[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 02:07:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนาเชน - วิถีแห่งอหิงสา  (อ่าน 14054 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2327


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 12 ตุลาคม 2557 05:36:49 »

.


นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร
ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ


เชน  วิถีแห่งอหิงสา
เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม และอธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์

Story

นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ

“จัยจีเนนดระ” น้ำเสียงแผ่วเบาที่เปล่งออกมา พร้อมอากัปกิริยาการยกมือไหว้อย่างน้อบน้อม อาจเป็นคำทักทายที่ไม่คุ้นหูใครหลายคน เมื่อเทียบกับคำทักทายยอดฮิตอย่าง "นมัสเต" ของภารตชน แต่นี่เองคือจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อตามหาที่มาของความหมาย “ขอให้เชนจงมีชัย” ของผม

หลายพันปีก่อน ณ ดินแดนชมพูทวีปอันรุ่มรวยไปด้วยการแสวงหาคุณค่าความหมายทางจิตวิญญาณ สายธารความเชื่อเก่าแก่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน หล่อหลอมจนเกิดเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการชี้นำทางสังคมในดินแดนแห่งนี้ ทว่าในช่วงเวลาที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรุ่งเรืองอยู่นั้น ในดินแดนชมพูทวีปยังให้กำเนิดลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณใหม่อีกสองศาสนา ได้แก่ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ ซึ่งเกิดจากการ  “ปฏิวัติ” ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ทั้งเชนและพุทธต่างเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (ต่างจาก “พหุเทวนิยม” ของพราหมณ์-ฮินดู) ในความหมายที่ว่า มนุษย์และธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความจริงของชีวิต มิได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าหรือเทพเจ้า

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศาสนาเชนถือกำเนิดก่อนคริสต์ศักราชราว 600 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก และยังร่วมสมัยกับพุทธศาสนา ศาสดาหรือผู้ให้กำเนิดศาสนาเชนคือ พระมหาวีระ ผู้มีพระประวัติคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าอย่างมาก จนบางครั้งหลายคนถึงกับหลงเข้าใจผิดคิดว่า ทั้งสองพระองค์เป็นบุคคลคนเดียวกัน

พระมหาวีระประสูติในวงศ์กษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครเวสาลี แคว้นวัชชี ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา พระมหาวีระทรงละชีวิตทางโลกและเสด็จออกผนวช มุ่งแสวงหาโมกขธรรมอย่างจริงจัง พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิและอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) โดยปราศจากเครื่องทรง ทั้งทรงถือสัจจวาจาไม่ยอมเอ่ยปากพูดคุยกับใครเป็นระยะเวลายาวนานถึง12 ปี จนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จากนั้นจึงทรงละวางสัจจวาจาเพื่อออกประกาศศาสนา ซึ่งได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “เชน” แปลว่า “ชนะ”

ศาสนาเชนมีปรัชญาความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา ทุกชีวิตมิอาจดับสูญ มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ และไม่เว้นแม้กระทั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่สามารถพึ่งพาชีวิตอื่นได้ ทุกชีวิตมีกรรมอันเป็นผลของการกระทำที่จะส่งผลในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ศาสดาในศาสนาเชนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตีรถังกร” ชาวเชนเชื่อว่า ที่ผ่านมาตีรถังกรประสูติมาในโลกแล้ว 24 พระองค์ โดยพระมหาวีระคือตีรถังกรองค์ที่ 24 ด้วยเหตุนี้ ชาวเชนจึงเชื่อว่าศาสนาของพวกเขาเก่าแก่ที่สุดในโลก

ปัจจุบัน มีชาวอินเดียนับถือศาสนาเชนอยู่เพียงราว 5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1,200 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรทั้งประเทศ สาธุชนชาวเชนมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศอินเดีย แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแถบตะวันตกและตอนใต้ เช่น ราชสถาน คุชราต มัธยประเทศ และกรณาฏกะ นอกจากนี้ ยังมีชาวเชนโพ้นทะเลอีกจำนวนหนึ่งที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา สาธุชนชาวเชนมักประกอบอาชีพด้านค้าขาย ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ นักลงทุน เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เพราะการปลูกพืชผลทางการเกษตรมีความเสี่ยงที่จะไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยและทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักอหิงสธรรม หลักธรรมสำคัญที่สุดข้อหนึ่งของศาสนาเชน

