[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 พฤษภาคม 2567 09:12:11 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 368
121  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง) :เหลาจื่อ เมื่อ: 17 ธันวาคม 2555 16:25:03



.
.
.

81
ถ้อยคำที่แท้

คำจริงนั้นฟังดูไม่ไพเราะ
คำที่ไพเราะไม่มีความจริง
คนดีไม่ได้พิสูจน์โดยการถกเถียง
คนที่ถกเถียงเก่งไม่ใช่คนดี
คนฉลาดไม่รู้มาก
คนที่รู้มากไม่ฉลาด



ปราชญ์ย่อมไม่สะสมเพิ่มพูนเพื่อตนเอง
ชีวิตของท่านมีอยู่เพื่อผู้อื่น
แต่ท่านกลับยิ่งร่ำรวยขึ้น
ท่านให้บริจาคแก่ผู้อื่น
แต่ท่านยิ่งมีขึ้นทับทวี



วิถีแห่งเต๋านั้น
มีแต่คุณไม่เคยให้โทษ
วิถีแห่งปราชญ์นั้น
มีแต่กอปรกิจให้สำเร็จ
โดยไม่แก่งแย่งแข่งขัน

.
.
.

จาก... คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง) บทที่ ๑ - ๘๑
พจนา จันทรสันติ ...ผู้แปล



นำมาแบ่งปันโดย...
หมื่นลี้ >>> : http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/viewlongc.php?id=571836&chapter=81
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม.. บ้าน ที่แท้จริง...
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานเหล่านี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ

ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ
อนุโมทนาสาธุ.. ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

122  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / Re: คัมภีร์เต้า เต๋อ จิง (เต๋า เต็ก เก็ง) :เหลาจื่อ เมื่อ: 17 ธันวาคม 2555 14:24:18




76
ของสูง

เมื่อคนเกิดมาใหม่ๆ นั้นร่างกายมักอ่อนนุ่ม
เมื่อตายกลับแข็งกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชมีชีวิตอยู่มันจะอ่อนหยุ่น
เมื่อตายมันกลับแข็งและแห้ง
ความแข็งกระด้างเป็นคุณลักษณะของความตาย
ความอ่อนนุ่มเป็นคุณลักษณะของความมีชีวิต

ดังนั้นเมื่อกองทัพแข็งแกร่งเกินไป
ก็จะพ่ายในสมรภูมิ
ถ้าต้นไม้แข็งแกร่งเกินไป
ก็จะถูกตัดโค่นลง
ความแข็งความกระด้างเป็นของต่ำ
ความอ่อนความนุ่มเป็นของสูง




77
วิถีแห่งเต๋า

วิถีแห่งเต๋านั้น
ไม่คล้ายกับคันธนูที่โก่งเตรียมจะยิงหรอกหรือ
ปลายทั้งสองลดต่ำลงมาและตรงกลางพองขึ้น
ความยาวอันมีพลังนั้นหดสั้น
ความยาวอันไร้พลังนั้นขยายยาว

ด้วยหนทางแห่งฟากฟ้าเท่านั้น
ที่นำเอาส่วนเกินจากผู้ที่มีมาก
ไปให้กับผู้ที่มีไม่เพียงพอ
แต่หนทางของคนธรรมดาหาเป็นเช่นนั้นไม่

คนสามัญมักจะชิงเอาจากผู้มีน้อย
ไปเพิ่มพูนให้แก่ผู้มีมาก
ผู้ใดเล่าที่มีพอเพียง
และแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่โลกทั้งโลก
มีเพียงแต่บุคคลผู้ดำเนินตามวิถีแห่งเต๋าเท่านั้น

ดังนั้นปราชญ์ย่อมกระทำกิจแต่ไม่เข้าครอบครอง
ก่อเกิดผลสำเร็จแต่ไม่ต้องการความเชื่อถือ
ด้วยท่านไม่ปรารถนาเป็นผู้เด่นยิ่งกว่าใครๆ





78
ความอ่อนโยนมีชัยต่อทุกสิ่ง

ไม่มีสิ่งใดจะอ่อนนุ่มไปกว่าน้ำ
แต่ไม่มีสิ่งใดจะยิ่งไปกว่าน้ำ
ในการมีชัยเหนือสิ่งที่แข็ง
นับว่าไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบ
ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทน

ความอ่อนแอมีชัยต่อความแข็งแรง
ความอ่อนโยนมีชัยต่อความแข็งกระด้าง
ไม่มีใครที่ไม่รู้
แต่ไม่มีใครที่ปฏิบัติ

ดังนั้นปราชญ์จึงกล่าวไว้ว่า
ผู้ที่สามารถทนรับการใส่ร้ายของโลกได้
สมควรที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาอาณาจักร
ผู้ที่ทนแบกรับบาปโทษของโลกไว้ได้
สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองโลก

คำพูดที่ตรงไปตรงมานั้น
ดูคล้ายเป็นคำที่บิดเบี้ยวและเป็นคำเท็จ





79
หนทางอันยุติธรรม

เมื่อความโกรธขึ้งถูกไกล่เกลี่ยลงได้
แน่ใจได้ว่ายังมีบางส่วนหลงเหลืออยู่

ดังนี้จะนับได้ว่ามันจบสิ้นลงด้วยความดีได้อย่างไร

ดังนั้นปราชญ์ย่อมเป็นผู้อ่อนข้อให้
ในการเจรจาทำความตกลง
และจะไม่ยอมเป็นผู้เอาเปรียบในการทำสัญญา

หนทางของผู้มีคุณความดีคือการเจรจาตกลง
หนทางของผู้ไร้คุณความดีคือการบังคับขู่เข็ญ

หนทางแห่งเต๋านั้นยุติธรรมยิ่ง
มันจะอยู่เคียงข้างของผู้ที่มีความดีงาม





80
ประเทศในฝัน

หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย
มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง
มากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่า
ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต
และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล

ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถ
ก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่
ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ
ก็ไม่มีโอกาสจะใช้
ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราว

ด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ
ให้เขานึกว่าอาหารพื้นๆ นั้นโอชะ
เสื้อผ้าอันสามัญนั้นสวยงาม
บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย
ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม
ในระหว่างเพื่อนบ้านต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

จนอาจได้ยินเสียงไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน
และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต
จะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย



123  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 15:29:23




ด้านล่างอ่านเจอมาจาก บล็อคของ คุณกะเรนขาว
พูดถึงเรื่องปัญญาพอดีโดยไม่ได้นัดหมาย
จึงขอนำมาลงพร้อมกันระหว่างของชาวเซนกับของเถรวาท
ปัญญา ในความหมายของศาสนาพุทธ  (แสงดาว)



๖๑.๔ ปัญญาปรมัตถ์

...ปัญญาในแก่นของศาสนาพุทธคือปัญญาในการละความไม่รู้ไม่เข้าใจ
และละความยึดถือในรูปนามทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้น
(ความหมายของรูปนามท่านหมายถึงทุกๆสิ่งที่จิตสามารถสัมผัสได้
ทั้งวัตถุ สสารต่างๆ ความรู้สึก ความจำ ความคิด ความเป็นตัวเรา)
ปัญญาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงเรียกว่าปรมัตถ์ปัญญา

มิใช่เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง
 แต่เป็นการเกิดขึ้นด้วยกำลัง
ของสมาธิจิตที่สมบูรณ์พร้อมแล้ว
เบื่อหน่ายเต็มที่ในรูปนามทั้งหลายแล้ว เห็นแล้วว่า
อุปาทานในรูป-นามทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด



กำลังของสายสัมพันธ์ความยึดมั่น ในรูปนามหมดลงเพราะ
เบื่อหน่ายเต็มที่ หมดกำลังที่จะยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป
อุปมาเหมือนกับคนที่ทำงานมาเหนื่อยเต็มที่ พอถึงบ้านหมดแรง
อยากนอนอย่างเดียวแม้เสื้อผ้าก็ไม่ยอมถอด ทิ้งตัวลงนอนเลย
ไม่สนใจร่างกายใดๆทั้งสิ้นแล้ว
ขอนอนอย่างเดียว เพราะความเหนื่อยเพลียเต็มที่นั่นเอง

ดังนั้นปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
นักธรรมต้องพิจารณาในรูปนาม
ให้เห็นว่าเป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือไม่มีตัวตนที่แท้จริง
เมื่อพิจารณาบ่อยๆมากๆจนจิตเหนื่อยเบื่อในงานเต็มที่แล้ว
จิตจะปล่อยวางได้เองโดยที่ไม่ต้องอยากให้มันปล่อยวางแต่อย่างใด

... นักธรรมท่านใดที่เอาแต่ความสงบของสมาธิจิต เอาแต่อารมณ์สุข
ของสมาธิย่อมหาความเหนื่อย ความเบื่อและความปล่อยวางแบบปรมัตถ์ต่อ
รูปนามไม่ได้
อุปมาเหมือนกับพนักงานมาทำงานแต่ไม่ยอมทำงานจริง
 มานั่งมองโน่นมองนี่สุขสบายไปวันๆ ใครๆถามก็บอกกล่าวว่าตนเองเบื่อแล้ว
เหนื่อยแล้วแต่ในความเป็นจริงความเหนื่อยความเบื่อในงาน(รูปนาม)
ยังไม่ได้เกิดกับจิตตนเองเลย
เพราะตนเองยังไม่ได้ทำงานจะเอาความเหนื่อยความเบื่อมาจากไหน



ท่านจึงสอนให้นักธรรม พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ของรูปและนามให้มาก เหนื่อย-พัก,เหนื่อย-พัก
(สมาธิ-พิจารณา,สมาธิ-พิจารณา)ทำอยู่แบบนี้เมื่อจิตปุถุชนเบื่อเต็มที่
หมดกำลังที่จะยึดในรูปนามแล้วมันจะทิ้งในรูปนามเอง เห็นเองว่า
รูปนามที่แท้จริงโดยปรมัตถ์มันเป็นอย่างไร อนัตตาของจริงมันเป็นอย่างไร.


