[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 05:27:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (อ่าน 10521 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 มิถุนายน 2557 14:57:34 »

.



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กับการเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕


โดย ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์  
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕  ถือเป็นการปฏิรูปทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พระมหากษัตริย์ทรงยอมรับการดำรงฐานะภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในบ้านเมืองขณะนั้นต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ต่างประเทศเนื่องจากทรงไม่มั่นพระทัยในความปลอดภัย และพระบรมวงศานุวงศ์หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีและนายกราชบัณฑิตยสภาได้เสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่เสด็จลี้ภัยไปในคราวเดียวกันได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชายา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย พระเชษฐภคินี รวมถึงข้าราชการชั้นสูงที่รับราชการอยู่ในขณะนั้นได้แก่ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล อดีตข้าราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศในขณะนั้นทั้งสิ้น

สาเหตุที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการส่วนใหญ่เสด็จลี้ภัยไปประทับและพำนัก ณ ปีนัง ก็เนื่องมาจากปีนังมีทำเลที่ตั้งไม่ไกลจากภาคใต้ของไทย สามารถเดินทางไปมาได้โดยสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ โดยในส่วนของทางรถไฟนั้น มีขบวนรถไฟสายใต้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของประเทศมาเลเซียตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๐ แล้ว




สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ (ซ้าย) และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (กลาง)
ในงานพระราชพิธี ช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

๙ ปีในปีนัง : ความหลังครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปประทับ
การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ นับเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากตลอดระยะเวลา ๙ ปีของการเสด็จลี้ภัยไปในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อกับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญๆ หลายท่าน อันเป็นที่มาของงานพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่า อาทิ “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงมีโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อันนับเป็นพระนิพนธ์ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะ และอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ ก็ยังมี “จดหมายถึงหญิงใหญ่” ลายพระหัตถ์ที่ทรงติดต่อกับหม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่หม่อมนวม โรจนดิศ และหนังสือชุดบันทึกความรู้ชื่อว่า “ให้พระยาอนุมาน” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงติดต่อกับพระยาอนุมานราชธน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกจากประเทศไทยไปประทับ ณ ปีนังในราวปลายเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ โดยก่อนหน้านั้นพระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อยู่ก่อน แต่เนื่องจากในเวลานั้นสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน มีข่าวลือตลอดจนเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้น จนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงไม่มั่นพระทัยในความปลอดภัย จึงได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง โดยการเสด็จออกจากประเทศไทยไปในครั้งนั้นเป็นการเสด็จไปอย่างเงียบๆ จนแม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งประทับอยู่ด้วยกันที่หาดใหญ่ก็ยังไม่ทรงทราบ โดยแต่แรกนั้น ทรงตั้งพระทัยว่าจะประทับอยู่ที่ปีนังเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วก็จะเสด็จกลับ ดังที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลไปยังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ภายหลังจากที่เสด็จมาถึงปีนังได้เพียงไม่กี่วันว่า “หมายจะพักอยู่ที่เกาะหมาก สัก ๒-๓ เดือน ด้วยเป็นที่สงัด อากาศสบายดี”




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระธิดา ๓ พระองค์ที่เสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง
ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล
ภาพจากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนังในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จโดยทางรถยนต์เนื่องจากสะดวกและเป็นการส่วนพระองค์กว่า โดยมีพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย (หญิงพูน) หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา (หญิงพิไลย) และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุคุณวรรณ หรือหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ (หญิงเหลือ) ตามเสด็จด้วย

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงบรรยายถึงความรู้สึกคับแค้นพระทัยที่ต้องทรงอพยพลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในครั้งนั้นไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ว่า “...พอพ้นด่านสะเดาแล้วข้าพเจ้าจึงได้พูดออก หญิงเหลือหันไปโบกมือลากับหลักเขตแดนที่มีคำว่า Siam อยู่เด่นชัด เรารู้สึกเหมือนเห็นคนที่เรารักและแค้นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเรายังมีแรงเหลืออยู่ในเวลานั้นก็คงจะร้องไห้แงอย่างยั้งไม่อยู่”

