คือแล่นขึ้นทวนน้ำ, ล่องน้ำไป คือ แล่นลงตามน้ำ
       - เว้นไว้แต่ข้ามฟาก คือ ยกเว้นแต่ข้ามฟาก
       ในหมู่บ้านกำหนดชั่วระยะไก่บินตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน, ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ กึ่งโยชน์
 
อาบัติ
      พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
       ข้ามฟาก ๑  ไม่ได้ชักชวนกันโดยสาร ๑  ภิกษุณีชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน ๑  โดยสารเรือผิดนัด ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๓๕-๔๓๖
       ๑.ไม่เป็นอาบัติ แม้แก่ภิกษุใดผู้ออกจากท่าชื่อมหาดิษฐ์ไปสู่ท่าชื่อตาพลิตติก็ดี ชื่อสุวรรณภูมิก็ดี ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุนั้น เพราะในทุกๆ อรรถกถา ท่านวิจารณ์อาบัติไว้ในแม่น้ำเท่านั้น ไม่ใช่ในทะเล
       -ไม่เป็นอาบัติ เพราะผิดนัดเวลาเท่านั้น, แต่เมื่อไปโดยผิดนัดท่าเรือ โดยผิดนัดเรือ เป็นอาบัติทีเดียว
       ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับปฐมปาราชิก



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่๗๘)
ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่ภิกษุณีแนะนำให้คฤหัสถ์ถวาย ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่คฤหัสถ์เขาปรารภไว้ก่อน

      ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปรับภัตตาหารยังบ้านของคหบดี รับภัตตาหารแล้วแลเห็นคหบดีจัดของเคี้ยวของฉันไว้มากมาย จึงถามว่า จัดไว้ให้ใคร คหบดีตอบว่า จัดไว้เพื่อพระเถระทั้งหลาย มีพระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ พระคุณเจ้ามหากัจจานะ เป็นต้น  ถุลลนันทาภิกษุณีกล่าวว่า ก็เมื่อพระเถระผู้ใหญ่มีอยู่ ทำไมจึงนิมนต์พระเล็กๆ เล่า  คหบดี, พระเถระผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใครบ้าง ขอรับ  ถุล. คือ พระคุณเจ้าเทวทัต พระคุณเจ้าโกกาลิกะ พระคุณเจ้ากฏโมรกติสสกะ เป็นต้น
        ขณะนั้น พระเถระทั้งหลายมาพอดี นางกลับพูดว่า ดูก่อนคหบดี ถูกแล้ว พระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ท่านนิมนต์ถูกแล้ว คหบดีตำหนินางว่า เมื่อกี้พูดว่าท่านเหล่านี้เป็นพระเล็กๆ เดี๋ยวนี้พูดว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ แล้วได้ขับนางออกจากเรือน และงดอาหารที่ถวายประจำ
        ภิกษุผู้มักน้อย... พากันเพ่งโทษติเตียนพระเทวทัตว่า ไฉนพระเทวทัตรู้อยู่ จึงยังฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้ถวาย แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนพระเทวทัต แล้วมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เป็นปาจิตตีย์”
        สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางกลับไปยังตระกูลญาติ ญาติทั้งหลายดีใจ ตั้งใจถวายภัตตาหาร ขณะนั้นมีภิกษุณีรูปหนึ่งบอกแนะนำให้คนทั้งหลายว่า ขอพวกท่านจงถวายภัตตาหารแก่พระคุณเจ้าเถิด ภิกษุนั้นรังเกียจ ไม่รับประเคน และไม่สามารถจะเที่ยวบิณฑบาตได้ เธอได้ขาดภัตแล้ว กลับไปอาราม ท่านจึงแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เว้นแต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน เป็นปาจิตตีย์”  
 
อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า รู้ คือรู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีนั้นบอก
        - ที่ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย คือ ภิกษุณีบอกแก่ผู้ไม่ประสงค์จะถวายทาน ไม่ประสงค์จะทำบุญไว้แต่แรกว่า ท่านเป็นนักสวด ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระสุตตันตปิฎก ท่านเป็นพระวินัยธร ท่านเป็นพระธรรมกถึก ขอท่านทั้งหลายจงถวายแก่ท่านเถิด ขอท่านทั้งหลายจงทำบุญแก่ท่านเถิด นี้ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย
        - เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน คือ เขาเป็นญาติ เป็นผู้ปวารณา หรือเขาจัดแจงไว้ตามปกติ เว้นจากบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
        พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
        ภิกษุฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสิกขมานาแนะนำให้ถวาย ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสามเณรแนะนำให้ถวาย ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๔๒-๔๔๓
        ๑. ไม่เป็นอาบัติ ในยาคู ของควรเคี้ยว และผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหมด แม้ที่นางภิกษุณีแนะนำให้ถวาย
        ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เกิดขึ้นทางกายกับจิต เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๗๙)
ภิกษุนั่งก็ดี นอนก็ดี ในที่ลับสองต่อสองกับนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      เมื่ออดีตภรรยาของท่านพระอุทายีได้บวชเป็นภิกษุณี นางได้มายังสำนักของท่านพระอุทายีเนืองๆ แม้ท่านอุทายีก็ยังไปยังสำนักของนางเนืองๆ ท่านอุทายีสำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีนั้นหนึ่งต่อหนึ่ง
        ภิกษุทั้งหลายทราบความได้พากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์
     
อรรถาธิบาย
       - ผู้เดียว คือ มีเฉพาะภิกษุและภิกษุณี
       - ที่ชื่อว่า ที่ลับ คือ ที่ลับตา ๑  ที่ลับหู ๑, ที่ลับตา ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถแลเห็นภิกษุกับภิกษุณีขยิบตากัน ยักคิ้วกัน หรือชะเง้อศีรษะกัน, ที่ลับหู ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติ
       - บทว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อภิกษุณีนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่ง ภิกษุณีนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ นั่งทั้งสองก็ดี นอนทั้งสองก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
       ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑  ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๔๗
       ๑. อรรถแห่งบาลีและวินิจฉัยทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยดังกล่าวไว้ในอนิยต สิกขาบทที่ ๒ และปาจิตตีย์ “อเจลกวรรค” สิกขาบทที่ ๔



เต ฌายิโน สาตติกา   นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ    โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ ฯ ๒๓ ฯ

ท่านผู้ฉลาดเหล่านั้น หมั่นเจริญกรรมฐาน  มีความเพียรมั่นอยู่เป็นนิจศีล
บรรลุพระนิพพานอันเป็นสภาวะที่สูงส่ง  อิสระจากกิเลสเครื่องผูกมัด

These wise, constantly meditative,
Ever earnestly persevering,
Attain the bond-free, supreme Nibbana.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 มิถุนายน 2561 15:06:19 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #45 เมื่อ: 12 สิงหาคม 2561 16:57:48 »


ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๘๐)
ภิกษุไม่ใช่ผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทานได้เพียง ๑ ครั้ง
ถ้าฉันติดๆ กันสองครั้ง ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์พากันอยู่ในโรงทาน ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ ไม่ยอมเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต แม้แต่พวกเดียรถีย์ยังพากันหลีกไป ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า “ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา พระสารีบุตรอาพาธในโรงทาน หลังจากฉันอาหารในโรงทานนั้น ไม่สมารถหลีกไปจากโรงทานได้ วันที่ ๒ ประชาชนนำภัตมานิมนต์ให้ท่านฉัน แต่ท่านไม่ฉัน เพราะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามแล้ว จึงยอมอดอาหารแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”       
     
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ สามารถจะหลีกไปจากโรงทานได้, ผู้อาพาธ คือ ไม่สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้
       - ที่ชื่อว่า อาหารในโรงทาน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาจัดตั้งไว้ ณ ศาลา ปะรำ หรือที่กลางแจ้ง มิได้เฉพาะใคร มีพอแก่ความต้องการ
       ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธฉันได้ครั้งหนึ่ง หากฉันเกินกว่านั้น รับประเคนด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ กลืนกินต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆคำกลืน

อาบัติ
       ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทานยิ่งกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าเป็นผู้อาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุไม่อาพาธฉันครั้งเดียว ๑  ภิกษุเดินทางไปแล้วเดินทางกลับมาแวะฉัน ๑  เจ้าของนิมนต์ให้ฉัน ๑  ภิกษุฉันอาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ ๑  ภิกษุฉันอาหารที่เขามิได้จัดไว้มากมาย ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๕๓-๔๕๖
       ๑. ก้อนข้าวในโรงทาน ชื่อว่า อาวสถปิณฑะ  อธิบายว่า อาหารที่เขาสร้างโรงทานกั้นรั้วโดยรอบ มีกำหนดห้องและหน้ามุขไว้มากมาย จัดตั้งเตียงและตั่งไว้ตามสมควร แก่พวกคนเดินทาง คนไข้ หญิงมีครรภ์ และบรรพชิต แล้วจัดแจงไว้ในโรงทานนั้น เพราะเป็นผู้มีความต้องการบุญ คือ วัตถุทุกอย่าง มีข้าวต้ม ข้าวสวย และเภสัช เป็นต้น เป็นของที่เขาจัดตั้งไว้เพื่อต้องการให้ทานแก่พวกคนเดินทางเป็นต้นนั้นๆ โดยไม่เจาะจงว่าแก่เจ้าลัทธิพวกนี้เท่านั้น หรือว่าแก่พวกนักบวชมีประมาณเท่านี้เท่านั้น
       - พวกชาวบ้านไม่เห็นพวกเดียรถีย์ จึงถามว่า พวกเดียรถีย์ไปไหน? ได้ฟังว่าพวกเดียรถีย์เห็นภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านี้แล้ว จึงพากันหลีกไป ชาวบ้านจึงพากันยกโทษ
       ๒. โภชนะที่ตระกูลเดียวหรือตระกูลต่างๆ รวมกันจัดไว้ ในสถานที่แห่งเดียว หรือในสถานที่ต่างๆ กันก็ดี ในสถานที่ไม่แน่นอนอย่างนี้ คือ วันนี้ที่ ๑ พรุ่งนี้ที่ ๑ ก็ดี  ภิกษุฉันวันหนึ่งในที่แห่งหนึ่งแล้ว ในวันที่ ๒ จะฉันในที่นั้น หรือในที่อื่น ไม่ควร, แต่โภชนะที่ตระกูลต่างๆ จัดไว้ในที่ต่างๆ กัน ภิกษุฉันวันหนึ่งในที่แห่งหนึ่งแล้ว ในวันที่ ๒ จะฉันที่อื่น ควรอยู่
       ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุฉันหมดลำดับแล้วจะเริ่มตั้งต้นไปใหม่ ไม่ควร ดังนี้, แม้ในคณะเดียวกัน ต่างคณะกัน บ้านเดียวกัน และต่างบ้านกัน ก็มีนัยนี้
       ส่วนภัตตาหารใด ที่ตระกูลเดียวจัด หรือตระกูลต่างๆรวมกันจัดไว้ ขาดระยะไปในระหว่างเพราะไม่มีข้าวสารเป็นต้น แม้ภัตตาหารนั้นก็ไม่ควรฉัน, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็ถ้าว่าตระกูลทั้งหลายตัดขาดว่า พวกเราจักไม่อาจให้ เมื่อเกิดน้ำใจงามขึ้น จึงเริ่มให้ใหม่ จะกลับฉันอีกวันหนึ่ง ๑ ครั้งก็ได้
       ๓. ที่เขาจัดไว้จำเพาะ... คือ เป็นของที่เขาจัดไว้จำเพาะ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายเท่านั้น, เขามิได้จัดไว้มากมาย คือ มิใช่เป็นของที่เขาจัดไว้เพียงพอแก่ความต้องการ คือ มีเพียงเล็กๆ น้อยๆ จะฉันโภชนะเช่นนี้เป็นนิตย์ ก็ควร
       - ไม่เป็นอาบัติในของทุกชนิด เช่น ยาคู ของควรเคี้ยว และผลไม้น้อยใหญ่ เป็นต้น จริงอยู่ ภิกษุจะฉันโภชนะมียาคูเป็นต้น แม้เป็นนิตย์ ก็ควร
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๘๑)
ภิกษุร่วมกันขออาหารจากชาวบ้าน แล้วร่วมกันฉัน
ของ ๕ อย่าง ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา และเนื้อ ต้องปาจิตตีย์

       พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ จึงพร้อมด้วยบริวารเที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่”
       สมัยต่อมา ภิกษุผู้อาพาธรังเกียจ ด้วยอ้างว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามการฉันเป็นหมู่แล้ว ไม่รับนิมนต์จากประชาชน... ฤดูถวายจีวร ประชาชนนิมนต์ให้ฉันภัตแล้วครองจีวร  ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจ... ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้ช่วยทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... ภิกษุเดินทางไกล ประชาชนนิมนต์... ภิกษุรังเกียจ... ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับประชาชนๆ นิมนต์ให้ฉัน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาพากันมาเฝ้า ประชาชนนิมนต์ให้ฉัน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... อาชีวกต้องการถวายภัตตาหาร นิมนต์ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจ... ด้วยเหตุต่างๆตามที่เกิดขึ้น จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวที่ประชุมใหญ่ คราวภัตของสมณะ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”
     
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ฉันเป็นหมู่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๔ รูป อันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฉัน นี้ชื่อว่าฉันเป็นหมู่
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นในคราว
       - ที่ชื่อว่า คราวอาพาธ คือ โดยที่สุดแม้เท้าแตก ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธแล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กรานกำหนดท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกรานกฐินแล้ว ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร แล้วฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่า เป็นคราวที่ทำจีวรแล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า จักเดินทาง ไปถึงกึ่งโยชน์แล้วฉันได้ เมื่อจะไปก็ฉันได้ มาถึงแล้วก็ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวโดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจักโดยสารเรือไป แล้วฉันได้ เมื่อจะโดยสารไปก็ฉันได้ โดยสารกลับมาแล้วก็ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวประชุมใหญ่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๒-๓ รูป เที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน แต่เมื่อมีรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ถ้าภิกษุคิดว่าเป็นคราวประชุมใหญ่แล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวภัตของสมณะ คือ คราวที่มีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นพวกนักบวช ทำภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะแล้วฉันได้
       - นอกจากสมัยเหล่านี้ ภิกษุรับว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ กลืนกินต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุรู้ว่าเป็นการฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัยฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิได้ฉันเป็นหมู่... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุคิดว่าฉันเป็นหมู่... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุรู้ว่ามิได้ฉันเป็นหมู่... ไม่ต้องอาบัติ
                             

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  ภิกษุ ๒-๓ รูป ฉันรวมกัน ๑  ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาต แล้วประชุมฉันแห่งเดียวกัน ๑  ภัตเขาถวายเป็นนิตย์ ๑  ภัตเขาถวายตามสลาก ๑  ภัตเขาถวายในปักษ์ ๑  ภัตเขาถวายในวันอุโบสถ ๑  ภัตเขาถวายในวันปาฏิบท ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๖๗-๔๗๖
       ๑. ได้ยินว่า พระเทวทัตนั้นแนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชาก็ดี สั่งนายขมังธนูไป (เพื่อปลงพระชนม์พระตถาคต) ก็ดี ทำโลหิตุปบาทก็ดี ได้เป็นเรื่องลี้ลับปกปิด, แต่ในเวลาปล่อยช้างธนบาลไปในกลางวันแสกๆนั่นแล ได้เกิดเปิดเผยขึ้น
       เพราะว่า เมื่อเกิดพูดกันขึ้นว่า พระเทวทัตปล่อยช้างไป (เพื่อปลงพระชนม์พระตถาคต) ก็ได้เป็นผู้ปรากฏชัดว่าใช่แต่ปล่อยช้างอย่างเดียว แม้พระราชา (พิมพิสาร) พระเทวทัตก็ให้ปลงพระชนม์ ถึงพวกนายขมังธนูก็ส่งไป แม้ศิลาก็กลิ้ง, พระเทวทัตเป็นคนลามก, และเมื่อมีผู้ถามว่า พระเทวทัตได้ทำกรรมนี้ร่วมกับใคร?  ชาวเมืองกล่าวว่า กับพระเจ้าอชาตศัตรู,  ในลำดับนั้นชาวเมืองก็ลุกฮือขึ้น พูดว่า ไฉนหนอ! พระราชาจึงเที่ยวสมคบโจรผู้เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาเห็นปานนี้ล่า?  พระราชาทรงทราบความกำเริบของชาวเมือง จึงทรงขับไล่ไสส่งพระเทวทัตไปเสีย และตั้งแต่นั้นมาก็ทรงตัดสำรับ ๕๐๐ สำรับของพระเทวทัตนั้นเสีย แม้ที่บำรุงพระเทวทัตก็มิได้เสด็จไป, ถึงชาวบ้านพวกอื่นก็ไม่สำคัญ ของอะไรๆที่จะพึงถวาย หรือพึงทำแก่พระเทวทัต
       - พระเทวทัตนั้นดำริว่า คณะของเราอย่าได้แตกกันเลย เมื่อจะเลี้ยงบริษัทจึงได้พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขออาหารฉันอยู่ในตระกูลทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ท่านจงถวายภัตแก่ภิกษุ ๑  ท่านจงถวายแก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้
       ๒. บทว่า คณโภชเน คือ ในเพราะการฉันเป็นหมู่, ก็ในสิกขาบทนี้ ทรงประสงค์เอาภิกษุ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ชื่อว่า คณะ (หมู่)
ก็คณโภชนะนี้นั่น ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยการนิมนต์ ๑  โดยวิญญัติ ๑  ย่อมเป็นไปโดยการนิมนต์อย่างไร? คือ ทายกเข้าไปหาภิกษุ ๔ รูป แล้วนิมนต์ระบุชื่อโภชนะทั้ง ๕ โดยไวพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือโดยภาษาอื่น อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ผมนิมนต์ท่านด้วยข้าวสุก ขอท่านจงถือเอาข้าวสุกของผม, จงหวัง จงตรวจดู จงต้อนรับ ซึ่งข้าวสุกของผม ดังนี้,  ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์รวมกันอย่างนี้ ไปพร้อมกันเพื่อฉันในวันนี้ หรือเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ ด้วยอำนาจแห่งเวลาที่เขากำหนดไว้ รับรวมกัน ฉันรวมกัน จัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด
       ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์รวมกัน ต่างคนต่างฉัน ก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, จริงอยู่ การรับประเคนนั้นแหละเป็นประมาณในสิกขาบทนี้, ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์รวมกัน จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, รับประเคนต่างกัน จะฉันรวมกันหรือฉันต่างกันก็ตาม ไม่เป็นอาบัติ
ภิกษุทั้งหลายไปยังบริเวณ หรือวิหาร ๔ แห่ง รับนิมนต์ต่างกัน หรือบรรดาภิกษุผู้ยืนอยู่ในที่แห่งเดียวกันนั่นแหละ รับนิมนต์ต่างกัน แม้อย่างนี้คือ ลูกชายนิมนต์ ๑ รูป บิดานิมนต์ ๑ รูป จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, จะฉันพร้อมกัน หรือฉันต่างกันก็ตาม ถ้ารับประเคนรวมกันจัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด, ย่อมเป็นไปโดยการนิมนต์อย่างนี้ก่อน
       - ย่อมเป็นไปโดยวิญญัติอย่างไร? คือ ภิกษุ ๔ รูป ยืนหรือนั่งอยู่ด้วยกัน เห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่พวกเราทั้ง ๔ รูป ดังนี้ ก็ดี  ต่างคนต่างเห็นแล้วออกปากขอรวมกันหรือขอต่างกันอย่างนี้ว่า ท่านจงถวายแก่เรา, ท่านจงถวายแก่เรา ดังนี้ก็ดี จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, แม้รับประเคนภัตแล้ว จะฉันร่วมกันหรือฉันต่างกันก็ตาม, ถ้ารับประเคนรวมกัน, จัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด ย่อมเป็นไปโดยวิญญัติอย่างนี้
       ๓. เท้าทั้งสองแตกโดยอาการที่เนื้อปรากฏให้เห็นข้างหน้าหนังใหญ่ เพียงถูกทรายหรือกรวดกระทบก็ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้น ไม่สามารถจะไปเที่ยวรับบิณฑบาตภายในบ้านได้ ในอาพาธเช่นนี้ ควรฉันได้ ด้วยคิดว่าเป็นคราวอาพาธ แต่ไม่ควรทำให้เป็นกัปปิยะด้วยเลศ
       - ในคราวที่พวกภิกษุได้ผ้าและด้าย และกระทำจีวร เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรทำในจีวรนั้น สมดังที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี ชั้นที่สุดภิกษุผู้ร้อยเข็ม (สนเข็ม) ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้นควรฉันได้ด้วยคิดว่าเป็นจีวรสมัย
       ในกุรุนทีกล่าวไว้โดยพิสดารทีเดียวว่า ภิกษุใด กะจีวร ตัดจีวร ด้นด้ายเนา ทาบผ้าเพาะ เย็บริมตะเข็บ ติดผ้าดาม ตัดอนุวาต ฟั่นด้าย เย็บสอยตะเข็บในจีวรนั้น กรอด้าย ม้วนด้าย ลับมีเล็ก ทำเครื่องปั่นด้าย, ภิกษุทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่าทำจีวรทั้งนั้น, แต่ภิกษุใดนั่งใกล้ๆ กล่าวชาดกก็ดี ธรรมบทก็ดี ภิกษุนี้ไม่ใช่ผู้ทำจีวร, ยกเว้นภิกษุนี้เสีย ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุที่เหลือเพราะคณโภชนะ
       - ภิกษุผู้เดินทางไกล จะฉันแม้ในคาวุตหนึ่งภายในกึ่งโยชน์ ก็ควร
       - แม้เมื่อภิกษุรูปที่ ๔ มา ภิกษุทั้งหลายมีภัตไม่พอเลี้ยงกันในสมัยใด, สมัยนั้นจัดเป็นคราวประชุมใหญ่ได้, ก็ในคราวที่ภิกษุประชุมกันตั้ง ๑๐๐ รูป หรือ ๑,๐๐๐ รูป ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวเลย เพราะฉะนั้นในกาลเช่นนั้นภิกษุพึงอธิษฐานว่า เป็นคราวที่ประชุมใหญ่ แล้วฉันเถิด
       - บรรดาพวกสหธรรมิกก็ดี พวกเดียรถีย์ก็ดี นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ก็เมื่อนักบวช มีสหธรรมิกเป็นต้นเหล่านี้ รูปใดรูปหนึ่งทำภัตตาหารแล้ว ภิกษุพึงอธิษฐานว่าเป็นคราวภัตของสมณะแล้วฉันเถิด
       ๔. วินิจฉัย ๕ หมวด
               ๔.๑ คนบางคนในโลกนี้ นิมนต์ภิกษุ ๔ รูปว่า นิมนต์ท่านรับภัต, ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ไป ๓ รูป ไม่ไป ๑ รูป  อุบาสกถามว่า ท่านขอรับ พระเถระรูปหนึ่งหายไปไหน? ภิกษุตอบว่า ไม่มา  อุบาสกนั้นนิมนต์ภิกษุอื่นบางรูป ซึ่งมาถึงเข้าในขณะนั้น ให้เข้านั่งร่วมว่า นิมนต์ท่านมาเถิด ขอรับ! แล้วถวายภัตแก่ภิกษุ ๔ รูป, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุแม้ทั้งหมด,  เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุคณปูรกะ (รูปที่ครบคณะ) เขาไม่ได้นิมนต์,  จริงอยู่ ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ภิกษุ ๓ รูปเท่านั้น เขานิมนต์ ได้รับประเคนแล้ว, คณะยังไม่ครบถ้วยภิกษุ ๓ รูปนั้น, และรูปที่ครบคณะเขาไม่ได้นิมนต์, คณะจึงแยกเพราะภิกษุนั้น ชื่อว่า อนิมันติตจตุตถะ (มีภิกษุไม่ได้นิมนต์เป็นที่ ๔)
               ๔.๒ ในเวลานิมนต์ มีภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง, เธอจึงไม่รับ, แต่ในเวลาจะไป เมื่อพวกภิกษุรับนิมนต์ กล่าวว่า นิมนต์ท่านมาเถิด ขอรับ แล้วพาเอาภิกษุนั้นแม้ผู้ไม่ต้องการไป เพราะไม่ได้รับนิมนต์ ไปด้วยกล่าวว่ามาเถิด ท่านจักได้ภิกษา, ภิกษุนั้นทำคณะนั้นให้แยกกัน, เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด นี้ชื่อว่า ปิณฑปาติกจตุตถะ (มีภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นที่ ๔)
               ๔.๓ พวกภิกษุรับนิมนต์พร้อมกับสามเณร, แม้สามเณรนั้น ก็ทำคณะให้แยกกันได้ นี้ชื่อว่า อนุปสัมบันจตุตถะ (มีอนุปสัมบันเป็นที่ ๔)
               ๔.๔ ภิกษุรูปหนึ่งไม่ไปเอง ส่งบาตรไป แม้ด้วยอาการอย่างนี้ คณะก็แยก เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทุกรูป นี้ชื่อว่า ปัตตจตุตถะ (มีบาตรเป็นที่ ๔)
               ๔.๕ พวกภิกษุรับนิมนต์รวมกับภิกษุอาพาธ, ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ภิกษุอาพาธเท่านั้นไม่เป็นอาบัติ เธอเป็นคณปูรกะของภิกษุนอกนี้ได้, คณะจึงไม่แยกเพราะภิกษุอาพาธเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอาบัติแก่ภิกษุเหล่านั้นแท้ นี้ชื่อว่า คิลานจตุตถะ (มีภิกษุอาพาธเป็นที่ ๔)
       - ก็ถ้าว่า ภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่งในภิกษุ ๔ รูป แม้รับนิมนต์แล้วไปกล่าวว่า ผมจักแยกคณะของพวกท่าน ขอพวกท่านจงรับการนิมนต์ เมื่อพวกชาวบ้านจะรับบาตรเพื่อประโยชน์แก่ภัต ในที่สุดแห่งยาคูและของควรเคี้ยวก็ไม่ให้บาตร กล่าวว่า พวกท่านให้ภิกษุเหล่านี้ฉัน แล้วส่งกลับไปก่อน, อาตมาทำอนุโมทนาแล้วจักไปตามหลัง แล้วนั่งอยู่, ครั้นภิกษุเหล่านั้นฉันเสร็จแล้วไป เมื่ออุบาสกกล่าวว่า โปรดให้บาตรเถิด ขอรับ! รับบาตรไปถวายภัต ฉันเสร็จ ทำอนุโมทนาแล้วจึงไป, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทุกรูป
       จริงอยู่ ความผิดสังเกตในคณโภชนะ ย่อมไม่มีด้วยอำนาจแห่งโภชนะ ๕ อย่างเลย พวกภิกษุผู้รับนิมนต์ด้วยข้าวสุก แม้รับขนมกุมมาสก็ต้องอาบัติ แลโภชนะเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้รับรวมกัน แต่มีความผิดสังเกตด้วยอาหารมียาคูเป็นต้น ยาคูเป็นต้นเหล่านั้นภิกษุเหล่านั้นรับรวมกันได้แล ภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่ง ย่อมทำไม่ให้เป็นอาบัติแม้ภิกษุเหล่าอื่น ด้วยประการอย่างนี้
       ๕. “วิธีนิมนต์พระรับภิกษา”
       ถ้าคนบางคนถูกผู้ประสงค์จะทำสังฆภัต วานไปเพื่อต้องการให้นิมนต์ (พระ) มายังวิหาร ไม่กล่าวว่า ท่านขอรับ! พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาในเรือนของพวกกระผม  กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตก็ดี ว่านิมนต์ท่านรับสังฆภัตก็ดี ว่าขอสงฆ์จงรับภัตก็ดี, พระภัตตุทเทสก์พึงเป็นผู้ฉลาด, พึงเปลื้องพวกภิกษุผู้รับนิมนต์จากคณโภชนะ, พึงเปลื้องภิกษุผู้ถือปิณฑิปาติกธุดงค์จากความแตกแห่งธุดงค์
       คืออย่างไร? คือ พระภัตตุทเทศก์พึงกล่าวว่า พรุ่งนี้ไม่อาจรับหรอก อุบาสก! เมื่ออุบาสกกล่าวว่า มะรืนนี้ ขอรับ!  พึงกล่าวว่า มะรืนนี้ก็ไม่อาจรับได้ อุบาสกถูกเลื่อนไปอย่างนี้ แม้จนถึงกึ่งเดือน พระภัตตุทเทสก์พึงพูดอีกว่า ท่านพูดอะไร? ถ้าแม้นอุบาสกพูดย้ำอีกว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัต  ลำดับนั้นพระภัตตุทเทสก์พึงทำไขว้เขวไปอย่างนี้ว่า อุบาสก จงทำดอกไม้นี้ จงทำหญ้านี้ ให้เป็นกัปปิยะก่อน แล้วย้อนถามอีกว่า ท่านพูดอะไร? ถ้าแม้เขายังพูดซ้ำแม้อย่างนั้นนั่นแหละ พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ! ท่านจักไม่ได้พระมหาเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร, ท่านจักได้พวกสามเณร และเมื่อเขาถามว่า ท่านขอรับ! พวกคนในบ้านโน้นและบ้านโน้น นิมนต์ให้พระคุณเจ้าผู้เจริญฉัน มิใช่หรือ  ผมจะไม่ได้เพราะเหตุไร? พึงกล่าวว่า พวกเขารู้จักนิมนต์ ส่วนท่านไม่รู้จักนิมนต์,  เขาถามว่า ท่านขอรับ พวกเขานิมนต์อย่างไร? พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า นิมนต์รับภิกษาของพวกกระผม ขอรับ! ถ้าแม้นเขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแล, การรับนิมนต์นั้นสมควร
       ถ้าเขายังกล่าวซ้ำอีกทีว่า นิมนต์รับภัต พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ! คราวนี้ท่านจักไม่ได้ภิกษุมาก, จักได้เพียง ๓ รูปเท่านั้น ถ้าเขาถามว่า ท่านขอรับ พวกชาวบ้านในบ้านโน้นและบ้านโน้น นิมนต์ภิกษุทั้งหมดให้ฉันมิใช่หรือ? ผมจะไม่ได้เพราะเหตุไรเล่า? พึงกล่าวว่า ท่านไม่รู้จักนิมนต์  ถ้าเขาถามว่า ท่านขอรับ! พวกเขานิมนต์อย่างไร? พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ! นิมนต์รับภิกษุของพวกกระผม ถ้าแม้เขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแหละ, การนิมนต์นั่นสมควร
       ถ้าเขาพูดว่า ภัตเท่านั้นอีกทีนั้น พระภัตตุทเทศก์พึงกล่าวว่า ไปเสียเถิดท่าน พวกเราไม่มีความต้องการภัตของท่าน บ้านนี้เป็นที่เที่ยวไปบิณฑบาตประจำของพวกเรา พวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนี้, เขากล่าวว่า นิมนต์ท่านเที่ยวไปยังบ้านนั้นเถิด ขอรับ! แล้วกลับมา ชาวบ้านถามว่า ผู้เจริญ! ท่านได้พระแล้วหรือ? เขาพูดว่า ในเรื่องนิมนต์นี้มีคำจะต้องพูดมาก จะมีประโยชน์อะไรด้วยคำพูดที่จะพึงกล่าวให้มากนี้, พระเถระทั้งหลายพูดว่า พวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตพรุ่งนี้, คราวนี้พวกท่านอย่าประมาท
       ในวันรุ่งขึ้น พระสังฆเถระพึงบอกภิกษุทั้งหลายผู้ทำเจติยวัตร แล้วยืนอยู่ว่า คุณ! ที่บ้านใกล้มีสังฆภัต, แต่คนไม่ฉลาดได้ไปแล้ว ไปเถิดพวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านใกล้, พวกภิกษุพึงทำตามคำสอนของพระเถระ ไม่พึงเป็นผู้ว่ายาก พึงเที่ยวไปบิณฑบาต อย่ายืนอยู่ที่ประตูบ้านเลย, เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นรับบาตรนิมนต์ให้นั่งฉัน พึงฉันเถิด, ถ้าเขาจัดวางภัตไว้ที่หอฉันแล้ว เที่ยวไปบอกในถนนว่า นิมนต์รับภัตที่หอฉัน ขอรับ! ไม่สมควร, แต่ถ้าเขาถือเอาภัตไปในที่นั่นๆ เรียกว่า นิมนต์รับภัตเถิด หรือรับนำไปยังวิหารทีเดียว วางไว้ในที่อันสมควรแล้ว ถวายแก่พวกภิกษุผู้มาถึงแล้วๆ ภิกษานี้ชื่อว่า ภิกษุที่เขานำมาจำเพาะ ย่อมสมควร
       แต่ถ้าเขาเตรียมทานไว้ที่โรงครัว แล้วเที่ยวไปยังบริเวณนั้นๆ เรียกว่า นิมนต์รับภัตที่โรงครัว ไม่สมควร, แต่พวกชาวบ้านใด พอเห็นพวกภิกษุผู้เข้าไปบิณฑบาต ก็ช่วยกันกวาดหอฉัน นิมนต์ให้นั่งฉันที่หอฉัน ไม่พึงปฏิเสธชนเหล่านั้น แต่ชนเหล่าใด เห็นพวกภิกษุผู้ไม่ได้ภิกษาในบ้านนั้น กำลังออกจากบ้านไป เรียนว่า นิมนต์รับภัตเถิด ขอรับ! ไม่พึงปฏิเสธคนเหล่านั้น หรือว่าพึงกลับ ถ้าเขาพูดว่านิมนต์กลับเถิดขอรับ! ขอนิมนต์รับภัต จะกลับไปในบทที่เขากล่าวว่า นิมนต์กลับเถิดก็ได้
       ชาวบ้านกล่าวว่า นิมนต์กลับเถิดขอรับ! ภัตในเรือนทำเสร็จแล้ว ภัตในบ้านทำเสร็จแล้ว จะกลับไปด้วยคิดว่าภัตในเรือนและในบ้าน ย่อมมีเพื่อใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ สมควรอยู่, เขากล่าวให้สัมพันธ์กันด้วยคำว่า นิมนต์กลับไปรับภัตเถิด ดังนี้จะกลับไป ไม่ควร, แม้ในคำที่ชาวบ้านเห็นพวกภิกษุผู้กำลังออกจากโรงฉันไปเพื่อเที่ยวบิณฑบาต แล้วกล่าวว่า นิมนต์นั่งเถิด ขอรับ! ขอนิมนต์รับภัต ดังนี้ ก็นัยนี้แหละ
       ภัตประจำเรียกว่า นิตยภัต ชาวบ้านพูดว่า นิมนต์รับนิตยภัต จะรับร่วมกันมากรูป ก็ควร แม้ในสลากภัต เป็นต้น ก็มีนัยนี้แหละ
       ๖. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งนิสสัคคีย์ โกสิยวรรค) เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



อปฺปมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน   ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ    สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา    ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๒๐ ฯ

ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติชอบธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต  เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช

Though little he recites the Sacred Texts, But puts the precepts into practice,
Forsaking lust, hatred and delusion, With rigth knowledge, with mind well freed,
Cling to nothing here or hereafter, He has a share in religious life
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #46 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2561 11:41:03 »


ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๘๒)
ภิกษุรับนิมนต์แห่งหนึ่ง แล้วไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น
ไปฉันเสียที่อื่น ต้องปาจิตตีย์

