[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 13:06:34 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง  (อ่าน 76615 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 เมษายน 2557 12:44:48 »

.


หลวงปู่เจี๊ยะ  จุนฺโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

ในวงศ์พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต  หลวงปู่เจี๊ยะจะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับเรื่องธรรมภายใน กิริยาภายนอกที่สบายๆ ของท่านนั้นทำให้เป็นเหมือนม่านบังปัญญา บังตาเนื้อของชาวโลกที่นิยมชมชื่นด้านวัตถุ ชอบมองแต่สิ่งสวยงามภายนอก แต่ไม่เคยหันกลับมาย้อนดูภายในใจตน จึงมองท่านไม่ออก บอกไม่ถูก รู้ไม่เท่าถึงในสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ปรากฏภายในจิต เพราะธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ไม่มีอาการลวงเหมือนอาการทางกายวาจา

ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นทั้งหลายมี หลวงปู่ตื้อ อจลธม.โม, หลวงปู่ฟั่น อาจาโร, หลวงปู่ชอบ ฐานมโม, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, ครูบาอาจารย์ที่เป็นดั่งอาจารย์ของท่านและคุ้นเคยเป็นอย่างดีนี้ เมื่อทราบว่าหลวงปู่เจี๊ยะอยู่ที่ใด มักจะแวะเยี่ยมและสนทนาธรรมอยู่เสมอมิได้ขาด เสมือนอย่างว่าสายใยแห่งธรรมชักนำให้ดึงดูดต่อกันมิรู้ลืม

ท่านเป็นประเภทตรงไปตรงมา การพูดการจาจึงเป็นดังโบราณท่านว่า “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” คือคำสอนของท่านเผ็ดร้อน เป็นความจริง มันอาจจะไม่ถูกใจเรา ท่านไม่พูดเอาใจเรา แต่คำสอนนั้นเมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ ก็เกิดผลดีกับชีวิตจิตใจเราได้จริงๆ คำสอนประเภทนี้อาจไม่ถูกใจคนบางคนที่นิยมการยกยอปอปั้น แต่เป็นคำสอนประเภททะลุทะลวงเพื่อเข้าสู่ความจริง

น้ำร้อน คือคำพูดที่เผ็ดร้อนจริงๆ จังๆ ปลาเป็น คือทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ การพูดการสอนแบบนี้เรียกว่า “น้ำร้อนปลาเป็น”

นัยทางตรงกันข้าม คำสอนประเภทน้ำเย็นปลาตาย พูดจาไพเราะเพราะพริ้ง คุณโยมอย่างนั้นอย่างนี้ ยกยอเอาเสียจนคนมาปฏิบัติธรรมไม่รู้ความผิดของตน พูดจาเอาอกเอาใจ โดยไม่มุ่งสอนตามความเป็นจริง ทำให้คนที่เข้ามาแสวงหาความดีกลับกลายเป็นคนเสียคนไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นธรรมะ ก็คือธรรมะเอาอกเอาใจ เอาอกเอาใจเขาเพื่อทำให้เขาศรัทธาในตัวเอง เขาพอใจเขาก็ศรัทธา เขาไม่พอใจเขาก็ไม่ศรัทธา การพูดการสอนแบบนี้ มุ่งเน้นให้คนมาชอบศรัทธาในตนมากกว่าสอนเขาให้เข้าใจในพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

น้ำเย็น ก็คือคำพูดที่ฟังแล้วชุ่มฉ่ำเย็นใจสำหรับมนุษย์ที่ชอบความนิ่มนวลอ่อนหวาน แต่แฝงไปด้วยพิษร้าย เพราะไม่ใช่คำจริงเพื่อถึงความจริง คำพูดฟังดูดีแต่ทำตามแล้วกลับมีผลเสียตามมาทีหลัง

ปลาตาย คือเป็นคนตายทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่า ตายทั้งเป็น ผู้สอนก็ตายจากคุณงามความดี ผู้ฟังก็ตายจากการได้รับสัจจะความจริงแห่งพระสัทธรรม การพูดการสอนแบบนี้เรียกว่า “น้ำเย็นปลาตาย”

การเขียน-ทำประวัติของท่าน จึงมีแนวโน้มนำเสนอแบบตรงไปตรงมาเหมือนอุปนิสัยขององค์ท่านเอง คณะผู้จัดทำเดินทางไปถึงวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๓ เมื่อกราบนมัสการและกราบขอให้ท่านเล่าประวัติขององค์ท่านเองให้พวกเราฟัง หลวงปู่เจี๊ยะท่านกำลังนอนขาพาดเก้าอี้หวายอยู่หน้ากุฏิ อันเป็นที่พำนักจำพรรษามานานตั้งแต่ขณะที่ท่านยังแข้งขาดีอยู่ จนถึงเวลานี้ที่ธาตุขันธ์ทรุดโทรมไปมากแล้ว นั่งนานๆ ก็ไม่ได้ ความจำก็หลงลืมไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคเพื่อที่จะเข้าถึงความจริงแห่งชีวิต แต่ท่านเองกลับแสดงกิริยาท่าทางสอนเราว่า นี่แหละเป็นธรรมะที่เราทุกคนควรจะนำไปพินิจพิจารณาเพื่อสอนตน

เมื่อได้กราบเรียนวัตถุประสงค์พวกเราให้ท่านทราบแล้ว ท่านแสดงความเมตตาที่จะให้พวกเราจัดทำประวัติ เพื่อพุทธศาสนิกชนรุ่นหลังจะได้ระลึกตาม อันเป็นแบบอย่างแห่งชีวิต และเป็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายซึ่งทรงคุณค่าและเป็นคติธรรมอันดีงามได้เช่นเดียวกัน


http://www.yimwhan.com/board/data_user/anatta/photo/cate_1/r44_2.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง
 http://www.yimwhan.com/board/data_user/anatta/photo/cate_1/r44_1.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

อัฐธาตุ หลวงปู่เจ๊ยะ จุนฺโท
ภาพจาก : yimwhan.com


สมญานาม “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
“หลวงปู่เจ้าคะ” อุบาสิกาคนหนึ่งในคณะผู้จัดทำ กราบเรียนถามขึ้น พร้อมๆ กับพนมมือขึ้นเพื่อขอโอกาสเรียนถาม “หลวงตามหาบัวฯ พูดที่สวนแสงธรรมชมหลวงปู่มาก ว่าเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเหมือนพระทองคำถูกโบกไว้ด้วยปูน แต่เวลานี้หลวงตาท่านกำลังกะเทาะปูนออก ให้คนทั้งหลายได้เห็นพระทองคำที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน อันมีค่าหาประมาณไม่ได้ เมื่อใดที่คนเขาไม่รู้ว่าเป็นพระทองคำ พระนั้นก็เหมือนพระปูนธรรมดา แต่เมื่อใดที่คนทั้งหลายมาทราบว่า ภายนอกเป็นปูนแต่ภายในเต็มไปด้วยทองคำ ทองคำเช่นนั้นย่อมจะเป็นประโยชน์มหาศาล เป็นสมบัติอันล้ำค่า ตอนนี้หลวงตา ท่านบอกว่า กำลังกะเทาะปูนออกให้คนดู หลวงปู่รู้บ้างหรือเปล่าที่หลวงตาท่านชมและหลวงปู่มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?”

“ครูบาอาจารย์ท่านชมก็นับว่าเป็นสิริมงคลดี” หลวงปู่กล่าวขึ้นพร้อมๆ กับยกกระโถนขึ้นมาบ้วนน้ำลาย แล้วกล่าวต่อไปว่า “อย่าว่าแต่ชมเลย แม้ท่านติก็นับว่าเป็นสิริมงคลดี เพราะทั้งการชมและการตำหนิ ล้วนเป็นไปด้วยเหตุผลอันประกอบด้วยธรรมทั้งนั้น”

คำพูดที่ท่านอาจารย์มหาบัวเรียกเราว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” นั้น จริงๆ แล้วท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่เรียกองค์แรก สงสัยท่านไปได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นเรียก ท่านจึงเรียกตาม หรือบางทีท่านอาจจะเรียกขึ้นเองด้วยความเมตตา การพูดทั้งนี้ทั้งนั้นท่านอาจารย์มหาบัว ท่านไม่ได้มาพูดกับเรา แต่ท่านนำเรื่องของเราไปพูดถึง ตามปกติท่านก็เมตตาเรามากอยู่ พระลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นที่เป็นกัลยาณมิตรที่สนิทชิดเชื้อมาก คือ พระอาจารย์ฝั้น, หลวงปู่ขาว, ท่านอาจารย์มหาบัว, หลวงปู่ชอบ, หลวงปู่หลุย ฯลฯ

ท่านอาจารย์มหา (บัว) ท่านชมว่าเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทอง ท่านพูดให้โยมฟังท่านไม่ได้พูดกับอาตมา แสดงว่าท่านต้องการสอนพวกโยมนั่นแหละ ชีวิตคนบนโลกนี้มันก็เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะทั้งนั้นแหละโยม บรรจุเอาแต่สิ่งที่สกปรกโสโครก นินทา-สรรเสริญ สุข-ทุกข์ ทรัพย์-สมบัติ ลาภ-ยศ ตลอดจนเกียรติยศ-เกียรติภูมิ ที่พวกเราทั้งหลายแบกหามหวงแหนกันอยู่นี่ สิ่งเหล่านี้ภาษาธรรมท่านเรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วหรือถังขยะ หรือก้อนเขฬะน้ำลายที่พระพุทธเจ้าทรงบ้วนทิ้ง” เอาสาระคุณกับมันมากนักไม่ได้ เพราะเป็นเพียงส่วนเกินหาใช่ส่วนจริงไม่ เพียงแต่เราพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ไม่ประมาทมีสติอยู่ทุกเมื่อ ย้อนพิจารณาเข้ามาในตนด้วยความเป็นธรรม เราก็จะทราบไม่หลงไม่เสียใจ เมื่อหันกลับมามองดูตัวและดูใจเราเองแล้ว ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่หลงตัวลืมตนไม่เพลิดเพลินกับสิ่งชั่วเสียหาย หาอุบายพากันมาสร้างคุณงามความดี ปลีกตัวอย่ามั่วสุมจนหลงลม พยายามสร้างความดีให้ความดีผุดโผล่ขึ้นมาในใจ เหมือนดอกบัวที่มันจมอยู่ในโคลนตม น้ำโคลนเหลวๆ ที่คนว่าสกปรกนั่นแหละเป็นปุ๋ยได้อย่างดี ทำให้ดอกบัวงดงามกิ่งก้านใบชูชันขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามถ้าน้ำนั้นสะอาดเหมือนน้ำดื่ม แม้โคลนตมก็ไม่มี ดอกบัวคงเกิดไม่ได้ มีแต่ตายอย่างเดียว ธรรมชาติของชีวิตที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏวนที่แท้จริงมันก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเราฝ่าอันตรายคือความหมักหมมโง่หลง ก็จะเห็นความบริสุทธิ์สว่าง เพราะเบื้องต้นแห่งชีวิต จิต กรรม วิบาก ของแต่ละบุคคลมันเป็นเช่นนั้นนะ ชีวิตที่ดีเลิศประเสริฐศรีจนมองไม่เห็นความจริงแท้อะไรก็เช่นเดียวกัน มักเป็นผู้โง่เขลาในเรื่องชีวิต

พระพุทธองค์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าพระองค์ไม่เห็นแก่นแท้ของชีวิต พระองค์ก็จะไม่ทรงตัดสินพระทัยอย่างมั่นแม่นเพื่อการบรรพชา แต่พระองค์ทรงพิจารณาเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย รึงรัดมัดผูกชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย พาให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย มนุษย์ยังชื่นชมว่าดี ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณค่าราคาอะไรเลย ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นเพียงของทิ้ง เป็นเพียงผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่งที่ใช้แล้วจำต้องทิ้ง ใครทะนุถนอมสิ่งของที่ต้องทิ้งต้องบูดต้องเน่า คนนั้นก็นับได้ว่าเป็นคนบ้า มนุษย์ผู้หลงระเริงกับชีวิตโดยไม่พิจารณาโทษ จึงถึงการนับว่าโคตรบ้าและโคตรโง่เลยทีเดียว แต่ที่พระองค์จะมีจิตเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพราะพระบารมีญาณที่พระองค์สั่งสมมาหลายแสนชาติมาเตือน ทำให้อินทรีย์แก่กล้า จึงทำให้พระองค์สละได้ง่าย การที่พระองค์สละทุกอย่าง มิใช่สละได้ในวันนั้นเพียงวันเดียว แต่พระองค์บำเพ็ญเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณมาตั้งนานแล้ว

ชีวิตนี้เป็นประดุจผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะที่คอยเก็บอานิสงส์ของกรรมดีชั่ว แล้วก็ให้ผลแก่เราเป็นผู้เสวย ถ้าเรานำชีวิตที่เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว น้อมพิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นภายในใจ ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนั่นแหละจะเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทองขึ้นมาทันที เพราะร่างกายของคนนี้ไม่มีค่า มันมีค่าอยู่ที่หัวใจที่มีธรรม รูปธรรมทุกๆ อย่างจึงเป็นผ้าขี้ริ้ว นามธรรมคือหัวใจที่ฝึกปฏิบัติ จนได้เห็นธรรมตามความสามารถ นั่นแหละเป็นทอง คือธรรมสมบัติอันล้นค่า ปรากฏเด่นขึ้นมาเป็นสักขีพยาน

แต่ถ้าพวกเราไม่สนใจในการฝึกจิตรักษาใจ สร้างคุณงามความดีแล้วละก็ คนประเภทนี้ก็อาจเรียกได้ว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อก้อนขี้หมา” เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่รู้จักค่าของคนแล้วยังไม่พอ ยังกลับไม่รู้จักค่าของคุณงามความดีด้วย คือปฏิเสธความดี แต่จิตนี้มั่งมีไปด้วยความชั่วเสีย เกิดเป็นคนแต่ใจไพล่ไปในทางเปรตผี รูปร่างแบ่งแยกมนุษย์ให้รู้ว่าสวยขี้เหร่อย่างใด ใจก็แบ่งแยกมนุษย์เรื่องดี-ชั่ว สะอาด-สกปรก ได้อย่างนั้นเหมือนกัน

เกิดเป็นคนเหมือนกันแต่ใจมันไม่เหมือนกัน ใจนี่แหละทำให้คนต่างกัน ไม่ใช่ร่างกาย ทรัพย์สมบัติเงินทองของนอกกาย

พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา แต่พระทัยของพระองค์เป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลกที่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปก็คือพระทัยของพระองค์ที่บริสุทธิ์นั่นแหละ พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ท่านก็เป็นคนเหมือนพวกเรา แต่ท่านไม่เหมือนพวกเราในเรื่องหัวใจที่ใสบริสุทธิ์ คือเป็นคนเหมือนกันแต่หัวใจมันต่างกัน ท่านผู้ประเสริฐมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเหล่านี้ ท่านเป็นผู้ฝึกตนมาดี เก็บเกี่ยวเอาทุกๆ เรื่องมาสอนตน ในที่สุดท่านก็กลายเป็นผู้ประเสริฐขึ้นมาได้ท่ามกลางโลกที่โสมม

เมื่อองค์หลวงปู่พูดจบลงท่านก็ยิ้มน้อยๆ ทำให้พวกเราอัศจรรย์ใจในวาทะวาทีขององค์ท่านที่คมคาย ทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นมาภายในใจว่า พระทองคำที่องค์หลวงตากำลังกะเทาะออกให้คนได้ดูชมนั้น ช่างเป็นความจริงเสียเหลือเกิน ทำให้อยากค้นหาในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาที่สถิตอยู่ภายในใจองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะองค์ท่านก็คือ เพชรน้ำหนึ่งของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดประกายแสงสว่างย่อมปรากฏ ให้ผู้คนที่ต้องการทราบความจริงแห่งชีวิตได้พบเห็นและค้นคว้า




http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/302/10302/images/11313.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

อัฐิธาตุ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
ภาพจาก : โอเคเนชั่นดอทเน็ต

แผ่นดินเกิด
“ก่อนจะบวชหลวงปู่ทำอะไรมาบ้างครับ ขอหลวงปู่โปรดเมตตาเล่าประวัติให้ฟังด้วยครับ”
“ถ้าจะย้อนอดีต มันนานมาแล้ว เราก็จำได้ไม่มากนัก” หลวงปู่เอ่ยขึ้นในขณะที่เอนหลังลงบนม้านอนหวายยาว ด้านหน้ากุฏิ ท่าทางท่านกำลังนึกคิดจนคิ้วขมวดแล้วท่านก็นิ่งอยู่พักใหญ่ ๆ
“การจดการจำชีวิตคนเรามิใช่ว่าเราจะจำได้หมด ยิ่งตอนนี้แก่แล้ว มันก็จำไม่ค่อยได้ ประวัติจะเอาไปทำไมนะ?” ท่านถามย้ำ
“พวกเกล้ากระผมคิดว่า เวลานี้ครูบาอาจารย์ก็เหลืออยู่น้อย พระลูกศิษย์หลวงปู่มั่นแต่ละองค์ก็ล้วนมีความสำคัญ หลวงปู่เองก็เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์ที่ได้เดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่น ปฏิปทาแต่ละองค์ก็ต่างๆ กันออกไป การนำปฏิปทาชีวประวัติแต่ละท่านมาศึกษา จะเป็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ถ้าไม่จดจารึกขีดเขียนไว้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา ยิ่งคำว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ในพระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่นก็จะมีแต่เพียงคำพูด แต่ไม่มีรายละเอียดให้ศึกษาว่าคำว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เป็นอย่างไร?”



น้า และไม้คานที่โยมพ่อของหลวงปู่ใช้ใส่เสื้อผ้าหาบมาจากเมืองจีน  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่เป็นสหธรรมิกของหลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระที่คนทั้งประเทศและต่างชาตินับถือ อีกทั้งเป็นองค์ประมุขประธานของโครงการช่วยชาติที่คนไทยทั้งชาติให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับองค์หลวงตามหาบัว ท่านได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไว้กับพระพุทธศาสนา ดำรงหลักธรรมหลักวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะหลักธรรมตามธรรมชาติอันเป็นลักษณะโดดเด่นของพระป่า ยิ่งองค์หลวงปู่ด้วยแล้ว องค์หลวงตาได้ชมเชยและให้ฉายานามว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เพื่อยืนยันคำนั้น พวกเกล้าฯ จึงขันอาสามาพิสูจน์เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง เท่าที่ปัญญาน้อยนี้จะทราบได้ และเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ศิษยานุศิษย์และชาวพุทธได้ศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป


  ปานดำที่หลังหลวงปู่

โยมพ่อมาจากประเทศจีน
“เออ...ถ้าอย่างนั้นเราก็จะเล่าให้ฟัง อัดเทปหรือยัง?” องค์ท่านถามขึ้น พร้อมกับบ้วนน้ำลายใส่กระโถนเสียงดังปิ๊ดๆ แล้วก็ขากถุยๆ
“อัดแล้วครับปู่ ตั้งกล้องวิดีโอถ่ายด้วยนะครับ คนเขาจะได้ตำหนิไม่ได้ว่าเกล้าฯ นั่งเทียนเขียน”
“เออ...อย่างนั้นก็ดีเหมือนกัน” พูดเสร็จแล้วท่านก็ฉันน้ำชา ฉันน้ำ เช็ดปากมาดลูกคอหน่อย ๆ เสียงดังแอ้ม ๆ
“เริ่มแรกทีเดียว พ่อกับน้องชายที่บ้านติดกัน พากันมาจากประเทศจีน มาแสวงหาชีวิตและสิ่งที่ดีกว่าที่เมืองไทย การเดินทางก็ไม่มีสมบัติอะไรติดตัวมา มีแต่เสื้อผ้าและน้า (ตะกร้าไม้ไผ่สานของจีน) สำหรับใส่เสื้อผ้า ใช้ไม้คานหาบคอนมาขึ้นเรือ ภาษาจีนเรียก “น้า” ลักษณะมันคล้ายๆ ชะลอมคนสมัยก่อนเวลาจะเดินทางไปไหนมาไหน หรือเวลาไปเรี่ยไรเงินสังกะจาด เขาจะถือไป เพื่อเอาไปใส่สิ่งของอะไรๆ

สมัยก่อนไปไหนต้องเดินด้วยเท้าทั้งนั้น ไม่มีรถยนต์ พ่อเป็นคนแข็งแรง เดินจากหนองบัวไปเก็บค่าเช่านาที่สี่เจียมเทียน ระยะทางหลายสิบกิโลยังเดินไป เดินไปถึงแล้วเสร็จธุระก็ต้องเดินกลับเพราะจากหนองบัวมาพริ้ว ๕ กม. จากพริ้วไปถึงดงชิงคงอีกราว ๆ ๑๐ กม. จากอีมุยไปสี่เจียมเทียนอีกสิบกว่ากิโล พ่อเป็นคนหมั่นขยันมาก


  โยมบิดาและโยมมารดา หลวงปู่เจี๊ยะ

สาเหตุที่ชื่อ “เจี๊ยะ”
เดิมจริง ๆ เขาเรียกกันว่า“โอวเจี้ยะ” แปลว่าหินดำ เพราะเรามีปานดำที่แผ่นหลัง แต่มาภายหลังเรียกสั้นๆ ว่า เจี๊ยะ นี่...ปานนี้อยู่ข้างหลังนี่ อันนี้ถ่ายรูปไว้ด้วย เดี๋ยวคนเขาไม่เชื่อหาว่าเราโกหก” พูดเสร็จแล้วท่านก็หัวเราะเสียงดังๆ แล้วก็หันหลังเปิดอังสะให้ถ่ายรูป

“ปานดำที่แผ่นหลังนี่มันดีนักหนา คนสงขลามาเห็นเข้าตอนที่ไปธุดงค์ทางภาคใต้ มันถึงกับพูดว่า โอ๊ย..! ท่านอาจารย์มีของดีโว้ย  มันดีอะไร เราถามมัน ก็ที่แผ่นหลังท่านอาจารย์ไง ปานดำเต็มแผ่นหลังมันหายากนะ พอพูดเสร็จเขาก็ขอดูด้วยความชอบอกชอบใจ”

จริง ๆ แล้ว คำว่า “โอวเจี้ยะ” มีความหมายในทางธรรมอีกอย่างหนึ่ง คนที่มีปานประเภทนี้ จะต้องเป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งดุจศิลาแลง ทนร้อน ทนหนาว ทนทุกข์ ทนสุข อดทนได้ รับได้ แก้ไขได้ทุกสภาวะกาล  เหมือนจะเป็นธรรมะเตือนเราว่า จงทำจิตใจให้เข้มแข็งดุจแผ่นหิน ใครจะนำเอาของสกปรกมาเทใส่แผ่นหินก็คงนิ่งอยู่อย่างนั้น ใครจะนำเอาน้ำหอมมาเทใส่แผ่นหินนี้ ก็คงอยู่อย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน หรือโอนเอนไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่มายั่วเย้า หลอกลวง ตอนหลังเขามาเรียกสั้นๆ ว่าเจี๊ยะๆ หมายถึงกิน กินเก่งไป (หัวเราะ)


แซ่อึ๊ง
“ก่อนจะบวช......พื้นเพโยมพ่อเป็นคนจีน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองจีนมาอยู่เมืองไทยตอนนั้นพ่ออายุประมาณ ๒๐ กว่า ๆ มาอยู่คลองน้ำเค็ม มาเจอโยมมารดาที่นั่น โยมแม่เป็นลูกครึ่งจีนที่เกิดในเมืองจันท์ พอแต่งงานกันแล้วก็ย้ายมาอยู่ตำบลหนองบัว โยมพ่อโยมแม่เป็นผู้ที่สนใจในพระพุทธศาสนา ไม่เพียงแต่พ่อแม่เท่านั้น ปู่ย่า ตายาย ก็สนใจในพุทธศาสนา...ก็พวกเราเป็นชาวพุทธอยู่ฮิ...” หลวงปู่พูดเป็นภาษาสำเนียงจันทบุรีแบบน่าฟัง

โยมบิดาซื่อ ซุ่นแฉ่ โพธิกิจ (แซ่อึ๊ง) โยมมารดาชื่อแฟ โพธิกิจ ตอนแรกอยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาชีพค้าขาย มีพี่น้องร่วมสายโลหิตด้วยวัน ๗ คน ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นลูกเลี้ยงที่โยมพ่อโยมแม่นำมาเลี้ยง เป็นประดุจพี่สาวคนโต เพราะในครอบครัวทุกๆ คนมีความรู้สึกว่าพี่พิมพ์เป็นพี่สาวคนโตจริงๆ ถ้าจะนับพี่คนใหญ่คนนี้เข้าไปด้วยก็เป็น ๘ คน

สำหรับเราเอง เกิดวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ที่บ้านคลองน้ำเค็ม ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ตรงกับวันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรง เป็นบุตรคนที่ ๔ มีพี่น้อง ๗ คน และพี่บุญธรรมที่พวกเราทุกคนรักอีก ๑ คน รวมเป็น ๘ คน มีลำดับดังนี้
     ๑. นางพิมพ์  โพธิกิจ (เสียชีวิต) พี่บุญธรรม
     ๒. นางฮุด  แซ่ตัน (เสียชีวิต)
     ๓. นายสง่า  โพธิกิจ (เสียชีวิต)
     ๔. นางสาวละออ  โพธิกิจ (เสียชีวิต)
     ๕. ตัวเราเอง (หลวงปู่เจี๊ยะ)
     ๖. นางสาวละมุน  โพธิกิจ เป็นข้าราชการครู (เสียชีวิต)
     ๗. นางลักขณา (บ๊วย) เกิดในมงคล
     ๘. นายสมบัติ  โพธิกิจ

ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ๒ คน บ้านหลังที่อยู่เลขที่ ๘๒ หมู่ ๗ บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อยู่ติดถนน สภาพบ้านที่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างจากเมื่อก่อนมากนัก แต่มีการซ่อมแซมหลังคาใหม่บ้าง แต่โครงสร้างบ้านทั้งหมดยังเหมือนเดิม ประตูเป็นไม้สักเลื่อนเปิดปิดได้ เป็นประตูบ้านสมัยเก่า หาดูยากนัก พื้นบ้านแต่เดิมเป็นไม้ ภายหลังซ่อมแซมใหม่ทำเป็นปูน ตู้กระจกของเก่ายังอยู่เหมือนเดิม โอ่งสีเขียวเป็นของเก่าโบราณยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี ด้านหลังบ้านเป็นคลองน้ำใหญ่ เป็นทางออกไปสู่ทะเล มองไปรอบ ๆ จะเห็นเรือจอดเป็นทิวแถว ดูดีสะอาดตา ท่าเรือที่เราเคยจอดเรือยังมีเสาไม้ใหญ่ ๆ อันเป็นจุดสังเกตได้ง่าย ที่บ้านไม่ได้ไปมานานแล้ว เรือทั้ง ๒ ลำที่เราเคยใช้เห็นว่าเขาขายกันไปแล้ว

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤษภาคม 2557 17:37:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 30 เมษายน 2557 16:20:48 »

.



เป็นเด็กกลัวกะปิ
ตอนเด็กๆ กลัวกะปิเป็นที่สุด เพราะมันเหม็น เวลาจะตามพี่ชายไปที่ไหนๆ เขาไม่อยากให้เราไปด้วย เขาก็จะบอกด้วยถ้อยคำอันน่ากลัวว่า “ไอ้เจี๊ยะ...มึงไม่ต้องมา ถ้ามาเดี๋ยวจะเอากะปิเขวี้ยงหัวมึง เท่านั้นแหละเราร้องไห้วิ่งกลับบ้านแทบตาย” (หัวเราะ)

เรื่องอาหารการกิน เป็นคนที่กินยากตั้งแต่วัยเด็ก อาหารอันใดที่มีมันหมูติดมามากๆ เมื่อเราเห็นเราจะร้องไห้ชักดิ้นชักงอไม่ยอมกิน เป็นคนจองหองเรื่องกิน ถ้าไม่พอใจเตะทิ้งไปเลย เรื่องการกินจึงเป็นคนกินยากมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะฐานะทางบ้านดี

แม้แต่ทุกวันนี้เรายังไม่กล้ากินมันเลย กะปิน่ะ มันมีส่วนผสมคล้ายๆ หัวกุ้ง เราแพ้ แสลง เราเคยกินเข้าไปนี้แสบทวารหมดเลย ฉันเข้าไปมันเหมือนมาแทงทวาร ก็เลยไม่ฉันเลย แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่ฉัน แสลงอาหารหลายอย่าง ปลากระเบน ปลาสวาย ปลาไหล อาหารจากปลาเหล่านี้กินไม่ได้หมด ผักผลไม้ประเภทแตง เห็ด ผงชูรสก็กินไม่ได้ ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นจึงลำบากเป็นที่สุดเพราะเป็นคนกินยาก


ยอมหักแต่โม่ยอมงอ
ในวัยหนุ่มทำมาค้าขาย ขายเงาะ ขายทุเรียน ขายมังคุด นิสัยออกจะติดทางนักเลง เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ไม่เกเร พูดจาโฮกฮาก ไม่กลัวคน ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ชอบโกหก จึงเป็นมรดกทางอุปนิสัยติดต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงผู้เป็นลูกหลาน เราเป็นคนทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจ เวลาไปบรรทุกผลไม้ที่ท่าแฉลบ เรือลำไหนมันขึ้นฝั่งไม่ได้ เรือเขาขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับเรือเราต้องขึ้นได้ คือเอาขึ้นจนได้ เราเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ เป็นคนจริงจัง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ เป็นคนซุกซน แต่ไม่เคยซุกซนเรื่องผู้หญิง และไม่เคยยอมแพ้ใครในหน้าที่การงานทั้งปวง

สมัยยังหนุ่มแน่น เราไม่เคยคิดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร มุ่งแต่ทำงานอย่างเดียว แม้แต่คำว่า นโม ตสฺส ยังว่าไม่จบ แม้บางครั้งไปวัดได้ยินพระท่านเทศน์ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในภายนอก เช่น ตาเห็นรูปอย่างนี้เป็นต้น ฟังแล้วไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย บางทียังคิดเลยว่า ท่านพูดเรื่องอะไร ไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่เห็นเข้าใจ พอตอนหลังมาบวชจึงได้ทราบว่า “อันนี้เป็นธรรมะที่บ่มอินทรีย์เป็นสำคัญ”


เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการค้าขาย
ความเป็นอยู่ที่บ้านตอนเราเป็นเด็ก ที่บ้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดในบ้าน ข้าวสาร น้ำตาล ของกระจุกกระจิก ค้าผลไม้ เราเองแหละเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการค้าขาย นอกจากการค้าที่บ้านแล้วยังนำไปขายที่ท่าแฉลบ

การค้าขายสมัยที่เรายังเป็นฆราวาสอยู่นั้น โดยส่วนมากค้าผลไม้พื้นเมืองของเมืองจันท์ โดยผลไม้นั้นมีชาวบ้านหาบมาส่งที่บ้าน ซื้อแล้วก็นำมาบรรจุใส่ลังไม้ฉำฉา บรรทุกลงเรือล่องเลียบคลองด้านหลังบ้านออกทะเลไปขายที่ท่าแฉลบ เวลาหน้าปลาก็ไปจับปลา

หลังจากเราเรียนจบ ป.๔ ที่ตำบลหนองบัวแล้วก็ช่วยพ่อแม่ค้าขาย ส่งผลไม้เข้ากรุงเทพฯ ส่งผลไม้เข้ากรุงเทพฯ ส่งทุเรียนกวน คือรับซื้อเขามาแล้วก็นำไปขายต่อ ไปส่งถึงประเทศมาเลเซีย ปีนั้นซื้อไว้บาน (มาก) ซื้อไว้ตั้ง ๘๐๐ ปี๊บ เต็มบ้านไปหมดขนาดบ้านหลังใหญ่ ๆ การเก็บรักษาก็ยากเพราะสมัยนั้นมันยังไม่มีวิธีบัดกรี เก็บไว้นานจะมีแบคทีเรีย (เชื้อรา) ถ้าจะเก็บไว้นานต้องอัดให้แน่น ให้แข็ง ให้ดี เอากระดาษอ่อนๆ ปิด ถ้าตรงไหนมีราต้องค่อยๆ เฉือนออก ปีนั้นซื้อไว้ตั้ง ๘๐๐-๙๐๐ ปี๊บ กิโลกรัมละสิบกว่าบาท ปี๊บหนึ่งก็ประมาณ ๒๐ กิโลกรัม ครอบครัวของเราฐานะดีที่สุดในหมู่บ้านนั้น ที่ทางเราไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ เพราะเรามีพ่อเป็นคนจีน นำไปขายมาเลเซีย โลหนึ่ง (๑ กิโลกรัม) รู้สึกว่า ๒๘ บาท ใส่เรือไปขายที่มาเลเซีย ทำปีละครั้ง พอหมดฤดูทุเรียน ก็สีข้าวขายหน้าบ้าน ต้องนำออกไปสีที่โรงสีใหญ่ ปีหนึ่งๆ ก็ทำอยู่อย่างนี้เป็นอาซีพ ค้าขายประจำครอบครัว

ข้าวปีหนึ่ง ๆ ก็ได้มาก คนที่ไม่มีเงินทางบางละเก้า เสม็ดงาม จะมาขอเงินที่บ้านโดยนำข้าวมาแลกกับเงิน ฉะนั้นที่บ้านจึงมีการออกเงินให้คนกู้บ้าง ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๕ ปี มีคนมากู้เงินที่บ้าน เจ้าละ ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐, ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐

ตำบลหนองบัวบานที่เราอยู่นี้ สมัยก่อนเป็นตำบลที่เจริญที่สุดในจังหวัดจันทบุรี ผลหมากรากไม้มากจริง ๆ หน้าทุเรียน เงาะ มังคุด ลางสาด กินไม่หวาดไม่ไหว ร่วงหล่นสาดเซมากจนเกินไม่หวาดไม่ไหว แต่เวลาหน้าแล้งก็อดหน่อย


ต่อยปากเจ๊ก
เรานี้ว่ายน้ำเก่งเป็นที่สุด...ที่บ้านติดกับคลองน้ำ ติดกับทะเล ที่บ้านมีทะเลฮิ เวลาน้ำขึ้นมองไปไหนมีแต่น้ำเต็มไปหมด อยู่กับน้ำว่ายน้ำไม่เก่งก็ตายละสิ

ตอนนั้นไปเอาของขึ้นเรือ... ต่อยเจ๊กตัวเบ่อเร่อ ตานี่แทบแตก หมัดนี้มันหนัก (ท่านกำหมัดขึ้นให้ดู) หลับคาที่เลย นับสิบนี่ไม่ลุกเลย คว่ำลงไปเลยทันที สลบแน่นอน ฮึ ฮึ...

หมัดนี่มันแรง อันตราย...ไม่ได้! เจ๊กตัวเบ้อเร่อ ชกทีเดียวนี่ตาแทบแตก คว่ำลงไปเลยทีเดียว กำลังจะขึ้นผลไม้กัน ของเราเข่งเล็กๆ อย่างงี้ ของมันมาเข่งใหญ่ ไอ้ห่า...ทับเกลี้ยงหมด ตะโกนบอกมันว่า “มึงอย่าซ้อน ถ้าซ้อนข้าชกนะ” มันไม่ฟัง ทับของเราเสียแบน ทับแบนปั๊บก็สอยตูม หงายคว่ำไปเลย ตำรวจมาถึงพอดี (หัวเราะ) ตอนนั้นเวลาเที่ยงแล้ว จะตีกันตาย

ตำรวจมันมา มันโกรธมาก หาว่าเราชกลูกน้องมัน ก็มันเข้าเรือไม่เป็น เพราะผลไม้ต้องเอาขึ้นปากระวาง ถ้าเราช้าต้องลงในระวาง ก็ต้องเอาปากระวางออกหมดจึงขึ้น ของเราเข่งหนึ่งขาย ๕ บาท บางทีเหลือ ๖ สลึง บางทีเหลือ ๓ สลึง มันผิดกันเราต้องสู้

เจ้านายของไอ้เจ๊กเป็นเพื่อนกับโยมแม่ โยมแม่ก็มาต่อว่า “ทำไมจึงไปรุนแรงกับเขา...ลูก”  เราก็แผดเสียงดังลั่นทันทีว่า “ทำไม... ทำไม...แม่เชื่อคนอื่นเหรอ? ถ้าอย่างงั้นผมไม่ทำ เลิก!...จะยอมให้เขาข่มเหงเหรอ เขาทับของเราเสียหาย แล้วแม่จะว่ายังไง เข่งมันตั้งหลายบาทนี่” โยมแม่ก็ต้องยอม เราว่ามีเหตุผล เราว่าของเราถูก เขามาข่มเหงเราก่อน เราเป็นเด็กไม่ใช่มันจะแก่นเกินไปนะ เรามันซน คนกลัวหมด ดื้อซนมาก ยอมให้เขาข่มเหงอยู่อย่างนี้ก็ตายซิ
เที่ยวหลังมันมากัน ๓ - ๔ คน เราไป ๑๐ กว่าคน มันก็เข้าเรือ อย่างว่านี่ มันเข้าไม่เป็น เราก็แซงเลย เราเข้าลำที่หนึ่งเลย มันหาว่าเราโกง เราก็ลากหลักแจวมา ได้อันยาวเบ้อเร่อ มึงเข้ามาซิ วันนั้นถ้ามันเข้ามาเราตีตาย ไม้ตรงกลางโตตั้งขนาดนี้ (ขนาดขวดโค้กลิตร) ยาวตั้งเมตรกว่า ถ้ามันเข้ามาก็ตูมคาที่เลย หน้าตานี้จะต้องแหกหัก ถ้าเอาแขนขารับนี้หักหมด ตีตายเลยวันนั้น ไม่ได้บวชหรอก โดดหนีเลยวันนั้น แต่ดีมันไม่กล้าเข้ามา

วันหลังมันไปชกเด็กแถวบ้านเราสลบเลย “มึง!..ถ้ามึงชกกูล่ะมึง...ในโลกนี้มึงไม่มีที่อยู่แน่ มึงต้องถูกล่า”  เรามีเจ้านายดี มีปืนสั้นปืนอะไรหมด ถ้าไปขอยืมมากระบอกต้องให้ เพราะเราไปสีข้าวกับแก เป็นเพื่อนกับพี่ชาย เรื่องซุกซนน่ะ...ซน...เราซน แต่ดีอย่างไม่ซนเรื่องผู้หญิง ไม่มีเลยเป็นหนุ่มมาไม่มี ไม่ซนเรื่องผู้หญิงเลย รักเดียวใจเดียวตลอด รักแป้ง... นี่แหละนิสัยตอนเป็นฆราวาสมันเป็นอย่างนั้น ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องธรรม เรื่องความดี เรื่องประมาทอะไร ทำอะไรก็ไม่ค่อยคิดให้รอบคอบ ตอนหลังเข้ามาบวช ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนว่า “ให้ไตร่ตรองในหน้าที่การงานทั้งมวล เวลาทำการงานอะไร จงอย่ารีบด่วนในการที่ควรจะช้า จงอย่ามัวชักช้าในการที่ควรรีบด่วน เพราะถ้าเราปฏิบัติไม่รอบคอบเช่นนี้ เราผู้ทำอะไรโง่ ๆ งุ่นง่านแบบนี้มักจะประสบทุกข์” ท่านพูดให้ฟัง เราก็จำเอา


รักน้องแป้ง
พูดถึงเรื่องรัก...เป็นคนรักเดียว...รักแป้งคนเดียว ตอนเป็นฆราวาสนั้น หน้าบ้านมีถังอยู่ลูกหนึ่ง เราจะไปนั่งที่ถังนั้น ตอนเย็นๆ แป้ง (คนรัก) เดินมาเราก็เห็นแล้ว ก็มานั่งคุยกัน เพราะบ้านเรากับบ้านเขาก็อยู่ไม่ห่างกัน บางทีก็ไปคุยอยู่บ้านเขา บางครั้งในตอนกลางคืนก็นัดไปคุยกันที่ร้านตัดผมของคนชื่อรา
พอได้เวลาอาบน้ำที่บ่อในป่า ก็ชวนกันไปอาบน้ำ ก็เดินคุยกันไป สถานที่อาบน้ำต้องเดินเข้าไปในป่าหน่อย เป็นบ่อน้ำจืดที่เขาขุดไว้ เดินเข้าไปหน่อยใจมันก็คิดอยากกอด เราก็กอดมันซะเลย มันร้องใหญ่ ทำท่าจะวิ่งหนี เราก็กอดมันไว้แน่น กำลังมันสู้เราไม่ได้

เมื่อท่านเล่ามาถึงตอนนี้มีลูกศิษย์คนหนึ่งพูดแทรกขึ้นว่า “อย่างนี้เขาก็เรียกว่าปล้ำสาวซิปู่ แล้วปู่ได้เขาเป็นเมียไหม?”

“ถึงมันนอนแบะท่าให้ ก็ไม่มีปัญญาจะเอา ถ้าเอาเดี๋ยวก็ไม่ได้บวช กอดมันยังไม่กล้าจับนมมันเลย คบกันมาตั้งนานไม่เคยได้หอมแก้มมันซักที...เสียเวลาคบว่ะ!” พูดแล้วท่านก็หัวเราะ ดูเหมือนจะอายๆ เหมือนกัน

“เราแกล้งมันไปเล่นๆ ไปอย่างนั้นแหละ เราไม่เอาเปรียบผู้หญิงหรอก” ท่านพูดตบท้ายห้วนๆ

เรื่องรักแป้งนี่เคยให้สัญญากันไว้ด้วยนะว่า “แป้ง... เราจะบวชเพียงพรรษาเดียวให้แม่เท่านั้นนะ หลังจากนั้นเราจะสึกมาแต่งงานกัน” พอเข้าไปบวชแรกๆ ก็คิดถึงมันอยู่เหมือนกัน

ในเวลาต่อมา เกิดภาวนาดีจ้องดูมันด้วยการพิจารณาอสุภะว่าร่างกายเป็นสิ่งโสโครก ไม่สวยงาม เป็นที่น่ารังเกียจ มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทาไว้ พิจารณาดูแม้กระทั่งของลับ เพราะพิจารณาอย่างอื่นได้หมด แต่มันมาติดขัดตรงนี้ จึงต้องพิจารณาตรงนี้ จิตมันก็ลง ก่อนบวชหลงมากอยู่เหมือนกัน แม้เข้ามาบวชช่วงแรกๆ ก็อาลัยอาวรณ์อยู่เรื่อยๆ ไปบิณฑบาตเห็นหน้า ใจมันก็ยังคิดๆ แต่หลังจากจิตมันลงได้อย่างนั้น ไปบิณฑบาตเจอมันก็บอกมันเลยว่า

“แป้งเอ๊ย...เราไม่สึกแล้วนะ” จริงๆ แล้วถ้าจะพูดกันให้ชัดๆ ต้องพูดว่า “แป้งเอ๊ย...เราไม่โง่แล้วนะ ไม่ไปเป็นขี้ข้าราคะตัณหาของใครอีกแล้ว” ถ้าพูดอย่างนั้นกลัวเขาจะเสียใจ

เรื่องผู้หญิงพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้หลายแง่มุม ท่านเปรียบได้น่าฟัง เป็นคติได้ดีมาก “ผู้หญิงในโลกนี้ก็เปรียบเหมือนน้ำ ทางเดิน ร้านขายเครื่องดื่ม สภาและบ่อน้ำ ใจนางไม่มีขอบเขต” ส่วนมากผู้หญิงเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอย่างนั้นทุกคน

ต่อมาเขาแต่งงานกับหนุ่มเขาสมิง เห็นว่าตอนหลังย้ายมาอยู่ทำมาหากินอยู่ที่สามโคก แล้วจึงมาตายอยู่แถวๆ สามโคกนี่แหละ นั้นเห็นไหม เขาไม่ได้อันใดเลย ซึ่งอันนี้แต่ก่อนเป็นสิ่งที่เรารัก ชีวิตที่ไม่ได้พบกัลยาณมิตรมันก็ตายเปล่าไปอย่างนั้น แต่อันนี้เราจะไปพูดกับคนอื่นไม่ได้ บางที่เขาไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอรรถธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ถูกที่สุดว่า

“ผู้ใดขยี้กามราคะ ตัณหา อันเป็นเหมือนเปือกตมได้ ขยี้หนาม คือกามราคะ ตัณหาไปเสียได้ ผู้นั้นนับได้ว่าเป็นผู้หมดโมหะ ไม่สะทกสะท้านในนินทา สรรเสริญ ทุกข์หรือสุข ถ้าใครปฏิบัติได้มันก็เป็นอย่างนั้น” คำว่า “หนาม” ท่านหมายถึงสิ่งที่เสียดแทงจิตใจให้ตกต่ำ


ฐานะทางบ้าน
เรื่องฐานะทางบ้านของเราในสมัยนั้น ครอบครัวเราฐานะดีที่สุดในหมู่บ้าน ที่บ้านมีทองเป็นรูปเต่าและรูปอื่น ๆ แยะ มีทองเป็นกระบุงที่บ้าน มีคนจำนองจำนำเอาไว้ แม่คืนเขาไปหมดไม่โกงใคร เรื่องคดโกงแม่ไม่เคยมี แต่คนที่ติดหนี้แม่เคยโกงแม่ เช่น เราจะไปยึดเอาควาย มันก็เอาแก้วนี่มาตำให้ละเอียดผสมคลุกกับเหล้าเอาไปปะปนกับหญ้าให้ควายกินเข้าไป กระเพาะของควายมันก็เป็นเม็ด เมื่อมันไม่ย่อย เศษแก้วแทงกระเพาะมันก็ตาย เราไปเอามาก็ขาดทุน คือเขาแกล้งเรา ควายมันกินเข้าไปมาก ๆ ก็เข้าไปแทงลำไส้ เราเอาควายมาประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ก็ตาย ควายที่ยึดมานั้นก็ทำให้เราขาดทุน บางทียึดมามีคนมาขอ ก็ให้เขาไป
เพราะโยมแม่ใจบุญมาก

สมัยโบราณเขานิยมเอาทองแขวนตามคอ ตามแขนตามขา ทองเหล่านี้เป็นสิบๆ กระบุง พอเวลาทองขึ้นราคา เขาก็มาไถ่คืน แม่ยกให้หมด แม่บอกว่า “กูไม่เอาของเขาหรอกมันบาปกรรม การโกงเขาเป็นบาป” โยมแม่เป็นคนใจบุญ โยมแม่มีท่านลุงฮ้อก กับท่านลุงเหยเป็นคนสอน ลุงฮ้อกกับลุงเหยท่านไปบวชเป็นพระ เวลาแม่ไปวัดทำบุญท่านก็จะสอนแม่เป็นประจำว่า “อีแฟเอ๊ย...เวลามึงไปค้าขายมึงอย่าไปโกงเขานะ สมบัติเหล่านี้ได้มาแล้ว ตายแล้วเอ็งก็เอาไปไม่ได้หรอก มีแต่จะพาเองไปตกนรก” โยมแม่ก็จำไว้ แม่ของเราชอบทำบุญอยู่เรื่อย ๆ แต่เราตอนนั้นเป็นหนุ่มไม่ค่อยไปหรอก นอกจากว่าเขาชวนไปก็ไป

เวลายาย (โยมกิ่ม ยายของหลวงปู่) ไปทำสังฆทานที่วัดในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขะ มาฆะหรือวันจะเข้าพรรษา ไปเลี้ยงข้าวต้มตามวัดต่างๆ ไปเลี้ยงคนที่มาวัด สมัยนี้เขาเรียกว่าไปตั้งโรงทาน ต้องไปค้างคืนที่วัด นำข้าวสารไปหุงต้ม ต้มข้าวต้ม ตอนนั้นเราอายุราว ๆ ๑๕ ปี


ครูเจี๊ยะบอระเพ็ด
เมื่อจบป.๔ แล้ว ครูชื่อหงวนหลินที่เป็นคนสอนก็จะให้ไปเป็นครูเหมือนกัน จะให้ค่าจ้างเดือนละ ๓ บาท เราไม่เอาหรอก แม่ก็มาถามอยากให้เราไปเป็นครู เราบอกยังไงก็ไม่เอา เราไปหาบทุเรียนมาขายเพียง ๒ เที่ยวก็ได้แล้ว ๓ บาท เพราะหาบเที่ยวหนึ่งได้เที่ยวละ ๖ สลึง แล้วจะไปเอา ๓ บาทยังไง เราฐานะดีฮิ... เราบอกว่าไม่เอาหรอก การเล่าเรียนก็เรียนหนังสือพอใช้ได้ไม่เก่งนักหรอก ตอนที่เขาจะให้เป็นครูอายุก็ราว ๑๕ ปี นี่แหละ

ตอนนั้นแม่ก็รบเร้าอยากให้เป็นครูเพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เราก็ไปช่วยสอนอยู่ ๑๐ วัน เด็กๆ มันดื้อมาก เรารำคาญมาก พูดก็ไม่ฟัง เอาใจยาก ก็คิดว่าเอ๊ะ!....ทำยังไงนะจะปราบไอ้เด็กพวกนี้ได้ คิดไปคิดมาสิ่งปราบความซ่าส์ซุกซนคงไม่มีอะไรเกินบอระเพ็ด เพราะบอระเพ็ดมันขม เวลาอยากให้เด็กหย่านม เขาเอาบอระเพ็ดนี้แหละทานมแม่ให้เด็กดูดกิน เวลามันขมมันก็ไม่อยากกินนมอีก

วันหลังมาสอนก็นำเอาบอระเพ็ดมาด้วย เด็กคนไหนมันซุกซนมากๆ เอานี่แหละยัดปาก ใครบอกไม่ฟังเอานี่แหละให้กิน สรุปก็คือ ถ้าใครไม่เชื่อฟังครูเจี๊ยะ คนนั้นต้องโดนเอาบอระเพ็ดยัดปาก บอระเพ็ดมันขม เด็กก็ไม่กล้าซุกซน เงียบดีอยู่ในระเบียบเหมือนผ้าพับไว้

แต่ทีนี้เมื่อมันกลับบ้าน มันขมบอระเพ็ด มันคงกินข้าวไม่อร่อย ก็ขมปากฮิ มันก็ฟ้องพ่อแม่มันว่า “ครูเจี๊ยะเอาบอระเพ็ดยัดปาก กินข้าวไม่อร่อย” เท่านั้นแหละเป็นเรื่องเลย แม่มันมาฟ้องที่โรงเรียน มีเรื่องมีราว

“กินบอระเพ็ดเพียงแค่นั้นมันจะตายห่าอะไรกัน เด็กมันซุกซนคุยเก่ง” (หลวงปู่พูดจบ ก็หัวเราะแบบสบาย ๆ ของท่าน) เราก็พูดของเราไปตรง ๆ อย่างนี้ แต่พ่อแม่เด็กเขาไม่ชอบ

สมัยเป็นเด็กมีเพื่อนฝูงก็ทะเลาะเบาะแว้งกันตามประสาเด็ก ๆ บางทีก็รักกัน บางทีก็ชังกัน เป็นไปตามฆราวาสวิสัยที่ไม่ค่อยอยู่ปกติสุข ส่วนเรื่องบุญเรื่องบาปยังไม่ได้คิดใคร่ครวญอะไรมากนัก แต่เชื่อว่าบาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี พระนิพพานมี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามที่พ่อแม่สั่งสอน แต่ความเชื่อนั้นก็เป็นไปตามประเพณีที่ทำสืบๆ กันมา เชื่อสืบๆ กันมาไม่ได้เชื่อเพราะรู้จริงเห็นจริงตามเหตุผลแต่อย่างใด


โยมกิ่ม ยายของหลวงปู่

คำสอนยาย
“พวกเราเป็นพุทธมามกะ” หลวงปู่ชี้มาทางพวกเราทั้งหลาย ที่นั่งฟังประวัติที่ท่านเล่าอยู่ “ต้องมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาอยู่ที่หัวใจเรา ไปถูกอะไรมาก็แคล้วคลาด”

ไปค้าขายคราวนั้นโยม (พ่อ-แม่) ให้ไปซื้อกระดานโลงที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ไปกับก๋งแก่ๆ พอดีเกิดพายุใหญ่มา เราก็กางใบ พอกางใบปั๊บเรือก็พัดหันหัวเกยตลิ่งเลย ถ้าไม่เกยตลิ่งตะบันก็แตกหมด คลื่นมันใหญ่ ลมจัด ตรงนั้น ลมจัดคลื่นกระหน่ำใหญ่ ก่อนไปยายสอนให้ภาวนานึกว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง” อานุภาพแห่งรัตนะเหล่านี้จะช่วยเราได้

พอไปก็เกิดพายุลมแรง คลื่นใหญ่กระหน่ำโครมๆ ครืนๆ มองดูลมดูคลื่นใหญ่ขนาดนี้ เสียงลมดัง วี้ด! วี้ด! หมุนทะลวงๆ จะตายแล้วนึกอะไรไม่ออก ก็พอดีก่อนมายายสอนให้ภาวนาว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง” ก็น้อมเอาอันนั้นมาบริกรรมในใจ ใจมันจ่ออยู่กับคำบริกรรมนั้น ไม่กลัวตาย พอว่าสักเดี๋ยวเดียวลมหยุด หยุดอย่างน่าอัศจรรย์

ทีหลังไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ไปเล่าให้ท่านฟังว่า
“ครูบาจารย์ผมไปค้าทางเรือ ไปซื้อไม้มาทำโลง แล้วพายุมาจัด ผมก็ว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง” ซักเดี๋ยวลมก็หยุด”
“เอ้า! ก็มันเป็นของดีนี่ ของดีก็ต้องหยุดซิ”
ท่านพระอาจารย์ท่านก็ว่าอย่างนั้นเลย

ฉะนั้นเราไปไหนที่มีอันตราย ก็ต้องนึกถึง “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง” พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด นะโมพุทธายะ นะมะอะอุ

สมัยเป็นหนุ่มทำมาค้าขายสนุกได้เงินแยะ เราเกิดมาก็เหมือนโลกที่เขาเกิดกันคือโดยส่วนมากไม่สนใจธรรมะ เห็นธรรมะเป็นเรื่องไม่จำเป็นอะไร สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน ทำยังไงจะได้เงินมากๆ จะได้มีคนนับถือ ไม่อายเขา ส่วนเรื่องธรรมเป็นเรื่องความพอเพียงที่มีเหตุผล ที่บางอย่างชาวโลกเขาก็ไม่ค่อยยอมรับกัน ถ้าเราละจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เราก็ไม่มีโอกาสหาชีวิตใหม่ที่พิเศษมากกว่า อันนี้มันอยู่ที่วาสนาด้วยนะ


เป็นกำลังของทางบ้าน
...เราช่วยบิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพ...เป็นกำลังสำคัญของทางบ้าน ทุกๆ วันต้องไปสีข้าว หมดหน้าข้าวก็ทำทุเรียน เป็นอย่างนี้อยู่เป็นประจำทุกปี ตอนเด็กๆ ร่างกายแข็งแรงมาก หาบทุเรียนกวนข้างละปี๊ป รวมน้ำหนัก ๕๐-๖๐ กิโลกรัม หาบเดินประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร ไม่เจ็บป่วย ไม่กินเหล้าเมายา การพนันเอาบ้าง เช่น เล่นบิลเลียด ปั่นแปะ เล่นไพ่ป๊อก ไพ่จีน ไพ่ผ่อง เสียพนันทีก็ ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐

ตอนหนุ่มๆ งูใหญ่ๆ ใครไม่กล้าตี เราตีสะเด็ด (ตาย) หมด งูหลามมากินไก่เราฟาดแม่งมันตายห่า เกลี้ยง ! เราไม่เคยโดนงูกัดเลย ตอนนั้นที่ทำอย่างนั้นเพราะยังไม่มีใครสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร



หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร

ก่อนบวชถูกสบประมาท
ก่อนบวชชอบเลี้ยงปลากัดกับ (ไอ้)สมบัติผู้เป็นน้องชาย เวลาเข้าวัดเตรียมตัวเข้านาคก็มีเพื่อน คือไอ้อ๊อดเข้าคู่กัน ถึงวันก็จะบวชพร้อมกันเป็นนาคคู่ พ่อแม่ก็นำเข้าไปฝากกับ ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ตอนจะบวชใครๆ เขาก็พูดไว้ว่า

“ไอ้เจี๊ยะนี่...มันบวชไม่ได้หรอก ถึงบวชได้ก็คงไม่พ้นที่จะสึกกลางพรรษา ส่วนไอ้อ๊อดมันเป็นคนเรียบร้อย คงจะบวชได้นานอยู่หรอก” แต่ที่ไหนได้ไอ้อ๊อดบวชได้ไม่กี่วันก็สึก อย่างนี้แหละ คนมันก็ชอบมองแต่อย่างนี้แหละ

หลวงปู่เล่าถึงตอนนี้ท่านแสดงถึงความสนุกในวัยเด็กของท่าน “ก็ใครเขาจะเชื่อ เรามันดื้อยังกะลิง เป็นตัวแสบประจำหมู่บ้าน” ท่านพูดแล้วก็หัวเราะพร้อมกับงัดบุหรี่ออกมาสูบแบบมวนต่อมวน โดยไม่สนใจไยดีในสายตาที่จ้องมอง“หมอเขาไม่ห้ามหรือปู่ หลวงปู่ก็ไม่ค่อยสบาย”

“หมอเขาก็ห้ามเหมือนกัน หมอมันห้ามเราได้เพราะหมอมันไม่สูบ ส่วนหมอคนที่มันสูบมันก็ไม่ค่อยห้ามเรา คนที่ไม่สูบบุหรี่ตายก่อนเราก็มีเยอะ นี่ ๘๐ กว่าแล้วยังไม่เห็นตาย เลิกตอนนี้เสียเชิงละสิ หมอเขาก็พูดถูก แต่เตือนช้าไปหน่อย จะเข้าโลงแล้วค่อยมาเตือน” ท่านพูดพร้อมๆ ไปกับการหัวเราะอย่างขบขัน

“ก็สมัยก่อนเขานิยมกันว่าเป็นเรื่องดิบดี สูบไม่เป็นยังต้องหัดให้เป็น แต่มาสมัยปัจจุบันนี้มันเป็นเรื่องเสียหาย ความนิยมมันขึ้นอยู่กับยุคสมัยและความนิยมชมชอบ ถ้าเขานิยมสิ่งใดเขาก็ว่าสิ่งนั้นดี เหมือนสมัยปัจจุบันนี้เขานิยมแต่งตัวโป๊ๆ หรือนิยมใช้สิ่งของสุรุ่ยสุร่ายเกินตัว คนเขาก็ไม่เห็นว่ามันเสียหาย แม้แต่สามีภรรยายังชื่นชอบกัน ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหายหรืออันตราย การแต่งตัวโป๊อันตรายหรืออาจจะตายง่ายกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก แต่ชาวโลกเขานิยมจึงเหมือนไม่มีพิษมีภัย การสูบบุหรี่ก็เช่นกันเราสูบมาตั้งแต่ ๖๐ กว่าปีคืนหลัง มันเป็นความเคยชินมากกว่าติด คนทุกวันนี้มันไม่ติดบุหรี่หรอกเพราะมันมีอย่างอื่นให้ติด อันตรายมากกว่าบุหรี่เป็นไหนๆ” ท่านกล่าวพร้อมกับหัวเราะในเรื่องโลกธรรม อันเป็นกริยาสอนเราได้อีกทางหนึ่งที่มักคิดในแง่มุมเดียว


ฉายาก่อนบวช “ไอ้ตัวแสบ”
พุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลก ไม่มีสิ่งใดที่จะเปรียบเทียบในบรรดาศาสนาทั่วสกลโลกนี้แล้ว จะเอามาเปรียบเทียบไม่ได้เลย ผิดกันไกลราวฟ้ากับดิน ทำไมถึงว่าเช่นนั้น

เรานี่...เป็นคนซนที่สุด แก่น ดื้อ พ่อแม่พอมีอันจะกิน ฐานะดีอยู่ แต่ไม่ได้เคยสนใจในเรื่องธรรมะเลย มัวแต่เที่ยวซุกซนตามประสาคนหนุ่ม คือว่าไม่มีวี่แววที่จะสนใจในเรื่องธรรมะเรื่องศาสนาเลยแม้แต่น้อย แต่เราคงมีบุญเก่าอยู่บ้าง บุญนั้นแหละชักจูงนำพาเข้ามาทางพระศาสนา ประกอบกับบิดามารดาเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อเรื่องบาปกรรมอยู่เป็นพื้นเพนิสัยอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชักจูงเราให้เข้ามาทางศาสนาได้ บทเวลาได้มาบวช ใครๆ เขาก็แปลกใจ เพราะมันนิสัยขัดกับศาสนาที่อยู่ในกรอบอันดีงาม และมีระเบียบเรียบร้อย แต่สำหรับศาสนาเป็นเครื่องหล่อหลอมอยู่แล้ว และสอนมุ่งเน้นลงที่ใจ เมื่อเราเป็นคนจริงอยู่แล้ว จึงง่ายต่อการปฏิบัติ เพราะคนจริงย่อมถึงธรรมอันเป็นความจริง ไม่มากก็น้อย

ใครๆ เขาก็แปลกอกแปลกใจที่เรายอมบวชแต่โดยดี ทั้งๆ ที่ชีวิตนี้ยังไม่เคยท่องคำว่า “นโม ตสฺส ฯลฯ” แม้แต่ครั้งเดียว เราไม่เคยดูถูกบุญ ดูถูกพระ แต่ตอนนั้นมันห่วงสนุกซุกซนไปตามเรื่องไปตามวัย คนทั้งหลายเขาเรียกว่า“ไอ้ตัวแสบ” ไม่ใช่นักเลง แต่ไม่เกรงกลัวใคร แม้แต่นักเลง... เล่นอะไรก็ตามห้ามโกง เสียเท่าไหร่ไม่ว่าแต่อย่าโกง



http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__paragraph__paragraph__paragraph__paragraph__11_162.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

จากซ้าย : หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท, หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร,
หลวงปู่บุญมี ปริปุณฺโณ, หลวงปู่เพียร วิริโย และหลวงปู่ลี กุสลธโร

ภาพ : เว็บไซต์ลานธรรมจักร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤษภาคม 2557 17:32:38 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2557 17:30:38 »

.



การสร้างสมบุญไว้ไนชาติปางก่อน
การเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ถือได้ว่าเกิดมาในฐานะอันสมควร เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทุกๆ คน นับว่าเป็นผู้ที่มีบุญกุศลได้สร้างสมไว้ในชาติปางก่อน คนบางคนเกิดมาตาบอด หูหนวก ใบ้บ้า เสียจริตนานาอย่างนี้เป็นต้น เป็นผลแห่งกรรมชั่วที่ตนเองเคยสร้างสมเอาไว้ ส่วนบุคคลผู้ได้สร้างสมกรรมดี ก็เกิดมามีหูตาดี ลิ้น กาย ใจต่างๆ นานาล้วนดี เป็นผู้มีจิตใจหมดจดงดงาม ซ้ำยังแถมเกิดในตระกูลดี มั่งมีศรีสุข น้ำถึงปาก ข้าวถึงปาก โดยไม่เหนื่อยยากแต่อย่างใด นี่แสดงว่า “ปุพฺเพกตปุญฺญตา” เราได้สร้างสมบุญมาดีแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้สร้างสมบุญมาดีอย่างนั้น ก็สมควรที่จะบำเพ็ญความดีอย่างนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ว่ามนุษย์เราเมื่อเกิดขึ้นมาในโลก ขาดการได้ยินได้ฟัง ขาดการอบรม สั่งสอนจากครูบาอาจารย์ หรือธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเช่นนี้ มันก็ต้องเพลิดเพลินอยู่กับโลก เพราะมีบรรพบุรุษคือบิดามารดาเป็นอาจารย์สำคัญเป็นบุพพาจารย์ผู้ชักจูงแนะนำ"

เมื่อชีวิตในวัยเด็กผ่านมาจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว บิดามารดานั้นก็ต้องการจะให้มีเหย้ามีเรือนสืบสกุลอย่างนี้เป็นต้น เป็นธรรมดาของโลกเมื่อการสืบสกุลอย่างนั้น ก็เท่ากับว่านำทุกข์มาให้กับลูกเต้า แต่ว่าก็เป็นธรรมดาของโลก เพราะว่าบิดามารดานั้นเป็นผู้มีความชำนิชำนาญในเรื่องโลก ไม่ตระหนักในธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่นักปฏิบัติจริงจัง ที่ได้เห็นธรรมได้เกิดขึ้นในดวงใจของตนเองเช่นนั้น มันก็ต้องแนะนำลูกเต้าเข้าไปอย่างนั้น ไปสู่ความทุกข์ยากลำบากกังวลนานาประการ

ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นดวงตาของโลกรู้เห็นธรรม เห็นโลกเป็นสิ่งที่ร้อน เป็นที่หมกมุ่น กระวนกระวายเดือดร้อน ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีความสงบสุข

เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้ประทานธรรมะคำสั่งสอน ให้บรรดาพุทธบริษัทเข้ามาประพฤติปฏิบัติศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด อย่างนักบวชอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเป็นนักบวชท่านจึงเรียกว่า “สมณะ”

ทีนี้อาศัยกัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญ ในตำราท่านจึงว่า “อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” การคบค้าสมาคมกับคนดีกับบัณฑิตนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ได้ครูบาอาจารย์ที่ท่านตั้งอกตั้งใจปฏิบัติแล้ว ท่านมีธรรมะในใจ ท่านก็แนะนำพร่ำสอน ก็เลยบวชมาได้อย่างนี้

เพราะฉะนั้นการบวชนี้ ถ้าแม้นว่ามองให้ลึก พิจารณาให้ซึ้งไปแล้ว มันไม่ใช่ของธรรมดา เป็นคุณสมบัติของกษัตริย์ทีเดียว เพราะเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นกษัตริย์ เป็นผู้มีศิลปวิทยาการต่างๆ เป็นผู้มีความสามารถทุกประการ แม้แต่วิชารบนานาประการที่พระองค์คล่องแคล่ว ธนูมีอันหนึ่งเป็นธนูโบราณ อันนั้นไม่มีบุคคลใดๆ ที่จะสามารถยกขึ้นได้ พระองค์ก็สามารถจะยกธนูอันนั้นยิงไปได้เลย ทั้งยกด้วยกำลังอย่างมหาศาลของพระองค์ เป็นผู้มีความสามารถฉลาดคล่องแคล่วทุกๆ ประการ แต่ว่านิสัยสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ได้บำเพ็ญโปรดเวไนยสัตว์ที่ได้สั่งสมบารมีในอดีตชาติมาแล้ว เมื่อเกิดเป็นกษัตริย์อย่างนั้นก็เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อพบเห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้นพระองค์จึงคิดหาทางที่จะบรรพชา ออกไปบำเพ็ญสมณธรรม เป็นเครื่องสลัดตนออกจากโลก เมื่อดำริอย่างนั้นเป็นที่ตกลงแน่นอน จึงทรงออกบวชไปบำเพ็ญตบะอยู่เป็นเวลา ๖ ปี จึงได้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วได้วางสิกขาบทวินัยไว้ให้พระสงฆ์ทั้งหลายสืบเนื่องมาจนถึงพวกเราทุกวันนี้


บวชตามประเพณี
การบวชนั้น มาทุกวันนี้เราถือเป็นประเพณีกันเสียแล้ว บวชเพียง ๓ เดือน ๒ เดือน ๑๕ วัน ๑ เดือน อย่างนี้มันคล้ายๆ กลายเป็นประเพณี ไม่ใช่บวชหนีโลก หนีสงสารอย่างนี้ ถ้านึกถึงการบวชที่จริง แม้แต่เราเองแท้ ๆ ก็บวชตามประเพณีเช่นเดียวกัน เป็นอย่างนั้น อายุครบ ๒๐ ปี งานกำลังเยอะจึงบอกโยมว่าอย่าเพิ่งบวชเถอะ ปีนี้งานเราเยอะ พอถึงวันอายุ ๒๑ ปี ก็ได้เข้ามาบวชบวชก็บวชไปอย่างนั้น นะโม ตัสสะ ฯลฯ อะไร ๆ ก็ว่าไม่ค่อยจะเป็น สวดมนต์ไหว้พระก็ไม่เป็นสักบท เข้ามาด้วยความเป็นคนดิบ เหมือนไม้สดเข้าไปในเตาที่ไม่ได้ลิดกิ่งลิดก้าน เข้าไปอย่างนั้นอีเหละเกะกะนานาประการต่างๆ ก็ได้มาอยู่เบื้องต้นกับท่านอาจารย์กงมา ท่านเป็นอาจารย์ผู้ปกครอง ส่วนท่านพ่อลีของเราในสมัยที่เข้าไปบรรพชาอุปสมบท ท่านเป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นคู่สวด ความจริงตั้งใจบวชเดือน ๑๒ ก็จะสึก มันมีความหมายอยู่สำหรับพระหนุ่ม คนหนุ่ม เป็นเช่นนั้น เกือบๆ จะไปเกี่ยวข้องกับผู้หญิงเข้า มันเป็นเช่นนั้นชีวิตในวัยหนุ่ม

  พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร)

หวังบวชก่อนเบียด
พออายุครบบวช ก็มีความปรารถนาจะบวช แต่ก็ติดเรื่องเกณฑ์ทหาร จึงรอเกณฑ์ทหารเสียก่อน หลังจากเกณฑ์ทหารที่จันท์ไม่ถูก เพราะได้ประเภทดี ๒ คัดออกไว้ก่อน เขารับสมัครทหารใหม่ ๔๐ กว่าคน มีคนมาสมัครครบจำนวน เราจึงรอดตัวไม่ต้องเป็นทหาร เมื่อเกณฑ์ทหารเสร็จแล้วก็ยังไม่ได้บวชอีก หลังจากเกณฑ์ทหาร ๒ ปีถึงได้บวช มีความคิดไว้ในใจว่า บวชเสร็จสึกออกมาค่อยแต่งงานกับคนที่เรารัก พอบวชไปแล้วสมาธิมันเกิด มันไม่สนใจทางโลกอีกเลย

การอุปสมบทในครั้งนี้ เราเป็นผู้มีจิตศรัทธาขึ้นมาเอง อยากบวชด้วย เบื่อด้วย เบื่อพี่สาวมัน เราทำงานแทบตาย ขอเงินก็ไม่ค่อยจะให้ มีเท่าไหร่เก็บเรียบ จึงเป็นเหตุให้บวชอยู่อันหนึ่งเหมือนกัน การบวชไม่มีใครมาบังคับชักชวนแต่อย่างใด เพียงเพราะในใจคิดว่า สมควรแก่เวลาและอายุที่จะทดแทนบุญคุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายได้แล้ว อีกทั้งในขณะนั้นพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ก็จาริกธุดงค์มาประกาศเทศนาธรรมให้คนทั้งหลายละชั่วสร้างความดีในจังหวัดจันทบุรี และก็เดินทางมาที่บ้านหนองบัวซึ่งเป็นบ้านเกิดของเรา ซึ่งในสมัยนั้นพระกรรมฐานแถบทางภาคตะวันออกยังไม่ค่อยมี ก็มีท่านพ่อลี ธมฺมธโร และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ นี่แหละเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ชาวพุทธทางภาคตะวันออกถึงได้ทราบเรื่องราวของพระกรรมฐานและการภาวนา


นาคเจี๊ยะ
การเตรียมตัวอุปสมบทต้องไปเป็นผ้าขาว รักษาศีลประพฤติธรรม เรียนรู้วัตรปฏิบัติที่จะพึงกระทำ ต่อวัดและครูบาอาจารย์ จนท่านเห็นว่าสมควรก่อนท่านถึงจะให้บวช ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่ได้ ท่านก็ยังไม่ให้บวช ธรรมเนียมพระป่ากรรมฐานท่านเคร่งครัดนักเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ามาจากไหนจะมาบวชได้ง่ายๆ ต้องได้รับการฝึกอบรมเสียก่อนถึงจึงจะบวชเป็นพระได้แม้ตัวเราเองก็เช่นกันต้องเป็นตาปะขาว รับใช้ติดตามครูบาอาจารย์อยู่ตั้งหลายเดือน ในระหว่างนั้นต้องหัดขานนาค ออกเสียงอักขระฐานกรณ์ที่เป็นภาษามคธให้ถูกต้อง เสียงทีฆะรัสสะ เสียงออกนาสิก เสียงโฆสะ อโฆสะ ฯลฯ และต้องฝึกกราบ ต้องหัดภาวนาเรียนกรรมฐาน ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านอาจารย์กงมาเป็นประจำทุกเช้าเย็น ก่อนที่ยังไม่ได้โกนศีรษะ ด้วยความซุกซนอันเป็นแบบฉบับส่วนตัว ก็ได้แอบหนีมาเยี่ยมบ้านเหมือนกัน แต่เมื่อโกนศีรษะรับศีลเป็นตาปะขาวเต็มตัวแล้วก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย จนกระทั่งได้บวช

จิตรวมตอนเป็นนาค
ครั้งหนึ่งตอนที่มาเข้านาคได้ไม่นานนัก อยู่ระหว่างการฝึกขานนาค ท่องบทสวดต่าง ๆ คืนหนึ่งฟังเทศน์ท่านอาจารย์กงมาฯ ท่านเทศน์ตามปกติทุกๆ วัน ท่านก็แสดงธรรมของท่านไปเรื่อยๆ เราก็ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ เราก็ภาวนาพุทโธอยู่อย่างนั้น นั่งเข้าสมาธิฟังเทศน์อยู่อย่างนั้น อันนี้มันก็เป็นเหตุที่แปลกอยู่นะ
พอเรานั่งภาวนา ฟังไปๆ จิตอยู่กับคำบริกรรม หูก็ได้ยินเสียงเทศน์ไป คือจิตก็ทำหน้าที่ของมัน หูก็ทำหน้าที่ของมัน มันเกิดเป็นสมาธิ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นสมาธิ มันรวมจนกระทั่งว่าไม่มีตัว ไม่มีตน ตัวตนหายหมด แล้วก็ปรากฏภาพนิมิต ที่ตัวเองนี้มาปรากฏหมอบลงไปฟุบกับกองทรายที่เป็นทรายขาวอยู่ในบริเวณวัดนั้นอย่างชัดเจน ตัวนี้อ่อนไปหมด ปรากฏว่าในขณะนั้นเราปรากฏว่าตัวเองไม่มีตัวตน จนกระทั่งท่านแสดงธรรมจบลง เราถึงรู้สึกตัว ตอนนั้นท่านแสดงธรรมนานมาก ทีหนึ่งเป็นชั่วโมงๆ ขึ้นไป เมื่อจิตถอนออกมา ออกจากที่ภาวนาก็คลานเข้าไปถามท่าน ว่า “ท่านอาจารย์ครับ เมื่อตะกี้ทำไมผมนั่งฟังเทศน์ท่านอาจารย์ ผมไม่มีตัว ตัวผมหายไปไหน แต่สักประเดี๋ยวตัวผมนี่ ไป...ไปหมอบอยู่ที่...ที่กองทรายนั่นน่ะ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

คำถามนี้เราถามท่าน เพราะก็อธิบายไม่ถูก และไม่รู้จะถามท่านอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเป็นเช่นนี้ ที่กล้าถามท่าน เพราะความตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ ที่ชีวิตหนึ่งชีวิตนี้เราได้เห็นอย่างนั้น

ท่านก็บอกว่า “ไม่เป็นไร...เออ...ทำไป...ทำไป...ดีแล้วนะ” ท่านว่าอย่างนั้น เราก็ภูมิใจว่าเราทำถูกต้อง การมีครูบาอาจารย์ดี ท่านรู้จริงผ่านการปฏิบัติมา สอนแบบมีหลักเกณฑ์ไม่สุ่มเดาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจารย์เป็นบัณฑิตท่านก็ย่อมสอนในแนวทางเจริญเพื่อความเป็นบัณฑิต แต่ถ้าอาจารย์โง่เขลาสอนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า มันก็เหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด อาจารย์ก็ตาบอด แล้วจะมาสอนลูกศิษย์ที่ตาบอดอยู่แล้วให้ตาดี อันนี้มันเป็นไปได้ยากยิ่งนัก

นี่...แหละขั้นต้นแห่งการเข้ามาสู่วัด เป็นขั้นต้นที่จะเข้ามาบวช เริ่มแรกจิต มันเป็นอย่างนี้มันก็เป็นการปูพื้นฐานทางด้านจิตใจ ให้ฝักใฝ่ในคุณธรรมที่สูงๆ ขึ้นไป อันเป็นการเลื่อนขั้นของจิตให้สูงขึ้น เพราะจิตมนุษย์มีหลายขั้นหลายตอน จิตหยาบจิตละเอียด และอาศัยบุญวาสนาเป็นเครื่องหนุนส่งอยู่เบื้องหลัง เมื่อเรามีบุญเคยสร้างบุญมาแต่ชาติปางก่อน ประกอบกับเกิดมาเจอพุทธศาสนา อันเป็นประเทศที่สมควรแก่การประพฤติธรรมยิ่ง ประการสุดท้ายถ้าเราตั้งตนไว้ชอบแล้ว การภาวนาก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้

ในชีวิตเราเกิดมาก็ไม่เคยพบความสงบอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตมันก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า “นั่นอะไรล่ะ...ความสุข” การเข้ามาวัดวา เมื่อปฏิบัติได้ก็เป็นอย่างนี้

ชีวิตที่จะมีความสุขอันแท้จริงในโลกมันไม่มี แต่เราเข้าใจว่ามี ถ้ามองให้ลึกซึ้งอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแล้ว ไม่มีเลยความสุขในโลก ความสุขอันนั้นเป็นความสุขอันเจือไปด้วยความเร่าร้อนกระสับกระส่าย อย่างมีเงินมากๆ ก็กลัวเขาจะจี้ปล้น กลัวเขาจะมาแย่งมาชิงไปเรียกค่าไถ่ สารพัดสารเพ ต้องเป็นทุกข์กังวลรักษา ฝากที่นั่นที่นี่ก็ไม่ดี พกไปมากก็ไม่ดี กลัวจะถูกจี้ จะถูกปล้น จะถูกฆ่าตาย...นี่...สารพัดสารเพ กลัวคนอื่นจะแย่ง คนนี้จะแย่ง พี่น้องอย่างนั้นอย่างนี้ สารพัดใจนั้น คิดไปทุกแง่ทุกมุม นั่น...ใจอย่างนั้น ใจมันก็กังวล ใจเดือดร้อนวุ่นวายอย่างนั้น ไม่ใช่ใจที่สงบ อย่างที่เรามาทำอย่างนี้ มันก็มุ่งเพื่อความสงบ แต่ก็ต้องอาศัยการนึกคิด เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มันจะมาก่อกวนความไม่สงบของใจ เพราะการว่า หรือการบริกรรมอันใดอันหนึ่งอย่างนี้ มันเป็นเครื่องต่อสู้กันนี่ ต้องเข้าใจอย่างนั้น

สมมุติว่าใจเรานี้ไม่สบาย มันไม่สบายอันใด ก็จ้องเอาสิ่งนั้นมาคิด ทำไมอันนั้นไม่สบายใจ ไปวิตกอันใดใจจึงไม่สบาย เอาเรื่องนั้นมาพิจารณาๆ ซักไม่เกิน ๕ นาที ใจนั้นก็จะเกิดความสงบ ใจก็สบาย แต่ทีนี้เราไม่เป็นอย่างนั้น ยิ่งคิด ยิ่งโศก ยิ่งเศร้า ยิ่งอาลัยอาวรณ์สิ่งอันนั้นให้เกิดขึ้น ใจก็ยิ่งเหี่ยวยิ่งแห้ง ยิ่งไม่มีกำลังวังชา หมดเรี่ยวแรง เลยป่วยไข้แทบตาย บางทีก็ตายเลย นี่มันเป็นอย่างนั้น นี่ไม่ใช่วิธีต่อสู้ มันไม่ใช่วิธีผลักดันเพื่อความเป็นผู้ชนะ มีแต่แพ้อยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นไม่ใช่นักรบ ยื่นคอไปให้เขาฟันเลยนี่เป็นเช่นนั้น


พ่อแม่ลำบากเลี้ยงเรา
เมื่อเข้ามาเป็นนาคได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ให้หวนรำลึกถึงบุญของบิดามารดาว่าท่านลำบากมากนะที่เลี้ยงเรามา ฟังพระท่านเทศน์แล้วทำให้คิดว่า การมีครอบครัวเป็นความทุกข์อย่างมหันต์ เหมือนตกนรกทั้งเป็น แต่คนเราที่จะมองออกนั้นมองยาก เพราะถ้าจิตใจไม่สงบจริงๆ จะมองไม่เห็นโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ได้เลย ถึงมองออกก็ไม่ชัดเจน ไม่ถึงจิตถึงใจ แทนที่จะเห็นเป็นยาพิษ แต่กลับเห็นเป็นแค่ขนมหวานๆ ชวนลิ้มชวนลอง ใจคนที่มีกิเลสส่วนมากก็ต้องคิดอย่างนั้น คำโบราณท่านว่าไว้น่าฟังมากว่า “ดีๆ เอาไว้ให้ลูก สุกๆ เอาไว้ให้เมีย เสียๆ เอาไว้กินเอง”

อันนี้ถูกต้องที่สุด ผู้ชายดีๆ ที่เขามีครอบครัวทางโลก เวลาทุกข์เวลาจนนั้น อย่างเช่นเดินเข้าไปในป่าอย่างนี้ ไปเจอต้นมะม่วงลูกดกร่วงลงมา ลูกสวยๆ เอาไว้ให้ลูกกิน ลูกสุกๆ เอาไว้ให้เมีย ลูกเสียๆ เอาไว้กินเอง แต่เวลากินลูกเสียๆ ไม่ค่อยบอกลูกบอกเมีย เก็บไว้กินคนเดียว บางทีเขาจึงพูดแซวคนที่แต่งงานกันว่า “สวยๆ เอาไว้ให้ลูก สุกๆ เอาไว้ให้เมีย เสียๆ เอาไว้กินเอง” นั่นชีวิตทางโลกมันเป็นอย่างนั้น

ดีๆ เอาไว้ให้ลูก อันไหนสิ่งใดที่ดีๆ เก็บงำรักษาแสวงหาไว้ให้ลูกหมด คนที่เป็นพ่อเป็นแม่จึงลำบากมาก ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ทีนี้เมื่อคิดอย่างนั้นก็ยิ่งทำให้เราคิดมาก มาอยู่วัด ๙ วัน ๑๐ วัน คิดถึงสาวแทบเป็นแทบตาย พ่อแม่เลี้ยงมาแทบเป็นแทบตาย ยังไม่ได้ทดแทนพระคุณยังจะมานึกฝันหวานไปว่า “บวชสึกแล้วจะไปแต่งงานกับแป้ง (คนรัก)” แทนที่จะคิดเรื่องพ่อเรื่องแม่ก่อน ใจมันกลับไปคิดถึงเรื่องผู้หญิงก่อน เพราะสัญญากันไว้ว่า บวชเสร็จ สึกแล้วจะไปขอ


บิดามารดาเป็นผู้ที่เกื้อกูลอุปการะเลี้ยงดู
คนเราทุกคนเมื่อไม่ได้เข้ามาอบรม มันก็เป็นสิ่งที่ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเรานั้นมีธรรมะอยู่ในตัวของเรา แต่เรายังไม่ได้ใช้ เราเอาไปใช้กับโลกทั้งหมด เลยไม่เป็นอันที่จะเอามาใช้ในทางธรรม ความดีมันอยู่ที่ตัวเรานี่ที่จะต้องทำ แต่ทีนี้เรามีพ่อมีแม่ พ่อแม่ก็มีคุณสมบัติในเรื่องทางโลก ต้องการให้ไปหาเงินหาทอง และต้องการให้มีครอบครัว นี่...ถ้าว่าถึงความจริงละก้อ มันเป็นตัวถ่วงอย่างมหันต์ มองดูให้ลึกๆ มองดูให้ถึงใจที่สงบแล้ว การมีครอบครัว มีลูกมีเต้า เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน นั่นแหละมันแสนที่จะกังวลเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีเวลาที่จะได้ทำบุญทำทาน โอกาสเวลาจะนั่งภาวนาก็ไม่มี แต่คนเราไอ้ทางโลกมันนิยมกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก เมื่อเป็นอย่างนั้นเข้าแล้วการที่นั่งภาวนารักษาศีลมันก็ไม่ค่อยมีเวลา

ฉะนั้นทุกคนที่เกิดขึ้นมาบนโลก ต้องการความสุขอันแท้จริงของชีวิต แต่คนเราที่เกิดขึ้นมาในโลกแล้ว มันก็ย่อมมี ราคะ โทสะ โมหะ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้เข้ามาครอบงำหัวใจ โดยที่เราไม่เคยฝึกหัดอบรมในสิ่งเหล่านี้ มันก็ย่อมลุ่มหลงไปตามธรรมดาของโลกเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เราเกิดมาทุกคนก็มีบิดามารดาเป็นผู้ที่เกื้อกูลอุปการะเลี้ยงดู เป็นปัจจัยสำคัญในชีวิต ถ้าไม่ได้ท่านทั้งสองเป็นผู้เลี้ยงดูอุดหนุนแล้ว ชีวิตก็ต้องแตกดับทำลาย หรือเป็นคนที่พิกลพิการต่างๆ นานา อย่างนี้เป็นต้น เมื่อวัยพอสมควรเลี้ยง ทะนุถนอมเลี้ยง พอมีวัยพอสมควรก็ให้การศึกษาเล่าเรียน อย่างนี้จนกระทั่งได้รับการศึกษาจนสำเร็จนิติภาวะ เป็นผู้ที่ได้สำเร็จในการศึกษาดีแล้ว หน้าที่บิดามารดาก็ต้องคิดให้สร้างโลกสร้างสงสาร เพื่อที่จะได้สืบตระกูลไปอย่างนั้นตามธรรมดาของใจ มันก็มีความปรารถนาดิ้นรนกระวนกระวายอยู่อย่างนั้น แล้วก็เลยต้องตามใจผู้ปกครองเรียกว่าบิดามารดาของเรา

การกระทำเช่นนั้น พระพุทธเจ้าทรงติเตียนประการหนึ่งโดยชั้นธรรมะสูงๆ แต่ก็ต้องเป็นตามนิสัยสัตว์โลกเปลี่ยนแปลงในภาวะ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

จนสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ขั้นพุทธกาล จนมาถึงพวกเราปัจจุบันนี้ สืบเนื่องกันมาอย่างนี้ แต่ว่านั่นแหละ ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อบุคคลได้เข้ามาอบรมฝึกหัด ปฏิบัติทำใจให้เกิดความสงบแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความเบื่อหน่ายในวัฏฎสงสารของโลกทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามองกันในแง่ของวัตถุนานาประการแล้ว ความเจริญ ความรุ่งเรือง ก็น่าเป็นที่ลุ่มหลงเพลิดเพลิน น่ายินดี สนุกสนานร่าเริงด้วยประการต่างๆ ถ้ามองเข้ามาภายใน คือเรียกว่า ขจัดปัดเป่าใจของเราให้สงบแล้วอย่างนั้น เมื่อในขณะที่ใจของเราสงบอย่างนั้นแล้ว มองออกไป นึกคิดออกไปอย่างนั้น ก็มีแต่ผลสะท้อน คือให้ความวุ่นวายของใจนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นี่เพราะฉะนั้น พวกที่มีคุณธรรมอย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรืออริยสาวกผู้ที่ไกลจากกิเลส เหล่านี้เป็นต้น ท่านจึงหลีกเร้นไปอยู่ที่อันสงบสงัดเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวน เป็นอย่างนั้น เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นที่บำเพ็ญความสงบสงัดของใจท่านให้ได้รับความร่มเย็น


การอุปสมบท
เราบวชเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๖.๑๙ น. ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี
พระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูพิพัฒน์พิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้ฉายาว่า “จุนฺโท” แปลว่า “ผู้หมดกิเลสเครื่องร้อยรัด”
ในขณะนั้นเรามีอายุได้ ๒๑ ปี ๑ เดือน กับ ๕ วัน จึงเป็นพระรูปแรกที่ท่านพ่อลีเป็นคู่สวดบวชให้ เมื่อบวชที่วัดจันทนารามเสร็จแล้ว ก็กลับมาจำพรรษาที่วัดทรายงามเป็นเวลา ๓ พรรษา ท่านพ่อลีกับพระอาจารย์กงมาท่านเป็นอาจารย์องค์แรกของเรา....


