[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 12:58:40 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กัลยาณมิตร ธรรมะจากท่านพระคุณเจ้า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ป.ธ.๙)  (อ่าน 15277 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 กันยายน 2557 15:04:00 »

.


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ท่านชยสาโรภิกขุ (นั่งซ้ายสุด)  กราบเยี่ยมท่านพระพรหมคุณาภรณ์
ที่หน้ากุฏิพระพรหมคุณาภรณ์

กัลยาณมิตร
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

กัลยาณมิตร (๑)
บุพภาคของการศึกษา ปรโตโฆสะที่ดี = กัลยาณมิตร

บุพภาคของการศึกษา หรือบุพนิมิตแห่งมัชฌิมาปฏิปทา

สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม หรือเป็นขั้นเริ่มแรกในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

มีข้อความในพระไตรปิฎก แสดงหลักการสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิไว้ ดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ ดังนี้คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ"

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่าง ตามพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นี้ คือ
๑. ปรโตโฆสะ = เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร ข้อเขียน คำชี้แจง อธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่น ในที่นี้หมายเอาเฉพาะส่วนที่ดีงามถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังธรรม ความรู้ หรือคำแนะนำจากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร (hearing or learning from others; inducement by others)

ข้อแรกนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายนอก ได้แก่ปัจจัยทางสังคม อาจเรียกง่ายๆ ว่า วิธีการแห่งศรัทธา

๒. โยนิโสมนสิการ = การทำในใจโดยแยบคาย = การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดอย่างมีระเบียบ หมายถึง การรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลาย โดยมองตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน และโดยวิธีคิดหาเหตุผล สืบค้นถึงต้นเค้า สืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ (analytical reflection; reasoned or systematic attention)

ข้อสองนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน ได้แก่ปัจจัยในตัวบุคคล อาจเรียกง่ายๆ ว่า วิธีการแห่งปัญญา

มีพุทธพจน์แสดงปัจจัยทั้งสองนี้ในภาคปฏิบัติของการฝึกอบรม เน้นถึงความสำคัญอย่างควบคู่กันดังนี้
(๑) "สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา...เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าความมีกัลยาณมิตร เลย"
(๒) "สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา...เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายในอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าโยนิโสมนสิการเลย"

ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนี้ ย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สำหรับคนสามัญซึ่งมีปัญญาไม่แก่กล้า ย่อมต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น และคล้อยไปตามคำแนะนำชักจูงที่ฉลาดได้ง่าย แต่ก็จะต้องฝึกหัดให้สามารถใช้ความคิดอย่างถูกวิธีด้วยตนเองได้ด้วย จึงจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้

ส่วนคนที่มีปัญญาแก่กล้า ย่อมรู้จักใช้โยนิโสมนสิการได้ดีกว่า แต่กระนั้นก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทางในเบื้องต้น และเป็นเครื่องช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในระหว่างการฝึกอบรม

การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิด้วยปัจจัยอย่างที่ ๑ (ปรโตโฆสะ) ก็คือ วิธีการที่เริ่มต้นด้วยศรัทธา และอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ เมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในระบบการศึกษาอบรม จึงต้องพิจารณาที่จะให้ได้รับการแนะนำชักจูงสั่งสอนอบรมที่ได้ผลดีที่สุด คือ ต้องมี ผู้สั่งสอนอบรมที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ มีความสามารถ และใช้วิธีการอบรมสั่งสอนที่ได้ผล

ดังนั้น ในการศึกษาอบรม จึงจำกัดให้ได้ปรโต โฆสะที่มุ่งหมาย ด้วยหลักที่เรียกว่า กัลยาณมิตตตา หรือการมีกัลยาณมิตร

ส่วนปัจจัยอย่างที่ ๒ (โยนิโสมนสิการ) เป็นตัวหลักการใช้ปัญญา ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าควรใช้ความคิดให้ถูกต้องอย่างไร

เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาประกอบกัน นับว่ากัลยาณมิตตตา เป็นองค์ประกอบภายนอก และโยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน

ถ้าตรงข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด และใช้ความคิดผิดวิธีเป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการนี้ มีหลักการบางอย่างที่ควรทราบ ดังต่อไปนี้

บุพนิมิตที่ ๑ ปรโตโฆสะ - กัลยาณมิตร

วิธีการแห่งศรัทธา

ปรโตโฆสะ หรือเสียงจากผู้อื่น ที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ ก็คือ เสียงที่ดีงาม เสียงที่ถูกต้อง เสียงที่บอกกล่าวชี้แจงความจริง มีเหตุผล เป็นประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกิดจากความรักความปรารถนาดี

เสียงดีงามถูกต้องเช่นนี้ เกิดจากแหล่งที่ดี คือคนดี คนมีปัญญา คนมีคุณธรรม คนเช่นนี้ทางธรรม เรียกว่า สัตบุรุษบ้าง บัณฑิตบ้าง ถ้าคนดี คือสัตบุรุษ หรือบัณฑิตนี้ ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำ สั่งสอนชักนำสัมมาทิฏฐิให้แก่ผู้อื่น ก็เรียกว่าเขาทำหน้าที่เป็น กัลยาณมิตร •   



  กัลยาณมิตร (๒)

แต่บุคคลผู้แสวงสัมมาทิฏฐิ ไม่จำเป็นต้องรอให้สัตบุรุษหรือบัณฑิตมาหาตน ตรงข้าม เขาย่อมกระตือรือร้นที่จะไปหา ไปปรึกษา ไปสดับฟัง ไปขอคำแนะนำชี้แจงสั่งสอน เข้าร่วมหมู่อยู่ใกล้ ตลอดจนศึกษาแบบอย่างแนวทางจากบัณฑิตหรือสัตบุรุษนั้นเอง การกระทำของเขาอย่างนี้เรียกว่า การเสวนาสัตบุรุษ หรือคบหาคนดี

แต่ไม่ว่าสัตบุรุษจะมาทำหน้าที่ให้ หรือบุคคลนั้นจะไปคบหาสัตบุรุษเองก็ตาม ในเมื่อมีการยอมรับหรืออิทธิพลต่อกันเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าเขามีกัลยาณมิตร และเรียกภาวะนี้ว่า "กัลยาณมิตตตา" แปลว่า ความมีกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีอย่างในความหมายสามัญเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกฝนอบรมอย่าง ถูกต้อง ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ท่านยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูตทรงปัญญา สามารถสั่งสอนแนะนำ เป็นที่ปรึกษาได้ แม้จะอ่อนวัยกว่า

ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ความมีกัลยาณมิตรนี้ จัดว่าเป็นระดับความเจริญปัญญาในขั้นศรัทธา

ส่วนในระบบการศึกษาอบรม ความมีกัลยาณมิตรควรมีความหมายครอบคลุมทั้งตัวบุคคลผู้อบรมสั่งสอน เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ เป็นต้น ทั้งคุณสมบัติของผู้สอน ทั้งหลักการ วิธีการ อุปกรณ์ อุบายต่างๆ ในการสอน และการจัดดำเนินการต่างๆ ทุกอย่าง ที่ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาจะพึงจัดทำ เพื่อให้การศึกษาอบรมได้ผลดี ตลอดจนหนังสือ สื่อมวลชน บุคคลตัวอย่าง เช่น มหาบุรุษ หรือผู้ประสบความสำเร็จโดยธรรม และสิ่งแวดล้อมทางสังคมทั้งหลายที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เท่าที่จะเป็นองค์ประกอบภายนอกในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้นได้

ความสำคัญของการมีกัลยาณมิตร
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค"

"ดูกรอานนท์ ความมีกัลยาณมิตร...เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค"

"อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ก็พ้นจาก โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส"

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงเงินแสงทอง เป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗"

"เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตร กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป"

"เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่...ที่เป็นไป เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย"

"โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายนอก เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย"

"สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น"

"ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ
(๑) จักเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร ฯลฯ
(๒) จักเป็นผู้ได้ (มีโอกาสสดับฟัง ได้ร่วมสนทนาอย่างสะดวกสบาย) ตามความปรารถนา ในเรื่องต่างๆ ที่ขัดเกลาอุปนิสัย ชำระจิตใจให้ปลอดโปร่ง คือ เรื่องความมักน้อย ฯลฯ เรื่องการบำเพ็ญเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
(๓) จักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรม และเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้เพียบพร้อม จักเป็นผู้แข็งขัน บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรม
(๔) จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นอริยะ หยั่งรู้ถึงความเกิดความดับ ชำแรกกิเลส นำไปสู่ความจบสิ้นแห่งทุกข์"



  กัลยาณมิตร (๓)

บาลีที่ยกมาอ้างนี้ เน้นความสำคัญของความมีกัลยาณมิตรสำหรับพระภิกษุ เพราะเป็นพุทธพจน์ที่ตรัสกะพระภิกษุ

ส่วนในด้านคำสอนสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวบ้าน ยิ่งมีหลักธรรม และพุทธภาษิต ที่ย้ำถึงความสำคัญของการคบหา และการเสวนาคนดี เพิ่มจากนี้อีกมากมาย ดังเช่นว่า

ความมีกัลยาณมิตร เป็นข้อธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นไปเพื่อบรรลุทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์โลกนี้)

การคบคนชั่ว เป็นอบายมุข

การคบมิตร และปฏิบัติถูกต้องต่อมิตร เป็นหลักอย่างหนึ่งในคำสอนเรื่องทิศ ๖

การรู้จักเลือกคบคนตามหลักมิตรแท้ มิตรเทียม เป็นหลักธรรมหมวดใหญ่ทีเดียว

การเสวนาสัตบุรุษ เป็นข้อธรรมหนึ่ง ในจักร ๔ ในวุฒิธรรม ๔ และในโสตาปัตติยังคะ ๔

ความมีกัลยาณมิตร เป็นข้อธรรมหนึ่งในนาถกรณธรรม หรือธรรมที่ทำให้คนพึ่งตนได้ ๑๐ ประการ

ในชาดก ซึ่งเป็นคำสอนสำหรับคนทุกชั้นทุกประเภท โดยเฉพาะชาวบ้าน ก็มีเรื่องราวและสุภาษิตแนะนำเกี่ยวกับการคบหา หรือการเสวนา เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังมีธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระจายอยู่ทั่วๆ ไปในพระสุตตันตปิฎก ขอยกมาดูเป็นตัวอย่าง
- "การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาคนควรบูชา นี่เป็นอุดมมงคล"
- "คบคนเช่นใด ก็เป็นเช่นคนนั้น"
- "ผู้ใด แม้มิได้ทำความชั่ว แต่เกลือกกลั้วกับผู้ทำบาป, ผู้นั้นย่อมพลอยถูกระแวงในกรรมชั่ว และเสื่อมเสียชื่อเสียงยิ่งๆ ขึ้น"
- "ผู้คบคนเลว ย่อมพลอยเลวลง"
- "ผู้ใดห่อปลาเน่าด้วยใบคา ใบคาย่อมเหม็นกลิ่นปลาคละคลุ้ง, การเกลือกกลั้วคนพาล ย่อมมีผลอย่างนั้น"
- "ผู้ใดห่อกฤษณาด้วยใบไม้ ใบไม้นั้น ย่อมพลอยมีกลิ่นหอมฟุ้ง, การเสวนานักปราชญ์ ย่อมมีผลอย่างนั้น"
- "ปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ชวนทำสิ่งไม่เป็นเรื่อง"
- "พึงมองเห็นคนมีปัญญา ที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขี่ เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ คนเช่นนั้น เป็นบัณฑิต ควรคบได้, คบคนเช่นนั้น มีแต่ดีขึ้น ไม่เลวลง"
- "พึงแนะนำตักเตือนเถิด พึงพร่ำสอนเถิด พึงห้ามปรามจากความชั่วเถิด, คนที่ทำเช่นนั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษ ไม่เป็นที่รักของ อสัตบุรุษ"
- "ธีรชน อยู่ร่วม ๗ ก้าว ก็นับว่าเป็นมิตร, เดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว ก็นับว่าเป็นสหาย, อยู่ร่วมกันสักเดือนหนึ่ง หรือครึ่งเดือน ก็นับว่าเป็นญาติ, ถ้านานกว่านั้นไป ก็เหมือนเป็นตัวเอง"
- "มีญาติพวกพ้องมาก ย่อมเป็นการดี เหมือนหมู่ไม้มากหลายในกลางป่า, ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะงอกงามใหญ่โตเท่าใด ลมก็พัดให้โค่นลงได้"
- "ถ้าได้สหายผู้มีปัญญาปกครองตน พึงพอใจมีสติเที่ยวไปกับเขา, ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญาปกครองตน พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำความชั่ว"
- "ควรคบมิตรที่เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม ผู้โอฬารด้วยความดี มีปฏิภาณ, ครั้นรู้จักประโยชน์ที่มุ่งหมาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว จึงควรเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด"
- "การฟังธรรมตามกาล...การสนทนาธรรมตามกาล นี่เป็นอุดมมงคล"
- "คนขึ้นแพน้อยไปในมหาสมุทร พึงจมเสีย ฉันใด แม้แต่สาธุชน อาศัยคนเกียจคร้าน ก็ย่อมจมลงได้ ฉันนั้น, เพราะฉะนั้น ควรเว้นห่างคนเกียจคร้าน
    มีความเพียรทรามอย่างนั้นเสีย พึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิต ผู้สงัด ผู้เป็นอารยะ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งพินิจ ผู้เร่งระดมความเพียรเป็นนิตย์"

สุภาษิตทำนองนี้ แม้ไม่ต้องยกมาแสดงมาก ก็พอให้ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบได้ว่า
- พุทธพจน์เกี่ยวกับการเสวนาที่ตรัสแก่พระภิกษุ โดยมากมีจุดหมายมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ และประสงค์จะเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิในแนวที่จะเป็นโลกุตระอย่างเด่นชัด
- ส่วนที่แสดงสำหรับคนทั่วไป หรือชาวบ้าน เน้นประโยชน์ในขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะ เชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ มุ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชีวิตประจำวัน กลมกลืนไปกับการชักจูงสัมมาทิฏฐิในระดับโลกีย์ คือความเชื่อกรรม ความสำนึกรับผิดชอบเกี่ยวกับความดีความชั่ว ยังไม่เน้นสัมมาทิฏฐิแนวที่จะเป็นโลกุตระ คือ การมองโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นทำนองปล่อยให้แฝงอยู่ และสอนสอดแทรกไปตามโอกาส

อย่างที่เรียกว่า ค่อยๆ ปูพื้นฐานจิตใจให้พร้อมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปมีหลายระดับ



  กัลยาณมิตร (๔)

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร

คนดี ว่าโดยลักษณะเฉพาะตัวของเขา ที่เรียกว่าเป็นสัตบุรุษ หรือบัณฑิต มีคุณสมบัติบางอย่างที่ควรทราบ ดังนี้

สัตบุรุษ คือคนดี หรือคนที่แท้ มีธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ดังนี้
๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักและรู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริงของธรรมชาติ รู้หลักการ กฎเกณฑ์แบบแผน หน้าที่ ซึ่ง จะเป็นเหตุให้กระทำการได้สำเร็จผล ตามความมุ่งหมาย เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมที่ตนจะต้องศึกษาและปฏิบัติ คืออะไร มีอะไรบ้าง ผู้ปกครองรู้ธรรมของผู้ปกครอง คือรู้หลักการปกครอง

๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือ รู้ความหมายและความ มุ่งหมายของหลักธรรม หรือหลักการ กฎเกณฑ์ หน้าที่ รู้ผลที่ประสงค์ของกิจที่จะกระทำ เช่น ภิกษุรู้ว่าธรรมที่ตนศึกษาและปฏิบัตินั้นๆ มีความหมาย และความมุ่งหมายอย่างไร ตลอดจนรู้จักประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรือสาระ ของชีวิต

๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน คือ รู้ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ของตน ตามเป็นจริง เพื่อประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสม และให้เกิดผลดี เช่น ภิกษุรู้ว่าตนมีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณแค่ไหน

๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ คือ รู้ความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ในการใช้จ่ายทรัพย์ ภิกษุรู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ เป็นต้น

๕. กาลัญญุตา รู้จักกาล เช่น รู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร รู้จักเวลาเรียน เวลาทำงาน เวลาพักผ่อน เป็นต้น

๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน คือ รู้จัก ถิ่น รู้จักที่ชุมนุม และชุมชน รู้จักมารยาท ระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณี และข้อควรรู้ควรปฏิบัติ ต่อชุมชนนั้นๆ

๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น เพื่อปฏิบัติต่อผู้นั้นโดยถูกต้อง เช่นว่า ควรจะคบหรือไม่ จะเกี่ยวข้อง จะใช้ จะยกย่อง จะตำหนิ หรือจะแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะได้ผลดี เป็นต้น

บัณฑิต คือ คนฉลาด หรือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีคุณสมบัติที่ท่านแสดงไว้หลายแบบหลายอย่าง เช่น ในพุทธพจน์ต่อไปนี้
- "ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีกรรมเป็นเครื่องกำหนด บัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องกำหนด, ต่างก็ปรากฏแจ่มฉายด้วยความประพฤติของตน, ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่า เป็นพาล คือ ด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต..., ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต คือ ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต..."

ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของบัณฑิต เครื่องหมายของบัณฑิต แนวความประพฤติของบัณฑิตมี ๒ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ บัณฑิตเป็นผู้มีปกติคิดความคิดดี มีปกติพูดถ้อยคำดี มีปกติทำการดี"

"ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต กล่าวคือ ตั้งปัญหาโดยแยบคาย แก้ปัญหาโดยแยบคาย และเมื่อคนอื่นแก้ปัญหา ได้แยบคาย ด้วยถ้อยคำกลมกล่อม สละสลวย ได้เหตุได้ผล ก็อนุโมทนา"

"ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมี ๒ ดังนี้ คือ ผู้แบกภาระที่ไม่มาถึง ๑ ผู้ไม่แบกภาระที่มาถึง ๑.."

"บัณฑิตมี ๒ ดังนี้ คือ ผู้แบก ภาระที่มาถึง ๑ ผู้ไม่แบกภาระที่ไม่ มาถึง ๑..."

"ภิกษุพาล ปรารถนาคำสรรเสริญที่ไม่เป็นจริง ความเด่นออกหน้าในหมู่ภิกษุ ความเป็นใหญ่ในอาวาสทั้งหลาย และการบูชาในตระกูลคนอื่น,

(เขาคิดว่า) ขอให้คนทั้งหลาย ทั้งพวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต จงสำคัญว่า สิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว ก็เพราะอาศัยเราคนเดียว ขอให้ทั้งสองพวกนั้นจงอยู่ในอำนาจของเราเท่านั้น ในกิจน้อยใหญ่ ไม่ว่าอย่างใดๆ คนพาลมีความดำริดังนี้ ความริษยา และมานะ (ความถือตัว) จึงมีแต่พอกพูน"

"สัตบุรุษทั้งหลายไปไม่ติดทุกสถาน, สัตบุรุษไม่ปราศรัยเพราะอยากได้กาม, บัณฑิตถูกสุขหรือทุกข์ก็ตามกระทบเข้า ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นๆ ลงๆ"

"บัณฑิตไม่ทำชั่วเพราะเหตุแห่งตน หรือเพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น, ไม่พึงปรารถนา บุตร ทรัพย์ รัฐ ความสำเร็จแก่ตน โดยไม่ชอบธรรม, บัณฑิตนั้น พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา ประกอบด้วยธรรม"

"ผู้ใด เขาสักการะก็ตาม ไม่สักการะ ก็ตาม ย่อมมีสมาธิไม่หวั่นไหว เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท, ผู้นั้น ซึ่งมีปกติเพ่งพินิจ ทำความเพียรตลอดเวลา เห็นแจ้งด้วยความเข้าใจอันสุขุม ยินดี ในความสิ้นอุปาทาน ท่านเรียกว่าสัตบุรุษ"

"คนไขน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัดลูกศร ช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน"

"หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี เนื้อฟานทั้งหลายก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น จะวัดที่ร่างกายไม่ได้ ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ถึงแม้เป็นเด็ก ถ้ามีปัญญา ก็นับว่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าโง่ ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็หาเป็นผู้ใหญ่ไม่"

"คนมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่ไปเหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อมเจริญ แต่ปัญญาหาเจริญไม่"



  กัลยาณมิตร (๕)

"คนจะชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ เพียงเพราะมีผมหงอกก็หาไม่ ถึงวัยของเขาจะหง่อม ก็เรียกว่าแก่เปล่า, ส่วนผู้ใด มีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีความบังคับควบคุมตน มีความฝึกตน ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์ สลัดมลทินได้แล้ว เรียกได้ว่า เป็นผู้ใหญ่"

"ห้วงน้ำน้อย ไหลดังสนั่น ห้วงน้ำใหญ่ ไหลนิ่งสงบ, สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ, คนพาล เหมือนหม้อมีน้ำครึ่งเดียว บัณฑิต เหมือนห้วงน้ำที่เต็ม"

"ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง, ส่วนผู้ใดเป็นพาล สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ"

"สัตบุรุษไม่มีในชุมนุมใด ชุมนุมนั้น ไม่ชื่อว่าสภา, ผู้ใดไม่พูดเป็นธรรม ผู้นั้นไม่ใช่สัตบุรุษ, ละราคะ โทสะ โมหะแล้ว พูดเป็นธรรม จึงจะเป็นสัตบุรุษ"

"ผู้ใดเป็นธีรชน เป็นคนกตัญญูกตเวที คบหากัลยาณมิตร มีความภักดีมั่น กระทำกิจเพื่อผู้ตกทุกข์ด้วยตั้งใจจริง คนอย่างนั้น ท่านเรียกว่าสัตบุรุษ"

ภิกษุทั้งหลาย มีฐานะอยู่ ๔ ประการดังนี้ กล่าวคือ
(๑) ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ก็มี
(๒) ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็มี
(๓) ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ก็มี
(๔) ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็มี

บรรดาฐานะเหล่านั้น ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์, ฐานะนี้เห็นได้ว่า ไม่พึงกระทำโดยสถาน ๒ คือ ไม่พึงกระทำด้วยเป็นฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ และไม่พึงกระทำด้วยเมื่อทำเข้าก็จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์

ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์, ในฐานะนี้พึงทราบคนพาลและบัณฑิตได้ ที่เรี่ยวแรงความเพียร ความบากบั่นของคน

กล่าวคือ คนพาลย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า "ฐานะนี้ไม่น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้นเมื่อทำ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์" (ดังนั้น) เขาก็ไม่กระทำฐานะนั้น, เมื่อเขาไม่กระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์; ส่วนบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า "ฐานะนี้ไม่น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้น เมื่อทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์" เขาจึงกระทำฐานะนั้น, เมื่อเขากระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์

ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์, แม้ในฐานะนี้ ก็พึงทราบคนพาลและบัณฑิตได้ ที่เรี่ยวแรงความเพียร ความบากบั่น ของคน

กล่าวคือ คนพาลย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า "ฐานะนี้น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่เมื่อทำเข้า จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์" (ดังนั้น) เขาก็กระทำฐานะนั้น, เมื่อเขากระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์; ส่วนบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า "ฐานะนี้น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้นเมื่อทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์" เขาจึงไม่กระทำฐานะนั้น, เมื่อเขาไม่กระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์, ฐานะนี้เห็นได้ว่า ควรกระทำทั้งสองสถาน คือ ควรกระทำ ด้วยเป็นฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ และควรกระทำ ด้วยเมื่อกระทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์..."

"คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุประโยชน์ที่มุ่งหมาย (ทั้งสองประการคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ)"

"ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้เช่นนั้นเป็นสัตบุรุษ มีวิจารณญาณ ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้

"ภิกษุทั้งหลาย อาศัยสัตบุรุษแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๔ ประการได้ กล่าวคือ จะเจริญด้วยศีลอย่างอริยะ จะเจริญด้วยสมาธิอย่างอริยะ จะเจริญด้วยปัญญาอย่างอริยะ จะเจริญด้วยวิมุตติอย่างอริยะ"

"ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ในโลกนี้ ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย, เมื่อจะคิด ย่อมคิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว, อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก"

"ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเกิดมาในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก (คือ) ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา...แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้กรรมกรและคนงาน...แก่หมู่มิตรและเพื่อนร่วมงาน...แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา...แก่เหล่าเทวดา...แก่สมณะชีพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก"  


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
       6-4 pw.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 กันยายน 2557 13:36:49 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 กันยายน 2557 14:21:02 »

  กัลยาณมิตร (๖)

คนดี มีปัญญา ที่เรียกว่าบัณฑิต หรือสัตบุรุษนี้ เมื่อใครไปเสวนาคบหา หรือเมื่อเขาเองทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้หรือความดีงามแก่ผู้อื่น ชักจูงให้ผู้อื่นมีความรู้ความเห็นถูกต้อง หรือให้มีศรัทธาที่จะถือตามอย่างตน อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการสั่งสอน การแนะนำ หรือกระจายความรู้ความเข้าใจนั้นออกไปทางหนึ่งทางใดก็ตาม ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความเมตตากรุณา ก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และการประพฤติดีปฏิบัติชอบขึ้น เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตรในแง่ที่เป็นผู้ซึ่งคนอื่นควรเข้าไปคบหาเสวนา นอกจากจะกำหนดด้วยคุณสมบัติต่างๆ เท่าที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจพิจารณาจากคุณธรรมหลักเพียง ๔ หรือ ๕ ประการ ที่ท่านกล่าวไว้ในความหมายของกัลยาณมิตตตา

กัลยาณมิตตตา คือ ความมีกัลยาณมิตรนั้น ท่านแสดงความหมายว่า ได้แก่ การเสวนา สังเสวนา คบหา ภักดี มีจิตฝักใฝ่โน้มไปหาบุคคลที่มีศรัทธา มีศีล มีสุตะ คือ เป็นพหูสูต มีจาคะ และมีปัญญา

ในบรรดาคุณธรรม ๕ อย่างนี้ บางแห่งท่านแสดงไว้เพียง ๔ อย่าง เว้นสุตะ แสดงว่า สุตะมีความจำเป็นน้อยกว่าข้ออื่นอีก ๔ ตาย ข้อ และท่านขยายความเชิงแนะนำว่า เมื่อไปอยู่ในถิ่นใดก็ตาม ก็เข้าสนิทสนม สนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษากับผู้ประกอบด้วยศรัทธา ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้ประกอบด้วยจาคะ ผู้ประกอบด้วยปัญญา ศึกษาเยี่ยงอย่างศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ของคนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้น

ส่วนกัลยาณมิตร ในแง่ทำหน้าที่ต่อผู้อื่น สมควรมีคุณสมบัติพิเศษจำเพาะสำหรับการทำหน้าที่นั้นอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะคุณสมบัติพื้นฐาน ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้
๑. ปิโย น่ารัก คือ เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนม เป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม
๒. ครุ น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย
๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่อง ควรเอาอย่าง ทำให้ศิษย์เอ่ยอ้าง และรำลึกถึง ด้วยความซาบซึ้ง มั่นใจ และภาคภูมิใจ
๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล คือ พูดเป็น รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าว ตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
๕. วจนักขโม ทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามแม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกิน และ คำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อดทนฟังได้ ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์
๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งซับซ้อนให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะมิได้ระบุลงไปว่าเป็นข้อกำหนดคุณสมบัติของกัลยาณมิตรโดยตรง แต่ก็ควรถือว่าเป็นคุณสมบัติประกอบของกัลยาณมิตรได้

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น, ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นไฉน กล่าวคือ ภิกษุ
(๑) เป็นผู้มีความเข้าใจรวดเร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
(๒) เป็นผู้ทรงจำธรรมที่สดับแล้วได้
(๓) เป็นผู้พิจารณาความหมายใจความของธรรมที่ทรงจำไว้ได้
(๔) เข้าใจความหมาย (อรรถ) เข้าใจหลัก (ธรรม) ดีแล้ว ปฏิบัติธรรมถูกหลัก
(๕) เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวกัลยาณพจน์ ประกอบด้วยถ้อยคำอย่างชาวเมือง สละสลวย ฉะฉาน ทำให้รู้เนื้อความจะแจ้ง
(๖) เป็นผู้ (สามารถแสดงธรรมชนิดที่) ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริงได้ แก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย"

"ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ พวกเหล่านี้ มีอยู่ในโลก กล่าวคือ บุคคลที่ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา ก็มี, บุคคลที่ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา ก็มี, บุคคลที่ควรสักการะ เคารพแล้ว เสวนา คบ หมั่นเข้าหา ก็มี"
(๑) บุคคลที่ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา เป็นไฉน? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้ทรามกว่า โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา, บุคคลอย่างนี้ ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา นอกจากจะเอื้อเอ็นดู นอกจากจะอนุเคราะห์
(๒) บุคคลที่ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา เป็นไฉน? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้เช่นเดียวกัน โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา, บุคคลอย่างนี้ ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่า เมื่อเราเป็นผู้เสมอกันโดยศีล...โดยสมาธิ...โดยปัญญาแล้ว การสนทนากันเรื่องศีล...การสนทนากันเรื่องสมาธิ...การสนทนากันเรื่องปัญญา จักมีได้ด้วยการสนทนากันจักดำเนินไปได้ด้วย และการสนทนานั้นก็จักเป็นความผาสุกของเราด้วย, เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้ จึงควรเสวนา ควรหมั่นเข้าหา


  กัลยาณมิตร (๗)

(๓) บุคคล ที่ควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา เป็นไฉน? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้ยิ่งกว่า โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา, บุคคลอย่างนี้ ควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา, ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะเราจักได้ทำกองศีล...กองสมาธิ...กองปัญญา ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ หรือจะได้ประคับประคองกองศีล...กองสมาธิ...กองปัญญา ที่บริบูรณ์อยู่แล้วไว้ได้ ด้วยปัญญาในกรณีนั้นๆ, เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้ จึงควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา

พึงสังเกต ในข้อความว่าด้วยบุคคลพวกที่ ๑ ซึ่งไม่ควรคบนั้น มีหลักการคบหาที่ควรย้ำไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ตามคำสอนทั่วไป ซึ่งได้พบกันอยู่เสมอนั้น ท่านไม่ให้คบคนเลวทราม แต่ท่านก็แสดงข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า ควรจะคบต่อเมื่อเป็นเรื่องของเมตตากรุณา ในเมื่อจะช่วยเหลือเขา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คิดจะไปช่วยเหลือเขาอย่างนี้ ก็ควรพิจารณาความพร้อมของตนให้ดีก่อนด้วย

คำสอนเกี่ยวกับคุณสมบัติของมิตรดีนี้ บางแห่งมุ่งเน้นประโยชน์ในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือทิฏฐธัมมิกัตถะเชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ เช่น เรื่องมิตรแท้ มิตรเทียม ในสิงคาลกสูตร ดังความว่า

