[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 01:10:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก  (อ่าน 69518 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2557 15:59:33 »

.

สารคดี ชีวิตสัตว์โลก


นกกระเรียน

นกกระเรียน (Crane) เป็นนกขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา และทวีปอเมริกาใต้ ส่วนในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว

นกกระเรียนไทย (Sarus crane) เป็นนกพื้นถิ่น ไม่ใช่นกอพยพ เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก เมื่อยืนจะสูงถึง ๒ เมตร หนักราว ๖-๑๒ กิโลกรัม ช่วงปีกยาว ๒๕๐ เซนติเมตร มีลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวเป็นหนังเปลือยสีแดง ไม่มีขน ตรงกระหม่อมเป็นสีเทาหรือเขียว คอยาว เวลาบินคอจะเหยียดตรง ขนปลายปีกและขนคลุมขนปลายปีกสีดำ ขนคลุมขนปีกด้านล่างสีเทา ขนโคนปีกสีขาว ขายาวเป็นสีชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา

ม่านตาสีส้มแดง ปากแหลมสีดำแกมเทา หนังเปลือยสีแดงบริเวณหัวจะแดงสดใสในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หนังบริเวณนี้จะหยาบเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีขนสีดำตรงข้างแก้มและท้ายทอยบริเวณแคบๆ ทั้งสองเพศไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนนัก

ที่เคยพบในประเทศไทยคือนกกระเรียนพันธุ์ตะวันออก (G.a.sharpii) หรือนกกระเรียนอินโดจีน หรือนกกระเรียนหัวแดง เคยอยู่ทั่วไปในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมาจำนวนลดลงอย่างมาก คาดกันว่าประชากรมีเพียง ๑๐ หรือน้อยกว่า (ประมาณ ๒.๕%) ของจำนวนที่มีอยู่ในคริสต์ทศวรรษ ๑๘๕๐

ปัจจุบันอาจเหลืออยู่บ้างในพม่า เวียดนาม กัมพูชา ขณะที่ประเทศอินเดียคือแหล่งที่มั่นของนกชนิดนี้ซึ่งถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ความซื่อสัตย์ของชีวิตคู่ เพราะพวกมันมักมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต เชื่อกันว่าเมื่อคู่ตายนกอีกตัวจะเศร้าโศกจนตรอมใจตายตาม โดยในอินเดียนกเหล่านี้อาศัยนาข้าวในการเพิ่มจำนวน ส่วนในประเทศไทยจัดว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว มีให้เห็นแค่ในสวนสัตว์เท่านั้น

นกกระเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายประเภท พื้นที่ที่ชอบที่สุดได้แก่หนองน้ำขนาดเล็กที่ มีเฉพาะฤดูกาล พื้นที่ราบที่ถูกน้ำท่วม พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมาก ไร่ที่เพิ่งไถ และทุ่งนา

ชอบกินหัวพืชใต้ดินและกินสัตว์ขนาดเล็ก ฤดูผสมพันธุ์หลักอยู่ในฤดูฝน คู่นกจะสร้างรังเป็นเกาะรูปวงกลมจากกก อ้อ พงหญ้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ ๒ เมตร และสูงเพียงพอที่จะอยู่เหนือจากน้ำรอบรัง

ชื่อสามัญ sarus มาจากชื่อในภาษาฮินดีของนกกระเรียนชนิดนี้ มาจากคำสันสกฤต sarasa แปลว่านกทะเลสาบ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ antigone ตั้งตามชื่อลูกสาวของอีดิปุส ในตำนานกรีก ผู้แขวนคอตนเอง อาจเกี่ยวข้องกับผิวหนังเปลือยตรงศีรษะและลำคอ

นกกระเรียนไทยจัดอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และไซเตสจัดอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ ๒ และเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน ๑๕ ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

สถานภาพปัจจุบันจัดเป็นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว โดยประเทศไทยพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๕๑๑ บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (ICF) ที่ร่วมกันจัดทำโครงการนำนกกระเรียนคืนถิ่นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ ล่าสุด พ.ศ.๒๕๕๔ คณะทำงานโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ (ประเทศไทย) และสวนสัตว์นครราชสีมาได้ทดลองปล่อยนกกระเรียนไทย อายุ ๕-๘ เดือน จำนวน ๑๐ ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก บุรีรัมย์

จากการติดตามพบว่านกกระเรียนดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ตามปกติ ในปีถัดมาได้ปล่อยนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง จำนวน ๙ ตัว ที่จุดเดิม




แมลงเต่าทอง

แมลงเต่าทอง หรือด้วงเต่าทอง หรือนิยมเรียกกันว่า เต่าทอง หรือ Ladybird, Ladybug ในภาษาอังกฤษ จัดเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแมลงปีกแข็งทั่วไป ตัวป้อมๆ ลำตัวส่วนหลังมีสีเหลือง หรือสีทอง หรือสีแดง บางสกุลมีหลังสีเงิน หรือสีใส เรียกว่า เต่าเงิน บางชนิดมีจุดวงกลมสีดำ ปีกแข็งใส โค้งนูน เมื่อหุบปีกเข้าหากันจะจดกับด้านหลังทำให้มองคล้ายหลังเต่า และโดยมากจะมีหนวด

วงจรชีวิตของแมลงเต่าทอง แมลงเต่าทองวางไข่ใช้เวลา ๓ วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นหนอนที่ยังเป็นตัวอ่อน ก่อนจะกลายเป็นหนอนที่มีขนยาวปกคลุมทั้งตัวเมื่ออายุ ๗ วัน และเข้าสู่การเป็นดักแด้ในวันที่ ๑๐-๑๒ ใช้เวลา ๕ วันก่อนจะออกมาจากดักแด้ และกลายเป็นแมลงเต่าทองในที่สุด

ข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เขียนว่า สันนิษฐานกันว่าแมลงเต่าทองมีอยู่บนโลกใบนี้ยาวนานกว่า ๓๐๐ ล้านปี โดยมีมากกว่า ๑๐๐ สายพันธุ์ มีเรื่องเล่าว่า ช่วงปลายปี ค.ศ. ๑๘๘๐ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกิดฝูงแมลงเข้าทำลายผลส้ม ชาวสวนนึกได้ถึงเรื่องเล่าที่ว่าเกิดแมลงศัตรูพืชจำนวนมากมาทำลายข้าวในนา ชาวนาอับจนปัญญาช่วยตัวเองไม่ได้ จึงสวดอ้อนวอนพระแม่มารี พระนางก็ได้ส่งแมลงเต่าทองจำนวนมากมายลงมาช่วยจัดการกับเหล่าศัตรูพืชจนหมด จากเรื่องเล่าชาวสวนส้มแคลิฟอร์เนียจึงรวมกันสั่งซื้อแมลงเต่าทองจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว จากออสเตรเลีย เข้ามาปล่อยให้แพร่พันธุ์ในสวนส้ม ซึ่งเลดี้บั๊กก็ได้ช่วยกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจนหมดสิ้น

ในความเป็นจริงแมลงเต่าทองมีความสามารถในการหาที่อยู่ใหม่ และพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตหากินในระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี มันสามารถหากินในที่แคบ และอาศัยอยู่ใต้ก้อนหินหรือเปลือกไม้ได้ ในยามที่อากาศหนาวเย็นมักพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งบางคนบอกว่าช่วงนี้เป็นการจำศีล หรืออาจพักร่างกาย เพื่อรอช่วงใบไม้อ่อนผลิออกมา

เต่าทองตัวเมียเริ่มออกวางไข่ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างรีๆ สีเหลือง ยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร เรียงคล้ายบันไดใต้ใบไม้ หลังตัวอ่อนฟักออกมาสู่โลกภายนอก มีลำตัวยาวสีเทาดำ มีจุดลายสีขาวอมเหลือง มีหนามตามลำตัว มีขา ๓ คู่ เคลื่อนไหวได้ว่องไวเพื่อล่าเพลี้ยกินเป็นอาหาร ตุนไว้ดำรงชีวิตให้อยู่รอดขณะเปลี่ยนเป็นดักแด้ พอโตเต็มวัยมีสีแดง แดงอมส้ม หรือเหลือง ที่ปีกมีจุด ๖ จุด เป็นเส้นหยักขวาง ๒ คู่ และจุด ๑ คู่ ใกล้ปลายปีก

ปัจจุบันมีโอกาสเห็นเลดี้บั๊กกันน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้สารเคมีในไร่สวนจำนวนมาก บ้านไหนที่ปรับเปลี่ยนไปใช้ชีวภาพกำจัดศัตรูพืช เต่าทองก็จะออกมาอวดรูปโฉมให้เห็น เสมือนบ่งบอกว่าโชคดี (เพราะลดต้นทุนการผลิตลงได้) กำลังมาเยือนสวนนี้แล้ว ฉะนี้จึงกล่าวได้ว่า แมลงเต่าทองเป็นตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมว่ามีสารพิษตกค้างอยู่มากน้อยเพียงใดได้เป็นอย่างดี

แมลงเต่าทองเป็นขวัญใจของหลายคน เพราะสวยงาม ทั้งดูเป็นมิตร และแม้จะมีหลายชนิด มีลักษณะสีที่หลากหลาย แต่แมลงเต่าทองมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือการใช้เวลาส่วนใหญ่ด้อมๆ อยู่ตามต้นไม้ เพื่อหาอาหารนั่นเอง และแม้ว่ามันจะบินได้ แต่แมลงเต่าทองชอบเดินมากกว่าด้วยขาทั้งหกของมันซึ่งแข็งแรงพอที่จะพาตัวไต่ขึ้นๆ ลงๆ ตามลำต้นไม้ ครั้นฤดูใบไม้ผลิมาเยือนแมลงเต่าทองจะรวมตัวกันตามกอไม้ดอก เพื่อรวบรวมละอองเกสรให้มากที่สุด เพราะละอองเกสรจะให้ไขมันมาก เพื่อใช้สำหรับการดำเนินชีวิตในหน้าหนาวซึ่งมันจะจำศีล




หิ่งห้อย

หิ่งห้อยหรือแมลงแสง แมลงคาเรือง แมลงทิ้งถ่วง เป็นแมลงปีกแข็ง ในวงศ์แลมพายรีดี (Lampyridae) อันดับโคลีออปเทอรา (Coleoptera) สำหรับภาษาอังกฤษก็มีเรียกหลายชื่อล้วนแต่แปลว่าแมลงมีแสงทั้งนั้น ทั้ง ไฟเออร์ฟลาย - Firefly, ไลต์นิ่ง บั๊ก - Lightning bug, แลมพายริด - Lampyrid และโกลว์ เวิร์ม - Glow worm ส่วนความหมายของคำว่า "หิ่งห้อย" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้สั้นๆ ว่า แมลงชนิดหนึ่ง มีแสงเรืองๆ ที่ก้น

จากข้อมูลสำรวจพบทั่วทั้งโลกมีหิ่งห้อยประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด ประเทศไทยมีประมาณ ๑๐๐ ชนิด หิ่งห้อยตัวแรกที่มีหลักฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์แมลงกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร คือ Luciola substriata Gorham พบโดยชาวอังกฤษชื่อ ดับเบิลยู.เอส.อาร์. ลาเดล (W.S.R. Ladell) จำแนกชนิดโดย จี.อี.บี. กอแรม (G.E.B. Gorham) เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๒ ระบุสถานที่พบว่า ประเทศไทย

หิ่งห้อยมีแสงทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่มีแสงเฉพาะบางชนิดเท่านั้น หิ่งห้อยตัวผู้มีปีก ขณะที่ตัวเมียมีรูปร่างหลายแบบ มีทั้งปีกปกติ ปีกสั้น และมีรูปร่างคล้ายหนอน หิ่งห้อยระยะหนอนกินหอย ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆ เป็นอาหาร มีแหล่งอาศัยแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน เช่น อาศัยตามบริเวณน้ำจืด น้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลหนุน และสภาพที่เป็นสวนป่า หรือภูเขาที่มีสภาพแวดล้อมดั้งเดิมไม่ถูกทำลาย

ตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยมีอวัยวะทำแสงอยู่ที่ปล้องท้องด้านล่าง ตัวผู้ให้แสง ๒ ปล้อง ตัวเมียให้แสง ๑ ปล้อง แสงในตัวผู้จึงสว่างกว่าตัวเมีย แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็น เกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะ ทำแสง กับออกซิเจน มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีน ไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate: ATP) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ทั้งนี้ หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน ส่วนวงจรชีวิตของหิ่งห้อยจะยาวนานหรือสั้น ขึ้นอยู่กับฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้นและความสมบูรณ์ของอาหาร

สำหรับต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบ ไม่ได้มีเพียงต้นลำพู แต่เพราะว่าหิ่งห้อยตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร มันกินแต่น้ำหรือน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้ ต้นลำพูเป็นพืชที่มีขนที่ใบจึงทำให้น้ำค้างเกาะอยู่จำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารอย่างดีของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น "ตัวห้ำ" ควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม หิ่งห้อยจะทำลายหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญกัดกินทำลายต้นข้าวในระยะลงกล้าและระยะปักดำใหม่ๆ ทั้งยังเป็นตัวห้ำทำลายหอยที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน โรคเลือดในสัตว์ และพยาธิใบไม้ลำไส้ในคน

ด้านพันธุวิศวกรรม สามารถใช้สารลูซิเฟอรินในหิ่งห้อยเป็นเครื่องบ่งบอกว่าการตัดต่อยีนส์ประสบผลสำเร็จหรือไม่ รวมถึงสามารถนำยีนส์หรือฮอร์โมนที่สร้างแสงสว่างของหิ่งห้อยไปใช้ประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์เอกซเรย์ในสหรัฐอเมริกาได้สกัดสารลูซิเฟอรินจากหิ่งห้อย ปล่อยเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อให้แสงไปจับตามหน่วยถ่ายพันธุกรรมที่อาจสะสมอยู่ในเซลล์ที่เป็นมะเร็ง เพื่อช่วยให้การตรวจหาเนื้อร้ายในร่างกายได้ง่ายขึ้น

หิ่งห้อยมีมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยควรชมในคืนเดือนมืด จะเห็นแสงหิ่งห้อยชัดเจน




งูแมวเซา

งูแมวเซา เป็นงูพิษชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Daboia russellii (ตั้งชื่อตาม แพทริก รัสเซลล์ นักฟิสิกส์และนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอต) ในวงศ์ Viperidae ที่มีอยู่ในประเทศไทย และเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Daboia

ขนาดโตเต็มที่ได้ ๑๒๐-๑๖๖ เซนติเมตร หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมยาว คอเล็กตัวอ้วนสั้น หางสั้น มักทำเสียงขู่ฟ่อยาวๆ เมื่อรู้ว่ามีศัตรูเข้าใกล้

งูแมวเซาแบ่งได้เป็น ๒ ชนิดย่อย ได้แก่ งูแมวเซาอินเดีย Indian Russell"s vipe อนุทวีปอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ตลอดจนศรีลังกา มีลายสีนํ้าตาลเข้ม เป็นวงแยกจากกัน

งูแมวเซาสยาม Eastern Russell"s viper พบในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ภาคใต้ของจีนและเกาะไต้หวัน มีสีเทานํ้าตาลหรือนํ้าตาลอมชมพูและมีลายสีนํ้าตาลเข้มเป็นวงปื้นใหญ่เชื่อมติดต่อกัน ท้องสีขาวนวลมีจุดสีนํ้าตาลเล็กๆ เกล็ดมีขนาดเล็กและมีสัน หัวเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมและมีลายดำคล้ายลูกธนู มีเกล็ดเล็กละเอียดบนหัว เขี้ยวพิษมีความยาว

งูแมวเซาในประเทศไทยเป็นชนิดย่อย (Subspecies) แตกต่างจากที่พบในอินเดีย พบในแถบจังหวัดในภาคกลางและตะวันออก เช่น นครนายก ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท นครราชสีมา ปราจีนบุรี

เป็นงูที่มีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวสั้น หางสั้น เวลาตกใจหรือถูกรบกวนมักขดตัวเหมือนแมวนอนขด พร้อมทั้งทำเสียงขู่คล้ายแมวอีกด้วย แต่ฟังดีๆ เสียงมันคล้ายยางรถยนต์รั่ว หลังจากมันสูบลมเข้าไปในตัวจนตัวพอง แล้วพ่นลมออกมาทางรูจมูกแรงๆ แทนที่จะเลื้อยหนี ฉกกัดได้รวดเร็วแทบไม่ทันตั้งตัวทั้งๆ ที่ขดตัวอยู่

ส่วนหัวของงูแมวเซา มีพฤติกรรมชอบอยู่ตามที่ราบแห้งๆ เชิงเขาที่เป็นดินปนทราย ตามที่ดอน หรือซ่อนตัวในซอกหิน โพรงดิน ใต้กอหญ้าใหญ่ๆ ไม่ชอบย้ายที่อยู่บ่อยๆ ปกติไม่เลื้อยขึ้นต้นไม้ ออกหากินไม่ไกลจากที่อยู่ เป็นงูที่มีความเชื่องช้าไม่ปราดเปรียว มีอุปนิสัยดุ เมื่อถูกรบกวนจะส่งเสียงขู่

ชอบความเย็น แต่ไม่ชอบน้ำ มักออกหากินในเวลากลางคืน แต่ในสถานที่ที่มีความเย็น ก็อาจออกหากินในเวลากลางวันด้วย โดยกินหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดเล็กชนิดต่างๆ

เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ ๒๐-๓๐ ตัว (สูงสุด ๖๓ ตัว) ผสมพันธุ์ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม และไปออกลูกช่วงฤดูร้อน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก ๗.๒-๑๔.๔ กรัม และความยาวโดยเฉลี่ย ๒๔-๓๐ เซนติเมตร

พิษงูแมวเซา มีฤทธิ์ต่อระบบโลหิตเป็น haematotoxin ส่งผลต่อผลการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดเลือดออกง่าย เนื่องจากองค์ประกอบในการแข็งตัวของเลือดถูกใช้หมดไป นอกจากนี้แล้วพิษของงูแมวเซายังมีผลต่อไต ทำให้เกิดอาการไตวายได้ และยังมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงโดยตรง

อาการของผู้ที่ถูกกัด จะมีอาการปวดและบวมมาก อาการบวมเกิดขึ้นได้ภายใน ๒-๓ นาทีภายหลังถูกกัด มักจะมีรอยเขี้ยว ๒ จุดซึ่งมีเลือดไหลออกตลอดเวลา และบริเวณรอบแผลจะมีสีคล้ำบริเวณโดยรอบเขี้ยวจะบวมอย่างชัดเจนภายใน ๑๕-๒๐ นาที และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งบริเวณที่ถูกกัดบวมหมดภายในเวลา ๑๒-๒๔ ชั่วโมง และอาจเริ่มพองและมีเลือดออก

ผู้ที่ได้รับพิษมากจะมีอาการของเลือดออกง่ายภายในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง เช่น เลือดออกเป็นจ้ำๆ บริเวณผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน ไอมีเสมหะปนเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งความดันโลหิตต่ำ ไตวายและเสียชีวิตลงในที่สุด

การรักษาต้องให้เซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา จนกว่าเลือดจะแข็งตัว ปกติ ปริมาณเซรุ่มที่ใช้ในผู้ป่วยถูกงูแมวเซากัดมักน้อยกว่าที่ใช้รักษางูเห่ากัดซํ้า

ผู้ป่วยบางรายบริเวณแผลถูกกัดไม่บวม ไม่ปวด ไม่มีเลือดออก แต่หลังถูกกัด ๑-๒ ชั่วโมง มีอาเจียนเป็นเลือดเล็กน้อย อาการแสดงอย่างอื่นไม่มี แต่แพทย์จะพิจารณาให้เซรุ่มด้วย เพราะผู้ป่วยที่ถูกงูแมวเซากัดมีอาการตกเลือด นอกจากนี้ยังใช้สเตียรอยด์ ลดบวม ปวด




เต่าตนุ

คำว่า เต่าตนุ ออกเสียง ตะหนุ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Green turtle กรีนเทอร์เทิล แปลว่า เต่าเขียว จากสีของกระดอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chelonia mydas อยู่ในวงศ์ Cheloniidae และเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Chelonia

เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ โตเต็มที่เมื่ออายุได้ ๔-๗ ปี มีขนาดใหญ่รองจาก เต่ามะเฟือง ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร

ลักษณะเด่น มีเกล็ดบนส่วนหัว ๑ คู่ บนกระดองแถวข้าง ๔ เกล็ด น้ำหนักราว ๑๓๐ กิโลกรัม หัวป้อมสั้น ปากสั้น เกล็ดเรียงต่อกันโดยไม่ซ้อนกัน กระดองหลังโค้งนูนเล็กน้อย บริเวณกลางหลัง เป็นแนวนูนเกือบเป็นสัน ท้องแบนราบขาทั้ง ๔ แบน เป็นใบพาย

ขาคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าขาคู่หน้ามาก ขาคู่หน้ามีเล็บแหลมเพียงข้างละชิ้น สีของกระดองดูเผินๆ มีเพียงสีน้ำตาลแดงเท่านั้น แต่ถ้าหากพิจารณาให้ละเอียด จะพบว่าเกล็ดแต่ละเกล็ดของกระดองหลังมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ขอบเกล็ดมีสีอ่อนๆ เป็นรอยด่างและมีลายเป็นเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล คล้ายกับแสงของพระอาทิตย์ที่ลอดออกจากเมฆ เต่าชนิดนี้จึงมีอีกชื่อว่า เต่าแสงอาทิตย์

ไข่ของมัน บางครั้งชาวบ้านก็เรียกรวมๆ กับเต่าทะเลชนิดอื่น ว่า ไข่จะละเม็ด

เชื่อว่าเต่าตนุอายุยืน ๘๐ ปี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

พบกระจายพันธุ์ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ในไทยพบได้บริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน มักพบในเขตที่มีอุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างอุ่น คือ สูงกว่า ๒๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป

เต่าตนุเป็นเต่าที่กินทั้งพืชและสัตว์ แต่จะกินพืชเป็นหลัก จำพวกหญ้าทะเลหรือสาหร่ายทะเล ส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กทั่วไป เช่น ปลาหรือแมงกะพรุน เป็นอาหารรองลงไป

ฤดูวางไข่ตกอยู่ในราวเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ในบริเวณอ่าวไทยและอยู่ในราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในทะเลอันดามัน จำนวนไข่ต่อครั้งมีตั้งแต่ ๗๐-๑๕๐ ฟอง เต่าขนาดโตเต็มที่แล้วจะว่ายน้ำหากินไปเรื่อยๆ แต่จะกลับมาวางไข่บนชายหาดที่ถือกำเนิด

เป็นเต่าที่มักพบในเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งหรือตามเกาะต่างๆ สำหรับในน่านน้ำไทย ฝั่งทะเลอันดามันพบวางไข่มากที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา บนชายหาดและเกาะหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา ส่วนฝั่งอ่าวไทย พบที่เกาะคราม จ.ชลบุรี เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช และชายหาดที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

สาเหตุเต่าตนุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะมันถูกจับเป็นอาหารกันมากตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จำนวนประชากรเต่าตนุลดลงจากการใช้ประโยชน์จากไข่เต่าและตัวเต่าเป็นการค้าอย่างเป็นระบบ โดยตัวเต่าจะให้เนื้อ น้ำมันและหนัง

เต่าชนิดนี้ยังติดอวนจมน้ำตายมาก และจำนวนอีกไม่น้อยถูกชาวประมงใช้เบ็ดราวที่เรียงกันไว้อย่างถี่ๆ จับขณะที่จะขึ้นมาวางไข่อีกด้วย

ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น ในประเทศอื่นๆ เต่าตนุตกอยู่ในสภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการถูกจับและการก่อสร้างอาคารรุกพื้นที่ชายหาด มันจึงมีชื่ออยู่ในบัญชีอนุรักษ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ หรือ IUCN และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES (ไซเตส)




หมึก

หมึกเป็นสัตว์นํ้าไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มเดียวกับหอย หรือทางวิทยาศาสตร์เรียกกลุ่ม Mollusk ซึ่งในโลกนี้มีหมึกอยู่หลายสายพันธุ์ มีขนาดตั้งแต่เล็กไม่กี่มิลลิเมตรที่เรียกว่าหมึกแคระ จนถึงขนาดใหญ่หลายสิบเมตรที่เรียกว่าหมึกยักษ์ โดยหมึกจะกินสัตว์ขนาดเล็กที่ลอยในทะเล และกินปลาที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร

หมึกถูกนำมาปรุงเป็นอาหารมากมายหลายเมนู ตั้งแต่บริโภคแบบสดอย่างชาวญี่ปุ่น หรือนำมาประกอบเป็นอาหารคาว หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยทั้งหมดล้วนแต่ใช้ส่วนที่เป็นเนื้อหมึก คุณค่าทางโภชนาการที่ได้ก็จะเป็นโปรตีนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดด้านคุณภาพของโปรตีนในเนื้อหมึก โดยวิเคราะห์หาปริมาณกรดอะมิโน พบว่าเป็นโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายสูง

ทั้งนี้ กรดอะมิโนจำเป็นก็คือกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น โดยเฉพาะไลซีนและทรีโอนีนซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตในเด็ก และจากการประเมินคุณภาพของโปรตีนโดยใช้ค่าคะแนนของกรดอะมิโน พบว่าโปรตีนของหมึกมีคุณภาพดีพอสมควร เช่น หมึกกล้วยได้คะแนนเท่ากับ ๗๔ (นํ้านมวัวมีค่าเท่ากับ ๙๑) นอกจากโปรตีน ก็จะมีส่วนที่เป็นไขมันและวิตามินต่างๆ เช่น บี ๑ บี ๒ และ ไนอะซิน

นอกเหนือจากเนื้อ หมึกยังมีอีกส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารได้ และน้อยคนจะรู้ว่ามีประโยชน์น่าสนใจทีเดียว สิ่งนั้นก็คือนํ้าสีดำๆ ของหมึกนั่นเอง ที่นำไปทำอาหารอย่างเช่นเส้นสปาเกตตีสีดำ ซอสครีมหมึกดำ พิซซ่าหมึกดำ ฯลฯ และนํ้าหมึกยังใช้สำหรับเป็นหมึกพิมพ์ได้ด้วย


   "นํ้าหมึก" (Squid Ink) เป็นของเหลวที่ผลิตโดยสัตว์นํ้าที่ชื่อเหมือนกันคือหมึก องค์ประกอบหลักร้อยละ ๕๑.๒ เป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรตกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ อีกร้อยละ ๓๐.๘ เป็นสารให้สี และที่เหลืออีกร้อยละ ๑๗.๘ เป็นโปรตีนชนิดเปปไทด์ ซึ่งมีประโยชน์เพื่อการป้องกันตัวเองของหมึกในยามคับขัน โดยใช้พ่นใส่ศัตรูผู้รุกราน หมึกนั้นจะทำให้ศัตรูเกิดอาการมึนงงไปชั่วขณะพอที่จะให้หมึกพรางตัว

นํ้าหมึกยังมีสรรพคุณที่น่าสนใจทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าในประเทศญี่ปุ่น จีน หรือประเทศแถบยุโรป ใช้นํ้าหมึกเป็นยารักษาโรคมาช้านานแล้ว โดยมีผู้ศึกษาพบว่านํ้าหมึกมีสรรพคุณในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังมีผลกับการหลั่งของนํ้าย่อยด้วย และต่อมาคณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่า ส่วนประกอบชนิดหนึ่งในนํ้าหมึกที่เรียกว่า Peptidoglycan ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการจับกับของส่วนที่เป็นโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต มีคุณสมบัติพิเศษในการยับยั้งการเกิดเนื้องอก โดยผู้วิจัยได้สกัดแยกสาร Peptidoglycan ออกเป็น ๓ ชนิดย่อยตามองค์ประกอบ แล้วนำไปทดลองฤทธิ์การยับยั้งเนื้องอกในหนูทดลอง โดยฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู

ผลการทดลองพบว่าสาร Peptidoglycan ทั้ง ๓ ชนิดให้ผลยับยั้งการเกิดเนื้องอกได้ โดยสารนี้จะไปช่วยเสริมกลไกการทำลายเซลล์เนื้องอกด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่น่าสนใจคือการให้ความร้อนแก่นํ้าหมึกที่ ๑๐๐ องศาเซลเซียส นาน ๑๐ นาที ไม่ได้ทำลายฤทธิ์การยับยั้งเนื้องอก




ปลาตีน

ปลาตีนมีชื่อวิทยาศาสตร์ Periophthalmus chysospilos ชื่อวงศ์ GOBIIDA จัดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและเป็นปลากระดูกแข็ง ลักษณะสัณฐานวิทยา คล้ายปลามีปอดที่พบในทวีปแอฟริกา ขนาดลำตัวยาว ๕-๓๐เซนติเมตร มีครีบคู่หน้า หรือครีบอกที่แข็งแรง ซึ่งปลาตีนก็ใช้ครีบอกที่แข็งแรงนี่เองยันตัวไถลหรือกระโดดไปบนพื้นเลน หรือตามผิวหน้าของพื้นน้ำ รวมถึงยันตัวคลานขึ้นต้นไม้ โดยเฉพาะยึดเกาะกับต้นโกงกาง หรือแสม ในป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญ โดยมีการบิดงอโคนหางแล้วดีดออกเหมือนสปริงเป็นตัวช่วยที่ทำให้เคลื่อนไหวไปได้ จึงดูไปคล้ายมันมีเท้าหรือตีนพาตัวเคลื่อนไหนมาไหน

ปลาตีนเพศผู้มีขนาดลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัว มีสีเทาแถบสีน้ำตาลพาด บริเวณหัวและตามตัวมีจุดวาวสีเขียวมรกต ปลายครีบหลังสีขาว สีน้ำตาล สีน้ำเงิน วาวเหมือนมุก

ส่วนเพศเมียสีลำตัวค่อนข้างเหลือง ปลาตีนเมื่ออยู่บนบกจะหายใจผ่านผิวหนังและช่องเหงือก อาหารที่กินเป็นลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก สาหร่ายและซากพืชและสัตว์บนผิวเลน

ปลาตีน มีทั้งหมด ๙ สกุล ๓๘ ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชาย ทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อน ตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก มีความยาวลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร ในชนิด Zappa confluentus จนถึงเกือบ ๑ ฟุต ในชนิด Periophthalmodon schlosseri

ลักษณะพิเศษและพฤติกรรม หัวมีขนาดโต มีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด ดวงตากลอกไปมาได้ จึงใช้มองเห็นได้ดีเมื่อพ้นน้ำ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้โดยใช้ครีบอกที่แข็งแรงไถลตัวไปตามพื้นเลนและกระโดดได้ด้วย ทั้งยังใช้ชีวิตอยู่บนบกได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือกที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้

ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น หากินในเวลาน้ำลด กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กบนพื้นเลน แลดูผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา

ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัว ไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ มันจะสร้างหลุมโดยใช้ปากขุดโคลนมากองบนปากหลุม เรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะกางครีบหลังขู่และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้

แหล่งที่อยู่ในประเทศไทย อาศัยตามป่าชายเลนริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ตราด เรื่อยลงไปถึงปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุดชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล สำหรับปลาตีนชนิดที่พบได้ในประเทศไทย มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น จุมพรวด ตุมพรวด กำพุด กระจัง หรือไอ้จัง เป็นต้น

ปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอๆ โดยคนขายหลอกผู้ซื้อว่าเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาจากต่างประเทศ และตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า เกราะเพชร หรือโฟร์อายส์ เป็นต้น




คางคก

คางคก ภาษาอังกฤษ ใช้ว่า Toad (โท้ด) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bufonidae (บูโฟนิได หรือ บูโฟนิดี)

แบ่งออกเป็น ๓๗ สกุล พบประมาณ ๕๐๐ ชนิด พบกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก ยกเว้นทวีปออสเตรเลียและทวีปแอนตาร์กติกา ในประเทศไทยพบได้หลายชนิด อาทิ จงโคร่ง (Phrynoidis aspera) คางคกบ้าน (Duttaphrynus melanostictus) คางคกห้วยไทย (Ansoia siamensis) คางคกไฟ (Ingerophrynus parvus) เป็นต้น

เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มี ๔ ขา มี ๕ นิ้ว ปลายนิ้วไม่มีเล็บ ตัวอ่อนอยู่ในน้ำหายใจด้วยเหงือก ตัวเต็มวัยอยู่บนบกหายใจด้วยปอด มีหัวใจ ๓ ห้อง ออกไข่ในน้ำ ผิวหนังไม่มีเกล็ด ผิวหนังเปียกชื้น มีต่อมเมือก ผสมพันธุ์ภายนอก มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อการเจริญเติบโต เป็นสัตว์เลือดเย็น

ไม่มีฟันทั้งในขากรรไกรบนและล่าง และถือเป็นเพียงวงศ์เดียวเท่านั้นในอันดับกบที่ไม่มีฟัน ดังนั้นสิ่งพิเศษที่ธรรมชาติให้มาไว้ป้องกันตัวก็คือ พิษที่ผิวหนัง

ผิวหนังของคางคกเป็นตะปุ่มตะป่ำตลอดทั้งตัว ต่อมพิษอยู่ที่เหนือตา เรียกว่า ต่อมพาโรติก ตัวเก็บพิษและขับพิษออกมา เรียกว่า ยางคางคก มีลักษณะเป็นเมือกสีขาวคล้ายน้ำนม

ส่วนประอบของสารพิษ คือ สารบูโฟท็อกซิน มีผลต่อการ กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัว และในส่วนอื่นๆ ของคางคกยังมีพิษอีก ทั้งผิวหนัง เลือด เครื่องใน และไข่
กติคางคกไม่ได้ทำร้ายใครง่ายๆ แต่ที่คนโดนพิษเข้าไปถึงขั้นอันตราย คือมักเชื่อว่ากินแล้วมีกำลังวังชาและรักษาโรคได้ ทั้งที่ความจริงแล้วคางคกไม่มีตัวยาแก้หรือรักษาโรคอะไรเลย เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารจะอันตรายเพราะสารพิษจะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ โดยเพิ่มอัตราการเต้นและแรงบีบของหัวใจ

ทั้งนี้ผู้รับประทานเนื้อคางคกที่มีพิษจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจหอบ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และหากยางคางคกถูกตาจะทำให้เยื่อบุตาและแก้วตาอักเสบได้ ตาพร่ามัว จนถึงขั้นตาบอดได้

สำหรับ "คางคกขึ้นวอ" เป็นสำนวนที่ใช้เปรียบเปรยเพื่อตำหนิคนที่ไม่เจียมตัวชอบโอ้อวด ลำพอง ยโส เพราะคางคกเป็นสัตว์ที่ไม่น่ารัก ออกจะขี้เหร่เอามากๆ เพราะผิวหนังตะปุ่มตะป่ำ ส่วน "วอ" เป็นพาหนะรูปยานที่มีลักษณะเป็นรูปเรือนหลังคาทรงจั่ว ให้เจ้านายหรือข้าราชการฝ่ายในนั่ง แล้วใช้คนหาม

อาจารย์กาญจนา นาคสกุล อธิบายว่า สำนวนค้างคกขึ้นวอ หมายความว่า คนที่ต่ำต้อยได้ขึ้นนั่งบนพาหนะของเจ้านายชั้นสูง มีความที่ละไว้ว่า จึงแสดงท่าโอ้อวด หยิ่งผยอง เป็นคำเปรียบที่ใช้ว่าคนที่มีลักษณะเช่นนั้นให้เห็นว่าให้มีความถ่อมตัว ไม่สุภาพ ไม่น่ารัก ไม่น่าคบ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:01:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2557 16:35:08 »


ปลาจระเข้

ปลาจระเข้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ปลาอัลลิเกเตอร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisosteus spatula อยู่ในวงศ์ Lepisosteidae เป็นปลากินเนื้อน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาการ์ คนส่วนใหญ่เรียกว่า ปลาจระเข้ จากรูปร่างหน้าตาของมัน

โดยเฉพาะลักษณะมีปากคล้ายกับจระเข้รูปร่างกลม ยาวเรียว หัวจะเล็กลง ปากยาว คล้ายจระเข้ ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา มีครีบเล็กใต้ท้อง ๒ ครีบคู่ ใต้ท้องสีขาวบริเวณปลายหาง โคนหางด้านบนจะยาวกว่าโคนหางด้านล่างอย่างเห็นได้ชัด แพนหางกลมแข็งแรงคล้ายพัด มีเกล็ดที่แข็งและสาก ปกคลุมลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนใกล้หางมีครีบใหญ่อีก ๒ ครีบ

เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวถึง ๓ เมตรครึ่ง น้ำหนักถึง ๑๒๗ กิโลกรัมมีอายุยืนยาว

ถิ่นอาศัยเดิมคือแถบลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี รัฐฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา และแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไปจนถึงประเทศเม็กซิโก

ความที่เกล็ดของปลาอัลลิเกเตอร์หนาและแข็ง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนเพชร ทั้งมีสารเหมือนกับสารเคลือบฟันเคลือบอยู่ มีความคม ชนเผ่าอินเดียนแดงของอเมริกาจึงใช้เกล็ดของปลาอัลลิเกเตอร์ทำเป็นหัวลูกศร

สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยคือน้ำจืด อุณหภูมิ ๒๘-๓๐ องศาเซลเซียส ชอบอยู่ในท้องน้ำกว้างๆ กินปลาเล็ก กบ รวมถึงอาหารสดประเภท เนื้อหมู เนื้อปลา

มีอวัยวะที่ช่วยในการหายใจ ทำให้อาศัยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ดี


แม้จะมีหน้าตาคล้ายจระเข้จะทำให้ดูน่ากลัว แต่โดยธรรมชาติแล้วอุปนิสัยของปลาชนิดนี้ ค่อนข้างรักสงบ ไม่ก้าวร้าว เลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงได้ หรือชนิดเดียวกันได้ หลายๆ ตัว

ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยการลอยตัวอยู่บริเวณเหนือผิวน้ำนิ่งๆ เพื่อรอเหยื่อว่ายเข้ามาใกล้จึงจะพุ่งเข้าไปงับเหยื่อ ด้วยความที่ส่วนหัวมีเนื้อยึดติดกับแผ่นเกล็ดที่แข็งเหมือนเกราะติดกับข้อต่อส่วนคอทำให้แลดูส่วนลำคอลาดโค้ง มีแรงงับจำนวนมาก เมื่อจับเหยื่อได้แล้ว กรามจะล็อกแน่นเพื่อไม่ให้เหยื่อดิ้นหลุด หากจับได้แล้วเหยื่อยังไม่ตาย ก็จะรอให้ตายเสียก่อน

แต่ขณะเดียวกันปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ถูกมนุษย์ตกเล่นเป็นเกมกีฬาในถิ่นภาคใต้ของสหรัฐ อีกทั้งเป็นปลาที่มีผู้ซื้อมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ที่มีราคาแพงประมาณหลักหมื่นบาท

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเคยเตือนว่า การพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำของประเทศไทยบ่อยครั้ง ถือเป็นเรื่องน่ากังวลในระบบนิเวศ เพราะปลาชนิดนี้กินเนื้อ กินปลาเล็กเป็นอาหาร เป็นอันตรายกับปลาพื้นเมือง ที่อาจปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้มีจำนวนลดน้อยลง เพราะมีปลานักล่าชนิดใหม่เข้ามา

ดังนั้นผู้ที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ควรตระหนักว่า ไม่ควรปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะอาจส่งผลต่อระบบนิเวศ ถ้าไม่เลี้ยงควรมอบให้กับสวนสัตว์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแล




ปลามังกร

ปลาที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลามังกร มีอีกชื่อว่า ปลาตะพัด หรือ ปลาอะโรวาน่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleropages formosus เป็นปลาน้ำจืดที่ถือได้ว่าสืบเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ปลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง และนับเป็นปลาที่ใกล้ สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไป ทั้งยังเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม

ลักษณะทั่วไป ลำตัวยาว ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวฟ้าเรียงเป็นระเบียบสวยงาม เกล็ดเส้นข้างลำตัวมี ๒๔ ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด ๑ คู่อยู่ใต้คาง ขนาดโตเต็มที่ยาวได้ราว ๙๐ เซนติเมตร หนักได้ถึง ๗ กิโลกรัม อาหารของปลาตะพัด ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก แมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ปลาโตเต็มวัยสามารถโดดงับอาหารได้สูงถึง ๑ เมตร

อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด นิสัยดุ ก้าวร้าว ขี้ตกใจ มักอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ ถ้าอยู่เป็นฝูงก็จะเป็นฝูงเล็กๆ ไม่เกิน ๓-๕ ตัว พบได้ในทุกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในแต่ละแหล่งน้ำก็จะมีสีสันแตกต่างกันออกไป เชื่อว่าเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ เช่น สีทอง สีแดง สีเงิน สีทองอ่อน

จัดเป็นสุดยอดปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมสูงมาโดยตลอด อาจเป็นเพราะรูปร่างสวย มีเกล็ดขนาดใหญ่ มีสีสันแวววาว และมีหนวดลักษณะคล้ายมังกร ที่มาของความเชื่อตามคติจีน ว่าผู้ใดเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วจะร่ำรวยมีโชคลาภ นั่นยิ่งทำให้ได้รับความนิยมยิ่งขึ้น

หากต้องการซื้อปลาชนิดนี้มาเลี้ยง ให้พิจารณา
๑. ส่วนประกอบต่างๆ สมบูรณ์ โดยเฉพาะครีบหลัง
๒. ครีบ กระโดง ครีบก้น และครีบหางต้องแผ่กว้าง ไม่มีรอยตำหนิใดๆ
๓. ลักษณะของการว่ายสง่างามทุกส่วน ครีบกระโดง ครีบหลัง ครีบทวารไม่ลู่หรือหุบขณะว่าย
๔. ลำตัวมีสีเข้ม ริมขอบล่างและบนของลำตัวต้องขนานกันไปเป็นเส้นตรง
๕. รูปทรงของหนวดทั้งคู่ มีลักษณะกลมและพุ่งตรงออกไปข้างหน้า ไม่คดงอ
๖. ดวงตาอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม แจ่มใสไม่มัวหมอง

ปลาชนิดนี้มีนิสัยชอบกัดกันเอง จึงมักเลี้ยงตัวเดียวในตู้กระจกขนาดใหญ่ สถานที่ตั้งตู้ปลาควรอยู่ในที่สงบไม่มีคนรบกวน ให้โดนแสงอ่อนๆ บ้าง เพื่อให้ปลาแข็งแรง และมีสีสันสวยงามขึ้น

แต่ก็ไม่ควรให้โดนแสงแดดมากเกินไป เพราะทำให้ตู้ปลา มีตะไคร่น้ำเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้เลี้ยงจึงนิยมตั้งตู้ปลาบริเวณช่องลม เพื่อให้รับแสงแดดยามเช้า บางครั้งถ้าจำเป็นควรให้แสงสว่างจากหลอดไฟเข้าช่วย

สภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงถือเป็นปัจจัยสำคัญ น้ำที่ใช้เลี้ยงมากที่สุดคือน้ำประปา โดยกักน้ำให้เพียงพอแล้วตั้งทิ้งไว้ ๒  วันให้คลอรีนระเหย และช่วยรักษาความเป็นกรดด่างให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ปัญหาอยู่ตรงที่เมื่อใช้เลี้ยงไปนานวันเข้าระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ปลาเกิดโรคได้ ผู้เลี้ยงควรถ่ายน้ำเมื่อน้ำสกปรก

การให้อาหาร ถ้าปลาขนาดต่ำกว่า ๔-๕ นิ้ว อาหารที่ให้ ควรเป็นหนอนแดง ลูกน้ำ ลูกปลา ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยพอที่กินอาหารสดหรือแมลงตัวเล็กๆ เช่น กุ้งฝอย จิ้งจก แมลงสาบ ตะขาบ เนื้อกุ้งทะเล หมึก เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็ควรให้กิน เพราะว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเพิ่มสีให้เข้มขึ้น การให้ต้องเป็นเวลา เฉลี่ย ๒-๓ ครั้งต่อวัน





ละมั่ง

"อั่งเปา" ละมั่งที่เกิดจากการผสมเทียมตัวแรกของประเทศไทย ผลงานของคณะวิจัยผสมเทียมละมั่ง อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ละมั่งให้จำนวนเพิ่มมากขึ้น

และได้ผลออกมาเป็น "อั่งเปา" ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เป็นเพศเมีย ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง เกิดจากละมั่งสายพันธุ์พม่า อายุตั้งท้องประมาณ ๘ เดือน นับเป็นการทดลองผสมเทียมนำร่องก่อนจะผสมเทียมละมั่งสายพันธุ์ไทย

ทั้งนี้ กระบวนการผสมเทียมเริ่มจากรีดน้ำเชื้อละมั่งตัวผู้ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า บางละมุง จ.ชลบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้วนำมาตรวจสอบคุณภาพความแข็งแรงของน้ำเชื้อและปริมาณอสุจิว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำไปเก็บรักษาในรูปแช่แข็ง ส่วนละมั่งตัวเมียอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต้องคัดเลือกตัวที่พร้อมผสมเทียมเต็มที่ โดยฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในรังไข่ ซึ่งเป็นเทคนิคซับซ้อน และกระตุ้นด้วยฮอร์โมนให้ร่างกายพร้อมปฏิสนธิ โอกาสที่จะผสมเทียมละมั่งได้สำเร็จจึงเป็นเรื่องยาก

โครงการวิจัยผสมเทียมละมั่งมีจุดประสงค์หลักคือ เพาะพันธุ์ละมั่งไทยปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากละมั่งไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยและหายากกว่าละมั่งพม่า คาดว่าละมั่งไทยเหลือเพียง ๒ แห่ง คือที่สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดิน และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า บางละมุง ซึ่งลูกละมั่งที่เกิดจากการผสมพันธุ์ในเครือญาติ ทำให้มีปัญหาสายพันธุกรรมบกพร่อง เพราะอยู่ในภาวะเลือดชิด ลูกละมั่งจะมีร่างกายอ่อนแอ รูปร่างเล็กและติดเชื้อโรคง่าย ทำให้โอกาสรอดชีวิตต่ำ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ในที่สุด ดังนั้น การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ละมั่งไทยจึงต้องเร่งดำเนินการ

เหตุที่ต้องผสมเทียมก็เพราะละมั่งเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน ๑๕ ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มีสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในปัจจุบันละมั่งทั้งสองสายพันธุ์คือสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์พม่า ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากป่าธรรมชาติของประเทศไทย


 สถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าในสังกัดสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสวนสัตว์เอกชนหลายแห่ง สามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ละมั่งสายพันธุ์พม่าในสภาพกรงเลี้ยงจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีจำนวนละมั่งมากพอที่จะนำไปปล่อยกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติต่อไป แต่ในส่วนของละมั่งสายพันธุ์ไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก ทั้งที่สวนสัตว์ดุสิต และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง คาดว่าทั้งสองแห่งมีละมั่งรวมกันไม่เกิน ๕๐ ตัว

นักวิจัยที่มีความสนใจในการอนุรักษ์ละมั่งจึงมีความเห็นตรงกันว่าควรจะขยายพันธุ์ละมั่งสายพันธุ์ไทยโดยการผสมตามธรรมชาติไปก่อนให้มีจำนวนมากพอ จากนั้นค่อยนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการช่วยสืบพันธุ์ต่างๆ เช่น การผสมเทียม การผลิตตัวอ่อน และการย้ายฝากตัวอ่อน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในกรงเลี้ยง

โดยมีแนวคิดในการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนน้ำเชื้อแช่แข็งหรือตัวอ่อนละมั่งสายพันธุ์ไทยจากต่างประเทศมาผสมกับละมั่งสายพันธุ์ไทยในกรงเลี้ยงในประเทศไทยต่อไป

อั่งเปาเป็นละมั่งที่เกิดจากวิธีผสมเทียมตัวแรกของไทย และเป็นตัวที่ ๒ ของโลก ละมั่งตัวแรกที่เกิดจากการผสมเทียมเกิดที่รันมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา เมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว





กวางเรนเดียร์

เรามักพบกวางเรนเดียร์ (reindeer) ในประเทศรายรอบมหาสมุทรอาร์กติก เช่น นอร์เวย์ แคนาดา ไซบีเรีย สวีเดน ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ และรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้เพราะภูมิประเทศแถบนั้น หรือที่เรียกว่าทุนดรา (tundra) นั้น เมื่อถึงหน้าหนาวที่มีหิมะตกนาน ๙ เดือนใน ๑ ปี น้ำในทะเลสาบและแม่น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง ขณะที่ฤดูร้อนมีระยะเวลา ๒-๓ เดือนซึ่งสั้นมาก ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ขึ้น มีแต่ต้นไม้ขนาดเล็กและหญ้ามอสส์เท่านั้นที่ขึ้นได้ และเมื่อถึงหน้าร้อนที่หิมะละลาย ดอกไม้จะเริ่มบาน แมลงจะออกบิน ดวงอาทิตย์จะขึ้นสูงๆ ทุกวัน กลางวันจะนานขึ้นๆ จนในที่สุดดวงอาทิตย์จะยังปรากฏแม้เป็นเวลาเที่ยงคืน แล้วฤดูหนาวก็หวนกลับมาอีก นั่นคือกลางวันจะสั้นลงๆ จนในที่สุดไม่มีกลางวันเลย

นั่นคือสภาพภูมิประเทศที่กวางเรนเดียร์อาศัยอยู่ แต่กวางชนิดนี้เมื่อถึงหน้าหนาวจะพากันอพยพลงใต้ มันจะเดินเป็นขบวนอย่างรู้จุดหมาย โดยให้ตัวเมียเดินนำไปก่อน แล้วอีก ๒-๓ ตัวต่อมา ตัวผู้จะเดินตาม และขณะอพยพศัตรูของมันซึ่งได้แก่สุนัขป่าก็อาจเฝ้าดูอยู่ใกล้ขบวน เพื่อจับกินกวางตัวที่อ่อนแอ หรือพลัดฝูง เวลาอพยพเหล่ากวางจะเดินตามกันอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดเดินแม้เห็นรถไฟกำลังมา รถไฟจึงต้องหยุดให้ฝูงกวางข้ามทางรถไฟไปจนหมด เพราะถ้าไม่หยุด ฝูงกวางก็จะเดินพุ่งชนรถไฟเรื่อยๆ เมื่อฝูงกวางเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อากาศอบอุ่น และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ มันจะเริ่มผสมพันธุ์เพื่อให้ลูกกวางเกิดทันฤดูใบไม้ผลิ

กวางเรนเดียร์ลำตัวสูงประมาณ ๑ เมตร ส่วนกวางคาริบู (caribou) ซึ่งเป็นเรนเดียร์อีกพันธุ์หนึ่ง มีลำตัวสูงกว่าคือประมาณ ๑.๓ เมตร เรนเดียร์ทุกตัวมีคอหนา ลำตัวยาว เท้ามี ๒ กีบเหมือนเท้าวัว เวลายืนบนหิมะกีบทั้งสองจะแยกออกเพื่อรับน้ำหนักตัวไม่ให้จมลงในหิมะ และกวางมักใช้กีบที่คมนี้คุ้ยเขี่ยหาอาหารที่ฝังอยู่ใต้หิมะ ตามปกติกวางจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ในหน้าร้อน ซึ่งเป็นเวลาที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ และเมื่อถึงหน้าหนาวซึ่งเป็นเวลาที่อาหารขาดแคลน กวางจะผอม

กวางเรนเดียร์ตามปกติเปลี่ยนสีขน ในหน้าร้อนขนที่ขึ้นดกตามตัวจะมีสีน้ำตาล ขนคอและขนท้องสีขาว แต่เมื่อถึงหน้าหนาว ขนตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทา เพื่อให้เข้ากับสีของหิมะที่กำลังจะตก ชาวเอสกิโมและชาวแลปป์มักใช้ขนกวางทอเป็นเสื้อกันหนาว เป็นผ้าห่ม ส่วนหนังกวางนิยมใช้ทำเต๊นท์ที่มีลักษณะเหมือนกระโจมอินเดียนแดง เพราะหนังกวางทนพายุหิมะที่พัดไม่รุนแรงนักได้ นอกจากนี้ นมกวางก็ดื่มได้ด้วย

ชาวแลปป์เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นสัตว์เลี้ยง เชื่อกันว่าจำนวนกวางคือดัชนีชี้บอกฐานะของเจ้าของ เช่น ใครมีกวางน้อยกว่า ๒๕ ตัว คนนั้นยากจน เขาจึงอาจต้องนำกวางไปฝากเลี้ยงกับคนที่ร่ำรวยกว่า แล้วรับจ้างเป็นผู้ดูแลกวางทั้งฝูงให้ และเพื่อให้รู้ว่ากวางตัวใดเป็นของตนก็ใช้วิธีทำเครื่องหมายที่หูของกวางตัวนั้นๆ หน้าที่หลักหนึ่งของกวางเรนเดียร์คือลากเลื่อน เพราะความแข็งแรงและทนกับสภาพอากาศ โดยหากเป็นการเดินทางระยะสั้นความเร็วในการเดินอาจอยู่ที่ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการเดินทางไกล กวางอาจเดินได้ไกล ๑๖๐ กิโลเมตรในหนึ่งวัน

กวางเรนเดียร์ไม่ชอบต่อสู้กับสัตว์อื่น แต่ชอบต่อสู้กันเองเวลาแย่งตัวเมีย กวางตัวผู้ที่มีเขาสวยจะขวิดจะชนกันจนตัวหนึ่งชนะ แล้วมันก็จะสร้างฮาเร็มที่มีตัวเมียหลายตัวเป็นสมาชิก แต่ถ้าการต่อสู้ไม่ยุติมันก็จะสู้กันไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดกินอาหาร จนบางครั้งเขากวางพันกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ ที่สุดมันจะอดอาหารตายทั้งคู่

ส่วนกวางเรนเดียร์ของซานตาคลอส เป็นนิทานจินตนาการ




กระทิง

กระทิง ภาษาอังกฤษเรียก Gaur (กาวเออร์) หรือบางทีเรียกว่า Indian bison (อินเดียน ไบซัน) สถานะในประเทศไทย เป็น สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๒ พบเพียงที่เดียวคือ เขาแผงม้า ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

สถานะในสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในระดับ CR (Critically Endangered) หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติ

กระทิงมีรูปร่างคล้ายวัว ขนยาว ตัวสีดำหรือดำแกมน้ำตาล เว้นแต่ที่ตรงหน้าผากและครึ่งล่างของขาทั้ง ๔ เป็นสีขาวเทาๆ หรือเหลืองอย่างสีทอง เรียกว่า หน้าโพ สันกลางหลังสูง ขาทั้ง ๔ ข้างตั้งแต่เหนือเข่าลงไปถึงกีบเท้ามีสีขาวเทาหรือเหลืองทอง ทำให้มองดูเหมือนสวมถุงเท้า

สีขนของกระทิง บริเวณหน้าผากและถุงเท้าเกิดจากคราบน้ำมันในเหงื่อ ใต้ผิวหนังมีต่อมน้ำมัน ซึ่งน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ชนิดนี้ คอสั้น และมีพืม (เหนียงคอ) ห้อยยาวลงมาจากใต้คอ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาโค้ง เขามีสีเขียวเข้ม ปลายเขามีสีดำ บริเวณโคนเขามีรอยย่น ซึ่งรอยนี้จะมีมากขึ้นเมื่อสูงวัยขึ้น

กระทิงเป็นวัวป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่ยิ่งกว่าควายป่าเอเชีย และควายป่าแอฟริกัน จะเล็กกว่าก็แค่ช้าง แรด และฮิปโปเท่านั้น เมื่อเทียบกับสัตว์บกด้วยกัน

ความสูงจากพื้นถึงไหล่ อาจถึง ๒๒๐ ซ.ม. แต่ความสูงเฉลี่ยของกระทิงตัวผู้ คือ ๑๘๐-๑๙๐ ซ.ม. โดยตัวเมียจะเตี้ยกว่าประมาณ ๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัวของตัวผู้ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ กิโลกรัม ตัวเมีย ๗๐๐-๑,๐๐๐ กิโลกรัม ทั่วเรือนร่างเต็มไปด้วยมัดกล้ามเห็นได้ชัด

การกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของจีน อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เนปาล พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย

กระทิงในป่าเมืองไทยจำแนกได้ ๒ สายพันธุ์ย่อย คือ Bos gaurus readei เป็นสายพันธุ์ที่พบทางป่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนืออีกสายพันธุ์หนึ่งคือ Bos gaurus hubbachi พบทางภาคใต้และเทือกเขาตะนาวศรี

มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีสมาชิกตั้งแต่ ๒-๖๐ ตัว สมาชิกในฝูงประกอบด้วยตัวเมียและลูก บางครั้งอาจเข้าไปหากินรวมฝูงกับวัวแดง หรือสัตว์กินพืชชนิดอื่น

กระทิงโทนจะอาศัยอยู่ตามลำพัง แต่จะเข้าไปอยู่รวมฝูง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ฝูงกระทิงจะเดินหากิน สลับไปกับการนอนหลับพักผ่อนตลอดทั้งวัน บางตัวจะนอนหลับ ท่ายืนหรือนอนราบกับพื้น

อาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่าและหลายความสูง ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา หรือบางครั้งอาจเข้าไปหากินอยู่ตามไร่ร้าง หรือป่าที่อยู่ในสภาพฟื้นฟูจากการทำลาย มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำมากนัก เนื่องจากอดน้ำไม่ได้นาน

เนื่องจากเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงพลัง กระทิงจึงมีศัตรูในธรรมชาติน้อย เสือดาวและฝูงหมาในจะล่ากินเฉพาะลูกกระทิง มีเพียงเสือโคร่งและจระเข้ใหญ่เท่านั้น ที่แข็งแรงพอจะล้มกระทิงโต เต็มที่ได้

กระทิงในป่าเขาใหญ่อยู่ในบริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เคยเกิดปัญหากับคน ทั้งการเข้าไปกินพืชไร่ให้เสียหาย และตกเป็นฝ่ายถูกพรานไล่ล่าชีวิต เพื่อเอาเนื้อ

ข่าวใหญ่เมื่อกลางเดือนกันยายน ๒๕๕๔ มีกระทิง ชื่อ "กางชัย" เพศผู้ วัย ๒๖  ปี ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลกระทิงเขาแผงม้า ถูกยิงบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา ที่บริเวณไหล่เขาลุงชะลอ ต.วังน้ำเขียว เมื่อกลางเดือนกันยายน ๒๕๕๔  เป็นกระทิงตัว ที่ ๗ ที่ถูกฆ่านับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี ๒๕๕๑

กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยประสานงานกับสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗ นครราชสีมา ประกาศเป็น "เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า" เพื่อพัฒนาและสร้างแหล่งอาหารเพิ่มเติม ไม่ให้กระทิงออกไปหาอาหารในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน จนต้องถูกล่าหรือติดกับดักสัตว์





ควายปลัก – ควายแม่น้ำ

ควาย หรือราชการเรียก กระบือ จัดอยู่ในไฟลั่มสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับงานเกษตรกรรมของประเทศแถบเอเชียมากที่สุด ชาวนาเลี้ยงควายเพื่อใช้เป็นแรงงานไถนา เป็นพาหนะเข้าไปทำไร่ทำนา รวมถึงกินเนื้อ

สายพันธุ์ควายแยกได้เป็นสองกลุ่ม คือ ควายป่ากับควายบ้าน และควายบ้านนั้นก็แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ ควายปลัก (Swamp buffalo) หรือที่ต่างประเทศใช้ศัพท์ วอเตอร์ บัฟฟาโล -Water buffalo เรียกควายที่เลี้ยงทั่วไปในทุ่งน้ำเอเชีย กับควายแม่น้ำ (River buffalo)

ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน Bubalus bubalis แต่มีความแตกต่างกันทางสรีระรูปร่างอย่างเห็นได้ชัดเจน

จากการศึกษาทางด้านชีวภาพโมเลกุลพบว่า ควายปลักมีจำนวนโครโมโซม ๒๔ คู่ ส่วนควายแม่น้ำมีจำนวนโครโมโซม ๒๔ คู่ แต่ควายทั้งสองชนิดนี้ผสมข้ามพันธุ์ได้

ควายปลักเลี้ยงกันในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว เลี้ยงไว้ใช้แรงงานใน ไร่นา และเมื่ออายุมากขึ้นก็ส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อนำเนื้อเป็นอาหาร ชอบนอนแช่ปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ หรืออาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบบโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบบราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน

ควายแม่น้ำเลี้ยงกันในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก ให้นมมากจึงเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่ชอบน้ำสะอาด มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูราห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอร์ เรเนียน เป็นต้น มีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิด ม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่

สำหรับในประเทศไทย มีควายอยู่กลุ่มหนึ่งที่อยู่ในทุ่งพรุทะเลน้อย จ.พัทลุง (ส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา) ถูกเข้าใจว่าเป็นควายน้ำ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นชนิดควายปลัก โดยชาวบ้านทะเลน้อยนำควายมาเลี้ยงในพื้นที่นี้นานกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว ปล่อยออกไปกินหญ้าเองตามทุ่งหญ้าขนาดใหญ่เหมือนชาวบ้านในพื้นที่อื่น แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของทะเลน้อยทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งหากินของควายต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเป็นเวลา ๕ เดือนใน ๑ ปี ส่งผลให้ควายต้องปรับตัวด้วยการว่ายน้ำเป็นระยะทางไกล เพื่อดำน้ำลงไปกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำ บางตัวดำได้นานจะมุดหัวลงน้ำ เท้าหลังชี้ขึ้นฟ้า กินหญ้าน้ำได้คราวละหลายนาที ส่วนลูกควายตัวเล็กจะดำลงไปทั้งตัว เป็นภาพที่ชาวทะเลน้อยเห็นชินตามาหลายชั่วอายุคน จนเรียกขานควายในทะเลน้อยว่า ควายน้ำ ตามลักษณะการหากิน

ควายทะเลน้อยเคยถูกผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ จ.พัทลุง และใกล้เคียงหลายครั้ง โดยระดับน้ำในทะเลน้อยสูงขึ้นมากจนควายน้ำไม่มีที่หยั่งเท้า ต้องว่ายน้ำเป็นเวลานานจนหมดแรงจมน้ำตายในที่สุด นอกจากนี้ หลังจากมีการส่งเสริมให้ทำสวนปาล์มน้ำมัน เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของนายทุนเพื่อทำสวนปาล์ม พื้นที่หากินของควายน้ำก็ลดลงตาม ทั้งยังมีน้ำเสียที่ไหลสู่ทะเลสาบ ทำให้หญ้าที่เป็นอาหารควายมีสารเจือปนมาก

ปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่ของควายน้ำเริ่มกลับมาเป็นปกติ เพราะปัญหามลพิษได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง ทั้งยังเป็นหนึ่งในดาราชูโรงการท่องเที่ยวทะเลน้อยพัทลุง





เต่ารัศมีดารา

เต่ากระดองสวยๆ เหมือนแฉกดาว มีชื่อว่า เต่ารัศมีดารา ภาษาอังกฤษเรียก เรดิเอเต็ด ทอร์เทิส Radiated tortoise มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Astrochelys radiata แอสโตเคลีส ราเดียต้า บางทีอ่านว่า เรดิเอต้า   เป็นเต่าบกชนิดหนึ่งมีกระดองที่มีสีสวยโดยเฉพาะในวัยเล็ก คล้ายกับเต่าในสกุล Geochelone ที่เคยอยู่ร่วมสกุลเดียวกันมาก่อน แต่มีลวดลายที่ละเอียดกว่ามากเหมือนกับลายของ "ดาว" โดยเฉพาะในตัวที่มีสีเหลืองมาก จะเรียกว่า ไฮเยลโล่

มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศมาดากัสการ์บริเวณตอนใต้ ทวีปแอฟริกา ในสภาพที่เป็นทะเลทราย ส่วนใหญ่พบอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง แต่ก็เป็นเต่าที่ชอบความเย็นและความชื้นพอสมควร เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยมีสภาพฝนตกชุกอยู่ด้วย

เต่าชนิดนี้กินผักและผลไม้หลากชนิด และต้นกระบองเพชร (Opuntia cactus) เป็นอาหารโปรด ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ วางไข่ในหลุมที่ตัวเมียเป็นฝ่ายขุดประมาณ ๗-๙ ฟอง แล้วเว้นช่วงไป จากนั้นก็จะขุดหลุมใหม่เพื่อวางไข่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าไข่จะหมด ใช้เวลาฟักประมาณ ๒๐๐ วัน ซึ่งไข่จะฟักเป็นตัวเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

สนพ.เกษตร สุเตชะ หน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ชื่อ เต่ารัศมีดารา หรือเต่าลายรัศมี เป็นชื่อทางการค้า ลักษณะเด่นของเต่ารัศมีดารา คือมีกระดองโค้งมนเป็นรูปโดมชัดเจน พื้นกระดองสีดำ มีลายแฉกสีเหลืองตรงกลาง คล้ายกับธงชาติญี่ปุ่นในอดีต  ส่วนผิวหนังมีสีเหลืองสลับดำ เมื่อโตเต็มวัยจะหนัก ๗๐๐-๑,๐๐๐ กรัม ขนาดกระดองตั้งแต่หัวจรดหางยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว เป็นเต่าที่สืบพันธุ์ช้า ปีหนึ่งจะวางไข่เพียง ๑ ครั้ง  แม้จะมีความพยายามเพาะพันธุ์ในกรงให้วางไข่ได้ปีละ ๒ ครั้ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนมีลูกเต่าเหลือรอดน้อย และต้นทุนในการเพาะพันธุ์ค่อนข้างสูง

ความสวยและมีจำกัด เพราะเต่าพื้นเมืองเป็นสัตว์เลี้ยงดั้งเดิมของชาวมาดากัสการ์ ทั่วโลกจะพบได้เฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น ทำให้เกิดความต้องการ มีแรงซื้อจากบรรดาผู้อ้างตัวว่าชอบสะสมสัตว์แปลกๆ หายาก โดยมีแก๊งค้าสัตว์ป่าลักลอบนำเต่ารัศมีดาราออกขายในหลายประเทศ จนอัตราการจับสูงกว่าอัตราการเกิด  เต่ารัศมีดาราจึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และถูกจัดอยู่ในอนุสัญญาไซเตส บัญชีแนบท้ายที่ ๑ หมายถึงเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด

ในประเทศไทยมีการลักลอบนำเต่าชนิดนี้มาขายตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน โดยซื้อขายกันในราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเต่าชนิดอื่นๆ ผู้ที่ซื้อไปแล้วหากเลี้ยงดูไม่ดี ไม่ใส่ใจเพียงพอ อาจติดโรคที่มากับเต่า อาทิ ท้องเสียรุนแรง หรือพยาธิทางเดินอาหาร

เต่ารัศมีดาราที่มีอายุยืนที่สุดในบันทึกของมนุษย์ ชื่อ ทูอี้ มาไลลา อายุ ๑๘๘ ปี โดยเกิดปี ค.ศ.๑๗๗๗ และตายวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๑๙๖๕ เป็นเต่าที่ราชวงศ์ของตองกา มอบให้กัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ โดยในช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรเสด็จเยือนตองกาในปี ค.ศ.๑๙๕๓ เต่าตัวนี้เป็นสัตว์ตัวแรกๆ ที่ควีนทอดพระเนตร


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:05:42 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2557 12:40:22 »

.


