[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 16:39:12 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์  (อ่าน 26496 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2556 15:48:46 »

.
หัวข้อนี้ คัดจาก : หนังสือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์
รวบรวมและเรียบเรียง โดย อาจารย์จำนง  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตยสถาน
ท่านได้รับทุนจากมูลนิธิอาเซีย ให้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale) สหรัฐอเมริกา
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ในสาขาวิชาปรัชญาและวิชาที่ืเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์

จิตตภาวันวิทยาลัย มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๔


http://www.sookjaipic.com/images/4468481838__3585_3636_3617_.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์
http://www.sookjaipic.com/images/3877483221_DSC_0686.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์


พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์
โดย อาจารย์จำนง  ทองประเสริฐ

ก่อนที่จะได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์ ควรที่เราจะได้ทราบถึงความหมายแห่งคำว่า “เอเชียอาคเนย์” (South-East-Asia) เสียก่อนว่ามีความหมายแค่ไหนเพียงใด
คำว่า “เอเชียอาคเนย์” นั้น ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา  คำว่า “เอเชียอาคเนย์” หาได้หมายรวมถึงพื้นที่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่  แต่เป็นอาณาบริเวณที่มีวัฒนธรรมในสังคมคล้ายคลึงกัน และมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองหลายอย่างทั้งในอดีตและในปัจจุบันคล้ายคลึงกันเท่านั้น

ในด้านภูมิศาสตร์  ศาสตราจารย์ เบรียน แฮร์ริสัน (Brian Harrison) ได้เขียนไว้ในหนังสือ South-East-Asia, A Short History ว่า “เอเชียอาคเนย์” เป็นดินแดนที่ระกอบด้วยกลุ่มประเทศทางด้านภูมิศาสตร์ ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน กลุ่มหนึ่งเป็น อาณาบริเวณบนผืนแผ่นดินใหญ่ หรือ ซึ่งเรียกกันว่า แหลมอินโดจีน  มีประเทศพม่า ไทย อินโดจีน (ลาว กัมพูชา เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้)  และมลายู  อีกกลุ่มหนึ่ง คือ หมู่เกาะซึ่งแผ่จากเกาะสุมาตราไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงฟิลิปปินส์  “เอเชียอาคเนย์” ทั้งที่เป็นอาณาบริเวณบนผืนแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะได้ก่อตัวขึ้นเป็นเสมือนกำแพงมหึมา ซึ่งมีประตูเล็กๆ ๒-๓ ประตู ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย “เอเชียอาคเนย์” จึงเป็นเสมือนบันไดหินที่ทอดเป็นขั้นๆ จากทวีปเอเชียไปยังทวีปออสเตรเลีย

อาณาเขตทางทิศเหนือ  ของเอเชียอาคเนย์ มีเทือกเขาเป็นแดนกั้นระหว่างแหลมอินโดจีนกับผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย  ทางด้านสุดของทิศอาคเนย์ ซึ่งมีเกาะเล็กเกาะน้อยทอดไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย นั้น หาได้มีเขตกำหนดแน่นอนอะไรไม่ แต่เราก็พอกำหนดเขตได้คร่าวๆ ว่า  อยู่ระหว่างหมู่เกาะโมลุกกะ (Moluccas) กับนิวกินี (New Guinea) ซึ่งเป็นของอินโดนีเซียและออสเตรเลีย อนึ่งหมู่เกาะทางทิศตะวันตก คือ สุมาตรา ชวา บาหลี บอร์เนียว และเกาะอื่นๆ อยู่ทางทิศตะวันตกของช่องแคบมากัสซัส (Macassas) และช่องแคบลอมบอก (Lombok)  เป็นหมู่เกาะที่เกิดอยู่ในทะเลตื้นๆ เข้าใจว่าเดิมคงจะเป็นดินแดนที่ติดต่อเป็นผืนแผ่นดินเดียวกับผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย หมู่เกาะระหว่างนิวกินีกับหมู่เกาะที่กล่าวนามมาแล้ว (คือ สุมาตรา ชวา บาหลี บอร์เนียว) ได้แก่หมู่เกาะ ซุนดาน้อย (Lesser Sundas) คือตั้งแต่เกาะลอมบอก ทางทิศตะวันออกไปจนถึงเกาะติมอร์ เกาะเซลีเบส และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก็รวมอยู่ในเอเชียอาคเนย์ด้วย

สำหรับความเห็นในด้านภูมิศาสตร์ ตามที่ศาสตราจารย์เบรียน แฮร์ริสัน (Brian Harrison) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ South-East-Asia นั้น เป็นทัศนะที่ยอมรับกันทั่วๆ ไป เช่นในหนังสือ The Pattern of Asia ซึ่งนอร์ตัน กินสเบิร์ก (Norton Ginsburg)  เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ Southeast Asia and the World Today ของ ศาสตราจารย์ เคลาด์ เอ. บุส (Claude A. Buss) และหนังสือ The Diplomacy of Southeast Asia 1945-1958 ของ ศาสตราจารย์ รัสเซล เอช. ไฟฟิลด์ (Russell H.Fifield) เป็นต้น  แต่หนังสือ A History of South East Asia ของ ศาสตราจารย์ (D.G.E Hall) หาได้รวมฟิลิปปินส์ไว้ในดินแดนที่เรียกว่า “เอเชียอาคเนย์” ไม่ โดยให้เหตุผลว่า ฟิลิปปินส์ อยู่นอกขอบเขตแห่งสายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ประชาชนส่วนใหญ่ ใน “เอเชียอาคเนย์” เป็นพวกมองโกล ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภายนอก คือ อินเดียและจีนมากว่าสองพันปีแล้ว และในระยะหลังๆ ได้รับอิทธิพลทางศาสนา และวัฒนธรรมจากตะวันตก คือ จากยุโรปและอเมริกาด้วย ดินแดนส่วนนี้ได้เคยเป็น และยังเป็นศูนย์รวมแห่งพาณิชยกรรม วัฒนธรรม และอารยธรรมต่างๆ ของโลกอีกด้วย ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และคริสต์ศาสนา ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้พร้อมๆ กับการค้าขาย ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในแถบนี้ ก็นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ส่วนชาวไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และชาวจีนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ พวกอินเดียนับถือศาสนาฮินดู และชาวฟิลิปปินส์ประมาณ ๙๕% นับถือคริสต์ศาสนา

สำหรับในด้านการศึกษา ว่าด้วยความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์นี้ จะดำเนินไปในขอบเขตแห่งประวัติศาสตร์พุทธศาสนา โดยเฉพาะเท่านั้น และจะได้ศึกษากันเป็นประเทศๆ ไป โดยจะเริ่มจาก “ประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอินเดียและลังกา” โดยย่อๆ ก่อน


http://www.thaigoodview.com/files/u1346/Buddha_Image-p_23-1.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์


พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธศาสนาได้เจริญถึงขีดสุด เพราะปรากฏว่ามีประชาชนทั่วชมพูทวีป ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นมคธ โกศล และกาสี  ซึ่งเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ก็มีผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร พระพุทธศาสนาสามารถหยั่งรากลงสู่จิตใจประชากรในดินแดนต่างๆ เหล่านี้อย่างมั่นคง ลาภสักการะได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาอย่างจะหาประมาณไม่ได้  ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพมีอยู่มากมาย จึงทำให้การประกาศพระพุทธศาสนาดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง แม้เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วใหม่ๆ พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกนาน ศาสนาอื่นๆ แม้จะมีอยู่มากมายหลายศาสนาด้วยกัน เช่น ศาสนาเชน ศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น แต่ศาสนาเหล่านี้ยังหามีอิทธิพลเหนือศาสนาพุทธไม่

เมื่อกาลเวลาผ่านไป หลังจากพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี ก็เกิดมีภิกษุชาววัชชีได้เกิดมีความคิดเห็นวิปริตผิดแผกไป โดยบัญญัติวัตถุ ๑๐ ประการขึ้น โดยอ้างว่าไม่เป็นการผิดพระวินัยบัญญัติ อันเป็นเหตุให้เกิดทุติยสังคายนาขึ้น  ข้อนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาต้องเสื่อมลงเหมือนกัน และเป็นความเสื่อมที่เกิดจากภายในสังฆมณฑลเอง

พระพุทธศาสนาได้มาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ  ประมาณ พ.ศ. ๒๗๙ เป็นต้น  มาจนกระทั่งได้มีการสังคายนาพระพุทธวจนะขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร และพระเจ้าอโศกมหาราชยังได้ส่งพระมหาเถระผู้ทรงความรู้ออกประกาศพระศาสนาไปยังต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ไปทั่วทุกมุมโลก

แต่โดยเหตุที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นในประเทศอินเดีย และอินเดียเวลานั้นก็เต็มไปด้วยศาสนาและลัทธิต่างๆ มากมาย ในสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญ  ศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาเชน ฯลฯ ก็มิได้ถูกทำลาย ยังคงสภาพเดิมอยู่ เพียงแต่ว่ามีคนหันมาสนใจในพระพุทธศาสนามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพราหมณ์ มีผู้นับถือมากมายยิ่งกว่าศาสนาพุทธเสียอีก เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นองค์ศาสนูปถัมภกสวรรคตแล้ว พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะองค์ต่อๆ มา บางองค์ก็นับถือพระพุทธศาสนา บางองค์ก็นับถือศาสนาพราหมณ์ ทำให้พระพุทธศาสนาไม่ได้รับการทะนุบำรุงส่งเสริมเท่าที่ควร ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นไปตามธรรมชาติ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าค่อยๆ เลือนหายไปและเปลี่ยนสภาพไปเป็นอื่น  อินเดียมีอะไรๆ ที่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนริบเอามา แล้วกลืนหายกลายเป็นของตนไป พระพุทธศาสนาไม่ใช่เพียงแต่จะเกิดในอินเดียเท่านั้น แต่คำสอนในพระพุทธศาสนายังอยู่ในแนวเดียวกับแนวคิดเดิมของอินเดีย รวมทั้งปรัชญาในคัมภีร์อุปนิษัทด้วย  ในคัมภีร์อุปนิษัทก็ติเตียนวิชาไสยศาสตร์ และติเตียนการแบ่งชั้นวรรณะไว้มาก  ฉะนั้น ศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ ยิ่งปะทะกันมากเท่าไร ก็ยิ่งใกล้กันมากขึ้นเท่านั้น อันจะเป็นเหตุทำให้เกิดลัทธิมหายานขึ้นในโอกาสต่อมา  ยิ่งลัทธิมหายานแผ่กว้างขยายออกไปเท่าใด คุณค่าของพระพุทธศาสนาเดิมก็ลดน้อยลงเท่านั้น วัดเลยกลายเป็นสถานที่สะสมทรัพย์สมบัติ ทำให้พระรุ่มรวยไปตามๆ กัน ของขลังเครื่องรางกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์อันควรเคารพกราบไหว้

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ กษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะของอินเดีย ได้ฟื้นฟูศาสนาพราหมณ์เป็นการใหญ่  โดยพระเจ้าพาลาทิตยคุปต์ ได้ทรงสถาปนาเมืองพาราณสีขึ้นเป็นราชธานี แล้วยกย่องศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาประจำรัฐ ทรงสร้างโบสถ์พราหมณ์ทั่วเมืองพาราณสี แม้จะไม่ได้รังแกพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาก็มิได้รับการสนใจ ศาสนาพราหมณ์กลับเป็นใหญ่ และมีอิทธิพลมากขึ้นทุกที แต่ตอนปลายสมัยราชวงศ์คุปตะ อินเดียต้องทำสงครามกับพวกฮั่นเป็นนิจ เลยไม่ได้เอาใจใส่ในด้านศาสนามากนัก ทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธต่างก็ค่อยๆ เสื่อมลงและกลมกลืนเข้ากันหมด จนไม่สามารถแยกออกว่าไหนเป็นพราหมณ์ ไหนเป็นพุทธ ถ้าพราหมณ์กลืนพุทธอย่างเขาว่าจริง ก็แสดงว่าพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลมาก จึงสามารถเปลี่ยนศาสนาพราหมณ์ให้ผิดแผกไปจากเดิมมากมาย แต่ถ้าหากพุทธศาสนากลืนศาสนาพราหมณ์ ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่า ศาสนาพราหมณ์ก็มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้พระพุทธศาสนาผันแปรไปได้มากทีเดียว

บุคคลสำคัญที่พอกล่าวได้ว่า เป็นผู้เร่งทำให้พระพุทธศาสนาสิ้นสุดลงในอินเดีย ก็คือท่าน สังกราจารย์ ท่านผู้นี้เกิดที่มาลาบาร์ ในอินเดียตอนใต้  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓  ท่านชอบเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วอินเดีย ชอบพบปะสนทนาวิสาสะกับบุคคลต่างๆ ไม่เลือกหน้า ชอบอภิปรายให้เหตุผลให้ความเชื่อมั่นแก่เขา ท่านสังกราจารย์ พยายามอย่างยิ่งที่จะสมัครสมานความแตกแยกในลัทธิและศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเดียเวลานั้น ชั่วระยะเวลาเพียง ๓๒ ปี ที่ท่านได้มีชีวิตอยู่ในโลก ท่านได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่โลก แก่อินเดียจนถึงทุกวันนี้ ท่านผู้นี้เป็นทั้งนักปราชญ์ นักศึกษา นักพรต นักกวี นักบุญ นักปฏิรูป และนักสร้างสรรค์ที่สามารถ ท่านได้สร้างวัดใหญ่ขึ้น ๔ วัด ใน ๔ มุมของอินเดีย  นี่เป็นการลอกแบบไปจากพระพุทธศาสนาโดยตรงนั่นเอง  แต่เดิมพวกพราหมณ์หรือพวกสันนยาสี มิได้รวมกันเป็นหมู่ เป็นคณะใหญ่ จะมีบ้างก็เพียงคณะย่อยๆ ท่านผู้นี้ได้เอาปรัชญาของพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ในอินเดียมาผสมผสานกัน แล้วยกให้พระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารปางหนึ่ง คือเป็นปางที่ ๙ และยกพระศรีอาริยเมตไตรยซึ่งจะมาตรัสรู้ในอนาคต เป็นนารายณ์อวตารปางที่๑๐ พระพุทธศาสนาจึงถูกกลืนหายไปในศาสนาพราหมณ์ หรือซึ่งเรียกว่า ศาสนาฮินดู ในปัจจุบันนี้  แต่เพราะเหตุที่ท่านสังกราจารย์ได้สมัครสมานพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสนาพราหมณ์นี้เอง พวกที่ไม่ชอบสังกราจารย์ก็ประณามว่า ท่านสังกราจารย์เป็นชาวพุทธที่ปลอมบวชอยู่ในศาสนาพราหมณ์  ซึ่งความจริงศาสนาพุทธก็มีอิทธิพลเหนือสังกราจารย์อย่างว่าเหมือนกัน

ศาสนาพราหมณ์จะดีเลวอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นศาสนาที่เก่าแก่ยิ่งกว่าศาสนาใดๆ ในโลก และมีอายุยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้อินเดียจะมีศาสนาที่สำคัญๆ อื่นๆ เกิดขึ้น เช่นศาสนาพุทธ และศาสนาเชน แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างศาสนาพราหมณ์ให้เสื่อมสูญไปได้เลย เพราะได้หยั่งรากลงสู่จิตใจประชากรของอินเดียเสียอย่างแน่นแฟ้นแล้ว แม้ศาสนาพุทธและศาสนาเชนจะเกิดขึ้นมาต่อสู้ และแม้จะถูกรุกรานโดยศาสนาอิสลามในภายหลัง ศาสนาพราหมณ์ก็ยังคงหนักแน่นอยู่ในอินเดียเช่นเดียวกับความหนักแน่นของภูเขาหิมาลัยเหมือนกัน

เมื่อพวกมุสลิมยกกองทัพมาตีอินเดีย จนถึงพาราณสี และสารนาถ พวกนี้ไม่ปรานีต่อโบสถ์พราหมณ์หรือโบสถ์พุทธเลยแม้แต่น้อย หัวหน้ามุสลิมที่เป็นผู้รับผิดชอบในการทลายสารนาถ คือสุลต่านมะหะหมุด กัซนาวี คนหนึ่ง กับ นายพลกูตูบุดดิน ของ มุหะหมัด โฆรี อีกคนหนึ่ง

หลังจากพวกมุสลิมได้ใช้ดาบฟาดฟันสารนาถหมดแล้ว สารนาถก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เหลือกุฏิอยู่ ๒-๓ หลัง พระภิกษุสงฆ์ก็แตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง และบ้างก็ถูกพวกพราหมณ์กลืนไปเสียมิใช่น้อย นับแต่นั้นมาสารนาถก็ถูกกลืน พระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไปจากอินเดียตั้งแต่นั้นมา

พระพุทธศาสนาได้กลับฟื้นคืนตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เมื่อท่านอนาคาริก ธัมมปาละ ชาวลังกาได้กลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นในอินเดียอีกเมื่อไม่นานมานี้เอง จนกระทั่งพระพุทธศาสนากำลังจะฉายแสงใหม่ขึ้นอีกวาระหนึ่ง ขณะนี้มีชาวอินเดียได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๑๐ ล้านเศษ แต่ส่วนมากเป็นชนชั้นศูทร ซึ่งมี ดร. อัมเบดการ์เป็นหัวหน้า  ขณะนี้ที่อินเดียมีพุทธสมาคมเกิดขึ้นหลายแห่ง และแห่งที่สำคัญก็คือ สมาคมมหาโพธิ์ นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งอยู่ในแคว้นพิหารของอินเดีย และนับวันจะเจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ




พระพุทธศาสนาในประเทศลังกา

ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะไปประดิษฐานในลังกานั้น ประชาชนชาวลังกาส่วนมากนับถือศาสนาพราหมณ์ และบูชาภูตผี เทวดา ยักษ์ และนาคต่างๆ พระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่ลังกาเป็นทางการครั้งแรกก็ในรัชสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งกรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย และตรงกับรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยดิส แห่งประเทศลังกา

เหตุที่ลังกาได้ชื่อว่าสิงหฬ  ในสมัยก่อนพุทธกาล ประชาชนชาวลังกาไม่ได้เรียกตนว่าชาว “สิงหฬ” อย่างในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวพื้นเมืองเดิมเป็นพวกคนป่า มีวัฒนธรรมไม่สูงนัก ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกานั้น กล่าวว่ามีชนอยู่ ๒ พวกด้วยกัน เรียกว่า “ยักษ์” พวกหนึ่ง พวกนี้ตั้งถิ่นฐานและบ้านเมืองอยู่ตามที่สูงตอนกลางของเกาะ อีกพวกหนึ่งเรียกว่า “นาค” พวกนี้อยู่ตามที่ต่ำชายทะเล  ส่วนตอนใต้ของชมพูทวีปหรืออินเดียนี้เป็นบ้านเมืองของพวกทมิฬ แบ่งเป็นหลายอาณาจักร ด้านตะวันตกซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะลังกา ตอนปลายแหลมชมพูทวีปเรียกว่าแคว้นปาณฑยะ ถัดขึ้นไปทางตะวันออกเรียกว่า โจฬมณฑล ต่อนั้นขึ้นไปก็ถึง กลิงคราษฎร์ ซึ่งอยู่ติดต่อกับบ้านเมืองของพวกอริยกะทางเหนือ

ตำนานเล่าว่า ในตอนสมัยพุทธกาลมีกษัตริย์ชาวอริยกะพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวังคราช มีวังคนครเป็นราชธานี อยู่ข้างเหนือกลิงคราษฏร์ ได้ราชธิดาของพระเจ้ากลิงคราษฏร์เป็นเป็นอัครมเหสี มีราชธิดาชื่อ นางสุปา นางสุปานี้เป็นคนมักมากในกามกิเลส จึงต้องถูกขับไล่ซัดเซพเนจรไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ไปมีบุตรชื่อ สีหพาหุกุมาร หนังสือมหาวงศ์กล่าวว่า เพราะนางสุปานั้นไปได้พระยาราชสีห์เป็นสามี  สีหพาหุกุมาร เป็นบุตรเชื้อราชสีห์ จึงมีกำลังวังชามาก เมื่อเติบใหญ่ขึ้น จึงพานางผู้มารดาหนีพระยาราชสีห์ กลับเข้ามาอยู่กับหมู่มนุษย์ ฝ่ายพระยาราชสีห์มีความอาลัยออกติดตามบุตรภรรยา เที่ยวขบกัดผู้คนชาวเมืองวังคนครล้มตายลงมาก จนพระเจ้าวังคนครต้องป่าวประกาศร้องหาผู้ที่จะอาสาฆ่าพระยาราชสีห์นั้น สีหพาหุกุมารเข้ารับอาสา ฆ่าพระยาราชสีห์ตาย เพราะเหตุนี้จึงปรากฏนามว่า สีหฬกุมาร

ต่อมา พระเจ้าวังคราชสิ้นพระชนม์ ไม่มีเชื้อพระวงศ์ที่จะครอบครองราชย์สมบัติ ชาววังคนคร จึงพร้อมกันถวายราชสมบัติให้ สีหฬกุมาร ต่อมาพระองค์ได้ย้ายไปสร้างราชธานีใหม่ชื่อ สีหบุรี แล้วเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น ทรงมีพระราชบุตรถึง ๓๐ องค์ องค์ใหญ่ชื่อ วิชัยราชกุมาร   พระราชกุมารพระองค์นี้มีความประพฤติเป็นพาล พวกราชบิดาจึงจับใส่สำเภา พร้อมกับพรรคพวกขับไล่ออกจากเมือง วิชัยราชกุมารไปถึงเกาะลังกา เห็นว่ามีชัยภูมิดีจึงขึ้นอาศัยอยู่บนเกาะนั้น และได้นางยักษ์ชื่อ กุเวณา เป็นภรรยา โดยอาศัยนางยักษ์ผู้ภรรยาเป็นผู้แนะนำพระองค์ก็ตีเมือง ศิริวัตถุบุรี ของยักษ์ชื่อ มหากาฬเสน ได้ และได้ครอบครองเมืองแต่นั้นมา และขยายเมืองออกไปอีกมาก ต่อมาพระองค์ได้ขับไล่นางกุเวณากับบุตรไป แล้วทรงอภิเษกสมรสกับราชธิดาของ พระเจ้ามทุรนคร แคว้นปาณฑยะ นับเป็นปฐมกษัตริย์ชาวชมพูทวีปที่ได้ครองลังกา ซึ่งตรงกับวันเสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา   โดยเหตุนี้แหละ ชาวลังกาจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “สีหฬ” ตามสายแห่งบรรพบุรุษของพระเจ้าวิชัยนั้นเอง นอกจากนั้นเกาะลังกายังมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ตามพปัณณิทวีป” คือ “เกาะของคนผู้มีฝ่ามือสีแดง” ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ลังกาเดิมเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญ เมื่อวิชัยราชกุมารกับพวกไปถึงนั้นต้องเดินบุกป่าฝ่าเขาไปหกล้มหกลุกจนกระทั่งฝ่ามือแตกมีเลือดออกแดงฉานไป โดยเหตุนี้เขาจึงเรียกเกาะลังกาว่า “ตามพปัณณิทวีป” แปลว่า “เกาะของผู้มีฝ่ามือสีแดง”

โดยเหตุที่พวกสิงหฬ เป็นเชื้อสายของพวกอริยะมาจากชมพูทวีป มีความรู้ในการปกครองบ้านเมือง การทำไร่ทำนาและการทดน้ำเป็นอย่างดี จึงสามารถทำให้ลังกาเจริญได้อย่างรวดเร็ว พระเจ้าวิชัยไม่มีโอรส ครองราชย์อยู่ ๓๘ ปีก็สิ้นพระชนม์ พวกข้าราชการได้ไปทูลเชิญ สุมิตรราชกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าวิชัยมาครองราชย์สมบัติต่อ แต่สุมิตรราชกุมารมาไม่ได้ จึงส่งโอรสชื่อ ปัณฑุวาสุเทวะ มาครองแทน ต่อมา พระเจ้าปัณฑุกาภัย กษัตริย์องค์ที่ ๔ ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงศากยวงศ์  และครอบครองราชสมบัติสืบมาจนถึงสมัย พระเจ้าเทวานัมปิยดิส   ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔ ครองเมืองอยู่ที่ อนุราชบุรี  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ว่าตรงกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย

ในเรื่อง พ.ศ. นี้ยังไม่ตรงกันนัก วินเซนต์ เอ. สมิท  ผู้สอบสวนโบราณคดีครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ได้คิดคำนวณปีลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ผ่านพิภพเมื่อ พ.ศ. ๒๗๒ (ในระหว่างนี้เห็นจะทำสงครามกับพวกราชกุมารที่เป็นพระภาดา ดังกล่าวไว้ในหนังสือมหาวงศ์ถึง ๓ ปี)  จึงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชปกครองมคธราษฎร์ทั่วไป เมื่อ พ.ศ. ๒๗๕ ปี ทำตติยสังคายนา ถ้ากำหนดว่าในปีที่ ๑๘ ตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ราชาภิเษกมา ตกใน พ.ศ. ๒๙๒ พระเจ้าอโศกมหาราชเสวยราชย์อยู่ ๓๘ ปีสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๓๑๑ ศักราชที่ วินเซนต์ เอ. สมิท คำนวณนี้ คลาดเคลื่อนช้าลงมากกว่าศักราชที่ลงไว้ในหนังสือมหาวงศ์ ในหนังสือนั้นบอกพระพุทธศักราชอันเนื่องด้วยรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช คำนวณเทียบได้คร่าวๆ ดังนี้คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ราชาภิเษก พ.ศ. ๒๑๘ เสวยราชย์ได้ ๑๗ ปี จึงทำตติยสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔  

หลังจากที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงรับเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ในการทำตติยสังคายนาที่เมืองปาฏลีบุตรแล้ว  โดยการแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระองค์ได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามที่ต่างๆ รวม  ๙ แห่งด้วยกัน  ในการส่งสมณทูตไปประกาศศาสนาครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงส่งพระมหินทเถระ ซึ่งเป็นพระราชโอรส พร้อมกับภิกษุอีก ๔ รูป คือ พระอิติยะเถระ ๑  พระอุติยะเถระ ๑  พระสัมพลเถระ ๑  พระภัททสาลเถระ ๑  ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป    ซึ่งตรงกับรัชสมัย พระเจ้าเทวานัมปิยดิส

พระเจ้าเทวานัมปิยดิส ทรงต้อนรับสมณทูตชุดนี้เป็นอย่างดียิ่ง หลังจากที่พระองค์ได้ทรงสนทนา และฟังธรรมที่พระมหินทเถระแสดงแล้ว ก็ทรงเลื่อมใสปฏิญญาณตนเป็นพุทธมามกะ และทรงสนับสนุนในการเผยแผ่พุทธศาสนา และพุทธศาสนาก็ตั้งมั่นในลังกาตั้งแต่นั้นมา

การที่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส กับ พระมหินทเถระ ทรงเข้ากันได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะมีความรู้สึกร่วมกันในเชื้อสายก็ได้ เพราะพระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากพวก ศากยะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  พระมหินทเถระก็มีเชื้อสายศากยะเช่นกัน ทั้งนี้เพราะพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นพระปัยยกา (ปู่ทวด) ของพระองค์นั้น หนังสือมหาวงศ์ก็อ้างว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากพวกศากยราชเหมือนกัน

หลังจากพระเจ้าเทวานัมปิยดิส สวรรคตแล้ว ก็มีกษัตริย์สืบต่อมาอีก ๓ พระองค์ พอถึงสมัยพระเจ้าสุรดิส พวกทมิฬซึ่งมีกำลังเข้มแข็งขึ้นก็ยกกองทัพมาชิงราชสมบัติได้ แต่ก็ปกครองอยู่ได้ไม่นาน พระเจ้าอเสละก็กลับชิงราชสมบัติจากพวกทมิฬได้ แล้วต่อมาพระองค์ก็ถูกเอฬารทมิฬยกกองทัพมาชิงราชสมบัติได้ โดยเหตุที่พวกทมิฬมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพวกสีหฬ  พวกนี้นับถือเทวดา ยักษ์ และรากษส ตลอดจนผีสางนางไม้ต่างๆ บางองค์ก็ประพฤติย่ำยีพระพุทธศาสนา บางองค์แม้จะไม่ทำลาย แต่ก็ไม่ได้ให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเลย พระพุทธศาสนาก็นับวันจะอับแสงลงทุกที

ต่อมาพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย เชื้อสายพระเจ้าเทวานัมปิยดิส ได้ยกกองทัพมาแย่งอำนาจจากเอฬารทมิฬได้ จึงได้ครองราชย์สมบัติในเมืองอนุราชบุรีสืบมา  แต่ก็สืบราชสมบัติกันได้ไม่นานถูกพวกเดียวกันแย่งชิงบ้าง ถูกพวกทมิฬแย่งชิงบ้าง ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะอยู่อย่างนี้ จนถึงสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พระองค์ก็ถูกพวกทมิฬแย่งชิงราชสมบัติได้ พักหนึ่ง  ในภายหลังพระองค์ก็แย่งราชสมบัติกลับคืนได้แล้วก็ทรงหันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ เพราะในระยะนี้พระพุทธศาสนาได้รับการเอาใจใส่น้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองประเทศต้องหันไปสนใจต่อการสงครามชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดพระเจ้าวัฏฏามณีอภัยนี้ก็ได้เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ ที่ได้เป็นผู้อุปถัมภ์ให้มีการสังคายนาขึ้นในลังกาทวีป

หลังจากพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยสวรรคตแล้ว พวกทมิฬและพวกสีหฬก็คงแย่งกันเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา บางคราวพวกสีหฬก็มีอำนาจ บางคราวพวกทมิฬก็กลับมีอำนาจ  สมัยใดพวกทมิฬมีอำนาจ สมัยนั้นพระพุทธศาสนาก็ซบเซาไป จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปก็ถึงกับศูนย์สิ้นสมณวงศ์จนถึง พ.ศ. ๑๖๑๔ ก็เกิดมีคนดีชาวสีหฬได้ลุกขึ้นมากอบกู้อิสรภาพได้ แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “วิชัยพาหุ ศิริสังฆโพธิ์” เมื่อพระองค์ทรงจัดการทางฝ่ายราชอาณาจักรได้เรียบร้อยแล้วก็หันมากอบกู้พุทธศาสนาสืบต่อไป แต่เมื่อหาพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นผู้บริสุทธิ์แม้แต่รูปเดียวก็ไม่ได้แล้ว พระองค์จึงทรงส่งราชทูตไปขอพระสงฆ์จากพม่า ในรัชกาลพระเจ้าอนุรุทธ ได้พระสงฆ์ ๒๐ รูป สมณวงศ์ในลังกาจึงได้กลับมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยใดที่กษัตริย์มีเดชานุภาพมาก ในสมัยนั้นก็มักมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกเสียคราวหนึ่ง

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๖  ในลังกาทวีปเกิดการจลาจลจนต้องเสียอิสรภาพแก่พวกทมิฬอีก พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงอีกวาระหนึ่ง ถึงสิ้นสมณวงศ์ แต่ต่อมาพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ ได้ทรงกอบกู้เอกราชได้ จึงได้ครองราชสมบัติสืบมา  พระองค์มีพระประสงค์ที่จะตั้งสังฆมณฑลขึ้นใหม่โดยทรงพิจารณาเห็นว่า สังฆมณฑลในประเทศไทยเท่านั้นที่บริสุทธิ์กว่าที่อื่น จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระสงฆ์จากประเทศไทยในรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้กลับไปประดิษฐานสมณวงศ์ในลังกาทวีปอีกวาระหนึ่ง

พระเจ้าบรมโกษฐ์ได้โปรด ฯ ให้พระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระอุบาลี และ พระอริยมุนี พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก ๑๒ รูป เดินทางไปยังลังกาทวีป และได้ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวสีหฬสืบมา พระสงฆ์ที่บวชในสำนักนี้ เรียกว่า สยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์  จนตราบเท่าทุกวันนี้ นับว่าไทยเราได้มีโอกาสใช้หนี้ลังกาได้อย่างดีที่สุดแล้ว

ต่อมาเมื่อลังกาได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโปรตุเกส ซึ่งเป็นฝรั่งที่นับถือศาสนาคริสต์ แล้วพระพุทธศาสนาก็ถูกย่ำยีและถูกทำลายเสมอมา แต่โดยอาศัยที่พระพุทธศาสนาได้ฝังรากลงสู่จิตใจของชาวลังกาอย่างถอนไม่ขึ้นแล้ว แม้ลังกาจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ที่ถือศาสนาอื่นก็ตาม  แต่ชาวลังกาก็ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนาตลอดมา จนกระทั่งได้เป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสนาจึงได้รับการเอาใจใส่ทะนุบำรุงยิ่งขึ้นตามลำดับ  พระสงฆ์ในลังกาทำงานกันอย่างเข้มแข็ง เกี่ยวกับการสอนพุทธศาสนาให้แก่เด็ก และประชาชนทั่วไป ตลอดจนออกประกาศศาสนาไปยังทวีปยุโรป และอเมริกาอีกด้วย  ลังกาจึงอาจเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาแห่งโลกอีกครั้งหนึ่งก็ได้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 12:56:38 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 30 สิงหาคม 2556 10:30:06 »

.
http://myanmartouring.com/wp-content/uploads/2010/10/bagan2.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า

พม่าเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ อยู่ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก มีเนื้อที่และประชาชนพอๆ กับประเทศไทย และมีความสัมพันธ์กับไทยในทางประวัติศาสตร์มากที่สุด ทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับชาวไทยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พม่าจึงเป็นประเทศที่เราควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมา ของพระพุทธศาสนาในสมัยแรกๆ ก็ยังคงมืดมนคลุมเครืออยู่ เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ นักเขียนหลายคนต่างก็ให้ทัศนะต่างๆ กัน บางคนก็ว่า พม่าได้รับพระพุทธศาสนามาจากตอนเหนือของประเทศอินเดียบ้าง จากอินเดียด้านฝั่งทะเลทิศตะวันออกบ้าง จากลังกา จีน และเขมรบ้าง ทัศนะทั้งหมดนี้อาจจะจริงก็ได้ เพราะมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อถือได้ว่าพระพุทธศาสนาที่แผ่เข้าไปสู่ประเทศพม่านั้นจะต้องไม่ได้มาจากประเทศหนึ่งประเทศใดโดยตรงเป็นแน่


พม่ากับอินเดียเป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน คืออินเดียอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า ฉะนั้นอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีอารยธรรม และวัฒนธรรมอันมั่นคง จึงมีอิทธิพลเหนือพม่าเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ แต่น่าประหลาดก็ตรงที่ว่า ชาวอินเดียเมื่อเข้ามาสู่ประเทศพม่าแล้ว ก็ยังคงความเป็นอินเดียอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆ กับว่าอยู่ในประเทศของตนนั่นเอง มีความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตเป็นเอกเทศแตกต่างไปจากพวกพม่า ชาวอินเดียได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศพม่า ทั้งทางบกและทางทะเล เมื่อเข้ามาก็ได้นำเอาอารยธรรม วัฒนธรรม และศาสนาของตนเข้ามาด้วย ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ของพม่ากล่าวว่า “เจ้าชายฮินดูองค์หนึ่ง พระนามว่า อภิราช ได้ทรงสร้างเมืองตะโก้ง (Tagaung) ขึ้นเมื่อประมาณ ๙๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช และแคว้นยะไข่ (Arakan)  ก็ได้ทึกทักเอาว่า ผู้ปกครองแคว้นของตนพระองค์แรกนั้น เป็นเจ้าชายจากเมืองพาราณสี (Benares) นิยายปรัมปราเหล่านี้ไม่มีค่าทางประวัติศาสตร์มากนัก นอกจากจะทำให้เราได้ทราบว่าพม่าได้มีความสัมพันธ์กับอินเดียมาเป็นเวลานานแล้วนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น จากหลักฐานเท่าที่พบในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในลังกา เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็ทราบเพียงว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่ง พระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ  คำว่า “สุวรรณภูมิ” นี้ก็ยังคลุมเครืออยู่ ไม่ทราบแน่นอนว่า ตั้งอยู่ที่ไหนแน่ แต่นักประวัติศาสตร์บางพวกสันนิษฐานว่า คือประเทศพม่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่เมือง สะเทิม (Taton) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า อันได้แก่ประเทศมอญเดิมนั่นเอง เมือง สะเทิม ก็คือเมือง สุธรรมบุรี อย่างไรก็ดีเรื่องเมืองสุวรรณภูมิ ยังไม่ยุติกันแน่นอน มีนักประวัติศาสตร์บางพวกและนักโบราณคดีมากหลาย ที่สันนิษฐานว่า “สุวรรณภูมิ” ควรจะอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่ นครปฐม  และในประเทศไทยมีหลักฐานทางโบราณคดีเก่ากว่าที่ค้นพบในพม่า แต่บางท่านก็ไม่กำหนดว่าอยู่ที่ใด ได้แต่สันนิษฐานตีวงกว้างเอาว่า “สุวรรณภูมิ” ก็คืออาณาบริเวณแหลมอินโดจีน คือถือเอาอาณาเขตตั้งแต่ประเทศพม่าไปจนถึงประเทศเวียดนามทีเดียว เมื่อยกเรื่อง พระโสณะ กับพระอุตตระ ออกเสียแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะแสดงว่า พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศพม่าก่อน ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เลย

นอกจากนั้น พม่ายังทึกทักเอาว่านายพานิชสองพี่น้อง คือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ซึ่งได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นพวกแรก เป็นพ่อค้าจาก อุกกลชนบท ซึ่งได้แก่ แคว้นโอริสสานั้น พม่าก็กล่าวว่าอุกกลชนบท นี้ ตั้งอยู่ในประเทศพม่า จากเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นนิยายปรัมปราเรื่องสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง บัวตาทอง และสุเลพญาไปเลย  โดยพม่ากล่าวกันว่า นายพานิชทั้งสองเดินทางจากอินเดีย มาขึ้นที่ท่าเรือของเมืองย่างกุ้ง ตรงที่นายพานิชทั้งสองมาขึ้นบกและหยุดพักนั้น เขาได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเรียกว่า “บัวตาทอง” จากนั้นก็เดินเรื่อยไป จนถึงที่แห่งหนึ่งก็เกิดหลงทาง จึงได้อธิษฐานเสี่ยงทิศที่จะนำพระเกศธาตุไปประดิษฐาน ที่ตรงที่นายพานิชเสี่ยงทายคราวหลงทางนั้น ได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง คือ “สุเลพญา” และที่ที่บรรจุพระเกศธาตุ ก็คือ “ชเวดากอง” นั่นเอง

จากคัมภีร์ “ทีปวงส์” ซึ่งรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ และได้เรียบเรียงขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ เป็นหลักฐานที่พอจะเชื่อถือได้ และจากหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ทีปวงส์นี้ พอจะทำให้เราสรุปได้ว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๖-๘ นั้น “พม่าตอนใต้ได้เป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้นแล้ว เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ (Anawrata) ได้ตีเมืองสะเทิมได้ก็ได้พบว่า ที่เมืองสะเทิมนั้นมีพระภิกษุสงฆ์ และพระไตรปิฎกมากมาย

พระเจ้าอโนรธามังช่อ  นี้ได้ครองราชย์สมบัติที่เมือง พุกาม (Pagan) เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๘๗ และได้ตีเมืองสะเทิมได้เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๐๐ หลังจากที่พระองค์ได้เมืองสะเทิมแล้ว พระองค์ก็ได้กวาดต้อนเอาพวกภิกษุสงฆ์และพระไตรปิฎกที่เมืองสะเทิม ไปไว้ที่เมืองพุกามหมด และพระองค์ก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ผลจากการที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ พิชิตเมืองสะเทิมนี้ได้ก่อให้มีความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนสมณทูตระหว่างลังกากับพม่าสืบมา และได้ทรงรับพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์จากลังกาด้วย   พระเจ้าอโนรธามังช่อ ได้สวรรคตปี พ.ศ. ๑๖๒๐

ไม่เพียงแต่พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเท่านั้น ที่แผ่เข้าไปในพม่า พุทธศาสนาแบบมหายาน และตันตระ ก็ได้หลั่งไหลเข้าสู่พม่า เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ได้มาจากแคว้นเบงกอลและโอริสสาในอินเดีย  อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาแบบมหายานและตันตระ รวมทั้งศาสนาพราหมณ์ด้วย หาได้มีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของพม่า อย่างพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไม่ นับว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุดที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาในพม่านั้น แต่เดิมเป็นแบบเถรวาท ทั้งนี้เพราะได้พบข้อความมากมายที่จารึกอยู่บนแผ่นทองคำบางๆ ซึ่งได้ใกล้ๆ เมืองแปร (Prome)  ในจารึกเหล่านี้มีแต่ข้อความทางศาสนาแบบเถรวาท ภาษาที่ใช้เป็นภาษาบาลี อักษรเป็นแบบอินเดียตอนใต้ จากคัมภีร์ที่ปวงส์และจดหมายเหตุภาษามอญทำให้เราทราบว่า พม่าได้รับพุทธศาสนาแบบเถรวาทมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๒  เป็นที่น่าสังเกตว่าท่าน ตารนาถ (Taranatha) ได้กล่าวว่าในโกกีประเทศ (Koki)    ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งพุกาม และหงสาวดี ด้วยนั้น ไม่มีการเทศนาสอนในเรื่องมหายาน จนกระทั่งถึงสมัยที่ศิษย์ของท่านวสุพันธะ ได้นำลัทธิมหายานเข้าไปเผยแผ่เลย

นอกจากนั้น พม่ายังทึกทักเอาว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ที่ไปแปลคัมภีร์พุทธศาสนาในประเทศลังกาก็เป็นชาวเมืองสะเทิม และว่าเมื่อพระพุทธโฆษาจารย์กลับจากลังกานั้น ก็ได้กลับมายังประเทศพม่าหาได้ไปที่อินเดียไม่

พระพุทธศาสนาในพม่า ได้ปะปนกับศาสนาฮินดูอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับในประเทศไทย เขมร และประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ เช่นกัน  จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย คือในประเทศเขมรนั้นนับถือพระศิวะ และมีการบูชาศิวลึงค์  ทั้งถือว่าเป็นลัทธิประเพณีทั้งทางราชการและโดยทั่วๆ ไป แต่ในพม่าจะพบสิ่งที่เป็นเครื่องหมายของลัทธิที่บูชาพระศิวะน้อยมาก แต่กลับมีเทวรูปเกี่ยวกับเทวดาในลัทธิวิษณุมากมาย

ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศพม่าในสมัยแรกๆ ไม่ค่อยจะมีหลักฐานที่แจ่มชัดนัก เพิ่งมามีหลักฐานบ้าง ก็ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา สำหรับในภาคเหนือของประเทศพม่านั้น รู้สึกว่าออกจะมืดมนกว่าทางภาคใต้ เราควรจะได้ศึกษาความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในภาคเหนือ และภาคใต้ของพม่าไปพร้อมๆ กันด้วย

จีนได้มีอิทธิพลเหนือพม่าเหนือมาก บางทีกษัตริย์พม่า คงจะได้เคยส่งสมณทูตไปยังราชสำนักกษัตริย์วู่ตี้ ในปี พ.ศ. ๑๐๖๘ เช่นเดียวกับกษัตริย์ประเทศอื่นๆ ก็เป็นได้  บันทึกในสมัยราชวงศ์ถัง ได้แสดงให้เห็นว่าจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับพม่าเป็นอย่างดี

ในบันทึกนั้นได้กล่าวว่า ชาวพม่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดในศาสนามาก ไม่กล้าแม้แต่ที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่น แม้จนกระทั่งผ้าไหมก็ไม่ยอมสวมใส่  เพราะการทำผ้าไหมนั้นต้องทำให้ตัวไหมตายด้วย และว่าในพม่ามีวัดวาอารามมากมาย กุลบุตรที่มีอายุได้ ๗ ขวบ ก็เริ่มบรรพชาเป็นสามเณร และเป็นสามเณรอยู่จนกระทั่งอายุ ๒๐ ปี ถ้าไม่ปรารถนาจะอุปสมบท ก็ลาสิกขาออกไปได้  อย่างไรตาม แม้จีนจะมีอิทธิพลเหนือพม่าในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ และในปี พ.ศ. ๑๘๒๗ ก็ได้ยกกองทัพมารุกรานพม่า ถึงกระนั้นจีนก็หามีอิทธิพลเหนืออิทธิพลของอินเดียไม่

สมัยที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ ได้เสวยราชสมบัตินั้น ในกรุงพุกามคงจะมีพระหลายนิกายด้วยกัน การฟื้นฟูพุทธศาสนาในกรุงพุกาม ที่ได้ดำเนินไปด้วยดีก็โดยอาศัย พระอรหันตเถระ ซึ่งมาจากเมืองสะเทิมเป็นกำลังอันสำคัญ  ทั้งนี้เพราะพระเจ้าอโนรธามังช่อทรงพิจารณาเห็นว่าคณะเดิมในพุกามนั้น ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัย สู้ภิกษุสามเณรจากเมืองสะเทิมไม่ได้ พระองค์จึงทรงให้ความอุปถัมภ์แด่พระอรหันตเถระอย่างเต็มที่ รวมทั้งการติดต่อทางสมณทูตกับประเทศลังกาด้วย

เมื่อเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๓ เป็นต้นมา จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙  เมืองพุกามได้กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา ไม่เฉพาะของพม่าเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศต่างๆ ทางตะวันออกของพม่าทั้งมวล รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ในปี พ.ศ. ๑๗๑๘ พระเถระรูปหนึ่งชื่อ อุตตราชีวะ พร้อมกับศิษย์ชื่อ ฉปัท ได้เดินทางไปยังประเทศลังกา และได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิหารเป็นเวลาหลายปี และท่านฉปัท ได้รับการอุปสมบทที่มหาวิหารนั้น ต่อมาท่านฉปัทได้เดินทางกลับมายังประเทศพม่าพร้อมด้วยภิกษุสิงหลอีก ๔ รูป คือ พระสีวลีเถระ พระตามลินทเถระ พระอานันทเถระ และพระราหุลเถระ  เมื่อมาถึงแล้วท่านได้ยืนยันว่า การอุปสมบทที่ถูกต้อง จะต้องเป็นการอุปสมบทแบบมหาวิหาร ซึ่งเป็นพวกเดียวเท่านั้นที่สืบต่อมาจากพระพุทธองค์มาโดยไม่ขาดสาย  การที่ท่านฉปัทพร้อมด้วยภิกษุอีกสี่รูป ซึ่งได้รับการอุปสมบทจากมหาวิหารถือว่าตนมีอำนาจที่จะให้การบรรพชาอุปสมบทแบบมหาวิหาร และไม่ยอมรับรองคณะสงฆ์พม่า แบบเดิมนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะสงฆ์มอญ โดยคณะสงฆ์มอญได้ยืนกรานว่า พระอรหันตเถระผู้ได้ทำการปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้พระบรมราชาอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโนรธามังช่อนั้น ได้สืบต่อมาจากสมณทูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งมา จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะให้การอุปสมบทเช่นเดียวกับพระมหินทเถระเหมือนกัน 

แต่ท่านฉปัทหาใช่เพียงแต่จะเป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักประพันธ์เท่านั้น ท่านยังเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะท่าทางเข้มแข็ง และเป็นที่โปรดปรานของราชสำนักเป็นอย่างมาก ท่านผู้ที่เก่งที่สุดในการโต้คารม และสามารถทำให้พวกคณะสงฆ์มอญแยกออกไปตั้งตัวอยู่ต่างหากจากพวกที่สืบสายมาจากพุทธสาวก คือพวกที่บวชจากสำนักมหาวิหาร แต่นั้นมาก็เกิดการแตกแยกเป็น ๒ ฝ่ายคือ พระสิงหลนิกาย กับมรัมมนิกาย (คือพม่าเดิม) และแต่ละฝ่ายก็ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ทำสังฆเภท

ต่อมาคราวหนึ่ง พระราชาทรงนิมนต์พระทั้ง ๔ รูป ไปรับไทยทานในพระราชพิธีคราวหนึ่ง ท่านราหุลเถระเห็นนางระบำคนหนึ่งมีสิริโฉมงดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย ก็เกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ เมื่อพระเถระอื่นๆ ทราบ ก็ตักเตือน แต่ท่านราหุลก็ไม่เชื่อ ในที่สุดก็ต้องลาสิกขาไป

คราวหนึ่ง พระราชาทรงถวายช้างแก่พระเถระชาวสิงหลทั้งสามรูปนั้น องค์ละเชือก  พระสีวลีกับพระตามลินทะได้ให้คนเอาช้างไปปล่อยเสียในป่า ส่วนท่านอานันทเถระได้ส่งช้างไปให้ญาติ โดยถือหลักว่า การสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลอันสูงสุด  พระเถระอีกสองรูปไม่เห็นด้วย ก็ตั้งข้อรังเกียจ จึงแยกกันออกเป็น ๒ คณะ  ต่อมาพระตามลินทะประสงค์จะอนุเคราะห์ศิษย์ที่เป็นพหูสูต จึงตั้งวจีวิญญัติในสำนักคฤหัสถ์ คือแสดงความต้องการสนทนาทางวาจาพูดยกย่องศิษย์ของตน เพื่อให้เขารับศิษย์เข้าทำงาน ท่านสีวลีเถระไม่เห็นด้วย ถือว่าผิดวินัย แต่ท่านตามลินทะเถียงว่าไม่ผิด เพราะไม่ได้พูดขอเพื่อตัวเรา จึงได้แตกกันออกไปอีก รวมเป็น ๓ นิกาย ถ้านับวงศ์ของพระอรหันต์ซึ่งสืบสายมาจากพระโสณะกับพระอุตตระ หรือซึ่งเรียกว่าโสณุตตรวงศ์ก็เป็น ๔ นิกาย และรวมกับนิกายของท่านฉปัทเข้าอีกก็เป็น ๕ นิกาย

ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ เมื่ออาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจลงแล้ว อาณาจักรไทยใหญ่ (Shan) ได้รุ่งเรืองขึ้นแทนที่ เมืองวิชัยบุรีและเมืองไชยบุรี หรือเมืองสะกาย (Sagaing) ได้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของพม่าเหนือ ในตอนนี้แหละที่อาณาจักรไทยได้แผ่ขยายไปจนถึงเมืองหงสาวดี และจากการที่ไทยได้มีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหงสาวดีนี้เอง ความสัมพันธ์ในด้านศาสนาก็คงมีอยู่ด้วยเป็นเงาตามตัว เมื่ออาณาจักรไทยใหญ่ได้เสื่อมอำนาจลงในปี พ.ศ. ๑๙๐๗ เมืองอังวะหรือรัตนปุระ ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแทนและได้คงความเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในพม่าเหนืออยู่หลายร้อยปี

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พระเจ้าอโนรธามังช่อ หลังจากที่พระองค์ตีเมืองสะเทิมได้แล้ว ก็ทรงจับพระเจ้ามโนหาริ กษัตริย์เมืองสะเทิมไปเป็นเชลย และได้เอาพระไตรปิฎก พระบรมสารีริกธาตุกับนิมนต์พระสงฆ์ผู้รอบรู้พระไตรปิฎกประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ไปไว้ในเมืองพุกามหมด ตอนนี้แหละที่รามัญนิกายคงจะได้รับความกระทบกระเทือนบ้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้ทราบว่าท่านสารีบุตร ซึ่งอุปสมบทที่เมืองพุกามได้นำพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์กลับไปเผยแผ่ในแดนมอญ  และในระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้น ก็มีพระเถระชาวเมืองเมาะตะมะสองรูปได้เดินทางไปยังลังกา และได้ไปอุปสมบทใหม่ที่มหาวิหาร เมื่อกลับมาถึงมาตุภูมิแล้วสำคัญว่าตนวิเศษกว่าพระเถระองค์อื่นๆ ทางตอนใต้ไม่ค่อยปรากฏว่ามีวรรณคดีใดๆ มากนัก พระสารีบุตรเป็นผู้แต่งหนังสือธรรมศาสตร์ (Dhammathat) ขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือกฎหมายแท้ของพม่า ซึ่งเอาแบบฉบับมาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดียนั่นเอง

สมัยที่พระพุทธศาสนาในเมืองหงสาวดี (Pegu) เจริญรุ่งเรืองที่สุดก็คือในรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์หรือรามาธิบดีปิฎกธร (พ.ศ.๒๐๑๕-๒๐๓๔) กษัตริย์พระองค์นี้เดิมเป็นสามัญชนนี่เอง แต่ได้ช่วยเหลือเจ้าหญิงชาวหงสาวดีพระองค์หนึ่ง ซึ่งถูกกักอยู่ในราชสำนักพม่าให้หนีออกมาได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๙๖ เจ้าหญิงพระองค์นี้ได้ครองกรุงหงสาวดี และพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ได้ลาสิกขาออกมารับราชการเป็นพระมหาอุปราช และได้เป็นพระราชบุตรเขยของพระนาง และต่อมาได้รับราชสมบัติ แม้พระองค์จะได้ทรงลาสิกขาแล้ว แต่ก็ยังทรงสนพระทัยอยู่ในเรื่องของศาสนาเป็นพิเศษ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงเขียนเรื่อง จารึกกัลยาณีสีมา ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสีมา และกำหนดวิธีผูกพัทธสีมาที่ถูกต้องขึ้นเป็นแบบแผน ปัญหาที่พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าสำคัญมากดังที่พระองค์ทรงอธิบายไว้ก็คือในพม่าใต้มีอยู่ ๖ นิกาย ที่ไม่ยอมร่วมอุโบสถกัน นิกายแรกคือกัมพุชนิกาย หรือโสณุตตรวงศ์ ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับนิกายของพระอรหันตเถระ หาได้เกี่ยวกับเขมรไม่ ที่มีชื่อดังนี้ก็เพราะวัดที่สำคัญที่สุดของนิกายนี้อยู่ใกล้ตลาดกัมพุช นิกายนี้ถือตัวว่าสืบสายมาจากสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกนั้นก็มีนิกายย่อยๆ ของลังกาวงศ์อีก ๕ นิกาย สี่นิกายแรกศิษย์ของท่านฉปัทและเพื่อนเป็นผู้ให้กำเนิดได้แก่สีวลีวงศ์ ตามลินทวงศ์ และอานันทวงศ์ อีกนิกายหนึ่งพระเถระแห่งเมืองเมาะตะมะเป็นผู้ให้กำเนิด ดังนั้น พระเจ้าธรรมเจดีย์จึงได้ทรงส่งสมณทูตไปยังลังกา เพื่อไปศึกษา ดูวิธีการผูกพัทสีมาที่ถูกต้อง และรับการอุปสมบทใหม่ เมื่อสมณทูตชุดนี้กลับมาแล้วก็ได้ประกอบพิธีผูกกัลยาณีสีมา ตามแบบมหาวิหารขึ้น ในระยะสามปีต่อมาพระภิกษุในราชอาณาจักรของพระเจ้าธรรมเจดีย์ทั้งหมด ต้องรับการอุปสมบทใหม่เป็นจำนวนถึง ๑๕,๖๖๖ รูป ทั้งนี้โดยมีพระสุวรรณโสภณ ซึ่งเคยบวชมาจากลังกาเช่นกัน มีพรรษาได้ ๒๖ พรรษา เป็นอุปัชฌาย์องค์แรก พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงดีพระทัยมากที่พระองค์ได้ทรงสามารถช่วยชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ โดยยึดตามแบบมหาวิหารในลังกา แต่นั้นมาความแตกแยกต่างๆ ในวงคณะสงฆ์ก็หมดไป สามารถรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

จึงสรุปได้ว่า เหตุการณ์สำคัญๆ อันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศพม่าตั้งแต่ต้นจนถึงรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์นั้น พอแบ่งเป็นยุคๆ ได้ ๕ ยุค ดังนี้ :-
ยุคแรก (คือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรืออาจก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีก็ได้) พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เป็นที่รู้จักกันดีในพม่าใต้ จารึกต่างๆ ที่ค้นพบ เขียนเป็นภาษาบาลีด้วยอักษรแบบอินเดียตอนใต้

ยุคที่สอง เป็นสมัยที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐) ได้ชำระพระพุทธศาสนาในพม่าเหนือให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยคัมภีร์ต่างๆ ที่ได้ไปจากเมืองมอญเป็นหลัก โดยเอาไปเทียบกับคัมภีร์ที่ได้มาจากลังกา

ยุคที่สาม (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๓) ท่านอุตตราชีวะกับท่านฉปัทผู้ศิษย์ ซึ่งไปศึกษาที่ประเทศลังกา และท่านฉปัทได้รับการอุปสมบทที่นั่น ไม่ยอมรับรองพระมอญว่าเป็นพระที่สมบูรณ์ จึงก่อให้เกิดเป็นสองนิกายขึ้นในพม่าเหนือก่อน แล้วต่อมาก็ขยายตัวมาจนถึงพม่าได้

ยุคที่สี่ (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๙๓ ลัทธิลังกาวงศ์โดยการนำของพระสารีบุตรและคณะ ได้เริ่มมีอำนาจมาจนถึงพม่าใต้ และพวกรามัญนิกายก็เริ่มเสื่อมลง
ยุคที่ห้า (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๓) พระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งกรุงหงสาวดีได้ทรงประกาศว่าพระองค์ได้ทรงชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว ตามแบบของคณะมหาวิหารในลังกา ซึ่งเป็นนิกายเดียวที่เก่าแก่ที่สุด

นอกจากพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว พม่าอาจได้รับพุทธศาสนาแบบมหายานจากแคว้นเบงกอลและโอริสสาก็ได้ นอกจากนั้นก็ได้ปรากฏว่าได้มีพระในพุทธศาสนา นิกายตันตระ รูปหนึ่ง ชื่อ อตีศะ ได้เข้ามาศึกษาที่สุวรรณภูมิ ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นพม่าใต้ประมาณ ปี พ.ศ. ๑๕๐๐ เศษ

จนกระทั่งบัดนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนาที่เข้ามาสู่พม่ารุ่นแรกๆ นั้น มาจากแคว้นมคธ หรือ จากทางตอนใต้ของประเทศอินเดียแน่ เรื่องสมณทูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมายังสุวรรณภูมิ เรายังยอมรับหรือปฏิเสธไม่ได้ทั้งสองอย่าง เพราะยังหาหลักฐานที่แน่ชัดจริงๆ ไม่พบ

หลังจากที่อาณาจักรพุกามเสื่อมลงแล้ว เราได้ทราบถึงความพัฒนาในด้านศาสนาและวรรณคดีในพม่าเหนือน้อยมาก แม้ว่ากรุงอังวะ (Ava) จะได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๐๗ แต่ก็หาได้เป็นศูนย์กลางศาสนาสำหรับประเทศใกล้เคียงไม่ แต่ในรัชสมัยพระเจ้านรปติ (พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๑๑) นั้น มีกวีที่มีชื่อเสียงมากมาย รวมทั้งท่านสีลวังสะ และท่านอริยวังสะ ผู้เชี่ยวชาญในอภิธรรมปิฎกด้วย ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เกิดกรทำลายพุทธศาสนาขึ้นในพม่า ซึ่งพม่าอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจมาก นั่นก็คือ โสหันพวา หรือพระเจ้าเสือห่มฟ้า เป็นชาวไทยใหญ่ ที่ได้ครองกรุงอังวะ ได้พยายามทำลายพระพุทธศาสนา โดยการจับพระฆ่าบ้าง เอาไฟเผาวัดวาอารามบ้าง การทำลายศาสนาได้เป็นไปชั่วเวลาไม่นานนักและก็ไม่ทันได้ขยายไปสู่ถิ่นอื่นๆ นอกจากกรุงอังวะ นอกจากนั้นก็ก่อให้เกิดความขัดเคืองแก่ชาวพม่าเป็นอย่างมาก และบาปนี้ได้สนองให้ทันตาเห็น คือเป็นเหตุให้ราชวงศ์ไทยใหญ่ถูกโค่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๘  เกี่ยวกับเรื่องพวกไทยใหญ่ครอบครองพม่านั้น เกิดขึ้นหลังจากที่อาณาจักรน่านเจ้า ได้เสียแก่กุบไลข่าน แล้วประมาณ ๒๐๐ ปี คนสำคัญๆ เผ่าไทยหลายคนได้มาเป็นผู้ปกครองดินแดนในพม่า ผู้ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเป็นนักผจญภัยชื่อ วะเรรุ (Wareru) หรือมะกะโท ได้ยึดเมืองเมาะตะมะได้เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๔ และมีไทยพี่น้องสามคนยึดพม่ากลาง และพุกาม ได้ราว พ.ศ. ๑๘๔๒ เป็นต้น

พระเจ้าบุเรงนอง (Bayin Naung) นับว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของพม่า พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จนถึงกับใช้อำนาจบังคับให้พวกไทยใหญ่และพวกมุสลิม ซึ่งหมายถึงประชาชนที่อยู่ในอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมด ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมากในเมืองอังวะและเมืองไชยบุรี (Sagaing) และปรากฏว่า มีกวีที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายคนด้วยกัน และได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอภิธรรมไว้มากมายเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นว่าชาวพม่าสนใจในด้านอภิธรรมมาหลายร้อยปีแล้ว และแม้ในบัดนี้ก็ยังคงครองความเป็นเลิศในด้านอภิธรรมอยู่

เรื่องที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่วงการพุทธศาสนาในประเทศพม่า ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั้นก็คือ ได้มีความคิดเห็นที่รุนแรงเกี่ยวกับการห่มผ้า ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (ราว พ.ศ. ๒๒๕๑) มีพระพวกหนึ่ง เวลาออกวัดก็ยังห่มเฉียง เปิดไหล่ขวาอยู่ เรียกว่าพวก “เอกังสิกะ” กับอีกพวกหนึ่ง เวลาออกนอกวัดห่มคลุมทั้งสองไหล่ เรียกว่าพวก “ปารุปนะ”  พวกเอกังสิกะหาหลักฐานยืนยันการปฏิบัติของตนเองได้น้อยกว่า แต่ก็ยังยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามแบบอย่างพระลังกาซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ ส่วนพระที่ถือว่าต้องห่มคลุมนั้น ก็เห็นว่าวินัยบอกให้ห่มเฉวียงบ่าก็เวลาทำความเคารพสงฆ์เท่านั้น ซึ่งแสดงว่านอกจากนั้นต้องห่มคลุม ในปี พ.ศ. ๒๒๕๕ เรื่องทำนองนี้ก็เกิดขึ้นอีก ต่อมาอีกราว ๒๐ ปี คือประมาณ พ.ศ. ๒๒๗๕  พระราชาจึงได้ทรงตั้งตุลาการขึ้นพิจารณาฟังข้อความจากทั้งสองฝ่าย เพื่อจะได้ตัดสินว่าควรจะเอาอย่างไรกัน บังเอิญเหตุการณ์ยุ่งๆ ทางการเมืองในปี พ.ศ. ๒๒๘๓ ทำให้เรื่องกรณีพิพาทนี้ชะงักไปชั่วคราว ต่อเมื่อพระเจ้าอลองพญา (Alompra) ทรงกำจัดอุปสรรคและศัตรูต่างๆ หมดแล้ว พระองค์ก็ทรงเริ่มดำเนินงานต่อ พวกในราชสำนักต้องรักษาอุโบสถ พระเจ้าอลองพญา ก็ทรงพยายามบำเพ็ญตนให้เสมือนพระเจ้าอโศกมหาราช จนคนทั้งหลายเข้าใจกันว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง สำหรับปัญหาเรื่องการห่มผ้านี้ พระองค์ไม่ค่อยเอาภารธุระจริงๆ จังๆ นัก ทรงมอบให้พระอาจารย์ของพระองค์ชื่อ พระอตุละ ซึ่งเป็นพวกเอกังสิกะเป็นผู้รับผิดชอบ และให้คณะสงฆ์ฟังคำสั่งสอนของท่านอตุละ แต่พระฝ่ายปารุปนะหลายองค์ที่เก่งๆ ไม่ยอมเชื่อฟัง และยังคงยึดมั่นในความเห็นเดิม เรื่องนี้ยังไม่ทันเสร็จ พระเจ้าอลองพญา ก็สวรรคตเสียก่อน

ท่านอตุละ ถ้าไม่นักปราชญ์จริงๆ ก็ต้องเป็นพระที่ฉลาดและมีคารมคมคายมาก หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาสวรรคตแล้ว ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไป และก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อหาใดๆ ต่อพวกเอกังสิกะอีก  ต่อมาพระเจ้าจิงกูจาหรือจิงกูมิน (Sing-gu-sa) ซึ่งทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสินพะยูฉินหรือพระเจ้ามังระ (Sin-byu-shin)  ซึ่งแปลว่าพระเจ้าช้างเผือก ได้จัดให้มีการโต้วาทีกันระหว่างพระสองพวกนี้และในที่สุดพวกเอกังสิกะเป็นฝ่ายแพ้ แต่นั้นต่อมาพระเจ้าจิงกูจาหรือจิงกูมินจึงได้ทรงประกาศเป็นพระบรมราชโองการให้พระทั้งหลายปฏิบัติตามแบบพระฝ่ายปารุปนะ คือให้ห่มคลุมทั้งหมด

ต่อมาในสมัยพระเจ้าบูโดพญา หรือพระเจ้าปู่ หรือพระเจ้าปะดุง (Bodobaya : พ.ศ.๒๓๔๑-๒๓๖๒) เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก พระเจ้าบูโดพญาทรงเข้าพระทัยว่า พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง อย่างไรก็ดี อย่างน้อยพระองค์ก็สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ พระเถระฝ่ายปารุปนะรูปหนึ่ง ชื่อ ญาณาภวังสะ ได้มีอิทธิพลเหนือพระองค์มากในเรื่องนี้ ต่อมาพระองค์ได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งพระอาจารย์ประจำราชสำนัก ทั้งๆ ท่านอตุละก็ยังมีชีวิตอยู่ เบื้องแรกได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดฝ่ายเอกังสิกะยอมรับว่า ที่ตนได้ปฏิบัติอยู่นั้นหาได้ทำตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไม่ หากแต่ทำตามประเพณีที่ทำสืบๆ กันมาเท่านั้นเอง พระเจ้าบูโดพญา จึงได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามแบบพระฝ่ายปารุปนะ  สองปีต่อมา ท่านอตุละได้ส่งจดหมายไปถวายพระเจ้าบูโดพญา อ้างว่าที่พระฝ่ายเอกังสิกะปฏิบัติอยู่นั้นถูกต้องตาม คัมภีร์จูลคันถีปาฐะ  ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์รจนาไว้แล้ว พระราชาจึงทรงโปรดให้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวน แล้วได้มีการอภิปรายและโต้วาทีกัน  ปรากฏว่า คัมภีร์ที่ท่านอตุละอ้างนั้น เป็นคัมภีร์ที่เพิ่งเขียนขึ้นในประเทศลังกาภายหลัง โดยพระเถระรูปหนึ่งชื่อ โมคคัลลานะเหมือนกัน  ตั้งแต่นั้นมาพวกเอกังสิกะก็เสื่อมลงตามลำดับและหมดไปในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระราชาก็ทรงประกาศพระบรมราชโองการให้พระทุกรูปปฏิบัติตามแบบพวกปารุปนะสืบไป

ในรัชสมัยพระเจ้าบูโดพญานี้ การพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ได้ทรงสั่งให้นำพระมหามัยมุนี  จากแคว้นยะไข่ (Arakan) มาไว้ในเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงส่งพระพม่าไปประดิษฐานพระสงฆ์อมรปุรนิกายในลังกา พร้อมทั้งได้นำคัมภีร์พระพุทธศาสนาภาคภาษาบาลีไปด้วย  พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆ มาก็ทรงสนพระทัยในการบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง (Min-don-min ) คือระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๐ การพระพุทธศาสนาได้เจริญถึงที่สุดเพราะพระเจ้ามินดงทรงเป็นกษัตริย์ที่สามารถ รักสันติและใจบุญ พระอาจารย์ของพระองค์ชื่อ พระปัญญาสามี ได้รจนาคัมภีร์ศาสนวงศ์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพระศาสนาของพม่าขึ้น พระเจ้ามินดงทรงมีชื่อเสียงมาก เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการทำสังคายนา ครั้งที่ ๕ ในเมืองมันดะเล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ และมาแล้วเสร็จปี พ.ศ. ๒๔๑๔ และได้จารึกพระไตรปิฎกลงไว้บนแผ่นหินอ่อนและทำสถูปครอบไว้รวม ๔๕๐ องค์  ซึ่งขณะนี้ก็ยังปรากฏอยู่ ณ เชิงภูเขาในกรุงมันดะเล  ต่อจากพระเจ้ามินดง ก็ถึงพระเจ้าธีบอ หรือสีป๊อ (Thibaw) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า และถูกอังกฤษถอดจากตำแหน่ง ในรัชสมัยพระเจ้าธีบอนี้ พระสังฆราชปัญญาสามีก็ยังทรงมีพระชนม์อยู่

เมื่ออังกฤษได้ครอบครองพม่า และถอดพระเจ้าแผ่นดินออกแล้ว ปัญหาก็เกิดขึ้นมาว่า เดิมทีพระสังฆราชนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงแต่งตั้ง  ไม่ใช่คณะสงฆ์แต่งตั้ง บัดนี้ไม่มีกษัตริย์แล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อลอร์ด เคอร์สัน (Curzon) ได้มาเยือนพม่าใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ท่านได้จัดการเรื่องนี้ได้จนเรียบร้อย โดยมอบให้คณะสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้เลือก แล้วทางรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกสืบต่อจากท่านปัญญาสามี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ก็คือท่านตองวิน (Taunggwin) แล้วรัฐบาลอังกฤษก็ได้แต่งตั้ง “ให้เป็นศาสนไบง์” (Sasanabaing)  ซึ่งแปลว่า “เจ้าของศาสนา” มีตำแหน่งหน้าที่เทียบเท่าสมเด็จพระสังฆราช

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 12:54:54 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 30 สิงหาคม 2556 10:32:54 »

.