วัดจันทนาราม
วัดจันทนาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดโบสถ์เมือง ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นวัดราษฎร์ เป็นที่อยู่ของเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี-ระนอง-ตราด เดิมจริงๆ วัดนี้มีต้นจันทน์ใหญ่หลายต้น ตั้งอยู่บริเวณบ่อน้ำในวัดนี้ อาศัยต้นจันทน์เป็นเหตุจึงตั้งชื่อว่า “วัดจันทนาราม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤษภาคม 2557 11:19:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 พฤษภาคม 2557 11:44:52 »

.


พรรษาที่ ๑-๓ (พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒)
   จำพรรษาที่วัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี


วัดทรายงามตั้งอยู่บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  

เหตุที่ได้ชื่อว่า วัดทรายงาม ก็เพราะเหตุที่พื้นที่ในบริเวณวัดเป็นทรายขาวคล้ายสำลีงดงามมาก พระอาจารย์กงมา จึงอาศัยเครื่องหมายนี้ตั้งเป็นชื่อของวัด

วัดนี้มีเนื้อที่ ๓๑ ไร่ ๖๓ ตารางวา ทิศเหนือติดกับโรงเรียน ทิศใต้ติดต่อกับที่นายจู๊ด วิธีเจริญ ทิศตะวันออกติดต่อกับที่นายฉง บุญสร้าง ทิศตะวันตกติดกับถนนหลวง

ชาวบ้านผู้ที่อาสาจะไปนิมนต์พระอาจารย์กงมา มาอยู่ที่วัดทรายงาม มีนายเสี่ยน, นายหลวน, ผู้ใหญ่อึก, นายจิ๊ด, นายซี่, นายแดง รวมเป็น ๖ คน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๙

เมื่อได้พบกับท่านอาจารย์กงมา ก็เข้าไปนิมนต์ ท่านอาจารย์จึงพูดขึ้นว่า “ให้พวกโยมอธิษฐานดูเสียก่อน ถ้าดีก็มารับ ถ้าไม่ดีก็อย่ามา ให้พากันกลับไปเสียก่อน ให้ไปเสี่ยงความฝัน ถ้าฝันดีคอยมารับ ถ้าฝันไม่ดีก็อย่ามา”

ในขณะนั้นนั่นเองนายหลวนก็พูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ขอรับ กระผมฝันดีมาแล้ว ฝันก่อนจะมาเมื่อคืนนี้ คือฝันว่าได้ช้างเผือกสองตัวแม่ลูก รูปร่างสวยงามมาก แต่เมื่อเอามือลูบคลำเข้าแล้ว ช้างเผือกสองแม่ลูกเลยกลับกลายเป็นไก่ขาวไป

ท่านอาจารย์ได้สดับเช่นนั้น นั่งนิ่งพิจารณาว่า “เออ! ดี แล้วถ้าอย่างนั้นเราก็ตอบตกลงที่จะไปบ้านหนองบัว วันพุธขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๗ มีนาคม (๒๔๗๙) ให้มารับ”

เมื่อถึงวันที่กำหนดชาวบ้านก็พากันมารับ ๔ คน คือ นายสิงห์, นายแดง, นายซี่, นายเสี่ยน

ถึงเวลาบ่าย ๔โมงตรง ไปกัน ๒ รูป คือพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ กับสามเณรอีกหนึ่งองค์ เมื่อมาถึงแล้วได้เข้าพักที่ป่าช้าผีดิบ (วัคทรายงามปัจจุบัน) ญาติโยมทั้งหลายที่รออยู่ได้กุลีกุจอพากันทำกระท่อมพอได้อาศัย พอตกเย็นๆ มีคนพากันมาฟังเทศน์เป็นจำนวนมาก เมื่อท่านแสดงธรรมเสร็จทุกคนพากันเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง




อัศจรรย์โก่ขาว
ขอย้อนกลับไปเรื่องไก่ขาว ที่โยมหลวนเป็นคนฝัน แกฝันว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือก แม่ลูก เมื่อลูบคลำแล้ว กลับกลายเป็นไก่ขาวไป

เรื่องความฝันน่าจะเป็นเรื่องเล่น แต่ถ้าความฝันกลายเป็นความจริงขึ้นมาแบบเป็นตัวเป็นตนนี้ความฝันนั้นมันก็นาอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย เรื่องไก่ขาวตัวนี้ก็เช่นกัน ทำให้ชาวบ้านทั้งพระทั้งเณรพากันแตกตื่น เหมือนกับทุกคนจะบอกว่า มันแปลกดีนะ

ไก่ขาวตัวนี้เป็นไก่ของเจ๊กเบ๊ ห่างจากป่าช้าที่พระอาจารย์กงมาพักระยะทาง ๑ ทุ่งนา และต้องข้ามไปอีก ๑ ดอน (ประมาณ ๑ กม.) ในบ้านเจ๊กเบ๊นั้นมีไก่เยอะแยะ คืนวันที่พระอาจารย์กงมา มาถึงป่าช้าผีดิบ ก็เป็นวันเดียวกันกับที่เจ้าของไก่จะจับมันไปต้มยำมาเลี้ยงพระในตอนเช้า เจ๊กเบ๊เข้าไปไล่ตะลุมบอนจับมันในเล้า ตัวไหนก็ไม่เอา กะจะเอาตัวนี้มันอ้วนพีดีนัก เล้ามันสูงจับยังไงก็ไม่ได้ มันหนีตายสุดฤทธิ์ ในที่สุดเจ๊กเบ๊หมดความพยายาม คิดไว้ในใจว่าพรุ่งนี้จะเอาใหม่ คือจะฆ่าด้วยวิธีใหม่ กลางคืนฆ่ายาก จะพยายามฆ่ากลางวันแสก ๆ ด้วยการยิงเป็นต้น พอคิดอย่างนี้เสร็จก็เข้านอนเพราะความเหนื่อยล้าที่ไล่ฆ่าไก่ขาวไม่ได้

พอวันรุ่งขึ้นวันใหม่เท่านั้นแหละไก่ขาวตัวนั้นก็ได้ขันแต่เช้ากว่าเพื่อนเหมือนจะระบายอะไรบางอย่างที่อัดอั้นตันใจ ที่เขาเลี้ยงมาใช่อื่นใดนอกจากฆ่า สัตว์อื่นนอกจากเรานี้หนาไม่มีสัตว์อะไรที่จะซวยเท่า คือเขาเลี้ยงดีอย่างไร ก็เพื่อฆ่าแกงเท่านั้น เพื่อนที่ซวยที่อยู่ไม่ไกลนักอยู่ข้างคอกใกล้เคียงก็คือหมู ตอนเล็กๆ เจ๊กเขาก็เลี้ยงดีเหมือนกันกับเรา แต่พอโตขึ้นอ้วนๆ หายไปทุกที สงสัยไปตาย คิดอย่างนี้ไก่ขาวก็จิตใจไม่ดี เดินกระวนกระวายระมัดระวังภัยในวันนี้เป็นพิเศษเพราะ เมื่อคืนนี้รอดมาได้ วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น คิดๆ เสร็จก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารแต่เช้ามืด เพื่อตุนเอาแรง พร้อมๆ กับความไม่มั่นใจในการลอบหนีออกจากบ้าน

พอได้เวลาอรุณรุ่ง มองเห็นพอสลัวๆ แต่พอมองออกว่าอะไรเป็นอะไร เป็นเวลารำไร เมื่อพระอาทิตย์อุทัยส่องแสง ไก่ขาวก็รีบขัน กระโจนพุ่งโบยบินออกจากเล้า บินร่อนไปจับกิ่งไม้ขันไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ไปที่อื่น มันดันตรงมาที่ชายวัดที่ท่านอาจารย์กงมาอยู่พอดิบพอดี เจ้าของคือเจ๊กเบ๊... ก็ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด พยายามไล่จับและไล่กลับ ไล่มันกลับไปที่บ้านตัวเองได้ถึง ๓ ครั้ง ๓ หน

ครั้งที่ ๓ นี้มันสำคัญมาก ที่จะต้องจารึกไว้ในชีวประวัติของไก่ขาวตัวนี้ มันหนีมาแล้วบุกตะลุยแหวกผู้คนมาถึงกุฏิท่านอาจารย์กงมาเลยทีเดียว เจ๊กเบ๊ก็ไม่กล้าเข้าไปตาม มันก็อยู่ที่นั่นไม่ไปที่ไหนเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ท่านอาจารย์ หากินอยู่ที่นั่น นอนอยู่ที่นั่น แสดงถึงความเป็นผู้เจอะเจอที่สัปปายะ คนทั้งหลายก็มาดูมันอยู่ที่นั่น

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์ย้ายไปนอนกุฏิอื่น เจ้าไก่ขาวมันก็ตามไปด้วย ท่านย้ายไปหลังไหนวันไหน มันก็ย้ายตามไปหลังนั้นวันนั้นเหมือนกัน เป็นอย่างนี้อยู่โดยตลอด ท่านอาจารย์สั่งสอนให้มันขึ้นไปนอนบนต้นไม้ต้นไหน มันก็ขึ้นต้นนั้น บอกให้หยุด...มันก็หยุด! บอกให้เดิน...มันก็เดิน! มันทำให้ท่านรักสงสารเหมือนมันรู้ภาษาท่านพูด

เมื่อท่านอาจารย์อ่านหนังสือวินัย เจ้าไก่ขาวก็ไปอยู่ข้าง นั่งอยู่ข้างๆ นอนอยู่ข้างๆ อย่างน่าอิจฉา มันเหลือบตามองบ้างดูบ้าง ดูหนังสือที่ท่านจับอยู่นั้น คนทั้งหลายก็เฮฮากันมาดู ต่างก็พูดว่า “ไก่ตัวนี้มันเป็นอะไร

ครั้นต่อมาอีกไม่นานนัก คนทั้งหลายก็เที่ยวล้อเล่นกับมัน หลอกมันต่างๆ นานา ด้วยความน่ารัก มันก็ชักจะรำคาญจึงเกิดการเตะตีคนขึ้น เป็นอันว่าใครมากวนมัน มันเตะเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น

เด็กน้อยเด็กเล็กมากัด มาเล่นกับมัน มันเตะหมด ไม่มีใครกล้าทำอะไรมันเพราะมันเป็นไก่ท่านอาจารย์ไปแล้ว มันเตะคนก็อันตรายเพราะเดือนมันยาวๆ

ทายกทายิกาทั้งหลายภายในวัด จึงพากันคิดจะตัดเดือยมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่คน แต่เรื่องนี้เจ้าไก่ขาวมันคงคิดว่าเกิดอันตรายแก่มัน ในที่สุดมันถูกตัดเดือย ถูกตัดความเป็นผู้กล้าของมันออก

“แหม!... มันโมโหเป็นวรรคเป็นเวร โกรธจัดเหลือกำลัง วิ่งไปขันไปทั่วๆ บริเวณวัด มันแหกปากร้องจนน่ารำคาญ แต่ไม่ทำลายสิ่งของ ขี้ก็ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ขี้เป็นที่เป็นทางดี แต่มันไม่ยอมเล่นกับใครๆ ไม่ปันใจให้ใครอีกต่อไป”

ในที่สุดเมื่อคนไล่มัน เล่นกับมันมากเข้า ไม่สงบ มันจึงไม่มาถิ่นแถวที่คนอยู่อีกต่อไป ไปอยู่ตัวเดียว หากินอยู่ตัวเดียว อยู่เดี่ยวๆ เดียวดาย สงัดกาย สงัดจิตที่ศาลามุงกระเบื้องไกลๆ โน้น เมื่อมันไปอยู่ที่ไกลๆ คนก็ตามไปกวนล้อเล่นกับมันอีก เพราะมันน่ารักตัวใหญ่ เป็นไก่โอก เป็นไก่เชื่องๆ

ในที่สุดมันรำคาญมนุษย์มากเข้าก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเจ๊กเบ๊ด้วยความเศร้าสร้อยเหงาหงอย เดินคอตก มันเดินไปมองดูก็รู้ว่ามันคอตกๆ เป็นไก่เศร้าขาดความอบอุ่น เสียความรู้สึกที่ดีๆ กับคนมาวัด แล้วก็ไม่เดินทางกลับมาอีกเลย มันคงคิดได้ว่า

“ถึงแม้เราจะอยู่ที่ใด เขาก็คงไม่คิดว่าเราเป็นคนดอก เขาคงเห็นเราเป็นไก่ ตายเกิดเอาชาติใหม่ดีกว่า มนุษย์นี้นอกจากจะยุ่งกับตัวเองก็ยังไม่พอ ยังมายุ่งกับเราซึ่งเป็นไก่ ไม่มีสัตว์ประเภทใดที่จัดทำให้มนุษย์พอใจในการละเล่น มนุษย์นี้เป็นเหมือนสัตว์ที่เป็นโรคประสาท เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อีชอบอีก็ชม อีชังอีก็แช่ง ขนาดเราเป็นไก่ยังอดทนไม่ได้ มนุษย์เล่า! จะทนกันและกันได้อย่างไร?”

เรื่องไก่ขาวนี้ ทำให้ฆราวาสญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์กงมา เปลี่ยนแปลงไปเยอะ บางคนถึงกับเลิกคิดจะฆ่าสัตว์ตลอดชีวิต บางคนตั้งสัจจะอธิษฐานจะรักษาศีลตลอดชีวิต บางคนก็เสียใจในสิ่งที่ตนได้กระทำกับไก่ไว้ แสดงอาการรู้สึกผิด แต่สำหรับบางคน มาดูๆ แล้วก็ไป เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง เรื่องไก่ขาวยังไม่จบ แต่กลัวจะยาวเกินไปจึงขอจบเพียงแค่นี้

น่าอัศจรรย์! น่าอัศจรรย์จริงๆ ความฝันกลายเป็นความจริง ก็คือโยมหลวนทำไมฝันได้แม่นยำอะไรขนาดนั้น ฝันว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือกแม่ลูก อันหมายถึง พระอาจารย์กงมากับสามเณร แล้วเมื่อลูบคลำไปมา ช้างเผือกกลับกลายเป็นไก่ขาว และในที่สุดไก่ขาวตัวนั้นก็มาจริงๆ ชนทั้งหลายที่รู้เรื่องนี้ก็อัศจรรย์ไปตาม ๆ กัน

และเรื่องไก่ขาวนั้นยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า “ชะรอยจะมีบุคคลผู้มีบุญวาสนาเข้ามาบวช มาเกิดที่วัดทรายงาม จนกลายเป็นพระที่บริสุทธิ์สะอาดเหมือนดั่งขนของไก่ขาว และมีจิตใจอาจหาญในธรรมเหมือนไก่ขาวที่ไม่กลัวความตาย ไก่ขาวนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี และไก่ขาวตัวนี้อาจจะกลายเป็นช้างเผือกตัวขาวตลอดในวงการพระพุทธศาสนา”


ช้างเผือกกลับกลายเป็นไก่ขาว
เรื่องช้างเผือกกลายเป็นไก่ขาวบางคนเขาก็ว่า “ท่านอาจารย์กงมาต้องมาได้ลูกศิษย์ดีที่นี่” แต่มันก็แปลกตรงที่ว่า ในขณะที่ท่านอาจารย์กงมามาสอนธรรมที่ป่าช้าผีดิบ (วัดทรายงามปัจจุบัน) นั้น ตอนนั้นเราก็ไม่รู้เรื่องอะไร เป็นหนุ่มๆ อยู่ รักสนุกทางโลกอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่าภิกษุที่เข้ามาบวชรูปแรก ถ้าจะนับในบรรดาพระทั้งหลายแล้ว เราเป็นองค์แรกที่บวชแล้วเข้ามาอยู่วัดทรายงาม มันประจวบเหมาะบันดลบันดาลใจให้บวชในขณะนั้น ทั้งที่อะไรๆ ก็ไม่ค่อยอำนวย ไก่ขาวกลับกลายเป็นช้างเผือกที่วัดทรายงามจึงเกี่ยวข้องกับเราทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง ตั้งแต่เราออกบวชแล้ว คนหนองบัว ออกบวชกันตามๆ มามาก เช่น ท่านถวิล (พระอาจารย์ถวิล ท่านแบน (พระอาจารย์แบน) ฯลฯ

หลวงตามหาบัวพูดถึงชาวบ้านหนองบัว
หลวงตามหาตัวพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ ที่สวนแสงธรรมตอนหนึ่งว่า.....
“ท่านอาจารย์เจี๊ยะ บวชตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์กงมาไปสร้างวัดทรายงาม พอบวชแล้วท่านก็อยู่ที่นั่นได้ไม่กี่ปี ก็ไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ออกจากเชียงใหม่ หลวงปู่มั่นก็ถูกนิมนต์ไปอุดรฯ ท่านอาจารย์เจี๊ยะก็ติดตามหลวงปู่มั่นไปอุดร ฯ หลวงปู่มั่นไปสกลนคร ท่านก็ติดตามไปสกลนคร เรา (หลวงตา) จึงพบท่านทีแรกที่สกลนคร

ท่านอาจารย์เจี๊ยะท่านไม่ค่อยเรียนอะไรมากมายนะ พอบวชแล้วก็ออกปฏิบัติเลยเชียว เล่าเรียนก็เล่าเรียนธรรมดา ไม่ใช่เพื่อสอบอะไร พ่อท่านเป็นคนจีน แม่ท่านเป็นคนไทยอยู่ที่หนองบัว

ตำบลหนองบัวทรายงามนี้รู้สึกว่าไม่ธรรมดานะ มีคนนิยมออกบวชปฏิบัติเยอะมาก อาจารย์เจี๊ยะนี้ท่านเป็นคนหนองบัวทรายงาม และมีท่านแบน (พระอาจารย์แบน วัดดอยธรรมเจดีย์) มหาเข็มที่อยู่วัดป่าคลองกุ้ง พระครูสันฯ ท่านถวิลฯ หนองบัวทรายงามนี้มีคนออกบวชเยอะ ถ้าจะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศไทยแล้ว ตำบลอื่นๆ สู้หนองบัวทรายงามไม่ได้ ออกบวชมาก แล้วท่านเหล่านี้ยังสามารถเป็นหลักปฏิบัติได้ คือหลักทางข้อปฏิบัติทางด้านจิตใจอันเป็นส่วนภายใน แล้วคนถิ่นแถวนี้ฉลาดด้วยนะ ฉลาดมาก คือครูบาอาจารย์องค์ไหน ที่โลกเขาเห็นว่าสำคัญๆ พระทางจันทบุรีไปถึงก่อนแล้ว เราจึงสังเกต เอ!... คนจันท์ฯ ฉลาดไม่ใช่เล่นๆ นะ”

วัดป่าคลองมะลิ วัดยางระหง ก็สายปฏิบัติเหมือนกัน ท่านอาจารย์ลี วัดอโศการาม ท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นเรานะ แล้วก็สืบสายมาเรื่อยๆ พระจันท์ฯ จึงมักจะไปอยู่แถวโน้น ครูบาอาจารย์องค์ไหนที่สำคัญๆ พระทางจันท์ฯ จะมีอยู่ด้วยประจำๆ เพราะท่านตั้งใจจริงๆ เสาะแสวงหาครูอาจารย์จริงๆ วัดป่าบ้านตาดดูเหมือนไม่ต่ำกว่า ๕ องค์นะ แล้วมีมาประจำตั้งแต่สร้างวัดป่าบ้านตาดมา พระที่จันท์ฯ ไปอยู่นู้น!... สับเปลี่ยนกันไปมาอยู่นู้น ไม่เคยขาดนะวัดป่าบ้านตาด ท่านพักก็อยู่กับเราที่นี่ แต่พอโยมแม่ท่านป่วย เราก็ให้ท่านไปอยู่ที่วัดเขาน้อยสามผาน เพื่อดูแลโยมแม่ เพราะไม่มีใคร




 พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๐) : หลบนอน
เมื่อเราเข้ามาบวชแล้ว ก็เราเป็นคนหนุ่มนะ อย่างที่ว่าพรรษาแรกๆ ก็ขี้เกียจ เอะอะก็จะหลบไปหลับนอน พอมาถึงกลางๆ พรรษาหรือยังไงก็จำไม่ค่อยได้ ก็มานึกตำหนิตนเอง เอ๊ะ!....เรากินข้าวชาวบ้านแล้ว ทำไมเราถึงมาขี้เกียจอย่างนี้นะ มันเหมาะสมแล้วหรือสำหรับเพศนักบวชที่เสียสละบ้านเรือนออกมาบวช แต่ก่อนเราเคยทำงานหนักๆ ทำการแจวเรือทั้งวันทั้งคืน เราแจวได้ ทำได้ แล้วเวลานี้ล่ะ เรามาเป็นพระเป็นนักบวช แล้วทำไม ทำไมมาขี้เกียจอย่างนี้ สิ้นท่าอย่างนี้ พระแบบเรานี้จะต่างอะไรกับฆราวาสหัวดำๆ ที่ขี้เกียจขี้คร้านทำมาหาเลี้ยงชีพ เราทำแบบนี้มันสมควรแล้วหรือที่ญาติโยมเขากราบไหว้บูชา ว่าเป็นพระผู้ทรงเพศอันประเสริฐ ใครๆ เห็น เขาก็หลีกทางให้ มีอะไรเขาก็หามาให้กิน ในที่สุดมันก็ด่าตัวเองในใจ คือด่าตัวเองในใจดังๆ

“ไอ้ห่า!...มึงเป็นพระให้เขากราบไหว้ แล้วมึงภาวนานั่งสู้ญาติโยมแก่ๆ ไม่ได้ แล้วมึงจะมาบวชทำไม”

เมื่อตำหนิกาย วาจา ใจ ของตนที่ไม่เอาไหนได้อย่างนั้น มันก็มีความฮึดฮัดที่จะต่อสู้ หาทางต่อสู้กับฝ่ายต่ำที่ทำให้ขี้เกียจอ่อนแอไม่เอาไหน นั่งภาวนาพุทโธ เอาจริงเอาจังให้รู้เช่นเห็นชาติตนว่า ก่อนบวชที่ว่าตัวเองแน่ๆ ไม่ยอมถอยให้ใครๆ มาบัดนี้จะมาถอยให้กิเลสแบบง่ายๆ หมดทางต่อสู้ แบบนี้ถ้าจะเรียก ก็เรียกได้ว่านักเลงกระจอกงอกง่อย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ สมควรแล้วละหรือที่เราจะมาภูมิใจกับการเป็นคนจริงแบบปลอมๆ ที่แท้ก็เก่งแต่การโอ้อวดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย

“เอาละวะ...” มันคิดขึ้นมาภายใน “เป็นไงเป็นกัน ตายเป็นตาย อยู่เป็นอยู่ พระพุทธเจ้าทำอย่างไร เราจะทำอย่างนั้น พระสาวกท่านปฏิบัติเคร่งครัดอย่างไร เราจะเคร่งครัดอย่างนั้น”  นี่ ใจมันเริ่มสอนใจตนเองขึ้นมาแล้วทีนี้

นอกจากจะนั่งภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ลดละความพากเพียรพยายามแล้ว ยังมีเดินจงกรม พยายามเดินจงกรมอย่างที่ท่านอาจารย์กงมาท่านสอน เดินเข้า เดินเข้า ทุกๆ วัน ทุกๆ คืน ใจมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ  ความหลงใหลใฝ่ฝันในทางโลก มันก็เริ่มจืดจางลง จิตใจมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ใจมันก็สงบลง บางทีเดิน ๓-๔ ชั่งโมง ทางจงกรมแหลก แดดเปรี้ยงๆ ไม่มีถอย ไม่เลือกกาลเวลา ทางจงกรมที่เราเดินยาวเส้นหนึ่ง (๒๐ วา) นี้แหละพรรษาที่หนึ่งทำอยู่อย่างนี้อยู่ตลอด

ฉะนั้น การสร้างความดีใครว่าไม่ต้องลงทุนลงแรง คนนั้นแหละพูดแบบโง่ๆ เพราะมันไม่เคยสร้างคุณงามความดี การสละชีวิตเพื่อความดี อันเป็นเลิศอย่างนี้ เรียกว่าไม่ลงทุนลงแรงหรือ? อย่างนี้ต่างหาก เรียกว่าลงทั้งทุนลงทั้งแรง แบบไม่ออมมือ แบบทุ่มไม่ให้กำลังเหลือ


จงกรมเหมือนตัวจะลอย
เมื่อตั้งสัจจะแล้ว ก็พยายามสอนตัวเองด้วยอุบายต่างๆ นานาว่า “สมบัติพัสถานข้าวของเงินทองเยอะแยะไปหมด แล้วเวลาตายเห็นมั้ยได้อะไรไปบ้าง”

เพราะฉะนั้นพระที่ไปชักผ้าบังสุกุล ไม่ใช่ไปชักเอาสตางค์ อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารเป็นอย่างนี้ไม่เที่ยง ตายเหมือนกัน นั่น...จงพิจารณาเพราะเป็นอย่างนั้น

แต่ทีนี้เราไม่เป็นอย่างนั้น มันเพลินอย่างอื่นนะ มันไม่คิดย้อนกลับมา มันก็ไม่เป็น อนิจฺจา วต สงฺขารา เพราะฉะนั้นจึงว่า ถ้าเราทำจิตใจให้อยู่กับพุทโธ นานๆ เข้า หลายๆ วัน หลายเดือน เป็นปีขึ้นไป ทีหลังก็จะติด ไปไหนใจก็พุทโธๆ อยู่เรื่อย ใจก็ติด แน่ะ...เราก็ลุยใหญ่

ว่าพุทโธแล้ว ถ้าใจยังไม่สงบ ก็เดินว่ามันอย่างนั้นเป็นชั่วโมงๆ จนมันสงบ บางคราวมันจะลอย เคยอยู่ครั้งมันจะลอยให้ได้ ลอย... ลอย...ลอยสิ ลอย... ลอย เอาลอยสิ... ก็ขย่มขึ้นไปอีก มันไม่ลอยขึ้นซักที มันเพลินเดินสนุก เดินกันเป็นชั่วโมงๆ เหงื่อแตกซิกไปหมด เป็นหลายชั่วโมง แน่ะ... เดินจงกรมสงบ โอ๊ย...มันดีจัง...เพราะฉะนั้น พอมันเป็นอย่างนี้ พอใจได้รับความสุขมันก็ติดใจๆ มาเรื่อยๆ

การภาวนาในระยะนี้ก็ยังไม่สม่ำเสมอ คอยแต่จะหลับอยู่เป็นประจำ มันขี้เกียจ เพราะเรายังไม่มีใจให้ทางนี้มากนัก แต่มันก็มีความละอายภายในใจลึกๆ ที่เราเป็นพระทั้งองค์แต่กลับขี้เกียจขี้คร้านภาวนา ในขณะเดียวกัน ฆราวาสญาติโยมเขามีทั้งหน้าที่การงาน ยังสู้อุตส่าห์ปลีกเวลามา ทำไมไม่เห็นมีใครเขาบ่นกันอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองซิ อยู่กับที่ อยู่กับวัด นั่งเฝ้านอนเฝ้าพระประธาน นั่งเฝ้านอนเฝ้าครูบาอาจารย์พระธรรมคำสอน ศาลาวัดอยู่ แทนที่จะได้ดี ทำดีกว่าชาวบ้านร้านตลาดเขา แต่นี่กลับแย่กว่าเขาเสียอีก เราเองก็เป็นคนทั้งคนเหมือนพระพุทธเจ้าพระสงฆ์สาวกท่าน ท่านเหล่านั้น ก็ไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหน ก็กินข้าวฉันข้าวเช่นเดียวกันกับเรานี่แหละ ทำไมท่านถึงได้ดีกว่าเรา ถ้าจะต้องโทษก็ต้องโทษเราซึ่งเป็นผู้ขี้เกียจเสียเอง

ความขี้เกียจมันดีไหม? คนผู้มีปัญญาในโลกนี้เขาสรรเสริญคนขยันทั้งนั้น แล้วเรากลับมาขี้เกียจนั่งหลับอยู่ทำไม? ไม่อายศรัทธาญาติโยม ที่เขานั่งภาวนากันเต็มศาลาบ้างหรือ? การงานทางโลกที่ว่าหนักหนาเราก็ผ่านมาหมดแล้ว งานที่คนอื่นเขาไม่มีปัญญาทำได้ เราก็ทำมาแล้ว ทำไมการภาวนา เราจะทำไม่ได้ รู้ไม่ได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ มันก็เจ็บลึกภายในใจ แล้วก็นึกขึ้นมาภายในใจว่า

“กูบวชมากินข้าวชาวบ้านแล้วยังพาลมาขี้เกียจอีก”

การภาวนาก็สู้โยมไม่ได้ มันเจ็บใจตัวเอง เดินเข้าไปกราบพระ ตั้งสัจจะอธิษฐานซ้ำอีกว่า “ถ้ามึงภาวนาไม่ได้ให้มึงตายซะ ถ้ามึงไม่มีสัจจะในตน ขอให้ฟ้าผ่า แผ่นดินสูบ น้ำท่วมตายซะ ให้ไฟไหม้ตายซะ อย่ามีหน้ามาอยู่ดูโลกนี้อีกเลย”

เมื่ออธิษฐานดังนี้แล้ว รู้สึกว่าใจมันคึกคักขึ้นมาทันที แสดงอาการตอบรับกับคำอธิฐานเช่นนั้น มันเหมือนกับมีอะไรๆ มาฉุดให้ใจกล้าแกร่ง หลังจากนั้นก็ภาวนาแบบสู้ตายถวายชีวิต ในที่สุดจิตมันก็รวม ตอนนั้นพวกโยมนั่งสมาธิกันมากที่วัดทรายงามประมาณ ๕๐-๖๐ คน

เมื่อตั้งสัจจะแล้ว เริ่มภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน กลางวันนั่ง(ภาวนา) กลางคืนเดินจงกรม สละชีพเอาเป็นเอาตาย หมายไว้ในใจอย่างนั้น

“เอาล่ะนะ คราวนี้เป็นคราวสำคัญ บุญบารมีที่สั่งสมมาตั้งแต่ชาติปางไหนจงมาอุดหนุนด้วยเถิด”

คิดไว้ภายในใจอย่างนี้ ในการภาวนาในครั้งเริ่มแรกนั้น ต้องบริกรรมภาวนาพุทโธอย่างเดียว ให้พุทโธเร็วๆ ไม่ให้จิตใจคิดอะไรอื่นได้ ไม่ต้องดูลมหายใจ ถ้ามัวดูลมหายใจจิตมันไม่เป็นสมาธิ

ฝึกหัดภาวนาเอามันให้ได้ ฝึกหัดให้มันได้เป็น ๓ ชั่งโมงไม่ลุก จิตมันไม่ลง ไม่ยอมลุกแล้วมันไม่ลงได้อย่างไง พุทโธ โธ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ มันต้องลงให้เราซิ ก็ด่ามันเข้าซิ กุ้งมึงก็กิน ปลามึงก็กิน เป็ดมึงก็กิน น้ำพริก น้ำแกง น้ำอ้อยน้ำตาลกินทุกอย่าง ไอ้ห่า! มึงนั่งสมาธิให้กูไม่ได้หรือ มันต้องเอาอย่างนั้นซิ นี่! เราเอาอย่างนั้นทีเดียวได้เลย แม่ง...มึง! ๕ ชั่วโมงก็ไม่ออก ออกเป็นฟ้าผ่า แผ่นดินสูบ น้ำท่วมตาย ไฟไหม้ตาย ทีเดียวมันก็ไม่กล้าออก มันต้องบังคับเอา เราสร้างความดี ทีนี้มันขี้เกียจ โอ๊ย...เจ็บขา โอ๊ย..สู้ไม่ไหวแล้ว โอ๊ย...ไปแล้วครึ่งชั่วโมง เสร็จเรียบ แหม! มันต้องสู้นะ นักสู้มันต้องสู้ซิ

พอจิตเป็นสมาธิ มันสงบนิ่งเฉยเหมือนตัวนี่จะเหาะจะลอยได้อยู่บ่อยๆ เวลาเดินจงกรมเหมือนจะเหาะได้ จนพระมหาประเสริฐที่ไปอยู่ด้วยพูดว่า “เอ๊ะ... พระองค์นั้นมันเดินจงกรมยังไงวะ... แผ่นดินนี้แหลกไปหมดเลย... เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ยังไม่เคยเห็นใครเดินจงกรมอย่างนี้เลย”

แผ่นดินที่เราเหยียบย่ำนั้น มันจะไม่แหลกไปได้อย่างไง ก็เล่นเดินจงกรมย่ำทั้งคืน ไม่หลับไม่นอน แผ่นดินมันแหลกไปหมด ดินนั้นมันเป็นดินปนทรายๆ นิดหน่อย เช้าขึ้นมาใครๆ มาเห็นเข้า ก็พากันตกอกตกใจ “เอ๊ะ...ใครมันมาทำอะไรตรงนี้” เพราะไม่มีใครรู้ แอบๆ มาทำกลางคืนไม่ให้ใครเห็น การเข้าไปภาวนาแบบเรานี้ต้องมีความอดทนมาก จิตใจต้องหนักแน่น ที่สำคัญต้องรักษาสัจจะที่ตั้งใจไว้ยิ่งกว่าชีวิต เราทำ ทำจริงๆ ข้าวก็ไม่กิน มันอยากตายก็ให้มันตาย ถ้าภาวนาจิตไม่ลงรวม เป็นไม่ยอม ต้องต่อสู้ ถ้าจิตยังไม่ลงอีก ยังอธิษฐานสู้เพิ่มความเพียรให้หนักเข้าไปอีกอีก ไม่ใช่จะถอยนะ มีแต่จะเดินหน้าฆ่ากิเลสคือความไม่สงบ

จนมีบางคราวท่านพ่อลีท่านกลัวใจเรา จนท่านพ่อพูดว่า “ท่านเจี๊ยะนี่ใครไปยุ่งกับมันไม่ได้ เดี๋ยวมันฮึด ไม่ว่าเทวดา มันเอาหมด มันสู้หมด"

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 กรกฎาคม 2557 12:53:29 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
เรือใบ
นักโพสท์ระดับ 8
***

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 234


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 35.0.1916.114 Chrome 35.0.1916.114


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 พฤษภาคม 2557 15:04:19 »

โทดค๊าบ โทดค๊าบ โทดค๊าบ สาธุ สาธุ สาธุ
บันทึกการเข้า
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2557 13:00:45 »

.


พรรษาที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๑) ถือเนสัชชิคือการไม่นอน  

ต่อมาพรรษาที่ ๒ แห่งการบวช เราถือธุดงค์ปฏิบัติว่าด้วยการไม่นอน ในกาลเข้าพรรษา ไม่นอนตลอดพรรษาเลยในเวลากลางคืน แต่ในเวลากลางวันนอนมั่งนะ แต่เราก็ตั้งสัจจะไว้ เรานั่งภาวนาในเวลากลางวันนี่ เราก็แบ่งนั่งหลับนิดหน่อยพอให้มีเรี่ยวแรง แต่ก่อนนั่งสมาธิต้องเดินจงกรมก่อน แล้วค่อยมานั่งสมาธิ ทำอย่างนี้วันละ ๓ หน เพื่อถวายพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ และเพื่อเป็นอุบายในการภาวนา ด้วยการตั้งสัจจะว่า

“ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิตลอดทั้งพรรษา ในเวลาค่ำคืนไม่นอน ด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะอันนั้น
๑. ขอให้ฟ้าผ่าตาย
๒. ขอให้แผ่นดินสูบตาย
๓. ขอให้ไฟไหม้ตาย
๔. ขอให้น้ำท่วมตาย
พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้...เอ้า!...ให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมาเลย”

ตัวสัจจะนี้แหละ ถือเป็นตัวสำคัญเลยนะ ผ่านก็ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็แสดงว่าวาสนาเรามีเพียงแค่นั้น ก็เป็นเครื่องแสดงเครื่องวัดจิตใจของคนนั้นๆ ได้เหมือนกันว่า แค่ไหนประมาณใด ถ้าตั้งสัจจะแล้วประพฤติได้ตามนั้นก็ถือว่าเยี่ยม เพราะสัจจะแบบนี้มิใช่ทำได้ง่ายๆ โดยส่วนมากแล้วจะล้มเหลวแบบไม่เป็นท่ากันทั้งนั้น เท่าที่สังเกต เวลาตั้งสัจจะก็สวยหรูอยู่หรอก แต่เวลาเอาเข้าจริงล้มแบบไม่เป็นท่


๗ วันแรกที่เราเริ่มปฏิบัติด้วยการไม่นอน มันก็แย่เหมือนกัน เพราะตั้งแต่เกิดมานอนตลอดจนเป็นนิสัย แต่อยู่มาวันหนึ่งมาหยุดนอนเอาดื้อ ๆ ร่างกายก็แย่ ทำท่าหงุดหงิด จนถึงกับอุทานในใจว่า “ว้า! ไม่ไหว...ไม่ไหว...ไม่ไหวแล้วโว๊ย” แต่ก็ยังดีที่เราก่อนจะทำสมาธิก็ได้เข้าไปตั้งสัจจะบังคับเอาไว้ เพราะความเป็นผู้ที่รักษาสัจจะ สัจจะนั้นจึงเป็นเหมือนโซ่ตรวนคอยรึงรัดกายจิตของเราเอาไว้  “ตายเป็นตาย แต่จะให้สัจจะที่ตั้งไว้ขาดไม่ได้ ไม่ยอม ในร่างกายนี้อะไรจะเสียผุพังไปก็ตาม แต่จะให้สัจจะเสียไปไม่ได้ เพราะแม้สัจจะที่เราให้ไว้กับตัวเรา เรายังรักษามันไม่ได้ แล้วเราจะหวังพบธรรมะอันประเสริฐซึ่งอยู่เหนือสัจจะ แล้วเราจะพบพานธรรมนั้นได้อย่างไรกัน”  เมื่อคิดอย่างนี้ ใจมันก็ท้าทายกิเลสและธรรมที่มีอยู่ในกายและใจนั้น สัตยาธิษฐานนี้จึงเป็นทางเดินไปสู่มรรคผลแบบท้าทายได้อย่างดียิ่ง


ภิกษุหนุ่มมุ่งมั่น
เราเป็นหนุ่มเนี่ย... ซนที่สุดนะ ดื้อด้วย แล้วฐานะทางบ้านก็มีอันจะกินด้วย แก่นที่สุด ออกบวช ใคร ๆ เขากว่า แหกพรรษาแน่นอน แต่ว่าปฏิบัติแล้วมันเอาเต็มที่ไม่ค่อยได้นอน ในพรรษา ๓ เดือนไม่ได้นอนเลย กลางวันนิดหน่อยคือหมายความว่า กลางคืนไม่นอน สู้เต็มที่เลย ๔-๕ วัน เวลารับบาตรง่วง วันไหนง่วงเต็มที่ก็ไปพิงเสานิด พอรู้สึกตัว เอาแล้ว เพราะสัญญาอธิษฐานไว้ว่าไม่นอน สู้เต็มที่เลย ไม่งั้นไม่ได้หรอก ต้องออกมาเป็นขี้ข้าโลกเขาแล้ว

บางทีถ้าเราตั้งสัจจะแล้ว มันก็ไม่ออกเหมือนกัน ยอมให้ยุงกัด บางทีสมาธิเนี่ย ถ้าเราเข้าถูกจังหวะ อากาศเหมือนไม่มี มีอยู่แต่ใจเพียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวเกาะกับสิ่งใด ดับสนิทเต็มที่ กายนี้ไม่รู้เลย รู้แต่ใจตัวนั้นมันหมดความรู้สึก แต่รู้ในตัวมีอะไรบ้าง แต่ว่าถ้าถึงเต็มที่ก็ขนาดนั้นแล้วไม่รู้ ยุงไม่มี ไม่มีความรู้สึกหมด หมดความรู้สึก แต่เป็นยากนะแบบนี้

“...บางทีเราตอนเป็นหนุ่ม ๆ บวชใหม่ ๆ ก็คิดอยากจะสึก พวกบวชเป็นชีสาวๆ ก็อยากจะสึก หรือพวกแก่ ๆ ก็อยากจะ
สึก เพราะกิเลสมันเป็นอย่างนั้น

สึกไปก็เหมือนเท่ากับลงไปในน้ำทะเล อันมหาสมุทรกว้างขวางใหญ่นัก ชีวิตไม่มีความหมาย ตัวลงไปอยู่ในทะเล เป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาเท่านั้นเอง ตายไปอย่างนั้น ไม่ได้อันใดเลย เหมือนเราตกลงไปในทะเล ถ้าไม่มีเรือมารับแล้วก็ต้องตาย ชีวิตจมอยู่กับลูกกับเมีย กับข้าวของเงินทอง เพื่อหามาเลี้ยงกันทั้งวันทั้งคืนอยู่อย่างนั้น ไม่มีเวลาหยุดหย่อน ไม่มีเวลาได้พักผ่อนกำลังจิตใจของเราเลย นี่... แสนที่จะทุกข์ทน

...พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วถูกต้องหมดทุกอย่าง พระองค์ตรัสว่า

“โซ่ตรวนใดๆ ก็ไม่สามารถรึงรัดมัดผูกจิตใจเราได้ยิ่งกว่า บ่วงคือ บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ โซ่อันนี้แก้ได้ยาก ถอดถอนได้ยาก มันชักนำพาเราให้จมอยู่และกองอยู่ใต้ทะเล คือกิเลสและตัณหา จนจะหาทางออกไม่ได้ พระองค์จึงตรัสว่า เราเป็นเหยื่อของโลก ถูกกระแสโลกพัดผันไปต่าง ๆ นานา ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรในทางที่ดี แต่มันกลับได้อะไรในทางที่ชั่วเสียหาย”

นี่...พวกเราชำนาญแต่ตำราทางโลก แต่ตำราทางธรรมมันไม่ชำนาญ ใจมันไม่ยอมกระทำ ใจมันขี้เกียจ ใจมันดื้อด้าน ใจมันไม่อยากทำ อยากคุย อยากสนุก อยากร่าเริง เข้าวัดวายังเอาวิทยุมาเปิด สนุกสนานเฮฮาอยู่ตลอดเวลา ระวัง......ระวังหน่อย...ฮิ.......

เราเข้ามาเพื่อจะปลดเปลื้องสิ่งที่ร่าเริง สิ่งที่เพลิดเพลินของใจของเรา ไม่ให้สิ่งใดเข้ามาเกาะมากวน ต้องขจัดไปทุกเวลาว่าอย่างนั้นเถอะ นี่ความรู้เช่นนี้ต้องกำจัดให้หมด จนให้ใจนั้นไม่มีอันใด...นั่น... จึงเรียกว่า พระ...ก็เป็นพระแท้ โยม...ก็เป็นโยมแท้

เพราะฉะนั้นการทำใจ เมื่อมีความจริงที่ใด จะโง่เซ่อขนาดไหน ขอให้ใจจริงๆ สู้จริงๆ แล้วนั่งให้จริง ยืน เดิน นั่ง นอน ๔ อิริยาบถนี่ทำได้อยู่ตลอดเวลา ต้องสำเร็จ บุคคลผู้นั้นหนีไม่พ้น แต่ใครจะไปรู้เรื่องของบุคคลนั้นๆ ว่าสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ มันอยู่ที่หัวใจของเขาเอง เมื่อเราพยายามมากเข้าๆ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “พาวิโต พหุลีกโต” เพียรมากๆ ทำมากๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่อย่างนั้น ก็เป็นไปเพื่อความดับสนิท เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง นี่ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอย่างอื่นแล้ว ถ้าลงว่าทำอย่างนั้นจนสุดความสามารถแล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่รู้ว่าจะยังไง”





•  พรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๘๒)  ธรรมะแข่งขัน

สมัยนั้นวัดป่าคลองกุ้งกับวัดทรายงาม แข่งกันสร้างความดีด้วยการภาวนา พระวัดป่าคลองกุ้ง พากันอดข้าวเพื่อภาวนาสมาธิ ส่วนวัดทรายงามพระพากันไม่นอน ทำสมาธิภาวนากันทั้งคืน ทั้งสองวัดครูบาอาจารย์พยายามสอนให้เราเร่งทางจิต

หลวงตาหล่าย เป็นพระวัดป่าคลองกุ้ง อดข้าวเกือบตาย...ขี้ไม่ออก...ตดไม่ได้...ทรมานสังขารน่าดู!!! ต้องมาให้หมอสวน เพราะแกอดข้าวเป็นเดือนๆ ท่านพ่อก็เหมือนกันอดข้าวทีหนึ่งๆ เป็นเดือน

ตอนนั้นเราก็อดนอน ไม่นอนกลางคืน จิตสงบดี ปัญญาก็ว่องไว ปัญญานี้เป็นปัญญาทางธรรม ตอนนั้นเราภาวนาดีแล้ว ภาวนาเป็นแล้ว ได้หลักใจแล้ว เรียกได้ว่า ได้ธรรมสมบัติภายในแล้ว ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง แม้แต่ท่านอาจารย์กงมาเราก็ไม่ได้เล่า คนอื่นเขาก็ไม่ทราบ เพราะคนโดยส่วนมากที่หนองบัวเขาเห็นว่าเราเป็นพระดื้อ ถึงพูดให้ฟังก็คงไม่มีคนเชื่อเรา สาเหตุที่ท่านอาจารย์กงมา และญาติโยมไม่เชื่อว่าเราภาวนาเป็นนั้น เพราะว่าก่อนบวชเรามันทั้งดื้อ ทั้งซุกซน ใครเขาจะไปเชื่อ แม้เราเองแต่ก่อนเราก็ไม่เคยเชื่อว่าตัวเองจะมาบวชและอยู่เป็นพระได้นานขนาดนี้

เมื่อพระทั้งสองวัดอดอาหาร อดนอน ปฏิบัติเอาเป็นเอาตาย ถวายชีวิตแด่พระศาสนา พระที่ไม่ปฏิบัติ ทำไมได้ก็ว่า เป็นการปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า เคร่งเกินไปเดี๋ยวก็ขาด ไม่เดินตามทางสายกลาง จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น) พระองค์ท่านจึงเสด็จมาที่วัดทรายงาม เพื่อมาพิสูจน์ความจริง  ในขณะที่ท่านมาพักวัดทรายงามนั้น เราก็เป็นคนจัดอาสนะ ดูแลเรื่องเครื่องใช้ต่างๆ ของท่าน จึงคุ้นกับท่าน และพระองค์ท่านก็คุ้นกับโยมแม่

พระองค์เสด็จไปเอง เพื่อไปตรวจสอบเรื่องพระที่อดข้าวและอดนอนว่าทำกันอย่างไร? เหมาะสมกับพระธรรมวินัย และมัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นทางสายกลางหรือไม่?

เมื่อพระองค์เสด็จมาคราวนั้น ทางโยมของเรา (โยมพ่อ-แม่) จึงคุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี เพราะทุกๆ ปีโยมที่บ้านได้เอาทุเรียนไปถวายท่านที่วัดบวรฯ เป็นประจำ




สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ชื่น สุจิตฺโต)


การสืบสวนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น)
การสืบสวนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้สุขุมมาก กล่าวคือ พระองค์ไม่ทรงพระกรรณเบา ขณะที่พระองค์มาพักอยู่ที่วัดทรายงาม พระองค์ทรงกระทำวัตรปฏิบัติอย่างปกติธรรมดาของหมู่คณะ คือ ฉันหนเดียวเหมือนกับพระอาจารย์กงมา แม้พระอาจารย์กงมาจะให้บรรดาญาติโยมนำภัตตาหารเพลมาถวาย พระองค์ก็ไม่ฉัน พระองค์ตรัสว่า “เราอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่น”

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงชวนพระอาจารย์กงมาไปธุดงค์ด้วยกัน ไม่ให้ใครไปด้วย ไปเพียง ๒ องค์เท่านั้น พระองค์ทรงแบกกลดสะพายบาตรเอง แม้พระอาจารย์กงมาจะขอช่วยเท่าใด พระองค์ก็ไม่ยอม พระองค์ตรัสว่า “เธอเคยไปทางใด เธอจงพาเราไปทางนั้น”

พระอาจารย์กงมา ได้พาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ท่านเคยออกเดินธุดงค์มาแล้ว เวลาผ่านไปหนึ่งอาทิตย์เศษ ไม่ว่าท่านจะพักปักกลด ณ ที่แห่งใด ก็จะมีประชาชนที่สนใจในธรรมะปฏิบัติ มาเฝ้าห้อมล้อมเพื่อฟังธรรมะและประพฤติปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์กงมาในที่ทุกๆ แห่ง

จนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงห้ามพระอาจารย์กงมาในใจความตอนหนึ่งว่า “กงมา...อย่าเรียกเราให้ใครได้ยิน ว่าเราเป็นสมเด็จพระสังฆราชเลย อย่าบอกใครเป็นอันขาด เวลาพูดหรือแสดงออกให้เหมือนกับเป็นพระธรรมดาด้วยกัน”

วันหนึ่ง ท่านได้เดินธุดงค์ไปพักปักกลดที่บริเวณเชิงเขาสระบาป พอดีเกิดฝนตกลมแรง กลดที่นำมาไม่สามารถป้องกันลมฝนได้ เพราะพายุลมฝนรุนแรงเหลือเกิน

การปักกลดนั้น เป็นไปตามกฎกติกาของพระอยู่ป่าทั่ว ๆ ไป คือต้องพักอยู่ห่างกันพอสมควร สมเด็จฯ ท่านทรงเปียกปอนหมด พระองค์ต้องทรงนั่งตากฝนอยู่เช่นนั้น ส่วนพระอาจารย์กงมาท่านก็นั่งตากฝนเช่นเดียวกัน แต่บริขารไม่เปียกเพราะรู้วิธีปฏิบัติ

ฝนหยุดแล้ว ท่านก็ได้ครองจีวรไปเฝ้าสมเด็จฯ พระองค์ตรัสว่า
“ท่าไม่คุณไม่เปียกล่ะ เราเปียกหมดเลย”
“ก็กระผมมีคาถาดี ขอรับพระคุณท่าน” พระอาจารย์กงมากราบทูล พระองค์จึงตรัสว่า
“เราจะต้องเรียนคาถานี้ให้จงได้”

ภายหลังกลับจากการเดินธุดงค์ กลับมาถึงวัดทรายงามเรียบร้อยแล้ว ขณะที่สามเณรเข้าไปนมัสการปฏิบัติปัดกวาดกุฏิที่ประทับ พอดีพระองค์ทรงนึกขึ้นได้จึงตรัสถามสามเณรว่า
“เณร...ขอถามหน่อย คาถากันฝนว่าอย่างไร เธอรู้บ้างไหม?”
“พอรู้บ้างฝ่าบาท”
“เออ...ว่าไปให้เราฟังที เราจะได้จำเอา”
“เมื่อเวลาฝนตก ต้องเก็บของทั้งหมดลงใส่ในบาตร ซึ่งพระธุดงค์กระทำเช่นนี้ทุกองค์ อันมีจีวร สังฆาฏิ เป็นต้น แล้วใช้ฝาบาตรปิดให้สนิท”

พระองค์ทรงอุทานว่า “อ้อ... ไม่บอกกัน ที่แท้จริงมันเป็นอย่างนี้เอง นึกว่าจะเป็นคาถาอะไร” พระองค์ตรัสเสร็จก็ทรงพระสรวล แล้วก็ทรงตรัสต่อไปว่า “การธุดงค์ของท่านกงมาและพระปฏิบัติกรรมฐานนี้ ได้ประโยชน์เหลือหลาย อย่างนี้ธุดงค์ให้มาก ๆ จะทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง”

นี้เป็นลักษณะของผู้นำและนี่คือการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของพระประมุขสงฆ์ในสมัยนั้น ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงประสบความจริง ทั้งยังให้ความยุติธรรมอย่างยอดเยี่ยมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงให้ความคุ้มครองและสรรเสริญพระอาจารย์กงมาเสมอ ๆ


บวชมาทำไม?   
การบวช การปฏิบัติ เรามุ่งมาประพฤติปฏิบัติธรรมะ หรือมุ่งมาเพื่อประโยชน์อันใด คิดอย่างนี้ ในชีวิตนักบวชทุก ๆ คน ไม่ว่าบวชชี แม่ขาว หรือบวชพราหมณ์ บวชพระก็ดี บวชมาเพื่ออะไร?

ที่ต้องถามตนเองอย่างนี้ อย่าว่าขู่ อย่างนี้อย่าว่าดุ วิธีการอย่างนี้เพื่อให้เราระลึกรู้สึกตัวเรา ต้องคิดอย่างนี้ว่า เราบวชมาเพื่ออะไร?
“ชีวิตนี้บวชมาเพื่อกินข้าวชาวบ้านหรือ? หรือบวชมาเพื่อขอเขากิน บวชมาเพื่อหวังร่ำรวยหรือ?” นี่ต้องคิดสอนตนเองอย่างนี้

ถ้าเราบวชมาเพื่ออย่างนั้น ชีวิตในโลกมันครองด้วยความสบาย ไม่ใช่การมาล่อลวงชาวบ้านกินแบบนี้ เพราะฉะนั้น นักบวชจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องแสวงหาธรรมะมาเป็นเครื่องประดับใจตน

พระพุทธเจ้าท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา สอนไว้เพื่ออะไร? เพื่อใคร? สอนไว้เพื่อเราผู้เป็นนักบวช ให้ได้นำมาประพฤติ เพื่อขัดเกลากิเลสตัวทิฏฐิมานะของหัวใจ ที่แสนจะหมกมุ่น เพื่อการชำระกิเลสเป็นต้นนี้ให้หมดสิ้นไป

เราต้องถามเราว่า เป็นพระ เป็นเณร เป็นชี เป็นแม่ขาว เราบวชมาเพื่ออะไร? เราต้องคิดฝึกดูตัวเรา ที่เรียกว่าฝึกตน เราต้องสำรวจตัวเราอยู่เสมอว่า เราบวชเข้ามาเพื่ออะไร? หรือจะบวชเข้ามาเพื่อสบาย เพราะอยู่ในโลกก็สบายเหมือนกัน มีลูกมีเมียมีผัวอยู่อย่างอิสระเสรี ไม่อยู่ในอำนาจผู้ใด แต่ถ้าเรามาเป็นนักบวชแล้ว เราต้องมีขอบเขตเหตุผล

การบวชเข้ามาแล้วไม่มีใครมาตามบังคับใคร พระพุทธองค์เองก็ไม่ทรงบังคับใคร เธอจะปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้ อยู่อย่างสบายก็ได้ แต่ทีนี้เมื่อเราย้อนเอาธรรมอันลึกซึ้งมาขบคิด ทำให้เกิดสลดจิตว่า “ชีวิตเราไม่ตายหรือ?” สิ่งนี้เราก็ต้องค้นหาเหตุผล มรรคผลมันอยู่ที่ไหน ทำไมพระพุทธเจ้าถึงทรงแสดง อย่างในอนัตตลักขณสูตร แสดงถึงรูปไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ รูปในที่ใกล้ที่ไกล รูป ในอดีต อนาคต ล้วนแต่แปรปรวนยักย้ายต่างๆ นานา ประการต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ทรงแสดงเพื่อใคร? อย่างพระสวดมนต์ทุกๆ วันนี้ สวดเพื่อศพหรือ? เพื่อหวังเงินหรือ? นั้นการแสดงธรรมก็เพื่อต้องการให้คนเป็นฟัง ต้องเข้าใจอย่างนั้น ต้องมีโอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา นี่ล่ะธรรมะ สำหรับผู้มีใจอันเป็นปกติแล้ว ได้ยินสิ่งใดมากระทบอย่างนี้ มันก็มีโอปนยิโก น้อมเข้ามาสอนตัวเรา ตำหนิตัวเรา

ใจเจ้าเอย เจ้าอย่าเพลิดเพลิน อย่าสนุกสนานร่าเริง เจ้าจงมาพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งอันที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้

นี่แหละ เป็นทางที่จะกำจัดภัยของใจ ที่มันเดือดร้อนวุ่นวายให้เบาบางลงไป ยิ่งถ้ามองให้ลึกซึ้งลงไปในสิ่งที่ร่าเริงสนุกสนานอย่างนั้น ที่โลกทั้งหลายเขาพากันเข้าใจว่าเป็นสุข เป็นสิ่งที่สนุกสนานร่าเริง ถ้าเรามาพูดถึงความลึกซึ้งแห่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงยกขึ้นมาเป็นหลักธรรม ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า สิ่งเหล่านั้นเต็มไปด้วยไฟ คือจิตอันประกอบด้วยความเพลิดเพลินยิ่งอันเจือด้วยอำนาจราคะ นั่น...นั่น...แหละคือไฟกองใหญ่เผาใจเรา ให้เกิดความร้อนรุ่มกระวนกระวาย ทำให้ใจไม่เกิดความสงบ

การฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ทำวัตรนี้ เพื่อต้องการเอาธรรมะนั้น มาใคร่ครวญพินิจพิจารณาให้ใจที่มันดิ้นรนกระวนกระวายสร่างซาลงไป
 
อย่างที่เราศึกษา นักธรรมตรี โท เอก ศึกษามหาเปรียญ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค ตั้งอะไรนัก ตั้งร้อยแปดพันประการ ก็เพื่อต้องการที่จะรู้จุดที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ที่ทรงแสดงว่าชำระใจของตน ให้บริสุทธิ์หมดจด นั่นเป็นยอดศาสนา เป็นยอดคำสอนของพระพุทธเจ้า


 
กุฏิท่านพ่อลี ที่วัดทรายงาม

แต่วิธีที่จะชำระใจให้บริสุทธิ์ ทำไม? มันถึงไม่บริสุทธิ์สักที ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ต้องคิดหาวิธี ที่พูดอย่างนี้อย่าหาว่าขู่เข็ญ ฟังไม่ได้ออกไปเลย ใครฟังไม่ได้ออกไปเลย หลวงตาเจี๊ยะอยากเอาอย่างนี้หน่อย การเทศน์ต้องการให้เป็นคติ บุคคลผู้ฟังนั้นจะได้นำไปพินิจพิจารณา เมื่อเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตน ก็จะได้เอาไปปฏิบัติ จะให้เทศน์เพื่อโก้ๆ เพื่อหวังลาภ เพื่อหวังสรรเสริญอย่างนั้น จะเทศน์กันไปทำไม? เพราะฉะนั้นเวลาเทศน์ใจมันจึงไม่ดึงดูดให้อยากเทศน์ เพราะใจคนฟังมันไม่ใส่ใจในธรรมะ

ถ้าเรามาเห็นว่าการใส่ใจในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่หักไม่ฟาดมันลงไปแล้ว มีแต่มันจะหมักหมม เผาหัวตัวเองอยู่ตลอดกาล จนกระทั่งตายเปล่า แบบนี้ใครทนได้ก็ทนไป เราไม่ทน เราจะเผากิเลส ไม่ให้กิเลสมันมาเผาเรา  เปรียบเหมือนขวากหนามที่ตั้งอยู่ในตีนเรา เข็มมีเต็มไปหมด แต่ไม่รู้จักหยิบเอาเข็มนั้นมาใช้ เข็มนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ ตีนนั้นก็ไม่สามารถจะเอาหนามนั้นออกได้

ธรรมะมีอยู่ทั่วไป แต่เมื่อบุคคลใดมีปัญญา มีสติมาระลึกบทใดบทหนึ่ง มากำกับอยู่ในหัวใจเราอย่างนั้นแล้ว ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งใจนั้นเกิดความสงบแล้ว ก็เหมือนหนามที่ทิ่มแทงออกไปจากตีน รู้จักหยิบเข็ม จะตื้นลึกขนาดไหนก็เอาเข็มมาบ่งเข้า ไอ้หนามนั้นมันก็ออกไปจากเท้าของเรา เราก็ได้รับความสบาย ไม่เสียว ไม่เจ็บ ไม่ปวดอีกเหมือนเดิม ใจที่ถูกธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปข่มเข้า ใจนั้นก็สงบเยือกเย็นในขณะนั้น


การปฏิบัติ หัวใจก็ต้องมีความเข้มแข็ง ความอุตสาหะ ความพยายาม ความพากเพียรอย่างนี้ เหมือนไฟที่มันไหม้ติดอยู่กับศีรษะของเราอย่างนี้ เพราะหัวใจอันนั้นไม่เห็นภัย ไม่เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์เดือดร้อน เหมือนอย่างที่ไฟที่ติดอยู่ในหัวเราอย่างนั้นเหมือนกัน บางคนก็ทนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จักวิธีแก้ไขดับไฟ ปล่อยให้มันไหม้อยู่ในหัวเรา ก็มีแต่วันที่จะตายจมลงไปอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เพราะเราไม่มีอุบายที่จะแก้ไข อันนี้เป็นสิ่งที่ยาก การแก้หัวใจที่ไม่สงบ ก็ต้องใช้ความพยายามแก้ไขดัดแปลงให้มากๆ ไม่ใช่จะนิ่งเพ่งดูจำเพาะหัวใจอันนั้น อันเดียวอย่างนั้น

การเพ่งอย่างนั้น ก็ใช้ได้เหมือนกันสำหรับผู้ที่มีกำลัง ถ้าผู้ไม่มีกำลังแล้ว นิวรณธรรมก็เข้ามาทับ หรือเรียกว่าอารมณ์ทั้งหลายเข้ามาชิงความดีของเราที่จะตั้งอยู่ไม่ได้ มันคอยให้ส่ายออกไป โน้มน้าวหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็ไม่สามารถจะตั้งได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติก็ต้องดูเล่ห์ ดูเหลี่ยมดูใจของเรา ใครจะพูดขนาดไหนมันก็ไม่เท่าใจเรา เราต้องดูเราเอง ดูที่หัวใจลงไป ในขณะที่บำเพ็ญอย่างนั้นใจมันไม่สงบ เพราะใจไปคิดวุ่นวายสิ่งใดอย่างนี้ เราต้องหาวิธีแก้ไข ก็เคยพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆ แล้วว่า ต้องใช้การบริกรรม เหมือนอย่างคนเราที่ตกไปในกลางทะเล ไม่มีเรือไม่มีแพ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นภาชนะก็จำเป็นต้องหา มีหู มีตา มีอันใดที่จำเป็นต้องใช้ก็ต้องพยายามหาสิ่งนั้นเพื่อป้องกันชีวิตนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเป็นอย่างนั้น มีท่อนไม้ ท่อนต้นกล้วย หรือวัตถุอย่างใดๆ มีไม้ไผ่ เป็นต้น ที่จะสามารถเกาะยังชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ถึงแก่กาลตายจมลงไปในทะเล

เหมือนกันกับเราภาวนา ถ้าใจมันไม่สงบ ใจมันก็วอกแวกอยู่ตลอดเวลา ใจไม่สงบ หรืออย่างเกิดความง่วงเหงาหาวนอน หรือเกิดความขี้เกียจขี้คร้าน เกียจคร้านจนไม่อยากคิด นี่มันเป็นอุปสรรคสำหรับการภาวนาทั้งนั้น อุปสรรคสำหรับการปฏิบัติของหัวใจ หัวใจผู้ปฏิบัติก็จำเป็นต้องเข้มแข็งต่อสู้ กำจัดสิ่งเหล่านี้ให้มันออกไปจากหัวใจเรา เมื่อกำจัดออกไปได้ อย่างนั้นก็เหมือนเรามีกำลังลอยอยู่ในทะเลนั่นแหละ เจอะท่อนไม้ที่ได้อาศัยไปถึงฝั่งได้ก็ไม่ถึงแก่ความตาย อุปมาอุปไมยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ใจที่พะว้าพะวงมีนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำใจเราอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงถึงนาทีสองนาทีอย่างนี้ มันก็ชิงเอาไปหมด ไม่ได้ความดีเกิดขึ้นกับใจเรานี่

เพราะฉะนั้นท่อนไม้ซุงอันใด ที่เราเกาะชีวิตไปนั้นอันยังชีวิตเราไม่ให้ตาย ก็เหมือนกับที่เราอาศัย พุทโธ ธัมโม สังโฆ อันใดอันหนึ่ง หรือความตาย ความไม่เที่ยง ความเจ็บความป่วยอันใดๆ ท่อง อรหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา บทใดบทหนึ่ง หยั่งลงไปให้ถึงหัวใจอยู่อย่างนั้น แล้วให้กอดแน่นอยู่อย่างนั้น ไม่ให้ใจพะวักพะวงไปที่ใดอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็นอุบาย เป็นที่จะประคับประคองใจของเรานั้นไม่ให้เข้าไปแส่ส่ายหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจ

เมื่อภาวะของใจจดจ่ออยู่อย่างนั้นแล้ว ใจนั้นมันก็จะเกิดความสงบ คือเมื่อก่อนจะสงบมันก็ต้องกำจัดนิวรณ์ตัวนั้นเองออกไป เมื่อนิวรณ์มันออกไป เมื่อเราเพียรพยายามว่าอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ใจนั้นก็จดจ้องกับการบริกรรมอยู่อย่างนั้น ตลอดต่อเนื่องกันไป ใจนั้นก็เริ่มสบาย นิวรณ์ไม่ค่อยมีมา หรือมีมาก็ห่าง ถ้าเห็นว่ายังห่างอยู่ เราก็ต้องอย่าเพิ่งทิ้งการบริกรรมตัวนั้น

กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ ราคะ โทสะ โมหะ มันฝังอยู่ในหัวใจ เป็นเหมือนหนามมาแทงอยู่ในอกอย่างนี้ มันเจ็บแสบอยู่ทุกวัน เราไม่พยายามถอดมันแล้ว มันก็เป็นไตเป็นหนองแล้วก็เน่าเปื่อย ผลที่สุดก็ตาย ใจเรานี่เป็นอย่างไรมันจึงไม่สงบ เราก็จำเป็นจะต้องพยายามเอามันให้เกิดความสงบจนได้ อย่าให้เสียทีที่เราเป็นนักปฏิบัติ ต้องมีความเข้มแข็งสำหรับใจ บางคนกายก็ไม่เข้มแข็ง ใจก็ยิ่งไม่เข้มแข็งไปใหญ่ บางคนกายไม่ให้แต่ใจเข้มแข็งอย่างนี้

เพราะฉะนั้นต้องอุตส่าห์ อันธรรมของพระพุทธเจ้า ยกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง บำเพ็ญจนได้เป็นสัพพัญญู ก็ต้องเอาอยู่ ๖ ปีอย่างนี้เป็นต้น ต้องใช้ความพยายาม อดข้าวอดปลา ทำสารพัดสาระเพทุกอย่าง ทำจนเกือบล้มเกือบตายก็ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ นี่ เป็นอย่างนั้น จนกระทั่งมาได้ปีที่ ๖ นี่ มาเห็นปฏิปทาทางเดินถึงอานาปานสติ เมื่อใช้ปัญญาพินิจพิจารณา จึงได้รู้ความจริงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ในการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน อันใดที่จะแก้ใจให้มันขาดจากนิวรณ์แล้ว ใจนั้นจะได้เป็นสมาธิ นั่นแหละเป็นอุบายสำคัญที่มันจะแก้ใจเราได้ ใจอย่างนั้น จึงเรียกว่าใจอาตาปี คือใจที่สามารถแผดเผากิเลสลงได้


ชีวิตนี้เหมือนลิเก
พวกเราทุกคนที่มุ่งเข้าหาความสงบ การทำความสงบนี้เป็นสิ่งสำคัญในบรรดาโลกทั้งหลาย ถ้าเราสังเกตดูอย่างลิเกที่เล่นอยู่อย่างนี้ เอาเสียงหาเงินมาเลี้ยงชีพของตัว ตะเบ็งอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน หลายๆ คืน หลายๆ วัน อย่างนี้เป็นต้น เขามีอุตสาหะพยายามพากเพียร พวกเราเป็นผู้ที่สละกิจการบ้านเมืองอย่างนั้น มุ่งมาดปรารถนา ที่จะหาความสงบจริงๆ จังๆ นี่เป็นจุดสำคัญของเรา เขาเล่นลิเกตั้งหลายๆ ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ค่อยจะเหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่ เขาก็มีความเหน็ดเหนื่อย ถ้าถึงเวลาที่จะรบกันในเรื่องอย่างนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เมื่อเรา โอปนยิโก น้อมเข้ามาใส่ตนแล้ว ก็เป็นคติเครื่องเตือนใจที่จะสอนเรา อย่างเรานั่งกรรมฐานอย่างนี้ มันเกิดเจ็บเกิดปวดเกิดเมื่อยขึ้นมาอย่างนี้ เราก็น้อมสิ่งเหล่านี้ว่า

ลิเกนะเขารำได้ ทั้งฟ้อนรำ ทั้งเต้นรำ ทั้งกระโดดโลดเต้น ต่างๆ นานาได้เป็นเวลาตั้งหลายๆ ชั่วโมง ทำไมเขาทำได้ เราจะสร้างความดีความงามให้กับหัวใจของเรา ให้ใจเราเกิดความสงบอย่างนี้ เราจะแพ้ได้อย่างไร นี่เราต้องคิดอย่างนั้น เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว มันมีใจอุตสาหะ มีวิริยะ ความพากเพียรเกิดขึ้น

สิ่งที่เราจะได้รับความแจ้งประจักษ์ขึ้นในตัวเรา ก็ต้องอาศัยวิริยะ ความพากความเพียรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเมื่อขาดวิริยะความพากเพียรแล้วธรรมะจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นของจริง บุคคลที่จะเข้าไปรู้ความจริงนั้น อย่างการทำสมาธิ ก็จำเป็นจะต้องปลดเปลื้องอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคตให้เหลือใจอันเดียวอยู่กับพุทโธ หรือธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่ง หรือมรณานุสติ อย่างนี้ เป็นต้นแต่ลักษณะใจเช่นนั้น ที่ไม่ค่อยเคยฝึกหัด หรือไม่เคยชำนิชำนาญ ในการกระทำในขั้นต้น เมื่อการบริกรรมอย่างนั้น ใจก็ต้องวอกแวกคิดไปในที่อื่นบ้าง เป็นธรรมดาของใจ เหมือนวัว ควาย ที่เอามาเลี้ยงอยู่ ยังไม่เคยฝึกชำนิชำนาญ ก็ต้องดึงเชือกดึงพรวนจนขาดอย่างนี้เป็นธรรมดา เหมือนกับตัวเรา

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความกล้า ความอาจหาญ ความพากความเพียรอย่างนั้น จึงจะได้ประสบพบความจริงจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต้องอาศัยความจริงเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น ไม่เห็นแก่ปากท้อง ไม่เห็นแก่หมอน ไม่เห็นแก่เสื่อ นั่งตามสบายตั้งใจภาวนาอย่างจริงจัง อย่างนั้นจึงจะประสบสิ่งอันสูงส่ง




กุฏิสงฆ์วัดทรายงาม

การภาวนาต้องบริกรรม
ฉะนั้น พวกเราอย่าไปเสียดายบริกรรม ว่าจนให้มันเหนื่อยที่สุด ให้มันนานเท่าไรได้ยิ่งดี สักประเดี๋ยวจิตมันก็สงบ มันโหยจากการไม่นึกคิดแล้ว ถ้าเราไม่บริกรรมมันกำลังแข็งตัว มันก็ต้องออกไปสู้กับเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องบริกรรม พุทโธๆ โธๆ ๆ ๆ ๆ ว่าให้เร็ว พอมันหมดลมก็เอาอีก โธๆ ๆ ๆ ๆ แต่อย่าให้ดัง เดี๋ยวเขาว่าบ้า ให้เบาๆ ในใจ ว่าอยู่อย่างนั้นให้เร็วๆ ๆ โธๆ ๆ หยุด โธๆ ๆ หยุด ถ้าเราโธเข้าโธออก ก็เสร็จฉิบ...หมดซิ หัวใจมันห่าง แล้วมันคิดหมด

การดูลม
การดูลมหรือที่เรียกว่าอานาปานสตินี่ ต้องเหมือนคนเป็นเศรษฐี ต้องมีทรัพย์สินข้าวของเงินทองกินไม่หมดแล้ว จึงดูลมได้ นั่นบุคคลนั้นเป็นเศรษฐีแล้ว รวยแล้ว ถ้าพูดถึงสมมุติ ต้องเป็นอริยะเจ้าขั้นสูงแล้ว เป็นพระขีณาสพ นั่นถึงดูลม ถ้าผู้ไม่เป็นพระขีณาสพไปดูลมไม่ได้ สมาธิยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอ ยังไม่สิ้นอาสวะ ตัวนี้ตัวสำคัญ มีคนมาถามกันแยะนะ ถ้าใครไม่เชื่อก็ให้กลับไป คุยกันไม่รู้เรื่อง

มีผู้หญิงมาถาม เราก็นั่งหลับตาคุยด้วย มันเอาตำรามาเปิด ทีหลังมันถามเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน เอ๊ะ!... เปิดตำรา ดูตำรา เลยบอกโยมกลับเถอะ เราไม่เป็น...ไม่เป็นแล้ว ไล่กลับไปเลย


เกือบเป็นวิปัสสนู
เราเกือบจะเป็นวิปัสสนู มันฟุ้งซ่าน เห็นคนพอใจสงบปั๊บ ไปมองดูคน เขามาอยู่ในโลกทำไม มันได้อะไร ใจจะออกไปสอนเขาท่าเดียวนะ ทีหลังไปเปิดตำรา อ๋อ! ที่เรียกว่าอุธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มันเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่มันเป็นวิปัสสนูแล้ว มันเอาไม่อยู่หรอก เอายากอย่างที่พระอาจารย์กงมาท่านบอก มีเด็กมาอยู่ที่นี่ด้วยเป็นวิปัสสนู ก็บอกให้เอาไปขังอย่าให้ออกไปพูด ถ้าคนไปคุยยิ่งไปกันใหญ่ ฟุ้งซ่านตัวสั่น กำลังเป็นวิปัสสนูคนนี้ คนแก้ไม่เป็น ยิ่งไปคุยล่ะ ฟุ้งตายเลย มีก๋งสอน (ก๋งชื่อว่าสอน) กำลังภาวนาดี คนแก่อายุ ๘๐ ปี มีพระไปอยู่ด้วยองค์หนึ่งเป็นมหานิกาย ไปคุยกับแกทุกวัน ยิ่งคุยธรรมะนั่นแหละยิ่งฟุ้งใหญ่ จะเหาะเดินเหินฟ้าอยู่เรื่อย ๆ เราจึงบอกว่า มาหามาคุยกับก๋งไม่ได้นะ ก๋งกำลังเป็นวิปัสสนู จะเสีย แกก็ไม่ฟังเพราะเป็นมหานิกาย ถ้าไม่เป็นมหานิกายจะถูกเตะ เล่นจนก๋งสอนเสียคนเลย ก๋งท่องทั้งวันว่า “ฉันอยู่ในห้อง ฉันไม่ต้องกลัวใครๆ ” สุดท้ายเป็นบ้าเลย ทีหลังต้องล่ามโซไว้

ทีแรกเรานึกว่า “ยันตระ” มันเป็นแบบนี้ เอ! ทำไมยันตระไม่ไปหาหลวงตาบัวนี่ อ้าว! ทีหลังมีคนไปฟังเทศน์ เทศน์เป็นเสียเมื่อไรล่ะ ก็เทศน์แต่ศีล ๕ กลับไปศีล ๕ ก็เทศน์อยู่อย่างนั้น แล้วมันศีล ๕ อยู่ยังไงทั้งวันทั้งคืน ถ้าเทศน์เฉพาะศีล ๕ วนไปวนมาอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเป็นวิปัสสนู วิปัสสนูคือการหลงในองค์วิปัสสนา เทศน์อย่างนี้เรียกว่า โรคจิต โรคประสาท เราก็ถามเขาคนที่ไปหาว่ายันตระมันสอนภาวนายังไง เขาบอกว่า ไม่ได้ไปภาวนาหรอก ไปดูรูปหล่อ “โอ้โฮ! ไอ้มนุษย์เรานี่ มันถึงขนาดนั้นเลยรึ ว่า “ยันตระรูปหล่อ” เราดูไม่เห็นหล่อห่าอะไรเลย ตัวสูงก็ว่ารูปหล่อ... เชอะ!....พวกบ้า”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2557 14:13:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2557 16:27:57 »

.