"ดูกรคหบดีบุตร คน ๔ พวกเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นอมิตร เป็นมิตรเทียม คือ คนปอกลอก...คนดีแต่พูด...คนหัวประจบ...คนชวนฉิบหาย
(๑) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดปอกลอก โดยฐานะ ๔ คือ เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว...ยอมเสียน้อย หวังจะเอาให้มาก...ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน...คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ (ของตัว)
(๒) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดดีแต่พูด โดยฐานะ ๔ คือ ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย...ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย...สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้...เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
(๓) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดหัวประจบ โดยฐานะ ๔ คือ เพื่อนจะทำชั่ว ก็เออออ...เพื่อนจะทำดี ก็เออออ...ต่อหน้าสรรเสริญ...ลับหลังนินทา
(๔) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดชวนฉิบหาย โดยฐานะ ๔ คือ คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา...คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน...คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น...คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

"ดูกรคหบดีบุตร คน ๔ พวกเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นมิตร มีใจงาม คือ มิตรอุปการะ...มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์...มิตรแนะนำประโยชน์...มิตรมีใจรัก"
(๑) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดอุปการะ โดยฐานะ ๔ คือ เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน...เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน..เพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้...เมื่อมีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
(๒) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดร่วมสุขร่วมทุกข์ โดยฐานะ ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน...รักษาความลับของเพื่อน...มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง...แม้ชีวิตก็สละได้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อน
(๓) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดแนะนำประโยชน์ โดยฐานะ ๔ คือ ห้ามปรามจากความชั่ว...ให้ตั้งอยู่ในความดี...ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง...บอกทางสวรรค์ให้
(๔) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดมีใจรัก โดยฐานะ ถ คือ เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ...เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี...เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้...เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

อีกแห่งหนึ่งตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ควรคบ, ๗ ประการเป็นไฉน? กล่าวคือ ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ทนสิ่งที่ทนได้ยาก เปิดเผยความลับแก่เพื่อน รักษาความลับของเพื่อน เมื่อมีภัยพิบัติ ไม่ทอดทิ้ง เมื่อเพื่อนสิ้นไร้ ไม่ดูหมิ่น"

หลักที่นับว่าเป็นข้อปฏิบัติทั่วไปสำหรับมิตร ก็คือ คำสอนในเรื่องทิศ ๖ ที่ว่า
"ดูกรคหบดีบุตร มิตร และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็น (เหมือน) ทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรพึงบำรุงโดยฐานะ ๕ คือ
(๑) ทาน ให้ปัน
(๒) ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน
(๓) อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา
(๔) สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน
(๕) อวิสังวาทนตา พูดขานไม่คลาดความจริง"

พึงสังเกตว่า ข้อปฏิบัติ ๔ ข้อแรก ก็คือหลักที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการนั่นเอง สังคหวัตถุนั้นเป็นหลักการสงเคราะห์ หรือหลักการยึดเหนี่ยวน้ำใจคน และประสาน หมู่ชนไว้ในสามัคคี ซึ่งเป็นหลักธรรมสำหรับแสดงน้ำใจต่อกันระหว่างคนทั่วไป เมื่อหลักทั้งสองนี้ตรงกัน จึงเหมือนกับพูดว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนทั้งหลาย เป็นมิตรต่อกัน หรือปฏิบัติต่อกันอย่างมิตร

นอกจากนี้ พึงสังเกตด้วยว่า บรรดาข้อปฏิบัติเหล่านี้ การเอาตัวเข้าสมาน คือ ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน นับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นการเข้าถึงตัวอย่างแท้จริง ซึ่งมีผลทางจิตใจ และชักจูงความรู้สึกนึกคิดได้มาก ดังจะเห็นว่า ท่านจัดมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ไว้เป็นมิตรแท้ประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ  



  กัลยาณมิตร (๘)

พระภิกษุสงฆ์ หรือสมณะชีพราหมณ์ ก็พึงทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของชาวบ้าน ดังจะเห็นว่า หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ต่อกุลบุตร ตามหลักทิศเบื้องบน ตรงกันทุกข้อกับลักษณะมิตรแท้ ประเภทมิตรแนะนำประโยชน์ จะว่าพระสงฆ์เป็นมิตรแท้ ประเภทมิตรแนะนำประโยชน์ ก็ได้ แต่หน้าที่ของพระสงฆ์นั้น มีเพิ่มเข้ามาอีก ๒ ข้อ รวมเป็น ๖ ข้อ คือ
๑. ห้ามปราม (สอนให้เว้น) จากความชั่ว
๒. (แนะนำสั่งสอน) ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี (เพิ่ม)
๔ ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
๕. (ชี้แจงอธิบาย) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้ว ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง (เพิ่ม)
๖. บอกทางสวรรค์ (สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข)

หน้าที่ของพระสงฆ์นี้ เป็นไปตามความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน ดังพุทธพจน์ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์คหบดี (ชาวบ้าน) ทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย เป็นผู้บำรุงเธอทั้งหลายด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร"

"แม้พวกเธอก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์คหบดีทั้งหลาย โดยแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์คหบดีเหล่านั้น"

"ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ และบรรพชิต อาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อมุ่งหมายจะสลัดเสียซึ่งโอฆะ เพื่อทำความจบสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการฉะนี้"

"ผู้ครองเรือน และผู้ไร้เรือน ทั้งสองฝ่าย อาศัยซึ่งกันและกัน ย่อมบำเพ็ญให้สัมฤทธิ์ซึ่งสัทธรรม ที่เป็นโยคเกษมอันยอดเยี่ยม ฯลฯ"

และมีพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ยืนยันการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ชาวบ้าน (โดยทางที่ชอบธรรม) ว่า
"ถูกอย่างนั้น นายบ้าน ตถาคตสรรเสริญการเอื้อเอ็นดู สรรเสริญการช่วยรักษา สรรเสริญการอนุเคราะห์แก่สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย"

อย่างไรก็ตาม ความเป็นกัลยาณมิตรของพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทางธรรม ด้วยเมตตากรุณาแก่ชาวบ้านดังกล่าวมานี้ ก็จะต้องคงรักษาลักษณะพิเศษแห่งความมีชีวิตที่เป็นอิสระ และความเป็นสมณะไว้ด้วย มิให้กลายเป็นการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย คือกลายเป็นเครื่องขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตนเอง และทำให้ชาวบ้านขาดที่พึ่ง เพราะมีแต่คนที่ยังวุ่นวายตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับพวกเขา ไม่มีหลักที่จะช่วยเหนี่ยวออกไปให้พ้นจากความสับสนวุ่นวายได้

ลักษณะความสัมพันธ์ผิดพลาด ที่พระสงฆ์กลายเป็นผู้ตกลงมาอยู่ในสภาพวุ่นวายติดแหติดอวนอย่างเดียวกับชาวบ้าน หมดความสามารถที่จะช่วยดึงชาวบ้านออกไปสู่ความเป็นอิสระ เช่นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นอาการที่ถูกมนุษย์จับไว้ ดังพุทธพจน์ว่า

"ดูกรภิกษุ การถูกมนุษย์จับไว้เป็นไฉน? กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย รื่นเริงด้วยกัน โศกเศร้าด้วยกัน เมื่อเขาสุข ก็พลอยสุขไปกับเขา เมื่อเขาทุกข์ก็พลอยทุกข์ไปกับเขา เมื่อเขาเกิดกิจธุระขึ้น ก็เข้าจัดแจง (เจ้ากี้เจ้าการ) ด้วยตนเอง, นี้เรียกว่า ถูกมนุษย์จับไว้"

เมื่อปฏิบัติหน้าที่ในด้านการสั่งสอนโดยตรง กัลยาณมิตรควรดำรงอยู่ในหลักปฏิบัติที่เน้นความบริสุทธิ์ ความมีเมตตา และความจริงใจต่อไปนี้ด้วย

หลักปฏิบัติหมวดแรก เรียกชื่อว่า ธรรมเทศกธรรม แปลว่า ธรรมของผู้แสดงธรรม มี ๕ ประการ จับความได้ดังนี้
๑. อนุปุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหา ตามลำดับความยากง่ายลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ
๒. ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัด ในแต่ละแง่แต่ละประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่างๆ ให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล
๓. อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน
๔. อนามิสันดร ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทน
๕. อนุปหัจจ์ วางจิตตรง ไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถแสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

มีพุทธพจน์เกี่ยวกับการสอน ที่บริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ ดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งรูปใดแสดงธรรมแก่ผู้อื่น โดยมีจิตคิดอย่างนี้ว่า : ขอให้คนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา แลครั้นฟังธรรมแล้ว พึงเลื่อมใส ขอให้ผู้ที่เลื่อมใสแล้ว พึงกระทำอาการแห่งผู้เลื่อมใส แก่เราด้วยเถิด, ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ ไม่บริสุทธิ์"  



  กัลยาณมิตร (๙)

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแล ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้อื่น โดยมีจิตคิดอย่างนี้ว่า : ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติบรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล ควรเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ อันวิญญูชนพึงรู้ได้จำเพาะตน, ขอให้คนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงเข้าใจธรรมทั่วชัด และครั้นเข้าใจทั่วชัดแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อเป็นเช่นนั้นเถิด ดังนี้"

"เธอย่อมแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ เพราะอาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมดี...เพราะอาศัยความการุณย์...เพราะอาศัยความเอื้อเอ็นดู...เพราะอาศัยความปรารถนาดี, ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ บริสุทธิ์"

แม้แต่หน้าที่ต่อศิษย์ ที่ครูอาจารย์ทั่วไปพึงปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ ซึ่งมิได้เน้นในแง่ความบริสุทธิ์มากนัก ก็มีลักษณะทั่วไปในแนวเดียวกัน คือย้ำความมีเมตตาและการกระทำด้วยความตั้งใจจริง ดังข้อปฏิบัติต่อไปนี้
๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (คือสอนให้ใช้ความรู้ทำงานได้จริง สามารถใช้หาเลี้ยงชีพเป็นอยู่ได้)

คุณสมบัติของกัลยาณมิตรที่ควรย้ำไว้ในตอนท้ายมี ๒ ประการ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นคุณสมบัติของกัลยาณมิตรอย่างเลิศ คือ ความเป็นผู้กระทำได้จริงในสิ่งที่สอนแก่ผู้อื่น หรือได้บรรลุผลสำเร็จนั้นๆ ด้วยตนเองแล้ว จึงสอนเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น อย่างหนึ่ง และความเป็นอิสระ เมื่อจะช่วยผู้อื่น ตนเองไม่ติดนุงนังอยู่ในเครื่องผูกพันเดียวกันกับที่เขากำลังติดอยู่ อีกอย่างหนึ่ง อย่างแรกมีพุทธภาษิตตรัสไว้หลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น

"ทำตนนี่แหละ ให้ตั้งอยู่ในคุณความดีอันสมควรก่อน จากนั้นจึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่น, บัณฑิตไม่ควรมีข้อมัวหมอง"

"ถ้าพร่ำสอนผู้อื่น ฉันใด ก็ควรทำตน ฉันนั้น?"

คำเตือนอย่างนี้ โดยมากเพ่งไปในด้านความประพฤติคือ เรื่องความดีความชั่ว แต่ในด้านการบรรลุผลสำเร็จทางจิตและปัญญา ถ้าได้ผู้บรรลุแล้วมาเป็นกัลยาณมิตรก็ย่อมเป็นการดีเลิศ ถ้าไม่ได้ก็พึงหาผู้ก้าวไปไกลกว่า หรืออย่างน้อยเสมอกัน ดังพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว เพราะบุคคลผู้เป็นพหูสูตทรงความรู้ตามตำราหรือตามที่เล่าเรียนมา บางท่านชี้แจงสั่งสอน ทำให้ผู้อื่นปฏิบัติบรรลุธรรมได้โดยที่ตัว ผู้สอนเองหาบรรลุไม่ หรือบางคราวผู้มีภูมิธรรมเสมอกันมาสนทนาสอบค้นธรรมด้วยกันแล้วเลยพลอยบรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน

คุณค่าหรือประโยชน์ที่สำคัญด้านหนึ่งของความมีกัลยาณมิตรก็คือ การมีตัวอย่างที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่กำลังปฏิบัติและมุ่งหมายนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้จริง บรรลุได้จริง และถ้าทำได้สำเร็จแล้วจะได้รับผลดีจริง อีกประการหนึ่ง กัลยาณมิตรมีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ในสิ่งที่ปฏิบัตินั้นดีกว่า จึงสามารถช่วยชี้แนะบอกแนวหรือวิธีการที่จะทำให้การปฏิบัติง่ายขึ้น หรือมีทางลัดมากขึ้น

กัลยาณมิตรที่ได้บรรลุผลการปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้ว ย่อมอำนวยคุณค่าหรือประโยชน์ที่กล่าวมานี้ได้เต็มที่ ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดศรัทธา มีกำลังใจแรงกล้า จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ควรจะเพ่งหวังกัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เช่นนี้ก่อน

ส่วนความเป็นอิสระ มองได้ ๒ ด้านคือ ด้านความเป็นอยู่หรือระบบการดำเนินชีวิต และความเป็นอิสระภายในจิตใจ ความเป็นอิสระนี้เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วเกี่ยวกับภิกษุผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ข้างต้น ผู้ที่ติดอยู่ในเครื่องผูกมัดจองจำอย่างเดียวกับเขา หรือว่ายวนดิ้นรนอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยว ในเกลียวคลื่นเดียวกับคนอื่น แม้แต่ตนเองก็ยังช่วยไม่ได้ จะช่วยปลดเปลื้องหรือรื้อถอนผู้อื่นขึ้นมาได้อย่างไร

คนที่ติดอยู่ในระบบที่ผูกรัดของสังคม ดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ ตามแนวทางเดียวกับคนอื่นๆ ด้วยค่านิยมอย่างเดียวกัน มีปัญหาบีบรัดกดดันทางด้านความเป็นอยู่ การอาชีพของตนและครอบครัว ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตนและจำเพาะครอบครัวของตน เหมือนกันกับคนอื่นๆ เมื่อสังคมเกิดปัญหาย่อมยากที่จะมีเวลามีความคิดมาอุทิศให้แก่การไถ่ถอนคนอื่นๆ หรือที่จะนำผู้คนออกไปสู่แนวทางใหม่ๆ ได้ เมื่อพยายามทำก็มักเข้าแนวที่ว่ากันว่า พายเรือเวียนวนอยู่ในอ่าง ยิ่งเมื่อทั้งระบบความเป็นอยู่ ทั้งจิตใจ ล้วนไม่เป็นอิสระทั้งสองอย่าง ก็ยิ่งประสบความสำเร็จได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระบบสงฆ์ให้เป็นชุมชนอิสระ มีความเป็นอยู่หรือระบบการดำเนินชีวิตเป็นอิสระจากระบบของสังคมใหญ่ ดังจะเห็นได้จากวินัย ที่เป็นเครื่องจัดระบบแบบแผนของสงฆ์



  กัลยาณมิตร (๑๐)

เมื่อมีระบบชีวิตความเป็นอยู่เป็นอิสระด้วย และมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระเป็นพื้นฐานด้วย ก็จะทำให้สงฆ์เป็นชุมชนอิสระ ที่ช่วยชักนำสิ่งที่ดีงามถูกต้องเข้ามาให้แก่สังคมส่วนใหญ่อย่างได้ผล และสามารถเป็นแหล่งที่พึ่งอาศัย ช่วยให้ความเป็นอิสระระดับต่างๆ แก่คนในสังคมใหญ่นั้นด้วย มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสไว้ดังนี้