หลังจากอังกฤษได้ยึดเอาประเทศพม่าเป็นประเทศราชแล้ว กิจการพระพุทธศาสนาก็เป็นไปตามยถากรรม คือไม่ได้รับความอุปถัมภ์อย่างสมัยที่พม่าเป็นเอกราช มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก นับว่ายังเป็นโชคดีอยู่ ที่พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในชีวิตจิตใจของชาวพม่าเสียแล้ว จนกระทั่งคำว่า “พม่า” กับ “พุทธศาสนิก” เกือบจะเป็นคำเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงดำรงมั่นมาได้ ทั้งนี้ก็โดยความร่วมแรงร่วมใจระหว่างพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่านั่นเอง แม้ว่าจะมีความบกพร่องบ้าง แต่ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ก็น่าเห็นใจมากอยู่

พระพุทธศาสนามีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของชาวพม่ามาก แทบจะแยกกันไม่ออกทีเดียว ชาวพม่าคนใดถือศาสนาอื่นจากพุทธศาสนา เขาเรียกกันว่า “กะละ” (Kala) ซึ่งแปลว่า “ชาวต่างประเทศ” (เพียนมาจาก กุลา = แขก) คือกลายเป็นคนแปลกไป ชาวพม่าส่วนมากนิยมการบวชเป็นสามเณรมาก เกือบจะพูดได้ว่า ผู้ชายชาวพม่าที่นับถือพระพุทธสาสนาทุกคนเคยบรรพชาเป็นสามเณรมาแล้วทั้งนั้น และก็มีไม่น้อยที่ได้อุสมบทเป็นภิกษุ การบรรพชาอุปสมบทในพม่าถือเป็นประเพณี มากกว่าที่จะบวชแบบสละโลก หลังจากที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทแล้ว อาจลาสิกขาไปดำรงเพศเป็นฆราวาสเมื่อใดก็ได้ ชาวพุทธที่เคร่งครัดมากจะนิยมส่งบุตรหลานของตนไปอยู่ที่วัดชั่วระยะหนึ่ง บางทีก็นาน บางทีก็ชั่วระยะเวลาอันสั้น  ทั้งนี้เพราะชาวพม่าถือกันว่า การที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้นั้น จะต้องมีชีวิตอยู่ในวัดชั่วระยะหนึ่ง  มิฉะนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน พุทธศาสนิกชนชาวพม่า จึงมักจะสวดพุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ ได้ทุกคน และจะสวดเสมอ ทั้งในเวลาเช้าและเย็น ชาวพม่านิยมสร้างพระเจดีย์มาก ไม่ว่าที่ใดถ้ามีเนินสูงๆ มักจะเห็นเจดีย์เสมอ  ทุกๆ วัดจะมีโรงเรียน เพราะวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาเช่นเดียวกับในประเทศไทย

มีพระภิกษุชาวพม่ามากมายที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาพระไตรปิฎกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมปิฎก เวลานี้มีพระเถระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมดอยู่ ๒ รูปด้วยกัน คือ ท่านวิจิตราภิวังสะ กับ ท่านวิมลาภิวังสะ   นอกจากนั้นก็ทำงานที่เด่นๆ ไว้มากเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวรรณกรรม เช่นมีบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ กฎหมายเกี่ยวกับทางจริยธรรมและทางการเมือง รวมทั้งโคลงกลอนต่างๆ นอกจากนั้นพระพม่าก็ออกจะยุ่งและก้าวก่ายในทางการบ้านการเมืองอยู่มาก และเสียงของพระเป็นเสียงที่ค่อนข้างดังมากสักหน่อย ทั้งเป็นอาจารย์คอยแนะนำ แก้ปัญหาทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและการบ้านการเมือง และบางกรณี การเกี่ยวข้องของพระก็ทำให้ยุติกรณีพิพาทต่างๆ ของชาวบ้าน ทำให้เกิดสันติสุขและประชาชนได้รับความยุติธรรมมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙  เมื่ออังกฤษได้ผนวกพม่าไว้ในอำนาจ สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงห้ามไม่ให้พระสงฆ์เข้ายุ่งกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ทั้งนี้เพราะพระเจ้าธีบอ ได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการแจ้งว่า วัตถุประสงค์ที่อังกฤษรุกรานพม่า ก็เพื่อทำลายพระพุทธศาสนานั่นเอง ซึ่งเป็นการเอาศาสนาเข้าไปยุ่งกับการเมืองโดยแท้ เพราะผู้มีอำนาจอาจถือเอาศาสนาเป็นเครื่องมือ สำหรับสร้างอารมณ์ร่วมในด้านการเมืองได้ และโดยเหตุนี้เองที่ทำให้พระพม่าบางรูปเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่อยมา

การที่พระพม่ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากจะเห็นได้ชัดก็คือ นับตั้งแต่ระยะเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา จนถึงระหว่างสงครามโลกนั้น พระพม่าได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อเอกราช เช่น ท่าน อู วิสาระ และ อู โอตตมะ และพระภิกษุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ มาแล้ว  พม่าโดยการนำของนายกรัฐมนตรี อูนุ ได้จัดให้มีการทำ ฉัฏฐสังคายนา คือ การสังคายนาครั้ง ๖ (นับแบบพม่า เขาถือว่าการสังคายนาสมัยพระเจ้ามินดง เป็นการสังคายนาครั้งที่ ๕) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และมาเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันวิสาขบูชาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามแบบของพม่าและลังกา)  ในการสังคายนานี้  รัฐบาลพม่าได้อาราธนาพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ คือ อินเดีย ลังกา เนปาล กัมพูชา ไทย ลาว และปากีสถานไปทำสังคายนาร่วมกับพระพม่าอีก ๕๐๐ รูป  เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ก็ได้จัดทำการสังคายนาอรรถกถาและฎีกาต่อไป

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายตั้งสำนักสงฆ์คล้ายๆ เป็น ศาลพระ ขึ้นสองแห่ง คือที่เมืองย่างกุ้งแห่งหนึ่ง กับที่เมืองมันดะเลอีกแห่งหนึ่ง  กฎหมายฉบับนี้เรียกว่า “ธรรมาจริยะ”  “ศาล” ทั้งสองแห่งนี้มีหน้าที่สอดส่องและส่งเสริมคณะสงฆ์ให้มีระเบียบวินัยยิ่งขึ้น  แต่ “ศาลพระ” นี้ต้องประสบปัญหายุ่งๆ เสมอ  กฎหมายฉบับที่สองชื่อ “วินิจฉัย”  ออกมาเพื่อประกาศตั้งมหาวิทยาลัยบาลี เพื่อจัดการศึกษาและการสอบของพระให้รัดกุมยิ่งขึ้น และกฎหมายฉบับที่สามชื่อว่า “องค์พระพุทธศาสนา”   ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแปลคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถาและฎีกาสู่ภาษาพม่า

ในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งนี้ แม้ว่านายกรัฐมนตรี อูนุ จะไม่ได้รับการโต้แย้ง คัดค้าน จากสมาชิกรัฐสภาก็จริง แต่ก็มีผู้สนับสนุนงานนี้จริงๆ น้อยมาก อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วย “องค์การพระพุทธศาสนา” นี้แหละได้เป็นเหตุนำไปสู่การกระทำสังคายนาครั้งที่ ๖

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายรับรองพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาประจำชาติ และยังได้ออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่งรับรองว่า จะให้ความคุ้มครองและความอุปถัมภ์แก่ทุกๆ ศาสนาซึ่งมีอยู่ในพม่า อันได้แก่ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู เป็นส่วนใหญ่

ตามสถิติ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕  ประมาณกันว่า ประเทศพม่ามีพลเมืองประมาณ ๑๘,๕๐๐,๐๐๐ คน  จากจำนวนประชาชนทั้งหมดนี้ก็พอประมาณได้ว่า มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๑๕ ล้านคน คือมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๘๐%

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ตุลาคม 2556 12:53:05 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 01 ตุลาคม 2556 13:18:34 »

.

http://www.sookjaipic.com/images/3694268597_4.JPG
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะแบบขอม
ประดิษฐานที่พระที่นั่ง พระนายรายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา
กัมพูชาหรือเขมรนั้น  เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์อยู่ในแหลมอินโดจีนติดต่อกับประเทศไทยทางด้านตะวันออก  เข้าใจกันว่าเขมรมีเผ่าพันธุ์เกี่ยวเนื่องกับพวก  “มุณฑะ”  (Mundas)  ในอินเดียกับพวกมลายู  และพวกโปลินีเซีย  (Polynesian)  ในด้านภาษามีความสัมพันธ์กับพวกมอญซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของพม่า  และมีความสัมพันธ์กับพวก  “ขะเซีย”  (Khasias)  ในอัสสัม  แต่ก็ไม่มีเหตุผลใด ๆ  ที่จะพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชาหรือเขมรมีความสัมพันธ์กับพวกเวียดนามทางด้านสายเลือด  ความละม้ายคล้ายคลึงกันในระหว่างภาษามอญกับเขมรนั้นทำให้เข้าใจกันว่า  บรรพบุรุษของมอญและเขมรในสมัยหนึ่ง  คงมีอยู่ทั่วไปในแหลมอินโดจีนภาคกลางและภาคตะวันตก  ต่อมาได้ถูกพวกไทยซึ่งอพยพลงมาทางตอนใต้ของประเทศจีนแทรกเข้ามาในระหว่างมอญกับเขมร  จนในที่สุดทำให้มอญไปอยู่ทางตะวันออกและไทยอยู่ตรงกลาง

พวกเขมรเรียกตัวเองว่า  กัมพูชา  และเรียกชื่อประเทศว่า  “ซรอก  กามปูเจีย”  (Srok  Kampuchea)  หรือ  ”ซรอก  เขมร”  คำว่า  “กัมพูชา”  นี้  เข้าใจกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียอยู่ด้วยเพราะในอินเดียมีแคว้นหนึ่งชื่อ  แคว้นกัมโพชะ  แต่ชาวเขมรเข้าใจว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจาก  “ท้ามกามพู  สวยัมภูวะ”  (Kambu  Svayambhuva)  กับนางเปรา  (Pera)  หรือเมรา  (Mera)  ซึ่งพระอิศวรประทานให้เป็นชายาของท้าวกามพู  สวยัมภูวะ

นิยายนี้จะพิสูจน์ว่าเขมรมาจากอินเดียหาได้ไม่  แต่ไม่ต้องสงสัยละว่า  เขมรจะต้องได้รับอารยธรรมมาจากอินเดียอย่างแน่นอน  นอกจากนั้นก็มีพวกราชตระกูลและผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูอีกมายมายที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศกัมพูชา  นักเดินทางชาวจีนจากราชสำนักตีมูร์ข่าน  ชื่อ  “เจาตากวน”  (พ.ศ. ๑๘๓๙)  ได้กล่าวไว้ว่า  ประเทศที่คนจีนเรียกว่า  “เจนละ”  (Chenla)  นั้น  ชาวพื้นเมืองเขาเรียกกันว่า  “กันโปจี”  ซึ่งเข้าใจว่าตรงกับคำว่า  “กัมพูชา”  นั่นเอง  ส่วนต้นเค้าของคำว่า  “เจนละ”  นั้นไม่ปรากฏว่ามาจากไหน

มีกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจนละกับอาณาจักรฟูนันซึ่งเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์จีนเรียกกันอยู่จนกระทั่งถึงปลายพุทธศตวรรษที่  ๑๒  อาณาจักรฟูนันนี้เข้าใจกันว่าเป็นภูมิภาคทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือบางทีอาจเป็นภาคกลางของอินโดจีนก็ได้  บางพวกก็เถียงว่า  “เจนละ”  ก็คือชื่อเก่าของอาณาจักร  “ฟูนัน”  นั่นเอง  หรืออีกนัยหนึ่งก็ว่า  คำว่า  “ฟูนัน”  เป็นคำที่มีความหมายกินวงกว้างมาก  คือ  รวมรัฐต่าง ๆ ไว้มากมายซึ่งมีเจนละหรือกัมพูชาอยู่ด้วย  บันทึกจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์สุย  (Sui)  กล่าวว่า  “เจนละ”  อยู่ทางทิศตะวันตกของหลินอี้  (Lin – yi)  ซึ่งเดิมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักร  “ฟูนัน”  นามของราชตระกูลคือกษัตริย์  พระนามของกษัตริย์องค์นั้นชื่อ  จิตรเสน  ราชบรรพบุรุษของพระเจ้าจิตรเสนมีอธิปไตยเหนือประเทศนี้มากยิ่งขึ้นทุกที  พระเจ้าจิตรเสนทรงยึดฟูนันได้และลดฐานะฟูนันลงมาเป็นเมืองออก  ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นที่แจ่มแจ้งพอแล้ว  และเรายังได้ทราบจากศิลาจารึกต่าง ๆ ของกัมพูชาอีกว่า  จิตรเสนเป็นพระนามของกษัตริย์ที่ปกครองฟูนันอย่างเดียวกับพระเจ้ามเหนทรวรมัน  (ประมาณ  พ.ศ. ๑๑๔๓)  เหมือนกัน

เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีโดยทั่ว ๆ ไปแล้วว่าประเทศกัมพูชานั้นได้รับอิทธิพลแห่งความเจริญทางด้านจิตใจมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่  ศาสนาที่เป็นสาระสำคัญศาสนาแรกก็คือศาสนาพราหมณ์และต่อมาก็คือพระพุทธ ศาสนา  ปัจจุบันนี้ศาสนาทั้งสองยังขยายตัวออกไปและเป็นที่นับถือกันในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่

ความเชื่อถือของประชาชนชาวกัมพูชาแต่เดิมนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับความเชื่อถือของบุคคลสมัยก่อนประวัติศาสตร์  คือ  มีความเชื่อดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  และให้ความเคารพสักการะแก่เจ้าป่าเจ้าเขา  เทวดาต่าง ๆ  เป็นต้น

ชนชาติกัมพูชาก็เหมือนกับชนชาติอื่น ๆ ในสมัยโบราณนั่นเอง  คือ  ได้รับนับถือศาสนาไม่เพียงเพราะความกลัวเท่านั้น  แต่ทว่ายังเชื่อถือสิ่งต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นอีกด้วย  และพร้อมกันนั้นเมื่อศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าไปถึงก็ได้ยอมรับนับถือศาสนาทั้งสองนี้ปน ๆ ไปกับความเชื่อถือเดิม

ความจริงที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชาก็คือ  กัมพูชาได้ถูกอิทธิพลของอินเดียครอบคลุมอยู่เรื่อยมานับตั้งแต่ต้นทีเดียว  ซึ่งนับว่าเป็นอิทธิพลที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางด้านการค้า  การแสวงหาเมืองขึ้น  และการพิชิตดินแดงต่าง ๆ ไว้ในอำนาจของพวกอินเดียนั่นเอง

ในพุทธศตวรรษที่  ๒๔  นี้เอง  ที่พวกฮินดูได้มีความคุ้นเคยกับพวกเขมรมากเป็นพิเศษ  และได้อพยพเข้ามาอยู่กัมพูชามากกว่าในสมัยก่อน ๆ  เดิมทีเดียวพวกที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นผู้ยึดมั่นในหลักปฏิบัติที่ห้ามข้ามน้ำข้ามน้ำทะเลไปสู่แดนไกล  แต่ต่อมากฎข้อบังคับนี้ก็ไม่ค่อยมีใครเอาใจใส่นักจึงเป็นเหตุให้พวกฮินดูอพยพออกนอกประเทศมากขึ้น

ในชาดกต่าง ๆ  ได้กล่าวถึงการเดินทางไปยังเมืองบาบิโลนและได้กล่าวถึงพระเจ้าวิชัยและพระมหินทเถระเดินทางไปลังกาเมื่อต้นพุทธศักราชและประมาณ  พ.ศ. ๓๐๐  เศษ ตามลำดับ  แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดใด ๆ ที่ระบุถึงสมัยที่พวกฮินดูได้เดินทางไปพ้นแหลมมลายูเป็นครั้งแรกเลย  แต่ในมหากาพย์รามายนะก็ได้พูดถึงชวาด้วยเหมือนกัน  คัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศ  “จัมปา”  นั้นมีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่  ๗ – ๘  จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สิน  (Tsin)  ได้กล่าวว่า  ในสมัยก่อนราชวงศ์สินนั้นได้มีพวกฮินดูมาอยู่ในอาณาจักรฟูนันแล้ว  ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่า  พวกฮินดูคงมาถึงดินแดนซึ่งเรียกว่ากัมพูชานี้ในราวพุทธศตวรรษที่  ๖  ปัจจุบันนี้เราอาจพูดได้ว่า  การสถาปนาอาณาจักรฮินดูขึ้นมานั้น  บางทีอาจมีความเกี่ยวโยงไปถึงพวกพ่อค้าชาวฮินดูสมัยแรก ๆ ด้วยก็ได้  การเดินทางไปตามชายฝั่งทะเลด้านทิศใต้ของอินโดจีนและตามหมู่เกาะต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นหลังจากที่พวกฮินดูได้มาตั้งมั่นอยู่ตามบริเวณคอคอดกระ  เช่น  ที่เมืองนครศรีธรรมราชเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุที่ทำให้พวกฮินดูอพยพมาทางตะวันออกอย่างมากมายนั้น  กล่าวกันว่าเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการดัวยกัน  เช่น  เนื่องจากได้มีการทำลายและประหัตประหารนักศาสนาในอินเดีย  การเผยแผ่ศาสนา  การผจญภัยทางการค้าและทางการเมือง  สำหรับสาเหตุประการแรกนั้น  อาจเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญนักก็ได้  ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการประหัตประหารภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในอินเดียอยู่น้อยมาก  และที่ยิ่งน้อยไปกว่านั้นอีกก็คือ  เรื่องที่ชาวพุทธจะประหัตประหารชีวิตพวกพราหมณ์  อย่างไรก็ดี  เหตุการณ์ทำนองนี้ก็ได้มีเกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน  แต่ทว่าเป็นสมัยหลัง ๆ คือ  สมัยที่พวกมุสลิมบุกรุกอินเดีย  สำหรับในเรื่องการเผยแผ่ศาสนานั้น  เราไม่ถือว่าพวกอินเดียที่มาตั้งหลักฐานอยู่ในกัมพูชาหรือในแหลมอินโดจีนนี้เป็นพวกเผยแผ่ศาสนา  พวกพราหมณ์มีความตั้งใจอย่างมั่นคงในอันที่จะปฏิบัติตามและเอาใจใส่สอดส่องดูความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมฮินดูอยู่เสมอ  แต่พวกนี้หาได้มีความสนใจที่จะอบรมสั่งสอนชาวต่างประเทศให้เลื่อมใสในศาสนาฮินดูไม่  คอยพยายามที่จะอบรมสั่งสอนเฉพาะพวกฮินดูด้วยกันที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในต่างประเทศเท่านั้น  แต่นักเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความรู้สึกในการที่จะสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าใจพระพุทธศาสนาอยู่มากทีเดียว  และการที่นักเผยแผ่ศาสนาเหล่านี้ได้เดินทางไปต่างประเทศเสมอ ๆ ได้เร้าใจประชาชนในวรรณะต่าง ๆ ให้อยากไปต่างประเทศบ้าง  แต่ก็หามีหลักฐานใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า  พวกฮินดูได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศชวาและกัมพูชาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับสมัยที่พระมหินทเถระเดินทางไปลังกาเลย  ทั้งยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า  “ราชา”  อินเดียทั้งหลายเป็นผู้สั่งให้บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้เดินทางไปชวาและกัมพูชาอีกด้วย  ทั้งนี้เพราะไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า  ราชาทั้งหลายได้สั่งพวกนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ  และไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่ารัฐต่าง ๆ ในอินเดียได้อ้างสิทธิว่าตนมีอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้  เพราะฉะนั้นเรื่องการสถาปนาอาณาจักรฮินดูขึ้นในชวาและกัมพูชาจึงเป็นเรื่องของพวกพ่อค้าพาณิชและนักท่องเที่ยวผจญภัยซึ่งเดินทางมาตามสายการค้า  และต่างก็มีเหตุผลเป็นของตนเองในกรณีที่จะต้องจากประเทศอินเดียไป  ในประเทศกัมพูชาก็ได้มีการสถาปนาราชวงศ์อินเดียขึ้น  หลังจากที่ได้มีการต่อสู้ดิ้นรนอยู่ชั่วระยะเวลาอันสั้นเท่านั้นเอง  แต่ในที่อื่น ๆ  เช่น  ชวาและสุมาตรา  อารยธรรมอินเดียได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงมาก  ทั้งนี้เพราะหัวหน้าชาวพื้นเมืองทั้งหลายได้ยอมรับเอาอารยธรรมเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติตามอย่างเสรี  มิใช่โดยการถูกบังคับขู่เข็ญให้ยอมรับนับถืออย่างที่ผู้ชนะมักปฏิบัติต่อผู้แพ้ที่ตกอยู่ในอำนาจของตนเลย

ศิลาจารึกต่าง ๆ ในกัมพูชาทำให้เราทราบประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๑ – ๑๘  ดีขึ้นมากทีเดียว  สำหรับประวัติศาสตร์ในสมัยแรก  เราจำต้องอาศัยจดหมายเหตุของจีนทั้งหมด  และจดหมายเหตุจีนนั้น ก็บันทึกเพียงเรื่องสัมพันธภาพระหว่างจีนกับฟูนันซึ่งมีอยู่เป็นครั้งคราวเท่านั้นเอง  ไม่มีอะไรที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นเลย  จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์สินกล่าวว่า  ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๘๐๘  เป็นต้นมา  กษัตริย์แห่งฟูนันได้ส่งคณะทูตไปยังราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนหลายครั้งหลายหน  และยังกล่าวไว้ด้วยว่า  ประชาชนชาวฟูนันมีหนังสืออ่านแล้วและเขียนคล้าย ๆ กับตัวหนังสือของพวก  “หู”  (Hu)  ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในเอเชียกลาง  จดหมายเหตุที่กล่าวนี้คงหมายเพียงว่าอักษรแบบฟูนันคงแตกต่างจากอักษรจีนนั่นเอง  ผู้จัดบันทึกนี้ยังได้กล่าวเสริมไว้อีกว่า  ผู้ครองอาณาจักรฟูนันนั้นเป็นสตรี  ต่อมามีชายแปลกหน้าผู้หนึ่งชื่อ  หูหุย (Hu  Hui)  ซึ่งเป็นผู้ที่บูชาเทพยดาอารักษ์ต่าง ๆ ได้ฝันว่ามีเทวดาองค์หนึ่งได้มอบธนูให้แก่พวกเขาแล้วรับสั่งให้แล่นใบไปยังอาณาจักรฟูนัน  เขาสามารถยึดอาณาจักรนี้ได้  และได้อภิเษกสมรสกับราชินีแห่งอาณาจักรนั้น  แต่ผู้ที่สืบสายโลหิตมาจากหูหุยนั้นมีความสามารถน้อยลงตามลำดับ  ผู้สืบสายโลหิตต่อมาคนหนึ่งชื่อ  “ฟานซุน”  (Fan  Hsun)  ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นอีกราชวงศ์หนึ่ง  ส่วนจดหมายเหตุราชวงศ์จิ  (Chi)  (พ.ศ. ๑๐๒๒ – ๑๐๔๔)  ได้เล่าเรื่องในทำนองเดียวกันนั่นแหละ  แต่กล่าวว่าชายแปลกหน้าผู้นั้นชื่อ  ฮุ่นเทียน  (Hun  Tien)  และว่าชายแปลกหน้าผู้นี้ไปจากแคว้นจิ  หรือแคว้นเจียว  (Chiao)  ซึ่งก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน  จดหมายเหตุนี้ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า  จนกระทั่งถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ กษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนันซึ่งอยู่ในราชวงศ์  “เชียวเชิ่นหรู” (Chiao – ch’  en – ju)  หรือ  “โกณฑัญญะ”  พระนามว่า  เชเยโปโม  (ชัยวรมัน)  ได้ติดต่อค้าขายกับเมืองกวางตุ้ง  ได้มีพระภิกษุทางพระพุทธศาสนารูปหนึ่งชื่อ  “นาคเสน”  ได้ติดตามพวกพ่อค้าชาวฟูนันมาจากกวางตุ้งด้วย  แต่เรือมาแตกที่ชายฝั่ง  “หลินอี้”  ซึ่ง  “ฟานตัง”  (Fan – Tang)  โอรสของกษัตริย์ชัยวรมัน  โกณฑัญญะไปยึดไว้ในอำนาจได้เมื่อ  พ.ศ. ๑๐๒๑ เมื่อพวกพ่อค้าและท่านนาคเสนขึ้นฝั่งได้แล้วก็ถูกโจรปล้นทรัพย์สินเงินทองไปหมด  กว่าท่านนาคเสนจะมาถึงราชสำนักฟูนันเพื่อกราบทูลเรื่องราวให้พระเจ้าชัยวรมันทรงทราบได้ก็ค่อนข้างยากลำบากมาก  และมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ได้ทูลให้กษัตริย์ชัยวรมันทรงทราบก็คือ  แม้องค์จักรพรรดิของจีนก็นับถือพระพุทธศาสนาเช่นกัน  ซึ่งเป็นเหตุทำให้พระเจ้าชัยวรมันทรงโปรดปรานท่านนาคเสนมาก  ดังนั้นในปี  พ.ศ. ๑๐๓๐ พระเจ้าชัยวรมันก็ส่งท่านไปเฝ้าจักรพรรดิวู่ตี่  เพื่อทูลขอให้จักรพรรดิจีนช่วยขับฟานตังออกจากราชบัลลังก์จัมปาและลงโทษให้ด้วย  เพราะฟานตังได้เคยทำการปฏิวัติในฟูนันก่อนที่จะหนีไปยึดอาณาจักรหลินอี้  แต่จักรพรรดิวู่ตี่ก็ทรงเฉยเสียและทรงยกย่องให้ฟานตังเป็นกษัตริย์หลินอี้ต่อไป  แต่ทว่าก่อนที่คณะทูตจะกลับมาถึงฟูนัน  ฟานตังก็ถูกขับออกจากราชบัลลังก์แล้ว  พระนาคเสนได้ทูลจักรพรรดิวู่ตี่ว่าฟูนันเคร่งครัดในศาสนามาก  และนับถือพระมเหศวรเป็นเสมือนเทพเจ้า  ซึ่งก็คล้ายกับบอกว่าฟูนันนับถือพระพุทธศาสนา  และยกย่องพระพุทธศาสนาเป็นอย่างสูงนั่นเอง

จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์เหลียงกล่าวว่า  ในสมัยจักรพรรดิหวู  (พ.ศ. ๗๖๕ – ๘๒๓)  กษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนันพระนามว่า  ฟานจัน  (Fan  Chan)  ได้ส่งพระญาติผู้หนึ่งชื่อ  ซูหวู  (Su – Wu)  เป็นทูตไปยังประเทศอินเดียเพื่อไปเฝ้าพระเจ้าเม่าหลุน  (Mao  Lun)  ซึ่งคงจะหมายถึงพระเจ้ามุรุณฑะที่ครองเมืองอยู่แถบลุ่มแม่น้ำคงคา  คัมภีร์ปุราณะและปโตเลมีได้กล่าวถึวพวกมุรุณฑะด้วยเหมือนกัน  พระเจ้าเม่าหลุนได้ทรงส่งคณะทูตไปยังอาณาจักรฟูนันเป็นการตอบแทนทันที  และราชทูตของพระเจ้าเม่าหลุนก็ได้พบกับราชทูตจีน  ณ  ราชสำนักฟูนันนี้

จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์เหลียงได้ปรากฏข้อความดังต่อไปนี้อยู่ด้วยคือ  ในระหว่าง  พ.ศ. ๙๐๐ – ๙๖๗ ซึ่งเป็นสมัยที่ฟูนันส่งราชทูตไปยังประเทศจีนบ่อย ๆ นั้น  ก็มีพราหมห์ผู้หนึ่งชื่อ  เชียวเชิ่นหยู  (โกณฑัญญะ)  ได้ยินเสียงสวรรค์บัญชาให้เขาไปครองอาณาจักรฟูนัน  เมื่อเขาไปถึงฟูนันก็ได้รับการรับรองเป็นอย่างดียิ่ง  และได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์  แล้วพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ มาใช้แบบอินเดียแทน  ผู้สืบสายจากพระองค์ผู้หนึ่งพระนามว่า  ชัยวรมัน  ได้ส่งพระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่งไปถวายจักรพรรดิวู่ตี่  (พ.ศ. ๑๐๔๕ – ๑๐๙๓)  และในปี  พ.ศ. ๑๐๔๖  ก็มีพูดกันว่าชาวฟูนันได้สร้างรูปยักษ์และเทวดาต่าง ๆ ด้วยทองคำ  ทำให้มีสองเศียรบ้าง  สี่เศียรบ้าง  มีสี่หัตถ์บ้าง  แปดหัตถ์บ้าง  ผู้ที่ครองราชสืบต่อจากพระเจ้าชัยวรมันก็คือ  พระเจ้ารุทรวรมัน  หรือ  หลิวโทปะโม  (Liu–t’o–pa–mo)  ก็ได้ส่งเทวรูปไม้จันทร์ไปถวายจักรพรรดิจีนเมื่อปี  พ.ศ. ๑๐๖๒  และในปี  พ.ศ. ๑๐๘๒ ก็ได้ส่งพระเกสาของพระพุทธเจ้าซึ่งยาวถึง ๑๒ ฟุต  ไปถวายพระเจ้ากรุงจีนด้วย  จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์สุยกล่าวว่า  พระเจ้าจิตรเสนแห่งอาณาเจนละทรงพิชิตอาณาจักรฟูนันได้  และโอรสของพระองค์พระนามว่า  อีสานเสน  ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา

ฟูนันดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในสมัยพระเจ้าชัยวรมันซึ่งครองราชตั้งแต่  พ.ศ. ๑๐๒๑  จนถึงต้น  พ.ศ. ๑๐๕๗  ในระหว่างนี้เองได้มีพระภิกษุจากอาณาจักรฟูนันไปเมืองจีนเพื่อแปลเอกสารทางพระพุทธศาสนารูปหนึ่งชื่อ  สังฆปาละ  หรือสังฆวรมัน  ซึ่งเกิดเมื่อปี  พ.ศ. ๑๐๐๓  เมื่อได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ฉี  ท่านก็โดยสารสำเภาไปยังเมืองจีน  โดยเหตุที่ท่านรู้หลายภาษา  จักรพรรดิหวูแห่งราชวงศ์เหลียงจึงได้อาราธนาให้ท่านแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกในระหว่างเวลา  ๑๖  ปี  ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๔๙ – ๑๐๖๕  ท่านได้ทำงานอยู่ในที่ต่าง ๆ  รวม  ๕  แห่งด้วยกัน  มีอยู่แห่งหนึ่งมีชื่อว่า  “สำนักงานฟูนัน”  ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อ  พ.ศ. ๑๐๖๗  ภิกษุชาวฟูนันอีกรูปหนึ่งเดินทางไปเมืองจีนเพื่อแปลคัมภีร์พร้อมกับท่านสังฆปาละนี้ชื่อ  มันทระ  หรือมันทรเสนะ  ท่านไปถึงเมืองจีนเมื่อ  พ.ศ. ๑๐๔๖  ต่อมาจักรพรรดิหวูทรงขอให้ท่านร่วมงานกับท่านสังฆปาละแต่ท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาจีนเลย  นอกจากนั้นก็มีภิกษุทางพระพุทธศาสนาอีกหลายรูปที่เดินทางจากฟูนันไปยังประเทศจีน

พระเจ้ารุทรวรมันแม้จะทรงนับถือพระพุทธศาสนาแต่พระองค์ก็ทรงระมัดระวังในอันที่จะคงรักษาระบบการบูชาพระศิวะของบ้านเมืองไว้  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อราชบัลลังก์ของพระองค์นั่นเอง  เพราะชนชั้นปกครองที่มีอำนาจอยู่ในบ้านเมืองนั้นยังมีผู้นับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะอยู่ไม่น้อย

ข้อความต่าง ๆ  ที่ปรากฏอยู่ในบันทึกจดหมายเหตุของจีนเหล่านี้ก็มีปรากฏว่ามีอยู่ในศิลาจารึกของกัมพูชาด้วยเช่นกัน  ในศิลาจารึกนั้น ได้กล่าวถึงพระเจ้ารุทรวรมันและมีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ที่อ้างว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโกณฑัญญะ  เข้าใจกันว่าพราหมณ์โกณฑัญญะนี้คงจะเดินทางมาจากอินเดียด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือบางทีอาจแล่นเรือมาจากเมืองมหาพาลีปุระ  (อีกชื่อหนึ่งคือ  เมืองพระเจดีย์  ๗  องค์)  ก็ได้

นทึกจดหมายเหตุของจีนได้กล่าวไว้อย่างแจ่มชัดว่า  ได้มีการรุกรานฟูนันครั้งใหญ่ ๆ อยู่  ๒  ครั้งด้วยกัน  คือ  ครั้งหนึ่งภายใต้การนำของฮุ่นเทียนก่อนสมัยโกณฑัญญะ  คือราว  พ.ศ. ๘๐๘  ชื่อฮุ่นเทียนนี้อาจเป็นชื่อเดียวกับโกณฑัญญะก็ได้  แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องวันเดือนปีมากทีเดียว  แต่หลักฐานต่าง ๆ ทำให้เราอยากสันนิษฐานว่า  การประดิษฐานอารยธรรมฮินดูในอาณาจักรฟูนันนั้นได้มีมาก่อน  พ.ศ. ๙๕๐  เป็นเวลานานทีเดียว  และอาจเป็นไปได้เหมือนกันที่มีเรื่องแบบเดียวกันถึงสองเรื่องหรือมีโกณฑัญญะสองคน  สำหรับโกณฑัญญะคนหลังนี้  เบรียน  แฮร์ริสัน  อ้างว่าได้มาถึงฟูนันประมาณ  พ.ศ. ๙๔๓  และได้เป็นกษัตริย์ของฟูนัน  โกณฑัญญะผู้นี้มาจากประเทศที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า  “พัน – พัน”  (P’an – p’an)  ทางใต้ของฟูนันอยู่ที่อ่าวไทยซึ่งเป็นเมืองที่พวกพราหมณ์มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนักมาก  ในสมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๐  กษัตริย์ที่เป็นพราหมณ์ในสมัยแรกนี้คงจะได้นำเอาลัทธิไศวะเข้าไปด้วย  แต่ทว่าในพุทธศตวรรษที่  ๑๐ – ๑๑  นั้น  พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในอาณาจักรฟูนันแล้ว

มาสเปโร  (Maspero)  ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า  การรุกรานครั้งแรกคงมาจากชวา  และจากชวานี้เองที่ได้ก่อให้เกิดอาณาจักรจัมปาขึ้น  นับว่าเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่ปรากฏว่า  ศิลาจารึกต่าง ๆ ที่พบตามชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของเกาะบอร์เนียวเป็นภาษาสันสกฤตและเป็นศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๐  ศิลาจารึกนั้นได้กล่าวถึง  “กุณฑัคคะ”  ว่าเป็นพระอัยกาของกษัตริย์ที่ครองราชอยู่ในสมัยนั้น  และจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์เหลียงยังได้กล่าวถึงกษัตริย์แห่งโปลี  (Poli)  ซึ่งอาจเป็นเกาะบอร์เนียวหรือเกาะสุมาตราก็ได้ว่า  ทรงพระนามว่า  เชียวเฉิ่นหยู  จึงทำให้ดูเหมือนว่าตระกูลของโกณฑัญญะเดิมคงอยู่  ณ  ที่ใดที่หนึ่งในหมู่เกาะทะเลใต้  ซึ่งบางทีอาจเป็นเกาะชวานั่นเอง  และจากที่นั้นเองโกณฑัญญะก็ได้ยกทัพไปรุกรานประเทศต่าง ๆ ในวาระต่าง ๆ กัน  แต่ทว่า  “ฟูนัน”  เป็นคำที่คลุมเครืออยู่มากในด้านภูมิศาสตร์  อาจเป็นดินแดนที่ฮุ่นเทียนได้สถาปนาราชวงศ์ฮินดูขึ้นในประเทศจัมปาก็ได้

นับว่ามีเหตุผลที่แน่ชัดว่าศาสนาในประเทศกัมพูชาในสมัยนี้คงเป็นศาสนาผสมระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์  ข้อความที่ท่านอี้จิงได้บันทึกไว้นับว่าน่าสนใจมาก  ก็คือข้อความที่ว่า  พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในฟูนันสมัยแรก ๆ  แต่ต่อมาได้ถูกพระเจ้าแผ่นดินผู้มีพระทัยโหดร้ายทารุณได้ทำลายลงอย่างสิ้นเชิง  ข้อความนี้อาจเป็นไปได้เหมือนกัน  แต่ที่ว่าขนบธรรมเนียมที่ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับนักเผยแพร่พุทธศาสนานิกายเถรวาทดูออกจะเลือนลางเต็มที   ตารนาถได้กล่าวว่า  ศิษย์ของท่านวสุพันธุ์ได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามายังโกกีประเทศ  (อินโดจีน)  แต่ก็หาหลักฐานอะไรเกือบไม่ได้เลย  ข้อความที่ท่านอี้จิงกล่าวไว้นั้นดูจะมีน้ำหนักมากกว่า

คงจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวถ้าจะได้กล่าวถึงความจริงทางด้านประวัติศาสตร์ของกัมพูชาสักเล็กน้อย  เรื่องที่จะได้พิจารณาถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศนี้จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่  ๑๘  หลักฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณาก็คือ  ศิลาจารึกต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาสันสกฤตและภาษขอม  จารึกที่เป็นอักษรขอมมักเป็นเพียงการแปลข้อความในภาษาสันสกฤตที่พบในบริเวณเดียวกันทั้งนั้น  ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  ๑๙ เป็นต้นมา  เรามีบันทึกจดหมายเหตุของกัมพูชาซึ่งนับว่ามีค่ามาก  นอกจากนั้นก็ได้พบศิลาจารึกเป็นภาษาบาลีและภาษากัมพูชาปัจจุบัน  ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุดมีอยู่ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่  ๑๒  คือ ระบุถึงงานที่ดำเนินการอยู่ใน  พ.ศ. ๑๑๔๗  และ  พ.ศ. ๑๑๖๗

พระพุทธรูปที่พบในฟูนันกลุ่มแรก ๆ นั้น  บางท่านเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปแบบนครบุรี  (Ankor  Borei)  โกรลิเอ (Groslier)  เข้าใจว่าเป็นแบบอินเดียผสมกรีก  ตระกูลมคธ  หรือมถุลา  หรืออชันตะ  ซึ่งไม่มีอิทธิพลของคันธาระอยู่เลย  โกรลิเอเข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างชาวพื้นเมืองโดยมีครูชาวอินเดียเป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอนหรือมีการบันดาลใจเป็นแบบอินเดีย  โกรลิเอบอกว่าพระพุทธรูปแบบวัดรมโลก  (Vat  Romlok)  มีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่  ๑๐ – ๑๑

เมื่อได้พูดถึงอาณาจักรฟูนันแล้ว  ถ้าหากไม่ได้กล่าวถึงอาณาจักร  “เจนละ”  เสียเลย  ก็ดูจะขาดความสมบูรณ์ไป  “เจนละ”  เพิ่งปรากฏในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อเจนละได้ส่งคณะทูตไปยังเมืองจีนเมื่อ  พ.ศ. ๑๑๕๙  หรือ  ๑๑๖๐  ในสมัยนันพระเจ้าอีสานวรมันเป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรเจนละ  เดิมเจนละเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนันแต่ภายหลังเจ้าชายจิตรเสนได้ยกกองทัพไปโจมตีฟูนันและเอาฟูนันมาไว้ในอำนาจได้  แปลลีออต์  (Pelliot)  กล่าวว่า  เจนละก็คือ  กัมพูชานั่นเอง

ที่ตั้งของอาณาจักรเจนละดูเหมือนจะอยู่ในบริเวณเมืองจำปาศักดิ์เดี๋ยวนี้  อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางใต้ปากแม่น้ำมูลหน่อยหนึ่ง  กษัตริย์เจนละสมัยแรก ๆ ได้แผ่อาณาเขตกว้างขวางออกไปทุกที

ภิกษุยวนฉาง  กล่าวว่า  ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๓ อีสานปุระ  (เจนละ)  นั้น  ได้รวมอาณาบริเวณระหว่างอาณาจักรทวารวดี  (ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้)  กับมหาจัมปาเข้าไว้ด้วย  ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่  ๑๓ เจนละได้แตกแยกออกเป็น ๒ อาณาจักร  คือ  เจนละบก  กับ  เจนละน้ำ  อาณาจักรเจนละติดต่อกับอันนัม  (ตังเกี๋ยปัจจุบัน)  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  และติดต่อกับอาณาจักรน่านเจ้าทางทิศเหนือ  ในสมัยที่เจนละรุ่งเรืองถึงที่สุดนั้น  อาณาจักรเจนละเหนือนับตั้งแต่ลาดเขาดงเล็กด้านเหนือไปจนจดเขตแดนอาณาจักรน่านเจ้าและอาณาจักรเจนละใต้  ประกอบด้วย  ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงและทะเลสาบของเขมร  หม่าตวนเหลินได้กล่าวว่า  “...ชาวเจนละเป็นจำนวนมากนับถือพระพุทธศาสนา  แต่บางพวกก็นับถือลัทธิเต๋า  ศาสนิกชนและผู้นับถือลัทธิเต๋าได้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือรูปศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิเต๋าไว้ในบ้านซึ่งเป็นที่พักแรมของคนเดินทางไกลด้วย

กษัตริย์ที่สำคัญที่สุดองค์แรกของฟูนันก็คือ  พระเจ้าภววรมัน  (ประมาณ  พ.ศ. ๑๐๔๓)  ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้พิชิตหรือบางทีอาจเป็นผู้ชิงราชสมบัติได้  พระองค์ได้ทรงขยายราชอาณาจักรไปทางทิศตะวันตกได้ไกลมากทีเดียว  ภาระในการรณรงค์สงครามของพระองค์ได้มีการรับช่วงสืบต่อตามลำดับถึงพระเจ้ามหาวรมันซึ่งบางทีก็เรียกว่า   พระเจ้าจิตรเสน  พระเจ้าอีสานวรมัน  และพระเจ้าชัยวรมัน  พระเจ้าชัยวรมันได้ครองราชสมบัติเมื่อปี  พ.ศ. ๑๒๑๐  หลังจากนี้ประวัติศาสตร์กัมพูชาก็มีช่องโหว่  หาหลักฐานไม่ได้อยู่กว่าหนึ่งร้อยปีเพิ่งมาแจ่มชัดอีกวาระหนึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๓๔๕ – ๑๔๑๒)

ในรัชสมัยของพระเจ้าอีสานวรมันที่  ๑ (ราว  พ.ศ. ๑๑๕๔ – ๑๑๗๘)  ศาสนาพราหมณ์ได้เกิดขึ้นมาในรูปที่แปลกประหลาดเป็นครั้งแรกในกัมพูชา  คือ  มีการบูชาพระหริหระขึ้น  พระหริหระก็คือ  พระวิษณุกับพระศิวะซึ่งรวมเป็นองค์เดียวกันนั่นเอง  ในสมัยนี้พระพุทธศาสนาเกือบจะสูญสิ้นไปทีเดียว  อาจเป็นพระเจ้าอีสานวรมันนี้แหละที่ท่านอี้จิงบอกว่าเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาจนเกือบไม่มีชาวพุทธเหลืออยู่เลย  พระเจ้าอีสานวรมันได้รับการยกย่องเสมอด้วยพระอินทร์ทีเดียว

มีศิลาจารึกอยู่  ๒ แห่ง  ที่บอกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่  ๑  เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา  คือ  ศิลาจารึกที่พบที่วัดพรายเวียร  (Prey  Vier)  มีอายุราว ๆ  พ.ศ. ๑๒๐๗ – ๑๒๐๘  ได้กล่าวถึงเรื่องการใช้ศาสนสมบัติโดยอาศัยสิทธิทางเชื้อสาย  แต่ทว่าถือว่าเป็นทางการและได้รับการประกันจากพระเจ้าชัยวรมันด้วย  บาร์ธ  (Barth)  เชื่อว่า  ศิลาจารึกแผ่นนี้เป็นแผ่นแรกในกัมพูชา  และเป็นแผ่นแรกที่มิได้ขึ้นต้นด้วยการบวงสรวงพระผู้เป็นเจ้าของพวกพราหมณ์  ส่วนอีกแผ่นหนึ่งไม่บอกวันเดือนปี  แต่ก็เข้าใจกันว่ามีอายุเก่ากว่าแผ่นแรก  เป็นศิลาจารึกที่พบที่วัดปราสาท  จังหวัดนครพนม  เช่นเดียวกับแผ่นแรก  ศิลาจารึกแผ่นนี้ได้จารึกเรื่องการถวายทาสแก่โพธิสัตว์  คือ  พระศาสดา  พระศรีอริยเมตไตรย  และพระอวโลกิเตศวร

พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  นั้นถือกันว่าเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของชาติ  และถือกันว่าเป็นผู้สร้างปราสาทบึงมาลา  (Beng  Mealea)  ที่สวยงามมาก  ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีซากเหลืออยู่  ทั้งยังเข้าใจกันว่าพระองค์ทรงได้รับพระขรรค์มาจากพระอินทร์  ซึ่งพระขรรค์เล่มนี้เวลานี้ยังเก็บรักษาไว้ที่กรุงพนมเปญอยู่  เราได้ทราบว่า  พระองค์มาจากชวาซึ่งน่าจะเป็นดินแดนแหลมมลายูหรือประเทศลาวมากกว่าที่จะมาจากเกาะชวา  และก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าพระเจ้าชัยวรมันอาจถูกจับไปเป็นเชลย  และถูกนำกลับมายังฟูนันอีก  แล้วก็กลับมาตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นอิสระขึ้นมาได้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ตุลาคม 2556 13:39:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 01 ตุลาคม 2556 13:25:41 »

.
http://www.sookjaipic.com/images/3984858232_DSC03113_1_.JPG
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะแบบขอม
ประดิษฐานที่พระที่นั่ง พระนายรายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา (ต่อ)

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักเขียนชาวอาหรับผู้หนึ่งชื่อ  อาบูซาอิดหะซัน  (Abu  Zaid  Hasan)  ได้เล่าเรื่องการเดินทางของพ่อค้าคนหนึ่งชื่อ  สุเลมาน  (Sulayma)  ซึ่งได้เดินทางมายังภูมิภาคนี้เมื่อปี  พ.ศ. ๑๓๙๔  และได้บรรยายถึงเรื่องชวายกกองทัพไปโจมตีอาณาจักรเจนละเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่  ๑๔ แม้ว่าจะเป็นเรื่องนิยายแต่ก็มีเค้าความจริงอยู่บ้างเหมือนกัน  เรื่องก็มีอยู่ว่ากษัตริย์หนุ่มแห่งกัมพูชาพระองค์หนึ่งได้เปล่งวาจาโอหังออกมาว่า  พระองค์ปรารถนาจะเห็นพระเศียรมหาราชาแห่งซาบาก  (คือ  ศรีวิชัย)  ใส่ถาดมาวางไว้ต่อพระพักตร์ของพระองค์  เรื่องนี้ได้ทราบไปถึงพระกรรณมหาราชา  พระองค์จึงได้ทรงยกกองทัพมาตีเมืองหลวงเขมรโดยที่ทางเขมรไม่ทันได้รู้ตัวเลย  และทรงจับกษัตริย์หนุ่มผู้โอหังนั้นได้ จึงได้ตัดพระเศียรเสีย  มหาราชาทรงนำเอาพระเศียรกษัตริย์เขมรนั้นกลับไปด้วย  ทรงให้อาบยาไว้แล้วทรงเอาใส่พระโกษฐ์ส่งกลับมาให้ทายาทของกษัตริย์ผู้นั้นเพื่อเป็นการเตือนสติไว้  ศิลาจารึกของเขมรสมัยต่อมาได้กล่าวยืนยันว่า  ก่อนที่จะขึ้นครองราชสมบัติ  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ได้เสด็จไปเยือนชวา  ความจริงพระองค์ถูกนำไปยังราชสำนักไศเลนทร์เพื่อถวายบังคมในฐานะที่เป็นทายาทสืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์องค์ที่ถูกตัดพระเศียร  นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายมีความโน้มเอียงไปทางที่จะคิดว่าเรื่องราวที่ชาวอาหรับได้เขียนขึ้นนั้นมีความจริงอยู่มาก  เพราะเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็ทรงประกอบพระราชพิธีพิเศษขึ้นเพื่อเป็นการประกาศอิสรภาพ  เพราะฉะนั้นบริกซ์จึงได้เสนอความเห็นไว้ว่า  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ทรงเป็นทายาทสืบต่อจากพระเจ้ามหิปติวรมัน  และพระเจ้ามหิปติวรมันผู้นี้แหละที่เป็นกษัตริย์เขมรที่ถูกมหาราชาไศเลนทร์ตัดพระเศียรเสีย

เรื่องนี้  ฟีโนด์  (Finot)  ได้เสนอแนะไว้ว่า  ราชตระกูลเก่า ๆ  ของอาณาจักรฟูนันอาจเคยอยู่ที่ชวามาก่อน  และได้อ้างสิทธิว่ามีอำนาจเหนือกัมพูชาซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ถูกนำมาปล่อยก็ได้  ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ค่อนข้างแจ่มชัดก็คือ  ข้อความที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พบที่สะดก  กก  ธม  (Sdak  Kuk  Thom   ป่านกยางใหญ่)  ได้บอกให้เราทราบว่ากัมพูชาได้เป็นเมืองขึ้นของชวา  และพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ได้ทรงตั้งราชประเพณีใหม่ขึ้นมาอย่างหนึ่ง  ซึ่งเท่ากับเป็นเครื่องหมายแสดงว่า  กัมพูชาได้อิสรภาพแล้วเลิกเป็นเมืองขึ้นอีกต่อไปแล้ว

นับว่าเป็นความจริงที่ว่านักล่าเมืองชาวฮินดูที่มาอยู่ที่กัมพูชาอาจมาจากเกาะชวาก็ได้  แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่พอจะใช้สนับสนุนทัศนะที่กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของชวา  เมื่อ  พ.ศ. ๑๓๔๓  เลย  และศิลาจารึกที่พบที่ประเทศจัมปาก็ระบุไว้อย่างชัดแจ้งถึง  “ยะวาทวีป”  (เกาะชวา)  กับ  “ประเทศชวา”  ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน   ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  ประมาณ  พ.ศ. ๑๘๐๐  เศษก็กล่าวถึงชวาด้วย  ซึ่งชวาในที่นี้เข้าใจว่าได้แก่เมืองหลวงพระบาง  ดังนั้นที่ว่าพวกโจรผู้ป่าเถื่อนซึ่งเรียกว่า  “กองทัพชวา”  ที่มาบุกรุกประเทศจัมปาเมื่อ  พ.ศ. ๑๓๓๑  นั้นมาจากเกาะชวาอาจไม่เป็นการถูกต้อง  เพราะในศิลาจารึกนั้นไม่ได้บอกว่าพวกโจรเหล่านั้นมาทางเรือ  จึงน่าจะหมายความว่าพวกโจรเหล่านั้นมาจากดินแดนที่ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดินใหญ่มากกว่า

เมืองนครวัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญมากในการที่จะทำให้ชาวยุโรปรู้จักกัมพูชามากขึ้น  ตรงกลางของนครวัดมีวิหารอยู่หลังหนึ่งเรียกว่า  “บายน”  หรือที่เราเรียกกันว่า  “ปราสาทบายน”  นอกกำแพงปราสาทบายนนี้มีสิ่งก่อสร้างอยู่มากมายที่นับว่าสำคัญและใหญ่โตมากก็คือ  นครวัด  ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุด  และรักษาไว้ได้ดีที่สุด  พระเจ้าอินทรวรมัน  (พ.ศ. ๑๔๒๐ – ๑๔๓๒)  ดูเหมือนจะทรงเป็นกษัตริย์ที่รับผิดชอบในการเลือกสถานที่สำหรับสร้าง  แต่พระองค์ทรงเพียงเริ่มการก่อสร้างปราสาทบายนเท่านั้น  สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพิ่งมาสำเร็จเรียบร้อยในรัชสมัยพระราชโอรสของพระองค์คือ  พระเจ้ายโสวรมัน  (พ.ศ. ๑๔๓๒ – ๑๔๕๑)  พระเจ้ายโสวรมันทรงสร้างเมืองขึ้นรอบ ๆ ปราสาทบายนด้วย  เมืองเหล่านี้มีชื่อว่า  ยโสธรปุระ  กัมพูปุระ  และมหานคร  นครธมเป็นคำที่เขมรแปลมาจากชื่อเมืองมหานคร  (ธม  ภาษาเขมรแปลว่า  ใหญ่)  อาณาจักรของพระเจ้ายโสวรมันครอบคลุมแหลมอินโดจีนแทบทั้งหมดที่อยู่ระหว่างประเทศพม่ากับอาณาจักรจัมปา  พระเจ้ายโสวรมันนี้ตามนิยายปรัมปราของเขมรบอกว่าเป็นพระเจ้าโรคเรื้อน  ผู้ที่สืบสายจากพระองค์ได้ช่วยกันทำให้นครธมมีความสวยงามวิจิตรตระการตายิ่งขึ้น  แต่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๔  ได้ทรงทิ้งนครธม  ปล่อยเป็นเมืองร้างอยู่หลายปีจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๔๘๗ – ๑๕๑๑)  นครธมจึงได้กลับเป็นเมืองหลวงอีกวาระหนึ่ง  บันทึกจดหมายเหตุของจีนกล่าวว่า  พระเจ้าราเชนทรวรมันที่  ๒  นี้แหละที่ทรงทำสงครามมีชัยชนะเหนืออาณาจักรจัมปา  รัชสมัยอันยาวนานของพระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  และพระเจ้าอุทยาทิตยวรมัน  ซึ่งรวมเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปี  (พ.ศ. ๑๕๑๑ – ๑๖๒๒)  นั้นเป็นยุคที่รุ่งเรืองในด้านสถาปัตยกรรมอย่างที่สุด  แม้ว่าพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันจะต้องเสียเวลาปราบกบฏถึงสองครั้งสองหนก็ตาม  กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่งก็คือ  พระเจ้าสุริยยวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๖๕๕ – ๑๗๐๕)  ซึ่งเป็นกษัตริย์ภายหลังกษัตริย์องค์สำคัญทั้งสามพระองค์ที่ได้กล่าวมาแล้ว  ได้ประสบผลสำเร็จในการผนวกดินแดนกัมพูชากับจัมปาเข้าด้วยกันได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  บางท่านกล่าวว่า  พระองค์ได้ทรงเสด็จไปยังเกาะลังกาได้เป็นผลสำเร็จ  สำหรับเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อถือได้เลย  อย่างไรก็ตาม  พระองค์ก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่สำคัญมากพระองค์หนึ่ง  ถ้าหากไม่พูดถึงสงครามที่ทำกับต่างประเทศแล้วก็นับว่าพระองค์ทรงรักษาความสงบสุขในราชอาณาจักรได้ดีมากทีเดียว

ในสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่  ๑  (พ.ศ. ๑๔๓๒ – ๑๔๕๑)  นั้น  แม้การบูชา “เทวราช” จะเป็นศาสนาประจำชาติแต่ก็มีประจักษ์พยานมากมายที่บ่งว่า  การบูชาตามแบบพราหมณ์แบบอื่น ๆ  และพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดี  ทั้งได้มีการสร้างวัดถวายพระพรหมและพระพุทธเจ้ามากมายหลายแห่งด้วยกัน  ส่วนพระเจ้าราเชนทรวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๔๘๗ – ๑๕๑๑)  แม้จะทรงนับถือลัทธิไศวะแต่ก็เคยศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง  ถึงกระนั้นก็ยังคงยึดมั่นในลัทธิไศวะอยู่  แม้พระองค์จะมิได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ทรงแต่งตั้งชาวพุทธคนหนึ่งเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่  ชาวพุทธผู้นี้ชื่อ  กาวินทราวิมัททนะ  เสนาบดีผู้นี้ได้สร้างพุทธสถานขึ้นหลายแห่งและได้สร้างเทวาลัยอุทิศถวายในลัทธิไศวะหลายแห่งด้วยเช่นกัน  ท่านได้สร้างพุทธวิหารถวายพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตาด้วย

พระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  (พ.ศ. ๑๕๑๑ – ๑๕๔๔)  ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนามาก  เสนาบดีของพระองค์ชื่อ  กีรติบัณฑิต  ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาได้จารึกไว้ว่า  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  ทรงสนับสนุนการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา  ศิลาจารึกนั้นได้กล่าวถึงเสนาบดีผู้นั้นว่าได้พยายามทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่น  และได้นำเอาหนังสือทางพระพุทธศาสนามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก  ทั้งยังบอกไว้ด้วยว่า  แม้แต่ปุโรหิตของพระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  ก็ต้องช่ำชองในพระพุทธศาสนาด้วย  ในวันประกอบพิธีต่าง ๆ จะต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและหาพระมาสวดมนต์ทางพระพุทธศาสนาด้วย  กีรติบัณฑิตผู้นี้ได้รับราชการอยู่ถึงสองรัชสมัย  คือ  ในรัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่  ๒  และพระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  นี้

ศิลาจารึกแผ่นหนึ่งที่พบที่  พุมบันทายนาง  (Phum  Bantay  Neang)  โดยยกย่องการที่ท่านตรีภูวนวัชระสร้างรูปพระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตาหรือภควดี  “พุทธมารดา”  และได้กล่าวว่าบางคนได้อุทิศถวายแด่พระชคทีศวร  และโสมวัชระน้องเขยของตรีภูวนวัชระก็ได้สร้างรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  ศิลาจารึกที่ปราสาทประทัก  นครวัด  เริ่มต้นด้วยคำกล่าวประณามคุณพระศรีรัตนตรัย

สำหรับพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  (พ.ศ. ๑๕๔๕ – ๑๕๙๓)  นั้น  กล่าวกันว่า  พระองค์ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์แห่งตามพรลิงคะกับเจ้าหญิงเขมรในราชกูลสัปตเทวกุล  ตามบันทึกพงศาวดารเป็นภาษาบาลีสมัยพุทธศตวรรษที่  ๒๐ – ๒๑  กล่าวว่า  กษัตริย์ตามพรลิงคะพระนามว่า  สุชิตราช  ได้รบชนะเมืองละโว้หรือลพบุรี  เมื่อยึดเมืองลพบุรีได้แล้ว  โอรสของพระองค์ก็พยายามที่จะพิชิตเมืองหริภุญไชยให้ได้

พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  ซึ่งมาจากเมืองตามพรลิงคะ  ศูนย์กลางอิทธิพลทางพุทธศาสนานั้น  ย่อมเป็นพุทธศาสนิกชนโดยแท้  พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  ส่วนพวกมอญนับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  แต่พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  มิได้ทรงเข้าไปแทรกแซงในด้านการศาสนาประจำชาติของกัมพูชาและพระพุทธศาสนาแบบหีนยานที่เมืองลพบุรี  พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นชาวต่างด้าว  และทรงเป็นชาวพุทธที่มีความกระตือรือร้นเฉลียวฉลาดพอที่จะทำให้ประชาชนเข้ากันได้  และให้มีขันติธรรมในด้านศาสนาต่อกัน  แม้พระองค์จะทรงมีพระราชหฤทัยที่กอปรด้วยพระขันติธรรมอย่างประเสริฐ  แต่ไม่ต้องสงสัยละว่าพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่เคร่งครัดมาก  พระองค์ทรงเป็นพวกราชตระกูลที่มาจากเมืองตามพรลิงคะ  ซึ่งกษัตริย์ในเมืองนั้นมีพระนามาภิไธยว่า  “ศรีธรรมราช”  แต่ก็มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้พระองค์ได้ทรงสถาปนาพระศาสนาในกัมพูชามากกว่าที่ได้รับนับถือกันอยู่

พอมาถึงรัชสมัยของ  พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๕๙๓ – ๑๖๐๙)  ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  ก็ได้เกิดมีปฏิกิริยาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  พระองค์ทรงศึกษาศาสนาพราหมณ์มาก  ซึ่งการที่พระองค์ทรงมีปฏิกิริยาต่อพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงนี้เองอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. ๑๖๑๐  ก็ได้  พระองค์อาจต้องสละราชสมบัติ  เมื่อปี  พ.ศ. ๑๖๐๙  และมีพระชนม์อยู่มาถึงปี  พ.ศ. ๑๖๑๐

ในสมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๖  หรือ  ๑๗  ได้มีผู้นำพระพุทธรูปประดับเพชรทั้งปางยืนและปางนาคปรกเข้ามาสู่กัมพูชา  ในยุคแรก ๆ ที่สร้างปราสาทบายนขึ้นมาแล้วนั้นก็ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปแบบที่ทรงยิ้มอยู่  พระพุทธรูปแบบนี้เข้าใจว่ามีกำเนิดมาจากอาณาจักรทวารวดีโบราณ  ในสมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๖  เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  ทรงพิชิตอาณาบริเวณแถบนี้ได้แล้วก็ได้เกิดมีสกุลช่างที่เรียกว่า  แบบลพบุรีหรือแบบทวารวดี  สำนักที่  ๒  ขึ้น  ซึ่งเป็นการผสมระหว่างแบบมอญกับเขมร  ซึ่งศิลปะช่างสกุลนี้ต่อมาได้กลับมีอิทธิพลเหนือประติมากรรมสมัยบายน  และมีอิทธิพลเหนือศิลปะของไทยในสมัยต่อมาด้วย

ในประวัติพม่าได้กล่าวถึงกัมพูชาอยู่บ้าง  คือ
๑.  ในระหว่างเวลายุ่งยากเดือนร้อนขึ้นในกัมพูชาก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  จะได้ครองราชสมบัตินั้น  ทางลังกาได้ส่งกองทัพเรือและกองทัพบกไปโจมตีพม่า  (พ.ศ.  ๑๗๒๓)  สาเหตุหนึ่งก็เพราะพม่าได้ชิงเจ้าหญิงสิงหลที่กษัตริย์ลังกาส่งไปถวายกษัตริย์แห่งกัมพูชา
๒.  ราวพุทธศตวรรษที่  ๑๘  พระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  (เถรวาท)  ทางภาคใต้ของอินเดียต้องยอมเปิดทางให้แก่ศาสนาพราหมณ์  เมืองกาญจีประกลายเป็นเมืองลัทธิมหายานไป  และลังกาก็กลายเป็นที่ลี้ภัยและเป็นที่มั่นของฝ่ายหีนยาน  พระฝ่ายหีนยานจากแหลมอินโดจีนโดยเฉพาะมอญจากละโว้และตะเลงจากพุกามได้เริ่มเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา  ในปี  พ.ศ. ๑๗๒๓  พระมอญรูปหนึ่งชื่อ  อุตตราชีวะ  ซึ่งเป็นอัครมหาเถระของชาวพุทธฝ่ายหีนยานที่พม่าได้เดินทางไปลังกา  โดยพาสามเณรมอญหนุ่มรูปหนึ่งชื่อ  ฉปัท  ไปด้วย  ซึ่งสามเณรฉปัทนี้ได้ศึกษาอยู่ในสำนักฝ่ายมหาวิหารเป็นเวลาถึง  ๑๐  และได้อุปสมบทที่นั่นด้วย  เมื่อท่านฉปัทได้กลับมาถึงเมืองพุกามเมื่อปี  พ.ศ. ๑๗๓๓  ท่านได้นำพระมาด้วย  ๔  รูป  รูปหนึ่งเป็นชาวเมืองกาญจีปุระและอีกรูปหนึ่งเป็นโอรสกษัตริย์กัมพูชา  พระ  ๕  รูปนี้ได้สร้างเจดีย์ฉปัทขึ้นใกล้ ๆ กรุงพุกาม  เป็นเจดีย์แบบลังกา  และในปี  พ.ศ. ๑๗๓๕  ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นต่างหาก  ซึ่งได้ก่อให้เกิดการแตกแยกในฝ่ายหีนยานในประเทศพม่าขึ้นมาเป็นครั้งแรก  กษัตริย์นรปติทรงชอบนิกายใหม่และต่อมานิกายใหม่นี้ได้มีอิทธิพลเหนือนิกายเดิมที่นำไปจากเมืองสะเทิม  แต่ดูเหมือนว่านิกายใหม่นี้มิได้ไปถึงกัมพูชาหรือแม้แต่มอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๙  เลย

เมื่อพระเจ้าธรณินทรวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๖๙๓ – ๑๗๐๓)  สิ้นพระชนม์แล้ว  พระเจ้ายโสวรมันที่  ๒  ซึ่งเป็นโอรสองค์หนึ่งก็ขึ้นครองราชสมบัติ  เจ้าชายชัยวรมันซึ่งเป็นโอรสอีกองค์หนึ่งที่ควรจะได้รับราชสมบัติสืบต่อมาจากพระเจ้าธรณินทรวรมันที่  ๒  และเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดและมีลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่ชอบการสงคราม  เห็นว่าถ้าจะอยู่ต่อไปก็เกรงว่าจะเกิดอันตราย  จึงได้ทรงลี้ภัยไปอยู่อาณาจักรจัมปา  แต่พระเจ้ายโสวรมันที่  ๒  (พ.ศ. ๑๗๐๓ – ๑๗๐๙)  ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นกษัตริย์มากนัก  เมื่อครองราชบัลลังก์อยู่ได้เพียง  ๕  ปีเท่านั้น  ก็ถูกปลงพระชนม์  พวกกบฏทำงานเพื่อพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน  (พ.ศ. ๑๗๐๙ – ๑๗๒๔)  เมื่อเจ้าชายชัยวรมันทรงทราบข่าวว่าเกิดมีขบถขึ้นในเมืองหลวงก็รีบเสด็จกลับมายังกัมพูชาแต่ไม่ทราบว่าจะเสด็จมาช่วยพระเจ้ายโสวรมันที่  ๒  หรือเพื่ออ้างสิทธิของพระองค์เอง  แต่ก็เสด็จมาช้าเกินไป  เพราะเมื่อเสด็จมาถึงนั้นพระเจ้ายโสวรมันก็สิ้นพระชนม์แล้ว  และพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมันก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  พระองค์จึงต้องเสด็จหลบหนีต่อไปอีก

ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างกัมพูชากับจัมปาขึ้น  พวกจามได้บุกรุกกัมพูชา  กองทัพกัมพูชาพ่ายแพ้  เมืองหลวงถูกทำลาย  กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์  ยุคนี้เป็นยุคที่มืดมนที่สุดของเขมรนับตั้งแต่กษัตริย์ฟูนันพิชิตเจนละและตัดเศียรกษัตริย์เจนละเมื่อ  ๓๕๐  ปีเป็นต้นมา  แต่กัมพูชาก็รอดพ้นมาได้เพราะอาศัยเจ้าชายชัยวรมันซึ่งในที่สุดพระองค์ก็ทรงกลับมาเป็นผู้นำกัมพูชาอีก  ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เมื่อปี  พ.ศ. ๑๗๒๔  ซึ่งในตอนนั้นพระองค์มีพระชนมายุกว่า  ๕๐  พรรษาแล้ว  เมื่อได้เป็นกษัตริย์แล้วพระเจ้าชัยวรมันก็ทรงยอมทิ้งความสุภาพอ่อนโยนและทรงเตรียมการทางด้านการทหาร  พระองค์ทรงเอาชนะพวกจามผู้รุกรานได้  และทรงกำจัดข้าศึกษาผู้บุกรุกให้หมดไปจากกัมพูชาใต้และถอดกษัตริย์จัมปาออกจากราชสมบัติ  จัมปาคงเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของกัมพูชาอยู่เป็นเวลาถึง  ๒๐  ปี  โดยมีเจ้าชายองค์หนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงตั้งให้เป็นหุ่นปกครองประเทศ  พระเจ้าชัยวรมันทรงขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออก  ทิศใต้  และทิศตะวันตก  จักรวรรดิของกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  นี้กว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่มีมาก่อน

เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว การบูชาพระวิษณุและพระศิวะก็เสื่อมลงไป ได้มีการสร้างวัดใหญ่ๆ ขึ้น อุทิศถวายพระพุทธเจ้าในลัทธิมหายาน และเมื่อคลื่นพระพุทธศาสนาจากลังกามาเยือนเมืองไทยในสมัยพุทธศตตวรรษที่ ๑๙ ลัทธิมหายานในกัมพูชาก็ได้เปลี่ยนไปเป็นแบบหีนยานมากขึ้นทุกที

เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงสร้างปราสาทที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย  ทรงสร้างปราสาทบันไทกระแจะ  (Bantei  Kdei)  ที่สวยงาม  และปราสาทตาพรหมที่น่ารัก  เจดีย์นาคพัน  และสระอาบน้ำขนาดใหญ่ชื่อ  สระสรง  ทรงสร้างปราสาทบันไทชมาร์  (Bantei  Chmar)  และปราสาทพระขรรค์ที่กำปงสวาย  งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ก็คือ  การสร้างเมืองมหานครชื่อนครธมขึ้น  โดยมีวิหารบายนเป็นศูนย์กลาง  นอกจากนั้นพระองค์ยังมิได้ทรงวางระบบถนนอย่างกว้างขวางไว้ทั้งจักรวรรดิ  ทรงสร้างโรงพยาบาล  ที่พักสำหรับคนเดินทางไกล  และเจดีย์สำหรับผู้ที่มีศรัทธาปสาทะจะได้ไปเคารพกราบไหว้

ก่อนหน้านั้นนานทีเดียวที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงเข้าพระทัยว่าพระองค์มิได้เป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น  แต่ทว่ายังทรงเป็นเทวดาอีกด้วย  พระองค์เป็นพุทธศาสนิกชนที่ทรงมีความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่  ข้อนี้แหละที่เป็นเหตุทำให้พระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้  พระพักตร์หินขนาดใหญ่ที่มองลงมาจากทุกด้านของยอดปรางค์  ซุ้มประตูเข้าสู่เมืองและจากทุก ๆ ปรางค์ที่พุทธวิหารบายนนั้นดูเหมือนจะเป็นภาพของพระองค์ที่ทรงเป็นกษัตริย์และเทวดามากกว่า  ที่ภาพสลักนูนเป็นจำนวนมาก  ที่ประดับอาคารต่าง ๆ ของพระองค์นั้นก็มีรูปของพระองค์ปรากฏอยู่  และที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงพนมเปญก็มีรูปมหาบุรุษขนาดใหญ่กว่าคนจริง ๆ  ซึ่งเป็นรูปของพระองค์เองในท่านั่งสมาธิอย่างแน่วแน่คล้ายพระพุทธเจ้า

แม้พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  จะเป็นผู้ที่ประชาชนถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  แต่พระองค์ก็ทรงเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมนิรันดรของกัมพูชาโดยไม่มีใครรู้สึก  แม้ว่าราชสำนักของพระองค์เป็นราชสำนักที่มั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา  แต่ความสุรุ่ยสุร่ายของพระองค์ก็นับว่าเป็นสาเหตุแห่งความยากจนของเขมรในสมัยต่อมา

พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงทำงานมากเกินไป  เก็บภาษีมากเกินไป  และทำให้ประชาชนกระปรกกระเปรี้ยมากเกินไป  ซึ่งเป็นเหตุทำให้จักรวรรดิของพระองค์ถึงซึ่งความพินาศในอีกไม่กี่ชั่วอายุคนต่อมา  เมื่อพระเจ้าชัยวรมันสิ้นพระชนม์แล้ว  กัมพูชาก็เริ่มเสื่อมไปพร้อม ๆ กับที่ไทยกำลังเรืองอำนาจขึ้นมา

