จดหมายจากท่าน ว.วชิรเมธี กับ คุณโดม วุฒิชัย

(1/3) > >>

หมีงงในพงหญ้า:
Tweet

เนื้อหานานแล้วนะครับ ตั้งแต่ปี 50 สมัยที่จตุคามกำลังดัง

เป็นการตอบจดหมายที่ดีมาก ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปหลาย ๆ อย่าง เลยอยากให้ลองอ่านกันดูครับ

หมีงงในพงหญ้า:
เจริญพร คุณโดม วุฒิชัย

ก่อนอื่นอาตมภาพคงต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่ทอดเวลาออกไปอย่างเนิ่นช้าเหลือเกินสำหรับการตอบจดหมายของคุณโยม แต่การที่ช้าออกไปนั้นมีเหตุผลอยู่อย่างน้อย ๓ ประการ นั่นคือ (๑) เมื่อแรกที่จดหมายมาถึงนั้น เป็นช่วงเวลาที่อาตมภาพเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจยังประเทศภูฏานเป็นเวลา ๒ อาทิตย์ (๒) หลังกลับมาเมืองไทยแล้วก็ยังคงมีศาสนกิจรัดตัวมากเสียจนแทบหาเวลาลงนั่งเขียนอะไรยาวๆ ได้ยากเหลือเกิน

สภาพเช่นนี้ทำให้เข้าใจท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมากว่า ทำไมในช่วงหลังท่านจึงใช้วิธีพูดแทนการเขียนและในที่สุดก็เลิกเขียนหนังสือแต่ใช้วิธี “พูดหนังสือ” แทนอย่างสิ้นเชิง และ (๓) ต้องการสังเกตปรากฏการณ์ “จตุคามรามเทพ” ให้ถึงที่สุดก่อนว่า เมื่อกระแสนี้ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ

ซึ่งมาถึงนาทีนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าการทอดเวลาออกไปด้วยเหตุผลในข้อ ๓ นั้น นับว่ามีคุณมหาศาล เพราะทำให้อาตมภาพได้ทันอยู่ ทันดู ทันรู้ ทันเห็น “ปาฏิหาริย์” ของจตุคามรามเทพอย่างหมดเปลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การได้เห็นหลวงปู่นริศ รำและร้องมโนราห์, เห็นหลวงหนุ่ยยิงปืน กรีดหน้า ประทับทรง และแสดงอุปเทห์ (วิชาพิศดาร) เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เห็นอดีตเสือดำที่มาบวชเป็นพระเสกน้ำมนต์พิสดารจนล้นออกจากบาตร เห็นพระอาจารย์อ๊อดเสกตะกรุดลูกปืนผสมจตุคามฯ เห็นพระสงฆ์จำนวนหนึ่งขึ้นไปเสกจตุคามบนเครื่องบินโบอิ้ง, F 16 และในเรือรบหลวงของแผ่นดิน กระทั่งว่าเดินทางไปเสกกันตามสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอินเดีย อินโดนีเซีย นอร์เวย์ และท่ามกลางทะเลลึกซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสะดือทะเล และเหนืออื่นใดก็คือ ได้ทันเห็นบันใดขึ้นพระธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชทรุด พระมหาธาตุเอียง (ทรุด) อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปรากฏการณ์อันสะท้อนให้เห็นถึง “ปาฏิหาริย์” แห่งการเสกจตุคามรามเทพเหล่านี้เอง ที่ในที่สุดได้เป็น “ตัวเร่ง” ให้กระแสจตุคามฯ ทรุดฮวบลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดนำมาสู่การตรวจสอบของมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระแสแห่ง “มโนธรรม” ของสังคมจากผู้รู้เริ่มตีกลับ ทำให้เสียงแห่งความถูกต้องดีงาม เริ่มมีคนได้ยิน และสุดท้ายนำไปสู่ภาวะ “ขาลง” อย่างรวดเร็วของจตุคามรามเทพอย่างที่เห็นในวันนี้

บางครั้ง การรอคอยด้วยความอดทนและด้วยความเข้าใจในบางกรณี ก็ทำให้เราได้เห็นการคลี่คลายของปัญหาต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับ “ปุจฉา” ที่คุณโยมถามมานั้น อาตมภาพขอตอบตามลำดับดังต่อไปนี้

หมีงงในพงหญ้า:
(๑) การปลุกเสกที่แท้จริงในความหมายของพุทธศาสนานั้น คืออะไร ?

วิสัชนา : คำว่า “ปลุกเสก” ไม่เคยมีอยู่ในสารบบคำสอนของพุทธศาสนา ดังนั้น จึงไม่มีความหมายพิเศษที่จะต้องตอบและจะต้องตีความ ขอให้เข้าใจสั้นๆ เพียงว่า การ “ปลุกเสก” นั้น มีขึ้นมาในพุทธศาสนาแบบไทยๆ ของเรานี่เอง

หมีงงในพงหญ้า:
(๒) บรรดาสาวกที่กำลังเรียกร้องศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ และบรรดาเกจิอาจารย์ทั้งหลายที่รับปลุกเสกจตุคามรามเทพเดือนชนเดือนไม่มีวันว่างเว้นนั้น เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรแก่สาวกและแก่ชาวโลก ?

