[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:36:23 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คนัง มหาดเล็กในพระพุทธเจ้าหลวง  (อ่าน 24427 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 กุมภาพันธ์ 2557 11:10:13 »

.


ภาพจาก : เว็บไซต์ clipmass.com

คนัง
มหาดเล็กในพระพุทธเจ้าหลวง
Khanang a Sakai page of  King Chulalongkorn

การเสด็จประพาสไปตามจังหวัดต่างๆ ในเมืองไทย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น นอกจากจะทรงมีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของปวงประชาราษฎร์แล้ว ยังทรงสดับรับฟังความทุกข์และความสุขต่างๆ  บางครั้งได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นราษฎรสามัญเพื่อให้การเสด็จประพาสเข้าถึงเหตุการณ์และความจริง ซึ่งจะประสบด้วยพระองค์เอง

ในการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ณ เมืองพัทลุง นี้เอง พระองค์ทรงปรารถนาที่จะได้ “ลูกเงาะ” หรือที่เรียกกันในหมู่พวกกันเองว่า “ก็อย”  เพราะพระราชประสงค์นี้เองที่ทำให้ชีวิตของลูกเงาะในป่าเมืองพัทลุงอันมีความเป็นอยู่สุดแสนจะกันดาร โยกย้ายที่อยู่ทุกครั้งที่เกิดการตายขึ้น ระเหระหนไปไม่มีที่สิ้นสุดนั้นกลับมามีชีวิตอันโอ่อ่าอยู่ในราชสำนัก และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่แพ้มหาดเล็กอื่นๆ

เพื่อให้การเขียนเรื่อง “คนังเงาะจากป่าเมืองพัทลุง” นี้ ใกล้ความจริงอันนอกเหนือไปจากที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้า (“เสาวนิต”..ผู้เขียนบทความ) จึงได้เข้าเฝ้าและกราบทูลถามพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และได้เรียนถามเจ้าจอมมารดาอ่อนในรัชกาลที่ ๕ เพื่อขอรายละเอียดเรื่องราวของคนังเพิ่มเติม ซึ่งก็ได้รับความกรุณาเท่าที่ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ได้เห็นชีวิตของคนังในขณะนั้น

ก่อนที่จะเริ่มเรื่องนี้ ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งบรรยายรูปพรรณและความเป็นอยู่ของพวกเงาะโดยสังเขปมาลงไว้ เพื่อท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยทราบมาก่อนจะได้รู้เรื่องราวของเงาะพวกนี้ไว้ก่อนจะได้อ่านรายละเอียด ในชีวิตของ “คนัง-มหาดเล็กพิเศษของ ร..๕

พวกที่เราเรียกว่าเงาะมีหลายจำพวกตามที่เขาตรวจพบปะ แต่ไม่จำเป็นต้องยกมากล่าวในที่นี้ ที่จะกล่าวบัดนี้ประสงค์เอาพวกที่ตัวมันเองเรียกตัวว่า “ก็อย” หรือถ้าจะว่าตามหมวดหมู่ซึ่งมิสเตอร์อานันเดลเขียนไว้ก็เป็นพวกที่เรียกตามภาษามลายูว่า “เซมัง” หรือ “สไก” แต่จะต้องเข้าใจอย่างภาษาที่เรียกว่า “เงาะ” ซึ่งมันเรียกตัวมันเองว่า ก็อย

รูปพรรณไม่สู้สูงใหญ่ ตามักจะแหลม จมูกกว้างแบน ปากไม่เจ่อเช่นนิโก ผมเส้นอ่อน และขมวด  ผู้ชายไว้ผมกลมรอบศีรษะเช่นเงาะหัวโขน แต่ผู้หญิงไว้ผมยาวอย่างมวยก็มี แต่ตัดสั้นเป็นพื้นผิวดำเจือแดงไม่ใช่ดำเขียว ก็ไม่เฉพาะแต่ดำอย่างเดียวที่มีจางออกไปก็มาก บางพวกสีเหมือนคนปกติ แต่มักจะเป็นลายเช่นแผลออกฝีตามตัวมาก ด้วยเมื่อเด็กๆ มักเป็นแผลต่างๆ เป็นพื้น กำลังย่อมเป็นคนแข็งแรง

ความคิดอยู่ข้างจะฉลาด จำแม่นตามปกติของคนชาติที่ไม่มีหนังสือ ค่อนจะอยู่ข้างขลาด ไม่ใช่ชาติที่ดุร้าย ไม่มีความคิดในทางเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ชอบแต่หาสิ่งของเกิดจากธรรมดาเอง คือตัดหวาย ตัดเตย ตีผึ้ง ลนน้ำมันยาง ลงมาแลกเปลี่ยนอาหารตามหมู่บ้านคน วิชาช่างที่ทำได้คือ สานสมุกใบเตย สานตะกร้า หรือกระโปรงที่เรียกว่า “จอง” ด้วยหวาย สานเสื่อ กระสอบใบเตย ขุดมันเป็นงานของผู้หญิงในเวลาที่ผู้ชายไปทำงานอยู่ในป่า

ที่อยู่ตามปกติอยู่ในทับซึ่งทำสูงจากพื้นดินโดยใช้กิ่งไม้ง่ามเป็นตอหม้อ หลังคาทับนั้นมุงด้วยใบไม้มีใบปาล์มอย่างต้นตาลเป็นต้น ซึ่งไม่สู้มิดฝนนัก หน้าฝนกันฝนไม่ใคร่จะได้ ย่อมเข้าไปอยู่อาศัยถ้ำโดยมาก ทับที่อยู่นั้นมักจะปลูกเป็นหมู่ๆ รายๆ กันตามพวก คงมีต้นไม้ใหญ่ที่เหลือไว้มีลานที่ตัดตอไม้ลงเป็นที่แจ้งสำหรับเล่น

ที่ซึ่งตั้งทับนั้น ย่อมหาตำบลที่ใกล้ธารน้ำเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าจำจะต้องอยู่ไกลหน่อย มันสามารถที่จะทำรางด้วยไม้ไผ่ต่อให้มาตกถึงที่อยู่ และจำจะต้องมีที่ซึ่งเกิดเผือกมันอยู่ในที่ใกล้แห่งหนึ่งแห่งใดเป็นเสบียงกังจึงจะเป็นที่ตั้งทับได้ ถ้าหากมันหรือมีเหตุคนตายเป็นต้องย้ายไปตั้งทับเสียที่อื่น

ภาษาที่พูดซึ่งเป็นภาษาก็อยแท้ แปลจากภาษาไทยแลภาษามลายูไกลมาก มีหางเสียงคล้ายภาษาอังกฤษ หรือเยอรมันบ้าง แต่ไม่ครบทุกสำเนียง ดูเหมือนว่าภาก็อยแท้จะมีคำน้อยนัก ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยแลภาษามลายูปนเข้าไปมาก