124  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 15:21:49


   

๖๑.๓ แสวงหาปัญญา

มักจะได้ยินคนพูดอยู่เสมอว่า มีคนแสวงหาปัญญา
แต่แท้ที่จริงแล้วปัญญามาจากการเรียนรู้โดยสัญชาติญาณ
และมุมมองก่อให้เกิดขึ้นมา แสวงหายังไงก็หาไม่เจอ
และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหา
ลองมองย้อนกลับมาที่ใจของตัวเอง หากในจิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายใจ
ถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญาที่บริสุทธิ์สะอาดก็จะไม่มีทางก่อเกิดขึ้นมาได้

มีบางคนนำปัญญามานึกว่าเป็น ความฉลาด
นึกว่าการพูดคล่องหรือถนัดในการใช้คำ หรือคนที่มีประสบการณ์มารอบด้าน
คือคนที่มีปัญญา แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด”

คนส่วนใหญ่ถูก “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด” มาบดบังปัญญาที่สะอาด
บริสุทธิ์และดีงามจนมืดมิด โดยไม่รู้ว่า การรู้ซื่อๆถึงจะเป็นความล้ำค่าทางปัญญา

หากอยากได้ปัญญาที่บริสุทธิ์แท้ จำเป็นจะต้องเตรียมพื้นฐานทางจิตที่ดีงามไว้
คนที่ฉลาด เพียงแค่ได้ยินทำที่ผิดหูสักหน่อยก็เอาสีข้างเข้าถู

คนมีปัญญา จะรู้จักนำถูกผิดมาเป็นบทเรียน ไม่ว่าจะพบกับคำพูดที่เสียดสีเย้ยหยัน
อย่างไร หรือเจอกับสถานการณ์ที่ทุกข์ยากอย่างไร ก็จะรู้จักนำอุปสรรคมาเป็นตัว
ผลักดันให้มุ่งไปข้างหน้า และยังรู้สึกถึงความสำนึกในบุญคุณ นี่แหละคือปัญญา

ในขณะเดียวกัน ทั้งคำพูดและการกระทำยังรู้จักระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกระทบกระทั่งถูกผู้อื่น ซึ่งสุดท้ายอาจจะย้อนกลับมา
ทำให้ตัวเองรำคาญใจไปเปล่าๆ

ทำอย่างไรถึงจะขจัดความวุ่นวายกังวลฟุ้งซ่านในจิตได้?
จำต้องอาศัยการแสวงหายามาแก้ด้วยตัวเอง เปรียบดังกับชาวนาต้องเริ่ม
ทำตั้งแต่ ลงต้นกล้า ดูแลพืชผล จนกระทั่งเมื่อเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องอาศัย
การลงทุนลงแรงของตัวเอง การทำนาก็มีเทคนิคเฉพาะตน เช่นเมื่อช่วงเก็บเกี่ยว
จะต้องจับต้นข้าวให้มั่นด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งจับเคียว สองมือประสาน
อย่างเหมาะเจาะ ถึงจะเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว

การขจัดความวุ่นวายทางจิตก็เช่นกัน จำต้องให้ภายในภายนอกขับเคลื่อนไป
พร้อมกัน ภายในจิตตื่นรู้ด้วยตัวเอง ผสานกับการเรียนรู้จากโลกภายนอก

บทกลอนและคัมภีร์ของนักปราชญ์เมธีและปรมาจารย์
ที่สืบทอดต่อกันมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ล้ำค่าด้วยปัญญาอันดีงาม
พวกเราจะต้องนำจิตน้อมรับมาพิจารณา เพื่อขจัดสิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายใจ
ปัญญาที่ดีงามถึงจะก่อเกิดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

ที่มา สมาชิกเว็บบอร์ดชาวเซน ของไต้หวัน

           

125  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 15:20:58


                http://i3.photobucket.com/albums/y64/Manee/Homeworks/124_2496R.jpg


๖๑.๒ ก้อนหินในใจ

อาจารย์เซนเชื้อจีนรูปหนึ่งนามว่า โฮเคน
พำนักอยู่องค์เดียวเงียบๆ ณ วัดเล็กๆต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งมีภิกษุอาคันตุกะสี่รูปเดินทางมาขอพำนักอยู่ด้วย
ตกกลางคืนพระอาคันตุกะเหล่านั้นขออนุญาตก่อกองไฟผิงกันหนาวที่ลานวัด

โฮเคนได้ยินพระเหล่านั้นก่อไฟพลางโต้ถียงกันล้งเล้งๆ
ถึงเรื่องอายตนะภายใน อายตนะภายนอก
ด้วยความอดรนทนไม่ได้ จึงออกมาร่วมวงด้วย



โฮเคนหยิบก้อนหินมาก้อนหนึ่งแล้วถามว่า
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พวกคุณคิดว่า ก้อนหินก้อนนี้อยู่ในใจหรือนอกใจ”
พระรูปหนึ่งตอบว่า “ตามมติทางพุทธศาสนา ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของใจ
เพราะฉะนั้น ผมจึงพูดได้ว่า ก้อนหินก้อนนั้นอยู่ภายในใจ”

                     

โฮเคนบอกว่า “ถ้าคุณแบกก้อนหินชนิดนั้นไว้ในใจทุกเวลาแล้วไซร้
มันคงหนักเอาการซินะ”
สิ่งที่เห็น สิ่งที่ประสบทุกอย่าง หากเราเอามาแบกรับไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา
ใจเราก็คงหนักอยู่ตลอดไป และในชีวิตของเรายังต้องพบเจอกับเรื่องราวอีกมากมาย
หากเราไม่วางมันเอาไว้นอกใจบ้าง เราก็ต้องดำรงชีวิตต่อไปอย่างกดดันหนักอึ้ง

                   

ที่มา หนังสือแม็ค ม.ปลาย ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2549

126  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 13:24:32


           

๖๑.๑ ฉันคือใคร

ชีวิตคนดั่งละคร ทุกคนเป็นคนเขียนบท เป็นผู้กำกับ และเป็นนักแสดงเอง
บทที่เขียนออกมามีทั้ง บทดีใจ เสียใจ โกรธ และเศร้าโศก
สิ่งที่แสดงออกมามีทั้งรัก โกรธ ผูกพัน โกรธแค้น ชิงชัง
แต่ละบท แต่ละฉาก แต่ละตอน ไม่ใช่พบกับความสำเร็จ ก็ผิดหวัง ไม่ใช่ดีใจก็เสียใจ
เกิดๆดับๆ ดับๆเกิดๆ ดั่งที่ว่า “ชีวิตคนดั่งมายาซ้อนมายา”

                         

เวียนว่ายตายเกิด เป็นไปตามแรงกรรม หมุนเปลี่ยนภพชาติเกิดมาในโลกนี้
เป็นเพราะกรรมสัมพันธ์ พ่อแม่ให้กำเนิดฉันมา จึงมีกายนี้
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา นึกถึงเรื่องชาติภพก่อน ใครคือฉัน มาจากไหน?
ทำไมถึงมา ชาตินี้ไม่แจ้ง แล้วจะให้รอถึงชาติไหน
จึงสงสัยว่า “ก่อนที่พ่อแม่ให้กำเนิดมาใครคือฉัน”



ดอกไม้บานแล้วย่อมต้องร่วง มีการเกิดก็ต้องมีการตาย ขณะนี้มีความสุข
มีลมหายใจตามปกติ แต่เมื่อหนึ่งช่วงลมหายใจ หายใจออกแล้วไม่เข้า
แล้วฉันคือใคร แล้วจะไปไหน แล้วทำไมต้องไป คิดถึงหนทางข้างหน้า
ลังเลสงสัยแล้วก็ไม่รู้

                   

ความหมายของเซนจำต้องรู้ ปฏิบัติจริงถึงจะแจ้ง
ชีวิตดั่งความฝันและมายา อย่าได้หลง-วนอยู่ในความหลง
หากถามว่า “ฉันคือใคร? เห็นจิตตัวเองแล้วก็จะรู้”

         

127  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 12:53:51


               

๖๑. ลดเปอร์เซ็นต์

ลูกชายของพ่อค้าคนหนึ่ง ติดตามและฝึกฝนการค้ากับบิดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
แม้ว่าจะเป็นคนที่เน้นแต่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นลูกกตัญญู
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จึงไปที่วัดขอให้พระอาจารย์ช่วยสวดส่งวิญญาณให้หลุดพ้น

ลูกกตัญญูเติบโตมาจากวงการค้า จึงเป็นห่วงค่าใช้จ่ายในการสวดศพมาก
จึงตั้งหน้าตั้งตาแต่จะคอยถามเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่

พระอาจารย์เห็นเขาแต่งตัวภูมิฐานมีเครื่องประดับมากมายยังตระหนี่คิดเล็ก
คิดน้อยขนาดนั้น จึงพูดอย่างเคร่งขรึมว่า จะต้องจ่ายค่าสวดและค่าทำพิธี
10 ตำลึง ลูกกตัญญูฟังแล้วรู้สึกว่าแพงเกินไป จึงขอลดราคา พูดขึ้นว่า

“พระอาจารย์ สิบตำลึงน่าจะแพงเกินไป ขอลดสัก 20 เปอร์เซ็นต์ จ่ายแค่
8 ตำลึงแล้วกัน”

พระอาจารย์เห็นเขาต่อรองราคาอย่างเอาจริงเอาจัง จึงรู้สึกว่าหนุ่มคนนี้น่าคิด
เหมือนกัน จึงตอบว่า “ เอาล่ะ ตามใจเจ้าแล้วกัน”