      กรรมกรเข็ญใจคนหนึ่ง เห็นประชาชนถวายภัตแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เขามีความปรารถนาจักทำกุศลบ้าง จึงไปขอค่าจ้างจากนายจ้างๆ ได้ให้ค่าจ้างมากกว่าปกติ เขาเข้าเฝ้า กราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว
      ชาวบ้านทราบข่าวการถวายของเขา ต่างพากันนำของเคี้ยวของฉันมาร่วมเป็นอันมาก คนเข็ญใจได้จัดเตรียมเครื่องดื่มเจือด้วยผลพุทราไว้จำนวนมาก ภิกษุทั้งหลายทราบข่าวว่า วันพรุ่งนี้กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่งจักถวายภัต เกรงว่าอาหารจักไม่พอเพียงแก่ภิกษุ... พวกเธอจึงได้เที่ยวบิณฑบาตฉันเสียแต่เช้าเทียว
      เวลาเช้า พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังที่อยู่ของคนเข็ญใจ เขาได้อังคาสพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จงถวายแต่น้อยเถิด จงถวายแต่น้อยเถิด เขาแจ้งว่าอาหารมีมาก ขอให้พระคุณเจ้ารับมากๆ ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า พวกเรารับน้อยๆ มิใช่เพราะกลัวของหมด แต่พวกเราบิณฑบาตฉันมาแล้วแต่เช้า กรรมการเข็ญใจจึงเพ่งโทษติเตียนว่า ข้าพเจ้านิมนต์ไว้แล้ว ทำไมจึงฉันเสียในที่อื่นเล่า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะถวายให้เพียงพอแก่ความต้องการพวกท่านหรือ?... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนทีหลัง”
      สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุรูปหนึ่งนำภัตเข้าไป เธอกล่าวปฏิเสธว่าไม่ต้อง ความหวังจะได้ภัตตาหารของผมมีอยู่ เวลาสายทายกนำบิณฑบาตมาถวาย เธอกลับฉันไม่ได้ตามต้องการ (ผิดเวลาอาหารมาก ฉันไม่ได้)...
      คราวที่ถวายจีวร ประชาชนนำภัตตาหารมาถวาย เพื่อให้ฉันแล้วจักถวายจีวร ภิกษุรังเกียจอ้างว่าโภชนะทีหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามแล้ว จีวรจึงเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น...
      ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้ทำจีวรอยู่ ฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ...
      ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”
      เวลาเช้าต่อมา พระพุทธเจ้าทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระองค์และพระอานนท์ แต่ท่านพระอานนท์รังเกียจ ไม่รับประเคน พระองค์รับสั่งว่า รับเถิดอานนท์, กราบทูลว่า ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า  เพราะความหวังจะได้ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า มีอยู่  รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปแล้วรับเถิด ก็แลพึงวิกัปอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ของข้าพเจ้าแก่ท่านผู้มีชื่อนี้” ดังนี้      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง (ปรัมปรโภชน์) ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นโภชนะนั้น ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่มาภายหลังจากที่รับนิมนต์ไว้) ชื่อว่าโภชนะทีหลัง
      - ยกเว้นไว้แต่ในคราว, เป็นไข้ คือ ไม่สามารถจะเป็นผู้นั่งบนอาสนะอันเดียวฉันจนอิ่มได้ ภิกษุคิดว่า เป็นคราวอาพาธ แล้วฉันได้
      - ที่ชื่อว่า คราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กราน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกฐินกรานแล้วเป็น ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ถวายจีวรแล้ว ฉันได้
      - ที่ชื่อว่า คราวทำจีวร คือ เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นคราวทำจีวรฉันได้
      เว้นไว้แต่สมัย ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ  ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. โภชนะทีหลัง ภิกษุรู้ว่าเป็นโภชนทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย  ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. โภชนะทีหลัง ภิกษุคิดว่ามิใช่โภชนะทีหลัง... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุเข้าใจว่าเป็นโภชนะทีหลัง... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่โภชนะทีหลัง... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  ภิกษุวิกัปแล้วฉัน ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๑  ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๑  ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งมวลแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในตำบลบ้านนั้น ๑  ภิกษุรับนิมนต์หมู่ประชาชนทุกเหล่าแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในประชาชนหมู่นั้น ๑  ภิกษุถูกเขานิมนต์ แต่บอกว่า จักรับภิกษา ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายด้วยสลาก ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๑  ถวายในวันอุโบสถ ๑  วันปาฏิบท ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๔๘๕-๔๘๘
     ๑. การวิกัปนี้ว่า “ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังจะได้ของข้าพเจ้าแก่ท่านผู้มีชื่อนี้” ชื่อว่าการวิกัปภัตตาหาร,  การวิกัปภัตตาหารควรทั้งต่อหน้าและลับหลัง, เห็นภิกษุต่อหน้าพึงกล่าวว่า ผมวิกัปแก่ท่านแล้วฉันเถิด, หากไม่เห็น พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าวิกัปแก่สหธรรมิก ๕ ผู้มีชื่อนี้ แล้วฉันเถิด
      แต่ในอรรถกถาทั้งหลายมีมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แต่วิกัปลับหลังเท่านั้น ก็เพราะการวิกัปภัตตาหารนี้นั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยวินัยกรรม, ฉะนั้นจึงไม่ควรวิกัปแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, จริงอยู่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในเพราะพระคันธกุฎีก็ดี ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ก็ดี กรรมนั้นๆ ที่สงฆ์รวมภิกษุครบคณะแล้วทำ เป็นอันกระทำดีแล้วแล, พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำให้เสียกรรม ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์ ไม่ทรงทำให้เสียกรรม เพราะพระองค์มีความเป็นใหญ่โดยธรรม ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์ก็เพราะพระองค์มิได้เป็นคณปูรกะ (ผู้ทำคณะให้ครบจำนวน)
      ๒. ภิกษุรวมนิมันตนภัต (ภัตที่ทายกนิมนต์ภิกษุเพื่อไปฉันที่บ้านเรือนของเขา, อาหารที่ได้ในที่นิมนต์) ๒-๓ ที่ บาตรใบเดียว คือ ทำให้เป็นอันเดียวกันแล้วฉัน, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ตระกูล ๒-๓ ตระกูล นิมนต์ภิกษุให้นั่งในที่แห่งเดียว แล้วนำ (ภัตตาหาร) มาจากที่นี้และที่นั่น แล้วเทข้าวสวย แกง และกับข้าวลงไป, ภัตเป็นของสำรวมเป็นอันเดียว ไม่เป็นอาบัติในภัตสำรวมนี้
      ก็ถ้าว่า นิมันตนภัตคำแรกอยู่ข้างล่าง นิมันตนภัตทีหลังอยู่ข้างบน เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันนิมันตนภัตทีหลังนั้นตั้งแต่ข้างบนลงไป แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเดิมตั้งแต่เวลาที่เธอเอามือล้วงลงไปภายใน แล้วควักคำข้าวคำหนึ่งจากนิมันตนภัตครั้งแรกขึ้นมาฉันแล้ว, มหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ว่าถ้าตระกูลทั้งหลายราดนมสดหรือรสลงไปในภัตนั้น, ภัตที่ถูกนมสดและรสใดราดทับ มีรสเป็นอันเดียวกันกับนมสดและรสนั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันตั้งแต่ยอดลงไป.
      - ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ภิกษุได้ขีรภัต (ภัตเจือนมสด) หรือรสภัต (ภัตที่มีรสแกง) นั่งแล้ว แม้ชาวบ้านพวกอื่นเทขีรภัตหรือรสภัต (อื่น) ลงไปบนขีรภัตและรสภัตนั้นนั่นแหละ (อีก) ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ดื่มนมสด หรือรส, แต่ภิกษุผู้กำลังฉันอยู่จะเปิบชิ้นเนื้อหรือก้อนข้าวที่ได้ก่อนเข้าปาก แล้วฉันตั้งแต่ยอดลงไป ควรอยู่ แม้ในข้าวปายาสเนือเนยใสก็มีนัยนี้เหมือนกัน
      - ในมหาอรรถกถากล่าวว่า อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุไว้ เมื่อไปสู่ตระกูลแล้ว อุบาสกก็ดี บุตร ภรรยา และพี่น้องชายพี่น้องหญิงของอุบาสกนั้นก็ดี นำเอาภัตส่วนของตนๆ มาใส่ในบาตร เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ฉันภัตส่วนที่อุบาสกถวายก่อน ฉันส่วนที่ได้ทีหลัง, ในอรรถกถากุรุนทีกล่าวว่า ควร, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าพวกเขาแยกกันหุงต้ม นำมาถวายจากภัตที่หุงต้มรวมกัน, ไม่เป็นปรัมปรโภชนะ
      - อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุให้นั่งคอย ชาวบ้านอื่นจะรับเอาบาตร ภิกษุอย่าพึงให้ เขาถามว่า ทำไมขอรับ! ท่านจึงไม่ให้ พึงกล่าวว่า อุบาสก ท่านนิมนต์พวกเราไว้มิใช่หรือ? เขากล่าวว่า ช่างเขาเถอะขอรับ! นิมนต์ท่านฉันของที่ท่านได้แล้วๆ เถิด จะฉันก็ควร, ในกุรุนทีกล่าวว่า เมื่อคนอื่นนำภัตมาถวาย ภิกษุแม้บอกกล่าวแล้วฉัน ก็ควร พวกชาวบ้านทั้งหมดอยากฟังธรรมจึงนิมนต์ภิกษุผู้ทำอนุโมทนาแล้วจะไปว่า ท่านขอรับ แม้พรุ่งนี้ก็นิมนต์ท่านมาอีก ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุจะมาฉันภัตที่ได้แล้วๆ ควรอยู่ เพราะเหตุไร? เพราะชาวบ้านทั้งหมดนิมนต์ไว้
      - ภิกษุรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาตได้ภัตตาหารมา อุบาสกอื่นนิมนต์ภิกษุรูปนั้นให้นั่งคอยอยู่ในเรือนก่อน เพราะภัตยังไม่เสร็จ ถ้าภิกษุนั้นฉันภัตที่ตนเที่ยวบิณฑบาตได้มา เป็นอาบัติ, เมื่อเธอไม่ฉัน นั่งคอย อุบาสกถามว่า ทำไมขอรับ ท่านจึงไม่ฉัน? เธอกล่าวว่าเพราะท่านนิมนต์ไว้ แล้วเขาเรียนว่า นิมนต์ท่านฉันภัตที่ท่านได้แล้วๆ เถิดขอรับ! ดังนี้ จะฉันก็ได้
      ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อันชาวบ้านทั้งมวลรวมกันนิมนต์ไว้เท่านั้น ซึ่งฉันอยู่ในที่แห่งหนึ่งแห่งใด แม้ในหมู่คณะ ก็นัยนี้แล
      - ภิกษุผู้ถูกเขานิมนต์ว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร กล่าวว่า รูปไม่มีความต้องการภัตของท่าน รูปจักรับภิกษา
      ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑ ทางกายวาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา การฉันเป็นกิริยา การไม่วิกัปเป็นอกิริยา อจิตตกะ, ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๘๓)
ภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน จะรับได้อย่างมากเพียง ๓ บาตรเท่านั้น
ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

      อุบาสิกาชื่อกาณมาตา เป็นสตรีที่มีศรัทธาเลื่อมใส ได้ยกบุตรีชื่อกาณาให้แก่ชายผู้หนึ่งในตำบลบ้านหมู่หนึ่ง ต่อมานางกาณาได้ไปยังเรือนมารดาด้วยธุระบางอย่าง ฝ่ายสามีส่งข่าวให้นางกลับ เพราะเห็นว่ามาหลายวันแล้ว เมื่อนางจะกลับ มารดาคิดว่าการที่ลูกจะกลับไปมือเปล่านั้นดูกระไรอยู่ จึงได้ทอดขนม เมื่อขนมสุกแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ามาถึง นางจึงสั่งให้ลูกถวายขนม ภิกษุรูปนั้นออกไป และได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่นๆ ให้เข้าไป ขนมได้หมดสิ้นแล้ว อีกทั้งเวลาแห่งการเดินทางก็สิ้นลง
      ครั้งที่ ๒ เมื่อนางจะกลับก็เกิดเหตุการณ์ดังเดิม แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุทั้งหลายก็เข้าไปรับขนมนั้นจนหมด ทำเวลาที่จะกลับของนางให้หมดไปด้วย สามีของนางได้นำหญิงอื่นมาเป็นภรรยาแล้ว นางยืนร้องไห้อยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ได้ตรัสถาม และทรงชี้แจงให้อุบาสิกากาณมาตาและบุตรี สมาทานอาจหาญรื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จกลับ
      สมัยต่อมา พ่อค้าเกวียนพวกหนึ่งประสงค์จะเดินทางจากนครราชคฤห์ไปยังถิ่นตะวันตก ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปบิณฑบาต อุบาสกคนหนึ่งได้สั่งให้ถวายข้าวสัตตุแก่ภิกษุนั้นๆ ออกไปแล้วบอกแก่ภิกษุรูปอื่นๆ อุบาสกก็ได้สั่งให้จัดถวายจนเสบียงที่เตรียมไว้สำหรับเดินทางได้หมดลง เขาขอร้องให้คนร่วมทางรอก่อนเพราะเสบียงหมด ต้องจัดเตรียมเสบียงใหม่ แต่พวกเขาไม่รอ ได้พากันไป
      เมื่ออุบาสกนั้นตระเตรียมเสบียงเสร็จแล้ว เดินไปในภายหลัง ถูกพวกโจรปล้นแย่งชิง ประชาชนต่างพากันติเตียนว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรรับอย่างไม่รู้ประมาณ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”
    
อรรถาธิบาย
       - คำว่า อนึ่ง...เฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล คือ ตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
      - ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นของกำนัล
      - ที่ชื่อว่า สัตตุผง ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นเสบียง
      - คำว่า เขาปวารณา... เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา คือ เขาปวารณาไว้ว่า ท่านประสงค์เท่าใด จงรับไปเท่านั้น
      - คำว่า ถ้ารับยิ่งกว่านั้น ความว่า รับเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ออกจากที่นั้นไปพบภิกษุแล้วพึงบอกว่า ณ สถานที่โน้น กระผมรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ท่านอย่ารับ ณ ที่นั้นเลย ถ้าพบแล้ว ไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฎ ถ้าเมื่อบอกแล้ว ภิกษุผู้รับบอกยังขืนรับต้องอาบัติทุกกฎ
      - คำว่า นำออกจากที่นั้นแล้ว... คือนำไปสู่โรงฉันแล้ว พึงแบ่งปันกัน
      - บทว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น หมายความว่า นี้เป็นการถูกต้องตามธรรมเนียมในเรื่องนั้น

อาบัติ
      ๑. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุรู้ว่าเกิน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุคิดว่าเกิน รับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุรู้ว่าหย่อน รับ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร ๑  รับหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ๑  เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ๑  เขาได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นเสบียง ๑  เขาถวายของที่เหลือจากของกำนัล และของที่เหลือจากความเป็นเสบียง ๑  เมื่อเขาระงับการไปแล้วถวาย ๑  รับของพวกญาติ ๑  รับของคนปวารณา ๑  รับเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑   จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑  

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๔๙๑-๔๙๗
      ๑. ได้ยินว่า นางกาณานั้นเป็นธิดารูปงามน่าชมของนางผู้เป็นมารดานั้น อธิบายว่า ชนพวกใดๆ เห็นนาง ชนพวกนั้นจะกลายเป็นคนตาบอด เพราะความกำหนัด คือ เป็นผู้มืด เพราะราคะครอบงำ นางจึงได้ชื่อว่า กาณา เพราะกระทำชนเหล่านั้นให้เป็นผู้บอด แม้มารดาของนางก็พลอยชื่อว่า กาณมาตา ด้วยสามารถแห่งนาง
      - อุบาสิกากาณมาตา เป็นพระอริยสาวิกา เมื่อนางเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่อาจที่จะไม่ถวายของที่มีอยู่ได้, ส่วนนางกาณาได้ฟังธรรม ชอบที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่มารดานั้น นางก็ได้เป็นโสดาบัน ในเวลาจบเทศนา
      - บุรุษผู้สามีนางกาณาได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบ้านของมารดานางกาณา จึงนำนางมาตั้งไว้ในตำแหน่งเดิม เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้น พระองค์มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเลย มาบัญญัติในเมื่อเรื่องเสบียงทางเกิดขึ้น
      - อุบาสกที่เตรียมเดินทางก็เป็นอริยสาวกเหมือนกัน
      ๒. อาหารวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งมีขนมต้ม และขนมคลุกน้ำอ้อยเป็นต้น สัตตุผงที่มีรสเลิศ อันเขาเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ถึงการนับว่าขนมทั้งนั้นในสิกขาบทนี้ อาหารวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสัตตุก้อน งา และข้าวสาร เป็นต้น ทั้งหมด ที่พวกคนจะเดินทางจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นเสบียงในระหว่างทาง ถึงการนับว่า “สัตตุผง” ทั้งนั้น ในสิกขาบทนี้
      ๓. ถ้าภิกษุรับเอาบาตรที่ ๓ ให้พูนขึ้นมา (ให้เป็นยอดขึ้นมาดุจสถูป) เป็นปาจิตตีย์ด้วยการนับขนม
      - ถ้าภิกษุรับบาตรเต็มแล้ว พึงเหลือไว้เพื่อตนบาตรหนึ่ง แล้วถวายเต็ม ๒ บาตร แก่ภิกษุสงฆ์, ถ้ารับ ๒ บาตร พึงเหลือไว้เพื่อตนบาตรหนึ่ง แล้วถวายบาตรหนึ่งแก่สงฆ์ แต่ย่อมไม่ได้ เพื่อจะให้มิตรสหาย, ภิกษุผู้รับบาตรเดียว ไม่ประสงค์จะให้อะไร ก็ไม่พึงให้ คือ พึงทำความชอบใจ
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๘๔)
ภิกษุฉันอาหารที่เขาถวายเพิ่มเติม เมื่อกล่าวว่าพอแล้วหรือลุกจากที่แล้ว
ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่อาหารที่เป็นเดน

      พราหมณ์คนหนึ่งนิมนต์ให้ภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จแล้วได้ไปสู่ตระกูลญาติ บางพวกก็ฉันอีก บางพวกก็รับบิณฑบาตไป หลังจากถวายภัตแล้ว พราหมณ์ได้เชิญชวนพวกเพื่อนบ้านว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเลี้ยงภิกษุให้อิ่มหนำแล้ว มาเถิด ข้าพเจ้าจักเลี้ยงท่านทั้งหลายให้อิ่มหนำบ้าง
      พวกเพื่อนบ้านได้กล่าวแย้งว่า ท่านจักเลี้ยงพวกข้าพเจ้าได้อย่างไร แม้ภิกษุทั้งหลายที่ท่านเลี้ยง ยังต้องไปฉันที่เรือนของข้าพเจ้าอีก
      พราหมณ์นั้นได้เพิ่งโทษติเตียนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ฉันที่เรือนของเราแล้ว ไฉนจึงได้ไปฉันในที่อื่นอีกเล่า ภิกษุทั้งหลายได้พากันติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
      สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอันประณีตไปถวายพวกภิกษุอาพาธๆ ฉันไม่ได้ดังประสงค์ ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาตเหล่านั้นเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนั้น ทรงมีรับสั่งว่า “เราอนุญาตให้ฉันอาหารอันเป็นเดนของภิกษุผู้อาพาธ และมิใช่ผู้อาพาธได้ แต่พึงทำให้เป็นเดนอย่างนี้ว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ฉันเสร็จ คือ ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
      - ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ กำลังฉันอาหารอยู่ ๑ ทายกนำโภชนะมาถวายอีก ๑ ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑  ทายกน้อมถวาย ๑  ภิกษุห้ามเสีย ๑
      - ที่ชื่อว่า มิใช่เดน คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ ๑  ภิกษุมิได้รับประเคน ๑  ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑  ทำนอกหัตถบาส ๑  ภิกษุฉันยังไม่เสร็จ ทำ ๑  ภิกษุฉันแล้ว ห้ามภัตแล้ว ลุกจากอาสนะแล้ว ทำ ๑  ภิกษุมิได้พูดว่า ทั้งหมดนั้นพอแล้ว ๑  ของนั้นมิใช่เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑  นี้ชื่อว่ามิใช่เดน
      - ที่ชื่อว่า เป็นเดน คือ ของที่ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว ๑  ภิกษุรับประเคนแล้ว ๑  ภิกษุยกขึ้นส่งให้ ๑  ทำในหัตถบาส ๑  ภิกษุฉันแล้ว ทำ ๑  ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังไม่ลุกจากอาสนะ ทำ ๑  ภิกษุพูดว่าทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑  เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่าเป็นเดน
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ๑  ของที่เป็นยามกาลิก ๑  สัตตาหกาลิก ๑  ยาวชีวิก ๑  นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว
      - ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ๑  ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑  ปลา ๑  เนื้อ ๑
      ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ของไม่เดน ภิกษุสำคัญว่า ไม่เป็นเดน เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ของไม่เป็นเดน ภิกษุสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๔. ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
      ๕. ของเป็นเดน ภิกษุคิดว่า มิใช่เดน... ต้องอาบัติทุกก
      ๖. ของเป็นเดน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ของเป็นเดน ภิกษุรู้ว่าของเป็นเดน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุทำให้เป็นเดนแล้วฉัน ๑  ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉัน ๑  ภิกษุรับไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ฉันอาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ ๑  ฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุอันสมควร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๐๓-๕๒๐
      ๑. การห้ามภัตสำเร็จด้วยองค์ ๕
      การฉันค้างปรากฏ อธิบายว่า ถ้าบุคคลผู้กำลังฉันอยู่, โภชนะเพียงพอแก่การห้ามปรากฏอยู่ อธิบายว่า ถ้าโภชนะมีข้าวสุกเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะพึงห้ามมีอยู่, หากทายกถือเอาโภชนะเพียงพอแก่การห้ามอยู่ในโอกาสประมาณ ๒ ศอกคืบ, ถ้าทายกนั้นน้อมภัตนั้นถวายแก่ภิกษุนั้นด้วยกาย, การห้ามปรากฏ อธิบายว่า ถ้าภิกษุนั้นปฏิเสธโภชนะที่เขาน้อมถวายนั้น ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ภิกษุย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว ด้วยอำนาจแห่งองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้แล
      ๒. ว่าด้วยโภชนะและธัญชาติ ๗ ชนิด
      ภิกษุฉันโภชนะใดและห้ามโภชนะใดที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย, โภชนะนั้นบัณฑิตพึงทราบว่าเป็นโภชนะเหล่านี้ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่งแล
      ที่ชื่อว่า ข้าวสุก ได้แก่ ข้าวสุกที่เกิดจากธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้
      ๓ .ว่าด้วยโภชนะต่างๆ เป็นเหตุห้ามและไม่ห้ามภัต
      ในนิมันตนภัต ไม่มีข้าวยาคู ชาวบ้านเทน้ำข้าวและนมสดไปในภัต ด้วยตั้งใจว่า จักถวายยาคู แล้วถวายว่านิมนต์ท่านรับยาคู ถึงข้าวยาคูจะเป็นของเหลวก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดการห้ามภัตเหมือนกัน, ก็ถ้าว่าพวกเขาใส่ (ข้าวสุก) ลงในน้ำที่เดือดพล่านเป็นต้น ต้มถวาย โภชนะนั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นข้าวยาคูเหมือนกัน, เขาใส่ปลาและเนื้อลงในภัตแม้ที่ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นยาคูนั้น หรือในยาคูนั้นหรือในยาคูอื่นใด, ถ้าชิ้นปลาและเนื้อหรือเอ็นปรากฏ แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด, ยาคูนั้น ก่อให้เกิดการห้ามภัตด้วย, อาหารมีรสล้วนๆ หรือยาคูมีรส ไม่ให้เกิดการห้ามภัตแม้ภัตที่ชนพวกใดพวกหนึ่ง ทำด้วยวัตถุมีผลขุยไผ่เป็นต้นอย่างอื่น ยกเว้นข้าวสารแห่งธัญชาติที่กล่าวแล้วเสีย หรือด้วยเหง้ามันและผลไม้ ย่อมไม่ก่อให้เกิดการห้ามภัต จะป่วยกล่าวไปไยถึงยาคูแข้น (แห่งผลขุยไผ่เป็นต้น) แต่ถ้าเขาใส่ปลาและเนื้อลงในยาคูแข้นนี้ ทำให้เกิดการห้ามภัตได้
      - ขนมกุมมาสที่เขาทำจากจำพวกข้าวเหนียว ชื่อว่า ขนมสด, ขนมกุมมาสที่เขาทำจากวัตถุอื่น มีถั่วเขียวเป็นต้น ไม่ให้เกิดการห้ามภัต
      ขนมแห้งที่เขาทำจากจำพวกข้าวสาลี ข้าวจ้าว และข้าวเหนียว ชื่อว่า สัตตุ, ชนทั้งหลายคั่วเมล็ดข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้ แล้วตำเบาะๆ โปรยฝัดแกลบออกแล้วตำใหม่ให้ละเอียดเข้าทำให้เป็นแป้ง, ถ้าแม้นวัตถุนั้นยังติดกันอยู่เพราะยังสด ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นขนมแป้งทีเดียว เขาบดข้าวสารจ้าวที่คั่วให้สุกกรอบ ถวาย, แป้งแม้นั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นสัตตุ (ขนมแห้ง) เหมือนกัน
      - ภิกษุกำลังฉันกัปปิยะมังสะ ห้ามกัปปิยมังสะ ชื่อว่า ห้ามภัต, กำลังฉันกัปปิยะมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้ามภัต, เพราะเหตุไร? เพราะไม่ใช่วัตถุ จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุควรฉันได้เท่านั้น จึงเป็นเหตุห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ห้ามอยู่ แต่เมื่อภิกษุรู้อกัปปิยมังสะนี้ จึงห้ามเสีย เพราะเป็นของไม่ควร, ถึงไม่รู้ก็ชื่อว่า ห้ามสิ่งที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ควรห้ามทีเดียว เพราะเหตุนั้นจึงไม่ชื่อว่าห้ามภัต
      แต่ถ้าภิกษุฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามกัปปิยะมังสะ ชื่อว่า ห้ามภัต เพราะเหตุไร? เพราะเป็นวัตถุแห่งการห้าม, จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุห้ามนั่นแหละ เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งการห้ามภัต, ส่วนอกัปปิยมังสะที่ภิกษุฉัน ตั้งอยู่ในฐานที่ควรห้าม แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น มังสะที่กำลังฉันก็ยังไม่ละภาวะแห่งมังสะ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าห้ามภัต, ฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้ามภัต โดยนัยก่อนนั่นแหละ
      ฉันกัปปิยมังสะก็ดี อกัปปิยมังสะก็ดี ห้ามโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกัปปิยโภชนะ ชื่อว่า ห้ามภัต, ห้ามอกัปปิยโภชนะ ซึ่งเกิดจากมิจฉาชีพ มีกุลทูสกกรรม เวชกรรม การอวดอุตริมนุสธรรม และการยินดีรูปิยะ เป็นต้น และที่เกิดจากการแสวงหาอันไม่สมควรที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ ไม่ชื่อว่า ห้ามภัต
      ๔. ว่าด้วยการฉันและการห้ามโภชนะ
ครั้นทราบโภชนะที่ภิกษุฉัน และโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย จึงถึงการห้าม, บัดนี้เพื่อทราบอาการที่เป็นเหตุให้ถึงการห้ามภัต พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
      ภิกษุใดกลืนกินภัตเข้าไปแม้เมล็ดเดียว ภิกษุนั้น เมื่อบรรดาโภชนะทั้ง ๕ โภชนะ แม้อย่างหนึ่ง มีอยู่ในบาตร ปากและมือ ที่ใดที่หนึ่ง ห้ามโภชนะทั้ง ๕ แม้อย่างหนึ่งอื่นก็ชื่อว่า ห้ามภัต, ไม่มีโภชนะที่ไหนๆ มีบาตรเป็นต้น ปรากฏแต่เพียงกลิ่นอามิส ไม่ชื่อว่าห้ามภัต, ไม่มีโภชนะในปากและในมือแต่มีอยู่ในบาตร ฝ่ายภิกษุไม่ประสงค์จะฉันที่อาสนะนั้น ประสงค์จะเข้าไปยังวิหารแล้วฉัน หรือประสงค์ถวายแก่ภิกษุอื่น ถ้าปฏิเสธโภชนะอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างนั้น ยังไม่จัดว่าห้าม เพราะเหตุไร? เพราะความเป็นโภชนะที่ฉันค้างอยู่ขาดไป
      - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ภิกษุใดประสงค์จะไปฉันในที่อื่น กลืนภัตในปากแล้ว ถือเอาภัตส่วนที่เหลือเดินไปอยู่ ห้ามโภชนะอื่นในระหว่างทาง การห้ามของภิกษุนั้นก็ไม่มี
      ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่ประสงค์จะกลืนกินโภชนะที่มีอยู่ แม้ในมือหรือแม้ในปากเหมือนในบาตรและห้ามโภชนะอื่นในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม
      - ในกุรุนทีกล่าวว่า ภิกษุกลืนภัตในปากแล้ว ประสงค์จะให้ภัตในมือแก่คนกินเดน ประสงค์จะให้ภัตในบาตรแก่ภิกษุ ถ้าห้าม (โภชนะอื่น) ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2561 11:44:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #47 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2561 11:48:14 »

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๘๔)
ภิกษุฉันอาหารที่เขาถวายเพิ่มเติม เมื่อกล่าวว่าพอแล้วหรือลุกจากที่แล้ว
ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่อาหารที่เป็นเดน
(ต่อ)

     ๕. ว่าด้วยทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย
      ๒ ศอกคืบ พึงทราบว่า หัตถบาส, ถ้าภิกษุนั่ง กำหนดตั้งแต่ริมสุดด้านหลังของอาสนะไป, ถ้ายืน กำหนดตั้งแต่ที่สุดส้นเท้าไป, ถ้านอน กำหนดตั้งแต่ที่สุดด้านนอกแห่งสีข้างที่นอนไป ด้วยที่สุดด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่า เว้นมือที่เหยียดออกของทายกผู้นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม, การห้ามภัตย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้ามโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสนั้นน้อมถวายเท่านั้น นอกจากนั้นไป หามีไม่
      - ทายกอยู่ในภายในหัตถบาส น้อมไปเพื่อรับ (ประเคน) ก็ถ้าว่าภิกษุผู้นั่งถัดไป ไม่นำบาตรที่อยู่ในมือ หรือที่วางอยู่บนตัก หรือบนเชิงรอง ออกไปเลย กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร เมื่อภิกษุปฏิเสธภัตนั้น ไม่เป็นการห้าม, แม้ในทายกผู้นำกระเช้าภัตมาวางไว้บนพื้นข้างหน้า แล้วกล่าวว่านิมนต์ท่านรับเถิด ก็นัยนี้เหมือนกัน
      แต่เมื่อเขาขยับยกขึ้นหรือน้อมเข้าไป กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด เมื่อภิกษุปฏิเสธจัดเป็นการห้าม พระเถระนั่งอยู่บนเถระอาสน์ ส่งบาตรไปให้แก่ภิกษุหนุ่มผู้นั่งอยู่ในที่ไกลกล่าวว่า จงรับเอาข้าวสุกจากบาตรนี้ ภิกษุหนุ่มห้ามว่า ผมพอแล้ว ไม่ชื่อว่าห้าม, เพราะเหตุไร? เพราะพระเถระอยู่ไกล และเพราะทูตไม่นำไปให้แล, ถ้าภิกษุผู้รับมากล่าวว่า ท่านจงรับภัตนี้ เมื่อภิกษุหนุ่มปฏิเสธภัตนั้น จัดเป็นการห้าม
      - ในสถานที่อังคาส ทายกคนเดียวอังคาสภิกษุหลายรูป มือข้างหนึ่งถือกระเช้าข้าวสุก อีกข้างหนึ่งถือทัพพี, ถ้าในสถานที่อังคาสนั้นมีคนอื่นมาพูดว่า ข้าพเจ้าจักช่วยถือกระเช้า ท่านจงถวายข้าวสุกแล้วทำกิจเพียงจับเท่านั้น, ก็ทายกผู้อังคาสนั่นเองยกกระเช้าข้าวสุกนั้น เพราะฉะนั้น กระเช้านั้นจัดว่า อันเขานำมาจำเพาะแท้, จัดเป็นการห้ามแก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาส ผู้ถือ (ภัต) จากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย, แต่ถ้าผู้อังคาสเพียงแตะต้อง (กระเช้า) เท่านั้น คนนอกนี้แหละช่วยยกกระเช้าขึ้น ไม่จัดว่าเป็นการห้ามแก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาสซึ่งถือภัตจากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย แต่พอเขาเอาทัพพีตักภัต (การห้ามภัต) ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้าม, แท้จริง การน้อมเข้ามาโดยตรงด้วยทัพพีนั่นแหละจัดเป็นการน้อมถวายภัตนั้น
      - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ในภัตที่คน ๒ คน ช่วยกันยกเมื่อภิกษุปฏิเสธ ย่อมชื่อว่าห้ามภัตเหมือนกัน
      - เมื่อทายกถวายภัตแก่ภิกษุผู้นั่งถัดไป ภิกษุอีกรูปหนึ่งเอามือปิดบาตร ไม่เป็นการห้าม, เพราะเหตุไร? เพราะห้ามภัตที่เขาน้อมถวายภิกษุรูปอื่น
      ๖. ว่าด้วยการห้ามภัต
      ภิกษุปฏิเสธที่เขาบอกถวายด้วยวาจา ไม่จัดเป็นการห้าม, แต่เมื่อภิกษุปฏิเสธด้วยกายหรือวาจา ซึ่งภัตที่เขาน้อมถวายด้วยกาย จึงเป็นการห้ามภัต
      ในการห้ามด้วยกายและวาจานั้น ที่ชื่อว่า การห้ามด้วยกาย คือ ภิกษุสั่นนิ้วมือหรือมือพัดไล่แมลงหวี่ หรือชายจีวร กระทำอาการด้วยคิ้วหรือโกรธ แลดู, ที่ชื่อว่า การห้ามด้วยวาจา คือ ภิกษุกล่าวว่า พอแล้ว หรือว่า ฉันไม่รับ, ว่า อย่าเทลง หรือว่า จงถอยไป, เมื่อภิกษุห้ามภัตด้วยกายหรือด้วยวาจา โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่า เป็นการห้าม
      - ฝ่ายภิกษุใด เดินห้ามภัต, ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฉันทั้งเดินนั่นแหละ, เดินไปถึงที่มีโคลนตมหรือแม่น้ำ หยุดยืนอยู่แล้ว พึงทำได้เป็นเดน, ถ้าแม่น้ำในระหว่างขึ้นเต็มฝั่ง พึงเดินเวียนรอบพุ่มไม้ที่ฝั่งแม่น้ำ ฉันเถิด, ถ้ามีเรือหรือสะพาน พึงเดินไปมา ฉันเถิด, ไม่พึงตัดการเดินให้ขาดตอน, ภิกษุนั่งห้ามภัตบนยานก็ดี บนหลังช้างและม้าก็ดี บนดวงจันทร์ก็ดี บนดวงอาทิตย์ก็ดี พึงฉันทั้งที่นั่งอยู่บนยานเป็นต้นเหล่านั้น, แม้ซึ่งกำลังเคลื่อนไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน
      ภิกษุใดยืนห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งยืนเหมือนกัน, ภิกษุใดนั่งห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งที่นั่งอย่างนั้นแหละ, เมื่อทำอิริยาบถนั้นให้เสีย พึงทำให้เป็นเดน
      ภิกษุใดนั่งกระโหย่งห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งที่นั่งกระโหย่งนั้นแหละ แต่พึงให้ตั่งฟางหรือที่รองนั่งบางอย่างในภายใต้แก่ภิกษุผู้นั่งกระโหย่งนั้น, ภิกษุผู้นั่งห้ามภัต ย่อมได้เพื่อจะหมุนไปรอบทั้ง ๔ ทิศ ไม่ทำให้อาสนะเคลื่อนที่ ภิกษุนั่งบนเตียงห้ามภัต ย่อมไม่ได้เพื่อจะเลื่อนไปทางโน้นหรือทางนี้, แต่ถ้าชนทั้งหลายยกเธอขึ้นพร้อมทั้งเตียง หามไปในที่อื่น ควรอยู่, ภิกษุผู้นอนห้ามภัต พึงฉันทั้งๆ ที่นอนนั่นแหละ เมื่อจะพลิกตัว อย่าพึงให้เลยฐานแห่งสีข้างที่ตนนอนไป
      ๗. ว่าด้วยลักษณะของเป็นเดนเป็นต้น
      บทว่า อนติริตฺตํ คือ ไม่เป็นเดน ความว่า ไม่เหลือเฟือ, แต่ของไม่เป็นเดนนั้น เป็นเพราะไม่ทำให้เป็นเดน โดยอาการแห่งวินัยกรรม ๗ อย่าง มีของไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะเป็นต้น หรือไม่เป็นเดนของภิกษุอาพาธ
      - ในผลไม้เป็นต้น ผลไม้หรือรากเหง้ามันเป็นต้นใด ยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะด้วยสมณโวหารทั้ง ๕ และอกัปปิยมังสะ หรืออกัปปิยโภชนะอันใดบรรดามี, ผลไม้เป็นต้น ที่ยังไม่ได้ทำกัปปิยะและอกัปปิยะมังสะ  อกัปปิยโภชนะนี้ ชื่อว่า ของเป็นอกัปปิยะ, ของเป็นอกัปปิยะนั้น ภิกษุทำให้เป็นเดนอย่างนี้ว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว”
      เมื่อไม่เปล่งวาจาพูดอย่างนั้น ของเป็นเดนอันใดยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะ โดยอาการแห่งวินัยกรรมทั้ง ๗ อย่างนี้ (มีภิกษุมิได้รับประเคนเป็นต้น) และของใดไม่เป็นเดนแห่งภิกษุอาพาธ ของแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบว่าของไม่เป็นเดนด้วยประการฉะนี้ ส่วนของเดนก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม
      อีกอย่างหนึ่ง ยังมีคำอื่นที่จะพึงกล่าวอยู่ในของเป็นเดนนี้, ถึงโภชนะที่ภิกษุฉันข้าวสุกแม้เมล็ดเดียว หรือเคี้ยวเนื้อแม้ชิ้นเดียว จากบาตรของภิกษุผู้เป็นสภาคกันซึ่งนั่งถัดไปทำแล้ว ก็พึงทราบว่าเป็นภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้วทำ มีตัวอย่างดังนี้
      ภิกษุ ๒ รูป ฉันแต่เช้ามืด เป็นผู้ห้ามภัตเสียแล้ว, ภิกษุรูปหนึ่งพึงนั่งในที่ห้ามภัตนั่นแหละ, อีกรูปหนึ่งนำนิตยภัตหรือสลากภัตมา แล้วเทลงในบาตรของภิกษุนั้นครึ่งหนึ่ง ล้างมือแล้วให้ภิกษุนั้นทำส่วนที่เหลือให้เป็นกัปปิยะแล้ว ฉันเถิด, เพราะเหตุไร? เพราะว่าภัตที่ติดอยู่ในมือของภิกษุผู้นำภัตมานั้นเป็นอกัปปิยะ แต่ถ้าภิกษุผู้นั่งอยู่แต่แรกเอามือรับบาตรของภิกษุผู้นำภัตมานั้นด้วยตนเอง นั่นแหละไม่มีกิจจำต้องล้างมือ แต่ถ้าเมื่อภิกษุให้ทำเป็นกัปปิยะอย่างนั้นแล้วฉัน พวกทายกใส่แกงหรือของเคี้ยวบางอย่างลงในบาตรอีก, ภิกษุผู้ทำให้เป็นกัปปิยะคราวก่อนย่อมไม่ได้เพื่อจะทำอีก, ภิกษุผู้ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) พึงทำ, และพึงทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเท่านั้น (ให้เป็นกัปปิยะ)
      - ของที่ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) แม้ภิกษุผู้ซึ่งได้ทำกัปปิยะคราวแรก ก็ควรทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) แต่ย่อมไม่ได้ เพื่อจะทำในภาชนะแรก อธิบายว่า เพราะว่าของที่ภิกษุทำอยู่ในภาชนะแรกนั้น ย่อมเป็นอันทำรวมกันกับของที่ทำไว้คราวแรก เพราะฉะนั้น จึงควรทำในภาชนะอื่น แต่ของที่ทำแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นจะฉันรวมกับของทำไว้คราวแรก ควรอยู่, และเมื่อจะทำกัปปิยะ พึงทำในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น หามิได้ พึงวางไว้ในหม้อข้าว ในกระเช้าข้าว ในที่ใดที่หนึ่งข้างหนึ่งแล้ว พึงกระทะในภาชนะที่เขาน้อมเข้ามาเถิด, ถ้าแม้นภิกษุตั้ง ๑๐๐ รูป ห้ามภัต ทุกรูปจะฉันภัตที่ทำกัปปิยะแล้วนั้นก็ควร แม้พวกภิกษุผู้ไม่ห้ามภัตก็ควรฉัน, แต่ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ให้ทำกัปปิยะ
      - ถ้าแม้นชาวบ้านเห็นภิกษุผู้ห้ามภัตเข้าไปบิณฑบาต รับบาตรแล้วให้นั่งในสถานที่นิมนต์เพื่อต้องการมงคล ซึ่งจะต้องมีการฉันแน่นอน พึงให้ทำให้เป็นเดนก่อนแล้ว ฉันเถิด ถ้าในสถานที่นิมนต์นั้นไม่มีภิกษุอื่น พึงส่งบาตรไปยังหอฉันหรือวิหารแล้วให้ทำ (ให้เป็นเดน), แต่เมื่อจะทำกัปปิยะ ไม่ควรทำของที่อยู่ในมืออนุปสัมบัน, ถ้าในหอฉันมีภิกษุไม่ฉลาด พึงไปให้ทำกัปปิยะเอง แล้วนำมาฉัน
      - ภัตที่ภิกษุอาพาธฉันเหลืออย่างเดียว จึงชื่อว่า ภัตเป็นเดนของภิกษุอาพาธหามิได้, โดยที่แท้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขานำมาเฉพาะภิกษุอาพาธ ด้วยใส่ใจว่าท่านจักฉันในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ หรือในเวลาที่ท่านต้องการ, วัตถุทั้งหมดนั้นพึงทราบว่า เดนของภิกษุอาพาธ
      ๘. เป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน ในกาลิกทั้งหลายมียามกาลิกเป็นต้น (ดูสิกขาบทที่ ๗ กาลิกข้างหน้า) ท่านปรับด้วยอำนาจกาลิกไม่ระคนกัน, แต่ถ้าว่าเป็นกาลิกระคนกันกับอามิส เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้นแก่ภิกษุรับประเคน เพื่อประโยชน์แก่อาหารก็ดี เพื่อประโยชน์มิใช่อาหารก็ดี กลืนกิน
      ๙. สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑  ทางกาย วาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
      ๑๐. นานาวินิจฉัย หน้า ๙๐ ตั้งข้อสังเกตว่า โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๕ นี้ ควรแปลบทว่า “ภุตฺตาวี” ว่า “กำลังฉันอยู่” เพราะที่แปลว่า “ฉันเสร็จ” นั้น ไม่ตรงกับความมุ่งหมาย เนื่องจากผู้ฉันเสร็จแล้วไม่เป็นอาบัติเพราะสิกขาบทนี้ จริงอยู่ ตาวี ปัจจัย เป็นอดีตกาล แต่ก็สามารถแบ่งเป็นปัจจุบันกาลได้ เพราะในวิธีไวยากรณ์เป็นเยภุยยนัย อีกอย่างหนึ่ง การแปลควรถือเอาแต่ใจความเท่านั้น โดยไม่ต้องเพ่งบทพยัญชนะมากเกินไป ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า
      พฺยญฺชเน อาทรํ อกตฺวา อธิปฺเปตเมว คเหตพฺพํ
      “ไม่ต้องเอื้อเฟื้อในพยัญชนะพึงถือเอาแต่ใจความเท่านั้น
      โปรดดูอรรถกถาของสิกขาบทนี้ด้วย”