วิสัชนา : พระสงฆ์ที่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นอย่างดี คงไม่ทำในสิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ท่านเหล่านั้น อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า แก่นพุทธศาสน์คืออะไร หน้าที่ของพระสงฆ์คืออะไร

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพที่แพร่หลายในหมู่สงฆ์ นับว่า มีคุณูปการอย่างสำคัญไม่น้อยก็ตรงที่ ในแง่หนึ่งมันได้สะท้อนให้เห็นภาวะ “ด้อยการศึกษา” ในหมู่พระสงฆ์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง คุณูปการข้อนี้ หากพินิจให้ดีก็น่าจะเป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ครั้งมโหฬารของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และภาวะด้อยการศึกษาที่ว่านี้สะท้อนออกมาอย่างไม่ปิดบังว่ามันได้เกิดขึ้นและกินลึกเข้าไปถึงพระสงฆ์ทุกระดับชั้น

และนั่นจึงทำให้เราตอบคำถามได้อีกข้อหนึ่งว่า ทำไมเป็นเมืองพุทธ แต่ไทยกลับยิ่งทรุดลง เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เมืองพุทธที่เราเป็นกันอยู่นั้น มันเป็นเมืองพุทธแบบไทยๆ แท้ๆ เลย แทบไม่ใช่พุทธในความหมายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แบบที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม

หมีงงในพงหญ้า:
(๓) ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบมนุษย์กับดอกบัวนั้น ท่านเปรียบกับบัวสามเหล่าหรือสี่เหล่าแน่ ?

วิสัชนา : ในพระไตรปิฎกแปลไทยฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบมนุษย์กับบัว ๓ เหล่า ดังนี้

“...เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี (กิเลส) ในตาน้อย มีธุลีในตามาก...มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ (เหล่าที่ ๑)ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ (เหล่าที่ ๒)ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ (เหล่าที่ ๓)...”

และข้อความต่อมาตรัสขยายความตอนนี้ออกไปอีกเล็กน้อยว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลก (โลกหน้า) และโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น...”ส่วนบัว ๔ เหล่านั้น เป็นทัศนะของพระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้อธิบายพระไตรปิฎก) ซึ่งท่านขยายความบัว ๓ เหล่านั้นออกเป็นบัว ๔ เหล่าโดยให้คำอธิบายไว้ดังนี้

๑) อุคติตัญญู = บัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้

๒) วิปจิตัญญู = บัวเสมอน้ำ ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น

๓) เนยยะ = บัวจมอยู่ในน้ำ ที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓

๔) ปทปรมะ = บัวใต้น้ำ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า

ในทัศนะของพระพุทธเจ้า ทรงเปรียบมนุษย์เหมือนบัว ๓ เหล่าและตรัสย้ำอีกว่า มนุษย์นั้น เมื่อจำแนกด้วยคุณภาพการมีโอกาสรู้ธรรมแล้วก็มีเพียงสองประเภทคือ ประเภทหนึ่งสอนให้รู้ได้ง่าย และอีกประเภทหนึ่งสอนให้รู้ได้ยาก
หากสังเกตให้ดีจะไม่ทรงใช้คำว่า “ไม่สามารถสอนได้” แต่ทรงใช้คำว่า “สอนให้รู้ได้ยาก” เท่านั้น

ในทัศนะของผู้เขียน คิดว่า พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมพวกที่ “สอนให้รู้ได้ยาก” นั่นเอง แยกออกมาเป็นอีกพวกหนึ่งว่า เป็นบัวเหล่าที่ ๔ คือ ปทปรมะ ซึ่งหมายถึงพวกบัวใต้น้ำ คำว่า “สอนให้รู้ได้ยาก” นั้น เรามีสิทธิ์คิดต่อไปได้ว่า บางคนกว่าจะรู้ได้คงต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพชาติ แต่เมื่อพิจารณาในช่วงชีวิตนี้ เขาอาจไม่มีโอกาสสอนให้รู้ได้เลย เช่น อาจารย์ของพระสารีบุตรที่ชื่อสัญชัย ปฏิเสธการไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เกิดร่วมยุคสมัยกันและมีพระสารีบุตรซึ่งเป็นศิษย์เอกชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ท่านปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่ไปฟังพระพุทธเจ้า เพราะท่านก็ “หนึ่งในตองอู” เหมือนกัน หรือท่านพระเทวทัตที่บวชอยู่กับพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ยอมรับการสอนจนกระทั่งวาระสุดท้ายจึงสำนึกตัวได้

พระอรรถกาจารย์คงพิจารณาเห็นมนุษย์ในประเภทที่ “สอนให้รู้ได้ยาก” อย่างนี้เอง ว่าเป็นดุจบัวเหล่าที่ ๔ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบัวสามเหล่าหรือสี่เหล่า ก็ทำให้เราได้เข้าใจความจริงอย่างหนึ่งว่า ในโลกนี้นั้น มีมนุษย์ที่สอนให้รู้ได้ง่ายและสอนให้รู้ได้ยาก (ซึ่งไม่พบคำว่าไม่สามารถสอนให้รู้) อยู่ และสอนให้รู้ได้ยากนั้น อาจกินความไปถึงว่า ในชาตินี้ถ้ายังไม่รู้ ก็อาจเป็นชาติต่อไปที่เขาพอจะรู้อะไรขึ้นมาได้บ้าง ดังกรณีของพระเทวทัตที่ทรงทำนายว่า ในอนาคตจะกลับมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อ “อัฐฐิสสระ” นี่คือตัวอย่างของพวก “สอนให้รู้ได้ยาก” แต่หากมองเฉพาะชาตินี้ท่านก็เป็นบัวเหล่าที่ ๔
ทัศนะของพระอรรถกาจารย์ จึงไม่ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องบัว ๓ เหล่า เพราะบัวเหล่าที่ ๔ นั้น ท่านเพียงแต่ขยายความออกไปจากนัยะที่พระพุทธเจ้าทรงทิ้งเอาไว้ให้นั่นเอง



นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป