[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 14:51:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระประวัติ-บันทึกข้อคิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช  (อ่าน 52840 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 เมษายน 2557 18:11:29 »

.



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร


พระประวัติย่อ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
อันดับที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ชาตกาลและชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถระ) ท่านบิดาชื่อ บาง นิลประภา ท่านมารดาชื่อ ผาด นิลประภา เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวน ๓ คน ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๔๐ เวลา ๑๙.๓๓ น. ที่บ้านตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรพชา-อุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๖ ปี ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๕๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นศีลาจารย์ บรรพชาอยู่จนครบอุปสมบท

อุปสมบท ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุณี (แปลก วุฑฺฒิญาโน) วัดราชบพิธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศีลาจารย์ มีพระฉายาว่า “วาสโน”

การศึกษา
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาภาษาไทยที่วัดข้างบ้าน และที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๕๓ สอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๒

บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาปริยัติธรรมตามลำดับ สอบได้เปรียญ ๔ ประโยค

สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้ทูนถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๒ สถาบัน และรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยพาราณสี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลาง เป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีทูนถวาย

สมณศักดิ์
ได้ทรงดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ โดยลำดับดังนี้
๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕   เป็นพระครูโฆสิตสุทธสร
๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖   เป็นพระครูธรรมธร
๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖       เป็นพระครูวิจิตรธรรมคุณ   (ตำแหน่งฐานานุกรมของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗   เป็นพระจุลคณิศร พระราชาคณะสามัญปลัดซ้าย ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙        เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐      เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโมลี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐       เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖     เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗    ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

หน้าที่การงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นมา ได้ทรงดำรงตำแหน่งต่างๆ บริหารงานพระศาสนา การคณะสงฆ์ รวม ๒๘ ตำแหน่ง และตำแหน่งสำคัญๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดจนถึงอวสานกาลแห่งพระชนมชีพ คือ
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
- ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- นายกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
- นายกกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย
- ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์
- องค์อุปถัมภ์สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ
- องค์อุปถัมภ์ศูนย์และชมรมพุทธศาสน์ ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ อีก ๙ แห่ง
- องค์อุปถัมภ์ศูนย์ธรรมศึกษาพิเศษโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี-อาษาวิทยา
- องค์อุปถัมภ์โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
- องค์อุปถัมภ์สถานสงเคราะห์คนชรา “วาสนะเวศม์”
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิ “วาสนะเวศม์”

งานเผยแผ่ศาสนธรรม
- เทศนาประจำวันพระในพระอุโบสถ
- บรรยายสวดมนต์มีคำนำแบบมคธ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระ แรม ๘ ค่ำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง มิถุนายน ๒๕๑๗
- แต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เคยได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ ๑ รวม ๒ ครั้งที่ ๒ ๑ ครั้ง คือ
   ๑. เรื่อง ทิศ ๖ (รางวัลชั้นที่ ๑)
   ๒. เรื่อง สังคหวัตถุ ๔ (รางวัลชั้นที่ ๑)
   ๓. เรื่อง สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔ (รางวัลชั้นที่ ๒)
- อบรมศีลธรรมแก่นักเรียนวัดราชบพิธ
- ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สืบต่อจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏกษัตริยาราม
- แต่งบทความทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ เช่น บทความเรื่องบันทึกของศุภาสินี, วัยที่เขาหมดสงสาร, วัดของบ้าน, มรดกชีวิต, ความเติบโต, บุคคลหาได้ยาก, วาสนาสอนน้อง, จดหมายถึงพ่อ, บทร้อยกรอง เช่น วาทแห่งวาสน์, คำกลอนสอนใจ, วาสนคติ, นิราศ ๒ ปี, ทิศ ๖ คำโคลง, สวนดอกสร้อย, สักวาปฏิทิน, คน-ระฆัง, สมพรปาก, เรือ-สมาคม, กลอนปฏิทิน, อาจารย์ดี, พัฒนาใจ, และพุทธศาสนคุณ เป็นต้น

กิจกรรมพิเศษ
- รับการปลงพระบริขารจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น
- ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
- ทรงเป็นประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์ สังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๕๓๐
- ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอก ในทางรจนาพระคัมภีร์ แต่ พ.ศ. ๒๔๘๕

การบูรณะวัด
เนื่องด้วย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นวัดแรกในรัชกาลนั้น บัดนี้มีอายุ ๑๐๐ ปีเศษแล้ว วัตถุก่อสร้างภายในพระอารามจึงชำรุดทรุดโทรมอยู่ทั่วไป ในยุคที่ทรงเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะเขตพุทธาวาสให้คงสภาพดีเรียบร้อยไปแล้ว ที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น องค์พระเจดีย์ใหญ่ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ ๒ หลัง พระวิหารคด ศาลาราย ลานพระเจดีย์ และพื้นไพฑีโดยรอบ ในเขตสังฆาวาส มีศาลาการเปรียญคณะนอก (ศาลาร้อยปีในปัจจุบัน) พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ กุฎีสงฆ์คณะนอก ๓ แถว ๓ ชั้น กุฎีสงฆ์คณะในแถวใน ตำหนักอรุณ ศาลาการเปรียญคณะใน เป็นต้นโดยลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๓๐ ได้จัดการบูรณะซ่อมแซมพระอารามไปแล้ว รวม ๒๙ รายการ เป็นเงินประมาณ ๖๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้ร่วมกับคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ คือ ตึกภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ ๑-๒-๓ และตึกชินวรศรีธรรมวิทยาคาร (รวม ๔ หลัง)

อุปถัมภ์ในการสร้างวัด
ได้ให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัดแสงธรรมสุทธาราม อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิ์ทอง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะซ่อมแซมวัดชินวราราม อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี


     เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาวาสน์ วาสโน พ.ศ. ๒๔๖๒
     ภาพจาก : เว็บไซต์ ลานธรรมจักร

สร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาล
๑. ที่วัดสระกะเทียม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีชื่อว่า “สถาพรทักษิณาคาร” และให้อุปถัมภ์ในการสร้างอาคาร “วโรฬารวาสนะเวศม์”
๒. ที่วัดโพธิ์ทอง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อว่า “วาสนานุกูล”

สร้างศาลาบำเพ็ญบุญ
ได้โปรดให้สร้างศาลาบำเพ็ญบุญจตุรมุขอุทิศบุรพชน ๑ หลัง และบูรณะปรับปรุงกุฎีเจ้าคุณอาจารย์ (พระญาณดิลก รอด วราสโย) ๑ หลัง ณ วัดเสนาสนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สร้างหอนาฬิกา
ได้โปรดให้สร้างหอนาฬิกา ๑ หอ ชนิด ๓ หน้าปัด ที่บ้านตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นชาติภูมิสถานที่ประสูติของพระองค์

สร้างศาลาพักริมทางหลวง
ได้โปรดให้ไวยาวัจกรจ่ายกัปปิยภัณฑ์สร้างศาลาพักริมทางหลวงไว้ตามทางหลวงต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์แก่ผู้สัญจรไปมาทั่วไป รวมถึงปัจจุบันสร้างไปแล้ว ๘ หลัง และที่หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก ๒ หลัง

ตั้งทุนนิธิต่างๆ บำรุงพระอาราม
ทุน พระจุลจอมเกล้า และทุนปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ
ได้โปรดให้ตั้งนิธิปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ และนิธิ “พระจุลจอมเกล้าฯ” มีจุดประสงค์สำหรับหาผลประโยชน์บูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ โดยไม่มีการถอนต้นทุนมาใช้ มียอดจำนวนทุนที่ได้รับบริจาคถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ มีจำนวน ประมาณ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

นอกจากนี้ยังมีนิธิต่างๆ ของวัดอีก โดยไม่ถอนทุนมาใช้ จ่ายได้เฉพาะผลประโยชน์เท่านั้น มีทุนตั้งไว้ประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
ในมหามงคลดิถีที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาส มี พล.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้ร่วมกันดำเนินงานและเลือกสถานที่ตั้ง คือตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้มีความหมาย คือเป็นตำบลและอำเภอประสูติของพระองค์ เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอขนาด ๓๐ เตียง บนเนื้อที่ ๓๔ ไร่เศษ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้วางผังไว้สำหรับขยายเป็น ๖๐ เตียงในโอกาสต่อไป ใช้ทุนการก่อสร้างดำเนินงานไปประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้ดำเนินการตั้งแต่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นมา โดย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิด

มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
อนึ่ง มีทุนที่เหลือจากการสร้างโรงพยาบาลนี้ และมีผู้บริจาคสมทบโดยลำดับ มีทุนปัจจุบันประมาณ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้โปรดให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จะได้ตั้งเป็นมูลนิธิสำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงโรงพยาบาล เป็นทุนส่งเสริมการศึกษาและสาธารณกุศลอื่นๆ ต่อไป

สร้างสถานสงเคราะห์คนชรา (วาสนะเวศม์)
ในมงคลสมัยที่ทรงหายจากประชวร เมื่อปี ๒๕๒๙ คณะศิษยานุศิษย์ มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน ถือเป็นศุภนิมิตมงคลเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีสมานฉันท์ดำเนินการสร้างสถานสงเคราะห์คนชรา ขึ้น ๑ แห่ง บริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) โปรดประทานนามว่า “วาสนะเวศม์” แปลว่า ที่อยู่ของผู้มีบุญ สามารถรับคนชราเข้าอยู่อาศัยได้ ๒๐๐ คน บนเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย สิ้นค่าก่อสร้างไปประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้เปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๐ โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด

เสด็จเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในและต่างประเทศ
ได้เสด็จเยี่ยมภิกษุสามเณร ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในประเทศทั้ง ๗๓ จังหวัดแล้ว และยังได้เสด็จเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในต่างประเทศ เช่น พม่า สิงคโปร์ ฮ่องกง ศรีลังกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย ๒ ครั้ง และสหรัฐอเมริกา ๔ ครั้ง

ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา รัฐบาลเห็นสมควรจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นให้สมพระเกียรติ และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับงานนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเป็นงานบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๙๐ พรรษา และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มายังพระอุโบสถวัดราชบพิธ ถวายน้ำสรงสมเด็จพระสังฆราช ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายพัดยศพิเศษคือพัดแฉกงาประดับพลอยที่เคยพระราชทานเฉพาะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุตที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ พร้อมกันนั้นได้ถวายพัดรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร. ชั้น ๑ ซึ่งเป็นพัดประจำรัชกาลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือและคุ้นเคยเป็นส่วนพระองค์ อันมีจำนวนน้อยรูป และเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ได้รับถวายพัดรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.นี้ เป็นรูปที่ ๕ เท่านั้น ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุครั้งนี้  ปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิตและฆราวาสมีความปลื้มปีติยิ่ง ได้เดินทางมาถวายสักการะถวายพระพรกันอย่างล้นหลามยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในกาลก่อน

ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระประชวรด้วยพระปับผาสะอักเสบ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๑ ได้เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาทรงมีภาวะพระหทัยวายจากเส้นโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระหทัยบางส่วนไม่ทำงาน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๕๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในราชสำนัก ๑๕ วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระวิหารวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายและถวายพระเกียรติยศตามพระราชประเพณีทุกประการ รัฐบาลได้ประกาศให้สถานที่ราชการทุกแห่งลดธงครึ่งเสา ๓ วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ ๑๕ วัน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิริรวมพระชันษาได้ ๙๐ ปี ๕ เดือน ๒๕ วัน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 11:38:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 เมษายน 2557 18:28:03 »

.


สำเนาลายพระหัตถ์เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อทรงดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมปาโมกข์



แถลงเหตุบันทึก
ข้อคิดทั้งหลายที่ปรากฏนี้ เป็นเรื่องเผอิญผุดขึ้นกับใจขณะประจวบเหตุการณ์นั้นๆ เห็นเป็นข้อคิดแปลกๆ น่าจะได้จดไว้เตือนใจ เคยผ่านข้อคิดเช่นนี้มาบ่อยแล้ว แต่หาได้ปรารภจะบันทึกไว้ไม่ ตราบถึงคราวป่วยเนื่องจากการไปคุมการตรวจ น.ธ.ตรี-ธ.ศ.ตรี ประจำศก ๒๔๘๗ ที่จังหวัดอุทัย – ชัยนาทกลับมา เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๘๗ นั่งนอนอยู่เฉยๆ เป็นการแก้รำคาญ จึงลองบอกให้บันทึกข้อคิดที่ผ่านมาไว้ เพื่อเป็นการเตือนใจจดจำข้อคิดของตนเอง เลยชวนให้นึกต่อไปว่า ถ้าได้บันทึกไว้เสมอ จะเป็นเหมือนหมายเหตุประจำตนได้อย่างหนึ่ง จึงตกลงจะพยายามบันทึกสืบต่อไป

หากข้อความตอนใดตอนหนึ่งพาดพิงถึงท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นโปรดให้อภัย เพราะเจตนาเพียงนำเรื่องให้เดินเท่านั้น มิได้มีอกุศลเจตนาอย่างไรเลย

ขอท่านผู้พบเห็น จงกรุณาถือเหมือนหนึ่งได้สนทนาปราศรัย ฟังความคิดเห็น พอเพลิดเพลินชั่วครั้งคราวเท่านั้นเถิด ผู้บันทึกมิได้มีเจตนาจะอวดอ้างเกินกว่าความเป็นผู้มีสติและปัญญาน้อยของตนเลย
                                                                                                                 
“วาสนา”
๒ มีน์ ๘๘



สิ่งแลกเปลี่ยน
ขณะเมื่อนั่งอยู่ในเรือยนต์โดยสารเพื่อไปจังหวัดอุทัยธานี เนื่องในการควบคุมการตรวจ น.ธ.ตรี ธ.ศ.ตรี ๒๔๘๗ ซึ่งเป็นเวลา ๒๒.๐๐ น.เศษ แห่งวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๘. เป็นวันแรมเดือนมืดจัด มองดูสองฟากฝั่งเห็นแต่เพียงเงาไม้ตะคุ่มๆ ผู้โดยสารอื่น ชั้นแรกก็ยังได้ยินเสียงสนทนาปราศรัยกันอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็เงียบเสียงหลับไป คงเป็นเพราะได้ตรากตรำในการเดินทาง ส่วนพวกเรา (เรา, เลขานุการ, ไวยาวัจกร.) แม้จะได้ตรากตรำจากวัดสมอ (วัดเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท) ถึงอำเภอมโนรมย์ เป็นเวลา ๑๐ ชั่วโมงมาแล้ว ด้วยการนั่งอย่างที่เรียกว่า “งอก่อ” ก็ยังหลับตาไม่ลงเช่นผู้โดยสารอื่นๆ เพราะเป็นการตื่นใจอย่างยิ่ง ด้วยว่ายังไม่มีใครเคยได้ผ่านการเดินทางไปจังหวัดอุทัยธานีเลย เป็นการคลำหาทางไปท่ามกลางความมืดทุกอย่าง มืดทั้งแสงสว่างและความรู้ในภูมิประเทศ, ถึงจะได้ผู้โดยสารผู้อารี ช่วยแนะนำชี้แจงระยะทางภูมิประเทศบ้าง ก็เพียงอออือรับคำไปกระนั้น แต่แล้วไม่นานเกินกว่าครึ่งชั่วโมง ภายในความมืดมิดของลำเรือชั้นบน พวกเรา ๒ ท่านต่างก็หาที่เอนกายบนดาดฟ้าเรือ ซึ่งพื้นที่นั้นจะสกปรกเพียงไรก็ตาม ลำเรือจะกระเทือนจนคันหูคันจมูกเมื่อเอนศีรษะลงนอนเพียงไรก็ตาม ด้วยความอ่อนเปลี้ยระโหยโรยแรง ไม่ต้องเสียเวลาเท่าไร ต่างก็หลับไป

ส่วนเราคงนั่งพิงเสาเรือ ดูเงาตะคุ่มของทิวไม้บ้าง ดวงดาวในท้องฟ้าบ้าง คอยหลบกิ่งไม้ซึ่งเรือจำต้องแล่นเฉียดเข้าไปเพราะเป็นร่องน้ำบ้าง ดูการลุยน้ำเข็นเรือของพวกลูกเรือเมื่อเรือเกยหาดทรายตื้นบ่อยครั้งบ้าง ท่ามกลางความเยือกเย็นของสายลมยามดึกราว ๒๔ น. คงจะเป็นเพราะความเงียบ ๒ ฟากฝั่ง ความเยือกเย็นของกระแสลมมากระทบกาย ทำให้เกิดวิจารณ์ตนเองว่า อะไรหนอ ทำให้เราต้องมาประสบกับความตรากตรำเช่นนี้, นั่งตื่นตาอยู่ในเมื่อผู้อื่นเขาหลับ ร่างกายกระทบความเยือกเย็นในเมื่อชาวบ้าน ๒ ฟากฝั่งอบอุ่นสบายบนที่นอน ต้องตื่นใจว่าจะถึงที่สุดทางเมื่อไรก็มิรู้ วางใจไม่ลง ผิดกว่าผู้โดยสารอื่นซึ่งเข้าใจว่าเขารู้จุดหมายปลายทางดีแล้ว จึงหลับตากันได้สบาย ส่วนเราต้องกังวลใจจิปาถะ ตลอดจนห่วงถึงหีบห่อสิ่งของ นึกทบไปทวนมา ก็พลันเฉลียวใจขึ้นว่า เพราะตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยกระมัง แต่ถ้าเป็นเพียงเกียรติเจ้าคณะตรวจการ เอามาแลกกับความทุกข์ยากตรากตรำของตน และยังแถมพาผู้อื่นมาตรากตรำด้วยอีก ๒ ท่าน ดูไม่เป็นที่น่าพอใจอะไรเลย อยู่วัดของตนยังได้รับความสะดวกสบายกว่าเป็นไหน ๆ ไม่มีทางหนักใจลำบากกายอะไร หรือจะว่าเพื่อแลกกับการได้พบเห็นภูมิประเทศต่างจังหวัดเพิ่มเติมเป็นความรู้ใหม่โดยไม่ต้องชักทุนของตนเอง เป็นค่าพาหนะค่าอาหาร เพราะทางการจ่ายให้ตามตำแหน่งหน้าที่ ก็ยังไม่สมัครใจยิ่งกว่าสู้เป็นคนโง่ประจำถิ่นของตนดีกว่า เพราะมีที่กินอยู่หลับนอนบริบูรณ์

เมื่ออารมณ์ได้ฟุ้งมาในความเยือกเย็นของยามดึก สายตาคุ้นกับความมืด จนแม้แสงดาวในท้องฟ้า ก็ให้แสงสว่างพอควร แสงใจก็ปรากฏขึ้นว่า เราบวชในพระพุทธศาสนา อุตสาหะศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยมาถึงเพียงนี้ ก็นับเนื่องเป็นการบูชาพระศาสนาส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนกิจการที่มุ่งมากระทำในครั้งนี้เล่า จัดว่าเป็นกิจสำคัญของพระศาสนาได้อย่างหนึ่ง, ความสุขสนุกสนานของฆราวาสเรายังอดทนละเว้นมาได้ ไฉนความสุขสบายส่วนตัว บางครั้งบางคราว จะยอมเสียสละเพื่อแลกเปลี่ยนกับกิจพระศาสนาดังในครั้งนี้ไม่ได้เล่า. ทุกกิจการงานที่บุคคลทั้งหลายกระทำกันอยู่ ต่างก็มุ่งหวังผลเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยกันทั้งนั้น แต่ให้ผลที่มุ่งหวังอยู่ในวงแห่งศีลธรรมแล้ว ถึงจะเหนื่อยยากตรากตรำอย่างไรบ้าง ก็ควรยอมสละสุขพอประมาณ ด้วยคิดหวังสุขอันไพบูลย์เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกันเถิดเมื่อใจได้แสงธรรมเช่นนี้แล้ว ก็เอนกายลงระงับความเมื่อยล้า มินานก็ระงับหลับไปเยี่ยงผู้โดยสารอื่น.

๒๔ ม.ค. ๘๘

หมายเหตุ เมื่อถึงจังหวัดอุทัยธานี ราวตี ๑ มีผู้น้ำใจดีซึ่งเป็นชาวตลาดได้อนุเคราะห์ยืมตะเกียงเจ้าพายุ ๑ ดวง นำทางไปวัดมณี พวกเราได้แต่คอยตามเขาไปท่ามกลางความมืด ถึงวัดไม่มีการเตรียมรับรอง เผอิญเห็นกุฏิพระรูปหนึ่งไฟสว่าง จึงไปแจ้งเรื่องให้ทราบ พระรูปนั้นได้มาจัดสถานที่ให้พออาศัยได้คืน ๑ รุ่งเช้า เจ้าคณะจังหวัดจึงแจ้งว่า ไม่ได้รับหนังสือบอกของเจ้าคณะภาควัดพระเชตุพน ตกลงพวกเราได้รับทรมาน เพราะความล่าช้าของไปรษณีย์พอออกรสเป็นรางวัล?




เรือ-โลก

เมื่อได้ทำกิจที่จังหวัดอุทัยธานีเสร็จแล้ว เริ่มเดินทางกลับพระนคร. นับแต่เวลา ๑ น. ของวันที่ ๑๕ ม.ค. ๘๘ ได้อาศัยนั่งบนรั้วกั้นข้างท้ายเรือแคลวิล ๓ อยู่ประมาณ ๖ ชั่วโมงจึงได้ที่นั่งกับพื้น (ไม่มีที่นั่งดีกว่านี้อีก เพราะคนแน่น) เพื่อโดยสารกลับ แต่เรือยังรอรับถ่ายคนโดยสารซึ่งมาจากนครสวรรค์อยู่อีก กว่าจะถึงเวลาใช้จักรกลับได้จริง ก็ถึงเวลา ๙ น. ผู้โดยสารมีจำนวนมาก ตามอัตราปกติราว ๓๐๐ คนเศษ แต่ในเที่ยวนี้ คงร่วม ๕๐๐ เศษ ต่างยัดเยียดหาที่นั่งนอนตามแต่จะได้ ดูน่าอนาถ หีบห่อสิ่งของรุกที่นั่งนอนเสียก็มาก ในยามกลางวันยังพออาศัยมองชมถิ่นฐานบ้านเรือนสองฟากฝั่ง ในลำน้ำก็มีเรือแพขึ้นล่องผ่านไปมา พอช่วยคลายความอึดอัดรำคาญได้บ้าง แต่ในยามกลางคืนต้องอาศัยมองชมกันเองภายในลำเรือและดวงดาวในท้องฟ้า. อาศัยความเมื่อยล้าที่ทุกๆ คนได้ตรากตรำมาแต่ต้นทาง ต่างก็หาที่เหยียดกายลงในระหว่างที่นั่งของตน พอให้หลังถึงพื้นได้เป็นแล้วกัน ส่วนจะหาทางเหยียดยาวให้เต็มที่นั้นมีหวังได้ยากนัก แล้วต่างก็เลือกหลับ-ตื่นเอาตามปรารถนา ทุกระยะเวลาที่เรือล่องผ่านตำบลต่างๆ ถึงถิ่นที่ประสงค์ของใคร เรือก็แวะส่งแวะรับ ถ่ายเทกันไปมา ไม่เลือกว่าจะเป็นเวลาค่ำมืดดึกดื่นปานไร แม้จะมีคนขึ้นลงในระหว่างทางเรื่อยมา จำนวนคนโดยสารก็หาได้เบาบางลงกว่าต้นทางเท่าไรไม่. จนรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ แคลวิล ๓ ผ่านเข้าเขตนนทบุรี – กรุงเทพฯ ผู้โดยสารที่จะลงจากเรือ ก็เรียกเรือจ้างเข้ามารับไปจากเรือใหญ่ ไม่ต้องเข้าจอดเทียบท่า เมื่อแคลวิล ๓ ผ่านปากคลองเทเวศร์ เราได้ยืนพิงรั้วกั้นเรือเป็นทำนองแก้เมื่อย และพิจารณาผู้โดยสาร ซึ่งกำลังจะจากเรือใหญ่ลงสู่เรือจ้างเข้าฝั่ง อารมณ์ก็พลันเกิดขึ้นว่าผู้โดยสารทั้งหลายรวมทั้งตัวเราด้วย ที่โดยสารร่วมเรือลำเดียวกันมานี้ ถ้าเปรียบก็เหมือนกับเกิดมาร่วมโลกอันเดียวกัน ผู้ที่ละจากเรือโดยสารไปก่อน เพราะถึงถิ่นที่ตนประสงค์ คงย่อมมีความผาสุกสำราญรอคอยอยู่ข้างหน้า ผิดกว่าความแออัดยัดเยียดภายในลำเรือ ผู้ที่ละไปก่อนเช่นนี้ ก็เหมือนกับการตายละจากโลกนี้ไปในท่ามกลางอายุ ส่วนเราจะต้องละจากเรือเมื่อถึงท่าเตียนอันเป็นปลายทางแล้ว ก็หมายเท่ากับเป็นผู้มีอายุยืนยาว ทรมานตนอยู่ในลำเรือได้นานที่สุด

แต่อันที่จริง แคลวิน เรือ–โลก อันทรมานลำนี้ ถ้ามีถิ่นที่ประสงค์ในระหว่างทาง ใครเลยจะอยากโดยสารให้เป็นการทรมานตนจนตลอดทางเล่า ?  หนีไปเสียจากการทรมานในระหว่างทางมิดีกว่าหรือ

ฉะนั้น ถ้าเราทั้งหลาย ต่างมาคิด มาเข้าใจกันเสียใหม่ว่า การตายคือ การพรากตนไปให้พ้นเสียจากการทรมานในเรือ–โลก แล้วจะได้บรรลุถึงถิ่นที่มีความสุขสบาย คือ เคหสถานของตน จะไม่เป็นความจริงบ้างหรือ?.

๒๖ ม.ค. ๘๘




ความรู้ - จรรยา

เมื่อได้ขึ้นจากเรือ – โลก เวลา ๑๑ น. ของวันที่ ๑๖ ม.ค. ๘๘ ถึงที่อยู่แล้ว ผลแห่งการทรมานในลำเรือ ส่งมาให้เป็นไข้หวัดกระเสาะกระแสะเรื่อยมาตราบเท่าถึงวันที่ ๒๑ ม.ค. ๘๘ โรคในร่างกายกลับกำเริบมาก แพทย์ตรวจบอกว่าหลอดลมอักเสบ ต้องนอนพักรักษาตัวเป็นต้นมา

รุ่งเช้าวันที่ ๒๓ ม.ค. ๘๘ เวลาราว ๖ น.เศษ ตื่นนอนมีอารมณ์สบาย อาการโรคก็คลายลงบ้าง ทอดสายตาผ่านช่องหน้าต่าง เห็นหมู่เมฆกระทบแสงรุ่งอรุณ เกิดเป็นสีงามต่างๆ ผ่านไป พลันหูก็ได้สดับเสียงเด็กร้องเพลง ใจความว่า “ตื่นเถิดชาวไทย อย่าหลับใหลลุ่มหลง ชาติจะเรืองดำรง ก็เพราะเราทั้งหลาย อย่ามัวหลับมัวหลง ชาติก็คงละลาย เราต้องเร่งขวนขวาย ตื่นเถิดชาวไทย” (ถ้อยคำเพลง อาจเพี้ยนได้บ้าง) แง่คิดก็เกิดขึ้นว่า เนื้อเพลงของผู้ประพันธ์นี้ เป็นถ้อยคำปลุกใจดีมาก แต่ท่านผู้ประพันธ์ได้ประพฤติตนตามคำประพันธ์ของตนบ้างหรือไม่ (เฉพาะผู้แต่งเพลงบทนี้ ไม่เข้าใจว่าจะเป็นอย่างต่อไปนี้) เพราะเคยรู้มาเคยเห็นมา มีนักประพันธ์หลายคนที่แต่งบทประพันธ์ได้ไพเราะ มีคติซึ้ง กินใจ มีผู้ยกย่องสรรเสริญกันมาก แต่เมื่อหันมาดูความประพฤติส่วนตัวของนักประพันธ์นั้นสิ หยำเปตรงกันข้ามกับถ้อยคำประพันธ์ของตน คล้ายกับว่าดีแต่พูด แต่ทำไม่เป็น ซึ่งน่าจะรวมอยู่ในภาษิตว่า “มีวิชาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” ก็ถ้าหากว่า ไทยเรามีชนิดคนดีแต่พูด ยุให้คนอื่นทำฝ่ายเดียว ส่วนตนหลีกห่างจากคำพูดของตน คำที่พูดเป็นไปอย่างหนึ่ง ความประพฤติกลับไขว้เขวผิดทางไปเสียอีกอย่างหนึ่ง จะมิหมดหลักฐานที่เคารพนับถือกันหรือ? แต่ถ้าพิจารณากันให้ซึ้งแล้ว ผู้ที่มีน้ำใจมีศีลธรรมประจำ รู้หลักนักปราชญ์ ปากกับใจตรงกัน ยังจะมีจำนวนอยู่อีกมิใช่น้อย จึงปรากฏการเป็นที่นับถือสักการบูชากันอยู่บ้าง ท่านผู้เป็นยอดบุคคล คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ปฏิบัติชนิดปากกับใจตรงกัน หรือสอนคนอื่นเช่นไร ก็ทรงประพฤติพระองค์เช่นนั้นโดยไม่แปรเปลี่ยนเลย จึงปรากฏพระคุณนามว่า “วิชฺชาจรณสมปนฺโน” สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ ไหนๆ เราทั้งหลายก็ประกาศตัวว่า เป็นผู้นับถือเคารพบูชาในพระองค์ ถ้าจะหันมานิยมประพฤติตนตามความรู้ของตน ตามคำพูดของตน โดยมีหลักศีลธรรม คงจะดีกว่า “มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” พูดอย่างหนึ่งไพล่ไปทำเสียอีกอย่างหนึ่ง เป็นแน่

ขอคัดค้านที่จะอ้างว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้วิเศษ เป็นพระอรหันต์ ท่านจึงประพฤติบริบูรณ์ได้ ส่วนเราเป็นปุถุชน จะให้บริบูรณ์จนเหมือนอย่างท่าน เห็นจะไม่ไหว. นี่ก็เพราะแสดงความอ่อนแอที่จะหาทางเลี่ยงให้ได้พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่งนั่นเอง หมายความว่ายังไม่สมัครจะเป็นผู้มีความรู้และความประพฤติสมควรกัน ถ้าสมัครใจเต็มที่แล้ว หัดประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นไปทีละเล็กละน้อย มีความรู้เท่าไร ก็ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับภูมิรู้ สอนเขาอย่างไรตนเองก็ต้องปฏิบัติอย่างที่สอนเขาด้วย คอยฝึกหัดตนเองได้เช่นนี้ บ่อยเข้าก็ย่อมจะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม เยี่ยงพระพุทธเจ้าได้บ้าง จะไม่ถูกตำหนิว่าดีแต่ถากด้ามของคนอื่น แต่ด้ามของตนเอง หาถากให้เกลี้ยงเกลาได้ไม่.

๒๖ ม.ค. ๘๘



ชาติภูมิน้อยใจ

นับแต่เกิดศรัทธาคิดอุปการะวัดโพธิ์ทอง ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดข้างบ้านเกิด เคยอาศัยเล่าเรียน ก.ข.นโมอยู่ในวงวัดนี้ แต่เมื่อยังเป็นเด็กเล็กอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ ได้ปรับปรุงหมู่กุฏิพอเข้ารูป ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสามเณรได้กว่า ๑๐ รูป และจัดให้มีการศึกษาธรรมวินัยเป็นหลักฐานขึ้น แม้เสนาสนะอื่น เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญและหอสวดมนต์เป็นต้น จะยังไม่ได้ริเริ่มขึ้น ก็ได้เตรียมทุนสำรองไว้ส่วนหนึ่งแล้ว หวังจะให้วัดมีรากฐานมั่นคงสืบต่อไปภายหน้า จึงได้พยายามหาพื้นดินและทุนสร้างโรงเรียนประชาบาล เป็นส่วนของวัดขึ้นได้อีกหนึ่งหลัง เปิดการสอนแล้ว แต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ มีนักเรียนประมาณ ๑๒๐ คนเศษ

ในเรื่องการบำรุงวัดและการสร้างโรงเรียนนี้ เกิดจากความคิดว่าเราได้อาศัยถิ่นตำบลนี้เกิดมาเป็นเบื้องต้นก่อนแล้ว จึงสามารถนำให้ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในพระนครจนตั้งตนเป็นหลักฐานได้พอสมฐานะ ก็ควรที่จะคิดถึงชาติภูมิของตนอันยังขาดความเจริญ ช่วยอุปถัมภ์บำรุงให้มีความเจริญยิ่งขึ้นตามกำลังสามารถ เมื่อได้ลงมือจัดทำจนปรากฏผลเด่นขึ้นในตำบลบ้าน ก็ยิ่งทำให้เกิดเอิบอิ่มใจ ว่าได้ใช้หนี้ชาติภูมิพอสมควรแล้ว ไม่เพิกเฉยละเสีย และยิ่งได้ทราบปฏิปทาของสมเด็จพระวันรัต (เขมจารี) วัดมหาธาตุ พระนคร ซึ่งท่านก็ได้บำรุงชาติภูมิของท่านที่จังหวัดอุทัยธานี ด้วยการบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม จนถึงสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ ๒ ชั้น ให้ชื่อว่า “อุทัยธรรมสภา” สิ้นเงินเกือบ ๒๐,๐๐๐ บาท ไว้ที่วัดมณีสถิตย์ อันเป็นวัดเริ่มแรกแห่งการบรรพชาของท่าน และยังอุทิศที่ดิน เรือนที่เกิดของท่านให้เป็นสุขศาลาของรัฐบาลอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้มั่นใจถึงการคิดบำรุงชาติภูมิว่า เป็นไปในทางที่ชอบแล้ว เพราะสมกับปฏิปทาของพระมหาเถระดังกล่าว

เคยนึกอยู่เสมอว่า ทุกคนที่เกิดอยู่ตามชนบท เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในพระนคร ตั้งตนเป็นหลักฐานได้ดีกว่าพื้นเพเดิมแล้วก็สมควรอย่างยิ่งที่จะหาทางทะนุบำรุงชาติภูมิของตน ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม จะเป็นทางด้านศาสนา การทำมาหากิน การศึกษาเล่าเรียน และการวัฒนธรรมอย่างอื่นๆ ให้มีปรากฏแทนตัวไว้ เหมือนสร้างอนุสาวรีย์แทนตน เป็นการตอบแทนบุญคุณของชาติภูมิ ถ้าต่างคนต่างช่วยกันมุ่งคิดช่วยเหลือชาติภูมิของตนด้วยประการเช่นนี้ ทั่วๆ กัน ย่อมจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยนำความเจริญมาสู่ถิ่นที่ยังไร้ความเจริญได้ดี ถ้าขืนปล่อยไปตามเคยเมื่อตนได้ดิบได้ดี ก็มุ่งหน้าแต่จะส่งเสริมถิ่นใหม่ในปัจจุบันของตน ให้ดีเด่นแต่ส่วนเดียว ลืมแลเหลียวชาติภูมิ ซึ่งเคยก่อร่างสร้างตนมา เพียงแต่จะเยี่ยมกรายสู่เขตชาติภูมิ ดูเหมือนจะทำให้รู้สึกอับอายขายหน้า ว่าเป็นคนชาวชนบท ไม่ใช่คนชาวกรุง เลยทำให้ลืมเลือนชาติภูมิเสียอย่างจริงจัง. ถ้าชาติภูมิรำพันปรับทุกข์ได้ เราคงจะได้ฟังคำน้อยใจทำนองว่า “เสียแรงช่วยให้เกิดมาเป็นตัวแล้ว นึกว่าจะเป็นคนรู้จักบุญคุณบ้าง แต่ความจริงซิ เขาอาศัยเราเป็นเหมือนเรือจ้างข้ามฟากเท่านั้น”

ท่านทั้งหลาย ได้ฟังชาติภูมิของท่าน รำพันทำนองเช่นนี้บ้างหรือไม่.

๒๗ ม.ค. ๘๘



เรา - เขาควรทำความดี

กำลังอาบน้ำในเวลาเย็นแห่งวันที่ ๑๙ ก.พ. ๘๘ ได้ยินภิกษุพูดเตือนสามเณรผู้ปรารถนาดี คือเก็บหลอดไฟฟ้าที่ไส้ขาด ใช้ไม่ได้แล้วมาพยายามทำให้เส้นลวดในหลอดติดกัน จนสามารถใช้แสงสว่างได้อีก แต่การกระทำของสามเณรนี้ บางหลอดก็ใช้ได้ทนทาน มีแสงสว่างมากกว่าเก่า บางหลอด แม้มีแสงสว่างมากกว่าเก่าหลายเท่า แต่ใช้ได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็เสียตามเดิม คำพูดเตือนของภิกษุ เป็นไปในทำนองเห็นว่าจุ้นจ้าน แทรกแซงเข้ามายุ่งเปล่าๆ จึงมีหางเสียงกระด้างฉุนเฉียว ฟังเป็นผรุสวาทมากกว่าอ่อนหวาน ข้อคิดก็เกิดขึ้นว่า การแนะนำให้ผู้อื่นทำความดีตามที่ตนปรารถนา ทำไมจึงต้องใช้กิริยาอาการฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด กอบด้วยโทสะเป็นผรุสวาท มิเป็นการแสดงความไม่ดี (ผรุสวาท) ของตนให้ผู้อื่นเห็นไปหรือ. พูดเตือนด้วยน้ำใจเมตตา กรุณาไม่ได้หรือ แม้ตนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยเกียรติ ยศ ทรัพย์ อายุ คุณูปการ คิดว่า ก็หาควรแสดงอาการความชั่วของกิเลสเช่นนั้นไม่ เพราะเป็นการกล้าอวดความไม่ดีของตน ให้ผู้อื่นรู้แจ้งประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ก็เหมือนให้ตัวอย่างอันไม่ดีฝากแก่ผู้น้อยหรือคนภายหลังอีกก็ได้ ทั้งเราทั้งเขาต่างก็ปรารถนาอยากเป็นคนดี มีสุจริตธรรมด้วยกัน ไฉนเราจึงไม่กล้าทำดี มีสุจริตธรรม อวดเขา ให้เป็นตัวอย่างแก่เขาทั้งไตรทวารเล่า เมื่อเราทำแต่ทุจริตธรรมทั้งกาย วาจา และใจแก่เขาอยู่เสมอแล้ว จะหวังให้เขา (ผู้น้อย ผู้เสมอ หรือผู้ยิ่งใหญ่กว่า) ทำสุจริตแก่ตนเสมอไป จะสมปรารถนาอย่างไร ฉะนั้น จึงทุกคนควรทำความดีเป็นสุจริตธรรมให้แก่ตนและแก่ผู้อื่นจนตลอดชีพเถิด.
๒๑ ก.พ. ๘๘



สำนัก - ปฏิรูปเทส

เนื่องจากได้พบเห็นตามสำนักพระอารามต่างๆ ที่ต้องจัดงานการ มีจัดการศพท่านเจ้าอาวาสเป็นต้น การนั้นๆ เป็นไปด้วยดีบ้าง ขาดตกบกพร่องบ้าง ส่วนที่ขาดตกบกพร่องนั้น คิดว่า ผู้จัดการในวงงาน คงไม่ตั้งใจให้บังเกิดขึ้นอวดแขกเลย เพราะคงได้ระแวดระวังตรวจตราจนเต็มสามารถแล้ว จึงดำเนินปฏิบัติงาน ฉะนั้นสิ่งที่บกพร่องในงาน เช่น กิจไม่ควรทำไปทำขึ้น (เปลื้องผ้านุ่งห่มที่รับการสรงน้ำศพออก เพื่อนุ่งห่มผ้าพระราชทานใหม่ จะเพราะเสียดายหรืออย่างไร คล้ายเปลือยกายศพอวดแขก) กิจที่ควรทำ ไม่จัดทำ (ดอกไม้ มาลัยบูชาศพที่เก่าเหี่ยวแห้งแล้ว ไม่เก็บทิ้ง. หยากไย่รุงรังตามเสาและเพดาน เป็นต้น) ที่ปรากฏให้เห็นเช่นนี้ เป็นเรื่องเกินความรู้สึกนึกเห็นของผู้จัดการ หรือนึกรู้เห็นเหมือนกัน แต่อาจเข้าใจเสียว่าไม่เป็นไร เพราะเป็นของเล็กน้อย คล้ายกับลักษณะมักง่าย ในสายตาของผู้ละเอียดหรือเคยปฏิบัติงานชั้นสูงมาแล้ว จึงมองเห็น งานบางแห่งจึงเรียบร้อยดีสำหรับชั้นสามัญ บางแห่งก็บกพร่องยิ่งกว่าชั้นสามัญก็มี, ทั้งนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่าเพราะสำนักถิ่นที่อยู่ฝึกหัดอบรมอัธยาศัยกันมานั่นเอง เป็นส่วนสำคัญ อบรมมาในสำนักสามัญ ก็ยากที่จะได้พบเห็นจดจำกิจการงานของชั้นสูง ยิ่งไม่มีแวว ตาดู หูฟัง คอยจดจำเป็นเยี่ยงอย่างเตรียมความรู้ใส่ตัวไว้แล้ว ยิ่งจะต่ำต้อยด้อยเกียรติลงไปทุกที ส่วนสำนักที่ดี มีกิจการชั้นสูงหรือหัวหน้าเอาใจใส่อบรมสั่งสอน ให้ได้ปฏิบัติอยู่เสมอ เท่ากับเป็นการอบรมฝึกฝนสั่งสมเป็นความรู้ไปโดยไม่รู้สึกตน ย่อมมีโอกาสพบเห็นเป็นความรู้เตือนตาเตือนใจอยู่เสมอๆ ถึงเป็นผู้ที่ดื้อด้านจะไม่นำพาเอาใจใส่สักเพียงไร ก็ยังนับว่าพอมีเงาแห่งกิจการชั้นสูงฉายให้เห็นความสามารถได้บ้าง ฉะนั้น เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้สามารถ ฉลาดรู้ในกิจการงานทั่วไป ตลอดถึงงานชั้นสูง จึงต้องเลือกสำนักที่ดีเป็นปฏิรูปเทสเถิด สำนักดี-ปฏิรูปเทสนี่แล จะช่วยในการตั้งตนเป็นผู้สามารถในกิจการงานทั้งหลาย ยิ่งกว่าความรู้อื่นๆ.
๒๑ มี.ค. ๘๘

“การกินอยู่” แล้ว           รีบมอบ มาเพื่อน
“ใครไม่สู้พ่อ” ชอบ         ชนิดนี้
“การพายการถ่อ” หอบ    โหยละเหี่ย
“พ่อไม่สู้ใคร” ลี้             หลบได้เป็นคุณ  



 
ย้อนทางเก่า

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๘๘ ได้ขึ้นไปเยี่ยมศพท่านพระครูปัญญารัตน์ เจ้าอาวาสวัดชินวราราม พักอยู่ที่ตำหนักชินวร เวลาเย็นประมาณ ๑๗.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ เดือนนั้น เรือแคลวินซึ่งรับคนโดยสารจากพระนครไป แล่นเข้าเทียบท่าหน้าวัด จึงชะโงกออกไปดูว่าใครจะไปมาอย่างไรบ้าง ได้เห็นตอนท้ายของเรือแคลวินซึ่งกั้นเป็นที่พิเศษเฉพาะภิกษุสามเณร มีภิกษุสามเณรนั่งเต็มบริเวณนั้น ชวนให้นึกถึงคราวไป อุทัยธานี-ชัยนาท เมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งตนได้เคยนั่งทรมานไปในที่พิเศษนั้น ทั้งขาไป – ขากลับ ทนเมื่อยขบ ทนอดหลับอดนอน หาความสะดวกสบายได้ยากมาแล้ว ชวนให้นึกไม่ปรารถนาที่จะถูกทรมานเช่นนั้นอีกเลย เมื่อพ้นจากความเป็นผู้โดยสาร ได้มาพักอยู่บนที่สำราญ แต่กลับมาได้เห็นสถานที่ที่เคยรับการทรมานตรากตรำมาแล้ว ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ต้องการกลับย้อนไปเป็นผู้โดยสารอีก ความเบื่อหน่ายของพระอริยะ ที่เห็นโทษทุกข์ของสังขาร ไม่ไยดีในการที่จะกลับมาเป็นปุถุชนอีก คงจะมีอารมณ์คล้ายเช่นนี้กระมัง ความเบื่อหน่ายของท่านจึงเป็นสมุจเฉทไปได้ วิสัยปุถุชนเพียงเบื่อหน่ายแล้วถึงตทังคปหาน ก็นับว่าเป็นกัลยาณชนพอสมควรแล้ว ดีกว่าจะไม่ปหานะกันเสียเลย แต่จะทำอย่างไรได้ ปุถุชนมีเวลาเบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่ยังไม่พ้นไปจากเบื่อหน่าย เช่นเวลาไม่มีธุระจำเป็นก็ไม่ต้องการลงไปยัดเยียดในเรือโดยสาร แต่ถ้าถึงคราวจำเป็นเกิดขึ้น แม้รู้อยู่เห็นอยู่เบื่อหน่ายอยู่ ก็ต้องจำทนยัดเยียดไปอีกจนได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ให้รู้เช่นเห็นชนิดไว้บ้าง เลือกแต่คราวจำเป็นจริงๆ อย่าทนดื้อถือรั้นจนลืมตัว ก็คงจะได้รับผาสุกกายสบายใจบ้างตามควรแก่อัตภาพ.
๒๒ มี.ค. ๘๘



นึกนิดคิดหน่อย

มีหน้าที่ต้องควบคุมรักษาภาชนะสิ่งของสำหรับใช้ในงาน เช่นถ้วยแก้วน้ำเย็น พวกแก้ว ถาด เก้าอี้เหล็ก (ชนิดพับได้) เป็นต้น แต่ลำพังตนเองปฏิบัติให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยาก ต้องอาศัยภิกษุสามเณร รับภาระเป็นส่วนๆ ช่วยเหลือ เช่นถึงคราวมีผู้ยืม ก็ต้องนำออกนับจัดส่งไป ถึงคราวส่ง ก็ต้องนำมาตรวจจำนวนแล้วนำเข้าเก็บตามที่ ถ้ามีผู้ยืมบ่อย ก็เหน็ดเหนื่อยกันบ่อย เรื่องเหล่านี้ ผู้ยืมมักไม่ค่อยนึกถึง เห็นว่ายืมได้ ก็ยืม บางทีสิ่งของนั้นๆ ชำรุดเสียหายหรือคร่ำคร่าไปด้วยการยืม จะคิดให้ใช้ก็ใช่ที่ ครั้นปล่อยไปก็มีแต่ร่อยหรอลงไปทุกที เวลายืมดูต้อนรับขับสู้แข็งแรง เวลาส่งมักปล่อยให้คนใช้เป็นต้นนำมา และวางไว้พอว่าถึงที่ส่งแล้ว ส่วนภาระในการนำเข้าที่เก็บ ไม่รับรู้ด้วย ที่พูดมากมานี้ เพื่อแสดงให้เห็นภาระของผู้รักษาเครื่องใช้ ต้องเหน็ดเหนื่อยทั้งกายทั้งใจเพียงไร เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องข้างบนนี้ จึงขอเล่าถึงคราวหนึ่ง ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ มีผู้มายืม ถ้วยแก้วน้ำเย็น พวงแก้ว และเก้าอี้เหล็กไปใช้ในงานสมรส ซึ่งผู้ยืมเกี่ยวข้องกับผู้อุปการะวัดและเคยติดต่อยืมในราชการก็ย่อยครั้ง ครั้นถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม เวลา ๑๑.๑๕ น. พวกคนใช้ได้นำของนั้นๆ มาส่งภิกษุผู้ดูแลเก้าอี้ เกรงว่าถ้าไม่รับเวลานั้น จะต้องให้เขาวางไว้นอกห้องเก็บ ตนจะต้องนำเข้าห้องเอง เก้าอี้ ๘๐ ตัว คงไม่ง่ายนัก จึงสละเวลาฉันเพลมาต้อนรับ กว่าจะหมดจำนวน ก็เสียเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๐ นาที ครั้นนำเก้าอี้ส่งเสร็จแล้ว ผู้ส่งก็ปรารภว่า ถ้วยแก้วยังวางไว้ที่หน้ากุฏิไม่มีใครรับ  ภิกษุผู้รับเก้าอี้ จึงบอกว่า กำลังฉันเพลกันหมด ต้องรอก่อน ทำให้นึกว่า ช่างกระไรหนอ ไม่รู้หรือว่าเพล ภิกษุสามเณรต้องฉันอาหาร เพราะมีเวลาจำกัด ถ้าเวลาหมดเปลืองไป ก็เหลือเวลาฉันน้อยลง ชาวบ้านรับทานอาหารอย่างเร็ว ก็ตั้ง ๑ ชั่วโมง นี่จะให้ภิกษุสามเณรฉันอาหารเพียงครึ่งชั่วโมง หรือ ๑๕ นาทีกระนั้นหรือ จึงนำของมาส่งในเวลาเช่นนี้ และคงนึกกระมังว่าภิกษุสามเณรต้องรอคอยรับของส่งอยู่ทุกเวลานาที ตนนำมาส่งเมื่อไรเป็นส่งได้เมื่อนั้น แปลว่า ต้องให้ทันความประสงค์ของตนฝ่ายเดียว ผู้อื่นต้องคอยสนองให้เหมาะสมเสมอไป คิดดูก็ทำให้รู้สึกอนาถใจ ถ้าทุกคนต่างมีนิสัยอย่างนี้ เช่นเดียวกัน จะมีผาสุกใจกันไฉนหนอ ทางที่ควร น่าจะคิดดูสักนิดก่อนเป็นไรว่า เวลาเท่าไรแล้ว ถ้านำไปส่งเวลานี้ จะเหมาะหรือไม่ จะพบหรือไม่ ถ้าไม่พบทำจะอย่างไรต่อไป นึกดูก่อนสักนิดคิดดูก่อนสักหน่อย อย่างเข้าภาษิตว่า”ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า” ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็น่าจะไม่มีฐานะเป็นคนรับใช้ส่งแก้ว ส่งเก้าอี้ กระมัง แต่การที่จะได้นึกคิดหน่อยเสียก่อนทุกกิจการงาน มิใช่เป็นกิจวัตรเฉพาะคนชั้นสูงเท่านั้น ใครๆ ก็มีโอกาสใช้ความนึกคิดของตนได้อย่างอิสระทั้งนั้น หากแต่สันดานของคนจะเอาใจใส่หรือหยาบละเอียด มักง่ายเข้าว่านั่นแล จึงจะทำให้ไม่รู้จักนึกนิดคิดหน่อย ซึ่งคงตรงกับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ว่า “ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้หรือไหว” เป็นแท้ .
๒๒ มี.ค. ๘๘

นึก ทบทวนก่อนได้            ด่วนทำ การเอย
นิด หนึ่งหากพลาดถลำ        ถลากแล้ว
คิด แก้ปิดแผลลำ –            บาก, เร่ง ระวังเทอญ
หน่อย จะต้องนอนแล้ว        โศกเศร้าสาดูร.  