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๘๕)
ภิกษุแกล้งลวงภิกษุผู้ห้ามภัตแล้ว ให้ฉันอาหารที่ไม่ได้เป็นเดน
เพื่อจะเพ่งหาโทษให้ ต้องปาจิตตีย์

      ภิกษุรูปหนึ่งประพฤติอนาจาร ภิกษุผู้เป็นเพื่อนจึงเตือนเธอว่า อาวุโส ท่านอย่าได้ทำอย่างนั้น เพราะมันไม่สมควร เธอได้ผูกใจเจ็บในภิกษุนั้น ครั้นไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ประชาชนได้ถวายภัตแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เป็นเพื่อนฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ภิกษุรูปที่ผูกใจเจ็บไปสู่ตระกูลญาติรับบิณฑบาตมาแล้ว นำเข้าไปให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนนั้น แล้วกล่าวว่า อาวุโส นิมนต์ฉัน ภิกษุผู้เป็นเพื่อนปฏิเสธ เธอก็ยังแค่นให้ฉัน ภิกษุผู้เป็นเพื่อนจึงได้ฉันบิณฑบาตนั้น
      ภิกษุผู้ผูกใจเจ็บจึงพูดต่อว่าภิกษุผู้เป็นเพื่อนว่า อาวุโส ท่านสำคัญว่าผมเป็นผู้ควรว่ากล่าวหรือ ท่านเองฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ยังฉันโภชนะอันมิใช่เดนได้, ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า อาวุโส ท่านควรบอกมิใช่หรือ, รูปที่ผูกใจเจ็บ : อาวุโสท่านต้องถามมิใช่หรือ
      ภิกษุผู้เป็นเพื่อนได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียนภิกษุผู้ผูกใจเจ็บ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เพ่งจะหาโทษให้ นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ด้วยของเคี้ยวก็ดี ด้วยของฉันก็ดี อินมิใช่เดน บอกว่า นิมนต์เถิด ภิกษุเคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม พอเธอฉันแล้ว เป็นปาจิตตีย์      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า “ฉันเสร็จ”, “ห้ามภัตแล้ว”, “มิใช่เดน”, “ของฉัน” พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
      - นำไปปวารณา คือ บอกว่า จงรับของตามที่ต้องการ
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือรูปอื่นบอก หรือภิกษุนั้นบอก
      - ที่ชื่อว่า เพ่งจะหาโทษให้ คือ เพ่งเล็งว่า จักท้วง จักเตือน ซึ่งภิกษุนี้ จักทำให้เป็นผู้เก้อด้วยโทษข้อนี้

อาบัติ
       ๑. ภิกษุนำไป (ให้) ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับไว้ตามคำของเธอด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติทุกกฎขณะกลืน ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน เมื่อภิกษุนั้นฉันเสร็จแล้ว ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุรู้ว่าห้ามภัตแล้ว นำไปปวารณาด้วยของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันมิใช่เดน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๔. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้ห้ามภัต... ไม่ต้องอาบัติ
      ๕. ภิกษุนำยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ไปเพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุคิดว่าห้ามแล้ว... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุรู้ว่ายังมิได้ห้ามภัต... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วให้ ๑  ให้ด้วยบอกว่า จงทำให้เป็นเดนแล้วจึงฉันเถิด ๑  ให้ด้วยบอกว่า จงนำไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ให้อาหารที่เหลือจากภิกษุอาพาธ ๑  ให้ด้วยบอกว่า ในเมื่อมีเหตุสมควร จงฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๒๕-๕๒๖
      ๑. เมื่อภิกษุผู้ที่ตนน้อมถวายภัตรับเอา เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้น้อมถวาย, ส่วนความแตกต่างแห่งอาบัติทุกอย่างของภิกษุผู้รับนอกนี้ กล่าวไว้แล้วในปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕, แต่ในสิกขาบทนี้ พระวินัยธรพึงปรับอาบัติทั้งหมดแก่ภิกษุน้อมถวายภัตเท่านั้น
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๘๖)
ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่ เป็นปาจิตตีย์

      ในพระนครราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขา พระสัตตรสวัคคีย์ได้ไปดู ประชาชนเห็นจึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ให้ลูบไล้ของหอม ให้ฉันอาหารแล้ว ได้ถวายของเคี้ยวไปด้วย พวกท่านได้นำของเคี้ยวไปยังอารามแล้วกล่าวเชิญให้พระฉัพพัคคีย์นำไปขบฉันบ้าง
      พระฉัพพัคคีย์สอบถาม ทราบความ ได้เพ่งโทษติเตียน แล้วแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายตั้งแต่เวลาเที่ยงวันแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว, ของฉัน พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
      ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. เวลาวิกาล ภิกษุรู้ว่าเวลาวิกาล เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เวลาวิกาล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เวลาวิกาล ภิกษุคิดว่าเป็นในกาล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุรับยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
      ๖. ในกาล ภิกษุคิดว่าเป็นวิกาล... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ในกาล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. ในกาล ภิกษุรู้ว่าในกาล... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาชีวิก เมื่อมีเหตุสมควร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๓๐-๕๓๙
      ๑. บทว่า คิรคฺคสมชฺโช คือ มหรสพชั้นเยี่ยมบนภูเขา, อีกอย่างหนึ่งได้แก่ มหรสพ (ที่แสดง) บนยอดเขาแห่งภูเขา, ทางนครทำการโฆษณาในเมืองว่า นัยว่ามหรสพนั้นจักมีกันในวันที่ ๗ ฝูงชนเป็นอันมากได้ชุมนุมกันที่ร่มเงาแห่งบรรพตบนภูมิภาคที่ราบเรียบภายนอกเมือง การฟ้อนรำของพวกนักฟ้อนมีประการมากมายหลายอย่างเป็นไปอยู่, ชนทั้งหลายได้ผูกเตียงซ้อนเตียง เพื่อดูการฟ้อนรำของพวกนักฟ้อนเหล่านั้น, พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์อุปสมบทแต่ยังเด็กๆ ในเมื่อสิกขาบทยังมิได้บัญญัติ ภิกษุเหล่านั้นชักชวนกันว่า ผู้มีอายุ พวกเราจักไปดูฟ้อนรำกัน แล้วได้ไปในที่นั้น, ครั้งนี้ เหล่าญาติของพวกเธอมีจิตยินดีว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราก็มาด้วย จึงให้อาบน้ำ ลูบไล้ ให้ฉันแล้วได้ถวายแม้ของอื่น มีขนมและของควรเคี้ยวเป็นต้น ติดมือไปด้วย
      ๒. บทว่า วิกาเล คือ ในเมื่อกาลผ่านไปแล้ว กาลแห่งโภชนะของภิกษุทั้งหลาย ท่านประสงค์เอาว่ากาล, ก็กาลแห่งโภชนะนั้น โดยกำหนดอย่างต่ำว่า คือ เที่ยงวัน,  อธิบายว่า เมื่อกาล (เวลา) เที่ยงวันนั้นล่วงเลยไปแล้ว จนถึงอรุณขึ้นชื่อว่า วิกาล, แม้เวลาเที่ยงตรงก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นกาล, จำเดิมแต่เวลาเที่ยงตรงไป ภิกษุไม่อาจเพื่อจะเคี้ยว หรือฉันได้ แต่ยังอาจเพื่อจะรีบดื่มได้, ส่วนภิกษุผู้มีความรังเกียจไม่พึงทำ และเพื่อรู้กำหนดเวลาควรปักเสาเครื่องหมายกาลเวลาไว้ ดังนั้นพึงทำภัตกิจภายในกาล
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งนิสสัคคีย์ โกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓
      ๔.ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า ๑๖
           ๔.๑ กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของฉันอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง
           ๔.๒ ยาวกาลิก (ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน) รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
           ๔.๓ ยามกาลิก (ของที่ฉันได้ชั่วระยะวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง) รับประเคนไว้แล้วฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง คือ น้ำมะม่วง น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำมะซาง (ต้องเจือด้วยน้ำจึงจะควร) น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น น้ำเหง้าอุบล น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่ นิยมเรียกว่า น้ำอัฎฐบาน
           ๔.๔ สัตตาหกาลิก รับประเทคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
           ๔.๕ ยาวชีวิก (ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลาตลอดชีวิต) รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไป ไม่จำกัดกาล ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้างต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยายเพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
      ๕.นมเป็นปณีตโภชนะ ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล
      ยานิโข ปน ตานิ ปณีตโภชนานิ. เสยฺยถิทํ, สปฺปิ นวนิตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ มจฺโฉ มํสํ ขีรํ ทธิ... ปาจิตฺติยํ

ภิกษุใด ขอโภชนะอันประณีตเป็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เภสัช ๕ ฉันในเวลาวิกาลได้
      ครั้งหนึ่ง ในฤดูสารท (ฤดูอับลม) ภิกษุเป็นอันมากเกิดเจ็บไข้ไม่สบาย ฉันอาหารไม่ค่อยได้ ฉันแล้วอาเจียน เป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นยาได้ เพราะฉะนั้นเภสัชเหล่านี้จึงจัดเป็นยาก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ ดังมีพระบาลีว่า
      อิมานิ โข ปน เภสชฺชานิ. เสยฺยถิทํ, สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตฺํ เภสชฺชานิ เจว เภสชฺชสมฺมตานิ จ โลกสฺส, อาหารตฺถญฺจ ผรนฺติ, น โอฬาริโก อาหาโร ปญฺญายติ...อนุชานามิ ภิกฺขเว ตานิ ปญฺจ เภสชฺชานิ ปฏิคฺคเหตฺวา กาเลปิ วิกาเลปิ ปริภุญฺชิตุํ.
      เภสัช ๕ เหล่านี้คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ทั้งในกาล ทั้งในเวลาวิกาล
      สำหรับ ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม ๔ อย่างนี้ ไม่จัดเป็นเภสัช ๕ ดังกล่าว ทั้งไม่จัดเข้าในยาวชีวิก และน้ำปานะอันเป็นยามกาลิกด้วย จึงเป็นปณีตโภชนาหารเท่านั้น เพราะฉะนั้นภิกษุสามเณรจึงไม่ควรดื่มนมในเวลาวิกาล แม้เครื่องดื่มต่างๆ เมื่อผสมกับนมแล้วก็ไม่ควรเช่นกัน

เครื่องดื่มที่ทำจากถั่ว ไม่ควรฉันในเวลาวิกาล
      ในสมัยต้นกัป ข้าวชนิดต่างๆ เกิดขึ้นก่อน ภายหลังถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นข้าวจึงได้ชื่อว่า “ปุพฺพณฺณ” ส่วนถั่วเรียกว่า “อปรณฺณ” ทั้ง ๒ อย่างนี้ในพระบาลีและอรรถกถาจัดเป็นยาวกาลิก ภิกษุสามเณรไม่ควรฉันในเวลาวิกาล แม้ที่ต้ม กรอง หรือที่เขาทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ก็ไม่ควร
      นอกจากนั้น น้ำแห่งผลไม้ใหญ่ ๙ ชนิด คือ ตาล, มะพร้าว, ขนุน, สาเก, น้ำเต้า, ฟักเขียว, แตงไท, แตงโม และฟักทอง ก็ไม่ควรฉันในเวลาวิกาลเช่นเดียวกัน

ปานอนุโลม
      ปานอนุโลม (เครื่องดื่มที่อนุโลมตามน้ำปานะ) มี ๒ อย่าง คือ
      ๑.อกปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุไม่ควรฉันในเวลาวิกาล) ได้แก่ มหาผล (น้ำแห่งผลไม้ใหญ่) ๙ ชนิด มี ตาล มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งอนุโลมตามข้าวสาร ข้าวเปลือก และถั่วชนิดต่างๆ
      ๒.กปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุฉันในเวลาวิกาลได้) ได้แก่ น้ำแห่งผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ทั้งหมด (ไม่สามารถนับจำนวนได้) ที่นอกจากข้าวสาร ข้าวเปลือก ถั่วต่างๆ และมหาผล ๙ ชนิด น้ำต้มผัก และดอกมะซาง

      หมายเหตุ อาจารย์ทั้งหลายไม่ฉันน้ำส้มเป็นต้น ที่ทำสุกด้วยไฟ โดยความเป็นยามกาลิก สำหรับเครื่องดื่มที่เขาเอาน้ำปานะเหล่านั้นเล็กน้อยผสมน้ำตาล แล้วเคี่ยวให้เข้มข้น จัดเป็นอัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้ (ยกเว้นจำพวกที่ทำจากนมและถั่ว), (นานาวินิจฉัย/๑๓๙-๑๔๒)



อุฎฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ ฯ ๒๔ ฯ

ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการงานสะอาด
ทำงานด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เป็นอยู่โดยชอบธรรม ไม่ประมาท

Of him who is energetic, mindeful, Pure in deed, considerate, self-restrained,
Who lives the Dhamma and who is heedful, Reputation steadily increases.  
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
no.24

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2561 15:04:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #48 เมื่อ: 18 มกราคม 2562 15:51:10 »



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๘๗)
ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหาร ซึ่งรับประเคนไว้ค้างคืน ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระเวฬฏฐสีสะ พระอุปัชฌายะของท่านพระอานนท์ อยู่ในอาวาสป่า ท่านเที่ยวบิณฑบาต ได้บิณฑบาตเป็นอันมาก แล้วเลือกนำแต่ข้าวสุกล้วนๆ ไปสู่อาราม ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้ เมื่อใดต้องการอาหารก็แช่น้ำฉัน นานๆ จึงเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตเสียที ภิกษุทั้งหลายสงสัยจึงสอบถามท่าน รู้ว่าท่านสั่งสมไว้ ต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า  ”อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ทำการสั่งสม คือรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น
       - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ของฉัน พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
       - ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ของทำการสั่งสม ภิกษุรู้ว่าทำการสั่งสม เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ของทำการสั่งสม ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๓. ของทำการสั่งสม ภิกษุคิดว่ามิได้ทำการสั่งสม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุรับประเคนของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ       ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
       ๕. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุคิดว่าทำการสั่งสม... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุรู้ว่ามิได้ทำการสั่งสม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุเก็บของเป็นยาวกาลิกไว้ฉันชั่วกาล ๑  ภิกษุเก็บของเป็นยามกาลิกไว้ฉันชั่วยาม ๑  ภิกษุเก็บของเป็นสัตตาหกาลิกไว้ฉันชั่วสัปดาห์ ๑  ภิกษุฉันของเป็นยาวชีวิกในเมื่อมีเหตุสมควร ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๔๓-๕๔๖
      ๑. พระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งรวมอยู่ภายในแห่งภิกษุชฏิลพันรูป ชื่อว่า เวฬฏฐสีละ
ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉันภายในบ้านแล้ว ภายหลังเที่ยวบิณฑบาต นำเอาข้าวสุกเช่นนั้นมา, ก็แลพระเถระนำเอาข้าวสุกนั้นมา เพราะความเป็นผู้มักน้อย ไม่ใช่เพราะความเป็นผู้ติดในปัจจัย, ได้ยินว่า พระเถระยับยั้งอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติ ตลอด ๗ วัน ออกจากสมาบัติแล้ว เอาบิณฑบาตนั้นชุบน้ำฉัน ย่อมนั่งเข้าสมาบัติ ต่อจาก ๗ วันนั้นไปอีก ๗ วัน, ท่านยับยั้งอยู่ตลอด ๒ สัปดาห์บ้าง ๓ สัปดาห์บ้าง ๔ สัปดาห์บ้าง แล้วนานๆ จึงเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
      ๒. คำว่า การ การณ์ กิริยา (ทั้ง ๓ นี้) โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน, การทำความสะสมมีอยู่แก่ขาทนียะ และโภชนียะนั้น,  ฉะนั้น จึงชื่อว่า สันนิธิการ, สันนิธิการนั่นแหละชื่อว่า สันนิธิการก, ความว่า สันนิธิกิริยา (ความทำการสะสม), คำว่า สันนิธิการกนั้น เป็นชื่อ (แห่งขาทนียะ โภชนียะ) ที่ภิกษุรับประเคนไว้ให้ค้างคืน, ของที่ภิกษุรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น ชื่อว่า สันนิธิการก
      ๓. เมื่อภิกษุรับยาวกาลิก หรือยามกาลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่กระทำสันนิธิอย่างนี้ด้วยความประสงค์จะกลืนกิน ต้องทุกกฎในเพราะรับประเคนก่อน, แต่เมื่อกลืนกินเป็นปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน, ถ้าแม้นว่าบาตรล้างไม่สะอาด ซึ่งเมื่อลูบด้วยนิ้วมือ รอยปรากฏ, เมือกซึมเข้าไปในระหว่างหมุดแห่งบาตรที่มีหมุด เมือกนั้นเมื่ออังที่ความร้อนให้ร้อนย่อมซึมออก หรือว่า รับข้าวยาคูร้อน จะปรากฏ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันแม้ในบาตรเช่นนั้นในวันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นภิกษุพึงล้างบาตรแล้วเทน้ำใส่ลงไปในบาตรนั้น หรือลูบด้วยนิ้วมือ จึงจะรู้ได้ว่า ไม่มีเมือก, ถ้าแม้นว่ามีเมือกบนน้ำก็ดี รอยนิ้วมือปรากฏในบาตรก็ดี, บาตรย่อมเป็นอันล้างไม่สะอาด, แต่ในบาตรมีสีน้ำมัน รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ รอยนิ้วมือนั้นเป็นอัพโพหาริก
      ภิกษุทั้งหลายไม่เสียดาย สละโภชนะใดให้แก่สามเณร, ถ้าสามเณรเก็บโภชนะนั้นไว้ถวายแก่ภิกษุ ควรทุกอย่าง แต่ที่ตนเองรับประเคนแล้วไม่สละเสียก่อน ย่อมไม่ควรในวันรุ่งขึ้น, จริงอยู่ เมื่อภิกษุกลืนกินข้าวสุกแม้เมล็ดเดียวจากโภชนะที่ไม่สละนั้น เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      บรรดาเนื้อที่เป็นอกัปปิยะ ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์กับถุลลัจจัย, ในเนื้อที่เหลือเป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, เมื่อกลืนกินยามกาลิกเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, ถ้าภิกษุเป็นผู้ห้ามภัต กลืนกินโภชนะที่ไม่ได้ทำให้เป็นเดนในอามิสตามปกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว, ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว กับถุลลัจจัย, ในอกัปปิยมังสะที่เหลือ เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, เมื่อกลืนกินยามกาลิกทางปากที่มีอามิส เมื่อมีเหตุ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว, ทางปากไม่มีอามิส เป็นปาจิตตีย์ตัวเดียวเท่านั้น, เมื่อกลืนกินเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร ทุกกฎเพิ่มขึ้นแม้ในวิกัปทั้ง ๒ ถ้าภิกษุกลืนกินในเวลาวิกาล, ในโภชนะตามปกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว เพราะการสันนิธิเป็นปัจจัย ๑ เพราะฉันในเวลาวิกาล เป็นปัจจัย ๑, ในอกัปปิยะมังสะเป็นถุลลัจจัยและทุกกฎเพิ่มขึ้น, ในเพราะยามกาลิกไม่เป็นอาบัติ เพราะฉันในวิกาลเป็นปัจจัย, แต่ไม่เป็นอาบัติในวิกัปทุกอย่างในเวลาวิกาล เพราะความไม่เป็นเดนในยามกาลิกเป็นปัจจัย
      - เมื่อภิกษุรับประเคนเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นทุกกฎ เพราะการรับประเคนเป็นปัจจัยก่อน, แต่เมื่อกลืนกิน ถ้าเป็นของไม่มีอามิสเป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน, ถ้าสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ระคนด้วยอามิส เป็นของที่ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ เป็นปาจิตตีย์ตามวัตถุแท้
      ๔. ขาทนียะ โภชนียะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขยายไว้แล้วในวิกาลโภชนะสิกขาบท เรียกว่า ยาวกาลิก เพราะเป็นของอันภิกษุพึงฉันได้ชั่วเวลา คือ เที่ยงวัน, ปานะ ๘ อย่าง กับพวกอนุโลมปานะ เรียกว่า ยามกาลิก  ด้วยอรรถว่า มีเวลาเป็นครู่ยาม เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงฉันได้ตลอดชั่วยาม คือ ปัจฉิมยามแห่งราตรี, เภสัช ๕ อย่าง มีสัปปิ เป็นต้น เรียกว่า สัตตาหกาลิก  ด้วยอรรถว่า มีเวลา ๗ วัน เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงเก็บไว้ได้ถึง ๗ วัน,  กาลิกที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นน้ำเสีย เรียกว่า ยาวชีวิก เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงรักษาไว้ฉันได้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุ
      บรรดากาลิกเหล่านั้น ภิกษุเก็บยาวกาลิกที่รับประเคนในเวลารุ่งอรุณไว้ ฉันได้ตั้งร้อยครั้ง ตราบเท่าที่กาลเวลายังไม่ล่วงเลยไป, ฉันยามกาลิกได้ตลอด ๑ วัน กับ คืน ๑,  ฉันสัตตาหกาลิกได้ ๗ คืน,  ฉันยาวชีวิตนอกนี้ได้แม้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุ ไม่เป็นอาบัติ
      ๕. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกาโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งนิสสัคคีย์โกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๘๘)
ภิกษุไม่อาพาธ ขออาหารอย่างดีเพื่อตน แล้วฉัน ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติห้าม...
สมัยต่อมา ภิกษุอาพาธทั้งหลายอยู่ไม่ผาสุก เพราะไม่ได้โภชนะอันประณีต เนื่องจากมีพระบัญญัติห้ามขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนั้น จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์      
      
อรรถาธิบาย
       - โภชนะอันประณีต ได้แก่ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย พึงทราบคำอธิบายจากนิสสัคีย์ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓
       - ที่ชื่อว่า ปลา ได้แก่ สัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ, เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
       - ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระเบือ หรือน้ำนมของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
       - ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้นนั่นแหละ
       - ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็ยังอยู่โดยผาสุกได้
       - ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ไม่อาจอยู่โดยผาสุกได้
       ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธขอเพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นทุกกฎในประโยคที่ขอ, ได้ของนั้นมารับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ, ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีต เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าอาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุขอขมาตอนอาพาธ หายอาพาธแล้วฉัน ๑  ฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุอาพาธ ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๕๑-๕๕๔
      ๑. ภิกษุขอโภชนะที่ดีล้วนๆ มีสัปปิ (เนยใส) เป็นต้น มาฉัน ไม่ต้องปาจิตตีย์, ต้องทุกกฎเพราะขอแกงและข้าวสุกในพวกเสขิยวัตร (ดูเสขิยวัตร สิกขาบทที่ ๗ แห่งสักกัจจวรรค) แต่ภิกษุผู้ขอโภชนะดี ที่ระคนกับข้าวสุกมาฉัน พึงทราบว่าต้องปาจิตตีย์
         - เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า ปณีตานิ  ตรัสในสูตรว่า ปณีตโภชนานิ, เมื่อพระองค์ตรัสว่า ปณีตานิ ย่อมรวมเอาสัปปิเป็นต้นเข้าด้วย แต่เมื่อตรัสว่า ปณีตโภชนานิ เนื้อความย่อมปรากฏดังนี้ว่า โภชนะที่เกิดจากธัญชาติ ๗ ชนิด ระคนด้วยของประณีต ชื่อว่า โภชนะประณีต
      ๒. เมื่อภิกษุขอว่า ท่านจงให้ภัตกับเนยใส, จงราดเนยใสให้, จงทำให้ระคนกับเนยใสแล้วให้, จงให้เนยใส, จงให้เนยใสและภัต  ดังนี้ เป็นทุกกฎเพราะการออกปากขอ, เป็นทุกกฎเพราะการรับประเคน, เป็นปาจิตตีย์เพราะกลืนกิน, แต่เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงให้สัปปิภัต เพราะธรรมดาว่าสัปปิภัตดุจสาลีภัต ไม่มี  ฉะนั้น พึงทราบว่า เป็นทุกกฎเพราะออกปากขอแกงและข้าวสุกอย่างเดียว
         - ก็ถ้าภิกษุกล่าวว่า จงให้ภัตกับเนยใส แต่ทายกถวายภัตแล้ว ถวายเนยข้น นมสดหรือนมส้ม ด้วยกล่าวว่า นิมนต์ท่านทำเนยใสฉันเถิด ก็หรือถวายมูลค่ากล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเอาเนยใสด้วยมูลค่านี้ฉันเถิด (เป็นปาจิตตีย์) ตามวัตถุทีเดียว
          - แต่เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ภัตกับเนยใสโค ทายกจงถวายด้วยเนยใสโค หรือเมื่อเนยใสโคไม่มี จงถวายเนยข้นโคเป็นต้น โดยนัยก่อนนั่นแล หรือจงถวายแม่โคทีเดียวก็ตาม  กล่าวว่า นิมนต์ท่านฉันด้วยเนยใสจากแม่โคนี้ (เป็นปาจิตตีย์) ตามวัตถุเหมือนกัน
         - แต่ถ้าทายกถูกภิกษุขอด้วยเนยใสโค ถวายด้วยเนยใสของแพะ เป็นต้น เป็นอันผิดสังเกต, จริงอยู่ เมื่อมีการถวายอย่างนี้ จึงเป็นทายกถูกภิกษุขออย่างหนึ่ง ถวายไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอาบัติ
         - เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ด้วยกัปปิยะเนยใส ทายกถวายด้วยอกัปปิยะเนยใส เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ด้วยอกัปปิยะเนยใส ทายกถวายด้วยกัปปิยะเนยใส เป็นทุกกฎเหมือนกัน ทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภค เมื่ออกัปปิยะเนยใสไม่มี เขาถวายด้วยอกัปปิยะเนยข้นเป็นต้น โดยนัยก่อนนั่นแล ด้วยกล่าวว่า นิมนต์ท่านทำเนยใสฉันเถิด เป็นอันเขาถวายด้วยอกัปปิยะเนยใสแท้
         เมื่อภิกษุกล่าวว่า ด้วยอกัปปิยะเนยใส เขาถวายด้วยกัปปิยะเนยใส เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน เมื่อกล่าวว่าด้วยเนยใส เขาถวายด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเนยข้นเป็นต้นที่เหลือ เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน แม้ในคำว่า จงถวายด้วยเนยข้นเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน
         - เมื่อมีการออกปากขอด้วยวัตถุใดๆ เมื่อภิกษุได้วัตถุนั้น หรือมูลค่าแห่งวัตถุนั้นแล้ว จัดว่าเป็นอันได้วัตถุนั้นๆ แล้วเหมือนกัน, แต่ถ้าเขาถวายของอื่นที่มาในพระบาลี หรือมิได้มาก็ตาม เป็นผิดสังเกต, เมื่อภิกษุออกปากขอด้วยเนยข้นเป็นต้นอย่างอื่น ยกเว้นเนยข้นที่มาในพระบาลีเป็นต้นเสีย เป็นทุกกฏ, เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้สัปปิภัต การออกปากขอแกงและข้าวสุกเป็นทุกกฏเท่านั้น เพราะสัปปิภัตไม่เหมือนสาลีภัต ฉันใด  แม้ในคำว่า จงให้นวนีตภัตเป็นต้น ก็ฉันนั้น (คือเป็นเพียงทุกกฎฉันนั้น)
         - แต่ถ้าภิกษุออกปากขอในที่เดียวกัน หรือในที่ต่างกันด้วยวัตถุ มีเนยใส เนยส้ม แม้ทั้งหมด เทของที่ได้แล้วลงในภาชนะเดียวกัน ทำให้เป็นรสเดียวกัน แม้เอาปลายหญ้าคาแตะหยดลงที่ปลายลิ้นหยดเดียว จากรสนั้นแล้วกลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ๙ ตัว
      ๓. ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีความสำคัญว่า อาพาธ ออกปากขอเภสัช ๕ เพื่อประโยชน์แก่เภสัช, พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยมหานามสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งอเจลกวรรค), แต่เมื่อออกปากขอโภชนะประณีต ๙ อย่าง พึงปรับด้วยสิกขาบทนี้, แต่โภชนะประณีต ๙ อย่างนี้ เป็นปาฏิเทสนียวัตถุ สำหรับพวกภิกษุณี, ในเพราะการออกปากขอแกงและข้าวสุกเป็นทุกกฏที่ตรัสไว้ในเสขิยบัญญัติเท่านั้น แก่ภิกษุและภิกษุณี แม้ทั้ง ๒ พวก
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต)



อุฎฺฐาเนนปฺปมาเทน  สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ ฯ ๒๕ ฯ  

ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาควรสร้างเกาะ (ที่พึ่ง) แก่ตนเอง ที่ห้วงน้ำ (กิเลส) ไม่สามารถท่วมได้

By diligence, vigilance, Restraint and self-mastery,
Let the wise make for himself an island That no flood can overwhelm.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.25

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มกราคม 2562 15:52:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #49 เมื่อ: 30 มกราคม 2562 15:53:10 »




ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๘๙)
ภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน ให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน

      ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติถือของทุกอย่างเป็นบังสุกุล ท่านพักอยู่ในสุสาน ท่านไม่ปรารถนาจะรับอาหารที่ประชาชนถวาย เที่ยวถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้าง มาฉัน  ประชาชนต่างเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนภิกษุนี้จึงได้ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าของพวกเราไปฉันเองเล่า ภิกษุนี้อ้วน บางทีคงจะฉันเนื้อมนุษย์
       ภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจน้ำและไม้ชำระฟัน จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ที่เขายังไม่ได้ให้ หมายเอาของที่ยังไม่ได้ประเคน
       - ที่ชื่อว่า เขาให้ (ลักษณะการประเคน) คือ เมื่อเขาให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกายหรือโยนให้ ๑ เขาอยู่ในหัตถบาส ๑ ภิกษุรับประเคนด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑ นี้ชื่อว่า เขาให้
       - ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่กลืนกินได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่า อาหาร
ภิกษุถือเอาด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
 