การเสด็จไปประทับ ณ ปีนังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในครั้งนั้น พระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากขุนนางและบุคคลในตระกูล ณ ระนอง หรือที่คนพื้นเมืองรู้จักกันในนาม Khaw  Family ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจการค้าและมีบ้านพำนักอาศัยอยู่ที่ปีนัง ไม่ว่าจะเป็นพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เดินทางมารับพระองค์ในทันทีที่เสด็จมาถึงปีนัง พระยารัษฎาธิราชภักดี (คอยู่จ๋าย ณ ระนอง) พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งธิดาของท่านคือ หม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ชายาของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล และพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซอมบี้ ณ ระนอง) บุคคลในตระกูล ณ ระนอง เหล่านี้ล้วนแต่มีความสนิทสนมคุ้ยเคยกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมื่อเสด็จมาประทับอยู่ที่ปีนังก็ยังคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่มิได้ขาด หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงความเอื้ออารีที่ทรงได้รับจากคนในตระกูล ณ ระนอง ไว้ในพระนิพนธ์เล่มเดียวกัน ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า  “...พวก ณ ระนอง รู้จักกับเสด็จพ่อมาแต่ต้นสกุลและเกือบทุกคนในชั้นผู้นี้ไม่เคยลืมเสด็จพ่อ ทั้งในเวลาดีและเวลายาก ข้าพเจ้าคุ้นเคยมาแต่เด็ก ๆ จึงไม่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้า พอนั่งลงเล่าเรื่องของเรายังไม่ทันจบ พระยารัษฎา (ยู่จ๋าย) ก็มาหาและช่วยเหลือต่างๆ ด้วย...”

เมื่อแรกที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาถึงปีนังใหม่ๆ นั้น พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) ได้ทูลเชิญให้เสด็จไปประทับที่บ้านอัษฎางค์ก่อน จากนั้นจึงได้ทรงย้ายมาเช่าบ้านหลังหนึ่ง ที่บ้านเลขที่ ๒๐๖ ถนนเกลาไว ชื่อว่า บ้านซินนามอน หรือ Cinnamon Hall ซึ่งเป็นบ้านที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทรงลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง ชื่อ “บ้านซินนามอน” นี้อาจจะเป็นที่คุ้นหูของผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เนื่องจากชื่อดังกล่าวมักจะปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ปีนัง ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในรูปของจดหมายหรือลายพระหัตถ์ซึ่งมักจะทรงเขียนที่หัวจดหมายทุกฉบับว่า บ้านซินนามอน ปีนังบ้าง Cinnamon Hall 206 Kelawai Road, Penang, S.S.๑๐ บ้าง

ในส่วนของพระจริยาวัตรประจำวันในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะประทับอยู่ที่ปีนังนั้น หลังจากตื่นบรรทมในตอนเช้าแล้วทุกพระองค์จะเสวยพระกระยาหารเช้าร่วมกัน จากนั้นก็จะแยกย้ายกันไปทรงงาน โดยส่วนใหญ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มักจะทรงพระอักษรโดยมีหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ทรงช่วยค้นหาหนังสือถวาย ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขามีหน้าที่ดูแลสวนและคนงานในบ้าน หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุมีหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน นอกจากพระจริยาวัตรที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดที่จะเสด็จไปห้องสมุด และเสด็จไปทรงกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่โปรดปราน ซึ่งส่งผลให้ทรงสามารถปรับพระองค์เข้ากับที่ประทับแห่งใหม่ได้ในเวลาไม่นาน ดังที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลมายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า “...ที่ปีนังนี้แม้เป็นเกาะเล็กกว่าสิงคโปร์ ก็เป็นที่เงียบสงัดกว่า อากาศดีกว่า...ทั้งมีภูเขาสูงสำหรับขึ้นหาอากาศเย็น และที่สุดส่งของมาจากบ้านก็ใกล้...”

แม้แต่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาก็เริ่มที่จะทรงคุ้นชินกับการที่ต้องมาประทับอยู่ ณ ต่างบ้านต่างเมือง ดังที่ได้ตรัสเล่าไว้ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ความว่า “ในทางความสุขส่วนตัว ปีนังได้มีให้เราอย่างครบถ้วนบริบูรณ์...มีรถเมล์เรือติดต่อกับบ้านเราได้เสมอๆ สิ่งที่ดียิ่งสำหรับเราก็คือหอสมุดและเพื่อนฝูงของเรา เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราไม่เงียบเหงาเปล่าประโยชน์ แม้จะต้องเป็น Strangers in a strange land ก็ยังดีว่าเป็น Strangers in our own land!”

