[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 22:05:54 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'ศพใส่โกศ' เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้  (อ่าน 24574 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 มิถุนายน 2557 10:25:34 »

.


ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป
จำลองพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่ˆหัวในพระบรมโกศ


ศพใส่หม้อใส่ไห ต้นแบบใส่โกศ
ต้นแบบดั้งเดิมอยู่ที่ศพใส่หม้อใส่ไหฝังดิน เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

โกศใส่ศพ มีต้นแบบดั้งเดิมอยู่ที่ศพใส่หม้อใส่ไหฝังดิน เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว


แห่ความตายไปทางเรือ
พิธีศพไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือคนธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืนเพื่อรอขวัญคืนร่าง โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้าแล้วขับลำบอกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์

คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไป คนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากิน

คนอุษาคเนย์เชื่อว่าคนเรามาจากบาดาลทางน้ำที่อยู่ใต้พื้นดิน เมื่อตาย (ยุคนั้นเข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) ก็คือกลับคืนสู่ถิ่นเดิมในบาดาลโดยทางน้ำที่มีนาคพิทักษ์อยู่

นี่เป็นต้นเรื่องขบวนเรือศักดิ์สิทธิ์ ลายเส้นบนกลองทองมโหระทึก

ขบวนแห่ศพมีเครื่องประโคม เช่น ฆ้อง กลองทองมโหระทึก และอื่นๆ (มีหลักฐานอยู่ที่ภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จ. กาญจนบุรี)

คนบางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือใกล้ทะเล เคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ มีภาพลายเส้นที่ผิวมโหระทึก

แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือ (หรือรางเลี้ยงหมู) เอาศพวางในรางแล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ้ำหรือเพิงผา แหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พบที่แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี ฯลฯ (รางระนาดปัจจุบันก็ได้จากโลงไม้ยุคนี้)

การแห่พระบรมศพด้วยราชรถก็มีเค้าจากเรือ เพราะหัวท้ายราชรถแกะสลักรูปนาค สัญลักษณ์ของน้ำ



หินตั้ง
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้านเป็นที่ฝังศพ มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ หรือใต้ถุนเรือ

ต่อมาใช้หินเป็นแท่งเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้คนปัจจุบันเรียก หินตั้ง ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่า เสมาหิน

เมื่อเอาศพลงหลุม ต้องเอาเครื่องมือเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้ในบาดาล

ฉะนั้นในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ เช่น ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่ได้ทำไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทำไว้ฝังไปกับศพเท่านั้น



ถิ่นเดิมของคนคือบาดาลอยู่ใต้ดิน เมื่อตายไปแล้วก็กลับถิ่นเดิม
มีเรือเป็นพาหนะรับส่ˆงพิธีศพของคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จึงต้องมีโลงไม้คล้ายเรือ
ใส่ศพทำพิธีกรรม ดังนักโบราณคดีสำรวจและขุดพบโลงไม้‰ บริเวณลุ่มน้ำแควน้อยแควใหญ่
จ. กาญจนบุรี และที่ถ้ำผีแมน อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน




ไหหินใส่กระดูกศพ เหมือน “โกศŽ” ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว



ไหดินเผาใส่ˆกระดูกฝังดินตั้งขึ้น พบที่บ้านเมืองบัว ต. เมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้‰อยเอ็ด

ต้นแบบโกศ
ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือพิธีศพครั้งที่ ๒ เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก

แล้วทำครั้งที่ ๒ ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหินในลาว, หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไป แต่ขนาดใหญ่พบแบบทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแบบ ‘แค็ปซูล’

ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ

ภาชนะใส่กระดูกทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันคือโกศ

แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัดก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์อย่างนี้เอง

คนเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไปฝัง ฯลฯ อย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ



เจดีย์เหนือหลุม
พื้นที่ฝังศพได้รับยกย่องเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพชนราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

เมื่อรับพุทธศาสนาแล้วในสมัยหลัง เลยยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานก็มี เช่น ปราสาทหินพิมาย (อ. พิมาย จ. นครราชสีมา) และวัดชมชื่นที่เมืองเชลียง (อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย) ฯลฯ



เรือศักดิ์สิทธิ์ส่งคนตายกลับบาดาลเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ลายเส้นบนมโหระทึก พบที่เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี




ภาชนะสัมฤทธิ์ใส่กระดูกคนตาย มีลายสลักเป็นรูปเรือศักดิ์สิทธิ์ส่งกลับบาดาล พบที่เวียดนาม



ภาชนะดินเผาใส่ศพแบบ ”แค็ปซูลŽ” (ที่ทุ่ˆงกุลาร้องไห้ บ้านเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด)
เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นต้นเค้‰า “โกศŽ” และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้‰อ และสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ จนถึงทุกวันนี้


คัดจาก : 'ศพใส่หม้อใส่ไห ต้นแบบใส่โกศ' โดย สุจิตต์  วงษ์เทศ  หน้า ๘๕ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๖๕ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มกราคม 2558 13:33:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2557 13:23:02 »

.

http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/06/118.jpg
'ศพใส่โกศ' เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้

ทุ่งกุลาร้องไห้ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
มีหม้อไหใส่ศพ ต้นแบบใส่โกศ

ทุ่งกุลาในอีสาน มีหม้อไหใส่ศพ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เป็นต้นแบบโกศใส่ศพและอัฐิสืบจนปัจจุบัน

“ศพใส่หม้อใส่ไห ต้นแบบใส่โกศ” ในฉบับวันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ มีผู้ขอให้ขยายความเรื่องหม้อไหใส่ศพพบที่ทุ่งกุลา


เขียนง่ายๆ ไม่วิชาการ
เรื่องนี้เคยรวบรวมเรียบเรียงอธิบายอยู่ในหนังสือ คนไทย มาจากไหน? (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า ๑๔๕-๑๔๙)

แต่ไม่ใช่นักวิชาการ และไม่คิดเป็นนักวิชาการ ผมจึงไม่เขียนอย่างวิชาการ ไม่อ้างอิงเป็นระบบ เพราะทำไม่เป็น แล้วไม่เคยทำ

หากจะมีทำบ้างก็ไหว้วานคนอื่น แต่ถ้าทำเองจะตกๆ หล่นๆ ผิดๆ พลาดๆ โดยไม่มีเจตนาจะฉวยเอางานของใครมาเป็นของตัว ผมแค่ทำหน้าที่ PR วิชาการเท่านั้น

โดยประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรตลอดมา ว่าผมไม่มีศักยภาพคิดสร้างสรรค์วิชาการอะไร ที่ทำมาหลายสิบปีก็ล้วนรวบรวมงานศึกษาค้นคว้าของนักปราชญ์ ราชบัณฑิตครูบาอาจารย์นักวิชาการทำไว้แล้วทั้งสิ้น แต่ไม่เผยแพร่ มาเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไป

ผมเขียนบอกอย่างนี้บ่อยมาก จนผู้อ่านบางคนเคยต่อว่าอย่างหงุดหงิดว่าน่ารำคาญ เพราะบอกบ่อยเกินไป แต่ต้องเขียนบอกอีกเพราะมีบางคนไม่รู้ แล้วเข้าใจคลาดเคลื่อน

ดังนั้น จะสรุปหม้อไหใส่ศพจากทุ่งกุลา มาสั้นๆ ง่ายๆ ต่อไปนี้


 
ฝังศพที่ทุ่งกุลาร้องไห้
คนพูดภาษาไทยที่มีมโหระทึกและมีประเพณีฝังศพ มีหลักแหล่งอยู่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสานเป็นบริเวณกว้างขวาง

ดังมีในรายงานการศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือŽ ๒,๕๐๐ ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม พิมพ์แจกในงานเสวนาเรื่องทุ่งกุลา-อีสานฯ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖) ดังนี้

ทุ่งกุลามีชุมชนดึกดำบรรพ์ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว หนาแน่น และหลายแห่งมีคูน้ำกับทำนบหรือคันชลประทานที่ซับซ้อน มีระบบความเชื่อแบบดั้งเดิม และมีประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒ สืบเนื่องอย่างไม่ขาดสาย

ชุมชนในทุ่งกุลาที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงนั้น เติบโตขึ้นเพราะมีผู้คนจากภายนอกที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒ เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายทั่วไป และมีอาชีพหลักคือถลุงเหล็ก

กลุ่มชนที่เข้ามาใหม่นี้ แพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ นอกเขตทุ่งกุลาด้วย โดยเฉพาะเลยล้ำเข้าไปทางที่ลาดขั้นกระไดต่ำ ทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ของทุ่งกุลา เช่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร จนถึงอุบลราชธานี เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก ได้แก่ เหล็กและเกลือ รวมทั้งเป็นบริเวณที่มีการคมนาคมกับภายนอกทางแม่น้ำโขง ผ่านไปเขตชายทะเลของพวกจามและญวนได้ นับเป็นบริเวณที่มีพัฒนาการของบ้านเมืองสำคัญอีกแห่งหนึ่ง



รัฐเจนละ
ตั้งแต่เขต อ.ม่วงสามสิบ จ.อำนาจเจริญ ไปจนถึง อ.เขื่องใน, อ.คำเขื่อนแก้ว เข้าเขต จ.ยโสธร แล้วต่อเนื่องไป อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ล้วนนับเนื่องเป็นบริเวณที่มีลำน้ำเซบก ลำน้ำเซบาย ลำน้ำชี และลำน้ำเสียว ไหลมาลงที่ราบลุ่มต่ำนั้น ก็เป็นบริเวณที่ผู้คนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายมากับประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒ เข้ามาตั้งหลักแหล่ง แล้วมีอาชีพทำเกลือกับถลุงเหล็ก จนสร้างเป็นบ้านเป็นเมืองที่นับเนื่องเป็นกลุ่มรัฐเจนละ เพราะพบหลักฐาน ทั้งศาสนสถาน รูปเคารพ ศิลาจารึก ยืนยันอย่างชัดเจน

มีการติดต่อทั้งกับพวกจาม โดยข้ามเทือกเขาไปสู่บริเวณชายทะเล และทั้งตามแม่น้ำโขงไปยังบ้านเมืองเขมรต่ำในกัมพูชา และปากแม่น้ำโขง

ผู้คนเหล่านี้ โดยพื้นฐานเป็นคนกลุ่มเดียวกับคนทุ่งกุลา เพราะมีประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒ แล้วทำเกลือและถลุงเหล็กแบบเดียวกัน แต่มีอารยธรรมอันเนื่องจากการได้รับอิทธิพลพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูจากอินเดีย รวมทั้งรับความเจริญทางวัตถุกับเทคโนโลยีจากจีนตอนใต้และเวียดนามอย่างต่อเนื่องกว่าผู้คนในทุ่งกุลา


 
ชาวสยาม
เมืองสำคัญของกลุ่มชนที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒ สร้างขึ้นในแหล่งอุตสาหกรรมเกลืออยู่ชายขอบทุ่งกุลาคือ เมืองจัมปาขัน ใกล้ลำน้ำเสียว เขตบ้านตาเณร อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

นับเป็นศูนย์กลางการทำเกลือโบราณกว้างขวางเลยเข้าไปในเขตทุ่งกุลาและทุ่งราษีไศล เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคม ผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ข้ามเทือกเขาพนมดงรัก ไปยังเมืองพระนครในเขตเขมรต่ำ

คนพวกนี้อาจมีภาษาพูดในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง แต่พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าŽ ใช้สื่อสารกับคนกลุ่มอื่น จึงนับเป็นชาวสยาม


 
ขอบคุณ
หม้อไหใส่ศพที่ทุ่งกุลา ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง แต่รู้จากงานค้นคว้ายุคเริ่มต้นของ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ต่อมาอีกหลายปีมากจึงรู้จากรายงานการขุดค้นของคุณสุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดี กรมศิลปากร ที่สำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีอยู่ในทุ่งกุลาหลายปี

ขอย้ำว่าผมไม่เคยรู้อะไรด้วยตัวเอง เพราะเรียนน้อย แค่ปริญญาตรีสอบตกซ้ำซาก แล้วอ่านอังกฤษไม่ออก

แต่ไม่เคยคิดฉวยงานคนอื่นมาเป็นของตัว เหมือนครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายพวก




คัดจาก : ทุ่งกุลาร้องไห้ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีหม้อไหใส่ศพ ต้นแบบใส่โกศ'' โดย สุจิตต์  วงษ์เทศ  
            หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๖๗ ประจำวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 กรกฎาคม 2557 13:24:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 20 มกราคม 2558 14:57:38 »

.

ศพในโกศ
เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ (๑)

อารัมภกถา
เรื่องนี้ผมเขียนขึ้นเมื่อสัก ๗ ปีที่แล้ว ในหน้าห้องสมุดของเว็บพันทิป เป็นลักษณะที่เรียกว่ากระทู้ คือเปิดให้คนอ่านเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นถามตอบในช่วงไหนก็ได้อย่างเสรี  เวลานั้นงานออกพระเมรุครั้งสำคัญเพิ่งจะเสร็จสิ้นไป คนตื่นตัวสนใจในเรื่องการพระศพมาก ส่วนตัวผมเองซึ่งข้องใจตลอดมาว่า ทำไมสมัยใหม่นี้ท่านผู้มีเกียรติ แม้แต่เชื้อพระวงศ์จึงไม่ประสงค์จะเข้าโกศกันแล้ว อ้างว่าขอนอนสบายๆ ในโลงดีกว่า ทำไม ศพที่เข้าโกศนั้น ถูกบรรจุลงไปอย่างไรหรือ ผู้ที่ตายแล้วจึงยังอุตส่าห์กลัวความเจ็บได้ ผมเลยเอาเข้าไปเขียนกระทู้แบบเป็นบทความนำคำถาม เชื้อเชิญผู้รู้มาช่วยค้นคว้ากันให้ได้ความจริง หลังจากที่กระทู้ปรากฏในหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว ไม่ทันไร ก็ได้รับการปัดหมุดให้เป็นกระทู้แนะนำ อยู่ในหน้าแรกของห้องสมุดพันทิปนานนับเดือนๆ คนคงเข้าไปอ่านกันนับพัน (ถึงตอนนี้ไม่ทราบว่าจะสักกี่หมื่น) เฉพาะผู้ที่เข้ากระทู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นก็หลายสิบคนแล้ว ไม่รวมที่เข้ามาแปะเครื่องหมายแสดงความถูกใจเฉยๆ อีกหลายร้อย มีอยู่คนสองคนที่เข้ามาแขวะ แต่พอชักแยะก็ถูกผู้อ่านด้วยกันไล่ตะเพิดไป กระทู้จึงยืนยงอยู่ได้ถึงสามตอนยาวๆ กว่าจะสรุปลงตัวได้

หลังจากนั้นมาก็มีผู้ติดต่อผมมาหลายครั้ง จะขอนำ “ศพในโกศ” ไปลงพิมพ์เผยแพร่ ผมก็อนุญาตเพราะที่ทำไปก็ตั้งใจจะให้เป็นวิทยาทานอยู่แล้ว แต่แล้วก็ไม่เห็นใครทำสำเร็จสักราย คงจะเป็นเพราะการจะเอากระทู้ไปตีพิมพ์ดื้อๆ มันไม่ได้ จะตัดตอนเอาไปก็อาจอ่านสะดุด นอกจากผู้เรียบเรียงจะเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้จึงอาจทำได้ ผมจะทำเองก็ไม่ทราบว่าจะส่งไปตีพิมพ์ที่ไหน จนกระทั่งสกุลไทยเอ่ยถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ผมจึงเกิดกำลังใจจะเขียนขึ้นใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสมจะนำเสนอในนิตยสาร แต่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นกระทู้อยู่บ้าง....