"ดูกรจุนทะ ผู้ที่ตนเองก็จมอยู่ในโคลนเลนอันลึก จะช่วยฉุดยกคนอื่นที่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึกขึ้นมาได้นั้น ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้"

"ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึก จะช่วยฉุดยกคนอื่นที่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึกขึ้นมา ข้อนี้จึงจะเป็นฐานะที่เป็นไปได้"

"ผู้ที่ตนเองมิได้ฝึก มิได้อบรม ยังไม่หายร้อนกิเลส จักฝึก จักอบรม จักทำคนอื่นให้หายร้อนกิเลส ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้"

"ผู้ที่ตนเองฝึกแล้ว อบรมแล้ว ดับร้อนกิเลสแล้ว จักฝึก จักอบรม จักทำคนอื่นให้หายร้อนกิเลส ข้อนี้จึงจะเป็นฐานะที่เป็นไปได้"

เพื่อรักษาระบบชีวิตของพระสงฆ์ให้คงสภาพเป็นอิสระไว้ให้ได้มากที่สุด มีพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหลักแสดงจรรยาบรรณของนักบวช ความว่า

"บรรพชิต ไม่พึงเที่ยววุ่นทำไปทุกอย่างไม่เลือก, ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น, ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ และไม่พึงเอาธรรมมาค้าขาย"

เรื่องนี้ สรุปได้ด้วยพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุด ซึ่งทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของกัลยาณมิตรอย่างเลิศ ครบทั้ง ๒ ข้อ คือ ทรงทำได้จริง บรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่นำมาสอนแล้วด้วย และทรงมีความเป็นอิสระ หลุดพ้นทั้งจากระบบของสังคมที่แวดล้อมอยู่ และทั้งจากกิเลสที่ผูกมัดสุมรุมอยู่ในจิตใจ

"ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ตั้งอยู่ลอยพ้นเหนือน้ำ ไม่ถูกน้ำฉาบติด ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก แต่เป็นอยู่ลอยเหนือโลก ไม่ติดกลั้วด้วยโลก"

"ดูกรวาหนะ ตถาคตสลัดออกได้แล้ว ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นแล้ว จากธรรม ๑๐ ประการ จึงเป็นอยู่ด้วยใจไร้เขตแดน, ธรรม ๑๐ ประการอะไรบ้าง? คือ ตถาคตสลัดออกได้แล้ว ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นแล้ว จากรูป...จากเวทนา...จากสัญญา...จากสังขาร...จากวิญญาณ...จากความเกิด...จากความแก่...จากความตาย...จากทุกข์ทั้งหลาย...จากกิเลสทั้งหลาย จึงเป็นอยู่ด้วยจิตใจที่ไร้เขตแดน เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ตั้งอยู่ลอยพ้นเหนือน้ำ ไม่ถูกน้ำฉาบติด ฉะนั้น"

"พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงตื่นเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อปลุกให้ตื่น, ทรงฝึกพระองค์เองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก, ทรงสงบเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ, ทรงข้ามพ้นเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น, ทรงหายร้อนสนิทเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความดับร้อน"

ท้ายสุด ลักษณะการสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า "อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน" ๓ อย่าง น่าจะใช้เป็นหลักตรวจสอบตนเองอย่างกว้างๆ สำหรับกัลยาณมิตรผู้จะทำหน้าที่ในการสอนให้ได้ผลจริง คือ
๑. ทรงแสดงธรรมด้วยความรู้ยิ่ง คือ ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตาม ในธรรมที่ควรรู้ยิ่งเห็นจริง
    ข้อนี้ มองในแง่ตัวผู้สอน ว่ามีความรู้จริงในเรื่องที่สอน หรือได้บรรลุผลประจักษ์ในเรื่องที่สอนนั้นมาด้วยตนเองก่อนแล้ว
๒. ทรงแสดงธรรมมีเหตุผล คือ ทรงสั่งสอนชี้แจงให้เห็นเหตุผล ซึ่งผู้ฟังสามารถพิจารณาให้เข้าใจโดยใช้ปัญญาของเขาเอง
    ข้อนี้ มองในแง่ของผู้เรียนหรือผู้ฟัง ซึ่งผู้สอนแสดงคำสอนชนิดที่ให้อิสรภาพ หรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนผู้ฟังคิดพิจารณา
    ใช้ปัญญาของเขาพัฒนาปัญญาของตนเอง และเข้าใจหรือเข้าถึงความจริงด้วยตัวของเขาเอง ผู้สอนเพียงนำข้อมูลข้อเท็จจริงเหตุผล
    หรือข้อเสนอ มาตีแผ่แจกแจงให้ดูและกระตุ้นให้คิดให้พิจารณา
๓. ทรงแสดงธรรมมีผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ คือ ทรงสอนสิ่งที่เป็นจริง ซึ่งคนมีปัญญารักความจริงพิจารณาแล้วจะต้องยอมรับ
    และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ให้เกิดผลจริง ซึ่งผู้ปฏิบัติย่อมจะได้รับผลสอดคล้องสมควรแก่การปฏิบัติ
    ข้อนี้ มองในแง่สิ่งที่สอน ซึ่งสมความจริง หรือเป็นอย่างนั้นจริง ยืนยันได้ มีแก่นสาร ไม่เหลวไหล นำไปปฏิบัติได้ผล
    ไม่เป็นหมัน ไม่เป็นโมฆะ ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติได้จริง ทำแค่ไหนอย่างไร ก็ได้ผลสมกันกับการ กระทำและองค์ประกอบ
    ที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นๆ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤศจิกายน 2557 18:15:20 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2557 18:42:41 »

.
  กัลยาณมิตร (๑๑)

อย่างไรก็ดี ถ้าไม่อาจหากัลยาณมิตรผู้ได้รู้เห็นผลประจักษ์เองแล้ว ผู้ทำได้จริง และเป็นอิสระจริง บุคคลพหูสูต ที่สอนเขาทั้งที่ตัวเองไม่ได้เข้าถึงจริงนั่นแหละ ก็เป็นประโยชน์ได้ โดยที่บุคคลพหูสูตนั้น เป็นเหมือนนายโคบาลเลี้ยงโคให้คนอื่น หรือเหมือนคนตาบอดถือตะเกียง คนอื่นที่ตาดี ลืมตาขึ้นแล้ว ก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายได้ คนตาดีที่ว่านั้น ก็คือ คนมีโยนิโสมนสิการ

ในกรณีเช่นนั้น ไม่ต้องพูดถึงบุคคลพหูสูตที่รู้กว้างขวางและชำนาญการสอน แม้แต่คนโง่เขลา หรือคนบ้า จำถ้อยคำมีสาระจากคนอื่นมาท่องหรือบ่นว่าอะไร มีแง่ให้คิด คนมีโยนิโสมนสิการได้ฟัง ก็อาจเกิดความแจ่มแจ้งหยั่งรู้สัจธรรมได้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงขั้นนี้ ความสำคัญอยู่ที่ฝ่ายผู้ฟัง คือ องค์ประกอบฝ่ายภายใน ที่เป็นปัจจัยอย่างที่ ๒ ที่จะกล่าวเป็นข้อถัดไป

การทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร เมื่อมองในแง่ของการศึกษา หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม การที่มิตรทำกิจต่างๆ ร่วมกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นับว่าเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอก สิ่งที่นับว่าสำคัญก็คือ ความมีอิทธิพลชักจูงกันในด้านความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ท่านเรียกรวมว่า ทิฏฐิ

ถ้าเป็นความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้อง มีโทษ ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นฝ่ายที่ดีงาม ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

มิตรใด มีอิทธิพลชักจูงให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรไม่ดี เรียกว่า ปาปมิตร มิตรใด ชักนำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นมิตรดี มิตรแท้ เรียกว่า กัลยาณมิตร

มีบ่อยๆ ที่มิตรชนิดในเรือน คือมารดาบิดา หรือแม้แต่ครูอาจารย์ มีอิทธิพลชักนำทิฏฐินี้ น้อยกว่ามิตรชนิดเพื่อนที่คบหาเที่ยวเล่นชุมนุมด้วยกัน แต่บางครั้งปรากฏว่า แม้แต่มิตรชนิดชิดใกล้นั้น กลับมีอิทธิพลน้อยไปกว่ามิตร ชนิดตัวอยู่ไกล ไม่ว่าโดยเทศะหรือกาละ แต่มีพลังแรงเข้าถึงใจ ได้แก่ มิตรที่มาทางสื่อมวลชน มาทางสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ตลอดจนหนังสือ รวมทั้งชีวประวัติวีรชน บุคคลสำคัญ อันเข้าหลักทิฏฐานุคติ ที่ท่านเน้น

ตัวเชื่อมที่ทำให้มิตรนั้นเข้ามามีอิทธิพลชักจูงได้ หรือปัจจัยเครื่องเชื่อมต่อระหว่างมิตร กับอิทธิพลที่เกิดขึ้นในใจ ก็ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความนิยมชมชอบ ความซาบซึ้งใจ ที่เรียกว่าศรัทธา

เมื่อมีศรัทธาแล้ว หรือทำให้เกิดศรัทธาได้แล้ว ถึงตัวมิตรจะอยู่ไกล ไม่ได้คลุกคลี ก็มีอิทธิพลได้ ถึงตัวมิตรจะอยู่ใกล้ แต่ถ้าไม่ศรัทธา ก็หามีอิทธิพลชักจูงได้ไม่ ดังนั้น ท่านจึงถือเป็นหลักการว่า ผู้ซึ่งจะทำหน้าที่ชักนำสั่งสอนผู้อื่นให้มีความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น เป็นต้น อันถูกต้อง ควรจะต้องยังศรัทธาให้เกิดแก่ผู้รับฟังคำสอนนั้นได้ พูดง่ายๆ ว่า หลักการเบื้องต้นข้อหนึ่งในทางการศึกษา คือ กัลยาณมิตรเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา หรือจะพูดขยายออกไปอีกก็ได้ว่า การคบหาบัณฑิต หรือเสวนาสัตบุรุษ เป็นปัจจัยแห่งศรัทธา

ผู้ใด แม้จะเป็นคนดีมีปัญญา แต่เมื่อยังไม่อาจให้เขาเกิดศรัทธาได้ ก็ยังไม่ได้ฐานะเป็นกัลยาณมิตร และการเสวนาหรือการคบหาก็ยังไม่เกิด เมื่อศรัทธาแล้ว ใจรับ ก็นำความคิดได้ นำพฤติกรรมได้ อาจให้เกิดการเลียนแบบ หรือชักจูงให้รู้จักคิดอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่อไป ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ

เรื่องสัมมาทิฏฐิในแง่หลักวิชาตามแบบ หรือตามตำราเดิมแท้ ยังจะได้กล่าวต่อไปอีก แต่ในที่นี้ มีข้อควรทำความเข้าใจเบื้องต้นไว้ก่อนว่า ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ดีงาม ที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" นั้น อาจมีเนื้อหารายละเอียดมากมาย อาจบรรยายกันไปได้ต่างๆ หลายอย่างหลายแนว แต่เมื่อมองตามหลักธรรมแล้ว ก็สรุปได้เป็นเพียง ๒ ประเภท คือ ๑. ความเชื่อถือ ความเห็น ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ดีงาม มีเหตุผล เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องความดีความชั่ว การทำดีทำชั่ว และการได้รับผลดีร้ายสอดคล้องกับการ กระทำของตน คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความเชื่อมั่นในคุณธรรม เช่น คุณของมารดาบิดา ความเชื่อความเห็นสอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา เช่นว่า โลกหน้ามี เป็นต้น รวมเรียกกันสั้นๆ ว่า เห็นชอบตามคลองธรรม หรือความเชื่อกรรม ซึ่งทำให้มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เรียกตามหลักวิชาคำเดียวว่า กัมมัสสกตาญาณ



  กัลยาณมิตร (๑๒)

อย่างที่ว่านี้แล คือสัมมาทิฏฐิที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วว่าเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิขั้นโลกีย์ เกิดจากความรู้ความเข้าใจเหตุผล โดยอาศัยการอบรมสั่งสอนปลูกฝังสืบๆ กันมาในสังคม ช่วยให้เกิดความประพฤติดีประพฤติชอบ และการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำให้สังคมสงบเรียบร้อย คนอยู่ร่วมกันร่มเย็นเป็นสุข

๑.ความรู้ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับโลกและชีวิต หรือสังขารธรรมทั้งหลาย ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ ตามสภาวะของมัน และตามความเป็นไปโดยธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งควรจะมีจะเป็น ระหว่างตนเองกับสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ หรือกับโลกและชีวิต

ดังเช่น รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นสังขารธรรม เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า เป็นไปตามความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย จึงมีสภาพไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป และมีเหตุปัจจัยต่างๆ ขัดแย้งบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นตัวของมันเองอย่างแท้จริง ไม่อาจเป็นของใครๆ และไม่ขึ้นต่อความปรารถนาของใครได้จริงจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายมีสภาวะแท้จริงเป็นอย่างนี้ เราควรมีท่าทีและปฏิบัติต่อมันอย่างไร การมีท่าทีแห่งการยึดมั่นถือครองอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือยกมอบชีวิตนี้ให้แก่การแสวงหาไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้ เป็นการถูกต้องแล้วหรือไม่ มนุษย์สัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งตัวเรา ต่างก็เป็นสังขารธรรม ตกอยู่ใต้คติธรรมดาเดียวกัน เป็นเพื่อนแก่เจ็บตาย เราควรมีท่าทีและปฏิบัติต่อกันอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

ความรู้ความเห็นความเข้าใจอย่างนี้ เกิดจากการรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตรงตามสภาวะและตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นความรู้ความเห็นความเข้าใจที่ได้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ คือในขั้นต้นนี้ยังเป็นโลกิยะ แต่ก็อยู่ในแนวทางของโลกุตรสัมมาทิฏฐิ จะเจริญขึ้นเป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ต่อไป

สัมมาทิฏฐิอย่างแรก เรียกว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ (ความรู้ภาวะที่บุคคลมีกรรมเป็นของตน หมายถึงความรู้ที่พอรู้จักแยกว่าอันใดเป็นกรรมของตนหรือมิใช่ นับเป็นความรู้ระดับที่ทำให้รู้จักรับผิดชอบการกระทำของตน) ที่ชาวพุทธไทยมักเรียกกันว่า "กัมมัสสกตาศรัทธา" เป็นสัมมาทิฏฐิระดับธรรมจริยา หรือกุศลกรรมบถ เป็นประโยชน์หรือจุดหมายชีวิตระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ แต่เป็น พื้นฐานของปรมัตถ์ต่อไป

ส่วนสัมมาทิฏฐิอย่างที่สอง จัดเข้าในระดับวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ แต่บาลีเรียก สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ญาณคล้อยแก่สัจจะ หรือความรู้ที่เข้าแนวสัจจะ นำไปสู่การตรัสรู้ คือมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ ต่อไป

จะเห็นว่า สัมมาทิฏฐิตัวแท้ที่จะให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ก็คือ สัมมาทิฏฐิอย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นความรู้ที่เข้าแนวสัจจะ

ชาวพุทธทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่คิด จะเข้าถึงจุดหมายสูงสุด หรือยังไม่คิด ก็ตาม ย่อมไม่ควรหยุดอยู่เพียงสัมมาทิฏฐิ ข้อแรก ควรจะก้าวต่อไปสู่สัมมาทิฏฐิ ข้อที่ ๒ ด้วย โดยพยายามปลูกอบรมพัฒนาปัญญาระดับนี้ ให้มีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะสัมมาทิฏฐิระดับนี้ จะช่วยบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ให้เบา บางลง ทำให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใส รู้จักวางใจวางท่าทีต่อโลกและชีวิตดีขึ้น จะมีความสุขมากขึ้น เป็นวิธีลดการเบียดเบียนแย่งชิงและความทุกข์ความเดือดร้อนของโลก ที่ได้ผลแท้ ยิ่งกว่าวิธียับยั้งบังคับหรือเหนี่ยวรั้งใจในระดับที่เรียกกันว่าศีลธรรม เป็นผลดีทั้งแก่ตนและแก่สังคม

เมื่อแยกแยะดูขั้นตอน ตามลำดับของกระบวนธรรม จะเห็นว่า การเสวนาสัตบุรุษ หรือความมีกัลยาณมิตร นำไปสู่การได้สดับธรรม คือคำสอนคำแนะนำชี้แจงต่างๆ โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง เมื่อธรรม คือหลักความจริง หรือหลักแห่งความดีงามที่แสดงนั้น เป็นจริง หรือดีงามจริง หรือแสดงได้ดีมีเหตุผล ผู้รับฟังก็เกิดศรัทธา อาจเขียนให้ดูง่าย ดังนี้

เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) สดับธรรม ศรัทธา

ถึงตอนนี้ก็มาถึงจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ในกระบวนธรรมแห่งการศึกษา หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม คือ จุดเชื่อมต่อ จากองค์ประกอบภายนอก หรือปัจจัยทางสังคม เข้าสู่องค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคล ตามหลักนั้นท่านว่า องค์ประกอบภายนอก คือ ปรโตโฆสะ (ในที่นี้ได้แก่ ความมีกัลยาณมิตร) ล้วนๆ ส่งผลได้ถึงศรัทธา จบลงเพียงแค่โลกิยสัมมาทิฏฐิ เท่านั้น



  กัลยาณมิตร (๑๓)

ถ้าได้เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันไปไม่ตลอดกระบวนการศึกษา ไม่ถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่แค่ขั้นศรัทธา ผู้มีศรัทธานั้น ก็ยังต้องคอยอิง ยังขึ้นต่อกัลยาณมิตร คอยพึ่งอาศัยครูอาจารย์ พฤติกรรมก็ยังอยู่ในลักษณะของการทำตาม หรือเลียนแบบ ยังไม่รู้ยิ่งเห็นจริงประจักษ์แก่ตน ยังไม่เป็นอิสระหลุดพ้นสิ้นเชิง

ทางแก้ก็คือ ต้องหาทางเชื่อมโยงให้ก้าวเข้าสู่องค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคล คือ โยนิโสมนสิการ โดยปลุกโยนิโสมนสิการให้มีขึ้น และมารับช่วงทำงานต่อไป ดังหลักการแสดงไว้ว่า โยนิโสมนสิการ จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิ บรรลุจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา หรือการศึกษาที่แท้ได้

การเชื่อมโยงเข้าสู่ปัจจัยภายในนี้ ก็อาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกนี้เอง ช่วยทำให้ได้ และเมื่อว่าตามหลักการแล้ว ก็ให้ถือเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร ที่จะช่วยผู้เรียนให้ปลุกโยนิโสมนสิการของตนขึ้นมาใช้

กัลยาณมิตร จึงไม่พึงมีเป้าหมายอยู่เพียงแค่ขั้นศรัทธา แต่พึงใช้ศรัทธาเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้ตนจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นได้โดยสะดวก

โดยนัยนี้ กัลยาณมิตรอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยง แล้วใช้การแสดงธรรม ธรรมที่แสดง หรือวิธีแสดงธรรมนั่นเอง ช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนปลุกโยนิโสมนสิการขึ้น คือให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง โดยมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะและเหตุปัจจัย

เมื่อโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้จนถึงที่สุด ระหว่างนี้ กัลยาณมิตรก็อาจคอยช่วยประคับประคอง ชี้ช่อง หนุนเสริมโยนิโสมนสิการนั้น ด้วยการแสดงธรรมไปเรื่อยๆ

เมื่อพร้อมทั้งปัจจัยภายนอก มาโยงกับปัจจัยภายใน คือ ปรโตโฆสะที่ดี ช่วยหนุนเสริมโยนิโสมนสิการ มนุษย์ปุถุชนที่เป็นเวไนย คือไม่ถึงกับเป็นอัจฉริยะที่จะเริ่มโยนิโสมนสิการขึ้นลำพังตนเอง และไม่ใช่ปทปรมะที่ไม่อาจคิดเองได้ ก็จะสามารถก้าวไปในกระบวนการศึกษา และการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

อาจพูดกำชับเกี่ยวกับหน้าที่ของกัลยาณมิตรตามหลักพุทธธรรมว่า การที่กัลยาณมิตรมาช่วยเหลือคนผู้หนึ่งผู้ใดนั้น มิใช่เพื่อให้คน ผู้นั้นหันมาติดพันขลุกหรือวุ่นอยู่กับกัลยาณมิตรเอง ซึ่งกลายเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นั้นกับกัลยาณมิตรไป และอาจมีผลเพียงว่า ให้เชื่ออย่างที่กัลยาณมิตรเชื่อ หรือทำอย่างที่กัลยาณมิตรทำเท่านั้น

กัลยาณมิตรเข้ามา มิใช่เพื่อให้คนผู้นั้นหันมาสัมพันธ์กับตน แต่เข้ามาเพียงเพื่อเป็นสื่อช่วยให้คนผู้นั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่สาม คือโลกและชีวิต หรือสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ อย่างถูกต้อง โดยเข้ามาชี้บอกให้เขาหันไปมองสิ่งเหล่านั้นและพิจารณาให้รู้จักมันตามความเป็นจริง จนเขารู้ได้ด้วยตนเองว่า เขาควรสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องอย่างไร โดยนัยนี้ กระบวนธรรมจึงต้องเขียนต่อไปอีก ดังนี้

เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) สดับธรรม ศรัทธา โยนิโสมนสิการ

แต่ในหลักการพัฒนาปัญญา หรือองค์ประกอบที่จะทำให้เป็นโสดาบัน ท่านไม่กล่าวถึงศรัทธาเลย ทั้งนี้ ท่านอาจถือว่า ในกรณีนั้น ศรัทธาเป็นเพียงองค์ธรรมผ่าน หรือช่วยเชื่อมโยง ไม่ใช่ตัวเน้น จึงข้ามไป

กระบวนธรรมดังที่แสดงตามลำดับมา เมื่อประสานกับหลักการพัฒนาปัญญา หรือองค์ประกอบที่ทำให้เป็นโสดาบันนั้น อาจเขียนได้ดังนี้

เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) สดับธรรม (ศรัทธา) โยนิโสมนสิการ ปฏิบัติธรรมถูกหลัก

พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะมิได้ระบุองค์ประกอบข้อโยนิโสมนสิการ แต่ก็แสดงให้เห็นการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ซึ่งให้ความเป็นอิสระแก่ผู้ศึกษา นำไปสู่การรู้เข้าใจประจักษ์ด้วยตนเอง ดังคำสนทนาต่อไปนี้

มาคัณฑิยะ : ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสต่อท่านพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว, ท่านพระโคดมผู้เจริญ พอจะทรงช่วยแสดงธรรม ให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นจากอาสนะนี้โดยหายมืดบอดได้ไหม?



  กัลยาณมิตร (๑๔)

พระพุทธเจ้า : ถ้าอย่างนั้น มาคัณฑิยะ ท่านพึงคบหาสัตบุรุษทั้งหลาย เพราะเมื่อท่านคบหาสัตบุรุษ ท่านจักได้สดับสัทธรรม, เมื่อท่านได้สดับสัทธรรม ท่านก็จักปฏิบัติธรรมถูกหลัก, เมื่อท่านปฏิบัติธรรมถูกหลัก ท่านก็จักรู้ได้เองเห็นได้เองทีเดียวว่า โรค (ทางจิต) ฝีร้าย (ในใจ) ศรที่คอยทิ่มแทงใจ คือเหล่านี้ๆ, โรค ฝีร้าย ศรแทงใจ จะดับไปได้ ณ ที่นี้ (คือ) เพราะอุปาทานของเรานั้นดับไป ภพก็ดับ ฯลฯ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็จะดับไป, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ก็จะมีได้ ด้วยประการฉะนี้ และอีกแห่งหนึ่ง ว่าดังนี้

โธตกมาณพ : ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปัญญาจักษุเห็นรอบด้าน ข้าฯ ขอน้อมนมัสการพระองค์ ข้าแต่พระศากยะ ขอได้โปรดปลดปล่อยข้าพระองค์จากข้อสงสัยทั้งหลายด้วยเถิด

พระพุทธเจ้า : ดูกรโธตกะ เราไม่สามารถปลดปล่อยใครๆ ในโลก ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ให้พ้นไปได้, แต่เมื่อท่านรู้ชัดซึ่งธรรมอันประเสริฐ ท่านก็จะข้ามห้วงกิเลสไปได้เอง

ในเมื่ออิสรภาพของผู้ศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และในเมื่อกัลยาณมิตรก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องย้ำถึงการทำหน้าที่ของตัวผู้ศึกษาเองบ้าง เพื่อจะได้ใช้อิสรภาพของตนให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด  ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งของกัลยาณมิตร คือการแนะนำกระตุ้นเตือนให้ผู้ศึกษาทำหน้าที่ของตนให้ดี ดังมีพุทธพจน์ตรัสสอนเกี่ยวกับการฟังธรรม การสนทนา การปรึกษาสอบถามเป็นอันมาก ตัวอย่างเช่น ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อฟังสัทธรรม ย่อมเป็นไปได้ที่จะหยั่งลงสู่นิยาม คือความถูกชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ; ๕ ประการอะไรบ้าง? ได้แก่
(๑) ไม่นึกหมิ่นเรื่องที่เขาพูด
(๒) ไม่นึกหมิ่นผู้พูด
(๓) ไม่นึกหมิ่นตนเอง
(๔) ใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังธรรม โดยมีจิตหนึ่งเดียว
(๕) มนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)"

ธรรมที่ต้องการเน้น ณ ที่นี้ คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นตัวการทำหน้าที่ทางปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ แต่โยนิโสมนสิการนั้น มิใช่ใช้เฉพาะในการฟังธรรม หรือฟังคำอธิบายเท่านั้น หากเป็นธรรมที่พึงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกส่วนทุกเวลา ทั้งในการรับรู้ การเผชิญสถานการณ์ และการสัมพันธ์เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายทุกกรณี

เมื่อกล่าวมาถึงขั้นที่โยนิโสมนสิการเข้ารับช่วงไปแล้ว ก็เป็นอันก้าวขึ้นสู่ตอนใหม่ ซึ่งโยนิโสมนสิการเป็นเจ้าของบทบาท อันจะต้องแยกไปบรรยายเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไป

แต่ก่อนจะยุติเรื่องปรโตโฆสะ เห็นควรกล่าวถึง "ศรัทธา" ซึ่งเป็นองค์ธรรมสำคัญของตอนนี้ไว้เป็นพิเศษส่วนหนึ่งก่อน พอให้เห็นว่า ศรัทธาที่ถูกต้อง ใช้ประโยชน์ได้ในกระบวนธรรมแห่งความดับทุกข์นั้น เป็นอย่างไร และควรจะปฏิบัติต่อศรัทธานั้นอย่างไร

หลักศรัทธาโดยสรุป
โดยสรุป ลักษณะที่ควรกล่าวถึง เพื่อเข้าใจความหมาย บทบาท และความสำคัญของศรัทธา ในระบบของพุทธธรรม มีดังนี้
      ๑. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวได้ว่าเป็นขั้นต้นที่สุด
      ๒. ศรัทธาที่ประสงค์ ต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วยเหตุผล คือมีปัญญารองรับ และเป็นทางสืบทอดส่งต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถามหาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว
      ๓. ศรัทธาที่เป็นความรู้สึกฝ่ายอาเวคด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่จะต้องละเสีย หรือแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนความรู้สึกฝ่ายอาเวคที่เนื่องอยู่กับศรัทธาแบบที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ได้มากพอสมควรในระยะต้นๆ แต่จะถูกปัญญาเข้าแทนที่โดยสิ้นเชิงในที่สุด
      ๔. ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น อาจให้ความหมายสั้นๆ ว่า เป็นความซาบซึ้งด้วยมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็น คือมั่นใจตนเอง โดยเหตุผลว่า จุดหมายที่อยู่เบื้องหน้านั้นเป็นไปได้จริงแท้ และมีค่าควรแก่การที่ตนจะดำเนินไปให้ถึง เป็นศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริงของเหตุผลที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้นต่อๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นบันไดขั้นต้นสู่ความรู้ ตรงข้ามกับความรู้สึกมอบใจให้แบบอาเวค ซึ่งทำให้หยุดคิดหาเหตุผลต่อไป
      ๕. เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป และตามปกติ ศรัทธาย่อมมาเป็นข้อที่หนึ่ง พร้อมกับที่มีปัญญาคุมเป็นข้อสุดท้าย แต่ในกรณีที่มีปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาด้วย



  กัลยาณมิตร (๑๕)

ดังนั้น ปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา ทั้งในฐานะเป็นตัวคุม และในฐานะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น แม้ในแง่คุณสมบัติของบุคคล ผู้ที่ได้รับยกย่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็คือผู้มีปัญญาสูงสุด เช่น พระสารีบุตรอัครสาวก เป็นต้น ไม่ได้ถือเอาศรัทธาในศาสนาเป็นเกณฑ์