แม้พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  จะเป็นกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา  แต่พระพุทธศาสนาก็มิได้เด่นอยู่ทั่วทั้งประเทศกัมพูชาทั้งหมด  จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ  พระพุทธศาสนาในกัมพูชาสมัยนครวัดนั้นเป็นแบบมหายาน  บุคคลสำคัญในลัทธิมหายานที่ปรากฏอยู่ในภาพและศิลาจารึกส่วนมากในเอเชียอาคเนย์นั้นเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  หรือตามที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกกันว่า  โลเกศวร  พระโลเกศวรมักจะเป็นภาพประทับยืนอยู่บนดอกบัว  เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงมีเมตตากรุณา  มักจะมี  ๔  กร  บางทีก็มี  ๔  พักตร์  หันมองไปทั้งสี่ทิศคล้ายพระศิวะ

ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  การบูชาเทวราชก็ยังคงเป็นลัทธิประเพณีของบ้านเมืองอยู่  โดยยังคงมีการปกครองที่สูงต่ำลดหลั่นกันลงมาของพวกพระที่เป็นอภิชนาธิปัตย์ที่มั่งคั่ง  สมัยที่  เจาตากวน  ได้เขียนบันทึกจดหมายเหตุนั้น  อิทธิพลของลัทธิเทวราชได้ลดน้อยถอยลงไปเกือบหมดสิ้นแล้ว  ศาสนาที่สำคัญที่มีผู้นิยมนับถืออย่างแพร่หลายคือลัทธิหีนยานที่สอนเรื่องความง่าย ๆ ความจน  และน้ำใจแบบประชาธิปไตย  ความยึดถือในมโนคติเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้เป็นเทวดาก็เสื่อมลง  อำนาจของพระชั้นสูงก็ลดน้อยถอยลง  ผู้แนะนำประชาชนด้านศาสนาตามถนนหนทางเป็นพวกพระที่สุภาพอ่อนโยน  มีเมตตากรุณา  ครองผ้ากาสาวพัสตร์  เป็นพวกที่มาจากสามัญชนนั่นเอง  ซึ่งจาริกไปตามถนนหนทางเพื่อบิณฑบาตในตอนเช้า  พระเหล่านี้มีอยู่หลายพันรูปด้วยกัน

ลัทธิไศวะกับลัทธิที่นับถือพระโลเกศวรผู้ทรงพระมหากรุณานั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก  ได้เจริญเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปโดยแทบจะไม่มีอะไรต้องขัดแย้งกันเลย  ความจริงการที่ลัทธิทั้งสองนี้สังเคราะห์เข้าด้วยกันทั้งหมดหรือเข้ากันเพียงบางส่วนนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ค่อนข้างจะยุ่งยากสลับซับซ้อนอยู่ในประวัติศาสตร์พระศาสนาในเอเชียอาคเนย์มาก  พระโลเกศวรหรืออวโลกิเตศวรที่ปรากฏที่นครวัดมีพักตร์  ๔  พักตร์นั้น  บางทีก็มีพระเนตรที่หน้าผากเช่นเดียวกับพระศิวะในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  เราได้เคยพบการสังเคราะห์ลัทธิไศวะกับไวษณพเข้าด้วยกันซึ่งปรากฏผลเป็นการสร้าง  “วิษณุราช”  ขึ้นมาแทน  “เทวราช”  และได้มีวิหารทรงปิรามิดสำหรับนิกายไวษณพขึ้นที่นครวัด  นอกจากนั้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  “พุทธราช”  บังเกิดมาแทน  “วิษณุราช”  และมีการเปลี่ยนรูปวิหารบายนเป็นวิหารทรงปิรามิดอีกด้วย  ไม่ต้องสงสัยละว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่  ตรูเว  (Trouve)  พบที่ก้นหลุมใต้องค์กลางของปราสาทบายนเมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๗๖  นั้นเป็นพระพุทธรูปที่แทนเทวราชแน่  ในตอนใกล้จะเริ่มต้นรัชสมัยของพระองค์นั้นพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ได้ทรงเริ่มพิจารณาเห็นว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่  ในต้น  พ.ศ. ๑๗๒๙  พระราชมารดาของพระองค์ก็ได้กลายเป็นองค์แทนพระปรัชญาปารมิตาพุทธมารดาไป  ส่วนพระองค์เองเป็นพระพุทธเจ้า  (ศิลาจารึกปี  พ.ศ. ๑๗๓๔  ซึ่งพบที่ปราสาทพระขรรค์)  จารึกนี้ยังบอกได้ว่ามีการสร้างพระพุทธรูปในนาม  พระชัยพุทธมหานาถะ   ขึ้นทั่วประเทศเป็นจำนวนรวมถึง  ๒๓  องค์

พัฒนาการแห่งมโนคติเรื่อง  “พุทธราช”  ดูเหมือนว่าจะมิได้มีแบบที่เป็นตัวตนจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  หลังจากที่พระองค์ทรงได้สร้างปราสาทซึ่งเต็มไปด้วยพักตร์มองไปทั่วประเทศและปรากฏว่าพระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระอวโลกิเตศวรแล้ว  เราทราบอีกว่าทางภาคเหนือของอินโดจีนและในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ก็มีการสังเคราะห์ลัทธิไศวะกับมหายานเข้าด้วยกันอยู่บ้าง  ความคิดเรื่อง  “พุทธราช”  โดยมีพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เอง  เป็นพระพุทธเจ้าในระหว่างที่พระองค์ยังพระชนม์อยู่นั้นเป็นที่สบพระทัยบุคคลที่มีความกระตือรือร้นอย่างเร้นลับอย่างพระองค์อยู่มาก  พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  อาจทรงออกหน้าออกตาในการที่จะทำพระองค์เป็นผู้แทนตำแหน่ง  “วิษณุราช”  ที่นครวัดมาก่อน  บางทีแม้พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  เองก็ได้พยากรณ์พระองค์เป็น  “พุทธราช”  มาแล้ว  สำหรับพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ซึ่งได้เริ่มมีความคิดนี้มาตั้งแต่เริ่มรัชสมัยของพระองค์แล้วได้ทรงทำปรางค์ปราสาทบายนองค์กลางที่พระองค์ทรงสร้างอยู่ให้เป็นวิหารทรงปิรามิดโดยมีพุทธราชอยู่ตรงศูนย์กลาง

แม้ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  พระพุทธศาสนาจะเป็นที่โปรดปรานของราชสำนัก  แต่ลัทธิไศวะก็หาได้สูญไปอย่างสิ้นเชิงไม่  เพียงแต่ว่าไม่มีอนุสรณียวัตถุที่สำคัญ ๆ ทางลัทธิไศวะเกิดขึ้นมาในยุคนี้เท่านั้น

ยุคพระเจ้าชัยวรมันซึ่งเริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระราชบิดาของพระองค์เป็นต้นมานั้น  เป็นยุคที่เกิดตามหลังยุคไวษณพมา  และในอนุสรณียวัตถุที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงสร้างขึ้นมามากมายหลายแห่งด้วยกันนั้นก็มีส่วนเก่า ๆ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นของลัทธิไวษณพอยู่ด้วย  ซึ่งเป็นเหตุทำให้นักศึกษารู้สึกว่าบางทีพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  จะทรงสร้างอนุสรณียวัตถุเหล่านั้นขึ้นมาจากซากเดิมของวิหารไวษณพเก่า ๆ ก็ได้  ความคิดเกี่ยวกับ  “พุทธราช”  ในวิหารทรงปิรามิดนั้น  บางทีจะยืมมาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  หรือบางทีอาจยืมมาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  ด้วยซ้ำไป  ลัทธิไศวะกับลัทธิไวษณพในสมัยนั้นดูเหมือนจะเข้ากันได้เป็นอย่างดี  และไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งว่ามีลัทธิไวษณพเหลืออยู่ในกัมพูชาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เลย

ศาสนาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา  ลัทธิไศวะหรือลัทธิไวษณพก็ตามล้วนแต่เป็นศาสนาสำหรับพวกปัญญาชนทั้งนั้น  ส่วนประชาชนทั่วไปก็ยังถือผีสางเทวดาอยู่  และการบูชาบรรพบุรุษที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วทั้งเอเชียในแถบลมมรสุมทั้งปวงนั้น  บางทีก็มีลัทธิฮินดูปะปนอยู่บ้างเหมือนกัน

ศาสตราจารย์พอล  มุส  คิดว่า  ท่านได้พบลัทธิที่ถือสัญลักษณ์จตุรพักตร์ซึ่งมีอยู่ที่ยอดปรางค์พุทธวิหารบายน  ซึ่งมีอยู่รวม  ๕๐  ยอด  หรือมากกว่านั้นมีอยู่ในปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่  พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่กลางแจ้งย่อมกลายเป็นจุดเพ่งเล็งในทุก ๆ จุดในอวกาศ  ศาสตราจารย์พอล  มุส  คิดว่า  พักตร์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวแทนพระโพธิสัตว์โลเกศวรสมันตมุข  “มีพระพักตร์รอบด้าน”  จตุรพักตร์เป็นตัวแทนทิศทั้งปวง  ศาสตราจารย์พอล  มุส  คิดว่า  ยอดปรางค์ต่าง ๆ เป็นตัวแทนจังหวัดต่าง ๆ  หรือเป็นตัวแทนศูนย์กลางทางด้านศาสนาหรือทางการเมืองของจังหวัดต่าง ๆ  พักตร์ต่าง ๆ เหล่านี้มิได้สอดคล้องต้องกันกับสิ่งอื่นใดที่เข้าใจกันว่าเป็นตัวแทนของพระโลเกศวรเลย  แต่คล้ายกับพระโลเกศวรที่อยู่ตามกำแพงต่าง ๆ  พระพักตร์เหล่านี้ที่ปรากฏอยู่บนยอดซุ้มประตูเมืองและทุก ๆ ด้านของปรางค์ต่าง ๆ ที่ปราสาทบายนซึ่งแกะสลักอย่างใหญ่โตสวยงามมากกว่า  ๒๐๐  พักตร์นั้น  มีพระเนตรสำรวมเผยอน้อย ๆ  และมีริมพระโอษฐ์เผยอยิ้ม  พักตร์เหล่านี้ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เอง  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นภิกษุผู้สุภาพอ่อนโยนที่ได้เคยสละราชสมบัติถึง  ๒  ครั้ง  และแล้วก็ได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขมรจนกระทั่งพระองค์คิดว่าพระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่  พระพักตร์เป็นจำนวนมากที่สลักไว้บนยอดปรางค์ที่นครธมจึงมีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับกษัตริย์ผู้เป็นเทพเจ้าเอง  เป็นตัวแทนพระโลเกศวรที่ได้ขยายความคุ้มครองไปทั่วทุกส่วนของจักรวรรดิ  ปรางค์จตุรพักตร์ของพุทธวิหารบายนซึ่งเป็นองค์แทนพระโพธิสัตว์โลเกศวรนั้น  มิใช่ในฐานะที่เป็นสื่อกลางของเทพผู้เป็นศูนย์กลางที่ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ทว่าเป็นวิธีที่จะทำให้อำนาจของพระพุทธเจ้าหรือกษัตริย์ที่มีรูปอยู่ที่ปรางค์นั้นแผ่ไปทั่วทุกแว่นแคว้น

ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗   ดูเหมือนจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงติดตามมา  คือ  ได้มีการทำลายศิลปะและวรรณคดีเป็นผลติดตามมา  ซึ่งจะยังเห็นร่องรอยได้จากอนุสรณียวัตถุทางพระพุทธศาสนาสมัยบายนและสมัยก่อนหน้านั้น  จากยุคนี้ซึ่ง  ศาสตราจารย์ยอร์จ  เซเดส์   กล่าวว่า  นับตั้งแต่ตอนเริ่มต้นหรือตอนกลางพุทธศตวรรษที่  ๑๙  เป็นต้นมานั้นได้มีการทำลายวัดใหญ่ ๆ ลงถึง  ๑๖  แห่ง  ทำลายพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ  ทำให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วก็ทิ้งลงไปในบ่อซึ่งได้พบว่ามีอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูปนั้นเอง  เมื่อได้ทิ้งพระพุทธรูปลงไปแล้วก็เอาศิวลึงค์และสัญลักษณ์ทางลัทธิไศวะไปประดิษฐานแทน  ปฏิกิริยานี้ดูเหมือนว่าได้ขยายตัวมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่  ๓  และรัชทายาทของพระองค์  และดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากพราหมณ์ชื่อ  ชัยมหาปธาน  ที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงตั้งเป็นพระประจำราชสำนัก  และดูเหมือนจะดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกสองรัชกาล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ตุลาคม 2556 13:45:47 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 01 ตุลาคม 2556 13:34:31 »


ภาพจาก : เว็บไซต์ transbordernews.in.th

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา (ต่อ)

นับตั้งแต่สิ้นรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เป็นต้นมา  ประวัติศาสตร์กัมพูชาก็มีช่องโหว่อีกกว่าร้อยปี  พอจะทราบอีกครั้งหนึ่งก็เป็นสมัยที่ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจนกลายเป็นศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวของกัมพูชาเสียแล้ว  แม้ว่าความเข้มแข็งของกัมพูชาจะลดน้อยถอยลงแต่ถึงกระนั้นปีแรกที่พระเจ้าอินทรวรมันที่  ๓  (พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๘๕๑)  ขึ้นครองราชสมบัติ  เจาตากวนซึ่งได้ไปเยือนนครวัดและได้ทำรายงานที่มีค่ายิ่งไปถวายราชสำนักจีนก็ทำให้เราทราบความเป็นไปของศาสนาในกัมพูชาในสมัยนั้นได้พอควร  เจาตากวนบอกว่า  ในสมัยนั้นมิใช่ว่ากัมพูชาจะไร้ผู้ปกครองเสียทีเดียว  ทั้งยังมิได้ถูกไทยพิชิตอย่างเด็ดขาดด้วย  ทั้ง ๆ ที่กัมพูชาได้ทำสงครามกับไทยอยู่เสมอ  และแม้กัมพูชาจะได้ถูกกองทัพไทยโจมตีและถูกทำลายไปบ้างก็ตาม  เจาตากวนมิได้กล่าวถึงเรื่องศาสนาไว้อย่างละเอียดแจ่มแจ้งนัก  เจาตากวนได้ยอมรับว่าไม่มีความเข้าใจในเรื่องศาสนาดีพอ  แต่ท่านก็บอกว่าในกัมพูชามีศาสนาอยู่  ๓  ศาสนาด้วยกัน  คือ  ปันจิ  จูกุ  และปะซิวหวุย

อย่างไรก็ตาม  พอจะสรุปได้ว่า  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  นับว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็ได้รับการเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า  มหาปรมเสาคตะ  บันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์นับว่าเป็นสมัยที่แสดงทัศนะแบบชาวพุทธอย่างงดงามมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องทานและการแผ่เมตตาไปทั่วสากลจักรวาล  พระองค์ทรงมีบทบาทในการสร้างสถาบันทางศาสนาอย่างมากมาย  นอกจากนั้นศิลาจารึกภาษาสันสกฤตในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  นี้ยังบอกด้วยว่า  พระบรมราชินีของพระองค์ก็ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในศาสนาเป็นอย่างมาก  ศิลาจารึกนั้นบอกว่าเมื่อพระเจ้าชัยวรมันเสด็จหนีไปยังจัมปาคราวแรก  พระนางชัยราชเทวี   พระมเหสีของพระองค์ได้แสดงให้เห็นความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระราชสวามีด้วยการทรมานพระองค์โดยวิธีต่าง ๆ เป็นเวลานาน  พระเชฏฐภคนีของพระนางได้แนะนำให้พระนางปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาจนพระนางสามารถประกอบพิธีที่จะทำให้พระนางทรงมองเห็นภาพพระราชสวามีของพระนางที่หายไปได้ดียิ่ง  เมื่อพระเจ้าชัยวรมันเสด็จกลับมาแล้วพระนางยิ่งเพิ่มศรัทธาปสาทะยิ่งขึ้น  และทรงบำเพ็ญบุญกุศลมากยิ่งขึ้น

นับแต่ปลายพุทธศตวรรษที่  ๑๘  และต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๙  เป็นต้นมา  ไทยได้มีอำนาจขึ้นทางสุโขทัย  และพยายามที่จะยึดอำนาจจากขอมยิ่งขึ้นทุกที  จนกระทั่งมีกำลังเข้มแข็งขนาดยกกองทัพไปตีกัมพูชาและยึดนครธมเมืองหลวงได้หลายครั้งหลายหน  คือ  ในปี  พ.ศ. ๑๘๙๖  และ  ๑๙๓๖  และ  พ.ศ. ๑๙๗๔  แต่ทว่ามิได้ยึดครองอยู่นานนักในปี  พ.ศ. ๒๐๑๖  ไทยได้ยึดครองเมืองจันทบุรี  โคราช  นครวัด  และนครธมอีกวาระหนึ่ง  แต่แล้วก็เลิกราไป  กษัตริย์นักองค์จันทน์ที่  ๑  ได้ไปสร้างเมืองหลวงใหม่อยู่ที่เมืองละแวก  ซึ่งเป็นเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแรงมากทีเดียว  พระองค์ได้ครองราชย์ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๐๔๘ – ๒๐๙๘  พระองค์และราชโอรสพระนามว่า  พระบรมราชา  นับว่าเป็นกษัตริย์ที่สำคัญของกัมพูชาด้วยเช่นกัน  แต่สถานการณ์ในเวลานั้นก็น่าวิตกอยู่มาก  เมื่อพระบรมราชาได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี  พ.ศ. ๒๑๑๗  ไทยก็ถือโอกาสยึดเมืองละแวกและจันทบุรีทันที  แม้ว่าการยึดครองนี้จะทำให้เขมรหมดอำนาจลงไปก็ตาม  แต่อาณาจักรกัมพูชาก็ยังไม่สูญสิ้นยังคงมีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์  แต่ก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจมากนัก  บางครั้งก็ตกเป็นเมืองขึ้นของไทย  บางครั้งก็ตกเป็นเมืองขึ้นของญวน  และบางคราวก็เป็นเมืองขึ้นทั้งของไทยและของญวนในเวลาเดียวกัน  จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่  ๒๕  ฝรั่งเศสได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องจึงทำให้กัมพูชากลายเป็นเมืองในอารักขาและในที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

สมัยกลางพุทธศตวรรษที่  ๒๔ จังหวัดเสียมราฐและพระตะบองซึ่งเป็นที่ตั้งของนครวัด  นครธม  และโบราณสถานที่มีค่ามากต่าง ๆ  ก็ถูกไทยผนวกเข้าไว้ในดินแดนของไทย  แต่โดยอาศัยการไกล่เกลี่ยของฝรั่งเศส  สองจังหวัดนี้ก็กลับไปเป็นของกัมพูชาอีกเมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๕๐  ส่วนจังหวัดตราดและดินแดนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากได้ตกมาเป็นของไทย

นอกจากนั้นศิลาจารึกเป็นภาษาบาลีซึ่งพบที่วัดกกขะพส หรือกกสวายเชคใกล้จังหวัดเสียมราฐ  ซึ่งมีอายุราวปี  พ.ศ. ๑๘๕๒  ก็ได้บันทึกไว้ว่า  เมื่อ  พ.ศ. ๑๘๕๑  กษัตริย์ได้ทรงถวายหมู่บ้านแห่งหนึ่งแด่พระมหาเถระรูปหนึ่ง  ศิลาจารึกแผ่นนี้บอกว่าพระเจ้าอินทรวรมันที่  ๖  ได้ทรงสละราชสมบัติ  เมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๕๑  ศาสตราจารย์ยอร์จ  เซเดส์   ได้ให้ความเห็นไว้ว่าในตอนนี้พระเจ้าอินทรวรมันที่  ๓  ยังทรงหนุ่มแน่นอยู่จึงอาจเสด็จไปผนวชอุทิศเวลาให้กับการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาแบบหีนยานหรือเถรวาทก็ได้

พงศาวดารลาวได้กล่าวว่า  หลัง  พ.ศ. ๑๘๕๙  ไม่นานนัก เจ้าฟ้างุ้ม โอรสกษัตริย์ลานช้างได้ถูกเนรเทศออกจากอาณาจักรเพราะได้ประพฤติผิดต่อพระราชบิดา  เจ้าฟ้างุ้มพร้อมด้วยพี่เลี้ยงนางนมได้เสด็จลี้ภัยไปอยู่ในราชสำนักปรมัตถเขมราช  กษัตริย์แห่งกัมพูชา  (คงหมายถึงพระเจ้าชัยวรมปรเมศวร)  เจ้าฟ้างุ้มได้อยู่ในราชสำนักกัมพูชาเป็นเวลานาน  พระองค์ได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากฝ่ายหีนยาน  เมื่อพระชนม์ได้  ๑๖  พรรษา  พ.ศ. ๑๘๗๕  ก็ได้อภิเษกกับพระราชธิดาแห่งกษัตริย์กัมพูชา

ประมาณ  พ.ศ. ๑๘๙๓ กัมพูชาทรงตัดสินพระทัยช่วยเหลือเจ้าฟ้างุ้มให้ได้ราชบัลลังก์ที่เมืองชะวา  (หลวงพระบาง)  หรือเมืองเซ่า  (Swa)  และทำให้เมืองนั้นเป็นอิสระจากกรุงสุโขทัย  ไม่ต้องสงสัยละว่ากษัตริย์กัมพูชาคงทรงทราบว่ากรุงสุโขทัยกำลังอ่อนแอลงทุกที  และทรงเกรงอำนาจกรุงศรีอยุธยาที่นับวันจะมีกำลังมากขึ้นและเป็นอิสระจากกรุงสุโขทัย  ดังนั้น  พระองค์จึงทรงมอบกองทหาร  ๑๐,๐๐๐  คน  ให้เจ้าฟ้างุ้ม  ซึ่งเป็นเหตุทำให้พระองค์ทรงตีเมืองชะวาหรือเมืองเซ่าได้  เมื่อเจ้าฟ้างุ้มยึดเมืองได้แล้วก็ทรงถอดพระเจ้าอาออกจากราชสมบัติแล้วก็ทรงขึ้นครองราชย์เสียเอง  และแคว้นแดนไทยทุกแคว้นที่อยู่ริมแม่น้ำโขงต่างก็ยอมรับในอำนาจอธิปไตยของเจ้าฟ้างุ้ม  ดินแดนที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำมูลไปจนถึงอาณาจักรน่านเจ้า  และจากเทือกเขาอานัมไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนกลางและตอนบนรวมทั้งลานนาไทย  (เชียงใหม่)  ต่างก็ยอมรับอำนาจอธิปไตยของเจ้าฟ้างุ้มทั้งนั้น  การตั้งอาณาจักรลานช้างเป็นอิสระโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองชะวาหรือเมืองเซ่า  (หลวงพระบาง)  นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๙๖

กษัตริย์กัมพูชาทรงอาศัยพระราชธิดาจึงทรงมีอำนาจเหนือพระราชบุตรเขยอยู่เป็นเวลาหลายปี  พระราชินีทรงรับภาระที่จะทำให้ประชาชนชาวลาวทั้งหลายหันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  เมื่อเจ้าฟ้างุ้มได้ครองราชสมบัติแล้วไม่นานนักประชาชนก็ต้องโอดครวญในเรื่องความเป็นทรราชย์ของพระองค์  เมื่อข่าวนี้ทรงทราบไปถึงกษัตริย์กัมพูชา  ปรมัตถเขมราช  กษัตริย์กัมพูชาก็ทรงรับสั่งให้เจ้าฟ้างุ้มไปยังราชสำนัก  และทรงแนะนำให้เจ้าฟ้างุ้ม ปฏิบัติตามศีลของพระพุทธเจ้า  เจ้าฟ้างุ้มก็ทรงยอมรับปฏิบัติตาม  และทรงสมาทานศีลตามแบบเถรวาท  ทั้งยังได้ทูลขอพระสงฆ์กับพระไตรปิฎกและช่างฝีมือกลับไปยังเมืองเซ่าด้วย  กษัตริย์กัมพูชาก็ทรงส่งธรรมทูตคณะหนึ่งไปโดยมีอาจารย์ของเจ้าฟ้างุ้มเป็นหัวหน้า  เป็นเหตุทำให้ประชาชนลาวหันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยานหรือแบบลังกาวงศ์อย่างเป็นทางการ  มีผู้พูดว่าคณะธรรมทูตชุดนี้ได้นำเอาพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงมาก  คือ  พระพุทธรูปชื่อ  “พระบาง”  ไปด้วย  ต่อมาเมืองเซ่าก็ได้ชื่อเป็นเมือง  “หลวงพระบาง”  ตามพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้  มเหสีของเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์เมื่อ  พ.ศ. ๑๙๑๑  จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้แสดงว่าในตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๙  กัมพูชาได้หันไปนับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยานหมดแล้ว  และยังได้ยุ่งอยู่กับการที่จะทำให้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกันไปนับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยานด้วย

ในบรรดาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้อารยธรรมโบราณของกัมพูชาเสื่อมลงนั้น  มีสาเหตุหนึ่งก็คือ  การที่กัมพูชาได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาแบบหีนยานเป็นศาสนาแบบประชาธิปไตยซึ่งนับว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชนมาก  พระพุทธศาสนามิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจของพวกพระในศาสนาพราหมณ์และเทวดาที่มีอำนาจลดหลั่นกันลงมา  พวกพราหมณ์เป็นพวกที่ละเอียดถี่ถ้วน  คิดค่าทำพิธีแพงเหลือเกิน  และมีภารกิจมากมาย  พระแบบเถรวาทดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน  ช่วยทำหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชนและประกอบแต่กุศลกรรม  คงจะมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๙  และคงจะถูกชักนำให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบนี้ในกัมพูชา โดยพวกมอญจากเมืองละโว้และพวกไทยจากภาคเหนือ  ซึ่งบางทีอาจเป็นพวกนักโทษ  กรรมกร  พ่อค้า  และพระภิกษุที่ติดตามไปบางรูปในสมัยกลางพุทธศตวรรษที่  ๑๙  ก็ได้  เจาตากวนบอกว่าพระพุทธศาสนาแบบหีนยานเป็นศาสนาที่สำคัญที่สุดของเมืองหลวงในตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๒๐  และเจาตากวนบอกว่าทุกคนนับถือพระพุทธศาสนา

ประวัติศาสตร์ลานช้างบอกว่า  เจ้าฟ้างุ้มซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นอิสระองค์แรกของราชอาณาจักรลาวได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  ณ  ราชสำนักกัมพูชา  หลัง  พ.ศ. ๑๘๙๖  ไม่นานนัก  ดังนั้น  จึงทำให้คิดว่ากัมพูชาคงจะหันไปนับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยานแบบลังกาวงศ์ในระยะเวลาระหว่างตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๙  และ  ๒๐  นี้แหละ  การที่ไทยพิชิตเขมรได้  และการที่เขมรหันไปนับถือพระพุทธศาสนาแบบหีนยานนั้นนับว่าเป็นการกีดกันไม่ให้กัมพูชาหวนกลับไปนับถือศาสนาแบบก่อนที่จะนับถือลัทธิฮินดูอีก

ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาพอจะแบ่งออกได้เป็น  ๒  ยุคด้วยกัน  ทั้งนี้โดยไม่นับเอาความเป็นไปได้ที่พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะมีอยู่ก่อนตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่  ๗ – ๘  เข้าไว้ด้วย

ในยุคแรกซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ  และอนุสรณียวัตถุทั้งหลาย  กับทั้งการปกครองของกษัตริย์ที่สำคัญหลายพระองค์ด้วยกัน  ทั้งที่เป็นพราหมณ์และผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  ยุคนี้เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  ๑๑  เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่  ๑๘  ศาสนาในยุคนี้ได้เจริญเรื่อยมาไม่ขาดระยะจนกระทั่งถึงยุคที่สอง  ซึ่งเป็นสมัยที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทย  พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้มีอิทธิพลครอบคลุมความเชื่อถือดั้งเดิมจนหมดสิ้น  แม้ว่าพระราชพิธีต่าง ๆ ในราชสำนักกัมพูชาจะยังคงดำเนินตามแบบศาสนาพราหมณ์อยู่ก็ตาม

ในยุคแรกนั้นราชสำนักและชนชั้นสูงทั้งหลายนับถือศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจะเห็นได้จากวัดวาอารามใหญ่ ๆ  และถาวรวัตถุทั้งหลาย  ตลอดจนความรู้ในด้านภาษาสันสกฤตและการใช้ชื่อตามแบบอินเดีย  แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็คงมีแบบเคารพบูชาเป็นของตนเองต่างหาก  คือ  อาจไม่ได้นับถือศาสนาพราหมณ์หรือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  อย่างพวกในราชสำนักและชนชั้นสูงก็ได้  ในประเทศกัมพูชาก็คล้าย ๆ ในเมืองไทย  คือ  มีการนับถือผีสางเทวดาไปพร้อม ๆ กันด้วย  ดังที่จะเห็นได้จากการที่ประชาชนได้สร้างศาลพระภูมิไว้ในบริเวณบ้านแทบทุกด้าน  การนับถือผีสางเทวดาแบบนี้อาจสืบเนื่องมาจากการนับถือเทวดาของอินเดียก็ได้  พระศิวะได้รับการยกย่องให้เป็นศิขเรศวร  และพระกฤษณะได้รับยกย่องให้เป็นศรีจัมเปศวรซึ่งเป็นเทพเจ้าที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๖  ทรงเคารพนับถือมาก

การยอมรับนับถือ  และการทำให้เทพเจ้าประจำถิ่นกลายเป็นเทพเจ้าของฮินดูนั้นเป็นแบบที่พวกพราหมณ์ถนัดมาก  พวกอินเดียที่บุกรุกเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ มักจะมีพราหมณ์ติดตามไปด้วยเสมอ  อนุชนที่สืบสายมาต่างก็ยังคงรักษาชื่อที่เป็นภาษาอินเดียเข้าไว้  และพยายามตั้งชื่อสถานที่ที่สำคัญ ๆ เป็นแบบอินเดียหมด  ภาษาสันสกฤตกลายเป็นภาษาราชการ  และภาษาทางศาสนาไป  ได้มีการพูดถึง “อาศรม”  และ  “วรรณะ”  ด้วย  และชาวพื้นเมืองก็คงจะค่อยได้รับการยกย่องเข้าสู่วรรณะสูง ๆ ตามลำดับ  และคงมีความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับอินเดียเสมอเป็นระยะ ๆ  ทั้งยังมีการพูดถึงการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงกัมพูชากับพราหมณ์ชื่อทิวากรซึ่งมาจากฝั่งแม่น้ำยมุนาในประเทศอินเดียอีกด้วย

ในยุคนี้  ประเพณีการบูชาพระศิวะถือกันว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมาก  และบางทีอาจเป็นศาสนาประจำชาติด้วยซ้ำไป  เพราะแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปฏิญาณว่าพระองค์เป็นพุทธมามกะที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  แต่ก็คงไม่ถึงกับละทิ้งการบูชาพระศิวะเสียเลยเป็นแน่  ทั้งยังมีการพูดถึงพระวิษณุอยู่มากเช่นกัน  ในศิลาจารึกยุคต้น ๆ ก็มีการยกย่องเทพเจ้าผสม  คือ  พระวิษณุกับพระศิวะซึ่งผสมกลายเป็นองค์เดียว  และเรียกพระนามใหม่ว่า  “หริ – หระ”  “ศัมภู – วิษณุ”  “ศังกระ – นารายณ์”  ฯลฯ  เป็นต้น  การบูชาเทพเจ้าผสมเป็นคู่ ๆ นี้  ได้มีการประพฤติปฏิบัติกันไปพร้อม ๆ กับลัทธิการบูชาพระศิวะแท้ ๆ  และการบูชาเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ในศิลาจารึกสมัยแรก ๆ  พระเจ้าภววรมันได้ทรงสนับสนุนการบูชาพระศิวะและได้ทรงสร้างศิวลึงค์ขึ้นมา  ทั้งพระองค์ยังได้ทรงบูชาเทพผสมพระนามว่า  “ศัมภู – วิษณุ”  และได้กล่าวถึงพระอุมา  พระลักษมี  พระภารตี  พระธรรม  พระมารุต   และพระวิษณุ   ในพระนามว่า  “จตุรภูชะ”  และ  “ไตรโลกยสาระ”  อีกด้วย  นับตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๒  เป็นต้นมา  ดูเหมือนจะไม่ค่อยนิยมการบูชา  พระวิษณุ – ศิวะ  ในฐานะเป็นเทพผสมเป็นองค์เดียวนัก  พระศิวะเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องบูชาเหนือพระวิษณุ  กษัตริย์ที่ทรงเคารพนับถือพระวิษณุมากเป็นพิเศษ  คือ  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๓  กับพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  ซึ่งทั้งสองพระองค์นี้เมื่อสวรรคตแล้วได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระวิษณุโลก”  กับ “พระบรมวิษณุโลก”  ตามลำดับ

โดยทั่ว ๆ ไปถือกันว่าพระศิวะเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  โดยถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสากลจักรวาล  แม้พระพรหมและพระวิษณุก็เกิดจากพระศิวะเหมือนกัน  คุณสมบัติของพระศิวะในฐานเป็นผู้ทำลายนั้นไม่ค่อยมีกล่าวยืนยันกันมากนัก  พระองค์ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเปลี่ยนแปลง  และดังนั้นจึงเชื่อว่าทรงเป็นผู้สร้างขึ้นมาใหม่อีก  สัญลักษณ์ของพระองค์ก็คือ  “ลึงค์”  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ในศิลาจารึกแผ่นนั้นได้เรียกพระศิวะว่า  “วิภู”  “ปรมวรหมา”  “ชคัทปติ”  และ  “ปศุปติ”  ศิลาจารึกที่พบที่นครวัดได้กล่าวถึง  “อาจารย์ของพวกปาศุปตะคือผู้ที่นับถือพระปศุบดี”  และ  “อาจารย์ของพวกที่นับถือลัทธิไศวะ”  และดูเหมือนเจาตากวนจะพูดถึงพวกที่นับถือพระปศุบดีโดยใช้คำว่า  “ปะซิวหวุย”  (Pa–ssu–wei)  ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีพวกที่บูชาพระปศุบดี  (พระศิวะ)  อยู่ในกัมพูชาเป็นนิกายหนึ่งต่างหาก  และปรากฏว่ามีพวกที่บูชาพระศิวลึงค์  (ลิงกายัต)  อยู่ทั่ว ๆ ไปด้วยเช่นกัน

ลักษณะที่น่าสนใจที่สุด  และเป็นลักษณะดั้งเดิมของกัมพูชาก็คือ  การที่ศาสนาได้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมือง  และการบูชาเทพต่าง ๆ  ซึ่งบางทีก็หมายถึงพระมหากษัตริย์หรือผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  ลักษณะท่าทีแบบนี้ปรากฏว่ามีอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งในจัมปาและชวา  ในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้  ตามธรรมดาเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสร้างวิหารหรือเทวาลัยขึ้นแล้ว  เทพเจ้าที่บูชากันในวิหารหรือเทวาลัยนั้น ๆ  มักจะมีชื่อตรงกับพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ทรงสร้างหรือไม่ก็มีชื่อต่าง ๆ  ในทำนองที่คล้ายคลึงกันนั้น  ดังนั้นเมื่อพระเจ้าภัทรวรมันทรงสร้างเทวาลัยถวายพระศิวะ  เทพในเทวาลัยนั้นก็มีพระนามว่า  “ภัเทรศวร”  อีกประการหนึ่งเมื่อกษัตริย์หรือผู้ที่มีชื่อเสียงสวรรคตหรือถึงแก่กรรมไปแล้วจะมีผู้สร้างรูปปั้นหรือสลักรูปขึ้นเป็นอนุสรณ์โดยสร้างให้มีลักษณะหน้าตาคล้ายผู้ตาย  แต่ตั้งชื่อตามเทพเจ้าที่ผู้ตายโปรดปรานเคารพนับถือมากที่สุด  ดังนั้น  พระเจ้าอินทรวรมันและพระเจ้ายโสวรมันที่เขาสร้างไว้ที่ปราสาทบาโค (Bako)  และที่ปราสาทโลไล (Lolei)  จึงสร้างเป็นรูปพระศิวะ  พระนามเหล่านี้มักเป็นพระนามผสม  ครึ่งหนึ่งเป็นพระนามของเจ้าชายหรือเจ้าหญิงที่ได้รับยกย่องเป็นเทพในสมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่  ส่วนครึ่งหลังมี  “อีศวร”  หรือ  “เทวี”  ต่อท้าย  ทั้งนี้แล้วแต่จะเป็นเพศใด  การสร้างเทวรูปอีกแบบหนึ่งก็คือ  การถวายพระนามใหม่ให้แก่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว  เพื่ออธิบายให้ทราบว่าพระองค์ได้เสด็จไปสู่สวรรค์ของเทพเจ้าที่คอยคุ้มครองรักษาพระองค์  เช่น  พระบรมวิษณุโลกและพระพุทธโลก  เป็นต้น  วิหารที่ปราสาทบายนเป็นวิหารประจำชาติจริง ๆ ในวิหารที่ปราสาทบายนนี้มีพระปรางค์อยู่มากมายที่สร้างอุทิศถวายเทพเจ้า  และบุคคลสำคัญ ๆ ของประเทศ  นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสหลายคนมีความเห็นว่าวิหารต่าง ๆ เหล่านี้จำแนกออกได้เป็น  ๔  ประเภทด้วยกัน  คือ

ประเภทที่  ๑  อุทิศถวายเทพเจ้าของอินเดีย  ส่วนมากอุทิศถวายพระศิวะ  พระเทวี  และพระวิษณุ
ประเภทที่  ๒  อุทิศถวายพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไภสัชคุรุซึ่งถือกันว่าเป็นผู้คอยคุ้มครองเมืองต่าง ๆ  และภูเขาทั้งหลาย
ประเภทที่  ๓  อุทิศถวายเทวดาพื้นบ้านทั้งหลาย  ซึ่งคงจะเป็นเทวดาของชาวกัมพูชาเอง  คล้าย ๆ กับเทวดาประจำเมืองที่เคารพนับถือกันอยู่ในประเทศจีนฉะนั้น
ประเภทที่  ๔  อุทิศถวายพระมหากษัตริย์  และผู้สูงศักดิ์  ที่ยกย่องนับถือกันว่าเป็นเทพยดาอารักษ์  ซึ่งมักทำเป็น  ๒  แบบ  คือ  ทั้งแบบมนุษย์และแบบเทพยดา  มีชื่อต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ดังนั้น  ในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งจึงกล่าวถึงศรีมเหนทเรศวรี  ซึ่งเป็นพระรูปของพระนางศรีมเหนทร์ลักษมี  นักปราชญ์พวกที่มีความเห็นว่าจตุรพักตร์ที่ปราสาทบายนนั้นอาจเป็นพระพักตร์ของพระศิวะก็ได้  ให้เหตุผลไว้ว่าเทพเจ้าที่เป็นใหญ่เป็นประธานของปราสาทบายนก็คือ  “พระศิวะ”  ในรูปของ  “ศิวลึงค์”  เครื่องประดับตกแต่งด้านนอกที่สำคัญ ๆ ของปราสาทหลังนี้ก็คือ  หอคอย  ๔๐  หอ  ซึ่งแต่ละหอคอยมีพักตร์  ๔  พักตร์  พระพักตร์เหล่านี้เดิมคิดกันว่าหมายถึง  ”พระพรหม”  แต่ก็มีความสงสัยกันอยู่เล็กน้อยว่า  พักตร์เหล่านี้คงหมายถึงลึงค์ซึ่งมีพระพักตร์ของพระศิวะอยู่  ๔  พักตร์ด้วยกัน  เพราะแต่ละพักตร์นั้นมีพระเนตร  ๓  เนตรทั้งนั้น  ลึงค์เหล่านี้พอจะเห็นมีอยู่ในอินเดียบ้างก็เป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น  ไม่ค่อยจะได้เห็นทั่ว ๆ ไปหรือบ่อยนัก  และในจัมปาก็ได้พบโลหะซึ่งมีพักตร์หลายพักตร์ติดอยู่ที่ลึงค์เป็นจำนวนมาก  จตุรพักตร์เหล่านี้มีอยู่มากมายบนซุ้มประตูเข้านครธมและที่ปราสาทบายน  แต่ละแห่งล้วนน่าดูทั้งนั้น  เครื่องหมายที่มีอยู่ที่ปรางค์องค์กลางของปราสาทบายนซึ่งบางทีอาจเป็น  “ลึงค์”  นั้น  มีชื่อว่า  “กมร  เต็ง  ชะคัท  ตะราช”  หรือ  “เทวราช”  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือบางทีก็เขียนว่า  “กมร  เต็ง  ชะคัท  ตะ  ราชย์”  ซึ่งหมายความว่า  “เทพเจ้าผู้ทรงเป็นราชอาณาจักร”  ในศิลาจารึกมากมายหลายแห่งที่ปรากฏว่าไม่เพียงแต่คนที่ตายไปแล้วเท่านั้นที่จะมีผู้สร้างรูปอนุสาวรีย์ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าให้  แม้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีผู้สร้างให้เหมือนกัน  ศิลาจารึกที่น่าสังเกตมากแห่งหนึ่งก็คือ  ที่กล่าวถึงการมอบกองทหารที่จับเป็นเชลยได้ถวายพระเจ้าแผ่นดิน  โดยได้ทูลขอให้พระองค์ทรงมอบกองทหารกองนี้ถวาย  “อาตมันที่เล็กที่สุดของพระองค์ซึ่งเป็น  “อิศวร”  ผู้ประทับอยู่ในลึงค์ทองคำ”  ดังนั้น  อาตมันที่เล็กละเอียดที่สุดนี้ซึ่งอยู่ในลึงค์จึงถือกันว่าคือพระศิวะนั่นเอง  และอาตมันนี้ได้ปรากฏอยู่ในองค์พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อ ๆ มาด้วย  เรื่องจตุรพัตร์จะเป็นพักตร์ของพระศิวะหรือของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าในรัชสมัยนั้น  กษัตริย์นับถือศาสนาใด  ถ้านับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็ถือว่า  จตุรพักตร์นั้นเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  ถ้ากษัตริย์นับถือศาสนาศาสนาพราหมณ์จตุรพักตร์นั้นก็เป็นตัวแทนของพระศิวะไป

แบบปฏิบัติต่าง ๆ ที่อธิบายมาแล้วนั้น  มีอะไรหลายอย่างที่คล้าย ๆ กับที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศอินเดีย  เพราะในอินเดียธรรมเนียมการตั้งชื่อเทพประจำวิหาร  เทวสถาน  หรือปรางค์ต่าง ๆ ตามชื่อของผู้สร้าง  เช่น  พระเจ้าวิชยาทิตย์ทรงสร้างเทวสถานชื่อ  วิชเยศวร  พระราชินีโลกมหาเทวี  และพระราชินีไตรโลกมหาเทวี  ทรงสร้างเทวสถานชื่อ  โลเกศวร  และไตรโลเกศวร  เป็นต้น  ส่วนเรื่องการเคารพบูชาบรรพบุรุษนั้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่ว ๆ ไป  มีหลุมฝังพระศพอยู่มากมายหลายแห่ง  และความเห็นที่ว่าดวงวิญญาณจะต้องสิงสถิตอยู่  ณ  ที่ใดที่หนึ่งในชีวะ  มากกว่าที่จะสิงสถิตอยู่ในร่างกายนั้นก็เป็นความเชื่อถือที่มีอยู่ในที่ทั่ว ๆ ไปด้วย  ความคิดเห็นและการปฏิบัติเหล่านี้หาได้เป็นลักษณะที่ปรากฏอยู่ในศาสนาฮินดูไม่  ดังนั้น  ความคิดเห็นของชาวกัมพูชาในทำนองนี้คงจะได้รับอิทธิพลมาจากที่อื่นเป็นแน่  สำหรับในเอเชียบูรพาทั่ว ๆ ไปแล้ว  การเคารพบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนับว่าเป็นศาสนาแบบที่ถือว่าเป็นมาตรฐานและมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง  ในประเทศจีนความคิดเห็นแบบนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่  โดยที่ชาวจีนมีความเห็นว่าคนสำคัญ ๆ ควรจะได้เอาไปฝังไว้ในฮวงซุ้ยเพื่อดวงวิญญาณจะมาสิงสถิตอยู่ที่รูปได้  ทั้งยังมีความเห็นต่อไปอีกว่า  วิญญาณของมนุษย์เป็นสิ่งประกอบแต่ง  ดังนั้น  ส่วนต่าง ๆ ของวิญญาณอาจแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ได้  ความเชื่อเหล่านี้ผสมกับความเชื่อถือของชาวอินเดียที่ว่าเทพยดาจะมาปรากฏตัวได้ในเวลาที่อวตาร  ในดวงวิญญาณของมนุษย์และในรูปต่าง ๆ นั้นได้ก่อให้เกิดพื้นฐานทางด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการเคารพบูชา  “เทวราช”  ได้เป็นอย่างดีทีเดียว  ทัศนะว่า  ศาสนาและรัฐควรจะได้ให้ความร่วมมือแก่กันและกันอย่างใกล้ชิดและกษัตริย์กัมพูชาน่าจะทรงดีพระทัยที่ได้เลียนแบบความรุ่งเรืองของโอรสสวรรค์นั้นได้เป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่ว ๆ ไปแม้ในเอเชียบูรพา  แต่บางทีก็อาจมีสาเหตุที่ธรรมดาสามัญยิ่งกว่านั้นก็ได้ที่ทำให้ศาสนากับรัฐรวมตัวกันอยู่ได้ในดินแดนต่าง ๆ ทุกหนทุกแห่งที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดู  ในประเทศอินเดียสมัยกลางพวกพราหมณ์มีอำนาจจนกระทั่งอาจอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของศาสนาหรืออารยธรรมโดยแยกตัวออกจากรัฐเลยทีเดียวแต่ในประเทศกัมพูชาและจัมปา  ศาสนาและอารยธรรมของพราหมณ์ได้ถูกนำเข้ามาผูกพันไว้กับรัฐทั้งหมด

ศาสนาพราหมณ์ในกัมพูชาส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการบูชา  “เทวราช”  จนเกือบจะเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักไป  ดูเหมือนในราชสำนักจะมีความเห็นว่า  สิ่งที่จำเป็นที่กษัตริย์จะต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีฐานะสูงศักดิ์เหนือเจ้านายธรรมดาสามัญทั่วไปก็คือ  จะต้องมอบตำแหน่งที่สูงสุดทางด้านศาสนาให้แก่ครูบาอาจารย์ของตน  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ได้ทรงแต่งตั้งตระกูล  “ศิวไกวัลย์”  เป็นพระประจำเทวราชสืบ ๆ กันมาตามเชื้อสาย  ดังนั้น  วงศ์ทางศาสนาที่ตั้งขึ้นจึงมีอำนาจรุ่งเรืองอยู่หลายร้อยปี  จะด้อยกว่าก็เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น

ศิลาจารึกที่พบที่สะดกกักธม  (ป่านกยางใหญ่)  ได้บอกถึงประวัติของตระกูลศิวไกวัลย์ว่าได้สืบเนื่องติดต่อกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  มาจนกระทั่งถึง  พ.ศ. ๑๕๙๕  ในรัชสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่  ๒  ทั้งนี้ก็เพราะพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิราช  เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อ  “ชวา”  อีกต่อไป  ทั้งนี้โดยพระองค์ได้อาศัยพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นบัณฑิตมีความเชี่ยวชาญในเวทวิทยาคม  “สิทธิวิทยา”  พราหมณ์ผู้นี้ชื่อ  หิรัณยทามะ  เป็นผู้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ทรงเชิญมาจากชนบทเพื่อมาช่วยจัดทำพิธีการบูชาเทวราชและสอนพระประจำราชสำนักชื่อ  ศิวไกวัลย์  ให้รู้จักคัมภีร์ทั้ง  ๔  อัน  ได้แก่  คัมภีร์วินาสิขะ  นโยตตระ  สัมโมหะ  และศิรัศเฉทะ  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ทรงตกลงอย่างมีพิธีรีตองว่าต้องเป็นสมาชิกตระกูลศิวไกวัลย์สายมารดาเท่านั้น  จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้  จึงสมควรที่จะเป็น  “ยาชกะ”  คือ  ผู้ประกอบยัญพิธีได้  ผู้อื่นนอกจากนี้ประกอบยัญพิธีหาได้ไม่  การจำกัดตัวตายเช่นนี้ไม่ต้องสงสัยละว่าหมายเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวกับ  “เทวราช”  เท่านั้น  และหมายถึงสำนักงานของผู้ที่ทำหน้าที่ประจำราชสำนักซึ่งเรียกว่า ปุโรหิต  คุรุ   หรือโหตริ  ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีสองคนเสมอไป

ศิวไกวัลย์ได้ติดตามพระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  ไปทุกหนทุกแห่งไม่ว่าพระองค์เสด็จไปไหน  ไม่ว่าจะเป็นคราวเสด็จไปประทับอยู่ที่อินทรปุระ  หรือเมืองหริหราลัย  หรืออมเรนทรปุระก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพื่อต้องรับใช้พระเจ้าชัยวรมันที่  ๒  นั่นเอง

ศิลาจารึกที่พบที่สะดก  กัก  ธม  ได้กล่าวถึงประวัติครอบครัวของตระกูลศิวไกวัลย์  กับได้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าชัยวรมันทรงพระราชทานที่ดินให้  และเรื่องการที่พวกพระตระกูลศิวไกวัลย์ได้รับยกย่อง  การที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานที่ดินให้ตระกูลศิวไกวัลย์พร้อมทั้งยอมให้มีสิทธิที่จะบังคับใช้แรงงานประชาชนด้วยนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่มีอยู่ทั่วไปตามปรกติ  ต่อมาพวกพระเหล่านี้ก็จะสร้างเมืองขึ้นหรือไม่ก็สร้างหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยเทวสถานและสระน้ำ  การนับถือศาสนาพราหมณ์ในประเทศกัมพูชานี้จะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของประชาชนทั่ว ๆ ไป  ศิลาจารึกมักกล่าวถึงการฟื้นฟูศาสนา  บางทีกล่าวว่าวัดวาอารามถูกปล่อยปละละเลยให้ป่าหญ้าขึ้นรกไปหมด  เราพอจะสรุปได้ว่า  ถ้านายบ้านเป็นพราหมณ์เลิกให้ความสนใจต่อวัดเสีย  จะโดยเหตุผลประการใดก็ตาม  แรงงานและจตุปัจจัยที่จะถวายวัดก็เป็นอันยุติกันไปในตัว  และป่าหญ้าก็จะถูกปล่อยให้ขึ้นปกคลุมบรรดาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามสบาย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ตุลาคม 2556 13:44:58 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 01 ตุลาคม 2556 13:38:03 »

.

ภาพจาก : www.xn--12cs1b3aok1a3fdn9ezl.com

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา (จบ)
มีศิลาจารึกอยู่มากมายหลายแผ่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าตระกูลศิวไกวัลย์ยิ่งใหญ่เพียงใด  บัญชีรายการสมบัติพัสถาน  ข้าทาสบริวาร  จำนวนรูปปั้นรูปสลักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลในตระกูลศิวไกวัลย์นั้นแสดงให้เห็นว่า  ฐานะของพวกศิวไกวัลย์นี้เกือบเท่าเทียมกษัตริย์เข้าไปทีเดียว  แม้แต่ในสมัยที่พระมหากษัตริย์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา  พวกพระตระกูลศิวไกวัลย์ก็ได้หลีกเลี่ยงการที่จะยึดราชสมบัติ  แต่ก็ไม่มีเจ้าแผ่นดินองค์ใดขึ้นครองราชสมบัติได้ถ้าหากพระในตระกูลศิวไกวัลย์ไม่ยอมประกอบพิธีให้  ท่านสทาศิวะ  ท่านสังกรบัณฑิต  และท่านทิวาบัณฑิต  ได้เป็นผู้ก่อการสืบวงศ์ทางศาสนาขึ้นตั้งแต่ประมาณ  พ.ศ. ๑๕๕๑ – ๑๖๕๐  ควบคู่ไปกับราชวงศ์ในสมัยเดียวกัน  ในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งได้บอกไว้ว่า  ท่านทิวากรบัณฑิตได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกให้แก่กษัตริย์ถึง  ๓  พระองค์ด้วยกัน  ท่านสังกรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนนับว่าเป็นผู้ปกครองประเทศจริง ๆ ในสมัยที่พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันซึ่งเป็นศิษย์ของท่านยังทรงพระเยาว์อยู่  และเมื่อกษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติแล้ว  อำนาจอิทธิพลของท่านสังกรบัณฑิตก็หาได้ลดน้อยลงไม่

พระพุทธศาสนาแบบมหายานได้มีอยู่ในกัมพูชาในสมัยที่มีศิลาจารึก แต่ก็ดูใกล้ชิดสนิทสนมกับศาสนาพราหมณ์มาก  จนรู้สึกออกจะลำบากใจที่จะถือว่าพระพุทธศาสนาแบบมหายานนี้เป็นศาสนาหนึ่งต่างหากจากศาสนาพราหมณ์  ความรู้สึกที่ว่าศาสนาทั้งสองนี้แตกต่างกันจริง ๆ นั้นไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในความรู้สึกของผู้ทำศิลาจารึกเลย  และพระพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยจะแตกต่างจากลัทธิไศวะและลัทธิไวษณพมากนัก  บันทึกที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่นับว่าเก่าที่สุดนั้นมีข้อความอยู่เพียงสั้น ๆ เท่านั้นเอง  และมีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่  ๑๒  ซึ่งศิลาจารึกนี้ได้กล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งชื่อ  “พอน  ปรัชญาจันทร์”   ว่าได้ถวายทาสชายหญิงแด่พระโพธิสัตว์  ๓  พระองค์  คือ  พระศาสดา  พระศรีอริยเมตไตรย  และพระอวโลกิเตศวร

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ได้ทราบว่าพระเจ้ายโสวรมันได้ทรงสร้าง “เสาคตาศรม”  หรือวัดในพระพุทธศาสนาคู่กับ  “พราหมณาศรม”  ขึ้นในนครธม  ผู้ที่อยู่ในเสาคตาศรมได้รับยกย่องนับถือเท่าเทียมกับพวกพราหมณ์  และมีระเบียบข้อบังคับและหน้าที่ต่าง ๆ  เกือบจะคล้ายกับพวกพราหมณ์ทีเดียว  คือ  มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลโรงอุโบสถหรือวิหาร  เป็นอนาคาริกดำรงชีวิตด้วยภิกขาจาร  และทำหน้าที่ในการฌาปนกิจศพต่าง ๆ  อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในคัมภีร์พุทธศาสนาก็ได้รับยกย่องเสมอด้วยอาจารย์ในลัทธิไศวะและลัทธิปาสุปตะ  คือ  ลัทธิที่นับถือพระปศุบดี  อาจารย์ในสองลัทธินี้ได้รับยกย่องมากเป็นพิเศษก็คือ  ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านไวยากรณ์  แต่อาจารย์ในพระพุทธศาสนาอาจได้รับเกียรติต่ำกว่าอาจารย์ในศาสนาพราหมณ์อยู่บ้างเล็กน้อย  แม้ในศิลาจารึกที่จารึกเรื่องการสร้างอาศรมทั้งสองนี้ก็ได้แสดงให้เห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่  เฉพาะในศิลาจารึกทั้งสองนั้นขึ้นต้นด้วยโศลกสองบทที่กล่าวสดุดีพระศิวะ  แล้วศิลาจารึกทางพระพุทธศาสนาจึงได้เพิ่มโศลกอีกบทหนึ่งที่กล่าวสดุดีพระพุทธเจ้าแล้วต่อจากนั้นไปมีข้อความเหมือน ๆ กันอีกหลายโศลก

พระพุทธศาสนาแบบมหายานดูเหมือนจะเจริญรุ่งเรืองมากเป็นพิเศษนับแต่สมัยพุทธศตวรรษที่  ๑๕  มาจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่  ๑๘  และตลอดสมัยนั้น  เราได้พบลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่ด้วย  นั่นคือผู้บริจาคคนสำคัญ ๆ นั้นหาใช่พระมหากษัตริย์ไม่  กลับกลายเป็นพวกอำมาตย์ข้าราชบริพารของพระองค์ไป  พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑  (พ.ศ. ๑๕๙๒)  เมื่อสวรรคตแล้วก็ได้รับการเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า  “นิรวาณบาท”  จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระองค์ทรงนับถือ

พระพุทธศาสนา  และพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ก็ได้ทิ้งศิลาจารึกที่มีข้อความยาวเหยียดซึ่งเริ่มต้นด้วยข้อความที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาจริง ๆ  มีศิลาจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันอยู่แผ่นหนึ่งที่ในโศลกบทที่สองของศิลาจารึกนั้นได้กล่าวว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจริง  ศิลาจารึกแผ่นนี้ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญพระศิวะ  พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  หาได้ทรงละเลยเพิกเฉยต่อเทพเจ้าทั้งหลายเสียทีเดียวไม่  มีอยู่ประมาณร้อยปีที่ได้มีพวกอำมาตย์ราชเสวกคนสำคัญ ๆ หลายคนที่ได้สนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา  เช่น  ท่านสัตยวรมัน  (ประมาณ  พ.ศ. ๑๔๔๐)  ซึ่งได้รับมอบหมายให้สร้างปราสาทพิมานอากาศขึ้นที่นครวัด  ท่านกวินทราริมัทนะ  ซึ่งเป็นเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่  ๒  และพระเจ้าชัยวรมันที่  ๕ ก็ได้สร้างพระพุทธรูปไว้มากมาย กับอีกคนหนึ่งคือท่านกีรติ บัณฑิต ซึ่งเป็นเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ เป็นผู้แต่งศิลาจารึกที่พบที่สฺเรย  สันธอ  (Srey  Santhor)  กล่าวยกย่องความเพียรพยายามของตนที่ได้ให้คำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง  เสมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากหมู่เมฆหรือดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณฉะนั้น

เราอาจสร้างจินตนาการเอาเองได้อย่างง่าย ๆ ว่า  อำนาจที่พระประจำราชสำนัก (ศิวไกวัลย์)  ได้รับนั้นได้เป็นเหตุให้พวกปัญญาชนทำการปฏิวัติต่อศาสนา  ถืออำนาจสูงต่ำลดหลั่นกันนี้  และหันไปนิยมชมชื่นต่อเสรีภาพและศาสนาต่าง ๆ ที่ให้ความปลอดภัย  บางทีพระเจ้าแผ่นดินเองร่วมกับพวกประจำราชสำนักที่ยอมรับนับถือว่าพระองค์เป็นเทพเจ้าจะมีความยินดีปรีดาที่อนุญาตให้พวกพระมีเกียรติพอ ๆ กับพระองค์  โดยทรงยกย่องให้พระเหล่านั้นมีอำนาจยิ่งใหญ่  แม้การทำให้ลัทธิไศวะเป็นเอกลักษณ์กับพระพุทธศาสนาจะทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ  จนกระทั่งเราได้ทราบว่ามี  “ตรีมูรติ”  ที่ประกอบด้วย พระปัทโมทภวะ   (พระพรหม) พระอัมโภชเนตร   (พระวิษณุ)  และพระพุทธเจ้า  แต่ศิลาจารึกที่พวกเสนาบดีที่เป็นพุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นก็ได้แสดงถึงความชื่นชมยินดีในสัมฤทธิภาพแห่งความพยายามของตน

ในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจารึกเรื่องราวที่อำมาตย์ชื่อ  กวินทราริมัทนะ  สร้างพระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตาขึ้นเพื่อยกย่องให้เป็นปูชนียวัตถุคู่บ้านคู่เมืองยโสธรปุระ  แม้ท่านผู้นี้จะเป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง  แต่ความจงรักภักดีที่ท่านมีต่อพระมหากษัตริย์นั้นมีมากเหลือเกิน  ท่านได้สร้างปรางค์ขึ้นสามปรางค์ที่บาฎชุม  (Bat  Cum)  ที่ปรางค์ทั้งสามนี้มีศิลาจารึกเกี่ยวกับการสร้างสระน้ำด้วย  ปรางค์องค์แรกอ้างถึงพระพุทธเจ้า  พระโพธิสัตว์วัชรปาณี  และพระโพธิสัตว์โลเกศวร  ที่ปรางค์อื่น ๆ มีพระปรัชญาปารมิตามาแทนที่พระโลเกศวร  และถือว่าเป็นเทพธิดาหรือศักติ  บางแห่งก็ใช้คำว่า  “เทวี”  แทน  ศิลาจารึกทั้งสามแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสร้างสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่ทั้ง ๆ ที่ผู้สร้างเป็นชาวพุทธ  ศิลาจารึกก็ยังมีข้อความพาดพิงไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ด้วย

ศิลาจารึกที่สฺเรย  สันธอ (ประมาณ  พ.ศ. ๑๕๑๘) ได้พรรณาถึงกิจการที่ท่านกีรติบัณฑิตได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่จนสำเร็จและได้ยกความดีความชอบนี้ถวายแด่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๕  ท่านกีรติบัณฑิตเป็นพระประจำราชสำนักที่ได้ละทิ้งการบูชาพระศิวะมานับถือพระพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นผู้ช่ำชองในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  เมื่อถึงวันดีคืนดีท่านจะเอาพระพุทธรูปมาสรงน้ำเป็นพิธีใหญ่โตทีเดียว

เรื่องที่น่าสนใจในศิลาจารึกนี้ก็คือ  ข้อความที่กล่าวว่ากีรติบัณฑิตได้นำเอาคัมภีร์พุทธศาสนามาจากต่างประเทศ  คัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้ง  “ศาสตร์มัธยวิภาค”  และ  “อรรถกถาตัดตวสงเคราะห์”  ด้วยคัมภีร์ศาสตร์มัธยวิภาคคงจะเป็นคัมภีร์  “มาธยานตวิภาคศาสตร์”  ที่ท่านวสุพันธุ์ได้รจนาไว้เป็นแน่  ผู้จารึกศิลานี้ไว้ได้ก่อให้เกิดความสนใจในการสนับสนุนข้อความที่ท่าน “ตารนาถ”  ได้กล่าวว่า  ศิษย์ของท่านวสุพันธุ์ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่อินโดจีน

ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แม้ศาสนาฮินดูจะยังคงมีอยู่และพระประจำราชสำนักซึ่งเป็นพวกที่นับถือลัทธิไศวะจะยังคงได้รับการยกย่องอยู่ก็ตาม  แต่ถึงกระนั้นพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็ยังคงมีอิทธิพลมากจนเป็นที่ยอมรับนับถือกันว่าเป็นศาสนาประจำราชสำนักหรือประจำชาติเอาทีเดียว  และที่น่าสังเกตยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ  ในรัชสมัยเดียวกันนี้เองพระพุทธศาสนาแบบมหายานได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในจัมปาและชวาด้วย  ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาในลังกาและพม่ามีผลสะท้อนไปถึงพระพุทธศาสนาทุกนิกายในประเทศอื่น ๆ  ในเอเชียอาคเนย์ด้วยนั่นเอง  ศิลาจารึกที่มีข้อความยืดยาวของพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  นั้น  บรรจุข้อความถึง  ๑๔๕  โศลก  เวลานี้ยังเก็บไว้ที่ปราสาทตาพรหมใกล้ ๆ นครวัด  ศิลาจารึกแผ่นนี้เริ่มต้นด้วยการอ้างถึงพระพุทธเจ้าในรูปของตรีกาย  พระโลเกศวร  และชินมาตา  ซึ่งหมายถึง  พระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตาซึ่งเป็นเพศหญิง  มิได้มีข้อความกล่าวถึงพระศิวะเลย  แต่มีกล่าวถึงเทวดาในศาสนาพราหมณ์มากมายหลายองค์ด้วยกัน  และมีกล่าวถึงพระภิกษุและพวกพราหมณ์ปน ๆ กันไป  ศิลาจารึกนั้นได้กล่าวถึงรายการสิ่งของต่าง ๆ ที่มีผู้ถวายให้เป็นของใช้ในวิหารต่าง ๆ  และที่อุทิศถวายเฉพาะบุคคล  ศิลาจารึกนี้มิได้ให้ความแจ่มกระจ่างเกี่ยวกับพิธีทางพระพุทธศาสนามากนัก  ทำให้เข้าใจว่าคงจะมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ไปพร้อม ๆ กัน  เราได้ทราบว่ามีเครื่องทรงสำหรับเทวดาทั้งหลาย  และมีมุ้งที่ทำด้วยผ้าจีนถึงถึง  ๔๕  ปาก  เพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธรูปและเทวรูปต่าง ๆ  ได้กล่าวถึงวันอุโบสถและงานฤดูหนาวซึ่งเป็นงานที่เขาจะนำเอา  “พระภควัตและพระภควดี”  ไปร่วมในพิธีพร้อมด้วยราชวัตรฉัตรธงดุริยสังคีตและมีเด็กสาว ๆ ฟ้อนรำขับร้องตามไปด้วย  ผู้ที่มาร่วมในพิธีทั้งหมดรวมทั้งพระด้วยมีจำนวนถึง  ๗๙,๓๖๕  คน  ซึ่งอาจรวมทั้งพวกบ้านใกล้เรือนเคียงด้วยก็ได้  ในพิธีนี้มีพระอธิการชั้นผู้ใหญ่  ๑๘  รูป  พระอันดับ  ๒,๗๔๐  รูป  กับผู้ช่วยรวมทั้งลูกศิษย์อีก  ๒,๓๒๒  คน  ซึ่งทั้งนี้ รวมเอาเด็กหญิงที่ฟ้อนรำขับร้อง  ๖๐๕  คนเข้าไว้ด้วย  จำนวนที่กล่าวนี้ดูออกจะมากไปสักหน่อย

ศิลาจารึกได้สรุปด้วยข้อความที่กล่าวถึงว่าในประเทศกัมพูชามีโรงพยาบาลอยู่  ๑๐๒  แห่ง  โรงพยาบาลเหล่านี้คงมิใช่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  สร้างขึ้นทั้งหมดเป็นแน่  และดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงถือว่าโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐที่มีการปกครองที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว  พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่และทรงใช้จ่ายเงินเพื่อโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก  และได้ทรงอุทิศเป็นพระราชกุศลถวายพระราชมารดาของพระองค์  รายละเอียดเกี่ยวกับโรงพยาบาลเหล่านี้ที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอีกแผ่นหนึ่งซึ่งพบในประเทศลาวทำให้เราทราบว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนามีบทบาทในกุศลทานนี้มากกว่าศาสนาพราหมณ์  ในเบื้องแรกศิลาจารึกได้อ้างถึงพระพุทธเจ้าซึ่งมีตรีกายนั้นว่าเป็นผู้อยู่พ้นจากการที่จะจัดว่าเป็นภาวะหรืออภาวะ  ต่อจากนั้นก็ได้กล่าวถึงพระไภสัชคุรุและพระโพธิสัตว์อีกสององค์ซึ่งเป็นผู้ทำลายความมืดและโรคภัยต่าง ๆ พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งสวรรค์เบื้องตะวันออกอันเปรียบเสมือนสุขาวดีนั้นยังคงเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและญี่ปุ่นนับถืออยู่  โดยถือกันว่าเป็นเทพแห่งแสงสว่าง  โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่กษัตริย์กัมพูชาทรงสร้างขึ้นภายใต้ความคุ้มครองของเทพเจ้าแห่งนี้ได้เปิดบริการแก่ประชาชนทั้งสี่วรรณะ  มีเจ้าหน้าที่  ๙๘  คน  โหร  ๑  คน  และผู้ประกอบพิธี  (ยาชกะ)  อีก  ๒  คน

ศิลาจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  เหล่านี้  นับว่าเป็นศิลาจารึกสุดท้ายที่ได้บอกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาในสมัยกลาง  แต่เราก็มีเรื่องศาสนาที่ได้มาจากที่อื่น ๆ อีกบ้าง  คือข้อความที่  “เจาตากวน”  ซึ่งมาจากราชสำนักตีมูร์ข่านได้จดไว้เมื่อคราวมาเยือนนครวัดปี  พ.ศ. ๑๘๓๙  เจาตากวนได้อ้างถึงวัดที่อยู่ใจกลางเมืองซึ่งคงหมายถึงปราสาทบายนนั่นเอง  และยังได้กล่าวไว้ด้วยว่ามีหอคอยทองคำอยู่แห่งหนึ่ง  และว่าทางทิศตะวันออกมีสะพานทองคำ  มีสิงโตสองตัวขนาบข้างอยู่  และมีพระพุทธรูปอีก  ๘  องค์  ทั้งหมดนี้ทำด้วยโลหะชนิดเดียวกัน  ข้อความที่เจาตากวนได้กล่าวอ้างถึงว่าด้วย  “ศาสนาทั้งสาม”  นั้น  แปลลิออต์  (Pelliot)  ได้เขียนไว้พอสรุปได้ดังนี้

เขาเรียกพวกนักอักษรศาสตร์ว่า “ปันจิ”  เรียกพวกที่ห่มผ้าเหลืองว่า “จูกุ”  และเรียกพวกที่นับถือลัทธิเต๋าว่า  “ปะซิวหวุย”  ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าปันจินับถือศาสนาอะไร  พวกปันจิไม่มีโรงเรียนจึงยากที่จะบอกว่าพวกนี้อ่านหนังสืออะไร  พวกปันจิแต่งตัวคล้ายกับพวกอื่น ๆ นั่นแหละ  เพียงแต่ว่าพวกนี้มีด้ายขาวคล้องคอด้วยเท่านั้นเอง  พวกนี้อยู่ในฐานะที่สูงมาก  พวก “จูกุ”  ปลงผมและครองผ้าสีเหลือง  เปิดไหล่ขวา  ร่างกายท่อนล่างพันไว้ด้วยผ้านุ่งสีเหลือง  และเดินเท้าเปล่า  วิหารของพวกจูกุบางทีก็มุงด้วยกระเบื้อง  ในวิหารมีรูปรูปหนึ่งคล้าย ๆ พระศากยมุนี  ที่พวกจูกุเรียกว่า “โปไล”  (คือพระ)  ซึ่งประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับสีแดงเข้มและสีน้ำเงิน  ห่มผ้าสีแดง  พระพุทธรูปบนปรางค์ต่าง ๆ มีรูปร่างต่าง ๆ กัน  และหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  ไม่มีระฆัง  ไม่มีกลอง  ไม่มีฉิ่งฉาบ  และไม่มีธงอยู่ในวิหารเลย  พวกจูกุฉันอาหารในวัด  ฉันปลาและเนื้อด้วย  แถมยังเอาเนื้อและปลาไปถวายพระพุทธเจ้าอีกด้วย  แต่ไม่ดื่มสุรา  พวกจูกุท่องคัมภีร์ต่าง ๆ มากมายที่จารึกไว้บนใบลาน  พระพุทธรูปบางองค์มีห้องสำหรับประดิษฐานโอ่อ่า  และมีสัปทนด้ามทองและด้ามเงินด้วย  พวกเจ้านายชอบมาปรึกษาหารือกับพวกจูกุในเรื่องต่าง ๆ  ไม่มีพระที่เป็นผู้หญิงเลย