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 11:59:11 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 10 มิถุนายน 2557 11:08:24 »

.

ผลบวกของนามธรรม

ได้อ่านความเห็นของหนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ ประจำวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ในบทความว่า “ทั้งอุกอาจทั้งมาก” พรรณนาถึงมีผู้ร้ายชุกชุม ทำการอย่างกล้า และมีจำนวนอย่างมากมาย แนะนำถึงการปราบปรามที่จะให้สาบสูญหมดไป ต้องอาศัยการอบรมศึกษาซึ่งต้องใช้เวลานาน สำหรับเวลานี้ ต้องแก้กลอนสดให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ด้วยระดมการปราบปราม หรือมีตำรวจกองกลาง

ได้ข้อคิดขึ้นว่า ก็นิสัยใจคอของคนทั่วไป เป็นเรื่องอยู่ในลักษณะที่ท่านเรียกว่านามธรรม ไม่เห็นเป็นรูปร่าง ลูบคลำ จับถือได้อย่างรูปธรรม อาชญาที่ใช้ปราบ มีการจับกุม ลงโทษ ตีตรวน คุมขัง ยิงด้วยปืน ทุบตีด้วยหวายหรืออาวุธอย่างอื่น เหล่านี้เป็นต้น ล้วนเป็นลักษณะของรูปธรรมทั้งนั้น รูปธรรมอาชญาก็เหมาะกับรูปธรรมของผู้ร้ายคือร่างกาย ส่วนชีวิตจิตใจหรือนิสัยใจคอ เป็นนามธรรม จะขืนนำรูปธรรมไปปราบนามธรรม ย่อมผิดลักษณะ รวมกันไม่ได้ แต่เพราะนามธรรมอาศัยรูปธรรมสิงอยู่ การใช้รูปธรรมอาชญา ปราบรูปธรรมของผู้ร้ายเพื่อให้กระเทือนถึงนามธรรมที่สิงแทรกอยู่ ย่อมได้ผลเป็นทางอ้อม เพราะต้องผ่านรูปธรรมเสียขั้นหนึ่งก่อนแล้ว จึงถึงนามธรรม ผลที่มุ่งหมาย ซึ่งเหมือนมีความฝืดมาช่วยให้อ่อนกำลังลง อาจหมดกำลังก่อนถึงจุดประสงค์ มักไม่ค่อยได้ผล ก็เมื่อมุ่งผลอบรมนามธรรมกันแท้จริงแล้ว ไฉนไม่เร่งการศึกษาซึ่งเป็นการอบรมนามธรรมโดยตรงให้ทวีมากทั่วถึงยิ่งขึ้น ไฉนท่านที่ได้รับการอบรมนามธรรมชั้นสูงมาแล้ว จนมีฐานะเป็นคนชั้นสูง ไม่บำเพ็ญตนให้เป็นตัวอย่างในทางอบรมนามธรรมเล่า ไม่เห็นมีเหตุการณ์อะไรมาขัดขวางการอบรมนามธรรมเลยสักประการเดียว เว้นเสียแต่จะไม่นิยมอบรมนามธรรม ซึ่งเป็นทางตรงทางเดียวให้จริงจังเป็นหลักฐาน มัวพะวงมุ่งแต่ปราบทางรูปธรรม ซึ่งเป็นส่วนเสียมาจากการละเลยอบรมนามธรรมอยู่เท่านั้น ผลก็จะเป็นอยู่อย่างเช่นนี้ ทั้งบัดนี้ตลอดกาลภายหน้า และภายหน้าต่อไป จึงน่าจะได้อบรมนามธรรมกันเป็นปกติทุกกาลทุกสมัย ทุกรัฐบาล ทุกหมู่ทุกชั้นบุคคล จะได้ผลเป็นที่พึงใจ เพราะผลบวกของนามธรรมกับนามธรรมน่าจะได้ผลลัพธ์เป็นสันติสุขแท้จริง.

๓๐ พ.ค. ๘๘


 
อบรมนามธรรม

เนื่องจากบันทึกเรื่อง ผลบวกของนามธรรม ฟื้นให้ระลึกถึงว่า การอบรมนามธรรมเป็นของยากเพียงไร ไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายอย่างไร ด้วยวันหนึ่งประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ มีคุณนายผู้หนึ่งมาเยี่ยม เมื่อหมดธุระที่จำเป็นแล้ว ก็ถึงเรื่องส่วนตัว คุณนายได้เล่าถึงความเป็นอยู่ที่บ้านให้ฟังว่า ไม่ต้องการไปประจ๋อประแจ๋ตามบ้านเรือนใคร เข้าบ้านก็ปิดประตูทันที เป็นการระวังตัวระวังทรัพย์สมบัติไปในตัว รู้จักเพื่อนบ้านในย่านเดียวกัน ก็เพียงทักทายปราศรัยตามทางเท่านั้น วันหนึ่งสั่งสอนบุตรชายซึ่งมีอายุเกินบวชแล้ว มีตอนหนึ่งว่า ต้นเดือนมักไม่รู้จักบ้าน กับข้าวก็ไม่อร่อยถูกปาก ปลายเดือนจึงจะอยู่ติดบ้าน  ต่อมาอีกวันสองวัน ก็ได้ยินเสียงพูดเป็นเชิงออกรับจากผู้ชายข้างบ้าน พูดเปรยๆ อยู่บ่อยครั้ง จนที่สุดต้องตะโกนตอบให้รู้ความจริงว่า สอนลูก ไม่ได้พูดกระทบกระเทือนใครดอก เรื่องจึงสงบ นี่ก็เป็นชนิดวัวสันหลังหวะ และไม่ทันได้ไต่สวนให้แน่ชัดเสียก่อน ด่วนเข้าใจเอาเอง ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่รู้จักยับยั้ง ก็ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเท่านั้น นี่เป็นแง่หนึ่งของคนอ่อนการศึกษาอบรม นามธรรมคือนิสัยใจคอของตน กับอีกผู้หนึ่งเป็นผู้หญิงสูงอายุ หมั่นไปวัดทำนองถือศีลกินเพลเสมอ แต่ปกติตื่นแต่เช้ามือถือขันน้ำยังไม่ทันได้ล้างหน้า ปากก็พ่นผรุสวาทด่าว่าลูกหลาน เป็ดไก่ สิ่งของ เสียงขรมบ้าน  คล้ายกับว่า ฉันไปวัดทุกวันพระแล้ว ทำอะไรไม่เป็นบาป ความชั่วที่หลุดออกมาจากปากจากมือ ก็เหมือนไม่เป็นของชั่วช้าอะไร นี่ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่ถือว่าไปวัดถือศีลฟังเทศน์เสมอแล้ว เป็นหมดบาปกันได้ กลับมาบ้านจะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงจะรำคาญเดือดร้อนเพียงไร ไม่ต้องคำนึงถึง จึงเข้าแบบที่เรียกว่าอบรมแต่เพียงรูปธรรมไม่ได้ผลถึงนามธรรม ส่วนคุณนายเอง อาศัยได้รับการศึกษาในชั้นสูงมาแต่เล็กแต่น้อย เติบโตมาในวงของคนชั้นสูง เทศน์ก็ไม่ชอบฟังเพราะง่วงนอน ไปวัดก็มักมีธุระอย่างอื่นมากกว่าถือศีลกินเพล แต่ก็มี่น้ำใจมากด้วยเมตตา กรุณา หวังบุญหวังกุศล ต้องการทำแต่ความดีความเจริญแก่คนทั่วไป ผลเหล่านี้เกิดจากหมั่นอบรมตนเอง เตือนตนเอง สอนตอนเองทั้งนั้น ไม่ใช่เกิดเพราะพิธีการ อย่างถึงวันพระก็ไปวัดถือศีลกินเพล กลับมาบ้านแทนที่จะมีความสงบระงับ มีใจเมตตากรุณา กลับทั้งศีลไว้เสียที่วัด กลับมาแต่ตัว เป็นการอบรมไม่ถึงนามธรรม แม้รูปธรรมก็เชื่อว่าอบรมได้ผลน้อยเต็มที เพราะมักถือโบสถ์ศาลาที่ประชุมฟังธรรมเป็นสถานที่โต้คารมกันบ่อยๆ การอบรมนามธรรมจึงเป็นของยากมาก ต้องการเวลา ต้องการฝึกหัดจนเคยชิน ต้องการสังคมที่ดี ต้องอบรมกันแต่เกิดเป็นตัวจนถึงเวลาตาย อย่ามัวซัดทอดกันอยู่เลย ศีลธรรมมีเป็นแนวทางอยู่แล้ว เร่งบำเพ็ญนามธรรมคืออัธยาศัยใจคอของเรา ให้ถูกตรงตามแนวทางยิ่งๆ ขึ้นเถิด.
๓๐ พ.ค. ๘๘

การสอน.สอนด้วยเอ่ย         โอวาท ก็มี,
ประพฤติตนนำ, อาจ          ช่วยเอื้อน
เหมาะกาลศิษย์สามารถ        หมายสดับ
พร่ำเพรื่อเบื่อจิตต์, เปื้อน-    โทษป้ายสลายคุณ.




การเตรียมพร้อม

หลังจากทำวัตรค่ำ ของปลายเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ ก่อนเข้าพรรษา ท่านเจ้าคุณใหญ่ (พระธรรมปาโมกข์  ภาณโก) ได้พูดแนะนำภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นการแนะนำตามเคยเมื่อเสร็จจากการทำวัตรค่ำแล้วโดยใจความว่า คนเราจะอยู่ในวัยและฐานะชั้นไรก็ตาม ควรใส่ใจอบรมตัว แสวงหาความรู้ความฉลาด ความสามารถทุกๆ อย่างไว้ เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เหตุการณ์ที่จะผ่านมาถึงหรือผู้ใหญ่ที่จะใช้สอย ย่อมไม่รอให้เรามีเวลาเตรียมตัวทัน เพราะถ้ารอให้เหตุการณ์มาถึงเสียก่อนจึงเตรียมตัวพร้อม ก็สมกับภาษิตโบราณว่า “ออกเรือจึงจะเข้าง่ามถ่อ” จึงไม่ทันเหตุการณ์ ต้องเป็นคนล้าหลังเพื่อนอยู่ร่ำไป การเตรียมตัวพร้อมไว้ก่อนนี้ ก็คือ ปุพเพกตปุญฺญตา ความเป็นคนมีบุญได้กระทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง. ได้ฟังแล้ว รู้สึกเห็นสมจริงอย่างจับใจ เพราะที่เคยๆ อธิบายกันมาในข้อปุพเพกตปุญฺญตานี้ มักหมายถึงผลในอดีตชาติก่อนมาช่วยส่งเสริม ไม่ชัด เหมือนการเตรียมพร้อมไว้ก่อน นี้แลคือเป็นปุพเพกตปุญฺญตา ซึ่งเป็นเหมือนล้อรถนำให้ถึงความเจริญได้รวดเร็วประการหนึ่ง. .
๑ สิงห์ ๘๘



ชอบของลวง

ตอนหัวค่ำของวันปลายเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ นั่งพักผ่อนปราศรัยกับเด็กอายุ ๑๐ ขวบคนหนึ่ง เด็กได้พูดถึงเรื่องนิทานต่างๆ เป็นที่ว่าจะให้เล่านิทานให้ฟังอีก จึงได้ความคิดขึ้นว่า คนเราทั่วๆ ไป มักชอบของลวงกันทั้งนั้น เช่นชอบดูมหรสพต่างๆ นี่ก็คือไปดูเขาเล่นหลอกให้ ทั้งต้องเสียค่าผ่านประตู ก็ยินดี อุตสาหะพยายามเสียให้ แต่งตัวด้วยเครื่องสำอาง ใช้เสื้อผ้าแพรพรรณ นี่ก็เพื่อลวง ให้เห็นว่าสวยงาม ปกปิดของสกปรกไว้ภายใน เรือนที่ทาสีดูสวยสด ก็เพื่อปกปิดเนื้อไม้ที่เลว ปิดทองประดับกระจกตามวัดต่างๆ ก็เพื่อลวงตา ทำพูดจาอ่อนหวาน กิริยาเรียบร้อย แต่น้ำใจคิดประทุษร้ายหรือมีความชั่วสิงซ่อนอยู่ภายใน ก็นิยมชมชอบว่าผู้มีเกียรติ ชอบความเจริญความถูก แต่ครั้นพูดจริงๆ ทำถูกแท้ๆ กลับไม่พอใจ เหมือนคำยอ ฟังเรื่องของจริง ของถูก อย่างเทศนา กลับง่วงเหงาหาวนอน ดูละครโขน หนังเพลิดเพลิน เสียเวลาตั้งครึ่งค่อนวัน เหมือนสักครู่เดียว อย่างนี้เป็นต้น ของจริงที่มีอยู่เป็นอยู่จึงยากที่ใครจะรู้จะสนใจ และโลกจึงคงเป็นโลกอยู่ได้ ก็เพราะพลโลกยังนิยมของหลอกลวง ถ้านิยมของจริง ความจริง กันหมดเมื่อใด ย่อมไม่มีโลกเมื่อนั้น เพราะจะมีแต่ธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปได้ยากนักหนา.
๑๒ กันย์ ๘๘



ความหมุนเวียน

ย้อนนึกถึงอารมณ์คิดที่เกิดขึ้นประมาณสิงห์ พ.ศ. ๒๔๘๓ ภายในพรรษา ตอนเช้าโดยสารเรือยนต์ประจำทางไปวัดชินวราราม จังหวัดปทุมธานี เพื่อถวายพุ่มแด่พระประธานและสดับปกรณ์พระรูปเสด็จ ช.ส. อังคารหม่อมปุ่น ชมพูนุท ตอนเย็นกลับโดยเรือยนต์ประจำทางอีก ระหว่างนั่งเรือมา พลางชมภูมิประเทศริมฝั่งพอแก้รำคาญ ผ่านโรงสีข้าว กำลังทำงาน และมองดูเครื่องเรือกำลังหมุนติ้วอยู่ ก็พลันความคิดหนึ่งเกิดปรากฏว่า ความหมุนเวียนนี่เอง กำลัง ก่อให้เกิดแรงงานทำประโยชน์ได้หลายอย่างหลายประการ โรงสีข้าวก็ต้องอาศัยความหมุนเวียนเป็นหลัก แล้วสัมพันธ์กับประการอื่น ให้สำเร็จประโยชน์การสีข้าวได้สะดวก เรือยนต์ ก็อาศัยความหมุนเวียนของมู่เล่ ช่วยให้ใบพัดพุ้ยน้ำเสือกลำเรือแล่น และอย่างอื่นๆ อีกอเนก ที่สุดกลางวันแล้วหมุนมาเป็นกลางคืน หายใจเข้าหายใจออก เวียนวนเรื่อยไป รับประทานอาหารแล้วอิ่ม ไม่ช้าเกิดหิว ต้องรับประทานเพิ่มใหม่อีก ย่ำรุ่งแล้วหมุนมาเป็นย่ำค่ำ ย่ำค่ำแล้วก็หมุนมาย่ำรุ่งอีก เดือนเมษายนแล้ว ก็วนมาเมษายนอีก ปีชวดแล้วก็วนมาปีชวดอีก เกิดแล้วแก่และตายก็ต้องวนมาเกิด แก่ ตายอีก กิเลส กรรม วิบากแล้วก็ก่อกิเลสให้ทำกรรมมีวิบากต่อไปอีก วิสัยโลกแล้วต้องอาศัยความหมุนเวียนเป็นกำลังสร้างเช่นนี้ตลอดกาล จึงทรงความเป็นโลกอยู่ได้ ถ้าขาดความหมุนเวียนแล้ว ก็เป็นภาพนิ่ง เป็นส่วนคงที่ไม่แปรปรวนยักย้ายกลายเป็นไม่ใช่โลกเสียแล้ว กลับเป็นธรรมขึ้นแทน พระพุทธเจ้า รู้แจ้งความหมุนเวียนอันเป็นกำลังสร้างโลกอย่างถี่ถ้วนถึงที่สุดแล้ว ไม่มีพระพุทธประสงค์จะได้รับประโยชน์จากความหมุนของโลก เพราะมีแต่หมุนเวียนชั่วกัลปาวสาน ไม่มีเวลาผ่อนพัก จึงทรงหาทางหยุด จนพบแล้ว ทำพระองค์ให้หยุดคงที่ได้ และทรงสั่งสอนคนอื่นๆ ให้หยุดคงที่ได้อีกด้วย ทั้งๆ ที่พระกายของพระองค์ยังอาศัยความหมุนเวียนของโลกอยู่ แต่พระจิตของพระองค์หยุดคงที่ด้วยอำนาจธรรม โลกเป็นฝ่ายหมุน ธรรมเป็นฝ่ายหยุด ชาวโลกที่ใฝ่ธรรมจึงเท่ากับเป็นผู้มีความหมุนล่าช้าลงบ้างเท่านั้น.
๑๒ กันย์ ๘๘

     วัวเห็นแต่หญ้ามุ่ง           หมายตฤณ
     ขี้ข้าเห็นแต่กิน             กับใช้
     บัณฑิตกอบวิทย์.สิน-     ทรัพย์,สืบ สกุลนา
     จึงสงบสุข,ทุกข์ไร้,        เกียรติล้ำจำเริญ.




ความผิดหลบซ่อน

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ ตอนบ่ายได้ขอร้องภิกษุสามเณรหลายรูปมาช่วยทำงานเกี่ยวกับการจัดสถานที่สอบบาลี ได้จัดแบ่งจำนวนนักเรียนเข้าประจำห้องสอบ และกระจายจำนวนในสำนักเรียนเดียวกัน เพื่อไม่ให้นั่งใกล้ชิดติดต่อ ต้องทำแผนผังหมายเลขประจำโต๊ะ แล้วหมายเลขประจำห้องสอบในบัตรประจำตัวนักเรียน จะได้เลือกห้องสอบและโต๊ะหมายเลขของตนได้รวดเร็ว ในการนี้ ต้องตรวจสอบกับบัญชีรายชื่ออย่างกวดขัน ถึงกระนั้น ก็ยังมีการผิดพลาดเกิดขึ้น ต้องตรวจค้นกันเป็นเวลานานจึงพบข้อผิดพลาดนั้นได้

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ ก.พ. ก็ได้เริ่มงานต่อเพื่อให้เสร็จเรียบร้อยอีก จึงคอยตักเตือนเพื่อระมัดระวังการผิดพลาดอย่างวันก่อนกันบ่อยๆ ข้อคิดก็เกิดขึ้น ได้เล่าให้ภิกษุสามเณรผู้ร่วมงานฟังเป็นคติไว้ว่า ความผิดความชั่วทุกอย่าง ที่บุคคลกระทำ กว่าจะสืบสวนได้ตัวคนผิดก็เปลืองเรี่ยวแรงและเวลานาน เพราะพยายามปกปิดซ่อนเร้น แม้ในการงาน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น กว่าจะค้นคว้าต้นตอความผิดได้ ก็ลำบากเสียเวลาเหมือนกัน เจ้าความผิดความชั่วนี้ ช่างคอยหลบคอยซ่อนตัวอย่างสำคัญนัก

ฉะนั้น จงระวังความผิดความชั่ว ทุกคนและทุกกิจการงานเทอญ.


๒๓ ก.พ. ๘๙

(ต่อ) เมื่อถึงวันสอบที่ ๒๖ ก.พ. เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก ทั้งนี้เนื่องจากร่วมงานหลายคนด้วยกัน ต่างไว้ใจในกันและกัน ทุกคนต่างมุ่งเพื่อความถูก เรียบร้อยทั้งนั้น แต่ก็อดมีผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ได้ จึงไม่ควรหาญอวดตัวว่าฉันไม่ผิด ความผิดพลาดย่อมเป็นธรรมดาของคนทำงาน เมื่อความผิดคอยหลบซ่อนแทรกเข้ามา กว่าจะค้นหาตัวผิดได้ มักเสียเวลากันไม่ใช่น้อย การใคร่ครวญก่อนทำ การเอาใจใส่ตรวจตราในขณะทำ ตรวจทานในขณะทำแล้ว ด้วยความเอาใจใส่พินิจพิเคราะห์ มีระเบียบ นี้จะเป็นทางกั้นกลางความผิดพลาดให้แทรกแซงได้น้อย หรือหากเกิดผิดพลาด ย่อมสืบสวนจับผิดได้ง่าย ฉะนั้น ผู้ได้ทำงานบ่อยๆ หลายๆ ประเภท จึงฉลาดสามารถในการงาน ไม่ใคร่เปิดช่องให้ความผิดหลบซ่อน จึงเป็นผู้เจริญหลายทาง ส่วนผู้หลบงาน ก็คือพวกความผิดหลบซ่อนเก่ง ย่อมหาความเจริญยาก เพราะเป็นผู้ดีชนิดเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อเสียแล้ว.



สิ้นสงสัย

เนื่องจากภัยทางอากาศในสมัยสงคราม และการบุกรุกเข้ายึดอำนาจการปกครองของผู้เถลิงอำนาจในยามสงคราม ได้ปรารภกับท่านคหบดีผู้หนึ่งถึงเรื่องนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๙ ท่านเล่าถึงความรู้สึกว่า ในขณะนั้นต้องส่งครอบครัวออกไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย ตนเองไปๆ-มาๆ เพราะถ้าจะอพยพไปเสียเลยก็เป็นห่วงบ้านที่อยู่เก่าและทรัพย์สมบัติอย่างอื่น จึงต้องเป็นกังวลห่วงใยทิ้งเสียไม่ได้. ยามปกติ การเช็ดถูปัดกวาด อาหารการกิน เป็นต้นเหล่านี้ มีคนอื่นทำให้ ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ยามสงคราม ยามอพยพนี้ ขาดคนปฏิบัติ ตนเองต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง รู้สึกแสนจะลำบาก ยามนอน ก็ต้องมีกระเป๋าบรรจุของสำคัญมีค่าไว้กับหมอน เพื่อหยิบฉวยติดมือไปได้ง่าย ในยามมีภัยทางอากาศเป็นต้น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เห็นว่าแสนจะลำบาก หมดทางที่จะปัดเป่าความทุกข์ยากเหล่านี้ให้พ้นหายไปได้ ยิ่งวิตกกังวลเพียงไร ความเดือดร้อนใจ ก็ยิ่งทวีมากยิ่งขึ้น หาความผาสุกเบิกบานไม่ได้เลย ตราบจนครั้งหนึ่งได้ออกไปเห็นชาวนา ซึ่งต้องออกจากบ้านไปแต่ย่ำรุ่ง เดินกลับบ้านมาพร้อมกับควายคู่ยากในเวลาย่ำค่ำ เสื้อกางกางกะรุ่งกะริ่งปุปะ มิหนำซ้ำยังเปียกโชกด้วยน้ำ แทนที่จะเศร้าโศกในฐานะการงาน, เขากลับผิวปากร้องเพลง จูงควายเข้าบ้านด้วยความเบิกบานใจ และเมื่อเขาเข้าบ้านซึ่งเป็นโรงนาหลังคาจากคร่ำคร่าคุ้มฝนไม่ใคร่ได้ ยกพื้นเป็นแคร่แต่พออาศัยหลับนอน ควายคู่ยากก็รวมอยู่ในโรงนั้นด้วย ควันไฟก็เพิ่งพลุ่งขึ้นแสดงว่าการหุงต้มอาหารเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อเจ้าของบ้านกลับมาถึง มิได้มีการตระเตรียมเทียบโต๊ะไว้คอยท่าก่อนเลย เมื่อได้มาเห็นสภาพอัตคัตขาดแคลนเช่นนี้ ก็ชวนให้นึกน้อมมาถึงตัวว่า ตนสมบูรณ์พูนสุขกว่านี้เป็นไหนๆ แต่ทำไมจึงหาความสุขใจเหมือนชาวนาเช่นนี้ไม่ได้ ทรัพย์สมบัติก็มีใช้จ่ายสะดวกสบาย ไม่ต้องออกแรงอะไรเลยก็มีพร้อม บ้านเรือนก็ใหญ่โตรโหฐานมีพื้นมีหลังคา หน้าต่างพร้อมอย่างสวยงาม ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร จึงจะคุ้มภัยให้แก่ตัวเองและครอบครัวตลอดไปได้ ทำอย่างไรทรัพย์สมบัติบ้านเรือนจึงจะไม่ได้รับอันตราย ทำอย่างไรจึงจะกลับมาครอบครองเคหสถานทรัพย์สมบัติเป็นสุขสบายสืบไป ความวุ่นวายใจเหล่านี้จึงมีแต่ก่อให้เกิดกังวลใจ ไม่มีความสงบสุขลงได้ คิดไปทวนมา ก็มานึกเห็นความจริงขึ้นได้ว่า เมื่อเกิดมาเราก็ไม่มีอะไรติดตัวมา ถึงคราวตาย ก็ต้องตายไปแต่ตัว ทิ้งสมบัติบุตรภรรยาไปทั้งหมด ไม่มีใครที่จะคงชีวิตอยู่ครอบครองได้ตลอดไป ไม่ตายคราวนี้ ก็ต้องตายคราวหน้าเป็นแท้ ถ้าหมดบุญวาสนาแล้วก็ต้องตาย หาผู้ป้องกันแก้ไขอย่างไรไม่ได้ ถ้ายังมีบุญมีวาสนาอุดหนุนอยู่ ทำอย่างไรเสียก็คงไม่ตาย เมื่อคิดตกลงใจได้เช่นนี้ ค่อยรู้สึกเป็นสุขใจอีกมาก ไม่ค่อยเดือดร้อนกังวลใจเหมือนแต่ก่อน ด้วยตกลงใจปล่อยไปตามยถากรรม

เมื่อได้ฟังเรื่องมาเพียงนี้ ข้อคิดก็พลันเกิดขึ้นว่า เพราะสิ้นสงสัยนั่นเองจึงค่อยสบายใจได้ ชั้นแรกเป็นห่วงโน่นห่วงนี่ ก็เพราะคิดว่าเป็นการระวังรักษาไว้เพื่อความผาสุกแก่ตน เอาจริงเข้า ไม่ได้ความผาสุกสมหวัง จึงทำให้ลังเล ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติประการไร ครั้นปลงตกคือถึงคราวตาย ก็ต้องตาย ไม่ถึงคราวตายคงยังไม่ตาย ตายแล้วก็นำสมบัติอะไรไปไม่ได้ ถ้ายังไม่ตายก็คงได้อาศัยกันต่อไป ฉะนั้นการสิ้นสงสัย ปลงใจแน่แน่วได้แล้ว ย่อมเป็นความผาสุกใจแน่นอน วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัยท่านว่าเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ก็เพราะทำใจรวนเร ไม่แน่ว่าจะตกลงอย่างไร จึงทำอะไรหวังผลดีเด็ดขาดไม่ได้ เพราะความลังเล ความมั่นคงจึงไม่มี ทุกกิจการงานจึงควรแสวงหาความมั่นคงแห่งใจไว้ให้ได้ ตัดความเคลือบแคลงสงสัยให้เด็ดขาด ใจจึงจะบรรลุความดีมีสุขได้ ดั่งเรื่องคหบดีข้างต้นนี้ .