เตือนตน
เมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จ พระอาจารย์กงมาท่านจะเทศน์ธรรมะทุกๆ วัน พวกเราก็เข้าที่นั่งสมาธิ บางคนนั่งภาวนาไม่ได้ ไม่รู้เป็นอะไร เป็นอย่างนั้นจริงๆ พอนั่งเดี๋ยวเดียวของขึ้น ศาลากระพือหมดเลย ทำไมไม่รู้ นั่งไม่ได้ กระโดดขึ้นมาเลย พระอาจารย์กงมาว่า “นั้นๆ เอาแล้ว เป็นอีกแล้ว” แปลก!... นั่งสมาธิไม่ได้ มันขึ้น (บางคน)

ตอนที่ภาวนาพรรษาที่ ๓ ที่ทรายงามนั้น มีตาก๋งริ อายุ ๗๐-๘๐ ปี นั่งภาวนาทั้งคืนยันสว่าง มองดูเหมือนหลับคอตกอยู่อย่างนี้ แต่แกไม่หลับนะ สมาธิแกดี พวกพระเณรสู้แกไม่ได้ เราก็มาคิดว่า “เอ๊ะ!...ทำไมเราทำไม่ได้อย่างนั้น แกแก่จะตายห่าอยู่แล้วแกยังทำได้ เราเป็นหนุ่มฟ้อแท้ ๆ ทำไมทำไม่ได้ ไม่ละอายคนแก่บ้างหรือ?”

ตอนแรกเราก็นั่งภาวนาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลาน พอพระอาจารย์กงมาเผลอ ทำท่านั่งไปแป๊บ หลบมานอนแล้ว พอย่างเข้าพรรษาที่ ๓ ทำให้ได้คิดถึงตัวเจ้าของ “กูนี่... บวชมากินข้าวชาวบ้านนะ แจวเรือก็เก่ง แบกข้าวก็ได้ทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง แล้วทำไมจึงมาขี้เกียจขี้คร้าน” เข้าไปตั้งสัจจะกราบพระพุทธรูป เอาพระองค์เป็นเครื่องเตือนสติย้ำอีกว่า

“ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะภาวนาตลอดคืนยันรุ่ง ถ้าข้าพเจ้าไม่มีสัจจะ ให้ฟ้าผ่า แผ่นดินสูบ น้ำท่วมตาย ไฟไหม้ตายซะ"

ที่เราต้องอธิษฐานย้ำเช่นนี้ เพราะว่าเราต้องการมัดจิตใจเราให้แข็งแกร่ง เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นพยาน ถ้าเราทำตามคำอธิษฐานไม่ได้เราก็วิบัติ ในบางครั้งถึงจะแพ้หรือจะชนะก็ตาม ที่สำคัญต้องไม่ถอย ไม่ให้จิตดวงนี้แบ่งปันไปให้กับสิ่งอื่นได้แม้นิด ถือเอาอำนาจพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นกำลังใจ เราเชื่อท่านแล้ว ท่านคงไม่นำพาเราไปสู่ที่ต่ำแน่นอน จากนั้นก็กำหนดพุทโธๆ โธ ๆ ๆ ๆ ให้เร็ว ๆ ๆ ๆ ...พอหมดลมปั๊บก็หยุด บริกรรมให้เร็ว ว่าให้เร็ว ที่เร็วนั้นเพื่อป้องกัน ไม่ให้มันคิด เมื่อบริกรรมเร็วๆ ตอนแรกก็พุทโธๆ ๆ ๆ ตอนหลังเมื่อเร็วเข้ามากๆ จะเหลือแต่ โธๆ ๆ ๆ อย่างนี้ ว่าเร็ว ๆ อย่าให้จิตมันคิดไปอื่นได้  ถ้าหายใจเข้า...พุท หายใจออก...โธ จิตมันยังมีที่ออกคิดไปโน่นนี่ได้ทั่วไปหมดเพราะธรรมชาติของจิต จิตมันออกรู้เร็วอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดต้องว่าให้เร็วเข้าไว้ เร็วจนมันหายกลายเป็นความสงบขึ้นมา แม้นมันจะหลับก็อย่าให้มันหลับ มันกินข้าวมากก็จะหลับ อย่าให้มันหลับ พอจิตเกิดความสงบขึ้นมาเราก็จะรู้ การภาวนาต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้ตัวอยู่ไม่มีคำว่าหลับหรอก พอจิตมันนิ่งเราก็หยุดพุทโธ อันนี้มันจะรู้อยู่ในตัวของมันเอง

พอจิตมันสงบเต็มที่ถึงฐานของมัน ถ้ารู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ท่านก็เรียกว่า “ญาณ” คือการหยั่งรู้ ถ้าจิตออกรู้แล้วก็จะมีสิ่งมาปรากฏให้เราเห็น


ธรรมปีติ
เมื่อนั่งภาวนาหลายๆ ชั่วโมง จิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เข้าทางจงกรม เดินจงกรม กำหนดตั้งจิตภาวนาต่อไม่หยุด เดินจงกรมยาวประมาณจากกุฏินี่ถึงหน้าประตู (ท่านชี้บอกระยะทางที่ให้เดินประมาณ ๓๐ ก้าว) แผ่นดินแหลกหมด เดินทั้งคืนยันสว่าง เดินพิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งคืนจนกระทั่งสว่าง เดินมากเข้าๆ แทนที่จะเหน็ดเหนื่อย กลับกระปรี้กระเปร่า กายเบาจิตเบา กายอ่อนจิตอ่อน โอ้โฮ...เบาปีติมันขึ้น...เบา ขาทำท่าจะลอยขึ้นจากพื้นดิน ลอยซิ ลอย ลอย ไม่ขึ้นสักที (หัวเราะ) ขานี่เบาโล่งหมด ความรู้เด่นดวง อันนี้เป็นปีติในธรรม การปฏิบัตินั้นถ้าจริตเราถูกกับแบบไหน ก็ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา ไม่ใช่เปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จะไม่ได้ผล

เมื่อจิตสงบมีตัวรู้ เกิดวิจารคือการยกจิตขึ้นมาพิจารณาด้วยปัญญา เกิดปีติ สุข เอกัคคตา มันรวมเป็นอัปปนาสมาธิ บาลีท่านว่า “วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ สงัดจากกิเลสกามทั้งหลาย หรือว่า จากอกุศลทั้งปวง”  จิตเกิดความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ เป็นรสชาติภายในกายและจิต มีลักษณะซาบซ่าน ฟูขึ้นเป็นรสชาติ ปีติมีหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ปีติเล็กน้อย มีอาการขนลุกชูชันในร่างกาย
ปีติเกิดขึ้นชั่วขณะ แวบๆ เข้าภายในเหมือนฟ้าแลบแปล๊บๆ
ปีติเป็นพักๆ ปีติที่ลงสู่กายแล้วหายไปๆ ดุจคลื่นซัดฝั่งมหาสมุทรแล้วแตกกระจายเป็นฟองฝอย

ปีติที่เกิดขึ้นอย่างแรงในขณะภาวนาหรือพิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงขนาดทำกายให้ลอยขึ้นๆ โลดไปในอากาศได้ ปีติแบบนี้หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านทำได้

อันสุดท้าย ปีติซาบซ่านเอิบอาบไปทั่วร่างกาย เหมือนเหวสูง ๆ ที่น้ำป่าหลากมาพัดเข้าไปเต็มๆ เกิดความสงบระงับกิเลสทางกายทางจิต ขจัดอาพาธทางกายและจิตได้ ธรรมชาติที่จิตสัมผัสเช่นนี้ได้เรียกว่า “สุขในธรรม” หรือ “ธรรมปีติ” ก็ได้เหมือนกัน ปีติแบบนี้เราเป็นอยู่บ่อย ๆ

บางทีกายเบาจิตเบา บางทีก็จะรู้ว่าร่างกายมันใหญ่ขึ้นๆ อย่าไปกลัว ก็ให้จิตรู้อยู่ที่ตัวรู้นั่นแหละ

เวลาจิตที่มันรวมดี เกิดปีติมากๆ ถึงขนาดน้ำตานี้มันไหลพราก จิตเกิดความสลดสังเวชเกี่ยวกับการเกิดตาย ที่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฎฎสงสารอันหาที่ยุติไม่ได้ สำหรับเหล่าสัตว์ผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ ทำให้เกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า พระธรรมที่พระองค์บรรลุนำมาสั่งสอน และพระอริยสงฆ์ที่ผ่านห้วงกิเลสที่หนาแน่นนักหนาในหัวใจสัตว์แต่ละดวง เกิดความอัศจรรย์และความสลดสังเวชไปพร้อมๆ กัน เพราะเราก็เป็นมาเช่นนี้ เดินทางมาไกล...ไกลจนไม่รู้ว่าจุดหมายมันอยู่ตรงไหน เพราะจิตนี้เป็นนักเดินทาง เดินทางไกลจนหาที่ยุติไม่ได้ แล้วยังไม่แล้ว ยังต้องเดินไปดวงเดียว มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงคนที่รักมากเท่าใด เมื่อตายแล้วเขาก็ไม่ไปกับเรา มีแต่เพียงเราลำพังเท่านั้น เดินทางอยู่คนเดียวไม่มีเพื่อนสอง เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็มาสถิตอยู่ท่ามกลางอกภายในหทัยของสัตว์ทุกตัวตน แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่ทราบที่ไปที่มา ทราบเพียงแต่ว่าเกิด-ตาย เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นไม่มีทางทราบได้ ในที่สุดก็ปฏิเสธบุญและความดีทั้งมวล แต่กลับมาเห็นสิ่งที่เป็นบาปเป็นของสูงค่าไป

ในขณะที่เดินจงกรมบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่นั้น จิตได้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตเช่นนี้ และการท่องเที่ยวของจิตที่หาที่สุดยุติไม่ได้ แต่มาเวลานี้ได้มาพบทางอันเป็นที่สงบระงับจากการหมุนวนในสิ่งทั้งปวง เหมือนผู้หลงทางมาช้านาน กลับเข้ามาสู่ทาง เพื่อเดินเข้าสู่ที่หมายอันปลอดภัย เมื่อถึงที่หมายอันปลอดภัยแล้ว คงไม่ต้องแสวงหาสิ่งใดแล้ว เพราะที่นั่นเป็นที่พร้อมมูลในบรรดาสิ่งทั้งปวง



คำบริกรรม “พุทโธ” ที่ใช้บริกรรมอยู่ในขณะนั้น ได้กลายกลืนไปภายในจิตว่า “มรณัง มรณัง ตาย ตาย ๆ ๆ ” เมื่อถอนจิตออกมาจากสมาธิก็จวนจะรุ่งสางแล้ว ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเหมือนที่คนทั้งหลายหลับนอนเป็นปกติ ทั้งที่ตลอดทั้งคืนไม่ได้นอน และไม่นอนติดต่อวันมาเป็นเวลา ๑๖ วันแล้ว ปลงธรรมสังเวชในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นดั่งฝันร้ายในการเกิดมาเป็นสัตว์โลก รู้เห็นเหตุให้ เกิด-ตาย อย่างเด่นชัด และทราบว่าอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด

ในที่สุดก็ได้นำเรื่องจิตนี้เข้ากราบเรียนถวายท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์กงมาท่านแก้จิตให้ว่า
“ท่านเจี๊ยะ จิตที่ท่านเป็นอยู่เวลานี้เป็นเพียงปีติ ที่เกิดขึ้นภายในจิตอย่างแรงกล้า ขอให้ท่านกลับไปภาวนาพุทโธต่อใหม่ ถ้าท่านปฏิบัติตามนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นภายในจิตท่านก็จะหายไปเอง หลังจากนั้นให้ท่านพยายามพิจารณากายโดยการตีให้แตกด้วยอริยสัจจ์”

เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์กงมา ปีติก็หายไปตามที่ท่านบอกจริงๆ ยิ่งมาพิจารณากายนี้แล้ว ยิ่งมารู้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคาดนึกมาก่อน

การพิจารณากาย ฮิ... ให้พิจารณาอย่างนี้ ให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด หูหลุด แก้มหลุด แก้มซ้าย-ขวาหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ฟันบนหลุด ฟันล่างหลุด ก็ให้นึกไปอย่างนั้น ให้จิตมันพิจารณา นั่นแหละอย่างนี้ท่านเรียกว่าปัญญาแต่คนเขาไม่ค่อยรู้กัน

ตอนที่อยู่วัดทรายงาม ก็พิจารณากายมามากแล้ว จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็พิจารณาอย่างนี้ไปตลอด หลวงตาบัวท่านว่า ทำแบบนี้เรียกว่า  “ปัญญาอบรมสมาธิ”


การปฏิบัติโดยใช้ปัญญาใคร่ครวญพินิจพิจารณา จนจิตเป็นสมาธินั้น จิตประเภทที่ได้รับการฝึกปฏิบัติแบบนี้ ถ้ารวมจะรวมใหญ่กว่าจิตที่ฝึกปฏิบัติแบบธรรมดา



กุฏิหลวงปู่เจี๊ยะที่วัดทรายงาม

การพิจารณากายเพื่อลิ้มรสพระธรรม
เมื่อเราปฏิบัติอยู่ที่วัดทรายงาม ถึงสมาธิเราจะดีขึ้นจนแน่น แต่เราก็เตือนตนเสมอวา “อย่าได้นอนใจ” เพราะค้นคว้าพินิจพิจารณาในกายนี้ก็เป็นของดี พิจารณาแล้วมันจะเกิดความหน่ายคลายความกำหนัดของหัวใจที่เคยติดหลง ว่าตัวเรา ว่าตัวเขา ตัวมึง ตัวกู อันนี้มันจะถอดถอนไป เพราะเมื่อพิจารณามากเข้า ๆ มันเกิดความเบื่อหน่าย อย่างในอนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงว่าความเบื่อหน่าย ในสังขารร่างกายของเรา เมื่อใจที่จดจ่อค้นคว้า พินิจพิจารณาอยู่ในอารมณ์อันหนึ่งของร่างกายอย่างนั้นแล้ว มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันก็เกิดความเบื่อหน่าย หน่ายอย่างที่ในชีวิตของเราไม่เคยเจอ มันก็หน่ายลงไป หน่ายจนบางครั้งบางคราว น้ำหูน้ำตาไหลลงมา เกิดความสังเวช สลดใจ ในชีวิตเราไม่เคยเป็นอย่างนั้น มันก็เกิดขึ้นมา จึงว่า

“ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อบุคคลใดได้ลิ้มรสเข้าไปแล้ว มันติดคุณค่าราคาธรรม เรื่องโลกมีเงิน เป็นร้อย เป็นสิบ เป็นพันล้าน มันก็ไม่มีคุณค่าราคาเทียบเท่าธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านั้นเป็นของนอกกาย เราไม่ได้เอาไปเลย ไม่ได้ติดตัวเราไปจนแดงเดียว เก๊เดียว แม้แต่เสื้อผ้า ผ้าผ่อน ตายแล้ว โลงเขาทำมาอย่างดี สวยๆ งามๆ ก็ต้องเผาไฟหมดไป”

เมื่อได้พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว ใจมันถอด ใจมันถอน ใจมันเกิดความสังเวชสลดใจ พบประโยชน์มหัศจรรย์ของการบรรพชา ในชีวิตของเราได้พบพลอยเม็ดใหญ่ อย่างมีค่าหาประมาณที่จะเทียบไม่ได้ นี่อันนี้ประเสริฐที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปแล้ว เออ...เห็นอะไรที่ประจักษ์ ฟังให้ดี ๆ ตรงนี้ฟังให้เข้าใจ แล้วทดลอง ลองกำหนดใจดู ใจที่ตั้งปกติ กับใจที่คิดมันต่างกันอย่างไร เออ...ฟังนะ แล้วก็ทำลงไป กำหนดดูซิ ใจที่ตั้งเป็นปกติกับใจที่คิดอยู่ อันใดจริงอันใดไม่จริง นี่มองดูเดี๋ยวนี้ ทำเดี๋ยวนี้ ให้มันประจักษ์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วยังมีวิมุตติอีกอันหนึ่ง คือการหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ปัญญาแต่ยังมีวิมุตติหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง แน่ะ...ฟังให้เข้าใจ ความคิดนึกปรุงแต่งที่พิจารณา ตัวนั้นเรียกว่าปัญญา เรียกว่า เป็นมรรค ยังไม่ถึงผล ผลคือตัววิมุตติหลุดพ้น เมื่อจิตพิจารณาแยกเห็นแจ้งชัดลงไปแล้ว ก็วางการค้นคว้าพินิจพิจารณา หรือเรียกว่าดับไปเองอย่างนั้น จิตนั้นแยกออกมาเป็นเอกเทศ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ความคิดนึกปรุงแต่งก็ดับหมด

ในขณะนั้น จิตเป็นเอกเทศ จิตเป็นเอก ไม่มีสิ่งใดจะมาเกี่ยวเกาะพัวพันของตัวที่รู้อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเห็นโทษอันใด เมื่อพิจารณาอย่างนั้น ก็เห็นโทษความคิดนึก ความปรุงแต่งของใจนั้นเอง ไม่ได้เห็นที่อื่นนอกไปจากตัวเรา จากใจของเรา ที่ดิ้นรนกระวนกระวาย ก็เห็นตัวเรา ใจที่เห็นอย่างนั้นก็แยกออกมาอยู่ชัดจำเพาะใจอันเดียวเป็นปกติ ยืน เดิน นั่ง นอน ไปที่ไหน ก็อยู่อย่างนั้นไม่มีกาลไม่มีเวลา เออ...ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่า ใจเป็นธรรม ใจเป็นมรรค ใจเป็นผล

สมาธิเกิดขึ้นกับเรา แล้วผลกำไรก็ได้กับเรา เมื่อมีกำไรแล้ว เข้ามาอยู่วัดอยู่วา ได้กำไรในการบำเพ็ญสมาธิเจริญศีล

ออกพรรษากลับไปบ้าน เรามีกำไรที่จะสอนโยมพ่อโยมแม่แล้ว เหมือนกับการค้าขายได้กำไรทั้งหลายสิบชั่ง หลายร้อยชั่ง มีลูกมีหลาน กลับไปก็ได้แจกเขา คนละชั่ง สองชั่ง คนละห้าชั่ง หกชั่ง สิบชั่ง อย่างนี้เขาก็ชื่นอกชื่นใจเมื่อกลับไป มาค้ามาขายในวัด ขาดทุนไม่ได้เลย สมาธิไม่ได้สักที กลับไปก็ได้มีอะไรมาแจกเขา เขาก็เสียอกเสียใจ

เพราะฉะนั้นการที่เราต้องตั้งอกตั้งใจบากบั่นสู้อดสู้ทนทำให้มันเห็นจริงเห็นจังเกิดขึ้นกับเรานี่เป็นบุญอย่างมหาศาล อย่างเฒ่าแก่โบราณจึงว่าไว้ว่า เพียงใจสงบเท่างูแลบลิ้น ควายกระดิกหู ช้างกระดิกหู ก็มีอานิสงส์เหนือจะพรรณนา ยิ่งเราทำใจให้ได้ความสงบเป็นชั่วโมง ๆ อย่างนั้นแหละ ยิ่งได้อานิสงส์ใหญ่ ยิ่งเห็นว่าการพิจารณาสังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เกิดความสังเวชใจนั้นยิ่งมีอานิสงส์แรงขึ้นไปอีก ยิ่งเรียกว่าค้าขายได้กำไรเยอะแยะ ๆ

จิตรวมใหญ่ใต้ต้นกระบก
จนในที่สุดเมื่อภาวนาอยู่ไม่รู้จักคำว่า “หยุดถอย” อยู่มาวันหนึ่งในพรรษาที่ ๓ มานั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นกระบกที่วัดทรายงาม  “จิตรวมใหญ่ด้วยการหยั่งสติปัญญา ลงในกายานุปัสสนา แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ออก พิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ คือยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนาคือทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่างๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่า ส่วนนี้เป็นทุกข์ ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินงาน ทำการขุดค้น คลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึง ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณา พิจารณากายครั้งนี้ละเอียดลออไปทุกชิ้น ทุกส่วน ทุกอัน ไม่มีตกหล่น จนได้สภาวะของใจอันละเอียดสุดนั้น จิตลงสู่ความจริงประจักษ์ใจ โลกทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ขาดสูญไปหมด มีอยู่จำเพาะใจดวงเดียวไม่มีสิ่งใดเจือปน”

การพิจารณากายครั้งนี้ ปรากฏประหนึ่งว่า “แผ่นดิน แผ่นฟ้าละลายหมด กายกับใจนี้มันขาดออกจากกัน เหมือนว่าโลกนี้ขาดพรึบลงไป ไม่มีอะไรเหลือเลย แม้แต่ร่างกายก็สูญหายไปหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้ทีเดียว”  เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้แปลกประหลาดอัศจรรย์และพิสดารอย่างลึกล้ำ ถึงกับได้อุทานภายในใจว่า “นี่แหละชีวิตอันประเสริฐ เราได้พานพบแล้ว”  คืนนั้นจึงเป็นคืนที่น่าจดจำอย่างไม่มีวันลืม



ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ธรรมชาติของจิตนี้มันแปลกกว่าที่คาดอยู่มาก มากขนาดว่าก่อนจิตรวมกับหลังจิตรวมนี้มันเหมือนคนละคน ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกัน อันนี้พูดในด้านธรรมะนะ ไม่ได้โอ้อวด พอจิตนี้รวมถึงที่สุดแล้ว ถอนจิตออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้มันอาจหาญ ไม่กลัวใคร คำไม่กลัว ไม่ได้หมายว่าเราเป็นนักเลง คือไม่กลัว ต่อความจริง อันไหนเป็นความจริงเราอาจหาญที่จะต่อสู้และพิจารณา เรียกว่า “ธรรมทำให้กล้าหาญ”

เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้ เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นที่ยิ่ง จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย ทั้งๆ ที่เคยสัญญากับคนรักไว้ก่อนบวชว่า “บวชเพียงหนึ่งพรรษา ก็จะสึกออกมาแต่งงานกัน” เมื่อจิตมิได้เยื่อใยในโลกเช่นนั้นอยู่มาวันหนึ่งเดินออกบิณฑบาต เจอคนที่เราเคยรักมาใส่บาตร เราจึงบอกสาวคนที่เรารักนั้นไปว่า “แป้งเอ๊ย...ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ”

เมื่อเป็นสันทิฏฐิกธรรม คือรู้เองเห็นเองเฉพาะตนแล้ว จึงไม่นำไปพูดกับใครและปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ จึงนึกถึงแต่กิตติศัพท์และกิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น

(...เมื่อเรานำเรื่องนี้ไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาภายหลังท่านเทศน์ให้หมู่เพื่อนฟังว่า “บุญกุศลนี้ต่างกันโว้ย มีหมู่ปฏิบัติมา ๓-๔ ปี มันลงเหมือนเราที่นครนายก” เราจึงรู้ว่ามันลงเหมือนกัน เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก (อ่อนพรรษา)

ทีหลังท่านเรียกเราว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ท่านว่าให้หลวงตาบัวฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ ท่านเรียก “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เหมือนกัน (หัวเราะ)...)



กราบลาพระอาจารย์กงมา
หลังจากออกพรรษาประมาณเดือนธันวาคม ๒๔๘๒ จึงตัดสินใจเข้าไปกราบลาพระอาจารย์กงมา เพื่อเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่ สาเหตุที่ต้องเดินทางไปหาท่านนั้น ในใจจริงๆ แล้ว เราคิดว่าเราภาวนาดีพอตัว ถ้าจะพูดหรือสนทนากับใคร คิดว่าในเรื่องจิตนี้คงไม่จบลงโดยง่าย อาจจะมีข้อขัดแย้งกันอีกนานาประการ เราเอาท่านเป็นเกณฑ์เลย เพราะองค์อื่นๆ ที่มาสอนธรรมะอยู่ ณ เวลานี้ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น ดังนั้นเราไปหาจุดใหญ่เลย จะต้องดีกว่าแน่นอน เมื่อแน่ใจในตนเอง โดยไม่ปริปากบอกใคร เพราะถ้าบอก เขาก็จะพากันห้ามปราม กลัวเราจะอยู่กับท่านไม่ได้

แม้แต่พระอาจารย์กงมา เราก็ไม่ได้บอกเรื่องภายในจิตนี้ เราคิดว่า ถ้าบอกเล่าถวายท่าน ท่านก็คงไม่เชื่อ เพราะเราบวชยังไม่นาน อีกทั้งสมัยนั้นมันดื้อมาก ดื้อมากขนาดไม่มีใครจะเชื่อว่า เราภาวนาดีได้ จึงตั้งใจไว้ว่า  “จะมาเล่าให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ตั้งแต่วันที่ภาวนาจนจิตรวมครั้งใหญ่แล้ว

เมื่อพระอาจารย์กงมาท่านทราบว่า เราจะกราบลาไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ถามว่า  “ท่านเจี๊ยะ...พระอย่างท่านจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่นได้ยังไง” พระอาจารย์กงมา ท่านพูดแบบเป็นจริงเป็นจัง ไอ้เรามันก็แบบอย่างว่านั่นแหละ อันไหนเป็นความจริงแล้วไม่ถอย ก็เรียนตอบท่านทันทีว่า

ครูอาจารย์ (กงมา) หลวงปู่มั่นเป็นคน ผมก็เป็นคน ทำไมผมจะไปอยู่กับปู่มั่นไม่ได้ ถ้าท่านเป็นพระดี ผมไปหาของดีมันจะผิดตรงไหน ก็คนไม่ดีนั่นแหละต้องให้คนดี ๆ สอน ถ้าคนอยู่กับคนไม่ได้แล้ว คนจะอยู่กับใคร

ครูอาจารย์ที่นี่ก็ดี ผมไม่ได้ประมาทในคุณธรรมแม้นิด แต่ที่นี่มันใกล้บ้าน ใกล้พ่อแม่ญาติพี่น้อง มีอะไรก็เรียกหา เรียกใช้ได้ง่ายๆ มันสะดวกเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แต่ไม่สะดวกในทางการประพฤติธรรม แม้แต่โยมแม่ทราบว่าจะไป เหตุเพียงแค่นี้ก็ร้องห่มร้องไห้กันแล้ว ภาระกังวลนี่แหละ มันจึงเป็นเหมือนนิวรณ์คอยกางกั้น การไปไกลๆ จากบ้าน ถ้าเกิดความลำบากอย่างน้อยธรรมชาติมันคงช่วยดัดนิสัยผมได้บ้าง ผมก็คิดอย่างนี้


เมื่อเราพูดขึ้นอย่างนั้น พระอาจารย์กงมาจึงพูดขึ้นว่า  “ท่านเจี้ยะ...ถ้าท่านได้อะไรดี ๆ ก็นำมาสอนผู้เฒ่าบ้างเน้อ”  เมื่อท่านอาจารย์พูดแบบนั้น เราก็ เอ๊ะ!...ทำไมผู้เฒ่าพูดอย่างนี้น้อ...ยิ่งทำให้อยากไปใหญ่ จึงกราบเรียนท่านอย่างนี้ว่า  “ถึงใครๆ จะไม่ให้ไป ผมก็จะไป ท่านพระอาจารย์มั่นจะเป็นคนตัดสินเองว่า จะอยู่กับท่านได้หรือไม่ได้” ตอนนั้นเรามั่นใจในตนเต็มที่เหมือนกัน

หลังจากกราบลาท่านอาจารย์แล้ว จึงไปบอกลาโยมพ่อโยมแม่และพี่สาวตลอดจนญาติๆ พ่อแม่ร้องไห้โฮกันใหญ่ ก็เราอยู่บ้านไม่เคยลำบาก...ฮิ... พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้ทำงาน งานทั้งหมดเรายินดีทำเอง โยมแม่ก็พูดขึ้นว่า “กินก็เป็นคนกินยากจะไปได้ยังไง? ลูก” โยมแม่พูดขึ้นพร้อมทั้งน้ำตา เพราะในบรรดาลูกๆ พ่อแม่รักเราที่สุด

"ก็มันกินยากฮิ... จึงต้องไป ไปแก้ให้มันกินง่ายๆ โอ๊ย!..ไม่ต้องเป็นห่วง อาตมาไม่ตายหรอกนะโยม" เราพูดปลอบๆ ให้ท่านทั้งสองสบายใจ กลัวท่านจะคิดมาก




พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก
สหธรรมิกหลวงปู่เจี๊ยะ ที่เดินทาง
ไปหาท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมกัน


ก่อนวันออกเดินทาง ก็เข้าไปกราบลาท่านพ่อลี เมื่อกราบเรียนท่านว่าจะไปหาท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นแหละ ท่านพ่อท่านพูดเสียงดังลั่นเลยว่า “มันต้องอย่างนี้สิ...มันต้องอย่างนี้สิ..ลูกศิษย์ตถาคต”  แล้วท่านพ่อก็ให้โอวาทว่า  “การไปหาครูบาอาจารย์ต้องปฏิบัติตัวให้ดี และเอาให้ถึงธรรมให้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระแท้ พระจริง เราต้องทำตัวเราให้ถึงความจริงดังที่ท่านสอน ถ้าเราไม่จริง เราจะไปปลอมปนอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะของจริงกับของปลอมมันแยกแยะออกได้ ของสะอาดกับของสกปรก เราจะเอามาปนกันไม่ได้ ความสะอาดก็คือความสะอาด ความสกปรกก็คือความสกปรก เราไปหาท่าน เราต้องเป็นแบบท่าน และพยายามทำให้ถึงธรรมอย่างที่ท่านเห็น แล้วเราก็จะกลมกลืนในสายทางแห่งธรรมอันเดียวกัน การอยู่กับท่านก็จะได้ผลที่สุดเป็นที่หมาย”  

การได้ฟังโอวาทท่านพ่อเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ใจมันไขว่คว้าในเป้าหมายคือ “ท่านพระอาจารย์มั่น” ยังไงต้องถึงท่านที่เป็นพระอรหันต์ให้ได้ ในใจลึกๆ มันคิดอย่างนั้น

เมื่อฟังท่านพ่อสอนอย่างนั้น ใจมันก็ได้กำลังใจเป็นอย่างมาก แล้วท่านพ่อจึงพูดขึ้นว่า “ท่านเจี๊ยะ...ให้ท่านเอาท่านเฟื่องไปเป็นเพื่อนด้วยนะ เวลามีอะไรขัดข้องจะได้ช่วยเหลือกัน” แล้วท่านก็กำหนดวันออกเดินทางให้ไปพร้อมกับท่าน เพราะท่านจะเดินทางไปอินเดีย ต้องเข้ากรุงเทพฯ เหมือนกัน

พอถึงวันออกเดินทาง มาขึ้นเรือนิภาที่ท่าแฉลบ พร้อมกับท่านเฟื่องและท่านพ่อลี ท่านพ่อลีท่านไปอินเดีย ไม่ได้นั่งเครื่องบินไปนะ ท่านเดินเที่ยวธุดงค์ออกไปทางจังหวัดตากแล้วเข้าไปทางพม่า

บทเวลาจะไป โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้องร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ จะไม่ยอมให้เดินทาง ไม่ยอมให้ขึ้นเรือ พูดอ้อนวอน เพื่อจะไม่ให้ไปด้วยอุบายต่างๆ นานา พี่สาวมันพูดขึ้นว่า “พระไม่มีเงิน ถือเดินจับเงินเองไม่ได้ หาเงินเองไม่ได้ หากินเองไม่ได้จะไปได้อย่างไรกัน?”

เราก็ตอบมันไปว่า “พระทั่วประเทศเขาไปยังไง อยู่ยังไง กินยังไง กูก็จะไปยังงั้น อยู่ยังงั้น กินยังงั้น พระพุทธเจ้าสละราชบัลลังก์ออกบวชไม่เห็นจะมีปัญหามากขนาดนี้... โว้ย...”  เมื่อเราพูดเด็ด ๆ อย่างนั้น พี่สาวเขาจึงยึดกลดเอาไปซ่อนไว้เลย ไม่ยอมให้ แม้กระทั่งใกล้เวลาที่เรือจะออกแล้ว ก็ไม่ยอมให้กลด เราก็ไม่รู้จะทำยังไง จึงพูดขึ้นว่า “ถ้ามึงไม่ให้ กูก็ต้องนอนตากยุง คนยังห้ามกูไม่ได้ กลดหรือมันจะมาห้ามกูได้?”  เมื่อพี่สาวเห็นความตั้งใจอันแน่วแน่ จากนั้นมาเขาก็คืนกลดให้




สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
(พิมพ์  ธมฺมธโร)


เดินทางสู่เชียงใหม่

...พักอยู่ที่กรุงเทพฯประมาณ ๒๐ วัน ขึ้นรถไฟเดินทางไปที่เชียงใหม่ ถึงเชียงใหม่แล้วนั่งสามล้อต่อไปที่วัดเจดีย์หลวง พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงประมาณ ๔ วัน

ตอนออกเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มีปัจจัยอยู่เพียง ๗ บาท จ่ายค่ารถ จ่ายค่าสามล้อหมดพอดี ไปพักอยู่วัดเจดีย์หลวง ได้พบกับพระมหาเสงี่ยม สนทนากันแบบเพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ พูดจาถูกคอกัน ท่านเห็นว่าเราไม่มีเงินค่ารถ จึงชักชวนให้อยู่ก่อน ท่านนิมนต์ให้อยู่ถึงวันพระก่อน เพราะวันพระที่จะถึงนี้ท่านจะเป็นองค์แสดงธรรม ญาติโยมคงจะถวายกัณฑ์เทศน์ โดยตามปกติแล้ว ในวันพระทุกวันพระ พระที่เทศน์จะได้ปัจจัยที่โยมถวาย ๘๐ สตางค์ พอท่านได้ปัจจัย ท่านก็นำมาถวายเป็นค่ารถในการเดินทาง

ในวันที่ไปถึงเชียงใหม่ ก็เดินทางเข้าไปพักที่วัดเจดีย์หลวง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ตอนนั้นท่านยังเป็นพระราชกวี (พิมพ์) ตอนนั้นท่านยังหนุ่ม ยังไม่รู้จักกันกับท่าน ท่านก็ให้เราเข้าไปนอนในเจดีย์ใต้เจดีย์หลวง มีทางลอดเข้าไปแคบๆ พอนอนได้ ภายใต้เจดีย์นั้นผีดุมาก พอเอนกายนอนลงเท่านั้น มีผีเปรตตัวใหญ่ดำมะเมี่ยม มายืนคร่อมเราอยู่ เราว่าคาถาภาวนามันก็หายไป

พอตอนเช้า พวกพระเขาก็พูดกันว่า ใครๆ เข้าไปนอน เป็นต้องหนีตายออกมากลางคืน มีเรานี่แหละอยู่ได้จนสว่าง เขาพูดกันว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเรื่องผีเปรตที่เคยหลอกหลอนคนและพระก็เงียบสงบไป ผีเปรตตัวนี้กับเรามันคงเคยสร้างบุญสร้างกรรมกับเรา พอเราแผ่เมตตา สวดคาถาภาวนามันก็หายไป ในสมัยนั้นภายใต้เจดีย์นั้นไม่มีใครกล้าเข้าไปนอนเลย

มันก็แพ้คุณธรรมของเรา มันดุ เรากำลังทำสมาธิ มันก็เข้ามา มันก็มาตัวดำๆ ทะมึนทึง เราไม่กลัว เราก็ว่าคาถาภาวนา สักประเดี๋ยวมันก็หายไป

แต่ก่อนสถานที่นั้นเป็นของวัดพระฝ่ายมหานิกายมาก่อน แต่ต่อมาเป็นของพระธรรมยุต พระเข้าไปนอนไม่ได้เลย มันรังแก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2557 14:52:42 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2557 16:30:20 »

.


วัดเจดีย์หลวง ที่หลวงปู่เจี๊ยะ
เข้าไปพักในคืนแรกที่ไปถึงเชียงใหม่

ภาพจาก : lannacorner.net

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราถึงได้รู้จักกันกับท่านพระมหาพิมพ์ ต่อมาท่านก็เป็นเจ้าคุณฯ และเป็นสมเด็จฯ ตามลำดับ

พอตกกลางคืนก่อนวันออกเดินทาง ภาวนาเกิดนิมิต นิมิตนี้เป็นนิมิตธรรมดาแต่ก็แปลกดีเหมือนกัน พอภาวนาสงบเกิดนิมิตเห็นไก่ ๒ ตัว เห็นถึงสองครั้งสองคราในนิมิต ก็กำหนดรู้ ไม่ได้ใส่ใจอะไร ถือว่าเป็นสิ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จากนั้นก็จำวัด พอถึงรุ่งเช้า มีโยมเอาไข่ต้มเข้ามาถวาย ๒ ฟอง ไปที่ไหนเขาก็ไม่ไป เดินตรงดิ่งเข้ามาถวายเรา ไข่ต้ม ๒ ฟอง แบ่งกับท่านเฟื่องคนละฟอง ฉันกับข้าวเหนียวนึ่ง มันติดคอเพราะเราไม่เคยกิน พอฉันเสร็จก็ออกเดินทางเลย....

...พักที่วัดเจดีย์หลวงพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางไปเชียงดาว แล้วธุดงค์ต่อไปทางปางแดงอันเป็นป่าอยู่ในกลางหุบเขา พักที่ปางแดงพอสมควรแล้วก็ออกเดินทางไปตามหุบผาป่าเขา อันสลับซับซ้อน ทะลุถึงอำเภอพร้าว พักอยู่ตามป่าที่อำเภอพร้าว เพื่อสอบถามว่า ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่ไหน คุยภาษาเหนือกับคนทางเหนือไม่รู้เรื่อง มันก็ถามเราว่า  “ตุ๊...แอ่วหยังก๋า” ไอ้เราก็ไม่รู้เรื่อง ถามกันเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง เราจึงบอกมันไปว่า  “ตุ๊...แม่มึง” แหม...ถ้ามันฟังรู้เรื่องมันคงโกรธเราตาย

ในระหว่างเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยความยากลำบาก เพราะความเหน็ดเหนื่อยนั้น เรียกได้ว่า ทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตการเดินทาง เพราะไม่เคยเดินเท้าเปล่าข้ามป่าเขาลำเนาไพร จุดหมายอยู่ที่ใดก็ไม่แน่นอน อาศัยใจเท่านั้น ส่วนร่างกายนี้อ่อนแรงเต็มที เราได้รำพึงรำพันนึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้งว่า “หลวงปู่มั่นอยู่ไหนช่วยหน่อย หลวงปู่มั่นช่วยหน่อย เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ใครๆ เขาก็พูดว่า หลวงปู่มั่นรู้วาระจิตคนหมด ตอนนี้ผมพระเจี้ยะเดินทางมาหา เหนื่อยยากลำบากจะตายอยู่แล้ว ทางก็ไม่รู้จะไปไหน มาทางไหน หลวงปู่มั่นอยู่ที่ไหน ถ้ารู้ได้ด้วยใจ ด้วยญาณก็ส่งคนมารับหน่อย เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว”

เรานึกอยู่อย่างนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง หรืออาจจะเกินกว่านั้น ทั้งนึก ทั้งบ่น ทั้งพูด ทั้งคิดแต่ดีอย่างหนึ่ง มันไม่ถอย ใจดวงนี้ไม่มีวันถอย แต่อย่างไรเสียก็ต้องตามหาท่านพระอาจารย์มั่นให้เจอ อยากเล่าสิ่งที่ใจมันเป็นให้ท่านทราบ แล้วท่านจะว่าอย่างไร ถึงตามท่านไม่เจอที่นั่น ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็จะตามไปถามจนเจอ ถ้าไม่ตายจากกันก่อนยังไงต้องตามท่านจนเจอ ใจมันมุ่งมั่นอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับว่ามีเครื่องดึงดูดให้ไป ให้แสวงหาสิ่งนั้นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนบวชนี้เรื่องศาสนาไม่เคยสนใจแม้แต่น้อย ถ้ามีพระแสดงธรรมพระเทศน์ต้องชิงหนี แต่ตอนนี้เดี๋ยวนี้จิตมันไม่เป็นอย่างนั้น มันกระหายผู้รู้ผู้เห็นธรรม มาเป็นสักขีพยานว่าเราไม่ได้บ้า เป็นธรรมที่ชาวโลกที่หมกมุ่นไปด้วยกิเลสตัณหาเอื้อมไม่ถึง แต่เป็นธรรมที่พระอริยเจ้ารับรอง โดยความเป็นธรรมสมควรแก่ธรรม และทรงธรรมนั้นไว้ด้วยความสง่างาม ปานประหนึ่งว่าทรัพย์สมบัติในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกไม่เทียมเท่า ไม่อาจแม้จะเทียบเท่าได้ด้วยอุปมาอุปไมยใดๆ

ถ้าเราพูดว่า เราไม่สนใจในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น เพราะสมบัติเหล่านั้นด้อยค่ากว่าธรรมสมบัติที่เราเห็น แม้สมบัติล้ำค่าเช่นนั้น จะมากองเท่ากับภูเขาเลากา แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกับธรรมที่เรารู้ได้ เราก็ไม่เอา การพูดว่าไม่เอา คนทั้งหลายในโลกที่มักจะละโมบโลภมาก ต้องไม่เชื่ออย่างแน่นอน เราต้องพูดกับคนที่รู้เห็นอย่างเดียวกัน คือพุทธสาวกที่รู้ธรรมเห็นธรรมอย่างเดียวกัน ฉะนั้นองค์ท่านพระอาจารย์มั่นน่าจะเป็นสักขีพยานแห่งธรรมได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดเมื่อคิดเช่นนี้จึงเร่งฝีเท้าต่อไป   เมื่อเดินทางถึงบ้านแม่กอย ถามคนเขาบอกว่า ท่านพักอยู่ที่วัดร้างป่าแดงนั้น ก็รีบเร่งเดินทางเข้าไป กระหายใคร่เห็นใคร่สนทนา มากกว่าการกระหายน้ำ ลืมความเหน็ดเหนื่อย มุ่งตรงเข้าไปยังวัดร้างป่าแดง มีกระท่อมน้อยๆ มุงหญ้าคา ฝาขัดแตะและใบไม้ พื้นไม้ไผ่ ดูๆ ในสถานที่น่าจะมีพระอยู่กันหลายองค์ เพราะสะอาดสะอ้านเหลือประมาณ บ้านเราอยู่เป็นสิบคน ที่แคบๆ ยังไม่สะอาดเท่านี้ นี้น่าจะมีพระอยู่จำนวนไม่น้อย



กราบพระอาจารย์มั่นที่วัดร้างป่าแดง
เมื่อเราเดินเข้าไปตรงกระท่อม หลังที่มองเห็นก่อนหน้านั้น มีพระรูปหนึ่งรูปร่างเล็กๆ ลักษณะองอาจ เป็นเถระรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง นั่งห่มจีวรเปิดไหล่ แสดงอาการให้เห็นว่ารอใครบางคนอย่างเห็นได้ชัด อยู่บนแคร่น้อยๆ ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ เอาหญ้าคามุงกั้นฝาเป็นฟาก หันหน้ามาทางที่จะเดินเข้าไป แสดงว่าสนใจในคนที่มาแต่ไม่แสดงออกทางคำพูด แต่เป็นกริยาที่รับกัน

ใจในขณะนั้น น้อมนึกขึ้นมาทันทีว่า “นี่แหละหลวงปู่มั่น”

นึกต่อไปอีกว่า “ท่านคงรู้วาระจิตของเราเป็นแน่แท้ จึงมานั่งรอ พระเถระรูปที่นั่งอยู่นี้ต้องเป็นท่านพระอาจารย์มั่น จะเป็นองค์อื่นไปไม่ได้”  จึงตรงดิ่งเข้าไปกราบท่าน ที่เรากระหายใคร่อยากจะพบเห็น

ในขณะที่เราเข้าไปหาท่านนั้น เข้าไปแบบจู่โจม ต้องไม่ใช่ใครที่ไหนที่สามารถรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ว่าใครจะไปจะมา ต้องเป็นท่านพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน

เราหมอบเข้าไปกราบ ท่านจึงถามขึ้นว่า “มาจากไหน”    
“มาจากจันทบุรี อยู่กับท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์ลี” เรากราบเรียนท่าน
“ท่านลี ท่านกงมา อ้อ! นั่นลูกศิษย์เรา” ท่านพูดแบบอุทานเหมือนว่า รู้เข้าใจในวิถีความเป็นมาเป็นไปของเรา

จากนั้นเมื่อได้โอกาสอันควร จึงกราบเรียนเล่าเรื่องที่ภาวนาที่จิตเป็นไปให้ท่านฟังสั้นๆ เป็นใจความว่า...“ครูบาอาจารย์ กระผมพิจารณากาย จนใจนี้มันขาดไปเลย”

องค์ท่านนั่งฟังเฉย นิ่งเงียบไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่คำเดียว กราบเรียนท่านต่อไปอีกว่า
“ครูบาจารย์...จะให้ผมทำอย่างไรต่อ”
“ให้ทำอย่างเดิมนั่นแหละ ดีแล้ว” ท่านตอบสั้นๆ แต่เป็นที่พอใจ ตรงใจ

เพราะฉะนั้น อย่างท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเป็นคณาจารย์ หรือเรียกว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่สมควรแก่สานุศิษย์ เมื่อผู้ใดเข้าไปศึกษาสิ่งหนึ่งประการใดอย่างนี้ ก็ขอให้ไปเสนอเถอะ เราได้ค้นคว้าพินิจพิจารณาร่างกาย จนละเอียดลออไปทุกส่วน ทุกชิ้น ทุกอัน จนได้สภาวะของใจ ได้ลงถึงความจริงประจักษ์ใจ โลกทั้งหลายนี้ไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ขาดสูญไปหมด อยู่จำเพาะใจอันนั้นอันเดียว ไม่มีสิ่งใดที่เจือปน ไม่มีเจือปนอยู่ในใจนั้น แล้วเรานั้นก็ได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปนมัสการครูบาอาจารย์ท่าน ไปเล่าถวายความเป็นไปให้ท่านฟัง ตั้งแต่เบื้องต้นในการค้นคว้าพินิจพิจารณา จนกระทั่งถึงที่สุดของการค้นคว้าพิจารณาอย่างนั้นลงไปแล้ว ในสภาวะของใจลำดับนั้น มันขาดพึ่บลงไป โดยที่คล้ายๆ ขาดสติ แต่ไม่ใช่ขาดสติ มันก็ปรากฏโลกทั้งหลายขาดลงไป ไม่มีอันใดเลย แม้แต่ร่างกายของเราอย่างนี้ก็สูญหายไปหมด เหลือความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้ อันเดียว ก็เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วเข้าไปเรียนถาม ท่านก็บอกว่า “เออ! เอาอย่างนั้นแล ให้พิจารณาอย่างนั้น ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ” นี่! ท่านไม่มีการคัดค้าน ไม่มีการโต้เถียง หรือไม่มีการที่จะกระโตกกระตากอะไรทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น คติอันนี้จึงเป็นคติอันดีเยี่ยม

เพราะฉะนั้นจึงว่าบรรยายธรรม ศาสนธรรม คำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “จิตตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” บุคคลผู้ฝึกจิตใจที่ได้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ของหัวใจ เพราะเมื่อผู้ฝึกหัดอบรมจิตใจจนได้รับความเยือกเย็น จนเข้าสู่แดนของปัญญาอันแท้จริงอย่างนั้นแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเจือปนหัวใจ ให้มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดเวลาอย่างนั้น ใจที่แสนจะสบาย ปลอดโปร่งอยู่ตลอดเวล่ำเวลาอยู่อย่างนี้ นั่นเรียกว่า ธรรมอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระศาสดาของเรา เมื่อท่านได้ถึงธรรมอย่างแท้จริงอย่างนี้แล้ว ท่านจึงได้มาพิจารณาสัตว์โลก ว่าเต็มไปด้วยความหมกมุ่น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แสนที่จะกังวลนานาประการต่างๆ เมื่อมองอย่างนั้นแล้ว ทำไมสัตว์ทั้งหลายจะสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้หนอ ครองบ้านครองเรือน เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดข้องนานาประการอย่างนี้ เมื่อน้อมใจพิจารณาอีกทีหนึ่ง ก็มาพิจารณาดูว่าสัตว์ทั้งหลาย คงมีอุปนิสัยปัจจัย ที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมของเราคงมีบ้าง ผู้มีกิเลสน้อยก็พอมีอยู่ ด้วยความอนุเคราะห์พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรม

ก่อนที่จะเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น มันคิดในใจลึกๆ อยู่เหมือนกันว่า ถ้าท่านคัดค้าน เราก็จะต่อสู้ด้วยเหตุผลเต็มที่เช่นกัน จะไม่ยอมถอยง่ายๆ เพราะในใจนี้ มันแน่ใจในสิ่งที่รู้เห็นมาก เมื่อมันรู้มันเห็นกระจ่างชัดเช่นนี้ ใครค้านก็ต้องเถียง แต่ท่านรู้ท่านไม่ค้าน เพียงแต่บอกว่าดีแล้ว ทำอย่างนั้นดีแล้ว หมายความว่า ทำถูกแล้วให้ดำเนินต่อไป

เมื่อเราเข้ามาหาครูบาอาจารย์แล้ว หวังความศึกษาในท่าน ก็ควรเอาใจใส่อุปัฏฐากท่านในกิจทุกอย่าง ถวายน้ำล้างหน้า น้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความประพฤติอันเสื่อมเสียที่จักมีแก่ท่าน รักษาน้ำใจท่าน ไม่คบคนนอกให้เป็นเหตุแหนง เคารพในท่าน แสดงการเดินไม่ชิดนัก ไม่ห่างนัก และไม่พูดสอดในขณะที่ท่านกำลังพูด ท่านพูดผิดไม่ค้านจัง ๆ พูดอ้อมพอให้ท่านรู้สึกตัว ไม่เที่ยวเตร่ตามอำเภอใจ จะไปข้างไหนให้ลาท่านก่อน เมื่อท่านอาพาธเอาใจใส่พยาบาล ไม่ไปข้างไหนเสีย จนกว่าท่านจะหายเจ็บหรือมรณะ นี่แหละวัตรบางส่วนที่เธอผู้ฝ่าน้ำทะเลมาต้องศึกษาและปฏิบัติ




อนุสรณ์สถานพระอาจารย์มั่น
เดิมเป็นที่ตั้งกุฎิและทางเดินจงกรมของท่าน
ในวัดร้างป่าแดง หรือวัดป่าพระอาจารย์มั่น


ท่านพระอาจารย์มั่นรู้วาระจิต
เมื่อรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นด้วยความซาบซึ้งแล้ว ต่างก็เข้าสู่ที่พักด้วยใจที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยอากาศที่หนาวเหน็บเข้าไปภายในนั้น ทำให้เนื้อตัวสั่นเทา มีแต่เพียงจีวรบางๆ เป็นที่ห่อหุ้มร่างกาย เมื่อตกดึกๆ นอนไม่หลับ จึงเดินเข้าไปหาท่านเฟื่อง แล้วกระซิบท่านเบาๆ อันเป็นการหยั่งเชิงดูหมู่เพื่อน ว่าจะเป็นไปอย่างไร คิดอย่างไร ว่า “เฟื่องเว้ย... หนาวเว้ย...กลับบ้านดีกว่า...” ท่านเฟื่องก็นิ่งเฉย ไม่ตอบแต่อย่างใด ส่วนภายในใจของเรานั้น ก็ไม่ได้ถอยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน

พอรุ่งเช้าวันใหม่ มองเห็นลายมือพอรู้ มองดูชายหญิงพอออกว่าเป็นชายหรือหญิง มองต้นไม้ออกว่าเป็นต้นไม้อะไร ก็ออกจากที่พักอันเป็นเพิงเล็กๆ มุงด้วยใบตอง มีหลังคาพอกันน้ำค้าง ที่นอนก็เป็นแคร่ไม้ไผ่โยกเยกๆ เดินมากระท่อมน้อยอันเป็นศาลาหอฉัน

พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นหน้าเท่านั้นแหละ เหมือนดั่งว่าสายฟ้าฟาดลงบนกระหม่อมทันที “คนทะลงทะเลไม่มีความอดทน ไป...ไป ไม่มีใครอาราธนามาที่นี่”

ท่านพูดเสียงดุดัง นัยตาก็กราดกร้าวเหมือนพญาเสือโคร่งใหญ่ เป็นกิริยาที่หมู่แมวๆ อย่างพวกเราต้องหมอบคลาน ก้าวขาก็ไม่ออก เรื่องวาระจิตนี่ ท่านรู้ทุกอย่าง จะพูดจะคิดอะไรอยู่กับท่านต้องระวัง ประมาทไม่ได้เป็นบาปใหญ่ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ เมื่อตั้งสติไว้ กำหนดไว้ได้แล้วค่อยก้าวเท้าเดินต่อไปด้วยความนอบน้อม

คำพูดของท่านเพียงเท่านั้นล่ะ มันวนเวียนอยู่ในใจ จะคิดอะไร จะพูดอะไร เหมือนถูกคนสะกดบังคับให้ต้องเป็นไปตามแบบของท่าน ก็ได้แต่เพียงเตือนตนไว้ในใจว่า “เอาละนะ เจอของจริงแล้ว ระวังตัวให้ดี” จากนั้นมา ท่านก็เมตตาใช้ทำนั่นทำนี่ ดูแลอุปัฏฐากใกล้ชิดท่าน จิตใจก็ค่อยคุ้นๆ กับท่าน สบายใจขึ้นบ้าง

จึงย้อนนึกถึงคำพูดท่านพ่อลี ก่อนที่จะมาว่า “ท่านจะอยู่กับหลวงปู่มั่นได้หรือ? ทุกขณะจิตของท่าน องค์หลวงปู่ใหญ่ ท่านจะทราบหมด ถ้าจะไปอยู่กับท่าน อย่าให้เสียชื่อเรานะ”

การที่ได้อยู่กับพระที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ภายใน และความประพฤติ นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล การอยู่การฉัน ก็นับว่าลำบากมากในสายตาของชาวโลก แต่ถ้าเป็นนักธรรม ถือว่าสมบูรณ์พอดีๆ   วัดมันเป็นป่ากลางทุ่ง มีชาวบ้านอยู่ ๖ หลังคาเรือน บ้านห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร กุฏิครูบาจารย์ท่านมุงด้วยใบตองตึง พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ รูปลักษณ์เป็นทรงพื้นเมืองทางเหนือ ส่างน้องแม่วิสาข์ เป็นคนมาทำกุฏิถวายท่าน (ส่าง หมายถึง ผู้เคยบวชเป็นเณร เป็นภาษาไทยใหญ่)

เมื่ออยู่นานเข้า ด้วยบุญบารมีของท่าน ก็เริ่มมีคนรู้จักและนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ ปากต่อปากร่ำลือถึงกิตติศัพท์เกียรติคุณ ทำให้ผู้คนอยากพบเห็น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านไม่อยู่ที่นี่นานนัก ท่านเป็นพระทรงธรรมทรงวินัย เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ไม่ปลีกแวะเป็นอย่างอื่น ท่านถือหลักธรรมเป็นทางเดิน มีพระวินัยเป็นกรอบเส้นถนน ที่ไม่ควรลืมเนื้อลืมตัว

อยู่มาวันหนึ่งโยมแม่วิสาข์ซึ่งเป็นอุปัฏฐายิกาประจำวัด เป็นผู้คอยจัดแจงอาหารมาถวายท่านเป็นประจำทุกๆ เช้า ได้หอบหิ้วเอาต้นผลไม้ คือต้นมะม่วง ประมาณ ๒-๓ ต้น เข้ามาปลูกภายในวัด ในบริเวณใกล้ๆ กับกุฏิที่ท่านพำนัก ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจึงทักขึ้นว่า
“ฮื้อ...ทำอะไรหรือโยม”
“ฉันเอาต้นไม้มะม่วงมาปลูก... มีลูกมีผลจะได้เอาไว้กิน ถวายพระ ไม่ต้องซื้อหา...เจ้าค่ะ”
ท่านพระอาจารย์จึงดุว่า “นี่...เห็นเราเป็นอย่างนี้แล้วหรือ เรามาอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม ห่างไกลจากโลกภายนอก ไม่เกี่ยวข้องด้วยปัจจัยทั้งหลาย อันเป็นเครื่องพันพัวผูกมัด ไม่ได้มาหาอยู่หากิน หาต้นมะม่วง มะเขือ นี่จะมาหาเรื่องให้เราแล้วนะเนี่ย ต่อแต่นี้ไปเราก็จะกลายเป็นหลวงตาเฝ้าสวนมะม่วงแล้วหรือนี่”


อันนี้ก็เป็นมูลเหตุอันหนึ่ง ที่ท่านไม่ต้องการจะอยู่ที่แห่งนั้น ท่านปฏิบัติธรรมปฏิบัติจริงๆ ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องของโลกโดยประการทั้งปวง แม้เราทั้งหลายมองเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วมองผ่านไป สำหรับองค์ท่านเองพินิจพิจารณาใคร่ครวญโดยตลอด ไม่ให้เรื่องโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับองค์ท่านเองได้ พระจึงมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยอาศัยผู้อื่นแล้ว ควรจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ควรแย่งหน้าที่ของชาวโลกมาทำเอง เรื่องธรรมเรื่องวินัยท่านละเอียดเป็นที่สุด แม้แต่ต้นไม้ประดับประดา ปลูกให้มีดอกออกผลสวยงาม ท่านไม่ให้ปลูกภายในวัด ถ้าเป็นพระ ท่านว่าเป็นพระเจ้าชู้ พระขุนนาง ชอบสวยงาม ชอบสะดวกสบาย แต่ภายในหัวใจไม่มีอรรถธรรมแม้แต่น้อย ต้นไม้งามเท่าไหร่ ใจมันก็เสื่อมจากทางจงกรม นั่งสมาธิเท่านั้น

ในขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพักพำนักปฎิบัติธรรม ณ วัดร้างป่าแดงแห่งนี้ ได้มีลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระกรรมฐาน เดินทางตามมารับการอบรมทางด้านจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด เช่น พระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ฯลฯ  (ขณะที่พูดถึงท่านพระอาจารย์มั่นทีไร หลวงปู่เจี๊ยะจะแสดงอาการซาบซึ้งตื้นตันใจทุกครั้ง ด้วยความรักและเลื่อมใสท่านพระอาจารย์มั่นมาก บางทีถึงขนาดน้ำตาไหลก็มี เพราะท่านถึงใจกับท่านพระอาจารย์มั่นมากที่สุดในชีวิต หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “เรารักเลื่อมใสท่าน เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีแท้”)

ท่านตัวเล็กๆ บางๆ เดินเร็ว เดินนี้ โอ๊ย! ปึ้ดๆ ปึ้ดๆ ท่านจะอบรมพระตอนหัวค่ำหน่อย แล้วก็เลิก คือพอได้เวลา ๔ ทุ่ม ก็เข้าจำวัด ให้ทำข้อวัตรเป็นอย่างนั้น อบรมประมาณชั่วโมง สองชั่วโมง ส่วนมากไม่ค่อยได้อบรม ภาวนาของใครของมัน ท่านพระอาจารย์ท่านจะเดินจงกรมก่อนนอนเป็นประจำไม่ขาด

การบิณฑบาตตอนอยู่กับท่าน บางทีก็แยกกันไปคนละสาย โดยมากเราไม่ค่อยกิน มือเขาสกปรก (หัวเราะ) แล้วมากำข้าวเหนียว ดำๆ ว้าย! แล้วมาโดนที่อุบลฯ ที่เป็นขี้ฑูตนะ มือมันกุดน้ำเหลืองไหล มันใส่มา พอเราออกมาได้หน่อย ก็จับโยนทิ้งเลยข้าวเหนียว มือมันกุด น้ำเหลืองมันหยดใส่บาตร ข้าวมันติดน้ำเหลือง เราก็โยนทิ้งเลย (หัวเราะ)



พระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น
ที่มอบให้หลวงปู่เจี๊ยะ ที่เสนาสนะป่าวัดร้างป่าแดง


ฟันท่านพระอาจารย์มั่นหลุด

อยู่ต่อมาอีก ๓-๔ วันตอนใกล้จะพลบค่ำ ได้นำน้ำล้างหน้าใส่ขันไปถวายท่านประมาณ ๖ โมงเช้า ท่านใช้ไม้ชำระฟัน พอดีฟันข้างๆ ท่าน (หลวงปู่มั่น) หลุด ท่านเอาให้เรา “เอ้า!...ท่านเจี๊ยะ เอาไป” แล้วท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้ ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตังสญานว่า เราจะมีวาสนาสร้างเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้


ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเรื่องหลวงตามหาบัว
มีอยู่คราวหนึ่ง ตอนที่อยู่ที่เชียงใหม่ก่อนกลับภาคอีสาน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดว่า “มีพระอยู่องค์หนึ่งนะ จะทำประโยชน์ใหญ่ให้หมู่คณะ ลักษณะคล้าย ท่านเจี๊ยะ แต่ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ ตอนนี้อยู่เชียงใหม่ เขาอยากมาหาเรา แต่ยังไม่เข้ามาหาเรา องค์นี้ต่อไปจะสำคัญอยู่นะ (พอดีหลวงตามหาบัวเป็นพระหนุ่ม กำลังเรียนบาลีอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ตอนนั้น) เขายังไม่มาหาเรา แต่อีกไม่นานก็จะเข้ามา”  เมื่อท่านพูดอย่างนั้น เราก็จับจ้องรอดูอยู่ ไม่ว่าใครจะไปจะมาคอยสังเกตอยู่ตลอด เพราะคำพูดท่านสำคัญนัก พูดอย่างไงต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เราจึงเก็บไว้แล้วคอยสังเกตตลอดมา เพราะผู้ที่จะมาสืบต่อท่านต้องเป็นผู้ที่มีบุญใหญ่ ในที่สุดพระอาจารย์มหาบัวก็มาหาท่านที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร เราเห็นลักษณะถามความเป็นมาเป็นไป จึงแน่ใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นมาท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่พูดเรื่องนี้อีกเลย (เรื่องคำทำนายของท่านพระอาจารย์มั่นเกี่ยวกับหลวงตามหาบัวนั้น เป็นเรื่องจริงดังที่พวกเราชาวพุทธได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน)

ตอนนั้นเรายังเด็กเป็นห่วงท่านมาก อยากให้ท่านฉันเพราะตอนนั้นอายุก็เกือบจะ ๗๐ ปีแล้ว รูปร่างผอมบางเล็ก แต่เวลาเดินนี่ที่หนึ่งเลย โอ้โฮ! ...เวลาเดินนี่ที่หนึ่งเชียวนะ เวลาใกล้ค่ำนี่ พั่บๆ พั่บๆ เรานี้ต้องกระโดดวิ่งเลย สะพายบาตรให้ ท่านถือไม้เท้าอันหนึ่งเดินไว ฉับๆ เวลาท่านไปธุดงค์ตามป่า ท่านเดินเราต้องวิ่งตาม

ถ้าวันไหนท่านพระอาจารย์มั่นอดอาหาร อะไรๆ ท่านก็ไม่ฉัน มีอยู่อย่างเดียวสูบบุหรี่ใบตอง แล้วก็มีน้ำชาแก้วหนึ่ง น้ำชากับน้ำธรรมดาเท่านั้น ท่านผอม บางวันเราเป็นห่วงก็ต้องไปถาม
“ครูบาจารย์... ฉันข้าว”
ท่านก็ว่า “ฮื้อ... ก็ไม่ใช่หน้าที่เรา”
“ครูบาจารย์...ฉันข้าวเถอะ”
“ฮื้อ... ยุ่งอะไร”
“เกิดมาเป็นคน ไม่กินข้าวไม่รู้จะเกิดมาทำไม”
“ท่านนี่...ไป...ไป อย่ามายุ่ง ไม่ใช่เรื่องตัว” ท่านดุเอาทุกที

พอออกมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเฟื่องก็ว่า “ท่านเจี๊ยะ...วันไหนๆ ก็ไปแหย่แต่ท่านพระอาจารย์มั่น ไม่ทำให้ท่านดุไม่ได้หรือ ผมกลัวจะตายอยู่แล้ว”
“ไม่แหย่ท่าน จะได้ฟังธรรมะดีๆ หรือ”

การสอนของท่านไม่พูดมาก ชอบทำให้ดู ให้เห็นว่าสิ่งนี้ควรทำอย่างนี้ สิ่งนั้นควรทำอย่างนั้น ก็เหมือนในหนังสือประวัติของท่านและในหนังสือปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานที่ท่านอาจารย์มหาบัวเขียนไว้ อันนั้นชัดเจนมาก สำหรับเราดูไปเห็นความดีที่ท่านทำ มากกว่าความดีที่ท่านพูด เราจึงจดจำเอามาพูดไม่ได้มากนัก อีกทั้งก็ไม่ใช่คนช่างพูดช่างเขียนช่างจำ แต่ชอบนำมาทำมากกว่า การนำมาพูด จึงเป็นเรื่องรองๆ ลงไป ส่วนเรื่องทำนั้นทำได้เต็มที่ แต่การพูดเมื่อนำมาพูดแล้วมันไม่เต็มที่เพราะพูดมากๆ มันจะเป็นการคุยโม้ไป เราจึงพูดไม่ค่อยเก่ง ไม่ได้เรียนมาทางพูด เน้นทางการกระทำมากกว่า

ไปถึงท่านทีแรก ท่านก็สอนเรื่องศีล ศีลนั้นเราผู้บวชมาเป็นพระ ต้องดำเนินการรักษาเต็มที่สุดชีวิตอยู่แล้ว ผู้ที่จะเป็นพระไม่มีศีลก็อยู่ไม่ได้ พระขาดศีลเหมือนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายขาดบกพร่องไป การทำอะไรในหน้าที่ทั้งปวงรู้สึกว่าจะทำไม่ได้เต็มที่ ยิ่งร่างกายพิการมากเท่าใดยิ่งทำอะไรไม่ได้การมากเท่านั้น คนขาดศีลก็เหมือนกัน ยิ่งศีลขาดมากเท่าใด ความเจริญในธรรมก็มีน้อยลงไปเท่านั้น เพราะศีลเป็นเครื่องหนุนในการประพฤติธรรมทั้งปวง แต่สำหรับพวกเรา เมื่อมีศีลบริบูรณ์ไม่เป็นที่ระแคะระคายใจ จะมีศีลอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ศีลจะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นนั้นจะต้องชะล้างด้วยน้ำคือคุณธรรม มีความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้ไม่สั่งสม (กองกิเลส) ความปรารภความเพียร และความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ดี และข้อวัตรทั้งหลายก็จงปฏิบัติให้ถึงพร้อม ศีลและพรตก็จะหาโทษมิได้ อาจจัดได้ว่า พวกเราอยู่ในอริยวงศ์ อันเป็นประเพณีของพระอริยเจ้าแล้ว

ในสมัยที่เรากำลังแข็งแรง ได้ออกเที่ยวโดดเดี่ยวเดียวดาย แสวงหาแต่ที่วิเวกในป่าดงพงลึก ไม่มีอาลัยเสียดายในชีวิตความเป็นอยู่ อยู่บนภูเขาสูงๆ ที่ผู้คนติดตามยาก ส่วนมากเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ และยังทำให้ชนเหล่านี้สามารถเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้

ท่านพระอาจารย์มั่นปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเป็นอาจิณ เพื่อแบบอย่างแก่สานุศิษย์และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรต่อไปนี้ เวลาเช้า ออกจากกุฏิทำสรีระกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัด แล้วเดินจงกรม

พอได้เวลาภิกขาจาร ก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจจเวกขณะ ทำภัตตานุโมทนา คือ ยะถาสัพพีฯ เสร็จแล้วฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเก็บบริขารขึ้นกุฏิ

ทำสรีระกิจพักผ่อนเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระ สวดมนต์และพิจารณา ธาตุ อาหาร ปฏิกูล-ตังขณิกะ-อตีตปัจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร

เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ

เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำขึ้นไป สานุศิษย์ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดเฟ้นพอสมควรแล้ว ท่านให้เข้าห้องไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ทุ่ม เวลาตีสามตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก แล้วปฏิบัติอย่างในเวลาเช้าต่อไป

กิจบางประการ เมื่อท่านมีลูกศิษย์มากและแก่ชรา แล้วก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณประเพณีและเป็นศีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณมิได้เลิกละ
ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ”
ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี”
ท่านกล่าวว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่อมี”

อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้น ข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ ซึ่งผลดังนี้”  ท่านจึงเอาใจใส่ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้น ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เสมอ

อบรมพระ ท่านอบรมตอนหัวค่ำหน่อยแล้วก็เลิก คือพอได้เวลา ๔ ทุ่ม อบรมครั้งหนึ่งก็ประมาณ ๒ ชั่วโมง เสร็จก็แยกย้ายกันไปภาวนาเอง ส่วนมากท่านไม่ค่อยอบรม ให้ภาวนาของใครของมันไป เมื่อภาวนามีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็มาถามท่าน ท่านก็จะชี้แจงให้ฟัง



หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต

ตีวัวกระทบคราด
อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น เรานี้โดนตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หัวเราชิงรับศอกของท่านโดยตลอด (หัวเราะ) บางทีไม่มีเรื่องราวอะไรเล้ย บางทีไม่เกี่ยวข้องแต่ก็ต้องโดนท่านดุเอาบ่อยๆ บางทีน้ำตาไหลก็ต้องอดทนเอา อย่างบางครั้งพวกพระเข้ามาศึกษากับท่าน พวกพระที่มาท่านก็ไม่กล้าว่าเขา หรืออาจเกรงใจเขา หรืออะไรอย่างอื่นที่เหนือสิ่งนั้น ที่ท่านรู้แต่เราไม่รู้ ท่านก็เอาเรานี่แหละเป็นกระโถนท้องพระโรง เอาเรานี่แหละไปไล่ด่าแหลก ด่าจนแหลกไปเลย

วันนั้นที่แม่กอย วัดร้างป่าแดงนั้นแหละ โอ้โฮ้!... เราเข้าไปกวาดทางไปส้วม กวาดจนดีหมดแล้ว จนไม่มีที่ให้กวาด ยังเหลือตรงที่บ่อมันลึกๆ ก็เอาไม้กวาดโกยไม่ขึ้น

ท่านเดินไปดู ดูตรงนั้น ดูตรงนี้ คือหาดูจนหมดทุกที่ คงไม่มีที่ให้ท่านดุ ท่านหาดูเสร็จแล้ว เดินมาหาเรื่องใส่เราน่ะ อันนี้เรารู้ว่าท่านตีวัวกระทบคราด เพราะตอนนั้นมี พระมาอยู่ใหม่ๆ นั่งคุยกันทั้งคืนๆ ท่านเดินมาเห็นเราเข้า เดินดิ่งปราดเข้ามาหาเลย ถามขึ้นอย่างดังว่า

“เจี๊ยะโว้ย!...นี่!...นี่ใครเอาเทียนตรงนี้ไปหมด แล้วไอ้ที่ตรงคลองน้ำข้างทางไปส้วม ใครฮึ...ใครกวาด...ฮึ”
ท่านก็รู้แล้วว่ามีพระใหม่ๆ มากัน ๓-๔ องค์ เอาเทียนไปจุดนั่งคุยกันจนเกือบสว่าง มาถึงคุยกันตลอดเกือบสว่าง ไม่ภาวนาแต่ขยันคุยกัน พระห่า...นั้นก็ดี

ทีนี้ด่าคนอื่นไม่ได้ ต้องด่าเรา เอาอีกแล้วนึกในใจ พอเรากราบเรียนบอก
“ในร่องผมกวาดหมดแล้วนะครูบาจารย์”

แหม! ทีนี้ก็ด่าเรา ด่าเอา ด่าเอา ยังไม่ทันได้ตั้งตัวรับ
“ข้ามหัวท่านกงมา (พระอาจารย์กงมา) ข้ามหัวท่านลีมา (พระอาจารย์ลี) มาแล้วก็ต้องทำให้ดี ถ้าทำไม่ดี ก็อย่าอยู่นะ ไป๊!...ให้รีบไป อย่ามาอยู่นะถ้าเป็นแบบนี้ ไป!  ไป๊!...” เอาใหญ่เลย เสียงดัง พวกพระเหล่านั้นก็ตกอกตกใจ มองหน้ากันเลิกลั่กแตกหนีกันใหญ่ “โอ้!...ท่านเจี๊ยะโดนแล้ว” ก็แตกฮือกันหนี

ที่แท้ท่านตีวัวกระทบคราด ให้พระเหล่านั้นสำนึก ยังไม่มีใครรู้อีก หยาบหนาเหลือเกิน ยังมาโทษหัวเราะเราอีก ไม่เห็นโทษของตัวเองเห็นแต่โทษคนอื่น

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านดุเราอย่างนี้บ่อยๆ เราก็เสียใจเหมือนกัน บางทีก็คิดน้อยใจ “เอ๊ะ! ทำไมด่าเราอย่างนี้น้อ..” แต่เมื่อพินิจพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ลงท่าน เพราะเรารักท่าน

ส่วนไอ้พวกพระที่มาใหม่ยังไม่รู้เรื่องอีก พากันขโมยเอาเทียนไปจุดกันทั้งคืน ตี ๓ ถึงตี ๔ ยังไม่พอ ยังมาพากัน “โอโฮ้! ๆ” ...ตำหนิแต่เรา ไม่รู้จักน้อมเข้ามาใส่ตน

นี่แหละท่านพระอาจารย์มั่น ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ท่านก็ต้องตีลูกศิษย์ สอนลูกศิษย์อย่าให้เป็นอย่างนั้น อย่าทำตนอย่างพระพวกนั้น พระพวกนั้นก็ดี อุตส่าห์มาหาท่าน ท่านสอนแล้วยังไม่รู้ว่าท่านสอน ไม่รู้จักคิด ไม่รู้ว่ามาหาธรรมะแบบไหน อย่างนี้แหละ ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องตีลูกศิษย์คือตีเราแทน เราต้องคอยเอาหัวชิงรับศอกท่านเป็นประจำ

ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดร้างป่าแดง บ้านแม่กอย ตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ในระยะ ๒ เดือนแรก ใกล้จวนจะถึงวันมาฆบูชา สมเด็จมหาวีรวงศ์ ตอนนั้นเป็นเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์) วัดเจดีย์หลวง ได้มีหนังสือไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น ให้ลงมาทำพิธีมาฆะร่วมกับสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น สุจิตฺโต) แต่ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ (มั่น) ได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างแรง แพทย์ไม่รับรองในอาการ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมีหนังสือให้เราลงไปทำหน้าที่แทน ท่านสั่งว่า “ท่านเจี๊ยะ...ไปร่วมพิธีแทนหน่อย และกราบทูลสมเด็จฯ ถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วย”

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 15:03:17 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 19 สิงหาคม 2557 17:46:37 »

.