พวกปะซิวหวุยก็แต่งตัวเหมือนพวกอื่น ๆ นั่นแหละ  เพียงแต่ว่าบนศีรษะของพวกปะซิวหวุยมีอะไรอยู่ชั้นหนึ่งที่มีสีแดงหรือขาวประดับอยู่ด้วย  คล้าย ๆ  “กูกุ”  ที่พวกผู้หญิงตาร์ตาร์สวมฉะนั้น  แต่ดูจะมีคุณภาพเลวกว่า “กูกุ”  วิหารของพวกปะซิวหวุยมีขนาดเล็กกว่าวิหารของชาวพุทธ  ทั้งนี้เพราะมีผู้นิยมนับถือลัทธิเต๋าน้อยกว่าที่นับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง  พวกปะซิวหวุยมิได้บูชาอะไรเลยนอกจากศิลาสี่เหลี่ยมแผ่นหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ หินบนแท่นบูชาสุริยเทพในประเทศจีนฉะนั้น  ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า...พวกปะซิวหวุยนับถือเทพเจ้าองค์ใด  ลัทธิเต๋านี้ก็มีผู้หญิงอยู่ด้วยเหมือนกัน  พวกปะซิวหวุยนี้ไม่รับประทานอาหารของผู้อื่น  ทั้งไม่รับประทานในที่สาธารณะ  และไม่ดื่มสุราด้วย

พวกเด็ก ๆ ที่เป็นคฤหัสถ์เมื่อไปโรงเรียนย่อมมีโอกาสได้คุ้นเคนกับพระในพุทธศาสนา  เพราะพระพวกนี้เป็นครูสอนหนังสือเด็ก  เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นก็จะกลับมาครองชีวิตแบบฆราวาสต่อไป
“ข้าพเจ้าไม่อาจวิจัยเรื่องนี้ให้ละเอียดลออได้”

บางแห่ง  เจาตากวนก็กล่าวว่า  “ทุก ๆ คนบูชาพระพุทธเจ้า”  และยังพรรณนาถึงพิธีรีตองต่าง ๆ ที่นิยมปฏิบัติกันอีกมากมายหลายอย่างซึ่งก็คล้าย ๆ กับพิธีรีตองที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้  ทุกหมู่บ้านจะต้องมีวัดหรือสถูปแห่งหนึ่งเสมอไป  เจาตากวนได้กล่าวไว้อีกว่า  ในการรับประทานอาหารนั้น  พวกที่นับถือพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะใช้ใบไม้ต่างช้อน  และยังได้กล่าวเสริมไว้อีกว่า

“เป็นการปฏิบัติแบบเดียวกับที่พวกคนเหล่านี้ได้ทำถวายต่อเจตภูตและพระพุทธเจ้านั่นเอง”

เจาตากวนได้สารภาพไว้ว่า  ข้อความที่เขาจดไว้นั้นออกจะเป็นเรื่องที่ทราบอย่างผิวเผินเต็มที  และบางทีอาจได้รับอิทธิพลมาจากความคิดเห็นที่ว่าในกัมพูชาควรจะมีศาสนา  ๓  ศาสนา  เช่นเดียวกับในประเทศจีนด้วยเหมือนกัน  พุทธศาสนิกชนมีอยู่ทั้งในประเทศกัมพูชาและในประเทศจีน  ไม่ต้องสงสัยละว่าคำว่า  “ปันจิ”  จะต้องหมายถึงคำว่า  “บัณฑิต”  และเจาตากวนได้เปรียบพวกพราหมณ์ประจำราชสำนักกัมพูชาเท่ากับพวกขุนนางจีนที่นับถือลัทธิขงจื๊อ  ศาสนาที่สามและรู้จักกันน้อยที่สุดก็คือพวกปะซิวหวุย  เจาตากวนถือว่าพวกนี้เป็นพวกที่นับถือลัทธิเต๋า  จุดที่สำคัญของเจาตากวนก็คือความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา  ข้อความที่เจาตากวนได้กล่าวถึงวัดวาอาราม  การครองผ้าและการดำรงชีวิตของพวกพระ  ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระเหล่านี้เป็นพวกเถรวาทซึ่งคงจะได้รับไปจากประเทศไทยนั่นเอง  ข้อความที่เจาตากวนได้บันทึกไว้นั้นพอเทียบได้กับศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงในสมัยประมาณ  พ.ศ. ๑๘๐๐  เศษ  ข้อความที่ขัดแย้งกันซึ่งเจาตากวนได้บันทึกไว้นั้นนับว่ามีความสำคัญมากทีเดียว  เจาตากวนได้บันทึกไว้ว่า  พวกพราหมณ์  (คือพวกปันจิ)  นั้นมีตำแหน่งสูงอยู่ในวงราชการแต่ไม่มีโรงเรียน  พวกคฤหัสถ์ที่ปรารถนาจะได้รับการศึกษาจะต้องใช้ชีวิตในวัยเด็กวัยหนุ่มอยู่ในวัดทางพระพุทธศาสนาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ซึ่งยังคงเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันอยู่แม้ในทุกวันนี้  หลังจากไปใช้ชีวิตในวัดอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็จะกลับออกไปครองชีวิตแบบชาวโลกๆ ต่อไปอีก  สถานะเช่นนี้แหละที่ก่อให้เกิดความเชื่อถือปนๆ กันอยู่ในหมู่ประชาชน  คือ  ประชาชนทั้งหลายจะนับถือทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ไปพร้อม ๆ กันอย่างแยกไม่ออก  พวกพราหมณ์ที่ประจำราชสำนักก็ค่อย ๆ มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับ  เมื่อเจาตากวนกล่าวว่า  ชาวกัมพูชาทั้งปวงนับถือพระพุทธศาสนานั้น  เจาตากวนอาจผิดก็ได้  ในเมื่อได้กล่าวว่าบนประตูใหญ่ ๆ ที่นครธมวัดนครธมนั้นมีพระเศียรพระพุทธเจ้าอยู่  แต่ที่เจาตากวนทราบซึ้งอยู่แก่ใจเป็นอย่างดีก็คือประชาชนทั้งหลายมีความคุ้นเคยกับวิหารและวัดวาอารามทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี  ข้อความที่เจาตากวนบันทึกไว้เกี่ยวกับพิธีรีตองต่าง ๆ  ที่เขาทำถวายพระพุทธเจ้านั้นนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสังเกตมาก  และเพราะเหตุที่พระเจ้าชัยวรมันที่  ๗  ทรงกล่าวถึงบุคคลที่ประกอบพิธีรีตองจึงเป็นเหตุทำให้คิดว่า  เจาตากวนอาจจะผิดก็ได้  เพราะทางพระพุทธศาสนาไม่มีพิธีรีตองเช่นนั้น  แต่ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะทำพิธีรีตองเช่นนั้นบ้างในระยะแรก ๆ ก็คงมิได้นำเอาพิธีรีตองเหล่านั้นมาใช้อย่างจริงจังเป็นแน่  เพราะว่าพิธีรีตองอย่างนั้นแม้ในปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่ามีทำกันในโบสถ์ในวิหารของกัมพูชาเลย  นอกจากจะมีการถวายดอกไม้ธูปเทียนกันบ้างเท่านั้น

พวกปะซิวหวุยทำให้เราคาดคะเนถึงอะไรได้อีกมากมายหลายอย่างด้วยกัน  และถือกันว่าเป็นพวกเดียวกับ  “บาไซห์”  (Boseih)  หรือชนชั้นนักบวช  (Sacerdotal  Class)  ของพวกจาม  แต่ก็มีสิ่งที่น่าสงสัยอยู่หน่อยหนึ่งว่า  คำนี้จะใช้หมายถึงพวก  “ปสุปตะ”  คือผู้นับถือพระปศุบดีหรือเปล่า  ทั้งข้อความที่เจาตากวนได้บันทึกไว้ก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นนิกายหนึ่งที่บูชาศิวลึงค์  แม้จะไม่มีข้อความที่พาดพึงถึง  “หินบนแท่นบูชาสุริยเทพในประเทศจีน”  ที่พอจะเทียบกับพวกศิวลึงค์อยู่เลยก็ตาม  เจาตากวนมีความเห็นว่าพวกปะซิวหวุยก็คือพวกที่นับถือลัทธิเต๋าที่อยู่ในประเทศกัมพูชานั่นเอง

นับตั้งแต่สมัยเจาตากวนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้  มีข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับศาสนาในกัมพูชาอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง  พระพุทธศาสนาแบบหีนยาน  (เถรวาท)  ได้กลายเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลมากที่สุด  ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาพิเศษและมักจะกดขี่ประชาชน  เป็นศาสนาที่จะหาความนิยมชมชื่นจากประชาชนไม่ได้เลย  เป็นศาสนาที่บังคับใช้แรงงานเพื่อสร้างสรรค์ปูชนียสถานมหึมาขึ้นมามากมาย  แม้ว่าขณะนี้ปูชนียสถานเหล่านั้นจะปรักหักพังไปบ้างแล้ว  แต่ก็ยังนับว่าเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของกัมพูชาแม้กระทั่งทุกวันนี้  ณ  สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีศิลาจารึกที่กล่าวถึงแรงงานที่พวกกรรมกรต้องใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  เมื่อพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยแผ่เข้าไปสู่กัมพูชา  ก็ได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าเป็นทวีคูณ  แม้ชัยชนะนี้จะเป็นของเพื่อนบ้านคือไทยก็ตาม  แต่ชัยชนะนี้ย่อมอำนวยประโยชน์แก่คนจนที่ถูกกดขี่มากทีเดียว  แม้ประชาชนทั้งหลายจะนิยมชมชอบพวกเจ้าขุนมูลนายแต่ก็หาได้มีความกระตือรือร้นที่จะต่อต้านข้าศึกไม่  เพราะชัยชนะที่ไทยมีต่อกัมพูชานั้นทำให้ชาวบ้านชาวเมืองได้รับอิสรภาพและการศึกษามากขึ้น  แม้ว่าพระในพุทธศาสนาจะต้องขออาหารจากชาวบ้านก็เป็นการขออย่างสุภาพที่สุด  ส่วนพวกพราหมณ์นั้นก็พลอยเสื่อมอำนาจไปตามราชสำนักด้วย  ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของพวกพราหมณ์ก็อยู่ในบริเวณที่ถูกไทยโจมตี  นักเขียนชาวโปรตุเกสรุ่นแรก ๆ ได้กล่าวถึงปูชนียสถานเหล่านี้ว่าได้ถูกทอดทิ้งจริง ๆ  ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่  ๒๒  การติดต่อกับอินเดียก็หยุดชะงักไป  แม้จะมีผู้อพยพจากดินแดนทางทิศตะวันตกเข้ามาบ้างก็หลังพุทธศตวรรษที่  ๑๘  เป็นต้น  และมักจะเป็นพวกมุสลิมมากกว่าที่จะเป็นพวกฮินดู  เมื่อพวกฮินดูถูกขับออกจากวิหาร  วัดวาอารามของตน  ทั้งตนเองก็ไม่มีรากฐานที่มั่นคงอยู่ในกลุ่มประชาชนเลย  ศาสนาพราหมณ์ในกัมพูชาจึงตกอยู่ในสภาพที่เหมือนกับทุกวันนี้  ราชพิธีที่ประกอบในราชสำนักก็ไม่ค่อยจะมีความหมายอะไรนัก  นอกจากที่เป็นราชพิธีจริง ๆ เท่านั้น  ส่วนศาสนาอิสลามเกือบจะไม่เป็นที่รู้จักกันในกัมพูชาเลย

พระพุทธศาสนาในกัมพูชาปัจจุบันนี้ก็คล้ายกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแทบทุกอย่าง  ทั้งมิได้ปะปนกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย  ในกัมพูชามีวัดวาอารามอยู่มากมาย  ภิกษุสามเณรก็ได้รับการเคารพนับถือมาก  พระทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์เช่นเดียวกับในประเทศไทยและพม่า  พวกเด็ก ๆ และหนุ่ม ๆ มักจะใช้ชีวิตอยู่ในวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง  โดยการเป็นเด็กวัดบ้าง  และบวชเป็นภิกษุสามเณรบ้าง  ตามปรกติวัดหนึ่ง ๆ จะมีภิกษุสามเณรประมาณ  ๓๐ – ๕๐  รูป  ทุกวัดจะมีวิหารและศาลาการเปรียญ  ในโบสถ์  วิหาร  และศาลาการเปรียญ  จะมีพระพุทธรูปขนาดเขื่องประดิษฐานอยู่หนึ่งองค์  ตามฝาผนังมักจะมีภาพวาดเกี่ยวกับชาดกบ้าง  เกี่ยวกับพระพุทธประวัติบ้าง  อย่างเดียวกับที่พบอยู่ตามโบสถ์วิหารในประเทศไทยนั่นเอง

แต่ละวัดจะมีเจ้าอาวาสรูปหนึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลความประพฤติของภิกษุสามเณรในวัด  เหนือเจ้าอาวาสขึ้นไปก็เป็น  เจ้าคณะตำบล  เจ้าคณะอำเภอ  และเจ้าคณะจังหวัด  การปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมดอยู่ในอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช  ผู้ที่อำนาจรองจากสมเด็จพระสังฆราชก็คือ  สมเด็จพระสุคนธาธิบดี  ทั้งสององค์นี้เป็นผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาคณะสงฆ์ทั่วประเทศ  แต่มีอำนาจบังคับบัญชากันคนละส่วน  สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจบังคับบัญชาคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  และสมเด็จพระสุคนธาธิบดีมีอำนาจบังคับบัญชาคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย  สมเด็จพระสุคนธ์ฯ มีอำนาจน้อยกว่าสมเด็จพระสังฆราช  แต่ทว่ามิได้ขึ้นต่อสมเด็จพระสังฆราชโดยตรง  ซึ่งก็ดูคล้าย ๆ กับว่าประเทศกัมพูชามีสมเด็จพระสังฆราชสององค์  หรือจะเรียกว่ามีสมเด็จพระสังฆนายกสององค์จะเหมาะกว่า  แต่ละองค์ก็มีอำนาจสูงสุดเฉพาะในนิกายของตน  สมเด็จพระสุคนธ์ฯ องค์สุดท้ายถึงแก่มรณภาพเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๓๗  ต่อจากนั้นมาก็มิได้มีการตั้งสมเด็จพระสุคนธ์ฯ อีกเลย  สมเด็จพระสุคนธ์ฯ องค์แรกเป็นนักศึกษาที่มีชื่อเสียงมาก  และเป็นผู้ที่นำเอานิกายธรรมยุติกาจากประเทศไทยเข้าไปเผยแพร่ในกัมพูชา

เมื่อคณะสงฆ์ไทยได้เปิดการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยขึ้นสองแห่งเมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๘๙  และ  พ.ศ. ๒๔๙๐  แล้ว  ต่อมาทางรัฐบาลไทยก็ได้ตั้งทุนอุปถัมภ์แก่ภิกษุสามเณรจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่จะเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งนี้ด้วย  ปรากฏว่ามีพระจากประเทศต่าง ๆ  คือ  พม่า  ลาว  กัมพูชา  มาเลเซีย  อินเดีย  และไต้หวัน  เข้ามาศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก  ที่เรียนสำเร็จจบหลักสูตรขั้นปริญญาตรีแล้วก็หลายรูปแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อกัมพูชาตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๐๒  นั้น  ได้มีผลกระทบกระเทือนมาถึงการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย  ทำให้พระนักศึกษาจากประเทศกัมพูชาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์หลายรูปต้องเดินทางกลับประเทศก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา  แต่แม้กระนั้นก็มีบางรูปที่ได้ศึกษาจนจบและได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศกัมพูชา  ถ้าหากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศกลับเป็นปรกติดีอย่างเดิมแล้ว  เราคงจะได้เห็นพระนักศึกษาจากกัมพูชามาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยต่อไปอีกเป็นแน่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2556 09:56:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 14 ตุลาคม 2556 10:57:03 »

.

วิหารวรรณกรรม หรือ ชื่อเวียดนามว่า‘วันเหมียว’ เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งของเวียดนาม
ภาพจาก : www.qetour.com

พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม

อาณาจักรจัมปา (เวียดนามใต้ในปัจจุบัน) แม้ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๘ เรื่อยมา จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จะมีอำนาจมากมาย แต่ก็มีผู้สนใจน้อยกว่ากัมพูชาและชวา ชื่ออาณาจักรนี้เป็นชื่อในสมัยอดีต ในปัจจุบันจะรู้จักกันอยู่บ้างก็เฉพาะในวงนักศึกษาเท่านั้น อนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่มีเหลืออยู่บ้างก็มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับนครวัด นครธม ในกัมพูชา หรือโบโรบุดุร์ ในอินโดนีเซีย ความโน้มเอียงในด้านศิลปะก็หนักไปในทางฮินดูมากกว่าจะเป็นแบบพุทธศาสนาแต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือที่อาณาจักรจัมปานี้แหละที่เราได้พบศิลาจารึกเป็นอักษรสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด

อาณาจักรจัมปา อยู่ตรงงมุมทิศอาคเนย์ของผืนแผ่นดินใหญ่แห่งทวีปเอเชีย คืออยู่ในเขตประเทศเวียดนามใต้ในปัจจุบันนี้ ขอบเขตแห่งอาณาจักรนี้ไม่แน่นอนนัก บางสมัยก็ขยายออกไปกว้างขวาง บางสมัยก็หดแคบลงมา แต่พอจะกำหนดได้อย่างหยาบ ๆ ก็คือ ถ้าพูดกันตามแง่ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน  ก็หมายถึงส่วนหนึ่งของเวียดนามใต้ ประกอบด้วย มณฑลกวางนัม (Guang–nam) ทางตอนเหนือกับมณฑลบินทวน (Binh–Thuan) ทางตอนใต้สมัยนั้น จัมปาแบ่งออกเป็น ๓ แคว้นด้วยกัน แต่ละแคว้นได้กลายเป็นที่ตั้งของอาณาจักรต่างยุคต่างสมัยกัน  คือ
๑. ในมณฑลอมราวดี ซึ่งอยู่ทางเหนือ (ปัจจุบันเรียกว่ากวางนัม)  มีเมืองอินทรปุระ  และสีหปุระ  รวมอยู่ด้วย
๒. มณฑลวิชัย  ซึ่งอยู่ทางตอนกลาง  ปัจจุบันเรียกว่าบิงดิน  (Bing – Dinh) ประกอบด้วย เมืองวิชัย  และเมืองท่าศรีวินัย
๓. แคว้นปาณฑุรางคะ  (Panduranga) รือปันรัน  (Panran) ซึ่งในปัจจุบันได้แก่มณฑลฟานรัง (Phanrang)  และมณฑลบินทวน  (Binh – Thuan)  เรียกว่า  เกาธาระ  (Kauthara) ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่ากันหัว (Kahnhoa) นั้น บางครั้งก็แยกออกไปอีกแคว้นหนึ่งต่างหาก คล้าย ๆ กับเวียดนามปัจจุบันนี้แหละ  จัมปาเป็นประเทศที่อยู่ชายทะเลเป็นส่วนใหญ่  ไม่มีโอกาสได้ขยายอาณาเขตลึกเข้าไปในผืนแผ่นดินใหญ่  จนถึงภูเขาต่าง ๆ เลย

จัมปานั้น  ความจริงเป็นชื่อเก่าของเมืองเมืองหนึ่งในแคว้นเบงกอลตะวันตก ใกล้ ๆ กับเมืองภะคัลปุระ (Bhagalpura)  ผู้ที่มาพิชิตดินแดนแถบนี้เรียกตัวเองว่า “จาม”  และเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมแบบอินเดียอยู่มาก จึงทำให้สันนิษฐานว่า “จัมปา”  หมายถึงดินแดนของพวกจามนั่นเอง  ถ้าพูดกันในแง่ของภาษาแล้ว  พวกจามเป็นพวกมลายูผสมโปลินีเซียน (Malay–Polynesian)  และการที่พวกนี้อยู่ตามชายทะเล  จึงทำให้สันนิษฐานว่า คงบุกรุกเข้ามาทางชายทะเลคล้าย ๆ กับโจรสลัดมลายูนั่นเอง  ศิลาจารึกที่เก่าที่สุดที่จารึกเป็นภาษาจามมีมาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔  ก่อนหน้านั้นจารึกเป็นภาษาสันสกฤต  งมีฉบับเก่าแก่ที่สุดสมัยกลางพุทธศตวรรษที่ ๙  และได้อ้างถึงพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนหน้าที่จะทำศิลาจารึกด้วย ดังนั้น จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า  ราชวงศ์จามที่นับถือศาสนาฮินดู  คงจะเริ่มในจัมปาระหว่าง  พ.ศ. ๗๐๐ – ๗๕๐  แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่า  ชนเผ่ามลายูที่มาตั้งรกรากอยู่ในจัมปาจะถูกพวกอินเดียที่เข้ามาบุกรุกพิชิต  และบังคับให้หันมานับถือศาสนาฮินดูตั้งแต่เมื่อไร  หรือว่าพวกจามจะได้นับถือศาสนาฮินดูตั้งแต่ก่อนหน้าที่จามจะมาถึงจัมปาแล้ว  ซึ่งบางทีพวกจามอาจจะมาจากเกาะชวาก็ได้

การที่ประเทศจัมปาต่ำต้อยกว่ากัมพูชาในด้านอารยธรรมนั้นก็เป็นผลเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่มีความยุ่งยากมากกว่ากัมพูชานั่นเอง  ทั้งกัมพูชาและจัมปาตกอยู่ในสถานะที่น่าลำบากพอ ๆ กัน  คือ  มีประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจคอยรุกรานอยู่ขนาบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราวปี  พ.ศ. ๒๓๕๐  ก็ตกอยู่ในสภาพที่คล้าย ๆ กับจัมปาในครั้งกระโน้น คือ  ระมาณ พ.ศ. ๑๘๕๐  ก็มีกัมพูชาและเวียดนามขนาบข้างเช่นกัน  แต่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๔๙๐–๑๖๙๐ เมื่อจัมปามีโอกาสที่จะชื่นชมกับเสรีภาพและสันติสุขนั้น  ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาได้บันทึกไว้ว่า  มีกษัตริย์ที่มีอำนาจและครองราชสมบัตินาน ๆ อยู่หลายพระองค์  และกษัตริย์เหล่านี้สามารถที่จะประดับตกแต่งเมืองหลวงของพระองค์ให้สวยงามได้  และประกันความปลอดภัยของประเทศได้ พวกจามนี้มิใช่จะถูกรบกวนจากพวกเวียดนาม (Annam) เท่านั้น  แต่ยังถูกจีนซึ่งอยู่ไกลมากแต่น่าเกรงขามมากกว่ารบกวนด้วย  เมืองหลวงของจัมปาแทนที่จะอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งหลาย ๆ ร้อยปีอย่างที่นครธม กลับต้องโยกย้ายจากเมืองนี้ไปเมืองโน้นอยู่ในสามแคว้นนั้นเสมอ เลยทำให้แคว้นทั้งสามมีความสำคัญมากขึ้น

ศิลาจารึกที่  โว–จัน (Vo–Can) เป็นจารึกที่มีข้อความเป็นร้อยแก้วที่ถูกต้อง และบรรจุกระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา  และเขียนในทำนองเดียวกับของพระเจ้าอโศก  พระองค์ได้ประกาศว่าพระองค์อยู่ในสกุล ศรีมารราช  (Srimararaja)  ตัวหนังสือคล้ายกับศิลาจารึกของพระเจ้ารุทรวรมันที่กิมาร์ (Gimar)  และศิลาจารึกรุ่นเดียวกันที่ กันเหริ (Kanheri) ข้อความนั้นได้ขาดหายไปมากมายจนกระทั่งเราไม่ทราบทั้งนามผู้จารึก  และความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับตระกูลศรีมาระ  ศรีมาระคงจะเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์  และคงจะแยกตัวมาจากต้นตระกูลเดิมหลายชั่วคนมาแล้ว  น่าสังเกตอยู่หน่อยก็ตรงที่พระนามของพระองค์หาได้ลงท้ายด้วย วรมัน เหมือนกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาไม่  ถ้าพระองค์จะมีพระชนม์อยู่ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๘  ก็จะเข้าเรื่องกับข้อความที่ศิลาจารึกได้บันทึกไว้ อาณาจักรหลินอี้ (Lin–I  หมายถึง  อาณาจักรจัมปา)  ได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๗๓๕  นอกจากนั้นเราก็ได้ทราบว่าฮุนเทียน (Hun–Tien)  ได้ตั้งอาณาจักรอินเดียขึ้นในฟูนันก่อน พ.ศ. ๘๐๐ และบางทีจะในระหว่าง  พ.ศ. ๗๖๓–๘๒๓ กษัตริย์องค์หนึ่งแห่งประเทศฟูนันได้ส่งทูตคนหนึ่งไปยังอินเดีย คำว่า  “ฟูนัน” อาจหมายรวมจัมปาเข้าด้วยก็ได้ แม้ว่าเราจะทราบว่ามีอาณาจักรฮินดูอยู่ในดินแดนเหล่านี้ในตอนแรก ๆ  แต่เราก็หาทราบเกี่ยวกับอารยธรรมและประวัติศาสตร์ของพวกนี้ไม่  ทั้งเราก็ไม่ได้หลักฐานอะไรมากนอกจากพวกนิยายต่าง ๆ ของจาม  ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราชวงศ์  ว่าสืบสายมาจากสองตระกูล คือจากต้นหมากและต้นมะพร้าว

หลักฐานทางฝ่ายจีนได้กล่าวว่า  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ฟานหยี    (Fan–yi)  ได้ส่งทูตไปยังประเทศจีน  เมื่อ  พ.ศ. ๘๒๗  และยังได้บอกรายนามพระเจ้าแผ่นดินอีกหลายพระองค์ที่ครองราชสมบัติในระหว่างปี  พ.ศ. ๘๗๙  ถึง  พ.ศ. ๙๘๓  กษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า ฟานฮูตา (Fan–hu–ta) คงจะหมายถึง พระเจ้าภัทรวรมัน (Bhadravarman)  ซึ่งได้ทรงทิ้งศิลาจารึกภาษาสันสกฤตไว้ให้หลายแผ่นและมีอายุประมาณ  พ.ศ. ๙๔๐ และทรงเป็นผู้สร้างวิหารแห่งแรก  ชื่อ  มี–โซน   (Mi-son) วิหารแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดประจำชาติของจัมปา และได้ถูกเผาพินาศไปเมื่อประมาณ  พ.ศ. ๑๑๑๘ แต่ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ พระราชโอรสของพระเจ้าภัทรวรมัน ทรงพระนามว่า คังคราช (Gangaraja)  ดูเหมือนจะทรงสละราชสมบัติและเสด็จเดินธุดงค์ไปยังแม่น้ำคงคา

ดูออกจะไม่มีประโยชน์อะไรนักที่จะติดตามพงศาวดารเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ครองจัมปาโดยละเอียดลออ  แต่ก็มีข้อความบางตอนที่มีประโยชน์อยู่มากเหมือนกัน  ในปี พ.ศ. ๙๘๙ และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๑๔๘ ที่จีนได้รุกรานจัมปา  ละได้ลงโทษประชาชนพลเมืองอย่างทารุณโหดร้ายมาก  แต่การรุกรานครั้งที่สองนั้นมีสันติสุขและความอุดมสมบูรณ์ติดตามมาด้วย  พระเจ้าศัมภูวรมัน (Sambuvarman)  ประมาณ  พ.ศ. ๑๑๗๒ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดมีโซน  และกษัตริย์ที่สืบต่อมาอีก  ซึ่งทรงพระนามว่า วิกรานตวรมัน (Vikrantavarman)  ทั้งคู่ก็นับว่าทรงเป็นกษัตริย์นักก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองพระองค์  กษัตริย์ที่ครองจัมปาตั้งแต่  พ.ศ. ๑๓๐๑ ถึง  พ.ศ. ๑๔๐๒ ซึ่งถือว่าเป็นราชวงศ์ที่ ๕ อยู่ทางภาคใต้และมีเมืองหลวงอยู่ที่วีรปุระ  การเปลี่ยนแปลงนี้ดูออกจะมีความสำคัญมากอยู่เหมือนกัน  เพราะจีนซึ่งเดิมเรียกจัมปาว่า  หลิน-อี้ (Lin–I) นั้นต่อมาได้เรียกว่า ฮวนหวั่ง (Huan–wang) แต่ชาวพื้นเมืองยังคงเรียกประเทศนี้ว่า จัมปา อยู่

พระเจ้าสัตยวรมัน (Satyavarman) และกษัตริย์พระองค์อื่นแห่งราชวงศ์นี้หาได้กล่าวถึงวัดมีโซนไม่ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงประดับประดาและทำนุบำรุงวิหารโพนคร (Po–nagar) และวิหารอื่น ๆ อีกหลายแห่งในภาคใต้ ในระหว่างยุคนี้คือตั้งแต่ พ.ศ. ๑๓๑๗  ถึง พ.ศ. ๑๓๓๐ ที่แคว้นเกาธาระ (Kaudhara)  ได้ถูกพวกโจรสลัดรุกราน ศิลาจารึกได้กล่าวว่า พวกนี้เป็นพวกป่าเถื่อนผิวดำรูปร่างผอม ๆ เป็นพวกกินคน  และว่าเป็นกองทัพที่ยกมาจากชวา พวกนี้ได้ทำลายวัดวาอารามลงเสียมาก  แต่ต่อมาได้ถูกขับไล่ถอยไป พวกนี้อาจเป็นพวกมลายู  แต่ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชวาจะยังเป็นมนุษย์กินคนอยู่ในยุคดังกล่าวนั้น

เมืองหลวงยังคงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อย ๆ ในสมัยราชวงศ์ที่ ๖ คือ ในราวปี  พ.ศ. ๑๔๐๐–๑๔๔๐ เมืองหลวงอยู่ที่อินทรปุระ ทางทิศเหนือ  ในสมัยราชวงศ์ที่ ๗ คือ ในราวปี พ.ศ. ๑๔๔๐–๑๕๒๙ เมืองหลวงย้ายกลับไปอยู่ทางภาคใต้อีก  และในสมัยราชวงศ์ที่  ๘  คือ  ในปี  พ.ศ. ๑๕๓๒–๑๕๘๗ นั้น เมืองหลวงอยู่ที่เมืองวิชัยในภาคกลาง  การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานี้มักจะได้มีการรุกรานจากต่างประเทศติดตามมาเสมอ เขมรรุกรานภาคใต้ในปี พ.ศ. ๑๔๘๘ ทางภาคเหนือ  เจ้าชายชาวญวนพระองค์หนึ่งได้ทรงตั้งอาณาจักรขึ้นชื่อ  ได–โจ–เวียด  (Dai–co–Viet)  ซึ่งได้กลายเป็นหนามยอกอกจัมปาอยู่  ใน  พ.ศ. ๑๕๒๕ กองทัพไดโจเวียดได้ทำลายเมืองอินทรปุระ และใน พ.ศ. ๑๕๘๗ กองทัพไดโจเวียดก็ยึดเมืองวิชัยได้  ใน  พ.ศ. ๑๖๑๒ พระเจ้ารุทรวรมันทรงถูกจับเป็นเชลย  แต่ต่อมาก็ได้รับการปลดปล่อยโดยต้องเสียมณฑลต่าง ๆ ทางเหนือสุดสามมณฑล ให้เป็นการแลกเปลี่ยน  อย่างไรก็ดี  เมืองอินทรปุระได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และมีอยู่สมัยหนึ่งที่จัมปาได้ทำสงครามชนะกัมพูชา  แม้ว่ากษัตริย์หลายองค์ของจัมปาจะไม่ทรงพอพระทัยที่ต้องเสียมณฑลทางภาคเหนือให้ญวน  และแม้ว่าพระเจ้าหริวรมันที่  ๓  (Harivarman  III : พ.ศ. ๑๖๑๗ ๑๖๒๓) จะได้ทรงกำชัยชนะอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็หาได้มีการสู้รบกับญวนจริง ๆ ไม่  พวกจามยังคงส่งทูตไปยังประเทศญวน  ยอมรับว่าตนเป็นเมืองขึ้นของญวนอยู่ ในศตวรรษต่อมาการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงกับกัมพูชาก็ได้ติดตามมา และในปี พ.ศ. ๑๗๓๕  จัมปาก็แตกออกเป็นสองอาณาจักร คือ อาณาจักรวิชัยอยู่ทางภาคเหนือ ภายใต้อำนาจของเจ้าชายชาวกัมพูชา  

อาณาจักรปันรัน (Panran) ในภาคใต้มีเจ้าชายจามเป็นผู้ปกครอง แต่ก็อยู่ในอำนาจของกัมพูชาเช่นกัน  การจัดการปกครองแบบนี้ไม่สัมฤทธิผลและหลังจากที่ได้ต่อสู้กันอย่างหนัก จัมปาก็เลยกลายเป็นแคว้นหนึ่งของกัมพูชาไป  แม้ว่าจะไม่สู้เรียบร้อยนักก็ตาม  นั่นคือในปี  พ.ศ. ๑๗๔๖–๑๗๖๓ ต่อมาความเข้มแข็งในการรุกรานของเขมรได้เพลาลงเพราะเขมรต้องมัวทำสงครามอยู่กับประเทศไทย  แต่ก็หาใช่เป็นโชคของจัมปาที่จะได้ตั้งอยู่ในความสงบไม่ กุบไลข่าน (Khubilai) ได้ยกกองทัพมารุกรานนับตั้งแต่  พ.ศ. ๑๘๒๑  ถึง  พ.ศ. ๑๘๒๘  และในปี พ.ศ. ๑๘๔๙ จัมปาก็เสียมณฑลโอ (O)  และไล  (Ly) ให้แก่ญวน

ตอนนี้แหละ ที่จัมปาได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของญวนไปโดยปริยาย และในปี  พ.ศ. ๑๘๖๑ กษัตริย์จัมปาได้ทรงลี้ภัยไปอยู่ที่ชวา การติดต่อกับชวานี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และยังมีตัวอย่างอื่น ๆ อีก พระเจ้าชยสิงหวรมันที่  ๓ (Jaya Simhavarman III)  ประมาณ  พ.ศ. ๑๘๕๐ แห่งจัมปา  ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชวาพระนามว่า ตปสี  (Tapasi)  ต่อมาเราได้ทราบจากบันทึกของชวาว่า  ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เจ้าหญิงทราวดี (Darawti)  แห่งจัมปา  ได้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์มัทชาปาหิต (Madjapahit) และพระกนิษฐภคินีของพระนางได้อภิเษกสมรสกับระเด่นรัทมัท(Raden Radmat) ซึ่งเป็นครูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงมากในชวา

อำนาจของพวกจามได้ถูกญวนขยี้ลงอย่างย่อยยับในปี  พ.ศ. ๒๐๑๓  หลังจากสมัยนี้มาพวกจามดูจะมีความสำคัญในด้านการเมืองน้อยมาก แต่ยังคงความเป็นชาติอยู่ภายใต้การปกครองของพวกจามด้วยกันเอง ใน พ.ศ. ๒๑๙๓ พวกจามได้แข็งข้อกับเวียดนาม แต่ทำการปฏิวัติไม่สำเร็จ แถมกษัตริย์จัมปายังถูกจับเป็นเชลยเสียอีกด้วย  แต่มเหสีม่ายของพระองค์ได้รับการยกย่องอยู่ในฐานะเป็นหุ่นของญวน  และพงศาวดารจามก็ยังคงระบุพระนามกษัตริย์เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๖๕  
 
ในจัมปาก็เช่นเดียวกับกัมพูชา คือ ไม่มีหนังสือที่มีอายุตั้งแต่สมัยฮินดูเหลือทิ้งไว้ให้เลย และบางทีคงจะมีไม่มากนักก็ได้ ภาษาจามปรากฏว่าหาได้ใช้เป็นภาษาวรรณกรรมไม่  เท่าที่ปรากฏมักเป็นภาษาสันสกฤต  กษัตริย์ทั้งหลายมักจะได้รับการยกย่องว่าทรงมีความรู้ในด้านภาษาสันสกฤตเป็นอย่างดี  ศิลาจารึกแผ่นหนึ่งพบที่ โพนคร (Po–nagar) ซึ่งจารึกเมื่อปี  พ.ศ. ๑๔๖๑ ได้กล่าวว่า  พระเจ้าศรีอินทรวรมัน   (Sri  Indravarman)  ทรงรอบรู้ในลัทธิ b]มีมามสา [/b] (Mi – mamsa)  และปรัชญาระบบอื่น ๆ ชิเนนทร  วยากรณ์ และกาศิกา (วฤตติ) กับ ไศโวตตรกัลปะ (Saivottara – Kalpa)  นอกจากนั้นศิลาจารึกอีกแผ่นหนึ่งที่พบที่วิหารมีโซน ได้อ้างว่า พระเจ้าชยอินทรวรมะเทวะ  (Jaya  Indravarmadeva)  ประมาณ  พ.ศ. ๑๗๑๘ ทรงรอบรู้ช่ำชองในสรรพศาสตร์รวมทั้งความรู้ในมหายาน และธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์  นารทียะ   และภารควียะ   ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกมักจะขาดความระมัดระวัง  และไม่ค่อยถูกต้อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษาภาษาสันสกฤตในจัมปาไม่สู้เจริญมากนัก  สู้ในกัมพูชาไม่ได้

อนุสาวรีย์ที่ปรากฏว่ามีอยู่ในจัมปานั้นแม้ว่าโดยขนาดและจำนวนจะมีมากมายก็ตามแต่เมื่อเทียบกับที่มีอยู่ในกัมพูชาแล้วด้อยกว่ากันมาก  อาคารวัตถุแต่ละหลังก็มีขนาดเล็กกว่า และเป็นแบบธรรมดา ๆ มากกว่าที่มีอยู่ในกัมพูชา กลุ่มอาคารก็ขาดเอกภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นอิฐ จะมีหินบ้างก็เฉพาะในตอนที่ใช้อิฐไม่ได้เท่านั้น เช่น เทวรูป หรือพระพุทธรูปและคานประตู เป็นต้น  สิ่งก่อสร้างแบบที่ธรรมดาที่สุดก็คือรูปทรงเป็นปิรามิดสี่ด้านซึ่งพวกจามเรียกว่า กะลัน (Kalan) ตามปรกติ “กะลัน” จะสร้างไว้บนเนินเขาหรือบนพื้นที่ที่สูง ชั้นล่างสุดมีทางเข้า  และห้องหน้ามุขอยู่ทางทิศตะวันออก  ส่วนอีกสามด้านมีประตูหลอก ๆ อยู่อีกสี่ชั้น ข้างบนก็มีรูปทรงแบบเดียวกัน แต่ข้างในไม่มีอะไรเลย เป็นกุฏิทรงปิรามิดที่ไม่มีประตูอยู่โดดเดี่ยวซึ่งจะมีแสงสว่างเข้าได้ก็โดยทางประตู และบางทีก็โดยอาศัยแสงตะเกียงที่ตั้งไว้ที่ตามซอกตามที่เว้าเข้าไปในกำแพงด้านใน  ตรงกลางมีฐานสำหรับรองรับลึงค์  หรือรูปสลักซึ่งมีร่องสำหรับเหล้าที่เทรดลึงค์นั้นจะได้ไหลออกได้ แล้วมันก็จงไหลออกไปสู่พวกยาที่อยู่ในกำแพง  เค้าโครงขององค์ปรางค์มักจะแตกต่างกันออกไปตามรูปสลัก  และการประดับประดาต่าง ๆ  และการแกะสลักก็ดูจะวิจิตรบรรจงน้อยกว่าในกัมพูชาและชวา

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาที่สำคัญ ๆ  สิ่งก่อสร้างมากมายมักจะถูกนำมารวมกันเข้าไว้ มีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบรั้วชั้นในที่จะเข้าไปได้ทางประตู และจะมีกะลันหนึ่งแห่งหรือมากกว่านั้นก็ได้ และมีอาคารหลังเล็ก ๆ อีกหลายหลัง ซึ่งคงเป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นแน่ ก่อนจะถึงประตูเข้ามักจะมีห้องโถงห้องหนึ่ง  ซึ่งมีเสานางจรัลค้ำอยู่มากมาย แต่ตรงด้านข้าง ๆ เปิดโล่งหมด

สถาปัตยกรรมของจามชนิดต่าง ๆ ที่รู้จักดีนั้นคือ  วัด  ปราสาทราชวัง  และอาคารสิ่งก่อสร้างทางโลกอื่น ๆ  มักจะสร้างด้วยไม้และแล้วก็หายไปหมดสิ้น  ในบรรดาโบสถ์วิหารเป็นจำนวนมากที่ได้ค้นพบนั้น  อาคารสิ่งก่อสร้างที่น่าสังเกตมากที่สุดก็คือ  ที่พบที่วัดมีโซน  และที่ดองดวง (Dong  Duang) ซึ่งทั้งคู่นี้อยู่ใกล้ ๆเมืองตูเรน (Turane)  และที่โพนคร  (Po–Nagar)  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เมืองนาตรัง (Nhatrang)

วิหารมีโซน  เป็นวิหารแบบโรงละครกลางแปลงที่อยู่ในท่ามกลางวงล้อมของภูเขา และมีวิหารแบ่งออกเป็น ๘ หรือ ๙ กลุ่ม ซึ่งสร้างขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน สิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งพระเจ้าภัทรวรมันที่ ๑ ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๔๐ ไม่ปรากฏซากอยู่เลย เข้าใจว่าคงทำด้วยไม้  เพราะเราได้ทราบว่า  วิหารเหล่านี้ได้ถูกไฟไหม้เมื่อปี  พ.ศ. ๑๑๑๘  พระเจ้าศัมภูวรมัน  ได้ทรงสร้างวิหารใหม่ ๆ ขึ้นอีกในระยะเวลา  ๒๕  ปี ต่อมา และได้อุทิศถวายพระศัมภูเทรศวร  ซึ่งเป็นชื่อที่เอานามผู้สร้าง  ผู้ปฏิสังขรณ์และเทพเจ้ามารวมเข้าด้วยกัน  อาคารสถานเหล่านี้ยังมีเหลืออยู่บางส่วนนับว่าเป็นตัวแทนศิลปะของจามที่เก่าที่สุดและดีที่สุด  ศิลปะอีกแบบหนึ่งเริ่มในสมัยพระเจ้าวิกรานตวรมันที่ ๑ ในระหว่างปี  พ.ศ. ๑๒๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๒๒๕  รัชสมัยของพระเจ้าวิกรานตวรมันนี้เป็นยุคแห่งความเสื่อมแม้ว่าจะได้มีการก่อสร้างอาคารสถานมากมายที่มีโซนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓  และ ๑๔  ก็ตาม  ตำแหน่งแห่งหนที่ตั้งของอาคารสถานเหล่านี้ได้ถูกปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าหริวรมันที่ ๓ (พ.ศ. ๑๖๑๗–๑๖๒๓) วัดวาอารามมากมายหลายแห่งได้ถูกพวกญวนทำลายลง แต่พระเจ้าหริวรมันที่ ๓  ทรงเป็นนักรบที่ยิ่งยง  ทรงสามารถปฏิสังขรณ์วิหารต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมาใหม่ได้  และได้ทรงถวายพวกเชลยศึกที่ทรงจับมาให้แก่วิหาร  แม้ว่ารัชสมัยของพระองค์จะเป็นสมัยที่จัมปารุ่งเรืองอยู่ชั่วครูชั่วยามก็ตาม  แต่แบบสถาปัตยกรรมก็คงแบบเดิมไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ส่วนใหญ่มักหันกลับไปสู่แบบเก่า ๆ แต่ก็แสดงให้เห็นแบบเก่าที่มีชีวิตจิตใจมากกว่าจะเป็นแบบแข็งกระด้างแบบใหม่ ๆ ฐานะแห่งวิหารมีโซนหาได้เสื่อมลงไม่ ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๙๘  พระเจ้าชยหริวรมันที่ ๑  ได้ทรงปฏิสังขรณ์อาคารสถานต่าง ๆ ขึ้นใหม่ และได้ทรงยกเชลยที่จับมาได้ให้เข้าวัด  และได้ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่งสมตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้  แต่ว่าหลังจากสมัยของพระองค์แล้ว  บรรดาเจ้าชายแห่งจัมปาทั้งหลายที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในตำบลมีโซน และพวกญวนทั้งหลายซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ชอบศาสนาของพวกจามเลยก็ได้ทำลายวัดวาอารามเหล่านี้จนหมดสิ้น

วิหารโพนคร  (Po Nagar)  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ท่าเรือเมืองนาตรัง  และหันหน้าไปทางทะเลนั้น  ทั้ง ๆ ที่เป็นวิหารที่มีขนาดเล็กกว่ามีโซน (Mi–Son) แต่ก็มีเอกภาพมากกว่า ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในอันที่จะรวมอาคารต่าง ๆ  ลงในสถาปัตยกรรมอย่างเดียวกัน  อาคารก่อสร้างเดิมคงทำด้วยไม้  เพราะในปี  พ.ศ. ๑๓๑๗  วิหารโพนครนี้ได้ถูกพวกโจรสลัดยึดได้และเอาไฟเผาเสียราบเรียบแล้วก็ขนเอาพวกเทวรูปไม้ไป ต่อจากนั้นไม่นานนักพระเจ้าสัตยวรมันก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่  คราวนี้ก่อด้วยอิฐ  และหอสูงทางด้านใต้ที่ยังคงเหลือซากอยู่นั้นอาจจะสร้างในสมัยพระเจ้าสัตยวรมันนี้ก็ได้ แต่หอกลางใหญ่นั้นพระเจ้าหริวรมันที่ ๑  (พ.ศ. ๑๓๖๐) เป็นผู้สร้าง ส่วนสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นั้นสร้างทีหลัง

โพนคร หรือยางโพนคร (Yang  Po  Nagar) หมายถึงเทพธิดาประจำเมือง โดยทั่วไปเรียกกันว่า ภควดี และถือว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพสักการะมาก  ที่เมืองนาตรังชาวเมืองนับถือพระนางไปพร้อม ๆ กับนับถือพระศิวะซึ่งมีชื่อว่าภควตีศวร ในปี พ.ศ. ๑๕๙๓ พระเจ้าปรเมศวรได้ทรงสร้างเทวรูปองค์หนึ่งซึ่งรวมพระศิวะและภควดีเข้าไว้ด้วยกันแล้วถวายไว้แก่วิหารแห่งนี้ โดยทรงจารึกไว้ในศิลาว่า เทวรูปนี้เป็นตัวแทนแห่งหลักการสำคัญของจักรวาล (Cosmic Principle)  เพราะชายหญิงเป็นของคู่กันจะพรากจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้

เมื่อจัมปาถูกพิชิต  วัดนี้ได้ถูกขายให้แก่พวกญวนผู้ที่ยอมรับว่า  พวกเขาไม่สามารถจะยอมรับได้  นอกเสียจากว่าจะได้มีการตกลงกันเป็นพิเศษและโดยสงบเท่านั้น  แม้ในปัจจุบันนี้พระญวนก็ยังคงบูชาเทพธิดาองค์นี้อยู่  ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบเลยว่า  เทพธิดาองค์นี้คือใครกันแน่

ดอง ดวง (Dang Duang) ซึ่งอยู่ห่างจากวิหารมีโซนไปทางใต้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร แสดงว่าเป็นที่ตั้งเมืองอินทรปุระในสมัยโบราณ อนุสรณียวัตถุ ซึ่งทำให้คนได้รู้จักนั้นต่างจากโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทั้งแสดงว่าเป็นแบบพุทธศาสนาด้วย  ดองดวงประกอบด้วยศาล ๓ ชั้น มีกำแพงโดยรอบ และตรงทางเข้ามีเสาหินเรียงรายโดยตลอด ชั้นที่ ๓ มีอาคารสถานอยู่ ๒๐ แห่ง จากศิลาจารึกซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๑๘ ทำให้เราทราบว่าที่นี่เป็นซากของวิหารแห่งหนึ่งซึ่งพระเจ้าอินทรวรมันได้ทรงสร้างขึ้น และทรงอุทิศถวายแด่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ในนามว่าลักษมินทรโลเกศวร

โดยทั่วไปแล้วศาสนาในจัมปาก็เป็นแบบเดียวกับในกัมพูชานั่นเอง พิธีรีตองหรือขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่ในกัมพูชาก็คงมีปฏิบัติกันในจัมปาด้วยเหมือนกัน ในสองประเทศนี้ศาสนาประจำชาติเดิมก็คงเป็นฮินดูเหมือนกัน  และส่วนใหญ่เป็นนิกายไศวะ  ต่อมาก็นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานซึ่งบางครั้งก็ได้รับความอุปถัมภ์จากราชสำนักมากกว่าศาสนาฮินดู  นทั้งสองประเทศนี้ความเชื่อถือแบบพื้นบ้านทั่วไปก็หาได้แยกตัวออกจากศาสนาไม่ ยังคงประพฤติปฏิบัติรวม ๆ กันไปนั่นเอง บางทีเทพธิดาโพนคร หรือภควดี นั้น  อาจเป็นเทพธิดาพื้นเมืองที่นับถือกันอยู่ก่อนที่พวกฮินดูจะอพยพเข้าไปอยู่ก็ได้

ระบบสังคมตั้งอยู่บนฐานแห่งวรรณะ ๔  แต่บันทึกจดหมายเหตุของจีนกล่าวถึงเรื่องการแต่งงาน  และการรับมรดกว่าเป็นทางสายมารดา พระเจ้าวิกรานตวรมัน ตรัสว่าการใช้ม้าบูชายัญ (อัศวเมธ)  นั้น เป็นยอดของกุศลกรรม และการฆ่าพราหมณ์เป็นยอดของอกุศลกรรม ได้มีการกล่าวถึงพวกพราหมณ์ ปุโรหิต บัณฑิต และนักบวชทั้งหลายว่า เป็นบุคคลที่ควรแก่ทักษิณาเสมอ พระชั้นสูงหรือพระประจำราชสำนักเรียกกันว่า ศรีบรมปุโรหิต แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าพระพวกนี้จะมีอำนาจเป็นปึกแผ่นอย่างพวกศิวไกวัลย์ในกัมพูชาเลย  การที่จัมปาได้เปลี่ยนแปลงเมืองหลวงและราชวงศ์บ่อย ๆ นั้น ทำให้การคณะสงฆ์และรัฐเองยุ่งยากไปด้วย

ลัทธิไศวะ ซึ่งเป็นลัทธิที่ได้รับความนิยมนับถือมากนั้น ก็มิได้ตั้งตัวเป็นศัตรูของลัทธิไวษณพ หรือพระพุทธศาสนาเลย ศิลาจารึกที่เก่าที่สุดที่พบที่ โว–จัน (Vo–can)  ได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาด้วย แต่อีก ๓ แห่ง ได้กล่าวถึงพระศิวะในนามว่า ภัเทรศวร  ซึ่งแสดงว่าวิหารแห่งนั้น พระเจ้าภัทรวรมันเป็นผู้สร้าง  เราจึงเห็นได้ว่าการเอานามพระเจ้าแผ่นดินกับเทพเจ้าที่ตนนับถือมารวมเป็นชื่อเดียวกันนั้นได้ปฏิบัติกันอยู่ในจัมปาสมัยนั้นด้วย  ซึ่งก็เป็นแบบที่ปฏิบัติกันอยู่ในอินเดียตอนใต้ ชวา และกัมพูชาด้วยเช่นกัน นอกจากพระศิวะแล้ว ศิลาจารึกอีกแผ่นหนึ่งได้ระบุพระนามพระนางอุมา พระพรหม พระวิษณุ และเทพเจ้าอื่น ๆ ไว้ด้วย พระศิวะมี ๘ พระนาม คือ ศรฺวะ (Sarva) ภวะ (Bhava) ปศุบดี (Pasupati) อีสาน (Isana) ภีมะ (Bhima) รุทระ (Rudra) มหาเทวะ(Madadeva) และอุคระ (Ugra) ในประเทศชวามีผู้เรียกพระองค์ว่า คุรุ หมายถึงครูด้วย พระองค์ทรงเริงระบำอยู่ในที่สงัดเงียบ  พระองค์ได้ประทับบนหลังโคนันที  เป็นผู้สังหาร  กามรูป  เป็นต้น  นอกจากจะมีผู้สร้างพระรูปพระศิวะไว้ในปางต่าง ๆ แล้ว  ที่นิยมนับถือกันก็คือในรูปของลึงค์ซึ่งมีอยู่ในจัมปามากกว่าในที่อื่น ๆ  นอกจากนั้นพวกจามยังถือว่าศิวลึงค์มิเพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะเท่านั้น  แต่ยังถือเป็นองค์เทพเจ้าจริง ๆด้วย บางทีเขาก็ทำเป็นแท่งโลหะเล็ก ๆ มีหน้าแบบมนุษย์หน้าหนึ่งหรือมากกว่านั้น ซึ่งเรียกกันว่ามุขลึงค์ (Mukhalinga) ศิลาจารึกแผ่นหนึ่งจารึกปี พ.ศ. ๑๗๐๖ ได้บันทึกถึงการสร้างมุขลึงค์เช่นนั้นไว้องค์หนึ่ง มีห้าหน้าอุทิศถวายพระศรีศานนภัเทรศวร ศิลาจารึกกล่าวว่า เทพเจ้าจะทรงสามารถประทานพรให้แก่ดินแดนถิ่นต่าง ๆ โดยทางพระโอษฐ์ทั้ง ๕ นั้น ซึ่งแบบนี้พระองค์ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อนเลย  แต่ก่อนนั้นพระองค์ถูกเก็บอยู่ในฝัก  (Kosha) คล้าย ๆ เอมบริโอที่อยู่ในครรภ์ จึงเรียกกันว่า หิรัณยครรภ (Hiranyagarbha)  ศิวลึงค์ซึ่งจะมีการสลักแบบนี้หรือไม่ก็ตามจะได้รับการประดิษฐานไว้บนสนานโทรณี (Snanadroni) คือ โต๊ะหินที่เขาจัดไว้เพื่อรองรับสักการวัตถุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๙๔๐ เป็นต้นมา  ลัทธิไศวะอยู่ในฐานะที่รุ่งเรืองมาก หรือจะพูดง่าย ๆ ก็ว่าลัทธิไศวะได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ตลอดสมัยประวัติศาสตร์จัมปาทีเดียว  และถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติด้วย  กล่าวกันว่าพระศิวะได้ทรงส่งอุโรชะ (Uroja) มาเป็นกษัตริย์จัมปาองค์แรก และทรงเป็นผู้ออกแบบวางรากฐานให้แก่อาณาจักรจัมปาด้วย

ศิลาจารึกที่เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๑๓๕๔ ได้กล่าวถึงการฉลองเทพเจ้าคู่พระนามว่า ศังกระ–นารายณ์(Sankara–Narayana)  เป็นที่น่าสังเกตว่า พระนารายณ์นั้นกล่าวกันว่าอยู่ที่ภูเขาโควรรธนะ (Mt.  Govardhan) และบางทีก็ถือว่า เป็นองค์เดียวกับพระกฤษณะ พระราม และพระกฤษณะ ได้มีกล่าวถึงในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ. ๑๗๐๐ ซึ่งในศิลาจารึกนั้นได้กล่าวว่า พระวิษณุได้อวตารลงมาเป็นพระเจ้าชยหริวรมันที่ ๑ แต่มีการกล่าวถึงพระวิษณุหรือรูปของพระองค์น้อยมาก ครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุนั้นเป็นที่รู้จักกันดีเรียกว่าองค์พระวิษณุเอง และมักจะปรากฏอยู่ตามสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เสมอ

ศักติ(ชายา) ของพระศิวะ  ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ผสมกับเทพเจ้าพื้นเมืองอันเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นาตรังนั้น  มีหลายพระนามด้วยกัน คือ อุมา ภควดี ยางโพนคร (เทพธิดาประจำเมือง) และเทพธิดาแห่ง เกาธาระ (Kauthara) บางครั้งก็เรียกว่า มละทากุฐาระ (Maladakuthara) นอกจากนั้นก็มีวิหารพระคเณศร์ หรือ ศรีวินายกะ(Sri–Vinayaka)ที่นาตรัง แต่เทวรูปของพระคเณศร์ และพระสกันธ์ นั้นไม่ค่อยพบบ่อยนัก
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 13:01:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 14 ตุลาคม 2556 11:01:20 »

.

ภาพจาก : เว็บไซต์ธรรมจักรดอทเน็ท

พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม (ต่อ)

นักจาริกแสวงบุญชาวจีนชื่อ อี้–จิง (I–Ching) ได้เขียนไว้เมื่อ  พ.ศ. ๑๒๔๒ โดยรวมเอาจัมปา (หรือหลิน–อี้)  เข้าไว้ในบัญชีรายนามประเทศต่าง ๆ ซึ่ง “นับถือพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด”  ซึ่งตรงข้ามกับในประเทศฟูนัน  ซึ่งมีกษัตริย์ที่ทารุณโหดร้ายทำลายพระพุทธศาสนาเกือบหมดสิ้น ก่อนหน้านั้นไม่นานนักอี้จิงกล่าวว่า  “ในประเทศ (จัมปา)  นี้  พุทธศาสนิกชนโดยทั่ว ๆ ไปยึดมั่นในนิกายอารยสัมมิติ (Aryasammiti) และก็มีผู้ที่นับถือลัทธิอารยสรวาสติวาทิน  ด้วยเหมือนกันแต่ไม่มากนัก”  ข้อความนี้น่าสนใจมาก  เพราะท่านอี้จิงได้บอกเราไว้ด้วยว่า พวกสรวาสติวาทินเป็นพวกที่กำลังเจริญรุ่งเรืองมากในแหลมมลายูและในจีนใต้ ตามบันทึกจดหมายเหตุทั้งของท่านยวนฉาง (Yuan–Tsang)  และท่านอี้จิง  บอกว่า  ศูนย์กลางของพวกสัมมิติยะ  อยู่ในอินเดียตะวันตก  แต่ในแคว้นมคธและอินเดียตะวันออกก็มีศูนย์กลางเหมือนกัน  งเราได้ทราบว่า  พระอนุชาและกนิษฐภคนีของพระเจ้าหรรษะ  จักรพรรดิแห่งอินเดียก็ทรงถือลัทธินิกายนี้ และเข้าใจว่าคงเป็นนิกายที่มีอิทธิพลมากทีเดียว แต่เราหาทราบไม่ว่าลัทธินิกายนี้ได้แผ่เข้ามายังประเทศจัมปาได้อย่างไร  ทั้งศิลาจารึกก็หาได้ระบุชื่อของนิกายนี้ไม่  ทั้งมิได้ชี้แจงว่าพระพุทธศาสนาที่พวกเขารู้จักนั้นเป็นอย่างไร นอกจากจะว่าเป็นการผสมระหว่างลัทธิมหายานกับลัทธิไศวะ อย่างที่ปรากฏแพร่หลายอยู่ในกัมพูชาเท่านั้น

ข้อความที่ท่านอี้จิงกล่าวนั้นยากที่จะตีความว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของจัมปาหลัง พ.ศ. ๙๕๐ เพราะศิลาจารึกมากมายพิสูจน์ให้เห็นว่าวิหารมีโซนเป็นของพวกไศวะ และโพนครก็กล่าวกันว่าเป็นวิหารแห่งชาติ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินต่างก็เข้าไปเคารพบูชาในนามของประชาชนอยู่เสมอมา  แต่ศิลาจารึกที่โว–จัน (ประมาณ พ.ศ. ๗๙๕)  แม้จะไม่ได้พูดถึงพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าเป็นศิลาจารึกของชาวพุทธ  และอาจเป็นได้ที่ว่า ราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. ๖๙๓ นั้นนับถือพระพุทธศาสนา  แต่ความสัมพันธ์กับกัมพูชาและบางทีคงกับอินเดียด้วยที่ทำให้ลัทธิไศวะมีอิทธิพลมากขึ้น จดหมายเหตุจีนได้กล่าวว่าคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  รวม ๑๓๕๐ เล่ม  ได้ถูกขนย้ายไปในระหว่างเวลาที่ถูกจีนรุกรานในปี  พ.ศ. ๑๑๔๘ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในตอนนั้นได้มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในจัมปาแล้ว  และได้มีหอสมุดตามวัดต่าง ๆ อีกมายมาย  พุทธศาสนาในจัมปาก็คงคล้าย ๆ กับในกัมพูชานั่นเอง คือ ผู้ที่นับถือคงเป็นพวกอำมาตย์ข้าราชบริพารมากกว่าที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเอง  ศิลาจารึกแห่งหนึ่งซึ่งพบที่ภาคใต้ของจัมปา และปรากฏว่าจารึกเมื่อปี พ.ศ. ๑๓๗๒ นั้นบอกถึงวิธีที่สถวีระผู้หนึ่ง ชื่อพุทธนิรวาณ (Buddha) สร้างวิหารขึ้น ๒ หลัง และเทวกุล ๒ หลัง ถวายพระชินะ  และพระศังกระ (หมายถึง พระพุทธเจ้ากับพระศิวะ)  เพื่อุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดาของเขาที่ล่วงลับไปแล้ว  หลังจากนั้นไม่นานนักก็ถึงรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๔๐๓–๒๔๓๓)  พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ นี้  นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่เราทราบว่านับถือพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  แต่พระองค์ก็หาได้ทรงละเลยในการที่จะยกย่องพระศิวะ  ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกไม่  แต่พระองค์ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมมากเช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช  พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเข้าใจในธรรมะทรงสร้างวัดต่าง ๆ สำหรับให้เป็นสถานที่สอนและศึกษาธรรม  พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเผยแผ่พระธรรม  ทั้งพระองค์ยังได้ตรัสว่าเทวราชาทรงปกครองเทพเจ้าโดยอาศัยธรรมเป็นหลัก  พระองค์ทรงปรารถนาที่จะนำประชาชนของพระองค์ไปสู่ “พุทธภูมิ” และสู่  นครอมตมหานฤพาน”

ตอนสุดท้ายพระองค์ได้ทรงสร้างวิหารดองดวง และทรงอุทิศถวายศรีลักษมินทรโลเกศวร คำนี้เป็นไวพจน์ของคำว่าอวโลกิตะ ศิลาจารึกอีกแผ่นหนึ่งอธิบายว่า คำว่า “ลักษมินทร์”  เป็นพระนามของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒  ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งตอนนั้นพระองค์ทรงพระนามว่า  ลักษมินทร์ ภูมีศวร โดยเหตุนี้เองที่พระโพธิสัตว์จึงมีพระนามดังชื่อของกษัตริย์ที่สร้างวิหารตามแบบที่นิยมกันมากในหมู่ผู้ที่ถือลัทธิไศวะ  วิหารแห่งนี้ก็คล้าย ๆ วิหารอื่น ๆ คือ ได้รับที่ดินสำหรับเก็บดอกผลบำรุงวัด และยังได้รับทาสหญิงชายเป็นของวัดเช่นเดียวกับเงิน ทอง และอื่น ๆ ด้วย

กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งครองราชสมบัติตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๑๖๒๓ ถึง  พ.ศ. ๑๖๒๙ ทรงพระนามว่า บรมโพธิสัตว์ หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกเลย จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยอินทรเทวะ (พ.ศ. ๑๗๑๐–๑๗๓๕)  และกษัตริย์องค์ต่อมา คือพระเจ้าสูรยวรมเทวะ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ ขณะที่บูชาพระศิวะก็อธิบายกันว่า เข้าฌาน หรือระลึกถึงในลัทธิมหายาน แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงพระพุทธศาสนามากนัก  แต่ก็ทำให้เราตระหนักดีว่า ลัทธิมหายานนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งศาสนาประจำราชสำนักทีเดียว  พระเจ้าสูรยวรเทวะได้ทรงสร้างอาคารหลังหนึ่งชื่อ  ศรีเหรุกหรฺมฺยะ(Sri  Herukaharmya)  ชื่อนี้น่าสนใจมากเพราะรวมเอาพระนามของ พระพุทธเจ้าเหรุกะ ของนิกายตันตระเข้าไว้ด้วย

ถ้ำพงมา (Phong ma) ทางเหนือสุดของจัมปา (บัดนี้คือมณฑลกวางบิน) คงจะต้องเป็นพุทธสถานแน่ ๆ  ที่นั่นปรากฏว่ามีเหรียญตรามากมายทำด้วยดินเหนียวมีรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเจดี (Dangbas)  แต่เราไม่ทราบว่าทำในสมัยใด

ไม่ปรากฏว่าอิทธิพลของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งมากในกัมพูชานั้นได้แผ่เข้าไปสู่จัมปาเลย อิทธิพลนั้นไปจากเมืองไทยและก่อนที่ไทยจะผนวกกัมพูชาไว้ในอำนาจของญวนเสียอีก  ศาสนาและอารยธรรมของญวนหลั่งไหลมาจากจีนมากกว่าจากอินเดีย  วัฒนธรรมและการเขียนแบบจีนได้แผ่ไปจนถึงชายแดนกัมพูชา และหลังจากที่จัมปาได้เสื่อมอำนาจลงแล้ว กัมพูชาก็เลยกลายเป็นเขตที่ตัวอักษรแบบอินเดีย และพุทธศาสนาถูกกักอยู่ ไม่ได้แพร่สะพัดเข้าไปสู่ประเทศจีน

มีพวกจามมากมายที่หันไปนับถือศาสนาอิสลามในสมัยที่ท่านฟรีอาร์กาบรีเอ (Friargabrie) ไปเยือนจัมปาตอนกลางพุทธศตวรรษที่  ๒๒  ได้พบว่าศาสนาฮินดูยังเจริญรุ่งเรืองอยู่  ที่นับว่าน่าสนใจควรจะทราบอยู่บ้างก็คือ ศาสนาก็แบบเดียวกับประวัติศาสตร์นั่นเอง  คือ  มักจะซ้ำรอยตัวเองเสมอ  นั่นคือพวกมุสลิมได้มาถึงจัมปาโดยอาศัยสายการเดินทางสายเดียวกับพวกที่ฮินดูได้มาเมื่อหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น

ในปัจจุบันนี้  ยังมีพวกจามอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามและในกัมพูชาประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ คน ในกัมพูชา พวกจามทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ในเวียดนามยังมีร่องรอยของศาสนาฮินดูเหลืออยู่บ้าง เช่น มนต์ในภาษาสันสกฤตผิด ๆ ถูก ๆ  และพวกพระที่เรียกว่า  บาไดศ์

ประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเวียดนามนั้นยังมีข้อขัดแย้งอยู่มากมายหลายตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามนั้นเป็นเวลาที่เวียดนามตกอยู่ใต้อำนาจของจีน

ถ้าหากว่าการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองจีนถูกต้องตามที่ทางราชการได้กำหนดไว้คือ เมื่อปี พ.ศ. ๖๐๖ ละก็ ทั้งๆ ที่อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า  พระพุทธศาสนาเข้าถึงเมืองจีนก่อนหน้านั้นโดยมาทางชายแดนด้านตะวันตก) พระพุทธศาสนาในเวียดนามก็คงเริ่มต้นในราว ๆ กลางศตวรรษที่  ๘  เป็นแน่

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า มีภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งชื่อมหาชีวกะ   ด้มาประกาศพระพุทธศาสนาในเวียดนามก่อนที่ท่านจะเดินทางต่อไปยังประเทศจีน นั่นคือในพุทธศตวรรษที่  ๘

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง คือ ท่านขวองตังหอย (Khuong Tang Hoi)  ซึ่งเป็นชาวเมืองSeadiane และมีนิวาสถานอยู่ในอินเดีย หลังจากที่ท่านได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจบตามหลักสูตรแล้วก็ได้เดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศจีนตอนใต้  และในเวียดนามเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๘ เช่นกัน

รูปที่สามคือ ท่านฉิโจงโหลง (Chi Cuong Luong) ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นองค์เดียวกับท่านกัลยาณรุจิ ได้เดินทางไปยังประเทศจีนและได้แปลคัมภีร์พุทธศาสนาแล้วจึงกลับมาเวียดนามเพื่อแปลคัมภีร์นั้นต่อไปอีก  ท่านผู้นี้ก็เกิดในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๘ เช่นเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ยังได้กล่าวไว้อีกว่า ภิกษุจีนรูปหนึ่งชื่อโมวเปย (Mou Peh) ได้ติดตามโยมผู้หญิงมาเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. ๗๓๒ และได้อยู่เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในเวียดนามตลอดมา

นอกจากนั้น ก็มีภิกษุอีกรูปหนึ่งชื่อ เกาทระ(Kaudra) ซึ่งเดินทางโดยเท้ามาจากทางทิศตะวันตกของเวียดนาม เข้ามาประกาศพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพุทธศตวรรษที่ ๘

โดยเหตุที่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เวียดนามได้ตกอยู่ใต้อำนาจของจีน  ฉะนั้นภิกษุในประเทศจีนที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย จึงมักจะมาหยุดอยู่ที่เวียดนามก่อนที่จะออกเดินทางต่อไปยังอินเดียเสมอ  และท่านก็มักจะทิ้งร่องรอยแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาไว้ให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่เสมอ  แม้ว่าพระพุทธศาสนาในเวียดนามจะมีหลายแบบหลายนิกายก็ตาม แต่ทั้งหมดก็มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือ การอุทิศตัวให้กับการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง

ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา เวียดนามได้มีการปกครองเป็นเอกราชอยู่ประมาณ ๖๕ ปี  นระหว่างนี้ภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งชื่อ  วินีตรุจิ  ซึ่งหลังจากจบการศึกษาในฐานะเป็นศิษย์ผู้หนึ่งของภิกษุที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งชื่อ ตังซัน (Tang San)  ซึ่งอยู่ในประเทศจีนแล้วท่านก็เดินทางมายังเวียดนาม  เมื่อเผยแพร่พุทธศาสนาแบบมหายาน เมื่อปี  พ.ศ. ๑๑๒๓ ท่านวินีตรุจิได้พักอยู่ที่วัดฟับวาน (Phap Van  Temple)  ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลวานเกียบ (Van Giap) จังหวัดฮาดอง (Ha  Dong) ท่านได้แปลหนังสือตองตรี (Tong Tri) ได้ถ่ายทอดปัญญาญาณ (Intuitive method) ให้ภิกษุที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งชื่อ ฟับเหียน (Phap Hien)  นั่นคือได้เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานขึ้นในเวียดนามเป็นครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาในเวียดนามก็ได้ประดิษฐานอย่างมั่นคง และได้รับการเผยแผ่อย่างกว้างขวางขึ้นทุกที  จนกระทั่งถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เวียดนามต้องตกอยู่ใต้อำนาจของจีนอีกวาระหนึ่ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 พฤศจิกายน 2556 11:47:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2556 12:20:58 »

.