อาบัติ
       ๑. อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้รับประเคน กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. อาหารที่ยังไม่ได้ประเคน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุคิดว่าได้รับประเคนไว้แล้ว... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับประเคน... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. อาหารรับประเคนไว้แล้ว ภิกษุรู้ว่ารับประเคนไว้แล้ว... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       กลืนน้ำและไม้ชำระฟัน ๑  ฉันยามหาวิกัติ ๔  ในเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อกัปปิยการกไม่มี ภิกษุถือเอาเองแล้ว ฉันได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๕๙-๕๗๘
       ๑. ภิกษุนั้น ชื่อว่า สรรพบังกุสุลิกะ (ผู้มีปกติถือบังสุกุลทุกอย่าง) เพราะอรรถว่า ภิกษุนั้นมีบรรดาปัจจัย ๔ ทุกอย่าง โดยที่สุด แม้ไม้ชำระฟันก็เป็นบังสุกุลทั้งนั้น ได้ยินว่าภิกษุนั้นทำภาชนะที่เขาทิ้งในป่าช้านั่นเองให้เป็นบาตร ทำจีวรด้วยท่อนผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นนั่นแหละ ถือเอาเตียงและตั่งที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นเหมือนกัน ใช้สอย
       ปู่และตาของบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า อัยยะ ในคำว่า อยฺยโวสาฏิตกานิ นี้  ขาทนียะและโภชนียะที่เขาเซ่นทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นต้น  เพื่อประโยชน์แก่บรรพบุรุษเหล่านั้น เรียกว่า โวสาฏิตกะ (เครื่องเซ่น) ได้ยินว่า พวกมนุษย์ได้ทำของอันเป็นที่รักแห่งพวกญาติเหล่านั้นในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เป็นก้อนข้าวบิณฑ์ อุทิศพวกญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เซ่นวางไว้ในที่ทั้งหลายมีป่าช้าเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า ขอเหล่าญาติของพวกเราจงบริโภคเถิด
       ๒. บทว่า เถโร แปลว่า แข็งแรง คือ ล่ำสัน
       - บทว่า วทฺธโร แปลว่า อ้วนล่ำ มีคำอธิบายว่า ภิกษุนี้ทั้งอ้วน ทั้งมีร่างกายล่ำสัน
       - สามบทว่า มนุสฺสมํสํ มญฺเญ ขาทติ มีความว่า พวกเราเข้าใจภิกษุนั้นว่า บางทีจะฉันเนื้อมนุษย์ ประชาชนเหล่านั้นมีความเข้าใจดังนี้ว่า ความจริงพวกคนกินเนื้อมนุษย์ย่อมเป็นผู้เช่นนี้
       - บทว่า อทินฺนํ มีความว่า เขาไม่ได้ให้ด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และการโยนให้อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่ภิกษุผู้รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย  จริงอยู่ พระอุบาลีหมายเอาของที่เขาไม่ได้ให้นี้แหละจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า ชื่อว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านเรียกของที่ยังไม่ได้รับประเคน แต่ในทุติยปาราชิกตรัสว่า ชื่อว่า ของที่เขาไม่ได้ให้ ท่านเรียกทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน
       ๓. ว่าด้วยการประเคนและรับประเคน
       - ข้อว่า กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทนฺเต  ได้แก่ เมื่อคนอื่นเขาให้อยู่อย่างนี้ (คือ ให้อยู่ด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย โยนให้)
       - บทว่า กาเยน มีความว่า ที่เขาให้ด้วยบรรดาอวัยวะมีมือเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็เป็นอันชื่อว่าให้แล้วด้วยกาย แม้ในการรับประเคนก็นัยนี้นั่นแล แท้จริงที่สุด ภิกษุรับประเคนด้วยสรีราวัยวะ (ส่วนแห่งร่างกาย) ส่วนใดส่วนหนึ่ง จัดว่ารับประเคนแล้วด้วยกายเหมือนกัน ถ้าแม้นเขาให้ของที่ต้องทำด้วยการนัตถุ์ ภิกษุอาพาธไม่อาจนัตถุ์เข้าทางช่องจมูกได้เลย รับเข้าทางปากได้ (รับประเคนทางปากได้)  ความจริง เพียงความใส่ใจเท่านั้นเป็นประมาณในการรับประเคนนี้ นัยนี้ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี
       - บทว่า กายปฏิพทฺเธน  มีความว่า ของที่เขาให้ด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอุปกรณ์มีทัพพีเป็นต้น เป็นอันชื่อว่าเขาให้ของเนื่องด้วยกาย แม้ในการรับประเคนก็นัยนี้เหมือนกัน ของที่ภิกษุรับด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยร่างกาย มีบาตรและถาดเป็นต้น จัดว่ารับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกายเหมือนกัน
       - บทว่า นิสฺสคฺคิเยน มีความว่า ก็ของที่เขาโยนถวายให้พ้นจากกาย และจากของเนื่องด้วยกายแก่ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาสด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย เป็นอันชื่อว่าเขาถวายด้วยประโยคที่โยนให้
       ๔. การรับประเคนมีองค์ ๕ อย่าง
       การรับประเคน ย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษผู้มีกำลังปานกลางยกได้ ๑  หัตถบาสปรากฎ (เขาอยู่ในหัตถบาส) ๑  การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑  เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตาม  ถวาย (ประเคน ) ๑  และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑  การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้  ในองค์ ๕ นั้น หัตถบาสแห่งภิกษุผู้ยืน นั่ง และนอน บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปวารณาสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๕ แห่งโภชนวรรค)
       ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น พึงกำหนดหัตถบาสทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้นและทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่าของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออกเพื่อให้หรือเพื่อรับเสีย  ถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดหัตถบาสโดยนัยดังกล่าวนั่นแหละ
       ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้หรือผลไม้ถวาย อยู่ในหัตถบาสเห็นปานนี้ การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้) ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศีรษะมายังสำนักภิกษุ พูดทั้งยืนว่า นิมนต์ การน้อมถวายยังไม่ปรากฏก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับ แต่ถ้าเขาน้อมลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ภิกษุพึงเหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง แม้โดยเอกเทศ ด้วยการรับเพียงเท่านี้ภาชนะทั้งหมดเป็นอันรับประเคนแล้ว ตั้งแต่รับประเคนนั้นไป จะยกลงหรือเลื่อนออก แล้วหยิบของที่ตนต้องการ สมควรอยู่ ส่วนในภาชนะเดียวกัน มีกระบุง ซึ่งมีข้าวสวยเป็นต้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย
       แม้ทายกผู้หาบภัตตาหารไป ถ้าน้อมถวาย สมควรอยู่ ถ้าแม้นมีไม้ไผ่ยาว ๓๐ ศอก ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อน้ำอ้อยแขวนไว้ ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อเนยใสแขวนไว้ ถ้าภิกษุรับประเคนลำไม้ไผ่นั้นเป็นอันรับประเคนของทั้งหมดเหมือนกัน
       ถ้าทายกกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับน้ำอ้อยสดซึ่งกำลังไหลออกจากรางหีบอ้อย การน้อมเข้ามาถวายยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรรับ แต่ถ้าเขาเอากากทิ้งแล้วเอามือวักขึ้นถวายๆ ควรอยู่
       บาตรมากใบ เขาวางไว้บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนเสื่อลำแพนก็ดี บนรางไม้ก็ดี บนแผ่นกระดานก็ดี ทายก (ผู้ให้) อยู่ในหัตถบาสแห่งภิกษุผู้อยู่ในที่ใด ของที่เขาให้ในบาตรเหล่านั้น อันภิกษุผู้อยู่ในที่นั้น แม้เอานิ้วแตะเตียงเป็นต้น ด้วยความหมายว่ารับประเคน จะยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เป็นอันรับประเคนแล้วทั้งหมด ถ้าแม้นภิกษุขึ้นนั่งเตียงเป็นต้น ด้วยหมายใจว่าเราจักรับประเคนก็ควรเหมือนกัน
       ถ้าแม้นเขาวางบาตรทั้งหลายไว้บนแผ่นดิน เอากระพุ้งกับกระพุ้งจรดกัน ของที่เขาถวายในบาตรใบที่ภิกษุนั่งเอานิ้วมือหรือเข็มแตะไว้เท่านั้น เป็นอันรับประเคนแล้ว ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมีหัตถบาสในที่ใดที่หนึ่ง ก็ควร นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น
       การรับประเคนบนใบปทุม หรือบนใบทองกวาวเป็นต้นนั้น ซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น ย่อมไม่ควร เพราะใบปทุมเป็นต้นนั้นไม่ถึงการนับว่าของเนื่องด้วยกาย เหมือนอย่างว่าในของเกิดกับที่นั้น การรับประเคนไม่ขึ้นฉันใด ในเตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น ในแผ่นกระดาน หรือในหินที่เป็นอสังหาริมะ การรับประเคนก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน ฉันนั้น  จริงอยู่ เตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น แม้นั้นเป็นของควรสงเคราะห์เข้ากับของที่เกิดกับที่นั้น
       แม้บนใบมะขามเป็นต้น ซึ่งเป็นใบเล็กๆ ดาดไว้บนพื้น การรับประเคนก็ไม่ขึ้น เพราะว่าใบมะขามเป็นต้นเหล่านั้นไม่สามารถจะตั้งไว้ด้วยดี แต่บนใบที่ใหญ่มีปทุมเป็นต้น (รับประเคน) ขึ้น
       ถ้าทายก (ผู้ให้) ยืนเลยหัตถบาสในที่นั้น เอากระบวยคันยาวตักถวาย ภิกษุพึงบอกเขาว่า เข้ามาถวายใกล้ๆ เขาไม่ได้ยินคำพูดหรือไม่เอื้อเฟื้อ เทลงไปในบาตรทีเดียว ภิกษุพึงรับประเคนใหม่ แม้ในบุคคลผู้ยืนอยู่ห่างโยนก้อนข้าวไปถวายก็นัยนี้เหมือนกัน ถ้าในบาตรที่นำออกมาจากถุงบาตรมีผงน้ำย้อม เมื่อมีน้ำ พึงล้างเสียก่อน เมื่อไม่มี พึงเช็ดผงน้ำย้อม หรือรับประเคนแล้วจึงเที่ยวไปบิณฑบาต ถ้าเมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต ผงตกลงในบาตร พึงรับประเคนก่อนรับภิกษา แต่เมื่อไม่รับประเคน  รับ (ภิกษา) เป็นวินัยทุกกฎ แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุรับประเคนธุลีที่ตกนั้นใหม่แล้ว ก็ถ้าเมื่อภิกษุกล่าวว่า รับประเคนก่อนจงถวาย พวกเขาไม่ได้ยินคำพูด หรือไม่เอื้อเฟื้อ ถวายภิกษุเลยทีเดียว ไม่เป็นวินัยทุกกฏ ภิกษุรับประเคนใหม่แล้วพึงรับภิกษาอื่นเถิด
       ๕. การประเคน
       คนส่วนมากรวมทั้งภิกษุบางรูปด้วย มักเข้าใจกันว่าสิ่งของที่ภิกษุรับประเคนแล้ว อนุปสัมบัน (คือสามเณรและคฤหัสถ์) จะถูกต้องไม่ได้ หากไปถูกต้องเข้า จะโดยตั้งใจก็ตาม หรือโดยไม่ตั้งใจก็ตามของนั้นจะต้องประเคนใหม่ พระจึงจะฉันได้ ถ้าไม่ประเคนใหม่พระจะฉันไม่ได้ หากฉันจะต้องอาบัติ เพราะฉันของที่เขาไม่ได้ให้ บางครั้งมีคฤหัสถ์ประเคนแล้ว อยากจะจัดสิ่งของให้เข้าที่ พระต้องวุ่นวายห้ามปรามกันเป็นการใหญ่ และต้องให้ประเคนใหม่ เป็นการเสียเวลา ทั้งอาจจะเป็นการทำให้ทายกพลอยไม่สบายใจไปด้วยที่ต้องทำให้พระขัดเคือง   อันที่จริงแล้ว ถ้าคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม มาถูกต้องอาหารที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว จะโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ตาม ของที่พระรับประเคนไว้นั้นไม่ถือว่าเสียการประเคน แม้ไม่ต้องประเคนใหม่ พระก็ยังฉันอาหารนั้นได้โดยไม่มีอาบัติ ดังที่พระอรรถกถาจารย์และฎีกาจารย์แสดงไว้ว่า
        สาเปกฺโข อาราธเก ปตฺตํ ฐเปตฺวา “เอตฺโต ปูวํ ภตฺตํ วา คณฺหา” ติ สามเณรํ วทติ.  สามเณโร หตฺถํ โธวิตฺวา สเจปิ สตกฺขตฺตุํ คเหตฺวา อตฺตโน ปตฺตคตํ อผุสนฺโตว อตฺตโน ปตฺเต ปกฺขิปิ.  ปุนปฏิคฺคหณกิจฺจํ นตฺถิ.
        (แปลว่า) ถ้าหากพระภิกษุผู้ยังมีความเยื่อใยในอาหารบิณฑบาตอยู่ แต่วางบาตรไว้ที่เชิงบาตร และบอกสามเณรว่า  เธอจะเอาขนมหรือข้าวจากบาตรนี้มาฉันก็ได้ และถ้าสามเณรล้างมือของตนให้สะอาด หยิบเอาขนมหรือข้าวจากบาตรสักร้อยครั้ง โดยไม่ถูกต้องอาหารในบาตรของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องรับประเคนอีก
       การที่ต้องให้สามเณรล้างมือให้สะอาด ก็เพื่อมิให้ฝุ่นเป็นต้นจากมือของตน ตกลงไปในบาตรของภิกษุ ถ้ามีฝุ่นเป็นต้นจากมือสามเณรตกไปในบาตรของภิกษุ ก็ต้องประเคนใหม่
       การที่ของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว จะเสียประเคนหรือไม่ ไม่ใช่เพราะเหตุที่คฤหัสถ์หรือสามเณรมาถูกต้อง แต่เสียด้วยองค์ ๗ ประการ ตามที่มีแสดงไว้ในอรรถกถาพระวินัยว่า


องค์ของการเสียประเคน ๗ ประการ คือ
       ปฏิคฺคหณํ นาม ลิงฺคปริวาตฺตเนน, กาลกิริยาย, สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน, หีนายาวตฺตเนน, อนุปสมฺปนฺนสฺส ทาเนน, อนเปกฺขวิสฺสชฺชเนน, อจฺฉินฺทิตฺวา คหเณน จ วิชหติ,
       ชื่อว่า การรับประเคนย่อมสละเสียไป (ด้วยองค์ ๗) เพราะการกลับเพศ (เพศชายกลับเป็นเพศหญิง) ของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการมรณภาพของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการลาสิกขาของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการหันไปเป็นคนเลว (คือ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกหลังจากรับประเคนแล้ว) ๑,  เพราะให้แก่อนุปสัมบัน ๑,  เพราะการสละไปโดยไม่มีความเยื่อใยแล้ว ๑,  เพราะการถูกคนอื่นแย่งชิงไป ๑
       แต่ในบางที่ท่านก็กล่าวว่า มีองค์ ๖ คือ เอาข้อ หีนายาวตฺตเนน (การเวียนไปเป็นคนเลว) กับข้อ สิกฺขาปจฺจกฺขาน (การบอกลาสิกขา) มารวมเป็นข้อเดียวกัน โดยถือเอาความหมายว่า ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกกับผู้ที่บอกลาสิกขาก็ขาดจากความเป็นพระ ถึงความเป็นคฤหัสถ์เหมือนกัน ดังที่ท่านกล่าวไว้ในสารัตถทีปนีฎีกาว่า  
       กตฺถจิ สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน สมานคติกตฺตา หีนายาวตฺตนํ วิสุํ น คณฺหนฺติ
       ในบางแห่งท่านก็เอาข้อ หีนายาวตฺตน กับข้อ สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน รวมเป็นข้อเดียวกัน เพราะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน
       การเสียประเคนของพระภิกษุเพราะการจับต้องของคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม ไม่มีแสดงไว้ในพระวินัย ดังที่ท่านกล่าวมาแล้ว  ดังนั้น เมื่อคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม กระทบถูกอาหารวัตถุที่ได้รับประเคนไว้แล้ว จึงไม่ควรห้ามปรามหรือให้ประเคนใหม่

การรับประเคนด้วยผ้าผืนยาวและใหญ่ สมควรได้อย่างไร
       ในที่ทำบุญบางที่ มีการวางภัตตาหารบนผ้าผืนยาวและใหญ่ พระภิกษุรับประเคนด้วยผ้า สำเร็จได้เฉพาะภัตตาหารที่อยู่ในหัตถบาสเท่านั้น ภัตตาหารที่วางอยู่นอกหัตถบาส ถือว่ายังไม่ได้รับประเคน ถ้าฉันก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยทันตโปนสิกขาบท ในโภชนวรรค
       การประเคนอาหารด้วยโต๊ะใหญ่และโต๊ะยาว รวมทั้งอาหารนั้น บุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ต้องสามารถยกขึ้นได้เพียงคนเดียว โต๊ะรวมทั้งภัตตาหารนั้นจึงยกประเคนพร้อมกันได้หลายคนอีกด้วย ถ้าโต๊ะใหญ่จนบุรุษผู้มีกำลังปานกลางยกขึ้นไม่ไหว ถึงบุคคลหลายคนยกขึ้นประเคน การประเคนนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ ดูหลักฐานต่อไปนี้
        ยตฺถ กตฺถจิ มหากฏสารหตฺถตฺถรณาทีสุ ฐปิตปตฺเต ปฏิคฺคหณํ น รุหตีติ วุตฺตํ,  ตํ หตฺถปาสาติกฺกมํ สนฺธาย วุตฺตนฺติ เวทิตพฺพํ,  หตฺถปาเส ปน สติ ยตฺถ กตฺถจิ วฏฺฏติ อญฺญตฺรตตฺถ ชาตกา.
        ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น คำนั้นพึงทราบว่าท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมีหัตถบาสในที่ใดที่หนึ่ง ก็ควร  นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น
        ปญฺจหงฺเคหิ ปฏิคฺคหณํ รุหติ ถามมชฺฌิมสฺส ปุริสสฺส อุจฺจารณมตฺตํโหติ, หตฺถปาโส ปญฺญายติ, อภิหาโร ปญฺญายติ, เทโว วา มนุสฺโส วา ติรจฺฉาคโต วา กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทติ, ตญฺเจ ภิกฺขุ กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา ปฏิคฺคหาติ, เอวํ ปญฺจหงฺเคหิ ปฏิคฺครณํ รุหติ.
       การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑  หัตถบาสปรากฎ (เข้าอยู่ในหัตถบาส) ๑  การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑  เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม  ดิรัจฉานก็ตาม ถวาย (ประเคน) ๑  และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑  การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้ (นานาวินิจฉัย/๑๘๔-๘)
       ๕. วิธีปฏิบัติเมื่อมีของตกในบาตรในเวลาต่างๆ
       ถ้าลมแรงพัดธุลีให้ลอยไปตกจากที่นั้นๆ ภิกษุไม่อาจรับภิกษาได้ จะผูกใจรับด้วยจิตบริสุทธิ์ ว่าเราจะให้แก่อนุปสัมบัน ควรอยู่ เที่ยวไปบิณฑบาตอย่างนั้นแล้วกลับไปยังวิหาร หรืออาสนศาลาให้ภิกษานั้นแก่อนุปสัมบันแล้ว จะเอาภิกษาที่อนุปสัมบันนั้นถวายใหม่ หรือจะถือเอาของอนุปสัมบันนั้นด้วยวิสาสะฉัน ก็ได้
       ถ้าภิกษุให้บาตรที่มีธุลีแก่ภิกษุในเวลาเที่ยวภิกษาจาร, พึงบอกภิกษุเจ้าของบาตรนั้นว่า ท่านรับประเคนบาตรนี้แล้ว พึงรับภิกษาหรือพึงฉัน ภิกษุเจ้าของบาตรนั้น พึงทำอย่างนั้น ถ้าธุลีลอยอยู่ข้างบน, พึงรินน้ำข้าวออกแล้วฉันส่วนที่เหลือเถิด, ถ้าธุลีจมแทรกลงข้างในพึงประเคนใหม่.  เมื่อไม่มีอนุปสัมบัน อย่าปล่อย (บาตร) จากมือเลย พึงนำไปในที่ซึ่งมีอนุปสัมบัน แล้วรับประเคนใหม่, จะนำธุลีที่ตกลงในข้าวแห้งออกแล้วฉัน ก็ควร, แต่ถ้าเป็นธุลีละเอียดมาก พึงนำออกมาพร้อมกับข้าวสวยส่วนข้างบน หรือพึงรับประเคนใหม่แล้วฉันเถิด
       เมื่อชาวบ้านวางข้าวยาคูหรือแกงไว้ข้างหน้า แล้วคน หยดแกงกระเซ็นขึ้นจากภาชนะตกลงในบาตร, ภิกษุพึงรับประเคนใหม่, เมื่อพวกเขาเอากระบวยตักมาถวาย หยาดสูปะเป็นต้น หยดออกจากกระบวยตกลงไปในบาตรก่อน เป็นอันตกลงไปด้วยดี ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย
       ถ้าแม้นเมื่อเขาเอาจอกน้ำเกลี่ยข้าวสุกลงอยู่ เขม่าหรือเถ้าตกลงไปจากจอกน้ำ ไม่มีโทษเหมือนกัน เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย ของที่เขากำลังถวายแก่ภิกษุรูปถัดไป กระเด็นออกจากบาตรไปตกในบาตรของภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นอันตกไปดี จัดว่ารับประเคนแล้วเหมือนกัน,
       เมื่อเขาจัดผักปลัง (ผักไห่) ดอง เป็นต้น ถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง  หยดน้ำ (ผักดอก) จากผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุอื่น เธอพึงรับประเคนบาตรใหม่ พวกเขากำลังจับข้างบนบาตรของภิกษุใด เมื่อหยดน้ำผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุนั้น ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาด้วยความเป็นผู้ประสงค์ถวาย
       พวกชาวบ้านถวายบาตรเต็มด้วยข้าวปายาส ภิกษุไม่อาจจับข้างล่างได้ เพราะมันจะร้อน จะจับแม้ที่ขอบปากก็ควรเหมือนกัน ถ้าแม้อย่างนั้นก็ไม่อาจ (จับได้) พึงรับด้วยเชิงรองบาตร( (ตีนบาตร)
       ภิกษุที่นั่งถือบาตรหลับอยู่ที่หอฉัน เธอไม่รู้ว่าเขากำลังนำโภชนะมาเลย เขาถวายอยู่ก็ไม่รู้โภชนะ จัดว่ายังไม่ได้รับประเคน แต่ถ้าเธอเป็นผู้นั่งใส่ใจไว้ (แต่ต้น) ควรอยู่ ถ้าแม้เธอวางมือจากเชิงบาตร แล้วเอาเท้าหนีบไว้ ม่อยหลับไป สมควรเหมือนกัน  แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ  ฉะนั้น จึงไม่ควรทำเหมือนกัน แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคน ถึงจะตื่นอยู่ ก็เป็นการรับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ ฉะนั้นจึงไม่ควรทำ
       ในการหยิบเอาของตกขึ้นมาฉันนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบเอาของที่ตกที่เขาถวายฉันเองได้, ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ของพวกนั้นพวกทายกเขาสละถวายแล้วก็แล พระสูตรนี้มีอรรถควรอธิบาย  ฉะนั้นในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้; ของใดที่เขากำลังถวายพลัดหลุดจากมือของผู้ถวาย ตกลงไปบนพื้นที่สะอาด หรือบนใบบัว ผ้า เสื่อลำแพน เป็นต้น  ของนั้นจะหยิบขึ้นมาฉันเองก็ควร แต่ของใดตกลงไปบนพื้นที่มีฝุ่นละออง ของนั้นพึงเช็ดหรือล้างฝุ่นละอองออกแล้ว หรือรับประเคนแล้วฉันเถิด ถ้าของกลิ้งไปยังสำนักของภิกษุอื่น แม้ภิกษุเจ้าของๆ นั้นจะให้นำมาคืน ก็ควร ถ้าเธอกล่าวกะภิกษุนั้นว่า นิมนต์ท่านนั่นแหละฉันเถิด แม้ภิกษุนั้นจะฉัน ก็ควร แต่ภิกษุนั้นอันภิกษุเจ้าของสิ่งของไม่ได้สั่ง ไม่ควรรับ
              ในกุรุนทีกล่าวว่า แม้จะไม่ได้รับคำสั่ง จะรับด้วยตั้งใจว่า จักถวายภิกษุเจ้าของสิ่งของ ก็ควร
              ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ของนั้นจึงไม่ควรที่ภิกษุนอกนี้จะรับ?
              แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอนุญาตไว้
              จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบของฉันเองได้ ดังนี้ ก็ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ซึ่งเขากำลังถวายของที่พลัดตกไปนั้นเท่านั้น ให้หยิบเอาของนั้นแม้ไม่ได้รับประเคน ฉันได้ แต่ด้วยคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกสละให้แล้ว จึงเป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นของคนอื่น ในพระดำรัสนี้;  เพราะฉะนั้นภิกษุอื่นหยิบฉันเอง จึงไม่ควร แต่สมควรเพราะการสั่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าของแห่งสิ่งของนั้น
       - ก็เพราะของที่พลัดตกนั้น ทรงอนุญาตไว้ เพราะเป็นของยังไม่ได้รับประเคน  ฉะนั้น ภิกษุไม่จับต้องของตามที่ตั้งอยู่นั่นแหละ เอาของบางอย่างจัดไว้แล้วฉันแม้ในวันรุ่งขึ้น ก็ควร, ไม่เป็นอาบัติ, เพราะสันนิธิเป็นปัจจัย แต่ควรรับประเคนก่อนแล้วจึงฉัน  จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการหยิบฉันเองแก่ภิกษุนั้นเฉพาะในวันนั้น นอกจากวันนั้นไปไม่ทรงอนุญาต
       ๗. ว่าด้วยอัพโพหาริก นัยโดยทั่วๆ ไป
       เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันอยู่ ฟันทั้งหลายย่อมสึกหรอ, เล็บทั้งหลายย่อมสึกกร่อน สีผิวบาตรย่อมลอก, ทั้งหมดเป็นอัพโพหาริก เมื่อภิกษุปอกอ้อยเป็นต้นด้วยมีดสนิม ย่อมปรากฏสนิมนั้นธรรมดา เป็นของเกิดขึ้นใหม่ ควรรับประเคนก่อนจึงฉัน เมื่อภิกษุล้างมีดแล้วจึงปอก สนิมไม่ปรากฏ, มีแต่สักว่ากลิ่นโลหะ เพียงกลิ่นโลหะนั่นเป็นอัพโพหาริก ถึงแม้ในจำพวกของที่ผ่าด้วยมีดเล็กที่พวกภิกษุเก็บรักษาไว้ ก็นัยนี้นั่นแล  จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะเก็บมีดนั้นไว้เพื่อต้องการใช้สอย ก็หามิได้แล
       เมื่อภิกษุทั้งหลายบดหรือตำอยู่ซึ่งเครื่องยา มีรากยาเป็นต้น ตัวหินบด ลูกหินบด ครกและสากเป็นต้น ย่อมสึกกร่อนไป ภิกษุทั้งหลายจะเผามีดที่เก็บรักษาไว้ แล้วใส่ลงในเปรียง หรือนมสดนั้น มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในมีดเล็กนั่นแหละ ส่วนในเปรียงดิบเป็นต้น ไม่ควรจุ่มมีดที่เก็บไว้ลงไปด้วยตนเอง หากว่าภิกษุจุ่มลงไป ย่อมไม่พ้นสามปักกะ
       เมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในเมื่อฝนตก น้ำสกปรกหยดจากตัวหรือจากจีวรลงในบาตร พึงรับประเคนบาตรนั้นใหม่ แม้ในหยาดน้ำที่ตกลงเมื่อภิกษุกำลังฉันอยู่ที่โคนไม้เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน ก็ถ้าว่าเมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เป็นน้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำฝนที่ตกลงกลางแจ้ง ควรอยู่
       ภิกษุเมื่อจะให้ข้าวสุกแก่สามเณร พึงให้อย่าถูกต้องข้าวสุกที่อยู่ในบาตรของสามเณรนั้นเลย, หรือว่า พึงรับประเคนบาตรของสามเณรนั้น เมื่อภิกษุถูกต้องข้าวสุกในบาตรที่ไม่ได้รับประเคนแล้วจับข้าวสุกในบาตรของตนอีก ข้าวสุกเป็นอุคคหิตก์ (ของฉันทุกอย่างที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุถูกต้องเรียกว่าของเป็นอุคคหิตก์) แต่ถ้าว่าเป็นผู้มีความประสงค์จะให้ กล่าวว่า แน่ะ สามเณร! เธอจงนำบาตรมา, จงรับเอาข้าวสุก ดังนี้, แต่สามเณรนั้นปฏิเสธว่า กระผมพอแล้ว, และแม้เมื่อภิกษุกล่าวอีกว่า ข้าวสุกนั่นเราสละแก่เธอแล้ว สามเณรยังกล่าวว่า กระผมไม่ต้องการข้าวสุกนั่น ดังนี้, ถึงจะสละทั้งร้อยครั้งก็ตามที ตลอดเวลาที่ข้าวสุกยังอยู่ในมือของตน จัดว่าเป็นของรับประเคนแล้วแล แต่ถ้าว่าข้าวสุกตั้งอยู่แม้บนเชิงรองบาตรแล้วกล่าวกะสามเณรว่า เธอจงรับเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ดังนี้, สามเณรล้างมือแล้ว ถ้าแม้นว่าถือเอาไปตั้งร้อยครั้ง ไม่ถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตนเองเลย ใส่ลงในบาตรของตนเอง ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่ แต่ถ้าสามเณรถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตน หยิบเอาออกจากบาตรนั้น, ของนั้นย่อมระคนกับของๆ สามเณร พึงรับประเคนใหม่  คำนั้นบัณฑิตพึงทราบในก้อนข้าวสุกเป็นต้น ที่ภิกษุกล่าวจำกัดไว้อย่างนี้ว่า เธอจงหยิบเอาก้อนข้าวก้อนหนึ่ง, จงหยิบขนมชิ้นหนึ่ง, จงหยิบเอาส่วนเท่านี้แห่งก้อนน้ำอ้อยนี้ ส่วนในคำนี้ว่า เธอจงหยิบเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ไม่มีการจำกัด; เพราะฉะนั้น ของที่ตกลงในบาตรของสามเณรเท่านั้นจึงจะขาดประเคน ส่วนข้าวสวยที่อยู่ในมือของสามเณร ยังเป็นของภิกษุนั้นเอง ตลอดเวลาที่สามเณรยังไม่บอกงด หรือถ้ายังไม่ห้ามว่า พอละ, เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ขาดประเคน
       ถ้าภิกษุใส่ข้าวสวยลงในภาชนะสำหรับต้มข้าวของตน หรือของภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสามเณรบางพวก พึงกล่าวว่า แน่ะ สามเณร เธอจงวางมือไว้ข้างบนภาชนะ แล้วตักลงที่มือของสามเณรนั้น ของตกจากมือของสามเณรลงในภาชนะ ของที่ตกนั้นย่อมไม่ทำให้ภาชนะเป็นอกัปปิยะในวันรุ่งขึ้น เพราะข้าวสุกนั้นภิกษุสละแล้ว ถ้าว่าภิกษุไม่ทำอย่างนั้น ตักลงไป พึงทำภาชนะให้ปราศจากอามิสเหมือนบาตร แล้วฉันเถิด
       พวกทายกวางหม้อข้าวต้มไว้แล้วไปเสีย สามเณรเล็กไม่อาจให้ภิกษุรับประเคนหม้อข้าวต้มนั้นได้, ภิกษุเอียงบาตรเข้าไป สามเณรวางคอหม้อบนขอบบาตรแล้วเอียงลง ข้าวต้มที่ไหลไปในบาตรเป็นอันประเคนแล้วแล  อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุวางมือลงบนพื้น สามเณรหมุนไปวางลงบนมือของภิกษุนั้น ควรอยู่ แม้ในกระเช้าขนมกระเช้าข้าวสาร (กระบุงขนมและกระบุงข้าวสาร) และมัดอ้อยเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน  ถ้าสามเณร ๒-๓ รูป จะช่วยกันถวายภาระ (ของหนัก) ที่ควรประเคนได้, หรือภิกษุ ๒-๓ รูป จะช่วยกันรับของที่คนมีกำลังแข็งแรงคนเดียวยกขึ้นถวาย ควรอยู่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 มกราคม 2562 15:58:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #50 เมื่อ: 30 มกราคม 2562 15:55:49 »


ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๘๙)
ภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน ให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน
(ต่อ)