อาหารปกตินั้นมีเผือกมันเป็นที่ตั้ง แต่มักจะได้กินข้าวเสมอเป็นปกติ โดยหาสินค้ามาแลก ดังเช่นว่าผลไม้ทุกอย่างเป็นอาหาร สัตว์ต่างๆ ชอบค่างเป็นพื้น อาจจะย่างไว้กินเป็นของแห้งประจำไม่ขาดได้ นอกนั้นนกเป็นพื้น เว้นไว้แต่บางอย่างเช่น ไก่ป่า เป็นต้น ถือว่ารางควานแรง สัตว์สี่เท้ากินน้อยนัก มักเป็นสัตว์ของเลี้ยง ซึ่งได้ไปจากคนไทยหรือมลายู แลสัตว์ป่า เช่นเนื้อทรายเป็นสัตว์ที่มีรางควานมาก ไม่ได้เป็นอาหารประจำวันของพวกนี้ ถ้าเป็นอาหารป่าที่เขาหาได้เองใช้เผาไฟกินทั้งนั้น เว้นไว้แต่หุงข้าวหรือแกง ซึ่งได้เรียนไปแลกได้ภาชนะจากคนไทย ก็ทำได้อย่างเลวๆ ง่ายๆ ของนอกจากอาหารปกติซึ่งเป็นเครื่องเพิ่มเติมความต้องการเช่น เกลือ น้ำตาล พริก ตะไคร้ มะพร้าว ผลไม้ ของสวน ยาสูบ สุรา เป็นต้น แลกเปลี่ยนได้จากคนไทยเหมือนกันแต่ใช้น้อย

ยาที่เป็นโอสถวิเศษของพวกนี้นั้นคือเรื่องออกลูก ธรรมดาของพวกก็อยมีลูกถี่ ตามปกติของเขามักกล่าวว่ามีปีละคน มียาทำด้วยพฤกษชาติ ซึ่งคนไทยหรือคนมลายูแถบนั้นไปขอร้องมาใช้กันอยู่โดยมาก แต่ไข้เจ็บอย่างอื่นๆ ใช้ยาน้อย รักษาด้วยอาบน้ำผิงไฟเป็นพื้น.


ฤดูการความสุขของพวกนี้ หน้าหนาวอาศัยกองไฟผิงเป็นพื้น เพราะผ้าไม่ใคร่จะมีพอนุ่งห่ม บางทีมีอันตรายด้วยไฟบ่อยๆ แต่เวลากลางวันยังเป็นเวลาสบายเที่ยวได้มาก หาอาหารได้มาก ครั้งถึงฤดูร้อนเป็นสบายที่หนึ่ง เป็นเวลาที่เที่ยวป่าขับร้องฟ้อนรำ อาหารบูรณ์ทุกอย่าง  ครั้นตนถึงฤดูฝนเป็นเวลาที่ไม่สบายเลย ทับก็ไม่พอที่จะคุ้มฝน ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำ พื้นดินก็เต็มไปด้วยทากแลสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ เดินไปมาข้างไหนก็ยาก ที่กลัวอย่างยิ่งนั้นคือ ที่พวกนั้นเขาเรียกว่าฝนร้อน คือฝนตกลงมาแล้วอากาศอบอ้าวขึ้น หายใจไม่ค่อยออกเช่นนั้น มักเจ็บไข้ เป็นไข้ป่า วิธีที่ใช้กันไข้ป่าให้ทาแป้งขาวๆ ตามลูกคางแก้มแลหน้าผาก บางทีใช้เชือกรัดที่กลางลำคอให้ตึงว่าเป็นเครื่องกันไข้ป่า

นุ่งห่ม  ผู้ขายนุ่งผ้าคาบหว่างขาแล้วกระหวัดรอบเอวไว้ ชายทั้งหน้าหลังเรียกว่านุ่ง “เลาะเตี๊ยะ” ชายที่ห้อยข้างหน้าเรียกว่า “ไกพ๊อก” ชายที่ห้อยข้างหลังเรียกว่า “กอเลาะ” วิธีนุ่งผ้าเช่นนี้เหมือนอย่างเขมรครั้งนครวัดนุ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในลายจำหลักศิลา ชั่วแต่ผ้ากว้างแลเคบกว่ากันตามที่มีมากแลน้อย พวกก็อยนั้นเห็นจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตั้งแต่ครั้งนั้นมาจนเดี๋ยวนี้ ผู้หญิงนุ่งเตี่ยวชั้นในเรียกว่า “จะวัด” คือมีสายรัดบั้นเอวแลผ้าทาบหว่างขา แล้วนุ่งหุ้มรอบเอวข้างนอกตามแต่จะมีเมื่อไม่มีผ้าก็ใช้ใบไม้เมื่อมีผ้าก็ใช้ผ้าเรียกว่า “ฮอลี” กว้างและแคบก็ตามมี อย่างแคบก็ปกลงมาเหนือเข่า ผู้หญิงมีผ้าห่มเรียกว่า “ซิใบ” นี่เห็นจะเติมขึ้นใหม่เมื่อใกล้เคียงกับชาวบ้างเข้า ผู้หญิงเมื่อยังไม่มีสามีสอดตุ้มหู ใช้ดอกไม้โดยมากดอกจำปูนเป็นที่พึงใจกว่าอื่น เครื่องประดับนอกนั้นมีหวีทำด้วยไม้ไผ่ปล้องขนาดใหญ่ผ่ากลาง จักเป็นซี่แล้วแต่งลายด้วยเอาตะกั่วนาบแลย้อมสีบ้าง กำไลร้อยด้วยเม็ดมะกล่ำ ของเครื่องแต่งตัวเหล่านี้อาจจะฝากมาแลกของซึ่งต้องการจากคนชาวบ้านได้

การสู่ขอภรรยาเป็นหน้าที่ของผู้ชายที่จะต้องหาผ้าให้ได้สองผืน ไปให้แก่บิดามารดาของผู้หญิงรับไว้แล้วเป็นอันตกลงว่ายอมให้

สีชอบสีแดงไม่ว่าอะไร เช่นผ้านุ่งห่ม ถ้าได้สีแดงเป็นดีกว่าอย่างอื่น ดอกไม้ที่ประดับกายมีเสียบในผมเป็นต้น ชอบใช้ดอกไม้สีแดง เช่นเรียกตามภาษาก็อยว่า “ฮาปอง” ไม่รู้ว่าดอกอะไร แต่สีแดงนั้นชอบกันมาก