ภาพจาก : www.bloggang.com

พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม (ต่อ)

ลัทธิมหายานนิกายแรก
ภิกษุที่ก่อตั้งนิกายขึ้นชื่อ  ไตนิดะรุจิ  (Tynida  Ruchi) องค์เดียวกับท่านวินีตรุจิ  ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในอินเดียใต้  และได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธธรรมที่อินเดียตะวันตกแล้วจึงได้เดินทางมายังประเทศจีนเมื่อปี  พ.ศ. ๑๑๑๗ และได้พักอยู่ที่เมืองตรวงอัน (Truong  An) โดยเหตุที่ในสมัยนั้นในเมืองจีน  โจวหวูตัน (Chou Wu Tan)  กำลังประหัตประหารและทำลายพระพุทธศาสนาอยู่  ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังตอนใต้ของประเทศจีน  และที่นั่นเองท่านโชคดีที่ได้พบผู้ที่ก่อกำเนิดลัทธิมหายานรูปที่ ๓ คือ ท่านตังซัน  (Ven. Tang San)  ที่ภูเขาตุโขง  (Tu Khong Mountain) ท่านจึงได้มอบตัวเป็นศิษย์ของท่านตังซัน  ท่านตังซันได้ถ่ายทอดปัญญาญาณให้แก่ท่าน  และได้แนะนำให้ท่านไปประกาศพุทธศาสนาในเวียดนาม  ดังนั้น ท่านไตนิดะลุจิ  (Tynida Luu Chi) คือ องค์เดียวกับ Tynida Ruchi นั่นเอง จึงได้เดินทางมายังเวียดนาม และได้พักอยู่ที่วัดฟับวานถึง ๑๓ ปี แล้วก็ถึงแก่มรณภาพหลังจากที่ได้ถ่ายทอดปัญญาญาณให้แก่ศิษย์ชาวเวียดนามรูปหนึ่งชื่อ ฟับเหียน

ฟับเหียน มาจากตระกูลแซ่ โด (Do  Family)ในจังหวัดโซนเตย์ (Son Tay)  ท่านได้มาอุปสมบทที่วัดฟับวานแล้วก็หลีกไปอยู่ภูเขาโตโซน (To Son)  ซึ่ง ณ ที่นั้นเองท่านได้เทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับการเข้าฌาน การเจริญกรรมฐาน (Dhyana) มักจะมีผู้ไปพบท่านมีฝูงวิหคนานาชนิด และบรรดาสิงสาราสัตว์ทั้งหลายแวดล้อมอยู่เต็มไปหมด  และท่านก็บำเพ็ญตนเป็นมิตรกับบรรดาสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดี  ข้อนี้แหละที่ชาวบ้านในละแวกนั้นเกิดความเลื่อมใสและเคารพนับถือท่านมากขึ้นทุกที ๆ  และได้มายอมตัวเป็นศิษย์ของท่านมากขึ้นตามลำดับ  ต่อมาท่านได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางในการประกาศพุทธธรรม  ท่านได้ถ่ายทอดปัญญาญาณต่อไปยังศิษย์ของท่านรูปหนึ่งชื่อ ทันเบียน (Than Bien) แล้วก็ถึงมรณภาพเมื่อปี  พ.ศ. ๑๑๖๙ ตั้งแต่นั้นมานิกายธยานก็เจริญรุ่งเรืองทั่วประเทศเวียดนามทีเดียว  พุทธธรรมได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจและขนบธรรมเนียมประเพณีของเวียดนามมาก  พุทธศาสนิกชนในเวียดนามสมัยนั้นยังรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี

ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คณะสงฆ์ได้ส่งสมณทูตคณะหนึ่งไปยังอินเดียเพื่อเยี่ยมและนมัสการสังเวชนียสถาน  และสถานที่สำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา  คณะทูตชุดนี้ประกอบด้วย
๑.  ท่านวานกี (Ven. Van Ky) ซึ่งอยู่ในเวียดนามเหนือ ซึ่งต่อมาได้กลับไปอินเดียอีกและไปพักอยู่ที่วัดไล (Ly Shrine)  และได้มรณภาพที่นั้นเมื่ออายุเพียง ๓๐ ปีเท่านั้น
๒.  ท่านมอกโซเดบา (Ven. Moc zo De Ba) ชาวเวียดนามเหนือ  ได้ไปเยี่ยมสถานที่ต่าง ๆ ในอินเดียหลายแห่งด้วยกัน และได้ไปที่ Bodhi School (พุทธคยา)  ด้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุและได้มรณภาพที่นั่นเมื่ออายุเพียง  ๒๕  ปีเท่านั้น
๓.  ท่านกุยซุง (Ven. Khuy Sung) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ จิตรเทวะ  (Citra  Deva)  ชาวเวียดนามเหนือ  ได้กลับไปอยู่ที่อินเดีย ณ Thanh Vuong Za หลังจากที่ได้ไปถึง Bodhi School แล้วท่านก็เกิดอาพาธและถึงมรณภาพที่เวฬุวันเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี
๔.  ท่านเว้เดียม (Ven. Hue Diem)  ชาวเวียดนามเหนือ  ได้เดินทางไปลังกาและมรณภาพที่นั่น
๕.  ท่านตรีหันห์  (Ven. Tri Hanh)  อีกชื่อหนึ่งคือ ปรัชญาเทวะ (Prajna  Deva)  ชาวเวียดนามภาคกลาง  ได้ไปเยี่ยมสถานที่ต่าง ๆ ในอินเดีย  และได้กลับใจชาวอินเดียเป็นจำนวนมากให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาท่านได้พำนักอยู่ที่วิหารตินเกีย  (Tin Gia Pagoda) ลุ่มน้ำคงคา(Ganga State) และได้มรณภาพที่นั่นเมื่ออายุ  ๕๐  ปี
๖.  ท่านไดทังดัง  (Ven. Dni Thang Dang)  หรืออีกชื่อหนึ่งคือ  มหาคณะประทีป   (Managana – Pradipa)  ชาวเวียดนามภาคกลาง ท่านได้เดินทางไปยังประเทศจีนและได้รับการอุปสมบทจากภิกษุเหียนตรัง (Ven. Monk Huyen Trang)  แล้วท่านก็เดินทางไปยังลังกา อินเดียตะวันออก อินเดียตอนใต้  และพำนักอยู่ที่ตามระลิปติ  (Tamra  Lipti) เป็นเวลา  ๑๒  ปี  ท่านได้เทศนาเรื่อง  Niotancacastra และธรรมะอื่น ๆ อีกมากมายด้วยกัน  ต่อมาท่านได้เดินทางไปยังอินเดียภาคกลางพร้อมกับท่านเหงียตินห์  (Ven. Nghia Tinh)  ได้เยี่ยมมหาวิหารนาลันทา พุทธคยา แล้วก็กลับไปยังเมืองไพศาลี ท่านได้มรณภาพที่ปรินินนะ (Parininana) เมื่ออายุได้  ๖๐  ปี

นิกายธยานะที่  ๒
ในปี  พ.ศ. ๑๓๖๓  ท่านโวโงนทอง  (Ven. Vo Ngon Thong)  ได้เดินทางมาประกาศพุทธธรรมในเวียดนาม  ท่านผู้นี้เกิดในสกุลตรินห์ (Trinh)  ในมณฑลกวางโจว  (Kwangchou) ตอนเด็กๆ ท่านได้อุทิศตัวให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง  ต่อมาก็สละบ้านเรือนมาอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา  ท่านเป็นภิกษุที่มีสติปัญญาปราดเปรื่องมากแต่ไม่ค่อยชอบพูดมากนัก ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า โวโงนทอง (Vo Ngon Thong) ซึ่งแปลว่า นักปราชญ์ที่ไม่พูด

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านบูชาพระพุทธปฏิมาอยู่นั้นได้มีภิกษุรูปหนึ่งมากลับใจท่าน และพาท่านไปหาภิกษุที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งชื่อ มาโต๋ (Ma To) เมื่อท่านทั้งสองไปถึงนั้น ท่านมาโต๋มรณภาพเสียแล้ว ทั้งสองท่านจึงตัดสินใจมอบตัวเป็นศิษย์ของท่านบักเดตรวง (Ven.  Bach De Trouong)  ซึ่งท่านเองเป็นศิษย์ของท่านมาโต๋ด้วยเหมือนกัน โดยการแนะนำของพระภิกษุรูปนี้  ท่านโวโงนทองก็สามารถเข้าใจในสัจธรรมเป็นอย่างดีแล้วท่านก็เดินทางกลับไปยังไกวโจวในปี พ.ศ. ๑๓๖๓ ท่านจึงได้เดินทางมาประกาศพุทธธรรมที่เวียดนามอีก  ท่านได้พักอยู่ที่วัดเกียนโส  (Kien so Pagoda) ในตำบลพูดอง (Phu Dong) ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในเขตจังหวัดบักนินห์ (Bac Ninh) ในเวียดนามเหนือ ท่านมักจะนั่งหันหน้าเข้าหากำแพงทั้งๆ วันอยู่เป็นเวลาหลายปีจึงมีเพียงแต่ท่านจัมทัน (Ven. Cam Than) เท่านั้นที่ดูจะเคารพเลื่อมใสท่านจนกระทั่งยอมมอบตัวเป็นศิษย์

ในปี พ.ศ. ๑๓๖๙ ท่านได้ถ่ายทอดปัญญาญาณของท่านไปยังท่านจัมทัมแล้วก็มรณภาพ  ท่านจัมทัมได้จัดพิธีฌาปนกิจศพท่านแล้วสร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่งเป็นที่ระลึกแก่ท่าน ณ เชิงเขาเทียนดู (Tien  Du) ท่านจัมทัม ชาวพื้นบ้านเมียนดู จังหวัดบักนิน มีชื่อทางพุทธศาสนาว่า ลับดุก (Lap Duc)  ชื่อจัมทัมนั้น เป็นนามที่ท่านโวโงนทองตั้งให้ท่าน  ต่อมาในปี  พ.ศ. ๑๔๐๓ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพหลังจากที่ได้ถ่ายทอดปัญญาญาณให้ท่านเทียวหอย  (Ven. Thieu Hoi)  เรียบร้อยแล้ว  และท่านเทียวหอยนี้ได้ถ่ายทอดปัญญาญาณไปให้ท่านเหวินฟง  (Ven. Ven Phong) อีกทอดหนึ่ง

ในระหว่างเวลาที่เวียดนามต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนเป็นครั้งที่สาม คือ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๖–๑๔๘๒ นั้น พระพุทธศาสนาก็ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติตามอยู่อย่างกว้างขวางเช่นเดิม การศึกษาภาษาบาลีก็ได้รับการส่งเสริมกันอย่างมากมาย  ทั้งนี้ก็เพราะในสมัยนั้น ในเวียดนามได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากที่มีความรู้ในอักษรเจียมทันห์  (Chiem  Thanh  Scrip) ซึ่งมีมูลรากแบบเดียวกับภาษาบาลีเป็นอย่างดีทีเดียว  ภิกษุที่มาจากประเทศจีนเพื่อเดินทางไปศึกษาพุทธธรรมที่อินเดียนั้น  ส่วนมากได้แวะเรียนภาษาบาลีที่เวียดนาม  และในทำนองเดียวกันภิกษุชาวอินเดียที่เดินทางเพื่อไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศจีนก็มักมาแวะพักเพื่อศึกษาภาษาจีนในเวียดนามเสมอ ผลลัพธ์ก็คือ พุทธศาสนิกชนในเวียดนามนับว่ามีโชคดีมากที่ได้มีโอกาสพบภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์และมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลมากมาย ทำให้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง และมีอุดมคติสูงส่งได้มาก นอกจากนั้นการคมนาคมระหว่างจีนกับเวียดนามก็ไม่ยากลำบากนักทำให้ภิกษุที่มีอายุมาก ๆ จากเวียดนามมีโอกาสเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศจีนมากมาย

ขณะที่มาอยู่ในประเทศจีน พระภิกษุที่ไปศึกษาที่นั่นมิได้เรียนเพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้นแต่ยังได้ศึกษาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของจีนด้วย  บางท่านก็ศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมของจีน และได้นำความรู้นั้นมาถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ท่านอีกทอดหนึ่ง ข้อนี้นับว่าเป็นเหตุหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าภิกษุที่มีความรู้ความสามารถของเวียดนามในสมัยนั้นมักจะเป็นภิกษุแก่ ๆ เสียเป็นส่วนมาก

มาถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เมื่อเกิดสงครามการเมืองขึ้นในประเทศจีน  ชาวเวียดนามก็เลยถือโอกาสนั้นลุกขึ้นต่อสู้  และโค่นอำนาจจีนที่มีอยู่เหนือเวียดนามได้สำเร็จ  เวียดนามจึงได้รับเอกราชอีกวาระหนึ่ง  แม้ว่าหลังจากที่ได้รับเอกราชแล้วเวียดนามต้องเผชิญกับการจลาจล การแข็งกระด้างคางกระเดื่องติดๆ กัน โดยการยุยงส่งเสริมของพวกขุนศึกตามเมืองเล็กเมืองน้อย  หลังจากที่พระเจ้าโงเควียน (Ngo Quyen) ได้สิ้นพระชนม์แล้ว  เป็นเหตุทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงตามลำดับ  แม้กระนั้นพุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของจีนอีกต่อไป

เมื่อ ดินห์โบดินห์ (Dinh Bo Dinh)  ได้มีชัยชนะเหนือขุนศึกขนสำคัญ ๆ ๑๒ คน และรวบรวมประเทศเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แล้ว  พระพุทธศาสนาก็กลับเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าที่แล้ว ๆ มา พระเจ้าดินห์เทียนทอง หรือดินห์โบหลิน (Dinh Tein Hoang  หรือ Dinh Bo Linh) ได้อาราธนาบรรดาภิกษุที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ให้เข้าไปรับตำแหน่งสำคัญ ๆ ในด้านการบริหารประเทศชาติ  พระองค์ได้ทรงถวายความเคารพเป็นพิเศษต่อท่านเชาหลู (Ven. Chua Luu) ซึ่งเป็นสานุศิษย์ของท่านวันฟง  และได้ให้เกียรติท่านเชาหลูเป็น กวองเวียดไทสู (Khuong Viet Thai Su)  ทำหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาในกิจการที่สำคัญ ๆ

นับตั้งแต่เวลาที่เวียดนามได้รับเอกราชไปจนถึงเวลาที่เวียดนามตกอยู่ใต้อำนาจของจีนในสมัยราชวงศ์หมง (Ming)  ซึ่งนับว่าเป็นการตกอยู่ใต้อำนาจจีนเป็นครั้งที่ ๔ คือ ตั้งแต่ปี  พ.ศ.๑๙๕๗ ถึง พ.ศ. ๑๙๗๐ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่มีศรัทธามั่นจริง ๆ ทั้งนั้น  นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงเกือบจะกลายเป็นศาสนาประจำชาติของเวียดนามอยู่แล้ว  กษัตริย์ทั้งสองในราชวงศ์ดินห์ (Dinh) และราชวงศ์เล (Le) ได้อาราธนาภิกษุที่มีความสามารถปราดเปรื่องมาไว้ในฐานะที่ปรึกษาเสมอมา  กษัตริย์แห่งราชวงศ์ดินห์ได้ส่งสมณทูตไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ประเทศจีน  และนี่เป็นเหตุที่ทำให้งานวรรณกรรมด้านพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมากมาย

ไหลจองอ้วน  (Ly  Cong  Uan)  ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า  พระเจ้าไหลไทโต๋  (Ly  Thai  To)  ซึ่งเป็นผู้ตั้งราชวงศ์ไลขึ้นนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของภิกษุรูปหนึ่งที่วัดโจฟับ  (Co  Phap)  ภิกษุรูปนั้นชื่อ  ไลคันห์วัน  (Ly  Khanh  van)  ท่านผู้นี้เป็นศิษย์ของท่านวันหัน  (Ven.  Van  Hanh)  แห่งนิกายไทนิตะลูฉิ  (Tynida  Luu  Chi  Sect)

โอรสของพระเจ้าไหลไทโต๋  ทรงพระนามว่า  ไหลไทต๋อง  (Le  Thai  Tong)  ซึ่งทรงหลอกประชาชนว่าได้ทรงพบพระอวโลกิเตศวร  (เจ้าแม่แห่งความเมตตากรุณา)  จึงทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ทรงดอกบัวอุทิศถวายแด่พระอวโลกิเตศวร  เมื่อปี  พ.ศ. ๑๕๙๒ นั่นคือ  พระเจดีย์เสาเดียว  ซึ่งยังคงเหลืออยู่ในเมืองฮานอยจนถึงปัจจุบันนี้



ภาพจาก : board.palungjit.org

นิกายธยานะที่สาม
พระเจ้าไหลทันต๋อง  (Ly Than Tong) โอรสพระเจ้าไหลไทต๋อง (Ly Thai Tong) ได้ทรงจับเชลยศึกได้มากมายในคราวที่พระองค์ทรงทำสงครามกับแคว้นเชียมทันห์  (Chiem Thanh)  ซึ่งอยู่ทางใต้  พระองค์ได้ทรงมอบเชลยศึกเหล่านี้ให้เป็นคนรับใช้ของบรรดาขุนนางข้าราชการทั้งหลายของพระองค์  

วันหนึ่ง ข้าราชการผู้หนึ่งซึ่งกลับมาจากข้างนอกได้สังเกตเห็นว่าหนังสือ “งูลุก”  (Ngu Luc)  ของท่านได้ถูกแก้ไว้หลายแห่ง ต่อมาท่านได้ทราบว่า ในระหว่างที่ท่านไม่อยู่เชลยศึกคนหนึ่งได้เป็นผู้แก้ ข้าราชการผู้นี้จึงได้กราบทูลให้พระเจ้าไหลทันต๋องทรงทราบ  พระองค์ได้ทรงเรียกนักโทษเหล่านั้นมาสอบสวนเพื่อหาตัวผู้เขียน ในที่สุดก็ทรงทราบว่า ผู้เขียนนั้นเป็นพระภิกษุชาวจีนรูปหนึ่งชื่อ  เถาดวง (Thao Duong)  ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเตียตดัว (Tuyet  Dau)  ท่านผู้นี้ได้ติดตามอาจารย์มายังแคว้นเชียมทันห์และก็ถูกจับเพราะเหตุนี้  หลังจากที่พระเจ้าไหลทันต๋องได้อาราธนาให้ท่านแสดงธรรมแล้วจึงได้ทราบว่าท่านเป็นพระภิกษุที่ปราดเปรื่องมาก พระองค์จึงได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นหัวหน้าพระที่สำคัญองค์หนึ่ง  และต่อมาพระองค์ก็ได้รับการผนวชจากภิกษุรูปนี้

ท่านเถาดวงได้สอนอยู่ที่วัดไขควอก  (Khai Quoc Pagoda)  งปัจจุบันเรียกว่า ตรันควอก (Tran Quoc)  อยู่ในฮานอย  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  และท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งนิกายธยานะที่ ๓ ขึ้นในเวียดนาม  ในสมัยราชวงศ์ไล (Ly)   นิกายนี้ได้เจริญรุ่งเรืองรวดเร็วมาก พระเจ้าไหลทันต๋อง  ระเจ้าไหลอันต๋อง (Anh Tong)  และพระเจ้าไหลเจาต๋อง (Cao Tong) ได้ทรงผนวชอยู่ในนิกายนี้ และได้ทรงรับการฝึกฝนในด้านปัญญาด้วย  ทุกท่านทรงถ่ายทอดปัญญาญาณได้  มีพระบรมวงศานุวงศ์มากมายที่ได้สละบ้านเรือนออกมาผนวชเป็นภิกษุอยู่ในสำนักนี้

ภิกษุที่ทรงคุณวุฒิมากมาย  เช่น ท่านเวียนเฉียว (Vien Chieu) และท่านโงอัน (Ngo An) ได้ทิ้งบทความเกี่ยวกับเรื่องธยานะที่มีค่าไว้มากมาย แต่ในสมัยราชวงศ์ไลนี้แหละที่มีพระเป็นจำนวนมา เช่น ท่านเกียวหวง (Giao Hoang) ท่านไดเดี๋ยน (Dai Dien) ด่านเดาหันห์  (Dao Hanh)  และท่านมินห์ของ  (Minh Khong)  ได้หันความสนใจหนักไปในทางอภินิหาร  นี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความเคารพนับถือพระพุทธศาสนาน้อยลงตามลำดับ

ในราชวงศ์ตรัน (Tran) พระพุทธศาสนาก็คงเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน พระเจ้าตรันไทต๋อง (Tran Thai Tong)  ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และได้ทรงนิพนธ์หนังสือไว้ ๒ เล่ม คือ  “Guide For Dhyana” (ทางไปสู่ธยาน) และ “Khoa Hu” ซึ่งบัดนี้ก็ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  

พระเจ้าตรันนันต๋อง (Tran Nhan Tong) เมื่อตอนที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา ได้ทรงปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์ และได้ทรงขอผนวชเป็นพระภิกษุ เพราะเหตุที่พระราชบิดาทรงปฏิเสธไม่ยอมให้ทรงผนวช พระองค์พยายามจะหนีไปอยู่ที่ภูเขาเยี่ยนตู๋  (Yen Tu)  แต่ก็ทรงถูกจับได้จึงถูกบังคับให้กลับมาครองราชสมบัติ  ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่น้อยเลย  หลังจากที่ได้ทรงขับไล่พวกเหงียน  (Nguyen)  ซึ่งยกกองทัพมารุกรานได้หลายครั้งหลายหนแล้ว  พระเจ้าตรันนันต๋อง  (Tran Nhan Tong)  ก็ทรงสละราชบัลลังก์ให้โอรสครองต่อไป แล้วพระองค์ก็เสด็จไปยังภูเขาเยี่ยนตู๋ และทรงผนวชที่นั่น พระองค์ได้ทรงเป็นศิษย์ของท่านติวตรุงเตี๋ยนสุ (Tue Trung Thyen Su)  แห่งนิกายโวโงนทอง (Vo Ngon Thong Sect) ต่อมาท่านได้ตั้งอนุนิกายของนิกายนี้ขึ้นเรียกว่า ตรุกลัน (Truc Lan) หรือนิกายเวฬุวัน

ในสมัยราชวงศ์ตรันนี้  นิกายธฺยานเจริญรุ่งเรืองมาก มีประชาชนมาเข้าวัดมากมาย และทุก ๆ หมู่บ้านจะมีวัดอยู่วัดหนึ่งเสมอไป พระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมากด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเท่าที่ปรากฏพระพุทธศาสนาในเวียดนามในตอนนี้จะเป็นไปในรูปนิกายธฺยานก็จริงแต่ก็สืบสายมาจากนิกายตินห์โตตอง (Tinh Do Tong Sect) โดยเหตุที่นิกายนี้หนักไปในทางปฏิบัติมากกว่าที่จะศึกษาในด้านปริยัติ ประชาชนส่วนมากก็ยังเชื่องมงายอยู่ในไสยศาสตร์เวทมนต์คาถา ซึ่งเท่ากับเป็นการบั่นทอนความเชื่อถือในเนื้อหาแท้ ๆ ของพระพุทธศาสนาลงไปในตัว


http://0.static-atcloud.com/files/comments/142/1423658/images/1_display.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

ประธานาธิบดี โง ดินห์ เดียม แห่งประเทศเวียดนาม
(ตามประวัติกล่าวว่า เป็นผู้นับถือและเคร่งครัดในศาสนานิกายโรมันคาทอลิค)

ภาพจาก : atcloud.com

พระพุทธศาสนาในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง

ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนั้น  พุทธศาสนิกชนได้รับการดูถูกเหยียดหยามมาก  ประชาชนถูกห้ามไม่ให้ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาจนเกินไป  ถูกห้ามไม่ให้นั่งเจริญกรรมฐาน  เจริญสมาธิภาวนา  ผลก็คือพุทธศาสนิกชนโง่เขลามากขึ้นทุกที  และเพราะเหตุการณ์แวดล้อมอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมีความไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้นตามลำดับ

ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางของประชาชนเป็นเหตุก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้น เมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๗๗ ในเวียดนามเหนือ  พุทธสมาคมที่ตังเกี๋ย (Tonkin Buddhist Association) ก็ได้ก่อเป็นรูปร่างขึ้นในในเวียดนามใต้  (โคชินไชน่า)  ได้มีสมาคมค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาแห่งโคชินไชน่า (Cochinchina  Buddhist Research Association) ขึ้น  และในเวียดนามกลาง (Annam)  ก็ได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอันนัม (Annam Buddhist Association)  ขึ้น  พุทธสมาคมเหล่านี้มีจุดหมายปลายทางในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเวียดนามขึ้นใหม่  แต่การดำเนินงานส่วนใหญ่ได้ถูกฝรั่งเศสกีดกันเสียมาก  หลังจากที่ได้มีการปฏิวัติ  เมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา  ก็ได้มีการก่อตั้งพุทธสมาคมเพื่อความหลุดพ้นแห่งชาติ  (Vietnam  National  Salvation  Buddhist  Association)  ขึ้น  สมาคมนี้ได้ทำหน้าที่หนักไปในทางการเมืองเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส  ได้ทำหน้าที่รับบริจาคโลหิต  มอบเสื้อผ้า  และอาหารให้แก่กองทัพ  เป็นต้น  ในเมืองใหญ่ ๆ ก็มีสาขาของพุทธสมาคมแบบนี้ไปตั้งอยู่ทั่ว ๆ ไป

หลังจากที่ได้รับเอกราชแล้ว สมาคมต่าง ๆ เหล่านี้ก็รวมกันเป็นเอกภาพพุทธสมาคมเวียดนาม (Vietnam Unified Buddhist Association)  ขึ้น  ซึ่งสมาคมนี้มีอิทธิพลอยู่ในเวียดนามเหนือมาก สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  ช่วยเหลือประชาชน  รับใช้ปิตุภูมิ  และรักษาความสงบเรียบร้อย  นอกจากนั้นท่าน นารทะ  มหาเถระ  แห่งลังกา  ซึ่งไปจำพรรษาอยู่ที่เวียดนามใต้ได้กล่าวว่า  ในปัจจุบันนี้พระพุทธศาสนาในเวียดนามกำลังได้รับการฟื้นฟูเป็นอย่างมาก  ชาวพุทธได้ตื่นตัวและรู้จักความรับผิดชอบของตนที่มีต่อศาสนามากขึ้น  ชาวพุทธมีความสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นตามลำดับ  ได้มีโรงเรียนสำหรับฝึกฝนพระและโรงเรียนชาวพุทธเกิดขึ้นมากมาย  หนังสือและนิตยสารทางพระพุทธศาสนาก็ได้รับการตีพิมพ์ออกเผยแผ่มากขึ้น  มีภิกษุหลายรูปได้เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ  ทั้งในเอเชีย  ยุโรป  และสหรัฐอเมริกา  ทั้งนี้ก็เพื่อกลับไปช่วยดำเนินงานการศึกษาให้มีประสิทธิผลมากขึ้น  เวลานี้ได้มีกระบวน การลูกเสือชาวพุทธ  (Buddhist Scout Movement)  ขึ้น  ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่แปลกอีกแบบหนึ่งองค์การลูกเสือชาวพุทธนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ ชัวอะลอย  (Chua–a Loi)  ในเมืองไซ่ง่อน  ขณะนี้ได้ดำเนินงานแผ่ไปกว้างขวางมาก  จนเกือบจะมีสาขาอยู่ในเมืองใหญ่ทุกเมืองแล้ว  กระบวนการนี้ทำให้เด็ก ๆ ทั้งชายและหญิงมีความรู้สึกยึดมั่นในศาสนามากขึ้น  นอกจากนั้นก็มี  “สหภาพชาวพุทธ”  (Buddhist  Union) ขึ้นสองแห่ง แห่งหนึ่งสำหรับเด็กผู้ชาย อีกแห่งหนึ่งสำหรับเด็กผู้หญิงสหภาพชาวพุทธนี้ได้ก่อกำเนิดขึ้นที่เมือง กีเวียนตู  (Ky–Vien–Tu) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปฏิบัติ และประกาศพุทธธรรม  และยึดมั่นในหลักการ ๕ ข้อ คือ ความยุติธรรม กรุณา บริการ บริสุทธิ์ และวินัย

ในเวียดนามเวลานี้มีพวกชีเป็นจำนวนมาก  และส่วนมากก็ยังอยู่วัยสาว  แต่ก็ยังไม่มีสำนักชีที่ดีจริง ๆ  มากนัก เฉพาะในเวียดนามใต้ในปัจจุบันนี้ มีวัดพระพุทธศาสนารวม ๔,๗๖๖ วัด  ในจำนวนนี้มีวัดทางพ พุทธศาสนาแบบเถรวาทอยู่ ๔๐๐ วัดเศษ  จังหวัดที่มีวัดเกิน ๑๕๐ วัด คือ เมืองเว้ ๔๐๘ วัด ไซ่ง่อน ๑๘๐ วัด  เด๋นเติง ๒๘๓ วัด  แองยาง ๓๑๓ วัด  หวินลอง ๒๒๓ วัด  พูเอียง ๑๕๔ วัด  มาเชียง ๑๗๐ วัด  หวางนาม (ดานัง) ๒๑๔ วัด  หวางงาย ๒๑๕ วัด  หยินเมิ่น ๒๔๙ วัด  ยาเด๋น ๒๔๖ วัด  เม่นเด๋น ๒๙๗ วัด  ลำแยง ๑๗๙ วัด  หวางเต๋ย ๑๗๖ วัด  มีภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทกว่า ๓๐๐ รูป  ส่วนมากมีเชื้อสายเขมร  มีพระภิกษุสามเณรฝ่ายมหายานกว่า ๑๐,๐๐๐ รูป  พุทธสมาคมซึ่งตั้งอยู่ที่วัดซาลอยเมืองไซ่ง่อนเป็นผู้ควบคุมดูวัดฝ่ายมหายานกว่า ๑,๐๐๐ วัด  จึงนับว่าเป็นนิกายใหญ่อยู่ในเวียดนามใต้  ส่วนนิกายอื่น ๆ  เช่น  เติ๊นด๋าวต๊ำ และลุงกว่าตัง เป็นต้น ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากนัก รับรู้กันเฉพาะในเวียดนามใต้เท่านั้น และพระพวกนี้แหละที่มีภรรยามีบุตรได้เช่นเดียวกับฆราวาส

ในสมัยที่เวียดนามยังอยู่ใต้ความปกครองของฝรั่งเศสนั้น พระภิกษุสามเณรฝ่ายเถรฝ่ายเถรวาทเชื้อสาย เขมรเหล่านี้ขึ้นตรงต่อสังฆนายกเขมร  แต่เมื่อเวียดนามใต้ได้รับเอกราชแล้วก็มิได้ขึ้นกับทางเขมรอีกต่อไป  มีแต่เจ้าคณะจังหวัดแต่ละจังหวัดปกครองกันตามลำพัง  โดยขึ้นต่อคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทซึ่งเป็นชาวเวียดนามแท้ คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทของชาวเวียดนามเองได้ตั้งขึ้นเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๐๐ มีสำนักงานอยู่ที่วัดเชตวัน ไซ่ง่อน  เวลานี้มีอยู่เพียง ๑๙ วัด และมีพระภิกษุเพียงประมาณ ๔๐ รูป  สามเณร ๑๐ กว่ารูป  พุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทที่เป็นชาวเวียดนามแท้ ๆ  มีทั้งสิ้นประมาณ ๕,๐๐๐ คนเท่านั้น  แต่ถึงกระนั้นคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทก็จัดการปกครองขึ้น  โดยมีตำแหน่งสังฆนายกเป็นตำแหน่งที่สูงสุดและมีรองสังฆนายก ๒ รูป  ที่ปรึกษา ๒ รูป  เลขาธิการ ๑ รูป ผู้ช่วยเลขาธิการ ๑ รูป ไม่มีเจ้าคณะจังหวัด  เจ้าคณะอำเภอ  เจ้าอาวาสปกครองแต่ละวัดขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์  คณะกรรมการสงฆ์รวม ๗ รูปนี้  มีหน้าที่ปกครองดูแลวัด ๑๙ วัด  พระภิกษุ ๓๓ รูป สามเณร ๑๐ กว่ารูป พุทธศาสนิกรวม ๕,๐๐๐ คน

แม้ว่าประชาชนชาวเวียดนามที่เป็นพุทธศาสนิกจะมีกว่า ๘๕ %  ก็ตาม  แต่ถึงกระนั้นประชาชนที่เป็นชาวพุทธส่วนใหญ่ก็หาได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งมีประธานาธิบดีนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไม่  ชาวพุทธได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นโดยตรงและโดยอ้อมเสมอมา  ในสมัยฝรั่งเศสปกครองเวียดนามนั้นได้ถือว่าเวียดนามใต้เป็นเมืองขึ้นโดยตรง  ไม่ใช่แคว้นในอารักขาเหมือนเวียดนามกลางและเวียดนามเหนือ



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 13:31:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2556 17:59:51 »

.

พระภิกษุ ทิจ กวาง ดึ๊ก
ผู้ยอมสละชีพเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม (ต่อ)

ในสมัยที่กษัตริย์ราชวงศ์ญวน คือ องเชียงสือ ได้รวบรวมอาณาจักรเวียดนามใต้ทั้งหมดแล้วก็ให้มีการตั้งสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นที่เมืองเว้ ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในเวียดนามจึงอยู่ที่เมืองเว้  เมื่อเวียดนามตกอยู่ในความครอบครองของฝรั่งเศส  และถือเอาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาของทางราชการ ในสมัยนั้นผู้ที่จะได้เป็นข้าราชการสัญญาบัตรในเวียดนามใต้จะต้องถือสัญชาติฝรั่งเศส  ผู้ที่จะโอนเป็นชาติฝรั่งเศสได้ก็ต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ฉะนั้นในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนี้ ชาวพุทธจึงไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นข้าราชการใหญ่โตได้ การพระพุทธศาสนาในเวียดนามใต้จึงไม่มีใครเอาใจใส่  ขาดอัครศาสนูปถัมภก แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงรักษาตัวอยู่ได้ และเพิ่งจะมีการก่อตั้งพุทธสมาคมขึ้นได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นี้เอง โดยมีวัดซาลอย ซึ่งเป็นวัดใหญ่ที่สุดในไซ่ง่อนเป็นจุดศูนย์กลาง

ในคราวที่ได้มีการแบ่งเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้นั้น ทางเวียดนามใต้ได้อัญเชิญจักรพรรดิเบาได๋มาเป็นผู้สำเร็จราชการ จักรพรรดิเบาได๋หาได้กีดกันศาสนาใด ๆ ไม่  เพราะฉะนั้นในคณะรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋จึงมีผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ หลายศาสนาด้วยกัน เช่น ศาสนาเบาได๋และหว่าหาว เป็นต้น เมื่อจักรพรรดิเบาได๋ได้เสด็จไปอยู่ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก็ได้เริ่มกวาดล้างศาสนา ทีแรกก็ทำเป็นญาติดีกับพวกเบาได๋ก่อน  เรื่องกวาดล้างพวกมิ่นเซี่ยนซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของพุทธศาสนาแล้วก็ทำลายกลุ่มหว่าหาว  โดยจับนายพลมากุด แม่ทัพหว่าหาวได้ แล้วได้ประหารชีวิตเสีย  นี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโงดินห์เดียมได้ทำการกวาดล้างพุทธศาสนามานานแล้วไม่ใช่จะเพิ่งมีเมื่อเร็ว ๆ นี้เท่านั้น

ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลโงดินห์เดียมซึ่งมีนายและนางโงดินห์นู น้องชายและน้องสะใภ้เป็นกำลังหนุนสำคัญอยู่  ช่วยกันสร้างให้เกิดความขมขื่นในจิตใจของชาวพุทธในเวียดนามตลอดมานั้นได้ค่อย ๆ คุกรุ่นอยู่ในจิตใจมาเป็นเวลานานปี ชาวพุทธต้องหวานอมขมกลืนอยู่ด้วยความอดทนอย่างที่สุด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๖ ความคุกรุ่นที่สะสมมาเป็นเวลานานแล้วนั้นในที่สุดก็ระเบิดออกมาจนกลายเป็นการปฏิวัติ  พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของเวียดนามในโอกาสต่อมา  เหตุที่ทำให้ความคุกรุ่นในจิตใจของชาวพุทธต้องระเบิดออกมาในรูปของปฏิกิริยาในแบบต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดการปฏิวัติล้มบัลลังก์ของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมและพรรคพวกนั้น  ก็เพราะความไร้ทศพิธราชธรรมของผู้ปกครองประเทศนั่นเอง  ซึ่งเหตุการณ์ที่นายพันธุ  นัยวิทิต  เลขาธิการพุทธสมาคมได้สรุปไว้ในคราวที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่ออภิปรายถึงกรณีที่พุทธศาสนิกชนในเวียดนามใต้ถูกบีบบังคับ  และถูกจำกัดเสรีภาพในการนับถือพระพุทธศาสนา  เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ และคุณอดิศร  อิสี  ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ “อนันตริยกรรมในเวียดนามใต้”  มีข้อความว่า

ก่อนวันวิสาขบูชา ๒๕๐๖ สองวัน  ท่านอาร์คบิชอบโงดินห์ถึก  พี่ชายของประธานาธิบดีโงดินห์เดียม  ได้จัดให้มีพิธีฉลองอย่างเอิกเกริกในวันสำคัญของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกโดยทางรัฐบาลเวียดนามถือว่าเป็นวันสำคัญของชาติด้วย  แต่ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธบริษัทชาวเวียดนามใต้ชักธงธรรมจักรเครื่องหมายของพุทธศาสนาบ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ห้ามและเก็บริ้วธงเหล่านี้ทิ้งเสีย ชาวพุทธทั้งหลายจึงได้เดินขบวนร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เพิกเฉยเสีย  ชาวพุทธทั้งหลายก็เดินขบวนไปขอพูดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงดังที่อาร์คบิชอบได้พูดในวันสำคัญของคริสต์ศาสนาในนิกายโรมันคาทอลิกมาแล้ว  แต่ทหารและตำรวจได้ขับรถตะลุยเข้าไปในกลุ่มชาวพุทธทำให้มีคนตายไป ๙ คน  บาดเจ็บ ๑๖ คน  แต่ทางรัฐบาลกลับออกแถลงการณ์ว่าพวกเวียดกงขว้างระเบิดทำให้คนตาย  ต่อมาคณะสงฆ์ได้ส่งผู้แทนไปเจรจาเพื่อให้รัฐบาลเลิกบีบคั้น พุทธสมาคมนานาชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุน  และพระสงฆ์ประมาณ ๔๐๐ รูป  ได้เดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ค่าเสียหายในการที่ภิกษุ ๙ รูปต้องถึงแก่มรณภาพในคราวนี้  ทางฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ทหารและตำรวจออกต่อต้านโดยใช้ดาบปลายปืนขู่  และใช้ระเบิดพลาสติกขว้างชาวพุทธบาดเจ็บไป  ๗ คน  มีชาวพุทธจำนวนมากได้อดอาหารประท้วง  ต่อมาพระคาทอลิกบางรูปได้แสดงความเห็นใจชาวพุทธ  ส่วนนางโงดินห์นู  น้องสะใภ้ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดแก่ชาวพุทธ  โดยหาว่าชาวพุทธเหล่านี้เป็นผู้บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ  นายวิลเลียม  ทรูฮาร์ต  อุปทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้  ได้เรียกร้องให้หาทางอะลุ่มอะล่วยกับชาวพุทธเสีย


http://www.photoontour9.com/image/outbound/vietnam/vn06/ngo_dinh_diem/vn06.jpg
พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์

พระภิกษุ ทิจ กวาง ดึ๊ก เผาตัวเองประท้วงรัฐบาล
จนมีพระภิกษุรูปอื่น รวมทั้งสามเณร และแม่ชีเผาตัวเองประท้วงอีกหลายรูป

ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๐๖ พระภิกษุและชีประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ได้ทำพิธีสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลถวายพระภิกษุที่ถึงแก่มรณภาพ  ๙  รูปนั้น  เสร็จแล้วได้เดินทางไปตามถนน พอถึงหน้าสถานทูตเขมร พระภิกษุทิจ  กวางดึ๊ค  ซึ่งมีอายุ ๗๒ ปี ได้เผาตัวเองจนถึงแก่มรณภาพ  ผู้ที่อยู่ในขบวนก็จัดการนำศพไปประกอบพิธีสวดตามประเพณีที่วัดซาลอยเพื่อเป็นการเรียกร้องขอความเสมอภาคในการปฏิบัติกิจการทางศาสนา และมีการชักธงทางศาสนาตามวัดต่าง ๆ ลดลงครึ่งเสา แสดงความอาลัยแด่พระภิกษุทิจ กวางดึ๊ค ทางรัฐบาลได้ส่งทหารและตำรวจมาล้อมวัดซาลอยไว้
วันที่  ๑๔  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๐๖ นายกพุทธสมาคมเวียดนามกับภิกษุ  ๕  รูป  ได้เดินทางจากเมืองเว้ไปเคารพศพพระภิกษุทิจ  กวางดึ๊ค  ที่วัดซาลอย  ในไซ่ง่อน  และได้ส่งผู้แทนเข้าเจรจากับรัฐบาลอีก  ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน  ส่วนที่วัดซาลอยก็มีพิธีการสวดมนต์บำเพ็ญกุศลสักการะศพพระภิกษุทิจ  กวางดึ๊ค  โดยมีพุทธศาสนิกชนไปร่วมพิธีอีกกว่า  ๒,๐๐๐ คน ได้มีการขัดขวางไม่ให้มีพิธีกรรมอย่างเอิกเกริก  แต่จะอย่างไรก็ตามพิธีก็คงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ จึงได้นำศพพระภิกษุทิจ กวางดึ๊ค ไปไว้ ณ สุสานแห่งหนึ่งในไซ่ง่อน

ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำชาวพุทธกับผู้แทนของรัฐบาล  โดยทางฝ่ายชาวพุทธได้เสนอข้อเรียกร้อง  ๕  ประการด้วยกัน  คือ
๑. อนุญาตให้ชาวพุทธชักธงอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาได้
๒. ให้รัฐบาลให้ความเสมอภาคในการนับถือและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
๓. รัฐบาลต้องประกันว่าจะให้เสรีภาพแก่ชาวพุทธในอันที่จะเผยแผ่ศาสนา
๔. ให้รัฐบาลเลิกการแกล้งจับกุมพระภิกษุและนางชีในพระพุทธศาสนา
๕. ให้รัฐบาลลงโทษผู้กระทำทารุณต่อชาวพุทธ  และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของชาวพุทธเหล่านั้น

ในการเจรจากันครั้งแรกตกลงกันได้เฉพาะสองข้อแรกเท่านั้น ส่วนอีก ๓ ข้อหลังนั้น จะต้องได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีโงดินห์เดียมเสียก่อน จนกระทั่งวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ก็มีข่าวว่าประธานาธิบดีได้ยอมรับข้อเสนออีก ๓ ข้อ รวมเป็น ๕ ข้อครบบริบูรณ์แล้ว  พวกพุทธบริษัทประมาณ ๑ หมื่นคน ได้เดินทางไปตามถนนเพื่อรวมการฌาปนกิจศพพระภิกษุทิจ  กวางดึ๊ค ได้มีเยาวชนประมาณ ๔๐๐ คน ได้ปะทะกับตำรวจ  ตำรวจได้เอาตะบองตี เอาปืนขู่  พวกเยาวชนก็ใช้ก้อนอิฐ  ก้อนหิน  และรองเท้าขว้าง  มีเยาวชนเสียชีวิตในคราวนี้หนึ่งคน  ตำรวจได้กีดกันมิให้มีการบันทึกภาพไว้  พุทธบริษัทเช่ารถประมาณ ๖๐ คัน แล่นไปตามถนนร่วมในพิธีงานศพแทนการเดินขบวน  แต่ก็ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ คงมีพระภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป นางชีประมาณ ๑,๐๐๐ คน เท่านั้นที่ไปร่วมในพิธีฌาปนกิจศพที่วัดซาลอย

ต่อมาได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันในตอนเช้าวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งทำให้สถานการณ์ดีขึ้น  แต่ทางชาวพุทธก็ยังยืนยันว่า  ชาวพุทธที่ถูกจับตัวไว้รวมทั้งเยาวชนยังไม่ได้รับความปลอดภัยอีก  ๑๖๐  คน  แต่ทางฝ่ายตำรวจบอกว่าปลอดภัยแล้วยังเหลืออยู่เพียง ๑๐ คนเท่านั้น

วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖ พระภิกษุทิจ  ทินเกียต  หัวหน้าชาวพุทธได้ส่งสารถึงประธานาธิบดีโงดินห์เดียมว่า สถานการณ์จะยิ่งเลวลงไปอีกถ้ารัฐบาลยังคงกีดกันชาวพุทธมิให้ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา  ครั้นวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ก็มีการลงโฆษณาว่า ข้อตกลงล้มเหลวเพราะรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ต่อมาประธานคณะสงฆ์พระภิกษุทิจ ทินเกียต ก็ได้มีสารลงวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ถึงรองประธานาธิบดีเหวียนงอกเทอ ประท้วงว่ารัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ว่าจะแก้สถานการณ์  ชาวพุทธต่างพากันห่วงในความปลอดภัยของตนเอง  ซึ่งอาจมีการเดินขบวนหรือเผาตัวเองอีก  และในวันต่อ ๆ มาก็ได้มีพุทธศาสนิกชน  รวมทั้งพระและนางชีได้ไปนั่งที่กลางถนนหน้าวัดเยียกมินท์ในไซ่ง่อน  เป็นการประท้วงที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง แม้ตำรวจจะเข้าขัดขวางก็ไม่เลิก จึงถูกตีด้วยตะบองและลากขึ้นรถไปประมาณ ๘๐ คน การประท้วงนี้ได้ขยายตัวออกไปอีก คือในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๐๖ พุทธศาสนิกชนรวมทั้ง พระภิกษุสามเณรและนางชีประมาณ ๑,๐๐๐ คน ได้ถือแผ่นป้ายโฆษณาร้องขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้คืนดี  ตำรวจได้ใช้ลวดหนามกั้นไม่ให้บุคคลเหล่านั้นเดินเข้าไปยังวัดซาลอย  ส่วนชาวพุทธที่ทำการประท้วงที่หน้าบ้านทูตอเมริกัน  ตำรวจไม่ขัดขวาง  พระภิกษุที่วัดซาลอยได้พากันอดอาหารเพื่อประท้วงที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการชุมนุมชาวพุทธอย่างสงบขึ้น ณ ที่ต่าง ๆ หลายแห่งด้วยกัน เช่น ที่ตำบลพูลำ นอกเมืองไซ่ง่อน มีชาวพุทธไปร่วมชุมนุมประมาณ ๒๐๐ คน หน้าเจดีย์เกียกมินท์ประมาณ  ๔๐๐ คน หน้าตลาดในเมืองไซ่ง่อนประมาณ ๑๐๐ คน แต่ในทุกแห่งที่ได้มีการประชุมกันนี้ตำรวจได้เข้าขัดขวางทุบตี ลากขึ้นรถไปเป็นจำนวนมาก พอถึงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๖ ได้มีการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงว่า  ทางรัฐบาลจะได้ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยยอมให้ชักธงพุทธศาสนาได้โดยเสรี  แต่ไม่พูดถึงข้ออื่น ๆ  พุทธบริษัทได้มีสารขอร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อตกลงทั้ง ๕ ข้อ โดยครบถ้วน  แล้วได้ไปร่วมชุมนุมกันอยู่ในวัดซาลอยในไซ่ง่อน  เจ้าหน้าที่ได้รื้อลวดหนามที่กั้นไว้ออก  แต่เมื่อไม่มีชาวพุทธออกมาจากวัดจึงได้ล้อมลวดหนามไว้ตามเดิม

ต่อมาในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๖ได้มีข่าวว่าชาวพุทธเวียดนามได้ยื่นคำขาดไปว่าจะปฏิบัติตามคำเรียกร้องหรือไม่  หากไม่ปฏิบัติตามก็จะได้ดำเนินการประท้วงต่อไป  ชาวพุทธที่ถูกจับไปได้รับการปลดปล่อยมาเพียง ๒๖๗ คน อีกประมาณ ๓๐๐ คน ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย แม่ชีคนหนึ่งซึ่งเป็นมารดาของนายยูฮวย นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อของเวียดนาม  ซึ่งเป็นประธานกรรมการพลังงานปรมาณูของเวียดนามจะพลีตัวเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องของชาวพุทธ ในวันต่อมามีข่าวว่า พระภิกษุและสามเณรรวม ๒ รูป จะคว้านท้องตนในที่สาธารณะเพื่อให้ข้อเรียกร้องของชาวพุทธได้รับผลสำเร็จ  ทหารที่เป็นชาวพุทธก็จะได้ร่วมกันสวดมนต์เพื่อให้ความสำเร็จเกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๐๖ ภิกษุทิจ ดึ๊กฟง  อายุ ๒๔ ปี ได้เผาตัวตายที่จัตุรัสอนุสาวรีย์ทหารนิรนาม  เมืองฟานเทียต ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล อยู่ไม่ห่างจากเมืองไซ่ง่อนมากนัก นับเป็นรูปที่ ๒

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๖ สามเณรทิจ ชันตู อายุ ๑๙ ปี  ได้ทำการเผาตัวเองที่เมืองเว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประท้วงการกีดกันพระพุทธศาสนา ต่อมาประชาชนได้เดินขบวนมาขอศพสามเณรทิจ  ชันตู  ไปประกอบพิธีฌาปนกิจ  แต่ตำรวจบอกว่าญาติของสามเณรทิจ  ชันตู ได้มาเอาศพไปแล้ว ในการเดินขบวนครั้งนี้  ตำรวจตีชาวพุทธบาดเจ็บ ๒๕ ราย  ละต้องไปรักษาตัวเอาเอง ทั้งนี้เพราะทางตำรวจอ้างว่าทางรัฐบาลสั่งไม่ให้โรงพยาบาลรับชาวพุทธ ได้มีข่าวต่อมาว่าพุทธบริษัททั้งหลายจะได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพสามเณรทิจ  ชันตู  ที่สถูปใหญ่ตูดัม  ในเมืองเว้  แต่รัฐบาลต้องการให้ฝังไว้ที่สถูปเจดีย์เดียมฟุก  รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากที่พักอาศัยในเวลา ๒๐.๐๐ น. ถึง ๖.๐๐ น.  ของวันรุ่งขึ้น และได้ใช้สารวัตรทหาร และทหารยานเกราะ  เข้าประจำตามจุดต่าง ๆ  ทั้งในและนอกเมืองเว้  กับได้ทำการตรวจค้นบัตรประจำตัว  ตรวจยานพาหนะ ฯลฯ  ในการแย่งศพสามเณรทิจ  ชันตูนี้  มีข่าวว่าทหารได้ใช้หมวกเหล็กตีชาวพุทธบาดเจ็บ ๒๕ คน และบาดเจ็บขั้นสาหัสอีก ๕ คน

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๖ แม่ชีชื่อ คือกวาน หรือเหยียงเทียม วัย ๒๐ ปี  ด้เผาตัวเองที่จังหวัดคางหัว ห่างจากเมืองไซ่ง่อน ๒๐ ไมล์ ทั้งนี้  เพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาลที่ได้ยึดศพสามเณรทิจ  ชันตูไว้ เลยกลายเป็นเหตุทำให้สถานการณ์ในเมืองเว้ตึงเครียดขึ้นมาอีก  ทหารได้ล้อมวัดต่าง ๆ ไว้  ทำให้วัดต้องขาดแคลนอาหารไป

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๖ ได้มีข่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้รับสารจากพระนักบวชในคริสต์ศาสนาในมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ราวประมาณ ๑๕,๐๐๐ รูป ซึ่งในจำนวนนี้มีบาทหลวงของนครนิวยอร์ค  และบาทหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนียรวมอยู่ด้วย ในสารนั้นมีใจความว่า การช่วยเหลือของสหรัฐควรให้เฉพาะแก่รัฐหรือประเทศที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเท่านั้น  รัฐบาลไม่ควรให้การช่วยเหลือเพื่อที่จะเป็นการสนับสนุนระบบซึ่งทั่วโลกเห็นว่าไร้ความยุติธรรมและไม่มีเสรีภาพ

ในวันที่ ๑๖ สิงหาคมนี้ ทางด้านเวียดนามใต้  มีข่าวว่าในวิหารทูดาม อันเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดของเมืองเว้ พระภิกษุทิจเตียวเยียว อายุ ๗๑ ปี ได้ครองผ้าอย่างลงสังฆกรรมแล้วลงไปที่สนามของวัดแล้วได้จัดการเผาตัวเองต่อหน้าพระภิกษุอื่น ๆ ทหาร ๑๒,๐๐๐ คน ได้รุดเข้าล้อมวัดนี้ไว้ และมีข่าวว่ารัฐบาลได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทหารเอาปืนกลมาตั้งประจำตามมุมถนนต่าง ๆ ประชาชนที่เดินขบวนได้ถูกทหารใช้แก๊สน้ำตาขับไล่แตกกระจายไป

พระภิกษุทิจ  ทินเกียต ประมุขของสงฆ์เวียดนามใต้ ได้ส่งสารถึงพุทธบริษัททั้งหลายว่า อย่าได้กระทำการใด ๆ ด้วยความผลีผลาม และได้ยกย่องสมณะ ๓ รูป ที่เผาตนเองว่าเป็นแบบฉบับอันรุ่งโรจน์ยิ่ง  เพราะได้แสดงให้เห็นว่ามีศรัทธาและความเสียสละอย่างสูงส่ง

ต่อมาในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๖ ได้มีข่าวว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเว้  รวม ๔๐ คน ได้ขอลาออก มหาวิทยาลัยนี้มีนักศึกษา ๒,๘๐๐ คน ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดของเวียดนามใต้ การลาออกของคณะอาจารย์ครั้งนี้เป็นการประท้วงรัฐบาลโดยอ้างเหตุว่า เพราะ
๑. รัฐบาลได้ยึดศพพระที่เผาตัวเองเอาไว้ ได้ใช้กำลังและอาวุธปราบปรามพุทธบริษัทและนักศึกษา ซึ่งเห็นว่าจะเป็นเหตุให้มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นอีก
๒. รัฐบาลไม่เอาใจใส่ในอันที่จะแก้ไขให้พุทธบริษัทได้ดำเนินศาสนกิจตามปรกติของเขาเป็นเวลาถึง ๓ เดือนแล้ว
๓. รัฐบาลได้ปลดอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ชื่อ เกาวัน ออกจากตำแหน่ง

ได้มีข่าวต่อมาว่า นางสาวโมทอด  นิสิตสาววัย ๑๘ ปี แห่งมหาวิทยาลัยเว้ ได้ใช้ขวานสับข้อมือซ้ายเป็นการประท้วงการกระทำทารุณกรรมที่รัฐบาลได้ปฏิบัติต่อพุทธบริษัท  ซึ่งต่อมาไม่นานนักนางสาวโมทอดก็ถึงแก่กรรม

ในระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ ได้มีข่าวว่าพุทธบริษัทประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ได้ยื่นคำประท้วงถึงองค์การสหประชาชาติ  และผู้นำโลกเสรีทั้งหลาย กับถึงสันตปาปา ปอลที่ ๖ ว่าได้มีการกระทำอันเป็นการบีบคั้นพุทธบริษัทขึ้นในเวียดนามใต้แล้ว  และมีข่าวว่า  มีชาวพุทธประมาณ ๑๗,๐๐๐ คน ได้ประชุมกัน ณ พระเจดีย์วัดซาลอย  เพื่อเป็นการประท้วงที่รัฐบาลได้บีบคั้นชาวพุทธ  และได้เหยียดหยามว่าการที่พระภิกษุสามเณรเผาตัวเองนั้นเป็นการ “ย่างสด”  นอกจากนั้นก็ได้มีการอ่านสารของพระภิกษุเกียวเยียงที่เผาตัวเอง ณ เมืองเว้ ว่าเป็นการยืนยันตามข้อเรียกร้อง ๕ ประการ เสร็จแล้วชาวพุทธ ๘,๐๐๐ คน ได้พากันอดอาหาร  โดยจะอดไปถึงวันที่  ๒๕

นางโงดินห์นูได้กล่าวหาผู้สื่อข่าวอเมริกันว่า รายงานข่าวผิด ๆ  เกี่ยวกับสถานการณ์ในเวียดนามใต้  ทั้งนี้ด้วยความเกลียดชังรัฐบาลโงดินห์เดียมนั่นเอง  และว่านักข่าวเหล่านั้นต้องการคว่ำรัฐบาลเวียดนามใต้  แล้วนางยังได้ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดในเรื่องที่ว่ารัฐบาลโงดินห์เดียมได้ประหัตประหารพุทธศาสนิกชน  นางบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “จงอย่าคิดว่าพวกนั้นเป็นประชาชนเป็นอันขาด  คุณไม่คิดหรือว่าคนที่เรียกว่าชาวพุทธพวกนั้นน่ะ  ก็คืออันธพาลนี่เอง แต่เอาจีวรสงฆ์มาคลุมตัว ส่วนในกระเป๋าก็มีคีม มีก้อนอิฐ ก้อนหิน และอื่น ๆ  เพื่อใช้ขว้างปาตำรวจ” ต่อข้อถามที่ว่า นางมีข้อพิสูจน์อะไรในคำกล่าวหาที่ว่าพวกผู้นำชาวพุทธเป็นคอมมิวนิสต์  นางได้ตอบว่า “ก็พวกพระ ๑๐ องค์ มีปืนไรเฟิลของคอมมิวนิสต์อยู่กระบอกหนึ่งนี่นา และก็มีประวัติว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย แต่ถึงแม้จะมีหรือไม่มีประวัติเป็นคอมมิวนิสต์ การกระทำของพวกนั้นก็บอกอยู่ทนโท่แล้ว”

ที่ไซ่ง่อน  ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ คณะผู้แทนองค์การสหประชาชาติ  ได้เริ่มสอบสวนข้อเท็จจริงข้างฝ่ายชาวพุทธในเวียดนามใต้แล้ว  โดยได้เดินทางไปดูเจดีย์สำคัญในไซ่ง่อน  ซึ่งตำรวจและทหารของโงดินห์เดียมได้บุกเข้าทำลายเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖ และได้จับพระและนางชีไปกักขังเป็นจำนวนมาก  ปรากฏว่าเมื่อผู้แทนองค์การสหประชาชาติไปถึงเจดีย์เหล่านี้ คงมีพระภิกษุอยู่เพียง ๒ – ๓ รูปเท่านั้น  แถมยังมีตำรวจลับของรัฐบาลคุมเชิงอยู่อีก  พุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่เคยอยู่ที่เจดีย์นี้ได้หายไปหมด ไม่ทราบว่าทางการได้ใช้อำนาจบังคับให้หายไปหรืออย่างใด  ซึ่งก็อาจเป็นได้  ทั้งนี้ก็เพื่อว่าคณะกรรมการองค์การสหประชาชาติจะได้ไม่มีโอกาสรับฟังเรื่องราวที่แท้จริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลประหัตประหารชาวพุทธ

ภายในเจดีย์วัดซาลอยก็เงียบเชียบราวกับสุสาน ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาต้อนรับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเลย  จนกระทั่งทหารเวียดนามใต้ที่ติดตามไปนั้นออกค้นหาก็ได้พบพระ ๒ รูป อยู่หลังองค์พระเจดีย์  จึงได้พามาพบเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ  แต่นายปาซวัค  หัวหน้าผู้แทนซึ่งเป็นชาวอาฟกานิสถาน  มิได้สอบสวนอะไรจริงจัง  เพราะเกรงว่าคงจะไม่ได้ข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น  เมื่อวันที่ทหารบุกพระเจดีย์ซาลอย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๐๖

วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๖ พระภิกษุทิจ เทียนมี อายุ ๔๒ ปี ได้เผาตัวตายที่ไซ่ง่อน นับเป็นรูปที่ ๗  

ความทารุณต่าง ๆ ที่รัฐบาลโงดินห์เดียมได้กระทำต่อชาวพุทธผู้ตั้งอยู่ในสันติและปราศจากอาวุธนั้น ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเศร้าใจแก่ประชาชนชาวโลกทั้งมวล  และความชั่วทั้งหลายที่รัฐบาลโงดินห์เดียมได้สร้างขึ้นมาในครั้งนี้หาได้เป็นครั้งแรกไม่ รัฐบาลโงดินห์เดียมได้เคยเบียดเบียนศาสนามาตั้งแต่ต้น  อกุศลกรรมซึ่งประธานาธิบดีและญาติพี่น้องที่ได้สั่งสมไว้นี้ได้ค่อย ๆ ทวีมากขึ้นตามลำดับ  จนกระทั่งใช้วิธีทารุณต่าง ๆ นานาแก่ผู้บริสุทธิ์ กรรมนี้เรียกว่าเป็น ครุกรรม เป็นบาปกรรมที่ใหญ่หลวง ใหญ่มากจนกระทั่งความดีที่ประธานาธิบดีได้สร้างไว้นั้นไม่สามารถทานน้ำหนักของความชั่ว  ซึ่งนับว่าเป็นครุกรรมได้ คือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๐๖ เวลา ๑๓.๐๕ น. คณะทหาร โดยการนำของ นายพลเดืองวันมินห์ ซึ่งเป็นชาวพุทธก็ก่อการปฏิวัติโค่นรัฐบาลโงดินห์เดียมลงได้ และในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม  และโงดินห์นู  น้องชาย  ซึ่งหนีไปอาศัยอยู่ในโบสถ์ที่ซาลองก็ถูกจับได้  และได้จบชีวิตลงในวันนั้นเอง  แต่นางโงดินห์นูผู้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการทำลายพระพุทธศาสนานั้นรอดชีวิตไปได้  เพราะขณะที่รัฐบาลโงดินห์เดียมถูกโค่นนั้น  นางยังท่องเที่ยวอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างสำราญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 13:04:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 24 ธันวาคม 2556 13:15:24 »

.

