[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 03:11:51 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อับดุล คาริม จากข้ารับใช้ สู่ “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย จวบจนวาระสุดท้าย  (อ่าน 58 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2322


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0 Chrome 124.0.0.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 20 เมษายน 2567 13:26:50 »


สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และอับดุล คาริม
(ภาพ : https://rarehistoricalphotos.com/queen-victoria-abdul-karim-photos/)


อับดุล คาริม จากข้ารับใช้ สู่ “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

ผู้เขียน - สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนํรรม วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567


อับดุล คาริม ชาวอินเดีย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็น “ข้ารับใช้” สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วเป็น “มุนชี” หรือพระอาจารย์ เป็นราชเลขาธิการในพระองค์ ทั้งยังเป็น “มิตรแท้” คู่พระทัย “ราชินีวิกตอเรีย” ถึง 14 ปี จวบจนลมหายใจสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

แต่ทำไมราชวงศ์อังกฤษถึงลบชื่อเขาออกจากประวัติศาสตร์ ราวกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน?


จากดินแดนอาณานิคม สู่ “ใจกลาง” จักรวรรดิอังกฤษ

โมฮัมเหม็ด อับดุล คาริม (Mohammed Abdul Karim) เป็นชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม เกิดเมื่อ ค.ศ.1863 ในยุคที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้วเรียบร้อย คาริมในวัยหนุ่มทำงานเป็นเสมียนในเรือนจำกลางเมืองอัครา รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งนักโทษที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการทอพรมผืนงาม

ปี 1886 เรือนจำได้นำนักโทษและผลงานการทอพรมไปจัดแสดงที่เซาธ์ เคนซิงตัน ในอังกฤษ แม้คาริมจะไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ได้ช่วย จอห์น ไทเลอร์ (John Tylor) ผู้อำนวยการเรือนจำ จัดการการเดินทาง และยังช่วยเลือกของที่จะนำไปทูลเกล้าฯ เป็นของขวัญถวายแด่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งทรงเป็น “จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย” ด้วยอีกตำแหน่ง

ราชินีวิกตอเรีย ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดีย แต่ทรงสนพระทัยดินแดนตะวันออกแห่งนี้ จึงทรงมีรับสั่งให้ไทเลอร์จัดหาชาวอินเดีย 2 คน มาเป็นข้ารับใช้ใน “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” เฉลิมฉลองที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปี 1887

อับดุล คาริม และโมฮัมเหม็ด เบิกช์ (Mohammed Buksh) คือผู้ได้รับการคัดเลือก และการเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนครั้งนี้เอง ที่นำคาริมเข้าสู่แวดวงราชวงศ์อังกฤษแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ทั้งคู่เดินทางมาถึงอังกฤษในเดือนมิถุนายน ปี 1887 และหลังจากพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นวันที่ 20-21 มิถุนายน ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อย คาริมและเบิกช์ก็มาเป็นข้ารับใช้ในราชินีวิกตอเรีย

ชราบานี บาซู (Shrabani Basu) นักข่าวที่ค้นพบเรื่องราวของคาริม ระหว่างเข้าชมตำหนักออสบอร์น (Osborne House) ที่ไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight) ในปี 2003 นำสู่การค้นหาเบาะแสที่ร่วงหล่น รื้อฟื้นหลักฐานต่างๆ ขึ้นมา แล้วถ่ายทอดเป็นหนังสือ “Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant” บอกเล่าจุดเริ่มต้นมิตรภาพระหว่างราชินีวิกตอเรียกับคาริมว่า

หลังพระราชพิธีกาญจนาภิเษกไม่นานนัก ราชินีซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 68 พรรษา เสด็จไปประทับ ณ ตำหนักออสบอร์น ซึ่งเป็นตำหนักฤดูร้อน ที่นี่คาริมวัย 24 ปี สร้างความประทับใจแก่ราชินีวิกตอเรีย ด้วยการปรุงแกงกะหรี่ไก่กับดาลและข้าวพิลาฟถวายพระองค์ ซึ่งโปรดอย่างยิ่ง

ความที่พระองค์ทรงสนพระทัยวัฒนธรรมอินเดีย จึงทรงให้คาริมสอนภาษาอูรดู เพื่อจะได้สื่อสารกับเขาได้ รวมทั้งทรงสอบถามเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนในอินเดียจากคาริมด้วย




อับดุล คาริม “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย

“เขาคุยกับพระองค์ในแบบเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่แบบข้าราชบริพารกับราชินี ในขณะที่ทุกคนรวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดารักษาระยะห่างกับพระองค์ แต่ชายหนุ่มชาวอินเดียผู้นี้กลับใสบริสุทธิ์ เขาเล่าให้พระองค์ฟังเกี่ยวกับอินเดีย ครอบครัวของเขา และรับฟังเมื่อราชินีทรงเล่าถึงครอบครัวของพระองค์” บาซู บอกถึงเหตุผลที่ทำให้คาริมเป็นคนโปรดของราชินีแห่งอังกฤษอย่างรวดเร็ว

จากข้ารับใช้ ในระยะเวลาไม่นานนักคาริมก็เลื่อนขั้นเป็น “มุนชี” (Munchi) หรืออาจารย์ จากนั้นก็เป็นเสมียน ให้คำแนะนำเรื่องเกี่ยวกับอินเดียถวายราชินีวิกตอเรีย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 12 ปอนด์ ก่อนจะเลื่อนขั้นขึ้นไปอีกเป็นราชเลขาธิการในปี 1888