       ๘. ว่าด้วยของเป็นอุคคหิตก์และไม่เป็น
       ชนทั้งหลายแขวนหม้อน้ำมันหรือหม้อน้ำอ้อยไว้ที่เท้าเตียงหรือตั่ง ภิกษุจะนั่งบนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี ควรอยู่ น้ำมันเป็นต้นนั้นจะชื่อว่าเป็นอุคคหิตก์ หามิได้ หม้อน้ำมัน ๒ หม้อ เป็นของที่เขาแขวนไว้บนไม้ฟันนาคหรือบนขอ หม้อบนรับประเคนแล้ว หม้อล่างยังไม่ได้รับประเคน จะจับหม้อบน ควรอยู่ หม้อล่างรับประเคนแล้ว หม้อบนยังไม่ได้รับประเคน เมื่อภิกษุจับหม้อบนแล้วจับหม้อล่าง หม้อบนเป็นอุคคหิตก์  ภายใต้เตียงมีถ้วยน้ำมันยังไม่ได้รับประเคน ถ้าภิกษุกวาดเอาไม้กวาดกระทบถ้วยน้ำมัน น้ำมันนั้นยังไม่เป็นอุคคหิตก์
       ภิกษุตั้งใจว่า เราจะหยิบของที่ประเคนไว้แล้ว ไพล่ไปหยิบของที่ไม่ได้รับประเคน รู้แล้วกลับวางไว้ในที่ที่ตนหยิบมา, ของนั้นไม่เป็นอุคคหิตก์นำออกมาภายนอกแล้วจึงรู้ อย่าตั้งไว้ข้างนอกพึงนำกลับเข้าไปตั้งในที่เดิมนั่นเอง ไม่มีโทษ ก็ถ้าว่าถ้วยน้ำมันนั้นเมื่อก่อนวางเปิดไว้ ไม่ควรปิด พึงวางไว้ตามเคยเหมือนที่วางอยู่ก่อน ถ้าวางไว้ข้างนอก อย่าไปแตะต้องอีก ถ้าภิกษุกำลังลงมายังปราสาทชั้นล่าง รู้เอาในท่ามกลางบันได เพราะไม่มีโอกาส พึงนำไปวางข้างบนหรือข้างล่างก็ได้
       ราขึ้นในน้ำมันที่รับประเคนแล้ว, ผงราขึ้นที่แง่งขิงเป็นต้น ราหรือผงรานั่นธรรมดาเกิดในน้ำมันและขิงนั้นนั่นเอง, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่ คนขึ้นต้นตาลหรือต้นมะพร้าว เอาเชือกโรยทะลายผลตาลลงมา ยังคงอยู่ข้างบน  กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด อย่าพึงรับ ถ้าคนอื่นยืนอยู่บนพื้นดินจับที่ห่วงเชือกยกถวาย จะรับ ควรอยู่ ภิกษุทำให้กิ่งไม้ใหญ่ที่มีผลให้เป็นกัปปิยะแล้วรับประเคน ผลทั้งหลายเป็นอันภิกษุรับประเคนแล้วเหมือนกัน ควรบริโภคได้ตามสบาย
       ชนทั้งหลายยืนอยู่ภายในรั้ว แหวกรั้ว (ลอดรั้ว) ถวายอ้อยลำหรือผลมะพลับ เมื่อได้หัตถบาส ควรรับ เมื่อภิกษุรับอ้อยลำหรือผลมะพลับนั้นลอดออกมา ไม่ถูกบนคร่าวรั้ว (ไม่พาดบนคร่าวรั้ว) จึงควรในอ้อยลำและผลมะพลับที่ลอดออกมาถูก (บนคร่าวรั้ว) ท่านไม่ได้แสดงโทษไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย แต่พวกเราเข้าใจว่า จากฐานที่ลำอ้อยเป็นต้น ถูกเป็นเหมือนหยิบของตกขึ้นเอง แม้คำนั้นย่อมใช้ได้ในเมื่อของออกไปไม่หยุด เหมือนภัณฑะที่โยนให้ตกกลิ้งลงไปภายนอกด่านภาษี ฉะนั้น
       พวกชนโยนของข้ามรั้วหรือกำแพงถวาย แต่ถ้ากำแพงไม่หนา หัตถบาสย่อมเพียงพอแก่ผู้ยืนอยู่ภายในกำแพงและภายนอกกำแพง, ภิกษุจะรับของที่สะท้อนขึ้นสูงแม้ตั้งร้อยศอก แล้วลอยมาถึง ควรอยู่
       ภิกษุเอาคอแบกสามเณรอาพาธไป (ให้สามเณรอาพาธขี่คอไป) เธอเห็นผลไม้น้อยใหญ่เก็บถวาย ทั้งที่นั่งอยู่บนคอ        ภิกษุควรรับ  บุคคลอื่นแบกภิกษุไป ถวายผลไม้แก่ภิกษุผู้นั่งอยู่บนคอ สมควรรับเหมือนกัน, ภิกษุถือกิ่งไม้ที่มีผล เพื่อต้องการร่มเดินไป เมื่อเกิดความอยากจะฉันผลไม้ จะให้อนุปสัมบันประเคนแล้ว ควรอยู่  ภิกษุให้ทำกัปปิยะกิ่งไม้เพื่อไล่แมลงหวี่ แล้วรับประเคนไว้ หากว่ามีความประสงค์จะฉัน การรับประเคนไว้เดิมนั้นแหละยังใช้ได้อยู่ ไม่มีโทษแก่ภิกษุผู้ขบฉัน
       ภิกษุวางภัณฑะที่ควรรับประเคนไว้บนยานของพวกชาวบ้านเดินทางไป ยานติดหล่ม ภิกษุหนุ่มจับล้อดันขึ้น ควรอยู่ สิ่งของไม่ชื่อว่าเป็นอุคคหิตก์ ภิกษุวางของที่ควรประเคนไว้ในเรือ เอาแจวๆ เรือไป หรือเอามือพุ้ยไป ควรอยู่ แม้ในพ่วง (แพ) ก็นัยนี้เหมือนกัน ภิกษุแม้วางภัณฑะไว้ในถาดก็ดี ในคนโท (ตุ่ม) ก็ดี ในหม้อก็ดี แล้วใช้ให้อนุปสัมบันถือภัณฑะนั้น จับแขนอนุปสัมบันข้าม (น้ำ) ไป ควรอยู่ แม้เมื่อถาดเป็นต้นไม่มี ให้อนุปสัมบันถือแล้วจับอนุปสัมบันนั้นที่แขนข้ามไป ก็ควร
       พวกอุบาสกถวายข้าวสารเป็นเสบียงทางแก่พวกภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง พวกสามเณรช่วยถือข้าวสารของภิกษุทั้งหลายแล้วไม่อาจเพื่อจะถือข้าวสารส่วนของตนเอง พวกภิกษุจึงช่วยถือข้าวสารของสามเณรเหล่านั้น สามเณรทั้งหลายเมื่อข้าวสารที่ตนถือหมดแล้ว เอาข้าวสารนอกนี้ต้มข้าวต้ม ตั้งบาตรของภิกษุสามเณรทั้งหมดไว้ตามลำดับแล้วเทข้าวต้มลง  สามเณรผู้ฉลาดเอาบาตรของพวกตนถวายแก่พระเถระ ถวายบาตรของพระเถระแก่พระเถระรูปที่ ๒ เปลี่ยนบาตรกันทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้นจนทั่วถึงกัน เป็นอันภิกษุทั้งหมดฉันข้าวต้มของสามเณร ควรอยู่ ถ้าแม้นว่าสามเณรเป็นผู้ไม่ฉลาด เริ่มจะดื่มข้าวต้มในบาตรของตนด้วยตัวเองเท่านั้น พวกพระเถระควรจะขอดื่มไปตามลำดับอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ! จงให้ข้าวต้มของเธอแก่เรา ดังนี้ เป็นอันภิกษุทั้งหมดไม่ต้องโทษเพราะอุคคหิตก์เป็นปัจจัย ไม่ต้องโทษเพราะสันนิธิเป็นปัจจัย แต่ในการเปลี่ยนบาตรกันนี้ ความแปลกกันของภิกษุทั้งหลาย ผู้นำน้ำมันเป็นต้นไปเพื่อมารดาบิดา และนำกิ่งไม้เป็นต้นไปเพื่อต้องการร่มเป็นต้น กับภิกษุผู้แลกเปลี่ยนบาตรกันเหล่านี้ ไม่ปรากฏ;  เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรใคร่ครวญหาเหตุ
       ๙. เมื่อไม่มีกัปปิยการก จะถือเอายามหาวิกัติฉันเอง ก็ควร  หากกัปปิยการกเป็นคนว่ายาก หรือเป็นผู้ไม่สามารถ ให้ถือว่าไม่มีกัปปิยการก, เมื่อเถ้าไม่มี ภิกษุพึงเผาไม้แห้งเอาเถ้า เมื่อไม้ฟืนแห้งไม่มี แม้จะตัดฟืนสดจากต้นไม้ทำเถ้า ก็ควร ก็ยามหาวิกัติทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่า อนุญาตเฉพาะกาล แต่ควรเฉพาะในเวลาถูกงูกัดเท่านั้น
       ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดจากทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ มีจิต ๓




ปมาทมนุยุญฺชนติ  พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
อปฺปมาทญฺจ เมธาวี  ธนํ เสฎฺฐํว รกฺขติ ฯ ๒๖ ฯ

คนพาล ทรามปัญญา มักมัวประมาทเสีย
ส่วนคนฉลาด ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ

The ignorant, foolish folk Induge in heedlessness,
But the wise preserve heedfulness As their greatest treasure.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.26



บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #51 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2562 15:52:52 »



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๙๐)
ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักบวชนอกศาสนา ด้วยมือตน ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น มีขนมของขบฉันเกิดขึ้นแก่สงฆ์เป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งพระอานนท์ให้นำไปให้ทานแก่พวกคนกินเดน ท่านนำไปแจกให้คนกินเดนที่นั่งตามลำดับคนละชิ้น แต่ขนม ๒ ชิ้น ตกแก่ปริพาชิกาผู้หนึ่ง เพราะท่านไม่รู้ว่าขนมติดเป็น ๒ ชิ้นอยู่ พวกปริพาชิกาได้ถามนางว่า สมณะนั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ ถึงได้ให้ ๒ ชิ้น นางตอบว่า ท่านไม่ใช่คู่รัก ท่านให้ ๒ ชิ้น เพราะคิดว่าเป็นชิ้นเดียว แม้ครั้งที่สอง...แม้ครั้งที่สาม... ขนมก็ยังบังเอิญติดเป็น ๒ ชิ้นอีก พวกปริพาชิกาจึงล้อเลียนกัน...
      อาชีวกคนหนึ่งได้ไปสู่ที่อังคาส ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใสเป็นอันมากแล้วให้แก่ชีวกนั้น เขาได้ถือก้อนข้าวนั้นไป อาชีวกคนหนึ่งได้ถามว่า ท่านได้ก้อนข้าวมาจากไหน เขาตอบว่า ได้มาจากที่อังคาสของสมณโคดม คหบดีโล้นนั้น
      อุบาสกทั้งหลายได้ยินสองอาชีวกปราศรัยกัน จึงพากันเข้าเฝ้ากราบทูลขอว่า “ขออย่าให้พระคุณเจ้าทั้งหลายให้ของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือของตนเลย...” จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช
      - ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ บุรุษคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุและสามเณร
      - ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ สตรีคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะ ๕ อย่าง น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว
      - ที่ชื่อว่า ของกิน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ
      - บทว่า ให้ คือ ให้ด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยโยนให้ก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เดียรถีย์ ภิกษุรู้ว่าเป็นเดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี ด้วยมือของตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เดียรถีย์ ภิกษุคิดว่า (เข้าใจว่า) ไม่ใช่เดียรถีย์... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ให้น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุคิดว่าเป็นเดียรถีย์... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่เดียรถีย์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุสั่งให้ ไม่ได้ให้เอง ๑  วางให้ ๑  ให้ของไล้ทาภายนอก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๘๓  
      ๑. มารดาก็ดี บิดาก็ดี (ของภิกษุ) บวชในหมู่เดียรถีย์ แม้ภิกษุ (ผู้เป็นบุตร) เมื่อให้แก่เดียรถีย์เหล่านั้น ด้วยสำคัญว่ามารดาและบิดา เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      ๒. ภิกษุให้โดยวางบนภาชนะ แล้ววางภาชนะให้บนพื้นดิน ใกล้เดียรถีย์เหล่านั้น หรือว่าใช้ให้วางภาชนะของเดียรถีย์เหล่านั้นลงแล้ว ในบนภาชนะนั้นแม้จะตั้งบาตรไว้บนเชิงรองหรือบนพื้นดิน แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจนถือเอาจากบาตรนี้ ก็ควร
      ก็ถ้าว่าเดียรถีย์พูดว่าของสิ่งนี้เป็นของส่วนตัวของเราแท้ ขอท่านโปรดใส่ให้อามิสนั้นลงในภาชนะนี้ พึงใส่ลงไปเพราะเป็นของส่วนตัวของเดียรถีย์นั้น จึงไม่ชื่อว่าเป็นการให้ด้วยมือตนเอง
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่มีจิตคิดล่วงละเมิด ก็ย่อมต้องอาบัติข้อนี้) เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๙๑)
ภิกษุไล่ภิกษุอื่นที่ตนบวชไปบิณฑบาตด้วยกัน ให้กลับก่อน ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวเชิญชวนภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระพี่ชายว่า มาเถิดอาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วเธอกลับสั่งไม่ให้เขาถวายอะไรๆ แก่เธอเลย ซ้ำออกปากว่า กลับไปเถิด อาวุโส การที่คุณอยู่ด้วยเราไม่สำราญเลย  ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง ภิกษุนั้นจึงไม่สามารถหาบิณฑบาตได้ทัน เธอจำต้องอดภัตตาหารแล้ว
      เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      ”อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวต่อภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านจงมาเข้าไปสู่บ้าน หรือสู่นิคม เพื่อบิณฑบาตด้วยกัน เธอยังเขาให้ถวายแล้วก็ดี ไม่ให้ถวายแล้วก็ดี แก่เธอ แล้วส่งไปด้วยคำว่า ท่านจงไปเถิด การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่านไม่เป็นผาสุกเลย การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ต่อภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
      - คำว่า ท่านจงมา... สู่บ้านหรือสู่นิคม  ความว่า บ้านก็ดี นิคมก็ดี เมืองก็ดี ชื่อว่า บ้านและนิคม
      - บทว่า ส่งไป ความว่า ปรารถนาจะกระเซ้ากระซี้ ปรารถนาจะนั่งเล่น ปรารถนาจะนั่งในที่ลับ ปรารถนาจะประพฤติอนาจารกับมาตุคาม  พูดอย่างนี้ว่า กลับเถิด อาวุโส การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่านไม่เป็นผาสุก การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ดังนี้ ให้กลับ ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเธอจะละอุปจารแห่งการเห็น หรืออุปจารแห่งการฟัง ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อละแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นเพื่อจะส่งไป

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ทำเป็นโกรธ ส่งกลับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ส่งอนุปสัมบันกลับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า เรา ๒ รูป รวมกัน จักไม่พอฉัน ๑  ส่งกลับด้วยคิดว่า รูปนั้นเห็นสิ่งของมีค่ามีราคามากแล้วจักเกิดความโลภ ๑  ส่งกลับด้วยคิดว่า รูปนั้นถ้าเห็นมาตุคามแล้วจักเกิดความกำหนัด ๑  ส่งกลับด้วยสั่งว่า จงนำข้าวต้มหรือข้าวสวย ของเคี้ยวหรือของฉัน ไปให้แก่ภิกษุผู้อาพาธ แก่ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร ๑  ไม่มีความประสงค์จะประพฤติอนาจาร แต่เมื่อมีกิจจำเป็นจึงส่งกลับไป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๘๗-๕๘๘  
      ๑. ภิกษุผู้ขับไล่เท่านั้นเป็นอาบัตินี้ บรรดาอาบัติเหล่านั้น ถ้าว่าเท้าข้างหนึ่งยังอยู่ภายในอุปจารเป็นทุกกฎ ในขณะล่วงเขตแดนไปเป็นปาจิตตีย์
      ก็บรรดาอุปจารการเห็นและอุปจารการได้ยินนี้ ประมาณ ๑๒ ศอก  ในโอกาสกลางแจ้งเป็นประมาณแห่งอุปจารการเห็น,  อุปจารการได้ยินก็มีประมาณเท่ากัน  ก็ถ้าว่ามีฝาประตูและกำแพงเป็นต้นคั่นอยู่,  ภาวะที่ฝาประตูและกำแพงเป็นต้นนั้นคั่นไว้นั่นแหละ เป็นการล่วงเลยทัสสนูปจาร (อุปจารแห่งการเห็น)  บัณฑิตพึงทราบอาบัติ ด้วยอำนาจการล่วงเลยที่ทัสสนูปจารนั้น (ภิกษุถูกขับไล่พ้นวิหารประตูหรือกำแพงเป็นต้นไป เป็นปาจิตตีย์)
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๙๒)
ภิกษุสำเร็จในการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตร เข้าไปสู่เรือนของสหายเก่า แล้วสำเร็จการนั่งในเรือนนอนกับภรรยาของเขา บุรุษสหายมาแล้วสั่งให้ภรรยาถวายภิกษา แล้วนิมนต์ให้ท่านกลับเพราะเขาเกิดราคะ ภรรยารู้ว่าเขาเกิดราคะจึงนิมนต์ให้อยู่ต่อ บุรุษสามีเดินออกไปกล่าวโทษเธอต่อภิกษุทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร นั่งในห้องกับภรรยาของกระผม นิมนต์ให้กลับก็ไม่ยอมกลับ ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษ ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ตระกูลที่ชื่อว่า มี ๒ คน มีเฉพาะสตรี ๑  บุรุษ ๑  ทั้งสองคนยังไม่ออกจากกัน ทั้งสองคนหาใช่ผู้ปราศจากราคะไม่
      - บทว่า แทรกแซง คือ กีดขวาง
      - บทว่า สำเร็จการนั่ง คือ ในเรือนใหญ่ ภิกษุนั่งละหัตถบาสแห่งประตูเรือน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเรือนเล็ก นั่งล้ำท่ามกลางห้องเรือน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. ห้องนอน ภิกษุรู้ว่าเป็นห้องนอน สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มี ๒ คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ห้องนอน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ห้องนอน ภิกษุคิดว่าไม่ใช่ห้องนอน... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุคิดว่าเป็นห้องนอน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ห้องนอน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุนั่งในเรือนใหญ่ ไม่ล่วงล้ำหัตถบาสแห่งบานประตู ๑  ภิกษุนั่งในเรือนเล็ก ไม่เลยท่ามกลางห้อง ๑  ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย ๑ คน ทั้งสองออกจากกันแล้ว  ทั้งสองปราศจากราคะแล้ว ๑  ภิกษุนั่งในสถานที่อันไม่ใช่ห้องนอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๙๒    
      ๑. บทว่า สโภชเน ได้แก่ สกุลที่เป็นไปกับคน ๒ คน ชื่อว่า สโภชนะ ในสกุลมีคน ๒ คน นั้นคือบุรุษผู้อันราคะกลุ้มรุมแล้วกับสตรี, อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สโภชเน คือ ในสกุลมีโภคะ เพราะว่าสตรีเป็นโภคะของบุรุษ ผู้อันราคะกลุ้มรุมแล้ว และบุรุษก็เป็นโภคะของสตรี ด้วยเหตุนั้นบทว่า สโภชเน นั้น จึงตรัสว่า มีสตรีกับบุรุษเป็นต้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)


ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๙๓)
ภิกษุนั่งในห้องกับผู้หญิง ไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อน ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปสู่เรือนของสหายแล้ว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับภรรยาของเขา บุรุษสหายจึงเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้ว มีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กที่เกิดในวันนั้น
      - บทว่า กับ คือ ร่วมกัน
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับ มี ๒ คือ ลับตา ๑  ลับหู ๑
      - ที่ชื่อว่า ในที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้
      - อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู ลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ เสา หรือฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง
      - คำว่า สำเร็จการนั่ง คือ เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งสองนั่งก็ดี ทั้งสองนอนก็ดี ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่าไม่ใช่มาตุคาม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่า ไม่ใช่มาตุคาม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุมีบุรุษรู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑  ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๙๖  
      ๑. คำที่จะพึงกล่าวในสิกขาบทที่ ๔ และที่ ๕ ทั้งหมด มีนัยดังกล่าวแล้วในอนิยตสิกขาบททั้ง ๒ นั่นแล,  และสิกขาบทที่ ๔ และที่ ๕ (ข้อถัดไป) มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๙๔)
ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปยังเรือนของสหาย แล้วสำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเขาหนึ่งต่อหนึ่ง บุรุษสหายจึงเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ต้องปาจิตตีย์

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิตที่ชั่วหยาบและไม่ชั่วหยาบ
      - บทว่า ผู้เดียว... ผู้เดียว คือ มีภิกษุ ๑  มาตุคาม ๑
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ๑  ที่ลับหู ๑  (ดูคำอธิบายที่ลับในสิกขาบทที่ ๔)
      - คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งหรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งสองนั่งก็ดี ทั้งสองนอนก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่าไม่ใช่มาตุคาม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง ๑  ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑




มา ปมาทมนุยุญฺเชถ    มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต    ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ ฯ ๒๗ ฯ

พวกเธออย่ามัวประมาท อย่ามัวเอาแต่สนุกยินดีในกามคุณอยู่เลย
ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์ได้

Devote not yourselves to negligence; Have no intimacy with sensuous delights.
The vigilant, meditative person Attains sublime bliss ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....  
no.27
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #52 เมื่อ: 13 สิงหาคม 2562 19:08:01 »


ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๙๕)
ภิกษุรับนิมนต์แล้วไปที่อื่น โดยไม่บอกลา ต้องปาจิตตีย์

      ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร นิมนต์ท่านพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายเพื่อให้ฉัน แต่ในเวลาก่อนภัต ท่านอุปนันท์ยังอยู่ในตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่ไปถึงก่อน บอกทายกให้ถวายภัต แต่ทายกกล่าวว่า รอก่อน จนกว่าพระคุณเจ้าอุปนันท์จะมา ขอรับ แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่สาม... ทายกก็กล่าวอย่างนั้น
       พระอุปนันท์มาถึงตระกูลที่นิมนต์ในเวลาบ่าย ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ฉันภัตแล้ว ภิกษุทั้งหลายได้เพ่งโทษติเตียนท่าน... แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า...
       สมัยต่อมาตระกูลอุปัฏฐากของท่านอุปนันทศากยบุตร ได้ส่งของเคี้ยวไปให้สงฆ์ สั่งว่า ต้องมอบให้ท่านอุปนันท์เป็นผู้ถวายแก่สงฆ์  ขณะนั้นท่านอุปนันท์กำลังบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นำมาได้ถามภิกษุทั้งหลาย รู้ว่าท่านกำลังอยู่ในหมู่บ้าน รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนไว้ จนกว่าท่านอุปนันท์จะกลับมา ท่านอุปนันท์คิดว่า การเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน ทรงห้ามแล้ว จึงเข้าไปยังตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉัน บ่ายจึงกลับมา, ของเคี้ยวได้ถูกส่งกลับไปแล้ว
       ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนท่าน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า...
       ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูลในคราวถวายจีวรบ้าง จีวรจึงเกิดแก่งสงฆ์เพียงเล็กน้อย...
       ภิกษุทั้งหลายทำจีวร ต้องการเข็มบ้าง ด้ายบ้าง มีดบ้าง แต่รังเกียจ ไม่เข้าไปสู่ตระกูล...
       ภิกษุทั้งหลายอาพาธ มีความต้องการเภสัช แต่รังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูล จึงกราบทูล... ตรัสว่า “เราอนุญาตให้บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วเข้าไปตระกูลได้”  แล้วทรงพระอนุบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า รับนิมนต์แล้ว คือ รับนิมนต์ฉันโภชนะ ๕ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง
       - ที่ชื่อว่า มีภัตอยู่แล้ว คือ มีอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้ว
       - ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งมีอยู่ คือ อาจที่จะบอกลาภิกษุก่อนเข้าไป
       - ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งไม่มีอยู่ คือ ไม่อาจที่จะบอกลาก่อนเข้าไป
       - ที่ชื่อว่า ก่อนฉัน คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้
       - ที่ชื่อว่า ทีหลังฉัน คือ ภิกษุฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้ว โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
       - ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร (หรือบ้านของผู้มีศรัทธาทั้งหลาย)
       - คำว่า ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ความว่า ภิกษุก้าวล่วงสู่อุปจารเรือนของผู้อื่นต้องอาบัติทุกกฎ ก้าวเท้าที่ ๑ ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฎ  ก้าวเท้าที่ ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ในคราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน ๑ เดือน  ท้ายฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว ๕ เดือน,  ในคราวที่ทำจีวร คือ เมื่อคราวกำลังทำจีวรอยู่

อาบัติ
       ๑. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุรู้ว่า รับนิมนต์แล้วไม่บอกลาภิกษุ ซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับนิมนต์... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับนิมนต์... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้รับนิมนต์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้ว จึงเข้าไป ๑  ไม่ได้บอกลา เพราะไม่มีภิกษุอยู่แล้วเข้าไป ๑  เดินทางผ่านเรือนผู้อื่น ๑  เดินผ่านอุปจารเรือน ๑  ไปอารามอื่น ๑  ไปสู่สำนักภิกษุณี ๑  ไปสู่สำนักเดียรถีย์ ๑  ไปโรงฉัน ๑  ไปเรือนที่เขานิมนต์ฉัน ๑  ไปเพราะมีอันตราย (แห่งชีวิตและพรหมจรรย์) ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๐๗-๖๐๘
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงรับประเคนแล้วเก็บไว้ดังนี้ เพื่อต้องการรักษาศรัทธาของตระกูล ก็ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสว่า พวกเธอจงแบ่งกันฉันเถิด พวกชาวบ้านจะพึงคลายความเลื่อมใส
      ๒. ภิกษุชื่อว่า มีอยู่ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร?  ชื่อว่า ไม่มีด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร?  คือ ภิกษุผู้อยู่ในสถานแห่งใดภายในวิหาร เกิดมีความคิดว่าจะเข้าไปเยี่ยมตระกูล จำเดิมแต่นั้น เห็นภิกษุใดที่ข้างๆ หรือตรงหน้า หรือภิกษุใดที่ตนอาจจะบอกด้วยคำพูดตามปกติได้ ภิกษุนี้ชื่อว่ามีอยู่ แต่ไม่มีกิจที่จะต้องเที่ยวไปบอกทางโน้นและทางนี้,  จริงอยู่ ภิกษุที่ตนต้องเที่ยวหาบอกลา อย่างนี้ชื่อว่าไม่มีนั่นเอง
      อีกนัยหนึ่ง ภิกษุไปด้วยทำในใจว่า เราพบภิกษุภายในอุปจารสีมาแล้วจักบอกลา พึงบอกลาภิกษุที่ตนเห็นภายในอุปจารสีมานั้น ถ้าไม่พบภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้เข้าไปไม่บอกลาภิกษุที่ไม่มี
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๙๖)
ภิกษุพึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน ยินดียิ่งกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

      เจ้ามหานามศากยะกล่าวปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอดชีวิต  วันหนึ่ง ท่านไปตำหนิพระฉัพพัคคีย์ว่า นุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย  พระฉัพพัคคีย์โกรธ ปรึกษากันแล้วขอเนยใส ๑ ทะนาน  เจ้ามหานามะรับสั่งว่า พระคุณเจ้ารอก่อน คนกำลังไปยังคอกโคเพื่อนำเนยใสมา แต่พระฉัพพัคคีย์ก็ไม่ฟัง กล่าวขอถึง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยเนยใสที่ท่านไม่ประสงค์จะถวาย แต่ได้ปวารณาไว้ เพราะท่านปวารณาแล้วไม่ถวาย เจ้ามหานามะรับสั่งว่า ก็หม่อมฉันขอร้องว่า วันนี้โปรดคอยก่อน ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่คอยเล่า? แล้วเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์  ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน... แล้วมีพระบัญญัติว่า  “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - คำว่า ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือนนั้น ความว่า พึงยินดีปวารณาเฉพาะปัจจัยของภิกษุไว้ แม้เขาปวารณาอีก ก็พึงยินดีว่า เราจักขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่ แม้เขาปวารณาเป็นนิตย์ พึงยินดีว่า เราจักขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่
       - บทว่า ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น คือ การปวารณากำหนดเภสัชแต่ไม่กำหนดกาลก็มี กำหนดกาลแต่ไม่กำหนดเภสัชก็มี กำหนดทั้งเภสัชทั้งกาลก็มี ไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดกาลก็มี
       - ที่ชื่อว่า กำหนดเภสัช คือ เขากำหนดเภสัชไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชประมาณเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า กำหนดกาล คือ เขากำหนดกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาในระยะกาลเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า กำหนดทั้งเภสัชและกาลนั้น คือ เขากำหนดเภสัชและกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชมีประมาณเท่านี้ ในระยะกาลเพียงเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดกาล คือ เขาไม่ได้กำหนดเภสัชและกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชมีประมาณเท่านี้ ในระยะกาลเพียงเท่านี้

อาบัติ
       ๑. ในการกำหนดเภสัช ภิกษุขอเภสัชอย่างอื่นนอกจากเภสัชที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ในการกำหนดกาล ภิกษุขอในกาลอื่นนอกจากกาลที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. ในการกำหนดทั้งเภสัช กำหนดทั้งกาล ภิกษุขอเภสัชอย่างอื่น นอกจากเภสัชที่เขาปวารณา และในกาลอื่นนอกจากกาลที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ในการไม่กำหนดเภสัช ไม่กำหนดกาล... ไม่ต้องอาบัติ
       ๕. ในเมื่อต้องการของที่มิใช่เภสัช ภิกษุขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๖. ในเมื่อต้องการใช้เภสัชอย่างหนึ่ง ขอเภสัชอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๗. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุรู้ว่ายิ่งกว่านั้น ขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๘. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๙. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุคิดว่าไม่ยิ่งกว่านั้น ขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๑๐. ไม่ยิ่งกว่านั้น ภิกษุคิดว่ายิ่งกว่านั้น... ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๑๑. ไม่ยิ่งกว่านั้น ภิกษุรู้ว่าไม่ยิ่งกว่านั้น... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้ ๑  ขอในระยะกาลตามที่เขาปวารณาไว้ ๑  บอกขอว่าท่านปวารณาพวกข้าพเจ้าด้วยเภสัชเหล่านี้ แต่พวกข้าพเจ้าต้องการเภสัชชนิดนี้และชนิดนี้ ๑  บอกเขาว่า ระยะกาลที่ท่านได้ปวารณาได้พ้นไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังต้องการเภสัช ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๑๕
       ๑. ท้าวมหานามะ เป็นพระโอรสแห่งพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า แก่กว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงเดือนเดียว เป็นพระอริยสาวก ดำรงอยู่ในผลทั้ง ๒ (เป็นพระสกทาคามี)
       ๒. “กำหนดเภสัช” เขาปวารณาด้วยอำนาจชื่อ คือ ด้วยเภสัช ๒-๓ อย่าง มีเนยใส และน้ำมัน เป็นต้น หรือด้วยอำนาจจำนวน คือ ด้วยกอบ ๑ ทะนาน ๑ อาฬหกะ ๑ เป็นต้น
       ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่พวกภิกษุที่ขอต่อผู้ปวารณาไว้ ด้วยการปวารณาเป็นส่วนบุคคล เพราะการออกปากขอตามสมควรแก่เภสัชที่ปวารณาไว้, แต่ในเภสัชที่เขาปวารณาด้วยอำนาจแห่งสงฆ์ ควรกำหนดรู้ประมาณทีเดียวแล
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๙๗)
ภิกษุไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุ

      พระฉัพพัคคีย์ได้พากันไปดูกองทัพที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยกออกแล้ว เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็น ได้ตรัสถามว่า มาเพื่อประโยชน์อะไร พระฉัพพัคคีย์ถวายพระพรว่า อาตมภาพประสงค์จะเฝ้ามหาบพิตรรับสั่งว่า จะได้ประโยชน์อะไรด้วยการดูหม่อมฉันผู้เพลิดเพลินในการรบ พระคุณเจ้าควรเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่หรือ
       ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ ภิกษุได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ลุงของภิกษุรูปหนึ่งป่วยอยู่ในกองทัพ เธอแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า“อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า อันยกออกแล้ว ได้แก่ กองทัพซึ่งยกออกจากหมู่บ้านแล้ว ยังพักอยู่หรือเคลื่อนขบวนต่อไปแล้ว
       - ที่ชื่อว่า เสนา ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองพลเดินเท้า ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำ ๑๒ คน, ม้า ๑ ม้า มีทหารประจำ ๓ คน, รถ ๑ คัน มีทหารประจำ ๔ คน กองพลเดินเท้า มีทหารถือปืน ๔ คน
       ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุละทัศนูปจารแล้วยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - บทว่า เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป คือ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น

อาบัติ
       ๑. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุรู้ว่า ยกออกไปแล้ว ไปเพื่อจะดู เว้นไว้แต่ปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุคิดว่า ยังไม่ได้ยกออกไป... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
       ๕. ยืนดูอยู่ในที่ใดมองเห็นได้ ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ละสายตาแล้วยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุคิดว่า ยกออกไปแล้ว... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๘. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๙. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุรู้ว่ายังไม่ได้ยกออกไป... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น ๑  กองทัพยกผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน เธอมองเห็น ๑ ภิกษุเดินสวนทางไปพบเข้า ๑ มีเหตุจำเป็น ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๒๐-๖๒๑
       ๑. ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำ ๑๒ คน ดังนี้คือ พลขับขี่ ๔ คน พลรักษาประจำเท้าช้างเท้าละ ๒ คน = ๘ คน
       - ม้า ๑ ม้า มีทหารประจำ ๓ คน คือ พลขับขี่ ๑ คน พลรักษาประจำเท้า ๒ คน
       - รถ ๑ คัน มีทหารประจำ ๔ คน คือ สารถี (คนขับ) ๑ คน นักรบ (นายทหาร) ๑ คน พลรักษาสลักเพลา ๒ คน
       - พลเดินเท้า มีพลอย่างนี้ คือ ทหารถืออาวุธครบมือ ๔ คน
       กองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ โดยกำหนดอย่างต่ำชื่อว่า เสนา เมื่อไปดูเสนาเช่นนี้เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างเท้า
       - กองทัพถูกอะไรๆ บังไว้ หรือว่าลงสู่ที่ลุ่ม มองไม่เห็น คือ ภิกษุยืนในที่นี้แล้วไม่อาจมองเห็น เพราะเหตุนั้นเมื่อภิกษุไปยังสถานที่อื่นเพื่อดู เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
       - บรรดาองค์ ๔ มีช้างเป็นต้น แต่ละองค์ๆ ชั้นที่สุดช้าง ๑ เชือก มีพลขับ ๑ คนก็ดี พลเดินเท้าอาวุธ ๑ คนก็ดี พระราชาชื่อว่าไม่ได้เสด็จยกกองทัพ (ยังไม่ครบองค์เสนา), เสด็จไปประพาสพระราชอุทยานหรือแม่น้ำ อย่างนี้ชื่อว่า ไม่ได้ทรงยาตราทัพ
       ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)



ปมาทํ อปฺปมาเทน    ยถา นุทติ ปณฺฑิโต
ปญฺญาปาสาทมารุยฺห    อโสโก โสกินี ปชํ
ปพฺพตฎฺโฐว ภุมฺมฎฺเฐ    ธีโร พาเล อเวกฺขติ ฯ ๒๘ ฯ

เมื่อใดบัณฑิตกำจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นเขานับว่า ได้ขึ้นสู่
ปราสาทคือปัญญา ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา ผู้ยัง
ต้องเศร้าโศกอยู่ เหมือนคนยืนบนยอดภูเขา มองลงมาเห็นฝูงชนที่ยืนอยู่บนพื้นดิน ฉะนั้น

When banishing carelessness by carefulness,
The sorrowless, wise one ascends the terrace of wisdom
And surveys the ignorant, sorrowing folk
As one standing on a mountain the groundlings.  
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

no.28
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 สิงหาคม 2562 19:13:20 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #53 เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2562 15:51:08 »


ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๙๘)
ภิกษุพึงอยู่ในกองทัพเพียง ๓ วัน เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเหตุที่ต้องไปมีอยู่
ถ้าอยู่เกินกว่ากำหนดนั้น ต้องปาจิตตีย์
(ต่อ)

       พระฉัพพัคคีย์ มีกิจจำเป็นต้องเดินผ่านกองทัพไป แล้วอยู่พักแรมในกองทัพ ๓ คืน ประชาชนเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงได้พักแรมอยู่ในกองทัพเล่า มิใช้ลาภของพวกเรา แม้พวกเราที่มาอยู่ในกองทัพ เพราะเหตุแห่งอาชีพ เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
      ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างพากันเพ่งโทษ แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ปัจจัยบางอย่างเพื่อไปสู่เสนา มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ในเสนาได้เพียง ๒-๓ คืน ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - คำว่า ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่ออาทิตย์อัสดงในวันที่ ๔ แล้ว ภิกษุยังอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เกิน ๓ คืน ภิกษุรู้ว่าเกิน อยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เกิน ๓ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เกิน ๓ คืน ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ยังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ถ้ายังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ยังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ ๒-๓ คืน ๑  ภิกษุอยู่ไม่ถึง ๒-๓ คืน ๑  ภิกษุอยู่ ๒ คืน แล้วออกไปก่อนอรุณของคืนที่ ๓ ขึ้น แล้วกลับอยู่ใหม่ ๑  ภิกษุอาพาธพักแรมอยู่ ๑  อยู่ด้วยกิจธุระของภิกษุอาพาธ ๑  ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ๑  มีเหตุบางอย่างขัดขวางไว้ ๑ มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๒๔ 
      ๑. ถ้าแม้นภิกษุสำเร็จอิริยาบถบางอิริยาบถบนอากาศด้วยฤทธิ์ จะยืนหรือนั่งหรือนอนก็ตามที เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓   




ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๙๙)
ภิกษุอยู่ในกองทัพตามกำหนด ถ้าไปดูเขารบกัน ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์อยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน เธอไปสู่สนามรบบ้าง ไปสู่ที่พักพลบ้าง ไปสู่ที่จัดขบวนทัพบ้าง ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง  พระฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปสู่สนามรบแล้วถูกยิงด้วยลูกปืน คนทั้งหลายจึงล้อเธอว่า พระคุณเจ้าคงรบเก่งมาแล้วกระมัง พระคุณเจ้าได้คะแนนเท่าไร เธอถูกเขาล้อได้เก้อเขินแล้ว ชาวบ้านจึงพากันติเตียน... ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา ๒-๓ คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สนามรบ ได้แก่ สถานที่ที่มีการรบพุ่งกันอยู่
      - ที่ชื่อว่า ที่พักพล ได้แก่ สถานที่พักกองช้าง กองม้า กองรถ กองพลเดินเท้า
      - ที่ชื่อว่า ที่จัดขบวนทัพ ได้แก่ สถานที่ซึ่งเขาจัดว่า กองช้างจงอยู่ทางนี้ กองม้าจงอยู่ทางนี้ เป็นต้น
      - ที่ชื่อว่า กองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้ว ได้แก่ กองทัพช้าง ๑  กองทัพม้า ๑  กองทัพเดินเท้า ๑  กองทัพช้างอย่างต่ำมี ๓ เชือก  กองทัพม้าอย่างต่ำมี ๓ ม้า  กองทัพรถอย่างต่ำมี ๓  คัน  กองพลเดินเท้าอย่างต่ำมีทหารถือปืน ๔ คน