เป็นที่กล่าวกันว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นทรงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในหมู่คนพื้นเมืองที่ปีนังถึงขนาดที่ว่าจดหมายที่มีมาถึงพระองค์นั้น แม้จะจ่าหน้าซองเพียง Prince Damrong, Penang จดหมายนั้นก็สามารถนำส่งถึงพระองค์ได้โดยไม่ยาก ทรงเป็นที่รู้จักในหมู่คนพื้นเมืองชาวมลายูว่า “รายาเซียม” ส่วนคนจีนเรียกว่า “เสียมอ๋อง

ด้วยเหตุที่ ปีนังในสมัยนั้นนับเป็นเมืองท่าเสรีและเป็นจุดแวะพักของเรือเมล์และเรือเดินทะเล ทั้งจากทวีปยุโรปและประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเรือยุดแลนเดีย เรือวลัย และเรือกำปั่นยนต์ของบริษัทอิสต์เอเชียติกที่แล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ – ปีนัง เป็นประจำสามสัปดาห์หนึ่งครั้ง ด้วยเหตุนี้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนพระโอรสและพระธิดาที่ประทับอยู่ทางกรุงเทพฯ จึงมักจะทรงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสด็จมาเยี่ยมเยียน ตลอดจนทรงส่งเครื่องเสวยและของใช้มาถวายอยู่มิได้ขาด




บ้านซินนามอนหรือบ้านอบเชย
ตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปีนัง
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เสด็จมาประทับอยู่ที่ปีนังได้เพียงปีเศษ รัฐบาลโดยกระทรวงวังก็ได้มีหนังสือกราบทูลมายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ตัดเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เงินปีที่ทรงเคยได้รับปีละ ๖,๐๐๐ บาท จึงต้องถูกตัดไป ส่งผลให้การดำเนินพระชนม์ชีพของทุกพระองค์อยู่ในฐานะที่ลำบากขึ้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงเล่าถึงความรู้สึกที่ต้องเผชิญกับการดูหมิ่นดูแคลนจากผู้คน ตลอดจนวิธีการจัดการกับช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นไว้ดังความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อถูกตัดเงินปีที่ในหลวงพระราชทานไปแล้ว ๒-๓ วัน ก็มีคนออกมาปีนังจากกรุงเทพฯ เขาเล่าให้เราฟังว่า...พูดกับคนๆ หนึ่งว่า “ไม่ช้า (เรา) ก็ต้องซานกลับมา เพราะไม่มีจะกิน” คำว่า ซาน คำเดียวนี้เป็นยาฉีดบำรุงกำลังให้เราทุกคนเพิ่มกำลังน้ำใจที่จะไม่กลับเป็นอันขาด แล้วเราก็ตั้งต้นจัดชีวิตอันเริ่มทรุดของเราให้เข้าระเบียบ พอจะอยู่ได้ด้วยตัดรายจ่ายลงไปอีก ไม่มีการซื้อของ Luxury จะแวะดูก็แต่ที่มีลดราคา (sale price) ไว้หน้าร้าน การไปดูหนังก็แยกกันไปนั่งที่ละ ๕๐ เซ็นต์ ข้างล่าง ๒ คนไปเป็นเพื่อนเสด็จพ่อข้างบนคราวละคน เป็นอันดูหนังครั้งหนึ่ง ๔ คนก็เสียเพียง ๔ เหรียญ การเล่นเช่น golf เลิก เป็นเอารถไปจอด แล้วเดินเล่นไกลๆ แทน การออกไปกินอาหารแปลกๆ ตามโฮเต็ลก็ต้องงด เรานึกสงสารตัวเองในตอนแรกๆ เพราะทุกครั้งที่ผ่านสนาม golf หรือบ้านพวกเศรษฐีเจ๊ก เขามีไฟฟ้าจดว่า “wedding” และมีโต๊ะอาหารจีนเต็มสนามแล้ว เราทั้ง ๔ คนพ่อลูกในรถต้องเมินหน้าหนี พอพ้นไปแล้วก็หัวเราะกันว่า “แหมมัน tempt จริงๆ”