๒๙ มี.ค. ๘๙



ความสงสัย

ค่ำวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๙ ได้ฟังเรื่องละครในวิทยุกระจายเสียง แสดงโทษของความสงสัยไว้อีก โดยบรรยายเรื่องว่า พระเจ้าแผ่นดิน สงสัยในพระสนมเอกว่าจะไม่ได้ทรงครรภ์กับพระองค์ ต้องขับไล่พระสนมเอกไปตกระกำลำบาก แต่ที่สุดก็มาทราบว่า พระสนมเอกบริสุทธิ์ เมื่อพระสนมจวนมรณะแล้ว อาศัยเรื่องนี้ จึงชวนให้นึกถึงกฎหมายที่ยกประโยชน์ให้แก่จำเลยเพราะความสงสัยของศาล แต่นี่คงไม่ใช่ความสงสัยให้ผล ที่ยกประโยชน์ความสงสัยให้เพราะต้องการรักษาความยุติธรรมเท่านั้น ส่วนตัวความสงสัยนั้น เกิดขึ้นแก่คนใด หมู่คณะใด ประเทศชาติใด ย่อมไม่อำนวยความผาสุก สามัคคีกลมเกลียวปรองดองกันได้เลย แม้สามีภรรยาก็ย่อมแตกกัน หมู่คณะก็กินแหนงแคลงใจ เห็นว่าเกลือเป็นหนอน ประเทศชาติก็จะใกล้จลาจลเต็มที ความสงสัยจึงเป็นเหมือนปืนที่ขาดศูนย์เล็ง ชวนให้เป็นผู้มีนิสัยโง่แกมหยิ่ง ระแวงในการงานของตัว สงสัยในน้ำใจของผู้อื่น เพราะไม่รู้จริง ไม่แน่นอน คล้ายนิสัยของโลกาธิปไตย คล้อยตามเขาด้วยไร้เหตุผล พลอยผิดพลอยถูกกับเขา ทั้งๆ ที่ตัวลังเลไม่แน่ใจ พระพุทธเจ้า เห็นโทษความสงสัยมากมาย เมื่อตรัสถึงการทำจิตใจให้ผ่องใสในคุณงามความดี จึงยกความสงสัยขึ้นด้วยว่าเป็นเครื่องกั้นกีดขวางอย่างสำคัญประการหนึ่ง ตัดความลังเลสงสัยได้มากเพียงไร ย่อมอำนวยให้เป็นผู้ซื่อตรง เด็ดขาด ถึงธรรมวินัยอย่างแท้จริง จะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิปัญญาอย่างไร ย่อมได้รับผลจริงอันเป็นธรรมาธิปไตย เข้าถึงกระแสธรรมโดยแท้.

๓๐ มีน ๘๙



กิเลสกับคน

๑๗.๐๐ น.เศษ แห่งวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๙ ประชุมในพระอุโบสถการบรรพชา ด.ช.สุรัต นพจินดา ผู้เคยบรรพชาชั่วคราวแล้ว ต้องจำใจลาสิกขาไปเพื่อสอบไล่หนังสือไทย ชั้น ม.๓ ครั้นสอบแล้ว กลับมีศรัทธามาบรรพชาอีกในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ ตอนกล่าวถึงกรรมฐานมีอ้างว่า ตจปัญจกกัมมฐานนั้นสำหรับผู้ใหญ่ เป็นเครื่องปราบปรามกิเลสที่เกิดกับใจ แต่เด็กก็มีกิเลสสำหรับเด็กเหมือนกัน คือการซุกซนเอะอะต่างๆ ชวนให้คิดเห็นว่ากิเลสกับคนนี้เป็นของคู่ประจำ เป็นคนขึ้นมาก็เพราะกิเลส กิเลสก็อยู่ที่คน ไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อยู่ในฐานะภูมิชั้น สูงต่ำ มีเกียรติหรือด้อยเกียรติอย่างไรก็ตาม ล้วนมีกิเลสเลี้ยงอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ต่างแต่ว่า เด็กยังมีโอกาสให้กิเลสเลี้ยงได้น้อยวัน ผู้ใหญ่กิเลสเลี้ยงได้มากวัน เรื่องในธรรมบทก็ยังแสดงถึงสามเณรอายุ ๗ ขวบ ได้บรรลุพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ได้นี่แสดงว่าอรหัตตมรรคกำจัดแต่กิเลสเท่านั้น ไม่กำจัดอายุหรือฐานะเกียรติยศของคน และเด็กอายุ ๗ ขวบก็มีกิเลสพอแล้ว จึงสามารถมีกิเลสให้อรหัตตมรรคตัดได้ กิเลสย่อมมีอย่างเดียวกันทั้งเด็กผู้ใหญ่ ต่างแต่มากน้อย เบาบางกว่ากันเท่านั้น อายุ ฐานะ เกียรติ ของคนดอกที่ต่างกัน จะเลือกว่าคนอายุมาก ฐานะสูงเกียรติยศสูง จะไม่ถูกกิเลสรบกวนเลย หรือรบกวนแต่น้อย หรือเบาบาง ยังเป็นของไม่แน่นอนถูกถ้วน หรือคนอายุน้อย ด้อยเกียรติ ฐานะต่ำ ย่อมถูกกิเลสย่ำยีได้มาก ก็ไม่แน่อีก กิเลสมีหลายน่า เราไม่เห็นน่าแจ้ง แต่ไปโผล่ในน่าลับก็มี เราไม่เห็นน่าโกรธ ก็เพราะยังเป็นที่ประชุมก็มี เราไม่เห็นน่ารัก ก็เพราะไม่ได้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันก็มี ฉะนั้นคนกับกิเลสจึงเป็นอารมณ์ดุจเป็นอย่างเดียวกัน พบคนต้องพบกิเลส กัมมัฏฐานจึงเหมาะแก่คนตั้งแต่เกิด ถ้าสามารถแนะนำกันได้ ไม่ต้องเลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สำคัญอยู่ที่การแนะนำให้เข้าใจรู้จักชนิดกิเลสตามลำดับชั้นเท่านั้น กิเลสเบาบางได้เพียงไร ท่านเรียกว่ากัลยาณชน พ้นจากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ยิ่งตัดกิเลสได้ตามลำดับ ท่านก็เรียกว่า โสดาบัน เป็นต้น ถ้าละได้หมด ท่านไม่เรียกว่าคนแล้ว กลับเรียกว่าพระอรหันต์ เพราะกิเลสเป็นของคู่กับคน พบคนต้องนึกว่าพบกิเลส จะดูกิเลสต้องดูที่คน และไม่ต้องเที่ยวดูที่อื่น ดูที่ตัวของเรานี่แลง่ายกว่าจะต้องเที่ยวดูที่ไหน แต่เรามักเผลอลืมดูตัวเองก่อน กลับชอบดูแต่ของคนอื่น จึงทำให้ต้องซัดโทษกันบ้าง ติเตียนกันบ้าง ยกตนข่มท่านบ้าง อยู่ตลอดไป.

๓ เมษ์ ๘๙



ลูกของแม่

(นี้เขียนขึ้นจากการปรารภของแม่ผู้หนึ่งที่ลูกชายหัวดื้อ ว่ายาก ชอบเป็นนักเลง จ่ายเงินสิ้นเปลือง ต้องช้ำใจเสียน้ำตาไปมาก เพราะลูกคนนี้.)

     ลูกหนอลูก ปลูกแต่เรื่อง เครื่องเดือดร้อน
     แม่เคยวอน สอนสั่ง ดั่งนี้หรือ
     นิสัยเห่อ เกร่อหยิ่ง สิ่งเลวลือ
     รู้แต่จ่าย ไม่พอมือ สักครั้งเดียว.
     มีเท่าไร ใช้จนหมด ปลดเสื้อผ้า
     เปลี่ยนเงินมา จ่ายใหม่ ไม่หวาดเสียว
     หมดท่าก็ ล่อหลอก ออกเป็นเกลียว
     ว่าจำเป็น เช่นนั้นเทียว ต้องกราบเท้า.
     พอได้ไป ไม่กี่วัน หมั่นจ่ายสิ้น
     เที่ยวกับกิน ถิ่นสนุก ไม่ทุกข์เศร้า
     เหิมเทียมหงส์ หลงลืมตน จนลืมเค้า
     เกลี้ยงกระเป๋า เจ่าจืด ฝืดพวกพ้อง.
     หลบเข้าบ้าน ผ่านสิ่งของ เกิดปองลัก
     ได้แล้วผลัก ผละหลบ เตลิดล่อง
     ลูกเอ๋ยลูก ใจแม่ช้ำ น้ำตานอง
     แม่หรือปอง ถนอมลูก ผูกดวงใจ.
     ยามเจ้าเล็ก แม่ทนเลี้ยง เพียงอาบเหงื่อ
     โตพอเพื่อ เรียนวิชา ก็หาให้
     จนเป็นนัก ศึกษา วิทยาลัย
     แม่ยอมส่ง จนได้ สำเร็จดี.
     เจ้าไม่นึก กลับใจ นิสัยชั่ว
     คิดตั้งเนื้อ ตั้งตัว เสียบ้างนี่
     ยิ่งมียศ เจ้ายิ่งหยิ่ง ยิ่งอวดดี
     พอเพียงนี้ นะลูกแม่ ที่แม่เลี้ยง.
     ขืนส่งเจ้า อีกเท่าไร ก็ไม่พอ
     ส่วนเงินหนอ หาได้ใหม่ แม่ไม่เถียง
     นิสัยเลว ของเจ้าร้าย ไม่กลับเอียง
     แม่สุดเลี้ยง สุดช้ำ จำตัดเป็น.
     พี่และน้อง ของเจ้า เขาต้องพึ่ง
     แม่นี้จึง แสดงไว้ ใช้ยามเข็ญ
     เฉลี่ยเลี้ยง น้องพี่ นี่กฎเกณฑ์
     ลูกไม่เห็น อกแม่ ที่แก่กาย.
     แม่อยากชม ชื่นคุณ บุญของลูก
     ประพฤติถูก ฐานะ สมัครหมาย
     รักตระกูล เกียรติศักดิ์ รักสบาย
     ตั้งตนได้ ดีเด่น เป็นขวัญตา.
     แม่จะชุ่ม ชื่นใจ หายเหน็ดเหนื่อย
     ที่ล้าเมื่อย นานวัน กลับหรรษา
     ไม่ถึงต้อง ฉลองเลี้ยง เสี่ยงข้าวปลา
     ก็นับว่า เลี้ยงน้ำใจ แม่ได้แล้ว.
     โธ่ลูกเอ๋ย แม่เคย เชยชมลูก
     คิดฝังปลูก ลูกแม่ อย่างแน่แน่ว
     ลูกไม่ตั้ง หวังดี มีแต่แคล้ว
     โอ้ลูกแก้ว ก่อกรรม ทำลูกเอง.
     แม่มีกรรม นำลูก มาเกิดกาย
     ซ้ำเป็นชาย หวังให้บวช ผนวชเคร่ง
     เจ้าทิ้งแม่ ไปด้วยใจ ใฝ่นักเลง
     ไม่วายเกรง ลูกแม่ แพ้ภัยตัว.
     ลูกเอ๋ย เคยศึกษา วิชาการ
     เหลือประมาณ แล้วไย นิสัยชั่ว
     ไม่เบาบาง ห่างไกล หายเมามัว
     เหมือนว่าตัว แม่ส่งลูก เรียนถูกกรรม.
     แม่ทำบุญ กรวดน้ำ พร่ำตั้งจิต
     ขออุทิศ ให้ลูกชาย หายดื่มด่ำ –
     ในความชั่ว กลับตัว ไม่ชั่วซ้ำ
     แม่จะฉ่ำ ใจรับ ลูกกลับมา.
     ถ้ากรรมหนัก จักไม่กลับ ในชาตินี้
     ไปชาติหน้า เป็นคนดี หนาลูกหนา
     มาเป็นลูก แม่อีกเถิด อย่าเริดรา
     จะกล่อมเลี้ยง เพียงแก้วตา ของแม่เอย.

               ๓ เมษ์ ๘๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 12:12:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 ธันวาคม 2557 10:52:05 »

.
 
กิเลสที่เราลืม

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นวันรับพระราชทานน้ำสรงศพ ท่านเจ้าคุณ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาณ) ซึ่งมรณภาพแล้วแต่วันที่ ๑๒ เวลา ๑๕.๓๐ น. ได้จัดสถานที่รับแขกและประดิษฐานศพ ณ ตำหนักอรุณ ชั้นกลาง ในขณะประชุมรอเจ้าพนักงานอยู่ ณ ชั้นกลางนั้น พระมหาเถระผู้นั่งอยู่ที่เก้าอี้บุหนังพนัก ๓ ด้าน สักครู่หนึ่ง ท่านได้ลุกจากเก้าอี้นั้น มานั่ง ณ เก้าอี้ไม้พื้นถักหวาย แล้วบ่นว่า เก้าอี้อย่างนี้ (หมายถึงตัวบุหนัง) เขาใช้สำหรับเมืองหนาว เมืองเรามันร้อน นั่งอยู่ประเดี๋ยวก็ร้อนก้น. เมื่อได้ประสบเรื่องเช่นนี้ ความคิดก็ผุดขึ้นว่า กิเลสเท่านี้ ยังอดทนปราบไม่ได้ กิเลสที่สุขุมกว่านี้ จะทำอย่างไร.   ทั้งนี้ ด้วยมีความหมายว่าเพียงได้สัมผัสกับความร้อนรุ่มของพื้นเก้าอี้ ชั่วระยะเวลาที่นั่งอยู่นั้น เป็นสัมผัสทางกายแล้วเกิดไม่พอใจ เรียกตามแบบว่ากายสัมผัสสชาทุกขเวทนา อย่างนี้เสียสังวรหรือยัง ท่านให้พิจารณาตามความจริงว่า เป็นเพราะความยึดถือ จึงเกิดอารมณ์เช่นนั้น ทำให้เกิดความกระวนกระวายใจ ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อให้สมปรารถนา ถ้าไม่สมปรารถนา ก็เสียใจ ถ้าสมปรารถนาก็ดีใจ นับเป็นโทษทั้งขึ้นทั้งล่อง และเป็นโทษที่มักมีประจำ เกิดดับบ่อยครั้งที่สุด แต่นักธรรมมักไม่ใคร่นึกเห็น มัวแต่เอื้อมผ่านไปถึงอริยสัจบ้าง มรรคผลนิพพานบ้าง ซึ่งแม้แต่เพียงอินทรีย์สังวร สำรวมกาย วาจา ใจ ชั้นต้นเช่นนี้ ก็ยังรับสาธุไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงสมาธิ ปัญญา หรือจะเห็นว่าเป็นกิเลสชั้นต่ำธรรมดา ไม่สมกับฐานะที่สูงศักดิ์ อันจะต้องปราบกิเลสที่สุขุมลุ่มลึกจึงจะสมเกียรติ. ก็เมื่อกิเลสชั้นต่ำ ยังผ่านไปไม่ได้ ดังเราจะพบบ่อยๆ คนใช้ทำอะไรไม่พอใจ ก็พ่นผรุสวาทออกลั่นบ้าน ตบตีเอาตามใจ คนครัวทำกับข่าวอ่อนเปรี้ยวเค็ม ก็บ่นกระปอดกระแปด เดี๋ยวขอน้ำปลาเติม ขอส้มเติม ใครแต่งตัวเร่อร่า พูดจาไม่เพราะพริ้งสมเกียรติสมฐานะตน ก็ตะเพิดส่งไปทำนองว่า ชั้นต่ำเช่นนี้ อย่ามาติดต่อกับฉันผู้ทรงศักดิ์เลย ฯลฯ เหล่านี้ จะไม่ตรงกับหัวข้อว่า กิเลสที่เราลืมบ้างหรือ กิเลสมิได้เกิดตามยศศักดิ์อัครฐาน และยศศักดิ์ก็มิได้เป็นเครื่องหมายว่า เป็นผู้เบาบางห่างคลายของกิเลส ปุถุชนต้องมีกิเลส กิเลสเบาบางจึงเป็นกัลยาณชน กิเลสหมดแล้ว จึงเป็นอริยะชน อย่ายกเอาฐานะเกียรติศักดิ์มาเป็นเครื่องหมายว่า มีกิเลสเบาบางหรือลดน้อยเลย ผิดเค้าแน่ๆ ข้อสำคัญก็อย่าเพิกเฉยต่อกิเลสชั้นต่ำธรรมดานี้เสีย ต้องละตามลำดับชั้นให้ได้ก่อน แล้วสรรค์นิพพานก็มาเอง.
๒๖ ก.ค. ๘๙



ความเหมาะสมของผู้ปฏิบัติงาน

ในการบูชาพระภูมิและบูชาเทวดา เนื่องจากปลอดไฟไม่ไหม้ลามมาถึงบ้าน (ไฟไหม้ตรอกหม้อ ๒๒ ก.ย. ๘๙) แม่บ้านจึงจัดให้มีเครื่องสังเวยเทวดา มีหัวหมู  เป็ดไก่ บายศรีปากชาม และเครื่อง ๕ (คือที่บูชาชนิดเล็ก มีถ้วยแก้วเป็นกรวยปักดอกไม้ ๓ ถ้วย เชิงเทียน ปักเทียน ๑ ปักธูป ๑ รวมเป็น ๒ จัดรวมในพานหรือกระบะ) เป็นต้น จัดตั้งบนโต๊ะ ไว้กลางแจ้ง เมื่อได้เวลาสมควร ก็เชิญสิ่งของนั้นกลับ หมดพิธีสังเวยเทวดา

มีผู้ชาย ๒ คน ชั้นลูกหลานของแม่บ้าน ช่วยกันเก็บสิ่งของเหล่านั้น ส่วนอาหารก็นำส่งถึงครัว ส่วนบายศรีปากชามและเครื่อง ๕ นำส่งแม่บ้าน ซึ่งนั่งบัญชางานอยู่ ณ ที่ใกล้เคียง ชายคนหนึ่ง ในสองคนนั้น มาช่วยด้วยเจตนาดี มือซ้ายถือชามบายศรี มือขวาถือกระบะประดับด้วยมุกใส่เครื่อง ๕ นำมาเพื่อส่งแก่แม่บ้าน จวนจะถึงที่วาง ห่างจากแม่บ้านสัก ๑ เมตร กระบะเครื่อง ๕ เอียง เครื่องแก้วในกระบะตกแตก ๒ ชิ้น จึงต้องรีบเก็บเศษแก้วแตกๆ เพราะเด็กเล็กมักมานั่งเล่นที่บริเวณนั้น

แม่บ้าน ไม่ได้แสดงกิริยาขัดเคืองอย่างไร (คงจะเป็นด้วยไม่ใช่ลูกหลานของตัว เขามาช่วยด้วยเจตนาดี ฐานอยู่บ้านใกล้ชิดติดต่อกัน) พูดแต่เพียงว่า ของเหล่านี้ ก็ต้องแตกเป็นธรรมดา แต่ของเช่นนี้ เวลาถือควรถือ ๒ มือ (จะได้ช่วยกันประคองเวลาเอียงไป – มา ถือมือเดียวเวลาเอียง ก็ต้องขืนมือแก้เอียง ในขณะขืนมือนั่นเอง เป็นการกลับโดยรวดเร็ว และเท่ากับช่วยให้เอียงมาลงอีกด้านหนึ่ง เครื่องแก้วชิ้นเล็กบนกระบะ ก็ต้องกลิ้งตก)

ทำให้นึกว่า งานละเอียด งานเบา จะใช้คนหยาบ คนแข็งแรงปฏิบัติ ย่อมไม่ได้ผลสมกัน. มีแต่ชวนให้เกิดการเสียหาย ต้องเลือกคนให้เหมาะแก่งาน ความเหมาะของงานและรูปงาน กับคนผู้ปฏิบัติงาน ถ้าไม่เหมาะเจาะคู่ควรกันแล้ว งานจะไม่เรียบร้อยราบรื่น ซ้ำจะก่อการเสียหายให้มีขึ้นมาแทรกแซงเสมอ

ผู้อำนวยงาน จึงต้องเป็นผู้รู้รอบคอบถี่ถ้วน รู้จักอัธยาศัยของผู้รับปฏิบัติงาน จะวางรูปงานอย่างไร  วิธีปฏิบัติงานอย่างไร มอบให้ใครรับปฏิบัติในหน้าที่อย่างไร เวลาไหน เหล่านี้ ผู้อำนวยงานต้องรู้โดยตลอด คนหยาบมีแต่กำลังกาย ก็ควรมอบงาน เช่นยกรื้อแบกหาม, คนละเอียด มีกำลังกาย ก็มอบงานยกรื้อ แบกหามเฉพาะในของที่แบบบาง มีค่าสูง, คนหยาบไม่มีกำลัง ซ้ำไม่มีไหวพริบ แต่แสดงนิสัยอวดดี ต้องระวังให้มาก, บางคนดีแต่ทำงานด้วยปาก บางคนทำงานเอาหน้า, แข็งแรงเฉพาะต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่, บางคนทำงานเพื่ออาศัยอาหารหรือรางวัล อย่างสุภาษิตว่า “การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ, การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” บางคนถึงเวลาทำงานคอยหลบเลี่ยงอยู่ปลายแถว พอถึงคราวอาหารหรือรางวัล กลับออกมาปรากฏนำหน้าเพื่อน บางคนดีแต่ยุให้คนอื่นทำ ส่วนตนเองไถลถ่วงเวลาพอให้งานใกล้เสร็จ จึงจะมาร่วมด้วย เหล่านี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่อำนวยการ จะต้องระมัดระวังสอดส่องตรวจตรามอบงานให้สมกับลักษณะบุคคล ให้สมกับเวลา ไม่มัวเกี่ยงถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ควรมุ่งให้งานสำเร็จเรียบร้อยโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ อย่ามัวนึกว่า ตนรับอยู่งานหนักงานต่ำ คนอื่นอยู่งานสบาย เพราะเป็นงานอยู่ในรูปเดียวกัน จึงต้องต่างคนต่างปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ผลงานไปรวมอยู่ที่ความสำเร็จเรียบร้อย จงเอาใจใส่ตรวจตราหน้าที่ของตนให้เรียบร้อยที่สุด และประสานงานส่วนอื่นให้ดีที่สุด นี่แหละเป็นเกียรติเชิดชูให้เขยิบฐานะได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น.