อาบัติ
      ๑. ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๒. ภิกษุยืนอยู่ในสถานที่เช่นไรมองเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ภิกษุละทัศนูปจารแล้ว ยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ภิกษุยืนดูอยู่ในที่ใดมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ภิกษุละทัศนูปจารแล้วยังมองดูอีก ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น ๑  การรบพุ่งมายังสถานที่ที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน  เธอมองเห็น ๑  ภิกษุเดินทางไกลสวนไปพบเข้า ๑  มีกิจจำเป็นต้องเดินไปพบเข้า ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๒๘ 
      ๑. ชนทั้งหลายยกพวกไปรบกัน ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สนามรบ,  คำว่า อุยโยธิกะนี้ เป็นชื่อแห่งที่สัมปหารกัน (ยุทธภูมิหรือสมรภูมิ)
      พวกชนย่อมรู้จักที่พักของพลรบ ณ ที่นี้  ที่นั้นจึงชื่อว่า ที่พักพล ได้ความว่า สถานที่ตรวจพล
      - การจัดขบวนทัพ ชื่อว่า เสนาพยูหะ,  คำว่า เสนาพยูหะ นี้เป็นชื่อแห่งการจัดขบวนทัพ
      ๒. สิกขาบทนี้พึงทราบสมุฏฐานเป็นต้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในอุยยุตตสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘) ที่กล่าวแล้ว



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๐)
ภิกษุดื่มสุราและเมรัย ต้องปาจิตตีย์

       พระสาคตะปราบพญานาคได้ พวกอุบาสกชาวเมืองโกสัมพีทราบข่าว จึงเข้าไปหาท่านถามว่า ท่านขอรับ อะไรเป็นของหายาก และเป็นของชอบของพระคุณเจ้า พวกกระผมจะจัดของอะไรถวายดี พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า มีอยู่  ท่านทั้งหลาย สุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายาก ทั้งเป็นของชอบของพวกพระ ท่านทั้งหลายจงนำมาถวายเถิด
      พวกอุบาสกจัดเตรียมไว้ทุกครัวเรือน เมื่อพระสาคตะเดินมาบิณฑบาต จึงถวายให้ดื่ม ท่านดื่มจนล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา รับสั่งให้หามพระสาคตะไป แล้วจัดให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พระสาคตะได้พลิกกลับ หันเท้าทั้งสองไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าๆ รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า สาคตะเคยมีความเคารพตถาคต เคยต่อสู้กับพญานาคมิใช่หรือ? ภิกษุกราบทูลว่า เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า รับสั่งว่า เดี๋ยวนี้สาคตะสามารถจะต่อสู้แม้กับงูน้ำได้หรือ?  ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
      ทรงติเตียนพระสาคตะ แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำด้วยแป้ง ทำด้วยขนม ทำด้วยข้าวสุก หมักด้วยส่าเหล้าที่ผสมด้วยเครื่องปรุง
      - ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำดองดอกไม้ น้ำดองผลไม้ น้ำดองน้ำผึ้ง น้ำดองน้ำอ้อยงบ น้ำดองที่ผสมด้วยเครื่องปรุง
      - ดื่ม คือ ดื่มโดยที่สุดแม้ปลายหญ้าคา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. น้ำเมา (สุราและเมรัย) ภิกษุรู้ว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. น้ำเมา ภิกษุคิดว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุคิดว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๕. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ดื่มน้ำที่มีกลิ่นรสเหมือนน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา ๑  ดื่มน้ำเมาที่เจือในแกง ๑  ที่เจือลงในเนื้อ ๑  ที่เจือลงในน้ำมัน ๑  น้ำเมาในน้ำอ้อยที่ดองมะขามป้อม ๑  ดื่มยาดองอริฏฐะซึ่งไม่ใช่ของเมา ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๓๕-๖๓๖ 
      ๑. เมรัยที่เขาทำด้วยรสแห่งดอกมะซางเป็นต้น ชื่อว่า ปุปผาสวะ,  เมรัยที่เขาคั้นผลลูกจันทน์ เป็นต้น แล้วทำด้วยรสแห่งผลลูกจันทน์เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ผลาสวะ,  เมรัยที่เขาทำด้วยรสชาติแห่งผลลูกจันทน์ (หรือองุ่น) เป็นต้น ชื่อว่า มัธวาสวะ,  อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขาทำด้วยน้ำผึ้งก็มี,  เมรัยที่ชื่อว่า คุฬาสวะ เพราะเขาทำด้วยน้ำอ้อยสด เป็นต้น
      ธรรมดาสุราที่เขาใส่เชื้อแป้ง กระทำด้วยรสแม้แห่งจั่นมะพร้าวเป็นต้น ย่อมถึงการนับว่าสุราทั้งนั้น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตักเอาน้ำใสแห่งสุราใส่เชื้อแล้วนั่นแล ที่เหลือย่อมถึงการนับว่าเมรัยทั้งนั้น
      ๒. ภิกษุดื่มสุราหรือเมรัยนั่นตั้งแต่เชื้อ แม้ด้วยปลายหญ้าคา เป็นปาจิตตีย์ แต่เมื่อดื่มแม้มากด้วยประโยคเดียว เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว เมื่อดื่มขาดเป็นระยะๆ เป็นอาบัติมากตัวโดยนัยประโยค
      ๓. ชนทั้งหลายใส่น้ำเมาลงนิดหน่อยเพื่ออบกลิ่นแล้วต้มแกง ไม่เป็นอาบัติในเพราะแกงใส่น้ำเมาเล็กน้อยนั้น แม้ในต้มเนื้อก็นัยนี้เหมือนกัน
      ก็ชนทั้งหลายย่อมเจียวน้ำมันกับน้ำเมา แม้เพื่อเป็นยาระงับลม ไม่เป็นอาบัติในน้ำมันแม้นั้นที่ไม่ได้เจือน้ำเมาจนเกินไปเท่านั้น, ในน้ำมันที่เจือน้ำเมาจัดไปจนมีสีกลิ่นและรสแห่งน้ำเมาปรากฏ เป็นอาบัติแท้
      - ในยาดองชื่อ อริฏฐะ ซึ่งไม่ใช่น้ำเมา ไม่เป็นอาบัติ, ได้ยินว่าชนทั้งหลายทำยาดอง ชื่อ อริฏฐะ ด้วยรสแห่งมะขามป้อมเป็นต้นนั้นแหละ ยาดองนั้นมีสี กลิ่น และรส คล้ายน้ำเมา แต่ไม่เมา ทรงหมายเอายาดองชื่ออริฏฐะนั้น แต่ยาดองอริฏฐะที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุง จัดเป็นน้ำเมา ไม่ควรตั้งแต่เชื้อ
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่มีเจตนาล่วงละเมิด หากกลืนกินเข้าไปก็ไม่พ้นอาบัติ) เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต), พึงทราบว่า เป็นอจิตตกะ เพราะไม่รู้วัตถุ (ไม่รู้ว่าเป็นน้ำเมา),  โลกวัชชะ เพราะพึงดื่มด้วยอกุศลจิตเท่านั้น 



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๑)
ภิกษุจี้ให้ภิกษุอื่นหัวเราะ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ได้จี้ภิกษุรูปหนึ่งด้วยนิ้วมือให้หัวเราะ เธอหัวเราะ เหนื่อย หายใจไม่ทัน ได้มรณภาพลง บรรดาภิกษุต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะจี้ด้วยนิ้วมือ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า จี้ด้วยนิ้วมือ คือ ใช้นิ้วจี้อุปสัมบัน มีความประสงค์จะยังอุปสัมบันให้หัวเราะ ถูกต้องกายด้วยกาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรูว่าเป็นอุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย หมายให้หัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย.. ต้องทุกกฏ
      ๖. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ
      ๗. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย ต้องทุกกฏ
      ๘. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของโยน... ต้องทุกกฏ
      ๙. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๐. ภิกษุเอากายถูกต้องกายอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๑. ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกายอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๒. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๓. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๔. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๕. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ เมื่อมีกิจจำเป็น ถูกต้องเข้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๐
      ๑. ตรัสหมายเอานิ้วจี้รักแร้เป็นต้น, นางภิกษุณีก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งอนุปสัมบันในสิกขาบทนี้ เมื่อภิกษุถูกต้องนางภิกษุณีด้วยประสงค์จะเล่น ก็เป็นทุกกฏ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๒)
ภิกษุเล่นน้ำ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ เล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดี ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะธรรม คือ เล่นน้ำ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ธรรม คือ เล่นน้ำ ความว่า ในน้ำลึกพ้นข้อเท้าขึ้นไป ภิกษุมีความประสงค์จะรื่นเริง ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เล่นน้ำ ภิกษุรู้ว่าเล่น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องปาจิตตีย์
      ๓. เล่นน้ำ ภิกษุคิดว่ามิได้เล่น ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุเล่นเรือ ต้องทุกกฏ
      ๖. ภิกษุเอามือวักน้ำก็ดี เอาเท้าแกว่งน้ำก็ดี เอาไม้ขีดน้ำก็ดี เอากระเบื้องปาน้ำเล่นก็ดี ต้องทุกกฏ
      ๗. น้ำ น้ำส้ม น้ำนมเปรี้ยว น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน ซึ่งขังอยู่ในภาชนะ ภิกษุเล่น ต้องทุกกฏ
      ๘. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องทุกกฏ
      ๙. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฏ
      ๑๐. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้เล่น ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่น แต่เมื่อมีกิจจำเป็นเป็นลงน้ำแล้ว ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ๑  ภิกษุจะข้ามฟาก ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๔-๖๔๕ 
      ๑. “ประสงค์จะเล่น” เมื่อหยั่งลงเพื่อต้องการจะดำลง เป็นทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า, ในการดำลงและผุดขึ้นเป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค, ภิกษุดำลงว่ายไปภายในน้ำนั่นเอง เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ครั้งที่ขยับเท้าในที่ทั้งปวง
      - เมื่อใช้มือทั้ง ๒ ว่ายข้ามไป เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ครั้งที่ขยับมือ แม้ในเท้าทั้ง ๒ ก็นัยนี้นั่นแล ภิกษุว่ายข้ามไปด้วยอวัยวะใดๆ เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยคแห่งอวัยวะนั้นๆ ภิกษุกระโดดลงในน้ำ จากฝั่งก็ดี จากต้นไม้ก็ดี เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      - ภิกษุเล่นเรือด้วยพายและถ่อเป็นต้น หรือเข็นเรือขึ้นบนตลิ่ง ชื่อว่า เล่นเรือ เป็นทุกกฏ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปฐมปาราชิก เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๓)
ภิกษุแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคลและในธรรม ต้องปาจิตตีย์

       พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น การกระทำเช่นนั้นไม่ควร แต่พระฉันนะไม่เอื้อเฟื้อ ยังคงทำอยู่อย่างเดิม ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๒ อย่างคือ
      ๑. ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ท่านผู้ที่เตือนเรานี้ ถูกยกวัตร ถูกดูหมิ่น หรือถูกติเตียน เราจักไม่ทำตามถ้อยคำของท่านผู้นี้ ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ไฉนหนอ ธรรมข้อนี้จะพึงเสื่อม สูญหาย หรืออันตรธานเสีย ดังนี้ก็ดี ไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงแสดงความไม่เอื้อเฟื้อก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุอันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ข้อนี้ไม่เป็นไปเพื่อขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นเป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุถูกอนุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติก็ดี ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติก็ดี แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ... ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุกล่าวชี้เหตุว่า อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเรียนมาอย่างนี้ สอบถามมาอย่างนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๙ 
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๔)
ภิกษุหลอนผู้อื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์หลอนพระสัตตรสวัคคีย์ พวกเธอถูกหลอนจึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายสอบถามทราบความ พากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด หลอนซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า หลอน (หลอก) ความว่า อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เธอผู้ถูกหลอนนั้นตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุ       ปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดารเพราะโจรก็ดี ทางกันดารเพราะสัตว์ร้ายก็ดี ทางกันดารเพราะปีศาจก็ดี เธอจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๔. อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เขาจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องทุกกฏ
      ๕. อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดาร... ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน หลอน ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะหลอน แต่แสดงรูปก็ดี เรื่องก็ดี เป็นต้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๕๒ 
      ๑. การนำรูปเข้าไปแสดงเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว ในมนุสสวิคคหสิกขาบท (ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓)
      - ส่วนสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับอนาทริยสิกขาบท ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ (สิกขาบทที่ ๔ ข้อก่อน) ที่กล่าวแล้ว 



อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ   สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส   หิตฺวา ยาติ สุเมธโส ฯ ๒๙ ฯ 

ผู้มีปัญญามักไม่ประมาท เมื่อคนอื่นพากันประมาท และตื่น เมื่อคนอื่นหลับอยู่
เขาจึงละทิ้งคนเหล่านั้นไปไกล เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว วิ่งเลยม้าแกลบ ฉะนั้น 

Heedful among the heedless, Wide-awake among those asleep,
The wise man advances As a swift horse leaving a weak nag behind.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.30


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #54 เมื่อ: 21 กุมภาพันธ์ 2563 14:45:14 »


ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๕)
ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นติดก็ดี เพื่อจะผิง ต้องปาจิตตีย์

       เมื่อฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลายได้ก่อไฟที่ขอนไม้มีโพรงท่อนหนึ่ง แล้วผิง  งูเห่าที่นอนอยู่ในโพรงได้เลื้อยออกมาไล่พวกภิกษุๆ ได้วิ่งหนีไปที่อื่น บรรดาภิกษุผู้มักน้อยต่างติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงมีพระบัญญัติ (ห้ามติดไฟ)...   
       สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายอาพาธ... กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า…
      “อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้น เป็นรูป เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - มิใช่ผู้อาพาธ คือ เว้นไฟก็ยังมีความผาสุก, ผู้อาพาธ คือ ผู้เว้นไฟแล้วไม่มีความผาสุก
       - มุ่งการผิง คือ ประสงค์จะให้ร่างกายอบอุ่น, ไฟท่านเรียกว่า อัคคี
       - ติดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้ผู้อื่นติด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุสั่งหนเดียว แต่เขาติดแม้หลายหน ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป คือ ยกเว้นในคราวอาพาธ และยกเว้นการจุดตามประทีป เป็นต้น

อาบัติ
      ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่มีปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓ มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุยกฟืนที่ติดไฟไว้ในที่เดิม... ต้องทุกกฏ
       ๕. ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องทุกกฏ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าเป็นผู้อาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ผิงไฟที่ผู้อื่นติดไว้ ผิงถ่านไฟที่ปราศจากเปลวไฟ ๑  ตามประทีป ก่อไฟใช้อย่างอื่น ติดไฟในเรือนไฟ ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๕๗-๖๕๘
      ๑. ภิกษุยกดุ้นฟืนที่กำลังติดไฟ ซึ่งตกลงไปขึ้นมา อธิบายว่า ยกวางไว้ในที่เดิมอีก เมื่อภิกษุหยิบดุ้นฟืนที่ไฟยังไม่ดับอย่างนี้ ใส่ลงไปเท่านั้น เป็นทุกกฏ แต่เป็นปาจิตตีย์แท้แก่ภิกษุผู้ก่อไฟฟืนที่ไฟดับแล้วให้ลุกอีก
       ๒. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ก่อไฟเพราะมีอันตรายเพราะถูกงูกัด ถูกโจรล้อม เนื้อร้าย และอมนุษย์ขัดขวาง เป็นต้น
       ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ 




ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๖)
ภิกษุอยู่ในมัชฌิมประเทศ ๑๕ วันจึงอาบน้ำได้หนหนึ่ง
ถ้ายังไม่ถึง ๑๕ วันอาบน้ำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

       ภิกษุทั้งหลายพากันสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารมีพระราชประสงค์จะทรงสรงสนานพระเศียรเกล้า จึงเสด็จประทับรอ ตั้งพระทัยว่าจักรอจนกว่าพระคุณเจ้าสรงน้ำเสร็จ เวลาได้ล่วงจนถึงพลบค่ำ ภิกษุทั้งหลายจึงสรงเสร็จ พระราชาจึงทรงสรงสนานพระเศียรเกล้า ประตูพระนครปิด ท้าวเธอต้องประทับแรมนอกพระนคร รุ่งเช้าจึงเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบ จึงทรงมีพระบัญญัติว่า…“อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์”
      สมัยต่อมาเป็นฤดูร้อน ภิกษุทั้งหลายมีกายชุ่มด้วยเหงื่อ กระวนกระวาย กราบทูล... จึงทรงมีพระอนุบัญญัติอนุญาตให้อาบน้ำได้...
      ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุทำนวกรรม (ทำการงาน) ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุเดินทางไกล ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุทำจีวร กายถูกต้องลมผสมธุลี ทั้งฝนก็ตกโปรยปราย จึงกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้น คือ เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือนกึ่งนี้เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
        - ยังหย่อนกึ่งเดือน คือ ยังไม่ถึงครึ่งเดือน
       -  บทว่า อาบน้ำ ได้แก่ อาบน้ำด้วยจุรณหรือดินเหนียว เป็นทุกกฏในประโยค (ในการอาบ) เมื่ออาบเสร็จต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - ที่ชื่อว่า คราวร้อน คือ เดือนกึ่งท้ายร้อน
      - คราวกระวนกระวาย คือ เดือนต้นแห่งฤดูฝน ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่าสองเดือนกึ่งนี้เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย
      - คราวเจ็บไข้ คือ เว้นอาบน้ำย่อมไม่สบาย
      - คราวทำการงาน คือ โดยที่สุดแม้กวาดบริเวณ ก็ชื่อว่า คราวทำการงาน
      - คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุตั้งใจว่า จักเดินทางกึ่งโยชน์ อาบน้ำได้ คือ ตอนจะไปอาบน้ำได้ ไปถึงแล้วก็อาบได้
      - คราวฝนมากับพายุ คือ ภิกษุทั้งหลายถูกต้องผสมฝุ่น หยาดฝนตกถูกต้องกาย ๒-๓ หยาด ก็อาบได้
       
อาบัติ
      ๑. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าหย่อน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. เกินกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าหย่อน... ต้องทุกกฏ
      ๕. เกินกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. เกินกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน... ไม่ต้องอาบัติ     

อนาบัติ
       อาบในสมัย ๑  อาบในเวลากึ่งเดือน ๑  อาบในเวลาเกินกึ่งเดือน ๑  ข้ามฟาก ๑  ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกๆ แห่ง ๑  อาบเพราะมีอันตราย (ถูกแมลงภู่เป็นต้นไล่ต่อย จะดำลงในน้ำก็ควร) ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๖๖
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ 



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๗)
ภิกษุได้จีวรใหม่ ต้องพินทุด้วยสี ๓ อย่าง จึงนุ่งห่มได้
ถ้าไม่ทำพินทุก่อนแล้วนุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์ ต้องปาจิตตีย์

       พวกภิกษุกับปริพาชกต่างพากันเดินทางจากเมืองสาเกตไปยังพระนครสาวัตถี ในระหว่างทางถูกพวกโจรแย่งชิงจีวร พวกเจ้าหน้าที่จับโจรเหล่านั้นได้พร้อมทั้งของกลาง แล้วสั่งทูตแจ้งให้ภิกษุเดินทางมารับจีวรของตนๆ ภิกษุทั้งหลายจำจีวรของตนๆ ไม่ได้ พวกชาวบ้านพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... กราบทูล...  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระบัญญัติว่า…
      “อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของเขียวครามก็ได้ตมก็ได้ ของดำคล้ำก็ได้ ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้จีวรใหม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ ผ้า ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง
       - พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นคือพึงถือที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
       - ที่ชื่อว่า ของเขียวคราม ได้แก่ ของเขียวคราม ๒ อย่าง คือ ของเขียวครามเหมือนสำริดอย่าง ๑ ของเขียวครามเหมือนน้ำใบไม้เขียวอย่าง ๑
       - ที่ชื่อว่า สีตม ตรัสว่า สีน้ำตม
       - ที่ชื่อว่า สีดำคล้ำ ได้แก่ สีดำคล้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง
       - ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น โดยที่สุดแม้ปลายหญ้าคา แล้วใช้จีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มิได้ถือเอา (มิได้ทำให้เสียสี) ภิกษุรู้ว่ามิได้ถือเอา ใช้นุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มิได้ถือเอา ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓ มิได้ถือเอา ภิกษุคิดว่าถือเอาแล้ว... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ถือเอาแล้ว (ทำให้เสียสีแล้ว) ภิกษุคิดว่ามิได้ถือเอา... ต้องทุกกฏ
       ๕. ถือเอาแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. ถือเอาแล้ว ภิกษุรู้ว่าถือเอาแล้ว... ไม่ต้องอาบัติ
     
อนาบัติ
       ภิกษุถือเอาแล้วนุ่งห่ม ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีเครื่องหมายหายสูญไป ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีโอกาสทำเครื่องหมายไว้ แต่จางไป ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่ยังมิได้ทำเครื่องหมาย แต่เย็บติดกับจีวรที่ทำเครื่องหมายแล้ว ๑  นุ่งห่มผ้าปะ ๑  นุ่งห่มผ้าทาบ ๑  ใช้ผ้าดาม ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๗๐-๖๗๑
      ๑. บทว่า กํสนีลํ คือสีเขียวของช่างหนัง แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า สนิมเหล็ก สนิมโลหะนั้น ชื่อว่า สีเขียวเหมือนสำริด
          - บทว่า ปลาสนีลํ ได้แก่น้ำใบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีเขียวคราม 
          - พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายเอากัปปพินทุ (จุดเครื่องหมาย) มิได้ตรัสหมายถึงการกระทำจีวรทั้งผืนให้เสียสี ด้วยสีเขียวเป็นต้น  ก็แล เมื่อภิกษุเมื่อจะถือเอากัปปะนั้นย้อมจีวรแล้ว พึงถือเอาจุดเครื่องหมายเท่าแววตาขนนกยูง หรือว่าหลังตัวเรือด ที่มุมทั้ง ๔ หรือที่มุมทั้ง ๓ ทั้ง ๒ หรือมุมทั้ง ๓ ทั้ง ๒ หรือมุมเดียวก็ได้
           แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า จะถือเอาพินทุกัปปะที่ผืนผ้า หรือลูกดุม ไม่ควร  แต่ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ควรแท้  ก็กัปปะที่เป็นแนว และกัปปะที่เป็นช่อ เป็นต้น ท่านห้ามไว้ในทุกๆ อรรถกถา เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำกัปปะโดยวิการ แม้อะไรอย่างอื่น เว้นจุดกลมจุดเดียว         
      ๒. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
           พินทุกัปปะ
– การทำพินทุ,  การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตาขนนกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือดที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิ ตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓




อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ เสฎฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิดต สทา ฯ ๓๐ ฯ 

ท้าวมฆวานได้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ เพราะผลของความไม่ประมาท
บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาทและติเตียนความประมาททุกเมื่อ

By vigilance it was that Indra attained the lordship of the gods.
Earnestness is ever praised, Carelessness is ever despised. .
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.31

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #55 เมื่อ: 11 มีนาคม 2563 16:25:12 »


ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๘)
ภิกษุวิกัปจีวรแก่ภิกษุอื่นแล้วผู้รับยังไม่ได้ถอน นุ่งผ้าจีวรนั้น ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรเองแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกัน แล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้ถอนนั้น ภิกษุนั้นเล่าเรื่องนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายฟัง ต่างพากันตำหนิ แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด วิกัปจีวรเอง แก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี สิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้สอยจีวรนั้น ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี
      - สามเณร ได้แก่ บุรุษผู้ถือสิกขาบท ๑๐, สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้ถือสิกขาบท ๑๐
      - ที่ชื่อว่า วิกัป มี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า ๑ วิกัปลับหลัง ๑
        ที่ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน หรือว่าข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่สหธรรมิกผู้มีชื่อนี้
        ที่ชื่อว่า วิกัปลับหลัง คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านเพื่อช่วยวิกัป ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงถามว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นผู้เคยเห็นของท่าน พึงตอบว่า ท่านผู้มีชื่อนี้และท่านผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้วิกัปพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุมีชื่อนั้น และภิกษุมีชื่อนั้น จีวรผืนนี้เป็นของภิกษุเหล่านั้น ท่านจะใช้สอยก็ตาม จะสละก็ตาม จะทำตามปัจจัยก็ตาม
     - ที่ชื่อว่า ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน คือ ภิกษุใช้สอยจีวรที่ผู้รับวิกัปนั้นยังมิได้คืนให้ หรือไม่วิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ได้ถอน ใช้สอย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุคิดว่าถอนแล้ว... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุอธิษฐานก็ดี สละให้ไปก็ดี ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๕. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้ถอน ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๖. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุสงสัย ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๗. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุรู้ว่าถอนแล้ว ใช้สอย ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุใช้สอยจีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปคืนให้หรือวิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๗๕
      ๑. จีวรที่ยังไม่ได้ถอนวิกัป ได้แก่ จีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปยังไม่กล่าวให้แก่ภิกษุเจ้าของจีวรอย่างนี้ว่า “ท่าจะใช้สอยก็ตาม จะสละก็ตาม จะทำตามปัจจัยก็ตาม”
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยาและอกิริยา  เป็นอจิตตกะ  เป็นปัณณัติวัชชะ,  กายกรรม  วจีกรรม  มีจิต ๓
      ๓. วิกัป,  วิกัปป์  ได้แก่ ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอดิเรกบาตรหรืออดิเรกจีวรไว้เกินกำหนด



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๙)
ภิกษุซ่อนบริขารของภิกษุอื่น ด้วยคิดว่าจะล้อเล่น ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์เป็นผู้ไม่เก็บงำบริขาร พระฉัพพัคคีย์จึงซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ของพระสัตตรสวัคคีย์ๆ จึงขอร้องว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านจงคืนบาตรให้แก่พวกผม จงคืนจีวรให้แก่พวกผม พระฉัพพัคคีย์พากันหัวเราะ ไม่คืน พระสัตตรสวัคคีย์จึงร้องไห้ไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี ของภิกษุ โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ผ้าปูนั่ง ตรัสหมายเอาผ้าปูนั่งที่มีชาย
      - ที่ชื่อว่า กล่องเข็ม ได้แก่ กล่องที่เข็มก็ตาม ไม่มีเข็มก็ตาม
      - ที่ชื่อว่า ประคดเอว ได้แก่ ประคดเอว ๒ ชนิด คือ ประคดผ้าชนิดหนึ่ง ประคดไส้สุกรชนิดหนึ่ง, บทว่า ซ่อน คือ ซ่อนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้ซ่อน คือ ให้ผู้อื่นซ่อน ต้องปาจิตตีย์, ใช้หนเดียว เขาซ่อนแม้หลายครั้ง ก็ต้องปาจิตตีย์, บทว่า โดยที่สุดหมายจะหัวเราะ คือ มุ่งจะล้อเล่น

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบริขารอย่างอื่น โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตร จีวร บริขาร อย่างอื่นก็ดี ของอนุปสัมบัน โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่มีความประสงค์จะหัวเราะ ๑  ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี ๑  ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังสั่งสอนแล้ว จึงคืนให้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๘๐
      ๑. “บริขารอื่น” มีถุงบาตรเป็นต้น ซึ่งมิได้มาในพระบาลี
          - “หวังสั่งสอน” เช่นว่า เราจักกล่าวธรรมกถาอย่างนี้ว่า ชื่อว่า สมณะเป็นผู้ไม่เก็บงำบริขาร ไม่ควร แล้วจึงจักให้ ดังนี้ไม่เป็นอาบัติ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  วาจากับจิต ๑  กายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๐ )
ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุทายีเป็นผู้ชำนาญในการยิงธนู ท่านไม่ชอบใจนกกาทั้งหลาย จึงได้ยิงมัน แล้วตัดศีรษะนกเสียบหลาวเรียงไว้เป็นลำดับ ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ทราบความนั้นจึงพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด แกล้วพรากสัตว์จากชีวิต เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า แกล้ง คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ ตั้งใจ พยายาม ละเมิด
      - ที่ชื่อว่า สัตว์ ตรัสหมายเอาสัตว์ดิรัจฉาน
      - บทว่า พราก... จากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นทอน ซึ่งอินทรีย์มีชีวิต ตัดความสืบต่อนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
      ๑. สัตว์มีชีวิต ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต พรากชีวิต ต้องปาจิตตีย์
      ๒. สัตว์มีชีวิต ภิกษุสงสัย พรากจากชีวิต ต้องทุกกฏ
      ๓. สัตว์มีชีวิต ภิกษุคิดว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์มีชีวิต... ต้องทุกกฏ
      ๕. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่แกล้งพราก ๑  ภิกษุพรากด้วยไม่มีสติ ๑  ภิกษุไม่รู้ ๑  ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๘๓-๖๘๔
      ๑. ในคราวเป็นคฤหัสถ์ พระอุทายีเคยเป็นอาจารย์ของพวกนายขมังธนู
           - ในสิกขาบทนี้ จำเพาะสัตว์ดิรัจฉานเท่านั้น
           - ภิกษุฆ่าสัตว์ดิรัจฉานนั้น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เป็นอาบัติเท่ากัน ไม่มีความต่างกัน แต่ในสัตว์ใหญ่เป็นอกุศลมาก เพราะมีความพยายามมาก
           - ชั้นที่สุด ภิกษุจะทำความสะเอียดเตียงและตั่ง มีความสำคัญแม้ในไข่เรือดว่า เป็นสัตว์เล็ก บี้ไข่เรือดนั้นให้แตกออกเพราะขาดความกรุณา เป็นปาจิตตีย์ เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงตั้งความกรุณาไว้ในฐานะเช่นนั้น เป็นผู้ไม่ประมาททำวัตรเถิด
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้นเหมือน “มนุสสวิคคหสิกขาบท (ปาราชิกข้อที่ ๓)” นั่นแล



อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ    ปมาเท ภยทสิสิ วา
สญฺโญชนํ อณุ ถูลํ   ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ ฯ ๓๑ * ฯ   

ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท  เห็นภัยในความประมาท
ย่อมเผากิเลสเครื่องผูกมัดได้ เหมือนไฟเผาเชื้อทุกชนิด

The bhikkhu who delights in earnesstness And discerns dangers in negligence,
Advances, consuming all fetters, Like fire burning fuel, both small and great.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.32

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #56 เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2563 15:59:47 »


ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๑)
ภิกษุรู้อยู่ว่าน้ำนั้นมีสัตว์ บริโภคน้ำนั้น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์อยู่ แต่ก็ยังบริโภคน้ำมีตัวสัตว์นั้น ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ
      - บทว่า มีตัวสัตว์ ความว่า ภิกษุรู้อยู่ คือ รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายจักตายเพราะการบริโภค ดังนี้ บริโภคต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่ามีตัวสัตว์ บริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฏ
      ๓. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่าไม่มีตัวสัตว์  บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่ามีตัวสัตว์... ต้องทุกกฏ
      ๕. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่าไม่มีตัวสัตว์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ ๑  ภิกษุรู้ว่าน้ำไม่มีตัวสัตว์ คือ รู้ว่าสัตว์จักไม่ตาย เพราะการบริโภค ดังนี้ บริโภค ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๘๗-๖๘๘ 
      ๑. น้ำมีตัวสัตว์ คือ จำพวกสัตว์เล็กๆ ซึ่งจะตายเพราะการบริโภค ภิกษุรู้อยู่ก็ยังบริโภค ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค, เมื่อภิกษุดื่มน้ำแม้เต็มบาตรโดยประโยคเดียว ไม่ขาดตอน ก็เป็นอาบัติตัวเดียว ภิกษุเอาน้ำเช่นนั้นแกว่งล้างบาตรมีอามิสก็ดี นำบาตรข้าวต้มร้อนให้เย็นในน้ำเช่นนั้นก็ดี เอามือวักหรือเอากระบวยตักน้ำนั้นอาบก็ดี เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
      แม้ภิกษุเข้าไปสู่ตระพังน้ำก็ดี สระโบกขรณีก็ดี ทำให้คลื่นเกิดขึ้น เพื่อต้องการให้น้ำทะลักออกภายนอก (เป็นปาจิตตีย์), พวกภิกษุเมื่อชำระตระพังน้ำหรือสระโบกขรณี พึงถ่ายเทน้ำที่ตักจากตระพังหรือจากสระโบกขรณีนั้นลงในน้ำเท่านั้น เมื่อในที่ใกล้ไม่มีน้ำ พึงเทน้ำที่เป็นกัปปิยะ ๘ หม้อ หรือ ๑๐ หม้อ ลงในที่ขังน้ำได้ แล้วพึงเทลงในน้ำที่เป็นกัปปิยะซึ่งเทไว้นั้น, อย่าเทลงบนหินอันร้อน ด้วยคิดว่าจักไหลกลับลงไปในน้ำ แต่จะรดให้หินเย็นด้วยน้ำที่เป็นกัปปิยะ (ไม่มีตัวสัตว์) ควรอยู่
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ เพราะภิกษุแม้รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ แล้วบริโภคด้วยสำคัญว่าเป็นน้ำ ดุจในการที่แม้รู้ว่ามีตั๊กแตนและสัตว์เล็กจะตกลงไป แล้วตามประทีปด้วยจิตบริสุทธิ์ ฉะนั้น, กายกรรม วจีกรรม มีจิต๓   