      ๖. คุณประโยชน์ของศรัทธา เป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ
         - ในแนวหนึ่ง ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ ซึ่งตามมาด้วยปัสสัทธิ (ความสงบเย็นผ่อนคลาย) ที่นำไปสู่ความสุข อันช่วยให้เกิดสมาธิ เพื่อต่อไปสู่ปัญญาในที่สุด
         - อีกแนวหนึ่ง ศรัทธาทำให้เกิดวิริยะ คือความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ ทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงจังแก่ตน ซึ่งนำไปสู่ปัญญาในที่สุด
          คุณประโยชน์ทั้งสองนี้ จะเห็นว่า แม้จะได้แรงส่งจากความรู้สึกในฝ่ายอาเวค แต่ต้องมีความใฝ่ประสงค์ปัญญาแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา
      ๗. ศรัทธาเป็นไปเพื่อปัญญา ดังนั้น ศรัทธาจึงต้อง ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์วิจัย จึงจะเกิดความก้าวหน้าแก่ปัญญาตามจุดหมาย นอกจากนี้ แม้ตัวศรัทธานั่นเอง จะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ ก็เพราะได้คิดสืบสาวสอบค้นมองเห็นเหตุผลและเข้าใจความจริงจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ โดยนัยนี้ ศรัทธาในพุทธธรรมจึงส่งเสริมการค้นคิดหาเหตุผล การขอร้องให้เชื่อก็ดี การบังคับให้ยอมรับความจริงตามที่กำหนดก็ดี การขู่ด้วยภัยแก่ผู้ไม่เชื่อก็ดี เป็นวิธีการที่เข้ากันไม่ได้เลยกับหลักศรัทธานี้
      ๘. ความเลื่อมใสศรัทธาติดในบุคคล ถูกถือว่ามีข้อเสียข้อบกพร่อง แม้แต่ความเลื่อมใสติดในองค์พระศาสดาเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ละเสีย เพราะเป็นศรัทธาที่แรงด้วยการรู้สึกทางอาเวค กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ในขั้นสุดท้าย
      ๙. ศรัทธาไม่ถูกจัดเป็นองค์มรรค เพราะตัวการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินก้าวหน้าต่อไปในมรรคานี้ คือปัญญา ที่พ่วงกำกับศรัทธานั้นต่างหาก และศรัทธาที่จะถือว่าใช้ได้ ก็ต้องมีปัญญารองรับอยู่ด้วย นอกจากนี้ ท่านที่มีปัญญาสูง เช่น องค์พระพุทธเจ้าเอง และพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเริ่มมรรคาที่ตัวปัญญาทีเดียว ไม่ผ่านศรัทธา เพราะการสร้างปัญญาไม่จำต้องเริ่มที่ศรัทธาเสมอไป (คือ เริ่มที่โยนิโสมนสิการ ดังได้กล่าวแล้ว) ด้วยเหตุนี้ เรื่องศรัทธา ท่านจึงกล่าวซ้อนแฝงไว้ในตอนว่าด้วยการสร้างสัมมาทิฏฐิ ไม่จัดแยกไว้เป็นเรื่องต่างหาก
     ๑๐. แม้แต่ศรัทธาที่พ้นจากภาวะเป็นความเชื่องมงายนั้นเอง ถ้าไม่ดำเนินต่อไปถึงขั้นทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความจริงประจักษ์แก่ตน ก็ไม่นับว่าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามความหมายแท้จริง เพราะเป็นศรัทธาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความหมายของมัน จัดเป็นการปฏิบัติธรรมผิดพลาด เพราะปฏิบัติอย่างขาดวัตถุประสงค์
     ๑๑. แม้ศรัทธาจะมีคุณประโยชน์สำคัญ แต่ในขั้นสูงสุด ศรัทธาจะต้องหมดไป ถ้ายังมีศรัทธาอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย เพราะตราบใดที่ยังเชื่อต่อจุดหมายนั้น ก็ย่อมแสดงว่ายังไม่ได้เข้าถึงจุดหมายนั้นโดยรู้ประจักษ์เห็นจริงด้วยตนเอง และตราบใดที่ยังมีศรัทธา ก็แสดงว่ายังต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ยังต้องฝากปัญญาไว้กับสิ่งอื่น ยังไม่หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์  โดยเหตุนี้ ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ แต่ตรงข้าม พระอรหันต์กลับมีคุณลักษณะว่า ผู้ไม่มีศรัทธา (อัสสัทธะ) ซึ่งหมายความว่า ได้รู้เห็นประจักษ์ จึงไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ หรือต่อเหตุผลใดๆ อีก
     ๑๒. โดยสรุป ความก้าวหน้าในมรรคานี้ ดำเนินมาโดยลำดับ จากความเชื่อ (ศรัทธา) มาเป็นความเห็นหรือเข้าใจโดยเหตุผล (ทิฏฐิ) จนเป็นการรู้การเห็น (ญาณทัสสนะ) ในที่สุด ซึ่งในขั้นสุดท้าย เป็นอันหมดภาระของศรัทธาโดยสิ้นเชิง
     ๑๓. ศรัทธามีขอบเขตความสำคัญและประโยชน์แค่ไหนเพียงใด เป็นสิ่งที่จะต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง ไม่ควรตีค่าสูงเกินไป แต่ก็ไม่ควรดูแคลนโดยเด็ดขาด เพราะในกรณีที่ดูแคลนศรัทธา อาจกลายเป็นการเข้าใจความหมายของศรัทธาผิด เช่น ผู้ที่คิดว่าตนเชื่อมั่นในตนเอง แต่กลายเป็นเชื่อต่อกิเลสของตน ในรูปอหังการมมังการไป ซึ่งกลับเป็นผลร้ายไปอีกด้านหนึ่ง
     ๑๔. ในระดับศีล หรือที่เรียกว่าศีลธรรม ศรัทธาเป็นองค์ธรรมสำคัญ ซึ่งเกื้อกูลมาก ทำให้คนมีหลักตั้งตัว เป็นกำลังเหนี่ยวรั้งและต้านปะทะ ไม่ให้ยอมตามสิ่งชักจูงล่อเร้าเย้ายวนให้ทำความชั่ว

อีกประการหนึ่ง การมีศรัทธา เป็นเหมือนมีร่องไหลประจำของกระแสความคิด เมื่อได้รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เกินกำลังของศรัทธาที่มีอยู่ กระแสความคิดก็จะวิ่งแล่นไปตามร่อง หรือแนวทางที่ศรัทธาเตรียมไว้ ทำให้ไม่คิดไปในทางอื่นหรือทางที่ผิดศีลธรรม ดังนั้น สำหรับผู้ยังไม่หมดกิเลส ศีลจึงดำรงอยู่ได้ดีด้วยศรัทธา



  กัลยาณมิตร (๑๖)

ศรัทธาแบบนี้ มีคุณมากในระดับหนึ่ง แต่พร้อมกันนั้น ถ้าเป็นศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็อาจมีโทษมาก โดยกลายเป็นตัวการขัดขวางการสร้างปัญญาเสียเอง



     ๑๕. ในกระบวนการแห่งความเจริญของปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) อาจกำหนดขั้นตอนที่จัดว่าเป็นระยะของศรัทธา (ก่อนก้าวสู่ปัญญา) ได้คร่าวๆ คือ
           ๑) สร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงเพราะฟังตามๆ กันมา เป็นต้น (ตามแนวกาลามสูตร)
           ๒) เป็นผู้คุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือ ยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายทุกด้าน ด้วยใจเป็น กลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกราน ยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง
           ๓) เมื่อรับฟังทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของผู้อื่นแล้ว พิจารณาเท่าที่เห็นด้วยปัญญาตนว่าเป็นสิ่งมีเหตุผล และเมื่อเห็นว่า ผู้แสดงทฤษฎี คำสอนหรือความเห็นนั้นๆ เป็นผู้มีความจริงใจ ไม่ลำเอียง มีปัญญา จึงเลื่อมใสรับเอามา เพื่อคิดหาเหตุผลทดสอบ ความจริงต่อไป
           ๔) นำสิ่งที่ใจรับมานั้น มาขบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่ แก่ใจตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแท้จริงอย่างแน่นอน จนซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็นแล้ว พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ ทดลอง ให้รู้เห็นความจริงประจักษ์ต่อไป
           ๕) ถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัย รีบสอบถามด้วยใจบริสุทธิ์ มุ่งปัญญา มิใช่ด้วยอหังการมมังการพิสูจน์เหตุผลให้ชัดเจน เพื่อให้ศรัทธานั้นมั่นคงแน่นแฟ้น เกิดประโยชน์สมบูรณ์ตามความหมายของมัน

พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา
สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือทฤษฎี ลัทธิ หรือคำสอนอันใดอันหนึ่งอยู่แล้ว หรือยังไม่นับถือก็ตาม มีหลักการตั้งทัศนคติที่ประกอบด้วยเหตุผล ตามแนวกาลามสูตร ดังนี้

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จจาริก ถึงเกสปุตตนิคมของพวก กาลามะ ในแคว้นโกศล ชาวกาลามะได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ กัน ในฐานะยังไม่เคยนับถือมาก่อน และได้ทูลถามว่า

ชาวกาลามะ : พระองค์ผู้เจริญ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้นแสดงเชิดชูแต่วาทะ (ลัทธิ) ของตนเท่านั้น แต่ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ก็มาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้น ก็แสดงเชิดชูแต่วาทะของตนเท่านั้น ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด วาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ พวกข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ?

พระพุทธเจ้า : กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลง สมควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลงสงสัยของพวกท่านเกิดขึ้น ในฐานะ กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
- อย่ายึดถือ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
- อย่ายึดถือ โดยการถือสืบๆ กันมา (ปรัมปรา)
- อย่ายึดถือ โดยการเล่าลือ (อิติกิรา)
- อย่ายึดถือ โดยการอ้างตำรา (ปิฏกสัมปทาน)
- อย่ายึดถือ โดยตรรก (ตักกะ)
- อย่ายึดถือ โดยการอนุมาน (นยะ)
- อย่ายึดถือ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
- อย่ายึดถือ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
- อย่ายึดถือ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
- อย่ายึดถือ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)

เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย ฯลฯ เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญ (ธรรมเหล่านั้น)

ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้ไม่เข้าใจและยังไม่มีความเชื่อในเรื่องใดๆ ก็ไม่ทรงชักจูงความเชื่อ เป็นแต่ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง เช่น ในเรื่องความเชื่อทางจริยธรรมเกี่ยวกับชาตินี้ชาติหน้า ก็มีความในตอนท้ายของสูตรเดียวกันนั้นว่า

กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้ มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้ประสบความอุ่นใจถึง ๔ ประการ ตั้งแต่ในปัจจุบันนี้แล้ว คือ

"ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วมีจริง การที่ว่าเมื่อเราแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้" นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๑ ที่เขาได้รับ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2557 19:07:43 »

.
  กัลยาณมิตร (๑๗)

"ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี เราก็ครองตนอยู่โดยไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขอยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๒ ที่เขาได้รับ"

"ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่วก็เป็นอันทำไซร้ เรามิได้คิดการชั่วร้ายต่อใครๆ ทุกข์ที่ไหนจักมาถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า" นี้เป็นความอบอุ่นใจประการที่ ๓ ที่เขาได้รับ

"ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำไซร้ ในกรณีนี้ เราก็มองเห็นตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน" นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๔ ที่เขาได้รับ

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้นับถือลัทธิศาสนาหรือหลักคำสอนใดๆ พระองค์จะตรัสธรรมเป็นกลางๆ เป็นการเสนอแนะความจริงให้เขาคิด ด้วยความปรารถนาดี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง โดยมิต้องคำนึงว่าหลักธรรมนั้นเป็นของผู้ใด โดยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่มีการชักจูงให้เขาเชื่อให้เขาเลื่อมใสต่อพระองค์ หรือให้เข้ามาสู่อะไรสักอย่างที่อาจจะเรียกว่าศาสนาของพระองค์

พึงสังเกตด้วยว่า จะไม่ทรงอ้างพระองค์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติพิเศษอันใดเป็นเครื่องยืนยันคำสอนของพระองค์ นอกจากเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ให้เขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาของเขาเอง และพึงสังเกตด้วยว่า ทรงสอนหลักการปฏิบัติพื้นๆ ที่เรียกว่า อปัณณกตา คือ ในเรื่องที่มนุษย์ทั่วไปไม่รู้ จะเป็นเรื่องที่เรียกว่าเหนือธรรมชาติก็ตาม หรือแม้แต่เรื่องสามัญที่ไม่รู้แน่ชัด พึงเลือกเอาการปฏิบัติที่ไม่พลาดแน่ๆ ไม่ต้องมัวคาดมัวเดา

ตัวอย่างดังเรื่องในชาดกว่า พวกกองเกวียนเดินทางผ่านทะเลทราย ต้องบรรทุกน้ำไปหนักมาก ระหว่างทาง พวกหนึ่งเจอคนปลอมจะหลอกเอาเป็นเหยื่อ บอกว่าไปข้างหน้าอีกไม่ไกล จะมีชุมชนใหญ่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ น้ำที่บรรทุกมานี้หนักเปล่าๆ ทิ้งไปเสียเถิด ค่อยไปเอาข้างหน้า แถมแสดงหลักฐานเท็จให้ดู พวกกองเกวียนดีใจ เอาตุ่มไหใส่น้ำทิ้งหมด แล้วเดินทางต่อไปอีกเท่าไรๆ ก็ไม่เจอน้ำ จนอดตายหมด เป็นเหยื่อเขาไป

ส่วนกองเกวียนอีกพวกหนึ่ง โดนหลอกด้วยหลักฐานเท็จเหมือนกัน แต่ถือหลักอปัณณกตานี้ว่า ถ้าไม่รู้จริงประจักษ์ ก็ไม่ยอมตามตรรกะหรือการคาดเดา เมื่ออันที่แน่ๆ มีอยู่แล้ว คือน้ำที่บรรทุกมาในเกวียนนั่นแหละ ก็บรรทุกไป จนกว่าจะเจอแหล่งน้ำที่ว่านั้นจริง ก็เติมได้ พวกที่ใช้ปัญญา และอะไรที่ประจักษ์ได้ ก็ให้ประจักษ์ ถือหลักอปัณณกตานี้ ก็พา กองเกวียนเดินทางไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ

สำหรับเรื่องนามธรรมที่ลึกลงไปกว่านั้น ก็ดังเช่น เรื่องในอปัณณกสูตร ซึ่งแสดงถึงการใช้หลักเลือกเอาที่ไม่พลาดไว้ก่อน หรือทำสิ่งที่ไม่พลาดเห็นชัดอยู่แน่ๆ แม้แต่ในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนี้

พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา พวกพราหมณ์คหบดีชาวหมู่บ้านนี้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ ในฐานะอาคันตุกะที่ยังมิได้นับถือกัน มีคำสนทนาดังนี้

พระพุทธเจ้า : คหบดีทั้งหลาย พวกท่านมีศาสดาท่านใดท่านหนึ่งที่ถูกใจ ซึ่งท่านทั้งหลายมีศรัทธาอย่างมีเหตุผล (อาการวตีสัทธา) อยู่บ้างหรือไม่?

พราหมณ์คหบดี : ไม่มีเลย ท่านผู้เจริญ

พระพุทธเจ้า : เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ถูกใจ ก็ควรจะถือปฏิบัติหลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอน (อปัณณกธรรม) ดังต่อไปนี้ ด้วยว่า อปัณณกธรรมนี้ เมื่อถือปฏิบัติถูกถ้วน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน หลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอนนี้เป็นไฉน?

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่ว ไม่มี โลกนี้ไม่มี ปรโลกไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี ฯลฯ

ส่วน สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มี วาทะ มีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้นทีเดียวว่า : ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล ฯลฯ ท่านทั้งหลายเห็นเป็นไฉน? สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันมิใช่หรือ?

พราหมณ์คหบดี : ใช่อย่างนั้น



  กัลยาณมิตร (๑๘)

พระพุทธเจ้า : ในสมณพราหมณ์ ๒ พวกนั้น พวกที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล ฯลฯ สำหรับพวกนี้เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้คือ พวกเขาจะละทิ้ง กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันเป็นกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเสีย แล้วจะยึดถือประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่าง ข้อนั้นเพราะเหตุใด? ก็เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่มองเห็นโทษ ความทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม และอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายสะอาดผ่องแผ้วของกุศลธรรม...

ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญูย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า "ถ้าปรโลกไม่มี ท่านผู้นี้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปก็ทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้ แต่ถ้าปรโลกมี ท่านผู้นี้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เอาเถอะ ถึงว่าให้ปรโลกไม่มีจริงๆ ให้คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นความจริงก็เถิด ถึงกระนั้นบุคคลผู้นี้ก็ถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันนี้เองว่า เป็นคนทุศีล มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท ก็ถ้าปรโลกมีจริง บุคคลผู้นี้ก็เป็นอันได้แต่ข้อเสียหายทั้งสองด้าน คือ ปัจจุบันก็ถูกวิญญูชนติเตียน แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อีกด้วย ฯลฯ"

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นไม่มี" ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งซึ่งมีวาทะมีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้นกล่าวว่า "ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่" ฯลฯ

ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญูย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นไม่มี" นี้ เราก็ไม่ได้เห็น แม้ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่จริง" นี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นอยู่ จะกล่าวยึดเด็ดขาดลงไปว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการสมควรแก่เรา

ก็ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นไม่มี" เป็นความจริง การที่เราจะไปเกิดในหมู่เทพ ผู้ไม่มีรูปผู้เป็นสัญญามัย ได้แม่นมั่นไม่พลาดก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่" เป็นความจริง การที่เราจะปรินิพพานได้ในปัจจุบันก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

แลก็ ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นไม่มี" นี้ อยู่ข้างของการมีความติดใคร่ อยู่ข้างของการผูกพันรัดตัว อยู่ข้างของการมัวเพลิน อยู่ข้างของการสยบหมกมุ่น อยู่ข้างของการถือค้างถือคา ส่วนทิฏฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่จริง" นั้น อยู่ข้างจะไม่ติดใคร่ อยู่ข้างจะไม่ผูกพันรัดตัว อยู่ข้างจะไม่มัวเพลิน อยู่ข้างจะไม่สยบหมกมุ่น อยู่ข้างจะไม่ถือค้างถือคา เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้วย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ แห่งภพทั้งหลายเป็นแท้

พุทธพจน์ต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความคิดเห็นในระดับที่ยังเป็นความเชื่อและเหตุผลยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่อง มีทางผิดพลาด ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงความจริง

แน่ะท่านภารัทวาช ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบาก ๒ ส่วนในปัจจุบันทีเดียว คือ
๑. ศรัทธา ความเชื่อ
๒. รุจิ ความถูกใจ
๓. อนุสสวะ การฟัง (หรือเรียน) ตามกันมา
๔. อาการปริวิตักกะ การคิดตรองตามแนวเหตุผล
๕. ทิฏฐินิชฌานักขันติ ความเข้ากันได้กับ (การเพ่งพินิจด้วย) ทฤษฎีของตน

ก็สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียวกลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อเลยทีเดียวแต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

สิ่งที่ถูกกับใจชอบทีเดียวกลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เห็นชอบถูกใจเลยแต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

สิ่งที่เรียนต่อกันมาอย่างดีทีเดียวกลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เรียนตามกันมาเลยแต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

สิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้วทีเดียวกลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เป็นอย่างที่คิดตรองเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี



  กัลยาณมิตร (๑๙)

สิ่งที่เพ่งพินิจไว้เป็นอย่างดี (ว่าถูกต้องตรงตามทิฏฐิทฤษฎีหลักการของตน) กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่เพ่งพินิจเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

จากนั้น ทรงแสดงวิธีวางตนต่อความคิดเห็นและความเชื่อของตน และการรับฟังความคิดเห็นและความเชื่อของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบอนุรักษ์หรือคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์-คนรักษ์ความจริง) ว่า "บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า "อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)"

ถ้าแม้นบุรุษมีความเชื่อ (ศรัทธา อยู่อย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้" ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า "อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)" ไม่ได้ก่อน

ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าอนุรักษ์สัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ

ถ้าแม้นบุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ...มีการเรียนต่อกันมา..มีการคิดตรองตามเหตุผล...มีความเห็นที่ตรงกับทฤษฎีของตนอยู่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีความเห็นที่ถูกใจอย่างนี้...มีการเล่าเรียนมาอย่างนี้...มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้...มีความเห็นตามทฤษฎีของตนว่าอย่างนี้" ก็ยังชื่อว่าเขายังคุ้มครองสัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า "อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)" ไม่ได้ก่อน

ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าคุ้มครองสัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการคุ้มครองสัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ

ท่าทีนี้ปรากฏชัด เมื่อตรัสเจาะจงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาคือ ในคราวที่มีคนภายนอกกำลังพูดสรรเสริญบ้าง ติเตียนบ้าง ซึ่งพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์นำเรื่องนั้นมาสนทนากัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรเศร้าเสียใจ ไม่ควรแค้นเคือง เพราะคำติเตียนนั้น ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง หรือเศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้น ก็จะกลายเป็นอันตรายแก่พวกเธอทั้งหลายเองนั่นแหละ (คือ) หากคนพวกอื่นติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง เศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้นแล้ว เธอทั้งหลายจะรู้ชัดถ้อยคำนี้ของเขาว่าพูดถูกพูดผิด ได้ละหรือ? (ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า "ไม่อาจรู้ชัดได้")

ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อไม่เป็นจริง พวกเธอก็พึงกล่าวแก้ให้เห็นว่าไม่เป็นจริงว่า "ข้อนี้ไม่เป็นจริงเพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งนี้หาไม่ได้ในหมู่พวกเรา"

ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรเริงใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระหยิ่มลำพองใจ ในคำชมนั้น ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ หากเธอทั้งหลาย เริงใจ ลำพองใจแล้วไซร้ ก็จะเป็นอันตรายแก่พวกเธอเองนั่นแหละ

ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อเป็นความจริง พวกเธอก็ควรรับรองว่าเป็นความจริงว่า "ข้อนี้เป็นจริงเพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ถูกต้องเพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้มีในพวกเรา สิ่งนี้หาได้ในหมู่พวกเรา"

ต่อจากการอนุรักษ์หรือคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์/สัจจานุรักขณ์) พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อให้หยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) และเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) และในกระบวนการปฏิบัตินี้ จะมองเห็นการเกิดศรัทธา ความหมาย ความสำคัญ และขอบเขตความสำคัญของศรัทธาไปด้วย ดังนี้

"ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงจะมีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลจึงจะชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ?"



  กัลยาณมิตร (๒๐)

"เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะว่า ท่านผู้นี้มีธรรมจำพวกโลภะ ที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า รู้ ทั้งที่ไม่เห็นว่า เห็น หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ หรือไม่?"

เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า "ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมจำพวกโลภะ ที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า "รู้" ทั้งที่ไม่เห็นว่า "เห็น" หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและเกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ ได้เลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ธรรมที่ท่านผู้นี้แสดงก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก หยั่งรู้ได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรก ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึง รู้ได้ธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่คนโลภจะแสดง ได้ง่ายๆ

เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ...ในธรรมจำพวกโมหะ ฯลฯ

"เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากธรรมจำพวกโมหะแล้ว คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในเธอ"

"เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหา ก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งอยู่ใกล้ก็เงี่ยโสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับธรรม"

"ครั้นสดับแล้ว ก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ ก็เห็นชอบด้วยกับข้อธรรมตามที่ (ทนต่อการ) คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อเห็นชอบด้วยกับข้อธรรมดังที่คิดเพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ก็เอามาคิดทบทวนเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทำทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา"

"ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่ามีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ และเราย่อมบัญญัติการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะก่อน"

"ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงมีการเข้าถึงสัจจะ และคนจึงจะเข้าถึงสัจจะ?"

"การอาเสวนะ การเจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) ฯลฯ"

สำหรับคนสามัญทั่วไป ศรัทธาเป็นธรรมขั้นต้นที่สำคัญยิ่ง เป็นอุปกรณ์ชักนำให้เดินหน้าต่อไป เมื่อใช้ถูกต้อง จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้การก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า บางคราวผู้มีปัญญามากกว่า แต่ขาดความเชื่อมั่น กลับประสบความสำเร็จช้ากว่าผู้มีปัญญาด้อยกว่า แต่มีศรัทธาแรงกล้า ในกรณีที่ศรัทธานั้นไปตรงกับสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงเป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลาไปในตัว ตรงกันข้าม ถ้าศรัทธาเกิดในสิ่งที่ผิด ก็เป็นการทำให้เขว ยิ่งหลงชักช้าหนักขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ศรัทธาในพุทธธรรม มีเหตุผลเป็นฐานรองรับ มีปัญญาคอยควบคุม จึงยากที่จะผิด นอกจากพ้นวิสัยจริงๆ และก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ไม่ดิ่งไปในทางที่ผิด เพราะคอยรับรู้เหตุผลค้นคว้าและทดลองอยู่ตลอดเวลา การขาดศรัทธาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปในทาง ดังพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังสลัดทิ้งตอในใจ ๕ อย่างไม่ได้ ยังถอนสิ่งผูกรัดใจ ๕ อย่างไม่ได้ ข้อที่ว่าภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ตอในใจ ที่ภิกษุนั้นยังสลัดทิ้งไม่ได้ คือ
(๑) ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...
(๒) ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในธรรม...
(๓) ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสงฆ์...
(๔) ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสิกขา...
(๕) ภิกษุโกรธเคือง น้อยใจ มีจิตกระทบกระทั่ง เกิดความกระด้างเหมือนเป็นตอเกิดขึ้นในเพื่อนพรหมจรรย์...



  กัลยาณมิตร (๒๑)

"จิตของภิกษุผู้ยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...ในธรรม...ในสงฆ์...ในสิกขา...โกรธเคือง ฯลฯ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความหมั่นฝึกฝนอบรม เพื่อความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงมือทำความพยายาม ภิกษุผู้มีจิตที่ยังไม่น้อมไปเพื่อความเพียร...ชื่อว่า มีตอในใจ ซึ่งยังสลัดทิ้งไม่ได้..."

โดยนัยนี้ การขาดศรัทธา มีความสงสัย แคลงใจ ไม่เชื่อมั่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปัญญาและการก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย สิ่งที่ต้องทำในกรณีนี้ คือ ต้องปลูกศรัทธา และกำจัดความสงสัยแคลงใจ

แต่การปลูกศรัทธาในที่นี้ มิได้หมายถึงการยอมรับและมอบความไว้วางใจให้โดยไม่เคารพในคุณค่าแห่งปัญญาของตน แต่หมายถึง การคิดพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัย

วิธีทดสอบนั้น นอกจากที่กล่าวในพุทธพจน์ตอนก่อนแล้ว ยังมีพุทธพจน์แสดงตัวอย่างการคิดสอบสวนก่อนที่จะเกิดศรัทธาอีก เช่น ในข้อความต่อไปนี้ ซึ่งเป็นคำสอนให้คิดสอบสวนแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเอง ดังต่อไปนี้

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงกระทำการพิจารณาตรวจสอบในตถาคต เพื่อทราบว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ หรือไม่"

ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงพิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ อย่าง คือ ในสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยตา และหู ว่า
     - เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตา และหู ธรรมที่เศร้าหมอง มีแก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า ธรรมที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ที่เศร้าหมองของตถาคต ไม่มี
     - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคต ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ชั่วบ้าง ดีบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไปของตถาคต ไม่มี
     - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคต ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจดของตถาคต มีอยู่
     - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน หรือประกอบชั่วเวลานิดหน่อย...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านผู้นี้ ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน มิใช่ประกอบชั่วเวลานิดหน่อย
     - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านภิกษุผู้นี้ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ปรากฏข้อ เสียหายบางอย่างบ้างหรือไม่ (เพราะว่า) ภิกษุ (บางท่าน) ยังไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง จนกว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ต่อเมื่อใด เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เมื่อนั้น จึงปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านภิกษุผู้นี้เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ก็ไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง (เช่นนั้น)
     - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้น (อกุศล) โดยไม่มีความกลัว มิใช่ ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดสิ้นราคะหรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า ท่าน ผู้นี้ เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ...

"หากมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นว่า ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร จึงทำให้กล่าวได้ว่า ท่าน ผู้นี้เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะหมดราคะ"

"ภิกษุ เมื่อจะตอบแก้ให้ถูกต้อง พึงตอบแก้ว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้นี้ เมื่ออยู่ในหมู่ก็ตาม อยู่ลำพังผู้เดียวก็ตาม ในที่นั้นๆ ผู้ใดจะปฏิบัติตนได้ดีก็ตาม จะปฏิบัติตนไม่ดีก็ตาม จะเป็นผู้ปกครองหมู่คณะก็ตาม จะเป็นบางคนที่ติดวุ่นอยู่ในอามิสก็ตาม จะเป็นบางคนที่ไม่ติดด้วยอามิสก็ตาม ท่านผู้นี้ไม่ดูหมิ่นคนนั้นๆ เพราะเหตุนั้นๆ เลย ข้าพเจ้า ได้สดับ ได้รับฟังถ้อยคำมาจำเพาะพระพักตร์ของพระ ผู้มีพระภาคทีเดียวว่า "เราเป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว เรามิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว เราไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ"



  กัลยาณมิตร (๒๒)

ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น พึงสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่เศร้าหมองมีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี

ถามว่า ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี

ถามว่า ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบว่า...มี เรามีธรรมที่สะอาดหมดจดนั้นเป็นทางดำเนิน และเราจะเป็นผู้มีตัณหาเพราะเหตุนั้น ก็หาไม่

     - ศาสดาผู้กล่าวได้อย่างนี้แล สาวกจึงควรเข้าไปหาเพื่อสดับธรรม
     - ศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น สูงยิ่งขึ้นไปๆ ประณีต (ขึ้นไป)ๆ ทั้งธรรมดำ ธรรมขาว เปรียบเทียบให้เห็นตรงกันข้าม
     - ศาสดาแสดงธรรมแก่ภิกษุ...อย่างใดๆ ภิกษุนั้นรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น อย่างนั้นๆ แล้ว ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใสในศาสดาว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี"

"หากจะมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นต่อไปอีกว่า "ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร จึงทำให้กล่าวได้ว่า พระผู้มีพระภาคเป็นสัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี?" ภิกษุนั้น เมื่อจะตอบให้ถูก ก็พึงตอบว่า "ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า...พระองค์แสดง...อย่างใดๆ ข้าพเจ้ารู้ยิ่ง...อย่างนั้นๆ จึงถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย จึงเลื่อมใสในพระศาสดา..."

ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ฝังลงในตถาคต เกิดเป็นเค้ามูล เป็นพื้นฐานที่ตั้ง โดยอาการเหล่านี้ โดยบทเหล่านี้ โดยพยัญชนะเหล่านี้ เรียกว่า ศรัทธาที่มีเหตุผล (อาการวตี) มีการเห็นเป็นมูลฐาน (ทัสสนมูลิกา) มั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์ หรือเทพเจ้า หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก ให้คลาดเคลื่อนไม่ได้ การพิจารณาตรวจสอบธรรมในตถาคต เป็นอย่างนี้แล และตถาคตย่อมเป็นอันได้รับการพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยนัยนี้

พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่วเลย ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย

เมื่อมีผู้ใดประกาศตัวเอง แสดงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะประทานความเห็นชอบ จะทรงสอบสวนก่อนว่า ศรัทธาปสาทะของเขามีเหตุผลเป็นมูลฐานหรือไม่ เช่น ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแสดงความเลื่อมใส และพระพุทธเจ้าตรัสตอบ ดังต่อไปนี้

พระสารีบุตร : พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี อื่นใด ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางสัมโพธิญาณได้นั้น ไม่เคยมี จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้

พระพุทธเจ้า : สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ) ครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก เธอบันลือสีหนาทถือเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า...ดังนี้นั้น เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เท่าที่มีมาแล้วในอดีตหรือว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นมีศีลอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ ทรงมีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีธรรมเครื่องอยู่อย่างนี้ หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุนี้ๆ?

พระสารีบุตร : มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่จักมีในอนาคตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจัก...เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ?

พระสารีบุตร : มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : ก็แล้ว เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคทรง...เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ?

พระสารีบุตร : มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : ก็ในเรื่องนี้ เมื่อเธอไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้จิตในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เช่นนี้แล้ว ไฉนเล่า เธอจึงได้กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งใหญ่นักนี้ บันลือสีหนาทถือเป็นเด็ดขาดอย่างเดียว (ดังที่กล่าวมาแล้ว)?

พระสารีบุตร : พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ไม่มีญาณกำหนดรู้จิตในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ก็จริง แต่กระนั้น ข้าพระองค์ทราบการหยั่งแนวธรรม



ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤศจิกายน 2557 19:10:27 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5375


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2557 19:09:31 »

.

