[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 23:22:36 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "โลหะปราสาท" วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร  (อ่าน 9076 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 สิงหาคม 2557 14:20:46 »

.

โลหะปราสาท สมัยรัชกาลที่ ๕

 
โลหะปราสาท
วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
เอกพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทย ที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก

เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดารามวรวิหารขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาที่ทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง ทรงคิดแบบและวางผังการสร้างวัดด้วยพระองค์เอง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท เป็นอาคารประธานของวัด

สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้โลหะปราสาทเป็นที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้จำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม ตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าโลหะปราสาทคืออาคารหลายชั้นมีหลังคาทำด้วยโลหะอีกสองแห่งที่เคยปรากฏในโลกคือ ที่กรุงสาวัตถีประเทศอินเดีย และที่กรงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา  ซึ่งทั้งสองแห่งชำรุดสูญสลายลงไปนานนับพันปี  โลหะปราสาทของไทยจึงเป็นแห่งที่ ๓ ของโลก และเป็นแห่งเดียวที่ยังคงปรากฏสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน

โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ถือเป็นพุทธศิลปสถาปัตยกรรมอันเป็น “เอก” แห่งหนึ่งในบรรดาสถาปัตยกรรมไทยทั้งมวล มีลักษณะโดดเด่นด้วยเป็นอาคารขนาดสูงใหญ่ ๗ ชั้น ทางขึ้นเป็นบันไดเวียนบริเวณกลางอาคาร หลังคาเป็นปราสาทยอดมณฑป ๓๗ ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม หัวข้อธรรมในพุทธศาสนา ๗ หมวด ๓๗ ประการ อันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้

โลหะปราสาทของไทยมิได้สร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างเสริมเติมต่อมาเป็นระยะ แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคนานับปการ ทำให้โลหะปราสาทมีสภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ ตราบถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประชาชนชาวไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภิกษุ ฆราวาส พ่อค้า ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันจัดหางบประมาณเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ ก่อสร้าง ต่อเติมด้วยการผสานองค์ความรู้ของงานสถาปัตยกรรม ช่างศิลป์ไทย และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีกรมโยธาธิการ กระทวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานในช่วงแรก (พุทธศักราช ๒๕๐๖-๒๕๒๐) และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐

ณ ยอดบนสุดของโลหะปราสาท เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานและเสด็จมาบรรจุเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ นับเป็นพระราชพิธีแรกในพระราชพิธีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙



ประวัติการก่อสร้างโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
พุทธศักราช ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดาราม โดยมีโลหะปราสาทเป็นอาคารประธานของวัด
พุทธศักราช ๒๓๙๔ รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต การสร้างโลหะปราสาทชะงัก สำเร็จเพียงในส่วนที่เป็นโครงอิฐสลับศิลาแลง
พุทธศักราช ๒๔๙๔-๒๔๕๒ โลหะปราสาทได้รับการบูรณะเพิ่มเติมโดยพระยาเพชรปาณี มรรคนายก และพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทัตโต) เจ้าอาวาส
พุทธศักราช ๒๕๐๖-๒๕๒๐ กรมโยธาเทศบาล ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท โดยเสริมความแข็งแรงโครงสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำระบบระบายน้ำฝน ปรับปรุงบันไดเวียน ประตูหน้าต่าง และตกแต่งผิวอาคาร
๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บุษบกโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
พุทธศักราช ๒๕๔๑ กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการสำรวจและขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนการบูรณะ
พุทธศักราช ๒๕๔๒ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะแรก บูรณะส่วนมณฑปยอดกลาง และปรับภูมิทัศน์โดยรอบโลหะปราสาท
พุทธศักราช ๒๕๔๓ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ ๒ บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นกลาง จำนวน ๑๒ ยอด
พุทธศักราช ๒๕๔๕ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ ๓ บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นล่าง จำนวน ๒๔ ยอด
พุทธศักราช ๒๕๕๐ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท แล้วเสร็จ



พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ ยอดโลหะปราสาท

โลหะปราสาทปูชนียสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนเจดีย์ประจำวัด ในการสร้างพระอารามที่ทรงมีพระราชศรัทธาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองและเพื่อพระราชทานแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งแล้วเสร็จเพียงปราสาทโกลนเท่านั้นก็สิ้นรัชกาล  ต่อมาได้มีการบูรณะอีกหลายครั้งกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ เนื่องด้วยโลหะปราสาทยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในโลก มีลักษณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะเป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอดมณฑปรวม ๓๗ ยอด โดยชั้นที่หนึ่งมี ๒๔ ยอด ชั้นที่สองมี ๑๒ ยอด และชั้นที่สามมีเพียงยอดสูงสุดยอดเดียว นับเป็นปริศนาธรรมแห่งพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นแนวทางไปสู่การตรัสรู้