จิ้งหรีด

ไขปริศนาเสียงของจิ้งหรีด ซึ่งเป็นเสียงที่แสดงพฤติกรรม แยกออกได้เป็น ๔ ลักษณะ ได้แก่
๑. กริก...กริก...กริก...นานๆ อยู่โดดเดี่ยว ต้อง การหาคู่ หรือหลงบ้านบางครั้งพเนจรร้องไปเรื่อยๆ  
๒. กริก..กริก...กริก...เบาๆ และถี่ติดต่อกัน ต้องการผสมพันธุ์  
๓. กริก...กริก...กริก...ยาวดังๆ ๒-๓ ครั้ง โกรธหรือแย่งความเป็นเจ้าของ...และ
๔. กริก...กริก..กริก...ลากเสียงยาวๆ ประกาศอาณาเขตหาที่อยู่ได้แล้ว

จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีลักษณะปากเป็นแบบปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรง เพศเมียปีกเรียวและมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง เพศผู้มีปีกคู่หน้าย่น ทำเสียงได้ จิ้งหรีดพบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะเขตร้อนอย่างประเทศไทย อาหารคือต้นกล้า หรือใบ หรือส่วนที่อ่อนๆ ของพืช จิ้งหรีดมีหลายชนิด หลายขนาด ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่นและสังเกตได้ง่ายคือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ

จิ้งหรีดที่พบในประเทศไทย มี ๕ ชนิด คือ
๑. จิ้งหรีดดำ ลำตัวกว้างประมาณ ๐.๗๐ ซ.ม. ยาวประมาณ ๓ ซ.ม. ตามธรรมชาติมี ๓ สี คือ สีดำ สีทอง สีอำพัน  ลักษณะเด่นชัดคือจะมีจุดสีเหลืองที่โคนปีก๒ จุด  
๒. จิ้งหรีดทองแดง ลำตัวกว้าง ๐.๖๐ ซ.ม. ยาวประมาณ ๓ ซ.ม. สีน้ำตาล เพศผู้มีสีเข้มกว่าเพศเมีย ส่วนหัวเหนือขอบตารวมด้านบนแต่ละด้านมีแถบสีเหลือง มองดูคล้ายหมวกแก๊ป มีความว่องไวมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกจิ้งหรีดนี้เป็นภาษาถิ่นว่า จินาย อิเจ๊ก จิ้งหรีดม้า
๓. จิ้งหรีดเล็ก มีขนาดเล็กที่สุด สีน้ำตาล บางท้องที่เรียกว่า จิลอ จิ้งหรีดผี แอ้ด ลักษณะคล้ายจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง แต่มีขนาดเล็กประมาณหนึ่งในสามของจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง  
๔. จิ้งโกร่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ สีน้ำตาล ลำตัวกว้างประมาณ ๑ ซ.ม. ยาวประมาณ ๓.๕๐ ซ.ม. ชอบอยู่ในรูลึก โดยขุดดินสร้างรังอาศัยได้เอง และพฤติกรรมชอบอพยพย้ายที่อยู่เสมอ มีชื่อเรียกอื่น เช่น จิโปม จิ้งกุ่ง และ ๕.จิ้งหรีดทองแดงลาย มี ๒ ชนิด คือ ชนิดที่มีปีกครึ่งตัว และชนิดที่มีปีกยาวเหมือนจิ้งหรีดทั่วไป ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวกว้างประมาณ ๐.๕๓ ซ.ม. ยาวประมาณ ๒.๐๕ ซ.ม. ตัวเต็มวัยเหมือนพันธุ์ทองแดงแต่เล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง

เมื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยประมาณ ๓-๔ วัน จิ้งหรีดจะเริ่มผสมพันธุ์ ตัวผู้จะส่งเสียงเรียกหาตัวเมีย ให้ตัวเมียเข้ามาอยู่ใกล้ๆ จิ้งหรีดจะอาศัยเสียงร้อง เนื่องจากสายตาไม่ดี ส่วนหนวดก็รับการสัมผัสไม่ค่อยดี สังเกตได้เมื่อตัวเมียเกาะอยู่นิ่งๆ ตัวผู้จะผ่านไปทั้งๆ ที่อยู่ใกล้ เมื่อพบตัวเมียแล้วเสียงร้องจะเบาลงเป็นจังหวะสั้นๆ กริก...กริก...กริก...ตามด้วยการถอยหลังเพื่อให้ตัวเมียขึ้นคร่อมรับการผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ๓-๔ วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่โดยใช้อวัยวะที่ยาวแหลมคล้ายเข็มความยาวประมาณ ๑.๕๐ ซ.ม. แทงลงไปในดินลึก ๑-๑.๕๐ ซ.ม. และวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๔ ฟอง ตัวเมีย ๑ ตัว วางไข่ได้ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ ฟอง

จิ้งหรีดถือเป็นแมลงที่เป็นศัตรูพืชอย่างหนึ่ง แต่ก็มีความเกี่ยวพันธุ์กับมนุษย์ในแง่ที่เป็นสัตว์เลี้ยงด้วย ในหลายวัฒนธรรม หลายประเทศ เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อฟังเสียงร้อง และเลี้ยงไว้สำหรับใช้เล่นต่อสู้กัดกัน เช่นเดียวกับด้วงกว่าง นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร และใช้เป็นอาหารสัตว์ จึงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงจิ้งหรีดในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ โดยเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์




อีกา

อีกา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Jungle crow, Large-billed crow ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corvus macrorhynchos การกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างในเอเชีย ปรับตัวเก่ง กินอาหารได้หลากหลาย ทำให้ขยายไปยังพื้นที่ใหม่ได้ง่าย บางครั้งจึงถูกมองว่าเป็นนกที่ก่อความรำคาญ

อีกามี ๓ ชนิดย่อย คือ Corvus (m.) levaillantii - อีกาตะวันออก ตามด้วย Corvus (m.) culminatus อีกาอินเดีย และ Corvus (m.) japonensis อีกาปากใหญ่

ขนาดโดยทั่ว ไปยาวประมาณ ๔๖-๕๙ เซนติเมตร ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เกาะคูริล และคาบสมุทร ซาฮาลิน จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่านกกากินซาก

ในขณะที่ชนิดย่อยจากอินเดียในทางตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดเล็กกว่านกกากินซาก แต่ทุกชนิดย่อยมีปากค่อนข้างยาว หนาและปากบนโค้งลง ให้ดูเหมือนนกเรเวนขนาดใหญ่ มีขนสีเทาเข้ม จากด้านหลังของหัว คอ ไหล่ และส่วนล่าง ปีก หาง หน้าและลำคอเป็นดำเงา ชนิดย่อยในอินเดียจะมีสีดำที่สุด

การกระจายพันธุ์ของอีกาเริ่มจากชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่อัฟกานิสถานและทางตะวันออกของอิหร่านในทิศตะวันตก ทิศใต้ถึงอินเดียและลงไปยังคาบสมุทรมาเลเซียในทิศตะวันออกเฉียงใต้

เป็นนกที่กินง่าย ตั้งแต่พื้นยันต้นไม้ อะไรๆ ก็กินได้หมด ทั้งพืช สัตว์ ทั้งที่เป็นๆ และตายแล้ว ในญี่ปุ่น ถึงขั้นชอบกินไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ส่วนในศรีลังกา กินสัตว์เล็กๆ อย่างกิ้งก่าบางพันธุ์เป็นกิ้งก่าพันธุ์หายากเสียด้วย จึงทำให้อุทยานต้องหาทางไล่อีกา

สำหรับไทย ข้อมูลจาก ?อีกา ปราชญ์แห่งวิหค หรือนกเจ้าเล่ห์? โดย นริทธิ์ สีตสุวรรณ ระบุว่า อีกาเป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อยทั่วประเทศ จากที่ราบไปจนถึงบนภูเขาสูง ทั้งตามทุ่งโล่ง พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ ป่าชายเลน หรือตามชายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีชุมชนอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตามชนบท หรือในเมือง ทั้งยังปรับตัวเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับคนได้ดีด้วย เพราะกินอาหารได้หลายอย่าง

ได้ชื่อว่าเฉลียวฉลาดมาก รู้จักจดจำ และลอกเลียนพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นนกที่มีความคล่องแคล่วว่องไว ค่อนข้างก้าวร้าว และมีความกล้าขนาดเข้ามาแย่งอาหารจากมนุษย์ได้ในบางครั้ง รวมถึงอาหารแห้งที่ชาวบ้านตากไว้นอกบ้าน  จึงเป็นนกที่ชาวบ้านในชนบทไม่ค่อยชอบ และมักขับไล่ให้ไปไกลๆ จนกระทั่งเป็นที่มาของ หุ่นไล่กา ที่เห็นตามท้องนา เพราะอีกาชอบลงมากินเมล็ดพืช หรือต้นกล้าที่หว่านปลูกเอาไว้

กาแทบทุกชนิดจะมีพฤติกรรมสะสมอาหารเอาไว้ในยามขาดแคลน บางชนิดขุดหลุม เอาอาหารแห้ง เช่น ลูกนัท ถั่ว แม้กระทั่งเศษเนื้อ ใส่ลงหลุม กลบด้วยดิน หรือเศษใบไม้ กิ่งไม้ กาบางชนิดก็แสดงแค่เพียงเอาอาหารไปซุกไว้ตามกิ่งไม้ ใบหญ้า

พฤติกรรมกินแหลกของมัน รวมถึงความดำเมื่อมของมัน ทำให้อีกามักถูกมองในด้านลบ เช่น น่ากลัว เป็นสัญลักษณ์โชคร้าย และใช้เป็นคำเยาะเย้ย เช่น แต่งตัวอย่างกับอีกาคาบพริก ดำอย่างกับอีกา หรือกาในฝูงหงส์ เป็นต้น

ยุคนี้จะเรียกว่าอีกาโดนเหยียดผิวคงจะได้





นกพิราบสื่อสาร

นกพิราบสื่อสาร (Homing pigeon) เป็นนกพิราบเลี้ยงที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Columba livia และด้วยคุณสมบัติเป็นนกที่มีสัญชาตญาณในการจำทิศทางบินกลับถิ่นกำเนิด (รังเกิด) ของตน และจำแหล่งที่เคยกินน้ำและเมล็ดธัญพืชได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งยังบินได้เป็นระยะทางไกลๆ โดยไม่ต้องหยุดพักระหว่างทาง จึงทำให้มีผู้สนใจศึกษาจนสามารถปรับแต่งพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยการคัดเลือกพันธุ์เลี้ยง บำรุงและฝึกฝนเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยส่งข่าวสารกลับไปยังตำแหน่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้

ดังนั้น นกพิราบที่จะใช้ส่งข่าวสารจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกหัดเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุถึงเกณฑ์ก่อนที่จะนำไปใช้ในการทำงาน เช่น ใช้ให้นำจดหมายกลับบ้าน หรือส่งข้อมูลกลับเมื่อเจ้าของนำนกติดตัวไปทำธุรกิจที่อื่น แม้กระทั่งสามารถนำส่งข่าวสารสำคัญกลับไปยังหน่วยบัญชาการทางทหาร เป็นต้น สืบเนื่องจากการพัฒนากิจกรรมดังกล่าวนี้จึงได้มีกลุ่มผู้เลี้ยงนกพิราบต่างๆ และสมาคมนกพิราบสื่อสารจัดให้มีการแข่งขันนกพิราบเพื่อชิงรางวัลอยู่เสมอ

มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้ริเริ่มใช้นกพิราบในการสื่อสารและกีฬาแข่งนก ซึ่งต่อมาเป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มชาวกรีกและโรมัน และได้แพร่หลายไปจนถึงประเทศย่านตะวันออกกลาง กิจกรรมการฝึกนกพิราบเพื่อใช้ประโยชน์ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่นิยมกันถึงขั้นจัดตั้งขึ้นเป็นกิจการนกพิราบไปรษณีย์ (regular pigeon-post) ขึ้นในประเทศกลุ่มทวีปยุโรป รวมทั้งฝึกเพื่อนำไปสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร

อย่างไรก็ตาม ต่อมากิจการนกพิราบไปรษณีย์ก็มีอันต้องยกเลิก เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารดีขึ้น การใช้นกพิราบไปรษณีย์เริ่มลดความต้องการลงเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญในกรุงปารีส ใน ค.ศ.๑๘๗๐-๑๘๗๑ ที่ข่าวสารทางราชการจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ ฉบับ และของเอกชนอีกจำนวนล้านฉบับถูกเปลี่ยนไปส่งแบบใหม่ สืบเนื่องจากการมีนโยบายเปลี่ยนสภาพข้าราชการที่ว่างงานให้ไปรับตำแหน่งบุรุษไปรษณีย์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบุรุษไปรษณีย์

ขณะที่ด้านการสงคราม นกพิราบสื่อสารมีส่วนร่วมในสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง อย่างในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ช่วง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕ มีการทิ้งร่มส่งนกพิราบสื่อสารจำนวนเกือบ ๑๗,๐๐๐ ตัว ให้กับทหารหน่วยใต้ดินที่ต่อต้านการยึดครองของเยอรมัน ซึ่งมีนกจำนวน ๒,๐๐๐ ตัว บินกลับออกมาได้อย่างปลอดภัย

นกพิราบสื่อสารยังช่วยนักบินจำนวนมากให้รอดพ้นอันตราย โดยพวกเขานำนกพิราบติดตัวไปแล้วใช้นำข่าวสารหรือนำสัญญาณขอความช่วยเหลือ (SOS) มายังหน่วยกู้ภัยในกรณีที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุพุ่งตกลงทะเล

จากเหตุการณ์นั้น ในสมัยสงครามโลกรูปนกพิราบสีขาวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ อันหมายถึงความสงบ ปลอดภัยและสันติสุขของมวลประชาชาติ ทั้งนกพิราบยังหมายถึงผู้นำชัยชนะ ดังจะเห็นว่ามีการปล่อยนกพิราบทุกครั้งในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬานัดสำคัญๆ ของทุกประเทศ

ผลสืบเนื่องจากการศึกษาค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานกองทัพอเมริกัน อังกฤษและเบลเยียม และบรรดานักเพาะเลี้ยงภาคเอกชน เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีของนกพิราบสื่อสาร ก่อให้เกิดสายพันธุ์นกพิราบลูกผสมแบบใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีรูปร่าง สีสันแปลกๆ จัดเป็นประเภทของนกพิราบแฟนซีสวยงามเป็นที่นิยมในวงการ

ส่วนผลโดยตรงจากการคัดเลือกพันธุ์แล้วฝึกเพื่อจัดเตรียมให้ได้นกพิราบสื่อสารที่ดีตามเป้าหมาย ได้เกิดกิจกรรมของนกพิราบแข่งตามเป้าหมายและความนิยม เช่น ประเภทระยะทาง ความเร็ว ทิศทาง เป็นต้น มีส่วนช่วยให้นักเพาะเลี้ยงทำเงินรายได้จำนวนมากอีกทางหนึ่ง

แม้ปัจจุบันนกพิราบสื่อสารจะหมดความจำเป็น แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคลผู้นิยมเลี้ยงนกพิราบและจัดตั้งเป็นสมาคมและสหพันธ์กีฬาแข่งนกพิราบอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจัดการแข่งขันกันอยู่เสมอ นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้มีการอนุรักษ์นกพิราบสายพันธุ์ดีมีสมรรถภาพในการบินสูง ซึ่งอาจมีความจำเป็นใช้ประโยชน์อีกก็ได้ในอนาคต





ละมั่ง  
ละมั่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า เอลด์ เดียร์ ตั้งชื่อตาม ร้อยโทเพอร์ซี เอลด์ เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษที่ไปพบกวางชนิดนี้ครั้งแรกในเมืองมณีปุระ ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งตามมาในปี ๒๓๘๗ ว่า Rucervus eldii ต่อมาเปลี่ยนเป็น Panolia eldii นอกจากนี้ยังมีชื่อทั่วไปว่า ตามิน (thamin) และ brow-antlered deer

ละมั่งเป็นกวางขนาดกลาง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ ตัวผู้มีเขาสวยเรียกว่า ละองส่วนตัวเมียเรียก ละมั่ง แต่มักเรียกรวมกันว่า ละองละมั่ง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง แต่สีขนจะอ่อนลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ขนหยาบและยาว ในฤดูหนาวขนจะยาวมาก แต่จะร่วงหล่นจนดูสั้นลงมากในช่วงฤดูร้อน แบ่งออกเป็น ๓ ชนิดย่อย ได้แก่
๑. พันธุ์ไทย หรือ สยาม (R. e. siamensis) เขาจะโค้งขึ้น กางออกแล้วโค้งไปข้างหน้าคล้ายตะขอ ปลายเขาจะแตกออกเป็นแขนงเล็กๆ กระจายพันธุ์อยู่ที่ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันนี้มีฝูงใหญ่ที่สุดที่สวนสัตว์ดุสิต
๒.พันธุ์พม่า หรือ ตามิน ในภาษาพม่า (R. e. thamin) มีหน้าตาคล้ายพันธุ์ไทย แต่สีขนจะออกสีน้ำตาลเหลือง กิ่งปลายเขาจะไม่แตกแขนงเท่าละองละมั่งพันธุ์ไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ที่ตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับพม่า แถบเทือกเขาตะนาวศรี
๓.พันธุ์มณีปุระ (R.e. eldii) พบในรัฐมณีปุระ ทางตะวันออกของอินเดียติดกับพม่า

ในประเทศไทยพบได้อยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ ละมั่งพันธุ์ไทย และละมั่งพันธุ์พม่า ติดบัญชี ๑ ใน ๑๕ สัตว์ป่าสงวนของไทยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่เหลือในป่ามานานแล้ว จากการล่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า

ข้อจำกัดในการขยายพันธุ์ละมั่งตามวิธีธรรมชาติ คือ ได้ต้นพันธุ์ที่มีปัญหาการผสมเลือดชิด ทำให้ได้ละมั่งที่ไม่แข็งแรง จึงต้องคิดเทคโนโลยีเพื่อหาสายพันธุ์ที่สมบูรณ์



เปรียบเทียบกวางบึง ละอง และสมัน

เมื่อปี ๒๕๕๔ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลิตลูกละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยขององค์การสวนสัตว์ และทีมวิจัยด้านสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาการอนุรักษ์สมิธโซเนียน และนักวิจัยสถาบันเอจีรี นิวซีแลนด์

เริ่มจากผลิตตัวอ่อนละมั่งสายพันธุ์พม่า ซึ่งนำเชื้อตัวพ่อมาจากสวนสัตว์นครราชสีมา ในปี ๒๕๕๓ แต่ไม่สำเร็จ จึงเริ่มทำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ โดยผลิตตัวอ่อนนอกร่างกายฝากกับแม่พันธุ์ ๘ ตัว

ตัวอ่อนที่ไปฝากครรภ์ได้ติดในท้องของแม่อุ้มบุญ ๑ ตัว และตกลูกออกมาเองเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ถือเป็นลูกละมั่งเพศเมียหลอดแก้วตัวแรกของโลก

ละมั่งจะอาศัยและหากินในทุ่งหญ้าโปร่ง อยู่ในป่ารกชัฏไม่ได้ เนื่องจากเขาจะไปติดกับกิ่งไม้เหมือนสมัน อาหารหลักได้แก่ หญ้า ยอดไม้ และผลไม้ป่าต่างๆ

ประชากรละมั่ง ตามข้อมูลเสิบปีก่อน (ปี ๒๕๔๖) ระบุว่าในสวนสัตว์ พันธุ์มณีปุระเหลือ ๑๘๐ ตัว พันธุ์พม่ามี ๑,๑๐๐ ตัว และพันธุ์สยาม ๒๓ ตัว

ส่วนความเกี่ยวข้องกับสมันนั้น ในหนังสือ Deer of the World ของไกสต์ วี. (ค.ศ. ๑๙๙๙) ระบุว่ากวางบึง (บาราซิงก้า-Barasingha) ละองละมั่ง และสมัน (Schomburgk?s deer) เป็นญาติกัน แต่สมันสูญพันธุ์ไปจากโลกนานแล้ว เนื่องจากการขยายตัวของนาข้าวที่บุกผืนป่าในพื้นที่ภาคกลางของไทยและการล่าเอาเขาที่สวยงามของมัน




นก  

นอกจากเลี้ยงไว้ดูเล่น และข้อดีของนกละมีไหม ... คำตอบแบบเบิร์ดๆ ได้มาจากที่ ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวบรวมไว้ ดังนี้ เริ่มจากข้อไม่ดีก่อน มี
๑.ทำลายพืชผล เนื่องจากการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่มีการเพาะปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นพื้นที่กว้าง ส่งผลให้ประชากรนกโดยทั่วไปลดลง อย่างไรก็ตาม นกบางชนิดก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีมาก จึงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในที่สุดก็กลายเป็นศัตรูต่อการเพาะปลูก โดยนกจะมากินส่วนของพืช เมล็ดและผลไม้ต่างๆ เช่น นกกระจาบ นกกระจอก นกกระติ๊ด นกเขา และนกพิราบ เป็นต้น เข้ามากินข้าวที่กำลังออกรวงในนา ที่สำคัญการป้องกันและการขับไล่พวกนกเหล่านี้ไม่ให้มากัดกินทำลายพืชผลทางการเกษตรเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นอีก
๒.เป็นแหล่งรังโรค นกอาจเป็นตัวนำและแพร่กระจายเชื้อโรคบางชนิดที่ติดต่อถึงมนุษย์ได้ เช่น โรคสมองอักเสบ และโรคไข้หวัดนก ที่มีนกเป็นพาหะนำโรคไปสู่มนุษย์ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้ยังมีเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังด้วย
๓.ทำลายทรัพย์สิน นกบางชนิดขโมยอาหาร ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ตามบ้านเรือน กัดกินเมล็ดธัญพืชต่างๆ ที่ลานตาก หรือแม้แต่ที่เก็บไว้ในยุ้งฉางหรือในโรงเก็บผลผลิตให้ได้รับความเสียหาย
๔.เสียงและมูล นกบางชนิดเมื่ออยู่รวมกันมากๆ ก่อให้เกิดความรำคาญต่อมนุษย์ในด้านเสียงรบกวน และมูลที่นกถ่ายออกมาก็สร้างความสกปรก เช่น การรวมกลุ่มเกาะนอนของฝูงนกเอี้ยงสาริกาจำนวนมาก หรือฝูงนกพิราบจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามโบสถ์ วิหาร อาคารบ้านเรือน และกรณีมูลนกนางแอ่นที่รวมฝูงกันเกาะต้นไม้นอนตามเมืองใหญ่


 ๕.อุบัติเหตุ นกที่อาศัยอยู่ใกล้กับสนามบินสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เช่น เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ ในประเทศสหรัฐอเมริกา สายการบินยูเอสแอร์เวย์สมีอุบัติเหตุที่ต้องทำให้เครื่องบินร่อนลงฉุกเฉินกลางแม่น้ำฮัดสัน เนื่องจากมีนกเข้าไปติดอยู่ในใบพัดเครื่องบินจนทำให้เครื่องยนต์ดับทั้ง ๒ เครื่อง โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จึงทำให้ตามสนามบินต่างๆ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการและมีการจัดการกับฝูงนกที่อาศัยและหากินตามสนามบิน เช่น การปรับสภาพพื้นที่บริเวณรอบๆ สนามบินไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยและหากินของนก หรือการฝึกเหยี่ยวให้บินขับไล่ฝูงนกที่มาหากินบริเวณสนามบินก่อนเครื่องบินจะขึ้น-ลง
๖. ความเชื่อต่อจิตใจทางด้านลบ ความเห็นและความเชื่อสมัยโบราณที่ว่าเมื่อพบเห็นนกบางชนิดถือว่าเป็นลางร้าย ความตายและแหล่งโรค เช่น เมื่อพบเห็นอีแร้งหรือนกแสกก็จะถือว่าจะต้องมีการตายเกิดขึ้น หรือเมื่อพบเห็นนกเขาไฟก็ถือว่าความเดือดร้อนจะเข้ามาเยือน ดังนั้น เมื่อพบเห็นนกเหล่านี้คนที่เชื่อจะทำร้าย ทุบตี หรือยิงนกนั้นๆ

มาถึงข้อดีของนก นกเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศธรรมชาติที่ช่วยให้ธรรมชาติเกิดความสมดุล ความสัมพันธ์ระหว่างนกกับมนุษย์พอสรุปได้ดังนี้
๑.นกช่วยให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยสร้างสมดุล คุณค่าของนกต่อระบบนิเวศคือ
    ๑.๑ ช่วยผสมเกสร เมื่อนกกินน้ำหวาน
    ๑.๒ ช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืช เมื่อนกกินผลไม้เข้าไปจะกินทั้งเมล็ด
    ๑.๓ ช่วยกำจัดศัตรูพืช เพราะนกกินแมลงและล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร รวมเป็นห่วงโซ่สำคัญในการควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ
๒.นกช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้แก่มนุษย์ นอกจากมนุษย์จะนำนกมาใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารแล้ว มนุษย์ยังใช้ประโยชน์จากนกเพื่อความเพลิดเพลินในด้าน
    ๒.๑ นกเพื่อเกมกีฬา การล่านกของมนุษย์ในสมัยก่อนมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเป็นอาหาร
    ๒.๒ นำมาเป็นสัตว์เลี้ยง นกเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีสีสันสดใสสวยงาม และมีเสียงร้องที่ไพเราะ
    ๒.๓ กิจกรรมดูนกและศึกษาธรรมชาติ การที่มนุษย์ได้สะพายกล้องส่องทางไกลออกไปดูชีวิตของนกในธรรมชาติ
          ฟังเสียงร้องหรือเพื่อดูพฤติกรรมต่างๆ ของนก เป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
          ทำให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมายตามมา




หอยขม  
หอยขม (Pond snail, Marsh snail, River snail) ชื่อวิทยาศาสตร์ Filopaludina อยู่ในไฟลัม Mollusca กลุ่มหอยฝาเดียว วงศ์ Viviparidae เป็นหอยฝาเดียว มีขนาดเล็ก เปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด ตัวผู้มีหนวดเส้นข้างขวาพองโต กว่าเส้นข้างซ้าย ลักษณะพิเศษของหอยชนิดนี้คือมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองเมื่ออายุได้ ๖๐ วัน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละ ๔๐-๕๐ ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ๆ มีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตก เพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่ จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม เนื้อหอยขมนิยมนำมาทำอาหารประเภทแกง หรือที่มีขนาดเล็กมากก็ใช้เป็นอาหารเป็ดและสัตว์อื่นๆ

หอยขมอาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่น คู คลอง หนอง บึง ที่น้ำไม่ไหลแรงและเป็นน้ำนิ่ง มีระดับความลึกตั้งแต่ ๑๐ เซนติเมตร ถึง ๒ เมตร มักเกาะอยู่กับพันธุ์ไม้น้ำ เสาหลัก ตอไม้ หรือตามพื้นในที่ร่ม กินอาหารพวกสาหร่ายและอินทรีย์สาร ใบไม้ใบหญ้าผุๆ ในน้ำ รวมทั้งซากอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยและผงตะกอนที่จมอยู่ตามผิวดิน

จะเลี้ยงหอยขมก็เลี้ยงได้หลายแบบเพราะมันเลี้ยงง่าย โตเร็วและแพร่พันธุ์ได้เอง ที่นิยมคือเลี้ยงในกระชัง นิยมใช้กระชังไนลอนชนิดตาถี่ ทำเป็นรูปกระชังขนาด ๓x๖ เมตร สูง ๑๒๐ เซนติเมตร นำกระชังไปผูกในแหล่งน้ำด้วยการให้มุมล่างและมุมบนของกระชังทั้งสี่ด้านยึดติดกับเสา ๔ ต้น หรือเพิ่มตรงกลางตามความยาวของกระชังอีกด้านละต้นรวมเป็น ๖ ต้น ขอบบนของกระชังอยู่เหนือระดับน้ำ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร อย่าให้ก้นกระชังติดพื้นดิน เพราะจะทำให้ก้นกระชังจมโคลน เมื่อผูกกระชังเรียบร้อยแล้วใส่ทางมะพร้าวสดขนาดยาว ๑ เมตร ลงไป ๒-๓ ทาง พยายามอย่าให้ทางมะพร้าวทับกัน และควรผูกไว้เพื่อไม่ให้ทางมะพร้าวทับก้นกระชังอาจฉีกขาดได้

ใส่หอยขมขนาดใหญ่ หรือขนาดโตที่ใช้รับประทานโดยทั่วไป ลงไป ๒ กิโลกรัมต่อกระชัง โดยคัดเลือกหอยขมที่ยังสด สังเกตได้โดยนำหอยขมไปแช่น้ำทิ้งไว้ ถ้าหอยขมคว่ำตัวติดกับภาชนะแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ หลังจากใส่หอยขมแล้ว วันที่สองยกทางมะพร้าวขึ้นดูจะพบหอยขมเล็กๆ เกาะอยู่ตามทางมะพร้าว ทางมะพร้าวที่แช่น้ำนานๆ จะเน่าเปื่อยผุพัง จึงควรเปลี่ยนใหม่เดือนละ ๒ ครั้ง หอยขมที่เลี้ยงในกระชังจะเกาะกินตะไคร่น้ำและซากเน่าเปื่อยอยู่ตามทางมะพร้าว ตลอดจนบริเวณด้านข้างและก้นกระชัง โดยไม่ต้องให้อาหารเสริมแต่อย่างใด หลังจาก ๒ เดือนจึงทยอยคัดเลือกเก็บตัวใหญ่ขึ้นมารับประทานหรือจำหน่ายเพื่อไม่ให้หอยขมอยู่กันหนาแน่นเกินไป จะทำให้หอยขมเจริญเติบโตช้า

ยังมีการเลี้ยงหอยขมในร่องสวน เริ่มจากปล่อยพันธุ์หอยขมขนาดประมาณ ๖๐ ตัว ต่อกิโลกรัม จำนวน ๒ กิโลกรัม โดยตัดทางมะพร้าวปักลงไปเป็นจุดๆ ให้ทั่วร่องสวน เมื่อทางมะพร้าวเน่าเปื่อยหรือมีตะไคร่จับ หอยจะเข้ามาเกาะและกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารใดๆ ใช้ระยะเวลาเพียง ๖ เดือน จากจำนวนที่ปล่อย ๒ กิโลกรัม จะได้ผลผลิตหอยรวมประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม หรือเลี้ยงหอยขมในบ่อดินรวมกับปลาอย่างปลานิล หรือตะเพียนขาว โดยนำหอยขมตัวเต็มวัยใส่ลงในบ่อดิน ทำหลักไม้ไผ่ปักเป็นจุดๆ หรือใช้ทางมะพร้าวใส่ลงไปให้หอยขมเกาะ ให้อาหารปลาตามปกติ เศษอาหารและมูลของปลาก็จะเป็นอาหารหอยขมต่อไป หลังจากนั้นทุกๆ ๑๕ วันเริ่มเก็บหอยตัวใหญ่ออกมา

การเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยขมทำได้ง่ายมาก โดยยกทางมะพร้าวขึ้นมา หรือยกขอบกระชังขึ้นมาก็จะพบหอยขมเกาะอยู่ตามทางมะพร้าวหรือบริเวณด้านข้างกระชัง ส่วนที่เลี้ยงในท้องร่อง อาจใช้สวิงตาห่างคราดเก็บเอาก็ได้ หรือนำยางนอกของรถมอเตอร์ไซค์ลงแช่ในบ่อเลี้ยง ซึ่งหอยขมจะจับจนเต็มยางรถ ช่วยให้สะดวกในการเก็บและประหยัดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในธรรมชาติหอยเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะในการนำพยาธิมาสู่ผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากวงจรชีวิตของพยาธิในระยะตัวอ่อนจะเข้ามาฝังตัวในหอย โดยเฉพาะในหอยน้ำจืด สำหรับในหอยขมมีชนิดพยาธิที่ตรวจพบดังนี้ Echinostoma malayanum, Echinostoma revolutum, Echinostoma malayanum, Echinostoma ilocanumและ Angiostrongylus cantonensis



ช้างต้น ช้างเผือก  

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ช้างต้น บอกว่า ช้างต้น หมายถึงช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณได้แบ่งช้างต้นออกเป็น ๓ ประเภท
๑.ช้างศึกที่ทรงออกรบ
๒.ช้างสำคัญซึ่งมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน
๓.ช้างเผือกซึ่งมีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การศึกที่ต้องใช้กองทัพช้างในการสงครามหมดความสำคัญลง ช้างศึกที่ควรขึ้นระวางเป็นช้างต้นก็ไม่มีความจำเป็น จึงคงเหลือเพียงช้างต้นที่หมายถึงช้างสำคัญและช้างเผือก ซึ่งหากพบก็จะประกอบพระราชพิธีรับสมโภชและขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น ด้วยถือตามพระราชประเพณีที่ว่า ช้างเผือกนั้นเป็นหนึ่งในรัตนะ ๗ สิ่งซึ่งคู่บารมีขององค์พระมหากษัตริย์

รัตนะทั้ง ๗ มีชื่อเรียกว่า สัปตรัตนะ อันได้แก่ จักรรัตนะ (จักรแก้ว) หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว) อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว) มณีรัตนะ (มณีแก้ว) อัตถีรัตนะ (นางแก้ว) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) และ ปรินายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)

ตามคติความเชื่อทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ที่สูงด้วยมงคลทั้งปวง เป็นสัญลักษณ์ทั้งธัญญาหาร ภักษาหาร ผลาหาร และพระบารมีเกริกไกรอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน และจะเกิดขึ้นด้วยบุญญาบารมีแห่งองค์พระจักรพรรดิแห่งแคว้นประเทศนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อได้พบช้างเผือกเวลาใด ประชาราษฎร์ก็จะแซ่ซ้องสาธุการน้อมเกล้าฯถวาย ด้วยเป็นรัตนะแห่งพระองค์

ตามตำราคชลักษณ์ ช้างเผือกต้องมีลักษณะอันเป็นมงคล ๗ ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ผิวหนังสีขาว หรือ สีหม้อใหม่ ขนขาว ขนหางยาว และ อัณฑโกศสีขาว หรือ สีหม้อใหม่

ทั้งนี้ ตำราฯ แบ่งช้างเผือกออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๑.ช้างเผือกเอก เรียกว่า สารเศวตร หรือ สารเศวตพรรณ เป็นช้างเผือกที่มีลักษณะถูกต้องสมบูรณ์ตามตำราคชลักษณ์ และมีลักษณะพิเศษคือ ร่างใหญ่ ผิวขาวบริสุทธิ์สีดุจสีสังข์ เป็นช้างมงคลคู่บ้านคู่เมือง
๒.ช้างเผือกโท เรียกว่า ปทุมหัตถี มีผิวสีชมพูดูคล้ายสีกลีบดอกบัวแดงแห้ง เป็นช้างมงคลเหมาะแก่การศึก
๓.ช้างเผือกตรี เรียกว่า เศวตรคชลักษณ์ มีสีดุจใบตองอ่อนตากแห้ง เป็นช้างมงคล

หากพบช้างสำคัญถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาแต่โบราณที่จะไม่กล่าวว่าช้างนั้นเป็นช้างเผือกและเป็นชั้นเอก โท หรือ ตรี แก่ผู้ใด จนกว่าจะได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียก่อน และจะเรียกว่าช้างสำคัญไปจนกว่าจะได้รับการขึ้นระวางและรับพระราชทานอ้อยแดง จารึกนามแล้ว จึงเรียกว่า ช้างเผือก

ส่วนที่เรียกกันทั่วไปว่าช้างมงคล เล่ากำเนิดว่า จากตำราพระคชศาสตร์ ได้กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคล และแบ่งช้างมงคลเป็น ๔ ตระกูล ตามนามแห่งเทวะผู้ให้กำเนิด คือ
๑. ช้างตระกูลพรหมพงศ์ พระพรหม เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่างๆ
๒.ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ พระอิศวร เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจ
๓.ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ พระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะแก่ศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหารธัญญาหารจะบริบูรณ์
๔.ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ พระอัคนี เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหารและมีผลในทางระงับศึกอันพึงจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวงอันเกิดแก่บ้านเมือง

แถมข้อมูลสำหรับผู้สนใจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังดุสิต ตรงข้ามพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม และรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๐๐ สถานที่นั้นเมื่ออดีตคือโรงช้างต้นเก่าในพระราชวังดุสิต


ทีมา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2560 18:28:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 สิงหาคม 2557 16:11:51 »

.



กูปรี  

กูปรี (Kouprey) หรือโคไพร ในภาษาเขมร หรือ งัวเขาเกลียว ของลาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos sauveii เป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต มีหนอกหลังเป็นสันกล้ามเนื้อบางๆ ไม่โหนกหนาอย่างของกระทิง มีเหนียงเป็นแผ่น หนังห้อยยานอยู่ใต้คอ โดยเฉพาะกูปรีตัวผู้ที่มีอายุมากๆ เหนียงคอจะห้อยยาวเกือบติดพื้นดิน ใช้แกว่งโบกไปมาช่วยระบายความร้อนได้เช่นเดียวกับหูช้าง ดั้งจมูกบานใหญ่ มีรอยเป็นบั้งตามขวางชัดเจน รูจมูกกว้างเป็นรูปเสี้ยววงเดือน ใบหูแคบสั้น ไม่มีสันกะบังหน้าที่หน้าผากอย่างกระทิงและวัวแดง ใบ หน้าของกูปรีจึงดูเรียบแบบวัวบ้าน

กูปรีหางยาว ปลายหางมีพู่ขนดกหนา ขาทั้ง ๔ มีถุงเท้าสีขาวเช่นเดียวกับกระทิง สีขนตามตัวส่วนมากเป็นสีเทาในกูปรีตัวเมีย และเป็นสีดำในตัวผู้ ส่วนลูกอายุน้อยๆ สีขนตามตัวจะเป็นสีเทาหรือสีขี้เถ้า รูปทรงและการตีวงเขาของกูปรี เขาตัวผู้จะโค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ส่วนเขาตัวเมียตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา มีเขากลวงแบบ Horns ขนาดเท่ากัน โคนเขาใหญ่ ปลายเขาแหลม ไม่แตกกิ่ง

พฤติกรรมความเป็นอยู่ของกูปรีคล้ายกับพวกสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป คือชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ขนาดฝูงกูปรีในอดีตมีจำนวนถึง ๓๐-๔๐ ตัว มีตัวเมียอาวุโสอายุมากที่สุดเป็นผู้นำฝูง ส่วนตัวผู้ขนาดใหญ่ๆ มักแยกไปอยู่รวมกัน (ผิดแผกจากกระทิงและวัวแดงที่ชอบจะอยู่โดดเดี่ยวเป็นวัวโทน หรือกระทิงโทน)

ปกติชีวิตของกูปรีอาศัยหากินอยู่ตามป่าโปร่งที่มีทุ่งหญ้าสลับป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแล้ง หรือป่าโคกที่มีทุ่งหญ้า ดินโป่งและหนองน้ำ ไม่ชอบอยู่ตามป่าดิบทึบหรือตามป่าเขาสูงๆ พบอาศัยหากินปะปนไปกับฝูงสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น ที่พบบ่อยที่สุดอยู่รวมฝูงกับวัวแดง กระทิง ควายป่า หรือพวกกวาง

กูปรีชอบเอาเขาขวิดต้นไม้ กิ่งไม้ตามเส้นทางเดินผ่าน หรือขวิดเนินดิน ทำให้เปลือกปลายเขากูปรีตัวผู้แตกออกเป็นพู่ไม้กวาด และนั่นก็ทำให้พรานป่าติดตามแกะรอยกูปรีแยกจากวัวแดงและกระทิงได้ง่าย โดยสังเกตจากรอยขวิดของเขา สำหรับเขตกระจายพันธุ์ของกูปรี พบแถบภาคใต้ของลาว ภาคเหนือและตะวันตกของกัมพูชา ภาคตะวันตกของเวียดนาม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะป่าแถบเทือกเขาพนมดงรักบริเวณ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์

จำนวนกูปรีลดน้อยลงจนหายหน้าไป ในประเทศไทยมีรายงานการพบอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายที่ป่าดงอีจาน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จำนวน ๖ ตัว ในพ.ศ. ๒๔๙๑ จากนั้นก็มีแต่รายงานการพบเห็นจากคำบอกเล่า แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน คาดว่าเป็นกูปรีที่อพยพย้ายถิ่นไปมาตามชายแดนไทย-กัมพูชา

กูปรีมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิดของไทย และอยู่ใน Appendix I ตามอนุสัญญาไซเตส โดยหากเปรียบเทียบกับสัตว์จำพวกวัวป่าด้วยกัน สถานการณ์ความอยู่รอดของกูปรีอยู่ในขั้นวิกฤตที่สุด

เหตุเพราะถูกล่า และพื้นที่อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย คือนับจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองใน ๓ ประเทศอินโดจีน (ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของกูปรี) นำสู่สงครามสู้รบยาวนาน เมื่อแหล่งที่อยู่อาศัยไม่มี บวกกับถูกล่าอย่างหนักโดยเฉพาะในประเทศไทย จึงไม่มีใครพบเห็นกูปรีอีกเลย

นักอนุรักษ์คนสำคัญของไทย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ใช้รูปกูปรีเป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิ เพื่อเน้นถึงความสำคัญของสัตว์หายากที่มีอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ไม่มีที่อื่นในโลกและเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ขณะที่ทีมฟุตบอลจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งฉายาทีมว่า "กูปรีอันตราย" และใช้กูปรีเป็นสัญลักษณ์ทีม ด้วยความภาคภูมิใจว่า กูปรีเป็นสัตว์ที่(เคย) พบได้ที่ศรีสะเกษ




นกหงส์หยก  

คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับนกหงส์หยกว่า นกหงส์หยกเลี้ยงดูได้ง่าย โดยเลี้ยงในกรงขนาดใหญ่พอที่นกสามารถบินได้ และต้องมีขนาดให้พอเหมาะกับจำนวนของนก นอกจากนี้ ไม่ควรตั้งในที่ที่มีอากาศร้อน หรือที่มีลมโกรกมากก็ไม่ดี ควรไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนอาหารและน้ำต้องมีให้นกกินทุกวัน ควรเปลี่ยนอาหารและน้ำทุกวันด้วย เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอาจเป็นแหล่งเพาะโรคของนกได้

โดยธรรมชาติ นกหงส์หยกจะอยู่รวมกันเป็นฝูง ฉะนั้นถ้าเลี้ยงรวมในกรงใหญ่ เครื่องเล่นต่างๆ อาจไม่จำเป็น แต่ถ้าเลี้ยงตัวเดียวหรือคู่เดียว เครื่องเล่นก็ไม่อาจมองข้าม นอกจากอุปกรณ์ เช่น ถ้วย จาน ใส่อาหาร น้ำ ผัก ทราย ที่ทุกกรงจะขาดไม่ได้ ส่วนอาหารหลักของนกหงส์หยกคือข้าวฟ่าง ควรซื้อแบบแบ่งขายใส่ถุง เพราะจะทำให้อาหารสดและป้องกันฝุ่น แล้วยังมีแคลเซียม (กระดองปลาหมึก) หรือเม็ดกรวด ช่วยย่อยอาหาร โดยเฉพาะในลูกนกถ้าขาดอาจมีอาการผิดปกติ ไม่แข็งแรง หรือตายได้ ถ้าเป็นเม็ดกรวด นำมาจากทรายก็ได้ แต่ล้างน้ำสะอาดเสียก่อน ส่วนกระดองปลาหมึก หาซื้อได้ในร้านขายนกร้านใหญ่ๆ หรือสวนจตุจักร

แล้วก็มีผักใบเขียว เป็นตัวบำรุงสำคัญ เช่น กะหล่ำดอก คะน้า ผักกาดเขียว ผักบุ้ง เป็นต้น ล้างให้สะอาดด้วยเพื่อป้องกันยาฆ่าแมลง และน้ำ สำคัญที่สุด เปลี่ยนน้ำทุกวัน เพราะถ้านกที่เป็นโรคขี้ลงไปอาจทำให้เป็นที่เพาะเชื้อโรค ถ้านกตัวอื่นกินเข้าไปจะพากันติดกันหมดทั้งกรง

การผสมพันธุ์ จำเป็นต้องหาพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่ควรนำนกจากครอกเดียวกันมาผสมกัน จะทำให้สายเลือดชิดกัน ลูกนกที่ได้จะไม่แข็งแรง เป็นโรคง่าย และอาจตายตั้งแต่อยู่ในรัง การสังเกตว่านกพร้อมและอยู่ในระยะของการผสมหรือไม่นั้น สังเกตจากนกตัวเมียและตัวผู้จะบินคู่ตามกันไป ถ้าอยู่ในกรงที่เลี้ยงรวมกันมาก นกทั้งคู่จะปลีกตัวบินไปเกาะเคล้าเคลียส่งเสียงร้องอยู่มุมใดมุมหนึ่งของกรง นกตัวผู้จะเริ่มหัดขยอกอาหารออกจากปากเลี้ยงดูนกตัวเมีย และเมื่อนกตัวผู้บินออกห่าง นกตัวเมียจะส่งเสียงร้องเรียก นกหงส์หยกจะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๑ ปี หรือเมื่อนกตัวเมียอายุได้ ๑๑ เดือน ตัวผู้อายุ ๑๐ เดือน ทั้งนี้แล้วแต่สุขภาพของนก

นกหงส์หยกวางไข่ได้ทุกฤดูกาล ควรหารังเพื่อให้นกเข้าไปวางไข่ รังนกมี ๒ แบบ คือ แบบกล่องไม้เนื้อนิ่ม ประกอบเข้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๕.๕ นิ้ว ยาว ๗.๕ นิ้ว และสูง ๖-๗ นิ้ว ด้านหน้ามีรูกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕-๒ นิ้ว เป็นทางเข้าออกของแม่นก ต่ำกว่ารูประมาณ ๒ นิ้ว มีคอน เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕ นิ้ว เสียบติดยื่นออกมาประมาณ ๔ นิ้ว พื้นตอนในของรังฟักควรขุดเป็นแอ่งกลม มีความเรียบลึก ขนาดพอสมควร แอ่งจะช่วยให้ไข่อยู่รวมกัน ไม่กระจัดกะจาย

รังอีกแบบหนึ่งคือแบบลูกมะพร้าว รังแบบนี้จะทำให้นกรูปทรงดี ขาไม่ถ่าง เมื่อเทียบกับการใช้กล่องไม้ แต่ข้อเสียคือทำความสะอาดลำบาก เมื่อมีน้ำเข้าจะไปผสมกับขี้นก เมื่อแห้งมันจะแข็ง ถ้ามีลูกนกอยู่ด้วยจะทำให้ลูกนกติดอยู่ในนั้นด้วย ก็เปรียบเหมือนปูนซีเมนต์ดีๆ นี่เอง ภายในแอ่งนอกจากความเรียบ หญ้าหรือฟางรองรังนกหงส์หยกไม่ปรารถนา เมื่อนกผสมพันธุ์กันแล้วประมาณ ๘ วัน นกจะวางไข่ใบแรก และจะวางไข่ใบต่อไปแบบวันเว้นวัน ในแต่ละครอกนกจะวางไข่เฉลี่ยประมาณ ๔-๘ ฟอง

จากนั้น ๑๘-๒๐ วัน ลูกนกจะเริ่มใช้ปากจิกเปลือกไข่ออกมา และจะเริ่มโผล่ออกมาจากรังเมื่ออายุประมาณ ๔-๕ สัปดาห์ ช่วงนี้ขนนกจะขึ้นเต็มที่ แต่อย่าเพิ่งแยกลูกนกออกจากกรง ปล่อยให้พ่อและแม่นกป้อนอาหารให้อีกประมาณ ๗ วัน จึงแยกออก ก่อนลูกนกตัวสุดท้ายจะออกจากรัง แม่นกจะเริ่มวางไข่ชุดต่อไป ถ้ารังนั้นยังสภาพดีอยู่



สุนัขยอดฮิตคนไทย

ในการจัดงานโชว์สุนัขสมาร์ทฮาร์ท พรีเซนต์ ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ด๊อก โชว์ ๒๐๑๑ มีการจัดอันดับสุนัขที่คนไทยเลี้ยงมากที่สุด ๑๐ สายพันธุ์ ดังนี้

อันดับ ๑ "ชิวาวา" มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ราวศตวรรษที่ ๑๙ แต่เดิมสุนัขพันธุ์นี้มีขนาดเล็ก แต่ไม่เล็กเท่าสุนัขพันธุ์ชิวาวาในปัจจุบัน นิสัย คือฉลาดและรักเจ้าของมาก ไม่ค่อยส่งเสียงเห่ารบกวน และกล้าหาญ ไม่กลัวแม้ต้องต่อสู้กับสุนัขตัวอื่นที่ใหญ่กว่า

อันดับ ๒ "ปอมเมอเรเนียน" มีถิ่นกำเนิดที่เมืองปอมเมอเรเนีย ประเทศเยอรมนี ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นสุนัขอารักขาและได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง นิสัย เฉลียวฉลาด ร่าเริงและตื่นตัวอยู่เสมอ ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ ขี้ประจบ

อันดับ ๓ "ชิห์สุ" มีถิ่นกำเนิดจากทิเบต ชื่อ ชิห์สุ เป็นภาษาจีน แปลว่า "สุนัขสิงโต" เป็นสุนัขในสามสายพันธุ์ชั้นสูง พวกเดียวกับปักกิ่งและปั๊ก

ในสมัยโบราณ พระทิเบตมอบสุนัขพันธุ์ชิห์สุให้จักรพรรดิจีนเป็นของกำนัล แล้วจึงแพร่หลายในอังกฤษ ฝรั่งเศส  นิสัย แม้ตัวเล็กแต่ก็ดุ เห่าเก่ง ขี้ประจบ และเป็นมิตร

อันดับ ๔ "ยอร์กเชียร์ เทอร์ เรียร์" มีถิ่นกำเนิดจากเมืองยอร์กเชียร์ของอังกฤษ โดยการผสมข้ามสายพันธุ์เทอร์เรียร์ ที่แตกต่างกันหลายสายพันธุ์ แต่ก่อนตัวใหญ่กว่านี้ เพราะใช้ล่าหนู ต่อมาพัฒนาให้ตัวเล็กลงเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน  นิสัย แม้ตัวเล็ก แต่กล้าหาญ เฝ้าบ้านดี รักเจ้าของ แต่เชื่อมั่นในตัวเองสูงจนไม่ค่อยฟังคำสั่งเจ้านาย

อันดับ ๕ "บีเกิ้ล" สุนัขพันธุ์นี้เป็นต้นแบบของการ์ตูนสุนัขสนูปปี้ ที่โด่งดัง บีเกิ้ลมีถิ่นกำเนิดที่สหราชอาณาจักร เดิมใช้ล่ากระต่ายเพราะมีประสาทดมกลิ่นที่ดีมาก ต่อมาฝึกให้เป็นสุนัขตรวจสอบของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด วัตถุระเบิด   นิสัย สุภาพ เป็นมิตร ไม่ดุร้าย ขี้เล่น เหมาะสำหรับเลี้ยงในบ้าน แต่เพราะเชื่องกับคนทั่วไปจึงไม่เหมาะสำหรับเฝ้าบ้าน

อันดับ ๖ "ปั๊ก" มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน สมัยโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในวัดจีน ก่อนจะแพร่หลายไปยังยุโรป  นิสัย ซน แม้ฉลาดแต่ก็ดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟัง และฝึกยากอยู่สักหน่อย

อันดับ ๗ "บูลด๊อก" มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ มีรูปร่างคล้ายวัวขนาดเล็ก ชาวอังกฤษโบราณยังฝึกบูลด๊อกไว้ต่อสู้กับวัว ซึ่งได้รับการพัฒนาให้ตัวเล็กลงเพื่อความคล่องตัวในการต่อสู้กับวัว แต่เมื่อกีฬาสุดโหดนี้เสื่อมความนิยม ก็มีการคัดเลือกสิ่งดีๆ ในสายพันธุ์ของมันไว้ ยกเว้นความดุร้ายที่ต้องตัดออกไป  นิสัย ขรึม เห่าน้อย บางตัวอาจก้าวร้าว แต่ส่วนใหญ่ชอบเล่น และชอบเด็กๆ

อันดับ ๘ "ไซบีเรียน ฮัสกี้" มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกของไซบีเรีย ต่อมานำเข้ามาในอลาสก้าและแพร่พันธุ์เข้าสู่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา นิยมเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์ลากเลื่อน แล้วจึงนำมาเลี้ยงเป็นสุนัขบ้านในเวลาต่อมา   นิสัย ฉลาดและเป็นมิตร ซนบ้างเป็นบางครั้ง รักอิสระ ชอบหอนมากกว่าเห่า

อับดับ ๙ "โกลเด้น รีทรีฟเวอร์" เนื่องจากใช้งานในกีฬาล่าสัตว์ที่อยู่ริมน้ำ จึงชอบน้ำเป็นพิเศษ พวกโกลเด้นมักจะเอาขาลงไปในบริเวณน้ำขัง เช่น สระบัว บ่อปลา อ่างน้ำของตัวเอง  นิสัย สุภาพ น่ารัก ขี้เล่น ช่างประจบ รักเจ้าของ ใจดีกับคนและสัตว์อื่นๆ

อันดับ ๑๐ "ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์" มีต้นกำเนิดในรัฐนิว ฟาวด์แลนด์ ประเทศแคนาดา ใช้ช่วยงานชาวประมงในการลากอวนเข้าฝั่ง ก่อนมาเป็นที่นิยมในอังกฤษ ต่อมาใช้ฝึกตรวจค้นหายาเสพติด ระเบิด และช่วยนำทางให้ผู้พิการสายตา  นิสัย ฉลาด กระตือรือร้น รักสนุก เหมาะเป็นสุนัขเฝ้ายาม เนื่องจากมีเสียงเห่าทุ้มและหนักแน่น เป็นที่น่าเกรงขามเพื่อเตือนเมื่อมีผู้บุกรุก




เยอรมัน เชเพิร์ด

เยอรมัน เชเพิร์ด (German Shepherd) ชื่อบอกอยู่แล้วเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมนี ในงานตำรวจ สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกฝึกใช้ในการดมกลิ่นเพื่อตรวจค้นอาวุธ วัตถุระเบิด ยาเสพติด ทั้งทำงานกับหน่วยกู้ภัย งานนำทางคนตาบอด และงานคุ้มกัน ระดับที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดสุนัขอารักขา

เยอรมัน เชเพิร์ด มีส่วนสูงโดยประมาณ ๒๒-๒๖ นิ้ว ความยาววัดจากกระดูกอกไปยังตอนท้ายของกระดูกตะโพก ส่วนหัวของเพศผู้แลดูล่ำสัน ส่วนเพศเมียอ่อนช้อย ปากยาวและแข็งแรง มองจากด้านหน้าหน้าผากจะโค้งเล็กน้อย กะโหลกลาดเทยาวเป็นรูปลิ่ม ดั้งจมูกไม่หักมาก กรามแข็งแรง ฟัน ๔๒ ซี่ ข้างบน ๒๐ ซี่ ข้างล่าง ๒๒ ซี่ แข็งแรงและสบกันแบบกรรไกร

ตาขนาดปานกลาง รูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ ตั้งแบบเฉียงเล็กน้อยแต่ไม่โปนออกมา หูแหลมพอประมาณ และเปิดไปข้างหน้า ตั้งชันเมื่อตั้งอกตั้งใจ คอแข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หนังไม่หย่อนยาน เมื่อสุนัขตั้งใจหรือตื่นเต้นหัวจะชูสูง คอยืดออก ส่วนหน้า แผ่นกระดูกไหล่ยาวและทำมุมเฉียง อยู่ในแนวราบและไม่ยื่นไปข้างหน้า ขาตอนบนเชื่อมกันแผ่นกระดูกไหล่โดยทำมุมราว ๙๐ องศา ขาหน้าไม่ว่าจะมองดูทางไหนก็เหยียดตรง และกระดูกจะเป็นรูปไข่มากกว่ากลม ฝ่าเท้าแข็งแรง

ลำตัวโครงสร้างโดยรวมทำให้เกิดความรู้สึกถึงความลึกและแน่น แต่ไม่เทอะทะ อกควรจะเต็มและลงลึกอยู่ระหว่างขาทั้งสองข้าง อกกว้างมีเนื้อที่มากพอสำหรับหัวใจและปอด ซี่โครงยาวและโค้งไม่เป็นรูปถังเบียร์หรือแบนมากเกินไป และไปจรดส่วนอกลงไปถึงข้อศอก หากซี่โครงอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องจะทำให้ศอกหดกลับอย่างอิสระ ในขณะที่สุนัขกำลังวิ่งเหยาะๆ หากกระดูกซี่โครงโค้งออกมามากเกินไปจะทำให้ข้อศอกกางออก ท้อง กระชับ ชายกระเบนเหน็บจะรั้งขึ้นเล็กน้อย ส่วนหลัง จุดสูงสุดของเส้นหลังจะสูงและค่อยๆ ลาดเท หลังเหยียดตรง ไม่แอ่นหรือโค้งขึ้น เอวมองจากด้านบนจะกว้างและแข็งแรง ตะโพกยาวและค่อยๆ ลาดเท


  เท้าสั้นและกระชับ นิ้วโค้งอย่างพอเหมาะ อุ้งเท้าหนา แบะ เล็บแน่น สั้นและมีสีดำ หางเป็นพวง ห้อยลงขณะที่อยู่ในท่าพัก และจะโค้งเล็กน้อยและยกขึ้นเมื่อตื่นเต้นหรือกำลังเคลื่อนไหว ส่วนท้าย เมื่อมองจากด้านข้าง ตะโพกโดยรวมจะกว้าง ส่วนที่อยู่ระหว่างข้อต่อขาหลังและเท้า สั้นและแข็งแรง การก้าวย่าง เยอรมัน เชเพิร์ดเป็นสุนัขที่วิ่งเหยาะๆ โครงสร้างถูกพัฒนามาเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงาน การก้าวย่างควรจะเป็นไปด้วยความนุ่มนวล และยื่นเท้าออกไปสุด ราบรื่นและเป็นจังหวะ

ขน ๒ ชั้น ขนชั้นนอกยาวปานกลาง ขนชั้นนอก แน่น หยาบ เหยียดตรงและราบไปกับลำตัวปกคลุมขนชั้นในที่แน่นและนุ่ม ชั้นนอกเป็นลอนเล็กน้อย หัวรวมทั้งข้างในหู หน้าผาก ขาและเท้าจะปกคลุมด้วยขนสั้น ส่วนคอจะปกคลุมด้วยขนที่หนาและยาวกว่า สีขน ไม่มีสีที่แน่นอน

โลกยังไม่รู้จักสุนัขพันธุ์นี้ กระทั่ง ค.ศ.๑๘๙๙ กัปตันเรือ แม็กซ์ วอน สเตฟาไนต์ซ (Max von Stephanitz) เพาะพันธุ์มันขึ้นมาเพื่อใช้งานต้อนฝูงแกะ เป็นที่มาของชื่อเยอรมัน เชเพิร์ด เขาสร้างลักษณะที่ดี ทั้งเรื่องไว้ใจได้และความจงรักภักดี ทำให้เป็นเพื่อนที่ดีเลิศ และเป็นสุนัขเฝ้ายามที่ดี จวบจนปัจจุบัน คุณลักษณะฝึกง่าย เรียนรู้ได้เร็ว ตอบสนองไว และมีสมาธิ ปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ได้ดี และมีความสามารถหลากหลาย เยอรมัน เชเพิร์ดจึงถูกนำไปใช้ในการค้นหา ช่วยชีวิต งานตำรวจและทหารสารพัดประโยชน์

ข้อควรระวังคือปัญหาสุขภาพของสายพันธุ์ ทั้งโรคข้อสะโพกและข้อศอกห่าง ท้องร่วงเรื้อรัง โรคท้องมาน กระดูกอักเสบ แก้วตาอักเสบ และโรคเลือดไหลไม่หยุด




ผีเสื้อ : วิธีการดูผีเสื้อเบื้องต้น

มือใหม่หัดดูผีเสื้อ ผู้เชี่ยวชาญท่านว่าควร เริ่มจากการแยกชนิดผีเสื้อ โดยดูลักษณะสำคัญของแต่ละวงศ์ ดังนี้
๑.วงศ์ผีเสื้อหางติ่งวงศ์นี้สังเกตไม่ยาก เพราะชื่อบอกลักษณะอยู่แล้ว แต่ความยากอยู่ตรงที่หาดูในเมืองได้ไม่ง่าย
๒.วงศ์ย่อยผีเสื้อหนอนใบรักพบตามต้นรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบรักลายเสือ ใบรักธรรมดา และใบรักฟ้า ยกเว้นพวกจรกา ซึ่งบางชนิดเห็นเป็นสีน้ำเงินวาว หาดูในเมืองได้ยาก
๓.วงศ์ผีเสื้อหนอนกล่ำ สีเด่นคือสีเหลือง เช่น ผีเสื้อหนอนคูน ซึ่งมีสีสันแตกต่างกัน เวลาบินสะท้อนแสงเป็นสีเขียว พบได้ทั่วไป
๔.วงศ์ย่อยผีเสื้อป่า ชื่อก็บอกอีกเหมือนกันว่าหาดูในเมืองได้ยาก
๕.วงศ์ย่อยผีเสื้อขาหน้าพู่ บางตัวสีสันสวยงามมาก เช่น ผีเสื้อแพนซีเหลือง

ส่วนวงศ์ที่เหลือค่อยๆ สังเกต เดี๋ยวก็เป็นเอง หลักการง่ายๆ ให้จดจำว่าจะพบผีเสื้อประเภทใดได้ที่ไหนบ้าง แต่ละประเภทกินพืชอะไรเป็นอาหาร แล้วไปหาดูตามแหล่งอาหารของผีเสื้อชนิดนั้นๆ ข้อควรรู้ สิ่งที่ใช้ล่อผีเสื้อคือผลไม้เน่า ปัสสาวะ มูลสัตว์ ข้าวหมาก วางล่อไว้ในเเหล่งที่มีผีเสื้ออาศัยหากินอยู่เป็นประจำ แต่ต้องระวังว่า ผีเสื้อมีสายตาที่ว่องไวมาก รับภาพการเคลื่อนไหวได้แม้เพียงเล็กน้อย ดังนั้น การเคลื่อนไหวจะต้องเข้าไปช้าๆ ระวังไม่ให้เงาทาบไปที่ผีเสื้อ เเละพยายามทำตัวให้ต่ำที่สุด

และหากจะให้ดีควรมีอุปกรณ์
๑.แว่นขยาย ขนาดไม่จำกัด ได้ขนาดใหญ่ยิ่งดี
๒.กล้องส่องทางไกล ชนิด ๒ ตา ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าใกล้ได้ เช่น ผีเสื้อเกาะอยู่บนกิ่งไม้สูง กล้องสองตาจะช่วยให้ได้เห็นความงดงามของเม็ดสีและลวดลายบนปีกของผีเสื้อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขนาดของกล้องที่แนะนำคือขนาด ๗ x ๓๕ ซึ่งมองเห็นผีเสื้อในระยะใกล้ประมาณ ๑-๑.๕ เมตรได้ชัดเจน ไม่แนะนำกล้องสองตาที่มีอัตราขยายสูงกว่านี้ เพราะจะต้องอยู่ห่างจากผีเสื้อมากขึ้นจึงจะมองเห็นได้ชัดเจน แต่จะมองเห็นผีเสื้อตัวเล็กลง
๓.กล้องถ่ายรูป โดยเฉพาะปัจจุปันเป็นกล้องดิจิตอล เมื่อนำต่อเข้าไปชมภาพจากคอมพิวเตอร์ จะเห็นรายละเอียดของภาพได้มากกว่ามองด้วยตาเปล่า ยิ่งเพิ่มความงดงามได้มากขึ้น
๔.สมุดบันทึก เพื่อบันทึกรายละเอียด เช่น จำนวน ชนิด วัน เวลา ฤดูกาล สถานที่พบ ลักษณะเด่น ฯลฯ ตลอดจนวาดรูปผีเสื้อที่พบ
๕.เสื้อผ้าที่เหมาะสม ควรเป็นสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ อย่าลืมหมวกและครีมกันแดด เพราะการดูผีเสื้อต้องอยู่กลางแดดเป็นส่วนใหญ่

มาถึงการเลี้ยงผีเสื้อ ดร.องุ่น ลิ่ววานิช กรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า ผีเสื้อมีวงจรชีวิตจากไข่เป็นตัวหนอน ดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัย หนอนผีเสื้อดำรงชีวิตหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่กัดกินใบพืชเป็นอาหาร ในการเลี้ยงหนอนกินใบต้องสังเกตว่าธรรมชาติของมันกินใบอ่อนหรือใบแก่ บางชนิดกินใบอ่อนเท่านั้น บางชนิดเมื่อโตจะกินใบแก่ แต่ในระยะแรกไม่สามารถกินใบแก่ได้ต้องให้ใบอ่อน หนอนกินใบส่วนใหญ่มักกินจุ ในการเลี้ยงต้องเปลี่ยนอาหารทุกวัน ทำความสะอาดกล่องโดยนำขี้หนอนและเศษใบไม้ทิ้ง อย่าให้ถูกตัวหนอน ถ้าหนอนเกาะอยู่กับใบเก่าไม่ควรดึงออก ปล่อยให้เกาะไว้เช่นนั้นและใส่ใบไม้ใหม่ลงไป เมื่อหนอนมาเกาะกินใบใหม่จึงค่อยนำใบเก่าทิ้ง

เมื่อหนอนเติบโตเต็มที่แล้วจะเข้าดักแด้ หนอนอาจชักใยตามใบไม้ หรือกัดใบและชักดึงใบเข้ามาหุ้มลำตัวและเข้าดักแด้ข้างใน แต่ก็มีหนอนบางชนิดในดิน หนอนแบบนี้ในธรรมชาติจะทิ้งตัวลงสู่ดินและเข้าดักแด้ แต่หนอนในกล่องบางชนิดจะมุดลงใต้สำลีหรือกระดาษทิชชูในกล่องเลี้ยง บางชนิดต้องเข้าดักแด้ในดินเท่านั้น สังเกตจากการที่หนอนเดินวนไปมา ในกรณีนี้ต้องนำดินใส่ลงไปในกล่องเลี้ยงแมลง ๑/๓ ของความสูงกล่อง เมื่อหนอนเข้าดักแด้สมบูรณ์แล้ว ให้แยกดักแด้ไว้ในกล่องต่างหาก ภายในกล่องมีสำลีชุบน้ำหมาดๆ วางไว้มุมกล่อง เพื่อให้ความชื้น มิให้ดักแด้ตาย สำหรับดักแด้ในดินให้ความชื้นโดยการพ่นน้ำทุกวัน




ปลา นอนหลับหรือเปล่า

เดวิด เฟลด์แมน ตอบปัญหาเรื่องนี้ในหนังสือ "ไขปริศนาน่าฉงน" โดย รีดเดอร์ส ไดเจสท์ บอกว่าปลาเป็นสัตว์ที่ไม่มีหนังตา ยกเว้นพวกที่มีกระดูกอ่อน เช่น ฉลามและปลากระเบน พวกปลาจึงหลับตาสนิทเพื่อให้นอนหลับไม่ได้ ไม่มีปลาชนิดไหนที่มีหนังตาทึบที่บังภาพได้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีแผ่นเยื่อใสป้องกันสิ่งระคายเคืองเข้าตา

ปลาน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาบลูฟิชและปลามาร์ลิน ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลเปิด พวกมันว่ายน้ำไม่เคยหยุด ส่วนปลาตามชายฝั่งกะพริบตาได้บ้างครั้งหรือสองครั้ง แต่ไม่ได้ปิดเปลือกตานอนเหมือนคน

เกอร์รี คาร์ ผู้อำนวยการแผนกวิจัยสายพันธุ์ของสมาคมปลาเกมสากล อธิบายว่า ปลาก็นอนหลับเหมือนกับคนนั่นแหละ เพียงแต่แสดงพฤติกรรมไม่เหมือนกัน

ปลาตามกองหินโสโครกบางชนิดเพียงแต่ลอยตัวอยู่เฉยๆ คล้ายกำลังหลับ ส่วนปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลานกแก้ว ปลา ปากแหลม พอตกกลางคืน พวกมันจะคลี่แผ่นเยื่อเมือกคลุมร่างกายทั้งตัวเหมือนอยู่ในถุงพลาสติก แล้วจะแทรกตัวเข้าไปตามซอกหินอยู่ในสภาพกึ่งหมดสติทั้งคืน

ขณะกำลังหลับดวงตาของปลายังเปิดอยู่ หากนักดำน้ำว่ายน้ำเข้าไปใกล้ ก็แอบมองมันนอนหลับได้ แต่ถ้าขยับตัวหรือเคลื่อนไหวกะทันหัน มันจะรู้ตัวทันทีและว่ายน้ำหนี

เจอโรม ซีเกล หัวหน้าห้องปฏิบัติการทดลองซีเกล ประจำศูนย์การวิจัยการนอนหลับ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลิส สหรัฐ เผยรายงานเมื่อปี ๒๕๔๘ ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดไม่หลับตาเหมือนปลา เช่น โลมาจมูกขวดและวาฬเพชฌฆาต (แม้พวกมันจะมีรูปร่างคล้ายปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่จัดอยู่ในประเภทเดียวกับปลา)

ลูกโลมาจมูกขวดและวาฬเพชฌฆาตวัยแรกเกิดไม่หลับตาเลยในช่วงเดือนแรก และว่ายน้ำไม่หยุดในช่วง ๔-๕ เดือนแรก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนงงกันใหญ่ เพราะตามทฤษฎีการนอนนั้น การนอนช่วงตากลอกเร็ว (REM sleep) จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเติบโตก็หลั่งขณะนอนหลับ แต่วาฬและโลมาน่าจะพัฒนากลไกนี้เพื่อลูกน้อยจะได้หลบศัตรูได้ทันท่วงที

ส่วนโลมาหรือวาฬอายุมาก จะนอนลอยตัวบนผิวน้ำหรือทอดตัวบนพื้น แม้พวกมันมีหนังตา แต่เวลานอนโลมาจะหลับตาข้างเดียว มีหลักฐานสนับสนุนว่าเป็นเพราะสมองโลมาได้หลับพักผ่อนเพียงซีกเดียวเท่านั้น




สกังก์

สกังก์ จัดเป็นสัตว์รบกวน เว็บไซต์ rentokil พูดถึงสกังก์ว่ามีขนาดตั้งแต่ ๔๐-๗๐ ซ.ม. และหนักตั้งแต่ ๐.๕-๑๐ ก.ก. แล้วแต่สายพันธุ์ มีขาที่ล่ำสัน และมีกรงเล็บหน้าที่ยาวสำหรับขุดได้ สีของขนที่พบได้มากที่สุดคือสีดำและขาว พบได้มากในทวีปอเมริกา ตั้งแต่แคนาดาจนถึงอเมริกาใต้

คุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของสกังก์ คือ การดมกลิ่น แต่มันกลับมองเห็นได้ไม่ดีนัก

การดำรงชีวิตตามธรรมชาติในป่า จะมีอายุประมาณ ๕-๖ ปี แต่ถ้าเลี้ยงในกรงอาจจะมีอายุยืนขึ้น พวกมันจะออกลูกปีละครั้ง ครอกละ ๓-๔ ตัว

อาหารที่กินมีทั้งพืชและสัตว์ แต่ส่วนมากกินพวกไส้เดือน ตัวอ่อนของแมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก บางครั้งกินผลไม้และเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ส่วนสกังก์ที่ปรับตัวเป็น "สกังก์เมือง" ก็จะคุ้ยหาเศษอาหารหรือเศษขยะตามบ้านเรือนในตอนกลางคืน และอาจจะอาศัยทางระบายน้ำท่อน้ำทิ้งเป็นที่อาศัย แทนการอยู่ในโพรงเหมือนสกังก์ในป่า

เมื่อมันตกอยู่ในอันตรายหรือเผชิญหน้าศัตรู หรือเวลาที่ถูกคุกคามหรือถูกจู่โจม สกังก์จะปล่อยกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงออกมา

หนังสือ "ไขปริศนาน่าฉงน" ของ รีดเดอร์ส ไดเจสท์ โดย เดวิด เฟลด์แมน บอกว่า นินา ซิโมน ที่ปรึกษาองค์กรสกังก์เซนทราล ระบุว่าสกังก์จะพ่นกลิ่นเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น และเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำเมื่อมันกลัว บางตัวจะกระทืบเท้า ๓ ครั้งเป็นสัญญาณเตือนว่า "จะปล่อยกลิ่นแล้วนะ"

ต่อมกลิ่นของสกังก์อยู่ที่โคนหาง ตรงช่องทวารแต่ละด้าน การพ่นกลิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อตั้งใจเท่านั้น

เจอร์รี ดรากู ผู้บริบาลชั่วคราวแผนกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประจำพิพิธภัณฑ์ชีววิทยาเซาธ์เวสเทิร์น รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐ อธิบายว่าเวลาสกังก์ถูกตามล่า แต่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหน มันจะพ่นละอองฝอยออกมา เมื่อศัตรูวิ่งตามมาและได้กลิ่นก็มักจะหยุดตาม

แต่ในสถานการณ์ที่รู้แน่ว่าศัตรูอยู่ไหน มันจะฉีดของเหลวออกมาเป็นลำโดยเล็งไปที่หน้าของศัตรู ทำให้ศัตรูแสบตาและตาบอดชั่วคราว

คำถามว่าสกังก์เหม็นกลิ่นพวกเดียวกันไหม ซิโมน เฉลยว่าเหม็นเหมือนกับสัตว์อื่นๆ ที่ได้กลิ่นเหม็นของมันนั่นแหละ เวลาสกังก์ได้กลิ่นสกังก์ตัวอื่น มันจะมีอาการปั่นป่วน นักวิชาการยังบอกไม่ได้ว่าเป็นปฏิกิริยาทางเคมีต่อกลิ่นหรือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับพวกสกังก์

น่าแปลกว่า หากสกังก์มีเรื่องกับพวกเดียวกันเอง มักจะไม่ค่อยงัด "อาวุธประจำกาย" ออกมาใช้ เพราะพวกมันก็ไม่ชอบกลิ่นเหม็นนี้เช่นกัน ยกเว้นบางกรณี เช่น สกังก์ดวงตกที่บังเอิญไปอยู่ในวิถีการยิงของสกังก์ตัวอื่นเข้า

จานิส แกรนต์ รองประธานองค์กรฟื้นฟูพืชและสัตว์อลาบามา สหรัฐ บอกว่าเคยเห็นสกังก์ปล่อยกลิ่นใส่พวกเดียวกันในกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อนำเอาลูกสกังก์หลายครอกไปรวมกัน พวกมันจะปล่อยกลิ่นใส่กันอยู่สัก ๔-๖ นาที แล้วยังตะเบ็งเสียง ขู่คำรามและกระทืบเท้าด้วย เพื่อเป็นการจัดลำดับในกลุ่มเท่านั้น หรือเพียงทำให้ทุกตัวมีกลิ่นเหมือนกันหมด หลังจากนั้นต่างตัวต่างสงบและอยู่ด้วยกันอย่างปรองดอง



ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:11:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 20 ตุลาคม 2557 18:59:11 »

.

มดแดง

มดแดงตัวนิดๆ แต่ความรู้เรื่องมดแดงและไข่ของมดแดงไม่นิดไปด้วย

เริ่มจาก คุณค่าทางอาหารของไข่มดแดง เรื่องนี้ได้ความรู้จากข้อเขียนของ พ.ญ.ลลิตา ธีระสิริ ผู้เชี่ยวชาญธรรมชาติบำบัดว่า ไข่มดแดงที่ชาวบ้านเอามากินหมายถึงไข่ผสมกับตัวอ่อนระยะดักแด้ของมดงานและมดราชินีซึ่งจะมีเม็ดใหญ่สีขาวถึงชมพูอ่อน ขณะที่ดักแด้ของมดงานและมดตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าคือประมาณ ๕ ม.ม. แต่ของมดราชินีจะใหญ่ขนาดแคปซูลยา ยาวประมาณ ๑ ซ.ม. ชาวบ้านทางเหนือเรียกไข่แบบนี้ว่า เต้ง ทางอีสานเรียก แม่เป้ง ถ้ามดแดงรังไหนมีไข่ใหญ่แบบนี้มากๆ ก็จะอร่อยกว่า

สำหรับคุณค่าทางอาหารของไข่มดแดงตามตัวเลขของกรมอนามัยคือ มีโปรตีนสูง ๘.๒ กรัม/๑๐๐ กรัมของไข่มด นับว่ามีมากพอสมควร ส่วนไขมันในไข่มดแดงจะน้อยกว่าในไข่ไก่มาก มีเพียง ๒.๖ กรัมเท่านั้น เทียบกับในไข่ไก่ซึ่งมีมากถึง ๑๑.๗ กรัม แคลอรีจากไข่มดแดงจึงน้อยกว่าไข่ไก่

ประโยชน์ของมดแดง สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
๑.ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นกรด ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มด แดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ทอดไข่ยัดไส้ เป็นต้น

๒.ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ดังนี้
    ๒.๑ ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยนำมดแดงมาขยำแล้วสูดดม
    ๒.๒ แก้ท้องร่วง เอาเนื้อไก่พื้นบ้านแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดเนื้อไก่ได้ปริมาณมาก
          ดึงออกมาแล้วใช้มือขยำ นำไปย่างไฟให้สุก กินขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป
    ๒.๓ แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้ม ใส่น้ำสะอาด ๑-๒ ถ้วย พอเดือดยกลง  แต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ
          กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที
    ๒.๔ ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันฉี่ใส่ ถ้าไฝเม็ดโต
          ให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อย ละลายเอาสีดำไหลออกมา
          เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีก มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น
    ๒.๕ ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูนมาใส่หม้อนึ่ง ต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะ
          อังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ทำประจำ ที่เป็นโรควูบจะอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด
๓.ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ พืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เพราะมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้จะหมดปัญหา ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย
๔.ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงจะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยให้ผ่อนคลายจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของมัน ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้.