อาวุธที่เป็นอาวุธสำคัญของพวกนี้ คือกล้องลูกดอกสำหรับเป่า กล้องนี้ใช้มีสีเหลือง แลกวดขันกันเป็นของสำคัญที่จะต้องทำแลรักษาให้งามหมดจดวิเศษ เพราะเป็นของคู่ชีวิตประจำตัวในการที่จะลงโทษหรือเอาความให้มั่นคงแน่นอนแก่พวกเงาะ ซึ่งพวกผู้ใหญ่บ้านเหล่านั้นเคยทำแก่เงาะก็คือยึดเอากล้องนี้ไว้เสียคงจะไม่ทิ้งเลยเป็นอันขาด ไม่ต้องทำโทษอย่างอื่นเลย ไม้กล้องนี้ยาวประมาณ ๔ ศอกเศษ เรียกภาษาก็อยว่า “บอเลา” บอเลานี้ต้องบรรจุใจกลักไม้ไผ่ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง สำหรับถือไปมาเพื่อจะไม่ให้กระทบ เดาะหักแลไม่ให้เป็นริ้วรอย ลูกดอกทำด้วยไม้เหนียวเหลาแหลมหยักคอเรียกว่า “บิลา” ลูกบิลานี้เหน็บลงในแว่นไม้ระกำปลายบิลาทางยางอิโปะ คือยางน่อง เมื่อเวลาจะบรรจุกล้องมีปุยอัดเข้าไว้ให้แน่นด้วย เพื่อจะให้อัดลมส่งลูกดอกแรง เมื่อยิงจึงมีเสียงผลัวะ

ลูกบิลานี้ได้เก็บไว้โดยผจงในกลักไม้เล็กๆ อันละกรักหรือรวมในกลักเดียวแต่มีช่องกันไม่ให้กระทับกัน กลักบิบานี้เรียกว่า “ฮอนเล็ด” รวมฮอนเล็ดทั้งปวงลงในกระบอกอีกกระบอกหนึ่ง กระบอกใหญ่นี้เรียกว่า “มันนึ” มีฝาครอบสานด้วยเตย มันนึนี้ทำประณีตนาบเป็นลวดลายเหมือนขลุ่ย มีสายคาด สายนั้นเรียกว่า “ตอกนุก” เครื่องคาดทั้งสำรับนี้ถือเป็นสำคัญอาจจะกันผีสางกระทำยกเยียได้ นอกนั้นมีอาวุธอย่างอื่น เช่น หอก แลดาบเป็นต้น เป็นอาวุธที่รับมาจากแขก มลายู ไม่ใช่อาวุธของตัวเอง



"จ้องหน่อง"
ความหมายตามพจนานุกรม = น. เครื่องทําให้เกิดเสียงเป็นเพลง โดยใช้ปากคาบ
แล้วกระตุกหรือชักด้วยเชือกให้สั่นดังเป็นเสียงดนตรี.

การเล่นมีเครื่องดนตรี คือ กลอง เรียกว่า “ประตุง” ปี่ เรียกว่า “อิแนะ” ตามภาษามลายูเป็นปี่ชวา ปี่เรียกว่า “บักซี” จะเข้สองสายทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหล็กสำหรับดีดในปากเรียกว่า “จองนอง” ก็คือจ้องหน่องอย่างของเรา มีเครื่องเล่นทำด้วยกะลามะพร้าวมีคันชักด้วยเชือกเรียกว่า “บองบง” เวลาเต้นแลรำใช้กรับมาก มีไม้ที่เป็นโพรงยาวๆ สำหรับเคาะด้วยกรับ ก็คือโกร่งเช่นเราใช้ รู้จักร้องขับแลรำผิวปากนั้นเป็นปกติทั่วไปเป็นพื้น

ที่นับถือ เชื่อว่ามีเจ้าของป่า ซึ่งเป็นผู้อาจจะให้ร้ายแก่ผู้ใดๆ ที่ไม่ชอบให้ดีแก่ผู้ใดซึ่งชอบแลต้นไม้บางต้นมีนางไม้รักษาจะต้องประจบนบนอบ มีผี มียักษ์ ซึ่งเป็นชาติดุร้ายถืออาวุธงอๆ เมื่อพบคนเอาอาวุธนั้นแหวะท้องกินเครื่องใน ถ้าจะแบ่งเป็นสี่จำพวกคือ เรียกว่า “ญา” เป็นชีวิตหรือวิญญาณที่ออกจากคนตายแล้ว ไปลอยอยู่จนมีที่เกิดอีก เมื่อจะมาเกิดเป็นคนย่อมเข้าสิงสู่ในรูปอันตั้งอยู่ในครรภ์ เมื่อเวลาได้หกเดือน ถ้าหากว่าไม่ได้มาเกิด ที่ไปลอยอยู่นั้นอาจให้โทษหลอกหลอนทำอันตรายได้

พวกที่ ๒ เรียกว่า “โรบ” คือที่เราเรียกกันว่าเจอภูตเวลาคนนอนหลับออกไปเที่ยวเผลอเพลินหลงใหล จนเกิดอันตรายบ้าง

พวกที่ ๓ เรียกว่า “เซมังงัด” คือเป็นพรายหรือผีจำพวกหนึ่ง ซึ่งสำหรับผู้มีวิชาใช้ได้ ทำให้เข้าไปในตัวผู้อื่น ให้คลั่งเป็นบ้าให้หลงรัก เป็นพวกผีคุณ ผีเวช ที่ปล่อยทิ้งเสียหรือปล่อยให้เข้าผู้หนึ่งผู้ใดได้

พวกที่ ๔ นั้นเรียกว่า “บาดี” ตรงกับที่เราเรียกว่าปรางควาน อันเกิดจากสัตว์ต่าง ๆ แต่เขามีมากอย่างกว่าของเรา จัดเป็นจำพวกของสัตว์ สัตว์พวกนั้นปรางควานแรง ปรางควานอ่อน เช่นไก่ป่าที่มีปรางควานแรง เมื่อเข้าอาจจะให้ขัดไก่วิ่งเข้าไปในป่าในดง เป็นต้น

การที่จะกันจะแก้ผีทั้งหลายเหล่านี้มีวัตถุต่างๆ ที่เป็นเครื่องมีไว้แล้วคุ้มกัน ทั้งมีหมดที่สำหรับจะเรียกและถอนขับไล่ ถ้าผู้ใดมีกำลังผีเหล่านี้ทำอันตรายยาก ถ้ามีกำลังน้อยผีก็ยิ่งทำอันตรายง่ายขึ้น ธรรมดาที่จะถอนพิษแลปรางควานนี้ ถ้าเป็นสัตว์เดรฉานต้องถอนแต่หางขึ้นไปทางศีรษะ ถ้าเป็นมนุษย์ตั้งแต่นิ้วต้นของเท้าขึ้นไปหาปาก เพราะฉะนั้น ถ้าหมอจะถอนปรางควานเอานิ้วเท้าจุกที่จมูกสัตว์ แล้วเรียกให้ขึ้นมาตามนิ้วเท้า ปล่อยให้ผีนั้นออกเสียทางปากหมอผู้เรียกได้ดังนี้เป็นหมออย่างวิเศษมาก เช่นที่ได้แต่งไว้ในหนังสือนี้