๒๙ ก.ย. ๘๙



เราอยู่กับความเคลื่อน

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำออกพรรษา หม่อมเจ้าหญิงอาทรถนอมศรีธวัช ทรงทอดกฐินวัดศาลารี นนทบุรี ได้อาราธนาให้รวมไปกับพระอื่น ๕-๖ รูปด้วยเรือยนต์เป็นพาหนะ เที่ยวกลับจากทอดกฐินเลยขึ้นไปทอดผ้าป่าวัดเฉลิมพระเกียรติแล้วราวย่ำค่ำเศษ เจ้าภาพจัดให้พักในห้องท้องเรือซึ่งมีฝารอบ นั่งมองสภาพฟากฝั่งไม่เห็น ทราบว่าเรือเดินก็เพราะเสียงเครื่องยนต์ จากนั้นมีช่องหน้าต่างที่พออาศัยถ่ายอากาศ ก็มองเห็นแต่เพียงดวงดาวเบื้องบน ไม่ทราบว่าเรือขึ้นเหนือลงใต้ แล่นเร็วแล่นช้าอย่างไร นั่งพิจารณารูปลักษณะในห้องเรือไปพลาง เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า นี่เรากำลังติดอยู่กับเครื่องเดินเคลื่อนที่ แต่เราก็เห็นว่า เราอยู่กับที่เพราะเราไม่เห็นมีเครื่องอื่นเทียบให้เห็นว่า เราเคลื่อนอย่างไร นั่งพิจารณาดูเราก็อยู่กับที่นั้นเอง ชวนให้เทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า เบญจขันธ์ เป็นอนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา คือของเคลื่อนที่ แต่ผู้ครองเบญจขันธ์ ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ ไม่รู้สำนึกว่าต้องพลอยเคลื่อนที่ติดไปด้วย ทั้งนี้ เพราะความเคลื่อนอยู่กับเหตุส่วนอื่น ผู้อาศัยก็อยู่กับเหตุอีกส่วนหนึ่ง ถ้ารู้สำนึกได้ตลอดเช่นนี้ ย่อมเห็นความเคลื่อนว่าเป็นธรรมดาเช่นนั้น ไม่ใช่เราเคลื่อน เราจะไปแก้ไม่ให้เคลื่อนจึงไม่สมประสงค์ เพราะนอกเหนืออำนาจ อย่างดีเมื่อทราบถนัดใจเช่นนี้ จงดำรงตนให้สมกับฐานะผู้อาศัยติดไปกับสภาพเคลื่อน อย่ากังวลฝืนให้หยุด แต่จงบำเพ็ญตนให้สมลักษณะผู้อาศัยการเคลื่อน เพราะการเคลื่อนนี้แลจะเป็นคุณทั้งโลกทั้งธรรม ถ้ารู้จักนำมาใช้ให้เหมาะสม และต้องประจักษ์ใจว่า เราติดไปกับการเคลื่อนเสมอ ไม่ใช่อยู่ที่ความเคลื่อนนี้เป็นส่วนภายนอก พาเราเคลื่อนไปนับแต่ปฏิสนธิ แก่ เจ็บ ตาย และแม้ในเราผู้เข้าใจว่าคงที่ก็เคลื่อนคล้อยไปด้วยตามระยะเวลา เป็น เด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ กลางคน เฒ่าชรา ตาย ไม่มีเวลาหยุดยั้งสักขณะหายใจเลย ทั้งเขาทั้งเรา ทั้งอนาคตและอดีต จึงควรตั้งตนให้เป็นผู้ฉลาดทุกระยะกาลของชีวิต ให้ทำประโยชน์ได้ทั้งชาตินี้ชาติหน้า อย่าให้ถูกตำหนิว่า เป็นคนรกโลก แล.
พฤศจิกา ๙๐



เครื่องหมายของกิเลส?

เมื่อย่ำรุ่งเศษของวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๙๒ กำลังเดินลงจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง (พระที่นั่งสีตลาภิรมย์) ข้อคิดได้พลันเกิดขึ้นว่า สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย (ทั้งโภคทรัพย์และธนทรัพย์ หรือเครื่องอุปโภคบริโภค) ที่บุคคลสะสมไว้มากหรือน้อย ดูเป็นการแสดงให้เห็นเป็นเครื่องหมายของกิเลสตัณหาของคนใช่หรือไม่ ข้อคิดอย่างนี้ มีเค้ามานานแล้ว ซึ่งสืบเนื่องมาจากถ้อยคำปรารภของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระวินัยมุนี (วุฑฺฒิญาณ แปลก) ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓-๘ ว่า ท่านต้องสะสมเครื่องแก้ว ลายคราม ต้นไม้ดัด กระถางเขา ตลอดจนเครื่องเล่นเครื่องใช้อย่างอื่นไว้ ก็เพื่อความเพลิดเพลินของอารมณ์ส่วนตนเองบ้าง และเมื่อกิจการของวัดเกิดขึ้น ก็ได้อาศัยใช้ประดับตกแต่งในการงานนั้นๆ เป็นความสะดวก ไม่ต้องเป็นกังวลยืมที่อื่นให้เป็นการลำบาก แต่ท่านมีเครื่องเหล่านี้ไว้อย่างท่านเป็นนาย ไม่ใช่สิ่งของเครื่องเล่นเป็นนาย ถึงคราวแตกชำรุดเสียหาย ท่านก็เข้าใจดีแล้วว่า ต้องเป็นธรรมดาเช่นนั้น รู้สึกเป็นคติจำไว้สอนใจได้ดีแต่คราวนั้นประการหนึ่ง

ต่อมาถึงสมัยประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒ ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระศพเสด็จพระอุปัชฌายะ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิริวฑฺฒน) แล้ว ต้องเป็นภาระควบคุมดูแลบริเวณตำหนักที่ประทับ ได้พบเห็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่ตามตู้ภายในบริเวณตำหนักที่ประทับ ขณะนอนพักผ่อนสอดส่ายสายตาดูโน่นนี่ ความคิดในทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นว่า เสด็จพระอุปัชฌายะได้เสด็จจากสิ่งของเหล่านี้ไปแล้ว สิ่งของเหล่านี้ตกมาเป็นภาระของเรา ต้องระวังรักษา เราจะนำไปทำอะไร ดูไม่เป็นที่น่าปลื้มใจอะไรเลย คงเป็นโสมเฝ้าทรัพย์อย่างเขาว่าอยู่เท่านั้น ไม่ช้าเราก็คงต้องจากไปอย่างเดียวกับเสด็จพระอุปัชฌายะนั่นเอง ความยึดมั่นในสิ่งของทั้งหลายเหล่านี้ ดูค่อยเบาบาง ยึดไว้เพียงอาศัยใช้สอยกันไป เมื่อขาดตกบกพร่องเสียหายไปตามธรรมดาของการงาน ทุกข์ใจมิใคร่บังเกิดเพราะพรากจากของรักของชอบใจจนเสียผล ได้คติสำหรับตัวอย่างหนึ่งว่า เมื่อยังดีอยู่ก็อาศัยใช้กันไป เมื่อชำรุดป่นปี้เสียหายไปแล้ว ก็เลิกกัน หรือบางทีเราอาจจากไปก่อนสิ่งของก็ได้ และไม่คิดสะสมด้วยถือคติว่า เมื่อเราตั้งตัวเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว สิ่งของเหล่านี้ย่อมมาเป็นเครื่องสักการะคุณธรรมความดีเอง ของดีย่อมชอบอยู่กับคนดี

ครั้นถึงเมษายน ๒๔๙๒ ได้ไปในงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณ พระสุวรรณมุนี (ชิด)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี วัดมหาธาตุ ผู้รับปลงบริขารได้จัดสิ่งของนานาชนิดที่ท่านเจ้าคุณได้เก็บสะสมไว้ มีตั้งแต่ถ้วยโถโอจาน ตู้โต๊ะ เครื่องบูชา เครื่องถ้วยปั้น เครื่องลายคราม มากมายก่ายกอง จนปรากฏว่า เต็มกุฏิทั้งหลัง ทั้งนี้เพื่อแสดงแก่ผู้มาในงานว่า สิ่งของเหล่านี้จะถวายแก่บุคคลบ้าง ถวายแก่วัดนั้นวัดนี้บ้าง เป็นการชวนให้ประชาชนที่มาในงานสนใจชมกันแน่นขนัดอยู่ตลอดงาน ผู้รับปลงบริขารได้อาราธนาให้ไปชม ในขณะชมก็มีความคิดขึ้นว่า การทำอย่างนี้ ผู้รับปลงบริขารคงไม่ได้นึกในแง่ที่ว่า จะมีคนเห็นว่า ท่านเจ้าคุณตระหนี่เหลือเกิน เก็บไว้จนแทบไม่รู้ว่าอะไรบ้าง ท่านมิเป็นผู้ดีแต่สอนผู้อื่นให้บริจาคทานเพื่อกำจัดตัวตระหนี่ เมื่อตัวตระหนี่ออกจากบ้านแล้ว กลับมาอาศัยอยู่วัดกับท่านเจ้าคุณนี่เองดอกหรือ  ดูเป็นการได้ประโยชน์แก่ผู้รับปลงบริขารเพียงว่า เป็นผู้เปิดเผย มิได้นำบริขารไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว นำออกทำบุญอุทิศถวายท่านทั้งหมดก็จริง แต่ส่วนเสียอาจเกิดแก่ท่านเจ้าคุณดังกล่าวแล้วก็ได้ อนึ่งการนำพัสดุสิ่งของเงินทองของผู้ตายมาจับจ่ายใช้สอยในการศพก็เท่ากับผู้ตายทำบุญของผู้ตายเอง ดูไม่ได้เค้าในการที่สนองบุญคุณผู้ตายด้วยพัสดุทรัพย์สินเงินทองของอนุชนเลย หากจะว่าสนองคุณ, ก็อยู่ที่กำลังกายจัดดำเนินการทั้งปวงให้สำเร็จเรียบร้อยนั่นเอง เป็นส่วนสนองคุณ, กลับมาปรารภถึงบริขารของท่านเจ้าคุณพระสุวรรณมุนีต่อไป การที่มีผู้พบเห็นบริขารเป็นอันมากแล้ว ด่วนลงสันนิษฐานในแง่อกุศลแก่ท่านเจ้าคุณ ก็ยังมิชอบ เพราะถ้าท่านเป็นชนิดนายสิ่งของ ก็นับว่าควรสรรเสริญ ถ้าท่านให้สิ่งของเป็นนาย ท่านก็ตกเป็นทาสของตระหนี่ อย่างนี้ ย่อมสมกับที่ใครๆ จะสันนิษฐานในแง่อกุศล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ย่อมอยู่ที่ตัวท่านผู้เจ้าของเป็นต้นเหตุสำคัญ ว่าท่านสะสมโภคทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ไว้ด้วยอารมณ์เช่นไร ถ้าด้วยอารมณ์เป็นนายโภคทรัพย์ คือสะสมไว้สำหรับใช้สอยในกิจการที่เกิดขึ้น เป็นความสะดวก ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร สูญเสียไปตามธรรมดา ก็แล้วแต่เหตุการณ์โดยรู้สึกเห็นเป็นธรรมดา อย่างนี้ต้องอาศัยเทียบเคียงอัธยาศัยเมื่อยังมีชิวิตอยู่ แต่ถ้าสะสมด้วยอารมณ์เป็นทาสของโภคทรัพย์แล้ว โดยเห็นอัธยาศัยที่ใครจะไปหยิบยืมก็ไม่ได้ ตนเองก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะสิ่งของเหล่านั้น คนอื่นก็ไม่ได้ประโยชน์ คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ด้วยนึกอิ่มใจเอาเองว่า ฉันมั่งมี ฉันรวย ครั้นจะถึงมรณะ ก็ต้องห่วงหน้าห่วงหลังกังวลใจอย่างลืมตาตาย คงทอดทิ้งให้เป็นสมบัติของคนอื่นต่อไป กลับเป็นการแสดงเปิดเผยให้เห็นกิเลสตัณหาของตนด้วยโภคทรัพย์นั้นเป็นพยาน

ด้วยความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ เตือนตนสอนตนอยู่บ่อยๆ ทำให้เห็นคุณของปัจเวกขณ์ ข้อว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ถนัดชัดใจยิ่งขึ้น.

๑ กรกฏ ๙๒



อตีตารมณ์

เมื่อเที่ยงเศษของวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๙๓ ได้รับโทรเลขแจ้งว่าแม่เจ็บหนักแต่วันที่ ๔ แล้ว จึงรีบขึ้นรถไฟขบวน ๑๔.๐๐ น. จากกรุงเทพฯ ถึงบ้านนิลนิวาสประมาณ ๑๗.๐๐ น.เศษ ในระหว่างการเดินทางได้ตรึกเตรียมตัวอยู่เป็น ๒ ระยะว่า ถ้าอาการมากจะรักษาพยาบาลอย่างไร ได้หมอที่ไหนมารักษา ถ้าถึงมรณกรรม จะจัดการศพอย่างไร ตั้งที่ไหน เมื่อไรเผา, ครั้นไปถึงหน้าบ้าน น้องสาวคนโตก็มาต้อนรับด้วยน้ำตาว่า ไม่ลืมหูลืมตามาแต่วานนี้แล้ว และเมื่อเห็นแม่นอนหายใจรวยๆ ไม่ลืมตา ไม่พูด ก็รู้สึกหนักใจ ถามถึงการตามหมอต่างตำบลที่เคยรักษา ก็ว่าส่งข่าวไปแล้ว นอกจากนั้น ก็เพียงหยอดยาหอมและนมชงบ้าง ท่ามกลางลูกหลานที่เฝ้าพยาบาล ต่างลงความเห็นว่า ต้องเอาอุจจาระออกจึงจะทุเลา ได้พยายามในการนี้ก็ไม่ได้ผล อุจจาระไม่ออก ที่ออกเพียงก้อนเล็กๆ ๓-๔ ก้อน ก็แข็งผาก ความร้อนในตัวก็สูง ที่สุดถึงวันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๔๙๓ เวลา ๓ ทุ่ม ๔๒ นาที แม่ก็หมดลมครั้งสุดท้ายด้วยความสงบ ในท่ามกลางญาติมิตรลูกหลาน เมื่อเสียงสะอื้นของลูกหลานแว่วมา ทำให้ใจห่อเหี่ยวเศร้าสลด นึกว่าแม่ตายจากเราไปแล้ว แต่ก่อนเคยอวดใครต่อใครได้ว่า ยังมีพ่อ แม่ น้อง อยู่พรักพร้อม เดี๋ยวนี้ แม่มาพรากจากไปเสียแล้ว หมดแม่ที่แสนบูชา กำพร้าแม่ที่แสนเคารพ จะไม่ได้พูดจาปราศรัยกันอีกแล้ว. ก้อนแห่งความโศกก็พลันขึ้นจุกคอ จะพลุ่งออกมาภายนอกให้ได้ อาศัยเคยทำความรู้ตัวคอยรับเหตุอย่างนี้มาก่อนบ้าง กับเพ่งพิจารณาคติธรรมที่ไม่มีใครช่วยต่อต้านพยาธิมรณะ เมื่อขณะกำลังล้อมวงพยาบาลท่านอยู่บ้าง และมานึกสำทับตนเองว่า ตนเป็นผู้ใหญ่อยู่ในที่นี้ ถ้าแสดงอาการเศร้าโศกออกให้ปรากฏแล้ว เท่ากับชักชวนคนอื่นให้ระทมใจอีกมากทีเดียว จึงเป็นกำลังช่วยข่มอารมณ์โศกให้ระงับลงได้ ต่อไปก็เริ่มแนะนำวิธีจัดการศพท่านตามควรต่อไป รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๙ ก่อนจะบรรจุศพลงหีบ เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. สั่งให้ลูกหลานทำความสะอาดแก่ศพ ก้อนโศกก็พลันจุกคอขึ้นมาอีก ด้วยมานึกถึงว่า แม่ตายเสียแล้ว จะไม่ได้เห็นหน้าแม่อีกแล้ว แม่เคยนอนที่ตรงนั้น ตำหมากตรงนี้ เคยพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็สำทับใจข่มลงได้อีก แล้วเริ่มสั่งงานต่อไปจนตลอด จึงมาเห็นสมกับพระพุทธภาษิตที่ห้ามไม่ให้หน่วงอารมณ์ที่ล่วงแล้วมาใฝ่ฝัน เพราะล่วงเลยไปแล้ว จะแก้ให้ย้อนกลับมาอีกไม่ได้ ขืนหน่วงอารมณ์ไปนึกคิด อย่างแม่ตายครั้งนี้ ก็มีแต่จะเศร้าโศกระทมใจเท่านั้นเอง เมื่อคำนึงแต่กิจในปัจจุบันหรือเตรียมการข้างหน้าต่อไปไม่ย้อนหลัง อารมณ์ที่พรากจากท่านผู้เป็นที่รักอันชวนให้เศร้าโศกนั้น ก็ไม่มีช่องทางเกิดขึ้นได้ และก็รับรองอีกอย่างว่าอารมณ์เกิดกับจิตได้ครั้งละอารมณ์ จะเสวยพร้อมกัน ๒-๓ อารมณ์ไม่ได้ เพราะยามเผลอสติ หรือในการบำเพ็ญกุศลอุทิศกัลปนาผลถึงท่าน บางขณะก็อดหวนย้อนไปเก็บเอาเรื่องเก่ามาเสวยใจไม่ได้ ก็กลับชวนให้ใจมัวมุ่นอยู่ในข่ายโศกอีก ต้องปราบกันใหม่ และเมื่อพะวงในการดำเนินงานศพของท่านอยู่ ความโศกเศร้าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย

จึงเป็นคติสอนใจที่ไม่ควรเก็บอารมณ์ที่ล่วงแล้วมาใฝ่ฝัน มีแต่ทางเสียถ่ายเดียว แม้ในอารมณ์โลภ โกรธ หลง ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.

๒๘ เมษ. ๙๓



มุทิตาจิต

คุณผัน ณ นคร ได้อาราธนาไปในงานขึ้นบ้านใหม่ที่ถนนขาว ที่สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศเป็นประธาน เมื่อต่างได้เห็นบริเวณบ้านตลอดจนตัวตึกกว้างขวางมั่นคง ก็ไต่ถามเจ้าของบ้านว่าซื้อไว้เท่าไร เมื่อเจ้าของแจ้งว่า ทั้งที่ดินและตัวตึก หนึ่งแสนเจ็ดหมื่น ต้องมาซ่อมแซมอีกราวสองหมื่น เวลานี้มีผู้มาทาบทามแล้วให้ราคาสามแสน ทุกรูปต่างเห็นร่วมกันว่า ซื้อได้ถูกมาก ยังกะได้เปล่า, เดี๋ยวนี้ จะสร้างเพียงตัวตึกก็คงถึงสามแสนแล้ว และต่างก็โมทนาว่าเป็นโชคดีแล้ว คงอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป .    

อารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น ปรากฏว่า นี่เพราะเป็นคนมีทุนรอนอยู่จำนวนตั้งแสนๆ จึงสามารถซื้อของถูกได้อย่างนี้ อย่างเรา ถึงเขาจะขายให้ถูกเพียงแสนเดียว ก็คงไม่มีปัญญาหาเงินที่ไหนมาชำระได้ ในชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ยังไม่เคยรู้สึกว่าตนร่ำรวยถึง ๑ ใน ๑๐ ของหมื่นเลย  คุณผัน ณ นคร ผู้นี้ ทราบว่าได้รับมรดกจากคุณจอมสว่างจึงมั่งมีขนาดเศรษฐีนี แต่บ้านที่อยู่ริมน้ำใต้ท่าพระจันทร์ถูกไฟไหม้หมด แสดงอย่างว่าสิ้นเนื้อประดาตัว และท้อใจว่าทำบุญสุนทานเสมอมา ทำไมบุญไม่ช่วยบ้างเลย ครั้นต่อมา เมื่อซื้อบ้านนี้ได้แล้ว มีผู้มาเสนอกำไรตั้งเสนๆ เช่นนี้ ก็กลับเห็นว่าบุญกุศลเริ่มอำนวยผลแล้ว ดูยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน คล้ายกับว่าที่สูญเสียไปเพราะไฟไหม้นั้นได้ทุนกลับคืนบ้างแล้ว จึงได้แต่เพียงเพ่งใจพลอยยินดีตามในบุญกุศลของคุณผัน นับแต่เจริญพระพุทธมนต์และอนุโมทนา แต่อย่างเราในฐานะบัดนี้จะให้เป็นอย่างยากเจ็ดทีดีเจ็ดหนอย่างคุณผัน ณ นคร ก็ยังไม่ปรากฏ สู้เสวยกรรมของตนเองอย่างนี้ดีกว่า และขอให้คุณผัน ณ นคร จำเริญสุขยิ่งๆ ขึ้น เทอญ

(วันอภิเษกสมรส ร.๙) ๒๘ เมษ์ ๙๓


 
เก็บภาษีจากสัตว์

วันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๓ ตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล คุณจอบแก้ว ข้าหลวงในพระองค์ได้มาบำเพ็ญกุศลถวายที่พระอุโบสถวัดราชบพิธ โดยอาราธนาพระภิกษุในวัด ๒๐ รูป สวดมนต์แล้วฉันเพล และสดับปกรณ์ที่อนุสาวรีย์ ในการอังคาสภัตตาหารเพลใช้อาหารโต๊ะจีน ๒ โต๊ะๆ ละ ๑๐ รูป อาหารคาว เริ่มด้วยหูฉลามและตามมาด้วยอย่างอื่นมีเนื้อสัตว์ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บกประมาณ ๕-๖ สิ่งแล้ว ถึงอาหารหวานเม็ดบัวต้มน้ำตาลผสมรังนก เป็นเหตุให้ปรารภขึ้นในพวกร่วมโต๊ะว่า รังนกนี้คืออะไรบ้าง คนนำมาได้อย่างบ้าง เป็นต้น เป็นเหตุชวนให้คิดว่า นกเหล่านี้ อาศัยแผ่นดินคือตามถ้ำตามเขาที่มนุษย์ปกครองว่าเป็นอาณาเขตของตนโดยมิได้ก่อความเสียหายให้แก่มนุษย์อย่างไรเลย แต่มนุษย์ก็เห็นว่า รังของนกเหล่านี้ เป็นอาหารโอชะ บำรุงร่างกายตนให้มีพละกำลังดีมาก จึงคอยเก็บรังซึ่งนกทั้งหลายตระเตรียมทำไว้ด้วยกำลังร่างกายของมันแท้ๆ เพื่อรับฟองไข่อันจะได้ฟักเป็นตัวสืบพืชพันธุ์ต่อไป นำมาซื้อขายจ่ายแจกเป็นสินค้าหาผลกำไรของมนุษย์อย่างหน้าตาเฉย นี้ก็เท่ากับนกต้องถูกเก็บภาษีจากมนุษย์ผู้มีใจสูงซึ่งเกิดมาร่วมโลกเดียวกันนั่นเอง ยังมีสัตว์อย่างอื่นอีก เต่าตนุเรียกไข่ว่าจะละเม็ดที่อาศัยในท้องทะเลขึ้นอาศัยหาดทรายตามชายเกาะเป็นที่ฝากฟองไข่, ผึ้งอาศัยต้นไม้ใหญ่หรือเงื้อมเขาเป็นที่ทำรัง, ก็ต้องเสียภาษีจากมนุษย์ด้วยรัง, ไข่เช่นเดียวกัน เสียภาษีเพียงรังอาศัยก็พอทำเนา ยังมีปู ปลา กุ้ง หอย ที่ต้องเสียภาษีด้วยชีวิตร่างกาย ก็มีอีกจำนวนมาก ส่วนหมู เป็ด ไก่ ควาย วัว เป็นสัตว์ที่มนุษย์เพาะเลี้ยงจะเก็บภาษีเช่นนั้นบ้าง ดูก็ยังมีข้อแก้ตัวว่าได้เลี้ยงดูปรนปรือมาเป็นการทารุณที่อ่อนกว่ารังนก ซึ่งมนุษย์เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว โดยมิได้สิ้นเปลืองเลี้ยงดูอย่างไรเลย เมื่อไรหนอบทเจริญเมตตาตามบาลีว่า “สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรฺนตุ  สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หาเวรมิได้ หาความลำบากมิได้ หาความทุกข์มิได้ มีสุข รักษาตนเถิด” จึงจะเป็นผลศักดิ์สิทธิ์เต็มตามจุดประสงค์ ยิ่งกว่าภาวนากันเพียงพิธีกรรมบ้างหนอ.
๑๓ ก.ย. ๙๓



กำไรจากการฟังเทศน์

วันที่ ๒ ธ.ค. ๙๓ เป็นวันธรรมสวนะ ขณะฟังพระจินดากรมุนีเทศนากัณฑ์เช้า เช้า ตอนหนึ่งมีนัยเปรียบเทียบถึงอาหารก่อนบริโภคว่าน่ารับประทาน เมื่อเคี้ยวในปากก็มีรสอร่อย  จะดูรู้สึกสะอิดสะเอียน จะเกลียดอาหารนั้นว่าไม่ดีหรือก็ไม่ถูก จะว่าดีหรือครั้นกลั้วกับน้ำลายในปากแล้วก็กลับเห็นน่าเกลียดไปอีก ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดถือเป็นจริงจัง ด้วยพิจารณาเห็นตามสภาพของสิ่งทั้งหลายแล้วย่อมปล่อยวาง ดังนี้