รักท่านพระอาจารย์มั่น
เราก็รับด้วยเกล้า ไปทำพร้อมทั้งน้ำตา เดินทางไปก็เป็นกังวลใจอยู่ตลอด กลัวผู้ปฏิบัติใกล้ชิดจะไม่รู้จริตนิสัยของท่าน เราทำทุกอย่างเพื่อท่านด้วยชีวิต ไม่มีเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจ ทะนุถนอมระวังรักษา ประคับประคอง เอาใจใส่ดูแลท่านทุกอย่าง กิจวัตรทุกอย่างต้องพร้อม และตั้งใจทำทุกขณะกายจิต อุทิศชีวิตเพื่อท่านเสมอมา แม้บิดามารดาเรายังไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน อาบน้ำท่าให้ นวดแขนนวดขา ซักผ้า ต้มน้ำ เช็ดถูบริขารเครื่องใช้ให้สะอาดสดใสดูดีตลอด ไม่ให้ทุกอย่างรอดจากการปฏิบัติเพื่อขัดธรรมภายใน อุทิศด้วยใจขณะทำอย่างซาบซึ้ง พึงระวังไม่ประมาทหรือคลาดเคลื่อน ไม่เคยมีระแคะระคายเหนื่อยหน่ายใจว่า ทุกข์ยากลำบากแค้น นึกๆ ไปมันก็แปลกอยู่เหมือนกัน เมื่อเราไปทำหน้าที่เสร็จตามคำสั่งท่าน เราจึงรีบกลับไปปฏิบัติรับใช้ท่านทันที

เราคงมีบุญมีกรรมกับท่าน ถึงเราจะทะเล่อทะล่าท่านก็ไม่เอือมระอา อีกทั้งยังมีเมตตาเสมอมา ไม่ให้เป็นที่ละอายใคร นึกกิริยาน้ำใจที่อยู่กับท่านเมื่อไหร่ มันเตือนใจข้างในลึก ให้ตื้นตัน ตื้นใจ บางทีน้ำตาไหลไม่รู้ตัว ยิ่งเพ่งพิศในกิริยากิจที่พร่ำสอน ไม่รู้จักหน่ายเหนื่อย ยิ่งนึกก็ยิ่งพิจารณาว่า ผู้มีบุญใหญ่อย่างเช่นท่านนี้ ไม่มีเลย ที่จะเคยแสวงหาความสุขอันเจือด้วยโลกามิสเพื่อตน ลำบากที่สุด ทุกข์ยากที่สุด คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นอาจารย์ของเรา

พระกรรมฐานสมัยทุกวันนี้ อาศัยบุญบารมีของท่านเป็นเวทีหากินสบาย แต่ธรรมภายในนั้น อย่าสนทนากันเลยเพราะหาไม่เจอ ในชีวิตของเรามีบุญมากที่สุดคือ ได้เจอพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นบุคลาธิษฐานเรื่องศาสนธรรมของพระศาสดาได้เป็นอย่างดี เทวบุตร ภูต ผี สัมภเวสี ท้าวสักกะ มาสักการะท่านเสมอ เราเคยเจอและเรียนถาม...

ท่านพระอาจารย์มั่นป่วยเป็นไข้มาลาเรียในคราวนั้น เราเป็นพระคิลานุปัฎฐากประจำองค์ท่าน ปกตินิสัยท่านไม่ชอบเกี่ยวกับหยูกกับยาอะไร แม้ท่านจะอยู่ในวัยชราธาตุขันธ์กำลังร่วงโรยก็ตาม ท่านยังหนักในธรรมโอสถ เป็นเครื่องประสานธาตุขันธ์อยู่เสมอมา

เมื่อเดินทางจากวัดร้างป่าแดง บ้านแม่กอย อำเภอพร้าว มาถึงนครเชียงใหม่ เข้ามาพักที่วัดเจดีย์หลวงก่อน แล้วท่านก็เดินทางเข้าไปพักที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค หนานแดง หนานพรหม และศรัทธาชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านจัดการเรื่องทั้งหมด โรงพยาบาลแมคคอร์มิคนี้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลของพวกชาวคริสต์ที่มาเผยแผ่ศาสนา สมัยก่อนใครจะเข้าโรงพยาบาลนี้ต้องมีหน้ามีตาพอสมควร

เมื่อท่านออกจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิคไปพักที่ป่าเปอะ  เรา(พระเจี๊ยะ) ได้แยกเดินทางไปที่วัดร้างป่าแดง บ้านแม่กอย เพื่อกราบเรียนอาการอาพาธของท่านพระอาจารย์มั่นให้พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ ทราบในสมัยนั้นพระอาจารย์พรหมเป็นหัวหน้าสำนักแม่กอย

ในตอนกลางคืน พระอาจารย์พรหมก็เรียกประชุมสงฆ์ ท่านสอบถามในท่ามกลางสงฆ์ว่า “เอ้า! หมู่... ท่านรูปใดจะรับอาสาไปปฏิบัติครูอาจารย์”  เรา(พระเจี๊ยะ) จึงยกมือขึ้นว่า “ผมครับ จะเป็นผู้อาสาไปปฏิบัติครูบาจารย์) ท่านก็ถามต่อว่า “แล้วใครอีกองค์ล่ะ” เห็นแต่พระนั่งเงียบไม่กล้าไปมัวแต่กลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก เพราะท่านทั้งน่าเกรง น่ากลัว น่ารัก เรา(พระเจี๊ยะ) เห็นเฒ่าตาเปียก (ท่านทองปาน) นั่งอยู่ข้างๆ คุ้นกันดีตั้งแต่อยู่วัดทรายงาม จึงชักชวนว่า “เฮ้ย!...ไปปฏิบัติครูบาจารย์ด้วยกัน” เราทั้งสองจึงเป็นผู้ที่ตกลงจะไปปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น

ตกลงกันกับตาเฒ่าตาเปียกว่า พรุ่งนี้ฉันข้าวเสร็จแล้ว เราก็จะออกเดินทางด้วยเท้าเข้าไปเชียงใหม่ ออกเดินทาง ๑๐ โมงเช้า ถึง ๓ ทุ่ม เกือบ ๑๒ ชั่วโมง แต่สำหรับท่านพระอาจารย์มั่น ทั้งๆ ที่ท่านป่วยอยู่ เดินทางออกมาประมาณ ๑๐ โมงเช้า ท่านถึง ๕ โมงเย็น แต่เราล่อเข้าไป ๓ ทุ่ม ผิดกันตั้ง ๔ ชั่วโมง  ทั้งที่เราเป็นหนุ่มน้อยนะ แต่ทีนี้ครูบาทองปานท่านเดินช้า เมื่อเข้ามาถึงเชียงใหม่ จึงเข้าไปขอพักกับท่านเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์) ที่วัดเจดีย์หลวง พักค้างคืนที่นั่น

ตกตอนค่ำคืนเข้าที่ภาวนา จิตเกิดนิมิตในสมาธิ ปรากฏว่าเห็นโยมผู้ชายคนหนึ่ง รูปร่างพอประมาณ เดินทางเข้ามาหาด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจำเป็นด้วยกิจรีบด่วนเกี่ยวเนื่องด้วยท่านพระอาจารย์มั่น ลักษณะโยมคนนี้ รูปร่างพอประมาณ ที่มาในนิมิตนั้นเป็นที่น่าสังเกตได้ง่ายว่า ที่แขนทั้ง ๒ ข้างมีรอยสักเต็มหมดเลย รอยสักนั้นเป็นที่สังเกตจำติดตาได้ง่าย พอได้นิมิตเช่นนั้นแล้ว เราก็ไม่ได้ใส่ใจ กำหนดภาวนาต่อไป พิจารณาธรรมทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ค้นคว้าในกายไม่หยุดหย่อน จิตใจขณะนั้นหมุนด้วยปัญญาโดยตลอด

ถึงรุ่งเช้าก็ไม่ได้คิดอะไร พอสายๆ หน่อย หนานแดงก็เข้ามานิมนต์ เอารถมารับเราไปพักที่ป่าเปอะ เมื่อเห็นหนานแดงกับหนานพรหม จึงเรียกถามว่า “ใครมีรอยสักที่แขน” หนานแดงจึงตอบว่า “ผมมีท่านอาจารย์ นี่ผมสักไว้ตั้งเยอะ ท่านอาจารย์รู้ได้อย่างไร ผมใส่เสื้อแขนยาว” เราก็ขอดู ก็มีรอยสักเต็มหมดเลย เป็นรอยสักเหมือนกันกับที่เห็นในนิมิต นิมิตอย่างนี้จึงน่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย

หลังจากนั้น หนานแดงกับหนานพรหมก็รับเรากับท่านทองปาน ขึ้นรถไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่ป่าเปอะ เมื่อไปถึงป่าเปอะ ก็เข้าไปกราบท่าน ดูท่านซูบผอมลงหน่อย

การป่วยของท่านพระอาจารย์มั่นคราวนี้ดูรุนแรงมาก ร่างกายท่านซูบผอมไม่มีแรง จะเดินต้องมีคนคอยขนาบคาบค้ำ แต่นิสัยอาชาไนยของท่านนั้นอัศจรรย์อย่างน่าประจักษ์ ท่านไม่มีอาการป่วยเหมือนคนทั้งโลกป่วย ท่านมีปกติอยู่เหมือนไม่ป่วย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนไข้ที่รักษาง่ายที่สุดในโลก ไม่มีร้องเอาะๆ แอะๆ อะไร มีแต่ดวงใจที่อาจหาญบึกบึนแสดงให้เราเห็นเสมอมา แม้แต่หมอหรือมนุษย์ทั่วไปที่อยู่ใกล้ย่อมจะได้รับความอบอุ่นใจเสมอ เราผู้ไม่ป่วยแท้ๆ อยู่กับท่านผู้ป่วยเรากลับสบายใจดี

ตามปกตินิสัยในคอท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เวลาท่านป่วยหนักคับขันทางธาตุขันธ์ร่างกายเข้าที่จนมุม ท่านมักคิดค้นด้วยสติปัญญาไม่ลดละ ในเวลาป่วยท่านจะมีอุบายพิจารณาธรรมในขณะเดียวกันท่านถือว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในกายเป็นเรื่องของสัจจะธรรมโดยตรง ต้องพิจารณาให้รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ได้ ไม่ปล่อยให้ทุกข์ย่ำยีเปล่าๆ เพื่อเป็นการฝึกซ้อมสติปัญญา ให้รู้เท่าทันกับเหตุการณ์ ว่าสติปัญญาที่เคยอบรมมาและซักซ้อมมาเป็นเวลานาน ขณะเข้าสู่สงครามคือความทุกข์ทรมาน ใจจะไม่มีความหวั่นเกรงต่อความจริง ไม่มีความสะท้านหวั่นไหวกับพายุ คือทุกข์โทษที่เข้ามาทับถมเมื่อพิจารณาเท่าทันขันธ์ดังที่กล่าวมานี้ “อยู่ก็สบาย ถึงตายก็มีชัยชนะ”

ในขณะท่านพักฟื้นที่ป่าเปอะนั้น เรา(พระเจี๊ยะ) เป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ท่านเป็นตัวอย่างทั้งด้านภายนอกและภายใน เราเรียนธรรมกับท่าน แต่ไม่สามารถเรียนนิสัยท่านได้ ความเพียร ความอดทน ความกล้า ความมักน้อยสันโดษ คุณธรรมเหล่านี้มีอยู่ในท่านหมด เป็นนักรบธรรมอย่างอาจหาญสมบูรณ์ ยากที่ข้าศึก คือกิเลสหยาบละเอียดจะมาแผ้วพานได้ ท่านมีนิสัยลึกลับจับได้ยาก คุณธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่มีศิษย์คนใดล้ำหน้าท่านไปได้ หรือเพียงแต่เทียบเท่าก็หาไม่มี อันสำคัญที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง คือความสามารถพิเศษในเรื่อง หูทิพย์ ตาทิพย์ ปรจิตตวิชา คือฟังได้ทั้งเสียงมนุษย์ เสียงสัตว์ เสียงภูตผี เปรต เสียงเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ยม นาค เห็นได้ทั้งที่สิ่งที่เป็นกายหยาบและกายทิพย์ รู้ได้ทั้งจิตสัตว์ จิตคน ว่ามีความเศร้าหมองผ่องใส ประการใด ตลอดความคิดปรุงต่างๆ บางครั้งแม้ผู้คิดเองยังไม่รู้ว่าได้คิดอะไรไปบ้าง แต่ท่านรู้ได้อย่างฉับพลัน พระเณรกลัวท่านมากในเรื่องนี้ แม้เรา (พระเจี๊ยะ)เอง ก็โดนท่านสับโขกอยู่เป็นประจำ แต่ต้องจำทนทั้งที่อับอายขายขี้หน้าในบางเรื่อง เพราะความศรัทธาเลื่อมใสอันไม่คลอนแคลน

อยู่กับท่าน อุปัฏฐากท่านด้วยความเลื่อมใส ในระหว่างที่ท่านอาพาธอยู่นั้น

วันหนึ่งท่านพูดเปรยๆ ขึ้นว่า “หยูกยารักษามาก็นานแล้ว ยาธรรมดาเหมือนชาวโลกเขากินคงไม่ได้เรื่อง ต้องเอายาวิเศษคือธรรมโอสถ หากไม่หายก็ให้มันตายซะ ท่านจึงเจริญกายคตาสติกรรมฐานเป็นอนุโลมและปฏิโลม เพ่งแผดเผาภายใน เพื่อเป็นวิหารธรรมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความว่า “ฌาน แผดเผาเหมือนดวงอาทิตย์ ฉะนั้น” ในที่สุดอาการของท่านจึงค่อยทุเลาลง ระหว่างนั้นเป็นสงครามอินโดจีน มีการพรางไฟไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่


.


อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมีเงินหนึ่งบาท
เมื่อเรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาพักปฏิบัติท่านอยู่นั้น มีโยมอุปัฏฐากเก่าแก่ของท่าน คือ โยมเขียว เอาปัจจัยมาถวายท่านหนึ่งบาท พอตกตอนกลางคืน เราก็เข้าไปถวายการรับใช้ท่าน

เข้าไปกำปลายเท้านวดถวาย กราบเรียนท่านว่า “ขอโอกาสครูบาจารย์จะสมควรหรือไม่ ถ้าพรุ่งนี้จะนำเอาปัจจัยที่โยมเขียวนำมาถวาย ไปแลกเปลี่ยนเป็นนม ให้ครูบาจารย์ฉันในตอนเช้า จะได้มีกำลัง แล้วแต่ครูบาจารย์จะพิจารณา” กราบเรียนแล้วก็นั่งฟังอยู่ ขณะนั้นมีแต่นมข้นหวานตรามะลิ ราคากระป๋องละ ๕ สตางค์เท่านั้น

ท่านนิ่ง ไม่ตอบว่าประการใด ท่านคงพิจารณา เพราะการอันใดก็ตาม ต้องประกอบด้วยธรรมเท่านั้น ท่านไม่เห็นแก่ปากท้องยิ่งไปกว่าธรรม เรื่องเล็กเรื่องน้อยเรื่องใหญ่ ทุกๆ เรื่องต้องเป็นธรรม ท่านบอกว่า เราเป็นสมณะมาประพฤติธรรม ทุกกริยาอาการที่แสดงออกต้องเป็นธรรม แม้กริยาอาการบางอย่างโลกไม่นิยมชมชื่น แต่ถ้าประมวลลงแล้วว่าเป็นธรรม เราก็ต้องดำเนินการตามนั้น ธรรมแท้นั้นไม่ได้เอามติที่ประชุมเห็นชอบ แต่เอาใจที่บริสุทธิ์เห็นธรรม คนหมู่มากถ้ากิเลสหนาปัญญาหยาบ มีมากเท่าใดก็จะออกกฎอันเป็นไปเพื่อกิเลส เพื่อพวกพ้องตน ฉะนั้น เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่าการเอาตนเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่าการเอาคนหมู่มากเป็นใหญ่

เมื่อเป็นดังนั้น จึงกราบเรียนท่านอีกว่า “คนแก่ต้องฉันนมบำรุงบ้าง ร่างกายจะได้มีเรี่ยวแรง อาการไข้จะได้ฟื้นขึ้น กระผมขอนิมนต์ให้ลองฉันนมดูบ้าง” เมื่อกราบเรียนแล้วท่านแสดงอาการนิ่ง อาการนิ่งของท่านนั่นแหละ เป็นคำตอบได้อย่างดี

พอรุ่งเช้าขึ้นมา เราจึงให้หนานแดงเอาเงิน ๑ บาท ที่โยมเขาถวาย ไปพิจารณานมข้นมากระป๋องหนึ่ง เพื่อชงถวายท่านในตอนเช้า

“ถ้าฉันนมแล้ว มันมักจะถ่ายท้อง...” ท่านปฏิเสธเสียงแข็งๆ

“กระผมคิดว่า ควรจะลองดูหน่อย ถ้าถ่ายท้องกระผมจะเช็ด จะเก็บทำความสะอาดเอง ครูบาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วง” กราบเรียนท่านอย่างหนักแน่น

เมื่อท่านฉันแล้ว ในที่สุดร่างกายจึงกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อปัจจัยซื้อนมหมด หนานแดง ก็ได้จัดมาถวายต่อ จนอาการท่านดีขึ้นจึงหยุดฉัน ท่านฉันเพื่อเป็นสิ่งเยียวยารักษาธาตุขันธ์ ไม่ได้ฉันเพื่อมัวเมาในรส



เสียงเพลงเสียงธรรม
อยู่มาวันหนึ่ง เราปลีกออกมาเดินจงกรมอยู่ในป่าที่ป่าเปอะ ในขณะที่เดินจงกรม มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเดินไปทำไร่ เดินร้องเพลงไป เพลงที่เขาขับร้องนั้น เป็นสำเนียงทางอีสาน ผ่านมาใกล้ๆ ทางจงกรมที่เราเดินอยู่ คาดคะเนว่าน่าจะเป็นคนทางภาคอีสานมาอยู่ทางเหนือ เนื้อเพลงนี้มาสะดุดจิตในขณะที่ภาวนา โอปนยิโก คือน้อมมาใส่ตัวเรา มันร้องเสียงเพราะน่าฟังนะ ร้องเพลงขับอันประกอบด้วยอรรถรสแห่งธรรม ประสานกลมกลืนกับธรรมที่กำลังสัมผัสเพ่งพิศพินิจพิจารณาอยู่ ภาษาธรรมที่เขาร้องเอื้อนด้วยความไม่มีสตินั้น กลับย้อนเข้ามาสู่ดวงใจที่กำลังเพ่งพิศธรรมนั้นอยู่ จิตนั้นก็รวมลงสู่ฐานของจิตโดยฉับพลัน เพลงขับนั้นเขาร้องเป็นทำนองอีสานว่า “ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้า โฮมลงมาขันธ์สี่ ทุกข์อยู่ในผ้าอ้อมป้อมผ้าฮ้าย โฮม อ้ายอยู่ผู้เดียว ทุกข์อยู่ในโลกนี้มีแต่สิทน ทุกข์อยู่ในเมืองคน มีแต่ตนเดียวอ้าย... ทุกข์ในขันธ์ห้า โฮมลงมาขันธ์สี่ทุกข์ในโลกนี้ลงข้อยผู้เดียว” เขาร้องเป็นทำนองไพเราะมาก

พอได้ฟังเท่านั้นแหละจิตนี้รวมลงทันที เป็นการรวมที่อัศจรรย์ นี้แหละธรรมะเป็นสมบัติกลางที่ผู้ประพฤติปฏิบัติน้อมมาพินิจพิจารณา ก็จะก่อให้เกิดธรรมขึ้นมายในใจตน ถ้ารู้จักน้อมมาสอนตนเสียงร้องเหล่านี้เป็นเสียงธรรมได้ทั้งนั้น

สมัยนั้นก็ยังหนุ่มอยู่ แต่ว่ามันก็ไม่รู้ยังไง ฟังบทขับร้องแล้วชอบกลอยู่ เขาร้องอย่างนี้ “ทุกข์ในขันธ์ห้า... โฮมลงมาขันธ์สี่ ทุกข์ในโลกนี้ลงข้อยผู้เดียว” คนอีสานเขามาอยู่ทางเหนือ เขาขับร้องเพราะมาก มีเสียงเอื้อนตามแบบของคนอีสาน

ทุกข์ในขันธ์ห้า มีเมียก็ต้องเลี้ยงเมีย หากเมื่อมีลูกขึ้นมาหนึ่ง ก็ต้องเลี้ยงหนึ่ง เลี้ยงสอง เลี้ยงสามฯลฯ เมียสองก็ต้องเลี้ยงสี่ เลี้ยงห้า เอาเข้าไปแล้ว เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่สารพัด เลี้ยงกันมาจนกระทั่งถึงเรา นี่มันเป็นอย่างนั้น นี่ทุกข์ที่สุด เราก็มีพ่อมีแม่ พ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวาฮิ นึกแล้วน่าสงสาร แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่ยอมขึ้น เราหลุดออกมานี่มีชีวิตอันประเสริฐที่สุด ใครสามารถพินิจพิจารณาได้แล้ว รอดลงไปได้แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นบ่วงลึกที่สุด ท่านอาจารย์ฝั้นท่านว่า..เรื่องการครองเรือน เรื่องความหลง ท่านพูดยิ่งเด็ดขาด... แต่เราพูดออกมาอย่างท่านไม่ได้

เพราะฉะนั้นอันนี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญา เมื่อเราน้อมนำมา พินิจพิจารณาใจของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องขัดเกลา เหมือนแฟ้บที่ซักเสื้อผ้า หรือเหมือนสบู่ที่ขัดเหงื่อไคลของเรา ขัดขี้เหงื่อคราบไคลของเราให้ออกไป เปรียบอย่างนั้นมันเหมาะดี ธรรมะบทใดบทหนึ่ง เมื่อเราน้อมเข้ามาพินิจพิจารณาให้เกิดความสังเวชสลดใจได้แล้ว นั่นมีคุณค่าจะหาราคาอันใดมาเปรียบมิได้เลยนั่นท่านเรียกว่าเป็นปัญญา ส่วนที่ความรู้สึกในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จนเกิดความสังเวชสลดใจ เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ใจนั้นก็มีความสงบ เมื่อความสงบปรากฏอย่างนั้น ใจนั้นก็เป็นใจที่ปกติ เมื่อใจเป็นปกตินั่นเอง มีความรู้ตัวอยู่อย่างนั้น ใจไม่วอกแวกไปไหน นี่แหละท่านเรียกว่า “ญาณทัสสนะ”



บทเพลงพระอรหันต์
แม้ในสมัยพุทธกาล บทเพลงของพระอรหันต์ก็มีเช่นเดียวกัน เท่าที่ทราบท่านนิยมสวดเป็น ทำนองสรภัญญะ ในสมัยพุทธกาลมีเล่าไว้ว่า พระโสณะกุฏิกัณณะสวดสรภัญญะ ถวายพระพุทธเจ้า และได้รับคำชมจากพระพุทธองค์ว่า เธอสวดเสียงไพเราะดี

ปัจจุบันเราก็นิยมสวดสรภัญญะกัน แม้เราเองก็ชอบฟังสวดสรภัญญะ บทพระสหัสสนัย ที่ท่านบรรยายเกี่ยวกับการปฏิบัติยากง่ายของแต่ละดวงจิต สวดสรภัญญะก็คือ ร้องเพลงแบบหนึ่งนั้นเอง เรื่องนี้มีมูลเหตุอยู่ว่า ปัณจสิขะเทพบุตรขณะรอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์อยู่หน้าถ้ำแห่งหนึ่ง หยิบพิณขึ้นมาดีดขับเพลงรักของตนที่มีต่อคนรัก เปรียบความรักของเขากับความรักโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ ก็ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุบางรูปยืนฟังนางทาสีขณะตักน้ำร้องเพลงด้วยความเพลิดเพลินใจ พิจารณาความตามเนื้อเพลงได้บรรลุพระอรหัตก็มี การสวดการร้องบ่อยๆ เสียงที่สวดอันเป็นบทธรรมที่ไพเราะ จะดึงให้จิตจดจ่อเฉพาะเสียง ลืมโลกภายนอกหมดสิ้น จิตเกิดดิ่งเป็นสมาธิ พลังสมาธิเช่นนี้ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ก็ไม่ต้องสวดหรือร้อง เพียงแต่ฟังเฉยๆ หรือพิจารณาสิ่งที่ได้ยินเข้าตามเนื้อเพลง น้อมเข้ามาใส่ตนให้เป็นธรรม ถ้าบทเพลงนั้นมีคติเตือนใจ บทเพลงวิมุตติหรือเรียกอีกอย่างว่าบทเพลงพระอรหันต์ เพราะพระภิกษุ ภิกษุณี ท่านได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เปล่งวาจาเป็นภาษากวี บรรยายความสุขใจที่ได้รับหลังการบรรลุธรรม

มีบทเพลงที่ท่านพระสิริมัณฑเถระ ได้เปล่งเป็นบทกวีไว้ เดิมพระเถระรูปนี้เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งเมืองสุงสุมารคิรี ท่านบวชมาแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด ขณะฟังพระปาฏิโมกข์แล้วพิจารณาว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้ว ถ้าไม่เปิดเผย (ปกปิดความชั่วไว้) ย่อมเศร้าหมอง แต่ว่าไม่ปกปิด (บอกความจริงแล้วปลงอาบัติเสีย) ก็จะบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในที่สุด พระศาสนาของพระพุทธองค์ช่างบริสุทธิ์จริงๆ ท่านคิดพิจารณาดังนี้ ด้วยความที่จิตฝึกมาดี ก็ได้บรรลุอรหัตผล หลังการบรรลุธรรมจึงได้เปล่งคาถาเป็นบทเพลงกวีว่าไว้ว่า
          “สัตว์โลกถูกมฤตยูดักฆ่า ถูกชราไล่ต้อน
           ยิงด้วยลูกศรคือความทะเยอทะยาน
           เผาให้เป็นเถ้าถ่านด้วยความปรารถนา มฤตยู พยาธิ ชรา ทั้งสาม
           คือกองไฟลามลุกไหม้ แรงจะต้านใดก็ไม่มี จะบึ่งหนีก็ไม่พ้น
           ไม่ควรปล่อยวันเวลาล่วงไปเปล่า ไม่ว่ามากหรือน้อย
           กี่วันผันผ่าน ชีวิตกาลยิ่งใกล้ความตาย เดินหรือยืน นั่งหรือนอน
           วาระสุดท้ายอาจมาถึง จึงไม่ควรประมาท”

และบทเพลงกวีของพระเชนตะ ท่านเป็นคนช่างคิด คิดว่าครองเพศฆราวาสก็ยาก หาเงินทองมาเลี้ยงครอบครัวก็ลำบาก บวชก็ลำบาก จะเลือกทางดำเนินชีวิตแบบไหนดี ในที่สุดก็ตัดสินใจไปบวช ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็กล่าวโศลกเตือนใจเพื่อนมนุษย์ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวงเป็นบทเพลงว่า
          “ครองเพศบรรพชิตนั้นแสนลำบาก
           ฆราวาสวิสัยก็ยากเย็นเช่นเดียวกัน
           พระธรรมอันคัมภีรภาพนั้นยากเข้าใจ
           โภคทรัพย์กว่าจะหามาได้ก็เหน็ดเหนื่อย
           มีชีวิตเรื่อยๆ อย่างสันโดษก็ยากเย็น
           ฉะนี้น่าจะเห็น น่าจะคิด อนิจจังฯ”



ถามนิมิตกับท่านพระอาจารย์มั่น
บางคราวเราสงสัยเรื่องนิมิตที่เกิดกับจิต จึงนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“ครูบาจารย์ ถ้านิมิตเกิดขึ้นในขณะภาวนา จะให้ทำอย่างไร”
“ให้รำพึงถามไปว่าอะไร? หมายถึงอย่างไร? แล้วนิมิตก็จะอธิบายออกมาเอง”


จึงกราบเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า
“ครูบาจารย์ ก็สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้น มันไม่ใช่ของจริงนี่ครับ”
“ก็มันเป็นเพียงของใช้ ของใช้ก็สำหรับใช้ ไม่ใช่จริง”
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบ แล้วก็ยิ้มเปิดโลกด้วยความเมตตา
บางทีเริ่มภาวนาก็เกิดความสงบ บางคืนมีนิมิต นี้ไม่ใช่อวด เพราะเป็นถึงความจริง ก็กล่าวถึงความจริงที่มันเกิด
บางทีเราทำภาวนา หลับตาลงเห็นเป็นเหวลึกๆ อย่างหน้าหวาดเสียว วู้บบ!! ลงไปในเหวนั้นลึก ลึก จนสุดๆ โห!...นี่ ถ้าตกลงไปตายนะนี่ เอ้า!...ตายก็ตายซี่ เพ่งพิศดูอยู่ รู้อยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวก็หายไป

บางทีตัวนี้ใหญ่ ใหญ่เท่าตุ่มโตๆ ขนาดนี้ (แสดงมือประกอบ) ตัวเรานี้เป็นตุ่ม ตัวเท่าตุ่ม นี้เรียกว่าอุคคหนิมิตที่มันเกิดขึ้น เอ๊ะ!...ทำไมจิตจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นต่างๆ แต่ทีนี้อบรมจิตเข้าๆ  จิตก็สงบเข้าไป

เมื่อภาวนา จิตมักเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ก็นำข้อสงสัยนี้ไปกราบเรียนถามท่านว่า  “ครูบาจารย์...กระผมภาวนา จิตเกิดนิมิตปรากฏเป็นอย่างนี้ จะให้พิจารณาอย่างไร?”

ท่านก็บอกว่า “ให้พิจารณากายนะ”
เมื่อท่านให้เงื่อนอย่างนั้น เราก็มาคิดพิจารณา ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิขึ้นเอง พอใจเราสงบดี ก็คิดถึงเล็บหัวแม่มือ เล็บนิ้วชี้ เล็บนิ้วกลาง เล็บนิ้วนาง เล็บนิ้วก้อย ข้อนิ้วหัวแม่มือมีกี่ข้อ ก็นึกกำหนดตัด นิ้วชี้มีกี่ข้อก็นึกกำหนดตัด นิ้วนาง นิ้วก้อยกำหนดตัดให้หมด ตัดเสร็จแล้วก็มาตัดรวบห้านิ้ว ตัดห้านิ้วแล้วก็มาตัดข้อตานกเอี้ยง ขึ้นมาตรงกลางศอก แล้วก็มาถึงข้อศอก แล้วก็มาตัดหัวไหล่ ตัดหัวไหล่เสร็จก็มาตัดแขนซ้าย เดินจิตอย่างนี้จนหมดทั้งสรรพางค์ร่างกาย เมื่อกำหนดตัดทั้งหมดแล้วก็มาเจาะตา นึกให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ใบหูหลุด แก้มหลุด ทีนี้เอาล่ะ เอ้า!...เอาให้หมดทั้งหัว หัวเสร็จ ก็กำหนดตัดคอ ผ่าเอาออกไปวางเหมือนผ่ากบเขียดวางอยู่บนเขียง พิจารณายกขึ้นด้วยอำนาจไตรลักษณ์แล้ว วิจารณ์ด้วยภาวนามยปัญญามี่ฝึกมาดี พอพิจารณาถึงที่สุด จิตได้อบรมด้วยปัญญาอันยิ่งก็สงลงไปเป็นอัปปนาสมาธิอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ลักษณะอย่างนี้มันทำยากมาก อันนี้ทีหลังไปดูในแบบแผนตำรับตำราซึ่งไม่เคยเรียนเคยดูมาก่อน มันก็มีอยู่ในตำรา เราก็ภูมิใจ

อยู่กับท่าน นับถือท่านเหมือนพ่อเหมือนแม่ จะทำจะคิดอะไร อันเป็นการส่งจิตไปโดยไม่มีขอบเขตแห่งธรรมเป็นเครื่องประคับประคองต้องระวัง เดี๋ยวจะเป็นบาป ต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ท่านก็คงเห็นเราเป็นเหมือนลูก เพราะลำบากอยู่ด้วยกันกับท่าน และแล้วเมื่อถามปัญหาท่านเสร็จ ท่านก็เทศนาธรรมให้ฟังต่อไปเลยว่า

“ฟังให้ดีนะท่านเจี๊ยะ... ปฏิภาคนิมิตนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนา จึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคคหนิมิตนั้นเป็นของไม่ถาวร ต้องพิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อชำนาญทางปฏิภาค ทวนกระแสเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

สำหรับอุปจารสมาธิ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถแก้นิวรณ์ได้ แต่โมหะคลุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จะต้องทำความรู้ให้เต็มเสียก่อนจิตจึงจะไม่หวั่นไหว

การที่จะสอนการดำเนินสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมิได้ เพราะว่าจริตของคนมันต่างกัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะการดำเนินจิตมีหลายแง่หลายมุมแล้วแต่ความสะดวก

นิมิตทั้งหลาย เกิดด้วยปีติสมาธิอย่างเดียว ที่แสดงตามนิมิตออกมาทั้งหลายนั้น กรุณาท่านอย่าหลงตามนิมิต ให้พยายามทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม เพราะนิมิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง หลงเชื่อนิมิตประเดี๋ยวก็เป็นบ้า การที่จะแก้บ้านิมิตนั้น ต้องทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม ถ้าทำอย่างนั้นได้ อย่างบางทีเรานั่งภาวนาอยู่กลางป่าเขา มีเสือมานั่งเฝ้าเราผู้บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าเพียงลำพัง เสือนั้นเป็นเทพนิมิตเสียโดยมาก ถ้าเป็นเสือจริงมันเอาเราไปกินแล้ว”


ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาพูดธรรมะให้ฟังเพียงสั้นๆ เท่านี้ก็ก่อเกิดความกินใจเป็นอย่างยิ่ง นึกถึงธรรมะคำสอนและองค์ท่านเมื่อไหร่ น้ำตามันจะปริ่มไหลเพราะความถึงใจทุกที น้ำตานี้จึงเป็นน้ำตาที่มีคุณค่ามากนะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 15:09:42 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 11 กันยายน 2557 15:39:39 »

.


ถามนิมิตกับท่านพระอาจารย์มั่น
บางคราวเราสงสัยเรื่องนิมิตที่เกิดกับจิต จึงนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“ครูบาจารย์ ถ้านิมิตเกิดขึ้นในขณะภาวนา จะให้ทำอย่างไร”
“ให้รำพึงถามไปว่าอะไร? หมายถึงอย่างไร? แล้วนิมิตก็จะอธิบายออกมาเอง”


จึงกราบเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า
“ครูบาจารย์ ก็สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้น มันไม่ใช่ของจริงนี่ครับ”
“ก็มันเป็นเพียงของใช้ ของใช้ก็สำหรับใช้ ไม่ใช่จริง”
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบ แล้วก็ยิ้มเปิดโลกด้วยความเมตตา
บางทีเริ่มภาวนาก็เกิดความสงบ บางคืนมีนิมิต นี้ไม่ใช่อวด เพราะเป็นถึงความจริง ก็กล่าวถึงความจริงที่มันเกิด
บางทีเราทำภาวนา หลับตาลงเห็นเป็นเหวลึกๆ อย่างหน้าหวาดเสียว วู้บบ!! ลงไปในเหวนั้นลึก ลึก จนสุดๆ โห!...นี่ ถ้าตกลงไปตายนะนี่ เอ้า!...ตายก็ตายซี่ เพ่งพิศดูอยู่ รู้อยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวก็หายไป

บางทีตัวนี้ใหญ่ ใหญ่เท่าตุ่มโตๆ ขนาดนี้ (แสดงมือประกอบ) ตัวเรานี้เป็นตุ่ม ตัวเท่าตุ่ม นี้เรียกว่าอุคคหนิมิตที่มันเกิดขึ้น เอ๊ะ!...ทำไมจิตจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นต่างๆ แต่ทีนี้อบรมจิตเข้าๆ  จิตก็สงบเข้าไป

เมื่อภาวนา จิตมักเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ก็นำข้อสงสัยนี้ไปกราบเรียนถามท่านว่า  “ครูบาจารย์...กระผมภาวนา จิตเกิดนิมิตปรากฏเป็นอย่างนี้ จะให้พิจารณาอย่างไร?”

ท่านก็บอกว่า “ให้พิจารณากายนะ”
เมื่อท่านให้เงื่อนอย่างนั้น เราก็มาคิดพิจารณา ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิขึ้นเอง พอใจเราสงบดี ก็คิดถึงเล็บหัวแม่มือ เล็บนิ้วชี้ เล็บนิ้วกลาง เล็บนิ้วนาง เล็บนิ้วก้อย ข้อนิ้วหัวแม่มือมีกี่ข้อ ก็นึกกำหนดตัด นิ้วชี้มีกี่ข้อก็นึกกำหนดตัด นิ้วนาง นิ้วก้อยกำหนดตัดให้หมด ตัดเสร็จแล้วก็มาตัดรวบห้านิ้ว ตัดห้านิ้วแล้วก็มาตัดข้อตานกเอี้ยง ขึ้นมาตรงกลางศอก แล้วก็มาถึงข้อศอก แล้วก็มาตัดหัวไหล่ ตัดหัวไหล่เสร็จก็มาตัดแขนซ้าย เดินจิตอย่างนี้จนหมดทั้งสรรพางค์ร่างกาย เมื่อกำหนดตัดทั้งหมดแล้วก็มาเจาะตา นึกให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ใบหูหลุด แก้มหลุด ทีนี้เอาล่ะ เอ้า!...เอาให้หมดทั้งหัว หัวเสร็จ ก็กำหนดตัดคอ ผ่าเอาออกไปวางเหมือนผ่ากบเขียดวางอยู่บนเขียง พิจารณายกขึ้นด้วยอำนาจไตรลักษณ์แล้ว วิจารณ์ด้วยภาวนามยปัญญามี่ฝึกมาดี พอพิจารณาถึงที่สุด จิตได้อบรมด้วยปัญญาอันยิ่งก็สงลงไปเป็นอัปปนาสมาธิอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ลักษณะอย่างนี้มันทำยากมาก อันนี้ทีหลังไปดูในแบบแผนตำรับตำราซึ่งไม่เคยเรียนเคยดูมาก่อน มันก็มีอยู่ในตำรา เราก็ภูมิใจ

อยู่กับท่าน นับถือท่านเหมือนพ่อเหมือนแม่ จะทำจะคิดอะไร อันเป็นการส่งจิตไปโดยไม่มีขอบเขตแห่งธรรมเป็นเครื่องประคับประคองต้องระวัง เดี๋ยวจะเป็นบาป ต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ท่านก็คงเห็นเราเป็นเหมือนลูก เพราะลำบากอยู่ด้วยกันกับท่าน และแล้วเมื่อถามปัญหาท่านเสร็จ ท่านก็เทศนาธรรมให้ฟังต่อไปเลยว่า

“ฟังให้ดีนะท่านเจี๊ยะ... ปฏิภาคนิมิตนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนา จึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคคหนิมิตนั้นเป็นของไม่ถาวร ต้องพิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อชำนาญทางปฏิภาค ทวนกระแสเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

สำหรับอุปจารสมาธิ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถแก้นิวรณ์ได้ แต่โมหะคลุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จะต้องทำความรู้ให้เต็มเสียก่อนจิตจึงจะไม่หวั่นไหว

การที่จะสอนการดำเนินสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมิได้ เพราะว่าจริตของคนมันต่างกัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะการดำเนินจิตมีหลายแง่หลายมุมแล้วแต่ความสะดวก

นิมิตทั้งหลาย เกิดด้วยปีติสมาธิอย่างเดียว ที่แสดงตามนิมิตออกมาทั้งหลายนั้น กรุณาท่านอย่าหลงตามนิมิต ให้พยายามทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม เพราะนิมิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง หลงเชื่อนิมิตประเดี๋ยวก็เป็นบ้า การที่จะแก้บ้านิมิตนั้น ต้องทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม ถ้าทำอย่างนั้นได้ อย่างบางทีเรานั่งภาวนาอยู่กลางป่าเขา มีเสือมานั่งเฝ้าเราผู้บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าเพียงลำพัง เสือนั้นเป็นเทพนิมิตเสียโดยมาก ถ้าเป็นเสือจริงมันเอาเราไปกินแล้ว”


ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาพูดธรรมะให้ฟังเพียงสั้นๆ เท่านี้ก็ก่อเกิดความกินใจเป็นอย่างยิ่ง นึกถึงธรรมะคำสอนและองค์ท่านเมื่อไหร่ น้ำตามันจะปริ่มไหลเพราะความถึงใจทุกที น้ำตานี้จึงเป็นน้ำตาที่มีคุณค่ามากนะ



ถามเรื่องเทวดากับท่านพระอาจารย์มั่น
อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนี้ ได้รู้เรื่องราวความวิเศษของพุทธศาสนาเรื่องเทพ เทวดา ภูตผี ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านเห็นเป็นประหนึ่งว่าเป็นหลักธรรมชาติทั่วๆ ไป แต่สำหรับพวกเราเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น น่าหวาดเสียว ตื่นตูม อยากรู้อยากเห็น เป็นเรื่องใหม่ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีประจำโลกมานมนาน ท่านเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเป็นจอมปราชญ์อย่างแท้จริง เมื่อเราทราบว่าท่านรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ อันเหตุสุดวิสัยของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปจะรู้ได้ ก็อดที่จะกราบเรียนถามท่านไม่ได้ ทั้งที่มีความกลัวมากกว่าความกล้าเป็นเท่าทวีคูณ แต่ก็ต้องจำยอมอดทนบากหน้าถาม เพื่อสนองความอยากรู้และความสงสัยแห่งตน เมื่อได้โอกาสถามก็เข้าไปใกล้ๆ อันเป็นเวลาทำวัตรปฏิบัติ กำตามแข้งตามขา ยังไม่ได้ทันถามเลย เพียงแต่คิดไว้ภายใน ท่านกลับถามเราขึ้นก่อนว่า

“เจี๊ยะ...มีอะไรจะถามก็ถามมา ท่านนี่ยุ่งไม่เข้าเรื่อง” ท่านเปรยขึ้นเท่านั้นเราก็ปอดแหกแล้ว

“ครูบาจารย์ เทวดาหน้าตามันเป็นอย่างไง อยากเห็นบ้าง?” เราก็เสือกถามท่านทั้งที่กลัวจะตาย

“ฮื้อ!...มันไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา เราจะรู้ไปทำไม ท่านนี่ชอบถามซอกแซก กวนใจ ทำความดีให้มันถึงสิ ปัญหามันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่กับเทวบุตรเทวดาที่ไหน ดูหน้าเรา ดูหนังเราให้มันเห็นชัด ด้วยปัญญานั่นสิ พระพุทธเจ้าเห็นพระองค์เองก่อน ตรัสรู้เรื่องตัวตน ละตัวตนก่อน ค่อยมาสอนคนอื่น หรือสอนเทวดาทีหลัง ยังไม่ทันไร ยังไม่ไปไหนมาไหน อยากเห็นนั่นเห็นนี่ มันไม่ถูก ทั้งที่ตาบอดแต่อยากเห็นนั่นเห็นนี่ เดี๋ยวก็เดินชนตอ ลูกกระตาแตกหรอก” ท่านตอบด้วยวาทะแห่งบุคคลผู้ชาญฉลาด

“ก็ผมอยากรู้นิ...ครูบาจารย์ ก็ผมไม่เคยเห็น ก็อยากเห็น อยากรู้บ้าง”

เรานิ่งเงียบไปพักหนึ่ง แล้วท่านก็พูดขึ้นต่อไปตามอัธยาศัยว่า “ศาสนานี้เรียนให้ดีลึกล้ำที่สุด ผมไปเที่ยวภาวนาอยู่ในป่า มีสหธรรมิกของผมรูปหนึ่งอยู่ในป่าโน่นน่ะ โอ๊ย!...เจี๊ยะเอ้ย...แม้รูเท่านิ้วก้อย นี่ท่านยังมุดเข้าไปได้ หายตัวไปเลย ทะลุฟ้า ทะลุดิน แผ่นดิน แผ่นน้ำ ทะลุได้หมด จะไปไหนเพียงแค่ลัดเดียว ตอนนี้ท่านตายอยู่ในป่าไปแล้ว”

“โอ้!...ขนาดนั้นหรือครูบาจารย์...ถ้าไปอยู่ในเมืองหลวง เมืองไทย ป่านนี้ดังระเบิดเถิดเทิงไปแล้ว เสียดายไม่น่าตายไปเปล่าๆ อยากเห็นบ้างแบบนี้” กราบเรียนท่านด้วยความตื่นเต้น

“ก็มีแต่อย่างนี่แหละ.. พวกตาบอด... เจี๊ยะเอ้ย!...ใครไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น เสียชาติเกิดทีเดียว” ถามท่านเรื่องนี้โดนท่านดุทุกที (หัวเราะ)

จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องไปถึงมูเซอ มีเทวดามาฟังเทศน์กันเยอะ มาเป็น พันๆ หมื่นๆ พวกเทวดาเยอมันก็มาฟัง ทีนี้พวกมูเซอมันเห็นแสงสว่างบนภูเขาทั้งลูก อยู่ดีๆ สว่างเข้ามาเรื่อย แสงสว่างเต็มไปหมด มันก็ว่าตอนกลางคืนท่านนั่งภาวนาอยู่ แสงสว่างจ้าหมดบนเขา

พอตอนเช้าท่านไปบิณฑบาต พวกมูเซอมันก็ถาม “ตุ๊เจ้า... ตุ๊เจ้า จุดตะเกียงเจ้าพายุรึ เมื่อคืนนี้สว่างหมดทั้งเขา ตุ๊เจ้า... ใช้ตะเกียงเจ้าพายุรุ่นไหน สว่างคักแท้”

“ไอ้ห่า... กูมีตะเกียงเจ้าพายุซะที่ไหน”
“ทำไมที่บนเขามันสว่างขาวเกลี้ยงหมดทั้งลูกล่ะ... ตุ๊หลวง”
“ไม่รู้โว๊ย...”

ท่านปิดไม่บอก แล้วทีหลังท่านมาพูดให้เราฟังว่า “เทวดามาเป็นแสนๆ นะ มาฟังเทศน์ที่ดอยมูเซอ เทวดาจากเยอมันก็มี ทำบุญดีตายไปได้ขึ้นสวรรค์ ครูบาอาจารย์องค์ไหนมีญาณดีๆ เมื่อเราตายไปแล้ว กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็จะได้เป็นลูกศิษย์ท่าน เป็นมนุษย์มันมีแต่ห่วงบ้าน เดี๋ยวตายไปเป็นเปรต ฟังซิ ต้องถือเป็นคติพระ อย่าไปห่วงมันเยอะข้าวของเงินทองตายแล้วเอาไปไม่ได้หรอก ไปหัดภาวนาให้เป็น ไม่ต้องเอาอะไรมาก เพียงแต่ให้ใจ “พุทโธ” อันเดียวก็พอแล้ว ใจอยู่กับพุทโธ โธ ๆ ๆ ๆ เราก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ไปสู่สุคติใจสบาย

ท่านพระอาจารย์ท่านเทศน์สอนเสมอๆ ว่า “อันนี้ได้เป็นสมบัติของเราแท้ๆ เพราะเมื่อใจสงบ ใจไม่กังวล ใจเป็นสมาธิ ตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ เพราะใจโปร่ง ใจใส ใจสวรรค์ ใจคิด ใจวุ่น ใจวาย ใจนั้นตกนรก ทำให้มันผ่องใส ทำให้มันสะอาด ใจมันหมดจดแล้วได้ไปสู่สุคติ ท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ ท่านเล่าว่า ถ้าทำสมาธิได้ดีเปรียบเหมือนนั่งเจดีย์ เทวดามีเรือนอยู่บนนี้ มีมาเกาะอยู่บนต้นไม้ ต้นไม้แดง ๒ ต้นนั่น ใครไปถูกไม่ได้นะ อันตรายทันที แต่เวลาท่านอยู่ไม่เป็นไร เวลากลางคืนเขาเข้ามากราบ แต่บางพวกท่านบอกว่าเขาทำบุญเหมือนกัน แต่เป็นเทวดาที่อยู่ตามพื้นดิน บางทีก็มีปราสาท บางทีไม่มีปราสาท อยู่บนต้นไม้ อาศัยต้นไม้”  ท่านเล่าให้ฟัง ตอนที่อยู่แม่กอยเชียงใหม่ เราก็เสือก ถามท่านเรื่องเทวดาทีไร ท่านก็ดุทุกที

เราอุปัฏฐากทำวัตรปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่นที่ป่าเปอะ ตำบลท่าวังช้างนี้ ๖ เดือน ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม) เจ้าคณะมณฑลอุดรฯ ได้มีหนังสือมานิมนต์ให้ท่านกลับไปอุดรฯ ประกอบกับองค์ท่านเองก็มีความประสงค์จะกลับทางภาคอีสานอยู่แล้ว เพราะอยู่ทางเหนือมานานเป็นเวลา ๑๒ ปี ท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า

“เจี้ยะเว้ย!...กลับบ้านเราเถอะ มาอยู่ทางเชียงใหม่ไม่ค่อยได้หมู่คณะ ลงไปทางอีสานบ้านเราจะได้หมู่คณะแยะกว่า กลับทางเราดีกว่า”

เมื่อท่านพูดอย่างนั้น เราก็ยินดีเป็นที่ยิ่ง ที่จะได้กลับทางภาคอีสานซึ่งไม่เคยไปมาก่อน ถึงไปก็แค่ครั้งเดียว ที่วัดบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา วัดท่านอาจารย์กงมาไปสร้างไปเพียงเดี๋ยวเดียว ๒-๓ คืน ไปกินข้าวเหนียวขี้ไม่ออก ขี้แข็ง โอ๊ย! เกือบแย่ เพราะไม่เคยกิน มาอีสานครั้งเดียว ตอนอยู่ที่วัดทรายงามกับท่านอาจารย์กงมา ถึงมาก็ไม่รู้ว่าไปทางไหนมาทางไหน



     เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
     วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี


รุกขเทวดาวิงวอนให้อยู่ต่อ
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เราติดตามท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางเข้าเชียงใหม่ อันเป็นกำหนดเวลามารับของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เข้ามาพักที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ก่อน ท่านเล่าว่า “ในขณะที่พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนี้ พวกรุกขเทวดาจำนวนมากพากันมาอาราธนาวิงวอน ขอให้ท่านพักอยู่ที่นั่นต่อไป ยังไม่อยากให้หนีไปไหน เพราะเวลาอยู่ที่นั้นพวกเทวดาทุกชั้นทุกภูมิได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน เพราะอำนาจเมตตาธรรมแผ่ครอบคลุมทั่วทุกทิศทุกทางทั้งกลางวันกลางคืน เทวดาทั้งหลายมีความสุขมากและเคารพรักมาก ไม่อยากให้จากไป เมื่อจากไปแล้วความสุขที่จะพึงได้รับก็จะลดลง แม้การปกครองกันเองในหมู่เทพก็จะไม่สะดวกเหมือนที่ท่านยังอยู่”

ท่านได้บอกกับเทวดาทั้งหลายว่า “เป็นความจำเป็นที่จะต้องจากไป เพราะได้รับคำนิมนต์ไว้แล้ว จำต้องไปตามความสัตย์ความจริง จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คำพูดของพระไม่เหมือนกับคำพูดของโลกทั่วๆ ไป พระเป็นผู้มีศีล ต้องมีสัตย์ ถ้าขาดคำสัตย์ ศีลก็กลายเป็นสูญไปทันที ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในองค์พระ ฉะนั้นพระต้องรักษาสัตย์ศีล”


ท่านมาพักอยู่วัดเจดีย์หลวงราว ๖-๗ คืน มีคณะศรัทธาชาวเชียงใหม่ที่มีความเลื่อมใสในองค์ท่าน ได้พร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์ให้ท่านพักอยู่ที่นั้นนานๆ เพื่อโปรดเมตตาชาวเชียงใหม่ต่อไป แต่องค์ท่านรับนิมนต์ไม่ได้ ทำนองเดียวกับเทวดามาอาราธนา เพราะได้รับนิมนต์ก่อนหน้านี้เสียแล้ว  ก่อนที่ท่านจะจากเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์) และคณะศรัทธาเชียงใหม่ อาราธนาท่านขึ้นแสดงธรรมในวันวิสาขะบูชา เป็นกัณฑ์ต้น เพื่อไว้อาลัยสำหรับศรัทธาทั้งหลาย ท่านแสดงธรรม ๓ ชั่วโมงพอดีถึงจบกัณฑ์ เราก็นั่งฟังธรรมด้วยความถึงใจในธรรมรส ตอนนั้นท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็อยู่ที่นั่นท่านยังศึกษาพระปริยัติอยู่

พอรถไฟถึงกรุงเทพฯ เข้าพักวัดบรมนิวาสตามคำสั่งทางโทรเลขของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่บอกไปว่า นิมนต์ให้ท่านไปพักวัดบรมฯ เราก็จัดแจงที่พัก จัดน้ำใช้ น้ำฉัน น้ำสรงให้สมควรและถูกตามอัธยาศัยของท่าน ในระยะที่พักที่นั้นปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก




     สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
     วัดบรมนิวาส  กรุงเทพมหานคร


กรุงเทพฯ สู่นครราชสีมา
เราเป็นพระติดตามอุปัฏฐาก ท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านนำเดินทางมาพักอยู่กรุงเทพฯ มีผู้มาอาราธนานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านเสมอแต่ท่านขอผ่านเพราะไม่สะดวกต่อการปฏิบัติต่อสรีระกิจประจำวันหลังจากฉันเสร็จแล้ว

พักอยู่กรุงเทพฯ พอสมควรแก่กาลแล้วท่านเริ่มพาออกเดินทางมาพักโคราช ตามคำอาราธนาของคณะศรัทธาชาวนครราชสีมา พักที่วัดป่าสาลวัน ขณะพักอยู่นั้นก็มีท่านผู้สนใจมาถามปัญหาหลายราย มีผู้คนเลื่อมใสท่านมาก ท่านเป็นผู้มีธรรมะเป็นวิหารธรรม ช่างสังเกตพินิจพิจารณา อย่างบางทีปลอดผู้คนตอนพลบค่ำ ท่านเข้าไปทำวัตรปฏิบัติ เมื่อเห็นอะไรก็จะแสดงออกมาสอนเราในแง่แห่งธรรมเสมอ เราก็เซ่อซ่า ๆ ซุ่มซ่ามอยู่แล้ว จึงถูกท่านดัดอยู่เป็นประจำ ทุกวันท่านต้องมีเรื่องดุเรา เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ ส่วนเราเป็นผู้ไปศึกษากับท่านผู้เป็นปราชญ์ใหญ่ จึงถูกท่านโขกสับขับไล่อยู่เรื่อยๆ สำหรับปัญหาธรรมนั้นไม่ว่าท่านไปพักที่ไหน คนมาเรียนถามมิได้ขาด แต่มิได้จดจำได้ทุกบททุกบาท

ท่านพักนครราชสีมาพอสมควรแล้วก็พาเราออกเดินทางต่อไปจังหวัดอุดรธานี มาถึงขอนแก่น มีพี่น้องชาวขอนแก่นไปรับท่านที่สถานีคับคั่ง และพร้อมกันอาราธนาท่านให้ลงแวะพักเมตตาที่ขอนแก่นก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไปอุดรฯ แต่ท่านไม่อาจแวะตามคำนิมนต์ได้ จึงพากันพลาดหวังไปบ้างในโอกาสที่ควรจะได้นั้น

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 15:12:17 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2557 13:56:24 »

.

•  พรรษาที่ ๔-๕ (พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔)
จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ (วัดป่าโนนวิเวศน์)
อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี


ป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ
หลวงปู่เจี้ยะเล่าประวัติต่อไปอีกว่า  เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นและเราเดินทางจากโคราชมาขอนแก่น  ถึงอุดรเข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ ตามคำนิมนต์ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์
 
อยู่ที่วัดโพธิฯพอสมควรแก่กาลแล้วท่านก็ปรารภจะพักอยู่ตามป่าช้า ซึ่งเป็นอุปนิสัยของท่าน ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เห็นว่าป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ ชื่อว่า โนนนิเวศน์ เป็นป่าสงบสงัด ผู้คนไม่กล้าเข้ารบกวน จึงนิมนต์ท่านให้เข้าไปพักภาวนาที่นั่น  ท่านจึงออกจากวัดโพธิสมภรณ์  ได้เข้าพักที่ป่าช้าโนนนิเวศน์และจำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าโนนนิเวศน์  สมัยนั้นเป็นป่าช้าไม่ได้อยู่กลางเมืองอย่างนี้ เป็นที่ทิ้งศพโจรผู้ร้ายที่ถูกทางการฆ่าตาย  เรา (พระเจี๊ยะ) อยู่จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นที่เสนาสนะป่าโนนนิเวศน์เป็นพรรษาที่ ๒ รวมอยู่กับท่านมา ๒ ปี ๓ แล้ง ขณะนั้นเราบวชได้ ๕ พรรษา ทุกๆ วันมีประชาชนผู้เลื่อมใสเข้ามากราบไหว้ไม่ขาดสาย ตอนเย็นท่านเมตตาแสดงธรรมภาคปฏิบัติให้แก่พระเณรฟัง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เองท่านเดินทางมาฟังธรรมโดยสม่ำเสมอ  



     ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ถามปัญหาท่านพระอาจารย์มั่น
ที่พักของเรา (หลวงปู่เจี๊ยะ ) กับท่านพระอาจารย์มั่นไม่ห่างกันมากนัก ท่านอายุ ๗๐ แล้ว ต้องคอยดูแลท่าน ท่านจะเรียกใช้อะไรจะได้ยินได้ง่าย ในตอนเย็นๆ หลังจากทำข้อวัตรปฏิบัติเสร็จ มีปัญหาธรรมอันใดขัดข้อง จะนำไปถามท่านเสมอ เราเคยเข้าไปที่พักท่านที่โนนนิเวศน์ ไปถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอันหนึ่ง ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง สมัยอยู่กับท่าน ถามว่า ”ครูบาจารย์...ครับพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านพ้นจากอาสวะกิเลสไปแล้วอย่างนั้น เข้าสมาธิทีเดียวจะได้หรือไม่ “
 
ท่านตอบว่า”เออ...ดูแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น เวลาก่อนที่จะเข้านิพพานอย่างนี้  ก็ต้องเข้าตั้งแต่ปฐมฌาน ตั้งแต่รูปฌาน จนถึงอรูปฌานเข้าไปโดยลำดับ”


หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณาธรรม
“ทำไมท่านว่าอย่างนั้นหนอ ” เราก็นำมาพิจารณา เนี่ยก็น่าคิด น่าตรึกตรอง เพราะขั้นต้นของหัวใจของคนเรานั้น มันต้องมีอารมณ์เป็นสิ่งเกื้อกูลอุดหนุน ให้กระสับกระส่ายไปในบางสิ่งบางอย่าง กระทบทางหู ทางตา ทางใจเข้ามารบกวนอยู่ เพราะฉะนั้นขั้นต้นก็จำเป็นที่สุด จำเป็นจะต้องชำระให้ใจนั้นเข้าไปอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ให้ถึงจุดอันนั้นแล้ว ใจมันก็เกิดความสงบ นิวรณ์ทั้งหลายก็ดับไปจากใจเรา ใจนั้นก็เป็นปกติ เป็นหนึ่งอยู่จำเพาะอย่างนั้นเบื้องต้น อันนี้เองเป็นต้นเหตุให้เข้าใจของการบำเพ็ญสมาธิ  ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเน้นแนวทางให้ถูกทาง  จึงเรียกว่าสมกับเป็นนักกรรมฐาน  ถ้าเราไม่เน้นทาง ให้ถูก สักแต่ว่ากระทำไปโดยไม่ตรึกตรอง  ไม่พินิจพิจารณา  ใคร่ครวญ สิ้นไปวันหนึ่งคืนหนึ่ง  หลายๆ วัน หลายๆ เดือนหลายๆ ปีอย่างนี้ สิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ การบำเพ็ญนั้นไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์กับเรา กับชีวิตของเรา ที่ทุ่มเทเสียสละมา  

จากกิจการบ้านเรือน สละโลกและสงสารมาอย่างนี้แล้วควรจะทุ่มเทชีวิตด้านจิตใจ ให้เป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตของเรา สมกับความมุ่งมาดปรารถนา เราเข้ามาเพื่อต้องการขจัดทุกข์ของหัวใจให้ออกไปจากใจของเรา

เพราะฉะนั้น การเมื่อความดำริอย่างนั้นแล้ว สิ่งอันใดที่เรากระทำไม่เกิดความสงบ เราก็จำเป็นที่จะศึกษาไต่ถาม หรือเพียรพยายามด้วยตัวเองอย่างใดอย่างหนึ่ง มันขัดข้องประการใด อย่างนี้มีครูบาอาจารย์ก็ศึกษาจากท่านเหล่านี้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการทำใจเข้าสู่ความสงบนี้ก็ประการหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ความสงบอย่างนั้น จิตใจที่ปราศจากนิวรณธรรมทั้งหมดแล้วอย่างนั้น ใจนั้นจะเยือกเย็น ใจนั้นจะสุขุม ไม่มีความนึกคิดปรุงแต่งไปในอดีต ถึงอนาคต แม้ปัจจุบันที่บริกรรมอยู่ก็วางโดยปกติอย่างนั้น ใจปราศจากสิ่งทั้งปวง เต็มไปด้วยความสว่างไสวของใจอย่างนั้น เรียกว่าจัดว่าเป็นสมาธิ เมื่อเราฝึกอย่างนี้จนชำนิชำนาญแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้การค้นคว้า พินิจพิจารณานี่เป็นมาตรฐานสำคัญของผู้ปฏิบัติจำเป็นที่ต้องค้นคว้าอย่างเราก็เคยอธิบายบอกให้ค้นคว้าร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงถ้าไม่ค้นคว้าพิจารณาร่างกาย ก็เรียกว่าพิจารณาเวทนา  เมื่อพิจารณาเวทนา ไม่พิจารณาเวทนาก็พิจารณาจิต เมื่อไม่พิจารณาจิตก็พิจารณาธรรมท่านว่าอย่างนั้นแต่ถ้าการค้นกาย เป็นการที่ถอนรากเหง้าของสักกายทิฎฐิอันสำคัญอันหนึ่ง เวลาน้อมนึกตั้งแต่เบื้องบน คือตั้งแต่หัวลงถึงปลายตีนอย่างนี้ ถ้านึกให้ละเอียดลออลงไปแล้วอย่างนั้นก็ต้องกินเวลาตั้งเป็นเกือบชั่วโมง ก็ต้องเอาอย่างนั้นเมื่อลงไปตั้งถึงที่สุดถึงนิ้วก้อย เบื้องซ้าย เบื้องขวาที่สุดลงไปแล้ว ก็ต้องทวนกลับขึ้นมา อย่างนั้นตลอด นิ้วก้อยเบื้องซ้ายจนมาถึงนิ้วหัวตลอดถึงเท้าเบื้องเอว แล้วก็ลงไปเท้าขวา ขึ้นมาอย่างนั้นอีก ตลอดเวลาก็ขึ้นมาตามส่วนอวัยวะของหน้าอก  ขั้นเอวนี่ถึงสันหลัง ถึงซี่โครง หน้าอกถึงกระโหลกศีรษะขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่าอนุโลมปฏิโลมถอยเข้าถอยออกของใจสภาวะบางชนิดของจิตของผู้ที่เป็นใหม่อย่างนั้น

เมื่อน้อมพินิจพิจารณาอย่างนั้น บางทีจะเกิดความเบื่อหน่ายเกิดความสังเวชสลดใจอย่างนั้น ให้น้ำหูน้ำตาไหลเกิดความสังเวชสลดใจว่าเรานี้ก็จะต้องแตกตาย โดยไม่มีข้อสงสัยประการใดทั้งปวง ใจในสภาวะอย่างนั้นมันเกิดความสงบแล้ว เมื่อนึกไปแล้วมันก็เป็นเช่นนั้น เป็นธรรมดาของการประพฤติปฏิบัติแต่ท่านเรียกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปีติ แต่ลักษณะของปีติอย่างนี้ ก็เป็นปีติไปเพื่อที่จะคลายซึ่งความเพลิดเพลินของใจนั่นเอง เมื่อใจนั้นสงบเข้าอย่างนั้นแล้ว ก็จำเป็นต้องเกิดปีติ เกิดในสิ่งที่ไม่เคยเป็น มันก็ต้องเป็นขึ้นกับชีวิตอย่างนั้น เมื่อพิจารณามากเข้ามากเข้า บางทีระลึกถึงส่วนใดอย่างนี้ ให้หลุดออกไปมันก็หลุด ฝึกให้ลูกตาหลุด ลูกตาก็เห็นหลุดออกไป แล้วก็เพ่งอยู่อย่างนั้นก็กำหนดเข้ามาใส่มันก็ใส่ได้อย่างเก่า
 
กำหนดตาช้ายออกไปตาซ้ายก็ออกกำหนดเอาเข้ามาก็เข้า นี่ต้องพิจารณาให้ละเอียด แม้แต่ฟันมีกี่ซี่ ฟันล่างฟันบนมีกี่ซี่  นึกให้ละเอียดลออลงไป อย่าได้ละเว้น ยิ่งเกิดปฏิภาคเท่าไรมากเท่าไรแล้วก็ยิ่งต้องกำหนดให้ละเอียดลงไปแต่เมื่อเป็นปฏิภาคอย่างนั้น เมื่อเราค้นคว้ามากเข้ามากเข้า ปฏิภาคนั้นย่อมจะจางลงความที่ปฏิภาคจางเช่นนั้น เราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อมลักษณะของปฏิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนั้น เมื่อพิจารณาให้มากให้ละเอียดลออลงไปแล้วใจจะอยู่กับลำดับที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อย่างนี้อย่าเข้าใจว่าปฏิภาคเสื่อม ปฏิภาคนั้น เสื่อมไปจริง หายไปจริงเพราะมันเกิดปัญญา



     พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
     บูรพาจารย์พระฝ่ายกรรมฐาน


เมื่อเกิดปัญญาอย่างนั้น ละเอียดลออมากเข้ามากเข้าปฏิภาคนั้นก็จางไปไม่ปรากฏ ผู้ที่เป็นอย่างนั้นอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม

ถ้าเราสังเกต ดูให้เที่ยงแท้ของใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นหนึ่ง ไม่วิ่งไปในที่ใดทั้งหมดเลย อยู่เฉพาะกายอันนี้อันเดียวตลอดเวลาที่เรานึกอย่างนั้น อย่างนี้เพิ่งเข้าใจว่าเป็นแนวสมาธิอันที่จะหนีจากทุกข์แนวทางเรียกว่ามัคโค ที่จะออกจากทุกข์ของใจใจในขณะนั้นไม่มีอารมณ์เข้ามากวัดแกว่งมาแก่งแย่งกับใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เมื่อพิจารณามากเข้าเมื่อเห็นเหนื่อยพอสมควร เป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง อย่างนี้เราก็ถอยจิตเข้ามาพัก พอสมควรก็ถอยจิตกลับมาพิจารณาอีกอย่างนั้น เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังดีแล้ว ก็ค้นลงไปให้ตลอดเวลา บางทีนั่งอย่างนั้นให้ตลอดทั้งคืนก็นั่งได้ ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กำลังของใจที่ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมด หรือเรียกว่า อารมณ์ทั้งหมดนั้นมันประกอบไปด้วยความเพลิดเพลินในขณะพินิจพิจารณาอย่างนั้น เรียกว่าปัญญาอันแท้จริง ที่จะเกิดกับใจของผู้ที่ปฏิบัติอันนั้น อย่าเข้าใจว่าสมาธิ หรือเรียกว่าปฏิภาคนั้นเสื่อม นี่ต้องเข้าใจอย่างนั้น ความที่เป็นเช่นนั้น เพราะใจที่ดำเนินไปพิจารณาอย่างนั้น ท่านเรียกว่า เป็นลักษณะของปัญญากับสติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันค้นนึกถึงส่วนต่างๆ อยู่อย่างนั้นใจไม่พะวักพะวนไปกับสิ่งใดทั้งหมด นึกตั้งแต่เบื้องบน ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตลอดร่างกายไปจนถึงปลายเท้าขึ้นมาตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น แล้วก็ทวนขึ้นมาอีกมาถึงเบื้องบน ลงจากเบื้องบนไปหาเบื้องล่าง เอาอยู่อย่างนี้นั่ง ๓ - ๔ ชั่วโมงไม่มีการเหน็ดการเหนื่อยเมื่อยล้า สบายที่สุดของชีวิตที่เราเข้ามาบำเพ็ญพรหมจรรย์

เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งใจอย่าไปเพลิดเพลินกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว อย่าคุยมากอย่าไปอวดมากแต่อันนี้จะมีทิฐิมานะอันแฝงเจือเข้ามาอยู่ในหัวใจของบุคคลผู้เป็นเช่นนั้น สำคัญว่าตัวฉันดีตัวฉันประเสริฐ ตัวฉันไม่มีใครสู้ได้อันนี้ต้องระวังไว้ อย่าเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสภาวะอย่างนี้ความคิดเมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้ว ความคิดเห็นในบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ต้องระมัดระวัง เมื่อในบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นเช่นนั้น ต้องพยายามเข้าไปค้นกาย พิจารณากายของตัวอย่างเดิม  อย่าไปยุ่งอย่างอื่น อย่าไปคิดเรื่องโลกเรื่องสงสารเพลิดเพลินในการเทศน์การวาทะอะไรทั้งหมดต้องให้เข้าใจอย่างนั้น ต้องหวนกลับเข้าไป ค้นคว้าอย่างเดิมอย่างนั้น
 
อันนี้เป็นหลักสำคัญ มันมีสิ่งแว่วๆ เข้ามาในหูเพราะฉะนั้นต้องเตือนสักหน่อย เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจให้เต็มที่ลงไป ในระดับของใจกำลังดีอย่างนี้แล้วขอให้ตั้งใจเต็มที่ลงไปเถิด ผลที่จะได้รับคือ ความสงบของใจเมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาใจลงไปกายลงไปเท่าไร ใจนั้นยิ่งเกิดความสงบทุกทุกนาทีทั้งวันทั้งคืน ยืนเดินนั่งนอน จะเกิดแต่ความสงบของใจอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้นอกรีตนอกรอยไปเล่นพิธีต่างๆ นานาให้พิจารณาร่างกายของเรา ให้ตัดส่วนหยาบส่วนละเอียดของกายออกให้มาก เมื่อจะเห็นหรือไม่เห็น ไม่ต้องวิตกเมื่อส่วนปัญญาที่ละเอียดมากเข้าเท่าไรแล้วอย่างนั้น ปฏิภาคนั้นจะดับไปทันที  แต่อย่าวิตกว่าสมาธิเสื่อม การพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้นเอง เป็นเหตุให้เจริญขององค์ปัญญาวิปัสสนานั่น

การปฏิบัติของเราจากป่าช้าโนนนิเวศน์จนถึงหนองน้ำเค็มบรรลุถึงผลอันน่าพึงใจ ไม่เสียดายอาลัยทุกสิ่งในโลก คำสอนของพระศาสดาประจักษ์ใจหายสงสัยลังเลเคลือบแคลงในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซาบซึ้งในพระคุณของท่านพระอาจารย์มั่นที่สั่งสอนอบรมมา   การที่เราได้อยู่ปฏิบัติพระผู้ทรงคุณเช่นนี้ เป็นความโชคดีเหลือหลาย เราจะได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ละวันจะมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับท่านทั้งด้านภายนอกและภายในมาก ตาต้องดูท่านตลอดอย่าให้คลาดเคลื่อน หูต้องฟังท่านตลอด ไม่ว่าท่านจะพูดค่อยหรือแรง ใจต้องคิดตลอดปัญญาอย่าอยู่นิ่งเฉย ถ้าไม่รวดเร็วดังนี้ก็จะไม่สามารถอยู่กับท่านได้
 


ธุดงค์จากอุดรถึงสกลนคร
ท่านพักจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษานับแต่จังหวัดเชียงใหม่มาพอออกพรรษาปีที่ ๒
แล้ว คณะศรัทธาทางจังหวัดสกลนครมีคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เป็นต้นซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน พร้อมกันมาอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปโปรดทางจังหวัดสกลนครซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน ท่านยินดีรับอาราธนาคณะศรัทธาทั้งหลายต่างมีความยินดี

พร้อมกันเอารถมารับท่านไปที่จังหวัดสกลนคร ในปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔ เราได้เดินทางติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนครด้วย ฉะนั้นในระยะ ๓ ปีนี้เราเป็นพระอุปัฏฐากประจำ เมื่อเดินทางถึงสกลนครและพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสได้ ๒-๓ วัน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลก็มีจดหมายมานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก
 
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมอบหมายให้เราเดินทางไปอุบลฯ แทนเพื่อดูแลอุปัฏฐากในอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์และกราบเรียนตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งมา เราจึงออกเดินทางโดยรถยนต์ยังจังหวัดอุบลราชธานี และเดินเท้าไปพบกับหลวงปู่เสาร์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี  




     คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์
     โยมอุปัฎฐากท่านพระอาจารย์มั่น ที่จังหวัดสกลนคร


วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล  อำเภอพิบูลมังสาหาร
งหวัดอุบลราชธานี - อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์

ก่อนหน้าที่เราจะมาถึงวัดดอนธาตุนั้น มีอยู่วันหนึ่งตอนบ่ายหลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้น
มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง ได้บินโฉบไปโฉบมาเพื่อหาเหยื่อ จะด้วยกรรมแต่ปางใดของท่านไม่อาจทราบได้ เหยี่ยวได้บินมาโฉบเอารังผึ้ง ซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่พอดิบพอดี รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาด้านข้างๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกันต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันหนีไป จากเหตุการณ์ที่ผึ้งต่อยนั้นมาทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอดมาโดยตลอด

เมื่อมาถึงวัดดอนธาตุได้ ๒-๓ วัน หลวงปู่เสาร์ท่านอาการหนักขึ้นโดยลำดับ เราอยู่ปฏิบัติท่านจนกระทั่งหายเป็นปกติดีแล้ว

วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ราวๆ ๑๓๐ ไร่ มีแม่น้ำมูลล้อมรอบ เป็นเกาะอยู่กลางน้ำ เป็นวัดที่ท่านหลวงปู่เสาร์มาสร้างเป็นองค์แรก แต่ก่อนบางส่วนในบริเวณที่วัดเป็นทุ่งนาชาวบ้าน  เมื่อหลวงปู่เสาร์ท่านมาภาวนา ญาติโยมเกิดความเลื่อมใสจึงถวายเป็นที่วัด บริเวณเกาะกลางแม่น้ำมูลนี้จึงเป็นที่วัดทั้งหมด
 