   กัลยาณมิตร (๒๓)

พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมแน่นหนา มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มีประตูประตูเดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก ยอมให้แต่คนที่รู้จักเข้าไป เขาเที่ยวตรวจดูทางแนวกำแพงรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ หรือช่องกำแพง แม้เพียงที่แมวลอดออกได้ ย่อมคิดว่า สัตว์ตัวโตทุกอย่างทุกตัวจะเข้าออกเมืองนี้ จะต้องเข้าออกทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด

ข้าพระองค์ก็ทราบการหยั่งแนวธรรม (ธมฺมนฺวย) ฉันนั้นเหมือนกันว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ เท่าที่มีมาแล้วในอดีต ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่จะมี ในอนาคต ก็จัก (ทรงทำอย่างนั้น) แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕...มีพระทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

ความเลื่อมใสศรัทธาต่อบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ถ้าใช้ให้ถูกต้อง คือเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีข้อเสีย เพราะมักจะกลายเป็นความติดในบุคคล และกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนความก้าวหน้าต่อไป

ข้อดี ของศรัทธาปสาทะนั้น เช่น "อริยสาวกผู้ใด เลื่อมใสอย่างยิ่งแน่วแน่ถึงที่สุดในตถาคต อริยสาวกนั้น จะไม่สงสัยหรือแคลงใจในตถาคต หรือศาสนา (คำสอน) ของตถาคต แท้จริง สำหรับอริยสาวกผู้มีศรัทธา เป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลาย (และ) บำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลายให้พร้อมบูรณ์ จักเป็นผู้มีเรี่ยวแรง บากบั่นอย่างมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย"

ส่วนข้อเสีย ก็มีดังพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้อเสีย ๕ อย่าง ในความเลื่อมใสบุคคล มีดังนี้ คือ
     (๑) บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติ อันเป็น เหตุให้สงฆ์ยกวัตร เขาจึงคิดว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว...
     (๒) บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติ อันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้นั่ง ณ ท้ายสุดสงฆ์เสียแล้ว...
     (๓) ...บุคคลนั้น ออกเดินทางไปเสียที่อื่น...
     (๔) ...บุคคลนั้น ลาสิกขาเสีย...
     (๕) ...บุคคลนั้น ตายเสีย...

เขาย่อมไม่คบหาภิกษุอื่นๆ เมื่อไม่คบหาภิกษุอื่นๆ ก็ไม่ได้สดับสัทธรรม เมื่อไม่ได้สดับสัทธรรม ก็เสื่อมจากสัทธรรม

เมื่อความเลื่อมใสศรัทธากลายเป็นความรัก ข้อเสียในการที่ความลำเอียงจะมาปิดบังการใช้ปัญญา ก็เกิดขึ้นอีก เช่น

ภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ คือ ความรักเกิดจากความรัก โทสะเกิดจากความรัก ความรักเกิดจากโทสะ โทสะเกิดจากโทสะ

"โทสะเกิดจากความรักอย่างไร? บุคคลที่ตนปรารถนา รักใคร่ พอใจ ถูกคนอื่นประพฤติต่อ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ดังนี้ เขาย่อมเกิดโทสะในคนเหล่านั้น ฯลฯ"

แม้แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระศาสดาเอง เมื่อกลายเป็นความรักในบุคคลไป ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้นหรืออิสรภาพทางปัญญาในขั้นสูงสุดได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละเสีย แม้บางครั้งจะต้องใช้วิธีค่อนข้างรุนแรง ก็ทรงทำ เช่น ในกรณีของพระวักกลิ ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์อย่างแรงกล้า อยากจะติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อได้อยู่ใกล้ชิด ได้เห็นพระองค์อยู่เสมอ

ในระยะสุดท้าย เมื่อพระวักกลิป่วยหนัก อยากเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่งคนไปกราบทูล พระองค์ก็เสด็จมา และมีพระดำรัสเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางปัญญาแก่พระวักกลิ ตอนหนึ่งว่า

พระวักกลิ : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานนักแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเฝ้า เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปเฝ้าเห็นองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

พระพุทธเจ้า : อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันจะเน่าเปื่อยนี้ เธอเห็นไป จะมีประโยชน์อะไร ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมนั่นแหละ วักกลิจึงจะชื่อว่าเห็นเรา เมื่อเห็นเรา (ก็คือ) เห็นธรรม
 



   กัลยาณมิตร (๒๔)

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าเพียงในขั้นศรัทธายังไม่เป็นการมั่นคงปลอดภัย เพราะยังต้องเนื่องอาศัยปัจจัยภายนอก จึงยังเสื่อมถอยได้ ดังพุทธพจน์ว่า  "ดูกรภัททาสิ เปรียบเหมือนบุรุษมีตาข้างเดียว พวกมิตรสหายญาติสายโลหิตของเขา พึงช่วยกันรักษาตาข้างเดียวของเขาไว้ ด้วยคิดว่า อย่าให้ตาข้างเดียวของเขานั้นต้องเสียไปเลย ข้อนี้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอประพฤติปฏิบัติเพียงด้วยศรัทธา เพียงด้วยความรัก ในกรณีนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมดำริกันว่า ภิกษุรูปนี้ประพฤติปฏิบัติอยู่เพียงด้วยศรัทธา เพียงด้วยความรัก พวกเราจักช่วยกันเร่งรัดเธอ ย้ำแล้วย้ำอีก ให้กระทำการ โดยหวังว่า อย่าให้สิ่งที่เป็นเพียงศรัทธา เป็นเพียงความรักนั้นเสื่อมสูญ ไปจากเธอเลย นี้แล ภัททาสิ คือเหตุ คือปัจจัย ที่ทำให้ (ต้อง) คอยช่วย กันเร่งรัดภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย้ำแล้วย้ำอีก ให้กระทำการณ์"

ลำพังศรัทธาอย่างเดียว เมื่อไม่ก้าวหน้าถึงขั้นปัญญาต่อไปตามลำดับ ย่อมมีผลอยู่ในขอบเขตจำกัด เพียงแค่สวรรค์เท่านั้น ไม่สามารถให้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมได้ ดังพุทธพจน์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นของง่าย เปิดเผย ประกาศไว้ชัด ไม่มีเงื่อนงำใดๆ อย่างนี้
     - สำหรับภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ...ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อจะบัญญัติต่อไป
     - ภิกษุที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งห้าได้แล้ว ย่อมเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ฯลฯ
     - ภิกษุที่ละสังโยชน์สามได้แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะเบาบาง ย่อมเป็นสกทาคามี ฯลฯ
     - ภิกษุที่ละสังโยชน์สามได้ ย่อมเป็นโสดาบัน ฯลฯ
     - ภิกษุที่เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ย่อมเป็นผู้มีสัมโพธิ เป็นที่หมาย
     - ผู้ที่มีเพียงศรัทธา มีเพียงความรักในเรา ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่หมาย"

ในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ถือเอาประโยชน์จากศรัทธาอย่างถูกต้อง ปัญญาจะเจริญขึ้นโดยลำดับ จนถึงขั้นเป็นญาณทัสสนะ คือเป็นการรู้การเห็น ในขั้นนี้ จะไม่ต้องใช้ความเชื่อและความเห็นอีก ต่อไป เพราะรู้เห็นประจักษ์กับตนเอง จึงเป็นขั้นที่พ้นขอบเขตของศรัทธา ขอให้พิจารณาข้อความในพระไตรปิฎกต่อไปนี้

ถาม : ท่านมุสิล โดยไม่อาศัยศรัทธา ไม่อาศัยความถูกกับใจคิด ไม่อาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่อาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่อาศัยความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎี ท่านมุสิล มีการรู้จำเพาะตน (ปัจจัตตญาณ) หรือว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ?
ตอบ : ท่านปวิฏฐ์ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นข้อที่ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี นี้ได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา...ความถูกกับใจคิด...การเรียนรู้ตามกันมา...การคิดตรองตามแนวเหตุผล...ความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎีเลยทีเดียว

(จากนี้ ถามตอบหัวข้ออื่นๆ ในปฏิจจสมุปบาท ตามลำดับ ทั้งฝ่ายอนุโลม ปฏิโลม จนถึงภวนิโรธเป็นนิพพาน)

อีกแห่งหนึ่งว่า
ถาม : มีปริยายบ้างไหม ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตตผลได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยความถูกกับใจชอบ ไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่ต้องอาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่ต้องอาศัยความเข้ากันได้กับการคิดทดสอบด้วยทฤษฎี ก็รู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว สิ่งที่ต้องทำ ได้ทำแล้ว สิ่งอื่น ที่ต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออยู่อีก?" ฯลฯ
ตอบ : ปริยายนั้นมีอยู่...คือ ภิกษุเห็นรูปด้วยตา ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ในตัวว่า "ราคะ โทสะ โมหะ มีอยู่ในตัวของเรา" หรือย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่ไม่มีอยู่ในตัวว่า "ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีในตัวของเรา"

ถาม: เรื่องที่ว่า...นี้ ต้องทราบด้วยศรัทธา หรือด้วยความถูกกับ ใจชอบ หรือด้วยการเรียนรู้ตามกันมาหรือด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล หรือด้วยความเข้ากันได้กับการคิดทดสอบด้วยทฤษฎี หรือไม่?
ตอบ : ไม่ใช่อย่างนั้น

ถาม : เรื่องที่ว่า...นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญา จึงทราบมิใช่หรือ?
ตอบ : อย่างนั้น พระเจ้าข้า

สรุป : นี้ก็เป็นปริยาย (หนึ่ง) ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตตผลได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ฯลฯ

(จากนี้ ถามตอบไปตามลำดับอายตนะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน จนครบทุกข้อ)

เมื่อมีญาณทัสสนะ คือการรู้การเห็นประจักษ์แล้ว ก็ไม่ต้องมีศรัทธา คือไม่ต้องเชื่อต่อผู้ใดอื่น ดังนั้น พุทธสาวกที่บรรลุคุณวิเศษต่างๆ จึงรู้และกล่าวถึงสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องเชื่อต่อพระศาสดา เช่น ได้มีคำสนทนาถามตอบระหว่างนิครนถนาฏบุตร กับจิตตคฤหบดี ผู้เป็นพุทธสาวกฝ่ายอุบาสกที่มีชื่อเสียงเชี่ยวชาญในพุทธธรรมมาก ว่า

นิครนถ์ : แน่ะท่านคฤหบดี ท่านเชื่อพระสมณโคดมไหมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่?



   กัลยาณมิตร (๒๕)

จิตตคฤหบดี : ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามิได้ยึดถือด้วยศรัทธา (มิได้เชื่อ) ต่อพระผู้มีพระภาคว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่ ฯลฯ

ข้าพเจ้านี้ ทันทีที่มุ่งหวัง...ก็เข้าปฐมฌานอยู่ได้...เข้าทุติยฌานอยู่ได้...เข้าตติยฌานอยู่ได้...เข้าจตุตถฌานอยู่ได้ ข้าพเจ้านั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงไม่ยึดถือด้วยศรัทธาต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดๆ ว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาเป็นญาณทัสสนะถึงที่สุด จึงมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า "อัสสัทธะ" ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่มีศรัทธา คือ ไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ ในเรื่องที่ตนรู้เห็นชัดด้วยตนเองอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากพุทธดำรัสสนทนากับพระสารีบุตรว่า

พระพุทธเจ้า : สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่า สัทธินทรีย์ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย มีอมตะเป็นที่สิ้นสุด วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธินทรีย์...ปัญญินทรีย์ (ก็เช่นเดียวกัน)?

พระสารีบุตร : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ข้าพระองค์มิได้ยึดถือด้วยศรัทธา (เชื่อ) ต่อพระผู้มีพระภาค...  แท้จริง คนเหล่าใด ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ทราบ ยังไม่กระทำให้แจ้ง ยังไม่มองเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น จึงจะยึดถือด้วยศรัทธาต่อคนอื่น ในเรื่องนั้น...ส่วนคนเหล่าใด รู้ เห็น ทราบ กระทำให้แจ้ง มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญาแล้ว คนเหล่านั้น ย่อมไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในเรื่องนั้น...ก็ข้าพระองค์ได้รู้ เห็น ทราบ กระทำให้แจ้ง มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญาแล้ว ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในเรื่องนั้นว่า สัทธินทรีย์...วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธิน ทรีย์...ปัญญินทรีย์ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย มีอมตะเป็นที่สิ้นสุด

พระพุทธเจ้า : สาธุ สาธุ สารีบุตร ฯลฯ

เพื่อสรุปความสำคัญและความดีเด่นของปัญญา ขออ้างพุทธพจน์ว่า  ภิกษุทั้งหลาย เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์กี่อย่างหนอ ภิกษุผู้ขีณาสพจึงพยากรณ์อรหัตตผล รู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว...สิ่งอื่นที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออยู่อีก?"

"เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์ อรหัตตผลได้...อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์"

"สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธาอันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้ วิริยะ...สติ...สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้"

อินทรีย์อื่นๆ (คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ) ลำพังแต่ละอย่างๆ ก็ดี หรือหลายอย่างรวมกัน แต่ขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ดี ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้

"ภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด บทธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ บทธรรมคือปัญญินทรีย์ เรียกได้ว่า เป็นยอดของบทธรรมเหล่านั้น ในแง่การตรัสรู้ ฉันนั้น"

ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม (บทนำ)
คำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้มากที่สุด ก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้นศีล เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอก เกี่ยวด้วยการแสดงออกทางกายวาจา เป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การดำเนินกิจการต่างๆ ของหมู่ชน การจัดสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น และแก่ความผาสุกแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน อันจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกิจกรณีย์ที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตตามความตกลงนับถือของพวกตน หรือเพื่อเข้าถึงประโยชน์และความดีงามสูงสุดตามอุดมการณ์ของหมู่ชนนั้น

ตลอดจนเกื้อกูลแก่การที่หมู่ชนนั้นจะเผยแพร่อุดมการณ์ กิจการ และประโยชน์สุขความดีงามของตนให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

ศีลพื้นฐาน หรือขั้นต้นที่สุด ก็คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา และการไม่ทำลายสติสัมปชัญญะที่เป็นตัวคุ้มศีลของตน ศีลขั้นต้นสุดนี้ นิยมเรียกว่า ศีล ๕


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
       6-4 pw.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความจริงแห่งชีวิต โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตฺโต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2302 กระทู้ล่าสุด 02 พฤษภาคม 2554 09:17:49
โดย 時々๛कभी कभी๛
กาลานุกรมโดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตฺโต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2126 กระทู้ล่าสุด 17 กรกฎาคม 2554 11:38:54
โดย 時々๛कभी कभी๛
มองโลก พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
เสียงธรรมเทศนา
ขอทานน้อย_ป่าหิมพานต์ 0 2516 กระทู้ล่าสุด 20 ธันวาคม 2554 16:46:28
โดย ขอทานน้อย_ป่าหิมพานต์
ความรักในทางพุทธศาสนา โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
▄︻┻┳═一 2 3139 กระทู้ล่าสุด 29 ตุลาคม 2563 18:52:33
โดย ฉงน ฉงาย
ทำไมเทวดาอยากเกิดเป็นมนุษย์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ธรรมะจากพระอาจารย์
หมีงงในพงหญ้า 0 2294 กระทู้ล่าสุด 12 มิถุนายน 2555 14:11:33
โดย หมีงงในพงหญ้า
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.04 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 06:36:57