การเลี้ยงมดแดง
มีคำตอบจากอาจารย์ปราสาท สอนรมย์ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองกกคูณ นครพนม ที่เคยเสนอโครงงานการเลี้ยงมดแดง เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ว่า การเตรียมความพร้อมของสถานที่ที่จะเลี้ยงมดแดงนับเป็นขั้นตอนแรก และจากความจริงที่ว่ามดแดงชอบสร้างรังบนต้นไม้ที่ยังมีชีวิต เพราะต้องอาศัยใบไม้ ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบหนา อ่อนนุ่ม เป็นมันวาว ใบดก ไม่ผลัดใบง่าย เช่น ต้นหว้า สะเม็ก ชมพู่ จิก รัง มะม่วง ลำไย เป็นต้น

เมื่อได้ต้นไม้แล้ว เรื่องสำคัญยิ่งคือตรวจดูต้นไม้เหล่านั้นว่า มีมดดำ หรือมดไฮ อาศัยอยู่หรือไม่ ทั้งคู่เป็นศัตรูของมดแดง ถ้าพบว่ามีอาศัยอยู่ให้พ่นด้วยน้ำสะเดา หรือน้ำตะไคร้หอม ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ใช้กำจัดมดได้ เมื่อมดดำหรือมดไฮหนีไปที่อื่นแล้วจึงนำมดแดงมาเลี้ยงได้ แต่ก่อนจะนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง ควรจัดที่ให้น้ำ ให้อาหาร ติดตั้งเอาไว้เสียก่อน ดังนี้
๑. ที่ให้อาหาร ใช้กะลามะพร้าว หรือไม้ไผ่ผ่าซีก หรือใบไม้แห้ง หรือแผ่นตะแกรงลวดตาถี่ นำมาดัดแปลงตาม ความเหมาะสม ควรเป็นวัสดุที่ไม่ขังน้ำเพื่อป้องกันอาหารเน่าเสีย ใช้ตะปูตอกวัสดุดังกล่าวติดกับต้นไม้ให้สูงจากพื้นดินไม่เกิน ๒ เมตร แล้วนำอาหาร เช่น แมลง เศษเนื้อ เศษปลา ก้างปลา กระดูกไก่ มาวางไว้ มดแดงจะทยอยกันมากัด แทะ เล็ม และคาบไปสะสมเป็นอาหารต่อไป

๒. ที่ให้น้ำ มีความสำคัญกว่าที่ให้อาหาร เนื่องจากมดแดงชอบกินน้ำมาก จะเห็นได้จากมดแดงตามธรรมชาติมักสร้างรังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เช่น ลำห้วย หนองน้ำ เพื่อการดำรงชีวิตของมัน ใช้กะลามะพร้าว กระป๋องนม กระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ มาดัดแปลงตอกติดกับต้นไม้ สูงจากพื้นดินไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร บรรจุน้ำ และนำกิ่งไม้หยั่งเอาไว้ มดแดงจะทยอยเดินมากินน้ำตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าที่ให้น้ำสกปรกควรล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ

การจัดทำทางเดินมดแดง ในการหาอาหาร มดแดงจะเดินทางไปรอบๆ ที่อยู่ของมัน เพื่อหาอาหารไปป้อนตัวอ่อน ตลอดจนไปมาหาสู่กัน หรือไปสำรวจที่สร้างรังใหม่ ดังนั้น เพื่อให้มดแดงเดินทางโดยสะดวก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มดแดงจะเดินทางด้วยความลำบากอย่างยิ่ง เพราะพื้นดินเปียกแฉะและมีหญ้าขึ้นรกรุงรัง หากผู้เลี้ยงมดแดงจัดทำทางเดินให้นอกจากจะไม่ทำให้มดแดงหลงทางแล้ว ยังเป็นการย่นระยะทาง ย่นเวลาได้อีกด้วย การจัดทำทางเดินให้มดแดงใช้เศษวัสดุจำพวกเชือก ไนลอน เส้นลวดตากผ้า สายไฟเก่า ไม้ไผ่ หรือ เถาวัลย์ นำมาผูกขึงเชื่อมระหว่างต้นไม้ มดแดงจะเลือกเส้นทางนี้เดินไปมาระหว่างต้นไม้ ทำให้เกิดความปลอดภัย สามารถขยายรังและเพิ่มประชากรมดแดงได้เร็วขึ้น ทางเดินของมดแดงควรติดตั้งไว้ในระดับที่สูงพ้นศีรษะเพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของผู้เลี้ยง ในการให้น้ำ ให้อาหาร

แล้วก็มาถึงขั้นตอนการนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง เริ่มจากเสาะหามดแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตามต้นไม้ใกล้บ้าน หรือตามแหล่งที่มีตามธรรมชาติ โดยยึดขนาดรังมดแดงเป็นหลัก แยกเป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้
๑. มดแดงรังเล็ก ตามธรรมชาติมดแดงจะชอบสร้างรังเล็กๆ ในช่วงฤดูฝนมดแดงจะสร้างรังเล็กๆ อยู่ค่อนข้างต่ำ เมื่อพบรังมดแดงดังกล่าวให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งตัดรังมดแดงบรรจุลงถุง หรือกระสอบปุ๋ย มัดปากให้แน่นเพื่อไม่ให้มดแดงไต่ออก แล้วนำไปเปิดปากถุงที่โคนไม้ที่เตรียมไว้ มดแดงจะไต่ขึ้นไปอาศัยบนต้นไม้และเตรียมทำรังต่อไป
๒. มดแดงรังใหญ่ มักอยู่ในที่สูง วิธีการนำรังมดแดงลงมาจากต้นไม้จึงลำบาก ควรใช้วิธีแหย่ โดยวิธีดั้งเดิมหรือวิธีประยุกต์ จะได้มดแดงมาปล่อยเลี้ยงตามต้องการ




รังนก

การศึกษาเกี่ยวกับการสร้างรังของนกชนิดต่างๆ มีแน่นอน หนึ่งในผู้ศึกษาคือ สุธี ศุภรัฐวิกร ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งอธิบายไว้ว่า รูปแบบของรังนกมีมากมายหลายแบบ นกบางชนิดทำรังบนพื้นดิน หรือในกอพืชบนพื้นดิน แต่นกบางชนิดทำรังบนต้นไม้ บนหน้าผาหิน รวมถึงตามส่วนต่างๆ ของสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ การศึกษาเกี่ยวกับรังยังพบด้วยว่า นกที่มีวิวัฒนาการต่ำจะสร้างรังแบบง่ายๆ แต่นกที่มีวิวัฒนาการสูงจะสร้างรังแบบสลับซับซ้อนและแน่นหนามากขึ้น

และต่อไปนี้คือแบบต่างๆ ของรังนก
รังบนพื้นดิน (Ground Nest) เป็นรังที่มิได้นำวัสดุใดๆ มาก่อสร้าง เป็นเพียงแอ่งบนพื้นดินโล่งๆ อาจเป็นแอ่งตามธรรม ชาติหรือแอ่งที่นกใช้เท้า หรือใช้ปากช่วยขุดคุ้ยดินขึ้น แล้วลงไปนั่งหมุนตัวจนกลายเป็นแอ่ง นกบางชนิดอาจหาใบ ไม้ใบหญ้ามารองรังบ้าง นกที่สร้างรังแบบนี้ เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกกระทา นกคุ่ม นกตบยุง นกนางนวล นกตีนเทียน นกกระแตผี นกหัวโต นกกระแตแต้แว้ด นกแอ่นทุ่ง โดยนกและไข่ของนกเหล่านี้มีสีสันและลวดลายกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมาก จนทำให้ศัตรูแลเห็นได้ยาก แม้จะอยู่บนพื้นดินโล่งๆ นกที่ทำรังแบบนี้จัดเป็นนกที่มีวิวัฒนาการต่ำ

รังที่มีขนนกรองรับ (Feather Nest) พัฒนามาจากรังบนพื้นดิน โดยนำเอาใบไม้ใบหญ้ามารองรัง แต่ส่วนใหญ่เป็นขนนกที่นกตัวเมียสลัดออกมาเองหรือคาบจากที่อื่นมากองสุมไว้ นกที่สร้างรังแบบนี้ เช่น เป็ดแดง ส่วนมากรังจะซ่อนอยู่ในกอพืชรกทึบ รังที่ทำด้วยพืชน้ำ (Marsh Nest) พัฒนาจากรังบนพื้นดินเช่นกัน แต่ทำไว้ตามพื้นดินแฉะๆ ที่มีพืชชายน้ำขึ้นอยู่บ้าง โดยนกคาบเอาพืชน้ำมากองสุมรวมกันไว้ให้พอมีแอ่งตรงกลางเพื่อใช้วางไข่ได้ สีสันของเปลือกไข่กลมกลืนกับพืชน้ำที่ใช้ทำรังซึ่งมักซ่อนอยู่ในกอวัชพืชจนแลเห็นได้ยาก นกที่สร้างรังแบบนี้ ได้แก่ นกกระเรียน นกอัญชัน นกอีโก้ง นกอีล้ำ นกกวัก นกอีลุ้ม นกฟินฟุท นกโป่งวิด นกพริก และ นกอีแจว

รังลอยน้ำ (Floating Nest) พัฒนามาจากรังที่ทำด้วยพืชน้ำ แต่ทำไว้ตามกอพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำ หรือริมน้ำ หรือบนกอพืชลอยน้ำ นกจะใช้พืชน้ำต่างๆ มากองสุมรวมกันพอให้มีแอ่งสำหรับใช้วางไข่ แต่รังจะลอยอยู่กับที่ในน้ำ เช่น รังของนกเป็ดผี รังแบบโพรง (Cavity Nest) รังแบบนี้นกจะเลือกโพรงไม้ธรรม ชาติ หรือรอยแตกรอยแยกของก้อนหินเป็นที่วางไข่ ซึ่งบางครั้งนกอาจคาบใบไม้ใบหญ้า หรือขนนกมารองพื้นโพรง เช่น รังของนก ตะขาบ นกกะรางหัวขวาน นกขุนช้างขุนแผน นกแก้ว และ นกเค้า

ส่วนนกบางชนิด เช่น นก เงือก ทำรังในโพรงไม้เช่นกัน แต่จะนำเอาโคลนและมูลนกมาทำเป็นผนังปิดปากโพรงรังจนเกือบมิดชิด เหลือไว้เพียงช่องเล็กๆ พอโผล่ปลายปากออกมาได้เท่านั้น ขณะที่นกบางชนิด เช่น นกกระเต็น และ นกจาบคา ขุดเป็นอุโมงค์ลึกลงไปในดินหรือดินปนทราย ซึ่งมักจะเป็นบริเวณตลิ่งหรือเนินดิน และมีที่วางไข่อยู่ทางตอนปลายสุดของอุโมงค์ซึ่งกว้างกว่าส่วนอื่นๆ ของอุโมงค์ นกกระเต็นบางชนิด เช่น นกกระเต็นลา และ นกกินเปี้ยว อาจขุดโพรงรังเข้าไปในจอมปลวก

ส่วน นกโพระดก จะใช้ปากเจาะโพรงทางด้านใต้ของกิ่งไม้ผุๆ นกหัวขวาน ก็มักใช้ปากเจาะโพรงตามลำต้นที่มีเนื้อไม้ไม่แข็งนัก โพรงรังที่นกโพระดกหรือนกหัวขวานเจาะไว้นี้เมื่อเลิกใช้แล้วนกชนิดอื่น เช่น นกตะขาบ นกกะรางหัวขวาน นกขุนช้างขุนแผน และ นกแก้ว รวมทั้งสัตว์ เช่น บ่าง กระรอกบิน และ ตะกวด ใช้เป็นโพรงรังได้ต่อไป นกที่ทำรังแบบนี้จัดเป็นนกที่มีวิวัฒนาการต่ำ เพราะมิได้นำวัสดุใดๆ มาก่อสร้างให้เป็นรูปรังเช่นเดียวกับรังบนพื้นดิน แต่วางไข่ไว้บนพื้นโพรงเลยทีเดียว.




พะยูน

"พะยูน-Dugong" หรือ วัวทะเล-sea cow อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เหตุจากที่อยู่อาศัยของมันคือท้องทะเล ถูกมนุษย์บุกรุก ส่งภัยถึงมัน ทั้งยังเผชิญปัญหาน้ำทะเลมีพิษ ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นอาหารขาดแคลน นอกจากนี้ เรือก็เป็นภัยอีกรูปแบบที่คุกคามชีวิตพะยูนตลอดเวลา เมื่อพะยูนถูกเรือพุ่งเข้าชน หรือโชคร้ายว่ายไปชนเรือ เปอร์เซ็นต์สูงทีเดียวที่ใบพัดเรือจะทำร้ายมันถึงตาย และเวลาพะยูนตัวเมียตาย ลูกน้อยของมันที่ยังไม่สันทัดทะเลก็จะตายตาม เพราะหาอาหารเองไม่เป็น ด้วยสารพัดภัยนี้ที่ทำให้มันหายหน้าไปจากท้องทะเลเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันพะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ

วิวัฒนาการพะยูนถูกศึกษาทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ โดยได้ตัวอย่างต้นแบบจากที่จับได้จากน่านน้ำแหลมกู๊ดโฮป ถึงฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายโลมาและวาฬ เดิมพะยูนจึงถูกจัดรวมอยู่ในอันดับเดียวกันคือ Cetacea แต่จากการศึกษาลักษณะโครงสร้างโดยละเอียดพบว่ามีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ มีขนาดเล็กกว่า หัวกลม รูจมูกแยกจากกัน ปากเล็ก มีฟันหน้าและฟันกรามพัฒนาดี ไม่เป็นฟันยอดแหลมธรรมดาเหมือนวาฬ และมีเส้นขนที่ ริมฝีปาก.


ต่อมา ค.ศ.๑๘๑๖ เดอ แบล็งวีล นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แยกความแตกต่างระหว่างพะยูนกับโลมาและวาฬออกจากกัน และจัดพะยูนเข้าไว้ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบ โดยนับว่าพะยูนมีบรรพบุรุษร่วมกันกับช้าง รวมถึงการศึกษาซากโบราณของพะยูนชื่อ Eotheroides ในอียิปต์ พบว่ามีลักษณะบางอย่างเหมือนและใกล้เคียงกับ Moeritherium ซึ่งเป็นต้นตระกูลของช้างยุคอีโอซีนตอนต้น หรือ ๔๐ ล้านปีมาแล้ว Eotheroides มี ๔ ขา มีฟันครบ อาศัยอยู่ในน้ำ ต่อมา มีวิวัฒนาการเพื่อให้อยู่ในน้ำได้ดีขึ้น โดยขาหลังลดขนาดลง และหายไปในที่สุด ส่วนขาหน้าเปลี่ยนไปมีลักษณะคล้ายใบพายเพื่อให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำ จากนั้นวิวัฒนาการมาเรื่อยจนกลายมาเป็นพะยูน

พะยูนรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลมเทอะทะ ครีบคล้ายใบพายใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีหู ตาเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้ ในตัวเมียมีนม ๒ เต้า ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวราว ๒ เซนติเมตร อยู่ถัดลงมาจากขาคู่หน้า ลำตัวและหางคล้ายโลมาพะยูนหายใจทางปอด จึงต้องหายใจบริเวณผิวน้ำ ๑-๒ นาที อายุ ๙-๑๐ ปีสามารถสืบพันธุ์ได้ ใช้เวลาตั้งท้อง ๙-๑๔ เดือน ปกติมีลูก ๑ ตัว ไม่เกิน ๒ ตัว และส่วน หนึ่งที่ทำให้ประชากรพะยูนน้อย เพราะ ๓-๔ ปี มันจึงจะมีลูกสักครั้ง ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ ๒-๓ เมตร น้ำหนักเต็มที่ได้ถึง ๓๐๐ กิโลกรัม

พะยูนพบได้ ในทะเลเขตอบอุ่นอย่างกว้างขวางตั้งแต่ชายฝั่งของทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดา มัน อ่าวไทย ทะเล จีนใต้ ทะเลฟิลิป ปินส์ ทะเลซูลู ทะเลเซเลบีส เกาะชวา จนถึงโซนโอเชียเนีย อาหารของพะยูนได้แก่หญ้าทะเลที่ขึ้นตามแถบชายฝั่งและน้ำตื้น มักจะหากินในเวลากลางวัน พฤติกรรมการหากินคล้ายกับหมู โดยจะใช้ครีบอกและปากดุนพื้นทรายไถไปเรื่อยๆ จนบางครั้งจะเห็นทางยาวตามชายหาด จากพฤติกรรมเช่นนี้ พะยูนจึงได้อีกชื่อว่า "หมูน้ำ" หรือ "หมูดุด"

สำหรับสถานะของพะยูนในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกคุกคามอย่างหนัก ทำให้พฤติกรรมการหากินเปลี่ยนไป กลายเป็นมักจะหากินลำพังตัวเดียว ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่เดียวในประเทศไทยคือบริเวณหาดเจ้าไหม จ.ตรัง คาดว่ามีเหลืออยู่ประมาณ ๑๐๐ ตัว และอาจเป็นไปได้ว่ายังพอมีเหลืออยู่แถบทะเลระยอง แต่ยังไม่มีรายงานที่มีข้อมูลยืนยันถึงเรื่องนี้เพียงพอ




ปลาสอดแดงหางดาบ

ปลาหางดาบ หรือ ปลาสอดแดงหางดาบ (Red swordtail) ชื่อวิทยาศาสตร์ Xiphophorus Hellrri มีถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมแถบเม็กซิโกตอนใต้และกัวเตมาลา อยู่ในสกุลปลาสอดซึ่งมีหลายชนิด เช่น ปลามอลลี่ ปลามิดไนต์ ปลามูนฟิช รูปร่างลำตัวยาวเรียว โดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ย ๑๔ ซ.ม. แบนด้านข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็ก

ลักษณะเด่นคือปลายหางของตัวผู้ที่ยื่นยาวออกไป เป็นปลาที่มีความปราดเปรียวมาก ทั้งสีสวยงามสะดุดตา โดยตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมียเล็กน้อย ปลายหางยื่นยาวออกมาคล้ายดาบ ลำตัวเพรียวเล็กกว่า และมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า โกโนโปเดี้ยม อยู่ด้วย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และมักทะเลาะกันอยู่เสมอเพราะนิสัยก้าว ร้าว ทั้งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา ออกลูกเป็นตัวเหมือนปลาหางนกยูง

จัดเป็นปลาสวยงามที่เหมาะกับผู้เริ่มเลี้ยงปลาและไม่ค่อยมีเวลามากนัก นอกจากราคาซื้อหาไม่ค่อยแพง ยังเป็นปลาเลี้ยงง่าย อดทนต่อทุกสภาวะแวดล้อม ปล่อยลงเป็นฝูงเลี้ยงในตู้กระจก หรืออ่างเลี้ยงปลาก็ได้ แต่ควรใส่พืชน้ำลงไปด้วย ไม่เพียงแค่เพื่อความสวยงาม แต่พืชน้ำยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของลูกปลาตัวเล็กๆ ให้มีเปอร์เซ็นต์รอดสูงขึ้นด้วย เพราะไม่ถูกตัวใหญ่กินไปเสียก่อน เป็นปลาที่กินอาหารได้หลายชนิด เช่น รำละเอียด ไรน้ำ ลูกน้ำ หนอนแดง ตะไคร่น้ำในตู้กระจกหรืออ่างเลี้ยงปลา และอาหารเม็ดลอยน้ำก็กิน.


   ขยายพันธุ์ได้เร็วมาก โดยปลาตัวผู้จะสอดอวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะเพศของปลาตัวเมีย ฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในท้อง ตัวเมียจะให้ลูกภายใน ๔ สัปดาห์ และจะให้ลูกอีก ๔-๖ ครั้งโดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์ โดยมีลูกประมาณครั้งละ ๒๐-๑๐๐ ตัว หากต้องการให้ได้ปริมาณลูกปลามาก อย่าลืมปลูกพืชน้ำในบ่อที่เลี้ยงปลาเพื่อให้เป็นที่หลบซ่อนของลูกปลา และตักลูกปลาแยกออกมาเลี้ยงต่างหาก เพราะพ่อปลาแม่ปลาจะกินลูกปลาเป็นอาหาร

ชื่อสายพันธุ์ปลาสอดตั้งโดยพิจารณาจากลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ตลอดจนครีบ โดยชื่อสายพันธุ์จะเรียกตามลักษณะสีพื้นลำตัวก่อน ตามด้วยลวดลายบนลำตัว และลักษณะของครีบ เช่น Gold tuxedo swordtail สีของลำตัวเป็นสีทองครึ่งตัวด้านท้าย มีสีดำเหมือนเสื้อทักซิโด้ หรือ Red hifin swordtail สีพื้นลำตัวสีแดง ครีบกระโดงหลังสูง หรือ Brick red wagtail ปลาสอดชนิดนี้มีลำตัวสีแดงอิฐ หางมีลักษณะเป็นหางไหม้ (wagtail)

ปลาส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ ส่วนปลาที่ออกลูกเป็นตัว หมายถึงกลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัวโดยไข่ที่อยู่ในท้องของตัวเมียที่ได้รับการปฏิสนธิกับเชื้อตัวผู้ แล้วเจริญและพัฒนาอยู่ในรังไข่ประมาณ ๖ สัปดาห์ จึงฟักออกเป็นตัวหลุดออกจากท้องแม่ปลา สามารถว่ายน้ำเป็นอิสระและมีอวัยวะทุกอย่างสมบูรณ์เหมือนปลาเต็มวัย มีสีสันสวยงามและมีความหลากหลายของสายพันธุ์

ทั้งยังแพร่พันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ปลาออกลูกเป็นตัวชอบอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกนัก จัดเป็นปลาผิวน้ำ พบทั่วไปตามแหล่งน้ำไหล แม่น้ำสายเล็กๆ หรือในแหล่งน้ำนิ่ง ช่วงเดือนก.พ.-ส.ค. จะเป็นช่วงที่รวบรวมปลาออกลูกเป็นตัวจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากที่สุด

ปลาในสกุล Xiphophorus จัดเป็นปลาที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในกลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว พบมีความหลากหลาย นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ผสมข้ามสายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ต่างๆ มากมาย เช่น ปลาสอด ปลาแพลทตี้ ปลาวาเรียตัส ดังกล่าว




สัตว์อายุยืนที่สุดในโลก

เว็บไซต์ต่างประเทศที่มีข้อมูลการจัดอันดับสัตว์อายุยืนที่สุด ๑๐ อันดับ (Top 10 Longest-Living Creatures) เช่น เว็บไซต์ thetravelalmanac.com ซึ่งคลิกดูคลิปสัตว์เหล่านี้ได้

อันดับ ๑ แมงกะพรุน (Turritopsis nutricula) มีชีวิตเป็นอมตะและอาจเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่เป็นอมตะ มันมีขนาดเพียง ๔-๕ มิลลิเมตร

เมื่อมันถึงวัยเจริญพันธุ์มันก็จะเติบโตแบบถดถอยกลับสู่วัยเด็กอีกครั้ง และหลังจากเป็นเด็กแล้ว มันก็จะเติบโตจนเต็มวัยเป็นวัฏจักรอย่างนี้

อันดับ ๒ ฟองน้ำ (Cinachyra antarctica) อายุขัย ๑,๕๕๐ ปี อาศัยอยู่ที่มหาสมุทรแอนตาร์กติกในความลึกหลายร้อยเมตร

อันดับ ๓ หอยทะเลอาร์กติก (Arctica Islandica) อายุขัย ๔๑๐ ปี หอยชนิดนี้เป็นอาหารจานเด็ดในภัตตาคารญี่ปุ่น มีถิ่นกำเนิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ พ.ศ. ๒๔๑๑ มีผู้เก็บหอยชนิดนี้ได้ใกล้กับประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งพบว่ามันมีอายุ ๓๗๔ ปี

อันดับ ๔ เต่ายักษ์ (Giant Tortoise) อายุขัย ๒๕๐ ปี อาศัยในเกาะเขตร้อนชื้น เช่น เต่าซีเชลส์ เต่ากาลาปากอส เต่ามาสคาเรเนส พวกมันอาจมีน้ำหนักมากถึง ๓๐๐ ก.ก. และมีขนาดใหญ่ถึง ๑.๓ เมตรและต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓๐ ปีในการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

อันดับ ๕ ปลาคาร์พโคอิ (Koi Carp) อายุขัย ๒๒๐ ปี พัฒนาขึ้นจากปลาคาร์พสายพันธุ์ญี่ปุ่น ปลาโคอิเป็นสัญลักษณ์ของ ความรักและ มิตรภาพ ปลาโคอิที่มีชื่อเสียงสุด คือ "ฮานาโกะ" มีอายุ ๒๒๖ ปี เกิดปี พ.ศ.๒๒๙๔ ตาย พ.ศ.๒๕๒๐

อันดับ ๖ วาฬโบว์เฮด (Bowhead whale) อายุขัย ๒๑๐ ปี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนที่สุดในโลกและมีปากกว้างที่สุดในโลกด้วย แม้ช่วงอายุจะยืนยาวถึง ๒๑๐ ปี ก็ตาม แต่มันมีประชากรเพียง ๒๔,๙๐๐ ตัวทั่วโลกเท่านั้น เพราะถูกมนุษย์ไล่ล่า

อันดับ ๗ หอยเม่นแดง (Red Sea Urchin) อายุขัย ๒๐๐ ปี อาศัยอยู่ตามโขดหินใต้ทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ความลึก ๙๐ เมตร มันจะหยุดเจริญเติบโตเมื่ออายุได้ ๑๐ ปี

อันดับ ๘ กุ้งมังกร (lobster) อายุขัย ๑๔๐ ปี เมื่อปี ๒๕๕๑1 พบกุ้งชื่อ "จอร์จ" ถูกขายยังภัตตาคารในแคนาดาด้วยราคา ๑๐๐ เหรียญ แต่ภัตตาคารไม่นำไปปรุงอาหารและต่อมาก็ปล่อยมันลงทะเลในเขตคุ้มครองสัตว์น้ำ จากการตรวจสอบพบว่าจอร์จน่าจะเกิดราว พ.ศ.๒๔๑๒

อันดับ ๙ มนุษย์ อายุเฉลี่ยสูงสุด ๑๒๐ ปีซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่จารึกไว้ในคัมภีร์ศาสนาคริสต์และฮินดูที่ว่า มนุษย์จะมีอายุขัยได้ไม่เกิน ๑๒๐ ปี

อันดับ ๑๐ ทัวทารา (Tuatara) อายุขัย ๑๐๐ ปี เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สืบเชื้อสายมาจากไดโนเสาร์ แต่ขนาดเล็กกว่าบรรพบุรุษมาก มีความยาวจากหัวถึงหางแค่ ๓๒ นิ้วเท่านั้น จัดเป็นสัตว์หายาก.




แมงดาทะเล

เกี่ยวกับแมงดาทะเล ผศ.ดร.ผ่องศรี ทิพวังโกศล อาจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อรรถาธิบายไว้ดังนี้ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่พบหนูน้อยวัย ๘ ขวบ กินไข่แมงดาเสียชีวิต สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้พิสมัยเมนูไข่แมงดายำ แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอยู่มากมายว่า บางคนกินแมงดาทะเลมาเป็นเวลาเกือบสิบกว่าปีทำไมไม่ตาย จากประสบการณ์ที่เล่าต่อกันมาว่าวิธีการกินแมงดาทะเลให้ปลอดภัยคือ ต้องผ่าเอาเส้นเมาออกก่อนนำไปปรุงหรือรับประทาน แต่ถึงแม้ว่าจะทำตามขั้นตอนแล้วก็ยังมีข่าวว่ามีคนตายจากการกินแมงดาทะเลอยู่เรื่อยมา

จึงมีคำถามที่สงสัยกันอยู่ว่า "จริงหรือไม่ที่กินแมงดาทะเลทำให้ตายได้" แล้วยังมีคำถามต่อไปอีกว่า "แล้วจะกินแมงดาทะเลดีไหม" เนื่องจากรสชาติของแมงดาทะเลโดยเฉพาะไข่ของมันนั้นขึ้นชื่อว่าอร่อยมาก ทำให้คนที่นิยมยำไข่แมงดารู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย จึงต้องมาทำความรู้จักกับชนิดของแมงดาทะเลและพิษของมัน

แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างแปลก เหมือนชามกะละมังคว่ำ ทางด้านหัวโค้งกลม แมงดาทะเลมีเปลือกหนาแข็งห่อหุ้มอยู่ทั่วทั้งตัว มีหางแข็งยาว ปลายแหลม ยื่นออกมาหาส่วนท้ายของลำตัว สำหรับใช้ต่างสมอปักลงกับพื้นท้องทะเลเมื่อต้องการนอนนิ่งอยู่กับที่ แมงดาทะเลอาศัยอยู่ที่พื้นทะเลน้ำตื้นๆ คลานหากินไปตามพื้นทราย กินหอยเล็กๆ ปูเล็กๆ เป็นอาหาร ศัตรูคือเต่าทะเลและฉลาม แมงดาทะเลตัวผู้กับตัวเมียมีรูปร่างคล้ายกัน แต่ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่ามาก ไข่เป็นเม็ดกลมสีเหลืองขนาดเม็ดสาคู และมีจำนวนหลายร้อยฟอง

แมงดาที่พบในทะเลไทยมี ๒ ชนิด คือ แมงดาจาน หรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย และแมงดาถ้วย หรือแมงดาทะเลหางกลม หรือ เห-รา หรือแมงดาไฟ มีขนาดเล็กกว่าแมงดาจาน มีสีส้มหรือน้ำตาลเข้ม อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน

พิษของแมงดาน่าจะมาจาก ๒ สาเหตุคือ ๑. ตัวแมงดาไม่มีพิษ แต่เกิดจากไปกินตัวแพลงตอนที่มีพิษ หรือกินหอยหรือหนอนที่กินแพลงตอนที่มีพิษเข้าไป ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา ๒. ตัวแมงดามีพิษซึ่งเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้สร้างพิษขึ้นมาได้เอง เมื่อนำไข่หรือเนื้อมาปรุงหรือผัดให้สุกโดยเชื่อว่าความร้อนสามารถฆ่าพิษได้นั้น ความจริงแล้วความร้อนไม่สามารถฆ่าพิษได้เลย เนื่องจากเป็นพิษชนิดที่มีผลต่อระบบประสาทที่ความร้อนไม่สามารถทำลาย พิษได้

ส่วนอาการขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไปมากหรือน้อย มีอาการชาที่ริมฝีปาก มือและเท้า เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ออก กลืนลำบาก หายใจไม่ออก กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจเป็นอัมพาต เนื่องจากพิษของแมงดาทะเลเป็นพิษต่อระบบประสาทที่ควบคุมการหายใจ ในเด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงที่ไม่กินแมงดาทะเล เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอแมงดาทะเลที่มีพิษได้ แต่สำหรับคนที่ชอบกินแมงดาทะเล ถ้าพบว่าหลังจากการกินแล้วมีอาการชาที่ปาก หายใจไม่ออก ให้ล้างท้องหรือล้วงคอทำให้อาเจียน แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด การใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นการรักษาอาการเบื้องต้น เพื่อช่วยให้คนไข้หายใจได้ หลังจากนั้นก็รักษาตาม อาการแบบเดียวกับการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษโดยทั่วไป ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษจากแมงดาทะเล.




ชูการ์ ไกลเดอร์

กระรอกบินออสเตรเลีย หรือ ชูการ์ ไกลเดอร์ (Sugar glider) หรือ จิงโจ้บิน เป็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงดูลูกอ่อน อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โคอาล่า และ จิงโจ้ มีถิ่นกำเนิดในเกาะแทสเมเนีย ออสเตรเลีย และปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย เป็นสัตว์หากินกลางคืน นอนกลางวัน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนต้นไม้ น้ำหนักตัวประมาณ ๙๐-๑๕๐ กรัม ขนาดของลำตัวตั้งแต่จมูกถึงปลายหางยาวราว ๑๒ นิ้ว ขนนิ่มละเอียด แน่น เป็นสีเทาหรือน้ำตาลตั้งแต่ลำตัวจนถึงหาง มีแถบสีดำหรือน้ำตาลเข้มที่เริ่มระหว่างตาแผ่ขยายไปจนถึงแผ่นหลัง ดวงตาโปนและมีขนาดใหญ่ ข้างลำตัวมีพังผืดที่เหยียดจากข้อมือไปจนถึงข้อเท้าทั้งสองข้าง ช่วยในการบินหรือร่อน.

ชูการ์ ไกลเดอร์เป็นสัตว์ที่ต้องการความสนใจเอาใจใส่อย่างมาก เพราะเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่เป็นฝูง หากจะเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ ต้องหมั่นสนใจและเล่นกับมันบ่อยๆ สำหรับวิธีการเลี้ยง เตรียมกล่องหรือกรงขนาดใหญ่พอสมควร มีความสูงมากกว่าความกว้าง เพราะชูการ์ ไกลเดอร์ชอบกระโดดและปีนป่าย หากิ่งไม้หรือที่สำหรับปีนได้ด้วยจะยิ่งดี หรือใช้ตู้ปลาขนาด ๒๔ นิ้วเป็นต้นไป ภายในกล่องหรือกรงมีช่องการระบายอากาศที่ดีพอสมควร นอกจากนี้ควรมีถุงนอนหรือผ้าด้วย เพราะมันชอบนอนซุกตามถุงผ้า หรือโพรง จัดเป็นสัตว์ขี้หนาว

ชูการ์ ไกลเดอร์ กินอาหารได้หลายประเภท ทั้งพืชและสัตว์ ชอบกินผลไม้รสหวานอย่างกล้วย แอปเปิ้ล มะละกอ มะม่วงสุก แตงโม ฯลฯ ทั้งนี้ ควรให้กินผลไม้หลากชนิดสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้รับวิตามินครบถ้วน นอกจากนี้ ควรให้กินแมลงบ้าง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนนก เพื่อเพิ่มโปรตีน ปริมาณอาหารในช่วงอายุ ๒ เดือนแรก ให้กินวันละ ๔-๖ ครั้ง เพราะอยู่ในวัยเจริญเติบโต เมื่อย่างเข้าเดือนที่ ๓ ลดเหลือวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น อายุ ๔ เดือนขึ้นไปให้อาหารวันละ ๑ ครั้งคือก่อนนอน ควรเตรียมน้ำสะอาดไว้ในกรงด้วย

การผสมพันธุ์ อายุที่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอยู่ที่ ๘ เดือน ตัวเมียจะอยู่ที่ ๑ ปี ดูเพศตัวเมียได้จากกระเป๋าหน้าท้องแบบจิงโจ้ มันใช้เวลาตั้งท้องเพียง ๑๖ วัน แล้วเลี้ยงลูกในกระเป๋าหน้าท้องไปอีก ๒ เดือน โดยชูการ์ตัวน้อยจะออกจากตัวแม่เพื่อเข้าถุงหน้าท้อง (เขาจะหาทางเข้าเอง) และจะอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่ด้วยความปลอดภัยและอบอุ่น จะกินนมในถุงหน้าท้องนั้น ครั้นพร้อมออกมาดูโลกแล้ว ก็จะออกมาจากท้องแม่

และแม้ว่าชูการ์ ไกลเดอร์มักจะทำความสะอาดตัวเองอยู่เสมอ แต่ถ้าเห็นร่างกายของมันสกปรกและเริ่มมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ก็พามันไปอาบน้ำได้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหมาดๆ เช็ดตามลำตัว จากนั้นรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วๆ ป้องกันไม่ให้ปอดชื้น

การเลือกซื้อ สายพันธุ์ออสเตรเลียมีสีเงินจากหน้าไปถึงหาง ส่วนอินโดฯออกสีน้ำตาลหรือส้มๆ ควรเลือกซื้อรุ่นที่มีอายุ ๒ เดือนขึ้นไป และกินอาหารจากหลอดให้เห็นได้แล้ว เลือกตัวที่ซนร่าเริงปีนป่ายเก่งๆ แต่ปกติจะไม่เห็นเพราะเป็นสัตว์กลางคืน ตอนกลางวันจึงเอาแต่นอน

การตัดเล็บ ชูการ์ ไกลเดอร์มีเล็บคม ตัดเล็บให้ได้โดยนำกรรไกรตัดเล็บมาตัดตรงปลายๆ เล็บ ระวังอย่าตัดลึกเพราะอาจโดนเส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้ แรกๆ อาจจะยากหน่อยเนื่องจากไม่ค่อยอยู่นิ่ง ต้องแอบตัดตอนนอนหรือตอนกิน


ข้อมูล: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ne.p.12 -pic.31-31
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:45:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 23 มีนาคม 2558 15:09:37 »

.

ไก่ชนพระนเรศวร

ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารครั้งทรงพำนัก ณ กรุงหงสาวดี ราชอาณาจักรพม่า โดยเล่ากันมาว่า ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก ทรงนำลงตีกับไก่ของพระมหาอุปราชาและทรงได้ชัย โดยไก่ของพระองค์ได้ฉายา "เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง"

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกได้กำหนดมาตรฐานพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ดังนี้ สายพันธุ์ เหลืองหางขาว เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ ๓ กิโลกรัมขึ้นไป สูง ๖๐ เซนติเมตรขึ้นไป (วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) เพศเมียมีน้ำหนักตั้งแต่ ๒ กิโลกรัมขึ้นไป สูง ๔๕ เซนติเมตรขึ้นไป โดยที่ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวมีลักษณะเด่นๆ ดังนี้

สี : สีออกเหมือนดอกโสน หรือขาวอมแดง หรือขาวอมเหลือง
ปาก : ปากสีขาวอมเหลืองหรือสีงาช้าง ปากยาวอวบใหญ่คล้ายกับปากนกแก้ว มีร่องน้ำเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงกลางนูนเป็นสันราง
ตา : ตาขาวจะมีเส้นสีแดงๆ เรียกว่าตาเพชร เป็นลักษณะตาเหยี่ยว หัวตาแหลม ตาดำคว่ำ เล็กหรี่ รอบตาดำสีขาวอมเหลือง
หาง : ขนหางกะลวยมีสีขาวพุ่งออกยาวมองเห็นได้เด่นชัด ถ้ายิ่งขาวและยาวมากๆ จะดีมาก ขนหางควรพุ่งตรงและยาว ปลายหางโค้งตกลงเพียงเล็กน้อย
ขา แข้ง และเดือย : สีขาวอมเหลือง เป็นสีเดียวกับปาก เกล็ดมีลักษณะแข็งและหนาแน่นเรียบ เดือยใหญ่แข็งแรง นิ้วยาว เล็บสีขาวอมเหลืองทุกเล็บ ไม่มีสีอื่นๆ ปนเลย
หงอน : ด้านบนของหงอนบาง เรียบ ปลายหงอนยาวเลยตา โคนหงอนที่ติดกับหนังศีรษะหนาแน่น อาจมีลักษณะเป็นหงอนแจ้ หงอนหิน หงอนบายศรี
ตุ้มหู : สีแดงสีเดียวกับหงอน ไม่มีสีขาวเลย มีขนาดเล็ก รัดรับกับใบหน้า ไม่หย่อนยาน
เหนียง : เล็ก รัดติดกับคาง ไม่ยาน หรือไม่มีเหนียง
รูปหน้า : เล็ก แหลม ยาว มีเนื้อแน่น ผิวหน้าเรียบเป็นมัน กะโหลกศีรษะหนาและยาว
อก : แน่นกลม มีเนื้อเต็ม กระดูกอกหนา ยาวและตรง
หลัง : เป็นแผ่นกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก มองดูเรียบตรง ไม่โค้งนูน
ไหล่ : ตั้ง ยกตรง มีความกว้างพอสมควร
คอ : ยาว ใหญ่ กระดูกข้อถี่
ปั้นขา : ใหญ่แข็งแรง มีเนื้อมาก กล้ามเนื้อแน่น
สร้อยคอ : เหลือง หรือเหลืองแกมส้ม สร้อยคอยาวต่อกับสร้อยหลังซึ่งเป็นสีเดียวกับสร้อยคอ ควรเรียงกันเต็มแผ่นหลัง เริ่มตั้งแต่โคนคอจนถึงโคนหาง เส้นขนละเอียดยาวเป็นระย้า
สร้อยปีก : สีเดียวกับสร้อยคอ เรียงกันแน่นเต็มบริเวณหัวปีกจนถึงปีกชัย มองดูเป็นแผ่น

ไก่เหลืองหางขาวที่ประกาศรับรองพันธุ์แล้วมี ๖ ชนิด ได้แก่
๑. เหลืองใหญ่พระเจ้า ๕ พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเหลืองแก่ดังสีทองแท่ง ขนปีกในสีดำ ขนปีกนอกสีขาว ขนหางพัดสีดำปลายขาว ขนหางกะลวยสีขาวปลายดำ คู่กลางขาวปลอด ปาก-แข้ง-เล็บ-เดือย สีขาวอมเหลืองแบบสีงาช้าง ตาสีตาปลาหมอตาย (ขาวอมเหลืองอ่อน) ขนปิดรูสีเหลืองแบบสร้อย มีหย่อมกระพระเจ้า ๕ พระองค์

๒. เหลืองรวกพระเจ้า ๕ พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองกลางดังสีทองทา หรือสีไม้รวกแก่แห้ง

๓. เหลืองโสนพระเจ้า ๕ พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองอ่อนดังสีทองเปลว(ทองปิดพระ) หรือสีดอกโสน หรือดอกคูน

๔. เหลืองเลาพระเจ้า ๕ พระองค์ ลักษณะเหมือนเหลืองใหญ่ เหลืองรวก เหลืองโสนทุกประการ ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โดยโคนสร้อยจะเป็นสีขาว ปลายสร้อยจะเป็นสีเหลือง ส่วนไก่เหลืองพระเจ้า ๕ พระองค์ตัวอื่นๆ โคนสร้อยจะเป็นสีดำปลายเหลือง

๕. เหลืองทับทิม ลักษณะเหมือนเหลืองทั้ง ๔ ที่กล่าวมา ต่างตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โคนสร้อยสีดำ ปลายสร้อยสีเหลืองมีจุดขาวอมเหลือง เรียกว่า ทับทิม หรือดาวเรือง ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า ๕ พระองค์

๖. ไก่เหลืองเอกา หรือเหลืองธรรมดา ลักษณะเหมือนไก่ทั้ง ๕ ต่างกันตรงที่ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า ๕ พระองค์ ไม่มีจุดทับทิมหรือดาวเรืองในสร้อย สีสร้อยมีทั้งแก่ กลาง อ่อน




จระเข้

กฎระเบียบว่าด้วยการเลี้ยง หรือครอบครองจระเข้ ความสำคัญอยู่ตรงที่การสงวนพันธุ์จระเข้ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำของกรมประมงขณะนั้นมีข้อความครอบคลุมถึงจระเข้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง ท้ายสุดในปี ๒๕๓๕ ได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าคุ้มครอง มีผลบังคับใช้วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ พร้อมยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า ซึ่งในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง ๓ ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย กล่าวคือ ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้  แต่กฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้เพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้มครองได้ หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยออกประกาศกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๗ และ ๑๘ ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยและจระเข้น้ำเค็มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ และเมื่อมีการประกาศดังกล่าวแล้วผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงและการค้าจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทยก็สามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าจระเข้ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงได้ถูกต้องตามกฎหมาย

จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง ๓ ชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น อนุสัญญานี้กำหนดไว้ว่า หากเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES  Appendix 1 และสามารถเพาะพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ ๒ จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 11 คืออนุญาตให้ค้าระหว่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุมของไซเตส

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกไซเตส กรมป่าไม้จะรายงานในส่วนจระเข้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนกรมประมงรายงานเรื่องการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย โดยการประสานกับผู้เลี้ยงจระเข้ที่ประสงค์จะส่งจระเข้ออกขายในตลาดต่างประเทศ เพื่อประสานงานกับไซเตสในการออกใบรับรองว่าการส่งออกนั้นถูกต้องตามกฎหมายสากล โดยผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีทั้งฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ได้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย (Crocodile Management Association of Thailand หรือ CMAT) ขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้สนใจเลี้ยงจระเข้ ประสานงานกับกรมป่าไม้ กรมประมง รวมทั้งไซเตส

ปัจจุบันไซเตสจดทะเบียนรับรองให้ฟาร์มจระเข้ในประเทศไทยจำนวน ๕ ฟาร์ม สามารถส่งออกหนังดิบ หนังฟอกและผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ ๑. บริษัท ศรีราชาฟาร์ม จำกัด จ.ชลบุรี  ๒. บริษัท ฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ท ชลบุรี จำกัด  ๓. บริษัท ฟาร์มจระเข้พัทยา จำกัด จ.ชลบุรี  ๔. ฟาร์มจระเข้วสันต์ จ.ชัยนาท  ๖. ฟาร์มจระเข้สามพราน จำกัด จ.นครปฐม โดยก่อนหน้าก่อตั้งไซเตส ฟาร์มสมุทรปราการเป็นอีกฟาร์มหนึ่งที่ได้ใบรับรอง รวมเป็น ๖ ฟาร์ม

ดังนั้น การขออนุญาตเลี้ยงจระเข้ต้องไปติดต่อที่กองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง หรือที่สำนักงานประมงอำเภอ หรือที่สำนักงานประมงจังหวัด และแจ้งกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ นอกจากนั้นถ้าต้องการนำเข้าหรือส่งออกจระเข้ หรือผลิตภัณฑ์จากจระเข้ ต้องไปติดต่อที่สำนักงานอนุสัญญาไซเตส ที่ส่วนอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ อีกแห่งหนึ่งด้วย




ผีเสื้อหางติ่งปารีส

ผีเสื้อหางติ่งปารีส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paris Peacock ; Papilio Paris จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง ขนาดลำตัวประมาณ ๑๒๐-๑๔๐ มิลลิเมตร สีสันบนลำตัวโดดเด่นด้วยสีดำขลับ สะดุดตา ผู้คนที่ได้พบเห็นจะประทับใจและจดจำผีเสื้อชนิดนี้ได้แม่น

สีสันที่โดดเด่นอีกหนึ่งจุดคือบริเวณขอบปีกด้านนอกของปีกด้านล่าง มีแต่จุดสีดำรายล้อมด้วยแต้มจุดสีส้มอมเหลือง ถัดออกมาเป็นแต้มสีขาวล้อมรอบสุด พบได้ทั่วไปบริเวณสวนดอกไม้ ริมลำธารบริเวณที่แสงแดดส่องถึง ปลายปีกมีติ่งยื่นออกมาสวยงาม ช่วงขยายเผ่าพันธุ์ กุมภาพันธ์-พฤศจิกายน




นกแสก

เกี่ยวกับนกแสก กมล โกมลผลิน ผู้ก่อตั้งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย อธิบายไว้สรุปความว่า ตำนานเกี่ยวกับนกแสกของประเทศต่างๆ มักคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนกที่เกี่ยวข้องกับภูตผีและความตาย โดยวัดดูเหมือนจะเป็นที่อาศัยของนกแสกมากกว่าที่ใดๆ แต่ในความเป็นจริงคงมิใช่นกแสกเท่านั้นที่อาศัยในวัด นกอื่นๆ ก็มักอยู่ตามวัดเช่นเดียวกัน เพราะเป็นที่สงบและร่มรื่น

คำกล่าวหาที่ว่านกแสกเป็นนกผี ถ้าบินผ่านหลังคาบ้านที่มีผู้เจ็บป่วยและส่งเสียงร้อง ผู้ป่วยนั้นจะต้องเสียชีวิต จึงนับเป็นเวรกรรมของนกแสกที่จะต้องถูกขับไล่ออกไปให้ห่างไกลชุมชน

จากคำกล่าวหานั้น บวกกับมันกินหนูเป็นอาหารหลัก นกแสกจึงต้องท่องเที่ยวไปหากินหนูที่มีอยู่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัด เมือง ทุ่งนา รวมถึงป่าช้าที่เมื่อมีผู้พบเห็นนกแสกเกาะอยู่ เลยยิ่งเชื่อว่าเป็นนกผียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอากัปกิริยาของมันที่มักทำตาโต ทำคอและหัวส่ายไปมาเมื่อตกใจและเพื่อข่มขวัญศัตรูให้หนีไป ยิ่งกลายเป็นเรื่อง เมื่อคนที่ชอบเรื่องผีๆ สางๆ ตกใจวิ่งหนีพลางตะโกนพลางว่าผีหลอก ที่ว่ากันว่าเป็นนกแห่งภูตผีนั้น ก็เป็นเพียงความเชื่อที่เล่าต่อกันมา และพิสูจน์ไม่ได้

สิ่งที่ปรากฏและเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้คือ เป็นนกที่มีหน้าตาน่ารัก เป็นเหมือนรูปหัวใจมีตาโต ซึ่งนกกลางคืนทุกชนิดมักมีดวงตากลมโตเป็นพิเศษกว่านกกลางวัน กินหนูเป็นอาหาร หากค้นพบแหล่งที่นอนของนกแสก บริเวณพื้นดินข้างใต้จะพบกากอาหารเป็นแท่งยาว หรือเป็นก้อนอยู่เกลื่อนกลาด กากอาหารที่เหลือจากการย่อยแล้วนี้ นกสำรอกหรือคายออกมา ในแต่ละก้อนประกอบด้วยหนัง ขน กระดูก ชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์เล็ก โดยเฉพาะหนูที่จะเห็นหัวกะโหลกเล็กๆ และฟันคู่หน้าสีเหลืองส้มอย่างชัดเจน หรือชิ้นส่วนของแมลงเปลือกแข็ง เช่น ด้วงชนิดต่างๆ ทั้งนี้ขนาดของแท่งกากอาหารที่พบใต้แหล่งนอนของนกแสกและนกกินเนื้ออื่นๆ สามารถบอกขนาดและชนิดของนกได้

สิ่งที่นกแสกกินเข้าไปคือหนูและแมลงบางชนิด เป็นศัตรูพืชพรรณธัญญาหารที่มนุษย์ปลูกไว้ จึงถือได้ว่ามันเป็นนกที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะหนูที่มันกำจัดได้เร็วกว่าแมว ดังนั้น ในหลายประเทศที่พบความจริงนี้ จึงร่วมมือกันเพื่อช่วยนกที่มีประโยชน์ให้พ้นจากชะตากรรม โดยสร้างกล่องไม้ที่เหมาะสมกับนกแสกไว้ให้ตามที่ต่างๆ หวังว่ามันจะได้มาใช้ ส่วนในประเทศของเราอาจยังไม่สายเกินไปสำหรับกรณีนี้ และควรเป็นที่น่ายินดีหากพบเห็นนกแสกในชุมชน เพราะนั่นบอกถึงความหนาแน่นของจำนวนหนู และนกแสกได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ตามธรรมชาติโดยการเป็นหน่วยลาดตระเวนปราบหนูด้วยสายตาที่เฉียบแหลมและกรงเล็บที่คมกริบเพื่อช่วยรักษาระบบสมดุลนี้ไว้ในยามดึกสงัด

ในแง่จิตวิทยา ดร.วัลลภ ปิยะมโน ธรรม นักจิตวิทยา อธิบายว่า เรื่องเสียงนกแสกที่ร้องตอนกลางคืน ทางจิตวิทยา แล้วเสียงเป็นรูปธรรม เป็นเหมือนตัวแทนของอารมณ์ และเมื่อความมืดของเวลากลางคืนที่เงียบสงัดมาคู่กับความกลัวของมนุษย์อยู่แล้ว ยิ่งมีเสียงร้องที่ฟังดูน่ากลัวของสัตว์ต่างๆ ก็ยิ่ง "กระตุ้นอารมณ์ความกลัวของมนุษย์" ให้มากขึ้นไปอีก  โดยเสียงนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกทางความคิด เมื่อมีเสียงที่กระตุ้นอารมณ์กลัว จิตของมนุษย์ก็จะอุปาทานไปเอง ทำให้เกิดอาการ "หลอน" ยิ่งเป็นเสียงร้องของสัตว์ในเวลากลางคืนที่มักจะฟังดูโหยหวน ก็ยิ่งกระตุ้นความกลัวของมนุษย์ เพราะเสียงโหยหวนจะคู่กับความน่ากลัว เช่นเสียงของสุนัขที่เห่าหอนหาคู่ในเวลากลางคืน ที่มีผลกับอารมณ์ของคน "ทำให้นึกถึงเรื่องผี" ก็คล้ายๆ กรณีเสียงนกแสก



http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000009269303.JPEG
สารคดี ชีวิตสัตว์โลก

ปลาเทราต์

ปลาเทราต์ (Rainbow Trout : Oncorhynchus mykiss) เป็นปลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาเลี้ยงบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นแหล่งเพิ่มรายได้ เนื่องจากบนพื้นที่สูงเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ และปลาเทราต์เป็นปลาเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นปลาที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและรสชาติดี ได้รับความนิยมบริโภคอย่างกว้างขวาง

พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากแคนาดาถึงแนวทางการเพาะเลี้ยงปลาเทราต์ในประเทศไทย เป็นผลทำให้มีการทดลองนำปลาเทราต์จากแคนาดามาเลี้ยงเป็นครั้งแรกที่สถานีทดลองเกษตร อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ๒๕๑๖ ก่อนย้ายสถานีทดลองไปยังดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ๒๕๑๘  แต่การทดลองที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาไม่ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ จวบจนปี ๒๕๔๑ โครงการหลวงได้รับไข่ปลาเทราต์จำนวนหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา กรมประมงจึงตั้งกลุ่มนักวิชาการจากศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ เป็นคณะทำงาน การทดลองครั้งนี้เพาะฟักไข่ปลาจนเป็นลูกปลาได้สำเร็จ แต่เนื่องจากเกิดปัญหาคุณภาพน้ำในสถานีทดลอง ทำให้เหลือลูกปลารอดชีวิตเพียงประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว จึงได้เลี้ยงลูกปลาเหล่านั้นจนมีขนาดใหญ่ แล้วทดลองจำหน่ายโดยนำส่งภัตตาคารต่างๆ ได้รับการตอบสนองดี เป็นที่นิยม

สำหรับการผสมพันธุ์ปลาเพื่อผลิตลูกปลาเองในประเทศไทย เกิดอุปสรรคจากปลาชุดแรกที่เพาะฟักได้ ซึ่งเป็นไข่ปลาจากสหรัฐอเมริกา เป็นปลาเพศเมียทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์ปลาเหล่านี้ได้ กระทั่งภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงการความร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย โกติงเง่น เยอรมนี ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ได้รับความอนุเคราะห์ไข่ปลาในระยะต่างๆ กัน ทั้งส่งนักวิชาการมาให้คำแนะนำ และเชิญนักวิชาการไทยไปศึกษาดูงาน  ผลการดำเนินงานในปี ๒๕๔๒ ปรากฏว่าสามารถเพาะฟักไข่ปลาที่ได้รับจากเยอรมนีได้ดี ปลามีอัตราการเจริญเติบโตดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี และในช่วงฤดูหนาวของปีนั้นได้คัดเลือกปลาเพศผู้จำนวนหนึ่ง นำมารีดน้ำเชื้อและผสมกับปลาเพศเมียชุดแรกที่มีอายุมากกว่าที่อยู่ในสภาวะที่สร้างไข่ได้แล้วเป็นครั้งแรก ผลปรากฏว่าผสมพันธุ์ปลาเทราต์ได้สำเร็จ เป็นปลาชุดแรกที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์และการเพาะฟักเป็นที่น่าพอใจ และโครงการยังได้รับความอนุเคราะห์ไข่ปลาจากเนปาลและฟินแลนด์

โดยธรรมชาติ ปลาเทราต์เจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิต่ำกว่า ๒๔ องศาเซลเซียส จึงสามารถเลี้ยงปลาเทราต์ได้ทั่วไปในเขตอบอุ่นอย่างยุโรปและอเมริกา แต่เขตอบอุ่นมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาวซึ่งยาวนาน พลังงานส่วนหนึ่งที่ปลาได้จากอาหารจึงถูกนำไปใช้รักษาอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้สำหรับการเจริญ เติบโตลดน้อยลง

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อน แต่บนพื้นที่สูงมีอุณหภูมิไม่ต่ำจนเกินไปนัก คือเฉลี่ย ๑๘ องศาเซลเซียส เป็นระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้ปลาเทราต์เจริญเติบโตได้ดีที่สุด เมื่อปลากินอาหารเข้าไปก็จะใช้พลังงานที่น้อยกว่าปลาในเขตอบอุ่นไปใช้ในการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีพลังงานเหลือสำหรับใช้ในการเจริญเติบโต จึงมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่า อาหารถูกใช้ประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตได้มากกว่า อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อจึงดีกว่าด้วย โดยปลาเทราต์ที่เลี้ยงบนดอยอินทนนท์ใช้เวลาเลี้ยงเฉลี่ย ๗ เดือน จะให้น้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ ๓๕๐ กรัม ซึ่งเป็นขนาดพอดีสำหรับส่งตลาด และมีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ ๑.๓-๑.๕




ตุ่นปากเป็ด

ตุ่นปากเป็ด (Platypus) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ornithorhynchus anatinus ไฟลัม Chordata ชั้น Mammalia อันดับ Monotremata วงศ์ Ornithorhynchidae Ornithorhynchus anatinus เป็นสัตว์พื้นถิ่นออสเตรเลีย โดยกระจายอยู่ตลอดแนวฝั่งด้านตะวันออก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ออกลูกเป็นไข่ ลำตัวแบน หัวเรียวท้ายเรียว ในตัวเต็มวัยตัวผู้มีความยาวเฉลี่ย ๕๐ ซ.ม. หนัก ๑.๗ ก.ก.

ตัวเมียมีความยาวเฉลี่ย ๔๔ ซ.ม. หนัก ๐.๙ ก.ก. มีขนปกคลุมตัว ๒ ชั้น ขนชั้นนอก (hair) ยาว หยาบ ชั้นล่างเป็นขนอ่อน (fur) เส้นละเอียด หนาแน่น กันน้ำและช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ยามดำลงไปในน้ำเย็นจัด ส่วนหางแบนกว้าง สร้างจากไขมันที่สะสมเพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ในฤดูหนาว

ปากของตุ่นปากเป็ดสมชื่อคือรูปร่างคล้ายปากเป็ด ยืดหยุ่นคล้ายยาง ปากบนสีน้ำเงินเทา รูจมูกอยู่ถัดจากปลายปากบนเล็กน้อย เป็นตำแหน่งที่ช่วยให้หายใจได้ดีขณะลำตัวอยู่ใต้น้ำ ปากล่างเล็กกว่าปากบน ใต้ปากล่างเป็นสีชมพูอ่อน หรือเป็นจุดหลากสี ส่วนที่ต่อกับหัวมีกะบังยกขึ้นเล็กน้อยเหนือหน้าผาก  ปากของตุ่นปากเป็ดรับสัมผัสได้ดี เพราะมีเส้นประสาทจำนวนมาก จึงใช้ปากนำทางและหาอาหารขณะอยู่ใต้น้ำ มีปุ่มรับประจุไฟฟ้าเรียงรายทั่วจงอยปาก มันไม่มีฟัน บดอาหารด้วยปุ่มที่อยู่บนลิ้นและเพดานปาก ตาของตุ่นปากเป็ดอยู่หลังจงอยปาก หูด้านข้างหัวเป็นเพียงช่อง ไม่มีใบหู ขณะดำน้ำตุ่นปากเป็ดจะปิดหู ปิดตา แต่เวลาอยู่บนบกมันหูไวตาไวทีเดียว

ขาของมันสั้น อุ้งเล็บแข็งแรง เท้าคู่หน้าเป็นพังผืดติดกันทุกนิ้ว มันใช้เฉพาะขาหน้าในการดึงตัวไปขณะว่ายน้ำ ขาหลังซึ่งมีพังผืดเพียงบางส่วนทำหน้าที่ร่วมกับหาง เป็นหางเสือ และคงเพราะเท้าพังผืดนี่เองที่ตุ่นปากเป็ดจึงมีชื่อสามัญว่า platypus (เท้าแบน) เมื่อลงน้ำพังผืดระหว่างอุ้งเท้าจะแผ่ออก เปลี่ยนเท้าเป็นพาย แต่เมื่ออยู่บนบกมันจะพับพังผืดเก็บ ใช้กรงเล็บขุดอุโมงค์ยาวๆ ได้โดยพังผืดไม่เสียหาย

ตุ่นปากเป็ดขี้อาย รักสันโดษ แต่ละตัวมีอาณาเขตของตนเอง การปะทะจากการล่วงล้ำเขตเกิดไม่บ่อยนัก เพราะเมื่อเทียบกับขนาดตัวและความเร็วในการเคลื่อนที่ ตุ่นปากเป็ดครอบครองดินแดนเป็นบริเวณค่อนข้างกว้าง อีกเหตุที่ทำให้ต่อสู้กันคือแย่งตัวเมีย แต่เวลาถูกคุกคามจากสัตว์อื่น มันมักหนีมากกว่าสู้ โดยในการต่อสู้ตัวผู้จะใช้เดือยที่ข้อเท้าหลังแทงแล้วปล่อยพิษใส่ศัตรู สำหรับคนพิษไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้แผลบวมและเจ็บปวดสาหัสอยู่เป็นเวลานาน แต่สำหรับสุนัข แมว สัตว์เล็กอื่นๆ พิษทำให้ถึงตายได้

ตุ่นปากเป็ดเข้าวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ๒ ปี ฤดูผสมพันธุ์ของตุ่นปากเป็ดคือช่วงปลายฤดูหนาวย่างฤดูใบไม้ผลิ หรือเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ในถิ่นที่อากาศอบอุ่นกว่าฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มเร็วกว่า ในช่วงนี้ตัวผู้ผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัวเพราะตุ่นปากเป็ดไม่ได้จับคู่กันยาวนาน มีบันทึกว่าการที่ตัวผู้ไล่ตามและว่ายวนรอบตัวเมียแล้วงับหาง เป็นการเกี้ยว และการเกี้ยวส่วนใหญ่ตัวเมียเป็นฝ่ายเริ่ม หลังการผสมพันธุ์ตัวผู้จะกลับไปยังรังโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการดูแลลูกอ่อน

ตุ่นปากเป็ดตัวเมียขุดอุโมงค์ยาว ๒๐-๓๐ เมตร ใช้ใบไม้ทำรังไว้ที่ก้นอุโมงค์ ประมาณหนึ่งเดือนหลังการผสมพันธุ์มันจะใช้ดินอุดช่องอุโมงค์เพื่อป้องกันศัตรู และเพื่อรักษาความชื้น จากนั้นจึงวางไข่ โดยทั่วไปวางไข่คราวละสองฟอง

แม่ตุ่นปากเป็ดกกไข่ไว้แนบท้องแล้วม้วนหางคลุมร่างและไข่เอาไว้ ๑๐ วัน ไข่จึงออกเป็นตัว ลูกอ่อนดื่มกินน้ำนมที่ไหลซึมออกมาจากท่อเล็กที่ฐานนมที่หน้าท้องแม่ อยู่ในรังที่อบอุ่น ปลอดภัยและสุขสบายจนอายุ ๔ เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีขนเรียบเป็นมันและตัวโตเกือบเท่าแม่แล้ว จึงออกดูโลกภายนอก หลังหัดล่าเหยื่อและหัดว่ายน้ำจนคล่องแคล่ว ๒-๓ สัปดาห์ ก็ออกไปหาที่อยู่ใหม่เป็นของตัวเอง




ปลาสิงโต

ปลาสิงโต (Lionfish) เป็นปลาทะเลที่มีพิษ ในวงศ์ Scorpaenidae ภาษาละตินหมายถึง แมงป่อง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Scorpion Fish" (ปลาแมงป่อง) และ "Lion Fish" (ปลาสิงโต) มีครีบยาวและแตกแขนงออกมากมายและมีลวดลายทางสีแดง สีน้ำตาล สีดำ หรือสีขาว อาศัยอยู่ในทะเลแถบอินโด-แปซิฟิก  แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา มีผู้พบปลาสิงโตในแนวปะการังเขตอบอุ่นนอกชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโกซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้นักวิทยาศาสตร์วิตกว่าปลาชนิดนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อปลาชนิดอื่นที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งปลาที่มีความจำเป็นต่อความสมบูรณ์ของแนวหินปะการัง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ปลาสิงโตจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปปรากฏในมหาสมุทรแอตแลนติก ว่า อาจเกิดจากเรือบรรทุกน้ำมัน เพราะขากลับ เรือบรรทุกน้ำมันแล่นเรือเปล่าไม่ได้จึงสูบน้ำทะเลเข้าไปแทนที่น้ำมันเพื่อให้เรือทรงตัวอย่างสมดุล น้ำที่สูบเข้าไปอาจมีไข่ของปลาสิงโตขณะที่เป็นแพลงตอน เมื่อเรือเดินทางไปถึงอีกที่หนึ่งหรือถึงที่หมายก็จะปล่อยน้ำออกไปและไข่ปลาสิงโตก็อาจจะเติบโตในทะเลแห่งใหม่ แต่นักวิชาการทะเลไทยไม่ห่วงเรื่องปลาสิงโตระบาดเหมือนในมหาสมุทรแอตแลนติก ตรงกันข้าม น่าเป็นห่วงว่าปลาสิงโตในทะเลไทยจะสูญพันธุ์เพราะจำนวนลดน้อยลงมากและต้องการการอนุรักษ์

ปัจจุบันนี้ สภาพแนวปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาสิงโตถูกทำลายจากการกระทำของมนุษย์ที่สร้างท่าเรือ ชุมชนบุกรุก และภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปะการังฟอกขาว รวมทั้งปลาสิงโตถูกจับไปขายในฐานะปลาตู้มากขึ้น  ในทะเลไทยมีปลาสิงโตไม่ต่ำกว่า ๕-๖ ชนิด อยู่ในแนวปะการังซึ่งพบในแนวปะการังในทะเลฝั่งอันดามันมากกว่าอ่าวไทย

อาหารของปลาสิงโต คือ ปลาและกุ้ง ด้วยความที่มีฟันละเอียดเหมือนปลาเก๋า มันจะฮุบเหยื่อทั้งตัวและย่อยในร่างกายของมันเอง  ส่วนการขยายพันธุ์ ปลาสิงโตออกลูกเป็นไข่และเป็นแพลงตอน กระทั่งโตเป็นลูกปลา ตอนมันยังเล็กๆ ลูกปลาสิงโตตกเป็นอาหารของปลาใหญ่ แต่พอมันโตแล้ว แม้แต่ฉลามก็ไม่กินมันเพราะมันมีพิษ  ความสวยงามของปลาสิงโตเป็นตัวล่อให้นักดำน้ำเอื้อมมือไปสัมผัส แต่ไม่แนะนำให้นักดำน้ำและเด็กๆ ที่ไปดำน้ำจับต้องตัวอะไรทั้งสิ้นในทะเล เมื่อเห็นปลาสิงโต ควรจะดีใจเพราะปลาชนิดนี้ไม่ค่อยว่ายน้ำหนี แต่อย่าเข้าไปใกล้เกิน ๑ วา

หากโดนพิษของปลาสิงโต บางคนจะปวดมาก ให้แก้ไขโดยใช้น้ำร้อนที่ร้อนมากที่สุดเท่าที่จะทนไหวแล้วจุ่มอวัยวะที่โดนพิษลงไปในน้ำร้อนหรือใช้เครื่องเป่าผมก็ได้ หรืออาจจะใช้หินร้อนประคบเพราะพิษของปลาสิงโต ปลาหิน ปลากระเบน แพ้ของร้อน ความร้อนจะช่วยทำลายพิษได้ แต่ถ้าหายใจติดขัดต้องรีบส่งแพทย์ทันที




ฝึกช้าง

ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓ ระบุถึงการฝึกช้างไว้ใช้งานว่า คนเลี้ยงจะเริ่มฝึกลูกช้างเมื่อมีอายุประมาณ ๔-๕ ปี เพราะมีร่างกายใหญ่โต แข็งแรง และหย่านมแม่แล้ว การฝึกลูกช้างที่มีอายุน้อยมีข้อดีเพราะสมองช้างเด็กแจ่มใส ฝึกสิ่งใดก็เฉลียวฉลาด และอดทนกว่าช้างโตที่เริ่มดื้อ

การฝึกสอนเบื้องต้น ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน โดยพาลูกช้างเข้าคอกที่เตรียมไว้ นำเข้าสถานที่ฝึกสอนซึ่งควรเป็นที่ร่ม เย็น และใกล้น้ำ เพราะลูกช้างต้องฝึกอาบน้ำด้วย การจับลูกช้างเข้าคอกในระยะแรกถือเป็นเรื่องยากลำบากเพราะแม่ช้างยังหวงลูก ภายในระยะเวลา ๑ เดือนลูกช้างจะได้รับการฝึกใส่ปลอกขาหน้าหรือ "จะแคะ" ยกขาหน้าพาคนเลี้ยงขึ้นขี่หลัง การเดินไปยังสถานที่ต่างๆ ตามที่คนเลี้ยงบังคับ รวมถึงการอาบน้ำและอื่นๆ ผู้ฝึกต้องหมั่นนำลูกช้างเข้าออกคอกอยู่เสมอ เพื่อทำความคุ้นเคยกับพี่เลี้ยงซึ่งจะเป็น "ควาญช้าง" ในเวลาต่อมา

การฝึกขั้นต่อมา คือ การฝึกงานด้าน งานลากไม้ ซึ่งเป็น การฝึกทีละขั้นให้ลูกช้างรู้จักการใส่อุปกรณ์ซึ่งช่วยในการลากไม้ ฝึกชักลากไม้แบบต่างๆ ถ้าเป็นลูกช้างตัวผู้ที่มีงาหรือที่เรียกว่า "พลาย" ผู้เลี้ยงจะฝึกให้ยกไม้ด้วยงา ฝึกการลากไม้บนเขาและในลำห้วย รวมทั้งหัดให้ทำงานร่วมกับช้างตัวอื่น ที่ขาดไม่ได้ต้องฝึกให้น้องช้างเคยชินกับเสียงเครื่องยนต์ อย่าง รถยนต์ แทรกเตอร์ เลื่อยไฟฟ้า การฝึกลูกช้างขั้นนี้ใช้เวลานานกว่า ๓-๔ ปี เพราะต้องค่อยๆ ฝึกทีละน้อยตามกำลังของช้าง

ด้านการฝึกช้างเพื่อการแสดงนั้น ผู้เลี้ยงจากหมู่บ้านบ้านค่าย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เผยเคล็ดลับว่าส่วนใหญ่จะเลือกลูกช้างอายุ ๘-๑๐ เดือน เพราะปรับตัวเข้ากับควาญช้างและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้รวดเร็ว หัวไว และแสดงท่าต่างๆ ได้หลายท่า

สำหรับอาหารที่ให้แทนนมแม่ระหว่างการฝึก ได้แก่ นม (ที่ใช้เลี้ยงทารก) ต้มข้าวใส่น้ำตาล กล้วยสุกบดละเอียดผสมกับข้าวต้มใส่เกลือ เป็นต้น

การฝึกพื้นฐาน เริ่มจากผู้ฝึกจะใช้มือลูบบริเวณลำคอของช้าง เพื่อสร้างความเคยชินกับมนุษย์ ขณะสัมผัสก็พูดบ่นไปเรื่อยคล้ายเป็นการสั่งสอน ทำเช่นนี้ประมาณ ๒-๓ วัน จนช้างเริ่มเชื่อง จึงนำเดินวนหลักที่ผูกไว้และปรับระยะให้ห่างจากหลักเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนช้างเดินคล่องและอยู่ในการควบคุม จึงนำช้างออกเดินข้างนอกโดยมีผู้ฝึกนำทางให้

ส่วนการประยุกต์ขั้นสูงเพื่อฝึกให้ช้างแสดงนั้น ผู้ฝึกต้องพิจารณาถึงความสามารถพิเศษเฉพาะด้านของช้าง รวมทั้งเทคนิคการฝึกสอนของตนเอง เช่น ช้างที่มีท่าทีซุกซนก็อาจฝึกให้แสดงโชว์เตะบอล ปั่นจักรยาน หรือกายกรรม ทั้งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เรียงลำดับความยากง่ายอย่างเป็นลำดับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2560 18:34:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 23 มีนาคม 2558 15:13:30 »

.


งูไม่กลัวมะนาวและเชือกกล้วย

เวลาเข้าป่าให้พกมะนาวและเชือกกล้วยไปด้วย งูจะกลัวและไม่กัด จริงไหม?