ภาพจาก : programtour.com

พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม (ต่อ)

ถ้าเราจะมาลองค้นหาดูสาเหตุที่รัฐบาลเวียดนามใต้ ในการนำของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมต้องตัดสินใจอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานี้ เราก็คงจะทราบสาเหตุบ้างว่าอะไรที่เป็นเบื้องหลังหรือพื้นฐานที่ทำให้ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมได้ปฏิบัติไปเช่นนั้น ในเรื่องนี้เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไปอีก ซึ่งในข้อนี้ ศาสตราจารย์ พอล มุส (Paul Mus) แห่ง College de France  และมหาวิทยาลัยเยลแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นชื่อ The YOMIURI ฉบับวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๑๙๖๓ (๒๕๐๖) ไว้อย่างน่าฟังทีเดียว ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้เคยอยู่ในเวียดนามนานถึง ๒๗ ปี มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านพระพุทธศาสนา และศิลปโบราณคดีเป็นพิเศษ ท่านได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ดังนี้

๑.  ถ้าว่าโดยภาคปฏิวัติแล้วโลกภายนอกยังคงไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเวียดนามเลย นอกจากว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ชุดปัจจุบัน (ชุดโงดินห์เดียม) ได้ประณามผู้นำทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นกำลังแห่งความชั่วร้าย  และอ้างว่าผู้นำชาวพุทธเหล่านั้นหลอกลวง  และนำประชาชนส่วนใหญ่ไปในทางที่ผิดๆ  (อย่างน้อยที่สุดก็ ๘๐–๘๕ %  ของประชาชนชาวเวียดนามใต้ทั้งหมด) สถานการณ์นี้เป็นผลเนื่องมาจากความจริงที่ว่า พระพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ถูกละเลย และถูกเข้าใจไปในทางผิดๆ นั่นเอง เนื่องด้วยสาเหตุต่างๆ  คือ
ก. ในเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้  (๘๐ ปีมาแล้ว) เจ้าหน้าที่ปกครองเมืองขึ้นชาวฝรั่งเศสทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก มีไม่กี่คนที่นับถือพระพุทธศาสนา  เขาเหล่านี้พิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นที่มีติดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลเท่านั้นเอง
ข. ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันนั้นเอง  ข้าราชการชาวเวียดนามที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในขอบเขตการบริหารอาณานิคมของฝรั่งเศส หรือได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารนั้น พวกนี้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัย เป็นเรื่องล้าหลังในด้านวัฒนธรรม
ค. ตลอดประวัติศาสตร์ของเวียดนาม นับตั้งแต่การตั้งราชวงศ์เล (พุทธศตวรรษที่ ๒๑) เป็นต้นมา นักศึกษาที่นับถือลัทธิขงจื๊อและข้าราชสำนักพิจารณาเห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องอภินิหารที่เหมาะกับคนแก่ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้หญิงและพวกวายร้ายที่ยากจนทั้งหลาย พวกที่ถือลัทธิขงจื๊อมีจำนวนเพียง ๒–๓ % ของประชาชนทั้งหมดเท่านั้น

ง. พวกบาทหลวงคาทอลิกที่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นปีศาจร้าย ขอได้โปรดอ่านข้อความที่ Paul Claudel คาทอลิกที่เข้มแข็งประกาศไว้  (ท่านผู้นี้ในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นนักการทูตและนักประพันธ์อีกด้วย) ในคำนำหนังสือของ Maurice Percheron ในตอนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นปีศาจร้าย ปีศาจร้ายนั้น คือพระพุทธเจ้า..... รูปร่างของพระองค์ก็คือรูปร่างของหนอนในลำไส้ตัวมหึมานั่นเอง”  เขาหมายถึงพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่ที่ลังกา

๒. อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาตลอดระยะสมัยนั้น
ก. เป็นศาสนาของประชาชนหลายล้านคน ซึ่งพวกที่ถือลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็น “ประชาชนโง่เขลา”  (หยู–หมิ่น)
ข. ได้ผลิตพระอรหันต์  (Saint)  แม้จะไม่กี่รูปแต่ก็มีชื่อเสียงเป็นเด่น และประชาชนส่วนใหญ่มีความจริงเป็นพิเศษในเมืองเว้  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เหงียน  (นับตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จนถึงสมัยเบาได๋ที่มีหัวหนักไปทางตะวันตก ซึ่งในสมัยราชวงศ์เหงียนนี้พระพุทธศาสนาได้เจริญถึงขั้นสูงสุดทั้งในด้านปัญญาและในด้านการเสียสละ)

เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้า (พอล มุส) ยังเป็นเด็กอยู่นั้น ในฮานอยข้าพเจ้าได้ทราบจากพวกคนรับใช้ชาวเวียดนามถึงเรื่อง (บางทีอาจไม่เคยได้บันทึกไว้ในหลักฐานของฝรั่งเศส) ภิกษุเวียดนามในเมืองเว้ซึ่งมีอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ซึ่งเป็นภิกษุทั้งสิ้นรวม ๘๐ รูป ท่านได้เรียกบรรดาศิษย์เหล่านั้นมาประชุมกันในตอนเย็นของวันเกิดของท่าน และได้กล่าวอำลาศิษย์เหล่านั้นด้วยคำที่สุภาพอ่อนโยนว่า “บัดนี้ข้าพเจ้ามีอายุครบ ๘๐ ปี เท่าพระชนมายุของพระพุทธเจ้าแล้ว”  ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าทรงเองมีพระชนม์อยู่เพียง ๘๐ พรรษาเท่านั้น  ท่านได้นั่งตัวตรงและเข้าสมาธิอย่างลึกซึ้ง สานุศิษย์ของท่านได้นั่งล้อมรอบท่าน “คล้ายกลีบบัวท่านได้สั่งศิษย์ทั้งหลายให้เอาตะเกียงออกไปเสีย รัตติกาลได้ย่างเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ชายแก่ผู้กล้าหาญนั้นได้นั่งนิ่งเป็นหินทีเดียว ไม่มีใครไปรบกวนท่านเลย ในตอนสว่าง พวกสานุศิษย์ได้พบว่าท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปเสียแล้ว และไม่ทราบว่าท่านได้มรณภาพเมื่อไร “ท่านได้ระงับเหตุที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้ว”  นี้เป็นพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุดในสายตาของมหาชนที่มีศรัทธามีความเคารพนับถือ ซึ่งเขาถือว่าเป็นการสร้างอำนาจเหนือจิตใจ และร่างกายของตนเองได้อย่างเด็ดขาด มีความวางเฉยในตัวเอง ทั้งการสร้างสรรค์และแนะนำผู้อื่นในวิถีทางที่สูงสุด

ค. ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สามัญชนทั้งหลายมีความเคารพต่อการปกครองของราชสำนัก ข้าพเจ้าหมายถึงในสมัยก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามามีอำนาจ ซึ่งพวกข้าราชสำนักถ้าหากว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็จะอุทิศชีวิตให้แก่ภารธุระของตนอย่างเต็มความสามารถ แต่เมื่อเกิดมีวิกฤติการณ์ที่น่าเศร้าสลดเกิดขึ้นในประเทศชาติ พวกเขาก็จะแสวงหาที่พึ่งและการแนะนำที่มีคุณค่าอันสูงส่งของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน จะต้องเข้าไปพึ่งพาต่อตัวแทนของพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าสูงส่งและบริสุทธิ์ผุดผ่อง

๓. ประจักษ์พยานและการขาดความเข้าใจอย่างน่าเศร้าสลดระหว่างประธานาธิบดีโงดินห์เดียมกับพระพุทธศาสนานั้นเราเข้าใจกันว่าเนื่องมาจากการที่ท่านเป็นคาทอลิก  และเป็นคาทอลิกชนิดที่บ้าคลั่งทีเดียว ซึ่งพอจะแยกแยะออกไปได้ดังนี้คือ
ก. เราไม่เข้าใจกันดีนักว่า บุคลิกลักษณะส่วนตัวอันเข้มแข้งและมีเสน่ห์น่ารักอย่างไม่มีใครเทียบนั้นเป็นหนี้ต่อมโนคติอันสูงส่งแต่แคบ แห่งความเป็นข้าราชการที่เคร่งครัดในลัทธิขงจื๊อ มโนคติแบบจีนได้ฝังรากอย่างลึกซึ้งอยู่ในจิตใจแห่งครอบครัวของพวกผู้ดีชาวเวียดนาม แม้ว่าในเวลาต่อมาจะหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกก็ตาม ดังนั้น เราจึงอาจเรียกโงดินห์เดียมได้อย่างไม่ผิดว่าเป็นชาวคาทอลิกที่นับถือลัทธิขงจื๊อ
ข. ทั้งหมดนี้ย่อมแสดงให้เห็นมโนคติอันสูงส่งแห่งศรัทธาในศาสนาและการอุทิศชีวิตให้แก่ประชาชน แต่ชัยชนะแห่งศรัทธาของโงดินห์เดียมเองนั้นได้เคยเป็นจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้ายของเขาเสมอมา และความรู้สึกเช่นนั้นสมควรที่จะได้รับนามว่าเป็นลัทธิคาทอลิกชนิดที่มุ่งเผยแพร่ศาสนาซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในด้านประวัติศาสตร์ที่มีอำนาจมากแบบหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนจิตใจของคนทั้งปวงในโลกให้หันมานับถือคริสต์ศาสนา
ค. ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ว่านโยบายของโงดินห์เดียมควรจะปรากฏว่าเป็นนโยบายที่ล้าสมัย ทั้งนี้โดยมิได้เพ่งถึงความตั้งใจดีของเขาเลยเพราะว่าในเบื้องหลังชีวิตของเขานั้นมีอยู่มากมายหลายอย่างที่เกิดจากสมัยล่าเมืองขึ้น ความรู้สึกอย่างนักเผยแพร่ศาสนา  และความเป็นข้าราชการที่ถือลัทธิขงจื๊อ ทั้งสามอย่างนี้เป็นเรื่องอดีตทั้งสิ้น
ง. โงดินห์เดียมผิดหวัง ไม่ใช่ในฐานะเป็นคาทอลิกคนหนึ่งแต่ในฐานะที่เป็นคาทอลิกที่พ้นสมัยแล้ว  เป็นแบบที่เลิกใช้นับแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ มาแล้ว ซึ่งเป็นปีที่สำนักวาติกันได้แสดงให้ปรากฏออกมาว่า  กาลเวลาสำหรับการปฏิบัติงานของพวกมิชชันนารีนั้นได้ลดน้อยลงทุกที  โดยการแต่งตั้งบิชอบชาวเอเชียชุดแรกขึ้นแทนที่จะพยายามจะรวมชาวเอเชียทั้งปวงเข้าสู่ความเป็นคาทอลิกคล้ายกับสมัยกลาง โดยให้รัฐอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายศาสนจักรโดยเฉพาะ

๔. ในการจัดรูปทางด้านประวัติศาสตร์และทางการเมืองนี้ การเลือกปฏิบัติต่อต้านเฉพาะพระพุทธศาสนา และการส่งเสริมข้าราชการพลเรือนและข้าราชการที่มิได้เป็นชาวพุทธ หาได้เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ ในสายตาของมหาชนซึ่งมีจำนวนหลายล้านคนเป็นต้นเหตุที่ทำให้แลเห็นได้อย่างชัดๆ ว่าจะนำประเทศไปสู่วิกฤติการณ์เพิ่มจากสงครามการเมืองต่อต้านคอมมิวนิสต์ การเลือกปฏิบัติหรือการเลือกที่รักผลักที่ชังเช่นนั้นนับว่าเป็นลางร้าย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของศาสนาอื่นซึ่งมาจากตะวันตกได้พยายามที่จะทำให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้ชนเจ้าของประเทศเหล่านั้นกลายเป็นชนต่างด้าวในประเทศของตนไป

๕. แล้วอะไรเล่าที่ได้เป็นและอาจจะเป็นปฏิกิริยาของชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคณะสงฆ์ทางพุทธศาสนา
ก. สถานการณ์นับว่าเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนามาก ดังที่ได้เคยเห็นกันมาแล้วว่าเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นมาประชาชนนับล้านจะหันเข้าหาผู้นำในทางศาสนาในฐานะ “เป็นผู้นำทางในยามฉุกเฉิน” เสมอมา นับว่าเป็นการปฏิเสธในอันที่จะตอบปัญหาทั้งหลายในทัศนะของผู้นำชาวพุทธแล้วถือว่าเป็นการมุ่งทำลายพุทธศาสนา ซึ่งประธานาธิบดีโงดินห์เดียมก็ไม่ปฏิเสธในแง่นี้
ข. ในประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากเห็นว่าการเคลื่อนไหวทำนองนั้นจะก่อให้เกิดความรุนแรงและฆาตกรทางการเมืองขึ้น แต่สำหรับในข้อนี้พระพุทธศาสนาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเสมอมา
ค. การที่ยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงเช่นนั้น เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลที่แท้จริงแห่งความเห็นระหว่างชาติในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศทั่วโลกในปัจจุบันนี้แล้ว การที่พระพุทธศาสนาไม่มีปฏิกิริยานั้นจะทำให้ชาวเวียดนามเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งโดยไม่มีใครช่วยเหลือเลย
ง. ในสถานการณ์เช่นนั้น การเผาตัวเองดูเหมือนว่าจะเป็นความพยายามอย่างทรหดที่จะส่งคำเตือนไปยังชาวโลกภายนอก ในนามของประชาชนของตนไม่ให้กลายเป็นผู้ฆ่าเขาด้วย เพราะคำสอนในพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้นถือว่าไม่ควรทำลายสิ่งที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป ควรสละชีวิตของตนเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่นเสมอ

๖.  ในการที่มิได้มีรายงานที่พอจะเชื่อถือได้โดยละเอียดนี้นับว่าเป็นการยากลำบากมากที่จะเกิดความคิดเห็นที่แจ่มแจ้งเกี่ยวกับเรื่องราวที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ในปัจจุบันนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าพระภิกษุและนางชีในพระพุทธศาสนาที่ได้อุทิศตัวเองให้แก่ศาสนาที่ตนเคารพนับถือและในนามของเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ ผู้ที่มีความเชื่อถือในพระพุทธศาสนา ทั้งได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่พวกตนถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ดี ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ระงับการนองเลือดได้ในขั้นต้น โดยการเอาชีวิตของตนเข้าแลกซึ่งนับว่าเป็นนิมิตอันเป็นอันตรายต่อชาวโลกทั้งปวงทีเดียว

ในขั้นต่อไป คุณค่าในชีวิตทั้งหลายส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับว่า มันจะทำให้รัฐบาลเวียดนามใต้เข้าใจได้อย่างไรว่าปฏิกิริยาของมหาชนในการงดเว้นจากความรุนแรง และในการต่อต้านการกระทำที่รุนแรงนั้นเท่ากับเป็นการแจ้งมติของผู้นำพระพุทธศาสนาทั้งหลายว่าเป็นการรับผิดชอบในด้านศีลธรรมที่สูงสุดในประเทศ

และสำหรับคุณค่าขั้นสุดท้ายในชีวิตของมนุษย์ ส่วนใหญ่นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับว่าจะกินเวลานานเท่าไร ที่จะทำให้โงดินห์เดียมได้เข้าใจถึงความจริงนั้น

นอกจากนั้น น.ส.พ. The Yomiwei ยังได้อุทิศหน้า ๓ เกือบทั้งหน้าให้แก่เรื่องของเวียดนามใต้โดยเฉพาะอีก ซึ่งแต่ละเรื่องได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับโงดินห์เดียม และเวียดนามใต้ไว้อย่างน่าฟัง ซึ่งข้าพเจ้าจะนำเสนอท่านผู้อ่านเพื่อเปรียบเทียบดูดังต่อไปนี้

ในเรื่อง “พวกตระกูลโง : รูปหน้าเสี้ยวของตระกูลที่ปกครองเวียดนาม” นั้น ได้มีการกล่าวถึงตระกูลโงที่มีอำนาจเต็มที่ซึ่งปกครองเวียดนามที่กำลังรบราฆ่าฟันกันอยู่นั้นว่  นับตั้งแต่สมัยบอร์จะ  (Borgias) มา ไม่มีตระกูลใดอีกแล้วที่จะมีอำนาจเช่นตระกูลโง”

ในที่สุดประวัติศาสตร์เท่านั้นที่จะบอกว่า สมัยการปกครองของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมและวงศาคณาญาติ ทั้งโดยสายเลือดและการแต่งงานเป็นวิวัฒนาการที่น่ากลัวอย่างเหลือล้นหรือไม่

แต่สมัยปัจจุบันนี้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาตระกูลที่ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แต่ถึงกระนั้นก็มีอำนาจเหนือชีวิตทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศได้เสียด้วย

สมาชิกตระกูลโงที่เกี่ยวข้องกันโดยสายเลือดได้ก่อให้เกิดเป็นดุจด้ายพุ่งและด้ายยืนของผืนผ้า คือ  ชีวิตของชาวเวียดนามใต้ และในแผ่นผ้าแห่งความมีอยู่ของชาติที่กระจัดกระจายเพราะการสงครามนั้น มาดามโงดินห์นูซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมก็ได้พุ่งด้ายคืออำนาจและอิทธิพลดุจมังกรของนางทอเป็นผืนผ้านั้นขึ้นมา

พวกตระกูลโงนั้นมีมากมายและจะรวมกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม นอกเสียจากว่าจะเกิดมีความยุ่งยากเกี่ยวกับเขยสะใภ้ขึ้นมาเท่านั้น ได้เกิดมีลมหนาวเหน็บเกิดขึ้นในความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวในคราวที่บิดาของมาดามโงดินห์นูชื่อ ตรันวันชวง ได้ลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลเดียมซึ่งได้รับการยุยงส่งเสริมจากบุตรสาวของตนได้โจมตีพระพุทธศาสนาอย่างทารุณโหดร้ายและทำให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในความปั่นป่วน

พวกตระกูลโงห้าพี่น้องที่ก่อรูปเป็นใจกลางของชาติในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นตระกูลเดียวที่เป็นผู้ปกครองประเทศทั้งหมดนั้นเป็นพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง  และก็คล้ายกับบิดาซึ่งเป็นชาวจีนไว้หนวดเครายาว ชื่อโงดินห์ข่า ซึ่งเป็นคนที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างดุเดือด ฉะนั้น เมื่อฝรั่งเศสได้กลายเป็นเจ้าเหนือหัวของเวียดนามเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ตระกูลโงก็หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวฝรั่งเศสนับถือกันอยู่ ต่อมาโงดินห์ข่าได้เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เขาในฐานะที่เป็นข้าราชการของราชสำนักหุ่นต้องคลอนแคลนไป

พวกพี่น้องเหล่านี้ประวัติชีวิตย่อ ๆ คือ

ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม อายุ ๖๒ ปี ได้ถูกบังคับให้เนรเทศตัวไปอยู่สหรัฐอเมริกาและในยุโรปในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งต่อฝรั่งเศสและพวกเวียดมินห์ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้พยายามที่จะครอบครองอินโดจีนทั้งหมด ฝรั่งเศสซึ่งเอือมระอาต่อการทำสงครามได้นำโงดินห์เดียมกลับมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และได้ให้อิสภาพแก่เวียดนาม แต่ได้แบ่งแยกเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ และที่มิใช่คอมมิวนิสต์ โงดินห์เดียมเป็นพวกโรมันคาทอลิกที่เคร่งครัด เป็นพวกเพียวริแตน (Puritanical) เป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อบุคคลภายนอก เป็นชายโสดที่มักจะเสี่ยงออกจากวังในไซ่ง่อนเสมอ

โงดินห์นู อายุ ๕๒ ปี พร้อมกับภรรยา เข้าใจกันว่าเป็นผู้กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังบัลลังก์ของโงดินห์เดียม เป็นหัวหน้าตำรวจลับและหัวหน้าพรรคปฏิวัติกรรมกรซึ่งมีสมาชิก ๗๐,๐๐๐ คน ที่ทำหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นสายลับเพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวของคนอื่นๆ  มีการทำงานประสานกันเป็นสายใยเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน นับว่าเป็น  “ริเฌิลยุตะวันออก” (de Richelieu ผู้เป็นราชาคณะและรัฐบุรุษของฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๑๒๙ – ๒๑๘๕) ปรัชญาเกี่ยวกับ  การเป็นส่วนเฉพาะตัว”  ของโงดินห์นู  ปรอทผสมกับลัทธิขงจื๊อ  ทัศนะในแง่ศีลธรรมตามแบบโรมันคาทอลิก ลัทธิอัตตาธิปไตย เหล่านี้นับว่าเป็นกฎหมายกึ่งทางการของรัฐบาลโงดินห์เดียม

สังฆราชโงดินห์ถึก อายุ ๖๖ ปี พวกนักสังเกตการณ์บางส่วนในไซ่ง่อนเข้าใจกันว่าท่านไม่พอใจสำนักวาติกันซึ่งได้ปฏิเสธคำร้องขอของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมในอันที่จะให้แต่งตั้งตัวท่านให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอาร์คบิชอบของไซ่ง่อน  แต่กลับได้เป็นเพียงอาร์คบิชอบของเมืองเว้เท่านั้น  และครอบครองทรัพย์สมบัติอันมากมายมหาศาลในนามของศาสนา

โงดินห์คาม อายุ ๕๕   ปกครองภาคกลางของเวียดนามใต้ดุจดังอาณาจักรทาสส่วนตัว โดยตั้งศูนย์กลางไว้ที่เมืองเว้ นับเป็นฉากที่ชาวพุทธได้ก่อการจลาจล เป็นเหตุให้ถูกตำรวจยิงคนตายไป ๙ คน เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๐๖ การจลาจลได้กระทบกระเทือนต่อการที่โงดินห์คานจะต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์เวียดกงมากทีเดียว  และทำให้ฐานะของพวกเวียดกงดีขึ้น

โงดินห์เหลียน อายุ ๔๘ ปี เป็นบุคคลที่ตระกูลไม่ปรารถนาซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องไปอยู่ที่อังกฤษเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในฐานะเป็นเอกอัคราชทูต

โดยอาศัยมาดามโงดินห์นู ซึ่งทำหน้าที่เป็นสุภาพสตรีเวียดนามหมายเลข ๑ ของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นพี่สามีนี้เองที่ทำให้ครอบครัวซึ่งมั่งคั่งของตรันวันชวง อดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกาได้ถูกนำเข้าสู่วงการปกครองของโงดินห์เดียม ลุงของมาดามโงดินห์นูชื่อ ตรันวันโด ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรกของโงดินห์เดียม

เมื่อไม่คำนึงถึงความจริงที่นางได้ใช้อิทธิพลของตนนำวงศาคณาญาติของตนเข้ามามีอาชีพในทางการเมืองแล้ว มาดามโงดินห์นูขาดความยับยั้งชั่งใจและได้เปิดเผยความจริงที่ว่า นางได้เหยียดหยามบุคคลเหล่านั้น ครั้งหนึ่งนางได้ปลดบิดาจากตำแหน่งในฐานะที่ “ขี้ขลาด”  มารดาของนางซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งผู้สังเกตการณ์องค์การสหประชาชาติก็ถูกนางกล่าวหาว่าเป็นชาวพุทธ “ผู้คลั่งศาสนา” ซึ่ง “ไม่รู้ประสีประสาอะไรมากไปกว่าเด็กอายุ ๕ ขวบเลย”

กล่าวกันว่ามาดามโงดินห์นู นั้นมีอิทธิพลต่อนโยบายของเวียดนามมากมายจนไม่น่าเชื่อ  แม้จนกระทั่งว่านางได้สั่งการแก่โงดินห์เดียมดุจไม่ใช่พี่สามีของนาง  แต่ดุจดังว่าโงดินห์เดียมเป็นลูกเขยที่อ้อนวอนขอร้องอย่างถ่อมตนต่อแม่ยายซึ่งโหดร้ายฉะนั้น  นางเป็นหญิงที่สวยงาม  มีสติปัญญา  มีจิตใจแข็งกระด้าง  ปากจัด  เป็นผู้หญิงที่เกือบจะว่าเป็นพวกบ้าระห่ำ  เข้าใจกันว่านางเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังการที่รัฐบาลโงดินห์เดียม เบียดเบียนพระพุทธศาสนา  และถ้าหากว่าเป็นจริงเช่นนั้น นางก็อยู่ตรงศูนย์กลางพายุแห่งสถานการณ์อันวุ่นวายซึ่งล้อมรอบเวียดนามอยู่

บิดาของมาดามโงดินห์นู  ซึ่งนับถือลัทธิขงจื๊อ  และมีหัวกระเดียดมาทางพุทธศาสนาเล็กน้อย ทำให้มาดามนูมีโอกาสได้รับทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะเป็นลูกสาวคนมั่งมี  นางศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสและมีคนใช้ส่วนตัวอยู่ที่บ้านถึง ๒ คน  แต่นางเป็นดุจเงาตามตัวมารดาซึ่งเป็นหญิงที่สวยงามและชอบงานด้านนี้มาก  ครั้งหนึ่งมารดาของนางได้เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับวรรณกรรมในไซ่ง่อน  นางได้ติดตามมารดาไปและได้พบโงดินห์นูในงานอาหารค่ำครั้งหนึ่ง  ซึ่งมารดานางจัดขึ้นและทั้งสองได้แต่งงานกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘  บัดนี้นางมีอายุ ๓๘ ปี  อ่อนกว่าสามี ๑๔ ปี  และมีบุตรธิดาด้วยกัน  ๔  คน

เมื่อประธานาธิบดีโงดินห์เดียมถูกเนรเทศนั้น  นางและสามีซึ่งเคยถูกคอมมิวนิสต์คุมขังได้ทำงานเพื่อให้ครอบครัวเข้ามาครองอำนาจในระยะนี้ซึ่งเริ่มตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๙๐  เป็นต้นมา  นางได้เริ่มทำลายขนบประเพณีของเวียดนามในอันที่จะต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง นางได้เลิกรับเงินทองจากบิดาผู้เป็นนักกฎหมายทั้งๆ ที่นางและบุตรยังทำมาหากินอะไรไม่ได้ นางได้สละศาสนาพุทธไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามสามี

ในทันใดที่โงดินห์เดียมกลับมามีอำนาจ นางก็คงยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยทั้งๆ ที่ทรัพย์สมบัติของบิดาเธอได้ถูกเวนคืนมาเป็นของรัฐ เมื่อ ๗ ปีมานี้เอง บิดาของนางได้รับการทำขวัญด้วยการมอบตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน และเป็นตำแหน่งที่ลูกสาวจะถอดออกเสียเมื่อใดก็ได้

มาดามโงดินห์นูเป็นฟันเฟืองอันสำคัญในระบบที่มีความกระชับแน่นทางครอบครัวซึ่งปกครองเวียดนามใต้อยู่ นางเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาแห่งชาติที่ควบคุมนางอยู่ โดยอาศัยตำแหน่งนี้เองนางได้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนหญิงให้มากขึ้น และทำให้การเคลื่อนไหวของสตรีดูเข้มแข็งกระปรี้กระเปร่า  ซึ่งบรรดาสตรีเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ดุจเป็นสายลับของนาง ซึ่งนับว่าทำงานประสานกันเป็นอย่างดีด้วย  การงานอันสับสนผสมกับการประสานงานด้านการสืบราชการลับของโงดินห์นูผู้เป็นสามี  นับว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญของโงดินห์เดียมในการควบคุมชาวเวียดนามให้ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของตน

แม้ว่าตระกูลโงจะชื่นชมยินดีต่อการสนับสนุนของประชาชนในตอนต้นๆ เป็นอย่างดี แต่ความเชื่อมั่นในด้านการปกครองที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลนั้นนับวันจะคลอนแคลนยิ่งขึ้นในฐานะที่เป็นพวกโรมันคาทอลิกและมีหัวเอนเอียงไปทางตะวันตกมากนี้เอง ตระกูลโงได้อาศัยอำนาจบริหารทำการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแบบตะวันออกซึ่งมีอายุหลายศตวรรษอย่างรุนแรงมาก

ภายใต้การบงการของมาดามโงดินห์นู ระบบการปกครองของโงดินห์เดียมได้ถือว่าเป็นประเพณีที่เป็นหลักมั่นของเวียดนาม เช่น การมีภรรยาหลายคน การมีนางบำเรอ การหย่าร้าง และโสเภณีนั้น  เป็นเรื่องผิดกฎหมายเป็นต้น มาดามโงดินห์นูยังมีความเห็นว่า ควรจะมีกฎหมายห้ามการคุมกำเนิด  การทำแท้ง รวมทั้งการเอาสัตว์มาสู้กัน และการเต้นรำด้วย

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เป็นแบบตะวันตกซึ่งทำให้ประชาชนชาวเวียดนาม ๗๐%  ซึ่งเป็นชาวพุทธตกตะลึงและไม่พอใจเป็นอย่างมาก มาตรการหลายอย่างที่ใช้ในการบีบคั้นรังแกพระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็ได้เกิดเป็นข่าวลือแพร่สะพัดไปว่าครอบครัวของโงดินห์เดียมโดยเฉพาะโงดินห์นูและภรรยาได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่อันสูงส่งของพวกตนแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว

จากสองสามเรื่องนี้ ก็ทำให้เราพอจะเห็นเบื้องหลังทางด้านครอบครัวและด้านการเมืองแล้วว่าใครที่มีอำนาจที่แท้จริงในเวียดนาม และอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความยุ่งยากทั่วไปทุกหนทุกแห่ง  จนกระทั่งเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้ผู้ที่มีอำนาจอยู่วานนี้พอมาถึงวันนี้ในบ้านของตนก็ไม่มีที่จะซุกหัวนอน และบ้างก็ถึงแก่ความตายไปอย่างน่าอนาถที่สุด นี่แหละเป็นเพราะผู้หญิงคนเดียวเท่านั้นแท้ๆ เมื่อเข้ายุ่งกับการบ้านการเมืองก็พลอยทำให้บ้านเมืองต้องยุ่งยากไปทั่ว ไม่ใช่ลำบากเฉพาะตัวคนเดียวยังนำความลำบากมาสู่ประชาชนทั้งชาติด้วย ความยุ่งยากนี้มีผลแผ่ขยายเข้าไปสู่ประเทศอื่นด้วยไม่มากก็น้อย สำหรับมาดามโงดินห์นูนั้นแม้ว่าบางครั้งจะทำความเจริญให้แก่ประเทศชาติ  แต่ถ้าการกระทำนั้นประชาชนไม่เห็นด้วยก็ไปไม่รอด อย่างห้ามตีไก่ กัดปลา ชนวัว อะไรทำนองนี้ แม้นางจะทำด้วยความหวังดี  แต่เมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบจากมหาชนก็กลายเป็นโทษไปเพราะเท่ากับเป็นการ “ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า”  แต่การกระทำบางอย่างก็เป็นแบบตะวันตกมากเกินไป  อย่างเช่น การห้ามมีอนุภรรยาหรือนางบำเรอ แม้จะเป็นการกระทำที่ดี แต่เมื่อขนบธรรมเนียมประเพณีเขาไม่ถือว่าเสียหาย นางก็พยายามจะใช้อำนาจห้ามโดยถือว่าเป็นการผิดกฎหมายนั้นก็เท่ากับเป็นการ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ในที่สุดก็เข่าหัก การกระทำที่ไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีเสียบ้างเลยจะให้เป็นฝรั่งอย่างตนไปหมดนั้นจึงก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ชนส่วนใหญ่

เมื่อผสมกับความไม่พอใจในด้านการศาสนา และการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตแล้วในที่สุดก็กลายเป็นการปฏิวัติรัฐประหารดังที่ได้ทราบอยู่แล้วนั้น การกระทำของนางโงดินห์นูนี้ไม่ใช่จะสร้างความไม่พึงพอใจและความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น แม้บิดามารดาของนางเองก็ไม่พอใจถึงกับลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต และผู้สังเกตการณ์ประจำองค์การสหประชาชาติ และได้ประณามตระกูลโงว่า “บ้าอำนาจ” ดังที่หนังสือพิมพ์  THE  YOMIURI  ได้เขียนข้อความในตอนนี้ว่า

บทความอีกเรื่องหนึ่งในหน้าเดียวกันและในหนังสือพิมพ์ Yomiuri ฉบับเดียวกันนั้นได้กล่าวถึงตรันวันชอง เอกอัครราชทูตเวียดนามใต้ประจำสหรัฐอเมริกา และเป็นพ่อตาของโงดินห์นูว่า ท่านผู้นี้ไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลโงดินห์เดียมเป็นอย่างมากถึงกับได้ขอลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำสหรัฐอเมริกา และยังได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเกิดปฏิวัติในเวียดนามใต้ว่าเป็นการสะท้อนภาพให้เห็นความไม่พอใจทางด้านการเมืองของประเทศชาติซึ่งได้มีปฏิกิริยาต่อความไม่ยุติธรรม และความไร้ประสิทธิภาพของรัฐที่อยู่ภายใต้อำนาจตำรวจ

ตรันวันชวงได้ให้ความเห็นว่า เวียดนามใต้ แม้จะมีโงดินห์เดียมเป็นประมุข แต่ทว่าอำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่โงดินห์นูซึ่งเป็นบุตรเขยของตรันวันชอง  และสำหรับโงดินห์เดียมและโงดินห์นูต่างก็เป็นคาทอลิกที่อยู่ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสน  ส่วนตัวตรันวันชองเองนั้นนับถือลัทธิขงจื๊อ ตรันผู้นี้กล่าวว่ารัฐบาลของโงดินห์เดียมได้ทำความผิดอย่างโง่เขลาในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่ทว่าในความเห็นของชวงนั้น ศาสนามิได้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์อย่างรวดเร็วในเวียดนามใต้เลย ท่านเห็นว่าโงดินห์นูได้ตัดโงดินห์เดียมออกจากโลกภายนอก และได้ทำตัวเองเป็นดุจแนวทางชีวิตของโงดินห์เดียม  เมื่อพูดถึงวิกฤติการณ์ทางพระพุทธศาสนาแล้ว  ตรันวันชวงถือว่าวิกฤติการณ์นั้นเป็นเพียงผลแห่งระบบอันชั่วร้ายของโงดินห์เดียมเท่านั้นเอง หาได้เป็นสาเหตุไม่

นอกจากนั้น มัลคอล์ม ดับบลิว. บราวน์  (Malcolm W. Browne)  ยังได้วิจารณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ Yomiuri นั้นเอง เกี่ยวกับการที่ทหารและตำรวจต้องจับกุมทำร้ายชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตนั้นว่าเป็นเพราะความเร่งเร้าและคำสั่งของโงดินห์นู ลำพังกองทัพบกเองนั้นหาได้มีความปรารถนาที่จะทำรุนแรงอะไรเช่นนั้นเลย

แม้ว่าวิกฤติการณ์ทางด้านการเมืองจะผ่อนคลายลงบ้างเพราะรัฐบาลโงดินห์เดียมหมดอำนาจ  ตัวโงดินห์เดียมและโงดินห์นูน้องชายก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว  และมาดามโงดินห์นูก็ต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ในฝรั่งเศสแล้ว ในระยะแรก ๆ ก็ไม่สู้มีเหตุการณ์อะไรนักเพราะคณะทหารในบัญชาการของนายพลเดืองวันมินห์ได้เข้าครองอำนาจ และต่อมานายพลเดืองวันมินห์และคณะมีท่าทีหันเหไปทางที่จะถือนโยบายเป็นกลางตามคำแนะนำของประธานาธิบดีเดอโกลแห่งฝรั่งเศส ทำให้นายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งมีความไม่พอใจอย่างมาก ในที่สุดพวกนายพลหนุ่มโดยการนำของนายพลเหงียนคานห์ก็ทำปฏิวัติซ้อนได้สำเร็จ และตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นมา แต่โดยเหตุที่ตนเองยังไม่มีบารมีมากพอจึงต้องเอานายพลเดืองวันมินห์เป็นตัวเชิดไว้ก่อน แต่ทว่าในวงการทหารแล้วนายพลเหงียนคานห์มีอิทธิพลเหนือกว่านายพลเดืองวันมินห์มาก แต่นายพลเดืองวันมินห์คุมเสียงประชาชนได้มากกว่าเพราะเป็นวีรบุรุษในการนำกำลังโค่นรัฐบาลโงดินห์เดียม

เมื่อนายพลเหงียนคานห์ทำการปฏิวัติซ้อน โดยอ้างว่าพวกนายพลเดืองวันมินห์จะหันไปถือนโยบายเป็นกลางนั้น นายพลเหงียนคานห์ได้รับการสนับสนุนจากทหารมาก และประชาชนพอสมควร  และต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศ  ในระยะนี้คะแนนนิยมของนายพลเหงียนคานห์ทวียิ่งขึ้นทุกที  เพราะเหงียนคานห์รู้จักจิตวิทยาในการทำตัวให้เป็นที่พออกพอใจของทุกฝ่าย ไม่ดื้อดึง รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และทำตัวเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทหารในแนวหน้าเพราะออกตรวจแนวรบเสมอ บรรดาลูกน้องทั้งหลายก็คงจะยกย่องกันใหญ่ ในที่สุดสภาปฏิวัติของเวียดนามใต้ก็ได้คะแนนเสียงโหวตให้นายพลเหงียนคานห์เป็นประธานาธิบดีของเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ ๒๕๐๗  ซึ่งการเข้าดำรงตำแหน่งของเหงียนคานห์นี้ พวกชาวพุทธบริษัททั้งหลายไม่พอใจเพราะเกรงว่าเหงียนคานห์จะมีอำนาจจนเกินไปซึ่งอาจทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกได้ ส่วนพวกคริสต์ศาสนิกชนส่วนมากเห็นด้วยเพราะเห็นว่านายพลเหงียนคานห์พอจะเข้ากับพวกชาวคริสต์ทั้งหลายได้ดีกว่าคนอื่นๆ  และเป็นผู้ที่มีนโยบายไปในทางที่ไม่ใช้อำนาจรุนแรงนัก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธันวาคม 2556 13:18:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 24 ธันวาคม 2556 13:23:15 »

.

ภาพจาก : www.biz.co.th

พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม (จบ)

การที่นายพลเหงียนคานห์ได้ก้าวจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีนายพลเดืองวันมินห์เป็นประมุขของรัฐมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งคุมอำนาจทั้งหมดเสียเองนี้ทำให้นายพลเหงียนคานห์สามารถที่จะทำอะไรได้สะดวกยิ่งขึ้น เท่ากับเป็นเผด็จการกลาย  นั้นเอง แม้ว่านายพลเหงียนคานห์จะยืนยันให้เห็นว่าการกระทำต่างๆ ที่แล้วมามิได้ส่อว่าตนเป็นผู้เผด็จการเลย แต่ทว่าการทำให้นายพลเดืองวันมินห์หมดอำนาจไปนั้นก็ทำให้นายพลเหงียนคานห์ตกอยู่ในฐานะที่ลำบากมากเหมือนกัน เพราะในสภาปฏิวัตินั้นก็มีสมาชิกถึง ๗ คน (ใน ๕๗ คน)  ได้ลงคะแนนเสียงคัดค้านในเรื่องที่จะให้นายพลเหงียนคานห์เป็นประธานาธิบดี นายพลเดืองวันมินห์แม้จะหมดอำนาจแต่ก็คงเป็นที่เคารพรักของชาวนาและชาวพุทธทั้งหลายที่กลัวการที่จะเกิดมีลัทธิ “เดียมใหม่” ขึ้นมาอีก

เหตุการณ์ที่น่าสลดใจที่เคยเกิดมีมาครั้งหนึ่งเพราะการที่พระในพระพุทธศาสนาเข้าไปยุ่งกับการเมืองเพื่อโค่นรัฐบาลโงดินห์เดียมซึ่งครั้งนั้นได้รับความเห็นใจจากชาวโลกทั้งมวลนั้น  มาบัดนี้เหตุการณ์แบบนั้นก็ได้เกิดขึ้นมาอีก ในเมื่อชาวพุทธทั้งหลายโดยการนำของพวกพระได้ก่อความวุ่นวายขึ้น หลังจากที่นายพลเหงียนคานห์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเพียงวันเดียว ทั้งนี้ได้มีนักศึกษาของประเทศประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ได้ชุมนุมกันเดินขบวนคัดค้านนายพลเหงียนคานห์ ได้เกิดมีความวุ่นวายขึ้นจนกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดเป็นศึกศาสนาระหว่างพุทธบริษัทกับคริสต์ศาสนิกชนในเวียดนามใต้

ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ได้เกิดปะทะกันระหว่างศาสนิกชนทั้งสองฝ่ายเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในไซ่ง่อน ๑๒ คน ในเมืองดานังและเมืองเว้อีก ๘ คน และบาดเจ็บอีกราว ๑๕๐ คน แล้วเหตุการณ์ก็สงบลงชั่วคราว เพื่อให้เวลาคณะผู้บริหารประเทศเวียดนามใต้ปฏิรูปการปกครองเสียใหม่แล้ว พุทธบริษัทก็ประกาศร่วมกับคณะนักศึกษาเวียดนามใต้อีกว่า จะเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลอีก ถ้าหากการปฏิรูปการปกครองของรัฐบาลไม่เป็นที่น่าพอใจ

ในการประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ ภิกษุทัมเชา ซึ่งเป็นพระภิกษุอาวุโสและเป็นประธานคณะกรรมการผสมของพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ได้เป็นหัวหน้าใหญ่ในการดำเนินการประท้วงครั้งนี้ นายพลเหงียนคานห์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีนโยบายประนีประนอมอยู่แล้วถึงกับยอมยินดีลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตนเพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ๆ ซึ่งการลาออกของนายพลเหงียนคานห์นี้เป็นเหตุก่อให้เกิดการปกครองระบบที่มีหัวหน้าใหญ่สามคนเป็นผู้บริหารประเทศร่วมกัน นั่นคือตัวนายพลเหงียนคานห์เอง นายพลเดืองวันมิน  และนายพลตรันเทียนเงียม ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก นายพลตรันเทียนเงียมก็รู้สึกเอือมระอาต่อการที่พระสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงทางการเมืองมากเกินไปจนดูพร่ำเพรื่อ ในที่สุดเลยลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโลม จึงเป็นอันว่าในระยะนี้ ทหาร พระทางพระพุทธศาสนา และนักศึกษากลายเป็นหน่วยสำคัญของวงการเมืองของเวียดนามใต้ไปแล้ว

แม้นายพลเหงียนคานห์จะยอมสละตำแหน่งประธานาธิบดีมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเดิมแล้ว แต่พวกพระและนักศึกษาก็ยังคงไม่พอใจอยู่นั่นเอง พวกพระและนักศึกษาต้องการให้มีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศเพื่อทหารจะได้ไปรบได้เต็มที่ และไม่ต้องมายุ่งกับการเมืองอีกต่อไป ในที่สุดทางฝ่ายสภาปฏิวัติทหารก็เลือกนายผ่ามคัคชูขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขคนใหม่ของรัฐ และในปลายเดือนตุลาคม ๒๕๐๗ นั่นเอง นายผ่ามคัคชูก็เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสนอคณะมนตรีสูงสุดของชาติ  เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๗  และคณะมนตรีฯ ก็ได้อนุมัติผู้ที่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่ของเวียดนามใต้  คือ นายตรันวันฮวง  นายกเทศมนตรีนครไซ่ง่อนนั่นเอง นายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้มีประชาชนยกย่องนับถือมาก เพราะมีความเป็นอยู่ง่ายๆ  เป็นคนที่รักษาศักดิ์ศรีของตนอย่างมั่นคง ไม่ยอมรับสิทธิพิเศษอะไรทั้งหมดและได้เคยเป็นปฏิปักษ์คนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีโงดินห์เดียมมาแล้ว ถึงขนาดว่าเมื่อไม่เห็นด้วยแล้วเป็นไม่ยอมทำตามอย่างเด็ดขาด ออกเป็นออกกันทีเดียว

พอตรันวันฮวงซึ่งเป็นพลเรือนได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมตามประสงค์ของพุทธบริษัทและนักศึกษาแล้วเรื่องจะยุติลงเพียงแค่นั้นก็หาไม่ วันพุธที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๗  นายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงก็จัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นได้สำเร็จ รัฐมนตรีทั้งหมดล้วนเป็นพลเรือนทั้งสิ้น และเป็นนักวิชาการเสียมากกว่าที่จะเป็นนักการเมืองซึ่งดูออกจะอ่อนแอเกินไปสักหน่อย เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ก็ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก เป็นเหตุทำให้ ดร. เหงียน ชวนจู ประธานคณะมนตรีสูงสุดแห่งชาติ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งทันที เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลของนายตรันวันฮวงนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอันขาด  นอกจากนั้นบรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลายในเวียดนามใต้ ผู้นำฝ่ายศาสนา และผู้นำนักศึกษาต่างก็ไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ทั้งนั้น นายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงกล่าวว่า เขายังมองไม่เห็นเลยว่าเหตุใดรัฐบาลจึงต้องตกเป็น “นักโทษ” ของกลุ่มบุคคลที่เคยบีบคั้นอยู่นั้น รัฐบาลของเขาจะไม่เข้าไปผูกพันกับผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้นๆ  และได้ยืนยันว่าจะไม่ขอปรับปรุงคณะรัฐบาลใหม่ด้วย

เสียงวิพากวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็ว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองเลย ดีแต่ว่ามีนายพลเหงียนคานห์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสนับสนุนอยู่เท่านั้นเองจึงเสียงแข็งได้ พอถึงวันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๗  วกนักศึกษาก็ได้พากันเดินขบวน จนกระทั่งได้เกิดปะทะกับกำลังฝ่ายปราบปรามอย่างรุนแรง และในตอนเย็นวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน นั้นเอง  นายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงก็ได้เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสูงสุดและบรรดาผู้สื่อข่าวเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงครึ่ง ในการประชุมครั้งนี้มีเสียงโจมตีรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน นายกรัฐมนตรีฮวงก็ยังคงยืนกรานไม่ยอมปรับปรุงรัฐบาลอยู่นั่นเอง ถึงกับสมาชิกคณะมนตรีแห่งชาติคนหนึ่งลุกขึ้นตะโกนบอกนายกรัฐมนตรีว่า “ข้าพเจ้าขอให้ท่านจัดการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีของท่านเสียโดยด่วน  ประชาชนได้เรียกร้องเช่นนี้มาห้าวันแล้ว โดยอาศัยรัฐบาลชุดนี้เราไม่มีทางสู้คอมมิวนิสต์ได้เลย”

บรรดาสมาชิกคณะมนตรีแห่งชาติไม่ยอมรับฟังคำวิงวอนของนายกรัฐมนตรีฮวงที่ขอให้รัฐบาลของเขาควรมีเวลาพิสูจน์ตัวเองก่อน ข้อคัดค้านของนักศึกษาและหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ว่า นอกจากตัวบุคคลจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่ประสีประสาทางการเมืองแล้ว รัฐบาลชุดนี้ยังจะกันการเมืองมิให้ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาและสถาบันการศึกษาอีกด้วย และข้อที่จุดความไม่พอใจอย่างมากแก่วงการทั่ว ๆ ไป  คือ  มีรัฐมนตรีหลายคนเคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ในระบบการปกครองของอดีตประธานาธิบดีโงดินห์เดียม  ซึ่งวงการทั้งหลายพากันชิงชังอยู่มาก

เมื่อนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงไม่ยอมปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ก็มีการเดินขบวนเป็นการประท้วงกันทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ทั้งนี้ก็เพราะเนื่องจากพิธีการทำศพเด็กหนุ่มซึ่งถูกฆ่าในการเดินขบวนเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน คราวนี้ทหารพลร่มของรัฐบาลบุกเข้าชิงหีบศพเด็กหนุ่มคนหนึ่งขณะที่ศพถูกนำไปที่วัด ถึงขนาดมีการใช้ปืนหวดซ้ายป่ายขวาต่อพวกที่เข้าขบวนแห่ศพ  จากนั้นก็มีการชุมนุมเดินขบวนแอนตี้รัฐบาลและถูกทหารพลร่มบุกแตกกระจายไป มีผู้ถูกจับกุมตั  ๘๙ คน

ข้าหลวงทหารประจำเขตไซ่ง่อนได้ออกแถลงการณ์กล่าวหาว่าเพราะพวกคอมมิวนิสต์ยุยง ทางฝ่ายหัวหน้าชาวพุทธก็กล่าวหาว่า พวกทหารก่อกวนพิธีกรรมของชาวพุทธเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน นี้ ณ สำนักงานใหญ่ของชาวพุทธได้มีใบปลิวกล่าวหานายกรัฐมนตรีว่าเพิกเฉยไม่ตอบคำประท้วงของชาวพุทธแจกจ่ายไปทั่วและมีธงเขียนป้ายประกาศว่าจะเปิดสำนักงานตั้งแต่วันที่ ๓๐  พฤศจิกายน ๒๕๐๗ เป็นต้นไป เป็นการประท้วงการปฏิบัติก่อกวนชาวพุทธของนายกรัฐมนตรี

นายตรันวันฮวงได้ยืนยันว่า  จะไม่ยอมอ่อนข้อต่อความกดดันใดๆ เป็นอันขาด และจะปรับปรุงคณะรัฐมนตรีก็ต่อเมื่อความตึงเครียดได้ผ่อนคลายลง และเมื่อรู้สึกว่ามีความจำเป็นเท่านั้น พร้อมกันนั้นนายพลเหงียนคานห์ก็ตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างแรงกล้าจากพวกนายทหารหนุ่มมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับชาวพุทธซึ่งกำลังแอนตี้รัฐบาลอยู่ในขณะนั้น และขอให้นายพลเหงียนคานห์ทำหน้าที่ทหารแต่ฝ่ายเดียว และเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๗  ก็ได้มีการประชุมพวกแม่ทัพนายกองคนสำคัญของเวียดนามใต้เพื่อบีบบังคับให้นายพลเหงียนคานห์ให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่นแฟ้นว่าจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงภายในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๗ นั้น  มิฉะนั้นก็ให้นายพลเหงียนคานห์ลาออกไปเสีย

การที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลของนายตรันวันฮวงนั้นทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่พอใจมาก ชาวพุทธทั้งหลายซึ่งได้เปิดสถาบันทางพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชื่อ เวียนโฮวเด๋า  ขึ้นมาใหม่ สถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานที่แอนตี้รัฐบาล พวกพระได้เสนอให้นายพลเทเลอร์  เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำเวียดนามใต้ช่วยเหลือตนกำจัดรัฐบาลนายตรันวันฮวงออกไปเสีย  และได้เตือนนายพลเทเลอร์ว่าถ้าไม่ช่วยชาวพุทธกำจัดรัฐบาลนายตรันวันฮวงแล้ว การรณรงค์เพื่อแอนตี้ตรันวันฮวงนั่นแหละจะกลับมาเป็นแอนตี้อเมริกาไป

ถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๗  ณ ศูนย์สถาบันทางพระพุทธศาสนาในเมืองไซ่ง่อน ได้มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ชื่อ ทัมจูว และไตรกวาง ผู้นำพุทธบริษัทได้เริ่มก่อการประท้วงด้วยการอดอาหาร ในขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลพลเรือนของนายตรันวันฮวงก็กำลังแตกแยกกันเพราะการบีบคั้นของพุทธบริษัท ท่านทัมจูวได้ประกาศว่าการประท้วงครั้งใหญ่กำลังจะมีต่อไป ถ้าหากนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงยังคงกล่าวโป้ปดใส่ร้ายชาวพุทธต่อไป ท่านได้ประกาศต่อสงฆ์และชีประมาณ ๕๐๐ รูป ที่อดอาหารว่า นายกรัฐมนตรีฮวงได้กลายเป็นผู้นำเผด็จการเหมือนโงดินห์เดียมแล้ว การต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ ท่านทัมจูวได้แถลงว่าเป็นการต่อต้านในรูปที่ไม่มีนิยมความรุนแรง และในรูปที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล การต่อต้านจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  ท่านทัมจูวผู้นี้ยังได้ส่งจดหมายไปถึงประธานาธิบดีจอห์นสันแห่งสหรัฐอเมริกาบอกว่า การสนับสนุนรัฐบาลตรันวันฮวงนั้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพขึ้นในเวียดนามตลอดกาล

ท่านทัมจูวเป็นตัวตั้งตัวตีในการแอนตี้รัฐบาลชุดของนายตรันวันฮวง ได้เข้าพบนายผ่ามคัคซู  ประมุขของชาติที่วังยาลอง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๗  ทั้งนี้นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวในอันที่จะผ่อนคลายวิกฤติการณ์ทางการเมืองให้เบาบางลง การติดต่อระหว่างผู้นำชาวพุทธกับประมุขของรัฐครั้งนี้ก็เพื่อหาทางปรองดองกันระหว่างพุทธบริษัทกับรัฐบาล และการเจรจายังคงมีอยู่ต่อไป  ความเคลื่อนไหวเพื่อความปรองดองกันนี้ ความจริงมีหลายวันแล้วแต่ไม่เป็นที่เปิดเผย ทางฝ่ายพุทธบริษัทต้องการให้รัฐบาลรับรู้ว่าได้มีการเข้าใจผิดในการดำเนินการของพุทธบริษัท และให้รัฐบาลออกประกาศมาให้ชัดแจ้งแน่นอน ถึงเวลาที่จะจัดตั้งสภาแห่งชาติเพื่อจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

ได้ทราบว่านายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงได้ขอร้องพุทธบริษัทในไซ่ง่อนให้ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก  และให้พระเถระผู้นำพุทธบริษัทเลิกตั้งตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐเสีย แสดงว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีทิฐิมานะอยู่ในที จึงทำให้การออมชอมกันมีทางทำได้น้อยมาก

ในไซ่ง่อนเองก็เกรงกันว่า ถ้าฝ่ายพุทธบริษัทไม่สามารถบรรลุผลตามความพอใจของตน ทั้งในการปกครองและทางการเมืองแล้วก็อาจเรียกร้องให้มีการปฏิวัติขึ้นในเวียดนามภาคกลางได้

ทางฝ่ายคณะทหารก็ได้มีการประชุมกันหาทางที่จะลดอำนาจนายพลเหงียนคานห์และได้มีการประชุมลับกันอยู่เสมอ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คณะทหารได้มีมติว่าผู้ที่รับราชการเกิน ๒๕ ปีแล้วจะต้องลาออกจากราชการ และได้เสนอเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวง และนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วย  แต่เมื่อไปถึงมือนายผ่ามคัคซูประมุขของชาติและสภาแห่งชาติแล้ว สภามีความเห็นว่าถ้ารับมตินี้ก็เท่ากับเป็นการปลดนายพลเดืองวันมินห์ออกนั่นเอง และนั่นหมายถึงจะเกิดความยุ่งยากกันใหญ่ เพราะนายพลเดืองวันมินห์นั้นได้รับความสนับสนุนจากพุทธบริษัทมาก

ต่อมาในคืนวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๗ พวกนายทหารหนุ่ม หรือ “ยังเตอร์ก”  ได้ทำรัฐประหารล้มสภาแห่งชาติ (High National Council) และจับกุมนักการเมืองที่มีชื่อเสียงไว้หลายคน ทางสถานทูตอเมริกันได้ขอให้ปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกจับเหล่านั้นเสีย มิฉะนั้นอเมริกาอาจต้องพิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือเวียดนามเสียใหม่ จุดมุ่งหมายของคณะเตอร์กหนุ่มเหล่านี้ก็เพื่อโค่นคณะรัฐบาลชุดนายตรันวันฮวงและสภาแห่งชาติลง ส่วนตัวผู้เป็นประมุขของชาติและตัวนายกรัฐมนตรีเองนั้น คณะทหารยังคงขอให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งการทำรัฐประหารนี้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าคณะทหารยังคงมีอำนาจเต็มที่ ทางสหรัฐอเมริกาก็พยายามที่จะหาทางให้พวกนายทหารทั้งหลายเหล่านี้แยกตัวออกจากการเมือง และหาทางให้พวกผู้นำทางฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และฝ่ายพุทธบริษัทปรองดองกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพวกเวียดกงต่อไป

ฝ่ายนายพลเหงียนคานห์ก็กล่าวหาว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้เพื่อลิดรอนอำนาจของต  ตอนนี้แสดงให้เห็นว่านายพลเหงียนคานห์ได้ระแวงสหรัฐอเมริกามาก นายพลเหงียนคานห์จึงพยายามพูดแอนตี้อเมริกาและนายพลเทเลอรเอกอัครราชทูตมาก แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วก็ไม่ค่อยมีข้าราชการที่แอนตี้อเมริกา การที่นายพลเหงียนคานห์แอนตี้อเมริกาจึงเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเท่านั้นเอง วิธีหนึ่งที่นายพลเหงียนคานห์นำมาใช้ก็คือ พยายามเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเรียกตัวนายพลเทเลอร์กลับ อเมริกาก็ยืนยันที่จะให้ทางทหารรับรองว่าจะไม่บีบบังคับรัฐบาลพลเรือนต่อไป

หลังจากเกิดรัฐประหารแล้ว ฝ่ายพุทธบริษัทก็เก็บตัวเงียบชั่วขณะหนึ่ง ในระยะนี้มิได้แสดงการกระทำใดๆ ที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลเลย เป็นเพียงการสงบตัวดูท่าทีก่อนเท่านั้นเอง ต่อมาในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๘ ได้มีพุทธบริษัทและนักศึกษาประมาณ ๑,๕๐๐ คน ได้เดินขบวนในใจกลางเมืองไซ่ง่อนใกล้ๆ บ้านพักของนายพลเหงียนคานห์ แต่ได้ถูกตำรวจและทหารต่อต้านไว้

ที่เมืองเว้ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นที่สองนั้น พุทธบริษัทก็ได้เริ่มเดินขบวนคัดค้านรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๗ แล้ว ร้านค้าส่วนมากก็ปิดเพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาล ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๐๗ พวกนักศึกษาไซ่ง่อนก็ได้เดินขบวนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และได้ถือป้ายประกาศบอกความเป็นปฏิปักษ์ต่ออเมริกาด้วย ในประกาศนั้นได้มีข้อความประณามการที่อเมริกาและเอกอัครราชทูต แมกซ์เวลล์ ดี. เทเลอร์ เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องของเวียดนาม

หลังจากที่ได้มีวิกฤติการณ์ทางการเมืองอยู่เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๐๘ ทางฝ่ายทหารก็ยอมโอนอำนาจคืนให้รัฐบาลพลเรือน โดยทางคณะทหารสัญญาว่าจะให้อำนาจทางการเมืองให้แก่รัฐบาลฝ่ายพลเรือน แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะฟื้นสภาแห่งชาติขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่ แต่ในเวลานั้นได้มอบอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้กับประมุขของรัฐ รัฐบาลพลเรือนจะรับหน้าที่จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติขึ้นโดยมีการออกเสียงลงคะแนนโดยทางอ้อม และได้ประกาศว่าสมาชิกสภาแห่งชาติที่ถูกจับไป ๗ใน ๑๕ คน เมื่อคราวรัฐประหารคืนวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๗  นั้นจะได้รับการปล่อยตัวทันที แต่มิได้บอกว่านักการเมืองคนอื่นๆ  และพวกนักศึกษาที่ถูกจับไปจะได้รับการปล่อยตัวออกมาหรือไม่

วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๐๗  กองทหารเป็นจำนวนมากได้ไปรายล้อมสำนักงานใหญ่ทางพระพุทธศาสนาไว้ หลังจากที่ภิกษุและนางชีทั้งหลายได้ลงมติที่จะรณรงค์เพื่อล้มรัฐบาลนายตรันวันฮวงโดยพวกทหารเข้าใจว่าฝ่ายพุทธบริษัทจะเดินขบวนในวันที่ ๑๕ มกราคม แต่ทางฝ่ายพุทธบริษัทได้แจ้งว่า การเดินขบวนคัดค้านอาจมีเมื่อไ  และอาจเป็นที่ใดที่หนึ่งในเมืองไซ่ง่อนก็ได้ แต่จะต้องมีการเดินขบวนอย่างแน่นอน เพราะพวกพระและนางชีราว ๖๐๐ รูป ได้บอกไว้อย่างนั้น และการประท้วงนี้อาจรวมไปถึงการเผาตัวตายของพระและนางชีเช่นเดียวกับในคราวล้มล้างรัฐบาลโงดินห์เดียมด้วยถ้าหากว่ามีความจำเป็น

กำลังทหารส่วนใหญ่ได้ล้อมสำนักงานใหญ่นี้ไว้ถึง ๒ ชั่วโมง และก็ล่าถอยไป ทิ้งกำลังส่วนน้อยไว้กว่า ๔ ชั่วโมง  แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ภิกษุนัตเทียนได้กล่าวว่า พวกพระและนางชีจะร่วมกับนักศึกษาเดินขบวนประท้วงอย่างเด็ดขาด และไม่ต้องการเจรจากับนายตรันวันฮวงด้วย ต้องการจะเจรจาเฉพาะกับนายผ่ามคัคซูประมุขของชาติเท่านั้น ซึ่งพวกพระเห็นว่าจะร่วมก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่เข้มแข็งและยุติธรรม และสามารถจะต่อสู้กับพวกเวียดกงได้

กลุ่มศาสนาที่อยู่เบื้องหลังการทำให้รัฐบาลพลเรือนของรัฐบาลนายตรันวันฮวงต้องหมดอำนาจไปนั้น มีกลุ่มใหญ่อยู่ ๔ กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มพุทธบริษัท กลุ่มคาทอลิก กลุ่มฮัวเหา และกลุ่มเกาได๋  กลุ่มศาสนาทั้ง ๔ กลุ่มนี้ ได้ตกลงกันว่าจะยุติเรื่องความยุ่งยากทางการเมืองเสียที ต้องการให้ประเทศชาติเป็นประเทศประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้เด็ดขาดยิ่งขึ้น

พวกพุทธบริษัทเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถก่อให้เกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมได้ พวกคาทอลิกได้รวมเอาพวกที่อพยพจากญวนเหนืออีกหลายพันเข้าไว้ด้วยนั้น  มีบุคคลที่ได้รับการศึกษาดีที่สุดของประเทศรวมอยู่ในกลุ่มนี้มากมายทีเดียว ส่วนพวกฮัวเหาและเกาได๋นั้นเป็นนิกายพื้นเมือง มีประชาชนทางภาคใต้นับถือมาก ในสมัยที่เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนั้น นิกายทั้งสองนี้ได้จัดตั้งกองทัพของตนขึ้นต่อต้านฝรั่งเศส แต่ภายหลังถูกประธานาธิบดีโงดินห์เดียมปราบเสียราบคาบ ผู้นำทางทหารที่สำคัญของนิกายฮัวเหาคนสุดท้าย คือ บาจู (Ba Cu)  ซึ่งเขาไว้ผมยาว เขาได้ถูกกองทัพโงดินห์เดียมจับได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ส่วนนิกายเกาได๋นั้นได้รวมคนสำคัญทางด้านศาสนาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น พวกเยซูคริสต์ และฮิวโก เป็นต้น

กลุ่มศาสนาทั้ง ๔ กลุ่มนี้ ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๘ ได้ร่วมกันประกาศหลักการสำคัญๆ คือ
๑. เพื่อทำให้ประเทศชาติดำเนินไปตามครรลองแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
๒. เพื่อดำเนินการปราบปรามพวกเวียดกงอย่างเด็ดขาด
๓. เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบการปกครองทางด้านการเมืองแบบประชาธิปไตย และสังคมที่มีความยุติธรรม
๔. เพื่อให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการถือและปฏิบัติตามศาสนา

ในข้อตกลงเหล่านี้มิได้ระบุว่าจะเลิกวิธีการแอนตี้รัฐบาลพลเรือนของนายตรันวันฮวงเลย และในวันเดียวกันนั้นทางฝ่ายทหารก็มีการประชุมเช่นเดียวกัน โดยมีแม่ทัพอากาศนายพลเหงียนเกากีเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดนายตรันวันฮวงก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ได้รวมเอานายทหารคนสำคัญไว้ด้วยหลายคน คือ นายพลเหงียนเกากี นายพลเหงียนวันเทียม  นายพลตรันวันมินท์ และนายพลหลินกวางเวียน โดยเฉพาะนายพลเหงียนเกากีไม่เต็มใจรับตำแหน่งเลยแต่เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ นายพลเหงียนเกากีจึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนต  และคงดำรงตำแหน่งแม่ทัพอากาศอยู่ต่อไปด้วย คณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้เข้าทำพิธีสาบานตัวเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๐๘

ในวันเดียวกันกับที่รัฐบาลชุดนายตรันวันฮวงได้ทำพิธีสาบานตัวนั้น สำนักงานกลางของพุทธบริษัทในไซ่ง่อนมีประชาชนราว ๒๐๐ คน ได้ชุมนุมจะเดินขบวนแอนตี้รัฐบาล แต่ได้ถูกทหารพลร่มหนึ่งกองพันใช้แก๊สน้ำตาและพานท้ายปืนเข้าไล่แตกกระเจิงไป ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยพระผู้นำพุทธบริษัท ๔ รูป ได้แถลงต่อหน้าพุทธศาสนิกชนราว ๑๕,๐๐๐ คน ว่าจะทำการอดอาหารจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ ถ้าหากว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงยังไม่ลาออก

ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๐๘ ได้มีการขว้างปาโรงเรียนสองแห่งในไซ่ง่อน ตลาดในเมืองราว  ๒๕% ได้ปิดเงียบเพราะพุทธบริษัททำการรณรงค์เพื่อขับไล่รัฐบาลชุดใหม่นี้ พวกพลร่มและตำรวจได้ตั้งมั่นอยู่ตามโรงเรียนและสถานที่ราชการหลายแห่ง ซึ่งการกระทำนี้เนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ภิกษุรูปหนึ่งได้ถือธงนำประชาชนเดินขบวนขว้างปากระจกและหน้าต่างของห้องสมุดอเมริกัน ชื่อ อับราฮัม ลินคอล์น ปรากฏว่าในการเดินขบวนนี้มีภิกษุร่วมอยู่ ๔ รูปด้วยกัน แต่มิได้มีส่วนร่วมในการขว้างปาสถานทูต

ได้มีชาวพุทธรวมทั้งภิกษุณีและนางชีอีกหลายร้อยคนได้ต่อสู้กับกองทหารและตำรวจซึ่งอยู่ห่างจากสถานทูตอเมริกันราวครึ่งไมล์ ชาวพุทธบริษัททั้งหลายได้ถือป้าย และร้องตะโกนคัดค้านการที่สหรัฐได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลเวียดนามใต้ชุดนี้ กองทหารได้เอาลวดหนามมาขึงและตั้งขวางทางไว้ ปรากฏว่าในการนี้มีภิกษุและนางชีได้รับบาดเจ็บประมาณ ๖๐ รูป ตำรวจได้จับผู้เดินขบวนไป ๑๒๐ คน ซึ่งรวมภิกษุ ๑๒ รูป และนางชี ๘ รูปอยู่ด้วย ในคืนวันที่ ๒๒ มกราคม นั้น  พวกพระได้ประกาศขอให้เจ้าของร้านค้าทั้งหมดทำการสไตรค์หยุดขายของไม่มีกำหนดเวลา วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธบริษัททั้งหลายก็พยายามที่จะเดินขบวนอีก แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากพวกทหารพลร่ม ทหารพลร่มได้ขว้างลูกระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าไปในศูนย์กลางพุทธบริษัท ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุชั้นนำ ๕ รูป ได้อดอาหารประท้วงเป็นวันที่ ๔ เพื่อโค่นรัฐบาลนายตรันวันฮวง ได้มีการปะทะระหว่างนักศึกษากับตำรวจหลายแห่งด้วยกัน และมีเด็กหนุ่มได้ถูกจับไปไม่ต่ำกว่า ๑๒ คน บรรยากาศในเมืองไซ่ง่อนคราวนี้ก็คล้ายๆ กับก่อนที่รัฐบาลโงดินห์เดียมจะถูกโค่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นั่นเอง  อย่างไรก็ดี การเดินขบวนคัดค้านในคราวนี้จำกัดวงอยู่เฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกที่มีศรัทธาแก่กล้าจริงๆ  และที่หัวแข็งอยู่สักหน่อยเท่านั้น ประชาชนชาวพุทธส่วนใหญ่มิได้ร่วมมือด้วยอย่างใกล้ชิดเลย

พอถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๐๘ พวกนายพลของเวียดนามใต้ก็เลิกให้การสนับสนุนรัฐบาลนายตรันวันฮวง และได้ยึดอำนาจอีกครั้ง และได้ประกาศตั้งให้นายพลเหงียนคานห์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ทำหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากการที่พุทธบริษัทต่อต้านรัฐบาลของนายตรันวันฮวง นายพลเหงียนคานห์ได้ตั้งสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกฝ่ายทหารและพลเรือนรวม ๒๐ คน เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในเรื่องที่สำคัญๆ ซึ่งสภานี้จะให้มีสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มศาสนาต่างๆ ด้วย พวกนายพลทั้งหลายที่ทำการยึดอำนาจครั้งนี้อ้างเหตุผลว่า รัฐบาลไม่อาจแก้วิกฤติการณ์ต่างๆ ได้ การยึดอำนาจครั้งนี้เท่ากับเป็นการปลดนายผ่ามคัคซู  และนายตรันวันฮวงจากตำแหน่งประมุขของชาติ  และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยแต่สำหรับนายผ่ามคัคซูนั้น ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประมุขของชาติต่อไปอีกครั้งหนึ่ง
นายพลเหงียนคานห์แจ้งให้ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาทราบว่า การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นที่พอใจของพุทธบริษัทมาก และพวกพุทธบริษัทก็ตกลงระงับการกระทำใดๆ ที่เป็นการแอนตี้รัฐบาลเป็นการชั่วคราว การยึดอำนาจครั้งนี้นับว่าเป็นชัยชนะของชาวพุทธที่สามารถคว่ำรัฐบาลของนายตรันวันฮวงลงได้

การที่พวกพระทั้งหลายได้พยายามนักหนาที่จะโค่นรัฐบาลของนายตรันวันฮวงนี้ ในวงการผู้สังเกตการณ์ชาวเวียดนาม และชาวต่างประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ใช่เพราะผู้นำพุทธบริษัททั้งหลายต้องการจะเข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลเสียเองเลย แต่เป็นเพราะต้องการให้บุคคลที่ตนสามารถควบคุมหรือจะปฏิบัติตามความปรารถนาของตนได้เข้าดำรงตำแหน่งมากกว่า แม้การเรียกร้องของพุทธบริษัทข้อหนึ่งต้องการให้รัฐบาลปราบปรามพวกเวียดกงอย่างเด็ดขาดก็ตาม แต่การกระทำความยุ่งยากให้แก่รัฐบาลอยู่ตลอดเวลานั้นเท่ากับเป็นฝ่ายสนับสนุนช่วยเหลือพวกเวียดกงให้ปฏิบัติงานได้เข้มแข็งมากขึ้นนั่นเอง  ทั้งนี้เพราะทหารฝ่ายรัฐบาลต้องมาเป็นกังวลกับการรักษาความสงบภายในเมืองไซ่ง่อนเสีย  จึงต้องทิ้งหน้าที่การปราบปรามพวกเวียดกงไป ทำให้พวกเวียดกงฉวยโอกาสโจมตีและทำความเสียหายให้แก่ทหารฝ่ายรัฐบาลได้มากขึ้น

ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๐๘  เวียดนามใต้ก็ได้ผู้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่  คือ  เหงียนซวนง้วน ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาครั้งหนึ่ง สืบต่อจากนายพลเหงียนคานห์คราวก่อนนั้น  และในวันนี้เองก็เป็นวันที่นายพลเหงียนคานห์ได้มีโอกาสพบกับพระที่เป็นผู้นำพุทธบริษัทคนสำคัญในการแอนตี้รัฐบาล ณ ศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในกรุงไซ่ง่อน โดยท่านตรีกวาง และท่านตัมเชา ได้ให้การต้อนรับอย่างฉันมิตรเป็นอย่างดียิ่ง

แม้ว่าพุทธบริษัทและคณะสงฆ์ในเวียดนามจะสามารถโค่นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีตรันวันฮวงได้สำเร็จแล้ว เราก็ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีก ทั้งนี้เพราะพุทธบริษัทและพวกพระเหล่านี้ซึ่งได้หันมาสนใจทางการเมืองและได้ประสบผลสำเร็จทางด้านการเมืองครั้งสำคัญๆ หลายหนแล้วอาจติดใจในอำนาจ และหลงเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในอันที่จะบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ แล้วก็จะห่างจากกิจและวินัยของสงฆ์มากทุกที จนกลายเป็นพระการเมืองไปก็ได้ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่พระพุทธศาสนาจะต้องกลายเป็นเครื่องมือในด้านการเมืองไป ซึ่งเรื่องกาลเวลาจะเป็นผู้ตัดสินเอง
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 16 มกราคม 2557 12:54:47 »

.


พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาว

ชนชาติลาว ซึ่งความจริงก็คือคนเผ่าหนึ่ง ซึ่งเดิมก็อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนเช่นเดียวกับคนไทยนั่นเอง ในสมัยโบราณนั้นคนลาวนับถือผีฟ้า ผีแถน ผีพ่อ ผีแม่ ผีถ้ำแบบเดียวกับคนไทยและคนจีนนั่นเอง การที่ดินแดนของพวกลาวหรือไทยสมัยก่อนอยู่ติดต่อกับดินแดนของชนชาติจีนนั้น ทำให้ลาวกับจีนมีการสังคมติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จนถึงกับเข้าใจกันว่าคนชาติลาวได้นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยที่อยู่ในประเทศจีน ในสมัยแผ่นดิน ขุนหลวงลีเมา (พ.ศ. ๖๑๒) อยู่นครงายลาว อาณาจักรหนองแสแล้ว พระพุทธศาสนาที่ชนชาติลาวได้นับถืออยู่ในสมัยนั้นเป็นลัทธิมหายาน ต่อมาอีกหลายร้อยปีเมื่อคนลาวได้ถูกจีนรุกรานต้องถอยร่นมาอยู่ในเมืองลานช้าง (พ.ศ. ๑๒๙๐) การนับถือพระพุทธศาสนาแบบเก่าก็ค่อยๆ จางหายไป  ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็นที่รู้จักนับถือกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนประชาชนโดยทั่วๆ ไปคงนับถือผีสางเทวดาอยู่  ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองต้องแตกฉานซ่านเซ็น บรรดาผู้ปกครองประเทศก็มักพะวงอยู่กับการศึกสงคราม การสร้างบ้านเมืองใหม่ จึงไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติทางด้านศาสนามากนัก ในที่สุดประชาชนรวมทั้งผู้ปกครองประเทศก็หันกลับไปทางศาสนาเดิมของตนคือการนับถือผีสางดังกล่าวแล้ว

เมื่อพระยาสุวรรณคำผงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙–๑๘๙๖ นั้น พระองค์ทรงมีโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าเจ้าผีฟ้า เจ้าผีฟ้ามีโอรส ๖ องค์ คือ ฟ้างุ้ม ฟ้าเงี้ยว ฟ้ายาน คานคำ ฟ้าก่ำ ฟ้าขาว  สำหรับเจ้าฟ้างุ้มนั้นมีลักษณะประหลาดกว่าคนทั้งหลายเพราะเมื่อประสูติมาก็มีพระทนต์เต็มปากมาแต่ในพระครรภ์แล้ว โหรในราชสำนักได้พยากรณ์ว่าเป็นเด็กกาลีบ้านกาลีเมือง เวลาบรรทมเจ้าฟ้างุ้มทรงกรนเสียงดังไพเราะเหมือนกับเสียงดนตรี พระเจ้าฟ้าเงียว (ขุนผีฟ้าพระราชบิดา) ทรงรับสั่งให้เสนาอำมาตย์เอาใส่แพลอยน้ำจากกรุงลานช้างไปตามยถากรรมพร้อมด้วยพี่เลี้ยงและนางนม เมื่อแพได้ล่องลอยไปถึงแก่งหลีผี เจ้าฟ้างุ้มพร้อมด้วยพี่เลี้ยงและนางนมก็ได้ทรงเดินทางเข้าสู่อินทปัตถนครจนถึงเมืองนครธมของขอม หวังจะขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้าผู้ครองนคร จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระวัดหนึ่งซึ่งมี พระมหาปาสมันตเถระ เป็นเจ้าอาวาส  พระมหาปาสมันตเถระเป็นผู้มีความรอบรู้ในเหตุการณ์ภายภาคหน้า  ทราบว่าเจ้าฟ้างุ้มจะมีบุญวาสนาเป็นกษัตริย์เรืองอำนาจต่อไปในอนาคตจึงนำเจ้าฟ้างุ้มซึ่งมีพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา เข้าไปฝากเป็นมหาดเล็กศึกษาศิลปะวิทยาการในราชสำนักของพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์


เจ้าฟ้างุ้มได้รับราชการในราชสำนักขอมจนเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินมากถึงกับยกพระราชธิดาพระนามว่า พระนางแก้วเกงยา หรือ พระนางแก้วยอดฟ้า (ไทยเรียก พระนางคำยักบ้าง เจ้าหญิงคำหยาดบ้าง) เป็นชายา สมัยนั้นราชอาณาจักรของขอมกำลังเสื่อมอำนาจลง ชนชาติไทยทางกรุงศรีอยุธยากำลังเรืองอำนาจขึ้นทุกวัน ทรงหวังจะป้องกันกรุงอินทปัตถนครให้พ้นจากการรุกรานของไทย จึงให้เจ้าฟ้างุ้มราชบุตรเขยไปยึดครองกรุงลานช้าง (หลวงพระบาง) ไว้เป็นกำลังป้องกันกรุงศรีอยุธยาสืบไป

พ.ศ. ๑๘๙๔ เจ้ากรุงอินทปัตถนคร ได้จัดกองพลมีกำลังพลพร้อมสรรพด้วยศัตราวุธประมาณ ๑๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองหลวงพระบางเจ้าฟ้างุ้มทรงตีได้หัวเมืองใหญ่น้อยขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง จนถึงเมืองปากซันแล้วก็ได้กำลังสนับสนุนจากเจ้าเมืองเชียงคำจึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบางเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖

เจ้าฟ้าคำเอียง พระปิตุจฉา (อา) เมื่อทรงทราบว่าพระราชนัดดาของพระองค์เองเป็นผู้ยกทัพมาก็ทรงเตรียมป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง เมื่อเจ้าฟ้างุ้มทรงยกกองทัพถึงเขตเมืองหลวงพระบางแล้วก็ทรงมีพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าฟ้าคำเฮียง ทูลขอราชสมบัติ แต่เจ้าฟ้าคำเฮียงไม่ยอมยกให้จึงเกิดรบพุ่งกัน ในที่สุดเจ้าฟ้าคำเฮียงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทรงมีความเสียพระทัยมากถึงกับเสวยยาพิษสวรรคตอยู่ในพระราชวังเชียงทองในเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖

พระเจ้าฟ้างุ้ม (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๑๖)  นับว่าทรงเป็นวีรกษัตริย์ของลาวพระองค์แรกที่สามารถรวบรวมหัวเมืองอันอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่งให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ  พระองค์ทรงประสูติที่เมืองลานช้าง หลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ นับว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๓  แห่งราชวงศ์ลานช้าง พระองค์ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี” นับว่าทรงเป็นมหาราชองค์แรกของลาว ทรงพยายามรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและทรงแผ่อานุภาพออกไปได้อย่างกว้างขวาง

สมัยนั้นประชาชนก็ยังคงนับถือผีฟ้า ผีแถนอยู่ เมื่อพระนางแก้วเกงยาได้ทอดพระเนตรเห็นไพร่ฟ้าประชาชนตลอดจนเสนาอำมาตย์ราชมนตรี และเจ้าขุนมูลนายทั้งในและนอกพระราชวังพากันนับถือผี ทำพลีกรรม ฆ่าช้าง ฆ่าวัว ฆ่าควาย บูชาผีถ้ำ ก็ทรงสังเวชพระทัย ด้วยเหตุที่พระนางเคยได้นับถือพระพุทธศาสนา เคยได้สมาทานศีลกินทานมาตั้งแต่ยังอยู่ในประเทศเขมรแล้ว เมื่อพระนางได้มาเห็นพลเมืองลาวประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นก็มิสามารถปฏิบัติตามได้ พระนางจึงเข้าไปเฝ้าพระสวามีทูลขอร้องให้นำเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศกัมพูชาไปประดิษฐานในประเทศลาว เพื่อพระนางจะได้ประพฤติปฏิบัติตามศาสนประเพณีของตน มิฉะนั้นแล้วพระนางก็จะขอทูลลากลับคืนไปอยู่กับพระราชบิดาในประเทศกัมพูชาต่อไป

สมเด็จพระยาฟ้าหล้าธรณีมหาราช ฟ้างุ้มได้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงมีพระทัยโสมนัส จึงจัดคณะทูตเชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ มีเงิน ๓ แสน ทองคำ ๓ หมื่น และเพชรนิลจินดา อันมีค่ามากมายไปถวายกษัตริย์กรุงกัมพูชาผู้เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ขอให้ส่งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิและพระไตรปิฎกไปเผยแผ่ในประเทศลาว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชา เมื่อได้ทรงสดับแล้วก็ทรงปีติโสมนัส และได้ทรงอาราธนา พระมหาปาสมันตเถระ และพระมหาเทพลังกา  พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก ๒๐ รูป และนักปราชญ์ผู้เรียนจบพระไตรปิฎกอีก ๓ ท่าน คือ นรสิงห์ นรเดช และนรศาสตร์ ให้นำเอาพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลาว พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ได้พระราชทานพระพุทธรูปปัญจโลหะองค์หนึ่งพระนามว่า “พระบาง” หรือ “พระบางพุทธลาวันต์”  หรือ “พระปางห้ามญาติ” ให้ไปเป็นที่สักการะบูชา พร้อมทั้งพระไตรปิฎก และหน่อพระศรีมหาโพธิ์  นอกจากนั้นยังพระราชทานพวกช่างต่างๆ ไปด้วยเป็นอันมาก คือ ช่างหล่อพระพุทธรูป ช่างเหล็ก ช่างทอง เป็นต้น ตลอดจนเครื่องดุริยดนตรี ปี่พาทย์ ระนาด ฆ้องวง และเครื่องเล่นทุกอย่างด้วย  กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้แต่งคนชาวเขมรให้ไปกับพระมหาปาสมันตเถรเจ้าในคราวนั้นด้วย มีคน ๔ หมู่บ้าน รวมได้ ๕,๐๐๐ คน คือให้เป็นโยมอุปฐากพระภิกษุ ๑,๐๐๐ คน เป็นบริวารของนักปราชญ์ ๓ คน คนละพัน รวมเป็น ๓,๐๐๐ คน และเป็นบริวารแม่นมของพระนางแก้วเกงยา หรือพระนางแก้วยอดฟ้าอีก ๑,๐๐๐ คน



สำหรับพระมหาปาสมันตเถรเจ้านั้น เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ลาวมากเพราะเมื่อคราวที่เจ้าฟ้างุ้มมหาราชและพี่เลี้ยงนางนมลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในราชสำนักกัมพูชานั้น เจ้าฟ้างุ้มในเวลานั้นได้ไปอยู่กับพระมหาปาสมันตเถระเป็นเวลานาน จึงมีความเคารพนับถือในพระเถระมาก ฉะนั้นการที่พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาทรงส่งพระเถระไปในคราวนี้ก็เพื่อให้เป็นการสะดวกต่อการเผยแผ่พระศาสนาและมีผลในทางการเมืองนั่นเอง

แต่หลักฐานบางแห่งก็บอกว่า เมื่อพระนางแก้วเกงยา หรือแก้วยอดฟ้าได้ไปอยู่ในราชอาณาจักรลาวแล้ว เห็นว่ามหาราชฟ้างุ้มเป็นบุคคลที่โหดร้ายและประชาชนก็มีจิตใจทารุณโหดเหี้ยม จึงมีสารไปกราบทูลให้พระราชบิดาทรงทราบ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชาจึงรับสั่งให้มหาราชฟ้างุ้มไปเฝ้า และพระองค์ก็ได้ประทานโอวาทและให้สมาทานศีล ๕ แล้วจึงให้กลับบ้านเมืองพร้อมกับพระสงฆ์ แต่พงศาวดารลาวยืนยันข้อความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมากกว่า

พ.ศ. ๑๙๐๒ พระมหาปาสมันตเถระกับนักปราชญ์และญาติโยมก็ได้เดินทางจากนครหลวงของกัมพูชาไปตามลำดับจนถึงเมืองแก (ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเป็นอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ในประเทศไทย) พระนมของพระนางแก้วเกงยาก็เกิดไม่สบายขึ้นมาเดินทางต่อไปไม่ได้ หมื่นแกเจ้าเมืองแกจึงให้แม่นมกับบริวารเข้าพักอยู่ที่บ้านไผ่หนามได้ ๒ เดือน พระนมของพระนางจึงหายป่วย

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มครั้นได้ทรงทราบว่าพระมหาปาสมันตเถระมาถึงเมืองแกแล้วก็ทรงรับสั่งให้เสนาอำมาตม์ลงไปรับถึงเมืองแก แล้วพระมหาเถรเจ้าก็พาบริวารแห่แหนพระบางขึ้นมาตามแม่น้ำโขงจนถึงเวียงจันทน์ หมื่นจัน เจ้านครเวียงจันทร์ก็ออกไปต้อนรับและนิมนต์พระเถรเจ้าพร้อมด้วยบริวารให้ไปพักที่ดอนจันทน์ ชาวนครเวียงจันทน์ก็พากันไปสักการะสมโภชพระบางอยู่ถึง ๓ วัน ๓ คืน เมื่อครบกำหนดแล้วพระมหาปาสมันตเถระก็อัญเชิญพระบางเดินทางต่อไปจนถึงเมืองเวียงคำ เจ้านครเวียงคำออกมาต้อนรับและอาราธนาพระมหาปาสมันตเถระเข้าไปในเมือง ชาวเมืองเวียงคำก็ทำการสักการะบูชาสมโภชพระบางตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืน

ครั้นครบกำหนดสามวันแล้ว จึงได้อัญเชิญพระบางขึ้นไปยังเมืองเชียงทอง เดิมทีนั้นใช้คนหามพระบางเพียงแปดคนเท่านั้น แต่ในวันนั้นคนแปดคนหามพระบางไม่ขึ้น พระเถรเจ้าจึงจัดคนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖ คน จนถึง ๒๔ คน แต่ก็ยังคงยกพระบางไม่ขึ้นอยู่นั่นเอง นักปราชญ์ทั้งสามที่รักษาพระบางมานั้นเห็นเป็นอัศจรรย์จึงให้จับสลากเสี่ยงทายดู ในสลากนั้นบอกว่า เทพเจ้าผู้รักษาพระบางมีความประสงค์จะให้พระบางสถิตอยู่ที่เวียงคำนี้ก่อน พระมหาเถรเจ้าทราบเจตนาของเทพยดาฉะนั้นก็มอบหมายพระบางให้เจ้าเมืองเวียงคำรักษาไว้และให้ทำสักการบูชา แล้วพระเถรเจ้าและนักปราชญ์พร้อมทั้งบริวารก็เดินทางไปยังเมืองเชียงทองโดยทางบก



เมื่อพระมหาปาสมันตเถระได้ไปถึงเมืองเชียงทองแล้วก็ได้เข้าไปถวายพระพรพระเจ้าฟ้างุ้มให้ทรงทราบความเป็นมาทุกประการตั้งตั้งต้นจนจบ พระเจ้าฟ้างุ้ม พระอัครมเหสี จึงอาราธนาพระมหาปาสมันตเถระให้ไปตั้งอาศรมอยู่เหนือปากห้วยโฮบ และวัดนั้นเลยชื่อว่าวัดปาสมัน มาจนถึงทุกวันนี้ และหน่อพระศรีมหาโพธิ์ก็ทรงพระกรุณาให้ปลูกไว้ที่อารามนั้นเช่นเดียวกัน แต่นั้นมาพระมหาเถรเจ้าพร้อมทั้งบริวารก็ได้แนะนำสั่งสอนประชาชนลาวให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา โดยมีพระนางแก้วเกงยาหรือแก้วยอดฟ้าเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภิกา พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศลานช้าง หรือราชอาณาจักรลาวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในรัชสมัยของพระเจ้าสามแสนไทไตรภูวนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๑๖ – ๑๙๕๙) ทรงเป็นกษัตริย์ที่ใฝ่สันติ ทรงเป็นองค์อุปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่งกว่าในรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มพระราชบิดาเสียอีก พระองค์ยังได้ทรงสร้างวัดมโนรมย์ วัดอุโบสถ หอสมุด และโรงเรียนปริยัติธรรมอีกด้วย

ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๑ – ๒๐๒๒) พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบางซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจากนครเวียงคำจะไปประดิษฐานที่เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) แต่พอไปถึงแก่งจันทน์เรือก็ล่มลง พระบางจมน้ำหายไป ตำนานบอกว่าต่อมาพระบางได้สำแดงปาฏิหาริย์กลับคืนไปอยู่เมืองเวียงคำ กล่าวกันว่าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพระบางรู้ว่าญวนจะยกกองทัพมาย่ำยีเมืองหลวงพระบาง ดังนั้น เมื่ออัญเชิญท่านจากเมืองเวียงคำไปเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ท่านจึงไม่เสด็จ

ในรัชสมัยพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๔๔ – ๒๐๖๓) ตามพงศาวดารว่า ขณะที่ทรงอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีปรากฏการณ์คือ บังเกิดรัศมีส่องแสงไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ บรรดาเสนามาตย์ราชบริพารทั้งหลายจึงถวายพระนามพระองค์ว่า พระเจ้าวิชุลราชาธิปัต

ต่อมา พ.ศ. ๒๐๔๙ พระองค์ทรงมีโอรสพระองค์หนึ่ง ก่อนที่พระราชกุมารจะประสูติตำนานกล่าวว่า พระองค์ทรงพระสุบินนิมิตว่าได้ทอดพระเนตรเห็นต้นโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งออกผลเต็มต้น มีฝูงวิหคมาพึ่งพาอาศัยอยู่มากมายส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ โหราจารย์ได้ทูลทำนายว่าพระองค์จะได้พระโอรสที่ประกอบด้วยบุญญาธิการมากเป็นเชื้อพระโพธิสัตว์ ดังนั้น เมื่อพระกุมารประสูติแล้ว พระองค์จึงพระราชทานพระนามให้ว่า “พระโพธิสารราชกุมาร”

ในรัชสมัยของพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร สงบราบคาบ พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงสร้างวัดไว้ในพระบรมมหาราชวังเชียงทอง วัดที่สำคัญคือ วัดวิชุลราช   ใน พ.ศ. ๒๐๔๕ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบางมาจากเมืองเวียงคำขึ้นไปเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง  โดยทางบกและได้อัญเชิญไปประดิษฐ์ในวัดมโนรมย์ และใน  พ.ศ. ๒๐๔๖ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราชนี้ ต่อมาได้ทรงสร้างวัดโพธิ์สบให้เป็นอนุสรณ์แด่พระราชธิดาสุดที่รักของพระองค์ซึ่งได้สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อพระเจ้าวิชุลราชาธิปัตสวรรคตแล้ว พระเจ้าโพธิสาร (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๖๓ – ๒๐๙๐) ผู้เป็นพระราชโอรสก็ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนามากได้ทรงมีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา ให้เลิกทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ทรงให้รื้อศาลเจ้าหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลก แต่อย่างไรก็ตามประเพณีการนับถือผีนั้นมีมาแต่โบราณกาล และได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนทั่วไปแล้ว การที่จะให้เลิกนับถือโดยเด็ดขาดจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การนับถือผีและการทรงเจ้าก็ยังคงมีอยู่ในประเทศลาวสืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

พระเจ้าโพธิสารราชได้เจริญทางพระราชไมตรีกับทางลานนาจนถึงกับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ส่งพระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาพร้อมด้วยข้าทาสบริวารไปถวายให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากรุงลานช้าง ทำให้พระนครทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

ในรัชสมัยของพระองค์นี้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่นครเวียงจันทน์ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ลาวองค์แรกที่เสด็จไปประทับอยู่ในพระราชวังที่เวียงจันทร์เป็นเวลานานพอสมควรต่อมา พ.ศ. ๒๐๘๙ พระเจ้าพรหมราช พระเจ้ากรุงลานนาได้สวรรคต ไม่มีผู้ใดเหมาะสมจะสืบราชสมบัติ มุขอำมาตย์มนตรีจึงปรึกษาหารือกันแล้วพร้อมใจกันเห็นว่า เจ้าเชษฐวังโส โอรสของพระเจ้าโพธิสารราช ซึ่งเกิดจากพระนางยอดคำทิพย์ สมควรได้รับราชสมบัติในกรุงลานนา จึงได้มาเฝ้าพระเจ้ากรุงลานช้าง ขอเจ้าเชษฐวังโสกุมารขึ้นไปครองนครเชียงใหม่

พระเจ้าโพธิสารราชได้เสด็จไปร่วมในพระราชพิธีอภิเษกเจ้าเชษฐวังโสเป็นกษัตริย์แห่งล้านนาสืบต่อจากพระเจ้าพรหมราช ผู้เป็นพระเจ้าตาด้วย และเมื่อเสด็จกลับก็ทรงให้แสนหมื่นเมืองอยู่ช่วยราชการเจ้าเชษฐวังโสในเมืองเชียงใหม่นั้น

พ.ศ. ๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสารราช ซึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ ๒๑ พรรษา ก็สวรรคต เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปประพาสป่าถูกช้างล้มทับ ครั้นกลับถึงพระนครเพียง ๓ สัปดาห์ ก็สวรรคตในพระราชวังเชียงทองนั่นเอง

เมื่อพระเจ้าโพธิสารราชสวรรคตแล้ว ราชอาณาจักรลาวได้แตกแยกออกเป็น ๒ อาณาจักร คืออาณาจักรฝ่ายเหนือตั้งแต่เมืองเชียงคานขึ้นไปกับอาณาจักรฝ่ายใต้ตั้งแต่เมืองเชียงคานลงมา ทั้งนี้เพราะราชโอรสของพระเจ้าโพธิสารราชต่างก็แย่งกันเป็นใหญ่ เหตุการณ์เช่นนี้บรรดาเสนาบดีต่างก็ไม่เห็นชอบด้วยจึงได้แต่งหนังสือไปทูลเจ้าเชษฐวังโส ณ กรุงลานนา โดยเล่าพฤติการณ์ต่างๆ  ถวายให้ทรงทราบรายละเอียด เมื่อพระองค์เสด็จมายังกรุงลานช้างได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เมืองเชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงค์) พระแก้วขาว ไปด้วย เมื่อเสด็จไปถึงลานช้างเจ้าผู้ครองอาณาจักรทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ต่างก็มอบราชสมบัติถวายเจ้าเชษฐวังโส พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพระนามว่า  “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช”  เมื่อ  พ.ศ. ๒๐๙๑



พระราชานุสาวรีย์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
หน้าวัดพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของอาณาจักรลาว พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ในทางการเมืองการปกครอง พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ ทรงเป็นเจ้าของตำราการทำสงครามแบบกองโจรหรือกองทะลวงที่ใช้รบในป่าและตามภูเขา หรือในการทำศึกเวลาที่มีกำลังทัพน้อยกว่าข้าศึก พระองค์ทรงเป็นนักการปกครองที่ดีเลิศ และทรงเป็นนักการเมืองที่มีสายตาไกล ทรงมองเห็นเหตุการณ์ไกลได้ถูกต้อง ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองอันถูกต้องในขณะที่บ้านเมืองตกอยู่ในวิกฤติการณ์ยุ่งยาก  พระองค์ก็ทรงนำประเทศชาติประชาชนชาวลาวของพระองค์ให้ไปตลอดรอดฝั่งพ้นภัยพิบัติได้

ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าพม่าจะสามารถรบชนะอาณาจักรลานนาและกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ไม่สามารถตีอาณาจักรลานช้างไว้ในอำนาจได้ นอกจากพระองค์จะทรงเป็นวีรกษัตริย์ในการสงครามและเป็นนักปราชญ์ทางด้านการปกครองแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกที่ดีเลิศ  พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระองค์นับว่ารุ่งเรืองอย่างที่สุด พระองค์ได้ทรงสร้างวัดที่สำคัญ ๆ  หลายวัด คือ วัดป่ารือศรีสิงขร อุโมงค์ใต้ธาตุพระอรหันต์ที่ป่ามหาพุทธวัง วัดป่ากันทอง วัดหนองยาง ฯลฯ ทรงสร้างพระธาตุศรีโคตรบูร ทรงสร้างพระพุทธรูปที่สำคัญๆ คือ พระองค์ตื้อ พระสุก พระเสริม พระใส ฯลฯ  ในกำแพงพระนครมีวัดน้อยใหญ่ประมาณ ๑๒๐ วัด ภายในพระนครจึงเต็มไปด้วยวัดวาอารามและเจติยสถานที่วิจิตรงดงามมาก นอกจากนั้นก็มีวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตที่พระองค์ทรงนำมาจากเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

ในด้านการศึกษาพระองค์ได้ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เจริญอย่างกว้างขวางมาก  จนมีนักปราชญ์สามารถแต่งคัมภีร์ฎีกาต่างๆ  และวรรณคดีลาวหลายเรื่องได้เกิดขึ้นในกรุงลานช้าง  เวียงจันทน์ เช่น เรื่องสังสินชัย (สังข์ศิลป์ชัย) กาฬเกด ขุนทึง อินทรญาณสอนลูก ปู่สอนหลา  หลานสอนปู่ ขุนลูนางอั้ว ก่ำกาดำ สุริวงศ์ พระลักพระลาม (พระลักษณ์พระราม) นางแตงอ่อน คัทนาม และอื่นๆ อีกมากมาย

ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนี้ ได้มีการสร้างสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นแฟ้น  ถึงกับได้มีพระราชสาสน์มาขอพระเทพกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่พระสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย โดยให้ราชทูตนำพระราชสาสน์พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการไปถวาย ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงเห็นชอบด้วย แต่ได้ถูกกองทัพพม่ารุดมาซุ่มแย่งตัวพระเทพกษัตรีนำไปถวายพระเจ้าหงสาวดีเสียก่อน พระองค์ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาก็เพื่อรวมกำลังกันต่อสู้พม่า จึงได้ทรงสร้างเจดีย์ร่วมกัน เรียกว่า  “พระธาตุศรีสองรักอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จ. เลย ทุกฤดูกาลเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ กษัตริย์ทั้งสองจะเสด็จไปทำบุญฉลองร่วมกัน พระธาตุองค์นี้จึงมีความหมายถึงว่า “ศรีอยุธยา” กับ “ศรีสัตนาคนหุต” รักกันมากจึงชื่อว่า “ศรีสองรัก”

พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวได้มาเจริญรุ่งเรืองมากก็ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนี่เอง ซึ่งเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๑ – ๒๑๑๔) พระองค์เคยขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองเชียงใหม่ ในสมัยที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษา แต่ต่อมาเมื่อได้ทราบว่าพระราชบิดาของพระองค์ คือ พระเจ้าโพธิสารราช สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๐ ในขณะที่ทรงล่าสัตว์อยู่จึงได้เสด็จกลับลานช้าง และได้นำเอาพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปประดิษฐานไว้ที่เมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมาพระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้นำพระแก้วมรกตและพระแซกคำไปประดิษฐานไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่า เวียงจันทน์ล้านช้าง ส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่า “หลวงพระบาง” ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ หรือเรียกว่า ล้านช้างหลวงพระบาง และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งนับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙  พระธาตุหลวงได้ถูกพวกปล้นจากแคว้นยูนนานทำลายเสียหายมาก



เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จจากเชียงใหม่เพื่อปลงพระศพพระราชบิดาแล้ว พระองค์ก็ทรงปกครองทั้งอาณาจักรลานนา และอาณาจักรล้านช้าง นอกจากพระองค์จะทรงสร้างพระธาตุหลวงแล้วยังทรงสร้างพระธาตุอื่นๆ และพระพุทธรูปที่สำคัญๆ อีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระอรุณ พระองค์แสน สร้างวัดพระธาตุ ที่ จ.หนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังงควร อ.เมือง จ.หนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จ.หนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า  พระไชยเชษฐา พระธาตุศรีโคตรบูรที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิงรัง ที่แขวงสวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น นับว่าการพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้รุ่งเรืองมาก

หลังรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมา พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวก็คงเป็นไปตามปรกติ  จนกระทั่งลาวตกอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส พระพุทธศาสนาก็ตกอยู่ในสถานะเสื่อมโทรมไปบ้าง

พระพุทธศาสนาที่ตั้งมั่นในประเทศลาวนั้น แม้ลาวจะได้รับไปจากประเทศกัมพูชา แต่กัมพูชาเองก็ได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาไปจากลังกาและไทยอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาที่ลาวได้รับไปจากกัมพูชานั้นจึงไม่แตกต่างจากพระพุทธศาสนาในเมืองไทยมากนัก เพราะเป็นนิกายหินยานแบบลังกาวงศ์ ซึ่งเคยแผ่เข้ามาในสยาม ยุคที่ ๔ (พ.ศ. ๑๖๙๖) แต่กัมพูชาหาได้มีอำนาจเหนือลาวอยู่นานนักไม่ ทั้งนี้เพราะว่าตั้งแต่สุโขทัยรุ่งเรืองขึ้นมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐  เรื่อยมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ไม่เคยปรากฏว่ากัมพูชามีอำนาจเหนือไทยเลย มีแต่ต้องเสียอำนาจและอาณาเขตให้แก่ไทยอยู่เรื่อยๆ  บางครั้งกัมพูชาก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทยและอิทธิพลของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของไทยทางด้านศาสนามีเหนือกัมพูชามากขึ้นทุกที จนในที่สุดพระพุทธศาสนาในกัมพูชาก็กลายเป็นแบบไทยอย่างสิ้นเชิง

ส่วนไทยกับลาวนั้นมีความสัมพันธ์กันหลายชั้นหลายเชิง ทั้งนี้เพราะไทยกับลาวก็มีสายเลือดเป็นชนเผ่าเดียวกันมาแต่บรรพบุรุษ (ขุนบรม และขุนลอ  มีอาณาเขตอยู่ติดต่อกัน พูดภาษาอย่างเดียวกัน มีความรู้สึกรักกันฉันพี่น้องอย่างแยกไม่ออก แม้ว่าจะมีแม่น้ำโขงเป็นแดนกั้นอยู่ แต่แม่น้ำโขงก็ไม่สามารถแยกจิตใจของพี่น้องชาวไทยและลาวได้อย่างเด็ดขาด เวลาลาวเดือดร้อนก็จะอพยพข้ามแดนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประเทศไทย เมื่อบ้านเมืองสงบราบคาบแล้วก็จะกลับไปยังประเทศลาวอีก พี่น้องสองฝั่งแม่น้ำโขงยังมีการติดต่อค้าขายกันอยู่ตลอดเวลาและผู้ที่เป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นก็คือ พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เมืองไทยและลาวต่างก็นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน ไทยเป็นประเทศใหญ่กว่าและเป็นเอกราช มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าลาว ลาวก็พยายามเอาอย่างไทยไม่โดยตรงก็โดยอ้อมอยู่ตลอดเวลา ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในประเทศลาวแม้จะไม่ค่อยมีหลักฐานทางด้านหนังสือปรากฏอยู่มากนักแต่ก็พอจะอนุมานได้จากข้อเท็จจริงที่ประจักษ์อยู่ทุกวันนี้

โดยเหตุที่ไทยกับเขมรต่างก็มีความสัมพันธ์กับลาว แต่ไทยมีภาษีดีกว่าเพราะมีสายเลือดและภาษาอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเขมรเสื่อมอำนาจลง ลาวก็ต้องหันมาพึ่งไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นคนละสายเลือ  ข้อนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศลาวคล้ายคลึงกับในประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา การปกครอง หรืออื่นใดก็ตาม อย่างในด้านการศึกษา คณะสงฆ์ลาวก็มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งบาลีและนักธรรมแบบไทย และใช้หลักสูตรอย่างเดียวกับการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเกือบทุกอย่าง ในด้านการปกครอง คณะสงฆ์ลาวก็จัดระบบการปกครองคล้ายกับคณะสงฆ์ไทยเพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่อาจผิดเพี้ยนกันไปบ้าง การที่พระพุทธศาสนาในประเทศลาวได้ดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เป็นส่วนใหญ่ก็เพราะว่าการเมืองของลาวขาดเสถียรภาพ บ้านเมืองไม่ค่อยมีความสงบสุข การที่จะจัดการปกครองบ้านเมืองและคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจึงทำได้ยาก พระเถรานุเถระของลาวส่วนมากก็ได้รับการศึกษาไปจากเมืองไทย เมื่อไปจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศลาวก็มักจะจัดตามแบบไทย แต่การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ยังไม่ได้มาตรฐานที่น่าพึงพอใจนัก ยิ่งในระหว่างที่อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสด้วยแล้ว การคณะสงฆ์ต้องตกอยู่ในสถานะที่น่าสงสาร ความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาจึงขึ้นกับพระเถระและพุทธบริษัททั้งหลาย แต่เมื่อขาดความอุปถัมภ์บำรุงจากบ้านเมืองเท่าที่ควรแล้ว การที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุดหน้าไปเท่าที่ควรจึงเป็นไปได้ยากมาก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2557 13:06:17 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 16 มกราคม 2557 13:01:22 »

.



พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาว (จบ)

ในด้านการปกครอง เมื่อลาวได้รับเอกราชแล้วก็ได้ดำเนินการปกครองโดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประมุข และมีสังฆนายกกับสังฆมนตรีว่าการ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การปฏิสังขรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘  ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ยุบเลิกองค์การสงฆ์แบบนี้แล้วมาตั้งที่ปรึกษาสงฆ์ ๔ องค์แทน โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประมุขของศาสนา  คณะที่ปรึกษาก็คล้ายๆ กับมหาเถรสมาคมของคณะสงฆ์ไทย นอกจากนั้นก็มีเจ้าคณะแขวง(เทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัดของไทย) เจ้าคณะเมือง(เทียบเท่าเจ้าคณะอำเภอ) เจ้าคณะตาแสง(เทียบเท่าเจ้าคณะตำบล) และเจ้าอธิการ คือ สมภารวัด ชั้นยศแห่งพระภิกษุในราชอาณาจักรลาวมี ๖ ชั้นด้วยกัน  คือ
๑. พระยอดแก้ว  คือ สมเด็จพระสังฆราช
๒. พระลูกแก้ว  คือ สมเด็จพระราชาคณะ
๓. พระหลักคำ  คือ พระราชาคณะ
๔. พระครู  ผู้เป็นพระครูได้ต้องมีพรรษาครบ ๑๐ แล้ว
๕.  พระซา  จะต้องมีพรรษา ๕ ขึ้นไป
๖.  พระสัมเด็ด  จะต้องมีพรรษาครบ ๓ พรรษาแล้ว
คณะสงฆ์ลาวมีนิกายเดิม (หินยานแบบลังกาวงศ์) นิกายเดียว และได้มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรลาวว่า “คณะสงฆ์ลาวมีนิกายเดิมนิกายเดียว (หินยานแบบลังกาวงศ์)”

ในด้านการศึกษา เดิมมีชั้นประถมตรี ชั้นประถมโท และชั้นประถมเอก เรียนทั้งธรรมะ บาลี และวิชาทั่วๆ ไป คล้ายกับฝ่ายโลก (รวมวิชาเลขอยู่ด้วย) ถ้าสอบธรรมะ บาลี และวิชาทั่วๆ ไป ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ได้ถึงชั้นประถมเอก ถือว่าเป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยค ต่อจากนั้นก็มีประโยค ๔, ๕ และ ๖  หลักสูตรมีแปลบาลีเป็นลาวแปลลาวเป็นบาลี และวิชาอื่นๆ คล้ายๆ กับทางโลก (รวมวิชาเลขด้วย) จบประโยค ๖ แล้ว ก็ต้องไปต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาและประโยค ๗, ๘ และ ๙ ที่ประเทศกัมพูชา หลักสูตรมีแปลบาลีเป็นลาวลาวเป็นบาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส อังกฤษ และวิชาอื่นๆ  คือ วิชาการทางโลก แต่ในสมัยต่อมาชั้นเตรียมอุดมศึกษา และประโยค ๗, ๘ และ ๙ เรียนที่ราชอาณาจักรลาวเอง (พ.ศ. ๒๔๙๐) เมื่อเรียนจบหลักสูตรนี้เรียกว่าเป็นเปรียญธรรม ๙ ราชอาณาจักรลาว ส่วนหลักสูตรคงเดิม ตั้งแต่ประโยค ๖ ลงมา อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ ส่วนชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นไปอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ


สำหรับการศึกษาในปัจจุบันนี้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น การศึกษาของคณะสงฆ์มี
๑. ชั้นประถม มีหลักสูตร ๖ ปี  คือ ประถมต้น ๓ ปี  ประถมปลาย ๓ ปี
๒. ชั้นมัธยม มีหลักสูตร ๗ ปี  คือ มัธยมต้น ๔ ปี  กับมัธยมปลาย ๓ ปี ในระหว่างมัธยม ๔ ปี มัธยมปลาย ๓ ปีนี้ มี “เตรียมสถาบัน” คั่นอยู่ ๑ ปี สำหรับมัธยมตอนปลายอยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ  เท่ากับว่าชั้นมัธยมมีหลักสูตร ๘ ปี)

เมื่อเรียนจบหลักสูตรนี้ก็ถือว่าเรียนจบ “สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา” หรือ “สถาบันการศึกษา” ส่วนหลักสูตรอยู่ในทำนองเดิม เพียงแต่ดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมตามกาลเวลาแห่งความเจริญของบ้านเมืองทั้งชั้นประถมและชั้นมัธยม

ทุกแขวงหรือทุกจังหวัดมีการศึกษาถึงขั้นมัธยมภาคต้น เมื่อศึกษาจบมัธยมต้นแล้วจึงจะได้รับอนุญาตให้มาศึกษามัธยมปลายที่เวียงจันทน์ ถ้าหากยังเรียนชั้นมัธยมต้นไม่จบ เจ้าคณะแขวงและหัวหน้าฝ่ายการศึกษาประจำแขวงจะไม่ออกหนังสืออนุญาตให้เข้ามาเรียนในเวียงจันทน์ได้ ทั้งนี้ด้วยเกรงว่าจะทำให้ที่พักในเมืองหลวงแออัดเกินไป นับว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาพระภิกษุสามเณรหาที่อยู่ที่เรียนในเมืองหลวงไม่ได้ที่ดีมากประการหนึ่ง ชั้นประถมและมัธยมภาคต้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ มัธยมปลายอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อประเทศลาวได้รับเอกราชแล้ว บ้านเมืองก็ยังตกอยู่ในความยุ่งยาก ถูกมรสุมร้ายทางการเมืองโหมกระหน่ำ เมื่อทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพแล้วการคณะสงฆ์ก็ย่อมขาดเสถียรภาพไปด้วย  ทั้งนี้เพราะการคณะสงฆ์ไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากทางบ้านเมืองเท่าที่ควรนั่นเอง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว และคณะสงฆ์ลาวได้ติดต่อขอพระเถระฝ่ายไทยไปช่วยจัดระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมในราชอาณาจักรลาว ทางรัฐบาลไทยโดยกรมการศาสนาได้เสนอพระธรรมวรนายก อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตไทยไปจัดการศึกษาในราชอาณาจักรลาว ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคมก็ได้มีมติเห็นชอบด้วย พระอนุจรที่ติดตามหัวหน้าธรรมทูตไปในคราวนี้คือ พระมหาบุญมี ปญฺญาวชิโร พธ.บ. กับพระมหาพิมล ปภสฺสโร พธ.บ. กับนายแก้ว ตองอ่อน เป็นไวยาวัจกร  ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงการปฏิบัติศาสนกิจของคณะธรรมทูตชุดนี้ตามที่พระมหาบุญมี ปญฺญาวชิโร ได้บันทึกลงมายังมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดังต่อไปนี้  

คณะธรรมทูตชุดนี้ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยโดยขบวนรถด่วนสายตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ ในการนี้มีอุบาสกอุบาสิกาติดตามไปส่งคณะทูตถึงนครเวียงจันทน์ประมาณ ๑๐๐ คนเศษ และมี พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์  อธิบดีกรมการศาสนาร่วมทางไปด้วย

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เวลา ๑๒.๓๐ น. คณะธรรมทูตก็ไปถึงท่าเสด็จ ณ ที่นี้ เอกอัครราชทูตไทยประจำพระราชอาณาจักรลาว พร้อมด้วยข้าราชการสถานทูตไทยได้มาคอยต้อนรับอยู่แล้ว  เมื่อได้มีการปฏิสันถารกันพอสมควรแล้ว ท่านเอกอัครราชทูตและคณะก็ได้นำคณะธรรมทูตและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายข้ามฟากไปยังท่าเรือ ที่ท่าเรือมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ท้าวเกรื่อง ปทุมชาติ อธิบดีกรมธรรมการ  ท้าววสุพันธ์ บลังชาเดอลาโบรส อธิบดีกรมการศึกษา ซึ่งเป็นผู้แทนราชการลาวพร้อมด้วยผู้แทนฝ่ายสงฆ์ ประกอบด้วย พระมหาคำแพง แสงสว่าง ผู้แทนเจ้าคณะแขวงเวียงจันทน์ พระมหาประดิษฐ์ พุทฺธโฆสโก เจ้าคณะเมือง พระมหาคำผุนพิลาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีชั้นสูง ต่อจากนั้นก็ได้นำคณะธรรมทูตไทยไปสู่นครเวียงจันทน์ และจัดที่พำนักให้ที่วัดมีไชยาราม

ในวันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะธรรมทูตพร้อมด้วยคณะไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยร่วมกับพระเถระผู้ใหญ่ในนครเวียงจันทน์เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ และฉันอาหารบิณฑบาตที่สถานทูต ในการนี้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชอาณาจักรลาวไปร่วมในพิธีหลายท่าน เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อธิบดีกรมธรรมการ อธิบดีกรมการศึกษา นอกจากนั้นก็มีเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำราชอาณาจักรลาวพร้อมด้วยภริยาและผู้แทนมูลนิธิอาเซีย เป็นต้น

วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๗ ท้าววสุพันธ์ บลังชาเดอลาโบรส อธิบดีกรมการศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยฝึกหัดครูได้พาคณะธรรมทูตไปชมศูนย์กลางการศึกษาวิทยาลัยฝึกหัดครูชั้นสูงของราชอาณาจักรลาวเพื่อเป็นการศึกษางานเกี่ยวกับการที่คณะธรรมทูตจะไปช่วยปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ลาว



วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๗ นายจรูญพันธ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรลาว ได้นำคณะธรรมทูตไทยเข้าพบท้าวบุญทั  ทรงวิไล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ที่วัดพระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ ได้สนทนาด้วยเรื่องคณะทูตไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตไทยจะได้อัญเชิญพระสมณสาสน์ และต้นพระศรีมหาโพธิที่สมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้ประทานไปพร้อมคณะธรรมทูต เพื่อทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว ซึ่งประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง เป็นการกระชับศาสนไมตรีแห่งพระราชอาณาจักรทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และในโอกาสเดียวกันนี้ก็ได้สนทนาในเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ลาวและการศึกษาในฝ่ายราชอาณาจักรลาวทั่วๆ ไปด้วย

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๗ เวลา 9.30 น. นายจรูญพันธ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรลาว ได้นำคณะธรรมทูตเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ณ สำนักนายกรัฐมนตรี นครเวียงจันทน์  สด็จนายกรัฐมนตรีได้ถวายการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง และได้ทรงแสดงความพอพระทัยที่คณะธรรมทูตไทยไปร่วมบำเพ็ญศาสนกิจตามประสงค์ของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว

เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะธรรมทูตไทย เอกอัครราชทูตไทย และท้าวเกรื่อง ปทุมชาติ อธิบดีกรมธรรมกา  ได้ไปสู่นครหลวงพระบางโดยเครื่องบินพิเศษที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวจัดถวายโดยความอุปถัมภ์ของนายพลภูมี หน่อสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรี  เครื่องบินได้ถึงสนามบินหลวงพระบางเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. ยาท่านสาธุคำฝั้น ที่ปรึกษาสมเด็จพระสังฆราช พระหลักคำวีรวิสุทธิคุณ (คำจันทร์) เจ้าคณะแขวงหลวงพระบาง และข้าราชการอีกมากมายได้ถวายต้อนรับอยู่ที่ท่าอากาศยานแล้ว ครั้นแล้วก็พาคณะธรรมทูตไปฉันภัตตาหารเพลที่วัดสุวรรณคีรี ปรากฏว่ามีพุทธศาสนิกชนมาถวายภัตตาหารเป็นจำนวนมาก

เวลา ๑๔.๐๐ น. คณะธรรมทูตไทย พร้อมดัวยเอกอัครราชทูตไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชธรรมญาณมหาเถระ (บุญทัน) แห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดใหญ่พูมมาราม ในการนี้มีพุทธศาสนิกชนทั้งชายหญิงนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายคณะธรรมทูตไทยเป็นจำนวนมาก

ภายในพระอุโบสถก็มีพระเถรานุเถระ ภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ ในนครหลวงพระบางมาถวายการต้อนรับเป็นจำนวนมาก เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเข้าไปประทับในท่ามกลางคณะสงฆ์ในพระอุโบสถแล้ว หัวหน้าคณะธรรมทูตและคณะได้กราบถวายนมัสการ พร้อมกันนั้นเอกอัครราชทูตไทยก็ได้ทูลถวายรายงานให้ทราบถึงความปรารถนาดีแห่งรัฐบาลทั้งสองที่ได้จัดส่งคณะธรรมทูตไทยไปช่วยการศึกษาพระปริยัติธรรมในราชอาณาจักรลาวในครั้งนี้

พระธรรมวรนายก อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะธรรมทูตไทยได้ทูลสมเด็จพระสังฆราชถึงความมุ่งหมายในการไปปฏิบัติศาสนกิจในราชอาณาจักรลาวครั้งนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ และได้ทูลให้ทรงทราบถึงความปรารถนาอันดีในศาสนไมตรีแห่งประเทศทั้งสองซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเช่นเดียวกัน  สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทยจึงได้ทรงมอบพระสมณสาสน์และหน่อพระศรีมหาโพธิมาทูลถวาย เพื่อเป็นสักขีพยานในศาสนไมตรีที่ประเทศทั้งสองมีอยู่ต่อกันสืบมาชั่วกาลนาน ครั้นแล้วหัวหน้าคณะธรรมทูตไทยได้อัญเชิญพระสมณสาสน์และหน่อพระศรีมหาโพธิขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาว พร้อมด้วยถวายเครื่องสักการะเป็นการแสดงสามีจิกรรมด้วยคารวธรรมอย่างสูงด้วย

สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาวได้มีพระดำรัสตอบเป็นใจความสำคัญว่า “ทรงรู้สึกปีติยินดีและขอบพระเดชพระคุณเป็นอย่างสูงที่คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทย ตลอดถึงประชาชนชาวไทยได้มีความเอื้อเฟื้อเป็นอย่างยิ่ง โดยรับคำร้องขอของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวซึ่งได้ติดต่อคณะสงฆ์ไทยไปช่วยการพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งนี้นับว่าเป็นไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างประเทศของเราทั้งสอง” และได้ทรงมอบพระสมณสาสน์ของพระองค์มากับหัวหน้าคณะธรรมทูตไทยเพื่อนำขึ้นทูลถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศไทยด้วย ครั้นแล้วเอกอัครราชทูตไทยก็ได้นำเครื่องสมณบริโภคขึ้นทูลถวาย เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วคณะธรรมทูตไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตไทยก็ได้ทูลลากลับ

สาธุคำฝั้น และพระหลักคำวีรวิสุทธิคุณ เจ้าคณะแขวงได้นำหัวหน้าคณะธรรมทูตไทยพร้อมด้วยคณะไปนมัสการพระธาตุจอมศรี ณ ยอดเขา ซึ่งเป็นปูชียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของนครหลวงพระบางแล้วไปชมวัดเชียงทองซึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ วัดแสนสุขาราม ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะแขวง และวัดพระมหาธาตุ เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็ได้ไปยังตำหนักของเสด็จเจ้าจันทรังสี  เจ้าคณะแขวงหลวงพระบางเป็นส่วนแสดงวิสสาสะกันและกัน จนเวลา ๑๗.๐๐ น. คณะธรรมทูตไทยจึงกลับนครเวียงจันทน์ ถึงเวียงจันทน์เวลา ๑๘.๐๐ น.
ต่อมา เวลา ๑๘.๑๕ น. ท้าววสุพันธ์ บลังชาเดอลาโบรส อธิบดีกรมการศึกษา ได้นำคณะธรรมทูตไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตไทยเข้าพบ ฯพณฯ เลื่อมอินทรศรีเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ บ้านพัก เพื่อสนทนาถึงเรื่องการจัดการศาสนศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ลาวต่อไป

ในการที่คณะธรรมทูตไทยไปปฏิบัติศาสนกิจในราชอาณาจักรลาวนับว่าเป็นการเริ่มงานประสานกันอย่างใกล้ชิดของรัฐบาลและคณะสงฆ์ของประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชอาณาจักรลาวนั้นมีนิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยไปแล้วหลายรูป ซึ่งท่านเหล่านี้ได้เข้าไปศึกษาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่ารูปละ ๘ ปี จึงเข้าใจระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างดีและได้เป็นกำลังสำคัญในการประสานงานระหว่างคณะธรรมทูตไทยกับคณะสงฆ์ลาวได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นท่านเหล่านี้ยังได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แบบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นในราชอาณาจักรลาวหลายแห่งด้วยกัน และได้ขยายไปยังแขวงหลวงพระบางและแขวงอื่นๆ นับว่ากิจกรรมในด้านนี้มีแต่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยได้ให้ความอุปถัมภ์ในด้านทุนแก่พระภิกษุสามเณรจากราชอาณาจักรลาว เพื่อเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทยทุกปี ปีละหลายๆ รูป ถ้าพระนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยได้กลับไปช่วยดำเนินการศึกษาคณะสงฆ์ในราชอาณาจักรลาวมากๆ แล้ว การศึกษาของคณะสงฆ์ลาวและรวมถึงการศึกษาทางฝ่ายบ้านเมืองด้วยคงเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกเป็นอย่างมากทีเดียว

นอกจากนั้นทางราชอาณาจักรลาวยังได้จัดตั้งโรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชนขึ้น และดำเนินการสอนมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาปาล อานนฺโท เจ้าสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน  แห่งวัดมหาพุทธวงศาป่าหลวงพร้อมทั้งคณะ ได้เดินทางไปร่วมประชุมที่ประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้นำเอาตัวอย่างและวิธีการสอนมาเปิดสอนในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยตั้งชื่อว่า “โรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชนลาว” ใช้อักษรย่อว่า “อ.ศ.พ.” พร้อมกันนี้ยังได้มีแผนจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กอนาถาขึ้นด้วย คือ รับเอาเด็กอนาถาเข้ามาเรียนตลอดทั้งกินนอนอยู่ด้วย โรงเรียนนี้ได้จัดตั้งขึ้นโดยความอุปถัมภ์ของกระทรวงประชาสงเคราะห์และได้มีการเปิดสอนในปีต่อมา

โรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชน และโรงเรียนเด็กอนาถา ได้ดำเนินการสอนมาตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้ เฉพาะโรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชนนั้นได้ออกไปถึงแขวงหลวงพระบางและแขวงอื่นๆ ด้วย
ในปัจจุบันได้มีพระสงฆ์ลาวออกไปศึกษาในต่างประเทศหลายประเทศด้วยกัน มี ประเทศไทย อินเดีย พม่า ลังกา กัมพูชา สหพันธ์มาเลเซีย สิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เยอรมนี และหรัฐอเมริกา ที่สำเร็จกลับมาแล้วก็มี และที่กำลังศึกษาอยู่ก็มี



พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของลาว พระมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ประชาชนชาวลาวประมาณ ๙๙ % นับถือพระพุทธศาสนา การนับถือของประชาชนชาวส่วนมากหนักแน่นอยู่ในจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด เท่ากับว่าจารีตประเพณีกับพระพุทธศาสนาเข้ากันได้เป็นอย่างดี เช่น ประชาชนลาวผู้ชายเมื่ออายุครบ ๑๐ ปีบริบูรณ์แล้วจะบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จะบวชเป็นพระกันเกือบทุกคน นี่ถือเป็นประเพณีในการบวชและได้ยึดเอาวิธีการปฏิบัติประจำแต่ละเดือนมาเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติกันแต่ละเดือนไป เรียกว่า ฮีต ๑๒ และครอง ๑๔ ฮีต ๑๒ คือการบำเพ็ญบุญไปแต่ละเดือน ครบ ๑๒ เดือน  ส่วนครอง ๑๔ คือการประพฤติปฏิบัติในวงสังคมของคนลาวเพื่อความสามัคคีกันตามลำดับของวัยและคุณสมบัติ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2557 13:09:18 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2557 15:03:55 »

.

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช
เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ


พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

เรื่องพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยนี้  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นิพนธ์ไว้ โดยอาศัยลักษณะพุทธเจดีย์เป็นเครื่องประกอบ โดยแบ่งออกเป็น ๔ ยุคด้วยกัน คือ
ยุคที่ ๑ ลัทธิหินยานแห่งเถรวาท
ยุคที่ ๒ ลัทธิมหายาน
ยุคที่ ๓ ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ ๔ ลัทธิลังกาวงศ์

ยุคที่ ๑ ลัทธิหินยานแห่งเถรวาท
ลัทธิหินยานอย่างเถรวาทได้เข้ามาถึงประเทศนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยเมื่อยังเป็นถิ่นฐานของชนชาติลาว หรือละว้า ราชธานีมีอยู่ ณ เมืองนครปฐม มีนามปรากฏในหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า สุวรรณภูมิประเทศ และปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า ทวาราวดี

พระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และตลอดพุทธกาลพระพุทธศาสนาก็ยังไม่ได้เผยแพร่ไปนอกประเทศอินเดีย ข้ออ้างที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปยังลังกาและมาประเทศไทยคราวสัจพันธดาบส และกดรอยพระบาทไว้ที่ไหล่เขาสัจพันธคีรีคือ พระพุทธบาท เมืองสระบุรีนั้น  เป็นแต่ความเชื่อของชาวลังกาพวกหนึ่งเท่านั้น อันที่จริงพระพุทธศาสนาเพิ่งจะแพร่หลายไปนอกประเทศอินเดียเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทำตติยสังคายนาแล้วอาราธนาให้พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ จัดการเลือกสรรพระอรหันต์ส่งไปสั่งสอนพระศาสนายังนานาประเทศเมื่อ พ.ศ. ๓๐๓ นี้ (คือหลังจากพุทธกาลถึง ๓๐๐ ปีเศษ) พระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายออกไปนอกประเทศอินเดียตั้งแต่ครั้งกระนั้น ในหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกามีนามประเทศและนามพระอรหันต์ที่แยกย้ายกันไปสอนพระศาสนาในครั้งนั้น  ดังนี้คือ
   ๑. พระมัชฌันติกเถระ  ไปยังกัสมีระและคันธารประเทศ (คือที่เรียกว่า แคว้นแคชเมียร์ และประเทศอัฟกานิสถาน บัดนี้) แห่งหนึ่ง
   ๒. พระมหาเทวเถระ ไปยังมหิสมณฑล (คือแว่นแคว้นข้างใต้น้ำโคธาวารี อันเป็นประเทศไมซอร์  บัดนี้) แห่งนี้
   ๓. พระรักขิตเถระ ไปยังวนวาสีประเทศ (คือแว่นแคว้นกะนาระเหนือ อันเป็นเขตเมืองบอมเบย์ฝ่ายใต้ บัดนี้) แห่งหนึ่ง
   ๔. พระธรรมรักขิตเถระ ไปยังปรันตกโยนกประเทศ (คือแว่นแคว้นตอนชายทะเลข้างเหนือเมืองบอมเบย์ บัดนี้)  แห่งหนึ่ง
   ๕. พระมหาธรรมรักขิตเถระ ไปยังมหารัฐประเทศ (คือแว่นแคว้นข้างยอดลำน้ำโคธาวี) แห่งหนึ่ง
   ๖. พระมหารักขิตเถระ ไปยังโยนกประเทศ (คือเหล่าเมืองที่พวกโยนกได้มาเป็นใหญ่อยู่ในแดนประเทศเปอร์เซีย บัดนี้) แห่งหนึ่ง
   ๗. พระมัชฌิมเถระ ไปยังหิมวันตประเทศ (ซึ่งตั้งอยู่แถบเชิงภูเขาหิมาลัย คือประเทศเนปาลและดินแดนตอนเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบัน) แห่งหนึ่ง
   ๘. พระโสณเถระ กับ พระอุตตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิประเทศ (คือดินแดนที่เป็นประเทศพม่า ไทย และอินโดจีน) แห่งหนึ่ง
   ๙. พระมหินทเถระ  ซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้าอโศก กับพระภิกษุอีกหลายรูปไปลังกาทวีปแห่งหนึ่ง

ตามรายนามประเทศและนามพระเถระที่ปรากฏในหนังสือมหาวงศ์นี้ ที่น่าพิจารณาก็คือในรายการที่ว่าให้พระโสณะและพระอุตตระไปยังสุวรรณภูมิประเทศ ประเทศสุวรรณภูมิจะอยู่ที่ไหนแน่ ข้อนี้เถียงกันมาช้านานแล้ว ปราชญ์ฝ่ายไทยอ้างเอานครปฐมเป็นราชธานีของสุวรรณภูมิ พวกพม่าอ้างว่าเมืองสะเทิมอันเป็นเมืองมอญข้างฝ่ายใต้เป็นสุวรรณภูมิ เขมรและพวกหลวงพระบาง เวียงจันทน์ก็อ้างว่าประเทศของเขาเป็นสุวรรณภูมิเหมือนกัน แต่ใครจะอ้างว่าประเทศของใครเป็นสุวรรณภูมิก็ตาม เป็นข้อถูกต้องด้วยกันทั้งนั้นเพราะขอบเขตของสุวรรณภูมิตามที่ท่านศาสตราจารย์ริส  เดวิดส์ อธิบายว่าเริ่มต้นแต่รามัญประเทศไปจนจดเมืองญวน  และตั้งแต่พม่าไปจนถึงแหลมมลายู คือได้แก่ประเทศทั้งหมดที่อยู่ระหว่างอินเดียกับจีน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าอินโดจีนในภายหลัง เป็นสุวรรณภูมิทั้งนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า คำที่เรียกว่าสุวรรณภูมิประเทศครั้งนั้น จุดหมายรวมดินแดนที่น่าจะเป็นประเทศมอญและไทยภายหลังทั้งหมด เหมือนอย่างเราเรียกว่าอินเดียก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครในแหลมอินโดจีนนี้จะอ้างว่าประเทศของตนเป็นสุวรรณภูมิก็ถูกต้องด้วยกันทั้งนั้นไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเมืองหลวงหรือราชธานีของสุวรรณภูมิประเทศครั้งที่ปรากฏในพงศาวดารลังกานั้นอยู่ที่ไหนเป็นสำคัญ ว่าตามหลักฐานที่มีของโบราณปรากฏน่าจะเป็นดังนี้คือ ชั้นเดิมในราวพุทธกาลหรือก่อนนั้น ชาวอินเดียได้เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่ยังเป็นที่อยู่ของพวกละว้า แต่เพราะเหตุที่ชาวอินเดียมีความรู้และความสามารถมากกว่าพวกละว้า จึงได้เป็นผู้ปกครองประเทศ  

หลักฐานที่ชาวอินเดียได้ปกครองประเทศนั้นมีอยู่คือ ได้เอาชื่อเมืองในอินเดียมาเป็นชื่อเมืองที่ตั้งขึ้นในประเทศนี้ เช่น เมืองเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และอโยธยา เป็นต้น ทำนองเดียวกับพวกอังกฤษเอาชื่อเมืองในประเทศอังกฤษไปให้ชื่อเมืองในอเมริกาว่า นิวยอร์ก และนิวลอนดอน เป็นต้น  ด้วยเหตุอย่างเดียวกันที่ไทยอ้างเอานครปฐมเป็นราชธานีนั้นก็เพราะจังหวัดนครปฐมมีเนื้อที่ภูมิประเทศกว้างขวางและมีโบราณวัตถุโบราณสถานสร้างไว้ตลอดทั้งท้องที่ แต่จะเรียกชื่อเมืองหลวงว่าอย่างไรในครั้งนั้นได้แต่สันนิษฐานเห็นจะเรียกว่า สุวรรณภูมิ นั่นเอง  ชื่อนี้จึงได้รู้จักแพร่หลายไปถึงอินเดียและลังกา จนเป็นเหตุให้ได้ชื่อนี้ในหนังสือมหาวงศ์ว่า พระโสณะและพระอุตตระ ได้เชิญพระพุทธศาสนามาประดิษฐานที่เมืองสุวรรณภูมิและเป็นเหตุให้เรียกชื่อมหาสถูปที่เมืองนั้นว่า พระปฐมเจดีย์ หมายความว่า เป็นพระเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในแถบประเทศตะวันออกนี้ ครั้นต้องทิ้งเมืองขึ้นไปตั้งราชธานีใหม่ข้างเหนือในลำน้ำเดียวกัน จึงเอาชื่อเดิมไปเรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิ คือที่สุพรรณเดี๋ยวนี้ เมื่อพวกไทยลงมาเป็นผู้ปกครองจึงเรียกชื่อแปลเป็นภาษาไทยว่าเมืองอู่ทอง เมืองอู่ทองกับเมืองสุวรรณภูมิก็คือเมืองเดียวกันนั่นเอง

ที่พม่าอ้างว่าเมืองสะเทิมเป็นเมืองสุวรรณภูมินั้น เพราะมีเรื่องปรากฏในพงศาวดารพม่าว่าเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราชหรืออโนรธามังช่อ มีอำนาจในประเทศพุกาม ใคร่จะได้พระไตรปิฎกจากเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองสุวรรณภูมิไม่ให้รังเกียจว่าพระเจ้าอนุรุทธเป็นมิจฉาทิฐิ พระเจ้าอนุรุทธทรงพระพิโรธ จึงกรีธาทัพไปรบสุวรรณภูมิประเทศดังนี้ ในพงศาวดารนั้นอ้างว่าเมื่อสะเทิมเป็นสุวรรณภูมิประเทศ  ข้อนี้ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดี อนึ่ง เมืองพุกามกับเมืองสะเทิมตั้งอยู่ไม่สู้ไกลนัก พระเจ้าอนุรุทธมีอำนาจถึงเพียงนั้นคงจะได้รวมเมืองสะเทิมเข้าในอาณาจักรพุกามของพระองค์เสียก่อนแล้วเพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าซึ่งมีอานุภาพทุกๆ องค์ ที่เคยมารบกับไทยนั้นล้วนแต่ได้เมืองมอญไว้ในอำนาจก่อนแล้วทั้งนั้น อันนครปฐมนั้นอยู่ไกลจากเมืองพุกามมากพอที่จะไม่รู้จักขนบธรรมเนียมกัน จนเป็นเหตุให้เจ้าเมืองสุวรรณภูมิรังเกียจว่า พระเจ้าอนุรุทธเป็นมิจฉาทิฐิได้ เพราะฉะนั้นสุวรรณภูมิในพงศาวดารน่าเชื่อถือว่าได้แก่นครปฐมมากว่าเมืองสะเทิม และการที่พระเจ้าอนุรุทธมามีอำนาจในประเทศไทยนั้นก็รับรองกันทั่วไป ทั้งยังมีโบราณสถานปรากฏเป็นพยานอยู่

นามทวาราวดี มีปรากฏในจดหมายเหตุของจีนนั้นว่าเป็นอาณาจักรใหญ่ ตั้งอยู่ในระหว่างเมืองศรีเกษตร คือพม่า กับเมืองอีศานบุรี คือเขมร ได้รับวัฒนธรรมและศิลปกรรมจากประเทศอินเดีย อาณาจักรนี้ได้แก่อาณาจักรหนึ่งในประเทศไทยส่วนข้างใต้ คือในสมัยเมื่อชนชาติลาวเจ้าของประเทศเดิมยังปกครองประเทศนี้อยู่นั้นได้แยกกันเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ๓ อาณาเขตด้วยกัน อาณาเขตข้างใต้มีนามว่า ทวารวดี อาณาเขตข้างเหนือมีนามว่า ยางหรือโยนก อาณาเขตข้างตะวันออกมีนามว่า โคตรบูร ข้อนี้มีหลักฐาน คือด้วยเหตุที่คำว่า ทวารวดี ได้เป็นชื่อของอาณาจักรนั้นเอง เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศไทยจึงขนานนามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งหมายความว่าเป็นเมืองหลวง

โบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประกอบเรื่องตอนทวารวดี คือมีพระพุทธรูปทำตามแบบอย่าง พระพุทธรูปอินเดียครั้งราชวงศ์คุปตะเป็นอันมากที่จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ขนาดใหญ่จนเล็ก สร้างทั้งด้วยศิลาและโลหะ เช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดใหญ่ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเชิญมาจากวัดหน้าพระเมรุ เป็นพระปางปฐมเทศนา และพระยากง พระยาพานที่ในหลังวิหารทิศพระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ในสมัยนั้นคงเป็นเวลาที่อาณาจักรทวารวดีกำลังรุ่งเรือง คือ นอกจากที่จังหวัดนครปฐม  ยังมีพระพุทธรูปแบบเดียวกันพบในจังหวัดอื่นๆ อีกมาก เช่น ในจังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครราชสีมา นอกจากพระพุทธรูปยังมีพระพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากซึ่งเหมือนกับพระพิมพ์อินเดีย ครั้งราชวงศ์คุปตะจึงเป็นที่เชื่อแน่ว่า เมืองหลวงของพระพุทธรูปทวารวดีที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีนนั้นคงจะเป็นที่นครปฐมนี่เอง ที่ว่าลัทธิพุทธศาสนาเข้ามาถึงประเทศไทยนี้เป็นครั้งแรกคือที่ยุค ๑ เป็นลัทธิหินยานอย่างเถรวาทนั้นก็คือ การถือพระพุทธศาสนาในอินเดียตอนหลังพุทธกาลนั้นเกิดแยกกันเป็น ๒ ลัทธิ เมื่อคราวทำสังคายนานั้นเกิดแยกกันเป็น ๒ ลัทธิ คือ พวกที่ถือตามลัทธิครั้งพระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำปฐมสังคายนาพวกหนึ่ง โดยถือว่า พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างไรก็ให้ถือตามอย่างนั้นโดยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง พวกนี้ได้นามว่าเถรวาท คือถือตามที่พระอริยเถระ (หมายถึงพระมหากัสสป) ได้สังคายนาไว้ตั้งแต่แรก พวกที่ถือตามอาจารย์ว่าข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไม่สะดวกก็ให้แก้ไขได้โดยที่พระองค์ได้ทรงอนุญาตไว้เมื่อใกล้จะเข้าสู่ปรินิพพานพวกหนึ่ง พวกนี้ได้นามว่า อาจริยวาท คือถือพระวินัยตามที่อาจารย์แก้ไขเปลี่ยนแปลง พวกแรกบางทีก็เรียกว่า สถวีระ หมายความว่าพวกเก่าหรือพวกนิกายเก่า บางทีก็เรียกว่า สาวกยาน หมายความว่ายานของพระสาวก แต่ภายหลังถูกพวกหลังเรียกว่า หีนยาน หมายความว่า เป็นยานพาหนะอันคับแคบ พวกอาจริยวาทบางทีก็เรียกว่า มหาสังฆิกะ หมายความว่า พวกมาก ภายหลังตั้งนามตนเองว่า มหายาน หมายความว่าเป็นยานพาหนะอันกว้างใหญ่ พูดย่อๆ คือพวกเถรวาทได้แก่พวกหินยานหรือนิกายฝ่ายใต้ในบัดนี้ พวกอาจริยวาทได้แก่พวกมหายานหรือนิกายฝ่ายเหนือในบัดนี้

พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ทรงเลื่อมใสในพวกอาจริยวาทได้ทรงกำจัดพวกนี้แต่ไม่สามารถจะทรงกำจัดให้หมดสิ้นได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนายุคที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์จึงเรียกว่า หินยานอย่างเถรวาท ซึ่งได้เข้ามาถึงประเทศนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเรียกนามว่า สุวรรณภูมิประเทศ

ยุคที่ ๒ ลัทธิมหายาน
พระสงฆ์นิกายมหายานเป็นผู้ถือตามคติอาจารย์คือถือว่าควรแก้ไขข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ได้  ต่อมาพระสงฆ์นิกายนี้ก็ได้แก้ไขคติในพระพุทธศาสนาให้ผันแปรไปตามลำดับเป็นต้นว่าพระนิพพาน

เมื่อครั้งกษัตริย์วงศ์สุริยวรมันได้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๔๕ – ๑๗๒๕ ขอมได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบงำแผ่นดินอันเป็นประเทศไทยทุกวันนี้ไว้ทั้งหมด ได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่างๆ ในประเทศนี้ขึ้นหลายแห่ง คือเมืองลพบุรีปกครองบรรดาเมืองอันอยู่ในอาณาเขตทวารวดีส่วนข้างใต้ สุโขทัยปกครองบรรดาเมืองอันอยู่ในอาณาเขตทวารวดีส่วนข้างเหนือ ศรีเทพปกครองบรรดาเมืองอันอยู่ในลุ่มแม่น้ำสัก  มายปกครองบรรดาเมืองอันอยู่ในแผ่นดินสูงตอนข้างใต้ สกลนครปกครองบรรดาเมืองอันอยู่ในแผ่นดินสูงตอนข้างเหนือ บรรดาเมืองอุปราชของขอมเหล่านี้ เมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญที่สุดในสมัยนั้น ทางโบราณคดีจึงเรียกสมัยตอนที่ขอมมีอำนาจปกครองมาถึงประเทศนี้ว่า สมัยลพบุรี พระเจ้าแผ่นดินขอมและประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งได้รับมาจากเกาะสุมาตรา แต่จำเนียรกาลนานมาขอมได้คิดประดิษฐ์ศิลปกรรมของตนขึ้นผิดเพี้ยนไปจากแบบอย่างที่ได้รับจากอินเดียและสุมาตรา จึงเกิดแบบอย่างช่างขึ้นสกุลหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ฝีมือช่างขอม เมื่อขอมได้เข้ามาปกครองประเทศนี้ก็ได้สร้างวัดและเทวสถานขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักเรียกว่า ปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เป็นต้น วัดในพระพุทธศาสนาที่พวกขอมสร้างในสมัยนี้ล้วนอุทิศในลัทธิมหายานทั้งนั้น นอกจากโบราณสถานต่างๆ ยังมีโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนพลเมืองเดิมไม่ได้ถือลัทธิมหายานไปตามพวกขอมทั้งหมด ยังคงถือลัทธิหินยานสืบมาตั้งแต่ครั้งสมัยทวารวดีก็มีมากเหมือนกัน ปรากฏในศิลาจารึกซึ่งได้พบที่ศาลสูงจังหวัดลพบุรีหลักหนึ่งเป็นภาษาเขมรกล่าวความว่า ในสมัยนั้นที่เมืองลพบุรีมีพระสงฆ์สถวีระอันเป็นนิกายเดิมซึ่งได้เข้ามาถึงตั้งแต่ครั้งทวารวดีและนิกายมหายานซึ่งพึ่งรุ่งเรืองขึ้นในเวลาที่ขอมเข้ามาเป็นใหญ่ ดังนั้น ตั้งแต่ลัทธิมหายานได้เข้ามาเจริญแพร่หลายในประเทศไทยครั้งศรีวิชัยและครั้งขอมนั้นเป็นยุคที่ ๒

ยุคที่ ๓ ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์ซึ่งครองประเทศพม่า ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองพุกาม มีอานุภาพปราบปรามประเทศรามัญไว้ในอำนาจแล้วขยายเขตเข้ามาจนถึงประเทศลานนา คือมณฑลพายัพบัดนี้ ลงมาจนถึงเมืองลพบุรีและเมืองทวารวดี พระเจ้าอนุรุทธเป็นพุทธศาสนูปถัมภกให้ประกาศพระพุทธศาสนาไปด้วยกันกับการแผ่อาณาเขต ถึงสมัยนี้พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมทรามจวนจะสูญอยู่แล้วด้วยถูกผู้ถือศาสนาพราหมณ์และพวกถือศาสนาอิสลามเบียดเบียน พวกชาวเมืองพุกามเดิมก็ได้รับพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างเถรวาทมาจากแคว้นมคธเหมือนกับประเทศไทยเหมือนกัน ครั้นต่อมาเมื่อเหินห่างกับอินเดียจึงเกิดเป็นลัทธิหินยานอย่างเมืองพุกามขึ้น เมื่อชาวเมืองพุกามมามีอำนาจปกครองประเทศไทยตอนข้างเหนือก็พาลัทธินั้นมาสั่งสอนจนแพร่หลายในฝ่ายเหนือ คือมณฑลพายัพบัดนี้

ในยุคที่กล่าวนี้ ประจวบกับสมัยที่ชนชาติไทยเคลื่อนลงมาอยู่ในประเทศปัจจุบันนี้ เดิมชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนอันทุกวันนี้ตกเป็นอาณาเขตของจีนข้างฝ่ายใต้ที่เรียกว่ามณฑลฮุนหนำ มณฑลกุยจิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางใส ทั้ง ๔ มณฑล มีบ้านเมืองและเจ้านายของตนเองปกครองแยกย้ายกันอยู่เป็นหลายอาณาเขต มูลเหตุที่ไทยจะย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเมืองเดิมมาอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ก็เพราะถูกพวกจีนรุกรานชิงเอาดินแดนไปโดยลำดับ เริ่มต้น พ.ศ. ๔๐๐ ไทยจึงพากันทิ้งถิ่นเดิมอพยพถอยร่นมาอยู่ในข้างตะวันตกและข้างใต้โดยลำดับ ถึงสมัยนี้คือเมื่อสมัย พ.ศ. ๑๖๐๐ มีชนชาติไทยเข้ามาอยู่ในแว่นแคว้นลานนาและลานช้างเป็นจำนวนมาก ชนชาติไทยเดิมก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้วแต่เป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานซึ่งได้แผ่เข้าไปถึงตั้งแต่อยู่ในบ้านเมืองเดิม ครั้นพระเจ้าอนุรุทธนำพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างพุกามเข้ามาสอนในประเทศลานนาและลานช้าง ไทยจึงได้รับนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานตามแบบแผนเมืองพุกามแต่ครั้งกระนั้น ครั้นเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราชอำนาจเมืองพุกามและอำนาจขอมเสื่อมลงทั้งสองฝ่าย พวกไทยก็มีอำนาจขึ้นในประเทศไทยเป็นลำดับมา ทั้งในส่วนข้างเหนือและส่วนข้างใต้ แต่ต่างกันคือไทยส่วนข้างเหนือยังคงมีลัทธิธรรมเนียมประเพณีเป็นของไทยแท้อยู่เป็นอันมาก แต่ไทยส่วนข้างใต้ได้ปกครองประเทศซึ่งขอมได้เคยตั้งอยู่ช้านาน ขอมได้นำพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ตลอดจนการใช้อักษรและภาษาขอมขึ้นไปประดิษฐานไว้  ไทยได้มาปกครองพลเมืองซึ่งนิยมประพฤติตามขนบธรรมเนียมอย่างขอมอยู่โดยมากจึงได้ใช้ตัวหนังสือและขนบธรรมเนียมอีกหลายอย่างไปตามพวกขอม แต่วิสัยไทยเป็นผู้รู้จักเลือกเห็นขนบธรรมเนียมของชาวต่างประเทศอย่างใดดีและไม่ขัดต่อประโยชน์ของตนก็รับเอาไว้ ดังแก้ไขอักษรขอมเป็นอักษรไทยขึ้นในสมัยของพระเจ้ารามคำแหง กรุงสุโขทัย เป็นต้น การถือพระพุทธศาสนาของชนชาติไทยในระยะนี้จึงเกิดแยกกันเป็น ๒ พวก คือพวกที่อยู่ในลานนาและลานช้าง ถือพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างพุกาม ส่วนพวกข้างใต้ตั้งแต่สุโขทัยลงมายังถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานตามขอมอยู่ ดังนี้เป็นยุคที่ ๓

ยุคที่ ๔ ลัทธิลังกาวงศ์
ยุคนี้สำคัญมาก เป็นยุคซึ่งคนไทยได้ถือพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างเดียวกันจนถึงทุกวันนี้

มูลเหตุที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จะเข้ามาถึงประเทศไทยนั้นคือ เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๙๘ พระเจ้าปรักกมพาหุมมหาราชได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นในลังกาทวีป โดยอาราธนาพระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย ซึ่งนับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๖ ของพวกฝ่ายใต้แล้วจัดวางระเบียบปฏิบัติในพระพุทธศาสนาและสังฆมณฑลให้เรียบร้อย กิตติศัพท์ที่พระเจ้าปรักกมพาหุมปรับปรุงศาสนาครั้งนี้เลื่องลือไปยังนานาประเทศที่นับถือพุทธศาสนา จึงมีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ทางตะวันออก คือ พม่า มอญ ไทย และกัมพูชา ไปยังลังกาทวีปเพื่อศึกษาลัทธิพระพุทธศาสนาที่ปรับปรุงใหม่ครั้งนี้เพื่อนำมาประพฤติและปฏิบัติในประเทศของตน แต่สงฆ์ในลังการังเกียจสมณวงศ์ในต่างประเทศจึงเกี่ยงให้พระสงฆ์เหล่านั้นบวชใหม่ในลัทธิลังกาวงศ์ให้เป็นนิกายเดียวกันก่อน พระสงฆ์ทั้งหลายได้เห็นวัตรปฏิบัติตามระเบียบใหม่ก็เลื่อมใสยอมรับอุปสมบทใหม่ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นเรียนสำเร็จแล้วก็กลับไปประเทศของตน ประชาชนเห็นพระสงฆ์ลังกาวงศ์ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยก็เลื่อมใสให้บุตรหลานของตนบวชเรียนในสำนักลังกาวงศ์มากขึ้นโดยลำดับ ลัทธิลังกาวงศ์จึงแพร่หลายในพม่า มอญ ไทย ตลอดจนกัมพูชาแต่นั้นมา

สำหรับประเทศไทย พระสงฆ์ลังกาวงศ์ได้เข้ามาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน ราว พ.ศ. ๑๘๐๐ รู้ได้โดยได้ซ่อมพระมหาธาตุเมืองนคร ซึ่งเดิมเป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย ให้เป็นเจดีย์แบบลังกาวงศ์ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง พ.ศ. ๑๘๒๐ เศษว่า  “พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบพระไตรปิฎกหัวก๊กกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราช” ดังนี้จึงรู้ได้แน่ว่าชั้นเดิมพวกพระสงฆ์ลังกาวงศ์คงมาตั้งอยู่ที่นครศรีธรรมราชก่อน ครั้นกิติศัพท์ของพระสงฆ์พวกนี้เลื่องลือไปยังสุโขทัยซึ่งเป็นราชธานีในเวลานั้น กษัตริย์วงศ์พระร่วงทรงเลื่อมใสจึงได้อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ขึ้นไปตั้งยังเมืองสุโขทัย และในระยะนี้เองให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไปติดต่อขอพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของประเทศไทยมาจากเมืองลังกา ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์มาเจริญขึ้นในราชธานีของประเทศไทย ลัทธิมหายานซึ่งถือกันมาเมื่อครั้งขอมเป็นใหญ่ก็เสื่อมโทรมเลยสูญไปแต่พระสงฆ์ชั้นต้นยังแยกกันอยู่เป็น ๒ นิกาย คือ พระสงฆ์เดิมนิกายหนึ่ง พระสงฆ์ที่อุปสมบทตามลัทธิลังกาวงศ์นิกายหนึ่ง แม้ในประเทศพม่า มอญ กัมพูชา ชั้นต้นพระสงฆ์ก็ยังแยกเป็น ๒ นิกายเหมือนกัน ในที่สุดจึงรวมเข้าเป็นนิกายเดียวกัน การรวมพระสงฆ์เป็นนิกายเดียวกันในประเทศมอญ ปรากฏในศิลาจารึกว่าถึงกับพระเจ้าแผ่นดินต้องบังคับ แต่ในประเทศไทยเห็นจะรวมกันได้โดยปรองดอง ข้อนี้มีหลักฐานที่พอจะรู้ได้ในเวลานี้ คือวิธีอุปสมบทซึ่งใช้มาแต่ก่อนหรือแม้ทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ตามชนบทบ้าง บางแห่งให้ผู้บรรพชารับไตรสรณาคมน์ ๒ หน  คือรับเป็นภาษาสันสกฤตหนหนึ่งก่อนแล้วจึงรับเป็นภาษามคธอีกหนหนึ่ง

ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยครั้งในราชวงศ์พระร่วง พุทธเจดีย์ทั้งหลายก็นิยมทำตามคติลังกา เช่นถือว่าพระบรมธาตุอาจหาได้ก็เกิดนิยมการสร้างพระธาตุเจดีย์กันมากหลาย  พระสถูปทำรูปลักษณะอย่างเจดีย์ลังกาเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่ภายหลังเรียกกันว่า พระเจดีย์ไทย เช่น  ที่วัดช้างล้อม เมืองสวรรคโลก เป็นต้น บริโภคเจดีย์ถึงกับไปจำลองรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในลังกาทวีปมาสร้างขึ้นไว้ที่บนเขาพระบาทใหญ่และเปลี่ยนนามเรียกว่า เขาสุมนกูฏเหมือนกับที่ในลังกาทวีป ธรรมเจดีย์ใช้ภาษามคธเป็นหลักศาสนาและมีการศึกษาเล่าเรียนภาษามคธกันแพร่หลาย ภาษาสันสกฤตคงใช้ปนในภาษาไทย คือถือเสมือนเป็นภาษาไทย ใช้เป็นคำแปลภาษามคธ เช่น อตฺโถ แปล่าอรรถ คือยกภาษามคธเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสามัญเท่านั้น และได้ใช้ในการแปลหนังสือภาษามคธสืบมาจนทุกวันนี้ อุทเทสิกเจดีย์เกิดสอบสวนตำราพระพุทธรูปกันใหญ่จนเกิดแบบอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยขึ้นคือพระพุทธรูปชนิดที่มีพระรัศมียาวและนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ เสมอกัน เช่น พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์เป็นต้น  กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงทรงเลื่อมใสในลัทธิลังกาวงศ์เป็นอย่างยิ่งถึงกับสร้างวัดมหาธาตุขึ้นไว้ริมพระราชวัง และบางพระองค์เช่น พระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ยิ่งนัก ถึงกับได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบอย่างต่อมาให้พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ทรงทำตามและเป็นแบบอย่างที่คนไทยออกบวชกันชั่วคราวสืบมาจนทุกวันนี้ พระมหาธรรมราชาพระองค์นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนามากถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิขึ้นไว้ซึ่งเรียกกันว่า ไตรภูมิพระร่วง เป็นหนังสือไทยที่เก่ากว่าหนังสือทั้งหมด นอกจากศิลาจารึกเท่านั้น การทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ พระองค์ทรงสอบสวนคัมภีร์ต่างๆ ข้างพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนตั้ง ๓๐ คัมภีร์ ส่วนพระสงฆ์เมื่อรวมเป็นนิกายเดียวกันแล้วก็สมาทานธุระต่างกันเป็น ๒ พวก เหมือนอย่างในลังกาทวีป คือพวกหนึ่งศึกษาพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก อยู่วัดในบ้านเมืองอันเป็นสำนักที่เล่าเรียนได้ชื่อว่า พระสงฆ์คามวาสี คือพวกคันถธุระ อีกพวกหนึ่งสมาทานวิปัสสนาธุระ เรียกว่าอรัญวาสี (พวกหลังนี้ในลังกาเรียกว่าวนวาสีก็เพราะในลังกาภูมิประเทศเป็นภูเขาโดยมาก ออกไปห่างบ้านเมืองไม่เท่าใดนักก็ถึงป่าดง พระสงฆ์ที่อยู่วัดในดงจึงเรียกว่าวนวาสี) ซึ่งยังใช้เป็นธรรมเนียมคณะสงฆ์ต่อมาจนทุกวันนี้

ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา การถือพระพุทธศาสนาก็ยังคงถือลัทธิลังกาวงศ์ตามแบบสุโขทัยทุกอย่าง  นอกจากแบบอย่างพระพุทธเจดีย์ในตอนต้นทำตามแบบขอมอยู่บ้าง ภายหลังแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถจึงทำตามแบบสุโขทัยทั้งหมด จนกระทั่งลัทธิธรรมเนียมบางอย่าง เช่นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเองทรงเอาอย่างพระเจ้าลิไทยแห่งกรุงสุโขทัยถึงกับให้ไปนิมนต์พระมหาสามีสังฆราชในลังกาทวีปเข้ามาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก และได้ทรงอุทิศพระราชมนเทียรเป็นพุทธาวาสขึ้นในพระราชวัง ซึ่งในรัชกาลหลังได้สร้างพระสถูปและพระพุทธรูปเพิ่มเติมขึ้น คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในบัดนี้ โดยเอาอย่างวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย แต่ได้แก้ไขแบบอย่างสถูปสมัยสุโขทัยให้สวยงามยิ่งขึ้นอีกบ้าง เช่น แก้สถูปเหลี่ยมของสุโขทัยให้เป็นเหลี่ยมย่อไม้สิบสอง เช่นพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยและพระเจดีย์ที่วัดชุมพลนิกายารามเป็นต้น และได้รับคติบางอย่างเพิ่มเติมมาจากลังกาทวีปโดยตรงก็มี เช่น รอยพระบาท ซึ่งแต่ก่อนถือกันในประเทศนี้ว่าเป็น อุทเทสิกเจดีย์ แต่ในชั้นนี้ที่ในลังกาถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์ คือเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงกดไว้เองไม่ใช่คนสร้างขึ้น และว่าที่ในเมืองไทยก็มีอยู่รอยหนึ่ง คือที่สัจพันธคีรี พระองค์ได้ทรงกดไว้เมื่อคราวเสด็จมาโปรดสัจพันธดาบส เรื่องนี้พระสงฆ์ไทยได้ทราบจากลังกาในเวลาออกไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ครั้นพระสงฆ์ไทยกลับเข้ามาทูลความข้อนี้แก่พระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดให้ค้นกันขึ้น ก็ได้พบรอยพระพุทธบาทอยู่ที่ไหล่เขาสัจพันธคีรี คือรอยพระบาทที่จังหวัดสระบุรีเดี๋ยวนี้  และได้ถือกันว่าเป็นบริโภคเจดีย์สำคัญแห่งหนึ่งซึ่งมีคฤหัสถ์และบรรพชิตไปนมัสการปีละมากๆ อยู่จนทุกวันนี้ นับเป็นมหาเจดีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ครั้นถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่เมืองลังกาเกิดจลาจลหมดสิ้นสมณวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินลังกาได้แต่งราชทูตให้มาทูลขอคณะสงฆ์ไทยไปบรรพชาอุปสมบทชาวเมืองลังกา พระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงโปรดให้พระอุบาลีและพระอริยมุนีเป็นประธานออกไปให้อุปสมบท กลับตั้งสมณวงศ์ขึ้นใหม่ในลังกาทวีป พระสงฆ์ในลังกาจึงคงมีสืบมาและยังเรียกว่านิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้

ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง ทั้งการสร้างพระพุทธเจดีย์และการประพฤติปฏิบัติตลอดจนการศึกษาพระปริยัติธรรม เช่น  การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระราชวัง เป็นต้น ก็เป็นการทำตามแบบอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงแม้ว่าจะได้มีสมณทูตลังกาเข้ามายังพระนครและไทยได้ส่งสมณทูตไปยังลังกาทวีปอีกหลายครั้งก็จริง ทูตลังกาเข้ามาก็ได้แต่เอาพระบรมธาตุมาถวายเท่านั้น และสมณทูตไทยออกไปก็ไปเที่ยวฟังข่าวว่าพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปจะเศร้าหมองทรุดโทรมเพียงไร  นอกจากต้นโพธิที่เมืองอนุราชบุรีซึ่งเป็นต้นเดิมที่ได้ไปจากต้นที่พุทธคยาครั้งพระมหินทเถระไปประกาศพระศาสนาในลังกาทวีปมาเคารพบูชากันเป็นบริโภคเจดีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นระเบียบปฏิบัติในการถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีควรนับเป็นของไทยแท้เช่นเดียวกับลัทธิหินยานของพระเจ้าอนุรุทธฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ยุคลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาถึงประเทศไทยจึงเป็นยุคที่สำคัญที่สุด  นับว่าเป็นยุคที่คนไทยได้ถือพระพุทธศาสนานิกายเดียวกันตั้งแต่สมัยนั้นมาจนบัดนี้
ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีดังนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มีนาคม 2557 11:47:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2557 15:06:42 »

.