ความคิดก็เกิดขึ้นว่า ถ้าเราได้พิจารณาตามความจริงของอายตนะนั้นๆ ไม่ไขว้เขวสับเปลี่ยนกันแล้ว จะเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย อาหารก่อนบริโภค ที่เห็นว่าน่ารับทาน นี่เป็นเรื่องของจักษุทวาร เห็นสีสันวรรณะของรูปอาหารงดงาม ยิ่งมีภาชนะที่รองรับสะอาด ประกอบด้วยลวดลายวิจิตร ยิ่งชวนให้น่ารับทานมากขึ้น นี่เพียงเฉพาะการเห็นการดู, ถ้าส่งกลิ่นระเหยกระทบฆานทวารช่วยอีกแรงหนึ่งแล้ว ย่อมชวนให้กระหายยิ่งนัก. แต่เมื่อส่งอาหารเข้าปากบดเคี้ยว รู้สึกรสชาติอร่อย นี่เป็นหน้าที่ของชิวหาทวาร รู้รสเปรี้ยวหวานมันเค็มเท่านั้น ไม่ต้องการจักษุทวาร หรือฆานทวารช่วยอย่างไรเลย ส่วนที่คายออกมาให้เห็นสะอิดสะเอียนอีกนั้น เป็นเรื่องของจักษุทวารซึ่งทำหน้าที่เพียงเห็นรูปลักษณะของอาหารที่ถูกบดเคี้ยวแปรรูปเดิมไปแล้วเท่านั้น ถ้ามีกลิ่นกระทบถึงฆานประสาท ก็อยู่ที่ฆานทวารอีกเหมือนกัน ชิวหาทวารทำหน้าที่เพียงรู้รสอย่างเดียว สี-กลิ่นจะเป็นอย่างไร หมดหน้าที่รับรู้ จึงอาหารที่มีรสดีอย่างที่เรียกว่าถูกปาก ย่อมบดเคี้ยวกลืนลงสู่กระเพาะได้สะดวก เพราะมีหน้าที่รับรู้รสเท่านั้น เมื่อพิจารณาได้ตรงตามอายตนะเช่นนี้ ก็หมดวุ่น คลายกังวลใจได้ หากเข้าใจเอาเองให้สับสนไม่ยึดหลักของอายตนะย่อมชวนให้วุ่นวายใจ ของดีน่ารักอยู่ประเดี๋ยวกลับเป็นของเลวน่าเกลียดไปก็ได้ สิ่งนั้นผสมกับสิ่งนี้ น่าดูน่าชมน่ารับทาน ครั้นกลับผสมกับอีกสิ่งหนึ่ง กลายเป็นน่าเกลียด ขยะแขยง ไม่กล้าแตะต้อง หากตามใจปล่อยให้ยึดถือโดยไม่ยึดหลักลักษณะของของอายตนะว่าแต่ละส่วนมีหน้าที่ต่างกันอย่างไรแล้ว ย่อมมีใจปั่นป่วนรวนเร เดี๋ยวหลงรัก หลงชัง หลงเกลียด หลงกลัว เดี๋ยวกลับรัก กลับชัง กลับเกลียด กลับกลัว หมุนเวียนจนไม่สงบลง จึงควรตรวจลักษณะของอายตนะแต่ละอย่างให้รู้จักถี่ถ้วนตามหน้าที่แต่ละชนิด ไม่ยอมให้ยั่วใจ หมุนเวียนไปตาม คงรู้เท่าทันตามลักษณะเฉพาะอายตนะนั้นๆ เสมอไป ก็จะนับว่าผู้วางภาระอันหนักได้ส่วนหนึ่ง

ถึงกัณฑ์เย็น พระมหาชะลอเทศน์แทนในวาระของพระมหาฟ้อย ใจความตอนหนึ่งว่า  ควรทำประโยชน์ให้ได้ทั้งฝ่ายโลกฝ่ายธรรม เพราะโลกธรรมย่อมคู่กันเสมอ ดังนี้ ความคิดผุดขึ้นตามแนวเนื้อความนั้นว่า ฝ่ายโลกต้องเป็นฝ่ายแสวงหาธรรมและฝ่ายธรรมก็ต้องอาศัยโลกเป็นที่สิงแสดง แยกจากกันไม่ได้ หรือจะพูดว่าธรรมคือโลก โลกคือธรรม ก็ไม่ผิด ชีวิตร่างกายของสัตว์บุคคลที่ปรากฏเป็นอวัยวะแขน ขา หน้า ตา เหล่านี้ เป็นส่วนของโลก ที่ก่อสร้างเติบโตมาในความคุ้มครองของโลก แต่สมบัติของโลก ทั้งสัตว์บุคคล ภูเขา ต้นไม้ ตลอดพัสดุสิ่งของ ก็ต้องดำเนินอยู่ในกระแสธรรม คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน แตกสลายเช่นเดียวกันหมด คนเขลามักปรารถนาอะไร จะเอาแต่ความปรารถนาของตน ซึ่งตนเองก็เป็นสมบัติโลกส่วนหนึ่งแล้ว และสิ่งที่ปรารถนานั้นเล่า ก็ล้วนเป็นสมบัติโลกเหมือนกัน จึงเข้าหลักธรรมที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน แตกสลายเป็นธรรมดา แต่เมื่อตนไม่ทราบหลักธรรม มุ่งจะให้สมปรารถนาของตนส่วนเดียว จึงจมอยู่ในกองทุกข์คือลำบากเดือดร้อนกระวนกระวายใจ เริ่มปรารถนาก็ทุกข์ ด้วยเริ่มคิดหาทางเพื่อให้ได้มา ได้มาสมปรารถนาก็เป็นทุกข์ ด้วยต้องทะนุบำรุงรักษาถนอม ไม่อยากให้ใครกระทบกระทั่งหรือสูญหายเปลี่ยนแปลง หากไม่ได้สมปรารถนายิ่งซ้ำร้าย ต้องกระเสือกกระสนแสวงหาเพื่อให้สมอยาก และที่ได้สมปรารถนาแล้ว เดี๋ยวกลับอยากเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวอยากเพิ่มเติมแก้ไข ได้สมใจก็ปรีดาร่าเริง คิดเอาเองว่าตนแสนสุขสำราญ ครั้นพลาดหวัง ก็คิดเอาเองอีกว่า ชะตาตก แสนจะเศร้าโศกระทมใจ นี่เพียงส่วนที่เป็นความปรารถนา หากย้อนเข้ามาถึงตน ซึ่งต้องแก่เจ็บและตาย ต้องกิน ดื่ม ทำ พูด คิด ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอีกนานาประการ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของโลกอีก เมื่อย้อนเข้าหาหลักธรรม ก็สามารถเห็นจริงได้ว่า ความปรารถนาเหล่านั้นทั้งหมด ตลอดอาตมะตัวตน ล้วนอยู่ในลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน แตกสลาย เหมือนกันสิ้น สุดแต่จะมองในแง่ไหน แง่ธรรมหรือแง่โลก มองแง่โลกย่อมมีทุกข์เดือดร้อนกระวนกระวายใจเป็นผล มองแง่ธรรมย่อมสุขสบาย อวัยวะร่างกายเป็นส่วนของโลก จะฝืนให้เป็นธรรมไม่ได้ แต่ความปรีชาฉลาด แม้จะอยู่ในร่างสมบัติของโลกก็อาจสามารถปรับปรุงให้เป็นธรรมขึ้นได้ พระอริยสาวกท่านมีอวัยวะร่างกายเช่นเดียวกับเรา-ท่าน นับเป็นสมบัติของโลกเหมือนกัน ส่วนปรีชาของท่านเท่านั้นเป็นธรรม ท่านจึงเป็นอริยบุคคลอยู่ในฝ่ายธรรม ถึงความสงบสุขผ่องแผ้ว แตกต่างกว่าปุถุชนฝ่ายโลก ถึงความระงับทุกข์กาย-ใจ อยู่จนบัดนี้ เพราะยังอบรมปัญญาปรีชาให้เป็นธรรมไม่ได้.

บันทึก ๓ ธ.ค. ๙๓
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 12:15:23 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2558 16:22:42 »

.

ม่านบังความสุข

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๔ ได้เดินทางกลับจากช่วยทอดกฐินที่วัดโพธิ์ทอง บ่อโพง อยุธยา โดยสารรถไฟขบวนนครราชสีมา – กรุงเทพฯ ประมาณเวลา ๑๖ น.เศษ ภายในรถโดยสารชั้นหนึ่ง เห็นมีคน ๓-๔ คน แต่งเครื่องแบบทหารเรือก็มี ทหารบกก็มี พลเรือนก็มี ร่วมโต๊ะดื่มสุรากันสนุกสนาน เมื่อมีพระเข้าไปนั่งมองดูอากัปกิริยาของเขาอยู่ใกล้ๆ ทำให้เขาเหล่านั้น ลดความสนุกลงไปบ้าง แต่เห็นว่าชั้นอื่นจะไม่มีที่นั่ง จึงต้องจำใจนั่งตามสิทธิของตน ผ่านการตรวจตั๋วและขออนุญาตให้พระผู้ติดตามได้นั่งชั้นหนึ่งด้วย เพราะที่ยังว่างอีกหลายที่นั่งแล้ว คงสงบนั่งชมภูมิประเทศอันเป็นทุ่งนาตลอดมา

พอรถออกจากสถานีอยุธยาสักครู่ มีพนักงาน ร.ส.พ. ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มนั้น เข้ามานั่งตรงกันข้าม แนะนำตนเองว่าเคยเห็น เพราะเคยผ่านมาในวัด คุ้นเคยกับพระรูปหนึ่ง ได้สนทนากันในเรื่องพระเครื่องรางของขลังบ้าง การปฏิบัติตัวตามพระศาสนาบ้าง การโต้ตอบได้เป็นไปอย่างสบอารมณ์ สักครู่ใหญ่ ผู้แต่งพลเรือนในกลุ่มนั้น ก็พลอยมานั่งร่วมสนทนาด้วย จากการแนะนำตัวเองของเขา จึงทราบว่าเขาเป็น พ.ร.ร.ประจำขบวน วันนี้เป็นวันพักผ่อนแล้วเลยออกตัวในการที่ต้องดื่มสุราบ้าง ก็เพื่อระงับความกลุ้มใจเสียดายเงิน ๖๐๐ บาทที่สูญหายไปเพราะความเผอเรอของตนเอง แต่การดื่มสุราของเขาเพียงระงับความกลุ้มอกกลุ้มใจเท่านั้น ไม่ดุร้ายรุนแรงเหมือนเมื่อก่อนๆ ได้สนทนาตอบเขาในขณะนั้นว่า ยังแก้ปมกลุ้มใจไม่ถูก กลุ้มอยู่ที่อารมณ์ กลับนำสุรามาย้อมใจ ทำอารมณ์ให้หลงเลือนไปชั่วคราว หายเมาแล้ว ความกลุ้มก็ยังอยู่ ควรแก้ที่อารมณ์ดีกว่า เพราะล่วงเลยมาแล้ว กลับคืนไม่ได้ เป็นเหตุให้ พ.ร.ร.นั้นสนใจขึ้นบ้าง ที่สุดเขายกย่องสุราว่ามีคุณดีมาก ยามจะไปหาผู้หญิงหรือเที่ยวเตร่ ถ้าได้ดื่มเสียบ้างแล้ว ทำให้สุขเกษมเปรมปรีด์กับผู้หญิงเป็นอย่างมากที่สุด

เนื่องจากรู้สึกตัวว่า คุยกับคนเมา เขาพูดถลากไถลตรงไปตรงมา ขาดความยับยั้งบ้าง เป็นเหตุให้ตอบอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน เมื่อได้ฟังเขาเอ่ยคุณของสุราเช่นนั้น จึงชวนให้พูดตอบกับเขาว่า “คุณว่าดื่มสุราเสียบ้างแล้ว คุยกับหญิงสนุกสนานดีนักนั้น ก็จริงของคุณ แต่อยากขอแนะนำว่า ถ้าคุณต้องการสนุกสนานกับหญิงได้เต็มที่จริงแล้ว คุณไม่ควรดื่มสุราเลยเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อคุณดื่มสุราแล้ว รสเมามึนของสุราย่อมย้อมดวงใจของคุณให้ผิดปกติไป คล้ายกับว่าฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นใจเสียชั้นหนึ่งแล้ว ความรู้สึกสนุกสนานเบิกบานใจในขณะนั้น เป็นความสุขอยู่นอกม่านไม่ถึงหัวใจจริง ถ้าไม่มีฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นหัวใจแล้ว ความสนุกสนานที่เกิดขึ้น ก็กระทบถึงหัวใจจริงทีเดียว ไม่มีฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นเสียชั้นหนึ่งก่อน จึงขอแนะนำว่า ถ้าคุณอยากสนุกสนานให้ถึงใจจริงแล้ว ไม่ควรดื่มสุราไปก่อนเลย”

เขายกมือไหว้รับว่าจริง แล้วสนทนาต่อเนื่องไปอีกเล็กน้อย เกี่ยวกับโทษของสุรา ซึ่งเขารับว่า เดี๋ยวนี้เขาลดการดื่มลงมากแล้ว จึงวกเข้าหาเรื่องเดิมอีกครั้งว่า “คุณเห็นโทษของสุราด้วยตัวเอง แล้วลดการที่ดื่มให้น้อยลงได้อย่างนี้ ถ้าฉันจะขอบิณฑบาตให้เลิกดื่มในส่วนที่เหลืออยู่น้อยนั้นเสีย จะได้ไหม” เขายิ้มอยู่สักครู่แล้วยกมือไหว้อีกครั้งตอบว่า “ยังถวายไม่ได้ครับ” แล้วทุกคนก็หัวเราะ เริ่มสนทนาเรื่องอื่นแก้เหงากันต่อไป.  

บันทึก ๑๕ พ.ย. ๙๔



คนดี

ขณะนั่งฉันเพลตามปกติ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ อารมณ์ก็น้อมไปถึงสามเณรบ้าง ศิษย์บ้าง ที่ต่างมักแก่งแย่งคอยแต่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติบำรุงตน ส่วนตนไม่ปฏิบัติบำรุงตอบ จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะโต้เถียงเกี่ยงงอนกัน เพราะต่างก็สมัครจะเป็นอย่างเทวดาชั้นปรนิมิต ต้องการอะไรคนอื่นจัดแจงให้เสร็จ ไม่สมัครเป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี จัดแจงหาด้วยลำพังตนเอง, ทำให้เกิดคติในใจว่า “คนเราทุกคน เมื่อถือตนตามอัธยาศัยของตัวแล้ว เป็นไม่มีคนผิด คนพาล คนบ้า คนเลว เพราะต่างก็ถือตนเป็นคนถูก คนฉลาด คนดี ทั้งนั้น  ถามใครก็ไม่มีใครรับว่าตนเป็นคนผิด คนโง่ ที่สุดคนบ้าในสถานพยาบาล เมื่อใครไปถามเขาจะตอบว่า เขาไม่บ้า กลับไปชี้ที่คนอื่นแล้วบอกว่า คนนั้นแน่บ้า ครั้นไปถามคนนั้นอีก เขาก็จะรับว่าเขาไม่บ้า แต่กลับชี้คนบ้าอื่นต่อไป, หรือในส่วนคนที่ทะเลาะโต้เถียงกัน ต่างก็ว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูก แทบทุกราย, แม้นักโทษในเรือนจำก็ยังอดที่จะตอบว่าถูกเขาหา ถูกเขาใส่ความ ตนเองไม่ได้ทำผิดเลย, นี่เพราะอัธยาศัยของแต่ละคนชอบเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายดี แต่คิดว่าถูกว่าดีเอาตามอัธยาศัยของตน ซึ่งถ้าย้อนตรวจอัธยาศัยตามแนวธรรมแล้วจะเห็นยังเต็มด้วยอคติ เต็มด้วยอกุศลกรรมบถ จึงหาคนดี คนถูก ตามแนวธรรมได้ยาก มีแต่คนดี คนถูก ตามอัธยาศัยของแต่ละคนมากกว่ามาก เรานับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ จะไม่สมควรหรือที่จะถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นหลักตัดสินความเป็นคนถูก ความเป็นคนดี กันเสียบ้าง ขืนหลงถือตามอัธยาศัยตัวดิ่งอยู่เสมอเช่นนี้ จะมิต้องทะเลาะโต้เถียงวิวาทกัน จะมิพลาดจากผลที่นับถือพระองค์เป็นสรณะ ตลอดชีวิตหรือ มิหนำซ้ำยังจะย้อนมาลำเลิกถึงว่า ทำบุญให้ทานมามากแล้ว ไม่เห็นบุญทานช่วยให้ร่ำรวยเจริญสุขอีกเล่า อย่างนี้จะสมควรหรือไม่ถ้าจะเรียกผู้เช่นนี้ว่า นับถือศาสนาไม่ถูก, แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้จักตัวของตัว จะได้ผลจากพระศาสนาอย่างไร
บันทึก ๑๕ พ.ย.๙๔



ไม่รู้จัก+ไม่รู้จัก=อะไร

วันธรรมสวนะที่ ๓๑ ตุลาคม เมื่อสดับเทศน์กัณฑ์เช้าจบแล้ว มีการสนทนาปราศรัย กับอุบาสกอุบาสิกาตามเคย สักครู่คนงานของวัดก็นำจดหมายว่ารับจากศิษย์วัดมามอบให้หัวหน้าอุบาสกเพื่อช่วยส่งให้อุบาสิกาผู้หนึ่งและให้นำส่งผู้มีชื่อในหลังซองนั้นด้วย หัวหน้าอุบาสกไม่รู้จักอุบาสิกาผู้จะรับฝาก ต้องไต่ถามหา จึงได้ความว่ากลับไปเสียแล้ว จดหมายนั้นเป็นอันไม่ได้ผลอะไร

เมื่อลองสอบถามถึงจดหมายนั้นว่ามาอย่างไรกัน ก็ได้ความ ญาติของพระภิกษุในวัดรูปหนึ่ง วานพระภิกษุให้ช่วยส่งจดหมายติดต่อไปถึงญาติอีกคนหนึ่ง โดยให้ญาติผู้เป็นอุบาสิกาช่วยรับไปอีกต่อหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นจึงให้ศิษย์นำไปที่พระอุโบสถ ศิษย์ไม่รู้จักผู้รับฝากจึงวานคนงานของวัดซึ่งเป็นเชื้อจีนให้นำไปส่งอีกต่อหนึ่ง คนงานไม่ทราบเรื่องถนัดทั้งไม่รู้จักผู้รับด้วย จึงนำมามอบแก่หัวหน้าอุบาสก หัวหน้าอุบาสกก็ไม่รู้จักต้นสายปลายเหตุ ทั้งไม่รู้จักผู้รับเช่นเดียวกัน จึงไต่ถามกันวุ่น จนได้ความว่า อุบาสิกาผู้จะรับช่วยถือไปถึงผู้รับต้นเรื่องนั้นกลับไปเสียแล้ว เลยถือเป็นคติธรรมพูดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังว่า “นี่ผลของของความไม่รู้ แม้จะรับช่วงกันมาเป็นทอดๆ ตั้ง ๓-๔ ทอดก็ตาม ผลที่มุ่งหมายในจดหมายก็ไม่สำเร็จอะไรเลย ควรหวนคิดถึงอย่างผู้เทศนากับผู้ฟังว่า ถ้าผู้แสดงก็แสดงไปตามปริยัติ ผู้ฟังก็ฟังอย่างปริยัติ ประดับความรู้เท่านั้น ต่างคนต่างไม่รู้จักธรรมด้วยกัน แล้วผลที่สุดจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่ได้ผลอะไร อย่างรับช่วงติดต่อส่งจดหมายกันนั่นเอง คนที่รับช่วงส่งจดหมายคนที่ ๒ คือเด็ก จนถึงคนที่ ๔ หัวหน้าอุบาสก ต่างก็ไม่รู้จักผู้รับฝาก แม้ผู้รับฝากจะยังไม่กลับเสียก่อน ก็คงต้องไต่ถามกันวุ่นวาย ควรถือเป็นตัวอย่างได้ว่า เมื่อผู้แสดงธรรมก็ไม่รู้จักธรรม ผู้ฟังก็ไม่รู้จักธรรม ต่างก็ทำหน้าที่ไปตามพิธีการ ผลบวกก็เท่ากับไม่รู้ ไม่ได้รับผลของธรรมอยู่ตามเดิมนั่นเอง เสียเวลาไปเปล่าๆ

จึงควรฝึกฝนอบรมให้รู้จักธรรมจงได้ รู้จักแล้วจงบำเพ็ญให้เกิดมีอัธยาศัยสันดานเถิด ธรรมจึงจะรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ตลอดกาลเป็นนิตย์.

๒๐ พ.ย.๙๔



อุปาทาน

เที่ยงเศษของวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๕ ขุนพยาพัฏสรรพกิจ (ประเสริฐ อังสโวทัย) ไวยาวัจกรของวัดนำบัญชีเบิกนิตยภัตมาให้ลงชื่อรับรอง ได้พบกับหลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ (ทวี ธรมธัช ป.๙) ซึ่งเคยอุปสมบทร่วมสำนักเดียวกันมา ปรารภถึงการที่ท่านขุนมาช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นการดีแล้ว ท่านขุนก็แสดงความปรารถนาของตนว่า ได้เคยตั้งใจไว้แต่สมัยรับราชการ รู้สึกวุ่นวายรำคาญใจมากว่า ถ้าออกรับบำนาญเป็นต้องเข้าวัดแน่ๆ.

เราผู้ฟังก็รับเอามานึกคิดชวนให้เห็นว่า เมื่อทำงานติดต่อในหน้าที่ราชการ ก็จำต้องวุ่นวายมาก เพราะต้องติดต่อกับคนมาก นับประสาอะไร เพียงแต่ในตัวของตัวเอง ยังต้องวิ่งเต้นแสวงหาเครื่องดำรงชีวิต วุ่นวายอยู่ทุกเวลานาที จะหาใครบอกว่าสบายสักคนได้ยาก ทั้งนี้ ก็แสดงว่า ถ้าติดต่อกับคนหมู่มาก หรือกิจการมาก อารมณ์ก็มากตามไปด้วย ถ้าติดต่อกับคนหมู่น้อย หรือกิจการน้อย อารมณ์ก็อาจน้อยไปตามกัน นี่หมายเอากิจการงานเป็นเกณฑ์

อีกนัยหนึ่ง ท่านขุนบ่นว่าเมื่อรับราชการ ลำบากใจมาก คงเป็นเพราะต้องเอาใจผู้บังคับบัญชาตามระเบียบหน้าที่เป็นสำคัญ ครั้นมาทำหน้าที่ไวยาวัจกรประจำวัดเป็นหน้าที่ตามสบายตัวเองเป็นส่วนมากเช่นนี้ ภาระรับผิดชอบที่จะต้องหนักใจก็มีน้อย แต่ตามหลักธรรมความยึดถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ธุรกิจมากหรือน้อยไม่สำคัญ ความยึดถืออย่างมั่นคงหลงใหลนั่นเอง เป็นภาระที่หนักแก่ผู้ยึดถือด้วยขาดความรู้เช่นเห็นชนิดยิ่งนัก และยิ่งต้องปฏิบัติตามอารมณ์ของผู้ขาดหลักธรรม ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่ก่อกวนความวุ่นวายมิรู้จบ เพราะอารมณ์ของผู้เช่นนี้ ก็คือบทพากย์ของกิเลสนั่นเอง มิหนำซ้ำ ผู้รับปฏิบัติยิ่งนำกิเลสของตัวออกปฏิบัติอีกด้วย ก็เท่ากับกิเลส x กิเลส = ?.

