[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 04:51:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองตรัง เมื่อวันวาน  (อ่าน 6681 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 มีนาคม 2557 16:27:33 »

.


เมืองตรัง


เมืองตรัง ยามอรุณรุ่ง (ถ่ายจากห้องพักโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา)

เมือง 'ตรัง' เมื่อวันวาน

เมืองตรัง
จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญมาแต่โบราณ มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ และผลผลิตจากทะเล  ราษฎรประกอบอาชีพสำคัญคือ การทำสวนยางพารา สวนกาแฟ ปาล์มน้ำมัน พริกไทย การประมง อุตสาหกรรมและทำการค้า

ชื่อจังหวัดตรังนั้น มีผู้สันนิษฐานถึงที่มาแตกต่างกันคือ ตรังมาจากคำว่า ตรังคปุระ เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าการวิ่งห้อของม้าหรือการเคลื่อนตัวของคลื่น ซึ่งพ้องกับตราประจำเมืองในสมัยโบราณคือตราม้า อีกประการหนึ่งว่ามาจากคำว่า ตรังค์ แปลว่าลูกคลื่น ตามลักษณะภูมิประเทศทางตอนเหนือซึ่งเป็นเนินสูงต่ำสลับกัน ส่วนอีกนัยหนึ่งมาจากภาษามลายูว่า ตรังเค (TRANGUE) แปลว่ารุ่งอรุณ มีที่มาว่าพ่อค้าต่างชาติเดินเรือเข้ามาค้าขายพอถึงปากน้ำตรังก็สว่างพอดีจึงร้องบอกกันว่า ตรังเค หมายถึงสว่างแล้ว

ส่วนหลักฐานที่เป็นเอกสารคือ บันทึกของปโตเลมีที่เขียนตามคำบอกเล่าของนักเดินเรือชาวกรีกชื่อ อเล็กซานเดอร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ได้กล่าวถึงเมืองตะโกลา ว่าเป็นเมืองท่าของสุวรรณภูมิ และนักโบราณคดีได้ตีความจากสถานที่ตั้งที่กล่าวถึง สันนิษฐานว่าเมืองตะโกลาคือชุมชนในบริเวณเมืองตรัง


ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเมืองตรังไว้ว่า เมื่อพระธนกุมารและพระนางเหมมาลา พระราชโอรสและพระราชธิดาของพญาโคสีหราช นำพระทันตธาตุหนีข้าศึกที่ยกกองทัพมาแย่งชิงแลฆ่าพญาโคสีหราช พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ ทั้งสองคนได้ลงเรือหนีไปลังกาตามคำสั่งของพระราชบิดาแต่เรือมาอับปางลง เมื่อขึ้นบกได้เดินทางต่อไปถึงหาดทรายแก้ว พบกับมหาเถรพรหม แล้วเดินทางไปจนถึงเมืองตรังก่อนจะลงเรือไปยังลังกา

ในจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองขึ้น ๑๒ เมือง เรียกเมือง ๑๒ นักษัตร แต่ละเมืองมีรูปสัตว์ประจำปีนักษัตรเป็นตราประจำ เมืองตรังเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร มีตราม้าเป็นตราประจำเมือง

จากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าว พอจะสันนิษฐานได้ว่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณชายฝั่งตะวันตกทางภาคใต้ของไทย ปรากฏชุมชนที่เป็นเมืองท่าสำคัญ คือ เมืองตรัง และเมืองตะกั่วป่า เมืองตรังนั้นเป็นเมืองท่า คุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรที่ผ่านจากฝั่งตะวันตกทางมหาสมุทรอินเดีย มาออกทางอำเภอทุ่งสงและแคว้นนครศรีธรรมราชด้านฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย  การขนถ่ายสินค้าตามเส้นทางสายนี้สะดวกกว่าเส้นทางอื่นเพราะไม่มีเทือกเขาใหญ่ขวางกั้น