ที่เมืองศรวณพลโคละ แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของผู้นับถือศาสนาเชน ผมใช้เวลาเดินทางกว่า 40 ชั่วโมงบนรถโดยสารประจำทาง เพื่อมาเยือนเมืองเงียบสงบแห่งนี้ เมืองศรวณพลโคละตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ของอินเดีย ห่างจากกรุงนิวเดลี 2,300 กิโลเมตร ที่นี่ผมพบกับวันทนา เชน อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งจากกรุงนิวเดลี เธอใช้เวลาพักร้อนยาวนานกว่าสองสัปดาห์เพื่อจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในศาสนาเชน “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ฉันกลับมาที่นี่” เธอบอก และเล่าว่า เมืองศรวณพลโคละเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเชน  เพราะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่แกะสลักจากหินแกรนิตก้อนเดียว จารึกภาษากันนัฑที่ฐานบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต รูปเคารพนี้ มีความสูง 17.38 เมตร สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 9 มีชื่อเรียกว่า “พระโคมเฏศวร” หรือ “พระพหุพลี” (ผู้มีแขนที่มีพลัง) พระโคมเฏศวรใช้สถานที่แห่งนี้ฝึกบำเพ็ญตบะจนบรรลุเป็นพระอฤหันต์ หรือผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวงจนชีวาตมันหลุดพ้น พระอฤหันต์ในศาสนาเชนนั้นเทียบเท่ากับพระอรหันต์ในพุทธศาสนานั่นเอง

วันทนา เชน เป็นชาวเชนนิกายทิคัมพร (อีกนิกายหนึ่งคือเศวตัมพร) วันนี้เธอตั้งใจจะมาทำสมาธิและสวดมนต์ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นในวันรุ่งขึ้น หลังเธอขอตัวไปทำสมาธิ เราได้พบกันอีกครั้งที่ร้านอาหารใต้โรงแรม วันทนาเล่าถึงความเป็นไปในสังคมเชนยุคปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเคร่งศาสนา แต่ก็ยอมรับหลักธรรมปฏิบัติที่ถูกผ่อนปรนมาจาก “มหาพรต” หรือหลักธรรมสำหรับนักบวช มาสู่ “อนุพรต” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์อย่างเธอ วันทนาบอกว่า ความเคร่งครัดของเธอควรมีผลกระทบต่อคนรอบข้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอยกกรณีเวลาเดินทางไปต่างประเทศและต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรม “ชาวเชนส่วนใหญ่ใช้เวลาหมดไปกับการศึกษาหาความรู้ สวดมนต์ และทำทาน หลักอหิงสาคือหลักการที่ดีมากในสังคมโลกปัจจุบันค่ะ ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง หลายสิ่งหลายอย่างคงเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้” เธอออกความเห็น “คุณรู้ไหม  มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งของอินเดียเอาสัญลักษณ์ฝ่ามือของศาสนาเชนไปเป็นสัญลักษณ์ของพรรค แล้วหลังจากนั้น พรรคการเมืองพรรคนั้นก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ที่น่าขันคือ พวกเราชาวเชนกลับไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แตกต่างจากศาสนาอื่นในอินเดีย”

แม้ศาสนิกชาวเชนจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในอินเดีย   บางคนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “ฟันเฟืองแพลทินัม” ชาวเชนไม่เพียงจ่ายภาษีรวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 24 ของยอดรวมทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ยังบริจาคเพื่อการกุศลต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 อีกทั้งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่ และโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ราวร้อยละ 28 ในอินเดีย หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในอินเดียมีเจ้าของเป็นชาวเชน พวกเขาคือกลุ่มคนจำนวนน้อยไม่ถึงร้อยละหนึ่งของประชากร แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่จัดว่าร่ำรวยที่สุดในอินเดีย ชาวเชนเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษา พวกเขาเป็นเจ้าของสถานศึกษามากมายในอินเดีย นักบวชเชนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่   ผู้นับถือศาสนาเชนและคนต่างศาสนาที่เปิดใจยอมรับทุกหลักการความเชื่อ “แต่ละชีวิตเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี่แหละคือความหมายของชีวิตครับ ผมเชื่อในหลักอหิงสธรรมที่ท่านศาสดามหาวีระกล่าวไว้ก่อนนิพพาน พวกเราชาวเชนไม่ว่าจะนิกายทิคัมพรหรือเศวตัมพรต่างถือหลักธรรมนี้เป็นยอดคำสอนสูงสุด" จิรัน วี เด็กหนุ่มชาวเชนอีกคนที่ผมพบออกความเห็น