พระอาจารย์จึงไปสวดยังที่บ้านของลูกพ่อค้านั้น ระหว่างที่ฟังสวดลูกกตัญญู
ก็ตั้งหน้าตั้งตาฟังสวดและกระทำพิธีอย่างสำรวมนอบน้อม



ถึงตอนหนึ่งพระอาจารย์กล่าวว่า “พุทธะจากทั่วสิบทิศ โปรดนำบุญกุศล
จากการทำพิธีนี้แผ่ไปให้กับผู้ตายด้วย ให้เขาได้ไปสู่โลกแห่งทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกว่าตรงทิศตะวันออกน่าจะไม่ถูก จึงพูดขึ้นว่า
“พระอาจารย์กล่าวผิดหรือเปล่า? มีแต่คนตายแล้วให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก
คือดินแดนสุขาวดี ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทางทิศตะวันออก”

“ไปทางทิศตะวันตกดินแดนสุขาวดี ต้องเสียค่าใช้จ่าย 10 ตำลึง เจ้ายืนยัน
จะลด 20 เปอร์เซ็นต์ ข้าเลยส่งผู้ตายไปยังทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกละอายใจยิ่งนัก พูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้าเพิ่มอีก 2 ตำลึง ช่วยพา
พ่อของข้าพเจ้าไปยังดินแดนสุขาวดีด้วยเถอะ”

         

128  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 12:39:16


               

๖๐. ทุกข์จากการรู้ล่วงหน้า

มีเณรรูปหนึ่ง ทุกๆเช้าจะต้องรับผิดชอบปัดกวาดเศษใบไม้ในบริเวณวัด
การกวาดใบไม้ในตอนเช้าท่ามกลางสายลมเย็นยะเยือกหลังจากที่ตื่นนอน
เป็นเรื่องที่น่าทรมานเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าเป็นช่วงในฤดูหนาวด้วยแล้ว
ทุกครั้งที่สายลมเย็นโชยมา ใบไม้ก็ร่วงหล่นลงมาตามลมเช่นกัน
ทุกๆเช้าต้องเสียเวลาไปไม่น้อยถึงจะเก็บกวาดใบไม้ได้หมด
มันทำให้เณรน้อยหัวเสียทุกวันเณรคิดที่จะหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองสบายขึ้น
มีพระรูปหนึ่งพูดกับเณรน้อยว่า “พรุ่งนี้ก่อนที่เจ้าจะเก็บกวาด
ให้ใช้แรงเขย่าต้นไม้เสียก่อน เขย่าจนใบไม้ร่วงหล่นลงมาให้หมด
มะรืนนี้เจ้าจะได้ไม่ต้องเก็บกวาดใบไม้ให้ลำบากอีก”

                 

เณรน้อยเห็นด้วยและคิดว่าวิธีการนี้ดีที่สุด ดังนั้นวันรุ่งขึ้นจึงลุกขึ้นมาแต่เช้า
แล้วเขย่าต้นไม้จนสุดแรง ทำอย่างนี้จะช่วยให้ใบไม้ของวันนี้และพรุ่งนี้กวาด
พร้อมกันเลยในครั้งเดียว วันนั้นเณรน้อยครื้มใจไปทั้งวันอย่างมีความสุข

วันรุ่งขึ้นเมื่อไปดูที่ลานวัด ได้แต่กลับกลอกลูกตาไปมา
ที่ลานวัดก็มีใบไม้ร่วงหล่นลงมาเหมือนทุกวัน
พระอาจารย์เดินเข้ามาด้วยความเอ็นดูแล้วพูดว่า “เจ้าเด็กโง่!
ไม่ว่าในวันนี้เจ้าจะเขย่าต้นไม้ให้สุดแรงอย่างไร
พรุ่งนี้ใบไม้ก็ยังคงร่วงหล่นลงมาเหมือนเดิม”

ที่สุดเณรน้อยก็เข้าใจแล้วว่า เรื่องราวต่างๆในโลกนี้
บางอย่างไม่สามารถทำล่วงหน้าได้ และถ้าจะจริงจังแล้วก็
ชั่วขณะนี้ถึงจะเป็นความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์

           

129  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 12:03:18


               

๕๙. สิ่งที่ต้องบำเพ็ญภาวนา

มีพระรูปหนึ่งเพียรภาวนาอยู่กับพระอาจารย์ท่านหนึ่งมานานหลายปี
ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักธรรมที่ลึกๆได้

ค่ำวันหนึ่งขณะที่กำลังจะนั่งสมาธิ ได้ถามพระอาจารย์ขึ้นว่า
“ศิษย์เพียรภาวนามานานหลายปี ก็ยังหลงวนไม่รู้แจ้งสักที
เสียแรงที่ฉันบิณฑบาตของชาวบ้านเปล่าๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้อะไร
ทั้งยังต้องขอรับความเมตตาจากอาจารย์ช่วยชี้แนะ ทุกวันที่ปฏิบัติธรรม
นอกจากภารกิจที่ต้องปฏิบัติ ยังมีบทเรียนอะไรที่จำเป็นต้องฝึกฝนอีก?”

“เจ้าเพียงแต่ดูแลนกอินทรีย์ 2 ตัว กวาง 2 ตัว เหยี่ยว 2 ตัว
และคอยบังคับหนอนในปาก 1 ตัว พร้อมกันนั้นก็คอยต่อกรกับ
หมีตัวหนึ่ง และดูแลผู้ป่วยผู้หนึ่งให้ดีๆ ถ้าหากสามารถทำได้ก็คือสามารถ
ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเจ้าได้ดีที่สุด”

“อาจารย์ครับ ศิษย์ตั้งใจแน่วแน่มาฝึกบำเพ็ญภาวนาที่นี่ ไม่ได้นำ
สัตว์ชนิดใดมาด้วย แล้วจะดูแลอะไรอย่างไร? แล้วบทเรียนที่ศิษย์จะ
ต้องเรียน กับสัตว์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร?”

“นกอินทรีย์สองตัว คือตาของเจ้าที่จะต้องคอยระวังสิ่งต่างๆที่กระทบเข้ามา
กวางสองตัวคือขาของเจ้าที่จะต้องระมัดระวังไม่เดินไปสู่หนทางที่ผิดบาป
เหยี่ยวสองตัวคือมือทั้งสองข้างของเจ้าที่จะต้องคอยทำการงานอยู่เสมอ
ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลเสมอ สิ่งที่ไม่ดีก็อย่าไปทำ

   หนอนหนึ่งตัวคือลิ้นของเจ้าต้องคอยระวังไว้เป็นอย่างยิ่ง ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดีงาม
หมีหนึ่งตัวคือใจของเจ้าต้องควบคุมอย่าให้เห็นแก่ตัวและวุ่นวาย สิ่งไม่ดีก็อย่าไปคิด
   คนไข้ก็คือร่างกายของเจ้าเอง หวังว่าเจ้าจะไม่ให้มันหลงเข้าไปในทางผิดบาป
   ในหนทางแห่งการบำเพ็ญภาวนา สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่ขาดไม่ได้

               
130  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 13 ธันวาคม 2555 11:56:43


               

๕๘. การนำวิธีการของเซนไปใช้

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่จะไปแสดงธรรมในที่แห่งหนึ่ง
ระหว่างทางเห็นสามีภรรยาคู่หนึ่ง กำลังทะเลาะกันอยู่
ภรรยา : เจ้าเป็นสามีภาษาอะไร? ไม่เหมือนผู้ชายสักนิด
สามี : ด่าซี ถ้าด่าอีก ข้าจะตีเจ้า
ภรรยา : ข้าจะด่า เจ้าไม่เหมือนผู้ชาย

พระอาจารย์ได้ยินที่สามีภรรยาทะเลาะกันแล้ว จึงตะโกนบอก
ผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่า “พวกเจ้ามาดูเร็ว เวลาจะดูวัวชนกันก็ต้องซื้อตั๋ว
ดูจิ้งหรีดกัดกัน ดูไก่ชนกัน ก็ต้องซื้อตั๋วทั้งนั้น แต่ตอนนี้ คนกำลังตีกัน
ไม่ต้องซื้อตั๋ว พวกเจ้ามาดูเร็วๆ

แต่สามีภรรยาคู่นั้นก็ยังคงไม่สนใจ และยังคงทะเลาะกันต่อไป
สามี : ถ้าเจ้าพูดอีกคำว่า ข้าไม่เหมือนผู้ชาย ข้าจะฆ่าเจ้า
ภรรยา : ฆ่าซี ฆ่าซี ข้าก็จะพูดอยู่นั่นแหละ เจ้าไม่เหมือนผู้ชาย

พระอาจารย์ : ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ตอนนี้จะมีการฆ่าคนแล้ว มาดูกันเร็ว
คนเดินถนน : หลวงพี่ ตะโกนเสียงดังทำไม สามีภรรยาเขาจะทะเลาะกัน ท่านยุ่งทำไม?
พระอาจารย์ : ทำไมจะไม่เกี่ยวกับอาตมา เจ้าไม่ได้ยินหรือว่า
เขาจะฆ่าคน
เมื่อคนตายแล้วก็ต้องเชิญอาตมาไปสวดศพ
เมื่อสวดแล้วก็ย่อมจะต้องได้ซอง
คนเดินถนน : อะไรกันนักหนา เพื่อซองแล้วถึงกับจะอยากให้มีการฆ่ากันตายเลยหรือ?
พระอาจารย์ : หวังจะไม่ให้ตายก็ได้ งั้นอาตมาจะไปเทศน์ก่อนแล้วล่ะ

สามีภรรยาคู่นั้นหยุดทะเลาะกันตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้
และทั้งคู่ก็มาฟังดูว่าพระอาจารย์ทะเลาะกับคนอื่นด้วยเรื่องอะไร?
พระอาจารย์จึงฉวยโอกาสพูดกับสามีภรรยาคู่นั้นว่า