ราชินีวิกตอเรีย โปรดให้ “มุนชี” ตามเสด็จไปยังหลายประเทศในยุโรป พระราชทานเกียรติยศมากมาย ทรงให้คาริมพำนักที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ (Frogmore Cottage) ภายในเขตพระราชฐานพระราชวังวินด์เซอร์ พระราชทานรถม้าส่วนตัว และโปรดให้คาริมกลับเมืองอัครา เพื่อพาภรรยามาพำนักที่อังกฤษกับเขา

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงรับสั่งให้จิตรกรฝีมือดีวาดภาพของคาริมไว้ประดับตกแต่งอีกด้วย เช่น ปี 1887 ทรงให้ ลอริตส์ เรกเนอร์ ทูเซ็น (Laurits Regner Tuxen) จิตรกรชาวเดนมาร์ก วาดภาพคาริมเต็มตัวในรูปแบบสีน้ำมัน

ปี 1888 ทรงให้ รูดอล์ฟ สโวโบดา (Rudolph Swoboda) จิตรกรชาวออสเตรีย วาดภาพสีน้ำของคาริมครึ่งตัวในเครื่องแต่งกายแบบอินเดีย จากนั้น ปี 1890 รับสั่งให้ ไฮน์ริช ฟอน แองเจลี (Heinrich von Angeli) จิตรกรวาดภาพเหมือนชาวออสเตรีย วาดภาพคาริมครึ่งตัวในรูปแบบสีน้ำมันขึ้นมาอีกภาพ

ในจดหมายที่ราชินีวิกตอเรียทรงมีถึงจักรพรรดินีเฟรเดอริก พระราชธิดาองค์โตของพระองค์ ระบุว่า “เขา (จิตรกร) ไม่เคยวาดภาพชาวตะวันออกคนใดมาก่อนเลย และถึงกับตื่นตะลึงเมื่อได้เห็นใบหน้าอันหล่อเหลาของเขา… ฉันคาดว่าต้องออกมาดีมากๆ เป็นแน่”

เมื่อแองเจลีวาดภาพเสร็จ ตอนแรกพระราชินีไม่ทรงชอบ เพราะคิดว่าภาพดูมืดเกินไป แต่ต่อมาภาพวาดคาริมฝีมือแองเจลีก็ไปประดับอยู่ที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ




ภาพวาดอับดุล คาริม โดย แองเจลี
(ภาพ : https://www.rct.uk/collection/406915/the-munshi-abdul-karim-1863-1909)

มิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษกับชายหนุ่มชาวอินเดีย ยังปรากฏผ่านจดหมายที่ราชินีวิกตอเรียทรงมีถึงคาริม ทรงลงท้ายจดหมายว่า “แม่ที่รักของเธอ” หรือไม่ก็ “เพื่อนสนิทที่สุดของเธอ” และบางฉบับก็มีรอยประทับจุมพิตปรากฏอยู่ด้วย

“บางโอกาส พระองค์ถึงขั้นประทับรอยจุมพิตลงในท้ายจดหมาย ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นการกระทำที่ไม่ธรรมดาอย่างมาก” บาซู บอกกับ BBC และบอกด้วยว่า เธอคิดว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ คือเป็นความสัมพันธ์แม่-ลูก ที่ผูกระหว่างความเป็นชายหนุ่มชาวอินเดียกับผู้หญิงที่ขณะนั้นมีอายุ 60 กว่าปีเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มิตรภาพระหว่างราชินีวิกตอเรียกับคาริม สร้างความไม่พอใจ (และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นอิจฉาริษยา) ให้ข้าราชบริพารในราชสำนักที่แวดล้อมสมเด็จพระราชินี ไม่ว่าจะเป็นการพระราชทานเหรียญตราเกียรติยศ การจัดให้คาริมร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับพวกเขา ที่ถือว่าเป็น “ชนชั้นสูง” และถือว่าชาวอินเดียเป็นพวกคนป่าเถื่อน ไม่มีอารยะ ทว่าพวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้นได้

ปลายทศวรรษ 1890 ราชินีวิกตอเรียทรงมีพระพลานามัยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ทรงมีพระราชประสงค์ให้คาริมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมไว้อาลัย ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์และพระสหายกลุ่มเล็กๆ ของพระองค์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้ทรงดำรงตำแหน่ง “จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย” สวรรคตเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 1901 พระชนมพรรษา 81 พรรษา

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (Price Edward) รัชทายาท ที่ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คาริมเข้าเคารพและดูพระบรมศพเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดหีบพระบรมศพ

แต่หลังจากนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 รับสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ ที่คาริมและครอบครัวพำนัก ทรงให้นำจดหมายที่พระราชมารดาของพระองค์เขียนติดต่อกับคาริมออกมาเผาทิ้งทุกฉบับ และทรงมีพระราชบัญชาให้คาริมและครอบครัวเดินทางกลับอินเดียทันที ส่วน เจ้าหญิงเบียทริซ (Princess Beatrice) พระราชธิดาในราชินีวิกตอเรีย ก็รับสั่งให้ทำลายหลักฐานที่พระราชมารดาทรงบันทึกถึงคาริมให้สิ้นซาก

อับดุล คาริม ใช้ชีวิตอย่างสงบที่ คาริม ลอดจ์ เมืองอัครา บนที่ดินที่ราชินีวิกตอเรียพระราชทานให้ เขาได้รับเงินบำนาญจากอังกฤษ และจากไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน ปี 1909 ขณะอายุ 46 ปี เรื่องราวของเขาและราชินีแห่งอังกฤษถูกนำมาเล่าขานผ่านหนังสือ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง Victoria & Abdul (2017) ปลุกประวัติศาสตร์ยุคนั้นขึ้นมาอีกครั้ง



ภาพวาดอับดุล คาริม
โดย ลอริตส์ เรกเนอร์ ทูเซ็น
(Wikimedia Commons)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 เมษายน 2567 13:39:22 โดย ใบบุญ » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.365 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 เมษายน 2567 23:09:38