นอกจากนี้ การดำเนินพระชนม์ชีพในต่างแดนในขณะที่ต้องทรงแบกรับภาระเลี้ยงดูบ่าวไพร่ในครัวเรือนที่ติดตามมาจากกรุงเทพฯ ด้วยนั้นนับว่ามิใช่เรื่องง่ายเลย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่าบางครั้งต้องทรงนำข้าวของมีค่าที่ติดตัวไปด้วยจากกรุงเทพฯ ออกขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แม้แต่การเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ ต่างประเทศที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปฏิบัติเป็นประจำ ก็ยังต้องเปลี่ยนมาเป็นการเสด็จไปประทับพักผ่อน ณ บ้านบนยอดเขาปีนังฮิลล์ของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) บ้างเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ในโอกาสสำคัญๆ อาทิ เทศกาลปีใหม่ ซึ่งถ้าหากประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็จะต้องมีพระโอรส พระธิดา ตลอดจนพระนัดดา มาเฝ้ากันอย่างพร้อมเพรียง แต่เมื่อต้องมาประทับอยู่ห่างไกลในต่างแดนและในสภาพเศรษฐกิจที่ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันมัธยัสถ์เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกสะเทือนพระทัยมิใช่น้อย ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงบรรยายถึงช่วงเวลานั้นไว้ ดังความตอนหนึ่งว่า

“ถึงวันที่ ๑ เมษายน ปีใหม่อย่างเก่าของเราๆ เคยมีงานสนุกสนานแต่เช้าจนถึงค่ำเพราะเพื่อนฝูงพี่น้องมาก ก็มีทั้งให้ของให้พรเลี้ยงดูกันไม่รู้จักจบ ครั้นมาอยู่ในปีนังนี้ พอลืมตาเช้าขึ้นก็เงียบเหงา เดินออกไปกินอาหารเช้าก็อย่างซึมๆ พอเสด็จพ่อออกมาจากห้อง ท่านก็ทรงยิ้มแต่อ้าพระกรตรงมายังเราและตรัสว่า “มา มาจูบพ่อเสีย ปีนี้เราไม่มีอะไรจะให้กันได้นอกจากอย่างนี้” แล้วเราก็จูบท่าน ท่านก็จูบเราด้วย ต่างคนต่างน้ำตาเต็มตา”

ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่ปีนัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอยู่ในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักพึ่งพิงให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูงที่ลี้ภัยมาในคราวเดียวกัน ทรงติดต่อไปมาหาสู่และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เสด็จกลับจากประพาสยุโรปในพุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้ทรงเล่าถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสชมว่า “พวกเจ้านายที่มาอยู่ปีนังนี้อย่างไร ดูกลมเกลียวกันดีกว่าที่อื่นๆ หมด”




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เสด็จเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ปีนัง
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

แม้ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยไปในคราวเดียวกันสิ้นพระชนม์ที่ปีนัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ประทับอยู่ที่นั่น ก็ได้ทรงเป็นธุระจัดการพระศพให้ตามโบราณราชประเพณีและทรงเป็นประธานในพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ณ วัดปิ่นบังอร๑๑ด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น แม้จะเสด็จมาประทับอยู่ห่างไกลในต่างแดน แต่ก็ทรงมีน้ำพระทัยห่วงใยและทรงคอยไต่ถามทุกข์สุขของบุคคลที่ทรงรู้จักผ่านทางลายพระหัตถ์ที่มีมาถึงบุคคลต่างๆ อยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในลายพระหัตถ์หลายๆ ฉบับก็แสดงให้เห็นประจักษ์ในน้ำพระทัยที่ทรงมีต่อบุคคลที่ทรงรู้จักคุ้นเคยแม้จะเป็นในเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ดังเช่น ในลายพระหัตถ์ที่มีมายังหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงเล่าว่าส่งลูกแปร์ ๑๕ ใบมาถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๕ ใบ พระองค์หญิงขาว๑๒ ๕ ใบ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ๕ ใบ และอีกคราวหนึ่งเมื่อทรงทราบว่าพระธิดาโปรดเสวยองุ่นก็ทรงซื้อฝากส่งมาให้ดังที่ทรงมีลายพระหัตถ์ประทานมาเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า