เมื่อได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดโลหะปราสาทแห่งนี้แล้ว จึงนับเป็นเจติยสถานที่มีความสมบูรณ์พร้อมเพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป





โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาแบบลัทธิ “ลังกาวงศ์”

ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศาสนาในลังกาทวีปได้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดิน พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ส่งทูตมาขอ่่่พระสงฆ์จากไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกศจึงได้ส่งพระสมณทูตไทยจำนวน ๑๐ รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานให้เจริญขึ้น และทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึงสามพันคน  ณ เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา จึงเรียกพระพุทธศาสนาในศรีลังกาครั้งนั้นซึ่งสืบต่อมาถึงปัจจุบันว่า “สยามวงศ์” สัมพันธไมตรีระหว่างไทยและศรีลังกาจึงมั่นคงมาแต่โบราณ

ตราบถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติตลอดรัชกาล เฉพาะการพระศาสนาได้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมหลายประการ ทั้งศิลปกรรม เอกสาร พระไตรปิฎก คัมภีร์ต่างๆ และการส่งธรรมทูตไปมาหากัน.



• มูลเหตการสร้างโลหะปราสาท
การสร้างปูชนียวัตถุเพื่อน้อมถวายไว้ในพระพุทธศาสนา คือความเลื่อมใสศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ สิ่งก่อสร้างทั้งปวงล้วนมีมูลเหตุของการสร้างขึ้นว่าประสงค์ให้เกิดประโยชน์อย่างใด ด้วยอานิสงส์ของการสร้างนั้นได้ถ่ายทอดอิทธิพลอันเป็นแรงบุญแก่บรรดาผู้ที่ทุ่มเทจิตใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ดังเช่นพระพุทธเจดีย์ในดินแดนพุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศ ต่างมีพุทธลักษณะอันเป็นพุทธศิลป์ตามถิ่นของตน

หนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารทางพุทธศาสนาของศรีลังกา ได้เล่าถึงมูลเหตุของการสร้างโลหะปราสาทสถานที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาว่า โลหะปราสาทเป็นสถานที่สงัดสำหรับพระภิกษุบำเพ็ญญานสมาบัติในศาสนสถานภายในพระอาราม มิต้องปลีกวิเวกออกไปอยู่ตามลำพัง กำหนดให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่แต่ละชั้นตามความรู้ของตน คือองค์ที่มีสมณศักดิ์สูงอยู่ชั้นบนและรองลงมาตามลำดับ

“โลหะปราสาท” เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย เรียกมาแต่ครั้งพุทธกาล หมายถึง คฤหาสน์ที่มียอดเป็นโลหะ สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีหลายชั้นและใช้ประโยชน์เป็นส่วนสังฆาวาส อุบัติขึ้นในโลกเพียง ๓ แห่ง บันทึกไว้ว่า แห่งแรกสร้างขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพุทธกาล ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี  โดยนางวิสาขา บุตรีเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี อุบาสิกาผู้อุปัฏฐากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า    ด้วยความศรัทธาในศาสนา จึงนำเครื่องประดับมาประมูล ได้เงิน ๙ โกฏิ ๑ แสน  แล้วนำเงินสร้างที่อยู่ให้พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ มีชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท ตามสมญานามของนางวิสาขาที่ได้ชักชวนให้มิคารเศรษฐี สหายบิดาของสามีตนเองเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดความปลื้มปีติสำนึกคุณ ยกย่องนางวิสาขาเสมือนมารดาตน โลหะปราสาทหลังนี้สูญสลายไปเป็นเวลานานแล้ว




เสาที่ยังคงเหลือของ Brazen Palace หรือโลหะปราสาท ๑,๖๐๐ ต้น
ภาพจาก : trekkingthai.com

• โลหะปราสาทแห่งที่ ๒ ของโลก
พระเจ้าอโศกมหาราช แผ่ขยายพระพุทธศาสนาจากอินเดียไปยังศรีลังกาจนเจริญขึ้นอย่างที่สุด จึงมีการสร้างปูชนียสถานทุกอย่างตามที่ปรากฏสร้างในอินเดีย

มีการสร้างโลหะปราสาท (แห่งที่ ๒) ขึ้นในประเทศศรีลังกา ประมาณปีพุทธศักราช ๓๘๗ บางแห่งว่า ๓๘๒ โดยพระเจ้าทุฏคามณีอภัย กษัตริย์ผู้ครองกรุงอนุราชธปุระ โปรดประชุมสงฆ์และมอบหมายให้คณะสงฆ์โดยพระอรหันต์ ๘ องค์เป็นผู้ออกแบบ อยู่ใกล้ต้นศรีมหาโพธิ์ มีด้านกว้าง ยาว และสูงด้านละ ๑๐๐ ศอก มี ๙ ชั้น มีห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังทำด้วยไม้ประดับหินมีค่าและงาช้าง ในรัชกาลต่อมาโลหะปราสาทหลังนี้เกิดเพลิงไหม้และถูกทำลาย  พระเจ้าสัทธาติสสะโปรดให้สร้างขึ้นใหม่บนที่เดิม สูง ๗ ชั้น ปัจจุบันเหลือแต่ซากกองอิฐปรักหักพังและเสาหินประมาณ ๑,๖๐๐ ต้น


• สืบคติการโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก (แห่งสุดท้ายในปัจจุบันยุค)
คำพรรณนาถึงโลหะปราสาทของศรีลังกาในหนังสือมหาวงศ์ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระราชศรัทธาแรงกล้าในการสร้างพุทธเจดีย์โลหะปราสาทนี้บนผืนแผ่นดินไทย เพื่อประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนาที่มั่นคง และเพื่อสะท้อนให้พสกนิกรในแผ่นดินรู้จักพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในอดีตว่ามีความยิ่งใหญ่ไพศาลอย่างใด กล่าวกันว่าโปรดให้ช่างเดินทางไปศรีลังกาถึง ๒ ครั้ง เพื่อนำคติการสร้างและลักษณะอาคารมาเป็นแบบอย่าง

ครั้นพุทธศักราช ๒๓๘๙ โปรดให้สร้างวัดราชนัดดารามเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ขณะเมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อพระชันษาบริบูรณ์ที่จะประกอบพิธีโสกันต์ (ต่อมาภายหลัง ทรงเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

การสร้างพระอาราม ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ หมู่กุฏิสงฆ์ และให้โลหะปราสาทเป็นพุทธเจดีย์ประธานของพระอาราม (อยู่ในวัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สถานที่รับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัดเทพธิดาราม)  โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา เป็นแม่กองดำเนินการสร้าง โดยให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นพุทธศิลป์แบบไทย

โลหะปราสาทของไทย ยอดของเจดีย์ทุกองค์ทำจากโลหะสีดำ แต่ไม่เป็นสนิม บนยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด และเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก แต่ถูกบดบังอยู่พักใหญ่ ช่วงรัฐบาลสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงหนังแห่งแรก ตรงหัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗)

กระทั่งปี ๒๕๓๒ เมื่อรื้อศาลาเฉลิมไทย จึงเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้เห็นความงดงามของโลหะปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโลหะปราสาทแทนการสร้างเจดีย์ ตามประวัติพระพุทธศาสนา มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอด ๓๗ ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ อันเป็นหลักธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การหลุดพ้นหรือพระนิพพาน

กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น ๖๗ ขั้น  เริ่มก่อสร้างในปี ๒๓๘๙ นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ ๕ ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลนก็สิ้นรัชกาล จึงหยุดชะงักไป และมาสร้างต่อในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทัตโต) เป็นเจ้าอาวาส แต่ยังไม่สมบูรณ์


การบูรณะครั้งใหญ่มาเริ่มในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรังสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๐๖ โดยพยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้ให้มากที่สุด นับว่าบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในช่วงรัฐบาลจัดงานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลปัจจุบันทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ทรงให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริก ธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรกแห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และเสด็จพระราช ดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

จากนั้นจึงเกิดโครงการบูรณะโลหะปราสาทในปี ๒๕๓๙ เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติเป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และนายประพิศ แก้วสุริยา เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ปรากฏความงดงามสมบูรณ์มาถึงปัจจุบัน


ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
           เว็บไซท์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
           เว็บไซท์ ผู้จัดการออนไลน์
           ข้อมูลจากส่วนจัดแสดงนิทรรศการ "โลหะปราสาท" วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร



ลายเส้นสถาปัตยกรรมโลหะปราสาท






ภูเขาทอง ถ่ายจากโลหะปราสาท








Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กันยายน 2558 11:31:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
[PIC] สวยจริงๆ กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมร นครแห่งเทพเทวา Beautiful Bangkok
สุขใจ จิบกาแฟ
▄︻┻┳═一 2 6601 กระทู้ล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2553 08:32:21
โดย หมีงงในพงหญ้า
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 4361 กระทู้ล่าสุด 07 เมษายน 2557 13:54:37
โดย Kimleng
ขอพร พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 8077 กระทู้ล่าสุด 07 พฤษภาคม 2557 15:15:45
โดย Kimleng
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1539 กระทู้ล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2560 20:19:46
โดย ใบบุญ
หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร (หลวงพ่อเสือดำ) วัดศรีนวลธรรมวิมล กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 2096 กระทู้ล่าสุด 02 กรกฎาคม 2560 09:50:29
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.551 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มีนาคม 2567 06:26:36