“หิมะที่เกาะกันจนหนาแน่นสักเพียงใด เมื่อพระอาทิตย์สาดส่องมาก็ย่อมจะละลาย
กับข้าวจะเย็นชืดสักเพียงไหน เมื่ออุ่นด้วยไฟ ก็ยังร้อนขึ้นมา
สามีภรรยา มีบุญสัมพันธ์กันมาก่อนจึงได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
ต้องเป็นพระอาทิตย์ ให้ความอบอุ่นแก่ผู้อื่น
เป็นไฟเป็นฟืน ปลุกจิตสำนึกให้ผู้อื่น
หวังว่าท่านทั้งสองจะรักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกัน”

         

131  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / เหตุโคจฉกะ (อกุศลเหตุ ๓ เป็นไฉน?) เมื่อ: 08 ธันวาคม 2555 18:14:13


             

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑
ธรรมสังคณีปกรณ์
เหตุโคจฉกะ
             [๖๘๙] ธรรมเป็นเหตุ เป็นไฉน?
             กุศลเหตุ ๓ อกุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓ กามาวจรเหตุ ๙ รูปาวจรเหตุ ๖ อรูปาวจร
เหตุ ๖ โลกุตตรเหตุ ๖.
             [๖๙๐] บรรดาเหตุเหล่านั้น กุศลเหตุ ๓ เป็นไฉน?
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ.
             บรรดากุศลเหตุ ๓ นั้น อโลภะ เป็นไฉน?
             การไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความไม่โลภ การไม่กำหนัดนัก กิริยาที่ไม่กำหนัดนัก
ความไม่กำหนัดนัก ความไม่เพ่งเล็ง กุศลมูล คืออโลภะ นี้เรียกว่า อโลภะ.
             อโทสะ เป็นไฉน?
             การไม่คิดประทุษร้าย กิริยาที่ไม่คิดประทุษร้าย ความไม่คิดประทุษร้าย ไมตรีกิริยาที่
สนิทสนม ความสนิทสนม การเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู ความเอ็นดู ความแสวงหาประโยชน์
เกื้อกูล ความสงสาร ความไม่พยาบาท ความไม่คิดเบียดเบียน กุศลมูลคืออโทสะ นี้เรียกว่า
อโทสะ.
             อโมหะ เป็นไฉน?
             ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินี-
*ปฏิปทา ความรู้ในส่วนอดีต ความรู้ในส่วนอนาคต ความรู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต
ความรู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความ
เข้าไปกำหนดเฉพาะ
ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด
ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความ
เห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือน
ศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท
ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป
ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด
นี้เรียกว่า อโมหะ.
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กุศลเหตุ ๓.

             [๖๙๑] อกุศลเหตุ ๓ เป็นไฉน?
             โลภะ โทสะ โมหะ.
             บรรดาอกุศลเหตุ ๓ นั้น โลภะ เป็นไฉน?
             ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน
ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ
ความหมกมุ่น ความใคร่ ความรักใคร่ ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติผู้คร่าไป
ธรรมชาติผู้หลอกลวง ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติอัน
ร้อยรัด ธรรมชาติอันมีข่าย ธรรมชาติอันกำซาบใจ ธรรมชาติอันซ่านไป
ธรรมชาติเหมือน

เส้นด้าย ธรรมชาติอันแผ่ไป ธรรมชาติผู้ประมวลมา ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง ปณิธาน
ธรรมชาติผู้นำไปสู่ภพ ตัณหาเหมือนป่า ตัณหาเหมือนดง ความเกี่ยวข้อง ความเยื่อใย
ความห่วงใย ความผูกพัน
การหวัง กิริยาที่หวัง ความหวัง ความหวังรูป ความหวังเสียง
ความหวังกลิ่น ความหวังรส ความหวังโผฏฐัพพะ ความหวังลาภ ความหวังทรัพย์ ความ
หวังบุตร ความหวังชีวิต
ธรรมชาติผู้กระซิบ ธรรมชาติผู้กระซิบทั่ว ธรรมชาติผู้กระซิบยิ่ง
การกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ความกระซิบ การละโมบ กิริยาที่ละโมบ ความละโมบ
ธรรมชาติเป็นเหตุซมซานไป
ความใคร่ในอารมณ์ดีๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความ

โลภเกินขนาด ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา ความกระหยิ่มใจ ความปรารถนานัก
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ
[คือราคะที่สหรคต ด้วยอุจเฉททิฏฐิ] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน อาวรณ์ นิวรณ์ เครื่องปิดบัง
เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย ปริยุฏฐาน ตัณหาเหมือนเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุมีอย่าง
ต่างๆ
รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร แดน
แห่งมาร
ตัณหาเหมือนแม่น้ำ ตัณหาเหมือนข่าย ตัณหาเหมือนเชือกผูก ตัณหาเหมือนสมุทร
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ อันใด นี้เรียกว่า โลภะ.

             โทสะ เป็นไฉน?
             อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้กระทำความเสื่อมเสียแก่เรา อาฆาตย่อมเกิดขึ้น
ได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียแก่เรา อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำความ
เสื่อมเสียแก่เรา อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสีย ฯลฯกำลังทำความ
เสื่อมเสีย ฯลฯ
  จักทำความเสื่อมเสียแก่คนที่รักชอบพอของเรา อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า
ผู้นี้ได้ทำความเจริญ ฯลฯ กำลังทำความเจริญ ฯลฯ จักทำความเจริญแก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็น
ที่ชอบพอของเรา หรืออาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะอันใช่เหตุ จิตอาฆาต ความขัดเคือง
ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน โทสะ ความคิด
ประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความขุ่นจิต ธรรมชาติที่ประทุษร้ายใจ โกรธ กิริยาที่โกรธ
ความโกรธมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด [และ] การคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ความ
คิดประทุษร้าย การคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ความคิดปองร้าย
ความโกรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่า โทสะ.

             โมหะ เป็นไฉน?
             ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ใน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ทั้งในส่วน
อดีตและส่วนอนาคต
ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึง
เกิดขึ้น ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง
ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง
ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ
ความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด
ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล
อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคือ
อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูล คือ โมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด
นี้เรียกว่า โมหะ.
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อกุศลเหตุ ๓.


             [๖๙๒] อัพยากตเหตุ ๓ เป็นไฉน?
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ ฝ่ายวิบากของกุศลธรรม หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
ในพวกกิริยาอัพยากตธรรม สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อัพยากตเหตุ ๓.
             [๖๙๓] กามาวจรเหตุ ๙ เป็นไฉน?
             กุศลเหตุ ๓ อกุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กามาวจรเหตุ ๙.
             รูปาวจรเหตุ ๖ เป็นไฉน?
             กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า รูปาวจรเหตุ ๖.
             อรูปาวจรเหตุ ๖ เป็นไฉน?
             กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อรูปาวจรเหตุ ๖.

             [๖๙๔] โลกุตตรเหตุ ๖ เป็นไฉน?
             กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อรูปาวจรเหตุ ๖.
             บรรดาโลกุตตรเหตุ ๖ นั้น กุศลเหตุ ๓ เป็นไฉน?
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ.
             บรรดากุศลเหตุ ๓ นั้น อโลภะ เป็นไฉน?
             การไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความไม่โลภ ความไม่กำหนัด กิริยาที่ไม่กำหนัด ความ
ไม่กำหนัด ความไม่เพ่งเล็ง กุศลมูลคืออโลภะ นี้เรียกว่า อโลภะ.

             อโทสะ เป็นไฉน?
             การไม่คิดประทุษร้าย กิริยาที่ไม่คิดประทุษร้าย ความไม่คิดประทุษร้าย ฯลฯ ความไม่
พยาบาท ความไม่คิดเบียดเบียน กุศลมูลคืออโทสะ นี้เรียกว่า อโทสะ.
             อโมหะ เป็นไฉน?
             ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินี-
*ปฏิปทา ความรู้ในส่วนอดีต ความรู้ในส่วนอนาคต ความรู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต
ความรู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไป
กำหนดเฉพาะภาวะที่รู้
ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ
ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด
ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือน
ปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือน
ดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม
สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค
นับเนื่องในมรรค นี้ชื่อว่า อโมหะ.
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กุศลเหตุ ๓.

             อัพยากตเหตุ ๓ เป็นไฉน?
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ ฝ่ายวิบากแห่งกุศลธรรม สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า
อัพยากตเหตุ ๓.
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า โลกุตตรเหตุ ๖.
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุ.

             [๖๙๕] ธรรมไม่เป็นเหตุ เป็นไฉน?
             เว้นธรรมเป็นเหตุเหล่านั้นเสีย กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรมที่เหลือ
ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์
รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นเหตุ.
             [๖๙๖] ธรรมมีเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด มีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีเหตุ.
             ธรรมไม่มีเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด ไม่มีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์
รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ
สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมไม่มีเหตุ.

             [๖๙๗] ธรรมสัมปยุตด้วยเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด สัมปยุตด้วยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมสัมปยุตด้วยเหตุ.
             ธรรมวิปปยุตจากเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด วิปปยุตจากธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์,
รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมวิปปยุตจากเหตุ.
             [๖๙๘] ธรรมเป็นเหตุและมีเหตุ เป็นไฉน?
             โลภะเป็นเหตุ และมีเหตุโดยโมหะ โมหะเป็นเหตุ และมีเหตุโดยโลภะ
             โทสะเป็นเหตุ และมีเหตุโดยโมหะ โมหะเป็นเหตุ และมีเหตุโดยโทสะ
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้ง ๓ นั้นเป็นเหตุ และมีเหตุโดยกันและกัน
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุ และมีเหตุ.
             ธรรมมีเหตุแต่ไม่เป็นเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด มีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น เว้นธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้นเสีย คือ
เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีเหตุแต่ไม่เป็นเหตุ.

