.พญามัจฉาเรื่องโดย เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ปลาเก๋ายักษ์ปรากฏตัวท่ามกลางฝูงปลาเล็กปลาน้อยเหนือซากเรืออับปางสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นอกชายฝั่งฟลอริดาStory
ยักษ์ใหญ่แห่งแนวปะการังกำลังหวนคืนบัลลังก์ 
นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา ลึกลงไปใต้ผิวน้ำสามสิบเมตร เสียง ปัง ดังก้องไปทั่วท้องน้ำ ตามด้วยเสียง
ปัง อีกคำรบ ราวกับเสียงพลุแตกแว่วมาแต่ไกล เสียงที่ว่าดังมาจากซากเรืออับปาง ต้นตอนั้นอยู่ลึกลงไปใต้ท้องเรือซึ่งแตกเป็นช่อง นั่นคือปลาขนาดใหญ่โตมากกว่าสิบตัวที่ส่งเสียงอึกทึกครึกโครม
ปลาเก๋ายักษ์แอตแลนติกเหล่านี้ชอบรวมฝูงกันตามซากเรืออับปางและแนวปะการังเพื่อหาอาหารและพบปะกัน ด้วยน้ำหนักตัวที่อาจสูงถึง 360 กิโลกรัมและยาวร่วมสามเมตร พวกมันประกาศการปรากฏตัวให้สิ่งมีชีวิตใกล้เคียงรับรู้ด้วยการบีบกระเพาะลมหรือถุงลมซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยในการลอยตัวจนเกิดเสียงดัง ปัง ปัง ปัง!
ปลาเก๋ายักษ์แอตแลนติก (
Epinephelus itajara) เคยมีอยู่มากมายและแพร่กระจายมากกว่าทุกวันนี้มาก พวกมันนับหมื่นๆตัวอาศัยอยู่ในน่านน้ำทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แถบแคริบเบียน และบราซิล ทว่าหลังจากตกเป็นเหยื่อของฉมวกและคมเบ็ดคราวละเต็มลำเรือติดต่อกันนานหลายปี จำนวนของพวกมันก็ลดฮวบฮาบลงจนไม่ทราบแน่ชัดว่าเหลือเท่าใด บางทีอาจไม่ถึงหนึ่งพันตัวก็เป็นได้ ปัจจุบัน ประชากรปลาเก๋ายักษ์ในฟลอริดาฟื้นตัวขึ้น ชาวประมง นักชีววิทยาและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงถกเถียงกันว่า พวกมันมีจำนวนมากพอที่จะเพิกถอนสถานะที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้วหรือยัง
คริส เคนิก จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต จับปลาเก๋ายักษ์มานานหลายสิบปีแล้ว เขาตกและเย่อพวกมันขึ้นเรือลำเล็กๆ เพื่อวัดขนาด ตัดปลายครีบที่เป็นกระดูกอ่อนเพื่อเก็บดีเอ็นเอและตรวจหาอายุ เก็บตัวอย่างจากกระเพาะเพื่อศึกษาอาหารที่กิน ตลอดจนตรวจสอบอวัยวะสืบพันธุ์เพื่อหาร่องรอยการวางไข่ จากนั้นจึงติดแท็กหรือแถบติดตามตัวไว้ใต้ผิวหนัง ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะช่วยกันดันปลากลับสู่ท้องทะเล การติดตามปลาที่จับได้แล้วปล่อยไปเหล่านี้ ทำให้เคนิกสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่พวกมันปรากฏตัว รวมทั้งสุขภาพของปลาแต่ละตัวด้วย
พฤติกรรมของพวกมันเองมีส่วนทำให้จำนวนประชากรลดลงเช่นกัน เคนิกบอกว่า “ปกติแล้วปลาชนิดนี้แทบไม่ว่ายไปไหนเลยครับ พวกมันอ้อยอิ่งอยู่เหนือแนวปะการัง” เพราะมีทั้งอาหารและแหล่งหลบภัยเหลือเฟือ
ด้วยเหตุนี้ ปลาเก๋ายักษ์จึงเป็นเหมือนเป้านิ่งดีๆนี่เอง แฟรงก์ แฮมเมตต์ วัย 86 ปี เล่าว่า “เราเคยใช้ปืนฉมวกยิงปลาเก๋ายักษ์กันครับ ในพาล์มบีช คุณมองเห็นพวกมันอยู่นิ่งๆใต้น้ำลึก 30 เมตร แต่ละจุดน่าจะมีปลาสักร้อยตัวเห็นจะได้ ผมจะยิงหนึ่งหรือสองตัว ได้ราคากิโลละ 16 เซ็นต์ ทำอย่างนั้นอยู่ 15 ปีหรือไม่ก็นานกว่านั้นครับ”