ในการทำศพของพวกนี้ใช้ฝัง แต่ฝังนั้นตื้นเหลือเกิน เพราะฝังแล้วทิ้งย้ายทับทีเดียว ซึ่งต้องย้ายทับนั้นด้วยเหตุสองประการคือ กลัวผีอย่างหนึ่ง กลัวเสือที่มาคุ้ยศพและทำอันตรายอีกอย่างหนึ่ง กระดูกของพวกนี้มลายูถือกันว่าเป็นเครื่องกัน ถ้าผู้ใดไปพบกระดูกก็อยู่แลเซมังในป่าเก็บมาไว้ใช้ทาหน้า กันผีเหล่านี้ได้สิ้น


http://i493.photobucket.com/albums/rr298/bluemoon054/Vim1110.gif
คนัง มหาดเล็กในพระพุทธเจ้าหลวง

ภาพจาก : i493.photobucket.com

พระราชประสงค์
ที่จะได้ “ลูกเงาะ” มาชุบเลี้ยง
การเสด็จประพาสพัทลุงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะได้ “ลูกเงาะ” มาชุบเลี้ยง โดยมิให้มีการบังคับจัมกุมอันเป็นการก่อความเดือดร้อน การเลือกจึงเพ่งเล็งเอาเงาะป่าซึ่งควรจะเป็นเด็กกำพร้า

“ในลักษณ์นั้นว่ามีท้องตรา    พระราชสีห์มาสั่งให้
แสวงหาพวกเงาะไพร         จะมีใครสมัครภักดี
เลือกให้ได้รูปหมดเหมาะ      ตามเพศพวกเงาะถ้วนถี่
ดูฉลาดตลาดเลาท่วงที        อย่าให้มีบังคับจับกุมกัน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเสด็จประพาสพัทลุงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะได้ “ลูกเงาะ” มาชุบเลี้ยง โดยมิให้มีการบังคับจัมกุมอันเป็นการก่อความเดือดร้อน การเลือกจึงเพ่งเล็งเอาเงาะป่าซึ่งควรจะเป็นเด็กกำพร้า

หลวงทิพกำแหงผู้รั้งราชการเมืองพัทลุง ได้รับหน้าที่เป็นผู้เลือกสรรหาตัว “ลูกเงาะป่า” มาสนองพระราชประสงค์ ซึ่งในที่สุดก็เฟ้นได้ตัว “คนัง” ซึ่งเป็นลูกเงาะกำพร้า ประกอบขณะนั้นพวกเงาะกำลังจะทำการโยกย้ายทับที่อยู่กันเป็นขบวนใหญ่ นายสินนุ้ยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่คุ้นเคยและจัดเจนอยู่ในแถบนั้นดีอยู่แล้ว ก็มองเห็นว่าเด็กที่ปราศจากพ่อแม่อย่างคนัง ย่อมจะต้องเผชิญกับความอดอยากและเดือดร้อนในการเดินทางรวมไปในขบวนของเงาะ เพราะขาดผู้อุปการะ เมื่อได้ใช้วิธีล่ออย่างแนบเนียน จนกระทั่งได้ตัวคนังมาแล้วขณะที่หลับสนิท แต่ก็เกิดทุลักทุเลไม่น้อย เพราะเมื่อคนังลืมตาขึ้นมาพบว่าตนกำลังอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่ถิ่นที่เคยพำนัก ตลอดจนเพื่อนชาวเงาะทั้งหลายก็ไม่เห็นหน้า คนังจึงแผลงฤทธิ์ร้องไห้ร้องห่มตามประสาเด็ก ดิ้นหนีแทบจะรั้งกันไว้ไม่อยู่ พระราชนิพนธ์ได้กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า
“ล่วงเวลายามกำดัดดึก               คนังนึกถึงทับขยับโผน
พวกที่อยู่รักษาพากันโจน             เดินเดียวโทนแทบไล่มิใคร่ทัน
เข้าปลอบพาคืนหลังยังเต็นท์ได้      คราวนี้แกล้งใส่ไคล้ให้ขบขัน
ทำนอนหงายเท้างุ้มหงิกยัน          น้ำตานั้นไหลหลั่งพรั่งพราย”

ภายหลังที่ได้รับการปลอบโยนจนกระทั่งคนังค่อยคลายความตื่นเต้นตระหนกแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ความสำนึกและหวั่นหวาดของคนังในตอนนั้นก็คือการพลัดพรากจากพวกพ้องแม้ว่าในอนาคตของคนังจะหมายถึงความเป็นอยู่อย่างสุขสบายในราชสำนัก พรั่งพร้อมด้วยการประคบประหงมอย่างดีที่สุด

คนังยังเล็กเกินกว่าที่จะคิดอะไรได้ นอกจากร้องไห้และดิ้นรนที่จะกลับคืนที่อยู่เดิม หลวงทิพกำแหงผู้รั้งราชการเมืองพัทลุงพยายามปลอบขวัญคนังอยู่ระหว่างทางบนหลังช้างที่ใช้เป็นพาหนะ แม้ว่าจะหยุดร่ำไห้ แต่สัญชาตญาณจากป่าดงพงพีที่ถือกำเนิดมาท่ามกลางความเป็นอยู่เช่นนี้ ย่อมทำให้คนังบังเกิดความว้าเหว่และตื่นกลัวอยู่ตลอดเวลา การจากบ้านเกิดเมืองนอนที่เป็นป่าเขาลำเนาไพรของคนัง เป็นการจากไปอย่างหมดหวังจะได้กลับมาอีก

ก่อนที่จะพาตัวคนังออกจากป่าเมืองพัทลุง เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิธีการล่อหลอกและคัดเลือกตัวลูกเงาะกันอย่างพิถีพิถัน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต้องพระประสงค์ลูกเงาะที่มีลักษณะดี และอย่าให้เป็นที่เดือดร้อนแก่พวกเงาะด้วย

เงาะยัง หรือยางเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการวางแผนเพื่อล่อหลอกเอาตัวคนังไปส่งตามพระราชนิพนธ์ในเรื่องเงาะป่า ตอนท้ายๆ ได้กล่าวว่า
     เมื่อนั้น                           เงาะยังฟังคำร่ำว่า
นิ่งนั่งดำริห์ตริตรา                    เห็นว่าเป็นเวลาเหมาะดี
ด้วยเกิดเหตุเภทพาลเป็นการร้าย  พวกเงาะทั้งหลายจะย้ายที่
อ้ายคนังพ่อแม่มันไม่มี              ทั้งพี่ชายก็หนีด้วยกลัวภัย
อยู่แต่เด็กสองราน่าสงสาร          อ้ายดินการงานพอใช้ได้
อ้ายคนังยังเด็กเล็กแม้พาไป        จดอกหยากยากใจในอรัญ
รูปร่างพอใช้ได้ขนาด                ทั้งฉลาดท่วงทีคมสัน
จึงว่าอันจะหาเช่นว่านั้น              คงจะได้แม่นมั่นมิเป็นไร
แต่พวกเงาะนั้นชอบโนรา            จะให้หามาเล่นจงได้
แม้มันมาข้าจะแกล้งหน่วงไว้        ส่งตัวให้ได้ดังใจจง ฯ