ในสมัยอยุธยา ตรังเป็นเมืองขึ้นและเมืองหน้าด่านของเมืองนครศรีธรรมราช และเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองนครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นอิสระ  ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามได้สำเร็จและรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น บริเวณเมืองตรังมีเมืองอยู่สองเมืองคือ เมืองตรัง กับเมืองตรังภูรา  ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระภักดีบริรักษ์ เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รวมเมืองสองเมืองเข้าด้วยกัน เรียกว่าเมืองตรังภูรา ดังปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ จ.ศ.๑๒๑๐ เลขที่ ๑๗๐ ว่า “แต่เดิมเมืองตรังแบ่งออกเป็น ๒ เมือง คือ เมืองภูรา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็กแต่มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นที่เก็บมูลค้างคาวสำหรับทำดินปืนและที่ร่อนแร่ดีบุกด้วยอีกเมืองหนึ่ง และเมืองตรังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มีบริเวณกว้างขวางอีกเมืองหนึ่ง...ทั้งเมืองตรังและเมืองภูรา แต่เดิมมามีผู้รักษาเมือง เมืองละคน ครั้นต่อมาโปรดให้พระภักดีบริรักษ์ (นายจันมีชื่อมหาดเล็ก) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรังกับเมืองภูราเข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่าเมืองตรังภูรา...”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ย้ายเมืองตรังมาอยู่ที่ควนธานี ซึ่งปรากฏในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๓๕๔ ว่า “หลวงอุไภยธานี” ศักดินา ๑๖๐๐ ผู้พยาบาลเมืองตรังหรือเจ้าเมืองตรังที่เมืองควนธานีนั้น สันนิษฐานว่าพระยาตรัง (สีไหน) เป็นเจ้าเมืองผู้เริ่มสร้างเมืองแต่ต้องย้ายไปเสียก่อน และพระยานคร (น้อย) ได้กราบทูลขอให้บุตรชายของตนไปปกครองเมืองตรัง คือ พระอุไภยธานี (ม่วง) เมืองตรัง ที่เมืองควนธานีเป็นเมืองที่มีความเป็นปึกแผ่น ดังปรากฏศาลหลักเมืองอยู่ แสดงถึงความมั่นคงของเมือง และใน พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษส่งร้อยเอกเจมส์ โลว์ เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรี และใน พ.ศ. ๒๓๖๙ ได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เข้ามาขอเปลี่ยนสนธิสัญญา พระยานคร (น้อย) ได้จัดการให้รับราชทูตทั้งสองคราวที่เมืองตรัง

หลังจากนั้นเมืองตรังที่ควนธานีกลับทรุดโทรมลง เพราะผู้ปกครองคนต่อๆ มา ไม่เข้มแข็งพอ โจรผู้ร้ายชุกชมและถูกโจรมลายู คือ ตนกูเด่นและโจรสลัดหวันมาลีเข้าโจมตี



วัฒนธรรมท้องถิ่น ไปทางภาคใต้จะเห็นนกกรงหัวจุกแขวนไว้ตามชายคาบ้านเรือน
สอบถามหญิงชาวบ้านที่อำเภอห้วยยอด จ.ตรัง ว่า เหตุใดคนภาคใต้จึงนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันมาก
เกี่ยวข้องกับความเชื่ออย่างไรหรือเปล่า? ... ได้รับคำตอบว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อ
แต่นิยมเลี้ยงเพื่อฟังเสียงและแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล นกตัวใดมีลักษณะดีต้องตามตำรา
มีราคาค่าตัวสูงถึงตัวละหลายแสนบาท...ส่งท้ายด้วยเสียงโอดครวญว่า
หนูรู้สึกว่ามีบาป เอาเขามากักขังทรมาน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะสามีนำมาเลี้ยง


สามล้อเครื่องรับจ้าง (รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ) ในเมืองตรัง





เยี่ยมบ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
อำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง



พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ  ระนอง)
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ  ระนอง)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้เสด็จมาถึงเมืองตรัง ซึ่งตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลควนธานี มีพระยาตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระองค์มีพระราชดำริว่า เมืองตรังอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมหนัก ไม่อยู่ในลักษณะที่จะบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ  ระนอง) ขณะเป็นพระอัษฎงคตทิศ เจ้าเมืองกระบุรี มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เห็นว่าเมืองตรังที่ควนธานี ตั้งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะขยายเมืองให้ใหญ่โตขึ้นและเจริญรุ่งเรืองได้ จึงกราบบังคมทูลรายงานขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายเมืองตรังจากเมืองควนธานี ไปตั้งที่ตำบลกันตัง (ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกันตัง ปัจจุบัน) เพราะอยู่ในบริเวณใกล้ปากอ่าว เหมาะแก่การเป็นเมืองท่าค้าขาย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ได้ย้ายเมืองตรังจากตำบลควนธานีมาอยู่ที่อำเภอกันตังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และได้ปรับปรุงและปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมเมืองประเหลียนเข้าเป็นเมืองเดียวกับเมืองตรัง  และได้สร้างสะพานเทียบเรือขึ้นใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานนามว่า “สะพานเจ้าฟ้า” และที่สะพานนี้เองพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ถูกหมอจันทร์ แพทย์ประจำเมืองตรังยิงถึงแก่อนิจกรรมพร้อมกับเจ้าเมืองตรังสมัยนั้น คือพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


พระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นเจ้าเมืองที่มีความสามารถมาก ได้พัฒนาเมืองตรังให้เจริญในทุกๆ ด้าน ทั้งการค้า การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ส่งเสริมการศึกษาของราษฎรและสนับสนุนการประกอบสัมมาชีพ ท่านให้ทุกบ้านทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ปลูกพริก มะเขือ มะกรูด ตะไคร้ ฯลฯ อย่างละ ๕ ต้น และเลี้ยงไก่ ๕ แม่  ชาวบ้านทำได้ผลก็นำมาให้ เพราะนึกว่าท่านให้ทำแล้วจะเก็บเอา แต่ท่านไม่รับให้เก็บไว้กินเอง เหลือกินก็ให้ขาย ทำให้ชาวบ้านมีกินมีใช้และได้เงินด้วย

อีกครั้งหนึ่งท่านออกตรวจราชการ เห็นต้นไม้ตามบ้านมีกาฝากขึ้นเต็ม ก็ให้คนไปประกาศว่าท่านป่วย ต้องการกาฝากใช้ทำยา ชาวบ้านเก็บกาฝากส่งให้ทุกวัน พอเห็นว่ากาฝากน่าจะหมดแล้ว ท่านก็ให้แจ้งว่าหายป่วยแล้ว ต้นไม้ของชาวบ้านก็งอกงาม  นี่คือตัวอย่างกุศโลบายอันชาญฉลาดที่พระยารัษฎาฯ ใช้ในการปกครอง

ประการสำคัญคือพระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้ส่งเสริมการปลูกยางพาราขึ้นในจังหวัดตรังและต่อมาได้ขยายไปจนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ นำสู่กำเนิดยางพาราในประเทศไทย  การปลูกยางพารานั้นเริ่มจากเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระยารัษฎานุประดิษฐ์เดินทางไปดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เห็นว่า การปลูกยางพาราเป็นอาชีพที่ดีน่าจะนำต้นยางมาปลูกในประเทศไทยบ้าง แต่ไม่สามารถนำพันธุ์เข้ามาในครั้งนั้นได้ จน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระสถลสถานพิทักษ์ (ยู่เกี๊ยต ณ ระนอง) บุตรบุญธรรมของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย และได้นำกล้าพันธุ์ยางพาราเข้ามาปลูกในบริเวณบ้านของท่านเป็นการทดลองก่อน ต่อมาขยายเนื้อที่เป็น ๔๕ ไร่ เมื่อเห็นได้ผลพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จึงได้ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นอาชีพสำคัญของราษฎร



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเกียรติยศตั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
เป็นองคมนตรีครั้งแรกแห่งรัชกาล (๑ ใน ๙ ท่าน)
ในเวลากลางวันวันที่ ๑๐ ธันวาคม (ไม่ระบุปี พ.ศ.)
เมื่อพระฉันเพลแล้ว (งานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี" นามเดิม "คอซิมบี้" แปลว่า ผู้มีจิตใจงาม เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นบุตรสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) จีนฮกเกี้ยนที่ได้รับบรรดาศักดิ์เลื่อนฐานะจากพ่อค้าเป็นขุนนาง โดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระยารัตนเศรษฐี และพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี จางวางผู้กำกับเมืองระนอง ตามลำดับ เป็นต้นสกุล ณ ระนอง กับมารดาเป็นชาวนาชื่อ กิ้ม