จากการสอบถามสัตวแพทย์ด้านงู ได้คำตอบว่า "ไม่จริง" เป็นความเชื่อล้วนๆ เพราะความจริงแล้ว งูไม่กลัวมะนาวและเชือกกล้วยแต่อย่างใด แม้แต่ต้นมะนาวก็ยังเคยมีงูขึ้นไปเลื้อยหน้าตาเฉย สันนิษฐานว่าคนโบราณอาจจะพกมะนาวเอาไว้เป็นกระสุนขว้างปางูมากกว่า ส่วนเชือกกล้วย ยิ่งเวลาถูกน้ำก็ยิ่งเหนียว ส่วนเชือกชนิดอื่นจะยิ่งลื่น แต่ไม่เกี่ยวกับงูกลัวเชือกกล้วย  ส่วนเวลาที่ต้องเข้ารกเข้าพงหรือเดินป่า ควรแต่งกายมิดชิด รัดกุม สวมรองเท้าบู๊ตและหาไม้เคาะพื้นเพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เมื่องูรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนก็จะเลื้อยหนีไปเองหรือปรากฏตัวให้เราเห็น เราก็เลี่ยงทางนั้นไป

จงจำไว้ว่า การส่งเสียงดังไล่งูก็ไม่เป็นผลเลยเพราะงูไม่มีหู มันจึงไม่ได้ยินเสียง! การแสดงของแขกที่เป่าขลุ่ยหรือปี่เรียกงูให้ขึ้นมาจากตะกร้านั้น ความจริงแล้ว งูมันจ้องดูขลุ่ยหรือเข่าของนักเป่าปี่ที่เคลื่อนไหวส่ายไปมานั่นเอง

สิ่งที่ควรทำเวลาเผชิญหน้ากับงู คือ "มีสติ" ยืนนิ่งๆ ไม่ต้องวิ่งหนี ยกเว้นงูกะปะและงูเขียวหางไหม้ เพราะงู ๒ ชนิดนี้ ระหว่างตาและจมูกมีร่องจับความร้อน ดังนั้น เมื่อเจองูให้ยืนนิ่งๆ เข้าไว้ งูจะไปเอง แต่ถ้างูไม่หลบ เราก็ต้องค่อยๆ ก้าวถอยออกมาให้พ้นระยะอันตราย

ในกรณีที่งูสู้คน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการที่คนไปบุกรุกอาณาเขตของงูก่อน เช่น งูจงอางก็อาจจะชาร์ตเข้ามาหาคนเพื่อเป็นการป้องกันตัวของงู  งูส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ไล่กัดคน ไม่เหมือนงูบางชนิดในแอฟริกา เช่น แบล็กมัมบา (Black Mamba) หรือกรีนมัมบา (Green Mamba) นอกจากนี้ ส่วนการใช้สารเคมี เช่น กำมะถันหรือปูนขาวก็ใช้ไม่ได้ผลกับงู

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้มีงูเลื้อยเข้าไปในบ้าน คือ ไม่ให้มีอาหารของงูอยู่ในบ้านและไม่ให้มีที่รกๆ เป็นที่หลบซ่อนตัว เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วให้เก็บมิดชิด ไม่อย่างนั้น แมลงจะเข้ามาตอมซึ่งแมลงเป็นอาหารของกบ เขียด อึ่งอ่าง และสัตว์อย่างกบ เขียด อึ่งอ่างก็เป็นอาหารจานโปรดของงู ดังนั้น ถ้ามีอาหารงู งูก็จะตามเข้ามา ชาวสวนชาวนาที่นอนตามพื้นบ้านก็มีโอกาสที่จะถูกงูกัดได้เพราะงูตามกบ เขียดเข้าไปในบ้านและคนก็อาจจะพลิกตัวนอนทับงูได้ จึงถูกงูกัด นอกจากนี้ การปลูกต้น "เสลดพังพอน" ก็ไม่ได้กันงูได้ตามชื่อและความเชื่อเพราะเวลางูประจันหน้ากับพังพอนเข้าจริงๆ หากงูมีโอกาสเป็นฝ่ายทำก่อน พังพอนก็จะตกเป็นอาหารของงู แต่ถ้าพังพอนเป็นฝ่ายได้เปรียบ งูก็จะกลายเป็นอาหารของพังพอนไป

หากเด็กๆ พบเห็นงู นอกจากทำตามคำแนะนำที่บอกไว้แล้ว ให้รีบแจ้งผู้ปกครองหรือครูเพื่อให้ผู้ใหญ่แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตำรวจ อาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่สำนักงานเขต ให้มาช่วยจับงู




แมงมัน

แมงมัน (subterranean ants) เป็นชื่อเรียกของมดชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นมดราชินี นำมารับประทานเป็นอาหารได้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Carebara sp. โดยมดในตระกูลนี้แบ่งเป็น ๖ วรรณะ คือ วรรณะราชินี เรียกแมงมันแม่ หรือแม่เพ้อ วรรณะเจ้าหญิงทายาท เรียก เต้งใหญ่ วรรณะสวามี เรียก เต้งรอง วรรณะมดงาน เรียก แย็บ วรรณะทหาร เรียก แย็บใหญ่ และวรรณะสร้างรัง เรียก มดแม่หมัน

กล่าวเฉพาะแมงมัน มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ ๑. แม่แมงมันมีลักษณะคล้ายมดคันตัวเล็กๆ สีแดงออกส้ม กัดเจ็บและคันมาก  ๒. ไข่ ลักษณะคล้ายไข่มดแดง มีสีนวล อยู่ในดินลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร  ๓. ลูกแมงมันจัดอยู่ในประเภทแมงชนิดหนึ่ง มีปีกคล้ายกับลูกมดแดงแต่ตัวใหญ่กว่า ส่วนท้ายป่องมากมีสีน้ำตาลไหม้ บินได้ เรียก ลูกแมงมัน ตัวผู้ตัวเล็กกว่าตัวเมียและสีออกเหลือง สำหรับแมงมันตัวเมียมีสีแดงคล้ำ ตัวใหญ่ มีรสมันนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร เรียก แมงมันแม่ ส่วนแมงมันตัวผู้ มีสีเหลือง ไม่นิยมกินเพราะมีรสขม ทั้งความมันมีน้อย เรียก แมงมันปู๊ หรือแมงมันคา อย่างไรก็ตาม แมงมันจะเปลี่ยนสภาพจากตัวเมียเป็นตัวผู้ในช่วง ๕-๖ ปี

แมงมันชอบอาศัยอยู่ตามที่ดินที่เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบดินแข็งและชอบอยู่ใกล้รากไม้ใหญ่ๆ คล้ายปลวก แต่ไม่ก่อดินหรือพูนดินขึ้นเป็นจอมปลวก ในรอบหนึ่งปีแมงมันจะออกจากรูเฉพาะเดือนพฤษภาคม คือฤดูฝน เพราะน้ำฝนที่ซึมลงดินทำให้อยู่ไม่ได้ ต้องขึ้นมาอยู่บนผิวดิน แมงมันจะไม่ย้ายรังถ้าไม่ถูกรบกวนจากคน และการออกจากรูของมัน แม่จะออกมาก่อนเพื่อขยายรูให้กว้างขึ้นเพื่อให้ลูกตามขึ้นมาได้ เพราะลูกแมงมันตัวโตกว่า โดยแม่แมงมันจะใช้เวลาขยายรู ประมาณ ๓ ชั่วโมง ลูกแมงมันถึงจะได้ออกมา

แมงมันเป็นอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคเหนือ เป็นอาหารประเภทหายากเพราะไม่สามารถเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ได้ ชาวบ้านนิยมกินทั้งไข่และลูก วิธีการคือ ถ้าเป็นไข่ จะขุดเอาไข่แมงมันในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหาขุดตามป่าละเมาะหรือที่ไกลบ้าน ไม่นิยมขุดในบ้านหรือใกล้บ้าน เพราะธรรมชาติของแมงมัน ถ้าไปรบกวนหรือขุดเอาไข่มา แม่แมงมันจะหนีไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านจะต้องใช้ความจำว่าแมงมันเคยออกจากรูตรงไหน พอถึงเดือนพฤษภาคมก็จะไปดูและเก็บลูกแมงมันเฉพาะตัวเมียมาทำอาหาร

ส่วนไข่แมงมันจะรวมกันเป็นกระจุก เก็บโดยใช้ช้อนตักซึ่งจะได้ทั้งดินและรากไม้ปะปนมาด้วย จากนั้นนำไข่ใส่ในถังน้ำ ช้อนเอาไข่ที่ลอยน้ำขึ้นมา ไข่แมงมันประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มใส่ผักกาดหรือผักขม หรือใส่น้ำขลุกขลิก ใส่กะปิ หอมแดง รับประทานกับพริกแห้ง ปิ้งไฟตำกับเกลือ ทางเหนือเรียกน้ำพริกดำ นอกจากนี้ ไข่แมงมันยังเก็บไว้กินนานๆ ได้โดยการดอง เริ่มจากต้มน้ำให้สุกหรือน้ำแช่ข้าวเหนียว (น้ำข้าวมวก) เกลือ ดองในภาชนะที่มีฝาปิด หรือถ้าต้องการกินเร็วขึ้นก็นำภาชนะที่ดองแมงมันไปตากแดด นำไข่แมงมันดองมาโรยด้วยพริกแห้งปิ้ง โขลกหยาบๆ โรยหน้า พร้อมต้นหอมผักชี กินกับสะเดาลวก เรียก แมงมันจ่อม

สำหรับลูกแมงมัน ชาวบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ คือ ขวดน้ำเปล่า ขี้เถ้า โคมน้ำมันก๊าดไปนั่งเฝ้าปากรู ใช้ขี้เถ้าโรยรอบตัว คนนั่งเป็นวงกลมป้องกันไม่ให้แม่แมงมันกัด ลูกแมงมันจะออกจากรูมากที่สุดคือช่วง ๕-๖ โมงเย็นไปจนถึงสองทุ่ม ในบริเวณใกล้ๆ อาจมีรูแมงมันมากกว่าสองรู บางปีลูกแมงมันกว่าจะหมดรังต้องใช้เวลา ๒ วัน ตัวลูกแมงมันที่มีปีก ชาวบ้านจะคั่วใส่เกลือนิดหน่อย ก่อนเด็ดปีกออกโขลกกับน้ำพริกแทนเนื้อปลา




หมึกบลูริงก์

หมึกบลูริงก์-Blue Ringed Octopus มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าถึง ๒๐ เท่า คนที่ถูกกัดจะตายภายใน ๒-๓ นาที ทั้งสามารถฆ่าคนได้ ๒๖ คนในคราวเดียว และด้วยความสวยดึงดูดจึงเป็นที่มาของฉายา สวยเพชฌฆาต ที่สำคัญ กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าหมึกชนิดนี้

หมึกบลูริงอยู่ในตระกูลสาย หรือ octopus พบทั่วไปบริเวณชายฝั่งในเขตอินโด-แปซิฟิกตะวันตกและออสเตรเลีย มี ๒ สปีชีส์ คือ Hapalochaena lunulata ซึ่งมีความยาวกว่าอีกชนิดหนึ่งประมาณ ๒๐ เซนติเมตร และเจริญเติบโตเร็วกว่า ส่วนในน่านน้ำไทยพบสปีชีส์ Hapalochleana maculosa ทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยตามธรรมชาติ บลูริงก์อาศัยอยู่ในเขตน้ำอุ่นบริเวณที่มีหน้าดินทั้งแบบโคลน แบบทราย และตามแนวโขดหิน

หมึกบลูริงมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ ๑ ปี วงจรชีวิตเริ่มต้นจากมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่ว เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเท่าลูกกอล์ฟ เป็นสัตว์ลำตัวนิ่ม มี ๘ แขน รอบๆ แขนแต่ละแขนมีรูใช้สำหรับดูดน้ำหรืออากาศตลอดความยาวแขน โดยแขนจะแผ่กระจายเป็นวงกว้างเหมือนหมึกทั่วไป ถ้าแขนขาดหรือหายไปก็งอกใหม่ได้ ในเวลากลางวันบลูริงก์พักอาศัยอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอย แล้วจะออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหาอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น

หมึกบลูริงผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวง จำนวน ๒๐-๓๐๐ ฟอง สำหรับชนิด H. lunulata เพศเมียจะกางหนวดอุ้มไข่ไว้และดูแลไข่จนกระทั่งฟักเป็นตัว ส่วนชนิด H. maculosa. เพศเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ ๒ สัปดาห์ โดยมีรายงานว่าลูกหมึก H. maculosa. ดำรงชีวิตแบบหน้าดิน ขณะที่ H. lunulata ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน แต่จากการทดลองเพาะเลี้ยงลูกหมึกที่ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากบริเวณ จ.ระยอง พบว่าเพศเมียอุ้มไข่ แต่ลูกหมึกมีการดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน จึงเป็นไปได้ว่าในน่านน้ำไทยมีหมึกตระกูลนี้มากกว่า ๑ ชนิด หรืออาจเป็นชนิดใหม่ในทางวิชาการ

หมึกบลูริงล่าเหยื่อโดยอาศัยวิธีการพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เมื่อเหยื่อผ่านมามันจะใช้แขนจับ ใช้จะงอยกัด แล้วปล่อยสารพิษในน้ำลายออกมาทำให้เหยื่อนั้นตายในที่สุด แต่หมึกบลูริงก์ไม่ใช่สัตว์ที่ดุร้าย เมื่อโดนกระทบกระทั่งมันจะทำตัวให้แบนและเปลี่ยนสีให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคาม บลูริงก์จะเปล่งแสงสีฟ้าเรืองออกมาตามลำตัว จากนั้นจะรี่เข้ากัดผู้คุกคามทันที น้ำลายของมันประกอบด้วยพิษที่เรียกว่า tetrodotoxin (TTX) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า

พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิต คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต การปฐมพยาบาลต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น ระหว่างนั้นนำผู้ที่ได้รับพิษส่งแพทย์ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน ๒๔ ชั่วโมง เว้นแต่ขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย

ต้นกำเนิดของพิษในน้ำลายของหมึกบลูริงเกิดจากผลผลิตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน แบคทีเรียดังกล่าวประกอบด้วย Bacillus และ Pseudomonas พิษ TTX และแบคทีเรียยังพบได้ในไข่ของปลาหมึก สันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการส่งถ่ายความสามารถในการสร้างพิษจากแม่ไปยังลูก พบตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว




ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูน (Clownfish) อันดับ Perciformes วงศ์ Pomacentridae วงศ์ย่อย Amphiprioninae เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเล มีหลายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกปลาสลิดหิน (Pomacentridae) พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล (sea anemone) มีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว ๑-๓ แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้มันจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง

ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่ และมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ เรื่องนี้ นพดล ค้าขาย แห่งศูนย์การศึกษาการพัฒนาประมงอ่างคุ้งกระเบน อธิบายว่า ปลาการ์ตูนเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่งๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า

จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ธาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน ๔ สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง

ปลาการ์ตูนมีทั้งหมด ๒๘ ชนิด ในเมืองไทยพบปลาการ์ตูน ๗ ชนิด พบทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนแดง ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอินเดียน

ดอกไม้ทะเลที่ปลาการ์ตูนชื่นชอบ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มันมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เป็นพฤติกรรมที่สัตว์สองชนิดพึ่งพากันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่เห็นอ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน มันเที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็กๆ อยู่รอบๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล

ซึ่งที่จริงปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่มันรู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อยๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด สรุปว่าที่ปลาการ์ตูนไม่ตายเพราะพิษของดอกไม้ทะเลเพราะมีเมือกเคลือบทั้งตัว ถ้าเอาเมือกออกปลาการ์ตูนจะถูกพิษของดอกไม้ทะเลตาย

ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนตามศูนย์วิจัยหรือฟาร์มต่างๆ แต่ลูกปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ไม่สามารถนำไปปล่อยแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ เพราะมันไม่สามารถปรับตัว ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากศัตรู สุดท้ายก็ต้องไปเป็นเหยื่อปลาที่อยู่ตามธรรมชาติ




สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์

ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) เป็นหมางาน หรือหมาใช้งาน (Working Breeds) จากเยอรมนี โดยที่หมากลุ่มนี้อาจเรียกหมาเฉพาะทางก็ได้ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมประจำพันธุ์ของมันและพฤติกรรมทางสังคมอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวทั้งสิ้น แต่ถูกมนุษย์เลือกมาใช้กับงานที่ต้องการ เช่น พฤติกรรมหวงถิ่นถูกนำมาใช้เฝ้ายาม พฤติกรรมปกป้องฝูงนำมาใช้เพื่ออารักขาบุคคล ทรัพย์สิน ฯลฯ หมาใช้งานจึงเป็นหมาที่ต้องการผู้บังคับบัญชาที่ไม่ใช่คนเลี้ยงหรือคนให้อาหารหรือเพื่อนเล่นธรรมดา แต่ต้องการผู้ฝึกสอนให้รู้จักคำสั่ง ถ้าขาดสองอย่างนี้งานก็ไม่เกิด หรืองานที่เกิดก็บกพร่องเป็นปัญหาให้เห็นอยู่เสมอ ตัวอย่างหมาใช้งาน ได้แก่ อากิดะ บ๊อกเซอร์ มาสตีฟ โดเบอร์แมน พินเชอร์ เกรทเดน เซนต์เบอร์นาร์ด ร็อตไวเลอร์ ฯลฯ

สำหรับร็อตไวเลอร์เยอรมันโบราณใช้ในงานไล่ต้อนวัว เพราะความบึกบึน ล่ำสัน แข็งแรง ทนลมทนฝนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม โดยที่ว่ากันว่าร็อตไวเลอร์มีกำเนิดจริงๆ มาจากชาวโรมันที่ใช้ร่วมขบวนยกทัพขึ้นมาในยุโรป จึงเป็นโอกาสให้หมาพันธุ์นี้ได้ตั้งรกรากเผยแพร่สายพันธุ์ของมันต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี

ร็อตไวเลอร์เป็นหมาขนาดใหญ่ จัดว่ามีหุ่นนักกล้ามปราศจากไขมันส่วนเกิน ความสูงเฉลี่ย ๖๐-๖๙ เซนติเมตร น้ำหนักมาตรฐาน ๕๐ กิโลกรัม หัวโตเพราะกะโหลกศีรษะใหญ่และกว้าง ปากไม่ยาวนักแต่หนา และมีขากรรไกรที่แข็งแรงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสำหรับเคี้ยวขนาดมหึมา พลังในการขบกัดของร็อตไวเลอร์จึงมหาศาลเหลือคณานับ อีกทั้งยังเฉลียวฉลาดเรียนรู้เร็วและซื่อสัตย์เป็นยอด จึงนิยมเลี้ยงเป็นหมาเฝ้ายาม หมาตำรวจ หมาเฝ้าบ้าน หมาอารักขา

ร็อตไวเลอร์ที่ดีควรมีขนาดปานกลาง ล่ำและมีพลัง ความกะทัดรัดและโครงสร้างที่บึกบึนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความแข็งแรง ศีรษะมีความยาวปานกลาง มองด้านข้าง หน้าผากจะโค้งเล็กน้อย ขากรรไกรบนและล่างแข็งแรง หูขนาดปานกลาง ห้อยลง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ในขณะที่ตื่นตัวหูจะอยู่ในระดับเดียวกับส่วนบนของกะโหลก จมูกกว้างมีสีดำ ลำตัวกว้างและลึกลงไปจนถึงข้อศอก หลังเหยียดตรงและแข็งแรง ชายกระเบนเหน็บสั้น ลึกและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หางตัดสั้นเกือบชิดลำตัว

ส่วนหน้า ระยะจากจุดสูงสุดถึงข้อศอกมีระยะเท่ากับข้อศอกถึงพื้นดิน ขาได้พัฒนาอย่างแข็งแรง ประกอบด้วยกระดูกที่ใหญ่และเหยียดตรง ฝ่าเท้าแข็งแรง มีสปริงและเกือบจะตั้งฉากกับพื้นดิน กลมและกะทัดรัด โค้งกำลังดี ไม่บิดเข้าหรือบิดออก อุ้งเท้าหนาและแข็ง เล็บเท้าสั้น แข็งแรง และมีสีดำ นิ้วติ่งควรจะตัดทิ้ง ขาหน้ามีกระดูกใหญ่ ท่อนบนมีกล้ามเนื้อแข็งแรง ข้อเท้าหน้าแข็งแรง ตั้งฉากกับพื้น มองจากด้านหน้าขาหน้าตรงตั้งฉากกับพื้นห่างกันพอเหมาะ เท้ากลม นิ้วเท้าชิด ขาหลังมีกระดูกใหญ่ ท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มุมขาหลังทำมุมพอประมาณ ข้อเท้าหลังตั้งฉากกับพื้น มองจากด้านหลังขาหลังตรงขนานกันตั้งฉากกับพื้น นิ้วเท้าชิด เท้ากลม

ลำตัว สัดส่วนของความสูงต่อความยาวของลำตัวประมาณ ๙ ต่อ ๑๐ ส่วน ลำตัวแข็งแรง เส้นหลังตรง ขนานกับพื้น ลำตัวส่วนหน้าหัวไหล่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ ลำตัวส่วนท้ายมีลักษณะกว้าง ค่อนข้างสั้น โค้งมนเล็กน้อย ส่วนหาง บางตัวหางกุดหรือสั้นมาตั้งแต่กำเนิด นิยมตัดหางให้สั้น ขนชั้นนอกเหยียดตรง แน่นและหยาบ ยาวปานกลางและเรียบ ขนชั้นในจะอยู่บริเวณคอและตะโพก ส่วนขนจะหนาหรือบางขึ้นอยู่กับสภาพของอากาศ สำหรับสี ต้องมีสีดำโดยเสมอ และมีสีน้ำตาลบริเวณเหนือตา แก้ม คอ เท้า ก้น อก การเดิน-วิ่งมีความสง่างาม การย่างก้าวมีพละกำลัง ขณะวิ่งขาหน้า-หลังไม่บิดหรือเก




เต่ากระ

"เต่ากระ-Hawks bill Turtle" ชื่อวิทยาศาสตร์ Ereth mochelys imbricata เป็นชนิดหนึ่งของเต่าทะเล สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปมากว่า ๑๓๐ ล้านปี นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ หรือฟอสซิลก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านปี การแพร่กระจายของเต่าทะเลพบเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น

เต่าทะเลทั่วโลกที่พบมีอยู่ ๘ ชนิด คือ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่ากระ เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่าตนุหลังแบน (Chelonia depressa) เต่าหัวค้อน (Caretta Caretta) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii) และเต่าดำ (Chelonia agassizii)

สำหรับน่านน้ำไทย พบ ๕ ชนิด คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อนและเต่ามะเฟือง

เต่ากระจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นเต่าทะเลขนาดกลางถึงเล็ก ลักษณะเด่น จะงอยปากค่อนข้างแหลม งองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว มีเกล็ดกระดอนเรียงซ้อนกันบริเวณหัวด้านหน้า ๒ คู่ (Prefrontal scale) และเกล็ดบนกระดองแถวข้าง จำนวน ๔ เกล็ด (Costal scale) และรอบๆ ขอบกระดองมีเกล็ดลักษณะคล้ายฟันเลื่อยคือเป็นซี่แหลมๆ ลักษณะเด่นชัดคือเกล็ดบนกระดองมีลวดลายและริ้วสีสวยงาม และเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัด

เต่ากระลักษณะค่อนข้างคล้ายเต่าตนุ นับเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้กัน ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑๒๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงขั้นแพร่พันธุ์ได้ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร

เต่ากระอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะเมื่อขนาดเล็ก จะอาศัยตามชายหาดน้ำตื้น กินสัตว์จำพวกสาหร่ายทะเล ฟองน้ำ ต่อเมื่อมีอายุมากขึ้น นิสัยการกินอาหารจะเปลี่ยนไปเป็นพวกหอย หรือสัตว์หน้าดินที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และสิ่งมีชีวิตที่เกาะหุ้มผิวหน้าปะการัง โดยใช้ปากที่งุ้มแทรกหรือขุดในซอกปะการัง

เต่ากระชอบวางไข่บนชายหาดที่ห่างไกลและมีคลื่นลมสงบบนชายฝั่งทะเลหรือในเกาะทะเล โดยจะขึ้นวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม-มีนาคม จำนวนไข่แตกต่างกันไปตั้งแต่น้อยกว่า ๒๐ ฟองจนถึงมากกว่า ๑๐๐ ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา ๔๕-๕๐ วัน

เต่าชนิดนี้พบทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยจะพบเต่ากระวางไข่ทั้งในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในบริเวณอ่าวไทยพบชุกชุมที่เกาะคราม จังหวัดชลบุรี เกาะกระนอกฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช และรอบๆ เกาะช้างและเกาะกูดในจังหวัดตราด ส่วนในทะเลอันดามันพบวางไข่บนชายหาดในจังหวัดภูเก็ต และบนเกาะอีกหลายเกาะในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกาะตะรุเตา

ปัจจุบันเต่ากระได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑ และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส เพราะแม้เนื้อเต่ากระกินไม่ได้ เนื่องจากมีพิษ แต่ความสวยงามของกระดองทำให้มันมีภัยจากมนุษย์ ถึงขั้นใกล้สูญพันธุ์

ความต้องการกระดองเต่ากระในทางการค้ามีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะนำไปเป?นเครื่องประดับ และยังมีการจับเต่าขนาดเล็กมากมาสตัฟฟ์และทาแล็คเกอร์เพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ชาวไทยยังนิยมกินไข่เต่าด้วย รวมถึงความเป็นไปของธรรมชาติที่หลังจากลูกเต่าฟักตัวออกมาจากหลุมทราย พวกนกทะเลจะโฉบกินมันเป็นอาหาร ตัวที่รอดลงสู่ทะเลได้ก็ยังต้องระวังพวกปลาฉลาม ปลาสากยักษ์และปลากะรังหรือปลาตัวใหญ่อื่นๆ




ทากและปลิง

ทากและปลิงไม่ใช่สัตว์เซลล์เดียว แต่เป็นสัตว์หลายเซลล์ ตามหลักสรีรวิทยาจัดอยู่ในประเภทสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังแบ่งออกได้สองประเภท คือ สัตว์ที่มีโครงสร้างแข็งภายนอก เช่น ปู กุ้ง เป็นต้น และสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม เช่น ทาก ปลิง

ส่วนในอาณาจักรสัตว์ ทากและปลิงน้ำจืดอยู่ในไฟลัมแอนนีลิดา (Phylum Annelida) กลุ่มสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมนี้เรียกว่า แอนเนลิด นอกจากนี้ก็มีไส้เดือนดิน ส่วนปลิงทะเลอยู่ไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda)

สัตว์ในไฟลัมแอนนีลิดามีลักษณะสำคัญ ได้แก่ ลำตัวกลมเป็นปล้องคล้ายวงแหวนต่อกันจึงเรียกว่า หนอนปล้อง (segmented worm) โดยแต่ละปล้องมีเดือย (setae) หรือแผ่นขา (parapodium) ช่วยในการเคลื่อนที่ สัตว์จำพวกนี้จะใช้วิธีการเคลื่อนที่โดยการขยับกล้ามเนื้อบริเวณใต้ลำตัวของตนเองอย่างเป็นจังหวะ มีช่องลำตัวที่แท้จริง (coelomates) ผิวหนังชั้นนอกมีต่อมสร้างเมือกทำให้ชุ่มชื้นเสมอ มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบปิด มีระบบประสาท ทางเดินอาหารสมบูรณ์ ระบบขับถ่ายมีเนฟริเดียม (nephridium) ซึ่งก็คือท่อปลายเปิดที่ข้างลำตัว อีกข้างหนึ่งอยู่ในโพรงระหว่างลำตัวกับลำไส้ มีปล้องละ ๑ คู่

ทากมีวงจรชีวิตอยู่แค่ปีเดียว อาศัยอยู่ในป่าชื้นแฉะและสัตว์ป่าชุกชุม เป็นปรสิตและมีสองเพศในตัวเดียวกัน คือมีอัณฑะและรังไข่อยู่ในตัวเดียวกัน แต่ผสมพันธุ์ในตัวเองไม่ได้ต้องผสมกับตัวอื่น เพราะอวัยวะสืบพันธุ์เจริญไม่พร้อมกัน จากนั้นเมื่อผสมแล้วจึงวางไข่ในปลอกไข่ (cocon) ภายในปลอกไข่จะมีไข่อยู่ ๕-๑๑ ฟอง หลังจากดูดเลือดจากเหยื่อแล้วประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งได้มีการผสมพันธุ์มาแล้วจะวางไข่ไว้บนผิวดิน ประมาณ ๒๐ วัน ตัวอ่อนจะฟักเป็นตัวซึ่งมีขนาดพอๆ กับเส้นด้าย ซึ่งบางครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่าเจ้าทากตัวเล็กนี้เป็นคนละชนิดกับทากตัวใหญ่

ปลิง ชอบอยู่ในน้ำนิ่งตามหนองหรือลำธาร อาจจำแนกออกได้เป็น ๑ ชนิด คือ
๑. ปลิงควาย (Hirudinaria manillensis) พวกนี้ชอบอยู่ในปลักควาย ตัวสีเขียวคล้ำ มีลายเป็นขีดสีดำตามลำตัว มีลายขวางสีเหลืองส้ม เมื่อเวลายืดตัวจะยาวประมาณ ๖ นิ้ว และสามารถหดตัวให้เหลือเพียง ๒ นิ้ว พวกนี้ว่ายน้ำได้เร็วมาก มันจะดูดเลือดได้ ๑๐ มิลลิลิตร และอิ่มในเวลาประมาณ ๑๐ นาที
๒. ปลิงพวก Limnatis species จะเข้าทาง ตา รูจมูก หรือปากได้ ในขณะที่คนดื่มน้ำหรือล้างหน้าในลำธารที่มีปลิงอยู่ และจะเข้าสู่หลอดคอ หลอดอาหารหรือหลอดลมได้อย่างรวดเร็ว อาการที่เกิดขึ้น คือ มีเลือดกำเดาออก ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด ทำให้เสียเลือดมาก ถ้าอยู่ในโพรงจมูกอาจทำให้ปวดศีรษะเป็นเวลานาน ถ้าอยู่ในกล่องเสียงทำให้ไอเป็นเลือด เจ็บ ปวด หายใจไม่ออก ถ้าอยู่ที่บริเวณลิ้นปี่จะทำให้กลืนลำบาก นอกจากนี้ ยังอาจเข้าไปทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือหลอดปัสสาวะของคนที่ลงอาบน้ำในลำธารได้ พวกที่ตัวใหญ่อาจเกาะและดูดเลือดตามผิวหนังขณะที่เราลงอาบน้ำ




เลี้ยง 'เหยี่ยว' ผิดกฎหมาย

การเลี้ยงเหยี่ยวนั้นผิดกฎหมาย กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย อธิบายเรื่องการเลี้ยงเหยี่ยวไว้ในเว็บ ไซต์ www.thairaptorgroup.com ว่า นกล่าเหยื่อทุกชนิด ได้แก่ เหยี่ยว นกอินทรี และอีแร้ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง  ยกเว้นเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือ อนุรักษ์ หรือการวิจัย ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เช่น โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ และการฟื้นฟูสุขภาพ หรือบางตัวจำเป็นต้องเลี้ยงไว้เป็นตำรามีชีวิต เพราะนกบางตัวปล่อยคืนป่าไม่ได้ เนื่องจากสูญเสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าหรือพิการ จึงจำเป็นต้องเลี้ยงไว้ มิได้มีเจตนาเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ที่ต้องไปซื้อจากการลักลอบดักจับจากธรรมชาติแล้วนำมาขาย ซึ่งผิดกฎหมาย

โดยสรุป คือ เลี้ยงเหยี่ยวหรือนกล่าเหยื่อเป็นสัตว์เลี้ยงนั้นผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการซื้อนกล่าเหยื่อมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง รวมถึงการเพาะเลี้ยงนกล่าเหยื่อเพื่อซื้อขายหรือเป็นสัตว์เลี้ยง โดยบุคคลทั่วไป  การฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการช่วยเหลือสัตว์ป่าเพื่อต่อชีวิต ในกรณีที่นกตัวนั้นพร้อมที่จะถูกปล่อยคืนธรรมชาติและมีต้นตอจากธรรมชาติ หลังจากได้รับการฟื้นฟูสุขภาพจนแข็งแรงและน่าจะกลับไปใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ และการเลี้ยงนกล่าเหยื่อบางตัวที่พิการ หรือสูญเสียสัญชาตญาณสัตว์ป่า มิใช่เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง หากจำเป็นต้องเลี้ยงเพื่อประคองชีวิตของนกไว้ ตามหลักความเมตตาต่อสัตว์ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนิสิตนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง หรือบางตัวเมื่อปล่อยไม่ได้ แต่เป็นสัตว์ป่าหายาก จะส่งต่อให้สวนสัตว์เลี้ยงดูเพื่อใช้เผยแพร่ความรู้แก่เยาวชน ซึ่งจะมีการขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ

สัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงเหยี่ยว มิใช่สมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง สำคัญคือการนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงย่อมส่งผลลบต่อประชากรของนกในธรรมชาติให้ลดจำนวนลงจนอาจสูญพันธุ์ อีกทั้งผู้เลี้ยงไม่มีความรู้ความชำนาญในการดูแลนกล่าเหยื่อที่มีลักษณะการดำรงชีวิตพิเศษแตกต่างจากนกกลุ่มอื่นๆ และมีไม่น้อยที่นกที่ถูกซื้อมาต้องพบจุดจบด้วยความไม่รู้และเลี้ยงไม่เป็น   ทั้งนี้ ผู้สนใจนกเหยี่ยวสามารถมาศึกษาและบริจาคเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรับอุปการะค่าอาหาร ค่าตรวจวินิจฉัยและฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ป่าเหล่านี้ ซึ่งมี ๒ ระดับ คือ การดูแลเหยี่ยวหรือนกเค้าแมว มีค่าใช้จ่ายจำนวน ๔,๐๐๐ บาท นกอินทรีนกอินทรีหรือนกแร้ง มีค่าใช้จ่ายจำนวน ๗,๗๐๐ บาท หลังจากนั้นผู้อุปการะจะเป็นผู้ดำเนินการปล่อยนกหรือเหยี่ยวที่พร้อมจะดำรงชีวิตด้วยตนเองในธรรมชาติ ภายใต้ดุลพินิจของสัตวแพทย์ประจำศูนย์ฟื้นฟูที่จะตรวจสอบพื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหมาะสของนกล่าเหยื่อแต่ละชนิด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:49:02 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 16 ตุลาคม 2558 19:00:00 »

.

http://www.ku.ac.th/e-magazine/oct52/image/oct3.1.jpg
สารคดี ชีวิตสัตว์โลก

ไก่เบตง

ไก่เบตง
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดยะลา รวบรวมไว้ว่า ไก่พันธุ์เบตงได้ชื่อตามชื่ออำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดและมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ลักษณะพื้นที่เป็นที่สูง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีอาชีพทำสวนยางพาราและค้าขาย และอำเภอเบตงนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิดไก่ที่มีชื่อเสียงมาก เนื้อมีรสชาติอร่อยและตัวใหญ่

สืบความเป็นมาได้ว่า ไก่พันธุ์เบตงเป็นไก่ที่มีเชื้อสายมาจากไก่พันธุ์เลียงชาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน เมื่อชาวจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่มาปักถิ่นฐานทำมาหากินตั้งหลักแหล่งในอำเภอเบตงได้นำไก่พันธุ์นี้มีมาแพร่หลายด้วยจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันไก่พันธุ์เบตงมีปริมาณลดน้อยลงเนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายบ้านเรือนบ่อยๆ และประชาชนบางท้องที่ไม่ได้ทำวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเกิดโรคระบาดไก่ก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก และอีกประการคือ ราคาจำหน่ายในท้องตลาดมีราคาสูงเพราะหาซื้อยาก ด้วยมีคนเลี้ยงน้อยลงเพราะตลาดผู้บริโภคไม่แน่นอน

ลักษณะของไก่เบตง เพศผู้ ปากสีเหลืองอ่อน จะงอยปากงองุ้มแข็งแรง อาจเป็นเพราะต้องหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ ทำให้ปากมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ตานูนแจ่มใส หงอนแบบหงอนจักร หัวลักษณะกว้าง คอตั้งแข็งแรง ขนคอมีสีเหลืองทองที่หัวแล้วค่อยๆ จางลงมาถึงลำตัวลักษณะคล้ายสร้อยคอ

ปีกสั้นแข็งแรงพอเหมาะกับลำตัว ขนสีเหลือง อาจมีเส้นสีดำ ๑ หรือ ๒ เส้น ที่ปลายแถบของขน อกกล้ามเนื้อกว้างตามลักษณะไก่พันธุ์เนื้อทั่วไป ขนที่อกและใต้ปีกสีเหลืองบาง หลังมีระดับขนานกับพื้นดิน (กว้าง, เป็นแผ่นๆ) หางมีขนหางไม่ดกนักและไม่ยาวมาก บั้นท้ายเป็นรูปตัดเห็นได้ชัด ขามีขนาดใหญ่พอเหมาะกับลำตัว ขนสีเหลือง ผิวหนังมีสีแดงเรื่อๆ เพราะขนน้อย แต่ถ้าเป็นไก่ตอนจะมีขนดก หน้าแข้งกลม ล่ำสัน เกล็ดวาวแถวแนวเป็นระเบียบสีเหลือง นิ้วเหยียดตรงและแข็งแรง เล็บเท้าสีขาวอมเหลือง


  ไก่เบตงเพศเมีย หัวกว้าง ตาแจ่มใส หงอนรูปถั่วสั้น หรือจักรติดหนังสือ โคนปากมีสีน้ำตาลเข้มค่อยๆ จางมาเป็นสีเหลืองที่ปลายปาก จะงอยปากงุ้มแข็งแรง คอตั้งแข็งแรง สีเหลืองอ่อน อกกว้างหนา ขนสีเหลืองดกคลุมทั่วตัว หลังวางแนวขนาน กับพื้น ปีกพอเหมาะกับลำตัว แข็งแรง ขนปีกเต็มเป็นแบบมีสีดำประปราย หางดกสีเหลือง ขาแข็งแรง หน้าแข้งกลมสีเหลือง เกล็ดวางแถวแนวเป็นระเบียบ นิ้วเหยียดตรงและแข็งแรง เล็บสีขาวอมเหลือง

ไก่พันธุ์เบตงเป็นไก่ที่ชอบหากินอิสระในสนามหญ้าบริเวณบ้าน หรือตามป่าโปร่งๆ คงเป็นเพราะไก่พันธุ์นี้มีลักษณะไก่ป่าอยู่มาก ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ตามบริเวณลานบ้าน หรือในสวนยางพารา เป็นไก่พันธุ์ที่เลี้ยงเชื่องมาก ชอบหากินเป็นฝูง ตัวผู้รักลูกมาก บางครั้งจะพบว่าตัวผู้ฟักไข่แทนตัวเมีย

ทั้งนี้ ไก่พันธุ์เบตงต่อมาได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์โดยฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดึงลักษณะที่แท้จริงออกมาให้ได้มากที่สุด และให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของภาคกลางได้ เกิดเป็นไก่เบตงภายใต้ชื่อ "ไก่เคยูเบตง"





วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า หรือวาฬแกลบ (Bryde's whale, Eden's whale) ชื่อวิทยาศาสตร์ Balaeno ptera brydei เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae โดยชื่อ บรูด้า ตั้งเป็นเกียรติแก่กงสุลชาวนอร์เวย์ในประเทศแอฟริกาใต้ โยฮัน บรูด้า ทั้งนี้ เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕ ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ

วาฬบรูด้ารูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวสีเทาดำ มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวมีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน ๓ สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำ จะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา

จุดเด่นของวาฬบรูด้าคือครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลมและมีความยาวเป็น ๑๐% ของความยาวลำตัว

ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ ๔๐-๗๐ ร่อง พาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจากปากบนมีจำนวน ๒๕๐-๓๗๐  แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว ๖๐ เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ เพราะวาฬบรูด้าไม่มีฟัน แต่มีบาลีน คือแผ่นกรองคล้ายหวีสีเทา ใช้กรองแพลงตอน และฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น หมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น

เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว ๑๔-๑๕.๕ เมตร หนัก ๒๐-๒๕ ตัน มีวัยเจริญพันธุ์อยู่ในช่วงอายุ ๙-๑๓ ปี ให้ลูกครั้งละ ๑ ตัวทุก ๒ ปี ตั้งท้องนาน ๑๐-๑๒ เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า ๑๒ เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ ๓-๔ เมตร มีอายุยืนได้ถึง ๕๐ ปี

วาฬบรูด้าพบกระจายพันธุ์ในท้องทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ ๑-๒ ตัว ลักษณะเด่นในน้ำคือ เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ

สำหรับประเทศไทย วาฬบรูด้าเป็นวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่าอาศัยอยู่ประจำถิ่นในอ่าวไทย พบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด ที่พบบ่อยคือทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่บรูด้าเมืองไทยมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติหลายกลุ่มพยายามศึกษาและตั้งชื่อวาฬบรูด้าในอ่าวไทยให้เป็นวาฬชนิดใหม่ของโลก โดยปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวมกว่า ๑๐๐ แห่ง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลการศึกษาติดตามวาฬบรูด้าในแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยใช้เรือเฝ้าศึกษาติดตามตลอดทั้งปี พบวาฬบรูด้าอพยพเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารและฤดูกาล โดยเฉพาะที่อ่าวไทยตอนบน พบได้ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ

ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนถึงเพชรบุรี และบางครั้งพบบริเวณชายฝั่งทะเลชลบุรี โดยประเมินว่าประชากรวาฬบรูด้าที่พบบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีจำนวน  ๒๐-๒๕ ตัว โดยทั่วไปพบครั้งละ ๑-๓ ตัว ขนาด ๔-๒๐ เมตร พฤติกรรมอยู่รวมกันพ่อ แม่ ลูก





ปลาทู
ปลาทู ภาษาอังกฤษใช้ Mackerel (แม็กเคอเรล) เป็นปลาทะเลที่อยู่ในสกุล Rastrelliger ในวงศ์ Scom bridae วงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรีและปลาทูน่า

มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ในน่านน้ำที่เป็นทะเลเปิด ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก อ่าวไทย ทะเลอันดามัน จนถึงทะเล จีนใต้และทะเลญี่ปุ่น

ส่วนใหญ่ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก ๒๐๐ เมตร ในน่านน้ำไทย พบทั้งหมด ๓ ชนิด ได้แก่ ปลาทูสั้น Short-Bodied Mackarel เป็นชนิดที่นิยมบริโภคมากที่สุด ปลาทูลัง Indian Mackarel และ ปลาทูปากจิ้งจก หรือ ปลาลังปากจิ้งจก Island mackerel

เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย ตามที่มีเมนูยอดฮิตตลอดกาล คือ น้ำพริก-ปลาทู

ส่วนคำว่า ปลาทู มีข้อสันนิษฐานไม่เป็นทางการว่า อาจมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งไทยนำเรืออวนตังเกจากจีนมาใช้ ทำให้จับปลาทูได้มาก

เนื้อปลาทูมีสารโอเมก้า ๓ ค่อนข้างมาก กล่าวคือในปริมาณเนื้อ ๑๐๐ กรัม มีสารโอเมก้า ๓ ราว ๒-๓ กรัม ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และยังลดคอเลส เตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความหนืดของเลือด ลดการ อักเสบ ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ปลาทูในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ พบตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก ๒๐๐ เมตร มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ๑๗ องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน ๓๒.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง ๒๐.๔ เปอร์เซ็นต์ จึงพบในบริเวณน้ำกร่อย หากินในเวลากลางคืน กินอาหารจำพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ปลาทูวางไข่ปีละสองครั้ง ตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค. และเดือนมิ.ย.-ก.ค. ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ แหล่งวางไข่แหล่งใหญ่ในอ่าวไทยมี ๒ แห่ง คือ ในน่านน้ำบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี กับที่แหลมแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปลาทูวางไข่ในทะเลค่อนข้างลึก เมื่อลูกปลาทูโตขึ้นจะเริ่มว่ายเข้าหาฝั่งแถบก้นอ่าวไทยและจะโตเต็มที่ในเวลา ๖ เดือน

ไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้ระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ ๐.๘๐-๐.๙๖ มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ ๑๖-๑๗ ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน ๓ วัน

จากข้อมูลวิกิพีเดีย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีนักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ ดร.ฮิวจ์ แม็กคอร์มิก สมิธ ได้รับการว่าจ้างมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่างๆ ในประเทศไทย มีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา

หลวงมัศยจิตรการเป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๔๖๘

ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนีตะวันตกมาใช้ และเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลง

การที่ปลาทูถูกจับในปริมาณมาก ทำให้น่าหวั่นเกรงว่าอาจสูญพันธุ์ลงได้หากไม่ทำอะไร ในส่วนของกรมประมงจึงใช้ความพยายามกว่า ๒ ปี ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทูในระบบปิดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕





ปลาอันตรายในทะเลไทย
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลเรื่องปลาอันตรายอยู่ในวารสารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดย วันทนา อยู่สุข และ ธีระพงศ์ ด้วงดี ระบุถึงปลาทะเลที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะจากการสัมผัสว่าด้วยปลาจำนวนมากมีอวัยวะป้องกันตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบแข็ง ซึ่งเมื่อไปทิ่มแทงหรือตำจะทำให้เกิดบาดแผล ปลาบางพวกยังสามารถสร้างสารพิษที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษเหล่านั้นสร้างโดยต่อมพิษที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่หุ้มหนาม หรือหนังที่ปกคลุมบริเวณหนาม หรือที่ตัวหนาม

ปลาทะเลที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยการทิ่ม แทง ตำ มีเป็นจำนวนมาก จำแนกออกเป็น ๗ กลุ่ม ดังนี้
๑.กลุ่มปลากระเบน ปลากระเบนมีลำตัวแบน ครีบอกขนาดใหญ่แผ่ออกข้างตัว ทำให้เห็นลำตัวเป็นแผ่น รูปร่างเกือบกลมคล้ายว่าวหรือจาน ส่วนหางเรียวคล้ายแส้แยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจนมีหนามแหลมบริเวณโคนหางด้านบน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชนิด หนามเป็นแท่งแบน ยาว ปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็น ฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลาย กลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ อยู่ใต้ผิวชั้นนอก

ปลากระเบนที่มีพิษรุนแรงในน่านน้ำไทย ได้แก่ วงศ์ปลากระเบนธง และวงศ์กระเบนนก ผู้ที่ถูกหนามหรือเงี่ยงปลา กระเบน แผลมีลักษณะคล้ายแผลมีดบาด และเพราะเงี่ยงปลากระเบนมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เมื่อชักเงี่ยงออกจากบาดแผล จึงทำให้แผลฉีกมากขึ้น หลังถูกตำจะมีอาการปวดเป็นระยะๆ ต่อมาแผลจะอักเสบ บวม อย่างไรก็ตาม ปลากระเบนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อันตรายมักเกิดจากที่คนเหยียบปลากระเบนที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายหรือทรายปนโคลน

๒.กลุ่มปลาดุกทะเล และปลากดทะเล ปลาดุกทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวปกคลุมด้วยเมือกลื่น รูปร่างเรียวยาว ด้านข้างแบน ส่วนหัวแบนลง มีหนวด ๔ คู่ อยู่ที่บริเวณรูจมูก ๑ คู่ ริมฝีปาก ๑ คู่ และใต้คาง ๒ คู่ ครีบหลังอันที่สอง ครีบก้น และครีบหางติดต่อกัน ครีบหลังและครีบอกมีก้านครีบแข็ง ซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่แข็งแรง ส่วนปลากดทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวมีเมือกลื่น หัวแบนปกคลุมด้วยกระดูกเป็นสันและเป็นตุ่มเม็ดหยาบๆ ครีบหางรูปส้อม ครีบหลังอันแรกและครีบอกมีก้านครีบแข็งซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคมคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่ มีต่อมพิษอยู่ที่ผิวของเยื่อที่คลุมก้านครีบ และที่ตอนกลางของกระดูกก้านครีบ

อันตรายจากปลากลุ่มนี้เกิดจากไปสัมผัสโดนก้านครีบแข็งบริเวณครีบหลังและครีบอก โดยเฉพาะขณะที่จับปลาเพื่อปลดออกจากเครื่องมือประมง เช่น เบ็ด แห หรืออวน หรืออาจเกิดจากไปเหยียบถูกมัน เนื่องจากทั้งปลาดุกและปลากดทะเลเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน และอาจมาหากินตามที่น้ำตื้นหรือปากแม่น้ำ พิษของปลากลุ่มนี้มีผลคล้ายกับพิษของปลากระเบน เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดทันที ปลาขนาดเล็กมีผลทำให้เจ็บปวดนานประมาณ ๓๐-๖๐ นาที ส่วนปลาขนาดใหญ่อาจมีผลทำให้เจ็บปวดนานถึง ๔๘ ชั่วโมง และบาดแผลบวมอักเสบ


http://www.fisheries.go.th/mf-emdec/mainweb/km/poisonseaanimal/19b.png
สารคดี ชีวิตสัตว์โลก
 ปลากะรังหัวโขน

๓.กลุ่มปลากะรังหัวโขน มีลำตัวป้อมเกือบกลม หัวขนาดใหญ่ ส่วนหัวมีหนามจำนวนมาก ลำตัวสากและมีหนามเล็กๆ หนังหนาและเป็นปุ่ม เกล็ดละเอียด แต่บางชนิดไม่มีเกล็ด ครีบหลังยาว ครีบอกกว้าง มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบอกและครีบท้อง ก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นหนาม ต่อมพิษของก้านครีบแข็งอยู่ใต้ชั้นผิว โดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ

พิษจะถูกปล่อยออกเมื่อเยื่อหุ้มหนามฉีกขาด อันตรายเกิดจากการไปสัมผัสถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ และหนามบริเวณหัว เนื่องจากปลากลุ่มนี้ชอบอยู่นิ่งๆ ทำให้ดูคล้ายก้อนหินจึงอาจไปสัมผัสหรือเหยียบได้ พิษมีความรุนแรงมากเมื่อถูกตำหรือบาดจะปวดและบวมทันที ความเจ็บปวดอาจอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ในกรณีที่รับพิษจำนวนมากหรือแพ้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคอแห้ง ปวดเมื่อยตามข้อต่างๆ ซึม เพ้อ ไม่ได้สติ จนเสียชีวิตได้ในที่สุด ปลาในกลุ่มนี้อาศัยตามพื้นท้องทะเล จัดอยู่ใน ๒ วงศ์ คือ วงศ์ปลาแมงป่อง และวงศ์ปลาหิน

๔.กลุ่มปลาสิงโต ปลาสิงโตมีลำตัวยาวปานกลาง แบนข้างเล็กน้อย หัวขนาดใหญ่ ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นกระดูกและมีหนามจำนวนมาก เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลังและครีบอกขนาดใหญ่แผ่กว้าง โดยทั่วไปครีบอกมีขนาดใหญ่แหลมคม ต่อมพิษมีลักษณะคล้ายกับปลากะรังหัวโขน หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง ปลาสิงโตมักว่ายช้าๆ หรือลอยตัวนิ่งๆ ตามแนวปะการัง และแนวหินในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทั่วไป นักท่องเที่ยวชอบเข้าไปจับเล่นเนื่องจากดูสวยงามและคิดว่าไม่เป็นอันตราย พิษของปลาสิงโตเหมือนกับพิษของปลากะรังหัวโขน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ปลาสิงโตจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาแมงป่อง

๕.ปลาขี้ตังเป็ด มีลำตัวป้อมแบน หนังหนา เกล็ดเล็ก ครีบหลังและครีบก้นยาว บริเวณลำตัวและครีบมีสีสันสวยงามมาก อันตรายเกิดจากการสัมผัสหนามซึ่งอยู่บริเวณโคนหาง พิษของปลาขี้ตังเป็ดมีผลคล้ายกับพิษของปลากะรังหัวโขน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

๖.กลุ่มปลาสลิดทะเล ปลาสลิดทะเลมีรูปร่างแบนป้อม ลำตัวแบนข้าง หัวขนาดเล็ก เกล็ดเล็กละเอียด ครีบหลังและครีบก้นยาว มีก้านครีบแข็งที่ครีบหลัง ครีบท้องและครีบก้นซึ่งมีลักษณะแหลมคมและแข็ง มักพบในเขตชายฝั่งตามพื้นท้องทะเล กองหิน แนวปะการัง และแนวหญ้าทะเล อันตรายเกิดจากการถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ ตำ แทง เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดมาก แต่ไม่มีรายงานว่ามีต่อมพิษ

๗.กลุ่มปลาตะกรับ ปลาตะกรับมีลำตัวป้อมสั้น แบนข้าง หัวเล็ก หนังหนา เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลังยาว สีพื้นลำตัวด้านล่างมีสีน้ำเงินอมเขียว ด้านท้อง สีขาวเงิน ตลอดลำตัวและครีบมีจุดสีเป็นวงสีน้ำตาลอมเทา มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบท้องและครีบก้น อันตรายเกิดจากถูกก้านครีบแทง ตำ ซึ่งมักเกิดขณะปลดปลาออกจากเครื่องมือประมง





แกสบี้
นำความรู้เกี่ยวกับแกสบี้มาจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลก่อนตัดสินใจเลี้ยงแกสบี้ว่า เพราะแกสบี้จำนวนไม่น้อยโดนเจ้าของทอดทิ้ง และแกสบี้ไม่ใช่ของเล่นที่มีชีวิต จึงมีข้อควรพึงเข้าใจคือ

๑.แกสบี้มีอายุขัยถึง ๕-๗ ปี คิดดูว่าเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น สามารถดูแลเขาได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขาหรือไม่  แกสบี้เป็นสัตว์ที่จดจำเจ้าของได้ แม้กระทั่งเสียงฝีเท้า เวลาโดนทอดทิ้งจึงน่าสงสารมาก

๒.แกสบี้ต้องกินพืชที่มีกากใยเป็นอาหาร อย่าเข้าใจผิดคิดว่าแค่ให้อาหารเม็ดก็พอ เพราะร่างกายเขาย่อยด้วยแบคทีเรีย พืชผักต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าขนจำเป็นมาก เพื่อให้สมดุลธรรมชาติของร่างกายพอดี ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาสุขภาพตามมา

๓.แกสบี้ต้องการวิตามินซีเพิ่มจากอาหาร เพราะสังเคราะห์เองไม่ได้ ก่อนเลี้ยงต้องรู้ไว้เลย แกสบี้ต้องการวิตามินซีเสริม เช่น ฝรั่ง หรือเควี่ฟรุต เป็นต้น

๔.แกสบี้ต้องได้รับการดูแลขนและอาบน้ำ จะต้องอาบน้ำแกสบี้ประมาณ ๒ สัปดาห์ครั้ง ไดร์เป่าขนให้แห้ง และต้องหมั่นหวีขนด้วย ไม่อย่างนั้นจะพันกันเป็นก้อนๆ

๕.ต้องหมั่นทำความสะอาดกรง เพราะฉี่ของแกสบี้หากนองที่พื้นกรง จะมีกลิ่นแอมโมเนียรบกวนทั้งเจ้าของและระคายเคืองจมูกแกสบี้

๖.แกสบี้ต้องการหมอเฉพาะทาง เพราะเขาตัวเล็ก ยากแก่การคำนวณปริมาณยา และมีหมอที่เชี่ยวชาญอยู่ไม่มาก ให้คำนึงสามารถจะพาไปหาหมอที่เชี่ยวชาญได้หรือไม่

๗.แกสบี้เหมาะกับเจ้าของที่โตพอ เพราะไหนจะตัดหญ้า อาบน้ำ ดูแลทำความสะอาดกรง เด็กอายุน้อยๆ ไม่สามารถทำได้ ถ้าอยากจะให้เด็กเลี้ยง ควรจะให้เด็กมีอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ขึ้นไปจึงจะดี

๘.แกสบี้ไม่สามารถจะฝึกได้แบบสุนัข แกสบี้เป็นสัตว์กินพืช ซึ่งปกติสัตว์กินพืชจะไม่มีทักษะในการล่า หรือการเรียนรู้ที่ดีเท่าสัตว์กินเนื้อ

แกสบี้มีหลายสายพันธุ์ แบ่งตามลักษณะของขน ดังนี้
๑.สายพันธุ์ขนยาว พีรูเวี่ยน (Peruvian) ขนยาวเหยียดตรง แนวของขนจะย้อนจากท้ายลำตัวขึ้นมาทางหัว ซึ่งเกิดจากขวัญที่ส่วน ท้ายของ ลำตัว พีรูเวี่ยนเป็นหนูสายพันธุ์ขนยาวที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ ผู้เลี้ยง, ซิลกี้ (Silky) มีขนยาวตรง ไม่มีขวัญ ขนจะเหยียดตรงจากทางหัวไปท้ายลำตัว และตกลงมาด้านข้าง, โคโรเน็ต (Coronet) มีขนยาวตรง คล้ายซิลกี้ แต่มีขวัญบริเวณ หน้าผาก

๒.สายพันธุ์ขนหยิก เท็กเซล (Texel) ขนยาวหยิกเป็นลอน ไม่มีขวัญเหมือนกับซิลกี้, มาริโน่ (marino) มีขนยาวหยิก มีขวัญที่หัวเหมือนโคโรเน็ต, อัลพาคา (Alpaca) มีขนยาวหยิก มีขวัญที่ก้น ขนจะย้อนมาทางด้านหน้าเหมือนพีรูเวี่ยน

๓.สายพันธุ์ขนสั้น อเมริกัน ชอร์ต แฮร์ (American Short Hair) มีลักษณะขนสั้นและเรียบตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงท้ายลำตัว ไม่มีขวัญ มีหลายสี

อะบิสซิเนี่ยน (Abyssinian) เป็นแกสบี้ที่มีความฉลาดมากกว่าสายพันธุ์อื่น และเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด มีขวัญกระจายอยู่รอบตัว โดยมี ๒ ขวัญอยู่ที่ไหล่ข้างละขวัญ อีก ๔ ขวัญอยู่บนหลัง มี ๒ ขวัญอยู่บนสะโพก และอีก ๒ ขวัญอยู่ด้านหลังสุด อะบิสซีเนี่ยนที่สวยขวัญต้องไม่สะเปะสะปะ

เครสต์ (Crest) ลักษณะคล้ายชอร์ตแฮร์ ต่างกันที่พันธุ์นี้มีขวัญที่หัว ทั้งนี้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑.อเมริกันเครสต์ สีที่ขวัญกับลำตัวจะต่างกัน
๒.อิงลิชเครสต์ ขวัญกับลำตัวมีสีเดียวกัน

เท็ดดี้ (Teddy) ลักษณะขนหนาสั้นประมาณ ๓/๔ นิ้ว ขนจะหยิกเล็กน้อย แบ่งขนได้ ๒ ประเภทคือ ขนกำมะหยี่ และขนหยาบ และ เร็กซ์ (Rex) มีลักษณะคล้ายกับเท็ดดี้ แต่การพัฒนาลักษณะขนหยิกของทั้งสองสายพันธุ์เกิดจากยีนที่ต่างกัน





คุ่น - แมลงลิ้นดำ
คุ่น เป็นชื่อที่แถบภาคเหนือใช้เรียก แมลงริ้นดำ ซึ่งข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แมลง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ อธิบายว่า แมลงริ้นดำ (black fly) คนเหนือเรียกว่า คุ่น ส่วนชาวกะเหรี่ยงเรียกตัวเต็มวัยว่า ผะบอ (คุ่นเหลือง) คะซู (คุ่นดำ) ตัวหนอนเรียก ก่อก๊อบ เป็นแมลงในอันดับดิพเตอร่า (order diptera) วงศ์ Simuliidae มีขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีอกปล้องแรกโค้งนูนขึ้นชัดเจน (หลังค่อม)

แมลงริ้นดำทั่วโลกพบแล้ว ๒,๑๓๒ ชนิด ประเทศไทยมีรายงาน ๘๙ ชนิด เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายของชนิดมากที่สุดประมาณ ๒ ใน ๓ (๕๘ ชนิด)

การอยู่อาศัยแมลงริ้นดำ ระยะไข่ ตัวหนอน และดักแด้ อาศัยในน้ำไหลทั้งชั่วคราวและถาวร ในลำธารบนภูเขาหรือในเขตชนบท ตัวเต็มวัยเพศเมียบางชนิดเป็นปรสิตภายนอก ดูดกินเลือดจากคนหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการเจริญและพัฒนาการของไข่ บางชนิดไม่จำเป็นต้องกินเลือดไข่ก็เจริญได้ ส่วนตัวผู้จะดูดกินเฉพาะน้ำหวานจากดอกไม้
 
ภัยจากแมลงริ้นดำ เพศเมียบางชนิดที่เป็นปรสิตภายนอก ชอบกัดและดูดกินเลือดคนหรือสัตว์เลี้ยง ก่อความรำคาญ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก บ้านม้งดอยปุย โดยทั่วไปแล้วจะเข้ากัดมาก ๒ ช่วงเวลาใน ๑ วัน คือช่วงเช้า และเย็น ประมาณเวลา ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐น. และ ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ส่วนตอนสายๆ จนถึงบ่าย พบน้อย ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงเวลาเข้ากัดเล็กน้อยตามฤดูกาล การกัดทำให้เกิดอาการคัน อักเสบ บริเวณที่โดนกัดมีอาการบวมโต เป็นตุ่ม หรือแผลอักเสบ หรือในบางรายมีอาการแพ้รุนแรงจนเป็นไข้ เรียกว่าไข้ริ้นดำ ซึ่งจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้และอาจมีอาการหอบหืด
 
ในต่างประเทศมีรายงานพบแมลงริ้นดำเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย แต่ไม่มีรายงานการพบโรคนี้ที่ประเทศไทย

โรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรียทำให้เกิดก้อนใต้ผิวหนังบริเวณลำตัว ไหล่และศีรษะ ภายในก้อนมีพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมีอาการผิวหนังอักเสบ เมื่อตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนเข้าไปยังลูกตา จะทำให้ตาอักเสบและบอดในที่สุด พบมากในผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ แหล่งระบาดของโรคนี้พบที่แอฟริกา อเมริกากลางและใต้ คาบสมุทรอาระเบียในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ไม่มีรายงานการพบโรค

แมลงชนิดนี้กัดคนตรงบริเวณข้อเท้า หรือบริเวณอื่นๆ ที่เสื้อผ้าคลุมไม่ถึง โดยหลังจากที่ดูดกินเลือดอิ่มแล้ว ตรงแผลที่โดนกัดจะมีหยดเลือดไหลออกมาเล็กน้อยและมีอาการคัน ถ้าไม่เกาสะเก็ดแผลจะยุบหายไปภายใน ๒ สัปดาห์หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย

การใช้ประโยชน์ พบชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่แอบ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นำก่อก๊อบมาปรุงเป็นยำกินแกล้มกับสุราพื้นบ้านในโอกาสพิเศษ เช่น หลังการเก็บเกี่ยวข้าว

การหาตัวหนอนริ้นดำมาทำยำ จะใช้พุ่มไม้หรือใบตองมากันเพื่อชะลอการไหลของน้ำ จากนั้นใช้มือลูบคลำบนบริเวณที่ตัวหนอนเกาะอยู่ ตัวหนอนจะติดขึ้นมาตามฝ่ามือ ลูบจนได้ตัวหนอนมากพอแล้วก็ล้างโดยใช้น้ำสะอาดล้างหลายๆ รอบ เพื่อให้ ทรายที่ติดมากับตัวหนอนหลุดออกจนหมด

ส่วนการปรุงมีเครื่องปรุงง่ายๆ ได้แก่ พริกแห้ง (ย่างไฟก่อนใช้) ถั่วเน่า หอมแดง หอมหัวใหญ่ เกลือ และมะนาว นำมาคลุกเคล้าและชิมรสตามชอบ


ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 15:54:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 16 ตุลาคม 2558 20:12:46 »

.



ตั๊กแตนตำข้าว
ตั๊กแตนตำข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Tenodera sinensis อยู่ในประเภทสัตว์ปีก นับเป็นตั๊กแตนที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะเป็นแมลงที่กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร ส่วนขาหน้าที่มีขนาดใหญ่ใช้ในการจับเหยื่อ โดยยามจับเหยื่อตั๊กแตนจะทำท่ายกขาหน้าและโยกไปมาคล้ายจะต่อยมวย

ชื่อ ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนซ้อมข้าว หรือตั๊กแตนชกมวย จึงเรียกตามลักษณะท่าทางของมันที่คอยยกขาหน้าขึ้นลง คล้ายคนกำลังยกสากซ้อมหรือตำข้าวในครก และเหมือนกับนักมวยที่ยกแขนตั้งท่ามวย แต่ฝรั่งมองผิดไปจากคนไทย โดยมองว่ามันกำลังยกมือสวดมนต์ภาวนา จึงเรียก แมนติส (Praying Mantis สำนวนแปลว่า เพชฌฆาตสวดมนต์)

ขณะที่นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน คาโรลัส ลินเนียส (คาร์ล ฟอน ลินเนีย หรือคาร์ล ลินเนียส) ผู้ริเริ่มการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ และการประยุกต์ใช้ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาชีววิทยาจนถึงปัจจุบัน ตั้งชื่อตั๊กแตนชนิดนี้ว่า Mantis religiosa แปลว่า สายพันธุ์โลกเก่า

ตั๊กแตนตำข้าวพบกระจายทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีประมาณ ๑,๘๐๐ สายพันธุ์ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (ขนาดหลอดกาแฟยาว ๒-๓ นิ้ว) สีเขียวคล้ายใบไม้ เป็นสัตว์ที่มีขาคู่หน้าที่แข็งแรงต่างไปจากตั๊กแตนชนิดอื่น และยังมีขอบหยักคล้ายซี่เลื่อยแหลมคมงอกขึ้นมาตามท้องขาท่อนปลายสุดและท่อนกลาง ไว้ช่วยตะปบเหยื่อไม่ให้หลุดรอด

โดยเฉพาะท่อนขาช่วงกลางที่โตและโค้งงอคล้ายใบมีด คล้ายแขนนักเพาะกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนหัวที่หมุนได้เกือบรอบ และมีตาโปนเด่นออกมา ตาจะกลอกไปได้รอบๆ จ้องจับเหยื่อไม่ให้คลาดสายตา เป็นดวงตาที่จ้องมองเหยื่อไม่ให้หนีรอดไปได้ และเมื่อเข้าใกล้ระยะจู่โจม ก็จะตะปบเหยื่อด้วยขาคู่หน้าแล้วรัดแน่นด้วยซี่เลื่อยที่ท้องขา

ตามปกติถ้าไม่ตื่นกลัว มักจะคลานไต่ไปตามต้นไม้เพื่อหากิน จะไม่บินรวมกันเป็นฝูง ทั้งสามารถเปลี่ยนสีพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ การพรางตัวทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยจากศัตรูที่โตกว่า ศัตรูตัวเอ้คือแมงมุมกระโดด เพราะมีความร้ายกาจพอกัน เมื่อแมลงทั้งสองชนิดนี้มาเจอกัน ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นจะอยู่รอดได้

เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตั๊กแตนตัวผู้ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียถึงเท่าตัวจะถูกกัดกิน และ ๒-๓ วันต่อมา ตัวเมียจะหันหัวลงขับเมือกหุ้มไข่ไปเกาะตามใบไม้ กลายเป็นรังที่แข็งแรง ปลอดภัย โดยมีแม่คอยเฝ้าหวงรัง

ตั๊กแตนตำข้าวจัดได้ว่าเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะจะคอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีการทำโรงเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้จับคู่ผสมพันธุ์กัน แล้วเก็บรังไข่ที่คล้ายกระเปาะสามเหลี่ยมไปเกี่ยวติดกับกิ่งฝ้ายขณะที่ตกสมอ

เมื่อลูกอ่อนฟักออกมาจากรังก็จะช่วยทำหน้าที่กำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายทันที แต่ละรังจะได้ลูกอ่อนหลายสิบตัว มากพอที่จะควบคุมปริมาณหนอนได้

จะเห็นได้ว่าธรรมชาติได้มอบแมลงที่เป็นประโยชน์มาให้ เพียงแต่ต้องหาวิธีจัดการให้เหมาะสมถูกต้อง อย่างเช่นการทำประโยชน์จากตั๊กแตนตำข้าวดังกล่าว

แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือแหล่งที่อยู่อาศัย และการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตั๊กแตน ตำข้าวผู้คอยทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืช





เต่าบก - เต่าน้ำ
เต่าจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกหนึ่งที่มีมานานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์เช่นเดียวกับไดโนเสาร์ และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีทั้งหมด ๙ วงศ์ ประมาณ ๓๐๐ ชนิด พบแพร่กระจายอยู่ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน

เต่ามีกระดูกแข็งคลุมบริเวณหลัง เรียกว่า กระดอง ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ เต่าไม่มีฟัน แต่มีริมฝีปากที่แข็งแรงและคมใช้ขบกัดอาหารแทนฟัน เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า พบอาศัยทั้งในน้ำจืดและในทะเล จัดเป็นเต่าน้ำ และบางชนิดอาศัยอยู่บนบก เรียกว่าเต่าบก

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเต่าแบ่งออกกว้างๆ เป็น ๔ พวก ได้แก่

๑.เต่าทะเล หรือเทอร์เทิล (turtles) ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง รวมถึงเต่าครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เต่าประเภทนี้จัดเป็นเต่าน้ำ มีขาที่มีลักษณะเป็นพังผืดติดกันคล้ายครีบ เพื่อช่วยให้ว่ายน้ำได้ ผิวหนังที่ขาค่อนข้างเรียบและชุ่มชื้น เต่าพวกนี้ชอบว่ายน้ำและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ชอบกินสัตว์มากกว่าพืช จะขึ้นบกก็ต่อเมื่อจะวางไข่เท่านั้น หรือเพื่ออาบแดด โดยจะหลบอยู่ใต้ใบไม้ใบหญ้าที่แห้งๆ

๒.เต่าน้ำจืดที่มีกระดองแข็ง หรือเทอร์ราพิน (terrapins) จัดเป็นเต่าน้ำ พบอาศัยอยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย ที่สำคัญชนิดหนึ่งได้แก่ เต่ากระอาน เป็นเต่าน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อขึ้นฝั่งมาวางไข่ ขาหน้ามีเยื่อหนังคล้ายขาเป็ด ว่ายน้ำได้เร็วมาก

๓.เต่าน้ำจืดที่มีกระดองนิ่ม (soft-shelled turtle) ที่พบในประเทศไทยเรียกว่า ตะพาบ ลักษณะเด่นคือลำตัวแบน มีกระดองเป็นหนังนิ่ม ขามีพังผืดยึดต่อกันเหมือนเป็ด ปลายนิ้วมีเล็บใช้ขุดดินหรือโคลน

๔.เต่าบก หรือทอร์ทอยซ์ (tortoise) พบอาศัยอยู่บนบกเท่านั้น ไม่สามารถว่ายน้ำได้เนื่องจากขาไม่มีพังผืดยึดติดกัน เคลื่อนไหวช้า แต่ปีนป่ายเก่งเพราะมีขาที่แข็งแรง ลักษณะเด่นคือกระดองโค้งสูงมาก หัวอ้วนใหญ่ มีเกล็ดชัดเจน ส่วนขาไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว แต่มีอุ้งเท้าที่มีเล็บแข็งแรงและใหญ่มาก บางชนิดมีเดือยยื่นออกมาระหว่างขากับหาง ผิวหนังที่ขาเป็นเกล็ดหยาบ และขากลมมากจากที่ต้องใช้เดิน เต่าบกหลายชนิดพบอาศัยในทะเลทราย มันเก็บสะสมน้ำได้ดี ไม่ต้องกินน้ำเลยเป็นเวลาหลายวัน บางชนิดพบอยู่ในป่าชื้นและภูเขา พวกนี้ไม่ชอบอากาศร้อนแห้ง มันจะขุดหลุมลงไปหลบตัวอยู่ในพื้นดินนิ่งๆ เป็นเวลาหลายวัน แล้วจึงขึ้นมากินอาหารอีกครั้ง

เต่าบกส่วนใหญ่กินพืชผักเป็นอาหาร มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กินเนื้อหรือกินทั้งเนื้อและพืช เต่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่ชื้นๆ จะพบว่ามันเดินหาอาหารตามลำน้ำตื้นๆ เต่าพวกนี้ส่วนมากอยู่ตามลำพัง หลายชนิดเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ เต่ายักษ์กาลาปากอส ซึ่งเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก พบได้เฉพาะในหมู่เกาะกาลาปากอสเท่านั้น เต่ายักษ์เซเชลส์ ที่อาศัยอยู่เฉพาะสาธารณรัฐเซเชลส์ เต่าดาวพม่า หรือเต่าราเดียตา ซึ่งเป็นเต่าบกขนาดเล็ก กระดองสวยงาม ส่วนที่พบในประเทศไทย ได้แก่ เต่าเหลือง ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในอินโดจีน และเต่าบก อาศัยในป่าดิบเขา จัดเป็นเต่าบกขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย

มาถึงตอนนี้คงแยกความแตกต่างระหว่างเต่าบกกับเต่าน้ำได้แล้ว โดยใช้ลักษณะต่างๆ คือ พังผืดที่นิ้วเท้า เต่าน้ำจะมีพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้วเท้า แต่เต่าบกไม่มี เต่าน้ำมีผิวหนังที่เรียบกว่าและชุ่มชื้นกว่า ส่วนเต่าบกผิวหนังที่ขาเป็นเกล็ดหยาบและขาจะกลมมาก เต่าบกเป็นสัตว์กินพืชผักผลไม้ เต่าน้ำชอบกินสัตว์ เช่นปลาตัวเล็ก หอย เป็นต้น





ทารันทูล่า
บึ้ง หรือ ก่ำบึ้ง หรือ อีบึ้ง ในภาษาไทย คือแมงมุมทารันทูล่า (Tarantula) เป็นสัตว์ขาปล้องจำพวกแมงมุมกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Theraphosidae เป็นแมงมุมที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคโบราณกว่า ๓๕๐ ล้านปีมาแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายน้อยมาก

มีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับแมงมุมท้องปล้อง แต่ทารันทูล่าไม่เหลือปล้องบริเวณท้อง โดยทั่วไปเป็นแมงมุมขนาดใหญ่ ขายาว ลักษณะเด่นคือมีเส้นขนจำนวนมากขึ้นอยู่ตามตัวและขา เห็นได้ชัดเจน ทารันทูล่ามีประสาทสายตาไม่ค่อยจะดี ขนตามตัวนี่เองที่เป็นตัวจับแรงสั่นสะเทือน ทำให้ทารันทูล่ารับรู้ได้แม้กระทั่งทิศทางหรือระยะห่างของวัตถุ

ทารันทูล่ามีขนาดแตกต่างหลากหลายตั้งแต่ ๒.๕-๓๓ เซนติเมตร (โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๕ เซนติเมตร) น้ำหนักราว ๑๖๐ กรัม จัดเป็นแมงมุมที่มีอายุขัยยาวนานกว่าแมงมุมจำพวกอื่น มีอายุยาวนานถึง ๑๕-๒๐ ปี ส่วนมากมีสีสันลวดลายสดใส พบได้ทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ทะเลทราย ทุ่งหญ้า หรือถ้ำที่มืดมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบร้อนชื้น หรืออุณหภูมิแบบป่าดิบชื้น ยกเว้นขั้วโลกเท่านั้น

ทารันทูล่าแบ่งออกเป็น ๒ จำพวกใหญ่ตามประเภทการอยู่อาศัย คืออยู่บนต้นไม้ กับขุดรูอยู่ในดิน ประเภทที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้จะสร้างใยอย่างหนาแน่น หรืออาศัยอยู่ตามโพรงหรือซอกหลืบของต้นไม้ รวมถึงสร้างใยไว้ระหว่างกิ่งไม้

ส่วนประเภทอาศัยอยู่บนพื้นดิน จะขุดดินเป็นรูลึกประมาณ ๓๐-๔๕ เซนติเมตร หรืออยู่ในโพรง มีใยฉาบโดยรอบปากรูซึ่งจะไม่มีความเหนียวหรือเหมาะแก่การจับเหยื่อ แต่มีไว้เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และป้องกันมิให้มีสัตว์หรือสิ่งใดมารบกวน ภายนอกรูมักมีใยอยู่บริเวณรอบๆ ด้วย บางชนิดสร้างใยจนล้นออกมานอกปากรู และปากรูมักสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ หากใยขาดจะซ่อมแซมทันที

ปัจจุบันมีการค้นพบ ทารันทูล่าแล้วกว่า ๙๐๐ ชนิด และยังมีชนิดที่ค้นพบใหม่อยู่เรื่อยๆ

สำหรับในประเทศไทยมีทารันทูล่าอาศัยอยู่ประมาณ ๔ ชนิดคือ บึ้งดำ จัดเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว, บึ้งสีน้ำเงิน มีขนาดย่อมลงมา มีสีน้ำเงินเข้มตลอดทั้งตัว มีสีสันสวยงาม มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเช่นเดียวกัน, บึ้งลาย หรือบึ้งม้าลาย เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด มีลวดลายตามขาอันเป็นที่มาของชื่อ มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว แต่น้อยกว่า ๒ ชนิดแรก และ บึ้งสีน้ำตาล มีสีน้ำตาลอมแดง มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเช่นเดียวกัน และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้มีการค้นพบหรือระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์

เส้นใยสีขาวของทารันทูล่าทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันตัว เป็นตัวรับสัญญาณสั่นสะเทือนให้รู้ว่าศัตรูหรือเหยื่อเดินผ่านมา เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้มันจะจู่โจมและใช้เขี้ยวกัดฝังลงไปในเนื้อ ปล่อยพิษผ่านเขี้ยวจนทำให้เหยื่อชาเป็นอัมพาต จากนั้นใช้เขี้ยวฉีกเหยื่อและดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อจนแห้งเหลือแต่ซาก พิษของบึ้งอยู่ที่ขนและต่อมพิษบริเวณเขี้ยว

บึ้งบางชนิดโดยเฉพาะในสกุล Brachypelma มีขนที่ท้องหนาแน่นประมาณ ๑๐,๐๐๐ เส้นต่อตารางมิลลิเมตร สามารถสลัดขนใส่เหยื่อหรือศัตรูเมื่อถูกรบกวน ทำให้เกิดอาการคันเป็นผื่นแดงและรอยถลอก สำหรับต่อมพิษบริเวณเขี้ยว บึ้งจะกัดและปล่อยพิษซึ่งเชื่อมต่อกับต่อมพิษเพื่อป้องกันตัวเมื่อถูกคุกคามจากศัตรู บึ้งบางชนิดมีเขี้ยวยาวถึง ๑ นิ้ว แต่พิษของบึ้งมีเพียงเล็กน้อย แค่เพียงพอจะให้เหยื่อขนาดเล็กเป็นอัมพาตเท่านั้น

สำหรับผู้ที่แพ้พิษบึ้ง เมื่อถูกกัดอาจเกิดบาดแผลบวมแดงเหมือนถูกผึ้งต่อย แต่บางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจช็อกได้

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตอาจเกิดจากสาเหตุทางอ้อม การยั่วยุหรือทำให้บึ้งโกรธเมื่อมันกัดจะปล่อยโปรตีนตัวอื่นๆ ออกมาพร้อมกับพิษ ทำให้ผู้ถูกกัดมีความเจ็บปวดมาก แต่จะมีอาการเจ็บปวดทรมานจากบาดแผลมากกว่าความรุนแรงของพิษ

บางกรณีที่โดนกัดจนลึกเข้าไปในผิวหนังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผลได้ การปฐมพยาบาลเมื่อถูกบึ้งกัด ให้รีบล้างด้วยน้ำสบู่ หากรุนแรงต้องพบแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ





ปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าเป็นปลาที่มีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๑๐-๔๐ เซนติเมตร พบทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล มีลักษณะเฉพาะตัวคือ ลำตัวกลม ยาว หัวโต และปากเล็ก บางชนิดมีฟันและปากคล้ายนกแก้ว ครีบอกและครีบหางใหญ่ ครีบหลังและครีบก้นเล็ก หนังเหนียว ส่วนมากมีตุ่มหรือหนามกระจายทั่วตัว ปลาปักเป้าจะพองตัวเมื่อตกใจหรือถูกรบกวน มักอาศัยอยู่ตามท้องทะเลที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลน

ปลาปักเป้าเป็นชื่อเรียกรวมปลาใน ๒ วงศ์คือ วงศ์ปลาปักเป้า และ วงศ์ปลาปักเป้าหนามทุเรียน

สำหรับท้องทะเลไทยมีปลาปักเป้าอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๓ ชนิด ปลาปักเป้าชนิดที่มีรายงานว่าเป็นพิษต่อผู้บริโภคและพบในน่านน้ำไทย ได้แก่ ปลาปักเป้าลาย ปลาปักเป้า และปลาปักเป้าดำ ส่วนปลาปักเป้าที่รับประทานกันในประเทศต่างๆ มีอีกเกือบ ๑๐๐ ชนิดในหลายสกุล

พิษในปลาปักเป้า สารที่แยกได้จากปลาปักเป้ามี ๒ ชนิด คือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid ซึ่งเมื่อผ่านกรรมวิธีต่างๆ แล้วจะได้สารเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin-TTXs) หรือในชื่ออื่นๆ เช่น Maculotoxin, Sheroidine, Tarichatoxin หรือ Fugu poison

TTXs ในปลาปักเป้าเป็นพิษชนิดเดียวกันกับที่พบในสัตว์ทะเลที่ใช้เป็นอาหารอื่นๆ เช่น หมึกสาย หอยกาบเดี่ยว และปลาบางชนิด พิษชนิดนี้มีคุณสมบัติไม่สลายตัวด้วยความร้อน แต่ละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้ดี มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปมีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน มีผลทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน เกิดอาการอัมพาต

ในกรณีที่ได้รับพิษจำนวนมากจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางไม่สามารถควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

สารพิษชนิดนี้เป็นโปรตีนที่ทนความร้อนสูงถึง ๒๐๐ องศาเซลเซียส จึงไม่สลายด้วยวิธีการทำอาหารตามปกติ ในสภาพพีเอช (pH) เป็นกรด พิษจะอยู่ได้นาน แต่จะสลายตัวได้เร็วในพีเอชที่เป็นด่าง

ความรุนแรงของพิษขึ้นกับสัตว์ทะเลแต่ละชนิด แต่ละตัวและชนิดของเนื้อเยื่อ ในตับและรังไข่มักมีความรุนแรงของพิษสูง แต่พบว่ามีสัตว์เฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สามารถสะสมสารพิษ TTXs ไว้ในตัวได้

จากผลการศึกษาวิจัย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ตามทฤษฎีแล้ว เนื้อของปลาปักเป้าไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย เนื่องจากปลาไม่สามารถผลิตพิษได้เอง ปลาจะเริ่มสะสมพิษซึ่งถูกสร้างขึ้นจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์น้ำและที่อยู่เป็นอิสระ จึงมีรายงานว่าปลาบางชนิดมีพิษ บางชนิดไม่มีพิษ แต่ในบางทฤษฎีเชื่อว่าตอนที่ปลามีไข่อ่อนอาจจะผลิตพิษได้บ้าง โดยพิษจะสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน พบมากที่ตับ กระเพาะ ลำไส้ รังไข่ ลูกอัณฑะ และผิวหนัง พิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่

อาการของพิษจะกำเริบขึ้นหลังได้รับพิษจากปลาประมาณ ๓๐ นาที ถึงหลายชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณที่รับประทาน แบ่งเป็น ๔ ขั้น
ขั้นแรก ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย
ขั้นที่สอง ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้
ขั้นที่สาม เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว
และขั้นที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการอาจแรงขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่สี่และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง ๑๐-๑๕ นาทีเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยทนพิษได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง




ช้างเอเชีย-ช้างแอฟริกา
ในยุคปัจจุบันมีการแบ่งช้างออกเป็น ๒ ชนิด คือ ช้างเอเชีย และช้างแอฟริกา ช้างเอเชียเป็นช้างที่อยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนช้างแอฟริกามีอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งแม้ว่าช้างทั้งสองชนิดจะมีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่ก็อยู่คนละสกุล (เหมือนวัวที่อยู่คนละสกุลกับควาย)

ข้อแตกต่างของช้างเอเชียและช้างแอฟริกามีดังนี้ ช้างเอเชีย (Elephas maximus) ช้างเอเชียที่สมบูรณ์เต็มที่มีความสูงเฉลี่ยวัดจากพื้นดินตรงขาหน้าถึงไหล่ประมาณ ๓ เมตร มีงาเฉพาะช้างตัวผู้ หรือที่เรียกว่าช้างพลาย ส่วนช้างตัวเมียหรือช้างพัง โดยปกติไม่มีงา หรือบางครั้งอาจพบมีงาสั้นๆ แต่ไม่สมบูรณ์ เรียกว่าขนาย

สำหรับช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาก็มีบ้าง เรียกช้างพลายที่ไม่มีงาว่าช้างสีดอ หัวของช้างเอเชียเป็นโหนก เมื่อมองดูข้างหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน ใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศีรษะ ปลายงวงมีจะงอยเดียว เล็บเท้าหลังมี ๔-๕ เล็บ และช้างเอเชียมีหลังโค้งเหมือนหลังกุ้ง

ช้างเอเชียชอบ อากาศชุ่มชื้น ร่มเย็น ไม่ชอบแดดจัด และเป็นสัตว์ที่มีขนาดกะโหลกศีรษะใหญ่ มันสมองจึงใหญ่ตามไปด้วย และเพราะมีมันสมองใหญ่นี่เอง จึงทำให้ช้างเอเชียมีความเฉลียวฉลาด สามารถนำฝึกได้

ช้างเอเชียจำแนกได้เป็น ๓ ชนิดย่อย ได้แก่
๑.ช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกา มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะบนเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเชียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่เป็นช้างสีดอ มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีแต่ขนาย
๒.ช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืน แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฏาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน มาเลเซีย
๓.ช้างเอเชียพันธุ์สุมาตรา มีอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มีขนาดเล็กกว่าช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย




 

สำหรับช้างในประเทศไทยซึ่งเป็นช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย ยังมีลักษณะที่น่าสังเกต คือ
๑.หนังมีขนเส้นห่างๆ ปลายหางมีขนเส้นยาวๆ งอกเป็นแนวด้านหน้าและด้านหลังของปลายหางราว ๒-๓ นิ้ว ขนหางยาวราว ๗-๘ นิ้ว โค้งไปจรดกันตรงปลาย
๒.ลายฟันหน้า มักมีจำนวนตามลำดับชุดของกราม คือ ๔,๘,๑๒,๑๖,๒๔ อาจมากน้อยกว่านี้
๓.ช้างตัวผู้บางตัวมีงาใหญ่ เรียกว่าช้างงาปลี ถ้างาเล็ก ยาวเรียว เรียกว่าช้างงาเครือ
๔.ช้างตัวเมียหรือช้างพัง ไม่มีงา มีแต่ขนาย
๕.ช้างเผือก คือช้างที่มีต่อมทำสีเมลานินผิดปกติ ผิวหนังและขนเป็นสีหม้อใหม่ นัยน์ตาขาวๆ เหลืองๆ ส่วนอื่นๆ เป็นสีจาง ช้างแก่ๆ มักมีโคนงวงและใบหูตกกระเป็นสีหม้อใหม่เหมือนกัน และ
๖.ช้างป่า เรียกหน่วยนับเป็นตัว ช้างเลี้ยง เรียกหน่วยนับเป็นเชือก

ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ช้างแอฟริกาที่สมบูรณ์เต็มที่สูงกว่าช้างเอเชีย คือสูงเฉลี่ยประมาณ ๓-๕ เมตร และไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียล้วนมีงาทั้งนั้น

หัวของช้างแอฟริกามีส่วนที่เป็นหน้าผากแหลมแคบและมีโหนกศีรษะลอนเดียว เมื่อเทียบเฉพาะส่วนหัว ช้างแอฟริกามีหัวเล็กกว่าช้างเอเชีย แต่มีใบหูใหญ่กว่า ขอบหูด้านบนสูงกว่าระดับศีรษะ เวลาโกรธจะกางใบหูออกเต็มที่ ปลายงวงของช้างแอฟริกามี ๒ จะงอย เท้าหลังมีเล็บ ๓ เล็บ มีสันหลังตรงหรือแอ่นลงเล็กน้อย

ช้างแอฟริกาชอบอยู่ในป่าโปร่ง ไม่กลัวแสงแดด ทนต่ออากาศร้อนของทวีปแอฟริกาได้ดี และเพราะกะโหลกศีรษะเล็กกว่าช้างเอเชีย มันสมองของช้างแอฟริกาจึงเล็กตามไปด้วย ทำให้มีความเฉลียวฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชีย และมีความดุร้ายมาก ฝึกได้ยาก

นอกจากช้าง ๒ สกุลดังกล่าว ยังมีช้างแอฟริกาจำพวกหนึ่งมีขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒ เมตร เรียกว่าช้างแคระ หรือช้างปิ๊กมี่ อาศัยแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยเพราะชาวแอฟริกันชอบล่าเอาเนื้อไปเป็นอาหาร

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยก็เคยมีช้างค่อม ช้างขนาดเล็กเท่าควาย อาศัยตามป่าชายทะเลสาบสงขลา มีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ทุกวันนี้ทราบว่าสูญพันธุ์ เพราะถูกล่าเอาเนื้อ





จิงโจ้น้ำ
จิงโจ้น้ำ (Water Strider หรือ Pond Skater) เป็นแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทมวน อันดับ Hemiptera วงศ์ Gerridae มีอยู่มากมายหลายร้อยชนิดในทุกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำลำธารใสสะอาด สามารถพบมวนตัวนี้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ นั่นเป็นเพราะลักษณะการดำรงชีวิตของจิงโจ้น้ำซึ่งเป็นแมลงที่ชอบอยู่รวมกัน และอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลช้าๆ

แม้ว่ารูปร่างของแมลงชนิดนี้จะดูบอบบางด้วยขนาดตัวที่ยาวกว่า ๕ มิลลิเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ ประกอบกับขาอันเรียวยาวทั้ง ๓ คู่ ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน โดยขาคู่หน้ามีลักษณะสั้นกว่า ทำหน้าที่จับตัวเหยื่อเพื่อใช้เป็นอาหาร ขาคู่กลางอันแสนเรียวยาวทำหน้าที่ผลักดันเพื่อให้ตัวของมันเคลื่อนที่ และขาคู่หลังใช้ในการปรับทิศทางในขณะเคลื่อนที่ โดยทั่วไปแล้วอาจเห็นว่าแมลงชนิดนี้เคลื่อนที่เหมือนภาพสโลว์ไปตามทิศทางของกระแสน้ำ แต่บางครั้งจะเห็นได้ว่าจิงโจ้น้ำกระโดดได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วระยะทางก็ไม่ธรรมดา มันสามารถกระโดดได้ไกลหลายเซนติเมตรโดยที่ไม่เคยเห็นแมลงชนิดนี้จมน้ำเลยสักครั้ง

แมลงทั้งหลายที่เคยพบเห็น ส่วนประกอบหลักที่แมลงเหล่านั้นมีก็คือมีปีกและบินได้ แต่ยังมีแมลงอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ธรรมดา เป็นเพราะเจ้าแมลงชนิดนี้ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำแทนที่จะอยู่บนบก มีวิวัฒนาการในการเจริญเติบโตอยู่ในน้ำตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย รูปร่างหน้าตาก็ช่างน่าแปลกตาเสียจริง

จิงโจ้น้ำสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้อย่างสบาย และเมื่อเคลื่อนที่โดยการกระโดดไกล ก็กลับมาทรงตัวอยู่บนผิวน้ำได้ราวกับว่าตัวไม่มีน้ำหนักเสียอย่างนั้น นั่นก็เป็นเพราะความสามารถของขาทั้ง ๓ คู่ ที่รองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ส่วนสาเหตุที่เจ้าจิงโจ้น้ำกระโดด ก็เนื่องมาจากแรงจูงใจด้านอาหาร

ทั้งนี้ นิสัยและพฤติกรรมของแมลงตัวนี้โดยทั่วไป จะเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าไปตามกระแสน้ำ แต่เมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกว่าผิวน้ำกำลังมีความเคลื่อนไหวบางอย่าง ก็ถึงเวลาอาหารของจิงโจ้น้ำแล้ว มันจะกระฉับกระเฉงขึ้นมาในทันที และด้วยความไวต่อความสั่นสะเทือนของผิวน้ำ ทำให้กระโดดเข้าถึงตัวเหยื่อในพริบตาแล้วใช้ขาคู่หน้าที่มีความแข็งแรงจับยึดตัวเหยื่อเอาไว้อย่างแน่น ไม่ให้หลุดรอดออกไปได้ สำหรับชนิดของอาหารจิงโจ้น้ำ คือบรรดาตัวอ่อนของแมลงที่กำลังจะโตเต็มวัยไปเป็นแมลงศัตรูพืช

มีคำอธิบายจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า การที่จิงโจ้น้ำเดินบนผิวน้ำได้นั้น เนื่องจากบนผิวน้ำมีแรงที่เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล หรือที่เรียกว่าแรงระหว่างโมเลกุล แรงดังกล่าวทำให้โมเลกุลที่อยู่ภายในถูกโมเลกุลที่อยู่รอบๆ ดึงดูดในทุกทิศทาง ไม่มีแรงดึงไปทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ

แต่โมเลกุลที่อยู่บริเวณผิวหน้าของของเหลวจะถูกดึงดูดจากโมเลกุลที่อยู่ด้านข้างและด้านล่างเท่านั้น ไม่มีแรงดึงดูดขึ้นด้านบน ที่ผิวของของเหลวจึงมีแต่แรงดึงเข้าภายใน เรียกว่าแรงตึงผิว แรงดึงนี้จะพยายามดึงโมเลกุลที่ผิวหน้าของของเหลวด้วยแรงที่มากที่สุด ทำให้ผิวหน้าของของเหลวเกิดการหดตัวลง เพื่อลดพื้นที่ผิวให้เหลือน้อย

แรงที่ดึงโมเลกุลที่ผิวหน้าของของเหลวเข้าภายในนี้ทำให้เกิดแรงตึงผิวขึ้น น้ำหรือของเหลวจึงสามารถพยุงวัตถุบางชนิดให้อยู่บนผิวหน้าได้ จิงโจ้น้ำจึงเดินบนผิวน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพราะแรงตึงผิวของน้ำอย่างเดียว จิงโจ้น้ำยังมีลักษณะพิเศษคือมีขายาว และที่ปลายขามีต่อมน้ำมัน รวมทั้งขนเล็กๆ จำนวนมากที่ปลายขาคู่กลางช่วยพยุงลำตัว



 

ไก่ป่า
ไก่ป่า หรือไก่เถื่อน (Red junglefowl) ชื่อวิทยาศาสตร์ Gallus gallus อยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) จัดเป็นนกมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขนาดลำตัว ๔๖-๗๓ เซนติเมตร พบการกระจายอยู่ในเขตศูนย์สูตรตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงเวียดนามและจีนตอนใต้ ไปถึงเกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย จัดเป็นไก่สายพันธุ์ดั้งเดิมและเป็นต้นตระกูลของไก่บ้านที่เลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีเสียงขันไพเราะและมีความสวยงาม บินได้ไม่ไกลและไม่สูงมาก

ลักษณะทั่วไป เพศผู้หงอนค่อนข้างใหญ่ มีเดือยแหลมข้างละ ๑ อัน ขนหางยาวและมักโค้งลงเป็นหางกะลวย ตะโพกสีขาว ใบหน้าและหงอนสีแดง อกและท้องสีดำ หลังสีแดง คอและสร้อยคอสีเหลืองแกมสีส้ม ส่วนเพศเมีย หงอนไม่ใหญ่ หางยาวปานกลางเป็นแพนหาง ลำตัวออกสีน้ำตาลและเทา ทั้งสองเพศแข้งและนิ้วสีเทาถึงดำ

สำหรับในประเทศไทยพบไก่ป่า ๒ ชนิดย่อย คือ ไก่ป่าตุ้มหูขาว พบการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกของไทย, เวียดนาม, ลาว และกัมพูชา และไก่ป่าตุ้มหูแดง พบการกระจายพันธุ์ในพม่า, มณฑลยูนนานในประเทศจีน, ในประเทศไทย ยกเว้นทางภาคตะวันออก, ลาวบางส่วน, มาเลเซีย และทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ทั้งสองชนิดย่อยมีข้อแตกต่างตรงที่ไก่ป่าตุ้มหูขาวมีลักษณะขนบริเวณคอยาว เนื้อบริเวณติ่งหูมีขนาดใหญ่ มีแต้มสีขาว ส่วนไก่ป่าตุ้มหูแดง ลักษณะขนคอยาวปานกลาง เนื้อบริเวณตุ้มหูมีขนาดเล็ก และมักมีสีแดง ซึ่งตามหลักฐานทางชีวโมเลกุลพบว่า ไก่ป่าตุ้มหูขาวเป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านทั้งหลาย

ไก่ป่าอาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณชายป่าตั้งแต่ระดับพื้นราบจนถึงระดับความสูง ๑,๘๐๐เมตร ออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ ๒-๕ ตัวอยู่ตามพื้นป่าพื้นดินตั้งแต่เช้าตรู่ อาหารหลักของไก่ป่าในธรรมชาติได้แก่เมล็ดพืช โดยเฉพาะเมล็ดหญ้า ขุยไผ่และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นจากต้น ทั้งยังกินแมลง หนอน ไส้เดือนและสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดิน รวมทั้งใบไม้ ยอดอ่อนหรือหน่ออ่อนของพืช แต่ในกรงเลี้ยงไก่ป่าไม่สามารถจะหาหรือเลือกกินได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมอาหารให้มีคุณค่าเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อความสะดวก ผู้เลี้ยงสามารถใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไปได้

 ไก่ป่าตัวผู้มักขันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้าและพลบค่ำ ทั้งเพื่อประกาศอาณาเขตของตัวเอง กลางคืนจะนอนเกาะพักบนกิ่งไม้สูงๆ ฤดูผสมพันธุ์ของไก่ป่าอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ตัวผู้จับคู่ตัวเมียได้หลายตัว โดยทั่วไปไก่ป่าเพศผู้จะเริ่มสืบพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๒ ปี แต่ในเพศเมียจะสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ ๑ ปี ช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้ไก่ป่าเพศผู้จะมีสีสันสวยงามมาก

ในธรรมชาติไก่ป่าทำรังตามพื้นดินหรือตามกอหญ้า กอไผ่ โดยสร้างเป็นแอ่งเล็กๆ อาจมีหญ้าหรือใบไม้รอง แต่ในกรงเลี้ยงควรทำที่วางไข่ไว้มุมด้านหลังกรง อาจเป็นลังสี่เหลี่ยมหรือกรอบไม้ โดยวางกับพื้น มีหญ้ารอง ที่สำคัญควรมีที่บังไพรให้ เพื่อไก่ป่าจะได้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยและพอใจที่จะเข้าไปวางไข่ ซึ่งจะวางไข่ประมาณ ๖-๑๒ ฟอง ระยะฟักไข่ ๒๑ วัน ลูกไก่แรกเกิดมีขนอุยสีเหลืองสลับลายดำทั่วลำตัว เมื่อขนแห้งเดินตามแม่ไปหากินได้ทันที

สถานภาพ ไก่ป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕


ที่มาข้อมูล: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 เมษายน 2559 16:19:26 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 07 ธันวาคม 2558 20:11:04 »

.



ค้างคาว
ค้างคาวมี ๒ ชนิด ชนิดแรกคือ ค้างคาวกินแมลง และค้างคาวกินผลไม้

ค้างคาวกินแมลงมักจะมีเยื่อบางๆ เชื่อมกันระหว่างขาหลังทั้งสอง และตาจะมีขนาดเล็กมาก ส่วนจมูกและปากจะแตกต่างกันไป ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนช่วยบังคับเสียงสัญญาณ (โซน่าร์) ให้มีกำลังและความถี่ที่พอเหมาะสำหรับใช้นำทางและหาอาหาร

 หรับค้างคาวกินผลไม้จะมีดวงตาที่ใหญ่ ซึ่งทำให้มองเห็นได้ดีในที่มืด มีจมูกที่ไวในการรับกลิ่นดอกไม้และผลไม้ และจมูกมักมีขอบยื่นออกมา เพื่อกันไม่ให้น้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้ไหลเข้ารูจมูกขณะกินอาหาร มีเล็บที่ปลายนิ้วทั้งสองที่อยู่บริเวณปีก ใช้ช่วยในการปีนป่าย ส่วนขาหลังจะมีเพียงเนื้อเยื่ออกมานิดหน่อย แต่ไม่เชื่อมติดกัน เพื่อความสะดวกในการปีนป่าย

ค้างคาวขนาดเล็กจิ๋วที่มีน้ำหนักเบากว่าเหรียญ ๑ เพนนี นั้นอาศัยอยู่ในเมืองไทยของเรานี่เอง ส่วนค้างคาวตัวใหญ่ยักษ์ซึ่งมีปีกยาวเกือบ ๖ ฟุตนั้นมีถิ่นพำนักในอินโดนีเซีย

ค้างคาวสีน้ำตาลของอเมริกาเหนือคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนยาวมาก บางตัวมีอายุยืนมากกว่า ๓๒ ปี ส่วนค้างคาวเม็กซิกันบินเร็วมากกว่า๖๐ ไมล์ต่อชั่วโมง ทางด้านเจ้าค้างคาวแอฟริกันก็สามารถได้ยินเสียงฝีเท้าของแมลงปีกแข็งที่ไต่อยู่บนทรายในระยะไกลมากกว่า ๖ ฟุต

ค้างคาวแดงที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนต้นไม้ทั่วไปในอเมริกาเหนือนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๒๓องศาฟาเรนไฮน์ สำหรับเจ้าค้างคาวตัวจิ๋วที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในตะวันตกของแอฟริกานั้นสามารถอาศัยอยู่ในใยแมงมุมขนาดใหญ่ได้

ค้างคาวมีชีวิตมายาวนาน ซึ่งอาจจะเป็นสัตว์ที่แชร์โลกนี้กับไดโนเสาร์อีกด้วย และที่ๆ ค้างคาวอาศัยอยู่นั้น พวกมันจะสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติบริเวณนั้น โดยเฉพาะบรรดาชาวไร่ชาวนาด้วยแล้วคงต้องนึกขอบคุณบรรดาค้างคาวทั้งหลาย เพราะมันจะช่วยจับแมลงศัตรูตัวร้ายที่ทำลายพืชไร่

อย่างเช่นค้างคาวสีน้ำตาลเพียงตัวเดียวสามารถจับยุง ๖๐๐ ตัว ได้ภายในเวลาเพียงแค่ ๑ ชั่วโมงเท่านั้นเอง หรือค้างคาวเม็กซิกัน ๒๐ ล้านตัว สามารถกินแมลงกลางคืนได้ถึง ๒๕๐ ล้านตัน ภายในคืนเดียว

นอกจากช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว ค้างคาวยังมีประโยชน์ในการผสมเกสรดอกไม้ และชาวบ้านบริเวณถ้ำค้างคาวเขาช่องพราน จ.ราชบุรี ยังมีรายได้จากการขายมูลค้างคาวที่มีอยู่นับล้านตัวภายในถ้ำแห่งนี้ด้วย

การที่ค้างคาวออกหากินตอนกลางคืนมีเหตุผลร้อยแปด เช่น ตอนกลางวันท่าทางจะหากินสู้นกอื่นๆ ไม่ได้ ด้วยความที่กลางวันไม่สงบเงียบเท่ากับกลางคืน ในการอาศัยคลื่นเสียงนำทางและหาอาหาร นอกจากนี้ค้างคาวสายตาไม่ค่อยดี (แต่ยืนยันว่าค้างคาวตาไม่บอด) สู้นกอื่นๆไ ม่ได้  ที่สำคัญก็คืออาหารของค้างคาวจำพวกแมลงนั้นมีมากในเวลากลางคืน ดังนั้นตอนกลางวันค้างคาวจะนอนหลับอยู่ในถ้ำ แล้วกลางคืนค่อยโผล่ออกมา จึงทำให้ค้างคาวดูเป็นสัตว์ลึกลับน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

ส่วนท่าที่ค้างคาวนอนห้อยหัวนั้นเป็นท่าที่เหมาะกับโครงสร้างปีกและลำตัวของมันที่พร้อมจะเหินบินได้ในเวลาอันรวดเร็ว





นกฮูก
ลูกสาวของเทพซูส เทพีอธีนา ผู้เป็นที่มาของชื่อกรุงเอเธนส์ กรีซ เธอเป็นเทพีแห่งปัญญา ความฉลาดรอบรู้ เป็นผู้ให้ภาพพจน์ ฮ นกฮูก ตาโต เป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดและภูมิปัญญา

สาวประวัตินกฮูกกับเค้าแมวก่อน ความรู้จากหนังสือซองคำถามบอกว่า เป็นนกชนิดเดียวกันอยู่ในวงศ์นกเค้าแมว สาเหตุที่เรียกว่านกฮูก ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านตั้ง น่าจะได้มาจากเสียงร้อง "คุกๆ ฮูก" โดยชื่อทางการของนกฮูกคือนกเค้าแมว

ภาพลักษณ์ความฉลาดรอบรู้ของนกฮูกมีที่มาจากสายตาอันสุขุม ไม่หลุกหลิกของมัน นกส่วนใหญ่จะมีตาอยู่ที่ด้านข้าง ทำให้มองหาอาหารและเห็นศัตรูได้รอบตัว แต่นกฮูกหากินเวลากลางคืน ตาจึงอยู่ด้านหน้าเพื่อประโยชน์ในการล่าเหยื่อ เพราะทำให้มองหาเหยื่อและกะระยะได้ดี ทั้งยังสามารถเห็นได้ในระยะไกล แต่นกฮูกไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ เวลาเป้าสายตาขยับหรือเคลื่อนที่ ฮูกจึงใช้วิธีหันหน้า หันคอแทน คอที่มีขนปกคลุมหนา ทำให้ดูเหมือนเป็นนกคอสั้น แต่ความจริงคอของมันยาวพอที่จะหันหัวไปข้างหลังได้อย่างสบายๆ

คนยุคโบราณมักจะพยายามจับคู่สัตว์เข้ากับเทพเจ้าที่ตนบูชา ในเทพนิยายกรีก นกฮูกได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำองค์เทพีอธีนา ซึ่งเป็นเทพีแห่งความฉลาดรอบรู้ ภาพพจน์ของนกฮูกจึงพลอยผูกติดกับความรอบรู้ไปด้วย นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเอเธนส์ มีภาพปรากฏอยู่บนเหรียญในสมัย ๕๒๕ ปีก่อนคริสตกาล มีคำพูดโบราณซึ่งมาจากละครชวนหัวชื่อ เดอะเบิร์ดส์ ของอริสโตเฟนีส ในเรื่องมีการล้อคนที่เอาสินค้าไปขายในเมืองที่มีสิ่งนั้นอยู่มากแล้ว ว่า "เอานกฮูกไปขายเมืองเอเธนส์"

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นนกฮูกเป็นตัวแทนความฉลาดรอบรู้ อย่างความเชื่อไทยเดิมก็กลัวนกเค้าแมว นกฮูก หรือนกแสก ซึ่งเป็นนกในวงศ์เดียวกัน เพราะนกเหล่านี้ออกหากินในเวลากลางคืน หน้าตารึก็จิ้มลิ้มพริ้มเพราซะเมื่อไหร่ โดยเฉพาะนกแสก เอาไฟฉายส่องประสบพบพักตร์ในที่มืด เห็นวงหน้าน้องๆ ปีศาจนั่นเทียว

อีกคนที่ดิสเครดิตนกฮูกคือนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ เฟรเดอริก แมรีแอต ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ว่าสายตาที่เพ่งจ้องมองเหมือนไม่กะพริบ แสดงถึงความไม่รู้เรื่องอะไรมากกว่า เขาเป็นผู้เริ่มใช้สำนวนว่า "เมาเหมือนนกฮูก"





โลมาน่านน้ำไทย
โลมา (Dolphin) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทว่าแต่ละส่วนของอวัยวะจะปรับเปลี่ยนต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ดังนี้ จมูก โลมามีจมูกไว้หายใจ โดยจมูกนั้นตั้งอยู่กลางกระหม่อม เพื่อให้สะดวกต่อการเชิดหัวขึ้นหายใจเหนือน้ำ จากจมูกมีท่อหายใจต่อลงถึงปอดในตัว จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำผ่านเหงือกเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจเหมือนปลาทั่วไป

ส่วนหู เป็นเพียงแค่รูเล็กจิ๋วติดอยูด้านข้างของหัวเท่านั้น แต่ประสิทธิภาพสูงมาก รับคลื่นเสียงใต้น้ำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะกับภาษาที่โลมาสื่อสารกันด้วยเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง

การมองเห็น โลมามีดวงตาแจ่มใสเหมือนตาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป มีเปลือกตาปิดได้ และในเวลากลางคืนตาก็จะเป็นประกายเหมือนตาแมว ตาของโลมาไม่มีเมือกหุ้มเหมือนตาปลา และมองเห็นได้ไกลถึง ๕๐ ฟุต เมื่ออยู่ในอากาศ

สำหรับสีผิว โลมาแต่ละชนิดมีสีผิวแตกต่างกัน โดยที่ส่วนมากจะออกโทนสีเทา ตั้งแต่เข้มเกือบดำจนกระทั่งถึงเกือบขาว แต่โดยทั่วไปจะมีสีผิวแบบทูโทนคัลเลอร์คือมีสองสีตัดกัน ด้านบนเป็นสีเทาเข้ม ด้านล่างเป็นสีเกือบขาว เพื่อพรางตัวในทะเล ไม่ให้ศัตรูเห็น เพราะเมื่อมองจากด้านบน สีเข้มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไปสีขาวจะกลืนเข้ากับแสงแดดเหนือผิวน้ำ

สำหรับประเทศไทย โลมาที่พบมี ๒๒ ชนิด รวม ๖ วงศ์ จากจำนวน ๘๐ชนิดที่พบทั่วโลก ตัวเด่นๆ มีอาทิ "โลมาอิระวดี หรือโลมาหัวบาตร" - Irawaddy dolphin : Orcaella brevirostris ตัวมีสีน้ำเงินเทา ด้านหลังหัวกลมมนน่ารัก พบทั้งในน้ำทะเล น้ำกร่อยและขึ้นไปถึงน้ำจืดบริเวณแม่น้ำโขง อุบลราชธานี แม่น้ำสาละวิน แม่ฮ่องสอน และทะเลสาบสงขลาฝั่งอ่าวไทย

"โลมาเผือก หรือโลมาหลังโหนก" - Indo-Pacific hump-backed dolphin : Sousa chinensis ตัวมีสีจางเหมือนเผือก ครีบหลังเป็นสันนูนสูง ชอบว่ายเที่ยวเล่นตามชายฝั่ง "โลมาปากขวด" - Bottlenose dolphin : Tursiops aduncus มีสีน้ำเงินเข้มอมเทา สีจางหรือบางครั้งอมชมพูด้านท้อง ชอบว่ายน้ำแข่งกับเรือขณะที่เดินเรืออยู่ในทะเล "โลมาธรรมดา ชนิดปากยาว" - common dolphin : Delphinus capensis เคยพบที่สมุยซึ่งมากันเป็นครอบครัวเมื่อพ.ศ.๒๕๑๖

"โลมาฟันห่าง" - Rough-toothed dolphin : Steno bredanensis อาศัยอยู่ในทะเลเปิด ไม่ค่อยได้พบตามชายฝั่ง ในน่านน้ำไทยพบตัวอย่างโลมาฟันห่างบาดเจ็บมาเกยตื้นบริเวณอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๖ แต่มันก็ตายในที่สุด นอกจากนั้นเคยพบเพศผู้และเพศเมียติดอวนลอยโดยบังเอิญเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๘ บริเวณปากอ่าวพนัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพศผู้ตายในเวลาต่อมา ส่วนเพศเมียได้รับการอนุบาลจนแข็งแรงส่งกลับลงน้ำ

"โลมากระโดด" - Spinner dolphin : Stenella longirostris รูปร่างเพรียว ปากค่อนข้างเล็กเรียวดูคล้ายมีปากยาวกว่าโลมาในชนิดอื่น ลำตัวสีน้ำเงินเข้ม ด้านหลังมีแนวแบ่งสีจางข้างลำตัว มีแถบเข้มพาดจากตาจรดครีบข้าง "โลมาแถบ" - Striped dolphon : Stenella coeruleoalba ลักษณะคล้ายโลมากระโดดแต่ป้อมอ้วนกว่า หลังสีน้ำเงินเข้มจางลงข้างลำตัว ตัดกันเป็นลายแหลมรูปตัววี แถบสีเข้มเป็นแนวจากลูกตาไปตามข้างลำตัวและโค้งลงตรงบริเวณช่องก้น ด้านท้องขาว พบโลมาชนิดนี้ตอนตายแล้วเกยตื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ "โลมาลายจุด" - Spotted dolphin : Stenella attenuate พบทั้งหมด ๓ ตัวอย่างที่ จ.สงขลา ภูเก็ต และกระบี่





ผีเสื้อขีดหกลายเข้ม
จัดเป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน ผีเสื้อในวงศ์นี้มีจำนวนมากที่สุด พบเห็นบ่อยและเป็นผีเสื้อขนาดเล็ก

ผีเสื้อขีดหกลายเข้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prosotas aluta ขนาดลำตัวประมาณ ๒๐-๓๐ มิลลิเมตร โทนสีบนลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง โทนสีหม่น มีแถบน้ำตาลเข้มอยู่ทั่วไป และมีสีขาวตัดแถบสีน้ำตาล

ผีเสื้อในวงศ์นี้ส่วนใหญ่จะมีจุดสีดำอยู่บริเวณปลายปีกส่วนล่าง จุดดำเข้มนี้คล้ายกับดวงตาขนาดใหญ่มีไว้เพื่อหลอกศัตรูอื่นๆ ยามที่จะเข้ามาทำร้ายมัน เพราะเมื่อศัตรูเห็นดวงตาขนาดใหญ่ย่อมหมายถึงรูปร่างที่ใหญ่ด้วย จึงไม่เข้ามาทำร้าย

อีกทั้งการขยับปีกคู่หลังทำให้จุดตาและหางขยับ ศัตรูที่หมายจะทำร้ายจะคิดว่าบริเวณนี้เป็นส่วนหัว เมื่อเข้าโจมตีทำร้ายจะทำให้พลาดเป้าหมายสำคัญ จึงทำให้ผีเสื้อขีดหกลายเข้มรอดพ้นจากศัตรู

พบผีเสื้อชนิดนี้ได้ทั่วไปบริเวณพุ่มไม้เตี้ยสองข้างทางหรือบริเวณทรายชื้น ชุกชุมในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ย.





นกแขกเต้า
นกแขกเต้า (Red-breasted Parakeet) เป็นหนึ่งในนกแก้วที่พบทั้งหมด ๗ ชนิดในประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทุกภาค ยกเว้นเฉพาะภาคใต้เท่านั้นที่ไม่พบ มีเสียงร้องแหลมดังแค้ก-แค้ก และร้องเสียง อื่นๆ อีกหลายแบบ

นกชนิดนี้เป็นนกแก้วขนาดกลาง มีความยาวลำตัวประมาณ ๓๕ ซ.ม. รูปร่างค่อนข้างเพรียว หัวใหญ่ คอสั้น หางยาวแหลม ขนหางมี ๑๒ เส้น แต่ละคู่ยาวลดหลั่นกันลงไปมาก คู่บนสุดยาวที่สุดและเรียว แต่ปลายทู่ ขาและเท้าแข็งแรง แต่ละเท้ามี ๔ นิ้ว ใช้เกาะยึดและปีนป่ายกิ่งไม้ได้ดี

ส่วนปีกปลายปีกแหลม ขนปลายปีกมี ๑๐ เส้น เหนือโคนปากมีแผ่นเนื้อนิ่มสีเทาอ่อน มีรูจมูกเปิดออก ๒ รู ม่านตาสีขาวออกเหลือง

ตัวผู้ ลำตัวด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อนอมฟ้า ส่วนหัว แก้มและใต้คางเป็นสีเทาอมแดงจางๆ บริเวณอกสีชมพูแกมส้ม หัวสีม่วงแกมเทา หน้าผากมีแถบสีดำคาดไปจรดตาทั้งสองข้าง และมีแถบสีดำลากจากโคนปากไปถึงแก้ม

จะงอยปากบนสีแดงสด ปลายสีเหลือง งองุ้มตั้งแต่โคนปากจนถึงปลายปากและพองออกด้านข้าง ปลายปากบนเป็นตะของุ้มแหลมคมแข็งแรงคลุมปลายปากล่าง กึ่งกลางปากมีลักษณะเป็นปุ่มใช้กะเทาะเปลือกเมล็ดพืชทิ้งเพื่อกินเนื้อใน โดยทำงานพร้อมกับลิ้นที่เป็นก้อนเนื้อหนา ปากบนเคลื่อนไหวได้โดยอิสระมากและใช้ปากเกาะยึดกิ่งไม้หรือวัตถุต่างๆ ได้อย่างกับเท้า

จะงอยปากล่างสีดำ จะงอยปากสั้นและงุ้ม ปากล่างโค้งงอขึ้นไปหาปากบนแต่สั้นกว่าและปลายปากทู่ มีปีกสีเขียวและมีหย่อมสีเหลืองคาดอยู่ ขนหางคู่กลางยาวเป็นสีฟ้า แต่ส่วนปลายเป็นสีเหลือง มีอกสีชมพู ท้องสีเขียวอมฟ้า ขาและนิ้วเท้าสีเขียว

ตัวเมีย ต่างจากตัวผู้ตรงที่หัวเป็นสีน้ำเงินแกมเทา แต่มีหัวสีเทามากกว่าตัวผู้ มีทางพาดสีดำทั้งสองแห่งเช่นเดียวกับตัวผู้ จะงอยปากบนและล่างสีดำสนิท อกสีชมพูสด ไม่มีแต้มสีม่วง ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่สีเขียว อกสีเขียว ปากสีดำ

แก้วแขกเต้าพบได้ในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา หมู่เกาะในทะเลอันดามัน จีนตอนใต้และเวียดนาม ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง เช่น ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงระดับความสูง ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล และตามพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นไม้หรือป่าละเมาะอยู่ใกล้ๆ หรือแหล่งปลูกพืชไร่ที่อยู่ชายป่าโปร่ง สวนผลไม้ที่มีต้นไม้ผลสูงใหญ่ อาจพบในป่าชายเลน หรือป่าริมฝั่งทะเลด้วย สำหรับอาหารของแก้วแขกเต้าในธรรมชาติ ประกอบด้วย เมล็ดพืชต่างๆ ลูกไม้ ผลไม้ ยอดไม้ ลูกไทร ลูกก่อ ข้าวและข้าวโพด แต่บางครั้งก็พากันลงกินดินโป่งด้วย

แก้วแขกเต้าบินได้ดีและเร็ว ชอบเกาะตามกิ่งไม้ที่มีผล ใช้เท้าจับผลไม้และใช้จะงอยปากจกหรือขบให้ผลไม้แตกแล้วกินเนื้อข้างใน มีความสามารถในการเกาะกิ่งไม้ได้ทุกๆ แนวแม้ว่าจะห้อยหัว ส่วนยามบินมักส่งเสียงร้องดังกังวาน ชอบทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือโพรงที่สัตว์อื่นทำทิ้งไว้

การผสมพันธุ์และการวางไข่ของแก้วแขกเต้าโดยเฉลี่ยเริ่มจากช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน นกแขกเต้าที่จับคู่แล้วจะแยกตัวออกจากฝูง หาที่ทำรังในโพรงไม้

วางไข่ครั้งละ ๓-๔ ฟอง ระยะฟักไข่นาน ๒๘ วัน ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาว ไม่มีจุด ขีด หรือลาย ขนาดเฉลี่ย ๒๕x๓๐ ม.ม. ลูกนกแรกเกิด ยังไม่มีขนปกคลุมลำตัว ขาและนิ้วเท้ายังอ่อนแอไม่สามารถยืนหรือเดินได้ พ่อแม่จะหาอาหารมาเลี้ยงโดยขยอกออกมาจากกระเพาะพัก ราว ๓-๔ สัปดาห์ ลูกนกจึงจะทิ้งรัง แต่พ่อแม่ยังต้องตามป้อนอาหารอยู่ระยะหนึ่งหรือจนกว่าถึงฤดูผสมพันธุ์อีกรอบ ลูกนกจึงจะแยกตัวออกไปหากินเอง





หอยทาก
หอยทากเป็นสัตว์โบราณที่เกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ แอคคาทินา (Achatina spp.) จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มหอยที่มีความหลากหลายของชนิดมากเป็นลำดับ ๒ รองจากสัตว์ในกลุ่มแมลง

ปัจจุบันพบหอยทากในโลกนี้ประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ชนิด และพบในภาคตะวันออกของประเทศไทยมากกว่า ๑๐๐ ชนิด

ส่วนหอยทากที่คนไทยรู้จักได้แก่หอยทากแอฟริกัน นำเข้ามาในประเทศไทยโดยทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

หอยทากเป็นหอยฝาเดียว เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ร่างกายอ่อนนุ่มและถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ได้แก่แบบที่มีฝาปิด และแบบที่ไม่มีฝาปิด เป็นสัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน แต่การผสมพันธุ์ต้องผสมข้ามตัว

วัยเจริญพันธุ์ประมาณ ๕-๙ เดือน การออกไข่จะออกไข่เป็น กลุ่ม กลุ่มละ ๒๐๐-๓๐๐ ฟอง หรือราว ๑,๐๐๐ ฟอง ในเวลา ๑ ปี

หอยทากมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๕ ปี รูปร่างหน้าตานอกจากจะมีเปลือกแข็งอยู่ส่วนบนลำตัวที่อ่อนนุ่ม ซึ่งดูเหมือนแบกบ้านไว้บนหลังเวลาเคลื่อนที่

หอยทากยังมีหนวด ๒ คู่ หนวดคู่แรกมีลักษณะยาวกว่า มีลูกตาอยู่ส่วนปลายหนวด คือมีลักษณะเหมือนเป็นก้านตา หนวดคู่ที่สองซึ่งมีความยาวน้อยกว่ามีความสามารถดมกลิ่นและรับรู้สิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่รอบตัว

ในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่มีอาหารของหอยทากอุดมสมบูรณ์ จึงจะพบหอยทากได้มาก มันจะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบแสงแดดอยู่ตามที่ร่มตามโคนต้นไม้

อาหารของหอยทาก ได้แก่พืชทั้งชนิดสดและชนิดที่ถูกย่อยสลายแล้ว ข้าวสุก เศษอาหาร รวมถึงเชื้อราที่อยู่ตามซากพืชที่ทับถมกัน มันใช้อวัยวะคล้ายลิ้นซึ่งมีลักษณะหยาบคล้ายตะไบ คล้ายฟันซี่เล็กๆ จัดเรียงกันเป็นแถว ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร

หอยทากเดินหรือคลานไปข้างหน้าได้ด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง หรือเรียกว่าเท้า ลักษณะเป็นแผ่นกล้ามเนื้อบางๆ อยู่ใต้ลำตัว การยืดหดของเท้าทำให้หอยทากคลานหรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ และเราทราบถึงทิศทางการคลานของหอยทากได้โดยดูจากรอยเมือกสีเงินตามพื้นดินที่หอยทากคลานผ่านไป

เมือกที่กล่าวถึงนี้ผลิตจากต่อมพิเศษซึ่งอยู่บริเวณเท้าของหอยทาก มีประโยชน์ช่วยหล่อลื่นเส้นทาง ทำให้หอยทากคลานผ่านพื้นได้หลายแบบ ทั้งพื้นที่มีลักษณะขรุขระ มีหนามแหลมคม หรือแม้แต่บนกิ่งไม้ โดยที่ไม่ตกลงมา

หอยทากเป็นตัวการทำให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายทอดสารอินทรีย์ได้อย่างดี ทำให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรใช้หอยทากเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์

นอกจากนั้นมนุษย์ยังนำหอยทากมาประกอบอาหาร อย่างในญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศในแถบยุโรป พันธุ์ที่นิยมนำมากินได้แก่สายพันธุ์หยกขาว ซึ่งมีลักษณะเนื้อสีขาวสะอาด

ส่วนในไทย หอยที่คนนิยมกิน ได้แก่ หอยหอม และ หอยภูเขา เนื้อของหอยทากอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร โปรตีนสูง ไขมันต่ำ ดังนั้นจึงปรุงเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ รวมถึงปรุงเป็นอาหารเสริมสุขภาพให้กับนักกีฬาจีน

ขณะที่ประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยพบประโยชน์จากเมือกเหนียวของหอยทากว่ายับยั้งการเจริญของเชื้อราในน้ำยางพารา และใช้เป็นส่วนผสมในการทำแผ่นยางได้อีก

แต่หอยทากก็มีโทษ เป็นศัตรูสำคัญของชาวไร่ชาวสวน เพราะอาหารของหอยทากคือพืช ดังนั้นในสวนหรือบริเวณที่ปลูกพืชหากหอยทากเข้าไปกัดกินพืชที่ปลูกได้แล้วก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย พืชหรือผลผลิตจะถูกทำลาย

หอยทากยังเป็นตัวการทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ โดยเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (Intermediat host) ได้แก่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "โรคปวดหัวหอย" เป็นต้น





เพื่อนต่างพันธุ์
สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลกออนไลน์ เมื่อ "อามูร์" เสือโคร่งไซบีเรียนตัวโต กับแพะขนหนาชื่อ "ติมูร์" เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนักล่ากับอาหารเย็น ไปเป็นมิตรภาพน่าประทับใจ

เรื่องราวของเพื่อนรักสัตว์ต่างสายพันธุ์ ๒ ตัวนี้เกิดขึ้นที่สวนสัตว์ซาฟารีปรีมอเรีย ในภูมิภาคชโคตอฟสก์ ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย หลังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลทำตามกิจวัตรนำเจ้าติมูร์เข้าสู่กรงของอามูร์ เพื่อให้สัตว์นักล่าไม่ลืมสัญชาตญาณ ซึ่งปกติทางสวนสัตว์จะนำกระต่ายหรือแพะไปปล่อยไว้ในกรงเสือ ๒ ครั้งต่อสัปดาห์

แต่ผ่านไปนาน ๔ วัน เจ้าอามูร์ก็ยังไม่กินติมูร์ แถมยังปล่อยให้นอนใต้โขดหิน ที่งีบสุดหวงส่วนตั๊วส่วนตัวอีกด้วย แถมตอนกลางวันยังชวนกันเดินเล่นอยู่ในกรงแบบชิลชิลเมื่อยก็นั่งพัก นอนเล่น เป็นกันเองสุด

ด้าน นายดมิทรี เมเซนต์เซฟ ผู้อำนวยการสวนสัตว์ กล่าวว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์ดุร้าย และมีความแข็งแกร่ง ถือเป็นเรื่องแปลกมากๆ เพราะไม่เพียงแค่เจ้าอามูร์จะไม่ยอมกิน ติมูร์ แต่พวกมันยังเป็นเพื่อนกันด้วย

และเพราะมิตรภาพน่ายกย่องเช่นนี้ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เลยกำลังเร่งศึกษาพฤติกรรมของเจ้าอามูร์และติมูร์ เพื่อวางโครงการสร้างกรงนอนเป็นส่วนต่อเติมให้เจ้าแพะได้อยู่ใกล้ๆ ตอนเช้าก็เข้ามาเดินเล่นกับเพื่อนเสือในกรง พอตกเย็นก็กลับไปนอนในกรงนอนของตัวเอง  ขนาดต่างสายพันธุ์ ต่างความชอบ ตัวหนึ่งกินเนื้อ ตัวหนึ่งกินพืช ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ มนุษย์อย่างเราๆ ดูแล้วอายเลย...ว่าไหม





จิงโจ้ต้นไม้
จิงโจ้ต้นไม้เพศเมียประจำสวนสัตว์นครไมอามี่ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งฉลองวันเกิดครบ ๒๗ ปีเมื่ีอ ๓ สิงหาคม และขึ้นแท่นเป็นจิงโจ้ต้นไม้อายุมากที่สุดที่เคยบันทึกไว้ทีเดียว

แมตธิว มาร์ซิคาร์โน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบอกว่าแพตตี้สุขภาพแข็งแรงดี แต่ด้วยอายุมากแล้ว มากกว่าอายุเฉลี่ยที่ ๑๔ ปีของจิงโจ้ต้นไม้ตามธรรมชาติ แพตตี้เลยมีปัญหานิดๆ หน่อยๆ ตามประสารุ่นใหญ่ รวมทั้งการมองเห็นที่เลือนราง

ถึงอย่างนั้น ป้าแพตตี้ก็ยังเก๋ามีทักษะความสามารถสุดฮิพ เป็นศิลปินสะบัดพู่กันวาดภาพแนวแอ็บสแทร็กต์ ที่มีนักลงทุนจากทั่วโลกแห่ซื้อเก็บเข้าคอลเล็กชั่นงานอาร์ต

รู้จักกับป้าแพตตี้พอหอมปากหอมคอไปดูกันดีกว่าว่าสายพันธุ์จิงโจ้ต้นไม้น่ะมีความเป็นมาอย่างไร




จิงโจ้ต้นไม้เนี่ยมีถิ่นกำเนิดและอาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนิวกินี ลำตัวมีขนาดราว ๒๐-๓๒ นิ้ว และหนัก ๗-๙ กิโลกรัม เล็กกว่าจิงโจ้แดงของออสเตรเลีย แต่ตัวเมียมีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับลูกจิงโจ้ตัวจ้อยเหมือนกัน ลำตัวปกคลุมด้วยขนหนาสีน้ำตาลแดง ส่วนหน้าอก และท้องเป็นขนสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีหางยาวสร้างสมดุลทรงตัวบนต้นไม้ และกรงเล็บคมยึดเกาะต้นไม้ได้เหนียวแน่น

อาหารส่วนใหญ่ที่กินเป็นพืชผักผลไม้ แต่บางครั้งกินแมลง และถั่วเพื่อเพิ่มโปรตีน

ปัจจุบันมีสถานะเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะมนุษย์ถางป่านำพื้นที่ไปเพาะปลูกและสร้างชุมชน ยังมีธุรกิจปาล์มน้ำมัน รวมถึงการล่าเพื่อกินเนื้อและนำขนไปใช้ของชนเผ่าท้องถิ่น แต่ยังดีที่มีคนเห็นความสำคัญโดยเฉพาะหมู่บ้านยาวาน ซึ่งแบ่งพื้นที่กว่า ๔๐๐ ตารางกิโลเมตรเพื่ออนุรักษ์จิงโจ้ต้นไม้อย่างจริงจัง





สัตว์สุดลึกลับ วันฮัลโลวีน

เข้าสู่เทศกาลสยองขวัญ"วันฮัลโลวีน" ไปทำความรู้จักกับสารพัดสัตว์สุดลึกลับที่มักจะได้รับการเอ่ยถึงในเทศกาลนี้กันดีกว่า

เริ่มที่ "แมวดำ" ปกติเจ้าเหมียวสีดำเป็นตัวแทนของความโชคร้าย (เฉพาะบางประเทศ) อย่างคนไทยเองก็มองว่า แมวดำเป็นสัญลักษณ์ของความอัปมงคล ถ้าพบเจอวิ่งตัดหน้าไปไม่ควรเดินทางต่อ หรือเชื่อไปถึงทำให้คนที่เสียชีวิตลุกขึ้นมาได้ แต่ในอังกฤษนั้นเชื่อว่าแมวดำสามารถป้องกันภัย ส่วนสกอตแลนด์มองว่า ถ้าแมวดำเดินเข้าอาณาบริเวณบ้านใคร บ้านนั้นจะมั่งคั่งรุ่งเรือง

ถึงอย่างนั้น สีสันที่ดำทะมึน เวลาวิ่งไวๆ เลยเหมือนมีอะไร แวบไป...แวบมา... ชวนให้ขนหัวลุก แถมเมื่อเจอหน้าตรงๆ ยังต้องผงะกับแววตาลุกวาวแบบเดาอารมณ์ไม่ถูก ด้วยเหตุนี้ใครต่อใครเลยยกให้แมวดำขึ้นทำเนียบสัตว์ฮัลโลวีน

ตามมาติดๆ เป็นแมลงขายาว และปลีกวิเวกอยู่ในซอกหลืบ อย่าเพิ่งกลัวไป เจ้าตัวนี้น่ะคือ "แมงมุม" ซึ่งเราๆ รู้จักกันดี แต่ที่เหมาะกับฮัลโลวีน ต้องเป็นแมงมุมสีดำ ไม่ก็แมงมุมแม่ม่ายดำ แค่ชื่อก็น่าพิศวงแล้ว เนื่องจากบ้านที่มีแมงมุมอยู่เยอะๆ แบบหยากไย่ยั้วเยี้ย มักจะเป็นบ้านร้าง แน่นอนว่าต้องมีเรื่องเล่าถึงเหตุผลที่ไม่มีใครอยู่ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องสยองขวัญ แมงมุมเลยถูกจับคู่กับความหลอนไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม แมงมุมแม่ม่ายดำก็ขึ้นชื่อเป็นแมลงอันตราย ไม่เพียงกินตัวผู้หลังผสมพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีพิษรุนแรงกว่างู โดยพิษจะออกฤทธิ์กับระบบประสาท แผลปวดบวม เรื่อยไปจนเป็นตะคริว อ่อนแรง มือสั่น และหายใจขัด

ปิดท้ายด้วย "ค้างคาว" เจ้าตำรับที่มาของผีดูดเลือด เพราะเมนูโปรดคือ เลือด ทั้งยังออกหากินตอนกลางคืนอีกต่างหาก จึงไม่แปลกที่จะมีการเชื่อมโยงค้างคาวเข้ากับแวมไพร์

แม้ภายนอกจะน่ากลัว แต่สัตว์ก็ยังเป็นสัตว์ และใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ ไม่เหมือนมนุษย์บางคนที่ใจร้ายต่อเพื่อนสัตว์ร่วมโลกหรอก... จริงไหม





ปลาดาว ดาวทะเล
ดาวทะเล หรือเรียกกันทั่วไปว่า ปลาดาว (Starfish, Seastar) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูก สันหลัง อยู่ในชั้น Asteroidea ลักษณะทั่วไป มีลำตัวแยกเป็นห้าแฉกคล้ายรูปดาว เรียกว่าแขน ส่วนกลางมีลักษณะเป็นจานกลม ด้านหลังมีตุ่มหินปูนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป มีปากอยู่ด้านล่างบริเวณจุดกึ่งกลางของลำตัว

ใต้แขนแต่ละข้างมีหนวดสั้นๆ เรียงตามส่วนยาวของแขนเป็นคู่ๆ มีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อที่เหนียวและแข็งแรง เรียกว่า โปเดีย ใช้สำหรับยึดเกาะกับเคลื่อนที่ มีสีต่างๆ ออกไป ทั้ง ขาว ชมพู แดง ดำ ม่วง หรือน้ำเงิน เป็นต้น

พบอยู่ตามชายฝั่งทะเล โขดหิน และบางส่วนอาจพบได้ถึงพื้นทะเลลึก กินหอยสองฝา โดยเฉพาะหอยนางรม กุ้ง ปู หนอน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เช่น ฟองน้ำหรือปะการัง เป็นอาหาร

ดาวทะเลพบอยู่ในทะเลทั่วโลก ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลน ติก มหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งในเขตขั้วโลกอย่างมหาสมุทรอาร์กติก และแอนตาร์กติกา โดยถึงปัจจุบันพบประมาณ ๑,๘๐๐ ชนิด

ดาวทะเลขนาดเล็กอาจมีความกว้างเพียง ๑ เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดอาจยาวได้ถึง ๑ เมตร และในบางชนิดอาจมีแขนมากกว่า ๕ แขน สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ

การปฏิสนธิเกิดภายนอกตัว ระยะแรกตัวอ่อนจะดำรงชีวิตแบบแพลงตอนสัตว์ จากนั้นจะเริ่มพัฒนาตัวแล้วจมตัวลงเพื่อหาที่ยึดเกาะ แล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ในบางชนิดเมื่อแขนถูกตัดขาดลง จะพัฒนาตรงส่วนนั้นกลายเป็นดาวทะเลตัวใหม่เกิดขึ้น และตัวที่ขาดก็จะงอกชิ้นใหม่ขึ้นมาได้จนสมบูรณ์ แต่กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นปี

การเคลื่อนที่ของดาวทะเล เนื่องจากดาวทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงแข็งที่ผิวนอก ไม่ได้ยึดเกาะกับกล้ามเนื้อ จึงมีระบบการเคลื่อนที่ด้วยระบบท่อน้ำ จากท่อวงแหวนจะมีท่อน้ำแยกออกไปในแขน เรียกท่อนี้ว่า เรเดียลคาแนล

ทางด้านข้างของเรเดียลคาแนลมีท่อแยกไปยังทิวบ์ฟีต การยืดและหดของทิวบ์ฟีตจะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง และมีความสัมพันธ์กันทำให้เกิดการเคลื่อนที่ไปได้

ดาวทะเลมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในแง่ของการใช้ซากเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และในบางวัฒนธรรม เช่น จีน ใช้ดาวทะเลปรุงเป็นยา และปิ้งย่างเป็นอาหาร อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลา

มีข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า ปลาดาว เป็นสัตว์ในแนวปะการัง สัตว์เหล่านี้อาจอาศัยอยู่ภายในโครงสร้างแนวปะการัง บนแนวปะการัง หรืออาศัยอยู่ในน้ำเหนือแนวปะการัง มีทั้งสัตว์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ และสัตว์ที่อยู่กับที่ เช่น ฟองน้ำ ซึ่งเป็นสัตว์เกาะอยู่กับที่เช่นเดียวกับปะการัง

ส่วนปลาดาวอยู่ในสัตว์แนวปะการังกลุ่มที่ ๖ เอคไคโนเดิร์ม (Echinoderm) ได้แก่ ปลาดาว ปลิงทะเล ดาวขนนก เม่นทะเล

สัตว์กลุ่มนี้เป็นพวกที่มีแผ่นหินปูนปกคลุมร่างกายหรือแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อ รูปร่างทั่วไปส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแฉก ๕ แฉก ตัวอย่างสัตว์ในกลุ่มเอคไคโนเดิร์มที่มีรูปร่างคล้ายดาวมี ๓ ประเภท

๑.ปลาดาว หรือ ดาวทะเล รูปร่างคล้ายดาว ๕ แฉก มีแขนยื่นจากกลางลำตัว ใต้ท้องแขนมีปุ่มดูดใช้ในการเคลื่อนที่ ปากอยู่ตรงกลางลำตัวด้านล่าง กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อาศัยอยู่บนพื้นตะกอนในแนวปะการังเป็นอาหาร มีความสามารถในการงอกใหม่ (regenerate) ได้ดี โดยถ้าส่วนของร่างกายหรือแขนของมันขาด หรือหลุดออก ส่วนที่ขาดจะงอกเป็นตัวใหม่ได้

๒.ดาวมงกุฎหนาม กินปะการังเป็นอาหาร โดยผลักกระเพาะอาหารของมันผ่านปากออกมาด้านนอกบริเวณใต้ลำตัว แล้วย้ายกระเพาะไปอยู่บนปะการังเป็น กระเพาะอาหารของปลาดาวชนิดนี้จะย่อยโพลิปปะการังเวลาที่มันยื่นตัวออกมา เมื่อปลาดาวกินอาหารเสร็จ ก็จะดึงกระเพาะอาหารกลับเข้าไปภายในร่างกาย

๓.ดาวเปราะ ชื่อของมันมาจากแขนที่หลุดหักได้ง่าย แต่มันก็สามารถงอกแขนส่วนที่ขาดหรือหักได้ใหม่ ลำตัวมีขนาดเล็ก มีแขนยื่นยาวออกจากลำตัว แผ่นกลางลำตัวเป็น ๕ เหลี่ยมคล้ายดาว ปกติดาวเปราะมีแขน ๕-๖ แขน ไม่มีร่องใต้แขน และเท้า มีลักษณะแบบท่อ ไม่มีปุ่มดูด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2561 16:00:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 08 มกราคม 2559 18:55:01 »

.



กัลปังหา
กะละปังหา หรือ กัลปังหา (ยืมมาจากคำ kalam pangha ในภาษามลายู) หรือ Gorgonians เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายทรงกระบอกหรือรูปถ้วย จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กะละปังหาประกอบด้วย ๒ ส่วนคือ ตัวกะละปังหา (โพลิป) ลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวน ๘ เส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างกะละปังหา และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านแผ่แบนคล้ายพัด หรือ ซี่หวี หรือเป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ แล้วแต่ชนิด

กะละปังหาชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้ และจะช่วยพัดสิ่งขับถ่ายหรือของเสียที่กะละปังหาปล่อยมาออกไป โดยกะละปังหาจะใช้หนวดกรองดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงตอน กะละปังหาสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศเช่นเดียวกับปะการัง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ใช้วิธีแตกหน่อ หรือการแยกออกจากกัน ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนีกัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกะละปังหาส่วนใหญ่มีเซลล์สืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

กะละปังหามีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดซึ่งจะเกาะอยู่ตามกิ่งก้าน ซึ่งอาจพบดาวเปราะ หอยเบี้ย ปู หรือกุ้ง เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้านของกะละปังหาเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากะละปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การที่กะละปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม ในอดีตจึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นำไปประดับตู้ปลา ใช้เป็นเครื่องตกแต่งบ้าน รวมถึงนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง

แต่ในปัจจุบันซึ่งมีการศึกษาระบบนิเวศและธรรมชาติ จึงพบว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกะละปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ การนำกะละปังหาขึ้นมาจากทะเลจึงเป็นการกระทำที่ขาดความรู้และไร้ซึ่งสามัญสำนึก สำคัญ ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดในปัจจุบันที่รับรองได้ว่ากะละปังหามีสรรพคุณในการรักษาโรคได้จริง

ปัจจุบันกะละปังหาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ห้ามมีไว้ในครอบครอง หรือเพื่อการค้าขาย ยกเว้นการวิจัย เนื่องจากกะละปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปี ในการเติบโตเพียงแค่ ๑ ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกะละปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำลายกะละปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกะละปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว กระนั้นยังมีผู้ลักลอบ นำกะละปังหาและปะการังมาจำหน่ายในตลาดตู้ปลาหลายแห่ง เช่น ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร (พ.ศ.๒๕๕๗) เป็นต้น
ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด



ปลิงทะเล
ปลิงทะเล (sea cucumber) เป็นสัตว์ทะเลไร้กระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลเอคไคโนเดิร์ม ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับดาวทะเลและหอยเม่น ถิ่นอาศัยพบตามพื้นทะเลที่เป็นทรายปนโคลนในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน กินอินทรียวัตถุตามพื้นดินโคลนและทรายเป็นอาหาร ขนาดความยาว ๓๐-๔๐ เซนติเมตร

ปลิงทะเลมีคุณประโยชน์มากมายหลายด้าน ได้แก่
     ๑.ด้านการแพทย์ มีสารโฮโลท็อกซิน (Holotoxin) ที่สกัดจากผนังลำตัว มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และสารโฮโลทูริน (Holothurin) จากเส้นใยสีขาวของปลิงทะเลบางชนิด มีคุณสมบัติในการขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท จึงนำไปใช้บำบัดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด และสารโฮโลทูรินยังมีฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัวได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการติดเชื้อของบาดแผลต่างๆ รักษาอาการท้องผูกอันเนื่องมาจากลำไส้แห้งและอาการปัสสาวะบ่อย รักษาอาการอ่อนเพลีย รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ชะลอความชรา
     ๒.ด้านสุขภาพ ในเนื้อของปลิงทะเลอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะสารมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อนและเอ็น การบริโภคปลิงทะเลจึงช่วยบรรเทาปัญหาการเสื่อมของข้อกระดูกในผู้สูงอายุได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มหน่วยความจำของสมอง ขจัดความเมื่อยล้า เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและควบคุมต่อมไร้ท่อ
     ๓.ด้านความงาม ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติ ทำให้ผิวเต่งตึง เนียนนุ่ม ชะลอการเกิดริ้วรอย ช่วยฟื้นฟูโครงสร้างผิวหนังให้มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงจากภายใน ช่วยรักษามอยส์เจอไรเซอร์ตามธรรมชาติของผิว และช่วยเสริมสร้างชั้นผิวที่ลึกลงไป โดยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด เส้นเลือดฝอย เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ให้เสื่อมสภาพช้าลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไหลเวียนโลหิตให้ไหลเวียนได้สะดวก ไม่อุดตัน

จากคุณประโยชน์ที่มากมายของปลิงทะเล จึงมีผลิตภัณฑ์จากปลิงทะเลออกจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
     ๑.ปลิงทะเลสด
     ๒.ปลิงทะเลต้ม
     ๓.ปลิงทะเลตากแห้ง ซึ่งเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในประเทศทางตะวันออกมานานแล้ว โดยเฉพาะแถบหมู่เกาะทะเลใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ปลิงทะเลที่นำมาบริโภคต้องเป็นปลิงขนาดใหญ่ ผนังลำตัวหนา และไม่มีท่อคูเวียร์ (อวัยวะชิ้นหนึ่งอยู่ที่ฐานของเหงือก ทำหน้าที่สร้างสารเหนียวเป็นสายยาวพ่นออกมาทางทวารหนัก เพื่อพรางตัวจากศัตรู หรือให้สารเหนียวเป็นเส้นๆ นี้พันรอบเหยื่อ)
     สำหรับประเทศไทยปลิงทะเลชนิดที่นิยมนำมารับประทานและมีขายตามท้องตลาดคือ ปลิงขาว ซึ่งมีทั้งในสภาพต้มแล้ว และตากแห้ง ปลิงทะเลที่ต้มแล้วนำไปประกอบอาหารได้ หลายอย่าง เช่น ยำ ผัดซอส ผัดฉ่า ผัดเผ็ด ผัดกับผัก ปลิงน้ำแดง แกงจืด ซุป หรือเมนูก๋วยเตี๋ยว
     ๔.ปลิงทะเลดองน้ำผึ้ง
     ๕.ปลิงทะเลแช่แข็งปอกเปลือก
     ๖.เครื่องดื่มปลิงทะเลเพื่อสุขภาพ
     ๗.ปลิงทะเลผงใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตยา ผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
     ๘.เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว มาสก์ แชมพู ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ น้ำยาทำความสะอาดสุขอนามัยของผู้หญิง น้ำมันใส่ผม
     ๙.เจลรักษาบาดแผล
    ๑๐.ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารเสริมสัตว์เลี้ยง สบู่





พังพอน

พังพอน เป็นสัตว์จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Herpestes javanicus ในวงศ์ Herpestidae มีขนาดเล็ก ขนบนหัวมีสีน้ำตาลแดงจนถึงน้ำตาลเข้ม ขามีสีเดียวกับลำตัวหรือเข้มกว่าเล็กน้อย หางยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ของลำตัว เมื่อตกใจหรือต่อสู้กับศัตรูจะพองขนทำให้ดูตัวใหญ่กว่าปกติ มีความยาวลำตัวและหัว ๓๕-๔๑ เซนติเมตร ความยาวหางประมาณ ๒๕-๒๙ เซนติเมตร

พังพอนมีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย พม่า เนปาล สิกขิม บังกลาเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และเกาะชวา จึงทำให้มีชนิดย่อยมากถึง ๑๒ ชนิด

มีพฤติกรรมชอบอาศัยตามป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้ามากกว่าป่าดิบทึบ ดังนั้นจึงมักเห็นพังพอนแม้แต่ในเขตเมือง มักอาศัยอยู่ตามลำพังในโพรงดินที่ขุดไว้ หรือโพรงไม้ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่อาจอยู่เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ อาหารได้แก่สัตว์ทั่วไปขนาดเล็ก หรือบางครั้งอาจล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าลำตัว เช่น ไก่ป่า กินได้ หากินทั้งกลางวันและกลางคืน

มีฤดูผสมพันธุ์ที่ไม่แน่นอน มักผสมพันธุ์ในโพรงดิน ออกลูกครั้งละ ๒-๔ ตัว เพศเมียมีเต้านม ๓ คู่ ใช้เวลาตั้งท้อง ๖ สัปดาห์

พังพอนจัดเป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวว่องไวมาก อีกทั้งมีนิสัยไม่กลัวใคร จึงเป็นที่ทราบกันดีว่าชอบสู้กับงูพิษ โดยเฉพาะงูเห่า เมื่อเผลอจะโดดกัดคองูจนตาย สมัยก่อนในบางบ้านจะเลี้ยงพังพอนไว้แทนแมว สำหรับจับหนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่มารังควานในบ้าน ซึ่งก็ได้ผลดีกว่าแมวเสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ดุ แต่หากเลี้ยงตั้งแต่เล็กก็จะเชื่องกับเจ้าของ ทั้งนี้ ในสถานที่เลี้ยงพบว่ามีอายุยืนราว ๖ ปี ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

ยังมีความรู้จากมูลนิธิโลกสีเขียวว่า พังพอนมีหัวแหลมเรียว หางยาว ขนแน่นหนา ยกเว้นเพียงขาช่วงล่าง ตัวผู้หนักประมาณ ๖๕๐ กรัม ส่วนตัวเมียหนัก ๔๓๐ กรัม มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปากีสถานจนถึงชายฝั่งทางภาคใต้ของจีน ทางใต้ไปจนถึงคาบสมุทรมลายู และเกาะชวา แต่มนุษย์ได้นำมันไปเลี้ยงในต่างถิ่นเพื่อช่วยปราบหนูและงู ปัจจุบันพังพอนชนิดนี้จึงแพร่พันธุ์ไปเกือบทั่วโลก ตั้งแต่เวสต์อินดีส อเมริกาใต้ แคริบเบียน ญี่ปุ่น ยุโรป และหมู่เกาะในแปซิฟิก

นิสัยซุกซน ขี้เล่น ในแหล่งเพาะเลี้ยงมักชอบไซร้ขนให้แก่กันไม่ว่าจะเป็นเพศใด แต่ในธรรมชาติมีเพียงแม่กับลูกเท่านั้นที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ มักหากินโดยลำพัง บางครั้งตัวผู้อาจมารวมกลุ่มกัน หรือแม้แต่ใช้โพรงร่วมกัน

อย่างน้อยก็ในฤดูผสมพันธุ์ ตอนเช้ามักออกมาตากแดดเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่เวลาอากาศร้อนมันจะคลายร้อนด้วยการเข้าร่มแล้วนอนแผ่เอาพุงแนบพื้นเย็นๆ หากไม่พบพื้นดินที่ร่ม ก็จะพุ้ยหน้าดินออกไปเพื่อนอนทาบบนดินชั้นล่างซึ่งเย็นกว่า

อาหารหลักของพังพอนคือแมลง แต่บางครั้งก็กินสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก และล่าสัตว์ที่ขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้ เช่น กระต่ายป่า หรือแม้แต่ลูกกวาง ด้วยชั้นเชิงการต่อสู้และ จับเหยื่อแพรวพราว โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้อย่างงูพิษ พังพอนมักฆ่าเหยื่อที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยการกัดที่ท้ายทอย

ที่มา (เรื่อง) : ข่าวสดออนไลน์



กบพันธุ์ใหม่
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของบราซิลแสดงรูปกบตัวเล็ก ที่เพิ่งค้นพบในเมืองการูวา รัฐซันตา คาตารินา ที่เพิ่งค้นพบในดินแดนซึ่งเรียกกันว่า เป็นป่าเขตร้อนแอตแลนติกของบราซิล.....ไทยรัฐออนไลน์



สิงโตทะเล
สิงโตทะเลตัวหนึ่งอาศัยที่ท่าเรือที่ 39 ของท่าเรือประมง ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสัตวแพทย์ตรวจพบว่า พวกมันได้กินสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร ทำให้เป็นพิษจนพากันสูญเสียความจำ โดนคลื่นซัดไปเกยฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย ปีหนึ่งๆ จำนวนเป็นร้อย นอกจากนั้นยังมีอาการชัก พิษของสาหร่ายทำให้มันมีอาการไม่รู้เหนือรู้ใต้ และแม้กระทั่งแหล่งอาหารก็ยังลืมไปเสีย.....ไทยรัฐออนไลน์



สัตว์โลกหมื่นปี
ชาวเมืองคาร์ลอส สเปแกสซินี ของอาร์เจนตินา พากันแตกตื่นไปดู ซากกระดองของตัวคลิปโตดอนต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่มีกระดองเป็นเกราะขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถขยับหัวเข้าออกได้ ลักษณะกระดองเป็นกระดูกเรียงต่อกัน 1,000 ชิ้น ตัวโตเต็มที่ยาว 3.3 เมตร น้ำหนัก 2 ตัน เป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร....ไทยรัฐออนไลน์



สัตว์แปลก
ชาวบราซิลที่รัฐเอสปิริโต ซานโต จับได้สัตว์แปลกอย่างหนึ่ง ที่หาดตาร์ตารูกัส ห่างจากฝั่งถึง 1,200 กม. มีลักษณะเหมือนกับปู....ไทยรัฐออนไลน์



หอยยักษ์
ชาวกรุงบัวโนสไอเรสได้ของขวัญประหลาดเมื่อวันส่งท้ายปี เป็นหอยยักษ์ทะเลชนิดหนึ่งชื่อว่า “กลิปโทดอนต์” จับได้ในทะเลแถวริมฝั่งของเมือง.....ไทยรัฐออนไลน์



วอลรัส
วอลรัสโชว์...วอลรัสตัวเมีย กำลังตั้งใจตำข้าวเพื่อทำขนมเนื่องในพิธีวันขึ้นปีใหม่ ที่สวนน้ำเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น....ไทยรัฐออนไลน์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มิถุนายน 2559 15:18:54 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 17:15:30 »

.