วัดศรีชุม  จังหวัดสุโขทัย

สมัยกรุงสุโขทัย

ก่อนที่ไทยเราจะได้อิสรภาพนั้นได้ตกอยู่ในอำนาจของขอมเป็นเวลานานปี ชาวเมืองจึงนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานตามแบบขอมตลอดมา จนกระทั่งไทยเราสามารถกอบกู้เอกราชได้แล้วก็พยายามที่จะขจัดอิทธิพลของขอมให้หมดไปจากจิตใจคนไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตั้งแต่ในด้านภาษาศาสตร์ตลอดจนกระทั่งศาสนา

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็ได้เริ่มขยายพระราชอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะทางทิศใต้ได้ตลอดแหลมลายู ประจวบกับในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เผยแพร่เข้ามาสู่นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย ปรากฏว่ามีพระภิกษุไทยเป็นจำนวนมากได้พากันไปศึกษาลัทธิศาสนาในลังกาทวีป แล้วบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์กลับมายังประเทศของตน และตั้งคณะสงฆ์ขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปถึงนครศรีธรรมราชได้เห็นจริยาวัตรของภิกษุเหล่านั้นว่าเรียบร้อย และเคร่งครัดในระเบียบวินัยดีก็ทรงเลื่อมใส จึงได้อาราธนาพระสงฆ์เหล่านั้นให้ขึ้นไปตั้งสังฆมณฑลที่กรุงสุโขทัยแล้วบวชแปลงพระสงฆ์ไทยในประเทศนี้ต่อมาเป็นต้นเดิมของคณะสงฆ์ไทย (คณะมหานิกาย) ทุกวันนี้ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ทรงเจริญพระราชไมตรีกับเมืองลังกา จนกระทั่งไทยเราได้รับพระพุทธรูปที่งามมากองค์หนึ่ง คือพระพุทธสิหิงค์จากลังกาในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนี้

พ่อขุนรามคำแหงทรงสนพระทัยในศาสนาลัทธิลังกาวงศ์นี้มากทุกๆ วันกลางเดือนและสิ้นเดือน พระองค์เสด็จไปที่วัดของพระสงฆ์ลัทธินี้เป็นประจำ จนในที่สุดพระองค์ก็ทรงแตกฉานในคัมภีร์ชั้นสูงของพระศาสนา พระองค์ได้โปรดให้ปลูกต้นตาลขึ้นแล้วให้ช่างจัดเอาขะดารหินไปตั้งไว้ที่กลางดงตาล พอถึงวัน ๘ ค่ำ และ ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ พระองค์ก็นิมนต์พระเถรานุเถระให้มานั่งบนขะดารหินนี้แล้วเทศนาสั่งสอนประชาชน ถ้าไม่ใช่วันพระ พระองค์ก็ทรงรับหน้าที่เป็นผู้อบรมทางศาสนาแก่ประชาชน ขะดารหินนี้ต่อมาเรียกว่า “พระแท่นมนังศิลาบาตร”

ต่อมาถึงสมัยของพระเจ้าธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง พระองค์ไม่ได้มีนิสัยเป็นนักรบอย่างพ่อขุนรามคำแหง ทรงสนพระทัยแต่ในทางพระศาสนา ได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกในสำนักของพระลัทธิลังกาวงศ์ และจากราชบัณฑิตต่างๆ จนกระทั่งแตกฉานในพระไตรปิฎกถึงกับทรงสามารถแต่งหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดีเล่มแรกของไทย ซึ่งเป็นข้อความที่ย่นย่อมาจากพระอภิธรรมปิฎกอันเป็นปิฎกหนึ่งของพระไตรปิฎก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจในพระธรรมชั้นสูงได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นพระองค์ยังได้อาราธนาพระเถระชาวลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชในกรุงสุโขทัยเพื่อจัดแบบแผนสังฆมณฑลให้เหมือนอย่างในลังกาแล้วทรงแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ คณะ คือ
๑. คามวาสี  ได้แก่พวกศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกอยู่ภายในเมือง
๒. อรัญญวาสี คือพวกที่เล่าเรียนในฝ่ายสมถะและวิปัสสนากรรมฐานต้องการความสงบเงียบ จึงอยู่ในป่า

พระมหาธรรมราชาลิไทยนี้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากถึงกับทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวชอยู่วาระหนึ่งตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช การบวชชั่วคราวของไทยเราก็น่าจะได้ต้นเค้ามาจากพระมหาธรรมราชาลิไทยนี่เอง





สมัยกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาก็เคยตกอยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อนเช่นเดียวกับกรุงสุโขทัย เพราะฉะนั้น  ประชาชนจึงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นส่วนมาก ต่อมาเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยและได้หันไปนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ กรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่ในอำนาจของกรุงสุโขทัยก็พลอยหันมานับถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ด้วย ต่อมาเมื่อกรุงสุโขทัยหมดอำนาจลง และกรุงศรีอยุธยาได้กลายเป็นราชธานีของไทยขึ้นมาแทน พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงเลื่อมใสในลัทธิลังกาวงศ์นี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จึงได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสืบมา

การปกครองคณะสงฆ์สมัยกรุงศรีอยุธยาก็เช่นเดียวกับสมัยสุโขทัยและยังมีพระภิกษุไทยออกไปศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกาเนืองๆ ความสัมพันธ์ในทางศาสนาระหว่างไทยกับลังกาจึงคงมีต่อกันตลอดมา พระสงฆ์ไทยจึงมีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่น่าเลื่อมใสจนกระทั่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงกับได้ทรงผนวชชั่วคราวเช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย

นอกจากนั้นในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระสงฆ์ไทยที่ออกไปยังลังกาทวีปได้ทราบจากพระสงฆ์ลังกาว่ามีรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบประทานไว้ที่เขาสุวรรณบรรพตในประเทศไทยจึงได้มาทูลพระเจ้าทรงธรรม อันเป็นเหตุให้มีการค้นหาและพบรอยพระพุทธบาทขึ้นในจังหวัดสระบุรี

ถึงรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ ประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๖ ในลังกาทวีปเกิดการจลาจลเสื่อมสิ้นสมณวงศ์  เสียเมืองแก่พวกทมิฬ ต่อมาพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ทรงกอบกู้อิสภาพได้จึงได้ครองราชสมบัติสืบมา  พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งสังฆมณฑลขึ้นอย่างเดิมได้ทรงพิจารณาเห็นว่า  พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเท่านั้นที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าที่อื่นจึงได้ส่งราชทูตมายังประเทศไทยเพื่อขอพระมหาเถระกับคณะสงฆ์ไปตั้งสมณวงศ์ที่ลังกาทวีป พระเจ้าบรมโกษฐ์จึงได้ทรงโปรดให้พระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระอุบาลี รูปหนึ่ง กับ พระอริยมุนี รูปหนึ่ง พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก ๑๒ รูป เดินทางไปลังกาทวีปและได้ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวสีหฬสืบมา ดังนั้น พระสงฆ์ที่บวชในสำนักนี้จึงเรียกว่า สยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์มาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้น ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์นี้ ประเทศไทยยังได้พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา ทรงโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดระฆังซึ่งอยู่ติดกับพระราชวังแล้วเปลี่ยนชื่อวัดระฆังเป็นวัดวรโพธิ์ นอกจากนั้นก็ได้พบพระพุทธฉายที่จังหวัดสระบุรี พบพระแท่นดงรังที่จังหวัดกาญจนบุรี และพบพระแท่นศิลาอาสน์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยมากว่า ๔๐๐ ปีนี้ พระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ล้วนเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทั้งนั้น ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนได้ร่วมกันสร้างวัดวาอารามไว้มากมายและวัดที่สำคัญที่สุดก็คือ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง  เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฉะนั้น




สมัยกรุงธนบุรี

เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งกลางของพระพุทธศาสนาได้ถูกพม่าเผาเสียเหลือแต่ซาก นอกจากจะเผาบ้านเมืองวัดวาอารามแล้วพม่ายังได้กวาดต้อนเหล่าประชาชนไม่เลือกว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ไปเป็นเชลยอีกเป็นจำนวนมาก  พระพุทธเจดีย์และพระไตรปิฎกอันเป็นหลักพระพุทธศาสนาก็ได้ถึงซึ่งความพินาศในครั้งนี้เสียมากมาย

แม้ต่อมาไทยจะกอบกู้อิสรภาพได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่กรุงศรีอยุธยาก็ถูกทำลายเสียยับเยินแล้วสุดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนคงเหมือนเดิมได้ พระเจ้าตากสินจึงได้ตัดสินใจย้ายราชธานีมาตั้ง ณ เมืองธนบุรี ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงทำสงครามขับเคี่ยวกับพม่าเรื่อยมา และทรงพะวงต่อการสร้างสมแสนยานุภาพเพื่อป้องกันประเทศชาติให้มีกำลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะกองทัพได้ถูกพม่าข้าศึกทำลายเสียจนขวัญหนีดีฝ่อแทบหมดแล้ว ฉะนั้น พระองค์จึงต้องทรงขะมักเขม้นต่อการเสริมสร้างแสนยานุภาพอย่างมากมายแต่ก็ใช่ว่าพระองค์จะทรงเพิกเฉยต่อการพระศาสนาเสียทีเดียว พระองค์ยังได้ทรงเสาะหาพระเถระผู้ทรงคุณความรู้จากหัวเมืองต่างๆ แล้วนิมนต์มาอยู่ในกรุงธนบุรี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะให้ว่ากล่าวสั่งสอนในสังฆมณฑล และได้ทรงรับสั่งให้สืบคัมภีร์พระไตรปิฎกจากที่ต่างๆ แล้วเอามารวบรวมตั้งหอมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ แม้พระองค์เองก็ทรงสนพระทัยในพระศาสนามากถึงกับทรงปลีกเวลาไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าพระองค์ได้ทรงเกิดสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าเป็นพระอริยบุคคลถึงทรงบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้ พระสงฆ์รูปใดไม่กราบไหว้ก็ให้ทรงลงพระราชอาญาบ้างหรือทรงถอดจากสมณศักดิ์บ้างทำให้บ้านเมืองเกิดจลาจลถึงกับได้มีการรบพุ่งกันเองในราชธานี

ในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นแม่ทัพคุมพลไปตีเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง เมื่อตีเมืองได้แล้วได้อัญเชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกตกับพระบางเมืองเวียงจันทน์มาประดิษฐานไว้ที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จนถึงทุกวันนี้



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มีนาคม 2557 15:51:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 05 มีนาคม 2557 12:03:29 »

.



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาสร้างกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฟากตะวันออก ฝั่งตรงข้าม แม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์จะต้องทรงทำสงครามขับเคี่ยวกับพม่าอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงสนพระทัยในด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงพิจารณาเห็นว่าพระราชาคณะที่ถูกทอดในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นสมควรยกย่องเป็นพิเศษ พระองค์จึงทรงโปรดสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตามเดิม และได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ปกครองพระสงฆ์สืบมา

นอกจากพระองค์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้วยังทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกตอีกด้วย พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้พระนครใหม่นี้เจริญรุ่งเรืองด้วยวัดวาอารามเสมือนที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสมัยก่อน ข้อนี้จะพึงได้เห็นจากพระราชวังก็ดี วัดวาอารามต่างๆ ก็ดี  ล้วนสร้างตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น และชื่อวัดต่างๆ ก็เลียนแบบมาจากกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนมาก พระองค์ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอีกมากมายหลายแห่ง นอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วก็มีวัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดระฆัง วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น  พระองค์ได้ทรงพระราชปรารภว่า พระพุทธรูปโบราณได้ถูกทอดทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมอยู่ตามวัดร้างในพระนครศรีอยุธยา ธนบุรี สุโขทัย และตามหัวเมืองต่างๆ เป็นอันมาก พระองค์จึงได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นพอยกขนมาได้เอามาบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นประมาณ ๑,๒๐๐ องค์  เช่น พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม ก็อัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัย พระโลกนาถ วัดพระเชตุพน ก็อัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

ในด้านพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนานั้นพระองค์ก็ได้ทรงโปรดให้รวบรวมต่อมา แต่ทรงเห็นว่ายังวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ จึงดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทเป็นประธาน ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษก แล้วทรงโปรดฯ ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรม และเปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉัน แล้วพระองค์ก็ทรงถวายนมัสการ ดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า  พระไตรปิฎกทุกวันนี้ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นประการใด สมเด็จพระสังฆราชพร้อมทั้งพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่า พระไตรปิฎกตลอดจนอรรถกถาและฎีกายังวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่อีกมาก พระองค์จึงทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพร้อมทั้งพระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญทั้งหลาย ช่วยกันสังคายนาพระไตรปิฎกให้บริบูรณ์อีกวาระหนึ่ง  ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชก็ได้เลือกสรรพระราชาคณะ ฐานานุกรม และเปรียญที่แตกฉานในพระไตรปิฎกได้ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตฝ่ายคฤหัสถ์อีก ๓๒ คน ร่วมกันทำสังคายนาพระไตรปิฎก  เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ทรงรับสั่งให้คัดลอกไปไว้ตามพระอารามต่างๆ เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป

ในฝ่ายสังฆมณฑลนั้น  พระองค์ก็ทรงคัดเลือกแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีศีลาจารวัตรอันดีงามให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยตามคุณสมบัติ และทรงขวนขวายอุดหนุนให้ภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยโดยพระราโชบาย เป็นต้นว่าทรงมีพระราชปุจฉาให้พระราชาคณะถวายวิสัชนาเนืองๆ โดยมีพระราชประสงค์จะให้พระสงฆ์ต้องค้นคว้าสอบสวนพระไตรปิฎกอยู่เสมอนั่นเอง

รัชกาลที่ ๒ ในสมัยนี้แม้จะไม่มีศึกใหญ่แต่ก็ต้องตระเตรียมการสงครามไว้เหมือนกัน เพราะพม่ายังคอยจ้องจะมาตีเมืองไทยอยู่ และญวนก็เกิดเป็นศัตรูขึ้นมาอีก แต่ก็นับว่าบ้านเมืองมีความสงบมากกว่าสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมซึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั้นนั้นทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ไม่แตกฉานนัก จึงทรงพิจารณาปรับปรุงแก้ไขใหม่  สมัยก่อนนั้นพระภิกษุสามเณรรูปใดเรียนรู้ภาษามคธสามารถจะแปลพระสูตรได้ก็ได้เป็นเปรียญตรี ถ้าแปลพระวินัยได้ ก็ได้เป็นเปรียญโท และถ้าแปลพระอภิธรรมได้ก็ได้เป็นเปรียญเอก พอถึงรัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงให้เปลี่ยนกำหนดชั้นเป็น ๙ ประโยค ใครสอบได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป ก็นับว่าเป็นเปรียญและเรียกว่าเปรียญ ๓ ประโยค จนถึงเปรียญ ๙ ประโยค หลักสูตรใหม่กำหนดให้ยากขึ้นตามลำดับ

ในรัชกาลนี้ ศาสนสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลังกาก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยพระสังฆราชในเมืองลังกาให้พระสงฆ์เชิญพระบรมสารีริกธาตุกับต้นโพธิ์จากลังกาเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในสมัยนั้นลังกาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว พระองค์ทรงพระปริวิตกว่า  พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปจะเสื่อมโทรมลง จึงได้เลือกพระสงฆ์ ๗ รูป มีพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้า ให้ไปสืบพระพุทธศาสนาถึงลังกาทำให้ไทยกับลังกามีสายสัมพันธ์ทางศาสนากันสืบมาเนืองๆ

ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ พระองค์ได้ทรงให้ผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วให้ไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๖๗ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎมีพระชนม์พรรษาครบอุปสมบทแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ประกอบพิธีอุปสมบทเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระภิกษุต่อไป

นอกจากนั้นพระองค์ยังได้จัดให้มีพระราชพิธีฉลองสมโภชวัดแจ้ง ซึ่งพระองค์ได้ทรงสร้างต่อจากพระบรมชนกนาถ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” และได้ทรงยกเครื่องพระวิหารวัดสุทัศน์ซึ่งพระบรมชนกนาถได้สร้างไว้จนสำเร็จ

รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาอุตสาหะในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามหลวงอีกมากมายหลายวัด และหนังสือฝ่ายพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นับว่าเกิดในรัชกาลนี้มากที่สุด

อาศัยที่เจ้าฟ้ามงกุฎ พระบรมราชอนุชา ซึ่งยังทรงผนวชอยู่นั้นเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่งจนสามารถวินิจฉัยเปรียบเทียบได้ว่าฉบับใดผิดฉบับใดถูก จนพระองค์ทรงเห็นว่าพระสงฆ์ก่อนๆ ประพฤติไม่ถูกต้องตามพระวินัย จึงได้ตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย  ขึ้นและได้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงรับพระภารธุระในการส่งพระสงฆ์ไทยไปลังกาหลายครั้ง ทั้งยังทรงรับเลี้ยงพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตลอดรัชสมัยของพระบรมเชษฐาธิราชอีกด้วย

รัชกาลที่ ๔ เมื่อพระเชษฐาธิราชสวรรคตแล้ว อำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็ได้มาทูลให้พระองค์ทรงลาผนวชออกไปครองราชสมบัติต่อไป ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ก่อกำเนิดธรรมยุติกนิกายขึ้นจึงทรงเลื่อมใสในลัทธินี้มาก แต่ก็ยังทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองนิกายไปในงานพระราชพิธีร่วมกันเสมอ พระองค์ทรงดำริเห็นว่าในกรุงเทพฯ มีวัดมากมายแล้ว จึงทรงสร้างวัดเพิ่มเติมขึ้นตามหัวเมืองเป็นพื้น ในเมืองหลวงได้สร้างวัดราชประดิษฐ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดโสมนัส และวัดปทุมวนาราม เป็นต้น ถวายเป็นส่วนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ส่วนในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นพระองค์ได้ทรงเป็นประธานมาตั้งแต่ยังทรงผนวชก็คงให้รักษาแบบแผนและทำนุบำรุงไว้มิให้เสื่อมลง

ในรัชกาลนี้ พระองค์ได้ทรงติดต่อในด้านการพระพุทธศาสนากับอินเดีย จนกระทั่งได้พระพุทธรูปอินเดียและพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาอีก นอกจากนั้นยังทรงให้ความอุปถัมภ์แก่พระสงฆ์ญวนซึ่งถือลัทธิมหายานถึงกับทรงให้พระญวนไปทำพิธีกงเต็กเป็นครั้งแรกด้วย

รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพฤติเจริญรอยตามยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ เป็นต้นว่าทรงให้การทำนุบำรุงพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกายทัดเทียมกันทั้งยังทรงตั้งพระสงฆ์ญวน จีน ให้มีสมณศักดิ์ด้วย และได้ทรงสร้างวัดขึ้นถวายพระสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย คือวัดราชบพิธ กับ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นส่วนธรรมยุติกา และสร้างวัดเบญจมบพิตร ถวายพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ได้ทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาสังฆปริณายกอยู่ในเวลานั้นพร้อมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  เป็นประธานสอบทานพระไตรปิฎก แล้วทรงพระราชศรัทธาให้ตีพิมพ์ลงเป็นอักษรไทยจำนวน ๑,๐๐๐ ชุด (ชุดละ ๓๙ เล่ม) เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกได้แพร่หลายไปยังนานาประเทศ และเป็นหลักในการศึกษาเล่าเรียนมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ซึ่งไม่มีประเทศใดสามารถทำได้มาก่อน

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้มีผู้ขุดพบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กรุงกบิลพัสดุ์ มีอักษรจารึกว่าเป็นพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นส่วนของพวกศากยราชทั้งหลาย  เวลานั้น มาควิส เคอร์สัน อุปราชครองประเทศอินเดีย เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยเท่านั้นที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภก จึงได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุนั้นมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น พวกที่นับถือพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ คือ ญี่ปุ่น พม่า และลังกา ได้ส่งทูตมาทูลขอพระบรมธาตุ ซึ่งพระองค์ก็ทรงแบ่งพระราชทานให้ตามประสงค์ ส่วนที่เหลือได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทองสัมฤทธิ์บรรจุไว้ในคูหาพระสถูป บนยอดบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมหาชนมาจนทุกวันนี้

รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากเช่นกันและทรงมีความรู้เปรื่องปราดในด้านศาสนามากถึงกับได้ทรงนิพนธ์หนังสือปลุกใจและสั่งสอนประชาชนให้ใส่ใจในพระพุทธศาสนามาก เช่น หนังสือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และ เทศนาเสือป่า เป็นต้น ในสมัยนี้ได้มีโรงเรียนนักธรรมเกิดขึ้นมากมาย การปกครองคณะสงฆ์ก็มีระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น

รัชกาลที่ ๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระพุทธเจดีย์เป็นที่ระลึก และอุทิศพระราชทานกุศลถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สกลมหาสังฆปรินายก พร้อมด้วยพระเถรานุเถระผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ประชุมกันสังคายนาพระไตรปิฎกที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงให้ทำสังคายนาไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ให้เป็นแบบแผนที่ถูกต้องดียิ่งขึ้นจนเรียบร้อย แล้วพระองค์ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ออกสร้างพระไตรปิฎกเป็นจำนวน ๑,๕๐๐ จบ (จบละ ๔๕ เล่ม) แล้วทรงแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร พระไตรปิฎกชุดใหม่นี้พิมพ์เรียบร้อยดีกว่าชุดก่อน  ทั้งพิมพ์ในเวลาที่ประเทศต้องการ คือประจวบกับสมัยที่การเล่าเรียนพระพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นทั้งในยุโรปและอเมริกา การสร้างพระไตรปิฎกนับว่าเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ถาวรยิ่งขึ้น  เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในพระองค์เอง และเป็นเกียรติยศแก่ประเทศไทยด้วย เพราะในประเทศอื่นๆ แม้จะมีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ไม่สามารถทำได้

รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ครองราชย์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้วและเป็นสมัยที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ แล้ว ฉะนั้นการดำเนินการปกครองประเทศจึงมิได้อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์เองโดยเฉพาะ พระองค์ได้บริหารประเทศไทยโดยผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร ศาล และคณะรัฐมนตรี ทั้งพระองค์ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่อีกด้วย ฉะนั้น ในรัชกาลนี้นอกจากจะได้มีการส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัยให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้ว ก็มีการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุขึ้นแห่งหนึ่งที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระสงฆ์ทั้งสองนิกายได้รวมเป็นนิกายเดียวกัน แต่ก็หาสำเร็จประโยชน์ใดๆ ไม่ ในรัชกาลที่ ๘ มีเหตุการณ์ที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของไทยมาก่อนเลย นั่นคือการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทยฉบับที่สมบูรณ์ ความจริงการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทยนั้นได้เคยกระทำกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแปลไว้มาก และในรัชกาลต่อๆ มา การแปลก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราว แต่การแปลคงมีเฉพาะพระสุตตันตปิฎกเป็นพื้น ส่วนพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกมีน้อย ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์แห่งการแปลมีต่างกัน ผู้แปลจึงเลือกแปลเฉพาะส่วนที่ต้องการ สำนวนโวหารก็ผิดเพี้ยนกันมาก เนื่องด้วยต่างยุคต่างสมัย ภาษาจึงแปรเปลี่ยนไปตามความนิยม แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีอยู่ในภาษาไทยก็ไม่สามารถคุมความให้ติดต่อตลอดสาย

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ  ติสฺสเทว) วัดสุทัศน์เทพวราราม ทรงปรารภว่าพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจัดเป็นรัตนตรัยดวงหนึ่งในสามรัตนะ เรียกว่า ธรรมรัตนะ พระไตรปิฎกนี้ ของเดิมเป็นภาษาบาลี พระสาวกในปางก่อนได้ทรงจำสืบมาโดยมุขปาฐะ ตราบจนได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ครั้นภายหลังเมื่อมีเหตุวิบัติใดๆ เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ ได้ทรงอุปถัมภ์ให้พระเถรานุเถระผู้บริหารการพระศาสนาจัดการสังคายนาชำระพระไตรปิฎกเป็นคราวๆ เฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏว่าได้มีการสังคายนาบาลีพระไตรปิฎกถึง ๓ คราว คือในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๗ ในปัจจุบันจัดว่าบาลีพระไตรปิฎกมีอรรถพยัญชนะอันสมบูรณ์แล้ว แต่โดยเหตุที่พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ผู้ใคร่ศึกษาจำต้องรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง จึงจักศึกษาได้สมประสงค์แม้จะมีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยเสมอก็เลือกแปลเฉพาะบางตอน ไม่ปรากฏว่ามีใครจักแปลตลอดเรื่อง ถ้าสามารถดำเนินการแปลจนจบครบบริบูรณ์ก็จะเป็นอุปการคุณแก่พุทธบริษัทชาวไทยอย่างใหญ่หลวง

เป็นที่ประจักษ์ว่าในต่างประเทศหลายประเทศนักปราชญ์ชาวต่างประเทศนั้นๆ ได้อุตสาหะแปลบาลีพระไตรปิฎกจากฉบับของพระพุทธศาสนาฝ่ายนิกายเถรวาทออกเป็นภาษาของเขาแล้ว สำหรับฝ่ายมหายานนั้น ได้มีการแปลพระไตรปิฎกจากฉบับภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายานมาแล้วช้านาน การที่นักปราชญ์ในประเทศทั้งหลายได้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา ก็ด้วยเพ่งประโยชน์มหาชนชาวประเทศนั้นๆ จะพึงได้รับจากการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ จึงเป็นการสมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะคิดจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้ตลอดสาย จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ และเป็นที่เชิดชูเกียรติแห่งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยให้ปรากฏไพศาลไปตลอดถึงนานาประเทศ  แต่เมื่อด้วยการนี้เป็นการใหญ่ไม่เป็นวิสัยที่เอกชนคนสามัญจะพึงจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อยได้ อาศัยพระปรารภนี้จึงโปรดให้ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์ แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์

กระทรวงธรรมการพิจารณาเห็นสมควร และรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริเห็นด้วยตามพระราชปรารภอันดียิ่งของสมเด็จพระสังฆราช จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้ พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ทรงแต่งตั้งพระเถระเป็นกรรมการจัดแปลได้ตามสมควร  และมอบให้กรมธรรมการฝ่ายคฤหัสถ์จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์และลงในใบลานเพื่อเผยแผ่แก่พุทธบริษัทสืบไป

เมื่อได้รับพระบรมราชานุมัติดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดให้กำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติงานออกเป็นส่วนๆ และทรงแต่งตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยขึ้นคณะหนึ่ง  ประกอบด้วย
๑. คณะกรรมาธิการพิจารณาการแปล คือ
    พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร เป็นประธานกรรมการ
    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพน เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระสุตตันตปิฎก
    พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระวินัยปิฎก
    พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ช้อย ฐานทตฺโต) วัดมหาธาตุ เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก
๒. กรรมการกองแปล มีจำนวน ๒๕ รูป มีพระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นหัวหน้ากอง แบ่งงานออกเป็น ๔ แผนก คือ
    ก. แผนกตรวจสำนวนคำแปล มีพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ) วัดสุวรรณดาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหัวหน้าแผนก
    ข. แผนกแปลพระวินัยปิฎก มีพระวิสุทธิสมโพธิ์ (เจีย เขมโก) วัดพระเชตุพน เป็นหัวหน้าแผนก
    ค. แผนกแปลพระสุตตันตปิฎก มีพระปริยัติโสภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา เป็นหัวหน้าแผนก
    ง. แผนกแปลพระอภิธรรมปิฎก  มีพระเมธีวรคณาจารย์ (พาว เมธิโก) วัดวิเศษการ ธนบุรี เป็นหัวหน้าแผนก
นอกจากนี้ ยังมีกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยเหลือในการตรวจสำนวนคำแปลอีก ๔ คน
๓. กรรมการกองธุรการ จำนวน ๕ คน มีอธิบดีกรมการศาสนาเป็นหัวหน้ากอง
คณะกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยได้เริ่มดำเนินการแปลพระไตรปิฎกตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยการแบ่งแปลออกเป็น ๒ ประเภท คือ
    ก. แปลโดยอรรถ ตามความในบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐสำหรับพิมพ์เป็นเล่มสมุด เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย”
    ข. แปลโดยสำนวนเทศนา สำหรับพิมพ์ลงในใบลานเป็นคัมภีร์เทศนา เรียกว่า “พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง”

เมื่อกรรมการได้จัดแปลและทำต้นฉบับภาษาไทยเสร็จแล้วบางส่วน กรมการศาสนาจึงจัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นปฐมฤกษ์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๔ สำเร็จปิฎกละ ๑ เล่ม รวม ๓ เล่ม พร้อมด้วยตำนานพระไตรปิฎกอีก ๑ เล่ม แล้วจัดพิมพ์ต่อไปอีก แต่ประจวบกับเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม วัสดุอุปกรณ์ในการพิมพ์มีราคาแพงมากหาได้ยาก  จึงจำเป็นต้องงดการพิมพ์ไว้ชั่วคราว แต่การแปลและการตรวจสำนวนคำแปล คณะกรรมการยังคงดำเนินการต่อมาโดยลำดับ

ส่วนพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง คณะกรรมการได้จัดการเรียบเรียงเป็นสำนวนเทศนาตามเค้าความในพระบาลี แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ โดยถือเกณฑ์จำนวนพระอรหันต์ พุทธสาวก ๑,๒๕๐  รูป เมื่อคราวจาตุรงคสันนิบาตในสมัยพุทธกาล คือเป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก  ๑,๐๕๔ กัณฑ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์ กรมการศาสนาได้เริ่มจัดพิมพ์ลงใบลานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่ประเทศไทยพ้นจากภาวะสงครามแล้ว  และเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการในส่วนพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวงใกล้จะสำเร็จเรียบร้อยแล้ว สมควรจะดำเนินการในส่วนพระไตรปิฎกภาษาไทยที่ตกค้างอยู่นั้นต่อไปอีก ประธานคณะกรรมการจึงสั่งให้คณะกรรมการดำเนินงานต่อไป และโดยที่ตำแหน่งกรรมาธิการฝ่ายพระวินัยปิฎกว่างลง ส่วนกรรมาธิการฝ่ายพระสุตตันตปิฎกซึ่งประธานคณะกรรมการอยู่ด้วยนั้นสมควรเปลี่ยนใหม่เพื่อแบ่งเบาภาระของประธานคณะกรรมาธิการ สมเด็จพระสังฆราชจึงทรงแต่งตั้งกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่างและเปลี่ยนใหม่ คือ
๑. พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย  เขมโก) วัดพระเชตุพน เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระสุตตันตปิฎก
๒. พระเทพเวที (ฟื้น  ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระสุตตันตปิฎก
๓. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ  อาสโภ) วัดมหาธาตุ เป็นกรรมาธิการฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก

นอกจากนี้ประธานกรรมาธิการยังได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เลขานุการและกรรมการผู้ช่วยเพื่อสมทบช่วยเหลือในการประชุมตรวจสำนวนคำแปลสำหรับแผนกตรวจสำนวนทั้ง ๓ แผนกนั้นอีกตามสมควร

เมื่อได้จัดตั้งกรรมการแผนกตรวจสำนวนคำแปลพระไตรปิฎกขึ้นใหม่แล้ว คณะกรรมการตรวจสำนวนคำแปลทั้ง ๓ ฝ่าย จึงได้แยกกันดำเนินการมาโดยลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมาได้อาศัยเงินทุนการแปลพระไตรปิฎกซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรวบรวมจากเงินที่บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาบริจาคสมทบบ้าง จากเงินรายได้ในการจำหน่ายพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวงบ้าง แม้เช่นนั้นก็ยังมีจำนวนไม่พอที่จะใช้จ่ายในการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยประเภทเล่มสมุดให้ครบถ้วนได้ เนื่องจากหนังสือที่จะจัดพิมพ์มีจำนวนมาก คือพระวินัยปิฎก ๑๓ เล่ม พระสุตตันตปิฎก ๔๒ เล่ม พระอภิธรรมปิฎก ๒๕ เล่ม รวมทั้งหมดมีจำนวนถึง ๘๐ เล่ม ซึ่งคณะกรรมการได้จัดแบ่งโดยนิยมเท่าจำนวนพระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลในสมัยที่ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำริจะจัดพิธีฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะสังฆมนตรีพิจารณาเห็นสมควรจัดสร้างพระไตรปิฎกภาษาไทยซึ่งคณะสงฆ์ได้ตั้งกรรมการจัดแปลและกำลังตรวจสำนวนต้นฉบับสำหรับพิมพ์อยู่แล้วนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในงานนั้นด้วยอย่างหนึ่ง สังฆนายกจึงขอความอุปถัมภ์ไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาหาทุนในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยต่อไป กระทรวงวัฒนธรรมจึงรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ลงมติเห็นชอบด้วย และอนุมัติให้ดำเนินงานต่อไปโดยให้จัดตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างพระไตรปิฎกภาษาไทยไว้  เป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

เมื่อได้รับอุปถัมภ์จากรัฐบาลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ดังกล่าวแล้ว เพื่อให้การจัดพิมพ์ดำเนินไปโดยเรียบร้อย สังฆนายกจึงจัดตั้งกรรมการอำนวยการพิมพ์ขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย  ประธานกรรมาธิการแปลพระไตรปิฎก เป็นประธาน หัวหน้าแผนกตรวจสำนวนคำแปลพระไตรปิฎกทั้ง ๓ แผนก อธิบดีกรมการศาสนา ผู้จัดการโรงพิมพ์การศาสนา และหัวหน้ากองศาสนศึกษา เป็นกรรมการ คณะกรรมการอำนวยการพิมพ์ ได้ตกลงวางวิธีปฏิบัติในการจัดพิมพ์ตลอดจนกำหนดจำนวนหนังสือที่จะพิมพ์เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่กำหนดไว้เดิม ๑๐๐๐ จบ เป็น ๒๕๐๐ จบ เพื่อให้เหมาะสมแก่การฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ

ในการจัดสร้างพระไตรปิฎกภาษาไทยเป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษครั้งนี้  นับว่าสำเร็จได้โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระมหากษัตริย์และความอุปถัมภ์ของรัฐบาล  ประกอบด้วยความร่วมมือ ร่วมกำลังของคณะสงฆ์ คณะกรรมการจัดแปล และกรรมการตรวจสำนวนคำแปล คณะกรรมการอำนวยการพิมพ์ ตลอดจนทางราชการและพุทศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้มีส่วนช่วยเหลือในการแปลและจัดพิมพ์หนังสือนี้ กรมการศาสนาในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ได้รายงานเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงทราบและทรงอนุโมทนาในความสำเร็จแห่งศาสนกิจอันยิ่งใหญ่ไพศาลเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกแห่งชาติไทย คณะสงฆ์ไทยและพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งจะอำนวยผลส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและวัฒนาสถาพรสืบไปตลอดกาลนาน

รัชกาลปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราชสวรรคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้ครองราชสมบัติสืบแทน ในรัชกาลนี้ นอกจากจะมีการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เจริญกว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว ยังปรากฏว่าทั้งทางคณะสงฆ์และประชาชนได้ตื่นตัวกันมากถึงกับมีสมาคมทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น  ยุวพุทธิกสมาคม ยุวพุทธศาสนิกสมาคม ฯลฯ

ต่อมาการศึกษาบาลีได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่เรียกว่า “บาลีแผนใหม่” หรือ ชื่อที่เป็นทางการว่า  หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีตามที่ได้ปรับปรุงใหม่นั้น มหาเถรสมาคมได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้มีมติมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๑๑ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงในชั้นเปรียญตรี ส่วนบาลีศึกษาให้ลดหย่อนวิชาเรียนลงบ้างโดยตัดวิชาสัมพันธ์และแปลไทยเป็นมคธออกทั้งหมด และกำหนดคัมภีร์สำหรับแปลมคธเป็นไทยให้แน่นอนยิ่งขึ้น หลักการของบาลีแผนใหม่ คือให้มีการศึกษาภาษาบาลีควบคู่ไปกับวิชาการสมัยใหม่และมีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติด้วย โดยให้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ บาลีศึกษา สามัญศึกษา และปริทัศนศึกษา และแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ชั้น รวม ๑๐ ชั้นด้วยกัน คือ
๑. ขั้นเปรียญตรี หลักสูตร ๓ ปี
๒. ขั้นเปรียญโท หลักสูตร ๓ ปี
๓. ขั้นเปรียญเอก หลักสูตร ๔ ปี

ในฝ่ายบาลีศึกษานั้น กล่าวโดยสาระสำคัญโดยทั่วๆ ไปแล้ว มีหลักสูตรคงตามรูปเดิมอย่างสายเปรียญธรรมแบบเดิม เพียงแต่ในปีที่ ๑๐ เพิ่มการค้นคว้าพระไตรปิฎกเข้าด้วย ในฝ่ายสามัญศึกษา  เปรียญตรี เทียบเท่าประโยคประถมศึกษาตอนปลาย (คือ ป. ๕ – ๗) เปรียญโท เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายรวมกัน (คือ ม.ศ. ๑ – ๕) และเปรียญเอก เทียบเท่าขั้นอุดมศึกษา สายอักษรศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์ ขั้นปริญญาตรี และในฝ่ายปริทัศนศึกษา มีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและวิชาประกอบทางศาสนา โบราณคดี จิตวิทยา ปรัชญา

การศึกษาบาลีแผนใหม่นี้ มิได้หมายถึงเป็นการล้มเลิกการศึกษาบาลีแผนเดิม คงยังใช้เรียนควบคู่กันไป

นอกจากนั้น ทางคณะสงฆ์ยังได้เปิดการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนวิชาการทั้งคดีโลก คดีธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้นอันจักเป็นประโยชน์ในการประกาศพระศาสนายิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนี้ คือสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร  เป็นสถาบันที่พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงสถาปนาขึ้น โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖  ละได้รับพระราชทานนามว่า  “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ฝ่ายธรรมยุติกาได้ประกาศตั้งขึ้นให้เป็นสถานศึกษาทางพระศาสนาชั้นสูงตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นนายกกรรมการและได้เปิดให้มีการอบรมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ขั้น มีกำหนดหลักสูตร ๗ ปี คือ ขั้นบุรพศึกษา (สำรอง) มีกำหนด ๑ ปี ขั้นเตรียมศาสนศาสตร์ ๒ ปี และขั้นอุดมศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๔ ปี ในขั้นอุดมศึกษาแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาควิชารวม ใช้เวลาเรียน ๒ ปี เช่นกัน โดยแบ่งออกไปเป็น ๗ สาขา คือ สาขาปรัชญา – ศาสนา ๑ สาขาจิตวิทยา ๑ สาขาสังคมศาสตร์ ๑ สาขาภาษาศาสตร์ ๑ สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต ๑ สาขาวิชาโบราณคดี ๑ และสาขาวิชาการ ๑ แต่ในปัจจุบันนี้ศึกษาอยู่เฉพาะ ๔ สาขาแรกเท่านั้น ผู้ที่ศึกษาจบหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญา “ศาสนศาสตร์บัณฑิต”  

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มีนาคม 2557 12:10:15 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 05 มีนาคม 2557 12:07:45 »

.


พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
(ต่อ)

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุ พระนคร เป็นสถาบันการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ครั้งแรกพระราชทานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” ต่อมาทรงมีพระราชทานประสงค์ที่จะขยายการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง จึงได้พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่เป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ แต่เพิ่งเปิดดำเนินการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในสมัยที่พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ท่านได้รับฉันทานุมัติจากพระเถระฝ่ายมหานิกายให้ยกฐานะการศึกษาเป็นขั้นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้เปิดให้มีการศึกษาเล่าเรียนเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  เป็นต้นมา โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ แผนก คือ
๑. แผนกบาลีสาธิตศึกษาหรือเดิมเรียกว่าแผนกบาลีมัธยมศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๖ ปี ให้การศึกษาบาลีและธรรมะร่วมกับวิชาตามหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป. ๕ – ๗)  และมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ. ๑ – ๓) รับนักเรียนที่สำเร็จประโยคประถมศึกษาตอนต้น (ป. ๔)  ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา การศึกษาในรูปนี้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก

๒. แผนกบาลีอบรมศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๒ ปี ให้การศึกษาบาลีและธรรมะร่วมกับวิชาตามหลักสูตรประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อเป็นพื้นฐานเข้าศึกษาต่อในขั้นบาลี  เตรียมอุดมศึกษา รับพระภิกษุสามเณรที่เป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ต่อไปจะเปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนบาลีอบรมศึกษา

๓. แผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๒ ปี ให้การศึกษาบาลีและธรรมะ ร่วมกับวิชาตามหลักสูตร ม.ศ. ๔ - ๕ เพื่อเป็นพื้นฐานเข้าศึกษาต่อในขั้นบาลีอุดมศึกษา รับผู้สำเร็จจากแผนกบาลีอบรมศึกษาหรือแผนกบาลีสาธิตศึกษาหรือผู้ที่ได้ ม.ศ. ๓ และเป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค  ต่อไปจะเปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา

๔. แผนกอบรมครูศาสนศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๒ ปี ให้การศึกษาบาลีและธรรมะ ร่วมกับวิชาตามหลักสูตร ป.กศ.สูง รับผู้สำเร็จจากแผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษาหรือ ม.ศ. ๕ และเป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ต่อไปจะเปลี่ยนฐานะเป็นวิทยาลัยครูศาสนศึกษา

๕. แผนกบาลีอุดมศึกษา มีกำหนดหลักสูตร ๔ ปี มีอยู่ ๓ คณะด้วยกัน เดิมมีเพียง คณะพุทธศาสตร์ คณะเดียว ต่อมาได้เปิดคณะครุศาสตร์และคณะเอเชียอาคเนย์ ขึ้นอีก ๒ คณะ และต่อมาคณะเอเชียอาคเนย์ได้เปลี่ยนเป็น คณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อขยายขอบข่ายการศึกษาของคณะนี้ให้กว้างขวางออกไป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนใช้การศึกษาตามระบบ Semester Plan ผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญา “พุทธศาสตรบัณฑิต”

นอกจากการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุและสามเณรโดยตรงแล้ว มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้ดำเนินงานเผยแผ่และสงเคราะห์ต่าง ๆ อีก  คือ
๑. แผนกธรรมวิจัย เป็นส่วนงานเพื่อการค้นคว้าและเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนทั่วไป เทศนา จัดพิมพ์หนังสือ และสอนภาษาบาลีภาคพิเศษสำหรับคฤหัสถ์ ต่อไปจะยกฐานะเป็นสำนักธรรมวิจัย
๒. แผนกโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ทั้งนี้เพื่อให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาแก่เยาวชนของชาติ รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ จนถึงขั้นอุดมศึกษา ในการเปิดโรงเรียนครั้งแรกมีนักเรียนเพียง ๗๒ คน กิจการในแผนกนี้ได้ขยายตัวออกไปและได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ปรากฏว่ามีนักเรียนถึง ๑,๓๒๑ คน เวลานี้ได้เกิดมีโรงเรียนพุทธศาสนาขึ้นมากมายหลายแห่งทั้งในพระนครและต่างจังหวัด เช่นที่ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วัดเบญจมบพิตร วัดยานนาวา เป็นต้น ดำเนินการตามแบบโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ตั้งขึ้นเป็นส่วนใหญ่ 

นอกจากนั้นกิจกรรมที่สำคัญๆ ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่ก็มีการออกนิตยสาร การพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมีโครงการปฏิบัติศาสนกิจในส่วนภูมิภาค โดยส่งผู้สำเร็จการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาแล้วไปช่วยปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดต่างๆ ตามที่ขอมา โครงการอบรมพระภิกษุเพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการทำร่วมกับสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย งานพระธรรมทูต โดยรับสนองงานคณะสงฆ์ในฐานะพระธรรมทูตสายที่ ๘ งานพระธรรมจาริก โดยส่งพระธรรมจาริกไปสงเคราะห์ชาวเขาตามที่คณะธรรมจาริกขอความร่วมมือ งานอบรมจริยธรรมนักเรียน โดยส่งพระวิทยากรไปอบรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ตามที่ได้รับการขอความร่วมมือจากกรมศาสนา  โรงเรียนและสถาบันต่างๆ เป็นต้น

ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้จัดให้มีการฉลองเป็นพิธีใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยได้สร้างโรงพิธีใหญ่ขึ้น ณ ท้องสนามหลวง  และนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์ทุกวัน ทั้งได้เชิญผู้แทนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกมาประชุมในงานรัฐพิธีนี้ด้วย งานรัฐพิธีได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐  นอกจากในกรุงเทพฯ แล้วก็ยังได้จัดให้มีการฉลองเช่นนี้ทุกจังหวัดด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าถึงกับผนวชเจริญรอยตามพระมหากษัตริยาธิราชในปางก่อน เป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนโสภณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัต วัดเบญจมบพิตร  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และมีพระสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกาเป็นพระอันดับ เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ในระหว่างที่ทรงผนวชพระองค์ได้เสด็จไปรับบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระอื่นๆ เหมือนกัน บางทีก็เสด็จไปรับบิณฑบาตตามที่ทั่วๆ ไป อันก่อให้เกิดความปีติปราโมทย์แก่ประชาชนยิ่งนัก

ในด้านการเผยแผ่ คณะสงฆ์ไทยโดยความอุปถัมภ์ของรัฐบาลและกรมการศาสนาก็ได้ดำเนินการในด้านการเผยแผ่ทั้งในและนอกประเทศ ในประเทศนอกจากจะมีการเผยแผ่ตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นี้ กรมการศาสนาและคณะสงฆ์ไทยได้จัดส่งคณะธรรมทูตหลายร้อยรูปออกจาริกประกาศศาสนธรรมไปทุกจังหวัดและได้เผยแผ่ไปจนกระทั่งถึงชาวป่า ชาวเขา แม้ว เย้า อีกด้วย ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก แห่งประเทศไทยพร้อมด้วยพุทธบริษัทได้ทรงมอบพระบรมสารีริกธาตุ ๓ พระองค์ และพระอรหันตธาตุ ๒ องค์ แก่นายอาวุธ  เพ็ชร์สิงห์ อุปทูตไทยประจำลังกา เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์ของมหาวิทยาลัยซีลอน ซึ่งพระบรมธาตุเหล่านี้ ทางลังกาได้ประกอบพิธีบรรจุไว้ที่องค์เจดีย์ในมหาวิทยาลัยซีลอนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๗ แล้ว ในการนั้น อธิบดีกรมวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากได้อัญเชิญพระบรมธาตุไปมอบให้แก่คณบดี  คณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซีลอน ก่อนหน้าจะอัญเชิญพระบรมธาตุไปยังมหาวิทยาลัยนั้น ก็ได้อัญเชิญออกให้ประชาชนถวายนมัสการที่มหาโพธิมนเทียรเป็นเวลา ๓ วัน นางสิริมาโว  บันดารานายเก นายกรัฐมนตรีได้นำพวงดอกไม้และเครื่องสักการะอื่นๆ ตามประเพณีไปถวายสักการะเป็นคนแรก

ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น คณะสงฆ์ไทยได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เข้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้ไปตั้งวัดขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้โดยได้รับความอุปถัมภ์จากประชาชนในมาเลเซีย สิงคโปร์ และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างดี ถึงกับทางการของประเทศมาเลเซียยอมให้คณะสงฆ์ไทยไปเปิดสนามสอบไล่ประโยคนักธรรมในประเทศตนได้เป็นเวลานานตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว และทางรัฐบาลไทยก็ได้ยื่นมือเข้าไปควบคุมดูแลและขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่พระเถรานุเถระไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยที่รัฐบาลของประเทศนั้นไม่ขัดขวางเลยแถมยังให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งเสียอีก ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่าชาวมาเลเซียทั้งที่เป็นไทย จีน และมลายู ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นรัฐบาลไทยและคณะสงฆ์ไทยก็มีความต่อไปอีกว่าควรจะได้มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นขั้นต่อไป เพื่อเป็นการใช้หนี้ต่อประชาชนชาวอินเดีย โดยทางรัฐบาลไทยตกลงจะสร้างวัดไทยขึ้นที่พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในเนื้อที่ราว ๑๑ ไร่เศษ และได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา สำหรับอุโบสถก็ได้ถอดแบบศิลปะไทยชั้นยอดสุดของชาติไทย คือ “แบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร” การก่อสร้างตามโครงการขั้นที่ ๑ ได้สำเร็จลุล่วงไปเมื่อปลายปีพ.ศ. ๒๕๐๒ คณะสงฆ์และทางราชการจึงได้จัดส่งคณะสงฆ์ไทยปัญจวรรค (๕  รูป) ไปประจำปฏิบัติศาสนกิจครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยชุดแรก และคณะสงฆ์ไทยชุดที่ ๒ ได้เดินทางไปอยู่ประจำ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยมีพระเทพวิสุทธิโมลี วัดมหาธาตุ เป็นหัวหน้าคณะ  เพื่อเป็นการผลัดเปลี่ยนกันบำเพ็ญศาสนกิจต่อมา

ณ วัดไทยพุทธคยานี้  มีอาคารสถานและสิ่งก่อสร้างหลายอย่างด้วยกัน คือ พระอุโบสถทรงจตุรมุข  แบบวัดเบญจมบพิตร กุฏิสงฆ์ ๑ หลัง อาคารที่พักสำหรับชาวพุทธไทย ๑ หลัง หอกลอง ๑ หอ หอระฆัง ๑ หอ สระน้ำหน้าพระอุโบสถ ๒ สระ กำแพงวัด ถนนคอนกรีต กัปปิยกุฎี และโรงครัว ไฟฟ้า ประปา  และยังมีโครงการขั้นที่  ๒  ที่จะต้องทำต่อไปอีกหลายอย่างด้วยกัน

โดยเหตุที่พระอุโบสถที่วัดไทยพุทธคยายังมิได้ผูกพัทธสีมาให้เรียบร้อยถูกต้องตามพระวินัย  หัวหน้าคณะธรรมทูตไทยประจำประเทศอินเดียในปัจจุบันจึงได้มีหนังสือติดต่อมาทางรัฐบาลไทยเพื่อดำเนินการผูกพัทธสีมาต่อไป ทางรัฐบาลได้เสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณา ทางมหาเถรสมาคมมีมติว่า การผูกพัทธสีมาของวัดต่างๆ ในประเทศไทยถือตามคติของเมืองไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศาสนูปถัมภก กล่าวคือ ทรงพระกรุณาโปรดให้ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะผูกวิสุงคามสีมานั้นทั้งหมดหรือบางส่วนให้เป็นพัทธสีมาก็ย่อมทำได้ พื้นที่วิสุงคามสีมาอันสงฆ์ผูกแล้ว เรียกว่า “พัทธสีมา” คือแดนที่ผูกแล้ว ถ้าสงฆ์ยังไม่ปรารถนาจะผูกเป็นพัทธสีมา พื้นที่วิสุงคามสีมาทั้งหมดที่ได้รับพระราชทานนั้นเรียกว่า “อพัทธสีมา” คือ แดนที่มิได้ผูก คตินี้ใช้อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันเช่นกล่าวมานี้

ตามหลักในทางพระวินัย การผูกพื้นที่ให้เป็นพัทธสีมาก็เพื่อสะดวกในการทำสังฆกรรมตามหลักพระวินัยเท่านั้น มิได้หมายความว่าสงฆ์เข้าถือเอาพื้นที่ซึ่งผูกเป็นพัทธสีมานั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน  กรรมสิทธิ์เดิมในที่แห่งนั้นมิได้เปลี่ยนแปลง เดิมเป็นของใครก็คงเป็นของผู้นั้น ต่างจากพื้นที่ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเพราะวิสุงคามสีมานั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสงฆ์

เนื่องจากมีหลักตามพระวินัยอยู่เช่นนี้ การที่สงฆ์จะผูกพัทธสีมาในที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ในเมื่อต้องการความสะดวกในการทำสังฆกรรม ไม่ได้กำหนดเจาะจงไปว่าจะต้องผูกพัทธสีมาในพื้นที่เฉพาะที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเท่านั้น

สำหรับวัดไทยพุทธคยาในประเทศอินเดีย พื้นที่ตั้งวัดเป็นเขตเช่าเป็นสัดส่วนอยู่แล้ว เมื่อสงฆ์ในวัดไทยพุทธคยาประสงค์จะผูกพัทธสีมาในพื้นที่เขตเช่า ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดย่อมทำได้ตามหลักพระวินัยโดยตรง แต่เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นที่เช่าจึงควรที่รัฐบาลแห่งประเทศไทยจะได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบเพื่อรักษามรรยาทและเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ซึ่งอาจคิดไปว่าการที่สงฆ์ผูกพัทธสีมาลงในที่พื้นที่เช่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ เจ้าของที่ดินควรจะได้รับทราบว่าการที่สงฆ์ผูกพัทธสีมาในที่ดินนั้นเพื่อความสะดวกในการทำสังฆกรรมเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของเจ้าของที่ดินโดยสมบูรณ์มิได้เปลี่ยนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของสงฆ์แต่ประการใดเลย

ทางคณะรัฐบาลไทย เมื่อได้รับทราบมติของมหาเถรสมาคมแล้วก็อนุมัติส่วนการเงินให้ติดต่อทำความตกลงกับสำนักงบประมาณและสำหรับค่าเครื่องไทยทานในการบำเพ็ญกุศลรัฐบาลก็ควรออกด้วย ทางคณะสงฆ์ได้มอบให้สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นประธานดำเนินงานเรื่องนี้  โดยได้นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ และข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการไปร่วมประกอบพิธีนี้ กับได้นิมนต์พระสงฆ์ต่างประเทศและพระสงฆ์ในประเทศอินเดียร่วมพิธีนี้ด้วย ทางคณะสงฆ์มีพระที่จะไปร่วมประกอบพิธีสังฆกรรมผูกพัทธสีมา ๗ รูป ด้วยกัน โดยมีสมเด็จพระวันรัต เป็นหัวหน้าคณะ ทางกระทรวงศึกษาธิการก็มี นายเชื้อ สาริมาน รองปลัดกระทรวง และนายวิเชียร วชิรพาหุ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายฆราวาส

ก่อนที่จะอัญเชิญลูกนิมิตไปยังวัดไทยพุทธคยานั้น สมเด็จพระวันรัต ประธานฝ่ายสงฆ์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีพิธีปิดทองลูกนิมิตและสมโภชใบสีมาหินอ่อน เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ณ วัดมหาธาตุ พระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธุชนได้ร่วมพิธีงานรัฐพิธีฝังลูกนิมิตนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ถึง ๒ มีนาคม ๒๕๐๙ รายได้จากงานการกุศลครั้งนี้ได้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิ” ของวัดไทยพุทธคยา อินเดีย โดยตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๒ สถาน ดังนี้
๑. ทุนบุญนิธิบำรุงวัดไทยพุทธคยา - อินเดีย
๒. ทุนบุญนิธิฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

งานรัฐพิธีผูกพัทธสีมา (ฝังลูกนิมิต) ที่วัดไทยพุทธคยา ตรงกับวันมาฆบูชา ๒๕๐๙ โดยเริ่มพิธีในวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ และเสร็จพิธีในวันมาฆบูชาที่ ๖ มีนาคม ๒๕๐๙ ในการนี้มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปร่วมในงานนี้อย่างคับคั่งเป็นประวัติการณ์ สมเกียรติ สมฐานะ และเป็นที่เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป

นอกจากคณะสงฆ์ไทยจะส่งพระสงฆ์ไทยประกาศพระศาสนาในประเทศอินเดียและสหพันธ์มาเลเซียแล้ว ก็ยังส่งคณะธรรมทูตไปช่วยจัดการศึกษาทางพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวอีกด้วย และต่อมาก็ได้ส่งคณะธรรมทูตไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอังกฤษอีก ในการนี้มีพระราชสิทธิมุนี (โชดก ป.ธ. ๙) วัดมหาธาตุ เป็นหัวหน้า มีพระมหาวิจิตร ติสฺสทตฺโต พธ.บ. เป็นพระอนุจร  ทั้งนี้โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพุทธสมาคมในกรุงลอนดอนเป็นอย่างดี ปรากฏว่าคณะธรรมทูตชุดนี้ปฏิบัติงานได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจยิ่ง ไม่เพียงในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น อีกด้วย การสอนหนักไปในทางปฏิบัติ ปรากฏว่ามีชาวต่างประเทศมาเข้าปฏิบัติกันมากและมีหลายท่านที่ได้เข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙  หัวหน้าคณะธรรมทูตได้ขอพุทธศาสตร์บัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปช่วยงานด้านเผยแผ่นี้อีก ๒ รูป คือ พระมหาวรศักดิ์  จนฺทมิตฺโต กับ พระมหาบุญช่วย ปุญฺญาทโร  ซึ่งต่อมาคณะธรรมทูตชุดนี้ได้เปิดสอนภาคปฏิบัติแก่บุคคลทั่วไปทุกวันเสาร์ขึ้น ซึ่งก็นับว่าได้ผลดียิ่งขึ้นตามลำดับ

ในด้านภายในประเทศ คณะสงฆ์ได้มีบทบาทในการปฏิบัติศาสนกิจรูปต่างๆ  เช่น ในรูปพระธรรมทูตบ้าง ในรูปคณะธรรมจาริกบ้าง ในรูปหน่วยพัฒนาทางจิตบ้าง และที่นับว่าน่าสนใจมากก็คือ  อภิธรรมมูลนิธิมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งมีสำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุ พระนคร มูลนิธิแห่งนี้ได้จัดให้มีการอบรมพระนักศึกษาหน่วยพัฒนาทางจิตเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้เปิดการอบรมติดต่อกันมาทุกปี คราวละประมาณ ๓ เดือน โดยอบรมทั้งในด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ  งานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของมูลนิธิก็คือ ได้เปิดวิทยาลัยจิตตภาวันขึ้นที่ อ. บางละมุง จ. ชลบุรี 

นอกจากนั้นทางวิทยาลัยยังได้ดำริจะจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรขึ้นเพื่อให้เด็กลูกชาวไร่ชาวนาที่ยากจนได้มีโอกาสศึกษาในวิชาเกษตรกรรมสมัยใหม่ ถ้าไม่มีที่ทางของตนเองก็อาจทำนาในที่ของวิทยาลัย  ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อถวายเป็น “ที่กัลปนาผล” แก่วิทยาลัยกว่า ๔,๐๐๐ ไร่แล้ว

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ทางมูลนิธิก็มีโครงการที่สำคัญ คือ การชำระและแปลคัมภีรท์ทางพระพุทธศาสนา เช่น อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา เป็นต้น จากอักษรขอมเป็นอักษรไทย และแปลออกเป็นภาษาไทย กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ปรัชญา และวัฒนธรรมไทย เป็นต้น 

นับว่าการพระพุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา และการเผยแผ่ มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าไปไกลยิ่งกว่าการพระพุทธศาสนาในประเทศใดทั้งสิ้น

ในด้านการปกครอง ได้จัดการปกครองให้มีระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ขึ้น ซึ่งมีผลว่า นอกจากจะมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระประมุขของคณะสงฆ์ไทยอย่างที่ปฏิบัติสืบๆ มาแต่โบราณกาลแล้ว ยังมีมหาเถรสมาคม ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป ข้อภารธุระในพระศาสนาหรือในสังฆมณฑล ถ้าพระมหาเถระตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปในมหาเถรสมาคมนั้นวินิจฉัยตัดสินแล้วให้ถือเป็นเด็ดขาด จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่ออีกมิได้ และมีการปกครองลดหลั่นกันลงมา

ในการบริหารคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ก็มีเจ้าคณะตรวจการในภาคต่างๆ  เจ้าคณะตรวจการภาคผู้ช่วย เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส มีอำนาจลดหลั่นกันลงมา
ในฝ่ายคณะวินัยธร ก็มีอำนาจวินิจฉัยอธิกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นอิสระในการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและสังฆาณัติ
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเรียกว่า  “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕”  อันมีผลทำให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔ รูป และไม่เกิน ๘ รูป เป็นกรรมการ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตการปกครองเป็นภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยลำดับ และมีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล เป็นผู้รับผิดชอบตามลำดับ ถ้ามหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้นๆ ก็ได้

การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้ ยังคงใช้ปฏิบัติอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้


จบบริบูรณ์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 4.446 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 01 ตุลาคม 2566 06:43:34