http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/06/118.jpg
'ศพใส่โกศ' เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้

ความลึกลับของโกศ
โกศคือภาชนะเก็บศพที่ท่านั่ง แต่เนื่องจากตัวโกศไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางขนาดที่คนเป็นจะลงไปนั่งอย่างสบายๆ ได้ เรื่องที่เล่าขานกันหรือที่บันทึกไว้ในเชิงตำนานก็นึกภาพตามไม่ออกว่าเขาเอาศพลงไปนั่งอย่างไร คนที่รู้เรื่องจริงก็ไม่ยอมจะเปิดเผย ปล่อยให้ผู้คนเดาหรือเสริมแต่งกันไปจนน่ากลัว เช่น ต้องตัดเอ็นข้อพับ แล้วดัดแข้งดัดขาอย่างโน้นอย่างนี้ ในโกศจะมีเหล็กแหลมไว้เสียบทวารกันศพล้ม หรือเพื่อระบายน้ำเลือดน้ำหนอง เป็นต้น  เรื่องศพในโกศทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องลึกลับ แม้แต่ในสมัยที่ยังนิยมเข้าโกศกัน ผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับพิธีการสนมพลเรือน ถึงเป็นญาติก็ยังถูกเชิญให้ออกจากห้อง ไม่ให้ดูกรรมวิธีต่างๆ ชวนให้คิดว่าคงจะต้องมีการทารุณต่อศพอยู่บ้าง โดยเฉพาะศพที่มีรูปร่างอ้วนใหญ่

สมัยนี้ ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ส่วนใหญ่จึงสมัครใจที่จะยอมนอนตายในโลงธรรมดาอยู่หลังฉาก ส่วนโกศที่พระราชทานให้ตามเกียรติยศนั้น ก็ตั้งออกงานไว้หน้าฉากตามฐานันดรศักดิ์  ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงรู้จักการเข้าโกศจริงๆ น้อยลงไปทุกที ถามใครก็หาคำตอบไม่ได้ นี่ขนาดคนไทยด้วยกันยังเป็นขนาดนี้ ถ้าเป็นชาวต่างประเทศก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่

ในอดีตครั้งรัชกาลที่ ๔ ฝรั่งไร้จรรยาบรรณคณะหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์หนังสือบันทึกการเดินทางรอบโลกของ ลุยดูวิก มาร์คีส์ เดอ บูวัวร์ (Ludovic Marquis de Beauvoir) ชาวฝรั่งเศสที่มาแวะเมืองสยามแล้วได้รับพระกรุณาให้เข้าไปเยือนถึงพระราชฐาน รวมทั้งได้มีโอกาสเห็นงานพระบรมศพที่ท้องพระโรงวังหน้า สำนักพิมพ์ได้ให้ นายอาลลัวร์  (Allours) ช่างเขียนที่ปารีสนั่งทางใน ใช้จินตนาการวาดภาพประกอบเรื่อง เป็นภาพพระบรมศพภายในพระโกศของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ของสยาม ที่เขาอ้างว่าเขียนขึ้นตามที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายให้ฟัง แต่บิดเบือนความจริงให้เตะตาคนที่หยิบมาพลิกๆ ดูจะได้สนใจ แล้วควักกระเป๋าซื้อหนังสือเล่มนั้นมากๆ ทั้งๆ ภาพประกอบของชาติอื่นๆ ก็ดูดี แต่ภาพวาดภายในพระราชสำนักชุดนี้มีหลายรูปที่บิดเบือนความจริง เหมือนจะสื่อว่าสยามเป็นอนารยะตามคติของชาวตะวันตก สมควรที่ฝรั่งเศสจะคิดยึดไว้เป็นเมืองขึ้นเอาบุญ จะได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนไทยเป็นอารยชนเหมือนชาวยุโรป โดยพวกเขาลืมไปว่า ที่จริงแล้วผู้มีวัฒนธรรมไม่ว่าชนชาติใดก็ตาม จะไม่นำผู้วายชนม์มาเขียนภาพบิดเบือนในลักษณะเป็นการล้อเลียนเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น มิได้หมายเฉพาะระดับบุคคลสำคัญของชาติเท่านั้น แต่ที่น่าเสียใจก็คือ คนไทยเองบางคนกลับแสดงความเห็นแบบยอมรับการกระทำของพวกเขาเสียด้วย แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะว่าไปแล้ว มันก็ภาพภาพเดียวในโลกนี้ที่พยายามจะเผยความลับภายในโกศที่คนทั้งหลายอยากรู้



โกศลองนอกและรองใน

คำว่า พระโกศ หรือโกศ มักจะสร้างความสับสนในการเรียกขาน ที่ถูกต้องจะเรียกว่า พระลอง ดังเช่นงานพระราชพิธีครั้งที่ผ่านมา ผู้บรรยายจะเรียกพระโกศว่าพระลองทองใหญ่ ผมไม่แปลกหูสำหรับคำเรียกนี้ เพราะเคยได้ยินบ่อย แต่โกศสำหรับสามัญชน แทบจะไม่เคยได้ยินผู้ใดเรียกว่า ลองโถ ลองแปดเหลี่ยม ลองราชวงศ์ เลย  ยิ่งศพพระตามบ้านนอกที่ชาวบ้านช่วยกันทำโกศเอง จะไม่เคยเป็นอย่างอื่นทั้งนั้น  ดังนั้น โกศชั้นนอกเช่นเดียวกับกับในภาพที่ ๑ ผมจะเรียกว่าโกศลองนอกนะครับ

ส่วนโกศลองในเป็นภาชนะตัวจริงที่บรรจุร่างของผู้ตาย ประกอบด้วยตัวถัง เป็นโลหะหล่อทรงกระบอก ทาสี ปิดทองหรือทาสีทอง ขนาดมาตรฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลางปากบนประมาณ ๖๔ เซนติเมตร ความสูงประมาณ ๙๕ เซนติเมตร ด้านล่างเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๖ เซนติเมตร ที่ก้นมีตะแกรงเหล็กวางไว้รับน้ำหนักตัวศพ ตะแกรงนี้มีไว้ในการเผาศพ ให้เปลวไฟสามารถทะลุขึ้นไปไหม้ศพจนกลายเป็นเถ้าธุลี เสร็จงานหนึ่งๆ ก็ถอดออกนำไปชำระล้าง เก็บไว้ใช้กับงานอื่นต่อไปได้

ฐานที่ตั้งโกศลองในเป็นไม้หนา มีแผ่นดีบุกทรงกลมขอบสูงวางไว้รองรับของเหลวที่อาจเกิดขึ้นตามขบวนการย่อยสลายในสมัยโบราณ ตรงกลางเจาะรูไว้ระบายบุพโพนี้ ซึ่งมีท่อต่อลงสู่ภาชนะที่เรียกว่า “ถ้ำ” เบื้องล่าง

ด้านบนเป็นฝาโกศ เมื่อปิดครอบลงแล้วจะยึดทุกส่วนที่ประกอบกันให้มั่นคงด้วยเชือกถักเป็นตาข่าย ภาพที่ ๒ อุดรอยต่อทั้งด้านบนด้านล่างด้วยขี้ผึ้งกันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จะรั่วซึมออกมา

เมื่อนำโกศลองในไปตั้งบนแท่นแล้ว จึงประกอบโกศลองนอกที่ได้รับพระราชทานตามฐานันดรศักดิ์ สวมครอบไว้ ระหว่างพิธีกรรมต่างๆ

ในวันพระราชทานเพลิงศพ โกศลองในเท่านั้นที่จะถูกเปลื้องเชือกรัด แล้วนำไปตั้งบนจิตกาธานโดยไม่มีฐาน ภาพที่ ๓ สมัยนี้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเพราะเป็นเพียงโกศเปล่าหรือบรรจุของบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ตายเท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีการเผาหลอกแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปยกโลกศพตัวจริงมาใส่เข้าเตา ใช้เชื้อเพลิงไม่แก๊สก็เป็นน้ำมันโซล่า เผาเรียบร้อยสะดวกง่ายดาย

หากเป็นสมัยโบราณ ก่อนออกเมรุ ศพในโกศจะถูกนำออกมาเปลื้องเครื่องสุกำ หรือตราสังห่อศพออก เพื่อชำระซากที่เหลือเอาไว้แต่กระดูก เนื้อหนังมังสาจะถูกรูด แยกสร้อยแหวนเครื่องประดับที่นิยมสวมให้ศพตอนเข้าโกศออกไปให้ลูกหลานเก็บไว้ นอกนั้นจึงเอาไปจัดการเผาหรือฝังพร้อมเครื่องสุกำเดิม ส่วนที่จะประกอบพิธีเผาเหลือขนาดไม่มากแล้ว จะห่อผ้าขาวเล็กๆ นำกลับเข้าโกศลองในใหม่ นำไปวางบนเชิงตะกอนที่เรียกโดยเฉพาะว่า จิตกาธาน  เมื่อเผาจริง ก็เปิดฝาโกศออกไปก่อน แล้วสุมกองไฟขนาดพอดีๆ เข้าใต้โกศซึ่งส่วนก้นเป็นตะแกรงนั้น กะให้เปลวไฟทะลุขึ้นไปเผาสิ่งที่อยู่ภายในปล่องจนกว่าจะมอดไหม้เป็นเถ้าธุลี ภาพที่ ๔

เมื่อจะเก็บอัฐิ เศษกระดูกที่ยังไม่สลายไปกับพระเพลิงหมด จะถูกแปรรูปเป็นรูปเด็กทารก ภาพที่ ๕ ก่อนจะประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ต่อจนจบขบวนการ




     การเผาศพในโกศ และการแปรอัฐธาตุ

สิบกว่าปีก่อน ผมได้เห็นพิธีเสด็จพระราชทานเพลิงศพคุณลุง ซึ่งระหว่างงานสวดพระอภิธรรม ก็นอนในโลงแอบอยู่หลังม่านเช่นกัน ครั้นเมื่อออกเมรุหลวงที่วัดเทพศิรินทราวาส ผมทราบแต่เพียงว่า ศพถูกนำออกจากโลง ห่อผ้าขาวมาบรรจุไว้อยู่ในโกศลองในจริงๆ แล้ววางบนจิตกาธาน ไม่ทราบว่าเพราะเป็นงานที่เสด็จพระราชทานเพลิงหรือเปล่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผมเพียงอยากจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อจะเผาจริงนั้น พอพนักงานเปิดม่านออกมา ทุกคนจะมองไปเห็นกล่องบนไม้อัดสี่เหลี่ยมทาสีขาวขนาดไม่ใหญ่นัก กำลังถูกพนักงานสองคนยกเข้าเตาเผา ส่วนบนของกล่องเปิดโลงแลเห็นห่อผ้าขาวกลมๆ คงจะเป็นส่วนที่เหลืออยู่ในโกศซึ่งภูษามาลานำออกมาตั้งแต่ก่อนออกเมรุ และห่อเครื่องสุกำที่จะเผาพร้อมกันไป วางซ้อนๆ กันอยู่ในกล่องนั้น แล้วพนักงานก็นำผ้าขาวมาคลุมปิดทับฝากล่องให้เรียบร้อยก่อนจะดำเนินการเผาจริง เรื่องที่เล่ากันว่าศพในโกศเมื่อนำออกมาชำระ จะมีการต้มในกระทะใบบัวให้กระดูกหมดกลิ่นก่อนแยกมาใส่โกศเผา ที่เหลือเคี่ยวต่อจนกว่าจะแห้งนั้น จึงถูกยกเลิกไปหลายปีก่อน ๒๕๓๘ แล้ว หลังจากที่มีฟอร์มาลีนและเตาเผาที่กำจัดกลิ่นได้ และนี่คือการเผาศพที่เข้าโกศก่อนจะถึงยุคปัจจุบัน

ณ วันนี้ พนักงานสนมพลเรือนของสำนักพระราชวังก็ไม่ต้องลำบากถึงขนาดนั้นอีกต่อไป ถ้าเป็นศพที่นอนในโลง เขาจะเอาใส่รถตู้วิ่งมาก่อนที่แขกจะถึง วิ่งเวียนเมรุสามรอบแล้วนำโลงศพไปบรรจุไว้ในเตาเผา รอการเผาจริงเลย ส่วนเมื่อขบวนแห่โกศมาถึงก็จะประกอบพิธีเวียนเมรุตามอิสริยศักดิ์ แขกที่แห่ตามรถวอมาก็รีบจอดรถ แล้วพาตัวมาเดินเวียนเมรุตามโกศลองในเปล่า ครบสามรอบเจ้าพนักงานก็นำโกศนั้นขึ้นตั้งบนจิตกาธาน รอเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพต่อไป พอเสด็จฯกลับก็เริ่มต้นเผาศพในโลงที่รออยู่ในเตาได้เลย
 

    
คนไทยเอาธรรมเนียมการเข้าโกศมาจากไหน
โกศ เป็นภาษาสันสกฤต  ฉะนั้น รากเหง้าวัฒนธรรมของโกศจึงมาจากอินเดียโบราณแน่ ในไตรภูมิพระร่วงปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า เอา (พระบรมศพ) ใส่ลงในโกศทอง แสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัฒนธรรมการนั่งตายมีที่มาที่ไปอย่างไร
 
ผมออกจะเชื่อในทฤษฎีที่ว่า มาจากคติทางพุทธศาสนาในเรื่องตายแล้วเกิด ความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดและการตาย ที่เห็นได้ชัดในวัฒนธรรมไทยก็คือการเก็บอัฐิ เริ่มจากพนักงานรวบรวมเถ้ากระดูกที่หลงเหลืออยู่ภายหลังการเผาศพ มาจัดแต่งให้เป็นรูปทารกก่อนการเลือกเก็บอัฐิดังที่กล่าวไปบ้างแล้ว นัยว่าเป็นอุบายให้พิจารณาธรรมะในเรื่องตายเพื่อเกิดนี้

การกลับมาเกิดใหม่ในมนุษยโลกทั้งที ก็ควรจะเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เดียรฉาน  ดังนั้น การตายของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน จึงควรจะอยู่ในท่าที่เชื่อมโยงกับการที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกโดยง่าย



ภาพที่ ๖ ทารกในครรภ์

ภาพที่ ๖ ลองพิจารณาท่าสบายที่สุดของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาดูซิครับว่าเป็นท่านั่ง และนั่งอย่างไร  ฉะนั้น คนมีบุญบารมีก็สมควรจะนั่งตายในท่าที่คล้ายกันนี้

ตามที่ผมอ่านพบมา ศพที่เข้าโกศอยู่ใน “ท่านั่งพนมมือเอาแขนลอดเข่ามาพนม” ผมลองทำท่านี้ดูแต่สุดวิสัย อีกสำนวนหนึ่งเขียนว่า “ประทับนั่ง คุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์” ก็ไม่เข้าใจอาการยกขึ้นแบ การนั่งคุกเข่าแบบนั่งราบนั้น ขาจะยาเกินพื้นที่ แต่ถ้านั่งบนส้น ศีรษะจะสูงเกินขอบ นอกจากจะเป็นคนรูปร่างเล็กมาก จะนั่งท่าไหนก็ได้