หมาไนกับหมาจิ้งจอกต่างกันอย่างไร
เริ่มจาก "หมาใน" ก่อน หมาใน หรือ หมาแดง (อังกฤษ Dhole, Asian wild dog, Asian red dog) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuon alpinus วงศ์ Canidae เป็นหมาป่า ลักษณะจมูกสั้น ปากสั้น มีกรามและฟันแข็งแรงมาก ใบหูกลมใหญ่ ขนหนาแน่น

ขนตามลำตัวค่อนข้างสั้นมีสีน้ำตาลแดงอมส้ม สีขนบริเวณท้องอ่อนกว่าบริเวณหลัง หางยาวเป็นพวงฟูมีสีเทาเข้มหรือดำ ความยาวลำตัวและหัว ๘๐-๙๐ เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ความยาวหาง ๓๐-๓๕ เซนติเมตร

น้ำหนักเพศผู้ ๑๐-๒๑ กิโลกรัม เพศเมีย ๑๐-๑๓ กิโลกรัม

หมาในมีเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง ทำให้มีสายพันธุ์ย่อยถึง ๑๑ ชนิด พบได้ตั้งแต่รัสเซียตะวันออก ภาคใต้ของไซบีเรีย มองโกเลีย เทือกเขาหิมาลัยในเนปาล สิกขิม และภูฏาน แคชเมียร์และทางใต้ของทิเบต จีน อินเดีย พม่า เรื่อยมาจนถึงคาบสมุทรเกาหลี ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สุมาตราและเกาะชวา

หมาในปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้หลายประเภท ร้อนจัด เย็นจัด ชอบอยู่ในป่าทึบบนภูเขา ป่าอัลไพน์ ป่าไม้พุ่ม ป่าเปิดใกล้ทุ่งหญ้า แต่ไม่เคยพบในทะเลทราย

มันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ฝูงหนึ่งมีสมาชิก ๖-๑๒ ตัว บางฝูงอาจใหญ่มากถึง ๒๕ ตัว ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ ๒-๓ ครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน การวิวาทในฝูงเกิดน้อยมาก เพราะสังคมหมาในถือระบบลำดับชั้น

ออกล่าเหยื่อตอนกลางวัน เช้าตรู่ และพลบค่ำ พวกมันเป็นสังคมนักล่าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งมีระบบประสาทหู ตา และการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม จะทำงานเป็นทีมเมื่อล่าสัตว์ใหญ่ ล่าเหยื่อที่หนักกว่าตัวเองถึง ๑๐ เท่าได้ และหมาในเพียง ๒-๓ ตัว ก็ล่ากวางที่หนักถึง ๕๐ กิโลได้ภายในเวลาไม่ถึง ๒ นาที

มันจะทำให้เหยื่อสับสนโดยเข้าล้อมแล้ววิ่งไล่ให้เหยื่ออ่อนล้า หมดแรง หรือไม่ก็ต้อนลงน้ำ จากนั้นจะช่วยกันกระโดดเข้ากัดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจนเหยื่อตายในที่สุด

หมาในไม่เก็บเหยื่อไว้กินในครั้งต่อไปเหมือนพวกเสือ โดยเลือกกินลูกตา ท้อง และเครื่องในของเหยื่อก่อน



ในอดีตมีความเชื่อว่า หมาในจะปัสสาวะรดไว้ตามใบไม้เพื่อให้เข้าตาเหยื่อ ทำให้เหยื่อตาบอด ซึ่งไม่เป็นความจริง

หมาในชอบน้ำมาก มักลงน้ำหลังจากกินอาหาร และมักนั่งแช่น้ำตื้นๆ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็น ชอบส่ายหางเมื่อดีใจเช่นเดียวกับหมาบ้าน แต่มันไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวกับคนและมักเลี่ยงคนเสมอ มันยังเก่งในการเปล่งเสียงหลายแบบ นอกจากเสียงเหมือนผิวปากซึ่งใช้สื่อสารในฝูง ยังทำเสียงเมี้ยวเหมือนลูกแมว เสียงกรีดร้อง เสียงซู่ซี่เบาๆ หรือแม้แต่เสียงกุ๊กๆ ได้ด้วย

หมาในผสมพันธุ์ได้เกือบตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ ๙ สัปดาห์ ออกลูกครั้งละ ๘-๑๐ ตัว โดยแม่หมาในมักออกลูกในรังตามโพรงดิน หรือซอกหินคล้ายๆ ถ้ำ หรือรังที่สัตว์อื่นทิ้งแล้ว

ลูกที่เกิดใหม่จะมีขนสีน้ำตาลเทา สมาชิกทุกตัวในฝูงจะช่วยกันดูแลเด็กและป้อนอาหารให้ หมาในผู้ใหญ่จะนำอาหารมาสู่เด็กด้วยการขย้อนออกมาให้เด็กๆ กิน บางตัวอาจเฝ้ารังดูแลเด็กๆ ขณะที่ตัวอื่นออกไปหาเหยื่อ

ระหว่างที่ลูกหมาเติบโต จะประลองกำลังกันเพื่อจัดลำดับชั้นในฝูง การต่อสู้เพื่อจัดอันดับนี้จะสิ้นสุดลงเมื่ออายุได้ราว ๗ เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มออกไปล่าเหยื่อร่วมกับฝูงได้ หรืออาจแยกตัวไป

อาหารของหมาในได้แก่สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ เช่น กวาง เก้ง วัวแดง ไปจนถึงกระต่าย หนู ทั้งนี้ในธรรมชาติหมาในมีอายุขัยประมาณ ๑๐ ปี ส่วนในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้นานถึง ๑๖ ปี

หมาในถูกคุกคามเพราะสัตว์เหยื่อลดจำนวนลง ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และจากการล่าเพื่อเอาหนัง รวมถึงการที่มนุษย์บุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานในป่า นำหมาบ้านเข้าไปเลี้ยง อาจทำให้โรคติดต่อบางอย่างแพร่ไปยังประชากรหมาในได้ เช่นในอินเดีย โรคจำพวกหัดหมาและโรคพิษสุนัขบ้ากวาดล้างประชากรหมาในจำนวนมาก

ปัจจุบันหมาในได้รับการคุ้มครองโดยถูกจัดอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ สำหรับประเทศไทยเป็นหมาป่า ๑ ใน ๒ ชนิดที่พบ (อีกชนิดคือ หมาจิ้งจอก) แต่จากเดิมที่เคยพบในป่าทั่วประเทศ

ปัจจุบันเชื่อว่าเหลือเพียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕




หมาจิ้งจอก
"หมาจิ้งจอก" (อังกฤษ Fox, Golden Jackal, Jackal, อีสาน หมาจอก) ชื่อวิทยาศาสตร์ Canis aureus วงศ์ Canidae จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ลักษณะมีขนาดลำตัวเล็กกว่าสุนัขบ้านทั่วไป และคล้ายกับสุนัขไทยพื้นเมือง จมูกแหลมยาว หูยาวชี้ตั้ง ฟันกรามแข็งแรงและแหลมคม หางยาวเป็นพวง ขนหยาบสั้น สีน้ำตาลแกมเหลืองทอง บริเวณหลังปลายขนสีดำหรือ สีเทา ความยาวหัวถึงลำตัว ๖๐-๑๐๖ เซนติเมตร หางฟูเป็นพวงยาว ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ปลายหางดำ ความสูงหัวไหล่ ๓๕-๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗-๑๕ กิโลกรัม

หมาจิ้งจอกมี ๒๗ ชนิด ใน ๕ สกุล พบได้ทั่วโลก แม้กระทั่งขั้วโลกเหนือ เพราะปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ นับว่ามีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก

พบตั้งแต่ทวีปแอฟริกาตอนเหนือทั้งหมด ตั้งแต่โมร็อกโกจนถึงอียิปต์ทางใต้ แพร่ไปจนถึงเคนยา ในยุโรปพบในคาบสมุทรบอลข่าน

ส่วนเอเชียพบในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ พม่า มาจนถึงประเทศไทย ลาว กัมพูชาตอนบน และเวียดนาม ในบางพื้นที่ของแอฟริกาพบว่าเขตกระจายพันธุ์ยังคงแผ่ขยายออกไป เมื่อไม่นานมานี้พบที่อุทยานแห่งชาติ Bale Mountains ของเอธิโอเปียที่ระดับความสูง ๓,๘๐๐ เมตร และพบในป่า Harenna และในอิตาลีตะวันออก หมาจิ้งจอกชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งที่มีทั้งต้นไม้ ไม้พุ่ม หญ้า ไม้แคระ

นอกจากนี้ยังพบอยู่ตามโอเอซีส และชุมชนมนุษย์ ในประเทศไทยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมักพบหมาจิ้งจอกตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ บางครั้งพบเห็นร่องรอยบริเวณป่าเสื่อมโทรมใกล้กับหมู่บ้านทางตะวันออกและทางตอนใต้ของพื้นที่

หมาจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเก่งมาก มีจมูก สายตา และหู ดีเยี่ยม หากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มักหากินเวลากลางคืนมากกว่า ในพื้นที่ที่อาหารอุดมสมบูรณ์อาจรวมฝูงกันเป็นฝูงใหญ่ได้ถึง ๒๐ ตัว ชอบส่งเสียงหอนเสียงดัง ว้อๆ เป็นระยะๆ ตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะช่วงเวลาหัวค่ำและเช้ามืดก่อนฟ้าสาง

หมาจิ้งจอกกินได้ทั้งพืชและสัตว์ สัตว์ที่กินส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระต่าย ป่า หนู ลูกกวาง นก สัตว์เลื้อยคลาน บางครั้งก็กินซาก ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้อาจมีมากถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ในพื้นที่ใกล้ชุมชนมนุษย์ก็อาจเข้ามารื้อค้นเศษกองขยะหาอาหารกิน

อย่างในอินเดียพบว่าถ้าหากหมาจิ้งจอกไม่สามารถล่าสัตว์ได้มันจะเข้าไปในหมู่บ้านแล้วขโมยกินข้าวโพดหรือเมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ บางครั้ง มันขโมย เป็ด ไก่ หรือลูกแพะตัวเล็กๆ มากินด้วย

หมาจิ้งจอกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว หากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยอยู่เป็นฝูง สำหรับช่วงเวลาผสมพันธุ์ ในประเทศไทยจะผสมพันธุ์ในราวเดือนมีนาคม ในถิ่นอื่นอาจต่างกันไป เช่น ในรัสเซียเป็นเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม อิสราเอลอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

ตั้งท้องนาน ๖๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๑-๙ ตัว ในรังตามโพรงไม้ที่ปลอดภัย เมื่อลูกอายุได้ ๓ สัปดาห์ก็จะเริ่มกินอาหารแข็งได้ โดยพ่อแม่สำรอกอาหารออกมาให้กิน หมาจิ้งจอกในธรรมชาติมีอายุยืนได้ถึง ๑๓ ปี ในสถานเพาะเลี้ยงอาจมีอายุได้ ๑๖ ปี

ปัจจุบันสถานภาพประชากรของหมาจิ้งจอกยังอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะยังพบได้ทั่วไปในเขตกระจายพันธุ์ ในทุ่งหญ้า เซเรนเกตีคาดว่ามีอยู่ประมาณ ๑,๖๐๐ ตัว

แต่สำหรับในประเทศไทย หมาจิ้งจอกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบหมาจิ้งจอกได้เพียงชนิดเดียว คือหมาจิ้งจอกทอง หรือหมาจิ้งจอกเอเชีย ซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษต้นสายพันธุ์ของสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว





ม้าน้ำ
ม้าน้ำเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าไม่ใช่ปลา

ทั้งนี้ ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของสัตว์ ๓ ชนิดอยู่ในตัว คือ มีหน้าและหัวคล้ายม้า ลำตัวมีครีบคล้ายปลา ลอยตัวในแนวดิ่ง มีกระดูกหรือก้างห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัวแทนเกล็ด

ส่วนหาง แทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลาด้วยกัน กลับมีหางยาวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองกับพืชน้ำหรือปะการัง มีครีบอกและมีครีบบางใสตรงเอวอีกครีบหนึ่งช่วยโบกพัดกระพือ

ม้าน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hippocampus Kuda Bleeker ชื่อภาษาอังกฤษ Sea Horse ทั่วโลกจำแนกได้ ๓๒ ชนิด

พบบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทยมี ๔ ชนิด ได้แก่
๑.ม้าน้ำหนาม (H. trimaculatus) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึกใสสะอาด เป็นม้าน้ำที่มีสีสันสวยงาม สีน้ำตาลแดง มีลายจุด สีขาว มีหนามแหลมและยาว

๒.ม้าน้ำ ๓ จุด
(H. trimaculatus) พบตามชายฝั่งในฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงผสมพันธุ์และวางไข่ มีจุด ๓ จุดตรงส่วนบนของ ลำตัว เป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว

๓.ม้าน้ำแคระ (H. mohnikei) มีขนาดเล็ก พบน้อยมากตามชายฝั่ง โดยเกาะอยู่ตามสาหร่ายที่เป็นพื้นทราย

และ ๔.ม้าน้ำดำ (H. kuda) เป็นม้าน้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนที่พบในน่านน้ำไทย ตัวใหญ่สุดขนาดเท่าฝ่ามือ สีดำสนิท ผิว ค่อนข้างเรียบ ไม่มีหนามยาวแหลม อาศัยตามชายฝั่งบริเวณค่อนข้างขุ่น เปลี่ยนสีได้ เป็นสีครีม สีเหลือง สีน้ำตาลแดง

ธรรมชาติม้าน้ำ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยมีอวัยวะตรงบริเวณหน้าท้องคล้ายถุง ใช้สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว

เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียเข้ามาหาพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ ๒ สัปดาห์ จำนวนไข่ราว ๑๐๐-๒๐๐ ฟอง มากที่สุดคือ ๑,๕๐๐ ฟอง
 
เมื่อถึงเวลา พ่อม้าน้ำจะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำนับร้อยๆ ตัวให้ออกจากกระเป๋าหน้าท้องสู่โลกท้องทะเล ทำหน้าที่เป็นผู้คลอดแบบที่ผู้เป็นพ่อทั้งหลายบนโลกใบนี้ไม่เคยได้สัมผัส

อีกเอกลักษณ์ของม้าน้ำคือการครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายจากไป กลายเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์สำหรับชีวิตคู่

สำหรับการเลี้ยงม้าน้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงม้าน้ำ โดยมีภาคเอกชนนำไปขยายผลแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ม้าน้ำจากการเพาะพันธุ์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่อยู่ในความสนใจของนักสะสมปลาทะเล แต่การนำม้าน้ำมาเลี้ยงในตู้ทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากม้าน้ำมีความต้องการแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในตู้ทะเลทั่วไป ดังนี้

๑.พฤติกรรมการกินของม้าน้ำที่มีนิสัยการกินแบบผู้ดี พิจารณาอาหารทุกครั้งก่อนสูบอาหารให้เข้าไปในปากที่เป็นรูขนาดเล็ก

๒.นิสัย สวย เริ่ด เชิด แต่ช้า ไม่ได้เป็นผลดีต่อการหากินของม้าน้ำสักเท่าไหร่ เพราะดูถึงขนาดของปากมันแล้ว ม้าน้ำแทบไม่มีความสามารถในการแย่งชิงอาหารกับปลาทะเลชนิดอื่นๆ ได้ทัน

๓.อาหารที่ดีที่สุดของม้าน้ำ ไม่ใช่ไรทะเลหรืออาร์ทีเมียตัวมีชีวิต แต่ม้าน้ำยังควรได้รับสารอาหารจากกุ้งขนาดเล็กตัวเป็นๆ และ

๔.ระบบกรองและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจใช้ได้กับปลาทะเลทั่วไป อาจกลายเป็นกับดักปลิดชีวิตม้าน้ำตัวน้อยได้

ถ้าทำให้เกิดฟองอากาศภายในตู้ เพราะหากมีฟองอากาศเข้าไปสะสมอยู่ในตัวม้าน้ำมากเกินไป จะทำให้ม้าน้ำเสียศูนย์ เกิดอาการลอยเคว้งคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ และจากไปในที่สุด







นกออก
นกออก หรืออินทรีทะเล หรืออินทรีทะเลปากขาว (อังกฤษ : White-bellied Sea-eagle, White-bellied Fish- eagle, White-breasted Sea Eagle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Haliaeetus leucogaster วงศ์ Accipitridae สกุล Haliaeetus จัดเป็นนกขนาดใหญ่ จำพวกเหยี่ยวและอินทรี เพราะมีขนาดความยาวลำตัวสูงสุดถึง ๖๖-๖๙ เซนติเมตร

ตัวที่โตเต็มวัย ส่วนหัว อกและลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านบน สีน้ำตาลเทา หางและปีกเป็นสีเทาเข้มหรือน้ำตาล ปลายหางสีขาวเป็นหางพลั่วชัดเจน เมื่อยังเล็กมีสีน้ำตาลทั้งตัว กระทั่งอายุได้ราว ๓ ปีจึงมีลักษณะดังกล่าว ขณะบินเห็นปีกค่อนข้างหักเป็นมุมเหนือลำตัว

นกออกมีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ จีนตะวันออกเฉียงใต้ เกาะ ๓ ชนิด ในแถบจังหวัดที่อยู่บนชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้

พฤติกรรมนกออกมักอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ บ้างชอบอยู่ตามชายฝั่งทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำใหญ่ หากินบริเวณใกล้เคียงกับที่มันทำรังอยู่ และมักใช้รังเป็นที่สะสมอาหารด้วย อาหารได้แก่สัตว์น้ำ เช่น งูทะเล หมึก ปลา เป็นต้น

หาอาหารด้วยการเกาะกิ่งไม้หรือร่อนกลางอากาศคอยจ้องหาเหยื่อในน้ำ เมื่อพบจะบินลงโฉบด้วยกรงเล็บนำไปฉีกกินบนกิ่งไม้หรือในรัง เป็นนกที่ไม่เชื่อง แต่ชอบทำรังใกล้ที่อยู่ของคน ชอบส่งเสียงร้องในเวลาเช้าและเย็น




นกออกเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ทำรังอยู่บนต้นไม้บนหน้าผาริมชายทะเลหรือใกล้แหล่งน้ำที่ใช้หากิน รังเป็นแบบง่ายๆ โดยนำโดยนำกิ่งไม้มาซ้อนกัน ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒๕-๑.๕๐ เมตร ลึก ๕๐-๗๕ เซนติเมตร อยู่สูงจากพื้นดิน  ๑๐-๕๐ เมตร ไข่สีขาว วางไข่ครั้งละ ๒ ฟอง

ทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ มีขนอุยสีขาวปกคลุม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้โดยเฉพาะการหาอาหาร พ่อแม่ต้องคอยหาอาหารมาป้อนและเลี้ยงลูกจนกว่าจะแข็งแรง บินและล่าเหยื่อเป็นในอายุประมาณ ๑.๕-๒ เดือน จากนั้นลูกนกจะทิ้งรังไป

สภาพปัจจุบันถือเป็นนกประจำถิ่นในประเทศไทย แต่ในสภาพธรรมชาติพบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก โดยพบตามชายฝั่งทะเลทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งสองฝั่ง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

มีข้อมูลจากหนังสือชุด นกในเมืองไทย เล่ม ๓ โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์ สำนักพิมพ์สารคดีระบุว่า ชื่อสกุลนกออกมาจากภาษาละตินคือ haliaeetos แปลว่านกอินทรีทะเล หรือนกออก (ภาษากรีก hais แปลว่าทะเล และ aetos แปลว่านกอินทรี) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Haliaeetus leucogaster มาจากภาษากรีกว่า leuc, -o หรือ leukos แปลว่าสีขาว และ gast, -er, -ero, -r, -ro แปลว่าท้อง ความหมายคือนกอินทรีทะเลที่มีท้องสีขาว พบครั้งแรกที่เกาะ Prince?s Island ประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

นกในสกุลนี้ปากอ้วน โคนสันขากรรไกรบนตรง บริเวณอื่นโค้ง ขอบขากรรไกรหยัก รูจมูกกลม ปีกกว้างมาก ขนปลายปีกยาวกว่าขนกลางปีกเล็กน้อย ขนปลายปีกเส้นที่ ๓ นับจากด้านนอกยาวที่สุด ขนปลายปีกเส้นที่ ๔ และ ๕ สั้นกว่าเล็กน้อย ปลายหางมนหรือเป็นหางพลั่ว

แข้งอ้วน ยาวปานกลาง มีขนคลุมด้านบนประมาณ ๑ ใน ๓ จนถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแข้ง แข้งส่วนที่เหลือทางด้านหน้าของโคนนิ้วเป็นเกล็ดชนิดเกล็ดซ้อน บริเวณอื่นเป็นเกล็ดชนิดเกล็ดร่างแห เล็บด้านล่างเป็นร่อง




นกเขาชวา

นกเขาชวา หรือนกเขาเล็ก หรือนกเขาแขก ชื่ออังกฤษ zebra dove ชื่อวิทยาศาสตร์ Geopelia striata-เป็นภาษาละติน แปลว่ารอยไถ หรือลาย มีความหมายว่า นกที่มีลาย เป็นนกขนาดเล็กในวงศ์นกพิราบและนกเขา (columbidae) ชาวชวา เรียก "ปุรงปะระกูตด" ชาวมลายูเหนือ เรียก "บุรงตีเต้" ชาวมลายูกลาง และสิงคโปร์ เรียก "มะระบก" ส่วนชื่อ นกเขาชวา สันนิษฐานที่มากันไว้ในหลายด้าน ได้แก่
     ๑.เป็นนกเขาที่พบมากในชวา ประเทศอินโดนีเชีย และนิยมเลี้ยงมากในแถบนั้น จนแพร่เข้ามาในประเทศไทย
     ๒.เสียงขันไพเราะดังกังวานคล้ายเสียงปี่ชวา และ
     ๓.ชาวชวาเป็นผู้เริ่มแรกเลี้ยงในประเทศไทย

มีขนปกคลุมตัวสีน้ำตาล หัวสีเทา หรือบ้างมีสีน้ำเงิน ด้านข้างคอมีแถบสีดำสลับกับแถบขาวเป็นลายตามขวาง ด้านหลังสีเข้มมีขีดขวางคล้ายกับลายของม้าลาย (เป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ) ด้านท้องสีจาง ใต้ลำตัวเป็นสีขาวมีขีดขวางเล็ก ขอบท้ายของขนหางสีขาว ขนาดเมื่อโตเต็มที่ไม่เกิน ๘-๙ นิ้ว

นกตัวผู้ลักษณะทั่วไปใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย หัวใหญ่ค่อนข้างยาว มีสีขาวที่หน้าผากถึงกลางหัว ส่วนตัวเมียหัวกลมเล็ก สีขาวที่ส่วนหัวไม่ยาวเท่า และมีรายละเอียดต่างกันอีก เช่น หางที่ตัวเมียจะยกแอ่นกว่าตัวผู้ และเกล็ดที่ข้อเท้าจะละเอียดเล็กกว่าตัวผู้

พฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายทุ่ง และบริเวณที่เพาะปลูก ชอบอยู่เป็นคู่ หรือเพียงตัวเดียว ไม่ชอบหากินอยู่เป็นฝูงใหญ่ ส่งเสียงร้องบ่อยๆ ในเวลาเช้าและเวลาเย็น มีถิ่นกระจายพันธุ์ในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย จนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นกเขาชวาเสน่ห์อยู่ที่เสียงร้องไพเราะ จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงไว้ฟังเสียง (ตัวที่มีเสียงร้องไพเราะอาจมีราคาสูงถึงหลักล้านบาท) จนกลายเป็นวัฒนธรรมในคาบสมุทรมลายู มีการจัดแข่งขัน ประกวด การเพาะขยายพันธุ์ ก่อตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมต่างๆ ตลอดจนแตกแขนงกลายเป็นอาชีพ เช่น ผลิตอาหารนก เพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ประดิษฐ์กรงนกขาย และนายหน้าหรือพ่อค้านก

สำหรับประเทศไทย ประวัติเล่าว่านิยมเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามหลักฐานพระราชตำรับดูลักษณะนกเขาชวา รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงและเล่นนกเขาชวากันมากในภาคใต้ รองลงมาได้แก่ภาคกลาง ไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง

ยังมีข้อมูลจาก pasusat.com โดย สุพัตรา อินทรคีรี ว่า ลักษณะนกเขาชวาที่นิยมเลี้ยง
   ๑.มีสร้อยรอบคอ
   ๒.ขนที่คอดำ เป็นจุดอยู่บริเวณลำคอ
   ๓.ปากงอโค้งเหมือนงาช้าง
   ๔.เวลาคูจะยกปีกทั้งสองข้างเสมอ
   ๕.สีปีกเด่นกว่าสีลำตัว
   ๖.มีรูปพระภควัมอยู่เหนือเศียร
   ๗.หัวปีกมีนะทั้งซ้ายขวา
   ๘.มีสร้อยคอจดโคนหาง
   ๙.ที่หลังนก เป็นตัวธะ
  ๑๐.ปลายหางเป็นตัวยะ ปกหางกลางเส้นเดียว
  ๑๑.ขันเสียงกวักๆ และ
  ๑๒.เวลาขันหางกระดกลงทุกคำ เวลาคูก็เอาหางลง ไม่ใช่ยกหางขึ้นเหมือนนกทั้งหลาย

ส่วนลักษณะนกเขาชวาที่ไม่นิยมเลี้ยง
   ๑.มีขนลายทั่วตัว เหมือนนกกระจอก หรือมีขนที่สันหลัง
   ๒.มีเท้าเหมือนเป็ด
   ๓.ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน
   ๔.มีขนลายทั้งตัวเหมือนนกพิราบ
   ๕.มีลักษณะไม่สมประกอบ เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งบอด และ
   ๖.หางตกลากระพื้น

ขนาดของเสียงนกเขาชวา
   ๑.นกเสียงใหญ่มีราคาแพงกว่านกเสียงกลาง และเสียงกลางราคาแพงกว่าเสียงเล็ก
   ๒.นกที่ขันจังหวะช้ามีราคาแพงกว่านกที่ขันจังหวะเร็ว และขันจังหวะธรรมดา
   ๓.นกที่ขันเสียงท้ายก้องดังราคาแพงกว่าท้ายก้องน้อย เสียงขันท้ายยาวมีราคาแพงกว่าเสียงท้ายสั้น เสียงหน้ายาวมีราคาแพงกว่าเสียงหน้าสั้น และ
   ๔.นกที่ขัน ๕ จังหวะ เป็นที่นิยมมากกว่า ๔ จังหวะ และ ๓ จังหวะ

นกเขาชวาได้มาอย่างไร
   ๑.จับจากป่า เป็นวิธีการสมัยก่อนที่เริ่มเลี้ยงแรกๆ มักหาพ่อแม่พันธุ์นกเขาด้วยวิธีการเข้าจับในป่า หรือตามแหล่งต่างๆ ที่นกเขาชวาอาศัยอยู่ ด้วยการใช้กรงที่มีนกเขาตัวเมียหรือตัวผู้อยู่ล่อให้นกอีกเพศเข้ามาติดในกรง   วิธีการนี้ในปัจจุบันยังใช้อยู่สำหรับแสวงหาพันธุ์นกเขาที่มีเสียงไพเราะ และ
   ๒.การผสมพันธุ์จากกรงเลี้ยง คือจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ลูกที่มีลักษณะเด่นตามพ่อแม่พันธุ์ที่ต้องการ





กั้ง-กุ้ง
เว็บไซต์คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บอกว่า กุ้งและกั้งในทางชีววิทยานั้น มีการจำแนกชั้นเหมือนและต่างกันดังนี้

กั้ง (Mantis shrimp) นับเป็นญาติสนิทของกุ้ง เพราะอยู่ในกลุ่มครัสตาเซียนเหมือนกัน คือสัตว์น้ำจำพวกหนึ่ง อาศัยอยู่ในทะเล โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับตั๊กแตนตำข้าวหายใจด้วยเหงือกเช่นเดียวกับกุ้ง

ลำตัวมีรูปร่างแบนหรือกลม แบ่งเป็นปล้องๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงอกปล้องที่ ๕ แต่ไม่ถึงปล้องที่ ๘ กรีมีลักษณะแบนราบ มีขาทั้งหมด ๓ คู่

มักอาศัยอยู่ในทะเลโคลน หรือบริเวณปากแม่น้ำ หรือตามแนวปะการัง พบได้ถึงระดับความลึกกว่า ๑,๕๐๐ เมตร ค้นพบแล้วกว่า ๔๕๐ ชนิด ในไทยมีรายงานพบแล้วอย่างน้อย ๖๑ ชนิด

กั้งเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดในโลกนี้มาก่อนกุ้ง มีจุดเด่นคือมีดวงตาขนาดใหญ่ใช้สแกนมองภาพได้ดี โดยเฉพาะการมองภาพชัดลึก ตาแต่ละข้างของกั้งมองเห็นได้ ๓ ตา และตาแต่ละดวงมองเห็นภาพได้ ๓ ภาพ ทั้งกะระยะได้ดีมากเพื่อใช้ล่าเหยื่อ มีแก้วตาหลายพันชิ้น มองเห็นสีได้ในระดับที่ซับซ้อน ถือเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งที่มีระบบการมองเห็นภาพดีที่สุดในอาณาจักรสัตว์โลก




กั้งไม่มีก้ามหนีบ แต่มีรยางค์ส่วนอกคู่ที่ ๒ มีลักษณะเป็นก้ามสับขนาดใหญ่พับได้คล้ายมีดโกน และมีซี่ฟันแหลมคมเรียงกันเป็นแถวคล้ายหวี ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อหรือป้องกันตัว ทั้งใช้สับน้ำให้เกิดเป็นแรงขนาดมากจนอาจถึงทำร้ายสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่นมนุษย์ให้บาดเจ็บได้

กั้งเป็นสัตว์ใกล้เคียงกับกุ้ง แต่รูปร่างแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด มีตัวแบนกว่ากุ้ง บางชนิดหัวก็แบน ขาสั้น อาศัยหากินอยู่ที่พื้นทะเลทั่วไปทั้งที่เป็นทรายและที่เป็นโคลน โดยการขุดรูอยู่ กั้งจะขึ้นจากรูเมื่อมีคลื่นลมจัด คลานไปมาหาอาหาร




ส่วนกุ้ง แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มกุ้งโบราณ (prawn) ได้แก่ เคย และกุ้งพีเนียด ส่วนอีกกลุ่มคือ กุ้ง (shrimp) ได้แก่ กุ้งนักมวย และกุ้งคาริเดีย โดยมากแล้วกุ้งที่พบเห็นในท้องทะเลจะเป็นกุ้งในกลุ่มที่สอง

สีสันและรูปร่างอันหลากหลายของกุ้งทะเลแต่ละชนิด นอกจากจะให้ความสวยงามน่าชมแล้ว เบื้องหลังความงามนั้นมีความลับต่างๆ ของท้องทะเลซ่อนอยู่มากมาย มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่บอกถึงการพึ่งพาอาศัยกัน การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ตลอดจนอธิบายได้ถึงระบบนิเวศที่กุ้งแต่ละชนิดอาศัยอยู่

อย่าง กุ้งปะการังลูกโป่ง อาศัยซ่อนตัวอยู่แค่ในปะการังลูกโป่งเท่านั้น หรือกุ้งสีสันสวยงามอย่าง กุ้งตัวตลก ที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นนักล่าหน้าสวยที่สังหารดาวขนนกได้อย่างเลือดเย็น แต่ก็ยังมีกุ้งใจดีอย่าง กุ้งพยาบาล ที่คอยช่วยทำความสะอาดฟันให้เจ้าปลาไหลมอเรย์อย่างเต็มอกเต็มใจ หรือกระทั่งความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่เกิดขึ้นระหว่าง กุ้งดีดขัน กับปลาบู่ที่ใช้บ้านหลังเดียวกันได้

กุ้งมีลำตัวกลม ท่อนหัวโต เรียวลงไปทางหาง ลำตัวกุ้งแบ่งออกได้เป็นสามท่อนคือ หัว อก และท้อง แต่หัวกับอกมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม รวมเป็นท่อนเดียว มักเรียกกันว่าหัวกุ้ง ส่วนที่ถัดมาจากหัวเป็นท้อง คือส่วนที่เรียกกันว่าตัวกุ้ง โค้งและงอได้ ที่ท้องมีขาสำหรับว่ายน้ำ ปลายของท้องเป็นหางรูปคล้ายพัดคลี่ออกได้ กุ้งมีขา ๕ คู่เท่ากันกับปู กับมีหนวดเป็นเส้นยาวหลายเส้นยื่นออกไปจากหัวสำหรับคลำทาง หายใจทางเหงือก

กุ้งมีทั้งกุ้งน้ำจืดและกุ้งน้ำเค็ม กุ้งทะเลมีหลายขนาดทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ กุ้งในทะเลที่เป็นกุ้งขนาดใหญ่ ได้แก่ กุ้งหัวโขนหรือกุ้งยักษ์ กุ้งชนิดนี้มีส่วนหัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอกและค่อยเรียวลงไปทางหาง เปลือกแข็ง ผิวขรุขระ และมีหนามแหลมทั้งตัว หนวดเส้นยาวใหญ่มีหนามแหลมด้วย อาศัยหากินอยู่ตามพื้นทะเลที่มีหินปะการัง และเป็นกุ้งที่มีรูปร่างน่าดูมาก



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มิถุนายน 2559 17:25:03 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 17:17:45 »

.




ปลาบิน : ปลานกกระจอก
ข้อเขียนของ สุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง พูดถึง "ปลาบิน" ที่ชื่อ ปลานกกระจอก ว่ามีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Flying fish อยู่ในสกุล Exocoetidae เป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวราว ๔-๕ นิ้วฟุต น้ำหนักไม่เกิน ๕๐ กรัม อาศัยอยู่บริเวณผิวหน้าน้ำทะเล เมื่อเรือแล่นไปในท้องทะเล มักจะเห็นปลานกกระจอกกระโดดขึ้นมาร่อนไปเหนือผิวน้ำเพื่อหนีเรือเป็นระยะๆ ตลอดทาง

เหตุใดเจ้าปลานกกระจอกถึงขึ้นมาร่อนอยู่ในอากาศ ทำไมไม่พุ่งไปในน้ำอย่างที่ปลาอื่นเขาทำกัน ข้อมูลบอกว่า ความหนาแน่นของน้ำทะเลโดยเฉลี่ย มีค่าอยู่ระหว่าง ๑.๐๒๔-๑.๐๓๐ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ความหนาแน่นของอากาศที่ระดับผิวน้ำทะเลมีค่าเท่ากับ ๐.๐๐๑๒๒๕ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร คิดง่ายๆ ได้ความว่า แรงเสียดทานต่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในน้ำย่อมสูงกว่าในอากาศประมาณ ๑,๐๐๐ เท่า และแรงเสียดทานยังขึ้นกับรูปทรงอีกด้วย ดังนั้น ปลาที่ประสงค์จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วใต้น้ำ ต้องพัฒนารูปร่างให้หัวแหลม ท้ายเรียว และชโลมตัวด้วยเมือกให้ลื่นไหลปรู๊ดปร๊าด เช่น ปลาอินทรี ปลาสาก เป็นต้น




แต่ปลานกกระจอกเลือกที่จะพัฒนาครีบหูและครีบอกแผ่กว้างกางออกเพื่อร่อนไปในชั้นบรรยากาศที่ความหนาแน่นต่ำกว่ากันมาก ซึ่งคงสิ้นเปลืองพลังงานเฉพาะตอนเทก ออฟ (take off) ระยะสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นก็กางครีบร่อนไปอย่างสบาย

ทั้งนี้ ความหนาแน่นของน้ำในอีกมุมมองหนึ่งก็มีแรงพยุงรับน้ำหนักได้มาก ดังนั้น การลอยตัวอยู่ในน้ำจึงใช้พลังงานน้อยมาก ปลาที่เลือกที่จะพุ่งไปข้างหน้าในน้ำจึงสามารถที่จะพัฒนาลำตัวให้มีกล้ามเนื้อหนาขนาดใหญ่จะได้มีพลังมาก เช่น ปลาโอและปลาทูน่าที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่หลายกิโลกรัมไปจนถึงหลายร้อยกิโลกรัม

ส่วนในบรรยากาศที่มีความหนาแน่นต่ำก็มีแรงพยุงรับน้ำหนักน้อยมาก ปลาที่เลือกที่จะร่อนไปเหนือน้ำจึงต้องมีขนาดลำตัวเล็กและเบา เมื่อร่อนไปได้สักพักก็ตกลงมาเพราะหมดแรงส่ง การเทกออฟของปลานกกระจอกต้องมีรันเวย์และอาศัยแรงคลื่นหนุนส่ง อย่างไรก็ตาม ปลานกกระจอกทำได้แค่ร่อนไปข้างหน้าตรงๆ ไม่สามารถโผซ้ายแฉลบขวาหรือตีวงโค้งย้อนกลับ




สาเหตุมันไม่ต้องพัฒนาความสามารถแบบนั้น ก็เพราะว่าในทะเลเปิดท้องน้ำกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด พุ่งไปทางไหนไกลเท่าใดก็ได้เท่าที่มีแรง แต่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ มีผนังกำแพงขวางหน้าทางวิ่ง แรงส่งไม่พอ เบรกก็ไม่มี ปลาที่ตกใจพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจึงชนเข้ากับผนังบ่ออย่างจัง ปากเจ่อดั้งหักเสียหล่อไปเลย ครีบหูที่กว้างใหญ่เมื่อมาอยู่ในบ่อน้ำนิ่งกลายเป็นอวัยวะส่วนเกินเทอะทะ ห้อยร่องแร่ง เกะกะ

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ปลานกกระจอก หรือปลาบิน เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง มีลำตัวยาวมาก ค่อนข้างกลม จะงอยปากสั้น ทู่ ปากเล็ก ไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน เว้าลึกแบบส้อม เส้นข้าง ลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบบางไม่มีขอบหยักหรือสาก หลุดร่วงง่าย

จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้อง สีขาวเงิน พบมากกว่า ๕๐ ชนิดทั่วโลก แบ่งออกเป็น ๘ สกุล เป็นปลาที่ขี้ตื่นตกใจ และตายง่ายมากเมื่อพ้นน้ำ

ลักษณะเด่น มีความคล่องแคล่วว่องไว เมื่อตกใจหรือหนีภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศ ซึ่งอาจไกลได้ถึง ๓๐ เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาและจังหวะ อันเป็นที่มาของชื่อ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ขณะที่บางชนิดมีครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ปลานกกระจอกเมื่อกระโดดอาจกระโดดได้สูงถึง ๗-๑๐ เมตร ด้วยความเร็วประมาณ ๖๕ กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถอยู่กลางอากาศได้นานอย่างน้อย ๑๐ วินาที




แมงมุมแม่ม่ายดำ

แมงมุม : ๓ อันตราย
เกี่ยวกับแมงมุมพิษในประเทศไทย ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท และ พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เขียนให้ความรู้ไว้ว่า แมงมุมพิษในประเทศไทยนั้นปกติไม่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากมีผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ ได้นำแมงมุมพิษจากต่างประเทศเข้ามา และเมื่อมากัดคนจึงเกิดโรคขึ้น แมงมุมพิษนั้นมีอยู่ ๓ ชนิด คือ แมงมุมแม่ม่ายดำ, แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล และ แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

๑.แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus mactans เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่มีชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ชื่อของแมงมุมชนิดนี้สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์ ส่วนกรณีกัดคน มักถูกกัดจากการไปสัมผัสมันเข้าโดยบังเอิญ  




แมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมียมีความยาวประมาณ 1๑-๒ เซนติเมตร สีดำ ตัวกลม ที่ท้องมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง และเฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่กัดมนุษย์ได้ ส่วนตัวผู้ตัวมีขนาดเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ สารพิษของแมงมุมแม่ม่ายดำเป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาต

สาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณสารพิษที่ได้รับ สำคัญคือพิษของแมงมุมแม่ม่ายดำมีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่ โดยจะเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ ๒๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง




อาการแสดงระยะแรกจะมีแค่เกิดผื่นแดงๆ และมีอาการปวดบริเวณที่ถูกกัด ต่อมาภายใน ๓๐ นาทีจะเห็นผิวหนังบริเวณรอบๆ แดงขึ้น ร่วมกับมีอาการขนลุก เหงื่อออก อาจมีอาการชาหรือปวดร้าวบริเวณที่ถูกกัดด้วย อาจมีอาการเป็นตะคริว และมีผื่นลมพิษร่วม

อย่างไรก็ตาม บริเวณที่ถูกกัดจะไม่มีเนื้อตายเกิดขึ้น และเนื่องจากพิษของแมงมุมชนิดนี้มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้องรุนแรงจนบางครั้งสับสนกับอาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ หรือการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางเดินน้ำดี หรือมีอาการปวดหน้าอกจนอาจคล้ายคลึงกับอาการหัวใจขาดเลือดได้

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง น้ำตาและน้ำลายไหล มือสั่น และชัก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบความดันโลหิตสูงขึ้นและไตวายเฉียบพลันจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษา ควรรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากควรได้รับการประเมินอาการทางระบบประสาทโดยแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย

การรักษา คือ หากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย อาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด หรือการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ รอให้พิษหมดไปเอง และอาจต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย



แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล

๒.แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล (brown widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus geometricus พบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นกระจายกว้างออกไปยังอเมริกา เหนือ แอฟริกา ออสเตรเลีย รายงานพบที่ทวีปเอเชียโดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ในประเทศไทยมีรายงานพบที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร ชัยนาท ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา และหนองบัวลำภู

แมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหนีเข้าหาซอกที่กำบังในรังนอนของมันหรือทิ้งตัวลงไปแกล้งตายที่พื้น ทำให้มีโอกาสกัดคนน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกัดเกิดจากไปสัมผัสหรือกดทับตัวแมงมุมให้บาดเจ็บก่อน

มีขนาดเล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำเล็กน้อย สีน้ำตาล ตัวกลม ที่ท้องมีลายเป็นรูปนาฬิกา ๒ เท่าตัว เมื่อเทียบพิษในปริมาณที่เท่ากัน แต่มีเฉพาะแมงมุมตัวเมียเต็มวัยเท่านั้นที่กัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้




ส่วนแมงมุมตัวผู้และแมงมุมตัวเมียที่ยังไม่เต็มวัยมีเขี้ยวที่เล็กและสั้นจนไม่สามารถกัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้ และแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะปล่อยพิษในการกัดแต่ละครั้งน้อยมาก ขณะที่แมงมุมแม่ม่ายดำปล่อยพิษทั้งหมดในการกัดแต่ละครั้ง จึงทำให้ส่วนใหญ่มีอาการปวดเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด

อาการและอาการแสดงด้วยเป็นพิษทางระบบประสาท ก่อให้เกิดอาการเกร็งกระตุกและตะคริว มักมีอาการเฉพาะบริเวณที่โดนกัด ไม่ค่อยกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย ส่วนใหญ่จะสร้างความเจ็บปวดในบริเวณที่โดนกัดคล้ายถูกผึ้งต่อยเท่านั้น มีโอกาสน้อยที่ทำให้ปวดทั่วทั้งอวัยวะได้ และพิษจะไม่ทำให้เกิดภาวะเนื้อตายตรงบริเวณที่ถูกกัด การรักษา ให้การรักษาแบบเดียวกับการรักษาพิษจากแมงมุมแม่ม่ายดำ



แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

๓.แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) พบได้ทางตะวันออกของอเมริกาเหนือ มีขนาดเล็กประมาณ ๖-๒๐ มิลลิเมตร (เล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำ) ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ขนาดเล็ก

มีลักษณะเด่นคือด้านหลังตรงช่วงศีรษะถึงอกมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน โดยด้ามจับหันไปด้านตรงข้ามกับหัว ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง สงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ กินแมลงเป็นอาหาร และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน มักอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคา เสื้อผ้า ตู้เสื้อผ้า รองเท้า เตียงนอน ซึ่งคนอาจถูกกัดได้หากไปสัมผัสโดยบังเอิญ

อาการและอาการแสดง เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บแดงเพียงเล็กน้อย ก่อนมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง ๒-๘ ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ

การรักษา ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างแผลและประคบน้ำแข็ง ยกบริเวณที่ถูกกัดให้สูงขึ้น ห้ามนวดหรือประคบด้วย น้ำร้อนหรือบีบรัดบริเวณแผลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจาย นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที โดยนำแมงมุมที่กัดไปด้วย





พระโคกับโคขาวลำพูน
จากบทความของฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เขียนไว้ว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้จัดขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรผู้ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร และเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง ในพระราชพิธีอันสำคัญนี้ พระโคคู่งามซึ่งทำหน้าที่ไถนาและเสี่ยงทายเพื่อทำนายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของผู้คน ในปีนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นพระโคที่คัดเลือกมาจากโคสายพันธุ์ "ขาวลำพูน" โคพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียง อันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำรา เช่น ขนสวยเป็นมัน เขาโค้งงามสีน้ำตาลส้ม ขอบตาสีชมพู นัยน์ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา หางยาวสีขาว ขนฟู กีบและข้อเท้าแข็งแรง เป็นต้น

และต่อไปนี้คือลักษณะเด่น ๑๕ อย่างของโคขาวลำพูน
     ๑.ตะโหนกปานกลาง
     ๒.หนังสีชมพู หนังบาง
     ๓.ขนสีขาวเกรียน
     ๔.เนื้อทวารต่างๆ มีสีชมพูส้ม ไม่มีจุดด่างขาว
     ๕.พู่หางสีขาว
     ๖.เนื้อกีบสีชมพูส้ม
     ๗.ลำลึงค์แนบพื้นท้อง
     ๘.เหนียงสะดือสั้น ติดพื้นท้อง
     ๙.เหนียงคอปานกลาง
    ๑๐.เนื้อจมูกสีชมพูส้ม
    ๑๑.สีนัยน์ตาน้ำตาลดำ
    ๑๒.ขนตายาว
    ๑๓.หน้าผากแบน
    ๑๔.เนื้อเขาสีชมพูส้ม
    ๑๕.ใบหูเล็กกาง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นวัวพื้นเมืองที่มีลักษณะงาม แต่ในเชิงเศรษฐกิจ โคขาวลำพูนให้ผลตอบแทนน้อย เหตุเพราะมีรูปร่างเล็ก ให้เนื้อน้อย ชาวบ้านจึงหันไปเลี้ยงวัวพันธุ์เทศที่รูปร่างสูงใหญ่ให้เนื้อดีแทน ทำให้โคสายพันธุ์ขาวลำพูนเหลือน้อยมาก ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้เป็นสัตว์อนุรักษ์แล้วเพราะเกรงว่าจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าโคสายพันธุ์พื้นเมืองนี้มีคุณสมบัติเฉพาะ นั่นคือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ทนทานต่อโรคพยาธิและแมลงเขตร้อน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูแบบแร้นแค้นก็ตาม จึงเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นชนบทของไทย




ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ ชาวบ้านชุมชนบ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนมิให้สูญสิ้นพันธุ์ รวมทั้งสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยมี นายอยุธ ไชยยอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ป่าคา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว.

ยังมีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า พระโค ตามคติพราหมณ์ คือเทวดานนทิผู้แปลงรูปเป็นโคอุสุภราชให้พระอิศวรทรง ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง ทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้ ๑ คู่เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีฯ โดยจะดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย ต้องตามลักษณะที่ดีและสง่างาม





แซลมอน
จากข้อเขียนของ รศ.ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ว่า ปลาแซลมอนที่พบอาศัยอยู่ในธรรมชาติ เป็นปลาที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม หรือเรียกว่า "ปลาสองน้ำ" (แซลมอนที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ร้อยละ ๖๐ มาจากการเพาะเลี้ยง)

แซลมอนเป็นชื่อสามัญของปลาทะเลที่อยู่ในวงศ์แซลโมนิดี (Salmonidae) พบแพร่กระจายอยู่บริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นในซีกโลกทางเหนือ ได้แก่ อลาสกา ไซบีเรีย อเมริกาเหนือ ยุโรปเหนือ เอเชียเหนือ และเอเชียตะวันออก

ลำตัวมีสีเงินวาว มีจุดสีดำด้านบนของลำตัวเหนือเส้นข้าง ลำตัว เป็นปลาที่มีวิถีชีวิตอันแปลกประหลาด คือ ผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกในน้ำจืด แต่ดำรงชีวิตและเจริญเติบโตในน้ำเค็ม โดยจะอาศัยอยู่ในน้ำเค็มหรือในมหาสมุทรเป็นหลัก และเมื่อถึงเวลาที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกปลา ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูวางไข่จะว่ายทวนกระแสน้ำจากมหาสมุทรเข้าสู่แม่น้ำไปเพื่อไปผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำจืด
 
คำว่า "แซลมอน" มาจากภาษาละตินว่า แซลโม (Salmo) แปลว่า ที่จะกระโดด จากพฤติกรรมการว่ายทวนผ่านสายน้ำเชี่ยวกราก ว่ายกระโดดข้ามเกาะแก่งมากมาย เพื่อกลับเข้าไปสู่แม่น้ำ ระยะทางไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่า ๑ เดือน โดยไม่ได้กินอาหาร แต่จะใช้ไขมันที่สะสมอยู่ในตัวในช่วงที่ดำรงชีวิตอยู่ในมหาสมุทร





ดังนั้นกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง แซลมอนจะสูญเสียน้ำหนักไปถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ เมื่อถึงแหล่งวางไข่ ปลาแซลมอนเพศเมียจะขุดรังโดยใช้ปลายหางกวาดบริเวณที่จะวางไข่ไปมา และเริ่มวางไข่ จากนั้นแซลมอนเพศผู้ก็จะปล่อยเชื้ออสุจิเข้ามาปฏิสนธิกับไข่ เพศเมียจะใช้หางกลบไข่เพื่อให้ไข่ไม่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป

และเมื่อกิจกรรมผสมพันธุ์และวางไข่เสร็จสิ้น ปลาแซลมอนทั้งเพศผู้และเพศเมียจะตายภายใน ๒-๓ วันหรือ ๒-๓ สัปดาห์

ไข่ของปลาแซลมอนจะฟักออกเป็นตัวโดยใช้เวลาประมาณ ๒-๓ เดือน ลูกปลาที่ฟักออกจากไข่แบ่งเป็น ๔ ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เพิ่งฟักออกจากไข่ ตัวมีขนาดเล็ก ไดัรับอาหารจากถุง ไข่แดงที่ติดมากับตัวมัน เรียกว่า อะลีวิน (alevin) หรือ แซคฟราย (sac fry) ใช้เวลาอยู่ในระยะนี้นานหลายสัปดาห์ เมื่อถุงไข่แดงถูกใช้หมด จะเข้าสู่ระยะที่สอง เป็นลูกปลาแซลมอน ที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ เรียกว่า ฟราย (fry) จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นลูกปลาแซลมอนที่มีแถบสีดำๆ อยู่ข้างลำตัว เรียกระยะนี้ว่า พาร์ (Parr) ซึ่งเป็นระยะที่สาม ใช้เวลาอยู่ในระยะนี้ประมาณ ๖ เดือนถึง ๒ ปี

จากนั้นเข้าสู่ระยะที่สี่ มีชื่อเรียกว่า สโมลต์ (Smolts) เป็นลูกปลาแซลมอนที่อยู่ในวัยที่เจริญเติบโตเต็มที่อายุประมาณ ๒ ปี พร้อมจะออกจากแหล่งน้ำจืด ว่ายน้ำตามกระแสน้ำออกสู่มหาสมุทรในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน กลับไปสู่มหาสมุทรซึ่งมีแหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโต

เมื่อถึงฤดูวางไข่ปลาแซลมอนที่โตเต็มวัยพร้อมที่จะวางไข่ก็จะอพยพกลับไปวางไข่ในถิ่นกำเนิดของมันเหมือนกับพ่อและแม่ เป็นวงจรชีวิตเช่นนี้เรื่อยไป และการเดินทางกลับไป-มาในช่วงชีวิตของปลาแซลมอนถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งเดียวของชีวิต

งานวิจัยพบว่า ลูกปลาแซลมอนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่รอดชีวิตกลับสู่มหาสมุทรอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่สันนิษฐานว่าสิ่งที่นำทางลูกปลาแซลมอนให้เดินทางกลับไปยังมหาสมุทรได้อาจเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กโลก โดยเสนอว่า ลูกปลาแซลมอนแปซิฟิกกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับสิ่งที่ติดตัวมาที่เรียกว่าแผนที่แม่เหล็ก ซึ่งช่วยให้มันสามารถเดินทางอพยพกว่าพันไมล์กลับไปยังมหาสมุทร และอพยพกลับมาวางไข่ในแม่น้ำที่เป็นบ้านเกิด

ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ เช่น การที่ปลาแซลมอนว่ายน้ำกลับมาวางไข่ในแม่น้ำได้ถูกต้อง เนื่องจากกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่มันเกิดและพฤติกรรมแบบฝังใจในลูกปลาแซลมอนที่เกิดขึ้นทันทีที่มันฟักออกจากไข่ เป็นสิ่งที่ใช้นำทางปลาแซลมอนที่โตเต็มที่จากมหาสมุทรไปยังแหล่งวางไข่ หรือปลาตัวเต็มวัยอาจได้รับการชักนำจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เช่น มีดวงดาวเป็นเครื่องนำทาง เป็นต้น





นกบินได้
จากงานเขียนของ ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า จากการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ จากซากดึกดําบรรพ์ หรือฟอสซิล ของนักบรรพชีวินวิทยา ทําให้เชื่อได้ว่านกมีวิวัฒนาการจากสัตว์เลื้อยคลานที่หากินอยู่ตามพื้นดิน บนต้นไม้ หรือแหล่งน้ำ มาเป็นสัตว์ที่บินได้ในอากาศ ความสามารถในการบินของนกเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการและการปรับปรุงตัวที่พอจะสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ได้ ๓ ประการคือ

๑.การปรับตัวเพื่อให้มีน้ำหนักเบา การบินต้องใช้พลังงาน สูงมาก นกจึงจําเป็นต้องลดน้ำหนักตัวให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ จะทําได้ พร้อมทั้งจะต้องมีร่างกายที่กระชับและได้สมดุลที่สุด การเปลี่ยนแปลงและการลดรูปของอวัยวะต่างๆ มีดังนี้
     ๑.๑ กะโหลกของนกมีน้ำหนักเบา
     ๑.๒ หาง นกมีการลดกระดูกหางทั้งจํานวนและขนาด ปกติแล้วหางของนกที่แท้จริงจะมองไม่เห็น ที่เห็นยื่นยาวออกมานั้นคือขนหาง นกใช้ขนหางบังคับทิศทางในขณะบิน จึงทําให้ขนหางของนกมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดและความต้องการในการบิน ในนกบางชนิด เช่น นกหัวขวาน นกเปลือกไม้ ขนหางยังทําหน้าที่ค้ำยันลําตัวขณะที่ไต่ต้นไม้ด้วย
     ๑.๓ กระดูกโครงสร้าง มีการลดน้ำหนักให้เบาลงแต่แข็งแรง กระดูกของนกมีลักษณะเป็นโพรงภายใน ภายในโพรงนี้มีก้านกระดูกที่ทําหน้าที่ค้ำจุนเพื่อเพิ่มความแข็งแรง นอกจากนี้ยังลดน้ำหนักของกระดูกโดยการเชื่อมรวมตัวกันของกระดูกหลายชิ้น และบางชิ้นลดรูปหายไป
     ๑.๔ ระบบทางเดินอาหาร การบินของนกต้องใช้พลังงานสูงมาก นกจึงจําเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารให้เพียงพอสําหรับการบิน การปรับตัวของระบบทางเดินอาหารทำให้นกสามารถกินอาหารได้มากและเพียงพอ ประการหนึ่งคือการขยายตัวของหลอดอาหารเป็นกระเพาะพัก นกส่วนใหญ่จะเก็บอาหารไว้ในกระเพาะพักก่อนค่อยๆ ส่งอาหารเข้าสู่ระบบการย่อยในช่วง กลางคืน เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ ที่จะใช้บินในตอนเช้า
     ๑.๕ ระบบขับถ่าย นกกินน้ำน้อย น้ำส่วนใหญ่ที่ได้รับมาจากอาหารที่กินเข้าไป ทั้งนกไม่มีกระเพาะปัสสาวะที่จะเก็บน้ำปัสสาวะไว้ในตัว แต่จะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายในรูปของกรดยูริก ลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง
     ๑.๖ ระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนกเพศเมีย แม่นกจะไม่อุ้มท้องให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบิน นกจะออกลูกเป็นไข่เพื่อให้ลูกมีการเจริญพัฒนาอยู่นอกร่างกายแม่

๒.การปรับตัวเพื่อให้มีพลังงานสูง นกจะเลือกกินอาหารที่มีน้ำหนักเบาแต่ให้พลังงานสูง เช่น น้ำหวานจากดอกไม้ แมลง หนอน ปลา ผลไม้และเมล็ดพืชซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่ให้พลังงานสูงกว่าหญ้าและใบไม้ซึ่งมีน้ำหนักมากแต่ให้พลังงานต่ำ

ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าพวกนกที่กินอาหารประเภทใบไม้หรือยอดอ่อนของต้นไม้จึงเป็นนกที่มีความสามารถในการบินต่ำ มีนิสัยหาอาหารกินบนพื้นดิน และใช้วิธีหลบหลีกศัตรูโดยการวิ่งหนีมากกว่าการบิน

นกมีระบบการหายใจที่มีประสิทธิภาพสูงมากเพื่อให้สามารถจัดหาพลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อการบิน ปอดของนกจะยังคงมีประสิทธิภาพการทํางานที่สูงอยู่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ และมีความกดอากาศต่ำ

นอกจากนี้นกยังมีถุงลมแทรกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีส่วนช่วยอย่างมากในการระบายความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนสะสมในตัวนกมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่นกบินซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก  และ

๓.การปรับตัวเพื่อให้มีสมดุล การที่นกจะบินอยู่ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นกจะต้องมีการทรงตัวและสมดุลที่ดี นกมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ อวัยวะที่มีน้ำหนักมากจะอยู่ตรงส่วนกลางของร่างกาย ในขณะที่อวัยวะที่อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางจะมีน้ำหนักลดลง การบินจึงไม่มีปัญหาเนื่องจากนกได้ปรับเปลี่ยนระบบทางกายวิภาคให้เหมาะสม โดยกล้ามเนื้อที่ใช้สําหรับบินอยู่ที่หน้าอกและโคนปีก


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 สิงหาคม 2559 17:49:41 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 15 สิงหาคม 2559 18:33:14 »



ม้าลาย

ม้าลาย (Zebra) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคี่ จัดอยู่ในสกุลม้า (Eguus) และสกุลย่อย Hippotigris (แปลว่า ม้าลายเสือ) และ Dolichohippus แบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด

ม้าลายเป็นม้าจำพวกหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าม้า แต่มีปลายหางคล้ายลา มีแผงคอที่สั้นเหมือนขนแปรง ลักษณะเด่นคือมีลำตัวเป็นสีขาวสลับดำตลอดทั้งตัว เป็นที่มาของคำถามมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวขาวและมีแถบสีดำพาดผ่าน หรือเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน

ชาวพื้นเมืองแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นถิ่นแผ่นดินเกิดของม้าลาย เชื่อว่าม้าลายเป็นสัตว์ที่มีสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน ซึ่งตรงกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่าม้าลายแท้ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีลายแถบสีขาวพาดผ่านลำตัว ลายแถบสีขาวนั้นเกิดจากเซลล์ประสาทที่เรียงรายตามแนวกระดูกสันหลังที่ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์ผลิตเม็ดสีสีดำ เรียกว่าเมลาโนไซต์ หลังจากนั้นเมลาโนไซต์เหล่านี้จะเคลื่อนออกไปด้านข้างของกระดูกสันหลังในแนวตั้งฉาก แล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่มีเม็ดสีสีดำ

ทั้งนี้ รูปแบบของเม็ดสีในสัตว์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการกระตุ้น ทางพันธุกรรมในการเปลี่ยนสภาพและการเคลื่อนที่ของเมลาโนไซต์ โดยจากการศึกษาพบว่าตัวอ่อนของม้าลายที่อยู่ในท้องแม่จะเป็นตัวสีดำก่อน จากนั้นลายแถบสีขาวจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งม้าลายแต่ละตัวก็จะมีลายเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าม้าลายมีลายแถบสีขาวไว้เพื่ออะไร ทัศนะของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญ เชื่อว่าม้าลายมีลายเพื่อจดจำกันได้ และตัวผู้ใช้เกี้ยวพาตัวเมีย นอกจากนั้นยังมีที่เชื่อว่ามีไว้ป้องกันแมลง โดยเฉพาะแมลงวัน มีหลักฐานว่าม้าลายดึงดูดแมลงน้อยกว่าสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ ในแอฟริกา จากการทดลองของนักวิทยา ศาสตร์ชาวฮังการีกลุ่มหนึ่ง โดยการนำหุ่นของม้า ๔ ตัว ที่มีสีสันแตกต่างกันไป รวมถึงม้าลาย ไปตั้งไว้ในทุ่งหญ้า พบว่าหุ่นม้าลายมีแมลงมาเกาะน้อยที่สุด ทั้งนี้ เชื่อว่าเพราะตาของแมลงเป็นระบบตารวมที่มีส่วนประกอบมากมาย และแมลงจะลงเกาะโดยการใช้แสง โพลาไรซ์ช่วย เป็นไปได้ว่าลายทางของม้าลายไปรบกวนแสง โพลาไรซ์ในการมองของแมลง ทำให้ยากในการลงเกาะบนตัวของม้าลาย ขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าใช้ในการพรางตัวจากศัตรู และทำให้ศัตรูซึ่งได้แก่สัตว์กินเนื้อต่างๆ ตาลายเมื่อได้พบเจอม้าลายที่อยู่รวมกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้ากว้าง ทำให้จับระยะทางที่จะโจมตีผิดพลาดไป

โดยทั่วไปม้าลายชอบอยู่ตามที่ราบโล่งที่เป็นหญ้า มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีหลายร้อยตัวจนถึงเป็นพัน โดยจะเล็มหญ้าหากินร่วมกับสัตว์อื่นในทุ่งกว้าง เช่น นกกระจอกเทศ ยีราฟ แอนทีโลป และสัตว์กีบชนิดอื่นๆ โดยมักจะมีนกจับเกาะอยู่บนหลัง ช่วยระวังภัยและจับกินพวกแมลงที่มารบกวน ทั้งมีนกกระจอกเทศและยีราฟช่วยเป็นป้อมยามคอยเตือนภัยและระวังภัยให้ เพราะม้าลายสายตาไม่ค่อยดี แต่จมูกและหูไวมาก ฟันของม้าลายค่อนข้างคม จึงแทะเล็มในส่วนที่เป็นโคนและลำต้นของหญ้าได้ ขณะที่สัตว์อื่นๆ เช่น แอนทีโลป จะกินยอดหญ้า นับเป็นการแบ่งปันอาหารกันตามธรรมชาติ

ม้าลายมีอายุยืน ๒๕-๓๐ ปี โดยเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ ๒ ปี ตั้งท้องนาน ๓๔๕-๓๙๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกม้าลายแรกเกิดจะมีขนปุกปุยและมีแถบสีน้ำตาลสลับขาว ใช้เวลาไม่นานในการยืนและวิ่งได้ทันทีหลังคลอด

ม้าลายพบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า โดยแบ่งได้เป็น ๓ ชนิด และแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อย ทั้งนี้ ในอดีตการจำแนกประเภทของม้าลายแบ่งออกได้เป็นกว่า ๑๐ ชนิด โดยแบ่งออกตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง ๓ ชนิด และไม่สามารถแบ่งตามที่อยู่อาศัยได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป และจากที่เคยมีกันอยู่ไม่น้อยม้าลายในธรรมชาติจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อเป็นอาหารและหนังเพื่อทำเป็นเครื่องประดับและเครื่องนุ่งห่ม ทำให้บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือกันอยู่แค่ ๓ ชนิดใหญ่ ได้แก่

๑.Equus zebra หรือ ม้าลายภูเขา (Mountain zebra) เป็นม้าลายที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีถิ่นอาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศแองโกลา, นามิเบีย และแถบแอฟริกาใต้ มี ๒ สปีชีส์ย่อย คือ ม้าลายภูเขาเคป (Cape Mountain Zebra) และ ม้าลายภูเขาฮาร์ตมันน์ (Hartmann Mountain Zebra)

๒.Equus quagga ม้าลายควากกา หรือ ม้าลายธรรมดา หรือม้าลายทุ่งหญ้า (Plains zebra, Common zebra) พบกระจายพันธุ์มากที่สุดในบรรดาม้าลายด้วยกัน จากตอนใต้ของประเทศเอธิโอเปียตลอดจนฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ไกลจนถึงตอนใต้ของแองโกลาและทางตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ มันมีลายแตกต่างจากม้าลายชนิดอื่นตรงที่มีลายขนาดใหญ่สีดำพาดยาวสลับกับลายสีขาวจากหลังลงไปทั้งสองข้างของลำตัวจนถึงใต้ท้อง และแต่ละตัวก็มีลายไม่เหมือนกัน เป็นม้าลายที่มีปฏิสัมพันธ์กันในระหว่างสมาชิกในฝูง มีการตกแต่งร่างกายและทำความสะอาดเนื้อตัวให้กันและกัน จะอยู่รวมฝูงกันทั้งในทุ่งหญ้าที่เป็นที่ราบหรือป่าละเมาะ บางครั้งจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ที่มีสมาชิกถึงหมื่นตัว

ทุกปี ราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ม้าลายมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ตัว จะออกเดินทางร่วมกับฝูงวิลเดอบีสต์ที่มีจำนวน ๑.๘-๒ ล้านตัว (มันคอยระวังภัยให้กัน เพราะม้าลายประสาทตาไม่ดี แต่ประสาทหูดีเยี่ยม ขณะที่วิลเดอบีสต์ประสาทตาดี แต่ประสาทหูไม่ดี) ไปตามเส้นทางอพยพระยะยาวกว่า ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ระหว่างอุทยานแห่งชาติเซเรงเกติในแทนซาเนีย กับเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมาราในเคนยา เพื่อแสวงหาแหล่งอาหาร คือทุ่งหญ้าใหม่ๆ และแหล่งน้ำ จะอยู่กันที่นั่นราว ๒ เดือนจนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม ก็พากันอพยพกลับไปที่ทุ่งหญ้าเซเรงเกติที่จะมีหญ้าขึ้นใหม่เต็มท้องทุ่ง ระหว่างการอพยพทั้งไปและกลับ ม้าลายกับวิลเดอบีสต์จะล้มตายมากมาย ทั้งจากการเบียดเสียด จมน้ำและถูกจระเข้กินขณะข้ามแม่น้ำมารา ส่วนตัวที่อ่อนแรงก็จะถูกสัตว์กินเนื้ออย่างสิงโต เสือดาว ชีตาห์ ไฮยีน่า ล่าเป็นอาหาร

ม้าลายสปีชีส์ย่อยตัวสำคัญของสายพันธุ์ธรรมดา คือ ม้าลายเบอร์เชลล์ (Burchell zebra) แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ เช่น บอตสวานา สวาซิแลนด์ แอฟริกาใต้ ชื่อของมันตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่วิลเลียม จอห์น เบอร์เชลล์ วิศวกรและนักสำรวจธรรมชาติชาวอังกฤษ เป็นม้าลายอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยฝีมือของมนุษย์ที่ล่าเอาเนื้อหนัง ทั้งถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย

๓.quus grevy ม้าลายเกรวี หรือ ม้าลายอิมพีเรียล (Grevy zebra, Imperial zebra) เป็นม้าลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นม้าป่าที่ใหญ่ที่สุด พบได้เฉพาะถิ่นในป่าของเคนยาและเอธิโอเปีย ชื่อของสายพันธุ์ตั้งเป็นเกียรติแด่ชูเลส เกรวี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยรัฐบาลของแอบบินซินเนีย ม้าลายเกรวีมีลายแคบและเบียดชิดกันมาก และจากลวดลายที่แปลกจากม้าลายชนิดอื่นๆ นี่เองที่ทำให้มันถูกล่าอย่างหนักจนเกือบจะสูญพันธุ์ กว่าจะมีกฎหมายอนุรักษ์ออกมาคุ้มครองก็เกือบจะสายไปแล้ว ม้าลายเกรวีไม่ได้มีสังคมในฝูงที่ใกล้ชิดเหมือนกับม้าลายธรรมดา มีการเกื้อกูลช่วยเหลือกันน้อยมาก อีกคุณสมบัติเด่นคืออดน้ำได้นานถึง ๓ น





ผีเสื้อกลางวัน-กลางคืน

จากบทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ผีเสื้อแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน ซึ่งหากดูเพียงผิวเผินจะเห็นว่าทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

แต่ในทางอนุกรมวิธานผีเสื้อกลางวันกับผีเสื้อกลางคืนอยู่ในอันดับย่อย (suborder) ต่างกัน คือ อันดับย่อย ผีเสื้อกลางวัน (butterfly) และ อันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน (moth) หรือเรียกว่า แมลงมอธ

ในจำนวนผีเสื้อนับแสนชนิดในโลกนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน ส่วนผีเสื้อกลางวันมีเพียงประมาณ ๑๐% ของผีเสื้อทั้งหมด แต่ด้วยสีสันอันสวยงามสะดุดตา และโอกาสที่พบเห็นได้ง่ายคือเวลากลางวัน ผีเสื้อกลางวันจึงเป็นที่รู้จักมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในการจะชี้ชัดลงไปว่าเป็นผีเสื้อกลางวันหรือผีเสื้อกลางคืน จะต้องใช้หลักเกณฑ์หลายๆ อย่างประกอบการพิจารณา หากจะให้ละเอียดลงไปต้องอาศัยลักษณะทางกายวิภาคและพฤติกรรมอื่นๆ มาประกอบด้วย

สำหรับลักษณะสำคัญที่พอจะสังเกตได้ง่ายๆ มีดังนี้
๑.หนวด ผีเสื้อกลางวันมีปลายหนวดพองโตออกคล้ายกระบอง บางพวกมีปลายหนวดโค้งงอเป็นตะขอ เวลาเกาะจะชูหนวดขึ้น เป็นรูปตัววี (V) ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างกันหลายแบบ เช่น รูปเรียวคล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี หรือแบบพู่ขนนก เวลาเกาะพักจะวางแนบไปกับขอบปีกคู่หน้า แต่บางชนิดคล้ายผีเสื้อกลางวัน

๒.ลำตัว ผีเสื้อกลางวันมีลำตัวค่อนข้างยาวเรียวเมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีก ไม่มีขนปกคลุม หรือมีเพียงบางๆ เห็นไม่ชัดเจน ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนมีลำตัวอ้วนสั้น มีขนปกคลุมมากและเป็นเส้นยาวเห็นได้ชัดเจน

๓.การออกหากิน ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางวัน แต่มีบางชนิดออกหากินในเวลาเช้ามืดและเวลาใกล้ค่ำ ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนออกหากินในเวลากลางคืน ดังที่พบเห็นบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือน แต่ก็มีบางชนิดที่ออกหากินกลางวัน เช่น ผีเสื้อทองเฉียงพร้า ซึ่งมีสีสันฉูดฉาดสวยงามไม่แพ้ผีเสื้อกลางวัน

๔.การเกาะพัก ผีเสื้อกลางวันขณะเกาะพักมักหุบปีกขึ้นตั้งตรง ยกเว้นกรณีที่ปีกเปียกฝนอาจกางปีกออกผึ่งแดด แต่ก็มีบางชนิดที่กางปีกตลอดเวลา เช่น ผีเสื้อในสกุลผีเสื้อกะลาสี ส่วนผีเสื้อ กลางคืนจะกางปีกออกแนบกับพื้นที่เกาะ ขอบปีกด้านหน้าอยู่ข้างลำตัวต่ำกว่าระดับของหลัง เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือคล้ายกระโจม และคลุมปีกคู่หลังจนมิด

๕.ปีก โดยทั่วไปผีเสื้อกลางวันจะมีปีกกว้างเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ส่วนผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อกลางคืนจะมีปีกขนาดเล็กใกล้เคียงกับลำตัว แต่ก็มีบางชนิดที่ปีกมีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ผีเสื้อหนอนกท้อน

๖.การเชื่อมติดของปีก เพื่อให้ปีกกระพือไปพร้อมกันเวลาบินของผีเสื้อกลางวัน ปีกคู่หลังจะขยายกว้างยื่นเข้าไปซ้อนทับและแนบสนิทอยู่ใต้ปีกคู่หน้า แต่ในผีเสื้อกลางคืนจะมีขนแข็งจากปีกคู่หลัง ซึ่งอาจจะมี ๑ หรือ ๒ เส้น สอดเข้าไปเกี่ยวกับตะขอเล็กๆ ที่โคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า

โดยสรุปข้อสังเกตง่ายๆ ผีเสื้อกลางวันมีสีสันสวยงามสดใส ปากมีลักษณะเป็นงวง ลำตัวเรียวยาว ปีกไม่มีขนปกคลุมหรือถ้ามีก็จะบางมากๆ เวลาเกาะปีกจะยกพับขึ้นตั้งฉากกับลำตัว ส่วนหนวดจะชูเป็นรูปตัววี โดยที่ปลายหนวดมีตุ่มเล็กๆ คล้ายกระบองให้สังเกต

ส่วนผีเสื้อกลางคืนส่วนมากสีสันออกโทนเรียบๆ ไม่มีลวดลายเด่นชัดสวยงาม ลำตัวกลมอ้วน ปีกมีขนปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเส้นยาวๆ มองเห็นชัดเจน เวลาเกาะจะกางปีกขนานกับลำตัว พร้อมเอาลำตัวซ่อนไว้ใต้ปีก ส่วนหนวดมีขนเหมือนแปรงลวดหรือขนนก บางชนิดมีปากลดรูปไปจนไม่สามารถกินอาหารได้ เช่น ผีเสื้อยักษ์




ช้างแกลบ

ความรู้นำมาจากการสืบค้นของ เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชำนาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ว่า "ช้างแกลบ" เป็นช้างที่มีขนาดเล็ก คนจึงเรียกว่าช้างแกลบ ซึ่งแปลว่าช้างขนาดย่อม เหมือนเรียกม้าแกลบ วิหารแกลบ หรือบางทีก็เรียกช้างแคระ หรือช้างค่อม ซึ่งหมายถึงช้างตัวเตี้ย หลังงอ บางทีเรียกตามถิ่นที่ช้างหากินว่าช้างโพระ หรือช้างพรุ คือหากินตามบริเวณที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง อาหารของช้างพันธุ์นี้คือหญ้าพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ตามพรุ เช่นหญ้ากก หญ้าปรือ ใครจับมันไปเลี้ยงเพื่อใช้งานก็เลี้ยงไม่ได้ ช้างจะตายเพราะผิดน้ำผิดอาหารทุกตัว

ทั้งนี้ จากการบันทึกของเอนก นาวิกมูล ระบุด้วยว่า นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักนิยมไพรคนสำคัญของไทย ได้กล่าวถึงเรื่องช้างแคระในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๖ ว่า เมื่อสิบปีก่อนนั้นเคยพบช้างแคระ หรือช้างค่อม ๒ ครั้ง บริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา โดยครั้งแรกพบ ๗ เชือก ครั้งที่ ๒ พบ ๔ เชือก ขณะที่ยืนกินหญ้าอยู่ตามหนองน้ำ เห็นได้ชัดว่ารูปร่างสูงใหญ่เหมือนควายตามบ้าน มีนิสัยไม่ดุร้ายเหมือนช้างป่า ต่อมาใกล้ๆ ถึงปีพ.ศ.๒๕๐๖ ได้ออกไปสำรวจอีกครั้ง แต่ไม่พบช้างประเภทนี้ สืบสวนได้ความว่าสาเหตุเพราะส่วนหนึ่งชาวบ้านไล่ล่ามากินต่างหมู

ส่วนหนังสือ Five Year in Siam ของ เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ ชาวอังกฤษ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ สมิธได้ไปสำรวจดินแดนชายฝั่งภาคใต้ซีกอ่าวไทย พบว่าในทุ่งระโนดซึ่งแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ และมีบ้านเรือนเพียงน้อยหลัง มีฝูงช้างที่มีขนาดเล็กอย่างประหลาด เรียกกันว่าช้างแดง ตามสีขนของมัน ขนาดสูงราว ๘ ฟุต หัวและเท้าเล็ก ลำตัวอ้วนใหญ่ เป็นที่หวาดกลัวในความดุดันของมันเช่นเดียวกับช้างป่าทั่วไป ช้างแดงพวกนี้ไม่ตื่นตกใจง่ายๆ ชอบบุกรุกเอาบ้านและทุ่งแทนป่า หากจับมาแล้วมักตายง่าย เพราะช้างพวกนี้คุ้นเคยกับน้ำกร่อยในหนองน้ำ ถ้าเปลี่ยนไปอยู่กับน้ำใสๆ จากภูเขาก็จะตาย นอกจากนี้ยังพบว่ากระดูกช้างแกลบถูกนำมาดัดแปลงทำกระต่ายขูดมะพร้าว ด้ามมีดจักตอก
 
ยังมีข้อมูลจากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โรงเรียนสตรีพัทลุง สืบค้นศึกษาเกี่ยวกับช้างแคระ หรือช้างแกลบ ไว้ว่า มีหลักฐานจากหลายแหล่งชี้ชัดว่า ประมาณทศวรรษ ๒๔๘๐ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีช้างที่มีขนาดเล็กกว่าช้างทั่วไปอยู่โขลงหนึ่ง จำนวนประมาณ ๓๐-๔๐ เชือก อาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งหญ้าและป่าพรุรอบๆ ทะเลสาบตอนบน ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ช้างค่อม ช้างแคระ ช้างแกลบ ช้างพรุ

เล่ากันว่าช้างชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะอย่างช้างทั่วไป แต่ขนาดเล็กกว่า ลำตัวสูงประมาณควายป่าคือราวๆ ๗-๘ ฟุต หัวและเท้าเล็ก ลำตัวอ้วนใหญ่ คุ้นเคยกับสภาพน้ำกร่อยและหนองน้ำในทุ่งหญ้าริมทะเล หรือภูมิประเทศแบบกึ่งป่ากึ่งน้ำเป็นอย่างดี ชอบรวมตัวกันเป็นฝูงหรือโขลง มีนิสัยดุร้ายเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านในชุมชนรอบทะเลน้อย (ช่วงต้นของทะเลสาบสงขลา คาบเกี่ยวอยู่กับ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ระโนด จ.สงขลา)

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าและ/หรือการพบเห็นช้างค่อมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงทศวรรษ ๒๕๐๐ น่าจะเป็นเรื่องราวช่วงสุดท้ายของพวกมัน เพราะเรื่องเล่าในทุ่งชุ่มน้ำทางทิศตะวันออกของทะเลน้อยเมื่อปลายทศวรรษ ๒๔๘๐ ช้างค่อมถูกเอ่ยถึงในฐานะศัตรูสำคัญที่ออกจากป่ามาทึ้งกินเหยียบย่ำทำลายนาข้าว ชาวบ้านจึงช่วยกันขับไล่พวกมันออกจากพื้นที่โดยไม่จำกัดวิธีการ

โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่ยังเป็นที่จดจำกันว่า ชาวบ้านรอบทะเลน้อยระดมแรงกันออกล่าศัตรูนาข้าวชนิดนี้เพื่อใช้เป็นอาหารด้วยแล้วก็น่าจะเชื่อได้ว่ายุคสุดท้ายของพวกมันได้ผ่านไปแล้วจริงๆ เพราะเมื่อนายแพทย์บุญส่งลงมาสำรวจอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๐๖ ก็ไม่ปรากฏร่องรอยของช้างค่อมในทุ่งหญ้าและป่าพรุรอบทะเลน้อยอีกเลย



ลิงธรรมชาติไทย

มารู้จักลิงที่มีในธรรมชาติประเทศไทยกันเถอะ ซึ่งทุกชนิด ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

ลิงอ้ายเงียะ, ลิงอัสสัม หรือลิงภูเขา (Assam macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca assamensis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร (Primates)

มีรูปร่างอ้วนเทอะทะ แขน-ขาสั้น ขนปุย ขนตามลำตัวมี สีเหลืองปนเทา บางตัวอาจมี สีเข้มมากจนดูคล้ายสีน้ำตาลดำ ส่วนที่หัวไหล่ หัวและแขนมี สีอ่อนกว่าบริเวณอื่นๆ