             [๖๙๙] ธรรมเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุ เป็นไฉน?
             โลภะเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุโดยโมหะ โมหะเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุ
โดยโลภะ
             โทสะเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุโดยโมหะ โมหะเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุ
โดยโทสะ.
             อโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้ง ๓ นั้นเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุ โดยกันและกัน
             สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุ และสัมปยุตด้วยเหตุ.
             ธรรมสัมปยุตด้วยเหตุแต่ไม่เป็นเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด สัมปยุตด้วยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น เว้นธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้นเสีย คือ
เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมสัมปยุตด้วยเหตุแต่ไม่เป็นเหตุ.
             [๗๐๐] ธรรมไม่เป็นเหตุแต่มีเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด ไม่เป็นเหตุ แต่มีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ
วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นเหตุแต่มีเหตุ.
             ธรรมไม่เป็นเหตุ และไม่มีเหตุ เป็นไฉน?
             ธรรมเหล่าใด ไม่เป็นเหตุ และไม่มีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ
วิญญาณขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นเหตุและ
ไม่มีเหตุ.
เหตุโคจฉกะ จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔  บรรทัดที่ ๖๐๔๒ - ๖๑๙๒.  หน้าที่  ๒๔๑ - ๒๔๗.
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=34&A=6042&Z=6192&pagebreak=0

             

132  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: ๕๗. เจ้าแม่ไม่ช่วย @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 12:12:48


               

๕๗. เจ้าแม่ไม่ช่วย

มีอุบาสกท่านหนึ่งศรัทธาและนับถือพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิมมาก
ครั้งหนึ่งเมื่อประสบกับอุทกภัย น้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้าน เขาจึงปีนขึ้น
ไปบนหลังคาเพื่อรอคนมาช่วยเหลือ ขณะที่น้ำเจิ่งนองขึ้นมาเรื่อยๆ
จนถึงข้อเท้าแล้ว เขาจึงวิงวอนอธิษฐานว่า “เจ้าแม่กวนอิมผู้เปี่ยมล้น
ด้วยความเมตตาและปรานี โปรดรีบมาช่วยเหลือด้วยเถิด”

ผ่านไปไม่นานก็มีเรือลำหนึ่งผ่านมา จะแวะรับเขาไปด้วย แต่เขาพูดว่า
“ข้าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้า เดี๋ยวเจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วย
เหลือข้าเอง” เรือลำนั้นเลยผ่านเลยไป

น้ำยังคงเจิ่งนองเพิ่มขึ้นเรื่อยจนถึงเอวของเขาแล้ว เขารู้สึกร้อนรนใจขึ้น
ไปอีกมากแล้ววิงวอนอธิษฐานต่อว่า “เจ้าแม่กวนอิมมาช่วยข้าพเจ้าเร็วๆ
ด้วยเถิด” ชั่วขณะนั้นก็มีเรือลำหนึ่งผ่านมาอีก เรือลำนั้นก็จะมาช่วย
เหลือพาเขาไปที่ปลอดภัย แต่เขาพูดว่า “ข้าไม่ชอบเรือลำนี้ เดี๋ยว
เจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วยข้าเอง” เรือลำนั้นจึงเลยผ่านไป

เวลาผ่านไปน้ำก็ยังทวีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงหน้าอกแล้ว เขาได้แต่
เร่งรีบวิงวอนต่อไป แล้วก็มีเรือลำหนึ่งบรรทุกคนมาเต็มลำเรือ
ผ่านมาจะช่วยเหลือ แต่เขาปฏิเสธบอกว่า คนมากไปแล้ว ข้าไม่ขึ้น
อีกสักประเดี๋ยวเจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วยเอง

ขณะที่น้ำท่วมจนถึงจมูกแล้ว จนเขาแทบจะหายใจไม่ออกแล้ว
พระอาจารย์ท่านหนึ่งผ่านมาพอดี มาช่วยเขาได้ทันท่วงที
เขาพูดกับพระอาจารย์อย่างน้อยอกน้อยใจว่า
“ข้าศรัทธาและยึดมั่นนับถือเจ้าแม่กวนอิมมากทำไมเจ้าแม่ไม่มาช่วย
ข้าพเจ้า “

“เจ้าช่างใส่ร้ายพระโพธิสัตว์เสียจริง เจ้าแม่ได้ช่วยให้มีเรือหลายลำมา
ช่วยเจ้า แต่เจ้าก็บ่ายเบี่ยง ติโน่นตินี่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมรับ
การช่วยเหลือ ดูเหมือนเจ้าจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าแม่แล้ว
และข้าก็ไม่ควรจะช่วยเจ้า ปล่อยให้เจ้าพบกับยมบาลคงจะดีกว่า”



133  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: ๕๖. ชาวนาซื้อที่ดิน @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 12:06:04


         

๕๖. ชาวนาซื้อที่ดิน

มีชาวนาคนหนึ่งได้ข่าวว่ามีผู้จะขายที่ดิน จึงไปถามหาเจ้าของที่ว่าขายอย่างไร?
เจ้าของที่บอกว่า “เพียงแค่จ่ายเงินมาหนึ่งพันบาท หลังจากนั้นให้เวลาหนึ่งวัน
ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนตกดิน หากสามารถใช้เท้าเดิน วนจนกลับมาที่จุดตั้งต้น
เดินวนได้กว้างแค่ไหนก็จะได้ที่ดินมากเท่านั้น แต่ถ้าพระอาทิตย์ตกดินแล้ว
ยังกลับมาที่เดิมไม่ได้ เงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า

ชาวนานั้นคิดว่า “หากวันนั้นเดินให้ได้มากที่สุด ก็คงจะได้ที่ดินมากยิ่งขึ้น
ทำการค้าอย่างนี้ช่างคุ้มค่าจริงๆ” จึงเซ็นสัญญาที่จะซื้อที่นั้น

วันที่ตามนัดในสัญญา ชาวนาจึงรีบเดินกึ่งวิ่งไปอย่างรวดเร็ว เขาก้าวเท้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ไม่ยอมหยุดแม้แต่วินาที มุ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ พลางคิดในใจว่า “อดทน
วันนี้สักหน่อย ต่อไปจะได้เสวยสุขจากความเหนื่อยในวันนี้ที่นำสุขมาให้”

ขณะที่จะวกกลับไปที่เดิมนั้น ก็เป็นเวลาเที่ยงวันแล้ว เขาจึงเร่งฝีเท้าอย่าง
รวดเร็วเพื่อที่จะกลับที่เดิม เมื่อใกล้เวลาที่พระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน ความเหนื่อย
บวกกับความเร่งรีบที่เดินไม่ได้หยุดพัก ทำให้เขาล้าลงและเดินช้าลงเรื่อยๆ
เมื่อพระอาทิตย์ตกดินเขาเหลือไม่กี่ก้าวก็จะถึงที่เดิม ขณะที่เขาล้มลงมือสอง
ข้างมาล้มลงตรงจุดตั้งต้นพอดี แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
เพราะชีวิตของเขาสูญสิ้นไปแล้ว แล้วจะมีความหมายอะไร

         

134  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: ๕๕. ความโลภไม่มีสิ้นสุด @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 11:56:17


                 

๕๕. ความโลภไม่มีสิ้นสุด

ฮ่องเต้องค์หนึ่งถามท่านราชครูว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้รับธัมมะของพุทธะ”
“พุทธะอยู่ในใจของตัวเอง ผู้อื่นไม่สามารถที่จะให้ได้ มหาบพิตรเห็นก้อนเมฆ
ที่อยู่ด้านนอกวังนั้นหรือเปล่า? สามารถที่จะให้เหล่าองครักษ์สอยมาไว้ในวัง
ได้หรือเปล่า?”
“ไม่ได้แน่นอน”

ท่านราชครูกล่าวต่อว่า “ผู้คนในโลกที่ศรัทธาในพระพุทธ บางคนศรัทธาเพราะอยาก
ให้พระคุ้มครองให้ได้เกียรติยศชื่อเสียง บางคนเพื่ออยากจะวิงวอนขอให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง
บางคนเพื่ออยากจะให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าทางจิตใจ จะมีสักกี่คนที่จะตามหาแก่นแท้แห่งพุทธะ”

“ทำอย่างไรถึงจะเป็นตัวแทนของพระพุทธ?”
“กิเลสทำให้มหาบพิตรมีความคิดเช่นนี้ อย่าให้ชีวิตหมดไปกับความคิดในเรื่อง
ที่ไม่มีความหมายอะไร กี่สิบปีที่หลงวนมัวเมาอยู่กับความไม่จริง ที่สุดแล้วก็เป็น
เพียงแค่ซากที่เน่าเปื่อยและโครงกะโหลกสีขาวเท่านั้น ทำอย่างนั้นให้ลำบากทำไม?”

“หากว่าไม่มีความวุ่นวายความกังวล?”
“ท่านเหยียบเศียรพระแล้วเดินผ่านไปเถอะ”

“หมายความว่าอย่างไร?”
“คนที่ไม่มีความกังวล จะเห็นตัวเองอย่างชัดเจน แม้จะบำเพ็ญจนกลายเป็นพุทธะ
ก็จะไม่หลงตัวเองว่าเป็นกายของพุทธะที่บริสุทธิ์

มีแต่คนที่จิตมีแต่ความกังวลวุ่นวายถึงคิดแต่จะให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายเหล่านั้น
หนทางแห่งการภาวนาเป็นหนทางของคนที่มีจิตสะอาดและสว่าง ไม่สามารถให้คนอื่นทดแทนได้
ปล่อยวางกิเลสของตัวเอง ปล่อยวางทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ก็จะเป็นความจริงที่ว่า
ท่านจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้”

“แม้ว่าจะได้ทุกสิ่งในโลกนี้ก็มีประโยชน์อะไร? ก็ยังไม่ได้เป็นพระพุทธ
“ทำไมถึงจะอยากเป็นพระพุทธ?”
“เพราะว่าข้าอยากจะเป็นพระพุทธที่มีพลังที่ไม่มีใครเหนือกว่าได้”

“ตอนนี้ท่านได้เป็นถึงฮ่องเต้ ยังไม่พออีกหรือ?
ความโลภของคนยากที่จะรู้จักพอ แล้วจะกลายเป็นพระพุทธได้อย่างไร?”