“พ่อรู้ว่าเธอชอบกินลูกองุ่นและไม่แสลง ได้สั่งให้คอยเสาะหา แต่เผอิญมีแต่ลูกเล็กๆ ไม่น่ากิน จึงมิได้ซื้อส่งมา พึ่งมีองุ่นลูกใหญ่มาถึงเมื่อสองวันนี้ จึงซื้อฝากมาให้พร้อมกับจดหมายฉบับนี้ หวังใจว่าจะไม่มีใครลักกินเสียกลางทาง”

และในอีกคราวหนึ่งที่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม พระธิดาประชวรอยู่ทางกรุงเทพฯ เมื่อทรงทราบว่าหายจากพระอาการประชวรก็ได้ทรงส่งของใช้มาประทาน ดังความปรากฏในลายพระหัตถ์ ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า
“พ่อมีโอกาสจะฝากของด้วย Mrs. Atkins จะกลับกรุงเทพฯ พ่อจึงส่งน้ำอบโอเดอโคโลน (eau de cologne) ซึ่งทราบว่าเธอชอบใช้ลูบตัว มาให้ ๒ ขวด กับเสื้อแพรตัว ๑ ให้เป็นบำเหน็จสนองแก่คุณหญิงนิล ที่ได้รักษาพยาบาลเธอมาช้านานด้วยน้ำใจอันดี พ่อหวังใจว่าอาการของเธอจะค่อยคลายขึ้นเป็นลำดับมา”

โดยพระอุปนิสัยส่วนพระองค์แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในพระจริยาวัตรที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างเปี่ยมล้น แม้กระทั่งเมื่อเสด็จมาประทับที่ปีนัง ก็ยังทรงพยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทุกอย่างที่เคยปฏิบัติเหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ไว้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ดังจะเห็นได้จากในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็จะทรงส่งโทรเลขมาถวายพระพรเป็นประจำทุกปี และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ ในพุทธศักราช ๒๔๘๔ ก็ได้ทรงมีรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นตั้งและทำบุญอุทิศถวายพระราชกุศลที่บ้านซินนามอนด้วย







สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ในคราวเสด็จประพาสปีนัง พุทธศักราช ๒๔๘๑

นอกจากนี้ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินปีนัง ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ และเสด็จพระราชดำเนินมาที่ซินนามอนฮอลล์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงจัดการรับเสด็จฯ ด้วยการนำพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ที่ปีนัง ถวายพานดอกไม้ธูปเทียนตามแบบแผนธรรมเนียมโบราณ ดังที่ทรงมีลายพระหัตถ์เล่าประทานมายังหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ความว่า

“เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จมาถึงซินนามอนฮอลล์ พ่อไปรับถึงรถ ทูลเชิญเสด็จมาประทับในห้องรับแขก พ่อทูลว่าพ่อเป็นคนสมัยเก่า ขอพระราชทานอนุญาตทำพิธีอย่างเก่ารับเสด็จด้วย ทูลแล้ว พ่อก็ไปยกพานดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมไว้ และเรียกลูกหลานทุกคนมาเฝ้าด้วยกัน พ่อคุกเข่าถือพานดอกไม้ธูปเทียน ทูลว่าทั้งตัวพ่อกับครอบครัวขอถวายความภักดีด้วยดอกไม้ธูปเทียนนี้เป็นเครื่องหมาย เมื่อทรงรับพานดอกไม้ธูปเทียนไว้ในพระหัตถ์ พ่อถวายบังคมกราบ พอพ่อกลับลุกขึ้นยืน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงกราบตอบ พ่อจะทูลห้ามก็ไม่ทัน...”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปีนังซึ่งขณะนั้นยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการโจมตีของกองทัพญี่ปุ่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดาต้องทรงย้ายที่ประทับจากซินนามอนฮอลล์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองหลวงจอร์จทาวน์มาประทับที่บ้านของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาซึ่งอยู่นอกเมืองเป็นการชั่วคราว หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงการดำเนินพระชนม์ชีพในปีนังในภาวะสงครามว่าต้องทรงใช้จ่ายกันอย่างมัธยัสถ์ เนื่องจากเงินสดและทรัพย์สินที่ทรงฝากไว้ในธนาคารต่างชาติถูกอายัด อาหารและสินค้าต่างๆ ขาดแคลน ภายในสวนของบ้านซินนามอนซึ่งเคยปลูกไม้ดอกสวยงามก็ต้องเปลี่ยนมาปลูกพืชผักสวนครัวแทน เมื่อต้องทรงอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงมีพระดำริที่จะเสด็จกลับประเทศไทย แต่ทว่าข่าวลือที่ทรงมีมาถึงพระกรรณอยู่เนืองๆ ว่า เจ้าพนักงานศุลกากรที่ปาดังเบซาร์มักจะพูดเสมอๆ ว่า “ใครจะเข้าจะออกก็ได้ทั้งนั้น เว้นแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และพระยามโนฯ” จึงทำให้ต้องทรงล้มเลิกแผนการและประทับอยู่ที่ปีนังต่อไป