เหตุการณ์วันที่ล่อคนังมาดูโนราและปรนเปรออาหารเสียจนอิ่มหมีพีมันเพื่อให้ตายใจก็ได้ดำเนินการอย่างแนบเนียน จนกระทั่งง่วงเหงาหาวนอน แล้วก็หลับไปด้วยความอ่อนอกอ่อนใจ  นายยังจึงทำหน้าที่อุ้มคนังไปส่งให้นายสินนุ้ยเพื่อนำตัวไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

การรับเอาตัวคนังจากป่าพัทลุง ได้มีการฉลองรับขวัญกันอย่างเอิกเกริก เพื่อให้จิตใจของคนังผ่องแผ้วขึ้น หลังจากครูผู้เฒ่าโอมอ่านคาถาทำขวัญจนจบบท และลั่นฆ้องสนั่นขึ้นสามครา ดังพระราชนิพนธ์มีว่า
“แล้วดับเทียนชัยโบกควัน     กระแจะจุณจันทน์เจิมหน้า
เจิมสองไหล่หลังแลอุรา       ด้ายขอตกลางมาผูกข้อมือ
เสร็จแล้วอำนวยอวยพร        เจริญสุขถาวรอย่าดึงดื้อ
ให้ทำดีมียศเลื่องฤๅ            ออกชื่อระบือนามสืบไป”

เรื่องของชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องประหลาดและพิสดาร ต่างก็เผชิญเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าอนาคตนั้นจะปรากฏออกมาในรูปใด ทำนองเดียวกันคงไม่มีใครคิดว่า เด็กชาวป่าที่มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นกันดารถึงดินแดนสุดภาคใต้แห่งพัทลุง เช่น ชีวิตของคนังจะพุ่งขึ้นอย่างรุ่งโรจน์ยากที่ชาวป่าชาวดอยคนใดจะมีโอกาสได้ทัดเทียมถึง โชคชะตาบันดาลให้เด็กชายเงาะป่ามามีชีวิตอันแสนสำราญและโอ่อ่าในราชสำนัก ได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจนตลอดสิ้นรัชกาลของพระองค์ อันเป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งยวด

คนัง ได้รับความรักใคร่จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วหน้า ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คนังได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษ ได้ติดตามเสด็จอย่างใกล้ชิดแทบทุกครั้งมิได้ขาด  ฐานะมหาดเล็กของคนังก็ได้ปฏิบัติห้าที่ราชการอย่างแคล่วคล่อง จดจำทุกสิ่งอย่างแม่นยำอันเป็นนิสัยดั้งเดิมของเงาะ เมื่อคนังเข้าใจภาษา ได้เรียนหนังสือไทยตลอดจนระเบียบประเพณีต่างๆ โดยพระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาถ ทรงอบรมสั่งสอนและเอ็นดูคนังอย่างยิ่ง ซึ่งคนังก็ได้เรียกพระนามท่านว่า “คุณแม่” และเรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “คุณพ่อ”


  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)ไปยังเจ้าพระยายมราช  เล่าถึงชีวิตของคนังอย่างละเอียด ไว้ดังนี้

“...เรื่องนี้ตรงกับอ้ายคนังเล่า เดี๋ยวนี้เข้าใจภาษามากขึ้น ไล่เลียงค่อยได้ความ ถามถึงเวลาที่จะเอามานั้นอย่างไร ให้การเชือนๆ ไปบ้าง เมื่อเวลาพูดถึงที่ใดที่เกี่ยวข้องแก่เรื่องที่จะมา คงได้รูปว่า เมื่อแม่ตายแล้ว ตัวอยู่กับพี่เที่ยวป่ากับอ้ายไม้ไผ่ ซึ่งเป็นเพื่อนเพื่อจะตัดกระบอก มีเสียงคนเอะอะไล่เข้าไปวิ่งหนีกันหกล้มหกลุก คืออ้ายยาง ซึ่งมันเรียกว่าอ้ายยังชวนให้มาดูโนราที่บ้านอ้ายยาง มันหายตกใจเลยมาดูโนรา อ้ายยางให้กินมะพร้าว แล้วมาหาวนอนๆ หลับ อ้ายยางอุ้มทั้งหลับส่งให้คุณพ่อหลวง (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) มันตื่นขึ้นถามอ้ายยาง ทำพรือ (อะไร) อ้ายยางบอกว่าเขาจะเอา เอาตัวไป เวลานั้นมันกำลังตกใจ ดิ้นรนเท่าไร เขาก็ไม่ปล่อย ได้ทำหอบรวนอะไรเต็มที่ เหมือนอย่างที่มาทำเมื่อจะเข้ามาอยู่ในวังแล้ว เขาเอาไปใส่คุกไว้หลายคนด้วยกัน ภายหลังคุณพ่อหลวงจึงรับไป ให้สนับเพลาให้นุ่ง

ข้อที่มันอยากพบพี่น้องเหล่านั้น อยากจะถามว่าเมื่อเขาจับมัน พากันไปอยู่ที่ไหนเท่านั้น พูดถึงอ้ายยางแสดงกิริยาไม่ชอบมาก ทั้งที่พูดว่าไม่ชอบใครไม่เป็น แต่สังเกตได้ จึงสันนิษฐานกันว่าไนยหนึ่งอ้ายยางจะตกลงกับพี่ แต่ไม่บอกให้อ้ายคนังรู้ แต่สังเกตดูข้อที่ย้ายที่ไป น่ากลัวจะเป็นด้วยเข็ด บางที่จะไม่บอกให้รู้ทีเดียว ก็เอาเป็นถูกต้องตามที่ได้ข่าวนี้ เรื่องที่จะเอารูปไว้แห่งใดนั้น อ้ายคนังได้คิดแล้วเหมือนกัน มันคิดถึงแปลนบ้านเก่า ว่าจะเอาไว้ในทับไม่ได้เปียกฝน จะต้องเอาไปไว้ซอกหินในถ้ำ ซึ่งเป็นที่เคยหลบฝน การที่แสดงกิริยาเศร้าโศกเวลาพูดถึงบ้านอย่างแต่ก่อนไม่มี ด้วยว่ารู้จักคนกว้าง ตั้งแต่เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ลงไปจนถึงผู้น้อย ทั้งข้างหน้าข้างใน เขาแสดงความเมตตาปรานีเล่นหัวได้ทั่วไป อยู่ข้างจะเพลิดเพลินมาก อดนอนก็ทน แลคุณสมบัติในส่วนตัวซึ่งได้สังเกตแต่แรกไม่มีเสื่อมทรามลงไป คือตาไว ความคิดเร็ว จงรักภักดีมาก กตัญญูมาก นับว่าเป็นเฟเวอริตของราชสำนักนี้ได้ ได้ถ่ายรูปแต่งตัวเป็นเจ้าเงาะละครสำหรับจะให้มันขายเองในงานวัดแล้วแบ่งเงินเป็นสามส่วน ๆ หนึ่งเป็นค่ากระดาษ ค่าน้ำยา ส่วนหนึ่งให้ทำบุญเข้าในงานวัด อีกส่วนหนึ่งจะเป็นทุนซึ่งคิดจะให้รวบรวมไว้ให้ เสียแต่อย่างไรๆ ก็ยังนับเงินไม่ถูกอยู่เช่นนั้นเอง หนังสือเห็นจะพอสอนง่ายกว่าเลข เลขนั้นดูเหมือนไม่มีกิฟสำหรับชาติของมันทีเดียว ได้ลองให้ขายของซ้อมกันอยู่หลายวัน ก็ยังรางๆ อยู่เช่นนั้น สาเหตุนั้นด้วยมันไม่รู้จักรักเงิน ยังไม่รู้เลยว่าเงินมีราคาอย่างไรจนเดี๋ยวนี้