๑๙ ม.ค.๙๕



ทำบุญ ทำบาป

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ เดินทางด้วยรถยนต์จากการอนุเคราะห์ของนายสวัสดิ์ สุกุมลจันทร์ พร้อมกับพระ ๑  สามเณร ๑  ศิษย์ ๑  รวมเป็น ๕ ทั้งผู้ขับ ออกจากวัดเวลา ๐๗.๓๐ น. เพื่อไปในการฌาปนกิจศพโยมหญิงของพระครูสมุห์วิชัย ฐานานุกรม ที่วัดสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  ถึงวัดสระกะเทียมเวลา ๐๙.๓๐ น. บ่ายพระปฐมนคราจารย์ วัดเสน่หา เทศนา แล้วเริ่มการฌาปนกิจ พอสมควรก็ลากลับ ออกเดินทางเวลา ๑๖.๒๐ น.  พระครูสังวรวินัย วัดท่าตำหนัก กับศิษย์๑ ร่วมโดยสารมาลงที่หน้าวัดด้วย

เมื่อรถผ่านถึงหลักกิโลที่ ๒๒ ถนนลาดยางเรียบร้อย รถวิ่งสะดวก จึงพิงเบาะพนักหลับตาสบาย ความคิดก็แล่นไปถึงงานฌาปนกิจนั้น มีหมู่ญาติมาประชุมฟังเทศน์และร่วมงานประมาณสัก ๒๐๐ คนเศษ ต่างสงบเสงี่ยมประนมมือฟังเทศน์และพระมาติกา ด้วยถือว่าเป็นบุญกุศลแก่ตน ในงานมีพิณพาทย์แตรวงมาบรรเลงอยู่ด้วย เลยน้อมความคิดไปถึงบุคคลบางคนชอบใช้มือเท้าทุบตีเตะต่อยผู้อื่น ใช้ลมปากพูด ดุด่า ว่าร้ายผู้อื่น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความชั่ว เป็นการผูกเวรกับผู้อื่น ก่อกรรมชั่วให้แก่ตัวเองสืบไป ทำไมไม่ดูตัวอย่างคนที่เขาใช้มือตีวัตถุบางอย่างให้เป็นเงินทองบ้าง ใช้ลมปากให้เป็นที่ชอบใจของคนฟัง ได้เงินทองมาเลี้ยงชีพบ้าง ดังคนตีพิณพาทย์ ใช้มือจับไม้เคาะลงบนไม้บ้าง โลหะบ้าง หนังบ้าง ให้เป็นเสียงสูงต่ำเกิดเป็นพลังฟังไพเราะ เร้าใจให้ตื่นเต้นก็มี เยือกเย็นเศร้าสลดก็มี อย่างนี้เพราะการฝึกหัดอบรม ใช้มือให้เป็นคุณ หาเงินทองเลี้ยงชีพ สะดวกกว่าใช้มือในทางประทุษร้ายผู้อื่น, คนเป่าปี่และพวกเป่าแตรเขาใช้ลมปากของเขา ประกอบกับใช้นิ้วแบ่งปิดเปิดลมให้เปล่งเสียงเป็นจังหวะฟังซาบซึ้งจับใจคน ก็เป็นการใช้ลมปากในทางเป็นคุณ ได้เงินทองเลี้ยงชีพ ทำให้อยู่ดีกินดี ส่วนคนที่ใช้ปากในทาง ดุ ด่า ว่าร้ายผู้อื่น มีแต่ก่อทุกข์เดือดร้อนให้ตนเองเสมอ ไม่เป็นทางแห่งความเจริญ เหล่านี้

ทำไมหนอ ชาวเราที่อยากได้บุญเป็นสุขกายสบายใจ ทำมาค้าขึ้น จึงไม่ใช้มือเท้าและลมปากของตนให้เป็นคุณแก่ตน อย่างพวกพิณพาทย์พวกแตรบ้าง มัวแต่หลงใช้มือเท้าและปาก ก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดมา จะได้สุขกายสบายใจมาแต่ไหน และญาติมิตรที่มาประชุมประนมมือให้เสียงพระผ่านหูไป รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ถือว่าได้บุญ ครั้นเลิกพิธี ความสงบอย่างนั้นไม่มีอีก บุญก็คงอยู่ที่ศาลานั่นเอง ไม่ติดตามตัวไปถึงบ้านด้วยเลย เรื่องการบุญ ชาวเรามักรู้มาก ฉลาดหาบุญกันนัก แต่ก็สังเกตว่า มักไม่ได้ตัวบุญ จะได้ก็เพียงกิริยาบุญเป็นครั้งคราวเท่านั้น ส่วนการบาป รู้สึกว่า ชาวเราทำถูกตรงทุกครั้ง อย่างที่กำลังหลับตานึกคิดอยู่นี้

รถผ่านมาใกล้จะถึงสะพานข้ามคลองมอญ มีรถวิ่งนำหน้าห่างกันสัก ๑๐ เมตร คันหนึ่งประเดี๋ยวเห็นรถคันหน้าหลบเขาเลยไป จึงเห็นเด็กชายกลุ่มหนึ่ง ๖-๗ คน นั่งยืนอยู่ริมถนนด้านซ้าย แต่มีคนหนึ่งนั่งออกมากลางถนน เห็นรถวิ่งมาก็ไม่หลบ รถคันหน้าเห็นง่ายจึงหลบไปสะดวก ส่วนคันของเรา ตามมากระชั้น พอคันหน้าหลบ ก็มากระชั้นกับคนที่นั่งดูเฉยอยู่ ทำให้ต้องหักรถเลี้ยวขวากระชั้นชิด ห่างกันสัก ๓-๔ เมตรเท่านั้น พวกนั้นต่างก็หัวเราะต่อกระซิกกันเป็นที่สบายใจ อย่างนี้จะเรียกว่า เขาทำบุญคือคุณงามความดี หรือเขาทำบาปคือความชั่วเลวทราม ถึงกับเอาชีวิตร่างกายมาเสี่ยงกับอันตราย ส่วนตัวเจ้าเด็กหนุ่มคะนองนั้นเขาต้องภูมิใจว่าฉันเก่ง ทำให้รถต้องหลีกได้ หากจะนึกว่า ถ้าหลีกหลบไม่ทัน อย่างน้อยก็คงถลอกปอกเปิกเจ็บปวดไปเท่านั้น เพราะตัวทำผิดเองไม่ใช่ความผิดของคนขับรถ ด้วยมานั่งขวางอยู่กลางถนน ซึ่งเป็นทางจราจรของรถ แม้พวกเขาจะได้รับความสนุกสนาน แต่ในพวกเรา ก็นึกหยามในความเกเรของเขามาเกือบตลอดทาง ถึงวัดเวลา ๑๘.๐๐ น.

บันทึก ๒๕ ก.พ.๙๕



แก้ทีละอย่าง

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๕ เวลา ๑๓.๐๐ น.เศษ ได้ไปหาทันตแพทย์ (ประพันธ์ พืชผล) เพื่อแก้ฟันเทียมที่ไปติดต่อมาหลายครั้งแล้ว เมื่อแพทย์ได้ตรวจดูความเหมาะสมและเริ่มแก้ จึงได้ชี้แจงเพื่อให้แพทย์แก้ ว่าซี่ฟันยังสูง ขบลงไม่เรียบ, ยังกดเจ็บด้านในเกือบตลอดแนว, นายแพทย์จึงตอบว่า ต้องแก้ทีละอย่าง

เมื่อได้ฟังตอบเช่นนั้น รู้สึกสะดุดความคิดเกิดความสนใจในคำว่าแก้ทีละอย่าง และเห็นจริงด้วยว่า ถ้าจะแก้พร้อมกันไปทั้ง ๒ อย่าง ย่อมตรวจความขัดข้องไม่ถนัด ขืนแก้ อาจไม่ได้ผลสะดวกพอเหมาะเจาะ เลยชวนให้นำประโยค “แก้ทีละอย่าง” มาเทียบกับเหตุการณ์ที่ต้องจัดต้องทำ หรือที่เกิดกับอารมณ์ว่า ถ้าจะแก้อุปสรรคหรือความผิดพลาดทั้งหลาย ควรพิจารณาแก้ให้ถูกปมของอุปสรรคทีละอย่างไปตามลำดับ ที่ควรแก้ก่อนแก้หลังอย่างไร เพราะความปรารถนาดีแก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น ถ้าตั้งความปรารถนาไม่ถูกเหมาะ เช่นไม่เหมาะแก่ถิ่นฐาน กาลสมัย และบุคคล ความปรารถนาดีนั้น ย่อมไม่ให้ผลสมปรารถนาก็ได้ ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นโทษก็จะพึงมี โดยเฉพาะตนเอง จงอบรมแก้อัธยาศัยที่ไม่ดีไม่งามทีละอย่าง จากง่ายไปหายาก จากหยาบไปหาละเอียด จากพบเห็นบ่อยไปหาพบเห็นยาก จากส่วนที่มักลืมผ่านกันบ่อยๆ ไปหาส่วนที่ลืมผ่านนานๆ ครั้ง หรือจากส่วนกายวาจาไปหาส่วนใจ ก็คงไม่เสียผลเป็นแท้ เว้นแต่บางประการที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ต้องแก้พร้อมกันก็มี ถึงกระนั้น โดยความละเอียด ก็คงต้องแก้ทีละอย่างอยู่นั่นเอง ไม่มีใครแก้พร้อมกันในคราวเดียวหลายอย่างได้.

บันทึก ๑๕ ก.ค.๙๕



บุญช่วยคนทำบุญ

จันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ได้เห็นพระสมจิตร์ วัดมัชฌันติการาม บางเขน ผู้เป็นสัทธิวิหาริก ในอุปการะของคุณนายเนื่อง อิ่มสมบัติ เจ้าของร้านเนืองสิน ถนนเฟื่องนคร พระนคร ในการอุปสมบท ถือตะลุ่มดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาหา คาดถูกทีเดียวว่า กิริยาอาการทำนองนี้ ไม่มีอย่างอื่นนอกจากมาแจ้งการลาสิกขา เมื่อรับสักการะเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าอย่างไร บอกแต่เพียงว่า เมื่อบวชอยู่ไม่ได้จะลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสควรประพฤติตัวให้ดี ให้สมกับได้รับการศึกษาในทางดีมาแล้ว

พระสมจิตร์ อุปสมบทมาได้ ๕ พรรษาแล้ว ชาติภูมิอยู่ร้อยเอ็ด มาศึกษาได้นักธรรมชั้นโท เริ่มศึกษาบาลีพอมีความรู้ จึงถามต่ออีกว่า ลาสิกขาแล้วจะทำอะไร กลับขึ้นไปบ้านหรือจะอยู่ในกรุงเทพฯ เธอตอบว่า จะลองหางานดูก่อน ถ้าไม่ได้ก็กลับบ้าน ได้เตือนใจเธอว่า –

เราได้เคยศึกษาธรรมวินัย ดำรงตัวอยู่ให้ชาวบ้านเคารพบูชามาแล้ว เมื่อลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ก็ควรนำคุณงามความดีที่เคยประพฤติแล้วนั้นๆ มาใช้ในเพศฆราวาสด้วย ไม่เป็นการเสียหายอย่างไร เพราะคนประพฤติคุณงามความดี ย่อมเป็นที่ประสงค์ทุกหมู่คณะ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส อย่าหลงทิ้งคุณงามความดีเสีย ไปประพฤติในทางเลว อย่างอบายมุข เพราะในพวกฆราวาสเอง เขาก็รังเกียจกันมากอยู่แล้ว เราทำบุญคือคุณงามความดี บุญย่อมช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้มีความสุขเจริญ ทำบาปคือความชั่วเสียหายต่างๆ บาปก็ย่อมเบียดเบียนให้ถึงทุกข์ยากเดือดร้อน จะทำบุญเพื่อแก้บาปไม่ได้ บุญช่วยได้แต่คนทำบุญ บาปก็ล้างผลาญได้แต่คนทำบาป เหมือนพระพุทธภาษิตว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม อธรรมย่อมนำไปถึงนรก ธรรมนำไปถึงสุคติ ฉะนั้นจึงควรทำบุญที่เคยทำมาแล้ว ไปทำต่อในเพศฆราวาสอีก บุญที่ควรทำในที่นี้ ขอยกขึ้นอ้างเพียง ๓ ประการ คือ กตัญญูกตเวที ๑ ขยันหมั่นเพียร ๑ ซื่อสัตย์สุจริต ๑ เมื่อมั่นคงอยู่ในบุญทั้ง ๓ นี้ตลอดไปแล้ว ความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตย่อมเกิดมี จะเป็นมงคลคุ้มตัวในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ

อนึ่ง เมื่อคืนวันที่ ๑๕ กุมภ์นี้ นายแพทย์กอบชัย พรหมินทะโรจน์ จักษุแพทย์ ผู้อุปสมบทในการพระราชทานเพลิงศพหลวงจำรัสฤทธิแพทย์ ผู้บิดา มีกำหนด ๑๕ วัน มาถวายดอกไม้ธูปเทียนเพื่อลาสิกขา ได้เตือนว่า เพราะมีเวลาศึกษาน้อย จึงขอให้ตั้งมั่นในกตัญญูกตเวที ๑ สติสัมปชัญญะใคร่ครวญรอบคอบก่อนจึงดำเนินกิจการทุกอย่าง ๑ ทำได้เท่านี้ ก็พอเป็นหลักยึดตามแนวของพระศาสนาได้.

๑๗ ก.พ.๙๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 พฤษภาคม 2559 12:38:53 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2559 12:45:55 »



การนับถือศาสนา

เมื่อคืนวันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๖ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ได้ไปเยี่ยมศพนาง...... อายุ ๘๔ ปี มารดาภรรยาของท่านขุนชำนิขบวนสาส์น (ถนอม นาควัชระ) ที่บ้านตรอกราชเบญญา และคืนนี้ราชบพิธสมาคมขอเป็นเจ้าภาพสวด ๑ คืน  ในฐานะท่านขุนเป็นกรรมการอาวุโส สมาคมจึงอาราธนาพระภิกษุวัดราชบพิธสวด ๔ รูป ซึ่งฝ่ายวัดพิจารณาเห็นว่า เป็นกิจการของสมาคมเพื่อกรรมการของสมาคม และสมาคมก็อยู่ในวงวัด มีกิจเกี่ยวข้องภายในร่วมกันอยู่แล้ว จึงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

การสวดของภิกษุทั้ง ๔ ใช้คาถาจากหนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๒ สวดโดยสรภัญวิธี พร้อมทั้งคำแปล จึงเกิดเป็นของแปลกสำหรับผู้ฟังทั่วไป เพราะรู้เรื่องได้บ้าง ผิดกับสวดอภิธรรมหรือสังคหะที่ใช้กันเป็นพื้นนั้น สวดเฉพาะบาลี ประกอบกับทำนองผสมเข้าด้วยจึงไม่ทราบว่าสวดเรื่องอะไร เลยไม่สนใจฟัง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แม้แต่เด็กขนาดนักเรียนตอนกลาง ก็ยังสนใจฟังร่วมกับผู้ใหญ่

อาศัยเหตุนี้ พอสวดจบตอนที่ ๓-๔ เห็นพวกเด็กสนใจฟังหลายคน จึงปรารภขึ้นว่า  คาถาที่พระสวดแล้วแปลให้ฟังนี้ ล้วนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมาก จะมีของพระสาวกปนบ้างเป็นส่วนน้อย เราได้ฟังรู้ว่าท่านสอนว่าอย่างไร ท่านห้ามว่าอย่างไร แล้วจำมาตรวจเทียบกับตัวของเรา เคยทำอย่างท่านสอนบ้านหรือยัง ถ้ายังก็ต้องพยายามทำตามให้ได้ ถึงเคยทำ แต่ยังบกพร่อง เว้นๆ ขาดๆ ก็ต้องตั้งใจทำให้ดีจนเต็มสามารถเสมอไปทุกโอกาสจนตลอดชีวิต และเคยทำอย่างที่ท่านห้ามบ้างหรือไม่ ถ้าเคย จงพยายามงดเว้นอย่างยิ่ง อย่าฝ่าฝืนกระทำ, คอยละชั่วคือบาป, ทำแต่ดีคือบุญเสมอไปไม่ขาดตกบกพร่องตามที่ศาสนาห้ามและแนะนำ อย่างนี้ เรียกได้ว่าผู้นับถือศาสนาแท้ เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง เพราะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ ประการ คือ ไม่ทำบาป ๑ ทำบุญ ๑ ทำใจให้ผ่องใส ๑ เท่านี้ ส่วนผู้ที่แสดงตนว่านับถือศาสนาเพียงเห็นพระเณรผ่านมาก็ไหว้ เวลาเช้าพระเณรมาบิณฑบาตก็ใส่ เขาฟังเทศน์ก็พลอยฟังกับเขา เขารับศีลก็พลอยรับกับเขา แต่อาการภายในมิได้เว้นบาป มิได้ทำบุญ ตลอดถึงน้ำใจให้ผ่องใสเลย ไม่มีหลักของศาสนาประจำใจ จึงเป็นการนับถือเพียงผิวเผิน หรือนับถืออย่างงมงาย ย่อมไม่ได้ชื่อว่านับถือพุทธศาสนา หรือเป็นพุทธศาสนิกตรงตามจุดมุ่งหมาย เพียงแต่แสดงอาการภายนอกว่านับถือ ส่วนอัธยาศัยใจคอไม่ได้นิยมทำตามคือเว้นข้อที่ศาสนาห้าม ทำตามข้อที่ศาสนาแนะนำ จึงเป็นการนับถือยังไม่ถูกต้อง

คำที่เราเรียกว่า นับถือ ถ้าจะลองแยกถ้อยคำพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า คำว่า นับ ก็ได้แก่การพิจารณาตรวจตรา ใคร่ครวญให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าถูกผิด ชั่วดี ควรไม่ควรอย่างไรก่อน เมื่อใคร่ครวญพิจารณาถี่ถ้วนแล้วเห็นว่า เป็นสิ่งถูกเป็นของดี ควรที่จะประพฤติตามได้ก็เริ่ม ถือ คือยึดเป็นแนวนำความประพฤติตลอดไป สิ่งที่ห้ามก็พยายามงดเว้น สิ่งที่แนะนำก็พยายามฝึกฝนอบรมประพฤติไป ถึงจะถือได้ทำได้ครั้งละเล็กคราวละน้อย ก็นับว่าตั้งตนไว้ถูกต้องแนวที่ตนมีความนับถือ ทำได้อย่างนี้จึงจะเรียกว่านับถือแท้  เมื่อเราประกาศตนว่าเป็นพุทธศาสนิกก็คือยอมรับนับถือว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าประเสริฐแท้ดียิ่งกว่าคำสอนของศาสดาอื่น แต่หากเราไม่ได้ฝึกฝนอบรมตัวของเราตามแนวคำสอน มัวไปติดแต่พิธีภายนอกเพียงการไหว้กราบ ทำบุญใส่บาตรเท่านั้น จะชื่อว่าผู้นับถือศาสนาพุทธได้แท้จริงอย่างไร ครั้นทำไปตามพิธีศาสนาเนิ่นนานก็มักบ่นทวงบุญทวงคุณว่า ทำบุญมาเท่านั้นเท่านี้ ไม่เห็นบุญช่วยให้ร่ำรวยบ้างเลยก็มี เช่นนี้ กลายเป็นทำบุญทำนองค้ากำไรไปเสียแล้ว

ฉะนั้นไม่เลือกว่าใคร ผู้ใหญ่หรือเด็ก หญิงหรือชาย เมื่อถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิกคือคนที่นับถือคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงจะไม่ได้เข้าวัด ทำบุญใส่บาตร ถือศีลกินเพล ฟังเทศน์มหาชาติ ไม่ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทอย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้งดเว้นไม่กระทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสห้าม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทุกอิริยาบถ หมั่นอบรมฝึกฝนประพฤติตามข้อที่ตรัสสั่งสอนตลอดไปเช่นเดียวกันแล้ว ก็นับว่าเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธอย่างถูกต้องมั่นคง ตรงตามจุดแห่งการนับถือทั้งหมดอย่างแท้จริง

พอจบคำปรารภตอนนี้ ในพวกผู้ใหญ่ได้พูดว่า เพิ่งมาได้ความเข้าใจที่นี่เอง เมื่อก่อนๆ ยังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่ไปพูดทางวิทยุกระจายเสียงให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างนี้ได้บ้าง จะเป็นการปรับความเข้าใจของคนอื่นที่ยังเขวอีกมากทีเดียว

และเมื่อตอนจบการสวด เจ้าภาพบังสุกุล ถวายไทยทาน พระอนุโมทนาแล้ว เลยถือโอกาสปรารภแนะนำแก่กรรมการสมาคมผู้เป็นเจ้าภาพว่า บัดนี้เราได้บำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ท่านผู้ล่วงลับเสร็จตามพิธีในศาสนาแล้ว แต่ใคร่แนะนำว่า การอุทิศส่วนบุญเช่นนี้ ควรที่พวกเราจะได้ระลึกตรวจตราถึงบุญกุศลที่เราได้ต่างกระทำกันมาตามสติกำลังของตนๆ แล้วสำรวมใจอุทิศบุญของตนนั้น เพื่อให้บังเกิดเป็นความสุขสำราญแก่ท่านผู้ล่วงลับในสัมปรายภพ อย่างนี้ก็จะได้ชื่อว่าบำเพ็ญบุญ คือคุณงามความดี แล้วอุทิศความดีไปให้ เชื่อว่าท่านคงยินดีรับด้วยความเต็มใจ นี้ก็เป็นจุดหมายแห่งการอุทิศส่วนบุญประการหนึ่ง

บันทึก ๒๐ มี.ค.๙๖



สุขได้เพียงนึก

เสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๗ เดินทางไปเพชรบุรีด้วยรถส่วนตัว เนื่องในงานฉลองศาลาพรหมจารีย์รังสฤษฏ์ ในเขตวัดสนามพราหมณ์  ขณะพักผ่อนราวเวลา ๑๗.๐๐ น. หมอผล (หมอแผนโบราณ) ผู้คุ้นเคยมาเยี่ยม ปราศรัยทุกข์สุขพอควรแล้ว เรื่องสนทนาก็วกเข้ามาสู่ชีวิต หมอผลได้ปรารภว่า สมัยก่อน (คือมีอายุปูน ๒๕-๓๐ ปี) เคยเดินจากบ้านตำบลโพธิ์พระ มาจังหวัด คิดเป็นระยะทางราว ๘ กม. ทั้งไป-กลับ ได้วันละ ๔ เที่ยว  เดี๋ยวนี้ (อายุประมาณ ๕๐ เศษ) เพียงมาเที่ยวเดียวก็เต็มทีเสียแล้ว จึงเสริมขึ้นว่า นี่เป็นเรื่องของความชราซึ่งเริ่มเสื่อมถอยเรื่อยไป ไม่มีเวลากลับฟื้นคืนหลังเหมือนดังเดิมได้ ใจนั้นยังรู้สึกเข้มแข็งแต่ร่างกายไปไม่ไหว เรื่องจิตใจของคนเรา ดูตามอาการที่กำลังคิดนึกปรารถนา ย่อมรู้สึกว่าแสนสุขสบายหรือสำเร็จทะลุปรุโปร่งไปหมด ไม่มีอะไรขัดข้อง ครั้นลงมือทำตามที่คิดนึกไว้นั้นแล้ว ย่อมผิดจากคิดนึกอย่างมากมาย ทุกคนย่อมได้รับความผิดคาดอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่เลือกว่าใคร ตลอดอดีต อนาคต และปัจจุบัน เพราะเพียงอารมณ์นึกคิดปรารถนา ย่อมไม่พบอุปสรรคอะไรขัดขวาง จึงรู้สึกปราบปลื้มเบิกบาน เป็นสุขใจอย่างยิ่ง ถึงกับยิ้มให้ตัวเองคนเดียวก็ได้ แต่เมื่อลงมือกระทำ จึงจะพบอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้สำเร็จได้ดังใจนึก เมื่อได้ถลำมาแล้ว ก็ต้องเลยตามเลย ฟันฝ่าอุปสรรคไปตามยถากรรม ขอโทษที่จะยกตัวอย่างเหมือนภิกษุสามเณรผู้คิดจะลาสิกขา ย่อมคิดเห็นแต่ทางสะดวกสบายในการประกอบอาชีพ มีทางสำเร็จมากมาย ไปติดต่อขอความอนุเคราะห์จากใคร มักมีผู้รับรอง เพราะเขาเห็นแก่เพศภิกษุสามเณร พอลาสิกขาออกไปแล้ว มีเพศเท่ากับเขา ต้องเอาชีวิตร่างกาย วิชาความรู้ออกดำเนินงาน จึงมักประสบอุปสรรคนานาประการ ทำให้ผิดความมุ่งหมายเดิม ครั้นจะถอยกลับคืนเพศตามเดิม ก็ด้วยมานะ ต้องเลยตามเลย กระเสือกกระสนไปตามสภาพ จึงพูดได้ว่าคนเราทั่วๆ ไป ล้วนได้รับความผิดหวังจากความตั้งใจเช่นเดียวกันหมด หาพบความสุขสะดวกสบายเหมือนอย่างคิดนึกไว้แต่เดิมไม่ เรียกได้ว่า สุขได้แต่เพียงนึกคิดเอาเองเท่านั้น ครั้นถึงเข้าจริง ล้วนผิดพลาดไปหมด อย่างดีก็ได้เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แม้ในด้านตรงกันข้ามคืออารมณ์ทุกข์ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน

หมอผล ยกมือประนมรับรองว่า เป็นความจริงโดยแท้ ผมขอรับรอง เพราะตัวผมเองเคยนึกย้อนตรวจดูชีวิตที่ผ่านมาแล้วว่า ตอนไหนที่มีความสุขสบายอย่างจริงจัง ก็เห็นอยู่ตอนที่อุปสมบทแล้วออกธุดงค์ รู้สึกว่าชีวิตตอนนั้นเป็นสุขสบายอย่างที่สุด อยากจะเดินทาง อยากจะพักผ่อน อยากจะสวดมนต์ภาวนาอย่างไร ล้วนทำได้ตามปรารถนาจริงๆ ไม่มีกังวลห่วงใยอะไรเลย เที่ยวบิณฑบาตมาพอมื้อแล้วก็หมดกังวลเรื่องอาหาร ดำเนินชีวิตอย่างสันโดษเดี่ยว เป็นชีวิตอิสระ จึงรู้สึกว่าเป็นสุขรื่นรมย์อย่างแท้จริง  ครั้นลาสิกขาออกมามีครอบครัว ประกอบการอาชีพ ก็นึกอยากจะมีทรัพย์สมบัติเพียงนั้นเพียงนี้ ที่เห็นว่าพอจะเป็นสุขสบาย เมื่อสมประสงค์ตอนต้นแล้วก็เขยิบปรารถนาสูงยิ่งขึ้นอีก ครั้นสมใจแล้วก็ยังตั้งปรารถนาเขยิบต่อไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีหยุดชะงัก ด้วยแต่เดิมก็นึกเพียงเป็นหลักฐานเฉพาะครอบครัว เมื่อมีบุตรธิดา ก็หวังเพื่อให้บุตรธิดาเป็นสุข จึงขวนขวายต่อไป คิดเพื่อความสุขแก่หลานเลนอยู่อีก จึงไม่มีเวลาที่จะเห็นว่าในชีวิตตอนนี้เป็นความสุขอย่างไร ล้วนแต่กำลังทนทุกข์ทรมานเพื่อคนอื่นอยู่ทุกวี่วัน บางวันคนอื่นหลับนอนพักผ่อนสบายแล้ว แต่ตัวเองเป็นพ่อบ้าน ต้องคอยระแวดระวังรักษาป้องกันโจรผู้ร้าย คิดบัญชีรายได้รายจ่าย ตรึกตรองหาวิธีเพิ่มรายได้เพื่อจะให้ทวียิ่งขึ้น ไว้ใจคนอื่นก็ไม่ได้ผลเท่ากับทำเอง จึงต้องเป็นธุระกังวลห่วงใย ตลอดวัน-คืน จะไปไหนมาไหนก็อดที่ห่วงหน้าห่วงหลังไม่ได้ จึงขอรับรองได้ว่าตั้งแต่มีครอบครัวมาแล้วจนบัดนี้ ฐานะก็พอมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่หาความสุขทางใจมิได้เลย เป็นความสัตย์จริง