จนกระทั่งในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ หม่อมเจ้าพิสิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล พระโอรสซึ่งรับราชการเป็นนายทหารยศพันเอกในขณะนั้น และได้ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ได้ทรงเจรจาขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับประเทศไทย นับรวมระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่ปีนังทั้งสิ้น ๙ ปี แต่ด้วยพระพลานามัยที่อ่อนแอลงประกอบกับพระชนมายุที่มากขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖ ขณะพระชนมายุ ๘๑ พรรษา หลังจากที่เสด็จกลับมาประทับ ณ วังวรดิศได้เพียงปีเศษ.




-------------------------------------------------

๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม พุทธศักราช ๒๔๒๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  พุทธศักราช ๒๔๓๔ เป็นราชทูตพิเศษเสด็จยุโรป  พุทธศักราช ๒๔๓๕ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พุ ทธศักราช ๒๔๖๖ เป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ถึงรัชกาลที่ ๗  พุทธศักราช ๒๔๖๘ เป็นอภิรัฐมนตรี  พุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นนายกราชบัณฑิตยสภา  พุทธศักราช ๒๔๗๒ เลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘  พุทธศักราช ๒๔๘๖ พระชันษา ๘๑ ปี เป็นต้นราชสกุล ดิศกุล.

๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์  พระนามเดิม พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่ปีนัง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘ พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระชันษา ๗๐ ปี เป็นต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

๓ พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

๔ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระนามเดิม พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสลำดับที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทับทิม ขณะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๙ พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นต้นราชสกุล วุฒิชัย

๕ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ฯ กับหม่อมเพิ่ม สวัสดิกุล ณ อยุธยา ทรงเสกสมรสกับหม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา บุตรีของพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล) ในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ฯ เสด็จไปประทับ ณ ปีนังจนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัยในพุทธศักราช ๒๔๘๓

๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ สิ้นพระชนม์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๐ พระชันษา ๘๔ ปี เป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์ ณ อยุธยา

๗ ปีนัง เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า ต้นหมาก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นไม้ที่พบมากที่บนเกาะนี้ ปีนังจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เกาะหมาก

๘ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัยและหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ยมาภัย ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล เป็นพระธิดาที่ประสูติแต่หม่อมนวม โรจนดิศ

๙ บ้านอัษฎางค์ หรือที่ชาวพื้นเมืองรู้จักกันในชื่อ Asdang House เป็นบ้านของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) เมื่อแรกสร้างให้ชื่อว่า บ้านโนวา สโกเทีย (Nova Scotia) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้เสด็จมาประทับ ณ บ้านหลังนี้ พระยารัตนเศรษฐีจึงได้ขอพระราชทานนามใหม่ จึงโปรดฯ พระราชทานนามว่า บ้านอัษฎางค์

๑๐ S.S. ย่อมาจาก Straits Settlements ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในช่องแคบมะละกา ประกอบด้วยปีนัง มะละกา และสิงคโปร์

๑๑ วัดปิ่นบังอร ตั้งอยู่ที่ถนน Green Lane เดิมชื่อวัดบาตู ลันจัง เป็นวัดไทยที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งของรัฐปีนังนอกจากวัดไชยมังคลาราม ในภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดปิ่นบังอร

๑๒ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาแส

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤศจิกายน 2558 16:30:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.678 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 17 เมษายน 2567 16:21:48