พอถึงปี 1990 มีการระบุว่าปลาเก๋ายักษ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ประชากรปลาเก๋ายักษ์ค่อยๆฟื้นตัวตั้งแต่นั้นมา และดึงดูดนักดำน้ำสกูบาผู้หลงใหลการได้แหวกว่ายไปกับปลาร่างยักษ์ แต่ไม่มีพิษมีภัย การฟื้นตัวครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นนอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา ที่ซึ่งป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอนุบาลปลาวัยเยาว์ยังคงหนาแน่น
สิ่งที่เกิดตามมาเป็นเรื่องที่พอจะคาดเดาได้ในวงการอนุรักษ์ กล่าวคือความเห็นเรื่องปลาเก๋ายักษ์แตกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน การที่ปลาเก๋ายักษ์ในถิ่นกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ทำให้พวกมันยังคงเป็น “ของต้องห้าม” ตามกฎหมายในฟลอริดา
กระนั้น ชาวประมงหลายคนยืนกรานว่า ปลาชนิดนี้ฟื้นจำนวนขึ้นเป็นกองทัพ และยังโอดครวญว่าเจ้าปลายักษ์คอยก่อกวนการทำมาหากิน จิม ทอมัส ชาวประมงเชิงพาณิชย์และมัคคุเทศก์ ร้องเรียนว่า “เราเห็นปลาเก๋ายักษ์ฉกฉวยปลาเก๋าและปลากะพงที่จับได้ตามกฎหมายไปจากเบ็ดราวของพวกเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วยังมีกุ้งล็อบสเตอร์อีก ต้องบอกว่าสูญเปล่ามากครับ” เขาเป็นหนึ่งในหลายๆคนที่ต้องการให้มีการตกปลาเก๋ายักษ์
เคนิกโต้ข้อกล่าวหาที่ว่า ปลาเก๋ายักษ์หากินกับหยาดเหงื่อของชาวประมง โดยยกผลการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ปลาเก๋ายักษ์ที่อุ้ยอ้ายหากินกับเหยื่อขนาดเล็กและเชื่องช้า (อาหารกว่าครึ่งของพวกมันคือปู ไม่ใช่กุ้งล็อบสเตอร์) เขาชี้ว่า การออกใบอนุญาตให้จับปลาเก๋ายักษ์ในฟลอริดาซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวในภาพรวมได้ ปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้น โขดหิน และซากเรืออับปางเดิมๆของพวกมัน “เหมือนพวกติดบ้านนั่นแหละครับ ปลาเก๋ายักษ์ลังเลที่จะย้ายถิ่นอยู่แล้ว” เคนิกอธิบาย ดังนั้นหากคุณทำให้ประชากรในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นเบาบางลง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะโน้มน้าวให้ปลาเก๋ายักษ์ที่เหลือโยกย้ายไปอยู่ในที่ที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ล้มหายตายจากไป และนั่นหมายถึงการฟื้นตัวจะไม่แพร่กระจายอย่างที่ควรจะเป็น
อนาคตของปลาเก๋ายักษ์ยังขึ้นอยู่กับแหล่งอนุบาลในป่าชายเลน ที่ซึ่งปลาวัยเยาว์อาศัยรากไม้ที่เกี่ยวกระหวัดกัน ไปมาเป็นที่หลบภัยกระทั่งอายุราวห้าปี ทว่าการพัฒนาตามแนวชายฝั่ง กิจกรรมการเกษตร และมลพิษกำลังคุกคามถิ่นอาศัยในน่านน้ำตื้นเหล่านี้