ลองมาศึกษาสรีระของมนุษย์ขนาดมาตรฐานดู ท่าที่เหมือนกับนั่งคุกเข่า แต่เปลืองเนื้อที่น้อยที่สุดเพราะใช้แขนรัดไว้ เห็นจะเป็นท่าที่นักกีฬากระโดดน้ำระดับโอลิมปิกกระทำ เช่น ภาพที่ ๗ นำเสนอโดยแปลงโฉมหน้าพ่อยอดนักกีฬาคนนี้เสียใหม่เพื่อไม่ให้ตะแกมาด่าว่า ผมเอาตะแกมาเป็นนายแบบนั่งโก้อยู่ในโกศโดยพลการ



การศึกษาท่าทางของศพในโกศ

ภาพดังกล่าว แสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะดัดแข้งดัดขาเพียงเล็กน้อย จับขาหุบให้ชิดกันเสียหน่อย ก็จะบรรจุร่างนี้ลงไปในปริมาตรของโกศได้ โดยแทบจะไม่ต้องกระทำทารุณกรรมแต่อย่างใด ภาพที่ ๘ ภาพวาดที่ผมเขียนขึ้นโดยอาศัยนายแบบในภาพที่แล้ว ร่างกายของศพจะอยู่ในท่าประมาณนี้ ละไว้มิได้เขียนเครื่องสุกำ คือผ้าตราสังขาว และเชือกฝ้ายมัดไว้ ๕ เปราะให้คงท่า หรือหมอนที่วางประคับประคองร่างไว้อีกทีหนึ่ง ส่วนไม้หลักที่อยู่ในโกศ เรียกว่า กาจับหลัก ทำหน้าที่ค้ำคางศพไว้ไม่ให้คอตก ไม่ใช่ไม้เสียบทวารที่คนปากพล่อยพูดๆ กันไปจนเด็กรุ่นหลังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

และแล้ว ภาพที่ผมนำเขียนนำขึ้นมานี้ก็เปิดประเด็นถกเถียงจนกระทู้ต้องยืดเยื้อถึงสามตอนกว่าจะสรุปลงได้ ท่านผู้สนใจเห็นจะต้องตามอ่านต่อไปนะครับ



คัดจาก คอลัมน์ "ประวัติศาสตร์มีชีวิต" ศพในโกศ : เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้  โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน์  ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๑๔๔ ประจำวันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘


ศพในโกศ
เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ (๒)

ข้อข้องใจในเรื่องของการเข้าโกศ
สามสิบปีที่แล้ว ผมมีหน้าที่ไปร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานน้ำสรงพระศพเจ้านายองค์หนึ่งที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร แต่ไปผิดเวลามาก ถึงที่นั่นก่อนที่พระศพจะมาถึงหลายชั่วโมง ประตูด้านหน้าห้องยังปิด แต่ประตูด้านหลังเปิดไว้จึงเดินเข้าไป

พวกสนมพลเรือนกำลังตระเตรียมงานอยู่วุ่นวายไปหมด เห็นพระโกศลองในอยู่บนฐาน วางรอไว้กับพื้น เปิดฝาเอาไว้ เห็นก้นเป็นตะแกรง แลลอดลงไปเห็นฐานเว้าเป็นกระทะหงายมีรูตรงกลาง พร้อมกันนั้นก็ได้เห็นกาจับหลักที่เขาวางไว้แถวนั้น จำได้เลาๆ ว่าเป็นแท่งโลหะกลมยาวทาสีแดง ตรงปลายคล้ายเป็นจานเล็กๆ หรือจะเป็นตัว T ตัว Y ก็ไม่แน่ใจ แต่เข้าใจได้ทันทีว่าเจ้านี่แหละที่เป็นตัวปัญหา แต่ดูๆ มันก็ไม่เห็นว่าจะได้รับการออกแบบให้ใช้เสียบอะไรได้ พวกพนักงานกำลังง่วนอยู่กับการประกอบเบญจาในขั้นตอนสุดท้าย ด้านหลังที่ยังเปิดอยู่แลเห็นท่อพลาสติกใส ขนาดสักหนึ่งนิ้ว ต่อจากปลายที่ลอดทะลุพื้นชั้นบนสุดลงมาที่ไหเซรามิคที่วางอยู่บนพื้น มีฝาผนึกปิดไว้อย่างดี พร้อมก้านต่อให้ท่อเสียบลงมาได้สนิท ไม่เห็นมีท่อไม้ไผ่อะไรตามจดหมายเหตุโบราณ หรือคงเพราะมีของอะไรดีกว่าก็ใช้ของนั้น เป็นวิวัฒนาการตามกาลสมัย

ผมอยู่ตรงนั้นสองสามนาทีก็รีบออกไปก่อนที่จะโดนเขาไล่ก็จริง  แต่ภาพที่เห็นมันติดตาเข้าให้แล้วอย่างยาวนานจนถึงบัดนี้ เพิ่งจะมีโอกาสได้ดึงมันออกจากสมองเพื่อทำเป็นภาพ (๑) และเรื่องก่อนที่ผมจะหลงๆ ลืมๆ ไปกับวัย ภาพนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะมีคนนำไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปอย่างกว้างขวางที่สุดในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งหนังสือของทางราชการบางเล่มด้วย



ภาพ ๑ การตั้งโกศกับเครื่องประกอบเบญจา

เมื่อกระทู้ดำเนินมาถึงช่วงนี้ ก็มีผู้เข้ามาร่วมแสดงความเห็นมากมายหลายประเด็น อย่างเช่นท่านั่งพนมมือเอาแขนลอดเข่ามาพนมนี่ มีผู้ทดลองทำแล้ว มีทั้งบอกว่าทำได้และทำไม่ได้ ผมเองอยู่ประเภทหลัง ส่วนประเภทแรกก็มีตัวอย่างเช่นคุณ susijang ที่เขียนมาว่า คนเล่นโยคะท่านี้ทำได้แน่นอน ส่วนจะเอามือขึ้นสูงขนาดไหนของอก ก็ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของร่างกาย พวกที่เล่นมานานจะสามารถยกขึ้นมาได้สูงมาก ตอนเธอไปน่าน ก็เคยไปดูพระโกศของพระเจ้าน่าน ทางไกด์ก็อธิบายเรื่องการนั่งลงไปในโกศเป็นยังไง ก็คือเอาแขนลอดเข่ามาพนมนี่แล

ผมเชื่อว่าท่านั่งดังกล่าวต้องมีคนทำได้ก็จริง แต่ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะเอาร่างกายที่ทำท่าอย่างนั้นบรรจุลงในภาชนะรูปทรงกระบอกได้อย่างไร นอกจากจะเป็นคุณผู้หญิง size M ลงไปถึง S นึกออกไหมครับ จุดกว้างที่สุดของร่างกายจะต้องอยู่ที่ระดับสูงกึ่งกลางของโกศ ถ้าร่างใหญ่ก็จะลำบากทีเดียว

ต่อไป คุณ shongkoyo เข้าถามว่าการต้มลอกเอาเนื้อหนังออกนั้นทำกันอย่างไร เอาร่างทั้งร่างลงไปต้มจนเปื่อย หรือว่าตัด อืม...ไม่เขียนน่าจะดีกว่า (นี่เธอว่าเองนะครับ ไม่ใช่ผม)

โบราณมีจดหมายเหตุบันทึกเรื่องนี้อยู่ว่า
“เมื่อถึงคราเชิญศพออกเมรุ เจ้าพนักงานจักทำการเปลื้องพระสุกำศพลงเสีย แลเปลี่ยนผืนใหม่ แลพระบุพโพนั้นจักเชิญไปเผาพร้อมๆ กับพระสุกำศพ โดยจักกระทำดังนี้ เจ้าพนักงานจักถ่ายพระบุพโพลงในกระทะทอง พร้อมเครื่องหอม อาทิ ลูกฝรั่งสุก ใบเนียม แลจุดเพลิงเคี่ยวไปจนกว่าจะมอดเปนเถ้ายังพระเมรุพระบุพโพ หลังจักการเคี่ยวพระบุพโพเสดสิ้น แลจักนำพระศพนั้นมารูดลงเสีย เปนที่รู้กันทั้งแผ่นดินว่าพระศพนั้นต้องอยู่ในพระโกศตลอดเพลา เพลาผ่านไปนานเท่าใดพระศพจักยิ่งเน่า เนื้อหนังมังสาเอนน้อยเอนใหญ่ต่างพากันเน่าเปื่อยแลเหนไม่มีสง่าราศี หากองค์ใดสิ้นใจในหน้าฝนแล้วไซร้ จักต้องรอถึงหน้าแล้งแลค่อยถวายเพลิง ก่อนจักถวายเพลิงจักเปลื้องผ้าห่อศพนั้นออก แลนำพระศพนั้นไปสำรอกเอาเนื้อหนังมังสา เอนน้อยเอนใหญ่ทั้งหลายออกมาให้หมด ให้อยู่แต่กระดูกขาว แลเชิญกระดูกออกมาต่างที่ แลใส่เครื่องหอมลงกระทะใบบัว เช่น ชะลูด ใบเนียม ลงไปต้มทั้งผ้า อบให้หอม สิ่งที่เหลือในกระทะใบบัวแลจักทิ้งไม่ได้ ต้องเคี่ยวให้แห้ง แลนำไปเผาพร้อมผ้าห่อศพ ที่เรียกขานกันว่าถวายพระเพลิงพระบุพโพ ถ้าเปนศพชั้นเจ้านายจักถวายกันที่วัดมหาธาตุ ส่วนอัฐิที่สำรอกมังสาออกแล้วไซร้ แลเชิญลงพระโกศรอการถวายพระเพลิง”

เมรุที่วัดมหาธาตุข้างสนามหลวงเป็นเมรุผ้าขาวเล็กๆ สร้างเพื่อใช้ชั่วคราว (๒) สำหรับเผาพระบุพโพของเจ้านายโดยเฉพาะ แต่ต่อมา เริ่มจากพระบุพโพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้นำไปพระราชทานเพลิงที่เมรุหลวงวัดเทพศิรินทร์ (๓)

ถ้าย้อนยุคไปสักร้อยสองร้อยปีมานี้ การปลงศพของคนไทยก็น่ากลัวเหมือนๆ กันหมด ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า บุคคลระดับเจ้าขุนมูลนาย การจัดการเรื่องศพจะต้องดีวิเศษกว่าสามัญชนคนทั่วไปอย่างแน่นอน ชาวบ้านที่มีเงินหรอกจึงจะมีโลงไม้ให้นอน ถึงกระนั้นถ้าฝีมือช่างไม้ไม่เก่งจริง ไม้ไม่ดี รอยต่อไม่สนิท หรือมีความผิดพลาดเรื่องขนาดของโลงเล็กไป พอศพขึ้นอืดได้ที่ โลงก็แตก กลิ่นทะลักออกมา พระเจ้าก็แทบจะสวดพระอภิธรรมกันต่อไม่เป็น



ภาพ ๒ และ ๓ การถวายพระเพลิงพระบุพโพ

ที่สาหัสกว่านั้นคือบุพโพไหลออกมานองพื้นห้อง สมัยผมเด็กๆ เคยเห็นภาพนี้ เล่นเอาสยองนอนไม่หลับไปหลายคืน  ดังนั้น ก่อนจะมีสุสานที่ทำกุฏก่ออิฐถือปูนให้บรรจุโลง แทนโกดังเก็บศพที่ป้องกันกลิ่นไม่ได้ ส่วนใหญ่ญาติจึงรีบเอาโลงศพไปฝังไว้ในป่าช้า คนไม่มีเงินก็ห่อเสื่อห่อฟากไม้ไผ่ฝังลงไปทั้งอย่างนั้น รอจนศพย่อยสลายหมดจึงขุดขึ้นมาสำรอกแล้วบรรจุโลงใหม่เพื่อกระทำฌาปนกิจ ส่วนคนจนก็ฝังลืมไปเลยจนกว่าวัดจะจัดการล้างป่าช้า ขุดศพไม่มีญาติขึ้นมาเผา นี่ถือว่าดีแล้วนะครับ สมัยรัชกาลที่ ๔ ฝรั่งยังไปถ่ายรูปทำสารคดีเรื่องศพที่คนกรุงเทพฯ นำมาทิ้งไว้ในป่าช้าวัดสระเกศ สัปเหร่อต้องสับออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย รอฝูงแร้งฝูงกาผสมกับหมาวัดมาช่วยกำจัดซากให้ ถ้าเทียบมาตรฐานให้เห็นอย่างนี้แล้วคงจะเข้าใจ เป็นใครก็คงอยากจะมีวาสนาได้เข้าโกศรับประกันความอุจาด ตรงกันข้ามกับสมัยนี้

ส่วนกรรมวิธีที่เรียกว่าการสำรอกศพ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนๆ กันหมด หากการเผาศพกระทำกันในที่แจ้ง หรือใช้เชิงตะกอนบนเมรุสมัยยังไม่มีเตาเผา มิฉะนั้นระหว่างเผา เนื้อหนังมังสาเน่าๆ ที่โดนความร้อนสูงจะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงลอยไปพร้อมกับควันไฟ ตลบอบอวลไปทั่วสารทิศ ไม่เป็นมงคลทั้งคนตายและคนเป็นที่มาร่วมพิธีเผาศพ การแยกเนื้อออกเหลือแค่กระดูกแล้วเผาเป็นการลดกลิ่นที่น่ารังเกียจลงจนเกือบจะหมด ที่ใช้คำว่าเกือบเพราะแม้แต่สมัยนี้ การเผาศพโดยเตาทันสมัยที่อ้างว่าสามารถกำจัดได้ทั้งควันทั้งกลิ่น ก็ยังปล่อยก๊าซอะไรไม่รู้ ลอยฉุยๆ มาเข้าจมูกคนที่อยู่ใต้ลมอยู่ไม่แล้ว อย่างไรก็ดี เรื่องการสำรอกศพคงหาที่เหมาะๆ กระทำกันในวัด ท่านลองคิดถึงความเป็นจริง ใครเขาจะเอากระทะใบบัวขนาดใหญ่คนลงได้ไปตั้งไฟในบ้านเจ้าภาพ จะตั้งตรงไหน อย่างไรถึงจะไม่เป็นที่อุจาดบาดตาแก่บรรดาญาติ แล้วส่งกลิ่นไปหลอกหลอนเจ็ดบ้านแปดบ้าน จนกระทั่งยุคที่การเผาศพพัฒนามาใช้เตาเผาแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องสำรอกศพก็คงจะหมดไป

แม้ว่าการสำรอกศพจะเลิกไปนานแล้ว แต่สมัยนี้ งานบุญล้างป่าช้าของคนจีนก็ยังทำอะไรคล้ายๆ กันอยู่ คือขุดศพไม่มีญาติขึ้นมาใส่ภาชนะล้างชำระ เดี๋ยวนี้ใช้เป็นอ่างพลาสติกดำๆ ใบใหญ่ๆ กับน้ำยาซักฟอก ซากศพซึ่งหลุดเป็นชิ้นๆ แล้วก็ถูกแยกส่วน เอาแต่กระดูกไว้ไปเผารวมกัน ที่เหลือเอาไปฝังในป่าช้า ใครที่อยากรู้อยากเห็นอะไรไปหมดทั้งโลกก็ยังพอมีโอกาสนะครับ ไปร่วมงานกับเขาแล้วจะได้ดูแน่ แต่ถ้าท่านจะทุ่นแรงด้วยการเปิดคอมพิวเตอร์ใช้อินทรเนตรส่องหาก็ได้ครับ พิมพ์ key word คำว่า ล้างป่าช้า ลงไป บัดเดี๋ยวจะปรากฏภาพให้ดูจนหายอยาก