คำพูดของจิรันทำให้ผมหวนนึกถึงอมตวาจาของมหาตมาคานธี เอกบุรุษผู้นำเอกราชกลับสู่อินเดีย คานธีพูดถึงหลักอหิงสาไว้ว่า "ความหมายของคำว่า 'อหิงสา' ตามตัวอักษรนั้น อาจมีความหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรง แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มันมีความหมายที่สูงส่งอย่างยิ่ง และเป็นความหมายที่สูงส่งอย่างไร้ขีดจำกัดเสียด้วย"



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : หลังศึกษาหลักธรรมคำสอนมาตลอดทั้งวัน ศิษยาดีปา ศิษยากัลปนา และศิษยาบะซันตีออกมายืดเส้นยืดสาย
                   และสูดอากาศภายนอก สตรีทั้งสามต่างอุทิศชีวิตให้ศาสนาเชนมาไม่ตํ่ากว่าคนละ 10 ปี



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : แม้จะต่างศาสนา ทว่าศรัทธาชนชาวฮินดูกลับให้ความเคารพนักบวชเชนนิกายทิคัมพร ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้สละแล้ว
                    ซึ่งทุกสิ่งในทางโลกเพื่อแสวงหาโมกขธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณ



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : มุนี ศรุตนันที วัย 83 ปี นักบวชเชนนิกายทิคัมพร กำลังเดินช้าๆ ไปยังอีกอาคารหนึ่งเพื่อศึกษาหลักธรรม
                   เขาสละทางโลกเพื่อออกบวชตั้งแต่อายุ 66 ปี หลังเกษียณอายุจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของอินเดีย



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ยามเช้าภายในห้องอาหารเล็กๆ ในเมืองศระวัณเพฬาโกฬา คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงบุญทั้งชาวเชนและชาวฮินดู
                   แม้ความเชื่อจะ ต่างกัน แต่อาหารทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารมังสวิรัติ



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ศรัทธาชนชาวเชนนิกายเศวตัมพรใช้ผ้าปิดปากระหว่างทำพิธีบูชาทางศาสนา เพื่อป้องกันแมลง
                    หรือสิ่งมีชีวิตที่อาจเล็ดลอดเข้าปาก อันเป็นการทำลายชีวิตอย่างไม่เจตนาและขัดหลักอหิงสธรรม



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ :  -



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : วัดเชนเป็นแหล่งพักพิงทางจิตใจของศรัทธาชนที่แวะเวียนมาสนทนาธรรมและขอพรจากผู้ทรงศีล
                    นอกเหนือจากการสักการบูชารูปเคารพทางศาสนาโดยเฉพาะองค์ตีรถังกรอย่างพระมหาวีระ



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร
                    ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : อาจารยะ สัจจิทานันที นักบวชเชนนิกายทิคัมพร แม่ชีอารยิกา ฤทธิศรี และศาสตราจารย์ชีวันธรกุมาร เค. เหตเปเฏ
                    ยืนสนทนาธรรมระหว่างรอเข้าสักการะพระรูปพระโคมเฏศวรที่เมืองศรวณโคละ



ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ศรัทธาชนชาวเชนจำนวนมากกำลังร้องรำบทสวดตามจังหวะดนตรีอย่างสนุกสนานระหว่างการฟังธรรมเทศนา  
                    ณ ศาลาประชาคม หรือ ทาวน์ฮอลล์ “สุขาดิปัดรังคะมัญจ์” ในเมืองอุทัยปุระ


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.381 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 02 ตุลาคม 2566 17:29:37