พ.ศ. ๒๔๒๕ หลังจากบิดาถึงอนิจกรรม เข้ารับราชการในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ โดยพี่ชายคือ คอซิมก๊อง เจ้าเมืองระนองขณะนั้น (ต่อมาเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ราชทินนามบรรดาศักดิ์ พระยารัตนเศรษฐี และพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สืบจากบิดา) นำตัวไปถวายเป็นมหาดเล็ก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ "หลวงบริรักษ์โลหะวิสัย" ผู้ช่วยเมืองระนอง แล้วเลื่อนเป็นที่ "พระอัษฎงคตทิศรักษา" เจ้าเมืองกระบุรี

งานราชการของท่านได้แสดงความสามารถสร้างบ้านบำรุงเมืองให้เป็นที่ปรากฏ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ "พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี" เจ้าเมืองตรังในปี พ.ศ.๒๔๓๓ และต่อมา พ.ศ.๒๔๕๕ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ปกครองภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ ตะกั่วป่า ระนอง สตูล

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นเจ้าเมืองตรังอยู่ ๑๒ ปี ก็โปรดให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ใน พ.ศ.๒๔๔๕ หลังจากนั้นเมืองตรังที่กันตังก็เริ่มร่วงโรยไปอยู่ที่บางรัก ตำบลทับเที่ยง คือที่ตั้งตัวจังหวัดตรังในปัจจุบัน  ดังเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมือ พ.ศ.๒๔๕๒ ทรงกล่าวถึงสภาพของเมืองตรังที่กันตัง กับตลาดบางรักว่า “...ต่อบ่ายจึงได้ไปเที่ยวดูสถานราชการต่างๆ คือ ศาลาว่าการเมืองแลที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่บนเนินเดียวกัน แล้วไปดูเรือนจำซึ่งตั้งอยู่เชิงเนิน โรงตำรวจภูธรตั้งอยู่บนเนินอีกเนินหนึ่งแลลงไปเห็นเรือนจำได้ถนัด ออกจากที่เรือนจำได้ลงไปที่ทางริมน้ำผ่านตลาดซึ่งเป็นโรงจากเหี่ยวๆ สู้ตลาดบางรักไม่ได้...”

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ขณะนั้นอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมืองตรังซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำไม่ปลอดภัยเพราะข้าศึกโจมตีได้ง่าย ประกอบกับเวลานั้นเกิดอหิวาตกโรคระบาด  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองตรังจากกันตังไปตั้งที่ตลาดบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดในปัจจุบัน ส่วนกันตังมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตรัง แต่ยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นชุมทางขนส่งทั้งทางน้ำและทางบกเพราะตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ และทางรถไฟซึ่งแยกมาจากชุมทางทุ่งสงจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมาสุดสายที่อำเภอกันตัง



ข้อมูล
๑.หนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย จัดพิมพ์เผยแพร่โดย กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
๒.หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม)  
   จัดพิมพ์เผยแพร่โดย ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
๓. หนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ของ ราม วชิราวุธ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
๔. หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันจันทร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
๕.ข้อมูลจากแผ่นป้ายจารึกในพิพิธภัณพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
   อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
๖.ข้อมูลประชาสัมพันธ์ของสถานีรถไฟกันตัง





เรือนพักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ  ระนอง)
ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตรัง
ปัจจุบันจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ  ระนอง)
ตัวเรือนและเครื่องเรือนทุกชิ้นเป็นของดั้งเดิมที่ท่านใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ซึ่งได้รับการดูแลและบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี ของผู้สืบสายสกุล














ห้องครัว มีกระทะใบบัวขนาดใหญ่
คนที่มีบริวารมากในสมัยก่อน ใช้กระทะใบบัวสำหรับหุงข้าวเลี้ยงลูกน้อง คนรับใช้
 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 กันยายน 2558 15:23:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 มีนาคม 2557 19:20:03 »

.