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๒)
ภิกษุรู้อยู่ว่าอธิกรณ์นี้สงฆ์ทำแล้วโดยชอบ
เลิกถอนเสีย กลับทำใหม่ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์...รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรมเพื่อทำอีก กล่าวหาว่า กรรมไม่เป็นอันทำแล้ว กรรมที่ทำแล้วไม่ดี กรรมต้องทำใหม่ กรรมไม่เป็นอันทำเสร็จแล้ว กรรมที่ทำเสร็จแล้วไม่ดี ต้องทำให้เสร็จใหม่ บรรดาภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เองหรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ
      - ที่ชื่อว่า ตามธรรม คือ ที่สงฆ์ก็ดี บุคคลก็ดี ทำแล้วตามธรรม ตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่าตามธรรม
      - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ มี ๔ คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
      - บทว่า ฟื้น...เพื่อทำอีก คือ ภิกษุฟื้นขึ้นด้วยกล่าวหาว่า กรรมไม่เป็นอันทำแล้ว กรรมที่ทำแล้วไม่ดี กรรมต้องทำใหม่ กรรมไม่เป็นอันทำเสร็จแล้ว กรรมที่ทำเสร็จแล้วไม่ดี สงฆ์ต้องทำให้เสร็จใหม่ ดังนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่า กรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุรู้อยู่ว่าทำกรรมโดยไม่เป็นธรรม โดยเป็นวรรค หรือทำแก่บุคคลผู้ไม่ควรแก่ธรรม ดังนี้ ฟื้น ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๙๑-๖๙๒   
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปยังสำนักของภิกษุนั้นๆ แล้วพูดคำโยกโย้ไปมา มีอาทิว่า ธรรมไม่เป็นอันทำ คือ ไม่ให้การยืนยันโดยความเป็นเรื่องควรยืนยัน
          - ซึ่งอธิกรณ์นั้น สงฆ์วินิจฉัยระงับแล้วโดยธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพื่อเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์
          - อธิกรณ์นั้น สงฆ์ระงับแล้วด้วยกรรมใด ถ้ากรรมนั้นเป็นกรรมชอบธรรม แม้ภิกษุนี้ก็เป็นผู้มีความสำคัญในกรรมที่เป็นธรรมนั้นว่า เป็นกรรมชอบธรรม ถ้ารื้อฟื้นอธิกรณ์นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๓)
ภิกษุรู้อยู่ แล้งปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ท่านบอกแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว คุณอย่าได้บอกแก่ใครๆ เลย
      ครั้นต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว เธอขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ สงฆ์ได้ให้ปริวาสแก่เธอ เธอกำลังอยู่ปริวาสอยู่ ได้พบภิกษุรูปนั้นแล้วได้บอกว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ได้ขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นแก่ผม แล้วผมกำลังอยู่ปริวาส ผมขอบอกให้ท่านทราบ ขอท่านจงจำผมว่าผมบอกให้ทราบ ดังนี้
      ภิกษุนั้นถามว่า แม้ภิกษุรูปอื่นใดต้องอาบัตินี้ ก็ต้องทำอย่างนี้หรือ ภิกษุผู้อยู่ปริวาสตอบว่า ทำอย่างนี้ ภิกษุนั้นพูดว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้บอกผมแล้ว สั่งไม่ให้ผมบอกแก่ใครเลย ภิกษุผู้อยู่ปริวาสถามว่า อาวุโส ก็ท่านปกปิดอาบัตินั้นหรือ ภิกษุนั้นตอบว่า เป็นเช่นนั้นขอรับ
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก ๔ และสังฆาทิเสส ๑๓
      - บทว่า ปิด คือ เมื่อภิกษุคิดว่าคนทั้งหลายรู้อาบัตินี้แล้วจักโจท จักบังคับให้การ จักด่าว่า จักติเตียน เราจักไม่บอกละ ดังนี้ พอทอดธุระแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย ปิด ต้องทุกกฏ
      ๓. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่าไม่ใช่อาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฏ
      ๔. ภิกษุปิดอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุปิดอัชฌาจารอันชั่วหยาบก็ดี ไม่ชั่วหยาบก็ดี ของอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
      ๖. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฏ
      ๗. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย ปิด ต้องทุกกฏ
      ๘. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าไม่ชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
        ภิกษุคิดเห็นว่า ความบาดหมางก็ดี ความทะเลาะก็ดี ความแก่งแย่งก็ดี ความวิวาทก็ดี จักมีแก่สงฆ์ แล้วไม่บอก ๑  ไม่บอกด้วยเห็นว่าสงฆ์จักแตกแยกกัน หรือจักร้าวรานกัน ๑  ไม่บอกด้วยเห็นว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย จักทำอันตรายชีวิตหรืออันตรายต่อพรหมจรรย์ ๑  ไม่พบภิกษุอื่นที่สมควรจึงไม่บอก ๑  ไม่ตั้งใจจะปิด แต่ยังไม่ได้บอก ๑  ไม่บอกด้วยคิดว่ากรรมนั้นจักปรากฏเอง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๙๖-๖๙๗ 
        ๑. “อาบัติชั่วหยาบ” ในสิกขาบทนี้ ทรงแสดงปาราชิก ๔ ไว้ด้วยอำนาจแห่งการขยายความ แต่ทรงประสงค์อาบัติสังฆาทิเสส, เมื่อภิกษุปกปิดอาบัติสังฆาทิเสส เป็นปาจิตตีย์
        ๒. หากภิกษุคิดว่าจักไม่บอกใคร พอทอดธุระเสร็จเท่านั้นก็เป็นปาจิตตีย์, แต่ถ้าว่าภิกษุทอดธุระแล้วอย่างนั้น บอกแก่ภิกษุอื่นเพื่อปกปิดไว้นั่นเอง แม้ภิกษุผู้รับบอกนั้นเล่า ก็บอกภิกษุอื่นโดยอุบายดังกล่าวมานี้ (บอกจริง แต่ก็บอกให้ช่วยปกปิดไว้ด้วย) สมณะตั้งร้อยก็ดี ตั้งพันก็ดี ย่อมต้องอาบัติทั้งนั้น ตราบเท่าที่สุดยังไม่ขาดลง ถามว่า ที่สุดจะขาดเมื่อไร?
        ตอบว่า ท่านมหาสุมเถระกล่าวไว้ก่อนว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้วบอกแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุผู้รับบอกนั้นกลับมาบอกแก่เธอผู้ต้องอาบัตินั้นอีก ที่สุดย่อมขาดลง, ส่วนพระมหาปทุมเถระกล่าว่า เพราะว่าภิกษุนี้เป็นวัตถุบุคคลทีเดียว (บุคคลผู้ต้องอาบัติ) แต่ต้องอาบัติแล้วก็บอกแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่ ๒ นี้ ก็บอกแก่ภิกษุรูปต่อไป ภิกษุรูปที่ ๓ นั้นกลับมาบอกเรื่องที่ภิกษุรูปที่ ๒ บอกแก่ภิกษุรูปที่ ๒ นั้นแล, เมื่อบุคคลที่ ๓ กลับมาบอกแก่บุคคลที่ ๒ อย่างนี้ ที่สุดย่อมขาดตอนลง
        ๓. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติ ๕ กองที่เหลือ มีถุลลัจจัย เป็นต้น
            - อัชฌาจารที่ชั่วหยาบของอนุปสัมบัน ได้แก่ การทำอสุจิให้เคลื่อน และการเคล้าคลึงด้วยกาย
        ๔. สิกขาบทนี้มีการทอดธุระเป็นสมุฏฐาน (เป็นอาบัติเพราะทอดธุระ ไม่บอกแก่ภิกษุ) เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา (ต้องเพราะไม่ทำ, ไม่บอก) เป็นสจิตตกะ (มีเจตนาปกปิด) เป็นโลกวัชชะ (จิตเป็นอกุศลเพราะกลัวคนอื่นรู้ กลัวถูกตำหนิ), กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต) 



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๔)
ภิกษุรู้อยู่ เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทกุลบุตรผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ต้องปาจิตตีย์

       มีเด็กๆ ๑๗ คน มีเด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้า วิ่งเล่นอยู่ในนครราชคฤห์ บิดามารดาของเด็กชายอุบาลีเป็นห่วงเกรงว่าลูกชายจะลำบาก เห็นว่าพวกสมณะเป็นอยู่สบายดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารที่ดี นอนในห้องอันมิดชิด จึงปรึกษากันจะให้ลูกบวช
      เด็กชายอุบาลีได้ยินถึงคำสนทนานั้น จึงไปชักชวนเพื่อนๆ ทั้งหมด แล้วขออนุญาตต่อบิดามารดาบวช แล้วตกกลางคืน ภิกษุใหม่เหล่านี้ก็ลุกขึ้นร้องไห้ ขอข้าวต้มข้าวสวยจากภิกษุทั้งหลาย ทั้งปัสสาวะ อุจจาระ รดเสนาสนะ
      พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นบรรทม สดับเสียงเหล่านั้นแล้วให้พระอานนท์ไปดูเหตุการณ์ กลับมากราบทูล ทรงติเตียนภิกษุผู้ให้บวชว่า ไฉน โมฆะบุรุษเหล่านั้นรู้อยู่ จึงได้ยังบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ให้อุปสมบทเล่า เพราะบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี เป็นผู้ไม่อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน ๒๐ ให้อุปสมบท บุคคลนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายนั้นถูกติเตียนด้วย นี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอก หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า มีปีหย่อน ๒๐ คือ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี
      ภิกษุตั้งใจว่าจักให้อุปสมบท แล้วแสวงหาคณะก็ดี พระอาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ, จบญัตติต้องอาบัติทุกกฏ, จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว, จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย พระอุปัชฌายะต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและพระอาจารย์ต้องอาบัติทุกกฏ

อาบัติ
      ๑. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่าหย่อน ให้อุปสมบท ต้องปาจิตตีย์
      ๒. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๓. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุคิดว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุคิดว่ายังไม่ครบ ๒๐ ปี... ต้องทุกกฏ
      ๕. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑ บุคคลมีอายุ ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๐๒-๗๐๕ 
      ๑. ความจริงแม้ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ ก็ถึงการนับว่าผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีเหมือนกัน เหมือนอย่างที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะเป็นผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงอุปสมบท, ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท เราจะเป็นอุปสัมบันหรือไม่เป็นอุปสัมบันหนอ
      พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกได้เกิดแล้วในท้องของมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละเป็นความบังเกิดของสัตว์นั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์
      ๒. ผู้ใดอยู่ในท้องมารดาถึง ๑๒ เดือน เกิด (คลอด) ในวันมหาปวารณา ตั้งแต่วันมหาปวารณานั้นไปจนถึงวันมหาปวารณาในปีที่ ๑๙ พึงให้ผู้นั้นอุปสมบทในวันปาฏิบท (แรม ๑ ค่ำ) เลยวันมหาปวารณานั้นไป พึงทราบการลดลงและเพิ่มขึ้นโดยอุบายนั้น
      แต่พวกพระเถระทั้งหลายให้สามเณรอายุ ๑๙ ปี อุปสมบทในวันปาฏิบท (วันแรมค่ำ ๑) เลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป
      ถามว่า การอุปสมบทนั้นมีได้เพราะเหตุไร?
      เฉลยว่า ในปีหนึ่ง มีจาตุทสีอุโบสถ (อุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ) ๖ วัน, เพราะฉะนั้นใน ๒๐ ปี จะมีเดือนขาดไป ๔ เดือน, เจ้าผู้ครองบ้านเมืองจะเลื่อนกาลฝนออกไปทุกๆ ๓ ปี (เพิ่มอธิกมาสทุกๆ ๓ ปี) ฉะนั้น ใน ๑๘ ปี จะเพิ่มเดือนขึ้น ๖ เดือน (เพิ่มอธิกมาส ๖ เดือน), นำ ๔ เดือนที่ขาดไปด้วยอำนาจอุโบสถออกไปจาก ๖ เดือนที่เพิ่มเข้ามาใน ๑๘ ปีนั้น ยังคงเหลือ ๒ เดือน เอา ๒ เดือนนั้นเพิ่มเข้ามาจึงเป็น ๒๐ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการอย่างนี้ พระเถระทั้งหลายจึงหมดความสงสัย อุปสมบทให้ (สามเณรอายุ ๑๙ ปี) ในวันปาฏิบท เลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป
      ก็ในคำว่า สามเณรมีอายุ ๑๙ ปีเป็นต้นนี้ ท่านกล่าวคำว่ามีอายุ ๑๙ ปี หมายเอาสามเณรผู้ซึ่งปวารณาแล้วจักมีอายุครบ ๒๐ ปี เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ในท้องมารดาถึง ๑๒ เดือน จะเป็นผู้มีอายุครบ ๒๑ ปี ผู้ซึ่งอยู่ (ในท้องมารดา) ๗ เดือน จะเป็นผู้มีอายุ ๒๐ ปี กับ ๗ เดือน, แต่ผู้ (อยู่ในท้องมารดา) ๖ เดือน คลอด จะไม่รอด
      ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่อุปัชฌาย์ผู้ให้การอุปสมบทกุลบุตรที่อายุหย่อน ๒๐ ปี ด้วยเข้าใจว่าครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถึงอย่างนั้นบุคคลนั้นก็ไม่เป็นอันอุปสมบทเลย, แต่ถ้าบุคคลนั้นให้ผู้อื่นอุปสมบทโดยล่วงไป ๑๐ พรรษา (บุคคลผู้มีอายุหย่อนบวชได้ ๑๐ พรรษาแล้วไปบวชกุลบุตรอื่น) หากว่า เว้นบุคคลนั้นเสีย คณะครบ (สงฆ์ครบองค์อุปสมบท แม้จะไม่นับอุปัชฌาย์) บุคคลนั้นเป็นอันอุปสมบทดีแล้ว และแม้บุคคลผู้ไม่ใช่อุปสัมบันนั้น (ผู้บวชทั้งที่มีอายุหย่อน) ยังไม่รู้เพียงใด ยังไม่เป็นอันตรายต่อสวรรค์ และไม่เป็นอันตรายต่อพระนิพพานของเขาเพียงนั้น แต่ครั้นรู้แล้วพึงอุปสมบทใหม่
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓   



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๕)
ภิกษุรู้อยู่ ชวนพ่อค้าผู้เป็นโจร เดินทางด้วยกัน
แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุรูปหนึ่งรู้อยู่ว่าพ่อค้าเกวียนขนของหลบเลี่ยงภาษี แม้พ่อค้าเกวียนจะบอกถึงการเลี่ยงภาษีก็ตาม เธอก็ยังขอเดินทางร่วมไปด้วย จึงถูกเจ้าพนักงานศุลกากรจับได้ทั้งหมด ริบของต้องห้าม และจับพ่อค้าไว้ แต่เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยภิกษุรูปนั้น
      เธอกลับไปพระนครสาวัตถี แล้วเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบๆ แล้วติเตียน กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ชักชวนแล้ว เดินทางไกลร่วมกันกับพ่อค้าผู้เป็นโจร โดยที่สุด แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า พวกพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ได้แก่ พวกโจรผู้ทำโจรกรรมมาก็ดี ไม่ได้ทำมาก็ดี ผู้ที่ลักของหลวงก็ดี ผู้ที่หลบซ่อนของเสียภาษีก็ดี
      - บทว่า ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ท่านทั้งหลายพวกเราไปกันเถิด ไปซิขอรับ พวกเราไปกันวันนี้ ไปกันพรุ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ
      - บทว่า โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในตำบลบ้าน กำหนดชั่วไก่บินถึง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านไม่ได้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะกึ่งโยชน์

อาบัติ
      ๑. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุรู้ว่าพวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ชักชวนแล้วเดินทางไกลสายเดียวกัน โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
      ๒. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๓. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุคิดว่า (ภิกษุไม่รู้) ไม่ใช่... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ภิกษุชักชวน คนทั้งหลายมิได้ชักชวน... ต้องทุกกฏ
      ๕. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุคิดว่าพวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร... ต้องทุกกฏ
      ๖. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุมีความสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๗. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป ๑  คนทั้งหลายชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน ๑  ไปผิดวันผิดเวลา ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๐๙ 
      ๑. สิกขาบทนี้ มีพวกพ่อค้าเกวียนพ่อค้าต่างผู้เป็นโจร สมุฏฐานเกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑   ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓   



อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ  ปมาเท ภยทสฺสิ วา
อภพฺโพ ปริหานาย  นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก ฯ ๓๒ ฯ   

ภิกษุผู้ไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาท
ไม่มีทางเสื่อม ย่อมอยู่ใกล้นิพพานเป็นแน่แท้

The bhikkhu who delights in earnestness, And discerns dangers in negligence,
Is not lisble to fall away; He is certainly in the presence of Nibbana.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.33


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #57 เมื่อ: 12 มิถุนายน 2563 16:30:21 »


ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๖)
ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินทางไปพระนครสาวัตถี ผ่านบ้านหลังหนึ่งที่สตรีทะเลาะกับสามีแล้ว นางเดินออกมาพบท่านเข้า จึงถามว่า ท่านจักไปไหน ภิกษุตอบว่า ไปพระนครสาวัตถี นางขอไปด้วย ภิกษุตอบว่า ไปเถิด
      สามีของนางออกมาจากบ้าน ถามคนทั้งหลายรู้ว่าเดินไปกับพระ เขาจึงติดตามไปจับภิกษุนั้นทุบตีแล้วปล่อยไป ภรรยาบอกความจริงแก่เขา ขอให้ไปขอขมาโทษท่านเสีย สามีได้ติดตามไปขอขมาโทษแล้ว
      เมื่อถึงนครสาวัตถี ภิกษุนั้นได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นสตรีผู้รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำเป็นสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบ และวาจาสุภาพได้
      - บทว่า ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนว่า เราไปกันเถิดจ้ะ เราไปกันเถิดน้องหญิง เราไปกันวันนี้ เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ
- บทว่า โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในตำบลบ้าน กำหนดชั่วไก่บินถึง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะกึ่งโยชน์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่า มาตุคาม ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลสายเดียวกัน โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่า ไม่ใช่มาตุคาม (หรือไม่รู้ว่าเป็นมาตุคาม)... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุชักชวน มาตุคามมิได้ชักชวน... ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุชักชวนแล้วเดินทางไกลสายเดียวกันกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายคล้ายมนุษย์ โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องทุกกฏ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่มาตุคาม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป ๑  มาตุคามชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน ๑  ภิกษุไปผิดวันผิดเวลา ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๑๓ 
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในสิกขาบทที่ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกันกับนางภิกษุณี


ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๗)
ภิกษุคัดค้านธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดประกาศข้อความนั้นจบ ต้องปาจิตตีย์

       พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง เธอมีความเห็นว่า “ตนเองรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว เช่น ข้อที่ตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ (เช่นกาม) เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่”
      ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวความคิดของพระอริฏฐะ ได้พากันไปเพื่อปลดเปลื้องความเห็นผิดของพระอริฏฐะนั้น แต่ไม่อาจทำสำเร็จ จึงกราบทูล ทรงติเตียนความคิดนั้นเป็นอันมาก (เช่น กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก) โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนร่าง กระดูก...ชิ้นเนื้อ เป็นต้น) แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่าอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถือ (ความเห็น) อยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ ๓ เพื่อสละการนั้นเสีย ถ้าเธอถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ ๒ สละการนั้นเสียได้ ย่อมเป็นการดี ถ้าไม่สละ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุพวกอื่น คือ พวกที่ได้เห็น ได้ยิน พึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่ไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง พึงว่ากล่าว แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้เป็นการดี ถ้าเธอสละไม่ได้ต้องอาบัติทุกกฏ
      ภิกษุทั้งหลายผู้ทราบเรื่องแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ, พึงนำตัวภิกษุนั้นมาท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
      “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิอันเป็นบาปมีอย่างนี้เป็นรูป บังเกิดแก่ภิกษุมีชื่อนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว...”

อาบัติ
      ๑. จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ, จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องทุกกฏ ๒ ตัว, จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. กรรมเป็นธรรม (สงฆ์ทำถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมไม่เป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
      ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
      ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่า ไม่เป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
   
อนาบัติ
      ภิกษุผู้ไม่ถูกสวดประกาศห้าม ๑  ภิกษุผู้ยอมสละ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๒๑-๗๒๓ 
      ๑. พวกชนที่ชื่อว่า พรานแร้ง เพราะอรรถว่าได้ฆ่าแร้งทั้งหลาย,  พระอริฏฐะชื่อว่า ผู้เคยเป็นพรานแร้ง เพราะอรรถว่าท่านมีบรรพบุรุษเป็นพรานแร้ง ได้ความว่า เป็นบุตรของตระกูลเคยเป็นพรานแร้ง คือ เกิดจากตระกูลพรานแร้งนั้น
      ๒. ธรรมเหล่าใด ย่อมทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอันตรายิกธรรม, อันตรายิกธรรมเหล่านั้นมี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจกรรม ๑  กิเลส ๑  วิบาก ๑  อุปวาท และ อาณาวีติกกมะ ๑  บรรดาอันตรายิกธรรมมีกรรมเป็นต้นนั้น ธรรมคืออนันตริยกรรม ๕ อย่าง ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “กรรม”,  ภิกขุนีทูสกกรรม (การประทุษร้ายภิกษุณี) ก็อย่างนั้น แต่ภิกษุณีทูสกกรรมย่อมทำอันตรายแก่พระนิพพานเท่านั้น หาทำอันตรายแก่สวรรค์ไม่ (ภิกษุณีทูสกกรรมก็เป็น “กรรม”)
      ธรรม คือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “กิเลส”,  ธรรม คือปฏิสนธิของพวกบัณเฑาะก์ ดิรัจฉานและอุภโตพยัญชนก ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “วิบาก” (กั้นนิพพาน ไม่กั้นสวรรค์), การเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “อุปวาทะ” แต่อุปวาทันตรายิกธรรมเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ยังไม่ให้พระอริยเจ้าทั้งหลายอดโทษเหล่านั้น หลังจากให้ท่านอดโทษ (ยกโทษ) แล้วหาเป็นอันตรายไม่, อาบัติที่แกล้งต้องชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “อาณาวีติกกมะ” อาบัติที่แกล้งต้องเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุผู้ต้องยังปฏิญญาความเป็นภิกษุ หรือยังไม่ออก (กรณีสังฆาทิเสส) หรือยังไม่แสดง (อาบัติ) เท่านั้น ต่อจากทำคืนตามกรณีนั้นๆ แล้ว หาเป็นอันตรายไม่
      บรรดาอันตรายิกธรรมตามที่กล่าวแล้วนั้น ภิกษุนี้ (พระอริฏฐะ) เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้จักอันตรายิกธรรมที่เหลือได้ แต่เพราะไม่ฉลาดในพระวินัย (อธิศีลสิกขา) จึงไม่รู้อันตรายิกธรรม คือ การล่วงละเมิดพระบัญญัติ เพราะฉะนั้นเธอไปอยู่ในที่ลับได้คิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือนเหล่านี้ยังบริโภคกามคุณ ๕ เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกทาคาก็มี เป็นพระอนาคาก็มี แม้ภิกษุทั้งหลายก็เห็นรูปที่ชอบใจ (กามคุณ) พึงรู้ได้ทางจักษุ ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าชอบใจ พึงรู้ได้ทางกาย บริโภคเครื่องลาดและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น แม้อันอ่อนนุ่ม ข้อนั้นควรทุกอย่าง เพราะเหตุไร? รูปสตรีทั้งหลาย ฯลฯ  โผฏฐัพพะ คือ สตรีทั้งหลาย จึงไม่ควรอย่างนี้เล่า? แม้สตรีเป็นต้น เหล่านี้ก็ควร
      เธอเทียบเคียงรสกับรสอย่างนี้แล้ว ทำการบริโภคกามคุณที่เป็นไปกับด้วยฉันทราคะ กับการบริโภคกามคุณที่ไม่มีฉันทราคะ ให้เป็นอันเดียวกัน ยังทิฏฐิอันลามกให้เกิดขึ้น ดุจบุคคลต่อด้ายละเอียดยิ่งกับเส้นปออันหยาบ ดุจเอาเขาสิเนรุเทียบกับเมล็ดผักกาด ฉะนั้น จึงขัดแย้งกับสัพพัญญุตญาณว่า ไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติปฐมปาราชิกด้วยความอุตสาหะมากดุจทรงกั้นมหาสมุทร เพราะโทษในกามเหล่านี้ไม่มี ดังนี้
      ๓. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนโครงกระดูก ด้วยอรรถว่า มีรสอร่อยน้อย (มีความยินดีน้อย) เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ด้วยอรรถว่า เป็นกายทั่วไปแก่สัตว์มาก, เปรียบเหมือนคบหญ้า ด้วยอรรถว่า เผาลน, เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ด้วยอรรถว่า เร่าร้อนยิ่งนัก, เหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่วเวลานิดหน่อย, เหมือนของยืม เพราะเป็นไปชั่วคราว, เหมือนผลไม้ เพราะบั่นทอนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง (คนต้องการผลไม้ ไม่สนในความบอบช้ำของต้นไม้ กามเป็นเหตุบั่นทอนอวัยวะน้อยใหญ่เช่นกัน), เหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ เพราะเป็นที่รองรับการสับโขก, เหมือนแหลนหลาว เพราะทิ่มแทง, เหมือนศีรษะงู เพราะน่าระแวงและมีภัยจำเพาะหน้า
      ๔. สิกขาบทนี้มีการสวดสมนุภาสเป็นสมุฏฐาน เกิดทางกายวาจาและจิต เป็นอกิริยา (เพราะไม่สละ) เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต – หัวดื้อ)



ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ   ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุ กโรติ เมธาวี อุชุกาโรว เตชนํ ฯ ๓๓ ฯ

จิตดิ้นรน กลับกลอก ป้องกันยาก ห้ามยาก
คนมีปัญญาสามารถดีดให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศร

The flickering , fickle mind, Difficult to guard, difficult to control,
The wise man straightens, As a fletcher straightens an arrow. .
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๔


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #58 เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2563 16:14:39 »


ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๘)
ภิกษุคบหาภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระอริฏฐะถูกสงฆ์สวดประกาศ และยังไม่ยอมสละความคิดเห็นนั้น แต่พวกเธอกินร่วมบ้าง อยู่ร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้างกับพระอริฏฐะนั้น ภิกษุทั้งหลายต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร ยังไม่สละทิฏฐินั้น เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ผู้กล่าวอย่างนั้น คือผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว...เป็นต้น
      - ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร คือ เป็นผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร แล้วสงฆ์ยังไม่ได้เรียกเข้าหมู่ในทางอามิส คือ ให้อามิสก็ดี รับอามิสก็ดี ต้องปาจิตตีย์, คบหากันในทางธรรม คือ บอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยบท ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ บท, ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยอักขระ ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ อักขระ
     - บทว่า อยู่ร่วมก็ดี ความว่า ทำอุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ร่วมกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ต้องปาจิตตีย์
     - คำว่า สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี อธิบายว่า ในที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อภิกษุผู้ถูกยกวัตรนอนแล้ว ภิกษุจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุนอนแล้ว ภิกษุผู้ถูกยกวัตรจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, หรือนอนทั้งสอง ต้องปาจิตตีย์, ลุกขึ้นแล้วนอนซ้ำอีก ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุรู้ว่าถูกยกวัตรแล้ว กินร่วม อยู่ร่วม สำเร็จการนอนด้วยกัน ต้องปาจิตตีย์
      ๒. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
      ๓. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้ถูกยกวัตร...ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุคิดว่าใช่...ต้องทุกกฏ
       ๕. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๖. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ผู้ถูกยกวัตร...ไม่ต้องอาบัติ
     
อนาบัติ
      ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ๑  ภิกษุรู้ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตร แต่สงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ๑  ภิกษุรู้ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตร แต่สละทิฏฐินั้นแล้ว ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๒๗-๗๒๘
      ๑. โอสารณา (การเรียกเข้าหมู่) ที่สงฆ์เห็นวัตรอันสมควรกระทำแล้วแก่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ในเพราะไม่เห็นอาบัติก็ดี ในเพราะไม่กระทำคืนอาบัติก็ดี ในเพราะไม่สละทิฏฐิลากมกก็ดี โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตามธรรม
           กล่าวคือ โอสารณานั้นสงฆ์ไม่ได้ทำแก่ภิกษุใด ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้อันสงฆ์มิได้กระทำตามธรรม ความว่า (ยังไม่ได้ทำ) กับภิกษุเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า อกฏานุธมฺเมน นั้นจึงตรัสว่า ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำตามธรรม คือ เป็นผู้สงฆ์ยกวัตรแล้ว สงฆ์ยังไม่ได้เรียกเข้าหมู่
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ 




ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๙)
ภิกษุคบหากับสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ต้องปาจิตตีย์

       สามเณรชื่อกัณฑกะ เกิดทิฏฐิเหมือนพระอริฏฐะ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวให้เธอสละความเห็นนั้น แต่ไม่สำเร็จ ได้กราบทูล... ทรงโปรดให้สงฆ์นาสนะสามเณรนั้นว่า ดังนี้
      “เจ้ากัณฑกะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นศาสดาของเจ้า และสมณุทเทสอื่นๆ ย่อมได้การนอนด้วยกันเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลาย ฉันใด แม้กิริยานี้คือการนอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เจ้า เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย”
      ต่อมาพระฉัพพัคคีย์แม้รู้ว่ากัณฑกะถูกนาสนะแล้ว ก็ยังเกลี้ยกล่อมให้สมณุทเทสกัณฑกะอุปัฏฐากพวกตน กินร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้าง ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      ถ้าแม้สมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงหรือไม่ สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย
      อาวุโสสมณุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้น สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะ อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่าเป็นศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่นย่อมได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลาย ฉันใด แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สมณุทเทส ได้แก่ บุคคลที่เรียกกันว่า สามเณร
      - ผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้ว คือ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว
     - เกลี้ยกล่อมก็ดี คือ เกลี้ยกล่อมว่า เราจักให้บาตร จีวร อุเทศ หรือปริปุจฉาแก่เธอ ต้องปาจิตตีย์
     - ให้อุปัฏฐากก็ดี คือ ยินดีจรุณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟันหรือน้ำบ้วนปากของเธอ ต้องปาจิตตีย์
     - คำว่า สำเร็จการนอนร่วมก็ดี อธิบายว่า ในที่มุงบังอันเดียวกัน เมื่อสมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะ นอนแล้ว ภิกษุจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุนอนแล้ว สมณุทเทสจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, หรือนอนทั้งสอง ต้องปาจิตตีย์, ลุกขึ้นแล้วนอนต่อไปอีก ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุรู้ว่าถูกนาสนะแล้ว เกลี้ยกล่อมก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี ต้องปาจิตตีย์
      ๒. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
      ๓. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุคิดว่าไม่ใช่ผู้ถูกนาสนะ...ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุคิดว่าเป็นผู้ถูกนาสนะ...ต้องทุกกฏ
       ๕. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๖. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ผู้ถูกนาสนะ...ไม่ต้องอาบัติ
       
อนาบัติ
      ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ๑  ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๓๗-๗๓๘
      ๑. สมณุทเทสนี้คิดถลำลงไปโดยไม่แยบคายก็เกิดความเห็นผิดขึ้นมาเหมือนอริฏฐะภิกษุ ฉะนั้น
      ๒. “นาสนะ” มี ๓ อย่าง คือ สังวาสนาสนะ ๑  ลิงคนาสนะ ๑  ทัณฑกรรมนาสนะ ๑
           การยกวัตรในเพราะไม่เห็นอาบัติเป็นต้น ชื่อว่า สังวาสนาสนะ
           นาสนะนี้ว่า “สามเณรผู้ประทุษร้ายภิกษุณี สงฆ์พึงให้นาสนะเสีย”, “เธอทั้งหลายพึงให้นาสนะเมตติยาภิกษุณีเสีย” ชื่อว่า ลิงคนาสนะ
           นาสนะนี้ว่า แน่ะ อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป ชื่อว่า ทัณฑกรรมนาสนะ นี้ ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนอริฏฐสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘) ที่กล่าวมาแล้ว 

 

ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๐)
ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นตักเตือน
กลบเกลื่อนความผิดว่าไม่รู้สิกขาบทนี้ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสฉันนะ ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น การทำอย่างนั้นไม่ควร พระฉันนะกล่าวว่า อาวุโส ผมจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย
      บรรดาภิกษุต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม (เธอกลับ) กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ ควรรู้ทั่วถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”


อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ชอบธรรม คือ สิกขาบทใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น ชื่อว่า ชอบธรรม
      - ภิกษุผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม (กลับ) กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ดังนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     - บทว่า ผู้ศึกษาอยู่ คือ ผู้ใคร่สำเหนียก, บทว่า ควรรู้ทั่วถึง คือ ควรทราบไว้
     - บทว่า ควรสอบถาม คือ ควรไต่ถามดูว่าสิกขาบทนี้เป็นอย่างไร สิกขาบทนี้มีเนื้อความเป็นอย่างไร
     - บทว่า ควรตริตรอง คือ ควรคิด ควรพินิจ
     - คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นความถูกต้องยิ่งในเรื่องนั้น
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน...ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ถูกอุปสัมบันว่ากล่าวด้วยสิกขาบทที่มิได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๕. ถูกอนุปสัมบันว่ากล่าวด้วยสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และมิได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุกล่าวว่า จักรู้ จักสำเหนียก ดังนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๔๓
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต) 