เมื่อมีผู้รับรองในหลักการที่ว่า เรานึกว่าเป็นสุขสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างล้นเหลือนั้น เพียงในอารมณ์ แต่ครั้นลงมือประพฤติปฏิบัติด้วยกายวาจาแล้ว ย่อมไม่ได้สุขเหมือนดังนึกฝันเลย ล้วนต้องประสบกับความผิดพลาดเสมอ ดังนี้แล้ว ใคร่ให้เป็นเครื่องเตือนสติตัวเอง จึงต้องบันทึกไว้ เพื่อเป็นอตีตารมณ์ที่น่าคิดและควรสำรวมอยู่ไม่น้อย  

 
บันทึก ๒๖ เม.ย.๙๗



ไปหาที่สุด

เที่ยงเศษแห่งวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ได้ไปส่งนายสรรศรี วงศ์ทองศรี ผู้เป็นศิษย์จะไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ที่สถานีการบินดอนเมือง ด้วยรถยนต์ของร้านรีฆินทร์ ถนนเฟื่องนคร ผู้โดยสารพระ ๓ รูป ฆราวาส ๓ ทั้งเจ้าของผู้รับ เครื่องบินออกเดินทางประมาณ ๑๓.๑๕ น. เมื่อรอการส่งจนเครื่องบินขึ้นสู่อากาศแล้ว เดินทางกลับมาตามถนนพหลโยธิน มีรถยนต์แล่นสวนทางมาบ้าง ขอทางแล่นเลยไปก่อนด้วยความเร็วบ้าง บรรดาพระต่างก็ปราศรัยเหตุการณ์อื่นๆ ตามควร  ครั้นเห็นรถขอทางผ่านเลยไปมากคัน ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นพวกไปส่งญาติมิตรที่ดอนเมืองเมื่อกี้นี้เอง รูป ๑  ก็ปรารภว่า “จะรีบไปไหนกันนัก เมื่อกี้คงรีบไปส่ง ตอนนี้คงรีบกลับบ้าน?”  เราได้เอ่ยตอบขึ้นว่า “ต่างก็ไปหาที่สุดด้วยกันทั้งนั้น” แล้วก็เงียบกันไป

ตามนัยแห่งคำตอบนี้ หมายความได้ ๒ ทาง คือที่สุดในที่นี้หมายถึงถิ่นฐานบ้านเรือน ที่พัก หรือสถานที่ๆ ตนมุ่งจะไปให้ถึงอย่างเร่งจะกลับบ้านของตน ด้วยกลัวถูกฝนกลางทางนี้ทางหนึ่ง ซึ่งมิใช่จุดประสงค์แห่งการตอบ จุดประสงค์แห่งการตอบ มุ่งหมายที่สุดคือความตาย คือใครจะมาเร็ว มาช้า ไปเร็ว ไปช้า อย่างไรก็ตาม ที่สุดแม้เดินด้วยลำแข้งตนเองก็ตาม ต่างก็มุ่งไปหาที่สุด คือความตายเหมือนกันหมด. ความตายถือว่าเป็นที่สุดของชีวิตในภพนี้ แต่นึกให้เข้าหลักธรรม ถ้าตายไปทั้งยังพอกพูนอยู่ด้วยบาปหยาบช้าที่สุดของกรรมที่จะตามสนองผลัดเปลี่ยนให้เวียนว่ายตายเกิดอีกเท่าไรมิรู้สิ้น ก็เหมือนมัววนเวียนหลงทางหลงถนน ไปไม่ถึงที่ตนประสงค์ คล้ายกับยืดทางให้ยาวต่อไปอีกมิรู้จบ. หากตายไปด้วยความผ่องใส มีจิตใจมากด้วยบุญคุณงามความดี ย่อมใกล้ถึงที่สุดแห่งกรรมคือ สันติสุขรวดเร็วเข้า คล้ายอาศัยยานพาหนะด้วยรถยนต์ ย่อมถึงที่สุดได้เร็วกว่าเดินเท้าหลายร้อยเท่า นัยนี้หมายที่สุดคือที่สุดของกรรม ได้แก่พระนิพพานแล.  

บันทึก ๒๒ ก.ค.๙๗

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 สิงหาคม 2559 12:38:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 01 สิงหาคม 2559 12:47:25 »


การเตรียมพร้อม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา อาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๗ พระมหาละออ นิรโช ป.๗ จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ พระชินวงศเวที เพราะเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นสุดท้ายในเสด็จฯเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงนำพระนามมาเชิดชูพระเกียรติไว้ด้วย ที่จริงวัดเรา เป็นวัดขนาดเล็ก มีภิกษุสามเณรจำนวนน้อย มีพระราชาคณะอยู่แล้ว ๔ รูป เมื่อพระมหาละออจะได้รับสมณศักดิ์อีก ๑ รูป รวมเป็น ๕ รูป ดูออกจะเฝือ เป็นสี่สะดุดใจแก่ผู้อื่นอยู่บ้าง ต้องชี้แจงว่า วัดเล็กพระเณรน้อยก็จริง แต่ได้เข้าร่วมในฝ่ายบริหารถึง ๒ รูป โดยตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะธรรมยุตภาค เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ช่วยมากรูปอยู่เอง

ในการรับสมณศักดิ์ ตกลงใช้พระอุโบสถเป็นสถานที่รับรอง ด้วยมีภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดประชุมสวดชยันโต และรับรองผู้มาแสดงมุทิตาจิต ได้สั่งเตรียมจัดสถานที่ เพื่อความเรียบร้อยเป็นระเบียบ ตั้งแต่วันที่ ๔ นึกอะไรได้ที่ควรตระเตรียมก็บอกสั่งไว้ และมอบหมายผู้สมควรให้ดูแลจัดการ แม้เช่นนี้ยังอดบกพร่องในสิ่งเล็กน้อยไม่ได้

เช่น พระชินวงศเวที ควรจะได้พาดสังฆาฏิเข้าในพระอุโบสถ โดยเปลี่ยนจีวรที่ซ้อนไปพับแทนสังฆาฏิเสียตัว ๑ หรือสั่งให้เตรียมสังฆาฏิเดิมมาคอยอยู่หน้าพระอุโบสถ ก็ขาดไป

ควรมีน้ำล้างเท้า ผ้าสำหรับเช็ดเท้า ก่อนเข้าพระอุโบสถ เพราะเท้าเปื้อนมาจากพระที่นั่งในวัง ก็ขาด ไม่ได้เตรียม ไม่มีใครนึกถึง

ดอกไม้สำหรับบูชาพระประธาน ควรเตรียมไว้ใกล้ที่จัดส่งได้ง่าย ก็ไปเตรียมเก็บรวมไว้เสียห่างไกล ถึงคราวจุดธูปเทียน ต้องวิ่งเที่ยวค้นหาดอกไม้

เหล่านี้ แม้เป็นการเล็กน้อย แต่ถ้าได้จัดเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็จะเรียบ+ร้อย=เรียบร้อย งามตาขึ้นอีกมาก เหล่านี้ผู้น้อยมักเห็นว่าผู้ใหญ่จู้จี้จุกจิก แต่พอตนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นบ้าง จึงจะเห็นคุณประโยชน์

เรื่องเช่นนี้ หัวหน้าต้องอ่านงานได้ตลอดก่อนว่า ขึ้นต้นทำอย่างไร ท่ามกลาง สุดท้าย ทำอย่างไร แล้วมอบหมายหรือทำกำหนดการให้รับทราบทุกหน่วยงาน

ทุกหน่วย ก็ต้องพิจารณาจัดทำหน่วยของตนๆ ให้เรียบร้อยทุกอย่าง ควรเตรียม ควรจัด อะไรที่จะต้องปฏิบัติ ก็เตรียมจัดพร้อมไว้ คอยประสานงานกับหน่วยอื่น สงสัยอย่างไร ต้องรีบไต่ถามแก้ไขเสียก่อนถึงงาน อย่างนี้ เท่ากับทุกหน่วยได้ช่วยคิดค้นความบกพร่องของงานไปด้วย

หัวหน้างาน จะต้องคอยสอบถาม ตรวจตรา ตักเตือน แนะนำ เป็นหูเป็นตาสอดส่องทั่วไป มิใช่คอยแต่จะนั่งสั่งงานโดยไม่ได้เห็นรูปงาน

การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มงาน เท่ากับช่วยให้เหน็ดเหนื่อยในขณะปฏิบัติงานน้อยลง และสะดวกในการเก็บงาน ไม่ว่างานอะไร งานเล็กงานใหญ่ก็ตาม ถ้าขาดการเตรียมพร้อมแล้วก็เท่ากับเชิญแขกมาดูความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของตนนั่นเอง เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย แล้วมิหนำซ้ำถูกตำหนิให้กระเทือนใจอีก มิเป็นการเหน็ดเหนื่อยอย่างเสียหายที่สุดหรือ วิสัยทำงาน เมื่อตกลงทำ ต้องไม่กลัวเหนื่อย ถ้ากลัวเหนื่อยก็ไม่ควรทำ เมื่อเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ถึงเหนื่อย ก็อาจหายเหนื่อยด้วยได้รับคำชมเชย ว่าเรียบร้อยเป็นระเบียบ

ทำอย่างไร ต้องทุมเททำกันจริงๆ อย่าทำอย่างเสียไม่ได้ อย่าทำอย่างคอยเอาหน้า อย่าทำอย่างคอยกินแรงผู้อื่น อย่าทำแต่เพียงคอยกิน หรือทำด้วยคำพูด เป็นการทำลายสามัคคี ตัวเองก็จมอยู่ในปลักแห่งการถือตัวอย่างบรมโง่เท่านี้น เหมือนโคถึก เนื้อของมันเจริญจริง แต่สติปัญญาหาเจริญไม่เลย..  

บันทึก ๘ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ต่อ)

คืนวันอังคารที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ สัตตมวารศพ นายซุ่นใช้ บำรุงตระกูล เจ้าภาพผู้มีอุปการะแก่วัดมานาน อาราธนาพระภิกษุในวัดไปสวดคาถาแปล ซึ่งทางวัดต้องอนุโลมเพื่อรักษาศรัทธา

จึงได้กำชับภิกษุผู้จะไปสวดให้ซักซ้อมเพื่อความเรียบร้อย ตลอดจนอากัปอย่างอื่นๆ ให้มาก เป็นการออกหน้าแก่ผู้ฟังหลายชั้น เพราะเคยทราบว่า มักคร้านต่อการซ้อม ถึงเวลาทำงาน ก็ไปแสดงความบกพร่องอวดเจ้าภาพ น่าขายหน้า ครั้นถูกตำหนิกลับไม่พอใจ ในชุดนี้ไม่ทราบว่าซักซ้อม ๒ ครั้ง  ครั้นถึงเวลาทำงาน วางพัดก็ไม่รักษาระเบียบ (วางทางซ้าย) สวดจบที่ ๓-๔ เริ่มแสดงความบกพร่องให้เห็น คณะผู้สวดจะสำนึกผิดแล้วจำไว้แก้ตัวให้เรียบร้อยในภายหลังหรือไม่ ยังทราบยาก แต่เราผู้เป็นประธานรู้สึกหน้าชา เพราะคนของเราไม่พยายามรักษาเกียรติของตนและของเราด้วย

เคยพร่ำเตือนกันเสมอ ในเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อรักษาระเบียบเรียบร้อย ครั้งนี้ก็เตือน แต่ดูเหมือนคำเตือนไม่ถึงใจคล้ายกับจะนึกว่า เตรียมมากเหนื่อยมาก ไทยทานไม่คุ้มเหนื่อย กล้อมแกล้มถ่วงเวลาไปประเดี๋ยวก็อนิจจาเป็นเสร็จเรื่อง นี่มิกลายเป็นความคิดของนักสวดหากินเข้ามาสิงใจไปหรือ หากได้รับตักเตือนเป็นเชิงตำหนิ กลับไม่พอใจ หาว่ารุนแรงเกินไปบ้าง ระเบียบจัดไปบ้าง กลับจะเข้าตำรา “การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” หรือ “ทำแต่น้อย หวังผลให้มาก” เสียแล้วกระมัง

จึงจำเป็นต้องนำมาเขียน เป็นการเตรียมพร้อมต่อไว้อีกเพื่อผลภาคหน้า เวลานี้ผู้ถูกพร่ำว่าจะอิดหนาระอาใจเพียงไรก็ตาม ก็หวังผลภาคหน้า คงจะสำนึกได้เป็นแท้ เพียงธุระหน้าที่การงานเป็นเรื่องธรรมเนียมหยาบๆ ยังไม่สามารถทำให้เรียบร้อยงดงามตาน่าสดับตรับฟังได้แล้ว จะป่วยกล่าวไปใย ถึงเรื่องเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดีงาม ซึ่งเป็นของละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใน จะได้เตรียมพร้อมเป็นปุพเพกตปุญญตาละหรือ เห็นเหลือหวังอย่างยิ่งเป็นแท้

และในบทคาถาแปล มีแสดงอานิสงส์ของศีลอยู่มาก จึงชี้แจงแก่หมู่เจ้าภาพว่า คำว่า ศีลๆ ที่ฟังสวดเมื่อกี้นี้ ควรเข้าใจว่า ตรงกับคำว่าวัฒนธรรมในสมัยนี้นี่เอง ผู้มีวัฒนธรรมพร้อมในด้านกิริยามารยาท การสังคม การอยู่หลับนอน เป็นต้น มีเจริญมั่นคงแก่ผู้ใด คณะใด หมู่นั้นคณะนั้นก็ชื่อว่า ผู้มีศีล ตามความหมายแล้ว ศีลคือยอดคุณของวัฒนธรรม ส่วนข้อห้าม ๕ ข้อนั้น เป็นการตั้งบังคับไว้ไม่ให้ละเมิดความชั่วอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า ๕ ข้อนี้เท่านั้น เพียงข้อห้ามหยาบๆ ง่ายๆ ๕ ข้อเท่านี้ ก็ยังมีผู้สารภาพว่ายังรักษาไม่ได้ครบทั้ง ๕ เสมอไป อย่างนี้ยังจะหวังสวรรค์นิพพานที่ไหนอีกเล่า ขอให้ตั้งใจงดเว้นเพียง ๕ ข้อ ก็ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเพียงได้แล้ว อย่าเอื้อมที่สูงทำนองกระต่ายหมายจันทร์เลย ไร้ประโยชน์เป็นแท้

ฉะนั้นการเตรียมพร้อมในหน้าที่การงาน ก็นับเป็นความดีที่ควรอบรมไว้ ย่อมส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นในโลกนี้ ฉันใด การเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดี เป็นบุญกุศล ก็นับเป็นปุพเพกตปุญญตาส่งเสริมให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตลอดกาล ฉันนั้น  

บันทึก ๙ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ใหม่)

ในการบำเพ็ญกุศลของกรมราชทัณฑ์ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่ออาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๗ ขณะฉันเพล (อาหารจีน จัดแบ่งเป็นที่รวมมาในถาดไม้ พร้อมอาหารและน้ำจิ้ม เฉพาะรูป) ท่านอธิบดี (พระนิกรบดี) ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะทั้งนั้น เพียงการล้างชาม ก็ต้องมีความเข้าใจว่าล้างอย่างไรจึงสะอาดรวดเร็วเรียบร้อย อาศัยเหตุที่เคยไปพบความบกพร่องของข้าราชการในต่างจังหวัดมามากแห่ง จึงเล่าว่า ในการอบรมข้าราชการซึ่งจะได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านจึงนำความบกพร่องตามที่พบมาเล่าให้ผู้รับการอบรมฟัง ต่างนิทานจนหมดเวลาอบรม

เรื่องที่ ๑ ว่า ในการต้อนรับรัฐมนตรี เห็นงานจัดเลี้ยงกาแฟต้อนรับ ด้วยนำกาแฟใส่ขวดขนาดขวดแม่โขงตั้งบนโต๊ะมีแก้วเปล่าวางล้อมไว้ นี่ก็เป็นการไม่เหมาะสมกับฐานะผู้ใหญ่ น่าจะขวนขวายหยิบยืมที่ชุดกาแฟให้เหมาะสม แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ก็ทำได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย

เรื่องที่ ๒ ในการเปิดป้ายโรงไฟฟ้าจังหวัด ซึ่งนายกเทศมนตรี เตรียมให้ท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย ครั้นถึงใกล้เวลา เครื่องไฟฟ้าเสียใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องให้คนคอยรูดผ้าแพร พร้อมกับท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้า แต่ด้วยไม่ซักซ้อมให้เป็นที่เข้าใจก่อน เมื่อท่านรัฐมนตรีกล่าวตอบ พอลงท้ายถึงตอนว่าบัดนี้ได้อุดมฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพิธีเปิดนามโรงไฟฟ้า เพียงนี้เท่านั้น พวกคนที่สั่งไว้ให้รูดผ้าแพรคลุมป้าย ก็รูดผ้าเปิดเสียเรียบร้อยแล้ว ครั้นท่านรัฐมนตรีกล่าวจบ เตรียมจะกดปุ่มไฟฟ้า เหลียวดูป้าย อ้าว! เปิดเสียเมื่อไหร่.

เรื่องที่ ๓ ในลักษณะพิธีเปิดป้ายสถานที่ เช่นเรื่องที่ ๒ แต่รายนี้ใช้ลูกโป่งให้ฉุดผ้าเปิดลอยไป ใช้แถบแพรกว้างใหญ่เป็นเชือกดึง เมื่อถึงพิธีอ่านรายงาน รัฐมนตรีกล่าวตอบ ได้อุดมฤกษ์ดึงแถบแพรเปิดป้ายแล้ว แทนที่ลูกโป่งจะพาผ้าลอยขึ้นไปบนอากาศ กลับลอยลงมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวเชิงบันไดนั่นเอง นี้ก็เพราะไม่ทดลองตรวจตรา ลูกโป่งอัดมานานกำลังก็ลดลง แถมยังมีแถบแพรกว้างใหญ่ถ่วงอยู่อีก จึงลอยหยามน้ำหน้าอยู่เพียงบันไดเท่านั้น

เรื่องที่ ๔ มีพิธีสงฆ์ในกาลมงคลครั้งหนึ่ง เมื่อพระสวดถวายพรพระ (คือพาหุํ) ท่านอธิบดีก็เตือนให้เตรียมสำรับมาแต่ก็ยังไม่มีการยกสำรับ พระสวดจบเวลา ๑๑.๐๐ น. ต้องรอไปอีกราว ๓๐ นาที สำรับจึงได้ยกมาถวายพระ พอพระจะเริ่มฉัน เปิดฝาชามข้าว! ตายจริง ข้าวไม่มี ท่านรัฐมนตรีต้องพูดแก้เก้อ อาราธนาให้ฉับกับไปพลางก่อน ว่าสมัยนี้เขานิยมทานกับมากกว่าข้าว รอไปอีกจนเกือบเที่ยงจึงได้ข้าวมา ตกลงพระคงฉันข้าวได้เพียงรูปละไม่กี่คำ เหตุทั้งนี้ สืบได้ความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ศึกษาๆ มอบให้ครูโรงเรียนๆ มอบให้ภารโรงเป็นทอดกันลงไป ไม่มีใครลงมือตรวจตราด้วยตนเอง ได้แต่สั่งไปเท่านั้น

ท่านอธิบดียังเล่าต่อไปว่า สมัยเมื่อท่านยังรับราชการเป็นชั้นอำเภอ ผู้ใหญ่จะสั่งอะไรท่านมักสอนมักแนะนำให้สิ่งที่ควรไปด้วย หรือจะย้ายข้าราชการไปประจำอยู่ที่ไหน ผู้ใหญ่ก็กำชับไปเสร็จทีเดียวว่า ถ้าไปทำให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดนั้นไม่พอใจแล้ว อย่าหวังได้เลื่อนตำแหน่งเลย จึงเป็นเหตุให้รู้ตัวว่า จะเร่งให้สูงขึ้นดี หรือจะย่ำอยู่ที่เดิม เช่นนี้ข้าราชการจึงสามารถปฏิบัติราชการได้ผลเป็นที่พอใจ

เราได้ฟังแล้วพอใจมาก เพราะถูกกับอัธยาศัยของเรา ที่ได้ปลุกปล้ำเคี่ยวเข็ญผู้อยู่ในปกครองซ้ำซากมาแล้วเสมอ เรื่องการจะเป็นนายเขา ต้องหัดเป็นบ่าวเสียก่อน หรือการเตรียมพร้อมไว้เสมอ เป็นความเจริญของชีวิต ที่นำมาบันทึกไว้ ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า การงานทุกอย่าง ไม่เลือกว่าฝ่ายโลกหรือฝ่ายธรรมย่อมมีหลักการเป็นอย่างเดียว คือการเตรียมพร้อม เพื่อให้งานสำเร็จไปด้วยความเรียบร้อย สมเกียรติ ถ้าไม่รู้ก็ต้องหาทางไต่ถาม จะรับรองท่านผู้ใหญ่ ก็ต้องทราบอัธยาศัยผู้ใหญ่เสียก่อน เช่นเวลาเช้าท่านชอบทานอะไร ไม่ชอบอะไร ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติให้สบอัธยาศัยเป็นต้น ข้อสำคัญ ตนเองโง่เขลา ยังทะนงว่าฉลาด ครั้นปฏิบัติงานพลั้งพลาด ได้รับการติเตียน กลับโพทนาว่าผู้ใหญ่อคติ อย่างนี้แหละ ควรเรียกว่า “บรมมหาพาล” เทียวแล  

บันทึก ๑๒ ธ.ค.๙๗



ปรอทวัดอารมณ์

ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ อากาศแปรปรวนกลับหนาวเย็นอยู่ ๓-๔ วัน  บางเสียงว่าเพราะประหารชีวิตนักโทษคราวเดียว ๓ คน อากาศจึงหนาวเย็น, บางเสียงก็ว่า อากาศหนาวเย็นต้อนรับพวกฝรั่งจะเข้ามาประชุมในพระนคร  ในระหว่างนั้น พระภิกษุ พระลิปิกกรณ์โกศล มาหาด้วยกิจธุระบางประการ แล้วปรารภว่า ปรอทลดลงอีก ๒-๓ ดีกรี จึงทำให้หนาวเย็นมาก จึงตอบไปตามแนวความคิดในทันทีนั้นว่า “ช่างเถอะ เรื่องดินฟ้าอากาศก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่เสมอ จะเอาแน่นอนคงที่อยู่ไม่ได้ อย่าไปสนใจนัก ปรอทสำหรับวัดอากาศให้ทราบหนาวร้อนมีอยู่ ก็พออาศัยเทียบเคียงดูลักษณะของอากาศได้บ้าง แต่สู้สร้างปรอทไว้สำหรับวัดอารมณ์ของเราเองไม่ได้ คือหมั่นมีสติคอยพิจารณาดูจิตใจของเราเองอยู่เสมอ อารมณ์โกรธมากระทบ ทำให้ใจฉุนเฉียว นี่ก็เหมือนความร้อนสูง อบอ้าว อารมณ์โลภมากระทบ ทำให้กระสับกระส่ายดิ้นรนเที่ยวแสวงหา ก็เหมือนความร้อนลดต่ำใกล้ศูนย์. อารมณ์หลงมากระทบ ทำให้งมงายขาดใคร่ครวญ หลงเป็นจริงเป็นจังไป ก็เหมือนความร้อนลดลงใต้ศูนย์ดีกรี เมื่อรู้ลักษณะอารมณ์ของตัวได้เช่นนี้ พยายามประคับประคองอย่าให้สูงเกินไป หรือลดลงต่ำจนหลงงมงายขาดสติปัญญา ปล่อยตามอารมณ์แล้วแต่จะนำไป คอยพยายามควบคุมเหนี่ยวรั้ง ให้อยู่ในระดับอบอุ่นด้วยคุณธรรม สร้างปรอทไว้วัดอารมณ์ของเราเช่นนี้ เป็นคุณประโยชน์แก่เราเอง ดีกว่าปรอทวัดอากาศมากมาย”

คุณพระรับว่า “จริงครับ”  

บันทึก ๖ มี.ค.๙๘


โปรดติดตาม
พระนิพนธ์ในลำดับถัดไป
หัวข้อ “ปล่อยผ่านไป”
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
เงาฝัน 5 6413 กระทู้ล่าสุด 06 ตุลาคม 2553 05:41:12
โดย เงาฝัน
ประวัติหลวงพ่อสด พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
เงาฝัน 7 7976 กระทู้ล่าสุด 14 กรกฎาคม 2554 07:56:44
โดย เงาฝัน
พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๘ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 1 5225 กระทู้ล่าสุด 15 พฤษภาคม 2555 17:54:13
โดย zabver
พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 246 กระทู้ล่าสุด 08 สิงหาคม 2566 19:13:44
โดย Kimleng
[ข่าวเด่น] - พระประวัติ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ ท่านชายใหม่ นายทหารผู้ผ่านสมรภูมิเขาค้อ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 122 กระทู้ล่าสุด 09 พฤศจิกายน 2566 01:53:00
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.853 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 ชั่วโมงที่แล้ว