             

135  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: ๕๔. มีตัวเราไว้ทำไม @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 11:50:59


                 

๕๔. มีตัวเราไว้ทำไม

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งเข้านิโรธสมาบัติไปหลายวัน จนเหล่าลูกศิษย์
นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว เลยนำร่างของท่านไปเผา

ผ่านไปอีกหลายวันเมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านหาร่างตัวเองไม่เจอ
รู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก พร้อมกับพึมพำไปว่า “ข้าล่ะ ข้าอยู่ที่ไหน?”
พอตกกลางคืนท่านก็ยังร้องอีกว่า ข้าล่ะ ทำไมถึงหาร่างของข้าไม่เจอ”
เสียงร้องนั้นยิ่งร้องยิ่งเสียใจหนักขึ้นทุกที เหล่าลูกศิษย์ฟังแล้วก็รู้สึก
ไม่สบายใจไปตามๆกัน

เหล่าลูกศิษย์จึงไปเชิญพระอาจารย์จิ้งคง มาช่วยแก้ไขให้ พระอาจารย์จิ้งคงสั่งว่า
คืนนี้ให้เตรียมไฟมาหนึ่งเตา และน้ำหนึ่งถัง อาจารย์จะไปนอนในห้องพระอาจารย์นั้น
เมื่อท่านมาหากายเนื้อ ข้าจะคุยกับเขาให้เข้าใจว่า “อะไรคือตัวเรา”

พอถึงกลางดึก พระอาจารย์ท่านนั้นมาหากายอีก พลางพูดอย่างเศร้าสร้อยว่า
“ข้าล่ะ กายของข้าอยู่ที่ไหนแล้ว” พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “อยู่ในดิน”
วิญญาณนั้นจึงมุดเข้าไปในดิน หาจนทั่ว สุดท้ายก็ยังหาร่างของตัวเองไม่เจอ

วิญญาณนั้นกลับมาพูดอย่างเศร้าสร้อยอีกว่า “ในดินไม่มีข้า”
พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “งั้นคงอยู่ในความว่างเปล่ากระมัง เจ้าลองไปหาดูให้ทั่วซี”
วิญญาณนั้นไปหาอีกจนทั่วก็ไม่เจอ กลับมาต่อว่า หาจนทั่วแล้วไม่เจอ

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่ถังน้ำแล้วพูดว่า “ร่างของท่านคงจะอยู่ในน้ำกระมัง”
วิญญาณนั้นจึงเข้าไปในน้ำ สักครู่วิญญาณนั้นก็ออกมาพูดว่า
“ในน้ำก็ไม่มีข้า ที่แท้ท่านซ่อนข้าไว้ที่ไหน?”

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่เตาไฟแล้วพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านต้องอยู่ในไฟแน่นอน
วิญญาณนั้นก็เข้าไปในไฟ ที่สุดก็หาตัวเองไม่เจอ

ก่อนที่วิญญาณนั้นจะพูดอะไร พระอาจารย์จิ้งคงพูดก่อนว่า “ในเมื่อท่านสามารถ
ไปในดิน ที่ว่าง น้ำ ไฟ และทุกแห่งได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีที่ไหนที่ท่านไปไม่ได้
แล้วท่านยังจะยึดเอาเปลือกว่างเปล่านั้นมาทำไม?”
วิญญาณนั้นได้คิดขึ้นมา ตั้งแต่นั้นจึงไม่มาหา ”ข้า “ อีกต่อไป

                 

136  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: ๕๓. เจ้าโทสะตั้งแต่เกิด @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 11:43:28




๕๓. เจ้าโทสะตั้งแต่เกิด

พระอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ท่านเทศน์ด้วยธรรมะ
ที่ฟังง่ายและเข้าใจไม่ยาก และทุกครั้งที่เทศน์เสร็จแล้ว มักจะให้ผู้ฟัง
ซักถามปัญหาต่างๆ มีอุบาสกคนหนึ่งถามว่า

อุบาสก : “ ข้าพเจ้าเกิดมาก็เจ้าโทสะแล้ว โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย
โมโหง่าย ทำยังไงถึงจะแก้ไขได้”
พระอาจารย์ : “ไหนเจ้าเอาอะไรที่ว่า “เกิดมาก็มี” มาให้ดูหน่อย
จะได้ช่วยแก้ไขให้”

อุบาสก : “ไม่ใช่ ตอนนี้ไม่มี แต่เมื่อเวลาที่เจอกับเรื่องต่างๆ ไอ้เจ้า
เกิดมาเจ้าโทสะถึงจะวิ่งออกมา”
พระอาจารย์ : “ถ้าตอนนี้ไม่มี ต้องเจอสิ่งที่มากระทบถึงจะมี ก็แปลว่า
เวลาเจ้ามีเรื่องกับคนอื่น เจ้าถึงสร้างมันขึ้นมา
แล้วก็บอกว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด ยกเป็นความผิดของพ่อแม่
ดูช่างไม่ยุติธรรมจริงๆ”

อุบาสกนั้นได้ฟังแล้วจึงเกิดความรู้ตัวขึ้นมาว่า “ความโกรธเป็นสิ่งที่จิตสร้าง
ขึ้นมาเอง ตั้งแต่นั้นจึงไม่โกรธอะไรง่ายๆอีก”

         

137  สุขใจในธรรม / ธรรมะจากพระอาจารย์ / อย่าหลงความรู้สึก เมื่อได้รับรู้เรื่องลวงโลกที่เป็นมุสาวาท :หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ เมื่อ: 07 ธันวาคม 2555 10:33:39


                 

อย่าหลงความรู้สึก เมื่อได้รับรู้เรื่องลวงโลกที่เป็นมุสาวาท
หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ

ทุกวันนี้มีเรื่องราวที่เป็นมุสาวาทมากมายที่ปลุกกระแสความรู้สึกของคน ที่กระจายตามสื่อต่างๆทำให้คนหลงใหล ไปกับสื่อเหล่านั้น โดยผู้พูดก็ไม่รู้ตัวที่ได้กระทำลงไปว่าเป็นมุสาวาท เพราะความเขลาขาดการพิจารณาอย่างถ่องแท้ เป็นความชั่วบาปอย่างร้ายแรงทำให้ไปตกนรกได้ เพราะการทำให้คนหลงเชื่อด้วยมุสาวาท

องค์แห่งมุสาวาทมี ๔ อย่าง
คือการพูดเท็จหรือพูดโกหกหาความจริงมิได้ ๑,
การพูดด่าคือคำหยาบคายต่างๆ ๑,
การพูดส่อเสียดคือพูดให้คนอื่นเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจเกิดละคายเคืองใจ ๑,
การพูดเพ้อเจ้อคือพูดเรื่องไร้สาระหาประโยชน์หาแก่นสารมิได้ ๑,


การได้รับรู้สื่อลวงโลกเหล่านี้ถ้าขาดการพิจารณาอย่างถ่องแท้ โดยมีสติ ก็อาจจะหลงชื่อได้ ทำให้เกิดการวิตกกังวล, ความโกรธเกลียด, ความอิจฉา, ความพยาบาทปองร้าย, ความอาฆาตมาดร้าย, มองคนในแง่ร้าย, ขาดเมตตาธรรม, มีจิตคิดฟุ้งซ่าน, เป็นทุกข์, ถูกครอบงำด้วยความโลภ, ความโกรธ, ความหลง, จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่หลงไปกับคำมุสาวาทเหล่านี้เกิดการ กระทำผิด การพูดผิด การคิดเห็นผิด จัดเป็นทุจริตธรรมฝ่ายอกุศลคือความเศร้าหมองใจ เป็นบาปคือความไม่สบายใจ ทำให้เสียหายต่อหน้าที่การงานของตน เป็นทุกข์ตามมาให้ผลกับชีวิต เพราะความหลงไปเป็นเหตุ

ถ้าไม่อยากหลงไปกับความรู้สึกเหล่านั้นที่มากับสื่อลวงโลก ก็ต้องมีการฝึกเจริญสติ ด้วยการเจริญธัมมะภาวนา กับคำภาวนาในหัวข้อที่ว่า “อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.” ท่องธัมมะภาวนาบทนี้ไว้เสมอในชีวิตประจำไว้ เพื่อสร้างความรู้ตัวให้กับจิต อันเป็นเหตุเกิดสติ รู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น จิตของเราก็จะมีสติรู้ปล่อยวางในการรับรู้สื่อต่างๆ อย่างไม่หลงไป จิตของเราก็จะเกิดความสงบสุขและนิ่ง มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ จนเกิดปัญญารู้สิ่งทั้งปวงว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นให้เกิดอัตตา เพราะจะทำให้เกิดทุกข์ได้ ดังนี้.


โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเล
http://www.facebook.com/lindalindaooi

138  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: ۞ ๚ เถระคาถา ๚ะ๛ ۞ เมื่อ: 06 ธันวาคม 2555 13:39:00


     
ต่อค่ะ...
                             พระโมคคัลลานเถระรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียวเสมอด้วย
                             ท้าวมหาพรหม เป็นผู้ชำนาญในคุณ คืออิทธิฤทธิ์ ในจุติและอุบัติของ
                             สัตว์ ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายในกาลอันสมควร ภิกษุใดทรงคุณธรรม
                             ชั้นสูงด้วยปัญญา ศีล และอุปสมะ ภิกษุนั้นคือพระสารีบุตร เป็นผู้สูงสุด
                             อย่างยิ่ง แต่เราเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่างๆ เป็นผู้ถึงความชำนาญ

                             ในฤทธิ์พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ
เราชื่อว่าโมคคัล-
                             ลานะโดยโคตร เป็นผู้ชำนาญในสมาธิและวิชชา ถึงที่สุดแห่งบารมี
                             เป็นปราชญ์ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อันตัณหาไม่อาศัย มีอินทรีย์
                             มั่นคง ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลสทั้งสิ้นเสียอย่างเด็ดขาด เหมือนกับ
                             กุญชรชาติตัดปลอกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดกระเด็นไป ฉะนั้น
เราคุ้น

                             เคยกับพระศาสดา ฯลฯ ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว เราบรรลุ
                             ถึงประโยชน์ที่กุลบุตรผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึง
                             ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว มารผู้มักประทุษร้าย เบียดเบียนพระสาวก
                             นามว่าวิธุระและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนามว่ากกุสันธะ แล้วหมกไหม้
                             อยู่ในนรกใด
นรกนั้นเป็นเช่นไร คือ เป็นนรกที่มีขอเหล็กตั้งร้อย และ

                             เป็นที่ทำให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะตนทุกแห่ง มารผู้มักประทุษร้าย เบียด
                             เบียนพระสาวกนามว่าวิธูระ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนามว่า
                             กกุสันธะ หมกไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้ ภิกษุใดเป็นสาวกแห่ง
                             พระพุทธเจ้า รู้กรรมและผลกรรมโดยประจักษ์ ดูกรมารผู้มีธรรมดำ
                             ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้ วิมาน

                             ทั้งหลายลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ตั้งอยู่ตลอดกัป มีสีเหมือนแก้ว
                             ไพฑูรย์ เป็นวิมานงดงาม มีรัศมีพลุ่งออกเหมือนเปลวไฟผุดผ่อง มีหมู่
                             นางอัปสรผู้มีผิวพรรณแตกต่างกันเป็นอันมากฟ้อนรำ ภิกษุใดเป็นสาวก
                             แห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผลกรรมโดยประจักษ์ ดูกรมารผู้มีธรรมดำ
                             ท่านเบียดเบียนภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้ ภิกษุ

                             รูปใดที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็เห็นอยู่ ได้ทำ
                             ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ให้หวั่นไหวได้ด้วยปลายนิ้วเท้า
                             ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผลแห่งกรรมโดยประจักษ์
                             ดูกรมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียนภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์
                             เป็นแน่แท้ ภิกษุใดมีอิทธิพลอันกล้าแข็ง ทำเวชยันตปราสาทให้หวั่นไหว

                             ได้ด้วยปลายนิ้วเท้า และยังเทพเจ้าทั้งหลายให้สลดใจ
ภิกษุใดเป็น
                             สาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผลกรรมโดยประจักษ์ ดูกรมารผู้มี-
                             ธรรมดา ท่านเบียดเบียนภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                             ภิกษุใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาทว่า มหาบพิตรทรงทราบ
                             วิมุติอันเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างหรือ ขอถวายพระพร ท้าวสักกเทวราชถูก

                             ถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว
                             แก่ภิกษุนั้น
ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้ารู้กรรมและผลกรรมโดย-
                             ประจักษ์ ดูกรมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า ก็จะต้อง
                             ประสบทุกข์เป็นแน่แท้ ภิกษุใดสอบถามท้าวมหาพรหมว่า ดูกรอาวุโส
                             แม้วันนี้ท่านยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อนว่า สุธรรมสภานี้มีอยู่

                             บนพรหมโลกเท่านั้น ที่ดาวดึงสพิภพไม่มีหรือ หรือว่าท่านยังมีความเห็น
                             ผิดอยู่เหมือนก่อน คือ ท่านยังเห็นอยู่ว่า บนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่ง
                             ออกได้เองหรือ ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว ได้พยากรณ์ตาม
                             ความเป็นจริงแก่ภิกษุนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้
                             เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน คือ ไม่ได้เห็นว่า บนพรหมโลกมีรัศมีพวยพุ่ง

                             ออกไปได้เอง ทุกวันนี้ข้าพเจ้าละทิ้งคำพูดที่ว่ามานั้นเสียได้ กลับมี
                             ความเห็นว่าไม่เที่ยง
ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล-
                             กรรมโดยประจักษ์ ดูกรมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า
                             ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้ ภิกษุใดแสดงยอดขุนเขาสิเนรุราช
                             ชมพูทวีป และปุพพวิเทหทวีป ให้หมู่มนุษย์ชาวอมรโคยานทวีปและชาว

                             อุตตรกุรุทวีปเห็นกันด้วยวิโมกข์
ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
                             รู้กรรมและผลกรรมโดยประจักษ์ ดูกรมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
                             ภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้ ไฟไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะ
                             ไหม้คนพาลเลย แต่คนพาลรีบเข้าไปหาไฟอันลุกโพลงให้ไหม้ตนเอง
                             ฉันใด ดูกรมาร ท่านประทุษร้ายพระตถาคตนั้นแล้ว ก็จักเผาตนเอง

                             เหมือนกับคนพาลถูกไฟไหม้ ฉะนั้น
แน่ะมารผู้ชาติชั่ว ตัวท่านเป็นมาร
                             คอยแต่ประทุษร้ายพระตถาคตพระองค์นั้น ก็ต้องพบแต่สิ่งซึ่งมิใช่บุญ
                             หรือท่านเข้าใจว่า บาปไม่ให้ผลแก่เรา แน่นะมารผู้มุ่งแต่ความตาย
                             เพราะท่านได้ทำบาปมาโดยส่วนเดียว จะต้องเข้าถึงทุกข์ตลอดกาลนาน
                             ท่านจงอย่าคิดร้ายต่อพระพุทธเจ้า และภิกษุทั้งหลาย ผู้สาวกของ
                             พระพุทธเจ้าอีกต่อไปเลย พระมหาโมคคัลลานเถระได้คุกคามมารที่ป่า
                             เภสกฬาวันดังนี้แล้ว
ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจจึงได้หายไป ณ ที่นั้น
                             นั่นเอง
.
                ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาทั้งหมดด้วยประการฉะนี้แล.

                             ในสัฏฐิกนิบาตปรากฏว่า พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีฤทธิ์มากองค์เดียว
                             เท่านั้น ได้ภาษิตคาถาเหล่านั้นไว้ ๖๘ คาถา


139  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: ۞ ๚ เถระคาถา ๚ะ๛ ۞ เมื่อ: 06 ธันวาคม 2555 13:35:45


     

มหาโมคคัลลานเถรคาถา
   คาถาสุภาษิตของพระมหาโมคคัลลานเถระ
                [๔๐๐]        พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ภาษิตคาถา ๔ คาถาเบื้องต้น ความว่า
                             ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ยินดี
                             เฉพาะอาหารที่มีอยู่ในบาตรอันเนื่องแต่การแสวงหา มีจิตใจมั่นคงด้วย
                             ดีในภายใน พึงทำลายเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้ ภิกษุผู้ถือ
                             การอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ยินดีเฉพาะ
                             อาหารที่มีอยู่ในบาตรอันเนื่องแต่การเสาะแสวงหา พึงกำจัดเสนาแห่ง

                             พระยามัจจุราชเสียได้ เหมือนกุญชรทำลายเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น ภิกษุ
                             ผู้ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร มีความพากเพียรเป็นนิตย์ ยินดี
                             เฉพาะอาหารในบาตรอันเนื่องแต่การแสวงหา มีจิตใจมั่นคงด้วยดี พึง
                             ทำลายเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้ ภิกษุทั้งหลายผู้ถือการอยู่โคน
                             ไม้เป็นวัตร มีความพากเพียรเป็นนิตย์ ยินดีเฉพาะอาหารในบาตร
                             อันเนื่องแต่การแสวงหา พึงกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้ เหมือน
                             ช้างกุญชรทำลายเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น.

                อีก ๔ คาถาต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตไว้ ด้วยอำนาจ
                สอนหญิงเพศยาซึ่งมาเล้าโลมท่านว่า
                             เราติเตียนกระท่อม คือสรีระร่างอันสำเร็จด้วยโครงกระดูก อันฉาบทา
                             ด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
                             น่าเกลียด ที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจว่าเป็นของผู้อื่นและเป็นของตน
ในร่างกาย
                             ของเธอเช่นกับถุงอันเต็มไปด้วยคูถ มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้เหมือนนาง-
                             ปีศาจ มีฝีที่อก มีช่องเก้าช่องเป็นที่ไหลออกเนืองนิตย์ ภิกษุควรละเว้น
                             สรีระของเธออันมีช่องเก้าช่อง เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็น
ดังชายหนุ่มผู้ชอบ
                             สะอาด หลีกเลี่ยงมูตรคูถไปจนห่างไกล ฉะนั้น หากว่าคนพึงรู้จักสรีระ
                             ของเธอเช่นเดียวกับฉันรู้จัก ก็จะพากันหลบหลีกเธอไปเสียห่างไกล
                             เหมือนบุคคลผู้ชอบสะอาดเห็นหลุมคูถในฤดูฝนแล้ว หลีกเลี่ยงไปเสีย
                             ห่างไกล
ฉะนั้น.

                เมื่อหญิงแพศยาคนนั้นได้ฟังดังนี้แล้ว ก็เกิดความสลดใจ จึงตอบพระเถระเป็นคาถา
                ความว่า
                             ข้าแต่สมณะผู้มีความเพียรมาก ท่านพูดอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่คน
                             บางจำพวกยังจมอยู่ในร่างกายอันนี้ เหมือนกับโคเฒ่าที่จมอยู่ในตม
                             ฉะนั้น.