ขนหัวและหางมักมีสีเทา ในบางฤดูกาลผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมฟ้า

มักอาศัยในป่าบนภูเขาสูงหรือตามที่ราบสูงซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐-๓,๕๐๐เมตร ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ซึ่งมีเรือนยอดสูงจากพื้นดิน ๑๐-๑๕ เมตร

มักอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ฝูงหนึ่งมีสมาชิก ๔๐-๖๐ ตัว จัดเป็นลิงนิสัยดุร้าย ทั้งกระดิกหางได้เหมือนสุนัข อาหาร ได้แก่ ผลไม้ ยอดไม้อ่อน แมลง และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า

ลิงเสน
การกระจายพันธุ์พบในเนปาล ภูฏาน สิกขิม รัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของพม่าและเวียดนาม รวมถึงภาคตะวันตกและภาคอีสานของไทย ซึ่งปัจจุบันพบได้เพียง ๙ แห่ง ที่วัดถ้ำปลา และวัดถ้ำผาแลนิภาราม เชียงราย, บ้านป่าไม้ เชียงใหม่, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ถ้ำผาท่าพล พิษณุโลก, อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน กำแพงเพชร, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ตาก, อุทยานแห่งชาติภูเขียว ชัยภูมิ, เขื่อนเขาแหลม และอุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ กาญจนบุรี

ลิงเสน หรือลิงหมี (Stump-tailed macaque, Bear macaque; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca arctoides) จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae) ลำตัวยาว หลังสั้น หางสั้นมากจนดูเหมือนกับไม่มีหาง หน้ากลม เมื่ออายุมากหน้าจะเป็นสีแดง ก้นแดง หน้าท้องมีขนน้อย ขนตามตัวมีสีเทาออกแดง ขนบนหัวจะขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนที่แก้มชี้ไปทางหลังและคลุมหูไว้

พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ หากินตอนกลางวัน เป็นลิงที่หากินตามพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ ชอบอยู่ป่าทึบมากกว่าป่าโปร่ง และพบทั้งป่าสูงและป่าต่ำ เวลาตกใจจะวิ่งขึ้นต้นไม้อย่างรวดเร็ว

ลิงแสม
พบได้ในป่าทุกชนิดของเขตร้อนและกระจายกันอยู่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตะวันตกของมาเลเซีย แหลมมลายู พม่า ไทย เวียดนาม และตะวันออกของบังกลาเทศ สำหรับประเทศไทย เดิมพบได้ทุกภูมิภาค แต่ปัจจุบันมีสถานะในธรรมชาติลดลงเป็นจำนวนมากจนเหลือเพียงไม่กี่ฝูงเท่านั้น อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง, อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เป็นต้น

ลิงแสม (Long-tailed macaque, Crab-eating macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca fascicularis) จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า เป็นลิงขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาล หางยาวกว่าความยาวของลำตัว ขนตรงกลางหัวตั้งแหลมชี้ขึ้น ขนใต้ท้องสีขาว โดยสีขนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ฤดูกาล และถิ่นที่อยู่อาศัย มีการแพร่กระจายพันธุ์ค่อน ๑๐ ชนิด เป็นลิงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แทบทุกภูมิประเทศ ทั้งในป่าชายเลนใกล้ทะเล โดยลิงฝูงที่อาศัยที่นี่จะว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง หากินสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่บางครั้งก็พบอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นและพื้นที่สูงประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล หรือพื้นที่เกษตรกรรม

ลิงแสมในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด ชนิดที่พบทางอ่าวไทยมีขนยาวเป็นจุกอยู่บนหัว ขนมีสีเหลือง ส่วนชนิดที่พบทางฝั่งทะเลอันดามันมีขนาดเล็กกว่าและหน้าดำ

โดยทั่วไปมันพยายามจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในพื้นที่บริเวณขอบนอกของป่า มากกว่าอยู่ในป่าลึก และปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ในบางโอกาส ดังที่มักพบเห็นทั่วไปตามศาลพระกาฬ ลพบุรี หรือศาลเจ้าแม่เขาสามมุข ชลบุรี ซึ่งมักจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ อาจมีสมาชิกถึง ๒๐๐ ตัว ทั้งยังพบเห็นได้แม้ในเขตกรุงเทพมหานคร

ลิงวอก (Rhesus macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca mulatta) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร เป็นลิงที่มีร่างกายอ้วนสั้น ลำตัวส่วนหลังสีน้ำตาล ส่วนอื่นเป็นสีน้ำตาลเทา หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ขนหางค่อนข้างยาวและฟู โคนหางค่อนข้างใหญ่และเรียวเล็กลงไปทางปลายหาง แต่หางสั้นกว่าลิงแสม ขนบริเวณสองข้างแก้มม้วนวนเป็นก้นหอย ผลัดขนประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม โดยจะเริ่มที่บริเวณปากก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มผลัดขนที่หลัง ตัวเมียอาจมีขนสีแดงในฤดูผสมพันธุ์ ขนที่หัวของลิงวอกจะชี้ตรงไปด้านหลัง

มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ตั้งแต่ ๕๐ ตัวขึ้นไป มีตัวผู้แก่เป็นจ่าฝูง ชอบอยู่ตามป่าที่มีโขดหินหรือหน้าผา และเป็นป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ออกหากินบริเวณใกล้เคียงกับที่อาศัย ชอบลงมาเดินบนพื้นดิน เป็นลิงที่เชื่องและไม่ค่อยกลัวคน จากการศึกษาพบว่าลิงวอกมีความสัมพันธ์กับชุมชนมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่การที่มันมักเข้ามาอาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้บางครั้งถูกจับฆ่าเพื่อนำมาทำเป็นอาหารและฆ่าเพื่อลดความรำคาญ

ลิงวอกมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อัฟกานิสถาน ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล พม่า ภาคใต้ของจีน ลาว เวียดนาม ภาคตะวันตก ภาคเหนือของไทย โดยในประเทศไทย เชื่อว่าเหลือฝูงสุดท้ายที่วัดถ้ำผาหมากฮ่อ อ.วังสะพุง จ.เลย

ลิงลม หรือนางอาย หรือลิงจุ่น
(Slow loris, Loris ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nycticebus)
เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลหนึ่งในวงศ์ Lorisidae ในอันดับไพรเมต โดยปกติเคลื่อนไหวได้เชื่องช้ามาก แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน และแว้งกัดได้รวดเร็ว เมื่อหาอาหาร และเวลาที่โดน ลมพัด อันเป็นที่มาของชื่อลิงลม และเมื่อตกใจมันจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้ อันเป็นที่มาของชื่อนางอาย

ลิงลมมีขนนุ่มสั้นหนาเป็นปุย ลำตัวกลมอ้วน หน้าสั้น ตากลมโต ใบหูเล็กจมอยู่ในขน มีเส้นสีน้ำตาลเข้มจากหัวไปตลอดแนวสันหลัง หรือขีดคาดตามใบหน้า ส่วนหัว ดวงตา และ เส้นกลางหลัง อันเป็นลักษณะสำคัญในการแบ่งแยกชนิด มีส่วนหางที่สั้นมากจนดูเหมือนไม่มีหาง ไม่มีนิ้วหัวแม่มือ นิ้วเท้าอันที่สองมีเล็บเป็นตะของอโค้งไว้จับกิ่งไม้ได้แน่นในขณะมันลุกขึ้นยืนเพื่อจับแมลงกินเป็นอาหาร ทั้งสภาพของขนและสียังสามารถแฝงตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้ด้วย

ทุกชนิดพบกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย จนถึงหมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย มีพฤติกรรมหากินตามลำพังในเวลากลางคืน เว้นแต่ตัวที่มีลูกอ่อนจะเอาลูกเกาะติดอกไปด้วย กลางวันจะซ่อนหน้าเพื่อหลบแสงสว่าง โดยใช้ใบไม้บังหรืออยู่ในโพรงไม้ อาหารที่ลิงลมปีนป่ายหากินตามต้นไม้ คือแมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก และไข่นก แต่ก็กินสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ค้างคาว หรือนกที่หลับบนกิ่งไม้เป็นอาหารได้ด้วย ลิงลมมีกระดูกสันหลังแบบพิเศษ คือบิดตัวได้คล้ายงู ใช้ปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี และมีมือที่เก็บซ่อนนิ้วเพื่อให้จับเหยื่อและเคลื่อนที่ไปทั่วได้โดยไม่เป็นที่สังเกต นิ้วชี้ของขาหลังมีเล็บยาวปลายแหลมเห็นได้ชัด ขาหน้าและขาหลังสั้นแต่แข็งแรง

ลิงกัง
(Pig-tailed Macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macacanemestrina) วงศ์ Cercopithecidae
อันดับไพรเมต เป็นลิงที่มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้นและขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าตัวผู้ ชอบกินผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงเป็นอาหาร เวลากินอาหารมักชอบเก็บไว้ข้างแก้มแล้วค่อยๆ เอามือดันอาหารที่เก็บไว้ออกมากินทีละน้อย

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบบริเวณเชิงเขา ชอบท่องเที่ยวไปเรื่อย ไม่ค่อยอยู่เป็นที่ บางตัวออกหากินตัวเดียว ไม่รวมฝูง ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง ลิงกังพบในอัสสัม พม่า ไทย มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว สำหรับประเทศไทยพบทั่วไปแทบทุกภาค พบมากตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรี จนถึงภาคใต้



จระเข้ : น้ำจืด-น้ำเค็ม

จากข้อมูลเผยแพร่ของกรมประมงซึ่งแยกความแตกต่างของจระเข้ ๒ ชนิดไว้ว่า จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) จระเข้น้ำจืดในสภาพธรรมชาติมักอยู่เดี่ยวๆ อาศัยตามแหล่งน้ำนิ่ง บึง หรือวังน้ำที่สงบ มีความลึกไม่เกิน ๕ ฟุต มีร่มเงาพอสมควร เพราะจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น ถ้าอากาศร้อนมันจะแช่อยู่ในน้ำมากกว่าอยู่บนบก แต่ถ้าอากาศหนาวจะขึ้นมานอนผึ่งแดดบนบกในตอนกลางวันโดยจะนอนนิ่งอ้าปากกว้างเพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกาย

โดยเฉลี่ยแล้วจระเข้น้ำจืดมีความยาวตลอดลำตัวประมาณ ๓-๔ เมตร แต่ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่กลับเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว วิ่งในระยะทางสั้นๆ ได้เร็วพอๆ กับคนเลยทีเดียว จระเข้มีสายตาไวมากมันงับนกที่บินผ่าน รืออาหารที่คนโยนให้ไว้ได้ก่อนตกถึงพื้น ตาของมันมองเห็นได้รอบทิศเป็นมุม ๑๘๐ องศา จึงมองเห็นวัตถุเหนือหัวได้ด้วย หรือแม้แต่เมื่ออยู่ในน้ำก็สามารถมองเห็นได้โดยมีม่านตาใสอีกชั้นหนึ่งปิดทับลูกตา

นอกจากจมูกเป็นปุ่มกลมนูนที่ปลายปากแล้ว จระเข้ยังมีกระเปาะเป็นโพรงภายในปาก จึงรับรู้กลิ่นได้ทั้งบนบกและในน้ำ ประสาทสัมผัสพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการรับรู้ทางผิวหนังเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนพื้นดินหรือน้ำ และสามารถรับรู้เหตุการณ์ทางธรรมชาติได้ล่วงหน้า เช่น ฝนตก พายุ แผ่นดินไหว จะส่งเสียงร้องในลำคอคล้ายเสียงคำรามและมีอาการตื่นตระหนกตกใจ

เพศของจระเข้จะเห็นได้ชัดในจระเข้ที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป โดยสังเกตได้จากหลายแห่งด้วยกัน คือ ลำตัว จระเข้ตัวผู้จะมีช่วงลำตัวยาวกว่า มีสีเข้มกว่าเป็นสีเกือบดำ ในขณะที่ตัวเมียลำตัวจะสั้นและป้อมกว่า เกล็ดตัวผู้มีเกล็ดใหญ่กว่า ที่ท้ายทอยมีเกล็ดขนาดใหญ่สองข้าง ข้างละ ๒ เกล็ด ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของจระเข้น้ำจืด และจะมีเกล็ดอยู่ที่ด้านบนของส่วนคอเป็นกลุ่มเกล็ดขนาดใหญ่ประมาณ ๖ เกล็ด ส่วนหัว ตัวผู้มีโหนกหลังตาสูงคมเด่นชัด

ส่วนจระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) ธรรมชาติของจระเข้น้ำเค็ม จระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง ๙ เมตร ชอบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน ลักษณะแตกต่างจากจระเข้น้ำจืดคือไม่มีเกล็ด ๔ เกล็ดที่ท้ายทอย ปากเรียวยาวกว่า ตีนคู่หลังมีพังผืดระหว่างนิ้วตีนมากกว่า บางครั้งจึงเรียกว่าจระเข้ตีนเป็ด สีลำตัวออกสีเหลืองอ่อน และการเรียงตัวของลายที่ส่วนหางดูคล้ายตาหมากรุก และมีนิสัยดุร้าย

ความแตกต่างของเพศผู้และเพศเมีย ส่วนที่สังเกตได้ชัดเจนคือลำตัว จระเข้น้ำเค็มตัวผู้จะมีลำตัวผอมยาว ตัวเมียจะมีลำตัวอ้วนสั้นกว่า ขนาดตัวโดยรวมดูเล็กกว่าตัวผู้ที่อายุเท่ากัน และหางจระเข้น้ำเค็มตัวผู้จะมีหางยาวกว่าจระเข้ตัวเมีย หัวตัวผู้ระยะห่างของโหนกหลังตาจะกว้างกว่า หัวของตัวผู้จะดูป้อมสั้นในขณะที่ตัวเมียจะดูหัวยาวเรียวกว่า

มีความรู้จากวิกิพีเดียเพิ่มเติมว่า จระเข้ (Crocodile) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crocodylidae อยู่ใน อันดับจระเข้ (Crocodilia) มีลักษณะโดยรวมคือ ส่วนปลายของหัวแผ่กว้างหรือเรียวยาว ขากรรไกรยาวและกว้าง เมื่อหุบปากแล้วจะเห็นฟันซี่ที่ ๔ ของขากรรไกรล่างเนื่องจากขอบปากบนตรงตำแหน่งนี้เป็นรอยหยักเว้า ส่วนปลายของขากรรไกรล่างข้างซ้ายและข้างขวาเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่แคบ มีก้อนเนื้อที่ปลายปากนูนสูงที่ช่องเปิดรูจมูกเรียกว่า "ก้อนขี้หมา" ซึ่งแตกต่างตามชนิดและเพศหรือขนาด โคนหางเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แข็งแรงเรียกว่า "บ้องตัน" หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ

ถือเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากเป็นสัตว์ผู้ล่ากินเนื้อขนาดใหญ่ที่ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ แต่จระเข้ก็ไม่ใช่สัตว์กินจุ กินอาหารวันละครั้งคิดเป็นน้ำหนักประมาณ ๓-๕% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น จระเข้ไม่สามารถกินอาหารใต้น้ำได้ เพราะจะทำให้น้ำไหลเข้าหลอดลม จระเข้ตัวโตเต็มวัยจะมีพฤติกรรมกินอาหารแบบหมุนตัว มันจะใช้ปากที่มีฟันอยู่กว่า ๖๐ ซี่ งับเหยื่อแล้วหมุนตัวเองพร้อมสะบัดเหยื่ออย่างแรงจนฉีกเป็นชิ้นๆ ก่อนกลืนลงคอ ส่วนเหยื่อตัวเล็กจะถูกบดแหลกด้วยลิ้นขนาดใหญ่ โดยใช้ลิ้นดัน เหยื่ออัดแน่นกับเพดานของอุ้งปาก นอกจากนี้จระเข้ยังกลืนก้อนกรวดหรือก้อนหินเข้าไปในกระเพาะเพื่อช่วยในการบดอาหารด้วย

จระเข้พบได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก นับเป็นสัตว์ที่มีจำนวนสมาชิกมากและหลากหลายที่สุดของอันดับจระเข้ที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน


เรื่อง : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 สิงหาคม 2559 18:39:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2560 16:03:32 »






ไก่ยักษ์

ถึงจะเป็นคลิปสั้นๆ แต่ก็เรียกกระแส ฮือฮาได้อย่างล้นหลาม สำหรับ “เดอะ บิ๊กบอส” ฉายาของเจ้าไก่ยักษ์ตัวโต๊โตจากโคโซโว

บิ๊กบอสขึ้นแท่นเป็นเซเลบเพื่อนสัตว์ตัวล่าสุด หลังเพจเฟซบุ๊กในชื่อ เดอะ เพรส ออฟ เวิลด์ โพสต์คลิปสั้นของเจ้าไก่บิ๊กบอสค่อยๆ โผล่หัวออกมาจากเล้า ตอนแรกก็เหมือนไก่ทั่วไป แต่พอออกมาทั้งตัวเท่านั้นแหละ ใครที่ได้เห็นเป็นต้องตาโต และอ้าปากกว้างด้วยความต๊กกะใจ เพราะขนาดร่างกายที่ใหญ่ยักษ์จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไก่กะต๊ากๆ ตัวจ้อยแบบที่พบเห็นทั่วไป

จากลักษณะขนหนาปุย ลำตัวแน่น และขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ ทำให้เชื่อได้ว่าบิ๊กบอสเป็นไก่บราห์มา ไก่เนื้อที่สหรัฐพัฒนามาจากสายพันธุ์ไก่ขนาดใหญ่ในจีนเกือบ ๑๕๐ ปีก่อน พวกมันเลยมีร่างกายใหญ่โตกว่าไก่ปกติ น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ ๕ กิโลกรัม แต่อาจหนักได้ถึง ๘ กิโลกรัม

นอกจากรูปร่างที่โดดเด่นแล้ว ไก่บราห์มายังมีความทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็นด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไก่บราห์มาจะได้ชื่อว่า “ราชาแห่งสัตว์ปีก”





กบจิ๋ว

สัปดาห์นี้ขอต้อนรับเพื่อนตัวเล็กกระจิริดสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบในอินเดีย ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตัวเดียว แต่ยังยกแก๊งไซซ์มินิมาด้วยกันถึง ๔ ตัว

วารสารเพียร์เจ วารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยการค้นพบของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเดลี นำโดย โซนาลี การ์จ นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งใช้เวลานานกว่า ๕ ปีบนภูเขาเวสเทิร์นกาตส์ จนพบกบกลางคืนจิ๋วในตระกูลนิคติบาทราชัส สายพันธุ์ใหม่ ๔ ชนิด คือ กบวิชายาน กบโรบิน มัวร์ กบซาบาริมาลา และ กบมานาลาร์

กบเหล่านี้มีขนาดลำตัวเล็กนิดเดียว โดยกบโรบินมัวร์เล็กที่สุด ราว ๑๒.๒ มิลลิเมตร กบซาบาริมาลา ยาว ๑๒.๓ มิลลิเมตร กบมานาลาร์ ๑๓.๑ มิลลิเมตร และกบวิชายานที่ ๑๓.๖ มิลลิเมตร แต่ละตัวเรียกได้ว่าเล็กมากจนสามารถวางบนปลายเล็บ หรือบนเหรียญได้อย่างง่ายดาย

กบกลางคืนในอินเดียมีวิวัฒนาการแยกจากกบประเภทอื่นๆ เมื่อกว่า ๗๐-๘๐ ล้านปีก่อนโน้น ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์กบโบราณเลยทีเดียว ซึ่งทีมวิจัยยังเชื่อว่ากบจิ๋วเหล่านี้ยังมีพี่น้องร่วมสายพันธุ์อีกหลายชนิดที่ยังไม่มีการค้นพบ เนื่องจากตัวเล็กมาก และอาศัยอยู่ในป่าลึกนั่นเอง







สัตว์ชนิดใหม่

จิมมี่ โบราห์ ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) รายงานสิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง ซึ่งนักวิทยา ศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ๑๖๓ ชนิดในพื้นป่าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม และไทย เมื่อปี ๒๕๕๘ แบ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๙ ชนิด ปลา ๑๑ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๑๔ ชนิด พืช ๑๒๖ ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก ๓ ชนิด

อาทิ “อึ่งเล็ก” (Leptolalax isos) ที่มีขนาดลำตัว ๓ เซนติเมตร พบได้ในกัมพูชาและเวียดนาม อีกตัวที่ถือเป็นสีสันของการค้นพบล่าสุด คือ “งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน” (Parafimbrios) พบได้ตามผาสูงชันทางตอนเหนือของลาว และ “กระท่าง” (Tylototriton anguliceps) หน้าตาคล้ายจิ้งจก มีผิวหนังนูนเป็นตุ่มสีเหลืองซึ่งเรียงเป็นเส้นขนานกับลายนูนกระดูกสันหลังจนถึงโคนหาง แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน

แต่กระท่างเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาศัยอยู่ในป่าดิบเขาบนดอยสูงระดับ ๑,๒๐๐-๒,๐๐๐ เมตร และพบได้ในภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเชียงรายของไทย





แมงมุมแวมไพร์

‘แมงมุมแวมไพร์’ เป็นแมลงนักล่าจากแอฟริกาตะวันตก แต่พวกมันไม่สามารถดูดเลือดเองได้ เลยต้องกินยุงที่เพิ่งดูดเลือดคน หรือสัตว์มาหมาดๆ เป็นอาหาร

ซีเมน่า เนลสัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์บูรี นิวซีแลนด์ ค้นพบว่า ‘แมงมุมแวมไพร์’ หรือ ‘แวมไพร์ จัมปิง สไปเดอร์’ นักล่า ๘ ขาช่างเลือกที่ไม่ยอมกินเมนูแมลงอื่นๆ ยกเว้น ‘ยุง’ ที่สำคัญนิสัยเรื่องมากของพวกมัน ยังเลือกกินเฉพาะยุงตัวเมียซึ่งเป็นฝ่ายออกตระเวนหาเลือดกิน

โดยเจ้าขนปุย ๘ ขา มีเทคนิคเฉพาะตัวง่ายๆ แบบนักล่าตาไว แค่นั่งมองหาหนวดลีบๆ แบนๆ ของยุงตัวเมียซึ่งต่างจากหนวดปุยๆ ของยุงตัวผู้ และต้องไม่ลืมมองที่ท้องเป่งๆ สีแดงสดเพราะอัดแน่นไปด้วยเลือด รวมถึงการเกาะตัวเอียงทำมุม ๔๕ องศาพอดิบพอดี

แค่นี้ เจ้าแวมไพร์ สไปเดอร์ ก็ได้เวลาตั้งโต๊ะอาหารเย็นแบบไม่ต้องออกแรงทำใยดักแมลงให้เหนื่อยเปล่า





เต่า

“เต่า” จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น และยังถือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำจืด บางชนิดก็น้ำเค็มในทะเล แต่ก็มี “เต่าบก” ที่เลือกอาศัยอยู่ตามป่าและเขา

นิก คลอว์ฟอร์ด นักวิจัยจากมหาวิยาลัยบอสตั้น สหรัฐอเมริกา ค้นคว้าข้อมูลทางกายภาพและสัณฐานวิทยา มากกว่า ๑,๐๐๐ ตัวอย่าง

จนพบว่า “เต่า” สัตว์เลื้อยคลานที่ขึ้นชื่อเรื่องอายุยืนยาว และท่าเดินต้วมๆ เตี้ยมๆ อันที่จริงมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ในตระกูล คร็อกโคดิเลียน หรือ จระเข้ และ นก มากกว่าสืบทอดลักษณะ

เต่าหลังตุง มาจากงู กิ้งก่าและทัวทารา หรือสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์ยักษ์จากโลกดึกดำบรรพ์

เพราะ “โลคัส” ซึ่งเป็นลำดับดีเอ็นเอบนโครโมโซมของเต่าพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบัน มีความละม้ายคล้ายคลึงกับลำดับโลคัสบนจีโนม (แผนที่พันธุกรรม) ของจระเข้และนก แต่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เต่ามีรูปร่างหน้าตาต่างจากบรรพบุรุษนั่นเอง







๑๐ อันดับ สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรม ชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) เปิดข้อมูลสัตว์ ๑๐ ชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ดังนี้

อันดับ ๑ คือ "เสือดาวอามูร์" เสือพื้นเมืองในเอเชียและรัสเซีย ซึ่งมีเหลือไม่ถึง ๖๐ ตัวในโลก

อันดับ ๒ "แรดดำ" แรดในแอฟริกาตะวันออกและใต้ แม้ทางการซิมบับเวจะเร่งขยายพันธุ์จนมีประชากรเพิ่มเป็น ๔,๘๔๘ ตัว จากแค่ ๑,๐๐๐ กว่าตัวก็ตาม

อันดับ ๓ ได้แก่ "กอริลลา" ลิงใหญ่ไพรเมตที่ยังถูกชนเผ่าท้องถิ่นล่าเนื้อในปัจจุบัน เลยเหลือแค่ ๓๐๐ ตัวในธรรมชาติ

อันดับ ๔ คือ "เต่ากระ" เต่าทะเลที่ไม่เพียงถูกมนุษย์รบกวนจากการล่ากระดอง และติดอวนจับปลา แต่ยังถูกสัตว์นักล่า นก และปลาใหญ่ ดักกินลูกเต่า ส่งผลให้อัตราการขยายพันธุ์น้อยลงน่าใจหาย

อันดับ ๕ เป็น "แรดชวา" แรดซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในอินโดนีเซีย อินเดีย และจีน กับจำนวนประชากรสุดช็อกเพียง ๓๕ ตัว

อันดับ ๖ "กอริลลาภูเขา" ปัจจุบันมีเพียง ๘๐๐ ตัว

อันดับ ๗ "ซาวลา" หรือยูนิคอร์นเอเชีย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายเลียงผา ในเวียดนาม พบล่าสุดในป่าเมื่อปี ๒๕๕๖ ห่างจากครั้งก่อนถึง ๑๔ ปี

อันดับ ๘ "แรดสุมาตรา" ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

อันดับ ๙ เป็น "โลมายาร์กีตา" ในอ่าวแคลิฟอร์เนีย มีไม่ถึง ๑๐๐ ตัวทั่วโลก

และอันดับ ๑๐ เป็น "ตัวนิ่ม" สัตว์โชคร้ายที่ถูกแก๊งค้าสัตว์ล่าเนื้อส่งไปตลาดจีนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น


site khaosod.co.th






ตุ๊กแกเกล็ดปลา

มีการค้นพบตุ๊กแกสายพันธุ์ใหม่ ที่มีผิวลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ซึ่งมันสามารถสลัดผิวที่คล้ายเกล็ดปลานี้ออกได้เพื่อหลบหนีการไล่ล่าจากศัตรูได้  และมันจะสร้างผิวหนังและเกล็ดขึ้นมาใหม่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์  โดยสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Geckolepis megalepis  

ทั้งนี้ตุ๊กแกเกล็ดปลาสายพันธุ์ใหม่ที่พบนี้มีเกล็ดขนาดใหญ่สุดเท่าที่เคยพบมา
ที่มา : site prachachat.net




ลิงแปลก (๑)

เห็นจมูกคล้ายงวงยาวอย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นญาติกับช้างล่ะ เพราะเจ้านี่คือ "ลิงจมูกยาว" หรือ "ลิงจมูกงวง" ในวงศ์ลิงโลกเก่า และเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล นาซาลิส

อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวในพื้นที่ป่าชายเลนหรือป่าติดริมแม่น้ำ อาทิ อุทยานแห่งชาติทันจุงปูติง และอุทยานแห่งชาติบาโก ของมาเลเซีย ตลอดจนประเทศใกล้เคียง รวมถึงบรูไน อินโดนีเซีย

ลิงจมูกงวงเป็นลิงจำพวกค่าง มีรูปร่างอ้วนลงพุงน่ากอด ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง ส่วนลักษณะเด่นของจมูกที่ยาวยื่นออกมาเหมือนงวงช้างจนปิดบริเวณปากนั้น มีเฉพาะในตัวผู้ที่โตเต็มวัยเท่านั้น ตัวเมียและลิงตัวผู้วัยก่อนสืบพันธุ์จะไม่มีจมูกลักษณะนี้ ปัจจุบันเหลือตามธรรมชาติราว ๘,๐๐๐ ตัว

อีกตัวดูคุ้นเคย คือ "ลิงบาบูน ขนฟู" หนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของ ลิงบาบูน มีถิ่นที่อยู่อาศัยในเทือกเขาเอธิโอเปีย แน่นอนว่าชื่อขนฟูมีที่มา เพราะเจ้าจ๋อชนิดนี้มีขนยาวฟูและหนาปกคลุมทั่วร่างกาย นอกจากขนจะพลิ้วสลวยเตะตาแล้ว อีกจุดเด่นที่สำคัญคือ ลายสีแดงคล้าย รูปทรงนาฬิกาทรายบริเวณหน้าอก ซึ่งในตัวผู้จะมีสีแดงเข้มกว่าตัวเมีย แถมยังมีเขี้ยวขาวคมกริบไม่แพ้ญาติบาบูนต้นสายพันธุ์ด้วย

ส่วนเจ้าตัวนี้เหมือนกับลิงรักสวยรักงาม ใบหน้าขาวผ่อง ตัดกับดวงตาสีดำเข้ม และขนสีเทาอ่อน ใช่แล้ว...นี่คือ "ดัค" ลิงโลกเก่าที่ถูกจัดเป็นค่างจำพวกหนึ่ง มีถิ่นที่อยู่ในป่าดงดิบประเทศลาว และเวียดนาม แต่ช่างโชคร้าย ด้วยสีสันสวยงามของลิงดัค พวกมันจึงถูกล่าไปขาย บ้างก็กินเนื้อ ประชากรในปัจจุบันจึงเหลือเพียง ๗๐๐-๘๐๐ ตัวเท่านั้น



ลิงแปลก (๒)

"ลิงเดอ บราซ" ลิงโลกเก่าจากพื้นที่ชุ่มน้ำของแอฟริกากลาง มาพร้อมกับสุดยอดเทคนิคการพรางตัว เพราะขนหลากสีที่ละม้ายคล้ายสิ่งแวดล้อมรอบตัว ตั้งแต่ขนสีเทาของลำตัวด้านหน้า ตัดกับขนสีน้ำตาลเข้มอมแดงด้านหลัง ส่วนแขนขามีขนยาวสีดำเช่นเดียวกับหาง แต่ช่วงปลายเป็นสีขาว นอกจากนี้ส่วนปากจนถึงอกยังเป็นสีขาวดูคล้ายเครายาว หน้าผากมีขนสีส้มแดงรูปร่างคล้ายพระจันทร์คว่ำรับกับขนสีดำยาว ตามแนวขนหน้าผากสีส้ม เหมือนทรงผมสุดแนว

ตามมาติดๆ คือ "ลิงเมาส์แตช กูเอนอน" หรือ ลิงหนวด พบมากในประเทศแองโกลา แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และคองโก ถือเป็นลิงแปลกหายาก มีลักษณะเด่นคือบริเวณเหนือปากไม่มีขน เผยให้เห็นผิวขาวจั๊วะตัดกับผิวหนังสีฟ้าอมน้ำเงินของใบหน้าส่วนอื่น มองแล้วเหมือนกับมีหนวด เลยเป็นที่มาของชื่อลิงหนวดนั่นเอง

อีกตัวที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ ลิงหนวด คือ "ลิงโบลด์ อูอาคารี" หรือ ลิงหน้าแดง ลิงโลกใหม่ขนาดเล็ก ยาวเพียง ๔๐-๔๕ เซนติเมตร น้ำหนักระหว่าง ๒.๗-๓.๕ กิโลกรัม มีใบหน้าสีแดงก่ำและหัวล้าน ลำตัวมีขนยาวสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มปกคลุม บางสายพันธุ์มีขนสีขาว

ทิ้งท้ายด้วย "ลิงซากิ" ลิงโลกใหม่อีกชนิดที่มาพร้อมความพิสดาร มองเผินๆ นึกว่าหมี แต่มองดีๆ อีกทีก็เหมือนลิง มีขนหนาสีดำเข้มปกคลุม ทั่วตัว แต่ใบหน้ากลับเป็นขนสีน้ำตาลอ่อน เว้นบริเวณจมูกที่เป็นขนสีดำ พบมากในภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยเฉพาะโคลัมเบีย เปรู โบลิเวีย และบราซิล เป็นลิงตัวเล็กมาก ยาวเพียง ๓๐-๕๐ เซนติเมตร และหนักแค่ ๒ กิโลกรัมเท่านั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2560 13:24:08 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2560 15:10:54 »



ปลาสลิด

ปลาสลิด เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกันแต่มีลำตัวหนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ปากเล็กอยู่สุดปลายจะงอยปาก ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวสีดำตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัว และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ครีบมีสีคล้ำ ขนาดโดยเฉลี่ย ๑๐-๑๖ เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง ๒๕ เซนติเมตร นับเป็นปลาในสกุล Trichopodus ที่ใหญ่ที่สุด

มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง, ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบในประเทศรอบข้าง พฤติกรรมสืบพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม แม่ปลาจะวางไข่โดยการก่อหวอดตามผิวน้ำติดกับพืชน้ำหรือวัสดุต่างๆ มักวางไข่ในช่วงกลางวันที่มีแดดรำไร หลังแม่ปลาวางไข่เสร็จแล้ว พ่อปลาจะเป็นผู้ดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ทั้งนี้ วางไข่ครั้งละ ๔,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ฟอง

ปลาสลิดนับเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย นิยมแปรรูปเป็นปลาแห้งหรือปลาเค็ม โดยเกษตรกรจะเลี้ยงในบ่อดิน ฟันหญ้าให้เป็นปุ๋ยและเกิดแพลงตอน เพื่อเป็นอาหารปลา

พื้นที่เลี้ยงปลาสลิดที่เป็นที่รู้จักกันดีคืออำเภอบางบ่อและอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปลาสลิดบางบ่อ นอกจากนี้ ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่เคยมีชื่อในอดีต คือ ที่ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

ปลาสลิดมีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า Sepat siam ภาษาอังกฤษเรียกว่า ปลากระดี่หนังงู (Snakeskin gourami) และมีชื่อเรียกในราชาศัพท์ว่า ปลาใบไม้ ทั้งนี้ เนื่องจากคำว่า สลิด เพี้ยนมาจากคำว่า จริต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงแนะนำให้เรียกกันในหมู่ราชบริพารว่า ปลาใบไม้ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้

ปลาสลิดเกิดมามีหัวเหมือนปลาทั่วๆ ไป แต่ด้วยเหตุที่เป็นปลาเศรษฐกิจ โดยนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็ม หรือปลาสลิดตากแห้ง นั่นก็ทำให้ต้องตัดหัวปลาสลิดออก เพราะปลาสลิดนั้นมีมันมาก โดยเฉพาะส่วนท้องหรือพุงปลา ซึ่งก่อนจะนำมาคลุกเคล้าเกลือเพื่อแปรรูปจะต้องควักไส้ควักพุงออกให้หมด รวมถึงตัดหัวออก เพื่อเวลาตากแดดแล้วปลาจะได้แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า

นอกจากนี้ ก็เพื่อให้เกลือที่คลุกเคล้าตัวปลาซึมซาบเข้าไปในเนื้อปลาได้ทั่วทั้งตัว มีความเค็มเท่าๆ กันทั้งตัว เมื่อนำหัวและพุงปลาออกแล้วเกลือก็จะเข้าไปแทนที่ เป็นการยับยั้งแบคทีเรียที่จะทำให้ปลาเน่า และเมื่อนำไปตากแดดให้แห้งสนิทก็จะช่วยถนอมอายุของปลาสลิดแห้งให้เก็บไว้กินได้นานขึ้น





กว่างโซ้ง

ด้วงกว่างชน หรือ ด้วงกว่างโซ้ง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylotrupes gideon) อยู่ในวงศ์ Dynastinae ลำตัวมีสีตั้งแต่สีน้ำตาลอมแดงจนถึงเกือบดำ ตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า กว่างโซ้ง หรือ กว่างชน มีเขาที่หลังงอกยื่นยาวเป็นจะงอยเรียวไปทางด้านหน้าและโค้งลงตรงปลายเป็น ๒ แฉก กับที่หัวมีเขาเล็กยื่นออกไปเป็นเขาเดี่ยว โค้งขึ้นคล้ายนอแรด แต่ปลายแยกเป็น ๒ แฉก บางตัวใต้ท้องอาจมีขนสีเหลืองอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่

ตัวผู้ที่มีขนาดย่อมและมีเขาสั้นเรียก กว่างกิ หรือ กว่างแซม ตัวเมียไม่มีเขา เรียก กว่างแม่ หรือ กว่างอีลุ่ม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๑-๒ นิ้ว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ กว่างเป็นชื่อเรียกของด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มี ๖ ขา บางชนิดมีเขา บางชนิดไม่มีเขา เป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้น คือหลังจากเป็นหนอนอาศัยอยู่ใต้ดินเป็นเวลาเกือบปี โดยจะออกจากดินในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม และออกมาได้แค่ ๓ เดือนก็ใกล้จะหมดอายุขัยแล้ว ตามธรรมเนียมที่ทำกันมา เมื่อออกพรรษาแล้วชาวบ้านจะนำกว่างตัวเมียมาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์กันตอนกลางคืน จากนั้นกว่างตัวเมียจะบินไปสู่บริเวณที่เป็นเนินดินแล้วขุดลงไปไข่ไว้ในดิน หลังจากไข่แล้วกว่างตัวเมียจะฝังตัวตายอยู่ในที่นั้น ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวหนอนและเป็นกว่างในปีต่อไป ด้วงกว่างจัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่ง เพราะทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนกินพืช เช่น มะพร้าว อ้อย เป็นอาหาร

เป็นเวลานานมาแล้วที่ด้วงกว่างชนกลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อการเล่นต่อสู้กัน เช่นเดียวกับไก่ชน ปลากัด เรียกว่า ชนกว่าง โดยนำด้วงกว่างตัวผู้ ๒ ตัวมาอยู่บนกระบอกไม้ยาวประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร เรียกว่าไม้กอน แล้วนำตัวเมียมาใส่รูปิดไว้ให้เห็นแต่ข้างหลัง ให้กลิ่นของตัวเมียดึงดูด ด้วงกว่างชนตัวผู้จะสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย แต่จะไม่สู้กันจนถึงตาย การแพ้-ชนะขึ้นอยู่กับตัวที่ได้ล่าง คือสามารถใช้เขางัดอีกตัวหนึ่งให้ลอยและคว่ำหงายท้องลงได้

ในขณะที่ตัวผู้กำลังสู้กันอาจใช้ไม้เรียวยาวขนาดประมาณ ๘ เซนติเมตร เรียกไม้ฝัน ใช้ปั่นหรือยั่วยุให้ด้วงกว่างชนต่อสู้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยใช้ไม้แหย่หรือปั่นที่หน้าหรือเขาหรือด้านข้างของตัวด้วงกว่างชน

อ.วรสฤษฎิ์ ปิงเมือง อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) และอดีตประธานจัดงานมหกรรมรวมพลคนรักษ์กว่าง เพื่อส่งเสริมกีฬาชนกว่างซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนาที่นิยมเล่นกันมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่น ให้ความรู้ไว้ว่า ประเพณีชนกว่างของคนพื้นเมืองภาคเหนือมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัด แต่มีเรื่องราวเล่าขานกันมานานกระทั่งปัจจุบันยังมีการเล่นกันอยู่ แต่อาจจะไม่มากเท่ากับในอดีต

การชนกว่างของชาวล้านนานิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เมื่อออกพรรษาแล้วก็ค่อยๆ เลิกรา และปล่อยกว่างกลับสู่ธรรมชาติเพื่อสืบลูกสืบหลานตามวัฏจักรต่อไป

สำหรับมหกรรมรวมพลคนรักษ์กว่างของ มร.ชร. ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมกีฬาชนกว่าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและพัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับศักยภาพท้องถิ่นได้แก่ วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน การส่งเสริมไทยเที่ยวไทย

ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์กว่างของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนร่วมกับมหาวิทยาลัย



 และด้วยความผูกพันระหว่างชาวเชียงรายกับกว่างโซ้ง จึงทำให้ด้วงกว่างชน หรือด้วงกว่างโซ้ง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ทีมฟุตบอลประจำจังหวัดเชียงราย ฉายา "กว่างโซ้งมหาภัย"




อัลปากา

อัลปากา (alpaca) เป็นชื่อเรียกภาษาสเปน ชื่อวิทยาศาสตร์ Vicugna pacos เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์อูฐ (Camelidae) พบในธรรมชาติบริเวณที่สูงแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ ตอนใต้ของประเทศเปรู ตอนเหนือของประเทศโบลิเวีย ประเทศเอกวาดอร์ และตอนเหนือของประเทศชิลี เป็นสัตว์ที่มีความทรหดอดทนมาก โดยจะอยู่บริเวณที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ ๓,๕๐๐ เมตร ถึง ๕,๐๐๐ เมตร

เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายวัว แต่มี ๓ กระเพาะ แทนที่จะมี ๔ กระเพาะเหมือนสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป กินหญ้าเป็นอาหาร และด้วยลักษณะเท้าที่อ่อนนุ่ม ทำให้ไม่ทำลายทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ที่ฟันไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่มีฟันหน้าด้านบน ขนาดของตัวมีขนาดเล็ก สูงเฉลี่ย ๑๒๕-๑๘๐ เซนติเมตร หนัก ๖๐-๘๐ กิโลกรัม ลักษณะคล้ายยามา แตกต่างกันตรงที่อัลปากาไม่ได้ถูกเลี้ยงไว้ใช้ขนสัมภาระ แต่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อนำขนมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม

เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่สูง อัลปากาจึงมีขนที่หนานุ่ม ทนทาน มีคุณสมบัติเป็นขนสัตว์ที่นุ่มที่สุดในโลก ถึงขนาดที่ชาวอินคาให้สมญานามว่า “เส้นใยจากพระเจ้า” ขนของอัลปากาตามธรรมชาติมีหลายสี ในเปรูจำแนกได้ถึง ๕๒ สี ขณะที่ทางออสเตรเลียจำแนกไว้ ๑๒ สี และสหรัฐอเมริกาจำแนกเป็น ๑๖ สี

เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีเสียงร้องหลายเสียง มักร้องเสียงแหลมสูงเมื่อตกอยู่ในอันตราย และมักทำเสียงดูดเพดานอ่อนหรืออาจเสียงในโพรงจมูกเมื่อแสดงความเป็นมิตร ทั้งมักฮัมเป็นเพลงสั้นๆ เมื่ออยากให้อัลปากาตัวอื่นรู้ว่าตนอยู่ใกล้หรือกำลังมีความสุข โดยมีเสียงฮัมที่แตกต่างกันไปในแต่ละตัว กับมักร้องสูงเหมือนนกเมื่อตัวผู้ต่อสู้กัน ซึ่งอาจเป็นเสียงที่ทำให้ศัตรูหวาดกลัว







อัลปากาจะรู้สึกว่าเป็นอันตรายหรือถูกคุกคามเมื่อถูกสัมผัสที่ช่วงก้น และจะป้องกันตัวด้วยการพ่นน้ำลายออกไปเหมือนอูฐ มันพ่นน้ำลายเวลากังวล ตกใจ คิดว่าอีกฝ่ายเป็นตัวอันตราย และพ่นได้ในระยะที่ไกลมากเวลาตกใจมากๆ ขนาดที่บางครั้ง ผู้เลี้ยงต้องพกร่มติดไปเวลาเข้าไปหาอัลปากา

อัลปากามีช่วงชีวิตอยู่ระหว่าง ๑๕-๒๐ ปี มีระยะเวลาตั้งครรภ์อยู่ที่ ๑๑ ถึง ๑๒ เดือน และให้กำเนิดลูกทีละตัว (ฝาแฝดจะพบได้ยากมาก) ลูกของอัลปากาที่เพิ่งเกิดมีชื่อเรียกเฉพาะว่า cria ซึ่งจะมีน้ำหนัก ๗-๑๐ กิโลกรัม

จุดเด่นของเจ้าตัวนี้อยู่ที่รูปลักษณ์ที่ดูแปลกปนน่ารัก เห็นแล้วอยากนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ด้วยขนาดตัวไม่ใหญ่ไป มีนิสัยเชื่อง ไม่ดุร้าย และยังเป็นสัตว์อนามัย รักสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นใดๆ เหมือนกับแพะหรือแกะ แม้ไม่ได้อาบน้ำ อัลปากาจะอาบน้ำต่อเมื่อถูกส่งเข้าประกวด ซึ่งต้องใช้เวลาเป่าขนให้แห้งนานถึง ๔ ชั่วโมงต่อตัว เวลาทำธุระส่วนตัวทั้งหนักละเบาก็เป็นที่เป็นทางในพื้นทรายที่เตรียมไว้ให้

สามารถเลี้ยงไว้ในบ้านได้เหมือนกับสุนัขตัวหนึ่ง ให้อาหารด้วยหญ้าและเสริมด้วยอาหารเม็ด ปัจจุบัน นิยมเลี้ยงอัลปากากันหลากหลายมากขึ้นในฐานะปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง คนดังที่เลี้ยงอัลปากาไว้ในฐานะสัตว์เลี้ยง คือนิโคล คิดแมน และ รอเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ นักแสดงฮอลลีวู้ด

เห็นความน่ารักและข้อดีของมันแล้ว แต่ใครคิดอยากจะเลี้ยงก็มีข้อให้คิดตรงที่สมญานามของเจ้าตัวนี้เรียกว่า สัตว์เลี้ยงของคนรวย เพราะต้องมีสินสอดสู่ขอมาตั้งแต่อยู่ในท้อง อย่างน้อย ๔ แสนบาท ไม่ใช่ว่าอยากจะเลี้ยงแล้วก็เดินไปหาซื้อเอาตามจตุจักรได้เลย บางตัวมีราคาอยู่ที่หลักล้านบาท

ปัจจุบันประเทศเปรู โบลิเวีย และชิลี มีอัลปากาอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก นักเพาะพันธุ์อัลปากาจากทั่วโลกต่างเรียนรู้วิธีจากชาวอเมริกาใต้

สำหรับผู้ที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับอัลปากา ให้ระวังเวลาหาชื่อภาษาอังกฤษ ที่ถูกคือ alpaca ไม่ใช่ alpacca ที่เป็นโลหะผสม คือทองเหลืองและทองแดงผสมกับนิเกิล

 



งูหลาม-งูเหลือม

งูเหลือม (Reti culated python) ชื่อวิทยาศาสตร์ Python reticulatus จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นงูขนาดใหญ่ ลำตัวยาวเฉลี่ยประมาณ ๓.๕-๖ เมตร เป็นงูที่ยาวที่สุดของโลก โดยตัวที่ยาวที่สุดยาวถึง ๙.๖ เมตร ถูกจับได้เมื่อปี ค.ศ.๑๙๑๗ ที่เกาะซีลิเบท มาเลเซีย มีความยาวกว่า งูอนาคอนดา (Eunectes murinus) ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ แต่น้ำหนักน้อยกว่า อาจจะหนักน้อยกว่างูอนาคอนดาได้ถึงครึ่งเท่าตัว

ชื่อวิทยาศาสตร์ของงูเหลือมคือ reticulatus เป็นภาษาละติน แปลว่า เหมือนแห หรือ ร่างแห หมายถึง ลวดลายบนตัวงูที่มองดูคล้ายร่างแห อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษด้วย

ปากงูเหลือม มีขนาดใหญ่ ฟันแหลมคม ขากรรไกรแข็งแรงมาก ทั้งสามารถถอดขากรรไกรในการกลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ได้ เกล็ดบริเวณลำตัวตั้งแต่ปลายหัวจรดปลายหางมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนน้ำตาล พื้นตัวสีน้ำตาลแดง มีลายแบ่งเป็นวง หลายสี บริเวณส่วนหัวมีเส้นสีดำขนาดเล็กเรียวยาว เรียกว่า ศรดำ จนเกือบถึงปลายปาก หัวเด่นแยกออกจากคออย่างชัดเจน ปลายหางยาวแหลม เกล็ดเรียบเรียงเป็นแถวได้ระหว่าง ๖๙-๗๔ แถวที่กลางลำตัว เกล็ดทวารเป็นแผ่นเดี่ยว ซึ่งจัดอยู่ในประเภทงูไม่มีพิษ เลื้อยช้าๆ แต่ดุตามสัญชาตญาณเมื่อมีศัตรู ออกหากินกลางคืนทั้งบนบกและในน้ำ อาศัยนอนตามโพรงดินโพรงไม้ในที่มืดและเย็น หลายๆ วันจึงจะออกหากินครั้งหนึ่ง งูเหลือมกินสัตว์แทบทุกชนิดโดยมักดักซุ่มรอเหยื่อบนต้นไม้ ด้วยมีสีและลายกลืนไปกับธรรมชาติ เมื่อได้จังหวะจะทิ้งตัวลงมารัดจนเหยื่อขาดอากาศหายใจ กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก หนู กระต่าย ไก่ เป็ด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางอย่าง เก้ง กวาง สุนัข รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานด้วยกันอย่างตัวเงินตัวทอง

พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะสุลาเวสี เกาะชวา เกาะลูซอน และหลายเกาะในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ปัจจุบันถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

ได้มีการศึกษาด้านวิวัฒนาการของงูเหลือม พบว่างูเหลือมและงูเหลือมติมอร์ (P. timoriensis) มีความแตกต่างทางพันธุกรรมไปจากงูในสกุล Python ชนิดอื่นๆ จึงเห็นควรว่าควรแยกสกุลออกมาต่างหากเป็น Malayopython

งูหลาม หรืองูหลามพม่า (Burmese python) ชื่อวิทยาศาสตร์ Python bivittatus เป็นงูขนาดใหญ่ ไม่มีพิษ ลักษณะคล้ายกับงูเหลือม ซึ่งเป็นงูในสกุลเดียวกัน แต่งูหลามมีขนาดเล็กกว่า ความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ ๑-๓ เมตร (พบใหญ่ที่สุด ๕.๑๘ เมตร น้ำหนัก ๗๔ กิโลกรัม ที่อุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ สหรัฐอเมริกา ทำลายสถิติตัวที่มีความยาว ๕ เมตร ในประเทศพม่า) มีลำตัวที่อ้วนป้อมกว่า อีกทั้งหางก็สั้นกว่า และมีขีดบนหัวเป็นสีขาว เรียกว่า ศรขาว สีสันและลวดลายแตกต่างจากงูเหลือม บวกนิสัยไม่ค่อยดุ จึงเป็นที่นิยมของผู้ชอบเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกและลวดลายแตกต่างไปจากปกติ

พฤติกรรมการหากิน มักจะหากินบนพื้นดิน ไม่ชอบขึ้นต้นไม้หรือลงน้ำเหมือนงูเหลือม แต่ถ้าหากลงน้ำก็ว่ายน้ำได้ดีและสามารถหยุดลอยตัวบนผิวน้ำโดยไม่จม เพื่อพักผ่อนได้ด้วย จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า งูหลามพม่าอาศัยอยู่ได้ดีในพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย แต่ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ในน้ำทะเล

เชื่อว่าในน้ำทะเลมีสารเคมีที่มีพิษต่อร่างกายงูหลามพม่า พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนเหนือของพม่า สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ทั้งนี้ งูหลามจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

เคยถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยของงูหลามอินเดีย (P.molurus) แต่จากการศึกษาโดยละเอียด ด้วยความแตกต่างในหลายๆ ส่วน ชนิดย่อย P. molurus bivittatus ที่เคยใช้ จึงถูกยกให้เป็นชนิดต่างหากและใช้ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบัน





นกอพยพ

จากงานวิจัยนกอพยพในประเทศไทย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า การอพยพย้ายถิ่นของนกคือการเคลื่อนย้ายซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ระหว่างพื้นที่ซึ่งนกใช้เป็นแหล่งสร้างรังวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ กับพื้นที่ซึ่งนกใช้เป็นแหล่งหากินในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์

โดยมีสาเหตุสำคัญเพื่อหาพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ เหมาะสมในการสร้างรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ในซีกโลกตอนเหนือซึ่งมีนกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดต่ำลง น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง พืชหยุดการเจริญเติบโต สภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมและอาหารลดน้อยลง

นกจึงจำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายลงไปยังซีกโลกทางใต้ซึ่งมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และจะอยู่อาศัยตลอดฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนก็อพยพกลับไปยังถิ่นเดิม เพื่อสร้างรัง วางไข่ เลี้ยงลูกนกให้เติบโตแข็งแรง จากนั้นเมื่อถึงฤดูหนาวนก ก็อพยพมาทางใต้อีก ซึ่งจะเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นประจำ

นกเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างร่างกายรวมทั้งระบบเผาผลาญอาหารที่เหมาะกับการดำรงชีวิตในอากาศ และมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่สูง ทำให้นกสามารถแสวงหาแหล่งอาศัยที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในแต่ละฤดูกาลได้ นกจึงเป็นสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นมากที่สุด ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอพยพย้ายถิ่นของนกก็คือความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละฤดูกาล

สำหรับในประเทศไทย พบนกมากกว่า ๙๘๒ ชนิด จัดเป็นนกประจำถิ่น ๕๖๗ ชนิด นกอพยพย้ายถิ่น ๓๒๖ ชนิด นกที่มีสถานภาพเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพจำนวน ๘๙ ชนิด จำแนกประเภทตามการพบเห็นตามฤดูกาลได้ดังนี้

๑.นกประจำถิ่น (Resident) คือนกชนิดที่ปรากฏพบเห็นอาศัยหากิน ผสมพันธุ์ วางไข่และเลี้ยงลูกอยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี

๒.นกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว (Non-breeding visitor หรือ Winter visitor) คือนกที่อพยพช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว อพยพมาจากรัสเซียและจีน ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคมและอพยพกลับราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ได้แก่ กลุ่มนกบก เช่น นกพงหญ้า นกกินแมลง นกนางแอ่น และกลุ่มนกเป็ดน้ำ เป็นต้น

๓.นกอพยพย้ายถิ่นผ่าน (Winter visitor Passage Migrant) คือนกที่อพยพจากซีกโลกตอนบน ได้แก่ ประเทศรัสเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ผ่านประเทศไทยไปยังซีกโลกตอนใต้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย พบในประเทศไทยในช่วงต้นของฤดูอพยพตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงพฤศจิกายน และย้ายถิ่นกลับขึ้นไปในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม บางชนิดบางส่วนอาจอาศัยอยู่ในเมืองไทยช่วงฤดูหนาว ได้แก่ กลุ่มนกชายเลน กลุ่มนกล่าเหยื่อ ฯลฯ

๔.นกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาสร้างรัง (Breeding visitor) คือนกที่อพยพมาเพื่อผสมพันธุ์สร้างรังวางไข่ในประเทศไทยบางช่วง บางชนิดเข้ามาในฤดูฝน บางชนิดเข้ามาในฤดูแล้ง บางชนิดเข้ามาในช่วงปลายปีหรือต้นปีราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สร้างรังวางไข่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เมื่อลูกนกโตแข็งแรงจะบินกลับในราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม นกในกลุ่มนี้ได้แก่ นกปากห่าง นกแอ่นทุ่ง เป็นต้น และ

๕.นกย้ายถิ่นในฤดูหนาว พบเห็นน้อยครั้ง

ทั้งนี้ ในประเทศไทย แบ่งกลุ่มของนกอพยพได้ดังนี้

๑.กลุ่มนกบก (Terrestrial Bird) เมื่ออากาศหนาว ดินแห้ง น้ำเป็นน้ำแข็ง ต้นพืชหยุดเจริญเติบโตไม่ผลิดอกออกผล แมลงจะหลบพักซ่อนตัวอยู่ในดิน หรือในแหล่งต่างๆ นกก็ต้องอพยพลงมาสู่พื้นที่แหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ นกกินเมล็ดพืช และนกกินแมลง เช่น นกจาบปีกอ่อน นกเด้าลม นกพงหญ้า นางแอ่นบ้าน

๒.กลุ่มนกทะเล (Sea Bird) เมื่ออากาศหนาว น้ำเป็นน้ำแข็ง ไม่สามารถจับหาปลาเป็นอาหารได้ ก็ต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาตามชายฝั่งที่อบอุ่นกว่า ได้แก่ พวกนกนางนวล ฯลฯ

๓.กลุ่มนกชายเลน (Shore Bird) เมื่อน้ำเป็นน้ำแข็ง นกที่อาศัยในพื้นที่แหล่งน้ำก็ต้องอพยพไปหาแหล่งน้ำที่มีอาหารและที่หลบภัยทางตอนใต้ ซึ่งสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยตลอดฤดูหนาว ได้แก่ นกทะเลขาแดง นกสติ๊นต์ นกปากซ่อม ฯลฯ

๔.กลุ่มนกลุยน้ำ (Wadering Bird) เช่นเดียวกัน เมื่ออากาศหนาว นกที่อาศัยในพื้นที่แหล่งน้ำก็ต้องอพยพไปหาแหล่งน้ำที่มีอาหารและที่หลบภัยทางตอนใต้ ได้แก่ นกยาง นกกระสา นกอัญชัน ฯลฯ

๕.กลุ่มห่านป่าและนกเป็ดน้ำ (Waterflow) ได้แก่ ห่านคอขาว เป็ดแดง เป็ดลาย ฯลฯ และ

๖.กลุ่มนกล่าเหยื่อ เมื่อนกหรือสัตว์ที่เป็นเหยื่ออพยพลงมาทางใต้ นกล่าเหยื่อไม่สามารถหาอาหารกินได้ก็ต้องอพยพตามลงมาเช่นกัน ได้แก่ เหยี่ยวและนกอินทรีชนิดต่างๆ
 



สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้นกอพยพ

เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่มีเมตาบอลิซึม (metabolism) สูง จึงจำเป็นต้องกินอาหารตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องหาพื้นที่แหล่งอาหารที่สมบูรณ์และพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างรัง วางไข่ เลี้ยงดูลูกอ่อน การอพยพย้ายถิ่นของนกเกิดเนื่องมาจาก ๒ ปัจจัยที่สอดคล้องกันคือ สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ กล่าวคือต้องมีสภาพแวดล้อมและช่วงเวลาเหมาะสมที่มีอาหารเหลือพอสำหรับสะสมพลังงานสำรองไว้ในตัวให้มากพอที่จะใช้ในระหว่างเดินทาง ซึ่งอาจไม่มีการแวะกินอาหารเลย และช่วงอุณหภูมิที่พอเหมาะที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการบินมากเกินไป การรอจนอาหารเริ่มขาดแคลนและอุณหภูมิลดต่ำลงมาก

นอกจากนกจะต้องสูญเสียพลังงานมากในการบินระยะไกลแล้ว เมื่ออพยพไปถึงถิ่นใหม่ นกต้องใช้เวลาในการแก่งแย่งที่อยู่กับเจ้าของถิ่นเดิม ต้องใช้เวลาในการจับคู่ ทำรัง ฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อนให้แข็งแรงพอในการอพยพกลับ

แสงแดดที่ยาวนานในตอนกลางวันของฤดูใบไม้ผลิเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้นกที่เตรียมการอพยพ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเซลล์ประสาทที่อยู่ทางส่วนล่างของสมอง ต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) จะหลั่งสารเคมีออกมากระตุ้นให้นกเกิดความอยากกินอาหารมากกว่าปกติ สารเคมีโพรแลกติน (Prolactin) จากต่อมใต้สมองพิทูอิทารี (pituitary) จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอโรน (Corticosterone) จากต่อมอะดรีนัล (adrenal) และฮอร์โมนเพศต่างๆ เช่น เทสโตสเตอร์โรน (testosterone) การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมต่างๆ ในสมองและอวัยวะที่มีต่อมควบคุมฮอร์โมนเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้นกกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้อาหารส่วนเกินแปรรูปไปเป็นไขมันเก็บไว้ใต้ผิวหนังที่กล้ามเนื้อปีกและช่องท้อง

การกินอาหารนี้จะต้องมากกว่าร้อยละ ๔๐ ของที่เคยกินตามปกติ นกเล็กๆ เช่น นกกระจอก นกกระจ้อย ต้องกินอาหารถึง ๑-๑.๕ กรัมต่อวัน และการกินเช่นนี้ต้องกระทำนานถึง ๒ สัปดาห์ก่อนการอพยพ นอกจากนั้น ร่างกายจะต้องปรับสภาพให้เปลี่ยนอาหารส่วนเกินไปเก็บในรูปของพลังงานสำรอง เช่น ไขมัน ได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนการอพยพนกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ๓-๕% ของน้ำหนักปกติ เมื่อถึงเวลาอพยพจริงนกที่อพยพในเส้นทางระยะสั้นและระยะกลางจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง ๑๕% ของน้ำหนักตัวปกติ แต่นกที่อพยพข้ามทวีประยะทางไกลจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ๓๐-๕๐% ไขมันที่เก็บไว้นี้ให้พลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญพลังงาน

กล่าวคือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบินสามารถแปรรูปไขมันไปเป็นพลังงานได้ทันทีโดยไม่ทำให้นกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย นกที่อพยพมาเพื่อทำรัง วางไข่ จะอ้วนและมีไขมันที่สะสมมากกว่านกที่อพยพเพื่อหนีหนาว แสดงว่านกมีการเตรียมตัวอพยพระยะทางไกลเพื่อทำรัง วางไข่ มากกว่าการอพยพเพื่อหนีหนาว

ปัจจัยและสิ่งเร้า ทั้งแสงแดดที่ยาวนานในตอนกลางวัน สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เหมาะสมในทั้งสองสถานที่จะต้องพอเหมาะสอดคล้องกัน นกจึงจะอพยพ ถ้าปีใดฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็ว การอพยพก็จะเร็วขึ้น ถ้าหากฤดูใบไม้ผลิช้า การอพยพก็จะล่าไปด้วย





หอยทาก

หอยทาก (Snail) เป็นหอยฝาเดียว จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมมอลลัสคา เป็นสัตว์โบราณที่มีกำเนิดในราวตอนกลางยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous Period)

นับได้ว่าวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์เกือบ ๔๐๐ ล้านปี จนถึงปัจจุบันซึ่งพบมีมากกว่า ๕๐๐ ชนิด

เว็บไซต์ปศุสัตว์ดอทคอม ให้ความรู้ว่า ลักษณะทั่วไปของหอยทากประกอบด้วย ๒ ส่วนที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ คือส่วนที่เป็นตัวหอยหรือเนื้อหอย และเปลือกหอย

ส่วนลำตัวเป็นส่วนเนื้อที่อยู่ภายในเปลือกหอย ยื่นออกด้านนอกเปลือกได้ โดยส่วนปลายของลำตัวจะเป็นส่วนหัวที่ประกอบด้วยหนวด ๒ คู่ มีตาอยู่ที่ปลายหนวด ลักษณะเป็นจุดสีดำ ใช้ทำหน้าที่รับแสง ส่วนหนวดอีกคู่มีขนาดสั้นมากเมื่อเทียบกับหนวดคู่บน หนวดคู่นี้จะอยู่ด้านล่างบริเวณปาก ใช้ทำหน้าที่ดมกลิ่นทางอากาศหรือตามพื้น รวมถึงใช้สำหรับการหาคู่ผสมพันธุ์

อวัยวะสืบพันธุ์อยู่ด้านข้างของตัวหอย มีลักษณะเป็นรูเปิด อาจพบทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา ขึ้นกับการวนของเปลือกหอย เพศผู้จะอยู่ด้านหน้า ส่วนเพศเมียจะอยู่ด้านหลังบริเวณส่วนคอ

แผ่นเท้าใช้คืบคลานอยู่ด้านล่างของด้านข้างลำตัวและส่วนหัว บางชนิดมีแผ่นเท้ายื่นยาวเลยเปลือกออกมา ด้านล่างของแผ่นเท้าที่สัมผัสกับพื้นมีลักษณะเรียบและแผ่กว้างออกด้านข้าง แผ่นเท้านี้จะมีต่อมเมือกหลั่งสารเมือกให้พื้นสัมผัสลื่น เคลื่อนที่ได้ดีขึ้น



สำหรับเปลือกหอยเป็นอวัยวะห่อหุ้มเนื้อหรือลำตัว ลักษณะและขนาดแตกต่างกัน บางชนิดมีขนาดเล็กและบางใส บางชนิดมีขนาดใหญ่และแข็ง บางชนิดไม่มีเปลือก เรียกว่าทากปกติ

การเวียนของเปลือกหอยทากบกจะเวียนขวา แต่มีหอยหลายชนิดที่มีรูปแบบการเวียนซ้าย บางชนิดเช่นหอยนกขมิ้น สกุล Amphidromus มีเปลือกที่เวียนทั้งขวาและซ้าย การสังเกตการเวียนขวาหรือซ้ายทำได้โดยหันปากเปลือกหอยเข้าหาตัว แล้วเอาส่วนของก้นหอยหรือยอดชี้ขึ้นข้างบน ปากเปลือกหันไปทางด้านใดของตัวเราก็เป็นการเวียนแบบนั้น

หอยทากพบได้ทั่วไปตามบริเวณที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มีขอนไม้ เศษใบไม้ หรือกิ่งไม้ผุทับถมกัน บางชนิดพบได้บนต้นไม้ ใต้ใบไม้ บางชนิดชอบอาศัยตามผนังเขาหินปูน

ในช่วงฤดูแล้งหอยทากมักปิดฝาหอยเพื่อเก็บตัวและหลบอาศัยตามที่ชื้น ตามกองเศษไม้ โพรงไม้ หรือฝังตัวอยู่ใต้ดิน

เมื่อถึงช่วงฤดูฝนจึงออกมาด้านนอกเพื่อหาอาหาร ส่วนทากที่ไม่มีเปลือกก็มักจะหลบอาศัยในโพรงไม้หรือซอกหินมากกว่าอยู่ใต้ดิน และสร้างแผ่นหินปูนมาห่อหุ้มลำตัวไว้แน่น

หอยทากแต่ละชนิดชอบกินอาหารที่แตกต่างกัน อาหารทั่วไปมีทั้งพืชสดและซากพืชที่เน่าเปื่อย การกินอาหารจะใช้อวัยวะที่เรียกว่าแผ่นฟัน สำหรับขูดหรือตัดอาหารเข้าปาก

แผ่นฟันของหอยทากมีองค์ประกอบหลักเป็นสารไคติน ประกอบกันขึ้นเป็นแผ่นรูปทรงแบนและบาง เรียงกันเป็นฟันซี่เล็กๆ เป็นแถวเต็มช่องปาก ชนิดที่มีการล่าเหยื่อจะมีซี่ฟันคล้ายดาบยาว ปลายฟันแหลม

พวกกินพืชหรือเศษพืชจะมีซี่ฟันค่อนข้างป้านคล้ายจอบ หรืออาจเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยเพื่อช่วยในการขูดตัดซากพืชเข้าปาก

หอยทากหากินในเวลากลางคืนช่วงดึกและหลังฝนตก เพราะอากาศจะเย็นและมีน้ำค้างตกบนพื้น ทำให้เคลื่อนที่ได้ง่าย ทั้งไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำ หรืออันตรายจากศัตรูนักล่า

น้ำเมือกที่พบบนตัวหอยทากขณะคืบคลานออกหาอาหาร ขับออกมาจากต่อมบริเวณแผ่นเท้าและลำตัว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังลำตัว และช่วยให้เคลื่อนที่ได้สะดวกขึ้น

สารสำคัญที่พบในน้ำเมือก ได้แก่ อัลลานโทอิน (Alantoin) คอลลาเจน (Collagen) อิลาสติน (Elastin) แนเชอรัล แอนตี้ไบโอติกส์ หรือสารปฏิชีวนะธรรมชาติ (Natural antibiotics) และกรดไกลโคลิก (Glycolic acid)



ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2560 15:15:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 09 สิงหาคม 2560 17:03:56 »


ฉลามสีนํ้าเงิน
นักตกปลาสมัครเล่นจากเมืองเอสเซ็กซ์ ๔ คนมีสีหน้ายิ้มแย้มเฮฮาแม้จะต้องช่วยกันอุ้มปลาฉลามตัวเขื่องที่พวกเขาจับได้ระหว่างไปตกปลากันนอกชายฝั่งเมืองเพนซานซ์ เมืองเก่าแก่ที่มีอ่าวและท่าเรือสวยงามเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในแคว้นคอนวอลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ

ฉลามที่จับได้ครั้งนี้เป็นฉลามสีนํ้าเงิน (Blue shark) มีขนาดลำตัวยาว ๒.๗๔ เมตร โดยทั้ง ๔ หนุ่มนักตกปลาใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมงในการจับขึ้นมา เมื่อพวกเขานำมาคำนวณน้ำหนักด้วยการวัดความยาวและเส้นรอบวงของตัวฉลาม พบว่าเจ้าฉลามมีน้ำหนักกว่า ๑๑๖ กิโลกรัม ทำลายสถิติฉลามสีนํ้าเงินที่เคยจับได้ก่อนหน้านี้ที่มีหนักราว ๙๗ กิโลกรัมและยืนสถิตินั้นมาอย่างยาวนานถึง ๕๘ ปี มีรายงานว่า เมื่อจับมาและบันทึกภาพและสถิติล่าสุดแล้ว นักตกปลาทั้ง ๔ คนก็ปล่อยฉลามสีนํ้าเงินคืนกลับสู่ท้องทะเลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหากให้ฉลามอยู่บนบกนานเกินไปนั้นจะไม่เป็นผลดีต่อสัตว์ทะเล

ทั้งนี้ ฉลามสีนํ้าเงินเป็นฉลามทะเลลึก ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) อย่างไรก็ตาม ปลาฉลามสีนํ้าเงินขนาดใหญ่ ที่เคยพบนั้นมีน้ำหนักเกือบ ๓๗๕ กิโลกรัม โดยเป็นการพบในเขตอบอุ่น แต่จริงๆ แล้วปลาฉลามสายพันธุ์นี้สามารถพบในมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งตามปกติฉลามดังกล่าวจะมีขนาดยาวประมาณ ๔ เมตร และมีน้ำหนักกว่า ๑๘๐ กิโลกรัม.




วอมแบตจมูกขน
วอมแบตจมูกขน (hairy-nosed wombat) เป็นสัตว์ในวงศ์จิงโจ้ แต่มีขนยาวที่ได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลกและถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หน้าตาของเจ้าวอมแบตจมูกขนนั้นละม้ายคล้ายคลึงกับหมี มีถิ่นอาศัยอยู่แถบรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิคตอเรีย และรัฐควีนส์แลนด์ในประเทศออสเตรเลีย

ล่าสุด กรมการสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ได้เผยภาพของแม่วอมแบตจมูกขน ซึ่งเจ้าหน้าดูแลสัตว์ป่าได้เฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ตลอด ๑๐ เดือนที่ผ่านมา ในสถานที่หลบภัยทางธรรมชาติริชาร์ด อันเดอร์วูด รัฐควีนส์แลนด์ แม่วอมแบตจมูกขนตัวนี้เพิ่งออกลูกใหม่ สร้างความยินดีที่สายพันธุ์หายากมีการขยายเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ ซึ่งลูกวอมแบตจมูกขนถูกตั้งชื่อว่าโจอี้ เป็นผลงานจากโปรแกรมการอนุรักษ์เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าจำนวนเพียง ๒๕๐ ชนิด

การเกิดมาของโจอี้ วอมแบตจมูกขนตัวน้อย นับเป็นเรื่องที่ทางการออสเตรเลียให้สำคัญ และยังชี้ให้เห็นถึงความความจำเป็นของที่หลบภัยทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงทำให้สัตว์เหล่านี้พ้นจากภัยคุกคามของหมาป่า โรคภัย และการแข่งขันเพื่อหาอาหารด้วยเช่นกัน.




หมีน้ำ

หมีน้ำ (water bear) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือทาร์ดิเกรด (tardigrade) ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับหมีที่เรารู้จัก แต่หมีน้ำมี ๘ ขา เล็บเล็บคม ขนาดตัวของมันเล็กจิ๋วประมาณ ๐.๑ เซนติเมตร แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน จนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องถึงจะเห็น มันอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบกและสามารถเอาตัวรอดได้แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดโต่งรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา เผยว่า หากโลกเกิดหายนะจากหินอวกาศพุ่งชนโลก หรือเกิดระเบิดของรังสีแกมมาจากดาวอื่น มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกจะหายไป แต่มั่นใจว่าสิ่งมีชีวิตที่จะรอดหลงเหลืออยู่คือหมีน้ำ พวกมันจะสืบทอดลูกหลานไปอีกหลายพันล้านปีตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ดับสูญ เนื่องจากร่างกายทนทานได้ทั้งความร้อนสูงถึง ๑๕๐ องศาเซลเซียส และเย็นติดลบลงไปถึง ๒๗๐ องศาเซลเซียส หรือแม้จะโดนรังสีสูงถึง ๖,๒๐๐ เกรย์ ก็ยังรอดชีวิต

หมีน้ำส่วนใหญ่พบในพืชจำพวกมอสบนต้นไม้ ในทรายตามน้ำจืดและในทะเล พวกมันยังสามารถจำศีลได้นานหลายสิบปี นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าหากหมีน้ำสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่รุนแรง ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลกได้เช่นกัน.




กบเป็นสัตว์ที่รอดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เมื่อ ๖๖ ล้านปีก่อน

การพุ่งชนของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เมื่อ ๖๖ ล้านปีที่แล้ว ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ในโลก ในขณะที่ ๓ ใน ๔ ของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งไดโนเสาร์ถูกกวาดล้างไปหมด แต่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเชื่อว่าจะมีสัตว์มากกว่า ๑๐ สายพันธุ์สามารถรอดชีวิต และสืบทอดสายพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ ในจำนวนสิ่งมีชีวิตที่รอดมานั้นมีกบ ๓ ชนิดใหญ่ๆ ออกลูกออกหลานแพร่กระจายไปทั่วโลก

กบเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกมาตั้งแต่ ๒๐๐ ล้านปีก่อน แต่ในรายงานของ National Academy of Sciences เผยว่า ปัจจุบันมีกบอยู่ประมาณ ๖,๗๐๐ สายพันธุ์ และเกือบ ๘๘% ของกบยุคใหม่นั้น เมื่อสืบค้นลงไปก็พบว่าวิวัฒนาการของสัตว์ชนิดนี้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่าง ๖๖-๑๕๐ ล้านปีก่อน ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากจีนและสหรัฐอเมริกาได้รวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรมจากซากดึกดำบรรพ์กบมาเทียบกับพันธุกรรมกบยุคปัจจุบัน จากตัวอย่างพันธุกรรม ๑๕๖ ชนิด และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของยีนจำนวน ๙๕ ยีน พบสายพันธุ์อันดับกบ ๓ ชนิด คือ พันธุ์ Microhylidae หรือวงศ์อึ่งอ่าง และพันธุ์ Natatanura มาจากแอฟริกา ส่วนพันธุ์ Hyloidea นั้นแพร่กระจายไปทั่วอเมริกาใต้ นักวิทยาศาสตร์เผยว่าการที่กบไม่สูญพันธุ์อาจเป็นเพราะพวกมันต้องหลบซ่อนอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานในยุคที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิต แต่เมื่อเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง กบจึงปรับตัวอย่างรวดเร็วและเผยตัวออกมา

นอกจากนี้ กบสามารถอาศัยอยู่ในป่าขนาดเล็ก เมื่อป่าไม้และระบบนิเวศในเขตร้อนฟื้นตัวขึ้นก็ปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศได้ดี การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ากบเป็นสัตว์ที่แข็งแรง สามารถรอดชีวิตได้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรง เป็นไปได้ว่ากบยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็น่าจะอยู่รอดได้เช่นเดียวกัน.