ถึงที่สุดแล้ว ทั้งชาวประมงและนักชีววิทยา ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐต่างมุ่งหวังในสิ่งเดียวกัน นั่นคือประชากรปลาเก๋ายักษ์ที่มากและแข็งแรงพอจะดึงดูดนักดำน้ำให้มาเยือน และประคับประคองตัวให้รอดพ้นจากการทำประมงในระดับหนึ่งได้โดยไม่ถึงกับสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ขณะที่การถกเถียงยังคงดำเนินต่อไป ปลาเก๋ายักษ์ที่พูดถึงกันอยู่ก็ยังคงส่งเสียงอื้ออึงใต้เกลียวคลื่น
พญามัจฉาเองก็คงต้องการให้เสียงของพวกมันได้ยินไปทั่วเช่นกัน
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ในภาพถ่ายเมื่อปี 1958 ภาพนี้ กัปตันโทนี แทร์ราชีโน และครอบครัวโพสท่าถ่ายภาพกับปลา
ที่จับได้จากหมู่เกาะฟลอริดาคีส์ในวันนั้น การตกปลาเก๋ายักษ์เป็นเกมกีฬาผลักดันพวกมันจนใกล้สูญพันธุ์
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : การทำประมงเกินขนาดเกือบทำลายล้างเผ่าพันธุ์ปลาเก๋ายักษ์แอตแลนติก
ทุกวันนี้ ชาวประมงกุ้งล็อบสเตอร์กล่าวโทษว่า พวกมันเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาจับกุ้งได้น้อยลง
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : บางครั้งปลาเก๋ายักษ์แอตแลนติกก็กินกุ้งขนาดใหญ่เป็นอาหาร
แต่พวกมันโปรดปรานปูที่อาศัยอยู่ตามก้นทะเลมากกว่า
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ปลาเก๋ายักษ์วัยเยาว์ความยาว 25 เซนติเมตรตัวนี้อาจใช้เวลาห้าปีอยู่ท่ามกลางรากไม้รกเรื้อ
ในป่าชายเลนซึ่งช่วยปกป้องมันจากสัตว์นักล่าได้ในระดับหนึ่ง ก่อนจะออกไปเผชิญโลกกว้างกลางแนวปะการัง
ความอยู่รอดของปลาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการพัฒนาชายฝั่งเช่นกัน
ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ปลาเก๋ายักษ์แหวกว่ายในกระแสน้ำเชี่ยวเหนือแนวปะการังเทียมไซออนเทรน
ใกล้เมืองจูปีเตอร์ รัฐฟลอริดา ฝูงปลา มารวมตัวกันใกล้ซากเรืออับปางและแนวปะการัง
เพื่อเตรียมวางไข่พฤติกรรมดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงจันทร์ดับของเดือนสิงหาคมและกันยายน
ทำให้พวกมันตกเป็นเป้าที่ล่าได้ง่าย

ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ความที่ชอบอยู่รวมฝูงและลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่ค่อยพบเห็นปลาเก๋ายักษ์อยู่เพียงลำพัง
และดูเหมือนพวกมันจะอยู่รวมกลุ่มกันทั้งสองเพศ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ปลาบางตัวอาจเป็น
“ปลาที่แปลงเพศจากเพศเมียเป็น เพศผู้” (
protogynous hermaphrodite)
หมายถึงเป็นเพศเมียตอนแรกเกิด แต่กลายเป็นเพศผู้ในเวลาต่อมา

ภาพ : พญามัจฉา
ภาพโดย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
คำบรรยายภาพ : ปลาเล็กปลาน้อยห้อมล้อมปลาเก๋ายักษ์เพศเมีย ขณะที่มันเตรียมตัววางไข่กับปลาเพศผู้
ที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อทุกอย่างพร้อม ปลาเพศเมียจะปล่อยไข่หลายพันฟองใกล้กับผิวน้ำ ขณะที่เพศผู้จะปล่อย
สเปิร์มขุ่นข้นตามออกมา เหล่าปลาเล็กปลาน้อย จะรุมตอดไข่ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่กระแสน้ำจะพัดพาไข่ให้กระจายออกไป