                พระมหาโมคคัลลานเถระเมื่อจะชี้แจงให้นางรู้ว่า การประพฤติตามใจชอบเช่นนี้ไม่มี
                ประโยชน์ มีแต่นำโทษมาให้โดยถ่ายเดียว จึงกล่าวเป็นคาถา ๒ คาถาความว่า
                             ผู้ใดประสงค์ย้อมอากาศด้วยขมิ้น หรือด้วยน้ำย้อมอย่างอื่น การกระทำ
                             ของผู้นั้นก็ลำบากเปล่าๆ จิตของเรานี้ก็เสมอกับอากาศ เป็นจิตตั้งมั่น
                             ด้วยดีในภายใน เพราะฉะนั้น เธออย่ามาหวังความรักที่มีอยู่ในดวงจิต
                             อันลามกของเธอ
จากฉันเลย เหมือนตัวแมลงถลาเข้าสู่กองไฟย่อมถึงความ
                             พินาศ
ฉะนั้น เธอจงดูร่างกายอันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นตั้งไว้ มีแผล
                             ทั่วๆ ไป อันบุญกรรมกระทำให้วิจิตร กระสับกระส่าย พวกคนพาลพา
                             กันดำริโดยมาก
ไม่มีความยั่งยืนมั่นคงอยู่เลยนี้เถิด.

                พระมหาโมคคัลลานะ ปรารภการนิพพานของพระสารีบุตรเถระเป็นเหตุจึงกล่าวคาถา
                ขึ้น ๔ คาถา
ความว่า
                             เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เพียบพร้อมไปด้วยอุฏฐานะ เป็นอันมาก
                             มีศีลสังวรเป็นต้น นิพพานไปแล้ว ก็เกิดเหตุน่าสะพึงกลัว ขนพอง
                             สยองเกล้า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อม
                             ไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับ
                             เป็นสุข ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยความเป็นของแปรปรวน
                             และโดยไม่ใช่ตัวตน ชนเหล่านั้น ชื่อว่าแทงตลอดธรรมอันละเอียด
                             เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศร ฉะนั้น อนึ่ง ชนผู้มี
                             ความเพียรเหล่าใด พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของแปร-
                             ปรวนและโดยไม่ใช่ตัวตน ชนผู้มีความเพียรเหล่านั้น ชื่อว่าแทงตลอด
                             ธรรมอันละเอียด เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศร ฉะนั้น.

                พระมหาโมคคัลลานะปรารภพระติสสเถระ จึงกล่าวเป็นคาถาหนึ่งคาถาความว่า
                             ภิกษุผู้มีสติ ควรรีบละเว้นความพอใจรักใคร่ในกามารมณ์เสีย เหมือน
                             บุคคลรีบถอนหอกออกจากตน และเหมือนบุคคลรีบดับไฟซึ่งไหม้อยู่
                             บนศีรษะตน ฉะนั้น ภิกษุผู้มีสติควรรีบละเว้นความกำหนัดในภพเสีย
                             เหมือนบุคคลรีบถอนหอกออกจากกายตน และเหมือนบุคคลที่รีบดับไฟ
                             ซึ่งไหม้อยู่บนศีรษะตน ฉะนั้น
เราเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคซึ่งได้ทรงอบรม

                             พระองค์มาแล้วผู้ทรงไว้ซึ่งพระสรีระอันมีในที่สุดทรงตักเตือนแล้ว จึงทำ
                             ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้หวั่นไหวด้วยปลายนิ้วเท้า บุคคล
                             ปรารภความเพียรอันย่อหย่อนแล้วพึงบรรลุนิพพาน อันเป็นเหตุปลด-
                             เปลื้อง กิเลส เครื่อง ร้อยกรอง ทั้งปวงด้วยกำลังความเพียร อันน้อยก็หาไม่

                             แต่พึงบรรลุได้ด้วยความเพียรชอบ ๕ ประการ ก็ภิกษุหนุ่มนี้ นับว่าเป็น

                             บุรุษผู้สูงสุดชนะมารพร้อมทั้งพาหนะแล้ว ทรงร่างกายอันมีในที่สุด
                             สายฟ้าทั้งหลายฟาดลงไปตามช่องภูเขาเวภารบรรพต และภูเขาปัณฑว-
                             บรรพต ส่วนอาตมาเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเปรียบ ผู้คงที่
                             ได้เข้าไปสู่ช่องภูเขาเจริญฌานอยู่ อาตมาเป็นผู้สงบระงับ ยินดีแต่ใน
                             ธรรมอันเป็นเครื่องเข้าไปสงบระงับ อยู่แต่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นมุนี

                             เป็นทายาทของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้อันท้าวมหาพรหมพร้อมทั้ง
                             เทวดากราบไหว้ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไหว้พระกัสสปผู้สงบระงับ
                             ผู้ยินดีแต่ในธรรมอันสงบ อยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นมุนี เป็นทายาท
                             แห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ผู้ใดเป็น
                             กษัตริย์หรือเป็นพราหมณ์สืบวงศ์ตระกูลมาเป็นลำดับๆ ตั้ง ๑๐๐ ชาติ

                             ถึงพร้อมด้วยไตรเพท ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่ง
                             เวทนา ๓
การกราบไหว้ผู้นั้นแม้บ่อยๆ ย่อมไม่ถึงเสี้ยว ๑๖ อันจำแนก
                             ออก ๑๖ ครั้ง ของบุญที่ไหว้พระกัสสปนี้เพียงครั้งเดียวเลย ภิกษุใดเวลา
                             เช้าเข้าวิโมกข์ ๘ โดยอนุโลมและปฏิโลม ออกจากสมาบัตินั้นแล้วเที่ยว
                             ไปบิณฑบาต ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้นเลย อย่าได้

                             ทำลายตนเสียเลย ท่านจงยังใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่เถิด
                             จงรีบประณมอัญชลีไหว้เถิด ศีรษะของท่านอย่าแตกไปเสียเลย, พระ-
                             โปฐิละ
ไม่เห็นพระสัทธรรม เพราะเป็นผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้แล้ว เดินไป
                             สู่ทางผิดซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน พระโปฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร
                             ติดอยู่ในลาภและสักการะ ดังตัวหนอนที่ติดอยู่ในคูถจึงเป็นผู้ไม่มีแก่น-
                             สาร
  อนึ่ง เชิญท่านมาดู ท่านพระสารีบุตรผู้เพียบพร้อมไปด้วยคุณ

                             ที่น่าดูน่าชม ผู้พ้นแล้วจากกิเลสด้วยสมาธิและปัญญา มีจิตตั้งมั่นใน
                             ภายใน เป็นผู้ปราศจากลูกศร สิ้นสังโยชน์ บรรลุวิชา ๓ ละมัจจุราชเสียได้
                             เป็นพระทักขิเณยยบุคคล ผู้เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของมนุษย์ทั้งหลาย
                             เทวดาเป็นอันมากที่มีฤทธิ์เดชเรืองยศศักดิ์นับจำนวนหมื่น พร้อมด้วย
                             พรหมชั้นพรหมปโรหิต ได้พากันมาประณมอัญชลีนมัสการพระโมคคัล-
                             ลานเถระ
โดยกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษผู้อาชาไนย ขอนอบน้อม

                             แด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอุดม ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้นิร-
                             ทุกข์ พระคุณเจ้ามีอาสวะทั้งหลายสิ้นไป เป็นทักขิเณยยบุคคล พระโมค-
                             คัลลานเถระ เป็นผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว เป็นผู้เกิดโดยอริยชาติ
                             ครอบงำความตายได้แล้วไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่ด้วย
                             น้ำ ฉะนั้น พระโมคคัลลานเถระรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว
                             เสมอด้วยครอบงำความตายได้แล้วไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัว
                             ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น


มีต่อค่ะ

140  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / Re: @ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก เมื่อ: 04 ธันวาคม 2555 18:10:48


           

๕๒. หยดน้ำ

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่จะอาบน้ำ น้ำที่ลูกศิษย์ผสมให้อาบร้อนเกินไป
จึงเรียกให้ลูกศิษย์นำน้ำเย็นมาเติม ลูกศิษย์เติมแล้วมีน้ำเหลือก็เททิ้งทันที

พระอาจารย์จึงบอกว่า “ เจ้าทำไมถึงเทน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกนี้ย่อมมีประโยชน์อยู่ในตัวของมันเอง
เพียงแต่มีคุณค่า และราคาต่างกันเท่านั้น เจ้าทำไมถึงเทมันทิ้งไปอย่างง่ายดาย

แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว หากเอาไปรดลงที่ต้นไม้ใบหญ้า
ไม่แต่ต้นไม้ใบหญ้าจะชอบ ตัวของน้ำเองก็ไม่เสียคุณค่าของตัวมันเอง
ทำไมต้องเททิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว
แต่คุณค่าราคาของมันยิ่งใหญ่มหาศาล “

ศิษย์ฟังแล้วจึงเข้าใจถึงอะไรบางอย่าง เลยตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า
“ พระหยดน้ำ “ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระที่มีผู้เคารพนับถือมากรูปหนึ่ง

วันหนึ่งหลังจากที่ท่านเทศน์เสร็จแล้ว มีผู้ถามท่านว่า
“ ในโลกนี้สิ่งใดมีคุณงามความดีมากที่สุด “
“ หยดน้ำ “ พระหยดน้ำตอบ
“ ความว่างเปล่าสามารถห่อหุ้มสรรพสิ่ง อะไรสามารถหุ้มห่อความว่างเปล่า “
“ หยดน้ำ “

ตั้งแต่นั้นพระหยดน้ำ นำจิตกับหยดน้ำสมานรวมเป็นหนึ่ง
จิตห่อหุ้มความว่างเปล่า ภายในหยดน้ำก็มีความว่างเปล่าที่ไม่มีสิ้นสุด

       

หน้า:  1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 368
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.914 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 09 กันยายน 2566 07:09:21