ผีเสื้อหายาก

การค้นพบผีเสื้อหายากบางครั้งก็ไม่ต้องเสาะแสวงหาในพื้นที่ไกลๆ แต่อาจพบเจอในพื้นที่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการเจริญเติบโตของผีเสื้อหายาก เช่น ในเขตฐานทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักชีววิทยาจากศูนย์บริการด้านอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เผยว่าพบผีเสื้อสีน้ำตาลฟรอสต์ เอลฟิน Frosted elfin ปีกขนาด ๒.๕ เซนติเมตร ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยยุทโธปกรณ์เครื่องจักรขนาดยักษ์เพื่อใช้ในการสงคราม

ผีเสื้อชนิดดังกล่าวถูกระบุว่าพบในฐานทัพอากาศเวสต์โอเวอร์ และแคมป์เอ็ดเวิร์ด ในรัฐแมสซาชูเสตต์ รวมทั้งในป้อมแม็คคอย ในรัฐวิสคอนซิน ป้อมแบร็กก์ ในนอร์ท แคโรไลนาและที่ฐานทัพทหาร ในนิวแฮมพ์เชียร์ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าผีเสื้อหายากนี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ฐานทัพเวสต์โอเวอร์เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ถูกระบุว่ามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะให้ผีเสื้อดำรงชีวิตได้ดี รวมทั้งสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย

นักชีววิทยาด้านสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เผยว่า พบแมลงประมาณ ๑๓๐ ตัว ในพื้นที่ฐานทัพช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ นับตั้งแต่เริ่มการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ โดยผีเสื้อสีน้ำตาลฟรอสต์ เอลฟิน จะอาศัยอยู่ตามเขตแนวรัฐนิวอิงแลนด์ไปถึงรัฐฟลอริดารวมถึงรัฐเท็กซัส และแม้ผีเสื้อชนิดนี้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อของรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ แต่พวกมันต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน นอกจากนี้ คาดว่าจะพบชนิดพันธุ์ที่หายากในพื้นที่อื่นๆ ด้วย


 

แมวป่าบ็อบแคท

บ็อบแคทเป็นสายพันธุ์แมวป่าอาศัยอยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่หนาวเย็นทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาและทางใต้ของแคนาดา อยู่ในสกุลเดียวกับลิงซ์ แมวป่าที่ขนาดตัวใหญ่กว่า แต่บ็อบแคทมีขนาดเล็กขาสั้นคล้ายแมวบ้าน ลำตัวล่ำสัน ขนปุยสีเข้มเป็นลายจุด ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะถูกคุกคาม แต่ในแคนาดาก็มีการควบคุมการล่า รวมถึงบางรัฐในสหรัฐฯและเม็กซิโกก็ออกกฎเช่นเดียวกัน

แต่การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยสัตว์ป่าจากกรมทรัพยากรธรรมชาติรัฐวิสคอนซิน ในสหรัฐอเมริกา รายงานในวารสารการจัดการด้านประมงและสัตว์ป่า พบว่าบ็อบแคทขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษ มีมากถึง ๓,๖๐๐,๐๐๐ ตัว และกลายเป็นแมวป่าที่พบได้ตามชุมชน เช่น มันจะเดินทอดน่องสบายอารมณ์ในสนามหลังบ้าน วิ่งไล่ล่าตัวชิปมังก์ หรือพบตามถนนหนทางในเมือง ซึ่งผิดปกติวิสัยของแมวป่าที่ขึ้นชื่อว่าขี้อายและรักสันโดษชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เผยว่า การเติบโตของบ็อบแคท เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากการลดลงของการล่าสัตว์และสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้พวกมันไม่ต้องมุมานะหาอาหารเหมือนในอดีต

แต่การเพิ่มจำนวนมากขึ้นของบ็อบแคทดูจะไม่เป็นผลดีกับการปศุสัตว์ เมื่อเดือนก่อนตำรวจรัฐแมสซาชูเสตต์ต้องใช้ปืนยิงบ็อบแคทที่โจมตีสุนัขขนาดใหญ่ ๒ ตัว หรือเหตุการณ์เกษตรกรในรัฐนิวแฮมพ์เชียร์ก็ได้ยิงเจ้าแมวป่าตาย ซึ่งได้มีการร้องเรียนจากสาธารณชนให้ดักจับและย้ายบ็อบแคทออกไป ทำให้หลายรัฐกำลังพิจารณารื้อฟื้นการล่าสัตว์และการดักจับเพื่อช่วยควบคุมการเติบโตของประชากรบ็อบแคทแล้ว.

https://www.thairath.co.th




ช้าง แมมมอธ

แมมมอธ (Mammoth) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้างที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อกว่า ๒๐,๐๐๐ ปีก่อน จัดอยู่ในวงศ์ Elephantidae เช่นเดียวกับช้างที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยอยู่ในสกุล Mammuthus พบกระจายพันธุ์ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรปและเอเชียเหนือ เช่น ไซบีเรีย ยกเว้นออสเตรเลียและอเมริกาใต้ เป็นช้างที่มีลำตัวและงาใหญ่กว่าช้างยุคปัจจุบันมาก

ทั้งนี้ คำว่า แมมมอธ มาจากศัพท์ Mammal หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับมนุษย์ในยุคหินเก่า ด้วยการล่าเอาเนื้อเป็นอาหาร หนังและไขมันเป็นเครื่องสร้างความอบอุ่น มีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหลายแห่งที่ให้ภาพการล่าแมมมอธด้วยอาวุธที่ทำจากหิน

แมมมอธกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว ๒.๖ ล้านปีก่อน ในยุคไพลโอซีนตอนต้น และสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิงเมื่อ ๑๑,๗๐๐ ปีที่ผ่านมา (แมมมอธ ตัวสุดท้ายที่สูญพันธุ์ คือ แมมมอธแคระ อาศัยบนเกาะแรงเกลในทะเลอาร์กติก เมื่อราว ๓,๗๐๐ ปีก่อน)

แมมมอธมีขนาดโดยเฉลี่ย ๔ เมตร (๑๔ ฟุต) ตั้งแต่เท้าจนถึงหัวไหล่ มีสีขนที่หลากหลายตั้งแต่น้ำตาล หรือน้ำตาลออกเหลือง ความยาวขนตั้งแต่ ๒.๕ เซนติเมตร (๑ นิ้ว) จนถึง ๕๐ เซนติเมตร (๒๐ นิ้ว) ภายใต้ผิวหนังหนาและมีชั้นไขมันเป็นฉนวนกันความหนาว ๘ เซนติเมตร (๓ นิ้ว)

มีส่วนหัวที่กลม ใบหูเล็กกว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก มีโหนกไขมันอยู่บริเวณส่วนหลัง งายาวโค้งได้ถึง ๑๓ ฟุต (๔ เมตร) มีฟันกรามเป็นสัน

ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเหมาะแก่การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความหนาวเย็นในยุคน้ำแข็ง เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกาย

แมมมอธจำแนกออกได้เป็นทั้งหมด ๙ ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะ รูปร่าง แตกต่างกันออกไป ชนิดที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดคือแมมมอธขนดก (Mammuthus primigenius) ที่มีขนปกคลุมอยู่ทั้งตัว

เชื่อว่าแมมมอธสูญพันธุ์เพราะถูกมนุษย์ล่าจนหมด แต่จากการศึกษาด้านพันธุกรรมศาสตร์และดีเอ็นเอพบว่า แมมมอธมีสายสัมพันธ์ใกล้เคียงกับ Elephas หรือช้างเอเชียยุคปัจจุบัน จึงมีความพยายามจากนักวิทยาศาสตร์ที่จะโคลนนิ่งตัวอ่อนของแมมมอธให้เกิดขึ้นมาให้ได้ โดยให้แม่ช้างเอเชียอุ้มท้อง จากการสกัดนิวเคลียสจากซากดึกดำบรรพ์ของลูกแมมมอธที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะแช่แข็งอยู่ในน้ำแข็ง จากไขกระดูกบริเวณต้นขา

และจากหลักฐานใหม่ที่ได้ศึกษาพบว่าแมมอธสูญพันธุ์ไปเพราะสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่า โดยประชากรในยุโรปเกือบสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านั้นเมื่อ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ปีก่อน จากนั้นเมื่อ ๑๔,๐๐๐ ปีก่อนโลกเริ่มมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น จึงพากันสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ใหญ่และมีขนยาวปกคลุมลำตัว

ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.๒๐๑๒ มีการค้นพบซากลูกแมมมอธอายุราว ๓๐,๐๐๐ ปี ที่สมบูรณ์มากตัวหนึ่งที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงมอสโกราว ๓,๕๐๐ กิโลเมตร โดยเด็กชายวัย ๑๑ ขวบ นับเป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์มากซากหนึ่งในรอบนับร้อยปี เชื่อว่าลูกแมมมอธตัวดังกล่าวตายลงเมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีความสูงได้ ๒ เมตร

เกี่ยวกับการคืนชีพแมมมอธ นำคำตอบมาจากเว็บไซต์บีบีซีที่รายงานไว้เมื่อ ๒๐ มี.ค.๒๕๖๐ เรื่องคืนชีพแมมมอธขนยาวใน ๒ ปีข้างหน้า ทำได้จริงหรือไม่? โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ข่าวความพยายามคืนชีพช้างแมมมอธขนยาวที่สูญพันธุ์ไปแล้วนับหลายพันปี โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดย ศ.จอร์จ เชิร์ช ผู้นำโครงการ ประกาศว่าจะคืนชีพแมมมอธได้ภายในเวลาเพียง ๒ ปีนับจากนี้









จากการตรวจสอบรายละเอียดของโครงการพบว่า ไม่ได้ปราศจากความเป็นไปได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น และผลที่ได้จะไม่ใช่ช้างแมมมอธขนยาวตัวเป็นๆ โลดแล่นในทุ่งหญ้าของไซบีเรียอย่างในจินตนาการ แต่อาจเป็นเซลล์ตัวอ่อน ของ “ลูกครึ่งแมมมอธ” เพียงเซลล์เดียว

แมมมอธขนยาวไม่ใช่สัตว์สูญพันธุ์ชนิดแรกที่วิทยาศาสตร์ช่วยให้คืนชีพ แต่เป็น แพะภูเขา Pyrenean ibex โดยห้องทดลองในสเปนเพาะขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จเมื่อปี ๒๐๐๓ แม้มันจะมีชีวิตอยู่หลังลืมตาดูโลกได้เพียงไม่กี่นาที

ในกรณีของช้างแมมมอธขนยาว ขั้นแรกต้องสร้างเซลล์ของแมมมอธเซลล์แรกขึ้นมาให้ได้ก่อน แล้วจึงกระตุ้นให้กลายเป็นตัวอ่อน และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนกลายเป็นแมมมอธทั้งตัว ซึ่งในกรณีของ ศ.เชิร์ช เชื่อว่าจะสามารถสร้างเซลล์แรกและตัวอ่อน ของช้างแมมมอธได้ภายใน ๒-๓ ปีนี้

ศ.เชิร์ช และคณะ นำยีนของแมมมอธขนยาวใส่เข้าไปในพันธุกรรมของช้างเอเชีย ญาติใกล้ชิดกับแมมมอธที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้ ๔๕ ตำแหน่งแล้ว ยีนเหล่านี้จะทำให้ได้ลูกช้างที่มีขนยาวหนา มีไขมันสะสมจำนวนมาก ทั้งมีฮีโมโกลบินในเลือดชนิดพิเศษที่ทำให้อาศัยอยู่ในอุณหภูมิต่ำได้ดีเหมือนช้างแมมมอธในยุคน้ำแข็ง

แต่ช้างเอเชียยังคงมียีนที่แตกต่างจากแมมมอธขนยาวอีกกว่า ๑,๖๐๐ ตำแหน่ง ทำให้ลูกช้างที่จะเกิดมาเป็นลูกครึ่งที่มียีนช้างเอเชียอยู่เป็นส่วนใหญ่ ศ.เชิร์ชอยากเรียกมันว่า “แมมโมแฟนต์” (Mammophant) หรือ “เอเลมอธ” (Elemoth) มากกว่า แม้จะมีลักษณะภายนอกดูคล้ายช้างแมมมอธขนยาวมากก็ตาม

และแม้จะสามารถสร้างเซลล์แรกของช้างลูกครึ่งแมมมอธขึ้นมาได้แล้ว ก็ยังจะต้องผ่านด่านการทำให้เป็นตัวอ่อนซึ่งยากลำบากไม่แพ้กัน โดยต้องนำดีเอ็นเอของลูกครึ่งแมมมอธไปใส่ในเซลล์ไข่เปล่าๆ ของช้างเอเชีย ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการโคลนนิ่ง แต่เทคนิคนี้ยังมีปัญหาอย่างมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังขาดความเข้าใจอย่างละเอียดในกระบวนการโคลนนิ่ง ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจะใช้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างช้างได้หรือไม่

ดังนั้น จึงอาจต้องทดลองโคลนนิ่งช้างเอเชียก่อน โดยต้องเก็บไข่จากช้างตัวหนึ่งและนำตัวอ่อนไปไว้ในครรภ์ของแม่ช้างอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นการยากและอันตรายกับช้างซึ่งปัจจุบันเป็นสัตว์ที่มีจำนวนลดลงจนอยู่ในระดับใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์

แต่ ศ.เชิร์ชหวังว่าจะสามารถคืนชีพช้างแมมมอธขนยาวได้ โดยไม่ต้องรบกวนการดำรงชีวิตของช้างในปัจจุบัน โดยอาจใช้เทคนิคการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดหรือสะเต็มเซลล์จากผิวหนังช้างเอเชีย แล้วนำไปกระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์ไข่ ส่วนตัวอ่อนนั้นสามารถนำไปเพาะเลี้ยงในครรภ์ประดิษฐ์ หรือมดลูกที่สร้างขึ้น โดยไม่ต้องให้แม่ช้างอุ้มท้องได้ โดยปัจจุบันห้องทดลองของเขาได้พัฒนาครรภ์ประดิษฐ์จนสามารถเลี้ยงตัวอ่อนหนูให้เติบโตได้นานเป็นเวลา ๑๐ วันแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมองกันว่า การพัฒนาครรภ์ประดิษฐ์เพื่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อนลูกครึ่งช้างแมมมอธให้เติบโตเป็นเรื่องยาก เพราะลูกช้างมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากเท่าเครื่องซักผ้า ทั้งสูตรของสารอาหารที่หล่อเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ก็น่าจะแตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งต้องมาคิดค้นกันต่อ

นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่า ควรจะคืนชีพให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วดีหรือไม่ เพราะมันอาจไม่มีชีวิตรอดในโลกปัจจุบัน ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยได้สูญสิ้นไปแล้ว หรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์แต่แรกนั้นยังอาจคงอยู่ สัตว์ที่คืนชีพมาใหม่ยังอาจกลายเป็นศัตรูพืชหรือตัวทำลายสมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลกระทบไม่พึงประสงค์ต่อคนและสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย
....ข่าวสดออนไลน์



ลิงกระรอก

เนื่องจากอากาศอันร้อนเหลือเกินในเมือง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ทำเอาเจ้าลิงกระรอก (Squirrel Monkey) ที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ในเมืองแห่งนี้ ถึงกับหมดแรงจะปีนป่ายตามต้นไม้หรือวิ่งเล่นสนุกตามประสาลิง เจ้าจ๋อตัวนี้จึงนอนหลับนิ่งๆบนกิ่งไม้ใหญ่

ลิงกระรอกนับเป็นลิงขนาดเล็กมีขนาดลำตัวจากหัวจดโคนหางยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว หน้าตาน่ารักเป็นสีชมพู บริเวณรอบจมูกและปากเป็นสีดำ เป็นสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่ในในทวีปอเมริกาใต้.



ปลาฉลามไม้ไผ่

การกินอาหารของปลาฉลามไม้ไผ่ (Bamboo shark) เป็นสิ่งที่ทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในรัฐโรดไอซ์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดความสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารของฉลามชนิดนี้ที่ไม่มีลิ้นควบคุมการเคลื่อนไหวของของเหลวภายในปาก เพื่อจัดการกับอาหาร แต่มีคอหอยยาวเพื่อเก็บกักอาหารไว้

นักวิจัยได้ทดลองฝังสารประกอบเคมีอินทรีย์ทังสเตน คาร์ไบด์ลงไปในฉลามไม้ไผ่ ๓ ตัว และใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพรังสีเอ็กซ์ที่มีความซับซ้อนที่เรียกว่า X-ray Reconstruction of Moving Morphology (XROMM) ร่วมกับการใช้วิธีซีที สแกน (CT scan) คือการใช้เครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ เพื่อดูโครงกระดูกและการกินอาหารด้วยรายละเอียดสูง ทีมวิจัยเผยว่าฉลามใช้วิธียกส่วนของไหล่และหน้าอกเพื่อสร้างแรงดูดเพื่อดึงอาหารเข้าไป ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ากระดูกอ่อนระหว่างหัวและลำตัวของฉลามจะเป็นส่วนที่มีบทบาทในการควบคุมครีบด้านหน้าและผลักดันอาหารไปตามระบบทางเดินอาหาร ปลาฉลามไม้ไผ่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พวกมันอาศัยอยู่ตามแนวปะการังทั่วไปในมหาสมุทรอินเดีย เป็นฉลามขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ ๒๔-๓๗ นิ้ว และเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตจะหมดไปกับการมองหาเหยื่อมาเป็นอาหาร ซึ่งอาหารโปรดคือปลาตัวเล็กตัวน้อยและสัตว์จำพวกไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอย ปู ซึ่งการวิจัยครั้งนี้อาจจะช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยคนอื่นๆ ตรวจสอบโครงสร้างและวิวัฒนาการการเคลื่อนไหวของฉลาม เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจการเคลื่อน ไหวของปลาฉลามและปลาอื่นๆ ต่อไป.




เสือดำ-เสือดาว

เสือดาว, เสือดำ (leopard, panther) ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera pardus สกุล Panthera

ด้วยมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมากและถิ่นที่อยู่อาศัยหลากหลาย เสือดาวในแต่ละพื้นที่จึงมีลักษณะภายนอกแตกต่างกันมาก เสือดาวในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้ามักมีพื้นสีเหลืองทองหรือน้ำตาลแดง เสือดาวในทะเลทรายมีสีครีมซีดจนถึงน้ำตาลเหลือง เสือดาวในบริเวณที่หนาวเย็นจะมีสีเทามากกว่า ส่วนเสือดาวในป่าฝนจะมีสีน้ำผึ้งเข้ม และเสือดาวบนภูเขาสูงมีสีคล้ายเสือดาวในป่าฝนแต่เข้มกว่า เสือดาวที่อยู่ในเขตหนาว มีการเปลี่ยนสีตามฤดูกาลด้วย โดยมีสีซีดที่สุดในฤดูหนาว

เสือดาวมีลายดอกสีดำอยู่ทั่วตัว ตั้งแต่หัว ลำตัว ขา และหาง จุดบริเวณสีข้าง หลังและสะโพกมีลักษณะเป็นจุดเรียงกันเป็นวงเล็กๆ มีช่องว่างตรงกลาง เรียกว่า ลายขยุ้มตีนหมา ลักษณะของลายใช้เป็นตัวระบุพันธุ์ของเสือดาวได้ เช่น เสือดาวพันธุ์อามูร์มีลายดอกใหญ่ ดอกที่สีข้างซึ่งใหญ่ที่สุดมีขนาดราว ๕x๕ เซนติเมตร มีช่องว่างระหว่างดอกมาก อาจมากถึง ๒.๕ เซนติเมตร จุดที่เรียงกันเป็นลายดอกจะเชื่อมติดกันเป็นวง ไม่มีแยกจากกัน และที่กลางดอกจะมีสีเข้ม เสือดาวในตอนเหนือของจีนและเทือกเขาหิมาลัยมีดอกใหญ่เช่นกัน แต่เทียบกับเสือดาวอามูร์แล้วดอกจะค่อนข้างเล็กกว่า อยู่ชิดกันมากกว่า และสันดอกบางกว่า

หัวของเสือดาวค่อนข้างเล็กและมน ม่านตาสีเหลือง เขียว หรือเทา หูกลม หลังหูมีสีดำแต้มสีขาวตรงกลาง ขาค่อนข้างสั้น ปลายหางสีดำ ใต้หางมีสีขาว เมื่อแม่เสือดาวเดินนำหน้าลูกๆ ในป่าทึบที่มืดครึ้ม สีขาวที่ใต้หางและจุดขาว ๒ จุดที่หลังหู อาจเป็นสัญญาณบอกทิศของแม่ให้ลูกๆ ของมัน ขนาดของเสือดาวแตกต่างกันมาก ขึ้นกับพันธุ์และสถานที่ ตัวใหญ่ที่สุดอาจมีความยาวเกือบ ๕ ฟุตและหาง ๓ ฟุต เสือดาวมีกะโหลกหนัก มีโพรงสำหรับกล้ามเนื้อกรามขนาดใหญ่ มีหนวดและคิ้วยาวช่วยปกป้องดวงตาและช่วยในการเคลื่อนไหวยามค่ำคืน




เสือดำ เป็นเสือชนิดเดียวกันกับเสือดาว มีสีดำทั่วทั้งตัว เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึม ใต้ท้องของเสือดำมีสีจางเล็กน้อย ผิวสีดำของเสือดำไม่ได้ดำสนิท และมีลายอยู่ด้วย แต่กลมกลืนไปกับสีของขน จะเห็นชัดเวลาต้องแสงแดด ลูกเสือที่เกิดใหม่ในครอกเดียวกัน อาจมีทั้งสองชนิดคือเสือดาวและเสือดำ

ปัจจุบันนักอนุกรมวิธานจำแนกเสือดาวออกเป็น ๙ ชนิดย่อย คือ เสือดาวอินโดจีน, เสือดาวอินเดีย, เสือดาวจีนเหนือ, เสือดาวศรีลังกา, เสือดาวชวา, เสือดาวอามูร์, เสือดาวแอฟริกา, เสือดาวเปอร์เซีย, เสือดาวอิหร่าน และเสือดาวอาหรับ

เสือดาวเป็นเสือที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ทนแล้งได้ดี อยู่ได้โดยไม่ต้องกินน้ำได้หลายวัน โดยอาศัยน้ำจากเหยื่อที่มันกินเท่านั้น เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน ตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกกลาง เรื่อยไปจนถึงจีนและไซบีเรีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีผู้พบซากเสือดาวอยู่ที่ระดับสูงสุดถึง ๕,๗๐๐ เมตร ในเทือกเขาคีรีมันจาโร

เสือดาวเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก มันลากแอนติโลปขนาดใหญ่หรือลูกยีราฟที่อาจหนักกว่าถึงสองสามเท่าขึ้นไปกินบนต้นไม้ได้ ไม่ชอบน้ำนักแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่ออกหากินเวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว เสือดาวมักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหลืบหิน

การล่าของเสือดาว มันใช้วิธีย่องเข้าหาจนใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วกระโจนเข้าจับ เสือดาวกินสัตว์ได้แทบทุกชนิด ตั้งแต่แมลง นก เม่น กระต่าย ลิง กวาง แพะป่า อิมพาลา วิลเดอบีสต์ จนถึงอีแลนด์ หรือแม้แต่ซากสัตว์ บางครั้งก็ล่าวัวควาย เสือดาวมักเก็บเหยื่อไว้บนง่ามไม้ ทำให้ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าหรือสัตว์กินซากตัวอื่นที่จะมาแย่งไปได้

เสือดาวมักเป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านของความฉลาดและเจ้าเล่ห์กว่าเสือชนิดอื่นๆ เป็นเสือที่สามารถจับเม่นกินโดยไม่เคยมีรายงานว่าถูกขนเม่นเล่นงานจนตายเลย ขณะที่เสือโคร่งและสิงโตจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะขนเม่น
...ข่าวสดออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2560 16:25:57 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2560 16:42:35 »




นกอัลบาทรอส
นักชีววิทยาพบนกอัลบาทรอสเพศเมีย สายพันธุ์เลย์สัน อันพวกเขาตั้งชื่อว่า “วิสดอม” วัย ๖๖ ปี นับเป็นนกทะเลอายุมากที่สุด แก่ที่สุดในโลก เท่าที่รู้ที่เห็น บริเวณที่เจอคือ “แหล่งพักพิงสัตว์ป่าแห่งชาติเกาะปะการังมิดเวย์-Midway Atoll National Wildlife Refuge

อัลบาทรอสพันธุ์เลย์สันเป็นนกทะเลขนาดใหญ่ที่สุด วิสดอมกลับมาสร้างรังเพื่อวางไข่ กกไข่ ฟักไข่ ตรงจุดเดิมที่เธอกับคู่ชีวิตเคยทำ นอกจากนี้ วิสดอมได้รับการยอมรับว่าเป็นวิหคอาวุโสสูงวัยที่สุดที่ยังแข็งแรงสุขภาพสมบูรณ์ สามารถมีลูกแพร่ขยายพันธุ์ได้

บ็อบ เพย์ตัน หัวหน้าโครงการ “บริการมัจฉาและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ (U.S. Fish and Wildlife Service)” ชี้แจงว่า วิสดอมให้กำเนิด “ลูกเจี๊ยบ” รวมแล้วไม่กี่โหล เพิ่งกลับมามิดเวย์หลังจากหายไปกว่าหกทศวรรษ นักสกุณาวิทยาได้ติดปลอกระบุอัตลักษณ์ให้วิสดอมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙

เกาะปะการังมิดเวย์อยู่ห่างจากฮอนโนลูลูทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๑,๙๐๐ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์นาวิกโยธินแห่งชาติ
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




แมวป่าลิงซ์
ลิงซ์ แมวป่าหางสั้น หูตั้งตรงชี้แหลม ขนปุกปุย ออกมาเดินเป็นคู่ ทำเอานักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนเล่นสกีในวนอุทยานรัฐโคโลราโดตื่นตะลึงไปตามๆ กันเมื่อได้เห็นภาพหายาก จนต้องกดบันทึกภาพและวีดิโอลงสมาร์ทโฟน จับภาพเจ้าแมว ๒ ตัวที่ไม่มีท่าทีดุร้ายและเดินอย่างสบายอารมณ์ผ่านเข้าไปท่ามกลางฝูงชน โดยไม่ได้สนใจต่อสายตามนุษย์มากมายหลายคู่ที่จับจ้อง

ลิงซ์เป็นสัตว์พื้นเมืองของโคโลราโด โตเต็มวัยสูงเกือบ ๑ เมตร น้ำหนัก ๑๓.๖ กิโลกรัม มีอุ้งเท้าขนาดใหญ่เดินได้เหมือนรองเท้าย่ำหิมะและน้ำแข็ง มันได้สูญหายไปจากรัฐโคโลราโดในปี ๒๕๑๓ จากการถูกล่า อาหารเป็นพิษ และการพัฒนาเมือง ทางการได้นำมันกลับมาจากแคนาดาและรัฐอลาสกาเมื่อปี ๒๕๔๒ นักชีววิทยาคาดคะเนว่าปัจจุบันมีลิงซ์อาศัยอยู่ในป่าโคโลราโดราวๆ ๕๐-๒๕๐ ตัว ลดลงจากเดิมที่มีอยู่ ๒๐๐-๓๐๐ ตัว ทั้งนี้ เจ้าแมวป่าลิงซ์แสนน่ารัก มีรายชื่ออยู่ภายใต้การปกป้องของรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ใน ๔๘ รัฐแล้ว
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




ผึ้งบัมเบิลบี - สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
กรมสัตว์ป่าประเทศสหรัฐอเมริการายงานการลดจำนวนลงถึง ๙๐% ของผึ้งบัมเบิลบี นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ โดยชนิดที่ห่วงว่าจะสูญหายไปคือสายพันธุ์ Rusty Patch Bumble Bee เป็นแมลงท้องถิ่นดั้งเดิมแถบสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เจ้าผึ้งตัวอ้วนขนฟูฟ่องตัวท้องลายขาวสลับเหลือง ปรากฏให้เห็นใน ๒๘ รัฐในอเมริกา จากเซาท์ ดาโกตาจนถึงคอนเนกติกัต และในบางพื้นที่ของออนทาริโอ และควีเบคในแคนาดา แต่ปัจจุบันพบว่ามันเหลืออยู่ใน ๑๓ รัฐและเมืองออนทาริโอ ในแคนาดา นับเป็นการลดลงอย่างรุนแรงจนต้องขึ้นบัญชีเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยปีที่ผ่านมาได้เพิ่มรายชื่อผึ้งฮาวาย ๗ สายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน

สาเหตุการลดจำนวนลงเกิดจากหลายปัจจัย เช่น เป็นโรค การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สูญเสียถิ่นที่อยู่ รวมถึงได้รับยาฆ่าแมลงชื่อนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids) ที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทของผึ้ง สารตัวนี้จะสะสมในพืช เมื่อผึ้งได้รับเข้าไป มันจะอ่อนแรงบินกลับเอาอาหารไปให้ตัวอ่อนและผึ้งนางพญาไม่ได้ จากนั้นก็จะตาย จึงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของผึ้งและห่วงโซ่อาหาร เพราะมันเป็นพาหะถ่ายเรณูที่สำคัญต่อการผสมเกสรดอกไม้และพืชผัก

ทั้งนี้ ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแผนฟื้นฟูและให้ความสนใจต่อแผนงานของนักอนุรักษ์ที่เกี่ยวกับสายพันธุ์ใกล้จะสูญพันธุ์.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




พอสซัม
ตัวพอสซัมขนาดเล็กจิ๋วที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่าแฟรี่ พอสซัม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหน้าตาคล้ายหนูแต่มีถุงหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ คือสัตว์อีกชนิดที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการตัดไม้ เกิดไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียพบว่าแหล่งที่อยู่ของพอสซัมพันธุ์ลีดบีทเตอร์ มีเฉพาะในที่ราบสูงตอนกลางของรัฐวิกตอเรีย พวกมันอาศัยและทำรังอยู่ในโพรงต้นไม้อายุเก่าแก่ถึง ๒๐๐ ปี เป็นพอสซัมชนิดมีความเสี่ยงสูญพันธุ์เข้าขั้นวิกฤติ คาดว่าเหลือเพียง ๒,๐๐๐ ตัวเท่านั้น สาเหตุของการลดจำนวนลงเกิดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ที่รัฐวิกตอเรียเมื่อปี ๒๕๕๒ และการตัดไม้เก่าออกเพื่อปลูกป่าใหม่

สิ่งที่น่าตระหนกคือช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมานั้น ป่าที่ถูกปลูกใหม่หลังจากการตัดไม้ออกไปมีแนวโน้มเกิดการเผาไหม้อย่างรุนแรง ทำให้สัตว์สูญเสียต้นไม้แหล่งอาศัย โดยเจ้าพอสซัมอาจจะสูญพันธุ์ภายใน ๒๐ ปีข้างหน้า ขณะที่นักวิจัยยังถกเถียงถึงการเพิ่มพื้นที่เขตสงวนอาจจะช่วยรักษาจำนวนพอสซัมได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็อาจส่งผลเสียหายกับสัตว์ชนิดอื่นๆในเวลาเดียวกัน.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




เสือชีตาห์ สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์
เราอาจจะรู้เพียงว่าเสือชีตาห์ตอนเป็นลูกเสือเล็กๆ นั้นจะมีขนปุยน่ารัก พอโตขึ้นก็กลายเป็นเจ้าแห่งความเร็วที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก ด้วยช่วงขาเรียวแข็งแรงมีเล็บเป็นดั่งตะปูใต้อุ้งเท้าช่วยเกาะยึดพื้นดินและมีความยืดหยุ่นของหลังช่วยเพิ่มแรงดีดให้ทะยานไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงโดยมีผู้บันทึกความเร็วล่าสุดถึง ๙๖ กม./ชม. เร็วกว่าสองเท่าของสถิติโลกที่ยูเซน โบลต์ นักวิ่ง ๑๐๐ เมตรชาวจาเมกาวิ่งได้ ๔๔.๗ กม./ชม.เลยทีเดียว

ถึงจะมองว่าเป็นสัตว์ที่มีความสง่างาม เสือชีตาห์ก็มีเรื่องให้น่าแปลกใจ เช่น มันไม่สามารถร้องคำราม ทำได้แค่เสียงครางแผ่วเบาและขู่ฟ่อ ทั้งปีนต้นไม้เองไม่ได้ และมองในความมืดก็ไม่ได้ดี แต่เสือชีตาห์เป็นสัตว์สังคม ตัวผู้จะออกไปสังสรรค์กับฝูงขณะที่ตัวเมียจะอยู่อย่างสันโดษเลี้ยงลูกๆ ในพื้นที่ส่วนตัว

ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาลูกเสือชีตาห์แอฟริกาลดจำนวนลงอย่างน่ากลัว สาเหตุจากโรคและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในตลาดมืด แต่ในปี ๒๕๕๖ พบว่าลูกเสือมีอัตราการเติบโตไปเป็นเสือวัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึง ๓๖% ทั้งนี้มีรายงานว่าพบประชากรชีตาห์สายพันธุ์เอเชียติกจำนวนย่อมๆ ในประเทศอิหร่าน ลักษณะศีรษะเล็ก ขาสั้น ขนหนาและมีคอแข็งแรงกว่าพันธุ์แอฟริกัน ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่อาจจะทำให้ระยะเวลาใกล้สูญพันธุ์ของเสือชีตาห์นั้นห่างไกลออกไป.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




แมวน้ำมังค์ฮาวาย สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์
แมวน้ำมังค์ฮาวายที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณชายหาดเกาะฮาวายใหญ่ เป็นสัตว์อีกชนิดที่อยู่ในช่วงอันตรายต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ที่นับจำนวนได้ ๓,๔๐๐ ตัว จากนั้นเจ้าแมวน้ำพันธุ์นี้ก็มีจำนวนลดลงตลอด ๖๔ ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่งมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์โครงการวิจัยแมวน้ำมังค์ฮาวายจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พบจำนวนแมวน้ำมังค์ฮาวายเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๔๐๐ ตัว โดยคาดว่ามี ๑,๑๐๐ ตัวอาศัยอยู่ตามแหล่งที่อยู่เดิมที่เกาะฮาวายใหญ่ ส่วนที่เหลืออีก ๓๐๐ ตัวอาศัยอยู่บริเวณอื่น แมวน้ำที่อยู่แถบเกาะใหญ่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็จะรักษาระดับไว้ให้มีความคงที่

สาเหตุที่ลดลง มาจากการต่อสู้แย่งชิงอาหารกับปลาขนาดใหญ่และฉลาม รวมทั้งกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปรักหักพัง โดยโครงการวิจัยต้องเข้าไปช่วยพยาบาลให้สุขภาพของแมวน้ำดีขึ้น ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่าผลสะท้อนกลับของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม อย่างเอลนีโญ ที่เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก กลับส่งผลให้พวกมันหาอาหารกินได้ เช่น ปลาหมึก ปลาไหล ปู และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์มีความยินดีกับการเพิ่มจำนวนของแมวน้ำชนิดนี้ ซึ่งเปรียบดั่งแสงสว่างเล็กๆท่ามกลางความหวังริบหรี่ที่เกรงว่าจะสูญพันธุ์ตามแมวน้ำมังค์แคริบเบียนไป.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




ช้างเป็นสัตว์ที่แทบไม่เคยนอนหลับ
พฤติกรรมการนอนหลับของช้างเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจว่าวันหนึ่งนั้นพวกมันมีเวลานอนหลับกันกี่ชั่วโมง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยกายวิภาคศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิทวอร์เตอร์สแรนด์ ในประเทศแอฟริกาใต้ ได้ติดตามดูช้างป่าเพศเมียสองตัวที่กำลังท่องป่าอยู่ในอุทยานแห่งชาติโชเบ ประเทศบอตสวานาเป็นเวลา ๓๕ วัน เก็บบันทึกข้อมูลผ่านดาวเทียมพร้อมกับเครื่องมือวัดการหมุนรอบที่เรียกว่าไจโรสโคป โดยได้ติดปลอกสวมไว้ที่งวงช้าง เป็นอุปกรณ์ที่ไม่อันตราย เพื่อหาตำแหน่งที่พวกมันนอนหลับ

การติดตามพบว่าช้างใช้เวลาเดินทางมากถึง ๔๖ ชั่วโมงโดยไม่หยุดพักหลับนอน และเดินด้วยระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิงโตหรือพรานเถื่อน โดยช้างมักจะนอนหลับอยู่ที่ไหนสักแห่งช่วงเวลาตี ๒-๖ โมงเช้า และหากคืนไหนนอนไม่หลับก็จะไม่มีนอนชดเชยในคืนถัดไป สถิติการนอนหลับมากที่สุดคือ ๕ ชั่วโมงในหนึ่งวัน ส่วนใหญ่จะยืนหลับแต่มีเพียง ๑๗% เท่านั้นที่จะล้มตัวนอนลงกับพื้น

นักวิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติการหลับของช้างนั้นเรียกว่า Rapid Eye Movement Sleep (REM Sleep) เป็นการหลับที่สมองยังทำงานอยู่ โดยร่างกายจะมีการเคลื่อนไหว กลอกของลูกตาเป็นระยะๆ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง และเป็นช่วงที่เกิดการฝัน ซึ่งช้างจะฝันอะไรนั้นมนุษย์มิอาจรู้ แต่อาการดังกล่าวจะเป็นเพียง ๓-๔ คืนเท่านั้น.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




ขนาดของขนนกยูงเกี่ยวข้องการจับคู่ผสมพันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาได้วิจัยเกี่ยวกับการจับคู่ของนกยูงซึ่งเกี่ยวข้องกับขนาดความกว้างและความยาวของแพนขนปิดหาง (Train) ด้วยการติดอุปกรณ์ไว้บนหัวนกตัวผู้และตัวเมียเพื่อดูการเคลื่อนไหวของดวงตานก ทำให้รู้ถึงสิ่งที่กำลังจ้องมองในกลุ่มของนกยูงด้วยกัน

พบว่าการจ้องมองของนกยูงใช้เวลาประมาณ ๑ ใน ๓ จ้องมองการแสดงขนของคู่แข่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเมียจะพุ่งความสนใจไปที่ส่วนของก้นตัวผู้ งเป็นไปได้ว่ามันกำลังประเมินการจับคู่ครองของตัวเองผ่านความกว้างและความยาวของแพนขนปิดหางที่สัมพันธ์กัน ซึ่งมีงานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่านกยูงตัวผู้ที่มีขนยาวกว่าตัวผู้อื่นๆจะประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาเขตและมีโอกาสในการผสมพันธุ์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นกยูงเพศผู้เท่านั้นจะมีแพนขนปิดหางที่มีความยาวหลายเส้น ซึ่งปลายแพนขนปิดหางสีเหลือบเขียวจะมีวงรีสีทองแดงและตรงกลางวงจะเป็นสีน้ำเงินแกมดำ เรียกว่า “แววมยุรา” เมื่อถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกยูง ตัวผู้จะรำแพนไปเกี้ยวตัวเมีย หลังจากนั้นขนจะหลุดร่วงหลังจากฤดูผสมพันธุ์และงอกขึ้นใหม่ ส่วนนกยูงตัวเมียจะไม่มีแววมยุราเหมือนตัวผู้.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




ปลาโลช
เมื่อปี ๒๕๕๘ มีนักดำน้ำชาวเยอรมันชื่อโยอาคิม ไครเซลไมเออร์ ขณะกำลังสำรวจเส้นทางแม่น้ำดานูบ เขาได้ค้นพบปลาโลช (loach)  ซึ่งเป็นปลาถ้ำชนิดแรกที่ค้นพบในถ้ำขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของภาคใต้ ประเทศเยอรมนี และเป็นการพบปลาถ้ำครั้งแรกในยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการวิวัฒนาการของปลาจากมหาวิทยาลัยคอนสแตนท์ซในเยอรมนี เชื่อว่าปลาโลชเป็นสายพันธุ์เหนือสุดของชนิดปลาถ้ำที่เคยถูกค้นพบ คาดว่าพวกมันแยกตัวออกจากปลาอื่นๆช่วงเวลา ๒๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

เมื่อนักวิจัยนำปลาโลชมาวิเคราะห์ทางพันธุกรรมแล้วพบว่าปลาถ้ำชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับปลาสโตนโลช (Stone loach) เป็นกลุ่มปลาครีบคู่แผ่ครีบแบนออกมีลักษณะคล้ายพัด ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำใกล้เคียงเส้นทางน้ำของแม่น้ำดานูบและราดอล์ฟเซลเลอร์ แต่พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดประเภทให้เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันได้หรือไม่

ลักษณะของปลาโลชถ้ำนั้นมีสีขาวนวลเกือบชมพู จนแทบจะมองเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนังของมันได้  ดวงตาขนาดเล็กมีสีจางเนื่องจากอาศัยอยู่ในถ้ำมืดมิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการของปลาหวังว่าปลาโลชคงไม่ใช่ปลาถ้ำชนิดสุดท้ายที่มีการค้นพบ.
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์




ลิงบาร์บารี
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature IUCN) รายงานว่า ลิงท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตอนเหนือของทะเลทรายซาฮาราตกอยู่ในอันตรายใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์อนุรักษ์ลิงบาร์บารีในประเทศโมร็อกโกที่นายอาเหม็ด ฮาร์ราด รองผู้อำนวยการศูนย์ ออกมาเผยว่า ถ้าเรายังนิ่งเฉย ลิงบาร์บารีก็จะสูญพันธุ์ไปภายใน ๑๐ ปีนี้ ปัจจุบันกลุ่มลิงอาศัยอยู่บนเทือกเขาในแอลจีเรียและตอนเหนือของโมร็อกโก

ลิงบาร์บารีอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า เป็นสายพันธุ์ที่อยู่มายาวนานนับพันปี สามารถปรับตัวได้ดีไม่ว่าจะอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัดอย่างทะเลทราย หรือหนาวจัดอุณหภูมิติดลบ เรียกว่าทนทานทั้งแดด ฝน จนถึงหิมะ ร่างกายปกคลุมด้วยขนฟูหนา ไม่มีหาง ทำให้เป็นที่นิยมจับไปขายตั้งแต่เล็กๆ เพราะมีความน่ารัก ทว่าจะถูกทอดทิ้งจากเจ้าของเมื่อมันเติบโต เนื่องจากเจ้าวานรสามารถมีน้ำหนักถึง ๒๐ กิโลกรัม และธรรมชาติซุกซนก็จะทำลายข้าวของเสียหาย รวมถึงบางตัวอาจจะกัด ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับเด็กๆ ในบ้าน

ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ ไม่ใช่แค่ถูกกลุ่มลักลอบค้าสัตว์จับไปขาย แต่ยังรวมถึงการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมักจะให้อาหาร เป็นการสร้างนิสัยที่ผิดๆ ให้ลิง และการบุกรุกที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยการตัดไม้ เพราะลิงบาร์บารีจะชอบอาศัยและกินอาหารพวกผลไม้ สัตว์เล็กๆ บนต้นไม้ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือต้องให้ความรู้กับคนในพื้นที่ทุกเพศทุกวัย และรณรงค์ให้พวกเขามีส่วนร่วมป้องกัน อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งที่อยู่ใหม่ให้ลิงบาร์บารีในโมร็อกโก
ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2561 19:47:54 »




หมูป่า
หมูป่า (Sus scrofa) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับหมูบ้านที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกเพื่อบริโภคเนื้อ แต่รูปร่างลักษณะของหมูป่าก็แตกต่างจากหมูบ้านอย่างเห็นได้ชัด มันมีเขี้ยว ๔ เขี้ยวที่งอกยาวตลอดชีวิต มีขนตามลำตัวยาวกว่า เป็นขนหยาบสีดำ เทา หรือน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณหัวชี้ยาวออกไปทางด้านหลัง เป็นแผงขนแข็งตามแนวสันหลัง

หัวใหญ่ คอสั้น รูปร่างปราดเปรียว โดยทั่วไปมีความยาวลำตัวและหัว ๑๓๕-๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวหาง ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ ๕๕-๑๑๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗๕-๒๐๐ กิโลกรัม (ขณะที่หมูเลี้ยงอาจมีน้ำหนักได้มากถึง ๔๕๐ กิโลกรัม) ตีนมี ๔ นิ้ว วิ่งได้เร็ว ๔๘ ก.ม./ชั่วโมง

ตัวเมียมีเต้านม ๕ คู่ มีลูกครอกละ ๑๐-๑๑ ตัว ปีละ ๒ ครอก ลูกที่เกิดใหม่มีสีน้ำตาลเข้มค่อนไปทางดำ มีแถบสีดำพาดผ่านตามยาวลำตัว ดูคล้ายลายของแตงไทย ในธรรมชาติหมูป่ามีอายุขัยเฉลี่ย ๑๐ ปี แต่เคยพบอายุยืนที่สุดถึง ๒๗ ปี

จัดเป็นสัตว์ที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างที่สุดในโลก พบได้ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ เช่น บริติชไอเอล หมู่เกาะคอร์ซิกา ซาร์ดิเนีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา หมู่เกาะริวกิว ไต้หวัน ไหหลำ สุมาตรา ชวา และอีกหลายเกาะในอินดีสตะวันออก

นอกจากนี้ยังมีประชากรที่เกิดจากการที่มนุษย์นำเข้าไปเลี้ยงในดินแดนอื่นซึ่งพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะที่อเมริกาและออสเตรเลีย ในธรรมชาติหมูป่าชอบอาศัยในป่าชื้น ชอบตีแปลงและคลุกโคลน เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายและเพื่อป้องกันแมลงรบกวน บางครั้งอาจเกลือกปัสสาวะของตัวเองเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย หมูป่าไวต่ออุณหภูมิแวดล้อมมาก อากาศที่ร้อนเกินไปอาจทำให้หมูป่าเป็นลมแดดได้

หมูป่าอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ ๒๐ ตัว จนถึง ๑๐๐ ตัว อายุของสมาชิกในฝูงคละเคล้ากันทั้งหมูเด็ก หมูผู้ใหญ่ เมื่อหมูตัวผู้เติบใหญ่จะแยกตัวออกจากฝูงไปหากินโดยลำพัง เมื่อถึงสภาวะคับขันหมูป่าจะหลบหนีไปตามพุ่มไม้เตี้ยๆ ตามปกติแล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่ ขี้หงุดหงิดและมีอารมณ์ร้าย ศัตรูของหมูป่าได้แก่เสือโคร่งและ เสือดาว เมื่อพบศัตรู ตัวผู้จะออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสมาชิกในฝูง ด้วยการพุ่งชนด้วยเขี้ยวที่ยาวโง้งออกมา

หากินกลางคืน หมูป่ามีจมูกไวมาก ประสาทรับรสก็พัฒนาเป็นพิเศษ แต่สายตาไม่ดีนัก อาหารส่วนใหญ่คือพืช แต่ความจริงหมูป่ากินอาหารแทบไม่เลือกสมกับเป็นหมู กินเห็ด หัวพืช เมล็ดพืช ผลไม้ ไข่ สัตว์เลื้อยคลาน ซากสัตว์ หรือแม้แต่ปุ๋ยคอก

การหาอาหารจะใช้จมูกดุนดินเพื่อขุดหาอาหารใต้ดิน โดยขณะออกหาอาหารจะส่งเสียงร้องดังอยู่ตลอดเวลา ทั้งเป็นสัตว์ที่ว่องไวมาก ไม่อุ้ยอ้ายเหมือนหมูบ้าน วิ่งได้เร็วและหักเลี้ยวเป็นมุมแคบๆ ได้ และไวพอที่จะจับงูกินได้

ประชากรหมูป่าในเขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติมีความสำคัญต่อระบบนิเวศหลายอย่าง เป็นผู้พรวนดินธรรมชาติ เป็นการเปิดนำพื้นที่สำหรับต้นไม้รุ่นใหม่ในป่า เป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืช ลูกหมูก็เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ผู้ล่าหลายชนิด แต่สำหรับพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ หมูป่ากลับเป็นตัวก่อปัญหานานาชนิด เพราะมันรุกรานหมูพันธุ์ท้องถิ่น ทำลายพืชไร่ และยังไปจับสัตว์พื้นเมืองกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ก็อาจทำร้ายคนด้วย

เขี้ยวเป็นอาวุธสำคัญที่หมูป่าใช้ป้องกันตัว ตัวผู้สามารถลับเขี้ยวให้คมด้วยการขบเขี้ยวบนกับเขี้ยวล่าง

หมูป่ามีฟันทั้งหมด ๔๔ ซี่ เขี้ยวคือฟันหน้าด้านล่างที่ยาว แคบและยื่นออกไปข้างหน้า ทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในการ ขุดคุ้ยหาอาหารตามพื้นดินหรือตามโป่ง เขี้ยวของหมูป่าไม่มีรากฟัน โดยเฉพาะในตัวผู้ เขี้ยวจะค่อยๆ เพิ่มขนาดจากเล็กไปใหญ่ ฟันกรามซี่สุดท้ายจะมีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ ๑ และ ๒ รวมกัน ส่วนของกะโหลกมีความยาวและลาดเอียง โดยที่ส่วนปากและฟันมีความยาวประมาณร้อยละ ๗๐-๘๐ ของกะโหลก

ศัตรูสำคัญที่สุดของหมูป่าก็คือคน ศัตรูในธรรมชาติได้แก่ เสือ หมี จระเข้ อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่า เมื่อหมูป่าจะทำร้ายคน จะโจมตีด้วยกีบที่แข็งราวกับหินก่อน เมื่อคนล้มลงแล้วจึงค่อยซ้ำด้วยเขี้ยวที่แหลมคม
 หนังสือพิมพ์ข่าวสด





กระรอก
"กระรอก" สัตว์ฟันแทะขนฟูที่แม้จะไม่ใช่สัตว์หายาก เพราะหากเงยหน้าขึ้นมองต้นไม้ หรือสายไฟฟ้าก็จะพบเจ้าตัวป่วนเหล่านี้เป็นประจำ แต่เพราะกระรอกไม่ได้มีแค่สายพันธุ์กระรอกเทาชนิดเดียว ว่าแล้วพาน้องๆ ลัดเลาะเข้าพงไพรไปหากระรอกน้อยแปลกๆ สายพันธุ์อื่นดีกว่า

สำหรับ "กระรอกยักษ์อินเดีย" ตัวนี้ เป็นกระรอกต้นไม้ที่พบในเอเชียใต้ มีลำตัวใหญ่ ความยาว ๓๕-๔๐ ซ.ม. และหางย้าว...ยาวราว ๖๐ ซ.ม. เป็นกระรอกที่มีสีสันสะดุดตาผสมผสานกันถึง ๕ สี คือ สีเหลืองอ่อน เบจ แทน น้ำตาล และแดงอมน้ำตาล

ส่วน "กระรอกบินแคระญี่ปุ่น" กระรอกตัวจิ๋วสุดน่ารักจากแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากจะมีความพิเศษของส่วนพังผืดช่วงขาหน้าที่ยาวไปถึงขาหลังแล้ว กระรอกบินแคระยังมีดวงตากลมโตและหน้าท้องขนขาวจั๊วะ ความยาวหัวถึงหาง ๑๕-๒๐ ซ.ม. และหนักราว ๒๐๐ กรัมเท่านั้น

อีกตัวมีถิ่นที่อยู่ในอินโดจีน ชื่อ "กระรอกหลากสี" มักมีขนลำตัวส่วนหลังยาวถึงหางเป็นสีเข้ม น้ำตาลอมแดง ไม่ก็น้ำตาลดำ ส่วนท้องเป็นสีขาวครีม หรือเหลืองอ่อน ตัวยาวราว ๒๒ ซ.ม. หางยาว ๒๒-๒๕ ซ.ม.
หนังสือพิมพ์ข่าวสด



        ๑.เหงือกสีแดงของซาลาแมนเดอร์ที่ช่วยดูดซึมออกซิเจน
        ๒.ซาลาแมนเดอร์ตาบอดแห่งเท็กซัส
        ๓.งูกาบหมากหานิล

โทรโกลไบต์
แม้สภาพแวดล้อมภายในถ้ำจะไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย แต่รู้หรือไม่ว่ามีสัตว์หลายชนิดที่ไม่ใช่แค่อยู่อาศัย แต่เกิดและอยู่ในถ้ำตลอดชีวิต สัตว์น่าพิศวงนี้เรียกว่า "โทรโกลไบต์" ส่วนมากร่างกายจะสีอ่อนเพราะไม่ได้รับแสงอาทิตย์ หลายชนิดมีดวงตาแต่เพราะไม่ได้ใช้งานเลยเสื่อม หรืออาจไม่มีดวงตาให้เห็นเลย แต่จะมีขนหรือหนวดยาวเพื่อใช้ในการนำทางแทนดวงตา

มาดูกันดีกว่าว่ามีเพื่อนสัตว์สุดยอด ตัวไหนที่เป็นโทรโกลไบต์บ้าง ตัวแรกคือ "ซาลาแมนเดอร์ตาบอดแห่งเท็กซัส" ซาลาแมนเดอร์สีขาวตัวบางยาวราว ๑๕ เซนติเมตร ไม่มีดวงตา หรือบางตัวมีจุดสีเหลืองเล็กๆ ช่วงตา แต่ไม่สามารถใช้งานได้ พบในถ้ำบริเวณที่ราบสูงของรัฐเท็กซัส อาศัยอยู่ในน้ำบาดาลที่ความลึกกว่า ๕๐ เมตร และมีอุณหภูมิแค่ ๒๐ องศาเซลเซียส มีเหงือกสีแดงลักษณะคล้ายปะการังจิ๋วอยู่ด้านนอกของส่วนหัวด้านล่างไล่ไปทางหลัง มีไว้สำหรับดูดซึมก๊าซออกซิเจน และใช้การเปลี่ยนแปลงของแรงดันน้ำในการจับเหยื่อ

อีกตัวมีชื่อว่า "งูกาบหมาก" ความยาวเฉลี่ยที่ ๑.๒-๑.๘ เมตร มีหลายสายพันธุ์ กับถิ่นที่อยู่อาศัยในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมี "งูกาบหมากหานิล" อาศัยอยู่ในถ้ำลึก ร่างกายมี ๒ เฉดสี คือ สีเนื้ออ่อน กับสีเทาดำ และกินค้างคาวเป็นอาหาร
  หนังสือพิมพ์ข่าวสด




สิงโตเอเชีย
หลายคนอาจนึกว่าสิงโตเนี่ยมีแต่ในแอฟริกา จริงๆ แล้วเอเชียก็มีนะ พวกมันเรียกว่าสิงโตเอเชีย ไม่ก็สิงโตอินเดีย หรือสิงโตเปอร์เซีย

รูปร่างทั่วไปคล้ายสิงโตแอฟริกา แต่เล็กกว่า ตัวผู้เต็มวัย มีน้ำหนัก ๑๖๐-๑๙๐ กิโลกรัม ตัวเมีย ๑๑๐-๑๒๐ กิโลกรัม ลักษณะเด่นของสิงโตเอเชีย คือ มีแผงคอทั้งตัวผู้และตัวเมีย แม้จะไม่หนาแบบเห็นได้ชัดเหมือนสิงโตแอฟริกาก็ตาม

เดิมทีมีประชากรกระจายไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง เปอร์เซีย อิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และศรีลังกา แต่เพราะถูกล่ามากจึงเหลืออาศัยตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติป่ากีร์ รัฐคุชราต ของอินเดีย เพียงที่เดียวเท่านั้น และด้วยจำนวนแค่ ๕๓๐ ตัว สิงโตเอเชียเลยเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีสถานะวิกฤตต่อการสูญพันธุ์
 หนังสือพิมพ์ข่าวสด




นกอีแพรด
มองเผินๆ หลายคนอาจนึกว่าเจ้าตัวเล็กเป็นนกกางเขน แต่จริงๆ แล้วนี่คือ "นกอีแพรด" นกจับแมลงขนาดเล็ก ที่มาพร้อมหางยาวและแผ่เป็นแพสวย ในไทยมีนกอีแพรดอาศัยอยู่ด้วยกัน ๕ สายพันธุ์ ได้แก่

"นกอีแพรดท้องเหลือง" ด้านบนตัวมีขนสีเขียวมะกอก หน้าผากและคิ้วมีสีเหลืองสด ด้านล่างตัวเป็นสีเหลือง ตัวผู้จะมีแถบสีดำพาดผ่านตา ส่วนตัวเมียมีแถบสีเขียวเข้มคาดช่วงตา

ขณะที่ "นกอีแพรดคอขาว" มีขนสีเทาดำทั่วตัว คอและคิ้วเป็นสีขาว

ส่วน "นกอีแพรดคิ้วขาว" มีขนด้านบนของตัว ขนหัว หลัง ปีกและหางสีนํ้าตาล ปนเทา แต่คิ้ว ท้อง และหน้าอกมีสีขาว

"นกอีแพรดอกลาย" ตัวมีสีเทาดำ คิ้ว และขนปลายหางสีขาว คอและหน้าอกมี สีเทา และมีลายเป็นจุดขาวๆ เป็นทางๆ และ "นกอีแพรดแถบอกดำ" ตัวมีสีเทาอมสี นํ้าตาล หัวสีดำ คิ้วและขนปลายหางสีขาว ด้านล่างของตัวมีสีขาว มีแถบสีดำขวางที่อก

นอกจากความน่ารักแล้ว นกอีแพรดยังมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับรังทรงถ้วยทำจากใบไม้และหญ้าที่มักจะเห็นวางอยู่ตามง่ามไม้นั่นแหละ
  หนังสือพิมพ์ข่าวสด





"ซูเปอร์"สัตว์
มาพบกับเพื่อนสัตว์ที่มีสุดยอดพลังเหลือเชื่อ

ประเดิมด้วย "แมงกะพรุนอมตะ" แมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis nutricula ในทะเลแคริบเบียน กับกลไกการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ หลังจากช่วงผสมพันธุ์พวกมันจะย้อนกลับไปสู่สภาวะโพลิป หรือช่วงตัวอ่อนตั้งต้น และเติบโตเป็นแมงกะพรุนโตเต็มวัยอีกครั้ง ต่างจากแมงกะพรุนสายพันธุ์อื่นที่ส่วนใหญ่จะตายหลังการผสมพันธุ์

สัตว์อีกชนิดที่มีความเจ๋งไม่แพ้กัน คือ "กบไม้อลาสกา" ที่มาพร้อมความสามารถเอาชีวิตรอดในสภาพอากาศเย็นจัดถึง -๑๘ องศาเซลเซียส แม้ร่างกายจะกลายเป็นน้ำแข็ง แต่เพราะมีสารครายโอโปรเทคแทนต์ อวัยวะภายในจึงไม่เสียหายและไม่จับตัวเป็นน้ำแข็งนั่นเอง

ขณะที่ "กุ้งมือปืน" กุ้งตัวเล็กที่มีก้ามขนาดใหญ่ข้างหนึ่งตัวนี้ ไม่ใช่กุ้งพลังหนีบตามรูปลักษณ์ แต่ก้ามของมันมีกลไกที่เมื่อง้างปลายก้ามขึ้นอากาศจะถูกอัดเข้าไปข้างใน และทันทีที่หุบลงฟองอากาศเล็กๆ จะถูกปล่อยออกมาประหนึ่งกระสุนปืน ด้วยความเร็วสูงสุดถึง ๙๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แถมยังมีความร้อนจากการระเบิดของอากาศสูงกว่า ๔,๐๐๐ องศาเซลเซียส เหยื่อของกุ้งมือปืนเลยไม่มีแม้แต่โอกาสจะหนี
 หนังสือพิมพ์ข่าวสด




แมงมุมประตูกล
ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการกีฏวิทยา เมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่า "แมงมุมประตูกล" ที่มีชื่อว่า "หมายเลข ๑๖" เจ้าของสถิติแมงมุมที่อายุมากที่สุดในโลกถึง ๔๓ ปี และเป็นหนึ่งในแมงมุมรุ่นแรกของโครงการศึกษาแมงมุมประตูกล ถูกตัวต่อต่อยจนตายเมื่อปลายปีก่อน

งานวิจัยนี้เริ่มต้นโดย บาร์บาร่า ยอร์กเมน นักชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม เมื่อปี ๒๕๑๗ เพื่อศึกษาชีวิตแมงมุมประตูกล นักล่า ๘ ขาที่นอกจากจะขึ้นชื่อเป็นแมงมุมที่มีอายุยืนแล้ว ยังมีรูปลักษณ์และการใช้ชีวิตสุดพิสดารด้วย

แมงมุมประตูกลได้ชื่อนี้มาจากการทำรังที่มีประตูกลไกสำหรับดักอาหาร เมื่อมีเหยื่อเดินผ่านใกล้ๆ รัง มันจะโผล่ตะครุบเหยื่อด้วยการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจากประตูปิดรังที่สร้างขึ้นแนบเนียนจนเหมือนเป็นพื้นดินปกติ

กลยุทธ์อันแยบยลนี้ทำให้พวกมันใช้พลังงานน้อย แทบจะไม่ต้องออกจากรังเลยยังได้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แมงมุมประตูกลมีอายุยืนนั่นเอง
  หนังสือพิมพ์ข่าวสด




มดสีเงิน สะฮารา
สภาพอากาศร้อนระอุ บวกกับแสงแดดแรงจ้าที่แผดเผาจนแสบผิว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคงจะดีสุดๆ หากมนุษย์อย่างเรามีผิวหนังที่ป้องกันความร้อน หรือปรับเปลี่ยนความร้อนให้บรรเทาเบาบางลง

แน่นอนว่าคนไม่มีความสามารถแบบนั้น แต่สิ่งมีชีวิตสุดเจ๋งที่ทนต่อความร้อนได้อย่างไม่น่าเชื่อ กลับเป็นเพื่อนสัตว์โลกตัวจิ๋วอย่าง "มด" โดยเฉพาะมดในสกุล Cataglyphis ซึ่งเป็นมดทะเลทราย มีด้วยกัน ๕ สายพันธุ์ รวมถึง "มดสีเงิน สะฮารา"

เพราะลำตัวด้านบนและข้างๆ มีขนสีเงินแวววาวชนิดพิเศษปกคลุม ขนเหล่านี้มีลักษณะเป็นท่อหน้าตัดสามเหลี่ยมและเป็นลอนขนาดเล็กมาก ช่วยสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ พร้อมๆ กับระบายความร้อนออกจากร่างกาย

ที่สำคัญคือลำตัวด้านล่างของเจ้ามดทะเลทรายยังเกลี้ยงเกลา ไร้ขน จึงไม่เกิดการสะท้อนของรังสีความร้อนที่แผ่กระจาย ออกมาจากพื้นทะเลทราย ยังไม่รวมถึงช่วงขายาวที่ทำให้ลำตัวของพวกมันอยู่เหนือพื้นราว ๔ มิลลิเมตร แม้จะเป็นความห่างอันน้อยนิด แต่ในดินแดนทะเลทรายที่ร้อนสุดขั้ว แค่ ๔ มิลลิเมตรก็มีอุณหภูมิเย็นกว่า ๖-๗ องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมมดทะเลทรายสามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงปรี๊ดถึง ๕๓ องศาเซลเซียส...จึงไม่แปลกที่มดทะเลทรายจะขึ้นแท่นเป็นแชมป์สัตว์บกที่ทนความร้อนได้มากที่สุดของกินเนสส์ เวิลด์ เร็กคอร์ด
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

11-7-61
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กรกฎาคม 2561 20:09:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 18 ตุลาคม 2561 16:15:48 »



ปูขน

ปูขน หรือ ปูก้ามขน หรือ ปูเซี่ยงไฮ้ (Chinese mitten crab, Shanghai hairy crab) ชื่อวิทยาศาสตร์ Eriocheir sinensis จากศัพท์มูลวิทยา Eriocheir (โอ-ริ-โอ-เชีย) เป็นภาษาละติน แปลว่า ก้ามมีขน และคำว่า sinensis (ไซ-เนน-ซิส) มีความหมายว่า อาศัยในประเทศจีน

ปูขนมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พบอาศัยอยู่ตามทะเลสาบ เจริญเติบโตอยู่ในสภาพอากาศหนาวและน้ำที่เย็นจัด อุณหภูมิของน้ำต่ำกว่า ๑๐ องศาเซลเซียส บริเวณที่พบมากและเป็นที่รู้จักกันดีคือ ทะเลสาบหยางเถิง ในมณฑลเจียงซู นอกจากนี้ยังพบในไต้หวัน และบางส่วนของคาบสมุทรเกาหลีไปจนถึงทะเลเหลือง ขณะที่ปัจจุบันได้แพร่กระจายไปถึงทวีปยุโรป เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี บางส่วนของฝรั่งเศสและอังกฤษ

ปูขนมีกระดองรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๗-๘ เซนติเมตร สีน้ำตาลปนเหลืองจนถึงน้ำตาลเข้ม มีขนเป็นกระจุกบนขาทุกขา ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่น ขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบ ขาเดินที่เหลืออีก ๔ คู่มีลักษณะเรียวยาว ไม่เป็นใบพาย กระดองส่วนหน้าไม่เรียบ มีตุ่มทู่ๆ เรียงกัน ๒ แถว แถวแรกมี ๒ ตุ่ม แถวถัดมามี ๓ ตุ่ม ทั้งสองแถวเรียงขนานกับริมขอบเบ้าตาด้านใน ลักษณะเด่นที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ขอบด้านข้างของกระดองมีหนามแหลม ๔ อัน ที่ก้ามมีขนสีน้ำตาลเข้มลักษณะเป็นกระจุกคล้ายสาหร่ายหางไก่ห่อหุ้มหนา โดยเฉพาะบริเวณขอบด้านนอกของก้ามหนีบ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ

มีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในทะเลสาบที่มีน้ำสะอาดและเย็นจัด เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนจะอพยพไปผสมพันธุ์และวางไข่ในทะเลหรือดินดอน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ปูขนที่มีร่างกายสมบูรณ์จะมีขนเป็นประกายสีเหลืองทองอ่อน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว คือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอาหารที่มีราคาแพง นับเป็นอาหารระดับฮ่องเต้ เนื่องจากมีจำหน่ายเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น เพราะเป็นฤดูผสมพันธุ์ ที่ปูตัวผู้จะมีเนื้อรสชาติหวาน และปูตัวเมียจะมีไข่ ทั้งนี้ ชาวจีนมีความเชื่อว่าปูขนต้องมีความทรหดอดทนมาก เนื่องจากสามารถใช้ชีวิตผ่านฤดูหนาวที่อากาศหนาวเหน็บมาได้ เชื่อว่าหากได้กินเนื้อแล้วจะทำให้แข็งแรงเหมือนปู ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้โรคคออักเสบ รักษาอาการทางเดินอาหารไม่ปกติ รวมทั้งมีผลในการถอนพิษด้วย ทำให้มีราคาซื้อขายที่สูงมาก ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง

สำหรับชาวไทยรู้จักรับประทานปูขนมาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีแล้ว เมื่อก่อนถึงขนาดเมื่อถึงฤดูหนาวจะเดินทางไปฮ่องกงเพื่อรับประทานปูขน หรือซื้อกลับมาโดยแช่แข็งไว้ในกระติกน้ำแข็ง แต่ปัจจุบันก็สามารถหารับประทานได้ในประเทศไทย โดยวิธีการปรุงปูขนก็กระทำได้โดยง่าย โดยใช้วิธีการนึ่งเพียง ๑๕ นาที รับประทานพร้อมกับจิ๊กโฉ่หรือซอสเปรี้ยวของจีน หรือสุราแบบจีน และต้องรับประทานน้ำขิงเป็นของตบท้าย เพื่อปรับสภาพหยินหยางในร่างกายให้สมดุล

ที่สำคัญต้องปรุงให้สุก เพราะจากการศึกษาพบว่าปูขนเป็นพาหะของโรคพยาธิใบไม้ในปอด
   จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด




หมูป่า

หมูป่า (Sus scrofa) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับหมูบ้านที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกเพื่อบริโภคเนื้อ แต่รูปร่างลักษณะของหมูป่าก็แตกต่างจากหมูบ้านอย่างเห็นได้ชัด มันมีเขี้ยว ๔ เขี้ยวที่งอกยาวตลอดชีวิต มีขนตามลำตัวยาวกว่า เป็นขนหยาบสีดำ เทา หรือน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณหัวชี้ยาวออกไปทางด้านหลัง เป็นแผงขนแข็งตามแนวสันหลัง

หัวใหญ่ คอสั้น รูปร่างปราดเปรียว โดยทั่วไปมีความยาวลำตัวและหัว ๑๓๕-๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวหาง ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ ๕๕-๑๑๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗๕-๒๐๐ กิโลกรัม (ขณะที่หมูเลี้ยงอาจมีน้ำหนักได้มากถึง ๔๕๐ กิโลกรัม) ตีนมี ๔ นิ้ว วิ่งได้เร็ว ๔๘ ก.ม./ชั่วโมง

ตัวเมียมีเต้านม ๕ คู่ มีลูกครอกละ ๑๐-๑๑ ตัว ปีละ ๒ ครอก ลูกที่เกิดใหม่มีสีน้ำตาลเข้มค่อนไปทางดำ มีแถบสีดำพาดผ่านตามยาวลำตัว ดูคล้ายลายของแตงไทย ในธรรมชาติหมูป่ามีอายุขัยเฉลี่ย ๑๐ ปี แต่เคยพบอายุยืนที่สุดถึง ๒๗ ปี

จัดเป็นสัตว์ที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างที่สุดในโลก พบได้ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ เช่น บริติชไอเอล หมู่เกาะคอร์ซิกา ซาร์ดิเนีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา หมู่เกาะริวกิว ไต้หวัน ไหหลำ สุมาตรา ชวา และอีกหลายเกาะในอินดีสตะวันออก

นอกจากนี้ยังมีประชากรที่เกิดจากการที่มนุษย์นำเข้าไปเลี้ยงในดินแดนอื่นซึ่งพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะที่อเมริกาและออสเตรเลีย ในธรรมชาติหมูป่าชอบอาศัยในป่าชื้น ชอบตีแปลงและคลุกโคลน เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายและเพื่อป้องกันแมลงรบกวน บางครั้งอาจเกลือกปัสสาวะของตัวเองเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย หมูป่าไวต่ออุณหภูมิแวดล้อมมาก อากาศที่ร้อนเกินไปอาจทำให้หมูป่าเป็นลมแดดได้

หมูป่าอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ ๒๐ ตัว จนถึง ๑๐๐ ตัว อายุของสมาชิกในฝูงคละเคล้ากันทั้งหมูเด็ก หมูผู้ใหญ่ เมื่อหมูตัวผู้เติบใหญ่จะแยกตัวออกจากฝูงไปหากินโดยลำพัง เมื่อถึงสภาวะคับขันหมูป่าจะหลบหนีไปตามพุ่มไม้เตี้ยๆ ตามปกติแล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่ ขี้หงุดหงิดและมีอารมณ์ร้าย ศัตรูของหมูป่าได้แก่เสือโคร่งและ เสือดาว เมื่อพบศัตรู ตัวผู้จะออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสมาชิกในฝูง ด้วยการพุ่งชนด้วยเขี้ยวที่ยาวโง้งออกมา

หากินกลางคืน หมูป่ามีจมูกไวมาก ประสาทรับรสก็พัฒนาเป็นพิเศษ แต่สายตาไม่ดีนัก อาหารส่วนใหญ่คือพืช แต่ความจริงหมูป่ากินอาหารแทบไม่เลือกสมกับเป็นหมู กินเห็ด หัวพืช เมล็ดพืช ผลไม้ ไข่ สัตว์เลื้อยคลาน ซากสัตว์ หรือแม้แต่ปุ๋ยคอก

การหาอาหารจะใช้จมูกดุนดินเพื่อขุดหาอาหารใต้ดิน โดยขณะออกหาอาหารจะส่งเสียงร้องดังอยู่ตลอดเวลา ทั้งเป็นสัตว์ที่ว่องไวมาก ไม่อุ้ยอ้ายเหมือนหมูบ้าน วิ่งได้เร็วและหักเลี้ยวเป็นมุมแคบๆ ได้ และไวพอที่จะจับงูกินได้

ประชากรหมูป่าในเขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติมีความสำคัญต่อระบบนิเวศหลายอย่าง เป็นผู้พรวนดินธรรมชาติ เป็นการเปิดนำพื้นที่สำหรับต้นไม้รุ่นใหม่ในป่า เป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืช ลูกหมูก็เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ผู้ล่าหลายชนิด แต่สำหรับพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ หมูป่ากลับเป็นตัวก่อปัญหานานาชนิด เพราะมันรุกรานหมูพันธุ์ท้องถิ่น ทำลายพืชไร่ และยังไปจับสัตว์พื้นเมืองกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ก็อาจทำร้ายคนด้วย

เขี้ยวเป็นอาวุธสำคัญที่หมูป่าใช้ป้องกันตัว ตัวผู้สามารถลับเขี้ยวให้คมด้วยการขบเขี้ยวบนกับเขี้ยวล่าง

หมูป่ามีฟันทั้งหมด ๔๔ ซี่ เขี้ยวคือฟันหน้าด้านล่างที่ยาว แคบและยื่นออกไปข้างหน้า ทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในการ ขุดคุ้ยหาอาหารตามพื้นดินหรือตามโป่ง เขี้ยวของหมูป่าไม่มีรากฟัน โดยเฉพาะในตัวผู้ เขี้ยวจะค่อยๆ เพิ่มขนาดจากเล็กไปใหญ่ ฟันกรามซี่สุดท้ายจะมีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ ๑ และ ๒ รวมกัน ส่วนของกะโหลกมีความยาวและลาดเอียง โดยที่ส่วนปากและฟันมีความยาวประมาณร้อยละ ๗๐-๘๐ ของกะโหลก

ศัตรูสำคัญที่สุดของหมูป่าก็คือคน ศัตรูในธรรมชาติได้แก่ เสือ หมี จระเข้ อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่า เมื่อหมูป่าจะทำร้ายคน จะโจมตีด้วยกีบที่แข็งราวกับหินก่อน เมื่อคนล้มลงแล้วจึงค่อยซ้ำด้วยเขี้ยวที่แหลมคม
   จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ชีวิตสัตว์โลก เสือจากัวร์ ปะทะ งูอานาคอนดา
ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
หมีงงในพงหญ้า 0 3159 กระทู้ล่าสุด 11 กันยายน 2553 23:20:41
โดย หมีงงในพงหญ้า
"กาลาปากอส" มหัศจรรย์ ชีวิตสัตว์โลก
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 6708 กระทู้ล่าสุด 10 มิถุนายน 2557 10:15:21
โดย Kimleng
สารคดี นินจานักรบเงา
ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
วันศุกร์ นัดทานข้าว 0 2365 กระทู้ล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2557 02:15:57
โดย วันศุกร์ นัดทานข้าว
สารคดี ธุดงค์ทุ่งใหญ่นเรศวร
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
Kimleng 3 2171 กระทู้ล่าสุด 02 มิถุนายน 2559 15:28:21
โดย Kimleng
new tv) : สารคดี แอตแลนตีสที่แท้จริง
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
มดเอ๊ก 0 1072 กระทู้ล่าสุด 21 มิถุนายน 2559 04:38:10
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.987 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 10 มีนาคม 2567 08:18:54