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งนั้น ถ้าได้มาก็ดี ถ้าเด็กเสียทีเดียวดูเหมือนจะง่าย แต่นึกกลัวอยู่ว่า อ้ายพวกนี้จะเข็ดเสีย ขอให้คิดการให้ดี ถ้าจะไม่บอบช้ำตกอกตกใจจึงค่อยเอามา แต่การเลี้ยงนั้นเห็นจะไม่เป็นไร อ้ายคนัง ตั้งแต่มายังไม่ได้เจ็บเลย เจ้าสาย (พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาถ) นั้นหลงรักเหลือเกินทีเดียว เพราะมันไม่ไปเที่ยวข้างไหนเลย อยู่แต่บนเรือน ช่างประจบด้วยความรู้ประมาณตัวเองในสันดาน ทั้งที่ถือตัวว่าเป็นลูกก็พูดอยู่เสมอว่าลูกข้าไม่ได้ไว้ตัวเทียมเจ้านายลูกเธอ รักแลนับถือไม่เลือกว่าใคร ไว้ตัวของตัวเสมอหม่อมเจ้าไม่มีใครสั่งสอนเลย”

ความคิดถึงญาติพี่น้อง
แม้ว่าคนังจะได้รับความสุขสบายและหรูหราอยู่ในราชสำนัก ท่ามกลางเจ้านายชั้นสูงซึ่งทรงเอ็นดูและปราณีต่อคนัง  ความรักความอาลัยที่คนังมีต่อบ้านเกิดเมืองนอนนั้นย่อมจะต้องฝังแน่นอยู่อย่างไม่มีวันเสื่อมคลายตามวิสัยมนุษย์ชาติ  คนังคิดถึงพี่น้องทั้งหลายที่อยู่ในป่ากันดารเหล่านั้น เงาะเหล่านั้นจะโยกย้ายที่พักไปอยู่ ณ ไหน  เมื่อเขาได้รับความสุขและได้ถ่ายภาพรูปของตัวเองในท่าทางแปลกๆ ก็อยากจะส่งรูปของตัวเอาไปอวดแก่ญาติพี่น้องชาวเงาะด้วยกันให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้เขาโตขึ้น สมบูรณ์ขึ้น  ซึ่งเรื่องการส่งรูปคนังไปให้พวกที่อยู่ทางพัทลุงนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงรับมาเป็นพระธุระจัดการให้ โดยทรงมีพระราชหัตถ์เลขาส่งไปยัง เจ้าพระยายมราช พร้อมด้วยรูปคนัง “...ด้วยอ้ายคนังฝากรูปไปให้พี่น้อง ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ถ้ามีช่องทางที่ใครไปตรวจราชการถึงที่นั้น ขอให้นำส่งให้มันด้วย...”

รายได้จากรูป
ในงานออกร้านของวัดเบญจมบพิตร ฯ นับว่าเป็นงานที่มโหฬารอย่างยิ่ง เพราะมีผู้มาเที่ยวในงานอย่างคับคั่ง ได้มีการแสดงภาพและงานรื่นเริงต่างๆ ของเขาออกจำหน่ายเพื่อหารายได้บำรุงวัดในสมัยนั้น รายได้จากการขายรูปคนังได้เงินเป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ บาทเศษ รูปคนังขายดีขนาดเรียกได้ว่า อัดไม่ทันขาย อัดกันจนกระดาษหมดทีเดียว แต่ก็ยังมีผู้ต้องการอีก

พระราชหัตถ์เลขาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งมีถึงเจ้าพระยายมราช ได้กล่าวถึงเรื่องการจำหน่ายรูปคนังว่า “...บัดนี้ได้ส่งรูปอ้ายคนังที่ขายเมื่องานวัด (วัดเบญจมบพิตร ฯ) มีคนชอบมาก เดิมพิมพ์ขึ้นไว้แต่ ๒๓๐ เร่งกันให้พิมพ์ในเวลางาน กระดาษเหลือเท่าใดก็ได้พิมพ์อีกสัก ๓๐-๔๐ รูปขายไม่ทัน ยังหาซื้อกันอยู่จนเดี๋ยวนี้ อีกรูปหนึ่งนั้นได้ถ่ายในวันก่อนเริ่มงาน ด้วยนึกว่าฝรั่งจะไม่เข้าใจเรื่องเงาะ จึงได้ถ่ายรูปแต่งธรรมดาก็ถูกต้อง ฝรั่งชอบรูปนั้นมากกว่ารูปที่แต่งเป็นเงาะ ขายในเวลางานแผ่นละ ๓ บาท ได้เงิน ๑,๐๐๐ บาทเศษ แบ่งออกเป็นสามส่วนให้วัดส่วนหนึ่ง เป็นค่ากระดาษค่าน้ำยาส่วนหนึ่ง เป็นของอ้ายคนังส่วนหนึ่ง ได้เงินส่วนอ้ายคนังเกือบ ๔๐๐ บาท เดี๋ยวนี้สมบัติของอ้ายคนังมีกว่า ๔๐๐ บาทขึ้นแล้ว ถ้าอยู่ไปจนแก่เห็นจะมีเงิน เพราะมันไม่ได้ใช้...”


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 15:44:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 มีนาคม 2557 11:53:06 »

.


พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คนังได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เป็นที่รักใคร่เอ็นดูและอบรมสั่งสอนของ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระขุนสุทธาสินีนาฎ พร้อมด้วยพระกรุณาปราณีของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา และเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล  คนังเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “คุณพ่อ”  เรียกพระอรรคชายาเธอว่า “คุณแม่” และเรียกสมเด็จหญิงน้อย คือเจ้าฟ้านิภานภดลว่า “พี่”

ในประวัติการณ์ของชาวป่าในดงดิบ คงจะไม่มีใครมีโอกาสอันประเสริฐเทียบเทียมคนังได้ แม้ว่าชีวิตในบั้นปลายของเขาจะจบลงอย่างน่าเศร้าใจ ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตแล้ว

คนังได้รับการเลี้ยงดูอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะเป็นเด็กชาวป่าที่เคยชินต่อความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ แต่ต้องกลับมาดำรงความเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่งในเมืองหลวง คนังจึงต้องถูกดูแลเป็นอย่างดี โดยมีพี่เลี้ยงช่วยอาบน้ำ ป้อนข้าว และแต่งเนื้อแต่งตัวถึง ๒ คน  แต่อาหารที่คนังกินนั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนไปจากธรรมชาติของเผ่าพันธุ์ได้ นั่นคือ คนังกินข้าวกับกล้วยไข่ ชอบผลไม้เป็นพื้น

คนัง จะแต่งกายด้วยสีแดงในชุดมหาดเล็กพิเศษ ติดตามพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แม้เรือนร่างจะดำสนิทแต่คนังก็มีนิสัยร่าเริง ยิ้มเห็นฟันขาว และรู้จักมักคุ้นกับเจ้านายเกือบทุกพระองค์ รวมทั้งเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมทั้งหลาย

บางครั้ง คนังก็จะรับกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงออกไปตามผู้ที่พระองค์ต้องพระประสงค์จะพบ แต่ด้วยนิสัยของเด็กรุ่นๆ ซึ่งซุกซนเป็นธรรมดานั้น คนังจะตะโดดโลดเต้น บางครั้งก็ร้องตะโกนไปยังตำหนักของเจ้าจอมเอิบ พร้อมกับตะโกนก้อง “คุณพ่อ รับสั่งให้หา...”   คนังใช้คำแทนตัวเองว่า ”อ้ายนี่” หมายความว่าเมื่อเวลาพูดกับใคร คนังก็จะชี้ที่ตัวเอง ถ้าใครส่งของให้ถ้าคนังไม่ชอบก็จะโบกมือส่ายหน้า “อ้ายนี่ไม่เอา”



จากป่าสู่กรุง
คนังจากป่าดงพงพีเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี ร่างกายขณะที่เพิ่งพ้นจากดงดิบมานั้น ผอมเกร็ง มีสุขภาพไม่ต่างอะไรกับพวกเงาะหรือ “ก็อย” ส่วนมากที่เป็นกันอยู่ คือ พุงโร มีริ้วรอยของฝีที่ปรากฏเป็นแผลปรุพรุนไปตามหน้าตาและเนื้อตัวเช่นเดียวกับชนเผ่าน้อยที่ห่างไกลอาระธรรมทั่วๆ ไป  โลกใหม่ของคนังได้ขัดสีฉวีวรรณของคนังให้สะอาดสะอ้านขึ้น แต่ธาตุแท้ในกายของคนังนั้นไม่สามารถจะเปลี่ยนใหม่ตามสภาพของชีวิตใหม่ได้อย่างหมดจด คนังไม่สามารถใช้ภาษาและท่วงทีให้ราบเรียบและอ่อนโยน

ชีวิตในราชสำนัก
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ทรงสั่งสอนให้คนังรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมในราชสำนัก ภายหลังที่คนังรู้จักพูด รู้จักภาษาไทยดีขึ้นแล้ว ถึงอย่างไรคนังก็ไม่สามารถจะพูดจาให้นุ่มนวลได้หากแต่ก็ฉลาดเฉลียว จำแม่น และทำตนให้เป็นที่รักใคร่ของเจ้านายภายในราชสำนัก

เรื่องคนังนี้ ข้าพเจ้า (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ผู้เขียนบทความ) ได้รายละเอียดจากเจ้าจอมมารดาอ่อน ในรัชกาลที่ ๕ ในการเรียนถามเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ นี้ ณ วังสวนปาริจฉัตถ์ ซึ่งเรื่องราวบางเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยปรากฏในข้อเขียนหรือบันทึกจากที่ใดมาเลย

ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนเล่าต่อไปว่า


    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดการถ่ายภาพในการเสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ จึงมีการบันทึกภาพไว้ทุกแห่ง คนังก็ได้แต่งในชุดมหาดเล็กสีแดงเข้ม อันเป็นสีที่ต้องใจของคนังอย่างที่สุด และในชุดเจ้าเงาะซึ่งเป็นชุดที่เข้ากับเรื่องในบท เพราะเป็นเจ้าเงาะที่ไม่ต้องสรวมหัวโขน หากแต่การที่เจ้าเงาะไม่สามารถถอดรูปเงาะกลับเป็นสังข์ทองนี่เอง ได้ทำให้ชีวิตของเจ้าเงาะ “คนัง” ซึ่งควรจะพบชีวิตอันผาสุกในบั้นปลายเหมือนพระสังข์ กลับต้องเผชิญกับความบอบช้ำเพราะ “รจนา” ในชีวิตของคนังไม่เสี่ยงพวงมาลัยมาให้ ด้วยมองไม่เห็นรูปทองข้างใน หากแต่เป็นความเกลียดชังและหยามเหยียด และเจ้าเงาะที่เคยมีชีวิตโอ่อ่าในราชสำนักครั้งหนึ่ง จึงต้องพบจุดจบด้วยความปวดร้าวทั้งกายและใจ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดการถ่ายภาพอยู่แล้ว การล้างและพิมพ์รูปได้อัดและขยายภาพในพระราชสำนักทั้งสิ้น โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ซึ่งมีความชำนาญ ทรงจัดการกระทำถวายตามพระราชประสงค์และทรงรักษากระจกหรือฟิล์มพร้อมกับกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ

รูปถ่ายของคนังในชุดต่างๆ ที่แต่งเต็มยศตามเสด็จและแต่งเจ้าเงาะเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงรับสั่งให้จัดการอัดรูปคนังออกทำการจำหน่ายเป็นราคารูปละ ๑๐ บาท ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารได้ซื้อกันอย่างที่เรียกว่าขายดีทีเดียว เงินที่ได้ทั้งหมดจากการขายรูปคนังนี้ นับว่าเป็นจำนวนก้อนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าให้นำไปบำรุงการกุศล โดยมอบให้ไปในการทำนุบำรุงวัดวาอาราม

คนังได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีที่สุด เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลสูงๆ คนังจะปรากฏตัวตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกแห่ง และคนังก็สามารถจะใช้ถ้อยคำได้อย่างถูกต้อง แม้การใช้ราชาศัพท์เมื่อพูดจากับเจ้านาย

ในเวลาต่อมา เมื่อคนังเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ขึ้นจากมหาดเล็กพิเศษ คนังมีหน้าที่เป็นมหาดเล็กเวรเฝ้าเช่นมหาดเล็กรับใช้ที่กองทหารมหาดเล็ก ได้จัดขึ้นสำหรับรับใช้ใกล้ชิดและคัดเลือกเฉพาะผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น

คนังได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๔๐ บาท ในสมัยนั้นเงินเดือนในอัตรานี้ก็ข้างจะสูงเอาการอยู่มาก และคนังก็ไม่มีความจำเป็นอะไรในเรื่องการใช้จ่ายเงินที่ได้รับพระราชทานก็ได้ฝากไว้กับ “คุณแม่” พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ  