จดหมายเหตุการพระบรมศพ
หลังจากที่นำภาพศพในโกศซึ่งผมเขียนลงกระทู้เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปตั้งแต่ตอนที่แล้ว คุณ kimpu เข้ามาแสดงความเห็นหลังจากนั้นว่า ยังมีหลายคำถามที่คาใจเรื่องท่านั่งในโกศ น่าจะเป็นไปได้ว่าแขนจะโอบรอบเข่ามากกว่า ไม่ได้ลอดเข้าไปด้านในเข่า เพราะดูจะเป็นไปได้ยากถ้าผู้นั้นไม่ได้ฝึกโยคะมา พร้อมทั้งยกข้อความนี้เป็นหลักฐาน

“จากนั้นเจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลา ถวายเครื่องทรงอย่างบรมขัตติยาธิราช ครั้งนี้ใช้ภูษาสองผืน ผืนแรกใช้อย่างปกติ อีกผืนใช้อย่างหลังเป็นหน้า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นผ้าไหม ชั้นนอกเป็นฉลองพระองค์ยาว ปักดิ้นทองคลุมทับ ทรงสร้อยสังวาลประดับเพชรคาดระหว่างพระอุระ (หน้าอก) พระเพลา (ขา) อยู่ในท่าประทับนั่ง พระอูรุ (ต้นขา) แนบอยู่กับพระนาภี (ท้อง) พระชานุ (หัวเข่า) เกยอยู่ที่พระหนุ (คาง) พระบาท (เท้า) พันธนาการไว้กับเสาไม้ พระกร (มือ) โอบรอบพระเพลา (ขา) ผูกไว้กับพระภูษาลินินและเส้นด้ายพิเศษ ทรงฉลองพระหัตถ์และพระบาทโยลีตาดสีทอง ทรงสวมพระมาลาไหม พระธำมรงค์ทองคำวางไว้ในพระโอษฐ์ ทรงฉลองพระพักตร์ทองคำ และสิ่งสุดท้ายคือพระชฎาทองคำบนพระเศียร ซึ่งภายหลังก่อนปิดฝาพระโกศจะถอดออกแล้วไปหลอมเป็นพระพุทธรูป แล้วก็สู่ขั้นตอนอัญเชิญไว้ในพระลองเงิน และพระบรมโกศทองใหญ่ตามลำดับ”


ข้อความข้างต้นมาจากหนังสือ “หมอฝรั่งในวังสยาม” ที่หมอมัลคอล์ม สมิธ เป็นผู้บันทึก คุณพิมาน แจ่มจรัส เป็นผู้แปล

เดิมทีผมเข้าใจว่า ข้อความข้างต้นกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ ๖ ซึ่งพระบรมศพของพระองค์ได้รับการผ่าถวายชันสูตรโดยคณะแพทย์ฝรั่ง ก่อนที่จะประกาศว่าพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบจนแตก ทำให้พระโลหิตเป็นพิษอย่างรวดเร็วจนสิ้นพระชนม์ จึงพอที่จะอนุมานได้ว่า เมื่อหมอเอาอวัยวะในพระนาภีออกมาแล้ว ก็ไม่น่าจะนำกลับเข้าไปในพระวรกายอีก ทำให้พระอูรุแนบอยู่กับพระนาภี และพระกรโอบรอบพระเพลาได้ไม่ยาก

แต่ข้อความของหมอสมิธหมายถึงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น ข้อความเพียงว่า “...พระเพลาอยู่ในท่าประทับนั่ง พระอูรุแนบอยู่กับพระนาภี พระชานุเกยอยู่ที่พระหนุ...” ก็ยังทำให้ไม่สิ้นความสงสัยอยู่ดี ผมจึงได้นำจดหมายเหตุการพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ มาแสดงบ้าง

“....เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการสรงพระบรมศพแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายฉลองพระองค์ไหมไทยยกดอกลายไทยสีทองพื้นขาวตามพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชินี จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงหวีพระเกศาขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงครั้งหนึ่ง แล้วหวีกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่งพระพระสาง (หวี) วงเดือนทำด้วยไม้จันทน์ แล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ เสร็จแล้วเสด็จไปประทับยังพระราชอาสน์ที่เดิม จากนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเครื่องพระสุกำพระบรมศพ ให้ทรงอยู่ในลักษณะประทับนั่งคุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์ ระหว่างพระหัตถ์ถวายซองพระศรีทองคำลงยาบรรจุดอกบัวตูม ๑ ธูปไม้ระกำ ๑ เทียนเล็ก ๑ เป็นเครื่องสักการะพระจุฬามณี แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาถวายแผ่นทองคำจำหลักลายดุน มีพระกรรณปิดที่พระพักตร์พระบรมศพ

จากนั้นเจ้าพนักงานภูษาปูผ้าขาว ๓ ผืน ปูซ้อนเป็นรูปหกแฉก เชิญพระบรมศพประทับบนผ้าขาว แล้วรวบชายประชุมไว้เหนือพระเศียร ถวายสุกำด้วยด้ายดิบ ปล่อยชายไว้สำหรับสอดออกไปต่อกับพระภูษาโยง เจ้าพนักงานอัญเชิญพระบรมศพลงสู่พระโกศลองในโลหะเหล็กหล่อปิดทอง วางพระเขนยจีบหนุนรอบพระองค์กันเอียง จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงถวายพระชฎาสวมที่พระเศียรพระบรมศพ แล้วเสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม สำหรับพระชฎานี้ ก่อนปิดฝาพระโกศพระบรมศพ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะเชิญพระชฎาออกห่อผ้าขาวเก็บไว้ เจ้าพนักงานปิดฝาพระโกศลองในแล้วถวายคลุมตาดทอง พร้อมที่จะเชิญไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท...”


ข้อความที่ว่า “...คุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแบเสมอพระองค์...” ซึ่งนานหนักหนามาแล้วผมไม่เข้าใจว่าคืออย่างไร ขอเชิญท่านผู้รู้มาให้ความกระจ่างเท่าไรก็ไม่มีใครมาสักที จนแล้วจนรอด กระทู้เดินต่อไม่ได้ไปหลายวัน

คืนหนึ่ง ขณะเอนตัวลงจะนอนก็เกิด “ปิ๊ง” ขึ้นมาสนั่นลั่นสมองคิดขึ้นมาได้ สงสัยต้นฉบับจะพิมพ์ผิดกระมัง ตะกายขึ้นมาเปิดคอมพ์ใหม่ ใช่แล้ว มันต้องตกตัว “น” แน่ๆ ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้  “...เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเครื่องสุกำพระบรมศพ ให้ทรงอยู่ในลักษณะประทับนั่งคุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแนบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์...” อพิโธ่เอ๋ยอัตโน โง่เสียนาน เลยยังไม่นอน เกิดฉันทะที่จะลุกขึ้นมานั่งพิมพ์กระทู้ต่อ

อย่างนี้คงไม่ได้สอดพระกร ลอดใต้พระชานุแน่แล้ว และศพสามัญชนที่เข้าโกศ ก็คงไม่ต้องนั่งท่าโยคะด้วยการคุกเข่า แล้วสอดแขนลงใต้เข่าเอามือขึ้นพนมระหว่างอก แบบยากๆ อย่างนั้นด้วย

คุณวศินสุข ท่านผู้รู้อีกคนหนึ่งของพันทิปได้เข้ามายืนยันความถูกต้องทุกประการว่า ครับ “แนบ” จริงๆ ครับ  คุณวศินสุขที่นับถือไปติดธุระอยู่ที่ไหนไม่ทราบ กว่าจะเข้ามาบอกผมได้ก็เล่นเอากว่าที่ผมจะหลับ ต้องนอนยกเข่ามาแบๆ หุบๆ อยู่หลายคืน

หมดพื้นที่สัมปทานพอดี ต้องอ่านต่อฉบับหน้าแล้วละครับ


ข้อมูลและภาพ : คอลัมน์ "ประวัติศาสตร์มีชีวิต" ศพในโกศ : เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้  โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน์  ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย น.๔๘-๕๐ ฉบับที่ ๓๑๔๕ ประจำวันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2559 20:27:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 21 เมษายน 2558 14:23:36 »

.

ศพในโกศ
เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ (๓)

การถวายพระสุกำในยุคปัจจุบัน
คุณวศินสุขยังได้คัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ บันทึกถึงการถวายพระสุกำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาลงไว้ในกระทู้เป็นความรู้ด้วยดังนี้

“ครั้นทรงเครื่องพระมหาสุกำเสร็จแล้ว หลวงพิพิธภูษาถวายบังคมแล้วเชิญพระปทุมปัตนิการ (ไม้กาจับหลัก) ทำด้วยเงินกาไหล่ทองวางลงเป็นพื้นรองพระบาทยุคล มีก้านพระปทุมปัตนิการขึ้นมารองรับพระหนุ (เพื่อให้พระเศียรอยู่ในท่าที่เหมาะสม อาจเพื่อไม่ให้ก้มต่ำลงหรือขยับเขยื้อน) แล้วถวายพันธินาการด้วยพระกัปปาสิกะสูตร (ด้ายสายสิญจน์) เป็นบ่วงขันธ์ห้า (มัดตราสัง ๕ เปลาะ) แต่พระบาทเป็นปฐมขึ้นไปตามลำดับ แล้วถวายซองพระศรีทองคำถมยาราชาวดีใส่เครื่องสักการะพระจุฬามณี

แล้วเชิญพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ (ผ้าฝ้ายสีขาว) ยาวหกศอกปูซ้อนเป็นหกแฉก แล้วเชิญพระศพเสด็จทรงนั่งเหนือพระพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์หกชายหุ้มเป็นปริมณฑล รวบชายประชุมเป็นหนึ่งเหนือพระอุตมางคลักขณา (รวบชายไว้เหนือพระเศียร) แล้วพันธินาการด้วยพระกัปปาสิกะเศวตสูตรเป็นขันธบาศ แต่อโธภาคลำดับมั่นทุกชั้น ตลอดถึงที่ประชุมชายพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ แล้วเหลือเศษพระกัปปาสิกะเศวตสูตรไว้พอผูกผ้าโยงสดับปกรณ์

แล้วเชิญพระเศวตกัปปาสิกะพัสตร์พับขนบกว้างคืนหนึ่งโดยยาวตลอดตราเป็นมหาพันธิกา แต่พระบาทตลาเหลื่อมกลีบมั่นขึ้นไปทุกชั้นถึงที่พระกัณฐา เหน็บตราไว้เป็นมหันตพันธนาวสาน (พันด้วยผ้าขาวกว้างหนึ่งคืบ ทับปลายซ้อนกันตั้งแต่พระบาทขึ้นไปจนถึงคอแล้วเหน็บไว้)

เสร็จราชการพาหิรโกศแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ชาวมาลาคณการพร้อมกันกราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเชิญเสด็จเข้าประดิษฐานในลองพระสุพรรณโกศ หนุนพระปฤษฎางค์ข้างซ้ายขวาหน้าพระบรมศพด้วยพระเขนยนวมกันเอียง (เชิญพระบรมศพลงพระโกศลองในหนุนด้วยหมอนโดยรอบเพื่อกันเอียง) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้า ทรงถวายพระมหากฐินเป็นพระอาภรณ์พิไสยราชปฏิการ ตามบุราณราชประเพณี พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ก่อนสืบมา”

ในงานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีการปรับเปลี่ยนขนบธรรมเนียมในส่วนของการถวายพระสุกำพระบรมศพเสียใหม่จากโบราชราชประเพณีข้างต้น ปรากฏใน “จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของกรมศิลปากร ๒๕๔๑ ดังนี้
“...จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์ พยาบาล เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระบรมศพลงบรรทมในหีบที่จัดสร้างขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทอดพระเนตรพร้อมด้วยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และมีนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ควบคุมการปฏิบัติงาน เรียบร้อยแล้ว นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ไปเฝ้าฯกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปถวายของพระศรีทองคำลงยาบรรจุดอกบัวตูม ๑ ธูปไม้ระกำ ๑ เทียนเล็ก ๑ เป็นเครื่องสักการะพระจุฬามณี โดยทรงวางที่ข้างพระกรพระบรมศพ แล้วทรงแผ่นทองจำหลักลายดุนมีพระกรรณ ทรงถวายปิดที่พระพักตร์ แล้วทรงรับพระชฎาทองคำจากเจ้าพนักงานถวายวางข้างพระเศียรพระบรมศพ ทรงคม เสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังคลุมผ้าถวายก่อนที่เจ้าพนักงานปิดฝาหีบพระบรมศพและไขตะปูควงที่มุมด้านข้างของหีบพระบรมศพทั้ง ๔ ด้าน แล้วถวายคลุมหีบด้วยผ้าตาดทอง พร้อมที่จะเชิญไปยังที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”

ทั้งนี้ งานพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิบัติถวายเช่นเดียวกับงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยว่าทั้งสองพระองค์ทรงพระราชปรารภสั่งเสียไว้เช่นนั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มิได้มีรับสั่งในเรื่องนี้แต่อย่างใด จึงต้องมีการถวายพระสุกำพระศพ นำลงพระโกศตามโบราณราชประเพณี



ถวายพระเพลิงพระบุพโพ

พบท่านผู้รู้ตัวจริงเสียงจริง
เพื่อจะจบเรื่องให้ได้ตามชื่ออย่างสิ้นสงสัย สุดท้ายผมก็ได้ท่านผู้ใหญ่ช่วยจัดการให้ได้ไปพบกับอดีตเจ้าพนักงานภูษามาลาอาวุโส ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นั่งประคองพระโกศพระศพเจ้านายบนพระมหาพิชัยราชรถเพื่อออกพระเมรุมาแล้ว อดีตข้าราชสำนักเกษียณท่านนี้อายุน่าจะถึงเลขเจ็ดหลายปีแล้ว แต่ยังคงนั่งทำงานในฐานะที่ปรึกษาอยู่ ณ โต๊ะใหญ่ที่สุดในห้องตัวเดิม ผมไปขอความรู้จากท่านมาเพื่อจะสรุปให้หายข้องใจ เรียนท่านว่าต้องการจะบันทึกไว้ในสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่ออนุชนรุ่นหลังที่เข้ามาเปิดอ่านจะได้เข้าใจวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ซึ่งท่านก็ยินดีจะเล่าและตอบคำถามทุกประการที่ผมอยากทราบ เพียงขอมิให้เปิดเผยชื่อ ท่านบอกว่าท่านเป็นเพียงผู้น้อย แต่ผมคิดว่าท่านถ่อมตัวมาก

เรื่องที่คุยกันนั้น เน้นที่พิธีกรรมในการเข้าโกศของสามัญชนโดยเฉพาะ
ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนนี้จะเป็นเจ้าพนักงานภาษามาลา คราวที่แล้วผมเรียกปนๆ กันไปว่าพนักงานสนมพลเรือน เพราะคิดว่าภูษามาลาคือผู้ที่ถวายการปฏิบัติเฉพาะพระศพเจ้านายเท่านั้น ท่านแก้ว่าไม่ใช่ สนมพลเรือนคือพนักงานที่ทำงานประเภทยกแยกแบกหามทั่วไป ส่วนการสุกำศพจะต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานภูษามาลาเท่านั้น ปัจจุบันสำนักพระราชวังยังมีเจ้าพนักงานภูษามาลารับการราชการอยู่ร่วม ๓๐ คน ศพของท่านผู้มีเกียรตินั้น หลังจากกระทำพิธีรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว ก็มาถึงการนำศพเข้าโกศ ศพที่นอนอยู่บนเตียงจะถูกยกเข่าขึ้นมาแนบกับท้อง จัดเหมือนท่านั่งชันเข่า แล้วรวบแขนเอามืออ้อมขามาไว้ข้างหน้า