เดิมทีเขาเรียกกันว่า ดอนทาก เพราะมีตัวทากเยอะ เป็นป่าดิบชื้น ชาวบ้านเข้ามาหาของป่าถูกตัวทากกัด มีตัวทากยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ชาวบ้านจึงเรียกเพี้ยนจากดอนทากกลายเป็นดอนธาตุ อาจจะเป็นเพราะหลวงปู่เสาร์ท่านเข้ามาอยู่ด้วย เขาจึงเรียกว่าดอนธาตุ
 
ตอนที่เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาหาหลวงปู่เสาร์ ท่านอยู่ที่นี่ท่านไม่ค่อยเทศน์นักหรอก มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าหาท่าน ดูแลท่านเรื่องอาพาธ เมื่อท่านหายป่วยร่างกายมีเรี่ยวแรง ญาติโยมขอฟังเทศน์ท่านว่า “หลวงปู่เทศน์ให้ฟังหน่อยพวกขะน้อย (ฉัน) อยากฟังธรรม” โยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า เขานิมนต์ให้เทศน์ หลังจากท่านฉันเช้าเสร็จ
 
“ทำให้ดู มันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตาม เทศน์ให้ฟังมันจะฟังหรือ? พวกเจ้าข้อยเฮ็ดให้เบิ่งยังบ่อเบิ่ง เทศน์ให้พวกหมู่เจ้าฟัง หมู่เจ้าสิฟังฤๅ” เมื่อหลวงปู่เสาร์พูดเสร็จ ท่านก็สั่งให้พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้เป็นลูกศิษย์ที่นั่งเป็นลำดับต่อจากท่านไปเป็นองค์เทศน์ ท่านมีปกติเป็นพระพูดน้อย ต่อยมาก  ส่วนมากท่านทำให้ดู เพราะท่านมีคติว่า “เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ดหลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน” (เขาจะเชื่อในสิ่งที่เราทำมากกว่าจะเชื่อในสิ่งที่เราพูด)




     พระพุทธรูปที่ประเทศลาว ระหว่างทางไปห้วยสาหัว
     ที่หลวงปู่เจี๊ยะไปธุดงค์ (ปี ๒๔๘๕)


ธุดงค์ประเทศลาว
หลังจากหลวงปู่เสาร์ท่านหายจากอาพาธแล้ว  ธาตุขันธ์กระปรี้กระเปร่า ท่านจึงเดินทางไปทำบุญอุทิศให้ท่านแดดัง ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งอยู่ที่หลี่ผี ประเทศลาว (ตามปกติหลวงปู่เสาร์จะซอบออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ
ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุเป็นประจำทุกปี)
 
หลวงปู่เสาร์เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาวก่อน เราจึงเดินธุดงค์ติดตามไปทีหลัง ความจริงแล้วเราจะไม่ธุดงค์ติดตามท่านไปจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ตั้งใจว่าจะกลับสกลนครไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านโคกก่อนเลยก็ได้ แต่เมื่อมานึกถึงคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้หวนรู้สึกประหวัดๆ อยู่ในใจว่า  “เจื้ยะเอ้ย...ดูแลหลวงปู่เสาร์แทนผมให้ดีนะ ถึงการป่วยอาพาธของท่านจะหายก็อย่าได้ไว้วางใจเป็นอันขาด”  เมื่อเป็นดังนี้เราจึงจำเป็นต้องเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปประเทศลาว เพราะมีความมั่นใจในความรู้พิเศษของท่านพระอาจารย์มั่นว่า “ท่านต้องทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน จึงกำชับให้เราดูแลหลวงปู่เสาร์เป็นอย่างดี”  ท่านเน้นว่า “อย่าได้ไว้วางใจ” เหมือนกับท่านบอกเป็นนัยๆ แต่ท่านไม่พูดตรงๆ จะเป็นการทำนายครูบาอาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเคารพรักหลวงปู่เสาร์มาก



     พระอาจารย์ทอง  อโสโก
 
ขณะหลวงปู่เสาร์เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาว นครจาปาศักดิ์ก่อนแล้ว ทางฝ่ายเรา (พระเจี๊ยะ) และพระเพ็งผู้เป็นหลานของท่าน ครูบาแก้ว ครูบาเนียม และเณร กับผ้าขาวก็ออกเดินทางด้วยจากดอนธาตุ มุ่งไปยังเขต ริมแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับปากแม่น้ำมูล ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เราได้พาหมู่คณะพักค้างคืนที่บนภูเขาที่เขต ต่อมาได้มีผู้มานิมนต์ให้ไปพักอยู่ที่ใกล้ๆ กับแม่น้ำโขง เป็นที่มีป่าใหญ่มาก มีสัตว์นานา เช่น เสือ หมี และในน้ำยังมีปลาโลมาน้ำจืดเสียงร้องดังเหมือนเสียงวัว อีกทั้งสถานที่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเกรงกลัวมาก เพราะใครจะไปตัดไม้ หากตัดต้นไม้ก็จะมีอันเป็นไปคือเจ็บไข้ได้ป่วย
 
ในป่านั้นมีไม้ยางใหญ่ๆ เขาทำเป็นตะท้าวดักเสือ เมื่อเสือผ่านลอดเข้ามา ตะท้าวก็จะหล่นมาทุบเสือตาย เราไม่รู้ไปยกเอาไม้ออก ต้นไม้ก็มาแทงเอาขาต้องเอาน้ำมันมาทา เดินไม่ได้ตั้งนาน เจ็บปวดมากไม่รู้ว่าเขาทำดักเสือ
 
เราพาหมู่คณะปฏิบัติพักอยู่ที่ป่าดงใหญ่นี้ได้ไม่นานนัก ได้นำคณะธุดงค์ไปยังนครจำปาศักดิ์ตามคำนิมนต์ของโยมคำตัน ในระหว่างนั่งเรือไปนครจำปาศักดิ์แล้วมุ่งตรงไปทางปากเซ-ปากซัน ปีนั้นน้ำเยอะเชี่ยวกรากมาก ล่องเรือไปตามกระแสน้ำ เรือมันจึงแล่นเร็วพอไปถึงตรงสะดือน้ำใหญ่ บังคับเรือไว้ไม่อยู่ เรือหมุนติ้วๆ บึ้ดๆๆ งี้ มันหมุนตั้งยี่สิบรอบมั้ง วื้อๆๆ ถ้าเป็นเรือใหญ่มันก็หมุนสักเดี๋ยวก็ไปได้ แต่เราไปเรือพายเล็กๆ ถึงตรงสะดือน้ำก็หมุนเคว้งคว้าง เราก็ตะโกนบอกสั่งให้พวกฝีพายช่วยกันงัดเรือออกไปอีกด้านเราต้องใช้ไม้พายช่วยงัดจึงหลุดออกมาได้ ไม่งั้นตาย คนตายแยะตรงนี้ มันดูดลงไปตาย ถ้าเกิดล่มขึ้นมาเราอาจจะไม่ตาย เพราะเราว่ายน้ำเก่ง แต่มันต้องเอาจีวร ถ้าเอาออกไม่ทันก็ตายเหมือนกัน มันเป็นสะดือน้ำ หมุนวนน่ากลัว



     หลี่ผี ที่ประเทศลาว


วัดอำมาตย์นครจำปาศักดิ์
เมื่อเรือเลียบฝั่ง เราได้พาพระเณรทั้งหมดไปพักยังวัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ มุ่งเพื่อจะไปให้ทันหลวงปู่เสาร์ แต่คลาดกัน หลวงปู่เสาร์ได้ธุดงค์ไปที่หลี่ผีก่อน
 
พักที่วัดอำมาตย์พอสมควรแล้ว ต่อจากนั้นได้ธุดงค์ต่อไปที่ห้วยสาหัว เขตนครจำปาศักดิ์ ห่างตัวเมืองราว ๑๐ กว่ากิโลเมตร พักอยู่ที่นี่ราว ๔ เดือน เป็นหมู่บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยราว ๑๘ หลังคาเรือน ในการธุดงค์ครั้งนี้  เราพักอยู่กับพระเพ็งสององค์เพียงเท่านั้น  




     โบสถ์ไม้ (เดิม) วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
     ซึ่งหลวงปู่เสาร์กราบก่อนมรณภาพ ปัจจุบันรื้อแล้วและก่อสร้างใหม่


หลวงปู่เสาร์มรณภาพ
ในกาลต่อมา พระครูเม้าวัดอำมาตย์ ให้คนถือจดหมายมาบอกให้ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ป่วยหนักและท่านกำลังจะเดินทางมาโดยทางเรือ มาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น  ให้เรากับพระเพ็งผู้เป็นหลานของหลวงปู่เสาร์ มารอรับท่านหลวงปู่เสาร์ เรือของท่านหลวงปู่เสาร์จะมาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น

เมื่อเรือของหลวงปู่เสาร์มาถึง เราพร้อมกับพระเพ็งก็ลงไปรับท่านในเรือ พบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมีอาการหนักมาก จึงจัดเปลหามเข้าไปในวัดอำมาตย์ พาท่านเข้าไปในอุโบสถที่ทำด้วยไม้ ท่านก็ทำกิริยาให้ประคองท่านขึ้นกราบพระเราทั้งสองก็ประคองท่านขึ้นเพื่อกราบพระ เมื่อกราบลงครั้งที่สาม สังเกตเห็นท่านกราบนานผิดปกติจึงจับชีพจรดู จึงรู้ว่าชีพจรไม่ทำงาน

พระทั้งหลายที่อยู่ในพระอุโบสถก็ว่า  “หลวงปู่เสาร์มรณภาพแล้วๆ”  เราจึงตะโกนพูดขึ้นว่า “ปู่ยังไม่มรณภาพ ตอนนี้ปู่เข้าสมาธิอยู่ ใครไม่รู้เรื่องอย่าเข้ามายุ่ง”
 
จึงพยุงท่านจากอิริยาบถนั่งเป็นอิริยาบถนอน แต่ทำได้ยาก เพราะท่านมีอาการจะดับขันธ์อยู่แล้วขณะที่พยุงให้ท่านนอนลงนั้น สังเกตเห็นมีพระเณรนั่งร้องไห้อยู่หลายรูป เราจึงไล่พระเณรเหล่านั้นออกไป เมื่อหลวงปู่เสาร์เข้าสู่อิริยาบถนอน ท่านก็หายใจยาวๆ ๓ ครั้ง แล้วท่านก็ถึงแก่กาลกิริยาโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (สิริอายุ ๘๓ ปี)
 
เราจึงได้จัดเรื่องงานศพทุกอย่างสุดความสามารถ ให้สมกับหน้าที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นไว้ใจและมอบหมาย จัดแจงทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ส่งโทรเลขไปบอกคุณวิชิตที่จังหวัดอุบลราชธานี และหาครกใหญ่ๆ มารองตำถ่าน เราถอดอังสะเหน็บเตี่ยว หาไม้ใหญ่ๆ มายกตำๆ ตัวนี่ดำหมด ตำถ่านใส่โลงท่าน เราตำเองทั้งหมด ถ่านนี้ใส่รองพื้นโลงเพื่อดูดน้ำเหลืองไม่ให้เหม็น วางถ่านรองพื้นโลงเสร็จแล้ว เอาผ้าขาวปูทับอีกที ถ่านต้องเลือก อย่าเอาที่แตกๆ เวลาปูลงที่พื้นโลงให้ถ่านสูงประมาณ ๑ คืบ ใช้ถ่านประมาณ ๒ กระสอบก็เพียงพอ
 
เมื่อตำถ่านเสร็จแล้วตัวดำหมดเลย เราลงโดดน้ำโขงตูม...ตูม...เราเป็นคนแข็งแรง ทำอะไรคนอื่นทำไม่ทัน เมื่อเอาถ่านรอง  ผ้าขาวปู ก็เอาศพท่านวางให้เรียบร้อย แล้วขอขมา ตั้งศพไว้ระยะหนึ่งให้ชาวจำปาศักดิ์มาสักการะบูชา เมื่อเห็นสมควรจึงนำศพท่านลงเรือกลับอุบลฯ ข้ามฝั่งโขงแล้ว  ต่อมาคุณวิชิต โกศัลวิตย์  ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านกับพระเถระมีพระอาจารย์ทอง เป็นต้น และญาติโยมชาวจังหวัดอุบลฯ จึงได้จัดขบวนรถยนต์ไปรับศพท่านกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี
 
ส่วนเราเมื่อนำศพหลวงปู่เสาร์ลงเรือกลับอุบลฯ แล้ว เราจึงเดินธุดงค์จากประเทศลาวเข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี  อำนาจเจริญ มาพักที่วัดพระอาจารย์ทอง อโสโก ศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่เสาร์ เดินต่อมาทางนครพนม สกลนคร เพื่อร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น และกราบเรียนเรื่องการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นทราบ  




โฉนดวัดอำมาตย์ ที่นครจำปาศักดิ์
ออกในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2558 14:14:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 16 มกราคม 2558 14:51:55 »

.

•  พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๘๕)
จำพรรษาที่วัดบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร


กลับจากประเทศลาวมุ่งสู่สกลนคร
ในระหว่างที่เรา (พระเจี๊ยะ) ได้รับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปดูแลอาการอาพาธของหลวงปู่เสาร์ที่วัดดอนธาตุ   อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลฯ นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นได้พาหมู่คณะเดินทางออกจากวัดป่าสุทธาวาส มาพักที่บ้านนาสีนวลและบ้านนามนชั่วระยะกาลหนึ่ง แล้วจึงเข้ามาพักที่เสนาสนะป่าบ้านโคกด้วยความผาสุกทั้งกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์
 
ดังนั้นขณะที่เรากำลังเดินทางกลับจากแขวงนครจำปาศักดิ์ ระเทศลาว ก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านจะพักอยู่จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก เราจึงรีบเร่งฝีเท้าออกเดินทางจากอำนาจเจริญ จาริกรอนแรมตามหมู่บ้าน ตำบลมาเรื่อยๆ พักตามป่าช้า ท้องทุ่ง ลอมฟาง เขาป่า ภูผาหิน เดินเท้า ค่ำที่ไหนก็นอนมันที่นั่น เพราะอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาเกือบสามปี ได้ประสบการณ์ในการอยู่ตามป่ามาบ้างพอสมควรกินก็เริ่มกินง่าย ถึงจะตายก็คิดว่าสะดวก
 
การเดินธุดงค์ในระยะนี้ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พิจารณาธรรมเต็มความสามารถ เพราะไม่มีสิ่งใดก่อกวน พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมะเกี่ยวกับการอยู่ป่าไว้มาก เพราะพระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่า ในอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนเมื่อเราบวช ก็สอนให้ไปอยู่ป่า อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้
 
ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ฤดูแล้งแล้วอากาศร้อนอบอ้าว หาพักตามร่มไม้ชายเขา ร่มยางใหญ่ มีทางลมพัดผ่าน ก็พอไล่อากาศร้อนอบอ้าวหนีไปได้บ้าง การออกมาจากท่านอาจจะว้าเหว่อยู่บ้าง แต่การออกมาปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของท่าน ก็เป็นความอุ่นใจภายใต้ร่มบารมี จะเดิน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร มีเสียงเตือนของท่านแว่วมาทางโสตประสาทเสมอ เหมือนเราเดินวนเวียนอยู่ใต้ร่มไม้ร่มใหญ่ใบดกหนา อีกทั้งใต้พุ่มไม้นั้น ก็มีน้ำให้อาบดื่มกิน นำพาความรำพึงหวังให้สดชื่นแก่จิตใจได้ไม่น้อย
 
ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก มันหนักตนเอง “มันถ่วงหัวทุบหาง” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าอย่างนี้ หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนอย่างนี้เสมอ ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ที่หลงงมงายได้ ว่าตัวได้ตัวดีกว่าคนอื่นเขา อันนี้เราจำเอาจนขึ้นใจ

ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไปวางไว้ กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้นก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก เมื่อเข้าไปกินเหยื่อจะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้นก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “ดักอีทุบ” สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไปในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น
 
สมณะที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญ ว่าขลังอย่างนั้นดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ เมื่อพิจารณาถึงคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่แว่วมาอยู่เรื่อยๆ จึงไม่เกี่ยวยุ่งด้วยผู้คน นำธรรมะที่ท่านสอนมาพิจารณาตีให้แตกด้วยอริยสัจสี่ คลี่คลายไม่ลดละ จิตตอนนั้นปราดเปรียวหมุนโดยอัตโนมัติ
 
เมื่อรอนแรมภาวนาตามป่าทางอุบลฯ นครพนม มุกดาหาร แก่กาลพอสมควร จึงเดินตัดเข้าสกลนคร ในระหว่างทางนั้นผ่านป่าดงทึบ ต้นไม้ใหญ่โอบไม่รอบป่ายังคงเป็นป่า สัตว์เสือยังมีมาก แบกกลดเข้าป่าออกป่า ขึ้นภู ลงเขา เดินไปนานๆ จะพบหมู่บ้านสักหลัง ส่วนมากเป็นชาวไร่ ขุดดินทำไร่ในป่าลึกๆ เดินเหนื่อยยากลำบากเหลือเกินนะ บางทีนั่งพักใต้ร่มไม้อากาศร้อนๆ ในตอนกลางวันกระหายน้ำ น้ำหมดก็อดทนเอา เดินไปสักเดี๋ยวก็เจอชาวบ้านป่า เมื่อเห็นพระก็กุลีกุจอนำน้ำมาถวายด้วยศรัทธา โดยที่เราไม่ต้องบอก บางแห่งก็ผ่านทุ่งกว้างมีแต่ฝูงวัวฝูงควาย พวกเด็กเลี้ยงควายหยอกล้อหัวเราะร่าร้องเพลงกันลั่นตามทุ่งนา
 
เมื่อพิจารณาไปหลายๆ อย่างด้วยปัญญาสามัญธรรมดานี่แหละ “โอ!...เขาหาอยู่หากินตัวเป็นเกลียว อดอยากลำบากแค้น แสนทุกข์แสนทน...เราก็มาหาธรรมลำบากก็ต้องทนเพื่อลดทุกข์ ปลดเปลื้องใจ เขาหากิน เราหาธรรม เขาแสวงเรื่องโลก เราแสวงธรรม” ตกพลบค่ำก็นั่งภาวนา ถ้ามีทางพอเดินก็เดินจงกรมเผื่อว่าจะได้ไม่เก้อเขินเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นทักถามเรื่องธรรมปฏิบัติ คือกลัวท่านดุเอา ว่าออกไปไม่ตั้งใจปฏิบัติ
 
เมื่อเดินทางมาถึงสกลนคร ก็ตรงดิ่งเข้าไปที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ บ้านโคก ตรงไปยังป่าช้าบ้านโคก เป็นที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนัก เมื่อถึงแล้วก็รีบเข้าไปกราบเรียนความเป็นไปทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์


เข้าพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก
ก่อนเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีพวกญาติโยม มาร่วมสร้างเสนาสนะเพื่อภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้มอบให้เราไปควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะจนแล้วเสร็จ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นในปีนั้น และพระอาจารย์มหาบัวก็ได้มาร่วมจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นในปีนั้นด้วย

ฉายา "ผ้าขี้ริ้วห่อทอง"
ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นชอบเรียกเราว่า “เฒ่าขาเป๋” หรือบางทีท่านก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดและสอนเพื่อเป็นคติ ตอนหลังท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็เมตตาเรียกเหมือนกัน
 
อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดถึงหลวงปู่ขาวว่า “หมู่เอ๊ย!...ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว” หลังจากท่านกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็หันมาพูดเรื่องเราว่า “เออหมู่เอ๊ย!...มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่เว้ย...เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก ‘มันลงเหมือนกันเลย’ ท่านย้ำว่าอย่างนั้น ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปี เท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”
 
การที่เรานำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชมมาเล่า ไม่ได้หมายยกตนเทียมท่าน แต่การที่ฝึกปฏิบัติเร็วช้าเช่นนี้ แล้วแต่บุญกรรมและความเพียรของใครของมัน ที่พูดให้ฟังนี้ไม่ได้เทียบกับท่าน แต่นำสิ่งที่ท่านพูดมาพูดให้ฟัง จะได้รู้ว่าเบื้องหลังเราปฏิบัติมายังไง
 
การภาวนา การปฏิบัติ และชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน มันเกี่ยวเนื่องกับกรรมดีกรรมชั่วในอดีตและปัจจุบัน แล้วก็มาส่งผลให้เป็นไปใน คำว่าอนาคตก็คือ ปัจจุบันไปถึงเข้าแล้วก็ประสบชะตาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่การคาดเดาเอาว่าตอนนั้นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
 
แต่การประสบกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตนั้นแหละ คือการรวมประมวลเอากรรมในอดีตปัจจุบันและอนาคตมาไว้ด้วยกัน เหมือนอย่างบางคนประสบชะตากรรมในทางร้ายในชีวิต หมดหวังสิ้นแรงใจ ระทมทุกข์ไม่มีทางออก ทั้งที่ปัจจุบันพากเพียรทำสัมมาชีพ แล้วในที่สุดเขาก็ปลิดชีพตัวเอง พร้อมทั้งฆ่าลูกและภรรยา เพราะเขาเหนื่อยหน่ายการที่จะอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี แต่เขาไม่ทราบว่าความจริงในอดีตชาติเขาได้ทำให้คนอื่นย่อยยับไม่รู้กี่ครั้งกี่หน พอเกิดมาเป็นมนุษย์ทำอะไรก็หลงทะนงตนไม่เชื่อบาปกรรม เชื่อมั่นว่าตนบัญชาการได้หมด ปฏิเสธหลักธรรมที่จะนำมาประกอบใจ เมื่อประสบชะตากรรมที่โหดร้าย แล้วก็นำพาความน้อยอกน้อยใจ เสียอกเสียใจมาเป็นเครื่องครอบงำจิต ในที่สุดก็ทำสิ่งที่เสียหายแก่ตนและคนอื่นเพราะคิดว่า วิธีนี้เป็นหนทางที่ฉลาดที่สุด และเป็นทางออกที่ดีเยี่ยม
 
คำว่า ประสบชะตากรรมที่โหดร้าย เพราะการประมวลมาของกรรมนั้นก็คือ ในอดีตเขาเคยทำความชั่วเสียหายไว้มาก กรรมนั้นก็ย้อนมาให้ผลในปัจจุบัน ปัจจุบันนั้นแหละเป็นปัจจุบันของอนาคตในอดีต กรรมนั้นจึงประมวลมาให้ผลเป็นครั้งไป แล้วแต่ผลเสวยและความรุนแรงของความดีชั่ว ถ้าความดีมากๆ ความดีนั้นก็จะให้ผลถึงที่สุด การดำเนินชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม อันเป็นวัฏจักรที่พาหมุนวนนี้ การเดินทางของจิตมันจึงยืดยาวแทบจะหาที่ยุติไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นเหตุให้สัตว์ทำกรรมดี -ชั่วปะปนกันไป แล้วก็พากันเสวยผลแห่งกรรมนั้น โดยไม่มีสิทธิพิเศษปฏิเสธการกระทำนั้นๆ ว่าไม่ได้ทำไม่ได้ สิ่งใดที่ทำสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ทำ ไม่เป็นอื่น ทำดีที่สุด แม้จะปฏิเสธว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำดีความดีนั้นก็ต้องให้ผล แม้แต่บุคคลนั้นจะปฏิเสธ ความชั่วก็เหมือนกัน
 
ตัวอย่างเช่นพระองคุลีมาล ท่านฆ่าคนมามากทำไมท่านสำเร็จอรหันต์ได้ การที่ท่านฆ่าคนมามาก พระพุทธเจ้าจะมาช่วยให้ท่านเป็นคนดีนั้น รู้สึกว่าจะไม่ยุติธรรม เหมือนๆ กับว่าพระองค์จะทรงลำเอียงไม่ช่วยสาวกองค์อื่นๆ ที่ไม่ได้ฆ่าคนให้พ้นทุกข์ให้หมดไปบ้าง ความจริงพระพุทธองค์พิจารณาเห็นจิตของพระองคุลีมาลนี้ ได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร สร้างสมแต่ความดีมามาก มากกว่าด้านชั่ว คือในหมื่นๆ ชาติ ล้วนแต่เป็นคนดีมีศีลธรรม ความดีในอดีตของท่านมันมากกว่าความชั่วในปัจจุบันเป็นไหนๆ นั่นแหละเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าฉุดลากเธอขึ้นมาจากความชั่วนั้นได้ แล้วก็บรรลุอริยธรรม เหมือนกับตาชั่งที่ใช้ชั่งสิ่งของ ของชิ้นไหนสิ่งใดมันหนักกว่า มันก็กดตาชั่งนั้นลงไปได้มาก ตามความหนักเบา กรรมดี-ชั่วก็เหมือนกัน ความดีมันมากๆ มันก็กดความชั่วให้จมดินไปได้ ยิ่งความดีมากขึ้นเรื่อยๆ ความชั่วก็ค่อยหายไปๆ จางไปๆ


เจ็บป่วยด้วยโรคปวดเส้นเอ็น
เมื่อเราจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกกับท่านพระอาจารย์มั่น เราได้เกิดเป็นโรคชนิดหนึ่งคือโรคเส้นเอ็น รู้สึกปวดเส้นอย่างแรงคล้ายถูกงูรัด เป็นจากเอวลงมา อาการปวดขยายออกไปทั้งตัวเดินไม่ได้ ครูบาทองปาน ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่เคยอยู่เชียงใหม่กับหลวงปู่มั่นด้วยกัน ได้ทำยาขึ้นขนานหนึ่ง โดยเอาข้าวสารแช่น้ำและตำเป็นน้ำแป้งขาวๆ ประมาณ ๔-๕ ขวดเหล้า แล้วเอาบอระเพ็ดกำใหญ่มาตำ แล้วเอาน้ำใส่ กรองได้น้ำบอระเพ็ดพอประมาณ ๔-๕ ขวดเหล้าเหมือนกัน เสร็จแล้วเอาน้ำแป้งและน้ำบอระเพ็ดที่ตำนั้นผสมกัน แล้วเอาไปฝังทั้งขวดไว้ที่ใต้บันไดบ้านสามคืน จึงขุดเอามาฉันเวลาฝังให้จุกขวดโผล่จากดินประมาณ ๑ นิ้วฟุตตามพระวินัย น้ำแป้งข้าวนั้นพระจะฉันนอกเวลาไม่ได้ จึงต้องฉันระหว่างเช้าถึงเที่ยง ยานี้ฉันประมาณ ๓ วัน โรคที่เจ็บปวดตามเส้นนั้นก็หายไป ตำรายานี้ท่านว่าเป็นตำรายาของพระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม มีคุณสมบัติแก้ไข้มาลาเรียได้ด้วย ขนาดของยาที่ฉันนี้ ให้ฉันวันละ ๑ ขวดเหล้า จนยาหมด

ระหว่างที่เราป่วยอยู่นี้ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเมตตาจัดอาหารมาให้ฉัน แต่เราไม่ฉัน กราบเรียนท่านกลับไปว่า “ครูบาจารย์ ถ้าจะตายก็ให้มันตายไปเถอะ” แต่ก็ไม่เป็นอะไร ต่อมาอีก ๒ วันก็หายเป็นปกติ





พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)
ภาพจาก เว็บไซท์วัดป่านาบุญ

หลวงตามหาบัวเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะกับท่านพระอาจารย์มั่น
 
หลวงปู่มั่นเรียกเฒ่าขาเป๋

หลวงตามหาบัวเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะกับท่านพระอาจารย์มั่น (ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) เรา (หลวงตามหาบัว) เห็นเถียงกันตาดำตาแดง แต่เถียงท่านทีไรอาจารย์เจี๊ยะหน้าผากแตก หลวงปู่มั่นท่านใส่หน้าผากแตก แต่ก็แปลกอันหนึ่งนะ พอยอมทันทีท่านก็หมอบทันทีเลย  ใส่บ๊งเบ๊งๆ เอากันกับท่านนะ พอใส่ถูกสนับ ทางนี้พับหมอบเลย ท่านรักกันเหมือนพ่อกับลูก อาจารย์เจี๊ยะกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี่นะ เราไปสังเกตดู อู้!...แปลกอยู่นะ ท่านไม่เรียกว่า ท่านเจี๊ยะล่ะ ท่านเรียกว่า “เฒ่าขาเป๋” คือขาของท่านข้างหนึ่งมันเป็นอะไรไม่รู้นะ ปวดหัวเข่า ต้องได้ฉีดยาแอสไพรินอยู่เรื่อยๆ พอบรรเทาๆ แต่ไม่หายขาด เดินโขยกเขยกๆ ท่านจึงเรียก “เฒ่าขาเป๋” ท่านเรียกอย่างนั้น ท่านเรียกด้วยความรักความเมตตา มันซึ้งนะ ท่านว่าอะไรก็ดี ท่านดุอะไรก็ดี มันซึ้งแปลกนะ
 
อย่างท่านอาจารย์เจี๊ยะกับหลวงปู่มั่นโต้กันอย่างนี้ใส่กันเปรี้ยงๆ อาจารย์เจี๊ยะก็ไม่ถอยง่ายๆ นะ ใส่เปรี้ยงๆ จนกระทั่งพอถึงที่สนับ (หมายความว่าสนับมือที่ใช้ตี คำว่าสลบหมายถึงเข้าใจ) ใส่นี้ปั๊บ สลบหมอบเลย ทุกทีเลย เราสังเกตดูนะ เปรี้ยงปร้างๆ ไม่กี่ประโยค สักเดี๋ยวหมอบเลย แล้วก็พูดกันธรรมดา พอเสร็จจากทะเลาะกันแล้ว ก็คุยกันธรรมดาๆ เหมือนไม่เคยมีอะไรต่อกัน เราก็เป็นคนสังเกตนะ  เราไปอยู่ทีแรกดูก็แปลกนะ ลักษณะของหลวงปู่มั่นกับอาจารย์เจี๊ยะนี่เหมือนพ่อแม่กับลูกแท้ๆ ไม่ได้ผิดอะไรกันเลย ท่านสนิทกันขนาดนั้น สนิทกันด้วยความเมตตาของท่าน องค์นี้แหละ องค์รักษาบริขารของท่าน
 
ท่านอาจารย์เจี๊ยะ ตอนท่านอยู่ที่นั่นท่านละเอียดลออมาก กริยาภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาท่านเอาความละเอียดความสะอาด โถ!...ใครจะสู้ท่านได้วะ ท่านเป็นผู้รักษาบริขารของหลวงปู่มั่นนะ มีดนี้ท่านฝนเลื่อมวับๆ อะไรไปแตะนิดหนึ่งไม่ได้นะ มีดนี้สำหรับหั่นผักอะไรๆ ถวายหลวงปู่มั่นเรา ท่านเป็นคนเก็บรักษาเอง ใครไปแตะของท่านไม่ได้นะ พอเสร็จแล้วท่านจะไปลับหิน ทุกอย่างมองดูแผล็บๆ อะไรไปถูกนิดหนึ่งรู้ทันที พอเวลาท่านมาศาลาปั๊บ ท่านจะจับมีดมาดู ถ้าพอเห็นรอย “ใคร! ๆ  มาจับมีดเรานี่ ใคร! ๆ” ท่านไล่เบี้ยเลยเชียว (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจึงละเอียดขนาดนั้น ไม่ว่าสบงจีวรอะไร เรื่องความสะอาดนี่ยกให้ท่านนะ ท่านละเอียดลออที่สุด ดูรักษาบาตรนี่ก็เหมือนกัน ใครไปแตะบาตรหลวงปู่มั่นไม่ได้ ท่านจริงจังรักษาขนาดนั้นล่ะ ท่านละเอียดมากทีเดียว แต่กิริยาที่ท่านแสดงนั้นมันอยู่ภายนอกไม่น่าดู เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะพูดอะไรต้องระวัง ถ้าจะพูดเกี่ยวกับอาจารย์เจี๊ยะนี่นะ บางคนเขาจะยกโทษกระทั่งเรานี่ มันบ้าต่อบ้าเอาอะไรมาพูดให้เขาฟังกันนี่  เอาเรื่องอาจารย์เจี๊ยะบ้ามาพูด หลวงตาองค์นี้ก็บ้าอีกแหละ เลยเป็นบ้า สอง สาม ไปเลย ผู้ฟังก็เลยพลอยจะเป็นบ้าไปด้วยกัน สามบ้าเข้าใจมั้ย
 
เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ค่อยพูดนะ  ถ้าเป็นวงภายในลูกศิษย์ลูกหาให้รู้เรื่องของท่านนะ เราพูดยันได้เลย อาจารย์เจี๊ยะนี่  “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ก็เคยอยู่ด้วยกันมาสักเท่าไร  ภายนอกภายในฟัดกันซะพอแล้ว เข้าใจหรือเปล่าล่ะ ไม่ลงตรงนั้นจะลงตรงไหน มนุษย์เราน่ะ สาวกลงพระพุทธเจ้าก็ลงตรงนั้น พุทธบริษัททั้งหลายลงพระพุทธเจ้า ลงถึงขีดก็ลงแบบเดียวกัน ไม่ใช่ลงเพียงคำบอกเล่าเฉยๆ ลงเพราะเหตุผลด้วย ต่างอันต่างรู้ ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างเห็นด้วยกัน ทีนี้ต่างองค์ต่างเห็นด้วยกันแล้วยันกันได้ อันนี้ก็เค็มเป็นยังไง เค็มหรือไม่เค็ม อ้อใช่แล้วใช่มั๊ย ทางนั้นก็มีลิ้น ทางนี้ก็มีลิ้น นี้เป็นยังไง เค็ม...หรือว่าอันนี้หวาน ไหนพอใส่เข้าลิ้นปั๊บ อ้อ!...ใช่แล้วนั่น ก็เครื่องรับมันมีเหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องยืนยันเหมือนรสชาติต่างๆ นะ ลิ้นนี่มันเป็นเครื่องรับ เป็นเครื่องยืนยัน อันนั้นจะเผ็ด จะเค็มอะไรก็เป็นหลักธรรมชาติของอันนั้น
อันนี้ไปสัมผัสเข้าปั๊บ อ้อ!...เค็ม อ้าว!...ลองดูซี เค็ม...อ้อ!...ใช่แล้ว โอ้!...อันนี้หวาน  อ้าว!...ลองดู อ้าว!...หวาน นั่นมันรับกันอย่างนั้น
 
นั่นแหละธรรมพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ด้วยกันเห็นด้วยกันแล้ว เหมือนกับรสชาติต่างๆ ที่สัมผัสด้วยลิ้นด้วยปากของเรานี่แหละ แล้วอาจารย์เจี๊ยะก็ โห!...ตั้ง ๔๐ กว่าปีวะ หือ...ไม่ใช่ ๔๐ กว่าปีนะ ตั้งแต่ท่านหลวงปู่มั่นล่วงไปตั้ง ๔๐ กว่าปี พ.ศ. ..๘๕ อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่นู้น ...แล้วก็เรื่อยเข้าออก เข้าออก พบกันเรื่อย ท่านเป็นคนจริงจังมาก ท่านไม่ค่อยเรียนมากแหละ
 
ถ้าเป็นลูกศิษย์ลูกหาเราก็พูดให้ฟังกันอย่างนี้ ใครมองท่านอย่าไปมองแต่กิริยาภายนอกอันนั้น อันนี้มันเป็นนิสัยอันหนึ่ง คือนิสัยอันนี้มันละไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงรับสั่งไว้แล้ว นี่แสดงไว้แล้ว นิสัยวาสนามันเป็นของละไม่ได้ เป็นของประจำนิสัยของตนเอง ประจำตัวของตัวเอง เป็นแกนของนิสัย อันหนึ่งๆ แต่ละบุคคลๆ ละได้เฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น นั่นท่านก็บอก ทางดีท่านก็บอก ทางชั่วท่านก็บอก เป็นความเคยชินมา อย่างที่เคยพูดให้ฟังว่า
          สนฺตกาโย  สนฺตวาโจ      สนฺตมโน  สุสฺมาหิโต
          วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ         อุปฺสนฺโตติ วุจฺจตีติ
 
ใช่ไหมท่านมหา (ท่านหันมาพูดกับพระมหาองค์หนึ่ง) มันก็มาจากธรรมบทนั่น นานแล้วผมเรียนผ่านไป ตั้งแต่ท่านยังไม่เกิดนี่ จะให้ผมไม่ลืมได้อย่างไร (หัวเราะ) ผมก็ต้องลืมได้ละสิ (หัวเราะ) นี่แหละที่จะยกภาษิตขึ้นมานี้ เพราะมีภิกษุรูปหนึ่ง แต่ก่อนท่านเป็นปุถุชน กริยาท่านเรียบตลอดเวลาดุจผ้าพับไว้ด้วยดี ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด บรรดาพระทั้งหลายคาดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น จนกระทั่งเข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ท่านเป็นยังไงองค์นี้ ท่านราบเรียบนักหนา ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด เป็นอิริยาบถใด กริยาท่าทางนี่เหมือนผ้าพับไว้ สวยงามเหลือเกิน ท่านเป็นพระอรหันต์หรือยัง พระพุทธองค์ตรัสว่ายังไม่สิ้น

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ท่านรูปนี้มีอุปนิสัยเดิมมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ท่านเคยเกิดเป็นราชสีห์ เกิดเป็นราชสีห์ติดต่อกันมาหลายชาติ จนกระทั่งได้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้มาบวชนี้แหละ ท่านจึงมีกริยาท่าทางดี กริยาของท่านจึงเรียบไปเลยอย่างนี้ แล้วเวลานั้นพอพูดอย่างนี้ก็ยกภาษิตนี้ขึ้น
 
พระพุทธองค์จึงนำเรื่องนี้เทศนาว่าการสั่งสอนพระ พระทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลนิพพานน้อยเมื่อไหร่ในวันนั้น ทั้งพระสันตกายด้วย เมื่อแปลออกมาก็ได้ความว่า ผู้มีกายอันสงบ ผู้มีวาจาอันสงบ คือสงบจากบาปนะ ไม่ใช่สงบแบบคนตาย เข้าใจรึเปล่า คนตายทิ้งไว้ในโลง มันก็อยู่อย่างนั้น เฉย...มันตายมันก็สงบละสิ สงบแบบนั้น แต่ว่าผู้มีกาย วาจา ใจ อันสงบนี่ หมายถึงว่า สงบจากบาป กายไม่คึกไม่คะนองไปทางบาป ก่อไฟเผาตัวเอง วาจาก็ไม่ทำร้ายป้ายสีผู้หนึ่งผู้ใด ไพเราะเพราะพริ้ง ด้วยเหตุด้วยผล ใจก็มีแต่ความสงบร่มเย็น นั่น เป็นผู้ปล่อยวางโลกามิสเสียได้ นั่นแหละเรียกว่า ผู้สงบ



http://www.dhammajak.net/board/files/ae_paragraph_11_913.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

เสนาสนะท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าวิสุทธิธรรม (วัดป่าบ้านโคก) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์
ภาพจาก ธรรมจักรดอทเน็ท


หลวงตาเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะไล่เด็ก
วันหนึ่งก็มีน้ำหลากมาจากภูเขา เขาทำคลองมาจากภูเขา ลงมาใส่นาเขานี่นะ ทีนี้มันผ่านหน้าวัด เราก็เดินจงกรมอยู่ที่ริมคลองทางนี้ ท่านก็เดินอยู่ทางนั้น มันมองเห็นกันอยู่ ทีนี้พวกเด็กมันก็เล่นน้ำละซิ อึกทึกครึกโครมอยู่ ที่หัวจงกรมท่าน ท่านก็กระทืบเท้านี่ปึงปังๆ ฮะแฮ่มๆ เด็กก็แตกฮือวิ่งเข้าป่าหมด ออกจากนั้นก็โน่น เข้าบ้านเลย
 
พอตกเย็นมาหลวงปู่มั่นก็ว่า “ท่านเจี๊ยะ ท่านไปทำอะไรเด็ก”
“ก็มันมาอึกทึกก็ไล่ซิ” ท่านพูดอย่างนั้นล่ะ พูดอย่างสบายเลยนะ (หัวเราะ)
“วันหลังอย่าไปทำนะ ทำอย่างนั้นไม่ดี” อาจารย์เจี๊ยะก็นิ่งนะ เราสังเกตดูท่านก็นิ่ง

พอวันหลังก็มาอีก จะเป็นเด็กพวกใหม่หรือพวกเก่าก็ไม่รู้แหละ มาอีก เพราะมันเป็นทำเลดี น่าเล่น เด็กก็มาเล่น ท่านก็เดินจงกรมอยู่ เราก็เดินอยู่   ทีนี้เด็กกำลังเล่นอึกทึกครึกโครม ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเขามาจากทุ่งนานั่น เขามาเห็นเด็กเล่นอึกทึก  ผู้ชายคนนี้เขาก็เป็นคนของวัด เขารู้เรื่องของวัดนะ เขาก็คงว่าเด็กพวกนี้มาทำอะไรอึกทึก ท่านภาวนา ท่านเดินจงกรม เขาคงคิดว่าอย่างนั้น เขาก็มาทำแบบคล้ายๆ อาจารย์เจี๊ยะนั่นแหละ มาก็มาทำฮะแฮ่มๆ ใส่ ทำท่าปุ๊บปั๊บๆ เด็กก็แตกฮืออีกล่ะ กูตาย...ฮื่อ...วันนี้ท่านอาจารย์ใหญ่คงจะเอาใหญ่อีกแหละ เรานึกในใจนะ เพราะทำที่เก่าด้วย พอตกเย็นขึ้นไป อาจารย์เจี๊ยะยังไม่ได้นั่งเลยนะ
 
“ท่านเจี๊ยะ! ก็เมื่อวานนี้พูดกันแล้ว ว่ายังไง บอกไม่ให้ไปทำกิริยาอย่างนั้นกับเด็ก แล้ววันนี้เสียงแตกฮืออีกล่ะ ”
“ก็มันไม่ใช่ผมนี่น่ะ”  อาจารย์เจี๊ยะว่า ท่านพูดอย่างนี้นะ พูดตรงๆ อย่างนี้
“ไม่ใช่ท่านแล้วเป็นใครวะ” ท่านว่า
 
อาจารย์เจี๊ยะก็บอกว่า ก็เป็นโยมเขามาจากทางโน้น ทางนี้ท่าน  (หลวงปู่มั่น) ก็ยังไม่เชื่อนะ  ท่านยังจะดุท่านอาจารย์เจี๊ยะอีกนะ เราก็เลยช่วย ใช่แล้ว คือมีผู้ชายคนหนึ่งเขามาจากนั่น ชื่อว่า ...อย่างนั้น เราบอกเลย แล้วเขามาไล่เด็ก เขาคงเห็นเด็กนี่มาทำอึกทึกครึกโครมที่นั่น เขาเลยไล่ ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ  ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ  เพราะตอนนั้นท่านห้าพรรษานี่ เราแปดพรรษา ท่านก็เลยนิ่งเงียบไปเลย โอ้!..มันเป็นอย่างนั้น



หลวงปู่เจี๊ยะเย็บผ้าผิด
หลังจากนั้นต่อมาอีก ทีนี้เย็บผ้า เย็บผ้าผิด เราเดินจงกรมในป่านี่ ศาลากับป่ามันก็ไม่ห่างกัน ฟังเสียงบ๊งเบ๊งๆ มันอะไรนา
ไอ้เรามันตัวสั่นอยู่ในป่านั่น เราไปใหม่ๆ นี่ เพราะเสียงไม่ใช่เสียงธรรมดานะ เสียงลั่น พอเงียบเสียง เราก็มาเห็นท่านคุยกัน
ธรรมด๊าธรรมดาเรานี่
 
“เอ๊ะ! ตะกี้ท่านดุใครน่ะ” พอดีเราขึ้นไป ท่านเย็บผ้าเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์เจี๊ยะก็ลงมา
 เราถาม “เอ๊ะ! ตะกี้ท่านดุใคร?”  
“ก็ดุผมน่ะสิ” อาจารย์เจี๊ยะตอบอย่างขึงขัง
 “แล้วท่านดุทำไม?”
 “ก็ผมเย็บผ้าผิด จะไม่ให้ท่านดุได้ยังไง”
 ว่าอย่างนี้ คือท่านเย็บผ้าผิด อาจารย์เจี๊ยะเย็บผ้าผิด หลวงปู่มั่นดุ ท่านพูดอย่างมีเหตุผลนะ ก็ผมเย็บผ้าผิด จะไม่ให้ท่านดุได้ยังไง ธรรมด๊า ธรรมดา


กิจประจำวันของท่านพระอาจารย์มั่น
ตอนเช้าออกจากที่ภาวนา แล้วลงเดินจงกรมก่อนบิณฑบาต พอได้เวลาแล้วก็ออกบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จ จากนั้นเข้าทางจงกรม เดินจงกรมจนถึงเที่ยงเข้าที่พัก พักจำวัดบ้างเล็กน้อย ลุกขึ้นภาวนา แล้วลงเดินจงกรม

บ่าย ๔ โมงเย็นปัดกวาดลานวัดหรือเข้าที่พัก สรงน้ำแล้วเข้าทางจงกรมอีกเป็นเวลาหลายชั่วโมง คืนหนึ่งๆ ท่านพักจำวัดราว ๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมากในเวลาปกติ ถ้าเป็นเวลาพิเศษก็นั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง ไม่พักจำวัดเลย
 
ในวัยหนุ่มท่านทำความเพียรเก่งมาก ยากจะมีผู้เสมอได้ แม้ในวัยแก่ยังไม่ทิ้งลวดลาย เป็นแต่ผ่อนลงบ้าง ตามวิบากที่ทรุดโทรมลงทุกวันเวลา ที่ผิดกับพวกเราอยู่มาก คือจิตใจท่านไม่แสดงอาการอ่อนแอไปตามวิบากธาตุขันธ์



ความอดอยากขาดแคลน
• หลวงปู่เจี๊ยะเล่าเรื่องความอดอยากขาดแคลนว่า
ท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อเราไปอยู่กับท่านสี่แล้งกับสามปีเศษๆ กาแฟนี่...มาสังเกตดูในระยะ ๓-๔ ปีที่ไปอยู่  สมัยนั้นก็ยังพอมีบ้าง น้ำตาล กาแฟ อย่างนี้เป็นปีๆ ไม่เคยได้กินเลย ฉันข้าวแล้วก็น้ำเป็นปัจจัยสำคัญเท่านั้นเอง ต่างกันกับพวกเราสมัยนี้  อยากเวลาไหนก็กินได้เวลานั้น
 
เพราะฉะนั้นมันต่างกัน ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจะต้องการสิ่งใด จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ทั้งนั้น แต่ไม่เอา ท่านต้องการเข้าไปอยู่ในที่กันดาร ขณะหนึ่งที่ปีสุดท้าย ก่อนที่เราจะกลับไปอยู่ที่บ้านนาสีนวล ทางเหนือจังหวัดสกลฯ ทางเข้าไปหมู่บ้านราว  ๓๐ กิโลเมตร หมู่บ้านนั้นยากจนทำไร่ทำสวนพอประมาณ ไร่นาก็มีนิดๆ หน่อยๆ เพราะเป็นภูเขา ไปบิณฑบาตมาอย่างนี้ ก็ไม่ค่อยมีกับข้าวที่จะฉัน ถ้ามาสมัยนี้ จ้างให้เราไปอยู่ แถมให้ค่าจ้างวันละ ๕๐๐ บาท ยังไม่เอาเลย นึกแล้วปลงสังเวชสลดใจ ท่านก็อาพาธ ก็เพิ่งจะค่อยดีๆ ขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น เข้าไปอยู่ในที่นั้น อยู่กับท่านอดอยากและลำบากมาด้วยกัน เมื่อมานึกถึงทุกวันนี้แล้วน้ำตาเกือบจะไหลออกมาทุกที นึกถึงท่าน ท่านมีคุณธรรมอันประเสริฐเป็นที่น่ากราบไหว้
 
สมัยนั้นเรายังเป็นพระเด็กๆ บวชอายุได้ ๖ ปี ยังไม่ค่อยดูธรรมวินัยเท่าไหร่ เมื่อครั้นกลับมาจากนั้นแล้ว ได้เอาบุพพสิกขาฯ กับมหาขันธ์มาตรวจตามหลักพระวินัยแล้ว จะหาสิ่งที่ไปติความบกพร่องในด้านพระวินัยของท่านนี้ ดูเหมือนมันจะไม่มีเอาเลยว่าอย่างนั้นเถอะ เพียบพร้อมไปด้วยนานาประการต่างๆ เป็นผู้ที่ตั้งใจสอนกุลบุตรจริงๆ  ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องความเหนื่อยยากอย่างไรอย่างนี้สู้อดทน เป็นผู้ที่มีแววตาอันฉลาดแหลมคมทุกชนิด สมกับว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ น่ากราบน่าไหว้น่ารักน่าใคร่ ว่าถึงความรักแล้วรักยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ของเรา
 
ในขณะที่อยู่กับท่าน บางวันไปนั่งน้ำตาน้ำหูไหล นึกถึงบุญคุณท่าน บางทีฟังเทศน์ท่านแล้วอย่างนี้ ให้หวนคิดว่า “เราจะเป็นนอกตัญญูไม่ได้” เกือบๆ จะนับครั้งนับหนได้ที่เราถูเนื้อถูตัวให้บิดามารดา นี้เกือบจะไม่มีเลย มีบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ดังนั้นจึงจำไว้ในใจว่า วันหนึ่งเราต้องไปทดแทนบุญคุณบิดามารดาให้ได้
 
ส่วนที่เราไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้นต้องไปอาบน้ำ ถูเนื้อถูตัว ถูแข้งถูขา ซักผ้าให้นานาประการต่างๆ ท่านเป็นผู้มีความมัจฉริยะหน่อย แต่มัจฉริยะในทางที่ดี คือเป็นผู้ที่รู้จักใช้ในอัฐบริขาร อย่างผ้าขาดอย่างนี้มิใช่จะทิ้ง ต้องปะแล้วปะเล่า เป็นผู้ที่ปะมีความชำนิชำนาญ นี่ประวัติของท่าน เป็นผู้มีความสันโดษ ทีเหลือคณานับในด้านการอัฐบริขาร ว่าถึงการปฏิบัติก็มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ น่าเป็นครูบาอาจารย์โดยแท้จริง
- See more at : หนังสือ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง


http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph___11_274.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

เสนาสนะท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านโคก อำเภอศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
ภาพจาก ธรรมจักรดอทเน็ท
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 กุมภาพันธ์ 2558 15:26:18 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 17 กุมภาพันธ์ 2558 16:17:43 »

.

พรรษาที่ ๗-๑๐(พ.ศ.๒๔๘๖- พ.ศ.๒๔๘๙)
จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวลบ้านนาสีนวลตำบลตองโขบอำเภอโคกศรีสุพรรณจังหวัดสกลนคร


ในรัศมีท่านพระอาจารย์มั่น
หลังจากได้อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ ปี ๔แล้งแล้ว ผ่านฤดูแล้งปี ..๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภจะไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน เราเห็นว่าท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นแล้ว ท่านอาจารย์มหาบัวก็เป็นที่ตายใจ ท่านเก่งฉลาด เป็นที่ตายใจในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานสมควรกับท่านอาจารย์มหา เพราะท่านมีวิชาความรู้ กล้าสู้หน้าไม่อายใคร และจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่หมูคณะต่อไปในอนาคต เหมือนดั่งนิมิตที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายไว้ที่ดอยคำ บ้านแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ว่า “ท่านองค์นี้ ลักษณะเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่มิใช่ท่านเจี๊ยะ จะทำประโยชน์ให้แก่หมู่คณะ ท่านนิมิตเห็นพระหนุ่ม ๒ รูป นั่งช้าง ๒ เชือก ติดตามท่านซึ่งนั่งสง่างามบนช้างตัวขาวปลอดจ่าโขลงเป็นช้างใหญ่ พระหนุ่มสองรูปนี้จะสำเร็จก่อนและหลังท่านนิพพานไม่นานนัก และจะทำประโยชน์ใหญ่ให้พระศาสนา

เมื่อเราเห็นท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา ก็ตรงตามลักษณะที่ท่านทำนายไว้ก็เบาใจเป็นที่ยิ่ง ถึงได้กับอุทานภายในใจว่า “นี่แหละ องค์นี้แหละ ต้องเป็นองค์ที่ท่านทำนายไว้อย่างแน่นอน เจอแล้วทีนี้

เมื่อท่านอาจารย์มหาบัวมา รู้สึกว่าท่านเมตตาเป็นพิเศษ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรท่านตั้งใจปฏิบัติรักษาสุดความสามารถสุดชีวิตเหมือนดังที่เราเคยทำความเพียรท่านก็แกร่งกล้า มีสติปัญญาไวเป็นเลิศ สมเป็นผู้มีบุญมาเกิด ประเสริฐด้วยความดี อย่างนี้อีกไม่นานต้องพบพานธรรมอันเลิศ บุญญเขตต์อันประเสริฐจะบังเกิดในวงพุทธศาสน์ เป็นปราชญ์ทางธรรม ค้ำชูพระศาสนาเหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเอาไว้อย่างแน่นอน
 
เมื่อคิดดังนี้จึงดำริว่า สมควรที่หมู่ผู้ที่ไม่เคยมาจะได้ช่องเข้าศึกษาปฏิบัติ ในขณะนั้นพระเณรที่ติดตามและลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นมีมากขึ้นโดยลำดับ ชื่อเสียงเรื่องคุณธรรมของท่านเป็นที่เลื่องลือขจรไปทั่วทุกทิศ เราจึงเข้าไปกราบลาท่านและปลีกตัวอยู่องค์เดียวเร่งความเพียร พยายามสืบเสาะหาว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เพราะท่านเป็นพระที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรองว่า เป็นพระถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว  ได้ทำไว้ในใจว่า ถ้าทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เราจะดั้นด้นเข้าไปกราบให้จงได้



กุฏิพระอาจารย์มั่น วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ภาพจาก : phraphan.com

ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ขาว
เมื่อเราออกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็เพียรค้นหาท่านจนเจอ แล้วก็มาได้ศึกษาคุยสนทนาธรรมกับท่านในเรื่องการปฏิบัติได้ถามเรื่องต่างๆ นานา เพราะท่านเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนิชำนาญ เราสมัยยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องศึกษากับครูบาอาจารย์ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วก็ได้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าจึงเป็นหลักสำคัญมาก ค้นลงไป ค้นให้มาก ค้นเข้าไปพิจารณาไปเพื่อให้เห็นความจริง
 
เวลาไปเจอะปู่ขาว กี่ทีๆ ท่านก็ถามว่า “เจี๊ยะเป็นไงเอ๊ย ค้นบ่ ค้นบ่?” ท่านถามเราบ่อยๆ “ค้นครับ” เราก็ตอบท่านอย่างนั้น  “
เออ! เอาอย่างนั้นสิ” ท่านพูดให้กำลังใจ ว่าที่ทำนั้นถูกต้องไม่ผิด
 
ตอนหลังๆ เมื่อเจอะคุยกันกับท่าน ท่านก็ถามอย่างเดิม เราก็ตอบท่านอย่างเดิมว่า “ค้นครับครูบาจารย์ ค้นครับ ค้นแยะ”
“เอ้อ!...อย่างนั้นสิ มันถึงจะดี” ท่านว่าอย่างนั้น
 
ออกจากท่านแล้วก็เดินทางไปพักอยู่บริเวณป่าช้าบ้านนาสีนวล จำพรรษาที่บ้านนาสีนวล วนเวียนอยู่ในรัศมีของท่าน บ้านนาสีนวล ห่างจากบ้านนามนไม่มากนัก  เดินทางไปมาได้สะดวก วันอุโบสถก็เดินทางมาร่วมทำอุโบสถกับท่าน รับโอวาทเทศนาธรรมที่ท่านแสดงไม่ว่าจะไปที่ไหน ประหนึ่งว่าท่านดูเราอยู่ตลอดเวลา
 
การภาวนาในระยะนี้เดินทางปัญญาโดยตลอดไม่หยุดยั้ง ออกพรรษาเที่ยวแสวงหาที่วิเวกเสมอมิได้ขาด ได้โอกาสเป็นภาวนาชำระจิตอย่างเดียว ไปง่าย อยู่ง่าย กินง่าย อย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นสอน เราก็ไม่ได้กังวลอะไร มีธรรมตุนไว้เป็นที่เพียงพอ พอเป็นพอไป พออยู่พอตาย ไม่เสียชาติที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มีอะไร ศึกษาที่ใจเป็นสำคัญ จดจำคำสอนบ้างไม่ถึงกับห่างตำรา ถึงเวลาจำเป็นจะได้นำมาใช้
 
เราออกจากท่านพระอาจารย์มั่น โอ๊ย!...เที่ยวไปอยู่ตามป่า ลำบากอยู่กับท่าน อาศัยบารมีท่านสบาย ออกจากท่านลำบากหน่อย คิดถึงท่าน บางทีน้ำตาไหล ท่านโอบอุ้มใจเราได้หมด บางทีก็ไปหาท่านอาจารย์ฝั้น ท่านอาจารย์พรหม ท่านอาจารย์ขาว ท่านอาจารย์กว่า ท่านอาจารย์กู่ ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ท่านอาจารย์กงมา ที่วัดดอยฯ เหล่านี้เรารู้จัก  เราเป็นเด็กท่านเป็นพระผู้ใหญ่กันแล้วแต่กับอาจารย์หลุยคุ้นกับท่านเป็นพิเศษ ท่านทำเสนาสนะถวายท่านพระอาจารย์มั่น เราไปช่วยท่านบ่อยๆ ถึงจะไปเที่ยวกรรมฐานในที่ไกลๆ แค่ไหนก็ตามแต่เวลาใกล้เข้าพรรษาก็วนเวียนอยู่ในรัศมีท่านพระอาจารย์มั่น ไม่ให้ห่างไกลท่านนัก บางคราวก็ขึ้นไปภาวนาที่ดอยธรรมเจดีย์ กลับไปทางหนองน้ำเค็ม อุดรฯ ที่หนองน้ำเค็มนี้ท่านพระอาจารย์มั่นเคยส่งให้เราไปอยู่ ท่านบอก “เจี๊ยะเว้ย...ไปอยู่หนองน้ำเค็ม”   “ผมไม่ไปหรอก ผมจะอยู่ใกล้ๆ กับครูบาจารย์”   “เฮ้ย...บอกยาก”   “ก็ผมมาเพื่อครูบาจารย์อย่างเดียว ผมไม่ไปอยู่ที่อื่นหรอก”
 
แต่เมื่อออกจากท่านมาแล้วก็ไปอยู่บ้างอย่างที่ท่านสั่ง ออกพรรษาก็เดินเที่ยวไปเรื่อยๆ ป่าเขาทางภาคอีสานไปเกือบหมด  บางทีก็เที่ยววิเวกไปตามเทือกเขาภูพาน หรือบางครั้งก็ข้ามไปฝั่งลาว ชั่วระยะกาลที่สะดวกตามปกตินิสัยที่เป็นคนชอบอิสระ  แต่จะไปที่ใดก็ตามมักจะวนเวียนเข้ามากราบท่านพระอาจารย์มั่น เพราะระลึกเสมอว่าท่านเป็นเจ้าชีวิตและเป็นผู้ให้ประทีปธรรมเสมอมา...ไปหลายที่จำไม่ได้หมด ไปหาธรรมไม่ได้ไปหาจำฮิ...



พรรษาที่๑๑-๑๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐- ๒๔๙๑)
จำพรรษาที่วัดทรายงาม บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัวอำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรี


เนื่องจากเราจากบ้านเกิดมานานเป็นเวลา ๙ ปีแล้ว เราก็เฝ้ารำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาอยู่ไม่ห่าง อยากจะทดแทนคุณท่านด้วยอรรถด้วยธรรม แทนข้าวน้ำปลาอาหารทรัพย์สินเงินทองอย่างที่ชาวโลกเขาตอบแทนกัน กอปรกับเวลานั้นทราบข่าวจากพระที่มาจากทางหนองบัวจันทบุรีว่า โยมแม่ป่วย จึงนับว่าเป็นเหตุสมควรที่จะเดินทางกลับมาถิ่นฐานบ้านเดิม อีกทั้งคิดถึงท่านพ่อลีผู้เป็นบุพพาจารย์สอนธรรมมาก่อน  เมื่อคิดอย่างนี้ เราธุดงค์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาทางภาคตะวันออกอันเป็นถิ่นฐานบ้านเดิม แวะพักตามชายป่าชายเขา รุกขมูลร่มไม้ การสัญจรไปมาในระยะนั้นถนนหนทางยังไม่สะดวก ไปที่ไหนส่วนมากเดินไปด้วยเท้า ไม่ค่อยมีรถยนต์
 
กรรมฐานทุกวันนี้จึงแตกต่างกับกรรมฐานสมัยก่อนมาก เป็นกรรมฐานขุนนาง เนื้อตัวโดนแดดโดนลมไม่ได้ กลัวจะดำ หรูหราฟุ่มเฟือยมากเหลือเกิน  ธุดงค์ขึ้นรถไปเลยบางทีนั่งเรือบินไปธุดงค์ เพียงแค่ขณะจิตแรกนี้มันก็ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว เราอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นลำบากเหลือเกินอาหารการกินไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้ กินพริกกินเกลือ เพียงแค่นี้ก็อยู่ปฏิบัติธรรมได้แล้ว เดี๋ยวนี้อาหารมากมายกองทับหัวพระแล้ว จึงทำให้พากันนิสัยเสียไปหมด อยู่กับท่านเรื่องกินจึงไม่กังวลภาวนาอย่างเดียว
 
นี้แหละจึงบอกให้ทราบว่า กรรมฐานแบบท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านสู้ตายเพื่ออรรถธรรมจริงๆ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่กรรมฐานขุนนางนี่สิ ลาภเกิดก่อนธรรม มันผูกมัดรัดจิตไว้หมดปฏิบัติภาวนาจึงไม่ไปไหนไหน วนๆ ไปอยู่ขอบนรกนั่นแหละ คือวนๆ คลุกคลีอยู่กับพวกชาวบ้าน แถวบ้านร้านตลาดนั่นแหละ ไม่กล้าที่จะไปไหนไกลๆ เพื่อธุดงค์หรอก
 
ในระหว่างที่เราธุดงค์กลับทางบ้านเกิดนั้น การพิจารณาด้วยปัญญามันรวดเร็วดั่งใจ กำหนดนี่ถึงไหนถึงนั้นไม่พรั่นพรึง พิจารณากายถอยหน้าถอยหลัง เบื้องบนเบื้องล่าง อนุโลมปฏิโลม พิจารณาซะจนจิตนี้ราบเป็นหน้ากลอง ถึงความเป็นสภาพหนึ่งเดียว ประจักษ์ใจในพระธรรมที่ปรากฏสุดที่จะพรรณนา

สิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นพร่ำสอนว่า “คัมภีร์ธรรมนั้นอยู่ที่กายกับจิต พิจารณาเข้าไปเป็นของดี ไม่ต้องไปหาที่อื่นไกล ก็มาปรากฏเป็นประจักษ์ยานอันเด่นดวง” เมื่อเราวิตกยกจิตขึ้นมาด้วยสมถะ มากเกินไป จิตมันก็ดับ เมื่อเราวิจารณ์คือ พิจารณามากเกินไม่พักจิต จิตมันก็ดับ ดังนั้นทั้งสมถะและวิปัสสนา เราทิ้งไม่ได้ต้องบำเพ็ญให้ชำนิชำนาญ ถ้าบำเพ็ญอยู่ไม่หยุดไม่ถอยแบบนี้เราก็จะหลุดพ้นจากกิเลสไปได้
 
ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด จะสุขหรือทุกข์ คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะมากระตุ้นเตือนอยู่เสมอว่า  “การปฏิบัติอย่างให้เนิ่นช้า อย่าให้เสียเวลาในชาติปัจจุบัน” เมื่อนึกถึงคำสอนของท่านอย่างนี้ก็เร่งความเพียรโดยตลอด
 
เมื่อเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าไปขอพักกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น) ที่วัดบวรฯ ทุกๆ ครั้งที่ผ่านทางกรุงเทพฯ จะเข้าไปพักกับท่านเสมอๆ



http://sv6.postjung.com/wb/data/824/824325-img-1415523940-1.jpg
ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
ภาพจาก : board.postjung.com

เหตุที่สนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น) ท่านเสด็จมาสอบสวนเรื่องต่างๆ ที่มีคนเข้าไปกราบบังคมทูลฟ้องที่วัดทรายงาม ท่านมาพักที่วัดทรายงามเป็นเวลานานๆ โยมพ่อโยมแม่เรามีความเลื่อมใสท่านยิ่งนัก หรือแม้แต่ผู้คนในถิ่นแถวนั้นที่ทราบข่าว ต่างก็ทยอยมากราบเข้าเฝ้า ท่านเป็นพระไม่ติดในลาภยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมไม่สามารถครอบงำท่านได้ น้อยนักที่ในชีวิตหนึ่งๆ จะมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าออกธุดงค์
 
เมื่อพระองค์มาประทับที่วัดทรายงาม เราได้ไปปฏิบัติท่านสม่ำเสมอ จัดน้ำให้ท่านสรง อยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านโดยตลอด จึงสนิทกับพระองค์ท่านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
ในภายหลังที่ท่านเสด็จกลับวัดบวรฯ แล้วก็ตาม เมื่อมีโอกาสจึงได้นำสามเณรไปฝากเรียนหนังสือที่วัดบวรฯ กับพระองค์ท่าน พระองค์ก็ทรงเมตตารับไว้เสมอๆ เพราะพระองค์ชอบให้เด็กๆ บวชเณร อยากได้เณรเยอะๆ
 
ในฤดูผลไม้มาก ออกลูกออกผล โยมพ่อโยมแม่ก็นำผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาลนั้นๆ เข้าไปถวายท่านทีละมากๆ พระองค์เมื่อเห็นโยมของเรามักจะทักอย่างสนิทกัน มักเรียกว่า “โยมแฟ...อย่างนั้นอย่างนี้เสมอ”
 
ต่อมาในระยะหลังเมื่อเรากลับจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว เราก็จะแวะพักที่วัดบวรฯ เสมอ สมเด็จท่านจัดให้พักกุฏิลออ ก่อนจากท่านก็เมตตาบอกเสมอว่า “มีโอกาส...เข้ามาพักด้วยกันใหม่นะ” เมื่อเรามาพักที่วัดบวรฯ บ่อยๆ จึงรู้จักมักคุ้นกับพระเถระที่วัดบวรฯ หลายรูป สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันนี้ก็คุ้นกับท่านมาก ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) นี่ถือว่าเป็นสหธรรมิกกันเลย สนิทกับท่านมาก งานศพโยมพ่อโยมแม่ท่านไปแสดงธรรม ไปช่วยเหลือตลอด ที่คุ้นกับพระเถระผู้ใหญ่เหล่านี้ ส่วนมากสาเหตุเบื้องต้นเริ่มจากการคุยสนทนาธรรมะทางภาคปฏิบัติกัน ท่านชอบสอบถามพระป่า เกี่ยวกับเรื่องจิตตภาวนา เพื่อตรวจสอบความรู้ที่ท่านเรียนมาและในเรื่องที่เราปฏิบัติมาว่าความจริงแห่งธรรมที่เราปฏิบัติกับที่ท่านเล่าเรียน มันไปในทิวแถวแนวทางเดียวกันมั้ย


ตอบปัญหาธรรมสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(ชื่น)
ในคราวที่กลับจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เข้ามากราบสมเด็จฯ ท่านที่วัดบวรฯ พระองค์ได้รับหนังสือธรรมะของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระองค์เมื่อนำมาอ่านแล้วถามเราขึ้นว่า “เจี๊ยะ! เราอ่านหนังสือของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ เขาเขียนว่า การเพ่งพระพุทธรูปนั้นเป็นมรรค เธอคิดว่าอย่างไร”
 
เรากราบทูลไปว่า “แล้วพระองค์พิจารณาว่าการเพ่งอย่างนั้นเป็นมรรคหรือไม่?” พระองค์ทรงนิ่ง แล้วหันมามองเรา แสดงอาการว่าพระองค์อยากทราบความคิดของเราในเรื่องนี้ จึงกราบทูลไปว่า “กระหม่อมคิดว่า ถ้าจะเป็นมรรคก็ต้องคิดพิจารณา อันนำไปสู่ภาวนามยปัญญา การเพ่งพระพุทธรูปเช่นนั้น ก็ต้องหาเหตุผลว่าเพ่งเพื่ออะไร ได้อะไร แต่การนั่งเพ่งมองเฉยๆ หาเหตุผลไม่ได้ ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร” กราบทูลท่านเท่านี้เราก็หยุด เพราะกลัวจะไปเฟ้อไปแบบไร้เหตุผล เป็นคำพูดที่ไม่มีที่จบ อันแสดงถึงความไม่รู้จักประมาณของคนที่พูด เดี๋ยวจะเป็นกรรมฐานหลงดงหลงป่า ภาษาธรรมเรี่ยราด ขาดเหตุผล
 
พระองค์จึงตรัสขึ้นว่า “เออ...ว่าต่อไปซิ...กำลังฟังอยู่หยุดทำไม?”
 
เราจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า “การพิจารณานั้นควรเพ่งเข้ามาภายใน ควรรู้ข้างในก่อน ไม่ควรปล่อยจิตออกจากวงกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐานสี่ควรพิจารณาตั้งลง ณ ที่กายจิตนี้ ถ้าปล่อยให้จิตส่ายแส่ออกไปที่อื่น ในสภาวะที่ใจไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้นั้น กระหม่อมคิดว่า ไม่ควรอย่างยิ่ง จะเป็นสมุทัยไปเสียอีก แต่ถ้าย้อนเข้ามาพิจารณาภายในกายตนเอง อันเป็นส่วนวิปัสสนา เพื่อละทิฏฐิมานะ เพื่อละอหังการ ความหลงตน อหังการ ความทะนงตนนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง เป็นมรรค กระหม่อมคิดว่า เป็นมรรคแท้
 
“การพิจารณากาย เป็นกายานุปัสสนานั้น เธอพิจารณาอย่างไร?” พระองค์ตรัสถามด้วยความสนพระทัย ไม่ทรงแสดงอาการว่าทดสอบ แต่เป็นพระกริยาที่อยากจะสนทนาธรรม ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้ประพฤติธรรม “จะสมควรหรือ? กระหม่อม” เรากราบทูลเพราะเกรงจะไม่บังควร จะเป็นการเอามะพร้าวไปขายสวน  “สนทนาธรรม ไม่สมควรตรงไหน นักบวชไม่สนทนาธรรม จะสนทนาอะไรล่ะ” พระองค์ตรัสย้ำ แบบไม่ทรงถือตัว
 
กระหม่อมคิดว่า “การพิจารณากายนั้น ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน การพิจารณานั้นจิตจึงจะมีกำลัง พิจารณาเพ่งตัดกายออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จิตดำเนินในทางสมาธิมรรค มรรคองค์อื่นๆ จะเป็นมรรคสมังคีโดยพร้อมพรั่ง  เมื่อพิจารณาถึงเหตุถึงผล จิตจะเด่นดวงขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เหนืออริยสัจ เหนือมรรค เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ”
 
“เออ!...ดี พระป่านี่ดี...เรียนตำราเดิมของพระพุทธเจ้าได้ดี” พระองค์พูดสั้นๆ เท่านั้น เราก็กราบลาไปพักที่กุฏิลออ...




พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต
วัดจันทราราม บ้านร่องเม็ก ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย
ภาพจาก : dhammajak.net

กลับถึงวัดทรายงาม “โยมแม่ร้องไห้"
เมื่อเราเดินทางจากกรุงเทพฯมาจันทบุรี ก็เข้าไปพักที่วัดป่าคลองกุ้งแล้วเดินทางต่อไปที่วัดทรายงาม โยมพ่อโยมแม่ทราบข่าวว่ามาเท่านั้นแหละวิ่งออกมาจากบ้าน ร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ โยมแม่บอกว่า “ลูก ไปยังไง ทำไมไม่ส่งข่าวมาทางบ้านบ้าง อยู่หรือตาย ไม่สบายหรือป่วย ให้แม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่ก็ยังดี ?” โยมแม่พูดพร้อมร้องไห้ซิกๆ เอามือปาดน้ำตาที่ไหลอาบหน้าอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยสบาย  เราก็ตอบไปว่า “โยมแม่...ก่อนไปก็ร้องไห้ กลับมาก็ร้องไห้ นี่ถ้าอยู่บ้านปกติ ไม่ต้องไปไหน โยมแม่ก็คงจะร้องไห้เหมือนเดิม หรืออาจจะเป็นเหตุให้โยมแม่ร้องไห้มากกว่าเดิมก็ได้ โยมแม่...สิ่งที่ล่วงมาก็ผ่านมาแล้ว ตอนนี้ก็มาแล้ว เห็นโยมแม่อาตมาก็ดีใจเหมือนกัน” โยมแม่นั่งฟังนิ่งทำตาปริบๆ น้ำตาคลอ
 
โยมแม่จึงพูดว่า “ลูกเอ๋ย...แม่ก็ป่วย ร่างกายก็ไม่ดี เกิดตายไปก่อน ไม่ได้เห็นหน้าลูก แม่จะเสียใจมาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมากก็นึกถึงแต่ลูกๆ ขาดใครคนใดคนหนึ่งไปก็อดห่วงใยไม่ได้ นี่ไปเป็น ๙ ปี ๑๐ ปี ไม่มีวี่แววว่าตายหรืออยู่ ก็ห่วงอยู่ไม่หาย นี่ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาได้อะไรมาบ้าง ?”
 