ด้วยนิสัยที่รักสีแดงเหมือนชีวิตจิตใจ การแต่งในชุดมหาดเล็กสีแดงแจ๊ดจึงถูกอกถูกใจคนังยิ่งนัก และแม้กาน้ำส่วนตัวของคนังก็จะต้องมีการผูกผ้าสีแดงไว้เป็นสัญลักษณ์

แต่เมื่อรุ่นหนุ่มขึ้นมาจนอายุเข้าเขต ๑๔ ปีแล้ว ตามกฎภายในพระราชวัง คนังจะต้องออกไปพำนักอยู่ภายนอกพระราชวังเหมือนกับชายอื่นๆ ทุกคนที่เลี้ยงมาภายในพระราชวัง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฝากฝังการเลี้ยงดูคนัง เมื่อต้องออกไปอยู่ภายนอกพระราชสำนักต่อพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ


คนัง ถูกลงพระราชอาญา
เมื่อออกไปอยู่นอกวังแล้ว คนังก็ยังคงมีตำแหน่งมหาดเล็กเวรเฝ้าอยู่เป็นประจำเช่นเดิม แต่โลกอิสระภายนอกเมื่อคนังหนุ่มขึ้นมาแล้วเช่นนี้ เริ่มเปลี่ยนจิตใจของคนังให้คึกคักขึ้น ยามเมื่อออกท่องเที่ยวไปตามสถานบำเรอรมย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้น ว่าถึงฐานะการเงิน คนังก็มีเงินจับจ่ายใช้สอยขนาดขุนน้ำขุนนางที่มีชื่อกับเขาคนหนึ่งเหมือนกัน เมื่อมีชีวิตอิสระเช่นนั้นโดยปราศจากการควบคุมเหมือนมีชีวิตในวัง คนังจึงใจแตกคบเพื่อนและเริ่มรู้จักรักผู้หญิงขึ้นมาในระยะนี้เอง

เหตุร้ายเกิดขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อคนังทิ้งเวรเฝ้า เพราะเที่ยวจนเพลินกระทั่งลืมหน้าที่อันสำคัญของตน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้วมากในความเหลวไหลของคนัง ครั้งนี้แม้ว่าจะทรงรักใคร่คนังด้วยความรักอย่างยิ่ง และคนังก็คงเรียกพระองค์ว่า “คุณพ่อ” ตลอดมา แต่ความผิดครั้งนี้ เงาะคนังจะมิได้รับการอภัย เพราะได้รับการศึกษาอย่างดีแล้ว อบรมอย่างวิเศษที่สุดแล้ว การละทิ้งหน้าที่นี้ คนังจึงต้องถูกลงพระอาญาต่อหน้าข้าราชบริพารทั้งหลาย โดยให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฆี่ยนคนังต่อหน้าพระที่นั่งเป็นการสั่งสอนมิให้กระทำความผิดขึ้นอีก

ชีวิตของคนังเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ต่ำลง ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตแล้ว

คนังท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ เวียนแวะะไปตามวังเจ้านายที่เคยรู้จัก เช่นวังพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ บางทีก็บ้านของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งคนังก็ได้รับความกรุณาเป็นอย่างดี แต่หลายคนที่เคยรู้จักมาก่อนนั้นคนังออกจะเตร็ดเตร่จัดขึ้น และในระยะต่อมาของบั้นปลาย คนังมีเรื่องวุ่นวายเกี่ยวกับผู้หญิงหนักมือขึ้น จนกระทั่งพาชีวิตคนังไปสู่อวสานขณะที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์


เจ้าเงาะ-พวงมาลัย-และเสี่ยงตาย
ปัญหาในเรื่องการตายของคนังนั้นมิได้ประจักษ์ชัดลงไปทีเดียว เพราะคนังใช้ชีวิตหนุ่มของเขาไปในหมู่ผู้หญิงเสเพล จนกระทั่งโรคร้ายได้ทำให้คนังต้องพบกับมรณกรรมจากโรคร้ายที่ติดตัวมา แต่ข้าพเจ้า (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์) ได้รับการยืนยันจากผู้ที่ทราบรายละเอียดในบั้นปลายของชีวิตเจ้าเงาะผู้อาภัพนี้ดีว่า คนังตายเพราะเขาปีนป่ายหน้าต่างเพื่อขึ้นรับพวงมาลัยจากหญิงสาวคนหนึ่ง...ซึ่งเป็น “รจนา” ในชีวิตจริงของคนัง

อันการที่คนเราจะเดาสุ่มปืนหน้าต่างไปหาใครคนหนึ่งในยามวิกาล โดยมิได้มีการนัดหมายกันไว้ก่อนนั้นก็ค่อนข้างจะบ้าเต็มที แต่ถ้าเกิดมีตาคู่ที่สามมาเห็นเข้า เรื่องมันก็อาจกลายเป็นขโมยไป และคนังก็คงจะถูกเข้าใจผิดในทำนองนั้น เขาจึงถูกไม้พลองกระบองสั้นรุมประเคนเสียจนบอบช้ำและเตลิดหนีกลับไปอย่างอีบัดอีโรย

แต่เพราะเจ้าเงาะคนังไม่อาจถอดรูปเงาะออกเพื่อให้เห็นเป็นรูปทองข้างในอย่างพระสังข์นั่นแหละ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้วิจารณ์กันต่อมา แม่สาวลูกครึ่งคนนั้นอาจไม่ไยดีที่จะโยนพวงมาลัยให้เจ้าเงาะแท้ๆ คนนี้ จึงได้เอะอะโวยวายขึ้นมาในกลางดึก ทำให้คนังต้องหงายหลังกลับจากแม่สาวรักอย่างชอกช้ำยับเยินทั้งกายและใจ

คนังช้ำตาย คนังช้ำทั้งกายและใจ เพราะผู้หญิง ใครจะว่าเขาตายเพราะโรคผู้หญิงก็คงไม่ผิด ความตายเขาเกิดจากผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงคนนั้นจะเป็นโรคหรือมีโรคหรือเปล่าก็สุดจะเข้าใจได้ แต่ผู้หญิงก็ทำให้เขาตายอย่างทรมาน

คนังลูกเงาะป่าจากดงดิบพัทลุง ได้กลายเป็นมหาดเล็กพิเศษในราชสำนัก ซึ่ง ร.๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าด้วยสบพระราชอัธยาศัย เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว ชีวิตของคนังก็เปลี่ยนสภาพเป็นอับเฉาเศร้าหมอง ตราบกระทั่งสิ้นชีวิต


บทความสรุป จาก คนังมหาดเล็กพิเศษ  หนังสืออนุสรณ์แห่งอดีต โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์  วังสวนปาริจฉัตก์ สามเสน ถนนนครราชสีมา ดุสิต กทม.

จบบริบูรณ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 15:41:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.984 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 08:03:05