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๑)
ภิกษุแกล้งภิกษุอื่นผู้ท่องปาติโมกข์อยู่ ให้คลายอุตสาหะ ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุทั้งหลายพากันเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลีเถระ พระฉัพพัคคีย์เห็นดังนั้นจึงปรึกษากันว่า “อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งเถระ นวกะ และมัชฌิมะ พากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้รู้พระบัญญัติในพระวินัย ท่านจักฉุดกระชากผลักไสพวกเราได้ตามใจชอบ อย่ากระนั้นเลย พวกเราจงช่วยก่นพระวินัยเถิด” เมื่อตกลงกันแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าวว่า “จะประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ที่ยกขึ้นแสดงแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความสำราญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงเสียนี่กระไร”
      ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่แสดงขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความสำราญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงเสียนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์เพราะก่นสิกขาบท”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ คือ มีผู้ใดผู้หนึ่งยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ก็ดี ให้ผู้อื่นยกขึ้นแสดงอยู่ก็ดี ท่องบนอยู่ก็ดี
      - คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ ก่นพระวินัยแก่อุปสัมบันว่า ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ ลำบาก ยุ่งเหยิง แก่ภิกษุผู้เล่าเรียนพระวินัย ความรำคาญ ลำบากยุ่งเหยิง ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เรียน สิกขาบทนี้พวกท่านอย่ายกขึ้นแสดงดีกว่า ไม่สำเหนียกดีกว่า ไม่เรียนดีกว่า ไม่ทรงจำดีกว่า พระวินัยจะได้สาบสูญ หรือภิกษุพวกหลังจะได้ไม่รู้พระบัญญัติ ดังนี้เป็นต้น เป็นปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุก่นธรรมอย่างอื่น (ที่ไม่ใช่พระวินัย) ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุก่อนพระวินัยหรือพระธรรมอย่างอื่นแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะก่น พูดตามเหตุว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อนเถิด ภายหลังจึงค่อยเรียนพระวินัย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๔๗-๗๕๖
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเรียนพระวินัยว่า มีอานิสงส์ ๕ อานิสงส์ ๖... ๗... ๘...  ๙... ๑๐... อานิสงส์ ๑๑ ที่พระวินัยธรจะได้รับ
          ถามว่า พระวินัยธรย่อมได้อานิสงส์ ๕ เหล่าไหน?
          ตอบว่า ย่อมได้อานิสงส์ ๕ มีการคุ้มครองสีลขันธ์เป็นต้นของตน สมดังที่ตรัสไว้ว่า (วินย.ปริวาร ข้อ ๑๑๖๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในวินัยธรบุคคล (บุคคลผู้ทรงวินัย) มี ๕ เหล่านี้ คือ สีลขันธ์ของตนเป็นอันคุ้มครองรักษาดีแล้ว ๑  เป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้มักระแวงสงสัย ๑  เป็นผู้แกล้วกล้า พูดในท่ามกลางสงฆ์ ๑  ข่มเหล่าชนผู้เป็นข้าศึกราบคาบดีโดยสหธรรม ๑  เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑                             
      ๒. ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อต้องอาบัติย่อมต้องด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ ด้วยความไม่ละอาย ๑  ด้วยความไม่รู้ ๑  ด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ ๑  ด้วยความสำคัญในของไม่ควรว่าควร ๑ ด้วยความสำคัญในของควรว่าไม่ควร ๑ ด้วยความหลงลืมสติ ๑
          - ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยความไม่ละอายอย่างไร? คือ ภิกษุรู้อยู่ทีเดียวว่า เป็นอกัปปิยะ แต่ก็ยังฝ่าฝืนทำการล่วงละเมิด สมจริงดังคำที่ตรัสไว้ว่า “ภิกษุแกล้งต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และถึงความลำเอียงด้วยอคติ ภิกษุเช่นนี้เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล”
          - เพราะว่าบุคคลผู้ไม่มีความรู้ เป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เขาทำสิ่งที่ควรทำให้ผิดพลาดด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความไม่รู้
          - เมื่อเกิดความสงสัยขึ้น เพราะอาศัยของที่ควรและไม่ควร ฝ่าฝืนล่วงละเมิดทีเดียวด้วยสำคัญว่าถามพระวินัยธรแล้ว ถ้าเป็นกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าเป็นอกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่อันนี้สมควรอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ
          - ภิกษุฉันเนื้อหมีด้วยสำคัญว่าเนื้อสุกร ฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสำคัญว่าเนื้อมฤค ฉันโภชนะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าโภชนะเป็นกัปปิยะ, ฉันในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล, ดื่มน้ำปานะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าปานะเป็นกัปปิยะ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร
          - ภิกษุฉันเนื้อสุกรด้วยสำคัญว่าเนื้อหมี, ฉันเนื้อมฤคด้วยสำคัญว่าเนื้อเสือเหลือง, ฉันโภชนะที่เป็นกัปปิยยะด้วยสำคัญว่าโภชนะที่เป็นอกัปปิยะ, ฉันในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล, ดื่มน้ำปานะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าปานะเป็นกัปปิยะ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร
          - ภิกษุต้องอาบัติเพราะการนอนร่วม การอยู่ปราศจากไตรจีวร และเภสัชกับจีวรล่วงกาลเวลา เป็นปัจจัยแล ชื่อว่า ต้องด้วยความหลงลืมสติ, ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้
      ๓. แต่พระวินัยธรไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้,
          - เพราะแม้เมื่อเธอรักษาการตำหนิค่อนขอดของผู้อื่นนี้ว่า เชิญท่านดูเถิดผู้เจริญ ภิกษุนี้รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรอยู่แท้ๆ ยังทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติดังนี้ได้ ก็ชื่อว่าไม่ต้อง, ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่าไม่ต้องด้วยความเป็นผู้ไม่ละอาย, แสดงอาบัติเป็นเทสนาคามินีแม้ที่เผลอต้องเข้า ออกแล้วจากอาบัติที่เป็นที่วุฏฐานคามินี ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ จำเดิมแต่นั้นย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นลัชชีบุคคลนี้ทีเดียวว่า “ภิกษุไม่แกล้งต้องอาบัติ ไม่ปิดบังอาบัติ และไม่ถึงความลำเอียงด้วยอคติ ภิกษุเช่นนี้เราเรียกว่า ลัชชีบุคคล” เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งอันควรและไม่ควร และย่อมทำแต่สิ่งที่ควร ไม่ทำสิ่งไม่ควร ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าไม่ต้องเพราะความไม่รู้
          - เพราะเธอเมื่อเกิดความรังเกียจสงสัย เพราะอาศัยสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตรวจดูวัตถุ ตรวจดูมาติกา บทภาชนะ อันตราบัติ อนาบัติ ถ้าเป็นกัปปิยะจึงทำ ถ้าเป็นอกัปปิยะไม่ทำ, ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ไม่ต้องด้วยความเป็นผู้สงสัยแล้วขืนทำ
          - เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งที่ควรและไม่ควร ฉะนั้นจึงไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร และเธอมีสติตั้งมั่นด้วยดี อธิษฐานผ้าจีวรที่ควรอธิษฐาน, วิกัปจีวรที่ควรวิกัป, วินัยธรบุคคลชื่อว่าไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างนี้ ด้วยประการอย่างนี้ เธอเมื่อไม่ต้องอาบัติ ย่อมเป็นผู้มีศีลไม่ขาด มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยอาการอย่างนี้ สีลขันธ์ของตนย่อมเป็นอันเธอคุ้มครองรักษาดีแล้ว
      ๔. ถามว่า วินัยธรบุคคล ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำอย่างไร?
          แก้ว่า ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายในรัฐนอกและในชนบทนอก เกิดมีความรังเกียจสงสัยขึ้น ทราบว่า ได้ยินว่า พระวินัยธรอยู่ที่วิหารโน้น แล้วมาสู่สำนักของเธอ แม้จากที่ไกล ถามถึงข้อรังเกียจสงสัย เธอสอบสวนดูวัตถุแห่งกรรมที่ภิกษุพวกนั้นทำแล้ว กำหนดชนิดมีอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติและลหุกาบัติ เป็นต้น จึงให้แสดงอาบัติที่เป็นเทศนาคามินี ให้ออกจากอาบัติเป็นวุฏฐานคามินี ให้ตั้งอยู่ในนความบริสุทธิ์ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า เป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำ
      ๕. พระวินัยธรเป็นผู้แกล้วกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ มีความว่า จริงอยู่ ผู้มิใช่วินัยธรพูดในท่ามกลางสงฆ์ ความกลัว คือความประหม่าย่อมครอบงำ ความกลัวนั้นจะไม่มีแก่พระวินัยธรบุคคล เพราะเหตุไร? เพราะรู้ว่า เมื่อพูดอย่างนี้มีโทษ พูดอย่างนี้ไม่มีโทษ แล้วจึงพูด
      ๖. พระวินัยธรย่อมข่มเหล่าชนผู้เป็นข้าศึกได้ราบคาบดีโดยสหธรรม
          ในผู้เป็นข้าศึกมี ๒ จำพวก คือ ผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง จำพวก ๑  ผู้เป็นข้าศึกแก่พระศาสนา จำพวก ๑,  บรรดาชนผู้เป็นข้าศึก ๒ จำพวกนั้น พวกภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะกับเจ้าลิจฉวี ชื่อวัฑฒะ โจทด้วยอันติมวัตถุอันไม่มีมูล ชนพวกนี้ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง ก็หรือชนผู้ทุศีลแม้เหล่าอื่นซึ่งเป็นผู้มีธรรมอันลามกทั้งหมด ชื่อว่า ผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง
         ส่วนอริฏฐภิกษุ กัณฑกสามเณร ภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ผู้มีความเห็นวิปริต และพวกภิกษุฝ่ายมหายาน นิกายมหาสังฆิกะ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มีลัทธิปรูปหาร อัญญาณ กังขา และปริวิตรณา (มีความเห็นว่า พระอรหันต์ยังมีอสุจิ, พระอรหันต์ยังมีความไม่รู้, ยังมีความสงสัย, หายสงสัยเพราะผู้อื่น) ทำการยกย่อง กล่าวอ้างคำสอนมิใช่พุทธศาสนาว่าพุทธศาสนา ชื่อว่า ผู้เป็นข้าศึกแก่ศาสนา, พระวินัยธรจะข่มขี่ชนผู้เป็นข้าศึกเหล่านั้นแม้ทั้งหมดให้ราบคาบ โดยประการที่พวกเขาไม่สามารถประดิษฐานอสัทธรรมนั้นได้โดยสหธรรม คือโดยคำเป็นเหตุร่วมกัน
      ๗. พระวินัยธรเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
          สัทธรรม มี ๓ ด้วยสามารถแห่งปริยัติ ปฏิบัติ และอธิคม, บรรดาสัทธรรมทั้งสามนั้น, พุทธพจน์ คือ ปิฎก ๓ ชื่อว่าปริยัติสัทธรรม,  ธรรมนี้ คือ ธุดงคคุณ ๑๓  ขันธกวัตร ๑๔  มหาวัตร ๘๒ ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม, มรรค ๔  ผล ๔ นี้ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม
          บรรดาสัทธรรมมีปริยัติธรรมเป็นต้นนั้น พระเถระทั้งหลายบางพวกกล่าวว่า ปริยัติเป็นมูลรากของศาสนา โดยพระสูตรนี้ “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา” ดังนี้
          พระเถระบางพวกกล่าวว่า ปฏิบัติเป็นมูลของศาสนา โดยสูตรนี้ “ดูก่อนสุภัททะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้แลพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย” แล้วกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติโดยชอบยังมีอยู่เพียงใด ศาสนาจัดว่ายังตั้งอยู่เพียงนั้น” ดังนี้
          ส่วนพรเถระอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เมื่อปริยัติอันตรธานแล้ว แม้บุคคลผู้ปฏิบัติดีก็ไม่มีการบรรลุธรรม แล้วกล่าวว่า ถ้าแม้นภิกษุ ๕ รูป จะเป็นผู้รักษาปาราชิกไว้ได้ ภิกษุเหล่านั้นให้กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธาบรรพชาแล้วให้อุปสมบท แม้ในปัจจันตประเทศ ให้ครบคณะทสวรรค แล้วจักทำการอุปสมบท แม้ในมัธยมประเทศ, ให้ภิกษุสงฆ์ครบวีสติวรรคแล้ว จักทำอัพภานกรรมเพื่อตน ยังศาสนาให้ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ โดยอุบายอย่างนี้
          พระวินัยธรนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรมทั้ง ๓ ด้วยประการอย่างนี้แล พึงทราบว่า พระวินัยธรนี้ย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างเหล่านี้ก่อน ด้วยประการฉะนี้
      ๘. ถามว่า พระวินัยธรย่อมได้อานิสงส์ ๖ เหล่าไหน?
          แก้ว่า อุโบสถ ๑  ปวารณา ๑  สังฆกรรม ๑  บรรพชา ๑  อุปสมบท ๑  เป็นหน้าที่ของพระวินัยธรนั้น เธอย่อมให้นิสัยและให้สามเณรอุปัฏฐาก ๑ (=๖)
          จริงอยู่ อุโบสถ ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีอุโบสถ  ปัณณรสีอุโบสถ  สามัคคีอุโบสถ  สังฆอุโบสถ  คณอุโบสถ  ปุคคลอุโบสถ  สุตตุทเทสอุโบสถ  ปาริสุทธิอุโบสถ  อธิษฐานอุโบสถ  ทั้งหมดนี้เนื่องด้วยพระวินัยธร และถึงแม้ปวารณา ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีปวารณา  ปัณณรสีปวารณา  สามัคคีปวารณา  สังฆปวารณา  คณปวารณา  ปุคคลปวารณา  เตวาจิกาปวารณา  เทววาจิกาปวารณา  สนานวัสสิกาปวารณา  ก็เนื่องด้วยพระวินัยธร เธอเป็นใหญ่แห่งปวารณา ๙ นั้น เพราะเป็นหน้าที่ของเธอ
          ถึงสังฆกรรมทั้ง ๔ คือ อปโลกนกรรม  ญัตติกรรม  ญัตติทุติยกรรม  ญัตติจตุตถกรรมก็ดี ทั้งบรรพชาและอุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งหลาย อันเธอเป็นอุปัชฌาย์ทำนี้ก็ดี ก็เนื่องด้วยพระวินัยธรทั้งนั้น ผู้อื่นถึงทรงปิฎก ๒ (พระสูตรกับพระอภิธรรมปิฎก) ก็ไม่ได้เพื่อทำกรรมนี้เลย เธอเท่านั้นให้นิสัย ให้สามเณรอุปัฏฐาก ผู้อื่นย่อมไม่ได้เพื่อให้นิสัย ไม่ได้ให้สามเณรอุปัฏฐากเลย, แต่เมื่อหวังเฉพาะการอุปัฏฐากของสามเณร ย่อมได้เพื่อจะให้ถืออุปัชฌาย์ ในสำนักของพระวินัยก่อนแล้ว จึงยินดีข้อวัตรปฏิบัติอานิสงส์ ๖ ข้อนี้ รวมกับอานิสงส์ ๕ ข้างต้น จึงเท่ากับ ๑๑
      ๙. เมื่ออาจารย์สวดแก่อันเตวาสิกก็ดี, อาจารย์สวดตามความพอใจของตนก็ดี, อันเตวาสิกขอร้องอาจารย์นั้นให้สวดก็ดี เมื่อภิกษุทรงจำปาติโมกข์ กำลังทำการสาธยายก็ดี ชื่อว่า มีใครยกปาติโมกข์ขึ้นสวดอยู่
      ๑๐. พระฉัพพัคคีย์เห็นว่า ภิกษุเหล่าใด สวดก็ดี ให้สวดก็ดี สาธยายก็ดี ซึ่งสิกขาบทเล็กน้อยนั้น  สิกขาบทเล็กน้อยนั่นย่อมเป็นไปจนถึงเกิดความเดือดร้อน คือ ความลำบาก ที่เรียกว่า ความรังเกียจสงสัยและอาศัยความยุ่งยากใจที่เรียกว่า วิจิกิจฉา แก่ภิกษุเหล่านั้นทีเดียวว่า ควรหรือไม่ควรหนอ. ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ ความลำบาก ความยุ่งยากเหลือเกิน, พระฉัพพัคคีย์ต้องการจะให้เกิดความเคลือบแคลงในวินัยนั้นแก่อุปสัมบันนั้น จึงก่น คือ ตำหนิติเตียนพระวินัยในสำนักแห่งอุปสัมบัน
      ๑๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อุกุศลจิต (โทสมูลจิต)



วาริโชว ถเล ขิตฺโต  โอกโมกต อุพฺภโต
ปริผนํทติทํ จิตฺตํ  มารเธยฺยํ ปหาตเว ฯ ๓๔ ฯ

มัสยาถูกเขาจับโยนไปบนบก ย่อมดิ้นรน เพื่อจะกลับไปยังแหล่งน้ำที่เคยอาศัย
จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ดิ้นรนไปหากามคุณ เพราะฉะนั้น จึงควรละเว้นกามคุณเสีย

Like a fish drawn its watery abode And thrown upon land,
Even so does the mind flutter, Hence should the realm of passions be shunned.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๕


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #59 เมื่อ: 14 กรกฎาคม 2563 15:33:47 »



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๒)
ภิกษุต้องอาบัติ พูดแก้ตัวว่าเพิ่งรู้ว่ามีในปาติโมกข์
เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว แกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร แล้วตั้งใจอยู่ว่า “ขอภิกษุทั้งหลายจงทราบว่า พวกเราเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ แล้วเมื่อพระวินัยธรยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาในพระสูตร เนื่องในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน”
      พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว ขณะพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร เนื่องแล้วในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า ภิกษุนี้เคยนั่งฟังเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว กล่าวอะไรอีก อันความพ้นด้วยอาการที่ไม่รู้ หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรม ด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธออีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่า เมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็นปาจิตตีย์ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ทุกกึ่งเดือน คือ ทุกวันอุโบสถ
      - บทว่า เมื่อพระวินัยธรกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ คือ เมื่อภิกษุกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่
     - บทว่า กล่าวอย่างนี้ คือ ภิกษุประพฤติอนาจารมาแล้ว ตั้งใจอยู่ว่า ขอภิกษุทั้งหลายจงรู้ว่า เราเป็นผู้ตั้งอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ เมื่อภิกษุกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในพระสูตร เนื่องแล้วในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฏ
     - คำว่า ถ้า...นั้น  อธิบายว่า ภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุผู้ปรารถนาแสร้งทำหลงว่า ภิกษุนี้เคย นั่ง เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว พูดมากไปทำไมอีก อันความพ้นจากอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ หากมีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องประพฤติอนาจารนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีก พึงยกขึ้นอย่างนี้ คือ ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ดังนี้

กรรมวาจาลงโมหาโรปนกรรม
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ สงฆ์ยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ การยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ความหลงอันสงฆ์ยกขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

อาบัติ
       ๑. เมื่อสงฆ์ยังไม่ยกความหลงขึ้น ภิกษุแสร้งทำหลงอยู่ ต้องทุกกฏ
       ๒. เมื่อสงฆ์ยกความหลงขึ้นแล้ว ภิกษุยังแสร้งทำหลงอยู่ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่...ต้องปาจิตตีย์
       ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๕. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม...ต้องปาจิตตีย์
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องทุกกฏ
อนาบัติ
      ภิกษุยังไม่ได้ฟังโดยพิสดาร ๑  ภิกษุฟังโดยพิสดาร ไม่ถึง ๒-๓ คราว ๑  ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาจะแสร้งทำหลง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๖๑-๓๖๒
      ๑. เมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ (สวดทุกๆ กึ่งเดือน, ทุกวันอุโบสถ) กำลังยกขึ้นแสดง ชื่อว่า กำลังสวดอยู่
          - เพราะเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยไม่รู้ เธอจึงไม่มีความพ้นจากอาบัติ ก็แลสงฆ์พึงปรับเธอตามธรรมและวินัยที่วางไว้  อธิบายว่า เธอต้องอาบัติเทศนาคามินี  สงฆ์พึงให้แสดง (อาบัตินั้น) และต้องอาบัติวุฏฐานคามินี พึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธี (มีปริวาสเป็นต้น)
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๓)
ภิกษุโกรธ น้อยใจ ให้ประหารภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ ให้ประหารพระสัตตรสวัคคีย์ๆ ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ทราบความแล้วพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า โกรธ น้อยใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - คำว่า ให้ประหาร ความว่า ให้ประหารด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยของที่โยนไปก็ดี โดยที่สุดแม้ด้วยกลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์     

อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าอุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ ให้ประหาร ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... เป็นปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน...เป็นปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าอุปสัมบัน...ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าอนุปสัมบัน...ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุถูกใครๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัว ให้ประหาร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๖๕-๗๖๖
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวคำเป็นต้นว่า ผู้มีอายุ พวกท่านจงตั้งตั่งเล็ก จงตักน้ำล้างเท้ามาไว้ แล้วให้ประหาร (ทุบตีเป็นต้น แก่ภิกษุพวกสัตตรสวัคคีย์ ( ผู้ไม่กระทำตาม)
      ๒. เมื่อภิกษุให้ประหารด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะประหาร หากผู้ถูกประหารตายก็เป็นเพียงปาจิตตีย์เพราะการประหารนั้น หากมือหรือเท้าหัก หรือศีรษะกระแทก ก็เป็นปาจิตตีย์เท่านั้นๆ ตัดหูหรือตัดจมูก ด้วยความประสงค์จะให้เสียโฉม อย่างนี้ว่า เราจะทำให้เธอหมดสง่าในท่ามกลางสงฆ์ ก็เป็นทุกกฎ
          - ภิกษุให้ประหารแก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต แก่สตรีหรือบุรุษ โดยที่สุดแม้แก่สัตว์ดิรัจฉาน เป็นทุกกฏ  แต่ถ้าว่ามีจิตกำหนดประหารหญิง เป็นสังฆาทิเสส
      ๓. ภิกษุปรารถนาความพ้นจากมนุษย์หรือสัตว์ (ต้องการเพียงขับไล่) ให้ประหารด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และของที่ขว้างไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นอาบัติ, ถ้าแม้นภิกษุเห็นโจรก็ดี ข้าศึกก็ดี มุ่งจะเบียดเบียนในระหว่างทาง  กล่าวว่า แน่ะอุบาสก เธอจงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ อย่าเข้ามา แล้วประหารผู้ไม่เชื่อฟังคำที่กำลังเดินเข้ามา ด้วยไม้ค้อนหรือด้วยศัสตรา พร้อมกับพูดว่า ไปโว้ย แล้วไปเสีย ถ้าเขาตายเพราะการประหารนั้น ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน (หากมีจิตคิดฆ่า เป็นปาราชิก)
      ๔. สิกขาบทนี้สมุฏฐานเป็นต้นดุจเดียวกับปฐมปาราชิกสิกขาบท แต่สิกขาบทนี้เป็นอกุศลจิต (โทสมูลจิต)

 

ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๔)
ภิกษุโกรธ น้อยใจ เงื้อมือดุจให้ประหารแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้นแก่พระสัตตรสวัคคีย์ๆ หลบการประหาร แล้วร้องไห้ ภิกษุทั้งหลาบสอบถาม...ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้นแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์
     
อรรถาธิบาย
      - คำว่า โกรธ น้อยใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - คำว่า เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้น คือ เงื้อกายก็ดี ของเนื่องด้วยกายก็ดี โดยที่สุดแม้กลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้น ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าอนุปสัมบัน...ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโกรธ น้อยใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้นแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุถูกใครๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัว เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๖๙-๗๗๐
      ๑. พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นคุ้นเคยต่อการประหารแล้ว รู้ว่าภิกษุเหล่านี้จักให้ประหาร เพราะเป็นผู้ได้รับการประหารมาแม้ในกาลก่อน จึงร้องไห้ กลัวการประหาร
      ๒. ถ้าภิกษุเงื้อพลั้งให้ประหารลงไป เมื่อภิกษุไม่อาจจะยับยั้งไว้ได้แน่นอน จึงประหารลงไปโดยเร็ว เป็นทุกกฏเพราะเธอให้ประหาร โดยไม่มีประสงค์จะประหาร, เพราะการประหารนั้นอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งมีมือเป็นต้น หักไป ก็เป็นเพียงทุกกฏ, ภิกษุผู้ประสงค์จะประหาร แต่การประหารด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่งมีต้นไม้เป็นต้น พลาดเลยไป หรือตนกลับได้สติแล้วไม่ประหาร เป็นทุกกฏ, หรือเมื่อประหาร ถูกใครๆ กันมือไว้ ก็เป็นทุกกฏ
       ๓. สิกขาบทนี่มีสมุฏฐานเป็นต้น เช่นเดียวกับสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๔)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๕)
ภิกษุแกล้งโจทฟ้องภิกษุอื่น ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กำจัดซึ่งภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสส หามูลมิได้ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า หามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
      - บทว่า ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส คือ ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
      - บทว่า กำจัด คือ โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโจทด้วยอาจารวิบัติก็ดี ด้วยทิฏฐิวิบัติก็ดี ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุโจทอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน โจท ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย โจท ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน โจท ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุเห็นว่ามีมูล โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๗๓
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น เพราะความที่ตนเองเป็นผู้มีโทษเกลื่อนกล่น เมื่อจะทำการป้องกันว่า ภิกษุทั้งหลายจักไม่โจท จักไม่ยังพวกเราให้ให้การด้วยอาการอย่างนี้ จึงรีบชิงโจทภิกษุทั้งหลายด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูลเสียก่อน
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อุกุศลจิต (โทสมูลจิต), ดู อมูลกสิกขาบท สังฆาทิเสส ประกอบด้วย (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๖)
ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้เกิดแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์แกล้งก่อความรำคาญให้แก่พระสัตตรสวัคคีย์ ด้วยคำพูดว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า สงฆ์ไม่พึงอุปสมบทบุคคลผู้มีอายุหย่อน ๒๐ ปี ก็พวกท่านมีอายุหย่อน ๒๐ ปี พวกท่านเป็นอนุปสัมบันของพวกเรากระมัง พระสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นพากันร้องไห้
      ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ติเตียน และกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใดแกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุ ด้วยหมายว่า ด้วยเหตุนี้ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า แกล้ง คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจ ละเมิด
      - บทว่า ก่อความรำคาญ เป็นต้นว่า ชะรอยท่านคงมีอายุหย่อน ๒๐ อ่อนบวชแล้ว ชะรอยท่านบริโภคอาหารในเวลาวิกาลกระมัง ชะรอยท่านดื่มน้ำเมาแล้ว ชะรอยท่านนั่งในที่ลับกับมาตุคามแล้ว ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแล ให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ คือ ไม่มีเหตุอะไรอื่นที่จะก่อความรำคาญให้ นอกจากจะแกล้ง
     
อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน แกล้งก่อความรำคาญให้ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้แก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะก่อความรำคาญ แต่พูดแนะนำว่า ชะรอยท่านจะมีอายุไม่ครบ ๒๐ ฝน หรือท่านคงจะบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้วกระมัง เป็นต้น ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ความรำคาญใจในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน ดังนี้ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๗๗
      ๑. ภิกษุก่อความรำคาญแก่สามเณร โดยนัยเป็นต้นว่า ชะรอยเธอจะนั่ง นอน กิน ดื่ม ในที่ลับร่วมกับมาตุคาม และเธอกระทำอย่างนี้และอย่างนี้และอย่างนี้ในท่ามกลางสงฆ์ เป็นทุกกฏทุกๆ คำพูด
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนอมูลกสิกขาบท (โจทด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล สิกขาบทที่ ๘ แห่งสังฆาทิเสส) 






ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน   ยตฺถกามนิปาติโน
จิติตสิส ทมโถ สาธุ   จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ ฯ ๓๕ ฯ

จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว  ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
ฝึกจิตเช่นนั้นได้เป็นการดี  เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ 

Good is it to control the mind  Which is hard to check and swift
And flits wherever it desires.  A subdued mind is conducive to happiness.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๖
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #60 เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2563 15:37:06 »


ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๗)
ภิกษุอื่นวิวาทกันอยู่ ภิกษุไปแอบฟังความ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักสนทนากันว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์พวกนี้เป็นอลัชชี พวกเราไม่อาจทะเลาะกับพระพวกนี้ได้ พระฉัพพัคคีย์เข้ามาแล้วกล่าวว่า ทำไมพวกท่านจึงได้เรียกพวกเราว่า พวกอลัชชี
      ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักถามว่า พวกท่านได้ยินมาแต่ที่ไหน พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า พวกเรายืนแอบฟังพวกท่านอยู่
      ภิกษุทั้งหลายต่างพากันตำหนิพระฉัพพัคคีย์ว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ยืนแอบฟังอยู่เล่า แล้วกราบทูล...ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า เกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน คือ เกิดอธิกรณ์ขึ้น
      - คำว่า ยืนแอบฟัง คือ เดินไปด้วยความตั้งใจว่า เราจักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วจักท้วง จักฟ้อง จักให้สำนึก จักทำให้เก้อเขิน ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฏ  ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์, เมื่อเดินไปข้างหลัง รีบเดินให้ทัน ด้วยตั้งใจว่าจักฟัง ต้องทุกกฏ    ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องปาจิตตีย์,  เมื่อเดินไปข้างหน้า ลดการเดินให้ช้าลง หมายฟัง ต้องทุกกฏ,  ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องปาจิตตีย์,  บังเอิญเดินผ่านมาถึงสถานที่ที่ภิกษุยืนก็ดี นั่งก็ดี เมื่อเขาพูดงุบงิบอยู่ ต้องกระแอมไอให้เขารู้ตัว  ถ้าไม่กระแอมไอ หรือไม่ให้เขารู้ตัว ต้องปาจิตตีย์
      - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีเหตุอื่น นอกจากจะแอบฟัง
    
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ยืนแอบฟัง ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุยืนแอบฟังถ้อยคำของอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุเดินไปหมายว่าจักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จักงด จักเว้น จักระงับ จักเปลื้องตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๘๑-๗๘๒
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเถยยสัตถสิกขาบท (สัปปาณวรรค สิกขาบทที่ ๖)
          เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  บางคราวเป็นกิริยาด้วยอำนาจแห่งการไปเพราะความอยากฟัง,  บางคราวเป็นอกิริยาด้วยอำนาจแห่งการไม่ยังผู้บาดหมางกันซึ่งมาสู่ที่ตนยืนอยู่แล้วปรึกษากันอยู่ ให้รู้ตัว (คู่กรณีของตนเดินคุยกันมา ไม่ส่งเสียงให้เขารู้ว่าตนยืนอยู่) เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต, โทสมูลจิต),  สิกขาบททั้ง ๓ คือ รูปิยสิกขาบท (นิสสัคคีย์) อัญญวาทสิกขาบท (กล่าวคำอื่น) และสิกขาบทนี้ต่างมีสมุฏฐานเป็นต้นที่เหมือนกัน  



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๘)
ภิกษุให้ฉันทะแล้ว ต่อมาติเตียนสงฆ์ผู้ได้รับฉันทะให้ทำสังฆกรรม ต้องปาจิตตีย์

     พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารแล้ว เมื่อการกสงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุแต่ละรูปอยู่ พระฉัพพัคคีย์พากันคัดค้าน ต่อมาสงฆ์ประชุมกันด้วยกรรมบางอย่าง พวกพระฉัพพัคคีย์สาละวนทำจีวรอยู่ พวกเธอจึงได้ให้ฉันทะแก่ภิกษุรูปหนึ่งของกลุ่มให้เข้าประชุม สงฆ์เห็นว่าเธอมารูปเดียว จึงได้ทำกรรม (ตำหนิที่ประพฤติอนาจาร) แก่เธอ ดังนี้  ภิกษุรูปนั้นกลับไปบอกพวกพระฉัพพัคคีย์ พวกเธอพูดว่า เราไม่ได้ให้ฉันทะไปเพื่อให้ทำกรรมแก่ท่าน ถ้าพวกเธอทราบว่า สงฆ์จักทำกรรมแก่ท่าน เราจะไม่พึงให้ฉันทะไป
      ภิกษุทั้งหลายทราบ ติเตียนพระฉัพพัคคีย์ว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว จึงได้ถึงความบ่นว่าในภายหลังเล่า แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ถึงธรรม คือ ความบ่นว่าในภายหลัง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม ได้แก่ อปโลกนกรรม ๑ ญัตติกรรม ๑  ญัตติทุติยกรรม ๑  ญัตติจตุตถกรรม ๑  ที่สงฆ์ทำแล้วตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม
          ภิกษุให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ให้ฉันทะไป แล้วบ่นว่า ต้องปาจิตตีย์
       ๒. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม... ต้องทุกกฏ
       ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุรู้อยู่ว่า สงฆ์ทำกรรมโดยไม่ถูกธรรม เป็นพวก หรือทำแก่ภิกษุผู้มิใช่ผู้ควรแก่กรรม จึงบ่นว่า ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๘๕-๗๘๖
      ๑. บทว่า ธมฺมิกานํ มีวิเคราะห์ว่า ธรรมมีอยู่ในกรรมเหล่านั้น เพราะสงฆ์ทำโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เพราะเหตุนั้น กรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่าธรรมิกะ (กรรมอันเป็นธรรม) เพื่อสังฆกรรม ๔ อันเป็นธรรมเหล่านั้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)    



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่๑๒๙)
ภิกษุออกจากที่ประชุมสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องปาจิตตีย์

       ครั้งนั้น สงฆ์ประชุมกันด้วยกรรมบางอย่างที่สงฆ์จะต้องทำ  พระฉัพพัคคีย์สาละวนอยู่กับการทำจีวรกรรม ได้ให้ฉันทะแก่ภิกษุรูปหนึ่งไป เธอมาถึงพอดีกับที่สงฆ์ตั้งญัตติแล้วว่า สงฆ์ประชุมกันเพื่อประสงค์ทำกรรมใด พวกเราจักทำกรรมนั้น ดังนี้
      ภิกษุรูปนั้นจึงพูดขึ้นว่า ภิกษุเหล่านี้ทำกรรมแก่ภิกษุแต่ละรูปอย่างนี้ พวกท่านจักทำกรรมแก่ใครกัน แล้วไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะ หลีกไป
      ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนว่า ไฉน ภิกษุเมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ จึงไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะหลีกไปเล่า...แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะ หลีกไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า เรื่องอันจะพึงวินิจฉัยในสงฆ์ ได้แก่ เรื่องที่โจทก์และจำเลยแจ้งไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้วินิจฉัย ๑  ตั้งญัตติแล้ว ๑  กรรมวาจายังสวดค้างอยู่ ๑
      - คำว่า ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย คือ ตั้งใจว่า กรรมนี้พึงกำเริบ พึงเป็นวรรค พึงทำไม่ได้ ดังนี้ แล้วลุกเดินไป ต้องอาบัติทุกกฏ  กำลังละหัตถบาสแห่งที่ชุมนุมสงฆ์ ต้องทุกกฏ ละหัตถบาสไปแล้ว ต้องปาจิตตีย์
    
อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ต้องปาจิตตีย์
       ๒. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม... ต้องทุกกฏ
       ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
 อนาบัติ
      ภิกษุเห็นว่า ความบาดหมาง ความทะเลาะวิวาท จักเกิดแก่สงฆ์ ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเห็นว่า สงฆ์จะแตกแยก จักร้าวรานกัน ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเห็นว่าสงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุมิใช่ผู้ควรแก่กรรม ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเกิดอาพาธ หลีกไป ๑  ภิกษุหลีกไปด้วยธุระอันจะทำแก่ภิกษุอาพาธ ๑  ปวดอุจจาระ  ปัสสาวะ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุไม่ตั้งใจจะทำให้กรรมเสีย หลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมาอีก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๐
      ๑. สิกขาบทนี้ มีการทอดธุระเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายวาจากับจิต เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๐)
ภิกษุพร้อมใจกันให้จีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้ว ภายหลังกลับติเตียน ต้องปาจิตตีย์

       พระทัพพมัลลบุตรจัดเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์ แต่ท่านเป็นผู้มีจีวรเก่า   สมัยนั้น มีจีวรผืนหนึ่งเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์จึงได้ถวายจีวรผืนนั้นแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร แต่พวกพระฉัพพัคคีย์พากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ
      ภิกษุทั้งหลายต่างติเตียนพระฉัพพัคคีย์ว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้จีวรไปแล้ว ภายหลังจึงได้ถึงธรรม คือ บ่น แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ภายหลังถึงธรรม คือ บ่น ว่าภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน
      - บทว่า ให้ คือ ตนเองก็ให้
      - ที่ชื่อว่า ตามชอบใจ คือ ตามความที่เป็นไมตรีกัน ตามความที่เคยเห็นเคยคบกัน เคยร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกัน
      - ที่ชื่อว่า ของสงฆ์ คือ ที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      - ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ โดยที่สุดแม้ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
      - คำว่า ภายหลังถึงธรรม คือ บ่น ความว่า เมื่อให้จีวรแก่อุปสัมบันที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะก็ดี ให้เป็นผู้แจกอาหารก็ดี ให้เป็นผู้แจกยาคูก็ดี ให้เป็นผู้แจกผลไม้ก็ดี ให้เป็นผู้แจกของเคี้ยวก็ดี ให้เป็นผู้แจกของเล็กน้อยก็ดี แล้วบ่น ต้องปาจิตตีย์


อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม (คือ สงฆ์ปฏิบัติถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม เมื่อให้จีวรแล้วบ่น ต้องปาจิตตีย์
       ๒.กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ให้บริขารอย่างอื่นแล้วบ่น... ต้องทุกกฏ
       ๕. ให้จีวรหรือบริขารอย่างอื่นแก่อุปสัมบันผู้ที่สงฆ์ไม่ได้สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นต้น แล้วบ่น ต้องทุกกฏ
       ๖. ให้จีวรหรือบริขารอย่างอื่นแก่อุปสัมบันผู้ที่สงฆ์สมมติก็ดี ไม่ได้สมมติก็ดี แล้วบ่น ต้องทุกกฏ
       ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม..ต้องทุกกฏ
       ๘. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย..ต้องทุกกฎ
       ๙. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม..ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุบ่นว่าสงฆ์ที่ทำหน้าที่แจกจีวรเป็นต้น ที่มีปกติทำโดยฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ว่าจะประโยชน์อะไรด้วยจีวรที่ให้แล้วแก่ภิกษุนั้น แม้เธอได้ไปแล้วก็จักทิ้ง จักไม่ใช้สอยโดยชอบธรรม ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๔
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓  เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๑)
ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่ทายกตั้งใจถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์

      ชาวบ้านหมู่หนึ่งได้จัดเตรียมอาหารพร้อมทั้งจีวร ด้วยหมายว่าจักให้สงฆ์ฉันแล้วครองจีวร ครั้งนั้นพระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้น พูดขอให้เขาถวายจีวรแก่พวกตน ด้วยเหตุผลว่า สงฆ์มีมากแล้วขณะที่พวกท่านไม่มี ชาวบ้านที่ถูกพระฉัพพัคคีย์แค่นขอจึงถวายจีวรแก่พวกท่านไป
      ในเวลานั้น พวกเขาจึงได้ถวายเฉพาะภัตอย่างเดียว บรรดาภิกษุที่มาฉันทราบว่าเขาจักให้ฉันพร้อมถวายจีวร เมื่อฉันเสร็จจึงได้สอบถามการถวายจีวร ชาวบ้านหมู่นั้นได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว
      ภิกษุทั้งหลายได้ติเตียนว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ รู้อยู่ จึงได้น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคลเล่า แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า  รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกให้รู้ หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า จะถวายสงฆ์ คือ เขาจะให้อยู่แล้ว จะบริจาคแก่สงฆ์อยู่แล้ว
      - ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ โดยที่สุดแม้ก้อนจรุณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
      - ที่ชื่อว่า เขาน้อมไป คือ ได้เปล่งวาจาไว้ว่า จักถวาย จักทำ ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุรู้ว่าเขาน้อมไปแล้ว (เพื่อสงฆ์) น้อมมาเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์
       ๒. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขายังไม่ได้น้อมไป ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุน้อมมาเพื่อสงฆ์หมู่อื่นก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี ต้องทุกกฏ
       ๕. ลาภที่เขาน้อมไปเพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมมาเพื่อเจดีย์อื่น หรือเพื่อสงฆ์ หรือเพื่อบุคคล ต้องทุกกฏ
       ๖. ลาภที่เขาน้อมไปเพื่อบุคคล ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคลอื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ หรือเพื่อเจดีย์ ต้องทุกกฏ
       ๗. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุคิดว่าเขาน้อมไปแล้ว ต้องทุกกฎ
       ๘. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุรู้ว่าเขายังไม่ได้น้อมไป ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุเมื่อทายกถามว่า จะถวายที่ไหน  ตอบว่า ไทยธรรมของพวกท่าน พึงได้รับการใช้สอย ถึงได้รับการปรับปรุง หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใด ก็หรือจิตของพวกท่านเลื่อมใสในที่ใด ก็จงถวายในที่นั้นเถิด ดังนี้ ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๙
      ๑. คำใดที่ควรทำความเข้าใจให้ดูในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้อที่ ๑๐ ปัตตวรรค, ในนิสสัคคีย์นั้น น้อมมาเพื่อตน แต่ในสิกขาบทนี้เป็นปาจิตตีย์ล้วน เพราะน้อมไปเพื่อบุคคล (อื่น)
      ๒. สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)    



สุทุทฺทส สุนิปุณํ   ยตฺถกามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกิเขถ เมธาวี   จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ ฯ ๓๖ ฯ

จิตเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก  มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
ผู้มีปัญญาจึงควรควบคุมจิตไว้ให้ดี  เพราะจิตที่ควบคุมได้แล้ว นำสุขมาให้

Hard to perceive and extremely subtle is this mind, It roams wherever it desires.
Let the wise man guard it; A guarded mind is conducive to happiness..
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 กรกฎาคม 2563 15:41:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 2 [3] 4   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อาบัติ(ปาราชิก)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
時々๛कभी कभी๛ 0 2008 กระทู้ล่าสุด 26 มีนาคม 2554 17:26:36
โดย 時々๛कभी कभी๛
อาบัติ ปาราชิก
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 2853 กระทู้ล่าสุด 02 ตุลาคม 2556 13:27:09
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.209 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 01 กุมภาพันธ์ 2567 12:30:51