ถึงตอนนี้ ผมลงนั่งยองๆ ทำท่าเอาแขนอ้อมเข่าไปพนมมือให้ท่านดู ซึ่งทำได้ยากยิ่งแต่ก็ทำได้ ท่านหัวเราะบอกว่าอย่างคุณนี่สบายมาก โดนกัปปาสิกะขันชะเนาะทีเดียวก็เข้าที่ ผมไม่รู้จักกัปปาสิกะ นึกว่าเป็นเครื่องกลสำหรับขันชะเนาะคล้ายๆ กับที่จารีตนครบาลใช้บีบจำเลยให้สารภาพ ท่านจึงเรียกพนักงานมาสั่งให้ไปหยิบกัปปาสิกะมาให้ผมดู พุทโธ่ มันคือเชือกนิ่มๆ ขนาดเท่าๆ กับนิ้วก้อย ฟั่นด้วยด้ายดิบสีขาวนั่นเอง

ผมสงสัยต่อว่าร่างกายขนาดผมนี่เข้าโกศจะต้องมีคนขย่มบ่าด้วยหรือเปล่า ท่านทำสีหน้างงว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น ก็ใช้โกศใหญ่หน่อยซีเอ้อ นี่ก็ความรู้ใหม่นะครับ โกศมิได้มีขนาดเดียว นอกจากขนาดมาตรฐานแล้วยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าขึ้นมาอีก จึงสามารถรองรับได้ทั้งศพผู้หญิง ผู้ชาย อ้วนหรือผอม ในอดีตยังมีโกศขนาด XXL ที่สร้างขึ้นสำหรับเจ้าพระยาบดินทรเดชาโดยเฉพาะด้วย

“ส่วนใหญ่ศพที่เข้าโกศมักจะเจ็บป่วยก่อนตาย ร่างกายจะผ่ายผอมเหลือนิดเดียวใช่ไหมล่ะ ที่ประสบอุบัติเหตุตายมีน้อยมาก แต่ประเภทนั้นก็ยิ่งไม่มีปัญหา” ท่านเล่า โกศที่เรากำลังพูดถึงนี้คือโกศลองใน ส่วนโกศลองนอกไม่ต้องเป็นห่วง เพราะมีขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว เมื่อมัดตราสังให้มั่นคงในท่าที่ว่าแล้ว ก็นำกาจับหลักซึ่งเป็นเสาตั้งตรงยึดบนแป้นไม้ ตรงปลายเป็นก้านโลหะทำเป็นง่ามรูปตัวยู สอดตราสังเข้าไปเชยคางของศพไว้ เพื่อประคองมิให้ทรุดพับลงมาเมื่อสังขารสลาย เท้าศพที่อยู่บนแป้นก็ง่ายที่จะมัดขาเข้ากับไม้ และขยับกาจับหลักให้เข้าที่เข้าทาง

เสร็จแล้วยกศพลงนั่งบนพื้นที่ปูด้วยผ้าขาววางซ้อนสลับแนวกันสองผืน แล้วรวบปลายขึ้นขมวดเป็นจุกเหนือศีรษะ ก่อนจะอุ้มทั้งหมดลงโกศ

นี่เองที่ผมไม่กล้าสรุปตั้งแต่ในกระทู้ที่แล้ว รอผู้รู้จริงมาตัดเติมเสริมแต่ง ซึ่งก็หามีเข้ามาในกระทู้ไม่ แต่แรกนั้นผมนึกไม่ออกว่า ถ้าอุ้มศพลงไปก่อนแล้วจะเอากาจับหลักลงไปติดตั้งได้อย่างไร มันจะเหลือที่ที่ไหนให้คนเอื้อมมือลงไปมัดมันไว้กับขาศพด้วย

เมื่อวางศพให้อยู่ภายในโกศแล้ว ก็จะใช้หมอนเล็กๆ หนุนให้ร่างกายและศีรษะตั้งตรง จะรวบปลายผ้าสุกำศพซึ่งขมวดเป็นปมคล้ายจุกเหนือศีรษะของศพ แล้วผูกเข้ากับด้ายสายสิญจน์ต่อไปกับภูษาโยงที่ใช้ทอดหน้าอาสน์สงฆ์ เวลาบังสุกุลศพต่อไป ภูษาโยงนี้ห้ามคนข้ามกรายเป็นอันขาด เพราะถือเสมือนกับข้ามศีรษะศพ หลังขั้นตอนนี้แล้ว จะปิดฝาลองในแล้วยาด้วยขี้ผึ้ง เชิญโกศขึ้นตรงบนเบญจา แล้วประกอบโกศลองนอกหุ้ม เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญฯกุศลศพต่อไป

เมื่อศพถึงกำหนดออกเมรุ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะต้องมากระทำการเปลื้องเครื่องสุกำศพ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ้าห่อศพใหม่ โกศลองนอกที่ประกอบไว้จะถูกถอดออก โกศลองในจะถูกยกลงมา เพื่อนำศพออกมาทั้งห่อแล้วจะเปลื้องผ้าขาวและหมอนออกไปแยกเผาต่างหาก แก้วแหวนเงินทองที่ใส่ประดับให้ศพก็ถูกนำออก ศพในขณะนี้จะเหลือซากนิดเดียว ท่านยืนยันว่าไม่มีการรูดแล้ว เรื่องต้มยิ่งไม่มีใหญ่ ในห้าสิบปีที่ผ่านมาของท่าน นับร้อยๆ ศพท่านไม่เคยเห็นทั้งรูดทั้งต้ม

หลังจากนั้น ศพจะถูกห่อใหม่ตามแบบเดิม ซึ่งตอนนี้จะเหลือห่อขนาดเล็กลงมาก ยกบรรจุลงไปในกล่องไม้ขนาดย่อมสีขาว แล้วจึงใส่กลับลงไปในโกศลองในใหม่ พร้อมที่จะเคลื่อนไปสู่เมรุเพื่อพระราชทานเพลิงศพต่อไป บุพโพหรือน้ำเหลืองที่ไหลจากก้นโกศมาเก็บอยู่ในถ้ำ จะถูกนำไปเผาพร้อมๆ กับเครื่องสุกำศพ

นึกว่าจะจบเรื่องเสียทีแต่แล้วก็ไม่จบครับ หลายท่านที่ติดตามกระทู้มาตั้งแต่ต้นยังไม่ยอมหมดความสงสัยง่ายๆ โดยเฉพาะคุณเป็นกลาง ซึ่งผมสงสัยว่าจะเป็นหมอ เพราะจะเข้ามาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องกายวิภาคโดยตลอด คราวนี้อ้างจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ว่าฐานของแป้นกาจับหลักนั้นรองอยู่ที่พระบาท รูปที่ผมเขียน ฐานของแป้นกาจับหลักก็จะรองได้อยู่ใต้ก้นแทนที่จะเป็นเท้าไม่สอดคล้องเรื่องกาจับหลักนี้ คุณทับศานต์ใจเข้ามาแสดงความเห็นว่าไม่น่าจะใช่แป้นสี่เหลี่ยมดังที่ผมเขียนควรจะเป็นแป้นกลมตามพื้นที่ก้นโกศมากกว่า ซึ่งฟังแล้วก็มีเหตุผลมาก ส่วนคุณ Kimpu เจ้าเก่า ถามว่า ตกลงแล้วไม้กาจับหลักอยู่ข้างนอกหรือข้างในผ้า

ถึงตรงนี้ ผมก็ใบรับประทานน่ะซีครับ บังเอิญว่าประเด็นหลักขณะที่คุณกับท่านภูษามาลา ก็เน้นไปในเรื่องก้านกับแป้นแยกกันหรือติดกันอย่างไร ขณะที่ท่านพยายามอธิบายลักษณะของมัน ผมก็วาดเส้นอย่างเร็วๆ ให้ท่านดูว่า อย่างนี้ใช่ไหมครับ ท่านอาจจะลืมสนใจรูปเหลี่ยมรูปกลมก็ได้เมื่อตอบว่า ครับๆ อย่างนี้แหละ เลยยึดติดรูปแบบแป้นสี่เหลี่ยมที่วาดครั้งนั้นมา

ตกลงผมเลยแก้รูปใหม่ ใส่ผ้าห่อศพไปด้วยเลยให้เห็นกันครบๆ เริ่มต้นตามที่ท่านว่า คือกระทำการมัดศพด้วยด้ายดิบขาว ๕ เปลาะ ขณะศพอยู่บนเตียง เมื่อจัดท่าศพแล้ว จึงต้องมัดให้แน่นตามนี้ ก่อนจะยกลงไปวางบนแป้นกาจับหลักในท่านั่ง ฉะนั้นเสากาจับหลักจึงต้องอยู่นอกแนวด้ายตราสังที่ขันชะเนาะไว้ตึงเป๊ะ แต่ยังสามารถพันธนาการข้อเท้า และมือเข้ากับหลักได้ ส่วนแกนเหล็กปลายกระจับนั้น คงต้องยาวหน่อย และคงต้องไม่แข็งจนเกินไป เพราะท่านใช้คำว่าดัดให้พอดีลงไปสอดรับคาง

ท่านั่งเมื่อประกอบกับกาจับหลักแล้ว ในสมัยหลังๆ คงมิได้พันผ้า เพื่อใช้ซับน้ำเหลืองอีกแล้ว เพราะศพได้ถูกฉีดยากันเน่า คงจะอยู่ในชุดสวยที่ลูกหลานสวมให้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็ห่อผ้าขาวเพื่อความสะดวกเมื่อต้องนำออกมาเปลื้องเครื่องเอากาจับหลัก ฯลฯ ออกก่อนพิธีพระราชทานเพลิง

ยังครับยัง ยังไม่จบอีก คุณ panard1 เข้ามาบอกให้ผมช่วยอธิบายที เพราะยังงงๆ ว่า ในเมื่อมีแป้นไม้รองศพแล้วบุพโพจะไหลผ่านลงไปที่แผ่นดีบุกใบบัวรองก้นพระโกศอย่างไร ทำไมจะลงสู่ท่อระบายไปยังถ้ำบุพโพด้านล่างของแท่นเบญจาได้





สมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า ของเสียต่างๆในร่างกาย น้ำเหลือง น้ำหนอง
อุจจาระ ของเสียเหล่านี้รวมเรียกว่า "พระบุพโพ" จะค่อยๆไหลจากพระบรมศพ
มากองอยู่ที่ฐาน จะมีท่อระบายบุพโพจากโกศลงไปเก็บในโอ่งเซรามิก
ที่เรียกว่า "ถ้ำพระบุพโพ" ในโกศจึงต้องมี รูให้ของเสียนั้นออกไป


คุณเด็กวังหลัง และท่านอื่นๆ ที่รำคาญเต็มที จึงแสดงความเห็นคล้ายๆ กันว่า น่าจะมีรูปถ่ายอธิบายไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจะได้หมดปัญหา เรื่องนี้ผมได้ยินจากปากท่านภูษามาลงเอง เป็นกฎทีเดียวนะครับที่ห้ามถ่ายรูปการเข้าโกศ เจ้าหน้าที่จะต้องให้เกียรติแก่ศพเป็นอย่างสูง และจะไม่เปิดให้มีโอกาสที่ใครจะไปทำอะไร แล้วหลุดออกกลายเป็นการประจานศพได้ การบันทึกภาพใดๆ แม้จะไปใช้เป็นตำราก็ต้องห้ามทั้งสิ้น ภูษามาลาทุกท่านจะต้องเรียนเองรูเองจากการลงมือกระทำในภาคปฏิบัติล้วนๆ

คุณหมอเป็นกลางก็ยังติดใจเรื่องปลายเท้าของศพอยู่ อันที่จริงท่านผู้อาวุโสท่านใช้คำว่าท่านั่งยองๆ เหมือนนั่งส้วม แต่ผมมาวิเคราะห์ดู คนนอนตายก็เหมือนคนเป็น คุณลองสังเกตปลายเท้าของคุณดูนะครับ ว่าจะสบายอยู่ในท่าไหน การเกร็งให้เท้าตั้งฉากกับหน้าแข้งในลักษณะของการนั่งยองๆ จะฝืนธรรมชาติ

คุณหมอเป็นกลางบอกว่าจากประสบการณ์ที่เห็นศพมาแล้วก็หลายศพ จริงๆ แล้วปลายเท้าก็ไม่ได้เหยียดเหมือนในภาพที่ผมเขียน แต่ตั้งมากตั้งน้อยตามปกติเหมือนคนนอนหลับเช่นกัน ส่วนเท้าทั้งสองจะแบะออกทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตามแรงดึงดูดของโลก พอยกหน้าขาขึ้นมาแนบอกประกอบกันจัดหน้าแข้งให้ตรง เท้าก็จะเข้ามาชิดกันเองแบบนั่งยองๆ พอดี แต่ถ้าจะให้ปลายเท้าเหยียดตรงจริงๆ ก็ต้องดัดหักลงมา

ตอนคุยกับท่านภูษามาลาผมก็ไหลลื่นไปเรื่อยๆ ไม่มีสะดุด และผมเข้าใจว่าท่านหมายถึงลักษณะท่านั่ง ไม่ได้เน้นเรื่องปลายเท้า ผมเองก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องเท้าเหยียดเท้าแบะ จนลงมือเขียนภาพมาถึงตรงส่วนเท้านั่นแหละ จึงนึกได้ว่า เอ๋...เท้าควรจะอยู่ในลักษณะใดหว่า และแล้วก็เขียนไปตามมโนภาพแบบเบลอๆ

ก็เลยไม่จบด้วยประการฉะนี้แหละครับ ท่านต้องติดตามตอนต่อไปแล้วละครับว่าจะจบหรือไม่จบ


ข้อมูลและภาพ : คอลัมน์ "ประวัติศาสตร์มีชีวิต" ศพในโกศ : เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้  โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน์  ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๑๔๖ ประจำวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 21 เมษายน 2558 14:23:59 »

.