“บุญที่บวชในชาตินี้ ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ อย่างไรโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ตกนรก” เราพูดเพียงเท่านั้น โยมแม่ก็ยิ่งร้องไห้โฮใหญ่เข้าไปอีก
 
ปี ๒๔๙๐-๒๔๙๑ เรากลับมาจำพรรษาที่บ้านเกิดนั้นมีพระจำพรรษาด้วยกัน ๑๑ รูป
 
ตอนนั้นการพิจารณาอะไรรวดเร็วได้ดั่งใจ จึงมีหลักแล้ว ไม่กังวลอะไรเดินทางกลับมาที่บ้านเกิดวัดทรายงาม พอดีมาพบกับท่านอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต และท่านอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต ซึ่งท่านก็มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดทรายงามนี้ เมื่อเจอท่านทั้งสองแล้ว ท่านจึงพูดกับเราว่า “เจี้ยะเอ้ย!..ท่านไปอยู่กับครูอาจารย์มั่นตั้งหลายปี พวกเรานี้ได้จากท่านพระอาจารย์มั่นมาตั้งนาน คิดถึงท่าน อยากฟังธรรม อยากรับโอวาทอันเป็นอุบายอันแยบคาย อันนำมาซึ่งธรรมปีติ พอดีแหละกับที่ท่านมา ท่านมานำหมู่เพื่อนที่นี้ พวกผมจะไปกราบท่านอาจารย์มั่น ท่านจงเฝ้าวัด
 
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้นเราก็ทำหน้าที่รักษาการณ์ดูแลเรื่องราวต่างๆ อยู่ต่อมาเห็นหนังสือธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่พระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านบรรยายไว้เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณากาย เมื่อนำมาอ่านดู เกิดความปีติน้ำตาไหล เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นั้นโดยไม่ได้ดูจากตำราแต่ตรงกับตำรา นอกจากการปฏิบัติตรงกับตำรา มีตำราวิสุทธิมรรคแล้ว ทางด้านวินัย เมื่อนำมาอ่านทีหลังที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนิน พาปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมวินัยไม่มีผิดเพี้ยนเลยแม้แต่น้อย เกิดความปลื้มปีติว่า ครูบาอาจารย์เรานี้ สอนเพื่อมุ่งพระนิพพานอย่างประจักษ์ใจจริงๆ เราก็ภูมิใจในสิ่งที่ได้ดำเนินมาพร้อมทั้งผลที่ได้ปฏิบัติ
 
ปลายปี ๒๔๙๑ หลังจากที่จำพรรษาอยู่ที่วัดทรายงามนี้แล้ว ออกพรรษากรานกฐินเสร็จแล้วก็ได้ออกไปเที่ยวธุดงค์ตามที่ต่างๆ หาที่สงัดวิเวกกายจิต ปลอดผู้คนที่จะมาเกี่ยวข้อง บางทีมันรำคาญคน ต้องแกล้งไล่มันหนีไปไกลๆ เราจะได้ภาวนาสะดวก เทือกเขาสอยดาว เขาตานก เขาสุกิม ฯลฯ เราไปเที่ยวภาวนามาหมดแล้ว สมัยก่อนไม่มีวัด ไม่มีผู้คน มีแต่ช้าง เสือ สัตว์ป่าเยอะแยะ เข้าไปภาวนาสงบสงัดดี
 
ตอนย่างเข้าสู่ต้นปี ๒๔๙๒...ออกไปภาวนาตามป่าเขาจิตเกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง... เมื่อจิตเกิดความมหัศจรรย์อย่างนั้น จิตหมุนเพื่อการกำจัดไปโดยถ่ายเดียว เหมือนหมอยาที่มีปัญญาเดินทางเข้าไปในป่า นำรากไม้กิ่งไม้มาเป็นยาได้ทุกชนิดฉะนั้น
 
จิตได้พิจารณาอยู่อย่างนั้น แต่ว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่งคือ เวลาที่เราพิจารณากายมากขึ้นเพียงไรแล้ว นี่พิจารณาเป็นชั่วโมง นึกอยู่ในตัวเรานี่ เป็นชั่วโมงอยู่อย่างนั้น ไม่ให้มีอารมณ์คิดเข้ามาก่อกวนเลย แล้วเวลาที่เราเลิกจากการนั่งภาวนาอย่างนั้น เราก็มานั่งสมาธิ คือไม่ต้องใช้ความคิดตัวนี้มาเข้าความสงบมันก็สงบ แจ้งแจ่มใสอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมงๆ แล้วทำไมมันเป็นได้นี่สิ เราไม่มีความเชื่อมาก่อนเลยว่ามันจะเป็นไปได้ แต่พอทำเข้าจริงๆ แล้วมันเป็นนะ เป็นจนเกิดมหัศจรรย์ ยิ่งทำก็ยิ่งดีขึ้น ทุกวันทุกคืน ไม่เอาอะไรแล้ว ถึงจิตนั้นจะสงบเป็นอัปปนาสมาธิแน่นขนาดไหนก็ตาม เงื่อนธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวสอนตักเตือนไว้ก็คือ  “ตีกายให้แตกด้วยอริยสัจ” นั้นจำเป็นต้องดำเนินไม่ให้เนิ่นช้า
 
จิตนั้นคล้ายเป็นอิสระเต็มดวง แต่เรายังไมวางใจในการพิจารณา จับติดโดยตลอดด้วยการพิจารณาด้วยการหยั่งทราบ จิตนั้นเป็นอิสระคล้ายปุยนุ่นที่ล่องลอยไปบนอากาศ ไม่มีอะไรให้มันยึดติด แต่เมื่อมาพิจารณาให้ดีอีกทีหนึ่ง “ปุยนุ่นที่ล่องลอยไปในอากาศ แม้จะดูเป็นอิสระดี แต่มันก็ยังตกเป็นทาสของกระแสลม เลื่อนลอยไปตามอำนาจของแรงลม การปฏิบัติของเรานี้ก็เช่นกัน จำเป็นต้องพินิจพิจารณาทางปัญญา ทบทวนแล้วทบทวนเล่า เพราะยังตกอยู่ภายใต้อวิชชา



“คว่ำวัฏจักร วัฏจิตที่เชิงเขาบายศรี”
ต้นปี ๒๔๙๒...ขณะที่เราเข้าป่าดงไปภาวนานั้น เกิดป่วยเป็นไข้มาลาเรียอยู่ในป่าโดยลำพัง เข้าไปในดงมาลาเรีย ในเชิงเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ บ้านยางระหง อันเป็นป่าทึบ โรคไข้มาลาเรียนี้ได้คร่าชีวิตชาวบ้านแถบนี้มามาก ขึ้นชื่อว่าผู้ใดสามารถถากถางป่าแถบนี้เป็นเจ้าของอยู่รอดได้นับว่าเป็นคนเก่งกาจมากๆ และยังมีสัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ หมี งู หมูป่า กวาง เก้ง อยู่มาก ชาวบ้านโดยทั่วไปเป็นพรานล่าสัตว์ หาของป่ามาเลี้ยงชีพ
 
ในขณะป่วยนั้นรู้สึกว่า จิตมันเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ตลอดเวลา แต่ว่ามันพูดยาก มันต้องประกอบกับร่างกายต้องสมบูรณ์ ลมหายใจทุกชนิดต้องให้บริบูรณ์ เมื่อเราทำได้อย่างนั้นต้องค่อยๆ ผ่อนลมหายใจพิจารณา พิจารณาอยู่อย่างนั้นจนเต็มที่จนจิตลงได้ แล้วก็ต้องตามดูลมหายใจไปด้วย ผ่อนลงไป...ผ่อนลงไป...ทีแรกมันอยู่ตรงนี้ พออยู่ตรงนี้หมด...หมด...หมด...หมดขึ้นมาเรื่อย หมดขึ้นมาเรื่อย อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ ยังมีอีกนิดๆ เราก็พิจารณาอยู่ ยังไม่หมดนี่ พิจารณาค้นอยู่อย่างนั้นตลอด
 
แต่การพูดให้ฟังมากกว่านี้ไม่ดีจะเป็นการอวด แต่มันเป็นความจริงที่เราประสบ แล้วทีหลังออกมาจากป่า ไข้ก็กำเริบมาเรื่อยๆ อดข้าวภาวนาสู้อยู่ ๒-๓ วัน บอกให้ท่านเฟื่องฟัง แหม!...ไม่เหมือนคราวอยู่วัดยางระหง อยู่บ้านดินแดง (ที่คุกเกษตรนักโทษ) มันยังมีลมหายใจ ลมหายใจมันแรง กายยังเต้นแรง เพราะสังขารของจิตดับแรง กายมันตึ๊บๆ ๆ ๆ ได้รับรู้ มันไม่สนิท มันต้องประกอบกัน ไม่มีหลับหรอกจิตที่เป็นสมาธิ  ใครที่บอกว่าจิตที่เป็นสมาธิหลับไปเหมือนหัวตอ  อย่าไปเชื่อเขา มันไม่จริง เราเอาหัวยืนยัน ถึงแม้ตัดหัวเราออก เราก็ไม่เชื่อ เพราะได้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติมาแล้ว
 
พอพิจารณาตรงนี้มันดับหมดแล้ว เราก็หยุดความคิด คือเรียกว่า “หยุดความค้น” ลองวางปั๊บ แหม!...มันขาดเชียว การขาดครั้งนี้ ไม่เหมือนการขาดลงอย่างที่ผ่านๆ มา  พอจิตวางปั๊บ...จิตมีอิสรภาพอย่างสูงสุด ปล่อยวางสังขารโลก คว่ำวัฏจักร วัฏจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่าย ด้วยการฮุกหมัดเด็ดคือวิปัสสนาญาณเข้าปลายคาง อวิชชาถึงตายไม่มีวันฟื้น พระพุทธเจ้าพระองค์อยู่ที่ใดทราบได้อย่างประจักษ์ใจ คำว่า “เป็นหนึ่ง” นั้น ไม่มีความหมายใดจะอธิบายต่อได้อีก  ภพชาติที่หมุนวนมาตั้งกัปตั้งกัลป์นั้น เป็นความโง่ที่ไม่อาจให้อภัยได้ ชาติสังขารอยู่ที่ใด ใจไม่เกี่ยวเกาะ สิ่งที่จิตเคยเกี่ยวเกาะ ถูกลบด้วยธรรมชาติที่เป็นหนึ่งนั้น จะว่าบริสุทธิ์ก็พอจะคาดเดาได้ แต่ธรรมชาติอันนี้หยั่งลึกเกินอธิบาย เป็นอจินไตยสำหรับปุถุชน ไม่ควรถามคิดให้ปวดหัว
 
ความงกเงิ่นเนิ่นช้า ถูกเราทำลาย และถากถางเข้าไปใกล้โดยตลอด ถูกทะลุทะลวงด้วยปัญญาญาณโหมโรมแรงด้วยศรัทธา  วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นกำลังหนุน ด้วยการบ่มอินทรีย์มาเป็นอย่างดี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ไม่มีช่องทางให้อวิชชาเดิน ถูกปิดด้วยมหาสติ มหาปัญญา วิปัสสนาญาณตีตะล่อมเข้าภายใน หักล้างอวิชชาอันเป็นตัวการ จิตปล่อยจิต เป็นธรรมอันเดียว เป็นธาตุที่บริสุทธิ์เป็นมหัศจรรย์ ยิ่งกว่าความมหัศจรรย์ทางสมาธิปัญญาใดที่เคยผ่านมา

 
เพลงที่แม่หญิงเหนือเคยร้องว่า “ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้า รองลงมาขันธ์สี่ ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงอยู่ข้อยผู้เดียวนั้น” กลายมาเป็นสิ่งที่มีความหมายเสียแล้ว
 
คำว่า “ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้ากลายเป็นสุขอยู่ในขันธ์ห้า” ถึงแม้ขันธ์นี้จะเป็นของหนัก แต่ก็หนักตามหลักธรรมชาติ ไม่เหมือนกิเลสหนักที่ระคนปนด้วยขันธ์ คำว่า “ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยผู้เดียวนั้น กลับกลายมาเป็นสุข อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยอยู่ผู้เดียว” ถึงกับอุทานภายในใจว่า อโห วต อจฺฉริยํ ...โอ!...อัศจรรย์หนอๆ เห็นแล้วที่นี่ ธรรมที่เราเสาะแสวงหา เป็นอุทานธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างถึงใจ
 
ลุกขึ้นกราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่ถึงใจอยู่แล้วด้วยความถึงใจอีก พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ตลอดจนข้อปฏิบัติอรรถธรรม เป็นความถึงใจอย่างที่สุด บุญคุณข้าวน้ำที่บิดามารดาตลอดจนสาธุชนทั้งหลายชุบเลี้ยงมา เป็นความหมายแห่งมหาคุณโดยแท้จริง ธรรมปีติผุดขึ้นอิ่มเอิบสุดจะประมาณได้

 

งานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น   ภูริทัตตมหาเถร   ณ   วัดป่าสุทธาวาส   จ.สกลนคร
วันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓
ภาพจาก : phraphan.com/

ระลึกถึงบุญคุณคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ที่เป็นผู้เลี้ยงดูเรามาเป็นเวลานานด้วยอรรถ ด้วยธรรม ถ้าไม่มีท่านพระอาจารย์มั่นเพียงองค์เดียว การปฏิบัติของเราคงไม่มีในวันนี้ ท่านเป็นผู้รู้จริงทุกสิ่งอย่าง บุญคุณของท่านนี้เทิดทูนตลอดอนันตกาล
 
คำว่า “พุทธสาวก” ประจักษ์จิตอย่างแท้จริง
 
คำว่า “ขาดสูญ” เหมือนดั่งถูกตัดคอขาด ไม่มีวันนำมาติดต่อชีวิตได้แล้ว ทราบชัดด้วยการหยั่งทราบว่าขาดอย่างแท้จริง ไม่มีสองกับอันใด เรือแห่งชีวิตที่เคยล่องลอยอยู่กลางแม่น้ำ ไม่มีภพให้ลอยอีกต่อไป รากเหง้าของมารถูกตัดทำลายแล้ว เรือแห่งชีวิตที่เราเคยขี่มานาน ด้วยอำนาจแห่งกิเลส กรรม วิบาก อันเป็นประดุจลูกคลื่นนั้น เมื่อถึงชายฝั่งแล้ว เราก็ทิ้งเรือไม่แบกเรือขึ้นฝั่งไปด้วย
 
เรือคืออะไร ก็คือศีล คือธรรมทั้งหลายที่ปฏิบัติมา เป็นประดุจลำเรือ อาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่องทิศ อาศัยครูบาอาจารย์เพื่อเดินสู่จุดหมาย มีพระธรรมวินัยเป็นแผนที่ มีพระสงฆ์เป็นลูกเรือ เมื่อถึงฝั่งอย่างที่เราต้องการแล้ว ย่อมทิ้งเรือต่างๆ ไว้เบื้องหลัง เป็นเอกจิต เอกธรรมชั่วนิรันดร  จึงมานึกย้อนหลังเมื่อคราวที่เราสอนตน ด้วยการเอาหญิงลิเกมานึกเป็นครูสอนเมื่อครั้งบวชเข้ามาใหม่ว่า “หญิงลิเกเหล่านี้  เขาร้องรำทำเพลงทั้งคืนทั้งวันไม่เห็นเหน็ดเหนื่อยนั้น บทธรรมที่เปรียบนั้น มาประจักษ์ใจในคืนวันนี้ ธรรมดาหญิงลิเกผู้เพิ่งจะเริ่มเรียนฟ้อนรำขับร้อง เมื่อขึ้นสู่เวทีย่อมประหวั่นพรั่นพรึง เมื่อได้ยินเสียงดนตรีย่อมตกใจ มีกิริยางกเงิ่นขับร้องฟ้อนรำด้วยความยากลำบาก แม้จะพยายามตั้งใจ ก็ยังมีลีลาอันผิดพลาดพลั้งพลาดอยู่เสมอๆ
 
แต่สำหรับหญิงนักลิเกผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการร่ายรำขับร้องดีแล้ว เมื่อก้าวขึ้นสู่เวที และได้ยินเสียงดนตรี ย่อมจะมีจิตใจฮึกเหิม ร่าเริงเบิกบาน ประกอบลีลาการร่ายรำได้อย่างคล่องแคล่ว เข้ากับจังหวะดนตรีโดยไม่ต้องตั้งใจ ไม่งกเงิ่น ประหนึ่งว่าแข้งขาตีนมือออกไปเองตามปกติวิสัยของมัน นี่อย่างใด พระผู้ประพฤติตามพระศาสดาด้วยความเทิดทูนเพื่อก้าวลงสู่พระนิพพานก็อย่างนั้น  แต่ก่อนเมื่อเรายังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยความยากลำบาก ต้องมีสติสัมปชัญญะคอยควบคุม ต้องมีปัญญาคอยชี้ขาด แม้กระนั้นก็ยังผิดพลาด ย่อมงกเงิ่นในธรรมะสมาคม แต่สำหรับผู้ฝึกจิตใจจนถึงที่สุดแล้ว ผ่านแล้ว บรรลุถึงจุดหมายแล้ว การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกลายเป็นปกตินิสัย เป็นเครื่องอยู่อันสบายๆ ปฏิบัติอย่างสบายโดยไม่ต้องตั้งใจ เพราะการปฏิบัติเรื่องศีลาจารวัตรไม่ใช่เรื่องหนัก แต่เป็นธรรมเครื่องอยู่อันแสนสบาย ความอดทน ความเพียรตลอดจนคุณธรรมข้ออื่นจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้คือผลแห่งการพากเพียรปฏิบัติ ด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 15:16:03 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2558 15:16:31 »

.

พรรษาที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๔๙๒)
จำพรรษาที่วัดถ้ำขวัญเมือง ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร


ธุดงค์ทางภาคใต้
หลังจากที่เราเป็นสมภารเฝ้าวัดทรายงามตามคำขอของพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต และพระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต อยู่เป็นเวลา ๒ ปี ก็ไม่มีวี่แววว่าท่านอาจารย์ทั้งสองนั้นจะกลับมาอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมาใคร่ครวญพินิจพิจารณาว่า “อันการที่เราเดินทางมาบ้านเกิดนี้ ไม่ได้หวังมาเกี่ยวเกาะกับตระกูลญาติพี่น้องให้ยุ่งไป มาก็เพื่อโปรดบิดามารดา เพื่อทดแทนพระคุณของท่านเพราะพระคุณบิดามารดายิ่งใหญ่นัก เมื่อเปรียบเทียบคุณของท่านแล้ว แผ่นดินเท่ากับใบไผ่ ทะเลก็เท่ากับถาด ภูเขาลูกโตๆ ก็เท่ากับจอมปลวกเท่านั้น คือนำมาเทียบกับคุณของท่านไม่ได้”
 
จึงพิจารณาว่า “เราไม่ได้มาเฝ้าวัดหรือต้องการเป็นสมภาร การที่เรามาอยู่ที่นี่ก็นานพอสมควรแก่ธรรมแล้ว” ด้วยอุปนิสัยที่ชอบท้องถ้ำ ชอบป่าเขาที่สงบสงัด จึงปรารภกับตนเองว่า “ภาคใต้เป็นภาคที่เรายังไม่เคยไปมาก่อน ท่านพ่อลีท่านไปประกาศศาสนธรรมอยู่ทางใต้ การที่เราลงทางใต้ก็เป็นการเดินตามรอยเก่าครูบาอาจารย์ ไปแสวงหาถ้ำเป็นที่สงบสงัดไร้ผู้คนที่รู้จัก ประกอบกับจิตเวลานั้นเป็นอิสระเต็มที่แล้ว การอยู่การไปที่ใดจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องฉุดลากให้เนิ่นช้าได้อีก ถึงความอิ่มพอสมบูรณ์โดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก สมัยพุทธกาลท่านก็มีปกติหลีกเร้นอยู่สบายในถ้ำเงื้อมผา เป็นวิหารธรรมเสมอ”
 
ยิ่งท่านพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่เรา ท่านดำเนินเป็นแบบอย่างโดยสมบูรณ์ ปรารภความมักน้อยสันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารถนาวิเวกเสมอๆ แม้ในวัยชราท่านปฏิบัติไม่ได้เพื่อฆ่ากิเลสตัวใด แต่ท่านปฏิบัติเพี่อเป็นธรรมเครื่องอยู่สบายๆ ของพระอริยเจ้าเสมอๆ ไม่มีย่อหย่อนท้อถอย แสดงวิสัยแห่งปฏิปทาของนักปราชญ์
 
เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว จึงออกเดินทางจากจันทบุรีมาพักที่วัดบวรนิเวศน์วิหารกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วชิรญาณวงศ์ (ชื่น) พักกับท่านได้พอสมควรแล้ว ก็ขึ้นรถไฟเดินทางไปทางใต้ ลงรถไฟที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วเดินต่อไปด้วยเท้า ค่ำที่ไหนพักที่นั่น เพราะแต่ก่อนยังเป็นป่า ไม่มีบ้านผู้คนกระจัดกระจายมากมายเหมือนทุกวันนี้ บางทีก็เข้าไปพักตามสวนตามไร่ชาวบ้านอาศัยบิณฑบาตฉันไปวันๆ เหมือนแมลงผึ้งลิ้มเกสรดอกไม้แล้วก็บินไปไม่อาลัยเสียดายฉะนั้น
 
การที่เราไปอยู่ตามป่าตามเขา หรือท้องถ้ำเงื้อมผา อันมีสัตว์ร้ายต่างๆ เราต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิดพินิจพิจารณา ใคร่ครวญให้รอบคอบ ถึงแม้เราจะเรียนธรรมจากภายในตัวของเราแล้ว เราก็ต้องเรียนธรรมจากภายนอกเพื่อเป็นการฝึกสติปัญญาของเรา



วัดถ้ำขวัญเมืองจังหวัดซุมพร
เมื่อเรามาอยู่ที่บริเวณป่าอำเภอสวีได้ระยะหนึ่ง จึงได้เดินเที่ยวภาวนาไปเรื่อยไปพักที่ป่าแห่งหนึ่ง อยู่ที่นั่นได้ไม่นาน มีชาวบ้านมาบอกว่า มีถ้ำสวยงาม ป่าดี สัตว์ยังเยอะอยู่  เป็นวัดเก่าร้างไม่มีใครอยู่ นิมนต์ท่านอาจารย์ไปอยู่บูรณะหน่อย เห็นว่าเป็นถ้ำเราก็เดินทางไปตามคำนิมนต์
 
เรามาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้สัปปายะดีมาก (ตอนหลังชื่อถ้ำขวัญเมือง) ถ้ำไม่ใหญ่โตอะไรนัก พออาศัยได้ แต่ว่าข้างในยังแคบไปหน่อย เป็นภูเขาหินเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่ๆ มีเครือไม้เถาวัลย์พะรุงพะรัง มองแทบไม่รู้ว่าเป็นถ้ำ ไม่มีใครกล้าเข้ามา ชาวบ้านกลัวเพราะมันเปลี่ยวมาก มีศาลเจ้าพ่อ มีเศษของเก่าของโบราณเรี่ยราดอยู่ตามพื้น บางแห่งมีร่องรอยคนมาขุดหาสมบัติ
 
เวลานั้นก็จวนใกล้จะเข้าพรรษาแล้วจึงคิดว่า เออ...อย่างไรเสีย ปี (๒๔๙๒) นี้เราคงต้องจำพรรษาที่นี่ จึงจัดแจงที่พักที่อยู่บนถ้ำ ภาวนาอยู่ที่นี่สบาย ปลอดโปร่งดี เมื่ออยู่มาก็มีญาติโยมรู้จักมากขึ้น โยมอุปัฎฐากที่มาอยู่ช่วยเหลืออะไรทุกอย่างเมื่อยามขาดแคลน คือกำนันฮุ้น (นายอัมพร บุญญากาส) และครูเฮียง ทั้งสองคนนี้เป็นผู้มีศรัทธามาก บ้านเขาอยู่ในตัวอำเภอสวี
 
เราอยู่จำพรรษาที่ถ้ำนี้ ได้ตกแต่งถ้ำใหม่ สถานที่ไม่เสมอ ปรับแต่งให้เสมอ แต่งท้องถ้ำให้อยู่ได้ ได้เอาไฟเผาแล้วทุบบางส่วนให้ดูดีขึ้น ทำลายศาลเจ้าพ่อทิ้ง เราเข้าไปอยู่เป็นเจ้าพ่อแทน ชาวบ้านกลัวกันใหญ่ กลัวว่าเราจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่เห็นเราเป็นอะไร  กำนันฮุ้นเห็นเราขยันขันแข็ง ชอบอกชอบใจ กำนันพร้อมด้วยชาวบ้านจึงมานิมนต์ให้เราอยู่เป็นเจ้าอาวาสสร้างวัดให้ถาวร เขาบอกสัญญาว่า จะหาเงินมาช่วยสร้างวัด ขอให้พระคุณเจ้าอยู่ที่นี่ เราเห็นท่าไม่ดี กลัวจะเป็นภาระผูกพัน ออกพรรษาแล้วจึงเผ่นหนี ธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าไปขอพักอยู่ที่วัดมเหยงค์พักอยู่ที่นี่ชั่วระยะกาลไม่นานนัก จึงเดินทางต่อไปยังจังหวัดสงขลา



กองคาราวานเคลื่อนย้ายหลวงปู่มั่น ขณะป่วยหนัก
จากวัดป่าบ้านหนองผือ ไปวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ตามคำสั่งของหลวงปู่มั่น

ควนจง- ภูเขาล้อม
เข้ามาที่จังหวัดสงขลา เข้าไปพักบ้านคุณโสพิศ เป็นคนรู้จักกัน เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี เดินทางต่อไปบังอำเภอนาหม่อม บ้านนาหม่อม เข้าไปภาวนาแถววัดควนจง (ภูเขาล้อม) ท่านพ่อลีท่านมาวางรากฐานไว้แล้ว อยู่ที่นี่สะดวกดี สถานที่พักเป็นป่าช้าบ้านควนจง  ควนหมายถึงเนินเขาเล็กๆ ไม่ถึงกับว่าเป็นภูเขา ชาวบ้านแถวนี้เขาเคารพรักท่านพ่อลีมาก  ในขณะที่พักอยู่วัดควนจงนี้ มีโยมทิม ทองประดับเพชร เป็นผู้อุปัฏฐากดูแล ตอนนั้นแกอายุ ๒๕ ปี (ปัจจุบัน ๘๐ปี) เมื่อเขารู้ว่าเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี เขาจะยินดีต้อนรับมาก มักจะถามเสมอว่า “ครูบาเจี๊ยะขาดเหลืออะไร ด้วยปัจจัยสมควรแก่สมณะบริโภคให้บอกนะ”
 
หลังจากนั้นก็เดินทางไปพักที่ใกล้ๆ กับควนกรม เป็นที่ที่ท่านพ่อลีมาสร้างไว้ ท่านอาจารย์พรหม (คนละองค์กับอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ) ท่านอาจารย์เม้า ท่านอยู่ที่นั่น เราก็เข้าไปพักกับท่าน วัดมีคลองน้ำใหญ่ไหลผ่าน ไปรวมกับคลองอู่ตะเภาที่หาดใหญ่ อยู่กลางทุ่งนา อุดมสมบูรณ์มากอีกด้านมีต้นไทรใหญ่ๆ มีทางเดินเท้าเข้าไป อยู่ภาวนากับท่านได้ระยะหนึ่ง เราก็เดินธุดงค์ต่อไปยังวัดควนมิตร อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา



วัดควนมิตร- บ้านพรุ
วัดควนมิตร ก็เป็นที่ที่ท่านพ่อลีเคยมาอยู่จำพรรษา ๒ พรรษา ชาวบ้านแถวนี้รู้จักท่านหมด เราได้มาเจอท่านถวิล (จิณฺณธมฺโม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกคนบ้านเดียวกัน นิสัยใจคอก็ใกล้เคียงกัน นิสัยท่านตรงไปตรงมาเหมือนกันกับเรา ในระหว่างที่พักอยู่ที่วัดควนมิตรนี้ ได้เดินธุดงค์ไปภาวนาที่ควนไม้ไผ่ ท่านถวิลขอติดตามไปด้วย ห่างจากควนมิตรประมาณ ๘ กิโลเมตร อยู่ภาวนาที่ควนไม้ไผ่ได้ระยะหนึ่ง ก็เดินทางกลับมาที่วัดควนมิตรอีกครั้ง เรามาอยู่ที่วัดควนมิตรนี้ ได้คุ้นเคยกับท่านพระครูรัตนโสภณ (แก้ว)
 
เราพักอยู่ที่บนเนินเขาควนมิตรเป็นเวลาแรมเดือน จึงอยากไปวิเวกบ้างตามประสาคนไม่อยู่สุข คืออยู่ที่ไหนนานๆ มันเบื่อ ไปภาวนาอยู่ตามป่าเขาน่าจะดีกว่า เพราะบางทีคนแถวภาคใต้เขาไม่ค่อยชอบพระกรรมฐาน เพราะเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอเค้าไม่มีอำนาจ เราไปอยู่แล้วไม่ค่อยเป็นสุข ไปอยู่กับครูบาจารย์ก็ต้องครูบาจารย์ที่ให้ทัศนะเราได้ ไปอยู่กับอาจารย์ที่ให้ทัศนะไม่ได้ ก็ไม่อยากอยู่ ไอ้ตัวนี้สำคัญที่สุด ไอ้พระบางองค์มันถือดี มันนึกว่ามีความรู้ นักธรรมเอก นักธรรมโท ไอ้สมบัติขี้หมาอะไร ว่าตรงๆ ตำราเรียนมามันใช้ไม่ได้หรอก การเรียนกิริยาของใจไม่ต้องเอาอะไรมากหรอก เอาภาวนา “พุทโธ” ตัวเดียวพอแล้ว ว่าอยู่อย่างนั้นให้มันสวย ใจมันจะดื้อเราไปยังไงล่ะ เราเคยเอาชนะมันมาแล้วถึงมาคุย
 
เมื่อคิดอย่างนั้น จึงเตรียมจัดบาตร สะพายกลด เข้าไปบอกท่านพระครูฯว่าจะไปเที่ยวภาวนาแถวๆ บ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่หน่อย ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์เม้าท่านมาอยู่ที่นั่น จะมาสร้างวัดใหม่ที่ห้วยยางบ้านพรุนั้น (ปัจจุบันเชื่อว่าวัดกอไม้พอก) เมื่อบอกลาท่านเสร็จก็ออกเดินทางลัดมา พักมาตามป่ายางเรื่อยๆ เข้ามาถึงบ้านพรุ ก็เข้าไปพักภาวนาที่ห้วยยางกับท่านอาจารย์เม้า ในระยะนั้นตรงกับเตือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒



นิมิตถึงท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านพรุ
เมื่อเข้ามาพักอยู่ที่ห้วยยางบ้านพรุได้ไม่นาน คืนวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่นนอนตายเปลือยกายอยู่   ในนิมิตนั้นท่านงดงาม ชัดเจนมากเหมือนกับว่าท่านอยากจะมาแสดงอะไรบางอย่างให้เรารู้ ประหนึ่งจะเป็นเครื่องแสดงว่า ท่านจะลาโลกลาสงสารเข้าสูแดนวิมุตติ อันเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน คือการดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เข้าสู่ทางสายเอก คือวิสุทธิธรรมล้วนๆ ท่านพระอาจารย์มั่น เราเคารพรักท่านเป็นที่สุด ชีวิตจิตใจนี้มอบให้ได้เลย ไม่เสียดายถ้าท่านต้องการ เพราะท่านเป็นเจ้าบุญเจ้าคุณ (ธรรม) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจริงๆ การที่พระสาวกมีพระอานนท์ เป็นต้น  กล้าพลีชีพแทนพระพุทธเจ้า ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีกระโจนตกมันมา เพื่อจะทำลายพระพุทธองค์พระอานนท์เอาชีวิตของท่านเข้าขวางกั้นไว้ ก็เพราะความถึงใจด้วยสายใยแห่งธรรมอย่างนี้เอง เราเคารพในท่านพระอาจารย์มั่น ก็ตั้งใจอย่างนั้นเหมือนกัน  ถ้าเรื่องของท่าน ใครอย่ามาแตะมาว่า เราไม่ยอม ตอนอยู่กับท่าน หน้าที่อะไรก็ตามต้องทำให้ดีทั้งหมดให้สะอาดเรียบร้อยและทำให้ได้ดี ถ้าไม่ดี ทำมันจนดีจนพอใจถึงจะยอมหยุด
 
เมื่อเกิดนิมิตในตอนกลางคืน เราภาวนาก็ประหวัดๆ ภายในใจเสมอๆ เหมือนจะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกี่ยวกับองค์ท่าน ในตอนเช้าวันนั้นเองได้ออกจาริกเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ได้ถามลุงกายทันทีว่า “ลุงกาย...มีข่าวหลวงปู่มั่นบ้างมั้ย?”
 
ลุงกายบอกว่า “ไม่มีครูบา...”
“เราก็เอ๊ะ!...อยู่ภายในใจลึกๆ”
 
กลับจากบิณฑบาตนั่งฉันอยู่ซักประเดี๋ยว ท่านพระครูรัตนโสภณ เจ้าคณะอำเภอให้โยมเดินทางมาบอกว่า “ข่าววิทยุออก บอกว่าหลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว ตั้งแต่เมื่อคืนนี้
 
พอว่าท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเท่านั้นแหละ เราลุกขึ้นจากที่ฉันข้าวทันที เดินดิ่งหลบไปทางด้านหลัง ปลงธรรมสังเวชสุดที่จะอธิบายได้ จิตก็หวนรำลึกคำพูดของท่านว่า “อายุ ๘๐ ปี ท่านจะตาย”
 
ดับแล้วท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พ่อแม่แห่งวงศ์พระกรรมฐานนับจากกึ่งพุทธกาลนี้อีกต่อไป ท่านผู้ทรงคุณเช่นท่านพระอาจารย์มั่นนี้ จะไม่มีประดับโลกอีกแล้ว ท่านผู้มีบุญอย่างท่านพระอาจารย์มั่นนี้ เป็นบุตรของใคร เป็นเพื่อนของใคร เป็นพี่เป็นน้องของใคร เป็นศิษย์ของใคร เป็นอาจารย์ของใคร เกิดในประเทศใด หรือจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใด สถานที่นั้นหรือบุคคลนั้นที่เกี่ยวข้องต้องเย็นใจ สบายใจ สุขใจและเพลินใจ"

”เมื่อทราบข่าวดังนั้น เราก็รีบขึ้นรถไฟกลับทันที ในระหว่างที่เดินทางกลับมานั้นตั้งใจไว้ว่า เราจะต้องเข้าไปหาท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้งก่อน เพื่อว่าท่านจะสั่งให้ทำอะไรเป็นพิเศษ  เราไปถึงก็ค่ำแล้ว ทราบว่าท่านพ่อลีท่านนั่งรออยู่ ยังไม่ยอมลงปาฏิโมกข์  ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้กราบเรียนล่วงหน้าว่าเราจะมาหาท่าน หลังจากนั้นท่านพ่อลีก็สั่งให้ เรา, ท่านเฟื่อง โชติโก, และท่านเจือ สุภโร, เดินทางไปร่วมงานศพท่านพระอาจารย์มั่นก่อน แล้วท่านจะเดินทางตามไปทีหลัง



บรรดาศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภฺริทัตตเถระ
ในวันพิธีศพของพระอาจารย์มั่น เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓


ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นมรณา- สังฆานุสติ
เมื่อไปถึงงานศพท่านพระอาจารย์มั่น เข้าไปกราบคารวะศพท่านทันที ระลึกถึงบุญคุณที่ท่านอบรมสั่งสอนมา สุดที่จะอดกลั้นทานน้ำตาไว้ได้ “กรรมใดอันที่เกล้าฯ ล่วงเกิน ขอครูบาอาจารย์จงโปรดอโหสิกรรม” แสงตะเกียงเจ้าพายุสว่างไสวทั่วบริเวณ ได้ยินเสียงผู้คนที่พลุกพล่านอยู่ด้านนอกอย่างโกลาหล ต่างมุ่งหวังเพื่อเข้ามากราบคาราวะศพท่านพระอาจารย์มั่น
 
จักรคือธรรมอันประเสริฐที่ท่านพระอาจารย์มั่น ได้หมุนเพื่อสานุศิษย์ บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ที่กำลังจะมอดไหม้
 
ยนต์คือสรีระ อันมีจักร ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มีทวาร ๙ คือ ตา ๒, หู ๒, จมูก ๒, ปาก ๑, ทวารหนัก ๑, ทวารเบา ๑ หยุดการแล่นแล้ว เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน อันเป็นแดนเกษม
 
ปุญญาภิสังขารที่เหลือไว้นี้เป็นเพียงมรณา-สังฆานุสติ เป็นที่ระลึกกราบไหว้บูชา พระศาสดาและพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายก็ล่วงไปแล้ว ล่วงไปสู่แดนอมตธรรม ไม่ต่ำไม่สูง ไม่ใกล้ไม่ไกล หากดวงใจที่บริสุทธิ์ครอง
 
พระบรมศาสดาตรัสแล้วไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายไว้ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยใดที่เราแสดงและบัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอเมื่อเราล่วงไป”
 
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเป็นพุทธสาวก ไม่กลับมาหลงโลกที่เคยเกิดตายอีกต่อไป ไตรโลกธาตุทั้งหมดนี้ประมวลลงในไตรลักษณ์ที่หมุนไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใครมีปัญญาเรียนถึงอย่างที่ท่านสอน ก็ไม่ต้องกลับมานอนทอดถอนใจ เดินตามหลังท่านไปสู่พระนิพพาน


ทำงานถวายท่านพระอาจารย์มั่น
ในระหว่างที่ช่วยงานศพท่านพระอาจารย์มั่นนั้น มีพระเณรหลั่งไหลมาจากทิศานุทิศ ประซาชนญาติโยมมาคาวระศพมิได้ขาด ทุกๆ คนที่เข้ามาล้วนห่อข้าวมากินเอง คาราวานเกวียนจอดเต็มรอบๆ บริเวณวัดสุทธาวาส หามุ้งหาเพื่อมานอน จุดตะเกียงจุดไฟกันเอง หุงหาอาหารกินกันเอง แล้วตอนเช้าๆ เตรียมหาอาหารใส่บาตรพระ เป็นนิมิตแห่งชัยชนะด้วยบุญญานุภาพอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ทุกคนล้วนแต่มีน้ำตาอาลัยความดีของท่านพระอาจารย์มั่น เป็นน้ำตาสดุดีสังฆปฏิบัติ เราเป็นพระหนุ่มน้อยอยู่ก็ได้รับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์ฝั้นให้ไปดูแลเรื่องน้ำ เพราะน้ำขาดแคลนมาก ใช้ญาติโยมและเณรเอาอีเต้อขุดจนมือแตก น้ำก็ไม่ออก เราคิดว่ารอช้าจะไม่ทันการณ์จึงจำเป็นต้องขุดบ่อเอง ในที่สุดน้ำก็ออกจนได้ใช้ตลอดงานเป็นเวลา ๓ เดือน ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นมอบหมายให้ไปทำคือ จัดทำปะรำพิธี ดูแลเสนาสนะ และคอยไล่ต้อนพระเณรที่แอบไปดูหนังที่เขานำมาฉายอยู่ด้านนอกวัด เวลาเขาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในงานศพเราจึงไม่ได้ถ่าย เพราะมัวแต่ทำงานยุ่งอยู่ไม่มีเวลาหยุดหย่อน เรื่องแปลกในงานศพท่านพระอาจารย์มั่นคือ ไม่มีการขโมยของกันและกัน ไม่มีการตีทะเลาะหรือฆ่ากัน ทั้งๆ ที่มีคนมาก ผู้คนก็ไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย ในบริเวณงานไม่มีคนดื่มสุราเมรัยมากวนใจในงาน พระเณรโดยส่วนมากบอกง่ายน่าเคารพเลื่อมใส งานนี้นอกจากมนุษย์แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นเหมือนเทพบันดาล เพราะอาหารการกินของใช้สอยกองเท่าภูเขาเลากา ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นที่ไหนมากเท่านี้มาก่อน นี้คือบุญฤทธิ์ของท่านพระอาจารย์มั่นโดยแท้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 15:18:05 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 03 มีนาคม 2558 15:56:34 »

.

พรรษาที่ ๑๔ - ๒๔ (พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๓)
จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี


ต้นปี ๒๔๙๓ เมื่อเสร็จงานศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว คณะกรรมฐานระยะนั้นเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด ขาดที่พึ่งใหญ่ ก็ต่างองค์ต่างพยายามหาที่พึ่งน้อย อันหมายถึงลูกศิษย์ที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรอง บางองค์ก็ไปกับท่านพระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม บางองค์ไปกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  บางองค์ไปกับหลวงปู่ขาว อนาลโย บางองค์ไปกับอาจารย์เทสก์ เทสฺรงฺสี  บางองค์ไปกับท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน บางองค์ก็เข้าธุดงค์ในป่ากับครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือ กระเซ็นกระสายกันไปทั่ว แต่ต่างองค์ก็ต่างไปตามสายทางแห่งพระนิพพานเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น เป็นที่หมายสุดท้ายเหมือนกัน

โยมแม่ป่วย
สวนเราธุดงค์ย้อนกลับจังหวัดจันทบุรีกับท่านเฟื่องเข้ามาพักที่วัดป่าคลองกุ้ง ทราบข่าวว่าโยมแม่ไม่สบาย ป่วยหนัก จึงเดินทางมายังวัดทรายงาม บ้านหนองบัว ช่วยโยมพ่อดูแลโยมแม่ เป็นพระทำอะไรไม่ได้มากนัก ส่วนมากก็ไปเป็นกำลังใจ ไปพูดธรรมะให้ฟังบ้าง ส่วนมากโยมแม่ไม่คอยฟังเพราะเห็นเราเอะอะเสียงดัง ก็คนนั้นทำอย่างนั้นไม่ถูก ทำอย่างนี้ไม่ถูก เราก็ดุเอาสิ โยมแม่เป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะ ชอบพระเรียบร้อย ส่วนเราก็เรียบร้อย แต่เรียบร้อยตามนิสัยวาสนาอาภัพ
 
อาการป่วยของโยมแม่รักษาเป็นปีอาการก็ไม่ดีขึ้น เพื่อเยียวยารักษาโยมแม่ให้หาย เงินทองมีเท่าไหร่ทุ่มลงหมดไม่มีคำว่าเสียดาย ขอแต่เพียงโยมแม่หายเท่านั้นเป็นที่พอใจของลูกๆ ทุกคน ยานั้นต้องเดินทางมาซื้อถึงกรุงเทพฯ ของหลวงมานิตย์ ต้องไปซื้อมากินเป็นประจำ เมื่ออาการของโยมแม่ดีขึ้นบ้าง ก็เข้าไปหาท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้ง กราบเรียนท่านที่จะไปภาวนาตามป่าตามเขาดังที่เคยไปเสมอมา ท่านพ่อจึงสั่งว่า “ท่านเจี๊ยะให้ท่านไปอยู่ที่เนินเขาแก้วนะที่นั่นวิเวกดี สัปปายะเหมาะ” เมื่อท่านพ่อสั่งอย่างนั้น จึงต้องไปอยู่ที่เนินเขาแก้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (โยมแม่เสียชีวิตอายุ ๙๓ ปี วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โยมพ่อเสียชีวิตอายุ ๙๙ ปี วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)


พระอาจารย์เจี๊ยะ พระผู้มาปฏิสังขรณ์วัดเขาแก้ว
พระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ปี ๒๔๙๓ และเป็นผู้ที่ปรับปรุงปฏิสังขรณ์วัดนี้ให้เป็นวัดที่มีสภาพมั่นคงคือ พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท เพราะเดิมวัดนี้ไม่มีอะไรถาวรนอกจากมีศาลาเพียงหลังเดียว นอกนั้นเป็นกุฏิชั่วคราว ความทรุดโทรมก็มีมากขึ้น พระอาจารย์เจี๊ยะท่านจึงติดต่อให้ญาติโยมผู้มีศรัทธาสร้างกุฏิถาวรถวาย สร้างด้วยคอนกรีต ๔ หลังมั่นคงถาวรมาก นับว่าในขณะนั้นมีเพียงวัดเดียวเท่านั้นในคณะกรมฐานที่มีกุฏิตึกอยู่ ด้วยความสามารถของพระอาจารย์เจี๊ยะนี้เอง ต่อมาศาลาการเปรียญทรุดโทรมลง ท่านจึงจัดการสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ หลังใหญ่โตมาก ในบรรดาศาลาด้วยกันแล้วในจังหวัดจันทบุรี ต้องยกให้วัดเขาแก้ว เพราะเข้าไปในศาลาเหมือนเข้าไปในโบสถ์วัดพระแก้ว เพราะเยือกเย็นเหมือนกัน พื้นที่ภายในบริเวณวัดท่านก็พัฒนาการจนเป็นสถานที่น่าอยู่น่าอาศัย มีผลไม้มาน่าดูชม เช่น เงาะ ทุเรียน กระท้อน ฯลฯ  
 
เดิมท่านพ่อลีมาปักกลดบริเวณเนินเขาแก้วนี้ ตรงนั้นมันเป็นต้นมะม่วง ไม้มะม่วงนั้นใบมันร่วงเพราะเป็นฤดูแล้ง ตามโคนต้นมะม่วงมีมดแดงเต็มไปหมด ท่านพ่อลีกปักกลดอยู่อย่างนั้นไม่ย้ายไปไหน   ตาสอนและยายทัตสองผัวเมียมาเห็นเข้าก็นิมนต์ท่านพ่อว่า “ท่านพ่ออยู่ตรงนี้ไม่ได้หรอกมดแดงมันเยอะ ขอให้ย้ายไปตรงอื่นเถอะ”  "ไม่ย้ายเราจะอยู่ตรงนี้ ถึงแม้นเอาข้าวของมาถวายตรงที่อื่นเราก็ไม่รับ เราจะอยู่ตรงนี้ ปักกลดตรงนี้แหละ” ทีนี้เมื่อสองตายายนำเอาอาหารข้าวของมาถวาย มดแดงมันก็มาเยอะแยะ ยิ่งเหยียบใบไม้ดังแกรก แกรก! มดแดงมันมาใหญ่ทีเดียว กรูมา อู้ฮู! มากทีเดียว มดแดงมันมามากมายเหลือเกินเป็นกองทัพมด แต่มันไม่กัดท่านพ่อสักตัวเดียว ท่านอยู่เป็นเพื่อนกันกับมด สักพักหนึ่ง มดมันก็ทยอยกันหนีเกลี้ยงอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อสองตายายเห็นอย่างนั้นก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส นับถือท่านพ่อลีมากขึ้น ก็เลยไปป่าวร้องให้คนทั้งหลายเข้ามาทำบุญกับพระผู้วิเศษ ต่อมาจึงทำศาลาพักขึ้น แล้วก็ค่อยสร้างวัดขึ้นมาค่อยทำกัน เริ่มแรกมุงจากเสาไม้ป่า ท่านพ่อลีก็อาศัยอยู่อย่างงั้น แล้วท่านก็อยู่ คนก็เลื่อมใส เขาก็มาช่วยสร้างวัดกันขึ้น ช่วยกันตัดไม้ป่ามาสร้าง ตัดไม้ไผ่ หลังคามุงจาก เริ่มจะเป็นวัดทีแรก เพราะว่าตาสอนและยายทัต สองคนผัวเมียบริจาคที่ตรงนี้ให้ หลังจากนั้นมา พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพ่อลีก็มอบให้ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะมาอยู่แทน
 
“โบสถ์นั่น ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะก็เป็นคนตีหิน ทุบหิน ทำเองไม่มีหยุดหรอก สำคัญมากในเรื่องทำงาน หินนี่ขนมาก้อนใหญ่ๆ ขน ตี ทำ ก่อสร้าง ท่านแข็งแรง ท่านได้ผู้ใหญ่จ่าง รักศักดิ์  เป็นผู้อุปัฏฐากช่วยสร้างเพราะเขาเป็นคนมีเงินเข้ามาช่วยท่านสร้างวัด เรื่องการก่อสร้างท่านละเก่งที่สุด ไม้แผ่นใหญ่ๆ ไปหามาจากในดงลึกๆ โน่นแหละ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ขนมา ท่านเก่งทางนี้ ท่านก่อสร้างเสร็จ ท่านเป็นคนบ๊งเบ๊งๆ เป็นคนจีนลูกคนจีน นิสัยท่านก็ไม่ค่อยจะสบอารมณ์กันกับผู้คน นิสัยพะลึงพะลังอย่างนั้นแหละ  มาครั้งแรกสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านจะมาเอาที่ตรงนั้นทำวัง พระอาจารย์เจี๊ยะมาเริ่มสร้างใหม่ๆ เริ่มสร้างวัดเขาแก้วเป็นรูปร่าง ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะอยู่เป็นขรัว พอเป็นขรัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็เอาต้นโพธิ์มาปลูกไว้นั่นแหละ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็เริ่มจะเป็นเจ้าภาพวัด ภายในพระทัยก็คงคิดที่จะเป็นผู้อุปการะวัดเขาแก้ว ท่านเริ่มเข้าวัดและตั้งใจจะบูรณะวัดให้เจริญด้วย  


ขรัววัดเขาแก้ว
อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันเกิดท่านผู้หญิงผ่อง ผู้เป็นน้องสาวสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านหญิงคิดปรารถนาจะเข้ามาทำบุญถวายพระ เข้ามากราบพระอาจารย์เจี๊ยะที่ศาลา และพระทั้งหลายก็ลงมาพร้อมเพรียงกัน เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเข้ามานั่งก็ “ขาก...ถุยๆ” ทำอยู่ยังงี้ท่านผู้หญิงผ่องท่านก็ประทับอยู่ที่นั่น ก็มองๆ นึกตำหนิอยู่ภายในใจ  
 
เมื่อท่านผู้หญิงเสด็จกลับจึงเรียกผู้ใหญ่พา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเข้าไปถามว่า  “ผู้ใหญ่พา ...ขรัววัดเขาแก้วทำไมท่านถึงเป็นอย่างงั้น กริยาท่าทางไม่เรียบร้อยเลย”  ผู้ใหญ่พาก็ตอบว่า “ท่านเป็นลูกคนจีนนะครับ ไม่ใช่จะเสียหายอะไร การเสียหายไม่มีเลย กิริยาของท่านนี้ไม่รู้จะทำยังไง การขาก...ถุยๆ ท่านนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ต้องขยับไหล่งึกงักๆ ๆ อันนี้เป็นนิสัยประจำ ท่านเป็นยังไงก็อยู่อย่านั้น ท่านไม่มีมายากับใครหรอกครับ เรื่องการก่อสร้างการบริหารวัดนี่ โอ๊ย!...ท่านเก่งมากขยันเหลือเกิน ขยันตัวเป็นเกลียว ทำเอง ถกเขมร ทำคล่อง เสียอย่างเดียวกิริยาตรงนี้ แต่ใจท่านดีมากครับ”
 
ท่านหญิงจึงถามผู้ใหญ่พาต่อไปอีกว่า “เล่าประวัติขรัววัดเขาแก้วให้ฟังซิ ท่านเป็นมายังไง?” ผู้ใหญ่พาก็กราบทูลว่า “ท่านเป็นคนใจสำคัญนะครับ เป็นลูกคนจีน บ้านเดิมอยู่ที่หนองบัว ในการทำงานที่กระผมเห็นมาไม่มีใครแข็งเท่าท่าน ความเพียรพยายาม โอ้!...ท่านตั้งใจทำเหลือเกิน ท่านเก่งเหลือเกิน ไม่ใช่คนจนอนาถา ก่อนมาบวชท่านเป็นคนนักเลงอยู่ แล้วก็มาบวชเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี ท่านพ่อลีไม่ใช่พระธรรมดา ท่านพ่อลีต้องมองลึกแล้วว่า อาจารย์เจี๊ยะนี้ดีจึงมอบที่ตรงนี้ให้ ตั้งแต่ผมเห็นพระมา ขรัววัดเขาแก้วนี้นี่บริหารวัดดีไม่มีใครเกิน ท่านสู้สุดตัว หินก้อนใหญ่ๆ ทุบเองแหลกหมดท่านไม่ต้องไปง้อใคร ทำเองทั้งนั้น  บางทีไปค้างวันค้างคืน หาคนไปช่วยเอาไม้อยู่ในป่าโน่น!...โป่งน้ำร้อนโน่น ไกลเท่าไรก็ไปเอามาจนได้ ตอนหลังนี่ท่านไปเรียกใคร เขาก็ไม่ไป สู้ท่านไม่ไหว ทำทั้งวันทั้งคืน ท่านจะเอาอะไรเอาให้ได้ ถ้าไม่ได้ท่านไม่หยุด เก่งเหลือเกิน ถึงท่านกิริยาภายนอกเป็นอย่างนั้น เรื่องเสียหายไม่มีหรอกครับ เรื่องวาจาท่านก็เป็นคนพูดตรงไปตรงมา จะให้ท่านพุดหวานๆ อย่างนั้นอย่างนี้ท่านพูดไม่เป็นหรอก ถ้าวันไหนเห็นท่านพูดหวานๆ ชาวบ้านคงช็อกตาย สถานที่ที่ท่านควรจะพูดค่อยๆ ท่านก็พูดไม่ค่อย สถานที่ที่ควรจะพูดแรงๆ ท่านกลับพูดค่อยๆ เวลาใช้ญาติโยมทำงาน “พวกมึงมาทำไอ้นี่ให้หน่อย...โว้ย มาช่วยกันบ้างซีที่วัด” ท่านมักจะพูดอย่างงี้   ผมก็เคยขอโอกาสพูดกับท่าน (อาจารย์เจี๊ยะ) บ่อยเหมือนกัน เคยสะกิดท่านบ่อยๆ ว่า  “ท่านอาจารย์พูดทำไมเอะอะนัก ค่อยๆ พูดซะหน่อยจะเป็นไร ญาติโยมเขามานั่งกันเต็มอยู่นั่น ทำไมเอะอะเสียงดังอะไรอย่างงี้” ท่านก็ตอบว่า “เราก็เป็นของเราอย่างนี้อยู่ทุกวัน มันจะแปลกตรงไหน ภายในใจเราไม่มีอะไรกับใครหรอก เคยพูดดังๆ มานั่งเงียบมันโหวงเหวง มันพิลึกชอบกล”  ท่านว่าอย่างนั้น
 
ท่านหญิงลองคิดดูซิครับว่าจะมีพระที่ไหน ที่จะเป็นอย่างนี้ได้บ้าง ท่านมาบิณฑบาตบ้านผม เดินเข้ามาในบ้านเลย“ เฮ้ย!..ชงกาแฟถ้วยซิ” ท่านจะนั่งจิบกาแฟไปพักหนึ่ง  หนังสือพิมพ์มาอ่าน นั่งขาไขว่ห้าง เอาบุหรี่มาสูบมวนหนึ่ง กระดิกเท้าริกๆ ก่อน ถ้าถ่านอยากจะกินพริกเกลือ ท่านก็จะสั่ง ตามแต่ละวันท่านจะอยากฉันอะไร “เฮ้ย!...ตำน้ำพริกกุ้งแห้งเกลือให้กูหน่อย” พริกเกลือกุ้งแห้งท่านชอบ ท่านไม่เคยเสียหายอะไร มีแต่กิริยากับวาจานี่แหละที่ทำให้คนเขาแปลก ทำให้คนเขาแตกไม่กล้าเข้าใกล้ บางทีท่านไปบิณฑบาตก็นั่งรถไปเพราะขาเจ็บ ไปถึงที่ก็บอก “เอ้า! เอาข้าวมาให้กูกิน” ตั้งบาตรเลย หนังสือพิมพ์เล่มหนึ่ง บุหรี่มวนหนึ่ง แล้วก็นั่งกระดิกเข่า ใครเขาเห็นเขาจะเอาด้วยล่ะ ภาพมันก็ลบไปเลย ครูบาอาจารย์เขาไม่สอนอย่างนั้นใช่ไหมล่ะ ท่านก็บอก “ขากูเจ็บนี่หว่า” ก็ไปอย่างนั้นทุกวัน
 
กราบนิมนต์ท่านว่า “ท่านอาจารย์ไม่ต้องมาบิณฑบาตเลย นอนอยู่เฉยๆ เลย จะจัดไปถวายที่วัดเอง” ท่านบอกว่า “ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะด่า หาว่าขี้เกียจบิณฑบาต”  “นั่นล่ะเขาจะด่าหนักล่ะไปอย่างนั้น”  พวกเราไม่คุ้นเคยไปเห็นพระผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้นก็สะดุ้ง “เอ๊ะ!...อะไรมาผิดวัดหรือเปล่า...อะไรเนี่ย” ในกลางพรรษาท่านออกไปบิณฑบาตช้าอยู่ครั้งหนึ่ง พระลูกศิษย์ที่ไปบิณฑบาตอายกันหมดเลย แต่ท่านไม่อาย


พระมากินให้เป็นมงคลแล้ว
“เล่าประวัติอย่างอื่นๆ ที่แปลกๆ ของท่านให้ฟังบ้างสิ...ผู้ใหญ่พา” ท่านหญิงผ่องถามขึ้นด้วยความสนใจอย่างยิ่ง

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง” ผู้ใหญ่พาเริ่มเล่า เขาแต่งงานกันเขานิมนต์พระไป ๙ รูป บ้านเขาสูงแค่เอว ลูกกรงบ้านก็โหนถึงล่ะ ทีนี้แขกมันเยอะ ท่านก็โหนตัวขึ้นทางลูกกรงไปเลย ไม่ขึ้นทางบันได พอนั่งปั๊บ!! ท่านก็ถามเจ้าภาพว่า ”จะสวดหรือไม่สวดล่ะ เอ้า! ประเคนกินกันเลย” เจ้าของบ้านรีบบอกสวนมาทันทีว่า “ก็สวดเสียหน่อยซิ...พระคุณเจ้า” ไอ้พวกเราเป็นศิษย์ลูกศิษย์ก็คิด “เฮ้ย! จะกินของเขาเฉยๆ เลยหรือเนี่ย เฮ้ย...ขำ!”  คือว่าเขาจะแต่งงาน เป็นงานมงคล สวดให้เป็นมงคลให้เจ้าภาพหน่อย ท่านกลับถามว่า “จะสวดไหม ไม่สวดให้ยกมาประเคนเลย พระมากินให้เป็นมงคลแล้วเนี่ย” เขาขอให้สวดท่านถึงนำสวด ตอนกลับก็โดดลงทางเก่าที่ปีนขึ้นนั่นอีกล่ะ คือทางราวลูกกรง พระลูกศิษย์ที่ไปด้วยนี้ก้มหน้ายิ้มอายกันเลย บันไดมีไม่เอา โดดขึ้นลูกกรงเลย ตรงนั้นรองเท้าเขาวางไว้เกะกะ ไม่เอา! โหนขึ้นไปเลย เรื่องโลกนี่ท่านตัดไปเลย ไม่อายหรอก ลูกศิษย์อาย บวชใหม่ประมาณ ๓ – ๔ พรรษาก็อายทั้งนั้น แต่อาจารย์ไม่อายหรอก ท่านทำอะไรแปลกๆ ท่านไม่เหมือนเรา มาอยู่ที่เขาแก้วนี่ท่านละปล่อยวางเยอะกับญาติโยม  


เดินทางโดยรถสิบล้อ
เรื่องการโบกรถก็เช่นกัน ถ้าท่านโบกรถนี่ รถต้องจอดทุกคันนะครับเพราะท่านจะไม่ไปโบกริมๆ ถนน ท่านจะไปยืนโบกรถกลางๆ ถนนเลย แล้วไม่ใช่ไปโบกตรงนั้นเฉยๆ ไปยืนห่มจีวรตรงนั้นด้วย แล้วก็โบก มันรุงรังขนาดล่ะ กางปีกเลยมารุ่มๆ รถต้องจอดหมดล่ะ
 
ทีนี้เราก็มาสังเกตท่านว่า “เอ๊ะ! ทำไมท่านอาจารย์ทำอย่างนี้นะ ท่านทำอย่างนี้ทำแบบนี้ยังกับว่าทั่วประเทศไทยเป็นพี่น้องเป็นญาติท่านกันหมด เรามอง เอ! พวกนี้พี่น้องท่านหมดเลยนะนี่ ไม่รู้เขาจะโกรธจะเกลียดหรือรถจะชนตายอย่างนี้ไม่สนใจ ไปถึงก็กางปีกยืนถ่างขากลางถนนเลย แล้วก็ห่มจีวรพร้อมเลย”     สมัยก่อนเวลาท่านมากรุงเทพฯ ก็อาศัยรถสิบล้อเขามาบ้าง รถทัวร์บ้าง รถทัวร์ก็ไม่ค่อยได้ขึ้นหรอก เอารถสิบล้อ เอา! ผมเคยไปรับท่านครั้งหนึ่ง โอ๊ย! แหงนดูท่านอาจารย์เจี๊ยะอยู่บนหลังคานั่นน่ะ ท่านตะโกน  “หนาวโว๊ยๆ...หนาว” อยู่บนหลังคารถสิบล้อน่ะ ข้างล่างมันเต็มมีผู้หญิงมาด้วย ท่านไม่เดือดร้อนกับใครล่ะ“ หนาวโว๊ยๆ ลมมันโกรก”
 
อยู่มาวันหนึ่ง มีจดหมายส่งมาจากวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคุณพรหมุนี เพื่อนท่านส่งมา ในเนื้อความจดหมายนั้นบอกว่า “เมื่อได้รับแล้วให้มาด่วนทันที” ท่านอ่านแล้วก็ไม่รีรอเลย รีบคว้าย่ามคว้าจีวรพะรุงพะรัง รีบด่วนอย่างที่จดหมายบอกไปทันที ท่านก็จะรีบไป คือท่านเป็นคนตรงมากอย่างนั้น คว้าจีวรคว้าย่ามเดินดิ่งตรงไปหน้าวัด หน้าวัดติดถนนใหญ่ ไหล่ก็สะพายย่าม มือก็พยายามคลุมจีวร บังเอิญรถบัสประจำทางมันก็มาพอดิบพอดีเหมือนนัดกันไว้ เมื่อรถมาพอดีจะทำยังไงล่ะมือก็คลุมจีวรอยู่โบกรถก็ไม่ได้ ท่านกลัวไม่ทันมั้ง ท่านจึงใช้ตีนโบก“ ยกตีนขึ้นสูงๆ ลงๆ หยุด...ตะโกนด้วย หยุดเดี๋ยวนี้”
 
รถวิ่งผ่านไปฉิวแบบไม่สนใจ “เย็...แม่มึง...ไม่รู้จักไอ้เจี๊ยะ...ซะแล้ว  ท่านตะโกนด่าตามหลัง เราแอบไปฟังอยู่ข้างๆ กำแพง แอบหัวเราะคิกๆ อยู่คนเดียว เอามือปิดปากไว้กลัวท่านได้ยิน เดี๋ยวโดนเตะ หาว่าหัวเราะเยาะ บางทีในตอนกลางคืนขนาดกำลังป่วยเพราะความที่ท่านเป็นผู้ที่นอบน้อมในธรรมมาก ไม่มีชาติชั้นวรรณะเลย อย่างบางทีคุยกันกับพระเณร เฮๆ เป็นปกติอยู่เลย แต่ทันทีที่ไม่ว่าพระเณร เด็ก ผู้ใหญ่ มาพูดเรื่องธรรมะนี่ ท่านจะนิ่งฟังเฉยแสดงความเคารพทันทีเลย แปลกจริงๆ “เอ๊ะ! ทำไมอาจารย์น้อมในธรรมนัก กิริยาในธรรมกับกิริยาในโลกของท่านต่างกันนัก”  

เวลาพระผู้ใหญ่พูดมา เวลาจะเอาเป็นเอาตายท่านเฉยเลย นั่งฟังเลย เรื่องธรรมเรื่องกิเลสนี้ต้องยอมรับเลย ถ้าคุยกันนี้เอาเป็นเอาตายเลย คุยมีอรรถมีธรรมท่านจะนั่งฟังเงียบ “เออ!แปลก น้อมในธรรมมากตั้งแต่เห็นมา” เพราะเราก็ไม่รู้ว่าท่านมีอะไร พวกพระที่บวชใหม่ๆ ก็...เอ!...ทำไมท่านอาจารย์เจี๊ยะเป็นอย่างนี้ได้นะ   เวลาเจอโยมทำผิดมาท่านเอาเป็นเอาตายเลย เวลาเขาพูดเรื่องเหตุเรื่องผล ท่านจะนั่งฟังเงียบนิ่งเลย เออๆ เราคล้อยตามท่านไม่ได้เลย บ้าตายเลยเรา กับเรื่องท่านนี้ ยากที่คนเขาจะเข้าใจได้ง่าย เดินผ่านไปผ่านมา เห็นพระเณรนั่งอยู่ก็ดุเขาเอาดื้อๆ “ ไอ้ฉิบหาย!” บางทีดุพระเณรจนร้องห่มร้องไห้ “ฮือๆ อยู่นั่นแหละ” ตอนหลังจึงพูดกันว่า “ถ้าใครอยู่กับพระอาจารย์เจี๊ยะได้เนี่ย ทั่วประเทศไทยอยู่ได้หมดล่ะ เชื่อเถอะ!!”
 
มีอีกเหตุการณ์หนึ่ง ถ้าไม่เล่าจะข้ามไปอย่างน่าเสียดาย วันนั้นท่านมีกิจนิมนต์เข้าวัง ท่านอาจารย์เจี๊ยะก็ถามก่อนไปว่า “ต้องใช้พัดยศหรือเปล่า” เพราะพัดยศอยู่ที่จันทบุรี ตอนนั้นท่านพักอยู่กรุงเทพฯ วัดบวรฯ ”ทางฝ่ายศาสนพิธีในพระราชวังนั้นก็บอกว่า “ไม่ต้องใช้” พอเข้าไปในพระราชวัง ในขณะกำลังจะลงมือฉันข้าว ทางฝ่ายพิธีที่พระราชวังนั้นจึงถามขึ้นว่า  “ทำไมพระองค์นั้นไม่เอาพัดยศมา” ท่านอาจารย์ก็ว่า “เฮ้ย! หยุดกินเดี๋ยวนี้นะ หยุดกินเดี๋ยวนี้เลย เดี๋ยวอาตมาจะไปเอาพัดยศที่จันทบุรีก่อน” บ่อนแตกเลย ฝ่ายศาสนพิธีก็รีบเข้ามาหาท่านแล้วพูดว่า ทำไมท่านอาจารย์พูดอย่างนั้น “กูถามมึงแล้วว่ามึงจะเอาหรือเปล่าพัดยศน่ะ มึงบอกไม่เอา กูก็ไม่เอามา มึงหยุดเลย เดี๋ยวรอพัดยศจากจันทบุรี”
 
พอท่านกลับมาถึงวัด ท่านบอกไม่มีพัดยศเขาจะไม่ให้กูกินเสียแล้ว ไอ้ฉิบหาย!! ตอนก่อนจะไปกูก็ถามมันอย่างดีว่า “เอาพัดยศหรือเปล่า” มันก็บอกว่า “ไม่เอาๆ”  นี่แหละเรื่องอย่างนี้แหละ ใครเขาเห็น ใครเขาไม่รู้ก็ตำหนิท่านท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านสร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างพระอุโบสถ เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและชนรุ่นหลัง นอกจากนั้นท่านยังไปช่วยหลวงตามหาบัวสร้างวัดที่บ้านสถานีทดลองกสิกรรมอีก ท่านทำประโยชน์มาก แต่ตาคนธรรมดาไม่ถึงธรรมท่าน มักมองผ่านเลยไปเลยไปชอบพระหลอกๆ มีมายาเยอะๆ เป็นอย่างนั้นไป



จากซ้าย : พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโร

ครูบาอาจารย์องค์สำคัญมาเยี่ยมเสมอ
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านเป็นพระสำคัญ แต่คนโดยส่วนมากไม่รู้ ดูจากภายนอกไม่เห็นความหมายดีเด่นอะไร แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นระยะๆ อันเป็นสิ่งแปลกมากก็คือ พระอาจารย์องค์สำคัญๆ เช่นหลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์วัน พระอาจารย์จวน พระอาจารย์สิงห์ทอง หลวงพ่อพุทธ พระอาจารย์สุวัจน์  และสายพระป่าองค์สำคัญๆ อีกมากมายมักจะเดินทางมาเยี่ยมและกราบเยี่ยมท่านเสมอ   โดยเฉพาะพระอาจารย์วัน อุตฺตโม มาเยี่ยมบ่อยเป็นพิเศษ มาแต่ละครั้งจะแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระอาจารย์เจี๊ยะมาก ในช่วงระยะนั้นพระอาจารย์วันท่านโด่งดังมาก เดินทางมาทีมีลูกศิษย์นั่งรถเบนซ์ติดตามเป็นแถว เมื่อพระอาจารย์วันเข้ามาเจอพระอาจารย์เจี๊ยะ พระอาจารย์วันจะแสดงกิริยาประดุจเณรน้อยๆ คลานเข้าไปกราบพระอาจารย์เจี๊ยะใกล้ๆ ถามอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกๆ ครั้งที่ถามพูดจะยกมือพนมเสมอ ส่วนพระอาจารย์เจี๊ยะก็สบายๆ ไม่คลุมจีวรใส่แต่อังสะนั่งสบายเฉยๆ
 
พระอาจารย์เจี๊ยะถามพระอาจารย์วันขึ้นว่า “วันโว้ย!...ทำไมถึงดังวะ!”    “มันถึงคราวมันครูบาอาจารย์” พระอาจารย์วันกราบเรียน แล้วก็เอามือนวดแข้งนวดขาให้พระอาจารย์เจี๊ยะ
 
มีอยู่คราวหนึ่งในงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เขานิมนต์พระมาสวดมนต์ฉันเช้า ๙ รูป พระอาจารย์วันเป็นหนึ่งใน ๙ รูปนั้น พระอาจารย์วันนั่งฉันในปะรำพิธีที่สูงกว่า มองเห็นพระอาจารย์เจี๊ยะนั่งฉันปะปนกับพระหนุ่มเณรน้อยอยู่ด้านล่าง พอฉันเสร็จพระอาจารย์วันก็เข้ามาขอขมาต่อพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ครูอาจารย์! เกล้าฯ ขอขมาที่นั่งสูงกว่า” ทำเอาพระเณรทั้งหลายตกใจกันใหญ่
 
อีกครั้งหนึ่งในงานฉลองพระใหญ่ วัดพระบาทภูคำ จังหวัดขอนแก่น ที่อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการามไปสร้างไว้ พระอาจารย์วันขึ้นนั่งบนแท่นใหญ่ในพิธี พระอาจารย์เจี๊ยะนั่งข้างล่าง พระอาจารย์วันเห็นรีบกระโดดลงมาขอขมาพระอาจารย์เจี๊ยะบอกว่า “วัน...ไปๆ ไม่เป็นไร”  พอตกดึกๆ สงัดจากผู้คน พระอาจารย์วันก็เดินเข้ามากราบสนทนาธรรมะกับพระอาจารย์เจี๊ยะเป็นเวลาชั่วโมงๆ เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะพูดธรรมะพระอาจารย์วันจะนั่งนิ่งฟัง  พระอาจารย์เจี๊ยะถามว่า “วัน...ถึงไหนพิจารณาอย่างไร?”  พระอาจารย์วันกราบเรียนว่า “ถึงตรงนั้น พิจารณาอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น”
 
พระอาจารย์เจี๊ยะก็ขึงขังขึ้นมาทันทีว่า “มันต้องอย่างนั้นซิวัน เรื่องนิพพานกับเรื่อง ...นี้ มันต้องพิจารณาอย่างนั้นนะ กามราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาต้องตีให้กระจุยกระจาย” พระอาจารย์เจี๊ยะพูดซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น พระอาจารย์วันนั่งนิ่งเงียบ
 
กับพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ก็เหมือนกัน เวลาที่พระอาจารย์เจี๊ยะ มีโอกาสเดินทางไปทางภาคอีสาน ท่านให้ลูกศิษย์ติดตามหอบหิ้วหัวปลาแห้งไปฝากพระอาจารย์สิงห์ทอง พระอาจารย์เจี๊ยะจะพูดถึงพระอาจารย์สิงห์ทองเสมอว่า “ทอง! มันขี้เล่นว่ะ แต่มันเฉียบ! มันหมดแล้วนะ มันเฉียบ! แต่มันขี้เล่นไปหน่อย เดี๋ยวเอาหัวปลาไปฝากมันหน่อยว่ะ มันชอบว่ะ”
 
สมัยก่อนครูบาอาจารย์ท่านเคารพรักกันมาก เห็นแล้วเข้ากันสนิทด้วยคุณธรรม ไม่เหมือนสมัยนี้แซงหน้าแซงหลัง
 
ในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๐๐ พระอาจารย์เจี๊ยะไปช่วยงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษของท่านพ่อลีที่วัดอโศการาม หลวงปู่ตื้อนั่งรถแท็กซี่มาหาพระอาจารย์เจี๊ยะ พร้อมกับตะโกนพูดว่า  “เจี๊ยะโว๊ย! วัดแตกแล้วโว๊ย” ในที่สุดก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตอนหัวค่ำหลวงปู่ตื้อเทศน์ ตอนดึกๆ พระอาจารย์เจี๊ยะเทศน์ เทศน์ถึงพริกถึงขิง คนที่มาในงานฟังเทศน์แตกฮือ! บางคนถึงกับฟังไม่ได้ รับไม่ได้



หลวงปู่เจี๊ยะนิมนต์ให้หลวงตามหาบัวมาอยู่สถานีทดลอง
หลวงตามหาบัวเล่าเรื่องหลวงปู่เจี้ยะไว้ว่า ... ท่านอาจารย์เจี๊ยะเข่าท่านไม่ดี ต้องฉันยาแอสไพรินตั้งแต่อยู่สกลนครด้วยกัน เข่าท่านไม่ดี เดินลักษณะกระเผลกๆ นิดๆ ทั้งๆ  ที่ท่านยังหนุ่ม อยู่ด้วยกันที่บ้านโคกนามน ดูเหมือนท่านพรรษาได้ห้า เราพรรษาได้แปด ท่านเป็นตั้งแต่ท่านยังหนุ่ม แล้วต่อเรื่อยมาท่านยังไม่หาย เห็นท่านเอายาแอสไพรินมาฉัน เข่าท่านเขยกนิดๆ ไม่ปรากฏว่าหายนะ คือมีแต่เรื่อยๆ มา จนกระทั่งเพิ่มมาจนบัดนี้นะ ไม่หายโรคนะ ท่านเป็นมาก่อนหน้าไปอยู่บ้านโคกนามนเสียอีก ท่านเป็นมากี่ปีแล้วไม่หายนะ แต่เวลาท่านไปนั่นพรรษาได้ห้าเนี่ย ท่านเป็นอันนี้แล้วเนี่ย
 
ท่านเป็นผู้สร้างวัดบ้านสถานีกสิกรรม ตำบลพริ้วให้เรานะ เราไม่ลืมคุณท่านนะท่านเองแหละไปนิมนต์เรา ตอนนั้นเราอยู่ยางระหงกับโยมแม่ เอาโยมแม่ไปภาวนาพอ...แล้วก็พาโยมแม่ลงมาจันทบุรี เพราะให้ห่างจากอารมณ์ลูกๆ หลานๆ เราพาหนีเลย พอบวชเสร็จแล้วก็พาหนีมา เข้าไปอยู่ยางระหง ที่นั่นมันไม่มีบ้านคนนะ แต่ก่อนดงจริงๆ ไปพักสบายๆ นะ แต่อาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านเข้าไปเองเลยนะไปนิมนต์เรา ไปนิมนต์เราที่บ้านยางระหงให้มาสร้างวัดที่สถานีทดลอง ท่านบอกว่า พี่สาวเจ๊ลุ้ย  คุณรัตน์ซื้อที่ดินไว้ ๒๖ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐ เงินหมื่นห้าพันแต่ก่อนแพงมากนะ ซื้อไว้หมื่นห้าพัน ท่านมานิมนต์เราให้ไปสร้างวัดที่นั่น ก็พอเหมาะพอดีท่านว่าอย่างนั้น ท่านอาจารย์ก็มีโยมแม่มาด้วย สถานที่นั่นก็กว้างพอสมควรเลยแหละ เราออกจากบ้านยางระหงไปเฉพาะกับท่าน ไปค้างที่บ้านเจ๊ลุ้ยพี่สาวท่าน เขามีโรงน้ำตาลเล็กๆ อยู่  บ้านเขาก็อยู่ห่างๆ ล่ะ มันสงัด พูดคำไหนมันก็ได้ยินหมดชัดเจน  ไปพักอยู่โรงน้ำตาลกับท่านอาจารย์เจี๊ยะ พักอยู่ด้วยกัน มีแคร่ เขาเอาเตียงไปให้พักคืนเดียวเนี่ย นั่นล่ะตกลงกันเสร็จที่จะได้สร้างวัดนะ
 
พอเริ่มสร้างวัดนะ แล้วสมชื่อสมนามว่าท่านนิมนต์เราไปอยู่ บอกพี่สาวท่านอยากถวายที่ให้พระกรรมฐานว่าอย่างนั้น พอเรารับคำว่าจะอยู่แล้ว ท่านสั่งหมดเลยนะ เพราะคนแถวหนองบัวนี่เป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น ท่านสั่งเลย โยมนี้หลังหนึ่ง โยมนั้นหลังหนึ่ง โยมนั้นหลังหนึ่ง สั่งเลย เขาก็มาต่างคนต่างมาทำของเขา ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เราไปพักอยู่ยางระหง เขาก็ทำของเขาไม่มาเกี่ยวข้องอะไร พอทำเสร็จแล้วท่านไปนิมนต์เรามา มาที่มาอยู่เลย ท่านจัดทั้งนั้นนะ เราไม่ได้จัด เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นคุณของท่าน ยังไม่ลืมนะ คุณนี่รู้สึกว่าลึกซึ้งมาก นี่อาจารย์เจี๊ยะล่ะที่นิมนต์เรามาและสร้างวัดทั้งหมดให้เราอยู่ เราไม่ได้ยุ่งอะไรเลยนะ ไม่มีอะไรที่เราจะเกี่ยวข้องกับญาติโยมเรื่องของท่านสั่งทีเดียวปุ๊บๆ หมดเลย ศาลาเราบอกแล้วให้พออยู่เท่านั้นอย่าให้หรูหราเป็นล้าน เท่านั้นแหละนะเราก็บอก ท่านก็ทำอย่างนั้น กุฏิสูงแค่นี้ แค่นี้เราบอกไว้หมดไม่ให้สูง แค่นี้ลงปั๊บขึ้นปั๊บแล้วแอ้มด้วยจาก มุงด้วยจาก พระติดไปกับเราคราวนั้นตั้งสิบเอ็ดสิบสององค์ล่ะนะ ท่านเพ็ง ท่านเพียรท่านสิงห์ทอง ที่จำได้นะ รวมแล้วตั้งสิบสององค์ไปจำพรรษาที่นั่น เราไม่ได้ขวนขวายแม้แต่หน่อยหนึ่งเลยนะ ท่านจัดการท่านสั่งเสียหมด เพราะแถวนั้นเป็นโยมลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น ท่านก็บอกเลยว่านี่ ท่านเป็นคนไปนิมนต์เรามานะ ท่านเอาอย่างนั้นนะ  ต้องทำให้ดีๆ นะ ท่านก็ว่าอย่างให้โป้งป้างๆ ของท่านนั่นแหละ (หัวเราะ) เราก็มาอยู่จำพรรษาที่นั่นแหละ
 
ท่านเป็นนิสัยตรงไปตรงมาอาจารย์เจี๊ยะนะ เรารู้จักนิสัยท่านดี พ่อแม่ครูอาจารย์นี่เมตตาท่านมากนะ ไม่ใช่เล่นๆ นะ ดูประหนึ่งว่าเหมือนพ่อกับลูกเลย เราดูนะ ท่านทำอะไรกิริยาภายนอกท่านโผงผาง บ๊งเบ๊งนะ แต่เวลาให้ท่านทำอะไรไม่มีใครละเอียดยิ่งกว่าท่าน ทุกอย่างละเอียดหมดเลย ท่านทำ แม้แต่นั่งอยู่กับเราอย่างนี้นะ เห็นเศษด้ายอะไร เขาเรียกไหมเย็บนะ ท่านนั่งอยู่นั่นปุ๊บปั๊บ! เข้ามาจับผ้าเนี่ย เราก็ถามท่านว่า “อะไร มันเรื่องอะไรวะ”  อาจารย์เจี๊ยะก็ตอบว่า “อาจารย์...มันอะไรน่ารังเกียจ” จับดึงปั๊บออกให้เรา ท่านละเอียดจริงๆ ท่านจัดบริขารของหลวงปู่มั่นใครไปแตะไม่ได้นะ ละเอียดขนาดนั้น บริขารของหลวงปู่มั่นเรียบวุธ ท่านจัดพอดีเลยเรียบ บาตรทุกสิ่งท่านทำหมดเลย ใครก็ไม่เข้าไปยุ่งท่านล่ะ ความละเอียดของท่าทางในท่านละเอียดมากนะ กิริยาภายนอกบ๊งเบ๊งๆ ก็จริง แต่ภายในท่านละเอียดมาก ทำอะไรโอ๊ย...ทำ ทำละเอียดลออ ทราบว่าท่านเคยทำทองมาก่อน การทำทองมันต้องใช้ความละเอียด สังเกตไฟอะไรๆ นะ พวกทอง ท่านเคยทำทองมาก่อน
 
ท่านบอกตรงๆ เลย ท่านพูดต่อหน้าเราเลยนะ เพราะท่านเป็นนิสัยอย่างนั้น ผมกลัวอยู่สององค์เท่านั้น ท่านว่าอย่างนั้นนะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นหนึ่งกับท่านอาจารย์ นอกนั้นผมไม่ได้กลัวใคร (หัวเราะ) พูดตรงๆ อย่างนี้นะ นี่ล่ะตอนที่เห็นชัดเจนนะ
 
วัดบ้านสถานีกสิกรรม (ปัจจุบันเป็นวัดศรัทธาวราวาส) ตั้งอยู่บ้านสถานีกสิกรรม ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ห่างจากตลาดสถานีกสิกรรมไปทางทิศตะวันตก ๑ กิโลเมตร สถานที่ตั้งวัดสะอาดเรียบร้อย ด้วยพื้นที่เป็นดินปนทราย อยู่ในหมู่ยางพาราเป็นป่าละเมาะ ฝนตกก็ไม่ชื้นแฉะ เป็นสถานที่น่าอยู่มาก อากาศไม่อบอ้าว เพราะเป็นป่ามีร่มไม้กำบัง ป่าโปร่ง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากน้ำตกพลิ้ว ประชาชนในย่านนี้เป็นซาวสวนทั้งสิ้น คือประกอบอาชีพทางกสิกรรม เช่น สวนเงาะ สวนทุเรียน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้รักความสงบ
 
ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะได้สร้างถาวรวัตถุถวายท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน คือ   ๑. ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้  ๒ ชั้น ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๘ เมตร   ๒. กุฏิถาวร ๘ หลัง  สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง   ๓. พระพุทธรูปบูชา และธรรมาสน์เทศน์   ๔. ตู้เก็บของขนาดใหญ่ ๒ หลัง และนาฬิกา ๑ เรือน  ปี ๒๔๙๘ เมื่อท่านอาจารย์มหาบัวไปแล้ว ก็รู้สึกว่าซบเซาเงียบเหงาขาดผู้อบรมสั่งสอน ต่อมาในปี ๒๔๙๙ ท่านอาจารย์เฟื่อง โชติโก เป็นชาวบ้านเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มาอยู่ต่อเพียงหนึ่งพรรษาท่านก็จากไปอีก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2558 16:20:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 03 มีนาคม 2558 16:22:10 »

.