 
สักการะศาลหลักเมืองตรัง
ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง

ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เดิมเป็นที่ตั้งเมืองเก่าก่อนย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่อำเภอกันตัง และเป็นศาลหลักเมืองเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรี จึงเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่หลักเมือง ผู้ที่มีบุตรยากมักจะมาอธิษฐานขอบุตรกับเจ้าแม่หลักเมืองแห่งนี้

ประวัติการตั้งศาล เป็นไปตามโบราณประเพณี ศาลแห่งนี้ได้ฝังทั้งเป็นผู้ที่ถูกเรียกชื่อแล้วขานรับ ซึ่งเป็นสตรีและขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์ (ผู้โพสท์ลืมชื่อเสียสนิท) ซึ่งเรื่องราวนี้คล้ายกับตำนานการสร้างศาลหลักเมืองแห่งเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่มีเจ้าแม่ศรีเมืองเป็นผู้สละชีพ

• เมืองตรังในสมัยโบราณ เป็นหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตก ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๕๔ พระยานคร (น้อย) ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่งหลวงอุภัยราชธานีมาเป็นผู้พยาบาลเมืองตรังโดยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี การฝังเสาหลักเมืองและสร้างศาลไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนคงจะเกิดขึ้นในสมัยนั้น

พ.ศ.๒๔๓๖ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้) ผู้ว่าราชการเมือง ย้ายที่ตั้งเมืองไปที่ตำบลกันตัง

ศาลหลักเมืองยังคงเป็นที่เคารพบูชากันมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงพ.ศ.๒๕๐๔ จังหวัดตรังได้สร้างอาคารหลักเมืองขึ้นใหม่เป็นเสาคอนกรีต

พ.ศ.๒๕๓๕ จังหวัดตรังเห็นว่าศาลหลักเมืองตรังเป็นโบราณสถานสำคัญ ควรบูรณะให้สง่างามเพื่อเป็นที่สักการบูชา จึงสรรหาเสาหลักเมืองใหม่ ซึ่งได้จากต้นราชพฤกษ์ที่โรงเรียนบ้านหนองไทร อำเภอนาโยง แล้วประกอบพิธีตัดไม้ทำเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฏาคม ๒๕๓๕

ต่อมาได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๖













สถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน
ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ โดยมีรถไฟสายกรุงเทพฯ - กันตัง เดินรถให้บริการทุกวัน
แม้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่ได้เดินทางโดยรถไฟก็ตาม แต่สถานีรถไฟแห่งนี้
ยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกแห่งการมาเยือน
 
สถานีรถไฟกันตัง

สถานีรถไฟกันตัง สถานีรถไฟสุดทางของสายใต้ (ฝั่งทะเลอันดามัน) อยู่ที่ถนนหน้าค่าย ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖

ในอดีตถูกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร จากตัวสถานีถึงท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านลุกล้ำที่และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้ว

การรถไฟไทยยุคแรกๆ  หัวรถจักรรุ่นต่างๆ ตลอดจนโบกี้รถไฟผลิตในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรืออินเดีย โดยจะมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าที่กันตังก่อนออกวิ่งบนรางรถไฟต่อมายังกรุงเทพฯ อีกที

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเส้นทางในการส่งสินค้าแปรเปลี่ยนไปตามแหล่งผลิต เช่น การที่การรถไฟหันไปสั่งหัวรถจักรมาจากญี่ปุ่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เส้นทางรถไฟฝั่งอันดามันที่ต่อเชื่อมไปยังท่าเรือกันตังถูกทิ้งร้างลงดังเช่นทุกวันนี้

ตัวสถานีรถไฟกันตังเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล อันเป็นคู่สีหลักที่คุ้นตาของอาคารรถไฟทั่วไป ตัวอาคารแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนตัวอาคารที่ทำเป็นห้องมีผนังไม้ตีตามตั้ง โชว์แนวเคร่าพร้อมช่องลมระแนงไม้ตีทแยง บานประตูไม้แบบเก่า ส่วนที่เป็นห้องโถงมีรั้วลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนด้านหลังอาคารเป็นชานชาลามีหลังคาจั่วคลุมแยกต่างหาก โดยเสารับหลังคาชาลานี้มีค้ำยันไม้ฉลุตกแต่งให้กลมกลืนกับตัวอาคาร

ภายในสถานียังพอมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตเหลืออยู่บ้าง

โดยภาพรวมแล้วยังรักษาเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้ได้เป็นอย่างดี นับเป็นสถานีรถไฟที่ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันมีความสวยงามเป็นพิเศษ  จากสถานะที่มีความสำคัญต่อกิจการรถไฟดังที่กล่าวมา ทำให้สถานีรถไฟเล็กๆ แห่งนี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดตรัง จากกรมศิลปากรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา



• สุขใจได้กิน
กินน้ำชา-ติ่มซำ-หมูย่างเมืองตรัง



หมูย่างเมืองตรัง




ตรังมีวัฒนธรรมการกินอาหารเช้าแบบท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร ที่ต้องมีเป็นหลัก นั่นคือกาแฟ ติ่มซำ หมูย่าง และปาท่องโก๋ ถ้าจะพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ มักไปนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ  ซึ่งกาแฟนั้นถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมของชาวตรังทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเช้าสายบ่ายเย็น ค่ำมืดดึกดื่น เป็นได้เห็นคนตรังมานั่งรวมตัวกันจิบกาแฟและพูดคุยกัน

ซึ่งเรื่องกินกาแฟของคนตรังนั้นถึงขนาดว่า ถนนทุกสายในเมืองตรังเดินไปทุก ๑๐๐ เมตร เป็นได้เจอกับร้านกาแฟแน่นอนส่วนติ่มซำที่กินคู่กับกาแฟนั้นก็มีให้เลือกกินทั้งขนมจีบเหลือง ขนมจีบขาว(ฮะเก๋า) เต้าหู้ปลายัดไส้ กุยช่าย ปูอัดยัดไส้  ปอเปี๊ยะทอด บะจ่าง ซาละเปา ฯลฯ จิ้มกับน้ำจิ้มสีแดงที่คนตรังเรียกชื่อด้วยสำเนียงจีนกวางตุ้งว่า ก้อมเจือ

อาหารอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในมื้อเช้าและนับเป็นของกินที่ขึ้นชื่อ นั่นคือ "หมูย่าง" ที่เป็นสูตรพิเศษของเมืองตรัง

คนเมืองตรังกินหมูย่างมานานเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว โดยในอดีตคนตรังเชื้อสายคนจีนซึ่งอพยพมาจากเมืองจีนได้นำวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงวิธีการปรุงอาหารมาด้วย อย่างหนึ่งนั้นคือการทำหมูย่างสูตรกวางตุ้ง ซึ่งจะหมักด้วยเครื่องเทศปรุงยาจีนและน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ได้รสชาติหวานกลมกล่อม มีกลิ่นหอมถึงเครื่อง รสหวาน และไม่คาว ส่วนที่หนังหมูจะใช้เข็มเล็กๆ แทงให้ทั่ว เพื่อเป็นการระบายอากาศและทำให้น้ำมันได้ซึมออกมา แล้วนำไปย่างในเตาที่ออกแบบพิเศษซึ่งจะทำให้ความร้อนถ่ายทอดเข้าสู่ตัวหมูได้สม่ำเสมอ    

ลักษณะเด่นของหมูย่างเมืองตรังจึงกรอบนอกนุ่มใน ไม่ฉ่ำน้ำ ไม่สุกๆ ดิบๆ มีชั้นมันน้อย ซึ่งถ้าจะให้อร่อยจะต้องทานทั้งสามชั้น คือ หนัง มัน เนื้อ และไม่ต้องกินคู่กับน้ำจิ้มใดๆ เลย  ไม่เพียงเป็นของกินมื้อเช้าเท่านั้นแต่หมูย่างยังเป็นอาหารที่ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ซึ่งสืบทอดปฏิบัติกันมายาวนาน...


ข้อมูล : สำนักงานจังหวัดตรัง (ศาลากลางจังหวัด)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤศจิกายน 2561 10:21:02 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.477 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 06 เมษายน 2567 14:10:39