ศพในโกศ
เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ (จบ)

และนี่คือบทสรุป
สุดท้าย ผมก็ต้องกลับไปเรียนถามท่านภูษามาลาอาวุโสที่สำนักพระราชวังอีกครั้ง คราวนี้ทำการบ้านไปดีกว่าคราวที่แล้วมาก ความจริงมีผู้เข้ามาแสดงทั้งข้อมูลและภาพประกอบในกระทู้อีกเยอะแยะ แต่ผมไม่สมควรจะเอามาเล่าต่อแล้ว เพราะรังแต่จะทำให้ท่านเวียนหัวเพิ่มขึ้นเปล่าๆ  อย่างไรเสียก็ต้องย้อนกลับไปให้ท่านผู้รู้ตัวจริงฟันธงอยู่ดี แต่กว่าจะได้พบตัวท่านครั้งหลังนี้ ผมก็ต้องไปถึง ๒ หน คลาดกันไปหนหนึ่งแบบฉิวเฉียด หนที่สองจึงได้พบตัว

ภูษามาลาท่านนี้เคยกระทำหน้าที่ถวายสุกำ ทำสุกำ เปลื้องเครื่องสุกำพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกำศพที่ได้รับพระราชทานโกศ มายาวนานกว่า ๓๐ ปี ผมเตรียมพิมพ์รูปจากกระทู้ ที่พวกเราพยายามค้นคว้าหากันมา  นำไปให้ท่านชี้ขาด และยังมีเตรียมคำถามที่ค้างคาใจไปด้วยอีกหลายคำถาม

เริ่มต้นพอเห็นภาพที่ผมเขียนขึ้น ท่านก็ร้องเสียงดัง  “คุณไปเอามาจากไหน ทำไมต้องมัดแขนมัดขา นี่มันมัดนักโทษแล้ว ไม่ใช่สุกำศพ คุณต้องเข้าใจนะ สุกำก็คือการมัดตราสังศพ เหมือนศพที่ใส่โลงทั่วๆ ไปนั่นแหละ เมื่อก่อนที่ยังไม่มีการฉีดยา ศพจะขึ้นอืด บางทีก็ดันจนโลงแตก จึงต้องเอากัปปาสิกะมารัดไว้ไม่ให้ศพอืดพองจนเกินไป”

กัปปาสิกะเป็นด้ายดิบ ทำจากฝ้ายแท้ๆ ขนาดใหญ่ประมาณนิ้วก้อย ด้าย ๑ เข็ด มี ๕ ไจ   ๑ ไจ ประมาณ ๑ ศอก (๕๐ ซม.) ศพหนึ่งๆ ใช้ทั้งหมด ๓ เข็ด

“การทำสุกำ คือการมัดศพให้อยู่ในลักษณะท่านั่งที่จะนำลงโกศได้ ก็เพียงแต่จับให้ศพนั่ง ขาพับงอขึ้นมา แล้วเริ่มมัดตั้งแต่แนวสะโพกกับข้อเท้า พันรอบตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงคอ ไม่ได้ทำแบบเป็นปล้องๆ นะ  ระหว่างนั้นก็สอดไม้กาจับหลักเข้าไประหว่างขา ขึ้นไปรับคาง จับแขนและมืออ้อมขึ้นมาพนม มัดกุกำตามขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อถึงปมที่ต่อด้ายแต่ละไจไว้ ก็ทำเป็นเงื่อน แบบหูแจว (ลักษณะเป็นห่วง) ดึงชะเนาะให้ขันแน่นเข้าที่ ด้ายสุกำนี้ต่อๆ กันยาวเป็นเส้นเดียวกัน แล้วมัดเวียนขึ้นไปเลย เมื่อเข้าที่แล้วจึงอุ้มไปนั่งบนผ้าขาวเพื่อจะห่อก่อนเอาลงโกศ

ไหนนะ เจาะรูที่ผ้าห่อศพเพื่อเอากาจับหลักเสียบหรือ เอาอีกแล้วพูดกันไปเหมือนเอาเหล็กแทงทวารอีกแล้ว ไม่มี ไม่ได้ทำอย่างงั้น”

“กาจับหลัก ทำด้วยไม้ ข้างล่างเป็นแป้น ไม่กลม เป็นสี่เหลี่ยมนะ ไม่ใช่ๆ ไม่ใหญ่ขนาดรองนั่งได้หรอก นั่น ขนาดเล็กกว่านี้หน่อย” ท่านชี้ไปที่กระดาษขนาด A๔

“ตรงขึ้นไปรับที่คาง ไม่ใช่ๆ ไม่ได้มีก้านยื่นออกมาอย่างนี้ นี่ก็ไม่ใช่ เป็นโค้งๆ พอดีกับรูปคางอยู่ตรงปลายไม้ กาจับหลักจะประคองไม่ให้คอศพในสมัยก่อนพับลงมา สมัยที่มีการฉีดฟอร์มาลินแล้วเขาก็ไม่ใช้ไม้กาจับหลักเลย ไม่จำเป็น กาจับหลักที่เก็บไว้แล้วเขาก็ทิ้งให้ผุพังไปหมด ทุกวันนี้จะหาให้ดูอีกก็ไม่ได้”

เป็นความรู้ใหม่ว่าไม้กาจับหลักสูญพันธุ์ไปเสียแล้ว ก็ดีไปอย่าง คนสมัยนี้หลงไปเห็นเข้าจะได้ไม่เข้าใจอะไรผิดๆ

ศพถ้าไม่ฉีดยา พอสักร้อยวันก็จะยุบลงกองกับพื้นตะแกรงโกศ มีผู้บรรยายว่าเหมือนมะขามเปียก ถ้าเกินร้อยวันไปแล้วศพจะเริ่มแห้ง ศพสมัยก่อนนิยมเก็บไว้นานๆ ข้ามเดือนข้ามปี ส่วนใหญ่เนื้อหนังมังสาจะแห้งกรังติดผ้าสุกำ แต่ส่วนศีรษะที่ถูกไม้กาจับหลักค้ำคางไว้ จะยังชูอยู่กับกระดูกสันหลัง

หลายท่านคงเคยอ่านหนังสือของ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ เขียนไว้คราวฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เล่าถึงงานพระบรมศพสมเด็จปู่ของท่าน ตั้งอยู่ที่วังท่าพระหลายปีกว่าจะได้รับพระราชทานเพลิง คืนก่อนวันออกเมรุก็มีการถวายรูดพระศพ ผู้ใหญ่ได้ห้ามคุณชายจักรรถว่า คืนนี้ไม่ให้ไปยุ่งที่ท้องพระโรงนะ แต่คุณชายไม่เชื่อ เลยไปแอบดูว่าเจ้าพนักงานเขาทำอะไรกัน พอปีนขึ้นไปถึงหน้าต่างก็เห็นเจ้าพนักงานภูษามาลากำลังเอามือล้วงเข้าไปในพระโกศแล้วหยิบพระเศียรออกมา เท่านั้นแหละครับ คุณชายท่านวิ่งแจ้นกลับไปคลุมโปงบนที่นอนเลย

มีผู้กล่าวว่าที่หม่อมราชวงศ์จักรรถเล่า เป็นงานเดียวกันที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เห็น และนำมาถ่ายทอดไว้ในนวนิยายคลาสสิคของท่าน เรื่อง หลายชีวิต ตอน ท่านชายเล็ก พรรณนาเหตุการณ์คืนก่อนที่เขาจะนำพระศพเสด็จพ่อของท่านชายไปออกพระเมรุว่า ...เจ้าพนักงานเอาผ้าขาวปูเข้ากลางห้อง แล้วขึ้นไปแกะโกศชั้นนอกออก...ในนั้นมีลองในสีทองคร่ำๆ อยู่อีกชั้นหนึ่ง  เขาเชิญลองในนั้นลงมาข้างล่าง และเมื่อเปิดลองในขึ้น คนหนึ่งในหมู่พนักงานก็ยกมือขึ้นถวายบังคม แล้วเอื้อมมือไปหยิบเอาสิ่งหนึ่งมีสัณฐานและสีเหมือนมะพร้าวแห้งผุๆ มาวางไว้กลางผ้าขาว ท่านชายเล็กมาทรงทราบทีหลังว่าสิ่งนั้นคือพระเศียรของเสด็จพ่อ จากนั้นส่วนอื่นๆ ที่แห้งกรังก็ตามออกมา เจ้าพนักงานเปลื้องเครื่องสุกรรมแล้ว ก็เอาผ้าขาวคลุมพระศพไว้ท่อนหนึ่ง เจ้าพี่ต่างองค์คลานไปเอาน้ำอบพรมลงบนสิ่งที่วางอยู่บนผ้าขาว...

ครับ นี่เห็นจะเป็นประโยชน์ใหญ่ของไม้กาจับหลัก ที่บอกว่าเอาไว้ค้ำศีรษะศพให้อยู่กับที่ จะได้ไม่ลงไปกองรวมกับอวัยวะเบื้องล่างที่คนไทยถือ เราก็ไปนึกว่า ก็เห็นมีหมอนอัดกันไว้ทุกด้านให้ศพนั่งอยู่ในลักษณะตรงถึงศีรษะอยู่แล้ว กาจับหลักมันจะมีความจำเป็นอย่างไร ก็อ๋อ จำเป็นตอนที่ศพเน่าสลายทรุดตัวลงไปกองกับพื้นโกศนี่เอง ถ้าศพฉีดยาไว้และไม่เน่า กาจับหลักก็หมดความจำเป็นไปเลย

กลับมาฟังท่านภูษามาลาท่านเล่าต่อ  
“คนสมัยก่อน เขาก็ไม่ได้ฉีดหยูกฉีดยาอะไรนะ ไม่นานก็เน่าเปื่อยหมด ถึงจะรูดก็รูดง่าย แต่ไม่ได้มาต้มมาเคี่ยวกันเหมือนเป็ดเหมือนไก่นะ ไม่รู้ยังไง ถึงเอาไปพูดกันเรื่อยเปื่อย”

“เรื่องยกศพลงโกศ ถึงศพคนร่างใหญ่ก็ไม่เป็นปัญหา ใช่...อาจจะต้องดัดแข้งดัดขาบ้าง ไหนนะ เครื่องมือหรือ ไม่มีนี่ ไม่ต้องใช้หรอก ออกแรงดัดธรรมดาๆ นี่แหละ ดัดได้ อะไรนะ ตัดเอ็นน่ะหรือ เราพยายามให้ความเคารพต่อผู้ตายเป็นอย่างสูงนะ จะไม่ยอมทำอะไรที่ไม่ดีไม่งามต่อศพของท่านเลย หากจำเป็นจริงๆ ก็อาจจะต้องกรีดที่ข้อพับบ้างเล็กน้อย แต่ก็น้อยรายเหลือเกิน (โปรดสังเกต ท่านใช้คำว่ากรีด) ปลายเท้าของศพก็ปล่อยสบายๆ ไม่ต้องดัดอะไร ธรรมดาๆ นั่นแหละ”



ภาพการสุกำ (๑) และการห่อศพด้วยผ้าขาวก่อนอุ้มลงโกศ (๒)


ภาพที่ ๔ ท่านั่งของศพในโกศ

สรุป หลังจากที่ประมวลข้อมูลทั้งหมดจากท่านภูษามาลาอาวุโสแล้ว
๑. หลังพิธีกรรมในการรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาเข้าจัดศพที่อยู่บนตั่งให้อยู่ในท่านั่งชันเข่าโอบแขนมาพนมมือ จัดไม้กาจับหลักให้เข้าไปช้อนคาง พร้อมทั้งมัดตรึงให้คงรูปด้วยด้ายสุกำ
๒. ยกศพลงจากตั่งมาวางตั้งบนผ้าขาวที่ปูรองเป็นแนวกากบาทไว้แล้ว
๓. แล้วรวบชายผ้าขาวขึ้นมัดขมวดปมไว้เหนือศีรษะของศพ แล้วมัดสายสิญจน์เป็น ๕ บ่วงขันธ์ตามคติ
ถ. ยกศพที่อยู่ในห่อผ้าขาวเรียบร้อยแล้วลงโกศ
และนี่ คือลักษณะท่าทางของศพในโกศ (ไม่แสดงผ้าสุกำ) (๓) ที่เป็นคำตอบสุดท้าย




ภาพที่ ๔ รูปตัดผ่านลองนอกและลองใน

“ก้นโกศจะวางอยู่กับฐานโกศ แผ่นสี่เหลี่ยมในรูปนี้นี่คืออะไรน่ะหรือ คุณไปเอามาจากไหนล่ะ ในอินเทอร์เน็ตหรือ ไม่ทราบสิ ผมไม่เคยเห็น แล้วมันจะรองรับบุพโพได้ยังไง” ท่านทำหน้างง “เขาจะใช้เป็นเหมือนถาดกลมมีขอบยกขึ้นมานะ ทำจากดีบุก รองรับบุพโพให้ไหลไปสู่รูตรงกลาง ใต้รูมีกรวยรอบรับให้บุพโพไหลลงตามท่อไปเก็บไว้ในถ้ำ ถ้ำก็คือโถนั่นแหละ”

“ตะแกรงในโกศ คุณเคยเห็นตะแกรงที่เขาปิดรูระบายน้ำใช่ไหมล่ะ ตะแกรงในโกศก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ แต่เป็นเหล็กเชื่อมเป็นซี่ๆ ขนาดวงกลมพอดี พอวางลงไปในโกศแล้วจะล็อกนิ่งอยู่กับก้นโกศ และรองรับน้ำหนักได้ ตอนเปลื้องเครื่องสุกำก็ถอดออกมาล้าง แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ได้” (ภาพที่ ๔)

มีคำถามที่คุณ V-Mee ฝากมาถาม  “ธรรมเนียมโบราณเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระลองในที่เป็นเงินให้เป็นบำเหน็จแก่ภูษามาลาที่จัดการถวายพระเพลิง ให้นำพระลองนั้นไปหลอมเป็นเงินแล้วแบ่งกัน แต่เมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ภูษามาลาที่ได้รับพระราชทานพระลองในนั้น ได้นำพระลองนั้นไปหลอมแล้วหล่อเป็นพระคันธารราษฎร์ ทูลเกล้าฯ ถวายล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วังพญาไท  ปัจจุบันเข้าใจว่าเชิญกลับไปไว้ในพระบรมมหาราชวัง จึงอยากจะฝากช่วยถามให้ด้วยว่า ธรรมเนียมการพระราชทานพระลองในเป็นบำเหน็จแก่ภูษามาลานี้ยังคงมีอยู่หรือไม่”

ท่านว่าท่านเกิดไม่ทันครั้งนั้น ท่านไม่เคยทราบ แต่สมัยที่ท่านมาทำงานแล้ว ไม่มี “...เอ ลองในทำด้วยเงินแต่ครั้งโบราณยังเก็บไว้ มีอยู่แค่ ๒ ใบ ถ้าพระราชทานให้ไปแล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ล่ะ” ท่านว่าอย่างนี้  “โบราณท่านสร้างอะไรสักสิ่งหนึ่ง ท่านจะทำเป็นคู่ ใช้จริง ๑ สำรองเอาไว้เผื่อชำรุด ขาดเหลืออีก ๑ เสมอ”

ผมไม่ได้มีเวลาอยู่กับท่านนาน เพราะท่านมีกิจธุระที่จะต้องกระทำในเช้าวันนั้น แต่ทุกประเด็นที่สงสัยก็ได้รับการไขข้อข้องใจจนหมดสิ้นแล้ว จึงขอบพระคุณท่านและกราบลา

ก่อนจะจบ
ผมขอโอกาสที่จะกล่าวถึงคุณครูท่านหนึ่ง ซึ่งยินดีที่จะเป็นครู แม้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ผมไม่ได้เป็นศิษย์ลงทะเบียนของ ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ  อดีตคณะบดีคณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่การได้รู้จักและร่วมทำงานกับท่านในบางโอกาส ก็เหมือนได้รับการสอนจากท่านเช่นกัน ท่านผู้หญิงเคยเป็นคุณข้าหลวงใหญ่ และพระอาจารย์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ผมได้ทราบมาว่า ขณะเมื่อท่านใกล้วาระสุดท้ายของคนอายุ ๙๔ ปี แต่ยังดำรงสติดีอยู่ ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ซึ่งประชวรด้วยพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการก็ยังทรุดลงตามลำดับ มีท่านผู้ใหญ่คนสำคัญท่านหนึ่งได้ไปเยี่ยมแล้วเล่าว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ไม่มีรับสั่งอะไรแล้ว หากสิ้นพระชนม์ พระศพคงจะต้องลงโกศตามพระราชประเพณี แต่ปัญหาคือเจ้าพนักงานภูษามาลาได้ว่างเว้นจากการถวายงานดังกล่าวมานมนานหนักหนา เกรงว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็อาจจะมีอะไรขลุกขลักได้

ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องการติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านได้สั่งบุตรว่าท่านปรารถนาจะเข้าโกศ เพื่อให้เจ้าพนักงานภูษามาลาได้ซักซ้อมกับร่างของท่าน ก่อนจะมีงานสำคัญที่รออยู่ไม่นานข้างหน้า

เข้าใจว่า ท่านผู้หญิงศรีนารถ สุริยะ จะเป็นสามัญชนคนสุดท้ายที่เข้าโกศ จากนั้นยังไม่มีใครยินดีจะเข้าโกศอีก นอกจากจะเพียงวางไว้ประดับเกียรติ   อีก ๕ เดือนต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ก็สิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ถือได้ว่า ท่านผู้หญิงศรีนารถ สุริยะ ได้ถวายความกตัญญูสนองพระกรุณาต่อสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นจนเลยวาระสุดท้ายของท่าน

ศพของท่านได้รับเกียรติสูงสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิง ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ผมหวังว่า ความเป็นครูของท่านในครั้งนี้คงจะเป็นบทเรียนให้คนหลายคนเลิกกลัวการเข้าโกศในยามที่ถึงกาลกิริยา

ศพในโกศ : เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ คงจะจบลงได้ที่บทนี้ ความบันดาลใจที่ทำให้ผมต้องค้นคว้าและนำเรื่องนี้มาเขียน เป็นผลเนื่องมาจากธรรมสังเวชที่มีต่อบรรดาผู้วายชนม์ซึ่งได้กระทำความดีไว้ในขณะมีชีวิต จนได้รับพระราชทานเกียรติให้ “เข้าโกศ” แต่บรรพบุรุษไทยเหล่านั้นกลับถูกนินทา แบบ “เขาเล่าว่า” ที่ฟังเป็นอัปมงคลเสียจนคนอื่นกลัวการเข้าโกศไปเลย ผมจึงตั้งใจจะทำความจริงในเรื่องนี้ให้ปรากฏ ขณะที่ยังมีผู้รู้จริงสามารถถ่ายทอดได้ก่อนวัฒนธรรมประเพณีไทยแท้เก่าแก่นี้จะเลือนรางลงและสูญสิ้น เหลือแต่เป็นการที่จะต้องเดาเอา ซึ่งเรียกให้เป็นวิชาการว่า “สันนิษฐาน” ของคนในชั้นหลัง

เมื่อแรกเขียนเรื่องนี้ ผมเองก็ต้องถือว่าเป็นขาจรในเว็บพันทิป ถนัดเข้าไปอ่านมากกว่าจะเข้าไปแสดงความเห็น เพราะผมพิมพ์ดีดไม่คล่อง ใช้นิ้วชี้จิ้มได้ทีละนิ้ว รวมถึงภารกิจในหน้าที่ปกติแล้ว จะมาเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างนี้ก็ยาก บังเอิญเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจของผมใกล้อัมพาต ผมจึงเกิดมีเวลาว่างขึ้นมาเยอะแยะ ก็ดีไปอย่างที่เป็นโอกาสให้ผมสามารถทำหลายสิ่งที่เคยได้แค่อยาก รวมถึงการที่มีเวลาจิ้มดีดภาษาไทยส่งเรื่องไปลงเป็นกระทู้

ดังนั้น ผลการศึกษาที่ได้มาจนถึงบทนี้ ผมถือว่าเป็นผลงานวิจัยร่วมกัน ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็นต่างๆ ในกระทู้ของผมตั้งแต่ครั้งกระโน้น ขออภัยที่มิได้เอ่ยถึงเป็นส่วนใหญ่ เพราะความจำเป็นที่ต้องตัดตอนมาลงให้กระชับ

หวังว่าสารคดีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และจะยังประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไปหากท่านจะช่วยกรุณาเผยแพร่ในหมู่อนุชน ให้ลูกหลานไทยเหล่านั้นได้รู้จริงในสิ่งที่ควรรู้ ไม่ใช่ปักใจเชื่อเรื่องเหลวไหลที่เล่าสืบกันมาช้านานแบบปากต่อปาก

สำหรับผม หากจะมีกุศลใดๆ เกิดขึ้นจากการกระทำนี้ ดังที่บางท่านได้กล่าวไว้ในกระทู้ ผมขออุทิศแด่ท่านผู้วายชนม์ทั้งหลายที่เป็นเจ้าของ “ศพในโกศ” ทุกท่านในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศไทย ท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีในอดีต มีส่วนได้สืบชาติสืบแผ่นดิน จนเป็นปึกแผ่นให้พวกเราอยู่มาจนถึงทุกวันนี้


ด้วยความคารวะอย่างสูง

ข้อมูลและภาพ : คอลัมน์ "ประวัติศาสตร์มีชีวิต" ศพในโกศ : เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้  โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน์  ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๑๔๗ ประจำวันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 กุมภาพันธ์ 2560 18:36:14 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 16 ธันวาคม 2558 16:31:22 »

.


หม้อไหใส่กระดูกอายุ ๒.๕๐๐ ปีมาแล้ว พบที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด
ต้นแบบโกศบรรจุศพในยุคหลัง

โกศใส่ศพและเมรุเผาศพ

โกศใส่ศพและเมรุเผาศพ

โกศในไทยไม่มาจากอินเดีย และไม่เคยพบหลักฐานว่ามีในยุคสุโขทัย แต่โกศมีพัฒนาการจากภาชนะใส่ศพ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว นับเป็นลักษณะเฉพาะที่พบทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์

ในไทยพบมากสุดที่อีสาน โดยเฉพาะบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ มีภาชนะดินเผารูปร่างคล้ายหม้อน้ำเต้าและแค็ปซูลใส่ศพเด็กและผู้ใหญ่ฝังดินในลาวมีภาชนะทำจากแท่งหิน ตรงกลางกะเทาะเป็นหลุมลึกกว้างใช้ใส่ศพ เรียกไหหิน พบมากที่ทุ่งไหหิน เมืองโพนสวรรค์ แขวงเชียงขวางในเวียดนามมีภาชนะใส่ศพทำจากโลหะสำริด  หลังจากนั้นอีกนาน ไทยรับอารยธรรมอินเดียมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบ แล้วขอยืมคำเรียกว่า โกศ แต่ในอินเดียไม่มีประเพณีเก็บศพใส่โกศเหมือนอุษาคเนย์ เพราะคติความเชื่อต่างกันเกี่ยวกับความตาย

โกศ เป็นภาษาสันสกฤต สะกดต่างกัน มีความหมายต่างๆ ดังนี้ โกษ, โกศ แปลว่า ฝัก, เปลือก, หนัง, หรือสิ่งที่ห่อหุ้มทั่วไป ฯลฯ โกษฐ แปลว่า ห้อง, คลังเงิน, ฉางข้าว ฯลฯ

ยุคสุโขทัยไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับโกศ ส่วนที่อ้างว่ามีในหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็เชื่อไม่ได้เพราะเป็นสำนวนแต่งใหม่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมรุเผาศพ (คำว่าเมรุ อ่านว่า เมน) มีต้นแบบจากเขาพระสุเมรุ (สุเมรุ อ่านว่า สุ-เมน) เชื่อว่าเหนือจอมเขาขึ้นไป เป็นปราสาทที่ประทับมหาเทพในศาสนาพราหมณ์

ในไทยมีเมรุเผาศพครั้งแรก(ทำด้วยไม้) สมัยพระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ.๒๑๘๑ โดยจำลองปราสาทนครวัด (ทำด้วยหิน) ในกัมพูชา ส่วนกรุงสุโขทัยไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับเมรุเผาศพ


ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนออนไลน์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 ธันวาคม 2558 16:35:11 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 14 ตุลาคม 2559 20:22:40 »




(บน) ภาชนะดินเผาบรรจุศพแบบ "แค็ปซูล" เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน
นับเป็นต้นเค้าโกศ และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้อ หรือสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ
ขุดพบบริเวณขอบทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
(ล่าง) ไหหิน ใส่กระดูกศพ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว


พิธีศพยุคดึกดำบรรพ์

พิธีศพก็คือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย (ที่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์เข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) เป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างน้อยตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สืบถึงปัจจุบัน

คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไปคนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต มีเครื่องมือเครื่องใช้ฝังไปกับศพ เช่น โลหะต่างๆ ฯลฯ เหลือไว้ให้ขุดพบในยุคปัจจุบัน เช่น บ้านเชียง (อุดรธานี) แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากินจนไม่เหลือซาก

ฝังศพ
พิธีศพไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืนเพื่อรอขวัญกลับสู่ร่างเดิม โดยกินเลี้ยงกินเหล้าแล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์ (เป็นต้นแบบมหรสพงานศพทุกวันนี้) เมื่อเอาศพไปฝังลงหลุมต้องเอาเครื่องมือเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้เมื่อขวัญคืนร่าง ฉะนั้นในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ

โกศใส่ศพนั่ง
คนบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไปฝัง ฯลฯ อย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง (แบบที่เรียกนั่งยองๆ หรือนั่งชันเข่า) สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ [คำว่า โกศ ยืมจากภาษาบาลี-สันสกฤต แต่ประเพณีศพนั่งในโกศ ไม่พบหลักฐานว่าเคยมีในอินเดีย]

แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ พิธีศพครั้งที่ ๒ เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำศพอีกครั้ง ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินในลาว, หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไป แต่ที่มีขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้ แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัด ก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์ อย่างนี้เอง

สร้างเจดีย์คร่อมที่ฝังศพ
แหล่งฝังศพยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจสะพรึงกลัวอย่างทุกวันนี้เรียก ป่าช้า (หมายถึงเลวทรามต่ำช้า) ป่าเลว (เห้ว, เปลว) ฯลฯ แต่คนเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยกย่องพื้นที่ฝังศพเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพชน เมื่อรับพุทธศาสนาในภายหลังจึงยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานคร่อมทับที่ฝังศพก็มี เช่น ปราสาทพิมาย (อ.พิมาย จ.นครราชสีมา) และวัดชมชื่น ที่เมืองเชลียง (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ฯลฯ


ขอบคุณภาพและบทความจาก คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
หนังสือพิมพ์มติชน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2559 16:30:51 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 15 ตุลาคม 2559 16:36:21 »



(ซ้าย) โกศ (ลองใน) (ขวา) พระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ
(ภาพจากหนังสือสารานุกรมไทย เล่ม ๒ ของ อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๖ หน้า ๒๙๑)

ในพระบรมโกศ
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์

ในพระโกศ” หรือ “ในพระบรมโกศ” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่เพิ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ มีบอกในคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๗) จะคัดมาโดยเฉพาะ ดังนี้

“พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง” (อธิบายเรื่องในรัชกาลต่างๆ ท้ายเล่มพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา)

โกศ (อ่านว่า โกด) แปลว่าที่ใส่ศพแบบนั่ง เป็นทรงกระบอกผายออกด้านบน ฝาครอบมียอด, ภาชนะใส่กระดูกคนตายขนาดเล็ก (พจนานุกรม ฉบับมติชน หน้า ๑๐๙)

มีความเป็นมาหลายพันปีมาแล้วอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมาก ไม่มาจากอินเดียหรือจีน

โกศ มี ๒ ชั้น ชั้นในเรียก โกศ  ชั้นนอกเรียก ลอง หมายถึง ส่วนประกอบนอกตัวโกศ หรือที่หุ้มโกศไว้ข้างใน สร้างเพิ่มสมัยหลังๆ มีระดับชั้นยศหลายระดับ

คำอธิบายของสมเด็จฯ เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมโกศ มีฉบับเต็ม ดังนี้

พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัดและพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน

ดังเช่น เรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินนั้นร้ายกาจ เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา

พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิตเมื่อเสวยราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่าขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น

ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่าขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่าพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี


โปรดติดตาม
เนื่องในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
อันเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา


จาก จดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก
จัดพิมพ์โดยรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ได้ที่ "สุขใจห้องสมุด" เว็บไซต์ "สุขใจ ดอทคอม" ในเร็วๆ นี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2559 16:38:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 17 กุมภาพันธ์ 2560 18:41:08 »


ภาพการสุกำ (๑) และการห่อศพด้วยผ้าขาวก่อนอุ้มลงโกศ (๒)


ท่านั่งของศพในโกศ

การพระบรมศพในสมัยกรุงศรีอยุธยา

จากคติความเชื่อที่ว่า ชีวิตของคนที่เกิดมามีช่วงเวลาที่สำคัญในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จะมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นระยะๆ และในอารยประเทศจะต้องประกอบพิธีสำหรับชีวิต เช่น พิธีสมโภชเดือน พิธีโกนจุก พิธีบวช พิธีแต่งงาน และในที่สุดคือ พิธีศพ ซึ่งจะมีการประกอบพิธีตามฐานะของแต่ละบุคคล สำหรับในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีศพอย่างใหญ่โต เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของผู้ล่วงลับไปให้เป็นที่ปรากฏ กับทั้งเป็นการให้บุตรธิดาได้แสดงความกตัญญูสนองคุณบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้าย และเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย ได้อานิสงส์ไปจุติในสรวงสวรรค์ ดังนั้นการประกอบพิธีศพจึงมีความสำคัญมากพิธีหนึ่ง ดังนั้นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์จึงมีความยิ่งใหญ่เช่นกัน

การพระบรมศพที่เป็นหลักฐานหรือเป็นแบบฉบับต่อการจัดการพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ การพระบรมศพในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศได้แต่งการพระบรมศพ โดยทรงมีพระบรมราชโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปยังประเทศราชทั้งปวงให้มาร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ ขั้นตอนการพระราชพิธีสามารถสรุปได้ดังนี้

เริ่มด้วยการเอาน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบ น้ำหอมต่างๆ สรงพระบรมศพ และทรงสุคนธรสและกระแจะ จากนั้นก็แต่งพระบรมศพ ทรงสนับเพลงเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก ทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง ทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่ กรอบทองสังเวียนหยัก ชายไหวชายแครง ตาบทิศ ตาบหน้า และสังวาลประดับเพชร ทรงทองต้นพระกร และปลายพระกรประดับเพชร ทรงพระมหาชฎาเดินหนห้ายอด จากนั้นประดับเพชร ทรงทองต้นพระกร และปลายพระกรประดับเพชร ทรงพระมหาชฎาเดินหนห้ายอด จากนั้นประดับเพชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ และสิบนิ้วพระบาท แล้วใช้ไม้กาจับหลักซึ่งเป็นไม้ง่ามหุ้มทองค้ำพระหนุ แล้วประนมพระหัตถ์พระบรมศพ นำซองหมากทองคำที่ปากเป็นกระจับใส่ในพระหัตถ์ จากนั้นเอาพระภูษาเนื้ออ่อนพันพระบรมศพเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ที่แล้ว นำผ้าขาวเนื้อดีรูปสี่เหลี่ยมห่ออีกครั้งหนึ่ง ผ้านี้เรียกว่าผ้าห่มเบี่ยง เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมศพเข้าพระโกศลองในทองหนักสิบสองชั่ง แล้วใส่พระลองในเข้าในพระโกศทองใหญ่ทรงเฟืองกลีบจงกล ประดับพลอยยอดเก้ายอด เชิงพระโกศตกแต่งด้วยรูปครุฑและสิงห์หน้าอัดทอง หนักยี่สิบห้าชั่ง แล้วเชิญพระโกศขึ้นบนเตียงหุ้มทอง จากนั้นเอาเตียงที่รองพระโกศขึ้นบนพระแท่นแว่นฟ้า แล้วกั้นบริเวณด้วยราชวัติตาข่ายปะวะหล่ำแก้วสีแดง ประดับเครื่องสูงต่างๆ

อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกเป็นประธาน แล้วจัดตั้งเครื่องราชูปโภค ตั้งพานพระสุพรรณบัฏถมซ้อนบนพานทองสองชั้น ด้านข้างตั้งพานพระสำอาง พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช พระเต้า ครอบทอง พระคนทีทอง และพานทองประดับ และเครื่องอุปโภคบริโภค โดยตั้งตามชั้นลดหลั่นลงมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา

จากนั้นเจ้าหน้าที่จัดตั้งมยุรฉัตรมียอดหุ้มทอง ระบายทอง และคันหุ้มทองโดยตั้งประดับรวม ๘ ทิศ ทิศตะคัน และจัดตั้งบังพระสูริย์ อภิรุม บังแทรก จามร ทานตะวัน และพัดโบก ปูลาดพระสุจหนี่ยี่ภู่ แล้วตั้งพระแท่นแว่นฟ้าในพระยี่ภู่ จากนั้นปูลาดที่บรรทม ตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทอง และตั้งพระแท่นประดับสองพระองค์ ล้อมรอบด้วยพระสนม นางกำนัล ห้อมล้อมพระศพ และการขับรำเกณฑ์ทำมโหรี ประโคมฆ้อง กลอง แตร สังข์ มโหรี พิณพาทย์

จัดที่อาสนสงฆ์ ให้ธรรมโฆสิตพนักงานสังฆการี นิมนต์พระสังฆราชเป็นประธาน และพระสงฆ์ทั้งในเมืองและนอกเมือง และจากหัวเมืองต่างๆ ให้เข้ามาสดับปกรณ์ สวดพระอภิธรรมในเวลาค่ำและเวลาเช้า ถวายพรพระแล้วฉันภัตตาหารเพล มีเทศน์แล้วถวายเครื่องไทยทาน ไตรจีวร เครื่องเตียบและเครื่องสังเค็ด ในแต่ละวันนิมนต์พระ ๑๐๐ รูปมางานพระบรมศพทุกวันมิได้ขาด มีการตั้งต้นกัลปพฤกษ์ ตั้งโรงมหรสพต่างๆ อาทิ โขน หนัง ละคร หุ่น มอญรำ ระบำเทพทอง โมงครุ่ม กุลาตีไม้

พระเจ้าอุทุมพร และเจ้าฟ้าเอกทัศทรงแจกทานเสื้อผ้า เงินทอง สิ่งของต่างๆ แก่ราษฎรทั้งปวงเป็นอันมาก ต่อมาทรงมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง แล้วตั้งพระเมรุใหญ่ปิดทองประดับกระจกยกลายต่างๆ ดาดเพดานสามชั้น พระเมรุใหญ่มีขนาดสูงถึงยอดพระเมรุ ๔๕ วา หรือ ๙๐ เมตร ฝาเป็นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษ พื้นแดง เขียนรูปเทวดาตามชั้นต่างๆ ดุจเขาพระสุเมรุ อาทิ ชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร ชั้นเทวา ชั้นอินทร์ และชั้นพรหม ฝาด้านในเขียนเป็นลายดอกสุมณฑาทอง และมณฑาเงินแกมกัน เครื่องพระเมรุ มีบันแถลงและมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก โดยมีขุนสุเมรุทิพราช เป็นนายช่างอำนวยการสร้าง

สำหรับพระเมรุใหญ่ มีส่วนประกอบคือ มีประตูทั้ง ๔ ทิศ แต่ละประตูตั้งรูปกินนรและอสูร ทั้ง ๔ ทิศ ประตูพระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา กลางพระเมรุเป็นแท่นรับเชิงตะกอนที่ตั้งพระบรมโกศ เสาเชิงตะกอนปิดทองประดับกระจก รอบๆ มีเมรุทิศ ๔ เมรุ และเมรุแทรก ๔ เมรุ รวมเป็น ๘ ทิศ ล้วนปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่างๆ รอบๆ เมรุตั้งรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ อาทิ รูปเทวดา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหมหงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกะทอ ช้าง ม้า และเลียงผา แล้วกั้นราชวัติ ๓ ชั้น ซึ่งปิดทอง นาก และเงิน รวมทั้งตีเรือกเป็นทางเดินสำหรับเชิญพระบรมศพ ตามริมทางตั้งต้นไม้กระถางที่มีดอกต่างๆ รวมทั้งประดับประดาฉัตรและธง

ริ้วกระบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวัสสา เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๑ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นั้น ปรากฏรายละเอียดดังนี้

ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวัสสานั้น พระญาติ พระสนม นางกำนัล พระยาประเทศราช ราชนิกูล เสนาบดีทั้งปวง เศรษฐีคหบดี แต่งกายด้วยเครื่องขาวทุกสิ่ง

คนเกณฑ์แห่ แต่งเครื่องขาว ใส่ลอมพอก ถือพัด ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
เครื่องไทยทาน มีคนแห่ไปหน้าเครื่องดนตรี หรือพวกพิณพาทย์
ดนตรี ดนตรีในกระบวน มี ฆ้อง กลอง แตร สังข์ แตรงอน และพิณพาทย์

ถึงกระบวน พระมหาพิชัยราชรถ ๒ องค์ เทียมด้วยม้า ๔ คู่ ม้าผูกประกอบรูปราชสีห์ มีนายสารถีขับรถ แต่งตัวอย่างเทวดาข้างละ ๔ คน
ราชรถที่เข้าร่วมกระบวนมีตามลำดับจากหน้าไปหลัง มี รถสมเด็จพระสังฆราชอ่านพระอภิธรรม ตามด้วยรถเหล่าพระญาติวงศ์ ถือจงกล ปรายข้าวตอกดอกไม้ ด้วยรถพระญาติถือผ้ากาสา มีปลอกทองประดับเป็นเปราะๆ ห่างกันประมาณ ๓ วา แล้วถือซองหมากทองโยงไปด้านหน้าถึงรถพระบรมศพ และตามด้วยรถใส่ท่อนจันทน์และกฤษณากระลำพักปิดทอง มีรูปเทวดาถือกฤษณากระลำพัก ท่อนจันทน์ถือชูไปบนรถ

ริ้วกระบวนรูปสัตว์ ๑๐ คู่ ได้แก่ ช้าง ม้า คชสีห์ ราชสีห์ สิงโต มังกร ทักกะทอ นรสิงห์ เหม หงส์ ซึ่งรูปสัตว์เหล่านี้มีขนาดสูง ๔ ศอก ซึ่งมีมณฑปตั้งบนหลัง สำหรับใส่ธูป น้ำมัน พิมเสน และเครื่องหอม
ริ้วกระบวนเครื่องสูง เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ ซึ่งมีผู้เชิญเครื่องราชูปโภคครบ
กระบวนแห่เสด็จ มีกระบวนเสนาบดีน้อยใหญ่ จากนั้นเป็นกระบวนปุโรหิตราชครู กระบวนราชนิกูล
เครื่องประโคม เป็นกระบวนคนตีกลองชนะ กลองโยน แตร สังข์ และแตรงอนเข้ากระบวนซ้ายขวา
กระบวนมหาดเล็ก ถือดาบทอง แห่ซ้ายขวา
กระบวนตำรวจในและตำรวจนอก เดินพนมมือ แห่ไปทั้งซ้ายขวา
กระบวนหัวหมื่นมหาดเล็ก เดินพนมมือแห่ไปทั้งซ้ายขวา
กระบวนมหาดเล็กเกณฑ์ ถือ พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช พระเต้าครอบทอง พานทอง เครื่องทอง
กระบวนเกณฑ์มหาดเล็ก ถือ พระแสงปืน พระแสงหอก พระแสงดาบฝักทอง และพระแสงต่างๆ
กระบวนมหาดเล็กและมหาดไทย ถือ กระสุนดิน แห่ไปซ้ายขวาเพื่อดูสูงต่ำไปตามทางเสด็จ ระหว่างเสด็จ
สองข้างทาง ประดับด้วยราชวัติและฉัตร ธงเบญจรงค์ ทอง นาก เงิน
พระมหาพิชัยราชรถและราชรถน้อย รวมทั้งรถรูปสัตว์ ชักด้วยเชือกหุ้มสักหลาดสีแดง ๔ แถว รถชักไปบนเรือก
สำหรับกระบวนเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวประทับบนพระเสลี่ยงทองประดับกระจก มีพระกลดขาวยอดทอง ระบายทอง คันหุ้มทองประดับ มีมหาดเล็กสี่คนเดินกั้นไปทั้งซ้ายและขวา

พระบุตรี ประทับบนพระเสลี่ยงสองหลังๆ ละ ๒ องค์ แห่แหนตามกระบวนพยุหยาตรา ไปตามหลังกระบวนพระบรมศพ รวมทั้งพระญาติวงศ์ พระสนม กำนัล มหาดเล็ก มหาเศรษฐี คหบดี และอำมาตย์ โดยออกทางประตูมงคลสุนทร แต่กระบวนใหญ่ จึงต้องทำลายกำแพงวัง ระหว่างประตูมงคลสุนทร และประตูพรหมสุคตทำเป็นทางออก

เมื่อกระบวนพยุหยาตราพระบรมศพถึงพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวง พระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้าไปในเมรุทิศเมรุแทรกทั้ง ๘ ทิศ แล้วทักษิณเวียนพระเมรุใหญ่ ๓ รอบ แล้วอัญเชิญพระโกศ เข้าตั้งในพระเมรุใหญ่ ๗ ราตรี มีพระสงฆ์มาสดับปกรณ์และถวายไตรจีวรและเครื่องไทยทาน เครื่องสังเค็ต เตียบ และต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งแขวนเงินใส่ในลูกมะนาวต้นหนึ่งใส่เงิน ๓ ชั่ง ตั้งที่พระเมรุทั้ง ๘ ทิศ โดยทิ้งทานวันละ ๘ ต้น ทั้ง ๗ วัน

นอกจากนี้มีระทา ดอกไม้เพลิง และดอกไม้ต่างๆ ตั้งรายรอบพระเมรุเป็นอันมาก

การถวายพระเพลิงนั้น เมื่อสวดครบ ๗ ราตรีแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า (แสงพระอาทิตย์โดยใช้แว่นแก้ว) แล้วเอาท่อนกฤษณากระลำพัก และท่อนจันทน์ที่ปิดทองและเครื่องหอมใส่ใต้พระโกศ แล้วจุดเพลิงไฟฟ้า และสาดด้วยน้ำหอม น้ำดอกไม้เทศ น้ำกุหลาบ และน้ำหอมทั้งหลายที่มีกลิ่นหอมตลบไปทั้งพระเมรุ บรรดาเจ้าประเทศราชห้อมล้อมโดยรอบก็ปรายข้าวตอกดอกไม้บูชาถวายบังคม เมื่อเพลิงมอด ก็ดับด้วยน้ำหอมและน้ำกุหลาบ

จากนั้นจึงแจงพระรูป พระสงฆ์ที่เข้ามาสดับปกรณ์ก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเมื่อแจงพระรูปมีพระสังฆราช พระพิมลธรรม พระเทพมุนี พระพรหมมุนี พระเทพเมาลี พระธรรมอุดม พระอุบาลี พระพุทธโฆษา พระมงคลเทพมุนี พระธรรมกถึก พระวินัยธร พระวินัยธรรม พระนาค พระสังฆราชหัวเมือง เป็นต้น

พระรูปที่แจงนั้นนำเข้าในผอบทอง แล้วอัญเชิญขึ้นสู่พระเสลี่ยงทองแห่ออกไปทางประตูมโนภิรมย์ โดยมีกระบวนประโคม ฆ้อง กลอง แตรลำโพง แตรงอน กลองโยน กลองชนะ และพิณพาทย์ เป็นกระบวนพยุหยาตราไปตามทางที่กั้นราชวัติฉัตรธง มีประชาชนโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ แล้วแห่แหนไปลงเรือพระที่นั่งกิ่งแก้วจักรรัตน์สองลำๆ ละผอบ บนเรือประดับด้วยเครื่องสูงต่างๆ พระเจ้าเอกทัศทรงเรือพระที่นั่งเอกชัย มีมหาดเล็กกั้นพระกลดขาวข้างพระองค์ ซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน ส่วนพระเจ้าอุทุมพรทรงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้า ตามด้วยเรือพระที่นั่งครุฑด้านซ้าย และเรือพระที่นั่งหงส์ด้านขวา ตามด้วยเรือนาคเหรา เรือนาควาสุกรี เรือมังกรมหรรณพ เรือมังกรจบสายสินธุ์ เรือเหินหาว เรือหลาวทอง เรือสิงหรัตนาสน์ เรือสิงหาสน์นาวา เรือนรสิงห์วิสุทธิ์สายสินธุ์ เรือนรสิงห์ถวิลอากาศ เรือไกรสรมุขมณฑป เรือไกรสรมุขนาวา เรืออังมสระพิมาน เรือนพเศกฬ่อหา ตามด้วยเรือดั้งซ้ายขวา เป็นเรือนำและเรือรอง จากนั้นเป็นเรือคชสีห์ เรือม้า เรือเลียงผา เรือเสือ และเรือเกณฑ์รูปสัตว์ต่างๆ สิ้นสุดด้วยเรือดั้งเรือกันของเจ้าพระยา และอำมาตย์ตลอดจนมหาดเล็กขอเฝ้า

สำหรับพระราชบุตร พระราชธิดา ลงเรือศรีสักหลาดตามหลังเรือพระที่นั่ง พระสนม กำนัล นั่งเรือศรีผ้าแดง



ตั้งขาทรายสำหรับยกเสาองค์พระเมรุมาศ


โครงถักไม้ไผ่ผูกอย่างแน่นหนาตามรูปทรงขนาดภายในองค์พระเมรุมาศ
เพื่อใช้ผูกรอกชักเชือกยกซุงพระเมรุขึ้นทาบตามทรงมุมละ ๓ ต้น เพื่อทำ
เสาย่อไม้่สิบสองของเสาพระเมรุทรงบุษบก


การยกซุงเสาพระเมรุมาศขึ้นประกอบทุกมุมๆ ละ ๓ ต้น


พระเมรุมาศสมโภชพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สร้างบนเขาพระสุเมรุ รูปแบบปราสาท
เครื่องยอดบุษบกปลียอดปรางค์


(บน) การประกอบยอดพระเมรุมาศและพื้นฐาน
ล่าง การตกแต่งพระเมรุมาศตามแบบที่กำหนด


ข้อมูลจาก หอสมุดแห่งชาติ. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน และพระเมรุมาศ พุทธศักราช ๒๕๓๙  (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,๒๕๓๙) หน้า ๑๔๖-๑๕๐, ๒๒๖- ๒๒๘ และ ๒๓๓-๒๓๔  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2560 17:47:56 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
palawast
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 3


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 31 มกราคม 2566 14:49:29 »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ ขออนุญาตเอาไปแชร์ใน FB นะครับ



===================================================
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กุมภาพันธ์ 2566 21:45:02 โดย หมีงงในพงหญ้า » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.56 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 15:15:48