พรรษาที่ ๑๔ - ๒๔ (พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๓)  (ต่อ)
จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี


ธุดงค์เขากระแจะ
หลวงปู่เจี๊ยะเล่าประวัติต่อไปว่า...ในขณะที่เราอยู่จำพรรษาที่วัดเขาแก้วนั้น เมื่อออกพรรษาปี ๒๕๐๒ – ๒๕๐๓ เราและพระมหาประสิทธิ์ ได้ออกเที่ยวธุดงค์ที่เขากระแจะ ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขากระแจะ บ้านคลองขวาง หมู่ที่ ๕ ตำบลแสลง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อาจารย์เจือ สุภโร ซึ่งเป็นหมู่เพื่อนกันได้มาอยู่ก่อนแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก หลังวัดเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกกันว่าเขากระแจะ สูงประมาณ ๔๐ เส้น ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นรมณียสถานน่าอยู่ ตามริมชายเขามีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่มร่มเย็น มีโขดหินสวยเรียงรายเป็นทิวแถว สมัยนั้นไม่มีผู้คนเดินทางเข้าไป สัตว์ป่ายังมีเยอะ เป็นสถานที่เก่าที่พระกรรมฐานเคยมาพักอาศัยอยู่ เป็นสถานที่เป็นมงคลในการภาวนา พระรูปใดเข้าไปอยู่ไม่ภาวนา ทุศีล ต้องมีอันเป็นไปทุกราย บางรูปก็ผูกคอตายบนต้นไม้บริเวณเชิงเขา
 
ในคราวที่เรามาภาวนาอยู่นั้น มีช้างเสือเต็มไปหมด มันเดินผ่านมาทางเขากระแจะนี้ ไปทะลุเขาแกลง เขาจะปรง เขาพระบาท ช้างมันเดินตัดทางเขากระแจะนี่ข้ามไปทางโน้น ข้ามไปอยู่เขาแกลง ทางไปกรุงเทพฯ โน่น  เดินขึ้นไปทางเขาใหญ่โน่น สมัยก่อนเทือกป่าติดต่อกัน ป่ายังเป็นป่า เขายังเป็นเขา ลำธารยังเป็นลำธารอยู่ อาหารการกินมันเยอะ
 
ตอนที่เราเข้าไปอยู่ที่เขากระแจะนั้น ช้างมันเดินเหยียบแหลกหมด ในคลองด้านหลังเขา ช่องไหนที่เป็นป่าไผ่ มันจะลงไปหากินเป็นช่องเฉพาะ ตอนเรามาทีแรกๆ เป็นดงใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ๆ
 
นอกจากช้างแล้วเสือก็ชุม เวลายกกุฏิที่อยู่อาศัย ต้องยกเสาสูงๆ ไม่งั้นเสร็จ จะเดินทางไปไหนมาไหนต้องไปด้วยเกวียน ถนนหนทางไม่มี ไม่มีเกวียนก็ต้องเดินเท้าเข้ามา เราเดินเท้าเข้ามาพร้อมพระมหาประสิทธิ์ เตชสิทฺโธ วัดจันทนาราม มาภาวนาหาที่สงบอยู่กัน อยู่กับคนเมืองมาก เบื่อเรื่องมาก หลายคนหลายเรื่อง หลายจิตหลายใจ ส่วนมากมีแต่ใจยุ่งๆ ทั้งนั้น  เขากระแจะเป็นสถานที่สำคัญมากอยู่นะ เรื่องเทวดาที่นี่สำคัญ มีอะไรมาปรากฏให้เห็นบ่อยๆ แต่ถ้าเล่าแล้วจะเป็นการอวดไป
 
เรื่องการดุด่าว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่การนำธรรมะบางอย่างมาพูดจนเลยเถิดจะกลายเป็นความไม่พอดี ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่า “เหลือแต่พูด บ่จักบ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถึกดงเสือฮ้าย”   ถ้าเราปฏิบัติไม่ดำเนินตามรอยอริยมรรคปฏิปทาแล้ว เพราะกิเลสมันเหมือนเสือร้ายที่หลบซ่อน จะกินเราได้ทุกเมื่อเวลาเดินเข้าป่ารกชัฏ การพูดธรรมะก็เช่นเดียวกัน พึงระวัง พูดไปมากๆ บางทีไม่มีคนฟัง คือไม่รู้กาลเทศะ ไม่มีหนักมีเบา มีสันมีคม มีหน้ามือหลังมือ การปฏิบัติก็เช่นกัน ต้องเดินไปตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า อย่าปลีกแวะ ไม่งั้นจะเข้ารกเข้าพง ท่านเปรียบเหมือนเสือร้าย ก็คือนรกอเวจี กิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง







พรรษาที่ ๒๕-๒๗(พ.ศ. ๒๕๐๔- ๒๕๐๖)
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


กราบฝ่าเท้าหลวงตามหาบัว
หลวงตามหาบัวเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๔ ที่สวนแสงธรรมว่า
“อาจารย์เจี๊ยะ ...เคยจำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าบ้านตาด ไปจำที่บ้านโคกกับหลวงปู่มั่นก็จำพรรษาด้วยกัน มาคราวนี้เลยยังไม่ได้ไปเยี่ยมท่าน ท่านเป็นผู้ป่วย เราควรไปเยี่ยมท่านถึงถูกต้อง ถ้าท่านไม่ป่วย ท่านก็ควรมาเยี่ยมเรา แต่นี่ท่านป่วย เราควรจะไปเยี่ยมท่านนะ
 
ท่านเป็นพระดีนะอาจารย์เจี๊ยะ พูดเรื่องภายในเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง คือกิริยาภายนอกท่านไม่น่าดูนะ กิริยาท่านข้างนอก บ๊งเบ๊งๆ อะไร รู้สึกว่ามันไปอีกแบบหนึ่ง ยิ่งกว่าหลวงตาบัวเข้าไปอีก (หัวเราะ) แม้แต่หลวงปู่มั่นก็ยังเถียงกันตาดำตาแดง
 
ตอนปี ๒๕๐๕  ท่าน (พระอาจารย์เจี๊ยะ) ไปจำพรรษากับเราที่วัดป่าบ้านตาดนั่นล่ะ  เราจะเริ่มปลูกกุฏิหลังนั้นล่ะนะ พวกโยมเขาก็ไปขุดดิน เกลี่ยดินที่จะปลูกฐาน ทีนี้ท่านก็ไปทำอะไร เขาเรียก “คราด” อะไรสำหรับกวาดดินนั่นแหละ ทีนี้ท่านทำไม่รู้จักเวลาล่ะสิ กำลังจะมืดแล้วนี่นา เราเดินจงกรมอยู่ ก็เงียบ เป็นเวลาที่พระท่านเดินจงกรม เสียงปังๆ ขึ้นเลยกลางวัดนี่ เอ๊ะ! มันเสียงใครมาทำอย่างนี้นะ เราก็เดินไปเลยแหละ เดินไปท่านอาจารย์เจี๊ยะ ท่านทำคราดนั้นนะ สำหรับกวาดดินกุฏิเรา ท่านไปทำเอาเวลาไม่ควรล่ะสิ เสียงดังเปรี้ยงๆ ขึ้นท่ามกลางวัดเงียบๆ นะ เราก็เดินจากทางจงกรมแล้วไปเลย ไปก็ไปเห็นท่านกำลังทำอยู่ เราก็ยืนเลย เอากันทีเดียว
 
“ท่านอาจารย์เจี๊ยะ” ว่าอย่างนี้เลยนะ “ถ้าหากว่าท่านอาจารย์ไม่เคยอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มาแล้ว ผมก็จะว่าให้ท่านนะ นี่ท่านเคยอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมาแล้ว ท่านสอนยังไง กิริยายังไง ทำไมท่านถึงมาทำอย่างนี้” พอว่าแล้วก็เดินกลับเลย
 
พอตื่นเช้าขึ้นมาท่านอาจารย์เจี๊ยะไปรออยู่ที่บนศาลา ท่านไปนั่งรอตรงที่เรานั่ง พอเรานั่งกราบไหว้พระเสร็จแล้ว เราก็มานั่งพัก ท่านปั๊บเข้ามาเลย มาจับขาเราดึงออกไปนะ
 
เราก็พูดว่า “ดึงออกไปทำไมขา วะ” 
อาจารย์เจี๊ยะท่านก็ว่า “โอ๊ย! ผมขอกราบซักหน่อยเถอะ” พอกราบแล้วน้ำตาร่วงต่อหน้าเรานะ 
“แหม! ท่านอาจารย์พูดทำไมถึงถูกต้อง ศัพท์เสียงอะไร ลักษณะเหมือนกับท่านอาจารย์มั่น” ขึ้นถึงศัพท์ถึงเสียงเลยนะ
“ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย อู้ย! ผมกราบไหว้เลย เมื่อคืนนี้ผมสลดสังเวช ผมนี้ผิดจริงๆ ” นั่นเห็นมั้ย ท่านว่าอย่างนั้นนะ
 
เพราะเราก็อ้างว่า “ถ้าท่านไม่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นมา ผมก็จะว่าจะสอนท่าน นี่ท่านอยู่มาแล้วนี่ จะให้ผมสอนท่านว่ายังไง”
นี่ล่ะท่านทิ้งปั๊วะเลยนะ
 
เพราะฉะนั้นตอนเช้าถึงมารอกราบ แล้วลากเท้าเราไปเลยนะ ไปกราบกับฝ่าเท้าเลย
“ผมขอกราบท่านสนิทใจเลยๆ” ทั้งกราบทั้งน้ำตาร่วงเลย  ท่านว่า “ผมยอมท่านอาจารย์ ดูลักษณะท่าทางไม่ผิดท่านอาจารย์มั่น ผมจับได้หมดเลย ผมเคารพสุดยอด” ฉะนั้นจึงกราบแล้วก็น้ำตาร่วง
 
ท่านถึงได้บอกว่า “พระนี่ผมกลัวอยู่สององค์เท่านั้น ท่านอาจารย์ใหญ่กับท่านอาจารย์มั่น นอกนั้นผมไม่กลัวใคร” ว่าอย่างนี้วะ พูดตรงๆ อย่างนี้ ท่านมีนิสัยทำอะไรละเอียดลออมาก เราถึงได้บอกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”  ภายนอกท่านกิริยาโผงผางๆ แต่ภายในท่านละเอียดลออ ทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดหมดนะ หลักธรรม หลักวินัยไม่เคลื่อนคลาดเลย เนี่ยที่เราชมท่านนะ หลักธรรมหลักวินัยไม่เคลื่อนคลาดสะอาดมากทีเดียว อยู่กันมานาน  อยู่ทางสกลนครก็อยู่ แล้วท่านก็ไปอยู่กับเราด้วย
 
จากนั้นไปพักที่ยางระหงก็ไปมาหาสู่กันตลอด แล้วยิ่งอยู่มาเรื่อยมาอย่างนี้แหละ ว่างั้นเถอะ แม้ที่สุด สร้างวัดสถานีทดลอง ท่านก็สร้างให้หมดเลย เราไม่ได้เกี่ยวข้อง ท่านจัดการให้หมดทุกอย่างเลย




หลวงปู่ขาว อนาลโย

พรรษาที่ ๒๘-๒๘ (พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๐๘)
จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี


หลวงปู่ขาวเตือน
หลวงปู่เจี๊ยะเล่าประวัติว่า
เราเคยคุยสนทนาธรรมกับปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล อู่ข้าวนี่เป็นผู้มีคุณธรรมอันสำคัญองค์หนึ่ง เพราะได้รับสมัญญาจากพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นว่า “เป็นผู้มีคุณธรรมสำคัญ”  เรื่องนี้เราเป็นผู้ได้ยินมากับหูเอง เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดเฉพาะเป็นเรื่องภายในหมู่พระฟังเท่านั้นว่า “เออ!...หมู่เอ๊ย! ให้รู้จักท่านขาวไว้ด้วยเน้อ เธอได้พิจารณาของเธอแล้วมาเล่าให้เราฟัง   

ท่านขาวเป็นพระสำคัญให้จับตาดูให้ดี” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดถึงใครเพียงเท่านี้มันก็กินหัวใจแล้ว  เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ)คิดว่า  “ปู่ขาวนี้ต้องเป็นพระสำคัญแน่นอน” ตอนนั้นเรายังไม่ทันรู้จักท่าน (ปู่ขาว)
 
ในขณะที่เราได้จำพรรษากับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพล มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่อยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล ตอนนั้นได้ไปอาสาหลวงปู่ขาวทำอ่างเก็บน้ำ เมื่อทำงานกลางวันงานไม่เสร็จ เราจึงลงมาทำในตอนกลางคืนซึ่งเป็นเวลาภาวนาของพระ ส่งเสียงรบกวนไปทั่ววัด เราใช้ฆ้อนปอนด์สะกัดหิน ทุบหิน เสียงดัง เพ้ง...เพ้ง...เพ้ง...หลวงปู่ขาวท่านได้ยินก็ถามพระว่า
 
“นั่นเสียงใครทำอะไร เสียงดังลั่น”
"เสียงท่านอาจารย์เจี๊ยะสกัดหิน” พระท่านกราบเรียน
“ไปเรียกมาซิ ทำงานอะไรไม่รู้จักเวล่ำเวลา” องค์หลวงปู่ท่านบ่นๆ
 
เมื่อเราเข้ามาถึงหลวงปู่ขาวท่านจึงพูดขึ้นว่า “ท่านเจี้ยะ ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่มั่นไม่ฝากท่านไว้กับผม ผมไล่ท่านหนีแล้วนะ”

ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้ ก็ทำให้เราตื้นตันใจถึงท่านพระอาจารย์มั่นยิ่งนัก สาเหตุที่เราต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำทั้งกลางวันทั้งกลางคืนนั้นเพราะต้องการให้งานเสร็จโดยเร็วเพราะว่า ยิ่งยืดเยื้อยิ่งจะก่อความรำคาญแก่พระเณรไปนาน รีบๆ ทำรีบเสร็จน่าจะดีกว่าปล่อยให้คาราคาซัง เมื่อหลวงปู่ขาวท่านเตือนอย่างนั้น เราก็นั่งนิ่งรับโทษ ไม่ได้โต้ตอบแต่ประการใด




หลวงปู่จันทา ถาวโร

พระอาจารย์จันทาถามปัญหาหลวงปู่เจี๊ยะ
พระอาจารย์จันทาถามว่า “หลวงปู่...กิริยาภายนอกของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ จะไม่กลัวคนตาหน้าเอาบ้างหรือ?”
 
พระอาจารย์เจี๊ยะจึงตอบว่า “อันว่ากิริยาภายนอกนั้นจะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจจนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่าคนที่กิริยางามแต่ใจไมเที่ยง เพราะนิสัยวาสนาคนเรามันไม่เหมือนกัน เขายังมีคำพูดอยู่มิใช่หรือว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจึงไม่ไปแข่งวาสนากับใคร เราเป็นอย่างนี้จึงพอใจอย่างนี้ เพราะนิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้”
 
“เป็นยังไงหลวงปู่จิตใจ ในเรื่องการภาวนาจะพ้นทุกข์ได้ไหม” ท่านพระอาจารย์จันทาถามอีก 
พระอาจารย์เจี๊ยะตอบว่า “ผมก็รู้ว่าผมนี่รอดพ้นได้แล้วนะ รอดมันแล้วไม่คืนมาอีกแล้ว เรามาอยู่มาพบพระอาจารย์มั่น ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านกับท่าน ศึกษาอะไรนึกว่าท่านจะไม่รู้ แหม!...รู้หมดทุกอย่างไม่เหลือวิสัย นึกคิดทางใจท่านก็รู้ ถูกผิดท่านก็รู้
 
เพราะฉะนั้นผมเองก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเอาผิดท่านได้ เอาแค่รู้ถูกทั้งนั้น ดูกิริยามารยาทเรียบร้อยคือพระอาจารย์มั่น เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของใครก็ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามในทางไม่ดีดอก เข้าสู่สังคมก็เรียบร้อยน่าชม น่าเอาเป็นครูเป็นอาจารย์ดี ดูกิริยามารยาททุกอย่างถูกต้องตามพระวินัยดีถูกต้องทุกอย่างดีเลิศประเสริฐไม่มีสิ่งใดผิดพลาด มีแต่เอาถูกทั้งนั้นไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
 
เพราะภาวนาในสมัยนั้นไปอยู่ร่วมกับหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ อุดรฯ โนนนิเวศน์ หนองน้ำเค็ม สกลนคร แล้วก็ย้อนกลับไปที่บ้านเกิดจันทบุรี ที่จันทบุรีจึงเป็นที่สำคัญของผม ตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย”
 
พระอาจารย์จันทาเรียนถามต่อไปอีกว่า “หลวงปู่เห็นผู้สาวสวยๆ ไม่ชอบบ้างเหรอ? ”
“โอ! ไม่ชอบมันดอก เบื่อหน่ายมัน ไม่สนใจล่ะเหม็นตดมัน เดี๋ยวมันสิตดให้ดม คำว่า “เจี๊ยะๆ” นี่ ไม่คืนกลับมาดมขี้ ดมตดใครอีก”
 
“โลกสามไม่กลับคืนมาแล้วหรือปู่” พระอาจารย์จันทาถามย้ำ
“เรา...ไปเลยแหละ อยู่ฮีแม่มันทำไมอีกล่ะ คำว่า “เจี๊ยะๆ” ไม่คืนกลับมาเป็นขี้ข้ากิเลสราคะตัณหาของใครอีกแล้ว มุดทะลวงออกทะเลไปเลย...ว่ะ” พระอาจารย์เจี๊ยะตอบอย่างเด็ดขาด
 
“ไม่ขึ้นมาอยู่บนโลกสามนี้กับหมู่เพื่อนทั้งหลายอีกแล้วหรือปู่” พระอาจารย์จันทาถาม
“สูเอ๊ย...ถ้ายังมีการคืนมาอยู่ มันก็ไม่ใช่พระนิพพานน่ะซิวะ พระนิพพานแปลว่าสถานที่เยี่ยมล้ำเลิศประเสริฐสุด หาสิ่งใดเสมอเหมือนไม่มี ไม่มีภพชาติสังขารแล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงมาอยู่ร่วมกับหลวงปู่ขาว เพราะท่านพูดจริงแนะนำสิ่งที่ดีทุกอย่าง  ไม่พูดโกหกหลอกลวงใครทั้งนั้น”
 
“ผมจะได้ไหมหลวงปู่ พระนิพพาน” พระอาจารย์จันทาถาม
“โอ๊ย! บอกคนอื่นไม่ได้ แล้วแต่ตนเองจะทำได้ ได้เมื่อไหร่ตามแม่มึงแหละ มึงขี้คร้านภาวนา”
“โอ๊ย! ก็ว่าหมั่นขยันแล้วนะ...หลวงปู่ แต่แล้วมันก็ไม่ปรากฏรสชาติอะไรเพียงแต่ว่าอยู่ได้ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิลงครั้งเดียว”

 

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนจุ๊กจั๊ก ทำงานชอบนุ่งผ้าถกเขมรเหน็บเตี่ยว เปิดตูด ทำให้เห็นแก้มก้นสองข้าง พอเราเห็น ท่านก็ว่า
“มึงสิดมดากกูบ่...บักห่า”
“ดากดำๆ บ่ดมดอก...ปู่”
 
ท่านนุ่งผ้าเหน็บเตี่ยว ถกเขมรทำงานเก่ง เวลาเลิกทำงานอาบน้ำ ฉันน้ำร้อนก็คุยธรรมะ คุยเรื่องธรรมะเก่ง เล่าละเอียดให้ฟังไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เรื่องอะไร สำหรับหลวงปู่เจี๊ยะท่านได้รู้ ได้เห็นแล้ว เราไม่รู้ไม่เห็นธรรมอย่างท่าน คุยกับท่านมันก็ไม่รู้เรื่องกัน
 
ปู่เจี๊ยะท่านชอบคุยเรื่องพิจารณากายให้ฟัง คุยถึงครูบาจารย์มั่น ท่านเรียกหลวงปู่มั่นว่า “ครูบาจารย์มั่น” ท่านสอนให้พิจารณากาย กาเยกายานุปัสสีวิหะระติ กายเป็นเพียงที่พึ่งพิงอิงอาศัยของใจเท่านั้น หายใจเข้าออก เข้าพุธ ออกโธ เท่านั้นล่ะท่านว่า
 
“เอ้า!...นิมนต์หลวงปู่พูดธรรมะให้ฟังหน่อยเถอะจะได้จำไว้”
“ร่างกายนี้ เป็นที่พึ่งที่อิงอาศัยของใจ เอาเท่านั้นก็พอไม่ต้องเอามาก  จะพูดอย่างละเอียดให้ฟังก็ไม่ได้เพราะมันไม่รู้ด้วยกัน มันต้องรู้ ได้เห็นของจริงทุกอย่าง ไอ้ห่านี่ บักห่านี่”  ท่านพูดแต่สำเนียงอย่างนี้เสมอ
“ไม่อยากได้เมียหรือหลวงปู่” พระอาจารย์จันทาพูดหยอกเล่น
“บ่อยากได้ดอก เหม็นฮีมัน”
“ฮ่วย..ฮีนั่นเป็นบ่อเกิดกำเนิดสงสาร ไปเหม็นของเขาทำไมล่ะหลวงปู่”
“ครูบาจารย์มั่นไม่ให้กูดม ดมทำไมของเน่า หลอกลวงให้เวียนเกิด เวียนตาย เวียนบ่หน่ายอยู่ในโลกสาม”
 
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคารพหลวงปู่ขาวดี ท่านว่า “หลวงปู่ขาวเป็นพระอรหันต์นะ ประมาทไม่ได้ ท่านรู้หมด เราคุยกันอยู่ตรงนี้ หลวงปู่ขาวท่านก็รู้ เราเคารพท่านไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เคารพปู่ขาวเนี่ย”
 
ปู่เจี๊ยะท่านก็ดี ฟังแต่ว่าเจี๊ยะๆ เถอะ “บักห่า...มึง” พั่นวะ ทำงานนุ่งแต่ถกเขมรผ้าเหน็บหางกะเตี่ยว เปิดแก้มก้น เปิดฮู้ดากเลย นุ่งแต่เพียงผ้าอาบน้ำ พันเป็นเกลียวเข้าร่องตูด ท่านเดินทำงานสบาย วัดถ้ำกองเพลมันกว้าง เวลามีมอเตอร์ไซค์เขามา  ท่านก็ขอซ้อนท้ายเขาเฉย
 
“คนอื่นเขาจะเห็นตูดแล้ว หลวงปู่”
“เห็นช่างแม่เถอะ!!! มันอยากได้ให้มันมาเลียเอา”
“โอ๊ย!...เขาบ่เลียดอก ขี้เดียดวะตูด”
 
เราพูดกันกับท่านได้ดี ท่านบ่ฮ้ายบ่ว่าอีหยัง (ไม่ว่าอะไร)
“บักห่ามึงโง่หลาย มึงสิสึกไปเลียดากเขาอีกเบ๊าะ” (พระอาจารย์เจี๊ยะดุอาจารย์จันทา)
“ว่าสิ บ่ไปแหล้ว...หลวงปู่สิไปกับพรหมจรรย์ตลอด ไม่กลับอีกแล้วเป็นอย่างไรก็ไม่กลับ”
 
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคารพปู่ขาว ท่านเรียกหลวงปู่ขาวว่า “ครูบาจารย์ขาว” ครูบาจารย์ขาวท่านเป็นพระอรหันต์นะ ผมนึกประมาทไม่ได้ท่านรู้เลย ผมจงรักษาตัวให้ดี”
 
เวลาหลวงปู่เจี๊ยะทำงานอยู่ตามกุฏิ โอ๊ย...นุ่งแต่ผ้าถกเขมรเหน็บเตี่ยวละ อังสะไม่ใส่เลย 
“เอ้า!...ใส่ซะหน่อยไม่ได้หรือปู่ ผ้าอังสะนั่นน่ะ”
“เอ้อ!...ถอดออกนี่แหละ มันแฮงดี บักห่ามึงอย่ามาถามกูหลาย กูรำคาญ” (หัวเราะ)
 
สำหรับหลวงปู่เจี้ยะ คนไม่เข้าใจในการประพฤติในการปฏิบัติทุกอย่างอาจเข้าใจได้ว่า “เป็นผีบ้า” เพราะไม่รู้เบื้องหลัง ทั้งๆ ที่ท่านได้อยู่และผ่านการปฏิบัติกับครูบาจารย์ที่สำคัญที่สุด คือท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นพระที่ใหญ่ที่สุดและดีเยี่ยมที่สุด
 
เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านทำงานเสร็จแล้ว เลิกงานสรงน้ำ แล้วนุ่งสบงครองจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย ดูท่านรูปสวย เดิน ยืน นั่ง กิริยามารยาทอะไรก็เรียบร้อยน่าชม ในเมื่อครองสบงสังฆาจีวรเรียบร้อยแล้ว
“โอ๊ย!...น่าชมเว้ย...อาจจะได้บุญมากเน๊าะ ...หลวงปู่”
“บ่ได้บุญกูสิบวชดิ บักห่ามึง มึงอย่าถามแปลกหลาย”
 
เรากับเพิ่น (ท่าน) ถูกกันดี ว่าถามอะไรท่านก็ไม่ด่าไม่ว่าหรอก พูดกันอยู่ด้วยกันมา หลับตาเข้าก็เห็นอยู่รูปพรรณสัณฐาน กิริยามารยาท การพูดจา ทุกอย่างรู้ดี มาอยู่ด้วยกันท่านก็พูดจาพาทีเรื่องศีลธรรมความดีงาม ไม่มีอะไรหรอกจะเหลือวิสัยไปจากพระอาจารย์เจี๊ยะได้ เจี๊ยะๆ นี่ โอ๊ย!..เก่ง เวลาทำงานแม้อังสะก็ถอดออกหมดนะ นุ่งแต่ผ้าอาบน้ำถกเขมรกิ้วฮู้ขี้
“บักห่ามึง! อยากดมดากกูติ” พั่นวะ (หัวเราะ)
“โอ๊ย! ไม่อยากดมดอกหลวงปู่ มันเหม็นวะ”
“เหม็นมึงก็ลองดมตี้”
 
ท่านทำงานตึ้งๆ คนเดียว สับหิน บอกท่านว่า “อย่าทำเถอะหลวงปู่”
“ทำมันสิเป็นหยัง กูภาวนามาจนพอแล้ว”
“ไม่เป็นประโยชน์ดอก เป็นประโยชน์ดีก็ไม่ว่าหรอก แต่ว่าทำจนเกินควรเสียแล้ว”
“ควรบ่เคียนอย่ามาพูดเด้อ เดี๋ยวเอาค้อนทุบหัวเด้ บัก...ห่านิ...มึงขี้คร้านมึงไปไหนก็ไปเถอะ มึงคิดว่ากูโลเล”
 
ท่านออกจากงานแล้วก็นุ่งผ้าสบง สังฆาฏิ จีวรเรียบร้อยน่าชม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 พฤษภาคม 2558 15:06:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2558 15:57:10 »

.

พรรษาที่ ๓๐-๓๙ (พ.ศ. ๒๕๐๙- ๒๕๑๘)
จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี


ด้วยความรักแม่
สมุดบันทึกประวัติพระอาจารย์เจี้ยะที่วัดเขาแก้วจารึกไว้ว่า...
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านไปรับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่ขาวแล้วเป็นเวลา ๒ ปี ท่านก็กลับมาจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว เนื่องด้วยอาการป่วยเกี่ยวกับโรคในลำไส้ของโยมมารดาที่เป็นเรื้อรังมานานนั้น ทำให้อาการทรงกับทรุดเท่านั้น ในบางคราวที่โยมมารดาอาการทุเลาพอทรงตัวได้ ท่านก็จะนำมาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาแก้ว ท่านเล่าเรื่องโยมมารดาให้ฟังว่า
 
เราชวนโยมแม่ให้มาอยู่วัด ตามไปง้อถึงบ้านเลย เราบอกว่า  “โยมแม่ ให้มาอยู่วัดสักพรรษาซิ”
โยมแม่บอกว่า “พรรษาหนึ่งไม่ได้หรอก”
“๒ เดือนได้มั้ย”
“ไม่ได้ แม่ป่วยไม่ค่อยสบาย”
“งั้น ๑ เดือนได้มั้ย”
“ไม่ได้”
“ถ้าอย่างนั้น เอาเพียง ๑๐ วัน”
โยมแม่ตอบว่า “เออ!...ถ้าอย่างนั้นไปได้”
 
เมื่อโยมแม่ท่านเข้ามาอยู่ที่วัด ท่านออกอุบายให้โยมแม่ทำกับข้าวถวายทุกวัน แต่เรื่องธรรมะ ระหว่างพระอาจารย์เจี๊ยะกับโยมแม่ไม่ค่อยคุยกัน เพราะโยมแม่ท่านไม่ชอบกิริยาของพระลูกชาย บางทีโยมแม่ท่านก็พูดว่า  “เรียบร้อยหน่อยซิลูก คนเขาจะว่าเอา เราบวชมาแล้ว แม่อายเขา คำว่า ไอ้ควาย...เย็ดแม่งมึง...ไอ้ห่า...ไอ้เหี้ย...ไม่พูดไม่ได้เหรอ...ลูก ยิ่งเวลาอาจารย์ถวิลมาหา ยิ่งพูดจนญาติโยมเขาหนีกันหมด แม่ก็รู้อยู่ว่าเป็นคนคอเดียวกัน พวกเดียวกัน บ้านเกิดเดียวกัน แต่แม่กลัวคนเขาจะว่าเอา แม่รู้อยู่ว่ากิริยาท่าทางเป็นอย่างงี้ แต่จิตใจดี ทำกายวาจาให้ดีด้วยไม่ได้หรือ...ลูก?”
 
โยมแม่ท่านพูดอย่างนั้น ท่านก็นิ่งไปพักหนึ่ง ท่านก็พูดว่า  “โยมแม่ นิสัยนี้มันติดมาตั้งแต่ยังไม่เกิดโน่น มิใช่มันเพิ่งจะอุตริมาเป็นเอาตอนเกิดแล้วจะให้แก้ยังไง ก็มันเป็นมาก่อนเกิด ถ้ามันเป็นหลังเกิด ก็พอแก้ได้อยู่ แต่นิสัยนี้มันติดมาในขันธสันดานเสียแล้ว แก้ไม่ได้หรอก”
 
เพราะปกตินิสัยโยมแม่ท่านชอบพระเรียบร้อย ส่วนพระอาจารย์เจี๊ยะชอบอิสระ โยมแม่จะไปโต้ตอบสู้อะไร ก็อายแทนลูกละซิ บางทีโยมแม่ของท่านก็อึดอัดจึงบ่นว่า “ลูกกูทำไมเป็นอย่างนี้วะ บวชเรียนแล้วไม่กลัวใครเลย พูดโพล่งๆ“
 
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านเล่าว่า เป็นเพราะนิสัยท่านเป็นอย่างนี้จึงทำให้สอนโยมแม่ยาก ท่านบอกว่า ท่านไม่เก่งเหมือนท่านพระอาจารย์มหาบัว เอาแม่มาอยู่วัดด้วยได้
 
พระอาจารย์เจี๊ยะจึงเล่าต่อว่า “เรานี่นะ รักโยมแม่มากกว่าโยมพ่อ เพราะเรากินนมแม่ โยมแม่อยู่ในใจเราตลอด ตอนเป็นเด็กๆ ทำผิด บางทีโยมแม่เอาแส้ไล่หวด เราก็วิ่งไปหลบอยู่ในคลองน้ำ บางทีแม่ไล่ตี เราก็วิ่งหนีเข้าโรงฝิ่น ไปฟังเขาคุยกันในโรงฝิ่นสนุกดี แต่เราไม่ได้ไปสูบฝิ่น โยมแม่เป็นคนเจ้าระเบียบเรียบร้อย ใจดี โยมแม่รักเรามาก เพราะภายในใจท่านคิดเสมอว่าจักให้เราดำรงวงศ์ตระกูลให้ยั่งยืน ปกครองทรัพย์สมบัติที่ท่านหามาไว้ได้ เมื่อท่านตายไปแล้ว ก็หวังให้เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้”
 
โยมแม่มีลูกชาย ๓ คน หวังจะให้ลูกชายทั้งสามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการงานทุกสิ่ง แต่มันก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะถึงพวกเราจะเกิดมาในท้องเดียวกันก็ตาม จะให้เสมอเหมือนกันทุกสิ่งย่อมไม่ได้ เพราะแม้แต่ผิวพรรณและความบ่ระพฤติยังแตกต่างกันแล้ว ยิ่งบุญกรรมที่ละเอียดยิ่งแตกต่างกันไปใหญ่ ในบางครั้งเราเป็นเด็กทำความผิด โยมแม่ผู้จับได้ ก็จะสั่งสอนตักเตือนในสิ่งที่ประพฤติผิดไปแล้ว ท่านไม่ทอดทิ้งในเรื่องนั้นๆ จะนำมาสั่งสอนเสมอ
 
พ่อแม่นี้ท่านรักเราผู้เป็นลูก ในทำนองเดียวกันกับมือและเท้าของท่านเอง ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยของสกปรก เป็นสิ่งที่ควรชะล้างให้สะอาด ถึงจะสกปรกมากเพียงไรก็ไม่ควรที่จะตัดมือเท้านั้นทิ้ง เพราะจะทำให้ร่างกายตนเองเจ็บปวดและทรมานมาก  พ่อแม่รักลูกส่วนมากท่านก็ทะนุถนอมลูกเหมือถือเท้าของท่านโดยทำนองนี้”
 
ในระหว่างที่พระอาจารย์เจี๊ยะพักจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว ท่านได้แสดงความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีแก่ท่านผู้มีคุณจนสุดความสามารถ ในที่สุดโยมมารดาท่านก็เสียชีวิตอายุ ๙๓ ปี วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๗  เมื่อโยมมารดาเสียชีวิต ท่านจัดพิธีทางศาสนาอย่างสมเกียรติ นิมนต์ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นองค์แสดงธรรม
ในงานศพนั้นสหธรรมมิกของท่านคือ พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก พระอาจารย์ถวิล จิณฺณธมฺโม มาช่วยเหลือจนตลอดงาน



หลวงปู่ตื้อ  อจลธมฺโม

หลวงปู่ตื้ออจลธมฺโม
พระอาจารย์เจี๊ยะปฎิบัติพัฒนาวัดเขาแก้วเจริญรุ่งเรือง สร้างเสนาสนะในวัดเขาแก้วบริบูรณ์ทุกอย่าง ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ท่านจึงจัดงานทำบุญฉลองพระอุโบสถ โดยนิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโมมาเป็นประธาน และพระกรรมฐานทั้งหลายก็มาร่วมงานนั้นเป็นจำนวนมาก เช่น หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร  หลวงปู่ชอบ ฐานสโม  พระอาจารย์วัน อุตฺตโม  พระอาจารย์จวน กุลฺเชฏโฐ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร  พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย  ฯลฯ
 
เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพักที่วัดเขาแก้ว ท่านจะสนทนาธรรมกับพระอาจารย์เจี๊ยะเป็นเวลานานๆ พระอาจารย์เจี๊ยะเมื่อเจอกับหลวงปู่ตื้อ ก็จะแสดงกิริยานอบน้อมน่ารักยิ่งนัก พูดจาว่า “ครับ...ครับ...ครูอาจารย์” ในเวลาพูดก็พนมมือโดยตลอด
 
ขณะที่หลวงปู่ตื้อมาพักที่วัดเขาแก้ว มีคนมาถามปัญหาอันชวนน่าขำหลายอย่าง เช่นมีปัญหาที่คนนำมาเขียนถามท่านว่า
“หลวงปู่ครับ มุตโตทัย มันเกิดที่ไหน? หลวงปู่รู้มั้ย?”
“เฮ้ย! รู้ๆ ๆ จากโคราชลงมาทางกรุงเทพฯ นี่มุตโตไทย จากโคราชขึ้นไปทางอุดรฯ ขอนแก่นโน่น เป็นมุตโตลาว” ผู้คนที่นั่งฟังหัวเราะกันใหญ่
 
แล้วหลวงปู่ตื้อท่านก็พูดว่า “มีปัญหาอะไรถามมาเลย กูนี่ตอบได้หมด ยิ่งปัญหาเป็นพันๆ ปีก็ยิ่งตอบได้อย่างถนัด”
“โอ้ ขนาดนั้นเลยหรือหลวงปู่” โยมคนนั้นกล่าวขึ้น นัยน์ตามองหลวงปู่ตื้อเหมือนตุ๊กตา
“เออ!...สิวะ กูตอบได้หมดปัญหาในโลกนี้ ยิ่งนานเป็นพันปี ยิ่งตอบได้เต็มปากเต็มคำ”
“ทำไมเป็นอย่างงั้นล่ะปู่”
“มันนานมาแล้ว ไม่มีคนไปรู้กับกูหรอก ไม่มีคนไปค้นได้ ไอ้คนที่ถามกูมันก็ไม่รู้เรื่องหรอกน่ะ” หลวงปู่ตื้อท่านว่าอย่างนั้นคนก็ยิ่งหัวเราะกันตรึม

มีโยมคนหนึ่งนั่งใกล้ๆ กับพระอาจารย์เจี๊ยะ พูดกระซิบกับพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ถ้าหลวงปู่ตื้ออยู่ หลวงตามหาบัวจะกล้าหยอกเล่นมั้ยครับ?”
“อู้ย! ไม่กล้าหรอก” พระอาจารย์เจี๊ยะตอบเน้นๆ ค่อยๆ แบบซุบซิบๆ
 
พระอาจารย์เจี๊ยะกับหลวงปู่หลุยท่านจะเป็นห่วงกันมาก วันหนึ่งหลวงปู่หลุยไปกิจนิมนต์ได้เงินมาเป็นแสน เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะทราบก็จะเข้าไปขอเงินมาใช้บ้าง เพราะตอนนั้นท่านจนไม่มีเงิน ในขณะนั้นหลวงปู่หลุยท่านกำลังพูดคุยธรรมะกับพวกญาติโยมอยู่ พอพระอาจารย์เจี๊ยะนั่งลงกราบเท่านั้นแหละ หลวงปู่หลุยก็พูดดักคอขึ้นมาทันทีว่า  “โอ๊ย! อาจารย์เจี๊ยะนี่ ท่านเป็นลูกเจ๊กลูกจีนนะ อาจารย์เจี๊ยะนี่เก่งมากนะหาเงินเก่ง สร้างศาลา โบสถ์วิหาร กุฎิเต็มวัด มีเงินน่าจะแบ่งกันใช้บ้าง”
 
เมื่อหลวงปู่หลุยพูดอย่างนั้นพระอาจารย์เจี๊ยะท่านจึงกราบขอโอกาสออกมา เมื่อออกมาท่านจึงพูดกับพระว่า “ตายห่าแล้ว...อดเลย หลวงปู่หลุยท่านรู้ ดักคอไว้หมด ไม่ได้ซักบาทเดียว”
 
พระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านทราบว่าพระอาจารย์เจี๊ยะชอบหิน ไปเที่ยวที่ไหนเห็นหินสวยๆ ตามป่าตามเขาก็จะพาพระอาจารย์เจี๊ยะไปดู บางทีกำลังนั่งคุยกับญาติโยมอยู่ เมื่อพูดเรื่องหิน ทิ้งญาติโยมไปกันเลย ไม่สนใจ
 
พระอาจารย์วัน  พระอาจารย์จวน  พระอาจารย์สิงห์ทอง  เคารพรักพระอาจารย์เจี๊ยะมาก เมื่อมาหาพระอาจารย์เจี๊ยะที่วัดเขาแก้ว จะคุยกันเฮๆ ไม่คุยกับใครอื่น เหมือนว่าไม่ได้เจอกันมานมนาน ทั้งๆ ที่เพิ่งจะพบกันมา

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านอยู่จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว มีนักปฏิบัติธรรมแวะเวียนมาสนทนาธรรมกับท่านเสมอ ส่วนมากจะเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระกรรมฐานองค์สำคัญๆ เพราะเรื่องพระอาจารย์เจี๊ยะ คนธรรมดาทั่วๆ ไปจะไม่ทราบและมองท่านไม่ออก ฉะนั้นคนที่คลุกอยู่วงในเกี่ยวข้องกับพระกรรมฐานจริงๆ จึงจะรู้เรื่องและเบื้องหลังของท่าน ท่านเป็นพระถ่อมตัวอยู่แบบซอมซ่อ




มีโยมคนหนึ่งเข้าไปถามพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ท่านอาจารย์ทำประโยชน์ให้พระศาสนาไว้เยอะมากคนแถวนี้เขาทราบมั้ย?”
“ก็แล้วแต่ใครเขาจะดูซิ เราไปบอกเขาอย่างนั้นไม่ได้หรอก”
“ท่านอาจารย์อยากให้อนาคตของวัดนี้เป็นอย่างไร”
“ก็อยู่เงียบๆ แบบนี้นะดี”
“ท่านอาจารย์ เราจะกำหนดรู้มั้ยว่าชาติหน้าเราจะเกิดเป็นอะไร?”
“ถ้าผู้มีบุญวาสนามาเกิดแล้วได้ฝึกฝนจนบรรลุญาณก็จะรู้ได้ ถ้าไม่มีญาณก็ไม่รู้ บางทีก็รู้เหมือนกันแต่รู้ไม่จริง รู้มีหลายรู้ มีรู้อ่อน รู้แก่ เหมือนเศรษฐีกับคนมีฐานะพอปานกลางมันก็ต่างกัน คนจนลงมาก็ต่างกันอีก ต้องท่านผู้มีญาณเท่านั้นที่จะสามารถกำหนดรู้ได้ว่าเกิดมาชาตินี้ๆ เกิดมาเป็นอะไร ที่พวกเราทั้งหลายเกิดมาแล้วก็ได้รู้กันว่าเคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง ก็เพราะบุญอย่างนั้นมันต่างกัน”

“แล้วทำไมท่านอาจารย์จึงชอบตีเหล็กนัก” โยมคนนั้นถามขึ้น
พระอาจารย์เจี๊ยะตอบว่า “ทีแรกเราก็ไปซื้อขวานมา แล้วมันฟันไม่ได้ล่ะซิ ซื้อมาทีไร มาฟันก็ไม่ค่อยมีคม เจ็บใจ เลยเอาแหนบรถสิบล้อมาตีเอ็งเลย ทำไปทำมามันคมกว่าที่เขาขายอีก”

“แล้วผิดข้อวัตรปฏิบัติมั้ยครับท่านอาจารย์” เขาถามด้วยความสงสัย
“บางคนเขาว่า ท่านอาจารย์ทำในเรื่องไม่ใช่กิจของสงฆ์”
“ฮือ !...ทำไมจะไม่ใช่? เราเป็นพระสงฆ์ เอามาตีเองจะไปผิดอะไร ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำบาปกรรมอะไรนี่นา มันจะบาปได้ไง ไม่บาป พระสงฆ์ตีเองกับมือ จะไม่ใช่กิจของสงฆ์ได้ไง”
“ท่านอาจารย์ตีเพื่อใช้เอง หรือเอาไปให้คนอื่นใช้ล่ะ”
“ใช้เองก็ได้ ให้คนอื่นเพื่อทำทานก็ได้ฮิ ทำให้มันเป็นประโยชน์ ตีมีดตีขวานด้วย ตีกิเลสความขี้เกียจขี้คร้านออกด้วยก็ยิ่งดี บางทีนำมาพิจารณาก็เป็นธรรมได้เหมือนกัน”
 


พระอาจารย์ถวิล จิณฺณธมฺโม
สหธรรมิกของหลวงปู่เจี๊ยะ



พรรษาที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๑๙)
จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี


ย้อนกลับถ้ำกลองเพล
ในสมุดบันทึกประวัติวัดเขาแก้วได้จารึกเรื่องนี้ไว้ว่า
พระอาจารย์เจี๊ยะจำพรรษาที่วัดเขาแก้วมาหลายปีแล้ว เพราะเป็นคนไปก่อสร้างบูรณะและสร้างถาวรวัตถุไว้มากมาย ประกอบกับมีความคุ้นเคยในสถานที่นั้นเพราะเป็นแถบถิ่นฐานบ้านเดิมของท่าน และที่สำคัญพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่ทางจันท์ก็มีน้อย
 
เมื่อออกพรรษา ปี ๒๕๑๘ พระเณรที่วัดเขาแก้วมีน้อย ท่านจึงเดินทางออกจากวัดเขาแก้ว ไปวัดอโศการาม เพื่อชักชวนพระเณรที่วัดอโศการามมาร่วมจำพรรษาด้วย มีพระติดตามท่านไป ๔ – ๕ รูป พระเหล่านั้นเป็นพระที่อาจารย์เจี๊ยะชักชวนมา มิได้มาเองด้วยศรัทธา
 
ขณะนั้นที่วัดอโศการาม บรรดาพระทั้งหลายกำลังมีความสงสัยเรื่องธรรมภายในของท่านเป็นอย่างยิ่ง นอกจากสงสัยเรื่องธรรมภายในแล้ว ปฏิปทาของท่านก็ยังเป็นที่กังขาสงสัยยิ่งนัก เพราะพระโดยส่วนมากเป็นพระบวชใหม่ๆ กันหรือแม้แต่พระเก่าๆ บางรูปก็ยังตำหนิในข้อปฏิบัติของท่านอยู่  “ผู้ไม่มีคุณธรรมภายในประเสริฐ จะไม่มีทางรู้เรื่องคุณธรรมอันประเสริฐของท่านได้ เพราะกิริยาท่าทางของท่านไม่สวยงาม จึงปิดบังคุณธรรมลึกๆ ของท่านที่อยู่ภายในแบบมิดเม้น ซ่อนเร้น การพูดท่านก็พูดง่ายๆ ถ้าเราไม่จับใจความ ไม่ตั้งใจขบคิดก็จะไม่สามารถเข้าใจได้”

พวกพระที่ท่านชักชวนส่วนมากปฏิเสธ คิดๆ อีกทีน่าสงสารท่าน แต่คิดให้ลึกๆ น่าสงสารเราพวกพระทั้งหลายนั่นแหละ ที่พระผู้ประเสริฐอย่างนี้มาชวนไม่ยอมพากันมา แถมแสดงท่าทางรังเกียจที่จะติดตาม เพราะอะไร ก็เพราะพวกเรามองอะไรๆ แต่ภายนอกๆ ไม่เคยมองดูว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านบรรลุธรรมด้วยกาย วาจาหรือด้วยใจ จริงอยู่กายวาจา เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ใจสำคัญกว่าสิ่งทั้งสองนั้นอีก เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จลงด้วยใจ ถ้าใจดี ก็ดี ถ้าใจชั่ว ก็ชั่ว จะทำจะพูดอะไรถ้าใจมันดี การกระทำการพูดก็ดี เหมือนเกวียนติดตามรอยเท้าโคฉะนั้น”
 
การมองแต่ภายนอกนั้น เป็นนิสัยของชาวโลกที่ติดกันมาเป็นเวลาช้านาน แต่อาจารย์เจี๊ยะท่านก็มีธรรมของท่าน ท่านจึงไม่มีมายาที่จะแสดงอะไรหลอกๆ เหมือนโลกทั้งหลายที่เขาทำกัน ความจริงเป็นอย่างไร จึงเป็นธรรมชาติที่จริงอย่างนั้นออกมา ไม่มีการเสแสร้งแกล้งทำ คิดๆ ไปก็น่าปวดหัว เป็นไข้ เพราะว่าการทำอย่างท่านนั้นยากกว่าการทำอย่างอื่นเสียอีก เพราะท่านก็รู้ว่าคนทั้งหลายไม่ชอบแบบนั้น แต่ท่านก็ไม่มีเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนมานับถือตน เพราะเพียงแต่ท่านอยู่เฉยๆ พูดแต่เพียงว่าเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น คำพูดเพียงเท่านี้ก็หาอยู่หากินกันไปจนตาย เพราะวิธีการแบบนี้มีพระนำไปใช้กันเยอะ แต่ท่านไม่ใช่พระแบบเอาครูบาอาจารย์มาขายเลหลัง เพราะคุณธรรมที่มีอยู่ภายในท่านนั้นไม่มีสูงต่ำกับอะไร ท่านจึงสบายๆ ของท่าน
 
ก่อนที่พวกพระ ๔ – ๕ รูปจะไปกับพระอาจารย์เจี๊ยะนั้น พระผู้ใหญ่ๆ และพระอื่นๆ ก็มากระซิบบอกพวกพระว่า “ตายนะ ตายแน่ๆ นะ พวกคุณรู้หรือยังว่า การไปอยู่กับครูอาจารย์แบบนี้จะเป็นเช่นไร เดี๋ยวพวกท่านก็จะโดนไล่หนีหมดหรอก” ท่านเป็นพระดุที่ไม่มีใครใกล้ชิด
 
“ตายแน่ๆ คราวนี้แล้วพวกเราจะทำอย่างไรล่ะ?” พวกพระก็นั่งคิดปรึกษากัน

ตอนนั้นมีแต่พระใหม่ๆ บวชได้คนละ ๓-๔ พรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ พระที่จะอยู่กับท่าน ต่างองค์ก็ต่างกลัวเพราะคนพูดมากเข้า พวกพระก็ปอดแหกแล้ว  “พระอาจารย์เจี๊ยะดุมากนะ”  นี้เป็นภาษาที่โลกตั้งให้ท่าน ถ้าเป็นภาษาทางธรรมท่านเรียกว่า “ตรงเผง” คือท่านไม่มีอ้อมค้อมอาจหาญในคำพูด ไม่เกรงกลัวใคร อันนี้แหละที่บุคคลอื่นๆ ทำไม่ได้

วันที่พวกพระติดตามไปวัดเขาแก้วกับท่าน พระอุปัชฌาย์ของพระทั้งหลายเหล่านั้น ถึงกับต้องเขียนจดหมายฝากไปให้พระอาจารย์เจี๊ยะ ใจความในหนังสือนั้นเขียนว่า “ถ้าหากว่า พระอาจารย์เจี๊ยะดุด่าว่ากล่าวสัทธิวิหาริกของผม จนไม่สามารถทนได้ ผมจะเรียกพระผมคืน” นี่ท่านเขียนถึงขนาดนั้น ในที่สุดพวกพระ ๔-๕ รูป ก็เหลือที่กล้าไปจำพรรษากับพระอาจารย์เจี๊ยะ ที่วัดเขาแก้ว จันทบุรี เพียง ๓ รูป

จวนใกล้จะอธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว วันหนึ่งมีโยมมาบอกท่านว่า “หลวงปู่ขาวป่วยหนัก” ท่านจึงมาบอกกับพวกพระว่า "ผมอยู่กับพวกท่านไม่ได้แล้วนะ ผมจะขึ้นไปอยู่กับปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพล เพราะปู่ขาวป่วยหนัก” ท่านพูดสั้นๆ แบบไม่ไยดีพวกพระที่ติดตามมาเลย

“ตายแล้วทีนี้” พระองค์หนึ่งในจำนวนพระหลายรูปนั้นพูดขึ้น แล้วที่มาด้วยกันหลายๆ รูปก็แสดงความเห็นด้วย
“แล้วพวกเราจะอยู่ยังไง จะเข้าพรรษาแล้วไม่กี่วัน” ต่างองค์ต่างก็ปรึกษากันด้วยความลังเล
“พวกผมตั้งใจมาอบรมกับท่านอาจารย์ มากับท่านอาจารย์ก็อุปสรรคมากอยู่แล้ว แล้วจะมาให้พวกผมอยู่กันตามลำพัง แล้วจะให้พวกผมปฏิบัติยังไง”

ท่านตอบแบบที่เราได้ยินและร่ำลือทันทีว่า “เฮ้ย!...ไม่เกี่ยวโว้ย!... หลวงปู่ขาวป่วยหนัก พวกมึงอยู่วัดกันเลย”  ท่านพูดห้วนๆ ตรงๆ ฟังแล้วเข้าใจแต่ไม่สบายใจ เหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่อกเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

เอาซะแล้วสิ กรรม!...กรรมแท้ๆ เป็นเพราะเราไม่เชื่อพระผู้ใหญ่แท้ๆ ที่ติดสอยห้อยตามท่านมา เอาพวกเรามาแล้วท่านก็มาทิ้ง เพราะตอนนั้นพวกพระไม่ทราบว่าท่านเคารพรักหลวงปู่ขาวขนาดไหน ท่านรักและเคารพหลวงปู่ขาวมาก เพราะหลวงปู่ขาวสอนให้ท่านพิจารณาคิดค้นทางด้านร่างกายด้วยปัญญา และหลวงปู่ขาวนี่เอง เป็นพระที่ท่านลงใจแบบหมอบราบ ถึงกับพูดว่า ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า “หลวงปู่ขาวนี่แหละเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง”

พอถึงวันเข้าพรรษาพวกพระก็อยู่กันแบบว้าเหว่ มีพระ ๔ พรรษา ๓ องค์ หลวงพ่อแก่ๆ อีกองค์หนึ่งซึ่งอยู่เดิม และสามเณรที่เป็นหลานพระอาจารย์เจี๊ยะ รวมแล้วเป็น ๕ องค์ จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว ส่วนพระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านไปจำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล เพื่ออุปัฏฐากหลวงปู่ขาว อนาลโย แต่ก่อนไปพระอาจารย์เจี๊ยะก็ได้บอกถึงสาเหตุ ที่ท่านต้องไปให้พระเหล่านั้นใจชื้นขึ้นมาบ้างว่า...หมู่เอ๋ย...สาเหตุที่ผมเคารพรักหลวงปู่ขาวมาก ก็เพราะท่านพระอาจารย์มั่นเองเป็นผู้รับรอง จึงขอเล่าย้อนอดีตให้พวกท่านฟัง เรื่องที่ท่านอาจารย์มั่นชมเชยหลวงปู่ขาวมากนั้น ผมได้ฟังมากับหูว่า “ท่านขาวเป็นพระสำคัญมากนะ หมด(กิเลส)แล้วนะเจี๊ยะ ให้จับตาดูไว้ให้ดีจะเป็นที่พึ่งได้” เมื่อผมได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นพูดดังนั้น ผมก็ฮึดฮัดขึ้นมาในใจ อยากเจออยากพบอยากเห็น เพราะปกติแล้วท่านพระอาจารย์มั่นท่านไม่ชื่นชมใครง่ายๆ แสดงว่าพระรูปนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน ต้องมีอะไรที่เราจะสามารถค้นคว้าเอาจากท่านได้ และสิ่งนั้นคือธรรม



หลวงปู่ขาว อนาลโย

พบหลวงปู่ขาว
พระอาจารย์เจี๊ยะเล่าให้พระฟังต่อว่า...
เมื่อผมออกจากท่านพระอาจารย์มั่นไปแล้ว ก็รอนแรมตามที่ต่างๆ เพื่อเสาะแสวงหาหลวงปู่ขาวใหญ่เลย เที่ยวตามหาเสมอในเวลาออกเที่ยวธุดงค์ อยากทราบว่าหลวงปู่ขาวอยู่ที่ไหน ในที่สุดผมก็ไปเจอหลวงปู่ขาวจนได้ในที่แห่งหนึ่ง

ถามพระรูปหนึ่งว่า “หลวงปู่ขาวองค์ไหน”
พระรูปนั้นชี้บอกว่า “โน้น!...รูปโน่นหลวงปู่ขาว...อยู่ท้ายสุดโน้น”

ไม่มีใครสนใจท่านเลย เหมือนว่าเป็นพระแก่ๆ ธรรมด๊า ธรรมดา เมื่อพระบอกว่าอย่างนั้น เราก็ดิ่งเข้าไปหาท่านเลย ท่านนั่งอยู่ท้ายสุดเลย คลานเข้ากราบทันที ไม่สนใจกับอะไรทั้งนั้น เมื่อผมเข้าไปกราบ พนมมือขึ้นเหนือหัวพูดว่า “ครูบาจารย์ขาวครับ! ถ้าผมผิดพลาดอะไร อย่าลืมตักเตือนผมนะ ผมยอมรับผิดทุกอย่าง ขอให้ตักเตือนผม สอนผม บางทีอาจจะพลั้งเผลอหรือทำกรรมอันไม่สมควร”

เมื่อผมกราบเสร็จพูดเสร็จ หลวงปู่ขาวท่านก็ยังงงๆ คงจะคิดว่า “นั่นใครวะ? มันมาจากไหน? มากราบแล้วพูดเอาๆ แล้วมาตู่ให้เราเป็นอาจารย์” ไม่เฉพาะแต่หลวงปู่ขาวเท่านั้น แม้แต่พระเณรทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้นก็พากันงุนงงเป็นอย่างยิ่ง

นี่นิสัยผมเป็นอย่างนี้ไม่เหมือนใคร ทำอะไรทำด้วยความถึงใจ ทำจริงเชื่อจริง เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อจริงๆ เชื่อท่านพระอาจารย์มั่นเชื่อจริงๆ จึงเป็นเหตุให้รู้จักกับหลวงปู่ขาวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ตอนนั้นท่านยังไม่มาสร้างวัดป่าแก้วชุมพล ยังไม่ได้สร้างวัดถ้ำกลองเพล ในพรรษา (๒๕๑๙) นี้ ผมจึงจะต้องลาพวกท่านไปจำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล”  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 พฤษภาคม 2558 15:58:53 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2558 16:00:36 »

.

พรรษาที่ พรรษาที่ ๔๑ - ๔๒ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑)
จำพรรษาที่วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี


สมเด็จพระญาณสังวรนิมนต์พระอาจารย์เจี๊ยะเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณฯ
จากสมุดบันทึกประวัติพระอาจารย์เจี๊ยะ...
หลังจากพระอาจารย์เจี๊ยะบอกลาพวกพระที่วัดเขาแก้วไปจำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล อันเป็นพรรษาที่ ๔๐ เมื่อปวารณาออกพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลแล้ว อาการอาพาธของหลวงปู่ขาว อนาลโย ก็ดีขึ้นบ้าง ท่านจึงเดินทางกลับมาที่วัดอโศการาม เพราะพวกพระที่อาสาติดตามไปอยู่ที่วัดเขาแก้วในตอนแรกก็กลับมาที่วัดอโศการามกันก่อนแล้ว ท่านจึงไม่ห่วงกังวลอะไรที่วัดเขาแก้ว ท่านจึงอยู่เจริญภาวนาวิหารธรรม อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาผู้ใส่ใจในธรรมที่วัดอโศการามนี้ ให้เขาประจักษ์ใจในพระธรรมว่า “เราทุกคนที่เกิดมา ถูกความเกิดแก่ เจ็บ ตาย ความโศก ความเศร้า ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ครอบงำให้ทราบว่า เราทุกคนตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ปรากฏอยู่ในเบื้องหน้าเป็นฉากๆ เหมือนกำลังเดินฝ่าดงหนาม ให้พากันพิจารณาขึ้นมาในใจว่า ทำอย่างไร เราจึงจะกำจัดดงหนาม คือทุกข์เหล่านี้ให้สูญสิ้นไปได้”

เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วจงพากันบริกรรมภาวนา พุทโธๆ ๆ ๆ ๆ ให้เร็วๆ ๆ จนจิตนี้มีหลักคือความสงบเป็นพื้นฐาน แล้วมาพิจารณาขันธ์ห้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เพราะถ้าผู้ภาวนามัวเข้าแต่สมาธิอย่างเดียว จิตจะติดอยู่ในสมาธิ จะเห็นแต่ความมหัศจรรย์ทางด้านสมาธิอย่างเดียว ส่วนความมหัศจรรย์ทางด้านปัญญาจะไม่เห็น ความมหัศจรรย์ทางด้านปัญญา เป็นความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องคิดค้นมีโยนิโสมนสิการเสมอๆ ต้องคิดค้นคลี่คลาย จนกระทั่งจิตนี้เบื่อหน่ายในขันธ์และในจิต การภาวนาอย่างนี้ก็จะเห็นผลประจักษ์ใจเอง

เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะพักอยู่ที่วัดอโศการามได้ระยะหนึ่ง ประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๑๙ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรฯ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมานิมนต์ให้ท่านไปอยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดญาณสังวราราม เพราะสมเด็จฯ ท่านต้องการให้มีพระกรรมฐาน สมเด็จฯ ท่านปรารภว่า “วัดอโศฯ กับวัดบวรฯ มีพระหนาแน่นมาก ต้องมีสถานที่วิเวกให้พระปฏิบัติกันบ้าง เราควรแสวงหาที่สัปปายะเพื่อพระที่เป็นกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้มีที่ปฏิบัติธรรมในที่ที่ไม่ห่างจากเมืองหลวงมากนัก นอกจากสร้างเป็นวัดปฏิบัติธรรมแล้วยังต้องสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นพระบรมราชูทิศแด่บูรพมหากษัตราธิราชเจ้า”

เมื่อสมเด็จฯ ท่านปรารภดังนี้ ก็แสวงหาที่อันเหมาะสม ในที่สุดก็ไปได้ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยนายแพทย์ขจรและคุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ ถวายที่จำนวน ๓๐๐ ไร่เศษ และคณะกรรมการจัดสร้างวัดซื้อที่ข้างเคียงอีก ๕๙ ไร่ ๙๙ ตารางวา รวมเป็น ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา ประกอบกับเนื้อที่โครงการพระราชดำริอีก ๒,๕๐๐ ไร่เศษ ด้วยศรัทธาปณิธานของผู้ถวายที่แด่สมเด็จพระญาณสังวร จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดญาณสังวราราม”  



สอนศิษย์แบบเข้มข้น
ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๑๙ พระอาจารย์เจี๊ยะและพวกพระที่อาสาเป็นศิษย์ (ได้กลายเป็นศิษย์ แบบเต็มตัว) พร้อมกันเดินทางมาอยู่ที่วัดญาณสังวราราม มาถึงทีแรกเสนาสนะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ถาวรเลย พออยู่อาศัยได้อย่างสบายสำหรับพระป่าพระปฏิบัติ สำหรับพรรษานี้ ท่านสอนลูกศิษย์ที่ติดตามอย่างเข้มข้น ถ้าเป็นภาษาทางโลกเรียกว่า “ติวเข้ม” การที่พระมีน้อย โอกาสที่จะทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลสเพื่อความพ้นทุกข์ก็มีมาก

วัตรปฏิบัติในขณะนั้น... หลังจากฉันน้ำร้อนน้ำชา ประมาณหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม ท่านจะนำทำความเพียรทางจิตภาวนาจนถึงเที่ยงคืน พอถึงเที่ยงคืนท่านสั่งหยุดเลยให้เข้านอน  พอถึงตอนตี ๓ พระอาจารย์เจี๊ยะจะทำเสียงสัญญาณด้วยการไอ ค๊อกแค๊กๆ ถ้ากุฏิที่ท่านเดินผ่านแล้วพระรูปที่อยู่ข้างในนั้น ไม่ส่งเสียงไอตอบ หรือจุดตะเกียงออกมาล้างหน้าล่ะ เสียงเคาะปี๊ป! จะดังตามมาทันที ถ้ายังไม่ตื่นทำความเพียร ครั้งที่ ๒ ก็โน่น ทุบฝากุฏิพังเลยล่ะ หรือใช้ค้อนขว้างเลย แล้วท่านก็จะสอนพระองค์นั้นๆ เลยว่า “ตอนที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่นไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าท่านกระแอม ก็ต้องแอ้มตอบ แล้วต้องทำความเพียรต่อเลย เราจะต้องมีชาครธรรม ต้องตื่นอยู่เสมอ อย่าให้นิวรณ์ครอบงำเราได้”

เหล่าพระและแม่ชีที่อยู่วัดญาณฯ ตอนนั้น ตี ๓ ง่วงขนาดไหนก็ต้องออกมาเดินจงกรมหัวทิ่มหัวตำ ชนตอชนต้นไม้ เดินจงกรมออกนอกเลนเพราะไม่เคยทำอย่างนั้น ใครก็ตามที่ไปอยู่กับท่าน ต้องปรับสภาพร่างกายให้รับได้ทนได้ ต้องเป็นเดือนๆ ถึงจะชินวิธีปฏิบัติแบบท่าน พระทั้งหลายเดินจงกรม เซไปเซมาเป็นเดือนกว่าจะเข้าที่ ไม่ให้หยุดเลย

ตอนกลางวันข้อวัตรปฏิบัติต้องขยันมาก โดยเฉพาะเรื่องปลูกต้นไม้เพราะวัดญาณฯ เริ่มสร้างไม่มีต้นไม้ ที่นั่นแล้งมาก มีแต่ป่ามันสำปะหลังแห้งๆ  



ให้ไปขี้เยี่ยวใส่ต้นมะม่วง
ถ้ามองแบบโดยผิวเผินแต่ด้านภายนอกแล้ว การพูดของพระอาจารย์เจี๊ยะอาจจะมองดูเหมือนหยาบ แต่การปฏิบัติไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ที่ท่านสอนเป็นประโยชน์ทั้งนั้นเลย เช่น ถ้าปลูกต้นไม้ ต้นมะม่วงไว้นี่ ถ้าจะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะนี่ ท่านต้องสอนบังคับให้เราไปถ่ายที่ต้นมะม่วง ท่านจะสั่งไว้เลยว่า “เฮ้ย!...พวกพระพวกแม่ชี เวลาขี้เวลาเยี่ยว อย่าไปขี้เยี่ยวที่อื่นนะ ให้ไปขี้เยี่ยวใส่โคนต้นมะม่วงมันจะได้งาม” อันต้นมะม่วงนั้นมันก็สูงเพียงแค่ศอก นั่งบังก็ไม่มิด มันแจ้งๆ โล่งๆ ใครๆ เขาก็ไม่กล้าถ่าย (อุจจาระ,ปัสสาวะ) ไม่ว่าใครเข้าไป ท่านก็จะสอนอย่างนี้ตลอด พวกแม่ชีเขาเป็นผู้หญิงเขาก็อาย หัวเราะคิกๆ ท่านทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ อาจหาญไม่ต้องอายใคร ไอ้การนั่งถ่ายบังต้นไม้เล็กต้นเดียว ใครๆ ก็ไม่กล้า แต่ท่านสอนแล้วท่านก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  ท่านเน้นมากว่า “ความถูกต้อง ตามธรรมวินัยให้พากันทำ ไม่ต้องอาย แต่อันไหนผิดธรรมวินัยให้รู้จักละอาย”  บางทีท่านก็ไปขอเอาขี้เถ้าหรือเศษกระดูกละเอียดๆ ที่เขาเผาศพจากที่ต่างๆ มาใส่ต้นไม้ เพราะมันมีฟอสเฟต ทำให้ต้นไม้งาม คนที่เข้ามาวัดเขาก็กลัว แม้แต่ขี้ที่อยู่ตามส้วมพระก็ต้องขนมาใส่ต้นเงาะ ต้นทุเรียน ตอนที่อยู่วัดเขาแก้ว ท่านให้ทำอย่างนั้นตลอด

วัดญาณสังวราราม เป็นที่แปลกประหลาดอยู่พอสมควร เป็นที่แห้งแล้ง ไม่น่าอยู่ แต่เวลานั่งภาวนาจะสงบมาก เมื่อสงบก็นั่งไม่หยุด เมื่อพระนั่งภาวนานานๆ เร่งภาวนา หลวงปู่ท่านก็จะดุว่า “พวกมึงไปนั่งแช่ๆ อย่างนี้มันจะไม่พอกิน มันไม่พอกินนะ มันไม่พอกินนะ” พวกหมู่พระกำลังนั่งสะดวกสบายท่านก็จะตำหนิอย่างนั้นตลอด “มันไม่พอกินๆ”

ตอนนั้นมีพระอยู่รูปหนึ่งนั่งภาวนาเกิดความสงบมากๆ อัศจรรย์มหัศจรรย์ภายในจิต ใครจะไปใครจะมารู้ล่วงหน้าได้หมด ถึงขั้นไปอวดใส่พระอาจารย์เจี๊ยะเลย เพราะจิตมันสงบมากก็อาจหาญไม่กลัวท่าน เดินดุ่มๆ เข้าไปกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์พรุ่งนี้จะมีรถคันหนึ่งวิ่งเข้ามาที่วัด มันคันใหญ่ๆ คล้ายๆ รถไฟ ท่อต่ออยู่บนข้างหลังคา คอยรอพิสูจน์ดูว่าพรุ่งนี้จะมีมาจริงหรือไม่เหมือนในนิมิตภาวนา”

พอถึงรุ่งเช้าวันใหม่ ก็มีรถยีเอ็มซีคันใหญ่ๆ มีปล่องท่อไอเสียอยู่ข้างบน วิ่งเข้ามา พระมาดูกันใหญ่ พระรูปนั้นก็กราบเรียนพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “นี่ไงๆ สิ่งที่ผมเห็นในนิมิตที่เล่าให้ฟังเมื่อวานนี้ ที่ท่านอาจารย์ว่า นั่งสมาธิจิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิไม่พอกินได้อย่างไร ใครจะตายก็รู้ ใครจะไปมาก็รู้ มันวิเศษขนาดนี้จะไม่พอกินได้อย่างไรกันครับ”

พระอาจารย์เจี๊ยะก็ดุว่าด้วยเสียงดังๆ แบบตวาดๆ ใกล้ไปทางตะโกนแต่ไม่ใช่ตะโกน “เฮ้ย!... ปฏิบัติอย่างนี้มันไม่พอกิน มันไม่พอแดก ประสารถไม่ต้องนั่งภาวนาให้เสียเวลาก็เห็นได้ชัดกว่านั่งภาวนาดูอีก เนี่ย! กูก็ยังเห็นอยู่เนี่ย มันจะวิเศษอะไร ประสาเห็นรถ”

พระรูปนั้นก็ยังไม่ยอมลงใจในสิ่งที่ท่านสอนว่า “ไม่พอกิน ไม่พอแดก ในการปฏิบัติแบบนี้” เพราะเธอเกิดความอัศจรรย์ในสมาธิมากหลาย จึงคัดค้านอยู่ในใจในสิ่งที่ท่านสอน “เอ๊ะ!... อาจารย์ของเรานี้เป็นอย่างไร?”

สักพักหนึ่งจึงได้โต้ตอบท้าทายพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ท่านอาจารย์...เดี๋ยววันพรุ่งนี้จะมีรถข้างหน้าสีขาวๆ ส่วนด้านข้างเป็นอีกสีหนึ่ง ดูๆ ไม่ค่อยเหมือนรถแต่มันก็เป็นรถ”

พอรุ่งเช้ามา ก็มีรถที่ยังโป๊วสีไม่เสร็จ ลักษณะอย่างที่ว่า วิ่งตะบึงเข้ามาจริงๆ พระทั้งหลายก็ชี้ไปที่รถว่า “นั่นไงๆ มาแล้ว แน่จริงๆ วาระจิตนี้”

สมัยก่อนวัดญาณฯ อยู่กลางทุ่งนา นานๆ จะมีรถมาคันหนึ่ง การที่จะสุ่มเดาทายเอาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พระรูปนั้นก็กราบเรียนพระอาจารย์เจี๊ยะขึ้นอีกว่า “เอ!...ท่านอาจารย์ครับ มันอัศจรรย์มาก เรื่องการที่จิตออกไปรับรู้ ท่านอาจารย์ก็ไม่เคยสอนเลย อันนี้จิตผมไปรู้เองท่านอาจารย์จะว่าไม่พอกินได้อย่างไรครับ”

“เฮ้ย!...มันยังไม่พอกิน เฮ้ยะ!... มันยังไม่พอแดกพอยาไส้ สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อจะไปสู่พระนิพพาน ที่เธอว่าจิตเธอมหัศจรรย์ทางด้านสมาธิเหลือหลายนั้น ให้เธอลองทางด้านปัญญาบ้างว่าจะมหัศจรรย์แค่ไหน สมาธิเป็นเพียงเครื่องกั้นกิเลส แต่ปัญญาเป็นเครื่องทำลายเขื่อน คือ กิเลสนั้นให้พังทลาย จะมหัศจรรย์แบบตาแจ้งๆ แบบท่านเดินไปไหนมาไหนเห็นได้เลย ไม่ต้องมานั่งเข้าสมาธงสมาธิ มหัศจรรย์ตาแจ้งๆ ทั้งๆ ที่คนอยู่เยอะๆ หรือคนน้อยๆ ทั้งที่กิริยาท่าทางคุยกันได้ เดินคุยไปกันได้อย่างนี้ หรืออย่างที่ผมคุยกับท่านอยู่เวลานี้ ให้ท่านลองพิจารณาทางด้านปัญญาบ้าง ไอ้อันที่ท่านทำอยู่นี่ทิ้งไปเลย...ไม่พอแดก...สำหรับภาษาธรรมของผมนะ”

พระภิกษุรูปที่กำลังสนใจในการภาวนานั้น ก็เกิดความคิดขึ้นมาภายในว่า “ทำไมท่านอาจารย์ถึงพูดอย่างนั้น แต่เอาเถอะ... ท่านอาจารย์เป็นพระผู้เคยอยู่อาศัยอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เคยทำวัตรปฏิบัติพระมหาเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานอย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หรือแม้กระทั่งตอนมาอยู่วัดญาณฯ แห่งนี้ พระกรรมฐานที่มีชื่อลือนามก็เยี่ยมเยือนอยู่บ่อยๆ เช่น หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์วัน อุตตฺโม พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ฯลฯ ตลอดจนพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ที่เป็นพระสายป่าก็เข้ามากราบอยู่เรื่อยๆ  เรามองดูท่านด้วยตาเนื้ออาจจะไม่รู้เรื่อง แต่สำหรับพระที่วนเวียนเข้ามาหาท่านล้วนเป็นพระที่สำคัญๆ ทั้งนั้น ล้วนเป็นพระที่คนทั่วประเทศนับถือ ท่านอาจสัมผัสกันด้วยธรรมะภายในก็ได้ ถึงอย่างไรเสียแม้กิริยาอาจจะไม่งดงามตาในบางครั้งที่โลกนิยม แต่เรื่องพระธรรมวินัยอันเป็นส่วนสำคัญท่านเคร่งครัดสม่ำเสมอ แม้การงานทุกอย่างของท่านก็ละเอียดลออหาผู้เทียมเท่ายาก” เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็ปลงใจ ลงใจพร้อมที่จะฟังการอบรมธรรม  



การพิจารณาธาตุขันธ์ร่างกาย
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านพยายามสอนพระทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายจงพยายามพิจารณาธาตุขันธ์ร่างกาย คิดค้นให้ละเอียดถี่ถ้วนถี่ยิบ ไม่ให้หลุดรอดไปได้ทุกส่วนทุกกระเบียดนิ้ว ท่านสอนแบบชำนาญมาก แต่ก่อนท่านไม่พูดจึงไม่มีใครรู้ ท่านบอกให้พยายามพิจารณากาย เลื่อนขึ้นเลื่อนลงอยู่อย่างนั้น อย่าให้ขาด ให้เอาร่างกายเป็นตัวพิจารณา ตั้งแต่เล็บมีอะไร มีหนังกำพร้า ใต้หนังกำพร้ามีอะไร มีเนื้อ ใต้เอ็นมีอะไร มีกระดูก อย่างนี้เป็นต้น แล้วกำหนดตัดทีละชิ้นๆ จากปลายเท้าขึ้นมาบนศีรษะ จากศีรษะลงมาสู่ปลายเท้า พิจารณาไปจนเพลินใจอยู่อย่างนั้น อย่าหยุด ถ้าพวกท่านทำได้อย่างนี้ตลอด ซักวันพวกท่านจะมหัศจรรย์ในเรื่องนี้”

เมื่อพวกพระได้โอวาทธรรมแล้ว ต่างองค์ก็ต่างนำไปประพฤติปฏิบัติ พระรูปที่จิตเป็นสมาธิดี ก็จะนำเรื่องภาวนาด้วยการพิจารณากายนี้มากราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ครับ ไม่ไหวแล้วครับ ตัดได้ ๒-๓ ข้อแล้ว จิตมันก็ไม่อยากเอาแล้วครับ มันขี้เกียจมันอยากจะหยุด มันไม่เพลิน มันไม่นิ่ง”

“เฮ้ย!...จิตมันออกทำงานมันก็เหนื่อยซิวะ มันไม่เพลินหรอกเพราะ งานยังไม่ชำนาญ มันไม่สบายเหมือนเรือนพักในสมาธิ พิจารณาสกนธ์กายธาตุขันธ์นี้ให้หนักเลย ยิ่งขี้เกียจยิ่งต้องเอาให้หนัก การพิจารณากายอย่างนี้ฝืนมาก มันไม่เหมือนจิตสงบๆ การพิจารณาร่างกาย อึดอัดต้องฝืนมาก มันไม่สนุก อึดอัดมาก ต้องฝืนเข้าไป มันไม่สนุก ต้องฝืน ค่อยๆ ทำไปจนนิสัยเคยชิน คำบริกรรมพุทโธไม่ต้องใช้แล้ว ใช้พิจารณาดูอันนี้แทน ค้นในร่างกายอย่างเดียวเลย” ท่านพูดเพียงเท่านี้ก็พากันนำไปปฏิบัติต่อ

ตอนนั้นถึงทำกันก็ยังไม่ค่อยได้เรื่องอย่างที่ท่านสอน ท่านจะเรียกถามเสมอว่า “เฮ้ย!...พวกท่านพิจารณาเป็นยังไงมาบอกผมซิ มาถามผมซิ มาบอกหน่อยมันเป็นยังไง อย่านั่งแช่นะ ถ้าขืนนั่งแช่ห้ามนั่ง” ท่านจะดุ เรื่องนั่งสมาธิแช่ๆ นิ่งๆ มาก เพราะท่านว่า ถ้าคนเคยทำจะเป็นนิสัย คนนั่งภาวนาเคยง่วงมันก็จะง่วงอยู่อย่างนั้น แก้ยาก

หลังจากนั้นมาท่านจะไม่พูดเรื่องสมาธิเลย จะพูดสอนเรื่องการพิจารณาอย่างเดียว ทุกๆ วัน ท่านจะสอนอย่างนั้น เช้า กลางวัน เย็น กลางคืน ดึกดื่น ไม่ว่าเวลาไหนๆ ท่านก็จะสอนให้พิจารณาอย่างนั้น พอท่านถามพระทั้งหลายว่าพิจารณาอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ผู้ตอบท่านกึกๆ กักๆ คล้ายๆ ว่าไม่ทันใจ ท่านก็ว่า “ฮื้อ!...ฮื้อ!...มันต้องไอ้เฒ่าเองน้า”

ตอนหลังเมื่อท่านสอนจนผู้ปฏิบัติตามชำนิชำนาญบ้างแล้ว การพิจารณาแบบนี้ก็ไม่กลัวกัน พิจารณาได้ พิจารณาให้ตายเป็นเถ้าถ่านเป็นดินไปเลย

ในตอนหลังเมื่อพระเหล่านั้นพิจารณาเป็นแล้ว จิตก็อยู่นิ่งๆ ได้ ในจิตนั้นก็ปรากฏรู้ว่า “เราไม่กลัวตายแล้ว” มันบอกไม่ถูกมันสบาย ก็เกิดความมหัศจรรย์ครั้งแรกด้วยการพิจารณาตัดอย่างนั้น เชื่อในพระอาจารย์เจี๊ยะผู้สอนอย่างเต็มใจ  เมื่อพิจารณามากๆ เข้า ท่านก็แสดงอาการพอใจที่ได้อบรมสั่งสอนมา ท่านถามให้พระตอบท่าน ท่านอยากฟังเรื่องราวที่พระรูปใดปฏิบัติ ก็ต้องเล่าถวาย ท่านจึงจะชี้แจงข้อถูกผิด

ท่านบอกว่า ไม่พอ การพิจารณาเท่านี้ยังไม่พอ การพิจารณาอะไรเป็นอสุภะ คือความไม่งามได้ ทีนี้มาลองพิจารณาให้เป็นสุภะ คือความสวยงามหน่อยซิ ท่านก็เล่าการพิจารณาขั้นสุดท้าย สำหรับการพิจารณาให้ฟังว่า "อะไรๆ ทั้งหมดรวมลงมาอยู่ที่การพิจารณากาม สุดยอดกรรมฐานคือกาม ผู้ชายเราสงสัยข้องใจอะไรมาก ก็เป็นเพศของผู้หญิง เมื่อพิจารณา หน้า ตา เนื้อ หนัง อะไรๆ อื่น ก็เหมือนกันหมด มันเหมือนกันหมดทั้งชายและหญิงตลอดจนสัตว์อื่น แต่เมื่อพิจารณาหันมามองอวัยวะของผู้หญิง นี่จะข้องใจจะสะดุดมาก การพิจารณาอย่างนี้พิจารณาได้ยาก แต่จะแก้กาม ต้องพิจารณาแก้ที่ตรงนี้”

ท่านสอนเด็ดขาดและแปลกกว่าใครๆ ที่เคยสอนกันมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็หลงอย่างนี้ทั้งนั้น บางคนถึงกับนั่งฟังไม่ได้ ท่านสอนผู้หญิงให้กำหนดตัดอวัยวะเพศชาย สอนพระผู้ชายให้กำหนดตัดอวัยวะเพศหญิง ท่านสอนพูดออกมาเป็นคำที่โลกรังเกียจ แต่พากันหวงแหนนั่นแหละ นำมาเล่าคงไม่ดี ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้เอาให้หนัก ของอย่างนี้สำหรับผู้ต้องการแก้กิเลสเอามันไว้ไม่ได้

พระอาจารย์เจี๊ยะบอกว่า “เมื่อพิจารณาอวัยวะเพศของหญิง จิตยังสะดุ้งสะเทือนแสดงว่ายังใช้การไม่ได้ อ่านตำรายังไม่จบ ให้ไปเรียนคัมภีร์มาใหม่” พระทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังเช่นนั้นก็กลัว ไม่กล้าพิจารณา บางองค์สั่นทั้งตัว ไม่กล้าทำ ทำไม่ได้ ท่านก็ดุเอาสิว่า “ไอ้ฉิบหาย! กลัวอะไร ประสา... เอาเลย... พิจารณาเลย”

ถ้าพระอาจารย์เจี๊ยะไม่สอนทางด้านปัญญา พวกพระคงภาวนาพุทโธอยู่ตลอดปีตลอดชาติ ไม่รู้เรื่อง นี่ท่านมาตีออก ชี้แจงแสดงเปิดเผยออกเป็นชิ้นส่วน พวกเรานักภาวนาก็พิจารณาตามท่าน เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง ชนะบ้าง ไม่ชนะบ้าง มันลากเราบ้างเป็นครั้งคราว กิเลสตัวนี้สำคัญมากสำหรับพระใกล้ชิดท่านจริงๆ ท่านจะสอนเน้นเรื่องนี้ตลอด ก็คือเรื่องกามกิเลส ต้นเหตุแห่งกามกิเลส ต้นตอมันอยู่ไหน ท่านก็ให้พิจารณาตรงนั้น อย่าอ้อมค้อม ให้ตีให้แตกด้วยอริยสัจ อย่างอื่นท่านก็สอนแต่ไม่เน้นเท่ากับเรื่องกามกิเลส ชนะอันนี้ ชนะได้หมดท่านว่า ไม่ชนะอันนี้อย่ามาคุย คุยได้ก็ไม่รู้เรื่อง นี้แหละคือสุดยอดแห่งกรรมฐาน มนุษย์สร้างภพสร้างชาติก็เพราะตัวนี้แหละ ไม่พิจารณาตัวนี้จะพิจารณาอะไร

ท่านก็ยกเรื่องท่านอาจารย์มหาบัวมาเล่าประกอบว่า เคยสนทนากับท่านอาจารย์มหา (บัว) สรุปได้ความว่า ถ้าพระกรรมฐานคุยกันเรื่องภาวนา ถ้ายังละกามฉันทะไม่ได้ ไม่ต้องมาคุยกัน เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนใจมันไปถึงไหน พิจารณาให้มันถึงพริกถึงขิงตรงนั้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า “สุดยอดแห่งการพิจารณา”



ศิษย์ขอเปลี่ยนอาจารย์
อยู่ต่อมามีพระรูปหนึ่ง ได้ยินชื่อเสียงโด่งดังของพระอาจารย์มหาบัวแห่งวัดป่าบ้านตาด ยิ่งได้เห็นพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยมพระอาจารย์เจี๊ยะ เธอก็ยิ่งศรัทธามากขึ้น เป็นที่กล่าวขานไปทั่วถึงความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์มหาบัว เธอจึงอยากไปศึกษามาก และเธอนั้นก็มีความคิดลึกๆ ภายในใจว่า การได้ไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวนั้น น่าจะเป็นความแน่นอนมากกว่า เมื่อคิดเช่นนั้นจึงเข้าไปกราบเรียนพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ท่านอาจารย์ครับ ผมก็อยู่กับท่านอาจารย์มานานแล้ว อยากจะออกไปภาวนาที่อื่นบ้าง ทุกๆ ปี ก็ไม่เคยลาท่านอาจารย์ไปที่ไหน ปีนี้กระผมอยากจะขอโอกาสลาท่านอาจารย์ไปศึกษากับท่านอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าบ้านตาดบ้าง” พระอาจารย์เจี๊ยะได้ฟังดังนั้นจึงตอบทันทีว่า

“ท่านเอ๊ย!...ถ้าผมสอนท่านผิด ให้ผมตกนรกแทนท่านเลย”

พระอาจารย์เจี๊ยะพูดขึ้นแบบขึงขัง บวกกับความน่าเห็นอกเห็นใจที่ท่านเฝ้าฝ่าฟันอบรมสั่งสอน พระทุกรูปที่ได้ยินเช่นนั้นก็พากันนิ่งเงียบ น้ำตาคลอ ซึ้งความรักเมตตาของท่านที่มีต่อตน หลังจากนั้นมา ก็ไม่มีพระรูปใดกล้าเข้าไปกราบลาท่านไปที่อื่นอีกเลย ได้พากันคิดว่า “อาจารย์ของเรานี่ของแท้ ของจริง”

ตอนนั้น สมัยนั้นเป็นพระปฏิบัติกันจริงๆ ภาวนาดีหลายรูป ในขณะนั่งภาวนาอยู่นั้นสงบดี ปลอดจากนิวรณ์ทั้งหลายทางด้านจิต แต่พอออกจากที่ภาวนา เดี๋ยวโกรธเดี๋ยวรัก ไม่พอใจ เสียใจ ดีใจ จิตเปลี่ยนไปต่างๆ นานา พอเป็นกันอย่างนี้ ท่านก็เตือนว่า  “อย่างนี้มันไม่ใช่นะ เดี๋ยวพวกมึงก็บ้าหรอก ตอนที่เราอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น มีพระมากราบเรียนปู่มั่นว่า "เข้านิพพานวันละ ๕ ครั้ง ๗ ครั้ง ก็แบบพวกมึงนี่ล่ะ” พูดแล้วท่านก็หัวเราะ


ความผูกพันกับท่านพระอาจารย์มั่น
สำหรับพระอาจารย์เจี๊ยะ ถึงกาลเวลาจะผ่านไป แต่ความผูกพันระหว่างท่าน กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ดูเหมือนจะเป็นปัจจุบันธรรมตลอด ความปลูกฝังทางด้านจิตใจระหว่างท่านกับท่านพระอาจารย์มั่นมีมากจริงๆ คนบางคนเกิดขึ้นมาในโลก ไม่เคยเห็นศิษย์เคารพรักอาจารย์สุดชีวิต ให้ไปดูพระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านเคารพรักครูบาอาจารย์ของท่านจริงๆ คำน้อยที่ท่านอาจารย์มั่นสอนท่านจะจำมิรู้ลืม แลมิอาจเอื้อมล่วงเกินก้าวล้ำ

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านอยู่ที่วัดญาณฯ นี้ นอกจากจะนำพระปฏิบัติทางด้านจิตภาวนาแล้ว ยังเป็นผู้นำในการก่อสร้าง “พระอุโบสถ” , “พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์” และเสนาสนะอื่นๆ ตามพระบัญชาของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ แต่ด้วยเหตุไม่สะดวกอะไรบางอย่าง ตามนิสัยวาสนาของท่าน ท่านจึงเดินทางกลับมาวัดอโศการาม ซึ่งเหมือนร่มโพธิร่มไทรใหญ่ ไปที่ไหนมีเหตุขัดข้องก็จะกลับมาที่นี่  

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤษภาคม 2558 11:32:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 10.0 MS Internet Explorer 10.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 07 พฤษภาคม 2558 11:02:50 »

.

พรรษาที่ ๔๓ - ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๖)
จำพรรษาที่วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ


อาศัยร่มใบบุญท่านพ่อลี
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะออกจากวัดญาณสังวรารามมาแล้ว จึงออกเดินทางไปพักอยู่ที่วัดอโศการาม พระอาจารย์มหาบัวจึงได้นิมนต์ให้ท่านอบรมธรรมะอยู่ที่วัดอโศฯ นี้ก่อน อย่าเพิ่งด่วนไปที่ไหน ท่านก็ทำตามคำที่พระอาจารย์มหาบัวสั่งด้วยความเคารพ ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะเล่าว่า...

ท่านพ่อลีท่านก็ได้ล่วงไป ๑๘ ปีแล้ว ทิ้งไว้แต่มรดกให้พระเณรดูแลรักษากันเอง รอยมือที่ครูบาอาจารย์สร้างเป็นความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ เรื่องจิต เรื่องธรรม ตลอดจนความรู้ภายใน ยากที่จะหาใครเทียมเท่าได้ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ เรามาพักสบายทั้งกายจิต งานอะไรที่ท่านมอบหมาย ทำสำเร็จหมดจดไม่เคยปริปากบ่น ทำถวายท่านด้วยความเทิดทูน กุฏิน้ำท่านสั่งทำให้เสร็จในงานสมโภช ๒๕๐๐ ปี เราก็ได้ทำถวายสุดกำลังความสามารถ การกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการามครั้งนี้ นับว่าเป็นการมาอาศัยร่มใบบุญครูบาอาจารย์ทำไว้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะเปรียบแล้ว “เราก็เหมือนขี้ไก่ ท่านพ่อนั้นเป็นประดุจทองคำ”




พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร)

มาอยู่ที่วัดอโศการามนี้ ก็ได้อบรมสั่งสอนพระเณรเต็มความสามารถ แต่คงเป็นเพราะบุญวาสนาอาภัพ การอบรมสั่งสอนของเราจึงไม่เป็นที่ถูกจริตนิสัยของพระเณรนัก คงไม่เคยร่วมทำบุญ ร่วมเป็นศิษย์อาจารย์กันมาก่อน เราไปสอนเขาอย่างไร เขาก็ไม่เชื่อ ท้ายสุดกลับกลายเป็นธรรมะเหลวไหล ทั้งๆ ที่ทำแทบเป็นแทบตาย กว่าจะได้ธรรมประเภทนั้นมาครอง ในที่สุดก็ไม่พ้นคำที่ว่า “อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ” ตัวใครตัวมัน ตนใครตนมัน รักษากันเอาเอง รับผิดชอบกันเอาเอง กลายเป็นอุตตะมึง อัตตะกู ไปเสีย

เรื่องศิษย์เรื่องอาจารย์ อันเป็นปุพเพกตปุญญตานี้ ในพระไตรปิฎก ท่านมีเล่าขานไว้เหมือนกัน

วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี...พระพุทธองค์เสด็จผ่านไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ผู้คนก็คลาคล่ำเต็มไปหมด เดินสวนไปสวนมา สวนมาสวนไปอยู่อย่างนั้น ไม่แสดงกิริยาอาการว่า จะเคารพในพระพุทธองค์ มีแต่กิริยาอาการกระด้างกระเดื่อง พระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐากเห็นอย่างนั้น ก็เข้ามากราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำไมชนเหล่านี้ถึงไม่แสดงอาการเคารพรักในพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้า”

พระองค์ตรัสว่า “อานนท์เอย! ชนเหล่านี้ ในชาติปางก่อนเขากับเราไม่เคยได้สร้างบุญทำความดีร่วมกันกับเรามา อานนท์! เรารอคอยพระมหากัสสปะมาก่อน เมื่อพระมหากัสสปะมาแล้ว เธอจะประจักษ์ใจเอง” พระพุทธองค์กับพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐาก ก็ประทับนั่งรอจนกว่าพระมหากัสสปะมาถึง  เมื่อพระมหากัสสปะมาถึง ชนที่เดินขวักไขว่ไปมาเหล่านั้น เมื่อเห็นพระมหากัสสปะมา ก็พากันเข้ามาแสดงความเคารพนอบน้อมคารวะ ต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อชนเหล่านั้นเข้ามาหาพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะจึงประกาศว่า “อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย นี่พระพุทธเจ้าผู้เป็นอาจารย์ของเรา ท่านทั้งหลายจงนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ชนเหล่านั้นก็เข้ามาแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า และฟังธรรมของพระพุทธองค์จนบรรลุมรรคผล เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเสร็จ ก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า...“อานนท์! ชนเหล่านี้ในชาติปางก่อน เขาเคยเป็นศิษย์พระมหากัสสปะ แต่ชนเหล่านี้ไม่เคยเป็นศิษย์เรา เมื่อเห็นพระมหากัสสปะมา เขาจึงพากันแสดงความเคารพ แต่เมื่อเห็นเรามาเขาก็พากันนิ่งเฉยดูดาย พระมหากัสสปะเป็นบัณฑิต ย่อมแนะนำทางไปสู่สวรรค์ พรหมโลก และพระนิพพาน แต่ถ้าชนเหล่านั้นได้คบกับอาจารย์และร่วมทำบุญกับคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อาจารย์ของเขาเหล่านั้น ย่อมนำพาไปสู่อบาย ทุคคติ วินิบาต นรก อันเป็นภพภูมิที่ต่ำ”

นี่แหละเรื่องการทำบุญร่วมกันในชาติปางก่อนจึงเป็นอย่างนี้ คนเราจึงไม่เหมือนกัน เราจะไปเปลี่ยนไม่ได้ ใครเป็นลูกศิษย์ใคร อาจารย์ใครก็เลือกเอาเอง ถ้าอาจารย์ไม่เป็นบัณฑิต ก็ให้รีบตีตัวออกห่าง เพราะถ้าคบอาจารย์ที่เป็นคนลามก เป็นคนเลว ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนคบกับงูพิษ ท่านเปรียบไว้เหมือนงู ที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้ก็จริง แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถ ให้เปื้อนด้วยคูถได้ด้วยการดิ้นของมัน ยิ่งเป็นงูตัวใหญ่ๆ ยิ่งสกปรกเยอะ   ฉะนั้นจึงให้แสวงหาอาจารย์ที่เป็นบัณฑิต เป็นกัลยาณมิตร เช่นอย่างเรานี้ ก็ได้ท่านพ่อลี ท่านอาจารย์กงมา และท่านพระอาจารย์มั่นเป็นกัลยาณมิตร จึงก้าวเข้าถึงกัลยาณมิตรใหญ่ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ภายในใจ

อย่างบางทีเขาก็ว่า “หลวงตาเจี๊ยะไม่มีคุณธรรมหรอก ไม่เหมือนอย่างที่หลวงตาบัวชมเชยเราว่าเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองหรอก เห็นเราเกากะโปกเกาหำอย่างนี้ เขาก็ว่าเราไม่สำรวม เกาหำสำรวมมันไปแอบเกาอยู่ตรงไหน เกาในโบสถ์ในวิหารหรือ มันคันตรงไหนตอนไหน ก็เกาตอนนั้นตรงนั้นสิ มันคันก็เกาละสิ จะปล่อยไว้ทำไม เกาในที่ไม่คันนั่นล่ะคนบ้า แต่ถ้าเกาถูกที่คัน เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราไม่หวั่นไหว ยิ่งผู้หญิงนี่เข้าใกล้เราไม่ได้หรอก ด่าฉิบหายเลย”


โต้ธรรมะกับท่านอาจารย์เฟื่อง
ธรรมะของเรามีไม้เดียว สิบปีก็อย่างเก่าไม่มีอย่างอื่นเลย ให้สับหัวกะโหลก ผ่าไส้ผ่าท้อง เพราะวิธีที่เราปฏิบัติได้ผลมา จะเอาอย่างอื่นไปสอนไม่ได้ การสอนเราต้องเอาปฏิปทาที่เราได้ดำเนินมา จนบางครั้งได้ทะเลาะกับท่านเฟื่อง ทะเลาะก็ทะเลาะแบบพระ ไม่เหมือนชาวบ้านเขาทะเลาะกันนะ

อาจารย์เฟื่อง : "เจี๊ยะ! ไปสอนเขาแบบนี้ เขาก็หนีหมดซิ ผู้หญิงฯ สอนให้พิจารณาแต่ของเน่าของเหม็น"

อาจารย์เจี๊ยะ : “ไอ้ฉิบหาย! กูไม่เชื่อเลย ไอ้พวกนั่งจับลมๆ แม่งมึงก็หลับซิ พระพุทธเจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส และอุททกดาบส จนสำเร็จ ฌาน ๘ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ถึงมาเจริญอานาปานสติในตอนหลัง นี่ยังไม่ได้อะไรเลย จะมาจับลม เข้าพุท โธออก ไม่ทันหรอก อยู่กับหลวงปู่มั่น ๓ ปี ๔ แล้ง ไม่เคยสอนซักที จับลมนี่ มีแต่ให้พุทโธเร็วๆ บริกรรมพุทโธเร็วๆ เฟื่อง! สอนอย่างไรวะ”

อาจารย์เฟื่อง : “ไอ้ฉิบหาย! สอนเขาอย่างนี้ให้เหม็น ใหเน่า ตัดคอ ตัดแขน ตัดขา แลบลิ้นออกมาตัด คอขาด แขนขาด เน่าเฟะ เรี่ยราดอยู่กลางศาลา แค่ฟังเขาก็กลัวแล้ว แล้วใครเขาจะมาฟังเทศน์เล่า ใครเขาจะเข้ามาใกล้ มีเพลงเดียว กัณฑ์เดียว สิบปีก็เอาอย่างเก่า ปรับปรุงสำนวนให้มันนุ่มนวลหน่อยไม่ได้หรือ? บางทีคนเหล่านี้เขาเข้ามาฟังพอสบายใจ ก็กลับบ้านไปอยู่กับลูกกับเมียเขา ธรรมะรุนแรงเอาไปทำเอง เอามาออกสังคมไม่ได้”

อาจารย์เจี๊ยะ : “ที่เทศน์ที่แสดงอยู่นี่ เพราะพริ้งที่สุดในโลกแล้ว หาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มันไม่น่าฟังก็ชั่งแม่งมัน ก็ธรรมะเป็นอกาลิโกไม่จำกัดกาล เทศน์ที่ไหนก็ซัดมันซะจนเต็มเหนี่ยว” (ขออภัยต้องรักษาสำนวนเก่าเอาไว้)


ธรรมกิริยาของพระอาจารย์เจี๊ยะ
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านมาแสดงธรรมอบรมสั่งสอนที่วัดอโศฯ ไม่มีใครฟังกันรู้เรื่องหรอก ทั้งพระทั้งโยม ไม่มีใครสนใจจดจำ มีคนบ่นว่า “ฟังยาก ฟังธรรมหลวงปู่เจี๊ยะนี้ ฟังไม่รู้เรื่อง คือคล้ายๆ ว่าโลกธรรมท่านไม่ได้ยึดแล้ว การตำหนิติเตียนเป็นเรื่องธรรมดา ท่านเป็นอิสระมากและเป็นอิสระมานานมาก นานมากจนพวกพระเณรจับกิริยาอาการทางกายและวาจาท่านไม่ได้เลย ส่วนทางใจนั้นพอจับได้บ้าง เพราะธรรมที่ท่านสอนเผ็ดร้อนระงับดับกิเลสแก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี”

พระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านพิจารณาโลกธรรม โลภ โกรธ หลงแล้ว  กิริยาของท่านทำอะไรไม่ติดข้องทางโลกเลย เช่น ปวดท้องฉี่ ท่านจะฉี่ตรงนั้นเลย คนเยอะไม่ต้องอาย ฉี่ตรงนั้นเลย ทีนี้ท่านก็ถูกตำหนิว่าเป็นพระผู้ใหญ่ทำไมถึงไม่ละอาย แต่เมื่อเรามาพินิจพิเคราะห์ด้วยดี การกระทำแบบท่านนี้ทำยากนะ อย่างเช่นท่านนั่งเกากะโปกกลางศาลาคนเยอะๆ นี่ คนธรรมดาทำได้เมื่อไร ชนทั้งหลายเขาก็ว่า พระองค์นี้ไม่มีระเบียบเรียบร้อยเลย นึกไปนึกมาท่านก็รู้ๆ อยู่ แต่ท่านแกล้งทำเพราะรำคาญคน อยากให้มันหนีไปๆ จะได้อยู่สงบสงัด

ท่านชอบอยู่เงียบๆ ทำอะไรๆ ของท่านไป ไม่มีใครรู้เรื่องท่านหรอก ศิษย์พระอาจารย์มหาบัวที่เป็นฆราวาสที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ พระอาจารย์มหาบัวก็แนะนำให้มากราบอาจารย์เจี๊ยะนะ นี่แหละ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”

เมื่อเขาเข้ามาถึง มาเรียนถามปัญหา ท่านก็จะถามคืนทันทีว่า ท่านอาจารย์มหาบัวสอนอะไร ยังไง? เมื่อเขาตอบมาว่าอย่างนั้นๆ ท่านก็จะสรุปเพียงว่า “เออ!...อย่างเดียวกัน สอนอย่างเดียวกัน” ท่านจะพูดเพียงแค่นั้นไม่พูดมาก เหมือนกับว่าท่านจะรักษาตัวท่าน ไม่ยุ่งกับใคร

พระอาจารย์เจี๊ยะเวลานั่งชอบถกเขมรเปิดแก้มก้น ฝนมีด ท่านทำอย่างอิสระของท่าน แต่ชนส่วนมากมาหา เห็นกิริยาที่ท่านทำเช่นนั้นแล้ว ก็มาจับผิดท่านเอง ท่านเองไม่เคยไปยุ่งกับใคร และไม่ต้องการให้ใครมาหากราบไหว้บูชา  แม้ศิษย์พระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด ที่ท่านบอกว่า “พระอาจารย์เจี๊ยะเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เมื่อมาเห็นกิริยาอาการเคลื่อนไหวไปมาเช่นนั้น ก็อดที่จะตำหนิพระอาจารย์เจี๊ยะไม่ได้ เรียกว่าเดินทางเพื่อมาดู มากกว่ามาหาธรรม บางท่านบางคนจึงไม่ได้อะไร เพราะในสิ่งที่เขาว่าไม่มีอะไรนั้นแหละ มันมีความหมายอยู่ในตัว พระอาจารย์มหาบัวจึงเตือนอยู่เสมอว่า “ระวังจะเป็นบาปเป็นกรรม กับคนที่คิดไม่ดีกับพระอาจารย์เจี๊ยะ เพราะไม่เข้าใจท่าน”

พระอาจารย์เจี๊ยะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดท่านละเอียดมาก ผ้าสบงเย็บชุนเป็นระเบียบมาก การใช้จ่ายรัดกุมมาก ไม่เคยเห็นมีพระที่ไหนทำได้อย่างท่านเลย ใครก็ตามที่ไม่เคยฝึกมาก็จะคิดว่า “ทำไมท่านทำอย่างนี้นะ”  ถ้ามองเผินๆ ก็อาจจะดูหยาบ ถ้าเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นประโยชน์ทุกอย่างที่ท่านทำ เช่นอย่างเดินไปนี่ เห็นตะปู ท่านจะให้ถอนออกแล้วเคาะๆ ๆ เก็บไว้มีประโยชน์ไม่ต้องซื้อหา เวลาเดินไปเจอถังพลาสติกแตกๆ ท่านก็เอามาเคาะๆ เอามาป่นใช้แทนครั่ง ทำด้ามสิ่วด้ามขวาน เจอหมอนแตกท่านให้พระที่ติดตามลงไปงมมาจากในน้ำ คนผ่านไปผ่านมาบางทีท่านก็อายเขา เดี๋ยวเขาจะหาว่าพระลงไปทำอะไรในน้ำ ชาวบ้านมองกันหมด เมื่อได้หมอนมา เอามาตากแดดให้แห้ง แล้วก็นำมาเย็บให้ดี   (หมอนขาดๆ เจอตามร่องน้ำบ้านใครในทางเดินนี่ ท่านลงไปเก็บมาหมดแหละ บางทีพระรูปที่ติดตามต้องสะพายบาตรเดินตามหลังอยู่แล้ว ยังต้องมาสะพายหมอนขาดอีก ใครๆ เขาเห็นเขาก็ว่า “บ้า” แม้แต่ผู้ที่ติดตามยังคิดว่า “ทำยังงี้เหมือนบ้า” แล้วคนอื่นที่มองมันจะคิดมากขนาดไหน ดูๆ แล้วเหมือนผีบ้าเดินตามกัน คนจะมองเหมือนคนบ้ากับคนบ้าอยู่ด้วยกัน)

ท่านห้าวหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระที่นับถือท่านหรือไม่นับถือ ท่านก็ไม่กลัวเลย ยกตัวอย่างเช่น พระเดินตามกัน ๒ รูปไม่ได้เลย ถ้าท่านรูปใดทำ เป็นได้เรื่อง ท่านจะด่าเลย ท่านจะให้เร่งความเพียร การเดินตามก้นกันเหมือนฆราวาส ท่านไม่ให้ทำ

พระบางรูปข้อวัตรปฏิบัติดีเยี่ยม เป็นเพียงกิริยา แต่พอเสร็จจากการทำตามตาราง ก็คุยกันจุกๆ จิกๆ ท่านพูดเมื่อเห็นพระกระทำเช่นนั้นว่า “กูไปนั่งเยี่ยวอยู่นี่ เท่ากับพวกมึงพิจารณากันทั้งคืนมั้ง”

พระอาจารย์เจี๊ยะดุพระเณรมาก จนบางครั้งพระอาจารย์เฟื่องต้องเตือนพระเณรว่า “อาจารย์เจี๊ยะท่านเป็นอย่างนี้แหละ อยู่กับหลวงปู่มั่น แหย่หลวงปู่มั่นให้ดุได้ทุกวัน พวกท่านอยู่กับท่านอาจารย์เจี๊ยะอย่าถือสาท่านนะ”


อบรมลูกศิษย์
เวลาอบรมลูกศิษย์ท่านจะดุมาก เพราะนิสัยท่านชอบฟังธรรมะที่เผ็ดร้อน เวลาอบรมพระเหมือนว่าท่านจะปั้นหน้า หันหน้าเข้าฝา ทั้งๆ ที่คุยกันอยู่ ทั้งๆ ที่ยิ้มๆ กันอยู่ดีๆ พอท่านหันหน้ากลับออกมาพูดเรื่องธรรมะนี่ หน้าท่านดุเลย

วันไหนถ้าท่านได้ยินเสียงพระคุยกัน ไม่ประกอบความเพียร ท่านลงทุนทุบร่ม กระแป๋ง ขว้างลงมาโครมครามๆ ท่านจะพูดบ่นๆ ว่า “โน่น!...มันพากันหนีไปทางโน่นแล้ว พวกนี้ต้องสอนแบบนี้ ไม่งั้นไม่กลัว” พูดเสร็จแล้วท่านก็หัวเราะ...เสียงดัง ฮ่า ฮ่า...”

เมื่อใดใครก็ตามได้เข้าไปสัมผัสจริง จะรู้ว่าพระอาจารย์เจี๊ยะ เป็นที่อบอุ่นมีเมตตาอารี ท่านมีนิสัยล่อหลอกทดสอบคนใกล้ชิดท่านอยู่เสมอ ไม่ให้ตายใจ เหมือนว่าเวลาเราจะเดินหน้า ท่านจะถอยหลัง เราถอยหลัง ท่านเดินหน้า เราไป ท่านจะเหยียบเบรค เราต้องจับเอา ธรรมะท่านไม่ซ้ำซาก พูดตรงๆ แต่เฉพาะการพิจารณากายนี้ ๑๐๐ ครั้งก็พูดอย่างเก่า เทศน์อย่างเก่าไม่เปลี่ยนแปลง เฉพาะการพิจารณากายอย่างเดียว อย่างอื่นอาจมีแหลมคมตามแง่เหตุผล

สำหรับการสอนพระ สอนให้ “พุทโธ” ถ้าพุทโธไม่อยู่ ให้กลั้นหายใจพุทโธไป ๒๐ ครั้ง แล้วออกอีก ๒๐ ครั้งในลมหายใจเดียว ให้รัวเหมือนเอ็ม ๑๖ ท่านว่าอย่างนั้น “พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ” ให้อย่างนั้นเลย มันถึงจะอยู่ ต้องไว  ท่านสอนต่อไปว่า “ถ้าพิจารณากายไม่ไหวนี่ เอาระเบิดใส่ในตัวเรา เอ็ม ๑๖ จ่อขมองเลย ถ้าตัดลิ้นตัดคอยังเสียวอยู่ เอาระเบิดให้แม่มันคอขาดไป” ให้นึกไปอย่างนั้น  



นิมิตภาวนาพลาสติกครอบหัวพระ
หลวงปู่เจี้ยะเล่าว่า...

เราไปว่าเขา เขาก็ไม่ชอบเราเหมือนกัน แต่บางทีก็ต้องเสือก ผมว่าเตือนพวกท่านเพราะหวังดี ผมก็ลูกศิษย์ท่านพ่อเหมือนกันนี่ บางองค์ท่านโกรธหน้าดำหน้าแดง ทำท่าอึดอัดน่าหัวเราะ บางองค์ท่านหลับอยู่ตลอด เรานั่งสมาธิลองเพ่งไปดู ถ้าเอาพลาสติกไปครอบหัวมันในนิมิต ถุงพลาสติกก็ครอบหัวอยู่อย่างนี้   พอเช้าก็เรียกมา “แหม!....พอเรียกขึ้นมาหน่อย ท่านนี้หน้าเขียวหน้าขาวเชียวนะ”
“ทำไม อาจารย์มีธุระอะไร?”
“เอ้า! ก็มีหน่อยซิ! ท่านน่ะลูกศิษย์ใคร ลูกศิษย์ท่านพ่อลี ผมก็เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี แล้วเราปรึกษากันได้ หรือท่านมีความรู้ ท่านก็มาสอนผมได้ เข้าใจมั้ย? ผมมีความรู้ก็สอนกันเพื่อให้มันเป็นประโยชน์ ท่านนี่นั่งฟังเทศน์สัปหงกตลอดเวลา จริงหรือเปล่า”


แต่ท่านเถียงว่า “ท่านไม่หลับ ใครๆ ก็เห็นทั้งนั้นเลย”

บอกไปก็ไม่ค่อยยอม เราก็ต้องวางอุเบกขา เขาไม่เชื่อจะทำยังไง อย่างองค์นี้ ถ้าอาตมาขาดี ทีเดียวคาที่เลย ฮึ! ตัวเตี้ย ๆ ตบกรามทีเดียวคาที่เลย นับสิบทีเดียวไม่ลุกเลย หมัดนี่มันแรง ไม่ได้ (หัวเราะ ฮึ...)


วัยผ่านเหมือนถูกบังคับ
ในระหว่างที่พระอาจารย์เจี๊ยะ พักจำพรรษาปฏิบัติภาวนาอยู่ที่วัดอโศการามนั้น ท่านยังได้ออกเที่ยววิเวกตามสมณวิสัย ยินดีทางด้านจิตใจแบบมุนี ปลีกตัวออกห่างจากผู้คน ปรารถนาหาถ้ำเงื้อมผาป่าเขา จะอยู่และตายแบบลูกศิษย์ตถาคต สมศักดิ์ศรีที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เพราะสังขารร่างกายขณะนั้นก็เข้าสู่วัยชราแล้ว พระอาจารย์เจี๊ยะท่านจึงพิจารณาว่า “วัยของเรานี้ผ่านไปรวดเร็วเหมือนถูกบังคับ รูปที่มีอยู่ก็เปลี่ยนไปเหมือนรูปอื่นๆ ที่เปลี่ยนไปแล้วและดับไปแล้ว เมื่อย้อนมาพิจารณาระลึกถึงตัวของเรา เราก็จะเหมือนกับตัวตนของคนอื่นที่ล่วงผ่านไปแล้วตามคติของโลก อย่างไรเลยก่อนตายเราควรจะไว้ลายศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ควรจะตายอยู่ตามท้องถ้ำ เงื้อมผา ป่าเขา จึงจะสมน้ำสมเนื้อแห่งความเป็นนักรบธรรม” เมื่อปรารภดังนั้นท่านจึงคิดออกวิเวกตามป่าเขาในที่ต่างๆ ตามรอยบุพพาจารย์ของท่านคือท่านพ่อลี ธมฺมธโร ในเบื้องแรกท่านออกเที่ยววิเวกที่เขาจีนแล จังหวัดลพบุรี

สำนักสงฆ์ห้วยปลาหลด
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านออกเที่ยวแสวงหาถิ่นที่วิเวกทางกายและจิตพอสมควรแก่กาลแล้ว ท่านก็จะเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการามในฤดูฝน เพื่ออบรมสั่งสอนพระเณรเท่าที่ความสามารถที่พึงจะกระทำได้ แต่เมื่อท่านกลับเข้ามาอยู่วัดอโศการาม เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง พระเณรก็ไม่ค่อยจะเชื่อฟังท่านมากนัก มักมองท่านด้วยสายตาว่าเป็นพระแก่เลอะเลือนไม่มีความหมาย พระบางรูปถึงขนาดดูหมิ่นว่า “ท่านเป็นพระบ้า”

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านกล่าวว่า พระทุกวันนี้มักติดรูปแบบในการปฏิบัติมากกว่าวิธีปฏิบัติจริงเพื่อถึงความพ้นทุกข์ ดังคำที่ว่า “โลกชอบ แต่ธรรมชัง หรือธรรมชอบ แต่โลกชัง” สาเหตุเพราะว่าทุก ๆ คนชอบมองแต่กิริยาภายนอกอันเป็นไปแบบสบายๆ

เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น ท่านจึงสลดใจ ครั้นออกพรรษาเวียนมาถึงฤดูแล้งอีก ท่านคิดจะแสวงหาสถานที่พักภาวนาอยู่จำพรรษาอย่างถาวร แต่ว่ายังไม่สามารถหาได้ อายุมากแล้วไม่คิดจะตะลอนรอนแรมไปที่ใดอีก ท่านจึงเที่ยววิเวกไปตามที่ต่างๆ อันเป็นที่สบายกายจิตเป็นวิหารธรรม ท่านเดินทางไปทางภาคเหนือ จังหวัดตาก เพราะคณะศิษย์ของท่านไปปักหลักอยู่ที่นั้นก่อนแล้วก็มี ไบ่พักที่ห้วยปลาหลด บ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และที่ถ้ำช้างร้องอันเป็นเขตแดนติดต่อกัน ระหว่างจังหวัดตากกับจังหวัดลำพูน (ฝั่งช้ายป่าอมก๋อย จังหวัดตาก ฝั่งขวาลี้ จังหวัดลำพูน)  



เทพบันดาล
ที่ถ้ำช้างร้อง มีเหตุการณ์ที่มนุษย์ผู้มีนัยน์ตามืดบอด อันกิเลสปกคลุมอยู่นั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่สำหรับพุทธญาณ ตลอดจนญาณแห่งพระอริยสงฆ์นั้นท่านรับรู้ได้โดยตลอด

พระลูกศิษย์ของพระอาจารย์เจี๊ยะรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ชอบทดลองเรื่องผี เทพ เทวดา ตลอดจนพวกกายทิพย์ว่ามีจริงหรือไม่ ในที่สุดท่านก็เจอดีเข้าจนได้

เวลาที่ท่านเข้าที่นั่งภาวนา จะมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในนิมิตเสมอๆ แสดงอาการกิริยาว่าไม่พอใจที่ท่านเข้ามาอยู่ที่นี่ อาจจะเป็นเพราะการแสดงกิริยามรรยาทไม่งามอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนี้ก็สุดแล้วแต่ใครจะคิดคาด ในขณะที่หญิงงามเข้ามาในนิมิตภาวนานั้น เธอมักจะถามว่า “พระคุณเจ้า! มาอยู่ที่นี่ทำไม มาอยู่ป่าทำไม มาอยู่ป่าแล้ว ไม่เห็นเหล่าพระคุณเจ้า สงบกาย วาจา ใจเลย” นางถามขึ้นพร้อมกับแสดงกิริยารังเกียจ ด้วยการมองด้วยหางตา

“สงบยังไง ยังไงเรียกว่าความสงบ อธิบายให้อาตมาฟังซิแม่หญิง!” พระรูปนั้นสอบถามขึ้น
“ความสงบก็คือ ต้องอยู่อย่างเงียบๆ เป็นพระกรรมฐาน ต้องไม่พูดจาวาทีกับใครทั้งนั้น”  นางกล่าวขึ้นพร้อมกับรูปร่างที่งดงามของนางค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่วัยชรา จากหญิงสาวกลายเป็นหญิงแก่ หน้าไม่รับแขกที่มาเยือน ในขณะที่ผู้หญิงแก่หน้าไม่รับแขกคนนี้พูดจบลง นางก็แสดงกิริยารังเกียจเพิ่มขึ้นออกมาอย่างเห็นได้ชัด ประหนึ่งจะเป็นการประกาศสงครามระหว่างพระสาวกของพระพุทธเจ้ากับภุมเทวดานางหนึ่ง สรุปว่าเธอไม่ชอบใจพวกพระอย่างเรา เธอชอบพระกรรมฐานแบบพม่า

ในที่สุดจิตพระรูปนั้นก็แสดงอาการฉายกระแสลำแสงของจิตไปกระทบนางเข้าว่า “อีฉิบหาย! กูอยู่แบบพระกรรมฐานไทยไม่ได้หรือ?”

ด้วยเหตุเพียงคำพูดกระทบเพียงเท่านี้แหละ เธอโกรธเป็นวรรคเป็นเวร แกล้งสารพัดอย่าง พระที่ไปอยู่ด้วยกันอยู่แทบไม่ได้ ลำบากลำบนเกิดอาเพศต่างๆ นานา ในขณะนั้นมีพระเข้ามาอยู่ด้วยกันหลายองค์ เมื่อภายในถ้ำก็ขรุขระมาก พระเณรจึงช่วยกันปรับถ้ำให้พออยู่ พอเดินไปได้สะดวก  ขณะที่พระเณรปรับปรุงถ้ำช้างร้องอยู่นั้น รู้สึกว่าแม่หญิงภูมิเจ้าที่ ที่เป็นผู้อารักษ์ถ้ำและสมบัติของเจ้าแม่จามเทวีจะไม่เห็นดีด้วย  


เทวดาจะช่วยสร้างวัดสร้างศาลา
พอตกตอนกลางคืน ต่างองค์ก็ต่างภาวนา พระรูปเดิมที่สามารถติดต่อกับเทวดาเหล่านี้ได้ก็เข้าที่ภาวนา ท่านภาวนาแล้วปรากฏภาพในนิมิตภาวนาของท่าน ให้เห็นสตรีคนเดิมที่เข้ามาในนิมิตของท่านบ่อยๆ คราวนี้เขามาอีก มาแปลกกว่าคราวก่อนๆ ที่เคยมา คือไม่มาเป็นคนแก่ มาเป็นคนรุ่นอายุประมาณ ๓๐ ปี รูปร่างหน้าตาดีมาก มาท้วงติงว่าทำไมพวกพระเราถึงทำอย่างนี้ และก็พูดอย่างที่เขาเคยพูดว่า “พวกท่านเป็นพระไม่สงบ พวกท่านเป็นพระกิริยาไม่งาม” นางชี้ไม้ชี้มือด่าว่าโดยตลอด

“แม่หญิง! จะให้สงบได้อย่างไร เมื่อท้องถ้ำมันสกปรกอย่างนี้ อยากให้พระสงฆ์ก็ช่วยปรับปรุง ท้องถ้ำให้เสร็จซิ” พระรูปนั้นพูดกับนาง ด้วยวาจาที่แสดงออกไปทางกระแสจิตที่อ่อนหวานบ้าง
“ท่านอยากทำวัด ทำศาลาสวย ๆ มั้ย?” นางถาม
“อาตมาไม่ทำหรอก ตั้งใจมาภาวนา กำจัดกิเลสออกจากจิตใจให้ใสสะอาดและที่สำคัญไม่มีเงินทำด้วย”
“พระคุณเจ้า! ทำเถอะ อันเรื่องเงินนั้นไม่เป็นปัญหาสำคัญแต่อย่างใด”
แม่หญิงเทวดาที่มาในนิมิตกล่าวยืนยันที่จะช่วยเหลืออย่างแข็งขัน
“แม่หญิง! อาตมาไม่ทำหรอก อันการสร้างวัดนี้ จะเป็นภาระติดตามมาอย่างมากมาย ความพะรุงพะรังทางใจนี้ก็มีมากอยู่แล้ว ยังมาให้อาตมาพะรุงพะรังทางกายอีกหรือ?”  เมื่อพระรูปนั้นตอบเพียงเท่านั้นนางก็ไม่ถามอย่างใดต่ออีก อันตรธานหายไปในขณะนั้น

เมื่อหญิงเทวดานั้น อันตรธานหายไป สร้างความงุนงงให้ภิกษุรูปนั้นมากเหลือเกิน อันความอัศจรรย์นั้น อัศจรรย์อยู่แล้ว แต่ความอัศจรรย์ที่หญิงเทวดานี้ ปรารถนาจะมาช่วยสร้างวัด นางจะมาช่วยสร้างได้อย่างไร เมื่อนางมายกหินแบกไม้ก็ไม่ได้

ท่านจึงคิดเป็นเชิงรำพึงว่า “เอ๊ะ!... พวกกายทิพย์นี้ เขาจะหาเงินมาให้มนุษย์อย่างเรานี้ด้วยวิธีใดน้อ!...”

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน พระเณรที่อยู่ด้วยกันหลายองค์ ต่างก็เร่งความเพียรบางองค์นั่งภาวนา บางองค์เดินจงกรม บางองค์ทำกิจที่ควรทำ ภายในถ้ำบ้างนอกถ้ำบ้าง เวลาบ่ายตะวันคล้อยมามากแล้ว มีเรือใหญ่ลำหนึ่งล่องผ่านมาทางอุทยานแห่งชาติแม่น้ำปิง มาทางพระพุทธบาทแก่งสร้อย อาจจะแวะไปทางดอยเต่าก็ได้ หรือจะไปที่อื่นก็ได้ เพราะสายน้ำเป็นทางสามแพร่งอยู่โดยตลอด

เรือลำนี้เป็นเรืออะไร พวกเราทั้งหลายที่อยู่ที่ถ้ำช้างร้องไม่มีใครสามารถรู้ได้ มองเห็นเรือแต่ไกลๆ และคนในเรือทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถมองเห็นพวกเราได้ เพราะอยู่กันข้างในถ้ำที่มีแต่เครือไม้ปกคลุม มองจากภายนอกแม้ผ่านเข้ามาใกล้ๆ ก็จะไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นถ้ำหรือมีพระอยู่  เรือใหญ่ลำนั้นล่องอยู่ท่ามกลางแม่น้ำที่มองเห็นแต่ไกลๆ อยู่นาน จะไปทางซ้ายก็ไม่ไป จะไปทางขวาก็ไม่ไป จอดนิ่งและนานคล้ายว่ามีอะไร หรือว่าเรือเสียเครื่องเรือพัง แต่โดยที่สุดแล้วเรือลำใหญ่นั้น ก็ค่อยๆ ตรงดิ่งเข้ามาทางถ้ำช้างร้องที่พวกเราอยู่เหมือนว่าในเรือนั้น มีคนรู้ว่าถ้ำช้างร้องอยู่ตรงนี้ เรือนั้นล่องลอยเข้ามาเรื่อยๆ มาใกล้บริเวณที่พระเณรอยู่ และกำลังจะล่องผ่านไป ภายในเรือนั้นมีคนมากมาย พูดคุยกันเสียงดังโว้กว๊าก พระเณรที่อยู่ในถ้ำเห็นดังนั้น ก็พากันออกมาดู  เมื่อคนในเรือเห็นพระเณรเท่านั้นแหละ เขาร้องตะโกนว่า “เจอแล้ว ๆ นั่นพระอยู่ตรงนั้น” ต่างก็ส่งเสียงอึกทึกกันใหญ่เมื่อเรือเลียบฝั่งได้แล้ว คนบนเรือกลุ่มหนึ่งก็ตรงรี่เข้าไปหาพระ พร้อมกับหิ้วถุงใบเขื่องไปด้วยตัวแทนคนหนึ่งก็พูดว่า “ท่านอาจารย์ เป็นบุญเหลือเกิน ที่ได้พบพวกท่านที่นี่”

“มีบุญอย่างไรกันละโยม มีเหตุการณ์อะไรหรือ?” พระที่อยู่ในถ้ำนั้นก็พากันกล่าวถามขึ้นด้วยความตกตื่น เพราะเขาหน้าตาตื่นมายังกับถูกผีหลอกกลางวันแสกๆ

“ท่านอา... อาจารย์ไม่มีอะไรไม่ดีหรอก ถึงมีเรื่องไม่ดีมันก็ผ่านมาและก็ผ่านไปแล้ว” เขากล่าวขึ้นแบบตะกุกตะกักเหมือนคนติดอ่าง ทั้งที่ไม่ติดอ่าง เหมือนมีอะไรครอบงำ แล้วเขาก็หันไปหยิบธนบัตรฟ่อนใหญ่มากองไว้ข้างหน้า ก้มลงกราบแล้วกล่าวว่า “ท่านอาจารย์และพระเณรทั้งหลาย ผมขอถวายปัจจัยทั้งหมดนี้ไว้ให้ท่าน ขอให้ท่านนำเงินจำนวนมากนี้ไปสร้างวัด” พูดแล้วเขาก็ยกมือขึ้นใส่หัว...สาธุ

“มันเรื่องอะไรกันโยม อยู่ดีๆ เอาเงินมาถวายกันเป็นจำนวนเยอะๆ พระรับเงินไม่มีต้นสายปลายเหตุไม่ได้หรอก ยิ่งพวกเราเป็นพระป่า ต้องรู้ที่มาที่ไปด้วยน้ำใจใสสะอาด”พูดเสร็จแล้วเหล่าพระก็นั่งรอฟังว่าเขาจะว่าอย่างไร

“คือเรื่องมันเป็นไปเป็นมาอย่างนี้ครับท่านอาจารย์” เขาพูดขึ้นพร้อมเอามือปาดเหงื่อที่ไหลซิกๆ
"เริ่มแรกทีเดียวพวกผมมาในนามนักท่องเที่ยว ล่องเรือชมวิวทิวทัศน์เพื่อปกปิดอะไรบางอย่างไว้ แท้ที่จริงแล้วเรือลำใหญ่ๆ ที่ท่านอาจารย์เห็นอยู่นั้น เป็นเรือบ่อนการพนันขนาดใหญ่ แต่แอบแฝงมาในนามเรือท่องเที่ยวชมวิวทิวทัศน์บริเวณเขื่อนภูมิพล เพื่อไม่ให้ทางการรู้ ในนั้นมีแต่พวกเศรษฐีเจ้ามือใหญ่ๆ ผมเป็นเพียงตัวแทนเขาให้นำเงินมาถวายท่าน เมื่อเรือท่องเที่ยวล่องมาตามลำน้ำ ก็เล่นการพนันสนุกสนานมาเรื่อยๆ ไม่ปรากฏว่ามีอะไร แต่พอมาถึงช่วงก่อนหน้านี้ไม่นานนัก การโกงกันก็เกิดขึ้น ตกลงกันไม่ได้ พวกนักเลงการพนันแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็มีอาวุธอยู่ครบมือ เกือบจะยิงกันตายทั้งลำ บนเรือนั้นมีแต่เจ้าพ่อทั้งนั้น ไม่มีใครยอมใคร ต่างฝ่ายก็ต่างมีศักดิ์ศรี จึงตกลงกันว่า “เงินทั้งหมดที่อยู่บนเรือนี้จะเป็นของใครไปไม่ได้”  

“พวกเราจะทำกันอย่างไรล่ะทีนี้” หัวหน้าตัวโจกทั้งสองฝ่ายพูดขึ้น
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเราล่องเรือไปเจอวัดเจอพระที่ไหน ก็มอบถวายท่านไปเลย ปัญหาจะได้จบ” หัวหน้านักเลงการพนันอีกฝ่ายหนึ่งพูดขึ้น
“เอาเป็นว่าตกลงกันตามนี้” หัวหน้าอีกฝ่ายโต้ตอบยอมรับแสดงความเป็นธรรม

จึงสรุปความว่า เงินนี้พวกเราจะถวายพระ ที่เจอครั้งแรกในการเดินทางต่อไปนี้ จึงมาเจอท่านอาจารย์และพระเณรนี้แหละ ในระหว่างนี้เหตุการณ์ตึงเครียดเหลือเกิน ไม่นึกไม่ฝันว่า พวกพระคุณเจ้าทั้งหลายจะมาอยู่ในป่าดงพงลึกขนาดนี้ พวกผมเห็นแล้วดีใจกันใหญ่ ไม่งั้นจะต้องฆ่ากันตายแน่ๆ

“โยมเอ๋ย เงินของโยมพระรับไม่ได้ดอก มันมีที่มาไม่บริสุทธิ์ เอาเป็นว่าอาตมารับแล้วก็คืนให้ ขืนอาตมารับไว้ พระที่นี่ก็ฆ่ากันตายอีกหรอก เงินมันมากขนาดนี้ หรือถ้าโยมมีศรัทธาจะเอาไปถวายพระที่ไหนก็แล้วแต่” เขารับเงินคืนแล้วแสดงอาการดีใจจนลิงโลด ออกอาการไชโยโห่ร้อง เป็นทางออกที่ปลอดโปร่งโล่งใจแทบทุกฝ่าย

พระภิกษุรูปที่ติดต่อกับหญิงเทวดาได้นั้น ถึงกับอุทาทานในใจว่า “นี้หรือที่มึงว่าจะช่วยกูสร้างวัค...หึ...อีแม่หญิงร้าย...อีแก่ มึงจะมาบังคับกูทางอ้อมหรือ” แล้วเหตุการณ์นี้ก็ผ่านไป เป็นเหตุการณ์แรกที่ถ้ำช้างร้อง  

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤษภาคม 2558 11:24:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 10.0 MS Internet Explorer 10.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 07 พฤษภาคม 2558 11:15:38 »

.

พรรษาที่ ๔๓ - ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๖) (ต่อ)


หญิงเทวดาแกล้ง
อีกเหตุการณ์หนึ่งในวันต่อมาอีก พระเณรทำงานปรับปรุงตกแต่งถ้ำ กลางวันอากาศร้อนอบอ้าวจึงพากันไปโดดน้ำ ตูม ๆ ๆ วิ่ง...พุ่งหลาว...กระโดดตูม ๆ อย่างสนุกสนานตรงหน้าถ้ำ ท่าน้ำมีแพเป็นที่พักสำหรับพระเณร  ในคืนวันนั้น ดึกสงัดใกล้รุ่งสาง ธาตุขันธ์ละเอียดเหมาะแก่การภาวนา พระรูปเดิมท่านตื่นจากจำวัดเข้าที่ภาวนา ปรากฏเห็นแม่หญิงเทวดาตนเดิม เข้ามาในจิตภาวนา แต่มาในร่างใหญ่แก่หงำเหงือก นางเข้ามาหาแล้วพูดว่า “พระคุณเจ้า...พระเณรอะไร วิ่งพุ่งหลาวกระโดดน้ำตูมๆ ไม่มีสมณสารูปเอาซะเลย ไม่เรียบร้อยฉันไม่ชอบเลย บอกให้เขาหยุดนะ ถ้าไม่หยุดจะทำให้แพแตก พวกท่านจะอยู่ไม่เป็นสุข จะต้องถูกปองร้าย”  นางกล่าวแล้วก็สะบัดหน้าหนีแบบไม่หยี่หระ แล้วก็อันตรธานหายไปพอรุ่งเช้า ได้เวลาเตรียมตัวจัดอาสนะที่เรือนแพอันเป็นโรงฉันน้อยๆ เตรียมจัดบาตรเพื่อขึ้นเรือออกบิณฑบาตกับชาวประมงที่อาศัยแพเป็นบ้านที่อยู่ห่างๆ  เมื่อบิณฑบาตกลับมาจัดทำภัตตกิจท่านจึงกล่าวว่า “ต่อไปนี้ห้ามพระเณรกระโดดน้ำหน้าถ้ำ เดี๋ยวเทวดาจะแกล้งเอา”  พูดเพียงเท่านั้น พระเณรบางรูปอาจจะไม่เชื่อ เพราะถ้าตั้งใจพูดตักเตือน เดี๋ยวหมู่เพื่อนพระจะหาว่าขี้คุย ขี้โม้  เมื่อท่านพูดเป็นเชิงเตือน พระเณรบางรูปไม่เชื่อฟัง เพราะคิดว่าเพียงแค่อาบน้ำ ไม่น่าจะมีปัญหากับเทพยดาฟ้าดินที่ไหน วันหลังๆ มา ก็พากันวิ่งพุ่งหลาว กระโดดน้ำตูมๆ อยู่เหมือนเดิม วันนั้นเองเรือนแพอันเป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมด เกิดแตกเอียงคว่ำจะล่ม พระเณรที่อยู่บนเรือนแพนั้นก็เกิดทะเลาะวิวาทบาดหมาง แตกความสามัคคีกินแหนงแคลงใจกัน อยู่ร่วมกันไม่เป็นที่สุขใจ


ท่าน้ำที่หน้าถ้ำช้างร้อง

พอตะวันลับไป รุ่งสางวันใหม่ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก มีไอ้ขี้เมาคนหนึ่งแล่นเรือมาที่ถ้ำ มาพูดจาเอะอะโวยวาย ด่าว่าพระเณรด้วยคำพูดเสียหายหยาบคาย พระเณรก็ดุไล่ให้เขาหนีไป เขาหนีไปด้วยความเจ็บใจที่พระเณรไม่ต้อนรับ เหตุเพียงพระเณรไม่ต้อนรับ เขาน่าจะเสียใจธรรมดาเท่านั้น ไม่เลย เขาเสียใจร้องไห้ฟูมฟายอย่างหนัก ผูกอาฆาตฝังลึก เขาแล่นเรือกลับไปแพที่พัก ไปเอาปืนไรเฟิ้ลอย่างดีมา  เมื่อไอ้ขี้เมามันมาถึงถ้ำ ก็ตรงไปที่พระกำลังเดินจงกรมอยู่หน้าถ้ำ ยิงปืนใส่หวังหมายฆ่าทันที เสียงปืน ปั้ง! ปั้ง! ปั้ง! หลายๆ นัด รัวๆ ติดกัน ทำเอาพระเณรที่อยู่ในถ้ำหรือบริเวณรอบๆ มุดตัวหลบซ่อนกันใหญ่ แต่เดชะ...ด้วยอำนาจพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ปืนที่ยิงกระหน่ำใส่พระรูปที่เดินจงกรมอยู่นั้น ไม่โดนผิวให้ระคายแม้แต่นัดเดียว

พระเณรทั้งหลายที่มาภาวนาหวังฆ่ากิเลสคว่ำวัฏฏวน หนีให้พ้นการท่องเที่ยวในวัฏฏสงสาร มารวมตัวสนทนากันพักใหญ่
“นี่มันอะไรกัน” พระรูปหนึ่งเอ่ยขึ้นก่อน
“วันๆ มีแต่เรื่องแต่ราวี มาอยู่กลางป่ากลางเขาอดอยากทุกข์ทรมาน เพื่อหาธรรมนำตนให้พ้นภัย นี่อะไรมีแต่เรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจอยู่ไม่วายเว้น เดี๋ยวก็เรื่องโน้น เดี๋ยวก็เรื่องนี้ นี่อยู่ดีๆ ก็มีคนขี้เมาจะเอาปืนมาฆ่าพระ โอ๊ย!... อยู่ไม่ได้แล้วทีนี้ ขืนอยู่ไปจะต้องบ้าตายก่อนได้ธรรมอย่างแน่นอน”
“ผมบอกพวกท่านแล้วว่า อย่ากระโดดน้ำหน้าถ้ำ เทวดาเขาไม่ชอบพวกท่านก็ไม่เชื่อ”

พระรูปที่นิมิตเห็นเทวดากล่าวขึ้น พระทั้งหลายที่นั่งฟังอยู่บางองค์ก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นเทวดาซักที


ยักษ์ดำผู้มาช่วยเหลือ
ในคืนวันที่โกลาหลนั้น พระรูปเดิมท่านเข้าที่ภาวนาอย่างที่เคยทำมาอยู่ประจำพิจารณาธาตุขันธ์ส่วนต่างๆ แยกแยะอย่างที่พระอาจารย์เจี๊ยะสอน จนกระทั่งจิตรวมใหญ่ จากหัวค่ำจนกระทั่งเกือบรุ่งเช้า เมื่อถอยจิตออกมาขั้นอุปจารสมาธิเห็นยักษ์ตนหนึ่ง ตัวดำมะเมื่อม ในนิมิตภาวนานั้น มีลักษณะคล้ายคน แต่รูปร่างโตกว่าคน แสดงอาการรักใคร่เหล่าพระเณร เคารพนบนอบ เข้ามาแสดงคารวะด้วยการกราบแล้วพูดว่า “พระคุณเจ้า! ผมเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี ถูกท่านพ่อลีทรมาน อบรมสั่งสอนมาในทางศาสนา หวังว่าจะมารับใช้พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดเมตตา” เขาพูดเสร็จก็นั่งพับเพียบลงราบพื้น พนมมืออยู่โดยตลอด ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า “ไอ้ดำ ตอนนี้พวกอาตมาที่เข้ามาอาศัยถ้ำเป็นที่ภาวนานั้นกำลังได้รับความทุกข์ เพราะมีหญิงเทวดาตนหนึ่งคอยกลั่นแกล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า เจ้าดำ...เจ้าพอจะช่วยเราได้ไหม”  เขาแสดงอาการนิ่งเป็นเครื่องบ่งบอกว่าตอบรับในภารกิจที่ได้มอบหมาย

เช้าวันต่อมา พระเณรทั้งหลายต่างออกบิณฑบาตพร้อมพรั่ง นั่งเรือล่องบิณฑบาตกับชาวแพก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอีกครั้งหนึ่ง พวกชาวแพทั้งหลายเกิดแตกคอทะเลาะกัน จะฆ่าพวกเดียวกันเอง เมาหยำเป ใช้ปืนไรเฟิ้ล ปืนลูกซองยิงกัน มีแต่ปืนชนิดดีๆ ทั้งนั้น ไอ้คนที่ไปยิงพระกลับถูกเขาไล่ยิงหนีตายมาทางแพที่พระจอดหรือกำลังรับบาตรอยู่ แม่ของมันวิ่งมาคว้าจีวรพระ
 
“พระ..ช่วยด้วย ๆ ” เขาร้องลั่นให้ช่วยอยู่อย่างนั้น
“ช่วยด้วย...มันจะฆ่าลูกฉันแล้ว”
 
พวกพระก็จับไอ้ขี้เมาคนเดิมนั้นแหละดึงขึ้นเรือ มาที่ถ้ำช้างร้องอย่างปลอดภัย  พอต่อมาภายหลังทุกๆ คนก็เคารพพระ ศรัทธาเลื่อมใส และมีนิมิตหมายอะไรดีๆ เกิดขึ้นในทางที่เป็นมงคล เหล่าพระภิกษุสามเณรก็ภาวนาเป็นผาสุก นึกว่าเรื่องราวทั้งหลายจะจบลงเหมือนในภาพยนตร์ คือพระเอกได้รับชัยชนะ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ดวงจิตใดก็ตามที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส กรรมวิบาก นั้นก็แสดงว่า ดวงจิตยังมีโลภ โกรธ หลง อิจฉา ริษยา อยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม ภพภูมิต่างๆ ที่จิตยังไม่บรรลุถึงวิมุตติพระนิพพาน ก็ย่อมมีอันธพาลฝังรากลึกภายในจิตเป็นธรรมดา   เมื่อพระรูปเดิมเข้าที่ภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน จะเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว นั่งก็เห็น ยืน เดิน นอน ก็เห็น เสมือนว่า เป็นปกติธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั่วไป เพราะธรรมชาติของจิตเป็นธรรมชาติรู้ในสิ่งที่ละเอียด ธรรมชาติของตาเป็นธรรมชาติที่มองเห็น ธรรมชาติของหูเป็นธรรมชาติได้ยินเสียง ธรรมชาติของลิ้นก็จะรู้รสซาติต่างๆ นี้เป็นหลักธรรมชาติที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียง ถ้าผิดปกติจากนี้เรียกว่า ผิดธรรมชาติ

ธรรมชาติของร่างกาย ก็สามารถจับยกสิ่งต่างๆ ได้ตามประสงค์ ธรรมชาติของวาจาก็พูดให้ได้ยินเสียง แต่ธรรมชาติของใจเป็นธรรมชาติรู้ ไม่มีอะไรปิดกั้นได้ ทะลุดิน ทะลุฟ้า เพราะใจเป็นนักรู้ เป็นนามธรรม ผ่านดินหินต้นไม้ ภูเขาได้หมด นี้เป็นธรรมชาติของใจแท้ดั้งเดิม ไม่มีอะไรจะสามารถปิดกั้น เหมือนนึกรักนึกชัง ไม่มีใครจะมาสามารถห้ามธรรมชาตินั้นได้ เป็นธรรมมีอยู่จริง แต่มนุษย์บุคคลที่ถูกกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำดวงจิตปิดเสียจนมืดมิด ก็จะไม่มีปัญญาทราบสิ่งเหล่านั้นได้เลย ประหนึ่งว่าธรรมชาติเหล่านั้นไม่มีจริง เหมือนนรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลก พระนิพพานไม่มี ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ยืนยันเอาว่า มีอยู่จริง
  



อุบายของหญิงเทวดา
เมื่อพระรูปนั้นท่านเข้าที่ภาวนาด้วยอิริยาบท ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ภาวนา หญิงเทวดาก็เข้ามาในจิตภาวนาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เธอมาแปลกแสดงอาการออดอ้อน ทำเป็นมิตรเพื่อนบ้านที่ดี เป็นห่วงเป็นใยเข้ามาหา ยิ้มมาแต่ไกล กล่าวว่า “พระคุณเจ้า!. ผู้เจริญ ดิฉันมีกิจธุระบางอย่างจะต้องทำ จะต้องไปจ่ายกับข้าว เพื่อนำปัจจัยสี่มาถวายพระคุณเจ้า ดิฉันขอฝากถ้ำให้พระคุณเจ้าช่วยดูแลหน่อย ดิฉันไปล่ะเดี๋ยวจะสาย ตลาดจะปิด” นางพูดแล้วก็ล่องหายไปในเวหา ทำความฉงนให้พระรูปนั้นเป็นอย่างยิ่ง

“มันจะไปจ่ายกับข้าว ยังไงว้า!” ท่านฉุกคิดขึ้นมาในใจ “มันจะหาบมาหรือว่ามันจะซื้อกุ้งหอย ปู ปลา มาผัด มาทอดเอง หรือว่ามันจะทำยังไง คิดแล้วชวนให้งง โว้ย!..” ท่านอุทานฮึดฮัดขึ้นมาในใจ จะบอกใครก็ไม่ได้ว่า  “มีเทวดามาบอกว่าจะไปจ่ายตลาด”  ช่างเถอะ...เดี๋ยวก็รู้เห็นกันไปเองว่า “มันจะไปจ่ายตลาดยังไง” คิดยังงี้ท่านก็เงียบเฉยนิ่งรอดูอยู่

อีกวันสองวันต่อมา ขบวนผู้คนแห่แหน เอิกเกริกเสียงกลองยาวดังตุ้มต๊ะ ตุ้มต๊ะ ตุ้ม! ตุ้ม! บางจังหวะก็โจ๊ะจึ่งจึ้ง จึงโจ๊ะจึ่งจึ้ง! ฟ้อนรำขับร้อง โห่ฮิ โห่ฮิ้ว!ๆ แล้วๆ เล่าๆ ตามสายน้ำปิง ทำให้ลิงค่าง บ่างชะนี ตามลำน้ำแตกกระเจิงหนีกันไปหมด มันคงนึกว่า สงครามโลกจะเกิด หรือไม่ก็โลกจะแตก เพราะไม่เคยมีเสียงทำนองนี้มาก่อน หมู่มัจฉาปาณกชาติที่ดำผุดดำว่ายหากินอยู่แถวนั้น แตกกระเจิงดิ่งพสุธาลงไปใต้ท้องธารา เพื่อรอดูเหตุการณ์ข้างบนว่ามันเกิดอะไรขึ้น  เสียงนารีขับร้องฟ้อนรำก็ใกล้เข้ามาเรื่อยเหมือนพลังดูดของแม่เหล็ก ประหนึ่งว่าจะฉุดคร่าเอาดวงใจน้อยๆ ของพระบวชใหม่ ให้ดับดิ้นไปต่อหน้าต่อตา เพราะความเป็นผู้ที่ยังมีอินทรีย์น้อย เยื่อใยอาลัยกับโลกอยู่ ทำให้ใจพระเต้นตึกๆ ตามจังหวะกลองยาว แต่ไม่แสดงออกทางกาย   เมื่อขบวนเรือมาถึง มีคนลงมาคลาคล่ำ ใส่ของมาเต็มลำเรือ เรือแทบจะหัก เสียงตีกลองร้องเพลง ดังลั่นสนุกสนานกัน ตามสายน้ำปิงอยู่อย่างนั้น เขาจัดขบวนแห่มาอย่างสวยงาม ปานประหนึ่งว่างานเทศกาลประจำปี เขาเข้ามาแล้วก็เอาของมาถวายพระ เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังว่า “ท่านอาจารย์ พวกผมฝันดีมีโชค ในฝันนั้นบอกว่า ถ้าประสบโชคดีสมหวัง ให้มาทำบุญ ทอดผ้าป่าที่ถ้ำช้างร้อง ที่อุทยานแม่ปิง พวกผมสืบเสาะแสวงหารู้ ก็ได้จัดมาถวายท่านที่นี่”

จากนั้นมาพระไม่เป็นอันอยู่เป็นสุขในการภาวนา ไกลแสนไกลคนก็มา มาจากที่ต่างๆ มาด้วยความหวังแปลกๆ พระถ้ำช้างร้องดังกระหึ่มใหญ่  “เอาอีกแล้ว... เป็นเรื่องอีกแล้ว พวกเราไม่ได้อยู่เป็นสุข เหมือนเจตนารมณ์เดิมที่จะออกจากโลกสงสาร คนพลุกพล่านไปมายังกะในเมือง ไม่สงบ เอาอีกแล้ว มันดลบันดาลอีกแล้ว ต้องเป็นอีหญิงเทวดาแก่นี้แน่ที่เล่นงาน กลั่นแกล้งพระอีกแล้ว มันบอกว่าจะไปจ่ายตลาด นี่แสดงว่ามันไปจ่ายตลาดมาแล้ว ข้าวของที่ถ้ำนี้จึงแทบไม่มีที่ปลงวาง มันมาแผนใหม่เพราะแผนเก่าที่มันเคยใช้ไม่ได้ผล มันเป็นเทวดาอหังการไม่ยอมใคร”  พระรูปดังกล่าวท่านรำพึงรำพันร่ำๆ ภายในใจ  



หลวงปู่เจี๊ยะโดยสารเรือไปถ้ำช้างร้อง

นิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะไปปราบเทวดา  
เรื่องผู้หญิงที่เป็นเทวดาอารักษ์เฝ้าถ้ำนี้ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตาก็เห็น ส่วนภายนอกบริเวณถ้ำนั้น ก็เห็นเช่นเดียวกันเยอะแยะไปหมด  ในที่สุดเมื่อพวกพระต่อสู้ไม่ไหว และไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า จึงไปนิมนต์ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาเพื่อปราบผีและเป็นสิริมงคล โดยไปกราบเรียนพระอาจารย์เจี๊ยะว่า “ท่านอาจารย์ครับ พวกผมไปภาวนาไปอยู่ถ้ำ ต่อสู้กับภุมเทวดาไม่ไหวแล้ว เนี่ยอะไร เยอะแยะกว่าคนอีก”  เมื่อท่านรับทราบดังนั้นท่านจึงเดินทางมาที่ถ้ำช้างร้อง เพราะปกติท่านก็เป็นพระที่ชอบอยู่ตามถ้ำ ในป่าลึกๆ มีน้ำท่าสะดวกสบาย บรรยากาศที่ถ้ำช้างร้องก็เป็นดั่งที่ท่านต้องการ

เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเข้ามาถึงถ้ำช้างร้องในตอนพลบค่ำ ท่านเข้าที่จำวัด ก่อนนอนนั่งภาวนา ปฏิบัติเป็นวิหารธรรม อยู่ในถ้ำสบายๆ ส่วนพระองค์ที่ไปกราบนิมนต์ท่านมา แอบนึกภายในใจว่า “เอาเลยมึงอีแก่! ทีนี้จะแสดงฤทธิ์เดชอะไร เอาเลย อาจารย์ใหญ่ของพวกเรามาแล้ว มึงแสดงให้เต็มที่เลยนะ” พอตอนเช้าเท่านั้นแหละพระอาจารย์เจี๊ยะก็พูดขึ้นว่า “หมู่เอ้ย!... เมื่อคืนนี้มีหญิงที่เป็นภุมเทวดาเจ้าที่คนหนึ่งเข้ามากราบ นุ่งขาวห่มขาว แต่งตัวเรียบร้อย กิริยาที่กราบงดงามมาก สถานที่นี่เป็นสิริมงคลดีนะ น่าอยู่”  ท่านพูดแสดงอาการรื่นเริงในธรรมและรมณียสถาน

สำหรับพระอาจารย์เจี๊ยะแล้วเขาลงใจทุกอย่าง แต่กับพวกเราเขาไม่เคารพเลื่อมใสเลย พวกเราก็รู้อยู่ในใจว่า เขาพยายามจะทดสอบอะไรบางอย่าง ที่เขาไม่เคารพเลื่อมใสคงเป็นเพราะเราไม่ถึงธรรมอย่างพระอาจารย์เจี๊ยะท่าน เขาจึงแสดงกิริยาผิดกันราวฟ้ากับดิน  


บันดาลให้ฟ้าผ่า  
เทวดานี้เขาก็เหมือมนุษย์นั่นแหละ เวลาจะนับถือพระรูปใด หรือจะเอาพระรูปใดเป็นอาจารย์เขาต้องดูให้ดีและต้องทดสอบดูก่อน เรียกว่ามาเหล่ดู ถ้าเขาไม่ชอบก็นินทาเอาเลยเหมือนกัน เรื่องนี้พูดให้ใครฟังเขาก็ว่าบ้าทั้งนั้น เพื่อนพระก็เหมือนกัน เมื่อเป็นดังนั้นจึงต้องทดสอบเพื่อลดความบ้าลง คือลดสิ่งที่คนอื่นเขาคิดว่าเราเป็นบ้าลง จึงให้เณรเขียวไปจุดธูปแล้วอธิษฐาน เณรก็ได้อาสาไปทำตามนั้น เข้าไปกราบพระจุดธูปแล้วอธิษฐานจิตว่า “ถ้าถ้ำช้างร้องนี่มีเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จริงขอให้แสดงอภินิหารเป็นที่ประจักษ์” เมื่อจุดธูปเทียนได้ไม่นานนัก ฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ฟ้าผ่าลงกลางแม่น้ำหน้าแล้งๆ ไม่มีเค้าฝน เปรี้ยง! เปรี้ยง! เปรี้ยง! สายฟ้าแลบ แปล๊บ! ๆ สายฟ้าฟาดเปรี้ยง! ลงกลางแม่น้ำ ทั้ง ๆ ที่อากาศปกติ ฟ้าจะแลบก่อนแล้วก็ผ่าเปรี้ยง!!!! เปรี้ยงๆ ๆ เสียงดังสนั่นหวั่นไหว น้ำกระเซ็น กระเด็นกลางแม่น้ำหน้าถ้ำ เหตุการณ์นี้ทุกๆ คนเห็นประจักษ์จึงต้องยอมรับโดยดุษฎี  

พระองค์หนึ่งตะโกนขึ้นด้วยความพลั้งเผลอตกใจว่า “ว้าย! ผีมีจริง เทวดามีจริง หวื้อ!!! น่ากลัว” ตั้งแต่พระอาจารย์เจี๊ยะก้าวเท้าเหยียบแผ่นดินแผ่เมตตา จึงสงบสุขตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นี้แหละความวิเศษของพระพุทธศาสนา ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นเรื่องบาป เรื่องบุญ นรก สวรรค์ พระนิพพาน ตลอดจนเทวบุตรเทวดามีจริง จะได้ไม่หลงระเริงเที่ยวสนุกสนาน ทำแต่ความชั่วชนิดที่ไม่มีวันกลัวตาย หรือบางคนหลงถึงขนาดคิดว่า ตายแล้วสูญ   ตอนที่อยู่ถ้ำช้างร้องนั้น นอกจากแม่เฒ่าที่เป็นอารักษ์อยู่ที่นั่นแล้วบางทีบางคืนยังมีกายทิพย์ เป็นสัตว์วิเศษชนิดต่างๆ มาเยี่ยมกราบพระอาจารย์เจี๊ยะ และบินมาทักทายในนิมิตภาวนา เป็นพวกครุฑ เขาจะบินมาจับบนหลังถ้ำตัวใหญ่มาก นานๆ เขาจะมาทีหนึ่ง เขาเข้ามากราบเรียนว่าเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี เขาเคารพท่านพอลีมาก

วันไหนที่เขามา ตอนเช้ามันจะมีเหตุแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ งูจะต้องตาย งูเขียวหางไหม้ หรืองูชนิดต่างๆ เอาเป็นว่าต้องมีงูตาย ถ้าวันไหนครุฑมาตอนกลางคืน วันนั้นต้องมีงูตาย  บางทีได้กระซิบเณรเขียวว่า เณรเมื่อคืนนี้มีพญาครุฑมา ถ้าพญาครุฑมาต้องมีงูตาย เพราะทุกๆ ครั้งที่เขามาต้องมีงูตาย อันนี้ก็ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด เมื่อพญาครุฑมางูจึงต้องตาย

เณรเขียวนั้นก็รู้สึกว่าจะไม่ค่อยเชื่อ อันนี้จึงต้องมีการพิสูจน์ คืนไหนพญาครุฑมาต้องรีบบอกเณรก่อนว่า เณรคืนนี้พญาครุฑมาแล้วนะ เณรคอยดูนะจะมีงูตายรึเปล่า เณรไปดูก็มีงูนอนตายอยู่ในถ้ำ ไม่มีรอยแผล รอยถูกตีหรือถูกจิก งูก็ตายไปเฉยๆ อย่างนั้นเอง ต่อมาทั้งพระทั้งเณรก็เชื่อและเคารพในคุณธรรมของพระอาจารย์เจี๊ยะอย่างสนิทใจ ออกจากถ้ำช้างร้องแล้ว ท่านก็เดินทางกลับไปยังวัดอโศการาม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤษภาคม 2558 15:05:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
รวม ภาพยนต์ เกี่ยวกับ อวกาศ และ ดาราศาสตร์ ชุดที่ 1 "From Hubble" (ฮับเบิ้ล) พร้อม ประวัติ
วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
หมีงงในพงหญ้า 9 7319 กระทู้ล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2553 11:51:22
โดย หมีงงในพงหญ้า
อยู่ก็สบาย ถึงตายก็มีชัยชนะ(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 2988 กระทู้ล่าสุด 02 พฤษภาคม 2554 23:55:53
โดย เงาฝัน
ประวัติ-ปฏิปทา หลวงปู่ศรี มหาวีโร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
Maintenence 1 2963 กระทู้ล่าสุด 24 ธันวาคม 2558 14:05:44
โดย Maintenence
"มึงหยุดเลย...เดี๋ยวรอพัดยศจากจันทบุรี" !!! ... วีรกรรม ของ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
เกร็ดครูบาอาจารย์
มดเอ๊ก 0 1969 กระทู้ล่าสุด 07 มกราคม 2560 02:35:57
โดย มดเอ๊ก
ประวัติ ปฏิปทา พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต (พระจุลนายก)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
Kimleng 11 7199 กระทู้ล่าสุด 06 ตุลาคม 2563 11:42:16
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.658 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 มีนาคม 2567 23:10:37